โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คุก 6 เดือน-ปรับ 5 หมื่น "สนธิ ลิ้มทองกุล" หมิ่นประมาทตระกูลดามาพงศ์ ศาลให้รอลงอาญา 3 ปี

Posted: 03 Aug 2011 11:30 AM PDT

ด้าน "สนธิ ลิ้มทองกุล" ให้สัมภาษณ์สื่อจวก กกต. เร่งรับรองผลการเลือกตั้ง สะท้อนต้นเหตุการเมืองล้มเหลว เผยจะให้โอกาสรัฐบาล "เพื่อไทย" ทำงาน หากยังยึดหลักธรรมาภิบาล แต่ถ้าแก้กฎหมายให้พวกพ้อง - จาบจ้วงสถาบันฯ พันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหว

"สนธิ" วิจารณ์ กกต. เร่งรับรองผลการเลือกตั้ง สะท้อน กกต.ต้นเหตุการเมืองล้มเหลว
เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวระหว่างไปรับฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทตระกูลดามาพงศ์ ที่ศาลอาญา โดยนายสนธิตำหนิการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เร่งรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์การทำหน้าที่แท้จริงของ กกต. เพราะหากทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ปัญหากรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ คงจะไม่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า กกต.เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบการเมืองล้มเหลว เพราะไม่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กกต.ชุดนี้ไม่แตกต่างจากชุดที่มี พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน

“โดยสรุปแล้วบทบาทของ กกต.ไม่ใช่บทบาทที่ควรจะเป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องของคุณจตุพร ก็เลยกลายเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับบทบาทหน้าที่ของ กกต.ถ้า กกต.ทำหน้าที่จริง ตรวจสอบจริง ปัญหากรณีคุณจตุพร ย่อมไม่เกิดขึ้น ผมไม่ตำหนิคุณจตุพร ไม่ตำหนิคนเสื้อแดง ผมตำหนิคณะกรรมการการเลือกตั้ง

“ที่น่าเสียใจก็คือว่า แต่ละคนนี่เป็นอดีตผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในการดูแลหลักนิติรัฐกันมาตั้ง หลายคน คนหนึ่งก็เป็นถึงรองอัยการสูงสุด คุณวิสุทธิ์ โพธิแท่น ก็เช่นกัน อยู่คณะรัฐศาสตร์ (ธรรมศาสตร์) คนเหล่านี้ยังไม่สามารถที่จะตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายได้นี่ ผมคิดว่าการเมืองไทยนี่ ระบบการเมืองที่มันล้มเหลว อย่าไปโทษนักการเมือง เพราะว่า กกต.ทำให้การเมืองไทยล้มเหลว และถ้าการเมืองไทยล้มเหลวแล้วนี่ ประเทศชาติก็ล้มเหลวเช่นกัน”

สนธิให้โอกาสรัฐบาลเพื่อไทยทำงาน หากยังยึดหลักธรรมาภิบาล
นายสนธิ ยังกล่าวถึงการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ว่า ตราบใดที่รัฐบาลใหม่ ยึดหลักธรรมาภิบาลก็ต้องให้โอกาสในการทำงาน แต่หากทำเพื่อผลประโยชน์ของครอบครัว และพวกพ้องแล้วคงเป็นหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องทำหน้าที่ในการ ตรวจสอบ ส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คงแค่จับตาดู แต่เมื่อใดที่มีการแก้กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือมีการจาบจ้วงสถาบัน ทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

“ผมคิดว่า ผมพยายามมองโลกในแง่ดี ตราบใดที่เขายังยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่ ผมคิดว่า เป็นอะไรบางอย่างที่ต้องให้โอกาสเขา แต่ถ้าเขาเข้ามาแล้ว พิสูจน์ว่า เขาเข้ามาทำงานเพื่อครอบครัวเขา เพื่อตัวเอง และพวกพ้องเขา นั่นก็อีกประเด็นหนึ่ง แต่ในส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราบอกแล้ว เราก็บอกแล้วว่าเราจะอยู่เฉยๆ จนกว่า 2 ข้อที่เราตั้งไว้ คือ แก้กฎหมายแล้วก็จาบจ้วงสถาบัน” นายสนธิ กล่าว

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่น สนธิ-สโรชา กล่าวหาตระกูลดามาพงศ์โกง ให้รอลงอาญา 3 ปี
สำหรับคดีที่นายสนธิ เดินทางมาฟังคำพิพากษานั้น มติชนออนไลน์ รายงานว่าเป็นคดีที่ พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ญาติคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถ่ายทอดออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV ช่องนิวส์ 1 และเผยแพร่ตีพิมพ์ทาง น.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th โดยกล่าววิจารณ์การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยถ้อยคำลักษณะใส่ร้ายตระกูลดามาพงศ์และบุคคลในตระกูลดามาพงศ์ของโจทก์ให้ ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2549

โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความพยานโจทก์ยังคลาดเคลื่อนในทางนำสืบ จึงมีน้ำหนักไม่มั่นคงให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 10 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อความตามฟ้องโจทก์ เช่น ชินวัตร...ดามาพงศ์ โกงทั้งโคตร ขายชาติเลี่ยงภาษี แม้ไม่มีชื่อโจทก์แต่การที่ลงชื่อตระกูลทำให้ผู้อ่านย่อมเข้าใจไปได้ว่าหมาย ถึงทั้งตระกูลโจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งข้อความดังกล่าวยังเป็นความหมายในทางลบทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า การกระทำของตระกูลโจทก์กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะดำเนินการไม่ใช่หน้าที่จำเลยมาตัดสิน ข้อความตามฟ้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 5, 6 และ 10 มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม ขณะที่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้บริหารแผนฯของจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีส่วนกระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 8 และ 9 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่มีได้นำสืบให้เห็นว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างไร

โดยที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาว่าแก้ว่า จำเลยที่ 1,2,3,5,6 และ 10 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ประกอบมาตรา 83 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร นายขุนทอง ลอเสรีวานิช เจ้าของและผู้จัดทำเว็บไซต์ www.manager.co.th และนายปัญจภัทร์ อังคสุวรรณ ผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์ www.manager.co.th จำเลยที่ 1, 2, 5 และ 10 ตามลำดับในความผิดฐานความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นเวลาคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลาคนละ 3 ปี

และให้ปรับ บริษัทแมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และ บริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จำเลยที่ 3 และ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคล คนละ 50,000 บาท และให้ร่วมกันลงตีพิมพ์คำพิพากษาลงใน น.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เทร์เฟอร์ มอสส์

Posted: 03 Aug 2011 10:55 AM PDT

งบประมาณทางด้านการทหารของไทยเพิ่มขึ้นสามเท่านับจากการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด และในปี 2554 งบประมาณทางทหารยืนอยู่ที่ 5.6 พันล้านดอลลาร์ซึ่งมากพอกันกับงบประมาณทางทหารของอินโดนีเซีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทย 4 เท่า

ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงและการทหาร

‘เจ๋ง ดอกจิก’ รับสารภาพคดีหมิ่นฯ ศาลนัดพิพากษา 29 ส.ค.

Posted: 03 Aug 2011 10:29 AM PDT

วันที่ 3 ส.ค. 54 ที่ศาลอาญารัชดา เวลาประมาณ 13.00 น. นายยศวริศ หรือ ประมวล ชูกล่อม ( เจ๋ง ดอกจิก) จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.2740/2553 แถลงรับสารภาพต่อศาล ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยก่อนหน้านี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในช่วงเช้า อัยการฝ่ายโจทก์ จำเลย และทนายจำเลย เดินทางมาศาล ศาลได้อ่านอธิบายคำฟ้องและชี้แจงให้จำเลยฟังว่า คำปราศรัยตามฟ้องเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม แต่ยังขาดพฤติการณ์ประกอบว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่ ศาลจึงสอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ แต่จำเลยแถลงขอเลื่อนการสืบพยานเป็นช่วงบ่ายเนื่องจากต้องการปรึกษากับแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ ก่อนว่าควรรับสารภาพหรือไม่ และเมื่อเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในช่วงบ่าย จำเลยแถลงรับสารภาพต่อศาลทุกประเด็นตามคำฟ้องโจทก์ อัยการฝ่ายโจทก์ และทนายจำเลยจึงแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้และยกเลิกวันนัดสืบพยานที่เหลือทั้งหมด

ต่อมาทนายจำเลยขออนุญาตยื่นแถลงการณ์ปิดคดี ศาลกำหนดให้เวลายื่นแถลงการณ์ 15 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 จบการพิจารณาคดีเวลาประมาณ 14.30น.

เจ๋ง ดอกจิก หรือ จำเลยในคดีนี้ ถูกกล่าวหาว่า ทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยบนเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตามข้อหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กทม.เตรียมรื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะ 17,000 ตู้

Posted: 03 Aug 2011 10:24 AM PDT

เหตุผิดข้อตกลงสัมปทาน ติดป้ายโฆษณา และทับทางเท้าที่กว้างไม่ถึง 1.5 เมตร โดยจะหารือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องก่อนหากไม่รื้อถอน กทม.จะรื้อเองโดยบริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์กองประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รายงานว่า นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า กทม. ได้หารือกับ บมจ. ทีโอที, บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อขอให้รื้อถอนตู้โทรศัพท์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ ประมาณ 17,000 ตู้

โดยจำนวนตู้โทรศัพท์ที่จะรื้อถอน มีทั้งกรณีมีการทำผิดข้อตกลงในสัมปทานเมื่อปี 46 ที่กำหนดให้เป็นตู้ที่มีความโปร่งใสและไม่มีการติดป้ายโฆษณา ตู้โทรศัพท์หลายแห่งมีการละเมิดสัญญาด้วยการทำเป็นตู้ทึบ บดบังภูมิทัศน์ มีการติดป้ายโฆษณา ขณะที่บางแห่งติดตั้งบนทางเท้าที่มีความกว้างไม่ถึง 1.5 เมตร โดย กทม. จะใช้อำนาจรื้อถอนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งจะนัดหารือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในวันที่ 23 ส.ค.54 เพื่อหาข้อสรุปเรื่องผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรื้อถอน กทม. จะรื้อถอนเอง โดยบริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดใช้ BTS อ่อนนุช-แบริ่ง 12 ส.ค. นี้ ไม่คิดค่าโดยสารถึงปีใหม่

Posted: 03 Aug 2011 10:16 AM PDT

กรุงเทพมหานครเตรียมให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) 12 ส.ค. นี้โดยไม่คิดค่าโดยสาร คาดจะมีผู้โดยสารเพิ่ม 120,000 คนต่อวัน รองรับผู้โดยสารย่านพระโขนง-บางนา ถึงสมุทรปราการ

เว็บไซต์กองประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รายงานวานนี้ (3 ส.ค. 54) ว่า นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการฯ กทม. เผยว่า กทม. พร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช – แบริ่ง) ในวันที่ 12 ส.ค.54 โดยไม่คิดค่าโดยสารจนถึงวันที่ 1 ม.ค.55 คาดจะมีผู้โดยสารใช้เส้นทางนี้ประมาณ 120,000 คน/วัน โดยก่อนหน้านี้ กทม. ได้ทดสอบเดินรถเป็นระยะเริ่มจากสถานีอ่อนนุช ( E 9) – สถานีบางจาก (E 10) – สถานีปุณณวิถี (E11 ) – สถานีอุดมสุข (E 12) – สถานีบางนา (E 13) และสิ้นสุดที่สถานีแบริ่ง (E 14) รวมระยะทาง 5.25 กิโลเมตร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายอ่อนนุช – แบริ่ง จะผ่านพื้นที่เขตพระโขนงและเขตบางนา เชื่อมต่ออำเภอเมืองสมุทรปราการ ซึ่งจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ ที่อาศัยในย่านดังกล่าวราว 200,000 คน รวมทั้งคนสมุทรปราการราว 500,000 คน ได้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ในการเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ สามารถลดจำนวนการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้อย่างมาก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีดีอาร์ไอเผย สภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยยังไม่กระเตื้อง

Posted: 03 Aug 2011 09:02 AM PDT

ทีดีอาร์ไอเผยศักยภาพด้านนโยบายโทรคมนาคมไทยอยู่ลำดับปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเทศในเอเชีย โดยปากีสถานได้คะแนนสูงสุดจากการประเมินครั้งนี้

ทีดีอาร์ไอเผยผลจากการประเมินนโยบายด้านโทรคมนาคมและสิ่งแวดล้อมในการกำกับดูแลในช่วง 2 ปี (2553-2554) ซึ่งจัดทำโดย LIRNEasia และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าศักยภาพในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตัวอย่างที่ได้ทำการศึกษาประเทศอื่นๆอีก 6 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา โดยไทยมีคะแนนใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซีย บังคลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา

สำหรับประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในการประเมินครั้งนี้ และเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในปี 2551 ด้วย ก็คือ ประเทศปากีสถาน โดยคะแนนที่สูงนี้ได้มาจากความโปร่งใสและความคืบหน้าในกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคม  

สำหรับประเทศไทย ทำการสำรวจโดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ จากทีดีอาร์ไอ พบว่า ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2553 โดยรวมไม่ต่างกับในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งสะท้อนว่าสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยมิได้ดีขึ้น 

การสำรวจสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Telecom Regulatory Environment – TRE) ดำเนินการภายใต้กรอบที่เหมือนกันทั้ง 7 ประเทศ คือ ทำการสอบถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับอาวุโสให้ทำการประเมินความมีประสิทธิภาพของสิ่งแวดล้อมด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมทั้งในส่วนของตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เนต โดยแบ่งระดับคะแนนเป็น 5 ระดับ (1-5) 1 หมายถึงความด้อยประสิทธิภาพที่สุด ส่วน 5 หมายถึง ความมีประสิทธิภาพที่สุด โดย 3 หมายถึงความมีศักยภาพในระดับกลาง นอกจากนี้ในแบบสอบถามได้แบ่งมิติในการกำกับดูแลออกเป็น 7 มิติ  ได้แก่ การกำกับดูแลด้าน การเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ให้บริการใหม่ (market entry), การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด (scarce resources) เช่น คลื่นความถี่ หรือ เลขหมายโทรศัพท์, การเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกัน (interconnection), อัตราค่าบริการ (tariff regulation), การแข่งขันอย่างเป็นธรรม (regulation of anti competitive practices), การให้บริการอย่างทั่วถึง (universal service obligation: USO), และ คุณภาพบริการ (quality of service: QOS) โดยทุกมิติที่กล่าวนี้จะได้รับการประเมินโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะทำการประเมินโดยให้คะแนนที่แตกต่างกัน 21 รายการ (7 มิติ X 3 ตลาด)

ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วย 3 กลุ่มอาชีพ กลุ่มที่ 1 ได้แก่  ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับภาคธุรกิจกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวในด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้แก่ สื่อมวลชน นักข่าว เจ้าหน้าที่รัฐบาล และเครือข่ายพลเมืองต่างๆ สำหรับกลุ่มบุคคลในกลุ่มที่ 3 นั้น เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโทรคมนาคมในรายละเอียด กลุ่มคนในกลุ่มนี้ได้แก่ นักกฎหมายด้านโทรคมนาคม ที่ปรึกษาทางธุรกิจ นักวิเคราะห์และนักลงทุน

การศึกษาครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 50 ราย โดยร้อยละ 32 มาจากกลุ่มที่ 1 และร้อยละ 34 มาจากกลุ่มที่ 2 และ 3 และเป็นการสำรวจ ภายใต้เงื่อนไขที่จะไม่เปิดเผยชื่อของผู้ที่ได้ทำการตอบแบบสอบถาม

ผลการสำรวจพบว่า คะแนนด้านการกำกับดูแลด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายได้รับคะแนนต่ำที่สุดเทียบกับด้านอื่น เช่นเดียวกับใน พ.ศ. 2551 โดยประเด็นปัญหาที่สะท้อนออกมาบ่อยครั้งที่สุด คือ การที่ กทช. ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่ง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 กทช. จึงมีคำสั่งให้เก็บค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อที่ 50 สตางค์ต่อนาที แต่ถึงกระนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายยังคงเห็นว่า เป็นอัตราที่สูงเกินควร

การกำกับดูแลการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้คะแนนเพียง 2.3 ซึ่งจัดได้ว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคะแนนการประเมินที่ด้านอื่นๆได้รับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี พ.ศ.  2551 คะแนนในด้านนี้ของตลาดโทรศัพท์พื้นฐานลดลงจาก 3.1 เหลือ 2.6 และตลาดโทรศัพท์มือถือ จาก 2.7 เหลือ 2.3 หนึ่งในปัญหาที่มีการสะท้อนผ่านแบบสอบถามหลายครั้งคือ มาตรา 46 ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งห้ามมิให้มีการเช่าต่อโครงข่ายซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจบริการโทรคมนาคมแบบเสมือน (MVNO: Mobile Virtual Network Operator)

สำหรับเหตุผลอื่นๆที่ทำให้คะแนนการกำกับดูแลด้านการเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ให้บริการใหม่ได้รับคะแนนต่ำ คือ ความสับสนในกฎเกณฑ์ออกใบอนุญาตในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ใบอนุญาตประเภทที่ 2 ซึ่งตามหลักแล้วควรจะเป็นผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมของตนเองแต่ให้บริการแก่ลูกค้าภายในบริษัท เท่านั้น ในขณะที่ใบอนุญาตประเภทที่ 3 นั้นเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่ให้บริการแก่สาธารณชน (public commercialization) อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ มีผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตประเภท 2  ไปขายบริการให้แก่สาธารณชน เช่นเดียวกับผู้ถือใบอนุญาตประเภท 3 หากแต่เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมบริการสังคมที่ต่ำกว่า

ดร.เดือนเด่น ย้ำว่า การประเมินครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการประเมินหน่วยงานกำกับดูแล   แต่ประเมินถึงสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแล ซึ่ง กทช.เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแล จะเห็นว่าปัจจัยลบต่อสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทย มีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งปัญหาสัมปทาน ปัญหาที่เกิดจากข้อบัญญัติทางกฎหมาย   ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทช.ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามระบุ คือ ความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแล รวมทั้งปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ดูเหมือนเลือกปฏิบัติในบางเรื่อง                 

สิ่งที่ประเทศไทยควรทำเพื่อให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเดินต่อไปได้ คือ หน่วยงานกำกับดูแลต้อง (1) กำหนดกฎกติกาในการกำกับดูแลที่มีความชัดเจน ไม่ควรให้ใช้ดุลพินิจของ กทช.เป็นหลักเพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่เกิดจากความไม่แน่นอนของกติกาในการกำกับดูแล  (2) บังคับใช้กฎ ระเบียบอย่างจริงจังมิใช่มีการปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย เช่น กี่ปฏิเสธการให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นต้น (3)  ควรมีฐานข้อมูลต้นทุนในการให้บริการที่ครบถ้วนและถูกต้องเพื่อที่จะสามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  รวมทั้งเรื่องของ  “สิทธิแห่งทาง”(right of way)ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายโครงข่ายให้เข้าถึงบ้านเรือนประชาชนได้นั้น ควรมีการกำกับและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการใช้สิทธิดังกล่าว เช่น การจะพาดสายโทรศัพท์บนเสาของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารและไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กทช.ให้ดำเนินการได้ เป็นต้น  

ดร.โรฮาน ซามาราจไจวา (Dr. Rohan Samarajiva) ประธานกรรมการบริหารขององค์กร LIRNEasia มีความคิดเห็นต่อผลการประเมินศักยภาพในการกำกับดูแลของประเทศต่างๆ ว่า ประเทศที่มีกฎ กติกาในการกำกับดูแลที่ชัดเจน และ โปร่งใสจะได้คะแนนสูง เช่น ในกรณีของประเทศปากีสถาน แม้ค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาตค่อนข้างสูง (ประมาณ 291 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,730 ล้านบาท) แต่ว่าเป็นอัตราเดียวกันสำหรับทุกผู้ประกอบการ และมีการประกาศราคาค่าธรรมเนียมให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง ความชัดเจนนี้เองได้สร้างความแน่นอนให้กับนักลงทุน ในทางตรงกันข้าม ในประเทศที่ได้คะแนนต่ำอย่างเช่นบังคลาเทศก็มีการต่อใบอนุญาตบ่อยครั้ง หากแต่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการต่อใบอนุญาตที่ชัดเจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อภาคธุรกิจ เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์อันเกิดจากความเสี่ยงในการลงทุนอันสืบ เนื่องมาจากความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์ต่างๆในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไม กกต.ต้องรับรองสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์

Posted: 03 Aug 2011 08:57 AM PDT

ตามที่น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ได้ยื่นหนังสือร้องคัดค้านต่อ กกต. กรณีการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อให้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาไต่สวนในที่ประชุมของกกต.ด้วย เกรงว่าคณะกรรมการไต่สวน จะสรุปคำให้การของตนไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ โดยเหตุผลที่ยื่นคำคัดค้านการเป็นสส.ของนายจตุพร คือ  การที่พรรคเพื่อไทย ให้การรับรองนายจตุพรเป็นสมาชิกพรรค  เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ทั้งๆ ที่ นายจตุพร ถูกศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนการประกันตัว ในคดีก่อการร้าย และถูกคุมขังเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา

ประเด็นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ คือ ประเด็นแรก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพราะถูกศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือไม่

ประเด็นที่สอง เกี่ยวเนื่องจากประเด็นแรก สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (ฉบับคณะรัฐประหารฉบับนี้) ระบุไว้ในมาตรา 101 ว่าด้วย คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 102 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส. ซึ่งบุคคลที่จะสมัครเป็น ส.ส.นั้น ต้องมีทั้งคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามความที่ระบุไว้ใน 2 มาตรานี้

มาตรา 101 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น ไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพราะกล่าวถึงโดยทั่วไป เช่นว่า บุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  ซึ่งนายจตุพร ก็มีคุณสมบัติตามมาตรานี้ ส่วนในมาตรา 102 ระบุลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เช่น ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 100 (1) คือ ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช หรือ (2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ​และข้อห้ามตามมาตรา 102 (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

โดยคุณสมบัติ ตามมาตรา 100 (3) ที่ว่า ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย นายจตุพรก็ไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และหากจะพิจารณาว่าอาจเข้าข่ายไม่มีสิทธิเป็น ส.ส. ตามมาตรา 102 (4) ก็ไม่ได้ เพราะ (4) ของมาตรา 102 มีการห้ามต้องคำพิพากษให้จำคุกและถูกขังอยู่โดยหมายของศาล แต่นายจตุพรยังไม่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก

เมื่อพิจารณาทั้งสองมาตราประกอบกันแล้ว ไม่มีเหตุใดๆ ที่ทำให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่มีสิทธิได้รับการ ประกาศให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในมาตรา 105 [1] ว่าด้วยสมาชิกภาพของ ส.ส.เริ่มนับแต่วันเลือกตั้ง และ มาตรา106 ว่าด้วยเรื่องการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายจตุพร ก็ไม่เข้าข่ายการขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามมาตราดังกล่าว คือ ไม่เข้าข่าย ตามมาตรา 106 (4) (5) ที่อ้างว่าขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 101 และ มาตรา102 และ (11) เพราะนายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังไม่ถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (ดูมาตรา 106 )

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อาจถูกเพิกถอนสิทธิการเป็น ส.ส.ได้ ด้วยเหตุเดียว คือ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 106 (6) ที่ระบุว่า คุณสมบัติอื่นตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งอาจมีข้อกำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวว่า การที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ซึ่งเมื่อพิจารณาในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นประเด็นเล็กน้อย เพราะเหตุว่า การที่นายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง เพราะศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกจากเรือนจำไปเลือกตั้ง

กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการที่นายจตุพรตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวนั้น เป็นปัญหาว่าด้วยสิทธิผู้ต้องหา ซึ่งต้องยึดถือหลักการว่า ก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคท้าย) ซึ่งหมายความว่า การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะคนที่ยังไม่ถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นผู้กระทำผิด ต้องไม่นำตัวไปคุมขังไว้เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดนั่นเอง

ดังนั้นจึงเป็นการเสมาะสมและชอบยิ่งนักที่ กกต.ได้ประกาศรับรองสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ เพราะหากไม่ประกาศรับรอง เท่ากับว่า กกต.เป็นผู้ละเมิดหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง อันไม่เป็นผลดีต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหาษััตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามแบบอย่างของนานาอารยประเทศ

 

 

 


[1] มาตรา ๑๐๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา ๑๐๖ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๑

(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๒

(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๖๕ หรือมาตรา ๒๖๖

(๗) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจาก การเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมือง มีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่า มติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสามให้ ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าว มีลักษณะ ตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย

(๘) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น เป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรค การเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุด สมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น

(๙) วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๗๔ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๑ หรือศาลฎีกามีคำสั่งตามมาตรา ๒๓๙ วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติหรือศาลมีคำ วินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี

(๑๐) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้ รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร

(๑๑) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการ รอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อภิสิทธิ์" ขอ "เพื่อไทย" ระวังการกู้เงิน

Posted: 03 Aug 2011 08:45 AM PDT

เพราะหลายประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอาจส่งผลต่อค่าครองชีพ แนะควรทำโครงการที่ให้ประโยชน์ระยะยาว เป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง ด้าน "สาทิตย์" เผยอภิสิทธิ์เตรียมบันทึกรายการทีวีเพื่อส่งต่อนโยบายให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ ด้าน "เทพไท เสนพงศ์" ขอให้ประธาน-รองประธานสภาชุดใหม่ทำหน้าที่เข้มงวดเพราะมีแดงฮาร์ดคอร์มาเป็น ส.ส.

อภิสิทธิ์เตือน "เพื่อไทย" ระวังการกู้เงิน ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยง

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (3 ส.ค. 54) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้พรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะมาเป็นรัฐบาล ระมัดระวังในการที่จะกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเพราะเห็นว่า ขณะนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องพิจารณาด้านความเสี่ยง เพราะหลายประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องของการปรับอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ควรพิจารณาในโครงการที่มีความมั่นใจที่จะให้ประโยชน์ในระยะยาว และต้องมั่นใจว่าเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวขอบคุณ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อวยพรในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 47 ปีในวันนี้ (3 ส.ค.54) โดยตนเองจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า และส่วนตัวต้องการให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ทำเพื่อประเทศชาติ

มาร์คเตรียมบันทึกเทปรายการส่งต่อนโยบายให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวแห่งชาติ ยังรายงานด้วยว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หมดวาระในการบริหารประเทศ จึงจะมีการส่งมอบงานด้วยการรายงานสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการบริหาร ประเทศ ส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ได้ทราบโดยครอบคลุมถึงนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการให้ รัฐบาลใหม่สานต่อ การรายงานสถานะการคลัง สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม รวมถึงความมั่นคงทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ

ทั้งนี้การบันทึกเทปวันนี้จะออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เวลา 20.30 น. ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค. 54) โดยมีความยาวประมาณ 10 นาที และจะมีการจัดทำเอกสารแจกให้กับรัฐบาลชุดใหม่พร้อมแจกให้สื่อมวลชนด้วย

"เทพไท" ยินดีกับประธาน-รองประธานสภา ขอให้ทำหน้าที่เข้มงวดเพราะมีแดงฮาร์ดคอร์มาเป็น ส.ส.

สำนักข่าวแห่งชาติ ยังรายงานด้วยว่า ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้ตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า ทุกคนมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมานาน น่าจะให้บรรยากาศการประชุมในสภาเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ขอให้ทำหน้าที่การประชุมอย่างเข้มงวด เพราะ ส.ส.ชุดนี้ มีแกนนำ นปช.หลายคน และหลายคนมีพฤติกรรมฮาร์ดคอร์ หลายคนอาจไม่ทิ้งนิสัยปราศรัยข้างถนน อยากให้ประธานที่ทำหน้าที่ในสภาควบคุมให้ดี รักษาภาพพจน์สภาให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เห็นว่าการเรียกประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ อาจจะกระชั้นเกินไป และควรแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไปให้ (เกือบ) สุดกับ 'ใจ อึ๊งภากรณ์': ‘เสื้อแดงสังคมนิยม’ ขอทวงความยุติธรรมและประชาธิปไตยจากรัฐบาลใหม่ของคุณยิ่งลักษณ์

Posted: 03 Aug 2011 08:30 AM PDT

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเพราะคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวต่อสู้และเสียสละมาตลอดช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนี้เราเห็น ส.ส. และคณะรัฐมนตรีใหม่แต่งชุดเครื่องแบบสีขาวเดินเข้ารัฐสภาตามธรรมเนียมอำมาตย์ แต่เขาจะไม่มีตำแหน่งดังกล่าว ถ้าไม่มีขบวนการเสื้อแดง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องเตือนความจำรัฐบาลใหม่ว่า เขาต้องตอบแทนบุญคุณของมวลชนประชาชน เราขอทวงความยุติธรรมและประชาธิปไตยดังนี้ 

1. ต้องปล่อยนักโทษการเมืองเสื้อแดงทุกคน ไม่ใช่แค่แกนนำ และไม่ใช่แค่การประกันตัวเท่านั้น ต้องเลิกคดี เพราะข้อหาต่างๆ นานาที่อำมาตย์ตั้งกับคนเสื้อแดง เป็นข้อหาทางการเมืองทั้งสิ้น คนของเราไม่ได้ทำความผิด

2. ต้องปล่อยนักโทษกฏหมายหมิ่นฯ (ม.112) ยกเลิกกฏหมายหมิ่นและกฏหมายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ปิดปากประชาชนไทย การมีกฏหมายหมิ่นฯ รวมถึงกฏหมายหมิ่นศาล เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางวิชาการ และความสามารถของประชาชนที่จะตรวจสอบองค์กรของรัฐ เพื่อความโปรงใส กฏหมายเหล่านี้ไม่มีในประเทศประชาธิปไตย และเราจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ได้ถ้ายังมีกฏหมายนี้อยู่ และเราไม่สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของระบบการปกครองไทยได้อีกด้วย รัฐบาลใหม่ต้องเลิกเซ็นเซอร์สื่ออย่างที่อำมาตย์ทำมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา

3. ต้องสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยการนำนักการเมืองและนายพลที่มีส่วนในการฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์มาขึ้นศาล อย่างที่ประเทศ อียิปต์ เกาหลีใต้ และประเทศอื่นทำ ต้องนำนายอภิสิทธิ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ อนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา มาขึ้นศาลโดยเร็ว

4. ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญทหาร อาจนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้แล้วแก้ให้ดีขึ้น หรืออาจร่างใหม่ แต่คราวนี้ชุมชนคนเสื้อแดงต้องมีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ไม่ใช่ยกให้นักวิชาการหรือเอ็นจีโอที่ชื่นชมเผด็จการร่างแต่ฝ่ายเดียว

5. ต้องมีการปฏิรูปกองทัพและระบบศาลแบบถอนรากถอนโคน ต้องปลด พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต้องรับใช้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องนำทหารออกจากสื่อ และลดงบประมาณทหารให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องปลดผู้พิพากษาสองมาตรฐานออก และนำระบบลูกขุนมาใช้เพื่อพิจารณาคดีสำคัญๆ

6. ต้องสร้างสันติภาพในภาคใต้ และที่ชายแดนเขมร ด้วยมาตรการทางการเมืองที่ปฏิเสธการคลั่งชาติ ควรให้ทหารกลับกรมกอง เพื่อปูทางไปสู่สมัชชาประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง  เพื่อกำหนดวิธีการปกครองที่ประชาชนเหล่านั้นต้องการ และในกรณีเขมร เราควรร่วมพัฒนาเขาพระวิหารกับฝ่ายเขมรดังมิตรและเพื่อนบ้านที่ดี

7. ประเทศไทยต้องเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและครบวงจร ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย เพื่อสร้าง “ความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน” แทน “วัฒนธรรมเจ้ากับไพร่"

8. ขบวนการทางสังคม เช่น สหภาพแรงงาน และกลุ่มชุมชน ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการต่อรองตามมาตรฐานสากล การก่อตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานจะต้องไม่ถูกปราบปรามโดยรัฐหรือนายจ้าง และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านต้องมีสิทธิร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกับคนงานไทย

ถ้ารัฐบาลใหม่เลือกที่จะหักหลังมวลชนเสื้อแดง และหันไปจับมือ “ปรองดอง” กับอำมาตย์ เราคนเสื้อแดงควรออกมาชุมนุมใหญ่จนกว่าเราจะได้ความยุติธรรมและประชาธิปไตย

คนเสื้อแดงจะมีพลังยิ่งใหญ่ถ้าจับมือกับขบวนการแรงงาน และทหารเกณฑ์ระดับล่างในการต่อสู้

วีรชนคนเสื้อแดงต้องไม่ตายเปล่า!!!

วีรชนคนเสื้อแดงต้องไม่ถูกขังลืม!!!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "คดีการเมือง"

Posted: 03 Aug 2011 05:11 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "คดีการเมือง"

TCIJ: คนอีสานเปิดวงถก เตรียม “ทางออกการพัฒนา” เสนอรัฐบาลใหม่

Posted: 03 Aug 2011 04:19 AM PDT

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสานจับมือกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรชาติ เตรียมเสนอทางเลือกรบ.ใหม่ เชื่อนโยบายไม่ต่าง “นโยบายทักษิณ” ในอดีต

 
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.54 เวลา 8.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน จ.มหาสารคาม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรภาคอีสาน และทิศทางการจัดการทรัพยากรของภูมิภาคโดยภาคประชาชนในอนาคต โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมกว่า 100 คน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในเวทีมีการถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสานของรัฐบาล นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 10 ครอบคลุมทั้งในมิติ ดิน น้ำ ป่า และแร่ธาตุ เพื่อสรุปบทเรียนปัญหาร่วมกันทั้งในเชิงพื้นที่และภาพรวมของภูมิภาค
 
นายมนัส ถำวาปี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะแผนการพัฒนาของรัฐยังมุ่งเก็งกำไร เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ เอื้อนายทุน หรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก เช่น กรณีโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง 500 Kv ที่ส่วนตัวได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้รัฐบาลใหม่หันมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางเลือกที่มีอยู่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้ได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แม้ในระยะแรกอาจมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่ต่อๆ ไป จะมีเพียงแต่ภาระค่าบำรุงรักษาเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้สร้างผลกระทบเหมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างที่รัฐได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
 
ส่วนนายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวฝากถึงรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารใหม่ว่า ให้ฟังเสียงประชาชนบ้าง ฟังว่าพวกเขาจะเอาหรือไม่เอา ถ้าประชาชนเจ้าของพื้นที่เขาไม่เอาก็ควรฟัง เพราะนั่นเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ไม่ใช่รัฐบาลมัวเห็นแต่ผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐก็ไม่ควรที่จะมาบีบคั้นประชาชนให้ยอมรับตาม เช่น เวลาประชาชนไปเรียกร้องสิทธิก็กลับมาหาว่าเขาคัดค้านโครงการ หรือคัดการปฏิบัติงานของรัฐแล้วเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ ทั้งๆ ที่ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิโต้แย้ง มีสิทธิคัดค้าน มีสิทธิประท้วง มีสิทธิเรียกร้อง ซึ่งส่วนตัวมันไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนอย่างพวกเขา ก็ขอฝากรัฐบาลให้ใจกว้างขึ้นหน่อย ยอมรับความคิดที่แตกต่างของชาวบ้านบ้าง
 
ด้านนายสนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการทามมูล ให้ความเห็นปิดท้ายว่า จริงๆ แล้วเราก็มองว่านโยบายของรัฐบาลใหม่คงไม่ได้ต่างกับนโยบายทักษิณในอดีต ที่เน้นเรื่องการจัดการเรื่องทุน เรื่องฐานทรัพยากรที่มองว่าเป็นทุน คิดว่าช่วงต่อจากนี้คงเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมพอสมควร แต่ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เกิดความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรกันมาขึ้น  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วงแลกเปลี่ยนมีข้อสรุปร่วมกันว่ารากเหง้าของปัญหาในการจัดการทรัพยากรที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนท้องถิ่นอีสานในแต่ละภูมินิเวศนั้น ล้วนเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและความเจริญเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ ซึ่งได้นำมาสู่การลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงชาวบ้านสารพัดรูปแบบโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของคนอีสาน ฉะนั้นทางออกของปัญหาที่มีร่วมกันก็คือการปรับดุลอำนาจในการจัดการทรัพยากรกับรัฐเสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนในแต่ละภูมินิเวศสามารถจัดการทรัพยากรด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นนั้นๆ
 
ทั้งนี้ การประชุมมีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมแสดงความเห็น อาทิ โครงการทามมูล กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา สมาคมเพื่อนภู มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั่วภาคอีสาน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าอุดรธานี เครือข่ายองค์กรชุมชนฟื้นฟูป่าภูกระแต กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนปากชม กลุ่มชาวบ้านลุ่มน้ำเสียวและลุ่มน้ำชี กลุ่มชาวบ้านพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา-ราษีไศล เป็นต้น
 
 
รายงานโดย: ฐากูร สรวงศ์สิริ
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก

Posted: 02 Aug 2011 10:20 PM PDT

เราจะใช้เสรีภาพในการพูดเป็นอาวุธ และด้วยธรรมเนียมที่ดีที่สุดของรัฐสภาของเรานี้ ขอยืนยันว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และความมั่นคง จะเอาชนะความกลัวและความเกลียดชังให้จงได้

นายกรัฐมนตรี นอร์เวย์

กวีประชาไท: ความจริง

Posted: 02 Aug 2011 09:18 PM PDT

ความจริงยังซ่อนเร้น ลวงพราง
ความชั่วยืดอกถาง ถากเย้ย
ความดีคร่ำครวญคราง กลางคุก
สองมาตรฐานเหวยเว้ย เวี่ยไว้นรกสวรรค์

ความจริงแสนบิดเบี้ยว เบือนทราม
คนผิดขู่ประณาม ตะคอกหน้า
คนถูกบ่ถูกถาม จริง-เท็จ
ประชาธิปไตยใบ้บ้า บอดเบื้อบุราณสมัย

ความจริงเล่นแบ่งข้าง เลือกสี
อำมาตย์อุ้มคนดี สั่งได้
ปากหวานจิตอัปรีย์ เปรมประจบ
ไพร่สิเลวเถื่อนไร้ เสนียดล้วนสถุลสรร

ความจริงยัดเยียดข้อ กล่าวหา
ผู้ก่อการร้ายตรา บาปย้ำ
เผาบ้านพล่านพารา แผนกลบ
ร้อยศพมันเหยียบซ้ำ ยั่วแย้งแดงทมิฬ

ความจริงทุกย่างก้าว ตามหลอน
ยืนนั่งเดินกินนอน ตื่นรู้
คุณนั่นแหละฆาตกร สั่งฆ่า
คุณนั่นแหละคือผู้ โค่นล้มราษฎร

ความจริงจักจดจ้อง โจษประจาน
ตราบชั่วกัลปาวสาน ชาติสิ้น
สมบูรณาญาเผด็จการ สยามรัฐ
จารึกความปล้อนปลิ้น เปรตแท้เทพแปลง

เลิกสาดโคลนเล่นลิ้น  ลวงประชา
อ้างชาติบอบช้ำสา- หัสชี้
ปากใครพล่ามโพนทนา ยุแยก
ไทยเทวษทุกวันนี้ ห่อนแจ้งสัจธรรม

มาเถิดมาเปิดโป้ง ความจริง
ปลดปล่อยไพร่ชายหญิง รากหญ้า
คืนหลักยุติธรรมอิง ทุกระบอบ
ผองเพื่อนเคลื่อนผลักหล้า โลกข้ามกลีเข็ญ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น