โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กวีประชาไท: น้ำตาหยดสุดท้ายแห่งสยาม

Posted: 02 Aug 2018 10:33 AM PDT

อินทร์,พรหม ยักษ์,ยมไม่ก้มกราบ
มนุษย์หยาบ,พาล,สันดานชั่ว
แต่มนุษย์ด้วยกันที่หวั่นกลัว
ก้มหัวให้เหลิงเล่นเป็นเทวดา

สวามิภักดิ์นักษัตร มัดตราสังข์
เหวบูชายัณฑ์คลั่งดังอรรถกถา
คลื่นธูป,เทียนอธรรมย่ำบีฑา
ไห้หาทั้งความคิดจิตวิญญาณ

เลือด - ยศ หยดหญ้ายาตราตก
ตระหนกจตุสดมภ์,ตรมหย่อมย่าน
ย้อมมหาวิหารสิ้นทุกดินดาน
เหลือทานแรงฉุดหยุดโมงยาม

หยาดหนึ่งจึงเพาะเพื่อเสาะแสวง
น้ำตาหยดสุดท้ายแห่งสยาม
ตะเกียงจรรลัยยุคไหม้ลุกลาม
จึงงามยามไหว้,หาตายดี

อินทร์,พรหม ยักษ์,ยมไม่ก้มกราบ
มนุษย์ผู้บาปล้น,ปล้น,กดขี่
แหละมนุษย์ด้วยกันทุกวันนี้
ใช่หากมี. . .แต่ตาบอดตลอดไป

ปั้นเทพสถาปนามายาคติ
อุตริ - มุสา เปลี่ยนฟ้าใหม่
เชิญเถิดเปลือยเท้าเปล่าก้าวลุยไฟ
ประนมมือให้มันไหม้ - ใต้ส้นตีน

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผี ศิลปะ งานวิจัย สิ่งที่ยังต้องถามแม่ว่ามีจริงหรือเปล่า 2

Posted: 02 Aug 2018 10:15 AM PDT

ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินละครโรงเล็ก รวมถึงศิลปินร่วมสมัยแบบอื่นๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ถึงตอนนี้น่าจะมีอายุที่จริงจังเพียงหนึ่งปี หากคุณมาจากแวดวงศิลปะ และในบทที่แล้วคุณรู้สึกเหมือนกำลังอ่านปัญหาของคนอื่น ในบทนี้น้ำเสียงของผมคงจะกลายเป็นคนอื่นที่กำลังเขียนถึงเรื่องของคุณ นี่คงเป็นผีตัวที่ผมเห็นในบ้านของคุณ ไม่รู้คุณเห็นเป็นอื่นไหม

ก่อนที่จะมาร่วมงานใกล้ชิดกับศิลปะ ผมสงสัยว่าทำไมทุกคนที่มาดูอะไรแบบนี้จะต้องรู้จักกันเองเกือบหมด เพื่อนผมที่เป็นนักออกแบบและอยู่ใกล้ชิดกับแวดวงศิลปะมากกว่าผมเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเข้าไปในงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะเพราะสนใจหัวข้อของงาน แต่กลับพบว่าตัวเองต้องหลบไปอยู่ในห้องน้ำเพราะอึดอัดจากสภาพที่ทุกคนรู้จักกันหมดแต่เขาไม่รู้จักใคร พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันเกิดขึ้นเพราะไม่มีตลาดของบุคคลทั่วไป

เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะประชาสัมพันธ์ สิ่งที่เขาต้องคิดคือทำอย่างไรให้มีคนมาดูภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่เมื่อเราคิดถึงการประชาสัมพันธ์ละครโรงเล็ก หรืองานศิลปะร่วมสมัย คำถามที่ติดอยู่ในอกแต่ก็มักต้องข้ามไปเพราะถ้ามัวคิดเรื่องนี้ก็จะทำให้ทำงานตรงหน้าไม่ทัน คือทำอย่างไร (ต่างหาก) ให้มีคนรู้ว่ามีรูปแบบของสุนทรียะอย่างพวกเราอยู่

ช่วงมัธยมปลายผมเรียนเกี่ยวกับการออกแบบ มันเรียกว่าศิลป์ออกแบบ ผมเข้าชมรมละครเพื่อไปทำงานออกแบบ ทำโปสเตอร์ และคิดเรื่องการประชาสัมพันธ์ ในช่วงนั้นผมเข้าใจผิดว่าคำว่าประชาสัมพันธ์ หรือ public relations จะสามารถทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของปวงประชา เป็นการสื่อสารของมนุษย์ อะไรทำนองนั้น ผมไม่มีความรู้เลยว่าอะไรคือสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ หรืออย่างน้อยก็ศิลปศาสตร์ ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมสนใจมากกว่า ผมถึงขั้นเรียกตัวเองว่า public relationist อยู่ช่วงหนึ่ง เป็นคำที่คิดเองเออเองขึ้นมา ในขณะที่วิชาสังคมศึกษาไม่อยู่ในสายตาผมเลย ความคับแคบอะไรกันที่ปิดผมเอาไว้จากการรับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร ต้องไปหามันที่ไหน และจะอยู่กับมันอย่างไร แน่นอนว่าตอนนั้นไม่มีเลยสักวินาทีที่ผมเห็นว่าการละครก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทั้งที่มันอยู่ใกล้จนจะตำตา อะไรก็ไม่รู้มาบังตาอยู่เต็มไปหมด

ละครเวทีที่ผมเคยดูก็คือละครในค่ายลูกเสือ ผมไม่เคยเข้าชมรมละครเพราะอยากทำละคร ผมไม่รู้จักมันมาก่อน แต่บังเอิญชมรมละครเขาให้เราเรียนละครรวมกันหมด หมายความว่าผมก็ต้องเรียนเกี่ยวกับบท การจัดการเวที หรือแม้แต่การแสดงก็ด้วย ระหว่างที่เรียน ผมรู้สึกว่าความรู้มันจริงจังกับเรามากกว่าที่ทุกวิชาเคยจริงจังกับเรา ช่วงมัธยม ความรู้ไม่จริงจังกับเราสักอย่างผมฟังอะไรไม่รู้เรื่องเลยจนแทบไม่เคยอยู่ในห้องเรียนในช่วงมัธยมปลาย พอเจอละครที่รู้เรื่องก็เลยชอบ เลยทำและดูละครโรงเล็กต่อมาหลังจากนั้น (จนถึงประมาณตอนนั้น ผมก็ยังไม่สำนึกว่ามันพูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์) คนที่เข้ามาสอนละครให้กับชมรมมาจากสายละครโรงเล็ก ผมรู้สึกว่าเขาพูดในสิ่งที่ผมอยากจะพูดแต่พูดไม่ออกได้ ผมรู้จักคำว่า "ละคร" ใหม่หลังจากนั้น และใช้เวลาอีกไม่นานก่อนที่จะรู้ว่ามีความจริงจังอีกระดับที่ "ละคร" ก็เป็นศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเข้มข้น รู้เมื่อไม่นานมานี้เอง

ผมสนใจสภาวะตอนที่ผมยังไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อะไรเรียกว่าอะไร ทำไมผมถึงไม่รู้ และผมสนใจความบังเอิญที่ทำให้ผมได้เริ่มรู้ในที่สุด ความไม่รู้และความบังเอิญเป็นสิ่งที่คนทั่วไปอย่างพวกเราเจอก่อนที่จะมาเจอศิลปะ และเจอกับมันตลอดชีวิต แต่เราคิดถึงมันน้อยมากในฐานะผู้เล่นหนึ่งของสังคมที่กำหนดความเป็นคนทั่วไป

เราจะคิดถึงความไม่รู้และความบังเอิญได้อย่างไร?

บ้านผมอยู่ในย่านที่มีโรงละครเล็กๆ ห้องแสดงศิลปะเล็กๆ กระทั่งร้านที่เปิดดนตรีใต้ดินร้านเล็กๆ เต็มไปหมด สีลม เจริญกรุง สาทร นี่เป็นย่านที่ศิลปินนานาชาติในกรุงเทพวิ่งไปมาเพื่อสร้างบทสนทนาทางศิลปะต่อกันมาสักพักใหญ่ และผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไม่รู้ว่าพวกมันมีอยู่ ก่อนหน้านี้ผมกับเพื่อนๆ แม้จะเป็นเพื่อนๆ ในชมรมละครก็ตาม เวลาพวกเราจะพักผ่อนหรือเที่ยวเล่นหาความสนุกให้ตัวเอง พวกเราถ่อไปดูหนังกันที่สยาม หนังกับห้างคือสิ่งที่แค่เกิดมาก็รู้ว่ามันมีอยู่ พวกเรานั่งรถไฟฟ้าที่ตอนนั้นยังสามารถมองเป็นความสะดวกสบายได้อยู่ ไปห้าง เพื่อดูหนัง ความรุ่มรวยของศิลปะที่พวกเราในตอนนั้นรู้จักก็คือ รายการทีวีกับภาพยนตร์ ส้มตำสลับกับซูชิ และการเดินห้าง เราจะมองไม่เห็นว่าเราเพิ่งเดินผ่านโรงละคร ห้องจัดแสดงงาน หรือร้านอาหารอินเดีย ตะวันออกกลาง มองโกเลีย หรืออื่นๆ อยู่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้แพงไปกว่ากันแต่อย่างใด แต่เราแค่มองไม่เห็น ทั้งๆ ที่ก็บ่นกันว่าเริ่มเบื่อสิ่งที่ทำซ้ำ เหมือนมันเป็นฉากให้เดินผ่านไปเฉยๆ

กับศิลปะและศิลปินในความหมายที่พูดถึงเมื่อไหร่ก็มักจะแคบอยู่แค่ในทัศนศิลป์ ผมรู้จักอยู่สองคนคืออาจารย์เฉลิมชัย กับอาจารย์ถวัลย์ ถือว่าเท่มากแล้วในกลุ่มเพื่อน บางคนถามว่าใครวะอาจารย์เถาวัลย์ ที่บ้านผมมีภาพ (ที่น่าจะซื้อมาจากวัดของ) อาจารย์เฉลิมชัยอยู่สองสามภาพ ราคาไม่กี่พัน ไก่ หมู มังกร ตามปีเกิดของพวกเราคนในบ้าน ศิลปะเหล่านั้นเข้ามาปะทะกับครอบครัวผมได้ก็ด้วยความเชื่อเรื่องราศีของพวกเรา พ่อซื้อมาไว้ในอารมณ์เปลี่ยวเหงาอะไรของเขาสักอย่างตอนขึ้นบ้านใหม่ เขาอาจจะรู้สึกว่ามีศิลปะเอาไว้สักหน่อยก็ดี และมีอะไรไทยๆ อยู่ในบ้านก็ดี ผมรับรู้ว่านั่นคือศิลปะ และศิลปะมีเพียงเท่านั้น

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งรู้ว่าโลกใบนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะร่วมสมัยอยู่ด้วย คือพวกที่มันทำอะไรงงๆ มึนๆ อาจไม่ได้เป็นภาพวาดเพียงอย่างเดียว เวลาเต้นก็งงๆ ละครก็ไม่มีพล็อต หรือเอาตู้ปลามาวางบนสังกะสีแล้วบอกว่ามันเป็นศิลปะ ผมพบว่าพวกมันน่าพอใจแปลกๆ และตีความได้สนุกมาก ผมเริ่มรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ เพราะตามไปดูละครโรงเล็กที่จัดขึ้นในอาร์ตแกลเลอรีเล็กๆ แถวๆ เจริญกรุง มันไม่ใช่กิจกรรมของคนรวยอะไรหรอกครับ ดูฟรี งานที่ดีเหล่านี้แทบจะฟรีครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เพราะอย่างที่ว่า มันยังไม่มีตลาด มีแต่คนบ้าที่รักมันและทำมัน และการดูงานร่วมสมัยอื่นๆ เช่นกัน ถ้าคุณไม่ได้อยากได้มันจนขอซื้อกลับบ้าน การเข้าไปเสพพวกมันค่อนข้างที่จะทำได้ฟรี นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่ผมเข้าชมรมละคร อาจารย์เฉลิมชัยเข้าบ้านผมได้ มาจนถึงผมเริ่มสนุกกับงานในแกลเลอรีที่เจริญกรุง เกิดจากความบังเอิญที่สิ่งหนึ่งที่เรารู้จัก พาไปกระทบกับอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้จัก ไม่มีตอนไหนเลยที่จู่ๆ ผมก็พิมพ์ลงไปในกูเกิ้ลว่า "จะไปดูงานศิลปะร่วมสมัยที่ไหนดีวะ" หรือ "ช่วงนี้มีละครโรงเล็กอะไรบ้าง" ประการแรกเพราะผมไม่รู้จักทั้งสองคำนี้ และประการที่สอง แวดวงยังไม่ได้แข็งแรงพอจะใช้คำเดียวกันทั้งหมด อย่างเช่นคำว่า "หนัง" หรือ "ดูหนัง" ที่ให้ความหมายค่อนข้างตายตัว คำว่า "ดูละคร" เป็นของละครโทรทัศน์ มากกว่าละครเวที และมากกว่าละครเวทีโรงเล็ก เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะเข้าหามันได้ด้วยความตั้งใจ

แต่ความบังเอิญนั้นบังเอิญขนาดไหน?

หากคุณอยู่ในประเทศไทย เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะบังเอิญเดินเจอนักการเมือง หรือเดินเจอนักร้องคนโปรดเข้าสักวัน อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่อาจเกิดขึ้นได้สักวัน แต่หากคุณอยู่บนดาวอังคาร ความบังเอิญแบบนี้จะเป็นไปได้ไหม? ในความบังเอิญมีความเป็นไปได้ที่ต่างกัน ความบังเอิญที่ต่างกันสามารถบอกเราได้ว่าเราอยู่ในสภาวะที่เหลื่อมล้ำกับสภาวะอื่นอย่างไร

คำถามของผมก็คือ มันเป็นไปได้ขนาดไหนที่ประเทศนี้ (เอาแค่ในเมืองก่อนก็ได้) จะมอบความเป็นไปได้ที่คุณจะบังเอิญมารู้จักกับศิลปะในแบบที่หลากหลายได้ กับละครโรงเล็ก กับศิลปะร่วมสมัย บนสมมติฐานที่ว่าทุกคนต้องการศิลปะ ต้องการกีฬา การละเล่น ต้องการพิธีกรรมอะไรสักอย่างกันโดยธรรมชาติ เราจะบังเอิญเจอสิ่งที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราต้องการได้มากขนาดไหน

ศิลปะแบบที่ผมกำลังพูดถึงนี้ไม่ได้เป็นของสูง ของแพง หรือของหายากอะไรเลย มันอาจจะอยู่ใกล้ๆ บ้านคุณพอๆ กับร้านอาหารประเทศแปลกๆ ที่คุณไม่เคยเห็นว่ามันเป็นร้านอาหาร แต่แล้วทำไมความใกล้ของมันจึงดูเหมือนไกลเหลือเกินเมื่อคุณไม่รู้ว่ามันมีอยู่ ผมอยากพูดถึงพื้นที่ ความเป็นเมืองและผังเมือง ซึ่งอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย

ผังเมืองกรุงเทพเป็นผังเมืองที่ไม่มีผังเมือง ถ้าคุณพบว่าป้ายบอกทางบอกคุณไม่รู้เรื่อง คุณไม่ผิด มันบอกคุณไม่รู้เรื่องจริงๆ เสียงผู้หญิงใน Google Map ที่นำทางคุณผิดบ่อยๆ มันเก่งมากแล้ว ความไม่ตรงไปตรงมาของผังเมืองเช่นนี้ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดแบบสมัยใหม่กับคุณในส่วนหนึ่งอย่างประหลาด วิธีคิดแบบสมัยใหม่ในแบบที่เราเชื่อว่าเราทุกคนมีบทบาทเดียว ของทุกสิ่งมีบทบาทเดียว ศาสตร์ทุกศาสตร์มีหน้าที่เดียว เป้าหมายมีเป้าเดียว คุณได้ปริญญาโดยมีความเชี่ยวชาญหนึ่งเดียว เขียนบทความต้องเขียนให้มีใจความเดียว คุณจะเห็นภาพจุดมุ่งหมายของคุณชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อระหว่างทางไม่มีอะไรให้คุณชื่นชม คุณเดินผ่านความวุ่นวายทั้งหมดนี้เพื่อเข้าไปที่เป้าหมายที่คุณเลือกเป้าหมายเดียว ถ้ามีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินได้ก็ยิ่งดี มันจะได้วิ่งตรงๆ ไปถึงที่เดียวที่คุณจะไปตรงนั้น คุณอยากจะลืมๆ ไปซะว่าระหว่างทางคุณจะต้องฝ่าฟันอะไรบ้างในเมืองเมืองนี้ที่ทุกอย่างออกมากองเละเทะเพราะไม่มีอะไรถูกออกแบบมาให้เป็นที่เป็นทาง บังเอิญว่าของรอบๆ ตัวคุณมันไม่ได้มีบทบาทชัดเจนแบบที่วิถีชีวิตของคุณต้องชัดเจน คุณเลยต้องสร้างความชัดเจนในแบบของตัวเองขึ้นมา การศึกษาและระบบทางการต่างๆ เองในประเทศนี้ก็เป็นแบบนั้น มันทำให้คุณลืมเรื่องไร้สาระไปพร้อมๆ กับไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงที่คุณต้องการ เป็นเหมือนเมืองของเราที่แม้จะมีสิ่งต่างๆ อยู่ก็ไม่รู้ว่าจะไปหามันที่ไหน

คุณออกจากบ้าน เดินลงมาบนถนน ขยะล้นออกมาจากเสาไฟฟ้า มีใครสักคนตั้งแผงอะไรก็ไม่รู้ขายของอะไรก็ไม่รู้อยู่ มอเตอร์ไซค์บีบแตรไล่คุณลงจากทางเท้า ต่างคนต่างรู้สึกว่าตัวเองสุดวิสัย คุณก็ด้วย คุณทนราคาแท็กซี่ไม่ได้ คุณเดินขึ้นสะพานลอยที่มีสายไฟดักหัวคุณอยู่ ผ่านขอทาน คุณลำบากใจทุกครั้งที่ต้องผ่านขอทาน ถึงตีนสะพานลอย คุณลงบันไดที่ต้องกระโดดลง ถึงป้าย รอ ขึ้นรถเมล์หรือต่อแถวแลกเหรียญเพื่อไปต่อแถวแลกบัตรอีกทีบนรถไฟฟ้า ยากฉิบหาย คุณขับเอง รถติด แท็กซี่ไม่ไป แกร๊บแพง คุณทำงาน และคุณทำทุกอย่างคล้ายๆ เดิมก่อนกลับบ้าน ในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คุณจำเป็นจะต้องบอกตัวเองให้ลืมไปให้หมดว่าคุณกำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอื่นๆ นอกจากบ้าน ที่ทำงาน และวันเที่ยว เพื่อให้ชีวิตปกติของคุณดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอะไรเข้ามาทำให้คุณเฉไฉและกลายเป็นคนสมัยใหม่ที่ล้มเหลว หากคุณเผลออินกับขอทานมากเกินไป คุณพาเขาไปกินข้าว คุณดันไปคุยกับเขายาว วันนั้นคุณก็จะใช้ชีวิตปกติไม่สำเร็จ ขาดงาน ถูกหักเงินเดือน ถ้าคุณหงุดหงิดกับถนนและไปคิดถึงมันมากเกินไป คุณเดินไปฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร วันนั้นก็จะเปลี่ยนตารางชีวิตคุณที่เหลือให้วุ่นวายไปอีกเป็นเดือน คุณต้องตัดๆ มันออกไปเสียเพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ พูดอีกอย่างก็คือคุณกำลังมีชีวิตบนส่วนผสมของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กำลังปะทะกับพื้นที่อะไรก็ไม่รู้ที่คุณย่ำอยู่ ความเชื่ออะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด และคุณต้องมองข้ามไปไม่รู้กี่อย่างทั้งๆ ที่ยังอยู่กับมันเพื่อให้ชีวิตมันดำเนินต่อไปได้ ความน่ากลัวของการฝึกกระบวนทัศน์ของตัวเองให้มองข้ามสิ่งต่างๆ ไปสู่เป้าหมายแบบสมัยใหม่งงๆ ที่ว่านั้น คือการที่เราได้ทำลายโอกาสที่จะรู้จักโลกใบอื่นใกล้ๆ ตัวเองไปแล้ว เรามองไม่เห็นสิ่งที่เราไม่อยากและไม่จำเป็นต้องมองเห็น ศิลปะก็หายไปกับสิ่งเหล่านั้น

คุณรู้จักอะไรคล้ายๆ การปิกนิกไหม? เอาเสื่อไปปูนั่งกินข้าวในที่สาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ การทำอะไรแบบนี้มีอยู่จริงหรือเปล่าสำหรับคนกรุงเทพวันนี้ คุณนึกภาพสวนสาธารณะที่มีคนหลากหลายรูปแบบมานั่งอยู่ด้วยกัน มีแจมดนตรีอยู่บ้าง บางคนมาเดินรณรงค์เรื่องศาสนา หมาของคนที่ไม่รู้จักกันมาทักทายกัน สีผิวแบบที่คุณไม่เคยเห็น ทรงผมต่างๆ คุณเพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่าคนบางคนสามารถจับกับนกพิราบอย่างใจเย็นได้พอๆ กับที่มันใจเย็นกับเขา และคุณได้เห็นอาหารที่เสื่อผืนข้างๆ หยิบมา มันคืออะไรที่คุณจะไม่มีวันได้เห็นในร้านอาหารที่ขายแต่เมนูเดียวกัน พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างความเป็นอื่นทำงาน เราไม่มี คุณนึกถึงสวนลุมอยู่หรือเปล่า สวนลุมคือลู่วิ่ง เพราะทุกคนวิ่งแถวบ้านไม่ได้ และแถวนั้นก็ไม่มีบ้าน การเข้ามาในสวนลุมจึงมีไว้สำหรับวิ่ง มาทำหน้าที่เอาไขมันออกให้มันจบๆ แล้วกลับบ้าน คุณจะไม่บังเอิญเจออะไรสร้างสรรค์มากนักในที่ที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อตั้งหน้าตั้งตาทำงานกับไขมันของตัวเอง เพื่อนนักเต้นของผมบอกว่าเขาแทบจะเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะเขาจะไปขวางทางคนวิ่ง และพลังงานของตรงนั้นจะบอกคุณว่าคุณต้องวิ่ง

คุณรู้จักคำว่าสตรีทไหม? ชาวสตรีท เสื้อแบบสตรีท สตรีทอาร์ท เป็นเด็กห้าวๆ เต้นบีบอยอะไรกันแบบนั้นอยู่บนท้องถนน พูดแบบนี้แล้วก็กลัวเขาโดนรถชน ปีก่อนมีคนชวนผมไปพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมสตรีทของวัยรุ่น ผมตอบเขาไปว่าผมพูดไม่ได้ เพราะผมคิดว่าประเทศไทยไม่มีสตรีท อาจมีบ้างที่มีบางคนใส่เสื้อผ้าสไตล์สากลนิยมที่เรียกว่าสตรีทอยู่ แต่มันไม่มีถนนมากพอจะมีวัฒนธรรมสตรีทเป็นของตัวเองให้พูดถึง แค่จะเดินยังยาก แล้วจะเอาตรงไหนไปสร้างวัฒนธรรม

ส่วนนอกกรุงเทพออกไปผมก็ไม่รู้ว่ามีข่าวอะไรบ้างหรือเปล่า แม้แต่ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าออกไปต่างจังหวัดแล้วผมจะเจอกับแวดวงศิลปะได้บ้างไหม ออกจากกรุงเทพแล้วผมก็เหมือนถูกครอบตาม้าเอาไว้ให้มองเห็นแต่ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวช้ำๆ ตามอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นผมไม่รู้ และไม่รู้ด้วยว่าจะไปรู้จากที่ไหน

คุณจะเอาพื้นที่ที่ไหนไปบังเอิญเจอกับศิลปะร่วมสมัยหรือละครโรงเล็ก?

หากคุณเป็นคนทั่วไปในกรุงเทพ คุณพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเดินห้าง นั่นอาจเป็นที่หนึ่งที่เราอาจพบกับสิ่งที่เรารู้จัก ที่พาเราไปกระทบกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก และอาจพบกับศิลปะได้ในที่สุด แต่ผมยังไม่เคยเดินสยามพารากอนแล้วเจอการโฆษณาอะไรที่ดึงให้ผมออกจากสยามพารากอน ห้างก็โฆษณาให้เราเดินวนอยู่ในห้าง และห้างก็เป็นที่เดียวที่เรานึกออกถ้าจะไปเดิน คุณนึกออกไหมว่าคุณเจออะไรใหม่ๆ ในห้างบ้าง ใหม่จนเปลี่ยนนิยามการพักผ่อนหย่อนใจหรือการเสพศิลปะของคุณได้?

ไม่อย่างนั้นคุณก็อยู่บ้านเล่นเน็ต อินเทอร์เน็ตสมัยนี้ที่มี algorithm หรือชุดคำสั่งที่จัดประเภทให้คุณเห็นแต่ข้อมูลที่คุณควรเห็น มันไม่ได้ทำให้คุณเห็นความต่างหรือเห็นโลกอีกใบใกล้ๆ ตัวอีกต่อไป ที่ที่มีผู้คนหยุดดูโปสเตอร์สาธารณะที่เป็นที่สาธารณะจริงๆ ไม่มีอยู่แล้ว และ social network ก็ไม่อนุญาตให้แวดวงต่างๆ ก้าวก่ายกันมากนักอีกต่อไปหากเราไม่ได้จงใจมากๆ ที่จะทำมัน ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงมาจากอุตสาหกรรมการตลาดและโฆษณาที่เติบโตรวดเร็วกว่าการสร้างข้อตกลงสัญญาประชาคมและการถกเถียงเพื่อบัญญัติกฏหมาย

เมื่อเราคิดถึงการประชาสัมพันธ์ละครโรงเล็กหรือศิลปะร่วมสมัยต่อจากการมองปัญหาแบบนี้แล้ว เราจะพบว่าการหาตลาดไม่ได้ง่ายขึ้นอย่างที่เราคิดทั้งที่เรามีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ เราอาจต้องก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ที่จำกัดมากๆ ของบุคคลทั่วไปมากขึ้น และเข้าไปเพื่อพาเขาออกมานั่นแหละ ไม่ได้เข้าไปเพื่อไปอยู่กับเขา พื้นที่ในที่นี้หมายถึงทุกมิติ ในวิถีชีวิตของเขา ห้าง รสนิยมตามทีวี สถานที่ท่องเที่ยว หมายความว่าคุณอาจทำประชาสัมพันธ์ให้มันตลาดมาก เปลี่ยนสำนวน เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนวิธีการ แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่าคุณก็สามารถทำงานของคุณแบบเดิมได้ ถ้าลูกประชดหน่อยก็โฆษณาสำหรับบุคคลทั่วไปชุดหนึ่ง สำหรับบุคคลพิเศษที่กลัวงานไม่เท่พออีกชุดหนึ่ง แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ "Sophisticated" หรือไม่ฉลาด งานคุณคือชิ้นเดิม และถ้าคุณต้องการคนดูใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่เปลี่ยนวิธีการประชาสัมพันธ์ (เว้นแต่ว่าคุณรักในบรรยากาศที่เป็นอยู่แล้ว อันนั้นผมก็ขอโทษที่เขียนมาถึงขนาดนี้)

แต่การทำแบบนั้นทีละงานจะไม่ส่งผลอะไรมาก นี่เป็นเรื่องเดียวกับโครงสร้างของงานวิจัยและงานพัฒนา การโผล่มาดีหนึ่งชิ้นและไม่ต่อเนื่องจะไม่ช่วยอะไร การตัดสินใจทำนองนี้อาจต้องเกิดขึ้นจากระดับบริหาร เช่น หอศิลปวัฒนธรรมต่างๆ หรือ Festival Director ต่างๆ กองทุน กระทรวง ฯลฯ โดยมีภารกิจไม่ใช่เพียงการประชาสัมพันธ์เพื่องานใดงานหนึ่ง แต่ประชาสัมพันธ์ประเภทของงานทั้งประเภทให้เข้าไปอยู่ในสายตาของชีวิตปกติให้ได้ เหมือนกับที่จู่ๆ ทุกคนก็รู้จักถุงมีชัย หรือถุงยางอนามัย แปลกดีที่แม้แต่ผมเองก็ยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับใครแถวๆ นี้เลยว่าจะทำอย่างไรให้มันกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป หรือว่าการทำงานศิลปะทำให้เราเลิกสนใจการคิดถึงการสื่อสารหยาบๆ อย่างการประชาสัมพันธ์ เพราะเราง่วนอยู่กับการสื่อสารที่เราเห็นว่าละเอียดกว่าอย่างศิลปะ จนสุดท้ายเราก็พบกับสภาวะตลาดที่ไม่มีจริง

เอาล่ะ สมมติกันว่าตอนนี้คุณรู้จักละครโรงเล็กหรืองานศิลปะร่วมสมัยแล้ว คุณเป็นกลุ่มผู้ชมทั่วไปที่ทำงานบริษัท ปัญหาต่อมา คุณจะเอาเวลาไหนมาดู เริ่มงานเก้าโมงเช้าเลิกงานสี่หรือห้าโมงเย็น งานคนไทยไม่จบง่ายๆ และคุณเหนื่อย และคุณรู้ด้วยว่าการชมงานบางครั้งก็เหนื่อย ส่วนนักเรียนที่ควรจะมีเวลาเปิดโลกทัศน์มากที่สุด ทุกวันนี้เข้าโรงเรียนเจ็ดโมงเช้า เลิกเรียนห้าถึงหกโมงเย็น และเรียนพิเศษ และยังต้องทำการบ้าน หนำซ้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันทำให้นักเรียนบางคนต้องเรียนไกลบ้าน คนทำงานไปกลับกรุงเทพนนทบุรีทุกวัน เวลาเดินทางเพิ่มเข้าไปอีกสองถึงสี่ชั่วโมง คุณมีพื้นที่ตรงไหนให้ศิลปะเข้ามาคุยกับคุณได้บ้าง เป็นผม ผมก็จะนอน มากกว่านั้นอีก คุณจะเอาเงินที่ไหน คำถามนี้อาจจะตลกร้ายเกินไป แต่ผมก็ยังคิดอยู่ว่าตัวเองจะเอาเงินที่ไหนไปดูเพื่อนที่ทำละคร ถ้ามันไม่ได้ชวนไปดูฟรี

ในประเทศนี้ วัยวันที่คุณมีแรงไปดูละคร และยังไม่มีภาระรุงรังมาก คุณไม่มีเงิน และในวัยที่คุณมีเงิน คุณก็ไม่พร้อมจะเดินเตร่ไปดูละครอีกต่อไป ลูกเกิดแล้ว แม่ป่วยแล้ว บ้านจะส่งไม่ทันแล้ว อันที่จริงมีบางประเทศให้งบวัยรุ่นไปเฉยๆ เพื่อให้ไปดูงานศิลปะหรือเข้าพิพิธภัณฑ์ หาข้อมูลไม่ยากหากเคยได้ยินเรื่องรัฐสวัสดิการ ในขณะที่ประเทศเรา รัฐบาลให้ทุนศึกษาต่อเพียงสายวิทยาศาสตร์ หรือมากที่สุดก็นโยบายและรัฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงทุนให้เฉยๆ

แต่ทำไมรัฐบาลต้องให้อะไรกับศิลปะ? เมื่อตอนที่ 1 ผมพูดเสียงแข็งว่านักวิชาการที่งานของตัวเองไม่ตอบโจทย์ของสังคมควรจะอาย แต่วิธีคิดดังกล่าวใช้กับศิลปะไม่ได้ ผมไม่คิดว่าศิลปะควรจะเจียมเนื้อเจียมตัวที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะการมีอยู่ของศิลปะเป็นการแก้ไขปัญหาความมีอยู่ของมนุษย์ในตัวเอง วาระของการมีงานทางความคิดคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในขณะที่การทำบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่นการละเล่น ศิลปะ หรือแม้กระทั่งพิธีกรรม คือคุณภาพชีวิตในตัวเอง คือคุณไม่ได้ทำมันไปเพื่ออะไร เพียงแต่คุณต้องทำเพื่อตอบสนองแรงขับจากภายใน เหมือนกับที่คุณหิวหรือคุณคัน

ย้อนกลับไปในบทแรก ทำไมงานวิจัยถึงไม่ทำงาน ทุกวันนี้วิธีคิดที่เอียงข้างไปทางวิทยาศาสตร์โดยเทเรื่องของศิลปวัฒนธรรมทิ้ง รวมทั้งวิธีคิดทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ทั้งสองอย่างนี้มีงานวิจัยของประเทศเราเองและต่างประเทศไม่รู้กี่ชิ้นที่ยืนยันได้ทั้งหมดแล้วว่าเป็นปัญหา รวมทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่เสนอทางแก้ บ้างก็เสนอมาจนเกือบพร้อมจะเป็นนโยบาย ส่วนภาควิชาการละครและศิลปะในประเทศเราก็ไม่ได้มีน้อย แต่ทำไมงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศิลปะ หรือการเรียนการสอนด้านศิลปะก็ไม่ได้ช่วยให้แวดวงศิลปะที่หลากหลายเติบโตได้มากขึ้น คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ในบทที่แล้ว

การปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่เติบโตได้อย่างไม่จำกัด และเปิดโอกาสให้นายทุนใหญ่รวบรวมธุรกิจต่างๆ เข้าไว้ที่ตัวเอง ไม่ได้ส่งผลเพียงภาคธุรกิจที่ทำให้เกิดภาวะผูกขาดแม้ไร้สัมปทาน ไม่ได้เพียงทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นและมีแต่ข้าวโพดที่จังหวัดน่าน แต่การรวมศูนย์ดังกล่าวก้าวล้ำเข้าไปถึงรสนิยม ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดที่ผมพอจะพูดได้คือภาควิชาการสื่อสารการแสดงที่ผมเรียนจบมา เดิมทีเน้นด้านการละครอยู่บ้าง แต่ในปีที่กำลังจะถึงนี้เมื่อเขายอมรับได้แล้วว่าไม่มีตลาดละคร และเขาเองก็คงจะไปทางนี้ไม่รอด ล่าสุดมันกำลังจะกลายเป็นภาควิชาการสร้างสรรค์และจัดการอีเว้นท์ เพราะมันสมเหตุสมผลมากกว่าในตลาด ส่วนการละครก็คงต้องถูกทิ้งไป มหาวิทยาลัยในข้อจำกัดแบบนี้จะไม่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนความหลากหลายอีกต่อไป มหาวิทยาลัยในความดูแลของทุนนิยม มีบทบาทในการเร่งเร้าให้การรวมศูนย์ทางรสนิยมเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การดูแลของตลาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก

คุณลองเปิดเพลงอินดี้ หรือเพลงอะไรก็ได้ที่คุณชอบและมีผู้ชมน้อยๆ สักหนึ่งเพลงทิ้งไว้บน YouTube ทิ้งไว้สักหนึ่งชั่วโมง คุณจะพบว่าระบบเล่นเพลงอัตโนมัติของมันจะพาคุณมาจบลงที่เพลงที่มีผู้ชมเป็นล้านได้ในที่สุด เราต่างกำลังถูกทำให้เหมือนกันและจัดประเภทได้เพื่อความสะดวกของตลาดทุนใหญ่ คุณอาจพบว่าชีวิตคุณเองหรือเพื่อนของคุณหลายคนก็เป็นเช่นนั้น คุณเลือกอะไรที่คุณอยากเลือกในตอนแรก และระบบก็พาคุณไปตามทางของมัน และคนที่โชคดีบางคนก็บังเอิญได้เป็นสิ่งที่เขาอยากเป็นต่อไป แต่อย่างที่เราคุยกัน ความบังเอิญที่มีได้มากน้อยนั่นแหละที่กำลังบอกกับเราว่าสังคมของเราเป็นอย่างไร

ผี ศิลปะ งานวิจัย จะมีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อมันสื่อสารกับสิ่งอื่น บนบรรยากาศใดๆ ก็ตามที่อนุญาตให้มี หรือบังเอิญได้มี

บทความที่เกี่ยวข้อง: ผี ศิลปะ งานวิจัย สิ่งที่ยังต้องถามแม่ว่ามีจริงหรือเปล่า 1

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: สร้างประชาธิปไตยไม่แตะประเด็นศาสนาได้หรือไม่

Posted: 02 Aug 2018 10:01 AM PDT


ที่มาภาพ: http://sinchaichao.blogspot.com/2015/06/secular-state.html

มิตรสหายท่านหนึ่งถามผมในวงเสวนาว่า "เราจะสร้างประชาธิปไตยโดยไม่แตะประเด็นศาสนาเลยได้หรือไม่" ผมตอบว่า "ไม่" ด้วยเวลาจำกัด จึงให้เหตุผลไปสั้นๆ ขอขยายต่อในบทความนี้

มองในทางประวัติศาสตร์ แทบจะไม่มีสังคมไหนที่สร้างประชาธิปไตยได้โดยไม่แตะประเด็นศาสนา  เนื่องจากในเชิงโครงสร้าง สถาบันศาสนาเป็นอำนาจคู่ขนาน หรือเป็นอำนาจสนับสนุนระบบกษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนจากระบบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายใต้เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน จึงต้องเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐด้วย โดยการแยกศาสนจักรกับรัฐให้เป็นอิสระจากกัน หรือทำให้ศาสนาไม่มีอำนาจก้าวก่ายเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองอีกต่อไป ดังหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ส่วนในเชิงความคิดหรืออุดมการณ์ จะเห็นว่าพัฒนาการของเสรีภาพและประชาธิปไตยเกิดจากการต่อสู้ระหว่างความเชื่อทางศาสนากับปรัชญา ขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องของ "จงเชื่ออย่างนี้ อย่าเชื่ออย่างนั้น" หรือ "จงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น" เมื่อศาสนามาเกี่ยวกับการเมืองและกลายเป็นสถาบันทางสังคม ศาสนาจึงมักมีอำนาจจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพ แต่ปรัชญาบอกว่า "จงสงสัย จงตั้งคำถาม" หรือ "จงกล้ารู้ จงกล้าใช้ความคิด กล้าใช้เหตุผลของตนเอง" ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับธรรมชาติของศาสนา ปรัชญาจึงมีธรรมชาติเรียกร้องเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อ การวิพากษ์วิจารณ์และอื่นๆ

ในที่สุดปรัชญาก็พัฒนามาถึงจุดที่เสนอว่า "ปัจเจกบุคคลต้องมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม" ซึ่งเป็นการปฏิเสธอำนาจของศาสนาในการผูกขาดความหมายของศีลธรรมและการควบคุมทางศีลธรรม ถือว่าแต่ละคนสามารถใช้ความคิดและเหตุผลของตนเองให้ความหมายของศีลธรรมและสร้างกฎศีลธรรมขึ้นเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องคอยฟังพระศาสดา คัมภีร์ ศาสนจักร นักบวช และผู้นำทางศาสนาคอยบอกว่า "จงเชื่ออย่างนี้ อย่าเชื่ออย่างนั้น" หรือ "จงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น" อีกต่อไป

เมื่อปัจเจกบุคคลมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม จึงเท่ากับเขามีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวและการเลือกรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นโดยรู้จุดประสงค์ชัดเจนและไม่ถูกหลอกลวง ดังนั้นรัฐจึงต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา หรือเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ เพื่อที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกกระทำและเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองพึงพอใจได้อย่างแตกต่างหลากหลายตามธรรมชาติของอุปนิสัย ศักยภาพ และความฝันของตนเอง โดยไม่ถูกปิดกั้นหรือกีดกันด้วยการอ้างความเชื่อทางศาสนา จารีตประเพณี และอำนาจรัฐที่บังคับให้คนคิด เชื่อ หรือกระทำเหมือนๆ กัน เพราะการให้อิสระแต่ละคนได้เลือกคิด เชื่อ และทำตามความปรารถนาของตนเองอย่างเต็มที่ ย่อมเอื้อให้มนุษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุดตามเป็นจริงมากกว่า จะเกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและความก้าวหน้าแก่มนุษยชาติได้มากกว่า

ขณะเดียวกันรัฐต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงออก หรือการอภิปรายสาธารณะต่างๆ เพื่อที่ประชาชนจะควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐได้ และเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ความคิดเห็น ความจริง ความรู้ ความเชื่อที่แตกต่างได้ปะทะโต้แย้งกันด้วยเหตุผลอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่สังคมจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความจริงหรือความถูกต้องต่างๆ นั้น มันจริงหรือถูกต้องแท้จริงหรือไม่

เพราะถ้าเพียงแต่เชื่อตามกันเฉยๆ หรือถูกครอบงำบังคับให้ต้องเชื่ออย่างโต้แย้งไม่ได้ ก็ย่อมไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เชื่อว่าจริงหรือถูกต้องนั้นๆ มันจริงหรือถูกต้องจริงๆ เราจะแน่ใจได้ว่าอะไรจริงหรือถูกต้อง ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพให้ความเห็น ความรู้ ข้อมูลด้านตรงกันข้ามได้โต้แยงหักล้างกันได้เต็มที่เท่านั้น หลักฐานและเหตุผลสนับสนุนของความคิด ความรู้ต่างๆ จึงจะปรากฏให้เห็นชัดและชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรน่าเชื่อถือมากกว่า และด้วยการมีเสรีภาพเช่นนี้ความก้าวหน้าทางสติปัญญา ความรู้ และอื่นๆ ของมนุษยชาติจึงเป็นไปได้

ทั้งเสรีภาพในการกระทำหรือการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หรือการอภิปรายสาธารณะดังกล่าว จะเป็นไปได้เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ หรือยกเลิกโครงสร้างอำนาจ ค่านิยม วัฒนธรรมที่ทำให้ศาสนามีอำนาจจำกัดหรือลิดรอนเสรีภาพทั้งสองด้านนั้น

เป็นเรื่องปกติมากที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและทางศาสนาในสังคมใดๆ มักจะอ้างผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นผลประโยชน์ของชาติและศาสนา และอ้างความมั่นคงแห่งสถานะและอำนาจของพวกเขาเป็นความมั่นคงของชาติและศาสนา ซึ่งเห็นได้จากการที่พวกเขามักบัญญัติกฎหมายและสร้างระบบกล่อมเกลาทางศีลธรรมให้ประชาชนศรัทธา เชื่อฟัง และสยบต่ออำนาจของพวกเขา ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยก็เพื่อที่จะยกเลิกปัญหาพื้นฐานดังกล่าวนี้

จึงมีทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องนำ "หลักเสรีภาพ" มาเป็น "กรอบจำกัดอำนาจ" ของรัฐ หรืออำนาจของ "ทุกสถาบัน" ในทางสังคมและการเมือง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นการแยกศาสนาจากรัฐ หรือการวางกติกาที่ป้องกันไม่ให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนตามหลักการของรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่มีเซตของมัน เช่น

1. แนวคิดโลกวิสัยหรือฆราวาสนิยม (secularism) อันเป็นอุดมคติของรัฐโลกวิสัย ถือว่ารัฐจะต้องตัดสินเรื่องต่างๆ บนหลักการโลกวิสัย ไม่ใช่บนหลักการทางศาสนา เช่นหลักศาสนาต่างๆ มักกีดกันสตรีและเพศที่สาม ขณะที่รัฐโลกวิสัยเห็นว่าการกีดกันสตรีและเพศที่สามผิดจริยธรรม และบางกรณีก็เป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย ศาสนาถือว่ารักร่วมเพศผิดจริยธรรม แต่หลักการโลกวิสัยถือว่าเป็นสิทธิ เป็นต้น

2. ศีลธรรมโลกวิสัย (secular morality) คือ ศีลธรรมบนฐานคิดที่ว่า "ปัจเจกบุคคลมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม" จึงมีศีลธรรมทางโลกที่แยกจากศีลธรรมทางศาสนา ขณะที่ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องที่สอนให้คนเชื่อฟังพระเจ้า ศาสดา คัมภีร์ นักบวชหรือผู้รู้ทางศาสนา พูดสั้นๆ ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องที่มีผู้ "คิดแทน" ไว้แล้วว่าอะไรคือดี ชั่ว ถูก ผิด หรือการมีชีวิตที่ดี สังคมที่ดี แต่ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะคิดเองว่าอะไรคือดี ชั่ว ถูก ผิด หรือชีวิตที่ดีสำหรับตนเอง และสังคมที่ดีหรือยุติธรรมควรเป็นเช่นไร พูดสั้นๆ ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นศีลธรรมที่แต่ละคนคิดเองว่าตนจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน และจะร่วมกันสร้างสังคมที่ยุติธรรมอย่างไร ภายใต้กรอบกว้างที่สุดว่า คุณจะกำหนดเนื้อหาศีลธรรมขึ้นมาเองอย่างไรก็ได้ตราบที่เคารพ "คุณค่าทั่วไป" คือเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ของคุณเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน

3. จิตโลกวิสัย (secular spirituality) คือจิตสำนึกที่ตระหนักรู้ในคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ในบางครั้งการที่รัฐโลกวิสัยยอมรับการมีศาสนาหลากหลายในสังคมและให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา ไม่ยอมให้ศาสนามีอำนาจเหนือสังคม ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนามีอำนาจในชุมชนแห่งศรัทธาของตนเองเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ ในบางชุมชนทางศาสนามีการอ้างความเชื่อหรือจารีตทางศาสนาละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล หรือกีดกันคนเพศที่สาม (เป็นต้น) โดยทำให้เขาให้กลายเป็น "คนนอก" หรือแกะดำที่น่ารังเกียจ และถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม ในกรณีเช่นนี้พลเมืองที่มีจิตโลกวิสัยจะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้รัฐเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว

4. มนุษยนิยมแบบโลกวิสัย (secular humanism) คือแนวคิดหรืออุดมคติที่เน้นความสำคัญของความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการเลือก แนวคิดนี้ยินดีร่วมมือกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาที่ต้องการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น รวมทั้งกลุ่มทางศาสนาที่ไม่ทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน สำหรับมนุษยนิยมแบบโลกวิสัย คำสอนที่เป็นแก่นสารของศาสนาต่างๆ เช่นรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง หรือปัญญา กรุณา ความสงบทางจิต ความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณหรือความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของการยกให้อำนาจสถาบันทางศาสนา ศาสนจักร จารีตทางศาสนาละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ปัญหาพื้นฐานสำคัญคือคือ รัฐไทยถือว่าศาสนาเป็นอุดมการณ์ของรัฐและเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ องค์กรศาสนามีอำนาจทางกฎหมายในการตัดสินเรื่องสอนถูก ผิด ปฏิบัติถูก ผิดทางศาสนา มีรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องและคุ้มครองศาสนา สนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมทางศาสนา บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน อีกทั้งจะจัดอบรมครูอาจารย์ นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา แพทย์ พยาบาล นักการเมือง ข้าราชการ ก็ต้อง "จริยธรรมพุทธศาสนา" เป็นหลัก ภายใต้ระบบเช่นนี้ย่อมไม่ถือว่ามี "เสรีภาพทางศาสนา" ในกรอบแนวคิดโลกวิสัย

ที่สำคัญการเน้นปลูกฝังศีลธรรมศาสนาผ่านระบบการศึกษาของรัฐ สถาบันศาสนา สื่อมวลชน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ทำให้สังคมไทยรู้จักคุ้นเคยกับศีลธรรมพุทธศาสนาหรือศีลธรรมแบบศาสนาเป็นด้านหลัก แม้รัฐไทยจะไม่ใช่รัฐศาสนาหรือไม่ได้ปกครองด้วยหลักศาสนา แต่ปกครองด้วยหลักการทางโลก แต่สังคมไทยแทบจะไม่รู้จัก คุ้นเคยกับความคิดและคุณค่าที่สนับสนุนหลักการปกครองแบบโลกวิสัย เช่นแนวคิดโลกวิสัย, ศีลธรรมโลกวิสัย, จิตโลกวิสัย และมนุษยนิยมแบบโลกวิสัยตามที่กล่าวมาเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมเราจึงขาดการปลูกฝังแนวคิด คุณค่า อุดมคติที่สนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างจริงจัง แต่เน้นการปลูกฝังศีลธรรมศาสนาควบคู่กับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเป็นด้านหลัก ส่งผลให้เกิดปัญหาพื้นฐานสองด้าน คือ

ในเชิงความคิด คุณค่า อุดมการณ์ สังคมไทยถูกระบบการกล่อมเกลาของรัฐกำหนดให้มีความขัดแย้งระหว่างความคิด คุณค่า อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม กับความคิด คุณค่า อุดมการณ์เสรีนิยมหรืออุดมการณ์อื่นที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือสังคมที่เท่าเทียม

แต่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง หากมันเป็นความขัดแย้งในสังคมที่มี "เสรีภาพ" หรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตยโดยโครงสร้างและวัฒนธรรมชัดเจนแล้ว แต่มันมีปัญหาเนื่องจากระบบที่เป็นอยู่เป็นระบบที่มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะเป็นระบบที่ไม่มีเสรีภาพให้ความคิด คุณค่า อุดมการณ์ที่แตกต่างได้ปะทะขัดแย้งกันด้วยเหตุผลและเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน

ระบบการปกครองที่ไม่มีเสรีภาพ หรือ "เผด็จการแบบไทย" ที่เป็นอยู่มันจึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พูดแบบจอห์น สจ๊วต มิลล์ คือระบบที่เลวคือเงื่อนไขให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนที่เห็นต่างในสังคมขัดแย้งกันเอง ซึ่งหมายถึง ระบบที่ไม่มีเสรีภาพ อยุติธรรม หรือระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์นั่นเองที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกในสังคม แล้วศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์หรือไม่

ถ้าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ เราจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร หากไม่แตะประเด็นศาสนาเลย       

 

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หน้าที่ของชายไทย: บันทึกจากการเดินทางไปผ่อนผันทหาร

Posted: 02 Aug 2018 09:37 AM PDT

วันเสาร์ที่  7 เมษายน 2561

21.30 น. บ้านห้วยน้ำใส พัทลุง

ผมเดินทางถึงพัทลุงในช่วงเย็นของวันนี้ เป็นปกติที่ผมเดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อ-แม่ ในช่วงวันสำคัญๆ ที่จะมีวันหยุดยาวติดกันหลายวัน เพียงแต่การเดินทางกลับบ้านของผมครั้งนี้ไม่ได้เพื่อกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงหยุดยาวสงกรานต์อย่างเดียว แต่ผมกลับมาเพื่อผ่อนผันทหารอีกด้วย

อันที่จริงหากใครติดตามการแสดงทัศนะเรื่องการเกณฑ์ทหารของผมก็จะรู้ดีว่าผมสนใจติดตามประเด็นการ "ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร" เรื่อยมา ไม่ใช่เพราะว่าผมยังอยู่ในช่วงผ่อนผันทหารเลยไม่อยากให้ตัวเองลำบาก หรือกลัวการเกณฑ์ทหารแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า "คำถาม" ที่เคยคิดเล่นๆ ไว้ตอนเด็กว่า เราจะเกณฑ์ทหารกันไปทำไม? นำไปสู่การพยายามหาคำตอบของผมโดยการไล่อ่านประวัติศาสตร์สงคราม ปรัชญาการเมือง รวมถึงวัฒนธรรมศึกษาและวรรณกรรม ทำให้ผมได้คำตอบว่า "ประเทศไทยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร" อีกต่อไปแล้ว ควรเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจมากกว่า ส่วนในเหตุผลรายละเอียดปลีกย่อยผมคงจะมีโอกาสได้เสนอในโอกาสต่อไป

ระหว่างที่นั่งรถจากสนามบินนครศรีธรรมราชมาจังหวัดพัทลุงผมนั่งคิดเล่นๆ ถึงกรณีในต่างประเทศเกี่ยวกับการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารทั้งในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมัน อังกฤษ อิตาลี ก็ล้วนแล้วแต่ผ่าน "สภาวการณ์" ยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารมาแล้ว ทำให้ผมพอจะมีความหวังอยู่บ้างว่าการต่อต้านการเกณฑ์ทหารของคนรุ่นใหม่ๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ แม้จะต้องใช้ความพยายามสูงมากก็ตามที

โดยส่วนตัวผมชอบกรณีของสเปนมากที่สุด เพราะหลังจากการเกณฑ์ทหารในประเทศสเปนได้นำเนินการมานานมากกว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่ยุคพระราชาคาร์ลอสได้เริ่มจัดการเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 18 แต่ปี 2002 การเกณฑ์ทหารก็ได้ถึงจุดสิ้นสุดลงมาเป็นระบบสมัครแทนด้วยเหตุผลที่ว่า กองทัพของสเปนต้องเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ และต้องการกองทัพที่เป็น "มืออาชีพ" จริงๆ การให้เหตุผลในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของสเปนช่างน่านับถือมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าวิธีคิดแบบนี้ยังเข้าไม่ถึง "พื้นที่ทางความคิด" หรือ "เขตทหาร" ของกองทัพไทย

การปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม (Conscientious objector) ถูกใช้เป็นเหตุผลในการรณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ใช้เหตุผลนี้ในการปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเป็นคนแรกๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้เขาได้เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า "ประเทศไทยเปลี่ยน เกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยน" และเขียนคำโปรยไว้ที่หน้าปกว่า "I can love my country without having to be drafted"

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 มีคนกลุ่มหนึ่งเคยออกมาต่อต้านการเกณฑ์ทหารอย่างเอาจริงเอาจัง มีการโต้แย้งกันทั้งทางฝ่ายที่ปฏิเสธและสนับสนุนการเกณฑ์ทหาร โต้แย้งในพื้นที่สาธารณะและโทรทัศน์กันอย่างออกรส  ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบวกกับไลฟ์สไตล์ที่มากขึ้นทำให้คนสนใจประเด็นนี้มากขึ้นตามไปด้วย แต่ออกมาแสดงความคิดเห็นในพื้นที่นอกโลกออนไลน์น้อยลง แน่นอนครับว่าในโลกออนไลน์มีพลังแฝงอยู่มากมายมหาศาล เพียงแต่ว่าเราต้องการพลังที่หลากหลายรูปแบบในการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า

เนติวิทย์ เป็นคนหนึ่งที่ใช้เครื่องมือทั้งออนไลน์และออฟไลน์เคลื่อนไหวประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี มีกระแสตอบโต้และโจมตีเขากลับไม่ขาดสาย แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของกองทัพไทยที่อ่อนไหวต่อคำถามเหล่านี้อยู่เหมือนกัน เพราะคนที่หวังดีและฉลาดๆ ในกองทัพเองก็คงรู้ตัวดีอยู่แล้วว่าการเกณฑ์ทหารไม่ได้ช่วยให้กองทัพดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นเลย ช่วยได้เพียงอย่างเดียวก็คือ ยังคงพิสูจน์ให้เห็นว่ากองทัพสามารถครอบงำความกลัวแก่คนหนุ่มสาวได้อยู่ก็เท่านั้นเอง

นี่ยังไม่พูดถึงการคอรัปชันภายในกองทัพโดยการเล่นแร่แปรธาตุจากพิธีกรรมการเกณฑ์ทหารเหล่านี้นะครับ ประเด็นเหล่านี้ก็นำความเสื่อมโทรมสู่กองทัพได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทางออกที่สำคัญคือ "ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร" ครับ ผมเชื่อว่าจะสามารถ "สะสาง" อีกหลายๆ ปัญหาที่เป็นผลพวงจากพิธีกรรมนี้ได้  

คืนนี้ขอไปนอนก่อน พรุ่งนี้ต้องตื่นไปผ่อนผันทหารแต่เช้าตรู่

 

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561

06.25 น. บนรถกระบะระหว่างเดินทางไปที่ว่าการอำเภอ

"คิดตอบแทนชาติ อย่าได้ขาดเกณฑ์ทหาร"

ข้อความบนซองพลาสติกสีขาวขุ่นที่ใส่เอกสารผ่อนผันทหารเขียนไว้อย่างนั้น ผมพลิกไปพลิกมาตรวจดูเอกสารที่ต้องใช้ ก่อนวิ่งขึ้นรถที่พี่ชายสตาร์ทเครื่องรอไว้แล้ว บ้านพักผมอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร จึงพอมีเวลาให้ได้สนทนากับพี่ชายระหว่างเดินทางมากพอสมควร

เมื่อวานตอนที่พี่ชายไปรับผมที่สนามบินนครศรีธรรมราช ตอนเดินทางกลับบ้านเราได้คุยกันถึงเพื่อนสนิทผมคนหนึ่งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยกัน เขาเคยมาเที่ยวบ้านผมเมื่อปีที่แล้วจึงมีโอกาสได้รู้จักกับพี่ชายของผม ไม่น่าแปลกใจอะไรที่อยู่ๆ พี่ชายผมจะถามถึงเขาขึ้นมา แต่ที่บังเอิญคือ ผมกำลังติดตามเรื่องการ "จ่ายมาได้โรคไป" ของเขาอยู่พอดี เมื่อวานเราคุยกันนิดหน่อยว่าเขาทำเรื่องยื่นผ่อนผันทหารกับทางมหาวิทยาลัยไม่ทัน ทำให้เขาต้องกลับบ้านไปเกณฑ์ทหารในปีนี้

ระหว่างเดินทางไปผ่อนผันทหารที่ศาลาว่าการอำเภอ เราจึงมีเรื่องคุยกันบนรถถึงเพื่อนคนนี้ของผมต่อ

เขามีพ่อเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ มีคนนับหน้าถือตาเป็นอย่างมากในท้องที่นั้น เขาเล่าให้ผมฟังว่าครอบครัวเขาวิ่งเต้นเพื่อให้เขารอดจากการเกณฑ์ทหาร เรื่องเล่าของเขาสร้างความตื่นเต้นให้ผมได้ไม่น้อย แม้ผมจะได้ยินเรื่องการวิ่งเต้นเหล่านี้มาหลายกรณี แต่พอมาเกิดขึ้นกับเพื่อนสนิทผมในปีนี้ ก็อดคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าละอายใจไปพร้อมกัน

ผมเคยถามเขาว่าคิดอย่างไรกับการเกณฑ์ทหาร เขาตอบผมอย่างหนักแน่นว่า

"…มันยังอยู่ในยุคที่เราต้องรับใช้ชาติด้วยกำลัง แรงงาน ความรุนแรงหรอ จริงหรอที่ประเทศชาติเราขาดกำลังพลในการป้องกันประเทศ ถ้าการรับใช้ 'ชาติ' หมายถึงการรับใช้สังคม รับใช้ส่วนรวม มันจะไม่มีวิธีรับใช้สังคมที่ดีกว่านี้หรือ แต่ถ้าการรับใช้ 'ชาติ' ในแง่นี้หมายถึงรับใช้ สถาบัน อำนาจฝ่ายทหาร หรือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ผมคงปฏิเสธอย่างไว ในช่วงที่ไปคัดเลือกจนถึงคัดเลือกเสร็จ ความรู้สึกหดหู่มันมีแทบทุกขณะ เราแอบร้องไห้กับเรื่องนี้หลายครั้ง มันไม่ใช่สิ่งที่คนควรถูกบังคับให้เจอ ทั้งเวลา โอกาส และความเป็นมนุษย์ถูกลิดรอน ชีวิตเราควรมีทางให้ตัวเองมากกว่านี้…"

ผมถามเขาต่อว่า แล้วทำไมถึงเลือกที่จะ "ยัดเงิน" เพื่อให้หลุดการเกณฑ์ทหาร

"…ก็เป็นสิ่งที่บ้านเราพอจะทำได้เพื่อให้ชีวิตเราหลุดพ้นจากบ่วงนี้และความเสี่ยงนี้ ก็รู้สึกต้าน อึดอัด ยิ่งในวันคัดเลือกจริง รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์นั้นมาก เห็นใจคนที่ไม่ได้มีโอกาสแบบเรา ก็รู้ว่าสิ่งที่ทำคือการโกง แต่ให้เลือกบนความเสี่ยงนี้ เราก็รับไม่ได้ถ้าจะต้องเสี่ยงไปเป็นทหาร เราอาจจะต้องอึดอัดกว่านี้…" เขาตอบมาเช่นนี้ ผมยังคงนับถือในตัวเขาอยู่เพราะรู้ดีว่าระบบการเกณฑ์ทหารมันบังคับให้เขาต้องเลือกเช่นนี้

ครอบครัวของเขาจ่ายเงิน "55,000 บาท" ไป จึงได้ "หนังเปลือกตาตก" กลับมา

"เป็นความผิดปกติทางร่างกาย" ในใบผ่านการคัดเลือกเขาเขียนไว้อย่างนั้น

ขณะที่ผมมาถึงที่ว่าการอำเภอเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สารวัตรทหารเรียกเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี ผมวิ่งกุลีกุจอไปเข้าแถวทันที การเข้าแถวต้องเข้าตามป้ายตำบลของตัวเอง อำเภอนี้มี 4 ตำบล มีแถวทั้งหมด 5 แถว เพราะมีแถว "ผ่อนผัน" เพิ่มเข้ามาอีกแถว ผมรีบวิ่งมาต่อแถวนี้ ภาพที่ผมเห็นคือ มีนายทหารยืนเรียงหน้ากระดานและมีแพทย์ประจำหน่วยอีกหนึ่งคนที่ใส่เครื่องแบบต่างออกไป ป้ายเหนือหัวตรงหน้าเขียนข้อความว่า "หน่วยตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง"

หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ นายทหารและแพทย์ประจำหน่วยก็แยกย้ายกันไปประจำหน้าที่ของตัวเอง ผู้บัญชาการหน่วยก้าวขึ้นมาข้างหน้าอ่านสารจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2561 ต่อด้วยโฆษกประจำหน่วยตรวจเลือกมาอธิบายขั้นตอนในการเกณฑ์ทหารครั้งนี้ แล้วแยกคนที่เกณฑ์ทหารออกจากคนที่ผ่อนผันเพื่อสะดวกในการตรวจสอบเอกสาร คนที่เข้าตรวจเลือกก็ไปถอดเสื้อรอเรียกชื่อตามลำดับตำบลที่อาศัยอยู่ ส่วนผมและเพื่อนๆ ที่ยังคงผ่อนผันทหารต่อ ไปเข้าแถวทำเรื่องและตรวจสอบเอกสารเสร็จก็กลับบ้านได้เลย หลักๆ เอกสารที่ผมต้องใช้ก็มีแค่บัตรประชาชนและใบหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (ได้มาจากการผ่อนผันทหารเมื่อปีที่แล้ว)

ระหว่างนั่งรอเรียกชื่อให้ไปตรวจสอบเอกสารกับประทับลายนิ้วมือ ผมนั่งอ่านข้อความหลังใบ สด.35 (ใบหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร) มีข้อความคำเตือนเขียนแจ้งไว้ข้างหลังว่า

คำเตือน

  1. เมื่อผู้ใดได้รับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร เห็นว่าตนสมควรจะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันด้วยเหตุใดๆ ให้นำหลักฐานไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันรวมคนตรวจเลือกก่อนจับฉลาก หรือก่อนกำหนดให้เข้ากองประจำการในกรณีที่ไม่มีการจับฉลาก มิฉะนั้น ถือว่าหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน
     
  2. ถ้าจะขอผ่อนผันในลักษณะที่จำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา ซึ่งทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู หรือที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ หรือที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งบิดามารดาตายหรือประกอบอาชีพด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง และผลที่ได้หรือเสียไปเป็นของตนเองโดยแท้ ทั้งได้เสียภาษีหรืออากรแล้ว ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสำหรับอาชีพนั้นๆ ก็ให้ไปชี้แจงต่อนายอำเภอเสียก่อนวันตรวจเลือกไม่น้อยกว่าสามสิบวัน กับให้ร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกดังกล่าวในข้อ 1 นั้นด้วย
     
  3. ในวันกำหนดรวมคนตรวจเลือกให้นำใบสำคัญทหารกองเกิน หรือถ้ามีความรู้วิชาการอย่างใด ให้นำประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษานั้นๆ ไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกด้วย
     
  4. ผู้ที่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปให้คณะกรรมการตรวจเลือกเข้ากองประจำการตามกำหนดหรือหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนเพื่อจะไม่เข้ารับราชการทหารกองประจำการ มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 45 ต้องจำคุกไม่เกินสามปี
     
  5. หมายเรียกเข้ารับราชการทหารฉบับนี้ ถ้าจะโดยสารรถไฟ ผู้ที่ถูกเรียกต้องนำติดตัวไปให้เจ้าพนักงานรถไฟตรวจได้เสมอ

ผมแอบได้ยินเพื่อนที่นั่งข้างๆ ก่นบ่นก่นด่าทำนองว่า "นี่เราต้องพกหมายเรียกขึ้นรถไฟด้วยเหรอ แล้วถ้าขึ้นเครื่องบินต้องพกไปด้วยไหมวะ" ผมได้ยินแล้วแทบหลุดขำออกมา เพราะไม่คิดว่าจะมีคนอ่านแล้วคิดเหมือนกัน แถมพูดออกมาดังเสียด้วย

ในการตรวจเลือกทหารกองเกินมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้ครับ โต๊ะที่ 1 กรรมการจะเรียกชื่อทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือก , โต๊ะที่ 2 กรรมการแพทย์จะตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ กรรมการสัสดีกำหนดคนเป็น 4 จำพวก คือ จำพวกที่ 1 คนร่างกายสมบูรณ์ดี จำพวกที่ 2 คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ จำพวกที่ 3 คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีโรครักษาให้หายไม่ได้ภายใน 30 วัน จำพวกที่ 4 คนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร , โต๊ะที่ 3 วัดขนาด กรรมการจะวัดขนาดสูงและขนาดรอบตัวของร่างกาย

ผมใช้เวลาในการผ่อนผันทหารประมาณ 15 นาที ก็กลับบ้านได้ บ้านผมเป็นอำเภอเล็กๆ มีคนไม่มาก กระบวนการจึงค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนคนที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร กระบวนการที่ใช้ก็ประมาณ 1 วันเต็ม น้องๆ ผมหลายคนในหมู่บ้านที่ต้องเกณฑ์ทหารปีนี้ เข้ามาทักทายผมไม่ขาดสาย เพราะนานๆ ครั้งกว่าผมจะได้กลับบ้านแล้วมีเวลาว่างมากพอไปเจอพวกเขาที่วิ่งเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก

น้องๆ หลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ ออกจากโรงเรียนมาช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยังไม่จบมอต้น จึงไม่มีโอกาสได้เรียนวิชารักษาดินแดน (รด.) และไม่มีสิทธิผ่อนผันทหารแบบผม เมื่ออายุ 21 ปี จึงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมได้แต่โอบกอดและกระซิบบอกไปว่า "พี่เป็นกำลังใจให้นะ" ทั้งๆ ที่ผมก็รู้ทั้งรู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ได้ต่างอะไรกับลูกไก่ในกำมือพวกบ้าอำนาจเหล่านั้น จะบีบก็ตายจะคลายก็ไม่รอด พวกเขาไม่สามารถเลือกชะตากรรมและอนาคตของตัวเองได้เลย จะวางแผนอะไรในระยะยาวก็ต้องรอให้ผ่านพ้นพิธีกรรมเหล่านี้ไปก่อน ถึงจะมีอิสระจากการขูดรีดเลือดเนื้อโดยกองทัพไทย ในนามของรัฐ หน้าที่พลเมือง และความหวังดีต่างๆ นานา ที่รัฐไทยประทานให้ แม้ผมจะตกอยู่ในพิธีกรรมเดียวกันกับพวกเขาในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ผมก็พอจะมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง ต่างจากพวกเขาที่ต้องโดนพิพากษาอนาคตของพวกเขาจากกองทัพ ในนามเราทุกคนที่ยังนิ่งเฉยและปล่อยให้คำอ้างกลไก "หน้าที่ของชายไทย" เดินหน้าต่อไป

 

 วันอังคารที่ 10 กันยายน 2561

15.30 น. เหนือน่านฟ้า นครศรีธรรมราช – กรุงเทพฯ

เมื่อวานยุ่งทั้งวันจนไม่มีเวลาได้หาข้อมูลมาตอบคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจ ขณะนั่งรอเครื่องที่สนามบินผมจึงลองค้นหาในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมดูว่า "สาร" ฉบับเต็มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ผู้บัญชาการหน่วยตรวจเลือกทั่วประเทศอ่านให้ฟังตอนเข้าแถวเคารพธงชาติ เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง เพราะมีคำว่า "หน้าที่ของชายไทย" ย้ำหลายครั้งในสารฉบับนั้นจนติดหูผมมาสองวันแล้ว เสียดายวันนั้นผมฟังอย่างละเอียดไม่ทันทั้งหมด แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีประกาศไว้

ผู้คนที่เดินกวักไกวในสนามบิน กลิ่นอายของการเคลื่อนไหว การมีอยู่ และความหมายของทุกสรรพสิ่ง เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ไฉนหน้าที่และความหมายของชายไทยจึงถูกทำให้หยุดนิ่งอยู่กับ "การเป็นทหาร" เช่นนี้ ผมคงนั่งเหม่อลอยคิดเรื่องนี้วนไปวนมาอยู่สักพักใหญ่ รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่พนักงานเอาเอสเพรสโซ่เย็นมาเสิร์ฟ

ผมค้นเจอคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประกาศไว้ว่า   

"…การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือที่รู้จักกันดีคือการเกณฑ์ทหารนั้น ตามปกติกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดไว้ในเดือนเมษายน (วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 11 เมษายน ของทุกปี) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้ว จะต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดในหมายเรียก โดยนำหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) หมายเรียก (แบบ สด.35) บัตรประจำตัวประชาชน ประกาศนียบัตร หรือ หลักฐานทางการศึกษาไปแสดงด้วย หากทหารกองเกินผู้ใดไม่ไปถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และในวันตรวจเลือกนั้น ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แบบ สด.43) หรือที่รู้จักกันคือใบผ่านการเกณฑ์ทหารนั่นเอง…"

ก่อนกลับเชียงใหม่ผมไปคุยกับน้องๆ อีกสี่ห้าคนที่เกณฑ์ทหารปีนี้ คนหนึ่งตัดสินใจดรอปเรียนมหาวิทยาลัยมาสมัครทหารเกณฑ์เพราะอยากเป็นทหาร อีกคนหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ เมียกำลังท้องได้สี่เดือน โชคดีหน่อยที่เขาจับได้ใบดำ ภาพที่เขาวิ่งตาลีตาเหลือกไปกอดเมีย ยังทำให้ผมอดอมยิ้มไม่หาย ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าเขาจับได้ใบแดงขึ้นมาลูกน้อยของเขาจะต้องเป็นเช่นไร ส่วนอีกคนเป็นกะเทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในอำเภอ เรียกเสียงฮือฮามากตอนเขาออกไปจับใบดำใบแดง ไม่กี่วินาทีต่อมาเขาร้องไห้โฮและเป็นลมล้มพับลงไปเพราะจับได้ใบแดง ทบ.1 ปัตตานี แต่บรรยากาศตอนนั้นกลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะจากคนที่ยืนมุงดูอยู่ เท่าที่ผมคุยด้วยทุกคนมีความรู้สึกนึกคิด ผมดีใจมากกับคนที่อยากเป็นทหารแล้วมีโอกาสได้เป็น ในขณะเดียวกันผมก็เสียใจอย่างสุดซึ่งกับคนที่ไม่ได้อยากเป็นทหาร แต่ก็ต้องจำใจยอมต้องเป็น เพราะมีความผิดตามกฎหมายหากปฏิเสธ

 "…หน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องรับราชการทหาร ซึ่งการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารเป็นเรื่องที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี  เพราะกองทัพไทยจะฝึกฝนผู้เข้ารับราชการหารให้มีระเบียบ วินัย ฝึกหัดวิชาชีพเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากแก่ทหารเกณฑ์ทุกคน  ซึ่งปกติการเกณฑ์ทหารจะกระทำกันในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ปีละครั้งและต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี  แต่มีข้อยกเว้นและผ่อนผันสำหรับ ผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหารและกฎกระทรวง…" ในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมระบุไว้อย่างนี้

ผมปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ เดินไปขึ้นเครื่องตามเสียงประกาศของสายการบิน ยังใจหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนผ่อนผันทหารอยู่จนทำอะไรไม่ค่อยถูก ได้แต่ทบทวนแล้วคิดในใจว่า "เราจะต่อต้านการเกณฑ์ทหารได้อย่างไร" เพื่อยืนหยัดว่าหน้าที่ของชายไทย สามารถมีได้หลายรูปแบบ

และนี่คงเป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของผม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย (Nontawat Machai) สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม นักศึกษาการละคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลางปี 2560 กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558  หรือที่เรียกกันว่าคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" จากการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา ปัจจุบันยังคงเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ บ้านครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา) มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 [คลิป]

Posted: 02 Aug 2018 08:13 AM PDT

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายหัวข้อ "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์"

โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการ โครงการค่ายสัมมนายุวชนนักเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 "โลกาภิวัฒน์: ความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการโต้กลับทางการเมือง"ห้อง 210  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด: ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 [คลิป]

Posted: 02 Aug 2018 07:51 AM PDT

รองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายหัวข้อ "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์"

โดยการอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการ โครงการค่ายสัมมนายุวชนนักเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 "โลกาภิวัฒน์: ความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการโต้กลับทางการเมือง"ห้อง 210  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 2 สิงหาคม 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักสหภาพแรงงานยุโรปแนะใช้กลไก ‘เจรจาทางสังคม’

Posted: 02 Aug 2018 06:00 AM PDT

ตัวแทนสหภาพแรงงานยุโรป เสนอว่าการเจรจาที่ดีนั้นทุกฝ่ายต้องมีเจตนาที่จะแก้ไขความขัดแย้งการ 'เจรจาทางสังคม' (Social Dialogue) เป็นกลไกสำหรับสหภาพแรงงาน นายจ้าง และรัฐ ในการทำงานร่วมกันซึ่งจะเป็นการช่วยลดการเผชิญหน้าและความตึงเครียดที่มีต่อกัน 

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการสัมมนาเรียนรู้เรื่องการ 'เจรจาทางสังคม' (Social Dialogue) ระหว่างสหภาพแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหภาพแรงงานยุโรป โดยองค์กร The Institute for International Workers Education (IIWE) ซึ่งนักสหภาพแรงงานยุโรปมาจากสมาพันธ์แรงงาน ACV-CSC (Belgium) และ CNV and CNV Internationaal (Netherlands) ส่วนนักสหภาพแรงงานจากเอเชียมาจากอินโดนีเซีย, กัมพูชา, พม่า, เนปาล, บังคลาเทศ และไทย

โดยตัวแทนจากสหภาพแรงงานในยุโรประบุว่า สหภาพแรงงานในยุโรปนั้นมีแผนกศึกษาและวิจัย เป็นแผนกที่ทำงานด้านข้อมูล เพื่อองค์กรสหภาพสามารถวางแผนงานระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น โดยเฉพาะการรณรงค์ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อคนงานกลุ่มต่างๆ 

สหภาพแรงงานยุโรปเสนอว่าการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายของคนงานในบรรษัทข้ามชาติและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในบรรษัทข้ามชาติและในห่วงโซ่อุปทาน บรรษัทข้ามชาติหลายบรรษัทมีซัพคอนแทรกเตอร์จำนวนมาก เราจะใช้รูปแบบการเจรจาทางสังคม และแนวคิดเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความสมดุล

รูปธรรมของการเจรจาทางสังคมที่สหภาพแรงงานยุโรปได้ทำสำเร็จล่าสุด คือการเจรจาและทำข้อตกลงเรื่องความสัมพันธ์การจ้างงาน โดยบริษัทที่ทำหน้าที่ส่งอาหารให้กับลูกค้าตามบ้านเข้าสู่ข้อตกลงกับสหภาพแรงงานทำให้คนงานที่ขี่มอเตอร์ไซด์ส่งอาหารตามบ้านได้รับการคุ้มครองจากข้อตกลงสภาพการจ้างคนงานขนส่ง ซึ่งขณะนี้ได้ทำงานสร้างเครือข่ายไปถึงคนงานตามบ้านและที่ทำงานในบ้าน (Domestic workers) และล่าสุดคือเครือข่ายคนงานข้ามชาติ (Migrant workers)

มุมมองของนักสหภาพแรงงานต่อคนงานข้ามชาติคือคนงานทุกคนเป็นคนงานไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่แห่งใดและเป็นภารกิจของสหภาพแรงงานในการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนนของคนงานข้ามชาติทุกคน

นักสหภาพแรงงานยุโรปฝากถึงนักสหภาพแรงงานในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องดีที่คนงานจะต้องสื่อสารกันให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ชายแดนทุกประเทศเปิด คนงานเดินทางมาทำงานจากหลายประเทศ ทักษะการสื่อสารและภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกันและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

สหภาพแรงงานยุโรปได้ยกตัวอย่างการเรียนรู้ระหว่างสหภาพแรงงานอินโดนีเซียและบราซิล อาทิ ในอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งมีการรีไซเคิลของเสียและแปลงของเสียให้เป็นเงินสวัสดิการสำหรับคนงาน การรีไซเคิลของเสียดังกล่าวยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยสหภาพแรงงานสามารถบรรจุเป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง เรื่องการรีไซเคิลของเสียเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและนำไปสู่การเพิ่มสวัสดิการให้กับคนงาน

ทั้งนี้สหภาพแรงงานในกัมพูชาและพม่าบอกว่าพวกเขายังไม่มีแผนกศึกษาวิจัย แต่ใช้ที่ปรึกษารายบุคคล เป็นคนให้คำแนะนำในด้านยุทธศาสตร์ของสหภาพ นอกจากนี้สหภาพแรงงานในเอเชียหลายประเทศ ระบุว่าประสบการณ์ของพวกเขาที่ผ่านมาคือ พวกเขาต้องการการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ รวมถึงเมื่อเกิดความขัดแย้งทางด้านแรงงาน แต่หลายครั้งพวกเขาถูกปฏิเสธการเจรจา 

สำหรับเรื่องนี้ตัวแทนสหภาพแรงงานยุโรป เสนอว่าการเจรจาที่ดีนั้นทุกฝ่ายต้องมีเจตนาที่จะแก้ไขความขัดแย้ง การเจรจาทางสังคมเป็นกลไกสำหรับสหภาพแรงงาน นายจ้าง และรัฐ ในการทำงานร่วมกันซึ่งจะเป็นการช่วยลดการเผชิญหน้าและความตึงเครียดที่มีต่อกัน 

ทั้งนี้การเจรจาทางสังคม จะได้ผลต่อเมื่อทุกฝ่ายต้องเห็นคุณค่า มีความเข้าใจเหมือนกัน และช่วยกันอำนวยให้มันเกิดขึ้น อาทิเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน หรือปรับโครงสร้างองค์กร ผู้แทนนายจ้างและสหภาพแรงงานต้องประชุมกันและหาทางออกร่วมกัน ผลจากการประชุมหรือการเจรจากัน นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกัน เช่นการันตีว่าจะไม่ลดค่าจ้างหลังการปรับโครงสร้าง รวมถึงข้อตกลงที่เกี่ยวกับคนงานซับคอนแทรค การเจรจาทางสังคม ยังรวมถึงการเปิดเผยข้อมูล อาทิ ทิศทางการดำเนินงานของบริษัท แผนงานในอนาคตของบริษัท  และจะใช้ได้ผลดี ผู้แทนทุกฝ่ายต้องมีความรู้และมีทักษะการเจรจาที่ดี  รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและช่วยอำนวยความสะดวก

ซึ่งท้ายสุดแล้วการเจรจาทางสังคม นั้นไม่ได้ใช้เพื่อคุยกันในเรื่องทางเศรษฐกิจหรือกิจกรรมสหภาพแรงงานเท่านั้น แต่เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความเท่าเทียมทางสังคม สันติภาพและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อดีตชาวป้อมมหากาฬชุดสุดท้าย 8 ครอบครัวซื้อที่ดินใหม่ คาดครึ่งปีสร้างบ้านเสร็จ

Posted: 02 Aug 2018 04:47 AM PDT

หลังถูกไล่ที่ชุดสุดท้ายเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬเผย ได้กู้เงินสินเชื่อบ้านมั่นคงซื้อที่ดินบริเวณพุทธมณฑลสายสองขนาด 106 ตร.ว. แปดครอบครัวจดโฉนดร่วมกัน เผยทั้งชีวิตไม่เคยมีชื่อในโฉนดที่ดิน จากนี้ถ้าใครเวนคืนต้องสู้เต็มที่

ภาพซ้าย 8 ครอบครัวอดีตชาวชุมชนจดโฉนดที่ดิน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ก พรเทพ บูรณบุรีเดช): ภาพขวา สภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ปัจจุบัน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ก Pisut Openspace)

2 ส.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตผู้อยู่อาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬจำนวนแปดครอบครัว ซึ่งออกจากชุมชนป้อมฯเป็นกลุ่มสุดท้าย ได้จัดการซื้อที่ดินแถวพุทธมณฑลสายสอง และได้จดทะเบียนในโฉนดแล้ว

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวมีขนาด 106 ตร.ว. จะอยู่กันแปดครอบครัวตามที่จดไว้ในโฉนดที่ดิน โดยเงินที่ใช้ซื้อนั้นประกอบด้วยเงินออมของชาวชุมชนรวมกับเงินกู้จากสินเชื่อบ้านมั่นคงจากสถาบันพัฒนาองค์กร (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

พรเทพ เล่าว่า ตั้งแต่ถูกทาง กทม. ไล่รื้อจากพื้นที่ป้อมมหากาฬตั้งแต่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา มีกระบวนการในการขอสินเชื่อในโครงการบ้านมั่นคง ได้มีการเสนอโครงการ 17 พ.ค.2561 และได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อราว 2 ล้าน 2 แสนบาท ตามระบบของทาง พอช. แล้ว โดยการจ่ายเงินคืนจะจ่ายเป็นครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 2,300 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี

โฉนดที่ได้มาเป็นที่ดินรวมทั้ง 8 ครอบครัว ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง โดยแผนต่อจากนี้คือจะทำการถมดินให้ดินเซ็ตตัวก่อน และขออนุญาตแบบก่อสร้างกับเขตที่สังกัด (เขตทวีวัฒนา) จากนั้นจึงจะเริ่มสร้างบ้าน ส่วนค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านนั้นต้องประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายกันต่อ โดยตั้งใจจะใช้ไม้ที่รื้อมาจากชุมชน แต่ด้วยปริมาณที่จำกัด คาดว่าจะใช้ไม้สร้างบ้านได้ไม่เกินสามหลัง คาดว่าราว พ.ค. - มิ.ย. ปีหน้าจะสร้างบ้านแล้วเสร็จและย้ายเข้าอยู่

อดีตรองประธานชุมชน กล่าวว่า  ดีใจที่อย่างน้อยโดนไล่ก็ยังมีที่ดินที่จะไปอยู่ร่วมกัน คนที่ออกมาด้วยกันยังมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ส่วนตัวทั้งชีวิตไม่เคยมีชื่อในโฉนดที่ดินร่วมกันตามกฎหมาย สมัยที่อยู่ป้อมเป็นเพียงสัญญาเช่ากับทางวัดราชนัดดาราม จะไม่มีใครมาไล่เราอีกแล้ว ถ้าจะมาเวนคืนก็ต้องสู้เต็มที่

สภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ปัจจุบัน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน)

โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา พื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬถูกแปรสภาพเป็นสวนสาธารณะและเปิดใช้งานแล้ว

ทั้งนี้ ก่อนถูกไล่รื้อ ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบเป็นผลจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. 2560 หน่วยทหาร-พลเรือน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ

ก่อนหน้าที่ชาวชุมชนชุดสุดท้ายจะย้ายออกมา มีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิดรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ไทย 59-60 ทำจริงยังไปไม่ถึงนโยบาย

Posted: 02 Aug 2018 04:06 AM PDT

กลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์เสนอรายงานปัญหานโยบายและกฎหมายค้ามนุษย์ 2559-2560 สถิติคดีลดลง ส่วนมากยังเป็นเรื่องค้าประเวณี วงเสวนาระบุ แม้กฎหมายเข้มงวดขึ้นแต่คนใช้งานยังขาดความเข้าใจ บุคลากรไม่พอ ผู้ค้ามนุษย์ลูกเล่นยังแพรวพราวในขณะที่ผู้เสียหายไม่มีความรู้

(ซ้ายไปขวา) ภัทรวีร์ เตจ๊ะนัง ผู้ประสานงาน ALT และภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักวิจัย นำเสนอรายงาน 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 มีการนำเสนอรายงานปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2559-2560 และการเสวนาหัวข้อ "มุมมองคนทำงานต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทย" จัดโดยโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ALT) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ในงานมีการนำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และปัญหาด้านนโยบาย กฎหมายในประเทศไทยช่วงปี 2559-2560 ที่จัดทำขึ้นโดย HRDF และ ALT ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและระดับกำกับดูแลนโยบายของทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างน้อย 15 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ ไปจนถึงทนายความและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางส่วน มีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

1. สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย

  • ปัญหาค้ามนุษย์ในภาคการเกษตรพบได้น้อยกว่าประเด็นอื่น อาจเพราะลักษณะงานที่ทำในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย ง่ายต่อการที่นายจ้างบิดเบือนสภาพการจ้างงาน ทำให้การหาข้อเท็จจริงของทีมสหวิชาชีพและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทำได้ยาก
  • ปัจจัยด้านที่ตั้ง ความสำคัญทางเศรษฐกิจ บทบาทสถานคุ้มครองฯ และความร่วมมือของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมีผลต่อสถิติคดีการค้ามนุษย์
  • ชาวต่างชาติที่ได้รับการระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และบุคคลที่เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานคุ้มครองฯ มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้เสียหายที่เป็นชาวไทย ผู้เสียหายเพศชายส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและเวียดนาม ผู้เสียหายเพศหญิงส่วนมากเป็นชาวไทย
  • จำนวนคดีค้ามนุษย์ทั้งหมดที่ได้รับการสอบสวนและดำเนินคดียังคงเป็นเรื่องการค้าประเวณี
  • ปี 2559 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 333 คดี เป็นค้าประเวณี 244 คดี สื่อลามก 3 คดี ขอทาน 8 คดี แรงงาน 32 คดี แรงงานประมง 43 คดี และขูดรีด/อื่นๆ 3 คดี
  • ปี 2560 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 302 คดี เป็นค้าประเวณี 246 คดี สื่อลามก 7 คดี ผลประโยชน์ทางเพศ 2 คดี ขอทาน 26 คดี แรงงาน 14 คดี แรงงานประมง 7 คดี
  • การออกนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ไม่อิงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ การขาดบุคลากรในส่วนงานป้องกันการค้ามนุษย์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น  และการขาดแคลนงบประมาณบางส่วนทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีและคุ้มครองสวัสดิภาพมีประสิทธิภาพน้อยลง
  • พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ที่เพิ่มโทษทางอาญาในความผิดฐานค้ามนุษย์ ขยายนิยาม ระบุองค์ประกอบคำว่าการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและการบังคับใช้แรงงานให้ชัดเจนขึ้น และการวางแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ระหว่างการคัดแยกบุคคลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและคุ้มครองสวัสดิภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. มาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดค้ามนุษย์และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

  • ลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ.2000 และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก
  • การลงนามและให้สัตยาบันข้างต้นนำมาสู่การอนุวัตินิยาม ความหมายขององค์กรอาชญากรรม ลักษณะการกระทำความผิด และบทลงโทษให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว โดยใส่เอาไว้ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
  • สาระสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีมารการทางนิติบัญญัติในการจัดการอาชญากรรมค้ามนุษย์ได้อย่างก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดให้ความหมายของการค้ามนุษย์ หรือนิยามคำว่าการแสวงหาประยชน์โดยมิชอบ สอดคล้องและครอบคลุมยิ่งกว่าพิธีสารดังกล่าว

3. การดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดค้ามนุษย์ สิทธิทางคดีของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

  • การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ตามมาด้วยการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่เคร่งครัดต่อการดำเนินคดีกับจำเลย มีการขยายผลเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาแม้ไม่ร้องขอต่อศาล เพิ่มโทษทางอาญาสูงสุดถึงประหารชีวิต
  • ทั้งนี้ โครงการฯ ยังไม่พบมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมผู้สียหายใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิการเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หรือสิทธิที่จะอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว สิทธิในการทำงาน สิทธิที่ไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในบางฐานความผิด หรือการได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว
  • การเข้าถึงเงินสินไหมทดแทนยังถูกจำกัดเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยที่รัฐยึดหรืออายัด เพราะ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ยังไม่เปิดช่องให้นำเงินหรือทรัพย์สินส่วนนั้นมาใช้ทดแทน

4. การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับการชดเชยเยียวยาในรูปแบบตัวเงินและสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับหลักประกันทางกฎหมาย

  • ในทางนโยบาย ไทยมีการรับรองสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาในรูปแบบตัวเงิน รับประกันสิทธิจะเข้าถึงหลักประกันทางกฎหมาย โดยในทางปฏิบัตินั้นให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ความเปราะบางเรื่องเพศ ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง
  • แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ล่ามแปลภาษา และการประสานงานระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ขั้นตอนคัดแยกผู้เสียหาย การคุ้มครอง การเรียกค่าสินไหม และการส่งกลับซึ่งทุกขั้นตอนต้องอาศัยการประสานงานที่ดีโดยเฉพาะการส่งต่อข้อมูล

ข้อเสนอแนะ

  • รัฐไทยควรประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการกำหนดนโยบายที่ใช้วางแนวทางในการออกกฎหมาย แนวปฏิบัติและการกำกับของค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยกเลิกการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินคดีที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และควรเร่งขจัดข้อจำกัดในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ละหน่วยงาน และเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย
  • การใช้มาตรการทางกฎหมายอันมีผลให้เกิดการลิดรอนเสรีภาอขพงบุคคลจำเป็นต้องกระทำอย่างจำกัด และให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
  • ควรปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีและปรับปรุงตัวชี้วัดในการดำเนินคดีให้สอดคล้องบริบทที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดควรมีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของการส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา และควรส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีช่องทางที่จะแสวงหาความร่วมมือในการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ที่มีลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมข้ามาติ เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
  • ควรแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตลอดทั้ง ส่งเสริมการเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหาย และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีที่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อยากเป็นโจทก์ร่วม
  • ควรดำเนินการโดยใช้มาตรการนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การประกันสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาในแบบตัวเงิน และประกันสิทธิที่จะได้รับหลักประกันทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วน

ผู้เข้าร่วม-วงเสวนาเผยลูกเล่นนายหน้า ปัญหาบุคลากรขาดแคลนทั้งจำนวนและความเข้าใจ

(ซ้ายไปขวา) ฤภวัฒน์ โพธิ์น้อย สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ประวิทย์ ร้อยแก้ว สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ สมชาย หอมลออ

มีการพูดคุยจากทั้งผู้เข้าร่วมและวงเสวนาที่มีขึ้นหลังจากการนำเสนอรายงานแล้วเสร็จ โดยตัวแทนจากกลุ่มหญิงสู้ชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มของอดีตเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยในต่างประเทศที่กลับมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความเห็นจากประสบการณ์ขององค์กรที่เคยบังคับคดีค้ามนุษย์มาสี่ครั้ง พบว่านายหน้ามีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงการชดใช้สินไหม เช่น ไม่มีทรัพย์สินในนามตัวเอง โอนให้ลูก เมียหรือคนในครอบครัว เพราะการยึดทรัพย์จะเกิดต่อผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อสืบทราบไม่พบทรัพย์สินก็ไม่สามารถนำทรัพย์สินมาใช้เยียวยาได้

ตัวแทนกลุ่มหญิงสู้ชีวิตกล่าวต่อไปว่า บางครั้งนายหน้าค้ามนุษย์ก็ไม่อยู่ในไทย จำเลยตัวใหญ่ๆ อยู่ต่างประเทศทำให้สืบทรัพย์ ยึดทรัพย์และบังคับคดีไม่ได้  และในบางกรณีเมื่อจำเลยถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนก็นำทรัพย์สินไปจำนองกับคนอื่นในจำนวนที่มากกว่าสินไหมทดแทน จากนั้นก็ฟ้องขัดทรัพย์โดยบอกว่าต้องนำเงินไปปลดจำนองก่อน ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาคดีกรณีขัดทรัพย์ด้วยและกินเวลายาวนานขึ้น การพิจารณาคดีก็มีขั้นตอนที่ให้ผู้เสียหายไปวางเงินอยู่เรื่อยๆ แทนที่จะได้ชดเชยกลับมาแต่กลับต้องเสียเงินไปเรื่อยๆ ผู้เสียหายหลายรายจึงไม่อยากเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพราะมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย มีศาลถึงสามศาล แถมไม่มีหลักประกันว่าจะได้เงินชดเชยจึงเกิดความท้อถอย จึงฝากให้ผู้เกี่ยวข้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้เสียหายมีกำลังใจในการดำเนินคดีให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม

ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคดีค้ามนุษย์ กล่าวว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ปรับแก้มาถึงฉบับปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ไขให้เนื้อความมีความชัดเจนมากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกได้ ระดมทุกภาคส่วนร่วมกันแจ้งเหตุและเบาะแส ปรับเพิ่มอัตราโทษ ตั้งศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ ให้อัยการเปิดสำนักงานคดีค้ามนุษย์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญคือการยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่ยังคับใช้ในปี 2559 แต่ผู้ใช้งานยังคงสับสนกับการใช้กฎหมายค้ามนุษย์ทั้งสองฉบับ เช่น ในมาตรา 6 วงเล็บ 4 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ที่ระบุพฤติกรรมยึดเอกสารสําคัญประจําตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนําภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบเป็นพฤติกรรมการค้ามนุษย์ พอมีการยึดเอกสารลูกจ้างเลยถูกเหมาเป็นการค้ามนุษย์หมด หรือในวิธีพิจารณาคดีที่พูดถึงส่วนร่วมของผู้เสียหาย หน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในชั้นบังคับคดี ก็ยังไม่มีความเข้าใจที่ตรงกันทำให้การปฏิบัติการในหลายพื้นที่มาจากความไม่เข้าใจ

นอกจากนั้น เร็วๆ นี้จะมีร่าง พ.ร.บ.แรงงานบังคับออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายกับ พ.ร.บ. ค้ามนุษย์ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ขับเคลื่อน แต่ต้องถามว่าระดับปฏิบัติงานรับลูกไหม ส่วนตัวเห็นว่าขาดตัวเชื่อม ไม่มีการซักซ้อมนโยบายที่ออกมา ทำให้คนออกกฎหมายกับระดับปฏิบัติงานตีความกฎหมายไม่ตรงกัน อ่านกฎหมายออกแต่เข้าใจคนละทิศคนละทาง แม้มีการอบรมกันเป็นระยะ แต่ถ้าฐานคิดคนทำงานไม่เปลี่ยนก็เหมือนเดิม

สมชาย หอมลออ ทนายความผู้ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า แม้ส่วนตัวและองค์กรที่สังกัดมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ได้ทำงานอย่างจริงจังในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาไทยเคยมีความสำเร็จระดับหนึ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์กับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แต่ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานในสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่เพราะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่จะตกอยู่ในวงจรการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการประมงทะเล โดยรัฐบาล คสช. ได้ดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายไประดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต้องเน้นให้สังคมมีความเข้าใจว่าการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรม เป็นความผิดที่รัฐและสังคมไม่ควรอนุญาตให้เกิดขึ้น

สมชายแจงประเด็นที่เป็นปัญหาในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในไทยหลายประการ ด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายและตัวบทกฎหมาย มีคดีหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วยคือกรณีที่ศาลวินิจฉัยการที่แรงงานจากกัมพูชาได้รับการว่าจ้างมาโดยนายหน้าเพื่อให้ทำงานตัดหัวปลาบนฝั่ง แต่ในที่สุดโดนหลอกไปทำงานในเรือประมงเป็นเวลาเกือบปี ปรากฏว่าศาลวินิจฉัยว่าเป็นการเปลี่ยนงานเท่านั้น ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งเข้าใจว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการแสวงหาประโยชน์โดยมิ

ในส่วนของล่ามก็มีปัญหาด้วยสาเหตุว่าหน้าที่ล่ามในคดีค้ามนุษย์มีหน้าที่ทั้งแปลคำให้การหรือคำเบิกความในเชิงคดี ซึ่งต้องแปลในลักษณะตรงตัวเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม และต้องทำความคุ้นเคยกับเหยื่อเพราะเหยื่อการค้ามนุษย์มักมีบาดแผลทางใจโดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างด้าว การอบรมล่ามจึงควรคัดจากคนที่เป็นแรงงานด้วยกันที่มีความรู้ภาษาไทยและภาษาถิ่นของเขา เอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้ก็ควรมีล่ามลักษณะดังกล่าวไว้อยู่

ด้านฤภวัฒน์ โพธิ์น้อย นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ผู้แทนจากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความเห็นประเด็นล่ามว่า พม. มีการอบรมล่ามในทางทฤษฏีและจรรยาบรรณ รวมทั้งมีการทดสอบ ขึ้นทะเบียนไว้สามร้อยกว่าคน แต่มีข้อจำกัดตรงที่ล่ามกลุ่มดังกล่าวเป็นจิตอาสา ไม่ได้จ้างประจำ มีเพียงค่าตอบแทนให้ชั่วโมงละ 800 บาท บางทีติดต่อไปก็ไม่ว่าง ต้องหาล่ามคนอื่น

สมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนในคดีค้ามนุษย์ขาดความเป็นอิสระ ขาดความเป็นมืออาชีพ ต้องตอบสนองนโยบายและการสั่งการของผู้บังคับบัญชารวมถึงผู้บัญชาการระดับสูง ที่ต้องตอบนโยบายรัฐบาลอย่างไม่เป็นมืออาชีพหรือทำตามกระแสสังคม เช่น ต้องตั้งข้อหาให้สูงไว้ก่อน ทำให้เกิดการตีข่าว หรือการที่อัยการสั่งฟ้องไว้ก่อนให้มีตัวเลขมากๆ พฤติการณ์เช่นนี้อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา


ภาพเรือประมงท้องถิ่นที่อ่าวพนัง (ที่มา: flickr/Prachatai)

สมชายยกประเด็นที่อยู่ในรายงานมานำเสนอว่า คนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ไม่รู้ว่ามีสิทธิอะไรเพียงแต่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม มีเคสในกว๊านที่แรงงานถูกตีขาจนต้องตัดขาหนึ่งข้างแต่ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิขอค่าชดเชยเยียวยา นอกจากนั้น ถ้าการเยียวยาเหยื่อไม่ได้ผล ก็มีโอกาสง่ายมากที่เหยื่อจะถูกผู้กระทำความผิดซื้อตัว แล้วทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ คนที่ให้เบาะแส หรือร้องเรียนว่าอาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์กลับถูกดำเนินคดีปิดปาก มีหลายคดีที่มีลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่มีคนกล้าร้องเรียน ฟ้องร้อง ให้เบาะแสกับเจ้าหน้าที่ หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ต่อต้าน ปราบปรามค้ามนุษย์

นอกจากนี้ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่มีความคลุมเครือจากพฤติการณ์ที่มีหลายบริบทนั้น ควรอิงกับบรรทัดฐานของข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ใช่ดูเพียงความพึงพอใจของผู้เป็นเหยื่อ เพราะการค้ามนุษย์ถือเป็นความผิดต่อรัฐด้วย สังคม และรัฐจึงไม่ควรยินยอมให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้

พ.ต.ท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอให้เพิ่มอำนาจให้ดีเอสไอในกรณีแวดล้อมคดีค้ามนุษย์ เช่น แรงงาน ประเวณี ประมง ซึ่งเป็นกรณีก่อนที่จะตัดสินว่าจะเป็นความผิดค้ามนุษย์ การไม่มีอำนาจทำให้ดีเอสไอจับความผิดซึ่งหน้าไม่ได้ ล่อซื้อไม่ได้ แต่การขาดไปก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้กระทำได้ ทั้งนี้ อยากให้การดำเนินคดีไม่จำเพาะกับคนในไทย แต่ควรดำเนินการในส่วนคนไทยที่ตกระกำลำบากในต่างประเทศ ซึ่งดีเอสไอก็พยายามสร้างครือข่ายรองรับสถานการณ์เหล่านี้ โดยคาดว่าปีหน้าจะมีงบประมาณดำเนินการ

สุภัทธ์ยังเสนอให้มีการลองจัดหน่วยหรือกรมเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามค้ามนุษย์สักห้าปี เพราะเมื่อรวมศูนย์ได้ ก็จะมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมารวมศูนย์กัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไอลอว์ สรุปผลงาน 4 ปี สนช. ออกกฎหมายช่วย คสช. ยื้อเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจ ปิดกั้นเห็นต่าง

Posted: 02 Aug 2018 03:41 AM PDT

ไอลอว์ เปิดเผยสรุปการทำงาน 4 ปี สนช. เห็นชอบกฎหมายไปอย่างน้อย 298 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 5 ฉบับ แต่กฎหมายที่ออกมาหลายฉบับล้วนตอบสนองความต้องการของ คสช. 

ภาพซ้าย : ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน เจ้าหน้าฝ่ายจับตากฎหมายจากไอลอว์

1 ส.ค. 2561 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยสรุปการทำงาน 4 ปีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ตั้งแต่การเปิดประชุมนัดแรกในเดือนสิงหาคม 2557 ถึงปีนี้ครบ 4 ปีแล้วผลงานที่โดดเด่นของ สนช. คือ การผลิตกฎหมายได้ปริมาณมาก นับถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ สนช. เห็นชอบกฎหมายไปอย่างน้อย 298 ฉบับ เฉลี่ยแล้วผ่านกฎหมายเดือนละห้าฉบับ แต่กฎหมายที่ออกมาหลายฉบับล้วนตอบสนองความต้องการของ คสช. 

"กฎหมายจำนวนหนึ่งมีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อช่วยให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ เราสามารถแบ่งเป้าหมายในการออกกฎหมายของ สนช. เป็นสามอย่าง คือ หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ สอง ยื้อการเลือกตั้งต่ออายุให้กับรัฐบาล คสช. เช่น การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ สาม ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง เช่น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ" ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน เจ้าหน้าฝ่ายจับตากฎหมายจากไอลอว์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีร่าง พ.ร.บ. จำนวนหนึ่งที่ สนช. ยังคงเตะถ่วงไม่รีบพิจารณาให้เสร็จ และมีข้อสังเกตว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ในสภา เช่น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา สนช. ใช้เวลาพิจารณามากกว่าหนึ่งปีสามเดือนแล้วแต่ยังไม่เห็นวี่แววว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบเมื่อไร 

ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า "ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการถือครองที่ดินที่ส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวในมือของนายทุน มีกระแสข่าวมาตลอดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ผ่านในยุคนี้หรือถ้าผ่านก็คงถูกแก้ไขจนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถใช้งานได้จริง นั้นเพราะสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ที่นั่งพิจารณากฎหมายอยู่ก็ถือครองที่ดินจำนวนมากจึงอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีข่าวที่สมาชิกสนช. สายธุรกิจร่วมยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายดังกล่าวด้วยตัวเอง"

นอกจากเรื่องออกกฎหมาย บทบาทที่สำคัญของ สนช. อีกหนึ่งอย่างคือ การเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ลงมติเห็นชอบเพื่อคัดเลือกคนเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างน้อย 13 องค์กร เป็นการลงมติเห็นชอบ 60 ตำแหน่ง ไม่เห็นชอบ 19 ตำแหน่ง จะเห็นว่า ผู้ได้รับความเห็นชอบจำนวนหนึ่งเป็น สมาชิก สนช. เช่น ดิสทัต โหตระกิตย์ ถูกแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ถูกแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุด อีกทั้ง บางคนก็เป็นคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช. เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีต สนช. และคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

"สนช. ถูกกำหนดให้ทำหน้าแทน ส.ว. เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เช่น การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เป็นทหารและมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด ดังนั้น สนช. จึงเป็นตัวแทนของผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มาทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระซึ่งควรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. เช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง กรรมการองค์กรอิสระต่างๆ สามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวข้ามรัฐบาล ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการสืบทอดอำนาจของ คสช." ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม : 

ดูข้อมูล สี่ปี สนช.: "สภาตามสั่ง" ผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ-ปูทาง คสช. อยู่ยาว ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4881

ดูข้อมูล สี่ปี สนช.: เลือก 60 คนนั่ง 13 องค์กรตรวจสอบ ช่วย คสช. ยึดประเทศอย่างช้าๆ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4883

ดูข้อมูล สี่ปี สนช.: ผ่านกฎหมายแปดฉบับอนุมัติงบประมาณ 14 ล้านล้านบาท ให้ คสช. ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4884

ดูข้อมูล สี่ปี สนช.: "เตะถ่วง" ไม่ผ่านยืดเวลากฎหมายกระทบนายทุนและตัวเอง ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4882

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น