โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สื่อแคนาดาสัมภาษณ์ทักษิณ-แนะอีก อภิสิทธิ์เจรจา นปช

Posted: 07 Jan 2011 12:10 PM PST

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โตรอนโตสตาร์ สื่อแคนาดา รายงานบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วยนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดา โดยระบุว่าเป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษขณะที่ทักษิณยังคงอยู่ในระหว่างการลี้ภัย ในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่มิได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นประเทศใด

“เทรซีย์ ไทเลอร์” ผู้สื่อข่าวของโตรอนโตสตาร์ ระบุว่าทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความผ่อนคลาย และมีผู้คนมากมายมาขอเข้าพบ แต่ทักษิณได้เว้นระยะห่างทางการเมือง โดยระบุว่าตนมิได้ให้คำแนะนำใดๆ โดยตรงในกรณีที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งได้เดินทางไปขอเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ ทักษิณยังย้ำด้วยว่าตนไม่รู้จักกับแกนนำ นปช. และไม่เคยให้คำแนะนำด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. แต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองทำให้ชีวิตของคนไทยที่สนับสนุนตนต้องเปลี่ยนแปลงไป และความสุขของคนไทยถูกพรากไป พร้อมทั้งระบุว่าคนเสื้อแดงอยากให้ตนกลับประเทศไทย แต่คำตัดสินลงโทษจำคุกตนในประเทศไทยเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลทหารเป็นผู้วางแผนกีดกันมิให้ตนกลับประเทศ

ขณะเดียวกัน ทักษิณได้กล่าวพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย โดยระบุว่าการปรองดองหมายถึงการเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่สังคมไทย พร้อมระบุว่าอภิสิทธิ์ควรจะเจรจากับกลุ่ม นปช. และการกำจัดแกนนำหรือไล่ตามจับกุมกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าคุกไม่ใช่หนทางแห่งการปรองดอง

ส่วนนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่ม นปช.ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศให้ดำเนินการพิจารณาไต่สวนรัฐบาลไทย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สืบเนื่องจากการใช้กำลังล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือน เม.ย.และ พ.ค.2553 ซึ่งอัมสเตอร์ดัมระบุว่าทักษิณมิได้ลงชื่อยื่นฟ้องด้วย แต่ให้ความสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย

 

 

ที่มา http://www.thestar.com/news/article/917674--thailand-s-deposed-prime-minister-relaxes-and-waits

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ‘หมอดูการเมือง’ ที่ยืนของ ‘รัฐศาสตร์ไทย’ ในโลกหลังสมัยใหม่ ?

Posted: 07 Jan 2011 08:05 AM PST

 
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปมปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย และทางออกก็ดูเหมือนจะตีบตันอยู่จนปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาด้าน “การเมือง” โดยตรง ถูกคาดหวัง กระทั่งถูกตั้งคำถามมาสักพักใหญ่แล้วถึงความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ สร้างโมเดลทางออกจากปัญหา ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปัญหาหนักหน่วงมากเท่าไร บทบาทของพวกเขากลับแผ่วเบามากขึ้นเท่านั้น จนบางคนถึงกับกล่าวติดตลกว่า “หมอดู” อาจมีประโยชน์ต่อการคาดเดาอนาคตการเมืองไทยมากกว่า “นักรัฐศาสตร์”
 
นักศึกษารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงคำถามตัวโตที่มีต่อศาสตร์ที่พวกเขาศึกษาดี ในงาน “รัฐศาสตร์แฟร์” ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 7 แล้วจึงมีการตั้งชื่องานหรือวาง concept ของงานไว้ว่า “การพยากรณ์ การเมือง และเรื่องของอนาคต” จัดตั้งแต่วันที่ 5-7 ม.ค.54 โดยภายในงานมีการเสวนาวงใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหัวข้อ “การเมืองกับการทำนาย: ความท้าทายของนักรัฐศาสตร์ไทย” ซึ่ง ‘ประชาไท’ สรุปความเบื้องต้นไว้ในเนื้อหาด้านล่าง
 
 
ในจุลสารงานรัฐศาสตร์แฟร์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ข้อจำกัดใหญ่ที่สุดของรัฐศาสตร์ในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของโลกหลังสมัยใหม่คือ การไม่สามารถให้ทางออกและการคำนวณใดๆ ได้อีกต่อไป รัฐศาสตร์จึงกลายมาเป็นเพียงผู้ดูอยู่ห่างๆ ทำให้ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์จำเป็นต้องรับอิทธิพลความคิดจากนักคิดหลังสมัยใหม่ เช่น Jacques Derrida Jean Baudrillard และ Michel Foucault ในการเข้ามาอธิบายเพื่อจะเพิ่มความน่าเชื่อถือในศาสตร์ของตน แต่การยิ่งเพิ่มนักคิดเหล่านี้ขึ้นมาในพรมแดนรัฐศาสตร์ กลับบั่นทอนความเป็นรัฐศาสตร์เอง รัฐศาสตร์จึงเดินมาอยู่ทางแยกที่สำคัญระหว่างการอยู่รอดกับความไร้น้ำยาในการวิเคราะห์สถานการณ์รอบข้างที่เปลี่ยนไป”
 
“Horopolitic จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งขึ้นเพื่อหาทางออกข้อขัดแย้งระหว่าง postmodern ที่ไม่เชื่อว่าเราทำอะไรได้ กับ modern ที่เชื่อว่าเราเราทำอะไรได้ทุกอย่างด้วยวิธีการที่แน่นอน ด้วยข้อสรุปที่ว่า เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างภายใต้สภาวะกดดันที่คาดเดาไม่ได้ อย่างน้อยก็เหนือชั้นกว่าคนไร้น้ำยาที่ postmodern ประณามเรา..”
                                 
วงเสวนาเริ่มต้นที่ นักรัฐศาสตร์ขวัญใจนักคิดรุ่นใหม่อย่าง ‘ธเนศ วงยานนาวา’  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มต้นพูดถึง “การทำนาย” ว่า ชีวิตคนเราเกิดมาต้องทำนายอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน จนถึงศาสตร์ต่างๆ ก็มีหลักการทำนายหรือการคาดการณ์สิ่งต่างๆ ของตัวเอง เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมที่เรียกว่าโครงสร้างทางสังคมเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่คาดเดาได้
 
“เช่น คุณเจออาจารย์แล้วยกมือไหว้ อาจารย์หันมาตอบคุณว่า “ไอ้สัตว์ ไหว้ทำเหี้ยอะไร” (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่างนี้ไม่ใช่ เพราะมันต้องเป็นอะไรที่คาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ต้องทำนาย เพราะคุณคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีความคงเส้นคงวา แต่อันที่จริงชีวิตของคุณไม่ได้มีความคงเส้นคงวา แต่ที่มันคงเส้นคงวาได้เพราะมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างบังคับให้คุณคงเส้นคงวา ซึ่งมันจะจัดระเบียบให้คุณคิดว่าคุณจะคาดหวังได้บ้างอะไรในชีวิต”
 
ธเนศกล่าวว่า ท้ายที่สุด เวลามีคำถามถึงสิ่งพวกนี้ มันตกตะกอนอยู่ที่คำถามอันเดียวคือ ในชีวิตของมนุษย์ คุณต้องการควบคุมอะไรบางอย่างให้เป็นไปตามความคาดหวัง แต่ขณะเดียวกันโลกนี้มีหลายสิ่งที่คุณควบคุมมันไม่ได้ คุณจึงต้องหาหนทางในการควบคุมมัน ฉะนั้น หมอดู การทำนายรูปแบบต่างๆ และการบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะในทางศาสนาทุกศาสนา คือสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมสิ่งซึ่งควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น เช่น คุณบำเพ็ญตบะเพื่อควบคุมจิตของคุณ และเป็นเรื่องปกติที่คุณจะหวาดวิตกกับสิ่งต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ต้องการทำให้มันอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เวลาตั้งคำถามนี้ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ในการที่เราคิดว่า รัฐศาสตร์จะทำนายได้หรือไม่ได้ ถ้านักศึกษารัฐศาสตร์ไปเรียนวรรณคดีอังกฤษเสีย เขาก็คงไม่มานั่งบอกตัวเองให้ทำนายสิ่งต่างๆ  
 
“ผมคิดว่าความสามารถในการที่เราเป็นห่วงกับการคาดเดาได้หรือไม่ได้ มันมาพร้อมกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้เราควบคุมอะไรหลายอย่างได้ เช่น เห็นได้ว่าทอร์นาโดวิ่งไปทางไหน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะรำคาญมากกับคนที่ถูกเทรนมาด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งมันเป็นปมด้อยของเด็กสายสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ทำแคลคูลัสไม่ได้ เลยต้องมาวุ่นกับเรื่องการตีความ เรื่องโพสต์โมเดิร์น ปัญญาอ่อนอะไรพวกนี้ (ผู้ฟังหัวเราะ) ขณะเดียวกันปลายศตวรรษที่ 19 วิชาสถิติได้ขยายตัวอย่างมากและเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิชาต่างๆ เพื่อการที่คุณจะจัดการโอกาสหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่คุณไม่สามารถคุมได้  สิ่งพวกนี้ในท้ายที่สุดทำให้ทุกคนต้องจบชีวิตลงด้วยการเป็นหมอดู ที่สุดแล้วศาสนา สถิติ วิชาการ ทุกคนมีความต้องการจะควบคุม เพราะคุณกำลังทำในสิ่งที่คุณทำไม่ได้ ถ้าคุณทำได้เมื่อไรก็เป็นสัตว์ประเสริฐเมื่อนั้น”
 
ธเนศกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การรับรู้ของเราทั้งหมดก็อยู่ภายใต้โครงสร้างของคุณ และคำอธิบายทั้งหมดก็อยู่ในโครงสร้างนี้ ในพล็อตนี้ ซึ่งคุณก็จะทำนายภายใต้ความรู้ที่คุณมีแค่นั้น ตอนที่อาจารย์อรรถกฤตซึ่งถูกเทรนมาด้านเศรษฐศาสตร์ด้วนเข้ามาในคณะรัฐศาสตร์ มธ. เขารู้สึกดีใจมาก เพราะคณะเขาถูกครอบงำด้วยนักปรัชญาการเมือง ทั้งที่เขาไม่เคยดูถูกตัวเลขหรือเศรษฐศาสตร์ และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พร้อมยกตัวอย่างคำพูดที่ปรากฏในวารสาร Journal of the Royal Statistical Society เมื่อปี 1993 ว่า สำหรับในทางสถิติแล้ว “การคาดการณ์ที่แม่นยำเป็นเรื่องยาก” ซึ่งสะท้อนว่าแม้กระทั่งนักสถิติยังยอมรับ ฉะนั้น อยากให้เราสนใจ ทำความเข้าใจโลกของคนอื่นที่เขาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักสถิติ นักคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เห็นแค่ตัวเลขแล้วบอกอ่านไม่รู้เรื่อง มันอาจทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆ ที่ทำอะไรแตกต่างไปจากเรามากกว่านี้
 
“อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามาตรฐานการประเมินค่ของความรู้ในปัจจุบันนี้วางอยู่บนฐานของการคาดการณ์ การพยากรณ์ ซึ่งสำหรับผม ผมไม่รู้สึกว่าประหลาดอะไรในโลกที่เราอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิชาญาณวิทยา (epistemology) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เติบโตขึ้นมาช่วงปลายศตวรรษที่19 คือ prediction ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการประเมินค่าความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจของวิชาสถิติซึ่งแพร่กระจายไปสู่สาขาวิชาต่างๆ ฉะนั้น โมเดลนี้จึงเป็นโมเดลที่วางอยู่บนพื้นฐานสายสัมพันธ์ของ cause and effect ซึ่งเป็นโมเดลที่เติบโตตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งความหมายของแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน และซับซ้อนกว่าที่สังคมไทยเข้าใจว่าเหตุนำไปสู่ผลมากนัก ด้วยความสัมพันธ์อันนี้จะผูกพันกับตัวเทคโนโลยีซึ่งทำให้คุณมีความแน่นอน แต่ถ้ากลับมาดูสิ่งที่บอกในสถิติเองก็ไม่ได้บอกถึงสิ่งที่แม่นยำขนาดนั้น ความแม่นยำในการคาดการณ์ทำได้ยาก ผมกำลังบอกว่าเราเกิดขึ้นมาในโลกที่มาพร้อมกับความรู้ คุณผสมผสาน ความรู้ และเทคนิค เพื่อผสานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งคำถามแบบที่คุณกำลังถามอยู่นี้” ธเนศกล่าวพร้อมย้ำว่าอยากให้นักศึกษารัฐศาสตร์เปิดใจให้กว้าง อ่านหนังสือให้เยอะๆ รู้จักโลกของคนอื่นเพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ  
 
 
‘อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐศาสตร์เชิงปริมาณเป็นทางเลือกในการวิเคราะห์ แม้ไม่ใช่การทำนายที่ได้ผลถูกต้อง 100% แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าไม่มี โดยยกตัวอย่างถึงงานศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนว่าควรมุ่งพัฒนาในประเด็นไหนจึงจะทำให้ความรุ่งเรืองของประเทศสูงขึ้น โดยเชื่อมตัวแปรระหว่างเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีการของรัฐศาสตร์เชิงปริมาณนั้นเริ่มต้นโดยการตั้งสมมติฐานและคัดเลือกตัวแปรในการวิเคราะห์ เมื่อทราบว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตัวแปรที่สำคัญคือความร่วมมือระหว่างประเทศ จากนั้นก็หาประเด็นที่จะอธิบายว่าการยกระดับความร่วมมือนั้นมีตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ระบบการปกครอง ฯลฯ โดยตัวแปรที่ออกมาจะเป็นในเชิงคณิตศาสตร์ที่หาได้จากการวิเคราะห์ของสถาบันต่างๆ แล้วนำตัวแปรมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้ซอฟแวร์ทางสถิติมาช่วย
 
ผลที่ปรากฏคือ การจะยกระดับความร่วมมือของประเทศกลุ่มอาเซียนได้นั้น อย่างน้อยระดับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องสูงขึ้นทั้งกลุ่ม และตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย แต่คำตอบที่ว่าการยกระดับความร่วมมือมาจากการยกระดับการปกครอง อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐศาสตร์เชิงปริมาณนั้นอธิบายเฉพาะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวแปรที่นำมาใช้เป็นการเอาข้อมูลตั้งแต่อดีตที่มีการก่อตั้งอาเซียนถึงปัจจุบันมาวิเคราะห์ ผลของความสัมพันธ์ที่ออกมาจึงเป็นทางเลือกทางนโยบายอันหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าหากมุ่งเน้นการพัฒนาประชาธิปไตยจะทำให้ความร่วมมือสูงขึ้นอย่างเต็มที่
 
ต่อความเห็นที่ว่าการวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นเพียงการเลือกตัวแปรเพื่อนำมาวิเคราะห์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีจริง อรรถกฤตกล่าวโต้แย้งว่า การทำวิจัยทางรัฐศาสตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการวิจัยรัฐศาสตร์เชิงปริมาณจึงเป็นการวิเคราะห์ที่สนับสนุนให้เกิดความชัดเจนเชิงประจักษ์มากขึ้นว่า สิ่งที่วิเคราะห์ตรงประเด็นอย่างไร อธิบายถึงทางเลือกหรือนโยบายในอนาคตได้อย่างไร      
 
อรรถกฤต กล่าวต่อมาถึงตัวอย่างทฤษฎีเชิงปริมาณที่ใช้ถูกนำมาใช้ว่า ทฤษฏีเกมเป็นทฤษฎีที่ใช้หลักการและเหตุผลในการวิเคราะห์ โดยพยายามที่จะเลือกกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการแข่งขันกับคู่ต่อสู้ เช่น พรรคการเมืองจะชูนโยบายอย่างไรเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง วิธีการคือต้องหาจุดนโยบายที่อยู่ใกล้อุดมการณ์ส่วนรวม ยิ่งสามารถวางตำแหน่งของนโยบายใกล้จุดศูนย์กลางอุดมการณ์ส่วนรวมได้มากเท่าไรโอกาสที่จะชนะก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ทฤษฏีนี้ก็ไม่สามารถที่จะรับประกันผลการทำนายผู้ชนะได้เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การซื้อเสียง อีกทั้งมีเรื่องของความน่าจะเป็น มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำนายจึงไม่ให้ผลที่ถูกต้องแน่นอน เพราะฉะนั้นทฤษฏีเกมจึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการคัดกรองอย่างเป็นระบบว่าจะเลือกกลยุทธ์อย่างไรให้ดีที่สุด
 
“รัฐศาสตร์เชิงปริมาณก็ไม่สามารถทำนายได้ 100% การวิเคราะห์ต่างๆ ก็เป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่งเท่านั้น โดยที่การทำนายไม่ 100% เพราะมีความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยวข้อง และการเลือกตัวแปรมาวิเคราะห์ก็เป็นการเลือกของนักวิจัยต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า การวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นการสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงทฤษฎี ให้มีการรีเช็คว่าสิ่งที่เราวิเคราะห์มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร” อรรถกฤตเน้นย้ำข้อสรุป       
 
 
‘เกษม เพ็ญภินันท์’ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้จัดบอกว่าอยากให้วิเคราะห์ว่าแนวคิดปฏิฐานนิยม (positivism) สามารถศึกษาหรือทำนาย คาดการณ์ทางการเมืองได้แค่ไหน โดยเฉพาะคำถามจากแง่มุมทางปรัชญา เมื่อหลวมตัวรับปากมาแล้ว
 
เรากลับมาทบทวนคำถามของผู้จัด ประเด็นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ การเมือง และการทำนาย ในช่วงทศวรรษ 1960 แนวคิดแบบ positivism เข้ามากระทบกับแวดวงรัฐศาสตร์โดยรวม ไม่เฉพาะในอเมริกาแต่ในยุโรปและภูมิภาคอื่น สิ่งที่สั่นคลอนคือการเปลี่ยนขนบวิธีศึกษาทางรัฐศาสตร์ จากเดิมที่เคยศึกษาความคิดทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของปรัชญาการเมืองในแง่ของวิธีคิดหรือคำถามในเชิงคุณค่าต่างๆ  และเรื่องที่สัมพันธ์กับกฎหมาย นิติศาสตร์และสถาบันทางการเมืองแบบที่มีบทบาทในแง่การจัดรูปแบบโครงสร้างทางสังคมการเมือง และสุดท้ายคือในแง่การจัดการ การบริหาร
 
เกษมกล่าวว่า มันเกิดอะไรขึ้นในทศวรรษ1960 คำถามที่เกิดขึ้นจากปีกพฤติกรรมศาสตร์มันได้เปลี่ยนคำถามหรือขนบการศึกษาทางรัฐศาสตร์ แทนที่จะศึกษาเรื่องคุณค่าที่ไม่สามารถวัดได้ในทางตัวเลข สถิติ กลายมาศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ศึกษาเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ดูความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นคำนิยามคลาสสิคอันหนึ่งของนักรัฐศาสตร์ ที่บอกว่า การเมืองคือเรื่องของการกระจายคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ส่วนต่างๆ จะรับคุณค่าจากสิ่งเหล่านั้น มันทำให้ทิศทางรัฐศาสตร์ไปศึกษาในข้อเท็จจริง ความเคลื่อนไหวของข้อมูล หรือการกระทำการต่างๆ ในทางการเมือง และนักรัฐศาสตร์เองได้ทำการศึกษาสิ่งเหล่านั้นแล้วบอกว่าการเมืองในรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างไร  ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร ผนวกกับนักรัฐศาสตร์ไปหยิบยืมมโนทัศน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องของอำนาจ คนที่คิดและศึกษาเรื่องอำนาจอย่างเป็นระบบที่สุด ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์แต่เป็นนักสังคมวิทยา ซึ่งพูดถึงรูปแบบของอำนาจในการครอบงำต่างๆ และรัฐศาสตร์เอามาอธิบายเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในทุกวันนี้
 
ด้านหนึ่งทำให้เรามองเห็นรัฐศาสตร์ในรูปแบบเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นว่าน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง ประกอบกับวิธีคิดหรือฐานคิดของปฏิฐานนิยมที่พยายามตรวจสอบจากข้อมูลเชิงประจักษ์ คาดการณ์ได้อย่างไรบ้าง มีตัวแปรอะไรบ้าง ซึ่งมาสู่การพยาการณ์ซึ่งมองการเมืองในแง่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงนี้ด้านหนึ่งทำให้รัฐศาสตร์เองก็ถูกท้าทาย ช่วงต้นทศวรรษ 1980 มีหนังสือเล่มสำคัญหลายเล่มที่ลุกขึ้นมาท้าทายคำถามและสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ศึกษาในปรากฏการณ์ต่างๆ นักรัฐศาสตร์ทำอะไรอยู่ และการกระทำเช่นนั้นมีข้อจำกัดอย่างไร ข้อจำกัดสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเข้าถึงข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมาที่จะเอามาอภิปรายให้เข้าใจความสัมพันธ์หรือตัวแปรอะไรต่างๆ เพื่อที่คุณจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
 
สิ่งที่น่าสนใจและคิดว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในไทยไม่ได้เดินไปกับรัฐศาสตร์สากล ในขณะที่ที่อื่น รัฐศาสตร์เขยิบออกจากความสนใจในเชิงสถาบัน แน่นอนยังมีคนสนใจอยู่ แต่แง่มุมของมันผนวกกับประเด็นต่างๆ แต่ในทางกลับกันรัฐศาสตร์ไทย มองความสนใจส่วนใหญ่อยู่ที่การมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มพลังทางการเมือง กลุ่มอำนาจต่างๆ ทางสังคม ซึ่งเป็นโจทย์หรือความสนใจของคนในสังคม ทำให้ในแง่ของการศึกษารัฐศาสตร์เองไม่เต็ม แต่การทำอยู่เช่นนี้มันได้รับการตอบรับจากสังคมเพราะคนอยากรู้ว่าการเมืองมันจะเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ด้านหนึ่งทำให้อาชีพหมอดูเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองที่จะคาดเดาอนาคต ขณะเดียวกันคนส่วนหนึ่งก็คาดหวังว่านักรัฐศาสตร์จะทำในสิ่งเดียวกันบ้างคือ บอกว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น
 
เกษมกล่าวอีกว่า เอาเข้าจริงแล้วในท้ายที่สุด ไม่ว่าระเบียบการศึกษาไม่ว่าสังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เอง สิ่งหนึ่งที่ทำร่วมกันคือการต้องการควบคุมธรรมชาติหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การควบคุมในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อให้ตัวเองรู้และมั่นใจ รับประกันต่ออนาคต เป็นสปิริตร่วมของคนในยุคสมัยที่รู้สึกว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ความแน่นอนอันเดียวคือการบอกหรือคาดการณ์ได้ว่าอนาคตควรเป็นเช่นไรด้วยการหาแนวทางบางอย่าง ความน่าจะเป็นบางอย่าง อาจจะด้านสถิติอย่างที่อาจารย์ธเนศพูดถึง ทำให้ทิศทางต่างๆ เป็นไปอย่างที่คุณต้องการจะเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์ของมนุษย์หรือการเมืองเป็นสิ่งไม่แน่นอน มนุษย์พยายามจัดการความไม่แน่นอนบนฐานที่แน่นอน แต่ถึงที่สุดแล้วมันไม่มีอะไรแน่นอน เพราะมันคือความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง ที่พูดตรงนี้เพราะต้องการจะบอกว่าเอาเข้าจริงชุดความรู้ หรือการศึกษาทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทำนายว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้น แต่การคาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นบนพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นได้บนคำอธิบายว่ามีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญของการศึกษาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าจะทำนายอย่างไร แต่บอกว่าบนการคาดการณ์ความน่าจะเป็นนั้นคุณสามารถให้คุณค่าหรือนำเสนอทิศทางอะไรให้กับอนาคต
 
การเมือง การทำนาย พูดจริงๆ คือคนละเรื่องกัน แต่มันเกี่ยวกันเมื่อคุณจะทำให้อนาคตมันมั่นคงด้วยการบอกได้ว่าคุณควบคุมอนาคตได้ เพราะคุณอยู่ในโลกที่คุณไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร
 
เวลาพูดถึงการทำนาย เราอาจรู้สึกว่าเราอยากจะควบคุมอนาคตให้ได้ แต่ภาวะหนึ่งที่เราไม่ตระหนักคือ ภาวะความเป็นปัจจุบัน การพยายามคาดการณ์อนาคตคือความประหวั่นพรั่นพรึงในภาวะปัจจุบันที่เราไม่รู้จะไปทางไหน คำว่า crisis โดยรากศัพท์คือทางแพ่ง ที่คุณต้องเลือก และคุณไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ดังนั้น ความพยายามจะเรียกร้องโหราจารย์ต่างๆ ก็เพราะเราไม่รู้จะอยู่กับปัจจุบันยังไง และเราประหวั่นวิตกกับมัน เราแก้มันด้วยการบอกว่ามันมีอนาคตข้างหน้าซึ่งเราสามารถไปถึงได้ ไปต่อได้ เพื่อออกจากความหวั่นวิตกนั้น การทำนายด้านหนึ่งเป็นการตอบโจทย์จิตสำนึกของเวลาที่เป็นปัจจุบันเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้
 
ความเข้าใจในวงวิชาการในระดับสากล มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาหรือโจทย์ร่วมของยุคสมัย ตัวนี้จะกำกับและพาไปสู่การพยายามตอบโจทย์และการพยายามทำฐานข้อมูลอย่างมาก ตอนนี้มี 2 โจทย์ที่สำคัญคือ การกลับมาคิดว่า ประชาธิปไตยคืออะไร หรือเพื่ออะไร โจทย์พวกนี้นอกจากความพยายามหาคำตอบแล้วมันยังนำไปสู่พัฒนาของตัว concept และเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาด้วย ยกเว้นประเทศนี้ที่ยังอยู่ที่การเมืองอยู่ไม่ไปไหน เพราะการเมืองมันยังไม่พัฒนา  พอไม่พัฒนาก็ไม่ต้องถามถึงประชาธิปไตย ไม่ต้องถามว่าคุณค่าต่างๆ นั้นมันเพื่ออะไร อันที่สองคือ การพยายามกลับมาคิดถึงโมเดลในฐานะที่เป็นจุดศูนย์กลางของปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ การศึกษาสังคมศาสตร์โดยรวม คำถามของยุคสมัยเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้คนพยายามคิดหาทางออก คุณูปกาของวงวิชาการที่เกิดขึ้นคือ การพยายามหาแนวทางบางอย่างให้คนพยายามตอบโจทย์หรือปัญหาร่วมสมัย ถ้ากลับมาในวงการรัฐศาสตร์ไทย สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้คิด ไม่ได้ทำ คือ เราไม่ได้มองว่าจะเสนอทางออก หรือทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เพื่อมีแนวทางออกอย่างไร เรามีแต่สูตรสำเร็จ อย่าง ปรองดอง ปฏิรูป ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป นักวิชาการไม่ได้ทำหน้าที่พวกนี้ คนกำหนดนโยบายก็ไม่ทำหน้าที่ มีแต่พยายามตอบแบบเดิมๆ ทำให้วงการรัฐศาสตร์ไทยไม่ไปไหน นอกจากการพยายามทำนายในสิ่งที่ทำนายไม่ได้ ในความหมายว่า คุณได้แต่คาดการณ์ และอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่คุณมี ซึ่งเอาเข้าจริงนักหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดข้อมูลอาจทำนายได้ดีกว่าคุณ และไม่ได้มีหลักการในการคาดเดาได้ดีกว่าบรรดาโหรหรือหมอดู นักรัฐศาสตร์คงยังเป็นเช่นนี้อีกเป็นทศวรรษ ถ้ายังมองโลกในแง่ดีนะ
 
 
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความเห็นต่อการทำนายกับนักรัฐศาสตร์ไทยว่า สังคมมีความคาดหวังให้นักรัฐศาสตร์เป็นผู้ทำนาย ซึ่งนักรัฐศาสตร์ไทยจะเจอสภาวะการถูกตั้งคำถามต่อประเด็นทางการเมือง โดย 2 คำถามหลัก คือ 1.คิดว่ามันจะเป็นอย่างไร 2.มันจะแก้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าวิธีตอบที่ดีที่สุดคือการถามกลับว่า “แล้วคุณคิดว่าอย่างไร?” เพราะคนถามนั้นมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว และนักรัฐศาสตร์เป็นเพียงผู้ที่ช่วยรับรอง ทำให้คนถามเกิดความสบายใจ ดังนั้นนักรัฐศาสตร์ที่ดี จึงควรเป็นผู้ฟังที่ดี
 
ในเรื่องการทำนาย พิชญ์กล่าวถึงงานวิชาการของไทยที่ชื่อ “Political conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution” โดย David Morell (เดวิด มอเรลล์) และศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช ซึ่งถูกเขียนเมื่อปี 1981 เพื่อตอบคำถามต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเคยได้รับความนิยมในหมู่คนไทย ที่พูดถึงการทำนายเรื่องการปกครองของไทย ในรัชการที่ 10 และผลงานของเลนิน (The State and Revolution:1917) ที่อาจตีความได้ว่า เมื่อทุกคนมีความเจริญถึงจุดหนึ่งสถาบันกษัตริย์ก็จะไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอีกต่อไปแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการทำนายนั้นสามารถตีความได้หลายแบบ
 
พิชญ์ กล่าวต่อมาว่าสังคมนั้นมีความพยายามในการที่จะทำนายอยู่เสมอ เพราะมีเรื่องความไม่แน่นอน แต่สำหรับสังคมไทยแล้วมีความแน่นอนอยู่อย่างหนึ่ง คือ เรารู้ว่าสังคมเราเสื่อมลงทุกวัน ตรงนี้มีหลักฐานเป็นวิทยานิพนธ์ชื่อ “แนวคิดเรื่องมิคสัญญี: ศึกษาจากคัมภีร์โบราณทางพุทธศาสนา ในฐานะเป็นจุดเริ่มต้น” ที่ถูกจัดทำขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยมีงานเขียนหนึ่งที่น่าสนใจเรื่องวิวาทะระหว่างปรีดี พนมยงค์ และรัชกาลที่ 7 ซึ่งพูดถึงแนวคิดหนึ่งของไทยเรื่องพระศรีอารย์ ที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมเชื่อว่าสังคมจะเสื่อมลงทุกวัน ภายหลังปี พ.ศ.2500 จะยิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ คณะราษฎร์มีการหยิบยกแนวคิดนี้มาใช้ โดยในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีมีการกล่าวอ้างว่าพระศรีอารย์มาถึงแล้ว รัฐบาลควรจะเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงพระศรีอารย์ เพื่อที่จะทำให้คนเข้าใจ Welfare แต่ในทางตรงข้ามรัชกาลที่ 7 ตอบว่ายังไม่ถึงหรอก เป็นการชิงสุกก่อนห่าม
 
พิชญ์ กล่าวด้วยว่า การทำนายคือการพยายามควบคุม แต่มันมีพล็อตอย่างหนึ่งอยู่ในการทำนายอยู่เสมอ อาจเนื่องมาจากเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ นั่นก็คือ เรื่องของกลียุค มิคสัญญี และวิกฤต ที่มีอยู่เสมอ ซึ่งมันไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนอื่นที่ท้าทายรัฐก็ได้ เครื่องมือที่รัฐท้าทายผู้ปกครองเก่าก็ได้
 
มาจนถึงปัจจุบัน เรื่องของกลียุคนี้ก็ถูกถอดมาเป็นเรื่องของวิกฤต ซึ่งคนที่นำไปใช้มากคือกลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงแนวคิดของ น.พ.ประเวศ วะสี ที่ว่าสังคมวิกฤติจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พ้นจากสภาวะมิคสัญญี ยิ่งเมื่อมีโลกาภิวัตน์ บรรดานักวิชาการได้พูดถึงโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็น “วิกฤตยุคโลกาภิวัตน์” ของธีรยุทธ บุญมี, “กลียุคและการปฏิวัติมนุษยชาติ” โดยเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, “ยุคศรีอาริยะ” ข้อเขียนของ น.พ.ประสาน ต่างใจ และ “วิถีมังกร” ของสุวินัย ภรณวลัย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากเรื่องของวิกฤติ ซึ่งดูไม่ใช่การต้องทำนายแต่เป็นปมที่อยู่ในตัวมนุษย์ และตรงนี้ถูกนำมาใช้ในเงื่อนไขทางการเมืองได้หลากหลายรูปแบบ
 
สำหรับนักรัฐศาสตร์ไทย พิชญ์แสดงความเห็นว่า ตามที่อาจารย์อรรถกฤตพูดว่ามีการนำรัฐศาสตร์เชิงปริมาณเข้ามาเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในสังคมไทยที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันความเชื่อมากกว่าการตรวจสอบ
 
“ผมไม่แน่ใจว่าเราไปค้นหาหรือไปตอกย้ำอคติของเราที่มีต่อการรับรู้ทางการเมืองของเรา เช่น พฤติกรรมทางการเมืองของชาวบ้าน เนื่องจากเราอยากค้นตรงนี้ เราก็จะเจอแต่ตรงนี้ แต่มันจะไปให้ถึงอุดมคติได้อย่างไรว่ามันมีจิตวิญญาณของการใช้มิติเชิงปริมาณเพื่อตรวจสอบ เพื่อสร้างความเสรี ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้อาจมีจะอคติในการหยิบใช้สิ่งเหล่านี้” พิชญ์กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าในเรื่องความเสื่อมเป็นความเชื่อที่มีอยู่แล้ว แต่วิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันว่ามนุษย์นั้นเสื่อมลง โดยวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ยืนยันการค้นพบจริง แต่มีความเชื่อไปจับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งคำถามคือจะทำอย่างไรประชาชนจะสามารถใช้ข้อมูลชุดอื่นได้
 
ต่อคำถามที่ว่าอนาคตของนักรัฐศาสตร์ไทยจะเป็นอย่างไร พิชญ์กล่าวว่าทิศทางของรัฐศาสตร์หากคิดว่าการทำนายเป็นหัวใจสำคัญ ต้องถามกลับไปว่าเรารู้สิ่งนั้นมากแค่ไหน เหมือนกับที่แซวกันว่านักปรัชญาสนใจจะรู้การเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็น แต่ถูกวิจารณ์ว่าสนใจเพียงการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้เลยว่าสังคมเป็นอย่างไร คำถามที่สำคัญคือการทำนายทางรัฐศาสตร์จะแตกต่างกับการทำนายในศาสตร์อื่นอย่างไร ต่างจากการทำนายทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร อะไรคือการทำนายแบบรัฐศาสตร์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมากกว่าคำถามที่ว่ารัฐศาสตร์สามารถทำนายได้ไหม แต่จะทำนายโดยแตกต่างจากสาขาอื่นได้อย่างไร และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการทำฐานข้อมูลทางรัฐศาสตร์ ถ้ารัฐศาสตร์สามารถเก็บฐานข้อมูลและสร้างเครื่องมือการคำนวณที่พอจะยอมรับร่วมกันได้ระดับหนึ่งแล้วคำนวณออกมาเป็นดัชนีความเป็นประชาธิปไตย เหมือนที่เศรษฐศาสตร์คำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็น่าตื่นเต้นดีและอาจทำให้เปลี่ยนทิศทางการแทรกแซงการเมืองไทยได้อย่างที่ผ่านมาก็ได้
 
 
ตอบคำถาม
 
ถามอาจาร์กฤต เรื่องตัวแปรต่างๆ ในการคำนวณ มันเป็นไปได้จริงหรือ เพราะอย่างไรเสียมันก็จะมีตัวแปรที่อยู่นอกเหนือการคำนวณ เช่น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หรือผู้นำบางประเทศรถคว่ำเสียชีวิต ?
 
อรรถกฤต: ตัวแปรสำคัญสำหรับการทำวิจัยเชิงปริมาณ เวลาเราคิดเราคิดจากเชิงประวัติศาสตร์ กลั่นกรองจาก
เชิงประวัติศาสตร์มาเป็นเชิงทฤษฎี เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น และกำหนดตัวแปรอธิบายต่อ พูดง่ายๆ ว่าต้องศึกษาผลที่เกิดขึ้นก่อน แต่ถามว่ามันเป็นสิ่งแน่นอนไหม ก็ไม่แน่นอน ถ้าตัวแปรที่เราคัดมาอาจไม่หมดทุกตัว มันเป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่ง ในอเมริกาเรื่องนโยบายต่างๆ จะมีการวิจัย และใช้วิชาทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยสร้างโมเดล กำหนดตัวแปรออกมา เป็นบทสรุปเชิงความสัมพันธ์ซึ่งเป็นตัวเลือกทางหนึ่งเท่านั้น ผู้นำประเทศก็ต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ อีก ดีกว่าไม่มีทางเลือกอะไรเลย
 
อาจารย์พิชญ์บอกว่าโหรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะใช้พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ แต่ถ้าดูในวรรณคดีอย่างเรื่องตะเลงพ่ายจะพบว่าโหรมีหน้าที่พูดความเท็จ แม้ไม่ดีก็พูดให้ดีกลัวผู้นำเสียกำลังใจ และคำอ้างของโหรถ้าพูดถึงมาถ้าขัดกับความประสงค์ของผู้มีอำนาจแล้วสุดท้ายก็มีการแก้ทางกันได้ หากแต่คนที่สามารถทัดทานผู้มีอำนาจได้ไม่ใช่โหรแต่เป็นพระ ซึ่งอ้างถึงเรื่องการสั่งสมบุญบารมีของกษัตริย์ ก็ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์ต้องเรียวลงสู่ความดับสูญเสมอไป สถาบันกษัตริย์อาจรุ่งเรืองขึ้นก็ได้ เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปีๆ ?
 
พิชญ์: ดีครับ จะได้รู้ว่าโหรก็ต้องมีศิลปะเหมือนกัน ในข่าวที่ผ่านมาก็สามารถดูได้ มีทั้งคำทำนาย และการทัก ต้องดูว่ากล้าทักแค่ไหน และน่าสนใจว่าทำไมเราไม่ไปถามพระบ้าง
 
ธเนศ: ผมคิดว่าสำนึกเรื่องความเสื่อมเป็นเรื่องปกติ เป็นสำนึกที่มีอยู่ในสังคมโบราณมาตลอด ฉะนั้น เวลาใครถามผมว่าสังคมเสื่อมไหม ถ้าคุณเป็นพุทธก็ต้องบอกว่าเสื่อม ถูกต้องแล้ว การคิดว่าคุณสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้นั้นเป็นของใหม่มาก แม้กระทั่งความรู้ของมนุษย์ มันไม่ใช่เกิดขึ้นที่ตัวคุณเอง แต่มันมีพรายกระซิบ สำนึกของการที่คุณจะมีความสุขก็ไม่ได้เกิดจากการที่คุณสามารถกำหนดชะตาชีวิตด้วยตัวคุณเอง ดูคำว่า happiness ในภาษาอังกฤษ รากศัพท์คือคำว่า happens perhaps สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคุณกำหนดมันแต่เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เมตตาคุณ ฉะนั้น สำนึกของพวกคุณในปัจจุบันจึงไม่เหมือนสำนึกของคนในอดีต คุณถึงบอกว่าคุณเลือกที่จะมีความสุขได้ ผมชอบพูดตลกๆ ตลอดเวลาว่า ผมเกษียณแล้วจะตั้งพรรคการเมือง และชาวพุทธทุกคนควรมาเข้าพรรคผม เพราะนโยบายของพรรคผมจะพาทุกคนไปนิพพาน (ผู้ฟังหัวเราะ) เมื่อคุณหัวเราะมันหมายความว่า คุณกำลังมองว่าการนิพพานเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่คุณประกาศตัวเองเป็นชาวพุทธ นี่คือสิ่งที่ irony ที่สุด ผมมีลูก ทุกคนถามผมว่า happy ไหม ผมถามว่าคุณเป็นพุทธไหม ถ้าใช่ ก็ต้องยอมรับว่าการเกิดแม่งเป็นทุกข์ คุณต้องยอมรับว่าพระพุทธเจ้าค้นพบอะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ4 และถ้าคุณมีทุกข์อยู่ มันถูกต้องแล้ว ถ้ามีความสุขสิแปลก ฉะนั้น ทางออกมันไม่ใช่ทางการเมือง คุณต้องไปนิพพาน ถ้าคุณยังอยู่ในโลกอันนี้คุณต้องเวียนว่ายตายเกิดกับความไม่แน่นอนในชีวิต และมาตั้งคำถามเรื่องการทำนาย ซึ่งมันตั้งคำถามได้ตั้งแต่ ผัว/เมียคุณจะทิ้งคุณหรือเปล่าก็ยังได้ ทำนายได้ทุกเรื่องตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน  และผมว่าก็ปกติที่ทุกคนมาจัดการความไม่แน่นอนในชีวิต แน่นอน เซลแมนขายวิกฤตก็ต้องเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าไม่ขายวิกฤตก็ไม่ได้ทุนวิจัย ไม่ได้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป  มันต้องมีปัญหา ไม่มีปัญหาก็ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระเยซู ยังไงชีวิตมันก็ต้องมีปัญหา มันต้องบัดซบ ถูกต้องแล้ว (ผู้ฟังหัวเราะ) แล้วคุณก็ต้องหาคำทำนาย และคนที่จะประเมินนักการเมือง ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ แต่เป็นนักประวัติศาสตร์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง - เดือนวาด พิมวนา: เด็กแห่งชาติ

Posted: 07 Jan 2011 07:43 AM PST

เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
บ้านเมืองเผชิญภาวะลำบาก – ยากจะเข้าใจ
ผู้ใหญ่กำลังละล้าละลัง, อิหลักอิเหลื่อ
หนูอาจสงสัยและแยกแยะไม่ได้
เพราะความรักชาติกับการทำลายชาติคล้ายกันจนน่าฉงน
ทำใจให้สบาย – เด็กเอ๋ย
อย่าไปเคร่งเครียดจริงจังกับเรื่องชาติบ้านเมือง
วันเสาร์นี้ไปเที่ยวหานายกฯ
เล่นกันให้หายคิดถึง
พูดคุยกับท่านสบายๆไม่ต้องกลัวเกรง
เด็กๆอย่าถามซ้ำ
นายกฯเคยบอกแล้วว่าอยากเป็นแบทแมน
ขำๆ ลองถามท่านว่า...
“อำนาจอันยิ่งใหญ่
มาพร้อมกับความไม่รับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ใช่หรือไม่?”
หากท่านโกรธ เด็กๆต้องรีบบอก...
“อ๊ะ...ล้อเล่น ท่านนายกฯอย่าคิดมาก
แม่บอกเสมอพวกเรายังเด็ก
อย่าริอ่านรับผิดชอบการใหญ่
ไป! เราไปเล่นรบที่ชายแดนกันเถอะ”.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภากลาโหมอนุมัติงบ 7 หมื่นล้านจัดตั้ง ‘พล.ม.3′

Posted: 07 Jan 2011 07:33 AM PST

เว็บไซต์ Thaiinsider และเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ได้เสนอข่าวตรงกันว่าสภากลาโหมได้อนุมัติงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อทำการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3)

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554 พล.อ. ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้นำเหล่าทหารม้าเข้าขอพรปีใหม่จาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดย พล.อ. เปรม ได้สวมเสื้อสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี โดยพล.อ. เปรม ได้ให้โอวาทว่าให้ทหารม้ามีความรักความสามัคคีเพื่อดูแลชาติบ้านเมืองและปก ป้องสถาบัน

ในขณะที่ พล.อ. ทรงกิตติ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 ที่จังหวัดขอนแก่นว่า เป็นการดูความเหมาะสมตามสถานการณ์ และภัยคุกคามในโอกาสต่างๆ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

ทั้งนี้แหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมได้ระบุว่า สภากลาโหมได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 แล้ว โดยกำลังเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีทำการพิจารณา ซึ่งงบประมาณทั้งหมดเป็นงบประมาณแบบผูกพันระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี จำนวน 7 หมื่นล้านบาท โดยงบประมาณผูกพันปีแรกอยู่ที่ 1 พันล้านบาท โดยเรื่องดังกล่าวเป็นการตั้งโครงการจาก พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. และได้มีการผ่านเรื่องต่อไปยัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ยังได้รายงานไว้ด้วยว่า พล.อ. เปรมเคยขอให้มีการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 เป็นของขวัญจากผบ.เหล่าทัพในปี 2550 “ผมจะได้นอนตายตาหลับ” พล.อ. เปรมกล่าว

ที่มา: Siam Intelligence Unit
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลิปคณะ 7 คนเข้ากัมพูชาฉบับเต็ม

Posted: 07 Jan 2011 07:14 AM PST

 

คลิปวิดีโอฉบับเต็ม ที่ถ่ายโดยหนึ่งใน 7 คณะคนไทยขณะข้ามเข้าไปในพื้นที่ของชาวกัมพูชา จนถูกจับเมื่อ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

ที่มา: gigcode [http://www.youtube.com/watch?v=UBVPHBIR0Zc]

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ผู้ใช้นามแฝงว่า "gigcode" ได้นำคลิปวิดีโอที่มีชื่อว่า "คลิป พนิช เข้ากัมพูชา ฉบับเต็ม" มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวป์ โดยคลิปดังกล่าวมีความยาว 21 นาที ทั้งนี้คลิปดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ใช้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา เช่นกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ทรหดกว่ายายไฮพังเขื่อน คนน้ำอูนกลืนน้ำตา 40ปี แผลนี้ไม่มีเยียวยา

Posted: 07 Jan 2011 12:52 AM PST

 
 
 
 
น้ำอูนและน้ำตา-ภูมิทัศน์ของเขื่อนน้ำอูน สกลนคร อันสวยงาม แต่แลกมาด้วยการไล่ที่ชาวบ้านที่ยากจน3,000กว่าหลังคาเรือนที่เผชิญน้ำท่วม หมดสิ้นไร่นาทำกิน ต้องกลายเป็นขอทาน เพราะเมื่อจะลงหาปลาในเขื่อนก็โดนจับ หนีขึ้นภูไปหาของป่าก็เจออุทยานเล่นงาน
 
 
เรื่องราวการต่อสู้อันทนทรหด 32 ปีกว่าจะได้รับการเยียวยาของยายไฮ ขันจันทรา หรือยายไฮพังเขื่อน เป็นกรณีศึกษาซึ่งเป็นที่รับรู้แพร่หลายไปทั่วประเทศ...เชื่อหรือไม่ทรหดกว่ายายไฮ และมาราธอนกว่านี้ก็ยังมีอีกนับไม่ถ้วนในประเทศนี้
 
เส้นทางขึ้นภูเขาที่คดโค้งลัดเลาะเทือกเขาภูพานก่อนจะเข้าเมืองสกลทวาปี หรือสกลนครในปัจจุบัน ราว 52 กิโลเมตร เราเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอกุดบาก และน้ำอูนอีกราว 40 กิโลเมตร เพื่อตระเวนพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในเขตอำเภอกุดบาก อำเภอน้ำอูน อำเภอพังโคน และพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
 
ได้พบกับตัวแทนของคนทุกข์ยากที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน กว่า 3,000 ครอบครัว ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการแก้ไขปัญหามานานกว่า 40 ปี แม้ว่าถนนหนทางจะคดเคี้ยวสักปานใด
 
แต่เส้นทางชีวิตของคนเหล่านี้กลับคดเคี้ยวยิ่งกว่าเส้นทางเสียอีก
 
40 ปีแห่งความหลัง
 
เจรจาขอให้เยียวยา-หลังเหตุการณ์ผ่านไป 40 ปีผู้นำชาวบ้านได้เข้าเจรจากับนายสาธิต วงศ์หนองเตย ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาย้อนหลังในแบบเดียวกับที่ยายไฮได้รับ โดยที่ไม่ต้องให้ชาวบ้านไปพังเขื่อนเลียนแบบ
 
 
พื้นที่ลุ่มน้ำอูนมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มระหว่างลำน้ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา พื้นที่ริมน้ำอูนประกอบด้วยทามที่มีน้ำไหลหลากในช่วงฤดูฝน จึงทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณ และอาหารตามธรรมชาติ
 
จึงมีชุมชนตั้งถิ่นฐาน และหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์พอสมควร ทั้งชุมชนชาวภูไท ไทโส้ ไทอีสาน และไทญ้อ ยึดทำเลทำมาหากินตั้งแต่ริมน้ำไปจนถึงภูเขา จนเกิดความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยของคนต่างวัฒนธรรมในการดำรงชีพอย่างน่าอัศจรรย์
 
เขื่อนน้ำอูนเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง เมื่อปี 2506 มีชาวบ้าน และชุมชนที่ได้รับการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ ราว 60 กว่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่รอยต่ออำเภอต่างๆ 5 อำเภอ คือ อำเภอพังโคน สถานที่ตั้งเขื่อน อำเภอพรรณนานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอกุดบาก และอำเภอน้ำอูน โรงเรียนถูกน้ำท่วมกว่า 10 แห่ง รวมผู้คนที่ต้องโยกย้ายหนีจากแผ่นดินถิ่นเกิดมาตุภูมิกว่า 3,000 คน
 
 
ทุกข์ของผู้เสียสละ
 
ยายไฮภาค2-ยายแขไข แสงสีลา ผู้นำสตรีเหล็กของชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์กับการสร้างเขื่อนน้ำอูนปราศรัยกับการชุมนุมของชาวบ้านที่เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
 
 
ราษฎรกว่า 3,000 ครอบครัวเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้เสียสละ และต้องเผชิญสถานการณ์หักเหกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งสำคัญของพวกเขา
 
จากชาวนาเจ้าของที่ดินกลายเป็นชาวเขา ชาวนาบ้านแตก ชาวประมง ชาวนาขอทาน และชาวนารับจ้างไปโดยปริยาย โดยแต่ละคนไม่มีใครได้ตั้งตัวกันมาก่อน
 
 
“ตอนเขาปั้นเขื่อนน้ำเริ่มท่วมไร่นา ชาวบ้านได้แต่ยืนเบิ่งดู ไม่รู้จะทำอะไร หาปลาก็ไม่เป็น เพราะน้ำมันหลาย ไม่เคยหาปลาน้ำมากๆ มาก่อน น้ำมันหลาย มีแต่คนทางอื่นมาหาปลากัน แต่ละคนย่านน้ำ ย่านแข้ (จระเข้) เพราะมันหลายนอนลี้อยู่ตามห้วยตามหนอง”
 
แกนนำชาวบ้านอภิปรายเกริ่นนำบนเวทีปราศรัยหน้าเขื่อนน้ำอูน เช้าวันที่ 5 ธันวาคม ทำให้เห็นภาพคนทำนา แต่ต้องมาตื่นตะลึงกับน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน จนไม่รู้จะทำอะไรกิน
 
 
“นายเขามาบอกว่าจะชดใช้ค่าที่นาให้ไร่ละ 800 บาท จะจัดที่ทำกินให้ใหม่ในเขตนิคมสร้างตนเองน้ำอูน ตอนแรกทำนาอยู่กับ ฉันมีนากว่า 40 ไร่ ได้ข้าวเป็นพันถัง เอาเกวียนขนข้าวสี่เกวียนห้าเกวียน ขนขึ้นเล้ากว่าจะแล้ว พอสร้างเขื่อนน้ำท่วมหมด ไม่เหลือ ตอนนั้นอายุได้ 41 ปี อาศัยอยู่กับปู่ เขาให้ค่าที่นา 800 บาท/ไร่ ที่อยู่อาศัย 4,000 บาท”
 
ยายแขไข แสงสีลา วัย 62 ปี ชาวบ้านบ้านกลาง เท้าความถึงอดีตให้เราฟังถึงความยิ่งใหญ่ของชาวนาลุ่มน้ำอูนในอดีตให้เราฟัง
 
 
“ทุกวันนี้ไม่มีนา ต้องรับจ้างทั่วไป หาหน่อไม้ ผักตามห้วยหนอง ตามป่ามาขาย แลกข้าวกิน ช่วงไหนไม่มีงานทำก็ไปขอข้าววัดกิน ช่วงเดือนกันยายนแต่ละปีไม่มีงานทำ ต้องไปขอข้าววัดมาให้หลานกินทุกวัน”
 
ยายแขไข สาธยายความทุกข์ให้ฟังทั้งน้ำตาเพิ่มเติม จนเพื่อนบ้านร่วมวงเสวนาอดน้ำตาคลอตามไปด้วยไม่ได้ จนต้องหลบสายตาเบือนหน้าหนี หันไปมองท้องน้ำเวิ้งว้างหน้าบ้านยายแขไขที่น้ำเริ่มขึ้นมาเยือนถึงตีนหมู่บ้านแล้ว
 
“ตอนนี้อาศัยอยู่กับลูกกับหลาน 6 คน ลูกชายสติไม่ดี 1 คน หลาน 4 คน ชายสองคน หญิงสองคน ลูกสาวเอามาฝากให้ช่วยดูแล ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ เพื่อหนีไปทำงานกรุงเทพฯ บอกว่าจะส่งเงินมาให้ใช้ จนทุกวันนี้ไม่ได้ข่าวคราวเธอเลย”
 
ยายแขไข อาศัยเงินเบี้ยยังชีพคนชราเจียดเป็นค่าขนม ค่าข้าวให้หลานกินประทังชีวิต เวลากินให้หลานกินก่อน
 
หลานเรียนหนังสืออยู่ ป.4, ป.1 อนุบาล 1 คน และอายุ 2 ขวบอีกหนึ่งคน ลูกชายคนที่สติไม่ดี อายุ 35 ปี สานสุ่มไก่ขายพอช่วยงานได้บ้าง
 
“ไร่นาก็ไม่มีทำ มีที่อยู่อาศัย ประมาณ 1 งาน แบ่งขายออกไปบางส่วนแล้ว เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวให้หลานกิน หลานไม่ได้เงินไปโรงเรียนทุกวัน มีคนมาขอไปเป็นลูกบุญธรรม ก็ให้เขาไปแล้ว 2 คน เหลืออีก 2 คน ตอนแรกว่าจะมาดู เขาอยากได้ผู้หญิง ก็จะให้เขาไปเพราะเลี้ยงบ่ไหว”
 
“อายุมากขนาดนี้ต้องไปทำงานรับจ้างทุกวัน แบกอ้อย ขนอ้อยขึ้นรถกับพวกเด็กน้อย กลับมาต้องกินยาแก้ปวดทุกวัน ย่านตายปะหลานก่อน”
 
ยายแขไข กล่าวพร้อมทั้งน้ำตา สงสารหลายน้อย 4 ชีวิตที่รอคนมารับไปช่วยเลี้ยงดูอีก 2 คน
 
ลูกๆ เขาโตมาแล้วไม่มีที่ดินทำกินเขาก็ต่างคนต่างออกไปทำงานที่อื่นกันหมด ญาติพี่น้องเขาก็พอช่วยได้เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น
 
 
“หลานๆ ย่านเรียนบ่จบ เคยไปบอกครูว่าจะไม่ให้เรียน ยายไปคุยกับ ผอ. แล้ว แกก็บอกว่ามีปัญหาอะไรก็บอก”
 
ยายกล่าวเสริมอีก ก่อนที่เราจะหันไปถามข้อมูลกับแกนนำชาวบ้านที่พาไปตระเวนพื้นที่ต่อ
 
 
ครอบครัวที่อยู่ในสภาพเดียวกับยายแขไข ในหมู่บ้านนี้มีประมาณ 10 ครัวเรือน ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไร การดูแลไม่ทั่วถึง (แกนนำชาวบ้านตอบคำถามเราถึงเรื่องคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ครอบครัวแตกสลายเช่นนี้หลังการสร้างเขื่อนน้ำอูน)
 
 
ลงน้ำเจอประมง ขึ้นภูเจออุทยานฯ จับ
 
 
 
 
ร้องขอความเป็นธรรม-ชาวบ้านที่เข้าร่วมการประท้วงที่น้ำอูน สกลนคร
 
 
“ทางนิคมสร้างตนเองฯ เขาก็มาบอกว่าจะจัดที่ดินให้คนละ 15 ไร่ พอย้ายมาไม่มีที่ดินจัดให้ชาวบ้าน ตอนนี้อาศัยอยู่ที่ดินที่ขายให้คนอื่นไปแล้ว เพราะไม่มีจะกิน ทุกข์มา 40 กว่าปีแล้ว เขาไม่มีที่ดินจะจัดให้คนที่ถูกย้ายออกมาจากเขื่อนน้ำท่วม ไปจัดที่ดินที่อยู่อาศัยตามหัวไร่ปลายนาของคนอื่น มีเจ้าของอยู่แล้ว ไม่กล้าไปอยู่เพราะกลัว จะมีเรื่องกับเจ้าของที่ดินเดิม”
 
“ส่วนมากรับจ้างได้เงินมาเอาเงินไปซื้อกะยัง 50 บาท/ใบ หรือช่วงไหนไม่มีงาน เอากะยัง (ตะกร้า) ไปแลกข้าวเปลือกได้ 2 กระป๋อง/ใบ (ประมาณ 8-9 กก.) หาผัก หน่อไม้ตามริมห้วยไปแลกข้าวด้วย บางทีเหมารถไปเก็บผือแถวหนองหาน อำเภอพังโคน ค่ารถ 80 บาท/คน ทอเสื่อแลกข้าวเหมือนกัน เมื่อก่อนแถวบ้านมีเยอะ แต่ตอนนี้น้ำท่วมตายหมด เลยไปหาที่อื่น”
 
 
“เด็กลูกหลาน โอกาสการศึกษาด้อยกว่าเด็กในหมู่บ้านอื่นๆ ส่วนมากจบภาคบังคับเท่านั้น จบแล้วไปหาทำงาน กทม. พอได้กินดูแลตนเองเท่านั้น ไม่พอจะช่วยเหลือพ่อแม่”
 
อุทิศ แสงสีลา อายุ 54 ปี ชาวบ้านเหยื่อการพัฒนาอีกคน กล่าวอย่างหมดอาลัย และหมดอนาคต
 
 
ชุมชนคนขอทาน...ชีวิตคนหลังเขื่อน
 
 
“น้ำท่วมปี 2511-2512 ไม่มีนาทำ เมื่อก่อนมี 30 ไร่ ตอนนี้เอาไม้ไผ่มาสานหวดนึ่งข้าว 50-70 บาท/ใบ ใช้เวลาประมาณ 3 วันต่อใบ ตีเป็นเงิน แต่ส่วนมากเอาไปแลกข้าว เสียค่ารถไปหาขอข้าว 120 บาท/คน แถวอำเภออากาศอำนวย และพรรณนานิคม (จังหวัดสกลนคร)”
 
“บางทีไม่มี เอาข้าวเขามากินก่อน เวลาหาหน่อไม้บนภูพาน 3-4 กิโล เอามาคืนให้เขาทีหลัง เวลามีปลาก็ซื้อเขามาทำปลาส้ม ปลาแห้ง ห่อเป็นถุงๆ เอาไปแลกข้าวเรือนละถุง แล้วแต่เขาจะให้ข้าวมากน้อยเท่าไหร่ก็เอา”
 
ยายแจ เรือรีรักษ์ วัย 60 ปี ชาวบ้านนาทันบอกเล่าชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ดำรงชีพด้วยการขอข้าวคนอื่นมากิน
 
“ในชีวิต เกิดมาทุกข์ที่สุด หลังน้ำท่วมนา ชีวิตเมื่อก่อนม่วนหลาย เวลาว่างไปวัดฟังธรรม แต่ทุกวันนี้สมองมีแต่หาอยู่หากิน พระมาอยู่ไม่กี่พรรษาก็หนีไปอยู่ที่อื่น เพราะแม้แต่พระก็อดข้าว” ยายแจ กล่าวเพิ่มเติม
 
“ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันมีนาทำแค่ 6 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือหาของป่าเพื่อมาแลกข้าว เข้าป่าเจอแต่คนหาหน่อไม้เต็มไปหมด แย่งกันหากินระหว่างชาวบ้านระหว่างหมู่บ้านต่างๆ”
 
“ลงน้ำเจอประมงไล่จับ ขึ้นเขาเข้าป่าเจออุทยานฯ จับอีก เคยไปลงหาปลาในอ่างฯ ถูกจับ 1,000-30,000 บาท หากินก็ยาก ไม่มีนาทำยังพึ่งพาธรรมชาติไม่ได้อีก” พ่อเฒ่า บ้านนาทันกล่าวเสริมสะท้อนปัญหาชาวบ้านอีกคน
 
 
บทเรียนจากน้ำอูน เพื่อแก้ปัญหาเขื่อนอื่นๆ ในประเทศ
 
 
 
วิถี-ผู้ชุมนุมใส่บาตรทำบุญแต่เช้า พวกเขาปรารถนาชีวิตที่ปกติเรียบง่าย และการเยียวยาที่เป็นธรรม
 
 
ปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ามีเขื่อนอื่นๆ ในภาคอีสาน และประเทศที่ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างสมน้ำสมเนื้อกับการเสียสละอาชีพ ประวัติศาสตร์รากเหง้าของบรรพบุรุษ และอนาคตของตนเอง จนสถานภาพต้องตกระกำลำบาก
 
หากเจาะลึกถึงกลไกการดำเนินงานนับตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่พบ ก็คือ ความไม่โปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบของสังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนลำตะคอง เขื่อนพองหนีบ และอื่นๆ อีกมากมาย ลองล้วงลูกเจาะลึกกันดูปะไรล้วนแต่พบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันทั้งนั้น
 
ยอมรับความจริงกันเสียทีกับมาตรการปัดฝุ่นไว้ใต้พรม จริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์มากกว่า 40 ปี ทั้งในด้านค่าชดเชยที่เสียโอกาสไม่ได้ที่ดินทำกินตามสัญญา รวมทั้งค่าเสียโอกาสในการดำรงชีพที่สูญเสียไป และมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจในระยะยาว
 
เพราะเงินไม่อาจเยียวยาคนในชาติได้จริง นอกจากความจริงใจ และความมีน้ำใจของผู้ปกครองบ้านเมืองเท่านั้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลกัมพูชาไต่สวน "คณะ 7 คน" "วีระ" พ่วงข้อหา "จารกรรม"

Posted: 06 Jan 2011 08:13 PM PST

ไต่สวนคณะ 7 คนแล้ว ใช้เวลากว่า 11 ชั่วโมง “วีระ สมความคิด” โวยถูกยัดข้อหาจารกรรมเพิ่ม ด้านอธิบดีกรมสารนิเทศ ยันคุยกับกัมพูชาแล้วจะไม่นำเรื่องคดีมาโยงเรื่องแบ่งเขตแดน ขณะที่ “มาร์ค” ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีคดีดังกล่าว

จากกรณีที่มีคณะคนไทย 7 คน ได้แก่ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นายวีระ สมความคิด นายกิชพลธรณ์ ชุสนะเสวี ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายตายแน่ มุ่งมาจน นางนฤมล จิตรวะรัตนา น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ และนายพนิช วิกฤติเศรษฐ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้านภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ต.โอเบยเจือน อ.โจรว จ.บันเตียเมียเจย ตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ บ้านหนองจันทร์ ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว และถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชา ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 และถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และบุกรุกพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) ศาลกัมพูชา ได้ทำการการไต่สวนคนไทย 7 ราย ที่ถูกทางการกัมพูชาจับตัวไว้ โดยใช้เวลาไต่สวน 11 ชั่วโมง รองอัยการของกัมพูชาที่จะเข้าร่วมการไต่สวนในครั้งนี้ ยืนยันว่า 7 คนไทยจะถูกไต่สวนใน 2 ข้อหาคือ ละเมิดชายแดนเขตทหาร มีโทษจำคุก 5 เดือน และเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,500-1.5 หมื่นบาท โดยในส่วนของนาย วีระ สมความคิด อาจจะเพิ่มข้อหาจารกรรมข้อมูลเข้าไปด้วย ซึ่งหลังจากที่มีการไต่สวนแล้ว ทนายความจึงจะมีสิทธิ์ยื่นประกันตัว แต่การไต่สวนจะไม่มีการเปิดเผยว่าจะไต่สวนใครก่อนหรือหลัง ขณะที่ทนายของ 7 คนไทย กล่าวว่า จะทำเต็มที่ และตอนนี้กัมพูชาได้มีกฎหมายใหม่ คือโทษไม่ถึง 3 ปีอาจบรรเทาโทษ หรือให้รอลงอาญา ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำหรับ 7 คนไทยได้

ทั้งนี้ หากการไต่สวนในวันที่ 6 ม.ค. ไม่เสร็จ จะมีการไต่สวนต่อได้ในวันจันทร์ที่ 10 ม.ค. 54 เนื่องจากในวันที่ 7 ม.ค. เป็นวันหยุดราชการของกัมพูชา

โดยหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำ 5 คนไทยที่เป็นผู้ชาย ซึ่งมี นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และ นายวีระ สมความคิด รวมอยู่ด้วย เดินทางออกจากศาลเข้าควบคุมตัวต่อไปทันที โดยระหว่างที่เดินผ่านสื่อมวลชน นายวีระตะโกนว่า เขาพยายามยัดข้อหาเพิ่มให้ตน แต่ทำไม่ได้ ขณะที่ นายพนิช กล่าวขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง

ธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า อัยการกัมพูชาตั้งข้อหาเพิ่มกับ 7 คนไทย โจรกรรมข้อมูลความลับทางการทหารนั้น นายธานีกล่าวว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งข้อหาที่เป็นทางการยัง 2 ข้อหาเดิม ข้อหาแรกคือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 3-6 เดือน และให้เนรเทศออกนอกประเทศ ส่วนข้อหาที่สอง คือการรุกล้ำพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 6 - 12 เดือน หรือปรับเงิน 7,500 – 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เช้าเป็นการไต่สวนแบบปิด จึงทำให้สถานเอกอัครราชทูตไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่กงสุลเข้าสังเกตการณ์การไต่สวนได้ มีเพียงทนายความชาวกัมพูชา 2 คนที่ทางการไทยว่าจ้างเข้าร่วมกับจำเลยทั้ง 7 คนที่เข้าไปเท่านั้น

ในระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหวมาก ทางทนายความไม่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสถานทูตไทย ให้ข่าวมาก เนื่องจากเกรงว่าจะส่งกระทบต่อคดีความ และอาจจะมีผลต่อการให้ปากคำของจำเลยที่ยังรอการไตร่สวนอยู่ ส่วนแนวทางการสู้คดี ทีมทนายกัมพูชาได้หารือกับ 7 คนไทยอย่างใกล้ชิดแล้ว โดยไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้” นายธานี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการนำคดีความของ 7 คนไทย ที่มีความเกี่ยวข้องกับการชี้จุดแบ่งเขตแดนกัมพูชามามีผลต่อการเจรจาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชาหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับทางการกัมพูชามาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็นคนละส่วนกันจะไม่นำมาเกี่ยวโยงกัน โดยการเจรจาเจบีซี ครั้งที่ 4 ยังจะมีขึ้นที่กรุงพนมเปญต่อไป ส่วนการจับกุมตัว 7 คนไทยก็เกิดขึ้นในพื้นที่ทับซ้อน ที่เริ่มจากการเดินลงไปในพื้นที่ที่ไม่ทราบว่าเป็นของฝ่ายใด เรื่องนี้จะไม่มีผลต่อการเจรจาเขตแดนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีรายงานจากผู้สื่อข่าวในทำเนียบรัฐบาลด้วยว่า วันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสีหน้าเคร่งเครียดตลอดทั้งวันที่ปฏิบัติภารกิจ และไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อเหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์ทุกวัน แม้ว่าจะมีสื่อจำนวนมากไปรอดักเพื่อขอสัมภาษณ์

จนกระทั่งเมื่อเวลา 16.00 น.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เดินออกจากห้องทำงานตึกบัญชาการไปยังตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า โดยในการหารือครั้งนี้มีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือกันเพื่อช่วยคนไทยทั้ง 7 คนที่มีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.รวมอยู่ด้วย หลังจากที่ทางศาลกัมพูชาได้พิจารณาไต่สวนและตั้งข้อหาทั้ง 7 คนในวันนี้ โดยทั้งหมดใช่เวลาหารือกันประมาณ 1 ชั่วโมง

และเมื่อเวลา 17.00 น.นายสุเทพ พร้อมด้วยนายกษิต และนายชวนนท์ ได้เดินออกมาจากห้องทำงานนายกฯ และเดินขึ้นไปยังห้องทำงานนายสุเทพ ที่ตึกบัญชาการอีกครั้งหนึ่งเพื่อหารือกันต่อ และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อ โดยนายสุเทพ บอกกับสื่อมวลชนว่า “ชวนนายกษิต ไปกินกาแฟที่ห้องทำงานผมต่อ” 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สองมาตรฐานและสิทธิในการสัญจร: บทเรียนจากสาวซีวิค เด็กแว้น รถเก๋ง และรถตู้

Posted: 06 Jan 2011 05:52 PM PST

กรณีเด็กสาวขับรถฮอนด้าซีวิคชนรถตู้โดยประมาทและไม่มีใบขับขี่เมื่อวันที่ 28 ธค. ได้รับความสนใจในวงกว้างโดยเฉพาะในชุมชนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นพันทิปดอตคอม เฟซบุ๊ก ฯลฯ แม้ดิฉันอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็ติดตามข่าวนี้เพราะผู้เสียชีวิต 1 ใน 9 รายคือเพื่อนเก่า

การวิพากษ์วิจารณ์ในชุมชนออนไลน์มีสาเหตุจากการบิดเบือนข้อมูลของสื่อมวลชนหลายสังกัด เบื้องต้นสื่อรายงานว่าสาวซีวิคบาดเจ็บสาหัส การรายงานดังกล่าวขัดกับรูปภาพในชุมชนออนไลน์ และขัดกับความจริงที่ปรากฏภายหลังว่าเธอเดินได้ปกติในวันที่มารายงานตัวกับตำรวจตามหมายเรียก นอกจากนี้การตอกย้ำโดยสื่อมวลชนว่ารถตู้เป็นฝ่ายผิดยิ่งทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์สาวซีวิคขยายตัว

 

ชุมชนออนไลน์คือสื่อทางเลือก

ชุมชนออนไลน์แสดงบทบาทสื่อทางเลือกด้วยการเผยแพร่รูปภาพและข้อมูลเกี่ยวกับสาวซีวิค จนครอบครัวของเธอเปิดเผยตัวตนต่อสื่อกระแสหลักว่าเธอเป็นทายาทของสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่ง เกิดกระแสวิจารณ์กันต่อว่าครอบครัวของเธอใช้อภิสิทธิ์เพื่อก้าวก่ายสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่หรือไม่? คนร่วมสกุลของเธอเผยแพร่จดหมายแสดงความเสียใจผ่านสื่อมวลชน ขอให้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคมทั้งๆที่คนนอกสกุลเป็นผู้สูญเสีย ไม่แน่ใจว่าอุทาหรณ์สอนใคร? สอนคนในสกุลอื่นว่าอย่าปล่อยให้ลูกออกมาเพ่นพ่านบนท้องถนนจนชาวบ้านเสียชีวิตหรือ? ญาติผู้ใหญ่ยศพลเอกของเธอได้ขอร้องให้สื่อหยุดโจมตีทั้งๆที่ฝ่ายโจมตีไม่ใช่สื่อกระแสหลัก

ประเด็นสำคัญคือความคลุมเครือในการเสนอข่าว มีผู้เรียกร้องสิทธิคุ้มครองเธอในฐานะเยาวชน แต่ไม่ชัดเจนว่าเธออายุเท่าไร? ปอเต็กตึ๊งรายงานว่าเธออายุ 18 แต่สื่อรายงานว่า 16 สุดท้ายเธอให้สัมภาษณ์ว่า 17 บิดาของเธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอขับรถเองที่สหรัฐฯก่อนจะกลับมาเมืองไทย ทั้งๆที่ใบขับขี่อเมริกันมีเงื่อนไขว่าผู้ถือใบขับขี่ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ในทีสุดตำรวจแจ้งข้อหาและออกหมายเรียกในฐานะเยาวชน

เพียงสัปดาห์เดียวตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่เธอรายงานตัวตามหมายเรียก ชุมชนออนไลน์กลายเป็นสนามปะทะคารมระหว่าง "ฝ่ายโจมตีคุณหนูลูกอภิสิทธิชน" และ "ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร" แม้ว่าสมาชิกเฟซบุ๊กที่กด"ชอบ"เฟซบุ๊ก"มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ(ชื่อเธอ)" มีจำนวนเกือบ 300,000 คน หลายความคิดเห็นเป็นการแสดงความคิดเห็นซ้ำซากของสมาชิกเดิมๆ การแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในรูปการให้คะแนนสนับสนุนความคิดเห็น ลักษณะการออกเสียงดังกล่าวคล้ายการออกเสียงในความคิดเห็นท้ายข่าวออนไลน์

จุดเด่นของการวิจารณ์ในชุมชนออนไลน์คือการเปรียบเทียบวุฒิปริญญาและหน้าที่การงานของผู้เสียชีวิตกับสาวซีวิค เงื่อนไขด้านการศึกษากดดันให้มารดาสาวซีวิคไปงานศพของผู้เสียชีวิตที่มีวุฒิปริญญาเอก และกราบขอขมามารดาของผู้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถกดดันให้สมาชิกในครอบครัวเธอ ไปงานศพของผู้เสียชีวิตที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาเอก สื่อสังกัดหนึ่งลงข่าวว่าครอบครัวสาวซีวิคช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 30,000 บาท แต่มารดาของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งเขียนลงเฟซบุ๊กว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเท็จ น่าอัศจรรย์ว่าเงินจำนวนนี้ซื้อไม่ได้แม้กระทั่งตั๋วเครื่องบินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯและสหรัฐฯ พอจะซื้อไวน์ดีๆได้ไม่กี่ขวด ตัวเลขนี้มาจากไหน? 100 ปีที่แล้วเงินจำนวนนี้มากพอที่จะซื้อบ้านได้ซักหลัง หรือว่าผู้กำหนดตัวเลข 30,000 เป็นคนหลงอดีตจนลืมคิดอัตราเงินเฟ้อ?

การใช้วุฒิปริญญาเป็นเงื่อนไขของความยุติธรรมทำให้สื่อมวลชนบางสังกัดเปลี่ยนท่าทีในการเสนอข่าว กลยุทธ์ดังกล่าวโจมตีการวัดค่าของคนด้วยชาติกำเนิดและสนับสนุนให้วัดค่าของคนด้วยปริญญาและหน้าที่การงาน แม้ว่าการวัดค่าของคนด้วยหน้าทีการงานจะสอดคล้องกับการคำนวณความเสียหายในคดีแพ่ง การวัดค่าของคนด้วยปริญญาและหน้าที่การงานขัดแย้งกับนิยามสิทธิมนุษยชนในทางอาญา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญา กลยุทธ์นี้ไม่สามารถแก้ปัญหาสองมาตรฐานได้เท่าไรนัก ทำได้อย่างมากคือช่วยกำหนดตัวเลขค่าชดเชยความเสียหายทางแพ่งให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เช่น ถ้าใช้มูลค่าเงินเดือนและสวัสดิการ 40,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 30 ปีโดยไม่ขึ้นเงินเดือน จะตกเป็นเงิน 14,400,000 บาท

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนออนไลน์มีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อทางเลือก สื่อทางเลือกให้บทเรียนแก่สื่อมวลชนว่าการรายงานเท็จและสอนจริยธรรมไปพร้อมๆ กันไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว โลกาภิวัฒน์ทางข้อมูลทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดข้อมูล ชุมชนออนไลน์ทำให้ข่าวกลายเป็นสินค้าราคาถูกและตรวจสอบได้ง่าย แม้แต่ที่สหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ที่คุณภาพต่ำเสียลูกค้าและ ขาดรายได้จากการโฆษณาจนต้องขายกิจการกันหลายราย

 

สาวซีวิคและเด็กแว้น

ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” นำเสนอความน่าสงสารโดยเปรียบเทียบเธอกับ "ไอ้ฟัก" ในวรรณกรรมเรื่อง "ผู้พิพากษา" การเปรียบเทียบดังกล่าวเหมือนเปรียบว่า “ใครเก่งกว่ากันระหว่างนายกฯ อภิสิทธิ์กะมิคกี้เมาส์?” เป็นการเปรียบเทียบที่ประเมินไม่ได้และไม่มีประโยชน์เพราะมิคกี้เมาส์และไอ้ฟักไม่มีตัวตนจริง วิธีการนำเสนอ "ดราม่า" คล้ายการนำเสนอประเด็นสาวซีวิคยืนเล่นบีบีในที่เกิดเหตุโดย "ฝ่ายโจมตีคุณหนูลูกอภิสิทธิชน" ไม่ว่าไอ้ฟักหรือบีบีไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ดิฉันขอเสนอให้ผู้อ่านที่ต้องการใช้เหตุผลโยนทั้งไอ้ฟักและบีบีออกจากจินตนาการ และกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อการนำเสนอด้วย "ดราม่า" ไม่ได้ผล “ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” หันมาเรียกร้องสิทธิคุ้มครองเธอ ในฐานะเยาวชน โปรดสังเกตว่าไม่มีนักสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องสิทธิคุ้มครองเยาวชนให้เด็กแว้น ทั้งสื่อมวลชนและตำรวจกระตือรือร้นในการดำเนินคดีกับเด็กแว้นและเรียกร้องให้ผู้ปกครองรับผิดชอบ ตำรวจและสถานพินิจเยาวชนร่วมกันควบคุมเด็กแว้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีการประสานงานกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และอัยการเพื่อเตรียมตัวต้อนรับเด็กแว้นแบบที่ต้อนรับสาวซีวิคและผู้ปกครองในวันรายงานตัว ทำให้เกิดคำถามว่าเด็กแว้นทำคนตายไปกี่คน? การซิ่งและก่อความรำคาญโดยเจตนาแย่กว่าการซิ่งโดยประมาทแล้วทำคนตาย 9 ศพโดยไม่เจตนาหรือ?

ลองสมมติว่าเป็นที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่บิดาสาวซีวิคอ้างอิงว่าสาวซีวิคขับรถเองก่อนกลับเมืองไทย ถ้าเธอเป็นเยาวชนจริง เธอจะโดนอายัดตัวเพื่อสอบปากคำและตรวจแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดในร่างกาย เพื่อหาสาเหตุว่าความประมาทของเธอมาจากแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดหรือไม่ ถ้าบาดเจ็บก็ไปโรงพยาบาลแต่ไม่ได้กลับไปอยู่ในความคุ้มครองของผู้ปกครองทันที ผู้ปกครองเธอต้องโดนดำเนินคดีอาญาด้วยข้อหาปล่อยปละละเลย อาจโดนพิพากษาให้เสียสิทธิในการเลี้ยงดูเยาวชน

ดิฉันไม่ได้คลิก "ชอบ" เฟซบุ๊กที่บอกว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ(ชื่อเธอ)" ถ้าเฟซบุ๊กดังกล่าว เปลี่ยนชื่อว่า "ฉันไม่พอใจ(ชื่อเธอ)"  ดิฉันจะคลิกชอบ ดิฉันไม่มั่นใจว่ามีคนไทยกี่คนไม่พอใจเธอเพราะพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่เป็นความจริงว่ามีสองมาตรฐานเมื่อเราเปรียบเทียบกับเด็กแว้น

 

สองมาตรฐานน่ากลัวกว่าเฟซบุ๊ก

ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” บางคนนำเสนอว่าเฟซบุ๊กอาจจะทำให้คนเกลียดชังกันจนใช้ความรุนแรง โดยผิวเผินผู้อ่านตัดสินความดิบเถื่อนจากภาษาในชุมชนออนไลน์ ทั้งๆ ที่ความดิบเถื่อนที่แท้จริงคือ การเห็นชีวิตคนเป็นผักปลา ความดิบเถื่อนดังกล่าวเป็นพื้นฐานของสังคมสองมาตรฐาน คนที่กลัวพลังของเฟซบุ๊กน่าจะกลัวความดิบเถื่อนของสังคมสองมาตรฐานมากกว่า สังคมสองมาตรฐานเป็นสังคมที่ความกลัวต่อสู้กับความโกรธ เมื่อคนโกรธจนลืมกลัวก็ใช้ความดิบเถื่อนตอบโต้ความดิบเถื่อน สังคมสองมาตรฐานมีรากฐานมาจากสังคมทหารที่สอนให้คนฆ่าคนโดยไม่รู้สึกผิด ความดิบเถื่อนของสังคมไทยไม่หายไปไหนตราบใดที่ยังมีระบบทหารเกณฑ์ เฟซบุ๊กเป็นเพียง "กระจกสะท้อนสังคมไทย" ที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมเสนอให้คนไทยรู้ตัวเท่านั้น

โปรดสังเกตว่าการกังวลกับอนาคตโดยไม่คำนึงถึง "ความน่าจะเป็น" เป็น "ดราม่า" แบบหนึ่ง สังคมเฟซบุ๊กเป็นสังคมออนไลน์ คนติดเฟซบุ๊กนั่งเล่นเฟซบุ๊กไม่ไปไหน ถ้าไม่มีการเตรียมการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือผู้คุมกฎให้ท้าย จะพากันไปบุกบ้านใครเพื่อด่าหรือทำร้ายใครไหม? ถ้าผู้อ่านกังวลในประเด็นนี้มาก ขอเสนอให้นับดูว่าที่โพสต์ด่าบนเฟซบุ๊กดังกล่าวมีกี่คน? ถ้าอ่านดูจะพบว่าเป็นความเห็นซ้ำซากจากคนเก่า ไม่ได้มีเกือบ 300,000 คนแบบจำนวนคนที่กด "ชอบ" คำถามเพื่อตรวจสอบความจริง (Reality check) มีต่างๆ นานา อาทิ เฟซบุ๊กทำคนตายไปแล้วกี่คน? ตอนมารดาสาวซีวิคไปขอขมามารดาของผู้เสียชีวิตวุฒิปริญญาเอกมีใครปาอะไรใส่มารดาสาวซีวิคหรือ? มีการเสนอข่าวว่าสาวซีวิคโดนขู่ฆ่า ถ้ากลัวนักก็จ้าง รปภ. ได้เพราะครอบครัวเธอมีฐานะ มีญาติเป็นทหารระดับสูงจะกลัวเหมือนในละครทำไม?

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าสาวซีวิคจะบวชชีให้ผู้เสียชีวิต การบวชไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเพราะไทยไม่ใช่รัฐศาสนา การยกประเด็นดังกล่าว อ้างอิงศาสนาคล้ายการนำเสนอว่า "ความตายเป็นกรรมเวรส่วนตัว" การนำเสนอ"กฎแห่งกรรม" เป็นเพียงความเชื่อส่วนตัว ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้างก็ว่าคนตายฟื้นคืนชีพไม่ได้ ตายแล้วแล้วไง? ตายแล้วคนเป็นไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายหรือ? ให้คนเป็นนั่งรอกฎแห่งกรรมไปตามยถากรรมหรือ?

การเรียกร้องให้ชุมชนออนไลน์หยุดสนใจคดีนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยุติธรรม ประเทศอื่นมีความยุติธรรมได้จากการเรียกร้อง ตำรวจและผู้พิพากษาฝรั่งไม่ได้เอาความยุติธรรมมาแจกให้ฟรีๆ คนตายอย่างไม่เป็นธรรมในอดีตทำให้คนออกมาเรียกร้องทำให้กระบวนการยุติธรรมพัฒนาได้ ออกมาทั้งไปงานศพ กดดันผ่านสื่อมวลชน ผ่านเครือข่ายทางสังคมต่างๆ คนอเมริกันเข้าใจดีกว่าถ้าคนอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน ความยุติธรรมไม่ใช่ของฟรี คณะลูกขุนคือคนธรรมดาที่ต้องสละเวลามาร่วมกระบวนการยุติธรรมของผู้อื่น ความยุติธรรมไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมไทยถ้าคนนิ่งดูดายและถือว่า "ไม่ใช่ญาติฉัน ฉันไม่เสียเวลาด้วย" ถ้าไม่สนใจแม้กระทั่งจะสงสัยว่า"ความยุติธรรมคืออะไร?" ก็หวังยากว่าจะหลุดพ้นการรอคอยความยุติธรรมชาติหน้าที่มาไม่ถึง

ถ้าผู้อ่านกลัวเฟซบุ๊กมาก อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วคุณกำลังกลัว "ความดิบเถื่อนของสังคมสองมาตรฐาน"  ความดิบเถื่อนดังกล่าวไม่เห็นค่าของคนเท่ากัน แม้คนเฟซบุ๊กเองก็ยังไม่เห็นความค่าของ 91 ศพ เท่า 9 ศพเพราะเขาเอาปริญญาเป็นน้ำหนักในการวัดค่าของคน (ไม่รู้ปู่ย่าตายายมีปริญญาเอกกันกี่คน?) ไม่มีเฟซบุ๊กชื่อว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจที่คนไทยตาย 91 ศพเมื่อเดือนพฤษภา" แต่เขาก็ไม่ดิบเถื่อนเท่าคนที่ไม่เห็นค่าของศพแม้แต่ศพเดียว

 

รถเก๋งและรถตู้

โศกนาฏกรรมนี้แสดงให้เห็นความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรายได้และการศึกษา นักวิจัยปริญญาเอกหรืออาจารย์วุฒิปริญญาโทมีตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีใช้บริการรถตู้เพราะรายได้ไม่มากพอที่จะซื้อรถยนต์ ประเด็นคือรถยนต์ไทยราคาแพงกว่าต่างประเทศมากทั้งๆ ที่คุณภาพต่ำกว่า

ที่สหรัฐฯ ฮอนด้าซีวิคราคา 5 แสนบาทเทียบเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อปีของวิศวกรจบใหม่หลักหักภาษีแล้ว ดังนั้นวิศวกรจบใหม่ผ่อนรถยนต์ได้เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน รถที่ถูกกว่าซีวิคก็มีทั้งยี่ห้อฮอนด้าด้วยกันและทั้งจากสารพัดยี่ห้อ ตัวอย่างรถรุ่นอื่น เช่น ฮอนด้าแอคคอร์ด หรือโตโยต้าแคมรีราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนบาท เปรียบเทียบกันแล้วรถเมืองไทยราคาแพงกว่ากันเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบรายได้คนจบปริญญาตรียิ่งไปกันใหญ่ สาเหตุที่รถยนต์ไทยราคาแพงคือภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศสูงมากรวมทั้งรถมือสอง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีอำนาจตลาดมากจนตั้งราคาสูงได้ รถมือสองจากต่างประเทศคุณภาพดีกว่ารถมือสองในไทยมาก

ไม่มีประเทศใดแก้ปัญหารถติดหรือขนส่งมวลชนด้วยการสนับสนุนให้รถยนต์ราคาแพง ประเทศที่พัฒนาแล้วแก้ปัญหารถติดด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างแรงจูงใจให้คนใช้รถยนต์น้อยลง เช่น เก็บภาษีน้ำมันในอัตราสูง ตั้งกฎเกณฑ์ด้านประกันภัยอย่างเข้มงวด

 

จากประชานิยมสู่ประชาสัญจร

สาวซีวิคและเด็กแว้นเป็นเพียงตัวอย่างของการละเมิดสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยของผู้อื่น ที่จริงแล้วคนไทยโดนละเมิดสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยตลอดเวลาบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาถนนแคบ พื้นผิวถนนไม่ได้มาตรฐาน ค่าผ่านทางด่วนราคาแพง (ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯ มีทางด่วนแบบเก็บเงินน้อยมากๆ ทางด่วนส่วนใหญ่ฟรี) กำแพงทางด่วนต่ำ ไม่บังคับใช้กฎจราจรอย่างเป็นธรรม กระบวนการปิดถนนที่ไม่โปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ ยานพาหนะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่ำ ฯลฯ

สิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นความตายพอๆ กับสิทธิในการรับบริการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นนโยบายหลักของนโยบายประชานิยม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่องค์กรภาคประชาชนต่างๆ จะหันมาเรียกร้องสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัย?

เราอาจเรียกมาตรการยกระดับคุณภาพการคมนาคมว่า "นโยบายประชาสัญจร" (People’s Traffic) การยกระดับขนส่งมวลชนเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระยะสั้นที่ง่ายกว่านั้นคือการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่หรือยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์มือสอง จะทำให้ราคารถยนต์ใหม่ถูกลงและเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ารถมือสองจะตีตลาดจนรถใหม่ขายไม่ได้จนต้องลดการจ้างงาน รถตู้ก็จะราคาถูกลง ผู้ประกอบการสามารถลดจำนวนผู้โดยสารต่อคันเพื่อยกระดับความปลอดภัยได้และสามารถขึ้นค่าแรงให้คนขับรถตู้หรือฝึกอบรมคนขับอย่างเป็นระบบเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการ ถ้ากังวลว่าการยกเลิกภาษีนำเข้ารถมือสองจะทำให้รถติดใน กทม.มากขึ้นก็ขึ้นภาษีน้ำมันได้ ภาษีน้ำมันไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดให้อัตราภาษีใน กทม.สูงกว่าในต่างจังหวัดได้

ส่วนการแก้ปัญหาด้านความมาตรฐานถนนและยานยนต์นั้นต้องอาศัยการบังคับกฎหมาย อุบัติเหตุเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์และถนนในต่างประเทศ เพราะอุบัติเหตุนำไปสู่การตรวจหาความบกพร่องของรถยนต์และถนนนอกเหนือไปจากการพิสูจน์การกระทำของคู่กรณี ความเร็วของการขับรถไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ (ในยุโรปมีทางด่วนออโตบาห์นที่ไม่จำกัดความเร็วและกำหนดความเร็วขั้นต่ำ) มาตรฐานถนนและมาตรฐานรถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญ คนไทยไม่ตื่นตัวเรื่องสิทธิจึงไม่นิยมฟ้องร้องผู้ผลิตหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ไม่เกิดแรงกระตุ้นให้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น