โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"สดศรี" ยัน กกต.ทำงานตามขั้นตอน ปัดละเลยจนศาลยกคำร้อง

Posted: 01 Dec 2010 08:38 AM PST

1 ธ.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสกดดันหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยให้ยกคำร้องคดียุบพรรคประ ชาธิปัตย์ไปอยู่ที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ความจริงคงต้องไปดูช่วงประเดือนธ.ค.2552  ที่มีการนำเรื่องเข้าสู่ กกต.ทางประธาน และกรรมการ กกต.พิจารณากันอย่างไร เป็นจุดที่เป็นปมอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่ากรณีแบบนี้ที่ไม่เคยเกิดกับพรรคอื่นๆก็เพราะมันไม่เคยมีที่ อนุกรรมการฯที่เขาไปสอบสรุปมาแล้วว่ามันไม่ผิดก็ยังให้สอบแล้วสอบอีก 2-3 หน ก็มีเฉพาะกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น

เมื่อถามว่าคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท พรรคจะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องรอทางศาลจะนัดพร้อมและกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาอีกที เพราะศาลเพิ่งให้ยื่นคำแก้คำร้องไปเท่านั้นเอง เมื่อถามว่า ที่มีการพูดว่าเป็นกรณีเดียวกับกับคดีเงิน 29 ล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ข้อกฎหมายก็คงต่างกันเพราะเป็นการร้องให้ยุบพรรคตามมาตรา 94  มาตรา 95  ส่วนคดีเงิน 29 ล้านบาทนั้นเป็นกฎหมายในมาตรา 92 มาตรา 93  เป็นคนละกระบวนการกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านบอกว่าจะเสนอให้ถอดถอนถ้าพิจารณาเห็นว่า กกต.ทำผิดก็จะถอดถอน กกต. แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญทำผิดก็จะเสนอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของใครที่เห็นว่าถ้ามีบุคคลในองค์กรอิสระทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง  มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆก็เป็นกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบที่รัฐธรรมนูยกำหนดไว้ ใครเห็นเช่นนั้นก็สามารถไปดำเนินการได้ ก็ต้องพิสูจน์กันไป

"สดศรี"ยันกกต.ทำงานตามขั้นตอน ปัดละเลยจนศาลยกคำร้องยุบปชป.

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายคนตั้งข้อสงสัยในการตีความเรื่องหมดอายุความจากการยื่นคำร้องว่า ที่ผ่านมา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เคยออกความเห็นในการประชุมครั้งแรกว่า ให้ยกคำร้องในคดีดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมสอบถามว่า เป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่ ครั้งนั้นนายอภิชาตยืนยันว่า เป็นการออกความเห็นในฐานะประธาน กกต. ซึ่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบเพิ่มในกรณีนี้ และใช้เวลาในการสอบ 3 เดือน จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2552 จึงสอบเสร็จและเสนอกลับมาว่า สมควรฟ้องร้องให้มีการยุบพรรค และนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงเสนอให้มีการลงมติร่วมกันของ กกต. น่าจะถือว่าวันที่ 12 เมษายน 2552 เป็นวันที่ให้ความเห็น ซึ่งยืนยันได้ว่า กกต.ไม่ได้ละเลยเรื่องของกำหนดเวลาแต่อย่างใด และถือว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุด

ส่วนกรณีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 1 คดีนั้น นางสดศรี กล่าวว่า เป็นความผิดคนละมาตรา ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิด มาตรา 95 ที่ไม่มีเงื่อนไขเวลา เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องยื่นผ่านอัยการไม่ได้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง และทางอัยการได้รับเรื่องแล้วว่า การยื่นเรื่องของ กกต.ยังอยู่ในกำหนด 30 วัน

ที่มาข่าว:

"มาร์ค"ชี้คดีเงินบริจาค258ล้าน ใช้กม.คนละมาตรากับคดีเงิน29ล้าน "สดศรี"ยันกกต.ทำงานตามขั้นตอน ปัดละเลยเงื่อนเวลา (มติชนออนไลน์, 1-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291175505&grpid=00&catid=&subcatid=

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ.ก.ลายจุด โต้ ผบ.ทบ. มายุุ่งอะไรกับกิจกรรมประชาชน

Posted: 01 Dec 2010 08:19 AM PST

1 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ากรณีการจัดทอล์กโชว์การเมือง "วอนนอนคุก" ของกลุ่มตนในวันที่ 5 ธ.ค.นั้นไม่เหมาะสม เพราะเป็นวันมหามงคล ว่า

กิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงของตนดําเนินการจัดมาตลอดทุกวัน อาทิตย์ และวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ก็ตรงกับวันที่ 5 ธ.ค.พอดี ซึ่งถือว่าเป็นวันชาติสำคัญอีกวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่หมายความว่าวันที่ 5 ธ.ค.ห้ามจัดกิจกรรมอะไรเลย ตนยืนยันว่าโปรแกรมการจัดทอล์กโชว์นี้ยังคงจัดปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่ นอน และขณะนี้บัตรรอบแรกก็ได้จําหน่ายไปหมดแล้ว ทั้งนี้ตนคงจะไม่ทําหนังสือชี้แจงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่อยากถามกลับว่า ผบ.ทบ.มายุ่งเกี่ยวอะไรกับกิจกรรมการเมืองของประชาชน ควรจะไปดูแลทหารตามหน่วยต่างๆ หน้าที่การดูแลประชาชนและการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับการชุมนุมหรือการจัด กิจกรรมเหล่านี้เป็นหน้าที่ของตํารวจไม่ใช่หน้าที่ของทหาร

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีศอฉ. บอกว่าการจัดตั้ง "โรงเรียนแกนนอน" ของตนเป็นการสะสมมวลชน เพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม และผิดกฏหมาย ซึ่งมุมมองของศอฉ. ตอนนี้ดูเหมือนว่าคนเสื้อแดงทําอะไรผิดกฏหมายไปหมด ทั้งที่เนื้อหาการเรียนการสอนในโรงเรียนแกนนอนของตนนั้น เป็นการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น และที่ผ่านมารัฐบาลก็เคยพูดว่าการสร้างประชาธิปไตยนั้น ทําได้ ไม่ผิด และขณะนี้มีสมาชิกเสื้อแดงมาสมัครเรียนโรงเรียนแกนนอน แล้วเป็นจํานวนมาก ขณะนี้ตนกำลังหาทําเลเช่าพื้นที่ และคาดว่าจะเริ่มเปิดสอนได้ต้นเดือนหน้ามกราคม 2554 

นอกจากนี้ นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญยกคําร้องไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่ารอบนี้ประ ชาธิปัตย์รอดตัวแบบแพ้ฟาว์ลโดยไม่ต้องขึ้นชกแต่อาการของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนนี้อ้อแอ้มาก อาการหนัก เพราะจะต้องตอบคําถามให้สังคมให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทําไม่เป็นอย่างนี้  แต่ก็ดูเหมือนว่าฝ่าย กกต.เตรียมสู้ว่าตัวเองไม่ผิด

ที่มาข่าว:

ลายจุดยันจัด"ทอล์กโชว์แดง" 5 ธ.ค. ถามผบ.ทบ.มายุุ่งอะไรกับกิจกรรมประชาชน (เว็บไซต์ข่าวสด, 1-12-2553)
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRJNU1URTRNemt5TkE9PQ==&sectionid=

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลิปวิดีโอขิ่นยุ้นต์ประชุมตำรวจพม่า หลุดว่อนเน็ต

Posted: 01 Dec 2010 04:49 AM PST

คลิปวิดีโอของพลเอกขิ่นยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองพม่า ขณะกำลังนั่งประชุมกับพลตรีขิ่นยี ผู้บัญชาการตำรวจสูงสุดของพม่าคนปัจจุบันและเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นๆ ความยาว 16 นาที ไม่มีเสียง ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่มีการวิเคราะห์กันว่า คลิปวิดีโอนี้น่าจะมีการถ่ายไว้เมื่อหลายเดือนก่อน

ทั้งนี้ในคลิปวิดีโอดังกล่าว มีภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าได้ยืนรอหน้าบ้านพักของพลเอกขิ่นยุ้น ในกรุงย่างกุ้งท่ามกลางสายฝน ทันทีที่พลเอกขิ่นยุ้นต์ปรากฏตัว พลตรีขิ่นยี ผู้บัญชาการตำรวจสูงสุดของพม่าได้ทำความเคารพต่อพลเอกขิ่นยุ้นต์ ซึ่งนักวิเคราะห์พม่าตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวค่อนข้างผิดปกติ เนื่องจากปกติ เจ้าหน้าที่พม่าจะไม่ทำความเคารพต่อบุคคลที่ถูกปลดจากตำแหน่งอย่างพลเอก ขิ่นยุ้นต์

นอกจากนี้ มีภาพที่ขิ่นยุ้นต์และนางขิ่นวินฉ่วย ภรรยา ได้ร่ำลาคนในครอบครัวและถือกระเป๋าเดินออกจากบ้าน ก่อนที่จะปรากฏตัวอีกครั้งในบ้านพักอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวน่าจะถูกถ่ายไว้เมื่อหลายเดือนก่อนแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกันกับที่มีกระแสข่าวลือออกมาว่า ขิ่นยุ้นต์ถูกนำตัวไปยัง เนปีดอว์ เพื่อเดินทางไปให้คำแนะนำกับรัฐบาลพม่า เกี่ยวกับการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ซึ่งขณะนี้กำลังตึงเครียด

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีใครทราบว่า ทำไมถึงมีคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา แต่นักสังเกตการณ์มองว่า อาจเป็นสัญญาณหลายอย่าง เนื่องจากถูกนำมาเผยแพร่ออกมาหลังจากที่การเลือกตั้งพม่าเพิ่งผ่านพ้นไป เพียง 3 อาทิตย์ เช่นเดียวกับที่นางอองซาน ซูจี เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาเพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น นักวิเคราะห์พม่าบางคนมองว่า ขิ่นยุ้นต์คือกุญแจสำคัญที่เป็นตัวแทนเจรจาระหว่างนางซูจีและรัฐบาลพม่า รวมถึงที่มีการวิเคราะห์กันว่า อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่เกี่ยวกับความกระสับกระส่าย และเกิดความไม่พอใจระหว่างทหารด้วยกันเองภายในกองทัพพม่าก็เป็นได้ เนื่องจากอาจมีทหารพม่าบางกลุ่มที่ชื่นชอบในตัวขิ่นยุ้นต์และเรียกร้องให้ ขิ่นยุ้นต์กลับมารับตำแหน่ง หรืออาจถึงขั้นวางแผนทำรัฐประหาร ทำให้ทหารพม่าอีกกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องนำตัวขิ่นยุ้นต์ไปขังหรือย้ายไปอยู่ ที่อื่นแทน เพื่อป้องกันการทำรัฐประหารก็เป็นได้

ทั้งนี้พลเอกขิ่นยุ้นต์ ถูกปลดจากตำแหน่งในปี 2547 และถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 44 ปี อย่างไรก็ตาม พลเอกขิ่นยุ้นต์ถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักในกรุงย่างกุ้ง ระหว่างที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่า พลเอกขิ่นยุ้นต์เป็นผู้นำพม่าที่ได้ความไว้วางใจจากผู้นำชนกลุ่มน้อยติด อาวุธ เห็นได้จากมีกลุ่มติดอาวุธเป็นจำนวนมากได้ร่วมทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า (DVB/Irrawaddy 29 พ.ย.53)

ชมคลิปวิดีโอได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=1AVuxxCJ1S4

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์ ฉายแสง: ความเห็นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

Posted: 01 Dec 2010 04:37 AM PST

ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องคดียุบพรรค - คดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์  คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมานี้  ในการสู้คดีโดยตลอดก็ปรากฏว่าทีมทนายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ต่อสู้ในข้อเท็จจริงเท่าไร  ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้กระทำผิดกฎหมายและสมควรแก่การยุบพรรค  แต่ว่าได้สู้ด้วยวิธีการพยายามดิสเครดิตหรือพยายามลดความน่าเชื่อถือของผู้ร้องหรือพยานฝ่ายผู้ร้อง พยานฝ่ายตรงข้าม 

ในตอนท้ายๆปรากฏว่าทีมทนายของพรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามล็อบบี้คนของศาลรัฐธรรมนูญ  รวมทั้งยังได้ปรากฏหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอ ทั้งภาพของการล็อบบี้ดังกล่าวและการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนได้พูดจาหารือกันเพื่อที่จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้นจากการถูกยุบพรรค  คลิปวีดีโอนี้ทำให้เชื่อได้ว่ามีความพยายามที่จะล็อบบี้ศาลรัฐธรรมนูญ  และมีความพยายามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้นจากการถูกยุบพรรค มีเสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพิสูจน์ว่าคลิปวีดีโอนั้นจริงหรือไม่จริงอย่างไร  ใครทำอะไร  ใครพูดอะไร ปรากฎว่าจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการตรวจสอบพิสูจน์และสอบสวนว่ามีความพยายามล็อบบี้ศาลรัฐธรรมนูญหรือมีความพยายามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์จริงหรือไม่

เรื่องผมเคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมขาดความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่พิจารณาคดีใดๆ  รวมถึงที่จะทำหน้าที่ตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงบัดนี้  จนถึงวันตัดสิน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตรวจสอบ ยังไม่มีการพิสูจน์ใดๆทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นในความเห็นของผมซึ่งได้พูดมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยังมีความเห็นอย่างเดิมว่า ในขณะที่ตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้  ก็ไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว

ต่อมาเมื่อมีคำวินิจฉัย ก็ต้องบอกว่าการที่วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์  ไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาด  ผมเองก็เคยเขียนบทความไว้ก่อนหน้านี้  เสนอว่าประชาชนควรทำอะไร  ถ้าไม่มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์  ก็คือ คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบ 

ยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ยุบ  ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีความเสื่อมเสียและไม่น่าเชื่อถือมาก่อนแล้ว  ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าจากคำวินิจฉัยนั้นเกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญหนักยิ่งขึ้นไปอีก 

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งขึ้นเพื่อที่จะวินิจฉัยนี้มีทั้ง 5 ข้อ แต่สุดท้าย 4 ข้อไม่ได้วินิจฉัย วินิจฉัยไปข้อเดียว คือกระบวนการร้องของผู้ร้อง  จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่คนทั่วไป ทั้งคนที่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ผิดหรือเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด  ทั้งสองฝ่ายนี้ก็เลยไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆแล้วผิดหรือถูก ต้องเป็นไปตามความเชื่อของแต่ละคนแต่ละฝ่าย  คงผิดหวังไปตามๆกัน เพราะอุตส่าห์ติดตามการพิจารณาคดีมาตั้งนานเป็นหลายๆเดือนและสุดท้ายไม่มีการวินิจฉัยเลย ใน 4 ประเด็นนั้น ก็คงจะมีแต่แฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ดีใจ  ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องถูกยุบ  ด้วยเหตุของการที่บางคนใช้คำว่าคนร้องแพ้ฟาวล์ไปทำนองนั้น

ซึ่งก็เป็นคำถามตามมาอีกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เหตุใดจึงไม่วินิจฉัยไปก่อนเลยว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องแล้วเพราะเกินเวลาไปแล้ว  แต่ว่าที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ทำให้คนเคลือบแคลงสงสัยต่อไปก็คือ ในคำวินิจฉัยนั้นมีปัญหา มีคำถามซึ่งก็ต้องถามต่อสังคมไทยด้วย  ถามต่อนักกฎหมาย ถามต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง  เป็นคำถามและปัญหาในเชิงข้อกฎหมาย  ตรรกะ  เหตุผลและสามัญสำนึก 

คือ คำวินิจฉัยนี้บอกว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะยื่นคำร้องหลังพ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ระยะเวลา 15วัน ก็คือ 15 วันนับจากความปรากฏต่อนายทะเบียน

ปัญหามีว่า ความปรากฏต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนนี้นับอย่างไร  ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้อย่างไรหรือไม่  วินิจฉัยเรื่องทำนองเดียวกันนี้ไว้อย่างไร  แล้วกรณีนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  ความจริงก็มีกรณีตัวอย่างหลายกรณี การยุบพรรคหลายพรรคที่เข้าข่ายทำนองเดียวกัน ขอยกตัวอย่าง 2 พรรคก็คือ กรณีพรรคไท  ในคำวินิจฉัยซึ่งเขามีประเด็นทำนองเดียวกันว่า มีการสู้ว่าเรื่องมีมาตั้งนานแล้วผู้ร้องเพิ่งมาร้อง  เลยเวลามาแล้วเพิ่งมาร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ คดีพรรคเพื่อไทยบอกว่าวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 27 กันยายน 2545 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมีบันทึกรายงานผู้ร้องจ่ายเงิน ก็คือ ถือเอาวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและเห็นชอบให้ยื่นคำร้อง

พอมาในกรณีของพรรคพลังธรรม พรรคพลังธรรมก็สู้ว่าเลยเวลามาแล้ว ผู้ร้องถึงจะมาร้อง ไม่มีอำนาจแล้ว ฝ่ายกกต. ฝ่ายนายทะเบียนพรรคการเมือง สู้ความว่า ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 ตุลา 2546 เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้สั่งยุบพรรคไทว่า วันที่ปรากฎต่อนายทะเบียนนั้น คือวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าเขาอ้างกรณีพรรคไท แล้วเขาก็มาสู้ในกรณีพรรคพลังธรรม คนที่สู้ความนี้ ในนามประธานกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองคือนายอภิชาติ  สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมืองปัจจุบันเคยสู้ความมาแล้ว

และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคราวนั้นว่า เห็นว่าวันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้นคือวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และก็มีความต่อไป ก็คือข้ออ้างของผู้ถูกร้องข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยมาแล้ว อย่างน้อยในสองกรณีของ2 พรรคการเมือง ทำนองเดียวกัน โดยถือว่า วันที่ความปรากฎต่อผู้ร้องหรือนายทะเบียนคือวันที่ผู้ร้องพิจารณาและเห็นชอบให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทีนี้มาในกรณีนี้ กรณีของพรรคประชาธิปัตย์นี้ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าในวันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียนคือวันที่ 17 ธันวาคม  ซึ่งกกต.มีมติเสียงข้างมากให้ไปดำเนินการ  เพราะฉะนั้นพอมายื่น ในวันที่ 26 เมษาก็เลยเกิน 15 วัน

ข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่า วันที่ 17 ธันวาคม ที่มีมติกัน ไม่ใช่เป็นมติให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนไม่ได้ทำความเห็นก็หมายความว่านายทะเบียนยังไม่ได้พิจารณาเห็นชอบให้ร้อง  ส่วนนายทะเบียนพอไปเป็นประธานกกต.ก็ลงมติว่าไม่เห็นชอบให้ไปยุบพรรค  กกต. 3 คนเป็นเสียงข้างมาก บอกให้ส่งนายทะเบียนไปทำความเห็น  คนที่มีความเห็นให้ยุบพรรคมีคนเดียวคือ คุณวิสุทธิ์ โพธิแท่น

เมื่อเป็นอย่างนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่มีอำนาจและไม่มีหน้าที่ที่จะไปร้อง ส่วนตัวเข้าก็ไม่เห็นชอบให้ร้องอยู่แล้ว จะนับจากวันที่ 17 ธันวา มันก็ไม่น่าจะถูก จะนับต้องมานับวันที่ 21 เมษา  เมื่อทั้งนายทะเบียนพรรคก็เสนอให้ยุบ ในฐานะประธานกกต.และกกต.ทั้งคณะก็เห็นร่วมกันให้ไปส่งศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการตามมาตรา 93  ในตอนวันที่ 17 ธันวาที่พิจารณาก็พูดมาตรา 95 ซึ่งไม่ใช่มาตราที่ว่าด้วยการไปส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้นการที่วินิจฉัยว่า วันที่เริ่มมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้นคือวันที่ 17 ธันวา จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และอีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยในกรณียุบพรรคอื่นๆมาแล้ว ปัญหาสองมาตรฐานอย่างน้อยๆที่สุดก็เห็นอยู่ตรงเรื่องนี้ ที่เป็นความแตกต่างในการพิจารณาคดีนี้กับการพิจารณาคดีอื่น

เวลานี้ก็มีเสียงเรียกร้องว่า ถ้าอย่างนี้แสดงว่าเป็นความบกพร่องของกกต. เป็นความบกพร่องของนายทะเบียน หรืออย่างไร ซึ่งผมคิดว่านายทะเบียนพรรคการเมืองและกกต.ทั้งคณะก็คงจะต้องชี้แจง  แต่ว่าถ้าคิดแทนนายทะเบียนพรรคการเมืองและกกต.  นายทะเบียนพรรคการเมืองคือคุณอภิชาติ เคยสู้ความมาแล้วและเคยสู้ด้วยประเด็นว่า ความปรากฎต่อนายทะเบียนต้องนับจากวันที่นายทะเบียนพิจารณาและเห็นชอบให้ร้อง ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยตามนั้น คุณอภิชาติในฐานะนายทะเบียนก็ย่อมจะต้องเห็นว่านี่เป็นบรรทัดฐานที่กกต.จะต้องปฏิบัติตาม  มาถึงเวลาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิชาติพิจารณาแล้วยังไม่เห็นชอบให้ร้อง  กกต.ก็ไม่ได้มีมติให้ร้อง เขาก็ยังไม่ไปดำเนินการร้อง  รอต่อมาจนกระทั่งในฐานะนายทะเบียนและกกต.ทั้งคณะเห็นตรงกัน ให้ร้อง เขาจึงไปดำเนินการในเวลาต่อมา

เพราะฉะนั้นจะไปโทษกกต. ผมก็ดูแล้วไม่น่าจะถูก  แต่ว่าถ้ามีเสียงเรียกร้องกกต.ก็ควรจะชี้แจงว่าเห็นด้วย  แต่ผมยังคิดว่าประเด็นอยู่ที่การวินิจฉัย  ประเด็นที่เป็นปัญหาน่าจะอยู่ที่การวินิจฉัย 

ที่นี้ก็อยากจะวิเคราะห์ต่อไปถึงผลที่ตามมา  ผลที่ตามมาจากกรณีอย่างนี้จะโดยเจตนาอย่างไรก็ตาม  มันมีคำถามตามมามากมายทั้งในแง่  อย่างที่ว่าคือ ตรรกะ เหตุผล สามัญสำนึก ข้อกฎหมาย  ผลที่ตามมาก็คือ ถ้าไม่มีการชี้แจงให้ดี เรื่องนี้จะมีปัญหากระทบต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเองมากยิ่งขึ้น เพราะว่าอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญเดินเข้าสู่การตัดสินในขณะที่ผู้คนสงสัยว่า ที่คุยกันในคลิปวีดิโอนั้นจริงหรือไม่จริงอยู่แล้ว พอตัดสินออกมาเป็นประเด็นที่คนไม่คาดคิดด้วย

กรณีที่วินิจฉัยไปว่า มาร้องเมื่อเลยกำหนดมาแล้ว แม้แต่ทนายความของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ก็ไม่ได้สู้ประเด็นนี้  ไม่ได้สู้เพื่อประเด็นนี้เลย ประเด็นนี้เมื่อมาไล่ข้อเท็จจริงเทียบกับของเดิมจะกระทบความน่าเชื่อถือ  ผมที่ตามมาก็จะกลายเป็นว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นความพยายามเจตนาดีที่จะรักษาพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบบปัจจุบันเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็กลับจะกระทบต่อระบบในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กระทบยิ่งกว่าถ้าจะยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

นอกจากนั้นจะทำให้ยังทิ้งปัญหาค้างไว้คือความไว้วางใจต่อกกต. ซึ่งเกิดปัญหานี้ขึ้นในขณะที่จะมีการเลือกตั้งขึ้นในปีหน้าแล้ว

เพราะฉะนั้นผลที่ตามมาก็จะเกิดเป็นความวิกฤตต่อความน่าเชื่อถือ ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่หวังขึ้นระบบ จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมและวิกฤตในสังคมหนักหน่วงยิ่งขึ้น การวิเคราะห์อย่างนี้ก็จะเห็นว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักธุรกิจและวิชาการบางส่วนได้ออกมาให้ความเห็นว่าไม่ยุบน่ะดีแล้ว รัฐบาลจะได้มีเสถียรภาพ การเมืองจะได้มีเสถียรภาพ  แต่ว่าผมยังเห็นว่าเรื่องมันจะเป็นตรงกันข้าม  รัฐบาลอาจจะอยู่ต่อไปได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ  แต่เมื่อมีวิกฤตความน่าเชื่อถือ คนไม่เชื่อถือระบบ  คนไม่หวังพึ่งระบบ วิกฤตการเมืองของประเทศจะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น และก็ยากต่อการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ในอนาคตก็จะเป็นปัญหาต่อธุรกิจเอง

เพราะฉะนั้นก็ยังอยากจะเสนอเป็นข้อเสนอต่อประชาชน ต่อผู้ไม่เห็นด้วย และผู้ที่ต้องการให้เกิดความยุติธรรมทั้งหลายว่า ถึงอย่างไรก็ตามก็ควรจะมีการศึกษาคำวินิจฉัย วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและเห็นปัญหาความไม่ถูกต้อง เพื่อจะไปหาทางสร้างความยุติธรรมโดยสันติวิธีต่อไป  ไม่ควรจะไปหันหน้าเข้าหาวิถีทางอื่นใด แต่ว่าพยายามที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในระยะยาวถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็คงจะต้องไปแก้ศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่ไปที่มาที่ถูกต้องกว่านี้และสามารถจะตรวจสอบได้มากกว่าปัจจุบัน  อยากให้มุ่งไปในทิศทางนี้มากกว่าที่จะหมดหวังกับการหาทางออกให้กับสังคม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านประท้วงต้านนิคมอมตะนครแห่ง 2

Posted: 01 Dec 2010 04:30 AM PST

ชาวบ้านอำเภอพานทอง และใกล้เคียง กว่า 200 คน รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร แห่งที่ 2 เกรงจะทำให้เกิดมลภาวะต่อชุมชน

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 53 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่ศาลาวัดบางหัก ต.บางหัก อ.พานทอง จ.ชลบุรี มีชาวบ้าน อ.พานทอง และใกล้เคียงกว่า 200 คน มารวมกันคัดค้าน การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร แห่งที่ 2 เกรงว่าจะสร้างมลภาวะเป็นพิษให้กับชุมชน เนื่องจากขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ได้ทำการซื้อที่ดิน 6,600 ไร่ ในเขตติดต่อ อ.พานทอง อ.พนัสนิคม ของ จ.ชลบุรี และ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
      
ในเดือนธันวาคมนี้ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จะทำการขออนุญาตก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นเป็น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร แห่งที่ 2 และกำหนดก่อสร้างปี 2555 ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร แห่งแรก ของ อ.เมือง อ.พานทอง ของ จ.ชลบุรี โดยชาวบ้านต่างรวมตัวกันคัดค้าน ไม่อยากให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น
      
เนื่องจากที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครแห่งแรก สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมากพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด ก่อสร้างไปขวางทางน้ำ จนน้ำท่วมขังสูงในหน้าฝนของทุกปี สร้างความเดือดร้อนไปทั่วและหากมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครแห่งที่ 2 นี้ คาดว่า จะทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ สร้างปัญหาน้ำท่วม จราจรติดขัด และอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้าน ในเรื่องการทำมาหากิน เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ ทำเกษตรกรรมกันเป็นส่วน
      
ดังนั้น ชาวบ้านที่นี่ จึงไม่อยากให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น เพราะจะสร้างความเดือดร้อนมากว่าส่งผลดี และหาไม่หยุด ทางชาวบ้านก็จะรวมตัวกันไปประท้วง เป็นให้หยุดการก่อสร้างต่อไป

ที่มาข่าว:

ชาวบ้านรวมตัวคัดค้านนิคมอุตฯอมตะนครแห่ง 2 (ASTVผู้จัดการออนไลน์, 1-12-2553)
http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000169069

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จรัญ ภักดีธนากุล" ได้รับคัดเลือกให้เป็นข้าราชการดีเด่น

Posted: 01 Dec 2010 04:06 AM PST

"จรัญ ภักดีธนากุล" อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเสียงข้างมากให้ยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นข้าราชการดีเด่น แต่ติดภารกิจ ไม่สามารถมารับรางวัลเองได้

1 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2550 -2551 ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานพิธีมอบรางวัล ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกข้าราชดีเด่นครั้งนี้ ปรากฎว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเสียงข้างมากให้ยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับมอบประกาศเกียรติคุณดังกล่าวพร้อมกับข้าราชการที่ประพฤติปฏิบัติดีมี คุณธรรมอีก 9 ราย แต่อย่างไรก็ตาม นายจรัญได้แจ้งคณะจัดงานติดภารกิจ ไม่สามารถมารับรางวัลจึงมอบหมายให้ตัวแทนเป็นผู้รับรางวัล

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการดีเด่น ได้จำแนกไว้ดังนี้ สายตำแหน่งปลัดกระทรวง ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สายตำแหน่งอธิบดี ได้แก่ นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดีการ คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สายตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก่ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สายตำแหน่งอธิการบดี ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น สายตำแหน่งเอกอัครราชทูต นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

ที่มาข่าว:

จรัญคว้ารางวัลข้าราชการดีเด่น (โพสต์ทูเดย์, 1-12-2553)
http://bit.ly/fo1AUs

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวรส.เผยผลวิจัย 10 ปีกระจายอำนาจสุขภาพไม่คืบหน้า

Posted: 01 Dec 2010 03:56 AM PST

สวรส.เผยผลวิจัย 10 ปีกระจายอำนาจสุขภาพไม่คืบหน้า สะท้อนความล้มเหลวการบังคับใช้กฎหมายกับภาครัฐย้ำต้องกระจายอำนาจเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชนฐานราก

1 ธ.ค. 53 - นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส.ได้สนับสนุนการทำงานวิจัยเรื่องการกระจายอำนาจด้านสุขภาพรวมประมาณ 10 เรื่อง ผลวิจัยสะท้อนภาพรวมว่าการกระจายอำนาจด้านสุขภาพไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเวลา 10 ปีที่ผ่านไป ดังนั้นในวาระที่กำลังจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3 สวรส. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ขึ้น ในหัวข้อ “10 ปี การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ: สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม ณ ห้องอบรมสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ

ผอ.สวรส.กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจด้านสุขภาพต้องบรรลุเป้าหมายทั้งสองด้านอย่างสมดุล คือ ต้องเกิดการกระจายความรับผิดชอบและอำนาจการตัดสินไปไปยังท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยที่ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพ ประสิทธิภาพ ของงานสาธารณสุขเอาไว้ได้และเชื่อว่าในระยะยาวระบบบริการสุขภาพจะตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนได้ดีกว่าเดิม

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขห่วงว่าท้องถิ่นขาดความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านสุขภาพ แต่การไม่กระจายออกไปก็เป็นการขัดต่อกฎหมาย ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและมีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ต่อทิศทางการพัฒนาสังคมที่ชัดเจนร่วมกัน ว่าเราจำเป็นต้องกระจายอำนาจออกไปเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและการพึ่งตนเองได้ของชุมชนและประชาชนในระยะยาว เราก็จะหันมาคิดหารูปแบบที่กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถถ่ายโอนภารกิจออกไป แล้วก็ช่วยสนับสนุนให้ระบบยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานสาธารณสุขเอาไว้ได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นักวิชาการผู้ศึกษารูปแบบการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในบริบทปัจจุบัน กล่าวว่าความไม่คืบหน้าในการกระจายอำนาจนี้ เป็นกรณีที่เห็นสะท้อนให้เห็นได้ชัดถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายกับภาครัฐ สาเหตุหลักคือความแตกต่างในทางความคิด ที่ต่างยึดติดอยู่เพียงประเด็นเดียวว่าควรถ่ายโอนสถานบริการไปสังกัดอปท.หรือไม่ ทั้งๆ ที่ยังมีอีกหลายแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยการถ่ายโอนเป็นรูปแบบหนึ่งแต่ปัญหาคือที่ผ่านมามีการถ่ายโอนแบบแยกส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่องานสาธารณสุขมากกกว่าผลดี

“การให้อปท.ขนาดเล็กดำเนินการโดยเฉพาะด้านรักษาพยาบาลโดยลำพัง จะมีผลด้านลบมากทั้งเรื่องความคุ้มค่าในการดำเนินงาน ภาระค่าใช้จ่าย การพัฒนาศักยภาพ การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ และหากแยกส่วนกันทำในลักษณะ 1 สอ. 1 อบต. ก็ยิ่งจะเกิดการกระจายสังกัดมากถึงกว่า 6 – 7 พันแห่ง เกิดช่องว่างว่าใครดูแลพื้นที่ใดแค่ไหน และหากไม่ประสานกันจะเกิดปัญหาการควบคุมโรคระบาดร้ายแรง ปัญหาการส่งต่อข้ามเขต ปัญหาการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น” นพ.ปรีดา กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องการกระจายอำนาจสุขภาพในปัจจุบัน คือ การถ่ายโอน สอ.ไม่ครบตามเป้าหมาย ที่ตั้งเป้านำร่องภายในสิ้นปี 2553 จำนวน 35 แห่ง ถ่ายโอนได้สำเร็จ 28 แห่ง อีก 7 แห่งขอยกเลิกการถ่ายโอน ในขณะที่ อปท. หลายแห่งที่ไม่อยากรอก็ตั้งสถานบริการขึ้นเองแล้วกว่า 600 แห่ง บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ข้อเสนอทางออกที่ฝ่ายวิชาการเสนอไว้ ประเด็นสำคัญ ๆ คือ หากจะเดินหน้าถ่ายโอนสถานีอนามัย ควรถ่ายโอนทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อย ควรหลีกเลี่ยงการตั้งสถานบริการขึ้นมาซ้ำซ้อนกัน และควรพิจารณารูปแบบการจัดการหรือกลไกการทำงานร่วมกันของท้องถิ่น สาธารณสุข และชุมชน นำมาใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ เช่น รูปแบบสหการ รูปแบบองค์การมหาชน และรูปแบบคณะกรรมการเขตสุขภาพ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การตัดสินใจทิศทางการพัฒนาคืบหน้าไปได้ จำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการสานเสวนาทำความเข้าใจและหาฉันทามติร่วมกันก่อน รวมทั้งต้องจัดให้มีสำนักงานพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่ขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยบริหารจัดการที่มีอำนาจดำเนินการตามแผนที่ตกลงร่วมกันไว้ได้จริง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เหตุการณ์ปกติ : บันทึกจากบ้านแม่โกนเกน”

Posted: 01 Dec 2010 03:45 AM PST

"เป็นแบบนี้แหละ... อยู่ชายแดนก็ต้องทำใจ" สาวใหญ่เจ้าของร้านขายของชำกลางเมืองแม่สอด บอกกับผมหลังฟังรายงานข่าวการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่บ้านแม่โกนเกนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา "มันยังไม่จบหรอก ต่อไปนี้เรื่องแบบนี้ยังจะมีต่อเรื่อยๆ"

 
ความคิดเห็นของเจ้าของร้านค้าในเมืองแม่สอดที่ผมได้ฟังในเย็นวันนี้ ไม่ต่างจากลุงเจ้าของร้ายขายของชำที่ผมพบเมื่อเช้า ร้านของแกอยู่ข้างวัดห้วยมหาวงก์ในหมู่บ้านแม่โกนเกนซึ่งเป็นที่หลบภัยของผู้ลี้ภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลัง DKBA ภายใต้การนำของนายพลนาคามวย เขาบอกผมว่าไม่รู้สึกแปลกใจหรือตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาได้อยู่แล้วและการสู้รบครั้งนี้ก็เป็นเพียงการต่อสู้ครั้งเล็ก ๆ ครั้งนี้ไม่น่ากลัวหรอก เมื่อวานได้ข่าวว่ามีลูกปืนใหญ่ตกมาถูกควายตายไปหนึ่งตัว พวกหัวหน้าก็ไปคุยให้ เดี๋ยวก็ได้เงินคืนชดเชยแล้วก็จบกันไป นี่เมื่อกี้ก็ได้ยินเสียงตามสายประกาศบอกให้คนที่หนีเข้ามากลับไปได้แล้ว... ไม่เป็นไรหรอก" แกยังพูดอย่างไม่ยี่หระ
 
สายของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 สิ้นเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ไทยว่าทหารพม่าควบคุมสถานการณ์ในหมู่บ้านปะลูได้แล้ว ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ ลานวัดห้วยมหาวงก์ก็ดูวุ่นวายโกลาหลขึ้นมาทันที
ผู้ลี้ภัยกว่าพันคนเตรียมก๋วยใส่ของ ถุงกระสอบ เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มารอรถของเจ้าหน้าที่ที่จะพาพวกเขากลับบ้าน แต่อีกมุมหนึ่งของวัด กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านปะลูโพ (ผาลูน้อย) กำลังกังวลกับคำประกาศของเจ้าหน้าที่ให้พวกเขากลับบ้านได้
 
"ขอให้พวกเราอยู่ต่อ รอฟังข่าวอีกนิดไม่ได้หรือ ? ป้าคนหนึ่งจากบ้านปะลูโพบอกกับอาสาสมัคร
ชาวปกาเกอะญอที่เป็นล่ามให้เจ้าหน้าที่ไทย “DKBA ออกจากหมู่บ้านแล้วก็จริง แต่ทางที่พวกนั้นถอยทัพไปเป็นทางที่ต้องผ่านหมู่บ้านของฉัน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าระหว่างการถอยทัพจะไม่มีการต่อสู้กันอีกรอบ ลองคิดดูถ้าทหารพม่าตามไปปราบกองกำลังฝ่ายตรงข้ามหรือกองกำลังฝ่ายตรงข้าม คิดจะกลับไปโจมตีทหารพม่าอีกครั้ง หมู่บ้านของฉันซึ่งอยู่ตรงกลางจะเป็นอย่างไร ให้พวกเรากลับไปตอนนี้ก็เท่ากับว่าส่งพวกเราไปอยู่กลางสงคราม
 
"ใครจะกล้ากลับ ..." ชายวัยกลางคนที่อุ้มลูกสาวตัวน้อยพูดขึ้น เขากลัวว่าหากกลับไปตัวเองจะต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบถ้าทหารพม่าคิดจะออก ติดตามกองกำลังฝ่ายตรงข้าม เขารู้ว่าหากถูกเลือกให้ไปเป็นลูกหาบแล้วจะต้องเดินนำหน้าทหารพม่าคอยเป็น เกราะกำบังลูกกระสุนปืนให้
 
ไม่นานนักรถของเจ้าหน้าที่คันหนึ่งก็ถอยเข้ามาบริเวณลานวัดพร้อมกับเสียงคนขับที่ตะโกนว่า เกาะมะนาว...เกาะมะนาวแต่ป้าแก่ๆคนหนึ่งยังคงนั่งนิ่งอยู่ข้างกระสอบใส่ของ "สถานการณ์แบบนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าจะกลับดี ไม่กลับดี... ข้าวสักต้นก็ยังไม่ได้เกี่ยว ข้าวโพดในไร่ก็เหลืองอยู่รอให้หัก ถั่วอีกสองปี๊บที่พึ่งลงดินไปก็ไม่มีใครดูแล ถ้าไม่กลับตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะเอาอะไรกิน"
 
แม้จะบอกอย่างนี้แต่แกก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลุกไปขึ้นรถ แกบอกกับผมว่า จริงๆแล้วไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการกินอยู่มากนักหรอก เพราะหากไม่มีข้าวก็ยังข้ามน้ำมาฝั่งไทยเพื่อรับจ้างทำงานแลกข้าวกินได้ แต่ที่ห่วงก็คือหนี้ที่เกิดจากการลงทุนปลูกข้าวโพดและถั่ว แกไปยืมเมล็ดพันธุ์มาจากเถ้าแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งเถ้าแก่ก็รับมาจากฝั่งไทย กู้กันเป็นทอดๆ ราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าก็ต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าแกไม่รีบกลับไปเก็บเกี่ยวผลผลิตตอนนี้ แกก็คงไม่มีทางปลดหนี้ที่กู้มาลงทุนได้แน่ ๆ
 
ผู้ลี้ภัยกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าทยอยขึ้นรถกลับบ้าน กระทั่งบ่ายสองกว่าๆ อาสาสมัครปกาเกอะญอผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามบอกกับคนที่ยังเหลือว่า "เราช่วยพูดให้เต็มที่ได้เท่านี้ ถ้ายังไม่กล้ากลับไปหมู่บ้าน ก็ให้รอดูสถานการณ์อยู่ริมแม่น้ำก่อน เตรียมที่หลับที่นอนหุงหาข้าวกินอยู่แถวนั้น ถ้าสถานการณ์ไม่ดีก็ให้กลับมา" แล้วเขาก็หันไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ข้างๆว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ยังกลัวว่าหากมีการสู้รบอีก ทหารไทยจะไม่ยอมให้หนีเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ข้างๆ หันมายิ้มอย่างเป็นมิตรให้กับผู้ลี้ภัย แล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรหรอก ยังไงก็ให้กลับเข้ามา ถึงจะเป็นทหารก็มีมนุษยธรรมพอนะ
 
หลังจบการข่าวห้าโมงเย็น ผมขับรถออกจากร้านขายของชำกลางเมืองแม่สอด ค่ำนี้แม่สอดดูไม่คึกคักเหมือนหลายเดือนก่อน ร้านรวงต่างๆเริ่มปิด ผู้คนทยอยกลับเข้าบ้าน ผมไม่รู้ว่าเด็กน้อยที่ถูกแม่อุ้มขึ้นเรือเพื่อข้ามน้ำไปเกาะมะนาวเมื่อกลางวันจะกลับถึงบ้าน หรือต้องนอนคอยฟังสถานการณ์อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอีกคืน เหตุการณ์เหล่านี้คงจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาเมื่อเขาโตขึ้นเป็นคนชายแดน คนที่ต้องทำใจกับสงครามที่ไม่มีท่าทีจะจบลง   
 
 
ใครๆมักถามว่าศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนเป็นใคร ? ---แนะนำกันอีกครั้งค่ะ
 
 
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนเป็นพื้นที่ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ อดิศร เกิดมงคล, พรสุข เกิดสว่าง, บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ และบัณฑิต แป้นวิเศษ พวกเราเชื่อว่า สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์หนี ประชาชนจี้ซ้ำต้องยกเครื่องแผนโลกร้อน

Posted: 01 Dec 2010 03:32 AM PST

 
 
 
 
กลุ่มชาวบ้านเผาแบบจำลองนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าต่างๆหน้าทำเนียบ เพื่อแสดงว่าพวกเขาไม่ต้องการอุตสาหกรรมสกปรกที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อน
 
1 .. 53 - ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 เครือข่ายประมาณ 700 คน ได้เดินทางออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา 8.00 น. ไปยื่นหนังสือและขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความชัดเจนในการยกเลิกร่างแผนแม่บทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2553- 2562 และจัดให้มีกระบวนการการจัดทำแผนฯ ขึ้นใหม่
 
ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือให้กับนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อให้ยกเลิกแผนแม่บทฯดังกล่าวซึ่งร่างขึ้นโดยสำนักงานแผนและนโยบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากกระบวนการขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม เนื้อหาไม่ตอบโจทย์โลกร้อน และมีแนวโน้มสร้างความเดือนร้อนให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ รัฐบาลยังไม่อาจให้ความชัดเจนในการตอบต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ทำให้จะต้องเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือและขอเข้าพบนายกฯอีกครั้งหนึ่ง
 
แต่หลังจากเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานแจ้งว่านายกฯติดภารกิจไม่สามารถมาพบได้ และขอให้เครือข่ายฯเข้าพบคนอื่นแทน ซึ่งเครือข่ายฯได้แจ้งความประสงค์ของพบ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ แต่จนกระทั่งถึงเวลา 13.00 น. ก็ไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมาพบเครือข่ายฯดังที่ได้ตกลงไว้แต่ประการใด
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้กล่าวว่า ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่จริงใจที่จะลดโลกร้อนจริง สะท้อนจากพฤติกรรมวันนี้ แค่นี้ก็ไม่อยากเจอหน้าประชาชน แต่กลับเดินทางไปเปิดงานที่มหาวิทยาลัยเกษตร เห็นเรื่องอื่นสำคัญกว่า ที่มีแผนแม่บทก็ทำเพื่อบอกตัวเองเท่านั้นว่าได้ทำแล้ว นี่คือบทพิสูจน์ที่เราเห็นในวันนี้
 
นายพฤ โอ่โดเชา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจ ผิดหวัง นึกว่าอภิสิทธิ์จะเป็นนายกรุ่นใหม่ที่เข้าใจประชาชน เอาประชาชน ชาวบ้านและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่เห็นต่างจากนายกคนอื่นๆ วันนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าธาตุแท้ของอภิสิทธิ์ว่าอยู่ข้างประชาชนหรือไม่ ขนาดปัญหาน้ำท่วมเป็นวิกฤตที่เพิ่งเกิดขึ้น ขนาดนี้แล้วยังไม่กระตือรือล้นที่จะมาพูดคุยกับประชาชน ไม่ใช่ว่าจู่ๆเราก็มา เรายื่นหนังสือมา 1 เดือนแล้ว เขารู้ ถ้าเขาเห็นความสำคัญของภัยธรรมชาติที่เป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อน เขาต้องเอาเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน แต่รู้สึกว่านายกจะมุ่งแต่จะหาคะแนนเสียงเพื่อการเลือกตั้งในสมัยหน้าเท่านั้น
 
นางจินตนา แก้วขาว เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ผิดจากที่คาดไว้ เพราะจากการตอบสนองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตอบจดหมายเรื่องแผนแม่บท การเพิกเฉยในหลายต่อหลายเรื่องที่เราเคยมาเรียกร้อง รัฐบาลไม่เคยให้ความร่วมมือ อย่างนี้แสดงว่าเขาจะเดินหน้าแผนแม่บทและแผนพัฒนาภาคใต้แน่ คราวนี้เป็นหน้าที่ของพี่น้องที่จะนำไปสู่การล้มการประชุมทุกที่ที่รัฐบาลจะจัดขึ้น ในเมื่อเขาไม่ให้ความร่วมมือ เราก็จะไม่ให้ความร่วมมือเช่นกัน
 
นางกัญญา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามบิดเบือนมาโดยตลอด เวทีรับฟังความเห็นแผนแม่บทที่สุราษฎร์ก่อนหน้านี้ เขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจรับฟังเราจริง เลยนำมาสู่การล้มเวที เขาทำหนังสือบอกมาว่าจะรับฟังชาวบ้าน แต่ไม่ยอมยกเลิกแผนแม่บท ที่เขาไม่ยกเลิกเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ วันนี้ที่เรามาก็เพื่อจะบอกให้เขารู้ว่าประชาชนต้องการอะไรบ้าง แต่ชาวบ้านก็ได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่จริงใจ หลังจากนี้ ประชาชนคงต้องลุยต่อ เพราะปัญหาหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนต่อรัฐบาลในประเด็นโลกร้อน
 
30 พฤศจิกายน 2553
 
โลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งขณะนี้ การประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่16  ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกกำลังเริ่มต้นขึ้น ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย เครือข่ายประชาชนต้องการให้ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากในประเทศของเรา และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดกลไกการตั้งรับปรับตัวสำหรับผู้ที่จะได้รับหรือได้รับผลกระทบจากโลกร้อนแล้ว ภัยแล้งและอุทกภัยที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยประสบในปีนี้ เป็นหลักฐานว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รอต่อไปอีกไม่ได้!
 
จากการศึกษาร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 25532562 ในรายละเอียดแล้ว เครือข่ายประชาชนมีข้อสรุปตรงกันว่า นอกจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการยกร่างจะถูกละเลยแล้ว เนื้อหาของตัวร่างยังมีปัญหาอย่างยิ่ง โดยมิใช่เป็นความบกพร่องในรายละเอียดเท่านั้นและเป็นปัญหาในระดับทิศทางและโครงสร้างของแผน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขโดยการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมเฉพาะส่วนได้
 
เครือข่ายประชาชนจึงได้มีข้อเรียกร้องร่วมกันส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้มีบัญชาการยกร่างแผนแม่บทขึ้นใหม่ ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะนี้ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้วเครือข่ายประชาชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในทันที
 
เครือข่ายประชาชนขอประกาศจุดยืนต่อรัฐบาลและสาธารณะว่า จะติดตามนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไปอย่างใกล้ชิดและไม่ลดละ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทบทวนกระบวนการยกร่างแผนแม่บทฯ ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนขอยืนยันหลักความเป็นธรรมในการลดผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแผนแม่บทฯ และแนวนโยบายรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยงข้อง จะต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการดังต่อไปนี้
 
1.ยึดหลักที่ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไข โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางสภาพเศรษฐกิจและศักยภาพในการปรับตัวของประชากร
 
2.ประเทศไทยจะต้องตั้งเป้าหมายในการควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและมีสภาพบังคับภายในรัฐ ทั้งนี้ ภาคการผลิตพลังงานและภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องได้รับการปฏิรูปและควบคุมการขยายตัวอย่างจริงจัง โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
 
3.ปรับแผนพัฒนาพลังงานให้เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุด หยุดการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นตัวการสำคัญของโลกร้อน และไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งไม่มีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งปฏิรูปให้มีการเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียมในสังคม รวมถึงส่งเสริมการกระจายการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน
 
4.สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศ ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒณธรรมของชุมชน  เพราะเป็นทางออกสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวในภาคเกษตรอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
 
5.รัฐจะต้องยอมรับสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจน ก่อนจะมีการรับมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับภาคป่าไม้มาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
6. แนวทางการพัฒนาของรัฐในปัจจุบันกำลังส่งผลในเชิงลบต่อความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน ดังนั้นรัฐจะต้องสนับสนุนและสร้างกลไกการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที ให้กับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก และเกษตรกรรายย่อย
 
เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อดังต่อไปนี้
1. สมัชชาคนจน
2. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
3. เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือล่าง
4. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง
5. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
6. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
7. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
8. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.)
10. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ ลุ่มน้ำเซิน
11. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก (เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องเรดด์)
13. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
14. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
15. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
16. เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ (นครศรีธรรมราช)
17. กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
18. กลุ่มปะทิวรักษ์ถิ่น จังหวัดชุมพร
19. เครือข่ายรักษ์ละแม จังหวัดชุมพร
20. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
21. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
22. กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
23. กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
24. กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวขั้นกระได ต.อ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
25. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
26. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
27. กลุ่มอนุรักษ์ห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
28. กลุ่มรักท้องถิ่นกุยบุรี-สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
29. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
30. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
31. คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์สู้รบพม่าชน-กลุ่มน้อย ล่าสุดหนีตายเข้ามายังฝั่งไทยร่วม 200 คน

Posted: 01 Dec 2010 03:19 AM PST

1 พ.ย. 53 - กลุ่มเพื่อนพม่า (FOB) รายงานสถานการณ์ ใกล้เขตสู้รบชายแดนไทยพม่าว่าตั้งแต่คืนวันที่ 29 พ.ย. 2553 จนถึงเวลาเที่ยงของวันที่ 30 พ.ย. 2553 มีการสู้รบเกิดขึ้น 3 ครั้ง ในจำนวนนั้นมีการยิงปืนใหญ่และกระสุน ชาวบ้านมากกว่า 200 คนได้หนีเข้ามายังฝั่งไทยและพักอยู่ที่หมู่บ้านแม่โกนเกน ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยได้ถูกพาไปพักที่พื้นที่ว่างใกล้กับวัดห้วยมหาวงศ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาพักอยู่ก่อนจะกลับไปก่อนหน้านี้ มีชาวบ้านบางส่วนอาศัยอยู่ตามไร่นาและบางคนก็พักอาศัยอยู่บ้านเพื่อนและญาติฝั่งไทย

โดยชาวบ้านรายหนึ่งที่หนีภัยเข้ามาในฝั่งไทยเมื่อเช้าวันดังกล่าวบอกว่า เขาเห็นชาวบ้านคนหนึ่งถูกทหารพม่ายิงตาย โดยชาวบ้านได้สูญเสียทรัพย์สิน, นาข้าว, ไร่ถั่ว และไร่ข้าวโพดก็ถูกทำลาย

ทั้งนี้ชาวบ้านมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยและอาหารสำหรับปีหน้าเป็นหลัก ชาวบ้านหลายคนยังคงทำนา ทำสวนไม่เสร็จและพวกเขาก็ต้องละทิ้งงานมา ถ้าหากการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป และชาวบ้านไม่สามารถทำสวนทำไร่ให้เสร็จได้ พวกเขาจักต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความอยู่รอด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ความ (ไม่) ยุติธรรม

Posted: 01 Dec 2010 03:05 AM PST

เช้าวันหนึ่งขณะที่จะถอยรถออกจากบ้าน ผมบอกลูกชาย (ที่กำลังเรียน ป.1) ว่า เป็นหนึ่งไปเปิดประตูบ้านให้พ่อหน่อย เขาย้อนว่า อีกแล้ว เดี๋ยวนี้พ่อไปค่อยไปเปิดประตูบ้านเลยนะ ไม่ทันที่ผมจะอธิบายอะไร เขาพูดต่อว่า เราเป่ายิ้งฉุกกันไหม
 
เขาคงคิดว่า ที่เขาต้องคอยเปิดประตูเป็นประจำเวลาพ่อขับรถเข้า-ออกบ้านมันไม่ยุติธรรม และคิดว่าวิธีเป่ายิ้งฉุบเป็นวิธีตัดสินที่ยุติธรรมในบางเรื่องที่เราตกลงกันไม่ได้ แสดงว่าคนเราที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้ย่อมต้องการสิ่งที่เรียก ความยุติธรรมเราอาจพูดได้ว่าธรรมชาติของความเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลสะท้อนถึงธรรมชาติของความเป็นสัตว์ที่ต้องการความยุติธรรม
 
ความยุติธรรมคือสิ่งที่เราอธิบายได้ด้วยเหตุผล หรืออธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล ความเป็นมนุษย์ของเราเรียกร้องความยุติธรรมที่อธิบายได้ด้วยเหตุผลในแทบทุกเรื่อง ดูเหมือนว่าเราจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ หรือยอมรับไม่ได้หากเห็นว่าเรื่องใดๆ ก็ตามไม่ยุติธรรม เช่น
 
มันยุติธรรมหรือไม่ที่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้วก็สร้างความชั่วร้าย ความทุกข์ยาก โรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัตินานาประการให้มนุษย์ (ในฐานะเป็นบุตรที่พระองค์รัก) ต้องเผชิญ เพื่อคลี่คลายความอึดอัดใจนี้ เราก็สร้างคำอธิบายว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำตามกฎหรือขบถต่อกฎของพระองค์ก็ได้ และเมื่อพระเจ้าตั้งกฎแก่มนุษย์คู่แรกของโลกพร้อมกับแจ้งให้ทราบว่าหากเขาทั้งสองละเมิดกฎจะถูกลงโทษให้ได้รับความตายและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ตามมา แล้วมนุษย์ก็เลือกที่จะทำผิดกฎ ดังนั้น ก็ยุติธรรมแล้วที่เขาต้องได้รับการลงโทษจากการเลือกนั้น
 
แต่พระเจ้าก็ไม่ได้ทอดทิ้งบุตรของพระองค์ หากเขาสำนึกผิด กลับมาศรัทธาและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เขาก็จะพ้นจากบาปกลับไปอยู่ในสวรรค์ของพระองค์อีกครั้ง ฉะนั้น คนที่ศรัทธาในพระเจ้าก็เพราะมีเหตุผลอธิบายได้ว่าพระเจ้ายุติธรรม
 
บางคนสงสัยว่า ทำไมเราเกิดมาแตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งเกิดมาสมประกอบ อีกคนเกิดมาพิการ ทำไมคนจึงเกิดมาโง่ ฉลาด รวย จน ฯลฯ ไม่เท่ากัน มันยุติธรรมหรือไม่ที่ธรรมชาติจัดสรรให้เราต้องเกิดมาแตกต่างกันเช่นนี้ เพื่อคลี่คลายความสงสัยนี้ก็มีคำอธิบายว่ามีกฎธรรมชาติบางอย่างคือกฎแห่งกรรมที่คอยกำหนดว่า แต่ละคนกระทำอย่างไรย่อมได้รับผลอย่างนั้น
 
ตามกฎข้อนี้ ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้มีเสรีภาพในการเลือกการกระทำ เมื่อเขาเลือกการกระทำเช่นไรเขาย่อมต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา การกระทำของเขาคือการสร้างตัวตนของเขา เมื่อแต่ละคนใช้เสรีภาพเลือกการกระทำที่แตกต่างกันเขาจึงได้รับผลของการกระทำที่แตกต่างกัน นี่คือความยุติรรมตามกฎธรรมชาติ
 
ความยุติธรรมภายใต้กฎของพระเจ้าก็ดี ความยุติธรรมภายใต้กฎธรรมชาติก็ดี เป็นความยุติธรรมที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าอธิบายได้ด้วยเหตุผล ฉะนั้น เขาจึงนับถือศาสนาที่อธิบายความยุติธรรมเช่นนั้นที่ทำให้เขาข้าใจได้ว่า หากปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้นๆ แล้ว เขาจะได้รับผลที่ยุติธรรม
 
ในทางสังคม-การเมือง ความยุติธรรมยิ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน หรือเป็นรากฐานของสัญญาประชาคมในการสร้างระบบสังคม-การเมือง หมายความว่าระบบสังคม-การเมือง การปกครอง กฎหมายหรือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จำเป็นต้องอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่าให้ยุติธรรมแก่สมาชิกของสังคมอย่างเท่าเทียม หากอธิบายไม่ได้ความปรองดองหรือสันติภาพก็ไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมนั้นได้
 
อย่างที่เห็นในบ้านเรา ระบบสังคม-การเมืองไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นบนรากฐานของหลักความยุติธรรมที่เคารพความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ต้น ฉะนั้น ระบบการปกครอง การใช้อำนาจรัฐ การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเป็นต้น จึงไม่อาจให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมได้
 
สำหรับคนที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้ ฝ่ายที่เหนือกว่าย่อมได้รับการปกป้องเป็นพิเศษจากกฎหมายของรัฐ จารีตประเพณี หากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่มีสถานะความเป็นคนที่เหนือกว่า (รวมทั้งพวกเดียวกับเขา) กับฝ่ายที่ด้อยกว่า แน่นอนว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายย่อมไม่แฟร์หรือไม่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม
 
ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวนี้ คือ ความไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่ายุติธรรมอย่างไร เช่น ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่า กรณีเขายายเที่ยงกับเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน กรณีทำกับข้าวออกทีวีกับเป็นอาจารย์พิเศษรับจ้างสอนหนังสือ กรณียุบพรรคการเมืองอื่นๆ กับไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ คือความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมอย่างไร
 
กรณีคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ศาลให้ความสำคัญสูงสุดกับสิ่งที่เรียกว่า due process หรือกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ แต่กรณีทำรัฐประหาร แล้วโจทย์ตั้งข้อกล่าวหาผู้ถูกทำรัฐประหารเอง ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาสอบสวนความผิดเอง และส่งฟ้องศาลเองได้ (ไม่นับว่าอัยการ ศาลเป็นฝ่ายเขาเองหรือไม่?) สิ่งที่เรียกว่า  due process กลับถูกละเลย หรือเสมือนว่าจงใจตัดทิ้งไป
 
เพียงบางตัวอย่างที่ยกมา ใครอธิบายด้วยเหตุผลได้บ้างว่าสังคมเรามีความยุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม หรือทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาค!
 
หากอธิบายไม่ได้ ก็หมายความว่าสังคมนี้ไม่มีความยุติธรรม และในเมื่อธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการความยุติธรรม เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าหรือมีศักดิ์ศรีก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ฉะนั้น ความไม่ยุติธรรมจึงเป็นอันตรายต่อความเป็นมนุษย์ เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เมื่อมนุษย์อีกฝ่ายหนึ่งถูกทำลายสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม เราจะเรียกร้องให้เกิดความปรองดอง ให้เกิดความรู้รักสามัคคี หรือความสงบสุขในสังคมได้อย่างไร
 
หากไม่รื้อระบบความยุติธรรมอย่างถึงรากฐาน จนสามารถสถาปนาระบบสังคม-การเมืองขึ้นจากสัญญาประชาคมที่ยึดหลักความยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคในความเป็นคน ปัญหาสองมาตรฐานย่อมไม่มีวันพบทางแก้
 
ความสงบสุขของสังคมยิ่งเป็นจินตนาการที่ไม่มีทางเป็นไปได้!     
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนสำนึก

Posted: 01 Dec 2010 03:01 AM PST

 
หมายเหตุจากผู้เขียน:

ความเห็นฉบับนี้เขียนขึ้นช่วงข้ามคืน ยังพร่องในความสมบูรณ์และหวังจะได้ปรับปรุงต่อไปในอนาคต หากผู้อ่านมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ หรือข้อติติง ขอน้อมรับฟังที่ verapat@post.harvard.edu. ประเด็นวิชาการบางส่วนความเห็นในฉบับนี้ ได้เคยนำเสนอไว้แล้วในวิทยานิพนธ์ สืบค้นได้ที่ Google: “Verapat Harvard Paper” อนึ่ง “มาตรา” และ “กฎหมาย” ที่กล่าวถึงในความเห็นนี้ หมายถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ (สำเนาดูได้ที่ http://www.parliament.go.th/mp2550/asset/law_party.pdf) เว้นแต่บริบทจะแสดงเป็นอื่น

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ http://sites.google.com/site/verapat/ (ดูฉบับเต็มและภาคผนวกในเว็บไซต์นี้)

 
บทนำ
 
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก โดยมติ ๔ ต่อ ๒ เสียงให้ยกคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย และรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท”) โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขณะที่ทำความเห็นนี้ ศาลได้เผยแพร่คำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ บนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ (http://www.constitutionalcourt.or.th/) มีทั้งสิ้น ๑๕ หน้า ซึ่งมีใจความตรงกับคำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่าน และสื่อมวลชนได้รายงานต่อประชาชนไปเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.  ๒๕๕๓ แล้ว ต่อมาในวันที่ ๓๐ พ.ย.  ๒๕๕๓ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวที่ ๒๔/๒๕๕๓ โดยอธิบายถึงวิธีการลงมติของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม ซึ่งมิได้มีการระบุไว้ในคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ
 
ด้วยความอัศจรรย์ใจในคำวินิจฉัยและความเคารพอย่างแท้จริงต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ทำความเห็นน้อมและยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว อีกด้วยสำนึกในสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา ๔๕, ๖๙ และ ๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำความเห็น ดังมีประการต่อไปนี้
 
. วิธีการกำหนดประเด็นเพื่อลงมติเป็นที่กังขา
 
ศาลวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก โดยมติ ๔ ต่อ ๒ เสียงให้ยกคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย และรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่มาจองตุลาการเสียงข้างมากนั้นมีแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ๓ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่สอง ๑ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด
 
หากเราพิจารณาในสาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรกแล้ว จะเห็นว่าตุลาการทั้งสามมิได้ติดใจที่จะรับหรือปฏิเสธเรื่องการพ้นระยะเวลาสิบห้าวัน เพราะมองว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในทางกลับกัน สาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มที่สองมีความเห็นชัดเจนว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ไปแล้ว หากพิจารณา ตุลาการทั้งหกที่ลงมติอย่างระเอียด จะพบข้อสังเกตว่ามีตุลาการถึง ๓ เสียงที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มที่สอง ๑ เสียงบวกกับตุลาการเสียงข้างน้อยอีก ๒ เสียง ซึ่งเป็นผลทำให้มีเสียงมติที่ค้านกับเหตุผลของเท่ากับตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรกอีก ๓ เสียงที่เห็น ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
ในทางหนึ่งอาจมีผู้ให้เหตุผลว่า การกำหนดวิธีการลงมติเป็นไปถูกต้องแล้ว เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูรายละเอียดของเหตุผล แต่ควรพิจารณาถึงผลสุดท้ายของการลงมติ ดังนั้น เมื่อตุลาการเสียงข้างมากทั้งสองกลุ่ม แม้จะมีเหตุผลต่างกัน แต่ท้ายที่สุดตุลาการทั้งสี่ก็ได้ข้อสรุปเดียวกันว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นมติข้างมากที่ชอบแล้วไม่ ผู้ทำความเห็นขอไม่ทักถ้วงถึงปัญหาเชิงตรรกะของการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวในรายละเอียด การกำหนดวิธีการลงมติที่น่ากังขาเช่นนี้ เคยมีนักวิชาการแสดงความเห็นถ้วงไว้แล้ว เช่น ในคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในปี ๒๕๔๔
 
ผู้ทำความเห็นเพียงแต่จะย้อนถามว่า หากเราอาศัยตรรกะเดียวกันนี้เอง ที่ว่าแม้สาระแห่งเหตุผลต่างกันแต่หากสุดท้ายได้ข้อสรุปตรงกัน ก็นับรวมกันได้แล้วฉันใด ข้อสรุปที่ได้จากตุลาการเสียงข้างมาก ๑ เสียงบวกกับตุลาการเสียงข้างน้อยอีก ๒ เสียง ก็คือข้อสรุปที่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว อันจะหักล้างตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรกอีก ๓ เสียง โดยมติที่เท่ากัน โดยฉันนั้น มิใช่หรือ?
 
หากจะลองเปลี่ยนจากตรรกะที่ยึดข้อสรุป มาเป็นตรรกะที่ยึดสาระแล้ว ผู้ทำความเห็นจะแสดงให้เห็นต่อไปว่า สาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากทั้งสี่ที่มีความเห็นเป็นสองกลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม ก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง จนมิอาจถือได้ว่าเป็นมติตุลาการเสียงข้างมากที่ชอบธรรมได้
 
อนึ่ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจข่าวสารที่สื่อมวลชนรายงานหลังจากมีการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้ว ข้อวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ ดูจะเกี่ยวข้องกับประเด็นมติตุลาการ ๑ เสียง ที่เห็นว่าการยื่นคำร้องต่อศาลพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดก่อน โดยประชาชนทั่วไปไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเรื่องระยะเวลาเป็นเพียงมติ ๑ เสียง อีกทั้งคำวินิจฉัยลายลักษณ์อักษร อย่างไม่เป็นทางการที่ศาลได้เผยแพร่ต่อประชาชน บนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มิได้กล่าวไว้ชัด จนกระทั่งวันต่อมาได้มีการเผยแพร่ข่าวโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและมีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนโดยตุลาการท่านหนึ่งเพื่อขยายความ คงหวังแต่เพียงว่าในอนาคต คำวินิจฉัยที่เผยแพร่ก็ดี หรือที่อ่านก็ดี คงจะชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคนซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทำให้เสร็จสิ้นและแถลงเป็นวาจาก่อนลงมติในคำวินิจฉัยกลางนั้น ก็น่าจะเผยแพร่ในเอกสารไปพร้อมกัน เพื่อช่วยให้ตุลาการไม่ต้องลำบากใจ ถูกเข้าใจผิดว่ามติใดเป็นของใคร อีกทั้งเพื่อให้ตุลาการไม่ต้องถูกตั้งคำถามว่า แรงตอบรับของสังคมต่อคำวินิจฉัยกลาง ได้กระทบต่อคำวินิจฉัยส่วนตนที่เปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลังหรือไม่ อย่างไร
 
. เหตุผลทางกฎหมายไม่เป็นที่กระจ่างชัด
 
ไม่ว่าวิธีการลงมติเสียงข้างมากที่ปรากฏจะชอบธรรมหรือไม่ เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากทั้งสองกลุ่ม ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดอีกทั้งขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง โดยผู้ทำความเห็นจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการ ๑ เสียงที่เห็นว่า ระยะเวลายื่นคำร้องต่อศาลต้องนับจากวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ก่อน จากนั้นจึงจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากอีก ๓ เสียง ที่เห็นว่าในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
. เหตุผลเรื่องระยะเวลายื่นคำร้อง
 
ประเด็นหนึ่งที่ศาลใช้วินิจฉัยการยกคำร้องในคดีนี้คือ เหตุความผิดที่จะนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๓ วรรคสองนั้น ได้ปรากฏต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด
 
มาตรา ๙๓ วรรคสองบัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง   (เหตุในคดีนี้คือมาตรา ๘๒ กรณีการได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง) ให้นายทะเบียนโดยความ
เห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน   
 
ศาลวินิจฉัยว่า เหตุความผิดได้ปรากฏต่อนายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
 
คำถามคือ ศาลนำหลักหรืออะไรมาสรุปว่าระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒
 
หากพิจารณาคำวินิจฉัย หน้า ๑๒-๑๓  ศาลอธิบายว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔๔/ ๒๕๕๒ ในส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีนี้ (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งตามรวมกันไปกับอีกข้อหา (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อนว่า แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น
 
ศาลอธิบายต่อว่า ในการประชุมครั้งที่ ๔ ๑/๒๕๕๓ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อกล่าวหาเกี่ยวพันกัน จึงยังคงมีมติให้แจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) เช่นเดิม โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองและนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท)  และต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๔๓/ ๒๕๕๓ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์ (นายอภิชาต มิได้เข้าประชุม) ยืนยันเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง
 
ศาลอธิบายต่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า มติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่จำต้องเสนอความเห็นก่อนอย่างใด กรณีถือได้ว่าคดีนี้ ความได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคแรกแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว และระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว
 
นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยหน้า ๑๔ ศาลกล่าวต่อว่า วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธาน ในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
 
จากการให้เหตุผลของศาล ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้
 
.๑.๑ ผู้ทำความเห็นเข้าใจว่า ระยะเวลาสิบห้าวันจะเริ่มนับได้ต่อเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เห็นว่าเหตุความผิดปรากฏต่อตัวนายทะเบียน แล้วจึงอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประชาชนที่ไม่อาจเข้าถึงเอกสารแห่งคดีได้ทั้งหมด ผู้ทำความเห็นย่อมต้องอาศัยข้อเท็๋จจริงที่ศาลอธิบายในคำวินิจฉัย แต่หากอ่านจากคำวินิจฉัยแล้ว ไม่มีส่วนใดเลยที่ศาลยกพยานหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ให้การรับว่าตนได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อตนแล้วหรือยัง
 
.๑.๒ ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังในคำวินิจฉัย หน้า ๖ ระบุว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายอภิชาตในฐานะประธาน กรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนั้นเอง ย่อมหมายความว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งมิได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อตน (ในฐานะประธาน กรรมการการเลือกตั้ง) แต่อย่างใด
 
จริงอยู่ ศาลควรพิจารณาข้อกฎหมายที่กำหนดให้นายอภิชาต ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแม้เป็นคนเดียวกันแต่มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ซึ่งศาลก็ได้อธิบายไว้ในคำวินิจฉัยอย่างดี เช่น ในหน้า ๑๐-๑๑ ว่า การลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งนายอภิชาตเข้าร่วมด้วยในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้  การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะของนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือที่ว่า การที่กฎหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลย่อมหมายความว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ฉันใด การทำความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น
 
แต่คำอธิบายอันฟังสละสลวยดังกล่าวก็เพียงแต่คำอธิบายในเรื่องบทบาทหน้าที่ โดยศาลพยายามจะอธิบายว่าวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้ให้ความเห็น (และไม่สามารถให้ความเห็น) ในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องว่าเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้วหรือไม่แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมาตรา ๙๓ วรรคสอง เองก็ได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบด้วยกันในเรื่องเดียวกันจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้บทบาทหน้าที่จะต่างกัน แต่ กฎหมายก็ให้ตัวนายทะเบียน และประธานกรรมการการเลือกตั้งผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีบทบาทในการพิจารณาประเด็นในเรื่องเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือต้องอาศัยมโนสำนึกในทางกฎหมายของนักนิติศาสตร์คนหนึ่งที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
ท้ายที่สุด ศาลก็สรุปว่าเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว การวินิจฉัยของศาลลักษณะนี้ ทำให้เกิดความแปลกประหลาด กล่าวคือ นายอภิชาต ผู้เคยเป็นถึงประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ที่กฎหมายให้ความไว้วางใจสวมหมวกสำคัญสองใบในเวลาเดียวกันเพื่อสามารถดำเนินภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน สามารถมีมโนสำนึกในทางกฎหมายแยกเป็นสองมาตรฐาน มาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีเดียวกัน ให้ปรากฏผลต่างกันในเวลาเดียวกันได้ กล่าวคือ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ศาลรับฟังว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลกำลังบอกว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีมโนสำนึกแยกเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน โดยเห็นว่า เหตุความผิดกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ปรากฏขึ้นให้ตนเห็นแล้ว กระนั้นหรือ?
 
.๑.๔ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น คือตุลาการเสียงข้างมากผู้ทำคำวินิจฉัยเอง ก็ดูเหมือนจะมีมโนสำนึกในทางกฎหมายที่แยกเป็นสองมาตรฐานในวันเดียวกันที่เขียนคำวินิจฉัยเดียวกัน แม้จะร่วมกันเป็นเสียงข้างมากศาลจะสวมหมวกแต่เพียงใบเดียวในฐานะศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนี้
 
ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวกับตุลาการเสียงข้างมาก ๓ เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (หน้า ๘-๑๐) ศาลได้อธิบายว่า กฎหมายบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ในส่วนมาตรา ๙๓ วรรคสอง ที่เป็นประเด็นในคดีนี้ กฎหมายได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง) และนายทะเบียนพรรคการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือ หรือถ่วงดุลกัน  กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ หรือไม่ เนื่องมาจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติของพรรคการเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือ ศาลได้อธิบายหลักว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงนายอภิชาตในฐานะประธานด้วย) ไม่สามารถบังคับให้นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตราบใดที่นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่พบเหตุการกระทำความผิด (เช่น ตามมาตรา ๘๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมไม่สามารถมีมติให้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๙๓ วรรคสองได้
 
ผู้ทำความเห็นก็เห็นพ้องด้วยกับหลักที่ศาลได้อธิบายไว้ในส่วนนี้ อีกทั้งหากพิจารณามาตรา ๘๒ ประกอบกับ มาตรา ๔๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนจะไปสู่การยื่นเรื่องในมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว จะเห็นว่ากฎหมาย บัญญัติให้พรรคการเมืองไม่ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้ถูกต้องตามความเป็นจริงภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปแล้ว ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง มีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายได้ให้ความสำคัญกับนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้มีดุลยพินิจพิจารณาระยะเวลากับเหตุผลอันสมควร ซึ่งอาจเป็นเพราะนายทะเบียนต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะวินิจฉัยว่ามีเหตุปรากฏอย่างแท้จริงอันนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นคำร้องตามมาตรา ๙๓ วรรคสองได้ มิเช่นนั้นแล้ว ก็อาจมี ผู้อ้างได้โดยง่ายว่า ตนได้ส่งข้อมูลแสดงเหตุความผิดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับทราบไปเมื่อสิบห้าวันก่อน และถือว่าเหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนแล้ว
 
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลของตุลาการ ๑ เสียง (หน้า ๑๑) ศาลกลับอธิบายทำนองเป็นเหตุผลทางเลือกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจที่จะควบคุมและกำกับการดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด และต่อมา (หน้า ๑๓) ว่ามติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  (โดยมีนายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย)  ที่เห็นชอบให้อภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นกรณีที่ถือได้ว่า เหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าตาม มาตรา ๙๓ แล้ว และต่อมา (หน้า ๑๔)  ว่าวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธาน ในครั้งแรกและถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว
 
การให้เหตุผลเช่นนี้ ฟังประหนึ่งว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเห็นเหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคสองปรากฏต่อตนเมื่อใด ย่อมต้องพิจาราณาตามเวลาที่มีมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือตามวันที่ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ถึงแม้ในเวลานั้น มโนสำนึกในทางกฎหมายของนายอภิชาตในฐานะนักนิติศาสตร์คนหนึ่งขณะนั้น เองจะไม่เห็นเหตุปรากฏต่อตนก็ตาม หากเป็นเช่นนี้แล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังที่ศาลเองได้อธิบายไว้ ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย (หน้า ๘-๑๐)  ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลที่แปลกประหลาดคือนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยอม ตามมติหรือความเห็นของผู้อื่น ทั้งที่กฎหมายจะบัญญัติบทบาท หน้าที่ อำนาจและดุลยพินิจหลายประการให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ตาม
 
อีกทั้งหากกลับไปพิจารณาตรรกะของวิธิในการลงมติแล้ว โดยพิจารณาสาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม ที่หักล้างกันเองเสียแล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม ก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง
 
.๑.๕ หากเราเห็นด้วยว่าการยื่นคำร้องในคดีนี้พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจริง มโนสำนึกในทางกฎหมายย่อมนำพาให้พิเคราะห์ว่า ระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าว มีเจตนารมณ์และความมุ่งหมายเพื่อการใด
 
หากลองเปรียบเทียบข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาที่พอคุ้นเคย เช่นอายุความการฟ้องคดีแพ่ง หากผู้เสียหายไม่ฟ้องในระยะเวลาที่กำหนด เช่นภาย ๑ ปีก็ดี หรือใน ๑๐ ปีก็ดี แล้วแต่กรณี และคู่ความอีกฝ่ายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ผู้ฟ้องคดีย่อมเสียสิทธิ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายแพ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหายระมัดระวังและไม่เพิกเฉยดูดายต่อความเสียหายต่อสิทธิของตน รีบหาทางป้องกัน เยียวยาแก้ปัญหา ไม่ใช่สะสมความเสียหายไว้มาตั้งเป็นคดีหากได้เปรียบภายหลัง อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไปนาน พยานหลักฐานอาจสูญหายยากต่อการพิสูจน์
 
หากพิจารณาในบริบทคดีปกครองทั่วไป กฎหมายปกครองกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีที่กระชับพอเหมาะ เช่น ต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพราะการเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่ดำเนินการไปนานและมีผลเป็นการทั่วไปแล้วอาจเกิดความวุ่นวายได้ กระนั้นก็ดี ในบางกรณีที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์และความมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายปกครองก็คือการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
หากพิจารณาในบริบทวิธีบัญญัติทั่วไป ข้อกฎหมายที่บังคับให้คู่ความในคดีต้องยื่นเอกสารให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายภายในเวลาที่กำหนด ก็เพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายสามารถมีเวลาตรวจสอบเอกสารและเตรียมตัวได้ทันการ มิใช่นำหลักฐานหรือข้อหาใหม่มากล่าวหาโดยอีกฝ่ายมิได้ตั้งตัว เป็นต้น
 
หรือหากจะพิจารณาในบริบทของหลักความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมาย (due process of law) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายย่อมป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจสามารถใช้อำนาจละเมิดกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อได้มาซึ้งเป้าหมายที่อาจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เช่น การลักลอบนำหลักฐานการกระทำผิดที่ตำรวจได้มาโดยการใช้อำนาจตรวจค้นที่ผิดกฎหมาย เพื่อมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแม้ผู้ต้องหาจะกระทำผิดจริงก็ตาม เพราะหากปล่อยให้วิธีการที่ผิดนำไปสู่ผลที่อาจจะถูกแล้ว ก็จะเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจริดรอนสิทธิเสรีภาพได้ไม่จำกัด เพียงแค่อ้างในเป้าหมายเป็นสำคัญ
 
จากตัวอย่างเหล่านี้ หากหันมาพิจารณาเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของระยะเวลาสิบห้าวันในบริบทกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่ศาลวินิจฉัยในคดีนี้แล้ว พิเคราะห์ได้ว่า การสอดส่องติดตามกิจกรรมและการเงินของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายจึงกำหนดระยะเวลาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียน นายทะเบียนย่อมต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้า เช่น จะอ้างว่ากรรมการการเลือกตั้งติดธุระไม่ได้
 
ดั้งนั้น ระยะเวลาสิบห้าวันซึ่งสั้นมากจึงมุ่งบังคับให้กระบวนการตรวจสอบอันสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยและประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น ซึ่งต่างจากลักษณะของอายุความที่มีระยะเวลาเป็นปีในคดีแพ่ง หรือระยะเวลาในบริบทกฎหมายอื่น และที่สำคัญย่อมไม่ใช่ กรณีที่ความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมายจะเสียไป เพราะแม้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องเกินไปอีกเดือน หรือ อีกปี ก็มิได้เป็นกรณีที่ นายทะเบียนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้อำนาจโดยมิชอบต่อพรรคประชาธิปัตย์เพื่อได้มาซึ่งการเอาผิด แต่เป็นการทำผิดพลาดภายในองค์กรเสียเอง เว้นเสียแต่จะมีข้อเสียเปรียบที่ปรากฏ เช่น ยื่นคำร้องเกินไปสิบปีจนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้สู้คดีแล้ว จริงอยู่ว่าผลของการยื่นคำร้องเกินกำหนดสิบห้าวันอาจนำไปสู่การต้องรับผิดของผู้มีหน้าที่ยื่นคำร้องตามกฎหมาย  แต่ก็จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้สู้คดีโดยสง่างามอย่างเต็มที่ ก็ไม่สมควรเป็นเหตุให้ศาลต้องล้มเลิกกระบวนการเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ระยะเวลาสิบห้าพยายามทำให้เกิดเสียแต่แรก
 
ในทางกลับกัน หากเรายึดระยะเวลาสิบห้าวันดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยแล้ว อาจเกิดข้อโต้เถียงในอนาคตว่า แท้จริงแล้ว เหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคแรก ได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่มีปริมาณพยานหลักฐานมาก ซ้ำร้ายยังจะเป็นการกดดันให้นายทะเบียนและ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ลังเลที่จะใช้เวลาเพื่อพิจารณาเหตุความผิดโดยละเอียดในที่สุด
 
๒.๒ เหตุผลเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
ศาลอธิบายในคำวินิจฉัย (หน้า ๙-๑๑)  ว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔๔/ ๒๕๕๒ ในส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีนี้ (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งตามรวมกันไปกับอีกข้อหา (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อนว่า แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น  การที่นายอภิชาตได้ทำความเห็นส่วนตนในการลงมติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการกระทำในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
 
ศาลอธิบายต่อว่าการลงมติดังกล่าวแตกต่างจากการสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ได้มีความเห็น เช่นนั้นก่อนแล้ว จึงเสนอความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง
 
ศาลสรุปว่า เมื่อนายทะเบียนพรรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาตรา ๙๓ การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ได้
ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้
 
.๒.๑  การให้เหตุผลดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นการเพิ่มกฎเกณฑ์อันเข้มงวดที่ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ
 
ศาลให้เหตุผลว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องแสดงความเห็นในรูปแบบที่เฉพาะที่แยกชัดเจนจากการลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ทำความเห็นไม่แน่ใจว่าศาลนำหลักอะไรมาตีความว่า มาตรา ๙๓ วรรคสองที่บัญญัติว่า ให้นายทะเบียนโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนหมายความว่า นายอภิชาต ต้องสวมสถานะนายทะเบียนพรรคการเมืองในรูปแบบเฉพาะที่ศาลพอใจ เพื่อแจ้งความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน โดยศาลก็มิได้ระบุว่ารูปแบบมีกฎเกณฑ์อย่างไร เช่นต้องทำเป็นหนังสือ หรือกล่าวโดยวาจาในที่ประชุมโดยแจ้งให้ทราบว่าตนกำลังแสดงความเห็นใน ฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จากนั้นจึงกลับไปสนทนาในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง
 
ข้อเท็จจริงสำคัญในคำวินิจฉัย (หน้า ๗-๘) ศาลรับฟังว่า ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติสำหรับกรณีคำร้องในคดีนี้ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ (มีนายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย) ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ศาลอธิบายต่อว่า ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มิได้เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ โดยถือว่าความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตที่ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง
 
ผู้ทำความเห็นจำต้องนำประเด็นเรื่องมโนสำนึกในทางกฎหมายกลับมาถามว่า นายอภิชาตซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ที่กฎหมายให้ความไว้วางใจสวมหมวกสำคัญสองใบในเวลาเดียวกันเพื่อสามารถดำเนินภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน สามารถมีมโนสำนึกในทางกฎหมายแยกเป็นสองมาตรฐาน มาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีเดียวกัน ให้ปรากฏผลต่างกันในเวลาเดียวกันได้ กล่าวคือ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ศาลรับฟังว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลกำลังบอกว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีมโนสำนึกแยกเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน โดยเห็นว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กระนั้นหรือ?
 
.๒.๒ การเพิ่มกฎเกณฑ์อันเข้มงวดที่ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ นอกจากจะก่อให้เกิดผลประหลาดแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้าไปกำหนดการทำงานภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ระบบปฎิบติภายในองค์กรก็เพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว กล่าวคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นตรงกัน โดยมโนสำนึกของนายทะเบียนพรรคการเมืองปรากฎชัดต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ แล้ว และต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง มีมติเห็นชอบยืนยันอีกครั้ง
 
.๒.๓ ในขณะเดียวกัน ศาลไม่ได้ให้คำอธิบายเลยว่า หากปล่อยให้การดำเนินการดังกล่าวดำเนินต่อไปแล้ว จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญด้วยเหตุใด เช่น หากพิจารณาตามหลักความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมาย (due process of law) แล้วการดำเนินการดังกล่าวโดยผู้ใช้อำนาจคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ใช้อำนาจละเมิดกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อได้มาซึ้งเป้าหมายที่อาจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดยริดรอนสิทธิเสรีภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไร หรือ การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อระบบการใช้อำนาจระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างไร และที่สำคัญเมื่อพิจารณาตามหลักความได้สัดส่วน (proptionality principle) แล้ว การนำข้อขัดข้องที่ศาลพบเห็นและไม่ได้มีระบุไว้ชัดในกฎหมาย มาเป็นเหตุให้กระบวนการยุติธรรมชะงักงันและเดินต่อไปไม่ได้ ดูประหนึ่งเป็นการทอดทิ้งเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหวังให้มีการตรวจสอบพรรคการเมืองยิ่งนัก
 
.๒.๔ สมมติว่าเรายอมรับตรรกะของตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรก ๓ เสียง ที่เน้นความเข้มงวดในทางรูปแบบมากกว่าสาระนี้ ผู้ทำความเห็นก็อดคิดไม่ได้ว่า ณ วันนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะอาศัยเหตุผลที่เข้มงวดในทางรูปแบบดังกล่าวกลับไปให้ความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งได้หรือไม่ โดยตีความตามคำวินิจฉัยของศาลว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ นายทะเบียนพรรคการเมืองเอง ก็ยังไม่เคยแจ้งให้ใครทราบโดยชัดเจนว่า เหตุที่ให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ได้ปรากฏต่อตัวนายทะเบียนแล้ว หรือไม่ เมื่อใด มีแต่แสดงออกผ่านการลงมติและความเห็นในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง อีกทั้งการยื่นคำร้องให้ศาลในคดีนี้ ศาลเองก็วินิจฉัยว่ากระบวนการไม่ชอบ ก็ย่อมต้องตีความโดยเน้นความเข้มงวดในทางรูปแบบว่า เหตุที่ให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์แม้อาจจะได้ปรากฏต่อตัวนายทะเบียนในทางสาระ แต่ก็มิได้ปรากฏโดยชอบในทางรูปแบบ ดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ ได้หรือไม่?
 
.๒.๕ สิ่งน่าอัศจรรย์ปรากฏอีกครั้งเมื่อตุลาการเสียงข้างมากผู้ทำคำวินิจฉัยเองได้มีมโนสำนึกในทางกฎหมายที่แยกเป็นสองมาตรฐานในคำวินิจฉัยเดียวกัน เพราะตุลาการเสียงข้างมาก ๓ เสียง เห็นว่านายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องแสดงความเห็นเป็นรูปแบบเฉพาะนั้น ต่อมาในการให้เหตุผลในส่วนตุลาการเสียงข้างมาก ๑ เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด กลับให้เหตุผลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
 
ในคำวินิจฉัยหน้า ๑๑-๑๒ ศาลกล่าวว่า มีเหตุผลให้วินิจฉัยอีกทางหนึ่ง กล่าวคือกรณีข้อกล่าวหาตามมาตรา ๙๓ วรรคแรกนั้น มาตรา ๙๓ วรรคสอง มิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเข้าเสนอความเห็นด้วยว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคแรกต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง ต่างจากกรณีข้อกล่าวหาตามมาตรา ๙๔ ที่มาตรา ๙๕ บัญญัติว่า เรื่องปรากฏต่อนายทะเบียน พรรคการเมืองและนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว กล่าวคือนายทะเบียนต้องตรวจสอบ แล้วจึงเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมความเห็นว่า พรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่
 
สมควรเน้นอีกครั้งว่า หากกลับไปพิจารณาตรรกะของวิธิในการลงมติแล้ว หากเราลองพิจารณาสาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม แต่สาระในทางเหตุผลไม่ใช่แค่ไม่ตรงกันบางประเด็น แต่กลับหักล้างกันเองในทุกประเด็นหลักเสียแล้ว  มติทั้งสี่เสียงอันขัดแย้งกันในสาระอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ ยากที่จะถือว่าเป็นมติเสียงข้างมากโดยชอบธรรมได้
 
. ศาลควรปรับปรุงระบบการบริหารคดี
 
ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือไม่ ผลจากคำวินิจฉัยก็เป็นตัวอย่างอันดีให้ผู้เกี่ยวข้องควรหันมาทบทวนระบบการบริหารคดีของศาลว่า พอจะมีวิธีใดที่สามารถประหยัดเวลาและทรัพยากรของชาติที่ทุ่มเทไปกับกระบวนการทั้งหมดได้หรือไม่ เช่น การพิจารณาคดีอาจแยกเป็นส่วน ส่วนแรกเรื่องเขตอำนาจและความชอบของกระบวนการยื่นคำร้อง ซึ่งพึงพิจารณาให้เสร็จก่อนที่จะทุ่มเวลากับการสืบพยานหลักฐานที่เป็นเนื้อหาสาระของคดี แน่นอนว่าการบริหารคดีที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ ศาลเองย่อมอาศัยความช่วยเหลือจากบรรดาเลขานุการและนิติกรที่มีความรู้กฎหมายและมาทำงานประจำได้เป็นแน่ อนึ่ง ผู้ทำความเห็นอดคิดไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ หากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้สืบสวนหรือค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจทำให้ปรากฏซึ่งเหตุอันเป็นความผิด แต่เผอญข้อมูลดังกล่าวไม่ได้อยู่รวมเป็นส่วนหนึ่งในสำนวนของคดีที่ฟ้องอยู่ทั้งสองคดีเสียแล้ว ก็อาจมีการเริ่มกระบวนการให้ถูกต้องเสียใหม่ โดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา ๘๒ ก็ดี ๙๔ (๔) ก็ดี ซึ่งกินความกว้างพอสมควร
 
. คู่ความต้องมีโอกาสในการสู้คดีอย่างเต็มที่
 
ผู้ทำความเห็นไม่ติดใจว่าประเด็นระยะเวลาสิบห้าวัน ศาลยกขึ้นพิจารณาเองได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญคือ การพิจารณาประเด็นดังกล่าวควรเป็นกรณีศึกษาว่า เมื่อศาลไม่ได้เปิดโอกาสให้คู่ความในคดีทราบได้แน่ชัดว่าในใจตุลาการแต่ละท่านคิดเห็นหรือสงสัยถึงประเด็นใดอยู่เป็นพิเศษ อีกทั้งการพิจารณาคดีโดยตุลาการตั้งคำถามสดก็มิอาจพบเห็นบ่อยนัก จึงน่าพิเคราะห์ว่า คู่ความในคดี ได้มีโอกาสนำเสนอข้อต่อสู้และตรวจสอบพยานหลักฐานในประเด็นเฉพาะเจาะจงที่อยู่ในใจตุลาการอันเป็นประเด็นตัดสินคดีมากน้อยเพียงใด เพราะหากสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินมาทั้งหมดติดอยู่กับเพียงประเด็นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่และเมื่อเวลาใด หรือทำไปในฐานะใด ศาลก็สมควรให้คู่ความได้ทราบถึงความสำคัญของประเด็นเฉพาะเจาะจงดังกล่าว และคู่ความก็สมควรได้ซักถามนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้นั้นต่อหน้าศาลอย่างละเอียด และนำเสนอข้อโต้แย้งในการตีความกฎหมายเรื่องระยะเวลาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประชาชนที่จะได้ติดตามรับฟัง เพื่อสุดท้ายศาลสามารถรับฟังความอย่างรอบด้านและนำความจริงในห้องเปิดมาอธิบายให้ปรากฏ
 
แต่หากสุดท้ายความยุติธรรมคือกรณีที่หารือถือเอาได้แต่เพียงในห้องปิด ซ้ำโดยอาศัยพยานสำคัญที่ตัวไม่ปรากฏแต่ส่งมาเพียงเอกสารเสียแล้ว ก็คงเป็นชะตากรรมของเรา ประชาชนชาวไทย ที่ต้องเลือกระหว่างการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ หรือเรียกร้องสังคมที่ไม่เขินอายต่อความจริง
 
ไม่แน่ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ภาคต่อไป เราอาจได้เห็นกัน!
 
บทส่งท้าย
 
เหตุแห่งกระแสความใส่ใจในความเป็นกลางและจริยธรรมของตุลาการนั้น ปรากฏพบเป็นครั้งคราว แต่เหตุอันพึงปรากฏโดยมิต้องอาศัยกระแส คือเรื่องความละเอียด แม่นยำ และแยบยลในนิติวิธีและหลักกฎหมาย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการต่างเป็นผู้ใช้อำนาจของเรา แต่เราไม่อาจอาศัยกระบวนการทางการเมืองเพื่อคัดเลือก สนับสนุนหรือลงโทษตุลาการได้ดั่งที่เราพึงทำต่อนักการเมืองได้ อีกทั้ง การตรวจสอบตุลาการที่ผ่านมาปรากฏไม่ชัด ส่วนหนึ่งอาจด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญให้ตุลาการมีบทบาทสำคัญในการได้มาซึ่งส่วนหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตุลาการเสียเอง
 
สิ่งที่เราประชาชนพึงทำได้ คือติดตาม ใคร่ครวญ และกล้าหาญที่จะหวงแหนในเหตุผลและความยุติธรรมของคำวินิจฉัย เพราะความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยมิอาจดำรงได้ด้วยมาตรฐานทางเหตุผลหรือคุณธรรมจำเพาะของคนบางกลุ่ม แต่ต้องฟูมฟักและงอกเงยจากสำนึกและประสบการณ์ของปวงชนที่สะท้อนผ่านกระบวนการและกฎหมายที่เรามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
 
ครอบครัว คุณครู และมิตรสหาย ต้องร่วมกันกระตุ้นสำนึกดังกล่าวผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยก็โดยปฎิเสธความมักง่ายที่จะนิ่งเฉยดูดายภายใต้เงาของความเป็นกลางอันว่างเปล่า เราต้องเรียกร้องสถาบันวิชาการและสื่อมวลชนให้ยึดมั่นและกล้าหาญในการทำหน้าที่เพื่อสังคม และต่อต้านการนำเสนอที่มอมเมาหรือตื้นเขิน พร้อมสนับสนุนการถ่ายถอดหลักการและสิ่งที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยผ่านผลงานในระดับนานาชาติ ให้ทราบไปถึงบรรดาผู้นำทางความคิด อาจารย์นิติศาสตร์ หรือ ผู้พิพากษาในต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการช่วยสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ที่ดีสำหรับตุลาการไทยอีกทางหนึ่ง
 
เราต้องจดจำใบหน้าของผู้แทนที่พร้อมจะเชื่อมโยงมโนสำนึกที่เรามีต่อคำวินิจฉัยไปสู่ศาลและตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจะผ่านการตรวจสอบทางรัฐสภา การแก้กฎหมาย หรือการรณรงค์ทางการเมือง และไม่ลืมชื่อหรือนามสกุลของผู้แทนที่พร้อมทอดทิ้งหลักการ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของตนเอง
 
และสุดท้าย เราต้องร่วมกันจรรโลงความหวังและเป็นกำลังใจให้ตุลาการผู้เปี่ยมด้วยใจอันเป็นธรรม รวมไปถึงผู้พิพากษาในศาลอื่น ที่อาจพลอยต้องพิจารณาคดีที่เป็นผลพวงจากคดีนี้ ให้คงใจที่เปิดกว้างและรับฟังเสียงของปวงชน ให้สมดั่งเป็นตุลาการที่มาจากปวงชน โดยปวงชน และเพื่อปวงชน
 

 

 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและแหล่งเงินทุนของ SME

Posted: 01 Dec 2010 02:41 AM PST

 
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ได้นำเสนอบทความวิจัยหัวข้อ การสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ : โอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลาง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
 
ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแสดงว่าในปี พ.ศ. 2552 มีวิสาหกิจในประเทศไทยทั้งหมด 2,832,651 ล้านราย จากจำนวนดังกล่าวเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมตามนิยามที่กำหนดโดยประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2545 [1] ถึง 2,819,547 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางเพียง 8704 รายและขนาดใหญ่ 4388 ราย นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงว่า จากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด เพียงร้อยละ 20 หรือประมาณ 5 แสนกว่ารายจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่เหลือเป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของคณะบุคคลหรืออาจเป็นกิจการนอกระบบที่ไม่ได้นำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล
 
นโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นนโยบายที่มีมาตลอดทุกรัฐบาลทุกสมัย การศึกษานี้ต้องการที่จะประเมินว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐที่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและแหล่งเงินทุนมากน้อยเพียงใด โดยมาตรการที่ศึกษามีทั้งหมด 11 รายการ ประกอบด้วยมาตรการในการลดหล่อนภาษีสรรพากร 2 รายการ มาตรการยกเว้นหรือชดเชยภาษีศุลกากร 4 รายการ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 รายการ มาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุน (equity) 2 รายการ และ แหล่งเงินกู้ 1 รายการตามที่ปรากฏในตารางด้านล่าง
 
 
คุณสมบัติวิสาหกิจที่สามารถใช้สิทธิ
จำนวน SME ที่ใช้ประโยชน์ 2552
1.   การลดหย่อนภาษีนิติบุคล
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 431 และ 471)
ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท
174,990
2.   การลดอัตราค่าสึกหรอและค้าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 395 และ 473)
สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
 
 
ไม่มีข้อมูล
3.   สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป
การลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน และมีอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1
848 (จำแนกตามขนาดของโครงการ)
4.   สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะสำหรับ SME ตามประกาศ 6/2546
การลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน และมีอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1
20
(ข้อมูลปี 50)
5.   การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ venture capitalist
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 396)
-        เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
-        ต้องลงทุนใน SME ตามสัดส่วนของเงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วตามข้อกำหนด
0
6.   การร่วมทุนโดย สสว.
เป็น SME ตามนิยามของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
55
7.   การให้สินเชื่อโดย ธพว.
เป็น SME ตามนิยามของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
18,789
8.   ยกเว้นภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบเขตปลอดอากร
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
158 (ข้อมูล ตค 53)
9.   มาตรา 19 ทวิ
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
1,423 (ข้อมูล ตค 53)
10. ขอชดเชยอากรสินค้าส่งออก
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
3,092 (ข้อมูล ตค 53)
 
ผลการประเมินพบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพียงไม่กี่รายที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ยกเว้นในกรณีของมาตรการในการลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 1.77 แสนรายที่ยื่นเสียภาษีนิติบุคคลในปี พ.ศ. 2552 ใช้สิทธิเกือบทุกราย เนื่องจากสิทธิพิเศษดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการใช้ประโยชน์นอกจากขนาดของทุนจดทะเบียนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ล้วนมีข้อจำกัด ในส่วนของมาตรการลดหล่อนภาษีโดยการหักค่าเสื่อมในอัตราที่สูงกว่าปกติยังไม่สามารถประเมินการใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้สิทธิดังกล่าวโดยสรรพากร ในขณะที่สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนนั้นไม่มีการแยกสถิติข้อมูลการส่งเสริมตามขนาดของวิสาหกิจที่ได้รับการส่งเสริมหากแต่มีการจำแนกตามขนาดของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งส่วนมากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง ยกเว้นในกรณีของโครงการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเป้าเฉพาะสำหรับ SME ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2546 นั้นมีผู้ได้รับสิทธิเพียง 20 รายในปี พ.ศ. 2550
 
ในส่วนของมาตรการยกเว้นหรือชดเชยภาษีศุลกากรนั้น พบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่กี่รายได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ระบบคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือเขตปลอดอากร ส่วนมากจะใช้สิทธิในการชดเชยภาษีอากรมากกว่า เนื่องจากต้นทุนในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์ค่อนข้างสูงในขณะที่เขตปลอดอากรมีจำกัด ส่วนมากจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมยกเว้นในกรณีของอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริม เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการประกาศให้เขตโรงงานผลิตเป็นเขตปลอดอากร
 
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนมากใช้สิทธิในการชดเชยอากรตาม พ.ร.บ. ชดเชยภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2424 หากแต่การชดเชยยังมีปัญหาความล่าช้าในการชดเชยซึ่งมีผลทำให้ SME ขาดสภาพคล่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของศุลกากรที่ผ่านมาคือการให้ผู้ประกอบการต้องวางเงินค้ำประกันลอย หรือให้บุคคลหรือหน่วยงานเอกชนอื่นค้ำประกันแทนจึงจะได้รับการชดเชยที่รวดเร็วรวมทั้งได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีอีกด้วย เงื่อนไขดังกล่าวสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่วิสาหกิจขนาดย่อมที่มีเงินทุนจำกัด
 
สุดท้าย ในส่วนของมาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุนให้แก่ SME นั้น พบว่ามาตรการที่มุ่งสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนกับ SME โดยให้การลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลนั้นล้มเหลวเนื่องจากไม่มีบริษัทรายใดที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้เลยในช่วง 8 ปีผ่านมา ในขณะที่การเข้าไปร่วมลงทุนของภาครัฐเองโดยผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผ่านมา 6 ปีมีโครงการที่เข้าไปร่วมทุนเพียง 55 โครงการ และในปัจจุบันยังติดพันกับปัญหาจากการที่โครงการที่เข้าไปร่วมทุน 43 โครงการในช่วงรัฐบาลทักษิณในอดีตนั้นไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรรมการของ สสว. อีกด้วย
 
มาตรการในการอำนวยความสะดวกแหล่งเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดย่อมนั้นพบว่าเงื่อนไขในการให้สินเชื่อนั้นมีความเข้มงวดไม่ต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนถึงให้เห็นว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีการประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากกว่าในเชิงส่งเสริม เนื่องจากกระทรวงการคลังยังคงให้ความสำคัญแก่ดัชนีชี้วัดผลดำเนินการทางการเงินของ ธพว. นอกจากนี้แล้วโครงการสินเชื่อกว่าครึ่งหนึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ เช่น การปล่อยกู้โครงการแท็กซี่เอื้ออาทรในอดีต หรือ โครงการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการประท้วงที่ราชดำริ โครงการเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเบียดเบียนทรัพยากรที่ควรได้รับการจัดสรรให้แก่ SME ที่มีความจำเป็นในการมีแหล่งเงินกู้แล้ว ยังสร้างภาระหนี้เสียให้แก่ ธพว. อีกด้วยเนื่องจากมีการผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาล
 
คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า แนวนโนยายและมาตรการในการส่งเสริม SME ไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเริ่มจากการทบทวนหลักเกณฑ์ในการจำแนกขนาดของวิสาหกิจที่กระชับมากขึ้น โดยการกำหนดให้วิสาหกิจที่จัดเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขจำนวนการจ้างงานและทุนจดทะเบียน นอกจากนี้แล้วอาจพิจารณาใช้รายได้เป็นเกณฑ์เพิ่มเติมอีกด้วย รวมทั้งมีการจำแนกวิสาหกิจขนาดย่อมจำนวน 2.9 ล้านรายในปัจจุบันเป็นกลุ่มย่อย ทั้งนี้ นโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมของรัฐบาลควรจะแยกแยะระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพราะวิสาหกิจในสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากจึงไม่ควรเหมารวมกัน
 
นอกจากนี้แล้ว การที่วิสาหกิจกว่าร้อยละ 80 อยู่นอกระบบนั้น รัฐควรมีมาตรการด้านภาษีในการจูงใจให้วิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อยเข้ามาในระบบมากขึ้น อัตราภาษีนิติบุคคลที่ค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 30 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้วิสาหกิจจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้าระบบจึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ นอกจากนี้แล้วควรมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ ที่มีอยู่ว่ามีประสิทธิผลในการช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ SME ได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้สิทธิให้ใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้น สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการค้ำประกันเช่นในกรณีของการชดเชยภาษีศุลกากรนั้น รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ขาดทุนทรัพย์ด้วย
 
สำหรับมาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุนและแหล่งเงินกู้ให้แก่ SME นั้น คณะผู้วิจัยเห็นว่าในส่วนของแหล่งเงินทุนรัฐควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนา SME มากกว่าการให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมลงทุนเอง ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎ ระเบียบที่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่ผู้ที่ร่วมลงทุนให้ใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติ โดยการปรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถใช้สิทธิและข้อกำหนดในการลงทุนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ
 
ในส่วนของ แหล่งเงินกู้นั้น รัฐควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขในส่วนของสินทรัพย์ค้ำประกันในการปล่อยกู้สำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมโดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ต้องการรับสินเชื่อต้องปรับปรุงวิธีการในการบริหารธุรกิจให้เป็นระบบโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลเป็นการแลกเปลี่ยน การปล่อยกู้ตามนโยบายของภาครัฐนั้นควรแยกบัญชีรายรับ รายจ่ายและหนี้เสียซึ่งแสดงในรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของ ธพว. เพื่อที่จะสามารถประเมินผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธนาคารรวมทั้งประเมินความเสียหายจากโครงการตามนโยบายของรัฐด้วย ทั้งนี้ การประเมินผลงานของ ธพว. และระบบแรงจูงใจที่ใช้ควรสะท้อนขีดความสามารถในการกระจายสินเชื่อสู่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการแหล่งเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าผลการดำเนินงานทางการเงิน
 
[1] กิจการผลิตสินค้า ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: เมื่อเชียงใหม่จะจัดการตนเอง

Posted: 01 Dec 2010 02:26 AM PST

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองสีเหลืองสีแดงที่หันมาจับมือกันกลายเป็นเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น (The Peaceful Homeland Network) อันทรงพลังของจังหวัดเชียงใหม่ที่ฝ่ายบ้านเมืองมองด้วยสายตาหวาดระแวงว่าอนาคตการบริหาราชการแผ่นดินจะเหลือเพียงการบริหารราชการส่วนกลางและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นโดยไม่มีราชการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอีกต่อไป

การเกิดขึ้นของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นมีเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาที่ผู้คนต่างถูกแบ่งออกเป็นสีต่างๆซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสังคมเป็นอันมาก จึงเกิดการรวมตัวของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งสังกัดในทั้งสีเหลืองและแดงหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันอย่างเงียบๆโดยนักวิชาการที่รักสันติเป็นแกนกลางว่าเราไม่สามารถปล่อยให้เชียงใหม่ตกอยู่ในสภาพของความขัดแย้งแบบนี้อีกต่อไป

หลังจากมีการก่อตัวของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นเกิดขึ้น ผู้คนที่มีความหวังดีต่อบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหอการค้า สภาอุตสาหกรรม นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่มอดีตนายทหารชั้นพลแกนนำทหารกองหนุน กลุ่มโชเชียลเน็ตเวิร์ค (เฟซบุค) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ฯลฯ จึงได้มีการสัมมนาอย่างเป็นทางการขึ้นโดยการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย (National Democratic Institute) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและตามด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกหลายครั้ง

ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีความคืบหน้ามาตามลำดับนั้นได้ผลสรุปว่าเหตุแห่งปัญหาทั้งมวลที่ทำให้บ้านเมืองของเรายังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควรไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านธุรกิจหรือด้านภาคเกษตรกรรมก็คือปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทยนั่นเอง เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นจึงมีมติร่วมกันว่าถึงเวลาที่จะได้เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นจัดการตนเองดังเช่นในนานาอารยประเทศทั้งหลาย

การจัดการตนเองในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะมุ่งไปยังความเป็นอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ดังที่ผู้ครองอำนาจรัฐทั้งหลายหวาดระแวงหรือใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องอำนาจของตนเอง แต่มุ่งไปที่การลดขั้นตอนของการบริหาราชการแผ่นดินและเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจของท้องถิ่น

๑) จะจัดการตนเองในเรื่องอะไรบ้าง   ประเด็นในการขับเคลื่อนได้มุ่งเน้นไปยัง

·         การศึกษา

·         เกษตรกรรม

·         การท่องเที่ยว

·         วัฒนธรรม

·         สิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ

·         ระบบภาษี/การเก็บภาษี/การจัดสรรงบประมาณ

·         ตำรวจ

·         สาธารณสุข

·         สวัสดิการสังคม

·         ผังเมือง

๒)โครงสร้างภายในจังหวัดควรเป็นอย่างไร

·         ระบบบริหาร ที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและกรรมาธิการภาคประชาชน

·         ที่มาของฝ่ายแต่ละฝ่าย  มีการระดมความเห็นเพื่อกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่และการออกจากตำแหน่งให้ชัดเจน

๓)การจัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง

·         หัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัดซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือในชื่ออื่นที่มาจากการเลือกตั้ง (ที่สามารถถูกประชาชนดุด่าว่ากล่าวและถูกปลดออกจากตำแหน่งได้) แทนที่การแต่งตั้งจากส่วนกลางเสมือนหนึ่งการไปปกครองเมืองขึ้นในยุคอาณานิคม

·         หัวหน้าส่วนราชการต่างๆจะอยู่ในการกำกับดูแลของหัวหน้าฝ่ายบริหารของที่มาจากการเลือกตั้ง

·         การปกครองท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) จะยังคงมีต่อไปหรือไม่ หากยังคงอยู่ต่อจะอยู่ต่อในลักษณะใดในองค์กรปกครองท้องถิ่นเพราะไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอีกต่อไป

กระบวนการขับเคลื่อน

ในการขับเคลื่อนของกลุ่มบ้านชุ่มเมืองเย็นจะวิเคราะห์ระบบโครงสร้างเก่าให้เห็นถึงผลกระทบจาก    การรวมศูนย์ในปัจจุบัน โดยเชื่อมประเด็นเดิมว่ามีโครงสร้างและความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างไร การก้าวเข้าไปสู่ระบบโครงสร้างใหม่และที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการนำเสนอโครงสร้างใหม่นี้ โดยจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการตนเองซึ่งสามารถยกตัวอย่างประเทศที่มีโครงสร้างหรือประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับไทย

ตัวอย่างที่สามารถนำมาเสนอให้เห็นความชัดเจนของการจัดการตนเอง เช่น การเป็นรัฐเดี่ยวและมีสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไม่มีการบริหารราชส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด มีเฉพาะการบริหาราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้นและหัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งและดูแลส่วนราชการต่างๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ อังกฤษที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นกันก็ไม่มีการบริหาราชการส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ที่ผ่านยุคเผด็จการมาเช่นเดียวกับไทยแต่ปัจจุบันนับตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ เกาหลีใต้ก็มีเฉพาะราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้นไม่มีราชการส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด

ที่สำคัญก็คือฝรั่งเศสที่เราไปลอกรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคของเขามา ในปัจจุบันฝรั่งเศสรูปแบบการปกครองของภาคและจังหวัดก็กลายเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นไปหมดแล้วมีประธานสภาภาคและประธานสภาจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ผู้ว่าราชการจังหวัดเดิมก็แปรสภาพไปเป็นผู้ตรวจการณ์แห่งสาธารณรัฐ (Commissioner of the Republic) แทนตั้งแต่ปี ๑๙๘๒ แล้ว

หากการขับเคลื่อนโมเดลเชียงใหม่จัดการตนเองซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือการเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชนเข้าชื่อกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญประสพความสำเร็จแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นการจุดประกายของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบันของจังหวัดอื่นๆ

ป่วยการที่จะอ้างว่ายังไม่ถึงเวลาด้วยเหตุว่าประชาชนยังไม่พร้อม บัดนี้ ประชาชนพร้อมแล้วครับ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเองต่างหากที่ยังไม่พร้อม ผู้ที่ขัดขืนกระแสโลกาภิวัตน์ของประชาชนย่อมที่จะเป็นฝ่ายถูกกวาดตกเวทีไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปในที่สุด

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตากฎหมายใหม่:เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิดไม่ต้องขึ้นศาลปกครอง

Posted: 30 Nov 2010 09:15 PM PST

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังดำเนินการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. …. ขึ้นมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่ ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับนี้ใช้สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดให้เอกชนเสียหาย หรือทำละเมิดให้หน่วยงานของรัฐเองเสียหาย ซึ่งจะกำหนดวิธีการเรียกค่าเสียหายไว้เป็นพิเศษ ต่างจากกรณีที่ประชาชนเป็นคนทำละเมิด

 

ในร่างฉบับใหม่นั้น มีหลักการที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และรู้สึกกังวล คือเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิดให้เอกชนหรือประชาชนคนใดเสียหาย นั้น ศาลที่จะพิจารณาเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่เอกชนให้เป็นหน้าที่ของศาล ยุติธรรม คือ ศาลแพ่งนั่นเอง ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 16

เว้นแต่กรณีที่ผู้เสียหายได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้แล้วด้วยเหตุผลอื่น เช่น ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานรัฐเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ เช่นนี้ หากต้องการเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิด ซึ่งเกิดจากการกระทำเดียวกันด้วย ประชาชนก็สามารถเรียกค่าเสียหายมาในคดีเดียวกัน โดยให้ศาลปกครองเป็นผู้พิจารณาได้ ตามมาตรา 25 (ดูรายละเอียดด้านล่าง)

 

เนื่องจากการดำเนินคดีที่ประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งได้ออกแบบวิธีการดำเนินคดีไว้ให้เอื้อประโยชน์กับประชาชน มีวิธีการเข้าถึงที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่มีขั้นตอนแบบพิธีมากเกินไป เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนสามารถต่อสู้คดีถามหาความยุติธรรมให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น

 

และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ฉบับเดิม ก็กำหนดว่าการฟ้องคดีกรณีเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อเอกชน ให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

 

ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดให้ประชาชนที่ต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม หรือศาลแพ่ง ทั้งที่ประเทศไทยก็มีศาลปกครองทำหน้าที่พิจารณาคดีความอยู่แล้วนั้น น่าจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนผู้เสียหายเอง ไม่เป็นไปในทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งอาจจะขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญเรื่องการแบ่งแยกอำนาจระหว่างศาล จึงเป็นข้อกังขาว่าการเขียนกฎหมายลักษณะนี้จะสามารถทำได้หรือไม่
โดยมีข้อสังเกตควบคู่ไปว่า การกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม อาจเป็นเพราะศาลยุติธรรมมีกลไกการบังคับคดี การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระให้กับผู้ฟ้องคดีเป็นระบบอยู่แล้ว ขณะที่ศาลปกครองยังไม่มีกลไกการบังคับคดีที่ใช้การได้จริง

ที่มาภาพ  faqs.org

 

นอกจากประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. …. ฉบับ ใหม่ ยังคงวางหลักการทั่วๆ ไปคล้ายกับฉบับเก่า คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อเอกชนในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากหน่วยงานของเจ้าหน้าที่คนนั้นได้ แต่จะฟ้องเรียกเอากับตัวเจ้าหน้าที่เองไม่ได้ โดยบางมาตราได้แก้ไขถ้อยคำให้กระชับขึ้น หรือกินความหมายกว้างขึ้น

 

ร่างฉบับใหม่ ยังมีหลักการเพิ่มเติมมาที่น่าสนใจ เช่น

 

  • ให้ คำว่า “หน่วยงานของรัฐ” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายนี้ รวมถึง หน่วยงานธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ องค์การวิชาชีพ ฯลฯ ด้วย

  • เพิ่มข้อความให้ครอบคลุมกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำละเมิดต่อหน่วยงานอื่นของรัฐที่ตนไม่ได้สังกัดให้ได้รับความเสีหาย

  • กำหนด กรอบเวลา กรณีเอกชนเลือกวิธีการยื่นคำขอต่อหน่วยงานรัฐโดยตรงให้ใช้ค่าเสียหาย ให้หน่วยงานนั้นๆ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และขยายได้ไม่เกินหกสิบวัน

  • กำหนด หลักเกณฑ์ ขั้นตอนที่ละเอียดขึ้น กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐต้องการหาตัวผู้ต้องรับผิด และต้องการให้ชดใช้ค่าเสียหาย เช่น ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ให้มีหลักเกณฑ์การผ่อนชำระ เป็นต้น

ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. …. โดยจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรม ทวินทาวเวอร์ ถนนพระราม6

ประชาชนผู้ที่สนใจสามารถร่วมกันส่งความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ที่ เว็บไซด์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ก่อนจะนำความคิดเห็นที่ได้รับมาสรุปและแก้ไขร่างอีกครั้ง เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ...

          มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้  “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง         

          มาตรา ๑๖ ใน กรณีที่หน่วยงานมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๑๔ แล้ว หากเอกชนผู้เสียหายไม่พอใจในคำวินิจฉัย ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย         

          มาตรา ๒๕ ใน กรณีที่เอกชนผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลปกครองในคดีพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หากมูลคดีนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทางละเมิดด้วย เอกชนผู้เสียหายอาจฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดในคดี พิพาทนั้นด้วยก็ได้          ในกรณีที่เอกชนผู้เสียหายประสงค์จะฟ้องเรียกเฉพาะค่าสินไหมทดแทน ให้ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น