โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ใบตองแห้งออนไลน์.. อุดมการณ์สื่อ saga: ปลดแอก?

Posted: 11 Jan 2011 08:48 AM PST

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลโดย ฯพณฯ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตีปี๊บร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งไทยโพสต์พาดหัวข่าวได้ตรงเป้า เข้าประเด็น ว่า จ่อคลอดกฎหมาย คุ้มครองสิทธิสื่อ ปลดแอกนายทุน
 
หัวร่อกลิ้งเลยครับ รัฐบาลซึ่งประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ ปิดเว็บไซต์มาเกือบปี คุยฟุ้งว่าจะให้เสรีภาพสื่อ ยกเอาการ “ปฏิรูปสื่อ” มาเป็นหนึ่งในวาระ “ปฏิรูปประเทศไทย”
 
แกล้งทำเป็นลืมฉายา “กริ๊ง สิงสื่อ” ของตี๋สาทิตย์ไปซะแล้ว ที่เที่ยวโทรไปชี้นำกำหนดประเด็นข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ นั่นน่ะหรือ “ปลดแอก”
 
องอาจผู้มีคอนเนคชั่นอันดีกับสื่อ บอกว่านี่เป็นกฎหมายที่องค์กรวิชาชีพสื่อร่างเอง รัฐบาลไม่ได้แทรกแซง ผมเชื่อครับ แต่จะให้เชื่อว่าในโลกนี้มีกฎหมายที่ คุ้มครองสิทธิสื่อ ปลดแอกนายทุน คงสนตะพายกันยาก เพราะสภาพความเป็นจริงมันไม่มี
 
ถามหน่อยเหอะ ไอ้การคุ้มครองสิทธิสื่อในฝัน แบบที่จินตนาการว่าจะให้นักข่าว หัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ เป็นกบฎต่อนายจ้าง แล้วยังทำหน้าที่อยู่ได้ มันมีจริงๆ หรือ ในประวัติศาสตร์สื่อไทย มีเจ้าของหนังสือพิมพ์คนเดียวที่ใจกว้าง ให้ลูกน้องเขียนขัดคออยู่ได้ตั้ง 3 ปี คือเถ้าแก่เปลว สีเงิน ของผม นอกนั้นไม่เคยมี
 
แต่ก็ไม่ใช่ว่า “นายทุน” หนังสือพิมพ์จะทำตัวเหมือนเจ้าของโรงงานนรก สั่งอะไรทุกคนต้องทำตาม ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดตั้งแต่แรก นายทุนสื่อไทยมี 2 ประเภท คือนายทุนที่เติบโตมาจากสื่อ เช่น ขรรค์ชัย บุนปาน, สนธิ ลิ้มทองกุล, สุทธิชัย หยุ่น, ระวิ โหลทอง กับนายทุนคนนอก แบบตระกูลจิราธิวัฒน์เจ้าของค่ายบางกอกโพสต์ ส่วนไทยรัฐกับเดลินิวส์ แม้ไม่ได้มาจากคนข่าว แต่ตระกูลวัชรพล, เหตระกูล ก็ทำธุรกิจสื่อมาครึ่งศตวรรษ จนรู้ธรรมชาติสื่อเป็นอย่างดี
 
นายทุนแบบแรกเนี่ยนอกจากเป็นนายทุนแล้วยังมีความเป็น “ศาสดา” ด้วย คือมีบารมีทางความคิดเหนือนักข่าว หัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ บางสำนักก็ปวารณาเป็นสาวกตั้งแต่หัวจดหาง แข่งกันยกย่องเชิดชูศาสดาในหน้าหนังสือพิมพ์ตัวเอง (คงไม่ต้องบอกว่าสำนักไหน ฮิฮิ)
 
แต่ต่อให้เป็นนายทุนจริงๆ ปัจจุบัน นายทุนกับสื่อส่วนใหญ่ก็อยู่แบบอะลุ่มอล่วย นายทุนเข้าใจสื่อว่าไอ้พวกบ้าน้ำลายพวกนี้ต้องปล่อยให้มันมีเสรีภาพในการแกว่งปากบ้าง สื่อก็เข้าใจนายทุนว่าต้องหารายได้ ต้องขายโฆษณา ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องพัวพันกับนักการเมือง กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ บุคคลระดับสูงของสังคม แต่ทำไงได้ เพราะปัจจุบันสื่อเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ มูลค่ามหาศาล รายรับรายจ่ายต่อปีเป็นหลายร้อยหรือพันล้าน หมดสมัยแล้วที่จะทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่ออุดมการณ์หัวชนฝา เพียงแต่ไม่ได้บอกว่าใครใคร่ซื้อ ซื้อ ทั้งนายทุนทั้งสื่อ รู้ดีว่าต้องหาที่ยืนที่พอจะอะลุ่มอล่วยกันได้ระหว่างอุดมการณ์กับผลประโยชน์
 
สมมติเช่นข่าวการเมืองเรื่องสาธารณะ เราต้องเล่น เพราะเราไม่เล่น ฉบับอื่นก็เล่น แต่ถ้านักการเมืองที่ตกเป็นเป้า ซึ้ปึ้กกับเจ้าของสื่อ หรือเป็น “ขาใหญ่” ให้โฆษณาหน่วยงานของรัฐ มันก็มีวิถีทางถ้า คุณขอมา เช่น ลดน้ำหนัก ลดอันดับข่าว จากหัวไม้ตัวเป้งไปเป็นข่าวรอง ลดความรุนแรงของหัวข่าว-โปรยข่าว และให้โอกาสชี้แจงเผื่อน้ำใจไมตรี เหล่านี้เป็น “ศิลปะแห่งวิชาชีพ” ซึ่งรู้กันระหว่างนายทุนกับสื่อ โดยไม่มีสอนในคณะนิเทศศาสตร์ที่ไหน
 
ตัวอย่างเช่น คุณทำสัมภาษณ์พิเศษ ก็ต้องรู้ว่าบางครั้งมันต้องเอื้อให้ ผู้มีอุปการะคุณ แต่เราจะจัดให้เหมาะสมอย่างไร ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ คุณขอมา สัก 2-3 สัปดาห์ ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ที่เหลือยังถือเป็นอิสระมากมายล้นพ้น เพียงแต่ต้องคุยกันสรรหาประเด็นให้มันน่าสนใจบ้าง แล้วก็ต้องเชื่อใจกันระดับหนึ่ง ไม่ใช่สัมภาษณ์แล้วขอดูต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ แล้วแก้มาแดงเถือก
 
นี่คือความเป็นจริงที่มีอยู่ในสื่อทุกฉบับ ทุกคลื่น ทุกสถานี
 
ฉะนั้น ความคิดที่ว่า “ปลดแอกนายทุน” จึงเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะสภาพความเป็นจริงไม่มีหรอกที่สื่อจะเป็นกบฎต่อนายจ้างแล้วยังทำหน้าที่อยู่ ความขัดแย้งมีบ้างแต่ก็ต่อรองถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าขัดแย้งจริงๆ มากๆ เข้า ก็ทางใครทางมัน จะไปเอากฎหมายที่ไหนมาบังคับว่าต้องให้สิทธิอิสระกับสื่อ
 
สมัยซัก 20 ปีก่อนยังพอมี ที่สื่อกับนายทุนขัดแย้งกันแล้วยกทีมออก ย้ายค่าย เลือกอุดมการณ์แทนหม้อข้าว แต่สมัยนี้สื่อแต่ละค่ายต่างก็สถาปนาตนเป็นยักษ์ใหญ่ ให้ค่าตอบแทนสูง ให้ความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร มีศักดิ์ศรี มีบารมี ร่วมกับหัวหนังสือที่ตัวเองสังกัด สมัยนี้จึงไม่มีแล้วครับ สื่อย้ายค่าย เว้นแต่นักข่าวเด็กๆ ในพื้นที่ ส่วนพวก Dead Wood ถ้าลาออก มีแต่ตกงานสถานเดียว (ฮา)
 
ส่วนตัว-ส่วนรวม
 
เรื่องของสื่อรับทรัพย์ รับจ้างเขียน มีมาตั้งแต่สมัยไหนผมก็ไม่ทราบ จำได้ว่าเป็นเด็กนุ่งขาสั้นก็มีข่าวยิงกันตาย เกี่ยวพันกับคอลัมนิสต์บันเทิงชื่อดัง เมื่อหลายปีก่อนก็เกิดเหตุนักข่าวภูธรประชุมโต๊ะกลม ซัลโวกันสนั่น ตายเกือบยกจังหวัด และเมื่อหลายปีก่อนก็เกิดคดีฆ่าหัวหน้าข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คนวงนอกอาจสงสัย เอ๊ะ ทำไมต้องถึงขั้นฆ่ากัน คนวงในอธิบายว่า หัวหน้าข่าวภูมิภาคเปรียบได้กับรัฐมนตรีมหาดไทยของยักษ์ใหญ่ค่ายนั้น มีอำนาจแต่งตั้งหรือปลดนักข่าวทุกจังหวัด ซึ่งความเป็นนักข่าวยักษ์ใหญ่ ผู้ว่าฯ ผู้การ ผู้กำกับ ฯลฯ ล้วนต้องเกรงใจ เอื้อให้ประกอบธุรกิจอื่น
 
นั่นคือพฤติกรรมส่วนบุคคลของนักข่าว คอลัมนิสต์ ในอดีต (และปัจจุบันก็ยังไม่หมด) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดให้เงินเดือนน้อย ปล่อยให้เป็น “นักบิน” หากินเอง วงการหนังสือพิมพ์เพิ่งมาปรับฐานเงินเดือนครั้งใหญ่ สมัยสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อตั้งผู้จัดการ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนี่เอง นักข่าวรุ่นหลังๆ ที่รายได้ดีสวัสดิการเพียบในสมัยนี้ ต้องกราบสนธิ ลิ้ม งามๆ 3 ทีนะครับ เพราะสนธิมีคุณูปการอย่างสูงต่อวิชาชีพ ให้เงินเดือนนักข่าวสูงกว่าตลาดเกือบ 2 เท่า ค่ายอื่นๆ กลัวสมองไหล หรือถูกนักข่าวเรียกร้อง ก็ต้องปรับด้วย สมัยนั้นผมอยู่แนวหน้า เป็นรีไรเตอร์แล้วขึ้นเป็นหัวหน้าข่าว จำได้ว่าเงินเดือนหมื่นต้นๆ บารมีสนธิทำให้ผมเงินเดือนพุ่งขึ้นไปถึง 17,500 (เอ้า! กราบ)
 
ส่วน “กาแฟดำ” น่ะหรือ สมัยนั้นนักข่าวรวมหัวกันตั้งสหภาพ ผลคือถูกเฉดหัวออกหมด
 
สนธิยังตั้งศูนย์ข่าวภูมิภาค ให้นักข่าวมีเงินเดือนประจำ มติชนก็ทำตาม สมัยก่อนนักข่าวภูมิภาคได้แค่ค่าข่าว คิดกันเป็นคอลัมน์นิ้ว ฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะต้องประกอบอาชีพ “นักบิน” หรือทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตรวจหวยไปด้วย (สมัยนี้ก็ยังมี แต่เริ่มปรับเป็นมืออาชีพมากขึ้น)
 
อย่างไรก็ดี ถ้ากล่าวเฉพาะนักข่าวการเมือง ส่วนใหญ่แล้ว clean มาตั้งแต่สมัยกัดก้อนเกลือกิน แม้จะมีคอลัมนิสต์ที่เรียกกันว่า 18 อรหันต์ รับจ้างเขียนเชียร์หรือวิ่งเต้นปัดเป่า โดยอาศัยความเป็นรุ่นใหญ่ น้องๆ นุ่งๆ เกรงใจ รวมทั้งยังต่อสายคอนเนคชั่นไปถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์
 
แต่หน้าที่ (หรือจุดขาย) ของสื่อคือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือรัฐบาล คือนักการเมือง มันจึงเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องปะทะกันโดยตรง การที่นักการเมืองจะมาจ่ายเงินปิดปากสื่อ 10 ฉบับ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์พร้อมกันจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่นักการเมืองคนนั้นตกเป็นเป้ากระแสสังคม (อย่าว่าแต่จ่ายสื่อเลย บางคนเป็นเพื่อนซี้เจ้าของหนังสือพิมพ์ยังเอาตัวไม่รอด ตัวอย่างเช่น บิ๊กสุเป็นเพื่อนขรรค์ชัย บุนปาน ตั้งแต่นุ่งขาสั้น พอ เสียสัตย์เพื่อชาติ ขึ้นมา ร้อยขรรค์ชัยก็ช่วยไม่ไหว)
 
มีบ้างเหมือนกันที่นักการเมือง ซื้อ นักข่าวบางคน แต่ถ้าติดสอยห้อยตามกันผิดสังเกต หรือความแตกเกิดเรื่องอื้อฉาว เช่นที่เคยเกิดเมื่อ 5-6 ปีก่อน นักข่าวคนนั้นก็อยู่ไม่ได้ เพื่อนไม่คบ ต้องพ้นไปจากวิชาชีพ (ไปรวยกว่าเป็นนักข่าว-ฮา) ฉะนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่ จึงหาวิธี ซื้อใจ มากกว่า เช่น ผูกมิตร ทักทาย ให้ข่าว แพลมข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ หรือเอาข้อมูลมาให้แฉฝ่ายตรงข้าม สนิทกันแล้วนานๆ ค่อยเลี้ยงข้าวที (เรื่องแบบนี้ ปชป.ถนัดนัก)
 
ให้สังเกตว่า นักการเมืองที่ตกเป็นเป้าของสื่อ ส่วนใหญ่ก็คือพวกที่อยู่ทำเนียบ สภา มหาดไทย แต่ถ้าเป็นกระทรวงสังคมหรือกระทรวงเศรษฐกิจ จะเป็นเป้ารองลงมา เพราะหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะแยกโต๊ะข่าวการเมืองกับโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ แล้วโต๊ะข่าวการเมืองมักคุมหน้าหนึ่ง หรือ บก.ข่าวหน้าหนึ่งมาจากโต๊ะการเมือง มักจะสนใจ ข่าวปิงปอง มากกว่าโครงการหมื่นล้านแสนล้าน พวกรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจจึงสบายไป กระทรวงพวกนี้ไม่เป็นข่าวรายวัน ว่างๆ ยังจัดสัมมนา ดูงาน ทั้งในและต่างประเทศ
 
ช่วงหลังหนังสือพิมพ์ก็ปรับตัวขึ้นนะครับ เริ่มสนใจกระทรวงคลัง คมนาคม พาณิชย์ ไอซีที แต่ก็ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
 
นักข่าวเศรษฐกิจ พวกที่อยู่ตามกระทรวงไม่ค่อยมีปัญหา จะมีก็พวกสายข่าวธุรกิจเอกชน ข่าวการตลาด เพราะแน่นอนว่าเราลงข่าวให้เขา เขาก็ได้ผลประโยชน์ เอ๊ะแล้วเราจะทำให้ฟรืทำไม มันจึงเป็นเรื่องที่แยกแยะลำบาก สมัยก่อนๆ อาจไม่มีอะไรมาก สิ้นปี หรือวันเกิด บริษัทห้างร้านก็จะหิ้วกระเช้ามาให้ ผมเคยทำงานแห่งหนึ่ง โต๊ะข่าวการเมืองกับโต๊ะข่าวเศรษฐกิจศรศิลป์ไม่กินกัน โห นั่งอดอยากปากแห้งดูกระเช้าผลไม้ เค้ก เหล้า กาแฟ ฯลฯ กองเต็มโต๊ะเศรษฐกิจ ขณะที่โต๊ะการเมืองว่างเปล่า (มาอยู่ไทยโพสต์ดีหน่อยเพราะจัดระบบเป็นของส่วนรวม)
 
ต่อมาเศรษฐกิจเฟื่องฟู บริษัทใหญ่ๆ จัดแถลงข่าว เปิดตัวสินค้า หรือจัดงานปีใหม่ ก็มีจับสลากแจกของขวัญนักข่าว ถ้าแจกแค่เสื้อยืดก็คงไม่เป็นไร แต่มันลามไปถึงแจกมือถือ แจกเครื่องใช้ไฟฟ้า แจกสร้อยทอง ฯลฯ เพื่อนนักข่าวสายอื่นก็โวยสิครับ สโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจึงเข้ามาควบคุม สื่อสำนักต่างๆ ก็ควบคุม จึงดีขึ้น แต่ก็ยังมีเล็ดรอดอยู่บ้าง
 
อย่างเช่นเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมานี่เอง บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จัดงาน เชิญพิธีกรเล่าข่าวบางคน คอลัมนิสต์บางคน เป็นการเฉพาะตัว แต่ก็มีนักข่าวไป 2-3 คน จับสลากของขวัญ รางวัลสูงสุดเป็นถุงไม้กอล์ฟ สนนราคาราว 5 หมื่น รางวัลต่ำสุดเป็น i-phone ราคาราวสองหมื่น ใครได้ไปบ้างผมไม่ทราบ แต่ความแตกเพราะมีนักข่าวเครือเนชั่นรายหนึ่งได้พัตเตอร์ราคา 3 หมื่น แล้วไม่รับ เอาไปคืน ต้องปรบมือให้
 
ก่อนหน้านั้นก็มีค่ายมือถือจัดงาน แล้วแจก i-phone รับกันทั่วหน้า แต่นักข่าวไอซีทีโวยว่าแบกหม้อก้นดำ เพราะนักข่าวไม่ได้ไป แต่ดันมีพวกคอลัมนิสต์กับฝ่ายการตลาดของสื่อต้นสังกัดไปแทน รวมทั้งพวกนักข่าวนิตยสาร
 
งานนี้ได้ยินว่าพิธีกรเล่าข่าวก็ไปด้วย แต่ได้ของขวัญหรือเปล่าไม่รู้ ถึงได้ก็พูดลำบาก เพราะสถานะเขาไม่น่าจะเป็นนักข่าวแล้ว เป็นเซเลบส์มากกว่า เซเลบส์ไปโชว์ตัวก็คิดว่าเขาควรได้ค่าตอบแทน
 
นักข่าวสายอื่นๆ ที่เหนื่อยหน่อยก็สายตำรวจ ไม่ใช่ว่านักข่าวตำรวจแย่ไปเสียหมดนะครับ แต่ต้องมีศิลปะในการเลี้ยงตัว เพราะตำรวจอยู่กับเรื่องสกปรก พัวพันผลประโยชน์ยุบยับไปหมด รักจะคบตำรวจก็ต้องยืดหยุ่นได้ แต่ต้องไม่ถลำไปด้วย บางครั้งมันก็มีเรื่องแลกเปลี่ยน เช่นโรงพิมพ์หรือหัวหน้าข่าวฝากเอาใบสั่ง เพื่อนฝากเอาใบสั่ง เล็กๆ น้อยๆ ขอกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นรับเงินวิ่งเต้นย้ายตำรวจ ก็ขึ้นกับต้นสังกัดว่าแข็งพอหรือเปล่า
 
ต้องยอมรับว่านักข่าวตำรวจวางตัวยากที่สุด เพราะหนังสือพิมพ์ถ้าไม่ด่าตำรวจ จะไปขายใครได้ แต่ขณะเดียวกัน ตัวนักข่าวก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับตำรวจ
 
อย่างไรก็ดี นักข่าวสายหลักยังถูกตรวจสอบหรือตรวจสอบกันเองมากกว่านักข่าวสายรอง อย่างสายบันเทิงเมื่อก่อนเป็นแดนสนธยายาวนาน ถึงขั้นเจ้าพ่อยึดเก้าอี้นายกสมาคมจนตายคาเก้าอี้ สายกีฬา สมาคมกีฬาต่างๆ คือแหล่งที่นักการเมือง เจ้าพ่อ บิ๊กราชการ ใช้ ฟอกตัว พวกนี้เปย์ไม่อั้น แต่ก็ขึ้นกับตัวนักข่าวและต้นสังกัด ว่าดูแลกันดีหรือเปล่า
 
นอกจากนี้ก็มีพวกนักข่าวผี ช่างภาพผี มีสังกัดมั่ง ไม่มีสังกัดมั่ง (จำพวกติดป้าย “ข่าว” ตัวโตๆ หลังรถ แต่ไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือ) พวกช่างภาพผีชอบโผล่สลอนเวลามีงานใหญ่ๆ ถ่ายภาพให้นักการเมือง พ่อค้า บิ๊กราชการ แล้วเก็บตังค์ บางคนก็เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์หลัก แต่รับงานอดิเรก ถ่ายภาพให้นักการเมืองแล้วจัดทำเป็นอัลบั้มมาให้อย่างสวยงาม ข่าวทีวีสมัยเริ่มแรก ก็ทำมาหากินแบบนี้ มีผู้ช่วยช่างภาพ (คนขับรถนั่นแหละ) เป็นตัวเรียกรับ ต่อมาพอข่าวทีวีเป็นหลักเป็นฐานแข่งขันกันมากขึ้นค่อยหายไป (กลายเป็นข่าวธุรกิจที่สถานีรับตรง)
 
คอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ ก็มีไม่น้อยที่เป็นการ ขายพื้นที่ในรูปแบบของการเสนอข่าวสาร ยกตัวอย่างง่ายๆ คอลัมน์แนะนำรถยนต์ คุณเขียนแนะนำรถรุ่นใหม่ให้เขาขายได้เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ถามหน่อยว่าคุณจะเขียนฟรีหรือ ฟายสิครับ! หนังสือพิมพ์ก็ต้องเสียค่าหมึกค่ากระดาษ ร้อยทั้งร้อยต้องมีค่าตอบแทน ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น พ่วงสัญญาโฆษณา โดยคนเขียนคอลัมน์ได้ค่านายหน้า หรือไม่ก็ถือเป็นเนื้อที่โฆษณา จ่ายตรง แล้วคนเขียนคอลัมน์ไปจ่ายนายทุนอีกทอดหนึ่ง
 
วิธีหลังเขาเรียกว่า ซื้อหน้า คือมีมืออาชีพเข้ามาซื้อพื้นที่ แล้วบริหารจัดการเป็นหน้าๆ อาทิเช่น หน้ารถยนต์ หน้าพระเครื่อง หรือแม้แต่หน้าบันเทิง ลงข่าวแจกที่ประชาสัมพันธ์ค่ายต่างๆ เขียนข่าวซุบซิบดารางี่เง่าไร้สาระส่งมาให้ ขนาดนั้นก็เป็นเงินเป็นทอง
 
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือผลประโยชน์ในวงการสื่อตั้งแต่อดีต ซึ่งมีทั้งผลประโยชน์ส่วนตัวและบางส่วนก็เป็นผลประโยชน์เจ้าของหนังสือด้วย สภาพเช่นนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง แต่สื่อหลายๆ ค่ายและองค์กรสื่อคุมเข้มกวดขันมากขึ้น ผลประโยชน์หลายอย่างมีลักษณะ “ทางการ” มากขึ้น เช่น นักข่าวไปทำข่าวจนสนิทสนมกับแหล่งข่าวแล้วได้โฆษณามา ก็ได้เปอร์เซ็นต์ไปเหมือนเซลส์ขายโฆษณาคนหนึ่ง
 
อย่างนี้ผมก็เคยได้ ปี 50 ผมสัมภาษณ์ทุกพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง แล้วมีพรรคหนึ่งให้โฆษณา บริษัทให้เปอร์เซ็นต์มาแบ่งกับน้องๆ ถามว่าผิดไหม ก็เราไม่ได้เรียกรับ ไม่ได้บอกว่าต้องลงโฆษณาถึงจะสัมภาษณ์ เพราะพรรคอื่นๆ ก็ไม่ได้ให้โฆษณา และไม่ใช่ว่าให้ค่าโฆษณาแล้วจะเขียนให้ดีกว่าคนอื่นๆ
 
แต่ถ้าเกิดความผูกพัน เรารับโฆษณาพรรคนี้บ่อยๆ มีอะไรก็ยกหูกริ๊งกร๊างกัน อันนั้นละเป็นเรื่อง ดังจะกล่าวต่อไป
 
โฆษณารัฐ
PR องค์กร
 
ค่าโฆษณา-รายได้หลักของสื่อ ในอดีตสมัยที่ยังโฆษณายาแก้ไอชวนป๋วยปี่แป่กอตราลูกกตัญญูหรือน้ำปลาทั่งซังฮะ ไม่เคยเป็นปัญหากับจุดยืนของสื่อ เว้นแต่จะมีจิ้งจกตกลงไปตายในขวดน้ำปลา
 
แต่ที่มันเริ่มมีปัญหา ก็เมื่อมีการใช้งบประมาณแผ่นดินมาโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ โครงการของรัฐ ซึ่งเริ่มมีมากในยุคชวน 2 (สนธิ ลิ้ม เคยโวยว่าไม่ได้โฆษณาของรัฐบาลซักชิ้น เพราะด่าธารินทร์ นิมมานเหมินทร์)
 
งบก้อนนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลในยุคทักษิณ ผู้เชี่ยวชาญโปรโมชั่น แล้วก็ยิ่งทุ่มไม่อั้นในยุค “ไทยเข้มแข็ง” ที่เคยด่าทักษิณว่าซื้อสื่อ
 
ขณะเดียวกัน เมื่อธุรกิจการเมืองเติบโตขึ้น ธุรกิจยักษ์ใหญ่ก็เลี่ยงไม่พ้นความผูกพันกับการเมือง ยกตัวอย่าง AIS แบงก์กรุงเทพฯ แบงก์กสิกร ซีพี สหพัฒน์ ฯลฯ (ทีพีไอคงไม่ต้องพูดถึง) แม้กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่จะยังไม่ถึงกับแยกค่ายแบ่งสีลงโฆษณา
 
ยิ่งไปกว่านั้นคือ วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในยุคนี้ เขาไม่ใช้การโฆษณาทื่อๆ ว่าสินค้าของตัวเองดี ใช้นาน ทนทานกว่าเพื่อน แบบถ่านไฟฉายตรากบ แต่มันเปลี่ยนมาเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร ที่เรียกว่า CSR โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
 
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อก่อน “เป๊ปซี่ดีที่สุด” แต่สมัยนี้ “เป๊ปซี่ จิตอาสา น้ำดำที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลย โฆษณาว่าไปสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ยากไร้ ปตท.หลบเสียงด่าน้ำมันแพงด้วยการปลูกป่า 1 ล้านกล้าถวายพ่อ” ซีพีไก่แ-กด่วน ก็โปรโมท “CPF เพื่อชีวิตยั่งยืน เป็นต้น
 
โฆษณาพวกนี้มันเป็น “ข่าว” ได้ด้วย สามารถสอดแทรกโฆษณาเข้ามาในการนำเสนอข่าวได้ “เนียน” กว่าเดิม เช่น สื่อสามารถไปสัมภาษณ์เจ้าสัวซีพีว่าด้วย ชีวิกที่ยั่งยืง ปตท.พาทัวร์ไปดูพื้นที่ปลูกป่าแล้วกลับมาเขียนเชียร์ (คือเชียร์ปลูกป่า แต่เท่ากับเชียร์ ปตท.ไปในตัว)
 
ปัญหาคือมันทำให้ยิ่งสับสน ว่าสื่อได้ตังค์หรือเปล่า กับข่าว PR พวกนี้ ฉบับเล็กๆ อาจจะไม่ได้ อาจจะพ่วงมากับสัญญาโฆษณา แต่ฉบับใหญ่หรือรายการทีวีที่เวลาเป็นเงินเป็นทองยิ่งไม่แน่ใจ
 
เอ้า ยกตัวอย่าง พิธีกรเล่าข่าวพูดปิดท้ายรายการ เชิญชวนไปงานวันเด็กของธนาคารออมสิน คุณคิดว่าไม่มีอะไรใช่ไหม น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่อย่าลืมนะว่า ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันมีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร และงานวันเด็กก็เป็นงาน event สำคัญที่เชิญชวนคนมาเยอะๆ จะได้เพิ่มจำนวนลูกค้า
 
ข่าวแบบนี้ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ เราเรียกว่า ข่าวแจก ลงให้บรรทัดสองบรรทัด แลกกับมิตรจิตมิตรใจ แต่เวลาสามสิบวิ ของรายการทีวีเป็นเงินเป็นทองนะครับ
 
ยิ่งถ้าพูดถึงการจัดงาน event ของเอกชน ก็ยิ่งน่าสงสัยเข้าไปใหญ่ ส่วนข่าวธุรกิจประเภทเปิดตัวสินค้าใหม่คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าผู้ชมไม่โง่เกินไปคงเดาได้
 
งาน event ก็เป็นรูปแบบใหม่ของการโฆษณา เพราะสามารถทำให้เป็นข่าว งาน event ยังเป็นไลน์ธุรกิจใหม่ของสื่อบางสำนัก ที่แยกไปตั้งบริษัทลูกรับจัดงาน event ให้บริษัทห้างร้านและหน่วยงานราชการ รับเหมาครบวงจร ประชาสัมพันธ์ ตัดริบบิ้นเปิดงาน ทำวีดิทัศน์ให้เสร็จสรรพ สื่อบางค่ายว่ากันว่ารายได้งาน event แซงยอดขายหนังสือพิมพ์ไปแล้ว
 
ภายใต้รูปแบบการโฆษณาแบบ CSR นี้ เมื่อรัฐทุ่มเงิน PR ไม่อั้น มันก็ทำให้การรับผลประโยชน์ของสื่อ เนียน กว่ายุค 18 อรหันต์ หรือนักข่าวผี ช่างภาพปีศาจ
 
เพราะโฆษณา CSR มันคือการรับหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่ให้ตังค์ไปลงสี่สีเต็มหน้าหรือออกสปอตโฆษณาเฉยๆ สมมติ จส.100 ออกอากาศทุกวันว่า Easy Pass ทำให้รถติดมากขึ้น (เพราะต้องแบ่งช่องเป็น easy กับ difficult แล้วไม่สามารถแบ่งให้สมดุลกับปริมาณรถที่เปลี่ยนแปรไปตามวันเวลา) คุณว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะยังอยากจ่ายค่าสปอตโฆษณา จส.100 ไหม
 
ประเด็นสำคัญคือ โฆษณาหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ติดต่อซื้อขายตรงไปตรงมา แบบบริษัทเอกชนจ้างเอเยนซี แล้วเอเยนซีไปจัดลำดับให้ว่าเงิน 100 ล้านจะลงช่อง 3 ช่อง 7 เท่าไหร่ ไทยรัฐ บางกอกโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯ เท่าไหร่ ตามบทบาทความสำคัญที่มีต่อสินค้า (เช่น คอนโดหรูขายฝรั่งเขาก็จะลงบางกอกโพสต์ เนชั่น หมู่บ้านจัดสรรลงไทยรัฐ)
 
แต่โฆษณาของรัฐ อยู่ในอำนาจนักการเมืองโดยตรง ว่าจะจัดสรรปันส่วนให้สื่อไหน เท่าไหร่ แล้วก็ไม่ได้ติดต่อกับฝ่ายขายโฆษณา แต่ส่วนใหญ่ติดต่อกับนักข่าว คอลัมนิสต์ หรือผู้บริหารสื่อโดยตรง
 
ตรงนี้สิครับ ที่กำลังจะกลายเป็น แอก ตัวจริงของสื่อ ถึงแม้ในภาพรวม การทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์ ระบอบอภิสิทธิ์ จะเป็นเพราะ อคติ หรือ สุคติ (ตามความเชื่อของสื่อ) ต่อ ระบอบทักษิณ มาตั้งแต่เชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ให้ท้ายพันธมิตร แต่ระยะหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าโฆษณา มาร์คเข้มแข็ง มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
 
หนังสือพิมพ์ที่ไม่ต้องพึ่งโฆษณารัฐ ดูเหมือนจะมีแค่ไทยรัฐ ที่ใหญ่ยักษ์จนบริษัทห้างร้านแย่งกันจองคิวโฆษณา ส่วนที่เหลือถ้าถูกถอนโฆษณา ก็มีผลกระทบทั้งสิ้น แม้ตอนนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามสร้างสัมพันธ์กับสื่อทุกฉบับ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณน่ากังขา เช่นค่ายมติชนไม่มีโฆษณา เชื่อมั่นประเทศไทย เลย ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองหรือเปล่า
 
โฆษณารัฐส่วนใหญ่อนุมัติโดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่บางพรรคก็มีศูนย์รวม มีรัฐมนตรีที่คอนเนคชั่นกับสื่อโดยตรง กระทรวงที่มีงบโฆษณามากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นกระทรวงการคลัง เพราะดูแลรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ หลายแห่ง
 
เมื่อเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา เพิ่งเกิดคดีเด็ด เป็นที่ฮือฮาในวงการสื่อ กล่าวคือ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เข้าเวรข่าวหน้า 1 ทำงานเสร็จสรรพกลับบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมาอ่านหนังสือพิมพ์ตัวเองแทบช็อก เพราะมีข่าวๆ หนึ่งโผล่มาจากไหนไม่รู้ ระบุว่ามีหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจรายหนึ่ง อาศัยความใกล้ชิดหนิดหนมกับรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยเป็นโบรกเกอร์ แอบอ้างชื่อรัฐมนตรีไปตั้งบริษัทจ้างทำสื่อ
 
เฮ้ย ก็ปิดข่าวเองกับมือ ตอนสามทุ่ม ไหงตอนเช้ามันมีข่าวนี้โผล่มาได้ ใครวะปฏิบัติการ เถาถั่วต้มถั่ว
 
ข่าวที่ลงจะจริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เบื้องหลังข่าวเขาเล่าว่าในกอง บก.มีคนเขม่น หน.ข่าวรายนี้มานานแล้ว ไม่ใช่แค่พฤติกรรมที่พัวพันอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่ยังพบว่า บก.ข่าวเงินเดือนแสนนึง ขณะที่ หน.ข่าว (ตำแหน่งต่ำกว่า) รับเดือนแสนสอง เจ้าของหนังสือพิมพ์ชี้แจงว่าเป็นเพราะ หน.ข่าวหารายได้เข้าบริษัท (บก.ข่าวเลย วีนแตก)
 
กรณีแบบนี้เคยเกิดกับนักข่าวกระทรวงสาธารณสุขในยุคหนึ่ง คือนักข่าวรวมหัวกันตั้งบริษัท รับงานพีอาร์ให้หน่วยงานในกระทรวง แล้วกระจายกันไปลงหนังสือพิมพ์ตัวเอง
 
งบโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐยังเป็นบ่อน้ำมันให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นง่ายที่สุด เพราะอัตราค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ มีอัตราเต็มกับอัตราลด สมมติโฆษณาเต็มหน้า 2 แสน เอาเข้าจริงอาจลดให้ 30% แต่เขียนบิลเต็ม นี่เป็นตลกร้าย เพราะสื่อถือตัวเป็นแนวหน้ารณรงค์ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น ตรวจสอบ ขับไล่คนโกง แต่ถึงคราวตัวเองบ้าง ทำไงได้
 
วิธีที่จะ ปลดแอก สื่อจริงๆ จึงต้องกำหนดระเบียบเปิดเผยข้อมูลการจ้างทำสื่อ จ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ แต่ละปี เอามาขึ้นเว็บไซต์ของกระทรวง ของกรม ของทั้งรัฐบาล ว่าคุณใช้งบโฆษณาไปเท่าไหร่ ใช้ผ่านใคร ลงหนังสือพิมพ์ฉบับไหนบ้าง วิทยุ ทีวี ช่องไหนบ้าง สังคมจะได้ตรวจสอบซักถาม สมมติเช่น ถาม ฯพณฯ รัฐมนตรี อู๊ดด้า ว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขถึงต้องลงโฆษณาเดลินิวส์ตะบี้ตะบัน
 
ข้อสำคัญคือต้องดูความคุ้มค่าของโฆษณานั้นด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึง โครงการต่างๆ ของรัฐบาล สมมติเช่นโฆษณาโครงการเรียนฟรี ก็คือให้เข้าใจว่าอย่างไหนฟรี อย่างไหนไม่ฟรี เด็กและผู้ปกครองมีสิทธิอะไรบ้าง ไม่ใช่โฆษณาเอาหน้าชินวรณ์มาโชว์ให้ชาวบ้านเห็น หรืออยู่ๆ ก็เอารูปอภิสิทธิ์เก๊กหล่อมาให้ดู แล้วบอกว่า เชื่อมั่นประเทศไทย
 
แบบนี้มันเป็นการล้างผลาญงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต่างจากที่ด่ารัฐบาลทักษิณไว้ ยิ่งหนักข้อกว่าด้วยซ้ำ เพราะทักษิณ ซื้อสื่อ ส่วนหนึ่งยังใช้โฆษณา AIS ของตัวเอง
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        11 ม.ค.54
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.อนุมัติ 9,190 ล้าน "ปฏิรูปประเทศไทย" อภิสิทธิ์นั่ง ปธ.เอง

Posted: 11 Jan 2011 06:02 AM PST

ครม.เห็นชอบงบ 9,190 ล้านบาทจัดทำแผนปฏิบัติการปฏิรูป ประเทศไทยประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ นายกฯนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสั่งตามงานทุกเดือนเพื่อให้ได้ผลตามเป้า / เบรกเก็บภาษีโรงกวดวิชา

11 ม.ค. 54 - นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน พร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินการ9,190.30 ล้านบาท คือ 1. ยุทธศาสตร์การสร้างอนาคตของชาติด้วยการพัฒนาคนเด็กและเยาวชน วงเงิน 1,636.50 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี 2554 วงเงิน 1,286.50 และงบปี 2555 อีก 278 ล้านบาท และปี 2556-2557 อีก 72 ล้านบาท นอกจากนั้นในปี 2554 จะมีเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ(SAL)575 ล้านบาท และเงินสมทบจากภาคเอกชนด้วย 2.ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชนและขยายระบบสวัสดิการสังคม วงเงิน 5,447.80 แบ่งเป็นปีงบ 2554 วงเงิน 3,868.80 ล้านบาท และงบปี 2555 วงเงิน 1,579ล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมือง และความไม่เท่าเทียมในสังคม ตั้งงบประมาณปี 2554 วงเงิน 150 ล้านบาท จากนั้นการบริหารจัดการจากงบปกติและขอตั้งงบประมาณต่อเนื่องในปี 2555 4.ยุทธศาสตร์การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณรองรับในปีงบ 2554วงเงิน 1,951 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีการบริหารจัดการกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ใช้งบ 5 ล้านบาทด้วย พร้อมกันนี้ได้กำหนดวิธีการบริหารโครงการให้มีกลไกระดับชาติในการบูรณาการแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยในลักษณะคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานกลางเป็นองค์ประกอบหลัก อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ให้มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการทั้ง 4 ด้าน เพื่อกำกับและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการระดับชาติ ตลอดจน จัดตั้งสำนักงานประสานงานร่วมภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR ) ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ ยุทธศาสตร์การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรมเป็นมาตรการเดียวกับ ที่นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาเพื่อมอบของขวัญให้ประชาชน 9 ข้อ ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ใช้ชื่อว่าประชาวิวัฒน์ และมีชื่อดั้งเดิมว่า เร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทยซึ่งการใช้ชื่อเรียกโครงการนี้เคยมีความเห็นขัดแย้งกันภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบกรอบเวลาดำเนินการคือ ในเดือนม.ค.นี้ ตั้งเป้าเริ่มลดอาชญากรรมในกรุงเทพ 20%ภายใน 6 เดือน และค่าไฟฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟน้อยกว่า 90 หน่วยต่อเดือน เป้าหมายต่อมาในเดือนมี.ค.มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะถูกกฎหมาย 100% ทำมาหากินได้เป็นธรรมให้ผู้ประกอบอาชีพเข้าถึงแหล่งทุนและในเดือนเม.ย.จะมีการเพิ่มจุดผ่อนผันให้แม่ค้าหาบเร่แผงลอยและเดือนมิ.ย.จะขยายประกันสังคมให้ ครอบคลุมชาวไทยทุกคนจะลอยตัวก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคอุตสาหกรรม ลดต้นทุนราคาอาหาสัตว์และพันธุ์สัตว์และขายไข่แบบกิโล และตั้งเว็บไซต์ฐานข้อมูลราคาในช่องทางต่างๆ

ครม.อนุมัติตั้ง"สน.สุวรรณภูมิ"ดูแลชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ยังมีมติ ครม.ในการจัดตั้งสถานีตำรวจที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดูแลปัญหาที่เกิดกับนักท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา คุณสมบัติ รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร โดยคนที่จะเข้าไปทำงานในสถานีตำรวจต้องมีความสามารถรองรับปัญหาที่จะเกิดในสนามบินได้ รักษาความเรียบร้อยรักษาชื่อเสียงประเทศชาติ เป็นการทำงานในระดับสากลจะต้องพูดภาษาต่างประเทศได้ และมีการกำหนดสถานีให้อยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจภูธรภาคที่ 1 และให้มีการสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยว

ครม.เบรกเก็บภาษีโรงกวดวิชา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ และดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เหมาะสมสอดคล้อง  ตลอดจนให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดให้มีระเบียบข้อบังคับในการตรวจสอบ และปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ก่อนการอนุมัติให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนกวดวิชา โดย ครม.มีมติเห็นว่ายัง ไม่ควรจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาในขณะนี้ และมอบให้ ศธ. กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันศึกษากรณีดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่จะให้โรงเรียนกวดวิชาไม่ดำเนินการแสวงหากำไรเกินควร ตลอดจนให้ไปศึกษาว่าจะจัดระบบการศึกษาอย่างไร ให้มีคุณภาพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในการที่นักเรียนจะต้องมีคุณภาพจากห้องเรียน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ครม.ยังได้ตั้งข้อสังเกต กรณีมีครูบางรายแทนที่จะใช้เวลาสอนนักเรียนในห้องเรียนอย่างเต็มที่ แต่กลับมาสอนกวดวิชา โดยมอบให้ ศธ.ไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเกิดจากห้องเรียน อีกทั้งให้กวดขันเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ โดยโรงเรียนกวดวิชา ทุกแห่งต้องจัดให้มีทางหนีไฟ ติดตั้งเครื่องดับเพลิง มีระบบส่องสว่าง และสัญญาณเตือนภัย เป็นต้น

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไทยรัฐ, สยามรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มญาติผู้ต้องขังมุกดาหาร ยื่นหนังสือถึงนายกขอประกันตัว

Posted: 11 Jan 2011 05:43 AM PST

กลุ่มญาติผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร ยื่นหนังสือนายกฯ จี้ช่วยประกันตัวเสื้อแดง 10 คน ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มญาติผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร นำโดย นายวิจารณ์ ปิ่นสินชัย เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านกองรับเรื่องราวร้องทุกข์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดกองทุนยุติธรรมพิจารณาอนุมัติเงินจากกองทุน ยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือประกันตัวผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร 10 คน ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

โดยนายวิจารณ์ กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งรัดกระทรวงยุติธรรมในการอนุมัติเงิน 5 หมื่นบาท จากกองทุนยุติธรรม เพื่อมาประกันตัวผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร ในเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง และให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเร่งดำเนินการประกันตัวผู้ต้องขังเหล่านี้ โดยเร็ว เนื่องจากผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมกระทำผิด แค่ไปยืนดูเหตุการณ์ แต่ถูกถ่ายภาพไว้ และ ถูกเจ้าหน้าที่ตามไปจับตัวภายหลัง โดยถูกขังมานาน 7-8 เดือนแล้ว ซึ่งบางคนมีปัญหาสุขภาพ ครอบครัวยากจนขาดคนดูแล บางคนยังศึกษาอยู่จึงสมควรได้รับการประกันตัวให้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

ที่มาข่าว: ไทยรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ: รักนะ เด็กโง่

Posted: 11 Jan 2011 05:30 AM PST

นักแสดงตลกคนหนึ่งแสร้งถามเพื่อนตลกด้วยกันว่าครูชอบเด็กนักเรียนประเภท ใดมากที่สุด เพื่อนตลกพยายามตอบตามที่คิดว่าควรจะใช่ เช่น เด็กขยัน เด็กฉลาด ฯลฯ แต่ก็ไม่ถูกเสียที จนในที่สุดนักแสดงตลกก็เฉลยว่าครูชอบเด็กโง่มากที่สุด เมื่อเพื่อนทำท่าสงสัย เขาก็อธิบายต่อด้วยวลีที่ว่า “รักนะ เด็กโง่” จึงเป็นอันเข้าใจกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กนักเรียนในวลี “รักนะ เด็กโง่” เป็นตัวอย่างของรูปแบบการปกครองหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมสมัยซึ่งมี คุณลักษณะสำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการแรก การปกครองร่วมสมัยไม่ได้เป็นไปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเจ้าผู้ ปกครองหรืออาญาสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องของสวัสดิภาพและความกินดีอยู่ดีของผู้ถูกปกครองหรือปัจจุบัน คือประชากร สาเหตุที่ครูดุว่าเด็กนักเรียนไม่ได้เป็นเพราะเด็กนักเรียนสร้างความเสียหาย ให้กับครู แต่เป็นเพราะเด็กนักเรียนฝ่าฝืนกฎระเบียบที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้เด็กนัก เรียนประสบความสำเร็จในชีวิต ครูจึงไม่ได้ลงโทษเด็กนักเรียนในนามของการแก้แค้น แต่เป็นในนามของความรักและความปรารถนาดีที่มีต่อเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ

ประการที่สอง การปกครองร่วมสมัยไม่นิยมการเปิดเผย แทนที่จะเป็นอำนาจดิบหยาบเช่นปากกระบอกปืน นอกเหนือจากการสอดส่องตรวจตรา การปกครองร่วมสมัยให้ความสำคัญกับการควบคุมตนเองของผู้คนผ่านสิ่งที่เรียก ว่าระเบียบวินัยและข้อควรปฏิบัติ หากเด็กนักเรียนต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน พวกเขาจำเป็นต้องตื่นเช้าและเข้าชั้นเรียนไม่ให้ขาด ต้องขยันทำการบ้านและอ่านหนังสือเพื่ออนาคตที่ดีของตนเองในวันข้างหน้า พวกเขาบังคับตัวเองเพื่อตัวเองไม่ใช่เพื่อใครอื่น จึงไม่รู้สึกถึงอำนาจหรือการควบคุมที่ปฏิบัติการบนตัวพวกเขา พวกเขาจึงเป็น “เด็กโง่” อันเป็นที่ “รักนะ” ของครูในฐานะที่เป็นกลไกหรือช่องทางปฏิบัติการอำนาจ

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าการอภิปรายเกี่ยวกับการปกครองหรือปฏิบัติการอำนาจร่วมสมัยมักให้ ความสำคัญกับสถาบันที่เป็นทางการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล คุก ฯลฯ แต่ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับสถาบันทางสังคมที่มีพัฒนาการมาก่อนการก่อตัวของรัฐ สมัยใหม่ เช่น ครอบครัว และเพราะเหตุดังนั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าการปกครองที่มีสวัสดิภาพและความกินดีอยู่ดีของผู้ถูก ปกครองเป็นที่ตั้งเป็นนวัตกรรมที่มาพร้อมกับรัฐสมัยใหม่ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ทั้งหมด เช่น เราจะอธิบายการที่พ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนลูกบนฐานของอะไรหากไม่ใช่ความ ปรารถนาดี เราจะอธิบายการที่พ่อแม่ลงโทษลูกบนฐานของอะไรหากไม่ใช่ความรัก และในทางกลับกัน เราจะอธิบายความต้องการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่บนฐานของอะไรหากไม่ใช่ความ สมัครใจซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการบังคับควบคุม เราจึงอยู่กับอำนาจประเภทนี้อย่างไม่รู้สึกตัวมาแต่ไหนแต่ไร

อย่างไรก็ดี รัฐสมัยใหม่ทำให้ปฏิบัติการของอำนาจประเภทนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่ความรักของพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรแอบแฝง ความปรารถนาดีของรัฐมักเคลือบอะไรไว้เสมอ เพราะรัฐยังคงมีการควบคุมประชากรเป็นหัวใจสำคัญเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ่อแม่ส่งเสียให้เรามีการศึกษาก็เพราะต้องการให้เรามีอนาคตที่ดี แต่รัฐสนับสนุนการศึกษาแบบให้เปล่าส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการปลูกฝังความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างๆ ในตัวของเรา พ่อแม่อาจจะว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยให้เราเป็นอิสระเมื่อเห็นว่าไม่สามารถ ควบคุมได้หรือเห็นว่าเราเติบใหญ่พอที่จะดูแลตนเองได้ แต่รัฐจะไม่ยอมปล่อยเราไปไหนไม่ว่าเราจะดื้อแพ่งอย่างไรหรือว่ามีอายุสัก ขนาดไหน ความรักและความปรารถนาดีของรัฐจึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการควบคุมประชากรโดย เฉพาะกลุ่มที่สมาทานหลักการจำพวกปัจเจกชนนิยมและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่าง ไม่ระมัดระวัง

ผมคิดว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่ใช้ความรักและความปรารถนาดีเป็นกลวิธีในการปกครอง อย่างเข้มข้น การปกครองในสมัยสุโขทัยถูกวาดภาพให้เป็นการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข “ใครใคร่ค้าม้า ค้า ใครใคร่ค้าวัว ค้า” เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองทุกคนด้วยความรักอย่างเสมอกันฉันท์พ่อลูก การปกครองในสมัยปัจจุบันก็อาศัยพระเจ้าแผ่นดินในฐานะพ่อเป็นกลวิธีหลักเช่น กัน ดังจะเห็นได้จากวลีต่างๆ รวมทั้งปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เช่น “พ่อของแผ่นดิน” “พ่อหลวง” “บ้านของพ่อ” “ต้นไม้ของพ่อ” “ตามรอยเท้าพ่อ” ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะสื่อความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของประเทศและทรงปกครอง ราษฎรฉันท์พ่อปกครองลูก ยังบ่งนัยว่าราษฎรควรประพฤติปฏิบัติตนเช่นไรเพื่อตอบแทนความรักที่ได้รับ จึงเป็นการอาศัยความรักในการปกครองอย่างเด่นชัด

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐรวมถึงสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มักอาศัยความรักและความปรารถนาดีเป็นกลวิธีหลักในการดำเนิน กิจกรรม กฎจราจรจำพวกการคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย การห้ามขับขี่ขณะมึนเมา ฯลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่เป็นหลัก ในทำนองเดียวกัน กิจกรรมรณรงค์ต่อต้านบุหรี่และของมึนเมาก็อาศัยความรักและความปรารถนาดีต่อ ผู้บริโภคเป็นเหตุผลนำ วลีจำพวก “ให้เหล้า = แช่ง” และ “ชวนเพื่อนกินเหล้า = แช่ง” แสดงถึงความห่วงใยที่หน่วยงานรัฐ สถาบัน และองค์กรต่างๆ มีต่อสุขภาพและพลานามัยของประชาชน เพราะความที่ไม่ต้องการให้ประชาชนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หน่วยงานและองค์กรเหล่านี้จึงต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงและกำหนดแบบแผนการใช้ ชีวิตของผู้คน

แต่เพราะรัฐไม่ใช่พ่อแม่อีกทั้งยังมีผลประโยชน์ของรัฐที่ต้องดูแล ความรักและความปรารถนาดีของรัฐจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถวางใจได้เสียทีเดียว การปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” เป็นกุศโลบายรัฐในการบ่มเพาะราษฎรที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ใช่พลเมืองที่เป็นอิสระและมีความคิดเป็นของตนเอง เราถูกหว่านล้อมให้เชื่อว่าอาศัยอยู่ในแผ่นดินที่เป็นอิสระและได้รับสิทธิ และโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในฐานะลูก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะแผ่นดินนี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมซึ่งจำเป็นต้องได้ รับการแก้ไข รัฐบอกให้เราเดิน “ตามรอยเท้าพ่อ” เพื่อว่าชีวิตจะได้ก้าวหน้า แต่มิได้นำพาเลยว่าทางเดินสายนั้นจะต้องได้รับการอุดหนุนเป็นพิเศษเพียงไหน ชีวิตที่พอเพียงอาจเป็นเกณฑ์ที่สูงเกินไปสำหรับคนไทยหลายคนที่ลำพังแต่จะหา กินให้พอแต่ละวันยังเป็นเรื่องยาก ขณะที่คนที่พร่ำสอนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยรู้จักคำว่าเพียงพอ  

ในทำนองเดียวกัน การรณรงค์ต่อต้านของมึนเมาแฝงการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เพราะแทนที่จะทำความเข้าใจนัยของแอลกอฮอล์ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่แตก ต่างหลากหลาย องค์กรกึ่งรัฐลดทอนกิจกรรมที่มีแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องให้เหลือเพียงมิติเดียว และหมายความให้เป็นลบ พร้อมกับอาศัยความปรารถนาดีและกฎศีลธรรมหลักเป็นเหตุผลนำ จึงทำให้ไม่เหลือพื้นที่สำหรับการเจรจาต่อรองในระดับเดียวกันอีกต่อไป ไม่ว่าในทางปฏิบัติกิจกรรมรณรงค์เหล่านี้แทบจะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภค แอลกอฮอล์ของผู้คนส่วนใหญ่เลยก็ตาม  

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหาก เรายินยอมให้รัฐรวมทั้งสถาบันและองค์กรต่างๆ อาศัยความรักและความปรารถนาดีเป็นกลวิธีในการปกครองและปิดปาก ชีวิตของเราก็จะถูกควบคุมตรวจตราอย่างแนบเนียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คงจะต้องชั่งน้ำหนักว่าเรายังจะต้องการเป็น “เด็กโง่” ให้รัฐและใครต่อใครได้ “รักนะ” หรือว่าจะตั้งคำถามกับปฏิบัติการอำนาจที่แฝงมาด้วยแม้ว่าจะต้องแลกกับการไม่ เป็นที่รักของรัฐหรือการเป็น “ลูกไม่รักดี” ของใครต่อใครก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนไทยพลัดถิ่นฟ้องมหาดไทย ไม่ดำเนินการเรื่องสัญชาติ

Posted: 11 Jan 2011 04:49 AM PST

ที่วัดพระธาตุสิริมงคล อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คนไทยพลัดถิ่นจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด กว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความให้ฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีของการยื่นเรื่องเรียกร้องขอสัญชาติไทยแต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือดำเนินการใดๆ จากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

นางจันทร์  สุทวงษ์  อายุ 44 ปี คนไทยพลัดถิ่น  บ้านแม่กุ ตำบลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยกับกระทรวงมหาไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30  ปีแล้ว กล่าวว่า  ตนหวังว่าวันนี้จะได้สัญชาติไทยหลังจากที่รอมานานกว่า 30 ปี เพราะสิ่งที่ตนหวังและอยากได้มากที่สุดในชีวิตคือสัญชาติไทย ในบางครั้งตนก็รู้สึกน้อยใจเพราะเดินเรื่องมาหลายครั้ง และต้องรอคำตอบตลอดมา โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้สัญชาติเมื่อไหร่ ตนขอยืนยันว่าเป็นคนไทย ถึงแม้จะเกิดที่ฝั่งพม่าแต่ก็กลับมาอยู่ฝั่งไทยกว่า 30 ปีและมีสามีเป็นคนไทย มีลูกเป็นคนไทย  ตนพูดภาษาพม่าไม่ได้ พูดกระเหรี่ยงไม่ได้ แต่พูดไทยได้ชัดเจน นี่คงเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นคนไทยได้สำหรับตน

“วันนี้ที่มารวมตัวกันเพราะคิดว่า การรอของพวกเราจะต้องมีความหมาย เพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการใด ๆ เลยแม้พวกเราจะยื่นเรื่องไปเป็นระยะเวลานานก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอาจจะเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้เราได้สัญชาติไทยได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้”คนไทยพลัดถิ่น  บ้านแม่กุ ตำบลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยกับกระทรวงมหาไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30  ปี กล่าว

ด้านนายชัยรัตน์  อ่อนแก้ว อายุ 38 คนไทยพลัดถิ่น  บ้านห้วยไม้แป้น หมู่ 5 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า  ตนเป็นคนไทย มาวันนี้ก็อยากได้สัญชาติไทย เพราะได้ดำเนินการเดินเรื่องขอสัญชาติมาเป็นเวลานานมากแล้ว ตั้งแต่ย้ายกลับมาฝั่งไทยเมื่อ 2519 เพราะตอนนั้นเกิดสงคราม พ่อกับแม่ของตนย้ายไปทำไร่อยู่ที่ฝั่งพม่าเดิมทีครอบครัวเราเป็นคนไทย ตนเรียนจบชั้นป.6 ที่ไทยแต่ต้องย้ายตามพ่อและแม่ไป โดยไม่ได้ทำบัตรอะไรสักอย่าง พอกลับมาอยู่ประเทศไทยก็กลายเป็นคนไทยพลัดถิ่น มีหลักฐานที่ทางราชการออกให้คือพาสปอร์ตสองเล่ม สีแดงและสีน้ำเงินซึ่งต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา บางครั้งก็เกิดความน้อยใจที่ตนเองไม่มีสิทธิเท่าเทียมเหมือนกับคนไทยทั่วไป คือไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่มีสิทธิในการกู้ยืมเงิน ครั้งนี้มาเป็นตัวแทนของคนที่หมู่บ้านที่ตอนนี้กำลังรอฟังความคืบหน้าจากทางราชการ และรอวันได้สัญชาติไทยอีกกว่า 30 คน

ขณะที่นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า  ชาวบ้านกลุ่มนี้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาให้สัญชาติกับคนเหล่านี้ ควรพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว การให้ปล่อยให้ เรื่องล่าช้ามาถึงสิบปี นับว่าเป็นการปฏิบัติราชการที่ล่าช้าเกินสมควรมาก ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองยื่นฟ้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว และประชาชนอาจเรียกร้องค่าเสียหาย จากการปฏิบัติงานที่ล่าช้าเกินสมควรได้  ทั้งนี้ทางสภาทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่มาประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องฟ้องกระทรวงมหาดไทยหลังจากที่ได้รับการอนุมัติและปฎิญาณตนตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้ว แต่เรื่องกลับเงียบหาย  กลุ่มที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนและต้องการยื่นฟ้อง และกลุ่มปัญหาอื่นๆคือมีบัตรผู้ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบัตรหมายเลขศูนย์แล้วแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องรอการพิสูจน์อีกหลายขั้นตอนจากราชการ    ทั้งนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทยพลัดถิ่นคือ ความล่าช้าของทางราชการ ในการดำเนินการเรื่องสัญชาติที่ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่าสิบปีหรือมากกว่านั้น กำหนดเวลาที่ชัดเจนในการได้สัญชาติ และสิทธิอื่นๆที่สมควรได้รับตามสถานะของการเป็นคนไทย

อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ชี้แจงขั้นตอนการขอสัญชาติและรับสิทธิต่างๆ ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติในทุกกรณี ให้ความรู้ คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการดำเนินการแก้ไขกฎหมายบางมาตราที่ยังไม่เป็นธรรม เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นหรือคนไร้สัญชาติสามารถมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยได้ตามความเป็นจริงต่อไปอีกด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กทช. แจกไลเซนส์เคเบิลทีวีล็อตแรก 7 ใบ

Posted: 11 Jan 2011 03:16 AM PST

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 54 ที่ผ่านมานายพนา ทองมีอาคม หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กทช.ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว ประเภทกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก หรือเคเบิลทีวี แบบชั่วคราว จำนวน 7 ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้เอกชน 5 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วน (หจก.) ปราจีนบุรี เคเบิ้ลทีวี, บริษัทอินเตอร์ โมบาย ท๊อป เซอร์วิส จำกัด, หจก.ละงู เคเบิ้ลทีวี, บริษัท ไทยซินแอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท อ่างทอง เคเบิ้ลทีวี จำกัด ซึ่งถือเป็นการออกใบอนุญาตครั้งแรก หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้และใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี

“มีผู้ประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านขั้นตอนการทดลองแพร่ภาพกระจายเสียง รอบแรกจำนวน 5 ราย 7 ใบอนุญาต จากทั้งหมดที่ได้ยื่นขอ 814 ใบอนุญาต จากผู้ประกอบการ 400 ราย ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตรอบแรก ทั้ง 7 ใบ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ กทช.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. พร้อมทั้งมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียงแล้ว ขณะที่ยังมีผู้ผ่านขั้นตอนการพิจารณา อีก 58 ใบอนุญาต ที่จะต้องมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียง รวมทั้ง ผู้ที่รอการอนุญาต อีก 60 ราย”

ทั้งนี้ ใบอนุญาตชั่วคราวมีอายุ 1 ปี จึงไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี โดยการให้ใบอนุญาตครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเคเบิ้ลทีวีเถื่อน การกำกับดูแลเนื้อหา รวมทั้ง การละเมิดลิขสิทธิ์ เชื่อว่าหลังจากนี้ไปจะมีคนมาขอใบอนุญาตเรื่อยๆ โดยขณะนี้ธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นที่นิยม โดยมีผู้ชมประมาณ 5 ล้านครัวเรือน จานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมาไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ได้ทำให้เกิดสุญญากาศสำหรับกิจการเคเบิลทีวี และเมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กทช.ในการดำเนินการ ทำให้ต้องเร่งกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดระเบียบกิจการวิทยุ โทรทัศน์และเคเบิลทีวี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ สามารถที่จะทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง และยื่นขอสนับเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เพราะผู้ประกอบการเคเบิลทีวีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือเป็นเคเบิลท้องถิ่น

นายพนากล่าวเพิ่มเติมว่า กทช.ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องเคเบิลทีวี ที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในครั้งนั้นมีผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีจำนวนมากที่ได้ใบอนุญาตจากกรมประชา สัมพันธ์ได้สิ้นสุดอายุลงแล้ว และมีบริษัทที่ถูกกฎหมายเหลืออยู่เพียง 77 ราย หลังจากนั้นไม่กี่เดือนใบอนุญาตก็ขาดอายุลงกลายเป็นผู้ประกอบการนอกกฎหมาย ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน อำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ในการให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวีได้สิ้นสุดลง และไม่มีองค์กรใดให้ใบอนุญาตได้ เพราะไม่สามารถจัดตั้ง กสช. ดังนั้น กทช.โดยอนุกรรมการได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นและนำมาสู่การออกประกาศหลัก เกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553

ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตให้เคเบิลทีวีนอกจากเป็นการจัดระเบียบแล้ว ยังจะช่วยควบคุมการผลิตรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย เพราะที่ผ่านมามีการขายโฆษณาที่หลากหลาย บางครั้งเป็นลักษณะยาผีบอก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดังนั้นเมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องควบคุมรายการผลิตของตัวเองให้ดี หากประชาชนร้องเรียนและแจ้งมา กทช.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ และอาจถึงขั้นถอนใบอนุญาตก็ได้

ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม.เพื่อผู้บริโภค หนุนประชาวิวัฒน์ ย้ำไม่ควรอุดหนุน LPGให้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

Posted: 11 Jan 2011 02:57 AM PST

11 ม.ค. 54 - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าจากการที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทย ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลที่ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคขนส่งและครัวเรือน ปล่อยให้ขึ้นราคาภาคอุตสาหกรรมว่าอาจทำให้รถยนต์หันมาใช้แอลพีจีมากขึ้น ทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลพีจีในปริมาณมากขึ้นโดยปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าถึง 1 ล้านตันต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนมากขึ้นนั้น

เพื่อให้สังคมได้มีข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้นในการพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงใคร่ขอนำเสนอข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบดังนี้

สาเหตุที่มีการนำเข้าแอลพีจีในช่วงที่ผานมา

กรณีปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 และส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันมีสาเหตุที่สำคัญ 2 ประการ

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ปกติแล้วผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักคือ 1) ภาคประชาชนประกอบด้วยผู้ใช้ในครัวเรือนและยานยนต์และ 2) ภาคธุรกิจ ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มปิโตรเคมี

จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน พบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกก๊าซ แอลพีจีตั้งแต่ปี 2535 โดยมีวัตถุดิบหลักคือก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ในปี 2551 ประเทศไทยกลับต้องนำเข้าก๊าซ แอลพีจี ถึง452,000 ตัน โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบมจ.ปตท.ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีปริมาณมากเป็นเพราะภาคยานยนต์เป็นต้นเหตุหลัก เนื่องจากการใช้ก๊าซประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงกว่าภาคประชาชนและยานยนต์มาก และใช้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยในปี 2549 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 8.3แสนตัน พอถึงปี 2551กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น1.2แสนตัน หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4แสนตัน ในขณะที่ปริมาณการใช้ของภาคยานยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 3แสนตัน

ในช่วงปี 2551 และ 2552 เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคมของทั้งสองปี จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีของกลุ่มปิโตรเคมีเป็นภาระต่อระบบพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง จนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปี 2552 ที่ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคประชาชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ที่มีการใช้ลดลงจาก 7.6 แสนตัน เหลือเพียง 6.6 แสนตันหรือลดลงไปมากถึง 1 แสนตันเศษ ในขณะที่ภาคปิโตรเคมีนั้นใช้เพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนตัน เป็น 1.7 แสนตันหรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ5 แสนตันภายในเวลาปีเดียว  ทำให้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่พอเพียงและต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจาก 4.5 แสนตัน เป็น 7.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนตัน

ดังนั้น ธุรกิจปิโตรเคมีจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีในปริมาณมากแต่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กลับนำเงินจากกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บจากประชาชนไปชดเชยการนำเข้าดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ประโยชน์ทั้งจากการซื้อก๊าซต่ำกว่าราคาตลาดโลก อีกทั้งยังไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันแม้แต่บาทเดียว การกระทำของ กบง. ในช่วงที่ผานมาจึงเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ไม่เป็นธรรมและถือเป็นการใช้เงินของกองทุนน้ำมันอย่างผิดวัตถุประสงค์ตารางเปรียบเทียบปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีตามประเภทผู้ใช้ (หน่วย1,000 ตัน)

สาเหตุประการที่สองคือ การขาดแคลนก๊าซแอลพีจีเกิดจากปัญหาในการบริหารจัดการภายใน บมจ.ปตท.เองคือความล่าช้าของการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ด้วยเหตุผลทางธุรกิจของ บมจ.ปตท.เองที่ต้องการให้รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีมาโดยตลอดทั้งๆที่ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นสำคัญและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ก๊าซแอลพีจี เป็นผลผลิตจากทั้งโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท.ซึ่งได้จากวัตถุดิบคือก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย  การที่ประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซฯ ไม่เพียงพอทำให้ปตท.ต้องนำก๊าซธรรมชาติที่ล้นเกินความจุของโรงแยกก๊าซฯ ไปรวมกับก๊าซมีเทน(ที่มีคุณค่าต่ำกว่า)แล้วส่งไปผลิตไฟฟ้าหรือผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี

ดังนั้นหากมีการสร้างโรงแยกก๊าซที่เพียงพอกับก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ จะทำให้ได้ปริมาณก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านตันต่อปีซึ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มเติมแต่อย่างใด

“ข้อเท็จจริงหล่านี้ กระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท. ไม่เคยเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบแต่อย่างได ในทางกลับกันมีการกล่าวหามาโดยตลอดว่าผู้ใช้ก๊าซในยานยนต์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอตลอดมา ทั้งๆที่ก๊าซแอลพีจีถือเป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศและเป็นพลังงานทางเลือกชนิดหนึ่งที่มีประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกใช้และยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาแพงกว่า สมควรที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้แอลพีจีเช่นเดียวกับการส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวี” นายอิฐบูรณ์กล่าว

ปัญหาในการบริหารกองทุนน้ำมันของ กบง.

คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กบง.) มีทำหน้าที่ในการกำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการและผู้จัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินกองทุนและมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะเดียวกัน ภายใต้ กบง. จะมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกคณะหนึ่ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการบริหารจัดการหนี้สินของทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายให้กับธุรกิจกิจการพลังงานต่างๆนั่นเอง  ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นกรรมการ และผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

จากการตรวจสอบพบว่าข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานที่เป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการใน กบง. ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารเงิน การใช้จ่ายเงิน การกำหนดประเภทเชื้อเพลิงที่จะได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนนั้นหลายคนเป็นกรรมการหรือประธานกรรมการในบริษัทด้านพลังงานในเครือของ บมจ. ปตท. โดยได้ค่าตอบแทนในรูปเบี้ยประชุมและโบนัสในอัตราที่สูง จึงทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นในการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของนายณอคุณ  สิทธิพงศ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน นายณอคุณยังเป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) จนเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการของ ปตท. แต่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และจากการตรวจสอบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังพบว่านายณอคุณ ปลัดกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในเครือของ ปตท. และมีส่วนได้เสียในการกำหนดราคาน้ำมันและการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน อีกด้วย

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานหรือรองปลัดกระทรวงพลังงานที่นายณอคุณดำรงตำแหน่งมานั้น ยังอยู่ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการบริหารจัดการหนี้สินของทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายให้กับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันต่างๆนั่นเอง

กรณีนายวีระพล  จีรประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ กบง. และเป็นอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าปัจจุบันได้เข้าเป็นกรรมการของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือของ ปตท เช่นกัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดหน้าที่ที่รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในมาตรา ๘๔(๕) ไว้ว่า รัฐต้องกำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมและคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งจัดการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนทางผลประโยชน์ของข้าราชการระดับสูงกับการประกอบกิจการต่าง ๆ ด้วยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องมิให้มีการให้ข้าราขการระดับสูงเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในกิจการของบริษัทเอกชนได้ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาการผูกขาดตัดตอนดังเช่นที่เกิดขึ้นในกิจการด้านพลังงานได้

ซึ่งจากการตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานของ บมจ.ปตท. ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งบริษัทเอกชนและถือสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากรัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 พบว่า บมจ.ปตท. มีอำนาจในการควบคุมกิจการของบริษัทย่อย บริษัทร่วม และบริษัทที่เกี่ยวข้องมากถึง 48 บริษัท โดยมีทั้งกลุ่มสำรวจและผลิตก๊าซ กลุ่มจำหน่ายก๊าซ กลุ่มค้าน้ำมัน กลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น โดย บมจ.ปตท.ได้ส่งผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มของตนเองเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการหรือประธานกรรมการโดยถ้วนทั่ว ทั้งนี้มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงต่างๆ รวมอยู่ด้วย ดังตัวอย่างที่กล่าวมา

   
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กัมพูชาตั้งข้อหา "วีระ" เพิ่ม “ไชยวัฒน์” จี้ “กษิต-ชวนนท์-ประศาสน์” ลาออกจากตำแหน่ง

Posted: 11 Jan 2011 02:38 AM PST

11 ม.ค. 54 - เมื่อเวลา 10.45 น. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่าวันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหารือเรื่องความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทย 7 คนและแนวโน้มของสถานการณ์ คาดว่า วันพรุ่งนี้ศาลกัมพูชาน่าจะมีความชัดเจนเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัวคนไทย หลังทนายความได้ยื่นคำร้องไปเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ม.ค. ส่วนเรื่องการตั้งข้อหาจารกรรมเพิ่มกับ นายวีระ สมความคิด นางนฤมล จิตรวะรัตนา และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ นั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ มีแค่เพียงการรายงานข่าวของสื่อกัมพูชา และสื่อต่างประเทศในกัมพูชา ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยทั้งหมดให้กลับ ประเทศเหมือนที่เคยดำเนินการกับคดีคนไทยในกัมพูชาที่ผ่านๆ มา แต่คงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายอีกครั้งว่า แนวทางใดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้

นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้หารือถึงเรื่องการตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทย 7 คนด้วย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจง ให้ข่าวแก่สื่อมีกรมสารนิเทศดูแลอยู่ การประสานความช่วยเหลือและติดต่อกับญาติของคนไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการกงสุล ส่วนการประสานเรื่องคดีเป็นหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ

และเมื่อเวลา 15.35 น.นายชวนนท์ เผยว่าล่าสุดอัยการกัมพูชาแจ้งข้อหา พยายามประมวลข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการป้องกันประเทศ ตามมาตรา 27 และ มาตรา 446 ของกฎหมายกัมพูชา  เพิ่มกับนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ โดยศาลนัดไต่สวนเพิ่มเติมเฉพาะ 2 คนนี้ในเช้าวันที่ 12 ม.ค. ซึ่งการเพิ่มข้อหาครั้งนี้ จะทำให้การช่วยเหลือบุคคลทั้ง 2 ทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขอประกันตัว ด้าน 5 คนไทยที่ต้องข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเข้าเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลกัมพูชายังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนจากศาลกัมพูชาก่อนว่า จะนัดพิจารณาคดีเลยหรืออนุญาตให้ประกันตัว

“ไชยวัฒน์” จี้ “กษิต-ชวนนท์-ประศาสน์” ลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อเวลา 11.00 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมด้วย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายฯ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากกัมพูชา ได้แถลงร่วมกันถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมฐานลักลอบเข้าเมือง โดย ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า จากการเดินทางไปกัมพูชาเพื่อช่วยเหลือคนไทยทั้ง 7 คน ปรากฏว่าได้รับการกีดกันจากนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ทำให้ไม่ได้พบกับทีมทนายความกัมพูชาและคนไทยทั้ง 7 คนภายในเรือนจำ ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าไว้

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อว่า แม้จะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมาจากนายประศาสน์ว่า ได้ยื่นเรื่องการขอเข้าพบคนไทยทั้ง 7 คนในเรือนจำไปยังกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาแล้ว แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะให้เข้าเยี่ยมเมื่อใด ในทางกลับกันเครือข่ายฯ ได้ประสานเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่กัมพูชาในการขอเข้าเยี่ยมเช่นกัน ดังนั้น หลังจากนี้จะใช้ช่องทางของเครือข่ายฯ แทน โดยคณะที่ปรึกษากฎหมาย นำโดยนายการุณ ใสงาม จะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาอีกครั้ง

ด้านนายไชยวัฒน์ ยืนยันว่า คนไทยทั้ง 7 คน ถูกจับกุมในดินแดนของไทยและต้องใช้องค์กรระหว่างประเทศมาแก้ไข แต่ปัญหาอยู่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ดังนั้น ในวันนี้ เวลา 13.00 น. จะเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชุมนุมกดดันและขับไล่ให้นายกษิต, นายชวนนท์ และนายประศาสน์ ลาออกจากตำแหน่ง

ครม.มอบหมาย ก.ต่างประเทศ ให้ข่าว “7 คนไทย” เพียงผู้เดียว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานให้ทราบถึงการดูแล 7 คนไทย ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในข้อหาลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ดูทั้งเรื่องคดีและประสานงานให้ญาติไปเยี่ยม และขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า มีการแจ้งข้อหาเพิ่ม  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนไม่อยากพูดอะไรเพิ่มเติม  แต่ยืนยันได้ว่าทั้งหมดอยู่ระหว่างการช่วยเหลือภายใต้นโยบาย 3 ข้อ  คือ 1. ดูแลทุกคน  2. รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และ  3. รักษาอธิปไตยและสิทธิของประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นพ้องว่า จะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานและให้รายละเอียดแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการที่มีรายงานจากหลายฝ่ายถ่ายทอดออกไปทำให้เกิดความสับสน ส่วนกรณีที่ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา  ระบุว่ามีโทรศัพท์โทรมาจากรัฐบาลไทยและไม่ได้รับสายนับ 10 ครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเป็นโทรศัพท์ของสมเด็จฮุน เซน และตนได้มอบนโยบายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสาน แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียด ดังนั้น ต้องไปถามกระทรวงการต่างประเทศ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ข่าวสด, สำนักข่าวไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หวังกองทุนสื่อฯช่วยให้เด็กเข้าถึงหนังสือมากขึ้น

Posted: 11 Jan 2011 02:21 AM PST

11 ม.ค. 54 - เวที  “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ”  โครงการจับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ ภายใต้การสนับสนุนโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และได้เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายของรัฐบาล ก่อนที่จะผ่านมาเป็นกฎหมายในอนาคต

การระดมความคิดเห็นในกลุ่มหนังสือและวรรณกรรม มีหลายมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่ากองทุนนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรในวงการหนังสือและวรรณกรรมสำหรับเด็ก   

นายอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่มอย่าง  “โรงเรียนเม็ดก๋วยจี๊”  “อุดมสุข”  “มะเขื่อง” ฯลฯ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาการเข้าถึงหนังสือของเด็กคือ ราคาหนังสือหรือวรรณกรรมสำหรับเด็กมีราคาสูง เด็กที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเหล่านี้จริงๆ คือ ก็จะเป็นเด็กกลุ่มเดียวจากครอบครัวที่มีรายได้พอจะเลือกซื้อหนังสือเหล่านี้ให้ลูกได้ แต่เด็กจากครอบครัวยากจนหรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีโอกาสได้อ่านด้วย  เหตุที่หนังสือมีราคาค่อนข้างสูงนั้นเชื่อมโยงกับต้นทุนการผลิตด้วยทั้งค่ากระดาษ โรงพิมพ์ ต้นทุนการผลิตสูง และวนกลับมาเรื่องยอดพิมพ์ในการอ่าน คือ ถ้าพิมพ์น้อยจะมีต้นทุนสูง ถ้าพิมพ์มากต้นทุนจะต่ำลง ปัญหาก็วนกลับมาทางฝ่ายผลิตถ้าจำหน่ายได้น้อยราคาจึงสูงเหล่านี้เป็นกลไกของการตลาด หรือหนังสือดีอาจมีการรับรู้แค่คนกลุ่มเดียว เช่น ในงานสัปดาห์หนังสือมีหนังสือได้รางวัลก็อาจรับรู้ได้แค่เพียงกลุ่มเดียว หลังจากนั้นก็ไม่มีการเผยแพร่ โดยหากมีกองทุนสื่อฯขึ้นมาจึงอยากให้มีการสนับสนุนทุนด้านการจัดซื้อหนังสือ เผยแพร่หนังสือที่ดี เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมกันของเด็กไทย

นอกจากนี้อยากให้มีกิจกรรมต่างๆเพื่อรวบรวมความคิดสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อตั้งแต่กระบวนการผลิต อาทิ การอบรมให้เด็กสามารถสร้างสื่อของตนเอง เมื่อเด็กได้มีโอกาสทำหนังสือหรือเขียนหนังสือจะเกิดการคิดวิเคราะห์กลายเป็นเกราะป้องกันให้เขาได้คิด สามารถแยกถูก ผิดได้ด้วยตนเอง

นายอิทธิวัฐก์ กล่าวอีกว่า หากเป็นไปได้ยังอยากให้มีระบบสวัสดิการสำหรับนักเขียนเมื่อนักเขียนเจ็บป่วยสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือนักเขียนอยากทำหนังสือดีเป็นประโยชน์ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้เช่นกัน รวมทั้งหากมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ความรู้และมีน้องๆคนไหนสามารถมีแววต่อเป็นอาชีพก็หาตรงนี้มารองรับได้

“หากมีกองทุนสื่อฯอาจมีกิจกรรมคล้ายๆเครือข่ายวิทยุชุมชนแต่ส่วนนี้ก็เป็นหนังสือชุมชน เพราะตามต่างจังหวัดมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ยังไม่มีใครที่รู้วิธีการนำออกมาหรือเด็กก็ยังไม่รู้วิธีการนำเสนอ แต่ละท้องถิ่นมีดีอะไรบ้าง หรือแม้แต่การบันทึกความคิดของคนรุ่นพ่อแม่ เช่น ความรู้การทำนา บางทีคนในเมืองอาจไม่รับรู้ แต่คนท้องถิ่นอยู่กับธรรมชาติเขาก็รู้ หรือวิถีชีวิตของคนทำประมงในภาคใต้ การฟังเสียงป่า ถ้าเป็นคนในเมืองก็ไม่รู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งถ้ามีการบันทึกตรงนี้ก็จะกลายเป็นสมบัติประจำท้องถิ่น”

ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการโครงการสำรวจศึกษาและดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สสส.  กล่าวว่า อยากให้กองทุนสื่อเป็นกองทุนของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  โดยให้การสนับสนุนความรู้อบรมระดับตั้งแต่ผู้ผลิตสื่อ มองไปถึงความเป็นไปได้หรือไม่จะมีการกระจายสื่อดีๆหรือการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น ส่วนบทบาทอีกอย่างคือ สร้างสรรค์ผู้ผลิต ทั้งการจัดฝึกอบรม จัดซื้อสื่อหรือว่าโอกาสของผู้ผลิตในการเข้าถึงกองทุนได้ง่ายแต่ไม่ใช่จะสร้างสรรค์เท่านั้น ยังมองไปถึงการพิทักษ์ปกป้องหรือขจัดสื่อร้ายอีกด้วย

การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการ อ่าน รวมถึง กิจกรรมการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ตั้งแต่ระดับในโรงเรียน ชุมชน ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีเทคโนโลยี เช่น สำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง ช่วยบริหารจัดการ ช่วยให้หนังสือราคาถูก และเข้าถึงได้ง่าย

“สื่อกระแสหลักอาจใช้ทุนมหาศาลแต่สื่อหนังสือใช้ทุนไม่มากและอยู่ได้คงทนหลายปี  อยากให้มีความสำคัญไปที่วรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมท้องถิ่นหรือเรื่องราวที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เยาวชนลูกหลานเข้าเป็นผู้ผลิตเองเพราะกระบวนการที่เด็กผลิตสื่อทำให้เด็กกลั่นกรองทางความคิดและรู้เท่าทันสื่อไปด้วย”

กลุ่มหนังสือ วรรณกรรมยังร่วมระดมสมองและได้ข้อเสนออีกว่า หากมีกองทุนสื่อฯเกิดขึ้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการพิจารณากฎ ระเบียบ เป้าหมายในการผลิตสื่อ เพื่อร่วมพัฒนาคน ชุมชนและถ้าเป็นไปได้อาจก้าวถึงการขับเคลื่อนทางสังคม

นอกจากนี้ด้านการขอทุนในกองทุนสื่อฯต้องมีกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการเปิดรับทั่วไปและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รู้อย่างทั่วถึงและกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุนสื่อฯจะสามารถทำได้อย่างไร การเปิดรับต้นฉบับหรือกระบวนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ สร้างสรรค์สื่อสิ่งพิมพ์ กระบวนการตรวจสอบภายหลังการทำงาน เป็นต้น เหล่านี้เป็นเสียงจากกลุ่มคนเล็กๆ เพื่อร่วมจุดความหวังให้เกิด “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มาสร้างสรรค์หนังสือ วรรณกรรม สำหรับทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกว่า 26 ล้านคนทั่วประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกปลายเดือนนี้

Posted: 11 Jan 2011 12:19 AM PST

สถานีโทรทัศน์พม่ารายงานเมื่อบ่ายวาน (10 ม.ค.) นี้ว่า พม่าเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกในรอบ 22 ปี ในเวลา 08.55 น.ในวันที่ 31 ของเดือนนี้ ขณะที่มีรายงานเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่จะได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งในสภาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ที่นั่งในสภา 25 เปอร์เซ็นต์ถูกสงวนให้กองทัพนั้น ขณะนี้กำลังเข้ารับการอบรมในด้านการบริหารก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยมีส.ส.ของรัฐบาลพม่าเข้าร่วมอบรมด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง สื่อของรัฐบาลพม่าเองได้ตีพิมพ์ว่า บุคคลที่กำลังได้รับการจับตามองและจะมีอิทธิพลในอนาคต โดยยังคาดว่าจะเป็นตัวเต็งที่จะได้รับตำแหน่งสำคัญอย่างตำแหน่งรองประธานธิบดี หรือตำแหน่งประธานรัฐสภาก็คือ นายอ่องถ่อง รัฐมนตรีอุตสาหกรรมพม่า โดยสื่อของพม่าระบุว่า นายอ่องถ่องนั้นเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการ และมีความใกล้ชิดกับนายพลอาวุโสตานฉ่วยเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุว่า มีเพียงประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council - SPDC) เท่านั้น ที่มีอำนาจในการเรียกเปิดประชุมสภาครั้งแรก ซึ่งขณะนี้นายพลอาวุโสตานฉ่วยก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธาน SPDC อยู่

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ธาริต" ขอถอนประกัน "จตุพร" อีกรอบ 12 ม.ค. นี้ / จับการ์ด นปช. ชุดบุก รพ.จุฬา

Posted: 11 Jan 2011 12:15 AM PST

"ธาริต" เตรียมหอบหลักฐานขอถอนประกัน "จตุพร" 12 ม.ค. นี้ ชี้ผิดชัดเจนต่อสายฮัลโหล "ทักษิณ" โฟนอิน / ดีเอสไอจับลูกน้อง "พายัพ ปั้นเกตุ" หลังพบเป็นหัวหน้าการ์ด นปช. นำกำลังบุกค้น ร.พ.จุฬา

11 ม.ค. 54 - เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย แถลงข่าวกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดสวน พรรคเพื่อไทย จำเลยในคดีก่อการร้าย เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) ว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้ายได้วิเคราะห์พฤติการณ์ของนายจตุพร ในการขึ้นเวที ไม่ได้พูดอะไรที่เข้าข่ายผิดข้อกำหนดฝ่าฝืนเงื่อนไขในการให้ประกันตัว แต่ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมถึงพฤติการณ์โดยรวมว่า นายจตุพร เป็นแกนนำให้เกิดการชุมนุมเรือนหมื่น แล้วได้ต่อสายโทรศัพท์ไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ต่างประเทศ โดยเป็นคนถือโทรศัพท์เอง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พูดผ่านเครื่องโทรศัพท์ของนายจตุพร และนายจตุพร ก็ถ่ายทอดเสียงออกไป ซึ่งถ้อยคำ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พูด มีถ้อยคำอยู่หลายตอน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการสอบสวนและการดำเนินคดี นายจตุพร จึงอยู่ในฐานะรู้เห็นเป็นใจ ในการดำเนินการดังกล่าว แม้นายจตุพร ไม่ได้เป็นคนพูดเอง

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 เมื่อวานนี้ นายจตุพร ได้ให้ข่าวสองประโยคที่สำคัญ คือ บอกว่า ไม่ใช่ลูกไล่ นายนายธาริต เป็นเพียงข้าราชการซี 10 ที่ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องไปกลัว แต่ นายธาริต ต้องกลัวตัวนายจตุพร และจะไล่ฟ้องนายธาริต ในหลายเรื่อง สองนายจตุพร บอกว่า อาจจะดำเนินการฟ้องศาลในฐานะที่ศาลได้ออกข้อกำหนดไม่ถูกต้อง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลิกแล้ว และสั่งห้ามชุมนุมอีก 2 ประโยคนี้ ดีเอสไอได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า การกระทำเข้าข่ายเป็นการประทำที่อาจกระทบกระเทือนต่อการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีของศาล ตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน และในฐานะพยานในคดีได้ถูกข่มขู่ว่า จะต้องหวั่นกลัว โดยเฉพาะการฟ้องร้อง ซึ่งไม่จำเป็นว่าตนจะต้องกลัวหรือไม่

นายธาริต กล่าวอีกว่า การกระทำของนายจตุพร เข้าข่ายไปก้าวล่วงต่อศาลซึ่งไม่ถูกต้อง พฤติการณ์ทั้งปวง ตั้งแต่เป็นหัวเรือใหญ่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินแล้วถือโทรศัพท์ออกเครื่องขยายเสียง และการให้สัมภาษณ์ เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดห้ามกระทำ ดีเอสไอจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ถอนประกันตัวนายจตุพร ในวันที่ 11 ม.ค.เวลา 10.30 น.ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นลูกไล่หรือไปรุกไล่นายจตุพร แต่เป็นหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย ที่ต้องดำเนินการ หากดีเอสไอไม่ดำเนินการแล้วใครจะเป็นคนทำ จะเกิดความเสียหายต่อสังคมตนจำเป็นต้องทำหน้าที่ของตน ส่วนผลสุดท้ายศาลใช้ดุลพินิจเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล

นอกจากนี้นายธาริตได้แถลงถึงกรณีเจ้าหน้าที่ เข้าจับกุม ลูกน้อง "พายัพ ปั้นเกตุ" หลังพบเป็นหัวหน้าการ์ด นปช. นำกำลังบุกค้น ร.พ.จุฬา โดยธาริตกล่าวว่าตนได้ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ถวัลย์ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 สนธิกำลังกับชุดสืบสวน สะกดรอยเข้าจับกุม นายสมพงษ์ บังชม หัวหน้าการ์ด นปช. กลุ่มสมิงดำ ลูกน้อง นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. สายฮาร์ดคอร์ ที่หลบหนีการจับกุม หลังเจ้าหน้าที่ทหาร เข้ากระชับพื้นที่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ภายหลังสืบทราบว่า ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้าการ์ดกลุ่มเสื้อแดง นำกำลังกว่า 200 นาย บุกเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.เนื่องจากเข้าใจว่า มีกำลังทหารเข้าไปหลบซ่อนตัว เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความแตกตื่น และหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่ ในโรงพยาบาล นางพยาบาลบางคน ถึงกับร้องไห้ เนื่องจาก สงสารผู้ป่วยที่ยังพักฟื้นอยู่ ซึ่งล่าสุดมีการควบคุมตัว หัวหน้าการ์ด นปช.เข้ากรุงเทพฯ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ไทยรัฐ, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฏร์ ฉบับ ๑๒ : ความเป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

Posted: 10 Jan 2011 11:58 PM PST

ระยะหลังๆ เราได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองต่อไปนี้บ่อยๆ ใช่ไหม เช่นว่า “แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ บางคนออกมาระบุว่าจะไม่รักษาคนไข้ตำรวจ (อันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑)” หรือ “กัปตันและแอร์โฮสเตสการบินไทยบางคนปฏิเสธไม่รับ ๓ สส. พปช.ขึ้นเครื่อง” หรือ “ ม.ศิลปากรตัดสิทธิ “ก้านธูป” เรียนคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากมีประวัติหมิ่นสถาบันเบื้องสูง” และ “องอาจ ปัด รัฐบาลกดดันทรู ปลด มาร์ค V11” ฯลฯ

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงข่าวคราวที่การ์ดเสื้อแดงถูกฆ่าตายโดยมีความสงสัย ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รวมตลอดไปจนถึงการจับกุม คุมขัง การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในความมีอคติ เลือกปฏิบัติ กระทำโดยไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้งต่างๆ นานา หรือแม้กระทั่งข่าวคราวที่หลุดลอดออกมาว่าบรรดาทหารแตงโมตำรวจมะเขือเทศถูก ตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดยิบ หากเจ้านายสงสัยว่ามีความเกี่ยวดองสัมพันธ์กับพวกเสื้อแดงไม่ว่าทางใด เป็นถูกแขวนถูกดอง อนาคตมืดมนแน่นอน

ในฐานะนักกฎหมายเมื่ออ่านข่าวลักษณะนี้จบลง ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการที่ควรกล่าวถึง ประการแรก คือ ผู้ที่ปฏิเสธการให้บริการหรือผู้ใช้อำนาจกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประการที่สอง ผู้ที่ถูกกระทำได้แสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองของตน หรือเป็นนักการเมือง หรือ (ในกรณีตำรวจ) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่เจ้าหน้าที่ของ รัฐคนนั้นมุ่งต่อต้าน ทั้งๆ ที่ในบางกรณี อย่างกรณีของก้านธูปและมาร์ค V11 นี้เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเยาวชนไทยธรรมดาๆ สองคน และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ถ้าเราพิจารณาปรากฏการณ์เหล่านี้ในภาพรวม เราเห็นอะไร.....

สำหรับผู้เขียน เห็นสภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะมีการกดดันคุมคามอย่างหนักต่อผู้ที่พูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หลากหลายรูปแบบวิธีการ แต่ถ้าคนที่กดดันเป็นประชาชนคนธรรมดาด้วยกันนั่นก็เรื่องหนึ่ง แม้ว่าวิธีการจะมีลักษณะกระทำเป็นขบวนการก็ตาม เช่น ลัทธิล่าแม่มด แต่นั่นก็ไม่มีน้ำหนักที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากนัก

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การกดดันคุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า เพราะ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้วางกฎ ตีความกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ให้บริการสาธารณะต่างๆ หรือแม้แต่พิพากษาตัดสินคดีให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่คนที่แสดงความคิดเห็น ได้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจรักษาความเป็นกลางในทาง การเมืองไว้ให้มั่นคง กลับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรักคนกลุ่มนี้ โกรธเกลียดคนกลุ่มนั้น หรือหลงไปด้วยแรงจูงใจใดๆ ก็แล้วแต่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะอยู่ในอันตรายมากทีเดียว

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ต่อยอดมาจากเสรีภาพในการคิด ของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เสรีภาพในการคิดเป็น “เสรีภาพที่อยู่ภายในและใช้กับตัวเอง” จึงเป็นเสรีภาพที่มนุษย์มีโดยบริบูรณ์ มีสถานะสูงกว่าสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองได้มาตามกฎหมายบ้านเมือง รัฐไม่อาจบังคับควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพในการคิดได้ ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็น “เสรีภาพที่แสดงออกภายนอกและแสดงต่อผู้อื่น” กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นวิถีทางในการแสดงออกซึ่งความนึกคิดของคน ไม่ว่าโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การชุมนุมประท้วง หรือโดยวิธีอื่น จึงมีโอกาสไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือสังคมได้ จึงเป็นเสรีภาพที่รัฐอาจจำกัดได้เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญกว่า หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น

การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในรัฐเสรีประชาธิปไตย แม้ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกจำกัดได้โดยรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจว่าจะจำกัดหรือไม่จำกัด การแสดงความคิดเห็นของผู้คน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองทั้งโดยรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย1  และโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.19482  (Universal Declaration of Human Rights,1948) การ ให้ความคุ้มครองปรากฏโดยการตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา และ การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติ หลักทั้งสองประการนี้ล้วนผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับและปฏิบัติตามกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

ผู้เขียนเห็นว่าในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำนอก เหนืออำนาจ กระทำโดยไม่ถูกต้อง หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองฝ่าย ตรงกันข้าม จำเป็นต้องนำเอาหลักทั้งสองประการนี้มาคุยกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องปรามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยสาเหตุ เช่นนี้ได้เรื่อยไป

1. การตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา ในรัฐประชาธิปไตย การ สื่อสารถึงกันได้โดยอิสระซึ่งความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นคุณค่าสูงสุดประการ หนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น บุคคลย่อมต้องสามารถแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยไม่จำต้องเกรงกลัวว่าจะถูกลงโทษอาญา ในกรณีนี้รัฐสภาจะถูกห้ามไม่ให้ตรากฎหมายเอาผิดและลงโทษอาญาแก่ผู้แสดงความ คิดเห็น เว้นแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตและเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามไว้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเช่นว่านี้จะต้องสอดคล้องกับหลักการของระบอบ ประชาธิปไตยและไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เช่นว่า รัฐสภาจะบัญญัติในกฎหมายให้ใช้กระบวนวิธีพิจารณาความที่รวบรัดตัดความ หรือกำหนดบทลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับการ กระทำที่เป็นความผิดไม่ได้ นอกจากนั้น ศาลจะถูกห้ามมิให้ลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยโทษที่รุนแรงเพื่อกำราบผู้นั้น หรือคนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวมิกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อไปในอนาคต การตรากฎหมายหรือคำพิพากษาลักษณะนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัฐประชาธิปไตย

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3 (1870 ถึง 1940) ซึ่งรัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาจำนวนหนึ่งระหว่างปี ค.ศ.1893-1894 เรียกว่า “Lois scélérates” เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองและการต่อสู้ของขบวนการ ทางการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชื่อว่า “Le mouvement anarchiste” ปัจจุบันคำว่า Lois scélérates กลายเป็นชื่อเรียกกฎหมายที่มีเนื้อหาเผด็จการ

ในประเทศไทย กฎหมายที่อาจยกขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบประเด็นนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์ รัฐบาล และข้าราชการไว้ว่า ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด หมายความว่า การแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจจะเป็นการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อรัฐบาล ถ้าได้กระทำไปภายใต้เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการ กระทำที่สามารถกระทำได้ ไม่เป็นความผิด บทบัญญัติของกฎหมายแบบนี้ถือว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเป็น ระบอบการปกครองของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง3

แต่กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังเข้าคลองสองครั้งภาย หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2490 ครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 ได้ตัดเอาข้อยกเว้นดังกล่าวทิ้งไปพร้อมกับโทษปรับ คงเหลือแต่โทษจำคุก เป็นอันว่าการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์หรือรัฐบาล แม้จะเป็นการกระทำที่เป็นไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับข้อ ยกเว้น และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินกำหนดโทษจำคุกในมาตรานี้ให้สูงขึ้นจากเดิมไม่ เกิน 7 ปี เปลี่ยนให้เป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี จนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน ศาลยุติธรรมก็มีแนวโน้มลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ด้วยโทษจำคุกในอัตรา สูง ดังกรณีของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 6 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อ.4308/2551) หรือกรณีนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 คดี ๆ ละ 6 ปี รวม 18 ปี ไม่ลดโทษ (คดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2552) ผู้ถูกลงโทษส่วนใหญ่มักได้รับคำแนะนำให้ยอมรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษและใช้ วิธีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้พ้นโทษโดย เร็ว

จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ทั้งมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (การตัดข้อยกเว้นออก) และทั้งขัดกับหลักความได้สัดส่วน (กำหนดลักษณะโทษสูงเกินกว่าลักษณะความผิด) เราจะเรียกมาตรา 112 ว่า Lois scélérates เมืองไทยได้หรือไม่ แต่กระนั้นกฎหมายที่เลวก็อาจถูกจำกัดขอบเขตความชั่วร้ายไว้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

2. การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น หลักการข้อนี้มุ่งใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับ ประชาชนโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงรักษาความเป็นกลาง และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หลักการนี้มุ่งบังคับเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ที่จะต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่แบ่งแยกว่ามิตรว่าศัตรูด้วยสาเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมือง ระหว่างตัวเจ้าหน้าที่กับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกัน

หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น มีรากฐานมาจากหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลซึ่งได้รับการรับรอง โดยรัฐธรรมนูญ มุ่งบังคับใช้ในกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอาความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อ ทางศาสนาของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้รับบริการสาธารณะมาเป็นเหตุให้มีการเลือก ปฏิบัติต่อบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าในทางที่เป็นผลดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐานปกติธรรมดา ในประเทศฝรั่งเศส ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสตีความข้อห้ามนี้รวมไปถึงการแสวงหาหรือเก็บรวบรวม ข้อมูลเพื่อทราบถึงความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางความเชื่อทางศาสนาของบุคคล ด้วย เช่น การออกแบบเอกสารให้ประชาชนต้องกรอกช่อง “ศาสนา” เป็นต้น4

โดยเหตุนี้แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานให้บริการของรัฐทั้งหลาย ไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการตามหน้าที่หรือตัดสิทธิประโยชน์อันพึงได้ของ บุคคลด้วยเหตุผลว่าผู้นั้นได้แสดงทัศนะหรือแสดงออกโดยวิธีใด ๆ ซึ่งความเชื่อโดยสุจริตของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะเกี่ยวกับการเมืองหรือความเชื่อ (ไม่เชื่อ) ในทางศาสนา หากฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มีคำถามที่สมควรพิจารณาในประการสุดท้ายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ เพียงใด
ใน ที่นี้จะขอนำหลักกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาเป็นแนวทางเพื่อตอบคำ ถามนี้ ได้แก่ รัฐบัญญัติลงวันที่ 13 กรกฎาคม 1983 มาตรา 6 บัญญัติว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง” และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว มาตรา 18 ของกฎหมายฉบับเดียวกันได้บัญญัติห้าม มิให้ผู้บังคับบัญชาเก็บรวบรวมจัดทำข้อมูลใดๆ ไว้ในแฟ้มประวัติของเจ้าหน้าที่รัฐใต้การบังคับบัญชาที่สามารถบ่งชี้ถึงแนว ความคิดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นในทางการเมือง ทางปรัชญาความเชื่อ หรือทางศาสนา รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ.1946 ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกกลั่นแกล้ง ถูกโยกย้าย หรือถูกกระทำให้เสียหายในหน้าที่การงานเพราะเหตุจากเชื้อชาติ การแสดงความคิดเห็นและการถือศาสนาของตน ทั้งผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งรายละเอียดเหล่า นี้หากผู้นั้นไม่ยินยอม

เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ บังคับบัญชาในกรณีก้าวล่วงเข้าไปในแดนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใต้ บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 กรณี นั่นคือ กรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐ และกรณีการพักงาน การลงโทษทางวินัยข้ารัฐการ

การสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค เท่าเทียมของบุคคลเช่นเดียวกัน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ทำงานในหน่วยงานของรัฐอย่างเสมอภาค กัน หากรัฐจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นไปโดยเหตุผลเรื่องความรู้ความสามารถและคุณความดีของบุคคลเท่านั้น รัฐไม่อาจตัดสินให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับคัดเลือกให้ได้ตำแหน่งงานสาธารณะ หรือไม่เพียงเพราะเหตุผลจากความคิดเห็นทางการเมือง ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสจะนำหลักการไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุจากความ คิดเห็นที่กล่าวมาแล้วมาใช้บังคับอย่างเคร่งครัด ผู้เขียนเห็นว่าสามารถปรับใช้หลักความเสมอภาคนี้กับกรณีการไม่พิจารณาความดี ความชอบหรือไม่เลื่อนตำแหน่งให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดคนหนึ่งด้วยเหตุผล ทางความคิดเห็นทางการเมืองได้เช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุด ผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งพักงานหรือสั่งลงโทษทางวินัยด้วยเหตุที่เจ้า หน้าที่ผู้นั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง อย่างใดได้ ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสได้เคยสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ออกจากงานผู้ตรวจ การสถานศึกษาด้วยสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์5

โดยสรุปแล้ว ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นกลางทาง การเมืองแม้ในกรณีการคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการพักงาน การลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย การฝ่าฝืนหลักการไม่เลือกปฏิบัติอาจเป็นเหตุให้คำสั่งและการกระทำของผู้ บังคับบัญชาไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกเพิกถอนได้.

--------------------------------------------

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948 (Universal Declaration of Human Rights,1948) ข้อ 19 “บุคคลมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

3. ดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”, กทม., จัดพิมพ์โดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ.2553, หน้า 64-65.

4. CE. 9 juillet 1943, Ferrand, Rec., p.176. 

5. CE., 1er octobre 1954, Guille, D., 1955, p.431.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ค้าราชประสงค์โวยเสื้อแดงชุมนุม ชี้ทำเสียหายถึง 1.1 หมื่นล้าน

Posted: 10 Jan 2011 11:46 PM PST


ที่มาภาพ: โพสต์ทูเดย์

11 ม.ค. 54 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อเวลา 12.00 น. ผู้ค้าย่านราชประสงค์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ได้รวมตัวบริเวณหน้าห้างเกษรพลา ซ่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าในบริเวณดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ค้าต้องการให้รัฐบาลห้ามไม่ใช้พื้นที่ในย่านดังกล่าวโดยที่ผ่าน มาการชุมนุมได้สร้างความเสียหาย ถึง 1.1หมื่นล้าน

ทั้งนี้ มีชมรมผู้ประกอบการย่านราชประสงค์เเละประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ทางการเมืองจำนวน 2 พันคน ได้ลงชื่อ ในหนังสือร้องเรียนเพื่อยื่นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน 3 ข้อ คือ 1.ให้หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการชุมนุมแทนพื้นที่ราชประสงค์

2. หากมีความจำเป็นต้องชุมนุม ต้องไม่มีการปิดกั้นทางเข้าออก และต้องให้การจราจรเป็นไปด้วยความสะดวก และ 3. ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเร่งด่วนร่วม 3 ฝ่าย คือ  รัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ขณะที่ มาตรการระยะยาว รัฐบาลควรเร่งรัดออก พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ และ ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อกำหนดมาตรการการชุมนุมที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายกลุ่มผู้ค้าจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์  รวมทั้งในเวลา 17.00 น.จะมีการตั้งโต๊ะเจรจากับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ (นปช.) ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ที่มาข่าว: โพสต์ทูเดย์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุเมธ” เผย “ในหลวง” ทรงงานตามหลักธรรมภิบาล เน้น คุณธรรม-จริยธรรม

Posted: 10 Jan 2011 11:31 PM PST

11 ม.ค. 54 - เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น.ที่กองบัญชาการทหารพัฒนา พล.อ.ดุลกฤต รักเผ่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการ84พรรษา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เทิดไท้ มหาราชัน” โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนามาบรรยายพิเศษเรื่อง หลักการทรงงาน

ดร.สุเมธ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำในทุกๆด้าน จนเป็นที่ยอมรับของคนไทยทุกคนรวมถึงนานาประเทศ ทรงมีความสามารถหลากหลายจนได้รับการถวายปริญญา สดุดีมหาบัญฑิตทั้งในและต่างประเทศ ครั้งหนึ่งท่านเคยอารมณ์ขัน ทรงตรัสว่า เคยได้รับปริญญาสดุดีมหาบัญฑิต จาก มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสาขานิติศาสตร์ ก็ได้เป็นหมอความ ต่อมาก็ได้รับถวายปริญญาสดุดีมหาบัญฑิต ทางด้านการแพทย์ ก็ได้เป็นหมอยา ครั้งที่3ก็ได้รับถวายปริญญาสดุดีมหาบัญฑิตทางด้านดนตรี ท่านก็รับสั่งว่า เราเป็น หมอความ หมอยาและก็หมอลำ

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ท่านดำเนินมาเป็นการสะสมประสบการณ์มาตลอดระยะเวลา ที่ทรงงาน และเราก็ได้รับผลจากการพัฒนาเหล่านั้นมากมาย แต่ที่น่าเสียใจ เราไม่เคยสนใจในสิ่งที่พระองค์ท่านสอน บางคนชอบเห็นในหลวง เวลาท่านเสด็จไปที่ไหน ก็จะพากันวิ่งมาหาน้ำตาไหล แต่ไม่เคยมองท่าน คือชอบเห็นแต่ไม่ชอบมอง อยากให้พวกเรากลับไปคิดในเรื่องนี้ เหมือนกับที่พระองค์เคยทรงรับสั่ง เราก็ชอบได้ยิน แต่ไม่ปฏิบัติตาม พอวันรุ่งขึ้นก็ลืม ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ดร. สุเมธ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่พระองค์ทรงครองราชย์มากว่า 60 ปี ทรงรับสั่งเอาไว้มายมาย อย่างเช่น “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม” ซึ่งคนไทยทุกคนก็สนใจและก็ท่องจำกันได้จนขึ้นใจ ถามได้ตอบได้ แต่ไม่ได้ตีความถึงความหมายของประโยคเหล่านั้นว่าแปลว่าอะไร เราไม่เคยใส่ใจ เราชอบไปเห่อกับค่านิยมของต่างชาติ ที่สังคมเละแทะทุกวันนี้ก็เพราะไปลอกแบบฝรั่งมา เราเป็นคนไทยจะต้องภูมิใจในความเป็นไทย อย่างเช่น ค่านิยมเรื่องความร่ำรวยซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญอยู่ที่การใช้ว่าจะนำเงินเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากน้อย แค่ไหน เหมือนกับงบประมาณของแผ่นดิน ถ้ารู้จักใช้ก็จะเกิดประโยชน์ ซึ่งรับสั่งของท่านตรงนี้หมายถึงว่า การทำงานจะต้องปฎิบัติตามธรรมภิบาล 10ประการ และเราต้องปฎิบัติด้วย อย่าให้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปฏิบัติแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม

ดร.สุเมธ กล่าวว่า การทำงานของพระองค์ท่านยังเน้นเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม อย่างข้าราชการที่ทำงานสนองพระยุคลบาททุกคน จะต้องไม่มีที่ดินอยู่รอบโครงการ ถ้าหากว่าใครมีก็จะต้องลาออก ถึงแม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม ใครไม่รู้แต่เรารู้ และจะซื่อสัตย์สุจริต พระองค์ท่านเคยรับสั่งไว้ถ้าหากโกงทุกอย่างก็จบ และ ถ้าอยากร่ำรวย ก็จะต้องลาออกจากข้าราชการ

หลังจากนั้น ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า โครงการพระราชดำริเริ่มมา60กว่าปีแล้วและก็มีต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆรวมถึง โครงการใหม่ๆ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระประชวรและประทับอยู่ที่โรง พยาบาล แต่โครงการต่างๆก็ดำเนินการผ่านสมเด็จพระเทพฯและหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่ พระองค์ทรงตั้งไว้ และระยะหลังๆมานี้จะมีเรื่องภัยพิบัติมาเรื่อยๆตั้งแต่ สินามิ ดินถล่ม น้ำท่วม ซึ่งต่อไปนี้เราจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้น โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งพระองค์ท่านเคยรับสั่งว่า มนุษย์เราชอบรังแกธรรมชาติ รังวังว่าสักวันหนึ่งธรรมชาติจะโกรธเอาและลงโทษ และเวลานี้ก็รู้สึกจะครบแล้วทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเทคโนโลยีสูง สามารถรู้ล่วงหน้าอะไรได้ก็หนีไม่พ้นเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะปรับตัวให้เข้ากับธรรมะให้ได้ และสิ่งที่พระองค์ท่านเคยรับสั่งคำว่า ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ แทนที่จะไปสู้เราจะต้องปรับตัวให้ได้และต้องฟื้นฟูในเรื่องของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดี เหตุการณ์ก็จะบรรเทา

ดร.สุเมธ กล่าวว่า พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่าธรรมชาติปรับตัวไว้หมดแล้ว แต่เราละเลยผลสุดท้ายก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น แม่น้ำลำคลอง เราก็ไปปลูกบ้านยื่นลงไปในแม่น้ำ ทิ้งขยะจนทำให้ตื้นเขิน สิ่งเหล่านี้ต้องระวัง การที่รักชาติ บ้านเมือง ที่พระองค์ท่านเคยรับสั่งไว้ก็คือการดูแล เราอย่าบอกว่ารักเฉยๆ ยืนตรงเคารพธงชาติ เราจะต้องลงไม้ลงมือทำด้วย รักษาดิน น้ำ ดูแลเรื่องมลพิษ ขยะ ควบคุมบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะมีชีวิตอยู่ด้วยการปล่อยปละละเลยไม่ได้แล้ว หน้าที่ของเราต้องทำทุกคน

เมื่อถามว่า การดำเนินการต่างๆต้องทำกันทุกคนไม่จำเป็นว่าจะต้องมีผู้นำใช่หรือไม่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ผู้นำนั้นมีคนตามหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วมไม่ใช่หน้าที่ของคนนั้นคนนี้ เรามีหน้าที่ดูแลรักษาบ้านเมืองด้วยความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นก็สักแต่ทำ แต่ไม่มีความเข้าใจ เมื่อถามว่า ปีหน้าเราหน้าจะหันหน้ามาเริ่มดำเนินการตามโครงการพระราชดำริใช่หรือไม่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ควรจะเริ่มมาหลายปีแล้ว แต่เริ่มปีนี้ก็ไม่สายกว่าที่จะรุนแรงไปมากกว่านี้

เมื่อถามว่า เป็นเพราะเรามีผู้นำไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ทำไมจะไม่ชัดเจน มีตำแหน่งทุกตำแหน่งครบถ้วนแล้ว ร่วมถึงอย่าลืมตำแหน่งของตนเองด้วย หน้าที่พลเมืองไทยว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร มัวแต่ไปดูตำแหน่งคนอื่นจนลืมหน้าที่ตำแหน่งตัวเอง ทุกคนมีตำแหน่งหมด

ที่มาข่าว: แนวหน้า
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพฯ ฟูจิตสึ ยังชุมนุมหน้าโรงงานหลังบริษัทปิดงาน นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 12 ม.ค. นี้

Posted: 10 Jan 2011 08:27 PM PST

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 54 ที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่คลิปของ นายสมควร โสนรินทร์ ประธานสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านเว็บไซต์ยูทูป โดยนายสมควรระบุว่าขณะนี้คนงานและสมาชิกสหภาพฯ ยังคงชุมนุมหน้าบริษัทฯ อยู่ หลังจากที่สหภาพฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องมีการเจรจาร่วมกันภายในจำนวน 5 ครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จากนั้นบริษัทฯ จึงได้ใช้สิทธิ์ปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (11 ม.ค. 54) แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แรงงานได้นัดทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

อนึ่งสำหรับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัล มีดังต่อไปนี้ (อัพเดทเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2553)

1.ให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 4.5 เท่าของฐานเงินเดือน บวก 12,000 บาท พร้อมเพิ่มเงินพิเศษแก่สมาชิกสหภาพฯอีกคนละ 15,000 บาท
2.เพิ่มเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 10%
3.ขอให้บริษัทสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพฯ
4.เพิ่มค่าครองชีพให้แก่สมาชิกสหภาพฯ 800 บาทต่อเดือน
5.ถอนคำเลิกจ้างคณะกรรมการ นายวัลลภ จั่นเพชร
6.หักเงินค่าจ้างสมาชิกสหภาพฯ เพื่อเป็นค่าบำรุงผ่านธนาคาร
7.ปรับค่าแรงลูกจ้างที่ทำงานให้แก่บริษัทครบ 24 เดือน
8.ปรับค่าจ้างประจำปี 2554
9.แก้ไขเวลาทำงาน วันละไม่เกิน 7 ชั่วโมง 20 นาที 10.อนุญาตให้สหภาพฯเผยแพร่ข่าวสารแก่สมาชิก โดยไม่ถูกแทรกแซง
11.จ่ายเงินค่าความเสี่ยงแก่พนักงานบางกลุ่ม
12.จ่ายเงินช่วยเหลือพนักงาน หากบิดามารดา สามี ภรรยา และบุตร เสียชีวิต รายละ 10,000 บาท
13.จัดสวัสดิการประกันสุขภาพให้แก่พนักงาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น