ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประชาชนจัดกิจกรรม We Walk เดินสวนลุมฯ ให้กำลังใจ 'เดินมิตรภาพ'
- ความขัดแย้งทางวัฒธรรมใน “พหุวัฒนธรรมนิยม”
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมของอำนาจ
- หมายเหตุประเพทไทย #194 ผู้หญิงในโลกเกมเมอร์
- " ..ทำไงได้ เราเลือกที่จะยืนข้างประชาชน...": บันทึกจาก พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล หลังเยี่ยม ทอม ดันดี
- ความคล้ายของ คสช. กับระบบของพรรคในสังคมนิยม
- 'การ์ตูน NDM' ถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai
- 'สมชัย' ชี้เลือกตั้งจัดมหรสพได้ทำไทยย้อนหลัง 43 ปี
- จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- 'ผอ.นิด้าโพล' ประกาศลาออกลั่นไม่จำเป็นต้องเลีย 'ท็อปบู๊ต' คาดถูกระงับโพล 'นาฬิกาประวิตร'
- นักเศรษฐศาสตร์ชี้เลื่อนเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน
- 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง สตง. ส่ง ป.ป.ช.-กกต.เอาผิด 213 สนช.ใช้อำนาจมิชอบเลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน
- สปสช.แจงปมข่าวลวงไม่จ่ายเงินหากไม่วัดค่าก๊าซในเลือดก่อนใส่ท่อหายใจ ยันจ่ายจริงตามคู่มือ สธ.
- หน่วยข่าวกรองเนเธอร์แลนด์เผย เคยเตือนสหรัฐฯ เป็นรายแรกว่ามีแฮกเกอร์รัสเซียเจาะระบบ
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ม.ค. 2561
ประชาชนจัดกิจกรรม We Walk เดินสวนลุมฯ ให้กำลังใจ 'เดินมิตรภาพ' Posted: 28 Jan 2018 09:06 AM PST ตำรวจ-ทหารติดตามกิจกรรมจนจบ ตามแผนจะจัดทุกวันอาทิตย์จนกว่าเดินมิตรภาพจะถึงขอนแก่น เหล่าผู้เข้าร่วมระบุ วันนี้ทิ้งเรื่องสี ทุกคนหลอมรวมมาให้กำลังใจการเดินมิตรภาพ และประเด็นทั้ง 4 ที่รณรงค์ การเดินคือการลงแรงสื่อสารในประเด็นที่ตอนนี้พูดยาก ข้อจำกัดเยอะ เมื่อ 28 ม.ค. 2561 กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนจัดงานเดิน We Walk... สวนลุม ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ เพื่อให้กำลังใจกลุ่มและร่วมรณรงค์กับกลุ่มประชาชนที่ทำกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ที่เดินรณรงค์ในประเด็นใหญ่ 4 ประเด็น ได้แก่ รัฐสวัสดิการ ความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชนและเสรีภาพ จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.ขอนแก่น การให้กำลังใจที่สวนลุมพินีมีคนร่วมเดินจำนวนราว 30-50 คน และจากนั้นก็ได้มีการกล่าวให้กำลังใจกลุ่มเดินมิตรภาพ ก่อนที่จะแยกย้าย ในงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จำนวนหนึ่งติดตามการทำกิจกรรมจนเสร็จสิ้น ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม We Walk กล่าวว่า "การเดินเป็นสัญลักษณ์ของการลงแรงเพื่อสื่อสารในสิ่งที่สถานการณ์ปรกติทำไม่ได้ ต่อให้คุณไปเช่าที่แพงๆ หรือระดมคนเยอะๆ ก็มีข้อจำกัดหมดเลย กลุ่ม People Go เลยลงเดินเพื่อยืดเวลาหลายๆ วันของการเดินที่เหนื่อยยาก ค่อยๆ สื่อสารประเด็นที่ไม่ได้ง่าย และไม่มีช่องทางในการพูดคุยมากนัก มันจึงเป็นการลงแรงของสามัญชนจริงๆ เราจึงมาอยู่ที่นี่ วันนี้ เพื่อสนับสนุนความพยายามสื่อสาร 4 ประเด็นหลัก ได้แก่เรื่องรัฐสวัสดิการ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน และการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นได้หลังจากการมีการเลือกตั้งที่เราต้องเรียกร้องให้โปร่งใส ยุติธรรม และเกิดขึ้นเร็วที่สุด การเดินของกลุ่ม People Go จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ พวกเราคนตัวเล็กๆ จึงมาแสดงพลัง และส่งกำลังใจให้เพื่อนของเราเดินทางไปจนสุดเส้นทางที่ขอนแก่น" ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า การมาเดินวันนี้เป็นการแสดงความสวยงามของวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และทุกคนมีความตั้งใจเดียวกันคือมาให้กำลังใจกลุ่มเดินมิตรภาพ "มันเป็นความสวยงามของวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของเรา วันนี้เรามองข้ามความเป็นสี แต่เรามองที่ประเด็นเดียวกัน คือการเดินมิตรภาพและข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อของเพื่อนเรา มันเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพ ถ้าสำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกชนชั้น" "การมากิจกรรมในวันนี้มาเป็นกำลังใจให้เพื่อนที่กำลังเดิน และกำลังจะเป็นตัวแทนพวกเราบอกเล่าเรื่องราวให้สังคมได้รู้ว่า ปัญหาที่มันไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างยาวนานทั้ง 4 ข้อ มันถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย ประชาชนต้องลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน วันนี้เราไม่แบ่งแยก แต่เรามาหลอมรวมกัน" "ผมว่าน่ารักดีครับ ทุกคนเก่งมาก น่ารัก เป็นไปด้วยคำว่ามิตรภาพจริงๆ ทุกคนเดินไปตามวิถีประชาชน มันอาจไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอะไรมาก แต่มันหลอมรวมด้วยหัวใจเดียวกัน คือส่งใจให้เพื่อนที่กำลังเดินมิตรภาพกันอยู่" ธัชพงศ์กล่าว "มาเดินเพื่อส่งกำลังใจให้เพื่อนเราที่ต่างจังหวัด เราเห็นว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพสำคัญมากที่สุด แต่ก่อนเป็นบัตรถ้วนหน้า ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด ตอนนี้เริ่มมีการร่วมจ่าย แต่ก่อนไปหาหมอ ยาทุกตัวไม่เสีย เดี๋ยวนี้ยาบางตัวมีร่วมจ่ายแล้ว" ผู้ร่วมกิจกรรมที่เดิมเป็นเกษตรกรที่ จ.อุบลราชธานี ตอนนี้เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ กล่าว หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมอีกคน ระบุว่า "เป็นกำลังใจให้คนที่โดนคดี ขอให้รับรู้ไว้ด้วยว่าเราเป็นกำลังใจให้ทุกเวลาเหมือนกัน แต่ด้วยทหารมีอาวุธ ใช้กลยุทธ กลวิธีหลายอย่างทำให้เราเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก แต่เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ พวกเราก็น่าจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน" กิจกรรม We Walk จะจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ โดยเวลาและสถานที่ของกิจกรรมครั้งต่อไปยังไม่มีประกาศออกมา ในส่วนสถานการณ์ของกลุ่มเดินมิตรภาพล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. กิจกรรม เดินมิตรภาพ โดยเครือข่าย People Go Network ได้เดิน 20 คนเป็นวันแรกหลังจากที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ซึ่งก่อนหน้านี้กิจกรรมการเดินจะแบ่งเป็นกลุ่มกลุ่มละ 4 คน โดยกิจกรรมได้มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 6-7 คนขับรถติดตามเพื่อดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความขัดแย้งทางวัฒธรรมใน “พหุวัฒนธรรมนิยม” Posted: 28 Jan 2018 07:30 AM PST
เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนจากประเทศไปอีกประเทศหนึ่งอย่างกว้างขวาง ทำให้แต่ละประเทศได้พบกับความแตกต่างของผู้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน จำนวนและความหนาแน่นในแต่ละพื้นที่ของคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่มีมากขึ้นในแต่ละประเทศก็ได้ทำให้การรวมกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ความแตกต่างของกลุ่มคนในประเทศหนึ่งๆ จึงปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระบวนการผสมกลมกลืน (Assimilation )ของแต่ละสังคมที่เคยทำงานได้ในระดับหนึ่ง ก็เริ่มไม่สามารถที่จะกลมกลืนได้อีกต่อไป เพราะการผสมกลมกลืนมีความหมายซ้อนของการบังคับให้วัฒนธรรมของกลุ่มย่อยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมใหญ่ของชาตินั้นซ่อนเร้นอยู่ แต่ความหนาแน่นและเข้มข้นของกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ที่ทวีขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถที่จะยอมอยู่ภายใต้การผสมกลมกลืนแบบเดิมอีกต่อไป การต่อรองกับรัฐจากฐานของกลุ่มชาติพันธ์ุและวัฒนธรรมจึงค่อยๆ ขยับเคลื่อนขึ้นเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น จนกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การเมืองเรื่อง "อัตลักษณ์" ได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องประสบและต้องแสวงหาหนทางในการจัดการให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นมากที่สุด ความก้าวหน้ามากที่สุดของการสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในแต่ละประเทศและสังคม ได้แก่ การทำให้สังคมตระหนักถึงความเป็นสังคม "พหุวัฒนธรรม" ที่มุ่งหมายให้แต่ละกลุ่มในสังคมได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความหมายที่เท่าเทียมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมอันจะทำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกัน การนำเสนอความคิดเรื่องการเมืองของการตระหนักและยอมรับ (The Politics of Recognition) ซึ่งเป็นพื้นฐานของความคิดปรัชญาการเมืองในเรื่อง "สังคมพหุวัฒนธรรม" (Multiculturalism) จึงได้รับการกล่าวขวัญและยึดถือเป็นหลักการทางการเมืองในระดับกว้างขวาง กล่าวได้ว่าความคิดในเรื่อง "สังคมพหุวัฒนธรรม" เป็นการพัฒนาอีกระดับหนึ่งของความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นความพยายามที่จะก้าวข้ามเสรีนิยมแบบเดิม เพื่อตอบสนองแก่ความหลากหลายของความแตกต่างของผู้คนในสังคมเสรีนิยม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจว่า แม้ในรัฐที่ประกาศตนว่าเป็นเสรีนิยม ก็ไม่ได้ตระหนักยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ความตึงเครียดระหว่างการกระทำที่เป็นทางการของกลไกอำนาจรัฐกับการดำรงอยู่จริงอย่างไม่เป็นทางการของคนกลุ่มย่อยในสังคมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างแหลมคม เพราะความคิดที่นำเสนอในเรื่องนี้ไม่ได้ตระหนักถึงพื้นฐานของการกำหนดความหมายของวัฒนธรรมคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำกับสังคมนั้นๆ อยู่อย่างเต็มเปี่ยม (ดูคำวิจารณ์ในหนังสือของ Charles Tayler โดยเฉพาะของ Michael Walzer ) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของระบอบการปกครองสังคมนิยมของโซเวียตในทศวรรษ 90 และเหตุการณ์ 911 ในสหรัฐ ได้ท้าทายความคิดในเรื่อง "สังคมพหุวัฒนธรรม" อย่างรุนแรง เพราะได้นำมาซึ่งการสถาปนาระบอบการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา คือ การเมืองของความหวาดกลัวและความรุนแรง (Politics of Fear and Violence) ผู้นำทางการเมืองฝ่ายขวาของกลุ่มประเทศตะวันจำนวนไม่น้อยได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจผ่านการเลือกตั้งของประชาชนด้วยเงื่อนไขของความหวาดกลัวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา การเมืองของความหวาดกลัวภายใต้รูปแบบความคิดเสรีนิยมและการมองเห็นความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมที่ชัดเจนขึ้นได้ขยายตัวไปในทุกมิติของชีวิตผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความกลัวผู้อพยพต่างชาติ ความกลัวอาชญากรรม (ที่ผูกไว้กับคนต่างวัฒนธรรม) ความกลัวการคุกคามทางเพศ รวมไปถึงความกลัวต่อการขยายตัวของเพศที่สามสี่ห้า ( LGBTQ ) ซึ่งความหวาดกลัวทุกมิติเช่นนี้ได้ทำให้คนพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันมากขึ้น ชีเช็ค ได้วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อว่า "ลัทธิพหุวัฒนธรรมเสรีนิยมได้กลายเป็นหน้ากากใบหน้ามนุษย์ให้แก่ลัทธิความป่าเถื่อนแบบเก่า" ( Slavoj Zizek, Liberal multiculturalism masks an old barbarism with a human face ) กระบวนการเคลื่อนเข้าสู่ระบอบการเมืองของความหวาดกลัวและความรุนแรงนี้ ด้านหนึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการสร้างกรอบความคิด "สังคมพหุวัฒนธรรม" แม้ว่าเป็นผลโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำเข้าใจ เพื่อที่จะแสวงหาแนวทางก้าวให้พ้นจากผลด้านลบนี้ กล่าวคือ การสร้างหรือการทำให้เกิดการยอมรับ "สังคมพหุวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ โดยที่ทุกกลุ่มวัฒนธรรมในสังคมก็ให้การยอมรับการดำรงอยู่ (exist) ของกลุ่มวัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกัน ผลของการสร้างการยอมรับใน "พหุวัฒนธรรม" นี้ ความเข้มแข็งที่ถูกสร้างให้เพิ่มขึ้นของแต่ละกลุ่มได้ทำให้เกิดการสร้างวงขอบที่แตกต่างเด่นชัดและข้ามกันไม่ได้ให้แก่ความเฉพาะเจาะจง (Uniqueness) ของกลุ่มวัฒนธรรมนั้น (perpetuating that marginalization through affirmations of difference) พร้อมกันนั้น กลุ่มอื่นๆ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปเชื่อมต่อได้อย่างเดิมอีกต่อไป กล่าวได้ว่า แม้การสร้าง "พหุวัฒนธรรม" จะเป็นความก้าวหน้าของระบอบเสรีนิยม แต่ในความเป็นเสรีนิยมนี้เองกลับส่งผลไปในอีกด้านหนึ่งที่ทำให้แต่ละกลุ่มกลับไม่สามารถที่จะ "รู้จัก" กันอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงการยอมรับว่าอีกกลุ่มหนึ่งมีอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เปราะบางมากขึ้นเมื่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้ถูกทำให้เป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างวัฒนธรรม การแปรเปลี่ยน "พหุวัฒนธรรม" ให้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งหรือการจุดชนวนทางการเมือง เป็นการเปลี่ยนจากกระบวนการทำวัฒนธรรมให้เป็นการเมือง (politicization of culture) มาสู่การทำให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องการเมืองหรือ "กระบวนการทำการเมืองเป็นเรื่องวัฒนธรรม" culturalization of politics" ซึ่งชีเช็ค (zizek) ได้กล่าวเน้นไว้ว่าผู้ทำให้ให้เกิดกระบวนการนี้อย่างสำคัญ คือ แซมมวล ฮันติงตัน ในงานเขียนเรื่อง The clash of civilizations ซึ่งได้จัดวางความขัดแย้งหลักทางการเมืองของโลกในปัจจุบันอยู่บนฐานของอารยธรรม และความคิดนี้ได้แพร่ขยายไปได้อย่างง่ายดายและกว้างขวางอันเนื่องมาจากผลด้านลบของการทำให้เป็น "สังคมพหุวัฒนธรรม" นั่นเอง ดังนั้น การจะคิดถึงการสร้าง "สังคมพหุวัฒนธรรม" ที่จะนำมามาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติจึงจ้องการการมองไปข้างหน้าให้กว้างขวางมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นมาลดทอนความหมายที่ควรจะเป็นของสังคม พร้อมกันนั้นก็ต้องตระหนักว่าการหยิบยืมกรอบความคิดหลักใดมาใช้ในเนื้อของสังคมที่ไม่เหมือนกันก็ยิ่งจะต้องระมัดระวังความผิดพลาดอันเกิดการการใช้กรอบความคิดใดๆ อย่างผิดฝาผิดตัวและก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก ความทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เขียนกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยภาคใต้และอาจารย์หลายท่านที่สำนึกเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ ซึ่งจะรวบรวมงานพิมพ์เผยแพร่งานทั้งหมอเป็นหนังสือเล่มในอีกไม่นาน ผู้เขียนขออนุญาตหยิบบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่หากท่านผู้อ่านสนใจจะได้ตามอ่านฉบับรวมเล่มครับ
ที่มา: www.bangkokbiznews.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมของอำนาจ Posted: 28 Jan 2018 07:14 AM PST
ผมไม่ทราบว่าเขาตั้งใจจะพูดกระทบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่อย่างไร แต่ผมคิดว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนทีเดียว นับตั้งแต่ คุณชาติชาย ชุณหะวัณ, คุณชวน หลีกภัย, คุณทักษิณ ชินวัตร ล้วนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย แต่แก้ได้หรือไม่ได้ แก้แล้วดีหรือไม่ดีคงเถียงกันได้ เพราะสิ่งที่คุณบัณฑูรเรียกว่า "ความรู้" นั้น ไม่ใช่สูตรตายตัวที่ลอยลงมาจากฟ้า หากเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลของแต่ละบุคคลเท่านั้น ข่าวในสื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์บอกว่า คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้พูดในงานเปิดสาขาธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนว่า "การเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยากเห็น…รัฐบาลมาพร้อมด้วยความตั้งใจและความรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย" ไม่ใช่เพียงมีอำนาจเพื่อเสวยอำนาจอย่างที่ผ่านมา ผมไม่ทราบว่าเขาตั้งใจจะพูดกระทบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่อย่างไร แต่ผมคิดว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนทีเดียว นับตั้งแต่ คุณชาติชาย ชุณหะวัณ, คุณชวน หลีกภัย, คุณทักษิณ ชินวัตร ล้วนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย แต่แก้ได้หรือไม่ได้ แก้แล้วดีหรือไม่ดีคงเถียงกันได้ เพราะสิ่งที่คุณบัณฑูรเรียกว่า "ความรู้" นั้น ไม่ใช่สูตรตายตัวที่ลอยลงมาจากฟ้า หากเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลของแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่ความชอบธรรมของพระเพทราชาก็ไม่ได้อยู่ที่เอาชนะด้วยกำลัง เท่ากับการสร้างบทบาทของผู้พิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งเหล่าเถรานุเถระเห็นว่ากำลังถูกคุกคามจากคาทอลิกของฝรั่งเศส และคงเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน เหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในต้นรัชกาลที่ 5 จึงไม่แย่งราชสมบัติ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ของตนเองขึ้น ทั้งๆ ที่มีอำนาจควบคุมกิจการแทบจะทุกอย่างในราชอาณาจักรอยู่แล้ว นักประวัติศาสตร์มีคำตอบหลายอย่างเช่นท่านมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี หรือท่านมีอำนาจเท่ากษัตริย์อยู่แล้ว จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะแย่งราชสมบัติ แต่ผมอยากตอบว่ากำลังและความชอบธรรมที่ท่านมีอยู่ ไม่พอที่จะทำให้ท่านแย่งราชสมบัติได้ เช่น ท่านเองก็มีศัตรูในหมู่ชนชั้นนำอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน หากแย่งราชสมบัติก็จะทำให้ศัตรูรวมตัวกันได้ง่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ รู้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศดี ท่านคงรู้อยู่แล้วว่ามหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษไม่สนับสนุนให้ท่านแย่งราชสมบัติแน่ เพราะอังกฤษสนับสนุนฝ่ายวังหลวงเต็มที่ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) กำลังเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้ใครได้อำนาจ ต้องมีความชอบธรรมซึ่งคนอื่นๆ ยอมรับด้วยเสมอ แน่นอนว่าความชอบธรรมในทัศนะของสังคมหนึ่งๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีมาในเมืองไทยเลยจนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ใครจะว่าการเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม หรือเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อโกงอย่างไรก็ตาม แต่ก่อน พ.ศ.2501 การเลือกตั้งของไทยก็ให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองอย่างขาดไม่ได้สืบเนื่องกันมาถึง 25 ปี แม้หลังจากนั้นจะมีการยึดอำนาจของกองทัพ และยับยั้งการเลือกตั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี แต่หลัง 14 ตุลา การเลือกตั้งก็กลับมาเป็นแกนหลักของความชอบธรรมทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง กองทัพต้องใช้วิธีอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองร่วมไปกับยอมรับการเลือกตั้ง เช่น กำหนดให้มีวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจมาก แต่มาจากการแต่งตั้ง หรือกดดันพรรคการเมืองให้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีของกองทัพ แม้แต่เมื่อทำรัฐประหารยึดอำนาจ ก็ต้องสัญญาว่าจะกลับสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ดังเช่นการยึดอำนาจของ รสช. ใน 2534 และ คมช. ใน 2549 แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นที่มาของความชอบธรรมทางอำนาจเพียงแหล่งเดียว แต่สถานะของการเลือกตั้งกลับมีความสำคัญในฐานะที่มาของความชอบธรรมเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ น่าสังเกตว่าในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนในการทำลายอำนาจซึ่งมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ต้องลงทุนสูงมากขึ้นทุกที จำเป็นต้องใช้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ, องค์กรตามรัฐธรรมนูญ, การบิดเบือนกฎหมาย, การก่อจลาจลเป็นเวลานาน จนเศรษฐกิจชะงักงัน, ความรุนแรงที่ออกไปทางป่าเถื่อนด้วยการสังหารหมู่กลางถนน, ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ตรงกันข้ามกับที่เฮียแกพูดด้วยซ้ำ คิดถึงปัจจุบันและอนาคตให้ดี การเลือกตั้งจะเป็นที่มาของความชอบธรรมที่สูงเด่นเสียจน ไม่มีความชอบธรรมจากแหล่งอื่นทัดทานถ่วงดุลได้ ลองคิดดูเถิดครับ หากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในวันหน้าทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง (รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงฉบับปัจจุบัน) ศาลรัฐธรรมนูญจะยังเหลือความชอบธรรมพอที่จะระงับยับยั้งนายกฯ คนนั้นได้อยู่อีกหรือ ที่น่าห่วงก็คือการเลือกตั้งจะเป็นประเด็นสำคัญเกินไปต่างหาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #194 ผู้หญิงในโลกเกมเมอร์ Posted: 28 Jan 2018 06:42 AM PST หมายเหตุประเพทไทยเทปนี้ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พูดคุยกับ ศุภณัฐ กิติโยดม ผู้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับเกมเมอร์ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของเกมเมอร์และบรรดานักแคสเกมผู้หญิงที่เข้ามาอยู่ในโลกของเกมเมอร์ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของผู้ชาย แต่ปัจจุบันเกมเมอร์ฝีมือน่าจับตาเริ่มเป็นผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อนักแคสเกมผู้หญิงเข้ามาอยู่ในแพลทฟอร์มอย่าง Twitch หรือ YouTube Gaming พวกเธอต้องรับมือกับผู้ติดตามที่ส่วนมากเป็นผู้ชายอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
" ..ทำไงได้ เราเลือกที่จะยืนข้างประชาชน...": บันทึกจาก พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล หลังเยี่ยม ทอม ดันดี Posted: 28 Jan 2018 06:23 AM PST เมื่อวันพุธ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ผมไปเยี่ยม ทอม ดันดี มาครับ ที่เรือนจำราชบุรี ได้คุยกับ คุณนัน ผู้ใกล้ชิดและคอยดูแลทอมมาตลอด จึงทราบว่าการถูกย้ายจากเรือนจำกรุงเทพฯ มายังราชบุรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน เป็นไปอย่างรีบเร่ง กระทันหัน ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้ญาติได้รับทราบ และไม่มีรายละเอียดว่าถูกคุมตัวเดินทางไปเรือนจำไหนของจังหวัดราชบุรี ทางญาติและมิตรสหาย ต้องสอบถาม หาข้อมูลกันเอง เมื่อมาถึงราชบุรี จนถึงวันที่ผมไปเยี่ยม ทอม และญาติก็ยังไม่รู้เหตุผลที่ถูกย้ายมา เมื่อถึงคิวที่กลุ่มเราได้เข้าเยี่ยม ผม คุณนันและมิตรสหาย ได้เข้าไปในห้องเยี่ยม ก็ไม่ต่างจากห้องเยี่ยมที่อื่น คือมีกระจกกั้น พูดคุยผ่านโทรศัพท์ มีเวลาเพียงแค่ 15นาที ทอม ดันดี เดินเข้ามา ด้วยบุคลิกที่ดูมั่นคง ดูสดใสตามสภาพ พูดคุย ยิ้มแย้ม ถามเรื่องสุขภาพก็ว่าแข็งแรงดี ทอม เล่าว่า เขียนเพลงได้หลายเพลง มีความหวังว่า ได้ออกมา จะมาร้องเพลง อยากออกมาทำมาหากิน ทอม บอกว่า
ผมบอกให้กำลังใจ เขาบอกว่า ไม่ต้องห่วง กำลังใจผมเกินร้อย และกล่าวอีกว่า
น้ำเสียงของทอมจริงจัง แววตาของเขายังสดใส แต่ผมก็ยังแอบเห็นประกายของน้ำในเบ้าตา หลังเยี่ยมเสร็จ ผมก็กลับมาทำงาน ส่วนคุณนันก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ มิตรสหายที่มาก็แยกย้ายกันกลับบ้าน จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสบดี ทอมถูกนำตัวไปขึ้นศาลจังหวัดราชบุรี ที่สำคัญคือ กระบวนการยังคงเหมือนเดิมคิอ ทอมและญาติไม่ได้รู้ตัวมาก่อน ทางคุณนันเมื่อทราบข่าว ก็ต้องรีบเดินทางจาก กทม. มาโดยเร็ว ผมไม่มีความรู้ในกระบวนการดำเนินคดีว่า เหตุการณ์อย่างที่ทอมได้รับการปฎิบัติ เป็นเรื่องปกติ ที่ถูกที่ควรแล้วหรือที่นักโทษจะไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าเลยหรือว่า จะถูกย้าย จะไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าเลยหรือว่าวันไหนจะถูกนำตัวไปขึ้นศาล หรือเพราะทางการมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยหรืออื่นใด แต่ผมคิดว่า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษและญาติ สมควรที่จะได้รับรู้ เรื่องคดีที่โดนตามข่าว ช่วงก่อนรัฐประหาร ตำรวจราชบุรีเคยเชิญพวกเรา (แดงราชบุรี) บางคน ในฐานะกลุ่มที่จัดเวทีปราศรัย ปสอบปากคำ ตอนนั้น รวจถามว่า เราฟังเนื้อหาการปราศรัยแล้วคิดอย่างไร เราก็ตอบกันไปว่า ไม่เห็นว่ามีไรผิดปกติ เป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง ..... สุดท้าย ที่ทอม โดนคดีเพิ่มในครั้งใหม่นี้ ทำให้เราคิดกันได้ว่าความหวังว่า "อภินิหาร เรื่องคดี 112 จะบังเกิด "คงเป็นได้แค่ หวังลมๆ แล้งๆ เป็นแค่นิยายประโลมจิตใจหรือไม่ประการใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความคล้ายของ คสช. กับระบบของพรรคในสังคมนิยม Posted: 28 Jan 2018 05:32 AM PST
ในระบบสังคมนิยมจะมีคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค ของพรรคประชาชนปฎิวัติลาว เมื่อพิจารณาดูแล้วมีความละม้ายคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญแห่ง สปป.ลาว อยู่หลายประการ ทั้งนี้เพราะการที่หัวหน้า คสช.กับนายกฯ และเป็นคนๆ เดียวกัน (แต่เดิมมีตำแหน่ง ผบ.ทบ. ด้วย) จึงไม่แปลกช่วงที่ผ่านมาจึงมีการแชร์ข่าวเรื่องการที่นายกและ ครม.บางคนรับเงินหลายทาง เพราะมีตำแหน่ง คสช. ด้วย แต่เรื่องที่เขียนนี้เป็นเรื่อง "อำนาจ" ที่ผูกขาด ผมเคยเขียนหนังสือ เรื่อง "สถาบันการเมืองลาว" กับคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เลยคิดถึงโฉมหน้าของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศลาว ในระบบสังคมนิยม ซึ่งตำแหน่งก็มักจะซ้ำซ้อนอยู่ในคนๆ เดียวกัน ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาและเติบโตสั่งสมบ่มเพาะจนสุกงอมจากพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และเมื่อดูในรายละเอียดซึ่งจะเจตนาหรือบังเอิญก็ไม่อาจทราบได้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจของสถาบันการเมืองไทยละม้ายคล้ายคลึงกับสถาบันการเมืองลาวซึ่งเป็นการปกครองแบบสังคมนิยมค่อนข้างมาก เบื้องต้นจะขอเล่าเรื่องศูนย์กลางอำนาจลาวให้ฟังก่อน โดยประเทศลาว หรือ สปป.ลาว ปกครองโดยหลักการนำพาประเทศ ด้วยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยรัฐธรรมนูญลาวได้กำหนดว่าให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้ชี้นำ นำพา ซึ่งพรรคจะเป็นผู้กำหนดแนวทาง นโยบาย และแต่งตั้งบุคคลของพรรคไปบริหารในนามรัฐบาลโดยมีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่พรรคประชาชนปฏิวัติ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคประชาชนปฎิวัติคือ คณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค และแม้รัฐธรรมนูญของประเทศลาวจะกำหนดให้มีการแยกองค์กรนิติบัญญัติ คือ สภาแห่งชาติ ฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล และฝ่ายตุลาการ คือศาลประชาชน ออกจากกัน แต่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ก็ให้อำนาจพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลก็จะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประธานประเทศ ก็เป็นเลขาธิการใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็มักจะมีตำแหน่งในคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติด้วย กล่าวโดยสรุป สปป.ลาว มีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นพรรคที่ยึดกุมอำนาจ เพียงแต่การปฏิบัติงานได้มีการ "แบ่งงาน" ออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (the legislative) บริหาร (the executive) และตุลาการ (the judiciary) แต่ยังไม่มีการ "แบ่งอำนาจ" โดยสภาแห่งชาติซึ่งนอกจากทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแล้ว สภาแห่งชาติยังมีอำนาจแต่งตั้งฝ่ายบริหาร กับฝ่ายตุลาการอีกด้วย เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าระบบการปกครองของ สปป.ลาว จึงยังมิได้มีการแยกอำนาจเป็นอิสระต่อกันเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะระบบการปกครองของ สปป.ลาว ยังเป็นระบบสังคมนิยมอยู่นั่นเอง ครั้นเมื่อพิจารณาในส่วนของประเทศไทยก็จะเห็นได้ว่า คสช. คือผู้มีอำนาจสูงสุดผู้กำอำนาจ คล้ายๆ กับคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติลาว และหัวหน้า คสช. ก็ได้รับตำแหน่งที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรี คนใน คสช. เองก็ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล(ทำให้ได้เงินเดือนหลายทาง) เช่นเดียวกับกรณีกรรมการของศูนย์กลางพรรคที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญๆ และเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจ คสช. สั่งการคณะรัฐมนตรีได้ จึงทำให้เห็นได้ว่า คสช. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ และเรามักจะเห็นการใช้มาตรา 44 ในฐานะตัวแทนของอำนาจอยู่บ่อยครั้ง ส่วนการให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. (ซึ่งเป็นคนๆ เดียวกับนายกรัฐมนตรี) มีอำนาจสั่งการแก่คณะรัฐมนตรี ดังเช่นที่พรรคประชาชนปฎิวัติลาวที่ประธานประเทศ กับเลขาธิการพรรคเป็นคนๆ เดียวกัน และพรรคจะเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ และมีอำนาจสั่งการแก่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ได้ ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเอง ประเทศไทยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งส่วนนี้จะแตกต่างกับกรณีที่มาของสภาแห่งชาติของลาว ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญของลาวกำหนดให้คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฎิวัติเพียงพรรคเดียวเท่านั้น (เว้นแต่เป็นผู้สมัครอิสระ) แต่เราก็ยังโชคดีหน่อยที่ฝ่ายตุลาการไม่ถูกแต่งตั้งจาก สนช. โดยตรงแต่ คสช.ก็มีอำนาจโยกย้ายใด้ในฐานะผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับกรณีคำสั่งย้ายอัยการ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้พอเห็นได้ว่าอำนาจต่างๆ เกือบทั้งหมดใน สปป.ลาว จึงถูกผูกโยงอยู่ที่คณะกรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติ ไม่ต่างกับประเทศไทยที่อำนาจเกือบทั้งหมดผูกโยงกับ คสช. ซึ่งจะก่อให้เกิด "ผลประโยชน์ที่ขัดกัน" (Conflict Interest) ไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) เช่นนี้หากฝ่ายบริหารที่ไม่มีคุณธรรมก็อาจใช้อำนาจนอกขอบเขตของกฎหมาย แน่นอนว่าการตรวจสอบถ่วงดุล (Checks and balances) ระหว่างอำนาจ ด้วยการใช้อำนาจหยุดยั้งอำนาจ หรือใช้อำนาจตรวจสอบอำนาจ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย (the rule of law) ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ย่อมมีน้อยลง และมีความไกล้เคียงกับสังคมนิยมของประเทศเทศลาวไม่มากก็น้อย และสิ่งที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ตอนนี้ก็คือ อำนาจต่างๆ ที่รวมอยู่ที่คนๆ เดียว ทั้งการใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของบางองค์กรถูกลดทอนลงไป ดั่งเช่นที่สังคมกำลังวิจารณ์หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่ตอนนี้
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'การ์ตูน NDM' ถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai Posted: 28 Jan 2018 05:02 AM PST การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เผยตัดสินใจลี้ภัยต่างประเทศแล้ว หลังถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai เหมือน 'ไผ่ ดาวดิน' 28 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น.ที่ผ่านมา ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) โพสต์ภาพหมายเรียกจากตำรวจในคดีที่ตนเองตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว 'Chanoknan Ruamsap' ในลักษณะสาธารณะ โดยหมายเรียกดังกล่าวระบุผู้ฟ้องคือ ร.ท.สมบัติ ต่างทา และระบุให้ ชนกนันท์ มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.คันนายาว ในวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ชนกนันท์ ระบุในโพสต์เฟสบุ๊คของเธอด้วยว่า คดีดังกล่าว เกิดจากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเขาราว 2,800 คน ลงในเฟซบุ๊กตั้งแต่ ธ.ค.ปี 2559 สำหรับกรณีรแชร์รายงานพระราชประวัติ ร.10 นี้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ปลาย ธ.ค.59 และถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัว แม้จะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้งแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จนกระทั่ง จตุภัทร์ ตัดสินใจยอมรับสารภาพ และ 15 ส.ค.2560 ศาลจึงพิพากษาสั่งจำคุก จตุภัทร์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ชนกนันท์ เล่าต่อว่า หมายเรียกดังกล่าว ได้รับเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ตนแชร์ข่าวจาก BBC Thai ตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 59 แล้ว และทหารที่ชื่อ สมบัติ ด่างทา ได้ไปแจ้งความที่ สน.คันนายาว ตั้งแต่ ธ.ค.59 จริงๆ ตนต้องโดนดำเนินคดีพร้อม จตุภัทร์ แต่ สน. มีปัญหาภายใน เลยชะลอการออกหมาย พอทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เอาคดีเก่าๆ กลับมาออกหมายใหม่ ทำให้ตนได้หมายในวันนั้น ชนกนันท์ เล่าถึงความยากลำบากในการตัดสินใจที่จะดำเนินการกับชีวิตของเธอหลังทราบหมายเรียก ทั้งปฏิกิริยาจากครอบครัวและเพื่อนสนิท ที่ทุกคนช็อคและห่วงใยกับการที่เธอเลือกลี้ภัยไปต่างประเทศ "แต่ก็เห็นด้วย ไม่มีใครอยากให้เราติดคุก 5 ปี จากการโพสต์แชร์ข่าว BBC" ชนกนันท์ เล่าผ่านเฟสบุ๊กของเธอ "มาถึงที่นี่วันแรก เราเอาแต่ร้องไห้ เพราะหนทางมันมืดแปดด้าน ทุกอย่างดูสับสน กระชั้นชิด งง ไม่รู้จะจัดการยังไง เอาแต่ตั้งคำถามว่าเราคิดถูกแล้วใช่มั้ยที่เลือกจะลี้ภัย หรือเรากลับไปติดคุกแล้วออกมาเจอบ้าน เจอครอบครัว เจอเพื่อนเหมือนเดิม แต่ได้คำตอบว่ามันถอยไม่ได้แล้ว ถึงแม้เราจะลำบากมากๆ เราเชื่อว่าผู้ลี้ภัยหลายๆ คนก็ลำบากแบบนี้เหมือนกัน มันไม่ได้สวยหรู ไม่ได้สบาย อย่างน้อยในตอนแรกเราก็พูดได้ว่ามันแย่มาก" ชนกนันท์ เล่าต่อ ชนกนันท์ ระบุตอนท้ายด้วยว่า ขณะนี้หลายๆ อย่างเริ่มเข้าที่แล้ว สภาพจิตใจตนดีขึ้นเมื่อได้เจอคนที่ตนรัก ได้คุยกับพ่อแม่ ได้คุยกับเพื่อน ได้กำลังใจจากคนที่เข้าใจเราจริงๆ ทุกอย่างมันค่อยๆดีขึ้น ตนกำลังจะโตขึ้น สิ่งใหม่ๆ ในชีวิตกำลังจะเข้ามาให้ตนเรียนรู้มากขึ้นเหมือนกัน นอกจากคดีนี้ ชนกนันท์ ยังเป็น 1 ในนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนชุมนุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกันทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อ 7 ธ.ค.2558 ชนกนันท์ เมื่อครั้งที่เธอเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศช่วงปลายปี 2559 เคยให้ข้อมูลกับประชาไทตอนนั้นด้วยว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุม ไผ่ ดาวดิน เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟสบุ๊คโดยมีใจความสำคัญคือ ข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยหลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าวได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอที่อยู่ในไทย โดยบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำหรับคดีของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai นั้น เขาถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัว แม้จะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับจากศาลคือ "ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" จนกระทั่ง จตุภัทร์ ตัดสินใจยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด 15 ส.ค. 2560 ศาลจึงพิพากษาสั่งจำคุก จตุภัทร์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'สมชัย' ชี้เลือกตั้งจัดมหรสพได้ทำไทยย้อนหลัง 43 ปี Posted: 28 Jan 2018 02:56 AM PST 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' โพสต์เฟสบุ๊คชี้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้มีมหรสพในการหาเสียง ทำประเทศไทยถอยหลังไป 43 ปี ระบุพรรคใหญ่ได้เปรียบ 28 ม.ค. 2561 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โพสต์เฟสบุ๊คกรณี สนช.ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีมหรสพในการหาเสียงว่าการให้มีมหรสพในการเลือกตั้งทำประเทศไทยถอยหลังแค่ 43 ปี การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2519 เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่กฎหมายยอมให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถใช้มหรสพในการหาเสียงได้ หลังจากนั้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 22 เม.ย 2522 ก็มีการแก้ไขกฎหมายมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้มหรสพในการหาเสียง และใช้บังคับตลอดมาจนถึงการพิจารณาของ สนช.เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้ตัดข้อความบังคับดังกล่าวออกไป หากการเลือกตั้งครั้งต่อไปเกิดขึ้นในต้นปี 2562 นั่นหมายความว่าเรากำลังกลับไปใช้กฎหมายที่ย้อนยุคไปถึง 43 ปี นายสมชัย ระบุว่าส่วนเหตุผลหลักของการไม่ควรมีมหรสพในการหาเสียง น่าจะอยู่ที่ต้องการให้การหาเสียงของนักการเมืองเน้นในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง เช่นได้สนใจนโยบายพรรคการเมือง สนใจรายละเอียดของผู้สมัครว่ามีประวัติความเป็นมา มีแนวคิด อุดมการณ์ มีความสามารถในการสื่อสาร มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไปจนถึงบุคลิกภาพที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงชนในสภาอันทรงเกียรติ ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองพัฒนาการหาเสียงให้มีคุณภาพเป็นที่สนใจของประชาชนจากเนื้อหา มิใช่การนำสิ่งจูงใจที่เป็นเปลือก เช่นการจัดมหรสพมาใช้เพื่อดึงดูดคนมาฟังปราศรัยเท่านั้น นายสมชัย ระบุว่าขณะที่เหตุผลที่ลึกซึ้งขึ้น คือในการจัดมหรสพนั้น มีความได้เปรียบเสียเปรียบยิ่งระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่กับพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือบางยุคอาจเป็นเพียงผู้สมัครอิสระ เนื่องจากพรรคใหญ่จะมีทุนในการจัดการมากกว่า หรืออาจมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจบันเทิงทั้งในลักษณะการเป็นเจ้าของ หรือการทำธุรกิจร่วมมากกว่าพรรคเล็ก หรือพรรคที่มีฐานะเป็นรัฐบาลก็สามารถใช้ความได้เปรียบในการรัฐบาลใช้งบประมาณของหน่วยราชการที่มีจำนวนมหาศาลว่าจ้างดารานักร้อง มหรสพ เพื่อประชาสัมพันธ์งานในกิจการรัฐ ดังนั้นการไหว้วาน ขอร้อง หรือบังคับในธุรกิจบันเทิงเหล่านี้ให้มีหน้าหนึ่งในการรับงบประมาณของรัฐเพื่อประชาสัมพันธ์งานราชการ และอีกหน้าหนึ่งก็มาสนับสนุนการหาเสียงของพรรครัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง "ผมเชื่อว่า การตัดสินใจของ สนช.คงมีเหตุผล อยากให้การเลือกตั้งครื้นเครง คึกคัก ให้ประชาชนมาสนใจการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง แม้จะกำหนดกรอบวงเงินที่เท่ากัน แต่คงยากในการกำกับดูแลของกกต.ชุดใหม่ให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม และเชื่อว่าคงเป็นการตัดสินใจเองของ สนช. มิได้มีใบสั่งจากใคร เพราะหากมีใครก็ตามที่สั่งเรื่องนี้ หรือ กุนซือคนใดที่แนะนำในเรื่องนี้ โดยคิดว่า พรรคที่เขาจะสนับสนุนจะได้เปรียบในการหาเสียง พอถึงเวลานั้นจริง จะรู้ว่าตัวเองโง่มากที่ไปยื่นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพให้กับพรรคการเมืองใหญ่ที่มีทั้งทุนและความสัมพันธ์กับธุรกิจบันเทิง และยังสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างถูกกฎหมายเพื่อผลการเลือกตั้งที่ตื่นตาตื่นใจได้" นายสมชัยระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ Posted: 28 Jan 2018 02:27 AM PST รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดแรงงานต่างชาติในประเทศ ณ เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว พบทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.27 ล้านคน เป็นชาวจีนสูงสุด 3.7 แสนคน ตามมาด้วยชาวเวียดนาม 2.4 แสนคน ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0) 28 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ NHK WORLD รายงานว่ากระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามีชาวต่างชาติ 1,278,670 คน ที่ทำงานในสถานประกอบการณ์ในประเทศ ณ วันที่ 31 ต.ค. 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้น 194,000 คน หรือร้อยละ 18 จากปีที่แล้ว (2559) และเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2551 โดยเป็นแรงงานสัญชาติแรงงานจีนมากที่สุด 372,000 คน ตามมาด้วยชาวเวียดนาม 240,000 คน (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40 จากปี 2559) ส่วนลำดับถัดไปคือแรงงานชาวฟิลิปปินส์ 146,000 คน โดย 3 อันดับแรกที่กลุ่มแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ทำ ก็คืองานในภาคการผลิตที่ 385,000 คน ตามมาด้วยทำงานบ้านและภาคบริการอื่น ๆ ที่ 189,000 คน ภาคธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก รวมถึงร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต อีก 166,000 คน กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่าการขาดแคลนแรงงานรวมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องจ้างนักศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิค (IM) โดยเมื่อปี 2560 แรงงานต่างชาติตามโครงการ IM นี้มีถึง 257,000 คน อนึ่งตั้งแต่ปี 2559 บริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นนิยมจ้างพนักงานชาวต่างชาติแบบสัญญาจ้างประจำเพิ่มมากขึ้น โดยจากการรายงานของ The Japan Times ระบุว่าเครือข่ายร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างลอว์สัน (Lawson) ก็ได้ขยายสัดส่วนการรับพนักงานประจำชาวต่างชาติราวร้อยละ 10-30 ในส่วนของผู้จบการศึกษาใหม่ ด้านธุรกิจภาคอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ฟูจิตสึ (Fujitsu) และฮิตาชิ (Hitachi) ก็จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 2560 โดยพนักงานชาวต่างชาติเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยฟูจิตสึรับสมัครพนักงานชาวต่างชาติโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่จะจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม รวมทั้งรับนักศึกษาฝึกงานจากต่างประเทศ ส่วนฮิตาชิถึงกับจัดงานในรูปแบบงานสัมมนาเพื่อรับพนักงานในต่างประเทศเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้การจ้างงานชาวต่างชาตินั้นได้รับความนิยมในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยระบุเหตุผลถึงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แต่ปัจจุบันสำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่นั้นระบุว่าการจ้างพนักงานชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นนั้นเนื่องจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ผอ.นิด้าโพล' ประกาศลาออกลั่นไม่จำเป็นต้องเลีย 'ท็อปบู๊ต' คาดถูกระงับโพล 'นาฬิกาประวิตร' Posted: 27 Jan 2018 11:14 PM PST 'ผอ.นิด้าโพล' ประกาศลาออก ผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัว หลังถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่ผลสำรวจ ลั่นไม่จำเป็นต้องเลีย 'ท็อปบู๊ต' แม้สนับสนุนรัฐประหาร-รัฐบาลอยู่ ขณะที่คณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า ชี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา 28 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คชื่อส่วนตัว 'Arnond Sakworawich' ของ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล โพสต์ข้อความว่า "ผมลาออกจากตำแหน่ง ผอ. นิด้าโพลล์ พรุ่งนี้เช้าครับ เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ผมก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ผมในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ผมไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพลล์ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง" ทั้งนี้ มีผู้เข้ามาให้ความเห็นต่อท้ายโพสต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาให้กำลังใจนายอานนท์ต่อการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เฟสบุ๊คชื่อส่วนตัว 'Phichai Ratnatilaka Na Bhuket' ของ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า โพสต์ข้อความผ่ระบุเหตุที่ อานนท์ เตรียมลาออกจากตำแหน่งผอ.นิด้าโพล ว่า "ได้ข่าวยืนยันมาแล้วว่า โพลสุดท้ายที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เผยแพร่สัปดาห์นี้ ของ ผอ.นิด้าโพล เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา ถูกผู้บริหารสถาบันระงับการเผยแพร่ ท่าน ผอ.จึงตัดสินใจลาออก เอวัง..ครับ สำหรับเสรีภาพทางวิชาการ ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ หากผู้บริหารมีวิธีคิดเช่นนั้น" เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช ของ ป.ป.ช." ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 ม.ค. 2561 มีประเด็นที่น่าสนใจเช่น ประชาชน 76% เห็นว่ามีความไม่ปกติ ไม่โปร่งใสในรัฐบาล-คสช. ส่วนความเป็นกลางของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบรัฐบาล-คสช. พบ 48.6% เห็นว่ามีความเป็นกลางในการตรวจสอบ ขณะที่ 42.9% เห็นแแย้งว่าไม่มีความเป็นกลางในการตรวจสอบ และ 61% เห็นว่ามีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. ผอ.นิด้าโพล ย้ำเหตุผลยื่นลาออก เคารพเสียงประชาชน เวลา 16.52 น. สำนักข่าวไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โดยนายอานนท์ระบุว่านิด้าโพลมีหน้าที่ต้องดำรงความถูกต้อง ที่ควรสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เคารพความคิดเห็นของประชาชน เมื่อผลโพลออกมาอย่างไร ก็มีหน้าที่ต้องนำเสนอ ส่วนเหตุผลที่อธิการบดีนิด้า อ้างว่าต้องรอผลสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ก่อน มองว่า ไม่เกี่ยวกัน ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งความเห็นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องตรงกับผลตัดสินของ ป.ป.ช. ในฐานะนักวิชาการมีหน้าที่นำเสนอข้อมูล เพื่อเป็นการชี้นำทางสังคม ผู้อำนวยการนิด้าโพลกล่าวอีกว่าส่วนตัวเพิ่งทราบว่าทุกครั้งที่มีการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง อธิการบดีฯ สั่งให้ทีมงานส่งคำถามก่อนทุกครั้ง การกระทำแบบนี้ถือเป็นการไม่ให้เสรีภาพทางวิชาการ และไม่ให้เกียรติกัน ซึ่งการทำผลสำรวจดังกล่าว เป็นการสอบถามความคิดเห็นที่มุ่งเน้นไปยังรัฐบาล เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะส่วนบุคคลเพราะในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็คือส่วนหนึ่งของรัฐบาล พร้อมยินดีที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับอธิการบดีฯแต่ยืนยันยังคงลาออกจากตำแหน่ง โดยวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) เวลา 10.00 น.จะเข้าไปเซ็นต์ใบลาออก ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์ชี้เลื่อนเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน Posted: 27 Jan 2018 10:49 PM PST คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้การเลื่อนการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน เพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต 28 ม.ค.2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจ ว่า การเลื่อนการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอน การไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ในอนาคต ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนที่คาดหวังให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยลดลง นอกจากนี้ เพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ระบบนิติรัฐและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการลงทุนและการตัดสินใจ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะยิ่งลดความเสี่ยงในการจะเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่มากเท่านั้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แม้นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงดี การขยายตัวเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทย แต่ความล่าช้าของการเลือกตั้งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการเริ่มต้นเจรจาข้อตกลง FTA กับอียู สหรัฐอเมริกา และ TPP ซึ่งสหรัฐอเมริกาอาจตัดสินใจเข้าร่วมอีกครั้งหนึ่ง ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจลง สามารถใช้เสรีภาพโดยไม่ถูกปิดกั้นในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ดีกว่า โดยเฉพาะไม่ปิดกั้นคนส่วนใหญ่ที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และ เราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่จะส่งเสริมหรือเอื้อต่อการที่ประเทศจะเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้อย่างเข้มแข็ง มีคุณภาพ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง สตง. ส่ง ป.ป.ช.-กกต.เอาผิด 213 สนช.ใช้อำนาจมิชอบเลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน Posted: 27 Jan 2018 10:33 PM PST 28 ม.ค. 2561 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งข่าวว่าตามที่ สนช.ได้ผ่านร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้กำหนดให้มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน อันมีผลให้ต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งจากเดือน พ.ย. 2561 ออกไปประมาณเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งไม่เป็นไปตามโรดแมปที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยให้คำมั่นสัญญาต่อนานาอารยประเทศและสังคมไทยนั้น การใช้อำนาจของ สนช. เป็นการบัญญัติกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ไม่เคยปรากฎรูปแบบดังกล่าวเลยนับตั้งแต่มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ทั้งนี้ การที่ สนช. ใช้อำนาจเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดีงกล่าวออกไป จะทำให้ สนช.ได้รับประโยชน์จากเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอีกคนละ 1-2 แสนบาทต่อเดือน ต่อไปอีก มากกว่า 3 เดือนจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครังแรกหลังการเลือกตั้งตาม รธน.60 ม.263 ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหายจากระบบการเงินการคลังอีกกว่า 100 ล้านบาท ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเชื่อว่า สนช.ทั้ง 213 คนจงใจใช้อำนาจไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับ คสช. และตนเอง อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ และจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการ หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจรติหรือเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่บางพรรคที่ส่อไปในทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หน.คสช.ให้เป็นนายกฯคนต่อไปด้วย สมาคมฯจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน/ผู้ว่า สตง. เพื่อดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ ป.ป.ช. และ กกต. เพื่อลงโทษ 231 สนช.ดังกล่าว ตามที่ รธน.ม.244 และ ม.245 บัญญัติไว้ โดยสมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 29 ม.ค. 2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซ.อารีย์ ถ.สามเสน พญาไท กทม. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.แจงปมข่าวลวงไม่จ่ายเงินหากไม่วัดค่าก๊าซในเลือดก่อนใส่ท่อหายใจ ยันจ่ายจริงตามคู่มือ สธ. Posted: 27 Jan 2018 10:02 PM PST สปสช.ชี้แจงกรณีถูกโจมตีใน Social Media ว่าไม่จ่ายเงินให้ รพ.หากใส่ท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วัดค่าก๊าซในเลือด ยืนยันจ่ายจริง ระบุเป็นไปตามคู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรคจัดทำโดย สป.สธ.ให้จ่ายได้ 28 ม.ค. 2561 พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ประธานกลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงาน Policy Dialogue ในประเด็น "การตรวจสอบการจ่ายชดเชยและคุณภาพบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"ว่า ปัจจุบัน สปสช.มีแพทย์ผู้ตรวจสอบประมาณ 1,000 คน โดยเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน รพ. ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลทั่วไป, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลเอกชน และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก สปสช.และไม่มีส่วนได้เสียกับหน่วยบริการที่ถูกตรวจสอบ สำหรับแนวทางการตรวจสอบนั้น ในส่วนของเอกสารหลักฐานต่างๆ จะอ้างอิงจาก "แนวทางการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขร่วม 3 กองทุนปี 2560" และในส่วนของแนวทางมาตรฐานการวินิจฉัยโรคสำหรับแพทย์ และแนวทางมาตรฐานการให้รหัสสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้รหัสโรค (Coders) จะอ้างอิง "Standard coding guideline" หรือคู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรคซึ่งจัดทำโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีการกล่าวอ้างใน Social Media ว่ามีการก้าวล่วงมาตรฐานการแพทย์และการรักษาโดยการกำหนดแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งจะขอยกตัวอย่างใน 2 ประเด็นคือเรื่อง acute respiratory failure (ภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน) และ hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ใน diarrhea (โรคอุจจาระร่วง) พญ.กฤติยา กล่าวว่า ในส่วนของ acute respiratory failure (ภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน) มีการกล่าวอ้างว่า "ต้องมีผลค่าก๊าซในเลือดแดง (ABG) ก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ (tube) และต่อเข้าเครื่องช่วยหายใจถึงจะเบิกเงินได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครทำ ผู้ป่วยหลายรายชัดเจนว่าต้องใส่ รวมถึงรายที่ใส่ท่อจากโรงพยาบาลชุมชนก็ไม่มีผล ABG (ผลค่าก๊าซในเลือดแดง) ให้โรงพยาบาลที่รับส่งต่อ ดังนั้นจะต้องให้โรงพยาบาลถอดท่อเพื่อให้เบิกเงินได้หรืออย่างไร?" ซึ่งใน Standard coding guideline (คู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรค) ก็ได้กำหนดว่าถ้าไม่สามารถเจาะ ABG ก็อนุโลมโดยใช้การวัดค่าปริมาณออกซิเจนในเลือด หรือ O2 sat. <90% สามารถวินิจฉัย respiratiory failure (ภาวะการหายใจล้มเหลว) ได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นและได้ใส่ ET tube (ท่อช่วยหายใจ) มาแล้ว ถ้าวัดค่าปริมาณออกซิเจนในเลือด O2 sat ไม่ต่ำกว่า 90% ไม่สามารถวินิจฉัย respiratiory failure (ภาวะการหายใจล้มเหลว) เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการแก้ไขภาวะ hypoxia (ภาวะพร่องออกซิเจน) เบื้องต้นจากโรงพยาบาลที่ส่งแล้ว แต่สามารถให้รหัสการใส่ respirator (อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ) ได้ อย่างไรก็ดี ถ้าในขณะที่ใส่ respirator (อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ) แล้วเกิดค่าปริมาณออกซิเจนในเลือดหรือ O2 sat. < 90% ในภายหลังก็สามารถให้รหัส acute respiratory failure (ภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน) ได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจัดทำ Standard coding guideline (คู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรค) ฉบับใหม่ ยังทบทวนเกณฑ์ในข้อนี้โดยเพิ่มกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการใส่ ET tube (ท่อช่วยหายใจ) และใส่เครื่องช่วยหายใจมาก่อน สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้เมื่อพยายาม wean off หรือการเลิกใช้เครื่องช่วยหายใจแต่ไม่สำเร็จในระยะเวลา 2-3 วัน ในส่วนของ hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ใน diarrhea (โรคอุจจาระร่วง) ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า "ห้ามวินิจฉัย hypoK (เกลือโปแตสเซี่ยมต่ำ) ใน dehydrate (ภาวะขาดน้ำ) ในคนไข้ diarrhea (ท้องเสีย)" กรณีผู้ป่วยมาด้วย Diarrhea การสรุปอาการ อาการแสดง ไม่จำเป็นต้องสรุปแล้ว ราชวิทยาลัยอายุรกรรมออกเกณฑ์แนวทางมาชัดเจน เช่น Hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) และ Hyponatremia (ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ) เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามและยึดถือตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในกรณีนี้ รศ.นพ.วิทยา ศรีดามา ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมจัดทำแนวทางมาตรฐานการให้รหัสโรค ชี้แจงว่าในกรณีที่มี Hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ในผู้ป่วย diarrhea (โรคอุจจาระร่วง) ตาม Standard coding guideline (คู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรค) ถือเป็นอาการของโรค ถ้าแพทย์วินิจฉัยสาเหตุ ให้ใช้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุโดยที่ไม่ต้องให้รหัส hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยและให้รหัสโรคร่วม และยังมีการทบทวนเกณฑ์ในข้อนี้โดยเพิ่มสามารถให้รหัส hypokalemia (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ร่วมด้วยในกรณีแพทย์วินิจฉัย severe hypokalemia (K <2.5) และมีการรักษา รศ.นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า ปัญหาในเรื่องนี้คือแพทย์ไม่ได้รับการสอนเรื่องแนวทางการวินิจฉัยและลงรหัสโรคตามแนวทาง WHO (องค์การอนามัยโลก) ซึ่งประเทศไทยเราเป็นสมาชิกในเรื่องนี้อยู่ โดยปัจจุบันมีสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แค่ 2 หน่วยกิต แล้วปัญหาอื่นๆ ในการลงรหัสก็ตามมาเพราะไปอิงกับการเบิกจ่าย เช่น sepsis (ภาวะติดเชื้อ) สมัยก่อน sepsis ได้เงินเยอะ ทุกคนก็อยากได้เงินเยอะ ไม่ว่าจะมีไข้เฉยๆ ก็ลง sepsis เป็นต้น สำหรับประเด็นที่ว่าการทำ Standard Coding Guideline (คู่มือมาตรฐานการให้รหัสโรค) เป็นการลิดรอนสิทธิในการวินิจฉัยของแพทย์หรือไม่นั้น รศ.นพ.วิทยา ให้ความเห็นว่า Standard Coding Guideline มี 2 ส่วนคือ 1.เกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับแพทย์ และ 2.เกณฑ์ประกอบการลงรหัสโรค "ปัญหาสำคัญคือแพทย์ก็ไม่อ่าน Standard coding guideline ลิดรอนไหม ก็อย่างที่บอก สมมติว่าไม่ลิดรอน ถ้าผมเป็นหมอคนหนึ่ง ผมก็จะลงรหัสได้ประมาณ 100 รหัส อย่าง congestive heart failure (ภาวะหัวใจวาย) ก็มีอาการของโรคเยอะแยะ ดังนั้นเวลาวินิจฉัยก็วินิจฉัยได้ แต่ถ้าเป็นอาการของโรคที่ไม่มีความรุนแรง ก็ไม่ต้องลงรหัส ไม่อย่างนั้นจะมีเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว ในทางสถิติเราก็จะไม่ได้อะไรเลยว่าอะไรคือความสำคัญของโรคเพราะจะมีอาการต่างๆ เต็มไปหมด" รศ.นพ.วิทยา กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หน่วยข่าวกรองเนเธอร์แลนด์เผย เคยเตือนสหรัฐฯ เป็นรายแรกว่ามีแฮกเกอร์รัสเซียเจาะระบบ Posted: 27 Jan 2018 09:10 PM PST สื่อเนเธอร์แลนด์เปิดเผยเรื่องที่หน่วยงานข่าวกรองของพวกเขาตรวจสอบพบนานแล้วว่า มีกลุ่มแฮกเกอร์ทำการเจาะระบบหลายหน่วยงานสหรัฐฯ จนทำให้ส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2559 และมีการเตือนไปยังสหรัฐฯ หลายครั้งตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาได้หลักฐานจากการเจาะข้อมูลแฮกเกอร์เหล่านี้พบว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองรัฐบาลรัสเซีย 28 ม.ค. 2561 สื่อมูลนิธิแพร่ภาพกระจายเสียงของเนเธอร์แลนด์ (NOS) รายงานว่าหน่วยงานข่าวกรองของเนเธอร์แลนด์ค้นพบเรื่องการพยายามแทรกแซงทางไซเบอร์สหรัฐฯ จากกลุ่มแฮกเกอร์มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว โดยในตอนนั้นหน่วยงานข่าวกรองของเนเธอรแลนด์เป็นกลุ่มแรกที่เตือนทางการสหรัฐฯ ในเรื่องที่ กลุ่มแฮกเกอร์ชื่อ "โคซีแบร์" (Cozy Bear) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียทำการแทรกซึมทางไซเบอร์ต่อคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต นักการเมืองและแหล่งข่าวด้านข่าวกรองของเนเธอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า หน่วยงานแฮกเกอร์ด้านข่าวกรองจากองค์กรข่าวกรองและความมั่นคง AIVD ของเนเธอร์แลนด์ทำการเจาะระบบคอมพิวเตอร์เซอร์เวอร์ของโคซีแบร์รวมถึงกล้องวงจรปิดหน้าสถานที่ทำงานของพวกเขา ซึ่งอยู่ที่อาคารมหาวิทยาลัยใกล้กับจัตุรัสแดงของกรุงมอสโกว หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็หน่วยข่าวกรองเนเธอร์แลนด์ก็รับรู้ว่ารัสเซียสามารถเจาะระบบเข้าไปในสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างประเทศ ทำเนียบขาว คณะกรรมการพรรคเดโมแครต ซึ่งทางเนเธอร์แลนด์ได้เตือนให้สหรัฐฯ รับรู้ในทุกกรณี นอกจากนี้หน่วยงานข่าวกรองของเนเธอร์แลนดยังสามารถแฮกกล้องวงจรปิดแถวโถงทางเดินของกลุ่มโคซีแบร์ได้ ทำให้พวกเขามองเห็นว่ามีใครเข้าออกบ้าง โดยที่ทางหน่วยงานข่าวกรองของเนเธอร์แลนด์มองว่ากลุ่มโคซีแบร์เป็นส่วนเสริมของหน่วยสืบราชการลับรัสเซีย (SVR) ที่อยู่ในการควบคุมของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน มีการแจ้งข้อมูลเรื่องการแฮกคณะกรรมการเดโมแครตให้กับ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษผู้เป็นผู้นำการสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับรัสเซีย ข้อมูลดังกล่าวนี้รวมถึงข้อมูลจากออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร เป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้โดยเอฟบีไอต่อไป สื่อ NOS ระบุว่าในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ปฏิบัติการสอดแนมการแฮกระบบของรัสเซียปี 2557 พวกเขาแจ้งไปยังสหรัฐฯ ให้ทราบว่ามีการเจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ใช้เวลามากกว่า 24 ชั่วโมง ในการพยายามป้องกันการโจมตีจากรัสเซีย อีกทั้งในปีเดียวกันนั้นกลุ่มแฮกเกอร์ก็สามารถเจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลไม่ลับของทำเนียบขาวได้ แต่ก็ทำให้ได้ข้อมูลบันทึกลับและข้อมูลแผนการเดินทางของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีในสมัยนั้น รวมถึงอีเมลบางส่วนของคนที่โอบามาติดต่อด้วย กลุ่ม "โคซีแบร์" เป็นใคร กลุ่มแฮกเกอร์รัสเซียกลุ่มนี้มีชื่ออื่นที่บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์และหน่วยงานข่าวกรองเรียกกันแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพวกเขารู้จักกลุ่มนี้ในนามโคซีแบร์ หน่วยงานข่าวกรองส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกสันนิษฐานว่ากลุ่มนี้ถูกควบคุมโดย SVR ของรัสเซีย หน่วยงานข่าวกรองตะวันตกและบริษัทความปลอดภัยไซเบอร์พยายามค้นหาตัวแฮกเกอร์กลุ่มนี้มานานแล้วจากกที่กลุ่มโคซีแบร์โจมตีธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงเนเธอร์แลนด์ นอกจากโคซีแบร์แล้วยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมมือกับพวกเขาในการแทรกซึมทางไซเบอร์ต่อคณะกรรมการพรรคเดโมแครตคือกลุ่มแฟนซีแบร์ โดยที่ยังไม่มีใครทราบว่าพวกเขาแฮกกรรมการพรรคเดโมแครตด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่นิวยอร์กไทม์เคยรายงานว่า เมื่อทางเนเธอร์แลนด์แจ้งไปและทางเอฟบีไอช่วยเตือนพวกเขาถึงเรื่องการแฮกจากกลุ่มเหล่านี้แล้วแต่พรรคเดโมแครตก็ไม่ได้รับฟังคำเตือนอย่างจริงจัง จนกระทั่งมีบริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ชื่อ 'คราวด์สไตรค์' ตรวจสอบเรื่องนี้ให้กับพรรคเดโมแครต หน่วยงานข่าวกองของสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียส่งอีเมลที่ถูกแฮกโดยกลุ่มแฟนซีแบร์ไปให้วิกิลีคส์และมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ซึ่งก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขนานใหญ่ต่อพรรคเดโมแครตในช่วงหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในตอนนี้ AIVD ของเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มโคซีแบร์ได้อีกต่อไปแล้ว โดยสาเหตุอาจจะมาจากการที่แหล่งข่าวในหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์แบบเปิดเผยมากเกินไปในปี 2560 ว่ามีความช่วยเหลือจากพันธมิตรชาติตะวันตก ทำให้ผู้อำนวยการของ AIVD กล่าวว่าพวกเขาจะต้องระวังมากขึ้นเป็นพิเศษในการแชร์ข้อมูลข่าวกรองกับสหรัฐฯ ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เรียบเรียงจาก Dutch intelligence first to alert U.S. about Russian hack of Democratic Party, NOS, 25-01-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ม.ค. 2561 Posted: 27 Jan 2018 08:52 PM PST
เตือน! ระวังถูกชักชวนร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผิดกฎหมายที่ไต้หวัน กระทรวงแรงงานเตือนคนไทยระวังถูกหลอกชักชวนเข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ไต้หวัน เผยมีคนไทยถูกจับกุมแล้ว 8 คน ชี้มีความผิดตามกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดีและถูกส่งกลับประเทศไทย นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง (สนร.เกาสง) ว่าขณะนี้มีคนไทยจำนวน 8 คนถูกทางการไต้หวันจับกุมในข้อหาอยู่ร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นคนงานชายที่หลบหนีสัญญาจ้าง จำนวน 5 คน และหญิงไทย จำนวน 3 คน โดยถูกชักชวนจากชายชาวไต้หวัน ซึ่งขณะถูกจับกุมกำลังศึกษาคู่มือวิธีการพูดหลอกลวงให้คนไทยโอนเงินแต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติการจริง ทั้งนี้ ตำรวจได้ส่งเรื่องให้อัยการและได้พิจารณาส่งตัวชายไทย5 คน ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการส่งกลับประเทศไทย ขณะที่หญิงไทยจำนวน 3 คนนั้น มีชายชาวไต้หวันหลอกให้เดินทางเข้าไปทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ทางการไต้หวันได้ปล่อยตัวให้เดินทางกลับประเทศไทยเอง จึงขอย้ำเตือนว่าการเข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไต้หวันนั้นมีความผิดตามกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดี และถูกส่งกลับประเทศไทย วอนคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในไต้หวันอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีคนหางานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 115,215 คน พบว่าไปทำงานไต้หวันมากที่สุด จำนวน 35,199 คน โดยเป็นการเดินทางในรูปแบบบริษัทจัดส่งมากที่สุด จำนวน 23,095คน รองลงมาคือกรมการจัดหางานจัดส่ง จำนวน 283 คน แจ้งการเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 86 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 78 คน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน จำนวน 2 คน และแจ้งการเดินทางกลับไปทำงานที่ไต้หวัน (Re-entry)จำนวน 11,655 คน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการไปทำงานต่างประเทศได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6708-9ในวันและเวลาราชการ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/1/2561 กพร.ชงเพิ่มค่าจ้าง 16 อาชีพ กพร.เทงบ 2,300 ล้านพัฒนาแรงงานเขต EEC 1.3 แสนคน รองรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve ผ่านศูนย์ Excellent Center รายจังหวัด พร้อมชงปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือ 16 อาชีพ ล่าสุด กพร.ยั่วน้ำลายผู้ประกอบการออกโครงการให้กู้ยืมวงเงิน 70 ล้านบาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 100% นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเภท Engine of Growth ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รวมทั้งไทยแลนด์ 4.0 จึงทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดเตรียมแผนระยะ 1 ปี, 5 ปี และ 20 ปี โดยปี 2561 ใช้งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 130,000 คน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve, นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี ผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ศูนย์ Excellent Center และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในแต่ละจังหวัด นายสุทธิเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กพร.มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ระยอง, ชลบุรี, สงขลา, ภูเก็ต, สมุทรปราการ, สุพรรณบุรี, เชียงใหม่ และเชียงราย โดยแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะอุตสาหกรรมในจังหวัด เช่น นครราชสีมา จะเน้นด้านไฟฟ้า และโทรคมนาคม ระยองจะเน้นเรื่องออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ ตั้งเป้ามีผู้ผ่านการอบรม 20,000 คน / ปี "อีกทั้งยังมีการตั้งศูนย์ Excellent Center ซึ่งยกระดับมาจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อครุภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการฝึกอบรมแรงงาน โดยปัจจุบันมีอยู่ 9 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ, เชียงราย จะเน้นด้านโลจิสติกส์ รองรับจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ราชบุรี และลำปาง จะเป็นด้านออโตเมชั่น เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ระยอง จะรองรับด้านยานยนต์ ส่วนฉะเชิงเทรา จะรองรับด้านดิจิทัลเป็นหลัก โดยตั้งเป้าอบรมแรงงาน 10,000 คน / ปี" "สำหรับการพัฒนาแรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 จะดำเนินการผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับการเครื่องมือ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบออโตเมชั่น โดยตั้งเป้าจะพัฒนาแรงงานจำนวนกว่า 100,000 คน / ปี รวมทั้งหมดก็จะประมาณ 1.3 แสนคน ที่ปัจจุบันเราพัฒนาแรงงานไปแล้วกว่า 33,000 คน" นายสุทธิกล่าว ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/1/2561 ผู้ประกันตนหนุนขยายสิทธิรับบำนาญถึง 60 ปี นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่าจากการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม ผ่านช่องทางต่างๆ พบว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็น 12 ครั้ง ระหว่าง ก.ย. – พ.ย. 2560 การแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ สปส. ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11,885 คน มีผู้ตอบแบบสอบถาม 10,178 คน คิดเป็นร้อยละ 85.64 นพ.สุรเดช กล่าวว่าผลจากการรับฟังความเห็น 12 ครั้งพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี ออกไปเพื่อให้มีระยะเวลาในการออมเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 48.42 เห็นว่าอายุที่เกิดสิทธิควรเป็น 60 ปี ร้อยละ 42.87 มองว่าอายุเกิดสิทธิในอีก 10 ปีข้างหน้าควรเป็น 60 ปี ส่วนผลการตอบแบบสอบถามร้อยละ 82.74 เห็นควรขยายอายุรับบำนาญชราภาพแบบสมัครใจ ร้อยละ 60.83 เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 37.37 เลือกแนวทางที่ 3 คือขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จ ไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง นพ.สุรเดช กล่าวว่า ร้อยละ 36.72 เลือกแนวทางที่ 2 คือให้ขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล รับบำเหน็จชดเชยหากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุรับบำนาญได้ ร้อยละ 25.91 เลือกแนวทางที่ 4 คือ ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนใหม่ ส่วนผู้ประกันตนเดิมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง ส่วนร้อยละ 35.95 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุ ควรคงแนวทางเดิมตามแนวทางที่ 1 คงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพไว้ที่ 55 ปี ส่วนร้อยละ 3.2 เสนอแนวทางอื่น "ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการปรับสูตรการคำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นการคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน โดยปรับมูลค่าของค่าจ้างแต่ละปีให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อนนำมาเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ได้รับเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรเดิม นอกจากนี้ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังยินดีให้หักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อให้รับสิทธิประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังพ้นจากการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งจะนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ ให้ได้ข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมในการจัดทำระบบบำนาญต่อไป" นายจ้างชี้ขึ้นค่าจ้างกระทบเอสเอ็มอี-ภาคเกษตร คปค.เเนะขั้นต่ำควรให้เฉพาะลูกจ้างแรกเข้า 26 ม.ก. 2561 ที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จัดการสัมมนาหัวข้อ "การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อความท้าทายในยุค 4.0" โดย ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นที่เห็นชัดคือ กลุ่มที่ยังไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ จะได้รับการปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ทันที แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของนายจ้างขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกวัน แต่มาตรการทางภาษีที่ไปช่วยจะไปเกิดปลายปี ตรงนี้ก็ต้องดูว่านายจ้างกลุ่มนี้จะสามารถพยุงตัวได้หรือไม่ เพราะหากไม่ไหวอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งแน่นอนว่าปกติก็มีสถานประกอบการขนาดเล็กล้มหายไปบ้างด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นได้ นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการปรับฐานโครงสร้างค่าจ้างได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ แต่ที่น่าคิดคือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประโยชน์เกื้อกูลจากนายจ้างให้ลูกจ้าง อย่างที่ผ่านมามีอาหาร ที่พักให้ฟรี ก็อาจเปลี่ยนไปต้องจ่ายเอง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติก็อาจโดนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เหล่านี้ก็ต้องติดตาม "ข้อดีอย่างหนึ่งแน่นอนว่า การขึ้นค่าจ้างย่อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดการใช้จ่ายขึ้น ปัญหาที่กังวลว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานประกอบการ ซึ่งจริงๆ แล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แม้ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากยุคนี้จะมีการพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งไม่ขึ้นค่าจ้าง สถานประกอบการหลายแห่งก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นอยู่แล้ว" ผศ.ศุภชัย กล่าว ผศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม อย่างการเก็บค่าสมทบต่างๆ กับอีกส่วนหนึ่งคือ การเตรียมการลูกจ้างที่อาจหลุดจากระบบ หรือการรีเทรนท์ตัวเองให้ก้าวต่อไป แต่ในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในมือกระทรวงแรงงานคือ การลดหย่อนภาษี หรือการมีกองทุนช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงมาตรการในการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการคงราคาบางอย่างไว้ ซึ่งจะเป็นบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ โดยเรื่องนี้ภาครัฐอาจต้องมาคุยกันหมด ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม เพราะหากลดหย่อนมากเกินไป อาจได้รับสิทธิแค่ผู้ประกอบการบางส่วนหรือไม่ จึงต้องขีดให้ชัดว่า ใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม และในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นแค่เครื่องประกันในการอยู่รอด แต่สถานประกอบการควรมีการสร้างโครงสร้างแรงงานด้วย และควรมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นประกัน เช่น ควรมีใบรับรองในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะของเรา และนายจ้างก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ว่ามีใบพัฒนาฝีมือแรงงานแต่กลับให้ค่าจ้างเท่าเดิมก็คงไม่ได้ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แต่ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างประจำปี ซึ่งจริงๆ แล้วค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นค่าจ้างแรกเข้าเฉพาะคนใหม่เท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมาอย่าง 1-2 ปี ขีดความสามารถก็ต้องเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการปรับเพิ่ม ไม่ใช่อยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำไปอย่างนั้น นั่นคือสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปี ซึ่งหากมีตรงนี้ก็จะหนีจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำออกไป อย่างไรก็ตาม ต้องพัฒนาเรื่องค่าจ้างของมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย เพราะแม้จะมีการพัฒนาทักษะฝีมือ แต่ค่าจ้างห่างกับคนที่ไม่มีฝีมือเพียง 10-20 บาท คนก็ไม่อยากจะฝึก ตรงนี้ต้องมีการยกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น นายมนัสกล่าวว่า ส่วนกรณีข้อเสนอลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างนั้น ต้องบอกก่อนว่า ประกันสังคมมีอยู่ 13 ล้านคน แยกเป็นผู้ประกันตน 11 ล้านคนที่อยู่ในสถานประกอบการ และนายจ้างร่วมสมทบ ซึ่งหากตามข่าวที่ว่าจะให้ลดหย่อนเงินสมทบของนายจ้าง ทางเครือข่ายฯไม่เห็นด้วย โดยเงินส่วนนี้จะหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินประกันสังคมส่วนนายจ้าง ก็คือเงินออมเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง ทั้งเงินออม ทั้งเงินรักษาพยาบาล ดังนั้น หากจะปรับลดเงินสมทบของนายจ้าง ต้องคุยกันยาว นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่ิงค่าจ้างยังมีประเด็นย่อยอีกมาก อย่าง การจ้างงานของไทยในภาคเอกชน มีการจ้างงานหลายประเภทมาก อย่างของรัฐ ก็จ้างงานหลากหลายเช่นกัน เป็นสัญญาจ้างเป็นปีต่อปี เกษียณอายุก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้เงินชดเชยด้วยซ้ำ ขณะเจ็บป่วยก็เบิกไม่ได้เลย และอีกประเภท เป็นการจ้างงานตามภารกิจ ตามมติครม. อย่างจบปริญญาตรี มาเป็นลูกจ้างตามภารกิจ ถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ และหากไม่ต่อสัญญาก็ไม่ได้ค่าชดเชยเลย จริงๆ สิ่งเหล่านี้ต้องทบทวนการจ้างงานของประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เราอยู่ในยุคปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ย้อนแย้งกันอยู่ เพราะหากพูดภาพการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กโดนกันหมด เพราะในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อตัวธุรกิจทั้งหมด ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจกันหมด องค์กรใหญ่เหนื่อย แต่ธุรกิจเอสเอ็มดี (SME) เหนื่อยกว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 ล้านราย และมีการจ้างงานอยู่ 11 ล้านคน แน่นอนว่าธุรกิจใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่ดีกับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับเอสเอ็มอีน่าคิด อย่างการจดทะเบียนปีนี้ 74,000 ราย แต่จดทะเบียนขอเลิก 21,000 ราย นี่คือตัวสะท้อนของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของบ้านเรา ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างไม่น่ากระทบธุรกิจใหญ่มาก เพราะมีวิธีปรับเปลี่ยนให้อยู่ได้ แต่ห่วงเอสเอ็มอีและภาคการเกษตรมากกว่า ซึ่งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ นายบวรนันท์กล่าวอีกว่า หลายคนเป็นห่วงความมั่นคงของลูกจ้าง หากติดตามโครงสร้างประชากร จะทราบว่าเรากำลังเผชิญปัญหาประชากรลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย ประเทศญี่ปุ่น จีนมีหมด โดยไทย หากพิจารณาตัวเลขประชากรสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า กำลังแรงงานที่อายุ อายุ 15-60 ปี มีอยู่ 42 ล้านคน แต่จากประชากรเกิดน้อยลง อีก 15-16 ปี จะเหลือแรงงานแค่ 36 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ทุกองค์กรกังวล คือ การขาดแคลนคน จึงมองว่า การปรับอัตราขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้ว หากทักษะเพิ่ม ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ น่าจะมีผลกับคน 4 ล้านคน หรือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนขององค์กรบริษัทก็จะมีโครงสร้างค่าจ้างอยู่แล้ว "หากเมื่อไรก็ตามไม่ว่าค่าจ้างจะเป็นเท่าไร แต่หากคนมีทักษะมีความสามารถก็สูงอยู่ดี ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีผล แต่ในทางกลับกัน หากค่าจ้างสูง แต่คนทักษะน้อยก็มีปัญหาอยู่ดี ดังนั้น รัฐต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายค่าจ้าง นโยบายลดหย่อน แต่ระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะความสามารถของคนคือขององค์กร ของประเทศด้วย" นายบวรนันท์กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันมีบริษัทหรือธุรกิจในกลุ่มที่มีโครงสร้างค่าจ้างจำนวนเท่าใด นายบวรนันท์กล่าวว่า ตอบได้เลยว่าธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพราะหากไม่มีจะกระทบต่อการรักษาคนอย่างรุนแรง แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ยังไม่มีการสำรวจชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าหากมีการผลักดันหลายแห่งก็จะเริ่มดำเนินการ ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2561 ธนาคารกรุงไทยลั่นไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่จะเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าธนาคารได้วางแผนระยะยาว 5 ปี เตรียมงบลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือไอที ราว 10,000 ล้านบาท ที่จะเป็นนวัตกรรมที่เสริมให้ธนาคารแข็งแกร่งมากขึ้น โดยปีนี้ธนาคารได้ชะลอการปิดสาขาลง หลังจากปี 2560 ได้ปิดสาขาไปแล้ว 80 สาขา โดยไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่จะเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น หรือโยกพนักงานไปในจุดที่เหมาะสม สาเหตุที่ธนาคารชะลอปิดสาขา เนื่องจากการปิดสาขาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักให้ลูกค้าไปยังคู่แข่ง เห็นได้จากบางธนาคารปิดสาขาลง ทำให้มีลูกค้าย้ายมาสาขาของกรุงไทย ค่อนข้างมาก ดังนั้น การปิดสาขาแต่ละแห่งต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 1,121 สาขา และมีพนักงาน 24,000 คน ด้านนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังคงสาขาไว้ที่ 80 สาขา จาก 3 ปีก่อนมีสาขาอยู่ 140 สาขา ขณะที่ไม่มีแผนลดจำนวนพนักงาน เนื่องจากธนาคารมีขนาดเล็กแต่ต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มทักษะการดูแลลูกค้า และเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า ส่วนแผนธุรกิจตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 10% แบ่งเป็นสินเชื่อบ้านเติบโต 10% และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันโต 10% ซึ่งปี 60 สินเชื่อรายย่อยเติบโต 8-9% โดยพอร์ตสินเชื่อคงค้างรายย่อยปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อคงค้างรายย่อยจะเติบโตประมาณ 5-6% ส่วนธุรกิจกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง หรือ Wealth ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีก่อน โดยธนาคารไม่ได้เน้นเพิ่มสินทรัพย์ที่รับบริหาร หรือเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภาคใต้การบริหารจัดการ (AUM) แต่เน้นเพิ่มจำนวนลูกค้า ซึ่งสิ้นปีก่อนมี AUM ที่ 200,000 ล้านบาท และจำนวนลูกค้า 65,000 ราย โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอีก 10,000 ราย ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/1/2561 ปรับค่าแรง โรงสีให้พนักงานสมัครใจลาออก จ.นครราชสีมา ผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากต่างเดินทางไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการนำหลักฐานไปกรอกข้อความสมัครงาน หลังจากรัฐบาลมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 320 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ผู้ใช้แรงงาน เล่าว่าหลังจากทำงานเป็นลูกจ้าง ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงมากจึงต้องลาออกและมาสมัครงานใหม่ เพื่อจะรอค่าจ้างที่มีการปรับขึ้นมาใหม่เป็นวันละ 320 บาท ซึ่งรู้สึกดีใจมากกับค่าแรงที่มีการปรับขึ้นมาให้กับแรงงาน และหลังจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 320 บาท ส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงสีข้าว ซึ่งส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ต้องประกาศให้ลูกจ้าง แจ้งความประสงค์ลาออก โดยความสมัครใจ จำนวน 200 คน ซึ่งจะมีการจ่ายค่าชดเชยตามข้อกฎหมาย เนื่องจากทางโรงสีต้องการลดค่าใช้จ่ายและยอดการสั่งข้าวจากต่างประเทศลดลง แต่ยังไม่พบว่ามีลูกจ้างไปขอยื่นเรื่องจะลาออกโดยความสมัครใจแต่อย่างใด ทางด้าน นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ทำให้ทราบว่าทางโรงสีข้าว มีนโยบายปรับโครงสร้างโดยการลดจำนวนพนักงานและจะนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทนแรงงาน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่มา: news.ch7.com, 24/2/2561 รายงาน HRW ชี้ปัญหา 'แรงงานบังคับ-ค้ามนุษย์' ยังไม่หมดจากอุตสาหกรรมประมงไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เผยแพร่รายงานชื่อว่า "โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย" (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand's Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า ซึ่งเป็นการสรุปผลความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานบังคับ รายงานดังกล่าวถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรป (EU) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรต่ออุตสาหกรรมประมงไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยเคยได้รับ 'ใบเหลือง' จากอียู ซึ่งเป็นคำเตือนว่า ไทยอาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป ในข้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) HRW ระบุว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทย ทั้งยังพบการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูปด้วย นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เป็นผู้หนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ HRW โดยเขาระบุว่า ในสภาพปัจจุบัน สถานการณ์ด้านประมงไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว "ไม่มีการเอาเปรียบแรงงานเหมือนในอดีต ผู้บริโภคในอเมริกา-ยุโรป กินได้เลย อาหารทะเลไทย ตอนนี้ถูกต้องหมดแล้ว เพราะทุกอย่างได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลยุคนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรือถูกต้อง แรงงานถูกต้อง ไม่มีแรงงานบังคับ" นายมงคลกล่าว อย่างไรก็ตาม รายงานของ HRW พบว่า แม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมไทยจะพยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงอย่างรอบด้าน แต่จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ พบว่าแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน "ผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ควรจะมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลซึ่งมาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าว "แต่ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างกว้างขวางว่ามีพันธกิจจะสะสางอุตสาหกรรมประมง ปัญหาต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง" HRW ทำวิจัยและสัมภาษณ์แรงงานในท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศไทยระหว่างปี 2015-2017 (พ.ศ.2558-2560) รวมทั้งหมด 248 คน เกือบทุกคนมาจากเมียนมาและกัมพูชา และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เจ้าของเรือ ไต้ก๋ง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาคมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติ เนื้อหาในรายงานของ HRW ระบุว่า รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกกฎหมายประมงฉบับเก่าที่บังคับใช้มานาน และออกระเบียบปฏิบัติใหม่เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมประมง ทั้งยังขยายผลการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานที่สำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงานในเรือประมง ซึ่งในปี 2557 มีการนำเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้ในกฎหมายของไทย รวมทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล มีการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสาร และมีการนับจำนวนลูกเรือขณะที่เรือออกจากฝั่งและกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้าย รวมทั้งกรณีไต้ก๋งสังหารลูกเรือ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดทำระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออกและกลับสู่ท่าเทียบเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเลมาตรการบางอย่าง รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ มักเน้นที่รูปแบบมากกว่าผลลัพธ์ HRW พบว่า ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) พบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง ในบางด้าน ถือว่าสถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การขึ้นทะเบียน 'บัตรชมพู' ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2014 เพื่อลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย ทำให้เกิดการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน จึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย จนกลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิเกิดขึ้นเป็นประจำ และขาดการตรวจสอบ เป็นผลจากความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพอใจแค่การตรวจเอกสารที่บริษัทเรือยื่นมาให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น "การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง" "ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายปลีกในระดับสากลที่ขายอาหารทะเลจากไทย มีบทบาทสำคัญที่ช่วยดูแลให้ยุติการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ" อดัมส์กล่าว ขณะที่นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของ HRW ประเทศไทย ระบุว่าการละเมิดสิทธิและการบังคับใช้แรงงาน เกิดขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมประมงไทยมานาน ก่อนจะถูกเปิดโปงโดยสื่อตะวันตกหลายสำนักเมื่อปี 2014 ซึ่งอ้างอิงการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมงของไทย ทำให้อียูให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในปี 2015 เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อียูยังเรียกร้องให้เรือประมงไทยยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งบางกรณีที่ีแรงงานประมงต่างด้าวเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และระบุด้วยว่าไทยควรปฏิรูปเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ส่วนโครงการการค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันประเทศไทยให้รักษาระดับในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 เอาไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับต่ำสุดเพียงขั้นเดียว และต้องติดตามกันต่อไปว่าในปีนี้ สหรัฐฯ จะปรับอันดับให้แก่ประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPS Report หรือไม่ ไทยเสนออิสราเอลปรับปรุงกฎหมายให้นายจ้างหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนให้กับแรงงานมีเงินออมกลับมาไทย 22 ม.ค. 2561 รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม (H.E.Mr.Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย หารือความร่วมมือจ้างแรงงานไทยทำงานในภาคเกษตร แลกเปลี่ยนข้อตกลงให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง ปราศจากระบบนายหน้า กำชับ กรมการจัดหางานปฐมนิเทศเตรียมความพร้อมแรงงานก่อนเดินทางไปทำงานรวมทั้ง ป้องกันยาเสพติด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม (H.E.Mr.Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านแรงงาน ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลแล้วกว่า 28,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคเกษตร การหารือในวันนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการติดต่อแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจข้อตกลงต่างๆ ระหว่างระบบราชการของทั้งสองประเทศเพื่อให้แรงงานได้งานทำที่ดี ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากรัฐบาลอิสราเอล รวมทั้งเพื่อไม่ให้มีระบบนายหน้าอีกด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ได้เสนอให้รัฐบาลอิสราเอลปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้นายจ้างหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนให้กับแรงงาน เมื่อแรงงานสิ้นสุดสภาพการจ้างแล้วก็จะมีเงินออมกลับมา ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระหว่างไทยและอิสราเอล ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้พูดคุยหารือประเด็นด้านแรงงานให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานได้กำชับให้กรมการจัดหางานปฐมนิเทศให้ความรู้แก่แรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศตลอดจนเน้นย้ำกรณียาเสพติดอย่างเข้มงวด การหารือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและทางการอิสราเอล ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงแรงงานจะได้สร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจ้างงาน (TIC Project) การดำเนินงานตามความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและอิสราเอล ซึ่งนอกจากจะกระชับความร่วมมือโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทั้งสองประเทศให้แน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้นแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานร่วมกันให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วย ที่มา: กระแรงแรงงาน, 23/1/2561 การบินไทยปัดข่าวมีพนักงานเบิกโอทีวันละ 24 ชม. ต่อเนื่อง 30 วัน รักษาการดีดีการบินไทยยืนยันบริษัทไม่จ่ายค่าโอทีพนักงานสูงเกินมาตรฐานสากล ย้ำข่าวพนักงานเบิกโอทีวันละ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน ไม่เป็นความจริง แจงปีรายจ่ายโอทีสูงกว่าปีก่อน เหตุจากมีเครื่องบินเพิ่มเที่ยวบินเยอะ ซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น 5% นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีสื่อบางแห่งนำเสนอข่าว ว่าพนักงานบางส่วนปฏิบัติงานล่วงเวลา จนมีค่าล่วงเวลา (โอที) สูงเกินจริงคือวันละ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งบริษัทฯ ได้ตรวจสอบและขอยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยในปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเบิกค่าล่วงเวลาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานภายใต้แผนปฏิรูปองค์กร โดยมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายกับทุกฝ่ายของบริษัทฯ เพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจการบิน อย่างไรก็ตาม ค่าล่วงเวลาในการทำงานของพนักงานในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 แต่เป็นไปตามการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบริษัทฯ มีจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น มีการใช้งานเครื่องบินมากขึ้นทำให้เกิดความถี่ในการซ่อมบำรุง และมีจำนวนสายการบินลูกค้าที่ใช้บริการการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ทั้งนี้ บริษัทฯ ตระหนักดีถึงความห่วงใยของภาครัฐ และฝ่ายบริหารไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการกำกับดูแลการทำงานล่วงเวลาของพนักงานอย่างเคร่งครัด ให้มีเวลาปฏิบัติงานปกติและเวลาปฏิบัติงานล่วงเวลารวมกันไม่เกินกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนด เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด สมานฉันทร์แรงงานไทยขอนายกทบทวนมติปรับค่าจ้าง ยื่น 3 ข้อเรียกร้องปรับเท่ากันทั่วประเทศ 23 ม.ค. 2561 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งก.พ. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท.และ น.ส. ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. พร้อมสมาชิกประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามหลักสากลและเท่ากันทั่วประเทศ โดยน.ส.ธนพร กล่าวว่า คสรท. ขอประกาศจุดยืนเดิมและเรียกร้องต่อนายกฯ และรัฐมนตรี 4 ข้อ คือ 1.ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล ให้เลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 3.ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบครองคลุมทุกภาคส่วน และ 4.ให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง ทั้งนี้ หากรัฐบาล และกระทรวงแรงงานไม่ยอมทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ เราจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป ด้านนายชาลี กล่าวว่า เราต้องการให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ พบว่าอนุกรรมการบางจังหวัด ไม่มีตัวแทนลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เสนอเข้ามาส่วนกลาง มาจากนายจ้างฝ่ายเดียว และบอร์ดค่าจ้างพิจารณาค่าจ้าง โดยไม่มีการนำข้อมูลจากอนุกรรมการฯ มาพิจารณา เพราะมีธงของนายจ้างและรัฐบาลอยู่แล้ว ตัวเลขจึงไม่ตรงกับที่อนุกรรมการฯ แต่ละจังหวัดเสนอมา จึงมองว่าเป็นการใช้อนุกรรมการฯ เพื่ออ้างอิงปรับค่าจ้างเท่านั้น นายชาลี กล่าวว่า จากที่เสนอให้บอร์ดค่าจ้าง เพิ่มคณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ หรือนักเศรษฐศาสตร์สังคมจะได้ครอบคลุมทุกด้าน ประเด็นสำคัญที่รับไม่ได้คือ การลดภาษีให้กลุ่มทุน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม 1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อยากให้ รมว.แรงงานหรือปลัดกระทรวงแรงงาน ทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมครม. พิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ร้องทบทวนอัตราค่าจ้างปี 2561 นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติเห็นชอบ โดยขอเสนอให้รัฐบาลมีการทบทวน มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ที่เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ที่ 5-22 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้นอยู่ที่ 1.64-7.14% ซึ่งมองว่าเป็นอัตราไม่สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ โดยต้องการให้พิจารณาตามความเป็นจริงและตามหลักกฎหมาย อย่างไรก็ดี ผลของมติ กกร. ครั้งนี้จะเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางมีมติออกมานั้น ได้มีการสอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกของ กกร. ที่เกี่ยวข้องทั้วงหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 92% การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินกว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณา และยังพบว่า 38 จังหวัดไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ระยอง นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น และ 28 จังหวัดที่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าจ้าง และ 11 จังหวัดที่ไม่ได้ออกความเห็นเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี กกร. ได้รวบรวมความเห็นจากสมาชิกในแต่ละจังหวัดและมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อต่อผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 คือ 1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560 2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน 4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน 5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด 6. ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เป็นอย่างยิ่งจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน 7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างแรงงานต้องการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม เศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ เพราะจะรู้ข้อเท็จรริงมากกว่า และให้พิจารณาภายใต้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและเป็นไปตาม พรบ. ด้วย และการพิจารณาค่าจ้างที่เกิดขึ้นนั้น สูงเกินไปทั้งที่บางจังหวัดไม่มีภาคอุตสาหกรรม หรือมีแค่ภาคเกษตร เช่น อุตรดิตถ์ เลย ยโสธร พะเยา เป็นต้น หรือจังหวัดระนองที่มีการปรับค่าจ้างแรงงานถึง 10 บาท แต่มีแรงงานที่เป็นคนไทยไม่ถึง 10% อีกทั้ง บางจังหวัดที่ไม่ต้องการให้ปรับขึ้น เช่น ระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ 308 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราเดิมของปี2560 แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 2561กำหนดให้ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากและเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเอง และนอกจากนี้ ก็มองว่าหลายจังหวัดการพิจารณาไม่ได้สอดคล้องตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และหากยับงดำเนินการเป็นอย่างนี้เชื่อว่าแรงงานจะตกงานมากขึ้น นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะมองว่าบางจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งที่ขนาดของจังหวัดต่างกันมาก เช่น เชียงใหม่ ตราด เป็นต้น ซึ่งเห็นสมควรที่พิจารณาในอัตราเท่ากันหรือไม่ และระยอง ปรับขึ้นเนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่การลงทุน EEC และนั้นเป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีและยังมีภาคเกษตรอยู่เยอะ ส่วนจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะหรือไม่นั้น ก็ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมแม้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานมีเพียงพอก็ไม่กระทบแต่อย่างไร อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมก็มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนเป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงาน ซึ่งประเทศไทยขาดแรงงานทักษาะมาก และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งแรงงานและอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขัน พร้อมในอนาคต้องการให้อัตราค่าจ้างแรงงานนั้นลอยตัวเป็นไปตามกลไกและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกดค่าจ้างและประสิทธิภาพต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/1/2561 โรงสีโคราชชี้แจงจำเป็นปลดคน ใช้เครื่องจักรทดแทน โรงสีข้าวเจียเม้ง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงสีที่ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่สุดในอาเซียน ยอมรับเลิกจ้างพนักงานประจำ 200 คนจริง เนื่องจากต้องการนำเครื่องจักรมาทดแทน
นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางาน จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ฝ่ายบุคคลของโรงสีเจียเม้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ยืนยันว่าให้พนักงานประจำกว่า 200 คน ยื่นความจำประสงค์ลาออกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2561 เนื่องจากต้องการนำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามาแทน โดยจะจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด แรงงานที่เป็นลูกจ้างซึ่งมีมากถึง 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวและเป็นการจ้างตามฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งในวันนี้ (23 ม.ค.2561) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่สอบถามข้อมูล และให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ขณะที่แรงงานบางส่วนเชื่อว่า สาเหตุที่เลิกจ้าง เนื่องจากคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศลดลง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย จ.นครราชสีมา ปรับขึ้นเป็นวันละ 320 บาท กรมการจัดหางานประกาศยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานในประเทศ 3 แห่ง กรมการจัดหางาน แจ้งยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 3 แห่ง หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับบริษัทจัดหางานและสำนักงานจัดหางานดังกล่าว ให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางภายใน 30 วัน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลาง แจ้งว่า กรมการจัดหางานได้ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 3 แห่ง คือ 1.สำนักงานจัดหางาน ไทย จ๊อบ โปร ใบอนุญาตเลขที่ น.1611/2560 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 1/99 ซอยท่าข้าม 7 ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป 2.บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ บางนา จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1454/2557 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 909 อาคารแอมเพิลทาวเวอร์ ชั้นที่ 4 ห้องเลขที่ 4/6 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป 3.บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ พหลโยธิน จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.581/2533 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 979/72-74 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้นที่ 25 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการจัดหางานของบริษัทจัดหางานและสำนักงานจัดหางานดังกล่าว ให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางทราบภายใน 30 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นายอนุรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า ควรตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางานก่อนจะตัดสินใจสมัครงาน และขอให้ติดต่อกับบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์/แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-248-4792 หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ที่มา: กรมการจัดหางาน, 23/1/2561 สปส.เพิ่มสิทธิเยียวยาเบื้องต้น จ่ายสูงสุด 4 แสนบาท ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผลักดันในการแก้พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2558 โดยแก้ไขในมาตรา 53 ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้ โดย นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งนพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าวและยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใดๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่าให้มีผลย้อนหลังด้วย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41 ของบัตรทองเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000 – 400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 – 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งกฎหมายนี้ผู้ประกันตน 13 ล้านคนจะได้สิทธิเท่าเทียมกับผู้ป่วยบัตรทอง ขณะนี้จึงเหลือเพียงสิทธิข้าราชการที่มีเพียง 5,000,000 คน เท่านั้นที่ยังไม่มีสิทธิตรงนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้า 3 ปี ลดพนักงาน 12,000 คน และลดสาขาเหลือ 400 จาก 1,153 สาขา นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในอีกภายใน 3 ปีข้างหน้า ธนาคารวางแผน จะลดจำนวนสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 1,100 สาขา ให้เหลือ 400 สาขา และให้จำนวนพนักงานเฉลี่ยแต่ละสาขาอยู่ที่ 10-12 คน หรือ ลดลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานของธนาคารจากปัจจุบัน 27,000 คน ลดลงเหลือ 15,000 คน หรือ ลดลง 12,000 คน ใน 3 ปี เนื่องจากการเข้าใช้บริการของคนผ่านสาขาลดลง ทั้งนี้การลดจำนวนพนักงานดังกล่าวจะไม่ให้พนักงานออก หรือ layoff ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับพนักงานแล้วว่าจะเกิดขึ้น ใน 3 ปีจากนี้ โดยธนาคารมี เอสซีบี อคาเดมี่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ ให้พนักงานซึ่งปีที่ผ่านมา มีพนักงานออกจากสาขาแล้ว 2,000 คน ไปทำหน้าที่บริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าธนาคารแทน ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนของธนาคาร ที่มา: morning-news.bectero.com, 22/1/2561 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกับซีพีเอฟ เดินหน้าจัดอบรมพนักงานเพิ่มความรู้สิทธิแรงงาน มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานตามกฏหมายให้กับแรงงานทุกเชื้อชาติของบริษัท ทั้ง 3 ภาษา คือไทย เมียนมา และกัมพูชา เพื่อให้แรงงานทุกคนได้ตระหนักรู้สิทธิของแรงงานมากขึ้น และร่วมแสดงข้อเสนอแนะ ร้องเรียนประเด็นด้านสิทธิแรงงาน และด้านอื่นๆ พร้อมทั้ง เปิดตัว ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น (Labour voices by LPN) ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิแอลพีเอ็น เปิดเผยว่า แอลพีเอ็น ได้ร่วมมือกับซีพีเอฟ จัดอบรม "สิทธิลูกจ้าง" ให้กับพนักงานแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติในโรงงานและสถานประกอบการของซีพีเอฟ โดยเริ่มจัดอบรมแรงงานต่างชาติของโรงงานแปรรูปอาหารมีนบุรีเป็นแห่งแรก มีเป้าหมายส่งเสริมให้พนักงานแรงงานซีพีเอฟทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงสิทธิแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งแนะนำให้แรงงานทุกคนได้รู้จัก "ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น" ที่มูลนิธิ แอลพีเอ็น และซีพีเอฟได้ร่วมกันจัดตั้งในปลายปี 2560 ที่ผ่านมา โดยการอบรมจะช่วยให้แรงงานทุกคนได้รับรู้บทบาทของศูนย์ฯ และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้บริการจากศูนย์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ "การจัดอบรมเรื่องสิทธิลูกจ้างตามกฏหมาย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้พนักงานระดับแรงงานในอุตสาหกรรมได้รับรู้สิทธิของตนเอง ตามกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ มีส่วนช่วยให้แรงงานทุกคนทำงานกับบริษัทด้วยความเชื่อมั่น และยังเป็นกระตุ้นให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากช่องทาง "ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น" เพื่อแจ้งเหตุ ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะได้" นายสมพงศ์กล่าว นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า การอบรมสิทธิลูกจ้าง ด้านแรงงานแก่พนักงานระดับแรงงานของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการส่งเสริมสิทธิแรงงานให้แก่พนักงานทุกคนได้มีความรู้และเข้าใจในสิทธิของลูกจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งตามกฎหมาย และที่บริษัทจัดเป็นสวัสดิการให้ และในการอบรมนี้เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องหลังจากที่ซีพีเอฟได้เปิด ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิ แอลพีเอ็น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับฟังเรื่องแจ้งเหตุ ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะของพนักงานสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย กัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ เพื่อรองรับพนักงานซีพีเอฟทุกเชื้อชาติ "กิจกรรมจัดอบรมสิทธิแรงงาน และการเปิดศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่บริษัทดำเนินงานตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ ที่มุ่งหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคนของซีพีเอฟให้ดียิ่งขึ้น" นายปริโสทัตกล่าว การจัดอบรมครั้งแรกตามโครงการความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานระหว่างซีพีเอฟ และมูลนิธิแอลพีเอ็น ได้เริ่มจัดขึ้นที่โรงงานแปรรูปอาหารมีนบุรี เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีพนักงานแรงงานคนไทยและต่างชาติร่วมเข้าการอบรมแล้วจำนวน 300 คน และซีพีเอฟจะดำเนินการอบรมอย่างต่อเนื่องให้แก่แรงงานทุกคน ครบทุกสถานประกอบการทั่วประเทศ ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/1/2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น