ประชาไท | Prachatai3.info |
- โสภณ พรโชคชัย: ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กัมพูชาล้ำหน้าไทย
- รายงาน: อาลัยหมอ ‘ธาดา ยิบอินซอย’ ผู้วางระบบสาธารณสุขกลางไฟใต้
- 'วันครู' ชายแดนใต้เศร้า ครูถูกยิงเสียชีวิต
- รายงาน: 138 แม่พิมพ์ที่สูญเสีย ณ ชายแดนใต้-นโยบายส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
- สัมภาษณ์ ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’: Back to Basic พิเคราะห์ประชาธิปไตยไทยผ่าน 3 ขาอำนาจ
- นักศึกษานิติ มธ. ลงพื้นที่ศึกษากฎหมายจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
- ตูนีเซียเร่งตั้งรัฐบาลรักษาการ หลัง ปธน. หนีไปซาอุฯ
โสภณ พรโชคชัย: ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กัมพูชาล้ำหน้าไทย Posted: 16 Jan 2011 01:12 PM PST ในขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยยังไม่มีความคืบหน้า แต่ในกัมพูชา กลับจะได้นำมาใช้ในปี 2554 นี้แล้ว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอนำเสนอความคืบหน้าของกัมพูชาเพื่อเป็นอุทธาหรณ์สำหรับประเทศไทย ในกรณีประเทศไทย หลายฝ่ายอาจรู้สึกผวากับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะคิดถึงการ “รีด” เอาเม็ดเงินออกจากกระเป๋าผู้เสียภาษี ดังนั้นเมื่อมีการนำเสนอภาษีใหม่นี้ มักจะถูกต่อต้าน แต่ในกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ความจริงแตกต่างจากภาษีอื่นโดยสิ้นเชิง นับเป็นภาษีที่ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” แก่ผู้เสียภาษีเอง ภาษีทรัพย์สินหมายถึงภาษีที่ประชาชนผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ (รถ เรือ ฯลฯ) และโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียให้กับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยตรง ในกรณีประเทศไทยกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่จะออกมานั้นเก็บภาษีเฉพาะอสังหาริมทรัพย์จึงเรียกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนี้เกิดขึ้นบนฐานคิดสากลที่ว่าใครครอบครองทรัพย์สิน ก็ต้องเสียภาษี เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งก็คล้ายกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่จัดเก็บกับเฉพาะผู้ที่ให้เช่าทรัพย์สิน และมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ในการคำนวณภาษีก็ไม่เคยได้ปรับปรุงมาเกือบ 20 ปีแล้ว เมื่อมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ก็จะได้ยกเลิกภาษีดังกล่าวเสีย ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้มีอัตราการจัดเก็บคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ประกอบการในเชิงพาณิชย์ จัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี อัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.05% นอกนั้นจัดเก็บไม่เกิน 0.5% และมีการยกเว้น คือ ให้ยกเว้นแก่ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวาทั้งหลายและมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทในพื้นที่สำคัญ (กรุงเทพมหานคร หัวเมืองใหญ่และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา) มูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาทในพื้นที่เขตเทศบาล และมูลค่าไม่เกิน 3 แสนบาทในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สัมภาษณ์คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง กัมพูชา ที่มาอบรมการประเมินค่าทรัพย์สินที่ ดร.โสภณ จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครในช่วงวันที่ 13-14 มกราคม 2554 ได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการเพื่อให้คนไทยได้สังวร กัมพูชามีแนวคิดที่จะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 แต่ไม่ผ่านสภาในปีดังกล่าว จนเมื่อช่วงสิ้นปี 2552 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาก็ผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ออกมา โดยมีกรอบเวลาให้นำมาใช้จริงในปีเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ กรอบเวลาได้ขยายไปเป็นประมาณกลางปี 2554 นี้ กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชามีความรวดเร็วในการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่าไทยเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของไทย มีการนำเสนอไว้ตั้งแต่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” พ.ศ.2518 มีการยกร่างใหม่และแก้ไขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจะมีพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อใด ข้อสังวรในที่นี้ก็คือ ระบบราชการของไทยอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากัมพูชา และคงมีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและมีที่ดินมากมายที่ไม่ต้องการให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเข้าใจผิดว่าภาษีนี้จะเป็นภาระ ทั้งที่ภาษีนี้จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองไว้กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม สำหรับในรายละเอียดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกัมพูชานั้น มีการจัดเก็บเพียงอัตราเดียวคือ 0.1% โดยราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 30% การกำหนดราคาก็ไม่ได้กำหนดเป็นรายแปลง แต่กำหนดตามเส้นถนน สำหรับอาคารนั้น ก็มีอัตราค่าก่อสร้างอาคารมาตรฐานให้ใช้คำนวณราคา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกัมพูชา ก็มีการกำหนดข้อยกเว้น เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 100 รีล หรือ 740,000 บาทเป็นต้น นอกจากนี้วัดวาอาราม สถานทูตหรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้จากอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณ 180,000 ราย และจะได้เงินภาษีไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้น ในทางปฏิบัติของการจัดทำบัญชีราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยกัมพูชากำหนดให้แต่ละจังหวัด (24 จังหวัด) ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสำรวจจัดทำบัญชี โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดหนึ่ง ๆ อาจมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการประมาณ 30 คน โดยเน้นสำรวจเฉพาะในตัวเมืองเป็นสำคัญ และประมาณการราคาที่ดินตามถนนแต่ละสายไว้อย่างชัดเจน จากนั้นจะมีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาใช้จัดเก็บภาษีในท้ายที่สุด บัญชีราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้อาจจะมีการปรับปรุงทุกรอบ 3 ปี ภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้นี้เก็บเข้าท้องถิ่นโดยเฉพาะ โดยท้องถิ่นเป็นผู้นำเงินส่วนนี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่นทั้งด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยไม่มีการหักเงินมาเพื่อใช้ในกิจการอื่นใด ผิดกับกรณีประเทศไทย ที่มีการเสนอให้หักเงินภาษีที่จัดเก็บได้ 2% มาเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน ซึ่งสร้างความสับสน และทำให้ประเด็นแตกออกไปเป็นการถ่วงเวลาการให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย การนำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าในระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชานี้ ไม่ใช่เพื่อนำมาข่มประเทศไทยของเราเอง แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายในประเทศไทยได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าของประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นอุทาหรณ์ให้ประเทศไทยได้เร่งรัดการพัฒนาประเทศโดยเร็ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน: อาลัยหมอ ‘ธาดา ยิบอินซอย’ ผู้วางระบบสาธารณสุขกลางไฟใต้ Posted: 16 Jan 2011 01:01 PM PST ภาพเมื่อครั้ง ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2553 เมื่ออาการดีขึ้นก็ยังกลับไปตรวจรักษาคนไข้เหมือนเดิม จนกระทั่งถึงแก่กรรม สิ้นหมอ‘ธาดา ยิบอินซอย’ ผู้วางระบบสาธารณสุขในชายแดนใต้ ใกล้วาระสุดท้ายก็ยังทำงานตรวจคนไข้ ตำแหน่งสุดเป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพตามยุทธศาสตร์ ของประเทศในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามทุ่มของวันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2554 แสงนีออนส่องแสงสว่างทั่ววัดคลองเปล ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่องรับบริจาค “กองทุน ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและสาธารณกุศล”ตั้งอยู่หน้าเต็นท์สวดพระอภิธรรมศพ พร้อมสมุดเขียนไว้อาลัย ขนาบด้วยภาพวาด ศ.นพ.ธาดา สองข้างและประดับประดาด้วยพวงหรีดงดงาม การสวดอภิธรรมศพครั้งสุดท้าย ก่อนพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2554 เช้าวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2554 ศ.นพ.ธาดา หมดสติที่บ้าน ต่อมาได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ด้วยวัย 77 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักของคนในครอบครัว ญาติมิตร และลูกศิษย์ที่ผูกพัน ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย ได้รับการยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญทางวงการแพทย์ ด้วยใช้ความรู้ความสามารถจากการศึกษาในต่างประเทศมาพัฒนาประเทศ โดยหลังจากจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเริ่มเป็นแพทย์รักษาโรคหัวใจที่โรง พยาบาลศิริราช หลังจากนั้นจึงเดินทางศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2524 ศ.นพ.ธาดา ได้รับเลือกเป็นรองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้ง และก้าวขึ้นเป็นคณบดีในเวลาต่อมา จนกระทั่งเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังอุทิศตัวให้แก่การทำงาน ด้วยวัยที่ล่วงเลยกว่า 70 ปี และยังคงใช้ความรู้ความสามารถทำงานช่วยเหลือราชการและกิจกรรมสาธารณะ ความเป็นครูที่ชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ และมีความสุขกับการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับลูกศิษย์ รวมทั้งคอยสร้างแรงบันดาลใจให้นำหลักการ ตลอดจนแนวคิดดีๆ ไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาระบบงานให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ สำหรับ ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของนายยิบ ต้นตระกูลยิบอินซอย และนางมีเซียมที่เป็นทายาทของนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากประเทศ อินโดนีเซีย ซึ่งเข้ามาบุกเบิกกิจการซื้อขายเหมืองแร่ในภาคใต้ และได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล “ยิบอินซอย แอนด์ โก” ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในขณะที่ ศ.นพ.ธาดา นั้นเลือกที่จะเป็นหมอรักษาคนไข้แทนการสานต่อธุรกิจ ตำแหน่งสุดท้ายของ ศ.นพ.ธาดา คือประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพตามยุทธศาสตร์ ของประเทศในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ ศ.นพ.ธาดา กล่าวให้สัมภาษณ์โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา (ที่มา: http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/678--q-q-.html) ว่า อาจารย์หมอธาดามีส่วนอย่างมากกับการวางระบบงานของภาคสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเน้นเรื่องหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ความปลอดภัยในสถานบริการ คือโรงพยาบาลและสถานีอนามัย 2. การจัดการฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบ และ 3.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง “ความปลอดภัยในสถานบริการทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัยนั้น ท่านเน้นมากว่าจะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัย ห่างไกลจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ใช่แค่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดอย่างเดียว แต่หลักๆ คือต้องมีสัมพันธภาพกับชุมชนและการเป็นหมอที่ดี” ส่วนการผลักดันให้เกิดการจัดการฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า บทบาทของอาจารย์หมอธาดาทำให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นรูปธรรมจากภาคสาธารณสุข ไม่ว่าจะโดนยิง โดนแทง หรือบาดเจ็บจากระเบิด จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลที่รักษาผู้บาดเจ็บจากอาการเหล่านี้ แล้วนำมาวิเคราะห์แยกเป็นพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการติดตามเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทุกราย ที่สำคัญอาจารย์หมอธาดายังร่วมผลักดันให้มีการนำหลักการทางศาสนาอิส ลามเข้าไปใช้ในโรงพยาบาล เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ด้วยหวังให้พี่น้องมุสลิมเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งเรื่องฮาลาล การอนุญาตให้ผู้นำครอบครัวหรือผู้นำศาสนากล่าวเสียงต้อนรับ (อะซาน) เด็กแรกเกิด การให้ญาติอ่านพระคัมภีร์ (อัลกุรอาน) ก่อนผู้ป่วยเสียชีวิต “จริงอยู่ที่งานเหล่านี้มีการริเริ่มโดยคนในพื้นที่มาก่อนแล้ว แต่ท่านอาจารย์หมอธาดาก็มีส่วนอย่างมากในการให้ความสำคัญ จนเกิดการขยายครอบคลุมในมิติของมุสลิม โครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขของอาจารย์หมอธาดาถือว่าประสบผลสำเร็จในพื้นที่ อย่างมาก เพราะสามารถทำให้บุคลากรทางการแพทย์เผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบได้ โดยที่ระบบบริการสาธารณสุขยังยืนอยู่ได้อย่างค่อนข้างมั่นคง และให้บริการประชาชนได้ตามปกติ โดยไม่หวั่นไหวกับความรุนแรง” นพ.สุภัทร ยังกล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อ ศ.นพ.ธาดา ด้วยว่า เป็นอาจารย์อาวุโสที่มีความคิดความอ่านทางสังคม มีอุดมการณ์แรงกล้า ช่วยเหลือสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่เคยทิ้งการรักษาคนไข้ ซึ่งนับว่าหายากมาก ถ้าในภาษาแพทย์ก็เรียกว่า “คลินิกเคลื่อนที่” เพราะเป็นแพทย์ที่ยังทำงานดูแลผู้ป่วยอยู่แม้ตัวเองจะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม ท่านเป็นตัวอย่างของแพทย์ที่ดีอย่างแท้จริง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
'วันครู' ชายแดนใต้เศร้า ครูถูกยิงเสียชีวิต Posted: 16 Jan 2011 12:42 PM PST ศพของนายมาโนช ชฏารัตน์ ครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554 ถูกบรรจุลงในโลงโดยมีภรรยาและลูกยืนมองด้วยความเศร้าโศก เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2554 ที่วัดนพวงศาราม ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี(ภาพถ่ายโดยอารีเป็ง ปะนาฆอ) นางกัลยวรรธน์ ชฏารัตน์ ครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ภรรยานายมาโนช ชฏารัตน์ ข้าราชการครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554 ในตัวเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2554 ตนจะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี ระหว่างเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 เพื่อขอย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย “ดิฉันมีลูก 3 คน ต่อไปก็คงต้องเลี้ยงลูกคนเดียวและตอนนี้ดิฉันไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดขึ้นทุกวัน โดยจะขอย้ายไปเป็นครูที่จังหวัดสงขลา เพราะจะได้อยู่อาศัยกับแม่ และแม่จะได้ช่วยดูแลลูกๆ ให้ด้วย” นางกัลยวรรธน์ กล่าว ส่วนบรรยากาศในงานศพของนายมาโนชที่วัดนพวงศาราม ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นไปด้วยความโศกเศร้า โดยมีผู้ใหญ่และบุคลากรทางการศึกษามาร่วมงานศพและเยี่ยมให้กำลังใจนางกัลยวรรธน์และครอบครัวตลอดทั้งวัน เช่น รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยรองศาสตราจารย์ธงทอง รับปากกับนางกัลยวรรธน์ว่า จะช่วยส่งเสียลูกทั้ง 3 คนของนายมาโนช ให้ได้รับการศึกษาสูงสุด และเมื่อเรียนจบพร้อมรับเข้าบรรจุเป็นข้าราชการทันที สำหรับเหตุคนร้ายยิงนายมาโนช อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57/19 ถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้น บริเวณ ถนนยะรัง ซอย 3 ตำบลจะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554 ก่อนถึงวันครูหนึ่งวัน โดยเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากความไม่สงบเป็นคนที่ 138 สถิติความสูญเสียบุคคลกรทางการศึกษา ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 ได้สรุปข้อมูลครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึง วันที่ 24 ตุลาคม 2553 ดังนี้ สถิติครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต และบาดเจ็บแยกเป็นรายจังหวัด เสียชีวิต 138 คน แยกเป็น นราธิวาส 41 คน ปัตตานี 59 คน ยะลา 37 คน และ สงขลา (บางส่วน) 1 คน บาดเจ็บ 122 คน แยกเป็นนราธิวาส 36 คน ปัตตานี 38 คน ยะลา 45 คน และ สงขลา (บางส่วน) 3 คน สถิตินักเรียน และนักศึกษาเสียชีวิต และบาดเจ็บแยกเป็นรายจังหวัด เสียชีวิต 36 คน แยกเป็น นราธิวาส 10 คน ปัตตานี 12 คน ยะลา 12 คน และ สงขลา (บางส่วน) 2 คน บาดเจ็บ 162 คน แยกเป็น นราธิวาส 62 คน ปัตตานี 37 คน ยะลา 63 คน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน: 138 แม่พิมพ์ที่สูญเสีย ณ ชายแดนใต้-นโยบายส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น Posted: 16 Jan 2011 12:16 PM PST เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษานับว่ามีผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมาก 138 ตัวเลขความสูญเสียของครู ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก นร. ในพื้นที่แต่คงไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ลดลง รัฐยังไม่ส่งเสริมการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนคำขวัญวันเด็กในแต่ละปีเพียงแค่ให้เด็กท่องจำ แต่เด็กขาดความเข้าใจในจุดประสงค์ ความสูญเสียบุคคลกรทางการศึกษา ครบรอบปีที่ 7 ของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการสูญเสียบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนไม่น้อย และรายล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 54 ก่อนวันครูหนึ่งวันเป็นครูโรงเรียนเดชะฯ นายมาโนช ชฎารัตน์ ข้าราชการครู สอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลปัตตานี อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57/19 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เหตุเกิดในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี บริเวณ ถ.ยะรัง ซอย 3 ต.จะบังติกอ จากสถิติที่ทางศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 ได้สรุปข้อมูลครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึง วันที่ 24 ตุลาคม 2553 ไว้ดังนี้ สถิติครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต และบาดเจ็บแยกเป็นรายจังหวัด เสียชีวิต 138 คน - จังหวัดนราธิวาส 41 คน - จังหวัดปัตตานี 59 คน - จังหวัดยะลา 37 คน และ - จังหวัดสงขลา(บางส่วน) 1 คน บาดเจ็บ 122 คน - จังหวัดนราธิวาส 36 คน - จังหวัดปัตตานี 38 คน - จังหวัดยะลา 45 คน และ - จังหวัดสงขลา(บางส่วน) 3 คน สถิตินักเรียน และนักศึกษาเสียชีวิต และบาดเจ็บแยกเป็นรายจังหวัด เสียชีวิต 36 คน - จังหวัดนราธิวาส 10 คน - จังหวัดปัตตานี 12 คน - จังหวัดยะลา 12 คน และ - จังหวัดสงขลา(บางส่วน) 2 คน บาดเจ็บ 162 คน - จังหวัดนราธิวาส 62 คน - จังหวัดปัตตานี 37 คน - จังหวัดยะลา 63 คน การเรียนการสอนภาษาแม่ จากสถิติเมื่อมาดูตัวเลขของการเสียชีวิตทั้งบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และนักศึกษาแล้วอยู่ที่ 173 คน และบาดเจ็บ 284 คน ซึ่งเป็นตัวเลขไม่น้อยและส่งผลเป็นอย่างมาต่อระบบ ระเบียบ และวิถีของการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเดินทางไปทำการสอนของครู เวลาที่เริ่มทำการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา บางแห่งต้องมาเริ่มต้นการเรียนการสอนที่เวลา 9.00น. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ก็ตกลงไปที่ 3 อันดับสุดท้ายของประเทศ ซึ่งคงไม่ใช่ด้วยเหตุเพราะผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว ดูเหมือนว่าการใช้ภาษาในการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาก็เป็นปัญหาด้วย ด้วยเหตุที่เด็กระดับประถมที่มีเชื่อสายมลายูเริ่มเรียนรู้ และสามารถพูดภาษาแม่ได้ก่อนภาษาราชการ หรือสามารถพูดมลายูได้ก่อนและดีกว่าภาษาไทย ทำให้เด็กไม่เข้าใจในความหมายของเนื้อหาที่เรียนที่ใช้ภาษาไทย แต่ถ้าหากว่าครูสามารถที่จะใช้ภาษาเดียวกับเด็กนักเรียนการเรียนการสอนก็จะทำให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากขึ้น เมื่อปัญหาอยู่ที่การสื่อสารกันระหว่างผู้ส่งสาร(ครู)กับผู้รับสาร(นักเรียน)ไม่เข้าใจในภาษาที่สื่อถึงกัน แล้วจะสามารถสร้างความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการสื่อได้อย่างไร ภาษาที่ใช้คนละภาษา เมื่อภาษาหนึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตประจำวัน กับอีกภาษาต้องใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งเกรด ลำดับหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือเพื่อติดต่อในสถานที่ราชการ ซึ่งนับว่าจำเป็นเช่นเดียวกัน แต่เกรดกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สถานที่ราชการไม่ได้เข้าไปติดต่อตลอดทุกวัน ดังนั้นการศึกษาก็ควรที่จะต้องจัดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมความเป็นของชุมชน สังคมพื้นที่นั้นๆ ในการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ 293/2551 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัด จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรฯ ดังกล่าว ซึ่งมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นตัวชี้วัดหรือเป็นวิชาหลักที่เด็กทุกคนจะต้องเรียน อย่าง 1.กลุ่มสาระเรียนรู้ภาษาไทย 2.กลุ่มสาระเรียนรู้คณิตศาสตร์ 3.กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 4.กลุ่มสาระเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5.กลุ่มสาระเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 6.กลุ่มสาระเรียนรู้ศิลปะ 7.กลุ่มสาระเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และสุดท้าย 8.กลุ่มสาระเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เมื่อมาสังเกตแต่ละกลุ่มสาระแล้วความจำเป็นการในภาษาในการสื่อสารเพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจในเนื้อหา และเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์บางอย่างแล้ว กลุ่มสาระที่ 1. กลุ่มสาระเรียนรู้ภาษาไทย กับ 7.กลุ่มสาระเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เท่านั้นที่เป็นภาษาที่แปลกปลอมที่เข้ามาในชีวิตนับตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนจนจบได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยออกมา แต่ถ้าหากว่า อีก 6 กลุ่มสาระเรียนรู้สามารถที่จะสอนเป็นภาษาท้องถิ่น หรือภาษาแม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง ภาษาอาข่า ภาษาลีซอ ภาษาคำเมือง ภาษาทางกลุ่มชาติพันธุ์ และภาษามลายูที่ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถสร้างความเข้าใจเนื้อหาและจุดประสงค์ของการศึกษาชัดเจนขึ้นว่าศึกษาเพื่อต้องการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับแค่ตนเอง หรือสังคม ชุมชน การจัดการการเรียนรู้โดยชุมชน หรือการจัดการการเรียนรู้แบบบูรณาการในชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความขัดแย้งที่มีต้นเหตุของปัญหาจากหลายปัจจัย ปัจจัยด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ภาษา และศาสนา นับว่าเป็นเชื่อไฟอย่างดีในการจุดกระแสเพื่อสร้างความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ เมื่อเหตุปัจจัยทางการศึกษาคือข้ออ้างหนึ่งในการสร้างความขัดแย้ง การแก้ปัญหาก็จะต้องแก้ที่ระบบการศึกษา หลักสูตรวิชาต่างๆ ที่เหมาะสมกับชุมชนพื้นที่ท้องถิ่น บนฐานความต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีการพูดถึงกันมามากในเวทีวิชาการ เวทีสัมมนาด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับไม่มีกระแสตอบรับอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากผู้มีอำนาจทางด้านการศึกษาในรัฐบาล แม้ในอดีตมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดย พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการฯ มีรายละเอียดข้อเสนอต่อนายกฯ เพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับไม่ได้ให้ความสนใจต่อรายละเอียดดังกล่าว หนึ่งในข้อเสนอของ กอส. เสนอต่อนายกฯ คือ คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาสามัญ และให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ รัฐไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้การจัดการศึกษาวิชาศาสนานั้นลดลงหรือหมดไป รัฐควรแก้ไขปรับปรุงการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา โดยให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนวิชาสามัญ ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการเรียนวิชาสายสามัญ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้มีทางเลือกในชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกเดินทางเข้าไปในตลาดงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ แม้ว่ามีคำสั่งยุบ กอส. แต่ตลอดระยะเวลา 6 ปีหลังจากตั้ง กอส. ยังไม่มีการนำข้อเสนอดังกล่าวมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่แต่อย่างใด และเมื่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (2552-2561) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่เน้นการปฏิรูปใน 3 เรื่อง ทั้งทางด้าน คุณภาพของครู สถานศึกษา การบริหากรจัดการ อันดับสองโอกาสทางการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งสถาบันครอบครัว ศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นการปฏิรูปที่เปิดโอกาสให้แก่ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เป็นอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติจะสามารถนำมาใช้อย่างเห็นผลชัดเจนและเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ย่อมอยู่ที่ผู้บริหารประเทศ และหน่วยงานรับผิดชอบมีความชัดเจนในการปฏิบัติ หากว่าการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝ่ายการเมืองไม่ได้มีความเข้าใจการศึกษา และขาดหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจนในการรับผิดชอบ ก็ทำให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ล้มเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมา ชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตลักษณ์ ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง มีการนับถือศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันกับพื้นที่อื่นๆ และพื้นที่อื่นก็ย่อมมีเอกลักษณ์ ประเพณีที่ต่าง และเป็นจุดเด่นเช่นเดียวกัน จึงมีความจำเป็นเช่นกันที่จะต้องมีการสนับสนุนให้ชุมชน องค์กร สถาบันในท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการศึกษาของตนเอง และรัฐก็ควรจัดเตรียมระเบียบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องและรองรับความรู้ที่จะมาจากการจัดการของชุมชน ประถมศึกษาเป็นชั้นการศึกษาที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เด็กนักเรียนในวัยนี้ควรได้รับการศึกษาที่จะเรียนรู้อันเหมาะสม คำขวัญวันเด็กกับการศึกษา เมื่อวันเสาร์ที่ 8 ม.ค. 54 ที่ผ่านมาเป็นวันเด็กแห่งชาติ ทุกๆปีจะมีคำขวัญวันเด็กที่มอบโดยนายกรัฐมนตรี ในปีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบคำขวัญให้กับเด็กไทยว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” เด็กทุกคนจะต้องท่องจำให้ได้ แม้ว่าจะทราบในความหมาย และจุดประสงค์หรือไม่ก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีจะเน้นย้ำตลอดว่า ถ้าหากว่าเด็กทำตามคำขวัญที่มอบให้จะเป็นเด็กที่ดี มีอนาคตและผู้ใหญ่ที่ดี แต่สังคมในวันนี้ผู้ใหญ่ภายในสังคมแสดงตัวไม่ดี แสดงว่าตอนที่เป็นวัยเด็กพวกเขาเหล่านั้น ไม่ท่องจำคำขวัญวันเด็กและไม่ปฏิบัติตามคำขวัญที่นายกฯมอบให้เมื่อตอนที่เป็นเด็ก ในคำขวัญของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน โดยส่วนใหญ่แล้วเน้นในเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็ก และอนาคตของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง คำขวัญที่เน้นย้ำถึงการศึกษา เป็นสิ่งที่ดี แต่จะกลายเป็นแค่ วาทกรรม และจะมีลักษณะประเพณีปฏิบัติสืบทอดปีต่อปี คำขวัญวันเด็กเริ่มตั้งแต่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 47 ยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการศึกษาหาเรียนรู้เช่นเดิม แต่ในทางปฏิบัติและหลักสูตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นพื้นที่ที่ต่างวัฒนธรรม ต่างประเพณี และศาสนา ยังคงต้องใช้หลักสูตรที่ทางรัฐส่วนกลางมอบให้เป็นการบังคับ ซึ่งชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถที่บริหารจัดการการศึกษาด้วยตนเอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สัมภาษณ์ ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’: Back to Basic พิเคราะห์ประชาธิปไตยไทยผ่าน 3 ขาอำนาจ Posted: 16 Jan 2011 11:48 AM PST “คีย์เวิร์ดของหลักระบอบเสรีประชาธิปไตย คือ limited government ... สำหรับผมมองรวมไปถึงทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่ต้องเอาประชาชนเป็นสรณะ แต่บ้านเรา ถ้าไล่ดูทั้ง 3 อำนาจจะเห็นว่า ความตระหนักเรื่องการยึดโยงกับประชาชน และการใช้อำนาจด้วยความรับผิดชอบต่อประชาชนยังไม่น่าพอใจ” ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งจบปริญญาเอกด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการออกกฎหมายในสภาของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากแต่เป็นตรายางประทับรับรองการใช้อำนาจ ส่วนฝ่ายบริหารยิ่งมีสภาพเข้มข้นในเชิงการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายความมั่นคง ที่ตอนนี้กลายเป็นมีอำนาจครอบจักรวาล เหนือกฎหมายสูงสุดเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ฝ่ายศาล ยังไม่ค่อยเคลียร์กับความสัมพันธ์ของบทบาทตนเองกับความเชื่องโยงกับประชาชน ในโอกาส ก่อนเปิดสภาสมัยสามัญทั่วไปปี 2554 อาจารย์หนุ่มวัย 31 ได้สนทนากับผู้สื่อข่าวมติชน ย้อนกลับไปตรวจสอบหลักการสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย ผ่าน 3 สถาบันหลักผู้ใช้อำนาจอธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชนน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของประชาธิปไตย แต่ถ้ามองผ่าน 3 สถาบันหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตย มักเห็นภาพการใช้อำนาจบังคับแต่เพิกเฉยในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเสียมากกว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 แทนที่ประชาชนจะมีอำนาจมากขึ้นแต่ในทางปฏิบัติกลับมีลักษณะกลับหัวกลับหาง ภาครัฐกลับมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ ภาคประชาชนเองที่ต้องการแชร์อำนาจก็โดนปราบปรามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ประชาชนบางกลุ่มจำต้องยอมจำนนเนื่องจากไม่มีเครื่องมือและกลไกในการต่อรองมากพอ ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เคยมีปัญหาทำนองนี้อยู่เหมือนกันในสมัยก่อน แต่เขายังมีองค์กรตุลาการในการเข้ามาช่วยสร้างสมดุลในการใช้อำนาจระหว่างภาครัฐกับประชาชน แต่ในประเทศไทยภาพของศาลยังค่อยไม่ชัดเจนเท่าเขา แต่กลับมีภาพว่า ศาลไทยเข้าไปช่วยเสริมอำนาจเสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2496 ศาลเองได้ไปรับรองคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีสถานะในทางกฎหมาย ผมคิดว่า เราเริ่มกันง่ายๆที่คำว่า “กฎหมาย” ก็ยังได้ ความเข้าใจกับคำๆ นี้โดยเฉพาะจากฝั่งผู้ใช้อำนาจ หรือนักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ ตอบเหมือนๆกันว่า กฎหมาย คือ คำสั่ง หรือ คำบัญชาของรัฐฏาธิปัตย์ หากผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นต้องได้รับโทษ แล้วก็พร่ำสอนกันมาอย่างนกแก้วนกขุนทอง โอเค กฎหมายเป็นตัวกำหนดและควบคุมความประพฤติของประชาชนในสังคมให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ แต่ความหมายแบบนี้ มันมีปัญหามาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการเข้าควบคุมความประพฤติของคนในสังคม หากคุณฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ คุณก็จะโดนแซงชั่น (sanction) คือ โดนลงโทษ เช่น ในทางกฎหมายอาญา หากคุณละเมิดก็จะโดนโทษมีตั้งแต่ขั้นประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน แต่อีกด้านหนึ่ง ปัญหาคือ ไม่ค่อยมีการทำให้นักกฎหมายถกเถียงและตระหนักว่า เนื้อหาและที่มาของกฎหมายนั้นควรเป็นเช่นไรด้วย ผลคือ กลายเป็นเรื่องธรรมดาในมุมมองของรัฐที่จะออกกฎหมายใดๆแม้ว่าจะไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ บนข้ออ้างที่ว่า “ทำไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม” ซึ่งคำว่า public order นี้ค่อนข้างกำกวมและตรวจสอบลำบากว่า อย่างไร แค่ไหน จึงถือได้ว่า ทำไปเพื่อความสงบเรียบร้อย แล้วยิ่งไปใส่ความคิดให้กับภาครัฐว่า เขาสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้กับประชาชนหากว่ามันอยู่ในรูปของกฎหมาย ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ระบอบการปกครองที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้อำนาจไปโดยมิชอบ กลายเป็น rule by law ไม่ใช่ rule of law ซึ่งประเทศไทยเป็นแบบนี้อยู่ อย่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นี่ชัดเลย รัฐบาลชอบอ้างว่า ถึงประกาศใช้ คนทั่วไปก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เอ้า .. การใช้ชีวิตปกติของผมมันคือ สามารถพูดคุย แสดงออกทางความคิดได้ ต่อมารัฐบอกว่า ห้ามพูดเรื่องนี้นะ ห้ามแสดงออกเรื่องนั้นนะ แต่ผมไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพคุณนะ ไม่ต้องตกใจ หากคุณไม่ทำอะไรไม่ต้องกลัว เฮ้ย... แล้วสิ่งที่ผมทำไปเนี่ย ผมต้องกลัวไหม หรือหากประชาชนดำรงชีวิตตามปกติ เอ้า แล้วมันจะ ฉุกเฉิน ยังไง แล้วจะประกาศภาวะฉุกเฉินทำไม ควรตั้งต้นว่า ประชาชนยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วนเพื่อให้มีกติกา รัฐมีหน้าที่ดูแลให้เรียบร้อย แต่มีอำนาจไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติเพราะจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ? ใช่ มันควรเน้นย้ำว่า จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้มาจากตัวรัฏฐาธิปัตย์เองโดยสภาพ แต่จริงๆ แล้วกฎหมายนั้นมาจากประชาชน เป็นของประชาชน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เขาจึงเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันหมายถึงการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ รัฐฏาธิปัตย์เป็นผู้ปกครองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางปฏิบัติจริง แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่เขาเป็นผู้ปกครองซึ่งใช้อำนาจมันคือ การที่เขาได้รับมอบอำนาจจากประชาชน เพราะอยู่ดีๆ เขาไม่สามารถที่จะเข้าไปนั่งเป็น ครม. หรือ นายกรัฐมนตรี ได้เองโดยสภาพ แต่เพราะเราเลือกเขาเข้าไป อย่างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส.ส.ว.ที่เข้าไปในสภาแล้วออกกฎหมายมาบังคับใช้ก็เหมือนกัน ดังนั้นการออกกฎหมายแต่ละฉบับ จึงต้องตระหนักว่า คุณกำลังใช้อำนาจแทนประชาชนอยู่ แล้วคุณเอาอำนาจของเขาไปออกกฎหมายมาเพื่อไปละเมิดสิทธิเสรีภาพเขาเองมันเมกเซ้นส์(สมเหตุสมผล) เหรอ ตรงนี้มันจะเชื่อมกับประเด็นเนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายพอดี ผมไม่ได้บอกนะว่า คุณจะออกกฎหมายแล้วไปกระทบสิทธิหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้เลย หากแต่มันจะต้องไม่มากจนเกินไป โฟกัสที่ฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการออกกฎหมายในรัฐสภา เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้กันเลย ใช่ แม้ในรัฐธรรมนูญของเราจะบัญญัติไว้ด้วยนะ ลองดู มาตรา 29 บัญญัติว่า การตรากฎหมายนั้นห้ามไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินความจำเป็น หรือเกินกว่าเหตุ แต่ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไรล่ะ มันก็เกินความจำเป็น อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น บางคนอาจจะแย้งว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรงนี้มันก็ยิ่งชัดไงว่า คนออกกฎหมายไม่ได้มาจากประชาชน เขามาจากการแต่งตั้งโดยคณะทหาร เขาจึงไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนไง อย่างไรก็ดี คำถามต่อมาคือ เมื่อมีตัวแทนประชาชนแล้ว มีความพยายามแก้ไขกฎหมายจำพวกนี้หรือเปล่าล่ะ ซึ่งก็ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ทำอะไรไหม โอเค สมมติว่า ส.ส.ฝ่ายค้านผลักดัน เสียงในสภาน้อยกว่าอาจผลักดันให้แก้แล้วไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยมันทำให้มีการถกเถียงกันมากขึ้นในสังคม สังคมจะกดดันผู้แทนของตนเองว่า ได้เข้าไปดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของเราหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ดู หมายความว่า เขาสนใจประชาชนแค่ไหนล่ะ หรือ มีอำนาจอื่นๆค้ำยันเขา จึงไม่ต้องมาสนใจมาก มันก็สะท้อนการเมืองภาพรวมได้ด้วยแหละ ในต่างประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าบ้านเรา เขาคิดในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนในกระบวนการออกกฎหมาย มาก(ตอบสวน) คือ เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญของไทยเอง ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ ที่เป็นการย้ำเตือนฝ่ายนิติบัญญัติในการตราตัวบทกฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้อยู่แล้ว โดยกำหนดให้ต้องมีการอ้างถึงมาตราของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ หลักการนี้เราเอามาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งเขามีเจตนารมณ์อยู่อย่างน้อย 2 ประการคือ 1.เพื่อย้ำเตือนต่อ ส.ส. และ ส.ว. ว่า คุณกำลังออกกฎหมายที่มีผลเป็นการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่นะ ฉะนั้น การออกกฎหมายตรงนี้คุณต้องระวังรอบคอบมิให้มันก้าวล้วงเกินไป 2.เพื่อเป็นการตรวจเช็คในภายหลังได้ว่า สิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัดไปเพราะตัวบทกฎหมายฉบับนั้นๆ เป็นสิทธิเสรีภาพประเภทที่ในทางหลักการแล้วสามารถจะถูกจำกัดสิทธิได้หรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติของบ้านเรา ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำกันแบบเหมือน ... มีแบบฟอร์มให้กรอก ก็กรอก เหมือนเวลาที่เราไปสมัครงานเราก็ต้องไปกรอกๆๆ ทั้งที่ ตรงนี้ มีไว้เพื่อย้ำเตือนให้ผู้ออกกฎหมายตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผลคือ เลยอ้างๆกันไปว่า เนี่ย กฎหมายตัวนี้มีการเข้าไปจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพอย่างนี้อย่างนั้นนะ ผมอ้างแล้วนะ ดังนั้น ต่อไปนี้ในเนื้อหาผมสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของคุณได้ล่ะเพราะผมเขียนไปในกฎหมายแล้ว จบ ... อ้าว ! มันไม่ใช่ ฝ่ายบริหารที่บังคับใช้กฎหมายยิ่งมีปัญหา รอบ 10 ปีมานี้ ทั้งรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไล่มาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูเหมือนจะยิ่งหนักขึ้นหรือไม่ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติยึดหลักการดังกล่าว ฝ่ายบริหารก็ต้องยึดแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน เพราะ 2 ฝ่าย มีความสัมพันธ์กันมาก โดยฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกของฝ่ายนิติบัญญัติที่รับมอบอำนาจจากประชาชน ฉะนั้น คุณมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภา นั่นก็คือคุณรับผิดชอบต่อประชาชน จึงต้องตระหนักและเตือนตนเองอยู่เสมอว่า การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินกว่าเกินกว่าเหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ คีย์เวิร์ดของหลักระบอบเสรีประชาธิปไตยและนิติธรรมคือ limited government คำว่า government หลายคนแปลความว่า รัฐบาล หมายถึง ฝ่ายบริหารจะถูกจำกัดอำนาจ ไม่ให้ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ซึ่งถูกต้อง แต่สำหรับผม ผมมองรวมไปถึงการปกครองทั้งหมดที่ต้องถูกจำกัดและอยู่ในขอบเขต คือ ไม่ว่าจะองค์กรใดก็แล้วแต่ นิติบัญญัติ บริหาร หรือแม้กระทั่งตุลาการ เพราะเมื่อประชาชนทุกคนยินยอมให้ผู้ปกครองเข้ามาบริหารจัดการแทนตนเอง เพื่อคนหมู่มากหรือประโยชน์มหาชน ตรงนี้มันก็คือหลัก government by consent ดังนั้น ภาครัฐพึงต้องตระหนักเสมอว่า ประชาชนเขายินยอมให้คุณมาถึงเข้ามาได้ ว่ากันง่ายๆ ทั้ง 3 องค์กรหลักๆ จะต้องเอาประชาชนเป็นสรณะ แต่บ้านเรา ถ้าไล่ดูทั้ง 3 อำนาจจะเห็นว่า ความตระหนักเรื่องการยึดโยงกับประชาชน และการใช้อำนาจด้วยความรับผิดชอบต่อประชาชนยังไม่น่าพอใจ ซึ่งหากไม่จำกัด ประเทศไหนฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมากเกินไป ก็จะเป็นระบอบสมัชชาไป หากฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไปก็อาจจะกลายเป็นเผด็จการ หรือหากฝ่ายตุลาการมีอำนาจมากก็จะกลายเป็นรัฐตุลาการ หรือตุลาการธิปไตยไป ดังนั้น จึงต้องมีการจำกัด เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ถูกล่วงละเมิด ศาลที่เป็นนักกฎหมายแท้ๆ ก็ดูเหมือนไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้หรือเปล่า ท่านอาจจะยังไม่ค่อยเคลียร์กับความสัมพันธ์ของบทบาทตนเองกับความเชื่องโยงกับประชาชน ผมเคยฟังอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) อธิบายได้ชัดเจนมากว่า การพิพากษาคดีของศาลถือเป็นละเมิดสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเขา การยึดทรัพย์เขา การจับเขาขังคุก นี่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เรื่องใหญ่อย่างนี้ทำไม่ได้ ยกเว้นอย่างเดียวคือ ทำได้ในนามอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเท่านั้น แล้วใครใช้อำนาจอธิปไตยก็คือ พระเจ้าอยู่หัว ...อ่อ นี่คือ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญไง จึงต้องพิพากษาในพระปรมาภิไธย แต่ไม่ใช่แทนพระเจ้าอยู่หัว แต่แทนอำนาจอธิปไตยของเรา ซึ่งตรงนี้ ผมก็คิดว่า ไม่ต่างกับกรณีที่จะมีการออกกฎหมายมากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอันประกอบไปด้วยตัวแทนของประชาชนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีความชัดเจนตรงประเด็นความสัมพันธ์ของศาลกับประชาชนตรงนี้แล้วก็จะส่งผลให้ศาลนั้นเห็นบทบาทของตนเองที่พึงกระทำต่อประชาชนได้ชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ สามอำนาจ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แยกออกจากกันก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่ถูกตรวจสอบจากกันและกัน คือถูกตรวจสอบได้แต่ไปสั่งเขาไม่ได้ แต่เราไม่เคยไปตรวจสอบ เวลานี้เราให้อำนาจตุลาการใหญ่สุดซึ่งต่อไปจะเป็นปัญหามากหากไม่รีบแก้ไข ถ้าในอเมริกา ผู้พิพากษาบางตำแหน่ง เช่น ผู้พิพากษาศาลสูง รัฐสภาต้องรับรอง นี่คือการตรวจสอบ ตกลงรัฐธรรมนูญที่รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพร้อมทั้งมีกลไกต่างๆ มันใช้ไม่ได้จริง มันก็มีใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยซึ่งขาดความศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่สามารถที่จะลงหลักปักฐานในสังคมได้ ถามว่าจะทำอย่างไร ผมคิดว่า มันต้องใช้ ใช้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานขึ้น คือ โดยหลัก ตัวผู้ใช้อำนาจในองค์กรต่างๆ ต้องเคารพต่อประชาชน หากปรากฏว่ามีการเพิกเฉย หรือละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่ถูกสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบและบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ดี ไอ้ที่ว่านี้มันก็เป็นกลไกในเชิงเทคนิค รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในเชิงรูปแบบ ไม่ได้ให้ในเชิงเนื้อหา มันจึงต้องมีการสร้างอำนาจต่อรอง ตรวจสอบ กดดันการใช้อำนาจของผู้แทน หรือผู้ปกครองได้จริงๆ ต้องกดดันให้เขาทำตามเรา ตรงนี้มันก็ต้องใช้อะไรหลายอย่าง เช่น ระบบการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พื้นที่สื่อที่ต้องพยายามเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้าถึง ได้ใช้ ได้ส่งเสียง เพราะพวกนี้นี่แหละคือการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับประชาชน ส่วนในเรื่องของกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่างๆ มันถือเป็นส่วนเสริมให้มันเติมเต็มสมบูรณ์มากขึ้น เราปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่ได้ ดังนั้นมันจะไปพร้อมกับประชาธิปไตยทางตรงอย่างไร จริงๆ แล้วประชาธิปไตยแบบตัวแทน ชื่อมันบอกว่าตัวแทน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะต้องเป็นการกระทำผ่านตัวแทนเสียหมด นานาอารยประเทศเขาก็เอากลไกของประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ควบคู่กันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ในมุมของผมๆ ว่ามันเป็นการถ่วงดุลกับระบบตัวแทนเสียด้วยซ้ำ เพราะเราการันตีไม่ได้ว่าตัวแทนที่เราเลือกเขาไปจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง หรือจะทำการใดๆ ไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนแท้จริง ว่ากันง่ายๆ คุณอย่าไปฝากความหวังไว้กับคนดี หรือตัวแทนที่ดี เพราะมันไม่มีหรอกครับ ฉะนั้น จึงต้องสร้างระบบควบคุมตรวจสอบและอุดช่องว่างควบคู่กันมาในกรณีที่ตัวแทนของคุณไม่ได้ทำตามหน้าที่ๆ เขาพึงกระทำ ถ้ามาตั้งหลักที่แนวคิดสัญญาประชาคม ถ้าเราไม่พอใจ เราเรียกอำนาจอธิปไตยคืนได้ นั่นคือกลไกการถอดถอน (recall) ผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง หากคุณเห็นว่า เขาใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และความยุติธรรม แต่บ้านเราเหมือนกับว่า เมื่อมอบอำนาจให้เขาไปแล้ว ให้แล้วให้เลย เรียกคืนไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 พบว่า การถอดถอนต้องไปผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน แล้วหากเขาไม่ถอนเพราะมีการล็อบบี้ในทางการเมืองล่ะ บางฝ่ายอาจจะกลัวว่า ให้ประชาชนถอดถอนเอง เดี๋ยวมีปัญหา ประชาชนไม่มีความรู้ เดี๋ยวโดนหลอก ผมว่าไม่ใช่หรอกครับ คนเดี่ยวนี้เขาไม่โง่หรอก เหมือนที่พยายามตอกย้ำกันว่า ประชาชนโดนซื้อเสียงง่าย แต่งานวิจัยก็มีแยะที่พิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะมาให้ สองร้อย สามร้อย ห้าร้อย เพื่อที่จะเลือกคนนั้นคนนี้ ถ้าเขาไม่มีอารมณ์ร่วมผมว่าคุณซื้อเขาไม่ได้หรอก ไม่ต่างกับการไปชุมนุมนั่นแหละ อย่างน้อยมันต้องมีเรื่องอารมณ์ร่วม มันต้องมีจุดเกาะเกี่ยวบ้าง ตรงนี้ก็เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้หรอกที่ ส.ส. คนนี้ทำประโยชน์ให้กับจังหวัดคุณ แต่อยู่ดีๆ มีใครก็ไม่ทราบมาซื้อเสียงคุณ กลับกัน หากส.ส.ไม่ได้ใส่ใจ ไม่เคยเป็นปากเป็นเสียงให้ แบบนี้ ต่อให้ซื้อเสียงประชาชนก็ไม่เลือก ...........................
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักศึกษานิติ มธ. ลงพื้นที่ศึกษากฎหมายจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง Posted: 16 Jan 2011 11:06 AM PST 16 ม.ค.54 ที่ป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลาประมาณ 13.00 น. นักศึกษาชั้นปริญญาตรี ปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนการการใช้กฎหมายจริงจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จำนวนกว่า 800 ไร่ ซึ่งในปัจจุบันจากการติดตามตรวจสอบทำให้กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 52 แปลง ตั้งแต่ วันที่ 5 ม.ค. 53 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 53 ได้มีคำสั่งใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ผู้บุกรุกทั้ง 52 แปลง ออกจากพื้นที่ นายสุพจน์ ส่งเสียง แกนนำชาวบ้านได้เรียกร้องให้นักศึกษาช่วยค้นหาความเหมือนและความแตกต่างของการใช้กฎหมาย กรณีการใช้มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมาย มาตรา 25 ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนความสำคัญหลายอย่างทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง ป่าไม้ถาวร พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และวนอุทยาน ท้ายที่สุดอาจมีความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ด้านอาจารย์ปริญญา กล่าวว่า การมาครั้งนี้เป็นการนำนักศึกษาที่เรียนวิชา หลักวิชาชีพนักกฎหมาย มาลงพื้นที่เป็นครั้งแรกเพื่อศึกษาถึงอุปสรรคและช่วยค้นคว้าในเรื่องของข้อกฎหมายเพื่อนำมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ใช้กับประชาชนผู้เดือดร้อน ซึ่งหวังว่านักศึกษาจะสามารถช่วยเหลือทางกลุ่มในด้านข้อกฎหมายไม่มากก็น้อย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ตูนีเซียเร่งตั้งรัฐบาลรักษาการ หลัง ปธน. หนีไปซาอุฯ Posted: 16 Jan 2011 10:48 AM PST ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมในตูนีเซียยังไม่สงบลง ก็มีเหตุเพลิงไหม้เรือนจำในเมืองโมนาสเทอ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 42 ราย โดยประธานาธิบดี Zine al-Abidine Ben Ali ได้หลบหนีไปยังซาอุดิอารเบีย ขณะที่ในประเทศจะมีการตั้งรัฐบาลรักษาการ สำนักข่าว BBC รายงานว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลังจากที่โฆษกรัฐสภาประกาศให้ Foued Mebazaa ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี และนอกจากนี้ยังมีการขอให้นายกรัฐมนตรี Mohammed Ghannouchi จัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ Wyre Davis ผู้สื่อข่าว BBC ที่รายงานสถานการณ์ในพื้นที่กล่าวว่า "พบรถถังอยู่ทุกมุมในย่านใจกลางเมือง" ขณะเดียวกันก็รายงานว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดูจะผกผันกับความคืบหน้าทางการเมือง และทั้งกองทัพและรถถังก็ออกมาคุ้มกันสถานที่ราชการไว้ ทำให้ท้องถนนถูกทิ้งร้าง ขณะที่ประชาชนยังคงเฝ้าหาทางประเมินว่ารัฐบาลรักษาการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในวงกว้างได้หรือไม่ มีผู้พบเห็นเหตุการณ์เพลิงไหม้คนแรกรายงานเรื่องนี้กับสำนักข่าว Reuters บอกว่าเรือนจำทั้งหมดตกอยู่ใต้เปลวเพลิง มีการปล้นชิงข้าวของในเขตชานเมืองช่วงกลางคืน ซึ่งส่วนใหญ่เป้าหมายที่ถูกขโมยจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส สถานีรถไฟสายหลักของเมืองถูกเพลิงลุกลามได้รับความเสียหายอย่างมาก การประท้วงในตูนีเซียยาวนานกว่า 4 สัปดาห์มาจากเรื่องความไม่พอใจเกี่ยวกับปัญหาการว่างงานในวงกว้าง ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และการคอร์รัปชั่น ขณะที่มีการประท้วงทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนหลายสิบคนเสียชีวิต จนทำให้สหภาพแอฟริกาออกแถลงการณ์ประณาม "การใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม" โดยที่ประธานาธิบดี Ben Ali ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนาน 23 ปี ก็ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่มีเหตุวุ่นวายจากการชุมนุมใหญ่ในตูนิส เขาหนีออกจากตูนีเซียพร้อมครอบครัวและหลังจากที่ฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะให้เครื่องบินลงจอดในประเทศ จึงมีการนำเครื่องลงเติมเชื้อเพลิงที่ซาร์ดีเนีย ก่อนออกเดินทางไปยังซาอุดิอารเบียต่อ สำนักพระราชวังซาอุฯ ออกแถลงการณ์ว่า"ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงต่อสถาณการณ์ที่ประชาชนชาวตูนีเซียผู้เป็นเสมือนพี่น้องกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนความมั่นคงและมีเสถียรภาพของประเทศพวกเขา รัฐบาลซาอุดิจึงขอต้อนรับประธานาธิบดี Zine al-Abidine Ben Ali และครอบครัวเข้ามาสู่ประเทศ" ทางด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy กล่าวว่าประชาชนชาวตูนีเซียได้ "แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงแห่งประชาธิปไตย" และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วที่สุด ส่วนเลขาฯ การต่างประเทศของอังกฤษแสดงการประณามการใช้ความรุนแรงและการปล้นชิงทรัพย์จากทั้ง 2 ฝ่าย และขอให้กลับมาอยู่ในความสงบ ประเทศอาหรับในภูมิภาคใกล้เคียงไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ ต่อเหตุการณ์มากนัก เว้นแต่กลุ่มสหพันธ์อาหรับ (Arab League) เรียกร้องให้กลุ่มทางการเมืองในตูนีเซีย "มีความกลมเกลียวปรองดองกัน" เพื่อรักษาสันติ Tunisia: Deadly jail fire in unrest after Ben Ali exit, 15-01-2011, BBC http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-12198396 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น