โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ภาคประชาสังคม ขอรัฐบาลใจจริงต่อการร่างแผนฯ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

Posted: 23 Aug 2018 12:17 PM PDT

เครือข่ายธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยกระบวนการร่างแผนฯ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของรัฐบาลไทยไม่มีความโปร่งใส และขาดความจริงใจในการนำเสียงสะท้อนจากชุมชนไปปฎิบัติจริง

23 ส.ค. 2561 ที่ Sofinspace สยามสแควร์ซอย 1 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดงานแถลงข่าว "เสียงที่ถูกเพิกเฉย: เราไม่ได้เงียบ คุณแค่ไม่ได้ฟัง" เพื่อที่จะยืนหยัดสิทธิของชุมชนในการเป็นกระบอกเสียงที่รัฐควรรับฟังในขั้นตอนกระบวนการร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และเพื่อที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามสัญญาที่ได้มอบไว้กับสหประชาชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 2 ของกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UPR) ที่นครเจนีวา รัฐบาลทหารได้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายในเดือนกันยายน 2561 รัฐบาลไทยในตอนแรกได้ตกลงจะใช้ยุทธศาสตร์ของมูลนิธิมานุษยะเพื่อที่จะให้ความมั่นใจว่าเสียงชองชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการทางธุรกิจจะเป็นจุดศูนย์กลางในการร่างแผนฯ 

เครือข่ายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยจึงได้เกิดขึ้นด้วยเหตุดังกล่าว ได้มีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่เดือนม.ค. 2560 ถึง เดือนมี.ค. 2561 การปรึกษาหารือแต่ละครั้งนั้น ชุมชนท้องถิ่นได้มอบข้อเสนอแนะ ที่เป็นรูปธรรมให้แก่รัฐบาลเพื่อที่จะนำไปใช้ประกอบการร่างแผนฯ ด้วยความหวังที่ว่าแผนฯ นั้นจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงจากท้องถิ่น

ปธ.กสม. ย้ำต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทำแผนปฏิบัติการฯธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

แต่ที่สุด ร่างแผนฯ ที่ออกมากกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดคิด ทางเครือข่ายธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แผนฯ ที่มีการยกร่างออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ ชุมชนในเครือข่ายได้แนะนำไป จึงได้ออกแถลงการณ์ และแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ และความโปร่งใส่ในกระบวนการร่างแผนฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้

พวกเรา เครือข่ายธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยขอแสดงความกังวลต่อความไม่จริงใจและการไม่มีซึ่งความโปร่งใสซึ่งได้แสดงออกโดยรัฐบาลไทยในขั้นตอนกระบวนการร่างแผนฯ ถึงแม้ว่าวันนี้เรายินดีกับการริเริ่มของรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย UNDP และ OHCHR ที่ได้ร่วมจัดการปรึกษาหารือในการร่างแผนฯ  เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำให้มั่นใจว่าจะมีความโปร่งใสในกระบวนการร่างแผนฯ และความจริงใจในการนำข้อมูลที่ได้มาจากชุมชนมาใช้ในประเด็นที่สำคัญ รวมถึงความท้าทาย ข้อเสนอแนะและการปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้จริง

รัฐบาลไทย ในการตอบรับของกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 ในปี 2559 มีความตั้งใจที่จะพัฒนาแผนฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 2561 ในส่วนนี้ พวกเราได้จัดการปรึกษาหารือหลายครั้งเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลที่เป็นอิสระในระหว่างเดือนมกราคม 2560 ถึง มีนาคม 2561 ในการประชุมทั้งหมดนี้ พวกเราได้แบ่งปันข้อเสนอแนะจากองค์กรของเราและชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่สามารถนำไปใช้ได้ในแผนฯ และนั่นก็เป็นที่มาของเครือข่ายธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะร่วมมือกันในกระบวนการร่างแผนฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมูลนิธิมานุษยะเพื่อที่จะเป็นการประกันว่าเสียงของชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจะถูกได้ยิน และพวกเขาจะต้องเป็นศูนย์กลางในการร่างแผนฯ

ถึงแม้ว่า ปัญหาต่างๆ จะถูกพูดถึงหลายครั้ง ซ้ำๆ ให้กับรัฐ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ร่างแผนฯ ยังคงละเลยชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ละเลยข้อกังวลสำคัญต่างๆ และกล่าวถึงเพียงข้อเสนอเดิมๆ ที่อ้างว่าจะแก้ปัญหาธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงได้ ร่างแผนฯ จึงไม่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของเราในขั้นตอนต่างๆ และความใส่ใจของรัฐที่จะจัดทำแผนที่ปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญกว่านั้นในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้่าที่ของรัฐได้ขัดขวางความพยายามต่างๆ ในการสร้างการมีส่วนร่วมที่มีความหมายในขั้นตอนต่างๆ โดยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หรือไม่สื่อสารเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าสำหรับการทบทวนตรวจสอบร่างของแผนฯ ซึ่งเป็นการละเลยการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยสิ้นเชิง มีความพยายามที่จะแก้ไขร่างแผนฯ โดยละเลยข้อท้าท้ายที่เผชิญอยู่โดยไม่กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ชัดเจน และจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่วันเดียว และหลงลืมความสำคัญของกระบวนการต่างๆ ในการทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของประเทศ

พวกเราขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นผู้นำในการร่างแผนฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรับรองว่าจะมีการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพในการร่างแผนที่น่าเชื่อถือ:

ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลจากการปรึกษาหารือ โดยเฉพาะร่างแผนฯ ให้เผยแพร่ในวงกว้างและล่วงหน้าเป็นเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่ชุมชนที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมจะสามารถให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์และมีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง

ให้รวมถึงผู้แทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบและกลุ่มภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการร่างแผนฯ เพื่อที่จะแสดงถึงความจริงใจและเพื่อเป็นกระบวนการที่โปร่งใส

ควรนำข้อมูลที่ได้จากการปรึกษาในเวทีภูมิภาคเพื่อที่จะให้มีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วนเพื่อการร่างแผนฯ ที่ประสบความสำเร็จ และเพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าการร่างแผนฯ จะระบุถึงปัญหาที่สำคัญและมีการนำไปใช้ซึ่งแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อที่จะแสดงความเคารพต่อสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนภาคพื้น

เพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าชุนชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วม พวกเรา ทางเครือข่าย ThaiBHRNetwork ได้เผยแพร่ข้อสรุปในแต่ละหัวข้อของรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ได้จัดทำโดยผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะระบุประเด็นที่เร่งด่วน ข้อท้ายทายและขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยในกระบวนการ

ทางเครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสิ่งที่ได้บอกไว้ถึงการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างแผนฯ โดยการสร้างพื้นที่เพื่อเอื้อต่อการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในระดับภูมิภาคในทุกร่างแผนฯ ต่อๆ ไป โดยผ่านกระบวนการที่ยอมรับข้อคิดเห็นจากเวทีเสวนาพร้อมกับให้เวลาที่เพียงพอในการทบทวนแต่ละร่าง

ฉะนั้น พวกเราขอให้รัฐบาลไม่ใช้วิธีที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยทำแค่เป็นพิธีการ แต่ควรจะสร้างอำนาจให้กลุ่มคนที่ต้องการถูกได้ยินโดยการให้บุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายเพื่อที่จะผลิตร่างแผนปฏิบัติฯ ต่อข้อกังวลของชุมชนและภาคประชาสังคมพร้อมทั้งมีแผนปฏิบัติการที่มีกระบวนการที่ชัดเจน ในขณะที่เราเข้าใจว่าแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนจะถูกเผยแพร่ภายในเดือนกันยายน 2561 สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือว่ากระบวนการในการทำให้ร่างเสร็จสมบูรณ์นั้นไม่ควรจะมีการทำอย่างเร่งรีบ และให้ชุมชนรวมไปถึงภาครัฐและบุคคลให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะมีส่วนร่วมให้การพัฒนาและการนำแผนปฏิบัติการมาใช้ในอนาคต

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คนการเมืองถาม แลรี่ ไดมอนด์ตอบ ว่าด้วยการตัดวงจรอุบาทว์ กติการ่วม และข่าวปลอม

Posted: 23 Aug 2018 11:03 AM PDT

ช่วงถาม-ตอบหลังบรรยายพิเศษจาก ศ.แลรี่ ไดมอนด์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ชื่อดังกลายเป็นที่น่าสนใจ เมื่อคนจากพรรค/กลุ่มการเมืองต่างถามถึงวิธีแก้ไขวงจรอุบาทว์ในประชาธิปไตยไทย ศาสตราจารย์ชื่อดังเสนอ ต้องตกลงเรื่องบทบาทของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มอำนาจทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบบ 'ความมั่นคงร่วมกัน'

ศ.แลรี่ ไดมอนด์

ความบันเทิงทางการเมืองจากงานบรรยายพิเศษในหัวข้อ "เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร" บรรยายโดย ศ.แลรี่ ไดมอนด์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันฮูเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันพระปกเกล้าเมื่อ 22 ส.ค. ที่ผ่านมายังมีอีกก๊อกเมื่อหลังการบรรยายจบลง เมื่อผู้ฟังบรรยายที่มาจากพรรค/กลุ่มการเมืองผู้มานั่งฟังต่างถามคำถามในประเด็นประชาธิปไตยของไทยที่เปิด-ปิดเป็นสวิทช์ไฟ

แลรี่ ไดมอนด์: ประชาธิปไตยโลกที่ถดถอย กับบันไดเผด็จการ 12 ขั้น 

วิชิตร ดิษฐประสพ หัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า ถามว่า มีความรู้สึกอย่างไรกับประชาธิปไตยไทย และอีกข้อคือ ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยที่บริหารโดยพลเรือน แล้วมีการยึดอำนาจวนเวียนอย่างนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

วันตระการ ดวงตาเจริญวาณิช พรรคประชาธิปไตยใหม่ ถามว่า วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประชาธิปไตยไทยคืออะไร

แลรี่ วิธีจะหลุดวงจรอุบาทว์ระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหารที่สลับไปมาคือพรรคการเมืองจะต้องยอมรับกับประชาธิปไตย ถ้ามีพรรคการเมืองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ประชาธิปไตยก็มีความเสี่ยงที่จะเจอกับการต่อสู้กันบนท้องถนน เจอภาวะที่คนไม่มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น เจอการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น พรรคการเมืองนั้นก็มีแนวโน้มที่จะจับมือกับตัวแสดงที่อยากขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

กฎขั้นพื้นฐานของการมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้นถูกพูดถึงในงานเขียนมาเกือบห้าสิบปีแล้ว และประเทศไทยก็ไม่เคยสมาทานเข้ามาซึมซับ คือ โรเบิร์ต ดอล นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเยลล์กล่าวว่า ประชาธิปไตยจะรอดได้นั้น ต้องการระบบที่เรียกว่าความมั่นคงร่วม (Mutual Security) ระหว่างกลุ่มอำนาจทางการเมือง แต่ละฝ่ายต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ละเมิด ต้องมีฉันทามติในกติกาประชาธิปไตยและเขตแดนทางการเมืองอย่างหนึ่งที่จะไม่มีใครล่วงล้ำออกไปข้างนอก ต้องมีความมั่นใจร่วมกันว่าถ้าฝ่ายตรงข้ามได้อำนาจการปกครอง อีกฝ่ายจะไม่ทำทุกอย่างเพื่อกำจัดพวกเขาออกไป หรือจะละเมิดผลประโยชน์ทางการเมืองพื้นฐาน จะต้องมีฉันทามติในเรื่องใหญ่ๆ เช่น ระเบียบการเมือง บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในระเบียบการเมือง บทบาทของกองทัพที่ทำได้ และทำไม่ได้ในระเบียบการเมือง

เมื่อฉันทามตินั้นมีแล้ว พรรคการเมืองและชนชั้นนำทางการเมืองจะต้องตระหนักถึงฉันทามติเหล่านั้นเป็นสรณะ เช่น ฉันไม่ชอบสิ่งที่อีกฝ่ายทำ ไม่ชอบการเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าเราละเมิดฉันทามติแล้วการเมืองก็จะกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ ประเทศกลับไปที่เก่า เศรษฐกิจไม่เติบโต และประเทศไทจะยถูกมองจากประชาคมโลกอย่างเย้ยหยัน ดังนั้น ถ้าอยากเห็นการพัฒนา ความก้าวหน้า ความเข้มแข็ง หรืออยากเห็นไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนก็ต้องออกจากวังวนการรัฐประหาร วังวนประชาธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งทางเดียวที่จะให้อำนาจการเมืองยอมรับกติการประชาธิปไตย จะต้องให้พวกเขาทำความเข้าใจกันเพื่อสร้างระบบความมั่นคงร่วมกัน คุยกันว่าขีดจำกัดของฝ่ายกุมอำนาจและฝ่ายค้านไปได้ถึงไหน และเราจะเคารพซึ่งกันและกันตราบใดที่พวกเรายังเคารพกติกาที่มีร่วมกัน และวาทกรรมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนตัวไม่คิดว่าไทยจะออกจากวังวนนี้ได้ถ้าไม่มีความมั่นคงร่วมกัน

แลรี่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทำให้มีองค์กรอิสระที่เข้มแข็ง ที่ไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจก็ไม่สามารถกุมอำนาจเหนือได้ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นต้องมีศรัทธากับองค์กรเหล่านั้นมากกว่าผลประโยชน์ของฝักฝ่ายของตัวเอง ทั้งนี้ ประเทศส่วนมากไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างราบรื่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือนักการเมืองของเขาเรียนรู้ความผิดพลาด เราเรียกสิ่งนั้นว่าการเรียนรู้ทางการเมือง เวลาที่สถานการณ์ย่ำแย่ มีคนทำผิดพลาดครั้งใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่ มีความหวังให้พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

เพชรชมพู กิจบูรณะ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ถามคำถามเรื่องข่าวปลอม บ่อยครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์พูดถึงสื่อในฐานะศัตรูประชาชน และในการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ก็มีการปล่อยข้อมูลเท็จออกมาให้คนเข้าใจผิด จึงเป็นหลักฐานที่ว่าไม่สามารถรับเอาปัจจัยต่างๆ จากโลกตะวันตกมาได้ทั้งหมดอีกต่อไป แล้วไทยในฐานะประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังพัฒนาจะสร้างเสริมประชาธิปไตยให้แข็งแรงอย่างไร
แลรี่ ทุกคนตอนนี้อยู่ในยุคสื่อสมัยใหม่ ข้อมูลลวง และที่ต้องทำก็คือต้องท้าทาย ตอบโต้ข่าวปลอมอย่างรวดเร็ว แต่พอข้อมูลเข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ยากที่จะเอาออก และคนที่รับสารก็มีที่เชื่อข้อมูลชุดนั้น ที่สหรัฐฯ มีความตระหนักถึงการสอนด้านพลเมืองประชาธิปไตยกับพลเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสอนถึงวิธีใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องวิพากษ์ ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต และเมื่อมีข้ออ้างที่ดูเกินจริง ก็ต้องหาเทคนิคที่จะถอยห่างออกจากข้อมูลนั้นแล้วค้นหาความจริง จึงขอให้ภาคประชาสังคม และสถาบันต่างๆ อย่างสถาบันพระปกเกล้าร่วมมือกันจัดทำการศึกษาให้คนรุ่นใหม่รู้ทันอันตรายของข้อมูลลวงบนโซเชียลมีเดีย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘ไสว เสื้อแดง’ เหยื่อกระสุนปี 52 ร้อง 'ประวิตร' สั่งกองทัพยุติการยึดที่ทำกิน

Posted: 23 Aug 2018 08:50 AM PDT

'ไสว ทองอ้ม' คนเสื้อแดงเหยื่อกระสุนปี 52 ร้อง รมว.กลาโหม ขอมนุษยธรรมจากกองทัพให้ยุติการบังคับคดีที่นำไปสู่การยึดที่ดินทำกิน หลังแพ้คดีที่ฟ้องกองทัพสลายชุมนุมและยิงจนพิการที่แขน

ภาพจากเพจ banrasdr photo

23 ส.ค.2561 ที่กระทรวงกลาโหม ไสว ทองอ้ม ผู้ถูกยิงจนพิการที่แขนในเหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สามเหลี่ยมดินแดง ปี 52 พร้อมด้วย สมยศ พฤษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตยและ ณัฎฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมืองและกลุ่มพลังมด เข้ายื่นหนังถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องมนุษยธรรมจากกองทัพให้ยุติการบังคับคดีที่นำไปสู่การยึดที่ดินทำกินของไสว ขายทอดตลาดเพื่อนำมาจ่ายค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายจำเลยเป็นจำนวนเงินกว่าสองแสนบาท

ไสว ยืนยันว่า สิ่งที่ได้ทำลงไปทั้งการร่วมชุมนุมในปี 2552 เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร รวมถึงการยื่นฟ้องกองทัพหลังถูกยิง ล้วนมาจากมโนสำนึกที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของตัวเองและผู้อื่น และต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งหากย้อนเวลาได้ ก็จะยังทำใน 2 สิ่งเช่นเดิม แม้ผลพวงจากการต่อสู้จะนำมาซึ่งความสูญเสียก็ตาม โดยสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน ยากแค้นและต้องอดมื้อกินมื้อ ตามที่สื่อมวลชนหลายแขนงได้ลงพื้นที่นำเสนอข่าว สำหรับวันนี้เห็นทิศทางที่ดีและหวังว่าผู้มีอำนาตที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือ

สำหรับ ไสว จากการถูกยิง เขาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับกองทัพ ศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกฟ้อง และสั่งให้ ไสว และสนอง พานทอง โจทก์ร่วมอีกคน จ่ายค่าธรรมเนียมศาลและจ่ายค่าทนายจำเลย (อัยการ) ของฝ่ายกองทัพด้วย รวมเป็นเงิน เป็นเงิน 212,114 บาท ขณะเดียวกันเงินในบัญชีธนาคารของไสวที่มีอยู่เกือบ 5,000 ถูกอาญัติ และและเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สุรินทร์ยังได้ยึดที่นาของไสวจำนวน 8 กว่าไร่ ราคาประเมิน 460,980 บาท เพื่อทำการขายทอดตลาด แม้ในขั้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้กองทัพจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนบาท ต่อมากองทัพได้ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง เหตุไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากระสุนมาจากทหารและชนิดกระสุนไม่ตรงกับกระสุนที่กองทัพใช้ จน ไสว ยื่นฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตามศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

เรียบเรียงจาก เพจ banrasdr photo และ voicetv.co.th 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รวมความไม่ควรตายของทหารหนุ่มรอบ 11 ปี เมื่อทหารแก่ไม่เคยตาย

Posted: 23 Aug 2018 07:38 AM PDT

สำรวจความไม่ควรตายของทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหารในรอบ 11 ปี เท่าที่เป็นข่าวและสามารถเขียนข่าวได้ เสียชีวิตไปแล้ว 14 ศพ 8 ศพถูกซ้อมทรมานโดยมีพยานหลักฐานเด่นชัด ที่เหลือยังคลุมเครือ และญาติไม่ติดใจ

ตารางการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ และนายทหารในระดับอื่นๆ เรียงตามปี พ.ศ.

วันเดือนปีที่เสียชีวิต

ผู้เสียชีวิต

สาเหตุการเสียชีวิต

ช่วงเดือน พ.ค. 2550

นักเรียนเตรียมทหาร กรัณฑ์ อรชร

ถูกรุ่นพี่สั่งทำโทษโดยการ ให้ดื่มน้ำ 40 ลิตร จนเกิดอาการน้ำเป็นพิษ มีอาการน้ำท่วมปอด และธาตุแตก จนเสียชีวิต

14-15 เม.ย. 2552

พลทหารอภินพ เครือสุข

เสียชีวิตที่บ้านพักแม่ทัพภาค 1 ผลชันสูตรระบุเสียชีวิตเพราะ "กะโหลกแตก" ผลการสอบสวนระบุตายเพราะอุบัติเหตุ

5 มิ.ย. 2554

พลทหารวิเชียร เผือกสม

ถูกซ้อมทรมาน โดยนายทหารยศร้อยโท พร้อมพวกรวม 10 คน

29 ม.ค. 2557

พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย

ผลการชันสูตรระบุ เสียชีวิตเพราะติดเชื้อไข้หวัดนก ญาติคาใจเพราะก่อนตาย ผู้ตายระบุว่าถูกทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก จำนวน 20 ครั้ง

6 มิ.ย. 2558

ร.ต.สนาน ทองดีนอก

เสียชีวิตระหว่างฝึก โดยถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยให้ฝึกว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้จมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ

21 ก.พ. 2559

สิบโทกิตติกร สุธีพันธุ์

ผลการการชันสูตร และการไต่สวนการตายระบุ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือมีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกคุมขัง โดยพลทหาร 4 นาย

4 เม.ย. 2559

พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด

เสียชีวิตเพราะถูกซ้อมทรมานโดยนายทหารยศร้อยตรี พร้อมกับพวกรวม 5 คน

22 มิ.ย. 2559

สิบโทปัญญา เงินเหรียญ

ถูกร้อยเอกสั่งทำโทษให้วิ่งรอบสนามกลางแดด เสียชีวิตเพราะเป็นลมแดด

1 เม.ย. 2560

พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม

ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ภายหลังจากถูกสั่งขังคุกทหาร

19 ส.ค. 2560

พลทหารนภดล วรกิจพันธ์

เสียชีวิตหลังจากมีเพื่อนพลทหารสองคน พามาสั่งที่บ้าน หลังจากนั้น 20 นาที ญาติเข้าไปในห้องแล้วพบว่าพลทหารได้เสียชีวิตแล้ว ในสภาพมีเลือดออกตามปากและจมูก ทั้งเท่าที่ปรากฎในข่าวยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด

17 ต.ค. 2560

นักเรียนเตรียม ภคพงศ์ ตัญกาญจน์

ญาติเชื่อว่าเสียชีวิตเพราะถูกสั่งธำรงวินัย จนเสียชีวิตจากสภาวะหัวใจล้มเหลว ความแปลกประหลาดของกรณีนี้คือ เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพ แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ทำการเก็บอวัยวะภายในส่วนสำคัญไว้โดยไม่บอกให้ญาติทราบ จากนั้นทางญาติไม่ได้ดำเนินการเผาศพแต่นำศพมาชันสูตรอีกครั้งจึงพบว่าอวัยวะภายในหายไป และดำเนินการขอคืนเพื่อนำมาตรวจสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้ง แต่สุดท้ายเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่างๆ มีสารพันธุกรรมในปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากถูกเก็บไว้นานเกินไป

12 พ.ย. 2560

พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์

มารดาได้รับการติดต่อจากค่ายทหารว่า ลูกชายไม่สบายนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในค่าย มีอาการปวดท้องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก "สภาวะหัวใจล้มเหลว" ทั้งที่เพิ่งเข้าเป็นทหารเกณฑ์ได้เพียง 10 วัน หลังจากนั้นมารดาได้นำศพมาชันสูตรอีกครั้ง แพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเพราะ "ติดเชื้อในลำไส้"

14 ก.พ. 2561

พลทหารมูฮัมหมัดอีรฟาน เจ๊ะมะ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2561 ครอบครัวได้รับแจ้งจากครูฝึกว่า มูฮัมหมัดอีรฟาน เกิดอาการฮีทสโตรก ทางศูนย์ฝึกได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเข้าห้อง ICU จนอาการดีขึ้น

ต่อมาได้รับแจ้งจากครูฝึกอีกครั้งวันที่ 13 ก.พ. 2561 ว่าลูกชายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง เรื่องจากอาการป่วยกำเริบ และต่อมาได้เสียชีวิตในคืนนั้น

3 มิ.ย. 2561

พลทหารกิตติศักดิ์ บุญมณี

ญาติได้รับแจ้งจากค่ายทหารว่า เสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากมีอาการเท้าแพลง และละเลยไม่ดูแลรักษาอาการให้ดี ญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต

รายงานพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทหารเกณฑ์

ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

'ลูกผู้ชาย' ต้องก้มหัวให้อำนาจและยอมสูญเสียโอกาสในชีวิต บทพิสูจน์ระบบเกณฑ์ทหาร

จับเงิบประยุทธ์ เมื่อบังคับเกณฑ์ทหารเหลือน้อยในโลก – กองทัพไม่ใช่แกนบรรเทาสาธารณภัย

"ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ความย้อนแย้งในกลไกร้องทุกข์ของทหาร

ไม่มีไอ้พันในผู้กองยอดรัก มีแต่เกาลูนเลี้ยงไก่ชน: ไพร่ ทาส ตกค้างจากโลกเก่า

เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส: ทหารเกณฑ์คือ อู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ

บุคคลแห่งปี 2016: 'นริศราวัลถ์' จากพลทหารวิเชียรสู่ทหารเกณฑ์คนอื่นๆ

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ชูศักดิ์-สุธิดา' คุยทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบท บริบทถึงการกระทำทางการเมือง

Posted: 23 Aug 2018 06:50 AM PDT

ฟัง 'ชูศักดิ์' 'สุธิดา' เล่าทฤษฎี ต้นศตวรรษ 20 เน้นตัวบท วรรณกรรมต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่หยุดนิ่ง I ตัวบทเป็นเอกเทศ ไม่ถูกจำกัดด้วยการเวลา I ภาษาสร้างความจริงอีกชุด สู่ปลายศตวรรษ 20 ศึกษาเชิงการเมือง กับแนวคิด 3 คลื่นสตรีนิยม ความเท่าเทียม-ชายเป็นใหญ่-วิพากษ์กันเองในแวดวง และแนวคิดPost Colonialism ผลกระทบหลังสมัยอาณานิคม

 

 

22 ส.ค. 2561 โครงการปริญญาโทสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ อ่าน จัดงานบรรยายในหัวข้อ "ทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบทถึงบริบท" ที่ ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์โดยมีวิทยากรคือ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และ สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ศึกษาตัวบท เน้นภาวะวิสัย กับทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20

 

ชูศักดิ์ ปูพื้นว่าในศตวรรษที่ 19 อาจพูดกว้างๆว่ามีทฤษฎีวรรณกรรรมอยู่สองทฤษฎีหลัก คือแนวสุนทรียศาสตร์ มุ่งศึกษางานวรรณกรรมในฐานะเป็นงานฝีมือชนิดหนึ่ง และอีกแนวคือแนวจริยธรรมนิยม สั่งสอนศีลธรรม มองบทบาทวรรณกรรมเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาจริยธรรมสังคม

หลังจากนั้นแนวคิดที่เข้ามามีอิทธิพล คือแนวประวัติศาสตร์นิยม กล่าวคือโลกตะวันตกเริ่มมองว่าเราจะเข้าใจทุกอย่างได้ต้องเข้าใจที่มาที่ไป ความเป็นมาของมัน และแนววิทยาศาสตร์นิยม มองทุกอย่างเป็นเชิงกลไก อันเป็นผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เชื่อ วิทยาศาสตร์แนวปฏิฐานนิยม (positivism) คือ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้ จับต้องได้

วรรณคดีศึกษาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พยายามจะสถาปนาให้ตัวเองเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ดังนั้นทฤษฎีสุนทรียศาสตร์จึงไม่เอื้อเพราะเป็นอัตวิสัยค่อนข้างมากดังนั้นต้นศตวรรษที่20 นักวรรณคดี นักภาษาศาสตร์จึงสนใจแนวคิดปฏิฐานนิยม ซึ่งมีความเป็นภาวะวิสัย ทำอย่างไรให้วรรณกรรมศึกษาและพิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ มีหลักฐานน่าเชื่อถือ จึงเน้นไปที่ชีวประวัติของผู้แต่ง เพราะเป็นสิ่งที่ศึกษาได้ ตรวจสอบได้ ประกอบกับกระแสแนวคิดโรแมนติกเชิดชูนักประพันธ์เป็นผู้มีญาณทัศน์อันพิเศษ หรือแนวนิรุกติศาสตร์ ศึกษารากที่มาของการสื่อสาร นักศึกษาวรรณคดีสมัยนั้นจึงต้องเป็นคนค้นคว้า เสาะหาจดหมายเหตุ เช่น ค้นคว้าในบ้านเกิดเชคสเปียร์หรือจอห์นคีต นักเขียนชื่อดังทั้งหลาย เพื่อดูว่าคนเหล่านี้อ่านอะไร ศึกษาอะไรกัน

ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทรงอิทธิพลอยู่นานจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนครั้งสำคัญนำมาสู่การหันมาสนใจตัวบทมากกว่าตัวผู้แต่งหรือประวัติวรรณกรรม โดยมีแนวคิดประมาณ 3 ทฤษฎีในปลายศตวรรษที่ 20 ที่หันมาให้ความสำคัญกับตัวบทและบริบทของสังคม เกิดแนวทฤษฎีคิดมาอีกมากมายโดยจะอธิบาย 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย, นววิจารณ์ และโครงสร้างนิยม

 

ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย:วรรณกรรมต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่หยุดนิ่ง
 

ชูศักดิ์อธิบายว่าคือทฤษฎีแรกๆของศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับตัวบท เกิดก่อนปฏิวัติสังคมโซเวียตปี 1917 แต่มารับรู้กลางศตวรรษที่ 20 ในยุโรป เป็นกลุ่มนักวรรณคดี ภาษาศาสตร์ มีศูนย์กลางที่มอสโควและเซนปีเตอร์สเบิร์ก ต่อต้านแนวปฏิฐานนิยม

ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย มองว่าการศึกษาประวัติผู้แต่ง ประวัตศาสตร์วรรณกรรมนั้นทำได้ แต่ตั้งคำถามว่านั่นใช่การศึกษาวรรณคดีหรือไม่ มันควรกลายเป็นศาสตร์การศึกษาผู้ประพันธ์หรือศึกษาประวัติศาสตร์ไปมากกว่ารึเปล่า แต่วรรณคดีศึกษาต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรคือวัตถุของการศึกษา คำตอบก็คือความเป็นวรรณคดีโดยตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับผู้แต่ง ประวัติศาสตร์ หรือสังคม

คำถามที่สำคัญตามมาคืออะไรทำให้สิ่งที่เรียกว่าวรรคดีต่างจากข้อเขียนอื่นที่ไม่ใช่วรรณคดี เรื่องสั้นกับข่าวต่างกันอย่างไร นักวรรณคดีกลุ่มนี้มุ่งจะตอบคำถามนี้ ถ้าเราบอกว่ากลอนต่างจากข้อเขียนอื่นเพราะต้องมีสัมผัส มีฉันทลักษณ์ ก็ถือเป็นคำตอบที่จบ แต่สิ่งที่พวกรูปลักษณ์นิยมตอบคือ ต้องมีกระบวนการที่ทำให้แปลก หรือ Defamiliarizationทำให้มีสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ถ้าเป็นรายงานข่าวก็เล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่วรรณกรรมจะมีสิ่งที่แปลกออกไป

การทำให้แปลก คือแปลกไปจากความรับรู้ทั่วไปของมนุษย์ เช่น วิธีการเล่าเรื่องที่เล่าจากมุมมองของสัตว์ หรือเด็ก หรือทำให้แปลกไปจากงานเขียนประเภทอื่น เช่น บทกวี ที่มีภาษา ฉันทลักษณ์ ระเบียบแบบแผนต่างไปจากการพูดการเขียนปกติ หรือความแปลกอื่นที่แปลกไปจากขนบวรรณกรรมที่มีอยู่ ดังนั้นความแปลกจึงต้องมีลักษณะสัมพัทธ์ ไม่หยุดนิ่งตายตัว ต้องเปลี่ยนแนวการเขียนตลอด เพราะไม่ฉะนั้นความแปลกก็จะไม่แปลกอีกต่อไป

ดังนั้นทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมจึงทำให้ความหมายของวรรณกรรมมต้องเป็นวรรณกรรมแนวทดลองตลอดเวลา แนวตามขนบก็จะไม่เป็นวรรณกรรมเพราะไม่แปลก วิธีการอธิบายความเปลี่ยนแปลงไปของวรรณกรรม จึงไม่ใช่แนวคิดที่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมเคยอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นอิงกับสังคม แต่เป็นเรื่องของความเบื่อที่ทำให้ขนบของการเขียนเปลี่ยนจากยุคหนึ่งไปยุคหนึ่งรูปลักษณ์นิยมจึงเน้นที่รูปแบบการประพันธ์จริงๆ ต่างจากปฏิฐานนิยมที่เน้นบทบาททางสังคม

ชูศักดิ์ทิ้งท้ายเพื่อให้ไปหาคำตอบเพิ่มเติมเองเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ว่า ดังนั้นตามทฤษฎีรูปลักษณ์นิยม การเปลี่ยนแปลงวรรณกรรมจึงไม่ใช่จากพ่อไปสู่ลูก แต่เป็นจากอาไปสู่หลาน

 

นววิจารณ์: ศึกษาตัวบทเป็นเอกเทศ ไม่ถูกจำกัดด้วยการเวลา

 

ชูศักดิ์กล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า เกิดขึ้นในอเมริกาและทะยานขึ้นมาสู่ทฤษฎีกระแสหลักแทนทฤษฎีปฏิฐานนิยมซึ่งครอบงำแวดวงวรรณกรรมมาก่อนโดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามจะสถาปนาแนวทางแบบใหม่ ตั้งเป้าว่าทำอย่างไรที่จะทลายกำแพงเกี่ยวกับการศึกษาวรรณกรรมที่ยึดอยู่กับผู้แต่งและผู้อ่าน นักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มจากเขียนงานสองชิ้นที่สำคัญมากIntentional Fallacyและ Affective Fallacy เกี่ยวกับความหลงผิดเกี่ยวกับเจตนารมณ์ผู้แต่งและผลกระทบทางอารมณ์

กลุ่มนี้มองว่าการศึกษาวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องยึดกับเจตนารมณ์ของผู้แต่ง เช่น หากผู้เขียนตายไปแล้วจะทำอย่างไรซึ่งกลุ่มปฏิฐานนิยมก็อาจจะบอกว่า ก็ศึกษาได้โดยการไปดูหลักฐานว่าผู้เขียนอ่านอะไร ทำอะไร แต่กลุ่มนี้มองว่าข้อเขียนที่เป็นวรรณกรรมนั้นเป็นข้อเขียนสื่อสารต่อสาธารณชนผู้แต่งจึงต้องเขียนสิ่งที่คนทั่วไปรู้ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องไปศึกษาตัวผู้แต่ง

ข้อโต้แย้งอีกอันของกลุ่มนี้คือ เวลาถามว่าเจตนาผู้แต่งคืออะไร บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามเจตนาที่ผู้แต่งคิดก็ได้ดังนั้นเราจะเชื่อถือเจตนาผู้แต่งทั้งหมดได้อย่างไร และมีคำถามต่อว่า เราจะยึดเอาเจตนาของผู้แต่งตอนไหนที่ถือเป็นเจตนาตรงที่สุดที่เป็นคำตอบสุดท้าย ก่อนเขียน หลังเขียน หรือผ่านไปห้าปีสิบปีสิ่งที่เขาคิดเกี่ยวกับงานเขาอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ ดังนั้นข้อสรุปคือไม่ต้องเชื่อเจตนาผู้เขียน วรรณกรรมสามารถเข้าใจได้จากตัวงาน และผลกระทบของผู้อ่านแต่ละคนมีอคติ เอามาเป็นตัวกำหนดความหมายของตัวงานไม่ได้ จึงเหลือตัวบทที่เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา

วิธีที่กลุ่มนี้ศึกษาตัวบท คือการเสนอกรอบคิด ตัวบทมีลักษณะเป็นเอกเทศ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ถ้าเราจะเข้าใจก็เข้าใจมันในฐานะอินทรียรูป โดยไม่ต้องดูผู้แต่งผู้อ่าน ดูแค่ความหมายในตัวบทสัมพันธ์เกื้อหนุนกันยังไง ให้ความสำคัญกับการอ่านแบบประชิด คืออ่านอย่างละเอียดอันเป็นรูปแบบการเรียนวรรณกรรมที่คนรุ่นหนึ่งรวมทั้งตัววิทยากรคุ้นเคย เป็นการดูองค์ประกอบต่างๆ ของงาน ดูสัญลักษณ์ ภาพพจน์ เสียง สัมผัส สร้างความหมายขึ้นมาอย่างไร ซึ่งทฤษฎีนี้ได้เปลี่ยนการศึกษาวรรณกรรมของอเมริกาไปหมดเลย จากเดิมที่ต้องศึกษาชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ ก็เพียงแค่ถือนิยายเล่มหนึ่งเข้าห้องเรียนคุยกันถึง คำ ประโยค ตัวละคร ตัดขาดจากผู้แต่งและบริบท นำไปสู่ข้อเสนอีกชุดของกลุ่มนววิจารณ์คือ วรรณกรรมกลายเป็นตัวบทที่สถิตความหมายมีลักษณะสากล ใครก็เข้าถึงได้ เป็นอกาลิโก อ่านได้ทุกยุคทุกสมัย เป็นอมตะ ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา

 

โครงสร้างนิยม: ภาษาสร้างความจริงอีกชุด ศึกษาโครงสร้างไวยากรณ์วรรณกรรม
 

ชูศักดิ์ กล่าวถึงแนวคิดกลุ่มนี้ว่าทรงอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่2ถึงทศวรรษที่60-70 เป็นแบบแผนใหม่ที่ถูกพูดถึง มาตรฐานการรีวิว การพูดถึงหนังสือก็จะใช้แนวคิดนี้ กลายเป็นแบบแผนของการอ่านหนังสือ

กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า ภาษาที่เคยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือโปร่งใสสะท้อนความจริงนั้นกลับกลายเป็นว่าภาษาสร้างความเป็นจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริงด้วย ตัวอย่างเช่น การนับเครือญาติ หากเทียบสองภาษาก็จะเห็นความต่าง ยกตัวอย่างเช่น ในความเป็นจริงพ่อแม่มีลูกสองคนเอกับบี พอเราจะเรียกลูกสองคนในสองภาษาไทย เราจะเรียกเอเป็นพี่ บีเป็นน้อง แต่ภาษาอังกฤษเราจะเรียกเอเป็นซิสเตอร์ (sister)และบีเป็นบราเธอร์ (brother) เราจะเห็นว่าระบบภาษาจึงกำหนดสร้างความเป็นจริงอีกชุด เมื่อเราอยู่ในระบบภาษาไทย อาวุโสกลายเป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ ขณะที่อังกฤษต้องรู้ก่อนเป็นหญิงหรือชาย ทั้งสองระบบให้ความสำคัญมิติของคนไม่เหมือนกัน

แนวคิดโครงสร้างนิยมจึงพยายามมองการทำงานของภาษา ถ้าเราจะเข้าใจวรรณกรรม เราจะต้องทำความเข้าใจระบบโครงสร้างภาษาว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในงานชิ้นนั้น

โครงสร้างคืออะไร ชูศักดิ์อธิบายว่า เข้าใจว่าโครงสร้างนี้ไม่ได้เห็นได้ด้วยตา แต่คือชุดความสัมพันธ์ ความหมายเกิดจากหน่วยต่างๆ ที่อยู่ในระบบนั้นที่มาสัมพันธ์กันและทำหน้าที่กำหนดความหมาย ดังนั้นเวลาพูดถึงโครงสร้างนิยม จึงไม่ใช่แค่พล็อตเรื่อง แต่เป็นโครงสร้างที่มองไม่เห็นและกำกับการสื่อสารอยู่ หน่วยที่ประกอบกันขึ้นมาไม่ได้มีความหมายโดยตัวมันเอง เช่นเดียวกับที่บอกว่า โดยลำพังสิ่งที่เรียกว่าเกาะอกไม่ได้มีความหมายว่าโป๊โดยตัวมันเอง อยู่ที่มันไปสัมพันธ์กับอะไร เกาะอกกับผ้าถุงอาจดูเป็นไทย เกาะอกกับกางเกงขาสั้นอาจดูโป๊ อยู่ที่เกาะอกไปเกี่ยวข้องกับอะไร นี่คือวิธีการอธิบายของพวกโครงสร้างนิยม

การศึกษาแบบโครงสร้างนิยมจึงเป็นการศึกษากระบวนการสร้างและสื่อความหมายในตัวบทเป็นหลัก เวลาเราใช้ภาษาเราใช้โดยไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์อยู่ เช่น เวลาเราพูดสวัสดี เราก็ไม่ได้คิดว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นคนคิดคำนี้ ซึ่งโครงสร้างนิยมมองว่าถ้าจะศึกษาวรรณกรรมต้องหยุดการศึกษาประวัติสาสตร์ไว้ก่อน

โครงสร้างนิยมทางวรรณกรรม ทะเยอทะยานศึกษาหาไวยากรณ์ของวรรณกรรม ไวยากรณ์ของเรื่องเล่า สร้างผังขึ้นมาหลายแบบ หาโครงสร้างที่มองไม่เห็นที่กำกับการสื่อความหมายของวรรณกรรม ดังนั้นโครงสร้างนิยมพยายามแสวงหากฎเกณฑ์ทั่วไปของตัวบท และขยายขอบเขตนิยามของตัวบท ไปครอบคลุมสิ่งที่เรียกว่าความจริงนอกตัวบท จากฐานคิดที่ว่าภาษาสร้างความเป็นจริง ทำให้สิ่งที่เราคิดว่ามันคือความจริงนอกตัวบทก็คือตัวบทแบบหนึ่งด้วย

 

กระทำทางการเมืองกับทฤษฎีวรรณกรรมปลายศตวรรษที่ 20

 

สุธิดาอธิบายว่า การศึกษาวรรณกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมานั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นการเมือง ช่วงปี 1960 ในอเมริกามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะมาก เด่นสุดต่อต้านสงครามเวียดนาม การอ่านวรรณกรรมคือการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่ง

นักศึกษาวรรณกรรมดึงเอาบริบทต่างๆ เช่น ชนชั้น เชื้อชาติ เพศที่ไม่เคยอยู่ในการศึกษาวรรณกรรมมาก่อนเข้ามา ดังนั้นในยุคนี้จึงเป็นการศึกษาวรรณกรรมในฐานะที่คนตกเป็นเบี้ยล่างจะเป็นคนอ่านและเป็นคนเขียนได้ และอีกด้านคือการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรที่เราจะเลือกใช้มุมมองของการอ่านที่แตกต่างจากที่สอนกันมาผ่านมุมมองชนชั้นกลางเพศชายผิวขาวนับถือศาสนาคริสต์ มันจึงเป็นการอ่านเพื่อเปิดโปงอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ เปิดโปงความเป็นจักรวรรดินิยม ที่อาจไม่ได้แสดงในตัวบท การอ่านแบบประชิดจึงไม่อาจทิ้งไปได้

แนวทางของการวิจารณ์จะเป็นสองลักษณะใหญ่นั้นคือ สตรีนิยม (Feminism) และแนวคิดหลังสมัยอาณานิคม(Post Colonialism) ผู้หญิงจะเป็นนักเขียนได้ไหม ต้องมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง? กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์มีผู้หญิงเขียนไหม? มี แต่เป็นที่ไม่รู้จัก จะทำยังไงที่จะกู้คืนงานเขียนผู้หญิงในประวัติศาสตร์ มีทางไหนที่จะส่งเสริมผู้หญิงให้เป็นนักเขียน และ ประเทศโลกที่สามไม่มีนักเขียนเป็นของตัวเองเหรอ?

 

Feminism: 3 คลื่นสตรีนิยม เท่าเทียม-ชายเป็นใหญ่-วิพากษ์กันเองในแวดวง

 

สุธิดา กล่าวว่า คลื่นลูกแรก ต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม เรื่องอาชีพ เรื่องการโหวต เช่น เวอร์จิเนีย วูฟ เขียน A room of one's own ตั้งคำถามว่า ถ้าน้องของเชคสเปียร์เป็นผู้หญิงแล้วเขียนงานจะมีคนอ่านไหม โดยตั้งคำถามว่าหากมีมนุษย์สองคนที่มีศักยภาพเท่ากัน แต่ต่างเพศ จะมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เขาได้เป็นหรือไม่ได้เป็นนักเขียน

คลื่นลูกสอง ปลายทศวรรษ60ถึงต้นทษวรรษ 70 คนมีอิทธิพลคือ ซีโมน เดอ โบวัวร์ ที่มีคำพูดสำคัญว่า "คนๆ หนึ่งไม่ได้เกิดเป็นผู้หญิง แต่ถูกทำให้กลายเป็นผู้หญิง(One is not born , but became a woman)"ซึ่งหมายความว่า ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีอวัยวะเพศไหน แต่ การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม สัมคม ต่างหากที่ทำให้เราเป็นผู้หญิง และกำหนดบทบาททางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ สร้างเงื่อนไขให้ความเป็นเพศหญิงเกิดขึ้นมาเพื่อเปิดโปงวาทะกรรมชายเป็นใหญ่

ประกอบด้วย 2 แนวคิดที่มีอิทธิพล คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่มองมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา เป็นการมองว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่ที่แสดงออก แต่มีสิ่งที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ตัวบท ภายใต้ตัวบทยังมีอะไรบางสิ่งอยู่ข้างใต้ อีกแนวคิดคือทฤษฎีมาร์กซิส (Marxism)ซึ่งเป็นการแสวงหาช่องโหว่ทางอุดมการณ์หรือปัญหาเชิงอุดมการณ์ของตัวบท และการวิจารณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เป็นแบบนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากมาร์กซิส โดยมองว่าตัวบทไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่วางอยู่บนฐานอุดมการณ์ชุดหนึ่ง

คลื่นลูกที่สาม ทศวรรษ 90 แนวคิดสตรีนิยมยุคแรกๆ ก็ถูกวิจารณ์ โดยกลุ่มนี้ชี้ว่าอย่างหนึ่งที่เฟมินิสต์ยุคแรกๆหลงลืมคือ ความไม่เท่าเทียมในหมู่คนเพศเดียวกันเอง ประเด็นเรื่อง intersectionality หรือความสลับซับซ้อนของประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นั้นหมายความว่าเราพูดถึงเรื่องผู้หญิงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องถามว่าพูดถึงผู้หญิงในช่วงชั้นสังคมไหน ผิวสีอะไร เช่น ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างผู้หญิงขาวชนชั้นกลางชาวคริสต์กับผู้หญิงผิวสีดังนั้นกลุ่มนี้จึงชูเรื่องความหลากหลาย ไม่ได้ต่อต้านเพศชาย แต่เป็นการวิจารณ์กันเองในแวดวง

 

Post Colonialism ผลกระทบหลังสมัยอาณานิคม

 

สุธิดา กล่าวว่า เมื่อไหร่ที่เราจะเรียกแบบนี้ คำตอบคือ หลังการเข้ามาของเจ้าอาณานิคม ดังนั้นมันจึงว่าด้วยผลกระทบของประเทศและผู้คนจากลัทธิอาณานิคม ซึ่งคนที่ศึกษาในประเด็นนี้ 3 คนที่สำคัญคือ Edward Said ผู้เขียน 'Orientalism' Gayatri SpivakและHomi Bhabha ผู้เขียน 'The Location of Culture'

การศึกษาด้วยแนวคิดนี้จะศึกษาคนที่มาจากประเทศที่ถูกล่าอาณานิคมในฐานะผู้เขียนและในฐานะผู้อ่านด้วย หน้าที่ของคนวิจารณ์คือการเปิดโปงแนวคิดที่ประกอบสร้างของวรรณกรรม ว่าแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากวิธีคิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนี้มีปัญหาอย่างไร เช่น ในยุคหนึ่งโฆษณาสบู่โฆษณาว่าคนดำใช้แล้วจะขาวสะอาดทั้งกายและใจ มีอารยธรรม สูงส่งซึ่งมีอิทธิพลมาจาก white man's burden การที่คนขาวมีภาระที่จะนำอารยธรรม ความสูงส่งไปสู่ประเทศโลกที่สามหรือการผลิตสิ่งที่มาโต้กลับแนวคิดเหล่านี้ เช่น วรรณกรรมที่เขียนล้อวรรณกรรมที่แสดงมุมมองแบบจักรวรรดินิยม ยกตัวอย่างเรื่อง The Impressionist โดย Hari Kunzruเขียนขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม โดยมีตอนหนึ่งที่เขียนล้อ  Heart of darkness โดย Joseph Conradที่เขียนในมุมมองแบบจักรวรรดินิยม

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปธ.กสม. ย้ำต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทำแผนปฏิบัติการฯธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

Posted: 23 Aug 2018 05:39 AM PDT

ปธ.กรรมการสิทธิฯ ย้ำเปิดโอกาส ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ย่อมส่งเสริมให้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีความชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และสะท้อนบริบทอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

23 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ กสม. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UN High Commissioner for Human Rights Regional Office for Southeast Asia: OHCHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม ทั้งนี้มีผู้แทนภาคประชาสังคมจากภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมกว่า 270 คน

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและได้แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ให้เกิดผลในประเทศไทย โดยการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) อันเป็นยุทธศาสตร์และกรอบนโยบายการดำเนินการที่รัฐจะใช้เป็นแผนที่ในการขับเคลื่อนหลักการ UNGPs ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย

วัส กล่าวว่า ไม่เพียงเฉพาะสาระของแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ เท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่การทำกระบวนการให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการยกร่าง (development) การติดตาม (monitoring) และการปรับปรุง (update) จะต้องเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและมีความโปร่งใส การเสนอความคิดเห็นต้องสะท้อนความต้องการของบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากธุรกิจ รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

"องค์กรประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSO) และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ต่างมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจของประเทศไทยควรถือว่าองค์กรประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญและทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อป้องกัน บรรเทา และเยียวยา ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม รวมทั้งกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ย่อมส่งเสริมให้แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ที่คาดหมายกันว่าจะเป็นฉบับแรกของทวีปเอเชียฉบับนี้ มีความชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และสะท้อนบริบทของสถานการณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ประธาน กสม. ระบุ  

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ กสม. ได้ให้ความสำคัญมากโดยได้เชิญ Professor Surya Deva รองประธานคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ มาบรรยายพิเศษ เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้หลักการนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

จากนั้นเป็นการนำเสนอสาระสำคัญของ "ร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการนำเสนอสาระสำคัญของ "ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ" โดยเลขาธิการ กสม.

ประกายรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญในวันนี้ได้จัดให้มีการอภิปรายและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ โดยผู้แทนภาคประชาสังคม ซึ่งแบ่งประเด็นเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสิทธิแรงงาน 2.กลุ่มสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3.กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4.กลุ่มการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 กสม. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดทำปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "บทบาทภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ อย่างแท้จริง  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หมวดเจี๊ยบเสนอให้มีองค์กรตรวจสอบกองทัพ หลัง ผบ.ทบ. ระบุไม่มีการซ่อมในค่ายทหาร

Posted: 23 Aug 2018 05:17 AM PDT

ผบ.ทบ. ระบุกรณีพลทหารคชา ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เป็นการซ่อม แต่เป็นการทะเลาะวิวาทกันระหว่างทหารเกณฑ์ หมวดเจี๊ยบโต้อย่าใช้คำเลี่ยงบาลี เพราะชาวบ้านจะมองว่ากองทัพไม่ยอมรับความจริง พร้อมเสนอให้มีองค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ

23 ส.ค. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่ พลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จ.ลพบุรี ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. ขณะนี้อาการยังไม่ดีขึ้น และยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งก่อนหน้านี้นายทหารในค่ายดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงกับครอบครัวว่ามีการทำร้ายร่างกายพลทหารคชา บอกเพียงแค่พลทหารคชาน็อคระหว่างฝึก แต่เมื่อครอบครัวไม่เชื่อจึงยอมบอกความจริงว่า พลทหารคชา ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คนซ่อม ทั้งนี้ยังมีความพยายามขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นข่าว และทางค่ายทหารได้จัดทหารเกณฑ์มาเป็นเวรยามเฝ้าที่เตียงผู้ป่วย และห้ามไม่ให้ญาติถ่ายรูปพลทหารคชา แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นได้

ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการซ่อม เท่าที่ทราบเป็นเพียงการทะเลาะวิวาท ระหว่างพลทหารด้วยกัน พร้อมยืนยันว่า ระบบซ่อมต่างๆ ไม่มีอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าคนอยู่ด้วยกันทุกวันอาจมีปัญหาทะเลาเบาะแว้ง ชกต่อยกันเป็นเรื่องเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม น้าสาวพลทหารคชาเล่าว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่หลานเข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2560 ก็ยังไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว หลานลากลับมาพักที่บ้าน แล้วมีรุ่นพี่วิดีโอคอลมาหาและตามให้กลับก่อนกำหนด แต่หลานไม่ได้ไป รุ่นพี่ก็สั่งให้วิดพื้นทั้งที่อยู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นหลานกำลังนั่งกินข้าวอยู่กับครอบครัวด้วย

ขณะที่ วรรณิสา บุญตา ภรรยา ซึ่งกำลังอุ้มทอง 5 เดือน ลูกคนที่สองของพลทหารคชา เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามีทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คนที่เป็นคนทำร้ายร่างกายพลทหารคชา มากราบขอขมาที่เตียง พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้

ต่อเรื่องดังกล่าว ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมวดเจี๊ยบ Sunisa Divakorndamrong  ว่า ข่าวการทำร้ายร่างกาย พลทหาร คชา พะนะ คือ อีกหนึ่งใบเสร็จที่ยืนยันได้ว่า การซ้อมทรมานมีอยู่จริงในกองทัพ ทั้งๆที่เรื่องน้องเมย ยังไม่ทันจาง ก็มีเหยื่อรายใหม่โผล่ขึ้นมาซะแล้ว ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายจากผู้บังคับบัญชาหรือรุ่นพี่ มักจะสวนทาง กับคำพูดของผู้ใหญ่ในกองทัพที่มักจะอ้างว่า มีกฎห้ามแตะต้องตัวทหารเกณฑ์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอีกกี่เคสที่ถูกทรมานอีกโดยไม่เป็นข่าว และอย่าอ้างว่าเป็นเรื่องทะเลาะกันส่วนตัว เพราะชาวบ้านจะมองว่ากองทัพไม่ยอมรับความจริงและปัดความรับผิดชอบ

แต่ที่จริง มันสะท้อนปัญหาของระบบการซ่อม ซึ่งทำให้กำลังพลมีความเครียดสะสม และไประบายความแค้นกับรุ่นน้องๆต่อไปเป็นทอดๆ อย่ามาเลี่ยงบาลีเลยว่านี่คือการฝึกธำรงวินัย เพราะมันก็ไม่ต่างจากการซ้อมทรมาน ใครที่ทนมือทนเท้ารอดมาได้ ก็ถือว่าโชคดีไป แต่เมื่อพลั้งมือทำกันจนถึงตายหรือพิการขึ้นมา แล้วจะชดใช้ครอบครัวทหารเหล่านั้นอย่างไร คนหนุ่มเหล่านี้ มีอนาคตอีกไกลและเป็นความหวังของครอบครัว ไม่ควรจบชีวิตอย่างไม่สมควร

ทั้งนี้ กองทัพยุค 4.0 ควรต้องปฏิรูปตัวเองให้โปร่งใสและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เช่น เปิดโอกาสให้ครอบครัวของทหารเกณฑ์หรือผู้ใต้บังคับบัญชาอื่น ๆ รวมทั้ง นักวิชาการ และ นักสิทธิมนุษยชน มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการสอดส่องความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์และกำลังพลทั้งหลาย เพื่อให้มีช่องทางร้องทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ปล่อยให้ค่ายทหารเป็นแดนสนธยา ที่ผ่านมา สังคมปล่อยให้กองทัพควบคุมกันเอง แต่ก็มีการปกป้องกันและปกปิดข้อเท็จจริง ทำให้ไม่มีการแก้ปัญหา จึงต้องมีบุคคลภายนอกร่วมตรวจสอบด้วย

นอกจากนี้ กองทัพยุค 4.0 ไม่จำเป็นต้องมีกำลังพลมากเพราะไม่สอดคล้องกับภัยคุกคามสมัยใหม แต่ต้องทันสมัยทางเทคโนโลยี จึงอาจไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารปีละแสนกว่าคนอย่างในปัจจุบัน และไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนเกณฑ์ทหาร แต่ควรรับสมัครจากผู้ที่สมัครใจเป็นหลัก ซึ่งมีคนสมัครหลายหมื่นคนทุกปี

โดยล่าสุดปีนี้ ก็มีคนสมัครเป็นทหาร ถึง 44,797 คน ก็อาจทำให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับได้ ซึ่งจะทำให้กองทัพได้คนที่มีใจรักและมีคุณภาพมาเป็นทหารอาชีพจริงๆ ย่อมดีกว่าได้คนที่ไม่สมัครใจมาทำงาน

'ผู้ตรวจการกองทัพ' ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร

สำหรับประเด็น 'คณะกรรมการสอดส่องความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์และกำลังพลทั้งหลาย' ที่ ร.ท.หญิงสุณิสา เสนอนั้น ในต่างประเทศมีกลไกที่เรียกว่า 'ผู้ตรวจการกองทัพ' ซึ่งศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ระบุว่า ผู้ตรวจการกองทัพ เป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

(เรียบเรียงบางส่วนจาก: มติชนออนไลน์1 , มติชนออนไลน์2)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'คนไร้บ้าน' สุขภาพเสี่ยงสูง แนะปรับระบบพิสูจน์สถานะ คัดกรอง-ป้องกันโรคมากเป็นพิเศษ

Posted: 23 Aug 2018 05:03 AM PDT

'คนไร้บ้าน' สุดเปราะบาง เสี่ยงเจ็บป่วย-อายุสั้นกว่าคนทั่วไป แนะปรับระบบพิสูจน์สิทธิสถานะ จัดระบบคัดกรองสุขภาพมากเป็นพิเศษ เหตุมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อคนไร้บ้านเองและคนทั่วไป เช่น อาจเกิดโรคติดต่อขึ้นมาได้

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ระบบสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Leave no one behind" โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนไร้บ้านและผู้ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียนที่อยู่ตามชุมชนต่างๆในประเทศไทย

สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า จากข้อมูลที่ภาครัฐได้สำรวจเมื่อนานมาแล้ว มีคนไร้บ้านจำนวนประมาณ 15,000 คน อยู่ใน กทม.ประมาณ 1,000 คน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวเนื่องจากสัมพันธ์กับการหาเลี้ยงชีพของคนไร้บ้านซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเก็บขยะขาย

สุชิน กล่าวอีกว่า คนไร้บ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยและรู้ว่าตัวเองมีสิทธิเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐได้ แต่ปัญหาคือไม่มีบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวเอง เช่น หนีออกจากบ้าน ทำบัตรหาย เมื่อไม่มีบัตรไปแสดงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงถูกเข้าใจว่าเป็นคนต่างด้าว หรือหากรับบริการได้ก็ต้องผ่านกระบวนการสังคมสงเคราะห์

"นอกจากคนไร้บ้านแล้ว อีกกลุ่มที่มีปัญหาคือคนไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียน เช่น ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไปแจ้งเกิดหรือไม่พาไปทำบัตรประชาชน คนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาในการเข้าถึงการบริการเช่นกัน" สุชิน กล่าว

นายกสมาคมคนไร้บ้าน เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า อยากให้มีการสำรวจผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนทั่วประเทศ แล้วมาจัดกลุ่มว่าไม่มีบัตรเพราะอะไร เพราะทำหายหรือบัตรหมออายุแล้วไม่ได้ไปทำบัตรใหม่ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีบัตรมาตั้งแต่แรกเนื่องจากพ่อแม่ไม่พาไปทำให้

ขณะเดียวกันยังเสนอว่าอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แก่หน่วยบริการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนไร้บ้านหรือคนไม่มีบัตรประชาชน เพื่อไม่ให้หน่วยบริการหรือตัวของแพทย์เองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ เพราะเท่าที่สัมผัสมา แพทย์ก็พยายามช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ในบางเคสแต่จะให้รับภาระไปตลอดก็คงไม่ไหว

ด้าน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัยพบว่ากลุ่มคนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าคนทั่วไป โดยเพศชายมีอายุเฉลี่ย 58 ปี และหญิงอายุ 60 ปี ขณะที่คนทั่วไป เพศชายอายุเฉลี่ย 77 ปี และหญิง 82 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าคนไร้บ้านที่พักพิงในศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน (Homeless Shelter) จะมีอายุยืนกว่าคนที่เร่ร่อนอยู่ข้างนอกประมาณ 10 ปี และคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ข้างถนนส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า และสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ

"ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูง และชี้ว่าคนไร้บ้านมีความเปราะบางทางด้านสุขภาพอย่างชัดเจน รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเปราะบางยิ่งกว่า" อนรรฆ กล่าว

ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนไร้บ้านใน จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และ กทม. พบว่าแม้จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว แต่กลับไม่มีคนไร้บ้านที่เป็นคนต่างด้าว กว่า 99% บอกว่ามีเอกสารแสดงความเป็นคนไทย ในจำนวนนี้ 28% บอกว่าเคยมีบัตรประชาชน ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล มีเพียง 1% ที่บอกว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

"ผลสำรวจทั้ง 3 แห่งมีความคล้ายกันคือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนไร้บ้านเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ แต่บางทีถึงอยากไปก็ไปไม่ได้เพราะหมายถึงการขาดรายได้ในวันนั้นๆ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก และ 2.ระบบหลักประกันสุขภาพมีความสำคัญต่อชีวิตและการตั้งหลักชีวิตอย่างสูง เมื่อคนไร้บ้านมาอาศัยในศูนย์ฟื้นฟูฯและมีหลักประกันสุขภาพ ก็ช่วยให้พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้" อนรรฆ กล่าว

นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไร้บ้านแบ่งเป็น / ประเด็นคือ 1.ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะทางทะเบียน 2.ปัญหาการเข้าถึงสิทธิจากการโอนย้ายสิทธิ โดยในกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชนยังแยกย่อยเป็นกลุ่มที่เคยมีบัตรประชาชน แต่บัตรหาย ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ขาดคนรับรองสถานะตัวตน และกลุ่มที่มีอาการทางจิตเวชทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ และอีกกลุ่มคือคนที่ตกหล่นจริงๆ เช่น พ่อแม่ไม่ไปแจ้งเกิด รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิที่อาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยแสดงตัวยกเว้นกรณีป่วยหนักจริงๆ จนต้องได้รับการช่วยเหลือ

"โจทย์สำคัญคือเราจะสร้างการป้องกัน (Prevention) และการคุ้มครอง (Protection) ให้คนไร้สิทธิ ไร้สถานะทางทะเบียนอย่างไรเพื่อที่จะได้ไม่ต้องป่วยหนักแล้วค่อยแสดงตัว ข้อเสนอของผมมี 3 ประเด็นคือ 1.อยากให้มีแบบแผนการปฏิบัติที่ชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิสถานะ 2.ระบบบริการจะออกแบบกลไกอย่างไรให้รองรับกลุ่มคนที่ตกหล่นได้ เพราะเวลาเขามีปัญหาไม่ใช่ปัญหาปัจเจก แต่เป็นปัญหาทางสังคมด้วย เช่น อาจเกิดการแพร่ระบบของโรค เป็นต้น และ 3.เนื่องจากต้นทุนทางสังคมของเขาต่ำ ดังนั้นต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา หรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้" อนรรฆ กล่าว

ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่าง กทม.มองว่าปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้าน เป็นสิ่งที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อคนไร้บ้านเองและคนทั่วไป เช่น อาจเกิดโรคติดต่อขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา กทม.ลงทะเบียนคนไร้บ้านได้ประมาณ 1,900 คน และได้จัดสร้าง "บ้านอิ่มใจ" เพื่อเป็นที่พักแก่คนไร้บ้านโดยรองรับผู้หญิงได้ 100 คน และชายอีก 100 คน และเชื่อว่า อปท.อื่นๆ ก็อยากดำเนินการในลักษณะนี้ เพียงแต่กฎหมายไม่เอื้อให้ทำ ดังนั้นถ้ามีการแก้กฎหมายให้อำนาจ อปท. ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูฯได้ เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาดูแลคนไร้บ้านมากขึ้น

"ข้อเสนอของผมคืออยากให้การพิสูจน์สถานะตัวตนมีความสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อได้เลข 13 หลักแล้ว การเข้าถึงสิทธิการรักษาก็จะตามมา ขณะเดียวกัน ในส่วนของการคัดกรองโรค คนไร้บ้านควรได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าคนทั่วไปในช่วงอายุเดียวกัน เพราะเขามีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง จึงจำเป็นต้องป้องกันก่อนมาแก้ไขในภายหลัง และอยากฝากเรื่องคนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงเนื่องจากขาดยา ฝากประเด็นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร" นพ.สุนทร กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สามชาย ศรีสันต์: เศรษฐกิจพอเพียง ความสุขจากการบริโภคชนบท และธรรมโองการเหนือรัฐธรรมนูญ

Posted: 23 Aug 2018 03:56 AM PDT

วิเคราะห์วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นสอดรับกับความเป็นชนบท โดยมีคนเมืองเป็นผู้บริโภคชนบทอย่างมีความสุข

  • หลักเศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้เป็นเครื่องรับมือและแก้ไขวิกฤตที่มาจากภายนอกและไม่ใช่ไทย
  • หลักเศรษฐกิจพอเพียงถูกทำให้กลายเป็นไทยและสวมทับกับภาพความเป็นไทยของชนบทที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน โดยคนชนบทมีความสุขจากงบประมาณอันเนื่องจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่คนเมืองมีความสุขจากการได้บริโภคชนบท
  • วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่สถาบันกษัตริย์พระราชทานให้แก่คนไทยทุกคน

เมื่อพูดถึง 'หลักเศรษฐกิจพอเพียง' ความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทยมักย้อนกลับไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่ว่า

"วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิจ จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้"

แต่จากงานศึกษาเรื่อง 'ชนบท-เมือง การสร้างความสุขทางสังคมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง' สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการการสร้างการรับรู้ในสังคมไทย (The Construction of the Thai Mind) ได้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นมาถอยหลังไปยาวนานกว่านั้น ตั้งแต่ยุคภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และพัฒนาต่อมากระทั่งเป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคม ผลิตสร้างความเป็นไทย และมีหน้าที่บางประการที่ตอบรับกับอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองในสังคม

เครื่องมือต่อต้านภัยคุกคามจากภายนอกที่ไม่ใช่ไทย

สามชาย กล่าวว่า ตนมองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะวาทกรรมที่แวดล้อมตัวบุคคลในชีวิตประจำวัน และยังหมายถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่พยายามปลูกฝังเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของความเป็นชาติไทยและสร้างความเป็นไทยขึ้นมา โดยเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาใช้แก้ปัญหาภัยความมั่นคงของชาติและเป็นวิกฤตของคนไทยทุกคนในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะภัยที่มาจากภายนอกที่เข้ามาคุกคาม ควบคุม เปลี่ยนแปลงความเป็นไทย ประกอบด้วยภัยคอมมิวนิสต์ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และระบอบทักษิณ

"ในช่วงภัยคอมมิวนิสต์แม้จะไม่ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง แต่พระราชดำรัสบ่งบอกทิศทางการพัฒนาประเทศที่ให้ทำไปตามลำดับขั้น อย่าก้าวกระโดด หรือเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไกลเกินไป ขอแค่พออยู่พอกินก่อน ผมคิดว่าในช่วงเวลานั้น สถาบันกษัตริย์มองเห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากในการพัฒนาประเทศ จุดโจมตีสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์คือความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ หมู่บ้านในชนบทถูกขูดรีด การให้ค่อยๆ ทำไปตามที่เราทำได้ ทำแค่พอมีพอกินจึงเป็นคำปลอบประโลม"

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็เช่นกัน จอร์จ โซรอส ผู้โจมตีค่าเงินบาท กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ การหลงฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของภาคธุรกิจไทย รวมถึงระบบทุนนิยม ถูกทำให้เป็นภัยภายนอกที่รุกรานกระทั่งประเทศไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจพอเพียงก็คือทางออกจากวิกฤต

"พอพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงจึงกลายเป็นว่า สิ่งเดิมดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เราเอาตัวรอดมาได้ทุกยุคสมัย ความเป็นชาติ ความอุดมสมบูรณ์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันกษัตริย์ที่ปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกลับไปหาความเป็นไทย กลับไปหาอดีตที่เราเคยรุ่งเรือง ภาพฝันแบบนี้ถูกสร้างขึ้น จังหวะนี้เองเป็นจังหวะที่วัฒนธรรมชุมชนก็เกิดขึ้น ความสำเร็จของกลุ่มนี้อย่างหนึ่งคือการสร้างให้ชนบทเป็นตัวแทนของความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากการรุกรานของวัฒนธรรมตะวันตก

"เกิดการสร้างภาพว่าชนบทมีความเข้มแข็ง มีภูมิปัญญา พึ่งตนเองได้ เป็นเกราะคุ้มครองประเทศไทยไม่ให้สูญเสียความเป็นไทย ความสำเร็จนี้ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงที่กำลังมองหาพื้นที่ที่มีตัวแทนความเป็นไทยหลงเหลืออยู่ เข้าไปสวมทับเพื่อสร้างดินแดนแห่งความสุขของความเป็นไทยขึ้นมา ซึ่งก็คือชนบท"

ตามมาด้วยระบอบทักษิณที่ถูกมองว่าไม่มีความเป็นไทยและขายชาติ ขณะที่คนชนบทถูกกำหนดนิยามเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือพสกนิกรที่ดีที่ยังคงความเป็นไทยไว้ ทำการเกษตร กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ ขณะที่กลุ่มที่ไปเข้ากับระบอบทักษิณคือกลุ่มที่ไม่มีความเป็นไทย หลงฟุ้งเฟ้อกับวิธีคิดแบบทุนนิยมตะวันตก และประชานิยม ในที่สุดแล้วการถูกกันออกไปจากความเป็นไทยและทำให้เราสามารถทำร้ายเข่นฆ่ากันได้

สามชาย ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่สังคมไทยมีภัยจะมีการสร้างศัตรูขึ้นมาเสมอระหว่างไทยกับไม่ใช่ไทย ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นโดยสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงทำให้พื้นที่ชนบทกลายเป็นพื้นที่ของความเป็นไทยที่เราต้องรักษาหวงแหนไว้

ชนบท ดินแดนแห่งความสุขและเป็นไทย และการบริโภคชนบทของคนเมือง

ทันทีที่ชนบทถูกสร้างเป็นดินแดนแห่งความสุขและเป็นไทย คนเมืองผู้มีปัญหารากเหง้าของตนเองที่ถูกทำให้หายไปจากการพัฒนาประเทศ เกิดวัฒนธรรมสากล ก็โหยหาอดีตและรากเหง้า จึงให้การยอมรับชนบทในฐานะพื้นที่ความเป็นไทย

"วิธีการที่จะครอบครองความเป็นไทย ครอบครองพื้นที่ของความสุขที่ตนเองอ้างอิงได้ ก็โดยการบริโภคชนบท ขณะเดียวกันก็พยายามมีสถานะทางชนชั้นที่เหนือกว่าจากการใกล้ชิดศูนย์กลางของอำนาจ แล้วบอกว่าสิ่งที่ตนเข้าไปบริโภคนี้คือการช่วยให้ชนบทดีขึ้น ช่วยรักษาความเป็นไทย และตนเองก็ทำตัวเป็นลูกที่ดี เหล่านี้อยู่บนเงื่อนไขของความพอเพียงทั้งหมด เกิดความสุขจากการบริโภคชนบท ความเป็นไทย ความสุขที่สะท้อนออกมาผ่านการปฏิบัติของคนในทางร่างกาย วิธีพูด ท่าที การแต่งกาย การใช้ชีวิตในเวลาว่าง ออกมาผ่านการบริโภค ชาวนาวันหยุด ใช้สินค้าอินทรีย์ ได้ช่วยเหลือชนบท สร้างความเป็นไทย เป็นคนดี เป็นความหมายรวมของร่างกาย ความพอเพียงที่ตนเองแสดงออกเป็นความพอเพียงที่เกิดขึ้นจากการบริโภค ขณะที่ชนบทก็ถูกควบคุม คนชนบทที่รับความพอเพียงและแสดงออกตรงตามเงื่อนไขก็จะได้รับการยอมรับเป็นปราชญ์"

สามชาย อธิบายว่า ปราชญ์ชาวบ้านคือตัวแทนที่สืบทอดวิธีคิด มีความใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจที่เป็นความใกล้ชิดผ่านแนวทางพระราชดำริ หากได้พูดคุยกับคนกลุ่มนี้รูปแบบของการพูดจะไม่ต่างกันคือ พบทางออกของชีวิต พบความสุขได้จากเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง จากที่เคยหลงผิดกับค่านิยมตะวันตก ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรือหลงไปกับประชานิยมแบบทักษิณ

ขณะเดียวกันคนชนบททั่วไปก็มีความสุขจากเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ลงไป หาทำอะไรสักอย่างที่สะท้อนถึงความพอเพียงก็จะได้รับการดูแล ไม่ถูกแยกออกไปเป็นชายขอบ

"ผมคิดว่าชนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่มีปมด้อย เข้ามาหาความเจริญในเมืองและประสบความสำเร็จ พัฒนาตนเองขึ้นเป็นชนชั้นกลางได้ ซึ่งควรจะเหนือกว่า ควรครอบครองอาณาบริเวณพื้นที่ของชนบทได้ แต่กลับพ่ายแพ้ระบอบทักษิณที่คนชนบทเลือก มีพลังในการเลือกตั้งแล้วมากำหนดนโยบายประเทศ จึงหาทางที่จะเอาสถานะนี้กลับคืนมาด้วย 2 แนวทาง หนึ่งคือรับเศรษฐกิจพอเพียงมาเพื่อใกล้ชิดกับชนบท สองคือทำตนให้ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจที่อยู่เหนือที่สุดซึ่งก็คือการเป็นลูก"

หล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำ

สามชาย ยังเห็นว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงยังแฝงด้วยอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมือง โดยการสร้างแบบแผนการประพฤติปฏิบัติของคนในสังคม สร้างระบบความเชื่อที่สะท้อนออกมาว่าถ้าใครไม่เชื่อแบบนี้ก็จะไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ลูกที่ดี คุณจะถูกสังคมลงโทษ เป็นการกำกับควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน มันยังสะท้อนว่าสังคมไทยมีความซาบซึ้งตรึงใจในระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก เป็นพื้นที่ของความสุข เป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีความสุข มีความเชื่อว่าระบบชนชั้นวรรณะที่จัดสรรอำนาจและหน้าที่ที่แต่ละคนมีเป็นเรื่องที่เหมาะกับสังคมไทย โดยที่แต่ละหน้าที่ก็มีสิทธิเสรีภาพแตกต่างกัน ไม่ได้มองว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน แต่เกิดจากชาติตระกูลและมีหน้าที่รับใช้อะไรในสังคม รับใช้สถาบันสูงสุดที่ลดหลั่นกันลงมา ดังนั้น อำนาจ หน้าที่ สิทธิ เสรีภาพก็จะถูกจัดสรรไปตามบทบาทหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ สามชาย อธิบายว่า

"วาทกรรมนี้ทำการจัดชั้น แบ่งประเภท กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคนที่สังคมนี้คาดหวัง ขณะเดียวกันก็กระจายสิทธิ เสรีภาพให้ไม่เท่ากัน คนจน คนในชนบทก็ควรดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ทำการเกษตร ส่งพืชผัก ข้าว มาให้คนเมืองบริโภค และอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพราะคุณไม่รู้เรื่องการเมืองหรอก คุณคือคนที่ถูกหลอกได้ง่าย ดังนั้น คุณก็ไม่ควรจะมีสิทธิ เสรีภาพมากมายนัก คือมีความพยายามที่จะกันเสียงของคนในชนบทออกไป ไม่ให้มายุ่งกับการเมืองหรือไม่ให้มีอิทธิพลทางการเมือง"

หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

การลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนามั่นคงของหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ สามชาย สรุปว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่สถาบันกษัตริย์ทรงพระราชทานให้แก่คนไทยทุกคน

"เพราะรัฐธรรมนูญถูกฉีกตลอดเวลา แล้วรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกในระยะ 20 ปีมานี้ต้องใส่คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้อไปกับเศรษฐกิจพอเพียง ทุกคำพูด การจัดทำงบประมาณ กฎหมายต่างๆ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงสถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ต้องสอนเรื่องนี้ และจะมีการสืบทอดต่อไป

"นี่คือการทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่กลายเป็นธรรมโองการที่เป็นแบบแผนปฏิบัติทางสังคมที่จะอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ตัวบุคคลใหม่ๆ ที่ขึ้นมาก็จะสวมทับธรรมโองการนี้ในการดำเนินการปกครองบ้านเมืองสืบไป"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พรรคอนาคตใหม่โดนหมายเรียก พ.ร.บ.คอมฯ เหตุวิจารณ์ คสช. ดูด ส.ส.

Posted: 23 Aug 2018 02:09 AM PDT

ปอท. ออกหมายเรียกแกนนำและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ 3 คน มารับฟังข้อกล่าวหาในวันศุกร์นี้ หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความข้อหาผิด พ.ร.บ. คอมฯ เหตุวิจารณ์รัฐบาลดูด ส.ส. ตัวแทนพรรคเผย ทั้ง 3 คนติดภารกิจ ขอเลื่อนรายตัวไปกลางเดือนหน้า ยืนยันไม่เปลี่ยนจุดยืน แม้โดนคดี

23 ส.ค. 2561 สำนักข่าวแนวหน้ารายงานว่า จากกรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ และไกลก้อง ไวทยการ ว่าที่กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นผู้ดูแลเพจอนาคตใหม่ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลเท็จอันน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน จากกรณีเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 ในประเด็นการดูด ส.ส. ของ คสช. โดยใช้คดีความที่ติดตัวส.ส. แต่ละคน มาเป็นเครื่องต่อรอง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้คนที่ติดตามมาเพจ มาร่วมลงชื่อรื้อกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ล่าสุดพนักงานสอบสวนได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสามคนคือนายธนาธร นายจารุวรรณ และนายไกลก้อง ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม.14(2) โดยออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาในวันศุกร์ที่ 24 ส.ค.2561 เวลา 11.00 น. ที่ บก.ปอท. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
 
ก่อนหน้านี้ ทั้งสามคนได้ไปให้ถ้อยคำต่อ พ.ต.ท.อธิลักษณ์ หวังสิริวรกุล รอง ผกก.3 บก.ปอท. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ตามหมายเรียกพยานของ บก.ปอท.แล้ว โดยทั้งสามได้ขอสงวนสิทธิไม่ให้การใดๆ แจ้งว่าแค่มาตามหมายเรียกพยานเพื่อให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และแสดงความบริสุทธิ์ใจ

สำหรับการเรียกรายงานตัวในวันศุกร์นี้ ไกลก้องกล่าวกับประชาไทว่า ทั้งสามคนที่ถูกหมายเรียกติดภารกิจกันหมดจึงให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคขอเลื่อนรายงานตัวออกไปเป็นช่วงกลางเดือนกันยายน โดยทางพรรคจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมต่อสู้คดีตามกระบวนการต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าการถูกดำเนินคดีจะไม่ส่งผลต่อจุดยืนและแนวทางของพรรคเพราะการวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาก็ล้วนทำด้วยความสุจริตและบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น ไกลก้องยังแสดงความเป็นห่วงต่อการที่ คสช. ใช้ พ.ร.บ. คอมฯ มาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งผิดจากเจตนารมย์ของกฎหมายที่ตั้งใจจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

"มีหลายกรณีที่ คสช. ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดำเนินคดีกับหลายคนที่มีความเห็นตรงกันข้าม หรือไม่ตรงกับ คสช. หรือมีความเห็นไปเชิงวิพาษ์วิจารณ์ ซึ่งผิดจากเจตนารมย์ของ พ.ร.บ. คอมฯ ที่เดิมทีคิดว่าจะเอามาใช้ในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จหรือหลอกลวงที่ทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเสียประโยชน์ แต่กลับมาถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น" ไกลก้องกล่าว 

ธนาธร จารุวรรณ และไกลก้อง เข้าให้ปากคำที่ ปอท. เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

สามมิตรเดินหน้า ดูด ส.ส. ต่อเนื่อง

ประเด็นการดูด ส.ส. ของ คสช. เริ่มเป็นที่พูดถึงหลังจากการเปิดตัวของกลุ่มสามมิตรที่นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งสามคนเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของพรรคไทยรักไทยที่มีบทบาทสำคัญในการชักชวน ส.ส.ในภาคอีสานให้เขาร่วมกับพรรค จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2544 มาวันนี้ กลุ่มสามมิตรประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าต้องการจะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่อหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงสุวรรณ ต่างออกมาปฏิเสธว่า คสช. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสามมิตร อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่าการเดินสายพบนักการเมืองของกลุ่มสามมิตรถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งละเมิดคำสั่ง คสช. หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กลับตอบว่า สามารถทำได้ เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคการเมือง

ในช่วงที่ผ่านมา มีนักการเมืองมากกว่า 50 คน แสดงตัวอย่างชัดเจนแล้วว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มสามมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นนักการเมืองในสังกัดของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยมาก่อน อาทิ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคไทยรักไทย เคยเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), จำลอง ครุฑขุนทด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร, สมคิด บาลไธสง อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย พรรคเพื่อไทย, เวียง วรเชษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด 4 สมัย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

ล่าสุด ภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมว่า มีอดีต ส.ส. เข้าร่วมกับกลุ่มสามมิตรมากกว่า 200 คนแล้ว แถมยังมีสมาชิกสนับสนุนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ อีกหลายล้านคน พร้อมประกาศตัวเป็นศัตรูกับพรรคเพื่อไทย หลังถูกทักษิณวิจารณ์ว่าใช้เงินดูด ส.ส. ได้ แต่ไม่สามารถดูดให้คนมาลงคะแนนเสียงได้

"กลุ่มสามมิตรไม่เคยใช้เงินไปดูดใครเราจะดูดเอาเฉพาะแนวคิดที่ดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น มาถึงวันนี้กลุ่มสามมิตรขอประกาศสงครามกับพรรคเพื่อไทยว่าให้มาแข่งความดีกันด้วยนโยบายว่าใครจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่ากัน" ภิรมย์กล่าว
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น