โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักข่าวทำเนียบรัฐบาลงดตั้งฉายารัฐบาลปี '60 หวั่นถูกนำไปขยายความขัดแย้ง

Posted: 02 Jan 2018 02:20 AM PST

ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลแจง ปรกติทำกันทุกปลายปีเเพื่อสะท้อนการทำงาน แต่ปีนี้บรรยากาศการเมืองไม่ปกติ หวั่นถูกนำไปขยายความขัดแย้ง เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป เผย รัฐบาลนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นทั้งรัฐบาลทหารและพลเรือน เหตุเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำงานไม่ครบปี มาจากการรัฐประหาร และสถานการณ์การเมืองไม่ปรกติ

2 ม.ค. 2561 มติชน รายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ออกคำชี้แจงเรื่องการตั้งฉายา รัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประจำปี 2560 ที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯ จะมีการตั้งฉายาของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในช่วงปลายปีเพื่อสะท้อนการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จากการหารืออย่างรอบด้าน ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2560 ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ยึดกันมา ยังมีข้อจำกัดทางข้อกฎหมายและบรรยากาศการเมืองในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ ทั้งยังเห็นว่า หากมีการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี อาจถูกนำไปขยายความขัดแย้ง เชื่อมโยง หรือขยายผลในทางการเมือง จนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้
 
หนังสือคำชี้แจงระบุอีกว่า หลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เริ่มแรกนั้น จะไม่มีการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำปีในกรณีที่เป็นรัฐบาลรักษาการภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หรือกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนรัฐบาลยังทำงานไม่ครบปี กรณีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ อาทิ การงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ในปี 2549-2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา รวมถึงในปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธ.ก.ส. คาดปี '61 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

Posted: 02 Jan 2018 12:54 AM PST

ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาด ราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ และปริมาณสินค้าในตลาด ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มราคาลดต่ำลงคือน้ำตาลทรายดิบเพราะการเก็งกำไรจากเอกชนและปริมาณน้ำตาลในตลาดสูงขึ้น

2 ม.ค. 2561 สำนักข่าวไทยรายงานว่า สมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นต้อนรับปีใหม่ 2561 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของภาครัฐ สินค้าเกษตรที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้ง ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มราคาลดต่ำลงคือน้ำตาลทรายดิบ

ทั้งนี้ ที่ข้าวเปลือกราคาปรับตัวดีขึ้นเพราะยังมีความต้องการของตลาดต่างประเทศและมาตรการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 ที่ช่วยชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดและมาตราการจากกระทรวงพาณิชย์ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตลาดข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวเพื่อสนับสนุนราคาให้สูงขึ้น ข้าวเปลือกที่ราคาปรับดีขึ้นได้แก่ข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.52-4.87 อยู่ที่ราคา 8,440-8,719 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.30-3.85 อยู่ที่ราคา 12,470-12,658 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.20-4.32 อยู่ที่ราคา 9,515-9,810 บาท/ตัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10-0.30 อยู่ที่ราคา 6.79-6.93 บาท/กก. เนื่องจากเข้าสู่การปลูกข้าวโพดช่วงฤดูแล้ง (เริ่มปลูกเดือนธันวาคม) ประกอบกับมาตรการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของภาครัฐที่ได้เริ่มขยายผลจากจังหวัดเพชรบูรณ์ไปในจังหวัดอื่นที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยยกระดับราคารับซื้อให้เพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์ราคายางพารานั้นคาดว่า สถานการณ์ราคายางพาราแผ่นดิบจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00-6.30 อยู่ที่ราคา 42.32-44.54 บาท/กก. เนื่องจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของภาครัฐ จะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศของผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้ง มาตรการรักษาความสมดุลระหว่างปริมาณและความต้องการใช้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในราคายางพารา

สำหรับราคามันสำปะหลังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.20-4.97 อยู่ที่ราคา 1.85-1.90 บาท/กก. เนื่องจากปริมาณมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาดยังน้อยกว่าความต้องการ  ประกอบกับมาตรการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศของภาครัฐที่เข้มงวด โดยเพิ่มขั้นตอนแสดงหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดพืช และหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้า รวมทั้งต้องมีการนำเข้าโดยผ่านด่านตรวจโดยเฉพาะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จะทำให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากต่างประเทศเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไทยยากขึ้น

สำหรับราคาปาล์มน้ำมัน คาดว่า ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.57 – 21.42 อยู่ที่ราคา 2.90 – 3.40 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และภาครัฐเร่งดำเนินการระบายปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบให้กลับสู่ระดับปกติ จะส่งผลให้แนวโน้มราคาปาล์มน้ำมันมีทิศทางดีขึ้น

ในส่วนราคาสุกร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.09-5.50 อยู่ที่ราคา 52.30-54.05 บาท/กก. เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น ประกอบกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำในระยะสั้น โดยให้มีการชำแหละจำหน่ายให้มากขึ้นในหลายจังหวัด รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคสุกรให้กระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆอในช่วงเทศกาลให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนราคากุ้งขาวแวนนาไม คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.25-2.91 อยู่ที่ราคา 188.00 -193.00 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงทำให้ให้ราคากุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนน้ำตาลทรายดิบที่เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มลดลงคาดว่า ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์กในตลาดโลกจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50-2.00 อยู่ที่ราคา 13.39-13.59 เซนต์/ปอนด์ (9.67-9.81 บาท/กก.) เนื่องจากแรงขายของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรจากการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนเกินในปีการผลิต 2561/62 ประกอบกับราคาน้ำตาลถูกกดดันจากค่าเงินเรียลของบราซิลที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิตทยอยขายน้ำตาลออกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้นและราคาจะลดลง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน สนช. ดูกฎหมายแล้วมั่นใจ เลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป

Posted: 01 Jan 2018 10:15 PM PST

ประธาน สนช. ระบุ ดูกฎหมายแล้วคิดว่าโรดแมปการเลือกตั้งเป็นไปได้ด้วยดี ยังไม่เห็นสัญญาณล็อบบี้คว่ำกฎหมายลูกในสภา ไม่ฟันธงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งหลังประกาศเลือกตั้งจะกระทบกรอบ 150 วันหรือไม่ แต่กรอบกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขคงยาก คสช. จะใช้ ม.44 แก้กฎหมายสูงสุดของประเทศคงไม่ได้

2 ม.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองว่าโรดแมปการเลือกตั้งยังเดินหน้าไปตามปกติหากพิจารณาจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยทางกฎหมาย ส่วนตัวคงไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องดูจากกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งเท่าที่ดูแต่กฎหมาย คิดว่าเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องที่แม่น้ำสายอื่นต้องประเมิน        

ประธาน สนช. ระบุถึงกระแสเรื่องการคว่ำกฎหมายลูกนั้น ตนไม่คิดว่าจะมี แต่ก็ไม่ทราบ ซึ่งการคว่ำกฎหมายลูกต้องใช้เสียงของสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งต้องมีการล็อบบี้และส่งสัญญาณกัน แต่ตนยังไม่เห็นสัญญาณที่ว่านั้น 

ต่อประเด็นที่ว่า หากในอนาคตมีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งแล้ว แต่มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งหลังจากนั้นจะมีผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องมีขึ้นภายใน 150 วันหรือไม่ พรเพชรกล่าวว่า เมื่อกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้แล้วก็ต้องนับเวลาไปอีก 150 วันเพื่อให้มีการเลือกตั้ง โดยเวลา 150 วันเป็นเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะดำเนินการโดยใช้มาตรา 44 คงไม่ได้ ซึ่งอำนาจของ คสช. ที่ใช้มายังไม่เคยมีกรณีที่ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ไม่อยากสมมติ ไม่อยากคิด แต่ถ้าพูดถึงหลักกฎหมายว่า ถ้าจะแก้ไขเวลา 150 วันที่เดินหน้าไปแล้ว ในทางกฎหมายมีทางทำได้เพียงอย่างเดียว คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมเองก็ยังคิดว่า จะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะบทบัญญัติของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ" พรเพชร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปีใหม่: ความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “เวลา“ (1)

Posted: 01 Jan 2018 09:50 PM PST



แม้ว่าจะมีคำถามจากนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ และนักอื่นๆ มากมายว่า "เวลา" คืออะไร แต่ก็ไม่มีใครมีคำตอบที่ยอมรับได้อย่างเป็นเอกฉันท์

คำตอบล้วนแล้วแค่แตกต่างกันไปตามกรอบความคิดของความรู้แต่ละแขนง

แต่ไม่ว่าความจริงของ "เวลา" จะเป็นอะไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ (ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ) ความหมายของ "เวลา" ที่ถูกสร้างขึ้นสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และกล่าวได้ว่าเป็นความคิดที่กำหนดชีวิตพวกเรามาโดยตลอด

ความคิดเรื่อง "เวลา" ในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาหลายช่วงเวลา และแต่ละช่วงได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไพศาลและลึกซึ้ง

เราจะเริ่มต้นเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่พระองค์ได้ทรงปฏิเสธความหมายของ "เวลา" แบบเดิมของสังคมไทย อันได้แก่ คติปัญจอันตรธาน

คติปัญจอันตรธาน เป็น ความคิดวางเอาไว้ว่าสังคมจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากความเสื่อมทางความรู้ ความเสื่อมในการปฏิบัติ ความเสื่อมในการแสวงหาทางหลุดพ้น ความเสื่อมในระเบียบทางสังคมทั้งหมด และความเสื่อมสลายของธาตุทั้งหมด

มนุษย์ทุกคนก็จะต้องพบกับความทุกข์ยากมากขึ้นๆ และไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปได้ เพราะความเสื่อมในแต่ละช่วงก็จะปิดกั้นหนทางการหลุดพ้น ความเสื่อมทั้งหมดเป็นความเสื่อมจากมุมมองของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่มีอุดมคติสูงสุด คือ การบรรลุธรรมไปสู่การหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด

มนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่อยู่ภายใต้กรอบความคิดทาง "เวลา" นี้จะไม่สามารถหลุดพ้นไปจากการกำหนดความเสื่อมนี้ได้ แต่ก็มีทางออกจาก "เวลา" ที่เสื่อมลง (ทางออกที่ยังมีก่อนที่จะถึงเวลาที่เกิดความเสื่อมจนทำให้ทางออกทั้งหลายนั้นปิดลง) คือ การทำบุญทำทานให้มากที่สุดเพื่อที่จะมีทางออก 3 ทาง ทางแรก ได้แก่ การไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ทางที่ 2 ได้แก่ การไปเกิดในภพภูมิใหม่ และทางที่ 3 ได้แก่ การทำบุญมากจนหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด

กรอบความคิดเรื่อง "เวลา" เช่นนี้ครอบคลุมทุกผู้ทุกนาม พระมหากษัตริย์ที่แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นราชาธิราช คือ เป็นจักรพรรดิราชหรือธรรมมิกราชาธิราชก็ไม่ทรงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง "เวลา" ได้ พระมหากษัตริย์ทรงทำได้เพียง "การหลอก" พระกาลด้วยการเปลี่ยน/เขียนศักราชที่ครองราชย์ย้อนหลังไปเท่านั้น

หากจะอธิบายด้วยความคิดทางสังคมศาสตร์หลังสมัยใหม่ ก็พูดได้ว่านี่คือ "การปกครองที่จิตใจ" (Governmetality) เพราะความคิดนี้จะกำหนดความคิดเกี่ยวกับสถานะทางสังคมและทางอำนาจ พร้อมกับกำกับอารมณ์ความรู้สึกของคนแต่ละคนให้อยู่ภายใต้ระบอบของสังคมการเมืองการปกครองนี้อย่างยินยอมพร้อมใจ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงแสดงพระองค์ในการปฏิเสธคติปัญจอัตรธานนี้อย่างชัดเจน เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าความเชื่อเช่นนี้จะทำให้ผู้คนไม่สนใจที่จะทำอะไรให้ออกดอกออกผลทางเศรษฐกิจได้ ดังเราจะอ่านได้จากเอกสารประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์จัดพิมพ์ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี) เราจะพบว่าพระองค์ทรงได้อธิบายกระบวนการคิดทางการผลิต/การค้าขายด้วยความคิดเรื่องอุปสงค์/อุปทาน ซึ่งหมายความได้ว่าพระองค์ทรงต้องการให้คนไทยคิดในเรื่องของการเข้าสู่ระบบทุนนิยมและต้องทำการผลิต/การค้าขาย ซึ่งต้องการอารมณ์ความรู้สึกอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่การสยบยอมอยู่ภายใต้คติปัญจอันตรธานต่อไป

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทางปฏิเสธคติความเชื่อเรื่องเวลาที่เสื่อมถอยไปเรื่อยๆ นี้ ก็เพราะพระองค์ทรงสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถจะกระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม กล่าวได้ว่าความคิดทางเวลาแบบใหม่ได้เกิดขึ้นในสังคม ได้แก่ ความคิดเวลาเรื่อง "ความก้าวหน้า" ( Idea of Progress )

เรามักจะถูกบอกเล่าว่าการเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทยช่วงรัชกาลที่ 4 หรือ 5 เป็นเพราะรับอิทธิพลตะวันตก รวมทั้งความคิดทางเวลาเรื่องความก้าวหน้านี้ด้วย แต่หากเราเชื่อเช่นที่ถูกบอกเล่าเช่นนี้ ก็หมายความว่าเราละเลยพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะที่เป็นมนุษย์ไป เพราะในความเป็นจริง ไม่เคยมีสังคมใดรับอะไรจะสังคมอื่นได้โดยที่ปราศจากความพร้อมในการรับ (เสนอว่าเลิกเสียทีเถอะครับ การอ้างอย่างมักง่ายเรื่องรับวัฒนธรรมตะวันตก เลิกในการอ้างทุกเรื่องเลยนะครับ รวมทั้งการประนามวัยรุ่นทั้งหลาย )

ความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง "เวลา" ที่แปรเปลี่ยนมาสู่ "เวลา" คือ ความก้าวหน้า เกิดขึ้นพร้อมความสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่จะนำพาให้สังคมก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่ถูกวาดหวังไว้ในแต่ละช่วงเวลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงสร้าง "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ขึ้นมาโดยทรงวาดหวังที่จะนำพารัฐและสังคมไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตก

ผมอยากจะชักชวนท่านผู้อ่านให้อ่านหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าดูนะครับ เพราะท่านผู้อ่านจะรู้สึกได้ถึงความพยายามจะคัดค้านกรอบความคิดปัญจอันตรธานอย่างแข็งขันเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสังคมไทย

หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ความคิดเรื่อง "เวลา" ได้เปลี่ยนแปลงมาอีกหลายครั้ง ซึ่งจะพูดต่อไปในคราวหน้า ในวันนี้ ต้องบอกว่าในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นกรอบความคิดทาง "เวลา" แบบใหม่ ผมขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมหวังในชีวิตปัจจุบันและชีวิตในอนาคตให้มากที่สุดนะครับ

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643509

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: จากมอสโคว์ถึงบางกอก

Posted: 01 Jan 2018 09:37 PM PST

<--break- />


 

ในท่ามกลางข่าวคราวการล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ผมได้รับของขวัญคริสต์มาสจากอาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอน เป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Future is History ของนักข่าวผู้โด่งดังคนหนึ่งคือ Masha Gessen เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในรัสเซีย ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน

คุณ Masha Gessen เกิดเป็นชาวรัสเซียและโตในรัสเซียก่อนจะอพยพมาโอนสัญชาติเป็นอเมริกันในภายหลัง เรื่องเล่าของเธอจึงเริ่มตั้งแต่ตอนปลายสมัยสหภาพโซเวียต การล่มสลายของโซเวียตหลังนโยบายเปเรสตรอยกา ยุคสมัยของเยลต์ซินมาจนถึงปูติน และการฟื้นตัวของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

อันที่จริงเรื่องทั้งหมดนี้ถูกเล่ากันแล้วเล่ากันอีกมาหลายครั้งหลายหนแล้ว โดยนักข่าวและนักวิชาการนานาชนิด แต่คุณเกสเซนไม่ได้เล่าเหมือนคนอื่น เพราะเธอเล่าจากชีวิตและมุมมองของชาวรัสเซียหลากหลายประเภท นับตั้งแต่ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต, ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเยลต์ซินและปูติน ลงมาถึงคนธรรมดาสามัญเช่นครูในโรงเรียนมัธยม, นักสังคมวิทยา, สาวสังคมเปิ๊ดสะก๊าด, ศิลปิน, นักปรัชญา, ครอบครัวของนักโทษผู้ถูกเนรเทศไปยัง "กูลัค", เกย์, ไปจนถึงชาวนา ซึ่งต่างก็ได้มีชีวิตผ่านความผันผวนทางการเมืองและสังคมรัสเซียมาในระยะประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

นี่คงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่าน และอ่านสนุกแบบวางไม่ลง เพราะเหมือนอ่านนวนิยายของตอลสตอยเรื่องสงครามและสันติภาพ คือเกณฑ์คนทั้งสังคมรัสเซียมาเข้าฉากเป็นตัวละครไปหมด ตั้งแต่พระเจ้าซาร์ลงมาถึงชาวนา ตัวผู้เขียนเองก็รู้และตั้งใจนำเสนอให้เหมือนนวนิยาย (แบบรัสเซีย)

เหตุดังนั้น ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จึงไม่ได้เกิดขึ้นหรือฟื้นตัวขึ้นในสังคมใด เพียงเพราะมีคนบ้าอำนาจคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ ด้วยกำลังทหารหรือกำลังความนิยมของประชาชน แต่มันมีเงื่อนไขปัจจัยอันสลับซับซ้อนในสังคม ที่ทำให้ผู้คนในสังคมนั้นเรียกหา หรือยอมรับ หรือสมยอมต่อระบอบเผด็จการ

ผมจึงอ่านหนังสือเล่มนี้โดยอดนึกถึงประเทศไทยไม่ได้ และผมขอนำเอาความนึกคิดนั้นมาคุยในที่นี้

ความประทับใจของผมประการแรกคือการตั้งคำถามของผู้เขียนในฐานะนักข่าว ดังที่กล่าวแล้วว่าคำถามนี้มีผู้ถามและตอบแล้วจำนวนมาก แต่ก็ถามและตอบในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตและความคิดของผู้คนท่ามกลางระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จโซเวียต และการฟื้นตัวของระบอบนั้น

ผมรู้สึกว่าการมองหามิติใหม่ของข่าวไม่ใช่สิ่งที่นักข่าวไทยถนัดจะทำนัก อย่างเก่งก็คือมีรายละเอียดของประเด็นข่าวมากขึ้น ไม่ใช่เปิดทางใหม่ไปสู่มิติของอุบัติการณ์ที่ไม่เคยถูกรายงานมาก่อน

ความพร่องของการทำข่าวเช่นนี้เกิดจากการสอนวิชาสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัย หรือเกิดจากเงื่อนไขการปฏิบัติงานในสำนักข่าวทั้งหลายของไทย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

การนำเสนอก็เหมือนกัน ตกมาถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่น่าจะมีรูปแบบตายตัวของการเสนอข่าวแล้ว ถ้าคิดว่าการนำเสนอข่าวเป็นศิลปะ ก็ไม่น่าจะมีสูตรตายตัวสำหรับการนำเสนออย่างมีศิลปะ นักข่าวไทยคิดถึงเรื่องนี้น้อยเกินไป เพราะอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน นอกจากความสนุกและความงดงามของภาษาแล้ว (ชนิดเจ้าของภาษาอังกฤษตัวจริงน่าจะริษยาการใช้ภาษาของเธอ) ข้อเสนอจากการวิเคราะห์ของคุณ Gessen ยังสร้างอารมณ์สะเทือนใจ อย่างเดียวกับที่ได้ฟังเพลงดีๆ, ดูภาพงามๆ หรืออ่านกวีนิพนธ์ชั้นเลิศ

ผมไม่คิดว่าศิลปะในการนำเสนอจะทำให้คุณค่าของข่าวลดลงตรงไหน

ผมคิดว่างานเขียนอย่างนี้ต้องเป็นหนังสือเท่านั้น (กระดาษหรือดิจิทัลก็ตาม) ไม่อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คได้ ทั้งนี้เพราะหนังสือเล่มเป็นสารด้วย ไม่ได้เป็นเพียงสื่ออย่างเดียว ทั้งเป็นสารที่ไม่อาจสื่อผ่านได้ด้วยโซเชียลมีเดีย

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ยังมีพื้นที่สำหรับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกปัจจุบัน พื้นที่นั้นอาจแคบลง แต่มีอยู่แน่ ส่วนตั้งอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องคิด, ทดลอง, คลำหาให้เจอ และพัฒนามันขึ้นเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ขาดไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน (และอนาคต)

คุณ Masha Gessen เล่าถึงสังคมโซเวียตว่า ไม่ส่งเสริมหรือถึงกับห้ามปรามการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ วิชาสังคมวิทยานั้นห้ามเรียนอยู่นานเลยทีเดียวกว่าจะยอมให้กลับมาศึกษาวิจัยกันได้ เศรษฐศาสตร์ก็เรียนไม่ได้ เพราะล้วนเป็นเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมทั้งสิ้น จิตวิทยาโซเวียตตั้งอยู่บนหลักการที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ว่า ความรู้สึกนึกคิดจิตใจย่อมเป็นผลจากเงื่อนไขทางวัตถุเท่านั้น คุณ Gessen สรุปไว้อย่างน่าตกใจว่า ด้วยเหตุดังนั้น โซเวียตจึงเป็นสังคมที่ไม่รู้จักตัวเอง และต้องรับชะตากรรมของสังคมที่ไม่รู้จักตนเองทั้งหลาย คือไม่สามารถนิยามปัญหาของตนเอง และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่อาจตอบปัญหาของตนเองได้

ผมก็ออกจะตกใจเหมือนกันเมื่ออ่านถึงตรงนี้ แม้ว่าเราไม่ได้กีดกันหวงห้ามการศึกษาสังคมศาสตร์เหมือนโซเวียต แต่รัฐไม่ค่อยส่งเสริมเพราะไม่เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมศาสตร์ ซ้ำยังหวงห้ามบางเรื่องในสังคมศาสตร์ไว้ให้อยู่พ้นไปจากการไต่สวนสืบค้นทางวิชาการ ยกเว้นแต่ทำตามแนวที่นักปราชญ์ของรัฐได้วางแนวทางไว้ให้แล้วเท่านั้น

สังคมไทยเองก็เป็นสังคมที่ไม่รู้จักตนเองสักเท่าไรเหมือนกัน เช่นไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อันได้แก่สามัญชนคนธรรมดา ไม่รู้สถานะของตนเองในบริบทของโลกปัจจุบัน ทั้งในทางการเมือง, วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ, ไม่รู้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นหลากหลายด้านกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ เราจึงนิยามปัญหาของตนเองไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงตอบปัญหาของตนเองไม่ได้ไปด้วย เราถนัดแต่เอาตัวให้รอดจากความลำบากยุ่งยากเฉพาะเรื่อง แต่ไม่เคยปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว

อีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมย้อนคิดถึงเมืองไทยคือเรื่องเผด็จการเบ็ดเสร็จ

รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารที่น่ากลัวแก่ผมมากกว่ารัฐประหารทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน (และคนอายุขนาดผมก็ได้ผ่านมาหลายครั้งแล้ว) เพราะเป็นรัฐประหารที่มีประชาชนสนับสนุนอย่างจริงใจมากกว่ารัฐประหารที่ผ่านมาทุกครั้ง

ความข้อนี้ผมเคยประเมินผิดเมื่อตอนเกิดการยึดอำนาจใหม่ๆ เพราะผมไปเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส.เป็นเพียงเกมแย่งอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ คนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เพียงแต่เคลื่อนไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตน (เช่นเป็นดาราควรเป่านกหวีดไว้ก่อน อย่างน้อยถึงไม่เพิ่มงานจ้าง ก็ไม่ลดงานจ้างที่จะมีข้างหน้า) จนถึงปัจจุบัน แม้ยอมรับว่าการประเมินเช่นนี้ไม่ถูก แต่ก็ไม่ผิดทั้งหมด

กล่าวคือความเป็นเกมการเมืองก็ยังมีส่วนสำคัญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ที่สำคัญกว่าก็คือผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกองทัพให้ยึดอำนาจ มีความเชื่ออย่างจริงใจว่า ประชาธิปไตยนำความเสียหายมาสู่บ้านเมือง หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ถึงเวลาที่ไทยจะใช้ประโยชน์จากระบอบปกครองประชาธิปไตยได้

ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเชื่ออย่างจริงใจว่าต้องปฏิรูปก่อนที่จะเปิดให้ประชาธิปไตยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายของการปฏิรูปก็เพื่อรักษาส่วนดีๆ ของระบอบปกครองแบบไทยเอาไว้ พร้อมกันไปนั้น ก็สร้างประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์ให้แก่วงการการเมืองไทย

ประชาชนผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมองเห็นประโยชน์ส่วนตนในการเข้าร่วม แต่ก็มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงใจไปด้วย (ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ในทุกสังคมกระมัง)

และนี่คือที่มาของพลังประชาชนที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร ซึ่งมีจำนวนสูงมากกว่าการรัฐประหารเพื่อแย่งอำนาจทางการเมืองกันอย่างที่ผ่านมาในประเทศไทย

การรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์เปลี่ยนประเทศไทยไปมากก็จริง เมื่อสฤษดิ์ยึดอำนาจ สฤษดิ์ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากอยู่เหมือนกัน แต่สนับสนุนโดยขาดโปรแกรมทางการเมือง เพียงแต่เบื่อหน่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งครองอำนาจสืบเนื่องมา 10 ปีแล้วเป็นหลัก คสช.ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก (ถึงครึ่งหรือไม่ก็ตาม) โดยมีโปรแกรมทางการเมือง หากจะพูดเสียใหม่ก็ได้ว่า คสช.และแรงสนับสนุนคสช.มี "อุดมการณ์"

คุณ Masha Gessen อ้าง Hannah Arendt ว่า ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จครองอำนาจอยู่ได้ด้วยปัจจัยสองอย่าง หนึ่งคืออุดมการณ์ และสองคือความสะพรึงกลัว ทั้งสองอย่างนี้ เชื่อมโยงและสนับสนุนกันและกัน

คสช.เป็นคณะรัฐประหารเดียวที่พอมีพลังทั้งสองอย่างนี้จะใช้ แม้เป็นพลังขาดๆ เกินๆ ก็ตาม

นับตั้งแต่วันแรก คสช.ไม่ได้อ้างเหตุการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องยึดอำนาจ แต่มีเหตุในเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้ หลายคนบอกว่าตรงกับ "วาระ" ของพวกเป่านกหวีด ซึ่งก็จริง แต่นั่นคือพลังทางอุดมการณ์ อันจะมีได้ก็ต่อเมื่อต้องมีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มก้อนมาแต่แรกแล้ว

และเช่นเดียวกับอุดมการณ์ คสช.ใช้ความสะพรึงกลัวมาแต่วันแรก นอกจากเชิญหรือจับตัวแกนนำ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไปกักขังไว้แต่วันแรกๆ แล้ว ยังมีการระดมรายชื่อของคนที่ คสช.เห็นเป็นศัตรูไปรายงานตัว รวมทั้งไล่ล่าและสร้างความผิดทางอาญาให้แก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม

ความสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการไม่ได้อยู่ที่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกดขี่ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม แต่อยู่ที่การรับรองสนับสนุนมาตรการดังกล่าวจากประชาชนเป็นกลุ่มก้อน จนกระทั่งการกระทำซึ่งเห็นชัดเจนว่าผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย จนถึงปัจจุบันผ่านไป 3 ปีแล้ว คณะรัฐประหารซึ่งฉีกกฎหมายทิ้ง ยังสามารถเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายได้เต็มปากเต็มคำ และที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะผู้สนับสนุน คสช.ก็ยังมีเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ใหญ่พอสมควรอยู่นั่นเอง

ผมทราบดีว่า คสช.ยังห่างไกลจากการสถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ อุดมการณ์ที่ Hannah Arendt พูดถึงไม่ใช่เพียงค่านิยม 12 ประการที่บังคับให้เด็กนักเรียนท่องจำ แต่มันต้องซึมเข้าไปเป็น "แว่น" สำหรับการมองโลกและชีวิตของพลเมือง หมายความว่าเข้ามาอธิบายโลกทั้งใบจากแนวทางของอุดมการณ์ได้ และกลายเป็นแนวทางเดียวที่เป็นไปได้ด้วย

คุณ Gessen เล่าไว้ว่า ลูกสาวคนโตของสตาลิน ซึ่งไปโรงเรียน "ผู้ดี" แห่งหนึ่งในมอสโกด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่ง นอกจากเป็นคนที่แต่งตัวได้เชยแหลกที่สุดในโรงเรียนแล้ว เธอยังสั่งให้คนขับรถจอดส่งเธอสักครึ่งกิโลก่อนถึงประตูโรงเรียนด้วย เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นได้เห็นอภิสิทธิ์ในอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ การใช้ชีวิตเรียบง่าย และไม่ต่างจากสามัญชนทั่วไปคืออุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ดี มันซึมเข้าไปในใจของเด็กหญิงเล็กๆ ที่เป็นลูกผู้นำสูงสุดด้วย เช่นเดียวกับหมู่บ้าน "ผู้ดี" คอมมิวนิสต์ มักมีกำแพงล้อมถึง 7 ชั้น และกุญแจล็อคประตูกำแพงอีก 7 ดอก ไม่ใช่กลัวคนทำร้ายนะครับ แต่เพื่อปกป้องมโนธรรมสำนึกของคอมมิวนิสต์ใหญ่ให้พ้นจากการมองเห็นของสามัญชนข้างนอก

พลังของอุดมการณ์ที่จะเป็นปัจจัยของเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ มันต้องระดับนี้ครับ จะพังลงง่ายๆ ด้วยนาฬิกาและแหวนเพชร, ไมค์ทองคำ, เงินทอนสวนมหาราช 9 พระองค์ ฯลฯ ไม่ได้ ก็ความไม่โกงเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ คสช.ไม่ใช่หรือ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์หรือด้านความสะพรึงกลัว รัฐประหารไทยไม่ถึงขนาดที่จะสถาปนาระบอบเผด็จการ (ทุกชนิด) ขึ้นอย่างยั่งยืนในเมืองไทยได้แน่

แม้กระนั้น ผมก็ยังเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง เพราะมีฐานความชอบธรรมกว้างและลึกกว่าการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา

เราคงผ่าน คสช.ไปไม่ได้ยากนัก แต่จะผ่านฐานความชอบธรรมของเผด็จการซึ่งถูกทำให้แข็งแกร่งมากขึ้นในสังคมไทยไปได้อย่างไร

 

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news/786135

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ ธรรมใจ วิเคราะห์สัญญาณเลื่อนเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจไทย-ภาคการลงทุน

Posted: 01 Jan 2018 09:22 PM PST

ชี้ตัวเลขภาคการลงทุนอาจไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ หากเลื่อนการเลือกตั้ง-สืบทอดอำนาจของ คสช จากสัญญาณการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ คาดจะเห็นความชัดเจนหลัง เม.ย.นี้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (กลาง) ที่มาแฟ้มภาพเพจ banrasdr photo 

2 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 ที่ผ่านมา ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้เคยประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมืองจะสามารถแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อนุสรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) และมีการสืบทอดอำนาจของ คสช จากสัญญาณการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560  จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นขาดความน่าเชื่อถือ อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ได้ อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน คสช ให้สืบทอดอำนาจ และ ฝ่ายยึดถือหลักการประชาธิปไตย หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชาวบ้าน และ ภาคการลงทุนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง หากย้อนกลับไปศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทยเมื่อ 26-27 ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร รสช 23 ก.พ. พ.ศ. 2534 ตามด้วยเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นไทยก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมีรัฐบาลมากถึง 6 รัฐบาล คณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 ชุด

ตารางการเปลี่ยนแปลงของคณะรัฐมนตรีไทย (พ.ศ. 2535 – 2550) 

ที่มา: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี/อนุสรณ์ ธรรมใจและคณะ "วงจรสถิติ ในรอบ 15 ปีกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย" สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2550

อนุสรณ์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาสี่ปีกว่าๆ ก่อนวิกฤติปี 2540 อายุเฉลี่ยรัฐบาลไม่ถึงหนึ่งปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 นอกเหนือจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง การไม่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน การก่อหนี้ต่างประเทศและการลงทุนเกินตัว รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความอ่อนแอและไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสมเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ซ้ำเติมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น แต่วิกฤตินี้ก็ได้ทำให้เกิดโอกาสและแรงกดดันให้การปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่และนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

อนุสรณ์ กล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการจัดการเลือกตั้งว่า หากประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลา จัดการเลือกตั้ง หากมีขึ้นในช่วงปลายปี อย่างน่าเชื่อถือ โปร่งใสและเป็นธรรม ทศวรรษข้างหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย และจะวางรากฐานสำคัญในการที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป หากไทยประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การจัดการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ มีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะปี พ.ศ. 2561 เท่านั้น ปัญหาอาจยืดเยื้อออกไปเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางและระยะยาวขึ้นอยู่กับว่า สังคมไทยจะร่วมหาทางออกปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ 

ตารางตัวเลขเศรษฐกิจโลก การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2561 และตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557-2560

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต/สศช /อนุสรณ์ ธรรมใจ Forecast 
 

ตารางตัวเลขเศรษฐกิจ การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2561 และตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557-2560

 
 
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต/สศช/อนุสรณ์ ธรรมใจ Forecast 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิหร่านประท้วงเดือดรัฐบาลครั้งใหญ่ช่วงสิ้นปี-ปีใหม่ หนักกว่ายุค 'ขบวนการสีเขียว'

Posted: 01 Jan 2018 09:17 PM PST

ประธานาธิบดีอิหร่านแถลง เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ตำหนิบางกลุ่มที่ทำลายข้าวของ ในขณะที่บนท้องถนนมีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่จนมีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 12 ราย และมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประท้วงบางส่วนต่อต้านผู้นำสูงสุดของอิหร่านปัจจุบันและอยากฟื้นระบอบชาห์อีกครั้ง รวมถึงมีการประท้วงที่เป็นวงกว้างว่ายุคปี 2552

ภาพการประท้วงในกรุงเตหรานเมื่อปี 2552 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

2 ม.ค. 2561 ในช่วงปลายปี 2560 มีการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ของชาวอิหร่านต่อเนื่องมาจนถึงวันปีใหม่ โดยที่สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าเป็น "การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงปี 2552" อย่างไรก็ตามการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยรวม 12 ราย

การประท้วงในครั้งนี้ดูเหมือนจะเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจที่ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ความรู้สึกต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเริ่มแรกมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน แต่ก็เริ่มยกระดับกลายเป็นการเรียกร้องทางการเมืองและมีการประท้วงลามไปยังที่อื่นของอิหร่าน โดยมีผู้ประท้วงบางส่วนที่ไม่พอใจระบอบการปกครองที่อิงกับศาสนาของอิหร่านในปัจจุบัน

มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับหน่วยรักษาความปลอดภัยในการประท้วงช่วงเย็นวันที่ 31 ธ.ค. 2560 หลังจากที่ผู้ประท้วงฝ่าฝืนคำเตือนของรัฐบาลอิหร่านที่เตือนว่าจะใช้กำลังอย่างหนักกับผู้ชุมนุม มีภาพวิดีโอที่แสดงให้เห็นตำรวจปราบจลาจลเริ่มประจันหน้ากับผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ประท้วงบางส่วนโจมตีอาคารสถานที่ราชการและมีการทุบกระจก

 

กองกำลังปฏิวัติอิสลามของรัฐบาลอิหร่านโจมตีผู้ประท้วง (ที่มา: twitter/Armin Navabi)

ในวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวในที่ประชุมกับสมาชิกสภาฯ จำนวนหนึ่งว่า "ไม่ใช่ผู้ประท้วงทุกคนที่ได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจในต่างประเทศ มีบางคนที่เป็นคนธรรมดาผู้ที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพราะปัญหาและความรู้สึกไม่พอใจของพวกเขาเอง"

รูฮานีกล่าวว่าเขาอยากให้มีบรรยากาศเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้นในอิหร่าน ผู้คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวในเชิงต่อต้านกลุ่มคนที่เขามองว่า "ตะโกนคำขวัญผิดกฎหมาย" "หมิ่นความศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติอิหร่าน" และ "ทำลายทรัพย์สินราชการ"

มีผู้ประท้วงบางกลุ่มที่ตะโกน "โคไมนีต้องตาย" ซึ่งหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี โคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีผู้ประท้วงบางส่วนปลดป้ายภาพโคไมนีลง โดยที่ในอิหร่าน โคไมนีเป็นคนที่มีอำนาจที่สุดและมีข้อห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์เขา

มีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งที่ตะโกนแสดงการสนับสนุนชาห์ ซึ่งเป็นตำแหน่งกษัตริย์อิหร่านช่วงก่อนหน้าจะเกิดการปฏิวัติอิหร่าน และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการประท้วงตามจังหวัดต่างๆ ที่ใหญ่กว่าช่วงประท้วงรัฐบาลปี 2552 ที่เรียกว่า "ขบวนการสีเขียว" แต่ในกรุงเตหรานมีจำนวนผู้คนประท้วงบนท้องถนนน้อยกว่า ตริตา ปาร์ซี ผู้ก่อตั้งและประธานองค์กรชาวอิหร่านในสหรัฐฯ กล่าวว่าผู้ร่วมประท้วงหลักๆ ในครั้งนี้แตกต่างจากกลุ่มผู้ประท้วงปี 2552 เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เชื่อในเรื่องการปฏิรูปอิหร่านและไม่มีการพูดถึงคำขวัญหรือแนวคิดของการชุมนุม "ขบวนการสีเขียว" เลย

รัฐบาลอิหร่านยังได้ทำการบล็อกอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ช่วงที่มีการประท้วง บางแห่งมีการตัดโทรศัพท์ บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กบางส่วนอย่างเทเลแกรมกับอินสตาแกรมก็ถูกบล็อกในเวลาต่อมา

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงการประท้วงในอิหร่านโดยอ้างว่าเป็นเพราะผู้คนรู้ตัวว่า "ถูกฉกชิงความมั่งคั่งและนำไปใช้กับการก่อการร้าย" อีกทั้งยังอ้างการประท้วงในอิหร่านเพื่อโจมตีรัฐบาลสมัยบารัก โอบามา ว่าที่อิหร่าน "กำลังล้มเหลว" เป็นเพราะสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วของสหรัฐฯ ทำไว้ โดยที่รูฮานี กล่าวโต้ตอบทรัมป์ว่าเขาไม่มีสิทธิอะไรจะอ้างความเห็นใจประชาชนอิหร่าน เพราะทรัมป์เพิ่งกล่าวหาว่าอิหร่านเป็นประเทศก่อการร้ายและมีท่าที "ต่อต้านอิหร่านตั้งแต่หัวจรดเท้า"

เรียบเรียงจาก

More protesters die in Iran as Rouhani's plea fails to dampen unrest, The Guardian, Jan. 1, 2018

Iranians chant 'death to dictator' in biggest unrest since crushing of protests in 2009, The Guardian, Dec. 31, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2017%E2%80%9318_Iranian_protests

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ประยุทธ์และพวก ปมซื้อหมาบางแก้วแจก เกิน 3 พันบาท

Posted: 01 Jan 2018 08:35 PM PST

ประเดิมปีจอ 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด 'ประยุทธ์-ฉัตรชัย-อนุพงษ์' พรุ่งนี้ กรณีซื้อลูกสุนัขบางแก้วแจก และให้เงินไป 25,000 บาท เป็นเงินขวัญถุงแก่ผู้เพาะเลี้ยง เมื่อ ครม.สัญจรที่พิษณุโลก ชี้ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

2 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า พรุ่งนี้ (3 ม.ค.61) เวลา 10.30 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กรณี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีสัญจรไปประชุมที่จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัยเมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค.60 ที่ผ่านมาโดยในระหว่างที่นายกฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี พิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดได้ให้ความสนใจชมการเพาะเลี้ยงสุนัขพันธุ์บางแก้วของกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงในพื้นที่พร้อมกับซื้อลูกสุนัขบางแก้ว 3 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงเอง 1 ตัวและซื้อให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ คนละหนึ่งตัว โดยที่ลูกสุนัขบางแก้วที่นายกฯ ซื้อราคาตัวละ 6,000 บาท แต่นายกฯ ได้ให้เงินไป 25,000 บาท เพราะต้องการให้เป็นขวัญกำลังใจและเงินขวัญถุงแก่ผู้เพาะเลี้ยง ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้ปรากฏเป็นการทั่วไปต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณะชน

ศรีสุวรรณ ระบุว่า การให้หรือรับของขวัญซึ่งเป็นสุนัขดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 103 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมประกอบข้อ 5(2) ของประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2543 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐ 2544 ซึ่งบัญญํติไว้ชัดเจนว่า "ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจาก บุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดย อาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด" ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประกาศกำหนดไว้แล้วว่าทรัพย์สินจะมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทไม่ได้

การกระทำดังกล่าว ศรีสุวรรณ มองว่า เข้าข่ายความผิดต่อกฎหมายดังกล่าวโดยชัดแจ้งและเพื่อไม่ให้เป็นกรณีที่ผ่านเลยไปโดยกฎหมายไม่มีสภาพบังคับ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบและใช้อำนาจหน้าที่ลงโทษทั้ง พล.อ.ตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช.จัดสิทธิประโยชน์จิตเวชต่อเนื่องปี 61 ยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน

Posted: 01 Jan 2018 08:16 PM PST

บอร์ด สปสช. ปี 61 เดินหน้าดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนต่อเนื่อง จับมือ กรมสุขภาพจิต-สป.สธ.-รพ.มหาวิทยาลัย และ อปท. ร่วมจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ทั้งการกินยาต่อเนื่อง ประเมินความเสี่ยงอาการกำเริบ และปรับทัศนคติคนในชุมชน ลดการตีตรา ช่วยยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาดและจัดเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ความเป็นจริง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังส่วนหนึ่งที่เมื่อมีภาวะอาการคงที่ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด โดยมีครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นคนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตปกติได้

รองเลขาธิการ สปสช. ระบุว่า บอร์ด สปสช.ได้เห็นความสำคัญการดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนจึงอนุมัติสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในหน่วยบริการแล้ว ยังสนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้รับการดูแลต่อเนื่องถึงที่บ้านและในชุมชน ผ่านการพัฒนาเครือข่ายบริการจิตเวชระหว่างหน่วยบริการรับส่งต่อและหน่วยบริการประจำ ตลอดจนเครือข่ายปฐมภูมิ เพื่อลดอาการกำเริบหรือการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังจะได้รับการดูแลเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างต่อเนื่องในชุมชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สำหรับในปี 2561 นี้ บอร์ด สปสช.ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานบอร์ดได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 61.5 ล้านบาท มีเป้าหมายให้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนจำนวน 10,250 ราย (เฉลี่ย 6,000 บาทต่อราย) เพื่อเป็นค่าบริการในการติดตามเยี่ยมดูแลอาการผู้ป่วย ให้รับยาต่อเนื่องถึงที่บ้านและในชุมชน มีการให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติตามอาการให้จัดการปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ช่วยปรับทัศนคติการใช้ชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างปกติสุข โดยงบประมาณนี้ไม่รวมค่ายาและค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิต ซึ่งหน่วยบริการสามารถเบิกได้จากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (งบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และงบฟื้นฟูฯ) อยู่แล้ว

ทั้งนี้ในการดำเนินงาน สปสช.ใช้กลยุทธ์สร้างความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ หน่วยบริการประจำ/หน่วยบริการปฐมภูมิ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันดูแลผู้ป่วย พร้อมให้บริการส่งต่อเมื่อจำเป็น หรือขอรับคำปรึกษาตามระบบของเครือข่ายบริการ พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปเครือข่ายหน่วยบริการ ผ่านแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด และแผนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพระดับอำเภอ ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญของบริการในสิทธิประโยชน์ที่จัดบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนนั้น นอกจากเน้นการดูแลที่บ้านให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ต่อเนื่อง และลดการขาดนัด-ขาดยาแล้ว ยังกำหนดให้ทำการประเมินความรุนแรงของอาการผู้ป่วย (แบบประเมิน 9 ด้าน) นำไปสู่การทำแผนการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล (Care plan)การวางแผนช่วยเหลือ เข้าเยี่ยมที่บ้าน รวมถึงการประเมินความพิการทางจิต อาการแทรกซ้อน สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่ออาการกำเริบ เป็นกิจกรรมติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนผู้ป่วย/ครอบครัวไปยื่นจดทะเบียนคนพิการให้ผู้ป่วยจิตเวช ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อให้ผู้ป่วยทางจิตได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองดูแลเพิ่มขึ้น

"พร้อมกันนี้ยังมีการปรับทัศนคติคนในชุมชน ให้เข้าใจเกี่ยวกับภาวะอาการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ลดความกังวลและความหวาดกลัว ลดการตีตรา ทำให้ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด ตัวอย่างการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ เช่นที่ อบต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งดูแลผู้ป่วยจิตเวชด้วยโมเดล "บัดดี้" และทีมหมอครอบครัว ภายใต้กองทุนสุขภาพหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่" นพ.ชูชัย กล่าว  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น