โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ศรีสุวรรณ' ชี้ปม 'นาฬิกา พล.อ.ประวิตร' คือคำตอบของวาทกรรมแก้ทุจริตยุคนี้

Posted: 23 Jan 2018 01:58 PM PST

ศรีสุวรรณ ยกบรรทัดฐานคดี 'สุพจน์ ทรัพย์ล้อม' เผยกรณีร้องเรียนนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร ยังไม่คืบหน้า และเดาไม่ออก แต่กังวลมากมาย เช่น ประธาน ป.ป.ช. เคยอดีตหน้าห้อง พล.อ.ประวิตร พร้อมประเมิน 2 ปี ป.ป.ช.ชุดนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผล ลดยึดโยงประชาชน หวั่นกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

24 ม.ค. 2561 หากนึกถึงผู้ที่ทำงานใก้ชิดกับองค์กรอิสระโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชื่อ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คงเป็นอันดับต้นๆ ที่นึกขึ้นมาได้ ด้วยสถิติตเฉพาะปี 2560 ยื่นเรื่องร้องเรียนทั้งองค์กรอิสระและนายกรัฐมนตรี ไปประมาณ 30 กว่าเรื่อง และหนึ่งในองค์กรหลักที่ยื่นร้องเรียนคือ ป.ป.ช. 

หนึ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมการเมืองขณะนี้คือเรื่อง นาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมและรองนายกฯ นั้น ศรีสุวรรณ ก็เป็นคนแรกๆ ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ทั้งประเด็นการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและการร่ำรวยผิดปกติ ในโอกาสเกือบเข้าเดือนที่ 2 ของการยื่นเรื่อง รวมถึง 2 ปี ป.ป.ช. ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากเคยเป็นอดีตทีมงานของ พล.อ.ประวิตร เองด้วย ประชาไทจึงสัมภาษณ์ ศรีสุวรรณ เพื่อประเมินประเด็น นาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร รวมถึงการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้

นาฬิกายังไม่คืบหน้า เดาไม่ออกแต่กังวลมากมาย

ศรีสุวรรณกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มยื่นคำร้องตั้งแต่ต้นเดืน ธ.ค.60 และ 15 ธ.ค.60 ยื่นครั้งที่ 2 ล่าสุด ป.ป.ช.เชิญให้ตนไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า หรือยังไม่ได้รับแจ้งอะไรจาก ป.ป.ช.เลย

สำหรับการประเมินผลในท้ายที่สุดแล้วการยื่นเรื่อง ป.ป.ช. กรณีนาฬิกานี้ ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาออกว่าจะมีผลสรุปเป็นอย่างไร แต่มีข้อกังวลมากมาย เนื่องจากมีหลายเรื่องที่มาพร้อมกันในสถานการณ์ ณ วันนี้ หนึ่ง ประเด็นที่ สังคสงสัยกันมากคือเรื่องของการยกร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช. ฉบับล่าสุด ที่โดยปกติ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการหรือ สนช. หลายๆ คนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูป ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ก็น่าจะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การยกร่าง พ.ร.ป. ขององค์กรอิสระอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทุกอย่างก็จะเน้นย้ำเรื่องของเจตนารมให้เป็นไปตามรัฐธรรม คือมีการรีเซตกันทุกองค์กร แต่ ป.ป.ช. นี้ สนช.กลับไปเขียนบทเฉพาะกาลยืดอายุของ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันจากที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า 7 ปี ขยายให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.เมื่อปี 2542 ซึ่งกำหนดอายุของ ป.ป.ช. ไว้ 9 ปี ขณะเดียวกันก็ไปเขียนยกเว้นการนำคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.232 มาเป็นข้อยกเว้นไม่ให้นำเอาคุณสมบัติต้องห้ามที่กำหนดในบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้กับ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน มันกลายเป็นที่สงสัย และกรณีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นเรื่องที่ผนวกมาเป็นข้อสงสัยของชาวบ้าน

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

ประธาน ป.ป.ช. จาก อดีตหน้าห้อง สู่ผู้ตรวจสอบอดีตนาย

ศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบันก็เป็นอดีตรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ก็คืออยู่หน้าห้อง พล.อ.ประวิตร มาก่อน ดังนั้นความรู้สึกในเชิงอุปถัมภ์ สังคมไทยก็คิดคำนึงและครหาในเรื่องนี้ ดังนั้นเมือง 2 เรื่องมาพร้อมกันนี้ ในที่สุดเมื่อ ป.ป.ช.จะพิจารณาเรื่องของคำร้องเรื่องนาฬิกาไปอย่างไร แม้แต่ตัวตนเองในฐานะผู้ร้องก็ให้ความวิตกกังวลว่าเรื่องเหล่านี้จะหลายเป็นมวยล้มต้มคนดู และในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดกับ พล.อ.ประวิตร ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการปฏิรํปการเมือง ข้ออ้างของการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นก็กลายเป็นลมปากไปวันๆ โดยไม่มีมรรคผลใดๆ 

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องของ พล.อ.ประวิตร มันสะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมาย สะท้อนให้เป็นถึงการบริหารราชการแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย ฉะนั้นอาจจะส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ในฐานะหัวหน้า คสช. กระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาล กระทบภาพลักในอนาคตถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะหวนกลับมาเปล่าการเมือง นี่ก็เป็นผลกระทบระยะยาว ซึ่งอย่างไรเสียก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ต่อ คสช. หรือแม้แต่ตัวของ พล.อ.ประวิตร เลย

ป.ป.ช.ชุดนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผล

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในปี 60 ที่ผ่านมายื่นเรื่องกับองค์กรอิสระและนายกฯ ประมาณ 30 กว่าเรื่อง และแต่ละเรื่องถูกยุติข้อร้องเรียนแบบที่อาจจะไม่มีเหตุผลมากนัก เช่น กรณีร้องเรื่องการที่สมาชิก สนช. ประมาณ 7 คนไม่เข้าร่วมประชุม สนช. ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็เงียบหายไป หรือกรณีเรื่องของบ้านหลังใหม่ของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ป.ป.ช.ก็มีหนังสือมาถึงตนว่าไม่เข้าข่ายความผิดในประเด็นที่ตนร้องเรียน โดยอ้างว่าตนร้องเรียนเรื่องของการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องของการร่ำรวยผิดปกติ ตนก็ยังแปลกใจว่าปกติเรื่องเหล่านี้มันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องร้องเรียนให้ตรงประเด็นเป๊ะๆ และหากร้องเรียนไม่ตรงประเด็น ป.ป.ช.ก็จะไม่สอบหรือ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก

"จริงๆ แล้ว ป.ป.ช.สามารถหยิบยกข้อประเด็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมาพิจารณาได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีคนร้องเรียน" ศรีสุวรรณ กล่าว พร้อมระบุว่า ในเรื่องที่ตนร้องต่อ ป.ป.ช. นั้น ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผลในทางที่สังคมคาดหวัง เรื่องส่วนใหญ่ก็ยังคงเงียบและไม่มีฟีดแบคอะไรกลับมา

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

คำตอบอยู่ที่ นาฬิกา พล.อ.ประวิตร

"คำตอบมันอยู่ที่นาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร การมาประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงพี่น้องประชาชนว่าในยุคปฏิรูปมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงขึ้นมาแล้ว และมีการจัดกิจกรรมเรื่องของการรณรงค์โตไปไม่โกง รณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง แต่คำตอบที่แท้จริงก็คือการเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร เพราะการปราบโกง หรืออ้างรัฐธรรมนูญปราบโกง ผมคิดว่ามันเป็นเพียงแค่มอตโต้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนที่ไม่รู้ในเล่ห์กลทางการเมืองหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามกลไกทางการเมืองได้ผิดหลงเข้าใจผิดจนคิดว่าเป็นความจริง แต่ว่าผมในฐานะที่ติดตาม เกาะติดเรื่องของการทุจริตการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในแวดวงข้าราชการและนักการเมืองมาโดยตลอดจึงเห็นว่าการนำกฎหมายในรัฐธรรมนูญมาเพื่อปราบโกงหรือจัดการกับผู้ที่มีพฤติการทุจริคอร์รัปชั่น มันไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลยกับรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ฉบับ 40 หรือ ฉบับ 50 เพราะฉะนั้นจะมาอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น ในวันนี้ผมยังไม่ให้คะแนนอะไร เพราะว่ามันยังไม่ได้ชี้ชัดว่ารัฐบาล หรือ คสช. จะเอาจริงเอาจังกับประเด็นปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะเรื่องของ นาฬิกา พล.อ.ประวิตร จะเป็นตัวชี้วัดการเอาจริงเอาจังในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร" ศรีสุวรรณ กล่าว

ทำไมถึงร้องปมนาฬิกา

สำหรับข้อร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กรณี นาฬิกา พล.อ.ประวิตร นั้น ศรีสุวรรณ์ กล่าวว่า ตนร้องไป 2 ประเด็น 1 เรื่องของการปกปิดบัญชีทรัพย์สินของตัวเอง และประเด็น 2 เรื่องการร่ำรวยผิดปกติ ต้องร้องทั้ง 2 เรื่องเพื่อไม่ให้ ป.ป.ช.ดิ้นออกไปในทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นปกปิดบัญชีทรัพย์สินนั้นชัดเจนว่าในเอกสารรายงานบัญชีทรัพย์สินที่ พล.อ.ประวิตร ยื่นกับ ป.ป.ช.ทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 51 สมัยเป็น รมว.กลาโหม รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 54 สมัยหมดวาระ รัฐบาล อภิสิทธิ์ และปี 55 หลังจากที่ออกจากรัฐบาล อภิสิทธิ์ มาครบรอบ 1 ปี และมาถึงปี 57 ในขณะที่เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม  นั้น พล.อ.ประวิตร ไม่ได้รายงานว่ามีทรัพย์สินที่เป็นนาฬิกาและแหวนที่มีมูลค่าเกิดกว่า 2 แสนบาทเลย ในเอกสารบัญชีเหล่านั้น แต่รูปธรรมที่ปรากฏในสื่อออนไลน์คือ พล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาเกินล้านใส่ ไม่ต่อกว่า 25 เรือนแล้ว ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำว่า 40 ล้านบาท

และหากพิจารณาเรื่องรายได้ของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นนายทหารมาตลอดชีวิตและมีเงินเดือนหลังจากที่ปลดเกษีณอายุราชการแล้วก็มีเงินบําเหน็จบํานาญปีหนึ่งก็ประมาณ 9 แสนกว่าบาทเท่านั้นเอง ส่วนรายได้จากการที่มาดำรงตำแหน่ง รมว.หรือรองนายกฯ เฉลี่ยต่อปีก็ประมาณล้านกว่าบาท ดังนั้นรายได้รวมของ พล.อ.ประวิตร ต่อปีก็อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้นเอง แต่เหตุใด พล.อ.ประวิตร มีเงินในบัญชีทรัพย์สินของตัวเองตั้งแต่ปี 51 มีไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่ปี 57 เมื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินกลับมีเงินหรือทรัพย์สินเพิ่มเข้าไปถึง 80 กว่าล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากการประกอบวิชาชีพโดยปกติ เรื่องนี้จึงเป็นที่สงสัยของสาธารณะชน

พล.อ.ประวิตร ในฐานะ รมว.กลาโหม และรองนายกฯ ก็เป็นผู้นำในการผลักดันงบประมาณของรัฐให้กับกระทรวงกลาโหมได้อย่างมากมายมหาศาล ติด 1 ใน 5 ของกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด และที่สำคัญมีการผลักดันในเรื่องของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทั้ง 3 เหล่าทัพ ซึ่งมีมูลค่าหายหมื่นหายแสนล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นที่ข้อครหาของประชาชนว่าอาจจะมีลักษณธของการช่วยเหลือเกื้อกูลหรือการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากการจัดซื้ออาวุธเหล่านี้จากบุคคลที่ 3 หรือจากพ่อค้าเหล่านี้หรือไม่

สำหรับคำชี้แจงเรื่องนาฬิกาของเพื่อนให้ยืมใส่และมีการคืนหมดแล้วนั้น ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าข้ออ้างนี้ได้ทำเป็นหนังสือชี้แจงกับ ป.ป.ช.หรือไม่ แต่หากเป็นไปตามนี้ แม้จะเป็นนาฬิกาของเพื่อนและวนกันใส่ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะไปพิสูจน์ว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของเพื่อนจริงหรือไม่ เพราะนาฬิกาแต่ละเรือนที่ พล.อ.ประวิตรใส่มันมีมูลค่าแต่ละเรือนนับล้านบาท จึงไม่ใช่นาฬิกาทั่วไปที่ใครอยากจะมาหมุนเวียนเปลี่ยนใส่กันได้ และที่สำคัญนาฬิกาแต่ละเรือนเป็นรุ่น limited edition จัดทำขึ้นเฉพาะตามใบสั่งเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การผลิตก็ให้พอดีกับผู้สั่งทำแต่ละคน เพื่อนของ พล.อ.ประวิตรมีข้อมือเท่ากับ พล.อ.ประวิตร ทุกเรือนเลยหรือ จึงเป็นข้อสงสัยที่ ป.ป.ช. ต้องไปสืบ และเรียกเจ้าของนาฬิกาเหล่านั้นมาแสดงต่อ ป.ป.ช.ในการพิสูจน์เรื่องนี้

นาฬิกาเรือนแพงเหล่านี้ ปกติจะไม่นิยมหมุนเวียนกันใส่เพราะนาฬิกาเรือนเหล็กการขยับข้อนาฬิกาก็มีมูลค่าในการดำเนินการครั้งละไม่ต่ำกว่าหลายหมื่น หรือนาฬิกาสายหนังส่วนใหญ่ก็จะทำให้เกิดกลิ่นจากเหงื่อไคล ซึ่งก็จะไม่นิยมให้คนอื่นมาใส่ของตน ซึ่งเป็นประเด็นที่ ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้ง่าย และอีกประเด็นนาฬิกาไม่ว่าจะของ พล.อ.ประวิตรหรือเพื่อนนั้นได้นำเข้ามาเสียภาษีศุลกากรถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็สามารถตรวจสอบได้

ยกกรณีตัวอย่าง สุพจน์ ทรัพย์ล้อม

ศรีสุวรรณ์ กล่าวต่อว่า การเวียนนาฬิกากันใส่นั้นจะไปเข้าการให้ของขวัญสิ่งของกันเกิน 3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ตนตีความเป็นเรื่องของ "ประโยชน์อื่นใด" ในที่นี้หากเราสามารถเทียบเคียงก็เหมือนเป็นการไปเช่าชุดเครืองประดับมาใส่ในงานพิธีกรรมต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้มูลค่าของการเช่าตนคิดว่าแม้แต่ชุดครุยก็ราคา 5,000-6,000 บาทแล้ว ดังนั้นเครื่องนาฬิกาที่มีมูลค่านับล้านบาท ถ้าเอามาใส่ แม้แต่ยืมใส่ก็สามารถตีค่าเป็นมูลค่าออกมาได้ ตนชื่อว่ามันเกินมูลค่าที่ ป.ป.ช. ประกาศ

ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็มีกรณีที่ ป.ป.ช. เคยทำเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินระดับสูง ล่าสุดกรณี สุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งอ้างว่ายืมรถของเพื่อนมาใช้ แต่ ป.ป.ช. ไม่เชื่อ ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯนักการเมืองพิพากษาและ ศาลก็พิพากษาว่าไม่เชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของเพื่อนหรือขอคนอื่น เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานตรงนี้มีอยู่แล้ว ตนจึงเชื่อมั่นว่า ป.ป.ช.และศาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

ลดยึดโยงประชาชน ชี้จะกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง

ศรีสุวรรณ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.เคยได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากประชาชนจำนวนมากก่อนหน้านี้  แต่มา ป.ป.ช. ชุดนี้ กลับไม่สามารถอธิบายหรือดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ หรืออธิบายกับสังคมได้กระจ่างชัดในประเด็นข้อสงสัยของสาธารณะชน ทำให้ประชาชนเองก็เคลือบแคลงสงสัย เพราะประธาน ป.ป.ช. ก็เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีข้อร้องเรียนและกล่าวหากันในมือของ ป.ป.ช. ในขณะนี้ ดังนั้นหาประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบันยังงดำรงตำแหน่งนี้ แม้ว่าโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ประธาน ป.ป.ช. จะขาดแล้ว แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่อาจจะเป็นการทำลายหรือภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. ที่เคยเป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือของประชาชนเสื่อมลงและลดความไว้วางใจลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

"การยึดโยงประชาชนก็อาจจะลดความสำคัญลงไป จะกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เจตนารมที่แท้จริงที่รัฐธรรมนูญพยายามจะออกแบบในเรื่องขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและใช้ประชาชนเป็นตาสับประรดหรือเป็นกลไกสำคัญในการที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจประชาชนไว้" ศรีสุวรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ขอยุติเรื่องนาฬิกาหรูประวิตร รอ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

Posted: 23 Jan 2018 10:27 AM PST

พล.อ.ประยุทธ์ ขอยุติเรื่องนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร รอ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ยันไม่ใช้ ม.44 สั่งพักงาน ชี้อย่านำ 2 เรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหายก็ว่าไปอีกแบบ

แฟ้มภาพ (เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

23 ม.ค. 2561 ความคืบหน้ากรณีนาฬิกาข้อมือหรูที่ปรากฎขึ้นมาหลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมใส่นาฬิกาถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 จนเกิดการตั้งข้อสังเกตในโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งตรวจสอบพบว่าไม่มีในรายการทรัพย์สินที่แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น

ล่าสุดวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ที่ไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 พักงาน พล.อ.ประวิตร ระหว่างถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน ซึ่งไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการเสนอเรื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเหมือนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการสอบสวนและมีผลออกมาแล้ว เห็นควรให้ออกจากหน้าที่ก่อนและการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต้องระมัดระวังเช่นกัน

"อยากทำความเข้าใจว่า หลายท่านอยากให้ผมใช้คำสั่งมาตรา 44 ก็ต้องอธิบายว่าที่ผ่านมาผมใช้ในเรื่องของการลงโทษ และที่ทำก็เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแจ้งขึ้นมาว่ามีการสอบสวนแล้วและมีผลออกมาเช่นนี้เห็นควรให้เอาออกก่อนผมจึงใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปใช้กับใครก็ได้ ผมก็ต้องระวังตัวเองเช่นกัน กรณีนี้ก็เช่นกันก็ต้องรอฟัง ป.ป.ช.จะเสนอเรื่องขึ้นมา อย่าเอามาพันกันว่าทำไมผมไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ตรงนี้ แล้วไปใช้กับตรงนั้น ที่สำคัญทุกคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัว ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งมีอยู่แล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่านำ 2 เรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหาย มีหลักฐานชัดเจนก็ว่าไปอีกแบบ ขอให้แยกแยะให้ออก ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะยุติได้แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ระบุกรณีสื่อต่างชาติเสนอข่าวการครอบครองนาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน ว่า ก็เพราะสื่อไทยเสนอเรื่องนี้ แต่ไม่กังวล และเมื่อสื่อมวลชนพยายามถามถึงเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประวิตร ตอบว่า พรุ่งนี้จะไม่ให้ถามแล้ว ก่อนที่จะเดินขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาล

รายงานข่าวระบุด้วยว่า วันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.61) วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.จะแถลงความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ที่อยู่ในความสนใจของสังคม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ แนวหน้า และ ไทยพีบีเอส 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอกชัย' ถูกดักต่อย หลังจัดกิจกรรมมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร

Posted: 23 Jan 2018 09:33 AM PST

'เอกชัย' ถูกดักทำร้ายร่างกาย ระหว่างทางกลับบ้าน หลังจัดกิจกรรมมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร เจ้าตัวขึ้นโรงพัก ยันจำหน้าได้คนเดิมลงมือ ฟ้อง 'ฤทธิไกร' ผู้เคยกระชากตนขณะทำกิจกรรมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตมีเบื้องหลัง

ภาพจากโพสต์ของ เอกชัย หงส์กังวาน

23 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.14 น. เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอิสระที่กำลังจัดกิจกรรมมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ภาพใบหน้าตัวเองที่มีรอยช้ำบริเวณริมฝีปาก พร้อมภาพ ฤทธิไกร ชัยวรรณศานส์ โดย เอกชัย ระบุว่า วันนี้ เวลา 14.00 น. ฤทธิไกร ดักทำร้ายร่างกายตนที่ป้ายรถเมล์ปาก ซอยลาดพร้าว 107 ตนจะไปแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกาย และพยายามฆ่า

โดย ฤทธิไกร เคยก่อเหตุกระชากที่แขนซ้ายของเอกชัย เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างที่เอกชัย จัดกิจกรรมยื่นนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการควบคุมตัวเอาไว้ และนำตัวไปยัง สน.ดุสิต และจากการตรวจค้นร่างกาย พบมีดพับ ความยาวประมาณ 3 นิ้ว จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา พกพาอาวุธมีดไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร 
เอกชัย ขณะจัดกิจกรรมมอบนาฬิกา บริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ วันนี้ (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Autchara Thongsawat)
 
วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ผ่านมา เอกชัย ได้เดินทางไปที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อจัดกิจกรรมมอบนาฬิกา 3 เรือน ให้ พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีป้ายไวนิลที่ใส่เนื้อหาข่าวเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งถูกสื่อต่างประเทศนำเสนอ ภายหลังจากเอกชัยปรากฎตัวที่บริเวณหน้าทำเนียบก็ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวมาบริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ. เดิม) ซึ่งอยู่ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเหมือนเช่นเคย

เอกชัย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า เหตุการณ์ถูกทำร้ายเกิดขึ้นหลังจากไปจัดกิิจกรรมที่หน้าทำเนียบ คนร้ายไม่ได้ตามมาจากที่หน้าทำเนียบ แต่ดักรอตนอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อตนลงจากรถเมล์ คนร้ายซึ่งใส่หมวกแก๊ปก้มหน้าตามประกบตนมา พร้อมกับชกที่ตน

เอกชัย เล่าต่อว่า หลังจากที่คนร้ายชกตนก็พูดว่า "มึง ไอ้แดงล้มเจ้า" จากนั้นคนร้ายเงยหน้าทำให้ตนจำได้ว่าเป็น ฤทธิไกร ที่เคยทำร้ายตน จากนั้นคนร้ายก็วิ่งหนี

เอกชัย ถึงอาการของตนว่า ปากแตก และคอด้านขวาเป็นแผล เนื่องจากถูกชกหลายหมัด

เอกชัย กล่าวด้วยว่าตนได้ไปแจ้งความกับ สน.ลาดพร้าว เฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยระบุชื่อ ฤทธิไกร เนื่องจากตนมั่นใจเพราะจำหน้าได้ และต่อมาเจ้าหน้าที่พานมาที่โรงพยาบาลเพื่อทำแผลและตรวจอาการ 

สำหรับคดีเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ของ ฤทธิไกร นั้น เอกชัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ส่งฟ้องในวันนั้น และมีโทษปรับ เพราะถูกข้อหาเพียงการปกพาอาวุธ

เอกชัย กล่ายืนยันว่าจะยังคงจัดกิจกรรมยื่นนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร เหมือนเดิม แต่ต้องระวังตัวมากขึ้น

เอกชัย กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าคนร้ายมีเบื้องหลังแน่ เนื่องจากคราวก่อนลงมือกระทำและโดนปรับ แต่ยังมาอีก พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หนึ่ง คนร้ายทราบได้อย่างไรว่าตนจะมาลงที่ป้ายรถเมล์นี้ เวลานี้ เป็นไปไม่ได้ที่คนทั่วไปจะทราบ ตนจึงเชื่อว่ามีคนส่งข้อมูลให้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าอจจะเป็นสายของทหารด้วยหรือไม่ สอง หลังจากที่คนร้ายชกตนก็วิ่งเข้าไปใน ซอยลากพร้าว 107 ซึ่งแปลกใจว่าหากจะหนีควรจะขึ้นรถหรือเรียกรถแท็กซี่หนี แต่กลับวิ่งเข้าซอย เหมือนว่ามีการนัดหมายกับใครไว้หรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เดิน..มิตรภาพกราบเท้า

Posted: 23 Jan 2018 08:52 AM PST


เดิน เดิน ไปข้างหน้า ประชาชน
เดินเพื่อค้นหาสิทธิ์เสียง
เดินทั้งทีมีลำเอียง
ไร้เสลี่ยงมาต้อนรับ

ต่างจากอีเว้นท์เล่นเอาหน้า
พ่อค้านายทุนหนุนพร้อมสรรพ
มีพลคุ้มครองจากกองทัพ
มีทรัพย์บริจาคตามรายทาง

เดินมิตรภาพต้องกราบกฎหมาย
ตอกย้ำคนละค่ายคนละข้าง
เผด็จการเดิน เป็นฮีโร่โก้ลายพราง
ประชาชนเดินบ้างอ้างเป็นภัย

เดินมิตรภาพก้มกราบเท้า
ศาลเน่าเน่าเอามือกุมไข่
สมเพช-สังเวชยุติธรรมกรรมคนไทย
ศาลพึ่งไม่ได้ไม่คุ้มครอง

ย่ำเดิน เดินเพื่อหาอนาคต
สปอนเซ่อร์หัวหดงดเกี่ยวข้อง
เสรีภาพข้างทางร้างทำนอง
จึงยินเพียงเสียงก้องจากสองเท้า...

#จึงยินเพียงเสียงก้องสองเท้าเดิน!!!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่เกี่ยว:“ความยากจนมันน่ากลัว”

Posted: 23 Jan 2018 08:40 AM PST


ภาพประกอบบทความจาก  http://music.sanook.com/2394601/

หลังจากปาล์มมี่ปล่อยหนังสั้น "แม่เกี่ยว" และเพลงใหม่ของเธอเมื่อไม่นานมานี้ เธอได้รับคำชื่นชมในฐานะศิลปินเพลงป๊อปร็อค ที่ยกระดับความสามารถในแนวทางการร้องเพลงและระดับขั้นในการเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดบทเพลง ซึ่งมีเนื้อหาที่ยกระดับจากเพลงรักวัยรุ่น ไปสู่ประเด็นทางสังคม การมีชีวิตและการสร้างกำลังใจในการต่อสู้ดิ้นรน ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในแนวเพลงประเภทเพื่อชีวิตหรือลูกทุ่งเท่านั้น อีกทั้ง เธอยังใช้หนังสั้นแบบสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนิด ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัวชาวนายากจนในภาคอีสาน ที่ต้องดิ้นรนเดินทางเข้ามาหางานทำอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อหาเงินให้ครอบครัวหรือยายและน้องชายที่ยังรออยู่ข้างหลัง ถึงแม้ยายจะบอกเธอว่า "อย่าไป (กรุงเทพ) เลย อยู่ด้วยกันนี่แหละ ยากจนก็อยู่ด้วยกันนี่แหละ ยายจะออกไปหารับจ้าง ได้เงินมาพออยู่กินกันไป" แต่ดูเหมือน ความจนมันน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญในเมืองหลวง เรื่องราวในชีวิตของการดิ้นรนต่อสู้ของนิดจึงต้องเริ่มขึ้น ยายจึงสะท้อนภาพตัวแทนของชาวนายากจนที่ยอมจำนนและการมีชีวิตที่ล้าหลัง ในขณะที่นิด คือ ภาพสะท้อนของสาวในชนบทยุคใหม่ ที่ไม่ได้ยอมจำนนกับโชคชะตาและพร้อมที่จะเผชิญชีวิตการเป็นแรงงานในเมืองหลวง เธอยอมรับระบบคุณค่าแบบชนชั้นกลางและมองว่ากรุงเทพเท่านั้นคือทางออกของทุกสิ่ง ความก้าวหน้า การมีโอกาสและการมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย

ปาล์มมี่ได้รับคำชื่นชมและการตอบรับที่ดีจากผู้ฟังและศิลปินด้วยกันเองค่อนข้างมาก ศิลปินบางคนนอกจากชื่นชมแล้ว ก็ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมด (อาจจะเป็นเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ของผู้หญิงชนบทที่ยากจนมาก่อน) แต่ก็อยากจะลุกขึ้นมาทำเพลงแบบเธอบ้างเช่นกัน ผู้เขียนชื่นชมและฟังเพลงปาล์มมี่มาโดยตลอดตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการดนตรีและบันเทิง (กระแสหลัก) ย่อมคำนึงถึง ความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคและรายได้ที่จะกลับคืนสู่ผู้ผลิต แต่จะมีสักกี่ครั้งที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงแบบปาล์มมี่ ในฐานะไอดอลของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ที่มีสไตล์ความคิดและการใช้ชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะหยิบเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม โดยเฉพาะชีวิตของผู้หญิงชนบทที่ยากจน ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ออกมาถ่ายทอดในพื้นที่อุตสาหกรรมของวงการดนตรีบ้านเรา

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะตัดสินว่า สิ่งที่ปาล์มมี่ทำเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบหนึ่งที่ต้องการกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายมากขึ้น หรือเป็นเพราะเธอมีพัฒนาการทางด้านการดนตรีและความคิดที่สัมพันธ์กับการมีชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความคลุมเครือ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่เราก็ไม่อาจจะละเลยได้ว่า ในฐานะของศิลปินที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีอิทธิผลต่อกลุ่มผู้ฟังจำนวนมาก เรื่องราวเนื้อหาของเพลง รูปแบบดนตรีและมิวสิควิดีโอหรือหนังสั้นที่สื่อสารออกมาล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวาทกรรมความคิดแบบหนึ่งให้กับสังคมไทย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำมายาคติของ ความยากจนที่น่ากลัว ในมุมมองของคนชนชั้นกลางในอีกรูปแบบหนึ่ง

หนังสั้นเรื่องแม่เกี่ยว ได้กลายเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ช่วยตอกย้ำว่า วาทกรรมว่าด้วยความจนในสังคมไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยไปไกลกว่าเรื่องราวของการต่อสู้หรือโชคชะตาของปัจเจก เรามักจะมองว่า ความจน เป็นเรื่องของ โชตชะตาและความซวยที่เกิดมาจน หรือ กรรม มากกว่า ความจนในฐานะของการผลิตสร้างอย่างซ้ำๆ โดยชนชั้นอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมระบบโครงสร้างทางสังคมบ้านเรา 

ความจน มันดำรงอยู่จริงในสังคมไทย แต่คำถาม คือ ความจนในตัวมันเองน่ากลัว หรือถูกทำให้น่ากลัวและน่ารังเกียจ ทำไมเราต้องหาทางสู้เพื่อออกไปจากมัน หรือกำจัดมันให้สิ้นซาก และเราต้องดิ้นรนต่อสู้กับมันเพื่อนำไปสู่อะไร หรือเพื่อการมีชีวิตแบบไหน และวลีที่ว่า ความยากจนมันน่ากลัว นั้นมันถูกวัดและตัดสินมาจากอะไรและโดยใคร

เรื่องราวของแม่เกี่ยว คือ ภาพสะท้อนสังคมคนจนในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ณ ปัจจุบันแต่อย่างใด ผู้หญิงชื่อนิดเอง ก็เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงไทยจากชนบทจำนวนมากที่ต้องเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อหางานทำและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวชาวนาในชนบท แต่ปัจจุบันนี้พวกเธออาจจะไม่ได้ฝันถึงกรุงเทพในฐานะเมืองแห่งโอกาสและการมีชีวิตอีกต่อไป พวกเธอฝันไปไกลกว่านั้น ความคิดและความฝันของพวกเธอไม่ได้หยุดและแช่แข็งไว้เหมือนเมื่อสี่สิบปีที่ผ่านมา แต่มันมีความน่าสนใจที่ว่า ทำไมผู้บริโภคบางกลุ่มถึง รู้สึกและอิน กับเรื่องราวของแม่เกี่ยว ทำไมเราอยากจะเห็น ความจนที่มันน่ากลัว และการดิ้นรนต่อสู้ในแบบของนิด ที่สื่อสารโดยปาล์มมี่ ตัวแทนคนยุคใหม่ ในปี พ.ศ. 2561 อีกครั้ง

เราถูกทำให้เชื่อว่า ความจน มันเป็นเรื่องของโชคชะตาและความซวย โดยไม่ตั้งคำถามกับ อำนาจ หรือระบบโครงสร้างที่อยู่ภายใต้เรื่องเล่าเหล่านี้ เราถูกทำให้เชื่อว่า เกษตรกรยากจนเพราะฝนฟ้า มากกว่าการทุจริตและคอรัปชั่นที่ทำอย่างเป็นระบบ เราชื่นชมการดิ้นรนต่อสู้ เพราะสะท้อนถึงความไม่ขี้เกียจและนิ่งเฉย แต่ก็ปล่อยให้ระบบการทำงานและการมีงานทำยังขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ เราชื่นชมคนที่ไม่ย่อท้อในการทำมาหากินและเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็ปล่อยให้การเอารัดเอาเปรียบโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจทางเพศในรูปแบบต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ในสังคมต่อไป

เราจึงเป็นคนที่ชื่นชมและหลงใหลวาทกรรมของความจนแบบชนชั้นกลางเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงของคนจนในสังคมไทยอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าในเรื่องราวของแม่เกี่ยว และคนจนอาจจะดิ้นรนต่อสู้ในแบบที่ต่างออกไปจากความเข้าใจของเรา มีบางแง่บางมุมที่เราอาจจะไม่อยากเห็นและรับฟัง อีกทั้งบางเรื่องราว อาจจะไม่มีพื้นที่ทางสังคมแบบอื่นๆ ที่จะถ่ายทอดออกมาได้ นอกจากพื้นที่ของข่าวอาชญากรรม ที่ต้องการจะบอกว่าพวกเธอละเมิดกฎ กติกาและศิลธรรมของการมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างไร เช่น แรงงานผู้หญิงรายได้น้อยถูกจับเพราะทำแท้งและทอดทิ้งลูก หรือพวกเธอถูกข่มขืนเมื่อไปทำงานในบาร์ หรือพวกเธอถูกจับเมื่อเข้าไปอยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ เป็นต้น

ดังนั้น วาทกรรม ความจน มันจึงถูกผลิตเรื่องราวเนื้อหา ภายใต้ระบบคุณค่าและศิลธรรมแบบชนชั้นกลางเสมอมา เช่น 'ถึงคุณจะจน แต่คุณก็ต้องสู้แบบมีศักดิ์ศรีนะ อย่าปล่อยให้ผู้ชายลวนลามและอย่าขายตัว ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง แม้จะไม่มีกิน' อีกทั้ง ยังเป็นการบอกอย่างอ้อมๆ อีกว่า กรุงเทพมหานคร เท่านั้นคือคำตอบของทุกสิ่ง อย่าได้จินตนาการที่ไปไกลกว่านั้น ทั้งๆ ที่คนจนจากชนบทในปัจจุบัน นึกถึงการไปขายแรงงานในเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ มากกว่าจะไปขายแรงงานในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนไทย (ชนชั้นกลาง) ด้วยกันเอง ดูถูกดูแคลน กดขี่เอารัดเอาเปรียบ ค่าแรงน้อยนิดและมองไม่เห็นอนาคต เหมือนดั่งเช่นที่ผ่านๆมา พวกเขาและเธอฝันถึงการมีชีวิตที่ไปไกลกว่าที่เราคิด พวกเขาและเธอเรียนรู้ที่จะมีชีวิตมากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ดังนั้น ผู้หญิงชื่อนิด จึงเป็นเพียงจินตนาการของผู้หญิงชนบทที่ยากจน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของคนชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

หนังสั้นเรื่อง แม่เกี่ยว จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนความเข้าใจของ ความจนที่มันน่ากลัว ในมุมมองของคนบางกลุ่มบางชนชั้นในสังคมไทย ที่ต้องการจะลบเนื้อหาของระบบโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและการเอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นไว้ใต้ผืนเสื่อ และแปลงมันออกมาเป็นเนื้อหาในรูปแบบเพื่อการบันเทิงและเป็นความจนที่สามารถเข้าใจได้และหาทางออกในตัวมันเองได้ เราจึงเป็นผู้บริโภคที่ต้องการเห็นและเพลิดเพลินไปกับการมีชีวิตของคนจนที่สามารถดิ้นรนต่อสู้ ภายใต้บทและกฎกติกา ที่เราเขียนและออกแบบมาให้เท่านั้น

ครอบครัวชาวนายากจนในชนบท อาจจะมองเห็น ความจน ในฐานะของ การมีชีวิตอยู่จริงท่ามกลางการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และการถูกเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน คนกลุ่มนี้ล้วนเผชิญกับ มายาคติที่ส่งออกมาจากวาทกรรมของชนชั้นกลางจากกรุงเทพเสมอมาว่า ความจนนั้นน่ากลัวและน่ารังเกียจ แต่หากคุณไม่เกียจคร้าน หรือ หากคุณลุกขึ้นมาสู้ ใช้แรงงานและสองมือของตัวเอง มันจะมีทางออกในตัวมันเองเสมอ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ความจน มันยังคงดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไปในทุกๆ วัน มันคือความจริงที่แฝงฝั่งอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและชีวิตประจำวันของกลุ่มคนเหล่านี้ มันมีแต่อุปสรรคที่ไม่สามารถดิ้นรนต่อสู้ไปได้โดยง่ายเมื่อไม่มี ทุนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจใดๆ เข้ามาสนับสนุน  ดังนั้น จุดที่ถูกให้ความสำคัญและหยิบยกมาเล่าเพื่อตอกย้ำว่า ความจนมันน่ากลัว จึงเกิดขึ้นจากมุมมองและการผลิตสร้างที่ไม่ได้มาจาก คนที่ต้องเผชิญกับความจนเหล่านั้นในชีวิตจริง

ดังนั้น หนังสั้นเรื่องแม่เกี่ยว จึงเป็นการนำเรื่องเล่าที่อ้างชีวิตของคนจน โดยเลือกบางช่วงบางตอน และตัดบางช่วงบางตอน เพื่อนำมาประกอบเป็นเรื่องเล่าหลักภายใต้มุมมองของผู้ผลิต เพื่อตอบสนองผู้บริโภคชนชั้นกลาง เพิ่มเทคนิคเสียงและการถ่ายภาพที่สวยงาม และถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินไอดอลยุคใหม่ กระบวนการทั้งหมดทำให้ ผู้บริโภคสามารถอินหรือเข้าถึงเรื่องราวเนื้อหาของความจนในแบบที่ยอมรับร่วมกันในกลุ่มชนชั้นของตัวเอง ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญว่า วาทกรรมความจนมันจะจริงหรือไม่ก็ตาม หรือตนเองจะมีชีวิตแบบนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่นั้นเป็นสิ่งที่รับรู้และยอมรับร่วมกัน หรือเข้าใจร่วมกันว่า มันมีความจนที่น่ากลัวอยู่ ที่เราต่างต้องยึดถือร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จึงไม่สำคัญว่ามันเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยหรือดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างเนินนานแบบไหนก็ตาม แต่เราต้องการมองเห็นและชื่นชมความหมายในแบบที่ถูกผลิตมาจากอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งผลิตโดยมุมมองของคนบางกลุ่มบางชนชั้นเท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อว่า หากให้ คนจนในสังคมไทย ผลิตวาทกรรมความจนแบบที่ตัวเองต้องเผชิญบ้าง มีพื้นที่ในการสร้างเรื่องเล่าแบบของตัวเอง ถ่ายทอดจากมุมมองของตัวเอง เรื่องเล่าของคนกลุ่มนี้อาจจะไม่สวยงามและอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็นและรับฟัง เพราะมันอาจจะไม่บันเทิงอย่างที่เราอยากจะควักเงินเพื่อไปบริโภคมันด้วยซ้ำ สุดท้ายเราก็อาจจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความจนมันอาจจะมีอยู่และน่ากลัวจริงๆ แต่ก็ต้องเก็บ ความจริง ของสิ่งเหล่านี้ไว้ใต้พรม และ อย่าไปคิดมาก อย่าไปตั้งคำถามมาก (เพราะมันจะไปท้าทายอำนาจของคนบางกลุ่มในสังคมไทยหรือมันอาจจะอันตรายเกินกว่าจะตั้งคำถาม) เราต้องมองมันเป็นเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น และเราต้องอยู่ในฐานะผู้ดูหรือผู้บริโภค ที่ปล่อยให้คนจนในสังคมบ้านเราปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนต่อสู้และเล่นบทที่เราเป็นผู้กำกับและเขียนบททางศิลธรรมให้เท่านั้นก็พอ



เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

1. ยศ สันตสมบัติ. 2535. แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

2. Bourdieu, Pierre. 1984. Distinction: A social critique of the judgement of taste. Cambridge: Harvard University.

3. Chakrabarty, Dipesh. 2000. Provincializing Europe: Postcolonial Thought and Historical Difference. Princeton: Princeton University Press.  

4. Chatterjee, Partha. 2001. 'Democracy and the violence of the state: a political negotiation of death.' in Inter-Asia Cultural Studies. 2(1): 7-21.     

5. Gilroy, Paul. 1993. '"Jewels Brought from Bondage": Black Music and the Politics of Authenticity.' In The Black Atlantic: Modernity and Double Consciousness. Cambridge: Harvard University Press. 

6. Mills, Mary Beth. 1997. 'Contesting the Margins of Modernity: Women, Migration, and Consumption in Thailand.' American Ethnologist. 24(1): 37-61.  

7. Mills, Mary Beth. 2003. Thai Women in the Global Labour Force: Consuming Desires, Contested Selves. New Brunswick: Rutgers University Press.

8. Thongchai Winichakul. 2010. 'The "germs": the reds' infection of the Thai political body', published online on New Mandala (http://www.newmandala.org/thongchai-winichakul-on-the-red-germs/).


หมายเหตุ: เนื้อหาที่ใช้ในการเขียนบทความชิ้นนี้อ้างอิงมาจาก หนังสั้นเรื่อง "แม่เกี่ยว" 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาสนาขออภัย คนเสื้อแดงอโหสิ แต่...???

Posted: 23 Jan 2018 07:14 AM PST

วาสนา โพสต์เฟสบุ๊คชี้แจงเรื่องการนำภาพและข้อความจากทหารมาใช้ว่าต้องการสะท้อนวิธีคิด วิธีทำงานของทหาร พร้อมกล่าวขออภัยหากทำให้ไม่สบายใจ ด้านคนเสื้อแดงในภาพถ่ายกล่าวอโหสิกรรมพร้อมขอให้อย่าปฏิบัติในลักษณะนี้ต่อผู้อื่นในลักษณะนี้อีก ขอให้ระวังว่าเป็นการตีคนข้างเดียว 

หลังจากที่มีรายงานข่าวท้วงติงการโพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์  วันที่ 22 มกราคม 2561 วาสนาได้โพสต์เฟสบุ๊คชี้แจงวัตถุประสงค์สิ่งที่ตัวเองได้โพสต์ไปว่า ต้องการให้เห็นว่า ทหารในพื้นที่ภาคอิสานยังต้องคอยไปพบปะพูดคุยกับ "ผู้เห็นต่างทางการเมือง" อยู่และชี้แจงว่า คำเรียก "ผู้เห็นต่างทางการเมือง" เป็นคำที่ ทางทหาร ระบุมาและยืนยันว่า คำว่า"ผู้เห็นต่างทางการเมือง" เป็นคำพูดทั่วไปที่ใช้มานานแล้ว พร้อมกับทิ้งท้ายว่า

"ถ้าผิดพลาดอะไรไป ขออภัยด้วย แต่วาสนา มีเจตนา แค่ ต้องการ สะท้อนให้เห็น วิธีคิด และ วิธีการทำงานของทหารเท่านั้น ค่ะ"

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกลับไปยัง วิไล หน่อแก้ว ที่ปรากฎว่ามีภาพถ่ายอยู่บนเฟสบุ๊คของวาสนา โดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับทราบหรือได้รับการขออนุญาต

คุณวาสนา ชี้แจงเหตุผลและกล่าวขออภัย แต่ไม่ได้ยอมรับว่าได้กระทำความผิด อย่างเรื่องผู้มีความเห็นต่าง เขาบอกว่าเป็นคำพูดของทหาร ที่จริงไม่ว่าจะเป็นคุณวาสนาหรือทหาร หากจะบอกว่าเราเป็นพวกผู้มีความเห็นต่างก็ควรระบุให้ชัดด้วยว่า เราเป็นผู้มีความเห็นต่างจากอะไร  พูดกันชัดๆ ฉันเป็นผู้มีความเห็นต่างจากเผด็จการ เพราะฉันเป็นผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่คุณวาสนา หรือทหารที่เรียกฉันเป็นผู้เห็นต่างกล้าที่จะพูดความเห็นทางการเมืองของตัวเองออกมาไหมว่ามีทัศนะอย่างไร

การนำเสนอเหตุผลว่า ต้องการจะบอกว่าทหารคิดอย่างไร ทำอะไรในพื้นที่บ้าง แล้วทำไมไม่คิดจะถามพวกเราในพื้นที่บ้างล่ะ เราเป็นผู้ได้รับผลโดยตรงจากการนำเสนอคลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วน นี่ถ้าไม่มีคนมาบอกก็ไม่รู้ เราไม่มีสื่อไม่รู้จะไปร้องกับใคร

ฉันขออโหสิให้คุณวาสนา แต่อยากขอร้องว่าอย่าทำอย่างนี้กับคนอื่นอีก ถ้าจะเอาภาพของใครไปเขียนเป็นข่าว ก็อยากให้สัมภาษณ์สอบถามหรืออย่างน้อยก็แจ้งขออนุญาตคนในภาพก่อน

การเป็นสื่อไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ เพราะมันอาจสร้างความเสียหายให้คนอื่น เพราะมันเท่ากับเป็นการตีคนฝ่ายเดียว




 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ประณามคนร้ายลอบวางระเบิดที่ตลาดสดพิมลชัย จ.ยะลา

Posted: 23 Jan 2018 05:18 AM PST

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอรัฐเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเร่งเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ตลอดจนเพิ่มมาตรการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน

 

23 ม.ค.2561 จากเหตุเหตุระเบิดเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (22 ม.ค.61) บริเวณหน้าตลาดสดพิมลชัยหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดที่หน้าร้านเขียงหมูที่มีชาวพุทธอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 23 คน นั้น

วันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ประณามคนร้าย โดย กสม. ขอให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติดังนี้ 1. ให้รัฐบาลหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็วและแถลงความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย และ  2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ตลอดจนเพิ่มมาตรการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการคุ้มครองเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ให้กลับคืนมาโดยเร็ว

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่อง ประณามคนร้ายลอบวางระเบิดที่ตลาดสดพิมลชัย จังหวัดยะลา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด รวมถึงการกระทำที่ทารุณโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม อันก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นความเศร้าสลดแก่ผู้ที่พบเห็นและสังคมโดยรวม และเมื่อเช้าตรู่วันที่ 22 มกราคม 2561 ได้มีการลอบวางระเบิดบริเวณหน้าตลาดสดพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นเหตุให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 20 รายนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุทุกท่าน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่ไร้มนุษยธรรม ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมสากล ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติดังนี้

1. ให้รัฐบาลหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็วและแถลงความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย

2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ตลอดจนเพิ่มมาตรการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการคุ้มครองเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ให้กลับคืนมาโดยเร็ว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

23 มกราคม 2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปอท.ออกหมายเรียก ‘ชาญวิทย์’ ให้มาพบ ปมแชร์ภาพกระเป๋าภริยาประยุทธ์แล้ว

Posted: 23 Jan 2018 04:37 AM PST

ผกก.3 บก.ปอท. ระบุ วันนี้จะออกหมายเรียกให้ 'ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' มาพบกับพนักงานสอบสวน กรณีแชร์ภาพกระเป๋าภริยาพล.อ.ประยุทธ์

23 ม.ค. 2561 ความคืบหน้ากรณี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่โพสต์เฟสบุ๊คสาธารณะวิจารณ์กรณีกระเป๋าถือของ นราพร จันทร์โอชา ภรรยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางไปต่างประเทศ โดยมีการบิดเบือนข้อมูลให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นกระเป๋าหรูราคา 2 ล้านบาท อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 ซึ่งระบุเป็นบัญชีเฟสบุ๊คชื่อ Charnvit Kasetsiri ได้แชร์โพสต์ของ Ploy Siripong เมื่อ 11 ม.ค.2561 เวลา 22.08 น. จากเพจชื่อ"ตีแตกการเมือง" และอีก 1 โพสต์ที่แชร์บทความจากแพรว ฉบับออนไลน์ เมื่อ 15 ม.ค.2561 นั้น

ล่าสุดวันนี้ THE STANDARD รายงานว่า พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว โดยวันนี้ จะมีการออกหมายเรียกให้ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เข้ามาพบกับพนักงานสอบสวน โดยจะมีการประสานงานไปก่อน เพื่อกำหนดวันที่สะดวกเข้ามา อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ปอท. ดำเนินการโดยให้เกียรติท่าน และจะอำนวยความยุติธรรมให้ในทุกขั้นตอน ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย หากไม่สามารถประสานงานได้ จะทำการออกหมายเรียกในวันทำการที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กำหนดต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

142 องค์กรประชาชน ร้องรัฐเคารพสิทธิกลุ่มเดินมิตรภาพ หยุดคุกคาม-แจ้งความ

Posted: 23 Jan 2018 04:03 AM PST

ภาคประชาชน 142 องค์กร ออกแถลงการณ์ ยัน 'We Walk…เดินมิตรภาพ' ใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม และเสรีภาพการแสดงออกตามปกติที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้หยุดแจ้งความดำเนินคดี

23 ม.ค.2561 จากกรณีเครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นกิจกรรมโดยตลอด และต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหานั้น

ล่าสุดองค์กรภาคประชาชน 142 องค์กร ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่ากิจกรรม  'We Walk…เดินมิตรภาพ' เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม และเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ตามปกติที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อาจกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ คสช. และกลุ่มทุนโดยไม่สนใจประชาชน จึงเห็นควรสนับสนุนกิจกรรมลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกพื้นที่และทุกประเด็นปัญหา
 
การที่ตำรวจและทหารอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นเหตุในการสั่งห้ามทำกิจกรรม และให้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้าห้ามผู้ชุมนุมออกเดินเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 และการติดตามคุกคาม ข่มขู่ กดดันสารพัดวิธีเพื่อให้การเดินเท้าเป็นไปอย่างยากลำบาก เป็นความไม่ชอบธรรมอีกครั้งหนึ่งที่ คสช. กระทำต่อประชาชนที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อน 
 
แถลงการณ์องค์กรภาคประชาชน 142 องค์กร ยืนยันว่า ประกาศและคำสั่งของ คสช. อันมีที่มาจากอำนาจไม่ชอบธรรมต้องถูกยกเลิก ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องหยุดใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทันที พร้อมทั้งให้ คสช. ทบทวน ยกเลิกกฎหมาย นโยบาย มาตรการ โครงการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน โดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลักที่เครือข่าย People Go นำเสนอในทันที และต้องให้เครือข่าย People Go ทำกิจกรรมเดินเท้าและสื่อสารสังคมได้จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ และคืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทยโดยเร็ว
 
รายละเอียดและรายชื่อเครือข่ายผู้ร่วมแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ เคารพสิทธิ์ประชาชน หยุดคุกคามข่มขู่ หยุดใช้การแจ้งความไม่ชอบธรรม

ตามที่เครือข่าย People Go จัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่
 
เครือข่ายและองค์กรดังมีรายนามต่อไปนี้ เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม และเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ตามปกติที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อาจกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ คสช. และกลุ่มทุนโดยไม่สนใจประชาชน จึงเห็นควรสนับสนุนกิจกรรมลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกพื้นที่และทุกประเด็นปัญหา
 
การที่ตำรวจและทหารอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นเหตุในการสั่งห้ามทำกิจกรรม และให้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้าห้ามผู้ชุมนุมออกเดินเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 และการติดตามคุกคาม ข่มขู่ กดดันสารพัดวิธีเพื่อให้การเดินเท้าเป็นไปอย่างยากลำบาก เป็นความไม่ชอบธรรมอีกครั้งหนึ่งที่ คสช. กระทำต่อประชาชนที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อน 
 
เครือข่ายและองค์กรดังมีรายนามต่อไปนี้ ขอยืนยันว่า ประกาศและคำสั่งของ คสช. อันมีที่มาจากอำนาจไม่ชอบธรรมต้องถูกยกเลิก ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องหยุดใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทันที พร้อมทั้งให้ คสช. ทบทวน ยกเลิกกฎหมาย นโยบาย มาตรการ โครงการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน โดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลักที่เครือข่าย People Go นำเสนอในทันที และต้องให้เครือข่าย People Go ทำกิจกรรมเดินเท้าและสื่อสารสังคมได้จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ และคืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทยโดยเร็ว
 
23 มกราคม 2561 
 
- กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) 
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
- เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน
- เครือข่ายสลัม 4 ภาค
- สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ ภาคเหนือ
- มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- กลุ่มศึกษาปัญหายา
- กลุ่มเพื่อนประชาชน
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือล่าง(กป.อพช.นล)
- สมัชชาประชาชนฅนเหนือล่าง
- มูลนิธิบูรณะนิเวศ
- กลุ่มเขลางค์เพื่อการพัฒนา จ.ลำปาง
- เครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม
- สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพปชช.ภาคเหนือ
- เครือข่ายผู้บริโภค ภาคเหนือ
- เครือข่ายเด็กและเยาวชน ภาคเหนือ
- มูลนิธิเยาวชนเพื่อการพัฒนา   
- กลุ่มทำทาง  
- เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพ   
- เครือข่ายผู้หญิงอยู่ร่วมกับเอชไอวี
- เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต 10 อุบลราชธานี
- เครือข่ายผู้บริโภค สุราษฎร์ธานี
- กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
- กลุ่มไม้ขีดไฟ
- เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา
- กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จังหวัดสระแก้ว 
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัดสระแก้ว
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดสุรินทร์
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดบุรีรัมย์
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดชัยภูมิ
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดนครราชสีมา
- มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จังหวัดสุรินทร์
- สมาคมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จังหวัดสุรินทร์
- สมาคมจิตอาสาสร้างสุข จังหวัดสุรินทร์
- สถาบันพัฒนาเยาวชนและชุมชนเพื่ออนาคต อุทัยธานี
- กลุ่มเยาวชนลูกมะปราง จ.สระบุรี
- สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ อุตรดิตถ์
- สมาคมป่าชุมชนอีสาน
- กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กทม.
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพฯบึงกุ่ม/กทม
- คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
- เครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร
- เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กรุงเทพมหานคร
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ขอนแก่น
- สมาคมประชาสังคมชุมพร
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ปทุมธานี
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ปทุมธานี
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ อ่างทอง
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ นนทบุรี
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ลพบุรี
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ศรีษะเกษ
- เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ เชียงใหม่
- เครือข่ายชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
- เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี (TNY+)
- เครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคตะวันออก
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือล่าง
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนบน
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคใต้
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคตะวันตก
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคกลาง
- เครือข่ายตราดสีทอง
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน (วัดไผ่ล้อม)
- กลุ่มทอฝัน อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
- กลุ่มกำลังใจ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดศรีสะเกษ
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดกระบี่
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดสงขลา
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดนราธิวาส
- กลุ่มครอบครัวสัมพันธ์ จังหวัดอำนาจเจริญ
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอำนาจ
- กลุ่มกุหลาบสีรุ้ง จังหวัดอำนาจเจริญ
- กลุ่มสะเดาหวาน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
- ศูนย์อนามัยการเจริญพันธุ์ ต.ทุ่งนนทรี  จ.ตราด
- กลุ่มบานชื่น ต.ห้วยขยุงอ.วารินชำราบ จ.อุบล
- กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ หมู่2 ต.ตะกาง อ.เมือง    จ.ตราด
- คณะทำงานการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ยา ประเทศไทย
- กลุ่มปริญญาชีวิต อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
- กลุ่มดอกหญ้า จังหวัดตรัง
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อุตรดิตถ์
- ชมรมเครือข่ายร้อยดวงใจต้านภัยเอดส์ ชัยนาท
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สุโขทัย
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดนครสวรรค์
- กลุ่มจำปาขาว
- กลุ่มฟ้าประทานมา
- ชมรมฟ้าสีม่วง
- กลุ่มใจประสานใจ
- กลุ่มสายรุ้งรุ่งเจริญ  รพ.นาโยง
-เครือข่ายจ.ยโสธร
- กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนอ.คำเขื่อนแก้ว
- กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน อ.มหาชนะชัย
- กลุ่มสานฝันวันฟ้าใสอ.ค้อวัง
- กลุ่มรวมใจอ.กุดชุม
- กลุ่มทอฝันอ.ป่าติ้ว
- กลุ่มเพื่อนไทยเจริญอ.ไทยเจริญ
- กลุ่มสายใยรักอ.ทรายมูล
- กลุ่มสายใยครอบครัวอ.เมืองจ.ยโสธร
- กลุ่มรุ่งอรุณ  รพ.ห้วยยอด
- กลุ่มตะวันใหม่อ.เลิงนกทาจ.ยโสธร
- กลุ่มฟ้าใส  รพ.รัษฎา
- ชมรมแสงตะวัน  รพ.ปะเหลียน
- กลุ่มแก่งสะพือสัมพันธ์ อ.พิบูลมังสาหาร
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดอุบลราชธานี
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ลพบุรี
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สิงห์บุรี
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพชรบูรณ์
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดเชียงราย
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดพะเยา
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดแพร่
- กลุ่มคำตากล้าร่วมใจ อ.คำตากล้า จ.สกลนคร
- กลุ่มวาริชรวมใจ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
- ชมรมตระการสดใส อ.ตระการพืชผล จ.อุบล
- กลุ่มวังดาหลา  รพ.วังวิเศษ จ.ตรัง
- กลุ่มตะวันรุ่ง  รพ.กันตัง จ.ตรัง
- กลุ่มวังดาหลา  รพ.วังวิเศษ จ.ตรัง
- กลุ่มรุ่งอรุณใหม่ อ.ทุ่งฝนจ.อุดรธานี
- กลุ่มฟ้าใส  รพ.รัษฎา จ.ตรัง
- กลุ่มหยดน้ำ รพ.ย่านตาขาว จ.ตรัง
- เครือข่ายจังหวัดกระบี่
- กลุ่มฉัตรวาริน รพ สุไหงปาดี จ นราธิวาส
- กลุ่มธารน้ำใส  ร.พ. จะแนะ จ.นราธิวาส
- กลุ่มพลังใจ  รพ  สุคิริน. จ นราธิวาส
- กลุ่มทานตะวัน รพ. ศรีสาคร จ.นราธิวาส
- กลุ่มใต้ม่านหมอก รพ เบตง
- กลุ่ม วันฟ้าใส รพ หลังสวน
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพิจิตร
- เครือข่ายเพื่อสุขภาพจังหวัดพิจิตร
- กลุ่มรักบ้านเกิดจังหวัดพิจิตร
- สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
- สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
- ชมรมเภสัชชนบท
- FOCUS ON THE GLOBAL SOUTH

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนดูเส้นทาง-นัยสำคัญคดีประชามติ 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าวก่อนตัดสิน 29 ม.ค.

Posted: 22 Jan 2018 11:36 PM PST

แม้ว่าการลงคะแนนเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นมาได้หนึ่งปีกว่าแล้ว นอกจากผลลัพธ์การลงประชามติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเสียงข้างมากของประเทศแล้ว ความทรงจำของเหตุการณ์แวดล้อมในช่วงก่อนและหลังประชามติอาจจะเลือนรางจางหายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเรียนที่พอสอบเสร็จก็จำไม่ได้แล้วว่าอ่านอะไรไป

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากและไม่ควรจะถูกลืมคือพฤติการณ์การกีดกันการแสดงความเห็นที่หลากหลายของประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หนึ่งในนั้นคือการจับกุมและดำเนินคดีผู้คนที่ออกมาแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติในหลายกรณี

ในวันที่ 29 ม.ค. ที่จะถึงนี้จะเป็นวันที่ศาล จ.ราชบุรี นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ 4 นักกิจกรรม รวมทั้ง 1 ผู้สื่อข่าวจากประชาไท ถูกกล่าวหาว่าละเมิด พ.ร.บ.ประชามติ จากกรณีนักกิจกรรมเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านและผู้สื่อข่าวไปทำข่าวที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประชาไทชวนผู้อ่านทบทวนที่มาที่ไป เส้นทางของการพิจารณาคดีที่กินเวลา 1 ปีกว่า และเสียงเรียกร้องจากองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อให้มีกระบวนการประชามติที่เป็นประชาธิปไตย อันสะท้อนว่าดอกผลของประชามติไม่ควรเป็นการไต่สวนนักกิจกรรมและนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตัวเองตามสิทธิพลเมืองที่มี


ที่มาที่ไปก่อนเป็นการตัดสินใน 29 ม.ค. 61

10 ก.ค. 2559 ราวหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีการจัดการลงประชามติการรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นักกิจกรรม 3 คนจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ประกอบด้วยปกรณ์ อารีกุล, อนันต์ โลเกตุ และ อนุชา รุ่งมรกต เดินทางเพื่อมาเยี่ยมเพื่อนที่ถูกหมายเรียกในคดีร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมี ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทติดรถของปกรณ์ไปทำข่าวด้วย

สภ.บ้านโป่งเข้าค้นรถของปกรณ์ การตรวจค้นพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, สติ๊กเกอร์ Vote No และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ท้ายรถ จึงได้เชิญตัวนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวรวม 4 คนไปสอบปากคำ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหา เพียงแต่ให้ลงบันทึกประจำวันและยึดเอกสารเอาไว้เท่านั้น

แต่ท้ายที่สุด ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำการจับกุม ยึดเอกสารและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 ว่า "ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง" เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 จากนั้นจึงนำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 เข้าควบคุมตัวในห้องขัง สภ. บ้านโป่ง และปฏิเสธการให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

ในบันทึกการจับกุมระบุว่า พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน", จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ, แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น, แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโน

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 เข้าควบคุมตัวในห้องขัง สภ.บ้านโป่งและปฏิเสธการให้ประตัวในชั้นสอบสวน โดยแจ้งว่า จะทำการสอบสวนในคืนนี้ และนำตัวไปขออำนาจฝากขังต่อศาลจังหวัดราชบุรีในวันถัดไป แม้ทวีศักดิ์จะอธิบายกับเจ้าหน้าที่ก่อนถูกควบคุมตัวหลายครั้งว่าเป็นสื่อมวลชนที่ติดรถมาทำข่าวเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแจกจ่ายเอกสาร และได้โทรศัพท์ขอสัมภาษณ์นายสมชัย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง และให้ตำรวจได้พูดคุยเพื่อหาความชัดเจนว่ากรณีนี้เป็นความผิดหรือไม่ โดยสมชัยระบุว่า การมีเอกสารในครอบครองโดยตัวมันเองนั้นไม่เป็นความผิด แต่หากมีการแจกจ่ายเกิดขึ้น ต้องดูลักษณะของการแจกจ่ายว่ามีการใช้คำหยาบคาย ยุยงปลุกปั่นหรือไม่ อย่างไรก็ดีภายหลังสมชัยได้ให้ความห็นมาเพิ่มว่า ตัวเอกสารของกลุ่ม NDM นั้นทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เองก็เห็นว่าเป็นเอกสารที่ยังมีปัญหาอยู่ ขณะนี้กำลังรอการตรวจสอบจึงยังไม่สามารถฟันธงว่าการมีตัวเอกสารนี้อยู่ในครอบครองผิดหรือไม่ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งแก่ผู้สื่อข่าวว่าทางผู้บัญชาการระดับภาคที่ดูแลเรื่องนี้ระบุว่าเรื่องนี้เข้าข่ายความผิดฐานเตรียมการจะแจกจ่าย

ภาวิณี ชุมศรี  ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ถูกแจ้งข้อหาด้วยอีกข้อหาหนึ่ง

ในคืนวันเดียวกัน ทหาร-ตำรวจจำนวน 4 คันรถ เข้าล้อมบ้านภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ หนึ่งในผู้ต้องหาที่เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในช่วงเช้า และแจ้งข้อหาเดียวกันกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คนเพิ่มเติม

บันทึกการจับกุมภานุวัฒน์ระบุว่า ในการเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมนั้นอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเฉพาะในการกระทำอันเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายคำสั่ง ซึ่งไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ

ด้านทนายความระบุว่า ตำรวจใช้หลักฐานภาพถ่ายในการกล่าวหาว่าเหน่อ ภานุวัฒน์ เป็นผู้ที่ขนเอกสารรณรงค์ของกลุ่ม NDM จากรถของสมาชิกกลุ่มไปใส่ยังรถคันอื่น จึงได้มีการติดตามจับกุมตัวที่บ้านพัก

ต่อมาในวันที่ 12 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาที่สำนักงานประชาไทพร้อมหมายค้นเพื่อเข้าตรวจและยึดเอกสารที่เกี่ยวกับการรณรงค์โหวตโน แต่ไม่พบสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ทวีศักดิ์ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเชื่อมโยงว่าประชาไทอยู่เบื้องหลังการให้ทุนและจัดพิมพ์เอกสารรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญให้กับขบวนการประชาธิปไตยใหม่

แม้จะมีข้อเรียกร้องจากหลายองค์กรให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับ 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว แต่ก็ไม่มีการถอนฟ้องใดๆ คดีความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติดำเนินต่อไปตามกระบวนการในชั้นศาล


10 ก.ค. 2559 (ภาพโดย ศรีไพร นนทรีย์)

ประเด็นต่อสู้ของจำเลย ยันสติกเกอร์ไม่ปลุกระดม

ทวีศักดิ์กล่าวถึงรายละเอียดคดีในภาพรวมว่า ถูกฟ้องสองข้อหา ข้อหาที่หนึ่ง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันแจกสติกเกอร์ VOTE  NO ข้อหาที่สอง ฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 24 กรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สำหรับข้อกล่าวหาที่สอง ได้รับสารภาพไปแล้วว่าไม่พิมพ์จริง แต่ให้การกับศาลว่าสาเหตุที่ไม่พิมพ์เพราะไม่ยอมรับในกระบวนการการจับกุม

ส่วน พ.ร.บ.ประชามติมีสองประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง การเดินทางไปที่ สภ.บ้านโป่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 ไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเท่านั้นไม่ได้ไปร่วมรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติแต่อย่างใด และในประเด็นที่สองสู้ด้วยว่า การรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามตินั้นไม่ผิดเพราะตามกฎหมายระบุว่า "ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย" การรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติ ที่ไม่ได้ลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่ได้รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ข่มขู่ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปออกเสียงแบบใดแบบหนึ่งจึงไม่มีความผิด

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.60 ในการสืบพยานคดีนี้ ปกรณ์ เบิกความว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ตนเห็นว่าการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ยังไม่แพร่หลายในสื่อ ไม่ครอบคลุม  ประชาชนได้รับรู้เท่าที่มีการประชาสัมพันธ์ในส่วนของสาระสำคัญเท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังมีคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งวันที่จะมีการออกเสียงประชามติ

ปกรณ์เห็นว่าข้อความในสติกเกอร์ "Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก" ไม่ได้เป็นข้อความที่มีความก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ อีกทั้งในส่วนของคำถามพ่วงในการลงประชามติ ที่มีประเด็นว่าใน 5 ปีแรกจะให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้เลือกกรัฐมนตรีนั้น ปกรณ์เห็นว่าเมื่อประกอบกับประเด็นที่มาของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงกลายเป็นที่มาของข้อความ "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" บนสติกเกอร์

ปกรณ์เบิกความว่าสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์ไม่น่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และวิษณุ เครืองาม รองกรัฐมนตรี ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็สามารถเผยแพร่ และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญได้

ปกรณ์ยังตอบคำถามค้านของอัยการด้วยว่าเอกสารของกลางในคดีนี้ ตนไม่ได้นำมาเพื่อแจกที่ สภ.บ้านโป่ง และไม่ได้มีการแจกจ่ายในวันนั้น แต่เป็นเอกสารที่ติดรถตนมาตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เนื่องจากในวันแถลงข่าวมีเพียงตัวเขาเองเท่านั้นที่มีรถกระบะที่สามารถบรรทุกเอกสารได้

วันเดียวกัน ทวีศักดิ์ เบิกความในฐานะพยาน ว่าวันเกิดเหตุ ตนได้ติดตามไปที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อทำหน้าที่นักข่าวเนื่องจากทราบได้มีการเรียกผู้ต้องหาในคดีศูนย์ปราบโกงประชามติเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งก่อนหน้านั้นตนก็ติดตามทำข่าวปกรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปกรณ์ได้แจ้งว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านที่ สภ.บ้านโป่ง ตนจึงขอติดรถมาด้วย เมื่อเดินทางถึง สภ.บ้านโป่ง ก็ได้เข้าถ่ายภาพที่หน้าสถานีและเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา จากนั้นตนก็ไปสัมภาษณ์จำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อ เพื่อทำสกู๊ปข่าว

ทวีศักดิ์ เบิกความต่อว่าหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวพวกตนขึ้นไปบนสถานีตำรวจ โดยตนได้แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวตั้งแต่แรกและได้แสดงบัตรผู้สื่อข่าวด้วย อีกทั้งในตอนที่ถูกเชิญตัว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นการจับกุม แต่เมื่อขึ้นไปที่สถานีแล้ว กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัว

ทวีศักดิ์เบิกความด้วยว่าตอนแรกที่ถูกเรียกไปยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้ จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามสมชัย คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสัมภาษณ์เรื่องสติกเกอร์ สมชัยระบุว่าการมีสติกเกอร์ไม่น่าเป็นความผิดตามกฎหมาย และถ้าไม่ใช่การขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่นก็สามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจด้วย จากนั้นเขาจึงส่งสายของสมชัยให้รองผู้กำกับสอบสวน สภ.บ้านโป่ง พูดคุยด้วย

ทวีศักดิ์ เสริมว่าในตอนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวของประชาไท ตำรวจอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นสำนักข่าวจริงๆ เนื่องจากประชาไทเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ไม่ได้มีโรงพิมพ์ของตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเข้าใจว่าเอกสารของกลางเป็นของประชาไท เพราะหลังจากเขาถูกเชิญตัว พ.ต.ท.สรายุทธก็ได้ประสานกับตำรวจ สน.สุทธิสารที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าตรวจค้นที่สำนักข่าว แต่เนื่องจากในวันนั้นไม่มีใครอยู่ที่สำนักข่าว ตำรวจจึงไม่ได้เข้าไป ที่ทราบว่ามีตำรวจไปเพราะว่าสำนักงานอื่นที่ใช้อาคารเดียวกันแจ้งมา

 

คดีประชามติอื่นๆ

การคุกคามการแสดงออกของประชาชนช่วงประชามติหากนับคร่าวๆ เริ่มตั้งแต่การเตรียมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่นำโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ตามจังหวัดต่างๆ โดยเริ่มจากเรียกเข้าค่ายทหารคุย ไปจนถึงการดำเนินคดี โดยเฉพาะแกนนำ นปช. 19 คน ถูกดำเนินคดีข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จากกรณีที่ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559 ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในศาลทหาร ขณะที่คดีตามต่างจังหวัดที่มีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ บางที่ถูกเรียกตัวเข้าปรับทัศนคติ ขณะที่บางที่ถูกดำเนินคดี เช่น กรณี จ.สกลนคร ศาลพิพากษาคดีถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 จำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท รอลงอาญา 1 ปี หลังทั้ง 20 คน รับสารภาพ

รายงานขององค์กรสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนนานาชาติหรือ FIDH ระบุว่า การดำเนินคดีกับผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการควบคุมตัว และดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้นช่วงเดือนก่อนวันออกเสียงประชามติ ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 24 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวบุคคลโดยพลการอย่างน้อย 41 คนด้วยเหตุที่พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์หรือรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงแกนนำ นปช. อย่างน้อย 38 คนที่ถูกควบคุมตัวจากความพยายามจัดตั้งศูนย์ปราบโกง

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักศึกษารามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ถูกทหารและตำรวจควบคุมตัวที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ และต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยคดียังอยู่ที่ศาลทหารเช่นกัน

แม้กระทั่งนักการเมืองดังอย่าง วัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่าไมรับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติด้วย จนวัฒนาโพสต์ยืนยันด้วยว่า "จะเอาผมไปปรับทัศนคติอีกกี่ครั้งผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้" และต่อมา วัฒนาถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557 เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. ด้วย

แม้กระทั่งวันลงประชามติ ยังมีกรณีที่ ปิยรัฐ จงเทพ ประท้วงประชามติด้วยการฉีกบัตรออกเสียง ขณะที่เพื่อนของเขาคือ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ ที่คอยบันทึกเหตุการณ์ ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อกวนขัดขวาง แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ปิยรัฐถูกฟ้องในข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยศาลสั่งจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท เหตุลดโทษ จำเลยรับสารภาพ และไม่มีเหตุต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงลดโทษจำคุก เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

นอกจากนั้นยังมีเวทีสาธารณะหลายเวทีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารปิดกั้นไม่ให้จัด รวมถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงภาวะกดดันผ่านกฎหมาย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รายงานว่า เวทีเสวนาและกิจกรรมรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญที่เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติมีแผนจัดเมื่อเดือน ก.พ. 2559 ที่ทหารและตำรวจได้ติดต่อไปยังหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสถานที่จนหอศิลปฯ ต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ และงานเสวนา "ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ" ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตไม่ให้จัดงานเนื่องจากเกรงว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ผู้จัดจึงได้ย้ายไปจัดงานที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมแทน

เป็นต้น
 

หลายองค์กรตั้งคำถามความชอบธรรมประชามติในวันที่ประชาชน-สื่อโดนตีกรอบ

แม้ทวีศักดิ์ระบุกับประชาไทว่าศาลได้ให้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่มีเรื่องที่น่ากังวล ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายและยินดีพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน แต่การดำเนินคดีกับสื่อมวลชนได้รับแรงกระเพื่อมกลับมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์หลังมีการจับกุมคดีนี้ โดยแสดงความกังวลต่อการจับกุมและตั้งข้อหา ทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ความว่า

"มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ผู้สื่อข่าวจะติดตามหรือเดินทางไปกับแหล่งข่าวและผู้ให้สัมภาษณ์ ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ติดตามทำข่าวสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทวีศักดิ์ก็แค่ทำหน้าที่ของเขา" แถลงการณ์ระบุ

FCCT กังวลว่าการจับกุมและตั้งข้อหาเขาจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่น่ากลัวต่อเสรีภาพสื่อและเรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหาต่อเขา

เช่นเดียวกับ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า การจับกุมนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมอย่างสันติก็แย่พอแล้ว แต่การคุมขังนักข่าวที่ไปรายงานข่าวยิ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อในไทยอย่างรุนแรง รวมถึงยังกระทบต่อความหวังว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะชอบธรรมด้วย

"นับวันรัฐบาลทหารยิ่งทำลายความชอบธรรมของการประชามติลงด้วยตัวเอง" ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า ทั้งสหประชาชาติและต่างชาติควรกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุติการจับกุมผู้วิจารณ์และผู้เห็นต่างโดยพลการโดยทันที และยุติข้อกล่าวหาต่อผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ พร้อมชี้ว่า รัฐบาลทหารไม่สามารถคาดหวังให้ประชาชนเงียบเสียงและโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการถกเถียง

ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหาทวีศักดิ์ ซึ่งถูกจับกุมระหว่างติดตามทำข่าวในขณะนั้น เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ล้มเหลวในการแยกแยะระหว่างนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้สื่อข่าวที่ตามทำข่าวพวกเขา นอกจากการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและการแสดงความเห็นแล้ว รัฐบาลยังละเมิดเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อด้วย

"จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะมีการจับกุมนักข่าวที่ไปทำข่าวการจับกุมนี้หรือไม่ รัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสื่อที่รายงานเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม" หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าว

ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไทขณะนั้น โดยไม่การตั้งข้อกล่าวหา เพราะการอ้างว่านักข่าวนั่งรถไปกับแหล่งข่าวถือเป็นความผิดนั้นจะกระทำไม่ได้ เพราะตามปกตินักข่าวจะต้องลงพื้นที่ทำงานข่าวให้ทันกับเวลา ดังนั้นการเดินทางอาจมีความจำเป็นที่จะอาศัยติดรถแหล่งข่าวลงไปทำข่าวด้วยก็ถือเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเองก็เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปจับกุมนักข่าวร่วมกับนักกิจกรรมเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไม่สมเหตุสมผล การที่นักข่าวเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำข่าว เรื่องของบัตรแสดงตนนั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ในเมื่อมีพยานยืนยันแล้วว่า นักข่าวผู้นี้ได้ติดตามการเคลื่อนไหวการรณรงค์ประชามติมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่ควรมีเหตุผลที่ตำรวจจะจับกุม

กุลชาดา ยังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การบังคับใช้มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติ มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง การบังคับใช้มาตรา 61 วรรค 2 มีผลโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ยิ่งถ้าตั้งข้อหาแบบนี้ยิ่งกระทบ และควรปล่อยตัวนักข่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเขาไปทำหน้าที่สื่อ การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของเขาก็เป็นสิทธิที่เขาจะแสดงออก ถือว่าการจับกุมครั้งนี้ไม่มีเหตุผลอันควร

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีการจับตัวทวีศักดิ์ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่สังคมและเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยยังไม่ได้มองสื่อทางเลือกเป็นนักข่าว ทั้งที่ในปัจจุบันสื่อทางเลือกและพลเมืองที่นำเสนอข่าวเองได้นั้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีความเป็นมืออาชีพ ทำให้สื่อเหล่านั้นไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ
 

จากประชามติที่ไม่แฟร์ไม่ฟรี สู่ความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้ง

ภายใต้บรรยากาศการจำกัดการแสดงความเห็นของประชาชนจากรัฐบาล คสช. และกระแสว่าการเลือกตั้งจะตามมาในปี 2560 ถึงต้นปี 2561 หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อจากต่างประเทศต่างแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายและคำสั่ง คสช. ปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญไปในเชิงติเตียน รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุแห่งกฎหมายดังกล่าว

ฌอน คริสปิน ตัวแทนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) นอกจากเสนอให้รัฐบาลทหารไทยยกเลิกการฟ้องทวีศักดิ์โดยทันที ฌอน ยังมองด้วยว่าถือเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่ทวีศักดิ์ต้องถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเกี่ยวกับการทำประชามติ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะมุ่งสู่การเลือกตั้ง หากรัฐบาลทหารไทยต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือ ก็ควรที่จะยุติการดำเนินคดีกับทวีศักดิ์ และหยุดการคุกคามสื่อในทุกรูปแบบ

เช่นเดียวกับ ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 19 ส.ค.59 พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการตั้งข้อหาต่อนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที รวมถึงปล่อยผู้เห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคุมขังด้วย พร้อมทั้งชี้ว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย เพื่อที่ก้าวไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา ตามโรดแมปของรัฐบาลทหารเอง

"การเลือกตั้งในปีหน้าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะตอบสนองคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในช่วงที่มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (ยูพีอาร์) เมื่อเดือน พ.ค. 2559 ว่าจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงรับประกันว่าจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่นับรวมคนทุกกลุ่ม รวมถึงพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และสื่อ ในสภาวะที่เปิดกว้างและปราศจากการคุกคาม" โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุ

องค์กรแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ออกแถลงการณ์ระบุว่า พฤติการณ์การควบคุมตัวและดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการทำให้การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยอย่างสันติเป็นเรื่องผิดกฎหมายจนมีผลให้เกิดภาวะเซ็นเซอร์ตัวเอง โจเซฟ เบเนดิคต์ รักษาการผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียแปซิฟิกของแอมเนสตีฯ ยังได้เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมและได้รับโทษจากการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างสันติอย่างไม่มีเงื่อนไขทันทีโดยไม่มีคดีติดตัว

องค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (เอดีเอ็น) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยจัดให้มีการประชามติที่เปิดกว้างและเท่าเทียม เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมทุกขั้วการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมทั้งการสังเกตการณ์และกิจกรรมต่างๆ ในช่วงก่อนวันลงคะแนนเสียง

ในเดือน เม.ย. 2559 ซาอิด ราอัด อัลฮุสเซน (Zeid Ra'ad Al Hussein) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) แสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับ "การควบคุมเสียงที่เห็นต่างอย่างเข้มงวด" ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม เขาย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไป สมาชิกพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ ผู้สื่อข่าวและนักวิชาการซึ่งต้องมีพื้นที่เพื่อแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวจะถูกคุกคาม ถูกตอบโต้หรือจับกุม

ในวันที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติและประกาศใช้แล้ว แต่วันและเวลาของการเลือกตั้งยังคงไม่มีคำตอบ รูปธรรมอันหลงเหลือจากประชามติที่หนึ่งคนมีสิทธิ์และเสียงนอกคูหาไม่เท่ากันคงเป็นการดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.ประชามติ จึงขอเชิญชวนผู้อ่านเป็นประจักษ์พยานกับผลการพิพากษาของ 4 นักกิจกรรมและ 1 ผู้สื่อข่าวที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ม.ค. นี้ว่าจะออกมาในลักษณะใด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.ยกคำสั่งคสช.ปิดศูนย์ปราบโกงฯ จตุพร ชี้ปิดได้ปิดไป ศูนย์ฯ อยู่ในใจทุกคนแล้ว
https://prachatai.com/journal/2016/06/66399

19 แกนนำ นปช. ขึ้นศาลทหาร คดีแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ
https://prachatai.com/journal/2017/09/73098  

ตำรวจจับ 'แมน ปกรณ์' NDM หลังให้กำลังใจคนบ้านโป่งสู้คดีตั้งศูนย์จับตาประชามติ https://prachatai.com/journal/2016/07/66800

ศาลทหารอุดรฯ สั่งปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี 20 ชาวสกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ https://prachatai.com/journal/2017/03/70466

โดนอีกแล้ว วัฒนาเผยถูกทหารนัดคุมตัวหลังโพสต์ "ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" https://prachatai.com/journal/2016/04/65237

ศาลทหารให้ประกัน 'วัฒนา' - 'พลเมืองโต้กลับ' ยุติกิจกรรมยืนสงบนิ่ง
https://prachatai.com/journal/2016/04/65360

คุก 4 เดือน 'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ รับสารภาพเหลือรอลงอาญา 1 ปี
https://prachatai.com/journal/2017/09/73402

องค์กรสิทธิเรียกร้องถอนข้อหานักรณรงค์ประชามติ
http://prachatai.com/journal/2016/07/66839

สมาคมสื่อ ตปท.เรียกร้องไทยถอนข้อหานักข่าวประชาไท
https://prachatai.com/journal/2016/07/66852

ฝ่ายสิทธิฯ 2 องค์กรสื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวประชาไทโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาโดยเร็ว https://prachatai.com/journal/2016/07/66816

iLaw: ตารางการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ
https://freedom.ilaw.or.th/blog/banonpublicactivities 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารแจ้งความ 8 แกนนำเดินมิตรภาพ อ้างฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

Posted: 22 Jan 2018 09:43 PM PST

ทหารเข้าแจ้งความ 8 แกนนำเครือข่าย People Go Network ซึ่งจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ อ้างขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตำรวจเตรียมออกหมายเรียก หากไม่มาสองครั้ง จะดำเนินการออกหมายจับทันที

23 ม.ค. 2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่2 ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อย รักษาความสงบกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในพื้นที่อ.คลองหลวง และอ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทางกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นความผิดตามหัวหน้า คสช. ที่3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่าย People Go Network ที่จัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ"

ประกอบด้วย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค, อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก และจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค

โดยทางพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา หากยังไม่มาจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากยังไม่เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งจะดำเนินการออกหมายจับทันที ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 61 เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คนเป็นแกนนำการชุมนุมและผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมอีกประมาณ 150 คน ได้มีการมั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยมีการผัดกันปราศรัยและแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนรักหลักประกันสุขภาพ' แนะปรับนโยบายลงทะเบียนคนจนเป็นระบบหลักประกันถ้วนหน้าในด้านต่างๆ

Posted: 22 Jan 2018 09:41 PM PST

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพย้ำจุดยืนค้านนโยบายลงทะเบียนคนจน ชี้เหมือนใช้เงินซื้อใจคนจนไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม ย้ำเรื่องที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา สุขภาพ และผู้สูงอายุ ควรปรับใหม่เป็นแบบหลักประกันถ้วนหน้าในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการโดยไม่ตกหล่น
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
23 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ความเห็นต่อนโยบายลงทะเบียนคนจนว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเครื่องมือที่ใช้วัดความยากจนที่รัฐบาลใช้นั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นคนจนจริงๆ ขณะเดียวกัน บางส่วนของนโยบายนี้ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐดำเนินการอยู่แล้ว และในบางประเด็นควรปรับปรุงนโยบายให้เป็นระบบหลักประกันที่ให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนมากกว่าจะให้เฉพาะคนจนที่มาลงทะเบียนซึ่งมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์
 
สุรีรัตน์ กล่าวว่า การใช้เกณฑ์รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 แสนบาทและไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นคนจนหรือไม่จน ที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาตั้งแต่การลงทะเบียนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ว่าคนที่ได้ลงทะเบียนอาจจะไม่ใช่คนจนจริงและคนที่จนจริงก็อาจไม่ได้ลงทะเบียน เช่น บางคนไม่มีรายได้ แต่ยังมีที่ดินบ้าง มีเงินในบัญชีบ้าง หรือถูกให้ออกจากงานได้เงินจากประกันสังคมมา 2-3 แสนบาทก็ไม่เข้าข่ายลงทะเบียนแล้วทั้งๆที่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่คนร่ำรวยและยังต้องทำงานต่อไป
 
สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่าโครงการนี้ยังใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ เช่น การเปิดให้คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมาลงทะเบียนได้ ซึ่งคนอายุ 18 ปีส่วนใหญ่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณจบมัธยมศึกษาปีที่  6 ขึ้นไป ซึ่งคนในช่วงอายุนี้รัฐบาลก็มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทุกคนได้เบี้ยยังชีพ แต่คนอายุมากกว่า 60 ปีที่มาลงทะเบียนคนจนมี 3.8 ล้านคน รัฐก็ได้เพิ่มบางส่วนให้อีก
 
"ไม่ใช่ไม่ดีนะแต่จะชี้ให้เห็นว่ามันซ้อนกันอยู่ จำนวนเงินไม่ได้มากแต่ก็ใช้ซ้ำซ้อน" สุรีรัตน์ กล่าว
 
ขณะเดียวกัน บางเรื่องก็ไม่เหมาะที่จะใช้นโยบายแบบแยกออกมาเป็นกลุ่มคนจน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคือเรื่องสุขภาพ การศึกษา และชราภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบลงทะเบียนคนจน แต่ควรจัดสวัสดิการถ้วนหน้าในด้านนั้นๆ เพื่อให้เกิดหลักประกันในลักษณะเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
สุรีรัตน์ ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา แม้ทุกวันนี้จะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ก็ยังถือว่าไม่ถ้วนหน้าเพราะเด็กหลายคนที่อยากได้ทุนแต่ก็ยังเข้าไม่ถึง ถ้าหากรัฐทบทวนนโยบายนี้ให้ดีๆ ดูเรื่องการใช้เงินในแต่ละปี สกรีนลูกข้าราชการออกไปเพราะสามารถเบิกค่าเรียนได้อยู่แล้ว ที่เหลือให้ทุกคนที่อยากเรียนหนังสือมาใช้กองทุนนี้ได้อย่างเต็มที่ก็น่าจะทำให้เด็กคนจนหลายคนที่หลุดจากระบบ ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้
 
"แบบนี้ก็จะทำให้คนยกระดับตัวเองให้ได้เรียน เพราะกองทุนนี้ใช้เป็นค่ากินค่าอยู่ได้ด้วย เด็กหลายคนที่หลุดไปจากระบบไม่ใช่เพราะค่าเทอม แต่เพราะพ่อแม่ไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้มากพอ ถ้ารัฐทบทวนระบบนี้ให้เต็มที่ เติมเงินลงไปให้ทุกคนเข้าถึง คิดให้เป็นระบบหลักประกันทางการศึกษาเหมือนที่คิดแบบระบบหลักประกันสุขภาพ คือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ก็จะมีเงินกองทุนเข้ามาดูแล รวมทั้งไปทบทวนการใช้เงินคืนให้ดีว่าถ้าทำงานแล้วเงินเดือนยังไม่สูงพอก็ต้องชะลอออกไปก่อน แบบนี้มันก็จะดีขึ้น คนก็จะเข้าถึงการศึกษามากขึ้น" สุรีรัตน์ กล่าว
 
นอกจากนี้ ในส่วนของเรื่องผู้สูงอายุ รัฐบาลจะเอาเงินสรรพาสามิตปีละ 4,000 ล้าน มาเติมให้ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนคนจน ดังนั้นคนจนคนอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็รู้สึกไม่สบายใจว่าตัวเองไม่มีสิทธิได้และอาจเกิดความแตกแยกในอนาคต ดังนั้นควรต้องจัดแบบถ้วนหน้าเพราะข้อมูลยืนยันอยู่แล้วว่าถ้าให้เงินถ้วนหน้ากับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีน้อยคนมากที่จะไม่มารับเงิน
 
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันรัฐกำลังลงทุนเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ปรากฏว่ากระแสเงียบไปมาก คนไม่ค่อยมาออมเพราะไม่มีแรงจูงใจพอที่จะออม รัฐควรต้องทบทวนดูว่าตัวเองทำนโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จทุ่มเงินน้อยไปหรือไม่ ตั้งใจใช้เงินปีละไม่กี่พันล้านบาทให้คนมาร่วมออม สะท้อนว่ารัฐทำอะไรกับคนจนจะลงทุนน้อยไป ขณะเดียวกันก็จะพูดอยู่ตลอดเงินไม่พอ
 
"ทีนี้ถ้าลงทะเบียนคนจนไปแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะใช้ตัวเลขนี้เป็นหลักในการคำนวณงบประมาณหรือไม่เพราะมันง่ายดี จัดสรรงบประมาณปีละ 3-4 หมื่นล้านก็พอแล้วในการซื้อใจคนจน มันก็เหมือนการใช้เศษเงินซื้อใจคนจนซึ่งไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ มันฉาบฉวย ไม่ใช่นโยบายที่เป็นหลักการ เป็นประชานิยมตัวจริงเสียงจริง มาว่านักการเมืองตอนหาเสียงแล้วล็อคว่าไม่ให้หาเสียงแบบนี้ แต่ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างกัน แล้วมันแก้ปัญหาความยากจนอย่างไร เพราะฉะนั้นจัดระบบให้เขาได้เรียนอย่างเต็มที่ ให้กองทุนดูแลค่ากินอยู่ไปด้วยจะดีกว่าไหม" สุรีรัตน์ กล่าว
 
สุรีรัตน์ กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า การลงทะเบียนคนจนก็เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่านโยบายการจัดสวัสดิการหลักๆไม่ควรจัดเฉพาะคนจนแต่ควรปรับมาเป็นระบบหลักประกันแบบถ้วนหน้าในเรื่องนั้นๆไป เพื่อแก้ปัญหาว่าคนที่ยากลำบากที่สุดจนที่สุดก็สามารถเข้าถึงโดยไม่ต้องมานั่งคัดเลือกหรือลงทะเบียนเป็นครั้งๆไป และการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้แน่นอน
 
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเป็นหนึ่งในเครือข่ายประชาชนในนาม People Go Network Forum พร้อมด้วย เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายทรัพยากร สิทธิชุมชน เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ ที่จัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพจากกรุงเทพฯไปขอนแก่นเพื่อสื่อสาร 4 ประเด็นหลักคือ 1.เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ 2.เพื่อนโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ของเราเอง  3.เพื่อกฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ดูแลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อนโยบายที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมของเรา  และ 4.เพื่อรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดที่กำหนดชีวิตเราในฐานะพลเมือง ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้านจริงๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครเอเชียเปิดตัวหนังสือ 'ครอบครัวสีรุ้ง' เล่มแรก ขายหมดเกลี้ยง

Posted: 22 Jan 2018 09:40 PM PST

สื่อ Pink News รายงานว่าประเทศโครเอเชียเปิดตัวหนังสือเด็กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครพ่อหรือแม่เด็กที่เป็นคนรักเพศเดียวกันเล่มแรก ชื่อ "คอบครัวสีรุ้งของฉัน" ซึ่งขายได้หมดทุกเล่ม


ภาพจาก Rainbow Families Association

23 ม.ค. 2561 สมาคมครอบครัวสีรุ้งในประเทศโครเอเชียเปิดตัวหนังสือที่ชื่อ "มายเรนโบว์แฟมิลี" หรือ "ครอบครัวสีรุ้งของฉัน" ที่สถาบันฝรั่งเศสในกรุงซาเกร็บ โดยสามารถขายหนังสือได้หมดทั้ง 500 เล่ม หนังสือเล่มนี้วาดโดยอีโว เซโกตา ผู้ที่บอกว่าต้องการจะสร้างความเข้าใจแก่ชาวโครเอเชียในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันและครอบครัวสีรุ้ง จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2560 เคยมีกรณีคนโจมตีคลับของผู้มีความหลากหลายทางเพศจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

กิลยม โคลัง ที่ปรึกษาสถานทูตฝรั่งเศสประจำโครเอเชียกล่าวว่า การเคารพต่อความหลากหลายของมนุษย์ ซึ่งเป็นแกนค่านิยมหลักของยุโรปมีคุณค่าในการที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มา และการต่อต้านการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพกับเพศวิถีก็เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ของนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฝรั่งเศส ทางสถานทูตฝรั่งเศสถึงสนับสนุนการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือภาพ "ครอบครัวสีรุ้งของฉัน"

แดเนียล มาร์ติโนวิค ผู้ประสานงานของสมาคมครอบครัวสีรุ้งกล่าวว่าเขารู้สึกเป็นเรื่องไม่คาดคิดที่มีผู้คนต้องการหนังสือของพวกเขาจำนวนมากขนาดนี้

แม้จะเริ่มมีผู้ผลิตหนังสือเด็กที่นำเสนอตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังคงมีกลุ่มพ่อแม่หัวอนุรักษ์ที่แสดงความไม่พอใจ เมื่อไม่นานนี้มีกรณีที่ชาวเน็ตแสดงความไม่พอใจที่มีหนังสือเด็กแสดงภาพซานตาคลอสเป็นเกย์ผู้แต่งงานกับซานตาอีกคนหนึ่งที่เป็นคนดำ ในชื่อ "สามีของซานตา" แต่งโดยแดเนียล คิบเบิลสมิทธ์ และเจนนิเฟอร์ ไรท์

ขณะที่ในสวีเดนมีหนังสือเด็กในประเด็นเกี่ยวกับคนข้ามเพศออกมาเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็มีกรณีที่กลุ่มแม่ผู้โกรธเกรี้ยวพากันบุกโจมตีซูเปอร์มาร์เก็ต ALDI เพียงเพราะพวกเขามีหนังสือนิยายขนาดสั้นชื่อ "เดอะบอยอินเดรส" หรือ "เด็กชายในชุดเดรส" ขาย ซึ่งกลุ่มแม่พวกนี้ไม่พอใจเพราะมองว่าเป็นนิยายเกี่ยวกับคนข้ามเพศ


เรียบเรียงจาก

Croatia just got its first same-sex parents kids book and it's sold out already, Pink News, 20-01-2018
http://www.pinknews.co.uk/2018/01/20/croatia-just-got-its-first-same-sex-parents-kids-book-and-its-sold-out-already/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งูกินหาง จากปัญหายาเสพติดสู่ปัญหาการเมืองไทย

Posted: 22 Jan 2018 07:55 PM PST


เห็นข่าวญี่ปุ่นทำสกู๊ปเรื่องคนไทยขนยาเสพติดเข้าญี่ปุ่นมากขึ้น นับตั้งแต่เปิดฟรีวีซ่าให้ไทย ทำให้เข้าใจเรื่องความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นที่มีต่อคนไทย

และเช่นเคยที่มีคอมเม็นต์ด่าทอการกระทำที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศไทย เพราะส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้รับความเดือดร้อน

มันก็ต้องกระทบแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีการโดดทัวร์และลักลอบอยู่ทำงาน หรือลักลอบค้าประเวณี หรือลักลอบขนยาเสพติด แต่ถามว่าส่วนตัวรู้สึกอย่างไร ส่วนตัวก็ยอมรับสภาพ เพราะนี่คือภาวะ "งูกินหาง"   

ถามง่ายๆว่า หากประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดี และสภาพโดยรวมของประเทศไทยเจริญดีแล้ว จะมีใครเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางทำผิดกฎหมายไหม? เคยเห็นประชาชนของประเทศไทยที่เจริญแล้วทำอะไรแบบนี้บ้างไหม? อย่าว่าแต่ลักลอบทำผิดกฎหมายเลย ต่อให้เป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไป มาจากไทยหลายชาติเขาก็รังเกียจ เหมือนที่คนไทยทั่วไปรังเกียจพลเมืองจากประเทศไทยที่ด้อยกว่านั่นแหละ   

และเช่นเคยที่สลิ่มส่วนใหญ่ (ขอเน้นย้ำว่าส่วนใหญ่) มองไม่ออก เชื่อมโยงไม่ได้ ว่าปัญหาที่สร้างผลกระทบเหล่านี้มันสืบเนื่องมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร รัฐบาลที่พวกเขายินดีให้คอร์รัปชันอย่างหน้าชื่นตาบาน เพราะรู้สึกฟินกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นสามารถตรวจสอบได้

ที่เสนอมา ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นใจพวกกระทำความผิด แค่อยากจะชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่า การด่าพวกลักลอบทำผิดกฎหมาย มันเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ ก็เราจะไปหวังจิตสำนึกอะไรกับคนที่กำลังจะอดตายเล่า สุดท้ายเราก็ต้องรับสภาพและทำใจอยู่กันไปทั้งชื่อเสียงเน่าๆของ"คนไทย" แบบนี้แหละ   

แบกรับความรังเกียจเดียดฉันท์จากประชาคมโลกร่วมกันไปแบบนี้แหล่ะ ตราบใดที่ยังปล่อยให้ทหารปกครองประเทศ ตราบใดที่ความรังเกียจตระกูลชินวัตรมันยังเป็นเรื่องหลักในการที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ และตราบใดที่สลิ่มไม่มีศักยภาพที่จะมีและใช้เหตุผลได้เหมือนมนุษย์ทั่วไป 

ภายใต้ความยากลำบากในการดำรงชีวิต ภายใต้รัฐบาลที่ไร้สามารถในการบริหาร ภายใต้ความย่อยยับทางเศรษฐกิจ ภายใต้ความล้มเหลวของสวัสดิการรัฐ ต่อให้ 10 ตูนวิ่งจนรองเท้าไนกี้ทะลุมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ตราบใดที่คนในประเทศไทยส่วนหนึ่งยังคงมืดบอดทางปัญญา

 

คลิปวิดีโอจาก เฟสบุ๊ค ธนากร ใจสุขสกุลดี  

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ' สือ สื่อ สื้อ '

Posted: 22 Jan 2018 07:13 PM PST

'ลับ'......ต้องเฝ้าติดตาม ล้วงความลับ
'ลวง'....ต้องจับลวงไขให้กระจ่าง
'พราง'..ต้องเผยตีแผ่ เผยแง่พราง
'ที่ควรอย่าง-ทำอย่าง'.. อย่าอ้างตัว

' สื่อดีเป็นยาก สื่อกากเป็นง่าย '
........... 'ลับ' ....เมื่อคล้ายแก๊กกวน มุขชวนหัว
........... 'เลีย' ...ตวัดขจัดกลิ่น พลิ้วลิ้นรัว
........... 'พวง' ..หนึ่งชั่วลิ้นพลิก ' ร ะ ริ ก ร ะ รี้ ' !!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น