โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักวิชาการชี้ถกแก้สัมพันธ์โครงสร้างรัฐให้บ้านเมืองเดินต่อ

Posted: 10 Jan 2011 07:07 AM PST

10 ม.ค. 54 - ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) คณะรัฐศาสตร์ จัดสัมมนาประจำปี 2554 เรื่อง " เมืองไทยหลังวิกฤติ : ทิศทางการเมือง การบริหาร และการต่างประเทศไทย"  โดยเชิญนักวิชาการหลายคนมาร่วมเสวนา มี รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวในหัวข้อ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ที่มาและที่ไป" ใจความสำคัญว่า การปกครองที่ผ่านมาเป็นการปรองดองของชนชั้นนำไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 รอบเหตุการณ์ ซึ่งแบ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพลังนำ เนื้อหาและวิธีการปรองดองกับประชาธิปไตย โดยทุกเหตุการณ์ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ

ได้แก่ 1.ระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของคณะราษฎร 2.ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยความสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ 3.ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 4.ระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ 5.ระบอบกึ่งประชาธิปไตยใต้ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"เกษียร" ชี้ทหาร-ตุลาการน่าห่วง-นายกฯตกต่ำ

นาย เกษียร กล่าวต่อไปว่า ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2492 โดยเฉพาะประเด็น นายปรีดี พนมยงค์ มองรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตย์โดยแท้จริง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ใช้เป็น หลักในการวิพากษ์การเมืองไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเมือง ระบุว่า “ จำไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองจริง ๆ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516” 

นายเกษียร ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของนักกฎหมายมหาชน มีบทบาทต่อการตีความกฎหมาย โดยกล่าวถึงนายมีชัย ฤชุพันธ์ กรรมการกฤษฎีกา นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ว่า ขอให้นักกฎหมายเหล่านี้ต้องรักษาอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ได้ ส่วนกรณีระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของอำนาจเครือข่ายของกองทัพ กับตุลาการเกิดขึ้น ทำให้อำนาจทหารถูกต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมา ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการล่วงล้ำอำนาจที่เป็นทางการ เช่น การประชุมลับของตุลาการ หรือการหารือในมื้ออาหารย่านสุขุมวิท จนถูกมองว่า นายกรัฐมนตรีถูกคุกคามอำนาจ ถึงขั้นตกต่ำมาก โดยรวมถือว่าอำนาจดังกล่าวไม่เวิร์ก

"ประจักษ์ "ชี้กองทัพรัฐซ้อนรัฐ-รัฐประหารเกิดได้

ต่อ มา นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวในหัวข้อ "รัฐสองขั้ว ประชาสังคมสองเสี้ยว โครงสร้างความรุนแรงการเมืองไทย" ว่า ความขัดแย้งในภาคประชาสังคมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคนเราย่อมมีทัศนคติที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนของคนไทยที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะการเผชิญหน้าเป็นสองฝักสองฝ่ายในภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นภายใต้บริบท อำนาจรัฐขาดเอกภาพ อีกทั้งสถาบันทางการเมืองไม่พัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมจึง ทำให้เกิดความุรนแรง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา ในกรณีของไทยไม่เรื่องศักยภาพ แต่เป็นปัญหาที่สถานะทางการเมืองหลักถูกแทรกแซงจากศูนย์อำนาจนอกการเลือก ตั้ง ที่มีปรากฏการณ์ทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ ที่ทุกหน่วยงานมีภาวะความแตกขั้วของการจงรักภักดีทางการเมือง โดยเฉพาะกลไกภาครัฐด้านความมั่นคง กองทัพมีอิสระอย่างสูงเหนือจากกลไกรัฐที่มาจากการเลือกตั้งถือเป็นปัญหาใหญ่ รวมไปถึงกรณีที่บางฝ่ายฝากความจงรักภักดีไว้กับศูนย์อำนาจที่มาจากการเลือก ตั้ง และอีกฝ่ายยอมรับศูนย์อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  

"กองทัพเป็นเหมือนสภาวะรัฐซ้อนรัฐ ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้ การเมืองไทยมีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักทางการเมืองปัจจุบัน ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง แต่เป็นความขัดแย้งที่มาจากศูนย์อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งและศูนย์อำนาจนอก เหนือจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ทางออกอยู่ที่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐและสถาบันการเมืองหลักของชาติ คือการเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะด้วยเหตุผลที่สร้างสรรค์ เราจะวางตำแหน่งและวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ สถาบันองคมนตรี กองทัพ ตุลาการ พรรคการเมือง รัฐสภา และขบวนการมวลชนอย่างไร"

นายประจักษ์ กล่าวสรุปว่า ทางออกป้องกันความรุนแรงคงหนีไม่พ้นต้องปฏิรูปโครงสร้างของรัฐและสถาบันการ เมืองหลักของชาติ ยกตัวอย่าง สเปน และ ญี่ปุ่น เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงกองทัพต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ดึงสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ต้องพิทักษ์ปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตยอันเป็นที่แสดงออกของประชาชน ทั้งนี้ ต้องลดทอนอำนาจนอกระบบเลือกตั้งให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาในช่วงบ่าย การสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการต่างประเทศไทย” โดยมีหัวข้ออภิปรายในบทความ “การต่างประเทศไทยในภาวะวิกฤติ” โดยนายจุลชีพ ชินวรรโณ ย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ใจความสำคัญระบุถึงสถานการณ์ด้านต่าง ประเทศของไทยในรอบปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมจนนำไปสู่การใช้กำลังจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในกระทบต่อการเมืองการต่างประเทศด้วย โดยมีปัจจัย 3 ประการคือ 1.ความขัดแย้งแตกแยกภายในประเทศ 2.รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 190 ที่ต้องเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 3.คู่แสดงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศมีผู้มีส่วนร่วม มากขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีทั้งภาคประชาสังคม ทำให้ส่งผลกระทบต่อความละเอียดอ่อนด้านการต่างประเทศของไทย

"จุลชีพ"ห่วงปม"พระวิหาร-4.6ตร.กม.-เอ็มโอยู43"

นาย จุลชีพ อธิบายถึงช่วง 6 เดือนหลังของปี 2553 ว่า มีการท้าทายอย่างมากต่อเรื่องทางการไทยส่งตัวนายวิกเตอร์ บูท ให้สหรัฐอเมริกา โดยอ้างข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ขณะเดียวกัน รัสเซียไม่ต้องการส่งตัวให้สหรัฐฯ มีกระแสวิพากษ์ว่า การตัดสินของศาลไทยกรณีนายวิกเตอร์ บูท ถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม วิกิลีกส์ เปิดเผยข้อมูลอ้างว่ามีการหารือระหว่างทูตสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีไทย ขอให้ดำเนินคดีกับนายวิกเตอร์ บูท

ซึ่งกรณีนายวิกเตอร์ บูท อาจทำให้อเมริกาต้องดำเนินการต่างตอบแทนกับรัฐบาลไทย แม้จะไม่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย ถือเป็นการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกาด้วย กรณี พ.ต.ท.ทักษิณขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตความสัมพันธ์ไทย- จีน - ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์เฉื่อยลง เนื่องจากมีช่างภาพญี่ปุ่นเสียชีวิต   

นายจุลชีพ ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านว่า ด้านความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาตึงเครียดหลังจาก 7 คนไทยถูกกัมพูชาจับ ส่วนรัฐบาลไทยก็เจรจากับกัมพูชาเพื่อลดความตึงเครียด เรื่องเขตแนวชายแดน ประเด็นการพิจารณามรดกโลกปราสาทพระวิหาร ส่งผลให้กัมพูชาเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ เกิดพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาในรอบ 4 เดือน คือ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ถอนตัวเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจกัมพูชา 2.การส่งทูตกลับคืน 3.มีการพบปะระหว่างผู้นำทางทหารระหว่างไทย-กัมพูชา พัฒนาการดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจะดีขึ้น แต่กรณี 7 คนไทย โดยเฉพาะ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และนายวีระ สมความคิด ถูกจับกุมขึ้นศาลกัมพูชา ทำให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต้องร่วมมือกันดำเนินการประสานความเข้าใจที่ถูกต้อง

นายจุลชีพ เสนอประเด็นที่น่าเป็นห่วงระหว่างความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา มีดังนี้ 1.กรณีปราสาทพระวิหารมีข้อถกเถียงยังหาข้อสรุปไม่ได้ 2.พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ต่างฝ่ายจะอ้างสิทธิทับซ้อน 3.กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะเข้าสู่ที่ประชุมยูเนสโก้ กลางปีนี้ ที่บาห์เรน 4.ข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา(เอ็มโอยู 2543 ) ต้องนำมาพิจารณาตามคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เจบีซีถือเป็นปัญหาสำคัญ รัฐบาลทั้ง 21 ประเทศ ต่างใช้กระบวนการเจรจา และกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้มีอุปสรรคต่อการเจรจา

นายจุลชีพกล่าวด้วยว่า แนวโน้มความสัมพันธ์ไทยระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต คือ 1.การเมืองภายในของไทยและความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งภายในอำนาจรัฐและ ภาคประชาสังคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญ 2.รัฐธรรมนูญ 2550 ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีบทบัญญัติกรณีใดบ้างต้องพิจารณาเข้าสู่สภา 3.ด้านภาคประชาสังคมขอให้มีสติในการดำเนินการใดๆ ที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"เตช"มองประชาสังคมไม่เป็นปัญหา-แต่ 2 ปีไร้ระเบียบ

ด้าน นายเตช บุนนาค อภิปรายว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งตราบใดการเมืองภายในของไทยไม่มีเสถียรภาพ การดำเนินการด้านต่างประเทศจะไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 190 มีปัญหาระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้มีปัญหาต่อกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ คิดว่าควรจะแก้ไขหรือมีพ.ร.บ.หรือกฎหมายลูกเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคม คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการดำเนินการด้านการต่างประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น 2 ปีคือภาคประชาสังคมเข้าร่วมไม่มีระเบียบวินัย หรือไม่พิจารณานโยบายด้านการต่างประเทศได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการพิจารณา

นายเตช กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจ กรณีศึกษานายวิกเตอร์ บูท รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ถือว่าตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับพ.ศ.2546 ในฐานะไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียน ถือว่าประวัติการทูตดีสูงสุด แต่ในฐานะที่ไทยไม่สามารถเป็นผู้นำสูงสุดได้ เนื่องจากการเมืองภายในประเทศ ในกรอบอาเซียน การประชุมอาฟต้า ฟรีเทรดแอเรีย ไทยถือเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งอาเซียน อาฟต้า หรือ"แอคมิค" ถือเป็นความริเริ่มของไทยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา ถือเป็นความน่าละอายใจอย่างยิ่ง รัฐบาลนี้ได้อานิสงค์มาจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น

กรณีการจับกุมนายวิกเตอร์ บูท วิพากษ์รัฐบาลไทยควรจะร่วมมือจับกุมนายวิกเตอร์บูทหรือไม่ กรณีวิกิลีกส์เปิดเผยข้อมูลการทูตถึง 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับนายวิกเตอร์ บูท ที่นายอีริค จี จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถือเป็นการพูดในทุกโอกาส ทุกระดับ และถือว่าเป็นการซึมซับข้อมูลไปยังทุกระดับ จนกระทั่งมีการส่งตัวนายวิกเตอร์ บูท เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสหรัฐฯ

นายเตช กล่าวถึงกรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ส่วนกรณี 7 คนไทยถูกจับกุมและพิจารณาเข้าสู่ศาลของกัมพูชา จะไม่ขอพูดเนื่องจากจะมีผลต่อนโยบายด้านการต่างประเทศและการตัดสินคดีของศาล กัมพูชา

"ตราบใดการเมืองภายในไม่มีเสถียรภาพจะ ทำให้ไม่สามารถทำให้นโยบายด้านการต่างประเทศมีประสิทธิภาพได้ ผมเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้ทำ เท่าที่จะทำได้ คือรัฐบาลเคยออกมาพูดว่าหวังว่าจะไม่มีการเชื่อมโยงกรณีนายพนิช กับความสัมพันธ์กับกัมพูชา แต่ศัพท์ที่รัฐบาลใช้ คือคำว่า ดีลิงค์ ความสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลต่อการเจรจาการปักปันเขตแดน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับรองนายกฯกัมพูชา นายซก อัน จะหารือกับผู้แทนไทย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมคิดว่าผู้จะได้ประโยชน์มากคือประเทศไทย ถนนบริเวณจังหวัดพิษณุโลก เหมือนกับที่นายกรณ์ จาติกวณิชย์ มักพูดเสมอเรื่องการท่องเที่ยวว่าควรดีลิงค์ การท่องเที่ยวกับจังหวัดอื่น ๆ ด้วย" นายเตช กล่าว

ที่มาข่าว: กรุงเทพธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเทศไทยทำลายชื่อเสียงตนเองด้านผู้ลี้ภัยอีกครั้ง

Posted: 10 Jan 2011 06:16 AM PST

Déjà vu เป็นคำฝรั่งเศส หมายถึงอะไรที่ “เคยเกิดขึ้นมาแล้ว” Refoulement ก็เป็นคำฝรั่งเศส ความหมายตรง ๆ ก็คือ “บังคับให้กลับ” หลังได้รับรายงานที่ออกเมื่อวันคริสต์มาสว่าทางการไทยเพิ่งจะผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับพม่า ผมรู้ทันทีว่าเคยเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นมาก่อน อันที่จริงก็เกิดขึ้นเมื่อวันคริสต์มาสเมื่อปี 2552 นี่เอง

อันที่จริงแล้ว เมื่อหนึ่งปีก่อนในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อนร่วมงานและผมได้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วิจารณ์สถิติของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในปี 2552 ของรัฐบาลไทย ในช่วงปลายธันวาคม ซึ่งน่าจะเป็นช่วงสัปดาห์ที่เนิ่นช้าสุดของปี กองทัพบกไทยก็ได้ส่งกลับชาวม้งจำนวน 4,500 คนไปยังประเทศลาว ในจำนวนนั้นมีอยู่ 158 คน ซึ่งได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย และอีกหลายคนเป็นผู้แสวงหาที่พักพิง

หนึ่งปีต่อมา แม้ข้อเท็จจริงบางอย่างจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ทางการไทยก็ได้ผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม โดยที่พวกเขาหลบหนีการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลพม่าและกลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของพม่ามา ในจำนวนนี้ 120 คนเป็นผู้หญิงและเด็ก พวกเขามาหลบภัยอยู่ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และเป็นจุดเดียวกับที่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางการไทยก็ได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวพม่าออกไปอย่างน้อย 360 คน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ก็ผลักดันออกไปประมาณ 650 คน และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ก็ผลักดันออกไปประมาณ 2,500 คน

ในช่วงเวลาเดียวกันของปลายปี การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม ทุกคนมีสิทธิแสวงหาที่พักพิง ผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยมีสิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ที่มีการต่อสู้หรือมีการคุกคาม หรือที่เรียกว่าหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิของผู้ลี้ภัย 166 คนจากพม่า ทั้ง ๆ ที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามการรับรองของหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR) การที่รัฐบาลไทยไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไม่ใช่ข้ออ้าง เนื่องจากเช่นเดียวกับข้อห้ามต่อการทรมาน หลักการไม่ส่งกลับเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ หมายถึงว่ามีผลบังคับใช้ต่อทุกรัฐไม่ว่าจะมีพันธกรณีตามสนธิสัญญาหรือไม่ก็ตาม อีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยได้ละเมิดกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา 

แม้เหตุการณ์ที่เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับครั้งนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจ เพราะจริง ๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของไทยประกาศปฏิเสธว่า ไม่มี “แผนจะส่งตัวผู้พลัดถิ่นกลับไปยังพม่าภายหลังการเลือกตั้ง (ในพม่า)” แต่ในวันเลือกตั้งนั้นเอง วันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกประมาณ 20,000 คนจากพม่าก็เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และในวันที่ 6 ธันวาคม แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ผลักดันกลับหลายครั้งก่อนหน้านั้น นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตากก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ระบุว่าประเทศไทยจะไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยตราบที่การสู้รบยังดำเนินอยู่

น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปพม่าแล้ว แต่อีกหลายคนอย่างเช่น 166 คนที่ต้องเดินทางกลับเมื่อวันคริสต์มาส พวกเขาเดินทางกลับอย่างไม่สมัครใจ และการสู้รบยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อนร่วมงานและผมได้เขียนเป็นข้อสรุปในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อหนึ่งปีก่อนว่า “การที่ประเทศไทยไม่เคารพต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติไม่อาจเพิกเฉยละเลยได้” ผมคงไม่สามารถเขียนประโยคนี้ซ้ำอีก UNHCR ซึ่งออกแถลงการณ์เมื่อปลายธันวาคม เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับ ควรประณามการกระทำครั้งนี้ และควรเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่ยังคงอยู่ในไทย หรือที่กำลังจะเข้ามาเพิ่มเติม สถานทูตต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ ก็ควรกระทำเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและโดยที่ทูตไทยประจำกรุงเจนีวาก็ดำรงตำแหน่งประธานของคณะมนตรีฯ) ก็ควรแสดงข้อกังวลต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น

อันที่จริงแล้ว คงสายเกินไปสำหรับผู้ลี้ภัยชาวพม่า 166 คนที่ถูกผลักดันออกไปแล้ว เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวม้งลาว 158 คนที่ออกไปเมื่อปีก่อนหน้า แต่สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพม่า คงยังส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนเข้ามาต่อไปในช่วงปี 2554 ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นสู่อำนาจในไทย รัฐบาลไทยก็ควรยอมรับและปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ตนมี แม้จะเป็นการพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกราวกับเป็นเรื่องราวด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยรู้ว่าเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ว.สรรหาลาออกเกือบยกชุด หวังคัดสรรใหม่เป็นอีกสมัยหน้า

Posted: 10 Jan 2011 05:52 AM PST

“ประสพสุข” ย้ำ ส.ว.สรรหา เกือบทั้งหมด เตรียมลาออก เข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ กกต.ตรวจสอบข้อกฏหมาย สว.สรรหาเดิมลาออกก่อนครบวาระ 3 ปีขอลงเข้ารับการสรรหาใหม่ได้หรืออีกไม่  

10 ม.ค. 54 - ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่จะมี ส.ว.สรรหาหลายคนลาออก เพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ ว่า เท่าที่ได้ไปสอบถาม ส.ว.หลายคน พบว่า ขณะนี้ ส.ว.สรรหาส่วนใหญ่จะลาออกก่อนที่จะมีการกระบวนการสรรหาใหม่ในวันที่ 15-17 ก.พ.นี้ แต่ยังมี ส.ว.อีกประมาณ  5-6 คนจะไม่ลาออก แต่จะอยู่จนครบวาระ โดยมั่นใจว่าไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ประธานวุฒิสภาไม่มีอำนาจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตี ความจะส่งตีความได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการสรรหาแล้วเสร็จแล้วมี ส.ว.สรรหาที่อยู่จนครบวาระได้เลือกเข้ามาเป็น ส.ว.อีกครั้ง แล้วมีผู้ร้องว่าขาดคุณสมบัติ ตรงนี้จึงจะสามารถส่งตีความได้ อย่างไรก็ตามสำหรับตนมีแนวโน้มสูงที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่เริ่มกระบวนการสรรหา ส.ว.สรรหาใหม่

เมื่อถามว่า ส.ว.สรรหาส่วนใหญ่ลาออกไปจะทำให้มีผลต่อองค์ประชุมของรัฐสภาและวุฒิสภาหรือ ไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีผลกระทบแม้ ส.ว.จะลาออกไปเยอะ แต่กฎหมายกำหนดว่าให้องค์ประชุมเท่ากับจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

กกต.ตรวจสอบข้อกฏหมาย สว.สรรหาเดิมลาออกก่อนครบวาระ 3 ปีขอลงเข้ารับการสรรหาใหม่ได้หรืออีกไม่   

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะประธานกรรมการเตรียมการสรรหา ส.ว. กล่าวว่า จะให้กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งและสำนักกฎหมายคดี ตรวจสอบข้อกฏมายว่า สว.สรรหาเดิม จะลาออกก่อนหมดวาระ เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.สรรหาใหม่ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 กำหนดให้ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระ ที่อยู่ครบตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า จะมีส.ว.สรรหาขึ้นมาใหม่ทดแทน รวมทั้งมาตรา 115 ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ แต่ไม่รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น สว. เนื่องจากส.ว.สรรหา ที่จะหมดวาระลง 3 ปี ในครั้งนี้สามารถมีสิทธิ์ได้รับการเสนอรายชื่อการเป็น ส.ว.สรรหา ได้อีก ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 297 ที่ระบุมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามดำรงตำแหน่ง ติดต่อกัน 1 วาระ มาบังคับใช้กับบุคคลที่จะสรรหา ส.ว.ในครั้งถัดไป
  
"กรณีดังกล่าว ยังไม่มีหนังสือสอบถามปัญหาด้านข้อกฎหมายจาก ส.ว.มายัง กกต. ซึ่งเรื่องนี้จะให้ กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งและสำนักกฎหมายคดี ตรวจดูเรื่องข้อกฎหมายต่อไป" นายสุทธิพล กล่าว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี: เกาหลีเปลี่ยนแล้ว เมืองไทยทราบแล้วเปลี่ยน?

Posted: 10 Jan 2011 05:43 AM PST

 
(ข้าพเจ้าพยายามเขียนเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดของข้าพเจ้าจะพอสรุปออกมาได้ เนื่องเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองเกาหลี ถ้ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
 
50 ปีแห่งการปลดแอกเผด็จการทหารในการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ โดยพลังประชาชน
 
2491-2500 แบ่งเป็น 2 ประเทศ สงครามจิตวิทยาต้านคอมมิวนิสต์ >> 2503 ทศวรรษแห่งขบวนการนักศึกษา >> 2513 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ของกรรมกรโรงงาน การประท้วงของชุน เต-อิล >> 2522 การประท้วงของภาคประชาชน ต่อรัฐประหาร ประท้วงกฎอัยการศึกของรัฐบาลชุน ดู-วาน และโร แต-วู >> 2523 เริ่มจากการลุกขึ้นสู้ของชาวกวางจู >> 2530 หนึ่งปีเต็ม แห่งการสไตรค์ของสหภาพแรงงานประชาธิปไตย >> 2531 ลุกขึ้นสู้ทั้งประเทศเพื่อร่วมกันขับไล่เผด็จการจนสำเร็จในปี >> ปัจจุบันพวกเขากำลังสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่
 
เกาหลีเปลี่ยนแล้ว เมืองไทยทราบแล้วเปลี่ยน?
 
ห้าสิบปีของการต่อสู้ของประชาชน ประเทศเกาหลีเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ และภาคประชาชนเกาหลีใต้ ก็กำลังต่อสู้อย่างหนักหน่วงในการต่อต้านการนำแนวนโยบายการเมือง เสรีนิยมใหม่ การเมืองที่ทุนบอกรัฐว่าอยู่เฉยๆ เราจะใช้แนวเศรษฐกิจเสรีดูแลประชาชนเอง ให้เราจัดการเองทั้งหมดเถอะ พวกท่านช่วยดูเรื่องนโยบายที่อำนวยความสะดวกให้เรามากทีสุดก็พอแล้วซึ่งต่างกันสุดขั้วกับแนวคิด สังคมนิยมประชาธิปไตยรัฐในฐานะตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา ต้องทำหน้าที่ขจัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ที่พวกคนเกาหลีต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตให้ได้มา
 
ทั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกันมากในบริบทการเมืองของไทยและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการเมืองระบบทหาร ที่หนุนหลังอย่างสุดโต่งโดยสหรัฐอเมริกา ภายใต้สงครามจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการต่อสู้ระหว่างภาคประชาชนกับทหาร โดยทั้งเผด็จการไทยและเผด็จการเกาหลีใต้ ได้รับอัดฉีดทั้งเงินและแนวนโยบายการเมืองจากกองทัพและรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้แผน “Psychological warfare” หรือสงครามจิตวิทยาประชาชนทั้งผู้นำทหารทั้งไทยและผู้นำทหารเกาหลีได้ต่างก็ได้รับการเชิญให้ไปเรียนรู้ยุทธศาสตร์ สงครามจิตวิทยาประชาชนยังทำเนียบขาว และแพนตากอนกันเลยทีเดียวในช่วงปี 2500 - 2510
 
ตุ้มๆ ต่อมๆ ไปกับการลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดง
 
การต่อสู้ของเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านไปได้ในระดับที่ทั่วโลกพอจะถอนหายใจได้เฮือกใหญ่ แต่ประชาธิปไตยในประเทศไทยยังเป็นเด็กเดินเตาะแตะ ล้มลุกคลุกคลานอยู่เช่นเดิม หรือนี่อาจจะเป็นยุทธศาสตร์การเมืองโลกที่กำกับด้วยชาติมหาอำนาจ? ด้วยสภาพภูมิศาสตร์การเมืองของไทยในอินโดจีนและเอเชียตะวันออก จึงถูกวางยาประเทศไทยไว้ไม่ให้เข็มแข็ง ยอมรับเฉพาะรัฐบาลเด็กดี ที่โลกมหาอำนาจเรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้?
 
นักทฤษฎีปฏิวัติส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่น้อย หมดไปกับขวดเบียร์ และถกกันทั้งคืนเกี่ยวกับ 100 ปัญหาที่เกิดจากการต่อสู้ มากกว่าจะโฟกัสไปยังยุทธวิธีเดียวที่จะชนะได้ ซึ่งมีบทเรียนมากกมายจากทั่วโลกคือ การขับเคลื่อนร่วมสู้กับมวลชน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันจนกว่าจะได้รับชัยชนะคนที่คิดเรื่องแพ้มากกว่าคิดเรื่องชนะ มักจะสู้ไปถอยไป และก็อาจจะไม่เคยชนะเลยก็ได้
 
จริงอยู่มันมีความแตกต่างของไทยกับหลายประเทศ ทุกการต่อสู้จะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่เป็นตัวแปรนิดๆ หน่อยๆ เช่น เปรียบเทียบไทยกับเกาหลี เราก็อาจจะมีข้ออ้าง หรือคำอธิบาย (ที่เป็นเรื่องจริง)ได้ว่า คนเกาหลีใต้โชคดีกว่าไทย ที่สู้กับเฉพาะทหารและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศไทย ที่สลัดการใช้อำนาจมิชอบของทหารและเหลือบที่เกาะกินยังไม่หลุดเสียที เพราะต้องสู้แบบหนึ่งต่อสี่ ไม่ใช่หนึ่งต่อสองแบบเกาหลี เพราะเรามีชนชั้นสูงเพิ่มเข้ามาด้วย (ประชาชน (1) ต่อ ทหารโง่ (1) + พรรคการเมืองไดโนเสาร์ (2) + ชนชั้นสูงเต่าล้านปี (3) + สงครามจิตวิทยามวลชนของสหรัฐฯ (4))
 
แต่นับตั้งแต่เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา และการเดินหน้าสู้ต่อเนื่องของคนเสื้อแดง ในหลากหลายรูปแบบในเมืองไทย ทำให้นานาชาติจับตามองอย่างไม่กระพริบ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เพราะ พลังประชาชนกว่าล้านคนในประเทศไทยที่ร่วมขับเคลื่อนกับคนเสื้อแดงมาตลอดสองปี ทำให้นานาชาติเริ่มให้ความสำคัญ ต่อความจริงจังของการต่อสู้ และต่อความหล่อแหลมที่อาจจะมีความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทั้งการเมืองเลือกตั้งและการเมืองรัชทายาทในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ดูเหมือนกับว่าไม่เคย - Take it seriously - ประเทศไทยมากเท่านี้มาก่อน เพราะคิดว่าการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ ไม่มีกระดูกสันหลัง - ลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ
 
การต่อสู้ของคนเสื้อแดงอาจจะทำให้การเมืองไทยมีกระดูกสันหลังขึ้นมาได้ ถ้ายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะมันเป็นการลุกขึ้นสู้ครั้งยิ่งใหญ่และต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 100 ปี นับตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ของกลุ่ม ผีบุญในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ในปี 2444 - 2445 ซึ่งปีนี้ก็ครบรอบ 110 ปี ของผู้กล้า ที่ประวัติศาสตร์ไทยเรียกพวกเขาว่า กบฏผีบุญ
 
กบฏผีบุญ คือการต่อสู้ของชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงในอาณาบริเวณที่ถูกเรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นการจุดประกายการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เสรีภาพ และเรียกร้องแนวนโยบายรัฐที่มุ่งตอบสนองคนชั้นล่าง และต่อต้านระบบการขูดรีดภาษีจากคนจนเพื่อเอามาหล่อเลี้ยงเมืองหลวง โดยที่เงินภาษีกว่า 80% ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาความอำนวยสะดวกให้เมืองหลวงเท่านั้น โดยปล่อยให้ภูมิภาคอดยาก ยากแค้นและขาดแคลนไปเสียทุกสิ่ง ผ่านไป 110 ปี แนวนโยบายปล้นคนชนบทเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเมืองก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความจริงที่ภูมิภาคห่างไกลในประเทศไทยต้องทนกล้ำกลืนมาจนถึงบัดนี้
 
กระนั้นก็ตาม ทั้งคนเสื้อแดงและคนที่เอาใจช่วยคนเสื้อแดง ก็ยังตุ้มๆ ต่อมๆ ไปกับท่าทีของแกนนำเป็นระยะๆ ที่ดูเหมือนว่ามุ่งเรื่องการขับเคลื่อนทางยุทธวิธีมากกว่าจัดขบวนการต่อสู้ให้เป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันพวกเราก็เอาใจช่วยแกนนอน ที่ไม่กล้านำเพราะเข้าใจดีว่าไม่ควรนำ และเริ่มมีความหวังกับมวลชนคนเสื้อแดง ที่เข็มแข็ง มีวินัย มุ่งมั่น และตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคง จนเริ่มสร้างความหวังลึกๆ ในใจว่า ฤาครั้งนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศไทยอย่างเต็มภาคภูมิได้เสียที
 
ยามนี้ การศึกษาบทเรียนขบวนการต่อสู้ของคนเกาหลีใต้ จนสามารถปลดแอกทหารในทางการเมือง(โดยทางตรง) ได้ในปี 2531 อาจจะมีประโยชน์ได้บ้างที่จะนำมาใช้ศึกษาเทียบเคียงกับการเมืองไทยได้บ้าง เพราะไทยเองก็เคยคิดว่าก้าวพ้นระบบทหารมาได้แล้วเมื่อการลุกขึ้นสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535
 
เรามาทำความรู้จักการต่อสู้ของประชาชนเกาหลีอย่างคร่าว
 
ห้าสิบปีแห่งเกาหลีใต้ภายใต้การปกครองของทหาร
 
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านการอยู่ภายใต้อาณานิคมจากญี่ปุ่น( 2453 – 2488) สหประชาชาติได้มีการแบ่งเกาหลีเป็นสองซีกตามแรงกดดันของรัสเซียและสหรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีเหนือโจมตีเกาหลีใต้ จนตามมาด้วยสงครามเกาหลี (สงครามระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ กับ ค่ายทุนนิยม) (2493-2496) และอเมริกาแทรกแซงจนรัฐบาลซิง มัน-รี (2493 – 2500) ได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อหวังผลขจัดพรรคฝ่ายค้าน
 
เป็นเวลาถึง 18 ปี นับตั้งแต่ 2504 – 2522 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้เผด็จการนายพลปักจุงฮี ตามมาด้วย 8 ปีภายใต้เผด็จการนายพลชุน ดู-วาน (2523 – 2531) อีก 5 ปี ภายใต้นายพลโรว แต-วู (2531 – 2536) แม้ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของการเมืองเกาหลีใต้ แต่ก็เป็นรัฐบาลทหาร และก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน และนายพลร่วมก๊วนกับชุน ดู-วาน ที่เข้ามารับตำแหน่งเพื่อรับช่วงต่อจากนายพล ชุน ดู-วาน และทำให้การลงของเขาไม่เจ็บตัวมากนัก
 
การเมืองเกาหลีในยุคแรกแห่งประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังจากแบ่งประเทศออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปี 2491 นั้นไม่นิ่ง ไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็คอรัปชั่น รัฐบาลพลเรือนจะอยู่ไม่ได้นานก็ถูกทหารปฏิวัติ หรือสรุปสั้นๆ ว่าประชาชนเกาหลีอยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการรัฐสภา และนายพลทหารนับตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2536 ปัจจุบันเกาหลีมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองเสรีนิยม และนับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมากว่า เป็นเวลา 63 ปี เกาหลีใต้ปกครองด้วยประธานาธิบดีเพียง 10 คนเท่านั้น โดยหลายคนควบยาวสอง-สามสมัย ในขณะที่ 78 ปี ประชาธิปไตยไทยเราปกครองด้วยนายกรัฐมนตรีถึง 27 คน
 
การประท้วงของนักศึกษาปี 2503
 
การลุกขึ้นสู้เผด็จการปัก จุง-ฮี ของนักศึกษาในเดือนเมษายน 2503 (จนได้รัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ ก่อนจะถูกปฏิวัติโดยปัก จุง-ฮี ในปี 2504) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งทศวรรษ 2503 และมันได้ค่อยๆ ส่งอิทธิพลต่อการเติบโตของขบวนการนักศึกษา แรงงาน และประชาชนเกาหลีใต้
 
การจัดการศึกษาอย่างเข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ และบทบาทของนักศึกษาในการเข้าหามวลชนเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเด่นในการเติบโตของภาคประชาชนเกาหลีใต้นักศึกษาเดินขบวนกันทั้งปี เผชิญกับการปราบปรามอย่างหนัก ทั้งกระบอง และแก๊สน้ำตา จนควันคลุ้งกระจายมาในย่านตลาดสันติภาพ ศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี มีกรรมกร 30,000 คน แออัดยัดเยียดกันในห้องแคบ ทำงานเยี่ยงทาสวันละ 12-16 ชั่วโมง โดยไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน การต่อสู้ของนักศึกษา ส่งผลต่อการก่อกำเนิดปรัชญากรรมกรในทศวรรษ 2513 ของชุน เต-อิล กรรมกรตัดผ้าวัย 22 ปี หนึ่งในคนงาน 30,000 คน ที่อยู่ในโรงงานนรกแห่งนั้นนั่นเอง คนงานหนุ่มที่พลิกชะตาตัวเอง และชนชั้นกรรมาชีพของเกาหลีใต้ ด้วยอุดมการณ์และความรักในเพื่อนร่วมชนชั้น
 
วีรกรรมนักบุญชุน เต-อิล
 
ชุน เต-อิล เป็นกรรมตัดผ้าหนุ่มวัน 22 ปี เขาเผาตัวตายประท้วงพร้อมกับหนังสือคู่มือกฎหมายแรงงานในอ้อมกอด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2513 ขบวนการแรงงานยกย่องเขาว่าเป็นบิดาของขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ภาคประชาชนเกาหลีใต้ยกย่องว่าเขาเป็นนักบุญ
 
พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร
 จงปฏิบัติตามกฎหมาย
 
คือเสียงที่เปล่งออกมาจากเปลวไฟ เมื่อกรรมกรตัดผ้าหนุ่มวัย 22 ปี ชุน เต-อิล ตัดสินใจจุดไฟเผาตัวเอง ที่ตลาดสันติภาพ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีใต้
 
เขาเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อประท้วงความโหดร้ายป่าเถื่อนของอุตสาหกรรมดัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีใต้เพื่อทลายกำแพงเย็นยะเยือกของสังคมเกาหลีที่เพิกเฉยต่อวิถีชีวิตอดมื้อกินมื้อของคนยากคนจน โดยเฉพาะสภาพการทำงานในนรกของคนงานเด็กหญิงในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีในทศวรรษ 2510
 
เขาตายพร้อมกับคู่มือกฎหมายแรงงานในอ้อมกอด เพื่อบอกว่ากฎหมายแรงงานมันไร้ประโยชน์ เขาตายเพื่อเปิดโปงการคอรัปชั่นและสมรู้ร่วมคิดระหว่างนายจ้างและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน
 
จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของเขาได้ทำให้สังคมเกาหลีตื่นรับรู้ความจริงแห่งความหฤโหดและเย็นชาของสังคมต่อเพื่อนร่วมประเทศ และลุกขึ้นมายอมรับว่า คนชั้นล่างในสังคมก็มีศักดิ์ศรี ก็มีปรัชญาเพื่อการปลดแอกทาสได้
 
การประท้วงด้วยไฟของชุน เต-อิล ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2513 ได้กลายเป็นประกายไฟดวงน้อย ที่ส่องแสงนำทางในยามมืดมิด เรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ที่ชุน ได้เขียนบันทึกเอาไว้มากมาย และพินัยกรรมทิ้งเอาไว้ให้พวกเรา ทำให้น้ำตาของคนเกาหลีหลั่งไหลรวมกันเป็นสายน้ำใหญ่
 
การเปล่งคำพูดสุดท้ายกับเพื่อนๆ ว่า อย่าให้ความตายของผมสูญเปล่าทำให้ ความตายของเขาไม่อาจถูกลบเลือน และดำรงอยู่นิรันดรเพราะไม่ใช่เฉพาะเพื่อนของเขาเท่านั้น แต่ปัญญาชนเกาหลีได้ช่วยกันส่งต่อสาส์นและปรัชญาของคนหนุ่มให้สามารถไปสั่นรั่วสะเทือนหัวใจคนทั้งเกาหลีได้ และในหลายประเทศทั่วโลก
 
การลุกข้นสู้กับรถถังและกระสุนปืน
 
การต่อสู้ของชุน เต-อิล ได้ส่งไม้ต่อไปยังภาคประชาชนในทศวรรษ 2522 และการประท้วงของนักศึกษา กรรมกร และประชาชนต่อปัก จุง-ฮี ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ
 
นายพลปัก จุง-ฮี ที่ใช้นโยบายการเมืองภายใต้การกำกับของสหรัฐฯ ไม่ต่างไปจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทั้งแนวนโยบายการเมืองและทางเศรษฐกิจ และการขึ้นมาสู่อำนาจจากผลของสงครามจิตวิทยามวลชน โดยไร้คนต่อต้านในช่วงแรกๆ แต่ไม่นาน การประท้วงเขามีต่อเนื่องและก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในเดือนตุลาคม 2522 การประท้วงจากคนหลายหมื่นคนในหลายจุด ทำให้ขั้วการเมืองชุน ดู-วานที่รอโอกาสมานาน ได้สังหารปัก จุง-ฮี ในวันที่16 ตุลาคม 2522 โดยหัวหน้าหน่วยงาน CIA เกาหลีใต้ ที่ปักจุง-ฮี ตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเขาในปี 2504 กลับเป็นหน่วยงานที่ลั่นไกสังหารตัวเขาเอง
 
ชุน ดู-วานทำการยึดอำนาจ และตั้งตัวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2523 ประกาศกฎอัยการศึกและส่งกองกำลัง รถถัง และอาวุธครบมือไปคุมเมืองต่างๆ โดยเฉพาะที่เมืองกวางจู พื้นที่ของ คิม ยอง-ซัม แกนนำนักการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนั้น จนเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน
 
ที่เมืองกวางจู เยาวชน นักศึกษา ได้ทำการประท้วง และถูกปราบปราบอย่างหนัก และเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในเดือนพฤษภาคม 2523 โดยเฉพาะในวันที่ 18 พฤษภาคม
 
เมื่อสูญเสียชีวิตบุคคลที่เป็นที่รักหลายร้อยคน และต้องดูแลคนเจ็บ และพิการจาการปราบปรามอีกหลายพันคน ประชาชนชาวกวางจู โดยเฉพาะครอบครัวของวีรชน ไม่หยุดต่อสู้ พวกเขาแบ่งปันดูแลช่วยเหลือกันทางสภาพจิตใจแลละเศรษฐกิจ และโอบอุ้มดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และประชาจากหลายเมืองทั่วเกาหลีได้ระดมเงินส่งไปช่วยเหลือพวกเขาที่กวางจูด้วยเช่นกัน
 
เหตุการณ์กวางจูกลายเป็นจุดเดือดที่ทำให้สังคมเกาหลีไม่สามารถทนอยู่กับเผด็จการได้อีกต่อไป และส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2531 เป็นช่วงเวลาแห่งการจัดตั้งทางอุดมการณ์ทั่วทั้งเกาหลี การจับกลุ่มพูดคุยปัญหาบ้านเมือง ถกกันอย่างเอาเป็นเอาตายกับทฤษฎีการเมืองต่างๆ ไม่ว่ามาร์กซิส สังคมนิยม หรือประชาธิปไตย การวางแผนการต่อสู้ เกิดขึ้นในทุกเมือง ทุกย่านที่พักอาศัย ย่านอุตสาหกรรม ทั้งกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาที่กระจายตัวลงไปช่วยจัดตั้งทั้งในหมู่กรรมกร และชนบท (จริงๆ ก็มีมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคชุน เต-อิลแล้ว)
 
พวกเขาจะนัดพบเจอกันในร้านเครื่องดื่มเล็กๆ พูดคุยกันจนดึกดื่นเรื่องการเมือง
 
ขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี
 
นับจากชุน เสียชีวิตเพื่อขบวนการแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ดำเนินต่อเนื่อง และเข้มข้นมากขึ้น แม้จะประสบกับความยากลำบากมากมายจากปัก จุง-ฮี และชุน ดู-วาน
 
แต่เมื่อพวกเขาพร้อมเปิดตัว ในปี 2530 ประเทศเกาหลี และขบวนการแรงงานทั่วโลกก็ตื่นตลึงไปกับคลื่นขบวนคนงานเกาหลี และขบวนการสหภาพแรงงานของเกาหลีที่มีกว่า 1,060 สหภาพแล้วในยามนั้น ที่รวมตัว ช่วยเหลือกัน และสมานฉันท์ระหว่างกัน เป็นการสไตรค์ใหญ่ร่วมกัน กระจายทั่วทุกย่านอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ต่อเนื่องทั้งปี จนทำสถิติการสไตรค์ 3,458 ครั้งในปีนั้น
 
ขบวนการแรงงานทั่วโลกตื่นตลึงกับการประท้วงของคนงานเกาหลีใต้ ที่ทั้งสง่างาม สนุกสนาน เข้มแข็ง มีวินัย กล้าหาญ และเปี่ยมพลัง ทั่วโลกรู้จักสหภาพแรงงานเกาหลีมากขึ้น ก็เพราะการประท้วงใหญ่ในปี 2530 นี่เอง
 
หลังจากนั้น เกาหลีใต้เป็นประเทศที่นักสหภาพแรงงานจากทั่วโลกเดินทางไปเยี่ยมและศึกษาเรียนรู้จากสหภาพแรงงานและขบวนการประชาชน (ประเทศไทยนำร่องโดยคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งได้เป็นหัวหน้าทีมพาตัวแทนคนงานหญิงสองคน และข้าพเจ้าเดินทางไปศึกษาดูงานขบวนการแรงงานเกาหลีสองอาทิตย์ในเดือนสิงหาคม ปี 2535 พวกเราได้เยี่ยมคารวะสุสานของวีรชนเกาหลีตลอดเส้นทางดูงานจากกรุงโซล จนไปถึงเมืองท่าปูซาน)
 
หนึ่งในหัวใจที่ทำให้มีการเติบโตของสหภาพแรงงานที่เกาหลีใต้อย่างเข้มแข็งและทรงพลัง คือการเสียสละของแกนนำ ที่จะอยู่แถวหน้าของขบวนและเป็นคนแรกๆ ที่ถูกจับ และจากการสร้างความเข้มแข็งจากฐานมวลชน เป็นการทำงานจัดตั้งอย่างเข้มข้น ที่ใส่ใจในเรื่องการศึกษาหาความรู้ มีการประสานกำลัง (กรรมาชีพ) และองค์ความรู้ (นักศึกษา) เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะและให้ความเคารพซึ่งกัน อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่เราสัมผัสได้คือการไม่ทอดทิ้งกัน คนที่อยู่นอกคุก ดูแลครอบครัวคนที่ติดคุก คนที่อยู่ ดูแลครอบครัววีรชนที่เสียสละชีวิต
 
สาส์นที่ ชุน เต-อิล ที่บอกว่า ถ้าเขามีเพื่อนเป็นนักศึกษาก็คงจะดีมาก เพราะจะได้ช่วยอธิบายกฎหมายแรงงานที่คลุมเครือให้เขาเข้าใจ และสอนเรื่องเทคนิคการเดินขบวนต่างๆ ให้กับคนงาน นักศึกษาซึ่งเข้มแข็งอยู่แล้วในยามนั้น เพื่อขับไล่เผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย พากันไหล่หลั่งมาย่านอุตสาหกรรม เพื่อช่วยขบวนการแรงงานด้วย ทั้งช่วยสอนหนังสือ ร่วมในกิจกรรมของสหภาพและคนงาน รวมทั้งเข้าไปสมัครงานเป็นกรรมกรในโรงงานต่างๆ เป็นปี เพื่อช่วยคนงานจัดตั้งสหภาพ ขบวนการสหภาพแรงงานจึงเติบโตขึ้น และในปี 2530 คนงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกาหลีใต้กว่า 20 % เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (สมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งประเทศมีเพียง 1.3% และมีเพียงประมาณ 3% ของคนงานเอกชนทั้งในภาคอุตสาหกรรม และบริการ)
 
การประท้วงทั่วประเทศ
 
ด้วยความยืนหยัดและการต่อสู้อย่างเข้มแข็งทั้งกรรมกร นักศึกษาและองค์กรภาคประชาชน การประท้วงทั้งประเทศในเดือนมิถุนายน 2531 ของประชากรทั้งประเทศร่วมสองล้านคน ใน 34 เมือง และแม้จะมีผู้ถูกจับกุมร่วมสี่พันคน ก็ไม่หยุดประท้วง ทำให้ประธานาธิบดีชุนดู-วาน ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันได้ ต้องประกาศลาออกในเดือนกรกฎาคม 2531
 
สหภาพแรงงานประชาธิปไตยรวมตัวก่อตั้ง สภาแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี (KCTU)
 
ขบวนการแรงงานก็ร่วมขับเคลื่อนกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนจนจัดการกับเผด็จการทหารได้ในที่สุดในปี 2531
 
หลังจากปี 2530 เป็นต้นมาขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพในทุกกิจการของเครือฮุนได และอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเกหลีใต้
 
ส่งผลให้ทศวรรษ 2530 เข้มข้นไปด้วยการสไตรค์เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างที่กดค่าแรง และสวัสดิการมาอย่างยาวนานภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลทหาร ต้องยอมเจรจากับสหภาพแรงงาน และทำข้อตกลงสภาพการจ้าง ส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดของคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพในเกาหลีใต้ ทั้งการขึ้นของค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองทางกฎหมายต่างๆ
 
ขณะเดียวกันทุนเกาหลี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และราคาถูก โดยเฉพาะตัดเย็บเสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า ได้เริ่มย้ายและขยายการผลิตของทุนเกาหลีลงมาทางใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าก็ย้ายไปไกลที่ลาตินอเมริกา (ไปทะเลาะกับคนงานที่นั่นต่อ)
 
สหภาพแรงงานประชาธิปไตยหลายร้อยแห่งจึงได้ตัดสินใจรวมตัวกันตั้งสภาแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions - KCTU) ในปี 2538 เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับทุนและรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็งขึ้น และภายในไม่กี่ปี KCTU ก็สามารถเบียดสภาแรงงานแห่งชาติเกาหลีที่สนับสนุนจากรัฐบาลให้ตกไปอยู่ขอบเวที
 
แม้ว่าจะมีบางกระแสวิจารณ์ว่า มุ่งใช้แนวนโยบายการสไตรค์หยุดงาน มากกว่าแนว แรงงานสัมพันธ์ดีเด่นเช่นที่สหภาพส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นและยุโรปก็ตาม แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดในทศวรรษ 2540 ว่าได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่ามีพลังและเข้มแข็งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้ครองใจมหาชนโลก แม้ว่าไม่ใช่จากขบวนการแรงงานญี่ปุ่น และยุโรป แต่จากขบวนการแรงงานแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย และมาร์กซิส และขบวนการประชาชนในขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะลาตินอเมริกา อาฟริกา และเอเชีย
 
พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (Democratic Labour Party (DLP)
 
KCTU และหลายองค์กรภาคประชาชนที่เกาหลีรวมกันตั้งพรรคการเมืองในเดือนมกราคมปี 2543 ในชื่อ พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (Democratic Labour Party (DLP) ในการลงแข่งขั้นในสมัยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2547 ผู้สมัครพรรค 10 คน ชนะการเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา แต่หลังจากสมัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2550 ซีกขบวนการประชาชนแยกตัวออกไปตั้งพรรคของตัวเองในชื่อ พรรคก้าวหน้าใหม่ (New Progressive Party) ทำให้สมัยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2551 พรรคประชาธิปไตยแรงงานได้รับการเลือกตั้งเพียง 5 คน ในขณะที่พรรคก้าวหน้าใหม่ ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาแม้แต่คนเดียว
 
กระบวนการยุติธรรม
 
หลังจากไล่เผด็จการแล้วก็ถึงคราวชำระสะสาง ในปี 2538 เมื่อรัฐบาลฝ่ายค้านที่สู้รบตบมือกับรัฐบาลนายพลมาร่วมสามทศวรรษ คือรัฐบาลของ คิม ยอง-ซัม ก็ได้ร่วมมือกับชาวกวางจู ฟ้องอดีตประธานาธิบดีชุนดู-วาน (2523-2531) อดีตประธานาธิบดี โรว แต-วู (2531 – 2536) และคณะเพื่อให้คืนเงินที่ยักยอกไประหว่างเรืองอำนาจกว่าสี่แสนล้านวอน (ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท) ในหลายข้อหา ทั้งรัฐประหาร 2522 ปราบปราบประชาชน 2523 และคอรัปชั่น และอื่นๆ
 
ศาลฎีกาแห่งเกาหลีใต้ได้ตัดสินในเดือนสิงหาคม 2539 สั่งจำคุกชุน ดู-วาน ตลอดชีวิต และและโรว แต-วู 17 ปี เมื่อถูกว่ามีการกระทำผิดหลายกรรมหลายวาระ อาทิ ผู้นำการก่อการจลาจล สั่งเคลื่อนกองทหารโดยไม่มีอำนาจ ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีส่วนร่วมในการกบฏ รวมทั้งการรับสินบนต่างๆ เขาถูกส่งเข้าห้องขังนับตั้งแต่วันนั้น
 
ศาลยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 220,500,000,000 วอน (5,952 ล้านบาท) ชุนดูฮวานจ่ายได้เพียงไม่ถึงหนึ่ง
 
ในสี่ของค่าเสียหาย หรือจ่ายได้เพียงห้าหมื่นสามพันล้านวอน (หนึ่งพันสี่ร้อยล้านบาท)
 
ในเดือนธันวาคม 2540 ชุน ดูวาน และโรว แต-วู ได้รับการอภัยโทษหลังจากถูกจำคุกเพียงแค่ปีเดียว
 
พอถึงปี 2551 จำนวนประชาชนและครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารที่ได้รับการจ่ายค่าชดเชย มีรวมกันทั้งสิ้น 4,540 คน แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิตและสูญหาย 314 คน บาดเจ็บ 3,059 คน และถูกจับกุมและขังคุกอีก 1,168 คน
 
การให้คุณค่ากับชีวิตที่เสียสละ
 
ถ้าจะมองอะไรเป็นจุดแข็งของการขับเคลื่อนภาคประชาชนเกาหลีคือ ก็คือการให้คุณค่าสูงยิ่งต่อทุกชีวิตที่เสียสละ ผู้เสียหายหลายพันคนคงจะไม่ได้ค่าชดเชยในปี 2551 ถ้าบรรดาครอบครัวของชาวกวางจู ไม่สร้างสุสานวีรชน เพื่อที่พวกเขาจะไปดูแลหลุมศพ ประดับดอกไม้ให้กับดวงวิญญาณลูกและสามี และนั่งพูดคุย ให้กำลังใจกัน ปลอบโยนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และชวนกันดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมทั่วทั้งเกาหลีพากันหลั่งไหลกันไปเคารพสถานที่เผาตัวตายของชุนที่ตลาดสันติภาพ เดินทางไปสุสานวีรชนที่กวางจู เพื่อไปเคารพศพวีรชน ร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของพวกเขา เพื่อขอบคุณในความเสียสละของพวกเขา และประกาศเจตนารมณ์ว่าจะสานต่ออุดมการณ์
 
ไม่ใช่เฉพาะคนเกาหลีเท่านั้น แต่นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานต่างประเทศ เมื่อไปเยียนเกาหลี ทำเนียมที่สหายชาวเกาหลีจะทำคือพาพวกเราไปเคารพสุสานวีรชนของพวกเขา ในทุกเมืองที่พวกเราเดินทางไป และพูดถึงพวกเขาด้วยความภาคภูมิใจ
 
คนกวางจูและคนทั้งประเทศบริจาคเงินเข้ากองทุนประชาชนกวางจู เพื่อใช้ในการต่อสู้ และสนับสนุนกิจกรรมด้านประชาธิปไตย ขณะนี้ ชาวกวางจูได้จัดตั้งทั้งมูลนิธิหลายแห่ง และให้เงินทุนเพื่อกิจกรรมประชาธิปไตยกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย มูลนิธิที่มีบทบาทเด่นได้แก่ มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม (The May 18 Memorial Foundation- (http://eng.518.org/eng/html/main.html) ) ที่ก่อตั้งในปี 2537 ขณะนี้ได้จัดกิจกรรมมากมายทั้งเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศ และสร้างความสมานฉันท์ข้ามพรมแดน - โครงการสมานฉันท์นานาชาติ รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เวทีสันติภาพนานาชาติกวางจู โรงเรียนสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย โครงการแลกเปลี่ยนนานาชาติ โครงการความร่วมมือกับขบวนการประชาธิปไตยในเอเชีย และโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเกาหลี
 
มีการก่อตั้งมูลนิธิรำลึกชุน เต-อิล (Chun Tae-il Memorial Foundation) เพื่อเผยแพร่ และสานต่องานของเต-อิล โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาในหมู่คนงาน
 
ประชาชนเกาหลีใต้ ให้คุณค่ากับการสูญเสีย และด้วยประกายไฟของชุน เต-อิลที่บอกว่า อย่าให้ความตายของผมสูญเปล่าการเชื่อมประสานระหว่างนักศึกษา กรรมกร นักบวช และประชาชนในเกาหลีได้ ได้กลายเป็นแสงตะเกียงหลายล้านดวงที่ขับไล่ความกลัวแห่งยุคมืดเผด็จการออกไป และทำให้ดอกไม้เกาหลีเบ่งบานทั่วโลกแม้แต่ในฤดูอันเหนับหนาว
 
ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี
 
การประท้วงของชุน เต-อิล คือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ในเกาหลีใต้แห่งทศวรรษ 2513 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ
 
วรรณกรรม ชีวิตและความตายของกรรมกรหนุ่มซึ่งบัดนี้ได้ชื่อภาษาไทยว่า ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นวรรณกรรมแห่งชนชั้นที่คลาสสิคของเกาหลีใต้เล่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้รับการแปลในหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย
 
พวกเราต้องขอบคุณผู้นำนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ โช ยอง-เร ที่ได้ใช้เวลาถึงสามปีในระหว่างการหนีการจับกุมเพราะเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา รวบรวมบันทึกของชุน เต-อิล และพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวของชุน จนได้วรรณกรรมกรรมกรเล่มนี้ ที่เป็นหนังสือใต้ดินที่นักเคลื่อนไหวทุกคนในเกาหลีต้องอ่าน
 
โชว ยอง-เร ศึกษานิติศาสตร์ ที่ใช้ชีวิตระหว่างเรียนเข้าร่วมการประท้วงมากกว่าอยู่ในห้องเรียน ที่เมื่อเรียนจบแล้ว เลือกที่จะรวมกับเพื่อนๆจัดตั้งองค์กรด้านกฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิ มากกว่าจะเป็นทนายว่าความค่าตัวแพง
 
เขาใช้เวลาศึกษาปรัชญาและการต่อสู้ของชุนจนเข้าถึงแก่นแท้แห่งปรัชญาของเขา โช ยอง-เน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเอาทฤษฎีสังคมนิยมประชาธิปไตยมาอธิบายวิธีคิด มุมมอง และการต่อสู้ของชุน เต-อิล ได้อย่างมีอรรถรสและน่าติดตามยิ่ง หนังสือ ชีวิตและความตายของกรรมกรหนุ่มที่เขียนเสร็จในปี 2519 ท่ามกลางการเมืองร้อนระอุ จึงไม่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนเกาหลีจนถึงปี 2526” มันถูกแบนโดยทันทีตามที่สำนักพิมพ์คาดการณ์ไว้ แต่มันได้กลายเป็นหนังสือใต้ดินที่มีผู้ต้องการมากที่สุด แทบจะทันทีที่พิมพ์ออกมา มันเป็นดุจดั่งคัมภีร์ที่กรรมกร นักศึกษา และภาคประชาชนเกาหลีต้องอ่าน เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เกาหลีมาร่วมสามทศวรรษ
 
กระนั้นก็ตามการต่อต้านสหภาพของพวกนายจ้างที่เกาหลีไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้การเป็นนักสหภาพแรงงานที่แท้จริงที่เกาหลีนั้นต้องผ่านบทเรียนการต่อสู้อย่างเข้มข้น และยาวนานทั้งชีวิต
 
เวลาผมรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ ผมจะไปยังสุสานวีรชน ไปอยู่ที่นั่งเพื่อรำลึกถึงการเสียสละและวีรกรรมของเขานี่คือเสียงสะท้อนจากนักสหภาพหลายคนที่ข้าพเจ้าพบในช่วงที่ไปศึกษาขบวนการสหภาพแรงงานที่เกาหลีในปี 2535 และในปี 2543
 
แกนนำที่เพิ่งออกจากคุกบอกเราว่า การเข้าคุกคืองานหลัก ออกมานอกคุกคืองานอดิเรกแม้แต่คนจบ ดร. อาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อนของข้าพเจ้าก็เข้าคุก 6 เดือนเพราะกิจกรรมนักศึกษา เขาบอกว่า ชุน เต-อิล คือแรงบันดาลใจให้เขาและนักศึกษาเกาหลีใต้
 
นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานที่เกาหลีบอกว่า การจะขึ้นมาเป็นประธานสหภาพนั้นดูกันว่า ใครเข้าคุกมากี่ครั้ง” “เข้าคุกมากี่ปีใครไม่เคยสู้ ไม่เคยถูกจับเข้าคุก มักไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นประธานสหภาพแรงงาน และตัวคนนั้นเองก็ไม่กล้ารับตำแหน่งประธานสภาพด้วย
 
ประเทศไทยทราบแล้วเปลี่ยน
 
การเชื่อมั่นในการต่อสู้ด้วยพลังประชาชน ไม่ประนีประนอมกับการเมืองฉ้อฉล และการเชิดชูวีรชนที่เสียสละคือยุทธวิธีที่ผู้นำการปลดแอกทางการเมืองไม่ว่าในประเทศไหนก็ตามควรจะน้อมนำมาเป็นหนึ่งในหัวใจของการขับเคลื่อนกิจกรรม
 
ประเทศไทยเรามีผู้เสียสละเพื่ออุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อให้รัฐฯ บริหารจัดการงบประมาณเพื่อมุ่งเพื่อประโยชน์อันสูงสุด เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนมากมาย มีผู้เสียชีวิตที่เป็นตัวเลขทางการที่ข้าพเจ้านำมาร่วมกันในท้ายบทความนี้ถึง 290 วีรชน นับตั้งแต่ปี 2490
 
ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่จุดประกายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย ผู้มีความเชื่อในนโยบาย รัฐประชาชน รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักการเมืองน้ำดีเข้าสู่สภาฯ หลายคน โดยเฉพาะจากภาคอีสาน แต่สังคมไทยปล่อยให้พวกเขาถูกขบวนการฝ่ายขวาปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่นับว่ารัฐมนตรีหลายคนแห่งค่ายสังคมประชาธิปไตย ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ปรีดี ป๋วย หรือแม้แต่จอมพล ป. สามผู้ที่มีบทบาทนำในการเมืองไทยยุคนั้น ต้องไปเสียชีวิตที่ต่างแดน และไม่ได้กลับบ้านเกิดอีกเลย
 
การปล่อยให้การให้ค่าว่า สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีสิ่งใดคือความเป็นไทย สิ่งใดคือความเป็นธรรมถูกใช้เพื่อการปรองดองแห่งชาติ เพื่อความสมานฉันท์มาทุกครั้งหลังจากการปล้นอำนาจประชาชนและสังหารผู้ประท้วงสัก 30 40 หรือ 100 ศพ คือการไม่ให้คุณค่ากับวีรชน คือการดูถูกชีวิตที่เสียสละคือการย้ำยีซ้ำบนซากศพและบนชีวิตคนยากคนจนที่ยังมีลมหายใจเหลืออยู่
 
เป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างกันเลยไม่ว่าหัวขบวนฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา และเป็นความผิดพลาดหนึ่งของการต่อสู้ของภาคประชาชนไทยนับตั้งแต่ปี 2475 เพราะหัวขบวนประนีประนอมระหว่างกัน หัวขบวนต่างอ้างความเป็น ผู้มีความรักยิ่งในองค์พระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าผู้ใดเหล่าบรรดาหญ้าแพรกที่อดยาก ยากจนทั้งหลายก็แหลกลาญ ถูกลืมเลือนหายไปในประวัติศาสตร์ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า เหลือเพียงจำนวนตัวเลขไว้ให้เล่าขาน อาทิ การลุกขึ้นสู้ใน 14 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บ 857 คน
 
แต่น้อยคนที่จะรู้จักชื่อ รู้จักหน้า แม้แต่ในหมู่ครอบครัววีรชน ก็อาจจะไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้รวมตัวสู้ร่วมกันอย่างเข็มแข็ง ไม่ได้กำหนดทิศทางการใช้เงินค่าชดเชยร่วมกัน
 
การเสียสละของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกนำมาเป็นขวัญ กำลังใจให้การต่อสู้ของคนรุ่นหลังเท่าที่ควร แต่ถูกพวกฝ่ายขวารอยัลลิสต์หัวเราะเยาะว่าเป็นคนโง่ เอาชีวิตมาทิ้งเปล่าๆ คนส่วนใหญ่นำมาปรามลูกหลานว่า เห็นไหม สู้แล้วได้อะไร สู้แล้วก็ตายเปล่า อย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า
 
นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม 78 ปีประชาธิปไตยไทยยังนำมาซึ่งคำถามจากชาวบ้านว่า ปรีดี คือใคร?” และก็คงจะถามว่า ถวิล จำลอง เตียง ป๋วย จิระ ฯลฯ คือใคร? ด้วยเช่นกัน เพราะระดับบิดาของการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ก็ไม่ได้รับการยกย่องและแนะนำให้ประชาชนรู้จัก มิหนำซ้ำยังถูกปักปรำว่าเป็นคอมมิวนิสต์
 
ก้าวย่างที่ต้องรอบคอบเพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน
 
คนต่างชาติไม่สนใจการเมืองไทยอย่างแท้จริงมาก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของคลื่นคนเสื้อแดงที่เพื่อความเข้มข้นในทุกขณะเขาบอกข้าพเจ้าว่า การเมืองไทย ประเทศไทย ไม่มีกระดูกสันหลังเพราะเขาเห็นว่าไม่มีใครยึดหมั่นในหลักการหรืออุดมการณ์ เล่นการเมืองกันไปหมดไม่ว่าฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา เจราจาและประนีประนอมระหว่างกัน หรือที่เริ่มพูดกันมากขึ้นว่ายุทธวิธี สู้ไป กราบไปโดยไม่เคารพในอุดมการณ์และหลักการประชาธิปไตยประชาชน
 
วิถีการต่อสู้ แบบไทยๆที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะในหมู่ประชาขน นักกิจกรรมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหมู่นักประชาธิปไตยนานาชาติด้วย เพราะสำหรับเขา เหลืองที่เป็น NGO ที่เขารู้จักก็อ้างว่า ทำเพื่อประชาธิปไตยและ แดงที่เริ่มต้นจากค่ายพรรคการเมืองที่เขาเห็นว่าไม่โปรงใส ก็อ้างว่า “เพื่อประชาธิปไตย
 
แต่คนเสื้อแดงกำลังพิสูจน์กับโลกว่า เขาจริงจังในการต่อสู้และนั่นก็ต้องยืนยันกับประชาคมคนไทยและประชาคมโลกด้วยยุทธวิธีที่ตรงไปตรงมา ไม่มองทุกอย่างเป็นเกมการเมือง ที่มักบิดเบี้ยว สกปรกและทุกคนเบือนหน้าหนีอีกต่อไป
 
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอมอบหนังสือ ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลีที่ข้าพเจ้าจัดทำในรูปแบบ PDF นี้ ให้กับทุกคน และขอคารวะวีรชนคนไทยที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยไทยตลอด 100 กว่าปี แห่งถนนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขออย่าได้ตัดทอนรายชื่อเหล่านี้ แม้จะกินพื้นที่เว็บก็ตาม แต่ขอให้ได้รำลึกถึงพวกเขาในฐานะคนมีชื่อ หรือไม่มีชื่อ ที่ไม่ใช่ตัวเลข 77 41 44 หรือ 91 คน อีกต่อไป
 
 
 

AttachmentSize
รายชื่อผู้เสียชีวิตจากการสังหารของมาเพียการเมืองไทยนับตั้งแต่ปฏิวัติล้มปรีดีและคณะราษฎร์ ปี 249298.85 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

4 พธม. ผนึกกำลังชุมนุมร่วม 100 คน จี้กัมพูชาปล่อยตัว 7 คนไทย “ไชยวัฒน์” ยื่นหนังสือยูเอ็น

Posted: 10 Jan 2011 03:47 AM PST

กลุ่มพลังแผ่นดินบุรีรัมย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.บุรีรัมย์ กลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ และ กลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ร่วม 100 คนออกมาเคลื่อนไหวกดดันกัมพูชาปล่อยตัว 7 คนไทย ที่ จ.บุรีรัมย์ “ไชยวัฒน์” ยื่นหนังสือยูเอ็น

ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

10 มี.ค. 54 - เมื่อเวลา 10.30 น.ที่สวนรมย์บุรี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มพลังแผ่นดินบุรีรัมย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจ.บุรีรัมย์ กลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ และ กลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ จากหลายอำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 100 คน นำโดย นางสำเนียง สุภัณภพ แกนนำกลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้คนบุรีรัมย์ และคนไทยออกมาร่วมกันปกป้องผืนแผ่นดินที่ถูกกัมพูชาเข้ามารุกล้ำ พร้อมเรียกร้องให้ทางการกัมพูชา รีบปล่อยตัวคนไทย 7 คน โดยไม่มีข้อแม้ และให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน
      
จากนั้น ได้พากันออกเดินรณรงค์ พร้อมแจกแผ่นปลิวเชิญชวนประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ ชาวบุรีรัมย์ ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โดยเฉพาะร้านค้า บ้านเรือน และสถานที่ราชการ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนชาวบุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก
      
ข้อความในแผ่นปลิวดังกล่าวมีเนื้อหา ระบุว่า บัดนี้เป็นที่ ปรากฏชัดเจนแล้วว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) , นายวีระ สมความคิด เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมพวกอีก 5 คน รวม 7 คน ถูกทหารกัมพูชาจับกุมในราชอาณาจักรไทย แล้วนำเข้าไปในราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พูดเท็จต่อประชาชนตลอดเวลาว่า ประเทศไทยไม่เสียดินแดนให้กับกัมพูชา แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ทั้งที่ผลจากการทำสัญญาหรือสนธิสัญญา นับตั้งแต่ได้มีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก( MOU) ปี 2543 และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา (TOR) ปี 2546
      
จึงก่อให้เกิดกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา และบันทึกการประชุม ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) อันเป็นสัญญาหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผูกพันราชอาณาจักรไทย จำนวนหลายฉบับ ทั้งที่ได้ผ่านมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีกหลายฉบับ
      
ผลของสัญญาหรือสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยดินแดนและผลประโยชน์จำนวนมาก มายมหาศาลอันประมาณค่ามิได้
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้บรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชาติได้ก่อ ให้เกิดความเสียหายมากมายทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความรักสามัคคีของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมากมาย
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ หมดความชอบธรรมที่บริหารประเทศอีกต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมกันเป็น พลังแผ่นดิน เพื่ออภิวัฒน์ประเทศไทย “รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องออกไป”
      
นางสำเนียง สุภัณภพ แกนนำกลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ กล่าวว่า กรณี 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมไป เขาทำเพื่อเราคนไทยในการปกป้องผืนแผ่นดิน จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ และคนไทย ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเขา ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในเรื่องเขตแดนนี้ได้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ควรจะออกไป
      
“หากทางรัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับ เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พี่น้องชาวบุรีรัมย์พร้อมที่จะร่วมกับประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนผู้รักชาติหวงแผ่นดินเกิด ในการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ม.ค.นี้” นางสำเนียง กล่าว

“ไชยวัฒน์” ยื่นหนังสือยูเอ็นให้ช่วย 7 คนไทย

เมื่อเวลา 13.00 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมด้วยผู้ชุมนุมเดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้ช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของสหประชาชาติ เพราะพื้นที่ที่ถูกจับกุม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้มาขอใช้พื้นที่ไทยเป็นที่รองรับผู้อพยพชาวกัมพูชาเมื่อปี 2518 แต่ต่อมา ได้มีชาวกัมพูชาเข้าพักอาศัย และใช้พื้นที่ หลังจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ถอนกองกำลังออกแล้ว ดังนั้น การที่กัมพูชาจับกุม 7 คนไทย จึงถือเป็นการกระทำผิดตามสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ศาลกัมพูชาไม่มีสิทธิตัดสินคนไทย แต่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้องค์กรสากลเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น จึงขอให้ยูเอ็นช่วยเหลือ 7 คนไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าหนังสือจะส่งถึงนายบัน คี- มูน เลขาธิการสหประชาชาติ วันพรุ่งนี้ (11 ม.ค.) และจะให้ทางเครือข่ายฯ ที่อยู่ต่างประเทศ ติดตามเรื่องต่อไป

“ปานเทพ” ยันค่ายอพยพเป็นที่ดินไทย กังขาหลักเขตถูกย้าย

14.00 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้แถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ซึ่งได้นำมาแสดงในระหว่างการแถลงข่าวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.)
      
นายปานเทพกล่าวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนที่จากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ (www.15thmove.net) ซึ่งจะพบว่ามีบ่อน้ำที่ UNHCR ได้ขุดเอาไว้ ซึ่งตามรายงานเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายธิติพัฒน์ เสมาทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้รายงานว่า พื้นที่บริเวณบ่อน้ำนี้ มีแม่ยายของตนเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะฉะนั้นทำให้เราเชื่อว่าหลักเขตมีโอกาสเคลื่อนย้าย จึงนำหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายหลักเขต และเชื่อว่า 7 คนไทยจะไม่ได้อยู่ในฝั่งกัมพูชาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง
      
ทั้งนี้ เมื่อนำแผนที่ L7018 มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งจุดที่คณะของนายวีระ สมความคิด 1 ใน 7 คนไทยที่ถูกจับกุม อยู่ระหว่างหลักเขตที่ 46 และ 47 โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาระบุโดยหยิบยกเส้นเขตแดนตามพิกัดที่ตำรวจตระเวน ชายแดน (ตชด.) รายงานเมื่อปี 2553 ว่าได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาไปประมาณ 55 เมตร แต่เมื่อเทียบกับพิกัดของกองกำลังบูรพาที่อ้างถึงเมื่อปี 2549 พบว่าเส้นเขตแดนกัมพูชาอยู่ลึกเข้าไปอีก
      
เมื่อเทียบกับระยะห่างที่ถูกร่นเข้าไปจะพบว่าห่างกันประมาณ 500 เมตร แสดงว่าถ้าร่นมาจากเส้นเขตแดนของทาง ตชด.รายงาน ก็ยังอยู่ในเขตแดนที่ทางกองกำลังบูรพาได้รายงานเมื่อปี 2549 อยู่ดี ส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเมื่อวานนี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนเพียงแค่ต้องการอธิบายรูปแบบของการวางไซต์ที่เรียกว่า “ไซต์ทู” ซึ่งไม่ใช่ที่หนองจาน เพื่อที่จะได้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับกรณีที่วางบ่อน้ำคล้ายๆ กัน เพื่อให้เห็นว่ากินพื้นที่ดินแดนไทย
      
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ในแผนที่ L7018 ได้พบจุดสี่เหลี่ยมสีฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นบ่อน้ำ แล้วก็มีการรายงานว่าเป็น “บ้านเขมรอพยพ” กับ “ช่องบ้านหนองจาน” ก็แสดงให้เห็นว่าเขารายงานว่าพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นของไทยอยู่ สอดคล้องกับสภาพที่มีการอพยพกันขึ้น ส่วนหลักเขตที่มีการเคลื่อนย้ายไป อยากจะให้รัฐบาลไปสอบสวนว่าตกลงใครเป็นคนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่สมัยไหน อย่างไรบ้าง เพราะจะทำให้คนไทยจะเข้าไปในดินแดนดังกล่าวลำบาก เกรงว่าทหารกัมพูชาจะรวบตัวไป เพราะหลักเขตมีการย้ายไปย้ายมา ไม่มีความชัดเจน เป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวบ้านที่อยู่ตามชายแดน จึงต้องทำให้รู้โดยเร็ว
      
สำหรับกรณีทางการกัมพูชาการจับกุมตัว 7 คนไทย และได้มีการนำตัวขึ้นพิจารณาต่อศาลกัมพูชา นายปานเทพเห็นว่า ต้องอาศัยข้อตกลงที่ไทยมีการตกลงกันแล้วในการตอกย้ำกับฝั่งกัมพูชามากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการกดดัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน การค้าชายแดน การค้าของผิดกฎหมายตามแนวชายแดน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภคของไทย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า การช่วยเหลือในเรื่องของการค้าที่มีต่อกัน
      
เมื่อถามว่า มาตรการกดดันจะทำให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียด นายปานเทพกล่าวว่า ความตึงเครียดสามารถจำกัดขอบเขตได้ว่าเราจำกัดอยู่ที่เรื่องอะไร และกับใคร ในทุกประเทศ ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงกว่า จะมีอำนาจต่อรองโดยที่ไม่ต้องมีการปะทะ ถ้าใช้อำนาจการต่อรองนั้นเป็น แต่ว่าประเทศไทยนั้นไม่เคยใช้อำนาจต่อรองในวิธีการดังกล่าว แต่กลับไปยอมรับสภาพการขึ้นกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของทางฝั่งกัมพูชา ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯ พูดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 ที่ผ่านมาว่าไม่มีการขึ้นศาลกัมพูชา บัดนี้เขาขึ้นไปแล้วและจะพิพากษา นายกฯ ต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นมากกว่าเดิม
      
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ความจริงเราอาศัยเรื่องอำนาจการต่อรองได้ โดยเฉพาะถ้าหากเรามีการปิดชายแดนที่สำคัญ โดยเฉพาะชายแดนที่มีบ่อนการพนัน แล้วก็มีคนพูดแบบติดตลกว่าควรจะให้นายบ่อนไปเจรจากับฮุนเซน ให้ปล่อยตัวคนไทย 7 คน เพราะมีอิทธิพลมากในเชิงธุรกิจ ถ้าจะใช้วิธีการแก้ไขโดยไม่ต้องเกิดการปะทะกัน หรือการใช้อาวุธ
      
นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้นายกฯ ทำตามที่เคยพูดในช่วงที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ 24 มิ.ย.2551 กล่าวว่า ข้อสงวนสิทธิ์บนปราสาทพระวิหารที่สหประชาชาติเรายังถืออยู่ และทุกรัฐบาลก็ยังคงถืออยู่ เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าหากเรามีหลักฐานใหม่ น่าจะเรียกปราสาทพระวิหารคืน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะใช้แก้เกมกับกัมพูชาได้โดยไม่ต้องมีการปะทะ หรือที่คนเป็นห่วงว่าอาจเกิดการบาดเจ็บล้มตายของทหารที่ชายแดน
      
“ฉะนั้น จุดนี้จะเป็นจุดอีกอันหนึ่งที่ถ้าเกิดนายกฯ ทำในนามรัฐบาลไปถึงสหประชาชาติว่า เราขอใช้ข้อสงวนที่เราเคยสงวนสิทธิ์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2505 ว่าเราไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร รวมทั้งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะได้แสดงข้อสงวนเอาไว้ ถ้านายกฯ ทำอย่างนั้นผมเชื่อว่าองค์การยูเนสโกต้องฟัง เพราะเราเคยทำข้อสงวนสิทธิเอาไว้ที่สหประชาชาติ” นายเทพมนตรีกล่าว
      
นายเทพมนตรีกล่าวต่อว่า สหประชาชาตินั้นเป็นองค์กรที่ควบคุมยูเนสโก เมื่อทำเช่นนี้ก็จะทำให้ฝ่ายกัมพูชาอ่อนท่าทีลง ตนจึงเห็นว่าเราควรที่จะลองใช้ข้อสงวนนั้นดูว่าในท้ายที่สุดข้อสงวนที่เคยทำ เอาไว้เมื่อปี 2505 จะสามารถยังคงสภาพอยู่หรือไม่ในสายตานานาชาติ ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์นี้เป็นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2554 โดยที่ตอนนั้นเราอาจจะต้องไปยอมรับสภาพเป็น 1 ใน 7 ชาติ ซึ่งเป็นความต้องการของยูเนสโก ซึ่งตัวทะเบียนมรดกโลก ปราสาทพระวิหารก็คือกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แล้วเราก็ต้องสูญเสียพื้นที่ตรงนั้นไป
      
ทั้งนี้ กัมพูชาอาจอ้างสิทธิได้ว่า แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่อยู่ใน MOU2543 นั้นใช้ตรงระวางดงรักได้ผล เพราะแผนบริหารจัดการเป็นไปตามนั้น ซึ่งจะขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯ พูดว่า รัฐบาลไทยนั้นไม่ยอมรับระวางดงรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ใน 11 ระวาง หรือปัจจุบันเราใช้กับกัมพูชาเพียงแค่ 6 ระวางครึ่ง ซึ่งถ้าหากอยากจะได้ 7 คนไทยคืนก็ต้องมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยการเริ่มปิดชายแดนก่อน เพื่อจะได้กดดันกัมพูชา และตนเชื่อว่าเขาต้องปล่อยตัว เพราะเราจะสามารถยืนยันในหลักฐาน ในเอกสารที่ฝ่ายเราได้นำเสนอไป
      
นอกจากนี้ นายเทพมนตรียังกล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค.นี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะนำสื่อมวลชนขึ้นไป แต่ก่อนนั้นนายกฯ กล่าวว่าฝั่งกัมพูชาได้ถอนกำลังทหารไปแล้ว แต่ตนได้รับรายงานในเบื้องต้นว่า ตอนนี้กัมพูชาก็มีอาวุธหนักอยู่ด้านบนปราสาทพระวิหาร ที่นายกฯ กล่าวว่าเพราะ MOU2543 ทำให้ชุมชนชาวกัมพูชารวมทั้งตลาดอพยพจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาบริหารอย่างต่อเนื่อง
      
ขณะนี้พิพิธภัณฑ์บริเวณบ้านโกมุย ได้ถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และย้ายชุมชนปราสาทพระวิหารไปอยู่ในชุมชนที่เป็นคอมเพล็กซ์ของเขา และบริเวณที่เรียกว่าวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ ต่อไปจะเป็นศูนย์บริหารจัดการของนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น สิ่งที่นายกฯ บอกว่า MOU2543 สามารถทำงานได้แล้วทำให้ชาวกัมพูชาออกจากปราสาทพระวิหารนั้นไม่เป็นความจริง เป็นขั้นตอนดำเนินงานของกัมพูชาตามแผนบริหารจัดการ เพื่อจะได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่า บริเวณนี้สงบแล้ว ได้ย้ายสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษออกจากมรดกโลก และจะเสนอแผนบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์แบบ
      
อย่างไรก็ตาม นายเทพมนตรีเชื่อว่า นายสก อาน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา จะเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ตามที่รัฐบาลพยายามบอก เพื่อเข้าพบนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องอะไรคงต้องติดตาม แต่ตนไม่เห็นด้วยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน เพราะจะทำให้เราถอนข้อสงวนสิทธิบนปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ออกไปแล้ว
      
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนในนามของกัมพูชาก็ผิดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศลงนามแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) และแม้จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็ถือว่ารุกล้ำดินแดนของไทย ตรงจุดนี้เราอาจจะเป็นข้อต่อสู้ในการประชุมมรดกโลกประเทศบาห์เรนได้ ซึ่งข้อสวนสิทธินี้ตั้งขึ้นที่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่ายูเนสโก
      
ขณะเดียวกัน นักวิชาการได้แนะนำต่อรัฐบาล เสนอว่าควรที่จะทำเอกสารเป็น 5 ภาษาตามหลักของสหประชาชาติในนามรัฐบาล ชี้แจงความผิดพลาดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วขอใช้ข้อสงวน เพราะเห็นแผนบริหารจัดการของกัมพูชาได้ใช้สันปันน้ำ และทำสันปันน้ำตามที่ไทยเคยต่อสู้ในศาลโลกว่าปันปราสาทพระวิหารมาอยู่ฝั่งไทย

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลายภาคส่วนอัด "ประชาวิวัฒน์" ไร้กระบวนท่า-ไม่ชัดเจน

Posted: 10 Jan 2011 03:18 AM PST

เอกชน-นักวิชาการ วิพากษ์นโยบาย "ประชาวิวัฒน์" แค่นโยบายหาเสียงไร้ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชัดเจน ห่วงปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เพิ่มต้นทุน ด้านแรงงานนอกระบบเผยนโยบายไม่ชัดเจน

10 ม.ค. 54 - ภาคเอกชนและนักวิชาการ ได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย (โครงการประชาวิวัฒน์) เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน 9 โครงการ ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประกาศโครงการอย่างเป็นทางการ วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในภาพรวม ส.อ.ท.ถือว่ามีเจตนาดีที่จะดูแลประชาชนและเพิ่มโอกาสผู้ที่มีรายได้น้อย แต่ก็เห็นว่านโยบายดังกล่าวที่ออกมาช่วงนี้เป็นนโยบายหาเสียงทางการ เมืองอย่างชัดเจน และรัฐบาลไม่ควรคิดว่าการอุ้มประชาชนในทุกเรื่อง จะเป็นเรื่องดี เพราะอาจมีผลระยะยาว และถ้าพิจารณาในบางมาตรการที่ดูแลประชาชนจะกระทบกับส่วนอื่นด้วย อาทิเช่น นโยบายให้ประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยได้ใช้ไฟฟ้าฟรี และนโยบายแยกราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ของครัวเรือนและการขนส่งออกจากภาคอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ของผู้ประกอบการ และเมื่อต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นก็จะทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคา สินค้าขึ้น ชี้รัฐทิ้งภาคอุตสาหกรรม

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ควรมุ่งให้ความช่วยเหลือกับเอสเอ็มอีเป็นลำดับแรก ที่ไม่มีความสามารถในการเปลี่ยนเครื่องจักร ที่ผ่านมารัฐบาลก็สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจี แต่ปัจจุบันมีนโยบายลอยตัวราคาก๊าซในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถ้ารัฐบาลจะใช้มาตรการนี้จริง ก็เหมือนทิ้งการดูแลภาคอุตสาหกรรม โดยเห็นว่ารัฐบาลควรมีแนวทางใดมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ และก่อนที่จะถึงเดือน ก.ค.2554 ที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ต้องช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีของภาคอุตสาหกรรม แต่ยังตรึงราคาของภาคครัวเรือนและขนส่ง จะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซมาก เช่น เซรามิค หวั่นภาระงบฯ ระยะยาว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดูแลประชาชนที่หลายเรื่องเป็นประชานิยม ซึ่งในหลักการเห็นด้วยเพราะประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ และเชื่อว่ารัฐบาลมีเป้าหมายส่วนหนึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างรายได้เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย โดยเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลออกมาตรการมาเป็นแพ็คเกจครอบคลุมหลายเรื่อง แต่ก็เป็นห่วงงบประมาณ ที่จะใช้ในอนาคต เพราะบางมาตรการให้แล้วเลิกไม่ได้และจะเป็นภาระของรัฐบาลตลอดไป โดยรัฐบาลคงจะมีแผนด้านภาษีไว้รองรับ แล้วร้องรัฐช่วยเอกชนเปลี่ยนเทคโนโลยี

 นายพรศิลป์ กล่าวว่า มาตรการเก็บค่าไฟฟ้าของบ้านที่คนรวยที่ใช้ไฟฟ้ามากเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น แต่การเก็บค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมสูง จะทำให้ผู้ประกอบการออกมาร้องเรียนซึ่งถ้าขึ้นค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมทันที อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน โดยเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการได้ใช้เทคโนโลยีลดการ ใช้พลังงาน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรจะมีมาตรการส่งเสริมมากขึ้น โดยไม่ควรดูเฉพาะการลดภาษีนำเข้าที่ต่ำอยู่แล้วแต่อาจพิจารณาลดภาษีเงินได้ ด้วย

นายพีระ เจริญพร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมโพลีซีวอทช์ กล่าวว่า ห่วงว่าโครงการลักษณะนี้ จะมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูง และหลายโครงการมีความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของรัฐบาลในอนาคตด้วย

"หลายโครงการมีความเสี่ยง เช่น โครงการโฉนดชุมชน ซึ่งดูเหมือนเป็นการจูงใจให้คนบุกรุกที่ดินสาธารณะ และนักการเมืองก็มีแนวโน้มว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยการออกโฉนดที่ดินให้ แต่เกิดว่าวันหนึ่งรัฐบาลต้องใช้ที่ดินผืนนั้นในการพัฒนาประเทศ เช่น สร้างถนน ขุดคลองเพิ่มเติม การจะเอาที่ดินที่ให้ไปคืนก็ทำได้ยาก ที่ทำได้ก็คือต้องจ่ายค่ารื้อถอน" นายพีระกล่าว

นายพีระ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคำถามที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากรู้ คือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาสนับสนุนในโครงการลักษณะนี้ เพราะท้ายสุดจะทำให้ภาระการคลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลถือว่าโชคดีที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับค่อนข้างสูง ทำให้มีเงินมาสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้โดยไม่ต้องกู้เพิ่มเติม แต่หากอนาคตเศรษฐกิจเกิดชะลอตัว เกรงว่าจะเป็นปัญหากับภาระการคลังได้ ชี้แผนยังขาดยุทธศาสตร์

 นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางที่ออกมายังขาดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลักที่ยังไม่ชัดเจน ได้แก่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การกระจายรายได้และการใช้พลังงาน ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณในโครงการประชานิยม ความสำคัญอยู่ที่วินัยการคลังเป็นหลัก

 “การกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนต้องกำหนดให้ชัด เพราะตอนนี้เราเหมือนเป็นแครกเกอร์หรือกล้วยปิ้งที่ประเทศที่มีความสามารถ สูงอยู่ ข้างล่างก็มีประเทศที่กำลังไล่เราขึ้นมา สังคมกำลังรอดูว่าจะไปทางไหน ยุทธศาสตร์ประเทศไทยยังไม่เห็นชัดเจน ที่น่าห่วงคือเอาเงินที่ไหนมาใช้”

 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าโครงการนี้แม้จะเป็นการปรับระบบทางโครงสร้าง แต่ก็ยังต้องใช้เม็ดเงินมากพอสมควร อย่างไรก็ตามเขามองว่าสิ่งที่ยังขาดหายไปคือ โครงการระดับแม็คโคร หรือโปรเจคระดับชาติ ที่ยังมีหลายโครงการที่ต้องแก้ไข ซึ่งไม่มีอยู่ในทั้ง 9 ข้อที่ประกาศมา อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาน้ำ, การศึกษา, โลจิ สติกส์ และพลังงาน แต่เราก็อยากเห็นโครงการใหญ่ระดับแม็คโครควบคู่ไปด้วย ชี้รัฐต้องมีวินัยทางการเงิน

นพ.บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะการช่วยคนจนในเรื่องสาธารณสุขพื้นฐาน การประกันสังคม โดยเฉพาะมาตรการไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟน้อย การขยายประกันสังคม แต่สิ่งรัฐบาลต้องควรระวังคือการปล่อยกู้ให้กับอาชีพต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มแท็กซี่ รัฐบาลรอบคอบไม่ใช่เป็นการให้เปล่า เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสร้างวินัยการใช้เงินที่ผิดให้กับประชาชน และทำให้ประชาชนนั่งรอการช่วยเหลือจากมาตรการประชาวิวัฒน์ที่ออกมาอย่าง เดียว

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเร่งด่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้สวัสดิ การแรงงานนอกระบบร่วมประกัน สังคมตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพราะไม่เหมาะสมทั้งเรื่องของตัวเงินและสิทธิประโยชน์ ที่ได้รับ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าแรงงานเลือกจ่าย 100 150 หรือ 280 บาท มีรายละเอียด อย่างไรบ้าง

“ภาพรวมยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ส่วนใหญ่คือการเอื้อสวัสดิการและประกันความเสี่ยงให้กับแรงงานนอกระบบ เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพมาก และยังคงไม่มีหลักประกันอะไรรับรอง” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลจะให้แรงงาน นอกระบบออมเงินผ่านระบบประกันสังคม นั้น นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอมองว่า ควรจะแยกการออมเงินชราภาพออกจากระบบประกันสังคมให้ชัดเจน และให้กองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) บริหารงานมากกว่า เพราะเชื่อว่า กอช.มีความเสี่ยงต่ำกว่าประกันสังคม และการบริหารงานในส่วนนี้ กอช.มีความสามารถมากกว่า รวมถึงระบบการจ่ายเงินก็เป็นแบบบำนาญซึ่งมีความเหมาะสมกับแรงงานในกลุ่มนี้

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (การพัฒนาแรงงาน) ทีดีอาร์ไอ มองว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีนโยบายประชาวิวัฒน์เพื่อพัฒนาประเทศ แต่ต้องดูและวิเคราะห์ให้ลึกโดยเฉพาะแหล่งเงินที่ใช้ ส่วนในเรื่องนโยบายที่จะดึงคนงานเข้าสู่ประกันสังคมที่เลือกจ่ายใน 3 อัตรานั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้ประกันตนแต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เชื่อว่ามาตรฐานนี้จะสามารถช่วยให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ มากกว่า 50% หากมีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบ

โดยส่วนตัวนโยบายของรัฐ ดังกล่าวถ้าทำตามขั้นตอนอย่าง เป็นระบบและยึดหลักที่ประกาศไว้เชื่อว่าน่าจะช่วยได้ พร้อมยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลต้องการคะแนนเสียง

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการประกาศมาตราการดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่ดีมากนักและไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องผลักดันเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

นางสุจิน กล่าวว่า จากการพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบล้วนมีความเห็นตรงกันว่าสำนัก งานประกันสังคม (สปส.) ควรเก็บเงินสมทบกับแรงงานนอกระบบให้น้อยลงและให้รัฐบาลเข้ามาร่วมจ่ายมาก ขึ้น หรือไม่เช่นนั้นควรเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้แรงงานนนอกระบบเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม นอกจากนี้อยากเปลี่ยนจากสิทธิ์บำเหน็จชราภาพมาเป็นบำนาญชราภาพ เนื่องจากเงินบำนาญถือเป็นหัวใจสำคัญของแรงงานนนอกระบบในการดำรงชีวิตใน สังคม ทั้งนี้การประกาศมาตราการดังกล่าว ทำให้สปส.มีสถานะอยู่ภายใต้ระบบประชาภิวัฒน์ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อหมดวาระรัฐบาลจะมีใครรับประกันได้ว่ามาตราการดังกล่าวจะไม่ล่ม ดังนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เงินสมทบประเดิมกองทุนสปส.นี้มีผลระยะยาวและใช้ได้ตลอด ไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

น.ส.วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานโครงการสื่อสารแรงงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของหลักประกันชีวิต ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้จริงและเข้าถึงแรง งานนอกระบบกลุ่มนี้ได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวยังใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น ในเรื่องการติดต่อขอแบบฟอร์มและวิธีการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยาก หากจะทำควรจะเป็นในลักษณะคล้ายกับการขายประกันลงพื้นที่ทุกกลุ่ม ทั้งนี้หากมองในภาพรวมแล้วบุคลากรของสปส.ยังมีจำกัดและไม่สามารถทำได้

น.ส.วาสนา กล่าวว่า การที่นายกฯออกมาประกาศนำร่องแรงงานนอกระบบใน 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่และหาบเร่แผงลอยเห็นจะไม่ถูกต้อง หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำจริงต้องไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มอาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ในส่วนของการเก็บเงินสมทบ จำนวน 2 อัตรา คือ 100 บาทและ150 บาทต่อเดือนนั้น เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและหวังผลในการเลือกตั้ง เพราะหากโปร่งใสจริงจะต้องมีการปรึกษาหารือถึงเกณฑ์การเก็บเงินสมทบดังกล่าว ก่อน ไม่ใช่กำหนดขึ้นมาลอยๆโดยไม่ทราบว่าใช้อะไรเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้หากมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าที่รัฐบาล คาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมหรือไม่และรัฐบาลจะดำเนินอย่างไรต่อไป

ด้านนายธนธรณ์ แปงคำใส ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างย่านดินแดง กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างหรือวินมอเตอร์ไซด์ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันการจัดระเบียบก็ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย เมื่อมีการจัดระเบียบเกิดขึ้น เพราะเสื้อวินในกฎหมายกำหนดไว้ห้ามขาย แต่บางคนต้องซื้อเสื้อวินต่อจากคนอื่น หรือเช่าเสื้อ เพราะไม่สามารถทำเป็นรถรับจ้างป้ายสีเหลืองได้ เมื่อเจ้าหนี้ที่ตำรวจเรียกตรวจใบอนุญาตก็จะถูกเปรียบเทียบปรับ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกเก็บเงินจากวินมอเตอร์ไซด์บางวิน จึงอยากฝากรัฐบาลดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ส่วนที่รัฐบาลต้องการให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมไปถึงวินมอเตอร์ไซด์เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมโดยที่จ่ายใน 2 อัตรา คือ 100 บาทต่อเดือน รัฐช่วยสมทบ 30 บาท ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และ 150 บาท รัฐช่วยสมทบ 50 บาท ได้สิทธิ์ 4 กรณี โดยเพิ่ม สิทธิ์เงินออมบำเหน็จชราภาพนั้น ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากทราบรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับให้ชัดเจนกว่านี้

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจ, เนชั่นทันข่าว, โพสต์ทูเดย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าสั่งยิงเครื่องบินรุกล้ำน่านฟ้า หลังพบยานบินไร้คนขับ

Posted: 10 Jan 2011 02:49 AM PST

ทัพพม่าสั่งยิงเครื่องบินรุกล้ำน่านฟ้า พร้อมส่งมอบปืนต่อสู้อากาศยานให้หลายหน่วยเตรียมใช้งาน หลังตรวจพบเครื่องบินไร้คนขับไม่ทราบฝ่ายบินเหนือพื้นที่รัฐฉาน

10 ม.ค. 54 - แหล่งข่าวใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพพม่ารายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้มีคำสั่งให้ยิงเครื่องบินทุกลำที่บินรุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของตน พร้อมกับมีการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มในพื้นที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก ทั้งส่งมอบให้อีกหลายหน่วยในกองพันต่อสู้อากาศยานเตรียมใช้งาน

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวของกองทัพพม่ามีขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังศูนย์เรดาร์ของกองทัพที่ติดตั้งไว้บนดอยหมวย ในเขตเมืองเชียงตุง ตรวจพบเครื่องบินไร้คนขับไม่ทราบฝ่ายได้บินรุกล้ำเข้าในพื้นที่รัฐฉาน 2 ครั้ง ครั้งแรกพบเหนือพื้นที่เมืองเชียงตุง เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 21 ธ.ค. 53 และครั้งที่ 2 ตรวจพบในพื้นที่เมืองน้ำจ๋าง รัฐฉานภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 54

รายงานข่าววงในกองทัพพม่าระบุว่า เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรดาร์ได้ตรวจพบเครื่องบินไร้คนขับซึ่งไม่ทราบเป็นของฝ่ายใด ได้บินรุกล้ำน่านฟ้าเข้าไปในเขตรัฐฉาน โดยบินอยู่ที่ระดับความสูง 5000 ฟุต ใช้เวลาบินวนอยู่ประมาณ 3 นาที จากนั้นได้บินหายไป

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้กองทัพพม่าได้มีคำสั่งกำชับไปยังกำลังทหารภาคพื้นดินทุกหน่วยและฐานทัพอากาศทุกแห่งให้อยู่ในความพร้อมตลอด 24 ชม. หากพบเห็นเครื่องบินใดๆ บินรุกล้ำน่านฟ้าให้ทำการสกัดหรือยิงทันที โดยกองทัพได้มีการส่งมอบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ Igla Missile ซึ่งเป็นแบบประทับบ่าจากรัสเซีย ให้กับหน่วยต่อสู้อากาศยานในหลายพื้นที่ด้วย

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้ทำการติดตั้งเครื่องเรดาร์ รุ่น 1L 117 ซึ่งเป็นเครื่องมือสองซื้อจากประเทศรัสเซีย สำหรับตรวจจับอากาศยานบินรุกล้ำน่านฟ้าไว้ทั่วประเทศ 7 แห่ง ทั้งในพื้นที่รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน ได้แก่ 1. บนดอยหมวย เขตเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก 2. นัตเยกานต่อง ภาคมัณฑะเลย์ 3. ทาต่าอู ภาคมัณฑะเลย์ 4. มะริด ภาคตะนาวสี 5. หม่วยส่อง ภาคอิรวดี 6. ต่องโหญ่ เมืองเปียนมะนา (ใกล้เมืองเนปิดอว์) และ 7. ดูวุน รัฐคะฉิ่น

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาสังคมก้าวหน้าจี้ นปช. ทบทวนและยุติการใช้ข้อหาหมิ่นฯ

Posted: 10 Jan 2011 02:42 AM PST

10 ม.ค. 54 - สมัชชาสังคมออกแถลงการณ์ขอให้ นปช. ทบทวนและยุติการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ขอให้ นปช. ทบทวนและยุติการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

จากการที่แกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหนังสือให้เอาผิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และนายอานันท์ ปันยารชุน หมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง และดูหมิ่นองค์รัชทายาท เมื่อวันที่ 6 มกราคม นี้

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเสื้อแดงตกเป็นฝ่ายถูกกระทำตั้งแต่ การปิดกั้น โจมตีใส่ร้ายป้ายสี เอาผิดทางกฎหมาย จนถึงการใช้กำลังเข้าปราบปรามและเข่นฆ่า จึงไม่แปลกที่เสื้อแดงจะมีความไม่พอใจฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องแสวงหามาตรการตอบโต้

ในด้านกระบวนการยุติธรรม เสื้อแดงย่อมมีความรู้สึกไม่พอใจกับ “สองมาตรฐาน” ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยข้อหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างจากข้อหาหมิ่นสถาบัน ในขณะที่ องคมนตรีได้มายุ่งเกี่ยวทางการเมืองและมีความเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร 19 กันยายนที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจต่อฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

การยื่นข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อ พล.อ.เปรม และผู้เกี่ยวข้อง เป็นการใช้ ม.112 เหมือนกับที่ นปช. และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เคยถูกกล่าวหาด้วยข้อหาเดียวกัน ข้อกล่าวหานี้ได้รับการใช้เพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามมาอย่างยาวนาน ด้วยวิธีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ความรุนแรงสูงสุดคือ การใช้ข้อหาหมิ่นที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

แต่ทว่า การใช้ ม.112 จะเป็นส่งเสริมการบ่อนทำลายประชาธิปไตยด้วยปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ประการต่อมา การใช้ ม.112 จะทำลายเป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ ตามที่ นปช.เคยแถลงเป้าหมายการเคลื่อนไหว เพราะกำลังใช้เครื่องมือที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประการที่สาม นปช.ไม่ควรเคลื่อนไหวด้วยการใช้วิธีการอะไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้ได้รับชนะเป็นพอ โดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย    

เราจึงขอให้

1. นปช. ทบทวนและยุติการใช้ข้อหาหมิ่นสถาบัน กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
2. ข้อหาหมิ่นสถาบันต้องไม่ได้รับใช้ในกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจากทุกฝ่าย
   
สมัชชาสังคมก้าวหน้า
10  มกราคม 2554

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพเสื้อแดงเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งสู่แยกราชประสงค์ 9 ม.ค. 54

Posted: 10 Jan 2011 01:59 AM PST

ประมวลภาพแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เดินขบวนรำลึกครบ 9 เดือน การสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึง สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 54)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะ

Posted: 10 Jan 2011 01:14 AM PST

 
 
ในอดีตโครงสร้างสังคมไทยแบ่งออกเป็นสองชนชั้น คือมูลนาย(เจ้านาย-ขุนนาง) กับชนชั้นไพร่-ทาส ไพร่ต้องสังกัดมูลนายเพื่อรับใช้ เป็นทั้งผู้ผลิตอาหาร สร้างผลผลิตอื่นๆเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เป็นกองทัพยามสงคราม เป็นแรงงานโยธาในการสร้างเมือง สร้างถนน ขุดคลอง คูเมือง รวมทั้งการชำระภาษี ฯ ไพร่จึงเป็นทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ ที่มีการควบคุมผ่านกลไกของรัฐโดยมอบหมายให้ชนชั้นปกครองควบคุม [1] ตามระบบศักดินา [2] ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างไพร่กับมูลนาย โดยมูลนายจะให้ความอุปถัมภ์ทางการเมือง (Political patronage) และเศรษฐกิจแก่ไพร่ เพื่อแรกกับความสวามิภักดิ์และการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ [3] ( Economic Surplus)
 
ไพร่ถูกกำหนดให้สังกัดมูลนายเพื่อการเกณฑ์แรงงาน มีทั้งไพร่สมกับไพร่หลวง ไพร่สมคือชายไทยที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อสักทองมือสังกัดกรม โดยยังไม่ต้องทำงานให้หลวงแต่ให้มูลนายเป็นผู้ใช้งานไปก่อนภายใต้การดูแลของขุนนาง เมื่ออายุครบ 20 ปีจึงยกเป็นไพร่หลวงซึ่งจะต้องเข้ารับราชการตามกรมกองที่สังกัดเรียกว่า เข้าเวร
 
ไพร่ในสมัยอยุธยาถูกเกณฑ์แรงงานเข้าเดือนออกเดือน ต่อมาต้นรัตนโกสินทร์ได้ลดลงเหลือเพียงเข้าเดือนออกสองเดือน ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ลดเวลาลงอีกเหลือเพียงเข้าเดือนออกสามเดือน แต่ไพร่มีภาระต้องส่งส่วยแทนการเกณฑ์แรงงานเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นไพร่จึงไม่สามารถประกอบอาชีพทางการค้าหรือเป็นลูกจ้างที่ไหนได้ เพราะขาดความอิสระ อันเนื่องมาจากโครงสร้างของสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขาดเสรีชนในการเริ่มต้นประกอบการค้าเพื่อสะสมทุนในรัฐไทย
 
แต่เดิมเศรษฐกิจของรัฐไทยเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ แต่ละครอบครัวผลิตสิ่งที่จำเป็นได้เองเพื่อใช้ในการดำรงชีพ หากผลิตไม่ได้ก็ใช้การแลกผลผลิตระหว่างกัน การซื้อการขายจึงไม่มีความสำคัญ การเคลื่อนย้ายผลผลิตของชาวนา ประชาชน จึงอยู่ในรูปของการส่งส่วยให้รัฐ แทนการเกณฑ์แรงงาน ผลผลิตดังกล่าวนำไปบริโภคหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นการค้าภายใต้การควบคุมของพระคลังข้างที่ [4]
 
การที่รัฐไทยในอดีตมีโครงสร้างทางสังคมที่มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นรากฐานสำคัญของการจัดองค์การของสังคมไทย (Social Organization) ที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายที่พึ่งพาและแรกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นการพึ่งพาและแรกเปลี่ยนในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
ต่อมาเมื่อระบบอุปถัมภ์ของรัฐศักดินาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาและความหมายตามบริบทของสังคมเมื่อรัฐไทยได้ถูกผนวกเข้าในระบบทุนนิยม ในยุครัชกาลที่สี่ โดยลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง กับอังกฤษในปี ค..1855 (..2398) ถือเป็นนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญเพราะทำให้การค้าของรัฐไทยที่ผูกขาดโดยพระคลังข้างที่ มาเป็นการค้าเสรี เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดช่องให้ระบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับมหาอำนาจ ต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียสิทธิการกำหนดอัตราภาษีศุลกากร และยังถูกบังคับให้จ้างชาวต่างชาติเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นที่ปรึกษาที่มีอำนาจเหนือราชการไทย
 
การขยายตัวของธุรกิจการค้ามีการลงทุนของกลุ่มทุนชาวตะวันตก ธุรกิจมีความต้องการแรงงานอิสระจำนวนมาก แรงงานชาวจีนที่อพยพเข้ามาก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ รัฐไทยเองก็ต้องการแรงงานอิสระทำการผลิตข้าวจำนวนมากเพื่อส่งออก จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายของรัฐไทยที่ยกเลิกระบบทาส โดยเริ่มต้นในปี 2417 และต่อมาได้ยกเลิกระบบไพร่ในปี พ.ศ. 2448 [5] ตามมา เพื่อสร้างแรงงานในระบบเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือบริบทของเศรษฐกิจทุนนิยมที่ได้รุกฆาตวิถีระบบอุปถัมภ์ของรัฐศักดินามาเป็นระบบอุปถัมภ์ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยม
 
นอกจากนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจยังส่งผลไปยังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในปี 2435 จากระบบสองอัครมหาเสนาบดีและเวียง วัง คลัง นา มาเป็นการบริหารแบบตะวันตก เป็นการเริ่มต้นของกระทรวง มีการตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร แทนการเกณฑ์แรงงาน มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือนโยบายที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบสาธารณูปโภคทั้งหลาย ทั้ง ไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ รถราง และรถไฟ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาตามแนวตะวันตก นอกจากนั้นได้มีการขุดคลองเพื่อการสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำ รวมตลอดทั้งเพื่อประโยชน์จากการใช้น้ำเพื่อการบริโภค เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่นขุดคลองรังสิตเพื่อทดน้ำเข้าสู่ท้องนาอันนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตข้าว เป็นต้น
 
แม้ว่านโยบายสาธารณะดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกำหนดมาจากกลไกอำนาจนิยม ที่ผู้ปกครองใช้สิทธิ ใช้อำนาจในการปกครอง และเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนประชาชนไม่มีสิทธิและอำนาจหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนด แต่นโยบายเหล่านี้มีผลเป็นการปฏิวัติโครงสร้าง ทั้งการปกครอง การบริหาร เศรษฐกิจ และสังคม ที่ทำให้รัฐมีศูนย์กลางการบริหารที่กรุงเทพมหานคร คนที่อาศัยในรัฐที่แตกต่างทั้งเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ เริ่มมีเอกลักษณ์ร่วมกันคือการเป็นคนไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นรัฐชาติ จวบจนปัจจุบัน
 
การเปลี่ยนถ่ายจากระบบศักดินาสู่ระบบทุนนิยมส่งผลให้รูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบอุปถัมภ์ของรัฐศักดินา ระหว่างมูลนายกับไพร่ได้สิ้นสุดลง และเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์กับประชาชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้ได้รับการอุปถัมภ์ เพราะต้องพึ่งพาผลผลิต หรือระหว่างนายทุนซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ กับแรงงานในฐานะผู้ได้รับการอุปถัมภ์ เพราะต้องพึ่งพาค่าจ้าง ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามบริบทของสังคม ดังนั้นทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย ชนชั้นที่กล่าวอ้างกันในปัจจุบันนั้นจึงเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเพื่อการต่อสู้และช่วงชิงการนำทางการเมืองเท่านั้น ทั้งๆที่ไม่มีอยู่จริง
 
รัฐสมัยใหม่ (Modern state) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยผ่านระบบตัวแทนนั่นคือการมีนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมือง ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเมืองในการกำหนดนโยบายของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า นโยบายสาธารณะ เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความต้องการที่ไม่จำกัด จึงยึดโยงกับการเมือง ที่มีพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การเมือง” (Politics) อริสโตเติล [6] (Aristotle) นักปราชญ์ทางการเมืองได้อธิบายว่ามีความหมายครอบคลุม 3 ประการ คืออำนาจ (Power) กฎระเบียบ (Rule) และอำนาจบังคับ (Authority) โดยรัฐเท่านั้นเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว
 
ดังนั้นโยบายสาธารณะทั้งหลาย [7] จึงเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อใช้อำนาจที่มีอยู่สร้างความชอบธรรมในการตรากฎระเบียบ การบังคับใช้ และการลงโทษเมื่อมีการละเมิด เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุข นำไปสู่การพัฒนากิจกรรมของประชาชนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม นโยบายสาธารณะจึงเป็นผลิตผลทางการเมือง เพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของส่วนรวม เป็นไปตามกลไกและกระบวนการทางการเมือง (Political System) [8] ที่มีความสำคัญทั้งต่อพรรคการเมืองผู้กำหนดนโยบาย และประชาชน
 
หากพรรคการเมืองกำหนดนโยบายสอดคล้องกับค่านิยมของสังคม และการดำรงชีพ รวมทั้งความต้องการของส่วนรวม ย่อมได้รับความนิยมได้รับความน่าเชื่อถือและศรัทธาและหากนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติได้ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิผล (Effectiveness) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ยิ่งทำให้รับได้รับการยอมรับ และได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น มีโอกาสดำรงอำนาจในการบริหารประเทศยาวนานขึ้น รวมทั้งอาจได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้บริหารประเทศอีกครั้ง
 
ตรงกันข้ามหากนโยบายไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือค่านิยมของสังคม ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา ถูกคัดค้าน หรือกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนจึงไม่หยุดนิ่ง และเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีพลวัตร (Dynamic System) ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
 
ดังนั้น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ยึดโยงกันเป็นองค์รวมและมีผลกระทบต่อกันอย่างต่อเนื่องเสมอและไม่อาจแยกออกจากกันได้ในกระบวนการกำหนดและการดำเนินนโยบาย และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่านโยบายของรัฐ นอกจากจะเกิดขึ้นจากรากฐานสภาพปัญหาต่างๆ ของสังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิสัมพันธ์ (interaction) ยึดโยงกันระหว่างกระบวนการทั้งทางการเมือง สังคมกับสาธารณะ (public) แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรัฐที่ถูกบีบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากประเทศมหาอำนาจภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
 
........
อ้างอิง
 
[1] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชกุล และสุมาลี บำรุงสุข .หาอยู่หากิน เพื่อค้าเพื่อขาย เศรษฐกิจไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพฯ. มติชน,2546: 36
 
[2] ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2031) ได้ทรงตราพระราชกำหนดศักดินาขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1997 โดยกำหนดให้บุคคลในสังคมมีศักดินาโดยทั่วกัน
ศักดินา เป็นวิธีการลำดับ"ศักดิ์"ของบุคคลโดยกำหนดจำนวนที่นามากน้อยตามศักดิ์ของคนนั้น เช่น ชั้นเจ้าพระยามีศักดินา 10,000 ไร่ ไพร่มีศักดินา 25 ไร่ ทาสมีศักดินา 5 ไร่ เป็นต้น ซึ่งหน่วยที่ใช้ในการกำหนดโดยใช้จำนวนไร่เป็นเกณฑ์ ก็มิได้หมายความว่าศักดินาจะเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน แต่เป็นเงื่อนไขในการปรับไหม หรือพินัย หากมีกรณีการกระทำความผิดคนที่ถือศักดินาสูง จะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ หรือการชำระค่าปรับก็ยึดเอาศักดินาเป็นบรรทัดฐานคนที่ถือศักดินาสูงก็จะชำระค่าปรับสูงตามลำดับ
ดังนั้นระบบศักดินาจึง เป็นระบบที่สร้างระดับชั้นในสังคม ที่ทำให้ผู้มีส่วนในสังคมต่างทราบฐานะและหน้าที่ของตนในสังคมนั้นว่ามีความเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อผู้ใดที่เหนือกว่า และต่ำกว่าอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชน
[3] รังสรรค์ ธนพรพันธ์.กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ. 2475-2530. กรุงเทพฯ .คบไพ. 2546 : 97-98
 
[4] ธนชาติ ธรรมโชติ. ศึกษากระบวนการก่อเกิดและการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร. ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง. คณะเศรษฐศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548 : 33
 
[5] Chatthip and Suthy, 1976 : 30 อ้างในณรงค์ เพชรประเสริฐ. คอปกขาวในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย. เศรษฐศาสตร์การเมือง : ตนชั้นกลางไทยในกระแสทุนนิยม.กรุงเทพฯ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2548:
 
[6] อนุสรณ์ ลิ่มมณี. ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองยุคปัจจุบัน. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543 : 20-22
 
[7] นโยบายสาธารณะหมายถึง กิจกรรมที่รัฐเลือกที่จะกระทำหรือเลือกที่จะไม่กระทำ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งกิจกรรมภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนองความต้องการของสังคมอันเป็นผลมาจากการจัดสรรค่านิยมของสังคม นอกจากนั้นยังมีการให้นิยามไว้หลากหลายด้วยกัน เช่น
 
Ira Sharkansky ให้ความหมายนโยบายสาธารณะหมายถึง กิจกรรมที่กระทำโดยรัฐบาล ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดของรัฐบาลไม่ว่าทั้งภายในประเทศหรือต่างประเทศ
 
Thomas R. Dye ให้ความหมายไว้ว่า นโยบายสาธารณะ คือสิ่งที่รัฐบาลเลือกกระทำ หรือไม่กระทำ หากเลือกกระทำจะครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดของรัฐบาล ทั้งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร และกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจกรรมที่กระทำบรรลุเป้าหมายในการให้บริการแก่สมาชิกในสังคม
 
David Easton ให้ความหมายของนโยบายสาธารณะว่าหมายถึงสิ่งที่รัฐบาลใช้อำนาจในการจัดสรรค่านิยมทั้งมวล และสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำนั้นเป็นผลมาจากการจัดสรรค่านิยมของสังคม
 
ดูเพิ่มเติมในสมบัติ ธำรงธัญวงศ์, นโยบายสาธารณะ: แนวความคิดการวิเคราะห์และกระบวนการ,กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2543 : 3-13
 
[8] การที่ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันย่อมมีผลต่อกระบวนการการกำหนดนโยบาย เพราะทั้งเป้าหมาย ค่านิยม และบทบาทของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย มีความแตกต่างกัน หากพิจารณาการใช้อำนาจในการปกครองอาจจำแนกลักษณะการใช้อำนาจ ได้ 2 ประเภทคือ ประเภทแรกอำนาจนิยม ที่ผู้ปกครองใช้สิทธิ ใช้อำนาจในการปกครอง และเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนประชาชนไม่มีสิทธิและอำนาจหรือมีส่วนร่วมในการปกครองหรือกระบวนการกำหนดนโยบายแต่ประการใด ประเภทที่สองเสรีประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าอำนาจเป็นของประชาชน การใช้อำนาจของผู้ปกครองจึงต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนก่อนเท่านั้น ดังนั้นเสรีประชาธิปไตยจึงเป็นส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง(Political Participation) แม้บางครั้งจะมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือแม้จะมีกลุ่มคนที่สนใจและไม่สนใจการเมืองคละเคล้ากันไปก็ตาม แต่ผู้ปกครองในฐานะผู้นำย่อมมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของสังคม ว่าต้องการอะไร มีค่านิยมเป็นอย่างไร ให้ผู้ปกครองรับทราบ การที่เสรีประชาธิปไตยมีลักษณะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และร่วมแสดงบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และยิ่งสังคมใดมีความเป็นประชาธิปไตยสูง ประชาชนย่อมมีบทบาทในการผลักดันนโยบาย หรือก่อให้การกำหนดนโยบายเป็นไปตามความต้องการของประชาชนสะดวกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสามารถเสนอตัวเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือเลือกบุคคลที่มีนโยบายสอดคล้องตรงกับความต้องการของตน เข้าไปเป็นผู้บริหารประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะต่อไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลำดับเหตุการณ์ปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

Posted: 10 Jan 2011 12:47 AM PST

การต่อสู้อันยาวนานกว่า 40 ปี ของชาวบ้านจากผลกระทบการสร้างเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร (อ่าน: รายงาน: ทรหดกว่ายายไฮพังเขื่อน คนน้ำอูนกลืนน้ำตา 40ปี แผลนี้ไม่มีเยียวยา) โดยมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

ปี พ.ศ. 2506

-มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2506 เสนอโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รมต. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เกี่ยวกับการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างการชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

1.ให้ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เพื่อสงเคราะห์ราษฎรที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ (เขื่อนน้ำอูน) ตลอดจนราษฎรที่อยู่นอกเขตเวนคืน แต่จะต้องถกระทบกระเทือนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเวนคืน (โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ดินทำกิน 13 ไร่))

2.ทรัพย์สินของราษฎรที่อยู่นอกเขตการเวนคืนที่ดิน แต่ปรากฏว่าจะต้องได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการ ให้พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนให้ด้วย

-การอนุมัติให้สร้างเขื่อนน้ำอูน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตามแผนงานจนเสร็จสิ้นโครงการรวม  15 ปี (ปี พ.ศ.2510 – 2524)

ปี พ.ศ. 2507

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ในเรื่องการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

1.การจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ และบ้านเรือน ให้จ่ายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกราย

2.สำหรับค่าทดแทนที่ดิน ให้จ่ายแก่ผู้ไม่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเอง ที่รัฐจัดสรรให้ทุกราย ส่วนผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมฯ ควรพิจารณาจ่าย ดังนี้

ก.ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรให้มีสภาพคล้ายคลึงกัน และมีจำนวนเท่าเทียมกับที่ดินเดิมของราษฎร ก็ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้

ข.ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรมีสภาพแตกต่างกัน หรือมีพื้นที่น้อยกว่าที่ดินเดิม ก็ควรจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้ตามสมควร เพื่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนใช้เป็นทุนทำกินในที่ดินใหม่ในขั้นต้น หรือพิจารณาจ่ายให้เป็นทุนกู้ยืม

ปี พ.ศ. 2509

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2509 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คือ

1.เปลี่ยนแปลงหลักการจ่ายเงินชดเชย และการจัดสรรที่ดินใหม่ให้เหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ราษฎรที่จะต้องอพยพ และเห็นควรจ่ายเงินชดเชยให้แก่ทุกครอบครัวที่จะต้องอพยพจากเขตโครงการ รวมตลอดถึงการช่วยเหลือในการโยกย้ายไปยังที่ดินใหม่ ส่วนการราษฎรจะเลือกไปอยู่ในนิคมฯ หรือสถานที่อื่นควรจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของราษฎรเอง

2.ในหลักการควรถือว่า รัฐบาลมีพันธะที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพ โดยจัดให้ได้ประกอบอาชีพดีกว่า หรือ/หรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม และจะต้องให้ความช่วยเหลือในการอพยพทุกประการ โดยมิให้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับอพยพ

ปี พ.ศ. 2510-11

-เริ่มมีการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมในพื้นที่โครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร (ในขณะที่โครงการจัดตั้งนิคมฯ พื้นที่รองรับการอพยพไม่มีความพร้อมดำเนินการ)

ปี พ.ศ. 2511

-มติที่ประชุมในการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จากจังหวัดสกลนคร ให้ใช้พื้นที่ภูวง-ป่าภูล้อมข้าว-ป่าภูเพ็ก เขตอำเภอวาริชภูมิ และพรรณนานิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ซึ่งผู้แทน กรมป่าไม้ ไม่เห็นด้วยในการจัดสรรแก่ราษฎร จึงต้องเสนอรับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยมอบให้ กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินขอใช้พื้นที่ต่อไป

ปี พ.ศ. 2512

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2512 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย ในการขอใช้พื้นที่ป่าภูวง และป่าภูล้อมข้าว จัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูนรองรับการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมตามโครงการชลประทานน้ำอูน รวม 2 แปลง คือ

1.พื้นที่ป่าภูวง ในท้องที่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 35.820 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,387.5 ไร่

2.พื้นที่ป่าภูล้อมข้าว-ภูเพ็ก ในท้องที่อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 58.550 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,593.75 ไร่

ปี พ.ศ. 2514

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2514 เสนอโดย นายบุญรอด บิณฑสันต์ รมช. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง โดยจำแนกพื้นที่ป่าภูวง เนื้อที่ 63.093 ตารางกิโลเมตร หรือ 39,433.125 ไร่ ให้ กรมประชาสงเคราะห์ ไปดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2515

-เริ่มปิดเขื่อน และเก็บกักน้ำในเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และการอพยพราษฎรสิ้นสุดลง

-ได้มีการประชุมปัญหาราษฎรไม่อพยพไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ของ จังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีราษฎรเข้ามาบุกเบิกจับจองพื้นที่ บ้านดงคำโพธิ์ (เขตนิคมฯ) เมื่อปี 2503 เนื้อที่ประมาณ 15,000 ไร่ จึงไม่สามารถจัดสรรให้ราษฎรได้ (การประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับที่ดินของราษฎรที่ทำกินก่อนการขอใช้พื้นที่ของโครงการฯ)

ปี พ.ศ. 2516

-น้ำท่วมพื้นที่เก็บกักสูงสุดของเขื่อนน้ำอูน

-เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2516 ผกค. นำกำลังบุกเข้าโจมตีนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน เผาทำลายอาคารสถานที่ และเครื่องจักรกล ผู้ปกครองนิคมฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิต

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2516 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย อนุมัติหลักการเพื่อดำเนินการตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

-แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ราษฎรผู้ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมในการสร้างเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2516

-แต่งตั้งกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2516

ปี พ.ศ. 2518

-ได้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้อพยพจากเขตน้ำท่วม ระหว่างโครงการชลประทานน้ำอูน และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน

-รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อขอขยายเขตนิคมฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม

ปี พ.ศ. 2520

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2520 ให้โอนภารกิจการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน จาก กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหน้าที่ของ กรมชลประทาน กระทรงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแทน

ปี พ.ศ. 2532

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 อนุมัติหลักการให้ กรมชลประทาน จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ราษฎรที่ถือครองที่ดิน การทำประโยชน์ในที่ดิน ป่าสงวนฯ อุทยานฯ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่จะต้องเข้าถือครองทำประโยชน์ก่อนที่ กรมชลประทาน จะเข้ามาดำเนินโครงการสร้างเขื่อนน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2537

-เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมี พ่อทองดี ตุพิลา เป็นประธานเครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ และได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และ กอ.รมน. กองทัพภาค 2 (ตรงกับสมัย ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรี)

ปี พ.ศ. 2539

-เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนน้ำอูน ได้เข้าร่วมกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสาน (สกย.อ.) นายบำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการและเครือข่าย ผรท. เพื่อจัดทำเอกสารข้อร้องเรียน และนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ผ่านสำนักงานเลขาฯ

ปี พ.ศ. 2541

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 เรื่องราษฎรร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน (ตั้งแต่ปี 2539 ข้างต้น) คือ

1.ให้คณะกรรมการที่ทางราชการได้แต่งตั้งขึ้นที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง

2.หากคณะกรรมการเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจริงให้แจ้งผลการพิจารณาไปให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

ปี พ.ศ. 2546

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 เห็นชอบในหลักการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน

-ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสได้รับที่ดินสำหรับการประกอบอาชีพ

ปี พ.ศ. 2547

-มติคณะรัฐมนตรี (สมัย ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 อนุมัติในหลักการให้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) จัดหาที่ดินส่วนเกินสิทธิ์จากผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิม และส่วนที่ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิมขาดคุสมบัติที่จะได้รับที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน

-จัดที่ดินให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รายละ 15 ไร่ และขออนุมัติงบประมาณ (กลาง) เพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการทำประโยชน์จากที่ดินที่รัฐตกลงจะจัดสรรให้หลังจากการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม อัตราไร่ละ 10,000 บาท (ข้อเรียกร้องสิทธิ์ของราษฎร และมติกรรมการที่เกี่ยวข้อง คือ อัตราไร่ละ 30,000 บาท ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับมติ ครม. ในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรในพื้นที่ได้รับผลกระทบเขื่อนอื่นๆ เช่น ยายไฮ, เขื่อนปากมูล, เขื่อนราษีไศล)

-มติมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน รายละ 15 ไร่ๆ ละ 10,000 บาท (นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีเสนอให้จ่าย 32,000 บาท/ไร่ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ)

ปี พ.ศ. 2548

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เห็นชอบในการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่ขอรับเป็นเงินทดแทนที่ดิน ไร่ละ 10,000 บาท (15 ไร่/ราย รวม 150,000 บาท) (ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของราษฎร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้มีมติ และนำเสนอให้จ่ายค่าชดเชยไร่ละ 30,000 บาท รวม 450,000 บาท/ราย)

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 894 ราย (จากการเสนอรายชื่อราษฎรผู้เดือดร้อนรอบแรกทั้งหมด 895 ราย) ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม)

ปี พ.ศ. 2550

-จังหวัดสกลนคร ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

ปี พ.ศ. 2551

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 888 ราย  ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 179 ราย  ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย เช่นเดียวรุ่นก่อนๆ

ปี พ.ศ. 2552

-วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับตัวแทนราษฎรผู้เดือดร้อน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงความเดือดร้อน

-วันที่ 24 มิถุนายน 2552 กรมชลประทาน ได้มีการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหารายชื่อราษฎรที่ตกค้างถึงจังหวัดสกลนคร ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา

-วันที่ 27 สิงหาคม 2552 หนังสือแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงแก้ไขปัญหา ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน รวม 2,653 ราย เท่านั้น

ปี พ.ศ. 2553

-วันที่ 24 มิถุนายน 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายก เพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่มปัญหา (ดูข้อมูลจากสรุปข้อเท็จจริงปัญหาเขื่อนน้ำอูน)

-เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน ได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาแบบยืดเยื้อ วันที่ 23 พฤศจิกายน-17 ธันวาคม 2553 และมีตัวแทนรัฐบาลลงมารับเรื่องร้องเรียน คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

-วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปข้อเท็จจริงปัญหาเขื่อนน้ำอูน

1. โครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไม่สามารถจัดหาที่ดินแก่ราษฎรที่ถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมตามนโยบายได้ 15 ไร่/ราย (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ทำกิน 13 ไร่) เนื่องจากไม่มีที่ดินเพียงพอ และปัญหาซ้อนทับสิทธิ์ในที่ดินกับราษฎรในพื้นที่เดิมก่อนการดำเนินการโครงการ

2. ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินทดแทนที่ดินที่ไม่ได้รับหลังจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐได้ให้ความช่วยเหลือ เช่น กรณียายไฮ และเขื่อนอื่นๆ

3. การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินของท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในราคาไร่ละ 10,000 บาท

4. การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนวณค่าเสียโอกาสทางด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคมของราษฎรผู้เดือดร้อนที่ต้องสูญเสียโอกาสไป รวม 43 ปี (2510-2553) เนื่องจากรัฐไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้ตามนโยบาย และเลือกปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเขื่อนน้ำก่ำ 50,000-100,000 บาท/ไร่, เขื่อนห้วยหลวง ไร่ละ 30,000 บาท/ไร่, เขื่อนราศีไศล 32,000 บาท/ไร่ และยายไฮ ที่ได้รับทั้งที่ดินคืน ค่าเสียโอกาสในการทำกิน และค่าเสียโอกาสทางการศึกษาของบุตร

5. ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนบางส่วนได้อพยพย้ายครอบครัวหนีไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่อื่นๆ หลังจากถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมของโครงการชลประทานน้ำอูน และไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ และโอกาสที่ควรจะได้รับ

6. ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร จำแนกออกได้ 2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 2,798 ราย คือ

1) ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเวนคืนที่ดิน และให้เป็นเขตชลประทานน้ำอูน รวม 75,000 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

- ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และตกสำรวจข้อมูลจาก กรมชลประทาน เนื่องจากที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อาจจะสาเหตุจากการไม่รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารของราษฎรที่ประกอบด้วยชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ) รวมประมาณ 1,076 ราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ

- ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และมีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน ที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ หรือบางส่วนได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง ยังคงหลงเหลืออีก รวม 527 ราย (จากทั้งหมด 3,351 ราย)

2) ราษฎรที่สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน และไม่ได้รับ หรือได้รับการจัดสรรที่ดินได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง รวม 1,195 ราย

7. แม้ว่าราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน จะได้รับความช่วยเหลือจากค่าชดเชยที่ดินไปแล้ว รวม 1,961 ราย แต่ไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้ เพราะการอนุมัติจ่ายค่าชดเชยไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ จึงมีเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยในมาตรฐานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น และสอดคล้องกับราคาที่ดินในปัจจุบัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ระหว่างการสิ้นสุดของทศวรรษ

Posted: 09 Jan 2011 11:52 PM PST

ระหว่างการสิ้นสุดของทศวรรษ
สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์สุดท้ายของโลกเก่า
พวกเขา... ดื่มกินอย่างอิ่มหนำสำราญ
บนความปวดร้าวของประชาชนผู้หัวใจสลาย

หฤหรรษ์ยิ่งนักกับอำนาจบารมีดั่งเทพยดา
ที่เคยมีมา และหวังจะมีต่อไป
แต่นั่นเป็นเพียงภาพลวงตา
หาใช่ศรัทธาแท้จริงจากประชาชนไม่

ความขมขื่นของผู้ทุกข์ระทม
กลั่นออกมาเป็นหยาดเหงื่อไคล คราบน้ำตา
และริ้วรอยบนผิวหนังเดียงสา
ของเธอ ฉัน ...พวกเรา

มันเนิ่นนานเพียงพอแล้ว
ยุคสมัยแห่งความมืดบอดของสติปัญญา
และความสอพลอ
พวกเขารักษามันไว้เพื่อการกดขี่คนเยี่ยงทาส

คราบน้ำลายจากเหล่าสมุนสัตว์เลื้อยคลาน
จะท่วมท้นกินกลืนทุกสรรพสิ่ง
แม้เขาก็มิอาจตะเกียกตะกายว่ายฝ่าข้าม
ถึงจะใช้ความเพียรดุจเดียวกับพระเอกในชาดก

สงครามที่พวกเขาเป็นผู้ก่อ
จะกลายเป็นหลุมศพกลบฝัง
ถมทับความดีงามจอมปลอมภายใต้ซากประวัติศาสตร์
ด้วยมวลตะกอนธุลีประชาชน

มันกำลังเริ่มต้นแล้ว...ยุคใหม่ของพวกเรา!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น