ประชาไท | Prachatai3.info |
- พระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2554
- ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "อานนท์ นำภา" ทนายคนเสื้อแดง
- 'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: 2553 ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น
พระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2554 Posted: 31 Dec 2010 10:34 AM PST เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2554 ดังนี้ ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา ความปรารถนาของทุกคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือต้องการให้ตนเอง มีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทุกคนทุกฝ่าย จะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนแก่ประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการให้สำเร็จผลได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน นอกจากนี้ ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2554 นี้เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนคไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้าง มีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลายสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้ว ขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือคุณทองแดง ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็น ผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบ และดอกไฮเดรนเยีย หลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกันด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้าน มีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่ มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษร สีเหลืองข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011 ด้าน ล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 121923 ธค. 53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร , ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Buramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "อานนท์ นำภา" ทนายคนเสื้อแดง Posted: 31 Dec 2010 05:08 AM PST เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 ไทยอีนิวส์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์อานนท์ นำภา ทนายความที่ช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาคดีการเมืองกรณี 19 พฤษภาคม และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในทุกแง่มุมที่ผู้รักคววามเป็นธรรมอยากจะรู้ เช่น เข้ามาเกี่ยวข้องคดีต้องห้ามในวงการทนายนี้ได้อย่างไร ใครให้เงินมาว่าความ ทักษิณให้เงินไหม? ความหนักเบายากง่ายในคดีประเภทนี้ และอนาคตลูกความของเขา..พวกเขาที่อุทิศตัวต่อสู้และไปติดคุกแทนพวกเราๆ ที่ยังเป็นอิสรชนอยู่นอกกำแพงคุก และกำลังเพลิดเพลินฉลองปีใหม่อยู่ในเวลานี้
Q : อยากให้ทนายอานนท์ นำภา เล่าให้ฟังความเป็นไปเป็นมาที่ได้มาเกี่ยวข้องกับคดีการเมืองด้วยว่า มีจุดเริ่มต้นจากไหน A : เรื่องนี้ต้องเริ่มจากตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ จริงๆ ตอนที่ผมสอบเอ็นทรานซ์ ผมเลือกลงคณะนิติศาสตร์เป็นอันดับแรก แต่มันคะแนนสอบไม่ถึง เลยจับพลัดจับผลู ไปเรียนสังคมวิทยาฯที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนได้แค่เทอมเดียวก็ต้องออก เพราะรู้ว่าตนเองชอบเรียนกฎหมายมากกว่า จึงออกมาเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ช่วงที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียน และเข้าไปทำกิจกรรมกับเพื่อนที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ ที่ได้มีโอกาสได้รู้จักกับคนในวงการกิจกรรมนักศึกษา เช่น พี่โชติศักดิ์ (ที่ถูกดำเนินคดีไม่ยืนในโรงหนัง) พี่สงกรานต์ และรู้จักเพื่อนๆอีกหลายคน ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่ สมัยเรียนมหาลัย เราเป็นน้องใหม่ก็ได้ซึมซับมาด้วย และตอนเรียนที่รามฯก็มีโอกาสได้ออกค่ายบ่อยๆ ทำให้เห็นปัญหาสังคมมากขึ้น รวมทั้งก็ได้ร่วมขบวนชุมนุมของชาวบ้านหลายๆที่ กระทั่งเรียนจบที่ รามฯสามปี ก็ฝึกงานที่ออฟฟิศกฎหมายที่ทำคดีทางสังคม เช่น คดีชาวบ้านที่จ.ประจวบฯ ,จ.สระบุรี , คดีท่อแก๊ซไทย – มาเลเซีย และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคดี เหตุการณ์มาพลิกผันเข้าสู่การทำคดีการเมืองอย่างจริงจังก็ตอน ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก ยังเป็นน้องเล็ก(นักกิจกรรมรุ่นเล็ก) ก็ได้ไปประชุมกับพี่ๆ และเริ่มจัดตั้งกลุ่ม “ เครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมหลายๆรุ่น เช่น พี่หนูหริ่ง(สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด) พี่อุเชนทร์ เชียงแสน (อดีตเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สนนท.) พี่โฉด (โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีไม่ยืนในโรงหนัง) รวมทั้งพี่ๆนักกิจกรรมเก่าๆอีกหลายคน เดิมเราตั้งเวทีปราศัยในธรรมศาสตร์ และภายหลังก็มีการชุมนุมทุกวันอาทิตย์ และย้ายมาชุมนุมต้านการรัฐประหารที่สนามหลวงในเวลาต่อมา ตอนนั้นผมมีหน้าที่เขียนบทกวีขึ้นไปอ่านครับ อันนี้ก็เป็นกวีจำเป็นทำนองนั้น ( เรื่องประกอบ:อ่านบทกวีชื่อ เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้ามาสุดทาง ) ส่วนคนที่ขึ้นพูดบนเวทีก็จะเป็นรุ่นใหญ่บ้าง กลางบ้าง เล็กบ้าน เช่น หมอเหวง โตจิราการ ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม-ฮาตะ พี่หนูหริ่ง และอีกหลายคน และหลังจากนั้น คดีการเมืองก็คืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตผมอย่างเป็นทางการ Q : ได้ทำคดีการเมืองไปกี่คดีก่อนจะมีเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม มีคดีอะไรบ้าง ลองเล่าตัวคดีให้ฟังคร่าวๆ A : ก่อน ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คดีส่วนใหญ่ที่ทำเป็นคดีชาวบ้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหลัก จริงๆ ต้องบอกว่าหัวหน้าออฟฟิศเป็นนักกฎหมายทางสังคม (พี่ทอม สุรชัย ตรงงาม) คดีเหล่านี้จึงได้รับการไว้วางใจให้ออฟฟิศผมทำเช่น คดีชาวบ้านที่ จ.ประจวบฯที่ค้านโรงถลุงเหล็ก ,ชาวบ้านที่สระบุรี ที่ต้านโรงไฟฟ้า และที่ จ.สงขลา ที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐกลับในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตาม ม.๑๑๒ ที่ทำก็เช่น คดีนายสุวิชา ท่าค้อ , คดีเวบไซต์ประชาไท และเป็นคนช่วยดูคดีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง(กรณีไม่ยืนในโรงหนัง) และคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเรายังเป็นวัยรุ่นก็ช่วยเป็นตัวประสาน ที่ทำเป็นตัวหลัก็คดีนายสุวิชา ท่าค้อ และคดีประชาไท ส่วนคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็เป็นการร่วมงานกับทีมทนายอาวุโสของสภา ทนายความ ส่วนคดี นายโชติศักดิ์ ต้องบออกว่าเป็นคดีรุ่นพี่ที่รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เรียนมหาลัย คร่าวๆ น่าจะประมาณนี้ อ้อ ยังมีคดีของสหภาพแรงงานไทรอั้มพ์ของ พี่หนิง (จิตรา คชเดช) อีกคดี ซึ่งเป็นคดีที่สหภาพไปชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่โดนข้อหา ชุมนุมมั่วสุม และถูกสลายการชุมนุมโดยเครื่องแอลแลต (เครื่องทำลายประสาทหู) อันนี้รับผิดชอบหลัก แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นศาล ขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการ Q : คดีการเมืองที่มาทำในกรณี19พฤษภาคม ทำกี่คดี ที่ไหนบ้าง หากสะดวกช่วยเล่าทีละกรณีให้ฟังด้วยก็ดีว่า แต่ละคดีเป็นอย่างไร ตั้งแต่ตัวความ โดนคดีแบบไหน เจอเหตุการณ์อะไรบ้าง A : ต้องเริ่มจากตอนที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีการปิดเว็ปไซท์ประชาไทในวันรุ่งขึ้น ผมกับพี่ที่ออฟฟิศก็งานเข้า เราได้ฟ้อง นายกรัฐมนตรีกับ ศอฉ. ต่อศาลแพ่งให้เปิดเว็ปประชาไท ซึ่งคดีอยู่ศาลอุทธรณ์ในขณะนี้ ต่อมาภายหลังจากมีการสลายการชุมนุม รัฐบาลได้ดำเนินการจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และคนเสื้อแดง ประเภทที่เรียกว่ากวาดจับก็ว่าได้ ซึ่งหลังเหตุการณื ๑๙ พฤษภาคม ใหม่ๆ ศอฉ. ได้จับและควบคุมตัวนักกิจกรรมคือ พี่หนูหริ่งไปควบคุมตัวที่ค่ายตชด. คลอง ๕ จังหวัดปทุทธานี ซึ่งตอนนั้นเองพี่หนูหริ่งก็มิ ได้เป็นที่รู้จักของคนเสื้อแดงเลย ผมกับพี่ๆ อดีตนักกิจกรรมได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นทนายความให้พี่แก ๒ คดี คือคดีชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย อันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำคดีแกนนำเลย ที่เราเข้าไปตอนแรกๆ ก็เพราะพี่หนูหริ่งเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกัน แต่ภายหลังแกมีบทบาทนำมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าผมกับพี่ๆ เพื่อน ๆ ทำคดีแกนนำไปโดยปริยาย อีกคดีอันนี้ตลก แบบเศร้า ๆ เป็นคดีลุงบัง ลุงบังถูกควบคุมตัวเข้ามาที่ค่ายเดียวกับพี่หนูหริ่งไล่เลี่ยกัน แกไม่มีคนรู้จักและมมีคนไปเยี่ยมเลย พี่หนูหริ่งอีกนั่นแหละที่ขอให้เราช่วยเหลือแก คือแกน่าสงสารมาก เราเลยให้ความช่วยเหลือโดยยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัว แต่พระเจ้า ต่อมาภายหลังแกถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๑๙ ในคดีก่อการร้าย คดีเดียวกับแกนนำเสื้อแดง ก็เลยทำให้เราต้องเข้าไปทำคดีเดียวกับแกนนำโดยปริยาย ซึ่งสองคดีนี้แหละที่เป็นเหมือนประตูของการเข้ามาทำคดีของคนเสื้อแดงอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นที่รู้จักโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ประการใด แต่ต้องบอกว่าที่มาทำไม่ได้ในฐานะทนายอะไรหรอกครับ แต่ผมเห็นด้วยกับพี่หนูหริ่งต่างหาก และเห็นด้วยกับการชุมนุมและการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงด้วย ต่อมาก็ลงพื้นที่ไปจ.อุบลฯ โดยไปเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้น ซึ่งภายหลังทนายความในพื้นที่ก็รับไปทำต่อ แล้วเราก็ได้รับการประสานให้ลงพื้นที่ที่ จ.มุกดาหาร เพราะได้ข่าวว่าทนายความเดิมที่นั่นไม่เวิร์ค ก็เป็นไปตามที่คาด ภายหลังจากทนายความคนเดิมที่มุกดาหารถอนตัวออก เราก็เลยเข้าไปทำอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ไปสอบข้อเท็จจริงเรียงคดี ซึ่งมีจำเลยกว่า ยี่สิบคน คดีก็ยุ่งยากมากเพราะต้องทำงานประสานกับหลายฝ่าย และนอกจากงานคดีแล้ว เรายังได้ลงปูเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของจำเลยแต่ละคนด้วย เรียกว่าลงไปคลุกคลีกับเขาเลยทีเดียว ที่มุกดาหารนี้มีความน่าสนใจตรงที่ชาวบ้านที่นี่เป็นเสื้อแดงแท้ครับ ประเภท “ไม่ได้จ้าง กูมาเอง” เลยทีเดียว แต่ที่เป็นปัญหาคือ ชาวบ้านที่นี่มีฐานะยากจน หลักประกันไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลยครับ เราในฐานะทนายความก็ต้องหาเงินไปเช่าหลักประกันให้ ก็หยิบยืมกันมาเป้นส่วนตัวหละครับ แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนเสื้อแดงเป็นอย่างดีอีกเช่นเคย จนเราสามารถประกันตัวจำเลยคดีเผาศาลากลางออกมาได้ถึง ๓ คน ซึ่งจังหวัดอื่นไม่สามารถประกันได้ และที่เรารู้สึก ผูกพันกับชาวบ้านเสื้อแดงที่นี่คือ เราได้เข้ามาสัมผัสถึงความยากลำบากแบบ “ดราม่า” ของที่นี่ ประเภทตามไปดูบ้านของจำเลยทั้ง ๒๐ คนเลยทีเดียว ซึ่งมีน้องทนายคนนึงถึงกับบอกว่า “เหลือแค่กวาดบ้านให้เท่านั้นหละพี่” อันนี้มีเรื่องจะเล่าให้ฟังนิดนึงครับ คือเคสของนายวินัย เรื่องมันมีอยู่ว่า ทางทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยที่ป่วยไปทำการรักษาที่โรง พยาบาล แต่ศาลก็ไม่ได้อนุญาต จนเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องทำการส่งไปเสียเอง ผมกับน้องทนายความอีกสองคนก็ตามไปดูที่เรือนจำ ปรากฎว่า พอไปถึงเรือนจำ ได้มีจำเลยอีกคนนึง “กินน้ำยาปรับผ้านุ่ม” เพื่อฆ่าตัวตาย คือนายวินัยนี่เองครับ ประเภทพอเราไปถึงก็นอนกองที่พื้นแล้ว เลยพากันนำตัวขึ้นรถพยายบาลไปที่โรงพยาบาล ดีที่แพทย์ช่วยชีวิตไว้ทัน ขณะอยู่ที่โรงบาลได้มีโอกาสพูดคุย จึงรู้ว่า แกตั้งใจฆ่าตัวตายในวันเกิดของลูกสาวแก คือเรื่องนี้มันดราม่ามากๆ ก็อีกนั่นแหละครับ เราก็เลยพากันซื้อเค้กวันเกิดไปให้ลูกสาวแกเป่าในโรงพยาบาล รายละเอียดของเรื่องนี้ผมขอเล่าให้ฟังในครั้งหน้านะครับ คดีต่อมาที่ผมรับผิดชอบอยู่ คือ คดีขัดพรก. ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คดีรองเท้าแตะ อันนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไปตีความเรื่องวัตุถุที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไปถึงขนาดห้ามไม่ให้ขายรองเท้าแตะที่มีภาพใบหน้าของนายกฯและนายสุเทพ คดีนี้อยู่ระหว่างชั้นพนักงานอัยการ ที่จังหวัดเชีบงใหม่และเชียงรายเราก็ได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือเหมือนกัน เช่น ที่เชียงใหม่ได้เข้าเยี่ยมจำเลยและให้ความช่วยเหลือครอบครัวจำเลย โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย เราได้ให้ความช่วยเหลืออยู่ ๓ คดี คือคดีที่นักเรียน นักศึกษา ชูป้าย ๕ คน ตามที่เป็นข่าว ซึ่งคดีจบไปแล้วโดยตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคดีที่มีนักเรียนไปขายรองเท้าแตะหน้านายกฯกับสุเทพ ซึ่งคดีอยู่ในชั้นสอบสวนของพนักงานตำรวจ และสุดท้ายคดี เผายางรถยนต์ที่เกาะกลางถนน อีกหนึ่งคดี ส่วนในกรุงเทพฯ นอกจากคดีพี่หนูหริ่ง และคดีลุงบังแล้ว ภายหลังจากที่เราเข้าเยี่ยมจำเลยในเรือนจำปรากฎว่า มีจำเลยคดีต้องหาว่าเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และปล้นทรัพย์แจ้งความประสงค์มายังเราให้เราไปช่วยคดีอีกเป็นจำนวน ๙ คน ในคดีนี้ Q : นอกจากคดีการเมือง 19 พฤษภาคมแล้ว ได้ทราบว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ทะลักมาหา? A : คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็มีอยู่หลายคดีที่ผมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น คดี ประชาไท ( ทำเป็นคณะทำงานใหญ่), คดีพี่หนุ่ม เมืองนนท์ ( ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม )ที่ ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน และเป็นผู้ดูแลเว็บ นปช.ยูเอสเอ คดีนี้สืบพยานในเดือนกุมภาพันธ์หน้า , คดีพี่หมี สุริยันต์ กกเปือย ที่โทรศัพท์ไปขู่วางระเบิดศิริราช คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน , คดีพี่ คธา จำเลยคดีที่โพสข้อความเกี่ยวกับพระอาการประชวร แล้วถูกกล่าวหาว่าทำให้หุ้นตก คดีนี้อยู่ชั้นอัยการ ,คดีลุง อากง ที่ส่งเอสเอ็มเอสเข้ามือถือนายกฯ อันเป็นข้อความหมิ่นฯ คดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว และอยู่ชั้นพนักงานอัยการ คดีของคนเสื้อแดงนับวันก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีเสื้อแดงนะครับ ถ้าถามว่าทิศทางของคดีเป็นยังไง ผมต้องขอบอกว่าเป็นคดีการเมืองแทบทั้งสิ้น การทำคดีก็ต้องทำแบบคดีการเมืองด้วย และเราก็คงต้องสู้กันต่อไป Q : มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้างในการช่วยว่าความ A : ปัญหาแรกและเป็นปัญหาหลักคือ คดีมันเยอะ และเราต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นทนาย และทำหน้าที่คอยดูแลครอบครัวเขาด้วย กล่าวคือ นอกจากต้องเข้าเยี่ยม สอบข้อเท็จจริงจำเลยในเรือนจำแล้ว เรายังต้องดู และ หรืออย่างน้อยก็ดูแลครอบครัวของจำเลยด้วย แรกๆตอนลง พื้นที่มักมีปัญหาจุดนี้ครับ คือ ครอบครัวของคนเลื้อแดงส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นคนยากจน พอคนที่ถูกจับเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็เลยไปกันใหญ่ บางครอบครัวแทบไม่มีจะกิน จำนวนทนายความอาสาก็มีน้อย ก็ต้องช่วยๆกันไปเท่าที่ทำได้ ที่ผมทำเป็นหลักก็คือเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา คนเสื้อแดงต่างจังหวัดเวลาพูดมันเสียงไม่ดังครับ แต่ถ้าพูดผ่านปากทนายความมันก็จะดังขึ้น ( ดูfacebookทนายอานนท์ ) เวลาลงพื้นที่เสร็จ เราก็นำเอาความเดือดร้อนเหล่านั้นมาตีแผ่ และเป็นเหมือนคนส่งสาร ระหว่างคนเสื้อแดงต่างจังหวัดกับเสื้อแดงในเมือง อย่างที่มุกดาหาร ก่อนที่เราลงไปก็ไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามีคดีอะไรที่นั่น จนกระทั่งทีมทนายความ( อันประกอบด้วยผม น้องทนายอีกสองคน และเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของ ศปช.-ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 ) ลงไปในพื้นที่ จึงได้มีการนำเสนอสู่สังคมมากขึ้น และถ้าพูดถึงเรื่องความยากลำบากของพี่น้องเสื้อแดงแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวด้วย ชาวบ้านเข้าไม่มีหรอกครับหลักทรัพย์ประกันเป็นล้านเป็นแสนขนาดนั้น แค่ข้าวจะกรอกหม้อยังไม่มีเลย ปัญหาประการที่สอง คือทนายในพื้นที่มีปัญหาในแนวสู้คดี และมีบางที่ไม่ได้ใส่ใจคดีชาวบ้านเสื้อแดงเท่าที่ควร มีกระทั่งเข้าไปแนะนำจำเลยในเรือนจำให้รับสารภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันจะกระทบการสู้คดีของคนเสื้อแดงทั้งระบบ แน่นอนว่าแม้แต่ส่วนกลางเอกก็มิได้เป็นเอกภาพเท่าที่ควร ยิ่งตอนหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ยังมั่วมากๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าร่องเข้ารอยแล้ว อย่างที่ผมเรียนข้างต้น เราทำงานทางการเมืองกับสื่อกับชาวบ้านด้วย อันนี้เป็นงานที่เพิ่มขึ้นแต่ก็สำคัญและจำเป็น และเมื่อทำมันอย่างจริงจัง มันก็ชักเริ่มจะสนุกกับมันมากกว่างานคดีเสียอีก เพราะมันถึงเนื้อถึงหนังดี แต่ก็ต้องถือว่าหนัก หากเราแบกรับทั้งสองบ่า แต่ยังยืนยันครับว่ามันมีความสุขจริงๆ ปัญหาประการสุดท้ายเห็นจะอยู่ที่ตัวทนายความเองนั่นแหละ คือ ทนายอาสาทุกคนก็จะมีงานประจำของตัวเอง การทำงานจึงมักจะเป็นการใช้เวลาว่าง หรือเจียดเวลามาทำงานอาสากันเสียส่วนใหญ่ อันนี้ยกเว้นผมกับน้องอีกสองคนที่เข้ามาช่วยงานนะครับ เพราะผมเทเวลามาทำคดีของชาวบ้านเสื้อแดง และน้องสองคก็เพิ่งจบเนติฯ ยังไม่ได้บรรจุ หรือสอบที่ไหน และนี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกออกจากงานเดิม เพื่อมาทำคดีชาวบ้านเสื้อแดงโดยเฉพาะ Q : เรียนถามตรงๆว่าได้ค่าทนายความในการว่าความนจากใคร ตัวความ,ญาติ,พรรคเพื่อไทย,ส.ส.พื้นที่ หรือจากคุณทักษิณ A : 555 พูดเรื่องค่าทนายเราไม่มีครับ เวลาลงพื้นที่ถ้าเป็นในกรุงเทพฯได้ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยง ๕๐๐ บาท ถ้าออกต่างจังหวัดได้ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ๓ มื้อ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งตอนหลังมันต้องไปถี่และมีน้องทนายมาช่วยงานเพิ่ม จึงต้องลดลงเหลือ ๕๐๐ บาท/วัน แต่อย่าไปคำนวนว่า วันละ ๕๐๐ เดือนนึงได้ ๑๕,๐๐๐ บาทนะครับ เพราะเราไม่ได้ทำงานกันทุกวัน มันก็ได้แต่วันที่ทำเท่านั้น บางที่ก็เดือนละ ๕- ๖ วัน ไอ้นั่งทำเอกสารที่ออฟฟิศนั้นไม่ได้นะครับ 555 แต่ก็เข้าใจได้ เพราะว่าต้องถือว่ามันเป็นงานอาสา และอีกอย่าง ทนายอาสาทุกคนก็มิได้หวังจะมาร่ำรวยกับงานพวกนี้หรอก แต่อยากทำในเนื้องานจริงๆ ถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คือ ถือว่าเราโชคดีที่เรียนมาทางกฎหมาย และได้นำสิ่งที่เราเรียนมามารับใช้ชาวบ้าน ( อารมณ์มันเป็นแบบ ฮีโร่ ของชาวบ้านนะครับ) ซึ่งนี่แหละที่เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเรามาโดยตลอด อันนี้พูดเผื่อไปถึงอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นทนายแต่อาสามาช่วยงานนะครับ ต้องขอกราบหัวใจคนเหล่านี้เลยทีเดียว ส่วนที่มาของเงินนั้น มาจาก ศปช. ครับ ซึ่ง ศปช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล และเผยแพร่ข่าวสารของคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ แต่อันนี้ก็ยังเกิดความไม่ค่อยแน่นอนในเรื่องการทำคดีเท่าไหร่ เพราะศูนย์ฯเองก้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ว่าจะทำคดีเป็นหลัก ถ้าจะพูดกันจริงๆก้คือ งานคดีเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าที่ต้องช่วยเหลือเท่านั้น งาน หลักของศูนย์ฯคืองานข้อมูลครับ โดยเฉพาะการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนที่มาของเงินมาจากการบริจาคของพี่น้องเสื้อแดงครับ เคยจัดคอนเสิร์ตที่ธรรมศาสตร์หาทุนหนนึง ได้มาหลักแสนมังครับ เทียบกับคณะกรรมการปฏิรุปที่รัฐบาลตั้งงบเป็นพันล้าน คนละเรื่องกันเลย Q : มีทีมทนายอื่นๆอีกไหมนอกจากทนายอานนท์ที่ทำคดีพวกนี้ อย่างทนายคารม พลทะกลาง หรือทนายพวกเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน A : ทนายความเสื้อแดงผมขอแยกออกเป็น ๓ ส่วนครับ ส่วนแรกคือ ส่วนกลาง คือทนาย นปช.ซึ่งก็น่าจะเป็นทีมทนายของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละครับ อันนี้รับผิดชอบคดีส่วนกลาง ส่วนที่สองคือ ทนายในพื้นที่ต่างจังหวัด อันนี้จะเป็นทนายความที่ ส.ส.ในพื้นที่จัดหา ซึ่งก็ได้รับเงินสนับสนุนจากส่วนกลาง ส่วนจำนวนผมไม่ทราบที่แน่นอน และส่วนที่สามส่วนสุดท้ายคือ ทนายความอาสา ซึ่งก็น่าจะได้แก่ ศปช. คือพวกผมสามคน เป็นต้น Q : ปัญหาอุปสรรคที่เจอในการทำคดีพวกนี้มีอะไรบ้าง A : สำหรับผมไม่ค่อยมีครับ คงเพราะเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนอยู่แล้ว และมีทนายความที่ไม่สะดวกมาช่วยคดีเสื้อแดงเป็นที่ปรึกษาอีกทาง อีกอย่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องเสื้อแดงเป็นอย่างดี Q : มีโครงการหรือแผนการจะดำเนินการอย่างไรต่อไปข้างหน้า ในกรณีนักโทษการเมืองติดยาว หรือยังมีนักโทษทางความคิดอย่างคดีหมิ่นฯ หรือคดีทางการเมืองทะลักเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ A : ใจผม ผมอยากทำสำนักงานที่เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เป็นชิ้นเป็นอัน จัด ระบบคดีให้สามารถเช็ค และให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และทั่วถึง โดยใช้ระบบทนายเครือข่าย และมีทนายความประจำ ๓ คน ทำหน้าที่ประสานงาน และเป็นเหมือนผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา เพราะผมคิดว่าคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีเสื้อแดงยาวแน่ และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีหมิ่น ม.๑๑๒ ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนี้เองก็ถือว่าเยอะมาก ที่สำคัญ แต่ละคดีก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทนายความเองก็ต้องหาตรงนั้นทีตรงนี้ที และคดีพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีทนายความที่รับทำสักเท่าไหร่ หลังปีใหม่ผมตัดสินใจออกจากออฟฟิศเดิม เพื่อออกมาทำคดีให้เต็มที่ โดยที่ยังไม่ได้มีสำนักงานอะไรรองรับเป็นกิจลักษณะ คือได้เทหน้าตักแล้วก็ต้องทำให้ให้มันสุดๆ อะไรจะเกิดข้างหน้าก็ต้องยอมรับเพราะเราเลือกแล้ว แต่คงไม่ต้องบอกว่ามันเป็นอุดมกงอุดมการณ์อะไรหรอก ผมว่ามันก็เป็นเรื่องการสนุกในการทำงาน และเห็นว่างานที่ทำมันให้อะไรกับสังคม อีกอย่างก็อาจเป็นเพราะการโลดโผนของทนายความหนุ่มอายุแค่ ๒๖ ปีด้วยกระมัง 555 อย่างไรก็ตาม ผมก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่างานที่ทำมันมีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็เงินที่ซื้อข้าวใส่ปากนี่แหละ ผมคิดไว้ว่า ถ้ามีออฟฟิศ และมีทนายความประจำโดยมีเงินเดือนจำนวนนึง ก็น่าจะพอไปได้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็คือ ออฟฟิศกับค่าตอบแทนทนายความ ออฟฟิศนั้นผมอาจพอหาได้แล้ว แต่ต้องใช้เงินปรับปรุงอีกสักเล็กน้อย ติดกระจกด้านหน้า ซื้อแอร์ และอุปกรณ์สำนักงานจำพวกโต๊ะทำงาน ตู้ เครื่องปริ๊นต์ถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่น่าจะเกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ค่าจัดการออฟฟิศต่อเดือนประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าตอบแทนทนายความ ๓ คน คือผม ๑๕,๐๐๐ บาท และน้องอีกสองคน คนละ ๑๒,๐๐๐ บาท รวม ๓๙,๐๐๐ บาท และค่าเดิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในคดีเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยงทนายความเครือข่ายที่เข้ามาทำคดี ทั้งปีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมจากเค้าโครงงานทั้งงานคดี และงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน่าจะอยู่ประมาณ ล้านเศษๆ Q : ทางศปช.ก็ไม่น่ามีงบให้ จะไปหาแหล่งทุนยังไงมาทำศูนย์ช่วยเหลือคดีการเมือง คดีหมิ่นฯ A : 555 อันนี้ก็ขำๆ นะครับ ในวงการนักกิจกรรมมักแซวกันว่า เราชอบคิดชอบทำชอบไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เขาไม่มีที่พึ่ง ครั้นพอจะมาพูดเรื่องว่าจะให้ใครมาช่วยให้เราได้ทำงานนี่ ไปไม่เป็น พูดไม่ออก คือมันเขินครับ พูดว่าจะไปขอทุนใครมาทำงานนี่จริงๆ เขิน แน่นอนว่าเรื่องหาทำศูนย์ช่วยคดีฯนี่ผมไม่ได้คิดเรื่องเงินมาเป็นอันดับแรกครับ คิดว่าอยากช่วยคนที่เขาเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง ทนายความโดยทั่วไปไม่มีใครอยากรับงานนี้ ต้องหาคนมีใจจริงๆ แต่ก็มีพี่สื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยหลายที่ รวมทั้งจากไทยอีนิวส์ก็ให้ความเห็นว่า ลองระดมทุนจากคนที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมที่พอมีกำลังจะช่วยดีไหม? ...ผมก็ว่าหากพวกพี่ๆ จะช่วยได้ก็ดี ก็จะทำให้งานที่เราอยากทำนั้น มันสะดวกขึ้น พอเลี้ยงตัวได้ ก็น่าจะดี ซึ่งอันนี้ผมไม่ซีเรียสนะครับ เงินเดือนที่ตั้งไว้ผมหมื่นห้า น้องอีกสองคน คนละหมื่นสอง ก็สามารถปรับลดได้หากเห็นว่ามันสูงไป อย่าว่าแต่ลดเลย ขนาดไม่มีให้ก็ยังจะทำเลยครับ อันนี้เป็นคำสัญญาครับ คือผมก็ไม่แน่ใจเรื่องการระดมทุนสักเท่าไหร่ และเข้าใจว่าแต่ละท่านก็ช่วยเสื้อแดงมาพอสมควรแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้าเราเห็นถึงความจำเป็นเหมือนกัน ก็เป็นอันว่า ท่านลงตังค์ ผมกับน้องลงแรง ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน Q : อยากพูดถึงคดีการเมืองยังไงบ้าง เท่าที่ทำคดีมาพอสมควร และคดีนักโทษการเมืองเสื้อแดงก็ปาเข้าไป7-8เดือน อะไรคือสิ่งที่ต้องตระหนักที่สุด A : อันนี้ก็ต้องพูดกันตรงๆ อีกนั่นแหละครับ คือ ตัวแกนนำเองคงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่จำเลยที่เป็นชาวบ้าน สิครับหนัก ไหนจะขาดรายได้ ไหนต้องเสียเวลามาสู้คดี ซึ่งแนวโนมก็จะมีการตามจับกุมเพิ่มอีก กล่าวคือ ที่เห็นๆ เป็นคดีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ถึงหนึ่งในสามของคนที่ออกถูกออกหมายจับนะครับ นั่นหมายความว่าที่เหลือก็อยู่ในระหว่างหลบหนี ซึ่งก็จะเป็นปัญหาระยะยาวอีกส่วน และอีกส่วนที่ผมเป็นห่วงคือ คนเสื้อแดงเองก็มีแนวโน้มที่จะถูกดำเนินคดีมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์เมื่อร้อนระอุแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีหมิ่น ฯ ซึ่งรัฐเองก็มีการกวาดจับเพิ่มเป็นรายวัน สำคัญคืองานทางกฎหมายเอง นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นหลัก หรือเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่ผมเห็นก็มีแต่พี่น้องเสื้อแดงเราที่บางคนเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นคนที่พอจะช่วยเหลือกันได้ตามฐานะ ก็คอยช่วยเหลือกันไป แต่ผมไม่อยากเห็นว่า มันเป็นการช่วยเหลือกันแบบตามมีตามเกิด Q : พอจะเรียกว่าเป็นทนายเสื้อแดงได้ไหม อันนี้แล้วแต่จะเรียกครับ แต่สำหรับผม ผมกับน้องทนายอีกสองคนก็เป็นแค่คนอยากทำงานช่วยชาวบ้านเท่านั้น ที่เหลือก็ ... ใจล้วนๆ ครับ ! 555
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: 2553 ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น Posted: 30 Dec 2010 07:32 PM PST ปีที่แล้วจัดอันดับข่าวฮา แต่ปีนี้ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด เข่นฆ่า จับกุมคุมขัง ละเมิดสิทธิเสรีภาพมวลชนอย่างร้ายแรง จึงไม่มีอารมณ์จัดอันดับข่าวฮา ขอสรุปภาพเหตุการณ์ตามใจฉัน (ผม) ก็แล้วกัน ก่อนอื่นขอชมนักข่าวทำเนียบ นักข่าวสภา ที่ตั้งฉายารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างตรงไปตรงมา แสดงออกซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระ ของนักข่าวพื้นที่ ไม่แสดงอคติเลือกข้างเหมือนข่าวที่ผ่านการเรียบเรียงและพาดหัวโดยหัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว ฉายาที่สะใจนอกจาก ‘ซีมาร์คโลชั่น’ ก็คือ ‘กริ๊ง...สิงสื่อ’ ซึ่งแฉหมดเปลือกว่า สาทิตย์โทรศัพท์สายตรงไปถึงกองบรรณาธิการสื่อของรัฐ ชี้นำกำหนดประเด็นการเสนอข่าว นี่หรือรัฐบาล ปชป.ที่เคยตีฆ้องร้องป่าวว่า ทักษิณแทรกแซงสื่อ ซื้อสื่อ แต่เปิดหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่โฆษณาหน่วยงานของรัฐเต็มไปหมดทุกฉบับ พร้อมกับใบหน้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ (โฆษณาฟรีจากเงินภาษีประชาชน) ส่วนนักข่าวสภาก็สะใจที่ให้ 40 สว.เป็น ‘ดาวดับ’ ไม่ไว้หน้า สมชาย แสวงการ กับคำนูณ สิทธิสมาน และที่ขำกลิ้งโดยอาจไม่ได้ตั้งใจคือ คนดีศรีสภาได้แก่ ทิวา เงินยวง (ตายแล้ว) 1.ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น สังคมไทยมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมุม ตามทัศนะชนชั้น ไม่เฉพาะการชุมนุมและการใช้กำลัง ‘กระชับพื้นที่’ น้ำท่วมใหญ่ปลายปี ก็เจือปน ‘ทัศนะชนชั้น’ เพราะที่ผ่านมาน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ คนอยุธยา คนปทุม ‘ชนชั้นแก้มลิง’ อ่วมอรทัยทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ แต่ปีนี้ คนกรุงเห็นภาพสดๆ ทางทีวี น้ำหลากเข้าท่วมเมือง โรงพยาบาล บ้านจัดสรรที่โคราช ท่วมตลาดหาดใหญ่ แหม! มันเข้าถึงหัวอกคนชั้นกลางด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมกระแส ‘กอดต้นไม้’ คัดค้านถนนขึ้นเขาใหญ่ ปลุกคนชั้นกลางให้กอดภูเขา กอดทะเล กอดแม่น้ำ (อนุรักษ์ไว้เพื่อห้กรูไปเที่ยวนอนรีสอร์ท) แต่ไม่ยักอยากกอดเพื่อนมนุษย์ สิ่งที่สะท้อนว่านี่เป็นปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น คือเราสามารถจัดอันดับเรื่องต่างๆ ได้เป็น 2 มุมที่ต่างกันสุดขั้ว เช่น บุคคลแห่งปี ‘ไพร่’ หรือ ‘คนชั้นกลางเฟซบุค’ ‘ไพร่แดง’ กรีธาทัพเข้าเมืองหลวง ยกขบวนไปทั่วกรุงท่ามกลางการโบกธงต้อนรับของแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ทำให้คนชั้นกลางวิตกอกสั่น เพราะเพิ่งรู้ว่าคนสวน คนขับรถ แม่บ้านที่ชงกาแฟให้กินทุกวัน ล้วนเป็นเสื้อแดง ‘ไพร่แดง’ ยึดราชดำเนิน ยึดราชประสงค์ ยึดสถานีไทยคม ใช้กำลังคนที่มีแต่สองมือเปล่าปิดล้อมปลดอาวุธทหาร เหตุการณ์ 10 เมษายน แม้ถูกยิงล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่มวลชนที่โกรธแค้นก็ลุกฮือไล่ ‘ทหารเสือ’ หนีกระเจิง ทิ้งอาวุธ ทิ้งรถหุ้มเกราะ กระทั่งถอดเครื่องแบบเอาตัวรอด แม้ต่อมา มวลชนเสื้อแดงถูกปราบด้วยปฏิบัติการกระชับพื้นที่ พร้อม ‘สไนเปอร์’ ใน ‘เขตใช้กระสุนจริง’ พวกเขาก็ยืนหยัดต้านทานอยู่ในวงล้อมจนวาระสุดท้ายอย่างองอาจกล้าหาญไม่กลัวความตาย แน่นอน ในนั้นมีความมุทะลุ มีความคิดรุนแรง เลยธง บ้าระห่ำ การนำที่สะเปะสะปะ ขาดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี แต่สำหรับมวลชน ‘คนชั้นต่ำของแผ่นดิน’ นี่คือวีรกรรมและความเคียดแค้นเจ็บช้ำที่จะจดจำไปตลอดกาล ขณะเดียวกัน เมื่อ ‘แดงถ่อย’ ยึดราชประสงค์ แหล่งชอปกระหน่ำซัมเมอร์เซล ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ทั้งยังอาละวาดบุกที่นั่นที่นี่ ทำลาย ‘ความสงบสุข’ ของคนกรุง ก็เกิดกระแส ‘มวลชนเฟซบุค’ ล่า 1 ล้านชื่อสนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ ให้ใช้กำลังทหารปราบม็อบ หรืออีกนัยหนึ่ง ‘ออกใบอนุญาตฆ่า’ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องเกิดบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกลาด แต่ต้องทำ เพื่อ ‘เอาความสุขของกรูคืนมา’ หลังเหตุการณ์ คนชั้นกลางชาวกรุงยังสร้างอารมณ์ร่วมทางชนชั้น หลั่งน้ำตาอาลัยตึกเวิลด์เทรด หวนหาความผูกพันอันโรแมนติกที่มีต่อโรงหนังสยามและโรงเรียนกวดวิชา (ตลอดจนไปเข้าคิวซื้อโดนัทที่สยามพารากอน) พวกเขาและเธอช่วยกันปกป้องอภิสิทธิ์และกองทัพ กระทั่งเขียนไปตอบโต้แดน ริเวอร์ แห่ง CNN อย่าง ‘องอาจกล้าหาญ’ กรี๊ดสนั่น ‘ไก่อู’ เป็นหนุ่มเนื้อหอมแห่งปี นี่คือ ‘วีรกรรม’ ในทัศนะของคนกรุงเช่นกัน วีรบุรุษแห่งปี เสธ.แดง หรือร่มเกล้า แต่วีรบุรุษทางการเมือง มีช้อยส์ให้เลือก 2 ข้อเช่นกัน คือ เสธ.แดง หรือ พ.อ.ร่มเกล้า ผมเคยเปรียบเทียบไว้แล้วว่า เสธ.แดงจะเป็น ‘ตำนาน’ ส่วน พ.อ.ร่มเกล้าจะเป็น ‘อนุสาวรีย์’ แม้บ้าระห่ำไร้ทิศทาง มุทะลุไร้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างไร เสธ.แดงก็ ‘ได้ใจ’ เข้าถึงหัวจิตหัวใจมวลชน งานศพเสธ.แดงมีคนมาไว้อาลัยล้นหลาม เรื่องราวของนายพลขวัญใจคนชั้นล่างคงเล่าขานกันไปอีกนาน ...แต่ไม่ทราบว่ากองทัพสร้างรูปปั้นให้ พ.อ.ร่มเกล้า หรือยัง ตัวตลกแห่งปี หมอเหวง หรือหมอประเวศ หมอประเวศกับอานันท์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ใช้งบประมาณ 600 ล้าน กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่ นอกจากทฤษฎีชุมชนนิยมที่พูดไว้ซ้ำซาก จนถูกคนรุ่นหลังถอนหงอกสนุกสนาน ไม่ใช่แค่ ‘คำ ผกา’ แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์หรือผู้สนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ก็ออกอาการเซ็งและอดแซวไม่ได้เช่นกัน ป.ล.ถ้าเลือกหมอประเวศ ก็รวมอานันท์และกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด Idol แห่งปี อภิชาติพงศ์ หรือแทนคุณ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก้าวขึ้นรับรางวัลปาล์มทองที่เมืองคานส์ โดยไม่กล่าวขอบคุณใครให้ยืดยาวแบบไทยๆ แต่กลับขอบคุณ ‘ภูติผีปีศาจ’ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า การต่อสู้ของเสื้อแดงคือการต่อสู้ทางชนชั้น นอกจากนี้ เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคัดค้านกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้งบ 100 ล้านกับหนัง ‘นเรศวร’ เรื่องเดียว
หัวข่าวฮาแห่งปี : เนวินทอดกฐินโจร ที่จริงต้องยกเป็นข่าวยอดเยี่ยม ด้านให้การศึกษาเด็กและเยาวชนรู้จักประเพณีสำคัญทางศาสนา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักว่า ‘กฐินโจร’ คือการทอดกฐินตกค้างให้กับวัดที่ไม่มีเจ้าภาพ เมื่อเห็นหัวข่าว ‘เนวินทอดกฐินโจร’ จึงฮือฮา พลิกอ่านแล้วค่อยร้องอ๋อ ที่แท้ทอดกฐินตกค้างให้ 239 วัดในบุรีรัมย์ ถ้าเป็นคนอื่นทอดกฐินโจร ก็คงไม่เรียกความสนใจได้เช่นนี้ หัวข่าวเฮ(โล)แห่งปี : ทักษิณ 1 ใน 5 ผู้นำยอดแย่ แพร่มาจากข้อเขียนของโจชัว คีทติ้ง ในเว็บไซต์นิตยสาร Foreign Policy ในเครือวอชิงตันโพสต์ กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่แทบทุกฉบับ ขณะที่ข่าวนายกฯ อังกฤษไม่มาเที่ยวเมืองไทยเพราะเกรงจะส่งสัญญาณหนุนอภิสิทธิ์ ตกหายจากหัวข่าวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ มีมติชนพาดหัวใหญ่ฉบับเดียว ที่จริงทั้งสองข่าวต้องเสนอแก่ผู้อ่านแต่ไม่จำเป็นต้องเน้นมากนัก เพราะข่าวแรกแค่ทัศนะฝรั่งคนเดียว ข่าวหลังก็อ้างแหล่งข่าวไม่เป็นทางการ เรื่องตลกคือ ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ Foreign Policy จะพบว่าข้อเขียนเรื่องอื่นๆ ของคีทติ้งมีคนโหวตพอใจ 20-30 หรืออย่างเก่งก็ 100-200 ราย แต่ข้อเขียนเรื่องนี้มีคนโหวตถล่มทลาย 4 พันกว่าราย คาดว่าเป็นข้อเขียนที่มีคนอ่านมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้มาเลยทีเดียว (คนชาติไหนคงเดาได้) ไร้สาระแห่งปี : กฎเหล็กของมาร์ค กฎเหล็ก รธน. ขวัญใจจริตนิยมให้เทพเทือกลาออกก่อนลงเลือกตั้ง ชนะแล้วกลับมาเป็นรองนายกฯ ใหม่ จากนั้นก็ใช้กฎเดียวกันบีบให้บุญจง-เกื้อกูล ทำตาม ชนะแล้วกลับมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ ถามว่ามีประโยชน์อะไร เพราะข้าราชการหัวคะแนนกำนันผู้ใหญ่บ้านรับรู้ทั่วกัน มี-ตรงที่ทำให้มาร์คได้คะแนนนิยม กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับการแต่งตั้งปลัดมหาดไทย ที่ถูกตีกลับ แต่ก็เพียงเปลี่ยนจากศิษย์ ‘โรงเรียนเนฯ’ เบอร์ 1 มาเป็นเบอร์ 2 กลบเกลื่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ 6 ส.ส.พ้นสภาพ เนื่องจากถือหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐ ทั้งที่เป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีจำนวนน้อยนิด ไม่ส่งผลให้มีสิทธิเสียงในการบริหาร นี่คือกฎเกณฑ์หยุมหยิมจับยายฉิมเก็บเห็ดในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทำให้ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินจัดการเลือกตั้งใหม่ 5 เขต โดยยังคล้ายคดีสมัครชิมไปบ่นไป พ้นนายกฯ เพราะพจนานุกรม วันรุ่งขึ้นก็ยังมีสิทธิเป็นนายกฯ อีก ในกรณีนี้ 5 ส.ส.เขตยังกลับมาลงเลือกตั้งได้อีก ถามว่าถ้าขาดคุณสมบัติ ผิดจริยธรรมร้ายแรง จนถูกถอดถอนแล้ว ยังให้กลับมาได้อย่างไร คำตอบคือ พวกเขาไม่ได้ขาดคุณสมบัติ และไม่ควรถูกถอดถอนตั้งแต่แรก ถ้าจะวินิจฉัยว่าผิด อย่างเก่งก็คือมี ‘ลักษณะต้องห้าม’ ให้จำหน่ายจ่ายหุ้นเสียแล้วเป็น ส.ส.ต่อไป บุคคลตัวอย่าง : ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถ้าธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ปชป.ก็คงไม่นับเป็นบุคคลตัวอย่าง แต่ธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ทรท.มาก่อน เริ่มจากเป็นอัยการ หน้าห้องคณิต ณ นคร หมอมิ้งดึงไปช่วยราชการสำนักนายกฯ เป็นที่ปรึกษาพันศักดิ์ วิญญรัตน์ แล้วก็ย้ายจากอัยการมาเป็นรองอธิบดี DSI ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งคงจะหวังให้เป็นมือเป็นไม้ แต่กลับได้ขึ้นเป็นอธิบดีในยุคพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค สร้างชื่อเป็นมือปราบ ‘ผู้ก่อการร้ายเสื้อแดง’ ด้วยการสืบสวนสอบสวนแบบ ‘กันไว้เป็นพยาน’ และตีปี๊บข่าวฝึกอาวุธในเขมร กระทั่งได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นี่คือ ‘บุคคลตัวอย่าง’ ที่เยาวชนคนรุ่นหลังต้องจดจำและเลียนแบบ ถ้าอยากจะได้ดิบได้ดีในสังคมนี้ สถาบันตัวอย่าง : ม.รังสิต รักพี่เสียดายน้อง เลือกยากจริงๆ ธรรมศาสตร์เลือกอธิการบดีได้สมคิด เลิศไพฑูรย์ สืบทอดเก้าอี้สุรพล นิติไกรพจน์ จุฬาฯ ยึดป้ายนักศึกษาประท้วงอภิสิทธิ์ ขณะที่นิด้าของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ต้องยกให้เป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ บทบาทไม่ตกฟาก อย่างไรก็ดี สุดท้ายขอเลือก ม.รังสิต เพราะออกแถลงการณ์ 3 ฉบับในนามมหาวิทยาลัย คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชา เปล่า ไม่ติดใจเนื้อหาหรอก แต่แถลงการณ์ลงชื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับ ดร.สมปอง สุจริตกุล แค่ 2 คน! รู้สึกประทับใจที่ 2 คนลงชื่อแทนทั้งมหาวิทยาลัยได้ (ถ้าใช้คำว่าบริษัทมหาวิทยาลัยรังสิต จำกัด จะไม่แปลกใจเลย) คดีส่งผลสะเทือนแห่งปี : 3G คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดที่ทำแท้งการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ลึกซึ้ง ยาวนาน ผลการตีความของศาลทำให้การแข่งขันเสรีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีก้าวสำคัญต้องชะงักงันไปเป็นปีๆ ขณะที่ ทศท.กสท. (ภายใต้กำกับของจุติ ไกรฤกษ์) สามารถนำคลื่น 3G ที่มีอยู่แล้วมาเปิดสัมปทานได้ กลายเป็น tiger eat sleep สบายใจเฉิบต่อไป (ก่อนหน้านี้ก็ได้ค่าสัมปทานคืนมาเพราะยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต) หนำซ้ำ กสท.ยังแบะท่าจะยกคลื่นให้ True ของเจ้าสัวซีพี ชิงความได้เปรียบอีก 2 บริษัทอย่างมหาศาล ทั้งที่ถ้าเข้าประมูลใบอนุญาตกับ กทช.True คือผู้ที่มีความพร้อมน้อยที่สุด คดีนี้วินิจฉัยโดยองค์คณะที่ท่านหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ‘ศิษย์เอกโกเอ็นก้า’ เป็นตุลาการหัวหน้าคณะ ก่อนขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดแทน อ.อักขราทร จุฬารัตน์ ในอีก 7 วันต่อมา คดีกังขาแห่งปี : 29 ล้านกับ 258 ล้าน คดี 29 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า ปชป.ไม่ผิด 4-2 คดี 258 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ โดยศาลยังไม่ทันไต่สวนข้อเท็จจริง ถ้าเอาตรรกมาเรียบเรียงใหม่ สมมติศาลเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยุบพรรค คดีแรก ยังไงๆ ปชป.ก็ไม่ผิด แต่คดีหลังล่ะ ฉะนั้น การชนะฟาวล์จริงๆ แล้วไม่มีประโยชน์ต่อคดีแรก แต่อาจสำคัญมากๆๆ กับคดีหลัง คดีแรกชนะฟาวล์ด้วยมติ 3-1-2 แต่กลับรวบรัดเป็น 4-2 และเอาความเห็นของ 1 เสียงมาใช้ในคำวินิจฉัยชั่วคราว แต่แก้ไขใหม่ในคำวินิจฉัยค้างคืน คดีหลังถ้ามีตุลาการ 6 คนเท่าเดิม มติก็จะออกมาเป็น 3-3 แต่ ปชป.โชคดีตามเคยที่องค์คณะกลับมาเป็น 7 คน การอภิปรายไม่ไว้วางใจแห่งปี: ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอภิปรายทักษิณ คำวินิจฉัยมุ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ไปยังประเด็นที่สอง ว่ามีการแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาให้ได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ ซึ่งคำว่า ‘ไม่สมควร’ ฟ้องในตัวว่าเป็นเพียงทัศนะหรือความเห็น ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ทางกฎหมาย ไม่ชัดเจนเหมือนคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ถามว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือไหม-มี เพราะสังคม (แม้แต่ผม) ก็เชื่ออยู่แล้วว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่เมื่อเป็นทัศนะหรือความเห็น ก็เป็นสิ่งที่โต้แย้งเห็นต่างได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยว่า ‘ไม่สมควร’ ทั้ง 5 ประเด็น บางคนอาจเห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วยบางประเด็น หรือไม่เห็นด้วยเลย การแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาในทุกรัฐบาล ก็มีบ่อยครั้งที่เอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์ โดยรัฐอาจมองถึงประโยชน์ส่วนรวม เช่น เพื่อให้โครงการลุล่วง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง หรือเพื่อให้รัฐได้ส่วนแบ่งค่าสัมปทานมากขึ้น กรณีนี้ ประเด็นที่โต้เถียงกันเยอะมากคือ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งทำให้คลังได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องเข้าปาก tiger eat sleep แต่ศาลเห็นตาม คตส.ว่าเป็นการกีดกันคู่แข่ง เมื่อไม่ได้พิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงสั่งการ เพียงอนุมานว่า ‘ทักษิณเป็นเจ้าของ ทักษิณเป็นนายกฯ ทักษิณได้ประโยชน์ ซ.ต.พ.’ คำวินิจฉัยจึงไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต่างจากที่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พูดไว้ หรือที่พรรคประชาธิปัตย์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทำให้สังคมเชื่อ ทำให้สังคมเคลือบแคลงกังขาว่าทักษิณไม่โปร่งใส แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ศาลตีความมาตรา 4 ว่าต้องการข้อสรุปเพียง ‘ไม่สมควร’ ไม่ต้องพิสูจน์ว่า ‘ทุจริต’ การวินิจฉัยคดีนี้จึงกลายเป็นเรื่องของความเห็น ไม่ใช่เรื่องของการพิสูจน์ข้อเท็จจริง คำวินิจฉัยทั้งหมดเป็นความเห็นที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราๆ ท่านๆ เคยเคลือบแคลงสงสัยกันมาก่อน เพียงนำมาจัดเรียงใหม่ให้หนักแน่นและเข้าองค์ประกอบของกฎหมายตามที่ศาลตีความ ให้สังเกตด้วยว่าเมื่อคำวินิจฉัยขาดคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ก็ทำให้รัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาที่ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ แต่ถ้ามีคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ พิสูจน์ได้ว่าทักษิณแทรกแซงสั่งการ สัญญาเหล่านั้นจะเป็นโมฆะทันที ช้อยส์แห่งปี : สนธิ ลิ้ม กับวีระ สมความคิด จะเลือกบริจาคกล่องไหน วาทะแห่งปี : ‘ล้มเจ้า’ ข้อกล่าวหาที่ครอบกะลาหัวมวลชนเสื้อแดง กระทั่งมีแผนผัง ศอฉ.โยงใครต่อใครมั่วไปหมด สาเหตุที่เลือกวาทะนี้ เป็นเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ เพราะคนที่เอามาจุดชนวน เป็นคนเดือนตุลาที่เคยถูกข้อกล่าวหาแบบเดียวกันเมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า ผู้แพ้แห่งปี : ‘หญิงเป็ด จากนางเอ๊กนางเอกที่มีแค่คนแซ่ซ้องสดุดี ว่านี่แหละมือปราบทุจริต ไม่ทราบว่าเกิดความพลิกผันอย่างไร คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้พยายามจะกลับมาทวงเก้าอี้ผู้ว่า สตง.จึงถูกรุมแซนด์วิชโดยศิษย์ก้นกุฎีอย่าง พิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กับเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นอกจากนี้ยังโดนกระหนาบโดยมีชัย ฤชุพันธ์ และกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจำใจยุติบทบาทตามคำสั่งศาลปกครอง ที่น่าประหลาดใจคือไม่ยักมีใครช่วย’หญิงเป็ด แม้แต่สื่อต่างๆ ที่เคยแซ่ซ้องก็ยังกลับมาตำหนิติติง ดาวดับแห่งปี : ................ อิอิ อ้าปากก็คงเดาได้ อุตส่าห์เก็บไว้ตอนท้าย ไม่ใช่แค่ 40 สว. แต่ใครเอ่ย แพ้เลือกตั้ง สก.สข.จู๋น-จู๋น ยกพลไปประท้วง MOU ปี 43 ม็อบหน้าสภาค้านแก้รัฐธรรมนูญ ก็นับหัวแล้วใจหาย ศิษย์เก่ามัฆวาฬ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ไปไหนหมด ไม่กลับมารำลึกความหลังกันมั่งเลย ขนาดสื่อพวกกันเองยังเผลอซ้ำเติม บอกว่าคนกรุงไม่เลือกม็อบ ไม่เลือกความรุนแรง จึงไม่เลือกทั้งเพื่อไทยและการเมืองใหม่ พูดอีกก็ถูกอีก แน่นอนคนกรุงคนชั้นกลางปฏิเสธทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่เสื้อแดงไม่ตายเพราะมีฐานมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลในชนบท ขณะที่ พธม.หากินกับการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่งของคนชั้นกลาง ทั้งกระแสเกลียดทักษิณ ทั้งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แต่ตอนนี้ อภิสิทธิ์ขโมยซีนไปหมด ทั้งยังขายโปรโมชั่น ‘ไทยนี้รักสงบ’ ถูกอกถูกใจคนชั้นกลางผู้เบื่อหน่าย ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ พันธมิตรจึงเสียมวลชนให้อภิสิทธิ์ อีกด้านหนึ่ง มวลชน ปชป.ที่แฝงตัวเข้าพันธมิตรก็ถอยกลับ แกนนำพันธมิตรเริ่มเอ่ยปากทำนองว่า ‘เหลืองแดงรวมกันได้’ แต่ไม่มีทาง ภารกิจที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องในปีหน้าคือการเย้ยหยันพันธมิตร แม้โดยส่วนตัวจะเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่ต้อง ‘ทำลายล้าง’ ในเชิงหลักการ เพราะพันธมิตรบิดเบือนหลักการจนเลอะไปหมด ต้อง ‘กระชับพื้นที่’ ยึดพื้นที่ทางหลักการคืนมา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น