โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เครือข่ายวิชาการฯ แถลงข่าว กรณี “อียู” แบน “ผักไทย” เหตุพบสารเคมีตกค้าง แต่ไม่กำกับควบคุม

Posted: 24 Jan 2011 01:41 PM PST

วันนี้ (25 ม.ค.54) เครือข่ายวิชาการเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท) Thailand Pesticide Alert Network (TPAN) ที่ประกอบด้วยนักวิชาการด้านสารเคมีการเกษตร นักการแพทย์ และองค์กรด้านสาธารณะประโยชน์ เตรียมจัดแถลงข่าว ‘นัยอียูแบนผักไทยกับการไม่ขึ้นทะเบียน 4 สารเคมีเกษตรสุดอันตราย’ ณ ห้องนนทรี 2 ชั้น 4 อาคารเคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเวลา 10.00 น.เพื่อร่วมกันกำกับควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ให้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนในผลผลิตอาหารที่จำหน่ายในประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยด้วย

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในพืชผักไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจนแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกือบหมื่นราย ทว่าในแง่การส่งออกยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติมหาศาล ดังที่ประเทศไทยจะระงับ (แบน) การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรป (EU) ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ ถึง 5 กลุ่ม 16 ชนิด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า กลุ่มที่ 2 พริก กลุ่มที่ 3 มะระจีน มะระขี้นก กลุ่มที่ 4 มะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือขื่น และกลุ่มที่ 5 ผักชีฝรั่ง เพื่อป้องกันผลกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่า 4 ล้านล้านบาท
 
ทั้งนี้ แม้มีการแจ้งเตือนว่ามีสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ของไทยในระบบเตือนภัย RASFF (rapid alert system for food and feed) โดยสหภาพยุโรปถึง 55 ครั้งในปี 2553 ที่ก้าวกระโดดจาก 26 และ 25 ครั้งในปี 2550 และ 2552 ตามลำดับ อันเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ประเทศไทยยังคงใช้สารเคมีเกษตร 4 ชนิดที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ประเทศไทยเองกลับไม่มีมาตรการในการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวเหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ต่างแบนสารเคมีเหล่านี้เพื่อปกป้องสุขภาพผู้บริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนตลาดส่งออกสินค้าเกษตร
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำโอกาสการศึกษา-ค่าจ้างแรงงาน ในระยะยาว

Posted: 24 Jan 2011 01:16 PM PST

ทีดีอาร์ไอวิจัยพบโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่เหลื่อมล้ำสัมพันธ์กับค่าจ้าง แนะทางแก้ยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่การกระจายให้ทั่วประเทศ ชี้เรียนฟรี 15 ปี ก็เทียบไม่ได้กับปีการศึกษาที่มีคุณภาพดี

 
ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาของแรงงานไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจและสังคมไทยมาโดยตลอดในช่วงปี 2529 ถึง 2552 หากมองความมั่นคงของชีวิตในอนาคต โดยดูจากอาชีพและรายได้เป็นหลัก พ่อแม่คงเลือกให้ลูกได้เรียนจบในระดับปริญญา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทางรายได้มากกว่าผู้จบในระดับมัธยมปลาย ปวช., ปวส. เพราะระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับค่าจ้างหรือรายได้ที่จะได้ในอนาคต 
 
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ ได้ทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับแนวโน้มของค่าจ้างในประเทศไทย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของการศึกษาเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และรายได้ของครัวเรือนเชื่อมโยงกับการศึกษา จึงทำการศึกษาโดยดูเรื่อง การเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาในระดับต่างๆ กับแนวโน้มของค่าจ้างของกลุ่มการศึกษาต่างๆ และดูการเปลี่ยนแปลงของความไม่เท่าเทียมกันในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2529-2552) 
 
ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมรัฐบาลสามารถขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้คนไทยมีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5 ปีในปี 2529 เป็น 8 ปีในปี 2552 และในตลาดแรงงานก็พบว่ามีแรงงานกลุ่มจบประถมและมัธยมต้นน้อยลง และมีแรงงานที่จบ ม.6 และระดับปริญญาเพิ่มขึ้น 
 
แต่เมื่อดูว่ากลุ่มคนแบบไหนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนแบบไหนที่ยังมีการศึกษาระดับต่ำอยู่ โดยดูความเชื่อมโยงเรื่องการศึกษาและรายได้ของพ่อแม่ พบว่า ในครอบครัวที่พ่อแม่การศึกษาสูง เด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับการศึกษาขั้นสูงไปด้วย และเมื่อดูรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนโดยพิจารณาจาก รายได้แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือนของผู้จบระดับ ม.6 (รายได้ 3,600 บาทต่อเดือน) เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือนของผู้จบในระดับมหาวิทยาลัย (7,000 บาทต่อเดือน) พบว่ามีความแตกต่างกันเกือบสองเท่า และที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำนี้แทบจะไม่ได้ลดลงเลย รัฐบาลประสบความสำเร็จในการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึง แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือเรื่องคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะตราบใดที่ยังมีความแตกต่างด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อยกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรมาก ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงจะยังคงมีมากต่อไป 
 
ผลการศึกษาชี้ชัดว่าระดับการศึกษาของคนจนไปติดอยู่ที่มัธยมไม่สามารถก้าวสู่อุดมศึกษาได้ สาเหตุหลักมาจากเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว คุณภาพโรงเรียนและคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน อีกทั้งจำนวนปีการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น (ปัจจุบันมีเรียนฟรี 15 ปี) ก็เทียบไม่ได้กับปีการศึกษาที่มีคุณภาพดี อย่างไรก็ตามการแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องดูว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะไปยกระดับโรงเรียนทั่วประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกันได้หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะยาวต่อไป 
 
จะเห็นว่าเรื่องโอกาสทางการศึกษาสัมพันธ์กับค่าจ้าง คนที่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม จะทำให้เขาเสียเปรียบด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษา อาจจะเป็นทั้งคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงอุดมศึกษาด้วย และส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อเข้ามาสู่ตลาดแรงงานก็มีความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือค่าจ้าง ที่ผ่านมารายได้ระหว่างกลุ่มอุดมศึกษากับกลุ่มมัธยมห่างกันขึ้นเรื่อยๆ ค่าจ้างของผู้จบอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณ 150% แต่ค่าจ้างของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มระดับอุดมศึกษา 
 
ดร.ดิลกะ กล่าวว่า หากจะลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับค่าจ้างแรงงานให้มีความสมดุลมากขึ้น ควรเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่การกระจายให้ทั่วประเทศแต่ต้องคำถึงคุณภาพที่เท่าเทียมกันด้วย และผลิตคนที่ จบ ปวช.,ปวส. ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้วควรมีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น และต้องเป็นการทำต่อเนื่อง จึงจะเกิดผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาและค่าจ้างได้ในระยะยาว 
 
นอกจากนี้ควรมีการทบทวนนโยบายการอุดหนุนการศึกษารายหัวในระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นการอุดหนุนค่าเล่าเรียนแบบถ้วนหน้า โดยรัฐอุดหนุนผ่านสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 70% ผู้เรียนจ่ายเองเพียงประมาณ 30% เท่านั้น แต่เนื่องจากคนที่ได้เข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว อีกทั้งคนเหล่านี้ยังคงได้เปรียบต่อเนื่องในรูปของค่าจ้างที่สูงกว่าเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น การปรับค่าเล่าเรียนให้สะท้อนต้นทุนการผลิตบัณฑิตที่แท้จริงมากขึ้นนั้นจึงมีความจำเป็น และจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้คนที่มีความสามารถแต่ยากจนไม่ถูกกีดกันจากการเข้าถึงอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ
 
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการปฏิรูปค่าเล่าเรียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับและไม่ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐควรทำคือการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพดีในทุกพื้นที่ของประเทศ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนการรถไฟลงใต้เคลียร์ชุมชนบุกรุก แจงเตรียมพื้นที่เปิดทางรางคู่-ฟื้นทางสายเก่า

Posted: 24 Jan 2011 12:39 PM PST

ตัวแทนการรถไฟลงสุไหงโก-ลก สงขลาและหาดใหญ่ แก้ปัญหาชุมชนบุกรุกที่ดินรถไฟ เคลียร์ทางก่อรางคู่มาถึง ตัวแทนชุมชนยืนยันขอเช่าที่เพื่ออาศัยผ่าน พอช.

 
 
นายอุดร ขันชะสี (ซ้าย) และนายประยูร สุขเกษม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2554 นายอุดร ขันชะสี อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ นำนายประยูร สุขเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ ในฐานะตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ตัวแทนตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหาดใหญ่ กับอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
นายอุดร เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่และโครงการรื้อพื้นทางรถไฟสายสงขลา - หาดใหญ่ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ตนมาชี้แจง ทำความเข้าใจและพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนให้เคลื่อนย้ายออกจากแนวสันรางรถไฟในรัศมี 40 เมตร
 
นายอุดร เปิดเผยต่อไปว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ยืนยันจะเช่าที่ดินรถไฟผ่านองค์กรใด โดยชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในอำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส 5 ชุมชน ยืนยันว่าจะเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกับ พอช.เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้ พอช.เป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วให้ชุมชนเช่าจากพอช.อีกต่อหนึ่ง
 
สำหรับทั้ง 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนซารายอ ชุมชนโกลกวิลเลจ ชุมชนดงงูเห่า ชุมชนหลังด่านและชุมชนหัวสะพาน ทั้ง 5 ชุมชน ร่วมอยู่ในขบวนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)
 
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ กล่าวว่า ส่วนชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในตัวเมืองสงขลา ทางเทศบาลนครสงขลาได้ยื่นขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ชุมชนต่างๆ ด้วย จำนวน 12 ชุมชน แต่ปรากฏว่าเป็นชุมชนที่ซ้ำซ้อนกับที่ พอช.จะยื่นขอเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย และทั้ง 12 ชุมชน ยืนยันที่จะเช่ากับ พอช.เช่นกัน
 
ทั้ง 12 ชุมชนประกอบด้วยร่วมใจพัฒนา ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภารดร ชุมชนหลังอาชีวะ ชุมชนบ้านพรุ ชุมชนบ้านบน ชุมชนสมหวัง ชุมชนพาณิชย์สำโรง ชุมชนหัวป้อม ชุมชนศาลาหัวยางและชุมชนกุโบร์ 
 
นายอุดร กล่าวอีกว่า ในขณะที่ชุมชนทุ่งเสา - ท่ายาง ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ ตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชุมชนขนส่ง ชาวบ้านยืนยันที่จะขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ยื่นขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว เพื่อที่จะบริหารจัดการชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เอง
 
นายอุดร เปิดเผยด้วยว่า นายประยูร จะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ ซึ่งจะรับผิดชอบที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อจากตน ส่วนตนจะขึ้นไปรับผิดชอบทางภาคอีสานและภาคเหนือ
 
นายสุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม ตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2554 พอช.ได้ร่วมประชุมกังตัวแทนชุมชนทั้ง 12 ชุมชนดังกล่าว ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ที่เทศบาลนครสงขลา เพื่อหารือว่า ชุมชนใดจะเข้าร่วมขบวนในการแก้ปัญหากังองค์กรใด ระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือ สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)
 
“เบื้องต้นมีชุมชนที่ร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาคอยู่แล้ว ประกอบด้วยชุมชนกุโบร์ จำนวน 190 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 15 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนศาลาเหลือง ชุมชนสมหวังและชุมชนหัวป้อมโซน6” นายสุพัฒพงศ์ กล่าว
 
“ส่วนชุมชนที่ร่วมขบวน สอช. ประกอบด้วย ชุมชนกุโบร์ 155 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 12 ครัวเรือน ชุมชนหัวป้อมโซน 1 – 6 ชุมชนพาณิชย์สำโรง ชุมชนบ้านบน ชุมชนบ้านพรุ ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภารดรและชุมชนหลังอาชีวะ” นายสุพัฒพงศ์ กล่าว
 
นายนิธิป คงทอง ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม 4 ภาคเคยสอบถามในที่ประชุมว่าชุมชนไหนในเขตเทศบาลนครสงขลาต้องการเข้าร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาคบ้าง ปรากฏว่า มีตัวแทนชุมชน 5 – 6 ชุมชนยกมือ ประชุมจึงกำหนดให้แต่ละชุมชนออกแบบผังชุมชน จัดระบบสมาชิกและกำหนดอัตราค่าเช่า โดยจะปรับปรุงพื้นที่และขยับออกมาจากแนวรางรถไฟเดิม 5 เมตร
 
“เริ่มต้นชุมชนที่เข้าร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในอำเภอหาดใหญ่ มี 3 ชุมชน คือชุมชนเกาะเสือ1-3 ส่วนในตัวเมืองสงขลา คือ ชุมชนสมหวัง ชุมชนศาลาหัวยางครึ่งหนึ่ง ชุมชนกุโบร์ครึ่งหนึ่ง ชุมชนสมหวัง ชุมชนหัวป้อมโซน 6 และชุมชนร่วมใจพัฒนา” นายนิธิป กล่าว
 
นางละออ ชาญจาญจน์ ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เปิดเผยว่า มีสมาชิกของชุมชนกุโบร์ 190 ครัวเรือนได้เข้าร่วมขบวนกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ส่งผลให้ชุมชนกุโบร์เดิมที่ร่วมขบวนอยู่กับ สอช.แล้ว เหลือสมาชิกเพียง 155 ครัวเรือน
 
“เป็นความผิดของฉันเองที่ได้รับงบประมาณมาและชักชวนให้คนในชุมชนร่วมตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ต่อมาเมื่อชาวบ้านเห็นลู่ทางที่จะของบประมาณต่างๆ มากขึ้น จึงประสานกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและแยกตั้งกลุ่มออมทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน” นางละออ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยไม่ใช่เหลืองหรือแดง

Posted: 24 Jan 2011 12:24 PM PST

 
ต่อบทความเรื่อง “มายาคติ – ประชาชนยังไม่พร้อม” ของนักปรัชญาชายขอบ ในประชาไท ขอร่วมแสดงความเห็น เพื่อช่วยชี้ประเด็น และเพื่อให้เห็นทางสว่างร่วมกัน ตามที่ผู้เขียนอ้างถึง ขออภัยที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์วรเจตน์เรื่อง ร.๗ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพระยากัลยาณไมตรี จะยกร่างอย่างไร การที่พระองค์ท่านลงพระนามเห็นชอบในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามฉบับชั่วคราว ก็ถือว่าพระองค์ท่านเห็นด้วยในหลัก Democracy แล้ว ส่วนคณะราษฎรนั้น ถือว่าพลาดไปจริงๆ ที่ไม่ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้น หลังยึดอำนาจ แต่ได้สร้างระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) ขึ้นมาแทน (รธน.ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) เป็นต้นแบบการปกครองไทยจนปัจจุบัน เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยมาตลอด 
 
ส่วนความเห็นของทั้งอาจารย์ยิ้ม คุณสุริยะใส และนักปรัชญาชายขอบ นั้นมีประเด็นหลักวิชาที่เห็นว่ายังขาด และอยากแก้ไขและเติมเต็ม ให้สาธารณะได้เข้าใจเป็นหลักเสียก่อน ก่อนจะวิเคราะห์ปัญหาเรื่องสีเสื้อ ซึ่งเห็นว่าทั้งเหลืองและแดง ก็ยังเข้าใจผิดเรื่องประชาธิปไตยพอๆ กัน ทำให้เป็นปัญหามาจนคนบริสุทธิ์ตายกันหลายร้อยคนแล้ว
 
๑.ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่มันหมายถึงระบอบการปกครองดังนี้
 
(ก) ระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (ทั้งหลาย) (โดยประชาชนและเพื่อประชาชน) มันเป็นเรื่องของ "อำนาจอธิปไตยของชาติ" ไม่ใช่เรื่องของการมีการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ของทุกคนมิใช่เพียงของคนส่วนใหญ่ การลงคะแนน การตัดสินโดยเสียงข้างมากเป็นเพียงวิธีการเพื่อตัดสินเท่านั้น
 
กล่าวสุดโต่งคือ ถ้าไม่เลือกตั้งแต่ใช้การสรรหาคัดเลือกตัวแทนของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกวัฒนธรรม ให้ได้ครบถ้วน "อย่างบริสุทธิยุติธรรม" แล้วให้คณะผู้ได้รับคัดเลือกนั้น เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยของชาติ ก็ยังถือได้ว่าเป็นระบอบอำนาจแบบประชาธิปไตยได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกตั้งเสมอไป ความสำคัญของเรื่องประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ Representation ไม่ใช่ Election
 
(ข) ภายในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการประกันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองทั้งโดยกฎหมายและการปฏิบัติจริง หลักของ UN Declaration on Human Rights และ กฎหมายระหว่างประเทศ (ICCPR) ก็กำหนดเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพบริบูรณ์ไว้ประมาณ ๓๐ ประการ เช่นการคิด การแสดงออก การพูดการเขียน การเดินทาง การแสวงหาความสุข การไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น การไปเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง ฯลฯ เป็นต้น  
 
(ค) ระบอบประชาธิปไตยยึดหลักแห่งความเสมอภาค คนจะอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน (คือจะไม่มีกรณีแบบเขายายเที่ยง) ต้องให้โอกาสคนเท่าเทียมกัน (ตัดสิทธิทางการเมืองไม่ได้) และจะมีความเสมอภาคทางการเมือง (ทั้งทางเพศ ทางการศึกษา หนึ่งคนหนึ่งเสียง จะนำเอา รายได้ วุฒิการศึกษา มากำหนดคุณสมบัติผู้แทนไม่ได้) ฯลฯ
 
(ง) ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องยึดหลักนิติธรรมสากลและหลักกฎหมาย (Rule of Law) ที่จะต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ one-man-law ไม่ใช่รัฐสภาแบบ สนช. หรือยึดประกาศคณะคมช. หรือคณะใดๆ ให้เป็นกฎหมาย อำนาจประชาธิปไตยในแบบรัฐาธิปัตย์ อะไรอย่างนี้เขาไม่ถือเป็นกฎหมาย จะไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง ศาลต้องตั้งโดยชอบธรรม ต้องอิสระ สั่งไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดจะลงโทษไม่ได้ จะตีความโดยใช้พจนานุกรมก็ไม่ได้ ตามหลักนี้อาการของศาลไทยถือว่าหนักสุดในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา และ
 
(จ) หลักประชาธิปไตยจะต้องให้ผู้ปกครอง คือรัฐบาล รัฐสภา หรือผู้มีอำนาจในรัฐทั้งหลายมาจากการเลือกตั้ง หรือต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชน คือให้อำนาจเป็นที่ยอมรับของประชาชน นี่คือหลัก Elected Government (ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลหรือ ครม.ที่แปลจาก Cabinet) นี่คือหลักประชาชนต้องเป็นใหญ่กว่าอำนาจรัฐ ประชาชนสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ เปลี่ยนผู้ปกครองของเขาได้ ประชาชน จะถูกฆ่าเพราะการแสดงออกโดยความเห็นอย่างสันติไม่ได้
 
นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะอื่นๆ อีกที่เรียกว่าเป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย เช่น Fraternity คือ ภราดรภาพ คือการอยู่ร่วมกันฉันมิตร และ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือหลักในข้อแรก หรือข้อ (ก) ถ้าหากมีหลักนี้แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา
 
เรื่องพรรคการเมืองก็จะต้องอยู่เหนือรัฐเหนือกฎหมายเสมอ จะยุบพรรคไม่ได้ ถ้าหากพรรคได้อำนาจรัฐ พรรคจะยกเลิกกฎหมายหรือออกกฎหมายอะไรย่อมทำได้ พรรคจึงอยู่เหนือรัฐ จึงใช้กฎหมายอะไรมายุบพรรคไม่ได้ ผิดหลัก หลักประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนเสมอ ทั้งในการรวมกลุ่มกันตั้งพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นสิทธิ เหมือนสิทธิในการหายใจ จะไปเขียนเป็นข้อห้ามอะไรไว้ก็ไม่ได้ นาย ก.ทำผิดต้องลงโทษนาย ก.เท่านั้น จะไปยุบพรรคไม่ได้ ลูกบ้านหนึ่งคนทำผิด จะเขียนกฎหมายให้ยุบทิ้งทั้งหมู่บ้านมันผิดหลัก มันคนละเรื่องกัน ทำไม่ได้ กรณีของไทยมันผิด ทั้งที่กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งหมดทั้งหลายเพราะระบอบไทยๆมันไม่ใช่ประชาธิปไตย
 
แต่ที่อยากเน้นย้ำมากในที่นี้ คือการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงวิธีหาคนเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ เท่านั้น เป็นวิธีการประชาธิปไตยเท่านั้น ความจริงวิธีการเลือกตั้ง ก็มีและใช้กันทั้งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ อย่าได้หลงผิดว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง มันอาจจะเป็นวิธีการของระบอบเผด็จการก็ได้ 
 
เผด็จการคือระบอบการปกครอง ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อย หรือคนบางคน บางกลุ่ม 
 
ในกรณีของไทยอำนาจอธิปไตย หรือระบอบการปกครองเป็นของคนส่วนน้อยตลอดมา แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม เราก็จะได้เพียงตัวแทนในกลุ่มทุนและกลุ่มคนชั้นนำเท่านั้น เข้ามาเป็นผู้ปกครอง ประเทศสยามและประเทศไทย จึงยังไม่เคยได้สัมผัสกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เลยตลอด ๗๘ ปีที่ผ่านมา เพราะอำนาจการปกครองจริงๆ เป็นเพียงของคนส่วนน้อยเสมอมา
 
การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างหรือสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น ไม่ใช่การชุมนุมขอประชาธิปไตย "คืนมา" เพราะเมื่อไม่เคยมีจะขอคืนได้อย่างไร และการขอให้นายกยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาประเทศที่แท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบเผด็จการรัฐสภา ก. ไปสู่เผด็จการรัฐสภา ข. เท่านั้นเอง 
 
สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ระบอบการปกครองก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แม้ว่านโยบายหลายอย่างเป็นไป "เพื่อประชาชน" ก็ตาม ประชาชนถูกใจ ติดใจเพราะไม่เคยได้มาก่อน แต่โครงสร้างอำนาจก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเป็นระบอบที่อำนาจอยู่ในมือคนบางคนหรือคนส่วนน้อยเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงการบริหารจัดการที่ก้าวหน้ากว่า พรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มเผด็จการรัฐสภาอื่นเท่านั้น แต่รัฐบาลวันนี้ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิมเพราะเป็น "มือที่มองไม่เห็น" กำกับสั่งการได้ทุกเรื่อง คำว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น มันจึงไม่มีเลย 
 
นี่คือพื้นฐานแห่งปัญหาของไทย ปัญหาแห่งความขัดแย้งในชาติปัจจุบัน ปัญหาแท้ๆ คือเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจประชาชนกับอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ปัญหาพรรคไทยรักไทยสู้กับประชาธิปัตย์ ความจริงทั้งสองพรรคและพรรคการเมืองอื่นๆ ของไทยก็เป็นพรรคแห่งอำนาจคนส่วนน้อย หรือ "พรรคเผด็จการ" ทั้งสิ้น ถ้าพรรคเป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ขัดแย้งกับประชาชน ไม่ฆ่าประชาชน ถ้าเพื่อไทยวันนี้เป็นประชาธิปไตย ก็จะไม่ใช้วิธีการปรองดองหรือการนิรโทษกรรมให้แก่คนฆ่าประชาชน การฆ่าเป็นอาญาแผ่นดินจะไม่มีใครรับผิดไม่ได้ มันผิดหลักแห่งยุติธรรม (Rule of Law) เขาไม่ทำกันในระบอบประชาธิปไตย หากศาลในประเทศช่วยไม่ได้ ก็ต้องเป็นศาลระหว่างประเทศ ไม่วันนี้ก็วันหน้าที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว
 
๒.เรื่อง "ความพร้อมของประชาชน" กรุณาอย่าเข้าใจผิด คิดว่าถ้าจะเป็นประชาธิปไตยประชาชนต้องพร้อม ที่จริงประชาธิปไตยเป็นเรื่องของระบอบไม่ใช่เรื่องของบุคคล โดยความเป็นจริงระบอบประชาธิปไตย สร้างขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ระดับการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น ถึงระดับใด นั่นเป็นเพียงการหลอกประชาชนเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไป ให้ยาวนานของพวกอำมาตย์เผด็จการหรือพวกชนชั้นสูงเท่านั้น หลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ อาทิ ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่นอินเดียนั้น ประชากรเขาก็อ่านออกเขียนได้ไม่ถึง 50 % มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว 
 
ดังนั้นวาทะกรรม "ประชาชนยังไม่พร้อม" นั้นจึงไม่จริง จึงไม่ใช่ หลอกทั้งเพ จริงๆ แล้วคือ "พวกผู้ปกครองเผด็จการยังไม่พร้อม (จะไป)" ต่างหาก การกำหนดให้คนเป็น ส.ส.ต้องจบปริญญานั้น (ประชาธิปไตย ๔๐) ก็ผิดหลักความเสมอภาค ไม่ใช่ความเสมอภาคในโอกาสของประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ให้สิทธิของคนจบปริญญาเท่านั้น ถือเป็นสิทธิของทุกคน จึงอย่าไปหลงใหลได้ปลื้มใน ประชาธิปไตย ๔๐ ว่าคือประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยก็ยังเข้าใจผิดทั้งพรรค 
 
รวมทั้งการที่กำหนดให้รัฐมีองค์กรอิสระ เหนืออำนาจประชาชน เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ นั้นมันผิด ผิดหลักอำนาจปวงชน ผิดหลักอำนาจ "ประชาธิปไตย" องค์กรเหล่านี้จะเป็นองค์กรอิสระเหนืออำนาจปวงชนไม่ได้ เราต้องกำจัดให้หมดไป ที่มีอยู่เขาเอาไว้เป็นมือไม้ของอำนาจเผด็จการเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่มองไม่เห็นทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญเองคือองค์กรที่ทำให้ศาลยุติธรรมบิดเบี้ยว ขาดความน่าเชื่อถือ คนกำหนดให้มีองค์กรอิสระ ถ้าไม่ใช่ฉ้อฉล ก็เป็นความโง่เขลาในหลักประชาธิปไตย จึงอย่าได้เชื่อพวกดอกเตอร์ พวกศาสตราจารย์ทางกฎหมายที่รับใช้ระบอบเผด็จการอีกเลย บ้านเมืองเสียหายกว่าจะเยียวยาได้โดยนักวิชาเกินพวกนี้แล้ว
 
๓.เรื่องการศึกษาประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เป็นวิชาความรู้ที่รัฐจะต้องจัดให้การศึกษาแก่ประชาชน การศึกษาเกี่ยวกับหลักและทฤษฎีประชาธิปไตย ต้องเป็นการศึกษาพื้นฐานของประชาชนทุกคน ต้องเป็นวิชาบังคับในระดับม.ต้นหรือม.ปลาย คือวิชาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือหลักประชาธิปไตยทั้งหมดดังกล่าวในข้อ ๑ รวมหลักทฤษฎีอื่นๆ แต่เมื่อผู้ถืออำนาจรัฐฉ้อฉลในอำนาจ จึงไม่ให้มีแม้กระทั่งวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ทำให้นักการเมืองไทย คนไทยทั่วไป ก็ไม่ค่อยจะรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยจริงๆ คืออะไร อย่างไร ไทยเราจึงเป็นตาบอดคลำช้าง "ประชาธิปไตย" กันตลอดมา น่าสมเพศจริงๆ คนเรียนรัฐศาสตร์กระทั่งจบ ดร.มาสอนคนอื่นต่อ ก็ยังเข้าใจผิด คิดว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง แก้ปัญหาประชาธิปไตยก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นั่นเอง ทำมาจนรวยรัฐธรรมนูญ ๑๘ ฉบับแล้ว ก็ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตย
 
๔.ต้องเข้าใจร่วมกันในเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ "ประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐธรรมนูญ" และการมีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่ามีประชาธิปไตย ใครเขียนกฎหมายก็เพื่อรักษาประโยชน์ของเขา อังกฤษนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยนั้นหมายถึงระบอบอำนาจ คือ "ระบอบการปกครอง" ที่อำนาจเป็นของปวงชน ไม่ใช่อำนาจของคนส่วนน้อย หากการเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบอื่น เป็นการจำกัดสิทธิ รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเอกสารกำหนดให้ตัวแทนเป็นเพียงตัวแทนคนส่วนน้อย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดผิด เมื่อกำหนดผิด แม้จะมีรัฐสภาก็จะได้เพียงรัฐสภาที่อำนาจเป็นของคนส่วนน้อยเท่านั้น ยิ่งถ้าโครงสร้างอำนาจในพรรคเป็นเพียงของหัวหน้าพรรค เป็นของเจ้าของพรรคเท่านั้น ส.ส.มีหน้าที่เพียงรอฟังคำสั่งให้ยกมือเป็นฝักถั่วหรือไม่ให้ยกมือ สภานั้นก็ไม่ใช่อำนาจของประชาชน ก็ไม่ใช่สภาแห่งประชาธิปไตย จึงเรียกกันทั่วไปว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั่นเอง 
 
๕.เมื่อเข้าใจหลักการของประชาธิปไตย ดังกล่าวแล้ว ขอให้ถามตัวท่านเองว่ารัฐสภาไทยวันนี้ กฎหมายวันนี้ รัฐบาลวันนี้ เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชนได้หรือไม่ เรายังควรจะต้องกลับไปเลือกตั้งแบบเดิม เพื่อให้ได้ผู้ปกครองประเทศแบบเดิมกลับมาปกครองประเทศแบบเดิมต่อไปอีกหรือไม่ ให้คิดเองตอบเองดีกว่า จะรอฟังใคร รอถามใคร 
 
ประเด็นปัญหาต่อไปคือจะทำอย่างไร สำหรับประเทศของเรา เกาถูกที่คันหรือยัง เราควรจะมีรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสร้าง "ระบอบ" ประชาธิปไตยขึ้นใหม่เสียก่อนไหม แล้วจึงให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ในการเตรียมการสร้างระบอบประชาธิปไตยนี้เองจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่ "กลุ่มคนชั้นสูง" และผู้ถืออำนาจตัวจริง
 
วันนี้ประชาชนเขาตื่นแล้ว แต่พวกนักวิชาการ คนชั้นสูง ชั้นปกครอง และใคร? ยังหลับไม่ตื่น ซ้ำยังเห็นประชาชนว่าเป็นปัญหา จึงคิดจะฆ่าทิ้งเสีย ให้เหลือแต่พวกเขานั้น เตือนไว้ก่อน วันนี้ไม่ใช่ ๑๔ ตุลา ๑๖ ไม่ใช่ ๖ ตุลา ๑๙ ไม่ใช่พฤษภาทมิฬ ๓๔ สถานการณ์ปฏิวัติของบ้านเมืองมันสุกงอม มันต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หากใครไม่ยอมก็จะอยู่ไม่ได้
 
สุดท้ายก็จะต้องเปลี่ยนเท่านั้น บ้านเมืองจึงจะไปรอด !   
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ฟื้นตั้งองค์กรการเมือง SSPP ใช้ชื่อกองทัพ SSA

Posted: 24 Jan 2011 10:37 AM PST

กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA (North) ฟื้นตั้งองค์การเมืองเดิมของ SSA ในชื่อ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน SSPP (Shan State Progress Party) และมีมติใช้ชื่อกองทัพรัฐฉาน SSA

 
24 ม.ค.54 มีรายงานจากแหล่งข่าวในรัฐฉานว่า กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" (Shan State Army – North) หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า มีพื้นที่เคลื่อนไหวในรัฐฉานภาคเหนือ ได้มีการฟื้นฟูจัดตั้งองค์การเมืองในชื่อ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน SSPP – (Shan State Progress Party) ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองเดิมของกองทัพ SSA แต่ได้ยุติบทบาทมาตั้งแต่ปี 2538 พร้อมกันนั้น กองพลน้อยที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบใช้ชื่อกองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกลุ่ม แทนชื่อกองพลน้อยที่ 1
 
พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน SSPP ที่ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่นี้ มี พล.ต.ป่างฟ้า ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ โดยพรรคมีคณะกรรมการกลางอีกหลายคน และในส่วนของ พล.ต.ป่างฟ้า ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพในชื่อกองทัพรัฐฉาน SSA ซึ่งได้มีการปรับโครงสร้างใหม่แบ่งกำลังพลออกเป็น 5 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 1, 27, 72, 36 และ 74 แต่ละกองพลน้อยมีกำลังทหาร 3 กองพัน นอกนั้นได้จัดตั้งหน่วยรบพิเศษ หน่วยปืนใหญ่ และหน่วยสารวัตรทหารด้วย
 
การปรับโครงสร้างภายในของกองพลน้อยที่ 1 กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ มีขึ้นหลังจากทางกลุ่มได้มีการประชุมใหญ่ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่บก.บ้านไฮ รัฐฉานภาคเหนือ โดยการประชุมมีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาหน่วย ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
 
สำหรับพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน SSPP ที่กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน SSA ได้ฟื้นฟูขึ้นมาใช้นี้ ถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 ส.ค. 2514 เป็นองค์กรการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA สมัยนั้น โดยมีเจ้าแสงศึก (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นประธาน และเจ้าช้าง ณ หยองห้วย (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นเลขาธิการของพรรค
 
ส่วนกองพลน้อยที่ 1 เดิมเป็นหนึ่งในกำลังพลของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA (North) หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ภายใต้การนำของ พล.ต.หลอยมาว ซึ่งในกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA (North) มี 3 กองพลน้อย ได้แก่ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7 โดยหลังจากพล.ต.หลอยมาว นำกองพลน้อยที่ 3 และ 7 เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) ใต้กำกับของรัฐบาลทหารพม่า เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางกองพลน้อยที่ 1 ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของ SSA (North) ได้แยกตัวออกอยู่ตามลำพัง
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กองพลน้อยที่ 1 ประกาศไม่รับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าในการจัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) ตามผู้นำ ได้ถูกทหารกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากดดันอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดช่วง 3- 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง
 
ปัจจุบัน ในรัฐฉานมีกองกำลังไทใหญ่ หรือ กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า มีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่ดอยไตแลง รัฐฉานภาคใต้ ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ กองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การของพล.ต.ป่างฟ้า อดีตกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ปัจจุบันถูกรัฐบาลทหารพม่ากำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย โดยมีกองบัญชาการใหญ่ อยู่ที่บ้านไฮ รัฐฉานภาคเหนือ
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันผู้ต้องหาส่ง SMS หมิ่น ชี้คดีร้ายแรงกระทบจิตใจประชาชน เกรงหลบหนี

Posted: 24 Jan 2011 10:10 AM PST

24 ม.ค.54 น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ตั้งนพคุณ อายุ 61 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงโดยการส่ง SMS ไปยังมือถือเลขานุกานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากอัยการเป็นโจทก์ส่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำ อ.311/2554 และศาลชั้นต้นสั่งให้คุมตัวนายอำพลไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. โดยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หลังจากนั้นได้มีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเพื่อศาลอุทธรณ์ปล่อยตัวชั่วคราว

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า “ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้อง กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแนง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคง จำเลยอาจหลบหนี เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ในชั้นนี้ยังไม่สมควรปล่อยชั่วคราว ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา นับว่าชอบด้วยเหตุผล จึงให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของจำเลย แจจ้งจำเลยและผุ้ขอประกันทราบตามกฎหมาย

 
ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.53 ที่บ้านเช่าย่านสำโรง และถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ราว 2 เดือนจึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนโดยทนายความพยายามยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้ง ก่อนจะถูกคุมขังอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจรวบตัวชายพกระเบิดแสวงเครื่อง เตรียมวางใกล้ทำเนียบ

Posted: 24 Jan 2011 08:55 AM PST

สารภาพเตรียมก่อกวนการชุมนุม พธม. พรุ่งนี้ ด้านตำรวจขยายผลยึดจรวดอาร์พีจี - อาวุธสงครามได้อื้อ พร้อมจับผู้ต้องหาได้อีก 4 ราย

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 53) ว่า พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.00 ที่ผ่านมา ตำรวจได้จับกุมตัวนายธวัชชัย เอี่ยมนาค ที่พกพาระเบิดแสวงเครื่องทีเอ็นที 2 ลูก ซึ่งตั้งเวลาด้วยนาฬิกา มายังบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และแยกสวนมิสกวัน

โดยก่อนหน้านี้ การ์ดกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จับกุมนายธวัชชัยได้บริเวณสะพานมัฆวานฯ ส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.นางเลิ้ง พร้อมกับตรวจค้นภายในร่างกาย พบระเบิดแสวงเครื่อง 2 ลูกดังกล่าว

หลังถูกจับกุมตัว นายธวัชชัยให้การสารภาพว่าได้เตรียมการมาวางระเบิดบริเวณหลังทำเนียบรัฐบาล เพื่อก่อกวนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการสอบสวนขยายผล พบชายอีก 4 ราย ได้แก่ นายดร มาตา นายนพคุณ ศรีวงศมงคล นายวิวัฒน์ วัฒนะสกุลยิ่ง และนายมานัส รันรัตน์ ในบ้านเช่าแห่งหนึ่ง ย่านบางมด ถนนพระราม 2 ซึ่งครอบครองอาวุธสงครามจำนวนมาก จึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดมาสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา

สำหรับอาวุธที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมได้นั้น ประกอบกอบไปด้วย 1.ลูกยิงพีจี 2 จำนวน 3 นัด, 2.เครื่องยิงอาร์พีจี 1 กระบอก, 3.ดินขับ 3 ชุด, 4.ตัวชนวน 4 อัน, 5.กระสุนซ้อมยิงใช้กับปืน ขนาด 20 มม. จำนวน 2 นัด, 6.ลูกระเบิดขนาด 40 มม. เป็นแบบลูกปราย 3 นัด แบบเจาะเกราะ 4 นัด แบบสังหาร 27 นัด ซึ่งใช้กับ เครื่องยิงเอ็ม 79, 7.กระสุนขนาด 7.62 ใช้กับปืนอาก้า 23 นัด, 8.กระสุนขนาด 5.56 ใช้กับ เอ็ม16 จำนวน 115 นัด , 9.กระสุนแบบเอ็ม 60 ขนาด 7.62 จำนวน 35 นัด, 10.กระสุนปืนคาร์บิ้น 117 นัด, 11.รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ สีเขียว เลขทะเบียนจังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 25 มกราคม นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ:จากราชประสงค์ถึงราชดำเนิน

Posted: 24 Jan 2011 02:31 AM PST

ประมวลภาพบางส่วน จากการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ที่รวมตัวกันชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ก่อนเดินขบวนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วานนี้ (23 ม.ค.54)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: เรื่องเล่าจากยะลา เมื่อนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนโดนทหารบุกบ้าน

Posted: 24 Jan 2011 01:08 AM PST

เมื่อ 24 ม.ค. 2554

ฮุสนา (นามสมมติ) เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยด้วยปริญญาทางด้านกฎหมาย พื้นเพของเธอเป็นคนนครศรีธรรมราช แต่อาสามาทำงานเพื่อความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายในพื้นที่จังหวัดยะลา


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อเร็วๆ นี้เอง ฮุสนา ซึ่งปกติมีบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิจากการใช้กฎหมายพิเศษ อย่างกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง

เพราะมีกลุ่มทหารและตำรวจถือปืนมาดักรอค้นบ้านของเธอ

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพ้นปีใหม่ไปได้แค่สามวัน เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ฮุสนาขับมอเตอร์ไซด์กลับมาที่พัก ซึ่งเป็นชุมชนตลาดเก่าที่ตำบลสะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เห็นเจ้าหน้าที่ทหารยืนถือปืนเฝ้าอยู่หน้าประตูมัสยิดกลางยะลา ในใจคิดว่าคงมีผู้ใหญ่ท่านใดมาถึงมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมาอารักขา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะภาพทหารถือปืนกลายเป็นภาพที่ชินตาไปแล้ว

รถของเจ้าหน้าที่จอดยาวตั้งแต่ปากซอยไปถึงท้ายซอย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากยืนเฝ้าอยู่ที่หน้าปากซอย ฮุสนาเริ่มคิดในใจว่า หรืออาจมีใครวางระเบิดในซอยหรือหน้าบ้าน หรือว่ามีคนโดนยิง

เจ้าหน้าที่ทหารให้สัญญาณโดยใช้ไฟฉายและโบกมือให้เข้าไปได้ เมื่อฮุสนาขี่รถไปถึงละแวกหน้าบ้านพัก ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาหาแล้วถามว่า “อยู่บ้านหลังไหนครับ ทางเราขอตรวจค้นบ้านเช่าหน่อยครับ” ฮุสนามองโลกแง่ดีว่า คงจะมาตรวจบ้านเช่าที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็เจ้าของบ้านเช่าไม่ได้จ่ายภาษี แต่ก็ฉงนใจว่า แล้วเหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงมาในยามวิกาล

ระหว่างนั้น ฮุสนากำลังลงจากรถแล้วเดินไปเปิดประตูเพื่อจะนำรถมอเตอร์ไซด์เข้าบ้าน แต่ทันทีที่เปิดประตู เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปในบ้าน ยังไม่ทันได้สังเกตหรือเอ่ยอะไร เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาถามว่า
“อยู่กับใคร อยู่กี่คน”

ฮุสนาตอบว่า “อยู่คนเดียว”

ทางเจ้าหน้าที่มีท่าทีไม่ยอมเชื่อ ก็เลยถามย้ำไปซ้ำมากับคำถามเดิมๆ

คำตอบก็เหมือนเดิม จากนั้น ฮุสนาก็ถามกลับไปว่า “แล้วพี่มาค้นบ้านอาศัยอำนาจอะไร”

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ตอบว่า กฎอัยการศึก

ฮุสนาเลยถามต่อว่าแล้วมีเหตุอะไรถึงต้องมาค้นยามวิกาล (ปกติแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตกเท่านั้น) [1]

ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า “มีคนร้ายหลบหนีเข้ามาในซอยนี้ จะต้องค้นทุกบ้าน”

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอบัตรประชาชน แล้วมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงแต่งกายก็ใส่เสื้อโปโลมีโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ บางอย่าง สวมกางเกงยีนส์ สวมถุงมือ พูดกับฮุสนาว่าขอค้นบ้านและให้ฮุสนาช่วยพาไปค้น ก็เลยพาเจ้าหน้าที่ไป

ลักษณะบ้านที่ฮุสนาอยู่นั้นเป็นชั้นครึ่ง ชั้นบนไว้เก็บของ เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นประมาณ 4-5 คน จากนั้นเมื่อค้นชั้นล่างเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่ผู้หญิงก็ทำท่าทางตกใจเมื่อเห็นว่ามีชั้นบนอีก ก็เลยตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ทหาร ขอกำลังมาช่วยค้น พร้อมไฟฉาย เพราะข้างบนชั้นสองมืดเนื่องจากไฟเสีย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ค้นแต่ไม่เจออะไร ฮุสนาเลยถามกลับไปว่า “จะค้นอะไรอีกมั้ย”

ฮุสนาเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปขณะกำลังตรวจค้นภายในบ้านด้วย ซึ่งความรู้สึกของเธอเวลานั้น เหมือนเป็นบ้านที่ทำผิดหรือเจ้าของบ้านเป็นผู้ผิดอย่างไรก็ไม่รู้ แม้จะพอเข้าใจว่าก็เป็นการเก็บภาพเพื่อเป็นหลักฐานว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ชอบใจ อย่างน้อย น่าจะขออนุญาตสักนิดก็ยังดี

เมื่อเจ้าหน้าที่ค้นเสร็จก็มานั่งสัมภาษณ์เรื่องทั่วไป เหมือนจะถ่วงเวลาอะไรสักอย่าง จากนั้นฮุสนาก็ถามต่อว่า แล้วมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยไหนบ้าง

ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า สนธิกำลังสามฝ่ายทั้ง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง

เมื่อถามต่อว่ามากันกี่นาย เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า “โอ้ยย..เยอะ ไม่รู้ว่าเท่าไรหรอก”

จากนั้นก็ให้ฮุสนาเซ็นต์ชื่อในใบบันทึกการค้น ก่อนเซ็นก็ได้อ่านจนมาถึงบรรทัดที่ว่า อาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ม.11 (4) [2]

แต่เมื่อมาถึงบรรทัดที่ต้องระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ชื่ออะไรบ้างที่มาค้น บรรทัดนั้นกลับว่างเปล่า ฮุสนาจึงถามต่อว่า “อ้าว ทำไมไม่ระบุชื่อผู้ที่นำกำลังมาค้นและปิดล้อมครั้งนี้ว่ามีใครบ้าง”

เจ้าหน้าที่ผู้นำค้นตอบแบบหน้าตายว่า... “โอ้ยยย...มันมีเยอะอ่ะครับเขียนไม่หมดหรอก”

“ทำไมถึงตอบแบบนี้อะ” ฮุสนานั่งปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่สักพัก แล้วถามไปว่า ถ้าไม่ยอมเซ็นหรือไม่ให้ค้นล่ะ จะเกิดอะไร เจ้าหน้าที่จึงชี้ที่บรรทัดสุดท้ายของใบบันทึกการค้นว่า “จำคุกสองปี ปรับสี่หมื่นบาท”

ในความรู้สึกฮุสนาตอนนั้น คือรู้สึกแย่มาก ทำอะไรไม่ถูก คิดไม่ทัน กะทันหันมาก กังวลสารพัดกลัวว่าทางเจ้าหน้าที่จะเอาอะไรมายัดเยียดสิ่งของผิดกฎหมายในบ้าน และกังวลว่าจะไม่ยอมปล่อยตัวไป

ฮุสนาได้ถามต่อเจ้าหน้าที่ต่อไปว่า แล้วมีบ้านไหนบ้างที่ไม่ให้ค้น เจ้าหน้าที่ก็ตอบไม่มี แล้วถ้าบ้านไหนไม่มีคนจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าก็จะให้งัดก็ไม่ได้ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไป

จากนั้นฮุสนาก็พยายามรวบรวมสติกลับคืนมา แล้วถามต่อว่า “แล้วพี่มาค้นบ้านยามวิกาลแบบนี้เนี่ยไม่ละเมิดสิทธิไปหน่อยเหรอ”

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตอบกลับมาว่า “ถ้ามันละเมิด ป่านนี้พี่คงติดคุกไปนานแล้วน้อง”


_ _ _ _ _

[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 96

“การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
(1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
(2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
(3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ ของประธานศาลฎีกา”

[2] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 11 (4)
“ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคง ของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทัน ท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุก เฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
...(4) ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที”

 

 


หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.ilaw.or.th/node/704

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ภัควดี ไม่มีนามสกุล (ตอนจบ): ไม่ยึดโยงกับอำนาจรัฐ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

Posted: 24 Jan 2011 12:19 AM PST

ความเชื่อที่ว่าในที่สุดแล้วภาคประชาสังคมจะกดดันรัฐ และสามารถบังคับให้ทำสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันไม่ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติ เพราะหากไม่ยึดอำนาจรัฐก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายเชิงโครงสร้างได้

 
ต่อเนื่องจากการสัมภาษณ์ ภัควดี ไม่มีนามสกุล ในบทความก่อนหน้านี้ ภัควดี มองว่าเอ็นจีโอไทยทำงานเฉพาะประเด็น ซึ่งเป็นการต่อรองกับรัฐภายใต้ระบบอุปถัมภ์มากกว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างตามกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากนั้น เธอยังเสนอว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม หากปราศจากการยึดโยงกับอำนาจรัฐเสียแล้วก็มิอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีความหมายได้
 
TSM Watch: การทำงานในประเด็นเฉพาะอย่างที่เอ็นจีโอไทยจำนวนมากกำลังทำอยู่ ที่สุดแล้วจะเกิดคุณูปการต่อส่วนรวมได้ อย่างเช่นว่าการมีพื้นที่นำร่องเพื่อรังวัดแนวเขตระหว่างพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือการทำโฉนดชุมชนโดยคาดหวังว่าจะมีการทำเช่นเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป หรือการกระทำดังกล่าวจะเป็นรูปธรรมตัวอย่างที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระบบ หรือโครงสร้างในที่สุด เอ็นจีโอในเครือข่ายทรัพยากรอธิบายว่าสุดยอดของประชาธิปไตยที่เครือข่ายอยากเห็นคือการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
 
อย่างเช่น ในกรณีป่าอนุรักษ์ทับที่ดินของชาวบ้าน ปัจจุบันมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน กำหนดแนวเขต ตกลงร่วมกันว่าถ้าต่อไปจะจับกุมชาวบ้านภายในแนวเขตที่กำหนดไว้ไม่ได้ นี่คือรูปธรรมของการจัดการป่าแบบมีส่วนร่วมที่มีทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ เอ็นจีโอ ฯลฯ เข้ามาร่วมกันสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งคาดหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งระบบ
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: นั่นเป็นความเชื่อของเอ็นจีโอ คือมีความเชื่อตามแนวคิดเรื่องภาคประชาสังคมว่าในที่สุดแล้วภาคประชาสังคมจะกดดันรัฐ และจะสามารถบังคับให้รัฐทำสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในระยะหลังจนกระทั่งมีคนปฏิเสธแนวคิดเรื่องภาคประชาสังคมไปเลย ก็คือมันไม่ประสบความสำเร็จ ในเชิงปฏิบัติมันไม่เกิดขึ้น หากไม่ยึดอำนาจรัฐก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายเชิงโครงสร้างได้
 
มีตัวอย่างในลาตินอเมริกา มีเครือข่ายองค์กรประชาชนจริงๆ ซึ่งไม่ได้มีเอ็นจีโอเข้ามาร่วม หรือมีเอ็นจีโอเกี่ยวข้องจำนวนน้อย เครือข่ายเหล่านี้ต่อสู้แล้วก็ยึดโยงกับอำนาจรัฐได้ เช่น เวเนซุเอลาหรือโบลิเวีย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายรัฐได้ระดับหนึ่ง จึงกลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้นักคิดหลายคนชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วถ้าคุณไม่ยึดอำนาจรัฐ คุณก็แก้ปัญหาไม่ได้ อาจจะไม่ถึงกับต้องไปยึดอำนาจรัฐโดยตรง แต่ก็ต้องยึดโยงกับอำนาจรัฐ 
 
TSM Watch:  ประเด็นที่ว่าไม่เกิดผล เอ็นจีโอก็อาจบอกว่ายังไม่เกิด ไม่ใช่จะไม่เกิด และที่ผ่านมาก็มีรูปธรรมในทางบวกมากมายที่เห็นว่าขยับไปได้เยอะ รัฐเปลี่ยนไปมาก อย่างเช่นว่าวันนี้คุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้มากแล้ว จากที่เคยคุยกันไม่ได้เลย ชาวบ้านก็ถูกจับกุมน้อยลงถ้าเทียบกับเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา นี่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: ไม่มีใครปฏิเสธคุณความดีของเอ็นจีโอ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะว่าถึงที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหาก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองเป็นครั้งๆ ไป
 
ไม่มีใครปฏิเสธว่าเอ็นจีโอมีส่วนทำให้ปัญหาบางอย่างบรรเทาเบาบางลงไป หรือช่วยให้ดีขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่าสิ่งที่เอ็นจีโอทำยิ่งไปสนับสนุนให้รัฐลดบทบาทตนเองในด้านสวัสดิการสังคมหรือในเชิงบริการสังคมลงไปได้เรื่อยๆ โดยให้เอ็นจีโอมาทำหน้าที่แทน ซึ่งเอ็นจีโอก็เข้ามาทำเป็นส่วนๆ ในแต่ละที่มีปัญหาไม่เท่ากัน และเอ็นจีโอในแต่ละที่ก็มีความสามารถไม่เท่ากัน เมื่อเป็นลักษณะแบบนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถของเอ็นจีโอในแต่ละแห่งที่จะต่อรอง ถ้าชุมชนไหนไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อรอง รัฐก็สามารถละเลยไปได้เลยใช่หรือเปล่า เพราะว่ามันไม่ได้เป็นแนวนโยบาย แต่เป็นเรื่องของการต่อรองเป็นส่วนๆ 
 
TSM Watch: ถ้าสมมติว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมา หรือแก้ไขกฎหมายป่าไม้ได้ มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายมิใช่หรือ
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: แนวนโยบายเขียนอะไรก็ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีการกดดันอยู่เรื่อยๆ การปฏิบัติก็ไม่เกิดขึ้น อย่างเช่นเม็กซิโกเป็นประเทศที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องการปฏิรูปที่ดินที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็ไม่เคยมีการปฏิบัติ กลับมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินมาก ถ้าหากว่าประชาชนเข้าไปมีอิทธิพลต่ออำนาจรัฐได้ เช่น ผ่านการเลือกตั้ง หรือการกดดันผ่านตัวแทนของตนเองในระบบรัฐสภา ก็จะช่วยให้นอกจากมีการเปลี่ยนแนวนโยบายให้คำนึงถึงคนข้างล่างแล้ว ก็ยังจะมีการกดดันให้ปฏิบัติด้วย
 
TSM Watch: รัฐคืออะไร ตกลงควรมีหรือไม่มี ถ้ามีควรเป็นแบบไหน ผู้คนตามแนวพรมแดนมีปัญหาเพราะไร้รัฐ พวกเขาต้องการการปกป้องจากรัฐ ขณะที่เรามีรัฐแต่เราก็ไม่พอใจ แบบนั้นก็ไม่ดี แบบนี้ก็ไม่เอา
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: เป็นคำถามโลกแตก ไม่มีใครบอกได้ รัฐทำมากไปก็ยุ่งมาก ทำน้อยไปก็ไม่ดีอีก ถามว่าพี่ว่ายังไง พี่ไม่ว่ายังไง ก็แล้วแต่จะตกลงกัน (หัวเราะ)
 
TSM Watch: อีกประเด็นหนึ่ง คือการพูดถึงการยึดอำนาจรัฐ รูปธรรมคืออะไร แล้วจะเป็นจริงได้แค่ไหนในยุคสมัยนี้ ทุนนิยมแบบนี้ และรัฐซับซ้อนขนาดนี้ มีงานเขียนที่อ้างแนวคิดประชาสังคมแบบหมอประเวศที่บอกว่า การเปลี่ยนทางสังคมจะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าเราไม่ “ร่วมมือ” กับรัฐ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการยึดอำนาจรัฐ และมันมีปัญหาตรงที่รัฐกับทุนร่วมมือกัน
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: เดี๋ยวนี้แนวคิดของ New Social Movement ไม่ได้เหมือนสมัยก่อนที่มีหัวขบวนไปยึดอำนาจรัฐโดยตรง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการยึดโยงอำนาจรัฐ เช่น กรณีเวเนซุเอลามีขบวนการประชาชนที่สนับสนุนอูโก ชาเวซ เป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะสนับสนุนชาเวซในทุกเรื่อง เพราะมีบางครั้งชาเวซก็แพ้ในการลงประชามติ สมมติว่าชาเวซขอให้มีการลงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญบางส่วน แล้วถ้าเขาอธิบายไม่ดีพอ เขาก็แพ้การลงประชามติได้ หรือในกรณีของโบลิเวีย ประธานาธิบดีโมราเลสมาจากการผลักดันของเครือข่ายเกษตรกรชาวนาชาวไร่และชนชั้นล่าง แต่ก็มีการประท้วงเกิดขึ้น เช่น เมื่อโครงการเหมืองของรัฐไปขัดแย้งกับเกษตรกรหรือชนพื้นเมืองอื่นๆ อำนาจรัฐแบบนี้ตั้งอยู่บนการสนับสนุนของประชาชนจริงๆ ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็อยู่ไม่ได้
 
พอมาดูภาคปฏิบัติของไทยที่ผ่านมา อย่างเช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อออกมาแล้วมีปัญหา ถามว่าเอ็นจีโอจะไปกดดันรัฐบาลยังไง เนื่องจากกระบวนการล็อบบี้ สว. วิ่งเต้น เส้นสาย พอใช้ไปแล้วมันจะไปผูกมัดตัวเอง เพื่อรักษาเส้นสายบางอย่างบางทีก็ไม่สามารถกดดันได้เต็มที่ บางทีก็เหมือนกับว่าถูกซื้อตัวไปแล้ว การพูดว่าถูกรัฐซื้ออาจจะแรงไป แต่มันเป็นการรักษาสายสัมพันธ์ เป็นระบบอุปถัมภ์
 
วัฒนธรรมในองค์กรเอ็นจีโอเองก็ไม่ได้มีกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอไทย แต่ทั่วโลก ถ้ารัฐจะเขียนแนวนโยบายมา ดีหรือไม่ ปฏิบัติหรือไม่ก็ตามแต่ เอ็นจีโอจะกดดันอย่างไรถ้าหากว่าอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์นั้นแล้ว
 
TSM Watch: ในด้านหนึ่งเอ็นจีโอบอกว่าเป็นแค่พี่เลี้ยงขององค์กรการประชาชน อีกด้านหนึ่ง เอ็นจีโอก็ยอมรับว่ากำลังร่วมมือกับรัฐ หรือทำงานแทนรัฐเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าต่อประชาชน
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: แต่จะพูดแทนประชาชนไม่ได้ และถ้าเราไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐเลย รัฐก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น เน้นชุมชนเข้มแข็งดูแลตนเอง เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นแบบพอเพียงเลี้ยงตัวเอง สมมติทำได้จริงรัฐก็ไม่มีหน้าที่ต้องให้อะไรเลยหรือ? ปัญหาบางอย่าง เช่น ระบบการศึกษา มันต้องไปแก้ที่รัฐ สมมติว่าชุมชนไม่สามารถให้การศึกษาแก่เด็กด้วยตนเองได้ ก็ต้องส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ ก็ต้องไปดูว่ารัฐสอนอะไรแก่เด็ก พอกำหนดในเรื่องการศึกษาไม่ได้ สิ่งที่คุณสร้างมา วิถีชีวิตที่คิดว่าดีแล้ว แต่ลูกหลานกลับเข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่ถูกสอนเพื่อออกไปเป็นแรงงาน เป็นพลเมืองหัวอ่อนที่ว่านอนสอนง่าย แล้วชุมชนจะทำอย่างไร?
 
คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าเป็นองค์กรที่ไม่มีเอ็นจีโอ ขบวนการเคลื่อนไหวจะมุ่งตรงเข้ายึดอำนาจรัฐเลยหรือเปล่า อย่างกรณีเสื้อแดง เวเนซุเอลา โบลิเวีย ซึ่งไม่ได้มาจากการจัดตั้งของเอ็นจีโอ แต่เป็นการจัดตั้งของประชาชนเองเป็นส่วนใหญ่ พวกนี้มักจะไปยึดโยงกับอำนาจรัฐ แต่ถ้าสมมติเป็นขบวนการที่มีระบบพี่เลี้ยง มักไม่มีแนวคิดเรื่องการยึดอำนาจรัฐ แต่จะมีตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่คิดเรื่องการยึดอำนาจรัฐโดยตรง แต่ใช้การต่อรอง หรือการกดดันแบบอื่นๆ ส่วนองค์กรประชาชนที่จัดตั้งตัวเองขึ้นมาจะไม่มีตัวกลางนี้ เขาคิดของเขาเอง เขาจึงคิดถึงเรื่องการยึดกุมอำนาจรัฐเลย โดยผ่านกระบวนการบางอย่าง เช่น การเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวกดดัน การสร้างเครือข่าย ประชาธิปไตยทางตรง ฯลฯ
 
TSM Watch: ตัวกลางนี่แหละที่บิดเบือนภาพของชาวบ้าน สร้างภาพที่ตัวเองอยากเห็นแม้แต่การพูดถึงความต้องการของชาวบ้าน
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: เอ็นจีโอมักจะมีภาพในอุดมคติที่นึกถึงวิถีชีวิตทางเลือกมากกว่าประชาชนธรรมดา การจัดตั้งของแรงงานนอกระบบในเวเนซุเอลาที่แม้จะเป็นการจัดตั้งในแนวนอน แต่ก็มีความสัมพันธ์กับรัฐในแนวดิ่งเช่นกัน เขาก็คิดว่าหากพรรคการเมืองเป็นตัวกลางจะช่วยลดปัญหาของความสัมพันธ์ในแนวดิ่งลงไป เท่าที่อ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งเลย ยกเว้นอนาธิปไตยที่เป็นอุดมคติอีกประเภทหนึ่ง แต่ความสัมพันธ์แนวดิ่งก็เป็นปัญหา ขณะเดียวกันก็มีการตั้งองค์กรที่เข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่ไม่ต้องเป็นพรรคการเมือง แต่เป็นสภาที่มาจากประชาชน นี่คือความพยายามที่ไม่รู้ว่าทำสำเร็จแล้วหรือยัง
 
TSM Watch: องค์กรที่ว่ามาเชื่อมความสัมพันธ์รูปแบบเหมือนสภาองค์กรชุมชนหรือเปล่า
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: ไม่ใช่แบบนั้น เป็นสหภาพ หรือสหกรณ์ หรือมีได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่เป็นโมเดลลงไป แต่ให้ประชาชนพยายามรวมตัวและสัมพันธ์กับรัฐในลักษณะต่างๆ เช่น กลุ่มสหกรณ์ที่ดำเนินการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับรัฐ กลุ่มแม่บ้านแก้ปัญหาของผู้หญิง ฯลฯ
 
TSM Watch: ในบ้านเราเท่าที่มีเป็นระบบแต่งตั้งมากกว่า ไม่ใช่เลือกตั้ง เช่นการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็นแต่ไม่มีอำนาจที่ชัดเจน หรือไม่มีอำนาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีบทบาทขนาดนั้น เลยไม่รู้ว่าจะมีทำไม
 
ช่วยอธิบายเรื่องอนาธิปไตยหน่อยว่าทำไมภาพพจน์ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบนี้จึงดูเลวร้าย
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่อนาธิปไตยมีความหมายเกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย ในประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน กลุ่มคนที่สนใจแนวทางและเชื่อในอนาธิปไตยบอกว่า อนาธิปไตยไม่ใช่ลัทธิ แต่เป็นความเชื่อในแนวทางปฏิบัติ และเน้นประเด็นของแนวทางการจัดตั้งมากกว่าเรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับสังคม มีคนเสนอว่าแนวทางการจัดตั้งแบบอนาธิปไตยมีมายาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคสังคมชนเผ่า เป็นวิธีการจัดตั้งในแนวระนาบ ใช้ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการรวมตัวหรืออยู่ร่วมกันของมนุษย์อยู่แล้ว แต่มีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรปที่นักอนาธิปไตยบางคนเชื่อว่า การใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วใช้วิธีการก่อวินาศกรรม ทำให้คำว่า “อนาธิปไตย” ถูกมองความหมายในเชิงลบ ส่วนคำว่า “อนาธิปไตย” ในความหมายของขบวนการสังคมใหม่ หมายถึงแนวทางการจัดตั้ง เกือบทั้งหมดไม่ใช้วิธีการรุนแรงอีกต่อไป
 
TSM Watch: ตามที่เข้าใจ อนาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ไม่ต้องการรัฐด้วยใช่ไหม เมื่อไม่ต้องการรัฐ แล้วต่างกันอย่างไรกับเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการลดบทบาทของรัฐ
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: เสรีนิยมใหม่ต้องการลดบทบาทของรัฐในบางด้าน เช่น สวัสดิการ แต่เพิ่มอำนาจรัฐในด้านอื่น ๆ เช่น การบังคับประชาชนไม่ให้ต่อต้านระบบทุนนิยม ส่วนอนาธิปไตยมองว่ารัฐคือความชั่วร้าย นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่มักมีแนวคิดแบบสังคมนิยมหรือมาร์กซิสต์ เพียงแต่เป้าหมายสุดท้ายของอนาธิปไตยคือไม่มีรัฐ นักอนาธิปไตยกับนักสังคมนิยมจึงมักร่วมมือกันเป็นเครือข่ายการต่อสู้ได้บ่อยๆ
 
TSM Watch: คำถามสุดท้าย คิดอย่างไรกับข้อสังเกตของ อ.ดร.เก่งกิจ ที่ว่าพวกเรายังคิดเรื่องรัฐไทยน้อยไป
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: เห็นด้วยว่าเราคิดเรื่องรัฐไทยไม่พอ รวมถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นอำนาจที่ชัดเจน แต่เป็นอำนาจนอกระบบ บางช่วงเราก็สนใจเรื่องข้ามรัฐ เชื่อว่ารัฐจะหมดบทบาท แต่เราก็พบว่าเราคิดเกี่ยวกับรัฐน้อยไป ส่วนเรื่องสถาบันกษัตริย์ เมื่อก่อนเราไม่ค่อยมีข้อมูลเชิงประจักษ์มากนักว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทอะไรบ้าง ไม่รู้จะไปเริ่มศึกษายังไง แต่เหตุการณ์ล่าสุดอาจทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่า สถาบันมีบทบาทแค่ไหน อำนาจอยู่ตรงไหนบ้าง มีข้อมูลมากขึ้น มีกระบวนการการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น
 
TSM Watch: ในช่วงก่อนหน้านี้สถานการณ์ปัญหาทางสังคมทำให้เราต้องสนใจเรื่องอื่น ๆ มากกว่า เช่น ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาจากองค์กรโลกบาล องค์กรข้ามชาติ ฯลฯ ทำให้ไม่ได้ไปนึกถึงเรื่องนั้น หรือรู้สึกกังวลมากเท่าไร แต่ความจริงก็ไม่ใช่ไม่มีประเด็น อย่างเช่นการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินก็พูดกันมานานว่าคนจนเมืองไม่มีที่อยู่อาศัย คนจนไม่มีที่ดินทำกิน แต่ก็ไม่ได้ไปดูกันว่าที่ดินกระจุกตัวอยู่ที่สำนักงานไหน และไม่มีการเรียกร้องให้กระจายที่ดินตรงนั้นออกมาให้ประชาชน แต่เราเพิ่งมาเริ่มพูดกันวันนี้ เรามัวแต่ไปพูดกันว่าคนจนเป็นผลผลิตจากการพัฒนา ใช้ทฤษฎีการพึ่งพา ทฤษฎีการพัฒนา หรือวิเคราะห์แต่ปัญหาของทุนนิยม แต่ไม่ได้ดูไปที่รัฐและสถาบันภายในประเทศที่มีอิทธิพลต่อรัฐว่ามีบทบาทอย่างไรบ้าง
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: การที่เราถูกวิจารณ์ว่าเราไม่เห็นประเด็นรัฐกับสถาบันกษัตริย์นี้ ก็เป็นการวิจารณ์ที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เพราะเราปากว่าตาขยิบ แต่เพราะเมื่อก่อนถูกบดบัง ไม่มีข้อมูลวิเคราะห์มากพอ ไม่ทันได้คิดอะไรอย่างนี้มากกว่า เมื่อก่อนเราเน้นประเด็นปัญหาโลกาภิวัตน์อะไรมาก เพราะว่ากระแสมันแรงมาก และลองคิดดูว่า ถ้าเกิดข้อตกลง WTO และ FTA ผ่าน ระบบเศรษฐกิจตอนนี้ก็เปลี่ยนไปเลย จะมีทรราชตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าด้วย ป่านนี้เราก็อาจไม่พูดถึงเรื่องที่กำลังพูดกันอยู่ แต่บังเอิญว่าข้อตกลงพวกนั้นมันไม่ผ่าน เพราะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่ยอมอ่อนข้อให้ประเทศพัฒนาแล้ว และบวกกับที่ระบบเสรีนิยมใหม่ไปทำให้ระบบเศรษฐกิจในโลกถึงจุดวิกฤติ
 
TSM Watch: และถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เราก็จะไม่มาพูดเรื่องรัฐ หรือเรื่องพวกนี้กัน
 
ภัควดี ไม่มีนามสกุล: ใช่ ถ้าไม่มีใครถูกฆ่า เราก็มองไม่เห็น เราเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัด แต่การมีข้อจำกัดหมายถึงความชั่วช้าไม่มีจริยธรรมหรือเปล่า? 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดเอกสาร: อัยการยกฟ้องคดีแม่ค้ารองเท้าแตะลายคล้ายหน้านายกฯ "พยานหลักฐานไม่พอ"

Posted: 23 Jan 2011 11:47 PM PST

อัยการสั่งไม่ฟ้องแม่ค้าขายรองเท้าแตะหน้าลายคล้ายหน้า "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ระบุ "พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง"

(24 ม.ค.54) นายอานนท์ นำภา ทนายความคดีแม่ค้ารองเท้าแตะหน้าคล้ายนายกฯ แจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้รับเอกสารจากนางสาวอมรวัลย์ เจริญกิจ อายุ 42 ปี แม่ค้าขายรองเท้าแตะพิมพ์ลายคล้ายหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถูกตำรวจอยุธยาจับกุมและดำเนินคดีว่า อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยระบุว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.53 เวลาประมาณ 17.00น. ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างที่กลุ่มคนเสื้อแดงจัดกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนางอมรวัลย์ ซึ่งขายรองเท้าแตะพิมพ์ลาย ด้วยความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในข้อหาร่วมกันจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในพื้นที่ที่ประกาศ สถานการณ์หรือในทั่วราชอาณาจักร โดยวันเดียวกัน นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทยได้ใช้ตำแหน่งประกันตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ได้มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ทองใบ ทองเปาด์" เสียชีวิตแล้ว

Posted: 23 Jan 2011 11:45 PM PST

ทนายความผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2527 และอดีตนักโทษการเมือง "คุกลาดยาว" เสียชีวิตแล้วด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในวัย 84 ปี โดยวันนี้เวลา 16.00 น. จะมีพิธีรดน้ำที่ศพวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2527 (ที่มาของภาพ: http://learners.in.th/)

ทองใบ ทองเปาด์ สมัยเป็นนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพนี้ยังเป็นภาพประกอบปกหลังของหนังสือ "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" ซึ่งเขาเป็นผู้เขียน หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อปี 2517

ภาพนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในภาพแถวกลาง คนที่สองจากซ้ายคือทองใบ ทองเปาด์ ส่วนคนที่สามจากซ้ายซึ่งนั่งติดกับทองใบ คือ จิตร ภูมิศักดิ์ (ภาพได้รับการเอื้อเฟื้อจาก http://bit.ly/jit_phumisak)

 

เมื่อเวลา 6.45 น. วันนี้ (24 ม.ค.) นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความซึ่งเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ และอดีตนักหนังสือพิมพ์ เสียชีวิตแล้ว ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว รวมอายุ 84 ปี โดยวันนี้จะมีพิธีรดน้ำศพเวลา 16.00 น.ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน

นายทองใบ ทองเปาด์ เกิดวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2469 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ นายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นประถม 4 โรงเรียนเทศบาลเมือง จบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนราษฎร์ ประสาทศิลป์ จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อจนจบชั้นเตรียมอุดม ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาเข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากฐานะครอบครัวที่ลำบาก ทำให้ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ นายทองใบอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด

ต่อมา หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง"เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ

สมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 นายทองใบได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาในเดือนธันวาคม คณะที่เดินทางไปประเทศจีนรวมทั้งเขาจึงถูกจับขังในคุกลาดยาวหลายปีโดยไม่มีการตั้งข้อหา

ทองใบได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 และออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จากการที่ทองใบถูกจับกุมในคุกลาดยาว ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองหลายร้อยคน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในช่วงการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เขาตีพิมพ์ผลงาน "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" บันทึกเรื่องราวของบุคคลในวงการต่างๆ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำลาดยาว ตั้งแต่ชีวิตของชาวนา นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงนักการเมือง เช่น ปาน โนนใหญ่, ธรรมชาลี จันทราช, สุวัฒน์ วรดิลก, เทพ โชตินุชิต, พล.ต.ทหาร ขำหิรัญ, อิศรา อมันตกุล, ทวีป วรดิลก, อุทธรณ์ พลกุล, สังข์ พัธโนทัย, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2529 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน สามีของนางคอราซอน อากีโน เมื่อ พ.ศ. 2526

 


ข้อมูลประกอบ - ทองใบ ทองเปาด์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิป: เสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 4 (จบ)

Posted: 23 Jan 2011 10:40 PM PST

งานเสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 4

21 มกราคม 2554 เวลา 12.30-16.00 น.
ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร:
ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

ดำเนินรายการโดย:
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

สนับสนุนโดย มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: นักวิชาการถกบทบาท ‘นิวมีเดีย’ ชี้ ‘ปฏิรูปสังคม’ ต้องเชื่อม ออนไลน์-ออฟไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: เปิดความคืบหน้า คดีลอบยิงข่ายวิทยุชุมชน อ.ฮอด

Posted: 23 Jan 2011 11:40 AM PST

เมื่อเร็วๆนี้ ผกก.สถานีภูธรฮอด จ.เชียงใหม่ ได้ออกจดหมายแจ้งความคืบหน้าคดีลอบยิงนายบุญจันทร์ ดี จันหม้อ ซึ่งเป็นแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ โดยแจ้งว่าขณะนี้กำลังนำสืบรถกระบะที่ใช้ก่อเหตุ และตามหัวกระสุนที่คาดว่าใช้ก่อเหตุเพื่อใช้เป็นหลักฐานนำจับต่อไป
คดีลอบยิงนายบุญจันทร์ และนางปอยดี จันหม้อ เกิดขึ้นเมื่อวันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ณ หมู่ 5 บ้านดงดำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้นางปอยดี จันหม้อ ภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนของภาคประชาชน ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนกว่า 20 สถานี   สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ จำนวน 150 สถานีทั่วประเทศ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคเหนือ และเครือข่ายกระเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นหนังสือต่อกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 ให้เร่งรัดสืบสวนคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดและผู้บงการมาลงโทษตามกฎหมายให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้การลอบสังหารนายบุญจันทร์ ถูกองค์กรสื่อภาคปชช.มองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อระดับท้องถิ่น เพราะนายบุญจันทร์ไม่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร เพียงแต่นำเสนอข่าวที่ดินในหมู่บ้านดงดำ ต. ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่บางกลุ่มออกโฉนดทับเขตป่าชุมชน และการคัดค้านโครงการทวิภาษา ที่จะสร้างอักษรไทยในภาษากระเหรี่ยง อย่างต่อเนื่องเท่านั้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงคนอีสาน: คนอุบลค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Posted: 23 Jan 2011 11:30 AM PST


21 ม.ค.54 เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มประชาชน นักศึกษา คณาจารย์จาก ม.อุบลราชธานี และ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ในนามเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ ได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (หลังเก่า) ถ.อุปราช ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี กว่า 500 คน เดินขบวนถือป้ายคัดค้าน และ ป้ายประชาสัมพันธ์ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แห่ไปตามถนนสายหลักในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ก่อนไปสิ้นสุดที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (ชั่วคราว) ถ.แจ้งสนิท ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1 เรื่องขอคัดค้านแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 

การชุมนุมครั้งนี้ มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองอุบลราชธานี นำแผงรั้วเหล็กกั้นมาตั้งไว้โดยรอบ พื้นที่หน้าอาคารศาลากลางเพื่อป้องกันไม่ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในอาคารศาลากลาง ทั้งนี้ก่อนที่กลุ่มเครื่อข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จะเดินทางมาชุมนุมที่หน้าศาลากลาง ก็ได้มีกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล มาปักหลักชุมนุมเรียกร้องเปิดเขื่อนถาวร กินนอนอาศัยอยู่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง กว่า 700 คน มาตั้งแต่วันที่ 12 มค.รวมทั้งยังเข้ามาร่วมชุมนุมคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย

น.ส.สดใส สร่าสงโศรก อายุ 44 ปี หนึ่งในแกนนำเครือข่ายคนไทยไม่เอาไฟฟ้านิวเคลียร์ เผยว่า ตามที่รัฐบาลอนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง และ กฟผ. ได้ศึกษาเรื่องสถานที่ตั้งที่เหมาะสมไว้ 5 แห่ง โดย 1 นั้นคือที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี จึงทำให้พวกเราภายใต้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ออกมาต่อต้านการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ เพื่อเป็นรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรอบด้าน เพราะที่ผ่านมาภาคราชการ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลด้านดีแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว แต่ไม่พูดถึงผลกระทบที่ตามมาภายหลัง

 

แกนนำเครือข่ายคนไทยไม่เอาไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวต่อว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าถึง 2 แห่ง ทั้งเขื่อนปากมูล และเขื่อนสิรินธร โดยทั้ง 2 เขื่อนนี้ก็ได้สร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ปัญหาเดิมยังคงอยู่ กลับมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาซ้ำเติม อีกนอกจากนี้ทางเครือข่ายฯเห็นว่า เหตุใดประเทศไทยยังคงต้องสำรองไฟฟ้า หรือ วางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่อีก ทั้งๆ ที่พลังงานยังมีอยู่อย่างล้นเกิน และยังมีแผนจัดซื้อกระแสไฟจากประเทศเพื่อนบ้านอีกเป็นอันมาก

“หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี แล้วเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ดั่งตัวอย่างจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เมื่อ 24 ปีก่อน ทำให้สารกัมมันตรังสีทำลายสิ่งแวดล้อม มากกว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่ากันถึง 200 เท่า และส่งผลกระทบทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือบางส่วน รัฐบาลจะรับมือได้หรือ” น.ส.สดใส กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า พ.อ.ปรีดา บุตรราช รอง ผอ.รมน.(ฝ่ายทหาร) จ.อุบลราชธานี ได้เป็นตัวแทน นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งติดราชการ มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้นำสัญลักษณ์ถังปรมาณูนิวเคลียร์ ไปจุดไปเผาทำลายที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการไม่เอา โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แม้ พ.อ.ปรีดา จะได้ห้ามปราม และเจรจาขอร้อง กลุ่มผู้ชุมนุมแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล จนเวลาประมาณ 12.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับไป

 
000000

 
จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1
เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่อง ขอคัดค้านแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

ตามที่รัฐบาล (นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 นั้น มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ว่าจ้างบริษัท เบิร์น แอนด์ โลวส์ เป็นที่ปรึกษาเตรียมข้อมูลความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประเมินต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการด้านข้อมูลเสร็จแล้ว และได้จัดส่งให้ สพน. แล้ว ดังนั้น ต่อจากนี้ กฟผ. จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่าจ้างที่ปรึกษากำหนดคุณสมบัติ (สเปค) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาในการประกวดราคาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก 6 ปี และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี2563

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนที่เก่าแก่ ได้รับการสถาปนาเป็น “เมือง” แห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อกว่า 200 ปี มีพื้นที่ 18,906.1 ตารางกิโลเมตร มีประชากรจำนวน1,803,754 คน ด้วยมีที่ตั้งอันเหมาะสม และมีประวัติความเป็นมายาวนาน ทำให้เมืองอุบลราชธานี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร มั่งคั่งด้วยมรดกทางอารยธรรมและมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างลึกซึ่ง มีความสงบสุขและเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ อุบลราชธานียังมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งได้สร้างผลกระทบแก่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพมากพออยู่แล้ว และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ปัญหาเดิมยังดำรงอยู่และยังเพิ่มทวีความรุนแรงจากการหมักหมมของปัญหา กลับจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์และทำให้ปัญหาซับซ้อนและแตกมิติให้ยากต่อการแก้ไขปัญหาขึ้นไปอีก หายนะเดิมอันเกิดจากจากความผิดพลาดของการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งชาวอุบลราชธานีได้ต่อสู้คัดค้าน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติไปแล้ว และปัญหาก็ยังคาราคาซังอยู่จนปัจจุบัน การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าปัญหาเดิมหลายต่อหลายเท่า ชาวอุบลราชธานีจึงไม่อาจยอมเสี่ยงอีกต่อไป

และขณะที่ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ดำเนินการอย่างผิดพลาดและก่อให้เกิดขบวนการต่อสู้ของประชาชน ซึ่งบาดแผลและความเจ็บปวดของชาวอุบลราชธานียังไม่ได้รับการเยียวยา การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในครั้งนี้ ยังใช้กระบวนการที่ซ้ำรอยเดิมของการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นกระบวนที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และประชาชนเจ้าของพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

อนึ่ง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี) อันเป็นแผนแม่บทในการลงทุนจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนการวางแผน คือ คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตระยะ 15 ปี และการกำหนดว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใด เมื่อใด และกำลังผลิตเท่าใด ซึ่งค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอันเกิดจากการวางแผนพีดีพีนั้น ได้ก่อปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากค่าพยากรณ์ “สูงเกินจริง” ดังจะเห็นได้จากกำลังผลิตและการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี (2541-2553) ปี 2553 มีโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็นถึง 3,738 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลถึง 28 โรง หรือต้องสร้างเขื่อนปากมูลอีก 28 เขื่อน

คำถามมีว่า แล้วเหตุใดประเทศไทยยังต้องสำรองไฟฟ้า หรือวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่อีก ทั้งๆ ที่พลังงานยังมีอยู่อย่างล้นเกิน และยังมีแผนจัดซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกเป็นอันมากและผูกพันในอนาคตอีกหลายปี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งปัญหาอันเกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วโลก

ทางเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี มีความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นกรณีตัวอย่าง การระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ที่ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ระเบิด สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศในรัศมี 30 กิโลเมตร มีการเปรอะเปื้อนรังสีสูง จนต้องประกาศเป็นเขตอันตราย (Zone of Alienation) สารกัมมันตภาพรังสีลอยออกไปปนเปื้อนทั้งในอากาศ แม่น้ำ ผืนดิน ทั่วทวีปยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องอพยพประชาชนประมาณ 336,000 คน ซึ่งในปี 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สรุปผลความเสียหายว่า มีผู้เสียชีวิตจากแรงระเบิดโดยตรง 47 ราย และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 9,000 คน จากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 6.6 ล้านคน ซึ่ง 4,000 คนมีสาเหตุจากโรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ ที่เหลือจากโรคมะเร็งชนิดอื่น และโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอีกจำนวนมาก นับว่าเป็นหายนะภัยจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หายนะภัยเชอร์โนบิลทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 200 เท่า ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการระเบิดและผลกระทบที่ตามมาของโรงไฟฟ้าที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับประเทศไทย แม้เพียงการปนเปื้อนอันเกิดจากกัมมันตภาพรังสีจากคนเก็บของเก่าขายที่คลองเตยยังทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย สร้างความสะพรึงกลัวแก่ประชาชน โดยที่ทางการไม่มีขีดความสามารถในการระงับยังยั้งภัยได้ทันท่วงที นั่นเป็นแต่เพียงชิ้นส่วนเพียงชิ้นเดียวจากขยะ ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีเกิดระเบิด และจะแผ่รัศมีทำลายล้างกว่า 490 กิโลเมตร อันจะทำให้จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีเนื้อที่เพียง 18,906.1 ตารางกิโลเมตร จะต้องหายไปจากแผนที่ประเทศไทย ทั้งนี้รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีสะเกษและอำนาจเจริญด้วย หน่วยงานรัฐและรัฐบาลไทยจะรับมือได้หรือ

อันที่จริง การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีเพียงบริษัทข้ามชาติเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ชาวไทย ชาวจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียงต้องสูญเสียชีวิต สูญสิ้นวิถีชีวิตที่ดำรงมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อกรณีปัญหาดังกล่าว รัฐควรมีหน้าที่เพียงการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนการตัดสินใจในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ควรอยู่ที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาและยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐ โดยกระทรวงพลังงาน ได้โหมโฆษณาทางสื่อทุกแขนง โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว อันจะทำให้ประชาชนทั่วไปซึมซาบแต่เพียงด้านดีของพลังงานนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกันและตีตราประชาชนในพื้นที่ที่ทำการต่อสู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญ เป็นการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนในชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง และที่สำคัญ เป็นการผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุ แนวทางที่ถูก รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาดีกว่าสร้างปมปัญหาจากการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่ออย่างที่กระทำอยู่

จากประสบการณ์ของชาวอุบลราชธานีที่มีต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนในการดำเนินการด้านพลังงาน กรณีเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร พวกเราจึงไม่เชื่อมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้

ดังนั้น เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนพี่น้องชาวอุบลราชธานี จึงขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ ท่าน ได้โปรดพิจารณายกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ขอให้ยุติการให้ข้อมูลด้านเดียวของหน่วยงานรัฐ และขอให้คนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ตัดสินใจ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยด่วน จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี
นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ(คป.สม.)
เครือข่ายคนฮักน้ำของ
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ณ ศาลากลาง(ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 21 มกราคม 2554

 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น