โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 2: เมื่อชุมชนในพื้นที่สงครามต้องดูแลสุขภาพเอง

Posted: 29 Jan 2011 01:26 PM PST

รายงานจากสัมมนา "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" ที่ ม.เชียงใหม่ ตอนจบ เผยเรื่องราว “Backpack” ขณะที่สงครามด้านตะวันออกของพม่าดำเนินมากว่า 60 ปี ชุมชนที่นั่นต้องวางแผนดูแลด้านสาธารณสุขกันเอง ด้านแพทย์แม่ฮ่องสอนเผยผู้ป่วยจากพม่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มภาระด้านการจัดการของโรงพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 1: แฉรัฐบาลพม่าเมินดูแลสาธารณสุข ทำสถิติโรคภัยพุ่ง, ประชาไท, 28 ม.ค. 53 http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32847

 


การสัมมนา "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

หน่วยงานสาธารณสุขชุมชน "Backpack Health Worker Team" ทำงานสาธารณสุขในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ ภาพนี้อยู่ในรายงานเรื่อง Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma หน้า 13 ซึ่งสมาคมการแพทย์แห่งพม่า และองค์กรด้านการแพทย์ในพื้นที่ชายแดนพม่า ร่วมกันวิจัยและได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2553 สำหรับเอกสารรายงานดังกล่าวฉบับ pdf สามารถดาวโหลดได้ที่นี่ [ภาษาไทย], [ภาษาอังกฤษ]

 

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสัมมนาหัวข้อ "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นพ.วิทย์ สุวรรณวนิชกิจ จากศูนย์เพื่อสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิน (Center for Public Health & Human Right, John Hopkins Bloomberg School of Public Health) นายซอ เน ทู จากสมาคมการแพทย์แห่งพม่า (Burma Medical Association) นางวาเมเซ ผู้ประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน Backpack Health Worker Team และ นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน โดยที่ประชาไทนำเสนอในส่วนการนำเสนอของ นพ.วิทย์ และนายซอ เน ทู ไปแล้วนั้น [อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่]

 

‘Backpack’ เมื่อชุมชนในพื้นที่สงครามต้องดูแลสุขภาพเอง

นางวาเมเซ ผู้ประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน Backpack Health Worker Team นำเสนอในหัวข้อ การตอบสนองขององค์กรชุมชนต่อวิกฤตทางสุขภาพในพม่า (Community based organization response to the health crisis in Burma) โดยกล่าวว่า ชุมชนในพม่าประสบปัญหาวิกฤตทางสุขภาพมา 60 กว่าปีแล้ว เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ ตั้งแต่ปี 2539 มีการย้ายถิ่นฐานกว่า 3,000 หมู่บ้าน ในภาคตะวันออกของพม่า ทำให้มีคนพลัดถิ่นกว่า 500,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ จึงต้องพึ่งพาองค์กรต่างๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน “Backpack Health Worker Team” หรือ “แบกแพ็ค” ซึ่งมีการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพมีการฝึกอบรม ฝึกคนในชุมชน เช่น ฝึกหมอตำแยพื้นบ้าน มีการฝึกอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในหมู่บ้าน มีเรื่องการให้สุขศึกษาแก่ผู้ที่อยู่ในชุมชน ร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องสารสนเทศด้านสุขภาพ พัฒนาระบบและนโยบายด้านสุขภาพ และรณรงค์ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ไปยังชุมชนด้านตะวันออกของพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และรัฐฉาน

โดย “แบกแพ็ค” มีการตั้งศูนย์เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทางภายในพื้นที่พม่า ในพื้นที่ซึ่งสถานการณ์สู้รบไม่รุนแรงด้วย นอกจากนี้ยังมีการตั้งหน่วย “แบกแพ็ค” เป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 3-5 คน ซึ่งกลุ่มย่อยนี้สามารถดูแลสุขภาพของประชากรได้ 2,000 คน ซึ่งแม้ว่าจะประสบปัญหาพวกเขาก็พยายามฝ่าฝันเพื่อดูแลคนที่อาศัยแถวนั้น

นางวามาเซ กล่าวต่อว่า ศูนย์เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งสถานการณ์คงที่ จะทำหน้าที่ดูแลควบคุมโรคติดต่ออย่างเช่นมาลาเรีย และเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์ ในกรณีการควบคุมโรคมาลาเรียก็เพื่อลดอัตราการตาย มีการค้นหาผู้ป่วยที่ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แจกมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด ในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ มีการให้ความรู้ จัดการอบรมให้อาสาสมัครในหมู่บ้านเพื่อลดอัตราการตายของมารดา และการให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครบถ้วน ในการฝึกอบรมจะใช้โปสเตอร์ที่เข้าใจได้ง่าย มีการดูแลการคลอดแบบหมอตำแยพื้นบ้าน จัดเครื่องมือทำคลอด ดูแลแม่หลังคลอด ส่งต่อรายที่มีปัญหาไปยังคลินิกที่เหมาะสม และมีการวางแผนครอบครัว

นอกจากนี้หน่วยงานสาธารณสุขชุมชน “Backpack Health Worker Team” ยังทำงานด้านระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ มีองค์กรต่างๆ ช่วยเหลือด้านการเก็บข้อมูล มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศไทยด้วย เพื่อขอคำแนะนำทางวิชาการ และจัดระบบลอจิสติก วัคซีน การตรวจพิเศษ การตรวจอัลตราซาวด์ การกำจัดของเสียทางการแพทย์ การส่งต่อกรณีฉุกเฉิน เฝ้าระวังโรคติดต่อ ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ฯลฯ ด้วย

นางวาเมเซ กล่าวด้วยว่า เพราะปัญหาจากการสู้รบ ทำให้การสิ่งของทางการแพทย์ต่างๆ ต้องส่งมาจากชายแดน นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สู้รบที่เพิ่มขึ้นด้านชายแดน ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากอพยพเข้ามาในพื้นที่ไทย และจำนวนมากต้องอพยพโยกย้ายอยู่ภายในพื้นที่ฝั่งพม่า ซึ่งเกรงว่าสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพของพม่าจะเลวร้ายลง แม้จะมีรัฐบาลใหม่แต่สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม

 

หมอแม่ฮ่องสอนเผยผู้ป่วยจากพม่าเพิ่มขึ้น มีผลต่อการจัดบริการในโรงพยาบาล

ด้าน นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยกล่าวว่า ตนทำงานมาแล้ว 19 ปี วันนี้ขอนำประสบการณ์ฝั่งเมืองไทยมาเล่าบ้าง

นพ.วรเชษฐ์ เล่าว่า พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ติดกับ รัฐคะยาห์ ของพม่า ในจังหวัดมีประชากรที่เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายราว 5 หมื่นคน ไม่ได้มีคนเข้าเดินออกเหมือน อ.แม่สอด ที่แม่ฮ่องสอนมีลักษณะจำเพาะ คือมีคนจากพม่าเข้ามาเป็นเวลานานพอสมควร รัฐบาลพยายามไปลงทะเบียนเพื่อประโยชน์หลายด้าน โดยสามารถจำแนกประชากรจากพม่าในแม่ฮ่องสอน ตามบัตรประจำตัว โดยในแม่ฮ่องสอนมีผู้ถือบัตรสี 39,308 คน แรงงานต่างด้าว 2,377 และผู้ลี้ภัย 50,251 คน ตัวเลขของผู้ลี้ภัยอาจจะลดลงบ้างเนื่องจากได้ไปประเทศที่ 3 คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวและเลข 13 หลัก 4,655 คน รวม 96,591 แต่ในจำนวนคน 4,655 อาจระบุตัวไม่ได้ชัด เพราะคนกลุ่มนี้อาจซ้ำกับคนลี้ภัยในค่าย หรือคนที่ถือบัตรสี

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึงผลกระทบด้านสาธารณสุขที่ได้รับ ในด้านบริการผู้ป่วย โดยอธิบายว่าใน จ.แม่ฮ่องสอน ของ รพ.ศรีสังวาลย์เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ผู้รับบริการมาจากพื้นที่ อ.เมืองเป็นส่วนใหญ่ น้อยมากที่จะมาจากต่างอำเภอ โดยโรงพยาบาลบุคลากรทางการแพทย์เพียงครึ่งหนึ่ง ตามจำนวนที่ควรจะมีหากยึดตามจำนวนประชากรไทยที่อยู่ในพื้นที่

มีคนไข้ที่ไม่ใช่คนไทย เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ร้อยละ 20 ประกอบด้วย คนต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 8 ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นผู้ป่วยนอกร้อยละ 7 ที่มีไม่มากเพราะในค่ายมีระบบจัดการ แรงงานต่างด้าวร้อยละ 3 นอกจากนี้มีผู้ป่วยในที่เป็นคนต่างด้าว โดยผู้ป่วยที่มาจากค่ายผู้อพยพจะเป็นกรณีเจ็บป่วยหนัก ซึ่งจะมีผลต่อการจัดการบริการของโรงพยาบาล

โดยจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริหารจัดการของโรงพยาบาลไม่สามารถวางแผนอะไรได้เลย เช่น เรื่องการระบุตัวบุคคล ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นคนต่างด้าว ถ้าเป็นชายจะไม่มีนามสกุลมีแต่ชื่อ บางคนจะเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ โดย นพ.วงเชษฐ์ ยกตัวอย่างที่ประสบว่า ใน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีประชากรใน อ.เมือง 50,000 คน แต่เฉพาะโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ มีบัตรผู้ป่วยนอกประมาณ 300,000 ใบ คือมากกว่าประชากร 6 เท่า แสดงว่ามีการบันทึกซ้ำไปซ้ำมา และเวลาผู้ป่วยถือบัตรผู้ป่วยนอกมาจะมีปัญหาว่าหาฐานข้อมูลผู้ป่วยไม่เจอ ถือเป็นภาระงานแฝงในโรงพยาบาล

แน่นอนว่าภาระงานในการเข้ามา มีหลายครั้งที่เกิดปัญหาเรื่องความพึงพอใจจากคนในพื้นที่ซึ่งคิดว่ามาแย่งทรัพยากร ก็ได้ชี้แจงว่า "เราไม่สามารถไปจัดคิวว่านี่คนไทยนี่ไม่ใช่คนไทยได้" ทั้งนี้เพราะการวางแผนงานของโรงพยาบาลเป็นการวางแผนตามข้อมูลจำนวนประชากรไทย ดังนั้นพอมีคนจากพม่าเพิ่มเข้ามาจึงทำให้การจัดการยุ่งยาก

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่คิดว่าสำคัญ คือ เจอผู้ป่วยจากพม่าถูกทอดทิ้งทุกปี เช่น เมื่อเขารักษาแบบผู้ป่วยใน เมื่อรักษาจนหายแล้ว ก็กลับบ้านไม่ได้ โดยมีหลายรายที่เมื่อรักษาจนจากหายแล้วมีความพิการเกิดขึ้นและถูกทิ้ง ปีหนึ่งๆ จะมีคนถูกทอดทิ้งประมาณ 2-3 รายทุกปี โรงพยาบาลจึงเหมือนสถานสงเคราะห์ รายล่าสุดที่พบเป็นผู้ป่วยต้องรออยู่โรงพยาบาลกว่าปีครึ่ง กว่าจะหาองค์กรมารองรับได้

 

เผยบางกรณีติดตามคนไข้มารักษาต่อเนื่องไม่พบ ทำให้การรักษาระยะยาวยังทำได้ยาก

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า คนจากพม่ากลุ่มนี้ยังไม่มีความคุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาล กรณีที่ป่วยด้วยโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง หรือการรักษาระยะยาว ยังทำได้ลำบาก เพราะที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งมีปัญหาเช่นจะตามว่าคนไข้หายไปไหน เช่น ป่วยด้วยวัณโรค หรือเอชไอวี ถ้าผู้ป่วยเริ่มรักษาด้วยยาแล้ว ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ต้องมารับยา หมอกลับตามหาไม่เจอ เป็นต้น สอง เรื่องการส่งต่อในทางการแพทย์ บางโรคเรารู้ว่ารักษาได้ รับยาแล้วผลลัพธ์ต้องดี แต่ประสบปัญหาโรงพยาบาลปลายทางไม่อยากรับ กลายเป็นเรื่องขัดแย้ง เพราะการส่งต่อผู้ป่วยทำได้ค่อนข้างยาก และปัญหาเช่นนี้เจอทุกสัปดาห์ ทั้งกรณีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ หรือโรคอื่น อย่างบางกรณีแค่ผ่าเลือดออกจากสมองของผู้ป่วยก็รักษาได้แล้ว แต่เราหาที่ส่งตัวไม่ได้

นพ.วรเชษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ในแต่ละปีโรงพยาลประสบปัญหาหนี้ค้างชำระกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนต่างด้าว กรณีไม่รวมผู้ป่วยที่เป็นผู้อพยพในค่าย เพราะกรณีนี้จะมีองค์กรบรรเทาทุกข์สนับสนุนค่ารักษาอยู่แล้ว แต่ปัญหาหนี้ค้างชำระเกิดขึ้นกับชาวพม่าที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ โดยแต่ละปีโรงพยาบาลประสบหนี้ค้างชำระราว 10 ล้านบาทต่อปี โดยหนี้ที่เกิดขึ้นนี้คิดเฉพาะค่ายาและค่าวัสดุ แต่ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทางอ้อมเข้าไปตัวเลขจะมากกว่านี้หลายเท่า เพราะถ้ามีคนไข้ในมากขึ้นร้อยละ 15 ค่าจ้างพยาบาลก็ต้องเพิ่มขึ้น ค่าน้ำค่าไฟก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขจำนวนนี้ไม่สามารถคำนวณออกมาได้

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึง อาการเจ็บป่วยที่ชาวพม่าเข้ามารับการรักษาในโรงพยาลว่า โรคในค่ายผู้อพยพ ที่ผู้อพยพมักรับการรักษากับหน่วยงานพยาบาลภายในค่าย ได้แก่ มาลาเรีย อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ มาลาเรีย แต่สำหรับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ผู้ป่วยที่เป็นชาวพม่ามักจะเข้ามาทำคลอด โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยชาวพม่าเข้ามาทำคลอดประมาณ 300 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนคนไข้ที่มาทำคลอดกับโรงพยาบาลตกปีละราว 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าซึ่งเจ็บป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึงผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียราว 400 รายต่อปี ในปี 2553 มีผู้ป่วยมาลาเรีย 375 ราย เป็นคนต่างด้าว 161 ราย คนไทย 214 ราย หากดูการกระจายตัวของโรคมาลาเรียตามแผนที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยยึดทางหลวงที่พาดจากทิศใต้ถึงทิศเหนือของ จ.แม่ฮ่องสอน แบ่งพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนออกเป็นฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะพบว่าการระบาดของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นเฉพาะด้านตะวันตกของถนนเท่านั้น ยกเว้นจะมีการระบาดเป็นครั้งๆ คือเกิดในเมืองเลย โดยมีตัวอย่างมาแล้ว คือมีผู้ป่วยมาลาเรียเป็นคนงานจากพม่าทำงานในร้านอาหาร พอกลับมาทำงานที่ร้านแล้วป่วย ก็ไปแพร่เชื้อในร้าน ทำให้เจ้าของร้าน ลูกจ้างเป็นมาลาเรียกันทั้งร้าน และมีเพื่อนบ้านข้างเคียงที่ป่วยด้วย

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึง ปัญหาการรักษาผู้ป่วยจากพม่าซึ่งป่วยเป็นวัณโรคและเอชไอวีว่า ในกรณีดังกล่าว ปัญหาที่พบกับผู้ป่วยทั้งวัณโรค และเอชไอวี คือ ไม่สามารถติดตามคนไข้กลับมารักษาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งการไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง ผู้ป่วยบางรายย้ายไปหลายพื้นที่และติดตามกลับมารักษาไมได้ ย้ายกลับไปฝั่งพม่าก็มี มีคนไข้รายหนึ่งที่ตนเพิ่งตรวจพบว่าหายจากการรักษาต่อเนื่องไปสามเดือน พอกลับมาอีกทีเชื้อดื้อยาหมดเลย และสวัสดิการยาที่สามารถจ่ายได้ ก็ไม่ครอบคลุมกับยาชนิดที่ใช้รักษาเชื้อที่ดื้อยา

ในช่วงท้าย นพ.วรเชษฐ์ตอบคำถามจากผู้ร่วมประชุม ในเรื่องของหนี้ค้างชำระของโรงพยาบาล โดย นพ.วรเชษฐ์ กล่าวว่า มีผู้มีจิตช่วยเหลือช่วยค่ารักษาบ้าง บางหน่วยงานก็ช่วยเหลือพอสมควรอย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้โรงพยาบาลก็พยายามใช้งบประมาณอย่างประหยัดด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์แนะมูบารัค"ผู้นำต้องอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม"

Posted: 29 Jan 2011 04:16 AM PST

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่ดาวอส แนะผู้นำอียิปต์เคารพความต้องการประชาชน เคารพต่อหน้าที่ของตน ประชาชนชุมนุมเป็นการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องมีความอดทนอดกลั้น ตราบใดที่การชุมนุมไม่รุนแรง รัฐบาลต้องรับผิดชอบและควบคุมการใช้อาวุธอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีไทยต้องสลายเพราะผู้ชุมนุมใช้เอ็ม 79 - บุก รพ. จำเป็นต้องคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรีออกเดินทางจากนครซูริก-ดาวอส เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 41 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 28-31 มกราคม 2554 โดยนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นแขกพิเศษในการอภิปราย Governors Session หัวข้อ "Thailand and the Global Automotive Industry" ณ โรงแรม Derby เมืองดาวอส วันศุกร์ ที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ และคำบรรยายภาพ: เว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย)

คลิปอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น (ที่มา: thethaireport, youtube.com)

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. น.ส.ไบรโอนี่ โจนส์ ผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานบทสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านเศรษฐกิจ ‘เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม’ ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นของนายอภิสิทธิ์ เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ ซึ่งผู้ชุมนุมชาวอียิปต์นับหมื่นคนรวมตัวกันในกรุงไคโร เมืองอเล็กซานเดรียและสุเอซ เพื่อร่วมขับไล่นายฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีอียิปต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี และผู้ชุมนุมไม่พอใจอย่างหนักที่รัฐบาลมูบารัคไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตและค่าครองชีพสูงที่เกิดขึ้นในสังคมได้

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ระบุว่าผู้นำต้องเคารพในหลักการปกครอง และจะต้องเคารพความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพต่อหน้าที่ของตนด้วย และการที่ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง ถือเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้นำประเทศต้องมีความอดทันอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม และตราบใดที่การชุมนุมไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลต้องรับผิดชอบและควบคุมการใช้อาวุธอย่างเคร่งครัด

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงเหตุการณ์ที่กองทัพนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในเดือน เม.ย.และ พ.ค.ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ระบุว่ามีการก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ได้แก่ การยิงระเบิดเอ็ม 79 การบุกรุกเข้าไปในโรงพยาบาล และเหตุการณ์อื่นๆ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

นายอภิสิทธิ์ระบุด้วยว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความอดทนอดกลั้น และดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นเหตุผลให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมบนท้องถนน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานเพิ่มเติมว่าขณะที่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงยกระดับไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉินฯ) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งออกคำสั่งให้กองทัพนำกำลังทหารติดอาวุธเข้าสลายผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

 

ที่มา: แปลจาก Thai PM: Leaders must exercise restraint against protesters, By Bryony Jones, CNN, January 28, 2011 -- Updated 2056 GMT (0456 HKT)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูบารัคปลดคณะรัฐมนตรีแล้ว ประชาชนยังออกมาชุมนุมไล่ ปธน.

Posted: 29 Jan 2011 01:51 AM PST

ปธน.อียิปต์แถลงช่วงเช้ามืดวันเสาร์ประกาศปลด ครม. พร้อมตั้งรองประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ครองอำนาจมา 30 ปี ลั่นเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ขณะที่มีผู้ชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แล้ว นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเผาทำลายรถถังที่ออกมาประจำการด้วย  ด้านผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานยันพบศพผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุมคืนเดียวร่วม 38 ราย

ที่มา: Demanding change in Egypt, AlJazeeraEnglish, January 28, 2011

 

ที่มา: Keeping Al Jazeera on air in Egypt , AlJazeeraEnglish, January 29, 2011

 

(29 ม.ค. 54) ประธานาธิบดีอียิปต์ได้ลงนามปลดคณะมนตรีของเขาแล้ว และระบุว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ในวันเสาร์นี้

ข้าพเจ้าได้ขอให้รัฐบาลลาออกแล้ว และในวันพรุ่งนี้จะมีรัฐบาลใหม่” ฮอสนี มูบารัค แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์ (29 ม.ค.) หลังเกิดเหตุชุมนุมประท้วงมาแล้ว 4 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ประธานาธิบดีอียิปต์กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยภาวะยุ่งเหยิงแต่เกิดขึ้นได้โดยการเจรจา

เขากล่าวด้วยว่า เขาเข้าใจดีว่าประชาชนแห่งอียิปต์ต้องการให้เขาจัดการปัญหาความยากจน การจ้างงาน และปฏิรูปประชาธิปไตย เขาสัญญาด้วยว่าจะเร่งดำเนินการปฏิรูปด้านปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

พวกเราจะไม่ปฏิรูปแบบถดถอย แต่เราจะดำเนินก้าวต่อไปในการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของระบบศาลยุติธรรม และองค์ที่เกี่ยวข้อง และเสรีภาพของพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น” ประธานาธิบดีมูบารัคกล่าว

เขาระบุถึงมาตรการก้าวต่อไปว่าจะมีการลดจำนวนการว่างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับการบริการสาธารณะ และอยู่ข้างคนยากจน

ทั้งนี้ นับเป็นปฏิกิริยาตอบสนองหลังจากที่เกิดการปราบผู้ชุมนุมในเมืองหลวงไคโรและเมืองอื่นๆ โดยมูบารัคแนะนำให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ และกล่าวด้วยว่าเพราะการปฏิรูปซึ่งดำเนินการมาหลายปีนี้ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาชุมนุมได้

นางโมนา เอล ทาฮาวี (Mona El Tahawy) คอลัมน์นิสต์ชาวอียิปต์และนักเขียน ซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาแสดงความเพิกเฉยต่อความเห็นของประธานาธิบดีมูบารัค

ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในอียิปต์, นี่เป็นสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมการประท้วงจึงเกิดขึ้น” เธอกล่าว

ถ้ามีเสรีภาพทางการเมือง เราคงไม่ได้เห็นฝ่ายค้านกว่า 12,000 – 14,000 รายอยู่ในเรือนจำของมูบารัค”

ที่เขากล่าวเมื่อคืนนี้ เหมือนคนที่ไม่ได้มาสัมผัสประชาชน เขาบอกประชาชนว่า ‘ผมกำลังเตรียมการให้มีการปฏิรูปและผมห่วงใยประชาชน’ นี่เป็นเรื่องไร้ความหมาย เขาอยู่ในอำนาจมากว่า 30 ปี เขารู้ว่าประชาชนประสบความยากจนอย่างไร”

คำกล่าวของมูบารัคเมื่อเช้าวันเสาร์นี้ ความพยายามที่จะรักษาอำนาจมากกว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เผชิญอยู่กับชาวอียิปต์จำนวนมากอย่างเรื่องการว่างงาน และการขึ้นราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ไอมาน โมยีดิน (Ayman Mohyeldin) ซึ่งรายงานจากไคโรกล่าวว่า ชาวอียิปต์หลายคนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนคณะรัฐบาลไม่เพียงพอ “ท้ายที่สุดอำนาจก็ยังคงอยู่กับประธานาธิบดี” เขากล่าว

เขาให้ความเห็นว่า “ตามกฎหมาย คุณมีรัฐสภาที่เป็นอิสระ มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ แต่คนอียิปต์ทุกคนจะบอกคุณว่าเมื่อไตร่ตรองดูทุกสิ่งแล้ว อำนาจยังถูกรวบอยู่ในมือของประธานาธิบดี”

มีสถาบันทางการเมืองจำนวนน้อยมากที่ท้าทายต่ออำนาจของประธานาธิบดี การปลดคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะไม่ทำให้ประชาชนหายคับข้องใจ”

กว่า 30 ปีมานี้ ประธานาธิบดีปลดคณะรัฐมนตรีมาหลายครั้งแล้ว และการปลดคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง และบางคนในคณะรัฐบาลก็รับใช้มูบารัคมหลายสิบปี อย่างรัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีกลาโหม”

มูบารัคได้เรียกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลว่า “เป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ที่ต้องการสั่นสะเทือนเสถียรภาพและทำลายความชอบธรรม” ของระบบการเมือง

มูบารัคยังแสดงความปกป้องเจ้าหน้าที่รักษาความสงบที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ประท้วง โดยกล่าวว่าเขาได้แนะนำหน่วยรักษาความสงบว่า อนุญาตให้ผู้ชุมนุมแสดงความคิดเห็นของเขาออกมา อย่างไรก็ตามมูบารัคกล่าวด้วยว่า การกระทำซึ่งแสดงออกถึงความรุนแรงและการทำลายทรัพย์สินของรัฐบาล ทำให้หน่วยรักษาความสงบไม่มีทางเลือก ที่จะต้องตอบโต้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

แม้ภายหลังมูบารัคจะออกมาแถลงดังกล่าว แต่ผู้ชุมนุมยังคงฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว และออกมาตะโกนคำขวัญ “โค่นมูบารัค” ทั่วไปทั้งในเมืองไคโร และเมืองอื่น

เราไม่สนใจที่คณะรัฐบาลลาออก เราต้องการให้เขา (ประธานาธิบดีมูบารัค) ลาออก” คาเล็ด ผู้ประท้วงอายุ 22 ปี ที่เมืองท่าอเล็กซานเดรียกล่าว

ขณะที่ล่าสุดจากเหตุสลายการชุมนุมที่เมืองท่าอเล็กซานเดรียเมื่อคืนนี้ ล่าสุดวันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ายืนยันเมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) แล้วว่าพบศพผู้เสียชีวิต 23 คนที่เมืองอเล็กซานเดรีย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 15 คนที่เมืองสุเอซ

นอกจากนี้มีรายงานว่าแม้บางพื้นที่ผู้ชุมนุมจะโห่ต้อนรับรถถังของรัฐบาลที่ออกมาประจำการ แต่ในบางพื้นที่ผู้ประท้วงทำการเผาทำลายรถถังของฝ่ายรัฐบาลด้วย

ล่าสุด ช่วงบ่ายของวันที่ 29 ม.ค. ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้ประกาศแต่งตั้งนายโอมาร์ สุไลมาน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีคนแรกของเขา นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษ ขณะเดียวกัน ยังได้แต่งตั้งนายอาห์หมัด ชาฟิค ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตามตลอดคืนวันเสาร์ยังคงมีผู้ประท้วงตามท้องถนนในไคโรและหลายเมืองใหญ่

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Mubarak dismisses government, Aljazeera, Last Modified: 29 Jan 2011 04:20 GMT http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/01/2011128222033802146.html

Protesters back on Egypt streets, Last Modified: 29 Jan 2011 09:02 GMT http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/01/201112974149942894.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพข่าว:กลุ่มเสรีปัญญาชนกับนิทรรศการ"อนาคตนักศึกษาไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง"

Posted: 29 Jan 2011 01:44 AM PST

28 มกราคม 2554 ณ บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า กรุงเทพฯ กลุ่มเสรีปัญญาชน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ก่อตั้งและทำกิจกรรมเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนากึ่งวิชาการกลางแจ้งในหัวข้อ "อนาคตนักศึกษาไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" โดยมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 400 คน

บรรยากาศภายในงานนอกจากมีเต็นท์แสดงภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับบทบาทนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้วในช่วง17.00น.ยังมีเวทีอภิปรายกลางแจ้งโดยมีตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ สนนท.และนักวิชาการจากหลายสถาบันขึ้นกล่าวปราศรัย เนื้อหาที่มีการอภิปรายส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

 

ในช่วงเวลาเดียวกันได้มีเจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจปราบจราจลเข้ามาประจำรอบบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 นาย โดยชุดเจ้าหน้าที่เทศกิจได้พยายามเข้ามากดดันให้กลุ่มนักศึกษายุติการจัด เวทีปราศรัย โดยที่แกนนำนักศึกษาได้โต้แย้งว่าทางกลุ่มของตนได้ทำการขอใช้สถานที่จากหัวหน้ากองงานสถานที่ สำนักปลัด กทม.อย่างถูกระเบียบและถูกฏหมาย โดยในระหว่างนั้น มวลชนได้เข้าเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่และสนับสนุนให้มีการจัดเวทีปราศรัยต่อ ไปในเหตุการณ์ดังกล่าว หัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจลยังได้ถือสายเคเบิลไทร์ ซึ่งเป็นสายที่เคยใช้ในการมัดผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์มาถือไว้ในมือด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจถือสายเคเบิลไทร์ แบบเดียวกับที่ใช้ช่วงสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อ พ.ค. ปีก่อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:บทกวีถึง "กองทัพประชาชน"

Posted: 29 Jan 2011 12:45 AM PST

              ไฟการเมือง สุมเมือง ระเคืองป่า

         สัตว์ตระหนก วกหา  ฤาษีเหลือง

         กองทัพป่า จึงจากป่า มาสู่เมือง

         จ่อปืนเปลื้อง ประชา ธิปไตย

 

              โค่นอำนาจ แน่หมาย ได้อำนาจ

         เข็ญอำมาตย์  ขี้เหม็น ขึ้นเป็นใหญ่

         ฆ่าคนเพื่อ เพียงคน คนเดียวไป

         กอบโกยสัก เท่าไหร่ ไม่เคยพอ

 

              นิติรัฐ ถูกมัดมือ บนขื่อแขวน

         นิติกร เปลี่ยนแกน  มาร่วมก่อ

         ร่างรัฐธรรมนูญ  เพื่อเหล่ากอ

         เร่งวันรอ รัฐประหาร บนพานทอง

 

             หรือกองทัพ ถูกทับ ด้วยกับดัก

          จึงหารหัก ประชาชน คนทั้งผอง

          นั่นภาษี ที่เซ่น อยู่เป็นกอง

          ที่อิ่มท้อง ทนโท่ โถเงินใคร

 

              หรือกองทัพ มาป่วย ด้วยโรคร้าย

          เหื่อนกระหาย  สงคราม ถาม-สงสัย

          หรือสำคัญ ความคิิด ผิดเพี้ยนไป

         ว่าผู้ใด  เป็นเจ้าของ ให้ตรองดู

 

              ประวัติศาสตร์ อาจสิ้น เมื่อดินกลบ

          เพียงซากศพ ทบธง    ตรง "นักสู้"

          ประวัติศาสตร์ ก็เพียรสอน ให้รับรู้

          ว่าเตะหมู  เข้าปากหมา อย่างน่าอาย 

 

              เขาหลอกใช้ ให้เชื่อง ด้วยเรื่องเกียรติ

          เสี้ยมให้เหยียด หยามราษฎร์  ไม่ขาดสาย

          พอเสร็จศึก ซมซาน ก็พาลตาย

          เฉกวัวควาย  สิ้นหน้านา ก็ฆ่าแกง

 

              ขอสาธก ยกภาพ ให้ทราบสิ้น

          กี่แผ่นดิน  กี่ผลัด ที่ขัดแข่ง

          ใครเล่าผู้  เพลิดเพลิน เดินพรมแดง

          ใครเล่าแฝง ร่างฝัง  ยังธรณี

 

               เมื่อบ้าใบ้  ไม่ยิ้ม  อยากลิ้มเลือด

          บัญชาเชือด เดือดแดง เป็นดงผี

          กองทัพเถื่อน เกลื่อนทุ่ง กฎมภี

          เราจึงมี ตาสว่าง  อย่างเต็มตา

 

               เถิดทหาร ของประชา ทำหน้าที่

           กู้ศักดิ์ศรี  รั้วของชาติ ที่ปรารถนา

            หากยังฝืน ยืนผิดข้าง อย่างเป็นมา

            ก็ถึงครา  ถึงสงคราม ประชาชน !

 

                  : เขียนที่มุกดาหาร ท่ามกลางกระแสข่าว "ปฏิวัติ" หนาหู

                     อานนท์   นำภา 28 มกรา 54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น