โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ธงชัย วินิจจะกูล ชวนรื้อฟื้นประเทศไทย ไม่ปล่อยให้เดินตามอำเภอใจของคนจำนวนน้อย

Posted: 25 Aug 2018 10:10 AM PDT

ธงชัย วินิจจะกูลร่วมเสวนา "เรื่องเล่าหลังกรงขัง" ชี้ไทยแลนด์ 4.0 เป็นความพยายามรีแบรนด์ของ คสช. แต่กลับไม่มีเนื้อหาสาระ ของจริงอยู่ที่ระบบการเมือง-กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำลายตลอดวิกฤต 12 ปีจนยากจะฟื้น เศรษฐกิจซึมยาวเป็นรูปตัว L ผลประโยชน์กระจุกกับกลุ่มทุนส่วนคนระดับกลางถึงระดับล่างจมสนิท พร้อมชวนเพื่อร่วมสังคมไทยเข้าร่วม "ภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย" ก่อร่างสร้างสถาบันทางการเมือง-สังคมให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ปล่อยให้เดินตามอำเภอใจของคนจำนวนน้อย

ธงชัย วินิจจะกูล ที่มา: เพจ Banrasdr

ในวงเสวนา "เรื่องเล่าหลังกรงขัง" ซึ่งจัดโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งธงชัย วินิจจะกูลกล่าวแนวคิด "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล คสช. ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความพยายามรีแบรนด์ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ "ไทยแลนด์ 4.0 คำคำนี้อาจจะตั้งชื่อให้ดูเท่ แต่ไม่มีสาระอะไร อาจเป็นการรีแบรนด์ รีแพคเกจ เป็นไปได้ ผมไม่รู้เจตจำนงคนที่ทำขึ้น"

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รายนี้ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โลกกำลังสนใจเรื่องการเข้าสู่ "ยุคพลิกผัน" (destruction era) ทั้งโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติของโลก การปฏิวัติดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนตั้งแต่หัวถึงเท้า และสังคมไทยหนีไม่พ้น แต่คำถามคือจะรับมืออย่างไรซึ่งเป็นโจทย์ของเราทุกคน "ถ้าไทยแลนด์ 4.0 เป็นแค่การรีแพคเกจก็น่าเสียดาย สักแต่ว่ารีแบนด์โดยไม่คิดจริงจัง ความจริงการเปลี่ยนแปลงมีความหมายมาก ไทยอาจจะไม่เปลี่ยนตามตะวันตกแต่ได้รับผลแน่ๆ"

เขายกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนเช่น การเล่นเฟซบุ๊กยังส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปัจเจกคนแต่ละคนสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

20 ปีก่อนเรายังบ่นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล แต่ขณะนี้เข้าถึงข้อมูลง่ายจนล้น แต่สิ่งที่เป็นเรื่องจำเป็นตามมาก็คือความสามารถในการจัดการข้อมูล "จะเชื่ออะไร จะคัดจะทิ้งอะไร เพราะข้อมูลล้นจนเกินกว่าที่มนุษย์จะรับรู้ แต่ที่มีเยอะๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนเลือกใช้ตามต้องการ สิ่งที่เป็นขยะของผมอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น ข้อมูลที่มีล้นหลามมีประโยชน์ตรงนี้"

เขากล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 ที่ต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติดิจิทัลก็คือว่า นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ 4 หรือ Internet of things คือการเคลื่อนไหวของกิจกรรม ไม่ใช่แค่ข่าวสารเท่านั้น แต่มีกิจกรรมที่ทำผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งจะเปลี่ยนคุณลักษณะประกอบการทางธุรกิจ และจะเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต

ในทางการเมือง คนจะเกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลาย จะเกิดอัตลักษณ์ซ้อน สอง-สาม- สี่ มีอัตลักษณ์หลายอย่างพร้อมกัน ถึงที่สุดจะสามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ง่ายขึ้น มีเวทีประกาศความเป็นตัวเองได้ ทุกคนทำได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้มีผลในทางการเมือง เพราะผลประโยชน์ของคนแตกย่อยออกไป ผลประโยชน์ของคนหนึ่งไม่เหมือนอีกคนหนึ่ง ทำให้ควบคุมยาก เกิดพลวัตรทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลที่ต้องการควบคุมมากอยู่ได้ยากมากขึ้น

ธงชัย กล่าวด้วยว่า ผลของกระแสโลกไม่จำเป็นต้องมาถึงเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา นักกิจกรรมที่กลัวความเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมาถึงเมืองไทยแน่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องกลัว เพราะมีทั้งโอกาสและมีคนที่ได้รับผลเสีย ในส่วนของการศึกษา เขาเห็นว่าคำถามที่สำคัญคือจะเทรนคนขึ้นมาแบบไหนในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว

สำหรับรัฐบาลนั้น เขาเห็นว่า รัฐประชาธิปไตยออกแบบมาสำหรับการปรับตัวอยู่แล้ว เพราะออกแบบมาให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนและปรับ ระบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยต่างหากที่ปรับยาก ระบบคุณพ่อรู้ดีจะปรับไม่ได้ เพราะระบบใหม่นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนเดียวจะรู้ทุกอย่าง

"คุณต้องปล่อยให้มีไดนามิค (พลวัตร) แค่คุมกติกาให้ปลดพลังสร้างสรรค์อย่างไปตีหัวคนอื่น รัฐต้องปกป้องคนที่จะได้รับผลกระทบ และดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่ผลิตคน กระแสโลกตอนนี้ตอบสนองในทางที่ผิด มันเกิดพาราดอกซ์ ปฏิภาคย้อนแย้ง ยุคนี้คุณต้องผลิตคนที่รู้จักปรับตัว มีทักษะที่ปรับได้ คิดเป็น ต้องมีคนที่พร้อมจะมีพื้นฐานสำหรับยืน ไม่ใช่ยืนอยู่กับที่เดิมไปตลอดชีวิต ทำอาชีพเดียว เอาเข้าจริงตอนนี้ก็เปลี่ยนแล้ว ที่เราพูดว่าคนสมัยนี้โกลบอล คนต่างชาติภาษาเยอะมาก มนุษย์เปลี่ยนไปแล้ว อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนตาม ต้องผลิตคนที่พร้อมจะปรับต้อนรับยุค Destruction เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว"

ระบบการเมือง-ยุติธรรมถูกทำลายตลอดวิกฤต 12 ปีจนยากจะฟื้น

ธงชัย ตั้งคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะเข้ากันได้หรือไม่กับระบบสังคมการเมืองที่แสนจะไม่มีพลวัตร แต่เรียกตัวเองว่า Thailand 4.0 ซึ่งเขาตอบคำถามของตัวเอง "น่าห่วงมากๆ" 

เขาให้เหตุผลว่าวิกฤติการเมือง 12 ปีที่ผ่านมา ก่อผลยั่งยืนอย่างหนึ่งซึ่งอีกนานกว่าจะแก้ได้ นั่นก็คือการทำลายการก่อรูปก่อร่างของสถาบันทางการเมืองที่กำลังเติบโตมาและทำลายกระบวนการยุติธรรม

"หลายคนสนใจรัฐสภาและเลือกตั้ง ยิ่งนานผมยิ่งสนใจกระบวนการยุติธรรมเพราะผมว่าฟื้นยากกว่าเยอะ อันนี้เรื่องใหญ่ และผมว่าสิบสองปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองสำคัญ แต่ต่อให้คุณฟื้นระบบการเมืองได้ กระบวนการยุติธรรมที่น่าศรัทธาได้ก็ต้องการเวลามากกว่านั้นมันไม่ล้มตามการเมืองแต่ไม่ฟื้นทันทีที่การเมืองฟื้น"

"มันต้องใช้เวลาสร้างอีกนานมาก ผมไม่เห็นวี่แววจะทำอะไรกับกระบวนการยุติธรรม ไม่รู้ด้วยซ้ำจะเริ่มยังไง วิกฤตจิที่ผ่านมาคือทำลายสถาบันการเมือง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม"

ธงชัยกล่าวด้วยว่า สังคมไทยมีแนวโน้มน่าวิตกอีกประการคือ นอกจากทำลายสถาบันแล้วยังกลับไปยึดติดกับตัวบุคคลมากขึ้นอีกอย่างน่ากลัว การใช้ ม.44 คือการบอกว่าขึ้นอยู่กับผู้นำ จะว่ายังไงก็ว่าไป ไม่มีหลักมีเกณฑ์ จนกลายอย่างผิดพลาดเอง

ชวนร่วมภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย ด้วยมือคนเล็กคนน้อย

ในทางเศรษฐกิจ ศ.ธงชัย มองว่าจะอยู่ในภาวะซึมยาวและตกต่ำลงทุกด้าน อย่าโทษเขามากเกินไป 4 ปีที่ผ่านมามันมหาศาล เป็นกราฟรูปตัว L ซึมยาวคือลงและไม่ตายนะครับ และไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยทั้งหมดทุกๆ ด้านจะลงเป็นตัว L คือทุกวันนี้ผมไม่ได้มีกำลังใจให้ใครเพราะผมไม่ได้เสียกำลังใจมากมาย แต่เป็นสภาพความจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย กระบวนการทางกฎหมายต่อให้เราเริ่มรื้อฟื้นแต่ก็จะพูดกันอีกยาว สู้กันอีกนาน และประเทศไทยไม่หล่นหายไปจากแผนที่หรอกครับไม่ต้องกลัว ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์เขากลัวประเทศไทยจะหล่นหายไปจากแผนที่ แต่ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะฐานของตัว L ยาว ต่อให้มีการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นภารกิจที่สำคัญก็คือการต้องก่อร่างสร้างตัวกันใหม่

"เหมือนจะพูดให้หมดหวัง แต่ก็เป็นธรรมดาที่โลกต้องเผชิญ  ยุคต่อไปฟื้นตัว ก่อร่างสร้างตัวได้ก็บุญแล้ว แต่ไม่ว่าใครมาเป็นผู้นำพรุ่งนี้มะรืนนี้ก็อย่าคาดหวังสูง อย่าโทษเขามากเกินไป มันอีกนาน ความเสียหายอันเนื่องมาจาก 10 ปีที่ผ่านมา หรือ 4 ปีที่ผ่านมามันมหาศาล ก็ฝากกำลังใจ ความมุ่งมั่น ถ้าท้อผมก็ไม่ว่าอะไร ถ้ายังมีความมุ่งมั่นอยากอุทิศ ความพยายามรื้อฟื้นขึ้นมา เราก็มาร่วมกัน ลงมืออีกสักยกเท่าที่จะทำได้ ในภาวะที่เราเดินช้าทุกที ผมเดินในถนนผมก็สงสัยว่าคนสมัยนี้ทำไมเดินเร็วนักวะ ผมก็เจอว่าไม่หรอก ผมเดินช้าลง ในภาวะของเราแบบนี้ ทำเท่าที่กำลังเราไหวเท่าที่เราจะมีแรง"

"และถ้าข้อความนี้ไปถึงคนรุ่นหลัง คนรุ่นลูกรุ่นหลาน พวกคุณมีภารกิจสำคัญรออยู่ข้างหน้า ภารกิจนี้คือภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย พยายามก่อร่างสร้างสถาบันขึ้นมาอีกครั้งเถอะ ในภาวะปัจจุบันเราไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เรากลับเห็นทิศทางที่น่ากลัวคือการไปอิงกับตัวบุคคลมากไป ปล่อยให้อำเภอใจของคนจำนวนน้อยไม่ว่าวงการไหน ทั้งข้างบนจนถึงข้างล่าง ราวกับว่าประเทศไทยจะเดินไปได้ด้วยผู้รู้ดีจำนวนน้อยเหล่านั้น แม้กระทั่งทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โลกแตกหน่วยทางเศรษฐกิจย่อยๆ ลงมาเพื่อจะสร้างพลวัตรสูง แต่ประเทศไทยโครงการประชารัฐ โครงการอะไรต่างๆ ที่เขาพูดถึง 4.0 กลับทำให้เกิดความร่ำรวยและธุรกิจต่างๆ โดยคนร่ำรวยที่คุณเห็นเป็นธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนนิดเดียว ส่วนคนระดับกลางถึงระดับล่างจมสนิท ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเหตุที่ไม่ลงเพราะข้างบนเขาดีขึ้น" 

"นี่คือภาวะที่เราทุกคนต้องพยายามทำ แม้จะช้าไป 50 ปีนับจากยุคที่อาจารย์ของผมบอกว่าสังคมต้องก่อร่างสร้างสถาบัน เราไม่มีทางอื่น จะยุค 4.0 หรือสักวันจนถึงยุค 5.0 เท่าที่ผมมีความรู้ในขณะนี้จะบอกได้ก็คือเราต้องการการสร้างสถาบันที่ลงหลักปักฐาน ที่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่ใช่การปล่อยให้ประเทศไทยเดินไปตามอำเภอใจแบบนี้ และการพูดแบบนี้ไม่ใช่ประชด ขอย้ำเป็นครั้งสุดท้าย นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็นในระยะ 10 กว่าปี โดยเฉพาะในระยะ 4-5 ปีที่่ผ่านมา ซึ่งมันควรจะเป็นตรงกันข้าม เรากลับเดินไปอีกทางหนึ่งซึ่งมันผิด"

"ได้เวลาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ไม่รู้ล่ะว่าเมื่อไหร่ แต่เราต้องเล็งต้องพยายาม และถ้าเห็นแก่ประเทศชาติ เห็นแก่เพื่อนร่วมสังคมไทย เห็นแก่เพื่อนคนทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ ภาพใหญ่นั้นไม่ใช่อยู่ในมือของคนรู้ดีจำนวนนิดเดียวหรือผู้มีบารจำนวนนิดเดียว แต่อยู่ในมือคนเล็กๆ ไม่ใช่เพื่อขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่เพื่อก่อร่างสร้างสถาบันทางการเมือง ทางสังคมให้มันมีหลักมีเกณฑ์"

เรียบเรียงบางส่วนจาก VoiceTV และ PEACE TV

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จากการเพรียกหา “วินัย” ในโรงเรียน-มหาลัย ถึงวิธีคิดแบบทหารที่ขยายตัวในสังคมไทย

Posted: 25 Aug 2018 09:52 AM PDT

"บรรดาทหารเกณฑ์เป็นผู้ที่มีวินัยที่สุด มหาวิทยาลัยจึงเชิญครูฝึกทหารมาฝึกอบรมนักศึกษา สอนให้ลูกศิษย์ มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา เคารพกติกาสังคม มีจิตสาธารณะและมีภาวะผู้นำ ดังนั้นกิจกรรมแบบนี้ จะไม่ดีได้อย่างไร" ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ในอมรินทร์ทีวี

รายงานข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจในแวดวงการศึกษาและมหาวิทยาลัยในอาทิตย์นี้ ประเด็นหนึ่งคือกรณีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เชิญเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นครูฝึกสังกัดมณฑลทหารบกที่ 41 มาฝึก 'ภาวะความเป็นผู้นำ' ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กว่า 2,000 คน

รายงานของมหาวิทยาลัยระบุว่าการฝึกดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการ 'WU Next Generation Leadership 2018' ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. – 20 ก.ย. 61 เพื่อฝึกให้นักศึกษามีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด "กตัญญู รู้วินัย ใจอาสา พัฒนาภาวะผู้นำ"  ทางมหาวิทยาลัยระบุว่าถึงแม้จะมีครูฝึกทหารแต่ไม่ใช่การฝึกที่รุนแรง แต่ลักษณะการฝึกจะเหมือนการฝึกกีฬา ฝึกวินัย และได้ออกกำลังกาย ทั้งเมื่อฝึกครบจะได้คะแนนตาม "พาสปอตคนดี"

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยอบรมวินัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครั้งนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทหารเข้าสู่พื้นที่สถานศึกษา อย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งระบบการอบรมข้าราชการมาอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้นอย่างมากภายหลังการรัฐประหารปี 2557 นี้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังดูจะสะท้อนไปถึงอิทธิพลของวิธีคิดแบบทหารหรือระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ที่ดำรงอยู่แม้แต่ในพลเรือนด้วยกันเอง แต่สามารถเปิดเผยตัวและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงหลังรัฐประหารครั้งนี้ด้วย

 

ไม่ได้เพิ่งมีที่ ม.วลัยลักษณ์ แต่ทหารเข้าอบรมในหลายโรงเรียน-หน่วยราชการ

หากยังจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว (2560) มีรายงานข่าวในหลายสื่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 จำนวน 16 คน นำโดย ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน ดารานักร้อง ที่เข้าเกณฑ์ทหารอยู่ในสังกัดของทหารกองพันนี้ เข้ามาปฐมนิเทศนักเรียนในระดับชั้นประถมปีที่ 3 และ 4  ภายในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายประถม

ผู้อำนวยการโรงเรียนระบุว่าเป็นนโยบายของโรงเรียนเอง ที่ต้องการปลูกฝังความมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลาให้กับนักเรียน จึงได้ประสานติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร ให้มาช่วยสอนในเรื่องของระเบียบแถว การเดิน และซ้ายหัน-ขวาหัน โดยมีการแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ และให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ แต่เมื่อเป็นข่าว นโยบายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งผู้ปกครองของนักเรียน และอาจารย์ด้านการศึกษา

ทางคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว. ในขณะนั้นยังระบุด้วยว่าแนวคิดการเอาทหารมาฝึกวินัยเด็กนั้น โรงเรียนทำแบบนี้มานานแล้ว โดยได้ความคิดมาจากโรงเรียนเครือเซนต์คาเบรียล และยังมีโรงเรียนดังในกรุงเทพอีกมากที่เอาทหารฝึกในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่านักเรียนไร้วินัย และผู้ฝึกวินัยที่ดีที่สุดน่าจะเป็นทหาร


ภาพกรณีทหารเข้ามาฝึกวินัยนักเรียนใน รร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร ฝ่ายประถม (
ภาพจากข่าวสดออนไลน์)

หรือย้อนไปเมื่อปี 2559 ก็มีข่าวที่ได้รับความสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีที่โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทางโรงเรียนได้ให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 แต่งชุดทหารมาเรียนทุกวันพฤหัสบดี ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ "ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง" เพื่อเป็นการสำนึกในแม่ฟ้าหลวง และปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีระเบียบวินัย

แม้ตามรายงานข่าวระบุว่าโครงการนี้มีมากว่า 4 ปี ก่อนหน้าจะเป็นตกเป็นข่าว และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่น่าสนใจว่าเมื่อกลายเป็นข่าว เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาชื่นชมกับโครงการดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลคสช. และกระทรวง โดยระบุว่าการใส่ชุดทหารมาเข้าร่วมกิจกรรมนั้นไม่ถือว่าผิดระเบียบเพราะสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด และยังทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกเข้มแข็งเมื่อสวมเครื่องแบบ


ภาพเด็กนักเรียนของโรงเรียนชุมชนดูนสาด ใส่ชุดทหารมาเรียน
(ภาพจาก
Workpoint TV)

ไม่เพียงแต่ในแวดวงการศึกษา แต่วงการข้าราชการพลเรือนเอง ก็มีการนำทหารเข้ามาช่วย "ฝึก" เช่นกัน โดยในปีที่ 2560 ปรากฏเป็นข่าวกรณี 'การอบรมข้าราชการที่ดี' ในค่ายอบรมกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขเขต 5 โดยมีการให้ผู้อบรมเข้าไปฝึกในโรงเรียนนายร้อย จปร. มีการยึดมือถือ และมีการนำทหารมาฝึก โดยกำหนดให้เข้าฐานเหมือนฝึกทหาร จนผู้เข้าอบรมมีการร้องเรียนเรื่องการบังคับให้ยืนกลางแดด ตากฝน กระโดดข้ามกองไฟ ปาประทัดใส่ หรือมีการให้เดินป่าในตอนกลางคืน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

ผู้เคยเข้าอบรมยังเปิดเผยว่าการเข้าอบรมดังกล่าวมีลักษณะบังคับ คือต้องเข้าอบรมภายในหกเดือนหลังเข้ารับราชการ มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งในค่ายจะมีการนำบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ เภสัช ทันตแพทย์ และพยาบาล มาอบรม โดยใช้เวลาทั้งหมด 7 วัน ในสองวันแรกเป็นการฝึกในโรงเรียนนายร้อย จปร. และอีก 5 วันให้หลังเป็นการฟังบรรยายในโรงแรม

กรณี "การอบรมข้าราชการที่ดี" ดังกล่าว หากลองสืบค้นดู จะพบว่าในหลายกระทรวงก็ได้มีการจัดการอบรมโดยให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนสำคัญเช่นกัน เช่น การฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกำหนด 16 วัน ส่วนหนึ่งมีการเข้าไปฝึกอบรมภายในค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และให้มีการฝึกเพื่อระเบียบวินัย และสร้างความสามัคคี โดยมีวิทยากรครูฝึกทหารของค่ายด้วย  รูปแบบการอบรมลักษณะนี้ในปัจจุบันจึงน่าจะถูกใช้ทั่วไปในการฝึกอบรมข้าราชการใหม่ในหลายกระทรวง

ส่วนหนึ่งในรูปแบบการฝึกอบรมหลักสูตร "การเป็นข้าราชการที่ดี" ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ปี 2560 ที่ให้มีการนำฝึกกิจกรรมภาคสนามโดยครูฝึกทหาร

กองทัพก็จัดโครงการอบรมนักเรียนในโรงเรียนต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม นอกจากกรณีที่เป็นข่าวในลักษณะนี้ ยังมีกรณีที่กองทัพนำบุคลากรของตนเองเข้าไปอบรมในสถานศึกษาเอง ภายใต้ชื่อโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานในกองทัพดำเนินการเอง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างเสริมอุดมการณ์ความรักชาติ สร้างคนดีด้วยประวัติศาสตร์ สร้างชาติด้วยอุดมการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปอบรมให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ (ดูตัวอย่างโรงเรียนในจังหวัดสตูล โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี)

ภาพการฝึกอบรมโครงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ที่โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา
อำเภอสังขละบุรี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 60 (ภาพจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

หรือโครงการในลักษณะที่เป็นการทำงานของชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ของกองทัพภาคต่างๆ ก็มีการเข้าไปปฏิบัติงานอบรม หรือพูดคุยหน้าเสาธงกับเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ด้วย (ดูตัวอย่างโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์โรงเรียนในจังหวัดหนองคาย)


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2
ปฏิบัติงานที่ รร.ปราสาทเบงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 5 ก.พ. 59 (ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียน)

 

ทางกองทัพบกเอง ยังได้มีโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดโครงการค่ายฝึกเยาวชนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ภายใต้โครงการรณรงค์เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ โดยในปี 2560 มีการจัดจำนวนทั้งหมด 60 ค่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการนี้มีการให้นักเรียนชั้นมัธยมเข้าไปรับการอบรมภายในค่ายทหาร โดยมีวิทยากรของกองทัพคอยให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ไทย, ความสมานฉันท์, การเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติและยาเสพติด, การดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคติดต่อ, ศิลปะป้องกันตัว การออกกำลังกาย, หน้าที่พลเมืองที่ดี, การสร้างแรงบันดาลใจ และการอยู่สังคมอย่างมีคุณค่า, การสร้างระเบียบวินัยในตนเอง และมีการนำนักเรียนไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ กันไปในแต่ละจังหวัด ก่อนจะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับนักเรียนที่เข้าร่วม  (ดูตัวอย่างรายงานข่าวการจัดอบรมลักษณะนี้ในจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเลย เป็นต้น)

โครงการและปฏิบัติการเหล่านี้ สะท้อนถึงความพยายามของกองทัพที่จะปลูกฝังค่านิยมของกองทัพให้กับเยาวชน และนักเรียนที่ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ซึ่งดูจะเข้มข้นขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหารครั้งนี้ด้วย

ภาพการฝึกอบรมโครงการค่ายเยาวชนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
ภายในมณฑลทหารบกที่ 33 เมื่อวันที่ 20-23 มี.ค. 60 (ภาพจากเชียงใหม่นิวส์)

พลเรือนไทยยุคหลังรัฐประหาร: ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร ก็คิดแบบทหาร

ปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะกรณีที่ครูอาจารย์ตามสถานศึกษา-ข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานต่างๆ เป็นฝ่ายต้นคิดเชิญฝ่ายทหารมาอบรมในกรณีต่างๆ เสียเอง หรือการคิดว่ารูปแบบการฝึกแบบหน่วยงานทหารเป็นการแสดงออกถึง "วินัย" ในรูปแบบที่ดีที่สุด ไม่เพียงสะท้อนถึงภาวะที่บทบาทของกองทัพและทหารขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังสะท้อนไปถึงภาวะที่วิธีคิดแบบทหารขยายตัวออกไปในสังคม โดยที่พลเรือนเองด้วยซ้ำ ที่กลับมีค่านิยมถึงการปลูกฝังความคิด หรือการสร้างความสัมพันธ์ในแบบทหารๆ เสียเอง

ในทางวิชาการมีกรอบแนวคิดหนึ่ง ที่ถูกใช้อธิบายภาวะที่บทบาทของทหารขยายตัวไปในสังคมอย่างกว้างขวาง ได้แก่ แนวคิด Militarization (กระบวนการทำให้มีลักษณะทางทหาร หรือมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่างพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เสนอคำแปลว่า "ยุทธาภิวัฒน์") หมายถึงกระบวนการที่สังคมหรือบุคคลโดยทั่วไปค่อยๆ ถูกกำกับควบคุมโดยกองทัพ หรือถูกทำให้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดแบบทหาร

สังคมที่อยู่ภายใต้กระบวนการนี้ จะทำให้ความจำเป็นทางทหาร และสมมติฐานแบบทหารไม่เพียงจะเป็นคุณค่าที่ครอบงำ แต่ยังกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมนั้นๆ ด้วย กระบวนการนี้จึงเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปรความเชื่อและคุณค่าของสังคมทั่วๆ ไป ให้เป็นไปในวิถีทางที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังหรือการใช้อำนาจในลักษณะบีบบังคับมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมในบางส่วนของรายงานโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน "นิติรัฐที่พังทลาย: รายงานสิทธิมนุษยชน 4 ปี ภายใต้ คสช. กับมรดกต่อสังคมไทย"


 

ภาพการฝึกอบรมโครงการค่ายเยาวชนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ภายในมณฑลทหารบกที่ 28
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 61 (ภาพจากข่าวประชาสัมพันธ์ มทบ.28

ภายใต้มุมมองเรื่องนี้ ความสำเร็จอย่างหนึ่งของกองทัพในการรัฐประหารปี 2557 นี้ นอกจากความสามารถการในการยึดอำนาจทางการเมืองไว้ได้ยาวนานกว่า 4 ปี แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กรอบคิดแบบทหารยังขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เข้าไปมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและปฏิบัติการต่างๆ ของบุคคลพลเรือน หน่วยงาน หรือองค์กรในสังคมด้วย จนแม้ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารในกองทัพ แต่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบคิดแบบทหารเสียเอง

กล่าวอย่างถึงที่สุด การสร้างวินัยและการฝึกอบรมแบบทหารนั้น วางอยู่ฐานการใช้อำนาจบังคับ และเป็นวินัยแบบมีลำดับชั้นสูงต่ำ กล่าวคือทหารชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของทหารชั้นสูงกว่าเสมอ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ "ธำรงวินัย" หรือ "ถูกซ่อม"   วินัยแบบทหารจึงวางอยู่บนระบบการบังคับบัญชา การสั่งแล้วทำตาม คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องเด็ดขาด ผู้รับคำสั่งไม่ต้องคิด ไม่ตั้งคำถาม หรือ "ไม่แตกแถว"

ฐานคิดเหล่านี้เมื่อถูกนำใช้เองโดยพลเรือน และให้ทหารเข้ามาช่วยฝึกอบรม ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ จึงดูจะหมายถึงการพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ให้นักเรียน นักศึกษาใหม่ หรือข้าราชการใหม่ ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของครูอาจารย์ หรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่า  "ผู้น้อย" ที่มาเข้ามาใหม่ ต้องธำรงความสัมพันธ์กับ "ผู้ใหญ่" แบบมีลำดับสูงต่ำเอาไว้ ต้องรู้จักมีระเบียบวินัยในการแสดงออกเพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถดูแล จัดการ กระทั่งควบคุมได้ง่าย และเพื่อให้สังคม-ชุมชนคง "ความสงบเรียบร้อย" และการทำอะไรขัดแย้งหรือแตกต่างกับระเบียบของผู้ใหญ่ อาจนำมาซึ่งการถูกลงโทษได้

ฐานคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจนิยมที่ดำรงมาอยู่แล้วในวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมในเมืองไทย แต่รัฐประหารครั้งนี้ดูจะทำให้สิ่งเหล่านี้กล้าเผยตัว และขยายตัวออกไปในสถาบันและวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องเหนียมอายกับความขัดแย้งต่อคุณค่าแบบอื่นๆ เช่น ความเท่าเทียม ความมีเหตุมีผล หรือสิทธิเสรีภาพ มากเท่าไร

การมีฐานคิดเหล่านี้รองรับอยู่แล้วในหมู่พลเรือน จึงมีส่วนทำให้การยึดอำนาจการปกครอง และการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกองทัพตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมากระทำได้ง่ายขึ้น

และถึงที่สุดแล้ว การพยายามรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย อาจไม่เพียงเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลง "วัฒนธรรมแบบทหาร" และระบบ "อำนาจนิยม" ที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ แม้แต่ในหมู่พลเรือนด้วยกันเองอีกด้วย

 

ดูข้อวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นการเข้ามาอบรมวินัยโดยเจ้าหน้าที่ทหารในโรงเรียน

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: วินัยแบบทหารในโรงเรียน

ทหารอบรมข้าราชการ นักเรียน กับภาพจำ "ระเบียบวินัย" ในสังคม ทางออกอยู่ที่ประชาธิปไตย

 

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: หมาของผมเป็นเจ้าชาย

Posted: 25 Aug 2018 08:44 AM PDT

"หมาของผมเป็นเจ้าชาย" เผด็จการยืนประกาศจากโพเดียม

ฝูงชนที่ถูกเกณฑ์มายืนฟังมองหน้ากันเลิ่กลั่ก บางคนในนั้นกลั้นใจถามว่า "ท่านหมายความว่ากระไรหรือครับ"

"ก็หมายความตามนี้แหละ คือไอ้กะปอม หมาของผมนั้นที่จริงมันเป็นเจ้าชาย แต่ถูกแม่มดสาปให้เป็นหมา" หน้าตาจริงจังของเผด็จการทำให้ฝูงชนรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หรือคำกล่าวเปรียบเปรยอะไรทั้งนั้น

"ท่านรู้ได้อย่างไรครับ" อีกบางคนในฝูงชนร้องถาม

"มันฉลาดผิดหมาธรรมดา เวลามันดื้อไม่ยอมกินอาหาร เมียผมตัดพ้อต่อว่ามันว่า อุตส่าห์สรรหาอาหารรสแปลกๆ ให้มันทุกมื้อ ทำอย่างนี้เสียน้ำใจจนเกลียดกะปอมแล้ว หลังจากนั้นสักครู่ มันก็เดินมุดจากที่ซ่อนใต้อ่างล้างชาม ออกมาก้มหน้าก้มตากินอาหารในชามของมัน"

สีหน้าของเผด็จการดูผ่อนคลายลงเมื่อได้พูดถึงไอ้กะปอม ทำให้คนในฝูงชนผ่อนคลายตามไปด้วย จึงมีคนกล้าแย้ง

"แต่ท่านครับ เท่าที่ผมเคยเห็นนะครับ หมาบางตัวก็ทำอย่างนี้ คือแน่ใจแล้วว่าจะไม่มีอาหารอื่นมาแทน และชามข้าวอาจถูกเก็บโดยมันไม่ได้กิน มันก็จะยอมกิ…"

"อ๋าย คุณไม่รู้อะไร" เผด็จการท้วงเสียงดังตั้งแต่เขายังพูดไม่จบ "ผมกับเมียเคยพยายามจับให้ได้ว่ามันเป็นเจ้าชาย เลยทำทีเป็นออกจากบ้านทั้งคู่ เอารถไปแอบจอดไว้ที่อื่น แล้วย่องกลับมาบ้านไม่ให้มันรู้ตัว เวลาเราไม่อยู่มันแปลงตัวกลับเป็นเจ้าชายทุกที…"

"แล้วยังไง แล้วยังไงครับ" ฝูงชนถามขึ้นด้วยความกระตือรือร้น (จริงหรือแสร้งก็ไม่รู้)

"มันจะยังไงได้อีกเล่า มันก็แปลงกลับเป็นหมาได้ก่อนที่เราจะพบมันเป็นเจ้าชายทุกที ถึงเราพยายามทดสอบอย่างนี้มาหลายหนแล้ว ก็ยังจับไม่ได้คาหนังคาเขาสักที"

ดูเหมือนฝูงชนจะหน้าสลดลง แต่ใครคนหนึ่งลืมตัวถามขึ้นว่า "อ้าว แล้วท่านจะรู้ได้อย่างไรล่ะครับว่ามันเป็นเจ้าชาย"

"คุณคิดสิ คิด จานชามที่เรายังไม่ได้ล้างก็มีคนล้างทุกครั้งที่เราไม่อยู่ บ้านเรือนเหมือนมีคนเช็ดปัดกวาดให้ระหว่างที่เราออกจากบ้าน ใครทำ ใครทำ คิดสิ คิดสิ"

ผู้สื่อข่าวซึ่งหนังสือพิมพ์ของเขาพยายามประคองตัวให้รอดภายใต้เผด็จการ โดยไม่ต้องทรยศต่ออาชีวปฏิญาณของตนเอง ทะลุกลางปล้องขึ้นว่า "เรื่องนี้เขาเล่ากันมาแต่โบราณแล้วนะครับ ต่างกันเพียงเจ้าชายแฝงตัวอยู่ในหอยเท่านั้น"

"นั่นไง นั่นไง แสดงว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเล่ากันมาแต่โบราณได้อย่างไร" เผด็จการเตือนสตินักข่าว แล้วเสริมว่า

"คุณคิดดูก็แล้วกัน ทุกครั้งที่มีฝรั่งเดินผ่านหน้าบ้าน ไอ้กะปอมจะเห่าอย่างเอาเป็นเอาตายทุกที แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวจีน มันกลับมองเฉยๆ แถมบางครั้งกระดิกหางให้ด้วย หากเป็นแค่หมา มันจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นฝรั่ง ใครเป็นจีน"

ทุกคนในฝูงชนมีสีหน้าสลดลง แต่สลดคนละอย่างกับที่เคยสลดครั้งที่แล้ว หลายคนเงียบงัน เร่งสมองให้คิดอย่างเคร่งเครียดว่า จะตั้งคำถามอย่างไรดี เพื่อให้เผด็จการพิสูจน์อย่างประจักษ์ว่าหมาของเขาเป็นเจ้าชายจริงหรือไม่ แล้วใครคนหนึ่งก็คิดออก

"ท่านครับ ท่านครับ ตอนที่เจ้าชายได้กลิ่นท่านกับคุณหญิงกำลังย่องกลับมาแอบดูเขานั้น มันต้องรีบแปลงร่างกลับเป็นหมาอย่างรวดเร็ว มันเคยทิ้งเครื่องทรงเจ้าชายเหลือไว้เป็นร่องรอยบ้างไหมครับ อย่างเช่นกางเกงและเสื้อที่มีลายดิ้นทองปักทั้งตัว เป็นต้น"

แม้ได้คิดให้คำถามฟังดูเนียนที่สุดแล้ว แต่จะเป็นเพราะน้ำเสียงที่ยังแฝงความขันไว้ หรือรอยยิ้มที่เปื้อนใบหน้าของคนจำนวนมากในฝูงชนก็ไม่ทราบได้ เผด็จการรู้ได้ทันทีว่าไม่มีใครเชื่อคำพูดของเขา ซ้ำยังตั้งคำถามเชิงเยาะเย้ยเสียดสีเสียอีก

เผด็จการยืดตัวขึ้น แสดงหน้าเครียดด้วยความโกรธ

"ปั้ดโธ่ ผมจะมาหลอกคุณหาสวรรค์วิมานอะไร จะบ้าเหรอ" เขายืดแขนออกชี้นิ้วกราดใส่หน้าทุกคน "ใครบ้าง ใครในที่นี้ที่ไม่เชื่อว่าหมาของผมเป็นเจ้าชายบ้าง ยกมือขึ้น"

ไม่แต่เขาเท่านั้นที่ยกมือขึ้นชี้นิ้วใส่หน้าฝูงชน ทหารที่ตามมาอารักขา ตำรวจท้องที่ซึ่งขนมาแทบหมดโรงพักเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หรือแม้แต่ท่านผู้ว่าฯ และข้าราชการพลเรือนทั้งหมด ก็พากันยกมือขึ้นชี้นิ้วไปยังฝูงชนพร้อมกัน ด้วยใบหน้าที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่าหมาเป็นเจ้าชายดีกว่าพวกเขาแต่ละคนกลายเป็นคนคุก

ทุกคนในฝูงชนก้มหน้าลงมองพื้น ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้แขนขยับแม้แต่เพียงเล็กน้อย อย่าว่าแต่ขยับแขนเลย แม้แต่ถ้าหายใจแล้วจะถูกจับจ้อง เขาก็พร้อมจะไม่หายใจ

บรรยากาศในที่นั้นเงียบสนิท ไม่มีสรรพสำเนียงใดๆ ทั้งสิ้น และก็ไม่มีใครสักคนในที่นั้นคิดออกว่าควรมีเสียงอะไรถึงจะเข้ากับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดขนาดนี้ได้ แต่แล้ว

"ป้าด" จะเป็นใครในฝูงชนหรือผู้ตามอารักขาจำนวนมากนอกเต็นท์ก็ไม่ทราบ ตดออกมาเสียงดังมาก เป็นเสียงที่ไม่เข้ากับเหตุการณ์ นอกตรรกะและความคาดหวังของทุกคน ไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย

เงียบกันไปไม่ถึงครึ่งอึดใจ ก็มีเสียงดังพรืดจากปากของใครคนหนึ่งที่กลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวแล้ว ตามมาด้วยเสียงหัวเราะกึกก้องอย่างไม่ยั้งของเขา เท่านั้นแหละฝูงชนและผู้ติดตามทั้งหมดก็ปล่อยหัวเราะออกมาอย่างอั้นไม่อยู่ ประชุมชนแห่งนั้นปั่นป่วนรวนเรด้วยเสียงและอาการหัวเราะอย่างไม่ต้องยั้งกันเลย

เสมียนจากศาลากลางยกมือขึ้นตบไหล่ผู้ว่าฯ พลางหัวเราะอย่างหยุดไม่ได้ ผู้ว่าฯ หันไปหาพร้อมกับหัวเราะกับเสมียนจนตัวโยก ทหารคนสนิทกับแม่ทัพภาคยกแขนพาดไหล่ของกันและกัน ส่งเสียงหัวเราะพร้อมร่างกายที่โงนเงนไปมาทั้งคู่อย่างเมามัน

ดูเหมือนโลกนี้ไม่มีแม่มด ถึงมีก็ไม่มีคำสาป ถึงมีคำสาปก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกแล้ว เมื่อทุกคนหันกลับมาตดได้และหัวเราะกับตดได้เยี่ยงมนุษย์ที่เสรีและเท่าเทียม

เผด็จการเดินลงจากโพเดียมด้วยใบหน้าหงอยเหงา เขาคิดว่าสถานที่นี้ไม่เหมาะกับเขา แม้แต่พื้นที่หลังโพเดียมก็ไม่เหมาะกับเขา โดยไม่ส่งเสียงใดๆ เขาเดินโดยไม่ส่ายไปถึงรถยนต์ของเขาที่จอดรออยู่ บอกคนขับรถด้วยเสียงเรียบๆ ว่า

"กลับบ้าน"

แม้อยู่ระหว่างหลับสนิท หูของไอ้กะปอมก็ยังแว่วเสียงล้งเล้งของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะเดินผ่าน มันลุกขึ้นยืน รู้สึกงงๆ นิดหน่อย พอดีกับที่นักท่องเที่ยวเดินคุยกันเสียงดังผ่านมาถึงพอดี ไอ้กะปอมโก่งคอเห่าและขู่เสียงดัง พร้อมทั้งยืนสองขาตะกุยประตูมุ้งลวดเพื่อจะออกไปเห่าใกล้รั้วนอกบ้าน

นักท่องเที่ยวจีนคงล้งเล้งต่อไปจนกว่าจะถึงรถทัวร์ที่จอดรออยู่ข้างหน้า

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_125803

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: สื่อไทยยุค IO

Posted: 25 Aug 2018 08:31 AM PDT

จุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเพจทหารจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับเหล่าทัพ กองทัพภาค ลงไปถึงกรม กองพัน ทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เข้าถึงผู้รับสารโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อ

เพจทหารเหล่านี้พัฒนาจากอดีต แม้บางเพจยังติดภาษาเขียนแบบทางการ แต่ก็พยายามแชร์ภาพประทับใจ เช่น ภารกิจช่วยเหลือประชาชน ความยากลำบากในการฝึกทหาร ให้ท่านผู้ชมเห็นความเสียสละ อดทน หรือถ่ายภาพสวย ๆ เพื่อเร้าอารมณ์คนที่นิยมทหาร มีการโควทคำคม ทำอินโฟกราฟิกของผู้บังคับบัญชาระดับต่าง ๆ (ไม่ทราบว่ารวมคำคมของ "พี่ป้อม" แบบ "ซ่อมไม่ตาย" หรือ "คนจีนทำนักท่องเที่ยวจีนเอง" ด้วยหรือไม่)

ไม่ต้องสงสัยว่า นี่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองโดยตรง ในยุคที่ "อดีต ผบ.ทบ." ผู้ยึดอำนาจตั้งตนเป็นนายกฯ เดินสายถามชาวบ้าน "เกลียดทหารไหม" อย่าเกลียดทหาร เพราะทหารมีไว้ดูแลประชาชน ในยุคสมัยที่นอกจากทหารทำรัฐประหาร ยังเพิ่มอำนาจตัวเอง เพิ่มงบความมั่นคง แก้กฎหมาย กอ.รมน. ให้ทหารเข้ามาคุมส่วนราชการย้อนยุคสงครามเย็น ขณะที่ในระดับบน ผบ.เหล่าทัพก็จะเป็นทั้ง ส.ว.แต่งตั้งและกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กำกับประเทศไปอีก 20 ปี

ทหารจึงต้องแชร์ภาพ เสียสละ อดทน ช่วยประชาชนเมื่อมีภัยพิบัติ หรือปราบเงินกู้นอกระบบ เพื่อให้ประชาชนยอมให้ทหารมีอำนาจมีอภิสิทธิ์ มีงบประมาณมหาศาล มีนายพล 1,400 กว่าคน และเกณฑ์ทหารปีละแสนกว่าคน ไปอีกนาน

จุลสารราชดำเนินยังท้วงติงผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวสายทหารว่า รับข่าวและภาพผ่านไลน์กลุ่ม แล้วส่งให้สำนักข่าวที่ตัวเองสังกัด ให้นำไปเผยแพร่ในลักษณะ "ก๊อป-วาง" ด้วยความรวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ข่าวออนไลน์ที่แข่งขันสูง จนไม่ทำข่าวสืบสวน หรือข่าว Exclusive

พฤติกรรมนี้คนนอกวงการ โดยเฉพาะผู้เสพสื่อมักไม่ทราบ ว่าปัจจุบัน ในวันเสาร์อาทิตย์ ที่มักมีข่าวโฆษกแถลงแทนผู้มีอำนาจ ว่าท่านเป็นห่วงประชาชนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความเป็นจริงคือนักข่าวนอนอยู่บ้าน โฆษกส่งข่าวทางไลน์ ส่งมาก็ก๊อปไป เหมือนกันเป๊ะทุกฉบับ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ยังโทรศัพท์ซักถามแตกประเด็นกันไป

การทำข่าวแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะนักข่าวทหาร นักข่าวการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจ ฯลฯ ก็รับข่าวทางไลน์ จากส่วนราชการ จากภาคเอกชน ซึ่งไม่ว่ากัน เพราะมันสะดวกดี แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการโต้แย้ง ซักไซ้ หรือตรวจสอบ เจาะหาความจริง ที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่งั้นนักข่าวก็ไม่ต่างจาก PR ของภาครัฐภาคเอกชน

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อยังมักจะ in หรือโน้มเอียง ด้วยความผูกพันกับแหล่งข่าว ด้วยความรู้สึกต้องลุ้นเอาใจช่วย เช่นนักข่าวทหารสนิทกับทหาร นักข่าวเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชื่นชอบสมคิด หรืออย่างน้อยก็ลุ้นเอาใจช่วยอยากให้เศรษฐกิจฟื้น ไม่อยากให้มีข่าวร้าย อยากให้มีแต่ข่าวดี อยากให้จีดีพีโต ๆ

ในมุมนี้ สื่อเศรษฐกิจ บางทีก็เป็น IO ด้วยตัวเองยิ่งกว่าสายทหารด้วยซ้ำ เพราะอันดับแรก ไม่มีใครอยากอ่านข่าวร้าย ต้องมุ่งขายข่าวดี อันดับถัดมา สื่อเศรษฐกิจยังมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการ กับองค์กรภาคธุรกิจ ก็ต้องลุ้นเอาใจช่วยไปด้วยกัน โดยยังไม่พูดถึงว่าสื่อกระแสหลักต้องพึ่งโฆษณา ทั้งจากภาครัฐ และธุรกิจเอกชน

กระแสสื่อวันนี้ จึงมีแค่จับข่าวดราม่ามาขาย กับ PR ให้ภาครัฐภาคเอกชน โดยการสืบค้นความจริงหายไป ผู้เสพสื่อควรรู้ให้ทัน

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/247894

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รู้หรือไม่? เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถใช้ป้องกันการรัฐประหารได้

Posted: 25 Aug 2018 08:24 AM PDT

ประเทศฟิลิปปินส์เคยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษป้องกันการรัฐประหาร???

นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อป้องกันการรัฐประหาร มีอยู่จริงในโลกใบนี้

จากหนังสือเรื่อง"หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ" โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี ทีมงาน Land watch ได้ค้นพบเรื่องที่น่าตื่นเต้น ซึ่งออกจะดูกลับหัวกลับหางต่างจากสถานการณ์ในเมืองไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ ที่ดิน นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฐานทัพและการรัฐประหาร

จากงานศึกษาเรื่อง Special economic zones and Free port : challenges and opportunities in base conversion and development experience in the Philippines (2011)  ของ Casanova ได้ประมวลไว้ว่า"ในประเทศฟิลิปปินส์หลังยุค"เผด็จการมากอส" (Ferdinand Marcos ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ พ.ศ.2508-2529) แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีความพยายามสร้างประชาธิปไตยแต่ก็ถูกขัดขวางจากการรัฐประหารนองเลือดโดยทหารฝ่ายขวาหลายครั้ง

นอกจากนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก็เกิดภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด ประเทศฟิลิปปินส์จึงมีความบอบช้ำมาก และเกิดกระแสของขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ ในช่วงเดียวกันรัฐบาลของอคีโน (Corazón Aquino ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลังจากที่เธอนำแนวร่วมปฏิวัติพลังประชาชน โค่นล้มเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส  โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2529-2535) ก็ยกเลิกข้อตกลงที่อนุญาตให้อเมริกาตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์

ซึ่งการเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากฐานทัพไปเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อมีการตั้งสภาบริหารกฎหมาย (Legislative-Executive Bases Council) เพื่อสร้างแผนพัฒนาฐานทัพเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ไม่เพียงแต่ฐานทัพอเมริกาเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยน  แม้กระทั้งฐานทัพของทหารฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆเขตเมืองมะนิลาเองก็ถูกนำเอามาแปรรูปด้วย ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมามีรัฐประหารบ่อย รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงต้องการลดกำลังและความเสี่ยงจากฝ่ายทหารโดยย้ายค่ายไปไกลจากเมืองหลวง

ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) รัฐบาลพลเรือนได้ประกาศใช้กฎหมาย Act no.7227  เพื่อดำเนินการเปลี่ยนฐานทัพและตั้งองค์กรพัฒนาและเปลี่ยนฐานทัพ ได้แก่ Bases Conversion and Development Authority(BCDA) ตลอดจน Subic Bay Metropolitan Authority ขึ้นเพื่อดูแลฐานทัพเรือร่วมกับ BCDA ตามแผนการบริหารโดยที่ BCDA จะสามารถบริหารเขตเองได้ด้วยรายได้ที่เกิดจากเขตโดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง โดยการสร้างรายได้จากการให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นฐานทัพแก่เอกชน และสร้างสวนอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาอื่นๆ อนึ่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก แต่สร้างขึ้นเพื่อดึงแรงงานฟิลิปปินส์กลับมาทำงานในประเทศโดยเพิ่มกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศตนเอง"[i]

เรื่องราวการย้ายฐานทัพเพื่อป้องกันการรัฐประหารในประเทศฟิลิปปินส์ชวนให้นึกถึงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ว่าด้วยการย้ายกองกำลังของกองทัพเรือออกจากกรุงเทพมหานครหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 [ii]  ซึ่งการกบฎครั้งนี้ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ ทำให้บทบาทและแสนยานุภาพของกองทัพเรือถูกบั่นทอนลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก เนื่องจากถือเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวง ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี ส่งผลให้กองทัพเรือถูกลดแสนยานุภาพลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจสามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา

โดยเฉพาะการย้ายกำลังรบหลักของกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ, ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ, ย้ายกองเรือรบ ตลอดจนเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้เปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็น " กองเรือยุทธการ"  ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร(พระราม4) ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของ โครงการ ONE Bangkok  (เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ทีซีซี และกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพัฒนาที่ดินบริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ขนาด 104 ไร่ ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 30+30 ปี พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส One Bangkok แหล่งรวมพื้นที่ออฟฟิศบิลดิ้ง รีเทล โรงแรม และที่พักอาศัย[iii]) นั่นเอง

แม้จะมีลักษณะของการย้ายฐานทัพคล้ายคลึงกัน  (การแทนที่ฐานทัพด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อป้องกันการรัฐประหารโดยกองทัพของฟิลิปปินส์และการย้ายกำลังรบของทหารเรือออกจากกรุงเทพฯเพื่อป้องกันทหารเรือทำรัฐประหาร) หากแต่ผลของทั้งสองเหตุการณ์ต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า "บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจ(ในสมัยนั้น)สามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา"

หลังจาก เวลาผ่านไปกว่า 63 ปีหลังกบฏแมนฮัตตัน  กองทัพบกไทยที่มีบทบาททางการเมืองและมีกองกำลังทหารจำนวนมากในกรุงเทพมหานครยังคงเข้าแทรกแซงทางการเมืองหลายครั้งหลายครา จนกระทั้งนำไปสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผลต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งนี้ยังนำไปสู่การใช้คำสั่งรัฐทหารสร้างนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

พ.ศ.2558 รัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs)  โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค  ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยได้ประกาศพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกในเดือนมกราคม 2558 จำนวน 5 เขต ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว ตราด สงขลา และมุกดาหาร และต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกันได้ประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 เขต ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย กาญจนบุรี เชียงราย นครพนม และนราธิวาส

ซึ่งปรากฏว่าพบปัญหามากมายจากกระบวนการจัดการที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย การจัดหาที่ดินและการใช้ทางลัดยกเว้นการใช้บังคับใช้กฎหมายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำสั่งคสช.ที่ 17/2558 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2559 เป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนและอำนายความสะดวกให้กับนักลงทุนในการใช้ประโยชน์ที่ดินมากที่สุด ขณะเดียวกันการดำเนินงานของรัฐในการจัดหาที่ดินก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการถือครองที่ดินของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของชาวบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 97 ครอบครัว ถือครองที่ดินเนื้อที่ 2,182 ไร่ ที่ชาวบ้านต้องถูกเรียกคืนที่ดินไปทั้งหมด และในกรณีที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีการฟ้องร้องชาวบ้านเพื่อบังคับให้ออกจากที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ชาวบ้านจำนวน 33 รายที่อาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุม โดยอัยการได้สั่งฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557  ซึ่งผลกระทบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไร้ธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้รัฐบาลทหารอย่างแท้จริง

"เมื่อไรที่อำนาจเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญเที่ยงธรรม  กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาอย่างเต็มใบ การผลักดันนโยบายการใช้ที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน คงจะเป็นของประชาชนสักที"

 

 

[i] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ.-เชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,2561,น.75-76

[ii] กบฎแมนฮัตตัน,สถาบันพระปกเกล้า

เข้าถึงได้ที่ :

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99

[iii] เจ้าสัว 'เจริญ' ทุ่ม 1.2 แสนล้านพัฒนาโครงการยักษ์ One Bangkok แยกพระราม4-วิทยุ , forbesthailand,

เข้าถึงได้ที่ : http://forbesthailand.com/news-detail.php?did=1551

ที่มา: landwatchthai.org/1131

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ปิง เดินเท้าถึงศาลอุทธรณ์ภาค 5 เตรียมร่วมทวงคืนป่าแหว่ง 26 ส.ค.นี้

Posted: 25 Aug 2018 02:41 AM PDT


(แฟ้มภาพ)

25 ส.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ปิง พร้อมพระสงฆ์ 1 รูป และเพื่อนร่วมทางกว่า 20 คน ที่ออกเดินเท้าถือธงสีเขียวมาจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หนึ่งในแม่น้ำร้อยสายจากทิศเหนือ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มาถึงหน้าที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่แล้ว ท่ามกลางความสนใจของหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ รวมทั้งสื่อมวลชนในพื้นที่โดยทั้งหมดได้หยุดยืนไว้อาลัยหน้าป้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ หลังจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ได้นำสวดแผ่เมตตาแก่สัตว์โลก

นายนิคมกล่าวว่า ตนและคณะเดินเท้ามาจาก อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ปิงที่ไหลหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ ในขณะที่ดอยสุเทพเป็นพื้นที่สำคัญของป่าต้นน้ำแม่ปิง ในระหว่างที่คณะเดินเท้ามาได้รำลึกและอยากให้ทุกคนตระหนักถึงบุญคุณของครูบาศรีวิชัย เราภาวนาให้ผืนป่าดอยสุเทพและป่าธรรมชาติยังคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง ในแง่ของบ้านพักตุลาการแม้จะว่ากันตามกฎหมายอาจจะถูกต้อง แต่ก็เป็นกฎหมายที่ขัดต่อจารีตประเพณี จึงอยากให้ทุกคนเคารพนอบน้อม ไม่ใช่ไปบุกรุกทำลาย จึงขอส่งใจไปยังทุกฝ่าย ขอให้มีสำนึกต่อธรรมชาติด้วย

จากนั้นนายนิคมและคณะจะเข้าร่วมกิจกรรมขอพลังพระธาตุดอยสุเทพและครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อขอคืนผืนป่าศักด์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ ด้วยการจุดเทียนสีเขียว ร่วมตั้งจิตอธิษฐาน รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวในการสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ร่วมไหว้สาวางสวยดอก ประกาศเจตนารมณ์ทวงคืนป่าดอยสุเทพ และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีส่งสารถึงผู้มีอำนาจ โดย อ.บฤงคพ วรอุไร ณ ลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันเดียวกันยังมีการจัดเวทีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ปฏิบัติการของพลเมือง ณ ห้องประชุมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อทบทวนบทเรียนขบวนการป่าของประชาชน และแนวโน้มอนาคต การอภิปรายในหัวข้อการสร้างพื้นที่ทางสังคมด้วยยุทธศาสตร์สิทธิและการตรวจสอบรัฐ การผลักดันนโยบายข้ามพ้นการรวมศูนย์และสิทธิเชิงเดี่ยว การเชื่อมพลังทางสังคมที่หลากหลายด้วยยุทธศาสตร์ร่วม ทิศทางก้าวข้ามกับดักเพื่อแสวงหาพลังขับเคลื่อนมิติใหม่ และป่าแหว่ง : มิติป่าของพลเมืองที่อยู่ในพื้นที่เมือง

อนึ่งกิจกรรมชุมนุมใหญ่ ที่ลานประตูท่าแพ วันที่ 26 ส.ค. จะเริ่มขึ้นด้วยจักรยานและรถตุ๊ก ตุ๊ก นำผ้าเขียวรณรงค์ไปรอบคูเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่ขบวนแม่น้ำร้อยสายจากทิศต่างๆ จะมุ่งสู่ลานประตูท่าแพ แสดงพลังทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผบ.ทบ. กำชับ กกล.รส.ดูแลสถานการณ์หลังคลายล็อกพรรคการเมือง ก.ย. นี้

Posted: 25 Aug 2018 02:01 AM PDT

ผู้บัญชาการทหารบกตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) ในฐานะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลพื้นที่ กทม. กำชับหน้าที่ กกล.รส. ดูแลสถานการณ์ หลังคลายล็อกพรรค ก.ย.นี้ ชี้พื้นที่ กทม. มีความอ่อนไหว


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) กองทัพบก เนื่องในโอกาสเตรียมอำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกล่าวให้โอวาทกำลังพล นปอ. ตอนหนึ่งว่าในฐานะที่ นปอ. มีอีกบทบาทคือการเป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในเดือน ก.ย. 2561 นี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการผ่อนคลายให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามโรดแมปการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีหลายส่วน หลายขั้ว และหลายพรรค เคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะกองกำลังรักษาความสบบ จึงขอให้เตรียมการให้พร้อมตลอดเวลา

"นปอ.เป็นหน่วยทหารที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง หรือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหว อาจจะมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจะต้องเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่าขอให้ผู้บังคับหน่วยกำชับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นในเรื่องของระเบียบวินัย เพื่อให้กองทัพมีภาพลักษณ์ที่ดี มีสง่าราศี เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทหารจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาเพิ่ม เป็นทหารอาชีพที่แข็งแรง มีระเบียบวินัย เชี่ยวชาญงานในหน้าที่มีคุณธรรมจริยธรรม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สิงคโปร์มุ่งเป้าขึ้นทะเบียน 'ศูนย์อาหารแผงลอย' เป็น 'มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม'

Posted: 25 Aug 2018 01:16 AM PDT

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ลีเซียงลุงประกาศไว้เมื่อไม่นานนี้ว่าจะทำให้ 'วัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอย' ซึ่งเป็นที่นิยมในสิงคโปร์กลายเป็น 'มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม' ในรายชื่อมรดกของยูเนสโกโดยมีชาวสิงคโปร์จำนวนมากเห็นด้วย อะไรกันที่ทำให้ชาวสิงคโปร์มองว่าศูนย์อาหารแผงลอยคืออัตลักษณ์ที่สำคัญสำหรับพวกเขาและอยากให้จารึกไว้?

ประเทศสิงคโปร์มีแผนการจะทำให้วัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอย ได้ขึ้นทะเบียนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยที่นายกรัฐมนตรี ลีเซียงลุง ของสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561 ในการเดินขบวนวันชาติว่าจะเสนอ "วัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอย" (Hawker culture) เข้าไปในรายชื่อคัดเลือกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์กรยูเนสโก

องค์กรยูเนสโกจัดให้มีการลิสต์รายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) มาตั้งแต่ปี 2551 มีวัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นวัตถุจับต้องได้หลากหลายรูปแบบจากหลายประเทศได้รับการบันทึกรายชื่อในนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการรับรู้และสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของวัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้มีการรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้

ลีเซียงลุงกล่าวว่าวัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอยเป็น "สถาบันทางวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นส่วนที่มีลักษณะเฉพาะส่วนหนึ่งของมรดกและอัตลักษณ์ของสิงคโปร์ ศูนย์อาหารเหล่านี้ทำให้ผู้คนจากทุกเชื้อชาติ ความเชื่อ และระดับรายได้ สามารถเข้ามาทานอาหารร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวจึงเปรียบเสมือนเป็น "ห้องทานอาหารเย็นของชุมชนพวกเรา" นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจชาวสิงคโปร์ทำให้พวกเขานึกถึงศูนย์อาหารแผงลอยเหล่านี้เวลาคิดถึงบ้าน

เกรซ ฟู รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน ของสิงคโปร์แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันว่าวัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอยของสิงคโปร์มีเรื่องมรดกของอาหารแผงลอย แต่ความสำคัญของมันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องพื้นที่ทางชุมชนและสังคมสำหรับทุกชนชั้น อีกทั้งยังเป็นเรื่องของผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาหารเหล่านี้ คือกลุ่มคนค้าขายแผงลอยอาหารเองด้วย และเธอ

ในเว็บไซต์ของมรดกวัฒนธรรมของสิงคโปร์ระบุถึงการเสนอชื่อให้ยูเนสโกเอาไว้ด้วย โดยระบุว่าพวกเขาจะส่งสำนวนเอกสารเสนอวัฒนธรรมศูนย์อาหารแผงลอยภายในเดือน มี.ค. 2562 เพื่อขอขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก และคาดหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภายในปี 2563 หนึ่งในเงื่อนไขที่วัฒนธรรมหนึ่งๆ จะได้รับการบรรจุไว้นั้นตือการได้รับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างเข้มแข็ง โดยที่ลีเซียงลุงกล่าวว่าแนวความคิดของเขามีผู้คนสนับสนุนจำนวนมาก

เรื่องนี้มีการทำสำรวจด้วยการจัดสนทนาแบบกลุ่มตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในกลุ่มสนทนาบอกว่าศูนย์อาหารแผงลอยเป็นสิ่งที่สะท้อนความชำนาญทางวิชาชีพของผู้คน การที่ศูนย์อาหารแผงลอยเป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าถึงได้ทั่วไปสะท้อนถึงมรดกแบบพหุวัฒนธรรมของสิงคโปร์

นอกจากนี้สำนักงานฝั่งราชการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ยังเคยทำสำรวจเรื่องนี้เมื่อปี 2559 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 85 ระบุว่าพวกเขารู้สึกว่าศูนย์อาหารแผงลอยมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมร้อยชุมชนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามจากอัตราส่วน 9 ใน 10 ของทั้งหมดรู้สึกว่าศูนย์อาหารแผงลอยเป็นส่วนสำคัญของอัตลํกษณ์แบบสิงคโปร์

ยูเนสโกให้นิยาม "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ว่าหมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตนและความรู้สึกสืบเนื่องก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ 

ถ้าหากสิงคโปร์เสนอเรื่องนี้สำเร็จจะทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมสิงคโปร์อย่างแรกที่ได้รับการบันทึกไว้ในแง่นี้ โดยที่ผ่านมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หลายอย่างได้รับการบันทึกไว้ในมรดกภูมิปัญญาฯ เช่น เทคนิคการทำผ้าบาติกของอินโดนีเซีย การแสดงมะโย่งของมาเลเซีย และ เพลงแคนของลาว โดยปัจจุบันยังไม่มีวัฒนธรรมจากไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ในรายชื่อมรดกภูมิปัญญาฯ แต่ก็มีการส่ง "โขน" ให้ยูเนสโกพิจารณาในปีนี้ และมีแผนการจะส่ง "การนวดแผนไทย" เข้าพิจารณาในปีหน้า

เรียบเรียงจาก

NDR 2018: Singapore to nominate hawker culture as 'intangible cultural heritage' for UNESCO listing, Channel News Asia, 19-08-2018
https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/ndr-2018-singapore-nominate-hawker-culture-unesco-heritage-10631126

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เว็บไซต์ว่าด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์
https://www.oursgheritage.sg/hawker-culture/

เว็บไซต์องค์กรยูเนสโก
https://ich.unesco.org/en/state/thailand-TH

วิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/UNESCO_Intangible_Cultural_Heritage_Lists
https://th.wikipedia.org/wiki/มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โนม ชอมสกี้ รัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทย

Posted: 24 Aug 2018 10:00 PM PDT

โนม ชอมสกี้ ให้สัมภาษณ์ปวิน ชัชชาลพงศ์พันธ์เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยชอมสกี้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองไทย และเปรียบเทียบถึงปัญหาในไทยที่สหรัฐอเมริกาก็เคยประสบมาก่อน พร้อมชี้ให้เห็นบทบาทในอดีตของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยไทย การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการลดบทบาทของกองทัพกับการเมืองที่เขาเสนอว่าแม้นเป็นการเดินทางอันยาวนานแต่ก็ต้องเริ่มทำ

ศาสตราจารย์โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) แห่งมหาวิทยาลัยอาริโซน่า ได้ให้สัมภาษณ์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 โดยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Southeast Asia Globe เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 25 นาที ชอมสกี้ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาครั้งแรก ได้มีการเปรียบเทียบถึงปัญหาการเมืองไทยกับปัญหาที่สหรัฐอเมริกาเคยประสบมาก่อน ตอบคำถามเรื่องสถาบันกษัตริย์จะอยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่อย่างไรและสถาบันกษัตริย์จะอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการพูดคุยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐประหาร การเข้าแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทยซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาช้านาน เรื่องสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อไทย ปัญหาที่เกิดจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทย ที่แม้อาจจะเป็นความหวังของสังคม แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นเดียวกัน

ตอนหนึ่งชอมสกี้กล่าวถึงบริบทในอดีตของสหรัฐอเมริกาว่า แม้จะไม่มีราชวงศ์อย่างเป็นทางการ แต่ความรู้สึกของอเมริกันชนส่วนหนึ่งกลับโหยหาความเป็นเจ้า ในกรณีของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แม้ไม่ได้รับความนิยมในช่วงดำรงตำแหน่ง แต่หลังจากเสียชีวิตกลับถูกยกย่องเป็น "กึ่งเทพ" ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและเรื่องมรดกตกทอดจากเรแกน โดยเฉพาะความเห็นจากนักวิชาการชั้นนำที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือสถาบันฮูเวอร์ ที่ตีพิมพ์งานยกย่องว่าเรแกนเป็นบุคคลอ่อนโยน เป็นปิยมิตรที่คอยพิทักษ์ประชาชน หรือครั้งที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา เรแกนก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นราชวงศ์ด้วย

น่าเสียใจต่อบทบาทสหรัฐฯ หนุนเผด็จการไทยช่วงสงครามเย็น

ต่อในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทย ชอมสกี้กล่าวว่าน่าเสียใจที่สหรัฐอเมริกา เคยสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่ไทยเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ช่วงสงครามอินโดจีน สหรัฐฯ สนับสนุนเผด็จการไทย เพราะต้องการให้ไทยมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศ กองกำลัง ถือเป็นประวัติศาสตร์อันน่าขยะแขยง ผมไม่สามารถให้คำแนะนำแก่ไทยได้ พวกคุณต้องหาหนทางกันเอง แต่จากมุมมองของพลเมืองอเมริกัน บทบาทของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างเป็นอันตรายต่อไทยและประชาธิปไตยไทย

การคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ว่าไม่อาจประณามรัฐด้วยคำพูด เป็นวิธีการที่ล้าหลังไม่ควรปรากฏขึ้นอีกแล้ว แต่พึงระลึกว่าการยกเลิกไม่ใช่เรื่องง่าย ในความเห็นผม ในโลกตะวันตก สหรัฐอเมริกาอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออก แต่ศาลฎีกาก็คงไว้ด้วยหลักปฏิบัติการคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ ในปี 2507 ในบริบทการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง ประธานฝ่ายชาติพันธุ์ของรัฐอาลาบามาฟ้องมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ และขบวนการสิทธิพลเมืองด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เพราะกลุ่มคนเหล่านี้โจมตีรัฐด้วยคำพูด จุดนั้นศาลฎีกาอิงหลักการคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ นี่คือสหรัฐอเมริกา

 

ไทยเคยมุ่งลดบทบาททหารทางการเมือง แต่กลับเลือกถอยหลังเข้าคลอง

ต่อคำถามที่ว่าอะไรที่ควรทำหากเราต้องการก้าวไปข้างหน้าเพื่อลดบทบาททหารทางการเมือง ชอมสกี้เสนอว่า ที่จริงแล้วไทยเองได้เดินทางไปในแนวทางนั้นแต่กลับเลือกถอยหลังเข้าคลอง เกาหลีใต้เคยมีเผด็จการโหดร้าย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทศวรรษที่ 1980 สามารถล้มเผด็จการได้ อาศัยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ถึงกระนั้นความสำเร็จ มันนำไปสู่การเกิดของเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่อมาก็ถูกกำจัดเช่นกัน

อินโดนีเซีย เผด็จการทหารยึดอำนาจปี 2508 สังหารโหดประชาชนนับแสน นสพ.นิวยอร์กไทม์พาดหัวว่า "เป็นการสังหารหมู่ขนาดใหญ่" รัฐบาลซูฮาร์โตมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายที่สุดประเทศหนึ่งในโลก บุกรุกติมอร์ตะวันออก เกือบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกสมัยใหม่แล้ว ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ทำผิดและต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรม การทำทารุณกรรมครั้งนั้นเป็นวิกฤตศีลธรรมที่รุนแรงในโลกตะวันตก สุดท้ายเกิดการลุกฮือในอินโดนีเซีย กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มอื่นๆ โค่นล้มเผด็จการได้ เกิดกระบวนการเผชิญหน้ากับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต เริ่มประชาธิปไตยระดับหนึ่ง 

หากเรามองประเทศอื่น เราจะเห็นสิ่งที่คล้ายกัน การรวมตัวของประชาชนหลายครั้ง สามารถล้มเผด็จการได้ หากย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ตะวันตก คุณจะพบสิ่งเดียวกัน นี่คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แม้ไม่ง่าย แต่พิสูจน์วาสามารถทำได้ด้วยความกล้าหาญและการอุทิศตน เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งหน้ากระดาน

ที่อังกฤษก็มีหลักปฏิบัติคล้ายกัน แม้ไม่ได้ใช้บ่อยนัก แต่หลักการนี้ก็ไม่อาจยอมรับได้

ในระบบสังคมการเมือง หรือวัฒนธรรม ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ควรถูกวิจารณ์ เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากแม้แต่ประเทศที่การต่อสู้ก้าวหน้าไปมาก พึงสังวรณ์เถิด แม้นเป็นการเดินทางอันยาวนานแต่ก็ต้องเริ่มทำ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น