โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

TCIJ: “ชาวบ้านเขาคูหา” ชนะคดีฟ้อง “เหมืองหิน” ชดใช้ค่าเสียหาย

Posted: 01 Aug 2011 01:32 PM PDT

ชาวบ้านเฮ! ศาลแขวงจังหวัดสงขลาพิพากษาให้บริษัทเหมืองจ่ายค่าเสียหายผู้ได้รับผลกระทบ ชี้แม้มลพิษไม่เกินมาตรฐาน แต่คนในชุมชนได้รับผลกระทบ ผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชดใช้  

 
 
วานนี้ (1 ส.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลแขวงจังหวัดสงขลา มีการพิพากษาคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย คดีหมายเลขดำที่ พ.588/2553 ระหว่างนางเรณู แสงสุวรรณ กับพวกอีก 3 คน ประกอบด้วย นางวรรณี พรหมคง, นางเอื้ออารีย์ มีบุญ และนางราตรี มณีรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ความผิดฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยศาลแขวงสงขลาพิพากษาให้บริษัทเหมืองจ่ายค่าเสียหายให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
 
นางราตรี มณีรัตน์ หนึ่งในโจทก์ที่ฟ้องบริษัทฯ กล่าวหลังจากรับฟังคำพิพากษาว่า เมื่อผลการพิพากษาออกมาเช่นนี้ก็พอใจระดับหนึ่ง ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการละเมิดสิทธิโดยบริษัทพีรพลมายนิ่ง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับคนในชุมชนมานาน แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าเสียหายเต็มทั้งหมดที่ฟ้องศาล แต่ก็เป็นการยืนยันโดยคำพิพากษาของศาลว่าเกิดผลกระทบจากการระเบิดเหมืองหินขึ้นจริง ที่ผ่านมาทางบริษัทพีระพลมายนิ่ง อ้างว่าบริษัทได้ดำเนินการถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่มาตรวจวัดค่ามาตรฐานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
นางราตรี กล่าวต่อว่า เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ เป็นการชี้ให้เห็นได้ว่าการอ้างว่าบริษัทผ่านการตรวจสอบค่ามาตรฐานตามที่บริษัทอ้างนั้น ในข้อเท็จจริงก็ยังเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปทบทวนการกำหนดการตรวจวัดค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้เสียใหม่ เพราะคำพิพากษาครั้งนี้ยืนยันได้ว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรฐานการตรวจวัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการทำเหมืองหินใหม่ เพราะกรณีเหมืองหินเขาคูหาเป็นกรณีตัวอย่าง ในการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท และคำพิพากษาศาลก็ยังเป็นแนวทางในการปกป้องสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
ด้านนางเรณู แสงสุวรรณ โจทก์อีกคนกล่าวว่า ช่วงนี้สัมปทานบัตรของเหมืองหินหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ทางบริษัทได้หยุดการระเบิดหินแล้ว แม้ว่าทางบริษัทจะพยายามวิ่งขอต่อสัมปทานอีกก็ตามแต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบกว่าเดิม เพราะชาวบ้านคัดค้านการต่อสัมปทานมาอย่างต่อเนื่อง และคำพิพากษาในวันนี้ยืนยันชัดเจนว่า บริษัทเหมืองหินได้ส่งผลกระทบให้ชุมชน
 
“ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการต่อสัมปทานบัตรเหมืองหินว่า อย่าต่อสัมปทานให้บริษัทดังกล่าวอีกต่อไปเพราะประชาชนเดือนร้อนจริง” นางเรณูกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านยังต้องต่อสู้คดีที่บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยื่นฟ้องนายเอกชัย และพวกรวม 9 คน ในฐานความผิดละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตร จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ โดยเรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท จากกรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา ได้ทำหนังสือร้องเรียนและคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหาของบริษัทฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ทำให้ไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรได้ ทั้งที่รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบการต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว
 
ส่วน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resouces Centre : CRC) ระบุถึงการพิจารณาคดีดังกล่าวว่า ศาลได้พิจารณาคดีนี้ตามแนวทางคดีสิ่งแวดล้อม ในหลักเรื่องผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นไปตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเพราะเหตุของผู้ได้รับผลกระทบเอง ซึ่งปรากฏว่าจำเลยไม่ได้นำสืบในส่วนนี้โต้แย้ง อีกทั้ง คำพิพากษาได้ยืนยันในลักษณะที่ว่า แม้จะมีการตรวจสอบว่าผลจากการประกอบกิจการไม่มีสิ่งใดเกินค่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น หรือเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นไปโดยไม่เกินค่ามาตรฐาน จำเลยก็ยังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ก่อมลพิษ
 
และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ศาลมองว่าค่าหวาดกลัวหินหล่นใส่ หรือค่าที่เสียงดังทำให้ตกใจกลัว เป็น “ค่าเสียหายทางจิตใจ” ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้ชดใช้ ทำให้ศาลไม่ได้พิพากษาให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายในส่วนนี้ ทำให้เห็นว่ากฎหมายไทยยังคงล้าหลัง ไม่สนใจว่าแท้จริงแล้วความเสียหายทางจิตใจเป็นความเสียหายประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการเยียวยา กรณีนี้ไม่ได้รวมถึงค่าเสียหายทางสุขภาพจิต แต่หมายถึงความเสียหายทางจิตใจในเชิงความรู้สึก ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ เช่น อเมริกา หรือยุโรป มีการกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบไว้ด้วย
 
เรียบเรียงจาก: Facebook Wanchai P Wanchai P, Facebook Communityresourcescentre Thailand
 
 
 
คำพิพากษาโดยสรุป
 
ที่มา: เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resouces Centre : CRC)
 
การประกอบกิจการของบริษัทจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ แม้จำเลยจะอ้างว่าตนเองได้ประกอบกิจการภายใต้การอนุญาตและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการประกอบกิจการระเบิดหินในลักษณะใดที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งจำเลยเองได้เคยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่มาก่อนที่จะมีการฟ้องคดี ย่อมแสดงว่า การประกอบกิจการของจำเลยส่งผลกระทบต่อโจทก์ทั้งสี่ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า ตนได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบ ส่วนโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้เคยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มาก่อน จึงต้องฟังว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คดีขาดอายุความนั้น ปรากฏจากการนำสืบของพยานโจทก์พบว่า จำเลยได้ทำการเบิกวัตถุระเบิดวันสุดท้ายวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และต้องใช้ให้หมด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คืนวัตถุระเบิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2553 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 
สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องว่า การระเบิดหินของจำเลยทำให้บ้านเรือนของโจทก์แตกร้าว ศาลเห็นว่า ราคาที่โจทก์อ้างฟ้องเป็นราคาที่กำหนดโดยช่าง และได้มีการตรวจสอบจากส่วนราชการ จึงกำหนดให้เต็มตามที่ฟ้อง แต่ค่าวัสดุที่ต้องมีราคาสูงขึ้นภายหลังจากการประเมิน 5% ไม่กำหนดให้
 
สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับฝุ่น ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับสุขภาพ จึงกำหนดให้เพียงค่าฝุ่นที่ทำให้บ้านเรือนสกปรก โดยกำหนดให้เป็นเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ตามที่จำเลยได้เคยจ่ายให้กับโจทก์บางราย
 
สำหรับค่าหินหล่นใส่ ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากหินหล่นใส่ตัวหรือบ้าน เป็นเพียงความหวาดกลัว ซึ่งเห็นว่าเป็นการคิดค่าเสียหายทางจิตใจ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้คิดค่าเสียหายทางจิตใจ จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ในส่วนนี้
 
สำหรับค่าเสียงดังจากการระเบิดหิน ศาลไม่ได้กล่าวถึง แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเช่นเดียวกับค่าหินหล่นใส่ คือมองว่าเป็นค่าเสียหายทางจิตใจ
 
ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ดังนี้
ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 102,409.20 บาท 
ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 68,048 บาท
ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 200,109 บาท
ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 90,760 บาท
 
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (28 ธันวาคม 2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
และให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับมือสังหารแกนนำต้านถ่านหินสมุทรสาคร – ศาล ปค.กลางสั่งระงับกิจการถ่านหินในพื้นที่

Posted: 01 Aug 2011 11:20 AM PDT

ตร.เผยคดีฆ่าแกนนำต้านถ่านหินสมุทรสาครคืบหน้า มั่นใจอีกไม่นานรู้ตัวคนบงการ ล่าสุดจับมือปืนได้แล้ว ด้านคดีที่ผู้ตายพร้อมพวกยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง สั่งระงับกิจการถ่านหินในพื้นที่ทุกกรณีแล้ว
 
 
ศาล ปค.กลางสั่งระงับกิจการถ่านหิน ต.ท่าทราย ทุกกรณี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานวานนี้ (1 ส.ค.) ว่าที่ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหิน ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียง การเก็บของ การขนถ่าย การขนส่ง หรือการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่ โดยให้ อบต.ท่าทราย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดสมุทรสาครปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละราย เพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือกำชับให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายทองนาค เสวกจินดา แกนนำต่อต้านโรงถ่านหิน จ.สมุทรสาคร ที่เพิ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อน และพวกรวม 3 คน ที่ได้ยื่นฟ้อง อบต.ท่าทราย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดสมุทรสาคร และบริษัท เทคนิคทีม (ประเทศไทย) จำกัด ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลสั่งให้สำนักงานอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ควบคุมการประกอบกิจการถ่านหินดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้หยุดการเก็บกอง ขนถ่าย และขนส่งถ่านหินในเขตพื้นที่ตำบลท่าทรายไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนการพิพากษาคดี
 
ส่วนเหตุที่ศาลฯ มีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการ ระบุว่า การประกอบกิจการถ่านหินของบริษัทเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่ปรากฏว่า บริษัทได้ลักลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเวลานาน จนกระทั่ง นายทองนาค เสวกจินดา และประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทำให้ อบต.ท่าทราย จ.สมุทรสาคร ได้มีคำสั่งให้หยุดกิจการ และได้ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเมื่อปี พ.ศ.2553
 
จนศาลจังหวัดสมุทรสาครได้มีคำพิพากษาลงโทษบริษัทเทคนิคทีม ทั้งจำคุกทั้งปรับ แต่บริษัทยังคงประกอบกิจการดังกล่าวเรื่อยมา มีผลทำให้ถ่านหินบางส่วนตกลงสู่แม่น้ำและสองข้างทางในระหว่างการขนถ่ายลำเลียงหรือขนส่ง อีกทั้งน้ำหนักของรถบรรทุกถ่านหิน ยังทำให้ถนนในพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ จนก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และยิ่งไปกว่านั้นฝุ่นละอองถ่านหินได้ฟุ้งกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
 
อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ และรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างดี ได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการถ่านหินทั้งหมดในจังหวัดสมุทรสาคร ระงับการประกอบกิจการถ่านหินทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.54 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่า ยังคงมีการลักลอบลำเลียง หรือขนส่งถ่านหินในพื้นที่ที่เกิดเหตุของคดีนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยบริษัทได้ยอมรับต่อศาลว่า เป็นการดำเนินการของบริษัทจึงเห็นได้ว่า ยังคงมีการกระทำซ้ำ เป็นการกระทำละเมิดหรือกระทำผิดกฎหมายทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่นายทองนาคและประชาชนในพื้นที่
 
วันเดียวกัน สำนักงานศาลปกครอง แจ้งว่า หลังจากมีการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองกลาง วันที่ 2 ส.ค.นี้ คดีโรงฟ้าฟ้าถ่านหิน จ.สมุทรสาครนี้ ก็จะโอนเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองต่อไป
 
 
ทีมสังหารแกนนำต้านถ่านหินเผยผู้จ้างเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่
ด้านคดีคนร้ายยิง นายทองนาค เสวกจินดา อายุ 47 ปี แกนนำต่อต้านโรงงานถ่านหินในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระดมชุดสืบสวนมือดีจากตำรวจภูธรภาค 7 ภาค 1 ภาค 2 นครบาล กองปราบปรามและ สภ.เมืองสมุทรสาคร ท้องที่เกิดเหตุเข้าคลี่คลายคดี
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 1 ส.ค.54 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงจับกุม นายนิพนธ์ หรือ หมู ยันตะละพะ อายุ 34 ปี นายจักรพงศ์ หรือ พงศ์ ขวัญพันธุ์งาม อายุ 22 ปี ผู้ต้องร่วมกันฆ่านายทองนาค
 
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า จากการสืบสวนติดตามหาตัวคนร้าย จนสืบทราบว่าผู้กระทำผิดมีนายสุชชเดช หรือ อี๊ด ทับไกร ซึ่งขณะนี้สามารถจับกุมตัวได้แล้วและอยู่ระหว่างขยายผล เป็นผู้รับงานและจัดหาอาวุธปืน ขณะที่วันเกิดเหตุนายจักรพงศ์ เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้กับนายโยธิน หรือ บอย เทพเรียน อายุ 25 ปี มือปืนที่ลงมือสังหารนายทองนาค ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม และนายนิพนธ์ ทำหน้าที่เป็นคนขับรถกระบะเพื่อคอยคุ้มกัน รวมทั้งส่งมือปืนมาก่อเหตุและพาหลบหนี
 
นอกจากนี้ จากการสืบสวนทราบว่ามีผู้ร่วมขบวนการอีก 1 คนคือ นายอุ้ย อายุ 28 ปี ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง ทำหน้าที่ขับรถเทรลเลอร์คุ้มกัน คอยสกัด ขวางทางรถติดตามอีกชั้นหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับ
 
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่าได้รับการว่าจ้างจากผู้ประกอบการขนส่งถ่านหินรายหนึ่งในพื้นที่ให้สังหารนายทองนาค โดยได้ค่าจ้าง 150,000 บาท โดยสาเหตุเนื่องจากนายทองนาคได้นำมวลชนมาขัดขวางการขนส่งถ่านหินในพื้นที่ ทำให้ผู้จ้างวานเสียผลประโยชน์ ส่วนจะมีการลงขันจากผู้ประกอบการรายอื่น หรือมีบุคคลร่วมจ้างวานอีกหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน
 
จับแล้วมือสังหารแกนนำต้านถ่านหินสมุทรสาคร
สำนักข่าวไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น.วันเดียวกัน (1 ส.ค.54) พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมายังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีสังหารนายทองนาค เสวกจินดา แกนนำต่อต้านถ่านหิน หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมาตำรวจ สภ.เมืองสมุทรสาคร จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรสาครไว้ได้ 3 คน คือ นายนิพนธ์ ยันตะละภะ, นายจักรพงศ์ ขวัญพันธุ์งาม และนายสุชชเดช ทับไกร
 
ล่าสุดเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาได้อีกคนตามหมายจับของศาล คือ นายโยธิน เทพเรียน มือปืน ซึ่งเวลาประมาณ 20.00 น. พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ จะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง
พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า คดีนี้คืบหน้ามามาก และมีผู้มาให้ปากคำเพิ่ม 1 คน เป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ มีคนมาว่าจ้างงานฆ่านายทองนาค จากนั้นผู้ใหญ่คนนี้ไปว่าจ้างนายสุชชเดช อีกทอดหนึ่ง เพื่อหามือปืนและทีมงาน เชื่อว่าคำให้การของผู้ใหญ่บ้านจะสาวถึงผู้จ้างวานได้แน่นอน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำไปสู่การออกหมายจับคนบงการ 2 คน ส่วนนายไพโรจน์ แสงสว่าง คนขับรถเทเลอร์ช่วยในการหลบหนีของผู้ก่อเหตุอยู่ระหว่างขอหมายจับ ส่วนประเด็นคือ ปัญหาถ่านหิน 

“รูปคดีที่ออกมาค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แล้ว เพราะจากคำให้การของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้รู้ว่าผู้ว่าจ้างเป็นใคร คนรับงานเป็นใคร และมือปืนเป็นใคร รวมถึงผู้ร่วมขบวนการมีใครบ้าง ส่วนที่ว่าเมื่อสิ้นสุดที่ผู้จ้างวานฆ่าแล้ว จะสาวต่อขึ้นไปได้อีกหรือไม่ก็ต้องทำการสอบสวนและรวบรวมหลักฐานต่อไป”

 

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไทย 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง-วอยซ์ทีวี: อุดมการณ์สื่อ SAGA: จัดระเบียบเชิงอุดมการณ์

Posted: 01 Aug 2011 11:13 AM PDT

ฐานันดรที่ 4 ทุกวันนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสถาบันที่มีเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นพิเศษในสังคมไทย ดูได้ตอนแบลคฮอว์คตก ศพนักข่าวช่อง 5 เอาออกมาก่อนใครพร้อมศพ ผบ.พล 5 ผมไม่คิดว่าบังเอิญ แต่เป็นความจงใจ ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับสถาบันสื่อ ที่ได้รับเกียรติเทียบชั้นหรือน้องๆ นายพล
 
ในบางสถานการณ์ สื่อมีความสำคัญต่อการชี้ทิศทางของสังคมและการเมืองมากกว่านายพลอีกนะครับ จะบอกให้
 
โลกวันนี้ต่อสู้ช่วงชิงกันด้วยข้อมูลข่าวสาร สื่อจึงมีความสำคัญ กระทั่งตัวสื่อเอง ก็กลายเป็นบุคคลสาธารณะ และกลายเป็นข่าวเสียเอง ตั้งแต่สื่อระดับโลกอย่างนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ มาจนถึงระดับประเทศอย่างมติชนกับประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ที่กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในวงการสื่อ
 
แบบว่ายุคแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน กลายเป็นอดีตไปนานแล้ว ยุคนี้เป็นยุคแมลงวันเจาะไข่แมลงวันต่างหาก
 
แหล่งข่าวเล่าว่า เย็นวันนั้น ประสงค์ยังไม่ทันย่างเท้าออกจากตึกมติชนด้วยซ้ำ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ก็ตีข่าวสนั่นเมือง ขนาดนักข่าวมติชนหลายรายยังรู้ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ เห็นไหมล่ะ โลกยุคข้อมูลข่าวสาร ไม่มีใครปกปิดได้ ไม่เว้นแม้สื่อด้วยกันเอง ยังโดนเจาะยาง ฮิฮิ
 
“มิพักต้องสงสัย” เลยว่าทำไม้ สื่อถึงเจาะลึกไปได้ถึงในที่ประชุมพรรคหรือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
 
“พลันที่” (ยืมสำนวนเสถียร จันทิมาธร) ได้ยินข่าวมติชนเลิกจ้างประสงค์ คำถามแรกที่ผมถามด้วยความเป็นห่วงคือ แล้วประสงค์ได้เงินชดเชยหรือเปล่า แหล่งข่าวในมติชนเปิดเผยว่า ได้รับตามระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุของบริษัทมติชน เป็นกรณีพิเศษ
 
ก็ระเบียบที่มติชนเคยคิดจะแก้ไข แต่มี “มือมืด” เอามาเขียนประจานลงประชาไท จนเสี่ยช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน ต้องกัดฟันกรอดๆ คงไว้ตามเดิมนั่นแหละครับ พนักงานอายุ 60 เกษียณแล้วมีสิทธิได้รับบำเหน็จเป็นเงินเดือนคูณด้วยจำนวนปี ถ้าอายุ 55 ขอเกษียณก่อนกำหนด บวกให้อีก 5 ปี
 
ในกรณีนี้ประสงค์อายุไม่ถึง 55 ดูเหมือน 50 แต่ผู้บริหารมติชนยอมบวกเพิ่มให้ 10 ปี แปลว่าประสงค์ได้บำเหน็จเป็นเงินเดือน 36 เท่า จากอายุงาน 26 ปี
 
แหล่งข่าวเขาว่ายังงั้น จริงไม่จริงประสงค์ช่วยยืนยันด้วย เพราะผมก็ไม่ได้สนิทสนมถึงขั้นสอบถามเป็นส่วนตัว แต่เท่าที่ฟัง ประสงค์ก็พอใจเงื่อนไขการ “เลิกจ้าง”
 
ที่พูดนี่ไม่ได้จะมาตรวจบัญชีทรัพย์สินประสงค์ (ฮา) แต่ผมเป็นห่วงแค่นี้ เพราะผมมองว่ามติชนกับประสงค์อวสานกันไปตั้งนานแล้ว เหลือแต่ว่ามติชนจะชดเชยให้ประสงค์อย่างเป็นธรรมหรือไม่ในฐานะที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสร้างชื่อเสียงให้ค่ายประชาชื่นมาตลอด เมื่อออกมาเป็นการ “เลิกจ้าง” และชดเชยเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่มติชนบีบให้ลาออก ก็ถือว่าแยกทางกันด้วยดี ไม่เหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทยกับสาวิทย์ เสียงหวาน ที่ยังเรียกค่าเสียหายตั้ง 15 ล้าน
 
แน่นอนว่ามติชนกระทบกระเทือน ในแง่เสรีภาพสื่อ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปิดกั้นความเห็นต่าง ตั้งแต่เด้งประสงค์ออกจาก บก.มติชนออนไลน์ ให้ประสงค์เขียนเลิกเขียนบทความ (ซึ่งประสงค์เอาไปโพสต์ลงเฟซบุค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด) ย้ายประสงค์ไปเป็น บก.สำนักพิมพ์ (ซึ่งประสงค์เอาไปโพสต์ลงเฟซบุค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด) จนในที่สุดก็เรียกมาตกลง “เลิกจ้าง”
 
แต่พูดไปทำไมมี เพราะผมไม่เชื่อเรื่องเสรีภาพสื่อแบบเพ้อฝัน ที่เคยพูดๆ กันตอนร่างรัฐธรรมนูญว่าสื่อต้องมีเสรีภาพ นายทุนแทรกแซงไม่ได้ ผมฟังแล้วหัวร่อก๊าก ก็นายทุนเขาออกเงินจ้างเรา แล้วเขาสั่งไม่ได้ เขาจะจ้างเราไว้ทำไม
 
เสรีภาพสื่อจึงต้องอยู่ที่เปิดกว้างให้มีสื่อหลากหลาย สื่อทางเลือก อย่างเช่นที่ปัจจุบันมีทีวีดาวเทียม มีอินเตอร์เน็ต ถ้าจะบอกว่าต้อง “เป็นกลาง” ก็คือสื่อของรัฐเท่านั้น
 
ถามว่าพูดอย่างนี้ผมยอมรับที่ถูกห้ามเขียนในไทยโพสต์หรือ ก็ยอมรับสิครับ ไม่ได้ประท้วงอะไรเลย ผมพูดเสมอว่าที่ให้ผมเสนอความเห็นต่างมา 3 ปีก็เป็นความใจกว้างเหลือเชื่อแล้ว เถ้าแก่เปลวเขียนอยู่ข้างบน ผมขัดคออยู่ข้างล่าง ทุกวันเว้นวันอาทิตย์ ตลอด 3 ปี เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อถึงเวลาที่ไทยโพสต์ให้ผมหยุดเขียน ผมก็ลาออก เท่านั้นเอง
 
ถ้าเปรียบไป ผมก็หัวอกเดียวกับประสงค์ ต่างกันแค่ไทยโพสต์จน ไม่มีเงินบำเหน็จ (ถ้ามีผมก็คงไม่ออกง่ายๆ ฮิฮิ) ไทยโพสต์ไม่ได้บอกให้ผมออก ไม่ได้บีบให้ผมลาออก แค่บอกให้หยุดเขียน แล้วให้ทำงานอื่นไป ไม่ได้ห้ามทำสัมภาษณ์ด้วย แต่ผมเห็นว่าไม่ได้เขียนแล้วผมจะมาอยู่กินเงินเดือนฟรีๆ ทำไม ผมก็ลาออก โดยไม่ได้ดิ้นรนให้เลิกจ้างเอาค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ผมลาออกปลายเดือนตุลาคม ทั้งที่สามารถอยู่เปล่าๆ อีก 2 เดือน ลาพักร้อนมั่ง ลากิจมั่ง รับโบนัสปลายปีแล้วค่อยออกก็ได้ (โบนัสแค่ครึ่งเดือน เดี๋ยวจะหาว่าไทยโพสต์รวย)
 
แบบว่าขอเท่ซักหน่อย อยากเท่ก็ต้องยอมกลืนเลือด
 
การลาออกเมื่อเกิดความขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับคนหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า ถือเป็นเกียรติประวัติด้วยซ้ำ ผมตามอายุษ ประทีป ณ ถลาง ยกทีมออกจากแนวหน้าหลังพฤษภาทมิฬ โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยซักแดง มีแต่ตอนออกจาก INN ที่ฟ้องศาลแรงงานแก้เผ็ด (ชนะอีกต่างหาก ฮิฮิ ชนะคดี INN บริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ) แล้วก็มาถูก “เลิกจ้าง” ที่สยามโพสต์ พร้อมเถ้าแก่เปลว อายุษ รวม 5 คน ดีใจแทบแย่ที่ถูก “เลิกจ้าง” เพราะได้สตางค์ติดกระเป๋าก่อนยกทีมกันมาตั้งไทยโพสต์
 
ผมจึงลาออกโดยไม่โวยวายอะไร เพียงแต่ไทยโพสต์ก็ “ชดเชย” ให้ผมด้วยการจ้างพิเศษ ให้เขียนเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งผมทำอยู่ก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยยาไส้ แม้ลำบากหน่อย ต้องแบมือขอเมียใช้ แต่ก็มีเงินจ่ายประกันสังคมไปถึงอายุ 55 ครบ 15 ปีได้เงินชราภาพ (วาสนาทำมาแค่นี้ ฮิฮิ)
 
พูดอย่างนี้เหมือนผมไม่โกรธ เหมือนผมเห็นว่ายุติธรรมแล้ว ไทยโพสต์ทำถูกต้องแล้วหรือ โห ธรรมดา คนเราก็ต้องยัวะ ไม่งั้นจะออกทำไม เราเคยมีเสรีภาพกลับมาถูกจำกัดเสรีภาพ เพียงแต่ผมมองโลกในความเป็นจริง และมองโลกในแง่ดี มองน้ำครึ่งแก้วที่กินไปแล้ว มากกว่าจะมองอีกครึ่งที่เขาไม่ให้กิน เอาใจเขาใส่ใจเรา ถ้าผมมีเงินทำหนังสือพิมพ์ จ้างเถ้าแก่เปลวมาเขียนแล้วเขียนสวนทางกับที่ผมอยากให้เขียน ผมจะทนแกได้ถึง 3 ปีหรือเปล่า
 
ผมก็มาหาที่ที่ผมเขียนได้อย่างมีเสรี จากใบตองแห้งไทยโพสต์ก็เป็นใบตองแห้งออนไลน์ ฉันใดก็ฉันนั้น จากประสงค์ วิสุทธิ์ ก็เป็นประสงค์ดอทคอม ปล่อยให้ไทยโพสต์เขาเป็นไปอย่างที่เขาอยากเป็น ปล่อยให้มติชนเขาเป็นไปอย่างที่เขาอยากเป็น
 
หลังจากเวลาผ่านไป พอเริ่มตกผลึก ผมก็มองว่าเคสอย่างผมอย่างประสงค์ ไม่เหมือนเคสในอดีตที่ “นายทุน” ขัดใจสื่อ หรือ “นายทุน” โดนใบสั่งให้เอาไอ้คนนั้นอีคนนี้ออก เพราะไปขัดผลประโยชน์ของนักการเมืองรายนั้นกลุ่มนี้ แต่มันเป็นเคสใหม่ที่สื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน แล้วตัวบุคคลขัดแย้งกับอุดมการณ์ทางการเมืองของต้นสังกัด
 
คือจนบัดนี้ ผมก็ยังไม่รู้และไม่ถาม ว่าห้ามผมเขียนเพราะอะไร แต่ถ้าให้มองภาพกว้าง ไทยโพสต์ตั้งแต่หัวจดหางคิดต่างกับผม ผู้อ่านไทยโพสต์ส่วนใหญ่ก็คิดต่างกับผม จะไปนั่งตอบจดหมายเถียงกันทำไม
 
แบบเดียวกัน ผมว่าคนในมติชนส่วนใหญ่ตอนนี้ก็คิดต่างกับประสงค์ ไม่ใช่แค่เสี่ยช้าง หรือฐากูร บุนปาน แต่รวมคนอ่านมติชน ข่าวสดด้วย
 
ผมมองว่าสื่อไทยเริ่ม “จัดระเบียบเชิงอุดมการณ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่เพิ่งจะเกิดขึ้นใน 4-5 ปีนี้ ที่ผ่านมา สื่อไม่ได้เลือกข้างชัดเจนทางอุดมการณ์ ก็แค่ทำข่าวรายวัน ด่านักการเมือง ด่าคอรัปชั่น ใครมาเป็นรัฐบาลก็ด่าหมด แต่ 4-5 ปีมานี้มันเกิดการเลือกข้างทางอุดมการณ์กันชัดเจน เป็นเหลือง เป็นแดง หรือพูดให้ครอบคลุมก็ต้องใช้ภาษาของเกษียร เตชะพีระ ว่าเป็นฝ่ายที่เชียร์ชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับฝ่ายที่เชียร์ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
 
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สื่อเมืองนอกก็แยกข้างกันชัดเจน อย่าง Fox News ของรูเพิร์ท เมอร์ด็อก สนับสนุนพรรครีพับลิกันอย่างเปิดเผย เป็นอนุรักษ์นิยม ขวาสุดขั้ว ของเราก็เอามั่ง ASTV ชัดเจนก่อนเพื่อน ไทยโพสต์ แนวหน้า ชัดเจน ค่ายเนชั่น ค่ายมติชน ก็เห็นทิศทางชัดเจน (เสื้อแดงถือข่าวสด เสื้อเหลืองอ่านคมชัดลึก-ซึ่งขนาดคอลัมน์ต่างประเทศยังด่าทักษิณ) มีแต่ไทยรัฐ ที่เป็นยักษ์ใหญ่ ขายคนอ่านวงกว้าง จึงปล่อยให้มีความเห็นทั้งสองข้าง
 
ผมจึงปลงตก ก้มหน้ารับกรรม จากที่เคยคิดว่าตัวเองทำหนังสือพิมพ์ “ฝ่ายก้าวหน้า” ตื่นขึ้นมากลายเป็นหนังสือพิมพ์จารีตนิยมโจมตีพวก “ล้มเจ้า” เป็นเรื่องของทัศนะที่แตกต่าง จะไปโทษใครได้
 
ฉะนั้น เวลามีใครกล่าวหาว่าเถ้าแก่เปลวเอาใจ ปชป.เพราะได้ค่าโฆษณา ผมจะเถียงแทนเสมอ ว่านักเลงโบราณอย่างเถ้าแก่เปลว ไม่ฆ่าลูกน้องเพื่อนักการเมืองหรอก นักการเมืองมันเรื่องขี้หมา ไม่ว่าพรรคไหน คนทำหนังสือพิมพ์มาตลอดชีวิต รู้ทั้งนั้นแหละว่านักการเมืองต่างมาแล้วก็ต่างไป แต่นี่มันเป็นเรื่องใหญ่กว่า คือเป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ของแก-และของผม
 
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การแยกทางกันด้วยดี ซึ่งกรณีของผม ก็เป็นไปด้วยดี กรณีของประสงค์ ก็เป็นไปด้วยดี ตามเงื่อนไขของแต่ละที่ ผมจึงถามคำเดียวว่าประสงค์ได้เงินชดเชยหรือเปล่า เมื่อรู้ว่าได้อย่างเป็นธรรมและเป็นกรณีพิเศษด้วยซ้ำ ก็ถือเป็นก่ารแยกทางกันด้วยดี นับแต่นี้ประสงค์ก็จะได้ไปเป็น ผอ.สถาบันอิศราแบบฟุลไทม์ และเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายแบบพาร์ทไทม์ ไม่ต้องนั่ง 3 ตำแหน่งให้น้องๆ มันนินทา (ฮิฮิ)
 
แน่นอน ประสงค์ก็คงเจ็บปวดคับข้องไม่ต่างจากผม แต่ประสงค์ก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะในเชิงความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ถือว่ามติชนแฟร์ที่สุดแล้ว
 
แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสื่อ และที่ลามออกไปข้างนอกสิครับ ไม่แฟร์ ตรงที่มีการโจมตีค่ายมติชนทำนองว่า เลิกจ้างประสงค์รับรัฐบาลใหม่ ยอมศิโรราบต่ออำนาจรัฐที่มาพร้อมผลประโยชน์มโหฬาร
 
คำถามคือ ก่อนหน้านี้มติชนเลียรัฐบาลประชาธิปัตย์แผล็บๆ โจมตีพรรคเพื่อไทย ด่าท้กษิณ แล้วพอพรรคเพื่อไทยชนะ ก็หันมาเชลียร์ยิ่งลักษณ์ อย่างนั้นหรือเปล่าละครับ ถ้าอย่างนั้นก็สมควรด่า ว่าเป็นสื่อที่กลับกลอก เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่มีจุดยืน
 
แต่ความจริงก็คือ มติชนเขาเลือกจุดยืนนี้มานานแล้ว อย่างน้อยก็ร่วม 3 ปี ที่ถูกพวกเสื้อเหลืองพวกสลิ่มด่าเป็น “สื่อหัวแดง” มติชนเขายืนหยัดไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจรัฐในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่ามีกองทัพ ตุลาการ และ “อำมาตย์” หนุนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา มติชนเจอแรงกดดันมากมาย อย่างน้อยก็เห็นได้ว่ามติชนแทบไม่ได้ค่าโฆษณาหน่วยงานรัฐ มติชนเป็นบริษัทในตลาดหุ้น มีทุนหมุนเวียนเป็นพันๆล้าน แต่เขากล้าเสี่ยง ทั้งที่รู้ว่าสู้กับ “มือที่มองไม่เห็น” ทั้งที่ถ้าเขายอมเชลียร์ประชาธิปัตย์ เขาอาจจะได้รายการวิทยุทีวี ให้ประสงค์กับนงนุช สิงหะเดชะ ไปจัดออกช่อง 9 ช่อง 11
 
เรื่องเหล่านี้ทำไมพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่พูดบ้างล่ะ ทำไมมากล่าวหาเขาตัดตอน ว่าให้ “ซองขาว” วันก่อนหน้าที่ยิ่งลักษณ์จะไปเยี่ยมมติชน เพราะเห็นกันชัดเจนว่า อุดมการณ์ของประสงค์กับอุดมการณ์ของมติชน สวนทางกันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ย้ายประสงค์จาก บก.ประชาชาติ จาก บก.มติชนออนไลน์ ซึ่งก็เกิดในยุคประชาธิปัตย์
 
คือถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ว่ามติชนปิดกั้นความเห็นต่าง ก็ว่าไปสิครับ แต่ที่ไปกล่าวหาเขาว่าทำเพื่อผลประโยชน์ มันไม่แฟร์ แต่ถ้าคุณวิพากษ์วิจารณ์ว่ามติชนปิดกั้นความเห็นต่าง คุณก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ไทยโพสต์ ASTV แนวหน้า ฯลฯ เพราะผมก็ไม่เคยเห็นพนักงาน ASTV กล้ามีความเห็นต่างจากสนธิ ขณะเดียวกันถ้าคุณกล่าวหาว่ามติชนทำเพื่อผลประโยชน์ แล้วที่ผ่านมา ที่รับโฆษณาหน่วยงานรัฐกันครึกโครม และที่เนชั่น โพสต์ทูเดย์ ได้จัดรายการวิทยุทีวีล่ะ
 
ที่จริงในความเห็นผม ผมก็เห็นว่ามติชนเอียงมากไปหน่อย เราควรมีจุดยืนประชาธิปไตย แต่ไม่จำเป็นต้องเชียร์พรรคเพื่อไทยตะพึดตะพือ และผมก็ไม่เห็นด้วยกับการไม่ให้ประสงค์เขียนคอลัมน์ ปล่อยให้เขาเขียนไปสัปดาห์ละครั้ง คนอ่านเปรียบเทียบได้เอง
 
แต่ถ้าเราจะวิจารณ์กันอย่างนั้น ก็คือวิจารณ์ในแง่จุดยืน คุณว่าเขาเลือกข้างถูกผิดก็ว่ากันไป เขาก็มีสิทธิว่าคุณเช่นกันว่าเลือกข้างถูกหรือผิด ไม่ใช่มากล่าวหากันว่า “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ทำเพื่อผลประโยชน์
 
สื่อทุกค่ายต่างก็ “จัดระเบียบเชิงอุดมการณ์” ปิดกั้นความเห็นต่างในค่ายตัวเอง ไม่ได้แตกต่างกันเลย มันไม่ใช่เกิดแค่ในมติชน ไทยโพสต์ แต่แทบทุกแห่ง ช่วงม็อบเสื้อแดงปีที่แล้ว เดลินิวส์ยุคมีผัวเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็สั่งห้าม “เบญจมาศ” เขียน เพียงแต่เขาทำกันภายในเงียบๆ
 
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 2 ปีก่อน มติชนเองก็เคยปลดเสถียร จันทิมาธร กับจุฬาลักษณ์ ภู่เกิด แล้วเก็บเข้ากรุ ว่ากันว่าเพราะ “แดงเกินไป” จะโดนแรงกดดันจากระดับไหนผมก็ไม่ทราบ เพียงแต่ทั้งคู่ไม่ได้ลาออก
 
ถามว่าตอนนั้นมีใครในแวดวงสื่อวิพากษ์วิจารณ์มติชนว่าปิดกั้นความเห็นต่างหรือเปล่า ยอมจำนนเพื่อผลประโยชน์หรือเปล่า เปล่า ไอ้พวกที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ตอนนี้สะใจเยาะเย้ยเสถียรกับจุฬาลักษณ์ด้วยซ้ำ เช่นกัน คนพวกนี้ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ไทยโพสต์ คนพวกนี้ไม่ได้คัดค้านการประกาศ พรก.ฉุกเฉินแล้วปิดประชาไท ปิดเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือใช้มาตรา 112 คุกคามจับกุมจีรนุช เปรมชัยพร, สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
ฉะนั้น อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ การที่คนพวกนี้โจมตีมติชน ก็เพียงเพราะเห็นว่าประสงค์เป็นพวกตัวเอง เป็นคนขุดคุ้ยเรื่องหุ้นทักษิณ เป็นคนที่ไม่ลดราวาศอกเรื่องหุ้นยิ่งลักษณ์ แล้วก็ฉวยโอกาสแปลงประสงค์เป็นอาวุธ รุมถล่มมติชนที่ตัวเองเกลียดชัง เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องของการปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่ออะไรหรอก
 
เพราะถ้าสังเกตดูง่ายๆ ขณะที่ด่ามติชนไป พวกนี้ก็ด่าภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ไปด้วย โทษฐานที่บินไปสัมภาษณ์ทักษิณถึงดูไบ ทำนองว่าถ้าไทยพีบีเอสปลดภิญโญ พวกนี้ก็จะแซ่ซ้องสรรเสริญ
 
ปกป้องสิทธิเสรีภาพขี้หมาอะไร แถมยังไม่เข้าใจการทำหน้าที่สื่ออีกต่างหาก
 
ผมละขำปนเศร้า เพราะตอนภิญโญสัมภาษณ์ณัฐวุฒิ ซักหนักๆ พวกเสื้อแดงก็ไม่พอใจ เขียนด่าในเว็บบอร์ดว่าภิญโญเป็นพันธมิตร พอไปสัมภาษณ์ทักษิณ สามารถทำให้ทักษิณสารภาพผิดออกอากาศ ต่อหน้าคนไทยทั้งประเทศ ยอมรับว่าผิดไปแล้วกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพย์ติดกับอุ้มฆ่าภาคใต้ พวกเสื้อเหลืองพวกสลิ่มกลับหาว่าไปอวยทักษิณ
 
โห ถ้าคนวิจารณ์ไม่ใช่สื่อ ผมจะไม่ว่าอะไรเลย แต่ถ้าเป็นสื่อด้วยกัน ถ้าไม่ใช่ไอ้ควายก็คือคนที่มีแต่อคติและความเกลียดชัง
 
ถามว่าใครคือคนที่น่าสัมภาษณ์ที่สุด หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ถ้าคนตอบยังมีวิญญาณนักข่าว ก็ต้องตอบว่าทักษิณ แล้วคุณจะทำยังไงให้ทักษิณพูด คุณก็ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจ ไม่ใช่ไปถึงก็ไปชวนทะเลาะ
 
เทคนิคพื้นฐานของคนสัมภาษณ์ มันก็ต้องตะล่อมให้คนที่เราจะสัมภาษณ์ยอมพูด คุยไปเรื่อยๆ ให้เขาวางใจ แล้วค่อยๆ ไปสู่ประเด็นที่เราต้องการ ผมสัมภาษณ์คนมาสิบกว่าปื ต่อให้คนที่ไม่ชอบหน้า ผมก็ต้องสุภาพอ่อนน้อม หรือแม้แต่อวยบ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง ผมสัมภาษณ์สนธิ ลิ้ม ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าความเห็นตรงข้ามกัน ผมก็เก็บตัวตนของผม ให้สนธิพูด ผลออกมาพวกพันธมิตรปลื้ม แต่คนที่เกลียดสนธิก็ยิ่งเกลียด
 
มีคนเดียวมั้งที่ผมสัมภาษณ์แล้วทะเลาะไปด้วย คือพี่เปี๊ยก พิภพ ธงไชย เพราะเป็นกันเองจนเถียงกันได้
 
ผมไม่เห็นว่าภิญโญทำงานไม่เข้าเป้าตรงไหน แต่พวกไร้สติยังหาว่าไทยพีบีเอสใช้เงินภาษีประชาชนบินไปสัมภาษณ์ น.ช.ทักษิณ อ้าวเฮ้ย ภาษีเหล้าบุหรี่ที่เอามาให้ไทยพีบีเอส มันเป็นของพวกเสื้อเหลืองหรือพวกสลิ่มข้างเดียวซะเมื่อไหร่ มันเป็นของพวกเสื้อแดงเขาด้วย
 
เอาเข้าจริงก็คือคนพวกนี้คิดว่าไทยพีบีเอสควรจะเป็นของตัวเอง เป็นของเสื้อเหลือง เป็นของสลิ่ม เป็นของแมลงสาบ ใครมีความเห็นต่างหน่อยเดียว ก็หาว่ารับผลประโยชน์
 
ซึ่งที่จริง ไทยพีบีเอสที่ตั้งขึ้นมาในยุครัฐประหาร ก็เอาสื่อที่เกลียดทักษิณทั้งนั้น เข้าไปนั่งบริหารเงิน 2 พันล้านต่อปี ใครว่าเทพชัย หย่อง เป็นกลาง แต่อย่างน้อยเทพชัยก็ยังมีวิญญาณนักข่าว ที่เห็นว่าในเชิงข่าวคุณต้องสัมภาษณ์ทักษิณ ถึงอนุมัติค่าเครื่องบินให้ภิญโญไปสัมภาษณ์
 
พวกที่ออกมาโวยวายยังตีโพยตีพายถึง “อนาคตสื่อในมือระบอบทักษิณ” ทำนองว่าถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามา ก็ต้องถอดรายการเจิมศักดิ์ รายการของค่ายเนชั่น เข้าไปแทรกแซงสื่อผ่านค่าโฆษณารัฐ อ้าว เฮ้ย ก็ 5 ปีที่ผ่านมาคุณเลือกข้างซะชัดเจนขนาดนั้น เขาจะเอาคุณไว้ทำบิดาหรือ ถ้าคุณคิดว่าคุณมีอุดมการณ์หนักแน่นมั่นคงจริง คุณก็ทำสื่อของคุณไปโดยไม่ต้องแยแสโฆษณารัฐ
 
ทีฮูทีอิท อยากเท่ก็ต้องกลืนเลือดบ้างสิครับ รู้จักทำตัวเป็นเสืออย่าทำเป็นหมา เวลาโดนเข้ามั่งก็ร้องเอ๋งๆ
 
สื่อทั้งหลายควรยอมรับได้แล้วว่า พวกคุณเลือกข้าง แบ่งเป็น 2 ข้าง จะสนับสนุนใครระหว่าง “ชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” กับ “ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นเรื่องของทัศนะ เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง ที่มองพัฒนาการของประชาธิปไตย หรือตีความประชาธิปไตยแตกต่างกัน (โดยส่วนใหญ่ตีความประชาธิปไตยเป็นสนับสนุนรัฐประหาร ฮิฮิ)
 
ถ้าคุณอยากยืนสู้กัน ก็ต้องสู้กันเรื่องทัศนะ เรื่องอุดมการณ์ ไม่ใช่กล่าวหากันพล่อยๆ ว่าใครที่ไม่เห็นด้วยกับกรูคือรับเงินรับผลประโยชน์ เพราะที่เห็นๆ ก็มีผลประโยชน์กันทุกค่าย
 
ความเป็นสื่อมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่เป็นนักข่าว 5-10 ปี เฮโลสาระพากันทำข่าวปิงปอง แล้วบอกว่าตัวเองเป็นนักข่าวที่ดี เพราะไม่เคยรับผลประโยชน์จากนักการเมือง แล้วก็ยกตนขึ้นมาเป็นผู้ตัดสิน ทั้งที่ควรจะเป็นแค่กระจกหรือผู้สังเกตการณ์
 
เกียรติภูมิของสถาบันสื่อ สั่งสมมาจากรุ่นบรรพชน ที่เขาต่อสู้กับเผด็จการตั้งแต่สมัยกุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, อิศรา อมันตกุล ฯลฯ ทำให้คนรุ่นหลังเพียงได้ชื่อว่าเป็นนักข่าว ก็ได้รับการยกย่อง ให้เกียรติ จนสำคัญผิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ นักการเมือง ข้าราชการ ต้องเกรงใจ ขออะไรก็ให้
 
ความเป็นสื่อมันควรจะต้องเรียนรู้โลกกว้าง มองพัฒนาการของสังคม ความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่ฝังหัวอยู่แค่ “เกลียดนักธุรกิจการเมือง” หรือ “เกลียดนายทุน” เช่นคุณจะทำข่าวเรื่องป่าไม้ ที่ดิน คุณก็ต้องรู้ว่าอะไรคือ สค.1 นส.3 นส.3 ก. สปก.4-01 ภบท.5 เขตป่าสงวน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ไม่ใช่พาดหัว “นายทุนรุกป่า” แล้วก็เฮโลสาระพากันไปเป็นพักๆ สุดท้ายก็เงียบหายไป โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง
 
อุดมการณ์สื่อเป็นเรื่องที่กว้างไกลกว่าอคติและความเกลียดชัง อย่างน้อย อุดมการณ์สื่อต้องเชิดชูสิทธิเสรีภาพ ก่อนจะด่าคนอื่น พวกคุณยอมรับเสรีภาพของคนที่มีความเห็นต่างหรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ สิน สันป่ายาง : วิพากษ์นักวิชาการรับจ้าง นักสร้างเขื่อน กรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่เชียงดาว

Posted: 01 Aug 2011 10:50 AM PDT

 

สิน สันป่ายาง คืออดีตเจ้าหน้าที่ทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการของรัฐ

 

“ที่รัฐมักบอกว่าการพัฒนาการสร้างเขื่อนทั้งหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนรวมนั้นไม่จริง เป็นแค่การตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยที่ภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเป็นของมหาชนทั้งประเทศ”

สิน สันป่ายาง เคยเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ปัจจุบันศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกำลังศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการของรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ที่บริเวณบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังเป็นข่าวชาวบ้านกำลังลุกขึ้นต่อต้านอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ได้อย่างน่าสนใจ

0 0 0 

ในฐานะที่เคยทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนและกำลังทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ มีความเห็นอย่างไรที่จู่ๆ ก็มีข่าวกรมชลฯ จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ?
ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว คือ เป็นหน้าที่ของกรมประทานที่ต้องทำการจัดหาน้ำเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ และโดยปกติที่เราเห็นๆ ก็คือ น้ำหนักของการจัดหามักจะเทไปที่สองภาคหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำการผลิตและบริการเพื่อสนองความต้องการบริโภคของภาคเมืองเป็นส่วนใหญ่

ส่วนภาคการเกษตรนั้น ถ้าเป็นการเพาะปลูกตามฤดูกาลแล้วคงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อระบบการเกษตรเป็นไปเพื่อตอบสนองการผลิตแบบอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น เช่น ระบบเกษตรพันธสัญญา การทำนาปรัง การเพาะปลูกนอกฤดูกาล ฯลฯ ก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ในเป็นความจริง พื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ราบรอบๆ เมืองใหญ่ ซึ่งไม่สามารถหรือไม่มีพื้นที่เพียงพอจะสร้างแหล่งน้ำได้อีกต่อไป ดังนั้น การสร้างแหล่งน้ำรองรับการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจึงต้องหาพื้นที่รองรับใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่มีคนอาศัยอยู่อย่างเบาบาง

นั่นเป็นเหตุผลกรมชลประทานจึงเลือกที่จะสร้างที่บ้านโป่งอาง พื้นที่ต้นน้ำปิงที่เชียงดาว ?
ใช่ และที่สำคัญ เพราะเขาอาจเห็นว่าคนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยใหญ่ ปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียงไม่ดังในสังคมอยู่แล้ว ซึ่งกรณีของบ้านโป่งอาง เห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา โครงสร้างทางธรณีวิทยาและดินแข็งแกร่ง ห่างไกลจากชุมชนใหญ่ๆ และเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดว่าเป็นของคนชายขอบที่ไม่ดัง จึงมีความเหมาะสมหรือศักยภาพในการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำค่อนข้างสูง...ผมเข้าใจว่านี่คือมุมมองของเทคโนแครตของกรมชลประทาน

หากในความเป็นจริง ชุมชนชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐยังคงดึงดันจะสร้างต่อไป ?
ในความเป็นจริงคืออะไรนั้น คนในพื้นที่น่าจะรู้และเข้าใจดีกว่าผม เพราะการสร้างเขื่อนใหญ่ขนาดนั้น ไม่ว่าจะมีการอพยพคนออกจากชุมชนหรือไม่ รับรองได้ว่าส่งผลกระทบต่อคนในหมู่บ้านและชุมชนรอบข้างอย่างแน่นอน เอาแค่ง่ายๆ เฉพาะบริเวณหัวเขื่อน จะต้องมีการปรับแต่งพื้นที่มากมายขนาดไหน จะต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานทั้งวันทั้งคืนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ต้องมีการขนดินขนหินเข้าออกหมู่บ้านด้วยรถบรรทุกหนักวันละเป็นร้อยเป็นพันเที่ยว ถนนทั้งเส้นจะเสียหายไปเท่าไร อากาศจะคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นขนาดไหน เสียงเครื่องจักรและความสั่นสะเทือนจะมากน้อยเพียงใด อย่างนี้ชาวบ้านจะทนไหวหรือเปล่าครับ

ทำไมในตัวโครงการ เจ้าหน้าที่รัฐถึงชอบใช้คำว่า อ่างเก็บน้ำ ทั้งที่ขนาดปริมาณนั้นเทียบเท่าเขื่อนขนาดใหญ่?
ที่จริงก็คงไม่แปลกหรอกเพราะกรมชลเขามีโครงการแบบนี้ทุกพื้นที่ อย่างที่บอกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มันแปลกที่ว่าโครงการใหญ่ๆ ในช่วงหลังมักจะหลีกหนีไม่ใช้คำว่าเขื่อน ไปใช้คำว่าฝายทดน้ำบ้าง อ่างเก็บน้ำบ้าง แต่อันที่จริงโดยพื้นฐานทั้งโครงสร้างและแนวคิดในการสร้างไม่ได้แตกต่างจากเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นวาทกรรมที่ภาครัฐหรือกลุ่มที่สนับสนุนพยายามยกมาใช้เพื่อลดกระแสการต่อต้าน แต่ชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านมักจะมองว่าไม่แตกต่างกัน

ที่ผ่านมา คุณคิดว่ารัฐมองเขื่อนเป็นอย่างไร?
ตามประสบการณ์แล้ว เห็นว่า รัฐมองเขื่อนในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่มักไม่มองถึงผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งถ้าให้วิพากษ์แนวคิดการสร้างเขื่อนหรือโครงการใหญ่ๆ แล้ว นักสร้างเขื่อนหรือเทคโนแครตเหล่านั้น มักจะมองพื้นที่แบบที่ไม่เห็นตัวคนอยู่ในนั้น หรือเห็นคนในพื้นที่นั้นอยู่ในฐานะที่จะทำอย่างไรก็ได้ จะให้อพยพหรือจ่ายค่าชดเชยอย่างไรก็ได้ แต่มักไม่มองถึงมิติความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่คนในชุมชนเดียว แต่อาจหมายถึงหลายๆ ชุมชนรอบข้าง ที่ติดต่อสัมพันธ์กันมาอย่างเนิ่นนานหลายสิบหลายร้อยปี พื้นที่ชุมชนจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่กายภาพ พื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ทำการเกษตร แต่มันคือพื้นที่ของระบบความสัมพันธ์อยู่บนนั้นด้วย ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอันนี้แหละที่นักสร้างเขื่อนไม่เห็น ไม่เข้าใจ หรือไม่อยากเห็นและไม่อยากเข้าใจ เพราะเทคโนแครตชั้นสูงทั้งหลายไม่ได้เติบโตมาจากชาวนาชาวไร่ ชาวบ้านคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ตามป่าตามดอย จึงไม่เข้าใจชาวบ้านว่าเพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างเขื่อนนั้นไม่สามารถตอบสนองชาวบ้านเหล่านั้น

ในขณะชาวบ้านมองว่าพื้นที่ชุมชน ผืนดินผืนป่าและแม่น้ำนั้นคือชีวิตของพวกเขา ?
ใช่แล้วครับ ในขณะชาวบ้านเขาคิดคนละแบบกับเทคโนแครต เขาไม่ได้มองว่าพื้นที่นี้จะให้ประโยชน์มากหรือน้อยแค่ไหนแบบนักเศรษฐศาสตร์ แต่เขามองว่ามันเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของเขา พื้นที่ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของผู้คนที่นั่น ก็ไม่อยากให้ใครเข้ามาทำอะไร โดยที่เขาไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้ทำ ต่อให้มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือเป็นป่าเสื่อมโทรมแค่ไหนก็ตาม ท่านเหล่านั้นจะรู้ไหมว่าไอ้ทุ่งร้างนั้นเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ป่าดงแห้งๆ เป็นแหล่งอาหารประจำชุมชนที่เลี้ยงผู้คนได้นับร้อยพันคน นี่ยังไม่พูดถึงคุณค่าเชิงนิเวศที่มีต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเลย

อย่างไรก็ตามก็มีเทคโนแครตจำนวนหนึ่งที่เป็นลูกชาวบ้านที่สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นหัวกะทิในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาได้ด้วย พวกนี้น่ากลัวยิ่งกว่าพวกแรก เพราะมักจะคิดว่าตัวเองเป็นลูกชาวบ้านคนยากคนจนมาก่อน ชาวบ้านทั้งหลายจึงน่าจะคิดน่าจะทำได้เหมือนกับตนเอง ซึ่งถ้ามีนักพัฒนาคิดกันแบบนี้มากๆ ก็น่าเป็นห่วงครับอนาคตของชุมชนชนบททั้งหลายว่าจะอยู่กันต่อไปอย่างไร จะต้องเผชิญกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนรุนแรงขึ้นแค่ไหนในกระแสการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในช่วงอายุของเรานี้

คุณมองว่าการสร้างเขื่อน มันจะส่งผลต่อพื้นที่ ชุมชนอย่างไรบ้าง ?
ผลกระทบอย่างแรก ก็คือ ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ไม่ต้องบอกก็คงนึกภาพออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างอย่างที่เกิดขึ้นกับเขื่อนหลายๆ แห่ง คือ การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่ป่าไม้ หรือแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่า ซึ่งก็ไม่ต้องอธิบายต่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันมีค่ามากเกินที่จะประเมินได้ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายจริงๆ คงต้องคุญอธิบายกันยาวเลยหละ แต่อยากให้มองให้กว้างไปถึงชุมชนรอบข้างหรือทั้งระบบลุ่มน้ำก็ได้ เพราะเรารู้ว่าน้ำจากขุนน้ำปิงนี้ไหลไปไกลกว่า 700 กิโลเมตรจนถึงปากน้ำโพเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไหลต่อไปอีกเกือบ 400 กิโลเมตรสู่ปากน้ำของอ่าวไทย รวมความยาวแล้วเกือบ 1,100 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำจะใหญ่ขนาดไหน ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมายเพียงใด

ระบบใหญ่ๆ แบบลุ่มน้ำนี่แหละที่คนมักไม่เข้าใจ ต่อให้เป็นนักวิชาการ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ! เพราะคนที่เรียนจบทางด้านทรัพยากรน้ำหรือการจัดการลุ่มน้ำจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ทำโมเดลแบบจำลองลุ่มน้ำในพื้นที่เล็กๆ ระดับลุ่มน้ำย่อย และมักจะมองเฉพาะน้ำกับอิทธิพลของมัน แต่มักไม่ได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีรายละเอียดของปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเกษตร การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นข้อบกพร่องอย่างใหญ่หลวงของคนที่อ้างว่ามีความรู้ ความสามารถที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ

คุณกำลังจะบอกว่า การที่คนบางกลุ่มมองระบบลุ่มน้ำผิดแปลกไป ทำให้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงใช่ไหม ?
แน่นอนว่า ผลลัพธ์มันจะออกมาแตกต่างกับโมเดลที่ท่านทำการศึกษาไว้แบบที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทำไมต้องอธิบายเรื่องนี้ เพราะกำลังจะบอกว่าพื้นที่ภาคกลางที่เกิดขึ้นและอยู่มานานเพียงไม่กี่พันปีนั้นเพราะลำน้ำทั้งสี่สายในภาคเหนือ และอาจรวมถึงระบบแม่น้ำที่ไหลลงปากอ่าวไทยทั้งหมดด้วย (แม่กลอง ท่าจีน ป่าสัก บางปะกง) แม่น้ำเหล่านี้ช่วยรองรับเลี้ยงดูชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำมาหลายร้อยหลายพันปีอย่างไม่มีปัญหา แต่แปลกไหมตั้งแต่สี่สิบปี ห้าสิบปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเรามักได้ยินปัญหาเกิดขึ้นกับพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำมากมาย เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน ตลิ่งพัง แผ่นดินทรุด การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง ฯลฯ ซึ่งเรามักจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันเป็นส่วนมาก

ลองยกตัวอย่าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเช่นนี้ ?
ยกตัวอย่างเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้าสันนิษฐานกันว่าเกิดจากคลื่นลมรุนแรง ก็แก้ด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งมันผิด! คุณไปดูหลักฐานโทนโท่ แถวมาบตาพุดได้เลย เพราะปัญหามันเกิดจากหลายสาเหตุกว่านั้น ทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง การทำลายพื้นที่ชายหาดเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต การสร้างถนนเลียบชายฝั่ง การสร้างท่าเรือที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชายฝั่ง ฯลฯ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำต่างๆ ที่ไหลลงทะเล เพราะมันเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้ทั้งระบบลุ่มน้ำและปากแม่น้ำคงอยู่ได้

ทีนี้ย้อนกลับไปดูที่บอกไว้ว่ามีแม่น้ำข้างบนอะไรบ้างที่ไม่มีเขื่อน? ไม่มีเลยใช่ไหมครับ...ยกเว้นแม่น้ำยมที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะแม่น้ำสำคัญแต่ละแห่งมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะในน้ำแม่ปิงตอนนี้ก็ปาไปสี่แห่งแล้ว (แม่แตง, แม่งัด, แม่กวง,ยันฮี) แต่ละแห่งสร้างมากี่สิบปี กักตะกอนไว้หน้าเขื่อนกี่พันล้านตัน ตะกอนนี่ก็ตัวดีที่ช่วยซัพพอร์ตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน

เราเคยได้ยินไหมว่าคนโบราณเขาใส่ปุ๋ยในนาข้าว เคยได้ยินไหมว่าน้ำหลากท่วมนาเสียหาย เดี๋ยวนี้ละครับชาวนาในอยุธยาต้องซื้อปุ๋ยปีหนึ่งๆ ไปกี่สิบกี่ร้อยล้านบาท แล้วรู้ไหมว่าชายฝั่ง(นับเฉพาะอ่าวไทย)สามสิบปีที่ผ่านมาสูญเสียพื้นที่ไปกี่ล้านไร่ ปีหนึ่งๆ สูญเสียพื้นที่ไปเท่าไหร่ คนกรุงเทพไม่ต้องไปดูไกลเลยครับ บางขุนเทียนนี่เองพื้นที่หายไปเยอะเท่าไหร่แล้ว อยากจะบอกคนเมืองกรุงว่าเรียกร้องเอาน้ำเอาไฟ เอาแต่ความสุขสบายเฉพาะตัว แต่ไม่รู้ว่าความสบายเหล่านั้นนะกำลังทำลายเมืองกรุงเทพอยู่นะครับ

วกมาที่เขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่กำลังร้อนขณะนี้ คุณคิดว่าชุมชนจำเป็นจะต้องมีบทบาทเรียกร้องต่อสู้อย่างไรดี
ถึงแม้ผมอาจจะมองภาพคนในเมืองใหญ่ไม่ค่อยดี แต่จำเป็นที่ชาวบ้านจะต้องสร้างแนวร่วมสู่คนที่อาศัยในชุมชนให้มาก เพราะต้องยอมรับคนบ้านนอกอย่างเราเสียงไม่ดังเท่ากับคนในเมือง ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนเหล่านั้นเข้ามาเรียนรู้ให้มากที่สุด สร้างทุกพื้นที่ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มชุมชนเมือง เครือข่ายการท่องเที่ยว เครือข่ายการศึกษาการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยเฉพาะพื้นที่ใหม่อย่างเครือข่ายออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ค เพราะเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เข้าไปใช้ประโยชน์มากถึงมากที่สุด มากกว่าพื้นที่ใดๆ เพราะเป็นพื้นที่ที่เขาแสดงตัวตนได้ชัดเจนที่สุด ลองดึงคนเหล่านี้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านก็น่าจะเป็นพลังที่สำคัญในการต่อสู้ได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ออนไลน์ยังมีอีกมากมายที่เราสามารถสร้างแนวร่วมได้ ทั้งในเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างห้อง Blue Planet ในพันธุ์ทิพย์ ช่องข่าวทางอินเตอร์เน็ทต่างๆ ที่เป็นสื่อทางเลือกก็มีมาก แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเข้ากับประเด็นของเราไหม

พื้นที่ต่อมาน่าจะเป็นสื่อกลางเก่ากลางใหม่อย่าง วิทยุชุมชน อันนี้ชาวบ้านน่าจะคุ้นเคยที่สุดและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คงไม่ต้องไปแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างแนวร่วมได้เพราะอาจเป็นการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ

พื้นที่อันหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้ก็คือ หนังสือพิมพ์ ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พื้นที่อันสุดท้ายที่คิดได้ในตอนนี้ก็คือสื่อเก่าเก๋ากึ๊กแบบโทรทัศน์ แม้ว่ากลุ่มทางสังคมต่างๆ อาจมองว่าสื่อโทรทัศน์บางช่องนั้นเป็นเครื่องมือของพวกอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม หรือของขุนนางเอ็นจีโอ แต่ก็เป็นช่องที่เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมากที่สุดในสื่อกระแสหลัก เพราะคนทำข่าวส่วนหนึ่งเคยเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านมาอย่างยาวนาน น่าจะมีวิธีการให้เราสามารถจุดให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจแก่คนในสังคมได้ มีหลายรายการที่เราควรนำเสนอ โดยเฉพาะรายการเวทีสาธารณะควรจะนำเรื่องของเราไปนำเสนอสักตอนสองตอน แต่ที่ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดคือนักข่าวพลเมือง

คุณคิดว่า ที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่ชุมชน ที่เคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อน จนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งได้นั้น มีปัจจัยเรื่องใดบ้างที่เป็นแรงหนุนเสริม ?
จากการที่เคยเข้าไปศึกษาชาวบ้านที่เคยต่อสู้ว่าทำไมจึงยอมให้เกิดโครงการได้ พบว่าที่ชาวบ้านเคยต่อสู้ยืนหยัดอยู่ได้นั้นเป็นเพราะเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ภายนอก ทั้งกับเครือข่ายประชาสังคม นักวิชาการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันและเอ็นจีโอ แต่การต่อสู้ครั้งหลังแทบไม่มีส่วนนี้เข้ามาเกี่ยวข้องช่วยเหลือ ยิ่งโดนอำนาจในท้องถิ่น ทั้งส.ส.และเทศบาลที่มีแนวสนับสนุนโครงการนั้นเข้าไปแล้วก็แทบจะหมดหวัง ยังผสมกับการนำคนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาร่วมทำประชาพิจารณ์โดยอ้างว่าส่งผลกระทบต่อคนทั้งตำบล ซึ่งน่าจะเป็นข้ออ้างของคนที่ผลักดันโครงการมากกว่าเพราะคนที่เข้าร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการ ผลก็คือแพ้หลุดลุ่ย แต่ที่สำคัญก็คือคนในชุมชนเองก็ไม่เข้มแข็งพอ ก็ลองตั้งใจแน่วแน่ว่าไม่เอาก็คือไม่เอาแล้วใครจะขัดได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองแท้ๆ ถ้าเสียงยังไม่เห็นพ้องต้องกันก็อย่าไปหวังเลยว่าจะไปสู้กับใครได้

ทางออกของชุมชนโป่งอาง จะต้องทำยังไงต่อไปนับจากนี้ ?
ชาวบ้านคงต้องเร่งสร้างพื้นที่และแนวร่วม ก็คงเป็นอย่างที่บอกไป และก็ต้องเน้นย้ำว่าถ้าเราไม่เอาเสียอย่าง ใครเขาจะกล้าฝืนมติได้ แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชุมชนเองจะต้องศึกษาเรียนรู้กันภายในชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นที่จะต้องศึกษาให้ถึงแก่นถึงราก ถึงโคตรเหง้าเหล่าตระกูลเลยยิ่งดี แล้วต้องศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกตัวตนของชุมชนว่าเราเป็นใคร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำอะไรลงไปบ้าง แล้วนำไปขยายให้คนอื่นได้รับรู้ พยายามสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนที่สัมพันธ์กับพื้นที่ให้มากเพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่าพื้นที่ชุมชนของเราสำคัญต่อชีวิตผู้คนมากเพียงใด ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อย่าหลีกเลี่ยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมันเป็นเครื่องมือช่วยที่ดีในด้านหนึ่ง เช่น ระบบภูมิสารสนเทศ(จีไอเอส) การทำแผนที่การใช้ที่ดิน แผนที่กรรมสิทธิ์ แบบจำลองสภาพพื้นที่ การทำแผนที่ลุ่มน้ำ ฯลฯ แต่อย่ายึดเป็นสรณะ เพราะฝ่ายรัฐนั้นมีกลไกหน่วยงาน ความรู้หรือเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านนี้มากกว่าชาวบ้านแบบเทียบกันไม่ติด ชาวบ้านจึงต้องเรียนรู้เองหรือขอความช่วยเหลือไปยังสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่มีแนวคิดในการสนับสนุนชาวบ้าน อย่างในเชียงใหม่นี้ก็คงเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หรืออาจจะเป็นมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งระยะหลังนี้มีงานวิจัยทางด้านสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อยเทียบเท่าหรืออาจจะเด่นกว่า มช.ด้วยซ้ำ

อีกประเด็นก็คือ อย่าหลงกลสิ่งที่รัฐหรือผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ มีได้ก็ต้องมีเสีย รัฐจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ชุมชนตกเป็นเบี้ยล่าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วิธีการนับวันก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นจนเราไม่แทบไม่รู้ว่าตกเป็นเบี้ยล่างของอำนาจแล้ว อันนี้บอกหรือสอนใครไม่ได้ต้องเจอกับตัวเองแล้วแก้ไขเอง ไม่มีประสบการณ์พอที่จะแนะนำได้

จะฝากบอกคนในสังคมไทยส่วนรวม ว่าควรเข้าใจและเข้ามาหนุนแก้ปัญหารัฐสร้างเขื่อนซ้ำซากนี้ยังไงบ้าง ?
ต้องเข้าใจว่าคนในสังคมปัจจุบันขับเคลื่อนไปด้วยระบบทุนนิยมแบบไทยๆ ที่มีมิติซับซ้อนทั้งความเป็นเจ้าขุนมูลนาย คนใหญ่คนโต ผู้ดี คนมีการศึกษา และคนร่ำคนรวย ที่คนเรามักจะยึดถือและยกย่อง คนไทยมักไม่เห็นคนในฐานะที่เท่าเทียมกันแต่มักมองเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าหรือแย่กว่าเขาอย่างไร ซึ่งมันเป็นปัญหาเพราะทำให้เราไม่เคารพสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ด้อยกว่า

ดังนั้น สังคมจึงควรเข้าใจว่า การที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในวิถีแบบคนในเมืองนั้นต้องแลกกับอะไรไปบ้าง ทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ทำการเกษตร ที่อยู่อาศัยของคนเล็กคนน้อยที่เรามักมองไม่เห็นหรือไม่อยากเห็น เราเห็นแค่สิ่งที่เราอยากเห็น และสิ่งนั้นต้องไม่ส่งผลลบต่อตัวเรา ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตรายของปัจเจกบุคคลสมัยใหม่ เนื่องจากทำให้เรามองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจความทุกข์ของคนยากคนจน ชนชั้นแรงงาน เกษตรกรและชาวนาอันเป็นกลไกสำคัญที่คอยขับเคลื่อนสังคมในทุกวันนี้ ชนชั้นกลางทั้งหลายต้องเรียนรู้และเข้าใจคนชนบทให้มาก ไม่รู้สิ ผมคิดว่าคนชนบทรู้จักคนในเมืองมากกว่าคนในเมืองรู้จักคนชนบทนะ

แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือพวกเขาด้วยไม่ว่าทางใดก็ตาม เพราะอำนาจรัฐมักจะตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงในเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจว่า ที่รัฐมักจะบอกว่าการพัฒนาการสร้างเขื่อนทั้งหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนรวมนั้นไม่จริง เป็นแค่การตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยที่ภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเป็นของมหาชนทั้งประเทศ    

อีกประเด็นที่สังเกตเห็น คือ โครงการขนาดใหญ่แบบนี้มักหนีไม่พ้นธุรกิจศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เพราะการทำโครงการแบบนี้จำแบบต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบในหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล คำถามก็คือใครเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาแบบนี้ ก็คงต้องตอบว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาหน้าเดิมๆ ที่หากินกับโครงการแบบนี้ รวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังหลายแห่ง (แม้กระทั่ง มช.เอง) ปีหนึ่งๆ รัฐต้องใช้งบประมาณด้านนี้ค่อนข้างมาก เวลามีโครงการหน่วยงานเหล่านี้มักจะได้รับผลประโยชน์ไปก่อนแล้วไม่ว่าโครงการนั้นจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ก็ตาม เราต้องติดตามตรวจสอบกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะพวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ใช้ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเข้าไปมีบทบาทหรือแม้กระทั่งหาประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น ซึ่งอันนี้มันเชื่อมโยงถึงระบบการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาเลยทีเดียว

เพราะเราจะพบว่าการทำอีไอเอ มักจะมีอาจารย์เข้าไปรับทำโครงการแล้วแยกย่อยแต่ละประเด็นเพื่อให้นักศึกษาไปใช้ทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เพื่อทำตัวจบ ซึ่งถือได้ว่าสมประโยชน์กันหลายฝ่าย แต่ชาวบ้านล่ะครับ คนกลุ่มนี้เคยต้องแบกภาระรับผิดชอบกับชาวบ้านด้วยหรือเปล่า? ไม่เคยมีเลยแม้สักครั้งเดียว อันนี้ผมเห็นว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณของความเป็นอาจารย์หรือการศึกษาอย่างร้ายแรง ร้ายยิ่งกว่านักทำอีไอเอในบริษัทที่ปรึกษาด้วยซ้ำเพราะอย่างน้อยคนกลุ่มนั้นก็ไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางวิชาการมาหากินกับโครงการ ซึ่งถ้าเกิดผลกระทบมันจะรุนแรงแบบที่เขาเหล่านั้นคาดไม่ถึง บทเรียนล่าสุดเท่าที่เห็นก็คือในกรณีของเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหงที่อาจารย์จาก มช. ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้อีกเลยหลังจากเข้าไปทำอีไอเอ ก็เพราะฐานคิดของชาวบ้านกับวิธีคิดของนักทำอีไอเอแตกต่างกันจนไม่สามารถลงรอยกันได้อย่างที่บอกไปในตอนต้นๆ   

สุดท้ายก็คงเป็นเรื่องแนวคิดในการพัฒนาแบบรวมศูนย์ที่ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว เพราะเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบปีที่แล้ว แนวทางการพัฒนาในปัจจุบันควรจะเป็นแนวทางการพัฒนาทางเลือกที่มีการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งก็คือให้ประชาชนจัดการตนเอง รัฐควรถอยออกไปเป็นเพียงผู้สนับสนุนร่วมกับกลุ่มทุนเอกชน เริ่มตั้งแต่การวางแผนเลยยิ่งดี เพราะการกระจายอะไรออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยมากเท่าไหร่หากเกิดผลเสียก็จะมีเฉพาะวงแคบๆ เท่านั้น แต่ถ้าเกิดผลดีเมื่อรวมกันแล้วจะเพิ่มแบบทบเท่าทวีคูณกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจเสียอีก

คุณลองนึกภาพบานหน้าต่างมีกระจกแผ่นใหญ่แผ่นเดียวถ้าโดนปาก้อนหินจนแตกขึ้นมันจะพังไปทั้งแผ่น แต่ถ้าหน้าต่างนั้นแยกเป็นช่องกระจกเล็กๆ หลายสิบหลายร้อยช่องแม้โดนก้อนหินใหญ่ๆ มันก็จะแตกเพียงช่องสองช่อง ดังนั้น แนวคิดการกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเองจึงน่าจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุดในเวลานี้.   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การถือศีลอดกับการสร้างสุขภาวะชุมชน

Posted: 01 Aug 2011 10:37 AM PDT

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 1-30  สิงหาคม 2554 มุสลิมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังถือศีลอด

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)เมื่อรอมฎอนมาถึงวิถีปฏิบัติของมุสลิมมีความแตกต่างจากวันปกติหลายประการและมีประเด็นด้วยกัน

เพราะตามปกติมุสลิมจะรับประทานอาหารเหมือนกับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นอาหารหนักวันละสามมื้อเช้า เที่ยง เย็นหรือค่ำ อาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยวผลไม้น้ำและอื่นๆก็รับประทานได้ตลอดทั้งวันแต่สำหรับเดือนถือศีลอดจะไม่สามารถโภคได้โดยเฉพาะอาหารหนักจะเน้น 2 มื้อคือหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและตอนดึกถึงใกล้รุ่งสางซึ่งมุสลิมจะตื่นขึ้นรับประทานอาหารโดยเฉพาะแม่บ้านต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 2-3 เพื่อเตรียมอาหารให้สามีและลูกๆสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มุสลิมทั่วไปจะต้องรู้ถึงหลักการทางศาสนธรรมและบางครั้งมีความสัมพันธ์กับหลักทางการแพทย์โดยเฉพาะการรับประทานยาซึ่งแพทย์ได้สั่งให้ปฏิบัติเช่นกัน

ครับ บทความนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนธรรมกับหลักการแพทย์รวมทั้งสุขภาวะองค์รวม

1. ความหมายการถือศีลอด
บรรดานักปราชญ์ของโลกอิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า"การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการกากระทำต่างๆที่นำไปสู่การเสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)"

สำหรับการกระทำต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียศีลอดมีดังนี้

  1. เจตนาบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม (โดยไม่มีความจำเป็นทางศาสนา)
  2. เจตนาทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา (จะด้วยวิธีใดก็ตาม)และ เจตนาร่วมประเวณี
  3. เสียสติ (โดยเป็นบ้า เป็นลมหรือสลบ)
  4. เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะที่เป็นรู (เช่นหู จมูก ทวารหนักและทวารเบา)
  5. เจตนาทำให้อาเจียร
  6. ปรากฏมีเลือดประจำเดือน (หัยฎฺ) และเลือดหลังคลอด (นิฟาส)
  7. มุรตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)
พระเจ้าในศาสนาอิสลามซึ่งมีพระนามว่าอัลลอฮได้ตรัสไว้ความว่า"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายการถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่านเพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง"(อัลบากอเราะฮ์ : 183)

คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า"การถือศีลอดเป็นโล่ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้วเขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา (ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่าแท้จริงฉันถือศีลอด"

2. การถือศีลอดทำให้เสียสุขภาพหรือไม่
ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกินการดื่มซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกายจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิวซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมงซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหยระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว

สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไปเพราะระบบต่างๆในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นโดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงานที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสมทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิมได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไปเพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกายเพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกายเช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเรสเตอรอล ออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ดร.วินัย ดะห์ลันกล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonald ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่าหญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้นหากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า

หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง

ผลของการศึกษาพบว่าร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมงเมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น

มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่าการอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลงในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งหมายความว่าร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจแยะ

ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้วระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย

กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียนอิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่าเบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือกินอาหารน้อยออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอนหมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน

สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น

บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้

3. ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ถือศีลอดที่จะนำไปสู่สุขภาวะ
สุขภาพคือ "สภาพของร่างกายและจิตใจ"สุขภาพดีสุขภาพดีจึงหมายถึง สภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจสุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของผู้ถือศีลอด การที่จะทำให้สุขภาพทั่งกายและใจแข็งแรงมีหลักที่ทำง่ายๆ คือหลัก 3 อ.ได้แก่

อาหาร
ความสำคัญของการรับประทานอาหาร มีอยู่ 2 ประการ คือ

  1. ต้องเป็นอาหารที่ฮาลาลและมีคุณประโยชน์ครบหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนไขมันวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ
  2. ต้องได้รับอารหารในสัดส่วนที่ถูกต้อง
เพราะถ้าร่างกายได้รับสารอาหารมากไปหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆเช่นโรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร เป็นต้นเพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว้ความว่า"จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (อัลอะอฺรอฟ : 31)

เป็นที่ทราบกันในหมุ่มุสลิมผู้ที่ถือศีลอดว่าไม่เสมอไปว่าทุกคนที่ถือศีลอดจะมีสุขภาพดีอย่างไรก็แล้วแต่การถือศีลอดจะมีสุขภาพดีและไม่เป็นอันตรายนั้นควรปฏิบัติดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน และอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควรแล้วเมื่อรอมฎอนผ่านไป น้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย
  2. ควรละศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็ด้วยอินทผลัมแห้งและถ้าไม่มีก็ด้วยการดื่มน้ำเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาลซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไปในขณะเดียวกันนั้น ร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วยและการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง 2 ประการ นั่นคือการขจัดความหิว และขจัดความกระหายนอกจากนั้นทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้นใยที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม ดังนั้นภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้วเขาจึงไม่มีความอยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ อีก
  3. จงแบ่งการละศีลอดเป็น 2 ช่วง ท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) เสร็จแล้ว จึงกลับมารับประทานอาหารหนักละศีลอดต่อการรับประทานอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำจะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้นกระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จและกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพองลำไส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก
  4. ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆเช่น สลัดผัก ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน โดยให้รับประทานผลไม้แทนและจงทำละหมาดตะรอเวียห์อย่างสม่ำเสมอและบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ
  5. พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอดผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละศีลอดอันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น
อารมณ์
เป็นเรื่องราวของสุขภาพจิต ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพภายโดยตรง ดึงข้อความที่ว่า "ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว"อารมณ์ดีส่งผลให้ระบบทางร่างกายทุกระบบทำงานเป็นปกติแต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีมีผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกาย เช่น ถ้าเครียดจะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติทำให้ ระบบย่อยระบบดูดซึมเสียไปและถ้าเครียดบ่อยๆนานๆ จะเป็นโรคกระเพาะ ได้ อีกทั้งระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะลดต่ำลงด้วยเป็นต้น

ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำ 2 ประการ เพื่อทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี ได้แก่

  1. ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด โดยการละหมาด รำลึกถึงอัลลอฮฺ อ่านอัลกุรอาน ทำใจให้รู้จักพอไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นทั้งนี้เพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจและอื่นๆ"จิตสงบย่อมพบความสุข" "สุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี"
  2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่น้อยกว่า 25 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อยการออกกำลังกายเช่น การบริหารร่างกายด้วยตะบอง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่งเหยาะๆ (จ๊อกกิ้ง) วัดได้จากการเต้นของหัวใจโดยต้องออกกำลังให้หัวใจเต้นที่ 60% ของอัตราการเต้นสูงสุดโดยใช้สูตร 60% ของ (220 - อายุ) เช่น

    ถ้าอายุ 20 ปี 60% (220 - 20) = 120 ครั้ง/นาที
    ถ้าอายุ 30 ปี 60% (220 - 30) = 114 ครั้ง/นาที
    ถ้าอายุ 40 ปี 60% (220 - 40) = 108 ครั้ง/นาที

    ระยะเวลานับจากเวลาที่หัวใจเต้นถึง 60% ของอัตราสูงสุดขึ้นไปแล้วต้องไม่น้อยกว่า 15นาที โดยต้องรักษาระดับการเต้นของ หัวใจไม่น้อยกว่า 60% อยู่ตลอดเวลาทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการหลั่ง growth hormone และสารแห่งความสุขที่เรียกว่า endorphin ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายมีความสุขก่อให้เกิดสุขภาพแข็งแรงถ้ารวมเวลา warm up และ warm down อีกอย่างละ 5 นาทีแล้ว รวมเป็นไม่น้อยกว่าวันละ 25 นาที

อากาศ
ในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว อากาศจัดว่ามีความสำคัญมากเช่นกันเพราะคนเราขาดอาหารยังสามารถมีชิวีติอยู่ได้หลายวัน แต่ถ้าขาดอากาศจะอยู่ได้ไม่กี่นาทีเท่านั้น ถ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมมีผลต่อสุขภาพที่ดีด้วยดังนั้น จึงควรหาโอกาสทำ

งานในสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพสะอาดปราศจากมลภาวะถ้าจำเป็นต้องทำงานภายใต้อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเช่น หน้ากากชุดออกซิเจนเข้าช่วย ถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสออกไปใกล้ชิด กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ให้บ่อยครั้งหรืออย่างน้อยสักเดือนละครั้งก็ยังดี

4. คำแนะนำทางการแพทย์สำหรับบางคน
ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอดนางควรปรึกษาแพทย์

หากแพทย์อนุญาตนางจึงถือศีลอดแต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไปให้รับประทานแต่พอประมาณและควรแบ่งการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น 2 มื้อมื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด และมื้อที่ 2 ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ 4ชั่วโมง และในการรับประทานอาหารสะหูร (มื้อก่อนรุ่งสาง)ควรจะล่าช้ามากที่สุดและควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มากและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน

นอกจากนั้นหญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลวเพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอดและอาหารที่นางรับประทานเองทั้งมือละศีลอด และมื้อก่อนรุ่งอรุณ (สะหูร)ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพและถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด็กบ่อยครั้งในช่วงหลังละศีลอดถึงสะหูรและเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอดและปรึกษาแพทย์

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อยที่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหารกล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลงและได้พักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้น ร้อยละ 10 ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงปกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ 1-2 ครั้งเท่านั้นแต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเปรี้ยวจัดและรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลงส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุนแรง และเฉียบพลันโดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมออย่างไรก็ดีก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อย่างเช่นผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็งผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรงและผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น

5. วิธีการทานยาสำหรับผู้ถือศีอด
ฝ่ายเภสัชภรรมชุมชน โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชได้ให้ข้อมูลว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอนในช่วงรอมฎอน

สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยหรือพี่น้องที่ต้องรับประทานยานั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะปรับตัวอย่างไรในการถือศีลอดในแต่ละวัน

วิธีรับประทานยาที่ปรากฏบนซองยา ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานยาในช่วงเดือนถือศีลอดทานยาหลังจากละศีลอดแล้วไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) จึงมาทานข้าว/อาหารหลัก หลังจากละศีลอดประมาณ 15-30 นาที 4 ชั่วโมงหลังจากการละศีลอด 30 นาทีก่อนทานมื้อก่อนรุ่งสาง 15-30 นาทีหลังทานมื้อดังกล่าว

6. กิจกรรมของมุสลิม/ การประกอบอาชีพในเดือนรอมฎอน
ในช่วงกลางวัน มุสลิมจะงดเว้นการบริโภคแต่ก็จะปฏิบัติงานตามปกติ ช่วงเวลาละศีลอดทุกมัสยิดจะจัดการละศีลอดร่วมกันแต่ละบ้านจะมีประเพณีนำข้าวหม้อแกงหม้อหรือนำอาหารหลากหลายชนิดมาบริจาคที่มัสยิดแล้วแต่ศรัทธา เป็นโอกาสให้คนรวยคนจนได้นั่งรับประทานร่วมกันประชาชนกับข้าราชการ เจ้านายกับลูกจ้าง โดยจะละศีลอดด้วยผลอินทผลัมตามแบบอย่างศาสดา

ท่านศาสดากล่าวว่า พึงทราบเถิดว่าอินทผลัมนั้นเป็นศิริมงคล อะนัส อิบนฺมาลิก อัครสาวกศาสนทูตมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า "ปรากฏว่า ท่านนะบีแก้ศีลอดด้วยอินทผลัมที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาดถ้าหากไม่มีอินทผลัมสุกงอมก็จะแก้ด้วยอินทผลัมแห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมแห้งก็จะจิบน้ำหลายจิบ"บันทึกโดย : อะหมัด อะบูดาวู๊ด อิบนฺคุไซมะฮฺ และอัตติรมิซีย์

ในช่วงกลางคืน มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดของชุมชนตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-20.30 น.เรียกว่าละหมาดตาราเวียะห์ หลังจากปฏิบัติศาสนกิจเสร็จ เด็กๆ จะเล่นกันที่บริเวณมัสยิดอย่างสนุกสนาน

ผู้ใหญ่ก็จะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีอาหารว่างและน้ำชาเป็นตัวเสริมบางมัสยิดจะจัดเวรประจำหมู่บ้านแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนเช่นผู้ปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด ตลอดทั้งคืนด้วยการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานละหมาดเวรยามดูแลความสงบ ปลุกคนให้ตื่นเพื่อเตรียมอาหารช่วงเวลา 03.00-04.00 น.เวลา 04.30-06.00 น.มุสลิมจะไปมัสยิดกันอีกเพื่อปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่าละหมาดซุบฮฺ

ในช่วงกลางวันของรอมฎอน ถึงแม้มุสลิมจะถือศีลอดแต่จะต้องประกอบอาชีพตามปกติเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่มีมุสลิมบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนดโดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควรอู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด

ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามกท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก

ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผลและถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดีและการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล

ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดทำงานตามปกติ มีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญและปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามกอนาจาร คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป

ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกลและละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆวัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด

จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไปและเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งพระเจ้า (อัลลอฮฺตะอาลา) ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ ความว่า"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย!การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้าเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (อัลบากอเราะฮ์:183)

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จอัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย :อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสนฑูตกล่าวไว้อีกความว่า"การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่านก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม) "บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือการหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด)

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นเนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้นพระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป

ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโดยเฉพาะประชาชน จังหวัดชายแดนใต้สุขสันต์ ในเดือนรอมฏอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1432 ภายใต้รัีฐบาลใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรพิทักษ์สิทธินักข่าวระหว่างประเทศ เรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัว ‘สมยศ’

Posted: 01 Aug 2011 09:56 AM PDT

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์กร Committee for Protecting Journalists หรือ CPJ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระสากลที่รณรงค์ด้านสิทธิของนักข่าวทั่วโลก ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ-เรด พาวเวอร์ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สืบเนื่องจากการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ส่งผลให้เขาถูกคุมขัง 84 วัน และถูกสั่งฟ้องโดยอัยการไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ระบุว่า ทางองค์กร Committee for Protecting Journalists มีความห่วงใยต่อกรณีการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อสมยศ พฤกษาเกษมสุขเป็นอย่างมาก โดยหากสมยศถูกตัดสินว่าผิดจริง อาจทำให้เขาต้องรับโทษจำคุกรวมกันถึง 30 ปี เนื่องมาจากบทความสองชิ้นที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง ในนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังได้ชี้ด้วยว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษสูงสุด 15 ปีนั้น เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดย ชอวน์ คริสปิน ผู้แทนอาวุโสขององค์กร CPJ ให้สัมภาษณ์ว่า “การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ทำลายความน่าเชื่อถือของความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย และส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อสถาบันฯ ดังที่กฎหมายตัวนี้ถูกออกแบบมาให้เป็น”

“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และยกฟ้องข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เขาถูกตั้งข้อกล่าวหา” ชอวน์ คริสปิน ผู้แทนอาวุโสจาก CPJ กล่าว

นอกจากนี้ ทาง CPJ ยังมองว่า ถึงแม้รัฐบาลในชุดของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาดูแลการปฏิรูปการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมาชัดเจน และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทางกองทัพไทยกลับมีบทบาทในการยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นฯ หลายคดี รวมถึงต่อนักวิชาการอาวุโสของไทยด้วย

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ในขณะที่นำกรุ๊ปทัวร์ที่ชื่อ “เรดทัวร์” ออกไปยังประเทศกัมพูชา ด้วยหมายจับที่ออกโดยกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษเป็นเวลา 84 วันโดยไม่ได้รับการประกันตัว และล่าสุด อัยการได้สั่งฟ้องสมยศตามข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติ 4 ต่อ 1 กกต. รับรอง ‘จตุพร’ เป็น ส.ส.

Posted: 01 Aug 2011 06:25 AM PDT

1 ส.ค.54 นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต.มีมติ 4ต่อ1เสียงให้ประกาศรับรองการเป็น ส.ส.แก่ นายจตุพร พรหมพันธ์ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แล้ว โดย2เสียงที่เพิ่มจากครั้งก่อนคือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง และนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ซึ่งทั้งสองได้พิจารณาเหตุผลต่างๆแล้วจึงเห็นด้วยว่าต้องประกาศรับรองไปก่อน

อย่างไรก็ตามในเรื่องร้องเรียนคุณสมบัติ ส.ส. ของนายจตุพรนั้น ต้องให้ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอเข้ามาอีกครั้ง

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.ยังได้ประกาศรับรองการเป็นส.ส.ของ นายสมคิด บาลไธสง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ชนะการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ เขต2 จ.หนองคาย และ นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกุล ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ เขต3 จ.สุโขทัย รวมถึงประกาศรับรองการนับคะแนนใหม่เขต2 จ.ยะลา ที่ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 28,495 คะแนน ส่วน นายซูการ์โน มะทา ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 27,965 คะแนน

ด้าน น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน เดินทางมายื่นหนังสือร้องคัดค้านต่อ กกต. เพิ่มเติม กรณีการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อให้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาในที่ประชุม เกรงว่าคณะกรรมการไต่สวน จะสรุปคำให้การของตนไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามเจตนารมณ์

น.พ.ตุลย์ ยังกล่าวด้วยว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้การเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ กกต. ที่ให้การรับรอง นายจตุพร เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในการรับสมัครการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งที่ นายจตุพร ถูกศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย และถูกคุมขังเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงขอให้ดำเนินการเอาผิดกับ 2 บุคคล ตามกฎหมาย ในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่สามารถพิจารณายุบพรรคเพื่อไทยได้ เพราะเป็นการกระทำโดยกรรมการบริหารพรรค ที่มีเจตนาทุจริต เพื่อให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติ ได้รับการเลือกเป็น ส.ส.

 

ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ และไอเอ็นเอ็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารซีเรียใช้ปืนใหญ่และอากาศยานปราบผู้ประท้วง-เสียชีวิตนับร้อย

Posted: 01 Aug 2011 05:22 AM PDT

ทหารซีเรียใช้รถถังและอากาศยานเข้าสลายการชุมนุมที่เมืองฮามา หลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จนในรอบ 3 วันนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 142 ราย แล้ว โดยรัฐบาลซีเรียระบุว่าผู้ชุมนุมมีกลุ่มติดอาวุธปะปนอยู่ด้วย

1 ส.ค. 2011 เหตุการณ์ประท้วงในซีเรียมีการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนตอนนี้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 142 รายแล้ว จากการที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าจู่โจมประชาชนในเขตประท้วงในเมืองฮามา

ผู้เห็นเหตุการณ์ใน ดิแอร์ เอซ-ซอร์ เล่าว่ากองกำลังของฝ่ายรัฐบาลได้บุกเข้าจู่โจมในเช้าวันจันทร์ (1 ส.ค.) โดยกองทหารบุกเข้ามาทางฟากตะวันตก ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตในตอนนั้น 25 ราย และมีมากกว่า 65 รายได้รับบาดเจ็บ

"มีการใช้ปืนใหญ่และอาวุธต่อต้านอากาศยาน สถานการณ์ในเมืองย่ำแย่มาก เสบียงอาหารและยามีน้อย" ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าว

ในดิแอร์ เอซ-ซอร์ เมื่อที่มีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เป็นอีกแห่งที่มีการประท้วงคู่ขนาดไปกับฮามา

การปราบปรามผู้ชุมนุมในฮามาเมื่อวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) เป็นวันที่ "โหดร้ายที่สุด" นับตั้งแต่ที่มีการประท้วงมา รามี อับเดล ราห์มาน หัวหน้าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของอังกฤษในซีเรียกล่าว

สังหารหมู่ในฮามา

ในตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกลุ่มสังเกตการและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มอื่นๆ นั้น พบว่ามีอย่างน้อย 142 รายที่ถูกสังหารและส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตในฮามา

โรงพยาบาลในฮามาบอกว่าจำนวนผู้บาดเจ็บมีเป้นจำนวนมากจนดรงพยาบาลไม่สามารถรับมือได้ ส่วนหนึ่งเพราะขาดเครื่องมือทางการแพทย์ด้วย

การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีประชาชนกว่า 500,000 คน ออกมาชุมนุมเมื่อวันศุกร์ (29 ก.ค.) ที่ผ่านมา มีการปฏิบัติพิธีกรรมบทสวดทางศาสนาโดยที่ผู้นำพิธีกรรมประกาศแก่กลุ่มผู้ชุมนุมว่า "รัฐบาลต้องออกไป"

กลุ่มประเทศโลกตะวันตกกล่าวประณามความรุนแรงในครั้งนี้ ขระที่เยอรมนีและฝรั่งเศสประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เพื่อเป็นการเตือน

เลขาธิการสหประชาชาติ บัง คี มูน เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงและเตือนรัฐบาลซีเรียว่า รัฐบาลซีเรียอยู่ภายใต้กฏหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำรุนแรงที่พวกเขากระทำต่อประชาชน

คณะกรรมการสหประชาชาติของเยอรมนีเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ว่าต้องการให้มีการหารือกับฝ่ายรักษาความสงบและหวังว่าจะมีการหารือกันในบ่ายวันนี้ (1 ส.ค.)

ฝ่ายรัฐบาลซีเรียก็กล่าวหาว่ามี "กลุ่มติดอาวุธ" และ กลุ่มเคร่งศาสนาซาลาฟิสต์มุสลิมเป็นฝ่ายที่คอยก่อกวนให้เกิดความไม่สงบ และหวังให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นนิกายสุหนี่

ผู้อาศัยในฮามาบอกว่าเห็นทหารเข้ามาในเมืองเมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) ก่อนที่จะมีเสียงปืนปะทุขึ้น เป็นปฏิบัติการเพื่อขอคืนพื้นที่หลังจากที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ออกจากพื้นที่ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน

ในซีเรียมีการปิดกั้นสื่อต่างประเทศเกือบทั้งหมดและจำกัดการทำข่าว ทำให้เป็นการยากที่จะตรวจสอบเหตุการณ์ในพื้นที่จริ

แต่จากการสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ชุมนุม และนักกิจกรรม พบว่าวานนี้ (31 ก.ค.) มีการระดมยิงและการใช้ปืนสไนเปอร์ยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการตั้งแผงกั้นและขว้างระเบิดเพลิงใส่ผู้ที่โจมตีพวกเขา

'ผู้ติดอาวุธ'

สำนักข่าว SANA ของรัฐบาลซีเรียบอกว่ามีคนติดอาวุธยิงกำลังเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 2 นาย ในฮามา ขณะที่ในดิแอร์ เอซ-ซอร์ มีนายพลและทหาร 2 นายถูกสังหาร

สำนักข่าวของรัฐบาลระบุอีกว่ากลุ่มติดอาวุธได้เผาสถานีตำรวจและจู่โจมสถานที่หน่วยงานราชการและเอกชนในฮามา มีทหารบางส่วนพยายามทำลายแผงกั้นและจุดรวมตัวของกลุ่มผู้ติดอาวุธที่หน้าทางเข้าเมือง

ย้อนไปเมื่อปี 1982 มีประชาชนราว 20,000 คนถูกสังหารในฮามาเมื่อกองทัพเข้าปราบปรามกลุ่มปฏิวัติอิสลามที่ต้องการขับไล่อดีตผู้นำฮาเฟซ บิดาของอัสซาด

ในช่วงต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดีได้เปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ของฮามา หลังจากที่ผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขถึง 500,000 รายในวันที่ 1 ก.ค. โดย สหรัฐฯ และฝรั่งเศส เคยส่งเอกอัครราชทูตเดินทางไปซีเรียเพื่อแสดงการสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม

จากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ นับตั้งแต่ที่มีการชุมนุมช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนอย่างน้อย 1,583 ราย และ เป็นเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 369 ราย


ที่มา

Deadly Syrian crackdown continues , Aljazeera, 01-08-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/08/20118153040657423.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ยิงถล่ม “ชุมชนคลองไทร” ชาวบ้านร้องตำรวจเมินลงสอบเหตุในพื้นที่

Posted: 01 Aug 2011 04:54 AM PDT

ร้องกลุ่มอิทธิพลใช้อาวุธสงครามยิงถล่มพื้นที่นำร่อง "โฉนดชุมชน" แจ้งความแต่ตำรวจเพียงให้ลงบันทึกประจำวัน ชาวบ้านวอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยตรวจสอบ ก่อนเหตุสูญเสียลุกลาม เผยคดีเก่าชาวบ้านถูกยิงดับยังไม่คืบ

 
 
วันนี้ (1 ส.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค.54 เวลาประมาณ 20.00 น.ได้มีกลุ่มคนใช้อาวุธสงครามยิงกระหน่ำบ้านชาวบ้านในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี กว่า 50 นัด พบปลอกกระสุนหล่นอยู่เกลื่อนพื้น บ้านเรือนได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในคืนวันเดียวกันนั้นชาวบ้านชุมชนคลองไทรได้โทรศัพท์แจ้งเหตุไปยัง สภ.ชัยบุรีให้รีบเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในพื้นที่ จนกระทั้งช่วงเช้าวันนี้ (1 ส.ค.54) ชาวบ้านได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ชัยบุรีอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน แต่ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าใดๆ และยังไม่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ
 
สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ยิงข่มขู่เช่นนี้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามเข้าแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ก็มีเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้ ขณะที่การติดตามคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ และแม้แต่คดีที่ชาวบ้านในชุมชนถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 53 ถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า     
 
“ชาวบ้านแจ้งแล้วแจ้งเล่าก็หาย แล้วต่อไปนี้จะให้ชาวบ้านที่ต้องการเป็นอยู่แบบปกติสุขเพื่อทำการเกษตรเลี้ยงชีพจะไปพึ่งพาหน่วยงานใดในเมื่อตำรวจทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม จึงวิงวอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยตรวจสอบให้ชาวบ้านด้วยก่อนที่จะมีเหตุไม่คาดฝันหรือคนตายเกิดขึ้น” ชาวบ้านในพื้นที่ระบุ
 
สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สมาชิกในชุมชนต้องนอนกันแบบหวาดผวาว่าจะมีลูกปืนเข้าบ้านใครอีก จึงฝากถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าตำรวจ สภ.ชัยบุรี มีศักยภาพหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาเคยมีคำสั่งจัดชุดดูแลความปลอดภัยคำสั่งที่ 117/2553 โดยมี พ.ต.ต.เลิศชาย ชัยรัตน์ สวป.เป็นหัวหน้าชุด แต่ชาวบ้านก็ไม่เคยเห็นตำรวจดังกล่าวเลย
 
นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตอนกลางวันของวันเกิดเหตุ (31 ก.ค.54) ได้มีคนของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งกับชาวบ้านเรื่องปมปัญหาที่ดิน ขับขี่รถจักรยานยนต์วนเวียนอยู่ภายในชุมชนโดยพกพาอาวุธปืนและวิทยุสื่อสารแบบเดียวกับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นการข่มขู่ชาวบ้าน จนกระทั่งตอนค่ำก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น 
 
สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับการที่คนในชุมชนพยายามส่งข่าวและเผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่ออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ ซึ่งกลุ่มอิทธิพลอาจเห็นว่าจะสร้างปัญหาให้พวกเขาจึงพยายามข่มขู่ชาวบ้าน พร้อมเล่าว่าหลังจากที่มีนักข่าวเข้ามาทำข่าวในชุมชนครองไทรฯ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สองวันจากนั้นกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ได้เข้าทำลายบ้านของนายยงยุทธ และยิงถล่มบ้านนางสรารัตน์ สมาชิกชุมชนคลองไทรซึ่งให้สัมภาษณ์กับนักข่าว และหลังจากนั้นกลุ่มอิทธิพลยังนำอาวุธสงครามเข้ามายิงในชุมชนช่วงกลางดึกแทบทุกคืน
 
ต่อเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น สมาชิกชุมชนคลองไทรแสดงความเห็นว่า ไม่ใช่การข่มขู่แต่เป็นการมุ่งเอาชีวิตแม้ว่าจะไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และขณะนี้สิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนทำได้คือการเฝ้าระวังตัว เพราะไม่สามารถไปต่อสู้กับอาวุธสงครามได้ อีกทั้งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นชาวบ้านคงไม่ออกไปจากพื้นที่ เพราะไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน        
 
ทั้งนี้ ชุมชนคลองไทรฯ หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 35 พื้นที่นำร่องจัดทำโฉนดชุมชน ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดินร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แต่พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการผลักดันให้กระทรวงทรัพย์ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553
 
นอกจากนี้ พื้นที่ชุมชนดังกล่าวยังอยู่ในพื้นที่ฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด โดย ส.ป.ก.ฟ้องขับไล่ให้บริษัทเอกชนออกจากพื้นที่ แต่ขณะนี้บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ผลอาสินไว้

 

 
 
ลำดับเหตุการณ์ชุมชนคลองไทรพัฒนา
อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
 
พฤศจิกายน 2551
มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านประมาณ 120 ครอบครัวขอเข้าไปใช้พื้นที่ตั้งเป็นชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยทอง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามตรวจสอบผลักดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยต้องการให้นำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปเพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเร็ว
 
มีนาคม 2552
บริษัทจิวกังจุ้ย พัฒนาจำกัด ได้ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 3 คนได้แก่นายบัญญัติ จอง นายอดุลย์ รามจันทร์ และนายสมหมาย ลิกขชัย เป็นจำนวน 3,000,000 บาท โดยโจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราวและให้มีหมายจับจำเลยทั้ง 3 ต่อมาศาลได้ถอนฟ้องนายบัญญัติฯจำเลยที่ 1 เนื่องจากมาทราบข้อเท็จจริงภายหลังว่า นายบัญญัติฯเป็นคนวิกลจริต ปัจจุบันรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยจำเลยที่ 2และ 3 ยินยอมออกจากพื้นที่
 
9 สิงหาคม 2552
06.30 น. มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 40 คันรถปิ๊กอัพ นำโดยผู้บังคับการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกำลังตรวจจากสถานีตำรวจชัยบุรี เข้าตรวจค้นอาวุธและยาเสพติดในชุมชน ใช่เวลาราว 1 ชม.ตรวจยึดได้เพียงมีดพร้าของชาวบ้าน จากนั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทยอยกลับ มีรถไถจำนวนหลายคันและมีกลุ่มชายฉกรรจ์ถืออาวุธปืนยาวหลายคนเดินนำรถไถพังรั้วของชุมชนเข้ามาไถบ้านของชาวบ้านพังจำนวน 60 หลัง ชาวได้แจ้งตำรวจแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ไปแจ้งความที่โรงพัก ชาวบ้านจึงได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้และในวันเดียวกันได้ไปแจ้งความ ที่สถานีตำรวจภูธรชัยบุรี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดรับเรื่อง
 
10 สิงหาคม 2552
ได้มี ชรบ.ประมาณ 40 นายเข้ามาตรึงกำลังที่แคมป์ของบริษัท ได้มีชาวบ้าน 5 คน เข้าไปแจ้งความอีกครั้ง มีการลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรชัยบุรี ล่าสุดคดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
2-7 พฤศจิกายน 2552
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิลและคณะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐโดย พ.ต.ท.สันต์ทรง ตังละแม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ชุมชนคลองไทรพัฒนา, ชุมชนน้ำแดง และชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเสนอต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความฯ และเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน
 
29 ธันวาคม 2552
12.05 น. พ.ต.ท.โกเมธ ชูชมชื่น จาก สภอ.เขาพนม จ.กระบี่ มาพร้อมกับนายทวี แดงอนันต์ ผู้จัดการบริษัทจิวกังจุ้ย พัฒนาจำกัด และพวกอีก 5 คน ใช้ รถปิ๊กอัพ 2 คัน เข้ามาในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และสอบถามข้อมูลต่างๆ จากสมาชิกบางคนในชุมชน จึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้น และพ.ต.ท.โกเมธ ได้ตบหน้านายอภินนท์ สังข์ทอง สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ นายอภินนท์ จึงเอากล้องมาขอถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แต่ พ.ต.ท.โกเมธ และกลุ่มบุคคลที่มาด้วยเอาปืนมาจี้ที่น่าอกนายอภินนท์ สังข์ทอง และนางมาลิดา เจียกรัมย์ (ภรรยานายอภินนท์) จึงไม่ได้ภาพไว้เป็นหลักฐาน แล้วกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เดินทางออกไปจากชุมชน
 
11 มกราคม 2553
19.00 น. ได้มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองและปืนเอ็ม.16 ยิงเข้าใส่วงสนทนาและรับประทานอาหารค่ำที่นอกชานหน้ากระท่อมที่พักของนายฟอง ขุนฤทธิ์ ซึ่งมีนายสมพร พัฒนภูมิ เพื่อนบ้านมานั่งอยู่ด้วยและเป็นที่ถูกกระสุนปืนจนเสียชีวิตหลังจากวิ่งหนี มาได้ประมาณ 10 เมตรเศษ
ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำตรวจ สภ.อ.ชัยบุรี ได้ตรวจพบปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอกและปลอกกระสุนปืน M16 จำนวน 7 ปลอก
 
มีข้อสังเกตว่าก่อนเกิดเหตุยิงใส่กลุ่มสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ที่หน้ากระท่อมของนายฟอง ขุนฤทธิ์ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าพบเห็นนายทวี แดงอนันต์ ผู้จัดการบริษัทจิวกังจุ้ย เข้าตรวจเดินดูสภาพต่างๆ ในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณด้านหลังที่เกิดเหตุ
 
19 มกราคม 2553
เครือข่ายปฏิรูป (คปท) ได้รวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.สุราษฏร์ธานี และ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท) เรื่องการตรวจสอบพื้นที่เขต ส.ป.ก.และกรณีสมาชิกเครือข่ายถูกทำร้ายเสียชีวิตในชุมชนคลองไทรพัฒนาเขต ส.ป.ก.สุราษฏร์ธานี ตลอดจนขอรับความคุ้มครองความปลอดภัย ใน 4 ชุมชน ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. สุราษฏร์ธานี อันได้แก่ พื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา หมู่ที่ 6 ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี พื้นที่ชุมชนบ้านน้ำแดง หมู่ที่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ที่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี และพื้นที่ชุมชนไทรงามพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี
 
จากนั้นได้มีหนังสือคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ให้ตำรวจตระเวนชายแดน จากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 (ค่ายศรีนครินทรา ทุ่งสง ) ลงพื้นที่คุมครองความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว ตังแต่วันที่ 21 มกราคม 2553
 
10 กุมภาพันธ์ 2553
เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ได้มีเสียงปืนไม่ทราบขนาดดังขึ้นที่บริเวณหน้าชุมชนจำนวน 6-7 นัด ทำให้สมาชิกในชุมชนคลองไทรฯ ตื่นตกใจ จึงต้องช่วยกันปกป้องดูแลรักษาความปลอดภัยกันอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
 
11 กุมภาพันธ์ 2553
09.35 น.ได้มีคนงานจำนวน 25 คน ของบริษัทจิวกังจุ้ยซึ่งเป็นบริษัทที่เก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงการดำเนินคดีฟ้องร้องของ ส.ป.ก.สุราษฎร์ธานี เข้าทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตจนเสร็จสิ้นในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น.ของวันเดียวกัน หลังจากคนงานเหล่านี้ได้ออกจากชุมชนเพียงครู่หนึ่ง สมาชิกในชุมชนก็ได้เสียงปืนดังขึ้นอีกจำนวนกว่า 20 นัด จากฝั่งที่คนงานดังกล่าวอยู่ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนครองไทรพัฒนาแตกตื่นและต่างพากันวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด
 
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางชุมชนได้ประสานไปที่ชุดกำลัง ตชด.ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับชุมชน แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด อีกทั้งยังอ้างด้วยว่าชุดปฏิบัติการ ตชด.ไม่มียานพาหนะที่จะเดินทางเข้าไปในชุมชน ซึ่งห่างจากจุดพัก ตชด.กว่า 3 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่การให้ ตชด.ลงพื้นดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตชุมชนเป็นคำสั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
19 กรกฎาคม 2554
เมื่อเวลา 14.00 น.นายฉลอง มณีโชติ หัวหน้า ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ชัยบุรีว่า ได้มีการซื้อขายพื้นที่ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และได้ทำลายพื้นที่ให้เสียหาย จากนั้น เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกำลังตำรวจกว่าสิบนายได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว และได้พบรถบรรทุกสิบล้อ 1 คัน รถแบคโฮ 1 คัน และรถไถ 1 คันพร้อมคนขับ ตำรวจจึงได้จับกุมและเชิญตัวไป สภ.ชัยบุรีเพื่อดำเนินคดีในฐานทำลายทรัพย์ให้เสียทรัพย์
 
นายฉลอง เข้าให้ปากคำกับร้อยเวร สภ.ชัยบุรีเพื่อลงบันทึกประจำวัน ถึงกรณีนี้ว่า บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด มีเนื้อที่ 1,051 ไร่ เป็นบริษัทที่ ส.ป.ก.ฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ส.ป.ก. แต่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ผลอาสินไว้กับศาลภาคแปด อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กระทำผิดต่อคำสั่งศาลนอกจากนั้นยังละเมิดคำสั่งศาลที่ระบุว่าห้ามทำการใดๆ ที่ทำให้เกินผลเสียหายต่อพื้นที่ ส.ป.ก.โดยบริษัทได้ว่าจ้างคนให้ไปขุดดินเป็นร่องคูแบ่งแนวเขต เพื่อทำการขายเปลี่ยนมือ
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน [คลิป]

Posted: 01 Aug 2011 03:24 AM PDT

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการปาฐกถาหัวข้อ “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

สำหรับการปาฐกถาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น” (Sapan Project - CMU) ซึ่งเป็นโครงการรวมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID)

โดยการปาฐกถาของนิธิ และวิดีโอบันทึกการปาฐกถามีรายละเอียดดังนี้ (หมายเหตุ: ตัวเน้น และหัวข้อย่อยเป็นการเน้นโดยประชาไท)

000

คลิปปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ หัวข้อ “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” เมื่อ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา (มีทั้งหมด 5 ตอน)

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

"ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี" 

 

นิยามชนชั้นนำไทย

ขอเริ่มต้นอย่างนี้ก่อนครับว่า อยากจะตกลงกันก่อนว่าเวลาเราพูดถึงชนชั้นนำ เราหมายถึงใคร? คือคำว่า “ชนชั้นนำ” หรือ “Elite” ในทุกสังคม นิยามไม่ค่อยจะง่ายนัก ในกรณีสังคมไทย ผมจะขออนุญาตนิยามตามความเข้าใจของผมอย่างนี้ว่า

กลุ่มแรกสุดคือ สถาบันตามประเพณี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงนะครับ หมายความว่า สมัยหนึ่งอาจจะดำรงฐานะเป็นชนชั้นนำแต่ว่าในเวลาต่อมาก็อาจจะเปลี่ยน เช่น เป็นต้นว่า สถาบันสงฆ์ สมัยหนึ่งหอยู่ในสถานะชนชั้นนำในทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ปัจจุบัน อิทธิพลหรือบทบาทในฐานะชนชั้นนำของสถาบันสงฆ์ก็ค่อนข้างน้อย

สถาบันพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ ก็เป็นชนชั้นนำแน่นอน ก็ยังดำรงสถานะชนชั้นนำอยู่ แต่ธรรมชาติในการนำอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังเป็นหนึ่งที่สำคัญในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย

ตัวสถาบันพระมหากษัตริย์กษัตริย์เอง ในแง่หนึ่งขยายตัวมากขึ้น เช่น เมื่อสมัยตอนผมเป็นเด็ก คนเป็นหม่อมราชวงศ์ไม่มีความหมาย คงจำได้ ตอนรัชกาลที่ 4 ท่านบอกว่าต่ำกว่าหม่อมเจ้าไม่ใช่เจ้า แต่สมัยผมหม่อมราชวงศ์ไม่มีความหมายเพราะมีเยอะมาก แต่ปัจจุบันหม่อมราชวงศ์ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายไม่ใช่เจ้า แต่ว่าความรู้สึกของคน ก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในบารมีของสถาบันไปแล้ว เป็นต้น

เพราะฉะนั้นมีการขยายตัวของสถาบัน และที่สำคัญไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น รวมทั้งถึงสิ่งที่อาศัยบารมีในสถาบันฯ เช่น พนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ แต่ความรู้สึกของคน ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ ไปด้วย ในการที่จะต้องปฏิบัติต่อสำนักงานนี้

องคมนตรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง องคมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน แต่จริงๆ แล้วในทางกฎหมายก็ไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย แล้วก็ไม่มีบทบาทในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

รวมทั้งเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการทั้งหลาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นภาพที่ขยายตัวกว้างขึ้นในฐานะที่เป็นชนชั้นนำ

อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะพูดถึง คือ ทุนขนาดใหญ่ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำแน่ๆ ซึ่งเข้ามาเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ด้วย เข้ามาเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจในทางการเมืองด้วย มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเคยบอกว่า ถ้าคุณจะขอเรี่ยไรเงินตั้งทุน เพื่อจะทำประโยชน์แก่สังคม ทุนขนาดใหญ่ของไทยไม่พร้อมที่จะจ่าย แต่ถ้ามีชื่อตามหลังว่า “โดยเสด็จพระราชกุศล” จ่ายทันที เท่าไหร่ เท่ากัน คือมีความพยายามจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันตัวเองก็มีบทบาทในฐานะชนชั้นนำของสังคมด้วย อันนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากทีเดียว ประสานให้กลุ่มชนชั้นนำไทยมีผลประโยชน์บางอย่างที่สอดคล้องกัน

กลุ่มหนึ่งต่อมาคือกลุ่มข้าราชการระดับสูง ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบที่เขาเรียกว่า “รัฐราชการ” แล้วก็ตาม แต่ว่าสัดส่วนในการบริหาร ไม่ใช่การวางนโยบาย ของกลุ่มข้าราชการระดับสูงมีค่อนข้างมาก เพราะข้าราชการคือผู้วางโครงการหรือวางแนวให้กับนักการเมืองอีกทีหนึ่ง

กล่าวคือ นักการเมืองเข้ามาปกครองประเทศไม่ว่าจะมาจากพรรคใด มักจะมามือเปล่าๆ มากกว่าจะมีนโยบาย แล้วก็มาดูว่าราชการที่ตัวเองเข้าไปเป็นรัฐมนตรี มีโครงการอะไรบ้าง ก็เลือกหยิบโครงการเหล่านั้นมาผลักดัน หรือมาดำเนินการโดยให้งบประมาณ เพราะฉะนั้นคนที่คิดนโยบายตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะสร้างเขื่อน หรือสร้างถนน หรืออะไรก็แล้วแต่ คำตอบคือข้าราชการระดับสูงเป็นคนทำ แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ข้าราชการระดับสูงปัจจุบันนี้ในระบบราชการถูกนักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ควบคุม หรือสั่งการ หรือ Overrule อะไรที่อยู่เหนือความต้องการของระบบอบราชการได้

โดยเฉพาะสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกฯจะเห็นได้ชัดเจนมาก ทำให้ข้าราชการต้องโอนอ่อนต่ออำนาจในทางการเมืองมากขึ้น

กลุ่มข้าราชการระดับสูง ยึดระบบราชการทั้งหมด ถามว่ามีผลประโยชน์ของตนเองไหม ผมว่ามี ด้วยเหตุดังนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองในระบบการ เมืองด้วย แต่จุดอ่อนของระบบราชการไทยคือมีแต่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่สำนึกกลุ่มมีน้อย คือ ข้าราชการไม่ได้สำนึกว่าตัวเป็นกลุ่มเดียวกับข้าราชการของอีกกรมหนึ่ง ของอีกกองหนึ่ง หรือของกระทรวงอื่น ความสำนึกร่วมของความเป็นข้าราชการมีน้อย แต่ว่ามีผลประโยชน์ของตนเองที่ค่อนข้างเด่นชัด ในที่นี้คนที่อยู่ในราชการคงทราบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล ฯลฯ มันเป็นผลประโยชน์ที่กลุ่มข้าราชการสำนึกได้ว่ามีอยู่ในระบบราชการ แต่ว่าสำนึกร่วมในความเป็นข้าราชการด้วยกันไม่สูงมากนัก

ทั้งหมดเหล่านี้ กลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่มีเสียงดังที่สุดในสังคม เพราะฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มที่กุมการนำของสังคมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำในทางการเมือง การนำในทางเศรษฐกิจ การนำในทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ และก็หวงแหนการนำนี้ค่อนข้างมาก เพราะว่ามันมีผลประโยชน์หลากหลายชนิด ผูกพันอยู่กับการนำมากทีเดียว

 

ชนชั้นกลาง: พันธมิตรของชนชั้นนำ

นอกจากกลุ่มชนชั้นนำที่ผมได้พูดถึงไปแล้ว กลุ่มนี้ยังมีพันธมิตรของกลุ่มด้วย กล่าวคือไม่ได้อยู่ลอยๆ แค่พันหรือหมื่นคนเท่านั้น แต่ว่าในกลุ่มนี้สร้างเครือข่ายพันธมิตรลงไปยังกลุ่มคนอื่นๆ ด้วย และเครือข่ายพันธมิตรที่สำคัญของกลุ่มชนชั้นนำ คือ ชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป เป็นพันธมิตรกับกลุ่มชนชั้นนำค่อนข้างมาก

กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่มีการศึกษา และตั้งอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ หมายความว่า กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเหล่านี้อยู่ในเศรษฐกิจแบบโบราณไม่ได้หรอก คุณต้องอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็คือสิ่งที่ชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเป็นผู้สร้างขึ้นมันมา ฉะนั้นต้องสร้างในเงื่อนไขที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเขาด้วย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ทอดกล้วยแขกขายเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาจจะมีจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ไปขายทักษะเฉพาะด้านบางอย่างในเศรษฐกิจสมัยใหม่

กลุ่มนี้มีส่วนแบ่งของกำลังซื้อสูงมาก มีส่วนแบ่งมีสตางค์ซื้อของประเทศค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของกลุ่มที่ไม่ได้มีมากนัก เหตุดังนั้นจึงทำให้เขาสามารถกุมหรือใช้ประโยชน์จากสื่อได้สูงที่สุดในบรรดาคนทั้งหมดของสังคมเลยก็ว่าได้ สูงเสียยิ่งกว่าชนชั้นสูงจริงๆ ด้วยซ้ำไปในบางกรณีด้วย

เมื่อคุมสื่อได้มากก็สามารถส่งเสียงของคุณได้มาก คำว่า “ส่งเสียง” ในทีนี้ ไม่ได้หมายความว่า พูดแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำให้สื่อเป็นอริ หรือเป็นศัตรูกับสิ่งที่คุณเองเห็นว่าเป็นศัตรูได้

เช่น ภาพเปิดนมผู้หญิงที่สีลม ขัดกับวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง โดยคุณไม่ต้องพูดอะไรสักแอะ สื่อก็จะโจมตีการเปิดนมที่สีลมทันที นี่ก็เป็นกรส่งเสียงโดยไม่ต้องออกเสียงของกลุ่มชนชั้นกลาง อาจจะพูดได้ว่า วัฒนธรรมประเพณีที่เรารู้จักกันในเวลานี้เป็นวัฒนธรรมคนชั้นกลางระดับกลางที่ครอบงำคนทั้งสังคมโดยผ่านสื่อ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลด้านการศึกษา เขาก็คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครูในชั้นมัธยม ผู้บริหารด้านการศึกษาในเมือง

แต่สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างอ่อนแอมากๆ คือ กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางที่อยู่ในเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ในแง่หนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลายสังคมในโลกนี้ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะขาดการจัดองค์กร เกือบจะพูดได้ว่าคนชั้นกลางระดับกลางจัดองค์กรไม่เป็น แค่เก็บขยะในหมู่บ้านยังทำไม่ได้เลย อย่าพูดถึงองค์กรระดับใหญ่ที่จะไปทำอะไรในทางการเมือง ซึ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับในสังคมอื่น ถ้าไม่มีการจัดองค์กรแบบนี้ พลังทางสังคมของชนชั้นกลางระดับกลาง อาจจะมีมาก แต่ว่ามันปฏิบัติการได้ไม่สู้จะมากนัก เช่นเป็นต้นว่า วันหนึ่งเราจำเป็นต้อง Recycle หนังสือพิมพ์ แล้วไม่มีซาเล้ง ถามว่าชนชั้นกลางระดับกลางช่วยตนเองได้ไหมที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ไม่ถูกทิ้ง แต่คุณเอาไป Recycle ทั้งๆ ที่ชนชั้นกลางระดับกลางห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ไม่มีพลังที่จะจัดองค์กร เพื่อจัดการปัญหาของตัวเองเท่าไหร่

ด้วยเหตุดังนั้นชนชั้นกลางระดับกลางของไทย จึงมีความรู้สึกว่าตัวต้องพึ่งรัฐสูงมาก จริงๆ ผมคิดว่ามากกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป ชาวบ้านทั่วๆ ไป มีหรือไม่มีรัฐเขาก็อยู่ได้ แต่คนชั้นกลางระดับกลางถ้าไม่มีรัฐเขาอยู่ไม่ได้ คนชั้นกลางระดับกลางจึงอยากที่จะรักษารัฐไว้ภายใต้การควบคุมของตนเองสูงมาก เพราะว่า ถ้ารัฐไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนเอง รัฐอาจจะไม่ไห้บริการที่ตัวเองรู้สึกว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ไปก็ได้

เหตุดังนั้นเวลาที่รัฐบาลตั้งแต่คุณทักษิณเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องพยายามทำนโยบายประชานิยม บางคนพูดว่าชนชั้นกลางอิจฉาชาวบ้านที่รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม แต่คิดว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้อิจฉาในความหมายที่ไม่อยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ และอยากจะได้ไว้เอง แต่นโยบายประชานิยมทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจว่าเขาจะได้บริการของรัฐแบบที่เขาเคยได้ต่อไปหรือไม่ และความหวั่นไหวตรงนี้ ความหวั่นไหวตรงที่ว่า รัฐเริ่มให้ความสนใจคนอื่นที่ออกไปข้างนอกมากขึ้น มันไปกระตุ้นความรู้สึกความไม่มั่นใจว่า ตนสามารถควบคุมรัฐเพื่อให้บริการตนเองอย่างที่เคยได้ให้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็ไม่มีองค์กรพอที่ไปบังคับควบคุมรัฐ ให้บริการตนเองได้อย่างที่เคย เพราะฉะนั้นใครเรียกไปชุมนุมที่ไหน ไปยึดสนามบินก็เอาด้วยทั้งนั้น เพราะว่ามันมีองค์กรในการที่จะดำเนินการให้อำนาจแก่ตนเองได้เพียงพอ

อย่างไรก็ตามแต่ เนื่องจากคนชั้นกลางระดับกลางเป็นผู้วางมาตรฐานผ่านการศึกษาและสื่อ ฉะนั้นมันจึงส่งอิทธิพลลงมายังคนที่ยังไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับกลางแยะมาก คนที่เริ่มขยับตัวในทางเศรษฐกิจ มีหน้ามีตา มีเงินมากขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นใครก็แล้วแต่ สิ่งที่เขารับมาคือมาตรฐานของชนชั้นกลางระดับกลาง อย่างน้อยก็คือ ดูละครเรื่องเดียวกัน คนชั้นกลางระดับกลางอยากเป็นพจมาน ชาวบ้านที่เพิ่งเข้าไปเป็นผู้รับเหมารายย่อยก็อยากให้ลูกสาวตัวเองเป็นพจมานเหมือนกัน เพราะว่าดูละครเรื่องเดียวกัน

กล่าวคือทำให้ชนชั้นกลางระดับกลางยังมีอิทธิพลในอีกลักษณะหนึ่ง คืออิทธิพลในทางวัฒนธรรม ที่เป็นผู้สร้างมาตรฐานสิ่งดีงาม ถูกผิด หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้แก่สังคม คนที่พยายามขยับตัวเอง เป็นแบบอย่างของการมีชีวิตในอุดมคติของคนอื่นๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมา

 

กติกาทางการเมืองชนชั้นนำ

อย่างไรก็ตามแต่ เมื่อรวมพันธมิตรและชนชั้นนำต่างๆ ในสังคมไทยแล้ว ผมคิดว่ามีจำนวนน้อยมาก มีคนประเมินว่าไม่เกิน 25% ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับกลางและชนชั้นนำมาบวกกันก็ไม่เกิน 25% แต่แม้ว่าจะมีจำนวนน้อย ทว่าการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มา ก็เป็นการเมืองของชนชั้นนำ มันไม่ใช่การเมืองของคนทั่วไป การเมืองไทยคือการแบ่งสรรทรัพยากรให้ลงตัวในกลุ่มชนชั้นนำกับชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป คือพันธมิตรของตนเอง ตลอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ถึงแม้ว่าจะเป็นการแบ่งสรรทรัพยากรในกลุ่มคนจำนวนน้อย ไม่ถึง 25% แต่ก็ไม่ได้เป็นการแบ่งสรรแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาแต่เพียงอย่างเดียว ถามว่า มีกฎ กติกาในการเมืองไทย ในเรื่องการแบ่งสรร จัดสรรทรัพยากรหรือไม่ ผมคิดว่ามีพอสมควร ตั้งแต่ 2475 มากระทั่งถึงทุกวันนี้ มันมีกติกาบางอย่างในทางการเมือง เช่น มันไม่หักโค่นกันถึงที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกันขนาดไหนก็แล้วแต่ อีกกลุ่มหนึ่งสามารถรวมกำลังทหารมาโค่นอีกกลุ่มหนึ่งได้ วิธีที่คุณทำกันปกติก็คือ คุณก็หนีไปอยู่ต่างประเทศ พอเขาลืมแล้วกลับมาก็จบกันเท่านั้นเอง ไม่เป็นไร ความผิดก็ไม่มี ความดีไม่ปรากฏทุกอย่างเรียบร้อย ก็เปลี่ยนถ่ายอำนาจกันแบบนั้น

ในขณะเดียวกันการเมืองระบบนี้ คุณเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมไม่ได้ เพราะมันจะมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถดึงเอาทรัพยากร นึกถึงการแข่งขันในระบบทุนนิยมธรรมดา กลุ่มที่มีกำลังมากจะดึงทรัพยากรเข้ามาใส่ให้ตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด เหตุดังนั้น ผมเดาเอาเองว่า มันตั้งใจด้วยซ้ำไป ที่จะทำให้การดำเนินกิจการในทางเศรษฐกิจทุกอย่าง และการเมืองทุกอย่างมันมีค่าเช่า

ค่าเช่าเป็นหัวใจสำคัญ “ค่าเช่า” หรือพูดง่ายๆ ว่า “คอรัปชั่น” ซึ่งมันน่ารังเกียจและมันไม่ดี แต่ถ้าไม่มีค่าเช่า การแบ่งสรรทรัพยากรจะไม่มีการกระจายตัวได้มากเท่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะมันเป็นการเมืองของชนชั้นนำ ถ้าสมมติว่าคุณอยากจะสร้างถนน แล้วไม่มีใครโกง หรือไม่มีใครเรียกค่าใต้โต๊ะเลย ถามว่าเราจะ Redistribute เราจะกระจายเงินค่าสร้างถนน เพื่อให้ทรัพยากรกลางไปถึงชาวบ้านได้อย่างไร เพราะเหตุที่มันมีค่าเช่า ผมก็เรียกเงินใต้โต๊ะ พอผมเรียกเงินใต้โต๊ะเสร็จ ในทางการเมืองผมต้องมีลูกน้อง ต้องเลี้ยงดูต่อไป ผมต้องซื้อน้ำแข็งไปให้คนที่เขาแต่งงานในหมู่บ้านที่จะเลือกตั้งผม เอาไปซื้อเสียงหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อกระจายเงินเหล่านี้ไปยังกลุ่มคนที่เป็นลูกน้องผมน่ะได้ด้วย เป็นต้น

เพราะฉะนั้นด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าตัว “ค่าเช่า” หรือ “คอรัปชั่น” มันเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในระบบการเมืองของชนชั้นนำ คือคุณหลีกหนีไม่พ้น คุณจะไปนั่งด่าคอรัปชั่นอย่างเดียวโดยไม่ยอมให้การเมืองพัฒนาไปสู่การเมืองในระบอบที่คนส่วนใหญ่เข้ามามีพื้นที่ต่อรองกันได้ จึงเป็นไปไม่ได้ ตราบเท่าที่หวงการเมืองให้เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ค่าเช่าจึงเป็นส่วนหนึ่งที่คุณหลบหลีกไม่ได้ คุณต้องรับเอาไว้ และมันทำหน้าที่ของมันคือเป็นตัวกระจายทรัพยากรไปตามทิศทางของคนที่สามารถเก็บค่าเช่าได้

นอกจากนี้ยังมีกติกาเรื่องการสร้างเครือข่ายกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร ซึ่งนายทุนไทยเก่งมาก คุณก็เห็นอยู่ หลายทุนด้วยกันเวลาเลือกตั้งไม่ได้ให้เงินแก่พรรคการเมืองพรรคเดียว ยิ่งในสมัยก่อนที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้เปิดเรื่องการบริจาคแก่พรรคการเมือง เขาก็ลงทุนในหลายพรรค แล้วพรรคที่ได้รับเงินไป ถามว่ารู้ไหมว่าเขาให้เงินแก่พรรคที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ... “รู้ ก็ไม่เป็นไรนี่” คือมันเป็นกติกาที่ “โอ้ สุภาพบุรุษมากเลย” ในการแข่งขันกัน

แต่เป็นลักษณะของกติกาที่ใช้ได้ดีในการเมืองของชนชั้นนำ ตราบใดที่อยู่ในการเมืองของชนชั้นนำ ภาพกว้างๆ ก็จะดูมันสงบ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่อย่าเอาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วมาเปรียบเทียบ ว่าประเทศนี้มันมีการรัฐประหารถี่ รัฐประหารก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำ

 

กองทัพ: เครื่องมือ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของชนชั้นนำ

คือบางครั้งเปลี่ยนตัวผู้นำโดยการเลือกตั้ง บางครั้งเปลี่ยนตัวผู้นำโดยรัฐประหารเป็นปกติธรรมดาอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้เป็นวงจรอุบาทว์ เอาอย่างนั้นดีกว่า เป็นหนึ่งในกลไกปกติของการเมืองของชนชั้นนำ มีการเลือกตั้งบ้าง มีการรัฐประหารบ้าง อยู่ตลอดเวลา

รัฐประหารก็เป็นกติกา ไม่มีหรอกครับรัฐประหารในประเทศไทยจนถึงปี 2549 ที่อยู่ๆ จะมีคนมาบอกว่า “เฮ้ย อย่ารัฐประหาร ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องมาต่อต้าน ต้องมาคัดค้าน” ไม่มีหรอก ทุกคนก็โอเค เมื่อเกิดรัฐประหาร ก็จะหาทางอยู่กันอย่างไรต่อไปในกติกาของการเมืองใหม่

ฉะนั้น ในแง่หนึ่งการเมืองของชนชั้นนำ เป็นการเมืองที่มีพลวัตอยู่พอสมควร เพราะว่ามันเป็นการเมืองที่คุณจำเป็นที่จะต้องต้องไม่สร้างความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองอย่างรุนแรงจนเกินไป

หลัง14 ตุลา การเมืองของชนชั้นนำสามารถทำสิ่งที่ผมคิดว่าในแง่หนึ่งน่าอัศจรรย์มาก คือสามารถผนวกเอาทุนท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำได้ สมัยหนึ่งคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) ก็ตาม หรือคุณเสนาะ (เทียนทอง) อะไรก็ตาม รวมถึงคนอื่นๆ เป็นเศรษฐีบ้านนอก แต่ปัจจุบันคุณบรรหารก็ตาม คุณเสนาะก็ตามแนบเข้ามาอยู่ในการเมืองของชนชั้นนำที่เป็นเนื้อเดียวกันแบบชนิดที่ไม่รู้สึกแปลกแยกอะไรเลย การที่สามารถผนวกทุนที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาได้อย่างสนิทแนบชิดผมถือว่าเป็นพลวัตอย่างหนึ่ง ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างทุนท้องถิ่นกับทุนส่วนกลางอย่างรุนแรงจนเกินไป

ความขัดแย้งไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีอาจจะดีก็ได้ อย่างในกรณีอังกฤษเพราะเหตุที่คุณมีพวก Gentry ที่เป็นทุนที่ดินต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ของตนเอง และขัดแย้งกับทุนที่เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมือง ทำให้ประชาธิปไตยอังกฤษเกิดการพัฒนามากขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Gentry เจ้าที่ดินในชนบท กับทุนที่อยู่ในเมือง

แต่แม้ว่าการเมืองชนชั้นนำมีพลวัต ทุนก็มีพลวัตเช่นกัน คือมันเป็นพลวัตที่ไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันด้วย เพราะธรรมดา ธรรมชาติของทุนก็ย่อมจะพยายามรวบรวม ขยายทุนให้เหนือกว่ากลุ่มอื่น อันนี้เป็นปกติธรรมดา มีการพยายามจะเอาเปรียบคู่แข่งของตนเองในการแข่งขัน นี่ก็เป็นปกติธรรมดา เพราะฉะนั้นการเมืองของชนชั้นนำมีพลวัตอยู่ 2 อย่างในตัวมันเอง และผมคิดว่ามันขัดแย้งกัน

หนึ่ง พลวัตที่พยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งของชนชั้นนำด้วยกันอย่างรุนแรงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีพลวัตของทุนที่อยู่ในนั้นที่ต้องเกิดความขัดแย้งเป็นปกติธรรมดา ซึ่งถ้าไม่ขัดแย้ง ก็ไม่สามารถดึงทุนมาสะสมทุนให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นการเมืองแบบชนชั้นนำที่มีความตึงเครียดอยู่ภายในระบบ เวลานี้เรารู้สึกว่าการเมืองไทยมีความตึงเครียดมาก แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ก่อนหน้านี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันก็มีความตึงเครียดอยู่ในระบบสูงมาก เพียงแต่เราซึ่งอยู่นอกระบบไม่ค่อยรู้สึกกับมัน เพราะไม่เคยมีการออกมาปะทะกันอย่างชัดๆ แต่ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีเลย เรามีมาแล้วหลายครั้งหลายหนที่กลุ่มชนชั้นนำเอากลุ่มทหารเรือมารบกับทหารบก เอาทหารบกไปรบกับตำรวจ ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา

คือมันมีความตึงเครียดภายใน แต่พลวัตเป็นความขัดแย้งระหว่างพลวัตของทุนกับพลวัตของชนชั้นนำ แล้วระบบปรับตัวได้ค่อนข้างยาก แม้จะมีพลวัต แต่ก็ปรับตัวได้ค่อนข้างยาก ในขณะที่พลวัตของทุนบีบบังคับให้การเมืองของชั้นนำต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าก็มีอีกแรงหนึ่งที่พยายามดึงการเมืองของชนชั้นนำไม่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง

กลไกสำคัญที่เขาใช้ในการรักษาไม่ให้การเมืองของชนชั้นนำเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ได้ ก็คือการรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการดึงเอาไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนไปสู่จุดที่เกิด “ความไร้ระเบียบ” ในทัศนะของเขา

และเครื่องมือในการรัฐประหารก็คือกองทัพ และกองทัพเองก็ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือให้แก่ชนชั้นนำในการเปลี่ยนกลไกหรือ “รักษาความสงบเรียบร้อย” เพราะกองทัพเองก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย ทุกท่านก็คงทราบ จากปี พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ถ้าไปดูตัวเลขงบประมาณกองทัพพุ่งแบบนี้เลย (เหยียดมือขวาขึ้น) คือทันทีที่คุณรัฐประหารเสร็จ งบประมาณขึ้นทันที

และเวลานี้กองทัพก็เข้าไปมีบทบาทโดยตรงและโดยแฝงในเรื่องต่างๆ เยอะแยะไปหมด กระทั่งผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าคุณไม่อยากทะเลาะกับกองทัพ แล้วคุณขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ คุณจะจัดการปัญหาภาคใต้ได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะไปจัดอะไรก็ตามย่อมกระทบสิ่งที่กองทัพกำลังทำอยู่และได้อยู่ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น กองทัพเองก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเข้ามาเป็นเครื่องมือในกลไก “รักษาความสงบเรียบร้อย” เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในการเมืองแบบชนชั้นนำ เราไม่สามารถแยกกองทัพออกจาก การเมืองได้ กองทัพเป็นส่วนหนึ่งหรือเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเมืองของชนชั้นนำ ก็ว่าได้

เพราะฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า ขอให้กองทัพกลับเข้ากรมกองเสีย โดยยังมีการเมืองของชนชั้นเดิมอยู่ต่อไป จะให้กองทัพกลับเข้ากรมกองได้จริง ต้องเปลี่ยนตัวระบบการเมือง ไม่ใช่เปลี่ยนแต่เพียงบอกว่า เอา เอ็งกลับบ้านเสีย” ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนตัวระบบการเมือง จากการเมืองของชนชั้นนำมาเป็นการเมืองของทั้งสังคม พูดง่ายๆ คือต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เท่านั้นที่กองทัพจะกลับเข้ากรมกองได้ ตราบที่คุณยังรักษาการเมืองไว้เป็นการเมืองของชนชั้นนำแบบนี้ ไม่มีทางที่กองทัพจะกลับเข้ากรมกองได้ ตัวกองทัพก็ไม่อยากกลับ คนที่อยู่ในการเมืองก็ไม่อยากให้กองทัพกลับเหมือนกัน

 

ทักษิณและการเปิดพื้นที่ “ระบบเลือกตั้ง”

พลวัตของทุนและพลวัตของการเมืองของชนชั้นนำไม่อาจนำไปสู่ระบบเลือกตั้งอย่างถาวรได้ เพราะอย่างที่บอกว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกสรรผู้นำ และเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นคุณนำเข้าสู่ระบบเลือกตั้งถาวรไม่ได้

ที่ใช้คำว่า “ระบบเลือกตั้ง” แทนคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็เพราะว่ามันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่อย่างน้อยสุดการเลือกตั้งสม่ำเสมอถาวรมันทำไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งอย่างถาวร พัฒนาการมันจะเริ่มไปสู่จุดที่คุณคุมไม่ได้อีกต่อไป มันจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความสงบเรียบร้อย” อีกต่อไป

เพราะถ้ามีระบบเลือกตั้งทุนต้องยอมรับกติกาใหม่ในการแข่งขัน แน่นอนเพราะมันมีการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอมากขึ้น คุณจะต้องเริ่มรองรับกติกาใหม่ในการแข่งขัน ไม่ใช่อาศัยแต่ “Connection” ไม่ใช่อาศัยแต่ “เส้น” เพียงอย่างเดียว ซึ่งทุนไทยไม่พร้อมที่จะเข้ามาสู่การแข่งขันโดยไม่อาศัย “เส้น” หรือวิธีอื่น

นอกเรื่องนิดหน่อย ผมเห็นทุนไทยเก่งที่สุดอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยเห็นทุนไหนใช้ “เส้น” ในระบบการผลิตได้เก่งเท่าทุนไทย

ไม่เฉพาะทุนอย่างเดียว กลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ามาสู่ระบบเลือกตั้ง จะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็แล้วแต่ ซึ่งเขาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ามาสู่ระบบที่มีการเลือกตั้งอย่างถาวรได้ เพราะต้องยอมรับกติกาการแข่งขันทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง

ในปี 2540 พอคุณรู้สึกว่าการเลือกตั้งกำลังจะอยู่ถาวร สิ่งที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ทำ คือเล่นการเมืองอีกชนิดหนึ่งที่พรรคการเมืองอื่นไม่เคยเล่นมาก่อน และถามว่าทำไมพรรคการเมืองอื่นไม่เปลี่ยนบ้างล่ะ ก็มันไม่พร้อมจะเปลี่ยนได้ง่ายๆ ขนาดนั้น แต่ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่คุณทักษิณสามารถใช้การเลือกตั้งเป็นฐานที่มาของอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่พรรคการเมืองใดๆ เคยทำได้มาก่อน และพรรคอื่นก็ไม่พร้อมจะปรับตัวเองมาใช้ฐานอันเดียวกันนี้ด้วย

ผมขอนอกเรื่องนิดหน่อย อันที่จริงแล้วระบบเลือกตั้งถามว่าเป็นอันตรายต่อกลุ่มชนชั้นนำมากไหม ผมว่าถ้ากลุ่มชนชั้นนำตัดสินใจว่า “เปลี่ยนเป็นเปลี่ยนกันวะ” ถามว่าใครมีทุนในทางวัฒนธรรม ใครมีทุนในทางการเมืองสูงกว่าชนชั้นนำบ้างในสังคมไทย ผมมองไม่เห็น คือถ้าคุณพร้อมมาเล่นแข่งขันในทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง ผมคิดว่าในระยะไม่กี่ปี คุณก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะว่าคุณกุมอะไรไว้มายมหาศาลที่เป็นทุนทางการเมืองและทุนในทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสิ้น คุณสามารถงัดมันออกมาใช้ในทางการเมือง งัดออดมาเป็นข้อได้เปรียบของตนเองในการแข่งขันกับคนอีกกลุ่มได้แยะมาก

สมควรกล่าวได้ว่า จนถึงสมัยคุณทักษิณ ก็ยังมีการเมืองชนชั้นนำอยู่ ถึงแม้ว่าคุณทักษิณจะพบวิธีใหม่ในการที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นฐานในการเข้าสู่อำนาจ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะการเมืองของคุณทักษิณก็ยังเป็นการเมืองของชนชั้นนำอยู่ คงจำกันได้ว่ากลุ่มที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย “มุ้ง” “Faction” ต่างๆ ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่หลากหลายอยู่พอสมควร พรรคไทยรักไทยไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ที่จะมีการปลูกฝังอุดมการณ์ร่วมกัน หรือมีการลำดับขั้นว่าจะต้องเป็นเยาวชนพรรคก่อน ถึงจะไต่เต้ามาเป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่ คุณเป็นตัวแทนของมุ้งที่ใหญ่พอสมควรที่จะทำให้เกิดที่นั่งในสภา คุณก็เข้ามาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ นี่ก็เป็นการเมืองของชนชั้นนำที่เราเคยชินอยู่ตลอดเวลา

แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองสมัยคุณทักษิณเริ่มปล่อยให้มีการสะสมทุนของบางกลุ่มอย่างรวดเร็วเหนือ บางกลุ่ม คงจำได้นะครับว่า ถ้าใช้ภาษาอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็คือว่าการเมืองชนชั้นนำเป็นเรื่องของ “เกี๊ยะเซียะ” หรือ “ผลัดกันเกาหลัง” เป็นหัวใจสำคัญ แต่คุณทักษิณให้ความสำคัญกับการ “เกี๊ยะเซียะ” น้อยเกินไป เพราะเริ่มจะทำให้กลุ่มบางกลุ่มในเครือข่ายของแกเองสะสมทุนได้รวดเร็วกว่า อาจจะเป็นทั้งอิทธิพลทางการเมืองที่คุณทักษิณมีอยู่ อาจจะเป็นทั้งโอกาสที่กลุ่มทุนจำนวนไม่น้อย พังทลายไปกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ทำให้คุณได้เปรียบในการทำให้สะสมทุนได้เร็วกว่า

เพียงแค่นี้ก็ทำให้เราเห็นว่า การเมืองชนชั้นนำที่เราเคยชินเริ่มหวั่นไหว เพราะทันทีที่ปล่อยให้กลุ่มทุนบางกลุ่มสะสมทุน มันก็จะเริ่มมีกลุ่มทุนบางกลุ่มที่จะมีอำนาจในทางการเมืองสูงมาก จนกระทั่งว่าเข้ามาครอบงำการเมืองในพื้นที่ ในสัดส่วนที่ใหญ่กว่า ในขณะที่การสร้างดุลแห่งอำนาจในการเมืองระดับของชนชั้นนำก็จะค่อยๆ หายไป

สิ่งสำคัญ สิ่งใหม่อันหนึ่งที่ผมว่าคุณทักษิณได้ทำและวันหนึ่งจะมีคนพูดถึง โดยคุณทักษิณจะตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ คือคุณทักษิณเป็นนักการเมืองที่ดึงเอาประชาชนที่มีระดับต่ำกว่าคนชั้นกลางระดับกลางเข้ามารับผลประโยชน์ทางการเมืองโดยตรง โดยการแบ่งปันทรัพยากรกลางของประเทศลงไปให้กับคนที่ต่ำกว่าระดับชนชั้นกลาง ระดับกลางในประเทศ เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ผมหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “เปิดพื้นที่ทางการเมือง” ให้กับคนระดับล่าง แบ่งปันทรัพยากรให้ ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้แก่คนชั้นล่าง แต่ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะกลายเป็นคุณเปิดพื้นที่โดยไม่ตั้งใจก็ได้

ซึ่งจริงๆ แล้วนี่คือเกมของประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมอื่นๆ มาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเป็นประชาธิปไตย มันจะมีช่วงหนึ่งที่คุณจะลงไปเล่นกับคนที่อยู่นอกเวทีการเมืองเพื่อจะดึงมาสนับสนุน คุณ ไม่ได้รักมันหรือจะเปิดพื้นที่ให้ แต่ลงไปเล่นกับมันเพื่อต้องการเสียงสนับสนุนในทางการเมืองเท่านั้น ฟังดูเหมือนไม่สะอาด แต่ที่เกิดในสังคมอื่นๆ ก็ไม่สะอาดเหมือนกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพื่อที่จะเป็นประชาธิปไตยคุณต้องผ่านตรงนี้

ตามความเข้าใจของผม นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนในอเมริกา เกิดขึ้นจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน คุณเลือกคนที่มีความชัดเจนว่าจะบุกไปในทางตะวันตก คุณจะเปิดพื้นที่ตะวันตกให้แก่การตั้งถิ่นฐานของคนผิวขาว คุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไรถ้าคุณไม่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกอินเดียน ฉะนั้นมันจึงไม่มีที่ไหนสะอาด ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาจากกองขยะไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทักษิณทำโดยปริยาย และโดยที่แกอาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือว่า มันเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยขึ้นมาในสังคมเรา

ฉะนั้น พอเกิดรัฐประหารแล้ว คุณทักษิณได้ทำอะไรที่ไม่เหมือนกับการเมืองของชนชั้นนำที่เคยทำมาก่อนเลย คือแกกลับสู้ว่ะ คือแกหนีไปต่างประเทศจริง แต่ควรจะหนีไปและใช้เงินเจ็ดพันหมื่นล้านของแกไปสบายๆ หรือหาเงินเพิ่มเป็นแสนล้านก็ได้นะ แต่ไม่ แกผ่าไปเอาเงินเจ็ดหมิ่นล้านนั้นมา เพื่อสู้กลับมามีอำนาจใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่นานๆ เกิดขึ้นที

และกลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนในกองทัพเรือ หรือในทำนองอย่างนั้น แต่หมายถึงคนจำนวนมโหฬารมากๆ ในสังคมไทย ที่เป็นคนระดับล่าง ซึ่งไม่เคยมีพื้นที่ทางการเมืองในเวทีการเมืองประเทศไทยมาก่อน คนเหล่านี้เข้ามาสนับสนุนคุณทักษิณ และคุณทักษิณก็พร้อมที่จะรับการสนับสนุนเหล่านี้ หรือสร้างการสนับสนุนขึ้นก็ตามแต่ เพื่อที่จะกลับเข้ามามีอำนาจ

อันนี้มันทำให้การเมืองของชนชั้นนำพังทลายลงไป เพราะสมัยหนึ่งเราเคย “เกี๊ยะเซียะ” กันได้ ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องไป รัฐประหารคุณก็ไปเสีย คุณอยู่สักพักแล้วคุณจะกลับมาใหม่ คุณจะกลับมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ แบบพรรค “ชาติพัฒนา” ของคุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่วิธีการแบบนี้

บางคนอาจจะนึกถึงท่านปรีดี (พนมยงค์) ที่ออกไปแล้วก็สู้เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างสำคัญ คือท่านปรีดีใช้กลไกระบบราชการคือกองทัพเรือในการสู้ แต่คุณทักษิณไม่ได้ใช้กลไกระบบราชการแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะใช้ซ่อนๆ อยู่ทหารแตงโม ตำรวจแตงโมอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ากำลังหลักเป็นมวลชนระดับล่าง

ทีนี้ เราก็เดินมาสู่จุดที่การเมืองไทยกำลังปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเมืองของชนชั้นนำไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ คือมันเป็นได้หลายอย่าง มันจะกลายเป็นการเมืองที่มีลักษณะประชาธิปไตยมากขึ้นก็ได้ หรือการเมืองของชนชั้นนำฉลาดพอที่จะปรับตัวเองให้ดำรงอยู่ได้ โดยไม่เกิดการฆ่าฟันกันอย่างนองเลือดก็ได้ เดาไม่ถูกว่า จนถึงเวลานี้จะเกิดอะไรขึ้นในสองอย่างนี้

 

ความรุนแรงที่หยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ก่อนที่จะพูดต่อไป ผมอยากจะเตือนว่า ผลโดยรวมของการเมืองของชนชั้นนำที่ครอบงำประเทศไทยตลอดมา มันก่อให้เกิดอะไรขึ้นแก่สังคมไทยบ้าง สรุปโดยรวมๆ คือมันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทุกด้านเลยแก่สังคมไทย มันเกิดการกระจุกตัวของทรัพย์สินและรายได้ ไว้ในมือคนกลุ่มนิดเดียวเท่านั้นเอง มันเกิดความไร้โอกาสในการพัฒนาของคนจำนวนมากในสังคม ไม่รู้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ไม่ใช่พัฒนาแปลว่ามีเงินมากอย่างเดียว คือการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาตัวเองด้านอื่นๆ ร้อยแปด ฯลฯ มันไม่เกิด

ความตีบตันในโอกาสของการพัฒนามันไปมีผลที่ทำให้เกิดการตีบตันการพัฒนาของประเทศด้วย แนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาในประเทศไทยจนถึงวันนี้อยู่ในจุดวิกฤต คือเดินต่อไปในแนวทางเก่าแทบจะไม่ได้ แล้ว อุตสาหกรรมไทยแทบไม่มีอนาคต เพราะยังไงก็ผลิตสู้เวียดนามไม่ได้ ยังไงก็สู้เขมรไม่ได้ เดี๋ยวนี้บริษัทผลิตรองเท้าก็ไปจ้างเขมรทำเพราะราคาถูกกว่าไทย ฝีมือก็พอๆ กัน คุณก้าวต่อไปไม่ได้แล้วในอุตสาหกรรมรับจ้างทำของ เป็นต้น ถามว่าเราพร้อมไปสู่การผลิตอะไรที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่านี้ไหม ก็ไม่พร้อม

แนวทางการพัฒนาของเรามันมาถึงจุดตีบตัน ทางรอดที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้คือขายทรัพยากร ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ลองดูแผนพัฒนา Southern Seaboard ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แล้วจะตกใจมาก แหลมมลายูของเรากำลังจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้

มันมีการรวมศูนย์อำนาจอย่างยิ่ง คือมันเริ่มรวมศูนย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมหนักข้อมากขึ้นหลัง 2475 มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งว่าท้องถิ่นไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ในทุกๆ เรื่องไปหมด ตัดสินใจอะไรเองก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียว ที่มันเกิดขึ้นในเวลานี้ยิ่งอันตรายกว่าเก่าถึงสองเท่า เพราะตอนนี้มันเริ่มเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรกันแล้ว เพื่อเอาทรัพยากรไปขาย เอาทรัพยากรมาใช้ อะไรก็แล้วแต่

ถ้าท้องถิ่นยังไม่สามารถมีอำนาจในการตัดสินใจจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นเอง ทุนจะอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาตักตวงทรัพยากรไปหมด ที่บางสะพาน ที่เขาคิดจะทำโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน แม้แต่สวนมะพร้าวที่ทนแล้งมากๆ ยังแห้ง เพราะน้ำทั้งหมดถูกกันไปให้โรงถลุงเหล็กใช้ คงทราบว่าโรงถลุงเหล็กต้องใช้น้ำมาก นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เกิดการแย่งชิงทรัพยากร แล้วถ้าท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองได้หมด คุณจะเก็บสมบัติของคุณซ่อนไว้ลึกซึ้งในกระเป๋าขนาดไหน มันก็จะถูกมือของทุนดึงแย่งเอาไปได้หมด ไม่มีที่จะหลบซ่อน มีโจรยังดีกว่าเพราะสามารถเอาสมบัติใส่ไหฝังไว้ใต้ดินได้

นี่เป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นจากการเมืองของชนชั้นนำในเมืองไทย มันมีการผังทลายของสถาบันที่มีมาแต่ก่อนหมด คือคนไทยอ่อนแอลง จากเดิมที่เรามีกลุ่มทางสังคมประเภทต่างๆ วันหนึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ทำงาน เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ถึงมีไปก็ไม่มีงานให้ทำ แต่เราก็ไม่สามารถพัฒนากลุ่มทางสังคมแบบใหม่ เพื่อมาทำงานในสังคมแบบใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเราแต่ละคนกลายเป็นปัจเจกบุคคลไปหมด แล้วก็ยากมากในการที่จะต่อรองอะไรในสังคมสมัยใหม่ มันมีปัญหาไปหมดทุกด้าน

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณพยายามจะรักษาการเมืองของชนชั้นนำเอาไว้ให้เหมือนเดิม ถ้าปรับเปลี่ยนอาจไม่เป็นไร แต่การพยายามรักษาให้เหมือนเดิมนี้แต่ก่อนอาจจะรักษาได้ไม่ยากเท่าไหร่ อย่างที่ผมบอก เพราะใช้รัฐประหารอีกฝ่ายยินยอม การเมืองก็กลับมาสู่จุดดุลยภาพใหม่อีกครั้งหนึ่ง พอเริ่มเสียดุลยภาพ คุณก็ทำรัฐประหารกลับไปสู่ดุลยภาพใหม่ แต่บัดนี้คุณทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว นอกจากคุณใช้ความรุนแรง

และที่น่ากลัวกว่านั้นคือใช้ความรุนแรงแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ผมก็ชักไม่แน่ใจแล้วว่าใช้ความรุนแรงแล้วจะประสบผลสำเร็จ เมื่อ 6 ตุลา (2519) คุณใช้ความรุนแรงแล้วดูประหนึ่งว่าคุณสามารถดึงการเมืองกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ หรือจะ 14 ตุลาคม (2516) การเมืองไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยใช่ไหม คุณมีรัฐธรรมนูญใหม่ คุณมีสภา คุณมีอำนาจ ร้อยแปด พอถึง 6 ตุลาคม คุณกลับมาอยู่ในระบบภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบอีก 10 กว่าปี ดูประหนึ่งว่าความรุนแรงจะไม่หลุดพ้น ตามความต้องการของชนชั้นนำ

แต่บัดนี้ไม่แน่ใจแล้วว่าการใช้ความรุนแรงจะให้ผลอย่างที่เคยเป็นมาเหมือน 6 ตุลาได้อีก เพราะว่าชนชั้นนำเองจะยอมรับความรุนแรงได้แค่ไหน และความรุนแรงที่ชนชั้นนำใช้ประโยชน์หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือจะนำไปสู่อะไร ฆ่าคนอีกสองพันคน ที่ใช้ตัวเลขสองพันเพราะคนที่บาดเจ็บเมื่อเดือนพฤษภาคม (2553) ถูกยิงในที่สำคัญทั้งนั้น คือตั้งใจจะยิงแต่มือไม่แม่นพอก็เลยไม่ตาย

คุณฆ่าคนอีก 2 พันคนแล้วจะหยุดความเปลี่ยนแปลงได้ไหม ไม่ใช่หยุดฝูงชนเพราะหยุดฝูงชนเรื่องเล็ก แต่หยุดความเปลี่ยนแปลงต่างหากคือหัวใจสำคัญ จากเดือนพฤษภามาจนถึงวันนี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความรุนแรงหยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณกระจายฝูงชนได้ ไล่ฝูงชนออกไปได้ แต่หยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

ชนชั้นกลางใหม่ และความเปลี่ยนแปลงที่หยุดไม่ได้

อีกประเด็นที่จะพูดถึงเพื่อมาสรุปในตอนท้ายถึงเรื่องการปฏิรูปคือว่า ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองของชนชั้นนำที่พูดมานี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคุณทักษิณก็ตามแต่ ถ้าไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย เรื่องนี้พูดมานานและพูดบ่อย จึงพยายามจะพูดให้สั้น

คือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ในสังคมไทยและเศรษฐกิจไทย ผมเชื่อว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่างด้วยกัน

หนึ่ง มันเกิดการนำคนเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัว ประเทศไทยทุกวันนี้เราเป็นประเทศเกษตรกรรมน้อยกกว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรม แรงงานส่วนใหญ่ของเราอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม และภาคเกษตรกรรมก็มีแต่จะหดตัวลงไปด้วยซ้ำ เพราะว่าตอนนี้ อายุเฉลี่ยชาวนาไทยอยู่ที่ 55 ปี หมายความว่าคนหนุ่มสาวไม่มาเป็นชาวนาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ตอนที่ปลูกข้าวอย่างน้อยที่สุดยังมีข้าวกิน แต่ตอนนี้คุณออกไปรับจ้างแบกข้าวไม่แน่ว่าคุณจะมีข้าวกิน เพราะเป็นการขายแรงงานโดยตรง คือได้เข้ามาสู่ตลาดเต็มตัว และคนเหล่านี้ผมเรียกว่า เดี๋ยวนี้ก็ยังอยากเรียกอย่างนี้เพราะว่าเข้าใจได้ง่าย ผมเรียกว่า “คนชั้นกลาง” คือคนส่วนใหญ่ของไทยกลายเป็นคนชั้นกลาง แต่เป็น “คนชั้นกลางระดับล่าง” คือ มีรายได้ต่อหัววันหนึ่งเกินหนึ่งเหรียญ ซึ่งไม่ใช่คนจนแล้ว ประมาณสองเหรียญหรือประมาณ 60-70 บาท ถ้าคุณมีผัว เมีย ลูกอีกคนหนึ่ง ก็จะมี 240 บาท ต่อครอบครัวต่อวัน 240 บาท นี้นอกจากซื้ออาหารแล้วยังซื้ออะไรได้อีกหลายอย่าง คุณเริ่มมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

ที่สำคัญที่สุด ก็คือ คนชั้นกลางไม่ว่าจะเป็นระดับกลาง หรือระดับล่าง อะไรก็แล้วแต่ นโยบายสาธารณะของส่วนกลางหรือของรัฐนี้กระทบต่อชีวิตคุณ ตัวอย่างที่ชอบยก อย่างเช่น ชาวนาเลิกทำนาแล้วมาขายก๋วยเตี๋ยว มันไปเกี่ยวข้องกับนโยบายหมู นโยบายข้าว นโยบายแป้ง นโยบายอะไรก็แล้วแต่ของรัฐ เมื่อตอนทำนา รัฐจะไปทำอะไรก็เรื่องของรัฐไม่เกี่ยวกับเขา แต่พอมาขายก๋วยเตี๋ยวเกี่ยวทันที เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า “เฮ้ย พวกมึงไปอยู่นอกเวทีการเมือง” เวทีการเมืองเป็นของชนชั้นนำอย่างเดียว จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้อยากจะเขามาเพื่อบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร เขาอยากได้อะไร คนเหล่านี้จึงถูกกระทบด้วยนโยบายสาธารณะระดับชาติ

และสิ่งที่น่าสังเกต คือ คุณทักษิณตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ตอบสนองแต่คนจน เพราะคนจนแบบที่สภาพัฒน์บอกว่าจนมีอยู่ 6 % ในประเทศไทย และหายไปไหนก็ไม่รู้ อยู่ใต้ดิน คุณมองไม่เห็นหรอก และในชีวิตจริงเราก็ไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นมีจำนวนน้อยมาก

ผมคิดว่านโยบายของคุณทักษิณตอบสนองต่อคนเหล่านี้โดยตรง ซึ่งเป็นฐานทางมวลชนของคุณทักษิณสืบมาจนถึงทุกวันนี้

คนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการอะไร มีอยู่ 3 อย่าง มีงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งศึกษาประเทศกำลังพัฒนา 13 ประเทศทั่วโลกไม่รวมประเทศไทยแล้วพบว่าคนชั้นกลาง ทั้งกลางระดับกลาง และกลางระดับล่างมีความใฝ่ฝันในชีวิต 3 อย่างด้วยกัน

หนึ่ง อยากเข้าถึงทุน ยิ่งกรณีชนชั้นกลางระดับล่างยิ่งชัดเจน พอคุณเริ่มขายก๋วยเตี๋ยว ทุนที่ดินไม่ได้ช่วยอะไรเลย อยากได้ทุนเป็นเงินน่ะ แต่ก็เข้าไม่ถึง เพราะคุณไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปวางไว้ที่ธนาคารเพื่อกู้เงินเขา

สอง ใฝ่ฝันที่อยากเป็นคนมีสุขภาพดี ตอนดูทีวี ผู้หญิงที่ดีๆ ทั้งหลายก็รักแร้ขาว ก็อยากรักแร้ขาวบ้าง เป็นปกติธรรมดา ก็ต้องการสุขภาพที่ดี

สาม ต้องการลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน เพราะแน่นอนว่าเขาไม่มีควาย ไม่มีนาให้กับลูกอีกแล้ว ก็อยากจะให้ลูกเขาเรียนหนังสือ เพื่อที่ว่าเขาจะได้เอาชีวิตรอดได้

สามอย่างนี้เป็นมาตรฐานของชนชั้นกลางทั้งหลายในโลก รวมทั้งกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างด้วย และคุณทักษิณตอบสนองมัน ตอบสนองแบบไม่เข้าท่าก็ได้ ผมไม่ได้พูดว่าตอบสนองแล้วดีนะครับ ตอบสนองแบบไม่ได้เรื่องก็ได้ เช่น หนึ่งอำเภอ หนึ่งดอกเตอร์ ส่งไปเรียนต่างประเทศ โอกาสที่จะได้ไปต่างประเทศด้วยทุนนั้นยากมาก แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพ่อแม่ ด็อกเตอร์ได้นะเว้ย เพียงแต่เลี้ยงลูกไม่เอาถ่านเท่านั้นเองอะไรก็แล้วแต่ คือถ้าคุณพูดถึงทุน King’s scholarship กับ แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมันไม่เกี่ยวกับเขาเลย แต่หนึ่งอำเภอ หนึ่งด็อกเตอร์มันเกี่ยวกับเขาอย่างยิ่ง ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะไม่เกี่ยวเหมือนกันนั่นแหละ เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันตอบความฝันได้อย่างดี

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยิ่ง คือ การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาอย่างมโหฬาร ถ้าจำไม่ผิดเรามีโทรทัศน์เกินหัว เกินจำนวนครอบครัว คือใครๆ ก็มีโทรทัศน์ แล้วนอกจากนั้นยังเป็นโทรทัศน์ที่สามารถถ่ายทอดจากส่วนกลางได้โดยตรง ไม่ใช่โทรทัศน์ท้องถิ่นอย่างที่เคยมีในสมัยก่อน มันมีวิทยุชุมชนมาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2540 คือก่อนรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งจะดีจะเลวก็แล้วแต่ วิทยุชุมชนช่วยกระจายข่าวสารและข้อมูลอื่นๆให้แก่คนในระดับท้องถิ่นอย่างมากมาย ข่าวสารในข้อมูลในที่นี้อาจะเป็นเพลงลูกทุ่งก็ได้ เพราะมันก็เป็นข่าวสารข้อมูลอย่างหนึ่ง

อันต่อมา ความเปลี่ยนแปลงถัดมา คือ การเปลี่ยนสภาพสังคมกลายเป็นเมือง “Urbanization” ซึ่ง การกลายเป็นเมืองในประเทศไทยถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างช้าในระดับเศรษฐกิจเดียวกัน แต่ช่วงประมาณสัก 20 ปีที่ผ่านมามันเร็วขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เร็วมากเลยจนทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเกินครึ่งของประชากรไทยอาศัยอยู่ในสังคมเมืองไปแล้ว เมืองในที่นี้ อ.สารภี (จ.เชียงใหม่) ก็ถือว่าเป็นเมืองนะ อาศัยอยู่ในสังคมเมืองแล้ว เพราะแน่นอนเมื่อเปลี่ยนอาชีพก็ต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในสังคมเมือง

สื่อออนไลน์ที่แพร่หลายมากขึ้น อย่าดูถูกว่าไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจะใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างไร แม่ค้าขายผักเพิงเล็กๆ แถวบ้านซึ่งเป็นเสื้อแดง เพราะฉะนั้นแกจะรู้ข่าวสารแยะมากจากสื่อออนไลน์ เพราะลูกชายเข้าให้และนำมาเล่าให้ฟัง

การศึกษาก็ขยายตัว เวลานี้คุณไม่ต้องนั่งห่วงแล้วว่าเวลานี้ไม่ต้องห่วงแล้วว่าเด็กจะเลิกเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถม เด็กประมาณ 70% เรียนต่อระดับชั้นมัธยม

ลักษณะในทางเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ทำให้เมืองในชนบทสัมพันธ์กันอย่างยิ่งคือ นอกจากประชากรเกินครึ่งเข้ามาอยู่ในเมือง แม้แต่คนในชนบทเองก็ไม่ใช่ชนบทที่หลุดออกไปจากเมือง มันสัมพันธ์กันตลอดเวลา สัมพันธ์กันในเชิงเศรษฐกิจ คุณอยู่ในหมู่บ้านก็จริง แต่รุ่งเช้าจะมีปิกอัพรับไปก่อสร้างในเมือง เย็นก็เอามาส่ง เมียก็อาจจะมาจ่ายของที่บิ๊กซีในเมือง เป็นต้น เมื่อชนบทกับเมืองเชื่อมกันมากขึ้นก็ทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแยะมากขึ้น

นอกจากรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากแล้ว เมืองนี่น่าประหลาด เมืองไม่ได้สอนให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้จักการจัดองค์กร แต่อาศัยวัฒนธรรมเดิมที่ต้องจัดองค์กรในทางสังคมในชนบท พอเขากลายเป็นคนที่เข้ามาอยู่ในเมือง การปฏิวัติข่าวสารข้อมูลช่วยที่สำคัญอย่างหนึ่งไม่น้อยไปกว่าการรับรู้ข่าวสารข้อมูล คือช่วยเขาในการจัดองค์กร ช่วยให้เขาสามารถจัดองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองอะไรก็ตามแต่เยอะแยะมาก ผมไม่เคยได้ยินว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สุขุมวิท สุขุมวิทก็มีคนจนอยู่แยะนะครับ แต่มีสหกรณ์ออมทรัพย์เยอะแยะไปหมดในประเทศไทย เช่นการจัดตั้ง “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์” เป็นต้น การปฏิวัติข่าวสารข้อมูลก็ช่วยในการจัดองค์กรของเขาด้วย

และการมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น จะร่วมแบบไหนก็แล้วแต่ จะร่วมแบบช่วยหัวคะแนนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต. หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ร่วมก็แล้วกัน นี่ก็ให้ประสบการณ์ในทางการเมืองแก่เขาด้วย

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อสิ่งที่จะกระทบต่อการเมืองของชนชั้นนำ และคุณทักษิณก็มาใช้ประโยชน์อย่างมาก

เมื่อคนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรอง ก็เข้ามาสนับสนุนทักษิณ ประตูเดียวที่เปิดให้เขาสามารถเข้ามามีพื้นที่ทางการเมืองได้ก็คือระบบเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่อยู่ๆ คุณทำรัฐประหาร เพื่อทำลายไม่ให้มีระบบเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ระบบเลือกตั้งถูกควบคุมมันจึงรับไม่ได้สำหรับเขา และความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนี้ อย่างไรก็หยุดไม่ได้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชนชั้นนำไม่ทันได้ตั้งตัว มองเห็นเป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม หลังรัฐประหารมาจนถึงทุกวันนี้ บางกลุ่มของชนชั้นนำยังย้ำอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างคุณ ทักษิณกับกลุ่มพวกเขา มองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องคุณทักษิณแยะ และอย่างที่หลายท่านก็ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงก็มองว่าตัวเขาจะแยกทางคุณทักษิณ ถ้าคุณทักษิณไม่ผลักดันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

เมื่อชนชั้นนำขาดเอกภาพ และสองหนทางหลังเลือกตั้ง

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง จะเป็นตั้งแต่ปี 2549 หรือก่อนปี 2549 ก็แล้วแต่ ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำเองสูงมากขึ้นด้วย

อย่ามองแต่ความแตกแยกระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนชั้นล่าง-คนชั้นกลางระดับล่างเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มพวก Elite พวกชนชั้นนำด้วยกันเอง ก็มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลก ชนชั้นนำมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันแยะมาก และก็มีความขัดแย้งตลอดเวลาแต่ไม่ถึงขนาดแตกแยก เพราะว่าต้องอาศัยการนำที่มีเอกภาพเพื่อทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองที่มีความขัดแย้งกันเอง สามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยได้ ผมคิดว่าการนำที่เป็นเอกภาพมันหายไป ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นถึงทุกวันนี้

การนำที่ทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองไม่แตกแยก และเป็นเอกภาพนี้หายไป แล้วทำให้ชนชั้นนำต้องยอมทำอะไรหลายอย่างที่ผมคิดว่าในระยะยาวอาจเป็น อันตรายต่อชนชั้นนำเอง เช่น การใช้ม็อบมีเส้น ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใคร 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ทุกคนมีความต้องการบางอย่างในตัวที่ตัวต้องการทั้งสิ้น คือไม่มีใครพร้อมเป็นเครื่องมือให้ใครเต็มที่ ผมอาจเป็นเครื่องมือให้คุณ แล้วในขณะเดียวกันผมมีความต้องการของผมเองโดยที่อาจไม่ตรงกับของคุณ

เพราะฉะนั้นการที่ชนชั้นนำลงมาใช้ม็อบมีเส้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่เป็นของใหม่นะครับ ไม่เคยมีมาก่อน แล้วอันตรายมากๆ เลย ไม่ใช่อันตรายต่อเรา แต่อันตรายต่อเขาเองนั่นแหละ เป็นต้น

กลุ่มคนชั้นกลาง คนที่เป็นผู้ปกป้องสถาบันที่เด่นที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ ถ้าไม่นับกองทัพนี่คือใคร? “คุณเนวินว่ะ” โอ้โฮแปลกมากเลย และก็ต้องยอมรับเลยนะ นี่เป็นสิ่งใหม่ เพราะว่าการที่คุณยอมรับพรรคภูมิใจไทยได้ถึงขนาดนี้ มันทำให้คนชั้นกลางระดับกลางในเมือง ถอยออกมาคิดว่า “ได้เหรอ?” เป็นต้น

มันมี Contradiction มีความขัดแย้งภายในระบบ ในปัจจุบันแยะมากๆ และผมคิดว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำมาพอ สมควร ผมได้ยินมาว่า การตัดสินใจที่ให้มีการเลือกตั้ง มีการยุบสภาไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำทั้งหมด ก็มีบางกลุ่มเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรจะอยู่ต่อไป อีกกลุ่มบอกว่าต้องยอมรับ เป็นต้น มันไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่เคยเป็นมา และผลการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าชนชั้นนำคงตระหนกเหมือนกัน คงตกใจเหมือนกัน ว่ามันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผลของการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า คุณไม่สามารถหลบหลีกไปจากระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ คุณก็ต้องยอมรับมัน อย่างน้อยคุณไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกของชนชั้นนำหลังการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่ามีสองอย่าง

หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาล หรือคุณจะล้มโดยวิธีตุลาการภิวัตน์ โดยอะไรก็แล้วแต่คุณ ให้ใบแดงอะไรก็แล้วแต่คุณเถิด แต่ในจังหวะที่เหมาะสมกว่านี้ เราจะเห็นว่าเขาจะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ให้คอยสังเกตสื่อกระแสหลักให้ดี ถ้าสื่อกระแสหลักเริ่มออกแนวในลักษณะต่อต้านรัฐบาลหนักข้อมากขึ้นๆ แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณแล้วว่าจะล้มม็อบมีเส้นเริ่มออกมาใหม่ ระวังให้ดีเขาจะล้มรัฐบาล

เพราะฉะนั้นหลุมพรางหรือกับดักที่จะรอรัฐบาลชุดใหม่อยู่ ผมคิดว่ามีมาก และในที่สุดอาจจะนำไปสู่การรัฐประหารก็ได้ แต่ทีนี้ ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร อย่างไรๆ คุณก็อยู่ในสภาพรัฐประหารตลอดไปไม่ได้ รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่

อันที่สอง ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี

 

พลังที่จะปฏิรูป

สู่ประเด็นสุดท้าย อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ การเมืองจะไม่ใช่พลังหลักของการปฏิรูป ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป จากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด ชัดเจนว่าเขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป

การปฏิรูปไม่ได้หมายถึงการแก้ไขข้อบกพร่องแบบปะผุ เรื่องนี้เคยก็ก็อย่าโกง อะไรอย่างนั้นนะครับ จริงๆ คุณจะปฏิรูปต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ถ้าเพียงแต่แก้โน้นแก้นี้นิดๆ หน่อยๆ คุณก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวงจรอันเก่า การเมืองแบบชนชั้นนำไปได้ คุณต้องคิดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ทั้งหมด

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอำนาจที่มีอยู่ในทางกฎหมายอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน อำนาจในการที่คุณเป็นอิสระจากพันธะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอื่นๆ ด้วยทั้งหมด

เมื่อเราหวังการเมืองไม่ได้ ถามว่าเราหวังจากใครได้ ผมคิดว่าเราหวังจากภาคสังคมได้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มด้วย กัน ที่เรียกร้องนโยบายที่ปรับเปลี่ยนถึงระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อย่างน้อยที่สุดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป 2 ข้อด้วยกันที่พูดถึงกันมาก การเปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนตั้งเป็นข้อเรียกร้องต่อนักการเมือง นักการเมืองคนหนึ่งบอกกับผมว่าเขาไม่เคยพบสิ่งนี้มาก่อน ไม่เคยพบมาก่อนว่า เขาออกไปหาเสียง แทนที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ประชาชนกลับเป็นฝ่ายบอกเขาว่าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ โดยที่เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพูด ฝ่ายเสนอให้แก่ประชาชน เขาบอกว่าไม่เคยเจอสิ่งนี้มาก่อนในชีวิตการเมืองของเขา เป็นต้น ผมคิดว่ามันมีพลังที่เริ่มเคลื่อนไหวบางอย่างในสังคมของเราเอง ที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปได้”

ในการเปิดเวทีของ (สถานีโทรทัศน์) ไทยพีบีเอส ผมจำได้ว่ามีชาวบ้านที่เข้ามาร่วมการประชุมด้วย ถือป้าย “จำกัดการถือครองที่ดิน” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมากที่สุด แต่เขาเรียกร้องให้จำกัดการถือครองที่ดิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ต้องปฏิรูปที่ดิน” เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าคนที่อยู่แนวหน้าในเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่นักการเมือง แต่คือชาวบ้าน หรือประชาชน

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะขยายตัวไหม แล้วจะชิงบทบาทเด่นต่อไปไหม ถ้าถามว่าข้อเรียกร้องของพวกนี้กับคนเสื้อแดงใครดังกว่ากัน คนเสื้อแดงดังกว่า พวกนี้แค่แผ่วๆ แต่ในอนาคตเสียงแผ่วๆ เหล่านี้ขยายตัวมากขึ้นเป็นข้อเรียกร้องหลักในอนาคต ได้หรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง นับตั้งแต่ สื่อ การจัดองค์กร และอีกร้อยแปด ความใส่ใจของวงวิชาการ เพราะถ้าจะพูดถึงการปฏิรูปต้องมีการสร้างฐานความรู้เรื่องการปฏิรูปด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ต้องสนใจสร้างฐานความรู้สำหรับการปฏิรูป ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นพัฒนาการขั้นต่อไปน่าจะเป็นการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อรวมตัวกันผลักดันประเด็นให้กว้างกว่าท้องถิ่น ภาคประชาชนรู้จักรวมตัวกันมานานแล้ว แต่ผลักดันประเด็นเรื่องท้องถิ่นตลอดมา แต่ตอนนี้ต้องรู้จักจัดองค์กรที่ผลักดันประเด็นที่ไม่ใช่ท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว

ถามว่าประชาชนทำได้หรือไหม ผมคิดว่าได้ มีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างที่ทราบกันดีว่าเริ่มต้นมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียง 2 จุด คือ บ้านกูดและบ่อนอก แต่จาก 2 จุดนั้นมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ขยายภายในตัวจังหวัดประจวบฯเอง เป็นสาม เป็นสี่ เป็นห้า ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าไม่สร้างแล้ว ก็ยังไม่ได้สลายตัว ก็ไปรวมตัวกันประท้วงต่อต้านโรงถลุงเหล็ก ต่อต้านการสร้างเตาเผาขยะ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ฯลฯ จนกระทั่งเครือข่ายภายในของ จ.ประจวบคีรีขันธ์มี 7-8 เครือข่าย

ที่น่าสนุกไปกว่านั้น คือ โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าก็ตาม ถามว่าสร้างให้ใครใช้ สร้างให้โรงงานใช้ ดังนั้น 7-8 กลุ่มในประจวบคีรีขันธ์ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า ที่ตนเองถูกแย่งชิงทรัพยากรอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่เพียงแค่นายทุนมาทำอะไรในท้องถิ่นตัวเอง แต่มันมีความหมายรวมไปถึงทั้งหมดในประเทศไทย ฉะนั้นก็เริ่มสร้างเครือข่ายข้ามจังหวัดไปยังชุมพร ชุมพรจะถูกใช้เป็นสถานที่สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อที่จะส่งย้อนขึ้นมาให้ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้โรงถลุงเหล็กได้ใช้น้ำมากขึ้น ทับสะแกจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อนำไปป้อนโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เกิดการจับมือกันตั้งแต่ประจวบฯ ไล่ไปจนถึง นครศรีธรรมราช ถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันเริ่มเติบโตเป็นประเด็นที่ครอบคลุมทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่เป็นประเด็นท้องถิ่นอย่างเก่า ถ้ามันเกิดที่ประจวบได้ มันก็เกิดที่อุบลราชธานี เกิดที่อุดรธานีไก้ เกิดที่เชียงใหม่ได้

เชียงใหม่เองก็เริ่มจากการต่อต้านกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้กลายเป็นข้อเสนอเรื่อง การปกครองตนเอง ... เออ ปกครองตนเอง” เดี๋ยวโดนจับ ... “ปกครองตนเองภายใต้เงื่อนไขราชอาณาจักรไทย” ก็แล้วกันนะฮะ เป็นต้น คือมันพัฒนาได้ เครือข่ายมันพัฒนาได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

Posted: 01 Aug 2011 03:11 AM PDT

ทรงมีพระราชกระแสและพระราชปณิธานที่จะทรงตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยและทรงใช้หนี้บุญคุณให้กับประเทศชาติในพระราชฐานะที่ทรงเป็นประชาชนชาวไทยพระองค์หนึ่ง และทรงเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารของประเทศไทย อีกทั้งมิให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดี และรวดเร็ว จึงจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีพระนามาภิไธยไปเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและมิให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ

31 กรกฎาคม 2554

ทหารพม่าใช้เด็กเป็นสายลับสอดแนมทหารคะฉิ่น KIA

Posted: 01 Aug 2011 01:25 AM PDT

สำนักข่าว KNG ของคะฉิ่น รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารด้านความมั่นคงของพม่าได้บังคับให้เด็กชายวัย 13 ปีรายหนึ่ง ไปเป็นสายลับคอยจับตาความเคลื่อนไหวของกองทัพเอกชราชคะฉิ่น

สำนักข่าว KNG ของคะฉิ่นได้รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ทหารด้านความมั่นคงของพม่าได้บังคับให้เด็กชายวัย 13 ปีรายหนึ่ง ไปเป็นสายลับคอยจับตาความเคลื่อนไหวของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ในพื้นที่สู้รบ รัฐคะฉิ่น

ทั้งนี้ ตามข้อมูลผู้ปกครองของเด็ก เจ้าหน้าที่ทหารด้านความมั่นคงของพม่าได้บังคับให้เด็กชายรายนี้คอยเฝ้าสังเกตการณ์และรายงานความเคลื่อนไหวและถ่ายรูปของทหาร KIA กองพันที่ 10 ซึ่งมีฐานประจำอยู่ที่เขตชีพวี ทางภาคตะวันออกของรัฐคะฉิ่น  มีรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เด็กชายรายนี้ได้รับบาดเจ็บถูกยิงจากทหาร KIA หลังเด็กชายคนนี้พยายามเข้าไปถ่ายรูปในพื้นที่ของ KIA โดยทหาร KIA ได้ยิงเตือนห้ามเด็กชายเข้าไปในเขตของตน อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุผู้ปกครองได้นำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลแล้ว

“เรารู้สึกโกรธมากที่ทหารพม่าไม่ได้ช่วยเหลือเด็ก ไม่รับผิดชอบดูแลเด็กในยามที่เด็กกำลังกลัว หรือได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต พวกเขาไม่กล้าหาข้อมูลเอง เพราะพวกเขากลัว ดังนั้นจึงใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ”  ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด ทหารพม่าได้สั่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่สู้รบเช่นในเมืองอือเมาก์ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นให้หมด ด้านสมาคมผู้หญิงคะฉิ่นแห่งประเทศไทย (The Kachin Women’s Association of Thailand -KWAT) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นกว่า 16,000 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ตามชายแดนจีน -พม่ากำลังต้องความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน


แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพื่อไทยเคาะ "ขุนค้อน" นั่งประธานสภาฯ

Posted: 31 Jul 2011 09:14 PM PDT

พรรคเพื่อไทย มีมติเลือก นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ (1 ส.ค.) สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย มีมติเลือก นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 1 ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.จังหวัดพะเยา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"พิชัย รัตตกุล"วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์

Posted: 31 Jul 2011 09:02 PM PDT

เนชั่นสัมภาษณ์พิเศษอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ถึงอดีตปัจจุบันและอนาคตรวมถึงปัจจัยที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

# ท่านมองภาพพรรคประชาธิปัตย์ ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

คำถามนี้มันกว้างเหลือเกินตอบลำบากจริง ประชาธิปัตย์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก พยายามที่จะให้เป็นสถาบัน แต่ผมคิดว่าจนบัดนี้ เราไม่สามารถที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ทั้งๆที่มีความพยายามมาตลอดเวลา แต่ก็เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ยืนหยัด คงกระพันมาจนบัดนี้ถึงแม้ยังไม่สามารถทำหรือสร้างตนให้เป็นสถาบันได้ก็ตาม แต่เป้าหมายควรจะเป็นอย่างนั้นต่อไป ผมคิดว่าถ้าพูดถึงประชาธิปัตย์เป็นอย่างไรขณะนี้แล้ว จะวัดจากผลของการเลือกตั้งนั้น ก็คงจะไม่ได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเหตุว่าที่ผ่านมาในอดีตนั้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมาหลายสิบครั้งอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์มีบทบาทในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ 2489 มันก็มีทั้งขึ้นทั้งลงทุกรอบ คนก็เลยไปพูดว่าประชาธิปัตย์ เก่งเฉพาะเป็นฝ่ายค้านนั้น ไม่จริงครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้านจริง ผมยังเชื่อว่าประชาธิปัตย์ เป็นได้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มันก็เหมือนชีวิตคนเราที่มีทั้งขึ้นและมีลง บาวงช่วง บางตอน เราก็ขึ้นบางตอนมันก็ลงของธรรมดา แต่นั่นไม่น่าเป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท้อถอย ตรงกันข้ามประชาธิปัตย์ ในปัจจุบันหลังจากเลือกตั้งต้องศึกษาอย่าละเอียดว่า จุดอ่อนจุดแข็งเราอยู่ตรงไหน นี่คือความเห็นของผมอย่างกว้างๆ

# ที่ท่านบอกว่าเป็นสถาบันไม่ได้เพราะอะไร

ที่บอกว่ายังเป็นสถาบันไม่ได้ทั้งๆที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ ก็เนื่องจากว่าเอาเฉพาะระยะๆหลัง ช่วงที่ประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ครั้งคุณอภิสิทธิ์ ช่วง 2 ปีกว่ามานี้ ที่เป็นไม่ได้ และบริหารงานไม่ถูกใจประชาชน 100 % ทั้งๆที่คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนดี เป็นคนมีความซื่อสัตย์ มีความสามารถ แต่ไม่สามารถที่จะสร้างพรรคให้เป็นสถาบันได้ เพราะมีปัญหามากในการบริหารบ้านเมืองมา 2 ปีกว่า ด้วยเหตุผลนิดเดียวคือ

คุณพิชัย กล่าวว่า คุณอภิสิทธิ์ใช้คนไม่เป็น เจอคุณอภิสิทธิ์ที่ไรผมพูดคำนี้เรื่อย ที่บอกว่าใช้คนไม่เป็นก็เนื่องมากจากคุณอภิสิทธิ์ อยู่วงล้อมของคนไม่กี่คนเท่านั้นเอง คน 3-5 คน เท่านั้นเอง เป็นคนที่ครอบงำ ผมอาจจะพูดรุนแรงเกินไป และเป็นคนที่ให้ข้อมูลต่างๆหรือให้คำปรึกษาไม่ตรง ด้วยเหตุนี้ผมถึงพูดว่า คุณอภิสิทธิ์ ใช้คนไม่เป็น และถ้าหากเรามาเปรียบเทียบรัฐบาลเก่าๆอย่าง รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และท่านไม่ได้เป็นนักการเมือง ท่านเป็นนายทหาร แต่เมื่อมาเป็นนักการเมือง ท่านก็เป็นนักการเมืองที่ดีมาก เพราะว่าท่านมีความซื่อสัตย์ สุจริต ท่านใช้คนเป็น คำว่าใช้คนเป็น จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพล.อ.เปรมเป็นอย่างไร มองย้อนหลังไปดู คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจจะลืมไปแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นแย่มากทุกด้านเลยแย่มาก

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เนื่องจาก พล.อ.เปรมสามารถเลือกคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ เชิญคุณสมหมาย ฮุนตระกูล มาเป็นรมว.คลัง เชิญคุณสุธี สิงห์เสน่ห์ มาเป็น รมช.คลัง พล.อ.สิทธิ์ จิรโรจน์ มาเป็น รมว.มหาดไทย ซึ่งอาจจะไม่เก่งเลิศ แต่ก็ใช้ได้ เชิญคุณศุลี มหาสันทนะ มาเป็น รมต.ดูแลด้านพลังงาน ทั้งเรื่องพลังงาน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องมหาดไทย เรื่องทหารดูแลเองหมด หรือเอา พล.อ.อ. อะไรไม่รู้ มาเป็นรมช.กลาโหม เป็นคนดี๊ดี เราจะเห็นได้ว่าโครงสร้างครม.ของพล.อ.เปรม นอกจากนั้นเป็นนักการเมือง ผมหมายความว่า ท่านรู้จักใช้คนนอกที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองมาร่วมกับคนดี เพราะเหตุนี้จึงสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากที่แย่ ให้ฟื้นขึ้นมาได้

คุณพิชัย กล่าวว่า ในขณะเดียวกันตอนนั้นเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ คือดร.เสนาะ อูนากูล ส่วนรองเลขาธิการ ตอนนั้นคือ ดร.พิสิษฐ์ ภัคเกษม ท่านเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ และทำงาน ป้อนแนวทางการทำงานให้นายกฯ พล.อ.เปรมในฐานะที่เป็นนายกฯก็สั่งการได้ ที่ผมพูดคำนี้ผมพูดด้วยความมั่นใจทีเดียวว่า พล.อ.เปรม เป็นนายกฯที่ใช้คนเป็น ผมในฐานะนักการเมืองที่มีโอกาสได้ทำงานกับท่านมาหลายปี ผมเป็นรองนายกฯมา 3 นายกฯ คือ พล.อ.เปรม พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน และคุณชวน หลีกภัย ผมทำงานกับนายกฯเปรม บอกตรงๆว่าสนุกที่สุด เพราะเห็นผลงานและไม่มีปัญหาคดโกง ไม่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการไม่ซื่อสัตย์ ทำงานสนุก ถึงแม้ผมไม่มีความรู้ ผมก็ไม่เกี่ยงงานเลย

คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ แต่ใช้คนไม่เป็นเนื่องจากใช้คนไม่กี่คนที่ล้อมรอบ ผมจะไม่เอ่ยว่ามีใครบ้างเพราะก็เป็นเพื่อนสมาชิกผมทั้งนั้น แม้กระทั่งนายกฯชวน คุณบัญญัติ ก็เคยเตือน แต่ก็ไม่มีใครฟังเพื่อนเก่าเลย ถ้าหากคุณอภิสิทธิ์เอาประสบการณ์ของผู้ใหญ่คนเก่าๆแม้กระทั่ง คุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ คุณสาวิตต์ โพธิวิหค คนเก่าๆหลายคน คุณชวน คุณบัญญัติ มาคุยและฟังความเห็นกันบ้าง ผมว่าคุณอภิสิทธิ์ จะทำงานได้ดีกว่าที่ผ่านมา ผมจึงเน้นว่าพลาดท่าตรงนี้ พลาดท่าตรงที่ใช้คนไม่เป็น”

# ใช้คนไม่เป็นที่ว่าคือทั้งคนในพรรค นอกพรรค

มีทั้งในและนอกพรรค ได้คนนอกพรรคมาสมัยหนึ่ง ได้คนดีๆมาเยอะแยะเป็นส.ส.อย่าคุณอนันต์ อนันตกูล เป็นคนดีมาก เก่ง หรือ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีตผบช.น. ได้หลายคนมา ท่านเหล่านี้เป็นสมัยเดียวต่อมาไม่เอาแล้ว เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะใช้ความรู้ต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อพรรคได้ เลยไม่เอา# ท่านมองว่าจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ณ ปัจจุบันคืออะไร

จุดอ่อนมันก็มีทุกพรรค จุดอ่อนที่ทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าประชาธิปัตย์ไม่เคยได้ส.ส.ในภาคอีสาน ตอนผมเป็นหัวหน้าพรรคมา 9 ปี ได้ ส.ส.อีสาน 28 คน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้ ผมเคยพูดบ่อยๆหลังจากที่ออกจากหัวหน้าพรรคแล้ว ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องสร้างคนใหม่ที่อีสาน หมายความว่า ต้องไปดูตั้งแต่สมาชิกอบต. อบจ. หรือนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งเหมือนที่ประชาธิปัตย์  จับตาดูคุณอภิสิทธิ์มาตั้งแต่ 25

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แต่นี่จะทำก็ต่อเมื่อใกล้เวลาเลือกตั้ง ตาลีตาเหลือกหาคน มันจะได้อย่างไรถ้าคุณไม่สร้างคนขึ้นมา และคุณไม่มีทางสู้อย่างอื่น คนอื่นเขามีมีด ตัวเองมีหนังสติ๊ก ไปสู้ได้อย่างไร แต่ผมพูดไม่ได้หมายความว่าเราจะไปสร้างมีดขึ้นมา แต่หมายความว่าเราต้องสร้างคน โดยเฉพาะตอนนี้ เรามีเวลา 4 ปี ( เป็นฝ่ายค้าน) ที่จะต้องรีบสร้างคนขึ้นมา ไปดูสมาชิกอบต.ตามที่ต่างๆคนหนุ่มสาวอายุ 14 – 15 เลือกฝึกขึ้นมา อย่างที่เราฝึกคุณอภิสิทธิ์ อีก 10 ปี 25 ปี ประชาธิปัตย์ ต้องมองไกลถึงขนาดนั้น และที่พูดคือไกลถึง 20 ปีข้างหน้า ว่า 20 ปีข้างหน้าประชาธิปัตย์ต้องมีส.ส.ในภาคอีสานมากกว่าในปัจจุบัน

และอีกอย่างคือ ประชาธิปัตย์ ชอบลืมคนเก่าผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมไปเยี่ยมภาคอีสานบ่อยที่สุดเลย สาขาพรรคผมไปเยี่ยม ป่วยไข้ได้เจ็บ ผมไปเยี่ยม ผมไม่มีตัง แต่ไปเยี่ยมด้วยน้ำใจ แต่นี่น้ำใจประชาธิปัตย์ ต่อทางอีสานไม่มี ทั้งๆที่จากประสบการณ์ของผม คนอีสานเป็นคนที่น่าคบที่สุด เพราะเหตุว่าถึงแม้จะยากจนแต่มีจิตใจ กว้าง อย่าไปพูดว่าเขาจะได้เงิน 500 บาท 1,000 บาท แล้วไปลงคะแนน ผมว่านั่นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ในเรื่องจิรงๆ แล้วคนภาคอีสานเป็นคนมีน้ำใจถึงแม้จะยากจน ประชาธิปัตย์ จับจุดนี้ไม่ถูก เมื่อเขามีน้ำใจเช่นนี้แล้วเราก็ต้องมีน้ำใจเข้าหาเขา

"ผมยกตัวอย่างมีหัวหน้าสาขาพรรคที่ขอนแก่นตาย เมื่อเร็วๆมานี้ แต่ไม่เคยมีใครไปเยี่ยมก่อนตายเลย ทั้งๆที่เป็นกำลังของพรรคในขอนแก่น ขอนแก่นพรรคเคยได้ ส.ส. 3 – 4 คน และคนๆนี้มีส่วนช่วยให้ได้ส.ส.เฉพาะขอนแก่น แต่เวลาที่เขาป่วยไม่เคยมีใครไปเยี่ยมเลย ผมไม่มีหน้าที่ในพรรคผมขับรถไปเยี่ยม"

คุณพิชัย กล่าวว่า อันนี้แสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนของประชาธิปัตย์ ยังมี และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือการสร้างคน และคงไม่สามารถสร้างอย่างคุณยิ่งลักษณ์ ขึ้นมาได้ คุณยิ่งลักษณ์เป็นการเมืองมา 40 กว่าวัน มาเป็นนายกฯได้ มันคนละแบบ แต่ผมดีใจน่ะ ผมดีใจที่สุภาพสตรีจะเป็นนายกฯผมดีใจจริงๆและผมว่าคุณยิ่งลักษณ์วางตัวได้ดีมาก เพียงแต่เป็นห่วงบางอย่างเท่านั่นเอง ต้องชมเชย 45 วันได้มาเป็นนายกฯไม่เคยมีประวัติแบบนี้ในโลก คนไหนที่ลงมาสู่วงการเมืองแล้ว แล้วหาเสียงเดือนเดียวได้เป็นนายกฯ ผมเรียนตรงๆ ผมต้องชมเชยเขา บุคลิกแกก็ได้ วางตัวได้ดีมาก

# นอกจากการสร้างคนใน 10- 20 ปี ข้างหน้าแล้ว จุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ยังมีอะไรอีก

นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่พอถึงเวลาจะเลือกตั้ง ก็จะปรึกษากันว่าจะเอานั้นเอานี่ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่เหมือนอย่างที่เราเรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจใน 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี จะมีเลือกตั้งเมื่อไร ก็ค่อยมาคุยกัน คนวางจุด คนวางยุทธศาสตร์ เท่าที่ทราบคือ คุณกอร์ปศักดิ์ วางยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าในการเลือกตั้งเท่านั้นเอง ไม่ได้วางเผื่ออนาคต 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี เพราะฉะนั้นนโยบายเรื่องพักหนี้ อย่างเป็นรัฐบาล 2 ปีกว่า เคยไปว่าคุณทักษิณ ว่าเป็นนโยบายประชานิยม ผมคิดว่าโครงการประชานิยม บางอันดีนะ เลียนแบบมาจากอาจารย์คึกฤทธิ์ เงินผัน 4ปี ปีละ 4 พันล้าน ต่อมาพล.อ.เปรมก็ใช้วิธีการแบบอาจารย์คึกฤทธิ์ เช่นกัน เพิ่มเป็น 6-7 พันล้าน แต่พล.อ.เปรมเก่งในเรื่องการใช้คน

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผมชอบไปดูภาคใต้ เพราะผมได้รับผิดชอบในภาคใต้ เวลาผมไปตรวจถนนที่กระบี่ ถือไม้แข็งอันหนึ่งพอลงจากรถผมเอาไม้ไปแทง ทรายมันหยุ่ยขึ้นมาเลย มันหยุ่ย ผมคิดการกินโกงง่ายๆแบบนี้เอง ผมบอกแบบนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้ต้องหาต้นตอว่าใครทำถนนเอาเงินผัน มาทำถนนให้ชาวบ้าน แต่เอาไม่เจาะจึ๊กเดียวมันหลุดแล้วฝนตกมามันก็หลุดไป เงินผันมันดีในหลักการที่ให้โอกาสชาวบ้านมีงานทำ แบบอาจารย์คึกฤทธิ์ ปรับปรุง ทำถนนเล็กๆน้อยๆ ตำบลหนึ่งมาตำบลหนึ่ง แต่การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มากเท่าเวลานี้ มันลงไปลึกมากไปถึงรากแก้วใครจะไปคิดว่าอบจ. อบต.มีงบประมาณขนาดไหน และอบจ อบต.จะมีปัญหาขนาดไหน

คุณพิชัย กล่าวว่า ประชานิยมมีส่วนดีและส่วนเสีย ในความเห็นของผมมีหลายโครงการที่ดี เช่น 30 บาท รักษาทุกโรคดีมากสำหรับคนจน พ่อของคนสวนผมคนหนึ่งไม่สบายอยู่ต่างจังหวัดต้องผ่าตัดสมอง ได้ใช้โครงการ 30 บาท แล้วไม่เอาเงินก่อน หายแล้วค่อยเอาเงิน แต่ตอนหลังรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีนโยบายประชานิยมมากขึ้นมาหลายอย่าง ต่อไปรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ก็จะมีมากขึ้นไปอีก มันทำให้เงินเฟ้ออย่างมหาศาล สมมุติตอนนี้คุณได้เงินเดือนละ 2 หมื่นบาท และอยู่ดีๆเนชั่นให้คุณอีก 1หมื่น เป็น 3 หมื่น 2 หมื่นบาทใช้อย่างประหยัดๆพอใช้ได้คนเดียวยังไม่มีครอบครัว พอได้อีก 1 หมื่นบาทชักไปแล้ว อยากกินโน้นกินนี่ นี่คือเงินเฟ้อ หมูก็แพง กับข้าวก็แพง คนที่ไม่ได้เงินเดือนจะทำอย่างไร เงินเฟ้อจึงเกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม จะไล่ไม่ทัน และหลายนโยบายเป็นเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วย# ในพรรคประชาธิปัตย์ โครงสร้างของคนคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง

ประชาธิปัตย์มีคนเก่งเยอะ เพียงแต่ว่าใช้คนไม่เป็น ไปลืมคนเก่าซะหมด ผมเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาที่ผ่านมามีการประชุม 2 ครั้ง ประธานคือคุณชวน ผมไป 2 ครั้งและคงไม่ไปอีกแล้ว เสียเวลาผมมาก เพราไม่มีอะไรที่จะต้องไปคุยกันเลย ไปนั่งกินน้ำชา ไปนั่งกินข้าว คนที่มีสตางค์หน่อยก็เลี้ยงอาหารจีนให้เรา ผมว่าเสียเวลาผมต้องการเป็นที่ปรึกษา แล้วนายกฯต้องมานั่งฟัง มีประเด็นอะไรเคาะขึ้นมา 1-2-3 ผมบอกคุณชวนในฐานะประธานว่า ทำไม ไม่ทำอย่างนี้ นายกฯชวนบอกเคยเสนอแล้วเขาก็ไม่เอา คนเป็นสภาที่ปรึกษา ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย แต่ไม่มีวาระการประชุม ที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น

# เก่ง อายุน้อย อ่อนประสบการณ์

ไม่เรียกประสบการณ์ ผมว่าเป็นเรื่องของสามัญสำนึกดีกว่า แต่งตั้งเป็นสภาที่ปรึกษาเอาอดีตหัวหน้าพรรคเอาผู้ใหญ่ในพรรคหลายคน มาเป็นที่สภาที่ปรึกษาต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ คนเหล่านี้มีประสบการณ์มามากที่จะแนะนำอะไรได้บ้าง รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ โยนมาให้นี่ ก็นำไปปรึกษาหารือเหมือน พล.อ.เปรม โยนให้สภาพัฒน์ฯไปแก้ไข เสนอแนวทางมา แต่ที่ปรึกษาของคุณอภิสิทธิ์ ก็มีอย่างคุณสาวิตต์ โพธิวิหก คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ แต่ผมสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้างก็มีแต่บอกว่าไม่เคยคุยอะไรกันเลยอย่างจริงจัง# ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปรับปรุงตรงนี้หรือแก้ไข จะกลายเป็นจุดอ่อนในอนาคตหรือไม่

ประชาธิปัตย์มันไม่ตายแต่เวลานี้ วัฒนธรรมของประชาธิปัตย์ดั้งเดิมมันหายไปหมดแล้ว คำว่าวัฒนธรรมมันมีความหมายลึกในความเห็นผม วิธีการทำงาน การใช้คน วัฒนธรรมของเรา สันดานของเรา สมัยนายควง อภัยวงศ์ สร้างมา ที่สืบทอดมาเรื่อยๆมันหมดไปแล้วทำอย่างไรจะให้กลับมา ผมเองก็ไม่รู้น่ะบอกตรงๆ

# คนรุ่นใหม่ในพรรคตอนนี้เห็นบ้างไหม

ผมบอกจริงเวลาวันเกิดพรรค ผมไปพรรคปีละครั้งเดียว คือ วันที่ 6 เมษายนเพราะเป็นวันทำบุญนอกนั้นผมไม่ไปเลยผมบอกจริงๆ ผมเกลียดคนรุ่นใหม่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นส.ส.ครั้งเดียวแล้วเป็นรัฐมนตรี แต่ละคนบอกตรงๆหยิ่งยโส ไม่มีสัมมาคารวะ ใหญ่จังเลย ไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์นะคุณอภิสิทธิ์ใช้ได้ แต่รัฐมนตรีหลายคนมันใหญ่เหลือเกิน สิ่งเหล่านี่ไม่ใช่วัฒนธรรมประชาธิปัตย์ เพราะ วัฒนธรรมประชาธิปัตย์ผู้น้อยจะเคารพผู้ใหญ่มาก ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2501 ประชาธิปัตย์ตั้งมาเมื่อปี 2489 ผ่านมา 54 ปีแล้ว ผมเป็นสมาชิกที่เก่าแก่ที่สุด นายกฯชวนเป็นเมื่อ ปี 2511 สมัยนั้นเราต้องเคารพผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะ ในยุคหลังๆแย่

# ปัจจัยที่ทำให้นายอภิสิทธิ์บริหารงานได้ไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากพรรคร่วมฯด้วยหรือไม่

อันนั้นอย่าไปโทษเขา เพราะวิธีการเกิดรัฐบาลคราวนี้ เป็นการเกิดที่แปลกมาก เป้าหมายประชาธิปัตย์ที่สร้างมาตั้งแต่แรก คือคัดค้านเผด็จการ แต่ว่าตอนที่พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ปฏิวัติ คุณอภิสิทธิ์เงียบฉี่เลย แต่ทั้งๆที่ประชาธิปัตย์เกิดขึ้นจากการต่อต้านเผด็จการมานาน ต่อต้านการทำปฏิวัติรัฐประหาร แต่ถึงคราวพล.อ.สนธิ ทำการปฏิวัติคุณทักษิณแล้วคุณทักษิณล้ม

ถึงแม้ว่าคุณทักษิณจะเป็นศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์ก็ต้องยืนหยัดบนหลักการ วัฒนธรรมของตัวเอง ยืนหยัดต่อต้านเผด็จการ แล้วอยู่มาได้เพราะต่อต้านเผด็จการคุณพิชัย กล่าวว่า เดี๋ยวนี้กลายเป็น กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) อ้างเลยว่าต่อสู้ กลายเป็นอย่างนั้นไปเลย มันกลับหัวกลับหาง ไปเลย การจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้เป็นการตั้งที่แปลกประหลาด ส่วนที่ว่าไปตั้งที่ไหนนั้นผมไม่พูด จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ แต่ต้องได้รับการซับพอร์ตจากทหารแน่นอน ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ เรื่องแบบนี่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสวย เป็นรัฐบาลแบบนี้ได้มันไม่คอยสวย ไปดึงเขาเข้ามา ตัวเองเคยว่าเขา

# อันนี้ดูเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง

ความสามารถมีในการดึงผู้คนเข้ามา แต่ถ้าเป็นผมๆไม่กล้าทำ

# แสดงว่าปัจจุบันหลักการของประชาธิปัตย์กำลังจะเริ่มเปลี่ยน

ผมถึงบอกว่า วัฒนธรรมเก่าไมมีแล้ว มันหายไป อันนี้มันไม่ปลื้มใจแล้วเวลานี้ ที่จะเห็นว่าประชาธิปัตย์ยืนหยัดต่อสู้เผด็จการ วันที่พล.อ.สนธิ ปฏิวัติวันรุ่งขึ้นมาคนโทรมาหาผมเป็นอาจารย์ เป็นคณบดีในมหาวิทยาลัย โทรมาหาผม ว่าท่านคงดีใจน่ะครับปฏิวัติแล้วคุณทักษิณแย่แล้ว ผมยังบอกว่ามีเหตุผลอะไรไปปฏิวัติคุณทักษิณเขา นายกฯเขาจะไม่ดีอย่างไรเป็นเรื่องของเขา ผมไม่เกี่ยวข้องแต่ในฐานะเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนและเขาอยู่เมืองนอกเขาอยู่ยูเอ็น คนอยู่ที่นี่ทำปฏิวัติ ผมไม่เห็นด้วย ถ้าจะแข่งกับคุณทักษิณ แข่งโดยระบอบประชาธิปไตยสิ ไม่ใช่แข่งเรื่องปืน No อาจารย์คนนั้นตกใจ เขาไม่คิดว่าผมจะพูดแบบนี้ เขานึกว่าผมจะพูดด้วยความดีใจ

# ถ้าเราอยู่บนสังคมความขัดแย้ง ในสังคมหลักประชาธิปไตยจะยิ่งหดหายไป

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ต้องพยายามรักษาหลักการ ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาให้ได้ การที่มีอะไรหลายอย่าง เริ่มเคลื่อนไหวหลายอย่างจะเป็นกลุ่มสีนั้นสีนี้อะไรต่างๆน่ากลัวเหลือเกิน ผมกลัวเหลือเกินกลุ่มที่เป็นพลังสร้างพลังขึ้นมากดดัน เหมือนกับกำลังมีอุดมการณ์อย่างหนึ่ง เขาสร้างอุดมการณ์ขึ้นมาโดยใช้เทคนิคกระบวนการผ่านสื่อ ร้านหนังสือตามต่างจังหวัด ทำการตลาดในต่างจังหวัดดีมาก ค่อยๆเอาความเห็นให้ซึมเข้าไปในสมองโดยผ่านสื่อ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมีเยอะในต่างจังหวัด ค่อยๆซึมอุดมการณ์ของเขาเป็นอุดมการณ์ที่ผมกลัวมาก เหมือนกับอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ แต่คอมมิวนิสต์ ยังไม่เก่งเท่านี้เลย อุดมการณ์เป็นอย่างไรไม่ขอพูดถึง เพราะวันนี้เป็นวันเกิดเขา(ทักษิณ) ทำไมจะต้องมาทำกันขนาดนี้ ทำไมจะต้องมาตั้งชื่องานวันเกิดแบบนี้ มันน่ากลัว เรื่องประชาธิปัตย์เรื่องเล็ก ผมไม่แคร์ แต่ผมแคร์ บ้านเมืองผม เพราะหากอุดมการณ์นี้มันซึมเข้าไปทุกวันอะไรจะเกิดขึ้นน่ากลัวมาก ยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์

# ถ้าประชาธิปัตย์จะฟื้นศรัทธาของสังคมให้กลับมา โครงสร้างควรจะออกมาแบบไหน

มันไม่ใช่ของง่าย ผมว่า พรรคเพื่อไทยโดยการนำของคุณยิ่งลักษณ์ หากไม่มีการขัดแย้งภายในพรรคของเขาในเรื่องแย่งตำแหน่ง ผมว่าเขาเป็น 2 เทอมสบายมาก

# พรรคประชาธิปัตย์จะต้องปรับอย่างไร

ต้องแก้ไขสิ่งไม่ถูกกลับมาให้ถูก อย่างใช้คนให้เป็น เช่นดึงคนเก่ามาใช้บ้าง ก็เป็นเรื่องของคน คุณอภิสิทธิ์ควรเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป เพราะไม่มีใครตอนนี้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ผมไม่เห็นด้วยเลย ยโสมาก คุณอภิสิทธิ์มาเป็นใหม่ กลับไปรื้อฟื้นวัฒนธรรมเดิม ใช้คนเก่า สร้างคนใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องให้ความสำคัญกับคนทุกภาค โดยเฉพาะภาคอีสาน และถ้าประชาธิปัตย์ยังทำอย่างนี้ ต่อไปแม้แต่ในภาคใต้ คราวหน้าไม่แน่ ส่วนใหญ่ต้องแก้ที่คุณอภิสิทธิ์ คุณอภิสิทธิ์ ก็ต้องรู้จุดว่าจะต้องแก้ที่ไหนบ้างนอกจากปรับปรุงโครงสร้าง วางนโยบายแผนงาน 5-10-15 ปีแล้ว ใช้คนเก่า ง่ายยืนหยัดบนหลักการประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร

# เสียงคุณอภิสิทธิ์ อาจจะไม่ดังเท่าเสียงนายสุเทพ ในเรื่องการบริหารจัดการพรรค

ใช่ คุณก็รู้อยู่แล้ว

# ในมุมมองของท่านถ้าเปลี่ยนเลขาธิการพรรค มองว่าใครพอจะมีแววบ้างไหม

ผมไม่ทราบว่า หัวใจคุณอภิสิทธิ์จะเป็นอย่างไร อย่าให้ผมมอง อย่าให้ผมพูดมันไม่ดี เพราะอีก 2 วันเขาก็จะมีการเลือกกันแล้ว

# เอาแค่คนที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรคควรคุณสมบัติที่เหมาะอย่างไร

เป็นคนที่อยู่ในพรรคมาพอสมควร

# ช่วงที่คุณยิ่งลักษณ์ได้เป็นรัฐบาล และอาจได้เป็น 2 สมัย เป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปัตย์ควรจะรีแบรนด์ตัวเองให้ทัน

โอกาส 4 ปี หรือ 8 ปี เป็นโอกาสดีที่ประชาธิปัตย์จะต้องเร่งฟื้นตัว พยามยามสร้างให้เป็นสถาบัน โดยจะต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างอาทิในเรื่องตัวบุคคล นโยบาย การวางยุทธศาสตร์ของพรรค ในเรื่องกฎข้อบังคับของพรรคนั้น ผมไม่ทราบเพราะมันนานมาแล้วว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หรือมีอะไรที่ไปขัดขวางการทำงาน ในเรื่องขั้นตอนการพิจารณา กว่าจะผ่านแต่ละเรื่องต้องมีการพิจารณานาน นั้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเลย มีคณะกรรมการ มีคณะผู้บริหารพรรค กลั่นกรองมา มันไม่ทำอะไรให้ล่าช้า แต่อยู่ที่คนเอามาปฏิบัติ

# 50 กว่าปีที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกเสียดาย หรือ เสียใจอะไรบ้างหรือไม่

ผมเสียดายและเสียใจหลายอย่าง มันเกิดขึ้นมาหลายปีแล้วและได้มีการเตือนไปแล้ว แต่เมื่อไม่ทำตามก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อันนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่ผมไม่ไปพรรคเลย เว้นแต่วันทำบุญพรรคและจะมีประชุมใหญ่พรรควันที่ 6 ส.ค.ในข้อบังคับอดีตหัวหน้าพรรค ต้องไปร่วม แต่ผมยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ไป ถ้าไปแล้วบางทีบอกตรงเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีท่าทางอย่างนั้น “สมัยก่อนเราต่อสู้กับจอมพลถนอม เสร็จจากสภาฯออกมาแล้วผมต้องไปกราบจอมพลถนอม ต้องไปไหว้คารวะผู้ใหญ่ถึงแม้คนละพรรค แต่เวลานี้มันไม่มี นี่คือวัฒนธรรมของประชาธิปัตย์ที่หายไป สัมมาคารวะหมดไปมากๆทีเดียว พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ที่ดินเป็นของคุณเล็ก นานา ผ่านไปแล้วเลขาฯเก่าของพรรค ผมเองเป็นคนไปหาที่ไปขอที่คุณเล็กขอเงินมาสร้างพรรค ตึกที่คุณชวนทำงานตึกแรก ( ตึกควง อภัยวงศ์ ) คนที่ช่วยผมหาเงิน คือ คุณเฉลิม อยู่บำรุง ( อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) ทำกันอยู่ 2 คนช่วยกันหาเงินสร้างพรรค แต่เวลาพรรคเล่นงานคุณเฉลิม กลับไม่เคยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ ลืม”

“ผมยังรักคุณเฉลิมเหมือนน้องชายคนหนึ่ง เวลาผมเอาคุณเฉลิมมาเป็นเลขาฯผม คนในประชาธิปัตย์ว่าผมใหญ่เลย ตอนนั้นคุณเฉลิมอยู่ในพรรคน่ะ คุณเฉลิมเป็นคนแข็ง พูดจาโผงผางเสียงดัง แต่นายควงเคยบอกไว้ว่า คุณพิชัยจำไว้นะเป็นนักการเมืองและทำให้พรรคเดิหน้าต่อไปได้ก็ต้องมีบุคคลที่มีคุณสมบัติต่างๆกัน ความสามารถของแต่ละคนต้องแตกต่างกัน คุณเฉลิมทำงานเก่ง พูดก็เก่งด้วยทะเลาะกับคนเก่ง คุณเฉลิมเป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถและผมดึงเขาเข้ามาเพราะเก่ง คุณเฉลิมมีส่วนในการสร้างที่ทำการพรรค แต่ประชาธิปัตย์ไม่เคยพูดเพราะเกลียดคุณเฉลิม นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่ง” คุณพิชัย กล่าว

# คุณอภิสิทธิ์เก่งมีความรู้ความสามารถมีความซื่อสัตย์ มีครบ แต่พรรคประชาธิปัตย์พยายามที่จะดันขึ้นมาเร็วกว่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่า

ตอนที่คุณอภิสิทธิ์ถูกดันครั้งแรกนั้นผมคัดค้านเต็มที่เลย ต่อหน้าคุณอภิสิทธิ์เลย ให้คุณบัญญัติขึ้นก่อน เพราะคุณบัญญัติอาวุโสกว่า และคุณบัญญัติไม่มีโอกาสที่จะชนะ คุณบัญญัติจะหวังเป็นนายกฯไม่มีทาง แต่คุณอภิสิทธิ์มีทางแต่ไม่ควรจะรีบร้อนมาเป็นหัวหน้าพรรคโอกาสเรายังมีเยอะ ฉะนั้นผมจึงคัดค้านการเป็นหัวหน้าพรรคของคุนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคตอนแรก ทำให้คุณบัญญัติได้เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาก็แพ้การเลือกตั้ง คุณบัญญัติจึงได้ลาออกจากตำแหน่งไป คุณอภิสิทธิเลยได้ขึ้นจึงได้เป็นนายกฯ เมื่ออายุ 46 ปี เวลานี้คุณอภิสิทธิ์ก็มีโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ระยะเวลาอีก 8 ปี ( ที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล) ก็แค่ 50ปีกว่าๆ ไม่เป็นไรยังอ่อนมาก แต่ต้องเริ่มทำเริ่มเปลี่ยนอะไรๆ อย่าให้ประชาธิปัตย์ทำอย่างนี้อีกเลย

# เคยคุยกับนายชวนถึงปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า

คุณชวน ก็แปลกเวลาประชุมไม่ค่อยพูดเรื่องเหล่านี้ ไม่เคยปรึกษาผมเรื่องเหล่านี้เลย และผมก็ไม่ได้ถาม คุณชวนรู้ดีคนในพรรคคนเก่าๆรู้ดี คุณเทอดพงษ์ ไชยนันท์ คุณอเนก ทับสุวรรณ คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร แหม!! ผมโกรธแทนคุณสัมพันธ์ ใครมาจากไหนไม่รู้มาได้ลำดับปาร์ตี้ลีส ที่ดีกว่าคุณสัมพันธ์ โกรธจังเลย

# จุดอ่อนของประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ กทม.คืออะไร

จริงๆแล้วคนกทม.เป็นคนเป็นคนที่เลือกประชาธิปัตย์มามาก แต่ในขณะเดียวกันคนในกทม.เองก็หวั่นไหวบ่อยครั้งเหลือเกิน โดนมา 2 ครั้งแล้ว ตอนคุณสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทย เตะประชาธิปัตย์ล้มหมดเลยในกทม.เหลือเพียง คนสองคน พรรคคุณสมัครล้มไปหมดประชาธิปัตย์ก็ขึ้นมาใหม่ โดยคุณจำลองเล่นงานโครม หมดอีก มันขึ้นๆลงๆ แต่ในส่วนลึกของหัวใจคน กทม.เลือกประชาธิปัตย์มากกว่า ผมไปช่วยคุณบัญญัติหาเสียง ไปหลายวัน ผมเดินหาเสียง คนยังจำผมได้เยอะ

# คนในตระกูลรัตกุล ไม่มีใครจะลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้วหรือ

คุณพิจิตต รัตกุล เขาก็ไม่อยู่ประชาธิปัตย์นานแล้ว เพราะประชาธิปัตย์ไม่ให้เขาลงผู้ว่าฯกทม. เขาขอสมัครแล้วประชาธิปัตย์ไม่เอาเขา และเมื่อไม่เอาเขาก็ไม่ส่งด้วย แต่แล้วเขาได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่แข่งกับคุณจำลองแต่เขาต้องออกจากพรรคมาเพราะพรรคไม่เอาเขา ผมภูมิใจที่ผมอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหา ผมคงจะเสียใจ

# วิธีการของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ จะมองถึงปัจจัยมากกว่าอุดมการณ์

คนรุ่นใหม่ คงไม่อยู่ดีๆ แล้วเดินเข้ามาหรอก ต้องเดินเข้าไปหาเขา อย่างหลานปู่ผมคนหนึ่ง อภิสิทธิ์เป็นหลานลุงต้องเรียกผมว่าลุง หลานปู่ผมคนหนึ่ง คือ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ไม่เคยมารคุยกับผมเรื่องการเมืองเลย แสดงถึงความโง่ของคน เป็นหลานผมแท้ๆน่ะ ขนาดนี้ยังไม่เคยมาปรึกษาปู่เลย แล้วปู่จะไปถามมันทำไม ปู่มีประสบการณ์พอที่จะสอนลูกหลานได้ก็ไม่มาหา

# ท่านจะปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปเรื่อย โดยจะไม่ลงไปช่วยเลยเหรอ

ผมอายุ 85 แล้วจะไปช่วยอะไรเขาได้ อภิสิทธิ์เป็นนายกฯผมยังไม่เคยโทรฯไปแสดงความยินดี ไม่เคยเลย แต่พอเลือกตั้งเขาแพ้ ผมส่งดอกไม้ไปให้ เขาก็โทรศัพท์มาขอบพระคุณคุณลุง ถ้าหากคนของพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ไม่เกี่ยวกับผม ใครได้ดีก็ว่ากันไป แต่พอตกเมื่อไรก็ฟังเสียงวิจารณ์

# ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะแข่งกับคนอื่นและก้าวข่ามไปเป็นสถาบันสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรค จะทำได้ในยุคที่คุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า

คงมี แต่คงจะไปดึงคนเก่ามาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณชวน หรือคุณบัญญัติ แต่คนเหล่านี้มีประโยชน์กับพรรคที่จะให้คำแนะนำกับหัวหน้าพรรค

# คนรุ่นใหม่เป็นได้ แต่ต้องฟังคนรุ่นเก่า

ใช่ ใช้คนเก่าให้เป็นด้วยและใช้คนใหม่ด้วย คนใหม่มาก็อย่าลืมคนเก่า เวลาป้ายหาเสียงคราวก่อน เอารูปคุณอภิสิทธิ์อยู่ด้านหน้าเลย ด้านข้างมีรูปอดีตหัวหน้าพรรครวมทั้งผมด้วยคนรุ่นใหม่อยู่ข้างหลัง เพื่อแสดงพลังของคนเก่าและคนใหม่ เพราะคนรู้จักคนเก่าก่อน คนจะเห็นว่าประชาธิปัตย์มีทั้งใหม่และเก่า

# ท่านคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ จะปรับตัวเองได้หรือไม่

ผมไม่ทราบ ผมตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะเลือกใครมาเป็นคนใกล้ชิดเขาในการทำงาน อย่างเช่นคุณวอลเปเปอร์ กลุ้มใจเป็นบ้าเลยผม ทำไมใต้องมายืนอยู่ข้างหลังคุณอภิสิทธิ์ตลอดเวลา คนเขาก็หมั่นไส้ โฆษกก็เหมือนกัน มีทั้งโฆษกรัฐบาล โฆษกประจำตัว โฆษกพรรค ทำอะไรแปลกๆสัปดน สิ่งเหล่านี้เคยพูดมามากแล้ว

# ตอนที่เป็นรัฐบาลการเลือก ครม.ในส่วนของของประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไรในมุมมองของท่าน

ที่ผมเห็นก็พอไปได้อย่างที่ผมชมเชยคือ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ผมกลัวเขาจะทิ้งพรรค เขาใช้ได้ หรือแม้แต่คุณวิฑูรย์ นามบุตร มีสปิริตดี มีปัญหาก็ลาออก คุณไตรรงค์ก็งั้นๆ คุณไตรรงค์นี่ ผมไปหาเสียง เขาเรียกผมพี่ พี่ชายเป็นอาจารย์จุฬา ผมเป็นประธานเผาศพพ่อเขา แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วเขาแต่งงานลูกไม่บอกผมเลย หมายความว่าไง วัฒนธรรมไม่มีแล้วใช่ไหม หากจะบอกว่าเป็นคนเก่า แล้วทำไมไม่คิดถึงผม ผมไม่ได้ต้องการที่จะไปงาน แต่ต้องมีการแสดงความมีน้ำใจ แต่ทำให้ผมเสียใจ ผมเคยไปเยี่ยมบ้านเขาบ่อยๆพ่อเขาเป็นกำนัน ไปเผาศพ เพราะมีความใกล้ชิด ส่วนคุณวิทยา แก้วภราดัย เป็นคนดีมาก แต่ผมชอบคุณนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส่วนถาวร เสนเนียม ก็ใช้ได้ ปักษ์ใต้หลายคนใช้ได้ ส่วนตัวผมเชียร์

# ท่านคิดว่าคุณวิทยาจะช่วยเรื่องการประสานคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่

ผมไม่ทราบมันแล้วแต่คุณวิทยาจะได้รับการสนับสนุนจากใครหรือไม่ แต่หากได้รับการสนับสนุนจากนายกฯชวนก็จะดีมาก คุณวิทยา คุณนิพิฎฐ์ ผมชอบการอภิปรายของเขาในสภาฯมาก คุณชำนิ ก็ใช้ได้แต่สู้คุณวิทยาไม่ได้ชำนิก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรแล้ว

# ส.ส.กทม.รุ่นใหม่มีใครที่พอจะดูได้ดูดีบ้าง

คุณอภิรักษ์ ก็พอใช้ได้ เรื่องการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง ความจริงผู้ว่าฯกทม.คนก่อนเขาทำมาหมดแล้วพอตัวเองมาเป็นผู้ว่าฯกทม. ไม่มีทางออกเลยต้องเปิดถ้าไม่เปิดก็อาจจะผิดสัญญาอะไรหรือไม่ผมไม่ทราบ กับคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์เองก็ไม่เลว ในกทม.ไม่มีตัวไหนที่พอจะดึงดูด

# มองนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เข้มข้นพอแล้วหรือยัง

ผมบอกไปแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะทำนโยบายก่อนการเลือกตั้ง ฉุกละหุก เอานโยบายของคุณทักษิณมาปรับใหม่

# หลังๆมาคนของพรรคประชาธิปัตย์มักกจะออกจากพรรคไปอยู่ที่พรรคอื่น

พูดง่ายๆ คนที่เข้ามานี่ส่วนใหญ่คงเชื่อในอุดมการณ์และวัฒนธรรม ของพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่ออุดมการณ์เดิมหายไปคนก็เห็นว่าไม่ดีที่จะอยู่ต่อไป ส่วนเรื่องการเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องออกไป สมัยผมไม่มีเงินมากผมเองต้องขายที่ดินให้พรรคไม่รู้เท่าไร

# คุณสุเทพก็เป็นคนเก่าของพรรค

คุณสุเทพ มีนิสัยคนละอย่าง และผมต้องชมเชยท่านอย่างหนึ่งคือท่านพยายามป้องกันคุณอภิสิทธิ์อย่างเต็มที่ ความดีก็มี คุณอภิสิทธิ์อยู่ได้เพราะคุณสุเทพ และคุณสุเทพ เป็นพลังมหาศาลสำหรับคุณอภิสิทธิ์ แต่ส่วนบุคลิกท่าทางของแก ผมไม่ชอบ ผมยังให้ดอกไม้คุณสุเทพ แกจะรู้ไหมว่าคนทั่วไปไม่ค่อยชอบแก แต่ผมสงสารแก แกทำงานเต็มที่ ช่วยเต็มที่เลย คนอย่างนี้ต้องชมเชย เวลานี้ดูทั่วไปในเมืองไทยคนที่เป็นสมาชิกพรรคที่เก่าแก่ที่สุดคือผม ตั้งแต่ปี 2501 นายกชวนมาปี 2511 เลือกตั้งปี 2512 คุณเลิศ ชินวัตร (พ่อคุณทักษิณ ) รุ่นเดียวกันคุณชัย ชิดชอบ# ภาคเหนือของพรรคประชิปัตย์ก็เห็นว่าคะแนนไม่ค่อยดี

เมื่อก่อนดีมาก เมื่อก่อนเชียงรายมีส.ส. 6 คนประชาธิปัตย์ ได้ 4 คน สมัยแรก เชียงราย 1 ในนั้นคือคุณยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.ประชาธิปัตย์เก่า เมื่อก่อนผมเชียร์เขามากเลยน่ะ ย้ายไปอยู่กับคุณทักษิณ เพราะมีคนไม่ชอบแก แกก็ต้องออกไป ผมเคยไปหาเสียงให้แกที่เชียงราย

# ประชาธิปัตย์เริ่มเป๋ ตอนที่เกิดพรรคไทยยรักไทยขึ้น เพราะมีส.ส.ประชาธิปัตย์ไหลไปเยอะหรือเปล่า

ไม่ ประชาธิปัตย์ มันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ มันเกิดมาเรื่อยๆ แต่ไม่มากเหมือนระยะหลังๆ

# เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาธิปัตย์ สร้างคนแต่ไม่ดูแลคน

ประชาธิปัตย์โหมโรงตอน ช่วงเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่ชอบเลย ไม่มีการวางแผนกันเลย การสร้างคนไม่ใช่ไม่ดูแล เพราะการดูแลในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจ่ายสตางค์นะ แต่เป็นการให้ความรับผิดชอบ ผมเคยเป็นวิปเมื่อปี 2512 เป็นวิปที่คนกลัวมาก เพราะผมวิปจริงๆ คนไหนนั่งที่ไหนก็ต้องนั่งที่นั่น ในพระที่นั่งอนันต์ฯ ใครจะพูดอะไรต้องขออนุญาติผมก่อน ถ้าวิปไม่อนุญาตไม่ได้ เลขานุการจะพูดต้องขออนุญาตผมเลย นอกจากหัวหน้าพรรคอย่างอาจารย์เสนีย์จะพูดก็พูดไป แต่อาจารย์เสนีย์ไม่ค่อยพูด ใครไม่มาผมต้องโทรฯตามเหมือนเป็นครูใหญ่ เพราะฉะนั้นการใม่ครบองค์ประชุมไม่มีเลย

สู้กับจอมพลถนอมแบบซึ่งๆหน้า ว่ากันแบบนี้ พอเสร็จแล้วก็ออกมาก็กราบกัน เคารพเขา เพื่อความสัมมาคารวะแต่เวลาอภิปรายในสภาไม่ได้

# หลักคิด หลักการบริหารของคนที่จบ”อ๊อกฟอร์ด” ก็ยังใช้กับประชาธิปัตย์ไม่ได้

หลักคิดหลักบริหารของประชาธิปัตย์มองว่าใช้ไม่ได้เลย ไม่เก่งเรื่องบริหาร เขาจบ “อ๊อกฟอร์ด” แต่ผมจบ “อ๊อกแฟกซ์” ( พูดติดตลก) เสียดายที่เขาสร้างมา 60 กว่าปี

# ท่านคิดไหมว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคนเปลี่ยนใจจากประชาธิปัตย์ไปเยอะ

แยะ แยะ ลูกสะใภ้ผมกับหลานผมเลือกใครรู้ไหม “ชูวิทย์” ครอบครัวผมไม่ถาม เลือกแล้วผมถึงได้ถาม แต่ผมไม่เคยไปโน้มน้าวเลย ให้ตัดสินใจเองแต่ภรรยาผมยืนหยัดตลอดเวลาต้องประชาธิปัตย์ 2 คนตายาย คนในครอบครัวเขาจะไม่โนโหวตแต่เขาลงคะแนนให้คน เขาเห็นว่าคุณชูวิทย์ อาจจะใช้ได้ อาจจะ ไม่รู้เหมือนกัน ตรงนี้แปลว่าคนกทม.เคลื่อนไหวง่าย สวิง

# จุดอ่อนหลักคือการบริหารเลยใช่ไหม

การบริหารงานไม่เป็นเลยสักอย่าง ไม่ฟังคนเก่าคนแก่ด้วย อภิสิทธิ์เคยมาหาผม 2 หน ตอนเป็นนายกฯ ผมพูดถึงอะไรหลายอย่าง แนะนำเขาไป ไม่ทำสักอย่าง และอีกทีผมเจอเขาที่งานศพคุณเล็ก นานา ท่านเป็นคู่หูผมตลอดเวลา ท่านเสียตามพิธีทางศาสนาต้องฝังภายในวันเดียว ผมอายุ 80 กว่าผมร้องไห้ นั่นเพราะความสัมพันธ์ลึกเหลือเกินกับพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ ความมีเยื่อใยกัน ผมร้องไห้ก่อนที่จะนำคุณเล็กไปฝัง

ผมคุยกับคุณอภิสิทธิ์ในเรื่องๆหนึ่งอย่าให้พูดว่าเรื่องอะไร วิธีจะแก้ไขความปรองดองอย่างไร ผมบอกคุณอภิสิทธิ์ถึงขั้นตอนทุกอย่าง ทำอะไรอย่างไร แม้กระทั่งก่อนเลือกตั้งหลายเดือน ผมจะไปคุยกับคุณทักษิณ เป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะผมเชื่อว่า คุณทักษิณเห็นผมเป็นคนกลาง ผมเชื่อ เพราะผมรู้จักคุณทักษิณ ได้มีการกำหนดวันจะไปแล้ว แต่ก็มีข่าวเรื่องการยุบสภา กำหนดวัน คุณทักษิณโอเค ทุกอย่างโอเคหมด ส่วนตัวนะไม่เกี่ยวกับพรรคเลย ผมเล่าให้คุณอภิสิทธิ์ฟังคร่าวๆเท่านั้นเองแต่คุณอภิสิทธิ์เองก็เฉยๆ เพราะตราบใดไม่แก้ปัญหาตามที่ผมพูด ไม่มีทางแก้ปัญหาความปรองดองได้

----------------------------------

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระราชทานทรัพย์ยุติข้อพิพาทอายัดโบอิ้ง 737

Posted: 31 Jul 2011 09:02 PM PDT

สมเด็จพระบรมฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว เพื่อ "มิให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดี และรวดเร็ว"

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารออกแถลงการณ์ เรื่อง "การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท Walter Bau AG" มีรายละเอียดดังนี้

000

หน่วยราชการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

แถลงการณ์

เรื่อง การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท Walter Bau AG

ตามที่ศาลสูงสุดแห่งรัฐเบอร์ลินสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ให้ดำเนินการอายัดเครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ไว้เป็นของกลางในคดีพิพาทระหว่างบริษัท Walter Bau AG กับรัฐบาลไทยและศาลแขวงแลนส์ฮูท ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ให้วางเงินประกันจำนวน 20 ล้านยูโร เพื่อถอนอายัดเครื่องบินพระที่นั่งดังกล่าวนั้น

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งรัฐเบอร์ลิน และคำสั่งของศาลแขวงแลนส์ฮูท สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้ทรงตอบโต้แต่ประการใด ต่อคำพิพากษาและคำตัดสินดังกล่าว รวมทั้งต่อกระแสข่าวทั้งจากในและต่างประเทศทรงเคารพต่อคำพิพากษาของศาลและ ทรงเชื่อมั่นในความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม ด้วยทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและประชาชนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงพำนักอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนี ทรงได้รับการต้อนรับ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี แม้ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะมิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท Walter Bau AG และมิได้ทรงเป็นผู้สร้างเรื่องหรือเหตุการณ์ข้อพิพาทขึ้นมา แต่ผลจากข้อพิพาทดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนพระราชหฤทัย กระทบต่อพระราชกรณียกิจ และเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่ง

ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชกระแสและพระราชปณิธานที่จะทรงตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยและทรงใช้หนี้บุญคุณให้กับประเทศชาติในพระราชฐานะที่ทรงเป็นประชาชนชาวไทยพระองค์หนึ่ง และทรงเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารของประเทศไทยอีกทั้งมิให้เกิดผลกระทบต่อความ สัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดี และรวดเร็ว จึงจะพระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว

ทั้งนี้ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีพระนามาภิไธยไปเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและมิให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ

สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

31 กรกฎาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น