โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สภานิสิตจุฬาฯ แสดงความกังวล หลัง จนท.เล่นงาน 'คนค้าน คสช. สืบทอดอำนาจ'

Posted: 31 Jan 2018 09:39 AM PST

สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ แสดงข้อกังวล หลัง จนท.เล่นงาน 'คนค้าน คสช. สืบทอดอำนาจ' ชี้ละเลยหลักนิติรัฐ ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนเห็นต่างจากรัฐบาล ขณะที่ 'นิวกราว' ส่งสารถึงเพื่อนคนรุ่นใหม่ ย้ำสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นผิด

31 ม.ค. 2561 ภายหลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีประชาชน นักกิจกรรมและนักศึกษา 7 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ที่ทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรม ประชาชนเหยียบเบรค ต้าน คสช. สืบทอดอำนาจ เลื่อนเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.และวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน และแจ้งความเพิ่ม 39 คน ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นั้น

ล่าสุดวันนี้ (31 ม.ค.61) สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ แสดงข้อกังวลต่อดังกล่าว โดยระบุว่า สภาฯ กังวลต่อการละเลยหลักนิติรัฐ ในการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนเห็นต่างจากรัฐบาล ทั้งยังกังวลต่อการใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ มาบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเลื่อนการจัดเลือกตั้งออกไป รวมถึงกรณีที่ประชาชนตั้งคำถามต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ควรเป็นสิทธิและเสรีภาพโดยพื้นฐานของประชาชนชาวไทยที่สามารถกระทำได้

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอยืนหยัดในการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงข้อห่วงใยต่าง ๆ จากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาชนด้วยเจตนารมณ์ที่ยึดถือกันเป็นหลักเสมอมาว่าจะธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิจุฬาฯ อันเป็นเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน

ขณะที่วานนี้ นิวกราว (Newground) ซึ่งเป็น องค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ และคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต ออกแถลงการณ์ ถึงเพื่อนคนรุ่นใหม่ ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า นิวกรา ไม่ขอเรียกร้อง เจรจา หรือมีส่วนร่วมใดกับรัฐบาล คสช. ซึ่งได้อำนาจมาโดยวิธีเผด็จการ หากแต่ขอเรียกร้องให้เพื่อนคนรุ่นใหม่ องค์กรคนรุ่นใหม่ คนทำงานคนรุ่นใหม่ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้คนที่ยังมีความหวัง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำงานอย่างลำบากใจภายใต้อำนาจอันไม่ชอบธรรมนี้ แสดงพลังผ่านทุกวิถีทางเพื่อยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นไม่เพียงเป็นสิทธิเสรีภาพ หากแต่เป็นหน้าที่ของคนทุกค
 
นิวกราว จึงขอเรียกร้องให้เพื่อนคนรุ่นใหม่และทุก ๆ คนมีความหวังภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ ความคิดสร้างสรรค์ ความเสียสละ การไม่ยอมแพ้ต่ออยุติธรรม และพลังของเพื่อนคนรุ่นใหม่ ซึ่งบ่มเพาะมายาวนานตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สุกงอมเพียงพอแล้ว ที่เราทุกคนจะยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ผิด ไม่อาจทำได้ และยอมไม่ได้ในทุกกรณี ขอให้รัฐบาล คสช. ยุติการแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 7 คน ยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชนทุกคนทั้งที่เป็นและไม่เป็นข่าว รวมทั้งยุติบทบาทรัฐบาลด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน 

"ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นระบอบที่เราทุกคนได้เลือกชีวิตของตัวเราเองไม่มากก็น้อย" นิวกราว ทิ้งท้ายในแถลงการณ์
 
รายละเอียดแถลงการณ์ ของ นิวกราว :
 
 
 

แถลงการณ์ ถึงเพื่อนคนรุ่นใหม่

วันที่ 30 มกราคม 2561

สืบเนื่องจากการที่ ตำรวจ สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 7 คนที่จัดกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." เมื่อวันที่ 27 ม.ค. เวลา 17.30-19.00 น. บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ประกอบด้วย 1. รังสิมันต์ โรม 2. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. ณัฎฐา มหัทธนา 4. อานนท์ นำภา 5. เอกชัย หงส์กังวาน 6. สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 7. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เข้ารับทราบข้อกล่าวหาวันศุกร์นี้ หลังฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความดำเนินคดี

แถลงการณ์ฉบับนี้ นิวกราว องค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ และคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต ไม่ขอเรียกร้อง เจรจา หรือมีส่วนร่วมใดกับรัฐบาล คสช. ซึ่งได้อำนาจมาโดยวิธีเผด็จการ หากแต่ขอเรียกร้องให้เพื่อนคนรุ่นใหม่ องค์กรคนรุ่นใหม่ คนทำงานคนรุ่นใหม่ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้คนที่ยังมีความหวัง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำงานอย่างลำบากใจภายใต้อำนาจอันไม่ชอบธรรมนี้ แสดงพลังผ่านทุกวิถีทางเพื่อยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นไม่เพียงเป็นสิทธิเสรีภาพ หากแต่เป็นหน้าที่ของคนทุกค

รัฐบาล คสช. ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาปรารถนา ผ่านค่านิยม 12 ประการ และนโยบายต่าง ๆ ซึ่งกล่อมเกลาให้พวกเราชินชาต่อความผิดปกตินี้โดยสงบ รัฐบาล คสช. ปฏิบัติต่อคนรุ่นใหม่เป็นเพียงแรงงานซึ่งมีหน้าที่เรียนอย่างหนัก และจบไปทำงานโดยไม่เรียกร้องสิ่งใด เพื่อจ่ายภาษีที่ไม่เป็นธรรมและพัฒนาเศรษฐกิจให้ชนชั้นนำในประเทศได้ผลประโยชน์มหาศาลโดยแทบไม่ต้องทำอะไร แต่ไม่อาจเห็นคนรุ่นใหม่เป็น คน ที่มีความคิด ความทุกข์ เครียดได้ ร้องไห้ได้ เจ็บปวดได้ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีได้ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในประเทศอื่น ๆ 

หากเรายอมให้รัฐบาลขโมยสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีนี้ไปจากใครก็ตาม เท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐบาลนั้นฉกชิงเสรีภาพของเราและคนอื่น ๆ ไปด้วยเช่นกัน

นิวกราวจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนคนรุ่นใหม่และทุก ๆ คนมีความหวังภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ ความคิดสร้างสรรค์ ความเสียสละ การไม่ยอมแพ้ต่ออยุติธรรม และพลังของเพื่อนคนรุ่นใหม่ ซึ่งบ่มเพาะมายาวนานตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สุกงอมเพียงพอแล้ว ที่เราทุกคนจะยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ผิด ไม่อาจทำได้ และยอมไม่ได้ในทุกกรณี ขอให้รัฐบาล คสช. ยุติการแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 7 คน ยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชนทุกคนทั้งที่เป็นและไม่เป็นข่าว รวมทั้งยุติบทบาทรัฐบาลด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน 

ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นระบอบที่เราทุกคนได้เลือกชีวิตของตัวเราเองไม่มากก็น้อย

ขอให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันจดจำ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายอานนท์ท้าให้จับไม่หนีไปไหน ลั่นไม่ยอมรับการใช้ ก.ม. เล่นงานกลุ่มค้าน คสช. สืบทอดอำนาจ

Posted: 31 Jan 2018 09:13 AM PST

ทนายอานนท์ ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการใช้กฎหมายเล่นงานกลุ่มค้าน คสช. สืบทอดอำนาจ พร้อมระบุสถานที่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาลทหารที่ว่าความ ตลอดเดือน ก.พ.นี้ ลั่นเชิญมาจับได้ทุกเมื่อ และจะทำหน้าที่ทนายความให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจนวินาทีสุดท้าย

ที่มาเฟสบุ๊ค อานนท์ นำภา

31 ม.ค. 2561 ภายหลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีประชาชน นักกิจกรรมและนักศึกษา 7 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ที่ทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรม ประชาชนเหยียบเบรค ต้าน คสช. สืบทอดอำนาจ เลื่อนเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.และวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน และแจ้งความเพิ่ม 39 คน ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นั้น

ล่าสุด อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้ถูกแจ้งความคดีดังกล่าว โพสต์แถลงการณ์ในนามส่วนตัว ผ่านเฟสบุ๊คตัวเองประกาศไม่ยอมรับและไม่ร่วมสังฆกรรมต่อกระบวนการอันอัปยศในครั้งนี้ และยืนยันว่าการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของผมและเพื่อนเป็นไปโดยสุจริต และมีเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะเรียกร้องให้ประเทศกลับมาปกครองในระบอบประชาธิปไตย
 
อานนท์ ระบุว่า เดิม ก่อนที่จะมีข่าวตำรวจทหารไปแจ้งจับชาวบ้าน 39 คนตามที่ทราบกันวัน ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ตนติดว่าความที่ศาลทหาร และจะส่งทนายความไปขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา กับ พนักงานสอบสวน ไปเป็นวันที่ตนไม่มีขึ้นศาลคือเดือนมีนาคม แต่จากสถานการณ์ตอนนี้เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้รับใช้เผด็จการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นการชุมนุมเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ การแจ้งความจับชาวบ้าน 39 คน จากการเรียกร้องการเลือกตั้ง คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างต่ำทรามและตนไม่อาจยอมรับได้
 
"เชิญมาจับผมได้ทุกเมื่อ ผมจะไม่หลบหนีไปไหน และจะทำหน้าที่ทนายความให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจนวินาทีสุดท้าย" อานนท์ ประกาศ พร้อมเปิดเผยที่อยู่ของตนเองในฐานะทนายความคิดีต่างๆ ตั้งแต่ ศาลทหารกรุงเทพ ศาลทหารชลบุรี เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลจังหวัดภูเขียว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ตลอดเดือน ก.พ.นี้
 

อุทธรณ์ปรับ 1 พัน ทนายอานนท์ คดียืนเฉยๆ ร้อง 'ปล่อยวัฒนา'

วันเดียวกัน (31 ม.ค.61) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า วันนี้ ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี "ยืนเฉยๆ" ที่ อานนท์ ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการทำกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่วิคตอรี่พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว "วัฒนา เมืองสุข" จากค่ายทหาร ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับ 1,000 บาท ตามศาลชั้นต้น

ศาลพิจารณาว่า ประเด็นโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่มีการจับกุมแต่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและโจทก์ยื่นฟ้องได้ตามกรอบเวลาที่โจทก์เคยขอผลัดฟ้องไว้ ศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ส่วนประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการชุมนุมทำไปโดยสุจริตและเป็นเสรีภาพ ศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องในข้อหาว่าจำเลยไม่แจ้งจัดการชุมนุมภายใน 24 ชม. ไม่ได้ฟ้องว่าวัตถุประสงค์การชุมนุมผิดอย่างไร การยืนเฉยๆ ของจำเลยเป็นการกระทำที่แยกขาดจากกันกับการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้

อีกทั้งจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าสืบหักล้างพยานของฝ่ายโจทก์ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นปรับเงินจำนวน 1,000 บาท

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ สั่งจำคุก 10 ปี อดีตนายกสมาคมประมงตรังและพวก 6 คน คดีค้ามนุษย์

Posted: 31 Jan 2018 08:07 AM PST

ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกอดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรังและพวก 6 คน คนละ 10 ปี ปรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง 5 แสนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมจำนวน 1.99 ล้าน ข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์แรงงานประมงชาวพม่าจำนวน 15 คน ในพื้นที่อำเภอกันตัง

31 ม.ค. 2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รายงานว่า วานนี้ (30 ม.ค.61) ศาลจังหวัดตรังได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีค้ามนุษย์เลขคดี คม 5-6/2560 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ และ ซอหรือเมียวซอเทียนกับพวกรวม 15 คน โจทก์ร่วม กับ สมจิตร ศรีสว่างหรือแมซอ อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง กับพวกรวม 10 คนและห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ในข้อหาร่วมกันเป็นธุระจัดหา จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ซึ่งบุคคลใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยข่มขู่ใช้กำลังบังคับหลอกลวง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ จำนวน 15 คน ซึ่งมีทั้งเด็กที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี อันมีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบบังคับใช้แรงงาน จนผู้เสียหายมีความกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จึงยินยอมอยู่ในความควบคุมของจำเลยทั้ง 10 คน โดยปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และยินยอมเป็นคนทำงานในเรือประมง และความผิดฐานเอาคนลงมาเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 6 คนได้แก่ สมจิตร ศรีสว่าง, ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์, สมพล จิโรจน์มนตรี, เมมิว, กัลยาณี ชุมอิน และวิชัย เรียบร้อย มีความผิดอาญา ข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานเอาคนลงเป็นทาส และฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จำคุกคนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับผู้เสียหายเป็นเงิน 1,992,000 บาท และปรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง 500,000 บาท นอกจากนี้ ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์ ยังต้องรับโทษตามความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 6 คน คนละ 14 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,992,000 บาท สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ศาลพิพากษาปรับเป็ นเงินจำนวน 600,000 บาท นอกจากนี้ ไพวงค์ ยังต้องรับโทษในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงต้องรับโทษจำคุกเพิ่มอีก 1 ปี

ณิชกานต์ อุสายพันธ์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แสดงความเห็นว่า คำพิพากษาอุทธรณ์นี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการในการจัดหางานประมงในอุตสาหกรรมประมงไทย ซึ่งมักกระทำโดยผ่านกระบวนการนายหน้าและมีค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสำหรับแรงงาน ทำให้แรงงานตกเป็นกลุ่มเสี่ยงในการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการสร้างภาระหนี้ที่มากกว่าความเป็นจริงเพื่อบังคับขู่เข็ญให้แรงงานต้องทำงานชำระหนี้ต่อไป รูปแบบการจัดหางานและสร้างภาระหนี้ลักษณะหนี้มีอยู่แพร่หลายในอุตสาหกรรมประมง แต่มักถูกมองว่าเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปเพื่ออำนายความสะดวกในจัดหาแรงงานของนายหน้าและนายจ้าง มากกว่าจะเป็นการใช้ช่องทางเพื่อเอารัดเอาเปรียบและบังคับใช้แรงงาน คำพิพากษาอุทธรณ์นี้เป็นเครื่องยืนยันและชี้เตือนให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้สรุปใจความคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไว้ดังนี้
 
1.       คำเบิกความของผู้เสียหายเกี่ยวกับพฤติกรรมชักชวน หน่วงเหนี่ยว กักขัง สร้างหนี้ของนางสมจิตร ศรีสว่าง จำเลยที่ 1 และ ไพวงศ์ ไชยพลฤทธิ์ จำเลยที่ 2  มีความสอดคล้องกันและตรงไปตรงมา เชื่อได้ว่าเป็นความจริง การให้ยืมเงินและให้ที่พักไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือตามที่อ้าง อีกทั้งฝ่ายจำเลยเป็นผู้เสนอให้ผู้เสียหายอาศัย ใช้บริการต่างๆ และยืมเงินเพื่อให้ผู้เสียหายตกเป็นหนี้ ทั้งยังไม่เคยแสดงบัญชีหนี้ค้างชำระให้ดู จึงมิใช่เรื่องทางการค้าทั่วไประหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และเป็นการสร้างภาระหนี้เกินจริงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการจัดหาแรงงาน อีกทั้งจำเลยที่ 1,2 ก็ได้รับประโยชน์จากค่าแรงของผู้เสียหาย จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนนางสาวกัลยาณี ชุมอิน จำเลยที่ 9 และ แมมิว จำเลยที่ 10 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
2.       คำเบิกความของผู้เสียหายแสดงให้เห็นว่า สมพล จิโรจน์มนตรี จำเลยที่ 3  และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง จำเลยที่ 10 ว่าได้รับประโยชน์จากนางสมจิตร ในการจัดหาแรงงาน และนางสมจิตรกับสามีก็ได้รับเงินค่าจ้างที่จำเลยที่3 และ 10 จากการจ่ายให้กับผู้เสียหาย ทั้งนี้จำเลยที่ 3 และ 10 ประกอบกิจการประมงมานานย่อมทราบถึงปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน และต้องใช้ความระมัดระวัง การที่จำเลยที่ 3 และ 10 รับแรงงานมาจากนางสมจิตร ก็เพื่ออาศัยประโยชน์ในการควบคุมแรงงาน หากไม่มีผลประโยชน์ร่วมคงไม่ยอมให้นางสมจิตรและ ไพวงศ์ เข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่ของตน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และ 10 ร่วมกับจำเลยอื่น ๆ กระทำความผิด
 
3.       คำเบิกความผู้เสียหายมีน้ำหนักฟังได้ว่า วิชัย เรียบร้อย จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์ทำร้ายผู้เสียหาย ให้เกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหากหลบหนี อีกทั้งยังมีหลักฐานการติดต่อกับนางสมจิตร จึงเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่ใช่การทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยทั่วไป เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจใดๆ จะหน่วงเหนี่ยว กักขัง ใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วม พฤติการณ์เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดค้ามนุษย์ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
 
4.       คำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าพฤติการณ์ของ ประวิทย์ กิ้มซ้าย จำเลยที่ 8 ที่ใช้ปืนขู่แรงงานบนเรือนั้นเกิดจากมีแรงงานที่เมาสุรา จำเลยที่ 8 จึงต้องใช้ปืนขู่ระงับเหตุ และฟังได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งเดียว ฟังไม่ได้ว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน ให้พิพากษายกฟ้อง
 
5.       จำเลยอีก 4 คนที่เหลือศาลอุทธรณ์พิพากษาตามศาลชั้นต้นกล่าวคือ ไต๋ก๊งที่ทำหน้าที่อยู่บนเรือนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดให้พิพากษายกฟ้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ตั้งทีมพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิฯ ของ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์'

Posted: 31 Jan 2018 07:46 AM PST

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ 

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. 

31 ม.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่าวันนี้ (31 ม.ค.61) วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2561 วันที่ 31 ม.ค. 2561 ได้พิจารณากรณี องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch- HRW) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานจำนวน 2 ฉบับ คือ 1. รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 และ 2. รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงไทย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายงานทั้งสองฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 26 (4) และ มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2561

วัส กล่าวว่า อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม. ที่อ้างถึงข้างต้นมีสาระสำคัญว่า เมื่อความปรากฏต่อ กสม. ไม่ว่าโดยทางใดว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม กสม. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้า เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งการตรวจสอบรายงานทั้งสองฉบับของ Human Rights Watch นับเป็นกรณีแรกของการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม.ข้างต้น

"ที่ประชุม กสม. ได้วางหลักในการตรวจสอบว่า ในชั้นแรกให้คณะทำงานฯ นำรายงานการตรวจสอบ และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายของ กสม. ที่เสนอต่อรัฐบาล รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่สอดคล้องในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และรายงานวิจัยเรื่องโซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยของ Human Rights Watch มาพิจารณาควบคู่ไปกับผลการดำเนินการของรัฐบาลตามรายงานหรือข้อเสนอแนะของ กสม. และการดำเนินการที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีกรอบระยะเวลาการพิจารณาประมาณ 30 วัน" ประธาน กสม. กล่าว

วัส กล่าวด้วยว่า ในชั้นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กสม.ชุดปัจจุบัน องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและ Human Rights Watch เคยทำหนังสือต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ตัดอำนาจและหน้าที่ของ กสม. ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าการชี้แจงว่ารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรต่าง ๆ จะมีความถูกต้องและเป็นธรรมต่อประเทศไทยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้เป็นภารกิจของ กสม. ดังนั้น กสม. จึงจำเป็นต้องวางหลักเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่นี้โดยไม่เอนเอียงหรือก้าวล่วงบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องคํานึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสําคัญด้วย  

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานไป 11 ปาก ญาติผู้ตายเรียกค่าเสียหาย สตช.-ทบ. คดีทุ่งยางแดง

Posted: 31 Jan 2018 05:53 AM PST

ศาลสืบพยานโจทก์และจำเลย ไปแล้ว 11 ปาก เหลืออีก 3 ปากสุดท้าย นัดสืบ 26-27 เม.ย.นี้ คดีมารดาของอับดุลซิ(ผู้ตาย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตเมื่อปี 56

31 ม.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ศาลจังหวัดปัตตานีสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลย คดีหมายเลขดำที่ พ.122/2560 กรณีมารดาของ อับดุลอาซิ สาและ เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1  กองทัพบก จำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3  ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เข้าปฏิบัติการปิดล้อมและตรวจค้นบ้านเรือนของชาวบ้านที่หมู่บ้านกำปงบือราแง หมู่ที่ 2 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนยิง อับดุลอาซิ ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 15 ต.ค 2556

ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์จำเลยในวันที่ 23-26 และ 30-31 ม.ค. 2561 โดย ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานมาสืบจำนวน 3 ปาก คือมารดาของอับดุลอาซิ (ผู้ตาย) ส่วนอีกสองปากคือเพื่อนบ้านของมารดาของอับดุลอาซิ ฝ่ายจำเลยนำพยานมาสืบจำนวน 8 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ จำนวน 4 ปาก แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย จำนวน 1 ปาก เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจเขม่าปืน จำนวน 1 ปาก พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ จำนวน 1 ปาก และประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฟ้องคดีแพ่งอันมีมูลเหตุมาจากการเสียชีวิตของ อับดุลอาซิ ที่แต่งตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(จำเลยที่ 1) ภายหลังถูกฟ้องคดี จำนวน1 ปาก

เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยรวมทั้งสิ้น 11 ปากดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการทนายจำเลยทั้งสาม แถลงต่อศาลว่ายังคงมีพยานที่จำเลยประสงค์จะนำมาเบิกความต่อศาลอีก 3 ปากสุดท้าย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน จำนวน 1 ปาก หัวหน้าชุดของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ จำนวน 1 ปาก และเจ้าหน้าทหารผู้ประสานงานคดีของฝ่ายจำนวน จำนวน 1 ปาก จึงขอเลื่อนนัดออกไปอีกสักครั้งเพื่อนำพยานทั้งสามปากมาเบิกความต่อศาล ด้วยเหตุดังกล่าวศาลจึงได้มีคำสั่งนัดสืบพยานจำเลยอีกครั้งเป็นวันที่ 26 และ 27 เม.ย.นี้

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีออกนั่งพิจารณานัดไกล่เกลี่ย ชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.397/2560 กรณีเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี  โดยโจทก์ทั้งแปด (จาก 4 ครอบครัว) เป็นบิดามารดาของผู้ตาย ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 เรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก จำเลยที่ 1  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2  และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 รวมเป็นเงินกว่า 39 ล้านบาท  

ในวันดังกล่าว ฝ่ายโจทก์มีทนายความของโจทก์ทั้งแปดมาศาล ฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นทนายความจำเลยทั้งสาม มาศาล และพนักงานอัยการได้แถลงขอเลื่อนนัดดังกล่าว เนื่องจากตนได้ขอขยายวันยื่นคำให้การออกไปอีกเนื่องจากอยู่ในช่วงสอบสวนข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุและจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนนั้นทำคำให้การ รวมทั้งต้องส่งคำให้ก่อนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาก่อนด้วย ศาลอนุญาตต่อตามคำขอโดยให้ยื่นคำให้การภายในวันที่ 26 ก.พ. 2561
 
ส่วนกรณีมีเจ้าหน้าที่ทหารยศพันตรีนายหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารชุดปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอ(ไม่อนุญาตตามคำขอ) เนื่องด้วยศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีพนักงานอัยการทนายความของจำเลยทั้งสามอ้างเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวมาเป็นพยานในคดีอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯคนดังกล่าวสามารถเบิกความอธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และการปฏิบัติหน้าที่ของตนในวันเกิดเหตุได้โดยละเอียดอันเป็นการแก้ต่างของตนในคดีได้อยู่แล้ว
 
ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจังหวัดปัตตานีพิจารณาแล้วจึงมีคำสั่งให้เลื่อนคดีออกไป เพื่อให้จำเลยยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น  โดยศาลกำหนดนัดชี้สองสถานพร้อมกำหนดวันนัดสืบพยานและแนวทางการดำเนินคดี 
ในวันที่ 19 มี.ค.นี้
 
จากเหตุการณ์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ ครอบครัวของผู้ตายทั้ง 4 ครอบครัว ได้รับการอนุมัติเงินเยียวยาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อต่างๆ  ซึ่งทางครอบครัวของผู้ตายโดยบิดามารดาของผู้ตายซึ่งโจทก์ทั้งแปดคนในคดี ได้แจ้งต่อทนายความของตนว่า ทางครอบครัวได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา แต่เป็นเงินจำนวนที่น้อยกว่าที่เรียกร้องตามคำฟ้องอยู่มาก จึงยังคงติดใจดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายและความเป็นธรรมให้แก่ผู้ตายตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้หลักประกันสุขภาพต้องสร้างการมีส่วนร่วมรูปธรรมและสมดุลเพื่อความยั่งยืน

Posted: 31 Jan 2018 04:44 AM PST

สปสช.จับมือมูลนิธิมิตรภาพบำบัดจัดประชุมย่อยเวทีวิชาการเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2561 การเสริมพลังของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ที่ประชุมชี้ การมีส่วนร่วมต้องเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนร่วมจัดการระบบให้เกิดความยั่งยืนได้

31 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 (Price Mahidol Award Conference 2018) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดประชุมย่อยคู่ขนานเพื่อการรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เรื่อง การสร้างความเข้มแข็งของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ In Memory of Dr. Sanguan Nittayaramphong: Patient Empowerment & People Engagement for Sustainable UHC"

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หัวข้อการจัดประชุมย่อยคู่ขนานครั้งนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นคือการเสริมพลังให้กับผู้ป่วยและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความยั่งยืนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคเอดส์ ส่วนสำคัญคือการรณรงค์จากภาคประชาชนผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แท้จริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีการเติบโตมาตามลำดับ ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญของระบบนี้และสอดคล้องกับเจตนาอันแรงกล้าของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ผลักดันระบบนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง

อารีย์ คุ้มพิทักษ์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงผลความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาว่า ประสบการณ์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อนั้น รวมตัวกันเนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่มีข้อมูลที่จะรักษาตัวเอง เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส และความไม่เข้าใจของสังคม ณ เวลานั้น เป็นการรวมตัวในลักษณะการช่วยเหลือกัน เพื่อนช่วยเพื่อน เริ่มจากในชุมชน ระดับภาค และส่งตัวแทนแต่ละภาคเจ้าร่วมเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีตัวแทนของผู้ติดเชื้อเพื่อเป็นปากเสียงแทนผู้ป่วย

อารีย์ กล่าวต่อว่า การรวมตัวของผู้ติดเชื้อมีเป้าหมาย 2 ข้อ คือ การเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเท่ากันอย่างถ้วนหน้า และต้องเข้าถึงยาจำเป็น พร้อมทั้งระบบการดูแลรักษาที่ผู้ป่วยเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยไม่มีการรังเกียจหรือการเลือกปฏิบัติ

"การมีส่วนร่วมจัดระบบบริการมีความสำคัญมาก เครือข่ายผู้ติดเชื้อรณรงค์เรื่องเอดส์รักษาได้ จากที่คนเชื่อว่าเป็นแล้วตาย ทำให้ไม่คิดถึงการรักษา เราเปลี่ยนความคิดใหม่ เพิ่มศักยภาพเครือข่ายผู้ติดเชื้อในการมีส่วนร่วมดูแลรักษา เพราะการดูแลรักษาไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาลเท่านั้น ปรับใหม่เป็นสุขภาพเป็นเรื่องของเราทุกคน ผู้ป่วยมีส่วนร่วมด้วย ตรงนี้คือการพลิกบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมจัดบริการกับบุคลากรสาธารณสุข ร่วมออกแบบระบบบริการที่เหมาะกับผู้ติดเชื้อควรเป็นอย่างไร เราเรียกว่าตรงนี้ว่า ศูนย์บริการแบบองค์รวม เริ่มต้นใช้งบสนับสนุนจากกองทุนโลก เมื่อระยะเวลาการสนับสนุนจากกองทุนโลกสิ้นสุด สปสช.ก็รับความคิดนี้แล้วสนับสนุนต่อ จนปัจจุบันไทยมีศูนย์บริการแบบองค์รวมนี้ 367 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อและ รพ. ซึ่งรูปแบบนี้ได้รับรางวัลระดับโลกที่ยกย่องเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขที่จัดระบบการรักษาพยาบาลร่วมกัน" อารีย์ กล่าว  

ด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับประชาชนแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสมบัติของประชาชน คำว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความผูกพันกับระบบ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมีความทุกข์จากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล มีหลายคนต้องยากจนเพราะความเจ็บป่วย สถานการณ์นี้ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าเราต้องอะไร ดังนั้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นนโยบายที่ประชาชนสร้างและผลักดันจนทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นได้จนสำเร็จ ความผูกพันตรงนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ

"การมีส่วนร่วมต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ จับต้องไม่ได้ การเกิดขึ้นของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเป็นรูปธรรมหนึ่ง การมีตัวแทนผู้ป่วย ตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการระดับต่างๆ จนถึงคณะกรรมการระดับชาติอย่าง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปธรรมนั้น เพราะคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปเป็นปากเสียงแทนพวกเรา เป็นคณะกรรมการที่ไม่ใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น" แสงศิริ กล่าว

ลี ซังนิม สถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพระดับโลก ประเทศญี่ปุ่น (Miss Lee Sangnim Lee, Japan The Institute for Global Health Policy Research (iGHP) กล่าวในเวทีเสวนา "การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน รามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ว่า หลักการมีส่วนร่วมเป็นส่วนสำคัญของการก่อร่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศญี่ปุ่นที่เดินหน้ามากว่า 50 ปีแล้ว รูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน คือ ที่ญี่ปุ่นมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละระดับ ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยภาคี 3 ส่วนเพื่อความสมดุล คือ ประชาชน ผู้ให้บริการ และหน่วยงานรัฐ เช่น อปท.ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้แทนแต่ละภาคีต้องเท่ากัน เพื่อการเป็นปากเสียงของแต่ละภาคีในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนร่วมกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องทางการไทยหยุดคุกคามผู้เห็นต่างและผู้ชุมนุมโดยสันติ

Posted: 31 Jan 2018 03:20 AM PST

เรียกร้องทางการไทยยุติการปราบปราม คุกคามทุกรูปแบบต่อการชุมนุมอย่างสันติ ผอ.แอมเนสตี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุ รัฐบาลไม่ทำตามสัญญาที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน และอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ ประธานแอมเนสตีประจำประเทศไทย ขอให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำงานของสื่อ ไม่ให้ถูกคุกคาม

<--break- />

กิจกรรม We Walk เป็นอีกกลุ่มที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลระบุในแถลงการณ์

31 ม.ค. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรรณรงค์และปกป้องสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ชื่อ "แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดคุกคามกลุ่ม We Walk และนักกิจกรรมทุกกลุ่ม" เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทย ยุติการปราบปรามผู้เห็นต่างและผู้ที่ออกมาชุมนุมอย่างสงบ รวมถึงกลุ่ม We Walk และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

เรียก 39 คน รับข้อหาฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม 2 ก.พ.นี้ อ้างร่วมเหยียบเบรค คสช. สืบทอดอำนาจ

'8 เดินมิตรภาพ' เข้ารับทราบพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังถูกฟ้องฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

เลื่อนพิพากษาอุทธรณ์ครั้งที่ 3 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายค้านรัฐประหาร เหตุคดีซับซ้อน

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการปราบปรามและคุกคามทุกรูปแบบต่อการชุมนุมอย่างสันติ หลังจากนักกิจกรรมแปดคนของกลุ่ม We Walk ที่ร่วมเดินขบวนอย่างสงบเพื่อสนับสนุนประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และพลเมือง ถูกแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีคดีของ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ที่ถูกจับจากการชูป้ายไม่ยอมรับรัฐประหารหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 เพียงหนึ่งวัน ซึ่งศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในวันนี้ (31 มกราคม 2561) ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนและถูกปรับ

ล่าสุด ทางการไทยยังได้ประกาศเตรียมดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมอีกเจ็ดคนในข้อหายุยงปลุกปั่นจากการจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาด้วย

ตลอดเวลาเกือบสี่ปีที่ผ่านมา คนไทยหลายร้อยคนถูกคุกคามหรือคุมขังจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับรัฐบาลทหารหรือคัดค้านนโยบายบางอย่างของรัฐบาลทหาร

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "กองทัพไทยให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่ยึดอำนาจว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน และอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาเลย"

แอมเนสตี้ทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ขาดความชอบธรรม ซึ่งถูกบังคับใช้มาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ตลอดจนเรียกร้องให้ประชาคมโลกแสดงความสนใจและร่วมกันเรียกร้องทางการไทยให้มากขึ้นด้วย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือน "ครู" ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในส่วนของแอมเนสตี้ประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้

แอมเนสตี้ขอขอบคุณและชื่นชมผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวด และขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนผลิตผลงานที่มีคุณค่าเพื่อการพัฒนาสังคมที่โปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพของสื่อสะท้อนถึงคุณภาพของสังคม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียก 39 คน รับข้อหาฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม 2 ก.พ.นี้ อ้างร่วมเหยียบเบรค คสช. สืบทอดอำนาจ

Posted: 31 Jan 2018 02:15 AM PST

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เผยเรียก 39 คน รับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม 2 ก.พ.นี้ เหตุร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน กับกิจกรรมเหยียบเบรค คสช. สืบทอดอำนาจ เลื่อนเลือกตั้ง พร้อมเผยอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 66 คน

31 ม.ค. 2561 หลังจากวานนี้ (30 ม.ค.61) รายงานข่าวว่า คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติได้รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาร้องทุกข์ กับสน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดี 1. รังสิมันต์ โรม 2. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. ณัฎฐา มหัทธนา 4. อานนท์ นำภา 5. เอกชัย หงส์กังวาน 6. สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และ 7. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  ข้อหา "ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ที่ทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 25 ม.ค. เวลา 21.00 น. และวันที่ 27 ม.ค.เวลา 19.00 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน นั้น

ล่าสุดวันนี้ (31 ม.ค.61) มติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และมีกลุ่มมวลชนบางกลุ่มมีพฤติการณ์ที่สื่อไปในทางก่อความไม่สงบ มีการยุยงปลุกปั่นประชาชนโดยการนำเสนอข้อมูลให้เกิดความสับสน บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความแตกแยก เกลียดชังรัฐบาลและ คสช. อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและคาสั่ง คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับและสั่งการให้มีการเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ต่อมาวันที่ 25 มกราคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ได้ตรวจพบว่ามีการส่งข้อมูลผ่านโซเชียล มีเดีย เชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และ คสช. ในวันที่ 27 ม.ค.61 เวลาประมาณ 17.30 น. ณ บริเวณทางเชื่อมอาคาร(สกายวอล์ค) แยกปทุมวัน แขวง/เขต ปทุมวัน กรุงเทพหานคร

และเมื่อถึงวันเวลาดังกล่าว มีกลุ่มบุคคล นำโดย รังสิมันต์ โรม กับพวกรวม ร่วมกันชุมนุม โดยการเปิดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล คสช. ลักษณะเนื้อหาเป็นการยุงยง ปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเมื่อวันที่ 29 ม.ค.61 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อดำเนินคดีกับ 7 คน ดังที่กล่าวข้างต้น ข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ข้อ 12 และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทาภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ตามคดีอาญาเลขที่ 121/2561

ต่อมาในวันที่ 30 ม.ค.61 นวพร กลิ่นบัวแก้ว ผู้อานวยการสานักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันว่าจุดที่จัดให้มีการชุมนุมเป็นพื้นที่สาธารณะ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ รองผกก.(สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มเติม มีรายชื่อพร้อมระบุตัวตนว่าใครเป็นใคร ดังต่อไปนี้ 1. รังสิมันต์ โรม 2. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. ณัฏฐา มหัทนา 4. อานนท์ นำภา 5. เอกชัย หงส์กังวาน 6. สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 7. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 8. วีระ สมความคิด 9. สมบัติ บุญงามอนงค์  แกนนำการชุมนุม 10. โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 11. มัทนา อัจจิมา แนวร่วมคนเสื้อแดง 12. พัฒน์นรี ชาญกิจ  มารดาของ สิรวิชญ์ 13. เอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์ 14. รักษิณี แก้ววัชระสังสี 15. จุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย 16. พรนิภา งามบาง แนวร่วมคนเสื้อแดง
 
17. กิตติธัช สุมาลย์นพ แนวร่วมกลุ่มนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18. สุดสงวน สุธีสร นักวิชาการกลุ่มคนเสื้อแดง 19. กันต์ แสงทอง นักวิชาการ 20. นพพร นามเชียงใต้  แนวร่วมกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ 21. สุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ  นักวิชาการอิสระ 22. กมลวรรณ หาสาลี  คนเสื้อแดงพระราม9  23. นัตยา ภานุทัต แนวร่วมคนเสื้อแดง 24. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์  ฉายา ฟอร์ด เส้นทางสีแดง 25. ประนอม พูลทวี คนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ 26. สงวน คุ้มรุ่งโรจน์  27. สุรศักดิ์ อัศวะเสนา 28. พรวลัย ทวีธนวาณิชย์ 29. สุวรรณา ตาลเหล็ก 30. นภัสสร บุญรีย์ แนวร่วมคนเสื้อแดง 31. อรัญญิกา จังหวะ  นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 32. พรชัย ประทีปเทียนทอง 33. วรัญชัย โชคชนะ แนวร่วมคนเสื้อแดง 34. นพเกล้า คงสุวรรณ แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา 35. คุณภัทร คะชะนา 36. สามารถ เตชะธีรรัตน์ 37. อ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์ 38. วราวุธ ฐานังกรณ์ แนวร่วมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ 39. เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคแรก พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยออกหมายเรียกทั้ง 39 คน ให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าหวาในวันที่ 2 ก.พ.นี้  ทั้งนี้ยังมีผู้ร่วมกระทำความผิด อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 66 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิฯ ส่งข้อเสนอต่อ กก.ต้านทรมาน UN ชี้หลังรัฐประหารเพิ่มโอกาสลอยนวลพ้นผิด

Posted: 31 Jan 2018 01:50 AM PST

กก.นักนิติศาสตร์สากล-ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นข้อเสนอต่อ กก.ต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ชี้รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 รธน.-กรอบกฎหมายไทยเพิ่มโอกาสให้เกิดการช่องว่างในการได้รับการยกเว้นความรับผิด

31 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights หรือ TLHR) ได้ยื่นข้อเสนอแนะร่วมต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คณะกรรมการต่อต้านการทรมานฯ จะทำการพิจารณาประเด็นก่อนการรายงาน (List of issues prior to reporting หรือ LoIPR) สำหรับประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 63 ช่วงวันที่ 23 เม.ย.- 18 พ.ค. นี้ และเมื่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน รับรอง LoIPR แล้ว ประเด็นดังกล่าวจะถูกส่งไปยังประเทศสมาชิก โดยรายงานสถานการณ์ของประเทศไทยตามประเด็นที่ระบุใน LoIPR จะถือเป็นรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยตามวาระในครั้งที่ 2 ตามพันธกรณีในมาตรา 19 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) 
 
สำหรับข้อเสนอแนะร่วมของ ICJ และ TLHR ต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน นี้ ได้เน้นย้ำถึงความกังวลบางประการต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทย โดยข้อเสนอแนะได้แนะคำถามและเสนอแนะให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานฯ รวมข้อคำถามเหล่านี้ไปใน LOIPR เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้:
 
  • ความเป็นจริงที่ว่าตั้งแต่ได้มีการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ.2557 รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายในประเทศไทยได้เพิ่มโอกาสให้เกิดการช่องว่างในการได้รับการยกเว้นความรับผิด (Impunity) 
  • ความล้มเหลวในการทำให้การทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการบังคับให้สูญหาย เป็นความผิดทางอาญาตามกรอบกฎหมายภายในประเทศ ตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาฯ และกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  • ความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ ในหลายกรณีที่น่าเชื่อว่าอาจมีการกระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายและรายงานที่ระบุกรณีต้องสงสัยว่าอาจมีการกระทำการทรมานและปฏิบัติโหดร้ายอื่นๆอย่างกว้างขวาง และ
  • การข่มขู่หรือการตอบโต้ต่อบุคคลที่รายงานกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน การปฏิบัติโหดร้าย และการบังคับสูญหาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจารณ์มอง 'ปัทมาวตี' เป็นภาพยนตร์อินเดียที่ทลาย 'เพดานที่มองไม่เห็น' ชาวเควียร์

Posted: 31 Jan 2018 01:32 AM PST

"ปัทมาวตี" เป็นภาพยนตร์ที่มีกระแสประท้วงอย่างหนักก่อนหน้านี้ ถูกพูดถึงในอีกมุมมองหนึ่งผ่านการวิจารณ์ภาพยนตร์ของอังกูร์ ปาทัก นักเขียนของสื่อฮัฟฟิงตันโพสต์ โดยมองตัวละคร "เควียร์" ที่แสดงออกต่างกันสองตัวละครและระบุว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำลาย "เพดานที่มองไม่เห็น" ในเรื่องการแสดงออกของผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์อินเดีย แต่กระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องการนำเสนอภาพสร้างความชอบธรรม ให้ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรง

อังกูร์ ปาทัก นักเขียนของสื่อฮัฟฟิงตันวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "ปัทมาวตี" จากผลงานกำกับของ สันชัย ลีลา บันสาลี ในมุมมองเพศวิถี ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของอะลาอุดดิน คิลจี แสดงโดยรันวีร์ สิงห์ ทรราชผู้ที่มีพฤติกรรมโหดเหี้ยม เลือดเย็น ไม่คำนึงถึงใจผู้อื่น ใช้ทุกวิธีเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ แสดงความหลงตัวเองเมื่อมองตัวเองในกระจกที่มีหญิงมารายล้อม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากบทกวีเรื่องแต่งในเชิงเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ผสมการตีความของผู้กำกับ โดยแสดงให้เห็นภาพของคิลจีผู้ที่พยายามพิชิตดินแดนเพื่อให้ได้ราชินีหญิงที่ชื่อปัทมาวตีมาครอบครอง และการครอบครองสตรีของเขาก็เป็นเพียงแค่ "ของรางวัล" การพิชิตอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่ก็พยายามแสร้งกลบเกลื่อนมันด้วยความรักแบบโรแมนติกจนแทบจะกลายเป็นการหลอกตัวเอง ขณะเดียวกันก็เก็บกดความรักสองเพศของตัวเองเอาไว้

ปาทักเขียนเกี่ยวกับตัวละครอีกตัวหนึ่งคือมาลิค คาฟูร์ ผู้มีความเป็นชายในแบบที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยตรงกันข้ามกับคิลจี โดยที่ผู้กำกับทำให้ความเป็นชายเชิงทำลายล้างของคิลจีถูกกลบด้วยความอ่อนโยนของคาฟูร์ ขณะเดียวกันนักวิจารณ์ก็ชื่นชมการนำเสนอเกี่ยวกับตัวละครที่ไม่ใช่รักต่างเพศในแบบที่มีความหลากหลายแตกต่างจากภาพยนตร์กระแสหลักของอินเดียที่มักจะเป็นการนำเสนอคนรักเพศเดียวกันเป็นแค่ตัวตลกที่ถูกนำมาล้อเลียน แต่เรื่องปัทมาวตีนำเสนอภาพของคนรักสองเพศได้ในแบบที่เป็นส่วนหนึ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน และเป็นตัวละครหลักที่มีบทพูดเด่น

อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากชาวฮินดูฝ่ายขวาจากที่พวกเขามองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อิงประวัติศาสตร์ที่สุลต่านมุสลิมโจมตีดินแดนของฮินดู กล่าวหาว่าเป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นภาพความใฝ่ฝันของสุลต่านอิสลามในการครอบครองราชินีฮินดูและข้อหาอื่นๆ แต่ผู้กำกับปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเนื้อหาดังกล่าวในภาพยนตร์เลย

นอกเหนือจากกลุ่มฮินดูแล้วมีข้อวิจารณ์อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประเพณีการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายเชิงเกียรติยศเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้ต้องแต่งงานกับสุลต่านแบบที่เรียกว่า "เจาฮาร์" ซึ่ง ดิวยา อารยา ผู้สื่อข่าวบีบีซีสายประเด็นสตรี ระบุว่าปัญหาที่แท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการนำเสนอภาพการจุดไฟเผาตัวเองของผู้หญิงเพื่อรักษาเกียรติยศในแบบที่ดูสวยงามเกินจริง เป็นการส่งเสริมชื่นชมสภาพที่ผู้หญิงเผชิญความรุนแรงจนไม่มีทางออก ด้วยการอ้างความชอบธรรมเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้ชายที่อยู่เหนือผู้หญิง ซึ่งนักวิจารณ์ปาทักก็เขียนวิจารณ์ไว้ในทำนองเดียวกัน

เรียบเรียงจาก

'Padmaavat' Review: Ranveer Singh's Queer Act Shatters The Glass Ceiling In Indian Film Writing, Ankur Pathak, Huffington Post, 24-01-2018
http://www.huffingtonpost.in/2018/01/23/padmaavat-review-ranveer-singhs-queer-act-shatters-the-glass-ceiling-in-indian-film-writing_a_23341645/

Padmaavat: India clashes as controversial film opens, BBC, 25-01-2018
http://www.bbc.com/news/world-asia-india-42815702


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'8 เดินมิตรภาพ' เข้ารับทราบพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังถูกฟ้องฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

Posted: 31 Jan 2018 12:25 AM PST

8 ผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ เข้ารับทราบพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ที่ สภ.คลองหลวง เหตุถูกดำเนินคดีฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. นักการทูตและองค์กรสิทธิระหว่างประเทศหลายองค์กรร่วมสังเกตการณ์ ด้านตำรวจนัดส่งสำนวนให้อัยการ 26 ก.พ.นี้ 

 
ที่มาภาพ : เพจ Banrasdr Photo
 
31 ม.ค. 2561 ที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง 8 ผู้จัดกิจกกรมเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go Network ได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการเปิดงานเดินมิตรภาพเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต 
 
ผู้ที่ถูกนายทหารยศพันโท ซึ่งรับมอบหมายตามคำสั่งของ คสช. ทั้ง 8 คน ซึ่งทั้งหมดยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ประกอบด้วย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค, อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก และจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมาตามหมายเรียกครั้งนี้มีประชาชนราว 200 คน ได้เดินทางมาให้กำลังใจที่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) อาทิ พิชิต ลิขิตสมบูรณ์กิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะมนุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมราว 20 คน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มายังสถานีตำรวจภูธรคลองหนึ่ง มีระยะประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อมาให้กำลังใจกับทั้ง 8 คนที่ถูกเรียกสอบปากคำ และอ่านแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  
 
นอกจากนี้ยังมีนักการทูตจากสหภาพยุโรป EU, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, เยอรมนี, โปแลนด์, สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (The office of the United Nations High Commissioner for Human Rights - OHCHR) และตัวแทนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลระบุว่า
ประเทศไทยควรหยุดการดำเนินควรหยุดการดำเนินคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งแปดของ People Go Network ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม และคบค้าสมาคมโดยทันที 
 
"ไม่มีเหตุผลใดที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อคงไว้ซึ่งคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้ โดยคำสั่งดังกล่าวรวมถึงคำสั่งและประกาศของคสช. อื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยควรถูกยกเลิกหรือแก้ไข"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างรอการสอบปากคำยังคงมีประชาชนรวมตัวให้กำลังใจอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการสอบปากคำ ผู้จัดกิจกรรมทั้ง 8 คน เจ้าหน้าตำรวจได้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขประกันตัว พร้อมนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 26 ก.พ. นี้ 
 
สำหรับการรณรงค์ We Walk เดินมิตรภาพ เป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายประชาชน 4 กลุ่มคือ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายเกษตรทางเลือก, เครือข่ายทรัพยากร และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยจะเริ่มออกเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในวันที่ 20 นี้ จนไปสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น
 
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและรณรงค์ใน 4 ประเด็นสำคัญของสังคมไทย ดังนี้
 
(1) นโยบายและกฎหมายที่ไม่นำไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการที่สร้างความสุขให้แก่สังคมโดยรวม ดังเช่นความพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อยกเลิกบัตรทอง
 
(2) นโยบายและกฎหมายที่ทำลายพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์
 
(3) นโยบายและกฎหมายที่ลดทอนหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอันเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชน
 
(4) รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลดทอนหัวใจสำคัญในด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ กฎหมายและนโยบายต่างๆ ถูกบังคับใช้ โดยประชาชนไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็น หรือสะท้อนข้อกังวลห่วงใยอะไรได้  ทั้งนี้ผลกระทบที่จะตามมา สุดท้ายประชาชนนั่นแหละที่ต้องรับผลกรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร' บอกถ้าประชาชนไม่ต้องการ ตนก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้

Posted: 30 Jan 2018 11:41 PM PST

พล.อ.ประวิตร บอกทำงานมา 50 ปี ถามตนทำอะไรที่เสียหายต่อประเทศบ้าง ระบุถ้าประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้ ขณะที่วานนี้ รมว.กลาโหม เตรียมจัดการผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเอง ย่ำ "ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์"

แฟ้มภาพ (ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

31 ม.ค.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ในงานเลี้ยง สานสัมพันธ์ สื่อสายทหาร ที่ห้องพินิจประชานาถ กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดบนโพเดียมช่วงหนึ่งว่าเราทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมุ่งมั่นพัฒนาเรื่องความมั่นคง ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมาตลอดใน 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้บ้านเมืองคลี่คลายปัญหา

พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อหนึ่งด้วยว่า หากประชาชนไม่ต้องการตนก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้

"อยากจะพูดกับผู้สื่อข่าวสายทหาร กับทุกคน ผมไม่ได้มาขอร้องให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อยากจะบอกว่าผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2511 ถึงวันนี้ก็ 50 ปีได้ รับราชการมาโดยตลอด ก็ไม่เคยมีเรื่องอะไรต่างๆ ก็ดูเอาแล้วกัน ว่าผมได้ทำอะไรที่เสียหายต่อประเทศชาติบ้านเมืองบ้าง ผมเข้ามาเพื่อต้องการทำงานให้บ้านเมือง ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้" รองนายกฯและรมว.กลาโหม ระบุ

พล.อ.ประวิตร ยอมรับว่ามีแรงเสียดทานจากคนกลุ่มหนึ่ง ว่ารัฐบาลทำงานไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลเราทำงานทุกอย่างเพื่อประชาชนโดยแท้ ทุ่มเทการทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา เราพยายามจะต่อสู้กับแรงเสียดทาน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เราทำตามกฎหมาย ไม่มีนอกลู่นอกทาง

รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่าขอฝากกับนักข่าวว่า คสช.ที่เข้ามา เพื่อตั้งใจทำงานให้ประเทศชาติ จึงต้องอาศัยพี่น้องสื่อที่จะร่วมกันช่วยเหลือประชาชน สร้างความรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชน ท่านนายกฯลงพื้นที่ไม่ได้ไปหาเสียง แต่ไปดูปัญหา แก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำให้ได้

ขณะที่วานนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม. ถึงกรณีที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเเละการเดินขบวนในกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ว่า เราต้องการความสงบ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะดูแล

สำหรับประเด็นที่กลุ่มนัดกันจะเคลื่อนไหวทุกวันเสาร์นั้น พล.อ.ประวิตรตอบว่า "สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกอย่าง และคำสั่งของคสช. ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะเอาอะไร"

ต่อประเด็นข้อกังวลว่าการชุมนุมดังกล่าวจะลุกลามหรือไม่ นั้น รมว.กลาโหมตอบว่า ตอนนี้ก็ไม่รู้เพราะยังไม่ได้ชุมนุม ก็ไม่เป็นไร

สำหรับคำถามที่ว่า แม้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่ทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็ยังเดินหน้าที่จะทำกิจกรรมต่อไป ทางการมีมาตรการอย่างไรนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่เป็นไร ผมจะเตรียมเอง คุณต้องการความสงบหรือเปล่า เป็นเรื่องความมั่นคงเอง"

ขณะที่มีกระเเสข่าวว่าอาจมีกลุ่มอื่นที่จะอาศัยสถานการณ์นี้มาเคลื่อนไหวหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็มีกลุ่มเดียวที่เห็นนี่แหละ ส่วนจะลุกลามหรือไม่ ผมไม่ได้พูด มีแต่คุณที่พูดเอง มีกลุ่มเดียวจะไปได้แค่ไหนก็แค่นั้น"

ต่อคำถามเพื่อเติมว่าจะมีการกระจายตามภูมิภาคก่อนเข้าสู่กรุงเทพหรือไม่ รมว.กลาโหมตอบว่า "พวกคุณก็คุณคิดไปเอง ในเมื่อเป็นการชุมนุมทางการเมือง คุณรวมตัวกันได้ไม่เกิน 5 คน แล้วคุณจะไปรวมตัวอะไรกัน"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญวิทย์เข้าพบ ปอท. ยันสิทธิในการแสดงความเห็น หวั่นฟ้องปิดปากคนวิจารณ์

Posted: 30 Jan 2018 10:48 PM PST

ชาญวิทย์เผย ไม่เคยเจอคดีแบบนี้มาก่อนในชีวิตและการทำงาน ยืนยันว่าพฤติกรรมตนชอบตามสิทธิที่มี ผู้กำกับการ 3 ปอท. เป็นคนร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีนี้ ทนายความระบุ ต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวน เหตุพนักงานสอบสวนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาผู้แจ้งความ หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม

31 ม.ค. 2561 ความคืบหน้ากรณี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายการบิดเบือนข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Charnvit Kasetsiri ซึ่งเป็นการแชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ กระเป๋าถือของนราพร จันทร์โอชา ภริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี
 

ล่าสุด วันนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงต่อสื่อมวลชนก่อนเข้ารับฟังข้อกล่าวหาที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่า ตลอดชีวิต และ 40-50 ปีของการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เคยเจอคดีแบบนี้ โดยตนเองเพียงแต่ตั้งคำถามถึงคนระดับสูงที่ใช้ของแพงๆ เท่านั้น เบื้องต้น ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนฟ้อง อย่างไรก็ตาม จะขอให้การปฏิเสธ และยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นของตนเองในฐานะประชาชนคนไทยนั้น เป็นสิทธิ และมิได้เป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย หรือ ผิดศีลธรรมตามที่ถูกกล่าวหา

 
"ผมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ในการแสดงออกซี่งความคิดเห็น แต่ผมก็อดสังหรณ์ไม่ได้ว่า กรณีของผมนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ กรณี ที่เรียกได้ว่าเป็น "กรณีปิดปาก" หรือ SLAPP case ที่ผู้ปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือ "จิ้งจกทัก" นั่นเอง" ชาญวิทย์ระบุ
 
ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เรียกมาพบแต่ยังไม่รู้ว่าเป็นข้อหาอะไรของกฎหมายข้อไหน ได้รับการประสานจาก ปอท. ให้มา เราเห็นว่าเพื่อไม่ให้ยุ่งยากจึงมาพบ หลังจากที่ได้พบจะได้รู้ว่าเขากล่าวหาอะไร ตอนนี้ข้อกล่าวหาก็ยังไม่ได้แจ้ง เท่าที่รู้คือมีตำรวจคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้กำกับเป็นผู้แจ้งความ ดังนั้น หลังจากที่พบแล้วจึงจะบอกได้ว่า จะมีแนวทางต่อสู้คดีอย่างไร
 
 
-ใบแถลงข่าว-
 
กัลยาณมิตร และสื่อมวลชน 
 
 
ผมขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ที่ท่านทั้งหลายให้ความสนใจต่อกรณีนี้ของผม 
 
ดังที่ท่านก็ทราบดีว่า ผมมาที่นี่ เพราะถูกตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) เรียกให้มาพบในฐานะผู้ต้องหา 
 
กรณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความกล่าวหาเอง 
 
กล่าวคือเป็นกรณีที่มีผู้โพสต์ภาพ และข้อความพาดพิงภริยาของท่านนายกรัฐมนตรี และผมได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวด้วย
 
ผมจะขอให้การปฏิเสธ และยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นของผมในฐานะประชาชนคนไทยนั้น เป็นสิทธิ และมิได้เป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย หรือผิดศีลธรรมตามที่ผมถูกกล่าวหา
 
สำหรับรายละเอียดและแนวทางการต่อสู้คดี จะขอปรึกษาทนายความเพื่อต่อสู้คดีต่อไป และจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปอท. และรับการพิมพ์นิ้วมือแล้ว  
 
ผมขอขอบคุณญาติ มิตร ศิษย์ และสาธารณชนทั่วไปที่ตามมาให้กำลังใจ 
 
ในยามยากเช่นนี้ ผมตระหนักดีว่า "กำลังใจ" มีความหมาย และมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร ผมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ในการแสดงออกซี่งความคิดเห็น แต่ผมก็อดสังหรณ์ไม่ได้ว่า กรณีของผมนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ กรณี ที่เรียกได้ว่าเป็น "กรณีปิดปาก" หรือ slap case ที่ผู้ปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือ "จิ้งจกทัก" นั่นเอง 
 
 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
 
31 มกราคม 2561/2018

ในส่วนความคืบหน้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.20 นาที ภายหลังชาญวิทย์เข้าพบ ปอท. ได้ออกมาชี้แจงว่าตนถูกดำเนินคดีความในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเป็นประการที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลอันเป็นเท็จนั้นน่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) และ (5) เกรงว่าจะเกิดภยันตรายต่อประชาชน อาจเป็นภยันตรายต่อประชาชาติ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินห้าปี จากการที่ชาญวิทย์แชร์และวิจารณ์กระเป๋าถือของนราพร จันทร์โอชา ภรรยาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 ปอท. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ชาญวิทย์

จากการเข้าพบเจ้าหน้าที่สอบสวน ชาญวิทย์ ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยจะเข้าพบต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยต่อสู้คดีและรวบรวมพยานหลักฐาน ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรอีกทีภายใน 20 วัน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ชี้แจงว่าชาญวิทย์ให้การปฏิเสธเนื่องจากที่ได้กระทำไปหากเกิดความเสียหายก็เป็นเรื่องระดับบุคคล ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป อีกทั้งชาญวิทย์มามอบตัวด้วยตนเอง จึงไม่มีหมายศาล ไม่มีการขอยื่นประกันตัว ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราว หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

ชาญวิทย์ได้คัดค้านพนักงานสอบสวนประเด็นที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.โอฬาร ซึ่งชาญวิทย์เห็นว่าน่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากผู้กล่าวโทษมีสิทธิให้คุณให้โทษแก่พนักงานสอบสวน จึงมีการคัดค้านพนักงานสอบสวนไว้ และทำเรื่องไปถึงผู้บัญชาการสูงสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเปลี่ยนแปลงให้พนักงานสอบสวนซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้กล่าวโทษเป็นผู้สอบสวน เพราะตามกฏหมายผู้สอบสวนจะต้องพิสูจน์ซึ่งความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาจแสดงถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการสอบสวน

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอัยการ มองว่าการดำเนินคดีนี้ก็จะเป็นไปตามกระบวนการ เมื่อชาญวิทย์ได้ให้คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร มีการสอบสวนพยานหลักฐาน คิดว่าจะสามารถบอกได้ว่า อ.ชาญวิทย์ผิดหรือไม่ เพราะต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

"ซึ่งแน่นอนจะเอาผิดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเท่าที่ฟัง ทาง พ.ต.อ.โอฬาร ก็ไม่ได้ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผิดแน่นอน และยังไม่ได้ชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับการแจ้งความกับ อ.ชาญวิทย์" อ.พนัส กล่าว

เราเองพยายามที่จะถามว่าแจ้งความเอาผิดแค่คนเดียวหรือคนอื่นที่มีการแชร์ข้อมูลนี้ด้วยหรือเปล่า ซึ่งทาง ปอท. แจ้งว่าเขาดำเนินการหมดทุกคน ส่วนจะจริงแค่ไหนก็มิทราบได้ ซึ่งพนัสตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะคนเดียว ในส่วนของ อ.ชาญวิทย์ที่ได้แจ้งดำเนินคดีไปนั้น ทนายได้เหตุผลจาก พ.ต.อ.โอฬาร ว่าเป็นเพราะชาญวิทย์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง

เกี่ยวกับคดีนี้ ทางทนายความได้อธิบายจากการที่ภรรยานายกรัฐมนตรีตกเป็นผู้เสียหายว่า ในทางคดีถือว่าเป็นคดีอาญาตามข้อกฏหมายดังกล่าว แต่ไม่ถือเป็นความผิดส่วนตัวเพราะมีการกล่าวโทษว่าข้อความที่มีการแชร์ดังกล่าวเป็นการก่อให้เกิดความตระหนก แตกตื่นต่อระบบของประเทศชาติ เพราะฉะนั้นใครก็สามารถกล่าวโทษได้ สภ.ทั้งหมดในราชอาณาจักรเองก็สามารถแจ้งได้ หากเป็นกรณีทั่วไปผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี แต่กรณีนี้ตำรวจที่รับผิดชอบการพิจารณาคดีนี้เป็นผู้กล่าวโทษเสียเอง จึงต้องมีการดำเนินการให้เปลี่ยนให้พนักงานสอบสวนเนื่องจากเกรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี

"ทางตำรวจไม่ได้ชี้แจงจำนวนการแชร์ เพียงแต่อธิบายว่าเป็นความผิดกรรมเดียว คือกระทำครั้งเดียวจากการแชร์ของ อ.ชาญวิทย์"  กฤษฎางค์ กล่าว

ในส่วนที่ว่าคดีนี้เป็นคดีปิดปากหรือไม่นั้น ชาญวิทย์ ได้อธิบายว่าตนเองไม่แน่ใจ หากแต่อะไรที่ตนกระทำแล้วถือว่าเป็นการตรวจสอบและชี้แจงต่อประชาชน ตนเองจะทำต่อไป ในส่วนของการให้ปากคำจะมีการดำเนินการต่อเมื่อพนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางในกระบวนการ

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหาส่วนความคืบหน้าหลังชาญวิทย์เข้ารับฟังข้อกล่าวหา เพิ่มเมื่อเวลา 20.36 น. วันที่ 31 ม.ค. 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 6 จำเลยคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ คดีแรก 2 ปี 16 เดือน ถึง 5 ปี

Posted: 30 Jan 2018 08:57 PM PST

31 ม.ค. 2561 ศาลชั้นต้น จังหวัดพล ขอนแก่น ได้อ่านคำพิพากษาจำคุก 6 วัยรุ่น ชาวอำเภอ ชนบท จ.ขอนแก่นในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น รวมทั้งสิ้น 10 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 6 คน ให้การรับสารภาพ จึงให้ลดลงกึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 1,3-6 มีอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี จึงให้ลดอีก 1 ใน 3 เหลือ 2 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ในขณะที่เกิดเหตุมีอายุครบ 20 ปีแล้ว จึงไม่ได้ลดโทษจากเกณฑ์อายุ

คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 11 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ 14 ปี ถึง 20 ปี 

สำหรับกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในจังหวัดขอนแก่น ถูกแยกออกเป็น 3 คดี จาก 3 เหตุการณ์คือ กรณีการเตรียมการวางเพลิงที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว และคดีเผาซุ้มอีก 2 กรณี ซึ่งศาลได้ตัดสินในวันนี้เป็นกรณีแรกโดยมีจำเลย 6 คน ในส่วนของกรณีการเผาในจุดที่สอง มีจำเลย 4 คน ศาลยังไม่ได้ตัดสิน

ในส่วนของเยาวชนอายุ 14 ปี ถูกแยกไปพิจารณาความผิดในฐานที่เป็นเยาวชน เป็นการพิจารณาลับ จึงไม่มีรายงานความคืบหน้าคดีเผยแพร่ในทางสาธารณะ

 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลภูมิหลังของจำเลยทั้ง 6 คนว่า จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่กับแม่เพียงคนเดียว เนื่องจากพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก จำเลยที่ 2, 4 และ 5 พ่อแม่หย่าร้างกันนานมาแล้ว จำเลยที่ 2 และ 4 อยู่กับแม่และน้อง ขณะจำเลยที่ 5 อาศัยอยู่กับยาย และจำเลยที่ 6 อาศัยอยู่อา เนื่องจากพ่อและแม่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ครอบครัวทั้งหมดมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำนา มีรายได้ไม่มากนัก ทำให้จำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งจบ ปวช.แล้ว ไม่ได้เรียนต่อ และได้ขวนขวายทำงานเลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัว โดยจำเลยที่ 1 รับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่กับบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 เข้ากรุงเทพฯ ทำงานรับจ้างได้ 1 ปี เพิ่งกลับมาบ้านก่อนกระทำผิด ขณะจำเลยที่ 3 ยังเรียน ปวช. อยู่ และจำเลยที่ 4 เพิ่งสมัครเข้าเรียน ปวส. ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 กำลังเรียน กศน.
 
ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า จากการสอบถามข้อเท็จจริงในคดี จำเลยทั้ง 6 เปิดเผยว่า พวกเขาไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง ไม่เคยดูข่าว ที่รับทำงานเพราะแค่อยากได้ค่าจ้าง และถ้าหมู่บ้านจะพัฒนาขึ้นก็ดี แต่ไม่ได้ทำเพราะเห็นคล้อยตามผู้ว่าจ้างที่ชักจูงหว่านล้อมให้พวกเขาทำงานด้วยการโจมตีรัฐบาล คสช. หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พวกเขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว จนถึงไร้สาระ และไม่ได้ให้ความสนใจ ส่วนผู้ว่าจ้างนั้นเป็นคนบ้านเดียวกับจำเลยที่ 1-4  เคยเห็นกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ไม่เคยได้พูดคุยกัน มีเพียงจำเลยที่ 1 และ 2 ที่เคยทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรของเขาในช่วงสั้นๆ แต่ก็แค่ทักทายกัน ไม่ได้ถึงขั้นพูดคุยสนิทสนม ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 ไม่เคยรู้จักผู้ว่าจ้างเลย
 
ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีทั้งสองนี้ อาจไม่ใช่กรณีที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ แต่อย่างไรก็ดี หากประมวลเรื่องราวในคดีแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า นี่เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ฝ่ายที่ตรงข้ามกับรัฐ ถูกกดปราบ ปิดกั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกอย่างสันติ และเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 3 ปีกว่ามานี้ ทำให้คนกลุ่มแรกหันไปเลือกใช้วิธีการที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งทำให้ต้องปกปิดการกระทำโดยการใช้ผู้อื่นทำแทน จนนำมาสู่การที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่มีอนาคตและเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ต้องถูกดำเนินคดีและคุมขังอยู่ในเรือนจำแทนอย่างน่าเสียดาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนพิพากษาอุทธรณ์ครั้งที่ 3 คดี ‘อภิชาต’ ชูป้ายค้านรัฐประหาร เหตุคดีซับซ้อน

Posted: 30 Jan 2018 08:50 PM PST

เลื่อนไปเป็น 31 พ.ค. 2561 ทนายความระบุ คดีมีความซับซ้อน ยังพิจารณาไม่เสร็จ คดีมีความสำคัญจำเลยปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดีปกป้องรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกลบล้าง เจ้าตัวมั่นใจสู้ตามกระบวนการกฎหมาย 

(ซ้ายไปขวา) อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ รัษฎา มนูรัษฎา

31 ม.ค. 2561 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านการปฏิรูปกฎหมาย ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368) โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล เข้าร่วมฟังคำพิพากษา โดยศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปฟังคำพิพากษา โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่า ต้องมีหนังสือมาแจ้งล่วงหน้าก่อน

ผลปรากฏว่า ศาลเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 31 พ.ค. 2561 รัษฎา มนูรัษฎา หนึ่งในทนายความของอภิชาติระบุว่า ศาลให้เหตุผลว่าคดีมีความซับซ้อน และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

รัษฎาระบุถึงความสำคัญของคดีนี้ว่า มีความสำคัญต่อสังคมเพราะเป็นเรื่องการแสดงความเห็นและการปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมมันมีรัฐธรรมนูญอยู่ ถ้ารัฐธรรมนูญเดิมถูกลบล้างไป ประชาชนก็มีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ เขาทำหน้าที่พลเมืองที่ดี

สาเหตุของคดีความ

ภาพและวิดีโอวันเกิดเหตุ

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 ส.ค. 2560 และครั้งที่สองวันที่ 16 พ.ย. 2560 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารคดีแรกๆ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2557 ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงหนึ่งวัน กลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมถึงอภิชาติได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร กลุ่มประชาชนได้แสดงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการคัดค้านรัฐประหาร ในวันนั้นอภิชาติชูป้ายข้อความว่า "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน อภิชาตถูกทหารจับกุมและถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน

'คดีซับซ้อน' เลื่อนพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 2 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ

ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องอภิชาต ในความผิด ฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557  ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวานในบ้านเมือง ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก  และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368) จากนั้น ศาลแขวงปทุมวันได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดก็อุทธรณ์คำพิพากษ์ในเดือน มี.ค. 2559 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวันว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่

เมื่อ 19 ธ.ค. 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท  แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ต่อมาฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  รวม 6 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จะอ้างระเบียบว่าด้วยอำนาจการสอบสวน ว่าคดีนี้เป็น "คดีที่ประชาชนชนให้ความสนใจ" แต่พยานกลับให้การขัดแย้งกันเอง และจำเลยเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของนักวิชาการกฎหมายส่วนข้างน้อยเท่านั้น แต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถือว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดรองรับอำนาจของพลเอกประยุทธ์ มีเพียงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งพลเอกประยุทธ์ประกาศใช้เองโดยไม่ได้ผ่านความยินยอมของประชาชน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้

ประเด็นที่สาม การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรนั้น ไม่ได้มีพระบรมราชโองการตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 ที่มาใช้ดำเนินคดีกับจำเลย ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม2557 แต่ประกาศภายหลังเหตุตามฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จำเลยซึ่งเป็นนักกฎหมายย่อมทราบดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศฉบับดังกล่าวที่ประกาศโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยจึงออกไปคัดค้านการรัฐประหารอย่างสันติวิธี เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ และจำเลยมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

ประเด็นที่สี่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก

ประเด็นที่ห้า พยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการกระทำจำเลยได้อย่างดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลย แม้แต่บันทึกการควบคุมตัวก็ไม่ปรากฏชื่อของร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ แต่อย่างใด คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง

การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประกาศฉบับที่ 7/2557 เนื่องจากการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติของจำเลย ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ปราศจากความรุนแรง อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมของจำเลยมีเพียงแผ่นกระดาษขนาด A4 และในระหว่างการจัดกิจกรรมของจำเลยนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจำเลยเห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2558 ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ เนื่องจากการยึดอำนาจนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และประชาชนมีสิทธิคัดค้านโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสันติวิธีและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่หก การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติกรรมปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม หรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมมากขึ้น เพราะในทางนำสืบของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานยืนยัน

อีกทั้ง ในการตีความกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเจตนาที่แท้จริงของจำเลยประกอบการวินิจฉัย มาตรา 69 และมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองรับรองสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และขณะที่จำเลยถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้ เป็นวันที่ 23พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง 1 วัน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสามารถยึดอำนาจได้หรือไม่เพราะยังมีประชาชนออกมาต่อต้านและกฎหมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น