ประชาไท Prachatai.com |
- มรภ.เชียงราย มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’
- 'หมวดเจี๊ยบ' แจ้งความระบุถูกทหารคุกคามถึงหน้าหมู่บ้าน
- พยาบาลอุดรฯ ขอความเป็นธรรมสื่อ หลัง กก.สอบ 4 คณะ ยังไม่มีความคืบหน้าแก้ปัญหา
- สหพันธ์แพทย์หญิงญี่ปุ่นวิจารณ์กรณีมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวสั่งตัดคะแนนผู้สมัครสอบหญิง
- ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573
- กรุงเทพโพลชี้คนให้คะแนนรัฐบาล 5.06 เต็ม 10 บริหารงานรัฐบาลครบ 4 ปี
- บรรณาธิการ 'จาการ์ตาโพสต์' เรียกร้อง 'อาเซียน' สกัดกั้นไม่ให้ผู้นำเผด็จการไทยเป็นประธานปีถัดไป
- ปล่อยตัว 'จตุพร' แล้ว หลังติดคุก 1 ปี คดีหมิ่นประมาท 'อภิสิทธิ์'
- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: นปช. เพื่อไทย และประชาธิปไตยที่ยังไปไม่ถึง
มรภ.เชียงราย มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’ Posted: 04 Aug 2018 01:07 AM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 15:07 มรภ.เชียงราย มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย แก่ "พิบูลศักดิ์ ละครพล" นักเขียน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปีล่าสุด ซึ่งเคยเป็นครูในหุบเขา และถือว่าเป็นผู้ใช้ภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทเพลง รวมไปถึงความเรียงอื่น ๆ ผลงานเขียนของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล นั้นสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท โดยเฉพาะปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข ฯลฯ ควบคู่กันไปกับภาพวิถีชีวิตอันสันโดษ อบอุ่น ผูกพัน พึ่งพาธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนได้เสนออุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยยุคแสวงหาซึ่งมุ่งออกทำงานในชนบท แสวงหาความหมายของชีวิต ผศ.ดร.ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้นำเสนอประวัติและผลงานของพิบูลศักดิ์ ละครพล เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ในครั้งนี้ กล่าวว่า เมื่อคณะมนุษยศาสตร์มอบหมายให้ตนเป็นผู้นำเสนอประวัติและผลงานของพิบูลศักดิ์ ละครพล ต่อคณะกรรมการสภาวิชาการ และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยนั้น เบื้องต้นตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่นี้ และก็มีความรู้สึกว่า คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล นั้นเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเหลือเกินที่จะได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยในปีการศึกษา 2560 นี้ "หากจะพูดว่า ภาษา คือสิ่งประกอบสร้างวรรณกรรม ภาษาทำวรรณกรรมให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้คนอ่านได้อ่าน ได้รับรู้ ได้สัมผัสแล้ว พิบูลศักดิ์ ละครพล ก็คือผู้ใช้ภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทเพลง รวมไปถึงความเรียงอื่น ๆ ซึ่งก็มีนักเขียน-นักอ่านหลายคนได้ออกมายอมรับแล้วว่า งานเขียนของพิบูลศักดิ์ ละครพลนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาเหล่านั้นด้วย ดังนั้น ผมจึงคิดว่า พิบูลศักดิ์ ละครพล เหมาะสมแล้วที่ได้รับคำนำหน้านามเป็นดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดร.) สาขาภาษาไทย และรู้สึกภูมิใจที่มหาวิทยาลัยของผมได้เห็นคุณค่าของคนที่ใช้ภาษาในการประกอบอาชีพเป็นนักเขียนที่สุจริตทั้งต่อประเทศชาติ ประชาชนและคนอ่านของเขา ในขณะที่ ดร.สหัทยา สิทธิวิเศษ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า รับทราบมาโดยตลอดว่าคุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ได้เคยให้เกียรติแก่คณะมนุษยศาสตร์ด้วยการมาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนงานวรรณกรรมในรูปแบบต่าง ๆ แก่นักศึกษา คณาจารย์และผู้สนใจทั่วไป เท่าที่ทราบคือเริ่มตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดยการชักชวนของท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ บุญประกอบ อดีตอาจารย์ที่เคยสอนภาษาไทยที่คณะมนุษยศาสตร์แห่งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันอาจารย์ไพโรจน์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เยื่อใยทางวรรณกรรมที่คุณพิบูลศักดิ์ ละครพลมีต่อคณะมนุษยศาสตร์นั้นยังคงเหนียวแน่นมั่นคงไม่เสื่อมคลาย "ดิฉันรู้สึกดีใจ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้มอบศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยแด่คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ในนามของบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์ก็ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ" คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าว ด้าน ไพวรินทร์ ขาวงาม นักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้แสดงความเห็นหลังจากทราบข่าวในครั้งนี้ว่า พิบูลศักดิ์ ละครพล เป็นทั้งนักเขียน กวี นักแต่งเพลง ที่สามารถใช้ภาษาไทยในเชิงวรรณศิลป์ได้อย่างดีเยี่ยม นวนิยายและเรื่องสั้นของเขา เผยแพร่และมีบทบาทกว่าสี่ทศวรรษ ที่ได้อ่านและชอบมากก็เช่น 'ถนนสีแดง' 'ขอความรักบ้างได้ไหม' 'ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน' 'หุบเขาแสงตะวัน' บทกวีก็อย่าง 'บทกวีแห่งความรัก' 'ดอกไม่แด่คนหนุ่มสาว' รวมทั้งบทเพลงจำนวนมากในนามวงมาชารี นอกจากนั้นยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารสู่ฝัน และสำนักพิมพ์สู่ฝัน เปิดพื้นที่ส่งเสริมสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไทย จัดพิมพ์หนังสือให้นักเขียนไทยจำนวนมาก เป็นนักเขียนและกวีที่มีความเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปะวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจเรียกได้ว่าทั้งชีวิตของเขาดำรงอยู่เพื่อสิ่งนี้ ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และเป็นนักเขียน เจ้าของนามปากกา "ทัศนาวดี" กล่าวว่า ตนเองรู้จัก พิบูลศักดิ์ ละครพล นานมาแล้ว ผ่านหนังสือ ขอความรักบ้างได้ไหม..ชูมาน..หุบเขาแสงตะวัน..ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความรัก ชื่นชม ศรัทธาก็ก่อตัวขึ้นในความรู้สึก เช่นเดียวกับมวลหนุ่มสาวอีกมากมายในแผ่นดินนี้ ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักมักคุ้นกันแต่อย่างใด ขณะใจปรารถนาจะได้พบปะพูดคุยกับพี่ปอนสักครั้ง เพื่อหมายต่อเติมกำลังใจในฐานะนักอ่านที่กำลังมุ่งมั่นฝึกฝนการเขียน "จนวันหนึ่ง..ที่มหาสารคามเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ในงานวรรณกรรมอะไรสักอย่าง ผมได้พบกับพี่ปอนสมใจ ได้สัมผัสความอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความเมตตา..คืนนั้นผมเก็บกอบเอาแรงบันดาลใจจากพี่กลับไปนอนกอดอย่างอบอุ่น วิถีชีวิตที่เงียบ ๆ เรียบง่ายแต่งามสง่าของพี่ปอน คือเกียรติยศประจำตัวที่ทุกคนรู้เห็นได้เสมอ จนบัดนี้..กระทั่งโลกและสังคมได้ประดับคุณวุฒิของพี่ ผ่านมาทางหน่วยงานและองค์กรอย่างสูงสุด ทั้งเป็นศิลปินแห่งชาติ และล่าสุดก็คือดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายมอบให้ด้วยสถานะที่เหมาะสมและงดงามยิ่ง ในฐานะคนรุ่นหลังที่หลงรักมนต์อักษรของพี่ปอนมาอย่างยาวนาน เมื่อทราบข่าวนี้ หัวใจก็อิ่มเอิบด้วยความสุข และคงนอนหลับไปพร้อมรอยยิ้มอันอิ่มเอมไม่ต่างจากผู้คนอีกมากมายของประเทศนี้" ผศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวในตอนท้าย ด้าน พิบูลศักดิ์ ละครพล ได้กล่าวแสดงความเห็นหลังทราบข่าว มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย ในครั้งนี้ ว่า ก็ยินดีครับประสาปุถุชน และศรัทธาที่พร่องก็เขยิบขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เนื่องด้วยเคยได้ยินและรู้ข่าวมาบ้างว่า เกียรตินี้เป็นที่หมายปองของนักการเมืองท้องถิ่นมาก เป็นการชุบทองพระสังข์...ในบางจังหวัด ถึงขั้นมีการวิ่งเต้น (จริงเปล่าก็ไม่รู้ไม่ควรลงให้หาเรื่องเข้าตัว)ก็จึงยินดีที่เขาเสนอชื่อ และทำให้เราแบบเงียบงัน..จริงใจ..จึงเต็มใจและสนิทใจที่จะรับ...หากข่าวนี้มาในวันร้าย แม่เสียชีวิตพอดี ก็เลยไม่ตื่นเต้นดีใจเลยเพราะความสูญเสียกลบหมด แต่ก็มีปัญญามาสะกิด ได้แง่คิด ได้รับสมดุลความโศกเศร้ากับความสุข รอยยิ้มและน้ำตา..ได้แง่คิดหลายประการ..เกี่ยวกับระบบระบอบในสังคมเรากับวิถีแห่งปัจเจกชนคนธรรมดา ในสังคมบ้าแห่..และยุคสมัยที่อำนาจไหลในอากาศ อยู่ในมือของทุกผู้หมู่เหล่า ฉายเห็นถึงรากเหง้าปัญหาสังคมที่ซ่อนเร้นตลอดจนการงอกงามของลำต้น กิ่ง ดอกใบ..และการผลิบานของอำนาจขององค์กร..ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรที่ไม่อยากพูดถึง ไม่ควรพูดในเทศะนี้ "ก็ต้องยินดีและขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเขาคงเห็นในแก่นแท้เนื้อในเรา ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง อย่างคำขวัญของสยามรัฐ (ที่หม่อมคึกฤทธิ์ นำมาจากคาถาพระพุทธองค์...) ก็ขอขอบคุณจากใจจริงครับ ถูกต้องแล้วครับ เราควรยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง แม้เขาจะเป็นบุคคลไม่สำคัญ....ขอย้ำในข้อหลังนี้...ควรตระหนักและให้ค่า "บุคคลไม่สำคัญ" มีมากมายที่ ดำแต่นอกในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ...อย่ามองอะไรแค่เปลือก ฉาบฉวย มองคนให้ลึกซึ้งถึงก้นบึ้งใจ มองไปนานๆ มองด้วยสมอง มองด้วยหัวจิตหัวใจ ในฐานะมนุษย์...เขาเป็นใคร ได้รับรางวัล ยศตำแหน่งสูงส่งหรือยากจนต่ำต้อยแค่ไหน...มันไม่สลักสำคัญหรอก สิ่งสำคัญ..เขาเป็นคนอย่างไร...เขาเป็นคนดีไหม...เขาทำอะไรให้สังคม..ประเทศชาติบ้าง" พิบูลศักดิ์ ละครพล กล่าวทิ้งท้าย สำหรับประวัติของ พิบูลศักดิ์ ละครพล (นามแฝง มาชา มาชารี) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2561 เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2493 อายุ 68 ปี ที่บ้านเลขที่ 174 หมู่ 11 บ้านศรีถ้อย อ.แม่ใจ พะเยา จบการศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง สาขาวิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2516 จากนั้นก็เข้าสู่วัยทำงาน เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย วัยเยาว์เคยเป็นเด็กขายหนังสือพิมพ์ หาบขนมเร่ขาย ถีบจักรยานขายไอศกรีม วัยหนุ่มเป็นนักมวย เป็นช่างทาสี เป็นจิตรกรวาดโปสเตอร์หนังฯลฯ สำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องการสาขาวิชาภาษาไทย เขาเคยเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนพุทธิโสภณ เชียงใหม่ ครูสอนภาษาไทยและหัตถศึกษาที่โรงเรียนโกวิทธำรง เชียงใหม่ จากนั้นเขาได้เป็นครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่โรงเรียนบ้านป่าลาน ต.ห้วยโป่ง จ.แม่ฮ่องสอน ขณะเป็นครูบนภูเขา เขาได้มีผลงานเรื่องสั้น บทกวีและนวนิยาย ลงตีพิมพ์แล้วในนิตยสารลลนาและสตรีสาร ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำในห้วงเวลานั้น จึงพอมีชื่อเสียงอยู่บ้าง เขาจึงเขียนจดหมายส่งให้บรรณาธิการ ขอความร่วมมือแฟนนักอ่าน ขอบริจาคหนังสือ และอุปกรณ์กีฬามาให้เด็กนักเรียน ส่วนความริเริ่มสร้างสรรค์แรกที่นับเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตคือ สร้างห้องสมุดหมู่บ้าน (โดยดัดแปลงอาคารเรียนเก่าที่ปิดร้าง ปรับเป็นห้องสมุด) ขณะเดียวก็จัดตั้งกลุ่มหนุ่มสาวจัดงานการกุศล หาเงินมาสร้างห้องสุขาและรั้วโรงเรียน โดยใช้แรงงานชาวบ้าน โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัล ห้องสมุดดีเด่นของจังหวัด เป็นห้องสมุดต้นแบบ ก่อให้เกิดห้องสมุดโรงเรียน หมู่บ้าน ตำบลในเวลาต่อมาหลายแห่ง ปลายปี ๒๕๑๘ ศึกษาธิการจังหวัดที่นำคณะครูมาดูงานห้องสมุด ได้ขอยืมตัวเขาไปช่วยราชการที่โรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เขาช่วยก่อตั้ง "ห้องสมุดชุมชนบ้านปางหมู" จนสำเร็จลุล่วง ต่อมา พ.ศ. 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค พิบูลศักดิ์ ละครพลอำลาอาชีพครู เพื่อให้เวลากับการทำงานเขียนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็รับหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด ให้หนังสือพิมพ์เดลิไทม์ (ยุคคุณไพฑูรย์ สุนทร เป็นหัวหน้าข่าว) ก่อนอพยพครอบครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพฯมหานคร แล้วเริ่มต้นเป็นนักเขียนอาชีพ ด้วยการรับงานคอลัมนิสท์อิสระให้กับนิตยสารสกุลไทย พร้อม ๆ กับเป็นนักเขียนประจำให้แก่นิตยสารรจนา หญิงไทย วัยหวาน ไฮคลาส หนุ่มสาว ฯลฯ พ.ศ. 2520 เขาเป็นบรรณาธิการคัดสรรพ็อคเก๊ตบุ้ค สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ของ สุพล เตชะธาดา และเข้าร่วมสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยสมัยสุภาว์ เทวกุลเป็นนายกฯ รับตำแหน่ง สารบาญ (ได้ริเริ่มจัดการประกวดเรื่องสั้นสมาคมนักเขียนเป็นครั้งแรก โดยเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆเป็นผู้ตัดสินอาทิ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง จินดา ดวงจินดา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุชาติ สวัสดิศรีเป็นกรรมการ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือพนม นันทพฤกษ์ จากเรื่องสั้นชื่อ คลื่นหัวเดิ่ง) พ.ศ. 2526 เป็นบรรณาธิการนิตยสาร สู่ฝัน ก่อตั้งสำนักพิมพ์ สู่ฝัน พ.ศ. 2553 เป็นบรรณาธิการคัดสรรและตัดสินเรื่องสั้นรางวัล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ พ.ศ. 2544 เป็นกรรมการคัดสรรวรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน แว่นแก้ว พ.ศ. 2546 เป็นกรรมการตัดสินรางวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน เป็นกรรมการตัดสินเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัล นายอินทร์ อวอร์ด ในด้านบทบาททางสังคมและการอุทิศตนเพื่อสังคม เขาเดินทางไปเป็นวิทยากรอบรมงานเขียน บทกวีให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นวิทยากรโครงการ "นักเขียนพบนักศึกษา" สถาบันราชภัฏเชียงราย (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 มาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งได้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2561 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายในครั้งนี้ด้วย. พิบูลศักดิ์ ละครพล มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี วรรณกรรมสำหรับเด็ก และบทเพลง ผลงานที่สร้างสรรค์ในเวลา 5 ทศวรรษมีจำนวนหลายร้อยชิ้น พิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่น้อยกว่า 50 เล่ม หลายเรื่องพิมพ์ซ้ำ หลายครั้ง ผลงานบางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัล อาทิ รางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลรวี โดมพระจันทร์ รางวัลลูกโลกสีเขียว และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Awards : MERLA) ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ผลงานเขียนของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท โดยเฉพาะปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข ฯลฯ ควบคู่กันไปกับภาพวิถีชีวิตอันสันโดษ อบอุ่น ผูกพัน พึ่งพาธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนได้เสนออุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยยุคแสวงหาซึ่งมุ่งออกทำงานในชนบท แสวงหาความหมายของชีวิต การเล่าเรื่องสาระแห่งชีวิต อย่างมีสีสันราวกับใช้ปากกาแทนพู่กัน และใช้ลีลาภาษาและท่วงทำนองพลิ้วไหวราวบทกวี ทำให้พิบูลศักดิ์ ละครพล มีสมญาที่รับรู้กันในแวดวงวรรณกรรมว่า "เจ้าชายโรแมนติก" นอกจากผลงานด้านวรรณศิลป์แล้ว พิบูลศักดิ์ ละครพล ยังสร้างสรรค์บทเพลงกว่า 100 เพลง และยังเป็นจิตรกร วาดภาพสีน้ำ ได้จัดแสดงงานรวมแล้ว ครั้ง บทประพันธ์ เพลงดนตรี และทัศนศิลป์ ของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล สร้างแรงบันดาลใจแก่คนหนุ่มสาวยุคแสวงหาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าความหมายของชีวิต ความใส่ใจในความเป็นไปของสังคม และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมการสร้างสรรค์ผลงานของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรักและเห็นคุณค่าของงานวรรณกรรมและศิลปะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์นี้ทำให้ในปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้พิบูลศักดิ์ ละครพลเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2560 นับว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันคุณภาพของคนที่ชื่อว่า 'พิบูลศักดิ์ ละครพล' ได้เป็นอย่างดี ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
'หมวดเจี๊ยบ' แจ้งความระบุถูกทหารคุกคามถึงหน้าหมู่บ้าน Posted: 04 Aug 2018 12:29 AM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 14:29 อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย 'ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง' หรือ 'หมวดเจี๊ยบ' แจ้งความตำรวจ สน.ภาษีเจริญ ถูกชายอ้างตัวเป็นทหารและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ขอยามหน้าหมู่บ้านเข้าพบ เพื่อพูดคุย แต่ไม่อนุญาตให้เข้าพบ เชื่อเป็นการข่มขู่แน่ หลังวิจารณ์ทำงานของรัฐบาล ที่มาภาพ: MGR Online 4 ส.ค. 2561 MGR Online รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น. ที่ สน.ภาษีเจริญ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง หรือ 'หมวดเจี๊ยบ' อดีตรองโฆษกรัฐบาลและอดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย นำหลักฐานเป็นภาพกล้องวงจรปิดและเอกสารจำนวนหนึ่ง เดินทางข้าพบ ร.ต.ท.บดินทร์ จุลเรือง รอง สว.(สอบสวน) สน.ภาษีเจริญ เพื่อลงบันทึกประจำวันกรณีถูกชายอ้างตัวเป็นทหารและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คน เดินทางมาคุกคามพยายามขอเข้าพบที่บ้านพักย่านถนนราชพฤกษ์ ร.ท.หญิง สุณิสา ให้การว่า เมื่อเวลา 12.11 น. วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะกำลังพักผ่อนอยู่ในบ้านพัก ที่หมู่บ้านนันทวัน สาทร-ราชพฤกษ์ จู่ๆ ก็มี รปภ.ปากทางเข้าหมู่บ้าน โทรศัพท์มาแจ้งว่า มีชายต้องสงสัย 2 คน ใช้รถเก๋งยี่ห้อฮอนด้า ไม่ทราบรุ่น สีขาว ติดแผ่นป้ายทะเบียนเพียงด้านหน้าหมายเลข ชย 3632 กรุงเทพมหานคร มาติดต่อขอเข้าพบ โดยชายต้องสงสัยอ้างว่า เป็นทหารสังกัด มทบ.11 และเป็นลูกน้องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่แต่งกายนอกเครื่องแบบมาขอเข้าพบตน เนื่องจากอยากพูดคุยเรื่องการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นอกจากนี้ 1 ในบุคคลต้องสงสัยยังอ้างตัวเป็นทหารยศพันเอก ยื้อจะเข้ามาพบตนที่บ้านให้ได้ เมื่อเห็นว่า รปภ.ไม่อนุญาตเข้าไป จึงเดินทางกลับ ส่วนตนเห็นว่าพฤติกรรมลักษณะนี้น่าจะเป็นภัยคุกคามทางการเมืองจึงตัดสินใจนำหลักฐานมาลงบันทึกประจำวันเอาไว้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนสาเหตุที่ถูกคุกคามในวันนี้เชื่อว่ามาจากกรณีที่ตนไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เรื่องความโปร่งใสของงบประมาณกระทรวงกลาโหม มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยการถูกคุกคามครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมามีคนใกล้ชิด และ รปภ.ตามสถานที่ต่างๆ บอกเล่าให้ฟังเสมอว่า มีชายฉกรรจ์ขับรถมาจอดตามเฝ้าดูอยู่ตลอด บางครั้งไปอบรมก็มีคนมานั่งเฝ้าตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงป้อม รปภ.หน้าบ้านพัก ซึ่งอันตรายมากเพราะตนพักอาศัยเพียงลำพัง ด้าน ร.ต.ท.บดินทร์ กล่าวว่า วันนี้ ร.ท.หญิง สุณิสา เดินทางมาลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ยังไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ใด โดยหลังจากนี้จะนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
พยาบาลอุดรฯ ขอความเป็นธรรมสื่อ หลัง กก.สอบ 4 คณะ ยังไม่มีความคืบหน้าแก้ปัญหา Posted: 03 Aug 2018 11:24 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 13:24 กลุ่มข้าราชการพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ทำหนังสือแจ้งต่อสื่อมวลชนกรณีออกมาเรียกร้องขอให้โรงพยาบาลพิจารณาการทำงานของหัวหน้าพยาบาลรายหนึ่ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4 คณะแล้ว แต่ไม่เกิดผล และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาใดๆ ผู้ร้องทุกข์กลับถูกสอบว่ามีการให้ข่าวที่เป็นความลับทางราชการแก่สื่อมวลชน ภาพการเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เมื่อเดือน พ.ค. 2561 (ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์) 4 ส.ค. 2561 กลุ่มข้าราชการพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้ทำหนังสือ 'วอนขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชนทั่วประเทศ' ลงวันที่ 24 ก.ค. 2561 ระบุว่าสืบเนื่องจากมีการร้องทุกข์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี และหัวหน้าพยาบาล เรื่องการ บริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล และในขบวนการสรรหาตําแหน่งหัวหน้าพยาบาล ไม่โปร่งใส ได้มี การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งสิ้น 4 คณะ กลับมีการตั้งกรรมการตรวจสอบโดยกล่าวหากลุ่มข้าราชการที่ร้องทุกข์ว่ามีการให้ข่าวที่เป็นความลับทางราชการแก่สื่อมวลชน ทั้งๆ ที่เป็นการร้องทุกข์ปกติ และเป็นการใช้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน ม. 43 โดยกลุ่มพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ระบุไว้ในหนังสือขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชนทั่วประเทศว่าผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองถึงจะหันมาสนใจ ใส่ใจ ให้ความสำคัญ ร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงแก่ประชาชน และประเทศชาติหรือจะปล่อยให้เป็นความกังขาในสังคมต่อไป อนึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้ลงนามร้องทุกข์ขอให้โรงพยาบาลพิจารณาการทำงานของหัวหน้าพยาบาลรายหนึ่ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ต่อมาพยาบาลระดับหัวหน้าตึก รองหัวหน้า พยาบาลอาวุโส ลงนามร้องทุกข์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 กลุ่มพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ประมาณ 50 คน ได้ออกมาประท้วงหน้าโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ต่อมาในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องนั้นยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา แม้จะได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ก็จะมีการสอบผู้ร้องเรียนตาม 'ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวสารและบริการของทางราชการ พ.ศ. 2529' กับกลุ่มพยาบาลที่ออกมาร้องเรียนด้วย จากนั้นกลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ทำหนังสือเรื่อง ขอความคุ้มครอง ถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการร้องทุกข์ หัวหน้าพยาบาล และคณะกรรมการบริหารฝ่ายการพยาบาล และ ผู้อำนวยการโรง พยาบาลอุดรธานี ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ เรื่องการบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ตามประเด็นการร้องทุกข์ กลุ่มผู้ร้องทุกข์ใคร่ขอความคุ้มครอง ตาม ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 162 ง. ราชกิจจานุเบกษา หน้า 83 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2552 ข้อ 16 (2) ขอให้คุ้มครองข้าราชการกลุ่มผู้ร้องทุกข์ มิให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม กับกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ โดยไม่ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ดังกล่าวมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการออกคำสั่ง แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลร้ายหรือกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลที่ร้องทุกข์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
สหพันธ์แพทย์หญิงญี่ปุ่นวิจารณ์กรณีมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวสั่งตัดคะแนนผู้สมัครสอบหญิง Posted: 03 Aug 2018 10:36 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 12:36 ในญี่ปุ่นมีการเปิดโปงเรื่องที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวกีดกันผู้สมัครสอบที่เป็นผู้หญิงด้วยการตัดคะแนนพวกเธอในช่วงการสอบรอบแรกเพื่อลดจำนวนผู้สอบเข้าที่เป็นหญิง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากตัวแทนสหพันธ์แพทย์หญิงว่าเป็นการ "เลือกปฏิบัติอย่างให้อภัยไม่ได้" ที่มาภาพประกอบ: Dick Thomas Johnson (CC BY 2.0) 4 ส.ค. 2561 สื่อญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวตัดคะแนนสอบเข้าของผู้สมัครทุกคนที่เป็นผู้หญิงเพื่อกีดกันให้จำนวนผู้หญิงที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของพวกเขาอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น มีแหล่งข่าวให้ข้อมูลกับสื่อญี่ปุ่นในเรื่องนี้โดยเปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวเริ่มกระทำการกีดกันแบบนี้ตั้งแต่ช่วงราวปี 2553 โดยอ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดเพราะหมอผู้หญิงมักจะลางานเป็นระยะเวลานานหลังจากแต่งงานหรือให้กำเนิดบุตร แหล่งข่าวเปิดเผยต่อสื่อว่าทางมหาวิทยาลัยทำการตัดคะแนนผู้สมัครหญิงลงร้อยละ 10-20 จากคะแนนทั้งหมด การเปิดโปงในเรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องเกี่ยวกับการติดสินบน เรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้ประธานและอธิการบดีของมหาวิทยาลัย มาซาฮิโกะ อุซุอิ และ มาโมรุ ซูซุกิ ลาออกในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีที่พวกเขารับสินบนจากข้าราชการที่ชื่อฟุโตชิ ซาโนะ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ลูกชายของเขาได้เข้าเรียนแลกกับงบช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกตั้งข้อหา ช่วงที่มีการสืบสวนสอบสวนภายในมหาวิทยาลัยโดยทีมทนายความในเรื่องการรับสินบนนี้เองก็มีกรณีการเลือกปฏิบัติในการสอบเข้าที่กีดกันผู้หญิงได้รับการเปิดเผยออกมาอีกเรื่อง ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวนั้นมีอยู่สองขั้นตอน ขั้นตอนแรกจะให้ผู้สอบเข้าทำข้อสอบแบบหลายตัวเลือก ขั้นต่อมาถึงจะให้มีการสอบข้อเขียนความเรียงและเข้ารับการสัมภาษณ์ โดยขั้นตอนการตัดคะแนนเพียงเพราะเป็นผู้หญิงนั้นมีการดำเนินการในช่วงที่อยู๋ระหว่างขั้นตอนแรกกับขั้นตอนที่สอง และกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่มีการแจ้้งให้กับผู้สมัครสอบทราบ ในปีการศึกษา 2561 มีผู้ที่สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวเป็นผู้ชาย 1,596 ราย เป็นผู้หญิง 1,018 ราย มีผู้ชายผ่านการสอบรอบแรก 303 คนคิดเป็นร้อยละ 19 มีผู้หญิงสอบผ่าน 148 รายคิดเป็นร้อยละ 14.5 ส่วนในการสอบรอบที่ 2 มีผู้ชายสอบผ่าน 141 ราย และผู้หญิงสอบผ่านเพียง 30 ราย การเปิดโปงเรื่องนี้ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวรายงานเรื่องกระบวนการคัดเลือกให้ทางการทราบรวมถึงรายงานด้วยว่ามีการปฏิบัติตามระบบคัดเลือกแบบที่ให้ไว้จริงหรือไม่ และมีการปฏิบัติต่อผู้สมัครสอบที่เป็นหญิงอย่างไร เคียวโกะ ทานาเบะ สมาชิกบอร์ดผู้บริหารของสหพันธ์ผู้หญิงวิชาชีพการแพทย์ของญี่ปุ่นกล่าวว่ามหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ อาจจะมีกระบวนการกีดกันแบบเดียวกันนี้ด้วย ทานาเบะบอกว่ามันเป็นประเด็นที่เลวร้ายมากแต่ในที่ประชุมแพทย์ไม่ค่อยมีใครสนใจพูดถึงเรื่องนี้ รุริโกะ ทสึชิมะ สมาชิกบอร์ดสหพันธ์ฯ อีกคนหนึ่งบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นการกีดกัน-เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในแบบที่ให้อภัยไม่ได้ "มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่ควรจะให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่ทุกคน" ทสึชิมะกล่าว เรียบเรียงจาก Tokyo Medical Univ discriminated against female applicants: sources, Japan Today, 02-08-2018 Tokyo Medical University discriminated against female applicants by lowering entrance exam scores: sources, Japan Times, 02-08-2018 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 Posted: 03 Aug 2018 10:03 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 12:03 เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เผยองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 ระบุไทยต้องมีมาตรการการศึกษาในแนวลึก เร่งตรวจกรองผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ดังคำขวัญ 'ตรวจวินิจฉัยและรักษา' วันตับอักเสบโลกปีนี้ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุว่าจากเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ในทารกแรกเกิดทุกรายเป็นเวลามากกว่า 25 ปีมาแล้ว และมีการตรวจกรองเลือดในผู้บริจาคโลหิตทุกราย รวมทั้งให้ความรู้กับผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดชนิดฉีด ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมาก ดังนั้นเป้าหมายการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 จึงมีความเป็นไปได้ สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี ที่มีอยู่ในประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษามากกว่าร้อยละ 80 เพื่อลดอัตราการสูญเสีย หรือเสียชีวิต จากโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบ บี ให้ได้ร้อยละ 65 จะต้องมีการตรวจกรอง หาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อเข้าสู่การรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่ประมาณ 2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่การรักษาจะต้องใช้เงินอีกเป็นจำนวนมาก และกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป นโยบายการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบ บี ในผู้ที่มีอายุเกิน 30 จะต้องเริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ และในรายที่รู้ว่าเป็น จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนที่จะคุกคามให้เป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ผู้ติดเชื้อถ้าได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด ผลตามมาในระยะยาวก็ย่อมจะดีกว่าแน่นอน ขณะที่ไวรัสตับอักเสบ ซี ในประเทศไทยจัดเป็นภัยเงียบ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 700,000 ราย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไรเลย การตรวจวินิจฉัยจึงมีความจำเป็นในการค้นหาผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การรักษาและลดการแพร่กระจายของโรค จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการตรวจกรองในระดับชาติและระดับจังหวัดที่มีอุบัติการณ์สูงและอุบัติการติดเชื้อโดยเฉลี่ย พบว่าปัญหาไวรัสตับอักเสบ ซี ที่มีการติดเชื้อไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เกิดก่อนปี 2526 หรือผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี ดังนั้นเป้าหมายในการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบ ซี จึงเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปทุกราย และเมื่อตรวจพบจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ในปัจจุบันมียาที่ใช้รับประทานในการรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ และในอนาคตอาจจะเหลือเพียง 8 สัปดาห์ ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีแนวโน้มถูกลงอย่างมาก องค์การอนามัยโลกจึงเห็นว่าผู้ป่วยทุกรายควรจะเข้าสู่กระบวนการรักษา จะไม่รอให้เป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ ก่อนแล้วค่อยรักษาอย่างที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่นี้ "ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาและวางแผนในการตรวจกรองผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ดังคำขวัญขององค์การอนามัยโลกในวันตับอักเสบโลกปีนี้ว่า 'ตรวจวินิจฉัย และรักษา' (Test and Treat)" เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวสรุป ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
กรุงเทพโพลชี้คนให้คะแนนรัฐบาล 5.06 เต็ม 10 บริหารงานรัฐบาลครบ 4 ปี Posted: 03 Aug 2018 09:53 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 11:53 กรุงเทพโพลเผยผลสำรวจประเมินผลการบริหารงานรัฐบาลครบ 4 ปี ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 5.06 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เรื่องคาดหวังจากรัฐบาลแต่ทำไม่สำเร็จคือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจร้อยละ 52.2 รองลงมาคือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำร้อยละ 11.8 และการจัดให้มีการเลือกตั้งร้อยละ 8.3 4 ส.ค. 2561 ด้วยในเดือน ส.ค. 2561 นี้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบริหารประเทศครบ 4 ปีกรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ประเมินผลงาน 4 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,276 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 4 ปีเฉลี่ย 5.06 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนนโดยด้านที่มีคะแนนมากที่สุดคือ ด้านความมั่นคงของประเทศที่ได้ 6.14 คะแนน รองลงมาคือ ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย ได้ 5.51 คะแนน และด้านสังคมและคุณภาพชีวิตได้ 5.03 คะแนน ทั้งนี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาผลงานหรือนโยบายของรัฐบาลที่โดดเด่นมากที่สุดในสายตาประชาชนคือการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการประชารัฐเช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 23.4 รองลงมาคือทำให้ประเทศชาติมีความสงบสุขมั่นคงไม่มีการชุมนุม ร้อยละ 20.5 และมีการปราบปราบคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ร้อยละ 13.7 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
บรรณาธิการ 'จาการ์ตาโพสต์' เรียกร้อง 'อาเซียน' สกัดกั้นไม่ให้ผู้นำเผด็จการไทยเป็นประธานปีถัดไป Posted: 03 Aug 2018 09:40 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 11:40 บทความแสดงความคิดเห็นของบรรณาธิการบริหารจาการ์ตาโพสต์ เรียกร้องไม่ให้ 'พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ขึ้นเป็นประธานของประชาคมอาเซียนต่อจากผู้นำสิงคโปร์ 'ลี เซียงลุง' โดยระบุว่า "เผด็จการทหารของไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค" คอร์เนเลียส เพอร์บา บรรณาธิการบริหารของจาการ์ตาโพสต์ นำเสนอบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ 'อาเซียน' คนใหม่ที่จะต้องมาแทนที่ลี เซียงลุงนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และประธานคนปัจจุบัน โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียต่อต้านไม่ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยขึ้นเป็นประธานอาเซียนคนถัดไป ในระบบการแต่งตั้งประธานอาเซียนนั้น กฎบัตรของอาเซียนระบุว่าจะต้องมีการสับเปลี่ยนหมุดเวียนทุกปีให้ผู้นำในแต่ละประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้ขึ้นเป็นประธาน โดยวางตามลำดับตัวอักษร เช่นในปี 2560 ประธานคือตัวแทนจากฟิลิปปินส์ ในปีนี้คือลีเซียงลุงจากสิงคโปร์ และในปีถัดไปจะถึงตาของประเทศไทย อย่างไรก็ตามเพอร์บาแสดงการต่อต้านไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นประธานคนถัดไป เนื่องจากจะทำให้เขาได้รับแต้มต่อทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากและมองว่า "เผด็จการทหารของไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค" "อินโดนีเซียจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือ" เพอร์บาระบุในบทความ ในเรื่องที่ว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนอกจากไทยมีกระแสความเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น เพอร์บา ยกตัวอย่างกรณีของพม่าที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแม้ว่าอองซานซูจีจะไม่ได้ควบคุมประเทศได้เต็มที่ก็ตาม ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็จัดเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยถึงแม้ว่าจะมีปัญหาในประเทศตัวเองก็ตาม ประชาคมอาเซียนมีความเคร่งครัดต่อการปฏิบัติแบบไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกและแสวงหาฉันทามติร่วม ภายใต้หลักการจากกฎบัตรที่เขียนขึ้นในปี 2550 ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากพม่าก็เคยได้เป็นประธานอาเซียนมาก่อน พม่าเข้าร่วมประชาคมอาเซียนพร้อมกับลาวมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ตัวแทนพม่าก็เพิ่งได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 โดยถือเป็นรางวัลที่พม่าเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตยเนื่องจาก 3 ปีก่อนหน้านี้ผู้นำเผด็จการทหาร เต่งเส่ง ลงจากตำแหน่ง และในปีถัดจากนั้นก็มีการเลือกตั้ง มาร์ตี นาทาเลกาวา ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในยุคสมัยนั้นก็กล่าวยืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของพม่าทำให้พวกเขาได้รับตำแหน่งประธารอาเซียน ในบทความของเพอร์บาระบุว่า ถ้าหากประชาคมอาเซียนยอมให้ พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า พวกเขาจะเป็นที่ขายหน้าต่อประชาคมโลก เพอร์บาระบุถึงเหตุการณ์รัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 โดยระบุว่าถึงแม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะอ้างว่าพวกเขาเข้ามาปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่เขากลับเน้นเล่นงานผู้นำฝ่ายต่อต้านเขามากกว่า นอกจากนี้ยังพูดถึงการพยายามปิดปากสื่อ การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม บทความระบุอีกว่าหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมได้เขาก็ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งจริงๆ ในที่สุดแต่เพอร์บาก็แสดงความกังขาว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่รัฐบาลทหารจะทำตามคำมั่นที่ตัวเองให้ไว้ เพอร์บาเสนอว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยควรจะช่วยกู้ชื่อเสียงให้ไทยกลับมาเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ใช่แค่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล แต่รวมถึงการเป็นประเทศที่ให้อำนาจสูงสุดกับประชาชน บทความของเพอร์บาระบุว่ามีคนจำนวนมากที่เชื่อว่านี่เป็นเผด็จการทหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุดโดยทำการกดขี่ข่มเหงประเทศมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว สำหรับเพอร์บาแล้วไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญสำหรับอาเซียน การสกัดกั้นไม่ให้หัวหน้าเผด็จการทหารขึ้นเป็นประธานของอาเซียนไม่ได้หมายถึงการลงโทษประชาชนชาวไทยแต่เป็นการลงโทษเหล่าผู้นำทหารมากกว่า บทความในจาการ์ตาโพสต์ระบุอีกว่า "พล.อ. ประยุทธ์ ชักใยความขัดแย้งอย่างชาญฉลาดระหว่างผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร (เสื้อแดง) กับผู้สนับสนุนชนชั้นนำ กองทัพ และบางส่วนก็สนับสนุนระบอบกษัตริย์ (เสื้อเหลือง) มาเป็นเวลานาน" แต่ความนิยมของทักษิณและพรรคการเมืองที่มาจากกลุ่มของทักษิณก็ยังคงได้รับความนิยมอยู๋เรื่อยๆ มายาวนานมากกว่า 17 ปี เพอร์บาระบุว่าประเทศไทยควรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่การยึดอำนาจโดยทหาร บทความของเพอร์บาเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียพูดถึงปัญหาเผด็จการทหารในไทยกับกลุ่มประชาคมอาเซียนในการประชุมประจำปีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ใช้ยุทธศาสตร์การทูตแบบเงียบๆ ในการหารือเรื่องบทบาทของไทยกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ และแน่นอนว่าควรตะปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียน "ไทยควรจะมีสิทธิได้เป็นประธานอาเซียน แต่ไม่ใช่ภายใต้เผด็จการทหารผู้ยึดกุมอำนาจที่ขโมยจากประชาชนมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ควรจะปฏิบัติตามพันธกรณีของตัวเองในการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและเป็นประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ทำเช่นนั้น เข้าก็ไม่ควรจะได้รับตำแหน่งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคในปีหน้า" เพอร์บาระบุในบทความ เรียบเรียงจาก Commentary: Don't let Thai junta chief chair ASEAN next year, The Jakarta Post, 31-07-2018 Don't let Thai junta chief chair Asean next year: Jakarta Post columnist, The Straits Times, 31-07-2018 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ปล่อยตัว 'จตุพร' แล้ว หลังติดคุก 1 ปี คดีหมิ่นประมาท 'อภิสิทธิ์' Posted: 03 Aug 2018 09:30 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 11:30 'จตุพร พรหมพันธุ์' ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่นประมาท 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีแกนนำ นปช.พร้อมด้วยมวลชนมารอต้อนรับ ที่มาภาพ: Banrasdr Photo 4 ส.ค. 2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่าเมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 4 ส.ค. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ในคดีหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยในที่ชุมนุม นปช. ใส่ความนายอภิสิทธิ์ โดยมีแกนนำ นปช. เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ์, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวรชัย เหมะ, นายยศวริศ ชูกล่อม, นายอารี ไกรนรา, นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์, นายขวัญชัย ไพรพนา พร้อมมวลชนกว่า 100 คน เดินทางมารอรับและมอบดอกกุหลาบแดงให้กำลังใจ นายจตุพร ให้สัมภาษณ์ภายหลังออกจากเรือนจำว่าก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชน พี่น้อง นปช. และพี่น้องคนเสื้อแดงเพื่อนพ้องน้องพี่ทางการเมือง รวมไปถึงผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตลอดระยะเวลา 1 ปี 15 วัน ที่อยู่ในคุก ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนาน มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ได้ผ่านความรู้สึกนั้นมาได้ ภารกิจของพวกเรายังต้องเดินหน้าและทำงานต่อไป หนทางข้างหน้าของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ที่จะต้องร่วมกันหาทางออก ซึ่งประวัติศาสตร์ได้สอนเราทุกครั้งว่า ประเทศไทยจะตายก่อนแก้ปัญหาเสมอ แต่ไม่เคยแก้ปัญหาก่อนตายแม้แต่เพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นหนทางที่เป็นวิกฤตชาติบ้านเมืองอยู่นั้นเห็นว่า แต่ละฝ่ายคงต้องตระหนักหาทางออกร่วมกัน ตนเชื่อว่าทุกคนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และเหตุการณ์ พ.ค. 2535 หรือในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ถ้าจุดเริ่มต้นของบ้านเมืองยังคงเป็นลักษณะอย่างนี้ไปสุดปลายทาง ก็จะไม่แตกต่างกับอดีตที่ผ่านมา ตนมีความปรารถนา ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า อย่างปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ความจริงทุกแนวทางในการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง อยู่ในพระกระแสรับสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ความสมัครสมานสามัคคี ภายในชาติ ถ้าทุกฝ่ายน้อมนำและปฏิบัติอย่างเป็นจริง เราก็จะผ่านพ้นวิกฤตการณ์อันนี้ไปได้ "หลังจากที่ผมออกจากเรือนจำไปแล้ว จะมีการปรึกษาหารือ หาทางออกให้ชาติบ้านเมือง ซึ่งเราเองก็ไม่เคยบอกว่าเราทำถูกทุกเรื่อง บางเรื่องก็ถูก บางเรื่องก็ผิด ที่ผิดและถูกก็ย่อมเป็นบทเรียน บนสถานการณ์นั้นๆ คนที่ผ่านเหตุการณ์บ้านเมือง น่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ายังเดินไปในสภาพอย่างนี้ ผมมีคำถามว่าเราจะแก้ปัญหาก่อนตายหรือตายก่อนแก้ อย่าเดินตามประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ได้สอนอยู่แล้วอะไรที่ทำให้บ้านเมืองกลับมายังจุดวิกฤตเราก็ไม่ควรที่จะย่ำรอยเดิม และต้องตระหนักว่าจะไม่ทำในสิ่งเหล่านั้นอีก อะไรที่สำคัญที่สุดจะถูกหยิบยกมาใช้ในการจะนำพาบ้านเมืองไปสู่จุดเดิม 85 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการเลือกตั้งและการยึดอำนาจ นักการเมืองและผู้ยึดอำนาจ สลับกันมีอำนาจ ส่วนผู้ที่ตายฝ่ายเดียวก็ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หรือผลการยึดอำนาจจะเป็นอย่างไร ประชาชนก็ยังเป็นประชาชนในวันยังค่ำ เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์อธิบายเช่นนั้น เราก็ไม่ควรย่ำรอยเดิม ควรหาสิ่งที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่น่ากลัวในปัจจุบันไม่ใช่ว่าใครจะได้เสียงเท่าไหร่ ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: นปช. เพื่อไทย และประชาธิปไตยที่ยังไปไม่ถึง Posted: 03 Aug 2018 08:53 PM PDT Submitted on Sat, 2018-08-04 10:53 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในห้วงยามเข้าด้ายเข้าเข็มของสถานการณ์การเมือง คนที่โดนดูดไปร่วมกับฝ่ายรัฐประหาร นปช. ยังมีอยู่หรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงมีบทบาทน้อยกว่าที่ควรในการต่อต้าน คสช. และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่สังคมไทย ขณะที่อนาคตใหม่กำลังขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกที่คล้ายกัน -เมื่อถึงเวลาเหมาะ พรรคเพื่อไทยต้องปฏิรูปและแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจน -ณัฐวุฒิคาดว่าทักษิณจะชนะในเกมการเลือกตั้ง หากเพื่อไทยไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรีคนนอกจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจของประชาชน -หากประชาธิปัตย์จะจับมือกับเพื่อไทยเพื่อไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก ประชาธิปัตย์ต้องแสดงจุดยืนปล่อยมือจากเผด็จการก่อน แต่ณัฐวุฒิเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะจับมือกับฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก
สนามเลือกตั้งใกล้เข้ามา ในวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมเกม เดินสายดูด ส.ส. (แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. เงียบหายไปจากเวทีการเมือง บทบาทของพรรคเพื่อไทยในการออกมายืนแถวหน้าต่อต้านเผด็จการถูกตั้งคำถาม ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ดูจะแหลมคมกว่า ทักษิณ ชินวัตร ยังสั่งพรรคเพื่อไทยซ้ายหันขวาหันได้ การเมืองที่ควรจะเป็นในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะไม่รำให้เยิ่นเย้อ ทั้งหมดนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ตอบคำถาม
ถามความรู้สึกจริงๆ ว่าคุณวิตกกังวลกับกระแสการถูกดูด ส.ส. ออกไปเรื่อยๆ บ้างหรือไม่ ผมไม่วิตกครับ เพราะการจะย้ายพรรคไปอยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หรือสมาชิก นปช. บางคน เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาระยะหนึ่งแล้วและสังเกตท่าทีของบุคคลต่างๆ ก็เห็นค่อนข้างชัดมาก่อน วันนี้เป็นแต่เพียงว่าเรื่องราวที่เรารับรู้ได้ปรากฏออกสู่สาธารณะและแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็แสดงท่าทีกันออกมา จะเกิดผลกระทบกับพรรค กับ นปช. อย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง ผมมั่นใจว่าไม่มี เพราะในขณะที่มีคนเดินออกจากพรรคเพื่อไทย อีกทางหนึ่งก็กำลังมีคนเดินเข้า หักลบกลบหนี้กันแล้ว ณ วินาทีนี้ ในเชิงปริมาณ หมายถึงในเชิงตัวบุคคล ผมแน่ใจว่าไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่ว่าคนที่กำลังเดินเข้าพรรคเพื่อไทยอาจจะยังไม่สะดวกที่จะแสดงตัวในสถานการณ์นี้ เพราะมันอาจหมายถึงการยกมือชี้เป้าให้ตัวเองเป็นที่เพ่งเล็งของฝ่ายผู้มีอำนาจและฝ่ายความมั่นคง ในส่วนของ นปช. ผมพูดมาตลอดตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันว่าที่พี่น้องมวลชนเดินตามแกนนำและต่อสู้ด้วยกัน เขาไม่ได้ตามตัวบุคคลหรือดารา แต่เขาเดินตามหลักการที่เขาเชื่อ ตราบใดก็ตามที่แกนนำยังคงพูด ทำ และขับเคลื่อนในหลักการที่เชื่อร่วมกัน พี่น้องก็พร้อมจะเดินมาด้วย แต่เมื่อใดที่แกนนำทรยศ หักหลัง หรือกระทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยยึดถือร่วมกัน ผมเคยพูดคำนี้มาตลอดและวันนี้ก็จะพูดอีกครั้งว่า แน่แค่ไหนก็กลายเป็นหมาตัวหนึ่งในสายตาประชาชน ดังนั้น ในเชิงคุณภาพกับพรรคเพื่อไทยผมคงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำนักเพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่กับ นปช. พันเปอร์เซ็นต์ ไม่เกิดผลกระทบหรือความเสียหายในทางการเมือง
บทบาท นปช. ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 เรียกว่าเข้มข้น มีการต่อสู้ เรียกร้อง ชุมนุมใหญ่ หลัง 2557 นปช. เงียบหายไปไหน นปช. ไม่ได้หายไปไหนครับ เรายังคงยืนอยู่กับหลักการประชาธิปไตยและไม่เปลี่ยนใจที่จะยืนอยู่ตรงนี้ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา หลังการยึดอำนาจมันทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย มีการประกบติดตาม มีเงื่อนไขสารพัด ซึ่งพวกผมก็ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะหรือบอกกล่าวว่าเราเจออะไรกันมาบ้าง เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องดราม่า เอาเป็นว่าพวกผมอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดทับและมากด้วยเงื่อนไข ในจังหวะเวลาที่แสดงบทบาทหรือแสดงความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยได้ เราก็ทำอยู่เสมอ ถามว่ามันเข้มข้นเท่าช่วงทศวรรษ 2550 หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องประหลาด เป็นเรื่องปกติธรรมดาของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในทุกประเทศเป็นแบบนี้ ขบวนการที่มีอายุงานนานๆ ผ่านสถานการณ์ต่อสู้ระยะยาว มันก็จะมีทั้งช่วงที่บทบาทเข้มข้น บทบาทซาลง และอาจจะถึงขั้นเงียบหายไป ในขณะเดียวกันก็มีช่วงเวลาที่เป็นพัฒนาการของแต่ละก้าวย่าง ซึ่งถ้ามองจากเส้นทางก็อาจประเมินได้ว่า นปช. สำเร็จ ล้มเหลว หรืออ่อนแอ แต่เท่าที่ผมศึกษาติดตามขบวนการต่อสู้ในหลายๆ ประเทศ เราควรมองเมื่อวันที่ถึงเส้นชัย คือถ้ามองจากเส้นชัยจะเข้าใจเส้นทาง เวลาผมอ่านเรื่องราวของขบวนการต่อสู้ประเทศต่างๆ มันอ่านเมื่อวันที่เขาบรรลุถึงเป้าหมายแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเล่าย้อนหลัง อะไรก็ดูสวยงามไปหมด แม้ในวันที่ถลอกปอกเปิกล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ จะพบว่าหลายขบวนการถูกตั้งคำถามขณะที่อยู่บนเส้นทางเหมือนกันว่า พวกนี้เลอะเทอะ เหลวไหล ใช้ไม่ได้ ดังนั้น มันจึงมีความแตกต่างระหว่างการมองขณะที่อยู่บนเส้นทางกับการมองในวันที่ถึงเส้นชัย ผมไม่กล้าประกาศนะครับว่า นปช. จะเดินไปจนถึงเส้นชัยได้ เพราะสถานการณ์ของเราไม่ง่าย แต่ผมยืนยันว่าเราจะไม่เปลี่ยนเป้าหมายที่เรามีร่วมกันกับประชาชน ดังนั้น การประเมิน นปช. ถ้าประเมินกันเป็นรายหลักกิโลเมตร ก็จะเห็นภาพที่แตกต่างหลากหลาย ผมจึงอยากให้รอประเมินพร้อมกันในหลักกิโลเมตรสุดท้าย ณ วันนั้นทั้งหมดทุกก้าวย่างของ นปช. คืออะไร แต่ไม่ปิดกั้นที่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่วันนี้ ถ้าสังเกต ผมจะนิ่งและรับคำวิจารณ์ตลอด ไม่เคยตอบโต้และมีวิวาทะกับใคร ทั้งในทางองค์กรและในทางส่วนตัว
ทุกขบวนการเคลื่อนไหวมีพัฒนาการ ในความเงียบที่ปรากฏ อะไรคือพัฒนาการของ นปช. เรามีโอกาสได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นการภายใน มีโอกาสได้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งขององค์กรและของแต่ละบุคคล เรื่องพวกนี้พวกผมสนทนานอกรอบกันตลอดเวลา เราตกผลึกร่วมกันในหลายๆ อย่าง และเราหวังด้วยกันว่าหลังจากที่ปลดล็อกทางการเมืองหรือสถานการณ์มันทำได้ นปช. ก็น่าจะนำเสนอคุณภาพใหม่ออกสู่สายตาประชาชน เมื่อถึงตรงนั้นก็คงจะเป็นประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์หรือผู้มีความแตกต่างทางอุดมการณ์ก็ตามก็จะได้พิสูจน์ทราบ การเป็นขบวนการต่อสู้ไม่ได้หมายความว่าคิดจะรุกรบอยู่ทุกวินาที ไม่ใช่ ผมเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าใจสถานการณ์และรู้ว่าในแต่ละสถานการณ์ควรจะจัดวางตัวเองอย่างไร ขับเคลื่อนตัวเองอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมาย บางทีการหยุดนิ่งยืนอยู่เฉยๆ ก็เรียกว่าการต่อสู้ สิ่งเหล่านี้กว่า 4 ปีที่ผ่าน พี่น้อง นปช. ได้สื่อสารให้ผมสัมผัสและเชื่อว่าพัฒนาการเหล่านี้ พี่น้องเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
ช่วงที่ผ่านมา คสช. พยายามสลายสีเสื้อ ในส่วนของ นปช. สูญเสียแนวร่วมจากการสลายสีเสื้อ จากการเทงบประมาณต่างๆ ลงไปบ้างหรือเปล่า ผมว่าไม่ครับ ต้องเข้าใจว่าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐที่จะให้ประโยชน์ อัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ไปสู่ตัวประชาชน นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สำนึกทางการเมืองหรือจิตวิญญาณการต่อสู้ของประชาชน นั่นเป็นอีกอย่าง ถ้าไปคิดรวมกัน หมายความว่าถ้ารัฐบาลไหนอัดฉีดเงินไปถึงประชาชนได้มากก็จะยึดกุมหัวใจประชาชนไว้ได้ โดยไม่ต้องมีมิติเรื่องการเมือง เรื่องหลักการมาเกี่ยวข้อง ซึ่งโดยข้อเท็จจริง มันไม่ใช่ ดังนั้น การเอาเงินไปให้ตำบลละกี่แสน หมู่บ้านละกี่ล้าน ไม่ใช่คำอธิบายว่าคุณจะได้หัวใจของชาวบ้านไปด้วย สำนึกทางการเมืองในใจของประชาชน ผมคิดว่าไม่ว่าจะอำนาจไหนก็โยกคลอนได้ลำบาก ในทางกลับกัน สมมติว่าเป็นพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งครั้งนี้ถล่มทลาย มีนโยบายโดนใจ ทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น แต่แสดงออกชัดว่าทอดทิ้งหลักการประชาธิปไตย ไปเข้าข้างอำนาจเผด็จการ เชิญพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ต่อให้มีนโยบายเลิศเลอขนาดไหน ประชาชนก็รับประโยชน์จากนโยบาย แต่เขาไม่ให้หัวใจไปด้วย แล้วถึงวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยก็คงเดินต่อไปในทางการเมืองไม่ได้ นี่เป็นเรื่องสมมติเพื่อให้เห็นภาพชัดว่าต้องมองคนละส่วนกัน
ณ เวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่าง นปช. กับพรรคเพื่อไทย จัดวางในลักษณะไหน ผมว่าเราเป็นแนวร่วมทางการเมืองกัน จุดที่ทำให้เราร่วมกันคือการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย การไม่ยอมรับวิถีเผด็จการ ทั้งการรัฐประหารและการใช้อำนาจที่เป็นผลพวงจากสิ่งนั้น ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังชัดเจนอยู่ว่าไม่ได้เปลี่ยนแนวทาง อย่างไรก็ตาม ผมหารือกับพี่น้องนอกรอบเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อสรุปตรงกันและได้อธิบายผ่านสื่อมวลชนไปแล้วว่า จุดยืนของ นปช. ก็คือเพื่อนฝูงสมาชิกสามารถไปร่วมกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนก็ได้ เป็นเสรีภาพ ไม่ผูกขาดกับเฉพาะพรรคเพื่อไทย ต่อเมื่อกลุ่มการเมืองนั้นยืนยันหลักการประชาธิปไตย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ข้ามเส้นก็ขาดกัน
ขาดกันในทางการเมือง ใช่ครับ ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ยังอยู่ เพราะคบหา กอดคอ ต่อสู้ บางช่วงเวลาก็เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายด้วยกันมา วันนี้หลายคนก็มาถามผมว่าทำไมให้สัมภาษณ์ถึงคนที่ถูกดูดไปแล้ว ย้ายข้างไปแล้ว ถึงนุ่มนวลนัก ทำไมไม่ด่า ผมก็บอกว่าถ้าจะหามุมนั้น หาจากผมไม่ได้ เพราะผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะยืนด่ากัน แล้วให้อีกฝ่ายยืนอมยิ้ม ไปพูดต่อกันว่าเห็นไหมมันด่ากันเองแล้ว ไม่จำเป็น ตราบใดที่เรายังรักษาอุดมการณ์เดิมไว้ได้ คนที่เดินจากไปเขาก็จะต้องถูกพิสูจน์ ตัดสินใจ และให้บทเรียนจากประชาชนเองอยู่แล้ว
คุณมี 2 บทบาท หนึ่งคือแกนนำ นปช. สองคือสมาชิกพรรคเพื่อไทย คุณพึงพอใจแค่ไหนกับบทบาทของพรรคเพื่อไทยในสถานการณ์ตอนนี้ หลายคน หลายฝ่าย ตั้งคำถามกับพรรคเพื่อไทยว่าทำไมจึงไม่ทำอะไรมากเท่าที่น่าจะทำ ในฐานะพรรคการเมืองที่มีภาพว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐประหาร ผมมองจากมุมที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเท่านั้นไม่พอ ต้องเพิ่มจากมุมที่ผมเคยร่วมงาน ร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยด้วย ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่พรรคเพื่อไทยฝ่าคลื่นฝืนล้มมาจนถึงวันนี้ด้วยความยากลำบาก ผมเป็นสมาชิกจริงๆ ไม่เคยเป็นกรรมการชุดไหนเลย ไม่เคยได้เข้าร่วมประชุมกับพรรคเพื่อไทยเลยตั้งแต่รัฐประหาร แต่เท่าที่ผมติดตามข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกับพี่ๆ น้องๆ ในพรรคบ้าง ก็พบว่าแต่ละเหตุการณ์ แต่ละก้าวย่าง เต็มไปด้วยอันตรายทางการเมือง เวลานี้สมาชิกจำนวนมากของพรรคเพื่อไทยติดบ่วงคดีความเต็มไปหมด และไม่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้ใครจะโดนอะไรบ้าง ในสภาพความเป็นพรรคเอง หลายคนในพรรคก็มีความเชื่อว่าใกล้วันเลือกตั้งอาจจะเกิดชะตากรรมฉุกเฉินถูกยุบพรรคขึ้นมาอีกก็ได้ พรรคเพื่อไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดของฝ่ายรัฐประหารที่ต้องทำให้อ่อนแอลงหรือโค่นล้มลงไป ถ้าใครหรือพรรคการเมืองไหนก็ตามอยู่ในสภาพการณ์นี้แล้วยังคงรักษาบทบาทได้อย่างที่เป็นอยู่ ผมว่าจะไปมองว่าอยู่เฉยๆ คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องมองต่อไปว่ากว่าที่จะยืนมาได้ถึงวันนี้ มันต้องมีอะไรที่เขาทำ เขาต่อสู้ เขาพยายามฝ่าฟันมาด้วยกันอยู่ เพียงแต่เรื่องเหล่านี้อาจจะมาพูดกันวันนี้คงไม่สะดวก แต่วันหนึ่งที่ถูกเล่าเรื่องราวย้อนหลังกับมา ผมว่าคงได้เห็นภาพชัดขึ้น คือถ้าเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองอื่น บางทีอาจจะถูกย่อยสลายไปหมดแล้วก็ได้ แต่วันนี้ยังเห็นบทบาทพรรคเพื่อไทยแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ยังคงยืนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหารอยู่ ส่วนตัวผมเฉพาะบทบาทของพรรคเพื่อไทยที่เห็นอยู่นี้ ผมรับได้ แต่ถามว่าคาดหวังมากกว่านั้นไหม คาดหวังมากกว่า
คาดหวังว่า? ผมคาดหวังว่าเมื่อถึงสถานการณ์ที่ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ไม่มีภัยคุกคามทางอำนาจ ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยยืนอยู่ในสนามด้วยสถานะภาพเท่ากับพรรคการเมืองอื่น ต้องแสดงออกให้เห็นว่าพรรคมีกระบวนการปฏิรูปภายใน พรรคมีหน้าตาท่าทีที่ชัดเจนเรื่องประชาธิปไตย พรรคยังเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ตรงนี้สำคัญ ผมคิดว่าเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องขีดความสามารถในการบริหารนโยบาย ถึงวันนี้คนยังมั่นใจอยู่ แต่เรื่องจุดยืนทางการเมือง เรื่องประชาธิปไตย ถึงวันที่ทำได้ พรรคเพื่อไทยต้องไม่ทำเท่านี้ ต้องทำมากกว่า แสดงให้ชัดกว่านี้
มองในตลาดการเมืองตอนนี้ มีสองพรรคที่แนวทางพอจะไปด้วยกันได้คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ ลองเปรียบเทียบกัน พรรคอนาคตใหม่ที่อายุยังไม่ถึงปีดูเหมือนจะทำอะไรได้มากกว่า แสดงจุดยืนชัดเจนกว่าแบบไม่กลัวข้อจำกัดที่มีอยู่ตอนนี้ กับพรรคไทยรักไทยที่ต่อเนื่องถึงเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่อายุเกือบ 20 ปีที่ค่อนข้างเงียบ มันสมเหตุสมผลอยู่เหมือนกันที่ฝ่ายที่เชื่อในแนวทางประชาธิปไตยจะเรียกร้องเอาจากพรรคเพื่อไทยให้แสดงบทบาทมากกว่านี้ ผมชื่นชมคุณธนาธร ชื่นชมอาจารย์ปิยบุตร ชื่นชมพรรคอนาคคตใหม่ และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการเกิดขึ้นและขับเคลื่อนของพรรคการเมืองนี้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เอาใจช่วยเขาอยู่ครับ เพียงแต่สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่นำเสนอ ส่วนตัวผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ การมีรัฐธรรมนูญของประชาชน การไม่รับอำนาจรัฐประหาร หรือเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่เราพูดมาต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ประเด็นต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่ชูขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราไปพูดในวงปรองดองที่ฝ่ายความมั่นคงเชิญทุกพรรค ทุกค่ายไปนำเสนอความเห็น ความเป็นประเด็นที่สื่อสารมันเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเคยพูดกันอยู่
ถ้าถามว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่จึงทำอะไรได้มากกว่าพรรคเพื่อไทยหรือไทยรักไทยทั้งที่มีอายุมายาวนานหลายปี ในทัศนะผม พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้ทำอะไร แต่มีพื้นที่ มีโอกาส มีเวทีให้สื่อสารมากกว่า และมีความแหลมคม กล้าหาญมากกว่ากลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่กำลังจะจดตั้งเป็นพรรคการเมือง มีความชัดเจนเรื่องหลักประชาธิปไตยสูงกว่าทุกพรรคที่เข้าคิวรอจะเป็นพรรคอยู่เวลานี้ ต่อเมื่อพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว ต่อเมื่อพรรคอนาคตใหม่ขับเคลื่อนสู่สนามเลือกตั้งและสัมผัสกับโลกความเป็นจริงทางการเมืองแล้ว ต่อเมื่อพรรคอนาคตใหม่มีที่นั่งในสภาและได้แสดงบทบาททำในสิ่งที่ประกาศไว้ ถึงจะเรียกว่าพรรคอนาคตใหม่ทำอะไรได้มากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับพรรคเพื่อไทย เพราะเหตุปัจจัยหรือสิ่งที่เจอ มันต่างกัน ตอนนี้คุณธนาธร อาจารย์ปิยบุตร และคณะ ถ้าเป็นมวยก็กำลังสด ยังไม่ช้ำ น่าเชียร์ เพราะเป็นมวยอาวุธจัดจ้าน มีฝีไม้ลายมือ ลีลาการชกน่าตื่นตาตื่นใจ ผมก็เอาใจช่วย แต่พรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นมวย มันเป็นมวยเจนสนามเจนเวที ผ่านการชกมาแล้วมากมาย แพ้บ้าง ชนะบ้าง บางครั้งเป็นแชมป์ บางครั้งถูกหาม ดังนั้น ต้องให้พรรคอนาคตใหม่ขึ้นเวทีชกจริงๆ ก่อน ให้สัมผัสความเป็นจริงทางการเมืองอย่างครบถ้วน รอบด้าน ให้สัมผัสคลื่นลมและสิ่งแวดล้อมทางการเมืองของสังคมไทยโดยแท้ แล้วถึงมาดูกันอีกที วันนี้ ความที่พรรคคุณสุเทพเดินสายพูดอะไรก็ได้ เจอใครก็ได้ สามมิตรพูดอะไรก็ได้ แถลงยังไงก็ได้ พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ทำอะไรก็ได้ พรรคอนาคตใหม่มีสถานะเท่ากับพรรคการเมืองเหล่านี้คือยื่นขอจัดตั้งกับ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) พอความแหลมคมสูงกว่า ความชัดเจนเรื่องหลักการมากกว่า ก็โดดเด่นขึ้นมา ดังนั้น เดี๋ยวรอดูของจริง ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้ยกยอพรรคเพื่อไทยนะ ว่าที่ผ่านมาประชาธิปไตยจ๋า น่าประทับใจ บางอันผมก็ไม่เห็นด้วย ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีของพรรค ผมก็เคยฝืนมติของพรรคเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ทำแล้วจะเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ต้องสร้างความชัดเจน ถ้าอนาคตใหม่เข้าสนามจริง ผ่านการเลือกตั้งเข้าไปในสภา แล้วถึงวันนั้นเขาทำอะไรได้มากกว่า ทีนี้ล่ะครับเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะเจอโจทย์ใหญ่ว่าประชาชนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยหรือเชื่อมั่นในการต่อสู้ เขามีสิทธิที่จะเทใจให้อนาคตใหม่ได้ และไม่ใช่เรื่องทรยศหรือทำลายหลักการ เพราะถ้าจุดยืนยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน ผมถือเป็นเสรีภาพที่ประชาชนจะตัดสินใจ
แต่ละพรรคการเมืองมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน แต่ในเชิงจุดยืนและหลักการ พรรคเพื่อไทยแสดงออกไม่ได้หรือว่าชัดเจนเรื่องนี้ จะไม่ทำแบบนี้ จะทำแบบนี้ เพื่อหลักการนี้ ขณะนี้ทุกฝ่ายจับจ้องมาที่พรรคเพื่อไทยในฐานะขั้วตรงข้ามกับ คสช. แต่พรรคเพื่อไทยดูจะยังไม่ชัดเจนใดๆ เราเรียกร้องความชัดเจนจากพรรคการเมืองที่เคยมีคะแนนเสียงมากที่สุดไม่ได้หรือ เรียกร้องได้ครับ แต่ว่าน่าจะรอคำตอบในสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยสามารถแสดงความชัดเจน
ตอนนี้ยังแสดงไม่ได้? ครับ ตอนนี้ถ้าบอกว่าจะมีผู้นำพรรคคนใหม่ทำหน้าที่แทนพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ คุณคิดว่าคนที่ถูกชูขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่จะมีสภาพการณ์แบบไหน กว่าจะถึงช่วงปลดล็อกทางการเมือง กว่าจะเข้าโหมดการเลือกตั้ง ผมว่าเดาลำบาก ถ้าบอกว่าให้พรรคเพื่อไทยแถลงมาว่าจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องนายกฯ คนนอก เอายังไง ซึ่งจริงๆ คนสำคัญในพรรคเพื่อไทยพูดชัด แต่มันประกาศในนามพรรคไม่ได้ เพราะถ้าประกาศในนามพรรค น้ำตื้นเลยๆ คือ อ๋อ คุณประชุมกันเหรอ นี่เป็นมติจากกรรมการบริหาร นี่คือสิ่งที่ผิดคำสั่ง คสช. หรือไม่ ฟังดูก็เป็นเรื่องเล็ก เป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ของประเทศยาวนานมากว่า 10 ปี คุณจะมากลัวอะไรกับคำสั่ง คสช. ประเด็นก็คือมันถึงเวลาต้องแลกหรือยัง ถึงเวลาต้องแตกหักกันวันนี้หรือไม่ อย่างที่บอกครับ วันหนึ่ง ถ้าถึงจุดที่แสดงความชัดเจนได้ แล้วพรรคเพื่อไทยยังอ้ำอึ้งอยู่ สมมติว่าเอาหรือไม่เอาคนนอก จะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อยู่ต่อกันไปสิบยี่สิบปี ถ้าอ้ำอึ้งเรื่องพวกนี้ ผมก็รู้สึกอับอายที่จะร่วมทางด้วย แต่วินาทีนี้ผมกลับมองอย่างเข้าใจว่า สถานการณ์ที่เจออยู่อาจไม่เปิดให้ต้องแตกหัก ต้องเผชิญหน้า หรือต้องสร้างความชัดเจน ผมว่ารักแล้ว รอหน่อย ต่อเมื่อถึงเวลาที่เฝ้าคอย แล้วเขาปล่อยให้คอยเก้อ คอยบอกเลิก หยุดรักกันก็ยังไม่สาย
ข้อจำกัดต่างๆ ตอนนี้เป็นสิ่งที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น เรากำลังเดินตามเกมของเขา พรรคการเมืองจะเล่นตามเกมนี้ไปเรื่อยๆ นานแค่ไหน แต่เรารู้กันว่าคุณทักษิณเป็นคนที่จะสร้างเกมเองและเล่นในเกมของตัวเอง ถ้าให้ผมเดาวิธีคิดของนายกฯ ทักษิณ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้สนทนา ไม่ได้สอบถามกัน ผมเดาว่าเกมที่นายกฯ ทักษิณเลือกเล่น ณ วันนี้คือเกมเลือกตั้ง เพราะเชื่อมั่นว่าเกมเลือกตั้งชนะแน่และจะชนะมาก และจะเป็นชัยชนะที่ชอบธรรม เป็นชัยชนะที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วปลอดภัยทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายการเมือง มันไม่มีอะไรที่จะเป็นความสุ่มเสี่ยง ถ้าจะเลือกชนะในเกมนี้ ส่วนถ้าชนะแล้ว ฝ่ายผู้ถืออำนาจปฏิเสธ บิดเบือน หรือคว่ำการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ นั่นจึงถือว่าเกมใหม่เกิดขึ้น นั่นก็ต้องดูกันล่ะว่าจะตัดสินใจต่อสู้กันอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะนายกฯ ทักษิณเท่านั้นนะครับ ถ้าให้ผมเดาใจพรรคการเมืองทั้งหลายมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะเล่นเกมเลือกตั้งเช่นกัน เพราะมั่นใจว่าฝ่ายการเมืองสามารถสร้างการยอมรับในหมู่ประชาชนได้มากกว่า หรือไม่ก็ในทางกลับกันคือมั่นใจว่าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สามารถสร้างการยอมรับในใจประชาชนได้เลย และยิ่งอยู่นานยิ่งสูญเสียความเชื่อมั่นมากขึ้นทุกทีๆ สนามเลือกตั้งจึงเป็นสนามที่ผมคิดว่าหลายคนสนใจ ส่วนตัวผม นปช. เราผ่านสถานการณ์บาดเจ็บล้มตายมามาก แล้วสถานการณ์ที่ผ่านมาก็เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ เราพยายามติดตามทวงถามความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย ทั้งที่เปิดเผยและไม่ได้เล่าสู่กันฟัง แต่มันก็ได้เท่าที่เห็นอยู่และก็ต้องทำกันต่อ ดังนั้น ถ้าหากต้องวัดกันในสนามเลือกตั้งอีกที ผมก็พร้อม แต่อย่างที่เรียนครับ ถ้าเลือกกันแล้ว มติของประชาชนถล่มทลายไปทางไหน ถึงตรงนั้นใช่ว่าใครจะมาขวางได้ง่ายๆ ถ้าเลือกที่จะขวางก็ต้องดูกันว่าจะเล่นกันเกมไหน
ดูเหมือนคุณมองว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ไพ่จะไม่ออกที่ คสช. แน่นอน คสช. อาจจะเป็นผู้มีอำนาจต่อไปได้ พลเอกประยุทธ์หรือใครก็ตามที่เขาวางกันไว้อาจจะเป็นนายกฯ คนนอกก็เป็นไปได้ แต่ผมไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองที่ คสช. ตั้งจะได้เสียงข้างมากจนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งจะเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบัน ผมเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นโดยที่พรรคการเมืองบางพรรค ทั้งที่มีอยู่แล้วและจัดตั้งใหม่ ร่วมมือกันแล้วสนับสนุนให้มีนายกฯ คนนอก ซึ่งก็เท่ากับขัดเจตนารมย์ของประชาชน เพราะพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งถ้าเลือกเช่นนั้น ก็อย่างที่บอกครับ ว่าต้องดูตอนนั้นว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดไหน
บทบาทของพรรคเพื่อไทยในการพาสังคมออกจากวิกฤตใหญ่ครั้งนี้คืออะไร จะพาออกไปอย่างไรในฐานะพรรคการเมือง ผมพูดอีกทีว่าผมคงไม่สามารถประกาศอะไรในนามพรรคการเมือง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการพรรค เอาเป็นว่าสิ่งที่ประชาชนมองก็แล้วกัน สิ่งที่ประชาชนมอง ผมว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ชนะแน่ แล้วคงชนะห่างพอสมควร ในฐานะพรรคการเมืองอันดับ 1 แล้วก็ยืนบนหลักประชาธิปไตยมาตลอด อย่างน้อยที่สุดก็เท่าที่ประกาศไว้ ก็ต้องชูธงครับ รัฐธรรมนูญนี้จะเอาไว้ใช้ 20 ปีไหม ยุทธศาสตร์ชาติมีไหม สิ่งที่เป็นผลผลิตจากคณะรัฐประหารยังอยู่ต่อหรือไม่ แม้กระทั่งถ้ามีรัฐบาลจากการสืบทอดอำนาจแล้ว บทบาทของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้สิ่งนี้ไม่สามารถดำรงคงอยู่ยาวนานได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน คืออะไร มันต้องมีความชัดเจนครับ ผมไม่ได้บอกว่าถ้ามีรัฐบาลนายกฯ คนนอกจะต้องเดินหน้าโค่นล้มกันทันที ไม่ใช่นะครับ แต่ว่าจะเอากันยังไง ต้องพูดให้ชัด แล้วต้องกล้าออกมายืนข้างหน้าด้วย นี่คือสิ่งที่ผมว่าประชาชนจำนวนมากคาดหวัง
ออกมายืนข้างหน้า คือสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังจากพรรคเพื่อไทย แต่คุณมองว่ายังไม่ถึงเวลา ใช่ครับ ถ้าออกมายืนข้างหน้าตั้งแต่วันนี้ พอถึงเวลาเข้าสู่สนามเลือกตั้งอาจไม่มีที่ยืนให้กับพรรคเพื่อไทยแล้วก็ได้ ผมจึงคิดว่าเรื่องการต่อสู้เป็นเรื่องของจังหวะ เวลา และสถานการณ์ ในบางสถานการณ์ เราวิ่งออกนำหน้าไปได้ทันที แต่ในบางสถานการณ์ การหยุดยืนอยู่กับที่ก็หมายถึงเรากำลังต่อสู้อยู่เหมือนกัน แล้วขยับในช่วงเวลาที่เหมาะสม วันนี้ผมจะยังไม่คาดคั้นอะไรกับพรรคเพื่อไทย ส่วนใครตั้งคำถาม ผมก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ เพราะเป็นคำถามที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วถึงวันหนึ่งเพื่อไทยก็ต้องตอบ ไม่ตอบไม่ได้ แต่ส่วนตัวผม ผมจะทวงคำตอบต่อเมื่อถึงเวลา แล้วเมื่อถึงเวลา ไม่ตอบ ผมก็ว่าไม่ใช่ หรือถึงเวลาตอบ แต่ตอบแล้วไม่ชัดว่าหลักการประชาธิปไตยที่พูดมาตลอด คุณจะทำยังไง ผมย้ำอีกทีนะครับ ผมก็จะรู้สึกอับอายที่ร่วมด้วย
การแบ่งฝักฝ่ายไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมประชาธิปไตย แต่ถ้ามันแบ่งแยกกันมากๆ จนเป็นความชิงชังกัน มันคงไม่เป็นผลดีทั้งต่อสังคมและระบอบประชาธิปไตย ยังมีคนไม่น้อยที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ในฐานะพรรคการเมืองจะเสนอสิ่งใหม่ที่ดึงคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณเข้ามาได้หรือไม่ จะสร้างจินตนาการใหม่ๆ ต่อสังคมนี้ได้หรือไม่ ในฐานะนักการเมืองคิดว่าทำได้หรือไม่ ผมยังไม่ได้คาดหวังกับการเสนอสิ่งใหม่ๆ มากนัก เพราะสิ่งเก่าๆ ที่เสนอกันไว้เราก็ยังทำกันไม่ได้ เราบอกว่าต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ถูกต้องตามหลักสากล มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหลักนิติธรรมโดยแท้ มีอะไรต่างๆ นั่นนู่นนี่ที่เราพูดมาตลอดเกือบ 10 ปี ถึงวันนี้สิ่งเก่าที่เสนอเรายังทำกันไม่ได้เลย แล้วถ้าเราบอกว่าเราจะเสนอสิ่งใหม่ คำถามคือถึงวันนั้นสิ่งเก่าๆ ที่พูดกันอยู่ มันเกิดขึ้นแล้วใช่หรือไม่ ส่วนตัวผมเห็นว่ายังเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ถ้าจะใช้คำว่าใหม่ มันอาจจะหมายถึงแนวทางใหม่ว่าที่เดินกันมา มันมาไม่ถึง น่าจะเปลี่ยนแนวบ้าง เผื่อจะเดินไปถึงบ้าง อันนี้ผมรับฟัง เช่น แดง เหลือง นกหวีด ที่สุดๆ กันจนมองหน้าก็มองกันไม่ได้ หันมาสบตากันบ้างได้ไหม หันมาคัดแยกความรู้สึกเป็นฝักฝ่ายวางไว้ข้างๆ แล้วเอาเหตุผลของตนมาพูดคุย ปรับจูน โดยมีหลักการที่ถูกต้อง ทำได้ไหม ส่วนตัวผมก็พยายามทำนะครับ แต่ก็ต้องสารภาพว่าผมยังทำไม่ได้ ส่วนถ้ามีใครจะเสนอแนวทางแบบนี้ภายใต้เป้าหมายเก่า ไม่ต้องสิ่งใหม่ ผมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพราะผมเชื่อว่าถึงที่สุดต่อให้เราไปถึงประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราคาดหวัง แต่วิธีคิดแบบพันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ก็ยังอยู่ แบบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็ยังมี หรือบ้านเมืองมันเดินไปอย่างที่พันธมิตรฯ กับ กปปส. ต้องการ วิธีคิดแบบ นปช. ก็จะไม่มีทางสูญสลายหายไป มันต้องอยู่กันแบบนี้ ดังนั้น ถ้าทุกวิธีคิดตกลงใจว่าจะสถาปนาหลักการที่ถูกต้องด้วยกัน แล้วรักษามันไว้ ผมว่าอย่างนี้ไปได้
โจทย์ง่ายๆ ซึ่งไม่ควรต้องมีอะไรซับซ้อนหรือจริงๆ ไม่ต้องถามกันเลย ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบเลยครับ เช่น การรัฐประหารคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ คนส่วนหนึ่งยืนยันว่าใช่นะครับ เชื่อว่าการรัฐประหารคือการแก้ปัญหา แก้ปัญหาอะไร แก้ปัญหานักการเมืองทะเลาะกัน เพราะประชาธิปไตยแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ในขณะที่มาถามคนอย่างผม ผมยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่ใช่ มันต้องไม่มี เรื่องพวกนี้มาทำให้ชัดกันเสียก่อน กระบวนการอำนาจนอกระบบควรเข้ามามีอิทธิพลในการเมืองจนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ อันนี้ต้องเอาให้ชัด คนถือปืนอยู่ในประเทศ ทหารหรือตำรวจก็ตาม ควรมีสถานะแบบไหน เวลานี้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในเหล่าทัพก็เป็นเรื่องภายใน ซึ่งจริงๆ มีสถานะเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่ง เขาก็จัดการกันเองเสร็จสรรพเรียบร้อย ต่อให้มีรัฐบาลเลือกตั้งก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เท่านั้นยังไม่พอ มีการปฏิรูปตำรวจ ก็ทำท่าว่าการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็จะให้เป็นเรื่องภายในองค์กรเช่นกัน มุมหนึ่งถ้าอธิบายว่าไม่ให้การเมืองแทรกแซง ผมก็จะรับฟัง แต่อีกมุมหนึ่งเท่ากับว่าคนถือปืนจัดการกันเอง ควบคุมกำกับกันเองได้หมด ซึ่งผมคิดว่านั่นไม่ใช่สัญญาณว่าเราเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตย คนถือปืนต้องถือไว้เพื่อปกป้องประชาชน ปกป้องอธิปไตย ไม่ใช่ถือไว้เผื่อจังหวะก็จะยึดกุมอำนาจมาไว้ในมือตัวเองได้ ไม่ใช่ แล้วคนถือปืนต้องอยู่ใต้อำนาจคนไม่มีปืน คืออยู่ใต้อำนาจประชาชน อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เรื่องพวกนี้ครับ ผมว่าคัดความเป็นแดงออก ความเป็นนกหวีด ความเป็นพันธมิตรฯ ออก น่าจะหาคำตอบด้วยกันได้ มีคนเคยถามผมว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมืองในประเทศไทย เลือกตั้ง ขัดแย้ง รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ วนกันแบบนี้ จะแก้กันยังไง ยากมาก เขาบอกแก้กันมาเป็นสิบๆ ปีแล้วแก้ไม่ได้ ผมบอกแก้ไม่ยาก เอาไอ้สิ่งที่ไม่เข้าพวกออกไปก็จบแล้ว ก็คือเอารัฐประหารออก สิ่งที่เหลือจะเป็นวงจรปกติ มันจะไม่อุบาทว์ครับ มีการเลือกตั้ง มีความขัดแย้งทางการเมือง ก็ธรรมดา ถ้าความขัดแย้งนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ปรับแก้ แล้วก็มาสู่การเลือกตั้ง ขัดแย้งก็แก้กันไปอย่างนี้ มันไม่อุบาทว์นะครับ มันอุบาทว์ก็เพราะมีสิ่งที่ไม่เข้าพวกเจือปนเข้ามา แต่เราไม่เคยพูดกันชัดๆ ไม่เคยยอมรับกันแบบนี้ เพราะเราพูดกันถึงแต่อำนาจ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าคุณอ้างการเลือกตั้งเพราะคุณเห็นว่าการเลือกตั้งทำให้พวกคุณเข้าสู่อำนาจ อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าที่คุณยังยอมรับการรัฐประหารเพราะคุณเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้งไม่ได้ คุณก็ต้องใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องมือ เพื่อคุณจะได้โดยสารอำนาจนั้นเข้ามาและมีสถานะ ทีนี้ถ้าเราไม่พูดกันเรื่องอำนาจล่ะ เราพูดกันเรื่องหลักการก่อนว่าทำยังไงให้สิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตยหายไปให้หมด แล้วมีอำนาจเดียวที่เราต้องคุย เคารพ และรักษากันไว้ คืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ผมว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่าเพิ่งถามผมว่าทำยังไง เพราะผมก็พยายามทำมาตลอดและผมยังทำไม่ได้ ถ้ามีใครเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้ผมจับต้องว่าทำได้ ผมเอาด้วย และผมไม่เคยหวงความเป็นแกนนำเพื่อตัวผมเลย วันหนึ่งถ้าให้ผมต้องไปเดินขบวนตามหลังใคร ให้ผมไปนั่งตบมือเชียร์ใครปราศรัย ถ้าผมเชื่อว่าสิ่งที่เขานำเสนอมาเกิดขึ้นจริงได้ ผมเอานะครับ ไม่ใช่เรื่องที่พูดมันๆ
คุณจะปฏิเสธก็ได้ แต่คนภายนอกมอง พรรคเพื่อไทยยังเป็นของคุณทักษิณและตระกูลชินวัตร เมื่อไหร่พรรคเพื่อไทยจะก้าวข้ามคุณทักษิณและตระกูลชินวัตรไปสู่ความเป็นสถาบันเสียที ผมว่าคำว่า ก้าวข้าม มันฟังดูแล้วไม่เป็นบวก เพราะต้องยอมรับคุณูปการของการเป็นนายกฯ ทักษิณ มันสำคัญมากที่ทำให้พรรคเพื่อไทยยังคงอยู่ในใจของประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าก้าวข้ามก็เป็นเพียงว่าแต่ละส่วนจัดวางสถานะหรือบทบาทอย่างเหมาะสม ผมว่าเป็นไปได้มากกว่า จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีทักษิณ ผมก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าคุณจะเดินไปยังไงในสนามเลือกตั้ง แต่ถ้าบอกว่ายี่ห้อทักษิณ นโยบายทักษิณ ประชาชนเชื่อใจและเชื่อมั่น ในขณะที่จะไปบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีทักษิณอย่างเดียว ไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การจะเป็นสถาบันการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะจัดวางสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้อย่างไร ซึ่งส่วนตัวผม ผมคาดหวังว่าจะเห็นในรอบของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่าจะจัดวางสถานะบทบาทกันอย่างไร จะบอกว่าเพื่อไทยไม่ใช่ทักษิณ ผมไม่เห็นด้วยนะครับ คุณจะปฏิเสธสิ่งที่คุณเกิด คุณเติบโตมาได้อย่างไร เพราะถ้าไม่ใช่ไทยรักไทย ไม่ใช่นโยบายที่มีนายกฯ ทักษิณเป็นผู้นำ ผู้บริหาร พรรคไทยรักไทยอาจจะเหลือแต่ชื่อตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมจึงไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธการดำรงอยู่ของนายกฯ ทักษิณ แต่ขณะเดียวกัน เพื่อการไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง จะจัดวางสถานะนี้อย่างไร ถ้ามีใครในพรรคเพื่อไทยเสนอจะก้าวข้ามทักษิณ ผมเห็นต่างครับ ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ที่สุดของประเทศมายาวนานต้องมีมิติทางความคิดที่คมคายและลึกซึ้งกว่านั้น ที่จะจัดวางสิ่งที่มีคุณค่าที่มีอยู่ทั้งหมดให้ลงตัวและเดินไปข้างหน้าทางการเมืองได้ ผมว่านั่นแหละเป็นสิ่งที่แสดงความเหนือชั้นกว่าแค่คิดว่าจะก้าวข้ามหรือไม่ก้าวข้ามทักษิณ
คุณทักษิณยังมีบทบาทสูงมากๆ ในการชี้นำพรรคเพื่อไทย ถ้าบอกว่าพรรคการเมืองควรเป็นที่ที่สมาชิกได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน การที่คนคนหนึ่งสามารถชี้นำให้พรรคหันซ้ายหันขวาได้ มันจะไม่กระทบการไปสู่ความเป็นสถาบันหรือ นี่ไง เราถึงต้องพูดเรื่องการจัดวาง ผมคิดว่าบทบาทการชี้นำหรือสั่งซ้ายหันขวาหัน มันไม่ควรจะเกิดขึ้นจากคนคนเดียว ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งถ้าโฟกัสเฉพาะพรรคเพื่อไทย หน้าตาของกรรมการบริหาร หัวหน้าพรรค ก็จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่า ชุดนี้ตัวจริง ของจริง และพร้อมจะขับเคลื่อนกลไกของพรรคไปได้จริง ที่ผ่านมาความจำเป็นทางการเมืองมันบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องมีบุคลากร 2 ชุด หนึ่งคือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นคนมีความสามารถแต่พร้อมจะเผชิญความเสี่ยงหากถูกยุบพรรคต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างน้อย 5 ปี กับอีกชุดคือฝ่ายบริหารในรัฐบาล ซึ่งหมายถึงตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลักๆ ที่ไม่อยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารเพื่อปลอดความเสี่ยงตรงนั้น แต่ผมว่าในสถานการณ์ข้างหน้า พรรคเพื่อไทยควรลดความรู้สึกนั้นในใจประชาชน ควรทำให้เห็นว่ากรรมการบริหารพรรคก็ของจริง ตัวจริง ควรทำให้คนเชื่อว่าการขับเคลื่อนส่วนนำของพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นจากวงกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น บทบาทหรือความรู้สึกว่านายกฯ ทักษิณคอยสั่งซ้ายหันขวาหันก็จะค่อยๆ ลดลงไป และถ้าทำให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าชุดนี้ใช่จริงๆ ทำได้จริงๆ การจัดสมดุลของบทบาทแต่ละส่วนมันจะเกิดขึ้นในที่สุด นี่เป็นความเชื่อของผมนะครับ ผิดถูกก็ต้องดูกัน
หลังการเลือกตั้ง ถ้าเพื่อไทยต้องจับมือกับประชาธิปัตย์ คุณยอมรับได้หรือเปล่า จับกันเพื่ออะไร
เช่น เพื่อสู้กับ คสช. ไม่เอานายกฯ คนนอก ผมพูดอย่างนี้ก่อน นี่ไม่ใช่เรื่องโจมตีกันทางการเมืองนะ ประชาธิปัตย์ปล่อยมือจากผู้มีอำนาจเสียก่อน แล้วค่อยมาพูดกันอีกที ส่วนตัวผม ผมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปหลายครั้ง เขาถามผมว่าเชื่อไหมว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจะจับมือกันตั้งรัฐบาล ผมบอกว่าผมไม่เชื่อ ความเชื่อของผมก็คือประชาธิปัตย์จะจับมือกันเพื่อให้ได้นายกฯ คนนอก เพราะผมยังไม่เคยได้ยินท่าทีที่ชัดเจนจากระดับนำตัวจริงของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้เลย ผมไม่เคยได้ยินคุณชวน คุณอภิสิทธิ์ ฟันธงชัดๆ ว่าไม่เอานายกฯ คนนอก ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ แม้แต่คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็พูดไม่ชัดในเรื่องนี้ เบี่ยงประเด็นว่าเป็นเรื่องอนาคต ค่อยมาว่ากันอีกที เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่ามาจับมือกันเพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย คุณต้องปล่อยมือจากเผด็จการให้ชัดเจนเสียก่อน เมื่อปล่อยมือจากเผด็จการชัดเจนแล้ว สถานการณ์ตรงนั้นจะทำยังไงให้รักษาระบบเอาไว้ได้ มาว่ากันอีกที
ส่วนตัวผม ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องสู้ให้ชนะ แล้วให้ชนะมากๆ แต่ไม่ต้องครั่นเนื้อครั่นตัวว่าต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ ชนะให้มากๆ แล้วประกาศหลักการว่ายืนยันต้องมีนายกฯ จากการเลือกตั้งเท่านั้น ผิดจากนี้เป็นตายยังไงก็ไม่เอา ให้มันชัดกันไป ประชาชนจะได้มีความรู้สึกเป็นที่พึ่งที่หวัง และจะได้ตอบคำถามที่หลายคนอยากได้คำตอบวันนี้ได้
คิดอย่างไรกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสู้ไป กราบไป และทำให้การเมืองไม่ไปไหน ทั้งอนาคตใหม่และเพื่อไทยตั้งก็ถูกโจมตีในประเด็นนี้ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่มาเป็นอนาคตใหม่ก็อาจจะเคยมองสถานการณ์ต่อสู้ด้วยทัศนะแบบนี้ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อเข้ามาสัมผัสกับข้อเท็จจริงทางการเมืองก็กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้เสียเอง ดังนั้น การยืนอยู่ในสนามกับการมองอยู่ข้างสนาม แม้จะด้วยสายตาเดียวกันคือสายตาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สภาพการณมันแตกต่าง ผมยังเห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของสังคมไทยเป็นการเดินทางไกล บางทีก็เดินก้าวยาว บางทีก็วิ่งสปริ๊นท์ได้ บางทีอาจจะค่อยๆ ย่อง ค่อยๆ คืบด้วยซ้ำไป แต่อย่าไปเร่งรัดด้วยความรู้สึกต้องสำเร็จในทันที ในวันนี้ พ.ศ.นี้ ถ้าเราเดินไปด้วยความรู้สึกอย่างนั้น ผมว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง แล้วมันจะไปเพิ่มภาระในความรู้สึกของตัวเองเสียเปล่าๆ ผมสู้มาตั้งแต่มีผมเต็มหัว เดี๋ยวนี้แทบจะไม่เหลือผมแล้ว แล้วตอนแรกๆ ผมก็มีความรู้สึกว่าทำไมไม่จบไม่สิ้นกันเสียที ทำไมไม่ชนะแบบเฮกันเต็มท้องถนน แล้วก็เดินหน้ากันไป ไม่ต้องระแวงรำคาญใจอะไรกันอีก แต่จากประสบการณ์ตรง มันสอนผมว่าเราไม่สามารถแสวงหาชัยชนะได้มากมายเกินกว่าความเป็นจริงของสถานการณ์ได้ เมื่อใดที่เราเรียกร้องชัยชนะเกินกว่าความเป็นจริงของสถานการณ์ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราหลงทางในการต่อสู้และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ผมเชื่อด้วยตัวเองอย่างถึงที่สุดว่าเรื่องนี้ไม่เสร็จง่ายๆ เป็นโครงการก่อสร้างที่ยาวนานยืดเยื้อ สำคัญว่าเราเรียงอิฐทุกก้อน เราต้องเรียงด้วยความตั้งใจ ต้องเรียงอย่างสุดความสามารถ เพราะถ้าเราทำไม่เสร็จ คนที่จะมาทำต่อ เขาจะได้ไม่มาเสียเวลาแก้ไขสิ่งที่เราทำเอาไว้แล้ว มันช้าหน่อย แต่มันชัวร์ ผมเชื่อของผมอย่างนั้น ผมอาจจะโลกสวยก็ได้ เดี๋ยวนี้เวลาเจอคนหนุ่ม คนสาว ได้เห็นสีหน้า แววตา อารมณ์ของพวกเขา ผมเข้าใจและผมก็จะพยายามให้ข้อคิดบ้าง ฝากสติบ้าง ตามแต่ที่จะทำได้ โดยไม่ไปก้าวล่วงวิธีคิดเขา เพราะว่านักสู้ยืนอยู่ในสนาม มันเท่ากัน มันไม่ได้หมายความว่าคุณอายุมากกว่า คุณมีตำแหน่งทางการเมือง มีชื่อเสียงมากกว่า แล้วคุณจะควบคุมความคิดของนักต่อสู้คนอื่นได้
จินตนาการ ความฝัน ความหวังต่อการเมืองไทย สังคมไทย ของคุณคืออะไร ผมยังอยากเห็นความแตกต่างทางความคิดอยู่ ผมอยากเห็นดอกผลของวิธีคิดแบบ นปช. แบบ กปปส. แบบพันธมิตรฯ ยังคงต่อยอดได้อยู่ เพราะนั่นเป็นคำอธิบายว่าเราอยู่ในสังคมปกติที่มีวิธีคิดแตกต่างหลากหลาย แต่ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอยู่ภายใต้หลักการที่ถูกต้อง กติกาที่เป็นสากล ชัดเจนว่าไม่มีวิธีการนอกระบบใดๆ มาโค่นล้มทำลายได้ และผมอยากเห็นทุกคน ทุกองค์กร ทุกพลังอำนาจ อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ทำในสิ่งที่ทำได้ อย่ามาอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ อย่ามาทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ ปัญหาที่เกิดมาจนทุกวันนี้เพราะบุคคลและองค์กรต่างๆ มาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ ทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ ส่วนที่เป็นหน้าที่กลับไม่ทำ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อหลักการแข็งแรง โครงสร้างแข็งแกร่ง ทุกคนถึงจะอยู่กันเป็นที่เป็นทาง ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น