โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ปีศาจทักษิณ: การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ?

Posted: 10 Aug 2018 09:46 AM PDT

"ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที..."

                                    สาย สีมา "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

 

ในทศวรรษที่ 2540 กระแสการเมืองภาคประชาชนเกิดความตื่นตัวมากขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่เพิ่มช่องทาง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และในช่วงเวลานี้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศในปี พ.ศ. 2543 – 2549 ได้มีนโยบายหลายนโยบาย เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งสร้างผลกระเทือนต่อการเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ประชานิยม (populism) ได้กลายเป็นรูปแบบที่นักการเมืองใช้ในการหาเสียงกันมากที่สุด

 

1.  ประชานิยมกับประชาธิปไตยที่กินได้

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนชนบทให้ได้มากที่สุด แทนที่จะอาศัยการแจกสิ่งของเงินทองผ่านระบบอุปถัมภ์แบบเดิม (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2552) เป็นนโยบายที่นักวิชาการต่างวิจารณ์ว่าเป็น "นโยบายเฉพาะหน้า" "นโยบายที่ฉาบฉวย" (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549; เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549) ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแต่อย่างใด ส่วนแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการทำนโยบายประชานิยมน่าจะเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมากว่าสามทศวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว คนไทยยอมรับและสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และคนส่วนมากเห็นด้วยกับการสร้างชุมชนในชนบทให้เข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศโดยอาศัยภูมิสังคม แต่รัฐบาลต้องการตองสนองต่อความต้องการของประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากเศรษฐกิจ โดยอาศัยเอาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมาปรับใช้เป็นนโยบาย เพื่อแลกกับคะแนนเสียงหรือความนิยมทางการเมืองมากกว่าของคนในชนบทและคนจนในเมือง ผ่านนโยบายที่บริหารจัดการให้เงินและผลประโยชน์จากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ไปถึงมือชาวบ้านอย่างจับต้องได้ (ดูเพิ่มใน ฉัตรทิพย์  นาถสุภา 2553ก, 2553ข, 2554) นโยบายประชานิยมนี้คล้ายนโยบายเงินผัน สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ในปี พ.ศ.2518-2519 ที่กระจายเงินเข้าสู่ชนบทให้เงินถึงชาวบ้านโดยตรง ผ่านภาคการผลิต และทำให้การจ้างงานขยายตัว เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ  ซึ่งเป็นต้นแบบของประชานิยมสมัยแรกๆ

นโยบายประชานิยม และผลงานด้านเศรษฐกิจนับเป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มาก เพราะเชื่อว่าความสามารถในการบริหารในภาคเอกชนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณประสบความสำเร็จมาแล้วจะถูกนำมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้รุ่งเรือง ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจอย่างมาก โดยได้กำหนดให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ โดยรัฐบาลพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track) ที่มุ่งใช้พลังเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส" ให้แก่ประชาชนระดับรากฐานเพื่อสร้างอำนาจซื้อในประเทศ พร้อมกับการพยายามเร่งขยายการส่งออกของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และมีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมมากขึ้น โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และโครงการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมให้ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง นโยบายที่สำคัญ อาทิเช่น

1)  พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้ รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะพักชำระหนี้ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือเลือกลดภาระหนี้ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเกษตรกรในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพของตนเองอีกด้วย โครงการนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2.3 ล้านราย เป็นยอดหนี้ หรือยอดพักชำระหนี้ประมาณ 94,000 ล้านบาท หลังจากดำเนินโครงการครบ 3 ปี พบว่ายอดหนี้ลดลง 16,000 ล้านบาท คงเหลือที่ค้างชำระ 78,000 ล้านบาท และพบว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 48 เห็นว่าตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้น และร้อยละ 46 มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น (ไทยรัฐ 2549 : 2 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 137)  และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการลดภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นมาตรการจูงใจให้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระส่งชำระหนี้คืนแก่สหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนสำหรับช่วยเหลือสมาชิกเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการนี้แม้ว่าได้ผลไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ได้สร้างโอกาสให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหาช่องทางในการประกอบอาชีพ เป็นนโยบายที่เข้าถึงเกษตรกรโดยตรง เพราะผ่านชำระผ่าน ธกส. ส่วนใหญ่ลูกค้า หรือลูกหนี้ คือ เกษตรกรรายย่อยในชนบท และในอีกแง่หนึ่งเป็นการสร้างโอกาสในเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชนบทได้มีเวลาในการหาเงินมาเพื่อชำระหนี้

2) แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตรและโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร โดยมีเกษตรกร 180,996 ราย ได้รับการช่วยเหลือโดยให้มีการแขวนดอกเบี้ยของเกษตรกรที่ยังคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 และให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาการชำระเงินต้นออกไปไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2555 โดยงดคิดดอกเบี้ย หากเกษตรกรไม่สามารถชำระต้นเงินกู้ตามกำหนด จะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่แขวนไว้ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันแขวนดอกเบี้ยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

3) ปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยรัฐบาลได้ร่วมกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ชะลอการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีกับสมาชิกเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะเสร็จ

 4) การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนาความคิดริเริ่ม รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดระบบบริหารเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านด้วยตนเอง รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นและไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนนอกระบบ และเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวแก่ประชาชนในชนบทที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย

5)  โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการที่ได้สร้างสวัสดิการพยาบาลอย่างทั่วหน้า โครงการนี้ได้ช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โครงการนี้ได้ทำให้ประชาชนจำนวน 47.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศได้เข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม และประชาชนถึงร้อยละ 95.7 มีความพึงพอใจต่อโครงการนี้อย่างสูง ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 10,634 ล้านบาทต่อปี และส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนคนจนในประเทศลดลงไปถึง 700,000 คน[1] (ไทยรัฐ 2549 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 135-136) ซึ่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่เพียงให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างทั่วถึงแล้ว ยังได้สร้างสำนึกความเป็น "พลเมือง" ที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมจากภาครัฐ ซึ่งประชาชนในชนบทส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง โครงการนี้จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของสังคมไทย  ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีโครงการรักษาฟรีสำหรับคนจน หรือการออกหน่วยแพทย์ของโครงการการกุศลของหลายหน่วยงาน แต่ก็เป็นการสงเคราะห์เป็นครั้งคราว ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลยังเกิดความแตกต่างอยู่ โดยเฉพาะคนจน มักไม่เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีพอ เพราะการเจ็บป่วยทำให้แรงงานในครอบครัวหายไปและไม่มีเงินพอที่จะรักษา แต่โครงการนี้ได้สร้างความเท่าเทียม เสมอหน้าให้คนทุกชนชั้น และเปลี่ยนความคิดจากการ "สงเคราะห์โดยรัฐ" เป็น "สวัสดิการที่รัฐควรทำ" ให้ประชาชน ทำให้ประชาชนในชนบทและคนจนเมืองชื่นชอบโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง

6)  การปฏิรูประบบราชการ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย โดยการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม และลดขั้นตอนการดำเนินงานของภาครัฐให้น้อยลง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เช่น ผู้ว่า CEO หรือการที่นักการเมืองสามารถเข้าครอบงำ สั่งการระบบราชการได้โดยตรง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ข้าราชการมีอำนาจในการครอบงำนักการเมือง[2] สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือ ระบบราชการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างดี และทำให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง เช่น "ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ประชาชนขึ้นอำเภอ เข้าโรงพยาบาล ศาลากลาง ประชาชนได้รับการบริการอย่างดียิ่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ประชาชนต้องก้มหัวให้ข้าราชการ ข้าราชการเป็นนาย แต่ทักษิณ ทำให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ประชาชน"

7)  กองทุนหมู่บ้านละล้าน เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ "ได้ใจ" ชาวบ้านมาก เพราะโครงการนี้ปล่อยกู้ให้หมู่บ้านต่างๆ ได้ถึง 80,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาทและมีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 18 ล้านราย  กองทุนหมู่บ้านเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง (เอนก เหล่าธรรมทัศน์  2549 : 136) เป็นการจัดการของคนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ เพื่อใช้ในการลงทุน หรือประกอบกิจการขนาดเล็ก ในอดีตการเข้าถึงแหล่งทุนของชาวบ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก และเงินทุนต่างๆ ต้องผ่านระบบราชการและไม่ตกถึงมือชาวบ้านอย่างแท้จริง แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการว่าไม่ก่อให้เกิดการลงทุน และพบว่ามีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่นำเงินไปลงทุน แต่พบว่ามีการชำระคืนถึงร้อยละ 94 (สมชัย  จิตสุชน 2549 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136 - 137) ทำให้โครงการนี้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความชื่นชอบ แม้ภายหลังรัฐบาลต่อมา เช่น รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ก็ดำเนินการต่อและเพิ่มเงินให้กองทุนหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งธนาคารประชาชนที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนที่สร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ต้องการประกอบอาชีพแต่ขาดแคลนเงินทุนสามารถกู้เงินได้แทนการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งดำเนินการผ่านธนาคารออมสินในการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสกู้เงินเพื่อไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตนเองได้  การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นมาตรการสำคัญที่รัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเป็นนโยบายและสามารถสร้างเป็นผลงานที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งและมั่นคงของเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนด้วยการสนับสนุนเงินทุน โดยการอนุมัติสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในการเข้าถึงแหล่งทุนโดยสามารถนำสินทรัพย์ 5 ประเภท อันได้แก่ ที่ดิน สัญญาเช่า เช่าซื้อ หนังสืออนุญาตให้ประโยชน์และหนังสือรับรองทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องจักร แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใหม่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีโอกาสที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเพื่อสร้างรายได้ ส่งผลเป็นการสร้างงานที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังได้มีการดำเนินการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และที่ดินที่ประชาชนครอบครองอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ตามแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์  2549)

ความสำคัญของนโยบายประชานิยม ประการแรก คือ นโยบายประชานิยมทำให้การแข่งขันกันทางนโยบายเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการแข่งขันทางนโยบายที่พยายามจะเป็นประชานิยมมากกว่ากันเพื่อหวังคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง ก่อนการก่อเกิดของพรรคไทยรักไทยนั้น นโยบายของรัฐบาลมักจะได้มาจากการกำหนดของเทคโนแครตหรือข้าราชการนักวิชาการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ มากกว่าที่จะมาจากนักการเมือง เมื่อมีการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย การกำหนดนโยบายเปลี่ยนโฉมหน้าไป เพราะพรรคไทยรักไทยมีนโยบายของตัวเอง สภาพัฒน์หรือหน่วยราชการอื่นที่เคยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเป็นเพียงส่วนเสริมที่คอยนำเอานโยบายกว้าง ๆ ของพรรคไทยรักไทยไปแปรเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติใช้
 

รวมทั้งรัฐบาลเองเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้วยตัวเองไม่ได้หวังพึ่งข้าราชการประจำในการดำเนินงาน แต่ได้ปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลไทยรักไทยเพื่อให้ราชการสะนองตอบนโยบาย โดยรัฐบาลเองเปรียบเสมือนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นความพยายามที่จะก้าวรุดหน้าไปกว่าระบบอำมาตยาธิปไตย โดยมุ่งหมายสยบข้าราชการระดับสูงให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลของนายกฯ ชาติชาย เริ่มกระบวนการนี้ แต่หลังจากที่ฝ่ายข้าราชการแข็งขืน รัฐบาลของนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็โอนอ่อนลง รัฐบาลภายใต้การนำของไทยรักไทยเริ่มต้นเหมือนในกรณีของนายกฯ ชาติชาย คือ เข้าแทรกแซงการเลื่อนขั้น แต่ไทยรักไทยไปไกลกว่านั้น และในขณะนี้การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายบริหาร คือเป็นเรื่องของการเมืองจริงๆ อุดมการณ์ซีอีโอท้าทายความเป็นใหญ่ของอมาตยาธิปไตย และกำหนดให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้นักธุรกิจ แทนที่จะเป็นผู้กำกับนักธุรกิจดังแต่ก่อน (ผาสุก  พงษ์ไพจิตร  2546)

ความสำคัญประการที่สองของนโยบายประชานิยม คือ เป็นการเปิดเวทีของการถกเถียงว่านโยบายประชานิยมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เนื่องจากผลกระทบโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ และนโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ได้ถูกนักวิชาการบางท่านมองว่าเป็นนโยบายที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว ในทัศนะของนักวิชาการ นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดีแต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่านโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจขึ้นจาการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ  จึงเหมาะแก่การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น
 

อย่างไรก็ดีรัฐบาลการประกาศใช้และดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนชั้นล่างในเรื่องต่าง ๆ ตามแนวนโยบายประชานิยม เป็นการเข้าไปเบียดยึดพื้นที่ทางการเมือง ทั้งของเอ็นจีโอและเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนอื่นๆ ด้วยวิธีการดึงมวลชนให้มาอยู่กับภาครัฐและกลไกตลาด เป็นการที่รัฐเข้าไปครอบงำสังคม เป็นการโดดเดี่ยวผู้นำหรือกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการปิดล้อมทางการเมืองต่อขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในการพัฒนาแบบทางเลือกและสิทธิของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรได้มากขึ้น นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ลดทอนบทบาทฐานะตลอดจนศักยภาพในการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนไปได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่ภาครัฐและฝ่ายทุนจะใช้ความรุนแรงสกัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เพราะเท่าทีผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนทั้งเพื่อดูแลชีวิตตนเองและลดฐานะการครอบงำของรัฐล้วนต้องเผชิญกับแรงต้านจากภาครัฐและบางส่วนของภาคสังคม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแรงเฉื่อยของแนวคิดแบบเอารัฐเป็นตัวตั้ง เป็นการที่ผู้นำของรัฐและชนชั้นนำทางการเมืองไม่ค่อยยอมรับสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการใช้อำนาจ ทั้งนี้เป็นเพราะกรอบความคิดของชนชั้นนำในรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมักเห็นการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มประชาชนต่างๆ เป็นเรื่องผิดกฎหมายหรืออยู่นอกระบบ

ความไม่เข้าใจและการวางเฉยของสังคมที่ไม่เดือดร้อนเป็นการบั่นทอนการเมืองภาคประชาชนเพราะมีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนที่เสียเปรียบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท กับประชาชนที่ได้เปรียบซึ่งจะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นพวกชนชั้นกลาง สภาพของชนสองกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องของการมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจิตสำนึกทางการเมืองและวิถีชีวิตตลอดจนรสนิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย

การที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ใช้นโยบายประชานิยม ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมากทำให้การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ถึง 377 คน และเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แม้ว่าภายหลังจะได้รับการต่อต้าน ประท้วงจากพันธมิตรประชาธิปไตยที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ มีการยุบสภา ฯ ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2549 พรรคไทยรักไทย ก็สามารถชนะเลือกตั้งได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อถึง 16 ล้านเสียง (อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 153-154) แสดงให้เห็นความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร และนโยบายประชานิยม

2.  ประชานิยมกับคนกลุ่มใหม่ในชนบท

แม้ว่านโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไพศาล ทั้งเกิดภาคการผลิตใหม่ผ่านนโยบาย SMEs การพักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้านละล้าน แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เกิดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ แต่ก็ได้เกิดการวิจารณ์จากนักวิชาการณ์จำนวนมาก (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136; เกษียร  เตชะพีระ  2553ก; 2553ข; ผาสุก  พงษ์ไพจิตร 2546; นิธิ  เอียวศรีวงศ์ 2549) ว่าเป็นนโยบายที่ฉาบฉวยเพื่อหาคะแนนเสียงในชนบท ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงชนบทอย่างแท้จริง ยังทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ ที่รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ในแนวดิ่ง ที่รอรับอุปถัมภ์จากรัฐเพียงฝ่ายเดียว และอาจทำให้รัฐสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล และอาจทำให้เกิดการล้มละลายของรัฐ เหมือนประเทศในแถบละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยม และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูงทำให้ไม่สนใจต่อระบบรัฐสภา เพราะตลอดที่เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การการที่เป็นพรรคเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวทำให้ตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด รวมถึงองค์กรตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง และสมาชิกรัฐสภา (ส.ว.) ต่างถูกแทรกแซงจากเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  รวมถึงนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่คอยท้วงติ่งให้ข้อเสนอแนะ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ก็ไม่รับฟัง  หรือที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2549 : 154-160, 178-184) วิจารณ์ว่าเป็น "ทรราชย์ของเสียงข้างมาก" (tyranny of the majority)

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ถูกวิจารณ์ว่าเป็นยุคที่มีการทุจริตขนานใหญ่ เป็นการทุจริตที่มีความซับซ้อน หรือ "การทุจริตเชิงนโยบาย" มี "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ของคนในเครือข่ายอย่างกว้างขว้างในหลายเรื่อง (ดูเพิ่มใน นิธิ  เอียวศรีวงศ์  2549) เช่น การที่ออกนโยบายเอื้อต่อผลประโยชน์ของบริษัทตนเอง และพวกพ้อง การจ่ายเงินใต้โต๊ะถึงร้อยละ 40 ของโครงการที่ลงทุนโดยรัฐบาล การออกหวยบนดินที่ไม่นำเงินเข้าคลังแต่กลับนำมาใช้จ่ายเพื่อโครงการประชานิยม การขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็ก (ประเทศสิงคโปร์) การซื้อที่ดินรัชดา หรือการสร้าง "อาณาจักรแห่งความกลัว" "รัฐตำรวจ" เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำให้เกิดการฆ่าตัดตอน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม การหายตัวของทนายสมชาย  นีละไพจิตร กรณีล้อมปราบที่มัสยิดกรือแซะ และหน้ที่ว่าการอำเภอตากใบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 110 คน (OK Nation  2554) เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร มักเป็นผู้ผูกขาดการเสนอญัตติสาธารณะแต่ผู้เดียว (นิธิ  เอียวศรีวงศ์  2549 : 227-233) โดยไม่รับฟังข้อท้วงติง และห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์ "สนธิ" หรือ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือ "คนเสื้อเหลือง" ที่ชุมนุมประท้วง โจมตีทักษิณว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[3] 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทักษิณถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง คือ ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ของพันตำรวจโท ทักษิณ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ให้แก่บริษัทเทมา เส็ก โฮลดิ้ง จำกัด  (พีทีอี) ทักษิณได้ชี้แจงว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการขายหุ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกรณีดังกล่าว รวมทั้งการไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กระแสการขับไล่ ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ท่ามกลางการกดดันจากหลายฝ่าย ในท้ายที่สุดรัฐบาลต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน ที่ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยบางคนถูกกล่าวหาว่าได้จ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปก.)[4] ได้ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549[5] เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร

แม้ภายหลังพรรคไทยรักไทยจะถูกรัฐประหาร และต่อมาตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ  จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ความคุ้มครองของ คมช. มีเวลาบริหารประเทศอยู่ปีเศษ[6] และมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายจังหวัด แต่การเลือกตั้งในปี 2551 พรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้ง มีนายสมัคร  สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาตามลำดับ ภายหลังมีการยุบพรรคนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำเนินนโยบายเพื่อเอาใจประชาชนมากมาย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี เพิ่มเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รถเมย์ฟรี รถไฟฟรี ค่าไฟฟรี[7] ฯลฯ ก็ไม่สามารถชนะเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ได้  พรรคเพื่อไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ให้การสนับสนุนมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคสามารถชนะเลือกตั้งเกินครึ่งถึง 265 เสียงจาก 500 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ อดีตได้นายกรัฐมนตรีได้เพียง 159 เสียง แม้ภายหลังจะเกิดการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาถึงทุกวันนี้ (สิงหาคม 2561) แต่ก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะตระหนักดีว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งเดี่ยวที่เขาเหล่านั้นควบคุมไม่ได้ แม้จะทำให้ทักษิณและยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าแม้มีความพยายามทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร และเครือข่าย หรือ "ระบอบทักษิณ" ด้วยวิถีทางต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำลายความนิยมต่อนโยบายและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ได้

นโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมิติใหม่ทางการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ หันมาต่อสู้เชิงนโยบาย แทนการอิงกับตัวบุคคล  การต่อสู้เชิงนโยบายทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการต่อรองกับนักการเมืองมากขึ้น รวมถึงทำให้นักเลง เจ้าพ่อ ผู้อุถัมภ์ท้องถิ่นลดอิทธิพลลง และทำให้เกิดชนชั้นใหม่ที่มี "สำนึกทางการเมือง" ในการมีส่วนร่วมกับรัฐในหลายมิติ ทำลายมายาคติ  "โง่ จน เจ็บ" ที่คิดว่าประชาชนในชนบทตั้งรัฐบาล และชนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล (เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2552ก) แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง "ชาวชนบท" จำนวนมากมิได้จำยอมให้ "ชนชั้นกลางในเมือง" ล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตั้งได้เช่นในอดีต เช่น เกิดคาราวานคนจน ที่ชุมนุมที่สวนลุมพินี เพื่อสนับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร และในการเลือกตั้งทั้งในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 ก็ได้ให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทยอย่างท้วมท้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้"

การขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "สนธิ" หรือ "เสื้อเหลือง" ที่ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร โดยคนเสื้อเหลือง คือ คนระดับกลางหรือสูงกว่าเป็นคนที่ทำงาน "ในระบบ"  หรือมีสถานะและการศึกษาที่สูง (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) หลังรัฐประหารได้เกิดกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร หรือ "คนเสื้อแดง" โดยขบวนการของคนเสื้อแดงเป็นขบวนการข้ามชนชั้น (อภิชาติ  สถิตนิรามัย  2556) เป็นคนชั้นกลางในชนบท (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2553; 2554) เป็นชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง (Keyes  2553) ฯลฯ เกษียร เตชะพีระ (2555) ให้คำจำกัดความว่า "...หลังจากก่อหวอดสะสมฐานภาพทางเศรษฐกิจสังคมและบ่มเพาะความสุกงอมทางวัฒนธรรมการเมืองอยู่ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทมานานปี กลุ่มชนผู้กลายมาเป็นคนเสื้อแดงก็ปรากฏตัว บนเวทีการเมืองมวลชนอย่างค่อนข้างกะทันหันโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร คปค. พ.ศ.2549 และเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายจนกลายเป็นเครือข่ายการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับชาติที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น เหนียวแน่น ทนทายาด ชนิดที่แม้จะถูกกองกำลังความมั่นคงของรัฐปราบปรามอย่างหนักในปี 2552-2553 แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นพลัง ฐานเสียงผลักดันให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เพียงแค่หนึ่งปีให้หลัง ชั่วแต่ว่าที่ผ่านมาเครือข่ายขบวนการคนเสื้อแดง/นปช.มีสถานะเสมือนหนึ่ง "ลูกกำพร้า" ทางอุดมการณ์และการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย คือเชื่อมต่อไม่ค่อยติดกับขบวนการต่อสู้ใหญ่ๆ ในอดีต ไม่ว่าขบวนการ 14 ตุลาคม 2516, ขบวนการพฤษภาประชาธิปไตย 2535, หรือขบวนการปฏิวัติของ พคท. พูดให้ลงตัวชัดเจนยากว่าตกลงคนเสื้อแดงสืบทอดอุดมการณ์และภารกิจทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ใดในอดีตของไทย พวกเขามีที่มาที่ไป ที่อยู่ที่ยืนสืบทอดต่อเนื่องตรง ไหนอย่างไรในกระแสธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย ในอันที่จะทำให้พวกเขาปักป้าย ยึดครองพื้นที่และประกาศฐานที่มั่นอันชอบธรรมของตนได้ในจินตนากรรม "ชาติไทย"/"ความเป็นไทย" ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และความทรงจำ...จนกระทั่งความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ความขัดแย้ง การตีความประเด็นข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโครงสร้างการบริหารบ้านเมือง และการจำแนกฝั่งแยกแยะฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยเริ่มตกผลึกชัดเจนขึ้นหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2554 ผ่านการรณรงค์เคลื่อนไหวของปัญญาชนนักวิชาการกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 2549 เรียกร้องความยุติธรรมแก่ผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บล้มตาย และข้อเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ฯลฯ คนเสื้อแดงจึงพบความหมายนัยแห่งอุดมการณ์ และภารกิจการต่อสู้ของตนและเลือกตีความแบบ "นับญาติ" กับการอภิวัฒน์ 2475" การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการสืบทอดเจตนาของคณะราษฎร และขบวนการเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไพศาลในสังคมไทย (ดูเพิ่มใน อภิชาติ  สถิตนิรามัย 2553; 2556; ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี และคณะ 2553) "หน่ออ่อนประชาธิปไตย" ได้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนในอดีตไม่คุ้นชิน โดยฐานการเมืองที่สำคัญเป็นพื้นที่ชนบท และชุมชนจนเมือง และ "ที่สำคัญคนชั้นกลางเมืองไม่อาจผูกขาดความต้องการเสรีภาพ การสร้างเส้นสาย ธรรมาภิบาล ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตยอีกต่อไป ปะชาชนคนอื่น ๆ จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าชนบท หรือกึ่งชนบท หรือกึ่งเมืองก็ต้องการสิ่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชั่วหนึ่งอายุคนที่ผ่านมาจึงได้สร้าง "วัฒนธรรมของความเสมอหน้า" ขึ้นมาด้วย ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับการเมืองแบบเก่าซึ่งคนชั้นกลางมีการศึกษาสูงเป็นผู้กำหนดหรือพยายามกำกับอีกต่อไป" (ผาสุก  พงษ์ไพจิต 2555)

3. สรุป

ท้ายที่สุดเราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงรัฐประหาร (2557) ที่ผ่านมาคนจนและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐและทุนจำนวนมากสร้างอำนาจต่อรองโดยการใช้การเมืองภาคประชน  ผ่านการเดินขบวนประท้วงในรูปของเครือข่ายปัญหาต่าง ๆ เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ/ภาคอีสาน/ภาคใต้[8] แม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้บ้างไม่ได้บ้างก็ถือว่าเขาเหล่านั้นมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐในระดับหนึ่ง แต่ภายใต้รัฐประหารเราพบว่ารัฐได้ใช้อำนาจเผด็จการในการเข้ารุกไล่ กวาดปราบผู้คน โดยเฉพาะคนจนอย่างหนักหน่วง อาทิการเชิญ(บังคับ)แกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดินภาคใต้เข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือการขนย้ายอุปกรณ์สำรวจน้ำมันโดยการอำนายการของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดขอนแก่น การใช้ความรุนแรงโดยการลอบทำร้ายจนแกนนำเสียชีวิต[9]

ความรุนแรงต่อคนยากคนจน[10] ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภายใต้เงื่อนไขที่เขาเหล่านั้นมีอำนาจต่อรองน้อย แม้แต่การชุมนุมประท้วงก็ได้รับการห้ามปรามจากกฎอัยการศึก การเข้ามาขัดขวางของเจ้าที่รัฐในระดับต่าง ๆ เสียงของคนจนที่เคยเปล่งผ่านการเมืองภาคประชน ผ่านสองเท้าที่เข้ามาประท้วงเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐ และสร้างความเข้าใจต่อสังคมก็ถูกรัฐเผด็จการยึดไป ในห้วงเวลานี้อำนาจต่อรองของคนจนจึงจำกัดจำเขี่ยอย่างถึงที่สุด

การแก้ไขปัญหาคนจนของรัฐเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพ คือ "ประชานิยมสิ้นคิด" เช่น ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 2,422 บาท/คน/เดือน หรือ 29,064 บาท/คน/ปี ขึ้นรถเมล์รถไฟครึ่งราคา นโยบายประชารัฐต่าง ๆ[11] ซึ่งมาตรการข้างต้นยากจะปฏิบัติเพราะจะทราบได้อย่างไรว่าใครมีรายได้เท่าไหร่  รวมถึงมาตรการดังกล่าวมิได้เพิ่มอำนาจการต่อรองให้คนจน แต่เป็นการซ้ำเติมให้คนจนตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ให้อยู่ภายใต้การสงเคราะห์ของคนอื่น/หรือรัฐ การกระทำข้างต้นยิ่งทำลายศักดิ์ศรีของคนจนลงอย่างน่าใจหาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" สัมพันธ์กับการพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่เน้นการพัฒนาเมือง และทอดทิ้งชนบท  ทำให้ช่องว่าคนรวยกับคนจน ชนบทกับเมือง การเข้าถึงทรัพยากรอย่าไม่เท่าเทียม ฯลฯ ถ่างกว้างขึ้น เมื่อมีนโยบายประชานิยมที่เอื้อต่อคนชนบท ทำให้เกิดสำนึกความเป็น "เจ้าของประเทศ" ที่ทุกคนมีส่วนในประเทศนี้มิใช่แต่คนรวย หรือคนชั้นกลางเท่านั้นที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของประเทศ  แม้ภายหลังมีการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างเอาจริงเอาจังจาก "คนเสื้อแดง" ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ทำให้คนกลุ่มนี้มีสำนึกทางการเมืองใหม่ ที่เชื่อมั่น ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ รวมถึงเชื่อว่าระบอบนี้สร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมให้คนในสังคมไทย ต่อต้าน "สองมาตรฐาน" "อำมาตย์" ซึ่งแตกต่างจาก "ไพร่" (คำนิยามตัวตนของคนเสื้อแดง) เป็นชุดวาทกรรมของความไม่เท่าเทียมในสังคม  ความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลานี้ได้ทำให้เกิดสำนึกทางการเมือง สำนึกความเป็นพลเมืองอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

จากสถานการณ์ดังกล่าวเราจะตอบได้ว่าทำไมคนถึงเรียกร้องหา "ปีศาจทักษิณ" "ประชา(นิยม)ธิปไตยที่กินได้"  เพราะรัฐประหารไม่อาจทำให้คนเท่ากัน เสมอหน้า และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลับมุ่งแต่สร้างรัฐสังคมสงเคราะห์ที่ทำให้คนตกเป็นไพร่ข้ารอความเมตตา และรียกทวงบุญคุณอยู่ร่ำไป ทั้งที่เขาเหล่านั้นก็คือเจ้าของประเทศแต่ไม่มีสิทธิในประเทศนี้อย่างที่มีที่เป็นใน "รัฐ" รัฐประหาร

 

อ้างอิง

เกษียร  เตชะพีระ.  (2537).  จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน: คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดย

รัฐไทย.  กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ.

______.  (2547).  บุชกับทักษิณ ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน. กรุงเทพฯ : โครงการ

จัดพิมพ์คบไฟ.

______.  (2553ก).  สงครามระหว่างสี : ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ.  กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.

______.  (2553ข).  สงครามระหว่างสี : ในคืนวันอันมืดมิด.  กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  (2553ก).  เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตพิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

______.  (2553ข).  การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชนกรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

______.  (2554).  แนวคิดเศรษฐกิจชุมชน ข้อเสนอทางทฤษฎีในบริบทต่างสังคม.  พิมพ์ครั้งที่ 4. 

กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

นิธิ  เอียวศรีวงศ์.  (2541).  วัฒนธรรมความจน.  กรุงเทพฯ: แพรว.

______.  (2549).  วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณกรุงเทพฯ : มติชน.

______.  (2552).  รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง.  กรุงเทพฯ: มติชน.

______.  (2553).  การเมืองของเสื้อแดง.  กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์.

______.  (2554ก). บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน

______.  (2554ข).  เบี้ยไล่ขุน.  กรุงเทพฯ : มติชน.

ประภาส ปิ่นตบแต่ง.  (2541).  การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์

การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย.  ต้นตำรับ.

ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี.  และคณะ.  (2553).  พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของ

ชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ : รายงานวิจัย.  เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร(2546).  ประชาธิปไตย ประชาสิทธิ ประชาธรรม.  ปาฐกถานำในการสัมมนา

ประจำปี ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ

______.  (2555).  [ออนไลน์].  "ผาสุก"ชี้ ปรากฏการณ์ Arab Spring ลามทั่วโลก ถึงเวลา"

วัฒนธรรมของความเสมอหน้า".  สืบค้น 15 สิงหาคม 2555

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345041454&grpid=03&catid&subcatid

อภิชาต  สถิตนิรามัย.  (2553).  เสื้อแดงคือใคร: ม็อบเติมเงิน ไพร่ หรือชนชั้นกลางใหม่กับทางแพร่งของสังคมไทย.  ใน   Red Why: แดงทำไม.  กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.

______.  (2553).  รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อภิชาต  สถิตนิรามัย  ยุกติ มุกดาวิจิตร นิติ  ภวัครพันธุ์.  (2556).  ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. 

เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์.  (2536).  "ม็อบมือถือ" ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย.  กรุงเทพฯ : มติชน.

______.  (2543).  การเมืองของพลเมืองพิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: คบไฟ.

______.  (2549).  ทักษิณา-ประชานิยมกรุงเทพฯ: มติชน.

______.  (2550ก).  ประชาธิปไตยท้องถิ่น : แง่คิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.

______.  (2550ข).  การเมืองของพลเมืองสู่สหัสวรรษใหม่.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

______.  (2552ก).  อภิวัฒน์ท้องถิ่น : สำรวจทฤษฏีการเมืองเพื่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นฐานใหม่ของ

ประชาธิปไตย.  กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

______.  (2552ข).  สองนคราประชาธิปไตย.  (พิมพ์ครั้งที่ 7).  กรุงเทพฯ: คบไฟ.

______.  (2552ค). แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน: สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Keyes, Charles. (2010).  "Cosmopolinta"  Villagers and Populist Democracy in Thailand. Paper

to be Presented at Conference.  on Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia May 13-15, 2010, Chiang Mai: Thailand.

OK Nation.  (2554). 

ทักษิณ!!!!.."กรือเซะ ๓๒ ศพ" " ตากใบ ๗๘ ศพ" "ฆ่าตัดตอนยาเสพติด ๒๕๐๐ ศพ" ใคร??? สั่ง!!!! "ฆ่าประชาชน".  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2555.  จาก  http://www.oknation.net/blog/kongplod/2011/06/22/entry-2

 

 

 

[1] ข้อมูลเมื่อปี 2549 เป็นข้อมูลล่าสุดของโครงการนี้เพราะต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงการนี้เป็นรูปแบบอื่น เช่น รักษาฟรี ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้สร้างความแตกต่างจากโครงการเดิมของรัฐบาลไทยรักไทยมากนัก ถึงแม้ว่าจะมีการวิจารณ์โครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ฉาบฉวย และไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และไม่พัฒนาให้ครอบคลุมกว้างขวาง แต่ว่าในทางตรงกันข้ามกับสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการเข้าถึงระบบสาธารณสุขไทยอย่างกว้างขวาง

[2] ในอดีตนโยบายต่างๆ ล้วนเกิดจากข้าราชการเป็นผู้เสนอให้รัฐมนตรี หรือนักการเมือง ทำให้ข้าราชการ หรือพรรคราชการเป็นผู้มีอิทธิพล และครอบงำทิศทางการพัฒนาสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้แนวคิดเรื่องราชการกำหนดทิศทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เพราะในสมัยรัฐบาลนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวข้าราชการอย่างขนานใหญ่ มีการใช้แนวคิดการบริหารแบบเอกชนมาใช้ในระบบราชการเพื่อสนองนโยบายทางการเมือง

[3] ข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและสร้างผลกระเทือนในวงกว้างอย่างยิ่ง และเป็นข้อหาที่สร้างความกดดันให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างมาก เพราะมีการเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย เช่น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกบรรยายตามโรงเรียมเตรียมทหาร ตำรวจ รวมถึงการกดดันจากราชนิกุล เป็นต้น

[4] ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

[5] ในที่นี้มิได้ต้องการอธิบายการเมืองในช่วงเวลานี้ แต่เพื่อเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในหลายๆ มิติ และทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองที่เรียกว่า "คนเสื้อแดง"  ที่เกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวาง

[6] เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24  เมื่อวันที่  1 ตุลาคม 2549  นายสมัคร  สุนทรเวช เป็นนายกคนที่ 25 เมื่อวันที่ 29 มกราคม - 9 กันยายน 2549

[7] ในส่วนของ 3 นโยบายหลังเป็นนโยบายที่สืบเนื่องมาแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และมีการปฏิบัติใช้มาถึงปัจจุบัน แม้ว่ามีการลดขนาดลงเช่นค่าไฟที่ไม่ให้เกิน 50 หน่วย/1 มิเตอร์ (2555)

[8] ดูเพิ่มใน,  ประภาส ปิ่นตบแต่ง  การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย  ต้นตำรับ, 2541.

[9] ดูเพิ่มใน,  สมัชชาคนจนประณามความรุนแรงต่อคนจนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน  เว็บไซด์ ประชาไท วันที่  14 กุมภาพันธ์ 2558 (http://prachatai.org/journal/2015/02/57930)

[10] การแก้ไขคนจนในประเทศ ไม่มุ่งปรับโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพยากรที่มีการเสนอมาอย่างยาวนาน เช่น การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีมรดก การจำกัดการถือครองที่ดิน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่สิ่งรัฐทำเป็นการแก้ไขปัญหาไปวัน ๆ ที่ไม่อาจทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้

[11] ไทยรัฐออนไลน์   รัฐจ่อออกบัตรตีตรา "คนจน" มีรายได้ 2,422 บาทรับสิทธิ์ลดค่าโดยสาร   12 กุมภาพันธ์ 2558 (http://www.thairath.co.th/content/480643)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: แม่

Posted: 10 Aug 2018 09:22 AM PDT

ใครกันต้นคิดจิตต่ำต้อย
ให้วันนี้เด็กนับร้อยมากราบแม่
วางมาลัยมะลิขาวราวดวงแด
น้ำตาไหลอนาถแท้วันแม่ไทยฯ
.........
ใครกันต้นคิดจิตต่ำต้อย
ให้เด็กนับร้อยต้องร่ำไห้
แม่ไม่มี-มีเพียงภาพจะกราบใคร
กราบโอ่งกราบไหอยู่กับบ้านสงสารนักฯ
.....
พิธีกรรมชำแรกแทรกแต่เศร้า
งมงายอบายเขลาที่ครอบหนัก
ให้หัวตกต้องตีนนั้นกลิ่นรัก
อวดประจานผลาญประจักษ์ว่ารักงามฯ
.......
เด็กกี่พันฝันโพ้นตะโกนหา
ว่าในนามมนุษย์สุดจะถาม
ความรักของแม่แม้ในนาม
ก็ยอกหนามกลัดเนื้อเชือดเถือใจฯ
......
แม่หนูอยู่ไหน..หนูไม่รู้
วันนี้แค่คุณครูให้หนูไหว้
หนูไม่อยากมีวันนี้-ไม่มีใคร
หนูต้องร้องไห้อีกกี่ครั้ง...เลิกฝังจำฯ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: กกต.เละ สนช.เลอะ

Posted: 10 Aug 2018 09:05 AM PDT

กกต.คัดเลือก 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถูกวิจารณ์เละว่าตั้งอดีตพนักงานและคนใกล้ชิด สนช.ไม่พอใจ ครูหยุยตำหนิว่าทำน่าเกลียด โดยมารยาทควรรอ กกต.ชุดใหม่

งั้นทำไง สนช.ก็คิดจะใช้อำนาจนิติบัญญัติ แก้กฎหมาย กกต. กำหนดวิธีสรรหาใหม่ ล้างไพ่ โละ 616 คนไปเลย

แหม่ สำคัญตัวเองผิด คิดว่าเป็น คสช.หรือไง จึงจะออกคำสั่งเป็นกฎหมาย แก้กฎหมายได้ตามอำเภอใจ แบบแก้พ.ร.ป. พรรคการเมืองก็ยังได้ หรือ ครม.ออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวไปแล้ว พอ SME โวยว่าจะวอดวาย ก็ใช้ ม.44 ยับยั้งไว้

กรธ.เขียนกฎหมายให้เลิก กกต.จังหวัด แล้วมีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน วาดหวังจะได้คนดีไม่มีคอนเน็กชั่น แบบ ร.ต.อ.ปลอมตัวมาจับผู้ร้าย โดยให้ตั้งผู้ตรวจการไว้จังหวัดละ 8 คน เมื่อไหร่มีเลือกตั้ง ก็จับสลากให้อยู่จังหวัดตัวเอง 2 คน ที่เหลือจับสลากไขว้ เหาะข้ามไปข้ามมา เช่นผู้ตรวจเชียงราย อาจได้ไปสอดส่องสตูล อย่างนี้เป็นต้น

ก็ฟังเหมือนมีเหตุผล ดีกว่า กกต.จังหวัดแต่เดิมมา ที่บอกว่าอิสระ เป็นกลาง สุดท้ายส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ มหาดไทย ตำรวจ เพราะ กกต.ต้องพึ่งพิงขอกำลังจัดเลือกตั้ง

กระนั้นก็มีข้อท้วงติง ว่าการส่งคนดีมิรู้อีโหน่อีเหน่ข้ามถิ่น จะได้ผลแค่ไหนกัน จริงหรือที่ว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มหาดไทย ไม่เป็น กกต.จังหวัด แล้วจะเป็นกลาง เลือกตั้งโปร่งใส

สนช.ผ่านกฎหมาย โดยให้ กกต.ออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเอง กกต.ก็ทำเหมือนตอนคัดเลือก กกต.จังหวัดนั่นแหละ ไม่ยักมีใครท้วงติง กรรมการคัดเลือกได้แก่ ผู้ว่าฯ เป็นประธาน อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ ประธานสภาทนาย องค์กรเอกชน สภาองค์กรชุมชนตำบล และภาคธุรกิจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคาร เลือกกันเองเหลือ 1 คน แต่ละจังหวัดคัดผู้สมัคร 16 คน ส่งชื่อให้ กกต.เลือกเหลือ 8 คน

คุณสมบัติก็ตามกฎหมายกำหนด ไม่ใช่ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใน 5 ปี ไม่มีพ่อแม่ลูกผัวเมียสมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น อายุระหว่าง 45-70 ปี

ผลที่ได้ก็ตามคาด คือส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ อย่าง ผู้ตรวจ กทม. 8 คน อายุ 61-69 ขวบ อ้าว ก็คนมีงานมีการ ทำที่ไหน จะมาสมัครเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งทำหน้าที่แค่ 2-3 เดือน แม้ได้เงินเดือน 50,000 รวมเบี้ยเลี้ยงค่ารถค่าที่พักแสนกว่า ก็มีแต่คนเกษียณหรือคนรับเบี้ยสูงวัยเท่านั้น

ในจำนวนนี้มีบ้าง ที่เป็นพนักงาน กกต.เกษียณ แต่ว่าตามเนื้อผ้า ก็เป็นอย่างที่อดีต กกต.สมชัยพูด คือ กกต.ชุดไหนเลือกคงไม่ต่างกัน เพียงแต่ กกต.ชุดนี้ "ไม่ฉลาด" เปลืองตัว น่าจะรอให้ชุดใหม่เลือกดีกว่า เพราะถ้าทำงานไม่ได้ผล กกต.ชุดนี้ก็จะเป็นแพะ โดนโทษว่าทิ้งทวน

ถ้ามีข้อข้องใจ ก็คือตอนตั้งกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด เงียบเชียบมาก สาธารณชนไม่มีส่วนร่วมรับรู้ องค์กรเอกชน สภาองค์กรชุมชน หอการค้า ฯลฯ ส่งใครไปเป็นกรรมการ ใครสมัครบ้าง ล็อกโผกันไหม เกรงใจผู้ว่าฯ หรือเปล่า 16 คน กกต.เอาใครทิ้งไป 8 คน

แต่พอ สนช.จะแก้ ก็ไปโละสภาทนาย องค์กรเอกชน สภาองค์กรชุมชน (ไอ้พวกนี้เป็นคนของนักการเมืองหรือไง) ให้ผู้ว่าฯ ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และ ผอ. กกต.จังหวัด คือข้าราชการกับนักธุรกิจ คัดเลือกผู้ตรวจการขั้นต้น

ตลกไหม ก็แค่ไม่พอใจแต่ทำอะไรไม่ได้ อยากล้มโต๊ะ ก็เลยจะรื้อกฎหมาย ทั้งที่ตัวเองร่างไปกับมือ ให้อำนาจ กกต.แล้วจะเอาคืน

ไม่รู้ใครไม่ฉลาดไม่มีมารยาทมากกว่ากัน แถมกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จ ต้องประชาพิจารณ์ ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ คงได้เลื่อนเลือกตั้งอีกที

ถามจริง อยากได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งดีวิเศษ เลิศลอย จากสวรรค์วิมานที่ไหนกัน ทั้งที่ให้ใครเลือก ก็ไม่น่าต่างกัน คือได้ข้าราชการเกษียณเป็นส่วนใหญ่ แล้วใครบ้างในโลกนี้ที่ไม่มีคอนเน็กชั่น สนช.ที่แต่งตั้งกันมา จะปฏิเสธหรือว่าไม่มีคอนเน็กชั่นกับอำนาจปัจจุบัน

วิธีคิดเรื่องการสรรหาคนเป็นกลาง เป็นอิสระ ปลอดการเมือง เป็นวิธีคิดของสังคมล้าหลัง งมงายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ความเป็นจริงอยู่ในโลกทุนนิยม

พอบอกให้หาคนปลอดการเมือง ก็หนีไม่พ้นพรรคราชการ ผู้คุมอำนาจตัวจริง แถมส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนเกลียดการเมือง มองการเลือกตั้งในแง่ลบ แบบชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ ถูกล่อใจด้วยประชานิยม ต้องแก้ไขด้วยไทยนิยมประชารัฐ

เอาเข้าจริงก็ไม่มีหรอก องค์กรอิสระที่เป็นกลาง มีแต่เข้าข้างพรรคราชการ เข้าข้างอำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้ง และจะเสื่อมให้เห็นอย่างรวดเร็ว เพราะแย่งกันเป็นผู้วิเศษนี่เอง

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1427102

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ครรลองของสามัญชน?

Posted: 10 Aug 2018 08:58 AM PDT

ร่างเงาไหวในท้องถนนคนสามัญ               สารพันวิ่งตามความฝันใฝ่

ความหวังยังมียึดอีกอึดใจ                 ให้ก้าวไปในสุขทุกข์ยุคขายค้า

ข่าวคราวของผองเพื่อนทุกข์คุกขังอยู่          หลังต่อสู้ขันแข่งแสวงหา

เกาะลูกกรงส่งแค่นยิ้มอิ่มเต็มหน้า                  แต่ทว่าน้ำตาบ่าตกใน

 

เป็นเพื่อนรวมร่วมชาติญาติทั้งผอง          เป็นพี่น้องในจำนงอสงไขย

เกิดมายุค ยุติธรรมให้ทำใจ            ยุคสมัยใครฉลาดกวาดฝากแบงค์

ทำมาหากินอยู่งันงกตกทุกกระป๋อง          ตามัวมองไม่ทันการขันแข่ง

เขาฉลาดกวาดกอบโกยเราโรยแรง         แถมถูกแย่งอธิปไตยอะไรกัน

 

อธิปไตยอะไรหนอต้องต่อสู้          แย่งยื้ออยู่อย่างยากอยากหยามหยัน

ตกกระป๋องต้องมโนโธ่ช่างมัน               คนพวกฉันฝันและใฝ่ไร้ราคา

เพื่อนร่วมชาติชีวิตร่วมพิษภัย          จะหนีไปพ้นทุกข์ที่ไหนให้อ่อนล้า

เคยพอเพียงเลี้ยงอุทรแต่ก่อนมา            เดี๋ยวนี้นาขายใช้หนี้ไม่มีแล้ว            

 

ยุคที่ลับลวงพรางช่างซับซ้อน     ยิ่งยอกย้อนซ่อนเงื่อนเกลื่อนเศษแก้ว

มีกระป๋องให้ต้องตกรกเป็นแถว                เป็นยุคแมวหมาเร่พเนจร

พเนจรไปในพื้นที่ของ ซีพี                  สิริวัฒนภักดี ที่หลอกหลอน

หลายแสนไร่ไทยแลนด์แสนอาทร           ราษฎรอ่อนแอแห่เข้าเมือง

ไปอยู่ตามที่ปกปิดสิทธิมนุษย์                 อุตลุดสูงต่ำกำลังเครื่อง

พรหมลิขิตขีดเขี่ยเรี่ยรุ่งเรือง     ความฝืดเคืองเรื่องคุ้นไยไม่ไคลคลา

สงสารสาวๆ ผิวขาวผ่อง                     เป็นน้องๆ นั่งตู้เธอสู้หน้า

ต้อนรับหนุ่มๆ แม้แก่ชรา                    ทั่วโลกามาท่องดูท้องเธอ

 

ท้องที่กิ่วหิวข้าวของสาวเจ้า               นั่งจับเจ่าจิตตกอกอุ่นเอ๋อ

ไม่รู้ว่าสารพัดจัดให้เจอ          เฝ้าชะเง้อเหมือนเซ่อซ่ามองหามิตร

มิตรที่มีความเป็นมิตรจิตไม่ตก                    รู้นรกขุมนี้ที่เธอติด

มิตรที่เธอเฝ้ารอก็น้อยนิด                    มีแต่คิดปิดห้องดูท้องเธอ

มิตรที่แท้แพ้พ่ายภายใต้ยุค                    ต้องติดคุกไปนะซีีคุกมีเกร่อ

สามแสนกว่าคนล้นคุกแล้วแว่วเสียงเพ้อ     ร้องเอ้อเฮอโฮไห้ในทุกข์ทน

คุกที่มีจุไปได้แค่แสน                    จึงนองแน่นอัดออหนอหมองหม่น

ขายยามาอันดับรับอับจน               รองมาปล้นร้านเซเว่นเห็นบ่อยเอย

                           

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไปให้ไกลกว่าเขื่อนแตก: เสวนาสะท้อนทุน การเมือง ความจำเป็นกรณีเซเปียน-เซน้ำน้อย

Posted: 10 Aug 2018 07:07 AM PDT

ตัวแทนนานาชาติร่วมถอดบทเรียนเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกที่ลาว ชี้ กระบวนการสร้างเขื่อนน่าสงสัยตั้งแต่ร่วมทุนถึงกระบวนการก่อสร้าง กฟผ. มีบริษัทลูกเป็นคู่ค้าถึง 9 จาก 11 โครงการทั่วลาว เปิดสถิติการใช้ไฟฟ้าไทย ผลิตได้มากกว่าที่ใช้สูงสุดหลายพันเมกะวัตต์ รายงานกรรมาธิการน้ำโขงเผย อีก 22 ปี เขื่อนให้ประโยชน์แค่นายทุน ประมง กสิกรรมเสียหายหนัก

ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว

เหตุการณ์เขื่อนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมากกลายถูกสปอตไลท์ของประชาคมโลกสาดส่องในฐานะแท่นบูชายัญของโครงการพัฒนาของประเทศที่หวังจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชนในประเทศ

แม้สายธารของความช่วยเหลือทั้งเรื่องปัจจัยยังชีพและการกู้ภัยจะมีจำนวนมาก แต่ปมปัญหาที่ต้องสะสางเพื่อไปให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการไปกู้ภัยและช่วยเหลือทุกครั้งคือกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและข้อกังขาเรื่องการร่วมทุนของบริษัท ไปจนถึงคำถามในทางหลักการว่า เอาจริงๆ แล้วเขื่อนผลิตไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้วหรือยัง เพราะนับจากปี 2479 ที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกกำเนิดขึ้นที่สหรัฐฯ (เขื่อนฮูเวอร์) มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 82 ปีแล้ว

เมื่อ 9 ส.ค. 2561 มีการจัดเวทีเสวนาประชาชนหัวข้อ "เขื่อนในลาว (แต่) ไม่ใช่เขื่อนลาว บริษัทเกาหลี การไฟฟ้าไทย และเงินช่ว่ยเหลือข้ามชาติในธุรกิจเขื่อนที่แตกพัง" โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (Laos Dam Investment Monitor [LDIM]) ได้มีการพูดถึงเส้นทางการเงินและการรวมกลุ่มทางธุรกิจในระดับรัฐและเอกชนและส่งผลกระทบมายังประชาชนใต้เขื่อนในท้ายที่สุด และผลกระทบบนแม่น้ำนานาชาตินั้นส่งผลกระทบข้ามพรมแดนแบบไม่ต้องกรอกวีซ่าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง

ซ้ายไปขวา: เปรมฤดี ดาวเรือง สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี วิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ โซยอนคิม นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เมียด เมียน

เวทีเสวนาได้เชิญเมียด เมียน นักเคลื่อนไหวที่ลงพื้นที่ในลุ่มน้ำเซกอง เซซานและสเรป็อกในกัมพูชา หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักเชียงของ ผศ.โซยอน คิม สถาบันโซกังเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยโซกัง เกาหลีใต้ วิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นวิทยากร โดยมีจากประชาสังคมทั้งจากไทยและลาว ผู้แทนสถานทูต ผู้แทนบริษัทเอกชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

เส้นทางการเงินไทย-เกาหลีใต้สู่ลาว จากโครงการพัฒนาสู่วินาศกรรม 

โซยอนคิม นำเสนอประเด็นเงินสนับสนุนจากเกาหลีที่ไปลงทุนในเขื่อนลาวว่า ปัจจัยหลักที่เน้นย้ำมีสามประการ หนึ่ง โครงการพัฒนาเหล่านี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน แนวนโยบายของเกาหลีที่ต้องการเปิดตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคำถามสุดท้ายคือ วินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นธุระของเกาหลีจริงหรือ

เธอเล่าต่อไปว่า เงินทุนสร้างเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยมาจากการร่วมทุนระหว่างสี่บรรษัทได้แก่ เอสเค เอนจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด บริษัทโคเรียเวสเทิร์นพาวเวอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทรัฐวิสาหกิจลาว จดทะเบียนภายใต้กิจการร่วมค้าชื่อบริษัทพลังงานเซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (The Xe-Pian Xe-Namnoy Power Co., Ltd. - PNPC)

แผนภาพจากสไลด์ของโซยอนคิม

เกาหลีใต้เริ่มให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาในต่างประเทศในฐานะเครื่องมือทางการทูตผ่านการช่วยเหลือธุรกิจของเกาหลีในต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2541 สมัยประธานาธิบดีลีมุงบัก และต่อด้วยประธานาธิบดีปักกึนเฮ  โดยสัดส่วนเงินที่เกาหลีใต้สนับสนุนโครงการเงินสนับสนุนการพัฒนา (Official Development Assistance - ODA) ในธุรกิจพลังงานที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นเงินลงทุนจากเกาหลีที่ไปลงกับกิจการพลังงานคิดเป็นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับการลงทุนในชนิดเดียวกันทั้งหมด

โซยอนคิมยังตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามลดเวลาก่อสร้างให้น้อยลงด้วยการลดขั้นตอนการก่อสร้างบางอย่าง ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง มีรายงานข่าวว่าเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่จะสร้างแล้วเสร็จตามแผนในปีหน้ากลับถูกกักเก็บน้ำไว้แล้ว ทั้งที่ควรจะต้องทดสอบความปลอดภัยก่อน โดยคิดว่าสาเหตุที่ต้องรีบเก็บน้ำเพราะว่าเวลาที่จะใช้เก็บน้ำก่อนที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี การเร่งรัดเก็บน้ำก่อนก็เพื่อจะให้ได้กำไรมากขึ้น

โปร่งใส? จาก 11 โครงการที่ กฟผ. ซื้อไฟฟ้า มี 9 โครงการที่บริษัทลูกเข้าร่วมทุน

วิทูรย์กล่าวว่า การลงทุนในเขื่อนแม่น้ำโขงเกิดขึ้นในช่วงที่มีการโปรโมทเรื่องการลงทุนภาคเอกชน หรือ IPP ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รัฐบาลลาวเป็นผู้ให้สัมปทาน เอกชนต้องหาผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งในที่นี้คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นจากรัฐบาลลาวเป็นผู้ให้สัมปทานกับบริษัท ซึ่งกรณีนี้บริษัทเอสเค เอนจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัดเป็นผู้ที่รับสัมปทาน เมื่อรับมาแล้วก็จะพัฒนาโครงการออกแบบทางเทคนิคและหาผู้ร่วมทุนทั้งในหุ้นและกิจการร่วมค้า จึงมีการหาอีกสามบริษัทมาร่วมทุน จากสัมปทานก็มีการสร้าง JV หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทลาว โฮลดิ้ง คอมปานี นำไปสู่การร่วมทุนขั้นต้น ทางเกาหลีให้เงินกู้กับรัฐบาลลาวในส่วนที่เป็นทุนประเดิมเพื่อให้มาร่วมทุน

หลังจากได้รับสัมปทานก็มีกิจการร่วมค้าสี่ราย บริษัทที่รับสัมปทานก็ต้องตั้งชื่อกันใหม่เหมือนตั้งชื่อกลุ่ม เป็นบริษัทจำกัดที่จะดูแลโครงการ หมายความว่าบริษัทแม่สี่บริษัทจะไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกินกว่ามูลค่าที่ร่วมทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นก็ต้องหาผู้ซื้อไฟฟ้าซึ่งในที่นี้ คือ กฟผ. ทำข้อตกลงซื้อไฟฟ้าที่เรียกว่า PPA (Power Purchase Agreement) การได้มาซึ่ง PPA เป็นใบที่ทำให้ธนาคารในไทยสี่แห่งให้กู้เงินอีก 3 เท่าของเงินต้นที่ร่วมทุนกัน เนื่องจากธนาคารมั่นใจว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้รับชำระจากทาง กฟผ. ที่จะจ่ายเงินคืนในรูปแบบของเงินบาท

ตัวละครอีกตัว คือราชบุรี โฮลดิ้ง เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. และเมื่อค้นดูก็พบว่าโครงการที่ กฟผ. เป็นคู่สัญญาซื้อไฟก็จะมีบริษัทลูกของตัวเองเป็นคู่สัญญาขายไฟ ใน 11 โครงการที่อยู่ในลาว มีบริษัทลูกของ กฟผ. เป็น JV ถึง 9 โครงการ หากอธิบายในทางที่ดีคือมีบริษัทลูกก็ดีเพราะคุยกันได้ ไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างเป็นประโยชน์ของไทย แต่อีกด้านคือ การที่ กฟผ. เป็นคู่สัญญาแทนประชาชนไทยในการรับซื้อไฟฟ้า แต่กลับไปมีบริษัทลูกในโครงการที่ตัวเองซื้อไฟฟ้า แล้วเราจะไว้วางใจได้อย่างไรว่า กฟผ. จะไม่มีลับลมคมใน ไม่มีความโปร่งใส การกระทำแบบนี้ถือเป็นการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ จึงต้องทบทวนการลงทุนแบบคู่สัญญาในเชิงผลประโยชน์ที่อาจขัดกัน โครงสร้างที่มีลักษณะอัฐยายซื้อขนมยายแบบนี้ทำให้ธุรกิจและธนาคารกลายเป็นตัวขับที่แท้จริงมากกว่าความต้องการไฟฟ้าในไทยที่เราเคยเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการสร้างเขื่อน ถ้าโครงสร้างการลงทุนยังไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาลแบบนี้ ประชาชนก็ยังต้องรับเคราะห์กรรมหรือแบกรับภาระบนวิถีชีวิตที่บริษัทเอาผลกำไรสูงสุดมาเป็นตัวตั้ง

วิทูรย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายที่ลาวอาจส่งผลกับชาวไทยได้ หากการทำ PPA วางระบบกำหนดราคาซื้อไฟฟ้าไว้ว่าเป็นระบบต้นทุนบวกกำไร ก็จะสามารถใส่ค่าใช้จ่ายอะไรที่คิดว่าเป็นต้นทุนลงไปก็ได้ เช่น ถ้าโดนค่าเสียหาย 100 ล้านบาท บริษัทก็เจรจากับ กฟผ. ว่า สามารถใส่ค่าเสียหายเป็นหนึ่งในต้นทุนได้หรือไม่ ถ้าได้ค่าเสียหายก็จะไปอยู่ในค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ถ้าเป็นแบบนั้นคนที่รับผิดชอบกับความเสียหายก็คือผู้จ่ายค่าไฟฟ้า แล้วบริษัทจะแคร์อะไรถ้ามีคนจ่ายให้

เปิดสถิติใช้ไฟฟ้าไทยผลิตเกินใช้ ท่าทีลาวต่อ 'แบตเตอรี่เอชีย' เปลี่ยนคือสัญญาณความตายของเขื่อนไฟฟ้า?

สุภลักษณ์ กล่าวว่า บทเรียนเขื่อนแตกในครั้งนี้เข้าทำนองว่า โครงการพัฒนามากเกินไปทำให้การเติบโตของลาวพัง ลาวมีพื้นที่น้อย เต็มไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ จึงสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเกินที่ตัวเองใช้เพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศรอบบ้านที่อุปสงค์สูงทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา ปัจจุบันล่วงเลยไปถึงมาเลเซียแล้วผ่านการขายต่อของไทย ทั้งนี้ ลาวส่งให้ไทย 2-3 พันเมกะวัตต์ จากที่ตั้งเป้าไว้ 9 พัน เมกะวัตต์ ความแตกต่างนี้ทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ภูมิประเทศตัวเองผลิตพลังงานให้ทั้งภูมิภาคอาจเป็นจินตนาการที่เป็นจริงยาก

หลังเขื่อนแตก เมื่อวันอังคารได้มีประชุมพิเศษ ครม. ลาว และมีมติที่ให้ทบทวนความปลอดภัยของเขื่อนทั่วประเทศ โดยสาระสำคัญมีสามเรื่อง หนึ่ง ตรวจเขื่อนทั้งหมดทั้งที่สร้างแล้วและกำลังก่อสร้าง สอง สั่งระงับหรือแขวนการลงทุนใหม่ในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า สาม รัฐบาลลาวจะทบทวนยุทธศาสตร์ และแผนงานเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตว่าด้วยการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด แม้ปฏิบัติการบนภาคพื้นดินจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่นายกฯ ก็ลงพื้นที่เร็วในแบบที่ตนไม่เคยเห็นจากรัฐบาลลาวชุดก่อนๆ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของลาวควรต้องเปลี่ยน ลาวควรจะหยุดสร้างเขื่อนเพราะจำนวนที่มีอยู่ก็พอที่จะใช้ในประเทศและขายให้ไทยได้แล้ว จำนวนการเติบโตของอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าไทยตาม กฟผ. ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจไม่จริงเพราะเศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ การพึ่งพาพลังงานจากเขื่อนก็ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเพราะต้องอิงกับสภาวะอากาศ สร้างเขื่อนเท่าใดก็ไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ในการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาก็ไม่เคยนำต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมและผลกระทบข้ามพรมแดนมาเป็นปัจจัยในการคิด แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องคิดคำนึง ลาวต้องกลับมาคิดว่าจะขายอะไรมากไปกว่าไฟฟ้า ต้องมีการลงทุนเรื่องใหม่ๆ ลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ให้คิดนวัตกรรมได้ ลงทุนกับเรื่องที่มีอยู่แล้ว เช่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

สุภลักษณ์ยังวิเคราะห์ในด้านการเมืองระหว่างประเทศที่จีนมีอิทธิพลกับลาวสูงเพราะเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลายด้าน โดยกล่าวว่า การทบทวนจุดยืนของลาวเรื่องการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียถ้าทำได้สักครึ่งของที่คิดไว้ก็ดีแล้ว เพราะเพราะทุนจีนที่มีอยู่ในโครงการเขื่อนหลายโครงการก็มีกำลังในการบังคับลาวได้อยู่

ส่วนความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง ล้านช้าง แม่โขง (Lancang Mekong Initiative - LMC) ที่ริเริ่มโดยจีน ก็มีเรื่องว่าด้วยสิ่งแวดล้อม  ที่กรุงปักกิ่งก็มีสถาบันว่าด้วยสิ่งแวดล้อมจัดตั้งอยู่ แม้ขอบเขตของการดูแลอาจจะยังไม่ชัดเจนแต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจีนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น หน้าที่พวกเราก็คือต้องตีประเด็นขึ้นมาว่ามีความเสียหายให้ลาวและจีนขยับได้

วิทูรย์กล่าวถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในไทยว่า ตอนนี้ไทยสามารถจัดหาไฟฟ้าด้วยกำลังผลิตในระบบได้ 42,299 เมกะวัตต์ กฟผ. ผลิตเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) ร้อยละ 36 ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ร้อยละ 18 และนำเข้าร้อยละ 9 ในวันที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด (พีค) ของปี 2560 อยู่ที่ 34,101 เมกะวัตต์ แต่ว่ายอดพีคการใช้ไฟฟ้าจาก กฟผ. ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 3.5 พีคของทั้งระบบลดลงร้อยละ 2.2 สะท้อนว่ามีการใช้พลังงานอื่น ลดการพึ่งพิงการไฟฟ้ามากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ สนามบินสุวรรณภูมิมีโรงไฟฟ้าขนาด 140 มว. เป็นของตัวเอง หรือโรงงานน้ำตาลที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลของตัวเอง

ที่มาภาพ: สไลด์ของวิทูรย์/ กระทรวงพลังงาน

หากดูจากเป้าหมายในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) จะพบว่าในปี 2560 พลังงานไฟฟ้าทางเลือกที่ผลิตได้มีจำนวน 10,013.29 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายทั้งหมด 19,684.40 เมกะวัตต์ ถ้าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ก็เท่ากับว่าไทยจะสามารถผลิตพลังงานได้รวมทั้งสิ้นราวหกหมื่นเมกะวัตต์ ก็ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือเขื่อนใดๆ เพิ่มอีก

กรรมาธิการน้ำโขงคาด อีก 22 ปี เขื่อนทำพิษประมง กสิกรรม ระบบนิเวศหนัก แนะ ผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีอื่น

วิทูรยังได้นำเสนอผลการศึกษาการจัดการอย่างยั่งยืนและการพัฒนาแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก (The Study on Sustainable Management and Development of the Mekong River including Impacts of Mainstream Hydropower Projects) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ที่ประกอบขึ้นจากรัฐบาลอาเซียนสี่ประเทศลุ่มน้ำโขง ผลการศึกษารายงานว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก แม้มีผลดีกับการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้า แต่จะมีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมาก เมื่อเทียบกับปีฐาน (พ.ศ. 2540) การศึกษาพบว่าเขื่อนบนลำน้ำสายหลักทั้งหมด 11 เขื่อนจะมีอิทธิพลถึงร้อยละ 50 จากทั้งหมดผลผลิตของภาคเกษตรบริเวณลุ่มน้ำโขงลดลงราว 0.6-1 ตัน/เฮกตาร์ ผลผลิตในส่วนที่ห่างไปจากแม่น้ำโขงกระแสหลักลดลงกว่า 0.5 ตัน/เฮกตาร์

การศึกษาคาดการณ์ว่า ในปี 2583 กระแสน้ำที่ไหลมากขึ้นในหน้าแล้งและภาวะดินเค็มที่ลดลงจะทำให้ผลผลิตนาปรังเพิ่มขึ้นสูงสุดราว 0.2 ตัน/เฮกตาร์ แต่ในบางพื้นที่จะเสียจำนวนผลผลิตลงสูงสุด 2.4 ตัน/เฮกตาร์ เนื่องจากประสบปัญหาการไหลของกระแสน้ำที่ซับซ้อน และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

ตะกอนดินต่างๆ ที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกถูกกั้นไว้โดยเขื่อนตั้งแต่ที่จีน ถ้ายังสร้างเขื่อนถึงปี 2040 จะเหลือแค่ ร้อยละสามเท่านั้นที่จะไหลถึงปากแม่น้ำโขง นอกจากนั้นปลาในแม่โขง ปลาธรรมชาติจะสูญพันธุ์ จะมีปลานอกท้องถิ่นเข้ามาแทนที่ เมื่อคำนวณประโยชน์จากหลายๆ ด้านก็พบว่าผลกระทบด้านเกษตรกับประมงจะทำให้ประชาชนไม่ได้ผลประโยชน์ซึ่งกระจุกอยู่กับผู้ลงทุน ตัวรายงานจึงแนะนำให้ประเทศสมาชิก MRC หาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าอื่นๆ มาแทนที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ วิทูรทิ้งท้ายว่า รายงานชุดนี้ใช้งบประมาณราว 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 140 ล้านบาทในการจัดทำ แต่ทางการไทยและสื่อไทยกลับไม่นำมาเผยแพร่

การใช้ปี 2540 เป็นปีฐานเนื่องจากเป็นปีก่อนที่โครงการเขื่อนไซยะบุรีบนลำน้ำสายหลักจะเกิดขึ้น และการคาดการณ์ก็มองไปในปี 2563 จะมีโครงการไซยะบุรี ดอนสะโฮง และคาดการณ์ต่อไปจนถึงปี 2583 ในเงื่อนไขว่าโครงการเขื่อนเหล่านั้นปฏิบัติการไปตามปกติ

นิวัฒน์กล่าวว่าเขื่อนเป็นการผลิตพลังงานที่ตกยุคตกสมัยแล้ว สมัยก่อนคนยังน้อย ทรัพยากรยังเยอะ แต่ตอนนี้เขื่อนเยอะ คนก็เยอะขึ้น ทรัพยากรที่หาอยู่หากินน้อยลง เขื่อนทำลายวิถีชีวิต แต่สร้างเขื่อนทำเงินได้เยอะจึงมักถูกสร้าง ทั้งที่ท้ายประชาชนมากที่สุดในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐศาสตร์นิเวศ ส่วนรัฐบาลลาวก็คิดแต่เรื่องเงิน พลังงานในลาวใช้นิดเดียว เขื่อนในลาวที่ไปดูก็อันตราย เพราะอยู่ในภูเขา ถ้าฝนตกเยอะมากๆ มีปัญหาแน่นอน หลายที่ก็เป็นเขื่อนดิน ส่วนบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ตอนเขื่อนแตกไม่นานก็ได้ออกมาบอกว่าเขื่อนตัวนี้เป็นตัวเล็ก สามารถสร้างเขื่อนต่อไปได้ ทั้งๆ ที่คนตายไปต่อหน้าต่อตา แบบนี้แย่ที่สุด อย่ามาพูดเรื่องธรรมาภิบาล แบบนี้คนที่อยู่กับเขื่อนจะคิดอย่างไร ถ้ารัฐบาลลาวยังให้สร้างอยู่ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลของบริษัท รัฐบาลต้องออกมาพูดว่าจะฟื้นฟูทั้งชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไปด้วย  ธนาคารเองก็ต้องสอบถามการกู้เงินจากบริษัทเหล่านี้ด้วยถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน แถมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยยังไม่เสร็จก็เก็บน้ำแล้ว แบบนี้มาตรฐานการก่อสร้างมีไหม แบบนี้คืออันตรายต่อเพื่อร่วมโลก การบอกว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ไม่ใช่ ในอดีตเขื่อนจิ่งหงในจีนปล่อยน้ำออกมาครั้งเดียวน้ำโขงสูงขึ้นเกือบหนึ่งเมตร นอกจากนั้น การใช้เหตุผลของอธิปไตยมาสร้างเขื่อนของใครของมันนั้นไม่ควรทำแล้ว เพราะแม่น้ำเป็นของที่ใช้ร่วมกัน การกั้นน้ำหนึ่งที่ส่งผลกับอีกที่

ความเสียหายที่ข้ามพรมแดน: เล่าเรื่องลงพื้นที่กัมพูชา คาด ประชาชนลำบากไปอีก 1-2 ปี

เมียด เมียน เล่าว่าบ้านตามลำน้ำเซกองที่กัมพูชาที่เมืองเซียงปาง เมืองต่อเขตกับแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว มีประมาณ 4 กลุ่มหมู่บ้านชนเผ่าที่ถูกกระทบ เมื่อเขื่อนแตก ภาครัฐทั้งลาวและกัมพูชาไม่ได้มีการแจ้งเตือนมา แต่ชาวบ้านได้รับข่าวด้วยโทรศัพท์และเฟซบุ๊กและบอกต่อกัน ตอนน้ำมาถึงเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก็มาแบบรุนแรง ใช้เวลาไม่นาน ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัว ส่งผลให้ปศุสัตว์ การเกษตรเสียหาย คนไม่ตายเพราะหนีขึ้นที่สูงทัน แต่โคลนที่มากับน้ำและข้าวของเครื่องใช้ก็ทำให้พื้นที่ริมน้ำเซกองเสียหาย กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการรักษาสุขภาพ แถมของที่ปลูกมาก็เสียหายหมด ไม่มีเก็บ อาจจะส่งผลกับปากท้องไปอีก 1-2 ปี เมียด ยังระบุว่าอยากให้กัมพูชามีระบบเตือนภัย และให้ลาวรับรู้ไว้ว่าการใช้แม่น้ำเดียวกันกับกัมพูชานั้น จะตัดสินใจทำอะไรคนเดียวในเรื่องโครงการพัฒนาไม่ได้เพราะผลกระทบนั้นข้ามพรมแดน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทนายวิญญัติ ยื่น จม.ถาม อสส. จริงไหม? อัยการดูคดีสลายแดงถูกย้ายนอกฤดูกาล

Posted: 10 Aug 2018 06:02 AM PDT

พะเยาว์ อัคฮาด และทนายวิญญัติ ร้องอัยการสูงสุดสำนวนคดีสลายการชุมนุมเสื้อเเดงปี 53 ไม่คืบ พร้อมสงสัยข่าวอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีถูกสั่งย้ายนอกฤดูกาล เผยเตรียมติดตามความคืบหน้ากับอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษต่อไป 

ภาพ เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามในวันที่ 19 พ.ค.2553

10 ส.ค.2561 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 พร้อมด้วย วิญญัติ ชาติมนตรี ทีมทนายความของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เดินทางมายื่นหนังสือถึง เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีฆ่าคนตายจากเหตุการสลายการชุมนุมที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เคยส่งสำนวนมายังอัยการ แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า โดยมี ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับมอบหนังสือ พร้อมระบุว่า หลังจากรับหนังสือเเล้วจะมีการลงรับเลขไว้ตามขั้นตอนธุรการ พร้อมจะนำเรียนไปยัง เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดต่อไป นั้น 

โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ยื่นในครั้งนี้คือ เรื่องความสงสัยต่อกรณีข่าวว่าอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีถูกสั่งย้ายนอกฤดูกาล กลุ่มดังกล่าวจึงได้เดินทางมาสอบถามความจริงนั้น ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม วิญญัติ เพิ่มเติมในกรณีนี้ วิญญัติ กล่าวว่า ตนได้ข้อมูลมาว่าอัยการคนเดิมที่พิจารณาสำนวนเรื่องนี้ ไปในแนวทางที่จะสั่งฟ้องหรือจะไปในแนวทางที่จะไม่ยุติคดีนั้น ถูกสั่งย้าย แต่ตนก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลดังกล่าวถูกหรือไม่ จึงมาสอบถามสำนักงานอัยการสูงสุดว่าเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้ามีอยู่จริงทางสำนักงานอัยการสูงสุดปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

สำหรับการเคลื่อนไหวต่อจากนี้นั้น วิญญัติ เปิดเผยว่า จะไปติดตามความคืบหน้ากับอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 

เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแเดง ปี 53 จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น วิญญัติ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าเจ้าหน้าที่จะสรุปอย่างไร เนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติออกมาด้วยซ้ำว่า การเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการ โดยยอมรับข้อเท็จจริงว่ามันเกิดขึ้นจริงและมีการใช้อาวุธจริง เพียงแต่มีการปกป้องระดับนายกรัฐมนตรีและรองนายกัฐนตรี แค่ว่าเขาได้ใช้มาตราการพอสมควร แต่ข้อเท็จจริงที่มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตในความเป็นจริงนั้น จะต้องถูกดำเนินคดี ดังนั้นหากการดำเนินคดีไม่คืบหน้า เราก็จะหามาตรการในการที่จะฟ้องรัฐและผู้ที่กระทำความผิด โดยแยกระหว่างเจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจออกมาอย่างไร เราจะเตรียมมาตรการเพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนนั้น ขณะที่ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความตายและบาดเจ็บขึ้นที่มีชื่อชัดเจนนั้นก็ต้องเป็นกรณีต่อไปที่ต้องดำเนินการเพราะอายุความยังมีอยู่ด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: ฝากประชาธิปัตย์ปล่อยมือจากเผด็จการเสียก่อน ค่อยมาจับมือเพื่อไทย

Posted: 10 Aug 2018 05:01 AM PDT

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ "ถ้าบอกว่าจะมาจับมือกันเพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย คุณต้องปล่อยมือจากเผด็จการให้ชัดเจนเสียก่อน ส่วนถ้าปล่อยมือจากเผด็จการให้ชัดเจนแล้ว สถานการณ์ตรงนั้นจะทำยังไงให้รักษาระบบเอาไว้ได้ มาว่ากันอีกที"

ในการสัมภาษณ์ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยตอบคำถามในสถานการณ์สมมติหลังการเลือกตั้ง ยอมรับได้ไหมถ้าเพื่อไทยต้องจับมือกับประชาธิปัตย์ เพื่อสู้กับ คสช. ตั้งรัฐบาลไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก (อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม)

โดยณัฐวุฒิ ตอบว่า "ไม่ใช่เรื่องว่าโจมตีกันทางการเมืองอีกนะ" "ประชาธิปัตย์ปล่อยมือจากฝ่ายผู้มีอำนาจให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยมาพูดกันอีกที ส่วนตัวผมนี่ ผมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปหลายครั้งแล้ว วันก่อนโทรทัศน์ช่องไหนสักช่อง เนชันมั้งมาถามผม ผมก็พูดอย่างนี้"

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: นปช. เพื่อไทย และประชาธิปไตยที่ยังไปไม่ถึง

"เขาถามผมว่า 'เชื่อไหมว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจะจับมือกันตั้งรัฐบาล?' ผมบอกว่า 'ผมไม่เชื่อ' 
เพราะความเชื่อของผมก็คือประชาธิปัตย์จะจับมือกันให้มีนายกฯ คนนอก ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะผมยังไม่เคยได้ยินท่าทีที่ชัดเจนจากระดับนำตัวจริงของพรรคประชาธิปัตย์เลยในเรื่องนี้"

"ผมไม่เคยได้ยินคุณชวน ไม่เคยได้ยินคุณอภิสิทธิ์ฟันธงชัดๆ ว่าไม่เอานายกฯ คนนอก ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ แม้แต่คนแบบคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็พูดไม่ชัดในเรื่องนี้ เบี่ยงประเด็นว่าเป็นเรื่องอนาคต ค่อยมาว่ากันอีกที"

"เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าจะมาจับมือกันเพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย คุณต้องปล่อยมือจากเผด็จการให้ชัดเจนเสียก่อน ส่วนถ้าปล่อยมือจากเผด็จการให้ชัดเจนแล้ว สถานการณ์ตรงนั้นจะทำยังไงให้รักษาระบบเอาไว้ได้ มาว่ากันอีกที"

"ส่วนตัวผม ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยจำเป็นที่จะต้องสู้ให้ชนะ แล้วให้ชนะมากๆ แต่ไม่ต้องครั่นเนื้อครั่นตัวว่าต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ ชนะมากๆ ให้เกิดความชอบธรรม แล้วประกาศหลักการว่ายืนยันต้องมีนายกฯ จากการเลือกตั้งเท่านั้น ผิดจากนี้ เป็นตายยังไงก็ไม่เอา ให้มันชัดกันไป ประชาชนเขาจะได้มีความรู้สึกเป็นที่พึ่งที่หวัง และจะได้ตอบคำถามที่หลายๆ คนตั้งคำถามและ อยากได้คำตอบวันนี้ได้"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใครควรค้ำ?: ถกวิกฤตหนี้ กยศ. ในมุมมองความเป็นธรรมของนโยบาย

Posted: 10 Aug 2018 04:51 AM PDT

กยศ. ยืนยัน ไม่มีทางเจ๊ง เผยยอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี แม้หนี้ค้างชำระพุ่งแตะ 70 ล้าน เครดิตบูโรเสนอเอาหนี้ กยศ. เข้าระบบ อำนวยความสะดวกลูกหนี้ชั้นดี นักวิชาการชี้ กยศ. เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องใช้วิธีคิดต่างจากกฎหมายแพ่ง ไม่ควรต้องมีคนค้ำประกัน เสนอแนวทางทำงานให้รัฐแทนการใช้หนี้

ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลับมาสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่ ครูวิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร เซ็นค้ำประกันเงินกู้ยืม (กยศ.)ให้นักเรียน จำนวน 60 คน แต่ถูกเบี้ยวหนี้จนถูกบังคับ คดียึดทรัพย์ กระทั่ง กยศ.และกรมบังคับคดี จับมือกันหาทางออกให้กับเรื่องนี้ โดยล่าสุด พบว่ายังมีลูกศิษย์อีก 17 ราย อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี คิดเป็นเงิน 190,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย

เกิดคำถามกับสังคมขึ้นว่าเหตุใดแม่พิมพ์ของชาติที่อยากเห็นลูกศิษย์มีอนาคตจึงยอมเสียสละเป็นผู้ค้ำประกันให้ จะต้องมาประสบกับเคราะห์กรรมเช่นนี้ บ้างก็โทษว่าเป็นความผิดของลูกศิษย์อกตัญญู บ้างก็โทษว่าเกิดจากนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ บ้างก็ว่าเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม 

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดงานเสวนา "เรียน-กู้-ค้ำ-หนี้-หนี-บังคับ: ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบาย กองทุน กยศ." เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ 1. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี 3. นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) 4.รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง อดีตรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และ 6. อาจารย์ ดร.กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ 

(จากซ้ายไปขวา) ดร.ธนิต ธงทอง, สุรพล โอภาสเสถียร, รื่นวดี สุวรรณ, ดร.กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์, ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ และ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล 

บังคับคดีเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

ชัยณรงค์เริ่มอภิปรายโดยการให้ตัวเลขคร่าวๆ ของ กยศ. 68,208 ล้านบาท คือยอดหนี้ค้างชำระ โดยให้กู้ไปแล้วกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นเงินมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท ทุกวันนี้แนวโน้มการกู้ยืมจะน้อยลงทุกปี เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดลง มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 65 เปอร์เซ็น หรือประมาณ 3.5 ล้านคนอยู่ ในจำนวนนี้ คิดเป็นคนที่ชำระหนี้ปกติ 39 เปอเซ็น และคนผิดนัดชำระหนี้ 61 เปอเซ็น หรือประมาณสองล้านกว่าคน

"คนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก กยศ. แต่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ประมาณสองล้านกว่าคน กองทุนจึงต้องทำสิ่งที่ไม่ถูกใจแต่ถูกกฎหมาย วันนี้เราต้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้อายุความขาด วันนี้เราฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่จบการศึกษาแล้ว ที่เป็นคนอายุ 30 กว่ามีงานมีการทำแล้ว เราฟ้องไปแล้วมากกว่า หนึ่งล้านคดี ทั่วประเทศ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราฟ้องเฉลี่ยอยู่ที่แสนคดีต่อปี เพื่อไม่ให้อายุความขาด เพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย" ชัยณรงค์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า สาเหตุที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่สามเหตุผลหลัก 1. ขาดวินัยทางการเงิน เป็นกลุ่มที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าตนมีหนี้ กยศ. แต่ก็ยังเลือกที่จะก่อหนี้เพิ่ม เช่นผ่อน รถผ่อนบ้าน ทำให้ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีเงินชำระหนี้ 2. คือกลุ่มที่ยากจนจริงๆ ไม่สามารถหางานทำได้จริง หรือหาได้แต่ก็เอาไปช่วยภาระทางบ้าน 3. คือกลุ่มที่ขาดสำนึกในการชำระหนี้ คือมีเงินอยู่ในบัญชี มีทรัพย์สิน แต่เลือกที่จะไม่จ่าย พร้อมยืนยันว่า กยศ. ไม่มีการจ้างบริษัททวงหนี้อย่างที่เป็นข่าว แต่ใช้กระบวนการเหมือนบริษัททางการเงินทั่วไป คือมีการจ้างเตือนผ่าน sms โทรไปหาผู้กู้ ส่งเอกสารแจ้งเตือน จนไปถึงการดำเนินคดี อีกทั้งยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่ากองทุน กยศ กำลังจะเจ๊ง เพราะในความเป็นจริงคือผู้กู้ในแต่ละปีมแนวโน้มลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง แต่สามารถเรียกชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ยังไงก็ต้องมี กยศ.

ธนิต กล่าว่าในฐานะที่ตนเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกับเด็กที่กู้ กยศ. มากเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กยากจน เป็นผู้ที่กู้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม บางคนกู้มาก็ไม่ได้เอามาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน แต่ต้องให้พ่อแม่เอาไปใช้ เพราะดอกเบี้ยต่ำ จึงคิดว่าทางมหาวิทยาลัยเองก็ควรมีส่วนช่วยด้วย จึงมีการมอบทุนให้เปล่าให้กับเด็กที่ขาดแคลน พบว่า จำนวนผู้กู้ กยศ. ลดลงจาก 4 ปีที่แล้ว 800 คนเหลือเพียง 400 คนแต่ก็ยังมีเด็กบางคนที่ถึงแม้จะได้ทุนแล้วแต่ก็ยังต้องกู้อยู่ พอถามเหตุผลเขาก็บอกว่าเพื่อรักษาสิทธิ์ของเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไร 

ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหา ธนิตเห็นว่าการที่ต้องให้ข้าราชการระดับ C5 ขึ้นไปเป็นคนเซ็นค้ำประกันเป็นการผลักภาระให้อาจารย์จนเกินไป ควรจะให้ใครเป็นผู้ค้ำก็ได้ อีกทั้ง กยศ. ยังชอบออกโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถมให้กับผู้ที่ชำระหนี้ล่าช้า จึงทำให้คนที่อยากชำระหนี้ตรงเวลาอยากชะลออออกไปก่อน เพื่อรอช่วงโปรโมชั่น

"โดยเบื้องต้นคิดว่ากองทุนนี้เป็นแนวคิดที่ดี เปิดโอกาให้น้องๆได้มีอนาคตไปเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศ ผมยังมองในแง่บวกว่าน้องที่ยังไม่ชำระหนี้ผมว่าเขาก็ยังอยากชำระอยู่ส่วนหนึ่ง ถ้าเราสื่อสารกันดีๆ กับอาจารย์ช่วยกัน กยศ. ช่วยกัน ให้เขารู้ว่าเงินที่เอาไปเป็นภาษีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้น้งรุ่นต่อไป อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะทำได้" ธนิตกล่าว

สิทธิ์ในการเบี้ยวหนี้?

ด้านสุรพลจาก เครดิตบูโรกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ลูกหนี้จะมีลำดับในการชำระหนี้ไล่ตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต คือจะเริ่มจ่ายหนี้นอกระบบก่อน เพราะดอกเบี้ยเยอะ และมีมาตรการทวงหนี้ที่รุนแรง ตามมาด้วยภาษี อากร เพราะตระหนักดีว่าเป็นกฎหมาย ถ้าไม่จ่ายจะมีโทษ จากนั้นจึงจะมาจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอื่นๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต สุดท้ายคือจ่ายหนี้สถาบันทางการเงิน เช่นค่าบัตรเครดิต ส่วนหนี้ กยศ. จะอยู่ถัดจากหนี้สถาบันทางการเงินไปอีกขั้นหนึ่ง 

สุรพลยืนยันว่ายังไงก็ต้องดำเนินคดีกับคนที่เบี้ยวหนี้ ต้องยึดความถูกต้องมากกว่าความเห็นใจ เพราะเขากำลังเอาเปรียบลูกหนี้คนอื่น รวมถึงผู้ให้กู้อยู่ ในส่วนที่ไม่มีเงินจริงๆ ก็พอเข้าใจได้ แต่ในเคสที่ตั้งใจจะเบี้ยวจริงๆ ชนิดที่ว่าพอ กยศ. โทรไป ถามกลับมาประโยคแรกว่า เอาเบอร์มาจากไหน แบบนี้มันไม่ใช่ จึงเสนอว่า กยศ. ควรเอาหนี้เข้าระบบเครดิตบูโร เหมือนในต่างประเทศ เพราะลูกหนี้ที่จ่ายหนี้ตรงเวลา ถ้าอยากจะไปเปิดกิจการ หรือกู้เงินมาลงทุน ก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องไปเริ่มสร้างประวัติเครดิตใหม่

กัญจน์ศักดิ์ ได้ให้ความเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันภายใต้กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ พ.ศ. 2557 ซึ่งทำให้สถานะของผู้ค้ำดีขึ้น โดยสาระสำคัญคือเปลี่ยนสถานะของผู้ค้ำประกันจากลูกหนี้ร่วม เป็นเจ้าลูกชั้นรอง ซึ่งจะมีสิทธิในการเกี่ยงหนี้ 3 สิทธิ 1. หากเจ้าหนี้มาเรียกหนี้จากผู้ค้ำ ผู้ค้ำสามารถขอให้ไปเรียกหนี้นั้นคือจากลูกหนี้ก่อนได้ 2. หากไปเรียกกับลูกหนี้แล้ว แต่ไม่ยอมจ่าย หากลูกหนี้อยู่ในสถานะที่ชำระหนี้ได้ ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปบังคับคดีเอากับลูกหนี้ก่อน สิทธิที่ 3 แต่อาจจะไม่เกี่ยวกับ กยศ. คือ หากมีการวางสินทรัพย์ไว้เป็นหลักประกัน ผู้ค้ำสามารถขอให้ผู้ให้กู้ไปบังคับคดีกับสินทรัพย์นั้นก่อนได้

"ตามกฎหมายที่แก้ใหม่ปีที่ออกมาปี 2557 ถ้าในสัญญาค้ำประกันเขียนว่าให้ผู้ค้ำรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้ร่วมเมื่อไหร่ ข้อความนั้นโมฆะทันที แต่ที่สัญญาที่เกิดก่อนหน้านั้นก็เป็นไปตามกฎหมายเดิมไป ถามว่าสุดท้ายใช้สิทธิเกี่ยงไปหมดแแล้ว ลูกหนี้ไม่มีสินทรัพย์อะไร แบบนั้นก็หนีไม่รอดแล้ว คุณก็ต้องโดนเอง แต่ถามว่าชีวิตต้องจบสิ้นเลยไหม จริงๆแล้วเขายังมีสิทธิ์ไล่เบี้ยได้ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินอยู่ดี" กัญจน์ศักดิ์กล่าว

รื่นวดี กล่าวว่าทุกวันนี้สังคมมองกรมบังคับคดีเป็นตัวร้าย เหมือนเป็นคนคอยทวงหนี้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งเราเป็นหน่วยงานกลางที่ที่หน้าที่บังคำใช้คำพิพาษา และเป็นตัวกลางการพูดคุยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เท่านั้น ภารกิจอื่นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการบังคับคดี และยึดทรัพย์คือการไกล่เกลี่ย โดยทางกรมได้ทำ MOU ร่วมกับ กยศ. เป็นกรอบความร่วมมือให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นบังคับคดี ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 

"มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 15,000 เรื่อง มีทุนทรัพย์อยู่ 1,800 ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จสูงถึง 92 เปอร์เซ็น คิดเป็น 14,138 เคส เรามีการไกล่เกลี่ยเพื่อลดการถูกยึด หรืออายัด มีแนวทางการผ่อนชำระ เงินที่ได้จากส่วนนี้ก็กลับเข้ากองทุน กยศ. ให้น้องได้มีโอกาสได้กู้ยืมต่อไป" รื่นวดีกล่าว

รื่นวดีเสริมว่า คดีลูกหนี้ กยศ. ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตอน อายุหนี้ 9 ปี ขึ้นไป ซึ่งเมื่อเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ ลูกหนี้บางคนจึงลืมไปแล้วว่ามีหนี้ในส่วนนี้อยู่ และจากประสบการณ์กาารทำงาน พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยคือคนที่อยากจะจ่ายหนี้ แต่มีภาระความรับผิดชอบต้องดูแล ในฐานะส่วนราชการจึงควรจะช่วยสื่อสสาร และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น 

วิทยากรท่านสุดท้าย เอื้ออารีย์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนศึกษาด้านนโยบายกับความเป็นธรรมทางสังคม เห็นว่าหน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจด้านประโยชน์สาธารณะจะใช้วิธีคิดแบบกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงกำไรของสาธารณะเป็นหลัก ประสิทธิภาพของกองทุนจึงไม่ใช่การเรียกเงินคืนได้เยอะๆ แต่คือการกระจายโอกาสทางการศึกษา

อะไรคือกำไรของเงินภาษี?

เอื้ออารีย์ตั้งข้อสังเกตโดยยกตัวอย่างจากข่าวข่าวหนึ่งที่ระบุว่า กยศ. จะจัดหาทนายให้ครูวิภาเพื่อไปไล่เบี้ยกับลูกศิษย์ ยืนยันว่าจะต้องดำเนินคดี มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเงินตรงนี้เป็นเงินภาษีของประชาชน คำถามแรกคือเรื่องการจัดหาทนายมีความจำเป็นแค่ไหน ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการวางโครงสร้างการกู้ยืมที่มีระบบผู้ค้ำประกัน และผู้ค้ำก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งมันกับลูกศิษย์ ที่ถูกยึดและอายัดทรัพย์สิน จนสุดท้ายกองทุนก็ต้องจัดหาทนายไปให้ ถ้าสมมติมีกรณีแบบครูวิภาเยอะมาก กยศ. ก็ต้องจัดหาทนายไปให้ทั้งหมดอย่างนั้นหรือ? แล้วงบประมาณเหล่านี้จะมาจากไหน? เอื้อารีย์ตั้งคำถาม

"ประเด็นที่สองคือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 อีกแล้ว เป็นยาครอบจักรวาลมากเลย ดิฉันของตั้งขอสังเกตุนิดนึงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เขาต้องการให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐแยกบริบทส่วนตัวกับบริบทสาธารณะออกจากกัน ถ้าท่านไม่ได้ทำงานด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือไปกลั่นแกล้งเข้า หรือพยายามจะทุจริต มันจะไม่ถือเป็นมาตรา 157 แต่ ณ เวลานี้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานกลัวกันหมดเลยว่าถ้าไม่ทำจะโดน 157 มันไม่ใช่ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง"

"ประเด็นที่สามคือเรื่องภาษีประชาชน เงินกองทุน กยศ. มาจากภาษี มาจากงบประมาณแผ่นดินแน่นอน แต่แนวคิดเรื่องของภาษีประชาชนกับการสร้างโอกาสให้เด็กได้มีการเรียนนหนังสือเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์กลับไปสู่สังคม ควรจะต้องคิดแบบไหน เราควรคิดว่าเงินภาษีที่ให้ไปจะต้องกลับคืนมาทุกบาททุกสตางค์ไหม หรือเราควรคิดว่าเงินนี้กำลังจะพัฒนาทรัพยากรของชาติ ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า บางครั้งมันอาจจะไม่ได้กลับมาในฐานะเม็ดเงิน แต่มันกลับมาเป็นมันสมอง เป็นศักยภาพ จากการทำงานของคนเหล่านี้ในอนาคตกลับมาให้สังคม อันนั้นหรือเปล่าคือประสิทธิภาพองเม็ดเงินภาษี" เอื้ออารีย์กล่าว 

เธอกล่าวต่อว่า หากประเมินความรับผิดชอบทางงบประมาณของ กยศ. พบว่ายังมีจุดบกพร่องอยู่หลายด้าน โดยมาตรฐานสากลจะใช้เกณฑ์ 3 อย่างคือ 1. ความโปร่งใส่ คือควรจะต้องเปิดเผยงบประมาณต่อสาธารณะอย่างครบถ้วน ในทางปฏิบัติพบว่าข้อมูลบนเว็บไซต์ของ กยศ. เป็นเข้ามูลเก่า อัพเดทล่าสุดเมื่อปี 2558 และเป็นข้อมูลจากหน่วยงานอื่น เช่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  2. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เธอได้ลองโทรไปถามคอลเซ็นเตอร์ของ กยศ. เพื่อขอข้อมูลที่อัพเดท ได้รัการตอบกลับมาว่าให้ทำมาเป็นหนังสือ หรือติดตามผ่านสื่อทั่วไป นั่นหมายความว่าประชาชนไม่สามารถเจ้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ 3. คือ การสอดส่องดูแล พบว่ามีมีการตรวจสอบโดย สตง. แต่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบความถูกต้องในทางบัญชี ยังไม่มีการประเมินประสิทธิภาพของกองทุน

"รายงาน สตง. ยังมุ่งมั่นอยู่กับความถูกต้องทางบัญชี รายงงานแค่ยอดหนี้ มียอดการบังคับคดีเท่าไหร่ หรือมีสินทรัพย์เท่าไหร่ แต่มันไม่มีการพูดถึงเลยว่าเงินที่ให้กู้ยืมไป ผลที่มันเกิดขึ้นมาเป็นอย่างไร จำนวนผู้ได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ไม่เห็นเลย" เอื้ออารัย์กล่าว

สุดท้าย เอื้ออารีย์กล่าวว่าข้อเสนอที่ กยศ. ควรรับไปพิจารณาคือ ควรยกเลิกการมีผู้ค้ำประกัน เพราะพอมีข่าวแบบครูวิภาออกมา ประชาชนก็จะพากันขยาด ไม่ยอมมาค้ำประกันให้ซึ่งอาจจะตัดโอกาสให้การศึกษาของเด็กไป พร้อมยกกรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะไม่มีผู้ค้ำแล้ว ยังทำใจยอมรับอีกด้วยว่าเงินที่ให้ไป ไม่มีทางที่จะกลับมาครบ 100 เปอร์เซ็น แต่เขามองเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ และเสนอให้มีมาตรการอื่นๆ ทดแทนการจ่ายหนี้ เช่นการทำงานบริการสังคม หรือทำงานลูกจ้างให้หน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้

 
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิด Timeline หลังศาลสั่งจำคุก 1 ปี 2 แม่หญิงค้านเหมืองทอง จ.เลย เหตุขวางต่ออายุทำเหมือง

Posted: 10 Aug 2018 03:49 AM PDT

เปิดลำดับเวลา กว่าจะเป็นคดี และศาลจังหวัดเลยสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 6 พันบาท 2 นักสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย แต่ให้รออาญา 2 ปี ส่วนคดีแพ่งให้จ่ายค่าเสียหาย 2.4 หมื่นบาท เหตุข่มขืนใจสมาชิก อบต. เขาหลวง ขัดขวางการพิจารณาต่ออายุใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้น ส.ป.ก. ทำเหมืองแร่ทองคำ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดเลย นัดฟังคำพิพากษาในคดี ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย 6 รายถูกฟ้องดำเนินคดีในข่มขืนใจสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุ่ง จ.เลย จากกรณีความวุ่นวายที่เกิดในวันที่ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีการประชุมพิจารณาให้ความเห็นการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ตามประทานบัตรที่ 26968/15574, 26968/15575, 26968/15576 และ 26973/15560 และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

โดยวันนี้ศาลพิพากษาให้ ภรภัทรา แก่งจำปา จำเลยที่ 1 และพรทิพย์ หงชัย จำเลยที่ 2 มีความผิดฐาน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ให้จำคุกจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สอง 1 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองไม่เคยกระทำความผิด จึงรอการลงโทษ 2 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 3-6 ศาลยกฟ้อง

ส่วนในคดีแพ่งที่โจทก์ ได้แก่ สมาชิก อบต.เขาหลวง เขตโซนบนของตำบลทั้ง 16 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายคนละ 100,000 บาท ศาลพิพากษาให้จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1-9 เป็นเงินคนละ 2,000 บาท และโจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 6,000 บาท

ภาพขุมเหมืองของบริษัททุ่งคำ ถ่ายเมื่อราวต้นปี 2559

เรื่องราว และที่มาของคดีความ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวันที่ 12 -13 พ.ค. 2559 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุ่ง จ.เลย ได้มีการนัดประชุมพิจารณา วาระสำคัญคือการ พิจารณาให้ความเห็นการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ตามประทานบัตรที่ 26968/15574, 26968/15575, 26968/15576 และ 26973/15560 และพิจารณาการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งคือการขออนุญาติต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทองทำต่อไป

โดยชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่มาโดยตลอด ได้ออกมารวมตัวเพื่อร่วมฟังการพิจารณา กว่า 200 คน

25 เม.ย. 2559

สมาชิก อบต.เขาหลวง เขตโซนบนของตำบลทั้ง 16 คนทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2559 เพื่อขอให้มีการประชุมลับ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการทำเหมืองทองเข้าร่วมรับฟังด้วย ประธานสภาฯ ได้ตอบจดหมายว่า ไม่มีระเบียบวาระการประชุมใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงไม่เห็นควรให้มีการประชุมลับ

11 พ.ค. 2559

ต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 2559 สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ เพื่อขอให้ย้ายสถานที่ประชุมด่วน และให้ส่งตัวแทนชาวบ้านเพียง 3 คน เข้าร่วมประชุมด้วยเท่านั้น ประธานสภาฯ ตอบหนังสือว่า ไม่อนุญาต เป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อยู่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการตัดสินใจ

12 พ.ค. 2559

ในช่วงเช้าของวันที่ 12 พ.ค. 2559 ที่ด้านหน้า อบต. เขาหลวงเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 250 นาย ได้วางกำลังประจำการรักษาความสงบบริเวณโดยรอบสำนักงาน อบต. รวมทั้งนำแผงเหล็กมากั้นด้านหน้าทางขึ้นห้องประชุมเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าใกล้บริเวณที่ประชุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดพื้นที่ไว้ให้สำหรับผู้มารวมตัวไว้อีกบริเวณหนึ่ง

เมื่อถึงเวลาที่มีการประชุม สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน นำโดยวีระพล กัตติยะ สมาชิก อบต.เขาหลวง บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 11 ขอให้มีการพิจารณาวาระดังกล่าว โดยการเปิดประชุมลับ พร้อมระบุว่าหากไม่มีการประชุมลับจะผิดมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถูกประธานสภา อบต.เขาหลวงและสมาชิก อบต.เขาหลวงส่วนหนึ่งคัดค้าน  สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน จึงวอล์กเอาท์เดินออกจากที่ประชุม นอกจากนั้นยังมีสุรศักดิ์ ดวงจำปา สมาชิก อบต.หมู่ที่ 6 บ้านนาซำแซง เลขานุการสภาฯ และวัชรพงษ์ บัวบาลบุตร รองประธานสภา ก็เดินออกจากที่ประชุมไปด้วย ทำให้ไม่สามารถประชุมต่อได้จนต้องปิดประชุม

หลังจากที่เดินวอล์กเอาท์ออกมาจากที่ประชุม สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน รวมเลขานุการสภาฯ 1 คน และรองประธานสภาฯ อีก 1 คน ได้เดินไปที่อาคารสำนักงาน อบต.เขาหลวงเพื่อทำหนังสือเร่งด่วนที่สุดถึงนายอำเภอวังสะพุงและผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอให้ถอดถอนประธานสภาออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเดินทางมาร่วมฟังการประชุม สภา อบต. ได้เดินทางจากที่ทำการ อบต.เขาหลวง ไปที่ศาลากลางจังหวัดเลย ต่อด้วยอำเภอวังสะพุง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง

หนังสือของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มีข้อเรียกร้องคือ 1.ขอความเป็นธรรมให้แก่ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นผู้ดำรงตนด้วยความสุจริตในหน้าที่การงาน มีความดีพร้อมที่จะได้รับการสรรเสริญ มองเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พยายามปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงปัญหาปากท้องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง c]t 2.ขอให้ถอดถอน/เพิกถอนหรือปลดนายวีระพล กัตติยะ สมาชิก อบต.เขาหลวง หมู่ที่ 11 บ้านโนนสวรรค์ และสมาชิก อบต.เขาหลวงท่านอื่นที่ลงชื่อร่วมกันขอให้เปิดประชุมลับออกจากตำแหน่งทั้งหมด

หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือแล้ว กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงเดินทางกลับเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. โดยระบุว่าจะติดตามการประชุมสภา อบต. ในวันถัดไป

ประมวลสถานการณ์เหมืองแร่เมืองเลยเดือด หลัง อบต.พยายามต่ออายุเหมือง

13 พ.ค. 2559

เมื่อถึงวันที่ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งเป็นชนวนเหตุของคดี ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมเพื่อพิจารณาต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของ ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทองทำ ได้มารวมตัวกันที่ด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวงเช่นเมื่อวาน ราว 200 คน ท่ามกลางการดูแลรักษาความสงบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหารในจำนวนเท่าๆ กัน โดยวันนี้มี พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง ร่วมติดตามสถานการณ์อยู่ด้วย และในการประชุมวันนี้มี ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยเข้าร่วมด้วย

การประชุมสภา อบต.เขาหลวง เริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. โดย ประธานสภา อบต.เขาหลวง อ่านข่าวเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ให้ยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และให้เหมืองทองอัคราฯ ประกอบกิจการเหมืองแร่ได้จนถึงสิ้นปีนี้ โดยเน้นย้ำข้อความข้อ 1 ที่ระบุว่า ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย นอกจากนี้ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดเลยยังให้ความเห็นว่าควรรอหนังสือมติ ครม. เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้วค่อยเปิดประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาชิก อบต.เขาหลวงเขตโซนบน ยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการเลื่อนการประชุมออกไป จึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่าง สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และสมาชิก อบต. กลุ่มดังกล่าว สมัย จึงได้ประกาศปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. โดยให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนจนกว่าจะมีมติ ครม.ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วนายสมัยจึงเดินออกจากห้องประชุมพร้อมกับสมาชิก อบต.เขาหลวงอีก 9 คน 

หลังจากนั้น สมาชิก อบต.เขาหลวง โซนบน 16 คน ที่ยังอยู่ในห้องประชุมได้ใช้จังหวะที่ประธานออกไปจากห้องประชุม ดำเนินการให้รองประธานสภาขึ้นทำหน้าที่ดำเนินการประชุมต่อแทนประธานสภาฯ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ที่นั่งรอฟังการประชุมสภาฯ อยู่ด้านล่างไม่พอใจ 

กลุ่มชาวบ้านได้ลุกเดินไปยังแผงเหล็กกั้นพื้นที่อาคารที่ประชุม เพื่อจะขอขึ้นไปบนห้องประชุมที่อยู่บนชั้นสองของอาคาร ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เนื่องจากแนวแผงเหล็กกั้นล้มลง ชาวบ้านจึงพยายามข้ามไปเพื่อเข้าใกล้อาคารที่ประชุมจนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแถวขวางไว้ ขณะที่ด้านบนห้องประชุมสภา อบต.เขาหลวง ก็เกิดความโกลาหลวุ่นวาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การประชุมสภาฯ โดย สมาชิก อบต.เขาหลวงโซน 16 คน ยุติลง แต่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังคงรวมตัวนั่งกลางแดดที่บริเวณทางเข้าอาคารที่ประชุม เพื่อประท้วงการกระทำดังกล่าวอยู่ราว 30 นาที จึงได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ ซึ่งนี่คือมูลเหตุของคดี ที่มีการพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561

อีกคดี : ข่มขืนใจสมาชิก อบต เขาหลวง 16 คน คดี ศาลสั่งยกฟ้อง

อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนใจ ยังคงเกิดขึ้นอีกคดี เนื่องจากในวันที่ 16 พ.ย. 2559 ยังคงมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาต่ออายุหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงได้ออกมารวมตัวคัดค้านอีกครั้ง โดยในครั้งนั้นทำให้ ผู้หญิงในกลุ่มฅนรักบ้านเกิดทั้งหมด 7 คน ถูกดำเนินคดีในตามมาตรา 309 ในประมวลกฎหมายอาญา เหตุร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น และได้ พรทิพย์ หงชัย ยังถูกดำเนินคดีละเมิดมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มการชุมนุม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561  ศาลจังหวัดเลยอ่านคำพิพากษาคดีอาญา ยกฟ้อง คดีที่ผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อม 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ถูกฟ้องจากการเข้าร่วมการนั่งประท้วงบริเวณด้านนอกที่ทำการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเลยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8, 10 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 

ยกฟ้อง 7 หญิงค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ชี้เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องนั้น เนื่องจากศาลมองว่าในวันนั้นที่ อบต.เขาหลวง จัดให้มีการประชุมสภาและเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง การที่ อบต.จัดการประชุมและเชิญชาวบ้านเข้าไปร่วมรับฟังนั้น ศาลมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมขึ้น แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปร่วมรับฟังการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยทางราชการ โดยการประชุมของ อบต.นั้นเป็นการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เขาไม่ใช้บังคับแก่การประชุมในลักษณะอย่างนี้ 

อีกข้อหาเรื่องข่มขื่นใจที่ สมาชิก อบต. กล่าวหานั้น ศาลเห็นว่าพยายานมีการขัดแย้งกัน บางปากอ้างว่าจำเลยมีการปราศรัยข่มขู่ว่าถ้าใครขึ้นประชุมนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย แต่ศาลเห็นว่า พยายามโจทก์บางคนก็บอกว่าไม่ได้ยินว่ามีการปราศรัยในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งตำรวจก็เบิกความในลักษณะนี้ ศาลจึงเห็นว่าการที่จำเลยไปร่วมประชุมในวันนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญหรือใช้ความรุนแรงใดๆ ประกอบกับผู้ร่วมเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีการอนุมัติเหมืองแร่นั้น การที่มีประชาชนบางคนใช้โทรโช่งปราศรัยขอให้เลื่อนการประชุมของ อบต. ออกไปก่อนนั้น ศาล จึงเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดและยกฟ้องข้อหานี้ด้วย

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก: นักข่าวพลเมือง TPBS

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

8 ข้อสรุปคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน คนจนชายแดนใต้ ฯลฯ ศาลนัดชี้ชะตา 25 ก.ย. นี้

Posted: 10 Aug 2018 02:40 AM PDT

'คดีระเบิดน้ำบูดู' ได้สืบพยานเสร็จสิ้นครบทุกปากแล้วในวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ทนายความขอยืนแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 15 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ก.ย.นี้ ประชาไทสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับคดีทั้งหมด ดังนี้

ภาพจาพเว็บไซต์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

1. 'คดีระเบิดน้ำบูดู' คือเหตุการณ์กวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม. รามคำแหง กว่า 40 คน
 

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2559 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด 'คาร์บอม' และได้กวาดจับคนมุสลิมย่าน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย โดยที่เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก จากนั้นมีการกันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งเป็นชายจากจังหวัดชายแดนใต้ อายุระหว่าง 19-32 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

 

2. ล่าสุด 14 จำเลยถูกจับกุมทั้งหมดไม่ได้สิทธิประกันตัว

 

หลายคนถูกปล่อยตัว หลายคนถูกปล่อยแล้วจับอีกครั้ง ในตอนแรกมี 9 คนที่ถูกจับ และต่อจากนั้นมีการจับกุมเพิ่มอีก 5 คน สรุปที่ถูกดำเนินคดีรวมมี 14 คน ถูกตั้งข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยที่จำเลยถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีในปัจจุบัน โดยทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว แม้จะยังไม่มีคำพิพาษา โดยที่ก่อนหน้านี้แม่ของจำเลยที่ 4 เคยยื่นขอประกันตัว เนื่องจากจำเลยที่ 4 เป็นโรคเกี่ยวกับสมองและต้องพบแพทย์เป็นประจำก็ตาม

 

3. ทนายชี้หลักฐานอ่อน มีเพียงคำรับสารภาพและคำซัดทอดของจำเลยที่ 1

 

กิจจา อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีของจำเลยและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่า จากการซักค้านพยานฝ่ายโจทย์ทั้งหมดพบว่ามีแต่เรื่องข่าวจากฝ่ายการข่าว เช่น ข่าวว่าจำเลยมีวัตถุระเบิดในครอบครอง หรือข่าวว่าจำเลยนำวัตถุระเบิดไปทิ้งในคลอง หรือกล่าวอ้างว่ามีการส่งไปรษณีย์เป็นโทรศัพท์ 5 เครื่องเพื่อมาเป็นรีโมทจุดชนวนก่อระเบิด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบพยานหลักฐานใดเลย ขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าของในกล่องไปรษณีย์นั้นเป็นเพียงเครื่องข้าวยำ

กิจจา กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย พยานโจทก์ทุกคนก็กล่าวว่าจากการตรวจสอบแล้วจำเลยทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายที่จังหวัดชายแดนใต้ และข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่บอกว่ามีการจัดประชุมอั้งยี่ซ่องโจรเพื่อวางระเบิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  

ดังนั้นจากการปรึกษากันของทีมทนายจำเลยแล้วก็สรุปว่าพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์นั้นไม่น่าจะมีน้ำหนักในการลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้

ขณะที่ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีของจำเลยและประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลากล่าวว่าพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดคือคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งซัดทอดไปสู่จำเลยคนอื่น

 

4. หลักฐาน PETN ที่ตรวจพบที่มือจำเลยที่ 3 แต่ก่อนหน้าจำเลยจะตรวจร่างกาย มีทหารมาสัมผัสมือ

 

สำหรับหลักฐานในคดี กิจจาหนึ่งในทนายจำเลยกล่าวว่า มีเพียงการตรวจดีเอ็นเอที่มือของจำเลยที่ 3 แล้วพบว่ามีสารระเบิด PETN[1]  แต่จากการถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ก็ปรากฎว่า ก่อนที่จะมีการส่งตัวจำเลยที่ 3 ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี มีนายทหารคนหนึ่งมาลูบแขน จับมือ จับเสื้อ จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ศาลให้ความสนใจ

 

5. ในการรับสารภาพ จำเลยอ้างถูกช็อตไฟฟ้า บู๊ดทุบหลัง ปืนจ่อหัว แม็กยิงขา ฯลฯ ในค่ายทหาร

 

อาดิลัน หนึ่งในทนายความของจำเลยเล่าว่า จำเลยบางส่วนกล่าวว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากถูกข่มขู่ ซ้อม ทำร้าย ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ 13/59 จึงไม่มีพยานหลักฐานการถูกข่มขู่ ซ้อม หรือทำร้าย

Voice tv และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุตรงกันว่า รูปแบบการทรมานมีทั้งการช็อตไฟฟ้า การใช้รองเท้าบู๊ตทหารทุบที่หลัง การใช้มือทุบตีที่ศีรษะและลำตัว ที่เย็บกระดาษยิงที่ขาขวาเกิดบาดแผล เอาปืนจ่อที่ศีรษะ บังคับให้ถอดเสื้อผ้า ปิดตาระหว่างการสอบสวน

 

6. จำเลยส่วนใหญ่มาจากบ้านเดียวกัน จน และบางคนเป็นกำลังหลักครอบครัว

 

จากคำบอกเล่าของครอบครัวจำเลย จำเลยหลายคนมาจากหมู่บ้านเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีฐานะยากจน เข้ามาทำงานหาในกรุงเทพฯ เป็นเด็กล้างจานบ้าง เป็นยามบ้าง และอยู่รวมกันในห้องเช่าย่านรามคำแหง และสมุทรปราการ

แมะมูเนอะ สาและ แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 เล่าว่า วิรัตน์เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ประมาณสองเดือนก่อนจะถูกจับ วิรัตน์ช่วยดูแลหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อวิรัตน์ถูกคุมขัง แมะมูเนอะจึงเป็นคนเดียวที่ต้องทำงานหาเงิน

"ช่วงนี้ (เดือน พ.ค.) ฝนตกทุกวัน เก็บยางไม่ได้ ยางตอนนี้กิโลละ 15 บาท วันหนึ่งกรีดได้ 4-5 กิโล ได้วันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท เราอายุ 57 ปีแล้ว ขึ้นเขาไปทำนาภูเขาก็ไม่ได้ เวลามาเยี่ยมลูกบางทีก็ยืมเงินเพื่อนมา เอามาให้ลูก 2,000 กินข้าวไม่ได้บางทีก็กินข้าวโพดกับน้ำ" แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 กล่าว

 

คดีกวาดจับหน้ารามฯ สืบพยานโจทก์ปาก 3 ให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 10-14

 

7. จำเลยทั้ง 14 สถานะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา

 

ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้ว่า เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก หลังจากนั้นก็กันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ที่บ้านยากจน ไม่มีที่ดิน รับจ้างกรีดยาง เป็นคนชายขอบแม้กระทั่งในชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็ตาม ดังนั้นจึงเหมือนถูกเลือกขึ้นมาเพราะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา

 

อัพเดทคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เกือบ 2 ปี เพิ่งสืบพยาน 2 ปาก

 

8. ในห้องพิจารณาคดี ญาติและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเต็มห้อง ญาติบางส่วนต้องรอข้างนอก

 

ทั้งนี้จากการไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีของผู้สื่อข่าวในวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อรวมจำเลย 14 คน และญาติของจำเลยทั้ง 14 คน รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสื่อ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรกฎหมายต่างๆ ทำให้ในการพิจารณาคดีแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน ทำให้พื้นที่ในห้องพิจารณาคดีไม่เพียงพอ จนมีญาติบางส่วนต้องนั่งรออยู่ด้านนอก

 

[1] หรือ Pentaerythritol Tetranitrate เป็นวัตถุระเบิดที่มีความไวสูง ถูกใช้เป็นดินขยายการระเบิด บรรจุในชนวนฝังแคระเบิด และเชื้อปะทุบางชนิด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น