โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 'อภิชาต' ชูป้ายต้าน คสช. 31 ม.ค.นี้

Posted: 29 Jan 2018 11:28 AM PST

31 ม.ค.นี้ ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดี อภิชาติ ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ปี 57 ลุ้นบรรทัดฐานสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ พร้อมเปิด 6 ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์

ภาพและคลิปขณะเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ วันเกิดเหตุ

30 ม.ค. 2561 ผูัสื่อข่าวได้รับแจ้งจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ว่าวันที่ 31 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ถูกฟ้องตามความผิดประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และชุมนุมมั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา216 และมาตรา 368 (คดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559)  

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 ส.ค. 2560 และครั้งที่สองวันที่ 16 พ.ย. 2560

สนส ระบุด้วยว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารคดีแรกๆ ย้อนกลับเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2557 ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงหนึ่งวัน กลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่ง อภิชาต ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในวันดังกล่าว กลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารในวันนั้นได้แสดงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการคัดค้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายข้อความในกระดาษ A 4 ที่เตรียมกันมาเอง ในส่วนของ อภิชาตินั้น เขาได้ชูป้ายข้อความว่า "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน อภิชาติถูกทหารจับกุมและถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน

ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องอภิชาต ในความผิดฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557  ชุมนุมมั่งสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวานในบ้านเมือง   ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก  และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368)

อภิชาต ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความผิด ผลคือศาลแขวงปทุมวันได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

วันที่ 17 มี.ค. 2559  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย. 2559 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแขวงประทุมวันว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่

และต่อมาวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท  แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

สนส รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ต่อมาวันที่ 20 ก.พ. 2560 ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 6 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จะอ้างระเบียบว่าด้วยอำนาจการสอบสวน ว่าคดีนี้เป็น "คดีที่ประชาชนชนให้ความสนใจ" แต่พยานกลับให้การขัดแย้งกันเอง และจำเลยเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐฐาธิปัตย์ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของนักวิชาการกฎหมายส่วนข้างน้อยเท่านั้น แต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ถือว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย  อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดรองรับอำนาจของพลเอกประยุทธ์ มีเพียงประกาศคณะรักษาความความสงบแห่งชาติซึ่งพลเอกประยุทธ์ ประกาศใช้เองโดยไม่ได้ผ่านความยินยอมของประชาชน  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้

ประเด็นที่สาม การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรนั้น ไม่ได้มีพระบรมราชโองการตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 ที่มาใช้ดำเนินคดีกับจำเลย ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม2557 แต่ประกาศภายหลังเหตุตามฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2557  จำเลยซึ่งเป็นนักกฎหมายย่อมทราบดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศฉบับดังกล่าวที่ประกาศโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยจึงออกไปคัดค้านการรัฐประหารอย่างสันติวิธี เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ และจำเลยมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

ประเด็นที่สี่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก

ประเด็นที่ห้า พยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการกระทำจำเลยได้อย่างดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลย  แม้แต่บันทึกการควบคุมตัวก็ไม่ปรากฏชื่อของร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ แต่อย่างใด  คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง

การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประกาศฉบับที่ 7/2557  เนื่องจากการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติของจำเลย  ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง  แต่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ปราศจากความรุนแรง  อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมของจำเลยมีเพียงแผ่นกระดาษขนาด A4 และในระหว่างการจัดกิจกรรมของจำเลยนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจำเลยเห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2558 ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ เนื่องจากการยึดอำนาจนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และประชาชนมีสิทธิคัดค้านโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสันติวิธีและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่หก การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติกรรมปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม  หรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมมากขึ้น  เพราะในทางนำสืบของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานยืนยัน

อีกทั้ง ในการตีความกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเจตนาที่แท้จริงของจำเลยประกอบการวินิจฉัย  มาตรา 69 และมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองรับรองสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร  ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และขณะที่จำเลยถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้  เป็นวันที่ 23พฤษภาคม 2557  ภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง 1 วัน  ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสามารถยึดอำนาจได้หรือไม่เพราะยังมีประชาชนออกมาต่อต้านและกฎหมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกคำร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ ขอทุเลาบังคับคดี-ยึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้าน จำนำข้าวหลังยื่นครั้งที่ 2

Posted: 29 Jan 2018 09:36 AM PST

ศาลปกครองมีคําสั่งยกคําขอทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองคดีพิพาทเกี่ยวกับคําสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการกรณีโครงการรับจํานําข้าว

แฟ้มภาพเพจ Banrasdr Photo

29 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ศาลปกครอง รายงานวาา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการกรณีโครงการรับจำนำข้าว (คดีหมายเลขดำที่ 1996/2559 ระหว่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) 

รายงานข่าวระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ทางราชการ กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทําโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจํานําข้าว และทําให้ทางราชการเสียหาย เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้มีคําขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีกครั้ง โดยขอให้ศาลมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณา คดีได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกําหนดไว้ 3 ประการ เกิดขึ้นครบถ้วน กล่าวคือ (1) คําสั่งพิพาท น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) การให้คําสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง (3) การทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การ บริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

เมื่อพิจารณาจากคําขอของผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้ยื่นคําขอเป็นครั้งที่ 2 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคําสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินหลายประการและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ดําเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบ้างไปแล้วก็ตาม แต่ในเมื่อการที่จะวินิจฉัยว่า คําสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คําสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่า เงื่อนไขที่ขอให้ศาลมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาทเกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลจึงไม่มีอํานาจสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งที่เรียก ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี

ศาลจึงมีคําสั่งยกคําขอทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 10 เม.ย. 2560 ศาลปกครองเคยยกคำร้อง ขอทุเลาการบังคับคดีไปเเล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากครั้งนั้น เห็นว่าหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน เเต่นอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

จึงเห็นว่าเงื่อนไขตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีในครั้งเเรก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายกประมงตรังและพวกในคดีค้ามนุษย์ปี 58 พรุ่งนี้

Posted: 29 Jan 2018 08:49 AM PST

29 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ว่า พรุ่งนี้ (30 ม.ค.61)  เวลา 09:00 น. ที่ศาลจังหวัดตรัง ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการ ผู้เสียหายและจำเลยในคดีได้ยื่นอุทธรณ์จากผลของคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ซึ่งศาลจังหวัดตรังได้มีคำพิพากษา จำคุก สมจิตร ศรีสว่าง และพวก 6 คน รวมถึง สมพล จิโรจน์มนตรี หรือ โกนั้ง อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง ในฐานะจำเลยคนละ 14 ปี และให้ชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 15 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,992,000 บาท ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดๆให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานเอาคนลงเป็นทาส  ส่วนจำเลยอีก 4 คนศาลพิพากษายกฟ้อง (รายละเอียดเพิ่มเติม http://hrdfoundation.org/?p=1803)

สำหรับที่มาของคดีมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2558 เจ้าหน้าที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันเข้าช่วยเหลือแรงงานประมงชาวเมียนมาร์จำนวน 15 คน ที่ร้องขอความช่วยเหลือผ่านองค์กรภาคประชาสังคม โดยให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกหักค่าแรง และจากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่จากสำนักปราบปรามการฟอกเงิน สามารถจับกุม สมพล จิโรจน์มนตรี หรือ โกนั้ง หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมงพร้อมพวก เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์และสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยผู้เสียหายทั้ง 15 คน ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายรวมทั้งยื่นเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ในอ้อมกอด กลางตลาดที่มืดมน และข้อเสนอตลาดปลอดภัย

Posted: 29 Jan 2018 07:29 AM PST


สภาพของตลาดพิมลชัย อ.เมือง จ.ยะลา หลังถูกวินาศกรรมเมื่อ 22 ม.ค. 2561

แม้ตลาดเป็นลมหายใจเข้าออกของชีวิตมาหลายสิบปี ของครอบครัว "เจนนฤมิตร"  ไม่แตกต่างจากมามา หรือ "ฮาซานะ เจ๊ะมีนา"  (ซึ่งสูญเสียลูกชาย คือยีลี หรือ มะยากี แวนาแว ในตลาดสดพิมลชัยเมื่อ 22 ม.ค.2561 เขียนไว้ในเรื่องเล่าตอนที่แล้ว ) แต่การสูญเสียภรรยา คือ สุปรีดา เจนนฤมิตร ในตลาดสดพิมลชัย ที่ผ่านมานี้  คงทำให้ "วรศักดิ์" ผู้เป็นสามี ตัดสินใจขอปิดฉากชีวิตทำมาค้าขายตลอด 20 ปี ในตลาดลง  เพราะไม่มีใครรับสานต่อ ตัวเขาเองก็มีงานทำเป็นช่างอยู่แล้วที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี (ภรรยา เป็นน้องสาวของเจ้าของโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว)   ในขณะที่คนในครอบครัวที่เหลือคือ ลูกชาย 2 คน มีงานทำอยู่ที่กรุงเทพฯ

วรศักดิ์  เล่าว่าลูกชายที่เรียนจบปริญญาตรีทั้งสองคน  โดยคนโตเป็นวิศวกรช่างโยธา คนเล็กทำงานบริษัท เป็นผลิตผลของความอดทน ขยันหมั่นเพียรของภรรยาเป็นหลัก ที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาด ประเภทของเบ็ดเตล็ดต่างๆ รวมทั้งรับฝากรถ และเปิดบริการห้องน้ำ ภรรยายังหารายได้อีกทาง ด้วยการทำหน้าที่จ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ทำอาหารส่งให้โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว


สุปรีดาและวรศักดิ์ เจนนฤมิตร

ครอบครัวไม่ได้อาศัยตลาดสำหรับเป็นที่ทำมาค้าขายเท่านั้น แต่เขายังมี "บ้าน" เป็นที่หลับนอนอยู่ในตลาดด้วย เป็นชั้นบนของร้าน  ด้วยเหตุนี้ ในเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เขาจึงอยู่ในเหตุการณ์ เขาเล่าว่า  สิ้นเสียงระเบิด เขาตะโกนเรียกภรรยา  แล้ววิ่งออกมาหน้าบ้าน  เห็นภรรยาโดนระเบิดนอนอยู่  เขาจึงรีบเข้าไปอุ้มเธอไว้และเขย่าตัวเรียก ตอนนั้นเธอยังไม่สิ้นลม  มีอาการตอบรับ  เปลือกตายังขยับขึ้นลงเล็กน้อย ก่อนที่ทุกอย่างจะสงบนิ่งไปในอ้อมกอดของเขา กลางตลาดในเช้าที่แสนจะมืดมนที่สุดในชีวิตของเขา

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ เขาหยุดนิ่งไปสักครู่  แล้วก็พูดออกมาด้วยเสียงที่เบาอยู่ในลำคอ และขอบตาเริ่มแดง ว่า "ผมคิดถึงเขานะ"

หลายคนคงจำภาพเขากับภรรยาได้ติดตา เพราะเป็นภาพที่มีผู้บันทึกนาทีนั้นไว้ทัน  และโพสต์แชร์ทางโซเชียลมีเดียในช่วงวันแรกๆของการเกิดเหตุ  ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

วรศักดิ์อยู่ในชุดนอน ขาข้างซ้ายเลือดโชก  ประคองภรรยาที่นอนนิ่งกับพื้นไว้ในอ้อมกอด แล้วตัวเขาก็เอี้ยวตัวหันออกมาด้วยสายตาที่วิงวอน เหมือนกำลังจะร้องขอความช่วยเหลือจากใครก็ตามที่อยู่ใกล้ๆ ท่ามกลางซากปรักหักพังของร้านรวง...

"คนที่ไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวจริงๆ ก็คงไม่รู้ว่าเป็นยังไง ครั้งก่อนๆ เพื่อนๆเจอเหตุการณ์ ผมก็เห็นใจเขานะ  แต่ตอนนี้เรามาเจอกับตัวเราเอง ภรรยาเราเอง มันหนักมาก  พูดไม่ออก ก็ขอให้ทางรัฐช่วย ว่าจะช่วยยังไง เราก็ได้แต่ระวังตัว  แค่นั้นเอง"

วรศักดิ์ เป็นคนหาดใหญ่ ส่วนภรรยาเป็นคนยะลา  เขาแต่งงานอยู่กินกับภรรยาที่ยะลามาสามสิบปี พบเห็นและประสบเหตุการณ์ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ต่างจากคนในพื้นที่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา  นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปี 2547 และเมื่อ 23 ส.ค. 2559 ก็เกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 1 คนบาดเจ็บ 30 คน อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ก็ไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น แม้ในครอบครัวไม่เหลือใครอยู่ในพื้นที่แล้วก็ตาม

"ไม่ท้อ สู้ครับ" คำพูดนี้ ทำให้เราผู้ไปเยี่ยมรู้สึกชื่นใจแทน และชื่นชมในความเข้มแข็งของเขา

เมื่อถามว่า มีพี่น้องมุสลิมเข้ามาเยี่ยมเยียนไหม เขาบอกว่า มากันตลอด อีกสักพัก ก็จะมีเพื่อนๆ และลูกน้องซึ่งเป็นมุสลิมทำงานที่โรงแรมด้วยกันมาเยี่ยมและให้กำลังใจ น้องคนที่นั่งอยู่ในงานศพคนนั้น (เขาชี้มาที่ชายร่างอ้วน ที่นั่งคุยอยู่ในวงญาติ โต๊ะใกล้ๆ) ก็เป็นมุสลิมที่ทำงานด้วยกันนะ เขามาช่วยผมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ เขาไม่ทิ้งผมเลย

"เรื่องนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา"  เขาบอกเรา

แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ วรศักดิ์ เห็นว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่เขาก็เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยในตลาด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อป้องกันเหตุร้าย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เขาให้ความเห็นว่า

"คราวนี้ก็ต้องอยู่ที่ภาคส่วนของรัฐกับชาวบ้านต้องช่วยสอดส่องดูแลกัน ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้หรอก ต้องภาคประชาชนด้วย อันไหนผิดสังเกตต้องแจ้ง แล้วต้องบอกต่อ และต้องมีหน่วยงานที่รับเรื่องนี้โดยตรง โดยเฉพาะ เช่นถ้ามีรถผิดสังเกตจอดหน้าร้าน  ให้โทรไปไหน เบอร์อะไร ให้มีองค์กรชัดเจนที่รับเรื่อง ในตลาดไม่มีกล้องวงจรปิด มืดด้วย ทางเข้าตลาดก็เข้าได้หลายทาง"

ความปลอดภัยในตลาด ก็คือ ความปลอดภัยของชีวิตแม่ค้า พ่อค้า ที่หาเช้ากินค่ำ  ผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นพุทธ และมุสลิม   ตลาดจึงเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องได้รับการยกเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง และปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม!

พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย


0000

ข้อเสนอเรื่องตลาดปลอดภัย ของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้
(Peace Agenda of Women- PAOW)

กลุ่มองค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคม 23 องค์กร ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นของผู้หญิงในชุมชนที่ได้รับผลกระทบในชายแดนภาคใต้ประมาณ 500 คนจาก 5 เวที  ในช่วงเดือนต.ค. 2558 –เมษายน 2559 พบว่าพื้นที่สาธารณะที่ผู้หญิงอยากให้ปลอดภัยมากที่สุด คือ ตลาด เนื่องจากเคยมีเหตุรุนแรงเคยเกิดขึ้นในตลาด ที่ทำให้ผู้หญิง และประชาชนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี นับตั้งแต่ ม.ค. 2547 – ต.ค.2560 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบ 610 คน บาดเจ็บ 2,496 คน (เหตุระเบิดในตลาดพิมลชัย เมื่อ 22 ม.ค.2561 มีผู้หญิงเสียชีวิต 2 คนจากผู้เสียชีวิตทั้งหมด  3 คน  บาดเจ็บ 17 คน จากผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 22 คน )

นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเห็นว่าตลาดยังมีคุณค่าและความหมายต่อผู้หญิงมาก เนื่องจากเป็นแหล่งทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดของทุกคน เป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ตลาดช่วยให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ มีอำนาจในการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอย เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงต้องใช้ประโยชน์เนื่องจากบทบาททางเพศที่ต้องดูแลครอบครัว เป็นแม่บ้านทำกับข้าว ซื้อหาสินค้าส่วนตัว จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดพบปะสังสรรค์ เข้าสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลาดนัดเป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ มีความสุข ผ่อนคลายอีกทั้งตลาดยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เป็นพื้นที่กลางของผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งศาสนา เพศ วัย และชาติพันธุ์

ในการระดมความเห็นดังกล่าว ผู้หญิงยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในตลาด อีกด้วยดังนี้

ต้องมีการจัดวางระเบียบของตลาด ทั้งการจอดรถ ทางเข้าออกของตลาด มีการวางจุดตรวจเป็นระยะ แต่จุดตรวจเหล่านั้น ควรมีระยะห่างพอสมควรกับตลาด ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพทั้งในและบริเวณตลาด และที่จอดรถ มีการจัดประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาความปลอดภัยในตลาดอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ มีข้อเสนอด้วยว่าการรักษาความปลอดภัย  ต้องให้เป็นไปตามบริบทพื้นที่ และควรมีการปรึกษาหารือ หรือให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด หรือออกแบบมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะนั้นๆด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มรสุมใต้ปีกนก

Posted: 29 Jan 2018 06:47 AM PST

เพิ่มอีกหนึ่งรวงรัง , อีกครั้งมรสุม
เผยอีกมุมมืดสนิทเกินปิดกั้น
ผ่านวัยเยาว์มิเคยเยาว์ หากเท่าทัน
ร้อนมิหวั่น หนาวมิหวาด ประกาศเสรี

ขอบคุณรวงรัง .. ร้องสั่งมรสุม
แผ่นดินแม่เมฆหมอกคลุมมิคลายคลี่
หนึ่งนกจะโบกบินเยี่ยงอินทรี
เสาะดวงตาปรารถนาดี เสาะที่บิน !!


( ** แด่..ชะตากรรมของ 'การ์ตูน' : ชนกนันท์ รวมทรัพย์
สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ผู้จำพลัดพรากแผ่นดินแม่ )

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงานจ่อเสนอ ครม.ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 7 ระดับ ด้านคสรท. ยันต้องขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ

Posted: 29 Jan 2018 04:54 AM PST

รมว.แรงงาน เผย เสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ 30 ม.ค.นี้ ด้านคสรท. ยันต้องขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ-เลี้ยงดูครอบครัวได้  

29 ม.ค. 2561 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า วันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอเข้าพบเพื่อหารือประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 5% โดยปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดตั้งแต่ 5-22 บาท  ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะมีผลต่อแรงงานและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีเสียงตอบรับดี  ส่วนผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการที่จะรองรับไว้แล้วทั้งด้านมาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลัง  การพัฒนายกระดับผลิตภาพเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม  และการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์  โดยทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 30 มกราคมนี้

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า กรณีมีข้อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศนั้น ได้รับไว้พิจารณาเพราะถือว่ามีเหตุผล โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพในพื้นที่ตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา  ส่วนมาตรการลดเงินประกันสังคมและการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปีนั้น  ขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณาในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งต่อไป

"ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้านในภาพรวมของประเทศการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกันอาจจะส่งผลกระทบในช่วงต้น แต่เชื่อมั่นว่าต่อไปจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน" พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าว

ด้านรองประธาน คสรท. ยังคงหลักการว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ขณะเดียวกันต้องการให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเพื่อให้สถานประกอบการปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปี และเปลี่ยนคำนิยาม ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น ค่าจ้างแรกเข้า เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเกิดประโยชน์กับนายจ้างและลูกจ้างมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มติคณะกรรมการค่าจ้าง ได้เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 เป็น 7 ระดับ ซึ่งปรับเพิ่ม 5 บาท มี 17 จังหวัด และปรับเพิ่ม 10 บาทมีถึง 27 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ปรับในสัดส่วนที่สูงกว่า มีเพียง 4 จังหวัด คือ 17 บาท มี 1 จังหวัด ปรับขึ้น 20 บาท(ฉะเชิงเทรา) และ 22 บาทมีเพียง 2 จังหวัด (ระยอง และชลบุรี) 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สฤณี’ ประกาศไม่รับตำแหน่ง กก.ผู้ทรงคุณวุฒิเมืองอัจฉริยะ หลังประยุทธ์เซ็นตั้ง

Posted: 29 Jan 2018 04:15 AM PST

สฤณี อาชวานันทกุล ประกาศไม่รับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นแต่งตั้ง เผยไม่เคยได้รับการทาบทามใดๆ มาก่อนเลย ถาม "เมื่อไหร่เผด็จการทหารจะเลิกตู่เอาเองเสียที"

29 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 17.17 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล' ของ สฤณี อาชวานันทกุล โพสต์ภาพคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี ตั้ง สฤณี เป็น 1 ใน กรรมการคณะดังกล่าว

สฤณี โพสต์ข้ความพ้อมคำสั่งดังกล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวมีลายเซ็นผู้นำเผด็จการทหารในฐานะนายกฯ ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
 
"ขอแจ้งสั้นๆ นะคะว่า ตัวเองไม่เคยได้รับการทาบทามใดๆ มาก่อนเลย และต่อให้ได้รับการทาบทาม ก็ไม่ยินดีที่จะทำงานใดๆ ให้กับคณะกรรมการไหนก็ตามที่เผด็จการแต่งตั้ง" สฤณี โพสต์ พร้อมระบุด้วยว่าเบื่อหน่ายและรู้สึกเซ็งมากกับเรื่องแบบนี้
 
"เมื่อไหร่เผด็จการทหารจะเลิกตู่เอาเองเสียที ที่ผ่านมาก็เคยเจอเรื่องประมาณนี้มาแล้วสองสามครั้ง หน่วยงานอะไรสักอย่างจะเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการที่เผด็จการตั้ง แต่อย่างน้อยหน่วยงานเหล่านั้นยังให้เกียรติโทรมาถาม พอตอบปฏิเสธไปเขาก็ไม่เสนอชื่อต่อ" สฤณี โพสต์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เผยปี 2560 มีศิษย์เก่าเตรียมทหารเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 3 นาย

Posted: 29 Jan 2018 03:47 AM PST

ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานงานวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร เผยปีที่ผ่านมามีศิษย์เก่าเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 3 นาย แต่ได้สั่งให้กองทัพดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างดี ย้ำโรงเรียนเตรียมทหารเป็นสถาบันสร้างคนให้เข้มแข็ง

แฟ้มภาพ

29 ม.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในงานวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ครบรอบปีที่ 60 ว่า ปี 2560 มีศิษย์เก่าเตรียมทหารเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 3 นาย ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ตนได้สั่งการและเน้นย้ำให้กองทัพดูแลครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตให้ดีที่สุด 

"ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และนายทหารทุกชั้นยศ อย่าให้ครอบครัวมีความยากลำบาก ขอให้ผู้บังคับบัญชาดูแลด้วย เพราะพวกเขาเสียสละชีวิตดูแลบ้านเมืองมา วันนี้ได้สักการะครูอาจารย์ที่เคยสอนผม ตอนนี้ท่านก็อายุ 87 ปี แต่ยังแข็งแรง มาร่วมงานทุกปี แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยกับลูกศิษย์มาโดยตลอดเสมอมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ได้มาาเปิดพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งจะทำให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจ อย่างที่ตนกล่าวไปแล้วว่าเมื่อวันแรกที่เราก้าวเข้าสู่โรงเรียนเตรียมทหาร ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เราถูกปรับปรุงวินัยเช่นเดียวกัน ไม่มีการละเว้น ไม่มีว่าลูกใครหลานใครทั้งสิ้น เราทุกคยถูกปรับปรุงมาโดยตลอด แต่ก็อยู่ในกรอบวินัย กรอบของระเบียบกติกาที่กำหนดไว้ และทำให้เราแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ มีความอดทนอดกลั้นในการทำงาน

"สิ่งที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่คือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือนักเรียนเตรียมทหารใดก็ตาม สอนให้ทุกคนทำงานเพื่อคนอื่นให้มากที่สุด บางครั้งก็อาจลืมนึกถึงตัวเองไป เช่น ผู้ได้รับการบาดเจ็บ สูญเสีย บางครั้งก็ทำให้เกิดข้อบกพร่องผิดพลาดในการทำงาน ก็เหมือนกับการสู้รบ การทำศึกสงคราม แผนของเรากับแผนของข้าศึกก็คนละอย่างกัน ผ่านการปะทะต่าง ๆ มาพอสมควร ผมเข้าใจดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้นโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นโรงเรียนที่สร้างคนให้เข้มแข็งและสามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรคในยามวิกฤติให้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในยามวิกฤติ คือ ทุกคนจะมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด และที่สำคัญคือการดูแลตัวเองและคนอื่น ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไปด้วย นี่คือสิ่งที่เป็นภาระของพวกเราทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเตรียมทหาร จะต้องมีการเพิ่มเติมบางอย่าง โดยได้ให้แนวทางว่าควรมีการวางอนาคตอย่างไร วันนี้ต้องสอนให้คนไทยมองอนาคตของประเทศไปด้วย การสร้างพิพิธภัณฑ์จะเป็นสิ่งให้ระลึกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นหน่วย เป็นนักเรียนเก่า

"วันนี้ถ้าเราไม่สอนให้คนไทยรู้จักคิดอะไรเพื่ออนาคต เราจะเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะมันจะติดขัด ข้อขัดแย้งต่าง ๆ ก็มากมาย ถ้าเรายังคิดแบบเดิม เพราะฉะนั้นวันนี้อยากให้ทุกคนคิดถึงวิสัยทัศน์ คือการมองคาดการณ์ไปข้างหน้าว่าเราอยากให้ประเทศของเราเป็นอย่างไร อยากให้หน่วยงานของเราเป็นอย่างไร อยากให้ประชาธิปไตยเราเป็นอย่างไร เราต้องปรับมุมมอง ปรับแนวคิดใหม่ ผมก็พยายามทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุดตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีอยู่" พล.อ.ประยุทธ กล่าว

ส่วนกรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย หัวหน้า คสช. กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราก็พร้อมจะชี้แจงให้ความเป็นธรรมทุกประการ เราคงปกปิดอะไรให้ใครไม่ได้อยู่แล้ว 

"เมื่อสักครู่ก็ย้ำไปกับผู้บังคับบัญชาและผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหารไปแล้ว ซึ่งก็พร้อมที่จะชี้แจงหลักฐาน ทำความเข้าใจ และหากเป็นเรื่องทางกฎหมาย ก็ว่ากันไป ยินดีทุกอย่างทุกประการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หญิงข้ามเพศอังกฤษอดอาหารประท้วง หลังถูกขังรวมเรือนจำชาย

Posted: 29 Jan 2018 03:26 AM PST

นักโทษหญิงข้ามเพศที่เรือนจำเอชเอ็มพีเพรสตัน แลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ พูดถึงสภาพเหมือน "ฝันร้าย" ที่เธอต้องเผชิญในเรือนจำชาย ทำให้เธอเริ่มอดอาหารประท้วง เธอบอกว่าเธอเตรียมใจตายไว้แล้วถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมรับเพศสภาพที่เธอนิยามตัวเอง

29 ม.ค. 2561 มารี ดีน เป็นผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศอายุ 50 ปี ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำชายล้วนของทัณฑสถานเอชเอ็มพี เธออดอาหารประท้วงกระทรวงยุติธรรมที่ไม่ยอมรับว่าเธอเป็นผู้หญิงโดยบอกว่ามันทำให้เธออยู่ในสภาพ "ฝันร้าย"

ในจดหมายของดีนลงวันที่ 17 ม.ค. ส่งออกจากคุกไปถึงเพื่อนๆ ของเธอระบุว่าเธอรู้สึกถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้เธอยังอ้างอิงถึงกรณีของ บ็อบบี แซนด์ นักโทษไออาร์เอที่อดอาหารประท้วงเสียชีวิตในปี 2524 โดยบอกว่าเธอยอมตายดีกว่าถูกปฏิเสธไม่ยอมรับเพศสภาพของเธอ โดยที่ในปีที่แล้วมีหญิงข้ามเพศอย่างน้อย 3 ราย ที่ฆ่าตัวตายในเรือนจำชายล้วน

จดหมายของดีนระบุว่า "ฉันตัดสินใจแล้วเมื่อวานนี้ว่าฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ฉันหยุดกิน หยุดดื่ม ฉันควรจะตายภายในประมาณ 3 หรืออาจจะ 4 สัปดาห์ ฉันคิดว่ามีหญิง(ข้ามเพศ) 3 รายแล้วที่ฆ่าตัวตายไป ฉันคิดว่าพวกเธอทำมันเร็วเกินไป ฉันจำเรื่องบ็อบบี แซนด์ ได้หลายปีมาแล้ว ไม่กินไม่ดื่มจนกระทั่งเขาตาย ความเชื่อของเขาผลักดันให้เขาทำสำเร็จได้"

ดีนได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไม่พอใจในเพศของตัวเอง (Gender dysphoria) ซึ่งในเชิงจิตเวชยุคปัจจุบันควรเน้นการบำบัดด้วยการให้ผู้ป่วยได้สามารถแสดงออกทางเพศสภาพที่ตนเองต้องการได้ ดีนถูกสั่งให้จำคุกด้วยข้อกล่าวหา "บุกรุก" และสิ่งที่ทางการอังกฤษตัดสินว่าเป็น "การถ้ำมอง" จากการที่เธอบุกเข้าไปในบ้านคนอื่นแล้วถ่ายภาพตัวเองสวมชุดชั้นในของผู้หญิง

ดีนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ยอมให้เธอได้รับเครื่องหนีบผม เครื่องถอนผม หรือเครื่องสำอางใดๆ จดหมายของเธอยังทำให้มีการเปิดเผยเรื่องที่หญิงข้ามเพศกลุ่มหนึ่งในเรือนจำชายล้วนของเอชเอ็มพีร่วมใจกันฆ่าตัวตายเพราะการปฏิบัติเลวร้ายจากในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่เรือนจำและการที่ไม่มีใครยอมรับฟังพวกเธอ หนึ่งในนั้นคือเจนนี สวิฟต์ ผู้ผูกคอตายในห้องขังของตนเอง

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับจดหมายฉบับล่าสุดจากดีนแล้วเพื่อนของดีนก็บอกว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเธออีกเลยทำให้เพื่อนของดีนกังวลเรื่องสวัสดิภาพของเธอ

เพื่อนของดีนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมเคารพในสิทธิของคนข้ามเพศเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นอีก ในแถลงการณ์ระบุว่า "พวกเราเรียกร้องเจาะจงให้มารี ดีน สามารถกลับมานิยามตัวเองเป็นหญิงได้โดยทันที และควรได้รับการเคารพในความเป็นมนุษย์จากเจ้าหน้าที่ทุกคน การคืนเสื้อผ้าและเครื่องสำอางให้เธอถือเป็นการคืนเกียรติยศศักดิ์ศรีให้กับเธอและขอให้เธอถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่เรือนจำหญิงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การปล่อยให้เธออยู่ในพื้นที่เรือนจำชายต่อไปจะทำให้เธอถูกข่มเหงรังแกหนักขึ้นไปอีก รวมถึงต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและพฤติกรรมเหยียดคนข้ามเพศหนักขึ้น"

แถลงการณ์จากเพื่อนของดีนยังวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงยุติธรรมของอังกฤษที่ไม่ยอมรับเพศสภาพของผู้คนตามนิยามของพวกเขาเอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในเพศสภาพนั้นมานานแค่ไหนก็ตาม และในกรณีของดีนเธอต้องเผชิญกับความบอบช้ำมานานแล้วจนถึงขั้นทำให้เธอเลิกล้มและอยากตาย

เมื่อปี 2560 ทางกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษเริ่มออกแนวทางวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศโดยระบุว่าควรมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปัจเจกบุคคลและในทุกกรณีควรจะมีการพิจารณา 3 วันก่อนการนำตัวเข้าไปเป็นผู้ต้องขัง โดยจะมีการพิจารณาว่าพวกเขาควรจะไปอยู่ในสถานที่ใดถึงจะดีที่สุดเว้นแต่สถานที่นั้นๆ จะเสี่ยงทำให้เกิดอันตราย


เรียบเรียงจาก

Transgender woman in male prison 'nightmare' on hunger strike, The Guardian, 28-01-2018
https://www.theguardian.com/society/2018/jan/27/marie-dean-trans-prisoner-male-prison-hunger-strike


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.psychiatry.org/patients-families/gender-dysphoria/what-is-gender-dysphoria

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

26 ผู้บริหารธรรมศาสตร์ ร้องประยุทธ์ ทบทวนการดำเนินคดี 'เดินมิตรภาพ'

Posted: 29 Jan 2018 02:56 AM PST

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ทบทวนการดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ และผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปโดยสันติ

ภาพขณะเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เพจ People GO network)

29 ม.ค.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง ขอให้ทบทวนการดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ และผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปโดยสันติ มีรายละเอียดดังนี้
 
ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ในนามของ People Go Network ได้จัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพ ทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นกิจกรรมที่วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา นั้น
 
เนื่องจากทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีผู้จัดกิจกรรมจำนวน 8 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามมิให้มั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นอาจารย์ที่เป็นคณบดีคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย
 
ในฐานะที่กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชุมชนทางวิชาการ และเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเสมอมา รองอธิการบดีที่รับผิดชอบพื้นที่ศูนย์รังสิต ร่วมผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านอื่น อันประกอบด้วยรองอธิการบดี 4 คน คณบดี 10 คณะ ผู้อำนวยการสถาบัน 5 สถาบัน และผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนึ้
 
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้สิ้นสภาพลงไปแล้ว นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 มี่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำสั่งของ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ในเมื่อประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องกลายเป็นเรื่องยกเว้น มิใช่เรื่องหลักอีกต่อไป
 
ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่ ห้ามมั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความและใช้อำนาจนี้อย่างกว้างขวาง ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรต้องทบทวนที่จะบังคับใช้ต่อไป มิเช่นนั้นแล้ว จะเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผ่านการลงประชามติและประกาศใช้แล้ว ยังคงไม่มีผลบังคับใช้ และเท่ากับว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
 
2. ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแมปกลับสู่สภาวะปกติ คสช. จึงควรเปิดกว้างมากขึ้น และให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมายและภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ดังที่ ท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวหลายครั้งว่า ประชาชนอย่าเอาแต่รอรัฐบาล แต่ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศด้วย การแสดงออกของประชาชนภายในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยสันติวิธี จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน การดำเนินคดีต่อผู้จัดกิจกรรมการแสดงออกใดๆ ควรจะดำเนินการต่อเมื่อผู้จัดกิจกรรมฝ่าฝืนกฎหมายปกติเท่านั้น
 
3. การจัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่กำลังเดินไปตามถนนมิตรภาพโดยมีปลายทางที่จังหวัดขอนแก่นนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคมโดยใช้วิธีการเดินรณรงค์ ทำนองเดียวกับการจัดวิ่ง หรือขี่จักรยาน หรือกิจกรรมรณรงค์รูปแบบอื่นในทำนองเดียวกัน คสช. จึงไม่ควรถือว่าเป็น การมั่วสุมประชุมทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลปกครองได้มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและต้องอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการชุมนุม จึงไม่ควรมีการดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 อีก
 
โดยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอให้ คสช. โปรดทบทวนการดำเนินการกับผู้จัดกิจกรรมทั้ง 8 คน รวมถึงผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปอย่างสันติ ในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ขอให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี อาจถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้กลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอีกต่อไป อันไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และต่อ คสช. เองด้วย 
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
 
ขอแสดงความนับถือ
 
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล​ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต 2. รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์  รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ 3. ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา  4. รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ ประเสริฐสุข รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ 5. รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร  คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  6. รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล​ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ 7. รองศาสตราจารย์ ดร. ชยันต์ ตันติวัสดาการ​คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ 8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์​​  คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 9. รองศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล​​คณบดีคณะศิลปศาสตร์ 10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์​  คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ 11. รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ชคตระการ​คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 12. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย​​  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 13. รองศาสตราจารย์ ดร. ธีร เจียศิริพงษ์กุล​​ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา​ คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 15. อาจารย์ ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ​ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
 
16. รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์​ ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา 17. อาจารย์ ดร.ปกป้อง ส่องเมือง​ผู้อำนวยการ สำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  18. อาจารย์ ดร. อนุชา ทีรคานนท์  ​ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา 19. รองศาสตราจารย์ ดร. สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ​ผู้อำนวยการสถาบันภาษา 20. อาจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข ​ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ  21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริยา ณ นคร​  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา 22. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง  23. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ  ​ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ 24. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์
 ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ​ 25. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร 26. นายบุญสม อัครธรรมกุล​ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทันตแพทย์ รพ.บัวใหญ่ รักษาผู้ป่วยใบ้ฟันยื่น ใช้สิทธิบัตรทอง-ผุดฟันปลอมทั้งปาก-คืนชีวิตใหม่

Posted: 29 Jan 2018 01:24 AM PST

ทันตแพทย์ รพ.บัวใหญ่ รักษาผู้ป่วยเป็นใบ้ฟันยื่นสำเร็จ ทำฟันปลอมให้ฟรีจากสิทธิบัตรทอง ปลื้มคนไข้ยิ้มได้ ระบุ สิทธิประโยชน์ทันตกรรมครอบคลุมกว่าประกันสังคม

29 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพญ.ชีวานันท์ บุญอยู่ หัวหน้าฝ่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยฟันยื่นและพิการเป็นใบ้ ซึ่งเป็นเคสที่มีการแชร์ต่อกันในสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมากว่า โรงพยาบาลบัวใหญ่มีศูนย์ดูแลรักษาผู้พิการที่ทำงานร่วมกับหลากหลายภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด ซึ่งเคสดังกล่าวก็ได้รับการประสานมาจากศูนย์ฯ และ นพ.ชาญชัย บุญอยู่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบัวใหญ่ ให้ฝ่ายทันตแพทย์วางแนวทางรักษา

ทพญ.ชีวานันท์ กล่าวว่า เคสดังกล่าวมีปัญหาคือฟันหน้ายื่นมาก ไม่มีฟันล่าง มีขากรรไกรที่ผิดปกติ และเป็นใบ้ไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการทำฟันปลอมนั้นคนไข้ต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ เช่น ต้องออกเสียงเพื่อดูลิ้น ดูระดับปลายฟัน แต่เคสนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ทันตแพทย์จึงต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก

"ตอนเจอคนไข้เคสนี้ แรกๆ คนไข้ใช้ผ้าปิดจมูกและปากตลอดเพราะอาย มาเจอหมอครั้งแรกก็ไม่กล้าเปิดผ้า เพราะยังมีความไม่ไว้วางใจ ซึ่งการทำฟันถ้าไม่ไว้วางใจแพทย์หรือยังมีความเกร็ง ความประหม่า ก็จะทำได้ยาก เพราะกล้ามเนื้อจะไม่ผ่อนคลาย หมอจึงต้องค่อยๆ พูด สร้างความเป็นกันเองไปเรื่อยๆ ในทุกๆ สัปดาห์ จนคนไข้ยอมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สุดท้ายหมอก็สามารถถอนฟันออกทั้งหมด แล้วจัดทำฟันปลอมใหม่ให้ทั้งหมด" ทพญ.ชีวานันท์ กล่าว

ทพญ.ชีวานันท์ กล่าวต่อไปว่า หลังใส่ฟันปลอมให้คนไข้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วินาทีที่คนไข้ดูกระจกเขาก็หน้าแดง น้ำตาคลอ ซึ่งในฐานะผู้รักษาก็รู้สึกปลื้มใจมากว่าคนไข้ประทับใจมาก โดยคนไข้ได้แสดงความชื่นชอบตั้งแต่สัปดาห์ที่ทดลองใส่ฟันที่ทำจากขี้ผึ้งก่อนจะทำเป็นฟันปลอมถาวร ด้วยการลองใส่แล้วยิ้มอย่างมีความสุข

"ผู้ป่วยเคสนี้ใช้สิทธิผู้พิการ เป็นสิทธิบัตรทอง โดยรักษาฟรีทั้งหมดจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่ต้องเสียเงินสักบาท เพราะอยู่ในสิทธิประโยชน์ทั้งหมด ส่วนตัวรู้สึกดีใจ เป็นกำลังใจของคนทำงานเมื่อได้เห็นคนไข้มีความสุข คนไข้สามารถยิ้มได้ จากก่อนหน้าที่ไม่กล้าแม้แต่จะเปิดผ้าปิดปาก" ทพญ.ชีวานันท์ กล่าว

ทพญ.ชีวานันท์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันสิทธิประโยชน์บัตรทองถือว่าครอบคลุมงานทันตกรรมค่อนข้างมาก กล่าวคือแทบจะได้ทุกอย่าง และมากกว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย

"เรื่องทันตกรรมบัตรทองครอบคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นรักษารากฟัน และฟันปลอมที่มีค่าใช้จ่ายสูงๆ เท่านั้น ซึ่งในฐานะผู้ให้บริการก็สามารถรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้อย่างเต็มที่ หากมีปัญหาอะไรเราก็สามารถนัดต่อเนื่องได้โดยแทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้นจำเป็นต้องแจ้งสิทธิประโยชน์ให้ทราบก่อน เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในรายการที่สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม ซึ่งหากผู้ป่วยพร้อมก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนสิทธิข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้มากที่สุด คือครอบคลุมถึงรักษารากฟันด้วย" ทพญ.ชีวานันท์ กล่าว   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนสงขลาปัตตานีไม่เอาถ่านหิน' ร้องประยุทธ์ ยุติสร้างโรงไฟฟ้า - ขอความเป็นธรรม 17 แกนนำ

Posted: 29 Jan 2018 01:00 AM PST

เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 17 คน 

29 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยแพร่จดหมาย ถึง  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียกร้องขอให้รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาและจะต้องตรวจสอบถึงความไม่ชอบธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพวกตน รวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 17 คน เพราะทั้ง 17คน เป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเป็นสิทธิของประชาชนในการที่จะเดินไปหา นายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะเสนอข้อคิดเห็นและให้ข้อ มูลเพื่อประกอบการตัด สินใจต่อโครงการน้ีไม่มีเจตนาที่ จะสร้างความวุ่นวายใดๆ หากแต่ต้องการนำเสนอความทุกข์ร้อนของตนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพียง เท่านั้น

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ILO เผยแนวโน้มการจ้างงานปี 2561 ทั่วโลกจะมีคนว่างงาน 192.3 ล้านคน

Posted: 29 Jan 2018 12:21 AM PST

รายงานฉบับใหม่ของ ILO ระบุว่าอัตราว่างงานทั่วโลกในปี 2561 จะอยู่ที่ 5.5% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 192.3 ล้านคน

ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) World Employment and Social Outlook: Trends 2018 ระบุว่าในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น แต่คาดว่ากำลังแรงงานและอัตราการว่างงานทั่วโลกในปี 2561 จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (2560)

ในรายงานระบุว่าอัตราว่างงานในปี 2561 จะลดลงเหลือร้อยละ 5.5 หลังจากในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 และคาดการว่าในปี 2562 อัตราว่างงานยังจะคงตัวที่ร้อยละ 5.5 ส่วนผู้ว่างงานทั่วโลกในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 192.3 ล้านคน ลดลงจากปี 2560 ที่ 192.7 ล้านคน และคาดว่าในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นเป็น 193.6 ล้านคน

"ถึงแม้ว่าการว่างงานทั่วโลกจะคงตัว แต่การขาดสภาพการจ้างงานที่ดีก็ยังคงแพร่หลายในทั่วโลก เศรษฐกิจโลกที่ชะงักงันก็ยังไม่สามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากนัก" กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการของ ILO ระบุ เขายังเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพงานให้แก่ผู้หางาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน

การจ้างงานที่ไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น

ILO คาดการณ์ว่าภายในปี 2562 คนทำงานในประเทศกำลังพัฒนาทุก ๆ 3 ใน 4 คนจะถูกจ้างงานแบบไม่มั่นคง ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

รายงานของ ILO ฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ว่าความพยายามลดการจ้างงานที่ไม่มั่นคงได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งหมายความว่าคนทำงานเกือบ 1.4 พันล้านคน กำลังถูกจ้างงานในรูปแบบที่ไม่มั่นคง และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาคาดว่าจะมีผู้ที่ถูกจ้างงานไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นอีก 35 ล้านคน ที่น่าตกใจคือภายในปี 2562 คนทำงานในประเทศกำลังพัฒนาทุก ๆ 3 ใน 4 คนจะถูกจ้างงานแบบไม่มั่นคง

ILO คาดว่าจำนวนคนทำงานที่ดำรงชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่ที่ 176 ล้านคน ในปี 2561 หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของคนที่ถูกจ้างงานทั้งหมดในโลก

"ในประเทศกำลังพัฒนา ความคืบหน้าในการลดความยากจนดูเหมือนจะดำเนินการช้าเกินไปเมื่อเทียบกับการขยายตัวของกำลังแรงงาน" สเตฟาน คูห์น นักเศรษฐศาสตร์ของ ILO ทีมเขียนรายงานฉบับนี้ระบุ

นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงอยู่ในระดับต่ำกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับคุณภาพงานและรายได้จากการทำงานต่ำกว่าผู้ชาย โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชายที่จะมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ทั้งนี้พบว่าช่องว่างระหว่างเพศในการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานทั่วโลกมีสูงกว่าร้อยละ 26 ผู้หญิงไม่ค่อยมีโอกาสได้หางานทำ และช่องว่างเหล่านี้มีความห่างมากขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและอาหรับซึ่งผู้หญิงมีแนวโน้มการว่างงานสูงกว่าผู้ชายสองเท่า

และแม้จะได้รับการจ้างงาน แต่ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางเพศและการเข้าถึงการจ้างงานที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่นในปี 2560 ผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 82 ทำงานในลักษณะที่มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งเทียบผู้ชายที่ทำงานในลักษณะนี้มีเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น

ส่วนปัญหาการว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาว (อายุต่ำกว่า 25 ปี) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ คนหนุ่มสาวมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการว่าจ้างมากกว่าผู้ใหญ่ โดยมีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 13 หรือสูงกว่าแรงงานผู้ใหญ่ถึง 4.3 เท่า ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงเป็นอย่างยิ่งในแอฟริกาเหนือซึ่งเกือบร้อยละ 30 ของคนหนุ่มสาวในตลาดแรงงานไม่มีงานทำ

การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานในอนาคต

ในปี 2573 อายุเฉลี่ยของคนวัยทำงานทั่วโลกจะอยู่ที่ 41 ปี ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคการจ้างงาน ในรายงานฉบับนี้ระบุว่าการจ้างงานภาคบริการจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของการจ้างงานในอนาคต ขณะที่การจ้างงานในภาคการเกษตรและภาคการผลิตจะยังคงลดลง

ในรายงานยังได้ระบุถึงอิทธิพลของการเข้าสู่สังคมสูงวัย การเติบโตของการจ้างงานทั่วโลกจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยต่อการขยายตัวของคนวัยเกษียณที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่มีผู้เกษียณอายุจำนวนมากขึ้นจะส่งผลต่อระบบเงินบำนาญและตลาดแรงงานโดยตรง

โดยอายุเฉลี่ยของคนวัยทำงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากอายุเฉลี่ยที่ 40 ปี ใน ปี 2560 เป็น 41 ปี ในปี 2573 ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี 2573 คนทำงานเกือบ 5 คนจากทุก ๆ 10 คน จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากในปี 2560 ที่มีเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้น

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
ILO: Unemployment and decent work deficits to remain high in 2018 (ILO, 22/1/2018)
World Employment and Social Outlook: Trends 2018 (ILO, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28/1/2018)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.เตรียมขอหมายจับ 'การ์ตูน NDM' คดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10

Posted: 28 Jan 2018 11:31 PM PST

'การ์ตูน NDM' เผยอยู่นอกประเทศไทย พร้อมขอสถานะผู้ลี้ภัย หลังถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai ด้านตำรวจระบุเตรียมขอศาลออกหมายจับ

29 ม.ค. 2561 ความคืบหน้าเพิ่มเติมหลังจากวานนี้ (28 ม.ค.61) ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) โพสต์ภาพหมายเรียกจากตำรวจในคดีที่ตนเองตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ บีบีซีไทย รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเขาราว 2,800 คน ลงในเฟซบุ๊กตั้งแต่ ธ.ค.ปี 2559 ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยหมายเรียกดังกล่าวระบุผู้ฟ้องคือ ร.ท.สมบัติ ต่างทา และระบุให้ ชนกนันท์ มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.คันนายาว ในวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา นั้น

วันเดียวกัน บีบีซีไทย รายงานว่า พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล ซึ่งเป็นผู้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า ชนกนันท์ถูกต้องข้อหาในคดีอาญามาตรา 112 จากการแชร์ข่าวที่แปลเป็นภาษาไทยโดยบีบีซีไทยเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ทางตำรวจได้รับการติดต่อจากทนายความของชนกนันท์ในช่วงประมาณวันที่ 16-17 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าต้องการขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหา แต่ก็ยังไม่เห็นหนังสือของเลื่อนนัดอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งได้มาอ่านโพสต์ทางเฟสบุ๊คของชนกนักน์ในที่ 28 ม.ค.61

"เพิ่งจะมาอ่านวันนี้นะ เป็นไปได้ว่าเขาจะไม่อยู่ [ในเมืองไทย] แล้ว เมื่อสักครู่มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรมาหา สงสัยว่าชนกนันท์จะไม่อยู่แล้ว ก็เลยเข้าไปอ่าน สงสัยชนกนันท์ก็จะไม่อยู่แล้วจริง ๆ" พ.ต.อ.วิบูลย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

พ.ต.อ.วิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หลังจากที่ได้อ่านโพสต์แล้ว อาจจะต้องตรวจสอบกับทางตม. ว่าเขาได้เดินทางออกนอกประเทศหรือเปล่า ถ้าเดินทางออกนอกประเทศก็มีข้อมูลว่าน่าจะหลบหนีนะ ก็จะขอศาลออกหมายจับเลย"

ชนกนันท์ กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า ขณะที่กำลังพำนักอยู่ในประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย เป็นประเทศที่ไม่มี กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอยู่ระหว่าง การรวบรวมเอกสารเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศนี้

"ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร มีการพูดคุยกับทนายทางนี้แล้ว เค้าบอกว่ามีความเป็นไปได้เพราะหลักฐานการคุกคามชัดเจน ก่อนหน้านี้จะโดนหมายเรียกนี้ เราก็โดนคุกคามมาตลอดตั้งแต่มีรัฐประหาร ต้องขึ้นศาลทหารอยู่ในคดีราชภักดิ์ โดนจับในการชุมนุมหลายครั้ง และมีทหารมาที่บ้านเกือบทุกเดือนตลอด 2 ปี" ชนกนันท์ เปิดเผยกับบีบีซีไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลังบริสุทธิ์เหนือมวลชนจัดตั้ง วาทกรรมสะท้อนจริตคนชั้นกลาง

Posted: 28 Jan 2018 11:07 PM PST



วาทกรรม "พลังบริสุทธิ์" มักถูกหยิบยกมาใช้เสมอเมื่อมีกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง แต่มันจะถูกใช้ในฝ่ายที่ผู้พูดสนับสนุนอยู่เท่านั้น สำหรับกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ก็มักจะถูกเรียกผู้ที่มาชุมนุมว่าเป็นพวก "มวลชนจัดตั้ง"

รู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ กับคำว่า "พลังบริสุทธิ์" ที่มักถูกเอามาใช้เพื่อลดทอนคุณค่าของพลัง "จัดตั้ง" ซึ่งโดยนัยยะหมายถึงคนเสื้อแดง (เพราะมีอยู่กลุ่มเดียวที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน) 

มีคนมากมายที่ตื่นตัวและเข้าร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดงโดยอิสระ ไม่ได้ถูกชักจูงโดยพรรค แต่แน่นอนว่าพวกเขาสนับสนุนและชื่นชอบพรรค ...พลังเหล่านี้ไม่บริสุทธิ์พอหรือ

มีคนจำนวนมากที่ต้องการมาร่วมต่อสู้ในขบวนคนเสื้อแดง แต่ยากไร้ไปทุกสิ่ง เมื่อได้รับการสนับสนุนทางปัจจัยการเดินทาง และการกินอยู่ในม๊อบ จากกลุ่มการเมือง ...พลังเหล่านี้ไม่บริสุทธิ์พอหรือ

คนที่ยอมขายวัวขายควาย ทิ้งลูกเมีย ขึ้นรถตู้ รถโดยสารที่ ส.ส.ในพื้นที่จัดหาให้ เพื่อมาตามความฝันในม๊อบ ...เหล่านี้คือการจัดตั้งใช่หรือไม่

หรือการจัดตั้งคือการจ้างคนมาม๊อบ เขาจะจ้างกันได้นานขนาดไหนถ้าผู้ชุมนุมไม่สมัครใจมา แล้วถ้าเขาสมัครใจมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การจัดตั้งมันดูแย่ที่ตรงไหน

คำว่า"บริสุทธิ์" มันเป็นนามธรรม พอๆกับคำว่า"ดี" ถ้าคุณเคยมีปัญหากับคำว่า"ดี" คำว่า"บริสุทธิ์"ก็ย่อมสร้างปัญหาได้เช่นกัน!

พลังบริสุทธิ์ หมายถึงอะไรกันแน่ หรือต้องเป็นมวลชนที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง โดยเฉพาะไม่ควรฝักไฝ่พรรคยอดนิยม แต่ถ้าฝักใฝ่พรรคอื่นไม่เป็นไร หรือใครที่เคยเรียกร้องการรัฐประหาร เคยเป่านกหวีด ถนัดแต่การไล่ เมือออกมาไล่ คสช. แล้วก็จะกลายเป็นพลังบริสุทธิ์ทันที ใครก็ได้กรุณาทำวิจัยให้ทีเถิด

สิ่งที่น่าขบขันยิ่งขึ้นก็คือ ขณะที่ยกย่องกลุ่มเคลื่อนไหวว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ แต่ก็มีการเรียกร้องให้นักธุรกิจออกมาให้การสนับสนุน (ปัจจัยนั่นแหละ) กับกลุ่มพลังบริสุทธิ์ แล้วมันจะบริสุทธิ์ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อนักธุรกิจทั้งหลายก็ล้วนหากำไร หาประโยชน์ มีคอนเนคชั่น มีพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ เผลอๆ ก็มีคอนเนคชั่นกับพรรคการเมืองโดยตรง

มันน่าประหลาดขึ้นมาทันที เพราะพอชาวบ้านจะมีคอนเน็คชั่นกับพรรคการเมืองบ้าง มันจะดูเป็นการ "จัดตั้ง"กลับกลายเป็นความ "ไม่บริสุทธิ์" ไปในทันที

พอได้แล้ว นักคิดนักพูดทั้งหลาย ที่พยายามแบ่งแยกนักต่อสู้เป็นพวกบริสุทธิ์และพวกจัดตั้ง จัดเกรดยกยอกดทับกันเสร็จสรรพ และพยายามกีดกันนักการเมืองออกจากการต่อสู้ เพียงเพราะกลัวฝ่ายตรงข้ามโจมตีเป็นจุดอ่อน ทั้งๆ ที่ชีวิตประจำวันของพวกคุณล้วนขึ้นอยู่กับการเมืองอย่างแยกไม่ออก

ถ้าไม่มีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงกันให้รู้ดำรู้แดง แถมยังปัดความคิดที่ถูกฝ่ายตรงข้ามสั่งสมมาให้ในสมองว่าการต่อสู้ที่ดีต้องไม่ฝักใฝ่การเมือง ออกจากหัวไม่ได้ ก็อย่าหวังจะมีชัย เพราะเพียงแค่ประกาศจุดยืนว่าสู้ร่วมกับพรรคการเมืองไหนก็ยังไม่กล้า

ถ้าไม่มีจุดมุ่งหมายในใจ ถ้าไม่มีประโยชน์กับชีวิต แล้วคนจะไปเลือกตั้งเพื่ออะไร สุดท้ายก็เพื่อให้พรรคการเมืองที่ตนเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ได้เป็นรัฐบาล หรือมิใช่

แต่ถ้าไม่ใช่ และคิดว่าต้องบริสุทธิ์เสียจนยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ก็อย่าไปเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น