โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ตำรวจนครบาลแจกสติกเตอร์ปกป้องสถาบัน 100,000 ใบ

Posted: 12 Aug 2011 05:21 AM PDT

จัดพิมพ์สติกเกอร์  "ปกป้องสถาบัน" ส่วนแบบที่ 2 ระบุคำว่า "เทิดทูนสถาบัน" สีชมพูกับสีเหลือง 100,000 ใบ แจกจ่ายให้กับหน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล นำไปติดรถยนต์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าพล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 (ผบก.น.7) เป็นประธานในการแจกจ่ายสติกเกอร์ "ปกป้องสถาบัน เทิดทูนสถานบัน" ณ กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 ถนนบรมราชชนนี โดยมี รองผู้บังคับการและผู้ใต้ผู้บังคับบัญชา ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดทำโครงการขึ้น เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกในการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัด จึงได้จัดทำสติกเกอร์ จำนวน 2 แบบ มีขนาดยาว 27 ซ.ม. กว้าง 7 ซ.ม.จัดพิมพ์ระบุข้อความคำว่า "ปกป้องสถาบัน" ส่วนแบบที่ 2 ระบุคำว่า "เทิดทูนสถาบัน" จัดทำมาจำนวนทั้งหมด 2 สี คือ สีชมพูกับสีเหลือง โดยจัดพิมพ์ออกมาทั้งหมด 100,000 ใบ เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล นำไปติดรถยนต์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนท่านใด ที่สนใจต้องการรับสติกเกอร์ ก็สามารถติดต่อขอรับได้ที่ สถานีตำรวจนครบาล ใกล้เคียง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลขา ครป. จี้ "ยิ่งลักษณ์" มีจริยธรรมตามระเบียบสำนักนายกฯ ยุคพรรคพลังประชาชน

Posted: 12 Aug 2011 04:48 AM PDT

12 ส.ค. 54 - สุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เผยแพร่บทความ "อำนาจของนายกรัฐมนตรีกับจริยธรรมของนักการเมือง" จี้นายกต้องมีจริยธรรมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551

อำนาจของนายกรัฐมนตรีกับจริยธรรมของนักการเมือง

สุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

๑.คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ ระหว่างอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรเป็นจำเลยที่ ๑. คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ ๒. ได้วินิจฉัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนว่า

“นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งการให้ส่วนราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการที่มีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่นชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ซึ่งสังกัดกระทรวงทบวงกรมและส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย ส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่างๆ มาตรา ๒๐ แห่งพระราชาบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่าอำนาจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๑๑ กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการขัดหรือแย้งหรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี....”

กรณีคดีซื้อขายที่ดินรัชดาดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ มีความผิด ให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี

๒.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. สรรหา และคณะ ๒๙ คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกรณีไปจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยง ๖ โมงเช้า" ก็วินิจฉัยว่า นายสมัคร มีความผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

๓.มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๒ กรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีขณะนั้นกับพวก รู้เห็นเป็นใจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมโดยสงบ ในบริเวณหน้ารัฐสภา บริเวณถนนพิชัย บริเวณถนนสุโขทัย และบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายแก่กาย และจิตใจ ประมาณ 400 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 6 คน และถึงแก่ความตาย 2 คน เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ นั้น

กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว ปปช. ก็ได้มีมติชี้มูลว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ผู้เขียนอ้างถึงข้างต้นนั้น ก็เพื่อยืนยันว่าในการบริหาราชการแผ่นดินนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งการหรือยับยั้งการสั่งการข้าราชการได้ทุกตำแหน่ง ทุกกระทรวง กรม กอง

อำนาจของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นดาบสองคมที่ให้คุณและให้โทษแก่ผู้นำประเทศ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีที่ไม่ดี ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ที่ไม่ปกป้องประโยชน์ของประเทศ ที่ไม่ใยดีต่อความเดือดร้อนทุกข์ยากหรือความเป็นตายของประชาชน ในที่สุดนายกรัฐมนตรีเช่นนั้นก็จะถูกพิพากษาลงโทษ

กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก ๒ ปี ก็เพราะใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแสวงหาประโยชน์เพื่อตนและครอบครัว

กรณีนายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็เพราะใช้อำนาจและตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อไปแสวงหาประโยชน์แห่งตน

การเข้ามาดำรงตำแหน่งทางเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม ปกป้องประเทศชาติประชาชน หรือแก้ผิดให้เป็นถูกเพื่อพี่น้องบริวารว่านเครือหรือไม่

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ จะต้องสรุปบทเรียนให้ได้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินอย่างไร เป็นตัวของตัวเองทำหน้าที่เพื่อชาติหรือเป็นร่างทรงของพี่ชายไปในทางที่ไม่ชอบเมื่อไหร่ บทเรียนที่ผ่านมาย่อมปรากฎชัดเจนแล้วว่าจุดจบเป็นอย่างไร

จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ซึ่งได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2551 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เช่น 

- ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-  ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

-  ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

-  ต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

-  ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด

-  ต้องรักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

-  พึงพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

-  ต้องไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

-  ต้องรักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ เท่านั้น

-  ต้องแสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เป็นต้น

นี่ไม่ใช่เรื่อง "สองมาตรฐาน" หรือ "การกลั่นแกล้งทางเมือง"  แต่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด คนทั้งสังคมเห็นร่วมกันและนักการเมืองเองก็ยอมรับและออกในสมัยที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล

จึงเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนชาวไทยที่จะต้องติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป. 

ที่มาข่าว:

https://www.facebook.com/notes/คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย-ครป/อำนาจของนายกรัฐมนตรีกับจริยธรรมของนักการเมือง/219373294776995
  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่กู..แม่ประชาชน

Posted: 12 Aug 2011 03:48 AM PDT

 
แม่กูเป็นชาวนาอยู่ในป่าอยู่ในไร่

เหงื่อหยาดท่วมกายกลางแดดกล้า

อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หมดราคา

เป็นคนป่าคนดอยต้อยติดดิน

แม่กูเป็นคนจนยิ่งกว่าจน

ก้มหน้ายอมทนเหนื่อยหนักหนา

โดนประณามหยามเหยียดเจ็บอุรา

ไม่เป็นไรแม่บอกว่าเรามันจน

ยังจำได้ห้วงร้ายในคืนฝน

หนาวเหลือทนแม่กอดอย่าหวั่นไหว

ฝนตกมาคงหยุดไม่เป็นไร

ในอ้อมกอดอุ่นไอแม่ดูแล

ยังจำได้ในยามหิวมันแสบใส้

แม่มองลูกน้ำตาไหลเศร้าหนักหนา

อดทนไว้เป็นลูกแม่อย่าคณา

จงยึดมั่นศรัทธาเหนืออื่นใด

แม่บอกว่าคนแบบเรามีอีกมาก

อยู่เหมือนคนตายซากในยุคสมัย

รัฐชั่วศักดินามันกดไว้

เป็นวัวควายให้มันได้ไล่ตี

ต่อจากนี้ให้เจ้าจงจำไว้

ไม่มีใครยิ่งใหญ่เป็นคนกล้า

เลือดของประชาชนสำคัญกว่า

จำไว้หนาลูกยาประชาชน
                                                        
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“จุติ” ทิ้งทวนจี้ "อนุดิษฐ์" ปราบเว็บหมิ่นสถาบัน

Posted: 12 Aug 2011 03:43 AM PDT

 

12 ส.ค. 54 - นายจุติ ไกรฤกษ์ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงการติดตามการทำงานของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคนใหม่ว่า ส่วนตัว เชื่อว่า น.อ.อนุดิษฐ์ จะทำหน้าที่ได้ดี เพราะมีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังเป็นห่วงในประเด็นการปราบปรามเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบัน ซึ่งหวังว่า น.อ.อนุดิษฐ์ ที่เป็นทหารมาก่อน และเคยสาบานตนในการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะติดตามในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ นายจุติ ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า เรื่องดังกล่าวนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ อาจจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าตน เพราะเป็นผู้ที่รู้ตื้นลึกหนาบางดี ส่วนนโยบายพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G นั้น ตนไม่หนักใจว่า จะได้รับผลกระทบเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะทุกอย่างเป็นสมบัติของประชาชน เชื่อว่าคนที่เข้ามาดูแลก็มีความตั้งใจทำให้สมบัติของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนากับวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์

Posted: 12 Aug 2011 03:30 AM PDT

เพื่อนทางเฟซบุ๊คของผมคนหนึ่งระบายความในใจว่า บังเอิญเขาไปโต้แย้งกับพระรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวงการกิจกรรมทางสังคมด้วยกัน เพราะนึกว่าท่านจะใจกว้างแต่ที่ไหนได้กลับโดนท่านกล่าวหาว่า “กำเริบเสิบสาน” ซึ่งคำว่า “กำเริบเสิบสาน” มันมีความหมายขัดแย้งกับความเท่าเทียมในความเป็นคนอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้

ผมเองพอจะเข้าใจความรู้สึก “รับไม่ได้” ของเพื่อนคนดังกล่าว และเข้าใจดีว่าการที่เรานั่งถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของกันและกันบนพื้นฐานความเท่าเทียมในความเป็นคนไม่ได้กับพระสงฆ์นั้น เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย หากจะมีพระบางรูปที่เปิดใจรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ นั่งถกเถียงกับเราได้อย่างไม่ถือสูง-ต่ำ ต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษมากๆ

ที่เป็นเช่นนี้ ผมคิดว่ามีสาเหตุหลักๆ อย่างน้อย 3 ประการ คือ

ประการแรก สถานะของพระสงฆ์ไทยนั้นมีลักษณะเป็นชนชั้นในสองความหมาย คือ

1) เป็นสถานะที่เชื่อกันว่าสูงกว่าฆราวาสในทางธรรม เช่น ที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า โยมมีศีลแค่ 5 ข้อ พระมี 227 ข้อ (รักษาได้ครบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ฉะนั้น พระสงฆ์จึงอยู่ในฐานะที่เราต้องเคารพกราบไหว้ เชื่อฟังคำสั่งสอน และกตัญญูรู้คุณท่าน

เดิมทีสถานะเช่นนี้อาจมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่มาก เนื่องจากแหล่งการศึกษาของประชาชนมีเพียงวังกับวัด พระสงฆ์มีบทบาทเป็นครูบาอาจารย์ที่สอนทั้งความรู้ทางธรรมทางโลกปะปนกันไป แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว สถานะเหนือกว่าของพระสงฆ์ การเรียกร้องการยอมรับนับถือจากสังคมโดยที่พระสงฆ์สูญเสียบทบาทของความเป็นครูบาอาจารย์แบบดั้งเดิมไปแล้วนั้น จึงอาจถูกตั้งคำถามจากผู้คนบางส่วนได้

2) พระสงฆ์ถูกสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ หรือมีศักดินาพระ ฉะนั้น เมื่อมีสถานะที่เชื่อว่าเหนือกว่าในทางธรรมบวกกับวัฒนธรรม “ยศช้างขุนนางพระ” ยิ่งทำให้พระสงฆ์รู้สึกว่าตนเองสูงส่งกว่า หรืออยู่เหนือกว่าฆราวาสทั่วไปมากยิ่งขึ้น

มันจึงเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ตามเพียงแค่เปลี่ยนสถานะจากฆราวาสเป็นพระภิกษุได้ไม่นาน ก็รู้สึกได้ทันทีว่าตนมีสถานะสูงกว่าฆราวาส มักมีแนวโน้มที่จะไม่ฟังความคิดเห็นจากฆราวาส โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งคิดว่าตนเองรู้ดีกว่า เมื่อเทศนาหรือแสดงทัศนะทางศาสนา หรือทัศนะทางสังคมการเมืองที่อ้างอิงจุดยืนของพุทธศาสนาก็มักคิดว่า ตนเองกำลังประกาศ “สัจธรรม” ที่ใครๆ จะโต้แย้งไม่ได้ (คนโต้แย้งไม่รู้จริง มีอคติ กระทั่งเป็นมิจฉาทิฐิ)

ประการที่สอง มีบางคน (วิจักขณ์ พานิช) เคยตั้งข้อสังเกตว่า มันอาจผิดตั้งแต่แรกที่เราไปใช้คำ “ราชาศัพท์” กับพระพุทธเจ้า เพราะที่จริงแล้วไม่สมควรทำเช่นนั้นโดยประการทั้งปวง เนื่องจาก 1) เจ้าชายสิทธัตถะสละสถานะชนชั้นกษัตริย์เป็นคนธรรมดาตั้งแต่ออกบวชแล้ว 2) เมื่อตรัสรู้แล้วยิ่งไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ เลย ยิ่งไม่ควรจะใช้คำราชาศัพท์ที่เป็นการยกสถานะของพุทธะให้สูงเหนือมนุษย์เลย ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธะกับเราควรเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคในความเป็นคน

แต่วัฒนธรรมการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ และใช้ราชาศัพท์กับพระสงฆ์เป็นวัฒนธรรมที่ยกให้พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์อยู่เหนือหลักความเสมอภาคในความเป็นคน ซึ่งขัดแย้งกับเรื่องของการละอัตตาหรือตัวกูของกู เพราะวัฒนธรรมเช่นนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มอัตตาหรือตัวกูของกูให้ใหญ่เกินปกติ ทำให้ “พระกับเจ้า” อยู่ในประเภทเดียวกันอย่างที่เรียกว่า “พระสงฆ์องค์เจ้า” ฉะนั้น พระกับเจ้าก็เลยแตะไม่ได้

วัฒนธรรมเช่นนี้อาจเข้มข้นมากเป็นพิเศษในพุทธเถรวาทแบบไทย ส่วนพระสงฆ์มหายานนั้นเขาไหว้ หรือทำความเคารพฆราวาสได้ และดูเหมือนจะอ่อนน้อมมากๆ ด้วย

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ต้องการเรียกร้องให้พระไทยทำแบบพระมหายาน แต่ต้องการชี้ให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาว่า ทำไมพระไทยจึงไม่มีวัฒนธรรมเปิดใจรับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือร่วมถกเถียงเหตุผลกับฆราวาสบนจุดยืนความเสมอภาคในความเป็นคน

ประการที่สาม ชาวพุทธไทยมักมองการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ อย่างที่อ้างกันว่าต้องดูจิตตัวเองเท่านั้น อย่าไปวิจารณ์คนอื่น วิจารณ์สังคม ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์

ความเข้าใจดังกล่าวนี้ถือว่าคลาดเคลื่อนอย่างถึงราก เพราะพุทธศาสนาอุบัติขึ้นภายใต้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอินเดียโบราณที่มีการะปทะทางความคิดความเชื่อของลัทธิปรัชญาและศาสนาต่างๆ มากมาย การเผยแผ่พุทธธรรมตั้งแต่ปฐมเทศนาพระพุทธเจ้าก็วิจารณ์ลัทธิกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคแล้ว (วิจารณ์แบบไม่มีชิ้นดีเลย) เมื่อสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็วิจารณ์และปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก สอนอนัตตาก็วิจารณ์ความเชื่อเรื่องอัตตา และยังวิจารณ์ระบบชนชั้น วิจารณ์การนับถือต้นไม้ภูเขาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ วิจารณ์พิธีล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ พิธีบูชายัญญ์ เป็นต้น

ในเรื่องทางจิตใจพระพุทธเจ้าก็ไม่สอนให้ทำสมาธิให้จิตนิ่งสงบแบบทื่อๆ แต่ให้สงบเพียงเพื่อใช้ “วิปัสสนา” คือ การวิจารณ์กิเลส วิจารณ์เล่ห์กลต่างๆ ของอัตตาตนเองเพื่อเกิดปัญญารู้เท่าทัน และไม่ถูกทำให้เป็นทุกข์ทางจิตใจ

หลักกาลามสูตรนั้นชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าต้องการให้เราใช้เสรีภาพทางปัญญาอย่างถึงที่สุด และพระองค์ยังเคยเตือนชาวพุทธว่า หากใครมาติเตียนพระรัตนตรัยก็อย่าโกรธ แต่พึงมีสติชี้แจงไปตามความเป็นจริง

ฉะนั้น พุทธแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และมีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองตามหลักกาลามสูตร และหลักการไม่ควรโกรธคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดแจ้ง

แต่ที่พระสงฆ์และสังคมพุทธบ้านเราปัจจุบันแปลกแยกจากวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพุทธเถรวาทแบบไทยถูกพัฒนามาภายใต้วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย “ภิกษุ” ซึ่งแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” หรือแปลว่า “ผู้ขอ” ที่มีชีวิตอยู่เนื่องด้วยการอาศัยปัจจัยดำรงชีพจากผู้อื่น ถูกยกสถานะให้เป็นอีกชนชั้นหนึ่ง อยู่ในประเภทเดียวหรือเป็นพวกเดียวกับเจ้า เป็น “พระสงฆ์องค์เจ้า” จึงสำคัญตัวเองว่า ใครๆ จะแตะต้องไม่ได้

ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไป วัฒนธรรมชนชั้นแบบ “ยศช้างขุนนางพระ” ย่อมจะถูกท้าทายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่าชาวพุทธและพระสงฆ์ที่ยืนยันว่าศาสนาพุทธเป็น “ศาสนาแห่งเหตุผล” จะเผชิญกับการท้าทายอย่างสร้างสรรค์ได้แค่ไหน อย่างไร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้อาศัยบ้านเอื้ออาทรรังสิตประท้วงเก็บค่าส่วนกลาง

Posted: 12 Aug 2011 03:18 AM PDT

ผู้อาศัยบ้านเอื้ออาทรรังสิต จ.ปทุมธานี กว่า 300 คน ประท้วง เก็บค่าส่วนกลางล่วงหน้า จี้บังคับให้ผู้เช่าอยู่อาศัยจะต้องติดตั้งจานดาวเทียมจากบริษัททรูเท่านั้น ห้ามติดตั้งจานดำเด็ดขาด

12 ส.ค. 54 -  สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าได้มีชาวบ้านเอื้ออาทร รังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้รวมตัวกันที่หน้าสำนักงานของหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิต คลองหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่เช่าอยู่อาศัยมาตั้งแต่เปิดโครงการได้หมดสัญญาลง และทางโครงการได้เรียกเก็บค่าส่วนในการต่อสัญญาเช่าห้องในพื้นที่ขนาด 24 ตร.ม. เรียกเก็บห้องละ 192 บาท และจะต้องจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน เป็นเงิน 576 บาท และห้องแบบ 33 ตร.ม.เรียกเก็บห้องละ 250 บาท จ่ายล่วงหน้า 3 เดือน 750 บาท นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าประกันอัคคีภัยห้องชุดแบบ 24 ตร.ม. 103 บาทต่อ 6 เดือน และห้องชุดแบบ 33 ตร.ม. 140 บาทต่อ 6 เดือน นอกจากนี้ ยังบังคับให้ผู้เช่าอยู่อาศัยจะต้องติดตั้งจานดาวเทียมจากบริษัททรูเท่านั้น ห้ามติดตั้งจานดำเด็ดขาด

ซึ่งทางผู้เช่าห้องชุดต่างๆ จะต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับสำนักงานเคหะชุมชนรังสิต ภายในวันที่ 10 ส.ค. 54 และหากครบกำหนดแล้วยังไม่ดำเนินการชำระค่าใช้จ่าย ทางสำนักงานจะต้องดำเนินการบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป ส่วนชาวบ้านที่ได้รวมตัวกันประท้วงในครั้งนี้ ต่างไม่พอใจผู้บริหารของการเคหะฯ ทำให้การเจราจายังไม่เป็นที่ตกลงกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เครือข่ายลุ่มน้ำยม” เสนอแนวทาง “ยิ่งลักษณ์” แก้ไขน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

Posted: 12 Aug 2011 03:04 AM PDT

12 ส.ค. 54 - เครือข่ายลุ่มน้ำยมออกจดหมายเปิดผนึกถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 



 

จดหมายเปิดผนึก

ถึง

ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

วันที่ 12 สิงหาคม 2554

เรื่อง      แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

เรียน      ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จากสถานการณ์ น้ำท่วมลุ่มน้ำยมที่ผ่านมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีการเสนอให้มีการทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ของประเทศไทย ให้มีการบูรณาการแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอให้มีการปรับแก้ระเบียบราชการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนและทันต่อสถานการณ์

เครือข่ายลุ่มน้ำยม ได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์สภาพปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ของลุ่มน้ำยมมาอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะได้มีการทบทวนแผนการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำแบบบูรณาการ และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งเน้นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หัวใจสำคัญของแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ต้องเน้นการพัฒนาที่มาจากชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา การวางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำจึงต้องมีมิติแบบองค์รวมไม่มองน้ำแยกส่วนจากทรัพยากรในลุ่มน้ำ  ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ จึงควรขับเคลื่อนไปด้วยกันในการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำ อาทิ การจัดการที่ดิน การเกษตรบนที่สูง การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโฉดชุมชน การจัดการน้ำชุมชน การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่าชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีในการอนุรักษ์ป่าของพีน้องชนเผ่า ฯลฯ ล้วนเป็นมิติที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ

เครือข่ายลุ่มน้ำยม ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้

1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน โดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ

2.การผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผนและสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม

3.แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีของลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

4.แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในกรณีของลุ่มน้ำยม มีอยู่ 96 ตำบล ใช้งบประมาณไม้เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่

5.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน เป็นต้น

6.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก)

7.การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

8.การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

9.การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง มากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น

จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า แม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว อาทิ ลุ่มน้ำปิง มีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ลุ่มน้ำน่าน มีเขื่อนสิริกิตต์ แต่ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ดังน้ำข้ออ้างที่ว่าหากมีเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน หรือ เขื่อนยมล่าง แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง ในทางกลับกัน เขื่อนขนาดใหญ่ดังกล่าว จะนำไปสู่การทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย กว่า 24,000 ไร่ และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่ รวมพื้นที่ป่าที่จะศูนย์เสียไปกว่า 60,000 ไร่ จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งในการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยม และลุ่มน้ำยม อีกทั้งยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ

1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่า สึนามิหลายเท่า

2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ดังนั้น เครือข่ายลุ่มน้ำยม จึงขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ยุติการสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่กั้นแม่น้ำยม และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และผลักดันการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำสืบต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายลุ่มน้ำยม

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮอร์ นัม ฮง

Posted: 11 Aug 2011 11:45 PM PDT

ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในความพยายามระหว่างผมและ ฯพณฯ ว่าจะสามารถเติมเต็มซึ่งความมุ่งมาดปรารถนาแก่ประชาชนในประเทศของเราทั้งสองในอันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองกลมกลืนและแบ่งปันความรุ่งเรืองแก่กันและกัน

ฮอร์ นัม ฮง เชิญรมต. ต่างประเทศของไทยเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น