ประชาไท | Prachatai3.info |
- ป.ป.ช.เตรียมเชิญ 'ประวิตร' แจงปมนาฬิกาเพิ่ม ภายใน 15 วัน
- อัยการชี้ยังตามตัว 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บอส วรยุทธ' แต่ถ้า ตปท. ไม่ร่วมมือก็ก้าวล่วงมิได้
- ค้านประกาศ สธ.ห้ามชาร์จมือถือที่ทำงาน
- จาตุรนต์ ฉายแสง: พลเอกประยุทธ์เป็นนักการเมืองจริงหรือ ?
- ค้านแก้ประกาศ ป.ป.ช.มูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์เจ้าหน้าที่รัฐ
- กวีประชาไท: หัวใจสองดวง
- 20 ผู้ถูกควบคุมตัว หลังเหตุการปิดล้อมปูพรมบันนังสตา
- ป.ป.ช. ไม่รับไต่สวนคดีเช่าเหมาลำเครื่องบินไปฮาวายของ 'ประวิตร'
- องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลไทยถอนฟ้องนักข่าว
- ไอซ์แลนด์เปิดศักราชใหม่ บังคับใช้กฎหมายนายจ้างต้องจ่ายชาย-หญิงเท่ากัน
ป.ป.ช.เตรียมเชิญ 'ประวิตร' แจงปมนาฬิกาเพิ่ม ภายใน 15 วัน Posted: 05 Jan 2018 04:37 AM PST ป.ป.ช. ระบุเริ่มเชิญคนที่เกี่ยวข้องปมนาฬิกา 'ประวิตร' สอบแล้ว มีเอกชน 4 ราย ยังไม่ขอเปิดเผย รอ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วจะแจ้งให้ทราบ ยืนยันแจงทุกเรือนพร้อมเชิญแจงเพิ่มใน 15 วัน โยนคนรับผิดชอบสำนวนดูเรียกบริษัทนำเข้าขายสอบหรือไม่ 5 ม.ค. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าในสัปดาห์นี้เราได้มีหนังสือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ รวมทั้งนัดหมายที่จะไปดำเนินการนอกสถานที่สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คิดว่าการรวบรวมพยานหลักฐานในครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีอะไรซับซ้อน ก็คงคิดว่าใช้เวลาไม่นาน ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคคลภายนอกที่ ป.ป.ช.จะเชิญให้มาชี้แจงมีทั้งหมดกี่ท่าน และหนึ่งในนั้นมีนายวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของเครือคิงเพาเวอร์ด้วยหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า ประมาณ 4 ท่าน ขอไม่ระบุชื่อ เป็นภาคเอกชนทั้งหมด โดยทั้ง 4 ท่านจะมาชี้แจงที่ ป.ป.ช. และนอกสถานที่ เมื่อถามว่า 4 คนนี้เป็นเรื่องนาฬิกาเรือนแรกเรือนเดียวหรือครอบคลุมทั้งหมด นายวรวิทย์กล่าวว่า ครอบคลุมทั้งหมด แต่ขออนุญาตไม่เปิดเผย หากคดีเสร็จ โดยทำรายงานส่ง ป.ป.ช.แล้ว และ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วจะมาแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เหตุใด ป.ป.ช.ต้องมีการนัดหมายไปสอบรายละเอียดนอกสถานที่ นายวรวิทย์กล่าวว่า เป็นวิธีการทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งมีทั้งการนัดบุคคลภายนอกมาสอบที่ ป.ป.ช. และเราออกไปข้างนอก เป็นการทำงานตามปกติ เมื่อถามว่า 4 คนนี้เป็นบุคคลตามหนังสือชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร หรือว่าเป็นเจ้าของนาฬิกา นายวรวิทย์กล่าวว่า ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียด ขอให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า พล.อ.ประวิตรชี้แจงเรื่องนาฬิกามากี่เรือน นายวรวิทย์กล่าวว่า ทุกเรือนที่เป็นข่าว เมื่อถามย้ำว่า ทั้ง 15 เรือนที่มีการเปิดเผยทางสังคมออนไลน์หรือไม่ นายวรวิทย์ถามกลับว่า "ขณะนี้ 15 เรือนแล้วใช่ไหมครับ" เมื่อถามย้ำอีกว่า แล้วขณะนี้ที่เอกสารชี้แจงมามีกี่เรือน นายวรวิทย์กล่าวว่า "ทุกเรือนแหละครับ" ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตกลับไปว่า หลายเรือนถูกเปิดเผยออกมาหลังจากวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ที่นายวรวิทย์ระบุว่า พล.อ.ประวิตรส่งหนังสือชี้แจงมาให้ ป.ป.ช. นายวรวิทย์กล่าวว่า "ต้องเรียนว่า รายละเอียดเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ขออนุญาตเก็บไว้ก่อน" เมื่อถามว่า ได้สอบถามไปยังบริษัทที่นำเข้านาฬิกามาขายในไทย พบว่า ป.ป.ช.ยังไม่มีการเรียกบริษัทมาตรวจสอบ ทาง ป.ป.ช.จะติดต่อบริษัทขายนาฬิกามาตรวจสอบหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า อยู่ที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนว่ามีประเด็นเกี่ยวข้อง หรือมีความจำเป็นที่จะไปสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องแค่ไหน อย่างไร ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ป.ป.ช.มุ่งเป้าไปที่ประเด็นไหนมากกว่ากัน ระหว่างเรื่องบัญชีทรัพย์สินหรือรายละเอียดสิ่งของที่ชี้แจง นายวรวิทย์กล่าวว่า ป.ป.ช.ดูทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจริง ๆ แล้วการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเป็นการป้องกัน และเป็นแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้ ป.ป.ช.มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่ามีความเปลี่ยนแปลงของบัญชีอย่างไร แล้วแต่ประเด็นของแต่ละเรื่อง "ป.ป.ช.ทำงานภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เราก็จะเร่งรัดดำเนินการเป็นพิเศษอยู่แล้ว และอย่างที่เรียนคือ เรื่องนี้ไม่มีความซับซ้อนมาก ดังนั้น ระยะเวลาผมคิดว่าไม่นาน เรื่องระยะเวลาเราอาจจะระบุตายตัวลงไปไม่ได้ อย่างเช่นกรอบอยู่ในเดือนมกราคม ถ้าเราตรวจสอบแล้วมีกรณีจำเป็นที่ต้องไปสอบพยานบุคคลหรือพยานเอกสารเพิ่มเติม เราก็ต้องขยายไปในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้น แต่ถ้าสรุปได้ในเดือนมกราคม ก็เสร็จในเดือนมกราคม อย่าเพิ่งสันนิษฐาน ขอให้รอดูข้อเท็จจริงดีกว่า" นายวรวิทย์กล่าว เมื่อถามว่า สถานะของบุคคลที่ พล.อ.ประวิตรอ้างเป็นเพื่อน หรือเป็นอะไร นายวรวิทย์กล่าวว่า รายละเอียดขอไม่เปิดเผย ขณะที่คำชี้แจงเรื่องแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตรนั้น นายวรวิทย์เปิดเผยว่า ได้ประสานให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยเราเพิ่งส่งหนังสือเชิญท่านมาชี้แจงในสัปดาห์นี้และกำหนดตอบกลับภายใน 15 วันซึ่งจะมีเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เมื่อถามว่า ตามข้อมูลระบุว่า พล.อ.ประวิตรมีรายได้ 1.7 ล้านบาท แต่ที่แจ้ง ป.ป.ช.คือ 8 แสนบาท รายได้ห่างกันมากตรงนี้ ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างเรื่องรายการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ก็จะต้องมีการนำมาเปรียบเทียบกันว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้อย่างไร ซึ่งเป็นการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินตามปกติของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อัยการชี้ยังตามตัว 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บอส วรยุทธ' แต่ถ้า ตปท. ไม่ร่วมมือก็ก้าวล่วงมิได้ Posted: 05 Jan 2018 04:26 AM PST รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุยังตามตัว 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บอส วรยุทธ' แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศนั้น ๆ จะให้ความร่วมมืออย่างไรเพียงใด ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้ 5 ม.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้พิจารณาคดีลับหลังต่อไป 2 คดีแล้ว คือ คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบเอื้อประโยชน์เอกชนในการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร โดยที่ผ่านมาศาลฎีกาฯ ได้เลือกองค์คณะมารับผิดชอบ 1 คดีแล้ว คือคดีแปลงภาษีสรรพสามิต ก็ต้องรอคำสั่งศาล ส่วนอัยการก็มีคณะทำงานรับผิดชอบอยู่แล้วเช่นกันทั้งอัยการคดีพิเศษ และอัยการคดีปราบปรามการทุจริต เมื่อถามถึงการดำเนินการติดตามตัวนายทักษิณ และจำเลยที่หลบหนีคดีต่างๆ อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว และนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่อัยการสั่งฟ้องกรณีขับรถชนดาบตำรวจเสียชีวิตเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น นายธรัมพ์ กล่าวว่า อัยการเป็นหน่วยบังคับใช้ตามกฎหมายให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และเพราะเป็นประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างประเทศที่ผู้ต้องคดีหรือจำเลยหลบหนีไปประเทศใดๆ ก็จะมีธรรมเนียมปฏิบัติ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงด้วยนอกเหนือจากกฎหมายของประเทศไทย เช่น การที่ตำรวจต้องขอความร่วมมือจากอินเตอร์โพล หรือองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ตำรวจสากล) และที่ประเทศนั้นๆ จะให้ความร่วมมืออย่างไร เพียงใดก็ไม่อาจก้าวล่วงได้ "ในอดีตอังกฤษ ก็ไมได้ส่งตัวนายปิ่น จักกะพาก ผู้ต้องหาคดีการเงินข้อหาลักทรัพย์ ยักยอกที่ ธปท.กล่าวหา ซึ่งปัจจุบันเวลาผ่านมากว่า 20 ปีคดีก็ขาดอายุความ แต่อีกกรณีหนึ่งที่สำเร็จคือนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาผู้บริหารบีบีซี ผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องคดียักยอกทรัพย์ เราขอประเทศแคนาดาเขาก็ส่งตัวให้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งแต่หน่วยงานก็ดำเนินการในส่วนของตนตามขั้นตอนของกฎหมาย" นายธรัมพ์ กล่าว ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีของนายทักษิณ เมื่อยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนการไต่สวนลับหลังตามกฎหมายใหม่แล้ว ไม่มีตัวก็ทำได้ ส่วนที่ 2 การเอาตัวจำเลยเข้ามาสู่กระบวนการก็มีหน่วยงานหลายส่วนร่วมรับผิดชอบซึ่งเชื่อว่าทุกหน่วยงานพยายามอย่างเต็มที่ โดยอัยการมีสำนักงานต่างประเทศดำเนินการเรื่องคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลาง ซึ่งเราจะกระทำได้ก็ต้องมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะพนักงานสอบสวน ที่จะโฟกัสหาที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย และกระทรวงการต่างประเทศที่จะช่วยหาได้ว่าจะต้องส่งปลายทางประเทศใดแล้วทั้งหมดรวบรวมเอกสารที่พร้อมส่งให้อัยการ เพื่อจะดำเนินการในฐานะผู้ประสานงานกลางต่อไปทั้งแบบประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน หรือไม่มีก็ต้องปฏิบัติตามแบบวิธีของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการติดตามตัวนายทักษิณนั้น ปัจจุบันมีคดีที่รอพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 สำนวน ประกอบด้วยคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง 2 สำนวนคดีแก้กฎหมายแปลงภาษีสรรพสามิตเอื้อชินคอร์ปฯ, ทุจริตปล่อยกู้ของ ธ.กรุงไทยฯ ให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง 2 สำนวน คือ ทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ และทุจริตโครงการการออกสลากหวยบนดิน ซึ่งทั้งหมดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ไว้แล้วเมื่อปี 2551-2555 ซึ่งคดีไม่มีการนับอายุความระหว่างจำเลยหลบหนี โดยมีคดีที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 2 ปีนายทักษิณไปแล้วเมื่อปี 2551 อีก 1 คดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้วทั้งหมด ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เพิ่งถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้วโดยระหว่างการหลบหนีคดีไม่มีการนับอายุความ และนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งให้ฟ้องคดีขับรถประมาทชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 2553 นั้น ก็ได้ออกหมายจับแล้วรอติดตามตัวมายื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ภายในอายุความ 15 ปีนับจากเกิดเหตุ ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ที่จะสิ้นสุดอายุความการฟ้องในวันที่ 3 ก.ย.2570 ส่วนข้อหาและขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานในทันที หรือ ชนแล้วหนี ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 5,000-20,000 บาทนั้นสิ้นสุดอายุความการฟ้อง 5 ปี ไปแล้ว โดยขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ค้านประกาศ สธ.ห้ามชาร์จมือถือที่ทำงาน Posted: 05 Jan 2018 03:57 AM PST ชมรม ผอ.รพ.สต. ค้าน ประกาศ สธ. ห้ามชาร์จมือถือในสถานที่ราชการ เหตุขัดแย้งยุค 4.0 สื่อสารทำงานผ่านมือถือ ทั้งติดต่อราชการ ส่งต่อผู้ป่วย เยี่ยมบ้าน ซ้ำ สธ.สร้างกลุ่มสั่งงานผ่าน line พร้อมไม่เห็นด้วยข้อห้ามนำรถยนต์จอดค้าง/ล้างในสถานที่ราชการ เหตุ "หมออนามัย" ส่วนใหญ่อาศัยบ้านพัก รพ.สต. ไม่สอดคล้องสถานการณ์จริง กระทบขวัญกำลังใจ จนท. แถมสวนกระแส สธ.มอบของขวัญปีใหม่บุคลากรในสังกัด 5 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ Hfocus.org รายงานว่านายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประเทศไทย (ผอ.รพ.สต.) กล่าวว่า ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบของขวัญปีใหม่เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของราชการก่อนขึ้นปีใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้มีออกประกาศเรื่อง "มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ลงนามโดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยประกาศฉบับนี้ได้มีการพูดคุยในกลุ่ม line ของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.อย่างมาก เนื่องจากมีการออกข้อห้ามปฏิบัติที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ทั้งยังบั่นทอนกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน โดยข้อห้ามที่ชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย ไม่เห็นด้วย คือ ข้อ 2.ที่ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์จไฟในสถานที่ราชการ เพราะโดยข้อเท็จจริงในยุค 4.0 การสื่อสารต่างๆ ล้วนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร และส่วนใหญ่ก็ใช้โทรศัพท์ส่วนตัว ทั้งติดต่อราชการ การส่งต่อผู้ป่วย การติดต่อเยี่ยมบ้าน และการติดตามผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขเองได้มีการสร้างกลุ่ม line เพื่อใช้ในการติดต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการสั่งงานต่างๆ ตลอดจนการส่งหนังสือด่วน ซึ่งการใช้โทรศัพท์เพื่อดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้แบตโทรศัพท์หมดได้ จำเป็นต้องชาร์จแบตเพื่อทำงานต่อ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นข้อห้ามที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันในกรณีที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการ รพ.สต. หากแบตโทรศัพท์หมดและขอชาร์จแบตเพื่อติดต่อญาติจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าส่วนราชการไหน แม้แต่สนามบินก็พยายามอำนาจความสะดวกให้ แต่ สธ.กลับมีข้อห้ามนี้ออกมา ส่วนที่ชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย ไม่เห็นด้วยอีก คือ ข้อ 5 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ส่วนตัวและครอบครัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ เนื่องจากในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะอาศัยอยู่บ้านพักใน รพ.สต. แม้ไม่ได้อยู่เวร หรือทำโอทีก็ต้องนำรถจอดในบริเวณพื้นที่ รพ.สต. ดังนั้นการห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดจึงไม่น่าจะเป็นข้อห้ามที่เป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับข้อ 6 ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาล้างในสถานที่ราชการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่อาศัยในบ้านพัก รพ.สต. เมื่อรถสกปรกก็ต้องล้าง ซึ่งรถที่ใช้แม้ว่าจะเป็นรถส่วนตัว แต่ก็ถูกนำมาใช้ทำงาน ทั้งติดต่อราชการ การติดต่อ สสอ. สสจ. หรือแม้แต่การเยี่ยมบ้านเชิงรุก "เข้าใจว่ามาตรการต่างๆ ของ สธ.ที่ออกมานี้ เป็นกลไกกำกับตามมาตรการป้องกันกรณีใช้ทรัพยสินของทางราชการ แต่ทั้งนี้ควรมองตามข้อเท็จจริงปัจจุบัน ซึ่งข้อห้ามอื่นๆ อย่างการนำวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานไปใช้ส่วนตัว การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตัว เหล่านั้นก็เห็นด้วย แต่ในข้อ 2 ข้อ 5 และ ข้อ 6 คงไม่ใช่ มองว่า สธ.ทำในเรื่องหยุมหยิม คิดเล็กคิดน้อย ทั้งยังมีการระบุโทษความผิดทางวินัยหากไม่ปฎิบัติตาม ทั้งที่ควรสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานมากกว่า ซึ่งการชาร์จแบตโทรศัพท์ก็เพื่อปฏิบัติงาน ไม่ได้เปิดบริการชาร์จไฟเพื่อเก็บเงิน หรือการล้างรถยนต์ก็เป็นรถส่วนตัวที่มีการนำไปใช้ปฏิบัติงานด้วย ไม่ได้เปิดเป็นบริการคาร์แคร์" ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จาตุรนต์ ฉายแสง: พลเอกประยุทธ์เป็นนักการเมืองจริงหรือ ? Posted: 05 Jan 2018 01:10 AM PST
แต่ที่พลเอกประยุทธ์ยืนยันมาตลอดว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง ก็เพราะพลเอกประยุทธ์ต้องการเหยียดหยามประณามนักการเมืองว่า เป็นคนเลวและเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง พร้อมกันนั้นก็ยืนยันว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง และดังนั้น จึงเป็นคนดี แต่พอมีคนเสนอให้หาทางป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารครองอำนาจต่อไปอีกนานๆ พลเอกประยุทธ์ก็รู้สึกเดือดร้อน ต้องออกมาปฏิเสธว่า ตนไม่ใช่รัฐบาลทหาร แต่เป็นนักการเมือง ที่พูดอย่างนี้ ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก เพียงต้องการที่จะไม่ให้ตนเองต้องตกเป็นเป้าและลดแรงต่อต้านที่มีต่อรัฐบาลทหาร เพื่อให้ตนเองอยู่นานๆ และสามารถกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้ง แล้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นรัฐบาลอะไรกันแน่ รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลนักการเมืองความจริง เวลาที่เขาพูดถึงรัฐบาลทหารกันนั้น มักหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการใช้กำลังทหารหรือกองทัพเข้ายึดอำนาจ มีความหมายตรงข้ามกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารในความหมายนี้ มีอยู่ในประเทศไม่กี่ประเทศในโลกและถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจ จนพลเอกประยุทธ์ต้องพยายามชิ่งหลบว่า ตนเองเป็นนักการเมือง แต่พลเอกประยุทธ์ได้อำนาจมาในขณะที่ตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบกและใช้กำลังทหารหรือกำลังของกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง นับแต่นั้นมาพลเอกประยุทธ์จึงเป็นหัวหน้ารัฐบาลทหารตลอดมา แม้ต่อมาพลเอกประยุทธ์จะเกษียณอายุราชการและพ้นจากความเป็นผบ.ทบ.แล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยังมีอำนาจทางทหารอยู่ เนื่องจากมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช. ที่มี ผบ.ทบ.เป็นเลขาธิการ ในขณะนี้พลเอกประยุทธ์จึงยังคงเป็นหัวหน้ารัฐบาลทหารอยู่ หากหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าพลเอกประยุทธ์ใช้ระบบกลไกที่ได้สร้างไว้ รวมถึงฐานสนับสนุนจากกองทัพทำให้เป็นรัฐบาลต่อไปได้อีก รัฐบาลนั้นก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกเรียกว่ารัฐบาลหารอยู่นั่นเอง นอกจากนั้นใน 3-4 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ยังได้ใช้คำอธิบายที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างมาก ที่บอกว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถทำให้บ้านเมืองสงบได้ มีแต่ความวุ่นวาย ความรุนแรง ต้องให้รัฐบาลของตนเข้ามาควบคุมอำนาจ จึงจะทำให้บ้านเมืองสงบนั่น ก็คือ การสร้างหลักเหตุผลค่านิยมที่เกื้อกูลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหาร พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลทหารมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ยังเป็นอยู่ และต้องการเป็นไปอีกนาน ดังนั้น การที่พลเอกประยุทธ์ออกมาบอกว่า ตนเองเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหารจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอะไร หากแต่เป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมที่พลเอกประยุทธ์ต้องการใช้เพื่อลดกระแสคัดค้านรัฐบาลทหารและเพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจต่อไปอีกนานๆ เท่านั้นเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ค้านแก้ประกาศ ป.ป.ช.มูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์เจ้าหน้าที่รัฐ Posted: 05 Jan 2018 01:02 AM PST สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขประกาศ ป.ป.ช.เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง 5 ม.ค. 2561 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขประกาศ ป.ป.ช.เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง โดยระบุว่าตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช. มีแนวคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการให้หรือรับของขวัญนั้น แนวคิดดังกล่าวไม่มีเหตุผลใดที่จะมีน้ำหนักรองรับได้นอกจากการใช้อำนาจทุกวิถีทางที่จะเอื้อประโยชน์ให้กันและกันของผู้มีอำนาจเพื่อเลี่ยงกฎหมายจากกรณีข้อร้องเรียนของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ได้ร้องเรียน ป.ป.ช. กรณีการการทำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้จัดซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้ว 25,000 บาทเพื่อที่จะมอบให้กับบิ๊กฉัตรกับบิ๊กป๊อกเป็นที่ตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ การเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐให้มากกว่า 3,000 บาท ในปัจจุบัน เกี่ยวกับการให้หรือรับของขวัญให้เพิ่มมากขึ้นจะเป็นการกระตุ้นเพาะบ่มวิธีปฏิบัติของข้าราชการและนักการเมืองทุกระดับในระบบอุปถัมภ์ให้มากกว่าระบบคุณธรรมและจะกลายเป็นปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้นในอนาคตซึ่งขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญ "ปราบโกง" และขัดต่อเจตนารมณ์ของพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยและท้ายสุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ "ประชาชน" ที่ต้องไปติดต่อขออำนวยความสะดวกต่อข้าราชการและนักการเมืองซึ่งอาจจำใจที่จะต้องให้ของขวัญหรือทรัพย์สินจำนวนที่มากขึ้นเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ในการติดต่อราชการมากขึ้นนั่นเอง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอคัดค้านแนวคิดดังกล่าว และขอให้ป.ป.ช.แก้ไขปรับปรุงโดยการ "ตัดทิ้ง" มูลค่าของการให้และรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐให้เหลือเพียง "0 บาท" ยกเว้นการให้รับกันโดยธรรมจรรยาหรือในหมู่เครือญาตกันเท่านั้นจึงจะเชื่อได้ว่ารัฐบาลและ ป.ป.ช. มีเจตนาที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างแท้จริง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 05 Jan 2018 12:42 AM PST
คนดีมีใจแค่หนึ่งดวง นักประชาธิปไตยมีใจสองดวง "มาทางนี้สิ นักประชาธิปไตย "ฉันรับไว้ไม่ได้หรอกคนดี นักประชาธิปไตยนั่งร้องไห้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
20 ผู้ถูกควบคุมตัว หลังเหตุการปิดล้อมปูพรมบันนังสตา Posted: 04 Jan 2018 09:22 PM PST เพจ Wartani รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 เวลา 3.00 น. เจ้าหน้าที่สนธิกำลัง ปิดล้อมเเละควบคุมตัวชาวบ้าน หลายพื้นที่ ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยคุมตัวประชาชนจำนวน 20 คน ไปยัง ทพ.41 วังพญา ซึ่งมีภูมิลำเนาในพื้นที่ บันนังสตา ผู้ถูกควบคุมตัวมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 1. นายอายูซา มะแซะ 2. อาแว อาลีมามะ 3. แวอูเซ็ง กาซอ 4. มูฮัมหมัดกัสฟี มะตาเฮ 5. อะหะมะ มะตาเห 6. มูหะมะสกือรี หะยีปูเต๊ะ 7. อากีมิง เจ๊สมอเจ๊ะ 8. หามะ ชง 9. สุกรี เบ็ญยะโกะ 10. บัสรี เจ๊ะมะ 11. อีดาบาดุลลอฮ หะยีเจ๊ะเต๊ะ 12. บือราเฮง วานิ 13. ฮำดี มาแระ 14. รุสลัน ปาโฮะ 15. ตาเมซี วาเฮง 16. อัสลัน กะโด 17. มูฮำมัดชิบลี อาลีมามะ 18. อับดุลนาเสะ บาระตายะ 19. มูหามะ จิใจ 20. กอเซ็ง แอเสาะหะมะ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ป.ป.ช. ไม่รับไต่สวนคดีเช่าเหมาลำเครื่องบินไปฮาวายของ 'ประวิตร' Posted: 04 Jan 2018 09:11 PM PST ป.ป.ช. แถลงคดีเช่าเหมาลำเครื่องบินไปฮาวายของ 'ประวิตร' ชี้พยาน-หลักฐาน รวมทั้งรายงานของ สตง.ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำผิดระเบียบ จึงมีมติไม่รับไว้ดำเนินการไต่สวน เรียก 4 คนนอก แจงปม 'นาฬิกาเพื่อนประวิตร' 5 ม.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าของคดีอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ได้แก่ 1.คดีเงินทอนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตื (พ.ศ.) โครงการงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดปีงบประมาณ 2555-2558 เป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างปีงบประมาณ 2555-2558 แต่เพิ่มมีการกล่าวหาร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ในปี 2560 ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 133 วัด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วจำนวน 12 วัด ส่วนที่เหลืออีก 120 วัด อยู่ระหว่างขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดดจ้าหน้าที่ ของสำนักงาน (พ.ศ.) ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินงบประมาณอุดหนุนการบูรณสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด คือ คดีวัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งให้แถลงให้สื่อมวลชนทราบแล้ว 2.คดีโครงหารจัดหารที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 5 โครงการของบริษัท ปตท. กรีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ปัจจุบันองค์คณะได้มีการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 47 ราย และได้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการข้อเอกสารหลักฐานและร่วมสอบสวนพยานบุคคลแล้ว คาดว่าจะเสร็จในปี 2561 นายวรวิทย์ กล่าวว่า 3.คดีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ รอยช์ จำกัด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง เดือน มิ.ย. 2560 โดยมีความคืบหน้าดังนี้ 3.1 กรณีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) องค์คณะได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว 80% สอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว 60% ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับสำนักอัยการสูงสุดในการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญากับสหรัฐอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) 3.2 กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) องค์คณะได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเเล้ว 60% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้มีการประสานความร่วมมื่อกับสำนักง่นอัยการสูงสุดเพื่อขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญากับประเทศสหรัฐอเมริกา โดย 2 คดีการรวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างยาก เนื่องจากเหตุเกิดนานแล้ว ระหว่างปี 2546-2547 และการรวบรวมพยานหลักฐานต้องรอพยานหลักฐานจากต่างประเทศ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่สามารถทราบกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า 4.คดีการเช่าเครื่องบินเหมาลำของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปประชุมที่รัฐฮาวายประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 แล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานจากการแสวงหาข้อเท็จจริงประกอบการรายงานการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำผิดระเบียบแต่อย่างใด จึงมีมติไม่รับไว้ดำเนินการไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. 5.คดีการอนุมัติเข้าใช้ที่ดินสาธารณะป่าห้วยเม็ก หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไดยมิชอบด้วยกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานว่าการดำเนินการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ และ 6. เรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพาที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน จากการตรวจสอบข้อมูลไม่พบว่ามีผู้กล่าวหาร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เรียก 4 คนนอก แจงปม 'นาฬิกาเพื่อนประวิตร' ด้าน เว็บไซต์ BBC Thai รายงานว่าในระหว่างแถลงความคืบหน้าคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือเชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องรวม 4 คน เข้าให้ข้อมูลเรื่องการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หลังเจ้าตัวส่งหนังสือชี้แจง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ซึ่งในการให้ข้อมูลมีนัดหมายทั้งในและนอกสถานที่ อย่างไรก็ตามไม่ขอเปิดเผยรายชื่อคนนอกทั้ง 4 คน แต่เป็นภาคเอกชนทั้งหมด และไม่ขอระบุสถานะด้วยว่าเป็น "เพื่อน" ของ พล.อ.ประวิตรตามข่าวที่ออกมาหรือไม่ ส่วนรายละเอียดในหนังสือชี้แจงของ พล.อ.ประวิตรได้ชี้แจงเฉพาะนาฬิการิชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) เรือนแรก หรือชี้แจงที่มาเรือนอื่นๆ ตามที่สื่อสังคมออนไลน์อ้างว่ามีถึง 15 เรือนนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. อุทานว่า "มี 15 เรือนแล้วหรือครับ ก็ตรวจสอบทุกเรือนล่ะครับที่เป็นข่าว" อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตรวานนี้ (4 ม.ค.) เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมภายใน 15 วัน โดยมีทั้งประเด็นนาฬิกาและแหวนเพชร ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.จะให้คำแนะนำอย่างไรต่อนักการเมืองในการยืมทรัพย์สินมีค่าของบุคคลที่ 3 มาใช้งาน เลขาธิการ ป.ป.ช. ตอบว่า "ก็อยู่ที่ความสัมพันธ์ เราก็มีเพื่อนใช่ไหมครับ และก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน" ส่วนในการตรวจสอบ ป.ป.ช. ให้ความสนใจเฉพาะกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชี ยื่นเท็จ หรือปกปิด หรือรวมถึงกรณีร่ำรวยผิดปกติด้วยนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าดำเนินการทุกประเด็น "ประเด็นนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน จะพยายามสรุปผลสอบให้ได้ภายในเดือน ม.ค. แต่ถ้ามีคนภายนอกต้องสอบสวนเพิ่มเติม ก็อาจช้าไปอีกเล็กน้อย" เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ ส่วนจะต้องไปตรวจสอบข้อมูลจากเพจ CSILA ที่เป็นผู้เปิดประเด็นนาฬิกาหรูรายวัน และบริษัทนำเข้านาฬิกาหรูริชาร์ด มิลล์ หรือไม่นั้น นายวรวิทย์กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ไปดูรายละเอียด ถ้าจำเป็นก็ต้องให้ไปดำเนินการตรวจสอบ การตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรเกิดขึ้นหลังเขาตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 หรือ 33 วันก่อน เนื่องจากในระหว่างรอถ่ายรูปหมู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 5" พล.อ.ประวิตรได้ยกมือขึ้นบังแดด ก่อนกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย เมื่อแสงสะท้อนจากแหวนเพชรเม็ดโตที่นิ้วไปแยงตาช่างภาพสื่อมวลชน ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์สังเกตเห็นนาฬิกาที่ข้อมือของรองนายกฯ เป็นยี่ห้อ ริชาร์ด มิลล์ สนนราคาตั้งแต่หลักล้านถึง 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแหวนเพชรและนาฬิกาหรูดังกล่าว ไม่ปรากฏในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ พล.อ.ประวิตรแจ้งต่อ ป.ป.ช. ตอนเข้ารับตำแหน่งปี 2557 ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันเพียง 87 ล้านบาท ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่เจ้าตัวได้แต่ "นิ่งเงียบ" และปฏิเสธจะตอบคำถามสื่อโดยกล่าวเพียงว่า "เดี๋ยวผมขอตอบทาง ป.ป.ช.เขาเลย" พร้อมยืนยัน "ทำงานมาไม่เคยมีเรื่องทุจริต" ถึงปัจจุบันนักขุดเจาะในโลกออนไลน์ได้ตามสำรวจนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร พบว่ามีถึง 15 เรือนแล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลไทยถอนฟ้องนักข่าว Posted: 04 Jan 2018 08:48 PM PST ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ๆ 5 ม.ค. 2561 ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนระบุว่าทางการไทยควรถอนข้อกล่าวหาต่อนายจามร ศรเพชรนรินทร์ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้จามรกำลังถูกสอบสวนเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่เหมืองแร่ทองคำแบบเปิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้จับกุมจามรตอนเช้าวันที่ 29 พ.ย. 2560 ขณะที่เขากำลังข้ามพรมแดนเข้าสู่พม่าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน "สื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารมีส่วนช่วยเผยแพร่และทำให้สังคมได้ยินเสียงของชาวบ้าน" จามร ศรเพชรนรินทร์ อายุ 35 ปี กล่าวกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ "ถ้าสื่อมวลชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น หรือต้องถูกตอบโต้เนื่องจากการนำเสนอข้อมูล ย่อมทำให้สังคมไม่ได้ยินเสียงของชุมชนในท้องถิ่น" ในวันที่ 8 ม.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย จะแจ้งผลการสืบสวนว่าจะส่งฟ้องคดีของจามรให้กับอัยการจังหวัดเลยหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าเขามีความผิด เขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ/หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ศาลจังหวัดเลยออกหมายจับจามรตามมาตรา 83, 362, และ 365 ตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหา "รบกวนการครอบครอง" หรือข้อหาบุกรุก เข้าพื้นที่เหมืองทองคำแบบเปิด ซึ่งเดิมอยู่ใต้การบริหารจัดการของบริษัททุ่งคำ จำกัด เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้จับกุมจามรตอนเช้าวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ด่านบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และได้ส่งตัวเขาไปให้เจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจภูธรวังสะพุงควบคุมตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และเขาได้รับการประกันตัวออกไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 จามรกล่าวกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ก่อนจะถูกจับกุม เขาไม่ทราบมาก่อนว่าเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนว่าเขาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดๆ และไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนว่าจามรเกี่ยวข้องหรือไม่กับการปักธงเขียวและใช้ปูนขาวเขียนข้อความ "ปิดเหมือง ฟื้นฟู" บนพื้นดินบริเวณเหมืองแบบเปิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 คดีนี้เป็นหนึ่งใน คดีแพ่งและอาญา หลายคดีที่มีการฟ้องเพื่อเล่นงานชาวบ้าน ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัท ทุ่งคํา จํากัด คดีเหล่านี้ถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อการคุกคาม ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนว่าความให้กับชาวบ้านที่เลยและจามรในคดีแพ่งและอาญาหลายคดี ในวันที่ 25 พ.ย. 2559 ศาลจังหวัดเลยได้ยกฟ้องคดีต่อ สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และพรทิพย์ หงชัยในข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วงในปี 2558 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยศาลมีความเห็นว่านักกิจกรรมทั้งสองคนไม่มีความผิด เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานมากเพียงพอว่าบริษัทเหมืองเป็นเจ้าของที่ดินในขณะที่เกิดเหตุขึ้น "สิทธิในการประท้วงรวมทั้งสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรีและสิทธิในการชุมนุม ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ" เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว "ข้อกล่าวหาต่อจามรเป็นข้อหาที่ไม่เหมาะสมและเจ้าหน้าที่ควรยุติคดีดังกล่าวโดยไม่ชักช้า" การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคมได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ในระหว่างการทบทวนตามวาระกรณีการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวล กับ "การดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรและผู้สื่อข่าว…," และกระตุ้นประเทศไทยให้ "… ประกันการเข้าถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกในทุกรูปแบบ" ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคมได้ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกของบริษัทเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และสนับสนุนศาลที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากขัดขวางผลประโยชน์ของเอกชน ในวันที่ 21 พ.ย. 2560 พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศว่า รัฐบาลกำหนดให้ "สิทธิมนุษยชน" เป็นวาระแห่งชาติระหว่างปี 2561-2562 และแสดงพันธกิจที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน จะมีการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ๆ "ทางการไทยควรทำให้สังคมประจักษ์ถึงพันธกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติให้ดู ไม่ใช่แค่ให้สัญญาเฉย ๆ" สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว "พวกเขาควรถอนข้อกล่าวหาต่อจามรและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข นั่นจะนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี!" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไอซ์แลนด์เปิดศักราชใหม่ บังคับใช้กฎหมายนายจ้างต้องจ่ายชาย-หญิงเท่ากัน Posted: 04 Jan 2018 08:23 PM PST ไอซ์แลนด์เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่จากการเลือกตั้งคือ แคตริน ยาคอบโดฮตีร์ ผู้เคยเป็นประธานขบวนการฝ่ายซ้ายเขียว ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2560 และรัฐบาลของเธอก็เริ่มศักราชใหม่ด้วยการทำให้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายให้หญิงและชายต้องได้รับค่าแรงเท่าเทียมกัน 5 ม.ค. 2561 หลังจากที่ไอซ์แลนด์เคยออกกฎหมายส่งเสริมให้มีการจ่ายค่าแรงเท่าเทียมระหวางเพศในช่วงหลายปีที่ผานมา ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ม.ค. 2561) รัฐบาลไอซ์แลนด์นำโคย แคตริน ยาคอบโดฮตีร์ ผู้ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายที่จะสั่งปรับนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ดักนี โอชค์ อราโดฮตีร์ ปินด์ จากสมาคมสิทธิสตรีไอซ์แลนด์ กล่าวว่าไอซ์แลนด์มีกฎหมายให้ชายและหญิงควรได้รับค่าจ้างเท่ากันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีช่องว่างระหว่างค่าจ้าง แต่ทางนักรณรงค์สิทธิสตรีก็สามารถสร้างความตระหนักรู้และทำให้ผู้คนเข้าใจว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังใช้ไม่ได้จึงต้องทำอะไรมากว่านี้ กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ล่าสุดของไอซ์แลนด์ระบุว่าบริษัทที่จ้างพนักงานมากกว่า 25 คนจะต้องพิสูจน์กับรัฐบาลให้ได้ว่าพวกเขาจ่ายค่าจ้างให้ชายและหญิงเท่ากัน ทางการไอซ์แลนด์หวังว่ามาตรการใหม่นี้จะทำให้ไอซ์แลนด์แก้ปัญหาค่าจ้างระหว่างเพศไม่เท่าเทียมกันได้ทั้งหมดภายในปี 2563 ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นประเทศสายก้าวหน้าและเป็นแบบอย่างของเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่ในรัฐสภามีผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนฯ อยู่เกือบครึ่งหนึ่ง ผู้ที่สนับสนุนกฎหมายใหม่นี้บอกว่าพวกเขาจะไม่สามารถทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ได้ถ้าหากว่าไม่มีผู้หญิงอยู่ในสภามากขนาดนี้ ตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศเกาะเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความเท่าเทียมกันทางเพศอยู่ในระดับต้นๆ มาตลอดจากข้อมูลรายงานช่องว่างระหว่างเพศของของเวิร์ลอิโคโนมิคฟอรัม (WEF) ไอซ์แลนด์สามารถลดช่องว่างระหว่างเพศได้ร้อยละ 10 นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเรียบเรียงรายงานของ WEF ในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยในรายงานของพวกเขาระบุถึงช่องว่างระหว่างเพศในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทางการเมือง, โอกาสทางเศรษฐกิจ, การเข้าถึงการศึกษา และค่าตอบแทน ในขณะที่ไอซ์แลนด์บรรลุเป้าหมายในเรื่องค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศได้ ประเทศสหรัฐฯ ยังคงตามหลังในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเชื่องช้าโดยผู้หยิงยังคงได้รับค่าแรงร้อยละ 83 เทียบกับของผู้ชาย ขณะที่ในสภาคองเกรสมีผู้หญิงอยู่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทำให้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 49 ของตารางรายงานความเท่าเทียมทางเพศของเวิร์ลอิโคโนมิคฟอรัม (ไทยอยู่อันดับที่ 75 จากรายงานในปี 2560) สมาคมสตรีมหาวิทยาลัยอเมริกันเคยประเมินว่าถ้ายังคงมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมด้านรายได้ในระดับความเร็วของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หญิงอเมริกันจะต้องอไปจนถึงปี 2662 ถึงจะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับชาย รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่คิดจะพัฒนาในเรื่องนี้จากการที่ทรัมป์สั่งระงับข้อกำหนดสมัยโอบามาที่กำหนดให้นายจ้างต้องให้ข้อมูลการจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรมกับรัฐบาล เรื่องน้ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนแสดงความยินดีกับไอซ์แลนด์ไปพร้อมๆ กับพูดถึงปะเทศตัวเองที่ไม่สามารถมีความก้าวหน้าแบบเขาได้ เบอร์นี แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตระบุในเพจเฟซบุ๊กของตัวเองว่า "พวกเราจะต้องเดินรอยตามตัวอย่างของพี่น้องพวกเราในไอซ์แลนด์ และเรียกร้องค่าแรงที่เท่ากัน งานที่เท่ากันเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ เชื้อชาติ เพศวิถี หรือสัญชาติใด" เรียบเรียงจาก Iceland Becomes First Country to Punish Companies for Paying Women Less Than Men, Common Dreams, 02-01-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น