โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสียงจากนักโทษคดีหมิ่นฯ: ประวัติชีวิตบนเส้นทางสายแดง “ผิดด้วยหรือที่เลือกยืนฝั่งนี้” (1)

Posted: 14 Jan 2011 09:24 AM PST

 
ชื่อบทความเดิม: จากชนชั้นกลางคนหนึ่งสู่เส้นทางไซเบอร์เสื้อแดง ผมเลือกทางนี้เอง ผิดด้วยหรือที่ผมเลือกยืนฝั่งนี้

  

 
จดหมายของนักโทษ ม.112 คดีหมิ่นเบื้องสูง “ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล” Single-Dad ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ เขาเขียนบันทึกชิ้นนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ด้วยความตั้งใจจะเปิดเผยตัวตนและความคิดทางการเมืองของเขาแก่คนร่วมชนชั้น ในฐานะ “มนุษย์ธรรมดา” คนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้วที่เขาถูกจองจำอยู่ในแดน 8 เรือจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนจะมีการสืบพยานในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

 
1.พื้นเพ..ของผม
 
ย้อนหลังกลับไปก่อนปี 2552 ผมเองใช้ชีวิตอยู่กับลูกตามลำพังตามประสาพ่อลูก ภายหลังจากเกิดมรสุมชีวิตที่แม่ของลูกได้ตัดสินใจทิ้งผมและลูกชายไปมีครอบครัวใหม่ตอนลูกชายผมอายุ 4 ขวบ เมื่อปี 2546 หลังจากนั้นผมกับลูก (น้องเว็บ) ก็อยู่ด้วยกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนนั้นโดยไม่คิดจะนำลูกชายไปฝากให้คนอื่นเลี้ยง แต่ผมเลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยตัวของผมเองในบ้านหลังเล็กๆ ในอ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี
 
ด้วยความรู้ที่ผมมีทางด้านการเขียนโปรแกรมเว็บไซต์ รวมถึงการพัฒนาเว็บ จึงทำให้ผมตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาเพื่อรับงานโดยตรงทางด้านพัฒนาเว็บไซต์ โดยเปิดที่บ้านที่ผมอยู่นั่นเอง ทั้งนี้ เพื่อที่ว่าผมจะสามารถเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยของผมได้อย่างใกล้ชิด ทางเลือกนี้จึงเป็นทางที่เหมาะสมที่สุดทั้งตัวผมเองและลูกชาย
 
ผมเองไม่ค่อยมีสังคมสักเท่าไร เรียกได้ว่าไม่มีสังคมเลยก็ได้ อาจเป็นเพราะบ้านที่ผมอยู่มันห่างไกลความเจริญ รอบๆ หมู่บ้านรายล้อมไปด้วยทุ่งนา บรรยากาศสงบเงียบแม้จะเป็นหมู่บ้านใหญ่แต่ผู้คนก็ใช้อาศัยหลับนอนเท่านั้น ไม่ค่อยออกมาสุงสิงกันเท่าไหร่ ดังนั้น เวลาของผมเกือบทั้งหมดจึงหมดไปกับการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ดูหนังกับลูก และทำกิจกรรมกับลูก
 
ผมเป็นคนที่เกิดมาในครอบครัวใหญ่มีพี่น้อง 4 คนรวมผม เป็นชายล้วน ทุกคนล้วนทำงานเป็นหลักแหล่งและมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในขั้นดีมากยกเว้นผมที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แล้วยังประสบปัญหาชีวิตจึงทำให้ผมไม่ค่อยเข้าถึงครอบครัวใหญ่สักเท่าไร อาจเป็นเพราะผมต้องการที่จะยืนหยัดฟันฝ่าชีวิตแต่เพียงลำพังก็ได้ จุดนี้เองเลยทำให้หลายครั้งผมถูกมองว่าเป็นคน “ดื้อ” ที่จะทำตามใจตัวเอง และเลือกในสิ่งที่ผมชอบหรือสบายใจ ผมจึงเป็นคนที่มีอิสระเต็มที่ในความคิด เพราะได้คิดและทำในสิ่งที่ใจตัวเองต้องการ แม้แต่ในช่วงที่ประสบปัญหาครอบครัว ผมยังเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ทำให้ลูกต้องตกเป็นภาระของใคร
 
 
2. รักประชาธิปไตย ... แต่ไม่ไปเลือกตั้ง
 
สำหรับทางด้านการเมือง ผมเองถือว่าเป็นพวกที่ปากบอกว่ารักประชาธิปไตย แต่ไม่เคยไปเลือกตั้งคนหนึ่ง คล้ายๆ คนชั้นกลางทั่วไปเหมือนกันที่มีความคิดเห็นดุดันทางการเมือง กล้าตะโกนด่ารัฐบาล รัฐมนตรีที่โกงกินอย่างไม่อายใคร แต่พอถึงเวลาเลือกตั้งใช้สิทธิ ผมกลับไม่คิดจะไปเพราะกลัว “เสียเวลา”
 
จำได้ว่าครั้งแรกที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวของผมคือการตั้งใจเดินทางกลับบ้านที่ปทุมธานี เพื่อไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครของ “ไทยรักไทย” ที่นามสกุล “หาญสวัสดิ์” ที่เป็นคู่แข่งของ “นักร้องชื่อดังของพรรคชาติไทย” แม้ส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบคนของตระกูลนี้เท่าไหร่ (ในตอนนั้น) แต่ผมก็ไม่ลังเลที่จะเทคะแนนให้คนของพรรคไทยรักไทย และครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทุกคะแนนเสียงในบ้านผม 5 เสียงเทให้ผู้สมัครของไทยรักไทยทั้งหมด แม้ท้ายสุดผลจะออกมาว่าไทยรักไทยแพ้ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจว่าพวกเราครอบครัวเราทำเต็มที่แล้ว
 
เหตุการณ์และบุคคลที่ทำให้ผมจากคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ทำงานเอกชน หันมาสนใจการเมืองนั่นคือกระแสพลังธรรม โดยจำลอง ศรีเมือง ซึ่งมีการเปรียบเทียบกันระหว่างคุณจำลองกับคุณสมัคร สุนทรเวช และในขณะนั้นผมเลือกที่จะชื่นชมคุณจำลองมากกว่าคุณสมัคร อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของคุณจำลองดูสมถะน่าเชื่อถือ ผมและคนทั้งบ้านต่างก็ชื่นชอบ เพราะดูจากภายนอกแล้วเป็นคนใสซื่อ มือสะอาด และมีธรรมะ ต่างจากคุณสมัครที่ออกในทำนองดุดันและปากจัด คุณสมัครจึงไม่เข้าตาผมและครอบครัวสักเท่าไหร่ เหล่านี้คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจข่าวสารการเมือง
 
ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผม เริ่มตั้งแต่พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ในครั้งนั้นผมก็แค่โวยวายอยู่กับบ้าน จำได้ว่าตอน พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกทางโทรทัศน์ ผมยังไปเดินช้อปปิ้งอยู่ที่มาบุญครองอยู่เลย ไม่เคยรู้ว่ามีพี่น้องของเราที่ไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์นั้น มีใครเจ็บใครตาย หรือทนทุกข์ทรมานอะไรบ้าง รู้แต่ว่าเหตุการณ์นั้น คุณจำลองคือฮีโร่ สุจินดาคือ ทรราชย์ รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ใช้ไม่ได้ ที่บอกว่า “จำลองพาคนไปตาย” และผมก็มีภาพติดลบกับพรรคนี้เรื่อยมา
 
จากพฤษภาทมิฬ’35 เรื่อยมาจนประเทศไทยได้รับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 จริงๆ แล้วบอกตามตรง ผมเองไม่ได้รู้เรื่องอะไรหรอกว่ามันดียังไง รู้เพียงว่ามันถูกร่างขึ้นมาโดยความถูกต้องของภาคประชาชน ผมรู้เพียงเท่านี้ ไม่ได้เห็นความสำคัญอะไรมากมายนัก เพราะต้องทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ปากกัดตีนถีบเหมือนกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
มารู้อีกทีก็ตอนรัฐบาลไทยรักไทยที่มีคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ตอนนั้นผมรู้อย่างเดียวว่าผมภูมิใจที่ได้นายกฯ คนนี้มาก เพราะก่อนหน้านี้ผมเองก็ชื่นชอบคุณทักษิณอยู่แล้ว จากความสำเร็จในกลุ่มธุรกิจชินวัตร ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่า จริงๆ แล้ว คุณทักษิณทำธุรกิจอะไรบ้าง รู้อย่างเดียวคือ ธุรกิจมือถือของ AIS แต่ได้เห็นสื่อไทยและต่างประเทศลงข่าวของเค้าอยู่เสมอในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ อัศวินคลื่นลูกที่ 3 และผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
 
 
3.คุณทักษิณ ... ใช่เลย ไอดอลของผม
 
ในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจกับเค้าเช่นกัน ผมมักจะศึกษาเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอยู่เสมอ นอกจากเจ้าสัวธนินท์ เจียรวรานนท์ อานันท์ กาญจนภาสน์ และคนอื่นๆ อีกมากมายแล้วหนึ่งในนั้นก็คือ คุณทักษิณ ชินวัตร แม้ผมจะไม่รู้เรื่องราวของเค้าอย่างละเอียดมาก่อนเลยก็ตาม
 
ยิ่งประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ได้เสียงอย่างท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีประเทศไทยมา และนายกฯ คนนั้นชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผมตื่นเต้น และดีใจเป็นที่สุด เพราะแน่ใจว่าภายใต้การนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ของคุณทักษิณ จะไม่เป็นแค่ความฝันของผมอีกต่อไป ในตอนนั้นความรู้สึกที่มีให้รัฐบาลคุณทักษิณ ผมให้กำลังใจเต็มร้อย เพราะมั่นใจในตัวเค้า รวมถึงทีมงานอีกหลายๆ คนอย่าง คุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์, คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคนอื่นๆ อีกมากมาย รัฐบาลชุดนี้จึงเป็นดรีมทีมของผมไปโดยปริยาย
 
เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยได้เริ่มบริหารประเทศ มีโครงการต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนอย่างมากมาย ตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ และทำได้จริง จึงทำให้ผมมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้มาก แม้ผมเองจะไม่เคยได้รับอะไรตรงๆ กับโครงการต่างๆ เหล่านี้เลย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, โอท็อป, กองทุนหมู่บ้าน หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่นั่นผมก็ยังได้รับเสียงสะท้อนจากชาวไร่ชาวนาในชนบทที่รู้จักกันว่า เป็นประโยชน์จริงๆ และสามารถทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้กว้างๆ กับเค้าเสียที
 
ในขณะที่ความนิยมชมชอบในพรรคไทยรักไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ผมก็เกิดความเสื่อมขึ้นกับพรรคการเมืองอีกฝั่งหนึ่งนั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะค้านทุกเรื่อง ไม่มีการค้านในทางสร้างสรรค์เลย ที่ยังติดตาติดใจผมจนถึงตอนนี้คือภาพที่ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำชื่อโครงการสมัยไทยรักไทยไปล้อเลียน โดยการแปะชื่อโครงการไว้ที่บันไดแล้วเดินลงบันไดกันมา มันเป็นภาพที่ทำให้ผมโกรธมาก เพราะโครงการที่มีประโยชน์ เห็นผลได้จริง ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนทำมาก่อน กลับถูกเหยียบย่ำดูถูกจากพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล้วช่างน่าเสียใจกับคนที่เลือกพรรคนี้จริงๆ สิ่งต่างๆ ที่พรรคนี้แสดงออกมาทั้งหมด เป็นเหมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงพรรคการเมืองนี้ว่าชาตินี้อย่าหวังเลยที่จะได้รับการสนับสนุนจากผม
 
 
4.”รัฐประหาร 19 ก.ย.49” คนไทยได้อะไร?
 
ภายหลังจากรัฐบาลไทยรักไทยอยู่จนครบวาระ 4 ปี และมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วก็ได้รับเลือกกลับเข้ามาแบบถล่มทลายอีกครั้ง ในความคิดผมประเมินว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วหลังจากเป็นประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนามาเป็นเวลานาน การที่ผมทำงานกับเพื่อนชาติต่างๆ อยู่หลายประเทศ ทำให้ผมรู้สึกได้ทันทีว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างรู้จักเมืองไทยมากขึ้น จากนโยบายต่างๆ ที่คุณทักษิณได้คิดได้ทำในระดับนานาชาติ โครงการที่มีการดึงเอาประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันโดยมีประเทศไทยเป็นแม่งาน จึงไม่แปลกที่ข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทยจะได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผมเชื่อเหลือเกินว่ามีคนไทยหลายๆ ล้านคนที่คิดไม่ต่างกับผม แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น สิ่งที่ผมคิดและคาดหวังเกี่ยวกับประเทศไทยในอนาคตก็มีอันมลายหายไป และทำให้ประเทศไทยเจริญย้อนหลังลงไปอย่างน้อย 6 ปี นั่นคือการใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของประชาชน ด้วยเหตุการณ์ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยนายสนธิ บุญยรัตกลิน
 
 
5. ก้าวแรกกับการมีส่วนร่วมทางไซเบอร์
 
แม้ผมจะรับรู้และติดตามข่าวสารทางการเมืองมาโดยตลอดไม่เคยขาด ตลอดจนมีความคาดหวังที่จะให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปในแนวทางที่คล้ายๆ กับหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ’35” ผมจึงได้แต่แอบให้กำลังใจพรรคไทยรักไทย คุณทักษิณ และคณะรัฐมนตรีที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 111 คน ให้ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง ในขณะเดียวกันผมเองก็ต้องการทราบข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ทำให้คณะทหารที่ใช้ชื่อตัวเองว่า “คมช.” ยึดอำนาจจากนายกทักษิณ ดังนั้น ผมจึงเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเว็บไซต์แรกที่ผมเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก็คือห้องราชดำเนิน เว็บไซต์ “พันทิป ดอทคอม” โดยยังเป็นการโพสต์แสดงความเห็นเป็นครั้งคราว หลังจากว่างจากการทำงานแล้วก็จะหาโอกาสเข้าเว็บไซต์นี้เพื่ออ่านกระทู้ต่างๆ ในแต่ละวัน และตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทางประชาธิปไตย และในขณะที่ผมได้รู้จักเว็บพันทิปที่ขณะนั้นดูเหมือนกระแสของสมาชิกในเว็บนี้จะเอนมาทางฝั่งคุณทักษิณ ผมยังได้รู้จักกับเว็บที่อยู่ตรงข้ามกันนั่นคือ เว็บไซต์ผู้จัดการ ของกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล อีกด้วย และตรงนี้แหละที่เป็นตัวจุดประกายให้ผมได้ตัดสินใจทำงานทางไซเบอร์ให้กับคนเสื้อแดงอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา
 
 
6. วางเม้าท์....พาลูกเราไปสนามศุภฯ
 
แม้ผมจะเริ่มมีความสนใจและกล้ามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านทางโลกไซเบอร์มากเพียงใดก็ตาม มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ผมไม่แน่ใจที่จะออกไปร่วมชุมนุมกับเค้าเสียที นั่นก็คือด้าน “ความปลอดภัย” เพราะผมมีความจำเป็นจะต้องพาลูกของผมไปด้วย เพราะการจัดชุมนุมส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ เมื่อไม่มีใครดูแลลูก ผมในฐานะ Single-Dad จึงต้องกระเตงลูกไปด้วย ผมพยายามชั่งใจอยู่หลายครั้ง จากธันเดอร์โดม เมืองทองธานี มาสนามรัชมังคลากีฬาสถาน แล้วก็มาวัดสวนแก้วใกล้บ้านผม ผมก็ยังไม่กล้าที่จะพาลูกไปร่วมชุมนุมด้วย อีกทั้งคนใกล้ชิดหลายๆ คนก็ห้ามเอาไว้ว่าอย่าเอาลูกไปเลย ถ้าจะไปก็ไปคนเดียว ผมก็คิดในใจว่าถ้าไม่เอาลูกไปด้วย แล้วลูกผมจะไปอยู่ที่ไหนกัน ?
 
แล้วก็มีสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจง่ายขึ้น นั่นคือ การตัดผังรายการ “ความจริงวันนี้” ทางช่อง NBT ในขณะนั้นออกจากผังรายการที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การกระทำในครั้งนั้ทำให้ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรกที่สนามศุภัชลาศัย โดยสอบถามความสมัครใจของลูก (แกมบังคับ) ว่าจะไปด้วยกันมั้ย? (แน่นอนคำตอบของลูกผมก็คือไป) เมื่อลูกวัย 8 ขวบตอบตกลง และผมได้ใคร่ครวญแล้วว่าการไปร่วมชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่น่าจะอันตรายอย่างที่เคยคิดไว้ โดยดูจากการชุมนุมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น ผมกับลูกจึงได้เตรียมตัว เสื้อแดงของผมกับลูกตัวแรกจึงพร้อมสำหรับวันนั้น เพราะมันหาไม่ยาก ผมกับลูกมีเสื้อแดงสำหรับใส่ในวันตรุษจีนอยู่แล้ว
 
ผมกับลูกออกเดินทางแต่เช้า ใส่เสื้อแดง หมวกแดง พร้อมกล้องคู่ใจ ออกจากบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ผมรู้สึกตื่นเต้น ลูกผมก็เช่นกัน เพราะคิดว่าหลังจากที่เราได้ดูการชุมนุมผ่านจอทีวีมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้แหละจะได้พบกับของจริงสักที ระหว่างทางที่ออกจากบ้านมา ผมกับลูกจะคอยดูสองข้างถนนแล้วนับจำนวนคนใส่เสื้อแดงกันอย่างเพลิดเพลิน ยิ่งรถวิ่งเข้ามาสู่เขตเมืองเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งพบเห็นคนใส่เสื้อแดงมากขึ้นเท่านั้น แถมบางคนยังมีอุปกรณ์ติดไม้ติดมือเพิ่มเข้าไปอีกนั่นคือ “ตีนตบสีแดง” ที่พบเห็นได้จากคนเสื้อแดงที่กระจัดกระจายคอยรถกันอยู่ข้างถนน
 
ผมมาต่อรถที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะตั้งใจจะโดยสารรถไฟฟ้ามาลงที่สนามศุภฯ ตามคำแนะนำของเพื่อนๆ ชาวไซเบอร์ ที่สถานีรถไฟฟ้านี้เอง ผมได้พบกับกลุ่มมวลชนที่ใส่เสื้อแดงกลุ่มใหญ่ มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ผู้สูงอายุ รวมกลุ่มกันปะปนกับคนที่แต่งตัวธรรมดา ผมกับลูกได้รับการต้อนรับทักทายกันเป็นอย่างดี รวมถึงการแสดงความยินดีที่ได้พบเพื่อนร่วมแนวคิดเดียวกัน โดยเฉพาะลูกชายผมได้รับความสนใจมีคนเข้ามาจับไม้จับมือ หยิกแก้ม ดึงผมกันจนเป็นที่สนุกสนาน ในฐานะ “เยาวชนเสื้อแดง” ผมกับลูกโดยสารรถไฟฟ้ามาพร้อมกับคนเสื้อแดงที่เรียกได้ว่าเต็มทุกโบกี้ ยิ่งใกล้สนามศุภฯ มากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะระหว่างสถานีที่มีการจอดรับผู้โดยสารก็จะมีคนเสื้อแดงเดินเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่มีที่ยืน
 
และแล้วก็มาถึงสถานีปลายทาง สนามศุภฯ อยู่ข้างหน้าแล้ว พี่น้องเสื้อแดงทุกคนทยอยกันลงจากรถ บางคนเริ่มหยิบอุปกรณ์ประจำตัวออกมาจากกระเป๋า เช่น แถบผ้าสีแดง แล้วนำมาผูกไว้ที่ศีรษะ บางคนใส่แว่นแดง วิกแดง ผมยังได้พบเห็นหลายคนที่โดยสารมาพร้อมเราที่ไม่ได้ใส่เสื้อแดง แอบยืนอยู่ริมกำแพง แล้วหยิบเอาเสื้อแดงที่อยู่ในกระเป๋าขึ้นมาเปลี่ยนแทนเสื้อที่ใส่มา แปลงร่างเป็นคนเสื้อแดงแบบสดๆ ร้อนๆ กันที่สถานีรถไฟฟ้านี้เลย บรรยากาศที่นี่เริ่มดูคึกคักมากจริงๆ ผมได้ยินเสียงโห่ร้องสนุกสนานที่ดังมาจากทางด้านล่างสถานีรถไฟฟ้า ตลอดทางเดินที่จะมุ่งสู้ประตูทางเข้าสนามศุภฯ เต็มไปด้วยแผงขายสินค้าของคนเสื้อแดงวางเรียงรายแน่นไปหมดแทบไม่มีทางเดิน
 
นอกจากลูกชายผมที่ผมเองคิดว่าเป็นเด็กเล็กแล้ว ปรากฏว่ามีพ่อแม่เสื้อแดงอยู่หลายคนที่พาลูกของตัวเองไปด้วย บางคนยังเป็นเด็กทารกมาพร้อมกับรถเข็นก็มี บางคนมากันทั้งครอบครัวเลยก็มี น้องเว็บลูกชายผมไม่เหงาแล้วคราวนี้ ผมเดินตามกลุ่มคนเสื้อแดงลงมาทางบันไดทางลงที่มุ่งลงสู่สนามศุภฯ จำได้ว่าเดินตามหนุ่มสาวคู่หนึ่งมาที่เค้าทั้ง 2 คนดูเหมือนดารามากๆ ทั้งสวยทั้งหล่อทั้งคู่ แต่สองคนนี้ไม่ได้ใส่เสื้อแดง ผมเดินตามสองคนนี้มาเรื่อยๆ จนถึงทางเข้าสนามศุภฯ ในใจผมไม่คิดว่าพวกเขาจะเดินข้าไปในสนามแน่ คิดว่าคงจะเดินผ่านไป แต่ปรากฏว่าพวกเขาทั้ง 2 คนก็หันหน้าเดินเข้าสนามศุภฯ อย่างไม่ลังเล โดยมีผมเดินตามไปติดๆ สร้างความประหลาดใจให้ผมเหมือนกัน
 
และทันทีที่เดินผ่านทางเข้าประตูไป หนุ่มสาวคู่นี้ก็ได้หยิบบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาจากในกระเป๋าสะพายของเค้า มันคือผ้าคาดศรีษะสีแดง ภาพที่ผมเห็นจากหนุ่มสาวคู่นี้สร้างความประทับใจให้ผมมาก เพราะยืนยันว่าคนเสื้อแดงไม่ได้มีแค่เพียงคนจนรากหญ้าดังที่ฝ่ายตรงข้ามพูดถึงเท่านั้น แต่ยังคนอีกระดับที่มีการศึกษา มีหน้ามีตาทางสังคม นักธุรกิจ และคนรุ่นใหม่รวมอยู่ด้วย เมื่อเห็นหนุ่มสาวคู่นี้คาดผ้าสีแดงที่ศีรษะแล้วผมจึงได้เดินไปด้านหน้าของพวกเขาแบบห่างๆ เพื่อหวังจะถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก ก็พบว่าข้อความที่สกรีนอยู่บนผ้าบางๆ เขียนว่า “คิดถึงทักษิณ” สั้นๆ แต่ได้ใจความ ไม่ต้องอธิบายอีก สุดแสนจะประทับใจผมเลยจริงๆ
 
หลังจากผมและลูกชายได้พักเหนื่อย  กินน้ำ กินข้าวเหนียวหมูปิ้งกันจนอิ่มแล้ว เราก็ได้พากันเดินอยู่รอบนอกบริเวณสนามอยู่พักหนึ่ง มีการวางขายสินค้าเสื้อแดงมากมาย มีกลุ่มนักศึกษาวัยรุ่นนำของที่ระลึกมาขาย ผู้คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงแล้วก็เดินจับจ่ายซื้อของสินค้าเสื้อแดงที่ตนเองสนใจ ผมเองก็ได้ซื้อเสื้อความจริงวันนี้ของผมและลูกคนละตัว ตีนตบ ผ้าโพกหัว ผ้าพันคอ หมดเงินไปหลายร้อย จนเมื่อเริ่มมีเสียงเพลงดังออกมาจากทางเวทีด้านในสนาม ผมจึงจูงมือลูกพากันเดินเข้าไปสู่ด้านในของสนามในทันที
 
 
7. ชุมนุมใหญ่ที่สนามศุภฯ .. ความประทับใจไม่มีวันลืม
 
ภาพแรกที่ได้เห็นทันทีที่เดินเข้าไปในสนามก็พบเห็นพี่น้องเสื้อแดงด้านขวาของสนามกว่าครึ่งสนามนั่งกันอยู่อย่างหนาแน่นเต็มอัฒจรรย์ มีเสียงตะโกนโห่ร้องแสดงการต้อนรับกลุ่มคนที่เดินเข้ามาในสนามอยู่เป็นระยะ พิธีกรบนเวทีจะคอยประกาศข่าวการมาถึงของกลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดต่างๆ ที่ทยอยกันเดินเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับผมและลูกชายอย่างมาก เราเดินเล่นอยู่กลางสนามเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกมามายจนลูกชายเริ่มเหนื่อย ผมจึงพาลูกชายเดินขึ้นไปพักผ่อนบนอัฒจรรย์อีกด้านหนึ่งที่แดดยังส่องอยู่ เรานั่งอยู่จนผู้คนที่อยู่ด้านนอกทยอยกันเข้ามาสู่ในสนามจนแทบจะไม่มีที่ว่างให้ยืน ผมจึงคิดว่าได้เวลากลับบ้านแล้ว เพราะลูกชายผมเวลานี้ได้นอนหลับสลบอยู่คาอกของผมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเหนื่อยล้า ผมจึงได้อุ้มลูกน้อยเดินออกมาจากสนามเพื่อเดินกลับบ้านในทันที
 
คุ้มค่าจริงๆ สำหรับการตัดสินใจเดินทางมาร่วมชุมนุมในวันนี้ ถึงแม้ผมจะได้อยู่แค่ตอนเริ่มงานช่วงแรกๆ เท่านั้นก็ตาม และมีสิ่งหน่งที่ผมได้รับรู้ และเป็นคำถามขึ้นมาในตอนนั้นก็คือ ทำไมนนทบุรีบ้านผมถึงได้มีกลุ่มเสื้อแดงหลายกลุ่มนัก เช่น แดงบางกรวย แดงปากเกร็ด แดงบางใหญ่ และไม่ใช่ที่นนทบุรีจังหวัดเดียวเท่านั้นที่มีหลายกลุ่ม ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีกลุ่มย่อยๆ แต่มาจากจังหวัดเดียวกัน ซึ่งสังเกตได้จากป้ายต่างๆ ที่มีการถือกันอยู่ภายในสนาม เมื่อกลับมาถึงบ้านผมจึงได้คิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มย่อยต่างๆ เหล่านี้ รวมตัวกันให้เป็นกลุ่มในรูปแบบของกลุ่มจังหวัด โดยคิดกับจังหวัดนนทบุรีที่ผมอาศัยอยู่ก่อน และแล้วผมจึงได้ตัดสินใจว่า ผมจะลองทำเว็บไซต์ขึ้นมาสักเว็บหนึ่งเพื่อรวบรวมมวลชนเสื้อแดงในจังหวัดนนทบุรีให้มาอยู่ในที่เดียวกันผ่านช่องทางไซเบอร์ เพราะผมคิดว่าผมมีฝีมือพอที่จะทำเว็บง่ายๆ แบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไม่ยากนัก เพราะมีอาชีพทางด้านนี้อยู่แล้ว คืนนั้นเองผมจึงได้ตัดสินใจทำเว็บไซต์ตามแนวคิดของผมขึ้นมาใหม่ในทันทีโดยใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า “เรดนนท์ ดอทคอม” หรือ “กลุ่มนักรบไซเบอร์ แดงนนท์” ที่มีชื่อ URL ว่า www.rednon.com
 
 
โปรดติดตามต่อในตอนหน้า
 
 
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่: category/ ธันย์ฐวุฒิ-ทวีวโรดมกุล (คลิก) 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าเล็งตั้งศูนย์บัญชาการทหารใกล้ชายแดนไทย

Posted: 14 Jan 2011 08:17 AM PST

กองทัพพม่าเตรียมตั้งบก.ควบคุมยุทธการทหารเพิ่มอีกแห่งที่เมืองทา ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ พร้อมประกาศตั้งเป็นเมืองใหม่ ด้านนักสังเกตุการณ์ชี้เป็นแผนกำจัดกกล.ว้า และ SSA

มีรายงานว่า กองทัพรัฐบาลทหารพม่ามีแผนตั้งกองบัญชาการควบคุมยุทธการทางทหารเพิ่มอีกแห่ง ในพื้นที่บ้านเมืองทา ของรัฐฉาน อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านตรงข้ามบ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 44 กม. โดยบก.ควบคุมยุทธการ หรือ ปิ่วห่า ตามภาษาพม่านี้ เทียบเท่ากองพลน้อย มีกำลังทหาร 3 กองพัน

ทั้งนี้ แผนจัดตั้งบก.ควบคุมยุทธการใหม่ของกองทัพพม่าถูกเปิดเผยระหว่าง พล.ต.ตานทุนอู แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม (บก.เชียงตุง) เดินทางมาตรวจเยี่ยมกำลังพลในพื้นที่เมืองทา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยพล.ต.ตานทุนอู กล่าวว่า เมืองทาจะเป็นเมืองใหม่ และจะเป็นที่ตั้งกองบัญชาควบคุมยุทธการแห่งใหม่

พล.ต.ตานทุนอู กล่าวด้วยว่า ประชาชนคนใดมีความประสงค์จะอยู่เมืองทา สามารถจับจองพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้จัดแบ่งพื้นที่ปลูกสร้างบ้านเรือนไว้แล้วในราคาช่องละ 45,000 จั๊ต (ราว 1,500 บาท)

ด้านนักสังเกตการณ์ชายแดนคนหนึ่ง กล่าวแสดงความเห็นว่า การตั้งบก.ควบคุมยุทธการของกองทัพพม่าในพื้นที่เมืองทา เชื่อเป็นแผนตัดกำลังกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งกองทัพพม่าอาจใช้เป็นศูนย์รวมกำลังพลที่หากเกิดการสู้รบกับกองกำลังว้า UWSA หรือ กองกำลังไทใหญ่ SSA ที่เคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย จะสามารถเรียกกำลังเสริมได้ทันที

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประชาชนคนใดแจ้งความประสงค์เข้าไปอยู่เมืองทา ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงหลายคนกล่าวว่า ยังไม่กล้าย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองทาในขณะนี้ เพราะยังไม่มั่นใจว่าหากไปอยู่แล้วจะถูกกองทัพพม่าบังคับใช้แรงงานสร้างฐานทัพและอาคารที่พักของทหารหรือไม่

ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า ทหารว้า UWSA ในสังกัดกองพลน้อย 778 ใต้บังคับบัญชาของ นายต้ามาน มีพื้นที่ไหวตามแนวชายแดนไทยด้านตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการขนย้ายญาติและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เมืองโต๋น นากองมู ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไปอยู่บ้านคายโหลง บ้านตากแดด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เข้าใจว่าเป็นการป้องกันหรือเตรียมการล่วงหน้า เนื่องจากหากเกิดการสู้รบกับทหารพม่าจะดูแลกันลำบาก เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของขวัญปี 54 ที่แม่ลาน

Posted: 14 Jan 2011 08:06 AM PST

ปีที่ 7 กับเหตุการณ์ความไม่สงบสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการบริหารบ้านเมืองมาหลายรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถที่จะยุติความรุนแรงลงได้ แต่ที่เห็นได้คือการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารของรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับการประกาศยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่าง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา อันประกอบด้วย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย และทดลองใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง)แทน เมื่อปี 2553 และล่าสุดนัว่าเป็นของขวัญให้กับชาวอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี ได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทนหรือไม่ต้องรอฟังมติของครม.ก่อน

ของขวัญชิ้นใหม่และชิ้นสำคัญจากรัฐบาลที่มอบให้แก่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2554 โดยเฉพาะอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี หลังจากที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2548 เพื่อเข้าดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของรัฐและประชาชน

ทางรัฐบาลได้เห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถใช้มาตรการต่างๆ เข้าควบคุม ระงับยับยั้ง และแก้ไขปัญหาได้ตามปกติ

นายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ดั่งประกาศตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๕๑ ง ประกาศเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553

นับว่าเป็นงานหนักที่ทางฝ่ายปกครอง และฝ่ายทหารในพื้นที่อำเภอแม่ลานต้องรับผิดชอบ นายปรีชา ชนะกิจกำจร นายอำเภอแม่ลาน ได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนคือการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ถึงการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก และไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดียุยงให้เกิดความแตกแยก มาตรการต่อไปคือการเตรียมการรองรับการป้องกัน ปราบปราม รวมถึงงานมวลชน

นายปรีชา กล่าวว่า นโยบายที่ทางนายอำเภอใช้คือการเมืองนำการทหาร มีการออกไปพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ประชาชนหรือกลุ่มพลังต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นายอำเภอแม่ลาน กล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้เป็นการกดดันต่อการทำงาน การยกเลิกกับไม่ยกเลิกก็นับว่าปกติ ถึงอย่างไรก็ต้องทำงานไปอย่างเดิม และก็ทำต่อในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบและต้องทำให้ดีที่สุดสมกับที่รัฐบาลเชื่อใจ แต่การทำงานต้องอาศัยองคาพยพในพื้นที่ นายอำเภอทำตามลำพังไม่ได้ นายอำเภอเป็นเพียงกลไกตัวหนึ่งที่จะทำให้กลไกตัวอื่นขับเคลื่อน

อีกหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความสงบในพื้นที่อำเภอแม่ลานคือทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 (ฉก.ปัตตานี 21) ที่รับผิดชอบทั้ง อ.แม่ลาน และ อ.ยะรัง

พันโทสัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผู้บัญชาการเฉพาะกิจปัตตานี 21(ฉก.ปัตตานี 21) ได้กล่าวถึงการทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ว่า เมื่อมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีผลตามกฎหมายเดิมที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อมีปฏิบัติการใดๆ ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะสามารถประสานงานกับกำลังตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าไปดำเนินการได้ทันที  แต่เมื่อมีการยกเลิกบทบาททหารจะเป็นรองกลายเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ตำรวจต้องมาขอกำลังพลจากทหารจึงจะสามารถเข้าไปทำงานได้

ถึงแม้จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจของทหารลดลงไม่มีกฎหมายมาสนับสนุนในการปฏิบัติการ  แต่ทหารยังสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎอัยการศึกได้ ยังสามารถควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้หากกระทำผิดซึ่งๆหน้าภายใน 7 วันตามอำนาจกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตารา 15 ทวิ ซึ่งแต่เดิมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสามารถควบคุมตัวได้ต่อภายใน 30 วัน แล้วจะพาไปที่ศูนย์ซักถาม ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

 

มาตารา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็น ราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลดังนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการ ทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน

     ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้

ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้เปิดเผยต่อว่า บุคคลที่มีรายชื่อตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดิม แล้วตอนนี้เมื่อมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงจะต้องมีการยกเลิกหมายทั้งหมด แต่ทางหน่วยยังไม่ทราบในความชัดเจนว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรต่อหลังจากนี้

 

นายอำเภอได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการเรียกผู้ที่เคยมีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประมาณ 30 คน แต่ไม่ได้เรียกตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทางอำเภอได้เชิญผ่าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

 

ในส่วนกองกำลังของทหารยังคงสามารถอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ลานได้อีก แม้ว่ามีประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  แล้วก็ตาม และมาตรการที่ต้องวางไว้เพื่อในอนาคตคือการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ในความเห็นของนายปรีชา อำเภอแม่ลาน กล่าวว่า การเปลี่ยนถ่ายกองกำลังต้องมีการปรึกษานายอำเภอก่อนว่าพร้อมหรือไม่ เมื่อมีการถอนทหารจำเป็นต้องมีหน่วยงานอื่นมาแทนที่ อาจจะเป็นกำลังทหารพราน อส. กองกำลังประจำถิ่นซึ่งเข้าใจปัญหามากกว่ากองกำลังที่มาจากอีสาน เพราะความเข้าใจขนบทำเนียม ประเพณีในพื้นที่ที่ต่างกัน

 

เช่นเดียวกับ พันโทสัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะใช้กองกำลังในพื้นที่อย่างทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) แต่ยังคงเป็นแนวคิดยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใด ต้องมาดูสถานการณ์ว่าเบาลงหรือว่ารุนแรงขึ้น มาตรการการรักษาความปลอดภัยทาง หน่วย ฉก.21 มีการฝึกกำลังประชาชน อย่าง ชรบ. ลูกจ้าง 4,500 จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ กลุ่มเหล่านี้มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง

 

ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้เปิดเผยถึง 6 ยุทธศาสตร์ที่ทาง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายให้หลังได้รับตำแหน่ง คือ

 

การเสริมสร้างความเข้าใจ เป็นการทำให้ประชาชนยอมรับ มีความรู้สึกดีต่อรัฐ โดยใช้กลุ่มผู้นำศาสนาหรือดาอี เป็นตัวแทนในการสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะในหมู่บ้านจัดตั้ง

 

การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เพิ่มพูนความรู้ และทักษะด้านสังคม เศรษฐกิจ

 

การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ไม่ให้ปัจจัยอื่นเข้ามาสนับสนุนให้ปัญหาขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น เช่นการส่งเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าโครงการอบรม และติดตามพฤติกรรมบุคคล

 

การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือเยียวยา ให้แก่ประชาชนที่ไดรับผลกระทบจากเหตุการณ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการดำเนินการมาตรการ ป้องกัน ป้องปรามการก่อเหตุร้าย เป็นการจำกัดเสรีและปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ

 

การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ความร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆด้วยความเต็มใจ

 

แต่ที่น่ากังวลคือความเข้าใจในกฎหมายใหม่ที่จะนำมาใช้อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่จะตามมาคือปฏิบัติการต่างๆ ที่จะตามมา ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้กล่าวถึงเรื่องของการทำความเข้าใจในกฎหมายใหม่ว่า ทางหน่วยจะจัดการอบรมหมุนเวียนให้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เข้าใจมากนัก และปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลหรือตัวผู้ปฏิบัติ

 

อำเภอแม่ลานเป็นอำเภอที่มีขนาดเล็กประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่ และตำบลม่วงเตี้ย มีเพียง 3,000 กว่าครัวเรือน ประชากรประมาณ 1 หมื่นกว่าคน นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ61 และพุทธ ร้อยละ 39 ความง่ายต่อการสอดส่องดูแล แต่ก็นับว่าเป็นแรงกดดันเช่นเดียวกันเพราะว่า อำเภอแม่ลานมีลักษณะภูมิประเทศเสมือนกับไข่แดง ที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่รอยต่อที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง อย่าง อ.ยะรัง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.เมือง จ.ยะลา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่า เตรียมจัดงานประกาศผลรางวัลบันเทิงเดือนนี้

Posted: 14 Jan 2011 07:58 AM PST

กระทรวงข่าวสาร (Ministry of Information) ของพม่าได้ออกมาประกาศว่า เตรียมจะจัดการประกาศผลรางวัลบันเทิงพม่าที่โรงละครเปิดในกรุงเนปีดอว์ วันที่ 23 ม.ค.นี้ โดยในปีนี้ มีหนังทั้งหมด 16 เรื่องที่ถูกเสนอเข้าชิงรางวัล

ทั้งนี้ ในงานประกาศผลรางวัลที่จะจัดขึ้นนั้น จะมีการมอบรางวัลในสาขาต่างๆ เช่น รางวัลนักแสดงนำชายและหญิงยอดเยี่ยม รางวัลนักแสดงสมทบชายและหญิงยอดเยี่ยม รางวัลภาพและเสียงยอดเยี่ยม รวมไปถึงรางวัลผู้กำกับและรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นต้น

ด้านนักแสดงนำชายที่คาดว่าจะได้รับรางวัลในปีนี้ได้แก่ เน โท และ มิ้น เมียต ซึ่งทั้งสองคนต่างเป็นพระเอกดาวรุ่งที่กำลังมาแรง ส่วนนักแสดงหญิงที่คาดว่าจะได้รับรางวัลได้แก่ อินดรา จ่อ ซิน , โซเมียต ทุซา, เม ทาน นุ และทินซา วิน จ่อ ซึ่งนักแสดงทั้งสี่คนต่างก็เป็นนางเอกคุณภาพของวงการบันเทิงพม่า

อย่างไรก็ตาม การประกาศผลรางวัลเมื่อปีที่แล้วมีการแจกเพียง 7 รางวัลเท่านั้น ด้านโซโม ผู้กำกับหนังเปิดเผยว่า วงการหนังพม่ากำลังซบเซาลงเรื่อยๆ จำนวนหนังที่ผลิตเมื่อปี 2552 นั้นน้อยลงมาก และหนังมีคุณภาพต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับหนังในอดีต

“คณะกรรมการจำเป็นต้องเลือกหนังที่ดีที่สุดในบรรดาหนังที่มีคุณภาพต่ำ หนังส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ได้มีมูลค่าที่ยั่งยืนหากเปรียบเทียบกับหนังเก่าๆ ในอดีตนั้น กว่าจะได้รับรางวัล จำเป็นต้องเอาชนะคู่แข่งกว่า 100 คน แต่ตอนนี้ แม้แต่หนังตลกก็สามารถคว้ารางวัลมาได้ นั่นเป็นเพราะตัวเลขหนังที่ผลิตออกมาน้อยลงในแต่ละปี” โมโซกล่าว

ด้านนักแสดงชายที่สามารถคว้ารางวัลมาครองได้มากที่สุดถึง 6 รางวัลในการประกาศผลรางวัลบันเทิงพม่าคือ ยันอ่อง ส่วนนักแสดงหญิงคือ มิ้น มิ้น ขิ่น ก็เคยได้รับรางวัลถึง 5 รางวัลเช่นเดียวกัน ขณะที่งานประกาศผลรางวัลบันเทิงพม่านั้นได้จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2495
(Mizzima 13 ม.ค.53)

นักศึกษาในภาคสะกายประท้วงค่ารถโดยสารแพง
นักศึกษาราว 1 พันคน จาก 3 มหาวิทยาลัยในเมืองกาเล ภาคสกาย ทางตอนเหนือของประเทศได้ออกมาประท้วงค่ารถโดยสารแพงเมื่อวันพุธ (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งการประท้วงของนักศึกษาเป็นไปอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดทางการพม่ายอมทำตามข้อเรียกร้องของนักศึกษา และยังไม่มีรายงานว่า นักศึกษาถูกจับจากการออกมาประท้วงในครั้งนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นักศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยกาเล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกาเล และวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์กาเลได้ออกมารวมตัวประท้วงตรงบริเวณสี่แยก ใกล้กับสถานีรถไฟ บนถนนโบโยค ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองกาเล จากนั้นนักศึกษาได้เดินเป็นแถวประท้วงผ่านหน้าสำนักงานทหารพม่าที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

ทั้งนี้ นักศึกษาได้เรียกร้องต่อทางการพม่า 4 ข้อ เช่น ให้ทางการลดค่าโดยสารจากราคา 200 จั๊ต (ราว 8 บาท)เป็นราคาเดิมคือ 100 จั๊ต(ราว4 บาท) และห้ามรถโดยสารบรรทุกของอย่างเช่น ถ่าน เพราะทำให้เสื้อผ้าของผู้โดยสารสกปรก นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รถโดยสารให้บริการตรงเวลา รวมทั้งเรียกร้องให้จัดรถโดยสารให้มีจำนวนเพียงพอครอบคลุมกับความต้องการของนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งทางการพม่ารับปากจะทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด

แม้จนถึงขณะนี้ จะยังไม่มีรายงานการจับกุมนักศึกษาที่ออกมาประท้วง แต่ที่ผ่านมา อย่างในปี 2550 ทางการได้จับกุมนักเคลื่อนไหวและประชาชนที่ออกมาประท้วง การขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันทันที จนต่อมากลายเป็นการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์และประชาชนนับแสนคน

ด้านนักศึกษาคนหนึ่งระบุว่า เธอไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใดที่มีส่วนร่วมในการประท้วงอย่างสันติในครั้งนี้ ขณะที่ชาวบ้านกล่าวว่า เหตุการณ์ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบเรียบร้อยดีแล้วในตอนนี้ หลังจากที่นักศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเจรจาและตกลงกันได้
(DVB /Irrawaddy 13 ม.ค.53)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชุมชนบนที่รถไฟสายใต้วิตกรางคู่ สอช.เร่งสำรวจเบื้องต้นพบ5พันครัวเรือนกระทบ

Posted: 14 Jan 2011 07:45 AM PST

ชุมชนบนที่รถไฟสายใต้วิตกรางคู่ สอช.เร่งสำรวจข้อมูลหาทางแก้ เบื้องต้นพบ5พันครัวเรือนจะได้รับผลกระทบ เดินหน้าขอเช่าที่จากรฟท.

นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นชุมชนแออัดบนที่ดินรถไฟสายเก่า ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) เปิดเผยว่า สอช.ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. และชุมชนบนที่ดินรถไฟ กำลังสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)พร้อมกับข้อเสนอในการแก้ปัญหา

นางละออ ชาญกาญจน์

นางละออ เปิดเผยต่ออีกว่า ขณะนี้ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยในส่วนของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งตนเป็นคณะทำงานสำรวจและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า มีชุมชนที่อยู่ในระยะ 40 เมตร จากรางรถไฟ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ในอนาคตและการรื้อฟื้นทางารถไฟสายเก่าสายหาดใหญ่ – สงขลา จำนวน 50 ชุมชน รวม 5,354 ครัวเรือน ในพื้นที่ 9 จังหวัดที่มีทางรถไฟผ่าน

นางละออ เปิดเผยอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว มีขึ้นเนื่องจากมีกระแสว่า รัฐบาลมีข้อตกลงกับต่างประเทศเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยสำรวจ เพื่อหาทางแก้ปัญหาก่อนจะไม่ทันการ ชุมชนต้องไปอยู่ที่ไหน การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่รับผิดชอบ สอช.จึงรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ที่วิตกคือพี่น้องได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ เพราะบางคนอยู่ในที่ดินรถไฟมานาน ถ้าถูกไล่รื้ออะไรจะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะมีที่ไปไหม จะทำอาชีพอะไร จะอยู่กินอย่างไร นี่จะเป็นผลกระทบสำหรับคนมีรายได้น้อย” นางละออ กล่าว

นางละออ เปิดเผยต่อว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการเช่าที่ดินนั้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ พอช.เป็นคู่สัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วให้ชุมชนเช่าจากพอช. เป็นเวลา 30 ปี ยกเว้นในเขตห้ามเช่า คือ ในรัศมี 40 เมตรจากรางรถไฟ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องหาสถานที่แห่งใหม่รองรับในระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร

“ในการขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น มีเงื่อนไขว่าชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มเช่าที่ดินต่อจากพอช. จากนั้นกลุ่มออมทรัพย์ก็ให้สมาชิกมาเช่าที่ดินที่อยู่อาศัยต่อ” นางละออ กล่าว

นางละออ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 22 มกราคม 2554 นี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม เป็นประธานจะลงพื้นที่ชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อสำรวจความเข้มแข็งของชุมชนก่อนที่จะอนุญาตให้เช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป จากนั้นในวันที่ 23 มกราคม 2554 คณะกรรมการชุดนี้ก็จะเดินทางมาสำรวจชุมชนในอำเภอเมืองสงขลาต่อ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์เสรีภาพไทยตกต่ำเหตุใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

Posted: 14 Jan 2011 06:41 AM PST

องค์กรจัดอันดับด้านเสรีภาพ ฟรีดอมเฮาส์เผยรายงาน สถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปี 2554 ระบุเสรีภาพในประเทศไทยตกต่ำลงเช่นเดียวกับอาฟกานิสถาน, กัมพูชา, ฟิจิ, แคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย, ศรีลังกา

13 ม.ค. 2554 - ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) แถลงข่าวพร้อมเปิดตัวรายงาน "สถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปี 2554" ซึ่งเป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองทั่วโลก โดยระบุว่าในปี 2553 สถานการณ์เสรีภาพของโลกตกต่ำลงติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว ถือเป็นความตกต่ำยาวนานติดต่อกันมากที่สุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้จำนวนประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเสรี (Free Country) และประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งมีจำนวนลดลง รวมถึงความตกต่ำของเสรีภาพโดยรวมในประเทศแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง

โดยฟรีดอมเฮาส์รายงานอีกว่า มีประเทศ 25 ประเทศที่แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญในปี 2553 ที่ผ่านมา ขณะที่อีก 11 ประเทศพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำนวนประเทศที่จัดเป็นประเทศเสรีลดจำนวนลงจาก 89 ไปเป็น 87 ประเทศ จำนวนประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งลดลงเหลือ 115 ต่ำกว่าในปี 2548 ที่มีอยู่ 123 นอกจากนี้แล้ว ประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างจีน, อียิปต์, อิหร่าน, รัสเซีย และ เวเนซุเอลลา เริ่มใช้มาตรการปราบปรามรุนแรงขึ้นโดยมีเสียงห้ามปรามเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจาประเทศประชาธิปไตย

ในการรายงานสถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปีของฟรีดอมเฮาส์นั้น มีการแบ่งประเทศออกเป็นสามรูปแบบคือ ประเทศเสรี, ประเทศเสรีบางส่วน (Partly Free) และ ประเทศไม่มีเสรี (Not Free) ผ่านการวัดผลโดยหลักการประชาธิปไตย
ในปีที่ผ่านมา มี 4 ประเทศ ที่ตกต่ำลงจาก ประเทศเสรีกลายเป็นประเทศเสรีเพียงบางส่วน เช่นยูเครน, เม็กซิโก ประเทศเม็กซิโกตกต่ำลงเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงจากกลุ่มผู้ค้ายาได้ ขณะที่ยูเครนย่ำแน่ลงในแง่ของเสรีภาพสื่อ การโกงการเลือกตั้ง และการที่ศาลถูกการเมืองแทรกแซงมากขึ้น จีบูติ และ เอธิโอเปีย ถูกลดอันดับจากเสรีเพียงบางส่วนกลายเป็นประเทศไม่มีเสรี ประเทศอื่น ๆ เช่น บาห์เรน, โกตติวัวร์, อิยิปต์, ฝรั่งเศส, ศรีลังกา และเวเนซุเอลลา ก็ตกต่ำลงเช่นกัน
ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอันดับต่ำสุดในเรื่องเสรีภาพในปี 2553 ซึ่งถือว่าย้ำแย่ลงไปอีกปีต่อปีจากที่มีระดับฐานประชาธิปไตยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

ฟรีดอมส์เฮาส์ยังกล่าวในรายงานอีกว่า ประเทศอำนาจนิยมหลายประเทศก็เพิ่มมาตรการขึ้นในปี 2553 เช่นในจีน ที่มีการกดดันรัฐบาลต่างประเทศในการบอยคอตต์รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบให้กับหลิวเสี่ยวโป ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกกักขัง

ด้านฮิวโก้ ชาเวซ ของเวเนซุเอลลาก็ผลักดันร่างกฏหมายที่อนุญาตให้เขาดำรงตำแหน่งต่อและเข้มงวดต่อองค์กรเอกชนรวมถึงสื่อมากขึ้นด้วย รัสเซียก็มีกรณีที่ศาลถูกแทรกแซงในการดำเนินคดีกับนักวิจารณ์รัฐบาล มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่าการดำเนินคดีนี้เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนอิยิปต์และเบลารุสก็มีการเลือกตั้งที่ขาดความโปร่งใส กรณีของเบลารุสนั้นหลังการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ

นโยบายเรื่องผู้อพยพก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงในหลายประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ เช่นประเทศฝรั่งเศสมีคะแนนด้านเสรีภาพพลเมืองลดลงเนื่องจากปฏิบัติต่อชาวโรมาที่มาจากยุโรปตะวันออก รวมถึงปัญหาในการจัดการกับผู้อพยพจากตะวันออกกลางและจากอเมริกาเหนือ

มีเรื่องดี ๆ เล็กน้อยในรายงานชิ้นนี้ คือการที่ประเทศคีร์กีซสถาน และกีนี ถูกเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีเสรีกลายเป็นประเทศที่มีเสรีบางส่วนหลังจากที่มีการจัดการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเสรีและโปร่งใส รวมถึงประเทศอย่างเคนย่า, โมลโดวา, ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ และ ทาร์ซานเนีย ที่มีอันดับเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันฟรีดอมเฮาส์ก็กล่าวถึงประเทศไทยโดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ตกต่ำลงในแถบเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับ อาฟกานิสถาน, กัมพูชา, ฟิจิ, แคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย, ศรีลังกา

โดย ในรายงานหน้า 7-8 ที่กล่าวถึงเอเชีย-แปซิฟิกนั้น ให้รายละเอียดว่า ในประเทศกัมพูชา, ไทย, ฮ่องกง และแคว้นแคชเมียร์ นั้นถดถอยลงเมื่อพิจารณาจากการให้พื้นที่ประท้วงอย่างสงบในประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง โดยมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามบางกรณีมีการจับกุม ใช้ความรุนแรงถึงชีวิต ในการสลายการชุมนุม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเปิดตัวโครงการวิจัย “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านของเรา”

Posted: 13 Jan 2011 11:41 PM PST

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะเปิดตัวโครงการวิจัยว่าด้วยเขตแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางกระแสระอุเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา

 

งานเปิดตัวโครงการวิจัย “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านของเรา” “Our Boundaries- Our ASEAN Neighbors” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานมีการมอบสื่อวีซีดี,ดีวีดีและหนังสือซึ่งเป็นผลงานจากโครงการวิจัย ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานฟรี

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้ชี้แจงถึงโครงการนี้ว่า ตนมีฐานะเป็น “ผู้รับจ้าง” จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นงานแรกของมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่ได้รับจ้างจากราชการไทย เราจึงเป็น "ผู้รับจ้าง" จาก "ผู้ว่าจ้าง" ตามสัญญาที่เราลงนาม สำหรับโครงการนี้ เป็นโครงการย่อย ที่รับมาแต่งานวิชาการ จากโครงการใหญ่ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหากใครต้องการทราบรายละเอียดโครงการอื่นๆ หรือส่วนอื่นๆ รวมทั้งงบประมาณทั้งหมด ต้องสอบถามจากกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับงานศึกษาวิจัยโครงการนี้ได้เผยแพร่ในรูปแบบประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่ม และดีวีดี-วีซีดี 1 ชุด เป็นผลงานค้นคว้าวิจัยของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งมูลนิธิฯ มีประวัติการก่อตั้งขึ้นโดย ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 และหาเงินเองโดยได้รับการบริจาคจากมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ต่อมาได้รับบริจาคจากมูลนิธิโตโยต้า ญีปุ่น และปัจจุบันได้จาก มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย โดย ศ. เพ็ชรี สุมิตร เป็นประธานคนปัจจุบัน ซึ่งงานวิจัย "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" เป็นงานแรกที่ได้จากราชการไทย...

เลขาธิการอาเซียน ชี้ปัญหาเขตแดน-มรดกยุคล่าอาณานิคม
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ปัญหาหลายอย่างในเรื่องเขตแดนควรปล่อยให้เป็นเรื่องเทคนิค ต้องลดอารมณ์ ลดการเมือง เพราะต้องกลับไปสู่หลักฐานข้อเท็จจริง ซึ่งความขัดแย้ง ความระหองระแหงในอาเซียน มีอยู่หลายคู่ในหลายจุด แต่เผอิญประเทศไทยอยู่ตรงกลางและมีมิตรประเทศอยู่รอบด้าน จึงมีประเด็นและมีข้อที่จะต้องเจรจาหาข้อยุติ จะต้องเข้าสู่กระบวนการมีบันทึกความตกลงหลายฉบับ ที่พูดถึงเรื่องความพยายามที่จะปักปันเขตแดน โดยหลักฐานที่เรามีคือหลักฐานที่เราทำไว้กับเจ้าอาณานิคม ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ ก็เป็นรัฐที่รับมรดกต่างๆเหล่านั้นมาและเราจำเป็นจะต้องหาข้อยุติในเรื่องเขตแดนชายแดน

หกพันหกร้อยกว่ากิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตแดนของเรา กับพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เรามีบันทึกข้อตกลงว่าจะทำการปักปัน กับหลายประเทศ เรื่องยังค้างคาอยู่ที่เรื่องการปักปันกับทุกประเทศ ยังไม่ได้ข้อยุติโดยสัตยาบันของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งหมดจึงเป็น work in process เพราะฉะนั้นแผนที่อันใดก็ตามแต่ที่ท่านทั้งหลายชี้ไป คือแผนที่ที่อนุมานตามสนธิสัญญา ตามหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ตามข้อตกลงที่บันทึกเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีการปักปันจากหลักเขตหนึ่ง ไปหลักเขตหนึ่งที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ยังเป็น work in process ทั้งหมดนี้คือ legacy จาก colonial period

แนะขยับข้อตกลง-เคารพภาวะอารมณ์
ทางแก้ไขมีอยู่ 2 อย่าง ซึ่งอันหนึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว ส่วนอีกอันหนึ่งยังเป็นไปได้ ทางหนึ่งคือ กลับไปก่อนยุคอาณานิคม (colonial period) สมัยที่บรรพบุรุษของเรายังกราบไหว้บูชาสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน โดยไม่เคยคำนึงถึงพรมแดน เพราะแผนที่ มาพร้อมกับ colonialism คอนเซปท์เรื่องแผนที่ มากับลัทธิอาณานิคม ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสกับอังกฤษ เป็นการเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรา ต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนโดยเอาแผนที่มาให้เห็น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นทางหนึ่งคือถอยกลับไปก่อนมีการกำหนดแผนที่ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้แล้วในขณะนี้ แต่อย่างน้อยๆ สปิริตของมันน่าจะนำมาใช้ได้ คือยอมรับว่าคนทั้ง 2 ฟากฝั่งของเขตแดน (boundary) ซึ่งเกิดขึ้นโดยข้อตกลงตามอำนาจที่รัฐบาลพึงมี ก็ออกมาเป็นสนธิสัญญา ออกมาเป็นแผนที่ประกอบท้ายสนธิสัญญา แต่ในความเป็นจริงคือไม่เคยเดินจากหลักถึงหลัก ไม่เคยเดินตามร่องน้ำ ไม่เคยเดินตามสันปันน้ำ ทำกันเพียงบางส่วนแต่ยังไม่เสร็จ จึงยังถือว่ามันเสร็จสิ้นจบแล้วไม่ได้ แต่เป็นสปิริตของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนบ้าน

วิธีที่ 2 คือ รอให้อาเซียนเป็นประชาคม (community) เหมือนในสหภาพยุโรป เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่เคยใช้เป็นคำเตือน กรณีที่ผมแก้ไขเรื่องเนิน 491 สมัยผมเป็นรมช.ต่างประเทศ เป็นเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจน ผู้ใหญ่ในแผ่นดินให้แนวคิดว่าในยุโรป มีรั้วที่เลื่อนได้เหมือนรั้วจราจร เดินทางข้ามประเทศกันได้ ถ้าเขาอยากจะตรวจก็ขอตรวจ แต่โดยปกติแล้วแทบจะไม่มีเส้นเขตแดน เพราะต้องการให้เกิดการไหลของประชากรได้ โดยไม่ต้องมีวีซ่า พาสปอร์ต เดินทางได้ทั่วยุโรป ดังนั้นต้องรออาเซียนเป็นประชาคม เขตแดนไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะต้องบูรณาการทางเศรษฐกิจต่อกัน ผลประโยชน์จากการมีพรมแดนติดกัน นั่นคือสปิริตหนึ่งของอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

เผอิญว่าประเทศไทยอยู่ตรงกลางไข่แดงของอาเซียน จึงมีประเด็นปัญหากับเพื่อนบ้านหลายคู่มากกว่าคนอื่น
ชาตินิยม อารมณ์ การเมือง เป็นปัจจัยที่มาเร่งมันคือ work in process ที่เราทำอยู่ในขณะนี้ ชาตินิยมดีในบางเรื่อง บางวาระ แต่ในอดีตดีกว่าปัจจุบัน เพราะบรรยากาศของโลกมันเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะกฎเกณฑ์เปลี่ยนไปแล้ว ชัดเจนว่าแม้แต่คอนเซปชาตินิยม ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลาสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้น การพูดเจรจาหาโอกาส หาข้อยุติ ด้วยสติ ปัญญา สมาธิ ด้วยหลักฐาน ด้วยข้อเท็จจริง เป็นวิธีเดียวที่จะนำไปสู่ข้อยุติให้การแก้ปัญหา มิเช่นนั้นจะหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะรีบไม่ได้ เร่งไม่ได้ ต้องไปตามขั้นตอนและกระบวนการ บ่อยครั้งความแตกต่างเรื่องเทคโนโลยีที่มีอยู่ก็เป็นปัญหา เช่น เราบอกว่าเราใช้หลักฐานอ้างอิงโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรามี แต่เขาบอกว่า เขาไม่มี เขาไม่พร้อม เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเทคนิคก็เป็นปัญหาเหมือนกัน จึงต้องใช้เวลาให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่จะต้องเจรจาด้วย มีความมั่นใจว่าทุกหลักฐาน ทุกเทคโนโลยี ทุกเอกสารอ้างอิง ทุกแผนที่ สามารถสร้างความมั่นใจให้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายก็ต้องเสนอหลักฐานเหล่านี้เพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเอาหลักฐานทั้งหมดมาพูดกันบนโต๊ะด้วยจุดประสงค์ของการหาทางออกด้วยสันติและมิตรภาพ มิฉะนั้นมันไม่สิ้นสุด

ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ถ้าตกลงกันจุดใดไม่ได้ ก็ไปตกลงกันจุดอื่นได้ไหม ขยับกันเพื่อให้มีข้อยุติ ต้องใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจา เช่น วัดจีน ที่ปาดังเบซา ทำที่ล้างจานล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 เมตร จะให้ย้ายหรือทำลายสิ่งที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมพิธีการเป็นเวลาหลายสิบปีอย่างนั้นหรือ ทำไม่ได้ เพราะภาวะอารมณ์ (emotion) มันแรง เคารพในภาวะอารมณ์ ถือเป็นปัจจัยในการเจรจาเหมือนกัน เราจะยอมรับไม่ปรับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ปรับตรงอื่นได้ไหม ฉะนั้น ตลอดแนว ต้องยอมรับว่ายังไม่ define (กำหนด) ยังไม่ demarcate (ปักเขต) และ delineate (ขีดเส้น) ชัดเจน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน 100 ปีนี้ ทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปกติสังคมมนุษย์

การที่สังคมตื่นตัวเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องดี สังคมประชาธิปไตยต้องการการมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกผูกพันกับข้อตกลงต่างๆที่พึงเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทำในนามของเราทุกคน แต่เราต้องเตรียมหลักฐานนำไปสู่การเจรจาพร้อมจะอะลุ่มอะหล่วย เพราะทุกอย่างยังไม่ตายตัวแต่เป็นมรดกในอดีต เราใช้อารมณ์ความรู้สึกของหมู่คณะของพวกไม่ได้ ท้ายที่สุดต้องใช้หลักฐาน เป็นประโยชน์ร่วมสร้างสปิริตอาเซียนสุดท้ายจะนำไปสู่ความปรองดองของประชาคมอาเซียน

ส่วนสัตยาบันของอาเซียนที่เกิดขึ้นช้าที่สุดคือประเทศประชาธิปไตย ที่ช้าสุดคือประเทศไทย เพราะไม่รู้จะเอาเข้าสภาตอนไหน

จากโลกาภิวัฒน์ ถอยหลังกลับไปทะเลาะเรื่องเขตแดน
ด้าน จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ เกิดขึ้นไม่นานเมื่อถึงจุดหนึ่งก็สวิงไปสู่ชาตินิยมที่รุนแรง ไม่สนใจข้อเท็จจริง เอาแต่ความรักเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพิ่งพูดกันเรื่องโลกาภิวัตน์ แล้วจู่ๆ ก็กลับมามีปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีแค่เรื่องดินแดน แต่มีการทูตเชิงวัฒนธรรม เชิงเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระดับประชาชน ที่ไม่ได้ขึ้นกับเส้นบนแผนที่ เพราะระดับประชาชนมีความเกี่ยวดองกัน และความสมพันธ์ด้านรัฐก็มี Cultural Diplomacy ปัจจุบันตนเองก็ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเห็นด้วยกับสิ่งสร้างสรรค์เชิงบวก การให้การศึกษาสาธารณะในมุมกว้าง

ส่วนอารมณ์ความรู้สึกการเมืองที่วุ่นวาย จิระนันท์ กล่าวว่า สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมบริโภคนิยมไปเป็นสังคมบริภาษนิยม เพราะพูดอะไรออกไปก็โดนด่า และรู้สึกละอายใจที่ต้องนิ่งเสียตำลึงทอง ทั้งที่ไม่อยากได้ทอง แต่ต้องนิ่ง แล้วตอนหลังทำเรื่องทัศนศิลป์แล้วรู้สึกแฮปปี้มาก ไม่ต้องใช้ถ้อยคำที่ถูกนำไปตีความ

ที่ปรึกษารัฐบาลไทย ชี้ปัญหาเปิดเผยข้อมูลเจรจา จากมาตรา 190
พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ และที่ปรึกษารัฐบาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทะเลและเขตแดนทะเลมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน กล่าวว่าประเด็นเรื่องเขตแดนในการเมืองไทยจุดติดง่ายเหลือเกิน ในอดีต สงครามอินโดจีนก็เรื่องเขตแดน ก่อนจะขึ้นศาลโลกก็เรื่องเขตแดน ศาลโลกตัดสินแล้วก็เขตแดน ความจริงสมัยล่าอาณานิคมประเทศไทยเราไม่ได้เสียเอกราช แต่เราบอบช้ำและความเจ็บปวดในการสูญเสียห้าแสนตารางกิโลเมตรให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษทำให้เรามีบาดแผลลึกอยู่ในอารมณ์ ฉะนั้น ใครจะจะเป็นนักการเมืองก็นำเรื่องเขตแดนไปใช้ปลุกม็อบได้ผล ถ้าต้องการปลุกม็อบด้วยเรื่องนี้ก็ใช้ได้ผลทุกครั้ง เช่นเรื่องปราสาทพระวิหาร ข้อมูลสับสนอลหม่าน เพราะคนอ่านคำพิพากษาและเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ครบ ฉะนั้นใครพูดอะไรก็เชื่อเพราะเอาแต่ฟังเขาเล่า ใครเล่าก็เชื่อหมด

ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศจะวางกรอบเอาไว้อย่างหลวมๆ เหตุผลเพราะเมื่อเวลามีอะไรจะได้คุยกันได้ระหว่าง 2 ประเทศที่เจรจากัน

นอดีต เราจะไม่เห็นการโจมตีกันของการเมืองภายในประเทศเอาเรื่องเขตแดนมาโจมตีกันเองโดยเฉพาะเมื่อเข้าสภาแล้วจะไม่เอาเรื่องเขตแดนมาตีกัน เพราะการปฏิบัติในอดีตพรรคการเมืองแยกการรักษาผลประโยชน์ของพรรคกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติออกจากกันได้ ไม่โจมตีเพื่อผลประโยชน์ของพรรคจนไปกระทบผลประโยชน์ของประเทศ ผมเคยเจรจาเขตแดนทางทะเลซึ่งให้สัตยาบันไปหมดแล้ว ไม่มีข่าวออกมาโจมตีในสิ่งที่ผมทำ รวมทั้งการประชุมในสภา ก็เห็นชอบทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะสมัยก่อนพรรคการเมืองเขาไม่เอาเรื่องผลประโยชน์ของประเทศระดับนี้ไปเล่นการเมือง เมื่อเราเจรจากลับมา ก็จะหอบเอกสารไปอธิบายที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ให้โอกาสซักถามในพรรค ไม่ต้องซักในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าพูดในสภาแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะส่งผลต่อการเจรจาระหว่างประเทศซึ่งมีได้มีเสีย ฉะนั้น อย่าซักในสภา ให้ซักถามได้เวลาไปอธิบายในพรรค เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่สมัยนี้ ก็มีเจรจาเขตแดนทางทะเลแต่ผมจะไม่ยอมเป็นเจ้าหน้าที่เจรจาให้เด็ดขาดเพราะผมกลัว เดี๋ยวจะโดนรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ขณะนี้เราเล่นกันไม่เลือกเวทีเลย เราตีกันเอง เหมือนกับไปตีกันที่ศรีสะเกษให้เขมรดู จำได้ไหม มีใครจะบุกเข้าไปและมีพวกที่ไม่ยอมให้บุกเข้าไป ส่วนเขมรก็นั่งกอดเข่าดูคนไทยตีกัน

สำหรับการแบ่งเส้นเขตแดนทำได้หลายวิธี เช่น เส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ทำได้ถึง 20 กว่าวิธี ขึ้นอยู่กับจะใช้วิธีไหน มี 20 ซินาริโอ เพราะฉะนั้น ขอฝากไปถึงใครก็ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ท่านไม่เคยนั่งอยู่ในห้องเจรจาเขตแดน ท่านไม่รู้ด้วยว่าการเจรจาเขตแดนเจรจายังไง ผมบอกท่านว่าผมมี 20 วิธี แล้วท่านจะให้ผมมาบอกท่านว่าทั้ง 20 วิธีทำยังไง แบบนี้กัมพูชาหรือประเทศที่เราจะไปเจรจา ก็นอนกระดิกตีนสิ ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาแล้ว เพราะเอาจากบันทึกการประชุมสภาไทยก็พอแล้ว อย่ามาบอกว่าประชาชนต้องรู้รายละเอียดเรื่องเขตแดน ผมพูดในที่ประชุมกรรมาธิการ ในสภา บอกว่าเรื่องบางเรื่องผู้แทน(เจรจา)ต้องทำหน้าที่ผู้แทน(เจรจา) คุณจะคิดว่าคนขับแท็กซี่หรือแม่ค้ากล้วยแขกจำเป็นจะต้องมารู้เรื่องเทคนิคเจรจางั้นหรือ

ความสัมพันธ์เพื่อนบ้านต้องการอารมณ์ที่หลากหลาย
ด้านประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายคนพูดว่าปัญหาคือเรามีอารมณ์ แต่ผมคิดว่า ปัญหาคือเราขาดอารมณ์ เราขาดอารมณ์ที่หลากหลาย เช่นอารมณ์ขัน หรืออารมณ์อื่นๆ ที่จะช่วยให้เรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น แต่เรากลับมีอารมณ์หลากหลายน้อยเกินไปในการจัดการความขัดแย้ง

ผมคิดว่าพูดไปอย่างนี้เราก็รู้ตอนนี้มันยาก อย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกว่าประเด็นปัญหาเรื่องนี้มันเกิดขึ้น ในสภาวะที่การเมืองตอนนี้มีความอ่อนไหวอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราเอง ตั้งแต่ต้นประเด็นนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการที่จะโจมตีฝ่ายตรงข้าม เป็นประเด็นทางการเมืองตั้งแต่ต้น ซึ่งยังไม่เห็นวี่แววว่า สภาวะทางการเมืองของเรา ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วที่ยังไม่นิ่ง จะไปสิ้นสุดตรงไหน โดยความขัดแย้งเรื่องไทย-กัมพูชามันเป็นส่วนหนึ่งไปแล้วของการต่อสู้ภายในประเทศ ไม่ใช่ไทยกับกัมพูชาเท่านั้น มันเป็นการต่อสู้ภายในประเทศ ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ตราบใดที่การเมืองแบ่งขั้วไม่นิ่งอย่างนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องพื้นที่ทับซ้อนพวกนี้ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เสมอ

สำหรับผมคิดว่าตราบใดที่สภาวะการเมืองภายในประเทศไม่คลี่คลาย ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารหรือเขตแดนจะยังอยู่ เพราะจะคลี่คลายได้ก็เมื่อสภาวะการเมืองนิ่งทั้งคู่ในคู่ขัดแย้งขณะนั้น

ในทางรัฐศาสตร์ จริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำบาปมาตลอด ก็คือเราสอนสิ่งผิดๆ ให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐหรือรัฐชาติ ถ้าใครเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก็ต้องเริ่มจากว่ารัฐคืออะไร เราจะต้องเริ่มจากว่ารัฐคืออะไร ซึ่งอันนี้เป็นรัฐศาสตร์เบื้องต้น รัฐชาติคืออะไร แล้วตามตำรา ก็จะบอกว่า มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ รัฐบาล อำนาจอธิปไตย ประชากร และดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งตรงนี้เป็นมายาคติใหญ่หลวงที่วิชารัฐศาสตร์ ผลิตไว้ให้แก่มนุษยชาติ เป็นมายาคติ เพราะในความเป็นจริง เขตแดนของรัฐชาติไม่เคยนิ่ง ทุกรัฐชาติ มีหดมีขยายตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้ บางครั้งบอกไม่ได้ว่าตรงไหนเป็นของไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตัวเขตแดนมันชัดเฉพาะบนแผนที่เท่านั้น พอไปสู่พื้นที่จริงมันไม่เคยชัดด้วยเหตุผลหลายประการ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยน หลักเขตแดนไม่ชัดเจน ขณะที่ในยุโรปหรือประเทศจำนวนมากในโลกนี้อยู่กับเพื่อนบ้านตัวเองโดยการที่ยอมให้มีการคลุมเครือเอาไว้ เพราะหลายจุดหลายที่ถ้าทำให้ชัดเจนหมด เราก็ต้องรบกับเพื่อนบ้านตลอดเวลา ต้องปวดหัวตลอดเวลา ฉะนั้นบางพื้นที่ต้องปล่อยเอาไว้ ท้ายที่สุดก็ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ต้องแบ่งให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะทะเลากันไปไม่รู้จบ เป็นผลผลิตของรัฐชาติสมัยใหม่ที่อยากจะมีเขตแดนที่ชัดเจน แต่มันยากที่จะทำให้ชัดเจน ขณะที่ กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดหลวมๆ จะสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ให้ระหว่าง 2 ประเทศอยู่ร่วมกันได้

คนเริ่มพูดถึงชาตินิยมน้อยลง แต่หันไปพูดเรื่องภูมิภาคนิยมหรือโลกานิยม คือการอยู่ร่วมกันโดยคิดถึงมนุษยชาติเป็นหลักและลดความเป็นชาติลง ซึ่งพรมแดนเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการที่จะทำให้เราก้าวข้ามพ้นจากรอบเรื่องชาติไปสู่เรื่องอะไรที่ใหญ่ขึ้น ทุกวันนี้สงครามระหว่างประที่เทศมาสู้รบกันด้วยอาวุธ แทบจะสูญพันไปจากการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ฉะนั้นใครคิดในโหมดว่า การใช้กองทัพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งประเทศเพื่อนบ้าน อยากจะให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ หรือควรจะสูญพันไปเลย เพราะทุกประเทศรู้ว่าเวลามีสงครามมันมีราคาที่ตามมาและเป็นราคาที่แพง

ปัญหาใหม่กับวิธีคิดเรื่องเขตแดน
ขณะที่ ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรามักจะมองประวัติศาสตร์ว่าสยามเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกโดยฝรั่งเศส แต่งานประวัติศาสตร์ในช่วงหลังค่อนข้างชัดว่ารัฐจารีตแบบเก่าของเราก็มีความเป็นจักรวรรดินิยมในความหมายแบบหนึ่งด้วย เราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่าเราไปตีคนอื่น เราไม่ค่อยรู้มากนักว่าเราไปทำอะไรกับลาวไว้บ้าง ซึ่งความจริงเราจำเป็นต้องสถานะจารีตของสยามว่าเราคืออะไร รวมทั้งการเซ็นสนธิสัญญาในปี 1907 เป็นผลจากความพยายามตกลงผลประโยชน์ โดยชนชั้นนำไทยตกลงผลประโยชน์กับชาติตะวันตกแล้ว ถ้าไม่มีความรู้ชุดนี้เราก็คิดเพียงแต่ว่าเราเสียดินแดน ซึ่งเป็นเชื้อมูนสำคัญที่สังคมไทยคิดต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นอคติที่เป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้น เรื่ององค์ความรู้มีความจำเป็นในการแก้ปัญหา

ในอนาคต เราอาจจะต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนกันใหม่ มีปัญหาใหม่ เช่นอิทธิพลของจีน ที่มีบทบาทต่อลาวเวียดนามกัมพูชาพม่า รวมถึงการสร้างเขื่อนของจีน ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อาจจะมีผลกระทบที่มาจากเขื่อน จะทำให้เรามีวิธีคิดเกี่ยวกับเขตแดนด้วยวิธีใหม่เพราะมีปัญหาใหม่หรือเปล่า ผมคิดว่าเป็นอีกอันที่เราจำเป็นต้องคิดกับมันในอนาคต

แนวทางแก้ปัญหา ควรลืมไปซะว่าเราเสียดินแดน เพราะความจริงเราไม่ได้เสียดินแดน ถ้าเราลงไปดูประวัติศาสตร์ดีๆ มายาคติเรื่องเสียดินแดนทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปมาก รวมทั้งทัศนะในการมองประเทศเพื่อนบ้านต้องขยายออกไปให้มากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สร้างความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม เริ่มจากที่ตัวเราก่อน

000

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าวนี้ว่า ได้รับความสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้จัดทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2553-54 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารคดี การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกอบรม” และมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ดร. พิภพ อุดร เป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าโครงการฯ ดังมีรายชื่อ ต่อไปนี้

1. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน: กัมพูชา–ลาว–พม่า–มาเลเซีย (Collected Treaties – Conventions –Agreements – Memorandum of Understanding and Maps Between Siam/Thailand – Cambodia – Laos – Burma – Malaysia) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

2. ศาลโลก–ศาลอนุญาโตตุลาการ กับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (International Court of Justices– Permanent Court of Arbitration)โดย พนัส ทัศนียานนท์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, วิพล กิติทัศนาสรชัย

3. เขตแดนเวียดนาม–จีน–กัมพูชา–ลาว (Boundaries of Vietnam-China-Cambodia-Laos)โดยพิเชฐ สายพันธ์ และ สุริยา คำหว่าน

4. เขตแดนจีน–รัสเซีย–มองโกเลีย (Boundaries of China–Russia and Mongolia) โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์และ รณพล มาสันติสุข

5. เขตแดนฝรั่งเศส–เนเธอร์แลนด์–แม่น้ำดานูบ (Boundaries of France–The Netherlands and The Danube River) โดย มรกต เจวจินดา ไมเออร์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ

6. เขตแดนสยามประเทศไทย–มาเลเซีย–พม่า–ลาว–กัมพูชา (Boundaries of Siam/Thailand–Malaysia – Burma–Laos –Cambodia) โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาค ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, อัครพงษ์ ค่ำคูณ

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ

1. ผลิตงานวิชาการในรูปแบบที่เป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ที่เข้าใจง่าย ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการ ครบถ้วนเกี่ยวกับองค์กร (ศาลโลก-ศาลอนุญาโตตุลาการ) สถานะและแนวทางการแก้ไขปัญหา เขตแดน-พรมแดน-ชายแดนระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศต่างๆที่มีเขตแดน-ชายแดน-พรมแดนติดต่อกัน ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น เวียดนาม จีน รัสเซีย มองโกเลีย ตลอดจนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแม่น้ำดานูบ โดยครอบคลุมตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในการแก้ปัญหาเขตแดน-พรมแดน-ชายแดน

2. นำผลงานวิชาการที่สำเร็จเป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” แจกจ่ายอภินันทนาการ (ไม่มีจำหน่าย) ให้กับห้องสมุดมหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสังคมและรัฐ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนหน่วยละ 3,000
3. ดำเนินการจัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในรูปแบบของการเสวนา ประชุมปฏิบัติการ การฝึกอบรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554

4. ดำเนินการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของประชาชนและสังคมไทย และสร้างความตื่นตัวถึงบทบาทการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน กับสถาบันการศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการมีความสัมพันธ์อันดีในฐานะ “ประชาคมอาเซียน” ร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน ตลอดจนการหาวิถีทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีฉันท์มิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกันในโลกสมัยปัจจุบัน

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขอขอบคุณความร่วมมือและความสนับสนุนที่ได้จากองค์กรของรัฐ เอกชน และตัวบุคคล อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวง การต่างประเทศ ตลอดจนข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบันนิรนามหลายท่าน ขอบคุณกรมแผนที่ทหาร กองบัญชากองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจน “กัลยาณมิตร” ต่างรุ่นต่างวัย ที่มีส่วนทั้งร่วมงานโดยตรง มีทั้งส่วนช่วยเหลือ ช่วยผลักดัน และให้คำแนะนำกับ “กำลังใจ” ในการดำเนินการโครงการฯ ที่ค่อนข้างใหญ่โตและอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-และการเมืองที่อ่อนไหวและเปราะบางในปัจจุบัน

เราหวังว่า “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ จะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด สติปัญญาให้กับเราๆ ท่านๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ “เขตแดน-พรมแดน-ชายแดน” ของ “รัฐสมัยใหม่” ที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่มีมาจากอดีต มาจากการกระทำของบรรพชน ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ที่เราอาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังอยู่กับเราในปัจจุบัน และจะคงยังมีต่อไปในอนาคต ที่เราจะต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขต่อไปทั้งนี้เพื่อเยาวชน-คนหนุ่มคนสาว-ลูก-หลาน-เหลน-โหลน “คนรุ่นใหม่” กับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา

เรามีความหวังตามปณิธานของผู้ก่อตั้งของเรา คือ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 (1966) เป็นต้นมา ยึดมั่นเป็นแนวทางของวิชาการตามพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” และแปลเป็นไทยว่า “แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี” นั่นเอง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

12 องค์กร ร่วมทำ “เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน” หนุนเปิดเขื่อนปากมูลถาวร

Posted: 13 Jan 2011 11:32 PM PST

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน 12 องค์กร ออกแถลงการณ์ “เปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพื่อชีวิตของคนอีสานทุกลุ่มน้ำ” หลังเวทีระดมความคิดปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ ชี้รวมตัวเป็นเครือข่าย มุ่งผลักดัน 3 ข้อเสนอ ฟื้นฟู-ชดเชยอย่างเป็นธรรม เปิดเขื่อนปากมูลถาวร พร้อมให้ยกเลิกโครงการโขง-ชี-มูล

 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์
เปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพื่อชีวิตของคนอีสานทุกลุ่มน้ำ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
วันที่ 13 มกราคม 2554
 
พวกเราเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในทุกลุ่มน้ำในอีสาน ได้มาประชุมกันในเวทีระดมความคิดเพื่อปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป พวกเรามาระดมความคิดถึงสาเหตุ ปัญหา และข้อเสนอต่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ที่หอประชุมคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
 
พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันว่า
 
1) ปัญหาการจัดการน้ำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมอย่างผิดปกติ การขาดแคลนน้ำ มาจากโครงการจัดการน้ำของรัฐ เช่น โครงการโขง-ชี-มูล ที่สร้างปัญหากับระบบนิเวศอีสาน และวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เข้าใจระบบนิเวศ และไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แม้เมื่อเกิดผลกระทบแล้วก็ไม่ดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และชดเชยให้กับประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
 
2) พวกเราเห็นว่า ต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เนื่องจากปัญหาเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูลขณะนี้ได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว ทั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้น และประชาชนในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำต่างๆ ว่า จะต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนให้กลับคืนมา ไม่เพียงแต่เฉพาะลุ่มน้ำมูนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ในภาคอีสาน
 
3) พวกเราเห็นว่า รัฐจะต้องยุติโครงการโขง-ชี-มูล และโครงการผันน้ำต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศโดยทันที ชดเชยผลกระทบทั้งหมด และฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน
 
พวกเราตกลงว่าจะรวมตัวเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำอีสานเพื่อผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้บรรลุอย่างรวดเร็ว และติดตามตรวจสอบนโยบายและโครงการจัดการน้ำของรัฐ สร้างข้อเสนอนโยบายที่ประชาชนในลุ่มน้ำอีสานจะจัดการร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาของตนเอง
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน 12 องค์กร 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น