โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“สมัชชาแรงงาน” ย้ำ “ปฏิรูป” เพื่อประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส

Posted: 13 Jan 2011 01:21 PM PST

แรงงานร่วมพันรวมตัว “สมัชชาแรงงาน” ยื่นเสนอเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคม 5 ข้อ ให้นายก ด้านเลขาฯ สปส.แจงความคืบหน้า คาดผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการ ร.พ.ในสาธารณสุขได้ทุกแห่งเมษานี้ ส่วนหมอวิชัยแนะโอนการรักษาไปไว้ สปสช. ชี้สิทธิในประกันสังคมน้อยกว่า

 
 
วันนี้ (13 ม.ค.54) เมื่อเวลา 8.30 น.คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดงานสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน “ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส” เพื่อสร้างการเรียนรู้และรณรงค์ให้การปฏิรูปประกันสังคมครอบคลุมคนทำงานทุกภาคส่วน มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส นำไปสู่การสร้างสังคมสวัสดิการและสังคมไร้การกีดกันในอนาคต 
 
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานเดินทางเข้ามาถึงบริเวณที่จัดงาน กลุ่มแรงงานได้จัดกิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต โดยแสดงบทบาทสมมติของกลุ่มแรงงานที่อยู่ภายใต้ตาข่ายซึ่งสื่อแทนการครอบคลุมของระบบประกันสังคมแบบเดิมๆ ที่ไม่มีคุณภาพในการบริการแก่แรงงานในระบบ ในขณะเดียวกันก็ไม่ครอบคลุมแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเรียกร้องให้การปฏิรูปประกันสังคมนำไปสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อรับใช้ประชาชน
 
จากกนั้น นายอภิสิทธิ์ ในฐานประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษว่า การจากการเฝ้าติดตามเรื่องประกันสังคมเป็นเวลานานกว่า 20 ปี มีความพยายามที่จะขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานมากกว่า 20 ล้านคน และเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของการบริหารระบบประกันสังคม เช่น การขยายการคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วย การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ และพูดถึงความมั่นคงด้านรายได้ รวมทั้งการมีสวัสดิการที่ดี และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลในปัจจุบันจะเดินหน้าในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับสังคม และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ข้อเสนอทั้งในเรื่องการขยายการครอบคลุมประกันสังคม เรื่องความอิสระและความโปร่งใสการจัดการกองทุนประกันสังคม และการปฏิรูปในภาพรวม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ถือว่าเป็นหลักการที่สอดคล้องในหลักการการแก้ไขปัญหาของประเทศ และล่าสุด ได้มีการประกาศเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าในฐานะฝ่ายบริหารเห็นว่าการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญ
 
หลังจบการปาฐกถา นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน ได้อ่านเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคมและยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ โดยมีเนื้อหา 5 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ 2.ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร และบริหารโดยมืออาชีพ 3.ขยายสิทธิประโยชน์และครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นระบบที่ยั่งยืน 4.ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีสิทธิเข้ารักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมได้ทุกแห่งทั่วประเทศ และ 5.ขยายสิทธิประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
 
 
แรงงานนอกระบบ – ข้ามชาติ ร้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 
 
นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวในเวทีเสวนทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานทุกภาคส่วนว่า เดิมมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคมไม่ได้จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในประกันสังคม เนื่องจากจ่ายแพงถึง 3,360 บาท เป็นรายปี โดยที่ได้สิทธิประโยชน์เพียง 3 อย่าง ส่วนรูปแบบที่รัฐบาลเตรียมมาใช้ดึงดูดแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ในระบบที่ออกมา ทั้ง 2 รูปแบบ คือ 1.แรงงานจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 100 บาท 2.ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท ยังไม่โดนใจแรงงานนอกระบบทั้งหมด 
 
นางสุจิน ให้เหตุผลต่อมาว่า รูปแบบที่จ่ายเงินสมทบ 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท มีสิทธิประโยชน์ 3 อย่าง แต่ไม่ได้รวมสิทธิบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นหัวใจที่แรงงานนอกระบบขับเคลื่อนตลอดมา เพื่อหวังสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยไม่ต้องลำบากลูกหลานมาดูแล อีกทั้งยังตัดสิทธิของผู้ประกันตนหากจะเข้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ส่วนรูปแบบที่จ่ายเงินสมทบอีกรูปแบบหนึ่ง จ่ายเงิน 70 บาท โดยเปิดสิทธิ์ให้เข้าร่วม กอช.ได้ แต่มีแต่บำเหน็จอย่างเดียว 
 
หากให้เลือกระบบใดระบบหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย แรงงานนอกระบบกว่า 40 ล้านคน อยากเห็นมาตรา 40 ที่มีทั้งระบบบำเหน็จและบำนาญ เพราะลำพังเงินจากบำเหน็จอย่างเดียวคงไม่พอกิน อีกทั้งรัฐควรมีการสร้างกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างประกันสังคมและ กอช.โดยไม่สร้างความสับสนให้แรงงานที่จ่ายเงินสมทบ และไม่ตัดสิทธิ์การออมกับ กอช. 
 
“เราภูมิใจถ้าเรามีประกันสังคมที่มันเอื้อกับเรา เราภูมิใจในการที่เราสมทบ เราภูมิใจเพราะเราไม่ต้องไปแบมือขอใคร เราจะเตรียมตัวของเรา และจะสมทบเงินของเราเก็บไว้กินตอนชราภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต” ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกล่าว
 
ขณะที่ นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มแรงงานข้ามชาติว่า ควรมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ของแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 80,000 คน โดยเฉพาะเรื่องประกันการว่างงานและชราภาพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติมีโอกาสใช้สิทธิน้อยมาก โดยเสนอให้ปรับนำมาตั้งเป็นกองทุนของแรงงานข้ามชาติ เพื่อยังประโยชน์กับตัวแรงงาน และปรับอัตราส่งเงินสมทบที่เหมาะสม อีกทั้งปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ให้มีลักษณะยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงาน ทั้งนี้ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการจ้างงานตามนโยบายพิสูจน์สัญชาติที่ให้แรงงานทำงานได้เพียง 4 ปี
 
ส่วน นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ระบบประกันสังคมนั้นรัฐต้องดูแลคนทั้งชาติ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ใช่ ระบบประกันสังคมไทยที่ออกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2533 ควรเรียกว่าเป็นกองทุนของผู้ทำงานที่มีนายจ้างประจำ ส่วนเงิน 7 แสนกว่าล้านในกองทุนนี้เป็นเงินลูกจ้างที่ได้สมทบกันมาเพื่อที่จะใช้เป็นเงินเกษียรยามชราภาพในอีกไม่กี่ปีนี้ ไม่ใช่เงินที่ควรถูกนำมาเฉลี่ยให้กับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐจะรับเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามจากที่รัฐต้องดูแลเรื่องสวัสดิการให้คนอย่างเสมอภาคกัน ดังนั้นเราจึงควรร่วมกันเรียกร้องรัฐให้ตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันนี้กับแรงงานกลุ่มอื่นๆ แทน
 
 
เสนอ “สิทธิการรักษาพยาบาล” รวมอยู่ใน สปสช.ชี้สิทธิในประกันสังคมน้อยกว่า 
 
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการปฏิรูปประเทศไทย และทำหน้าที่กรรมการแพทย์ในประกันสังคมมาถึง 9 ปี กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลว่า ในส่วนของข้าราชการและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นเงินภาษีที่รัฐออกให้หมด แต่ประกันสังคมต้องเก็บเงินจากประชากรจำนวนกว่า 10 ล้านคน ตรงนี้คือความไม่เป็นธรรม และเงินที่เก็บมาในปัจจุบันก็ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากเปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหารจะประหยัดการใช้เงินลงได้มากขึ้น อีกทั้งสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม ยังมีส่วนที่ควรได้รับมากกว่าที่ได้ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เมื่อไปรักษาแล้วเกิดความเสียหาย โดยเสียชีวิต หรือพิการ ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย แต่เรื่องนี้ระบบประกันสังคมไม่มี
 
“ปัจจุบันเพื่อให้ระบบการรักษาพยาบาลมีการพัฒนาและเท่าเทียมกัน สิทธิในระบบประกันสังคมในปัจจุบันนั้น ได้น้อยกว่าของสิทธิบัตรทองหลายเรื่อง ดังนั้นควรโอนเรื่องการรักษาพยาบาลไปอยู่กับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทั้งหมด ไม่ควรทำสิ่งที่ตรงข้าม คือ เอาคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม” นพ.วิชัยกล่าว
 
นพ.วิชัย กล่าวต่อมาว่า ประกันสังคมในปัจจุบัน ใช้เงินรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ที่ไม่เนื่องมาจากการทำงานหัวละกว่า 2,000 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป และเงินส่วนนี้เข้าไปสู่โรงพยาบาล แต่ประโยชน์ของผู้ประกันตนกลับได้รับเท่าเดิมขณะที่เงินเพิ่มขึ้น แต่หากโอนไปอยู่ภายใต้ สปสช.คำนวณจากตัวเลขค่าแรงผู้ใช้แรงงานทั่วไปเฉลี่ย 8,000 กว่าบาทต่อเดือน รัฐบาลขณะนี้สมทบ 1.5 % คิดเป็นเงิน  1,440 บาท แล้วนำเงินจำนวนนี้โอนไปให้ สปสช.เพื่อดูแลการรักษาพยาบาลทั้งหมด โดยสิทธิต้องไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนเงินของผู้ประกันตนและนายจ้างสบทบ 2 ส่วนนี้ ก็นำไปใช้จ่ายในสิทธิส่วนอื่นที่เหลือ เช่น เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ ผลคือจะมีเงินเหลือจำนวนมากที่สามารถนำไปเป็นเงินออมให้ผู้ประกันตน และจะทำให้ความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเก็บเงินสมทบหมดไป
 
สอดคล้องกับ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งกล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายสังคมคือเรื่องความเป็นธรรมว่า ปัจจุบันคนไทย 65 ล้านคนมีผู้ประกันตนราว 10 ล้านคนเท่านั้น ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล และถึงแม้จะจ่ายเงินแต่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมกับ สปสช.กลับต่างกันนับ 100 รายการ และอีกกว่า 10 รายการที่ประกันสังคมไม่มี เช่น ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกินปีละ 2 ครั้ง ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สปสช.สามารถส่งต่อโดยเฮลิคอปเตอร์ได้ ทั้งหมดเป็นความแตกต่างที่เกิดจากการบริหารจัดการที่ต่างกัน สำหรับทางออกระยะสั้นเสนอให้ปรับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมให้เท่ากับ สปสช.ส่วนระยะยาวควรปรับสิทธิประโยชน์รายหัวให้ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยดูแลในระบบเดียวที่เป็นธรรม 
 
 
คาดเมษาได้ข้อยุติ “สิทธิ” ใช้บริการ รพ.สาธารณสุข ได้ทุกแห่ง 
 
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ทราบถึงปัญหาของระบบประกันสังคมและพยายามแก้ไขอยู่ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนบางข้อต้องไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเพื่อไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามความคืบหน้าการปฏิรูปประกันสังคมนั้น ในอนาคตโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 887 แห่ง กำลังจะมีข้อตกลงกับประกันสังคมอย่างชัดเจนว่าให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสาธารณสุขแห่งใดก็ได้ ส่วนโรงพยาบาลในการดูแลของกระทรวงกลาโหม 16 แห่ง และโรงพยาบาลของกทม.อีกกว่า 10 แห่ง ก็ยินดีให้ผู้ประกันตนรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ในสังกัดเดียวกัน สำหรับการรักษาข้ามสังกัดโรงพยาบาลคาดว่ามีข้อยุติในช่วงสงกรานต์ปีนี้
 
นายปั้น กล่าวต่อมาว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในเครือข่ายประกันสังคมราว 90 แห่งได้มีการแนะนำให้จับกลุ่ม โดยในกลุ่มนี้สามารถรักษาข้ามโรงพยาบาลกันได้ ส่วนขั้นต่อไป หลังจากสงกรานต์จะมีการผลักดันให้มีมีการข้ามการรักษาระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทำให้ผู้ประกันตนไปรักษาที่ไหนก็ได้
 
เลขาธิการ สปส.กล่าวด้วยว่า ในอนาคตประกันสังคมอยากให้ สปสช.เป็นผู้ให้บริการการรักษาพยาบาล โดยประกันสังคมมีหน้าที่จ่ายเงิน เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน และประกันสังคมจะจ่ายเองในโรคที่ สปสช.รักษาไม่ได้ ส่วนโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม และความเป็นองค์กรอิสระนั้น ก็มีแนวคิดให้ผู้ประกันตนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลการบริหารงานของประกันสังคม ซึ่งการเลือกกรรมการตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้ามา โดยเป็นในรูปของสมัชชามากำกับดูแลการทำงานของประกันสังคม และเปลี่ยนทุก 3 หรือ 6 เดือน แทนเลือกตั้งเข้ามา 2 ปี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศของงานสมัชชาแรงงานในวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่างๆ เครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ รวมทั้งผู้สนใจเข้ารวมกว่าหนึ่งพันคน อีกทั้งบริเวณด้านหน้าห้องประชุมก็มีการนำสินค้าฝีมือแรงงานกลุ่มต่างๆ มาวางจำหน่ายด้วย
 
ส่วนช่วงบ่ายของงานสมัชชาแรงงาน มีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยโดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ การปฏิรูปประกันสังคมกับแรงงานในระบบ ประชาวิวัฒน์กับการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติกับรูปแบบประกันสังคมที่เหมาะสม และการเข้าถึงสิทธิและบริการด้านสุขภาพของคนไทย ทำไมต้องหลายระบบ หลายมาตรฐาน ซึ่งในแต่ละห้องจะมีการเสวนา จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม ประมวลเป็นมติข้อเสนอของแต่ละห้องย่อย และจบกิจกรรมของวันด้วยพิธีมอบมติสมัชชาแรงงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
 
ทั้งนี้ มติดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
มติสมัชชาแรงงานแห่งชาติ
ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน พ.ศ. 2554
เรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิด
ความถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม
 
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการ รวมถึงระบบการรองรับเพื่อให้คนทำงาน ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามสิทธิพื้นฐานภายใต้ระบบประกันสังคม ที่ไม่เอื้อให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมต่อคนทำงาน แม้ระบบประกันสังคมไทยจะดำเนินงานมากว่า 20 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้อง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน กล่าวคือ
 
1. กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย
 
2. สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
 
3. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
 
4. การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และคณะกรรมาธิการการแรงงานจึงได้จัดสมัชชาแรงงานระดับชาติ : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน พ.ศ. 2554 มีการเตรียมการต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ และมีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 ถึง มกราคม 2554
 
ที่ประชุมมีมติในเรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส ดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยการบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใสรวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของกลไกการบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีตัวแทนคณะกรรมการศึกษาวิจัยที่มาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คนทำงานด้านแรงงาน และตัวแทนจากแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับกลไกต่างๆดังกล่าว โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในสังคมอย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน และกระบวนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพร่วมกันของเครือข่ายด้านแรงงาน แล้วนำผลการศึกษาที่ได้พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาระดับสาธารณะต่อไป
 
1.2 ทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านระบบประกันสังคม
 
2.ขอให้รัฐบาล ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 สนับสนุนกระบวนการสมัชชาแรงงานแห่งชาติด้านประกันสังคม ให้เป็นกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อการผลักดันและการพัฒนาระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับหลักการความถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม
 
2.2 ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ
 
2.3เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม
 
2.4 กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
 
2.5สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
2.6 การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมีออาชีพ
 
2.7 ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย
 
2.8 ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
 
2.9 ผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม
 
2.10 ผู้ประกันตน มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์
 
2.11 ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน และให้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเวลา 1 ปี
 
2.12 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า
 
2.13 ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
 
2.14 พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน
 
2.15 การได้รับหลักประกันสังคม จะต้องไม่ตัดสิทธิของคนทำงานจากระบบสวัสดิการสังคมอื่นๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ
 
2.16 ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวะการจ้างงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ
 
2.17 เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ
 
2.18 ให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 2 ปี
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีเรียนรู้‘ผังเมืองชาวบ้าน’ สีอุตสาหกรรมที่‘ปากบารา-จะนะ-นาปรัง’

Posted: 13 Jan 2011 09:25 AM PST

เวทีเรียนรู้‘ผังเมืองชาวบ้าน’ ที่ภาคใต้ พื้นที่ลงโครงการใหญ่ของรัฐ มุมมองต่อสีอุตสาหกรรมและแนวคิดในการทำผังเมืองเอง กำหนดโซนในหมู่บ้านเองของชาวบ้านปากบารา จะนะ และบ้านนาปรัง

ผังเมืองชาวบ้าน น่าจะเป็นตัวสะท้อนถึงความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความขัดแย้งที่มีต่อโครงการพัฒนาของรัฐ ได้อย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ โครงการร่วมสร้างสรรค์สุขภาวะ : นโยบายสาธารณะด้านผังเมืองและการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.) ร่วมกับ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายด้านผังเมือง ในการมองอนาคต สำหรับนโยบายสาธารณะเชิงพื้นที่ด้านผังเมือง

เป็นเวทีที่จัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการวางและจัดทำผังเมือง สร้างสรรค์ประเภทพื้นที่และข้อกำหนดของชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้ ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นคิวของภาคใต้ จัดขึ้น ณ ศูนย์โภชนาการ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเวทีการเรียนรู้และปฏิบัติการผังเมือง ครั้งที่ 2

ผู้เข้าร่วม เป็นชาวบ้านจากจังหวัดสงขลา และสตูลประมาณ 50 คน โดยมีอาจารย์ภารนี สวัสดิรักษ์ และอาจารย์ชุณหเดช พรหมเศรณี 2 นักวิชาการอิสระจากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม นำเสนอการวางแผนพัฒนาพื้นที่และผังเมือง การวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่และผังเมือง แนวคิดและขั้นตอนการวางแผนพัฒนาพื้นที่และผังเมืองโดยชุมชน
ทั้งสองคน เริ่มเวทีด้วยการทำความเข้าใจปัญหาที่ประสบอยู่ในพื้นที่ว่า เกี่ยวข้องกับวิธีการทำผังเมืองอย่างไร โดยหยิบยกผังเมืองของมาบตาพุดเป็นกรณีตัวอย่าง

จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือกลุ่มชาวบ้านอำเภอจะนะ กลุ่มชาวบ้านอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และกลุ่มชาวบ้านอำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยให้แต่ละกลุ่มพิจารณาว่า พื้นที่มีศักยภาพของชุมชนของตัวเองกับโครงการแผนพัฒนาของภาครัฐอยู่ตรงไหนบ้าง

ดังนั้น ในการเรียนรู้เรื่องผังเมือง ต้องรู้ว่า จะมีโครงการอะไรลงมาในพื้นที่บ้าง ซึ่งชุมชนต้องขับเคลื่อนด้วยกระบวนการภาคประชาชน โดยเสนอผ่านสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แล้วออกเป็นข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล กำหนดเป็นผังชุมชนออกมา

การทำผังเมืองโดยผ่านสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จนมีผลบังคับใช้ได้ จะต้องยื่นเรื่องไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง ก่อนที่ประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงต่อไป

สีผังเมืองกำหนดบทบาทแบบชาวบ้าน
ในการทำผังเมืองชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านใช้สีต่างๆ ดังนี้
สีเหลืองกำหนดพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย
สีแดงเป็นพื้นที่ตลาดพาณิชย์
สีเขียวเข้มเป็นพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น
สีเขียวเส้นทแยงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว
สีม่วงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
สีเขียวอ่อนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
สีน้ำตาลเป็นพื้นที่ศาสนาและวัฒนธรรม
สีน้ำเงินเป็นพื้นที่สถานที่ราชการ
สีฟ้าเป็นทะเลและแหล่งน้ำ

พื้นที่แต่ละสีสามารถกำกับพื้นที่นั้นๆ ได้ เช่น พื้นที่สีม่วงใช้รองรับอุตสาหกรรมครัวเรือน ห้ามเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเคมี พื้นที่ชุมชนห้าม มีอาคารสูงกว่า 3 ชั้น รอบๆโรงเรียน มัสยิดและวัด ห้ามมีสถานบันเทิง ร้านคาราโอเกะใกล้ 500 เมตร พื้นที่ตลาดพาณิชย์ ห้ามมีห้างร้านต่างชาติ เป็นต้น

สองวัฒนธรรม แนวคิดผังเมืองชาวบ้านจะนะ

นายร่อหีม หมะสะมะ ชาวบ้านบ้านป่างาม ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ออกมาอธิบายถึงสภาพปัจจุบันพื้นที่อำเภอจะนะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม ทะเล แหล่งน้ำ ป่าอนุรักษ์ ตลาดนัดอำเภอจะนะ ถนนจะนะ  โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซและแนวท่อก๊าซไปสะเดา โดยชี้ไปตามสีจากการระดมความคิดที่ระบายบนกระดาษไขทับแผนที่อำเภอจะนะ
นายร่อหีม อธิบายต่อไปว่า อนาคตอยากจะมีชุมชนที่อยู่อาศัยที่ไม่มีมลพิษ ห้ามมีสถานบันเทิง แหล่งอบายมุขและมีอาคารสูงเกิน 3 ชั้น ตลาดพาณิชย์ไม่ต้องการโลตัส แม็คโคร ห้างร้านต่างชาติ

“บริเวณป่าพรุ ป่าชายเลน แม่น้ำ ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ไม่อยากให้มีการกั้นคันเขื่อนในทะเล ห้ามมีรีสอร์ท นอกจากโฮมสเตย์ของชาวบ้านเท่านั้น” นายร่อหีม กล่าว

นายร่อหีม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้ขุดลอกฝายคลองปลักปลิง-นาปรัง เขื่อนนาปรัง ป่าสันทราย(หาดสะกอม-ตลิ่งชัน) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

“ดำรงชีพแบบเกษตรกรรมพอเพียงตามคำขวัญของอำเภอจะนะ คือนกเขาชวาเสียงดี สำเนียงสะกอม วัฒนธรรมหล่อหลอม กองทัพเจนดัง ส่วนอีกหนึ่งคำขวัญคือ แตงโมรสหวาน ตำนานนกเขา ถิ่นเก่าสองวัฒนธรรม งามล้ำหาดตลิ่งชัน” นายร่อหีม กล่าว

ปากบาราคือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น

นายดาดี ปากบารา ชาวบ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล  อายุ 73 ปี ออกมานำเสนอในนามตัวแทนกลุ่มว่า สภาพพื้นที่จังหวัดสตูลอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีอุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง

ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด

นายดาดี อธิบายต่อไปว่า ในจังหวัดสตูล มีโครงการแผนพัฒนาของรัฐลงมาถึง 5 - 6  โครงการ คือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 หรือรถไฟแลนด์บริดจ์ คลังน้ำมันและท่อขนถ่ายน้ำมัน

นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรม1แสน 5 หมื่นไร่ อุโมงค์สตูล-เปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย และอ่างเก็บน้ำคลองช้าง(เขื่อนทุ่งนุ้ย)

นายดาดี กล่าวว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะต้องนำทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากละงูและบ้านหัวหิน อำเภอละงู และระเบิดภูเขาอีก 10 ลูกมาสร้างท่าเรือน้ำลึก

นายดาดี บอกว่า ในอนาคตในส่วนของตำบลปากน้ำ อยากให้ตัดถนนเส้นใหม่จากบ้านท่ามาลัยไปบ้านปากบารา และต่อไปยังบ้านบ่อเจ็ดลูก ส่วนบ้านเรือนและร้านค้าสองข้างถนน ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 3 ชั้น ห้ามมีบ้านจัดสรร พื้นที่การเกษตรห้ามใช้สารเคมี และมีพื้นที่สงวนไว้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

นายดาดี อธิบายต่อไปว่า บริเวณโรงเรียนและมัสยิดในระยะ 500 เมตร ห้ามมีร้านวิดีโอเกมส์หรือเกมส์คอมพิวเตอร์ สถานบันเทิง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น ซึ่งมีปะการัง หญ้าทะเล แหล่งหากินของพะยูนและโลมา โดยสงวนไว้เพื่อการท่องเที่ยวและการทำประมงชายฝั่งและห้ามใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างผิดกฎหมาย

“เมื่อเป็นมติชุมชนแล้ว ก็จะให้มีตัวแทนชุมชนเป็นผู้ควบคุมกฎ ส่วนทางราชการก็ให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามมติของชุมชนด้วย” นายดาดี อธิบาย

บ้านนาปรัง-เข้าน้ำค้าง เขตห้ามสร้างเขื่อน

ด้านนางพรเพชร เพ็ชรครั่ง ชาวบ้านนาปรัง ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา นำเสนอแนวคิดของกลุ่มว่า ให้มีพื้นที่สีเขียวอ่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งครอบคลุมมาถึงพื้นที่อำเภอจะนะ

“พื้นที่สีเขียวคือเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ห้ามใครรุกล้ำ แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่สวนยางพาราและสวนผลไม้” นางพรเพชร กล่าว

นางพรเพชร อธิบายต่ออีกว่า วัดคือพื้นที่สีน้ำเงิน กำหนดให้เป็นศูนย์รวมของชุมชน บริเวณสีแดงกำหนดเป็นตลาดและร้านค้าสหกรณ์ สถาบันการเงินของชุมชน โดยดำเนินกิจการเปิดบ่อรับซื้อน้ำยางสด

 “สำหรับพื้นที่บ้านนาปรังและเขาน้ำค้างจะกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์ห้ามบุกรุกเด็ดขาด ห้ามสร้างเขื่อน ชาวบ้านจะรักษาป่าไว้เยี่ยงชีวิต สามารถปลูกยางพาราและสวนผลไม้ได้ต้องห่าง 1 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย” นางพรเพชร ยืนยันหนักแน่น
ส่วนพื้นที่ชุมชนสีเหลืองสามารถมีสถานประกอบธุรกิจได้ แต่ห้ามมีสถานบันเทิงและโรงงานหรือร้านซ่อมเครื่องจักรที่ส่งเสียงดัง พื้นที่สีเขียวอ่อนสามารถปลูกสร้างบ้านเรือนได้ สามารถดำเนินกิจการเปิดบ่อน้ำยางหรือโรงทำยางแผ่นของชุมชน

เขตลุ่มน้ำห้ามมีการสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทขนาดใหญ่ พื้นที่สีเขียวเข้มห้ามประกาศยกเลิกพื้นที่ไปสร้างอ่างเก็บน้ำโดยเด็ดขาด

อาจารย์ภารนี สวัสดิรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยโจทย์ใหญ่ว่า “เราจะเอาผังเมืองฉบับนี้ไปสานต่อที่ชุมชนของเราเองหรือไม่”
พร้อมเสนอแนวทางในการสานต่อ ด้วยการประชุมหารือกับชาวบ้านเพื่อหาคณะทำงานช่วยกันหาข้อมูล สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ร่วมกัน ช่วยกันผลักดันความต้องการของชุมชน รวมถึงการวางแผนกระบวนการพัฒนาพื้นที่
วางแนวคิดผังเมืองชาวบ้านเสร็จสรรพ ผู้เข้าร่วมทั้งหมดก็ลงพื้นที่ดูสถานที่จริง สีอะไรควรอยู่ตรงไหน

ที่บ้านหลังหนึ่งแห่งบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ละคนก็เบียดเสียดกันหลบฝนตกห่าใหญ่ หลังจากลงพื้นที่ดูโรงไฟฟ้าจะนะกับโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย และแวะผ่านลานหอยเสียบ สถานที่ประวัติศาสตร์บริเวณการต่อสู้ของชาวบ้าน

พวกเขาคงครุ่นคิดอยู่ว่า สีอุตสาหกรรม ควรถูกหย่อนลงบนผืนผังเมืองแบบที่ชาวบ้านทำเองหรือไม่ หรือตรงไหน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รบ.ตูนีเซีย ปราบผู้ชุมนุม-ประกาศเคอร์ฟิว อ้างเรื่องก่อการร้าย

Posted: 13 Jan 2011 06:08 AM PST

13 ม.ค. 2554 - หลังจากที่ชาวตูนีเซียอาศัยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเรียกอย่างเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เรียกรวมตัวกัน เพื่อประท้วงเรียกร้องแก้ปัญหาการว่างงานและประท้วงเรื่องอื่น ๆ โดยมีเหตุปะทะอยู่เนื่อง ๆ ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

กระทั่งล่าสุดในวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังทหารตำรวจได้เข้าล้อมปราบปรามผู้ชุมนุมตามที่ต่าง ๆ ในเมืองด้วยกระบอง, แก็สน้ำตา และกระสุนจริง นอกจากนี้ทางรัฐบาลได้สั่งประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน มีรายงานว่าญาติบางส่วนของประธานาธิบดีตูนีเซีย Zine el-Abidine Ben Ali ได้หนีออกจากประเทศเพื่อความปลอดภัยของตนเองไปแล้ว

ในการชุมนุมแห่งหนึ่ง มีผู้เห็นเหตุการณ์รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ยิงสังหารผู้ชุมนุม 4 ราย บ้างบอกว่าพบเห็นสไนเปอร์บนหลังคายิงเข้าใส่ฝูงชน กลุ่มนักสิทธิฯ ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่แล้ว 30 ราย ก่อนหน้านี้

ในช่วงบ่ายรัฐบาลก็ประกาศเคอร์ฟิวภายใต้เวลา 20.00 น. โดยประธานาธิบดี Ben Ali และเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนอื่น ๆ ยังได้กล่าวหาว่าเหตุความไม่สงบในครั้งนี้เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ หรือไม่ก็กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยอ้างความไม่พอใจจากการไม่มีงานทำ แต่จากรายงานข่าวพบว่า การประท้วงในครั้งนี้มีหลักฐานการอ้างถึงพระเจ้าหรือสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามน้อยมาก และผู้ชุมนุมบางคนบอกว่าข้อกล่าวหานี้ถือเป็นการดูแคลนพวกเขา

"พวกนั้นบอกว่าประชาชนเป็นผู้ก่อการร้าย แต่พวกเขา Ben Ali และครอบครัวเองนี่แหละที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริง" นักศึกษาอายุ 18 คนหนึ่งกล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นของวันนี้รัฐบาลก็พยายามทำให้ผู้ชุมนุมสงบด้วยการสัญญาว่าจะเปลี่ยนตัว รมต. มหาดไทย ผู้เป็นเบื้องหน้าในการสั่งปราบปรามผู้ชุมนุม และสัญญาว่าจะปล่อยตัวนักโทษที่ถูกจับในการชุมนุม รวมถึงมีการสืบสวนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่และการคอร์รัปชั่นในรัฐบาล

แต่การสั่งปลด รมต. มหาดไทยก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชุนุมสงบลง พวกเขายังคงออกมาตามท้องถนนในเมืองและในย่านชุมชนของชนชั้นแรงงานในแถวชานเมืองด้วย

นิวยอร์กไทม์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศตูนีเซียว่า เป็นประเทศที่มีความคล้ายคลึงยุโรปมากที่สุดในหมู่ประเทศทวีปแอฟริกาเหนือ มีชนชั้นกลางอยู่เป็นจำนวนมาก มีค่านิยมแบบเสรีนิยม กว้างขวางในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และมีสถานที่แบบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้คะแนนสูงจากการที่พวกเขาดำเนินการปราบปรามผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายอย่างรุนแรง

นิวยอร์กไทม์รายงานอีกว่า ตูนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรัฐบาลที่เน้นการปราบปรามมากที่สุดในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยรัฐตำรวจ ประชาชนตกอยู่ภายใต้การจับจ้อง มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพพลเมือง และมีการใช้วิธีการทรมาน จนกระทั่งพิษเศรษฐกิจของยุโรปใต้ลามมาถึง จนเกิดปัญหาการว่างงานและความไม่พอใจของประชาชนก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

 

ที่มา
Protests Spread to Tunisia’s Capital, and a Curfew Is Decreed, 13-01-2011, New York Times

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.สั่งคุมเข้ม ห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม

Posted: 13 Jan 2011 04:52 AM PST

13 ม.ค. 2554 - เว็บไซต์ VoiceTV รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของเด็กวัยรุ่นและเยาวชน

โดย จากนี้ไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจะลงพื้นที่ตรวจสอบตามสถานที่ต่างๆ ไม่ให้เด็กวัยรุ่นและเยาวชนทำการจับกุมมั่วสุม เนื่องจากที่ผ่านมาเหตุอาชญากรรมต่างๆ เด็กเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม

โฆษกนครบาล กล่าวและว่า ‘เรื่องนี้ ผบช.น.ได้กำชับเป็นพิเศษว่า ไม่ควรให้เด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปีออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร เพราะที่ผ่านมามีการออกจากบ้านด้วยเหตุผลอันไม่สมควร เช่นไปซิ่งรถ ไปเล่นร้านเกมร้านอินเตอร์เน็ต เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้นและนำตัวกลับมาที่สถานีตำรวจทันที เพื่อลงบันทึกพร้อมทำประวัติและเรียกให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้านไป หรืออาจจะมีความผิดในด้านอื่นๆ อีกหากมีการฝ่าฝืน’

ทั้งนี้เป็นเพราะตำรวจได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมาแล้ว พบว่าในหลายพื้นที่มีเด็กและเยาวชนออกมามั่วสุมกันเป็นจำนวนมาก และต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้กวดขันบุตรหลานมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเหตุอาชญากรรมต่างๆ เด็กเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผบช.น.ได้กำชับเป็นพิเศษ ส่วนเด็กที่ต้องเรียนกวดวิชาในช่วงเย็น หากมีเหตุอันสมควรก็สามารถอนุโลมได้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สาละวินโพสท์ : ฉาวอีก กองทัพพม่าใช้นักโทษหาทุ่นระเบิดในเขตสู้รบ

Posted: 13 Jan 2011 03:10 AM PST

กองทัพพม่าใช้นักโทษเป็นลูกหาบและหาทุ่นระเบิด สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าอ้างตามข้อมูลักโทษที่หนีออกมาว่า มีนักโทษราว 600 คนถูกส่งตัวไปพื้นที่สู้รบแล้ว


มีรายงานว่า กองทัพพม่าได้ใช้นักโทษเป็นลูกหาบและหาทุ่นระเบิดในเขตพื้นที่ที่มีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือดีเคบีเอ ภายใต้การนำของนาคามมวย ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (
Assistance Association for Political Prisoners-Burma - AAPP) กล่าวอ้างตามข้อมูลที่ได้รับมาจากนักโทษที่สามารถหนีออกมาจากค่ายทหารพม่าได้ว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างดีเคบีเอและทหารพม่าหลังเลือกตั้งที่ผ่านมา มีนักโทษราว 600 คน จากเรือนจำหลายแห่งในพม่า ถูกส่งตัวไปในพื้นที่สู้รบแล้ว

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ นักโทษเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมันเหมือนกับการประหารชีวิตพวกเขาโดยใช้วิธีอื่นนายโบจี เลขาธิการ AAPP กล่าว

นายโบจีกล่าวว่า จะสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป และจะออกแถลงการณ์ทันที หากรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอ โดยนายโบจียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากเป็นเรื่องจริง การกระทำของทหารพม่าถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า มีนักโทษพม่า 3 คน ได้หลบหนีเข้ามายัง อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันอังคาร (11 ม.ค.53) ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นที่ช่วยเหลือเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแล้ว โดยนักโทษทั้ง 3 คน เปิดเผยว่า ทั้งสามเป็นนักโทษจากกลุ่มนักโทษทั้งหมดจำนวน 30 คน ที่มาจากเรือนจำปาโค้กกู่ ภาคมะกวย และถูกส่งตัวมายังค่ายทหารพม่า พาลอ ตาโบ ในเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด

เราไม่มีเงินจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ดังนั้น เราจึงถูกส่งมาในพื้นที่สู้รบ เราต้องแบกสิ่งของ และอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงอาหารให้กับทหาร สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ทหารใช้นักโทษอยู่แนวหน้าและใช้นักโทษค้นหาทุ่นระเบิดที่ฝังไว้ มีนักโทษเป็นจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด หลังจากที่พวกเขาถูกบังคับให้เดินหน้านำหน้าทหาร เราไม่อยากให้สิ่งที่เลวร้ายนี้เกิดขึ้นกับเรา ดังนั้น เราจึงหนีออกมานายถ่อง เท อู นักโทษที่หลบหนีออกมาได้กล่าว

โม ยาซาร์ วัย 17 นักโทษอีกคนหนึ่งเปิดเผยเช่นกันว่า เขาและนักโทษจากเรือนจำปาโค้กกู่ถูกส่งตัวไปในพื้นที่สู้รบตั้ง แต่ปลายเดือนธันวาคม  นอกจากนี้ยังมีนักโทษจากเรือนจำในเมืองมิถิลา ทางภาคกลางของพม่า และนักโทษจากเมืองผาอันและเมืองกอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยงถูกส่งตัวไปในสนามรบด้วย

ผมและเพื่อนถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี หลังจากที่พวกเราไปทำร้ายร่างกายตำรวจที่ตบหน้าแม่ของผม แม้ความเป็นอยู่ในเรือนจำจะแย่มาก แต่ในพื้นที่สู้รบมันกลับยิ่งเลวร้ายมากกว่า ดังนั้นเราจึงตัดสินใจที่จะหนี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามโม ยาซาร์กล่าว

เขายังเปิดเผยว่า แม้แต่นักโทษสูงวัยก็จะถูกส่งไปในสนามรบ หากไม่มีเงินจำนวน 100,000 จั๊ต (3,800 บาท) จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำได้

แหล่งข่าวตรงชายแดนเปิดเผยว่า การสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและดีเคบีเอ กองพลที่ 5 ภายใต้การนำของนาคามวย หรือนายพล ซอ ลา พวย เมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ (9 -10 ม.ค.) ที่ผ่านมา ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการสู้รบกันเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ กองทัพพม่าพยายามที่จะกวาดล้างกลุ่มดีเคบีเอที่ไม่เห็นด้วยกับตน

Irrawaddy 12 ม.ค.53

 

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักข่าวฉาน : สิบสองปันนาสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไต และ ขุนส่า

Posted: 13 Jan 2011 02:58 AM PST

นักธุรกิจชาวจีนสิบสองปันนา ในจีน ควักเงินนับร้อยล้านบาทสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไตและขุนส่าในเมืองเชียงรุ้ง เผยชื่นชอบขุนส่าเป็นพิเศษ ....

 

 

 

ขุนส่า ในงานเลี้ยงฉลองทหารใหม่ กองทัพเมืองไต (MTA) ที่บก.หัวเมือง ตรงข้ามจ.แม่ฮ่องสอน (ภาพโดย SHAN)

 


มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในเมืองเชียงรุ้ง เขตสิบสองปันนาของจีน ได้มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไตสิบสองปันนาและเจ้าขุนส่า อดีตผู้นำกองทัพเมืองไต (MTA) ที่สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่าเมื่อต้นปี 2539 และเสียชีวิตเมื่อปี 2550 โดยสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อยู่ชานเมืองเชียงรุ้งด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 200 เอเคอร์ หรือราว 500 ไร่

 

แหล่งข่าวเผยว่า ผู้นำในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์นี้คือ นายโจวคุน วัย 35 ปี ชาวจีนสิบสองปันนา เจ้าของบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock Co.ltd นายโจวคุน เป็นผู้มีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไตรวมถึงเรื่องราวขุนส่ามากเป็นพิเศษ โดยเขากล่าวเชิดชูขุนส่าเสมอว่า เป็นวีรบุรุษผู้มีความกล้าหาญ และโจวคุน ยังชื่นชอบคำกล่าวของขุนส่าที่ว่า "ยาเสพติด คือ อาวุธนิวเคลียร์สำหรับการต่อสู้ของชาวรัฐฉาน" โดย นายโจวคุน ยอมควักเงินสำหรับใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์รวมหลายร้อยล้านบาท

 

สำหรับประวัติของเจ้าขุนส่า หรือ จางซีฟู เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2477 (ค.ศ. 1934) ที่บ้านผาผึ้ง อ.ดอยหม่อ อ.เมืองไหย๋ จ.ล่าเสี้ยว แคว้นแสนหวี (รัฐฉาน) เป็นบุตรของขุนอ้าย (ชาวจีน) กับนางแสงชุ่ม (ชาวไทใหญ่) ในปี 2503 ขุนส่าเป็นผู้นำกองกำลังอาสาสมัครก่าก่วยเยดอยหม่อ ชื่อของขุนส่าเริ่มเป็นที่โด่งดัง หลังเขานำกำลังทำการต่อต้านกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในปี 2510 ต่อมาในปี 2512 เขาถูกทางการพม่าจับกุมนาน 5 ปี และได้รับการปล่อยตัว หลังลูกน้องของเขาลักพาตัวแพทย์ชาวรัสเซีย 2 คน ในเมืองตองจีทำการต่อรองแลกเปลี่ยน หลังจากเขาถูกปล่อยตัวออกมาได้ตั้งกองกำลังสหฉาน (SUA – Shan United Army) มี บก.อยู่ที่บ้านหินแตก หรือ บ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

 

ในปี 2525 กองกำลังทหารไทยเข้าตีฐานที่มั่นของขุนส่า ที่บ้านหินแตก จนขุนส่าพร้อมกองกำลังต้องถอยร่นเข้าฝั่งรัฐฉาน ในปี 2528 ขุนส่าได้เข้าร่วมกองกำลังสหปฏิวัติไทใหญ่ SURA ของเจ้ากอนเจิง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพเมืองไตย MTA กระทั่งต้นปี 2539 ขุนส่าได้นำกองกำลัง MTA ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเข้มแข็งที่สุดในสมัยนั้น วางอาวุธให้กับรัฐบาลทหารพม่า จากนั้นขุนส่า พร้อมครอบครัวและลูกน้องคนสนิทได้ย้ายไปตั้งรกรากใหม่อยู่ในกรุงย่างกุ้ง ภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหารพม่า โดยขุนส่าได้เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 73 ปี 

 

มีรายด้วยว่า นายโจวคุน นักธุรกิจชาวจีนผู้ชื่นชอบขุนส่า ยังมีแผนจะก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขุนส่าอีกแห่ง ที่บ้านเทอดไทย (หินแตก) อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยจะทำการก่อสร้างในพื้นที่อดีตที่ตั้งบ้านพักของขุนส่า ซึ่งขณะนี้ได้ถูกจัดทำเป็นสถานที่ศึกษาประวัติขุนส่า

 

 

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์ : ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ ในขบวนการเสื้อแดง

Posted: 13 Jan 2011 02:47 AM PST

จุดเด่นของเราชาวเสื้อแดงคือ ขบวนการของเราเป็นขบวนการที่มีความหลากหลายทางความคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทราบดี และเราไม่ควรปฏิเสธ เรามีเสื้อแดงแบบ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งอาจมีทัศนะต่างกันภายในกลุ่ม เช่นอาจเป็นคนที่ชอบแนวทางของ อ.ธิดา หรือชอบแนวทางของคุณจตุพร ... มีเสื้อแดงรักทักษิณ มีเสื้อแดงไม่เอาทักษิณ มีเสื้อแดงวันอาทิตย์สีแดง มีเสื้อแดงรักเจ้า มีเสื้อแดงไม่เอาเจ้า มีเสื้อแดงสาย อ.สุรชัยที่เรียกตนเองว่า “สยามแดง” และพูดเอามันเพื่อสร้างภาพ มีเสื้อแดงสาย อ.เสริฐ-อ.ชูพงษ์-นปช.ยูเอสเอ ที่สร้างความสับสนและช่วยทหารโดยการเน้นด่าเจ้าเรื่องเดียว มีเสื้อแดง 24 มิถุนายน และมีเสื้อแดงสังคมนิยมอย่างผม ฯลฯ นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่มีกลุ่มเสื้อแดงของแต่ละชุมชนด้วย ซึ่งอาจมีมุมมองตามสายการเมืองหลากหลายที่พูดถึงไปแล้ว

เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อคัดค้านเผด็จการอำมาตย์มาถึงจุดนี้ และเรื่องประชาธิปไตยกับการคัดค้านอำมาตย์เป็นจุดร่วมที่เชื่อมพวกเราไว้เป็นหนึ่งเป็น “เสื้อแดง” และเราก็ควรพยายามรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้เสมอ แต่บัดนี้เราต้องพูดความจริงด้วย ต้องยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีจริง และเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดดังกล่าวอย่างเปิดเผย เพราะมันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย มันเป็นลักษณะแท้และธรรมดาของ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

บางคนอาจไม่สบายใจ และแน่นอนจะมีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะแตกกัน” เขาจะกลัวว่าถ้าเราถกเถียงกันเรื่องแนวการเมืองและทางออก เราจะอ่อนแอแตกแยก และอำมาตย์จะเอาชนะเรา แต่การยอมรับข้อแตกต่างทางแนวคิดที่มีอยู่จริง และการเปิดใจพร้อมที่จะถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางและสายความคิดอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ “การแตกกัน” หรือไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยกและอ่อนแอเลย มันอาจตรงกันข้ามคือ มันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่มาจากความชัดเจนทางความคิดต่างหาก มันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองและนำตนเองของชาวเสื้อแดง และมันจะนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย

การถกเถียงแนวทางระหว่างเสื้อแดงสายต่างๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกและความเป็นประชาธิปไตยของขบวนการ เพื่อไม่ให้ใครหรือกลุ่มไหนผูกขาดการนำในลักษณะเผด็จการโดยไม่ถูกตรวจสอบหรือโดยไม่ได้มาจากการลงมติคะแนนเสียง การเสนอแนวทางที่หลากหลายในที่สุดก็จะถูกทดสอบด้วยการเคลื่อนไหวลองผิดลองถูกในโลกจริง และแนวที่ดูเหมือนใช้ได้ก็จะกลายเป็นที่นิยมของคนเสื้อแดง

ถ้าการพัฒนาการถกเถียงนี้จะสำเร็จ ขบวนการเสื้อแดงต้องทำตัวแบบ “ผู้ใหญ่ที่โตแล้ว” เราต้องมั่นใจในวุฒิภาวะของเราที่จะสามารถถกเถียงเรื่องแนวทางการเมืองและแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด โดยไม่ทำให้เป็นเรื่องเกลียดชังกันแบบส่วนตัวที่ไร้สาระ เราต้องเถียงกันเรื่องหลักการด้วยปัญญา และเราต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะมีวินัยในการรักษาความสามัคคีท่ามกลางการต่อสู้ ไม่ว่าเราจะคิดต่างกันแค่ไหน เราเถียงกันในช่วงที่ไม่เคลื่อนไหวหรือในช่วงพักรบ แต่พอออกรบต้องสามัคคีเฉพาะหน้าเสมอ ต้องจับมือกัน เราทำได้

พูดง่ายๆ เราต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาความชัดเจนในแนวทาง ไม่ใช่มาโกหกกันว่าทุกคนมองเหมือนกัน และไม่ใช่มาห้ามการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยคำพูดว่า “คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เสื้อแดงแท้” เพราะการพูดแบบนั้นเป็นการพยายามบังคับใช้เผด็จการทางความคิดในขบวนการเสื้อแดง และเป็นการเซ็นเซอร์การถกเถียงเพื่อบังคับให้ทุกคนยอมรับการชี้นำของแกนนำหยิบมือเดียวโดยไม่มีสิทธิ์แย้งเลย ในขณะเดียวกัน เมื่อเสื้อแดงที่มีความเห็นต่างจากเราเคลื่อนไหวแล้วเผชิญหน้ากับศัตรูที่กำลังไล่ยิงไล่ฆ่า หรือเมื่อเขาถูกจับเข้าคุกหรือถูกปราม เราจะต้องสมานฉันท์ สนับสนุน และร่วมมือกับเขาโดยไม่เอาเงื่อนไขไร้สาระมาเป็นข้ออ้างในการหันหลังกัน เสื้อแดงบางกลุ่มที่โจมตีแกนนำสามเกลอขณะที่ทหารกำลังบุกเข้าไปเพื่อฆ่าเพื่อนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 53 อย่างเช่น อ.สุรชัย ต้องถือว่า “เล่นพรรคเล่นพวก” “ไม่มีวุฒิภาวะ” และ “ไม่มีวินัย” พอที่จะสร้างความสามัคคีท่ามกลางความคิดที่หลากหลาย เผลอๆ อาจเป็นคนที่หวังหักหลังขบวนการอีกด้วย

สาเหตุที่ผู้เขียนมองว่าเราต้องออกมาถกเถียงแนวทางกันตอนนี้ก็เพราะ

1. เรามีเวลาเพียงพอแล้วในการประเมินข้อดีข้อเสียของการเคลื่อนไหวที่ราชประสงค์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 53 และเรามีประสบการณ์ของการใช้ยุทธวิธี “แกนนอน” ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เราสามารถเสนอว่าการชุมนุมของมวลชนยังเป็นเรื่องชี้ขาดที่สำคัญ แต่เราอาจเถียงกันว่าจะชุมนุมและจัดตั้งอย่างไร และจะเพิ่มพลังต่อรองอย่างไร เช่นการขยายขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเพื่อการนัดหยุดงานน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ

2. นปช. แดงทั้งแผ่นดิน และพรรคเพื่อไทย กำลังพยายามช่วงชิงอิทธิพลในขบวนการเสื้อแดงจากการนำแบบ “แกนนอน” ที่แต่ละกลุ่มนำตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่เรื่อง “ผลประโยชน์ส่วนตัว” เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องความเชื่อในแนวทางของเขา และกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่มทุกสายก็ควรพยายามขยายอิทธิพลเช่นกันผ่านการถกเถียง แข่งขัน เพราะเราแข่งกันท่ามกลางความสามัคคีได้

3. ในปี 2554 คนเสื้อแดงจะต้องตอบโจทย์ยากๆ หลายเรื่องคือ เราจะมีท่าทีต่อการเลือกตั้งของอำมาตย์อย่างไร? อำมาตย์น่าจะหาทางโกงการเลือกตั้งทีละนิดทีละหน่อย เราไม่ควรตั้งความหวังทั้งหมดกับการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องร่วมในการเลือกตั้งด้วย พร้อมกับเคลื่อนไหวภายนอกกรอบรัฐสภา เราจะมีท่าทีอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทย? เราจะตั้งเงื่อนไขอะไรในการสนับสนุน? หรือจะยอมให้พรรคเพื่อไทยจูงเรา? เราจะตามทันการปรองดองจอมปลอมของอภิสิทธิ์ได้ไหมและเราจะมีท่าทีอย่างไร? และโจทน์สำคัญอีกอันคือ เสื้อแดงจะพัฒนาการต่อสู้ในปี ๒๕๕๔ เพื่อยกระดับจากปีที่แล้วอย่างไร?

 

ในขณะเดียวกันมันมีสองสิ่งที่เราต้องชัดเจนคือ

1. “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” แบบคนเสื้อแดง ไม่ใช่สิ่งเดียวกับพรรค มันมีความอิสระจากกัน และเสื้อแดงอาจมีมากกว่าหนึ่งพรรคได้ โดยที่พรรคเป็นองค์กรที่รวมคนที่มีสายความคิดเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวและในการให้การศึกษากับมวลชน รัฐสภาเป็นแค่เวทีหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่าในประวัติศาสตร์โลก ไม่มีกรณีที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะมีสภาพ “ถาวร” ได้เลย มันขึ้นลงภายในไม่กี่ปีเสมอ มันแยกและมันสลายได้ สิ่งที่จะให้ความถาวรเพิ่มขึ้นกับการต่อสู้คือพรรคหรือองค์กรจัดตั้งทางการเมือง ดังนั้นชาวเสื้อแดง “สังคมนิยม” จะต้องมีส่วนในการเพิ่มความถาวรในการต่อสู้ และต้องพยายามขยาย “พรรค” ของเราในขบวนการเสื้อแดงโดยการคลุกคลี ร่วมเคลื่อนไหว และถกเถียงแนวทางอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง

2. แนวทางการเมืองของเสื้อแดงแต่ละกลุ่ม จะมีอิทธิพลต่อวิธีทางในการต่อสู้เสมอ

เวลา อ.ธิดาบอกว่าคนเสื้อแดงยังไม่พัฒนาทางการเมืองเท่ากับแกนนำ หรือพูดว่า “คนที่ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราถือว่าไม่ใช่ นปช” และเวลาที่เขาพูดในเชิงดูถูก “ผู้หญิงกลางคืน” ที่เป็นเสื้อแดง (ดูคำสัมภาษณ์ในประชาไท 20 ธันวา 53) เขากำลังแสดงความอนุรักษ์นิยม ความเชื่อมั่นในการต่อสู้ในกรอบ และการนำแบบ “บนลงล่าง” แทนการนำตนเองจากล่างสู่บน แต่จุดยืนเขาไม่ได้เลวไปหมด เขาบอกว่าเขายังขีดเส้นที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้จุดยืนว่าต้องรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง ปฏิเสธการนิรโทษกรรม และเน้นมวลชนแทนการจับอาวุธ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่แนวทางการต่อสู้แบบ อ.ธิดา จะนำไปสู่การประนีประนอมกับอำมาตย์ในกรอบเก่า ประชาชนจะไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และจะไม่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูประบบยุติธรรม หรือการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนแนวทางของแกนนำกล้าหาญอย่างจตุพร อาจไม่พร้อมที่จะประนีประนอมเท่า อ.ธิดา ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เป้าหมายทางการเมืองระยะยาวไม่ชัดเจนพอ แต่อย่างน้อยจตุพรก็สามารถดึงมวลชนมาเคลื่อนไหวเป็นแสนได้ เราต้องเคารพตรงนั้น

ในกรณีพรรคเพื่อไทย เราต้องตั้งคำถามว่าพรรคนี้จะพัฒนานโยบายเพื่อครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ หรือจะอาศัยบุญเก่าของไทยรักไทย ถ้าหวังอาศัยบุญเก่าจะมีปัญหา เพราะเปิดช่องให้ประชาธิปัตย์ค่อยๆ ทำลายคะแนนเสียงของเพื่อไทยได้ นโยบายสำคัญที่เพื่อไทยควรเสนอ คือเรื่องรัฐสวัสดิการกับการปฏิรูประบบยุติธรรมและกองทัพแบบถอนรากถอนโคน คนไทยจำนวนมากต้องการสิ่งเหล่านี้ และประชาธิปัตย์ให้ไม่ได้แน่นอน

แนวทาง “แกนนอน” ของหนูหริ่ง ก้าวหน้ากว่า อ.ธิดา มาก เพราะเน้นการนำตนเองจากรากหญ้า และพิสูจน์ว่ามีผลจริงในการฟื้นขบวนการ นอกจากนี้แนวนี้มีเสรีภาพเต็มที่ในการแสดงออก ซึ่งส่งเสริมความสร้างสรรค์ ไม่มีการเซ็นเซอร์คนอื่น แต่จุดอ่อนคือ เสรีจนไม่ชัดเจนในแนวทางการเมืองระยะยาว และขาดการรวมศูนย์เท่าที่ควร เมื่อมวลชนวันอาทิตย์สีแดงเผชิญหน้ากับโจทย์ยากๆ อาจตัดสินใจไม่ทัน

เราต้องศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละแนวทางที่พึ่งกล่าวถึง และทุกครั้งที่เราศึกษา เราต้องเน้นรูปธรรม และโลกจริง

ภาระหน้าที่ของเราในวันข้างหน้า คือการพัฒนาความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงซีกที่ก้าวหน้าที่สุด คือซีกที่พร้อมจะนำตนเองอย่างอิสระและเกินเลยกรอบแคบๆ ของ ทักษิณ ธิดา หรือนักการเมืองส่วนใหญ่ของเพื่อไทย เรากำลังพูดถึงซีกที่อยากเห็นประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซีกที่อยากปฏิรูปกองทัพและระบบยุติธรรม ปลดนายพลและผู้พิพากษาแย่ๆ และซีกที่อยากสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย เสื้อแดงสังคมนิยม ต้องมีส่วนสำคัญในการรวบรวมเสื้อแดงก้าวหน้าเหล่านี้เป็นพรรค เราต้องสามารถเคลื่อนไหวร่วมกับเสื้อแดงสายอื่นๆ อย่างเป็นมิตร แต่พร้อมที่จะถกเถียงแนวทางและทฤษฏีที่จะใช้ในการวิเคราะห์กับการปฏิบัติเสมอ

 

 

12 มกราคม 2554

ฟังคลิปเสียง ประเมินสถานการณ์ปี 2553

http://www.mediafire.com/?qc88m73rlfdojkk#1

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดัน 10 ล้าน แปลวิกิฯ เป็นภาษาไทย มุ่งเป็นอันดับ 2 ภาษาท้องถิ่นออนไลน์

Posted: 12 Jan 2011 11:32 PM PST

13 ม.ค. 2554 - ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการลดช่องว่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน จึงประกาศนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตั้งเป้าการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรไม่ต่ำ กว่า 80% ในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ในปี 2563 รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เร่งรัดปฏิบัติตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ผ่านการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจใต้สังกัด อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราคาประหยัดสำหรับบ้านที่มีสายโทรศัพท์ ค่าบริการ 199 บาท/เดือน, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายเทคโนโลยีไวแมกซ์ ค่าบริการ 99 บาท/เดือน เป็นต้น

"การเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน เปิดพรมแดนใหม่ในการเรียนรู้ด้วยตนเองถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาการศึกษา ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต"

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ทีโอทีเริ่มเปิดทดลองบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2 Mbps ราคา 199 บาท/เดือน ในหลายจังหวัด

ล่าสุดให้ บมจ.กสท โทรคมนาคมสนับสนุนโครงการแปลบทความภาษาอังกฤษบนสารานุกรมออนไลน์ "วิกิพีเดีย" เป็นภาษาไทย ใช้งบประมาณ 10.7 ล้านบาท ใน 1 ปี เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งความรู้ของเยาวชน และให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุก ปี โดยในปี 2553 มี 24 ล้านคน จากปี 2551 มี 10.96 ล้านคน และปี 2552 มี 18.3 ล้านคน

การสำรวจของบริษัทวิจัยต่างประเทศพบว่าทั่วโลกมีหน้า เว็บไซต์กว่า 4 พันล้านหน้า แต่มีหน้าเว็บภาษาไทย 3 ล้านหน้าเท่านั้น กว่า 90% เป็นภาษาอังกฤษ กับการแปลวิกิพีเดียเป็นภาษาไทย กสทฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มบทความในหน้าเว็บภาษาไทยให้เป็น 100 ล้านหน้าใน 18-24 เดือน ที่แปลวิกิพีเดียเพราะมีผู้ใช้งานมาก แม้จะมีภาษาไทยอยู่บ้าง แต่แค่ 63,000 บทความ หรือ 1.8% เท่านั้น

ก่อนหน้านั้น กระทรวงไอซีทีในสมัยรัฐมนตรีสิทธิชัย โภไคยอุดม เคยจัดสรรงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทเพื่อแปลหนังสือมาแล้ว แต่ไม่ได้มีการสานต่อตนจึงได้เข้ามาดูแลโดยเปลี่ยนให้มาแปลสารานุกรมออนไลน์แทน เพราะมีผู้ใช้เยอะ และทำได้เร็วกว่าแปลหนังสือเป็นเล่ม เพราะต้องมีกระบวนการในการคัดเลือกหนังสือที่มีความเหมาะสม และติดต่อลิขสิทธิ์ เชื่อว่าจะดันบทความภาษาไทยให้มีมากเป็นอันดับ 2 ของภาษาท้องถิ่นบนโลกออนไลน์ได้รองจากภาษาเยอรมัน

หลังเปิดตัว โครงการในวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาจะมีการแปลบทความภาษาอังกฤษจากสารานุกรมวิกิพีเดีย 30 ล้านบทความ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Statistical Machine Translation ซึ่งเป็นผลงานนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักภาษาศาสตร์ชาวไทย ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการแปลสารานุกรมวิกิพีเดียจากภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นภาษาอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยเนื้อหาทั้งหมดของสารานุกรมออนไลน์จะอยู่บนเว็บไซต์ www.asiaonline.com

"เชื่อว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเอกชน หากมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มาก โดยไอซีทีจะประเมินผลทุกไตรมาส แม้จะใช้ระบบแปลบทความให้ แต่บนเว็บยังมีฟังก์ชั่นที่เปิดให้ผู้เข้าชมเข้ามาช่วยขัดเกลาภาษาหรือช่วย แปลได้ เว็บมีทุนการศึกษาให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องด้วย เชื่อว่าบทความที่แปลจะถูกต้องแม่นยำกว่า 95%"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์ : ปชช. 62.9% บอกนโยบายประชาวิวัฒน์ไม่มีผลต่อการเลือกลงคะแนน

Posted: 12 Jan 2011 11:08 PM PST

 

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และ     ปริมณฑลที่มีต่อนโยบายประชาวิวัฒน์ 9 ข้อของรัฐบาล โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนโดยรวมร้อยละ 58.9 ระบุว่าได้รับประโยชน์จากนโยบายประชาวิวัฒน์ ที่เหลือร้อยละ 41.1 ไม่ได้รับประโยชน์ และเมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 91.3 เห็นว่าผลประโยชน์ที่ได้รับตรงตามความต้องการ มีเพียงร้อยละ 8.7 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่ตรงตามความต้องการ

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายประชาวิวัฒน์มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.9 ระบุว่า “ไม่มีผล เพราะจะดูที่นโยบายตอนหาเสียง ดูที่ตัวบุคคลผู้สมัคร และจะเลือกจากผู้สมัครและพรรคที่ชอบเป็นหลัก” ขณะที่ร้อยละ 28.1 ระบุว่า “มีผล โดยจะเลือกลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลที่ออกนโยบาย” และร้อยละ 9.0 ระบุว่า “มีผล โดยจะไม่ลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลที่ออกนโยบาย” และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มอาชีพหาบเร่แผงลอย เป็นกลุ่มอาชีพที่ระบุว่าจะตัดสินใจลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ

ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 49.6 ไม่แน่ใจว่านโยบายประชาวิวัฒน์จะเป็นนโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้จริงหรือไม่ ขณะที่ร้อยละ 31.2 เชื่อว่าช่วยตอบโจทย์ในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้ และอีกร้อยละ 19.3 เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถานะทางการเงินในปัจจุบันของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย   และกลุ่มอาชีพแท็กซี่ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่มีฐานะการเงินที่ด้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่เหลือ โดยมีหนี้สินจำนวนร้อยละ 51.7, 48.3 และ 47.5 ตามลำดับ  ดังนั้น การที่รัฐบาลออกนโยบายประชาวิวัฒน์โดยให้ความสำคัญกับคน 3 อาชีพนี้เป็นพิเศษ จึงน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

 

 

 

 (โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังตารางต่อไปนี้)

 

1. แสดงร้อยละของผู้ที่ระบุว่าได้รับประโยชน์จากนโยบายประชาวิวัฒน์ 9 ข้อของรัฐบาล

 

นโยบาย/ มาตรการช่วยเหลือ

 

 

ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชาวิวัฒน์หรือไม่ (ร้อยละ)

 

 

ได้รับ

 

 

ไม่ได้รับ

 

1.เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าระบบประกันสังคม (เฉพาะกลุ่มอาชีพที่ไม่อยู่ในระบบ)

 

70.7

 

29.3

2.การเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มแท็กซี่ และผู้ค้าหาบเร่แผง

39.4

 

60.6

 

3.การช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง โดยการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการส่งเงินให้กลุ่มคนต่างๆ

43.2

 

56.8

 

4.การช่วยเหลืออาชีพผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยการขยายจุดผ่อนผัน

45.0

 

55.0

 

5.การยกเลิกการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ให้ใช้ราคาตลาด (แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนและขนส่ง จะตรึงราคาไว้เหมือนเดิม)

 

61.5

 

38.5

6.ค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือน (โดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยประชาชนที่ใช้ไฟน้อย)

 

58.5

 

41.5

7.ลดต้นทุนภาคเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อันจะช่วยให้ราคาหมู ไก่ และไข่ อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

64.3

 

35.7

8.การเสนอข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของสินค้าต่างๆ ผ่านสื่อต่อผู้บริโภค เพื่อการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของราคาต้นทุนเพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

 

76.3

 

23.7

9.การลดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ให้ได้ร้อยละ 20 ภายใน 6 เดือน

 

71.0

 

29.0

 

รวม

 

 

58.9

 

 

41.1

 

 

2. แสดงร้อยละของผู้ที่เห็นว่ามาตรการประชาวิวัฒน์ตรงกับความต้องการ (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าได้ประโยชน์)

 

 

นโยบาย/ มาตรการช่วยเหลือ

 

 

มาตรการตรงกับความต้องการของผู้ได้รับประโยชน์หรือไม่(ร้อยละ)

 

 

ตรง

 

 

ไม่ตรง

 

1.เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าระบบประกันสังคม (เฉพาะกลุ่มอาชีพที่ไม่อยู่ในระบบ)

 

92.1

 

7.9

2.การเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มแท็กซี่ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย 

 

85.9

 

14.1

3.การช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง โดยการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมายเพื่อแก้ปัญหาการส่งเงินให้กลุ่มคนต่างๆ

 

85.2

 

14.8

4.การช่วยเหลืออาชีพผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยการขยายจุดผ่อนผัน

 

83.2

 

16.8

5.การยกเลิกการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ให้ใช้ราคาตลาด (แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนและขนส่ง จะตรึงราคาไว้เหมือนเดิม)

 

93.1

 

6.9

6.ค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือน (โดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยประชาชนที่ใช้ไฟน้อย)

 

92.6

 

7.4

7.ลดต้นทุนภาคเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อันจะช่วยให้ราคาหมู ไก่ และไข่ อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

93.7

 

6.3

8.การเสนอข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของสินค้าต่างๆ ผ่านสื่อต่อผู้บริโภค เพื่อการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของราคาต้นทุนเพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

 

94.3

 

5.7

9.การลดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ให้ได้ร้อยละ 20 ภายใน 6 เดือน

 

94.0

 

6.0

 

รวม

 

 

91.3

 

 

8.7

 

 

3. ผลจากการได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลที่มีต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้

มีผล      โดยจะลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลที่ออกนโยบาย 

ร้อยละ 28.1

มีผล      โดยจะไม่ลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลที่ออกนโยบาย

ร้อยละ 9.0

 

ไม่มีผล   เพราะจะดูที่นโยบายตอนหาเสียง ดูที่ตัวบุคคล และจะเลือกจากผู้สมัครหรือพรรคที่ชอบ เป็นหลัก

 

 

ร้อยละ 62.9

 

 

4. ผลจากการได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลที่มีต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้(จำแนกตามกลุ่มอาชีพ)

 

 

กลุ่มอาชีพ

 

 

มีผล  โดย

 

 

ไม่มีผล เพราะ

 

 

จะลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาล

 

 

(ร้อยละ)

 

 

จะไม่ลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาล

 

 

(ร้อยละ)

 

 

จะดูที่นโยบายตอนหาเสียง ดูที่ตัวบุคคลผู้สมัคร และเลือกผู้สมัครและพรรคที่ชอบเป็นหลัก(ร้อยละ)

 

กลุ่มแท็กซี่

25.8

5.0

 

69.2

 

กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง

22.5

10.0

 

67.5

 

กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

42.6

9.8

 

47.6

 

ค้าขาย(ที่ไม่ใช่หาบเร่)/ธุรกิจส่วนตัว

22.6

9.7

 

67.7

 

รับจ้างทั่วไป

26.3

5.3

 

68.4

 

ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

19.7

8.2

 

72.1

 

พนักงานเอกชน

26.5

11.6

 

61.9

 

พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ

27.5

11.2

 

61.3

 

อื่นๆ(ว่างงาน นักศึกษา)

36.0

5.8

 

58.2

 

 

รวม

 

 

28.1

 

 

9.0

 

 

62.9

 

5. มาตรการทั้ง 9 ข้อ กับการตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

เห็นว่าตอบโจทย์

ร้อยละ 31.2

เห็นว่าไม่ตอบโจทย์

ร้อยละ 19.3

 

ไม่แน่ใจ

 

 

ร้อยละ 49.6

 

 

6.  สถานะทางการเงิน(สุทธิ) ณ ปัจจุบันของผู้ตอบแบบสอบถาม (จำแนกตามกลุ่มอาชีพ) 

 

 

กลุ่มอาชีพ

 

 

มีเงินออม

 

 

มีหนี้สิน

 

 

ไม่มีเงินออม

 

 

แต่ก็ไม่มีหนี้สิน

 

กลุ่มแท็กซี่

11.7

 

47.5

 

40.8

กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง

16.4

 

51.7

 

31.9

กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

17.5

 

48.3

 

34.2

ค้าขาย(ที่ไม่ใช่หาบเร่)/ธุรกิจส่วนตัว

29.5

 

37.5

 

33.0

รับจ้างทั่วไป

33.9

 

35.6

 

30.5

ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

38.6

 

40.4

 

21.1

พนักงานเอกชน

 

37.3

 

30.0

32.7

พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ

27.6

 

42.1

 

30.3

อื่นๆ เช่น ว่างงาน, นักศึกษา

42.9

9.5

 

47.6

 

 

รวม

 

 

27.8

 

 

38.1

 

 

34.1

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กก.วัฒนธรรมฯ สั่งแบนทีเซอร์ "เลิฟ จุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก"

Posted: 12 Jan 2011 10:48 PM PST

12 ม.ค. 2553 - แหล่งข่าวจากสำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยต่อ "มติชน" ว่า ขณะนี้สำนักภาพยนตร์ฯได้สั่งแบนทีเซอร์หรือภาพยนตร์ตัวอย่างของ "เลิฟ จุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก" ภาพยนตร์ของบริษัท M39 แล้ว เพราะมีการฉายให้เห็นภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของนักแสดงซึ่งเป็นวัยรุ่นทำท่าเหมือนจะจูบกันแบบปากชน ปาก โดยในทีเซอร์ซึ่งมีความยาวไม่มากนัก เน้นให้เห็นภาพนี้โดยตัวละครต่างๆ ถึง 4 ครั้ง และตัวละครเหล่านั้นล้วนสวมบทโดยนักแสดงวัยรุ่น บางตัวละครยังสวมชุดนักเรียนมัธยมต้นให้เห็นในเรื่องด้วยซ้ำ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า แม้ทีเซอร์ภาพยนตร์ไม่ต้องเข้ากระบวนการจัดเรตเหมือนตัวภาพยนตร์ฉบับเต็ม แต่ก่อนฉายต้องส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาอยู่ดี เพราะถือเป็นสื่อโฆษณาที่ต้องดูความเหมาะสม แต่ทีเซอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีการนำฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ที่ผ่านมา และเพิ่งส่งให้คณะกรรมการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือว่าผิดและหากมีผู้ร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็สามารถดำเนินคดีตาม กฎหมายได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 ระบุว่ามีโทษปรับคนฉายหรือโรงภาพยนตร์ 200,000-1,000,000 บาท

"ในทีเซอร์มีฉากจูบแบบปากชนปากของวัยรุ่นถึง 4 ฉากในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เด็กๆ อาจจะเลียนแบบได้" แหล่งข่าวกล่าว และว่า จากการตรวจสอบกับบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ก็ได้รับคำชี้แจงว่าก่อนหน้านี้เป็นช่วงหยุดยาวปีใหม่ จึงไม่สามารถส่งให้พิจารณาได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทีเซอร์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมมากมาย โดยบางคนลงความเห็นถึงขั้นว่า นี่อาจจะเป็นภาพยนตร์อีโรติคแบบเรื่อง "น้ำตาลแดง" แต่เป็นฉบับของวัยรุ่น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น