ประชาไท Prachatai.com |
- วาระใหม่ของ Gen Y | หมายเหตุประเพทไทย #223
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ต่อต้านเผด็จการเป็น ‘หน้าที่’ หรือไม่
- ใบตองแห้ง: พึ่งลุงตู่ในหม้อต้ม
- ใบตองแห้ง: รู้ไว้ ปปง.ใครใหญ่
- อำนาจ (เพศ) นิยม
- กวีประชาไท: ใครกันแน่ที่ทำเสียของ
- ศิลปินใน 'เบอร์ลิน' เผชิญปัญหาความยากจน สวัสดิการหลังเกษียณต่ำ และการเหยียดเพศในวงการ
- กกต. แจงยกเคสเลือกตั้ง 24 ก.พ. เร็วที่สุดเพื่อให้ สนง. เตรียมพร้อม 'อภิสิทธิ์' ชี้ยืดหยุ่นได้
- นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่า 4%
- 'กรมบัญชีกลาง' แจง หลัง 'เรืองไกร' ชี้ไร้ผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวในรายงานการเงินแผ่นดิน
วาระใหม่ของ Gen Y | หมายเหตุประเพทไทย #223 Posted: 19 Aug 2018 08:48 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 22:48
แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวหรือบทความทั้งค่อนขอด หรือที่ห่วงใยคนเจน Y ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ลำบากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ ทว่าชีวิตของคนเจน Y เกิดมาในช่วงที่คุณค่าทางสังคมในระดับโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยนไปหมด มีหลายสิ่งกำลังจะถูกเซ็ตเป็นมาตรฐานโดยเจน Y ตั้งแต่การทำงานที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่ออฟฟิศ การใช้ชีวิต ไปจนถึงรูปแบบครอบครัว อย่างไรก็ตาม 'วาระใหม่' เหล่านี้ก็ต้องปะทะกับคุณค่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางสังคมที่คุณค่าหลักยังคงถูกกำหนดโดยคนรุ่นเบบี้บูม ทั้งหมดนี้ติดตามได้ใน หมายเหตุประเพทไทย ตอน วาระใหม่ของ Gen Y พบกับคำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
สุรพศ ทวีศักดิ์: ต่อต้านเผด็จการเป็น ‘หน้าที่’ หรือไม่ Posted: 19 Aug 2018 08:36 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 22:36 เห็นถกเถียงกันทางเฟสบุ๊คว่าการต่อต้านเผด็จการเป็น "หน้าที่" หรือไม่? เท่าที่จับประเด็นได้คือ ผู้ที่เห็นว่าการต่อต้านเผด็จการ "ไม่ควรถือเป็นหน้าที่" ให้เหตุผล (ประมาณ) ว่า หลายคนแม้จะตระหนักว่าเผด็จการไม่ถูกต้อง แต่เขาก็ไม่พร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตครอบครัวและชีวิตการงาน เพราะอย่างที่เห็นใครที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามสร้างความหวาดกลัวแก่ครอบครัว ถูกกดดันจากที่ทำงาน คนในครอบครัวญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาส่วนหนึ่งก็มองเขาเป็น "ตัวสร้างปัญหา" หรือสร้างภาระยุ่งยากให้ครอบครัว และยังมองว่าความคิดและบทบาทบางอย่างของเขากระทบความมั่นคงของที่ทำงานเป็นต้น ตัวอย่างที่เราเห็น (ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว หรือเป็นข่าวเพียงในสื่อกระแสรอง) มีหลายคนถูกคุกคาม สูญเสียอิสรภาพ ติดคุก บาดเจ็บล้มตาย หนีไปต่างประเทศ ชีวิตครอบครัวพัง งานพัง เมื่อราคาที่ต้องจ่ายในการต่อต้านเผด็จการมหาศาลเช่นนี้ และแต่ละคนก็มีภาระรับผิดชอบครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับการต้องมีงาน มีเงิน มีสังคมและอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะเป็นฮีโร่ หากถือว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ ย่อมเป็นการกดดัน หรือเรียกร้องการเสียสละจากปัจเจกบุคคลมากไปหรือเปล่า ส่วนตัวผมไม่ชอบวลีว่า "ไม่มีใครอยากจะเป็นฮีโร่" เท่าไร เพราะมันสะท้อน "โทนเสียง" จากความรู้สึกบางอย่างมากกว่าจะสะท้อนเหตุผล ตามความจริงทางประวัติศาสตร์และปัจจุบัน คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการด้วยอุดมการณ์ก็ไม่เคยประกาศตนเป็นฮีโร่ การประกาศตนเป็นฮีโร่ดูเหมือนจะเป็นวิถีของเผด็จการมากกว่า เช่น "ข้าพเจ้าคือรัฐ" "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" เป็นต้น แต่วิถีต่อต้านเผด็จการหรือวิถีแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย มันคือวิถีของปวงชนที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยคนโนเนมจำนวนมากที่ลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่ด้วยฮีโร่คนใดคนหนึ่ง หากจะมีใครถูกยกย่องในฐานะผู้นำทางความคิดและการเคลื่อนไหว นั่นก็เพราะการยอมรับของมวลชนในช่วงเวลานั้นๆ และบางครั้งก็มักจะเป็นคนรุ่นหลังยกย่องใครบางคนหลังจากที่เขาตายไปแล้ว ส่วนที่ว่าคนที่ต่อต้านเผด็จการต้องเสี่ยงต่อการพังทลายของชีวิตครอบครัว การงาน กระทั่งสูญเสียอิสรภาพและชีวิต นี่ก็เป็นความจริงตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติอยู่แล้ว และก็เป็นความจริงเช่นกันว่าหากไม่มีคนจำนวนหนึ่งที่ถือว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ สังคมมนุษย์ก็คงไม่สามารถสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยขึ้นมาได้ เพราะไม่มีสังคมไหนในโลกที่ให้กำเนิดเสรีภาพและประชาธิปไตยขึ้นมาได้ โดยไม่มีการต่อสู้ หรือต่อต้านเผด็จการในมิติต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความเหลวไหล ผิดเพี้ยนของบ้านเราคือ มีคนจำนวนไม่น้อยแสดงออกว่า การหยุดกระบวนการประชาธิปไตย หรือ "หยุดการเลือกตั้ง" เพื่อ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" เป็นเรื่องของ "สิทธิ" หรือเสรีภาพทางการเมือง แต่ความจริงคือ ถ้าเราเชื่อได้ว่า "กลุ่มสามมิตร" ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ คสช.เราก็คงเชื่อได้เช่นกันว่า การบอยคอตการเลือกตั้งและการชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ "อำนาจนอกระบบ" ที่ทำรัฐประหาร แต่ความเชื่อเช่นนี้ตรงกับความเป็นจริงอย่างไรหรือ ประเด็นที่ต้องชัดเจนคือ เราไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพในการสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งเป็นการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ เหมือนกับเราไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกเป็นทาส เพราะผลที่ตามมาจากการเลือกคือการสิ้นสุดเสรีภาพ (ที่เขียนข้างบนเป็นคนละอย่างกับเสรีภาพในการสนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายขวาหรืออุดการณ์ใดๆ ที่ขัดกับประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่การยอมรับและสนับสนุน "การใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ" หรือรัฐประหาร) ความผิดเพี้ยนของความเชื่อที่ว่าการยอมรับและสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพเป็น "สิทธิ" หรือเสรีภาพทำให้เกิดความผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาเป็นขบวนยาวเหยียด เช่น การเลือกข้างที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมมันก็ไม่ได้มีความหมายเป็น "การเลือกอย่างแท้จริง" เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ อีกฝ่ายที่เลือกการเลือกตั้ง และเลือกเสรีภาพและประชาธิปไตยย่อมไม่มีเสรีภาพในการเลือก เพราะถูกบังคับให้เดินตามกฎของฝ่ายที่ล้มล้างเสรีภาพ แม้แต่ฝ่ายที่เลือกสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพก็ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอีกต่อไป การเลือกในทางการเมืองจะมีความหมายเป็นการเลือกอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเป็นการเลือกภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้น ยิ่งการอ้างกฎหมาย เคารพกฎหมาย ความเสมอภาคทางกฎหมายภายใต้อำนาจ คสช.ว่าเป็นการเดินตาม "หลักนิติรัฐ" ยิ่งผิดเพี้ยนไปกันใหญ่ เพราะหลักนิติรัฐมีได้ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น กล่าวโดยรวมคือ เมื่อเริ่มจากความผิดเพี้ยนที่ถือว่า การใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพเป็นความถูกต้อง การเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด หลักนิติรัฐ ความยุติธรรม กฎหมาย ศีลธรรมก็ย่อมถูกตีความและถูกใช้อย่างวิปริตผิดเพี้ยนตามมา ดังที่เห็นรูปธรรมชัดชัดเจนในปัจจุบัน ดังนั้น คำถามที่ว่าต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่หรือไม่? จึงสัมพันธ์กับคำถามพื้นฐานที่สุดคือคำถามที่ว่า การปกป้องเสรีภาพถือเป็นหน้าที่หรือไม่? เราจะจินตนาการถึง "สังคมที่มีเสรีภาพ" ได้อย่างไร ถ้าสังคมนั้นไม่ถือว่าการปกป้องเสรีภาพคือหน้าที่ของรัฐและปัจเจกบุคคล เพราะการมีเสรีภาพคือการปฏิเสธอำนาจเผด็จการของรัฐ หรือของเสียงข้างมากในสังคมที่อ้างความเชื่อทางศาสนา ประเพณีหรือความเชื่ออื่นใดในการครอบงำ แทรกแซง ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การปกป้องเสรีภาพจากเผด็จการทุกมิติจึงเป็นหน้าที่ของบุคคลหรือสังคมที่ต้องการเสรีภาพดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องที่นาย ก.เรียกร้องต่อนาย ข.ว่า คุณมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพนะ แต่ "ตัวหลักเสรีภาพ" มันเรียกร้องหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพจากทุกคนที่เชื่อ เห็นคุณค่า หรือยืนยันว่าสังคมการเมืองของเราควรมีเสรีภาพ มันจึงเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนจะประเมินว่าตนเองจะปกป้องเสรีภาพภายใต้บทบาท เงื่อนไข และบริบทของตนเองอย่างไร จะมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ อย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเรียกร้องให้คนอื่นวิ่งเอาหัวชนกำแพงเหล็ก แต่คงไม่มีใครที่เชื่อจริงๆ หรือยืนยันว่าสังคมการเมืองของเราควรมีเสรีภาพ แล้วนิ่งเฉย ไม่อินังขังขอบกับการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ หรือการละเมิดเสรีภาพโดยอำนาจรัฐและอื่นๆ หากเขาเชื่อหรือยืนยันเช่นนั้นจริงๆ และไม่ขัดแย้งในตัวเอง เขาย่อมต่อต้านเผด็จการหรือต่อสู้เพื่อเสรีภาพภายในบริบท เงื่อนไข และบทบาทต่างๆ ที่เขาสามารถทำได้ที่ว่า "สามารถทำได้" และ "ทำได้โดยปลอดภัย" แปลว่ามันมีอะไรให้ทำและช่องทางที่จะทำกันได้มากกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ โดยเฉพาะปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนย่อมมีสถานะ บทบาท และช่องทางจะทำได้หลากหลายกว่าคนระดับชาวบ้านอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าคนระดับชาวบ้านทำมากกว่า จนหลายคนต้องตายและติดคุก สู้คดียังไม่จบ บาดเจ็บ พิการ ทว่าปัญญาชน นักวิชาการ สื่อจำนวนไม่น้อยที่เคยพูด เขียนเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยกลับยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหาร หรือยอมรับและสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพทั้งโดยตรงและโดยปริยาย บางคนก็เข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร คนพวกนี้ชี้นิ้วว่าปัญหาประชาธิปไตยเกิดจากคนระดับชาวบ้านที่ขาดการศึกษา แต่จนป่านนี้หลายๆ นอกจากจะไม่ตระหนักว่าตนเอง "ไม่มีเสรีภาพในการสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ" พวกเขายังคงพูด เขียนสนับสนุน เชียร์อำนาจจากรัฐประหารกันต่อไป กลายเป็นว่า คนจำนวนหนึ่งทำ "หน้าที่" สนับสนุนระบบอำนาจที่ล้มล้างเสรีภาพ และระบบอำนาจนั้นก็กำหนดค่านิยม การศึกษา ศีลธรรม กฎหมาย และอื่นๆ เพื่อปลูกฝังกล่อมเกลาประชาชนให้มี "หน้าที่" สนับสนุนหรือปกป้อง "ความมั่นคง" ของระบบอำนาจเช่นนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามีใครแสดงออกให้เห็นว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ เพราะการปกป้องเสรีภาพจากอำนาจเผด็จการเป็นหน้าที่ ผมย่อมเคารพและค้อมหัวให้กับความชัดเจนและกล้าหาญของเขาอย่างจริงใจ เพราะยิ่งเรารู้สึกถึงความวิปริตผิดเพี้ยนของวิถีคิดและขบวนการล้มล้างเสรีภาพมากเพียงใด เรายิ่งเห็นคุณค่าของสำนึกปกป้องเสรีภาพมากเพียงนั้น
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ใบตองแห้ง: พึ่งลุงตู่ในหม้อต้ม Posted: 19 Aug 2018 08:12 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 22:12 เดือนกันยาฯนี้ ลุงตู่จะตัดสินใจไปต่อไหม คนไทยทั้งประเทศใจจดจ่อ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดลบันดาลให้ "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่" ตัดสินใจลงประจัญ "ตราบใดที่ยังสู้ก็ไม่แพ้" เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ปกปักรักษาทุกสิ่งที่ทำไว้ ไม่ให้รัฐประหารเสียของ เพราะดูไปดูมา มีแต่ลุงตู่เท่านั้นเป็นที่พึ่งของคนไทย ถ้าลุงตู่ไม่ไปต่อ ใครเล่าจะรักษาประเทศให้สงบ มั่นคง รักษาความฝันของคน ที่เชื่อว่าประเทศยังมีทางออก ภายใต้ระบอบที่สถาปนาใหม่ ตราบจนวันหนึ่งรักษาไม่ไหว แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป พูดอย่างนี้ไม่ใช่ประชด เฮ้ย วิพากษ์วิจารณ์มา 4-5 ปี อยู่ดีๆ เชียร์ให้อยู่ต่อได้ไง นี่พูดตามความเป็นจริง ไม่อยู่ต่อก็ไม่ได้ แม้รู้แก่ใจว่าอยู่ต่อก็อันตราย แต่วิสัยคนไทย ย่อมอยากให้ซื้อเวลาผลักหายนะไว้ภายหน้า เผื่อจะมีปาฏิหาริย์ช่วยได้ ว่าตามความจริงเลยนะ ถ้ามีเลือกตั้ง (ซึ่งก็ยังซื้อเวลา) พรรคเพื่อไทยไม่มีทางชนะ ภายใต้กติกาที่มีชัยออกแบบไว้ ต่อให้ชนะ ก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ต่อให้ชนะถล่มทลาย เป็นรัฐบาลภายใต้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ส.ว.แต่งตั้ง องค์กรอิสระทั้งหลาย แป๊บเดียว ก็โดนไล่ เช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้เพียรขายสามก๊ก ก็ยังไม่เห็น ปชป.เป็นก๊กตรงไหน เห็นแต่เอาดีใส่ตัว ทั้งที่ตัวเองก็เป๋ไปปัดมา หรือถ้าลุงตู่ถอนตัว ขึ้นหิ้ง บอกศาลา จะหาใครแทน หม่อมเต่าเรอะ เอนกเรอะ ทหารคนอื่นเรอะ ใครล่ะจะมีบารมี ใครล่ะที่สั่งสมความเชื่อมั่น อ๊ะ พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้ประชดประชัน ไม่ใช่ชมว่าเก่งกาจ อ่านหนังสือวันละ 800 บรรทัด พูดมาก 8 ล้านคำ มีความคิดสร้างสรรค์ น้ำท่วมก็ให้ชาวบ้านจับปลา ฯลฯ ตรงกันข้ามเลย ความเป็นจริง ลุงตู่พูดมา 4 ปี ไม่ค่อยมีคนฟัง ไม่เหมือน เสก โลโซ ไลฟ์สดไม่กี่วัน เรตติ้งถล่มทลาย ถ้าจะมีคนสนใจมากหน่อย ก็ตอนลุงบูดบึ้ง ด่านักข่าว โวยวาย แล้วเอาไปขำกัน งั้นลุงตู่สำคัญตรงไหน ก็ตรงที่ท่ามกลางสังคมสับสนวุ่นวาย ภายใต้ระบอบที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ประชาชนไม่เชื่อมั่นอะไรซักอย่าง ก็ยังมีลุงนี่แหละ ตัดสินเรื่องต่างๆ ให้ ตัดสินให้มันจบๆ ไป ไม่ใช่ด้วยความนิยม ไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามหลักการ แต่ให้มันจบๆ แล้วก็พออยู่ได้ ทำมาหากินกันต่อไป ว่าไปก็ย้อนแย้ง เพราะ 4 ปี คสช.ทำลายระบบ จนไม่เหลือหลักอะไร นอกจากใช้ ม.44 แต่สังคมก็อยู่ได้ เพราะมีอะไรก็ร้องลุงตู่ ส่วนลุงตู่ก็บ่นทุกวัน เกรี้ยวกราดขึงขัง หน้าตาแบกโลกแบกทุกข์ แต่คนก็ยิ่งเชื่อมั่น ว่าเพราะลุงจริงใจ ไม่อยากมีอำนาจแต่ก็จำใจ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเก่งต้องฉลาด เป็นที่พึ่งเป็นผู้ตัดสินทุกเรื่องก็พอ อ้าวจริงๆ นะ ไม่ต้องพรรณนาก็ได้ ถ้าวันนี้ไม่มีลุงตู่ ทั้ง คสช. ทั้งรัฐบาล ทั้งกองทัพ จะเหลือใคร คนอื่นๆ เรอะ แค่ประกาศชื่อคณะกรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ไม่มีชื่อลุงป้อม กองหนุนก็ดีใจโห่ร้องไชโย มโนกันใหญ่ว่าถูกปลดเพราะนาฬิกา สังคมไทยต้องการลุงตู่ เข้าใจไหม ไม่ได้ต้องการคนเก่งอย่างหม่อมเต่า คนหล่ออย่างมาร์ค หรือแม้แต่สุภาพบุรุษนายทหาร อย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ คนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่ตรงไหน อาจแยกได้ง่ายๆ ว่ามีสามก๊ก ก๊กหนุนลุงตู่ ที่จริงมีหยิบมือเดียว แต่เสียงดัง เพราะอยู่ข้างอำนาจ ก๊กต้านลุงตู่ ที่จริงมีเยอะกว่า แต่แสดงออกน้อย เพราะไม่อยากเดือดร้อน ไม่อยากถูกจับกุมคุมขัง หรือเห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวาระนี้ยังไม่คุ้มค่าความเสี่ยง คนส่วนใหญ่จริงๆ คือก๊กที่สาม ซึ่งรู้สึกอับจน ไม่มีทางออก "บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา" อยู่กันไปอย่างนี้ดีกว่า ถึงจะเดือดร้อนฝืดเคือง ไม่พอใจโน่นนี่ ก็ก้มหน้าก้มตา ทำมาหากิน สิ่งที่คนฝากความหวังกับลุงตู่ จึงไม่ใช่หวังว่าจะนำประเทศเจริญวัฒนาสถาวร 4.0 EEC หรือปลูกฝังความดีมี ศีลธรรมอะไรหรอก ก็แค่หวังว่าลุงตู่จะนำกลุ่มสามมิตร พรรคนกหวีด ดูดแมลงสาบ เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ซื้อเวลา ไม่ให้ปัญหาต่างๆ ประดัง แม้รู้แก่ใจว่าประเทศวันนี้เหมือนอยู่ในหม้อต้มกบ แต่ก็ยังดีกว่าเดือดกะทันหันละวะ ฝากเชียร์ด้วยคนนะ อยากเห็นลุงไปต่อ เป็นที่พึ่งในหม้อต้มกบ ถ้าลุงถอนตัว ถอยอย่างสง่างาม คงผิดหวังแย่เลย
ที่มา www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1457579
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
Posted: 19 Aug 2018 08:07 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 22:07 เลขาธิการ ปปง.โดน ม.44 เด้ง ทั้งที่เพิ่งนั่งเก้าอี้เต็มตัว 1 เดือน 16 วัน อุตส่าห์โอนย้ายจากตำรวจ มาเป็นรองเลขาธิการตั้งแต่ 2 พ.ค.2560 แล้วนั่งรักษาการตั้งแต่ 1 ต.ค.ปีเดียวกัน กระทั่ง ครม.มีมติแต่งตั้ง เมื่อ 13 ก.พ.2561 ขั้นตอนทุกอย่าง เห็นชัดๆ ว่ารัฐบาลนี้แหละ ปั้นมากับมือ แต่จู่ๆ ก็ทุบด้วย ม.44 ซะงั้น อันที่จริง การเขียนด้วยมือ แล้วลบด้วย ม.44 ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้ มีให้เห็นประจำ แบบตั้งเองแล้วใช้ ม.44 เด้งเอง ออก พ.ร.ก.แล้วใช้ ม.44 ยับยั้ง จนไม่รู้จะเชื่อมั่นการบริหารราชการแผ่นดินระบอบไหน แต่ครั้งนี้ ที่น่าสนใจ คือดันมีข่าวสะพัด โดน ม.44 เพราะขัดแย้งกับ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ประธานบอร์ด ปปง. ในเรื่องคดีความ ที่เกี่ยวกับนักการเมือง "ลือหึ่งเมินเช็กทุนการเมือง" อีหรอบนี้ เดี๋ยวก็เข้าทางฝ่ายการเมือง เพราะ พล.ต.อ.ชัยยะ ถูกจับตามาตั้งแต่ท่านผู้นำใช้ ม.44 ตั้งให้รักษาการเลขาฯ ปปง.เมื่อ 17 พ.ค.2559 ด้วยความที่ถูกระบุว่า ใกล้ชิดสนิทสนม สนธิ ลิ้มทองกุล คำนูณ สิทธิสมาน เคยเขียนไว้ รักกันนาน 30 ปี เคยพาสนธิลี้ภัยชั่วคราวตอนรัฐประหาร 2534 มีผลงานเป็นประธานกรรมการถอดยศทักษิณ เคยถูก กกต.ดึงไปช่วยทำคดีทุจริตเลือกตั้ง 2550 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคดียุบพรรคพลังประชาชน ครั้นมาเป็นเลขาฯ ปปง.ก็โชว์ฝีมือ ร้องทุกข์กล่าวโทษ พานทองแท้ ชินวัตร กับดีเอสไอ อย่างไรก็ดี ถ้าพวกเสื้อแดงเพื่อไทย จะเอาเรื่องนี้มาโจมตี ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะ ปปง.ชี้แจงได้ว่า อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการ ไม่ใช่ พล.ต.อ.ชัยยะสั่งได้ทุกอย่าง กรรมการมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ปลัดกระทรวง ไปถึงผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อัยการ ฯลฯ ประเด็นที่สังคมควรสนใจมากกว่าเรื่องตัวบุคคล ก็คือโครงสร้าง ปปง. ซึ่ง คสช.เข้ามารื้อใหญ่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกแก้กฎหมายผ่าน สนช. แล้วยังไม่พอใจ ยังใช้ ม.44 แก้อีกตามเคย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กำหนดให้คณะกรรมการ ปปง.มีนายกฯ เป็นประธาน รมว.คลังเป็นรอง มีกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน เช่น ผบ.ตร. อัยการสูงสุด ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เลขาฯ ปปส. เลขาฯ กลต. มีผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับ เข้าใจตรงกันนะครับ กฎหมายฟอกเงินเป็นดาบสองคม เพราะให้อำนาจ ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสิน กระบวนการยุติธรรมยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่นี่คือกฎหมายพิเศษ ให้ยึดทรัพย์ไว้ก่อน เพียงแค่สันนิษฐานว่าผิด อำนาจนี้จึงอันตรายมาก แต่จำเป็นต้องใช้กับอาชญากรรมร้ายแรง เช่นฝรั่งใช้กับผู้ก่อการร้าย ค้ายาเสพติดหรือค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยต้องใช้อย่างจำกัดไม่ใช่ใช้พร่ำเพรื่อ เพราะสามารถกลั่นแกล้งกัน หรือหาผลประโยชน์ง่ายๆ ถ้าใครขู่พ่อค้าว่าโดนข้อหาฟอกเงินนี่ เยี่ยวราดไปเลย อำนาจ ปปง.แม้อยู่กับฝ่ายบริหาร จึงต้องถ่วงดุล กรรมการจึงต้องผ่านความเห็นชอบ 2 สภา เช่นเดียวกับเลขาธิการ ขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมซึ่งสั่งยึดอายัดทรัพย์ได้ชั่วคราว ก็ตั้งมาจากศาล อัยการ สตง. และ กสม. ครั้น คสช.เข้ามาก็แก้กฎหมายผ่าน สนช. ประกาศใช้เมื่อ 1 ต.ค.2558 ไม่เอาฝ่ายการเมืองมานั่ง ให้กรรมการ ปปง.โดยตำแหน่งมี 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง โดยมีกรรมการสรรหาจาก 3 ศาล ได้แก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด แล้วไปผ่านความเห็นชอบวุฒิสภา กำหนดด้วยว่าประธานและรองประธานกรรมการต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งนั้นก็ได้สุทธิพล ทวีชัยการ เป็นประธาน ปปง. กรรมการมีทั้งสังศิต พิริยะรังสรรค์, อุดม รัฐอมฤต ส่วนกรรมการธุรกรรม เปลี่ยน กสม.ออก (กลัวปกป้องสิทธิมนุษยชนมั้ง) เอาศาลปกครองมาแทน เลขาธิการให้ ครม.ตั้ง ผ่านวุฒิสภา ฟังดูเหมือนจะดี เข้าที่เข้าทาง เข้าสูตรล้างอำนาจจากเลือกตั้ง แต่ใช้ไม่ถึง 2 ปี นึกยังไงไม่ทราบ มีคำสั่ง คสช.38/2560 ประกาศเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 แก้กฎหมายอีกที ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหลือ 4 คน โดย ครม.ตั้งเอง ไม่ต้องให้ศาลสรรหา ไม่ต้องผ่านวุฒิสภาอะไรทั้งนั้น อ้างว่า ไม่ต้องการให้การเมืองแทรกแซง อุ๊ต๊ะ ครม.ตั้งเองนี่นะ ไม่ต้องการให้การเมืองแทรก สังศิตซึ่งตกเก้าอี้ ออกมาโวยว่าฟื้นรัฐราชการ โลก ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับได้ไง นี่ ม.44 นะ ครม.ก็ตั้งกรรมการใหม่เสร็จสรรพ โดยมี พล.ต.อ.ชัยยะเป็น 1 ใน 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลวันที่ 1 ต.ค.2560 ซึ่งท่านเกษียณจากเลขาฯพอดี แล้ววันที่ 6 ต.ค. ที่ประชุมก็เลือกเป็นประธาน วาระ 4 ปี เห็นหรือยังว่า ปปง.ใครใหญ่ ก็ ม.44 ไง ออกกฎหมายแล้ว ม.44 แก้ได้ ตั้งเลขาฯแล้ว ม.44 ปลดได้ ม.44 คือหลักประกัน แทนหลักนิติรัฐนิติธรรม
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
Posted: 19 Aug 2018 07:53 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 21:53 อำนาจนิยมกับสังคมไทยเป็นของคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผู้ที่มีอำนาจมาก จะมีการกดขี่คุกคามผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าในหลายๆเรื่อง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการอุปถัมภ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำในทุกสถาบัน ตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่พ่อมักจะเป็นใหญ่(The rule of father) สถาบันการศึกษาที่ต้องเชื่อฟังครู ระบบการรับน้องที่มีการใช้อำนาจนิยมจากรุ่นต่อรุ่น สถาบันเศรฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย สถาบันสังคม ที่ต้องเคารพผู้ใหญ่เชื่อฟังผู้อวุโส ตำแหน่งหน้าที่ยศศักดิ์ การมีอิทธิพล ประเด็นที่น่าสนใจคือค่านิยมของสังคมเรื่อง เพศสภาพ(gender) ที่มีการใช้อำนาจต่อเพศชายและเพศหญิงอย่างไม่เท่าเทียมกันในหลายๆมิติของสังคมไทย ด้วยสภาพเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่าแหล่งการมีอำนาจทั้งในรูปแบบ อำนาจหน้าที่(authority) อำนาจ(Power) เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น วงศ์ตระกูล รสนิยม ระดับการศึกษา ชื่อสถาบันการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ มวลชน วัฒนธรรม ค่านิยมของสังคมและอีกมากมายที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งมีอำนาจที่เหนือกว่า ซึ่งแท้จริงแล้วถือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง(Structure of Society) อำนาจที่เหนือกว่า(Power over) เป็นอำนาจที่เป็นการควบคุม เอาเปรียบ แสวงหาอำนาจ และเป็นอำนาจหนึ่งที่มีมากที่สุดในสังคมไทย ถ้าเปรียบเทียบจาก 1. การใช้อำนาจร่วม (Power sharing)คือ การรับฟัง ปรึกษา สนับสนุน ซึ่งกันและกัน 2.อำนาจภายใน(Power within)คือ การรับมือ กับปัญหา อุปสรรคและความท้าทายด้วยตัวเองโดยใช้ทักษะความสามารถของตนเอง อำนาจที่เหนือกว่า สามารถมองในหลายมิติ ซึ่งผู้เขียนจะมองใน ระดับอำนาจ(Power level) 3ระดับ คือ 1.ระดับครอบครัว จะมีการใช้อำนาจผ่านอำนาจหน้าที่(authority)และอำนาจ(Power)โดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าคือ พ่อ แม่จะใช้อำนาจทั้ง2อย่าง ต่อลูก ในการตีกรอบหรือตัดสินใจแทนเช่น เรื่องเรียน คู่ครอง การปลูกฝังค่านิยมความเชื่อ หรือวัฒนธรรมอันดีงามต่อลูก ทั้งด้านบวกและบางเรื่องเป็นด้านลบ นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจในการสร้างค่านิยมเรื่องเพศหญิงเพศชายสังคมไทยมักจะยึด2เพศเป็นหลักผ่านกระบวนการขัดเกลาในครอบครัวเองและสังคมคือมักจะแบ่งเพศให้เห็นหลายเรื่อง เช่น การใช้หางเสียง คะค่ะกับครับ การแต่งกายผู้หญิงต้องมาคู่กับสีชมพู การเล่นของเด็กผู้หญิงต้องเล่นขายของ เล่นเป็นแม่ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมและการใช้อำนาจหน้าที่ของพ่อแม่ในการสร้างคนออกมาตามแนวทางที่อยากให้เป็นมากกว่าปล่อยให้เด็กมีเสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิตของตนเอง เลือกเอง อีกประการที่น่าสนใจคือ การที่เกิดมาแล้วถูกระบุเพศชายหญิง หรือศาสนาตามพ่อหรือแม่ลงในบัตรประชาชน เป็นต้น 2.ระดับการศึกษาและการทำงาน แน่นอนว่าสังคมมีการใช้อำนาจแบบเส้นแนวดิ่งการบังคับบัญชา(Hirachy) ทำให้มีความสัมพันธ์ในแบบของ หัวหน้า ลูกน้อง อาจารย์ นักศึกษา รุ่นพี่รุ่นน้อง นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจในเรื่องของรสนิยม การใช้ของแบรนด์เนมในการเหยียดกันโดยเฉพาะในสังคมวัยทำงาน การเหยียดทางเพศโดยที่สังคมยังมีค่านิยมผู้ชายนำอยู่ ในระบบการศึกษาเอง หัวหน้าห้อง หัวหน้างาน ผู้บริหารมักจะเป็นผู้ชาย พี่ว้ากส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย ทำให้บทบาทของผู้หญิงก็ยังคงไม่เท่ากับผู้ชายในปัจจุบัน หรือการทำงานเอง หลายอาชีพก็เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงหรือผู้ที่ข้ามเพศ(Transgender) ด้วยการกำหนดไว้ในคุณสมบัติ ด้วยอำนาจของผู้ชายที่มีมากกว่าในสังคม จึงถูกมองว่าอาชีพทหาร ตำรวจ เป็นของเพศชาย 3.ระดับสังคม ซึ่งค่อนข้างกว้างหากมองในเรื่องอำนาจจะมีคนที่มีอำนาจมาก เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่าง เช่นวงศ์ตระกูล ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลกระทำต่อคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ในมิติการเมืองปัจจุบันนี้ก็มีการใล้อำนาจนิยมอย่างเห็นได้ชัดเจนในยุคเผด็จการนี้มีกฏหมายหลายมาตราที่ปกป้องคุมครองผู้มีอำนาจไว้ทำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองหรือการชุมนุมทำได้ยาก ซึ่งมันค่อนข้างสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในขณะนี้มีอำนาจหนึ่งที่ครอบงำคนในชาติไว้ และอีกอำนาจหนึ่งทางโครงสร้างที่ควบคุมคนไว้ใต้กรอบของสิ่งที่เรียกว่า ค่านิยมความเชื่อของคนในสังคม ที่ยังคงการอุปถัมภ์และระบบเส้นสายไว้ทำให้การใช้อำนาจทั้งทางบวกและทางลบ ผูกขาดไว้กับคนเหล่านี้ มิติทางเศรษฐกิจเองคนมีทรัพย์สิน มีธุระกิจมากก็ผูกขาดในสังคมมากเพราะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่า มีเงินมากก็มีอิทธิพลมาก หากมองในมิติทางเพศวิถี ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากครอบครัว สถานศึกษา การการขัดเกลาทางสังคม(Socialization) รวมไปถึงการปลูกฝังจนเป็นความเชื่อ(Internalization) ทำให้การยอมรับในเรื่องเพศทางสังคมในด้าน การมองเพศสภาพอื่นแตกต่างไปไม่เหมือนกับความคิดเดิมว่ามี2เพศ แต่ก็มีการพัฒนาและยอมรับมากขึ้นจากในอดีต แต่ก็ยังคงมีกลุ่มความเชื่อ ทัศนคติเดิมหลงเหลืออยู่อย่างแน่นอนในสังคมจะไม่ค่อยพูดในเรื่องเพศ การซื้อถุงยางอนามัย หรือการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในครอบครัว หรือบางโรงเรียน และค่านิยมความเสียสละที่คนมักจะวิจารณ์ถึงในเรื่องการสละที่นั่งให้เพศหญิง การใล้สำนวน คำที่ดูถูกดูแคลนผู้หญิง ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง รักนวลสงวนตัวเป็นต้น มีการเชื่อมโยงถึงศาสนาผู้หญิงกับประจำเดือนเป็นของต่ำ มีพื้นที่ที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าได้ แต่อวัยวะเพศของผู้ชายถูกกราบไว้บูชา มันแสดงให้เห็นว่าค่านิยมและการขัดเกลาของสังคมไทยมันเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดโดยการใช้อำนาจในครอบครัวในการกำหนดหรือครอบงำความคิด เมื่อไปสู่สถาบันการศึกษา การทำงาน สังคม ก็จะมีลักษณะแนวคิดคล้ายๆกัน การสะท้อนความคิด ความเชื่อในการแบ่งงานทางสังคมเชิงเพศภาวะ (Gender structure) คือการที่สังคมมีวัฒนธรรมค่านิยมในเรื่องเพศเกี่ยวกับ การกำหนดบทบาทหน้าที่ผ่านการประกอบอาชีพ โดยผู้หญิงมีความเท่าเทียมไม่เท่ากับผู้ชายแม้ว่าจะมีความพยายามทำให้เท่ากันแต่ ในความเป็นจริงจากอดีตจนถึงปัจจุบันเห็นได้ว่า ผู้ชายมักจะมีบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าและมีรายได้มากกว่าผู้หญิง เช่นผู้บริหารระดับสูง นักการเมือง ข้าราชการตำแหน่งสูงๆ แพทย์ ผู้พิพากษา เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้หญิงประกอบอาชีพบริการ ทั้งนวดแผนโบราณ ช่างตัดผม ร้านเสริมสวย ซึ่งรายได้ไม่มากเท่าผู้ชาย แสดงให้เห็นถึงอำนาจทางเพศที่ผู้ชายมักมีพลังบางอย่างที่อยู่สูงกว่าผู้หญิง อีกด้านหนึ่งในเรื่องพื้นที่ ในพื้นที่ส่วนตัว(Private spare)ผู้หญิงถูกกดอยู่ในกรอบอำนาจของสังคมที่ต้องอยู่บ้าน เลี้ยงลูก แต่ผู้ชายมักออกไปทำงานปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่สาธารณะ(Public spare)มากกว่า ถึงแม้ว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแต่ค่านิยมวัฒนธรรมของสังคมยังคงเป็นลักษณะนี้ สังคมไทยคงหนีคำว่าอำนาจนิยมไม่ได้อย่างแน่นอนเพราะค่อนข้างที่จะฝังรากลึกในทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีวิต จะถูกหล่อหลอมตามระบบการอุปถัมภ์ ชนชั้น และค่านิยมในสังคมแบบผิดๆจนนำมาสู่การ ไดอำนาจในระดับต่างๆ และถูกผลิตซ้ำผ่านสำนวน สื่อ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม แน่นอนว่าการหายไปของสังคมชายเป็นใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง Berenice fisher อธิบายว่าการกระทำเหล่านี้เกิดจากการผลิตซ้ำๆ อาจเรียกว่าการมอมเมาเบ็ดเสร็จ เพื่อยกระดับทางจิตสำนึก โดยสังคมและวัฒนธรรม สร้างประสบการณ์และความรู้สึกนั้นขึ้นมา สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาค่อนข้างยากน่าจะต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะค่านิยมของสังคมที่อาจจะต้องมองและเปลี่ยนทัศนคติใหม่ สถาบันครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ต้องปลูกฝังและสร้างพลเมืองที่เกิดมาใหม่ให้มีทัศนคติที่ดี ใช้อำนาจในทางที่ควรจะเป็น สร้างและขัดเหกลาคนรุ่นหลังใหม่ รวมไปถึงกฎหมายหลายข้อเกี่ยวกับการกำหนดสถานะภาพทางเพศเองก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยน
อ้างอิง: ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
กวีประชาไท: ใครกันแน่ที่ทำเสียของ Posted: 19 Aug 2018 06:46 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 20:46 แผ่นดินทองท้องถิ่นแผ่นดินธรรม พวกใครกำลังอยากดื้อรื้อกฎหมาย โดนกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กจนเลิกหลง ออกขับไล่ไสส่งปลงสังขาร อ้างตรงนั้นตรงกันไหมเข้าใจนะ พวกไหนละจะเข้าใจไหมตามแผน ตรวจคะแนนแทนที่ต้องมีทหาร กรรมการร่วมรับนับทวนท่อง แจ้งจับยายขายสาโทโธ่ข้าวหมาก ในยามยากยิ่งยุ่งยากฉากนี้หนอ ฉากนักสู้สู่เมืองเคืองปากท้อง ปี 52 ของเรื่องต่อเนื่องขยาย เสียลูกปืนหมื่นแสนล้านขานเสียของ ท่วงทำนองของระบอบอันลอบกัด พี่น้องชาวรากหญ้ามาจากชนบท มาถามกฎกติกาว่าถลำ
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ศิลปินใน 'เบอร์ลิน' เผชิญปัญหาความยากจน สวัสดิการหลังเกษียณต่ำ และการเหยียดเพศในวงการ Posted: 19 Aug 2018 04:33 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 18:33 สื่อศิลปะระบุถึงปัญหาความยากจนของศิลปินในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่มีรายได้น้อยและโอกาสได้รับสวัสดิการเป็นจำนวนเงินไม่มาก นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศทั้งเรื่องรายได้ โอกาสจัดแสดงงาน และการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวงการ
19 ส.ค. 2561 เว็บไซต์สื่อศิลปะดิอาร์ตนิวส์เปเปอร์รายงานว่า ศิลปินในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนียังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน สวัสดิการที่น้อยนิด และช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่สูงถึงร้อยละ 28 ถึงแม้ว่ากรุงเบอร์ลินจะเป็นศูนย์กลางการสร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญรองจากนิวยอร์กก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจศิลปิน 1,745 ราย ทำให้ทราบว่าศิลปินเหล่านี้มีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 9,600 ยูโรต่อปี (ราว 364,000 บาท) แต่ก็มีศิลปินครึ่งหนึ่งที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 ยูโรต่อปี (ราว 189,000 บาท) งานวิจัยระบุอีกว่าในข้อนี้มี "เรื่องอื้อฉาวที่ซุกซ่อนอยู่" คือการที่ศิลปินชายมีรายได้สูงกว่าศิลปินหญิงมาก โดยศิลปินชายมีรายได้เฉลี่ย 11,662 ยูโรต่อปี (ราว 442,000 บาท) ขณะที่ศิลปินหญิงมีรายได้เฉลี่ยเพียง 8,390 ยูโรต่อปี (ราว 318,000 บาท) นี่แสดงให้เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศมีมากถึงร้อยละ 28 เป็นจำนวนที่สูงกว่าช่องว่างรายได้จากทุกวิชาชีพโดยเฉลี่ยร้อยละ 21 ผลการสำรวจระบุอีกว่าศิลปินเบอร์ลินส่วนใหญ่ต้องอาศัยแหล่งรายได้จากแหล่งอื่น และร้อยละ 80 ทำงานในธุรกิจที่สูญเสียรายได้ มีเพียงศิลปินชายร้อยละ 24 และศิลปินหญิงร้อยละ 19 เท่านั้นที่สามารถยังชีพได้ด้วยการทำงานศิลปะของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนสวัสดิการในวัยเกษียณ มีศิลปินมากถึง 9 ใน 10 ที่ต้องเผชิญกับความยากจนในช่วงสูงอายุ พวกเขาประเมินว่าอาจจะได้รับสวัสดิการหลังเกษียณเพียง 280-357 ยูโร เท่านั้น (ราว 10,600-13,600 บาท) แฮร์เงน วอบเกน ผู้เขียนงานวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่าเขาจำนวนตัวเลขส่วนใหญ่ในงานวิจัยนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่การคาดการณ์สวัสดิการหลังเกษียณจำนวนน้อยมากขนาดนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยที่งานวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับสมาคมวิชาชีพทัศนศิลป์เบอร์ลิน คณะผู้วิจัยเรื่องนี้หวังว่าผลการสำรวจจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของเบอร์ลินได้รับรู้และทำให้เกิดการอภิปรายเรื่องการมีส่วนร่วมในนโยบายวัฒนธรรมของเบอร์ลินในรูปแบบใหม่ได้ ผลการสำรวจยังเผยให้เห็นกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในวงการศิลปะซึ่งเกิดทั้งกับหญิงและชาย โดยที่ผู้หญิง 1 ใน 3 ระบุว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศและมีผู้ชายร้อยละ 9 รายงานในเรื่องนี้ อีกกรณีหนึ่งคือการที่ปริมาณการจัดแสดงงานเดี่ยวให้กับศิลปินชายยังมีมากกว่าศิลปินหญิงร้อยละ 22 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการเหยียดเพศในวงการศิลปะของเบอร์ลิน ที่มีศิลปินอาศัยอยู่ราว 8,000 คน เรียบเรียงจาก Berlin artists face poverty, meagre pensions and a yawning gender pay gap, survey reveals, The Art Newspaper, 16-08-2018 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
กกต. แจงยกเคสเลือกตั้ง 24 ก.พ. เร็วที่สุดเพื่อให้ สนง. เตรียมพร้อม 'อภิสิทธิ์' ชี้ยืดหยุ่นได้ Posted: 19 Aug 2018 04:06 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 18:06 ประธาน กกต. ยันพร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ตามกรอบที่รัฐบาลเคยหารือกับพรรคการเมือง ยกเคสเร็วสุด 24 ก.พ. 2562 ช้าที่สุด 5 พ.ค. 2562 เพื่อให้สำนักงานเตรียมพร้อม คาดงบหาเสียงแบ่งเขต 2 ล้าน บัญชีรายชื่อไม่เกิน70 ล้าน 'เพื่อไทย' ชมกล้าประกาศวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. ด้าน 'อภิสิทธิ์' ชี้กำหนดเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ยืดหยุ่นได้ 19 ส.ค. 2561 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงแผนปฎิบัติการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.ที่กำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของสำนักงานที่ได้กำหนดแผนปฎิบัติการเพื่อให้ผู้ปฎิบัติได้ทำงานไปตามแผน โดยวันดังกล่าว กกต.ไม่ได้กำหนดเร็วหรือช้าไป แต่เป็นไปตามที่รัฐบาลและพรรคการเมืองได้เคยหารือและกำหนดกันไว้แล้วว่าถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งวันที่จะจัดการเลือกตั้งเร็วที่สุด คือ 24 ก.พ. 2562 และช้าที่สุด คือวันที่ 5 พ.ค. 2562 โดยทาง กกต.พร้อมตั้งแต่กำหนดแรกอยู่แล้ว ส่วนจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่าไม่ใช่ประเด็นที่ กกต.จะไปพิจารณา สำหรับแผนปฎิบัติการที่ทางสำนักงาน กกต. กำลังดำเนินการยกร่างฯ ในขณะนี้ ทางสำนักงานก็จะเร่งสรุปและเสนอให้ กกต.เห็นชอบโดยเร็ว ซึ่งน่าจะลงนามก่อนกฎหมายลูก 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ นายอิทธิพร ยังชี้แจงเรื่องการสรรหา ส.ว.ว่าไม่ได้ดำเนินการ 3 วัน อย่างที่สังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่เนื่องจาก ส.ว.จะมีต้องการสรรหาในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งในแต่ละระดับจะทำพร้อมกันวันเดียวกันทั้งประเทศ รวมแล้วจะทำไม่เกิน 3 ครั้ง ไม่ใช่ทำ 3 วัน และจากแผนงานเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ทันแล้วเสร็จตามกฎหมายกำหนดคือก่อนเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน คาดงบหาเสียงแบ่งเขต 2 ล้าน บัญชีรายชื่อไม่เกิน 70 ล้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายตอนหนึ่งในการจัดทำแผนปฎิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ถึงการทำไพรมารีโหวตว่าในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตรวจสอบให้การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมทั้ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดจะต้องรู้และเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งมีหลักการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ต่างกัน พรรคเก่าจะต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีพรรคตามกฎหมายเดิม 69 พรรค พรรคที่แจ้งชื่อใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนไปแล้ว 4 พรรค ซึ่ง กกต.จะต้องพยายามให้พรรคการเมืองใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้ "ทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคเลย เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่หมด แต่ละพรรคจะต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหาสมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ ที่ กกต.ส่งไปยัง คสช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา" นายแสวง กล่าว นายแสวงกล่าวอีกว่าการทำไพรมารีโหวตถ้าทำตามมาตรา 145 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีรูปแบบทั้งหมด 7-9 รูปแบบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหัวหน้าพรรคก็จะต้องเป็นคนเซ็นรับรอง หรือถ้าทำแบบภาคกระบวนการทำก็ไม่ได้น้อยลงเลย เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิกพรรคในเขตนั้นๆต้องมีส่วนร่วม แต่ก็มีอีกรูปแบบคือการรับฟังความเห็น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด กกต.ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้าให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค กกต.ก็สบาย อย่างไรก็ตาม เรื่องจะมีไพรมารีโหวตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของ กกต. เราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อว่าจะมีไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน กกต.ก็สามารถทำได้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนายแสวง กล่าวว่า ครั้งนี้เปลี่ยนไปเยอะ เพราะจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องมือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม โดย กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกว่า 5 เรื่อง อาทิ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค ซึ่งจากการคำนวนเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองกับ กกต.เคยมีข้อเสนอว่าอาจจะต้องกำหนดค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อผู้สมัครแต่ละคนในแบบแบ่งเขต แต่สุดท้ายก็จะต้องให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกครั้งก่อนสรุปยอดเงินที่ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ตั้งแต่ 20-70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคส่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าน่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีปัญหาว่าจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างไร เพราะนอกจากตัวผู้สมัครเอง ยังมีกองเชียร์อีก 'เพื่อไทย' ชมกล้าประกาศวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.นายสามารถ แก้วมีชัย แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดกรอบการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจและขอชื่นชม กกต.ชุดใหม่ ที่หลังรับตำแหน่งก็มีการประชุมและประกาศวันเลือกตั้งทันที โดยไม่ต้องรอฟังใคร ทั้งนี้หากไล่ดูเวลาตามที่รัฐธรรมนูญประกาศไว้นั้น วันที่ 24 ก.พ.2562 ถือว่ายังอยู่ในกติกา และแม้ว่าตอนนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งหมด แต่หากย้อนไปดูคำสั่ง คสช.ที่ 53/ 2560 ในข้อที่ 8 ที่เขียนถึง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ก็จะเห็นว่าหากมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใดให้ กกต.เสนอต่อ คสช. เพื่อยกเลิกประกาศ หรือ คำสั่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของพรรคการเมือง ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปลดล็อคพรรคการเมือง ดังนั้นจึงไม่มีอะไรน่าห่วง และถือว่ายังมีเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ได้พอสมควร นั่นก็คือ 90 วันหลังกฎหมายประกาศใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูรายละเอียดการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวตอีกครั้ง แต่เชื่อว่าคงแก้ไขให้การทำไพรมารีโหวตง่ายขึ้น 'อภิสิทธิ์' ชี้กำหนดเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ยืดหยุ่นได้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดโรดแมป ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งวันที่ 4 มกราคม 2562 และ เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะต้องรอให้มีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 150 วัน ตนทราบเพียงเท่านี้ ดังนั้นต้องขึ้นอยู่ว่ากฎหมายจะบังคับใช้เมื่อใด และเมื่อบังคับใช้แล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าทางกกต. ชุดใหม่ จะมีนโยบายที่จะกำหนดความชัดเจนในการเลือกตั้งวันใดอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการที่ กกต.กำหนดวันขึ้นมานี้ เป็นการคำนวณตามเวลาที่ระบุไว้ แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้เสมอ จึงเป็นเพียงการวางกำหนดการไว้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่สำคัญคือพรรคการเมืองต้องสามารถดำเนินกิจกรรมตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ. ศ. 2560 คือ เรื่องการตั้งสาขา การมีสมาชิก การประชุมใหญ่ของพรรค การแก้ข้อบังคับพรรค เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งคิดว่าตรงนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นทุกพรรคก็สามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งได้ ส่วนเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งนั้น คิดว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทำให้เร็วที่สุด เพราะว่าจะเป็นตัวบอกว่าการทำไพรมารีโหวตทำอย่างไร เมื่อถามว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ทาง กกต. เคยระบุว่าควร ใช้ มาตรา 44 นั้นนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าคิดว่าเป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายมากกว่าส่วนจะใช้วิธีใดก็สุดแล้วแต่ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่า กกต. กังวลใจ ถ้าต้องรอตามกำหนดการเดิม ทุกอย่างก็จะกระชั้นชิด ดังนั้นถ้ายอมคลายเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อให้พรรคการเมืองเดินหน้าแบ่งเขตการเลือกตั้งได้จะดีที่สุด ส่วนการจัดทำไพมารีโหวต ควรจะเป็นอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ปรากฎอยู่ ทางพรรคไม่ได้วิตกกังวลอะไร ขอเพียงยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองให้ก็จะเดินหน้าขับเคลื่อนในเรื่องนี้ตามกฎหมาย และคิดว่าทุกพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายบัญญัติมาให้ทำเรื่องนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ด้วย แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้นถ้าคสช.ปลดล็อคให้แล้วทำกิจกรรมได้ และเมื่อได้รับอนุญาตทุกพรรคก็มีหน้าที่ไปหาสมาชิก แล้วให้สมาชิกมาลงคะแนนก็เท่านั้นเอง เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่ควบคู่ไปกับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ กกต.และรัฐบาล ในการดำเนินการ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ตนคิดว่าต้องไม่มีอะไรที่จะไปกระทบกฎหมาย "เราอยากเห็นการเลือกตั้งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ถ้าจะเป็นแบบนั้นได้ เราต้องทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรม ดังนั้นใครที่มีหน้าที่ ต้องช่วยกันดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศให้ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่า 4% Posted: 19 Aug 2018 03:00 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 17:00 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ผลกระทบของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ต่อภาคส่งออก และผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจตุรกีต่อตลาดการเงินโลกอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2561 ของไทยต่ำกว่า 4%
19 ส.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่าผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ผลกระทบของสงครามการค้าจีนสหรัฐต่อภาคส่งออก และผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจตุรกีต่อตลาดการเงินโลกอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสามของไทยต่ำกว่า 4% แม้นน้ำท่วมในปีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศและเขตนิคมอุตสาหกรรมเช่นปี 2554 แต่ผลกระทบของน้ำท่วมกระจายตัวในวงกว้างทั้งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและบางส่วนของภาคใต้ กระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตการเกษตรและการท่องเที่ยวทำให้กำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบภัยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น่าจะเกิน 0.3% ของจีดีพีแต่ได้สร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในต่างจังหวัดอย่างมาก การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมายังมีลักษณะเติบโตแบบกระจุกตัวโดยพึ่งพาผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก การคาดการณ์ว่าช่วงที่เหลือของปีการกระจุกตัวจะค่อยๆคลี่คลายลงอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ชนบทอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขาดรายได้ นอกจากนี้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง ประเทศต่างๆอาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯมาไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงกว่า 27% และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตุรกีนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้นและน่าจะยืดเยื้อ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นไทยไปอีกระยะหนึ่งและนำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากเศรษฐกิจ Emerging Markets มากขึ้นได้ และมีความเป็นไปได้สูงที่ตุรกีต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก หนี้สินต่างประเทศในระดับสูง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ ธนาคารสเปนเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติของตุรกีที่ใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 35% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ณ ไตรมาส 1 ปี 2561 หรือราวๆ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีค่าเท่ากับ 6% ของ GDP ปี 2560 ของสเปน ส่งผลให้หุ้นธนาคารสเปนปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา เพิ่มความเสี่ยงของปัญหาวิกฤติหนี้สินของสเปนรอบใหม่ที่อาจปะทุขึ้นมา มีหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets มีความเปราะบางและความเสี่ยงเช่นเดียวกับตุรกี ซึ่งนักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เช่น อาร์เจนตินา เวเนซูเอลา บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น และ ประเทศเหล่านี้อาจเป็นเป้าหมายของการเก็งกำไรค่าเงินและการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของนักลงทุนต่างชาติ และ อาจทำให้ธนาคารกลางประเทศเหล่านั้นปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุนระยะสั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าผลกระทบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตุรกี มีผลกระทบต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยตรงกับประเทศตุรกีไม่มากนัก ประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่าประเทศอื่น คือ เวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีสัดส่วนส่งออกไปตุรกีคิดเป็น 1.2% ของจีดีพี ส่วนผลกระทบนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐฯต่อไทยจากมาตรการ Safeguard Tariff นั้นส่งผลต่อสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯแต่การส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆยังขยายตัวดีและสามารถชดเชยตลาดนำเข้าในสหรัฐฯได้ นอกจากนี้ไทยยังได้รับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ในปี 2561-2563 มูลค่าการส่งออกของไทย ณ ขณะนี้จึงยังเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามผลกระทบจากสงครามการค้าจีนสหรัฐฯจะส่งผลต่อภาคส่งออกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ในระยะต่อไป ส่วนเรื่องผลกระทบน้ำท่วมนั้น แม้นประเทศไทยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติซึ่งสามารถสั่งการนโยบายและการบริหารจัดการน้ำอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้วยกลไกดังกล่าวน่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของไทยยังคงไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในเชิงรุก และยังคงทำงานแบบตั้งรับและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายที่น่าจะป้องกันได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำหลังจากแผนการลงทุนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกไป ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
'กรมบัญชีกลาง' แจง หลัง 'เรืองไกร' ชี้ไร้ผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวในรายงานการเงินแผ่นดิน Posted: 19 Aug 2018 01:22 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-19 15:22 หลัง 'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' จี้ ก. คลัง แจงไร้ผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวในรายงานการเงินแผ่นดิน กรมบัญชีกลางเผยเป็นการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม ขณะที่ ธ.ก.ส.เป็นผู้ทำบัญชีเพื่อแสดงต่อรัฐบาลประกอบการขอตั้งงบประมาณ
19 ส.ค. 2561 เว็บไซต์ Voice TV รายงานว่านางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ระบุมีข้อสังเกตจากรายงานการเงินแผ่นดินเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่มีอยู่จริง ดังนี้ 1. หลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินในปัจจุบันเป็นหลักการที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการปรับเปลี่ยนหลักการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ให้จัดทำตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม (Modified Accrual Basis) โดยมีขั้นตอนโดยสรุป ดังนี้ 1.1 กรมบัญชีกลางทำบัญชีชุดรัฐบาลโดยบันทึกข้อมูลการรับจ่ายเงินคงคลังของรัฐบาลเป็นหลักด้วยเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ซึ่งประกอบด้วย รายการเงินรายได้แผ่นดิน เงินงบประมาณรายจ่าย และเงินนอกงบประมาณที่ส่วนราชการฝากไว้กับกระทรวงการคลังและจะปรับปรุงบัญชีค้างรับค้างจ่ายตามเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 1.2 กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูลที่มีสาระสำคัญเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของรัฐบาลจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐบาล ได้แก่ ข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ข้อมูลเงินลงทุนจากสำนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้อมูลหนี้สาธารณะจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตามลำดับ มาปรับปรุงบัญชีชุดรัฐบาล 1.3 กรมบัญชีกลางนำข้อมูลบัญชีตามข้อ 1.1 และ 1.2 แสดงในรายงานการเงินแผ่นดินส่งให้ สตง.ตรวจสอบและรับรอง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา 2. โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินการไปก่อนแล้วรัฐบาลจึงตั้งงบประมาณชดใช้คืนเป็นรายปีจนกว่าจะครบวงเงิน ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงเป็นผู้ทำบัญชีโครงการนี้เพื่อแสดงต่อรัฐบาลประกอบการขอตั้งงบประมาณ ธ.ก.ส.จึงไม่ต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นรายการที่ไม่ต้องนำมาทำบัญชีในชุดรัฐบาล อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางจะรับรู้รายการนี้และลงบัญชีเฉพาะการจ่ายเงินงบประมาณใช้คืนให้ ธ.ก.ส.โดยลงบัญชีเป็นรายจ่ายตามงบประมาณตามปกติในปีที่ ธ.ก.ส. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3. จากหลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม (Modified Accrual Basis) ดังกล่าว จึงไม่มีหรือไม่สามารถมีรายการผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง จำนวน 536,908.30 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดย ธ.ก.ส.เป็นรายการบัญชีค่าใช้จ่ายแยกต่างหากในรายงานการเงินแผ่นดินที่กรมบัญชีกลางจัดทำสำหรับปีสิ้นสุด 30 กันยายน 2558และ 2557 ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการบัญชีที่ได้เสนอ ครม.รับทราบ อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีวาระประชุมรับทราบรายงานการเงินแผ่นดินสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2558 และ 30 ก.ย. 2557 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยเอกสารประกอบการพิจารณาไว้ด้วยจำนวน 41 หน้า โดยรายงานการเงินแผ่นดินดังกล่าว ตรวจสอบรับรองโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีติรับทราบเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 ตามที่ รมว.คลัง เสนอ ซึ่งในรายงานดังกล่าวแสดงไว้ชัดเจนว่า ไม่มีผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด อีกทั้ง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง คดีแดงที่ อม. 211/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 หรือที่เรียกว่า "คดีโครงการรับจำนำข้าว" ปรากฏว่า ในหน้า 62 ได้ระบุถึงผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ไว้ด้วย ดังนั้น ผลขาดทุนดังกล่าวหากมีจริง ก็ควรมีอยู่ในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 ด้วยเช่นกัน แต่ตามข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีเสนอ สนช. มีเพียงตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 301,100.79 ล้านบาท โดยไม่มีเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปรากฏอยู่ในเอกสารทั้ง 41 หน้า ไว้แต่อย่างใดเลย ดังนั้น กรณีดังกล่าว จึงมีข้อสังเกตว่า ผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ที่ถูกนำไปกล่าวอ้างในคดีนั้น ไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่ เพราะหากผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท มีอยู่จริงตามข้อมูลที่ปรากฏในคำพิพากษา ผลขาดทุนดังกล่าวก็จะต้องนำไปบันทึกบัญชีไว้ในรายงานการเงินแผ่นดินด้วย ซึ่งจะทำให้มีตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นจำนวน 536,908.30 + 301,100.79 = 838,009.09 ล้านบาท แต่เมื่อ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้ว กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ผลขาดทุนที่ใช้ในคดีนั้นเกิดจากการตีค่าคุณภาพข้าวให้เสื่อมกว่าความเป็นจริง แต่ผลจาการตรวจสอบรับรองโดย สตง. ย่อมแสดงว่า ข้าวในขณะนั้นเป็นข้าวดีไม่ได้เสื่อมสภาพแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีเหตุให้คิดตามว่า การที่ต่อมารัฐบาลปัจจุบันมีการนำข้าวดีไปขายเป็นข้าวเสื่อมนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือไม่ และมีใครได้ส่วนต่างจากการขายข้าว หรือไม่ รวมทั้งยังมีข่าวว่า มีข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย ด้วยเหตุนี้ตนจึงจะไปยื่นหนังสือให้ รมว.คลังได้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสังคมว่า เหตุใดในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จึงไม่มีผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อผลการตรวจสอบของ สตง. ถูกต้องแล้ว รวมทั้งคณะรัฐมนตรีและ สนช. รับทราบไปแล้วนั้น ย่อมแสดงว่า ผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท นั้น ไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่ และจะขอให้ตรวจสอบข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย โดยจะไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ในวันที่ 20 ส.ค. นี้ เวลา 10.00 น. ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น