โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ออง ซาน ซูจี พบ กษิต ภิรมย์ ที่สถานทูตไทยในย่างกุ้ง

Posted: 21 Jan 2011 12:17 PM PST

เจ้าหน้าที่พรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจี ได้พบกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นเวลา 1 ชั่วโมง นับเป็นการพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศอื่นเป็นครั้งแรกหลังจากนางได้รับอิสรภาพหลังถูกกักบริเวณ

ในเว็บไซต์อิระวดี มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้สนทนาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำเมืองย่างกุ้ง ที่ตั้งอยู่บนถนนแปร ทั้งนี้ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในพรรคเอ็นแอลดี

"การสนทนาดังกล่าว ค่อนข้างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสนทนา" เจ้าหน้าที่ของพรรคระบุ

ทั้งนี้นับเป็นการพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากประเทศอื่น นับตั้งแต่นางออง ซาน ซูจีได้รับการปล่อยตัวหลังถูกกักบริเวณในบ้าน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Suu Kyi Meets Thai FM, Irrawaddy, Friday, Jan. 21, 2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ออง ซาน ซูจี” เริ่ม “ออนไลน์” แล้ว และรู้วิธีใช้ “เว็บพร็อกซี่”

Posted: 21 Jan 2011 10:46 AM PST

โฆษกเปิดเผยว่า “ออง ซาน ซูจี” ติดตั้งอินเทอร์เน็ตได้เป็นผลสำเร็จตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้แล้ว ด้านเยาวชนพรรคเอ็นแอลดีเผยว่านางรู้ว่าหลายเว็บถูกแบนในพม่า แต่มีการสอนให้ใช้ “เว็บพร็อกซี่” แล้ว ขณะที่เพื่อนนักการเมืองยังขำเรื่องที่ซูจี จะมีบทบาททางการเมืองผ่านการใช้เน็ต เพราะหลายพื้นที่ยังไม่มีสายโทรศัพท์ และกระแสไฟติดๆ ดับๆ

เว็บไซต์อิระวดี รายงานวันนี้ (22 ม.ค.) โดยอ้างคำพูดของนายเนียน วิน ทนายความและโฆษกของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของพม่า ว่า นางออง ซาน ซูจี ซึ่งไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตมาก่อน ได้เริ่มต่ออินเทอร์เน็ตแล้วตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 ม.ค.)

โดยโฆษกของนางออง ซาน ซูจีเปิดเผยว่า เดิมทีนางออง ซาน ซูจี ใช้อินเทอร์เน็ตของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง แต่ไม่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ จึงเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตของยาดานาบอง เทเลพ็อท (Yatanarporn Teleport) ซึ่งเป็นของรัฐบาล ในราคา 1 แสน 2 หมื่นจ๊าต (120 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,600 บาท)

นายยาร์ซาร์ ผู้นำเยาวชนพรรคเอ็นแอลดี กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีด้วยว่า เขาเคยแสดงความห่วงใยไปยังนางออง ซาน ซูจีไปแล้ว ในเรื่องความไม่ปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่า แต่นางกล่าวว่าเธอไม่ได้สนใจในเรื่องนี้

“ผมบอกเธอในเรื่องความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งต้องมีความตระหนัก แต่เธอกล่าวว่าเธอจะไม่ทำในสิ่งที่เป็นความลับ และไม่มีอะไรที่จะต้องปกปิดรัฐบาล” เขากล่าว และกล่าวด้วยว่า นางออง ซาน ซูจีมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี และเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว

“เธอรู้ว่า หลายเว็บถูกแบนในพม่า แต่พวกเราสอนให้เธอ ‘บายพาส’ ผ่านเว็บ ‘พร็อกซี่’” นายยาร์ซาร์ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงที่นางออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัว เคยกล่าวว่า เธอปรารถนาจะใช้เว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างทวิตเตอร์ ในการสื่อสารกับคนหนุ่มสาวทั่วโลก (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) และนับตั้งแต่เธอได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน เธอได้ขอให้เพื่อนร่วมงานทางการเมืองสอนให้เธอสื่อสารกับผู้คนโดยอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้แนวคิดของออง ซาน ซูจี ที่จะมีบทบาททางการเมืองผ่านเว็บ ในประเทศที่กระแสไฟฟ้าไม่มีความมั่นคง และสาธารณูปโภคอยู่ในระดับย่ำแย่ ได้กลายเป็นเรื่องขบขันสำหรับเพื่อนร่วมงานทางการเมืองของเธอ

เซียง ชิน ทัง (Siang Chin Thang) ผู้นำชาวชิน กล่าวว่าเขารู้สึกขบขันเมื่อออง ซาน ซูจี สนทนากับเขาและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คนอื่นๆ หลังจากที่นางกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะสนทนากับพวกเขาผ่านอินเทอร์เน็ต

“อย่าได้เอ่ยถึงการใช้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ผ่านอินเทอร์เน็ต, เรายังไม่มีแม้แต่สายโทรศัพท์เลย” เขากล่าว “นอกจากนี้ ไฟฟ้าก็ติดๆ ดับๆ เราไม่มีความเห็นอะไรกับไอเดียของนาง”

นายยาร์ซาร์ กล่าวเช่นกันว่าเขาสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ต ที่จะเหมาะกับความต้องการที่นางออง ซาน ซูจีจะใช้ติดต่อสื่อสารกับประชาชนในพม่า แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่า หากนางออง ซาน ซูจี ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญและคนหนุ่มสาวภายนอกประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่าใช้กฎหมายอิเล็กทรอนิกส์คุมขังดาราตลก “ซาร์กานาร์” (Zarganar) ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลผู้มีชื่อเสียง

โดยผู้สื่อข่าวอิระวดีถามคำถามต่อนายเนียน วิน โฆษกของนางออง ซาน ซูจีว่า ในการใช้อินเทอร์เน็ต นางมีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายหรือไม่ นายเนียน วิน ตอบว่า “เธอมีที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์”

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นางออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัว นางหลีกเลี่ยงที่จะออกนอกเมืองย่างกุ้ง และเลี่ยงที่จะเดินทางไปยังส่วนอื่นของประเทศ เพื่อจุดการชุมนุมพบปะผู้สนับสนุน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับรัฐบาล

มีรายงานด้วยว่า ในช่วงนี้ นางใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประชุมกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี และทูตต่างประเทศ เธอเพิ่งกล่าวว่าเป็นเวลานานมากแล้วที่เธอไม่ได้ทำสมาธิ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของเธอ

“นางดูหมดแรงในช่วงหลายวันมานี้ สุขภาพของนางเริมได้รับผลกระทบ” นายเนียน วิน กล่าว

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Suu Kyi Readies for Cyberspace, By BA KAUNG, Irrawaddy, Saturday, January 22, 2011, http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=20583

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าเกณฑ์ชาวบ้านอยู่ "เมืองทา" กิ่งอำเภอใหม่ ตรงข้ามเชียงใหม่

Posted: 21 Jan 2011 10:10 AM PST

ทหารพม่าเตรียมอพยพชาวบ้านใน อ.เมืองโต๋น ไปอยู่เมืองทา กิ่งอำเภอใหม่และที่ตั้งกองบัญชาการควบคุมยุทธการแห่งใหม่ของกองทัพพม่า อยู่ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผบ.ยุทธการทหารพม่าประจำบ้านปุ่งป่าแขม อ.เมืองโต๋น จ.เมืองสาด รัฐฉานภาคตะวันออก ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศแจ้งประชาชนในพื้นที่ว่า สิ้นเดือนมกราคมนี้ ประชาชนที่ไม่ใช่คนพื้นเพดั้งเดิมของอ.เมืองโต๋น จะต้องย้ายไปอยู่เมืองทา เมืองที่ทางการพม่าตั้งเป็นกิ่งอำเภอใหม่ ของจ.เมืองสาด อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านตรงข้ามบ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 44 กม.

แหล่งข่าวเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋นมีราษฎรย้ายจากที่อื่นมาอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งเพิ่งมาอยู่ใหม่และมาอยู่นานนับสิบปี ส่วนใหญ่มาจากหลายเมืองในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ เช่น เมืองปั่น เมืองลางเครือ เมืองลายค่า เมืองกุ๋นฮิง เมืองกาลิ รวมถึงเมืองล่าเสี้ยว ที่อยู่กันมากที่สุดคือที่บ้านนากองมู ซึ่งทั้งหมดจะถูกสั่งบังคับย้ายไปอยู่เมืองทา ในเร็วๆ นี้

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้นำรถบรรทุก 9 คัน ขนอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งไม้และคา จากเมืองโต๋นไปยังเมืองทา สำหรับสร้างสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแล้ว ซึ่งเมืองทา ปัจจุบันมีบ้านเรือนชาวบ้านอยู่เพียง 10 กว่าหลังคาเรือน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ตานทุนอู แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม (บก.เชียงตุง) กล่าวระหว่างเดินทางตรวจเยี่ยมกำลังพลในพื้นที่เมืองทา ว่า เมืองทาจะเป็นกิ่งอำเภอใหม่ ของจังหวัดเมืองสาด และจะเป็นที่ตั้งกองบัญชาการควบคุมยุทธการแห่งใหม่ (ภาษาพม่าเรียก ปิ่วห่า เทียบเท่ากองพลน้อย มีกำลังทหาร 3 กองพัน)

ด้านนักสังเกตุการณ์ชายแดนแสดงความเห็นว่า การตั้ง บก.ควบคุมยุทธการของกองทัพพม่าในพื้นที่เมืองทา เป็นแผนตัดกำลังทหารกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งกองทัพพม่าอาจใช้เป็นศูนย์รวมกำลังพลที่หากเกิดการสู้รบกับทหารกอง กำลังว้า UWSA หรือ ทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA ที่เคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย จะสามารถเรียกกำลังเสริมได้ทันที

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ขณะนี้ประชาชนที่รู้ตัวว่าไม่ใช่คนดั้งเดิมของเมืองโต๋น ต่างเป็นกังวลกันมาก เนื่องจากหากถูกสั่งย้ายไปอยู่เมืองทา จะทำให้สูญเสียไร่นาบ้านเรือน อีกทั้งจะทำให้การทำมากินยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมืองทา เป็นเมืองปิดไม่มีทางผ่านสู่เมืองอื่น ขณะที่ประชาชนหลายคนกล่าวว่า หากต้องถูกสั่งย้ายไปอยู่เมืองทาจะเลือกย้ายเข้าประเทศไทยดีกว่า

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาจารย์ราชภัฎโคราชเรียกร้องรัฐบาลจับแรงงานกัมพูชา และปิดพรมแดนไทยเป็นการตอบโต้

Posted: 21 Jan 2011 08:22 AM PST

ภาคีคณาจารย์นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการกดดันทุกวิถีทางเพื่อตอบโต้กรณีจับคณะ 7 คน โดยเสนอให้จับแรงงานกัมพูชาที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และปิดพรมแดนไทย ด้าน “ปานเทพ” ยัน พันธมิตรฯ ชุมนุม 25 ม.ค. นี้แน่นอน เรียกร้องรัฐบาลเลิกเอ็มโอยู ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก และผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย

อาจารย์ราชภัฎโคราชประณามฮุน เซน ยัดข้อหา-แทรกแซงศาล

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (21 ม.ค.) ที่ชั้น 2 อาคารโปรแกรมทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ภาคีคณาจารย์นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำโดย ผศ.ดร.สามารถ จับโจร พร้อมนักศึกษากว่า 20 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กรณีจับกุม 7 คนไทย และแสดงอำนาจเหนืออธิปไตยแผ่นดินไทย

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวประณามรัฐบาลไทยว่าไม่ได้แสดงความเข้มแข็งที่จะใช้มาตรการกดดันต่อกัมพูชาเพื่อให้ ปล่อยตัว 7 คนไทยอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามยัดเยียดความปราชัยให้แก่คนไทยด้วยการ กล่าวหาให้ร้ายว่า ถูกจับกุมในฝั่งของกัมพูชา

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ขอประณามสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่พยายามแทรกแซงกระบวนการศาลของกัมพูชา และพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหาให้คนไทย และขอประณาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่นคง) ที่พยายามให้สัมภาษณ์ ว่า คนไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำดินแดนกัมพูชา ซึ่งคำพูดดังกล่าวอาจส่งผลร้ายแรงกลายเป็นปมผูกมัด 7 คนไทย ในกระบวนการศาลของฝ่ายกัมพูชาได้

 

เรียดร้องให้รัฐบาลไทยจับกุมแรงงานกัมพูชา ปิดพรมแดนไทย

ทั้งนี้ ภาคีคณาจารย์นักศึกษาฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ 1.ให้ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยด่วน เพื่อรักษาดินแดนไม่ให้สูญเสียไปกับการรุกล้ำโดยประชาชนคนกัมพูชา และดำเนินการกวดขันการลักลอบกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าว เช่น การลักลอบค้าขายโค กระบือเถื่อน, การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยเฉพาะไม้พะยูง และการลักลอบนำเข้ารถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา

2.ให้กดดันกัมพูชาทุกรูปแบบเพื่อให้ปล่อยตัว 7 คนไทยโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เช่น การดำเนินการกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ที่หนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ขณะนี้มีกว่า 200,000 คน ผลักดันกลับประเทศทันที, ดำเนินการปิดด่านพรมแดนเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำที่ไม่ชอบธรรมต่อการกระทำดังกล่าว

3.ให้ผู้ที่กล่าวโทษให้ร้ายคนไทยทั้ง 7 คน ว่า บุกรุกและถูกจับกุมในกัมพูชาได้โปรดแสดงความรับผิดชอบออกมาขอโทษในฐานะที่ เป็นคนไทยแต่ใจเขมรกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น 4.รัฐบาลต้องไม่ยอมรับกระบวนการตัดสินของกัมพูชา เพราะหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า คนไทยถูกจับกุมตัวในราชอาณาจักรไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปล่อยตัวคนไทยอย่างไม่มีเงื่อนไข

และ 5.ขอเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มคนไทยทั้ง 7 คน ที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนของชาติ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง ทำให้ประชาชนตาสว่างและขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

“ภาคีคณาจารย์นักศึกษาฯ พร้อมให้การสนับสนุนการชุมนุมใหญ่ของประชาชนเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย (พธม.) ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงออกถึงการร่วมปกป้องประเทศชาติบ้านเมือง และแผ่นดินไทย โดยภาคีคณาจารย์นักศึกษาฯ จะเข้าร่วมในการแสดงพลังครั้งนี้ด้วย และขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศออกมารวมพลังกันให้มากด้วย” ผศ.ดร.สามารถ กล่าว

 

พันธมิตรฯ ยันชุมนุม 25 ม.ค. แน่นอน เรียกร้องให้ผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าววันนี้ (21 ม.ค.) ว่า พันธมิตรฯยังยืนยันที่จะชุมนุมที่สะพานมัฆวาน ในวันที่ 25 มกราคม นี้ อย่างแน่นอน และยังคงวัตถุประสงค์เดิมเพื่อกดดันรัฐบาล ใน 3 ประเด็น ที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ 1.รัฐบาลจะต้องยกเลิกข้อผู้พันที่มีต่อแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน และเอ็มโอยู 43 2.ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก 3.ผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งถ้าก่อนหน้านี้ รัฐบาลแก้ทั้ง 3 ข้อนี้ ปัญหาการจับ 7 คนไทยจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องนี้ เราก็จะชุมนุมจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง ส่วนจำนวนมวลชนนั้น คาดว่า จะมีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดความสนใจจากประชาชนได้ เพราะว่า พันธมิตรฯได้มีการเดินสายสัมมนาตามจังหวัดต่างๆ มาบ้างแล้ว ทำให้มีกระแสความสนใจจากประชาชน นอกจากนี้ สมณโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก ที่ชุมนุมร่วมกับเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ได้ประสานมาทางแกนนำว่าจะมาร่วมชุมนุมกับเราด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ก็ชุมนุมในเรื่องเดียวกัน ทำไมไม่ร่วมเวทีเดียวกัน นายปานเทพ กล่าวว่า เราไม่ปิดกั้นอยู่แล้ว แต่การชุมนุมของแต่ละกลุ่มนั้นไม่เหมือนกัน จะมีกลยุทธ์ กลวิธีที่แตกต่างกันออกไป และการดำเนินการของเราก็จะมีการบริหารจัดการ รวมทั้งต้องมีมติรองรับในการดำเนินการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แกนนำสหภาพแรงงานถูกทำร้ายร่างกาย ช่วงเจรจาข้อตกลง

Posted: 21 Jan 2011 08:10 AM PST

สหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ส ร้อง รองประธานสหภาพฯ ถูกหัวหน้างานคนหนึ่งและพวก รุมทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นช่วงที่สหภาพแรงงานกำลังยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัท

21 ม.ค. 54 - สหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ในฐานะพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน) และกรรมการผู้จัดการบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส เรื่องขอให้แก้ไขปัญหาหัวหน้างานโดยมิชอบ

ทั้งนี้สหภาพแรงงานฯ ได้อ้างถึงการยื่นข้อพิพาทยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ต่อบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 53 และมีการเจรจาตามขั้นตอนตามกฎหมายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ โดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. 54

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 54 ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ระบุว่า เวลาประมาณ 06.15 น. รองประธานสหภาพฯ คือนายชัยพร ทาเชาว์ ได้ถูกทำร้ายร่างกาย และนายชัยพรได้เข้าแจ้งความที่ สภ.บ่อวิน สาขาบึง ว่าได้ถูกหัวหน้างานคนหนึ่งของบริษัท และพวกรุมทำร้ายร่างกาย

โดยสหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ระบุว่านายชัยพร นอกจากเป็นรองประธานสหภาพแล้ว ยังเป็นตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน และได้ให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่าตนเองไม่เคยมีเรื่องกับใครมาก่อน นอกจากการเป็นตัวแทนของพนักงานในการนำเรื่องเข้าหารือกับผู้บริหาร ในเรื่องการเปลี่ยน Line ผลิตใหม่ที่มีจุดทำงานไม่ปลอดภัยหลายจุด ซึ่งหลายครั้งได้มีการถกเถียงกัน และฝ่ายบริหารหัวหน้างานก็ไม่รับฟังเหตุผลและไม่ได้นำไปแก้ไขแต่อย่างใด และได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งอาจทำให้หัวหน้างานบางคนไม่พอใจตนเองก็เป็นได้ รวมถึงประเด็นที่ผู้แจ้งความความเป้นรองประธานสหภาพฯ และเป็นตัวแทนของสหภาพในการยื่นข้อเรียกร้อง

โดยหลังเกิดเหตุสหภาพฯ ได้ขอให้บริษัทฯ ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่บริษัทฯ ปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ โดยระบุว่าให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ทางสหภาพฯ จึงได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อขอให้บริษัทฯ เร่งดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พนักงาน สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานทุกคนต่อไป แถลงการณ์ของสหภาพแรงงานดังกล่าวระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก 9 เดือน 5 คนไทย แต่ให้รอลงอาญา

Posted: 21 Jan 2011 07:07 AM PST

ศาลกัมพูชาตัดสินคดี 5 คนไทยหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแล้ว โดยจำคุก 9 เดือนปรับ 1 ล้านเรียล แต่ให้รอลงอาญาและให้กลับไทยได้ ด้าน "พนิช" ให้การต่อศาล ระบุไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่กัมพูชา และแยกชาวบ้านไม่ออกว่าเป็นคนไทยหรือกัมพูชาเพราะหน้าคล้ายกัน ขณะที่ "วีระ" เตรียมขึ้นศาลคดีจารกรรม

จากกรณีที่มีคณะคนไทย 7 คน ได้แก่ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นายวีระ สมความคิด นายกิชพลธรณ์ ชุสนะเสวี ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายตายแน่ มุ่งมาจน นางนฤมล จิตรวะรัตนา น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ และนายพนิช วิกฤติเศรษฐ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้าน ภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ต.โอเบยเจือน อ.โจรว จ.บันเตียเมียเจย ตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ บ้านหนองจันทร์ ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว และถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชา ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 และถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และบุกรุกพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น

ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ม.ค.) ศาลกัมพูชาได้ไต่สวนคนไทยทั้ง 5 คน โดยทั้ง 5 คน ได้ให้การเหมือนกันว่า ไม่มีเจตนาเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพบป้ายที่เขียนเป็นภาษากัมพูชา และไม่อาจทราบได้ว่าเป็นพื้นที่หวงห้าม ขณะที่ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ให้การว่า ไม่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ของกัมพูชาเช่นกัน เนื่องจากไม่มีป้ายเป็นภาษากัมพูชา และแยกไม่ออกว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวเป็นคนไทยหรือกัมพูชา เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายๆ กัน

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นกัมพูชาได้อ่านคำพิพากษาคนไทย 5 คน ประกอบด้วย นายพนิช วิกิตเศรษฐ ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายตายแน่ มุ่งมาจน จากสันติอโศก นายกิชพลธรณ์ ชุสนะเสวี ผู้ช่วยนายพนิช และนางนฤมล จิตรวะรัตนา

ศาลกัมพูชา ตัดสินว่า จากพยานหลักฐานทั้งหมดเห็นชัดว่า บุคคลทั้ง 5 นั้น มีเจตนาเข้าเขตแดนกัมพูชาจริง ศาลตัดสินให้ปรับเงินคนละ 1 ล้านเรียล หรือ 1 หมื่นบาท และลงโทษจำคุก 9 เดือน แต่โทษจำคุกนั้น ทั้ง 5 คนอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 53 จึงเหลือระยะเวลารับโทษ 8 เดือน ศาลให้รอลงอาญา โดยอนุญาตให้ทั้ง 5 คน กลับประเทศไทยได้ทันที แต่ช่วง 8 เดือนที่รอลงอาญา ห้ามทั้ง 5 คนกระทำผิดซ้ำ คือห้ามเข้าเขตแดนกัมพูชาโดยผิดกฎหมายอีก

หลังศาลกัมพูชาอ่านคำพิพากษา นายพนิช กล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ถึงคำตัดสินดังกล่าวว่า "แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน"

ส่วนนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ กำลังรอศาลกัมพูชาพิจารณาคดี เนื่องจากทางการกัมพูชาได้ตั้งข้อหาจารกรรมข้อมูลกับคนไทยทั้ง 2 เพิ่มเติมจากข้อหาหลบหนีเข้าเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: หนุ่มสาวเอย...เจ้าเคยหรือยัง

Posted: 21 Jan 2011 05:04 AM PST

หนุ่มสาวเอย  เจ้าเคยหรือยัง

สู้เพื่อสร้าง  โลกใหม่ใฝ่ฝัน

เพื่อดอกไม้บาน  ต้านแสงตะวัน

เราเขาเธอฉัน  เท่ากันทุกคน

 

หนุ่มสาวเอย  เจ้าเคยใช่ไหม

เห็นผู้ยากไร้  ตายข้างถนน

ผู้ถูกกดขี่  แววตาที่ทุกข์ทน

เห็นใช่ไหมสายฝน  ปนเลือดหยดหยาดมา

 

หนุ่มสาวเอย  เจ้าเคยรู้ใช่ไหม

สายลมชนิดใด  ให้หวนร่ำหา

เมล็ดพันธุ์ใด  หยั่งรากไว้กลางท้องนา

ไหวใดดอกไม้ป่า  ผลิท้าแรงลมบน

 

หนุ่มสาวเอย เจ้าเคยเชื่อใช่ไหม

เราจักจุดดวงไฟ  ส่องทางไปทุกแห่งหน

จักทอดกายลงต้าน  ทวนทานสายน้ำวน

จักพลีร่างเป็นทางทน  ให้มวลชนฝ่าข้ามไป

 

หนุ่มสาวเอย  เจ้าเคยหรือยัง

ลุกขึ้นสู้เพื่อสร้าง  โลกแห่งฝันใฝ่

ลบรอยคราบน้ำตา  ประชาราษฎร์ผู้ยากไร้

หยัดยืนอย่างท้าทาย  มอบหัวใจให้ชาวนา

 

หนุ่มสาวเอย เจ้าเคยหรือยัง

ตายเพื่อสร้าง สังคมก้าวหน้า

ยืนยันสิทธิเสรี  วิถีมวลประชา

หนุ่มสาวเอยลุกขึ้นมา  เปลี่ยนโลกใหม่ด้วยมือเรา

 

เพียงคำ ประดับความ

21 มกราคม 2554

 

หมายเหตุ บทกวีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) ที่ตูนิเซีย  และบทเพลงหนุ่มสาวเสรี ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:รถด่วนขบวน 112

Posted: 21 Jan 2011 03:31 AM PST

ขณะดูหนังฝรั่งฉากที่คนเป็นแม่กำลังว่ากล่าวตักเตือนลูกชายที่เกกมะเหรก เกเรว่า “อย่าไปมีปัญหากับกฎหมาย” ผมไพล่คิดไปว่าถ้าเป็นกรณีเมืองไทยพ่อแม่จะพูดว่าอย่างไร ผมจำไม่ได้ว่าในหนังหรือละครทีวีไทยเรื่องไหน แต่จำได้ว่าในท้องเรื่องพ่อแม่ซึ่งเป็นคนชนบทยากจนบอกลูกชายซึ่งก็ไม่ได้มี ทีท่าว่าจะออกนอกลู่นอกทางแต่อย่างใดว่า “อย่าไปมีเรื่องกับคนมีอำนาจ” เรื่องเล่าทั้งสองเรื่องชี้ให้เห็นความเข้าใจและความเป็นจริงของชีวิตที่แตก ต่างกันของคนในสองสังคมอย่างสำคัญ 

ตัวละครฝรั่งคิดว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในสังคมที่กฎหมายเป็นแหล่งของระเบียบและ อำนาจ การทำผิดกฎหมายจะนำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิต จึงควรเลี่ยงเสีย แต่ตัวละครไทยคิดว่าพวกเขาอยู่ในสังคมที่กติกาถูกกำหนดโดยคนที่มีอำนาจ ฉะนั้น แทนที่จะมัวกังวลว่าจะทำผิดกฎหมายข้อไหน คนธรรมดาหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเขาจำต้องระมัดระวังว่าอย่าไปขวางทางผู้มี อำนาจคนใดเข้า หาไม่แล้วชีวิตจะลำบาก 

แต่การให้ภาพที่ต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นนี้ชวนให้ไขว้เขวและมองไม่เห็นความ สลับซับซ้อนที่แฝงอยู่ เพราะในสังคมฝรั่งมีหลายสถานการณ์ที่ระเบียบไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย เช่น ในย่านคนมีรายได้น้อยมักมี “ขาใหญ่” คุม ในเวลาเกิดความวุ่นวายในสนามกีฬา ตำรวจมักอาศัยความสามารถในการใช้ความรุนแรงในการควบคุมผู้คนแทนที่จะเป็นตัว บทกฎหมาย ฯลฯ ในทำนองเดียวกัน กฎระเบียบของคนที่มีอำนาจในสังคมไทยไม่ได้แยกขาดจากกฎหมาย เพราะนอกจากจะเอื้อให้ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นเจ้าพ่อ และผู้มีอิทธิพล กฎหมายไทยเป็นที่มาของการมีอำนาจนอกกฎหมายที่ถูกกฎหมาย

นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเสนอว่าการทำความเข้าใจ “อำนาจเหนือหัว” (sovereignty ซึ่งมักแปลกันว่าอำนาจอธิปไตย) มักมุ่งไปที่อำนาจในการบังคับใช้กฎระเบียบ แต่ไม่สู้ให้ความสำคัญกับอำนาจในการงดใช้กฎระเบียบ ทั้งๆ ที่ความสามารถในการงดใช้กฎระเบียบคือหัวใจของอำนาจเหนือหัว เพราะคุณสมบัติสำคัญของ “เจ้าเหนือหัว” (sovereign) คือการมีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการยกเว้นการประยุกต์หรือบังคับใช้กฎหมาย นักคิดคนดังกล่าวเสนอว่าเพราะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยกเว้นการบังคับใช้ กฎหมาย เจ้าเหนือหัวจึงวางตัวเองอยู่นอกกฎหมายอย่างถูกกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคืออยู่นอกและในกฎหมายในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์กับกฎหมายอย่างขัดกันจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของเจ้าเหนือหัว

คุณูปการสำคัญประการหนึ่งของการพิจารณาอำนาจในลักษณะเช่นนี้คือการชี้ให้ เห็นว่าอำนาจที่เชื่อว่าเป็นของคู่ยุคโบราณไม่ได้เลือนหายไปไหน แต่ยังคงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาในยุคปัจจุบันควบคู่ไปกับอำนาจสมัยใหม่ จำพวกระเบียบวินัยและข้อควรปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานที่จำพวกค่ายผู้อพยพ สถานกักกัน หรือแม้กระทั่งบางส่วนของสนามบิน เพราะถึงแม้ว่าสถานที่เหล่านี้จะดูมีความจำเพาะหรือเป็นข้อยกเว้น แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปฏิบัติการอำนาจประเภทนี้ที่มีให้เห็นโดยทั่วไป

สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับอำนาจประเภทนี้ แต่ก็มีลักษณะจำเพาะที่จำเป็นต้องพิจารณาปัญหาแตกต่างออกไป เพราะความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของระเบียบความ สัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองไทย แทนที่จะจำกัดอยู่ในบางสถานที่หรือบางสถานการณ์เช่นในสังคมฝรั่ง กล่าวในระดับการเมืองการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” (ซึ่งใกล้เคียงกับ Constitutional Monarchy แต่ก็ไม่ใช่) มีคุณลักษณะสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาทิ จากเดิมที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประหารชีวิต ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเพียงพระองค์เดียวที่สามารถพระราชทานอภัยโทษ ประหารชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงสามารถยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ได้ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้พระองค์ทรงอยู่พ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย ทุกข้อ หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงอยู่นอกและในกฎหมายในเวลาเดียวกัน

การจัดความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทั่วไปก็มีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้น เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น กฎระเบียบจำนวนมากสงวนไว้สำหรับเด็ก แต่ไม่บังคับใช้สำหรับผู้ใหญ่ เด็กจะไม่สามารถไว้ผมหรือแต่งกายตามที่ต้องการได้ตราบเท่าที่ยังไม่โตเป็น ผู้ใหญ่ หรือไม่ก็ต้องอาศัยอำนาจของผู้ใหญ่ในการได้รับข้อยกเว้น หรือไม่อีกกรณีก็คือต้องฝ่าฝืนกฎระเบียบด้วยตนเอง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็น “หัวโจก” หรือเป็นผู้นำของกลุ่มเพราะความที่สามารถยกเว้นการบังคับใช้กฎระเบียบกับตน เองได้ ในทำนองเดียวกัน กฎศีลธรรมจำนวนมากใช้บังคับเฉพาะผู้หญิง ไม่หมายรวมผู้ชาย ผู้หญิงไม่ควรกินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่ควรเที่ยวกลางคืน ไม่ควรพูดจาเอะอะมะเทิ่ง ฯลฯ การสวมบทบาท “ชายไทย” จึงกลายเป็นช่องทางของผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่งในการที่จะได้รับข้อยกเว้นจากกฎ ศีลธรรมเหล่านี้ และ “ก๊วน” ของผู้หญิงไทยโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากก็ก่อตัวขึ้นภายใต้ เงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการจัดความสัมพันธ์ภายในระบบราชการหรือแม้แต่สถาน ที่ทำงานทั่วไปที่ต่างมีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นเป็นองค์ประกอบ สำคัญทั้งสิ้น

แต่ระเบียบทางสังคมเช่นนี้มีปัญหา เพราะข้อยกเว้นหมายถึงความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนถูกคิดขึ้นบนฐานของการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ สถาบันและอำนาจที่อยู่เบื้องหลังมากกว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเงื่อนไขที่ เอื้อต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ของเด็กนักเรียน คติกุลสตรีไทยก็ไม่ได้คิดบนฐานของสุขภาพหรือสวัสดิภาพของผู้หญิงเท่าๆ กับการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันระหว่างเพศ การสวมบทบาทของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ชายไทย” โดยเด็กและผู้หญิงเพื่อจะได้รับสิทธิยกเว้นเช่นเดียวกันจึงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่จะทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวัยและเพศขาดสมมาตรยิ่งขึ้น 

ในทำนองเดียวกัน ระเบียบทางการเมืองที่วางอยู่บนสภาวะยกเว้นก็ไม่ใช่คำตอบของคนส่วนใหญ่ และขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคของ ประชาชนภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไทยพึงกระทำจึงไม่ใช่ การโหน “รถด่วนขบวน 112” หรือสวมบทบาทของอีกฝ่ายภายใต้ข้ออ้างเพื่อความเท่าเทียมในการดำเนินคดีกับพลเอกเปรมและพวก เพราะจะยิ่งตอกย้ำสภาวะยกเว้นให้หนาแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ควรเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงการเอาผิด ในลักษณะดังกล่าวเสีย หากต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

  

(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 วันที่ 14-19 มกราคม 2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฉนดชุมชนมิใช่ทางออกแก้ปัญหาที่ดิน มิใช่การกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรม

Posted: 21 Jan 2011 03:16 AM PST

การแก้ไขปัญหาที่ดินโดยการออกโฉนดชุมชนนั้น  เป็นนโยบายที่มีการผลักดันของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเกือบหนึ่งปีแล้ว  โดยคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินให้เกษตรกรในเครือข่ายได้  ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงนั้นก็ต้องการสร้างภาพว่าได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาคนจนคนรากหญ้าท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีการล้อมปราบสังหารประชาชนคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษาและพฤษภาอำมหิต2553   
 
รากเหง้าของปัญหาที่ดิน นั้นเกิดจากการที่ที่ดินกระจุกตัวไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่มีการกำจัดการถือครองที่ดิน เฉกเช่นปัญหาการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเสมอภาค  ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  

ข้อมูลจากการวิจัยปัญหาที่ดิน พบว่าคนส่วนใหญ่ราวร้อยละ 90 มีที่ดินถือครองไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่คนกลุ่มเล็กๆ ที่เหลือราวร้อยละ 10 มีที่ดินถือครองมากกว่าคนละ 100 ไร่

ในภาคเกษตรซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 2 ล้านครอบครัว (10 ล้านคน) มีประชากรประมาณ 800,000 ครอบครัว ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และมีเกือบล้านครอบครัว ที่มีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นทำกิน

ขณะที่ภาคสังคมเมือง  คนจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัยจำนวนนับหลายล้านคนต้องเช่าบ้าน หรือสร้างบ้านในเขตพื้นที่ที่เจ้าของทิ้งว่างเปล่า และพร้อมเผชิญปัญหาการถูกไล่ที่    ส่วนคนชั้นกลางจำนวนมากก็ต้องซื้อบ้านในราคาแพงเกินความเป็นจริง เนื่องจากราคาที่ดินมีผลให้ราคาบ้านสูงขึ้น

นอกจากนี้แล้ว จากการใช้ที่ดินไม่เต็มที่ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยการประเมินขั้นต่ำ 127,384.03 ล้านบาทต่อปี และการเก็งกำไรที่ดินที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังพบว่าที่ดินส่วนมากยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ประมาณว่าที่ดินร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นการกระจุกตัวของที่ดินนั้น ได้มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม

และแม้ว่ากฎหมายที่ดินปัจจุบัน มาตราที่ 6 จะระบุว่า …หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1)สำหรับที่ดินที่มีโฉนด เกินสิบปีติดต่อกัน (2)สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

มิพักต้องพูดถึงการถือครองที่ดินในสังคมศักดินาที่ยังสืบทอดมาถึงสังคมทุนนิยมไทยปัจจุบัน
 
นอกจากนี้แล้ว ปัญหาการจัดการที่ดิน ยังเกิดจากการที่รัฐประกาศนโยบายอนุรักษ์ทับที่ทำกินทีอยู่อาศัยที่ป่าชุนชนของชาวบ้านยากจนของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง    หรือกรณีนโยบายด้านเกษตรกรรมที่เกษตรกรมักเป็นเบี้ยล่างของกลไกตลาด เป็นหนี้สินธกส หนี้สินนอกระบบนำสู่การจำนองจำนำที่ดินและที่ดินหลุดมมือในที่สุด  
 
ปัญหาการจัดการที่ดิน ยังรวมถึงการฉ้อฉลของกลุ่มอิทธิพลอภิสิทธิ์ชนยึดครองพื้นที่ป่าพื้นที่ภูเขา สร้างบ้านพักตากอากาศ ทำรีสอร์ทอย่างที่รับรู้กันอยู่กรณีเขายายเที่ยงเขาสอยดาว แม้ว่าผิดกฎหมายก็ตาม ขณะที่คนจนดิ้นรนใช้ที่ดินเพื่อมีชีวิตอยู่รอด กลับถูกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นธรรม
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโฉนดชุมชนแม้เป็นทางเลือกในการจัดการที่ดินรูปแบบหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมในบางบริบทของพื้นที่ แต่มิได้หมายความว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่กระจุกตัวของที่ดิน หรือเหมาะสมกับทุกพื้นที่  
 
ที่สำคัญ  รัฐบาลกำลังดำเนินการใช้นโยบายโฉนดชุมชนเพื่อสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสื่อของรัฐและทีพีบีเอส ให้ดูเสมือนว่า เป็นทางออกเดียวในการแก้ไขปัญหาที่ดิน หรือหลงเชื่อว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินแล้ว
 
ในทางตรงกันข้ามข้อมูลเท็จจริง   กลับพบว่า  นโยบายนี้ตามกฎระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนนั้น ไม่สามารถทำโฉนดชุมชนในพื้นที่สูง หรือเขตป่าอนุรักษ์ ได้ทั้งๆที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่ในการจัดการรูปแบบโฉนดชุมชนเป็นอย่างยิ่ง  
เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วย และกฎหมายก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด  โดยที่รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำก็มิกล้าขัดแย้งกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติที่มี สุวิทย์ คุณกิตติ เป็นเจ้ากระทรวงอยู่

หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากขัดแย้งกับกฎหมายที่ดินหลายฉบับ ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้ได้จริงน้อยกว่ากฎหมายหลักแล้ว   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ ยังให้อำนาจกับข้าราชการ กรม กองต่างๆมากกว่าเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ไร้ที่ดิน  จึงมีแนวโน้มไม่มีผลทางปฏิบัติได้จริง

ขณะที่นโยบายภาษีที่ดินที่ก้าวหน้าก็กลายเป็นเพียงลมปากของนายกรณ์  จาติกวานิช  รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเท่านั้นเอง ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
 
ขณะที่การทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่หลายชุมชนที่ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ดิน  ได้เข้ายึดครองพื้นที่ที่นายทุนร่วมมือกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกโฉนดโดยมิชอบ หรือพื้นที่ที่นายทุนปล่อยรกร้างว่างเปล่า ปรากฎว่า ชาวบ้านหลายชุมชนนอกจากโดนคดีติดคุกกันแล้ว  ตามนโยบายโฉนดชุมชนนั้นชาวบ้านยังต้องหางบเงินมาซื้อที่ดินเพื่อเช่าซื้อในราคาประเมินตามกลไกตลาดของกรมที่ดิน ซึ่งหลายพื้นที่ก็มีราคาสูงมากเช่นกัน  หรือนายทุนอาจจะได้ขายที่ดินหลังจากรอหาคนมาซื้อนานแล้วด้วยซ้ำไป   และโฉนดชุมชนคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงอาจเป็นนายทุนมากกว่าคนไร้ที่ดิน หรือชาวบ้านต้องมีหนี้สินเพิ่มเข้ามาในชีวิตอีก
 
 นอกจากนี้แล้ว  พื้นที่ในเขตสำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก.) ก็ไม่สามารถดำเนินการทำโฉนดชุมชนได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตสวนปาล์มภาคใต้ ที่ชาวบ้านขัดแย้งกับเจ้าของพื้นที่ กรณีเช่าสวนปาล์มเลยกำหนดเวลาเช่าหรือมีพื้นที่มากกว่าสัญญาเช่า  ซึ่งผู้อิทธิพลเหล่านี้มักเป็นคนในเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ว่าได้
 
ดังนั้น  การกระจายการถือครองที่ดิน  การกำจัดการถือครองที่ดิน ที่ปรีดี  พนมยงค์ เคยวางรากฐานแนวคิดไว้  จึงมิอาจเป็นจริงได้ยุครัฐบาลอำมาตยาธิปไตยครองเมือง

โฉนดชุมชนจึงเป็นเพียงกลยุทธ์การสร้างภาพของรัฐบาลอภิสิทธิ์และเป็นเพียงเกมซื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเท่านั้นเอง    

ใช่หรือไม่?
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการถกบทบาท ‘นิวมีเดีย’ ชี้ ‘ปฏิรูปสังคม’ ต้องเชื่อม ออนไลน์-ออฟไลน์

Posted: 21 Jan 2011 02:33 AM PST

เปิดตัวหนังสือ ‘สื่อออนไลน์ Born To Be Democracy’ ชวนนักวิชาการหลากสาขาถกบทบาทข้อเด่นข้อด้อยสื่อออนไลน์ ชี้เปลี่ยนแปลงสังคมต้องเชื่อมโลกออนไลน์กับออฟไลน์ เรียกร้องรัฐสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม

21 ม.ค.54 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ Born To be democracy” และมีวงเสวนาว่าด้วยสื่อออนไลน์และวิจารณ์หนังสือดังกล่าว จัดโดยเว็บไซต์ประชาไท สนับสนุนโดยมูลนิธิไฮริช เบิลล์

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นการรวมบรวมบทสัมภาษณ์จากผู้สังเกตการณ์ ‘นิวมีเดีย’ จากแวดวงต่างๆ อาทิ รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), ปราปต์ บุนปาน เว็บไซต์มติชนออนไลน์, สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เครือเนชั่น, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศูนย์อาเซียนศึกษา สิงคโปร์, อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต, สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, ทิวสน สีอุ่น เครือข่ายพลเมืองเน็ต, มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย, ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ

ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงชื่อหนังสือว่า ไม่แน่ใจว่าสื่อออนไลน์เป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกของมันมากในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดนว่า ถึงที่สุดโลกออนไลน์ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ก็มีเช่น ภาษา หรือกฎกติกาในเว็บต่างๆ คำถามอยู่ที่ว่าคนจะมีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์นั้นได้อย่างไร รัฐก้าวล่วงมาได้มากแค่ไหนในพื้นที่อินเทอร์เน็ตซึ่งเหมือนกับพื้นที่ประชาสังคมในโลกออฟไลน์

ในแง่ความเท่าเทียม สื่อนี้กล่าวได้ว่าเป็นของกระฎุมพี สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงขยายพื้นที่ของการสื่อสารทางการเมืองมากกว่าจะเป็นการส้างพื้นที่ใหม่ๆ อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่โลกอินเทอร์เน็ตช่วยได้บ้างก็คือ การทำให้คนฉุกคิด แต่ก็คงอีกนานกว่าคนจะเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นสัจจะธรรมชาติ เป็นแค่ความเชื่อหนึ่งเท่านั้น

ยุกติเสนอว่า ควรเรียกร้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม เหมือนประเด็นสาธาณสุข และยังต้องเชื่อมโยงกับการสื่อสารอื่นๆ ในโลกจริง หรือต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมา และมีทางนี้เท่านั้นที่จะได้ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์

ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับนิวมีเดียวในไทยว่า แม้แต่สื่อออนไลน์ที่ถือว่าเป็นสื่อทางเลือกก็ยังเซ็นเซอร์ในบางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ขัดกับอุดมการณ์หลักของสังคม เช่น กรณีข่าววิกิลีกส์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย นอกจากนี้นิวมีเดียไม่สามารถส่งผลสะเทือนได้ กำหนดประเด็นหลักได้โดยตัวเองแต่จำเป็นต้องการเครื่องมืออื่นในการผลิตซ้ำ และเนื่องจากเฟซบุ๊กเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนกกลายเป็นเครื่องมือรณรงค์ทางการเมืองที่สำคัญหลังวิกฤตการเมืองและสื่อเสื้อแดงทั้งหลายถูกปิด เสรีภาพการแสดงความเห็นในสังคมตกต่ำลง แต่ก็มีข้อท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ว่า นิวมีเดียจะรับบทบาทเป็นแหล่งสร้างชื่อเสียงให้คนหรือจะเป็นหน่วยงผลิตองค์ความรู้กันแน่ โดยยกตัวอย่างปรากฏการณ์การแชร์บทความอย่างกว้างขวางโดยไม่ได้อ่านในเฟซบุ๊ก

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ฐานคิดคำว่า “ประชาธิปไตย” ของหนังสือเล่มนี้คือ เสรีประชาธิปไตย ซึ่งให้คุณค่าสูงสุดกับเสรีภาพ และเนื้อหาโดยรวมของหนังสือให้ภาพว่าสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่ที่คนสามารถแสดงออกในมิติต่างๆ อย่างหลากหลาย มีสภาพเป็น “ตลาดความคิด” ซึ่งสภาพแบบนี้แปลว่ามันต้อง “มั่ว” อย่างสุดๆ และเราไม่ต้องกลัวกับ “ความมั่ว” ดังกล่าว

ชลิดาภรณ์ยังพูดถึงบทบาทการเป็น “พื้นที่ทางเลือกของสื่อออนไลน์” ว่า มันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข่าวสารความคิด เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับคนจำนวนมากที่ถูกเบียดขับจากค่านิยม ความเชื่อ กระแสหลัก เช่น คนมีเพศวิถีทางเลือก, เกย์ ฯลฯ และยังเป็นพื้นที่ของ “จินตนาการ” ที่คนจำนวนมากสามารถแสดงออก แสวงหาหรือเสพอะไรก็ตามที่เขาชอบแต่ทำไม่ได้ในพื้นที่ออฟไลน์ ซึ่งพวกเขาไม่ “กล้าหาญ” พอจะทำในโลกจริง

“นี่คือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เราอยากได้ แต่ปัญหาก็คือ มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งบังเอิญเสียงดัง เชื่อว่าคนแสดงออกออนไลน์จะเชื่อมไปสู่พฤติกรรมออฟไลน์ เช่น ความรุนแรง เพศนอกกรอบ ทำให้รัฐไทย ซึ่งไม่ได้สมาทานเสรีนิยม ไม่ลังเลที่จะไล่เซ็นเซอร์พื้นที่ออนไลน์ในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวมากๆ อย่างเรื่องเพศวิถี เป็นการเซ็นเซอร์แม้กระทั่งจินตนาการของมนุษย์ โคตรมหาโหดนะรัฐไทย” ชลิดาภรณ์กล่าว

ชลิดาภรณ์กล่าวถึงลักษณะของพื้นที่ออนไลน์อีกว่า มันมีลักษณะเป็น “พื้นที่กล่อมประสาท” ทำให้คนเกิดสภาพปิดใจ ปิดหูต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงน่าคิดว่าเราในฐานะผู้ใช้สื่อออนไลน์จะใช้สภาพตลาดความคิดให้เป็นประโยชน์ ด้วยการพยายามละลายสี สลายขั้วได้อย่างไร และที่สำคัญที่ต้องส่งเสริมคือ ความอดทนอดกลั้น ซึ่งพูดง่ายแต่ทำได้ยาก

สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ข้อเด่นของอินเทอร์เน็ตคือการใให้สิทธิคนธรรมดา ด่าหรือวิจารณ์ในทางสาธารณะได้ และข้อมูลมีอายุยืนยาวในออนไลน์ นอกจากนี้มันยังทำลายวาทะเรื่องผู้ชนะ หรือรัฐเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะปัจจุบันผู้คนต่างเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง ส่วนการเชื่อมโยงโลกออนไลน์กับออฟไลน์นั้นจำเป็นต้องเดินไปคู่กัน และสปีดของออนไลน์นั้นสื่อสารได้รวดเร็วประมาณ 7 เท่าซึ่งน่าจะมีผลให้โลกออฟไลน์เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานนอกระบบวิพากษ์ "ประชาวิวัฒน์" ฝนตกไม่ทั่วฟ้า หวั่นแค่เครื่องมือทางการเมือง

Posted: 20 Jan 2011 09:21 AM PST

เวทีแรงงานนอกระบบวิพากษ์ "ประชาวิวัฒน์" คนงานชี้ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เอ็นจีโอหวั่นไม่ยั่งยืนแค่เครื่องมือทางการเมือง นักวิชาการเตือนอย่าลืมแก้ปัญหาโครงสร้างจ้างงาน สังศิตย้ำ "ประชาวิวัฒน์" ต่างจาก "ประชานิยม" เพราะออกเป็น กม. ไม่หายไปตามนายกฯ

(20 ม.ค. 54) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานวาระทางสังคม เครือข่ายแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ "เสียงสะท้อนจากแรงงานนอกระบบ" โดยมีการแสดงความเห็นต่อนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากมุมมองของนักวิชาการและภาคประชาสังคม

หวั่น "ประชาวิวัฒน์" ทำแรงงานนอกระบบกระจุกตัว
ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบต่างอยู่ในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน มีลักษณะที่เชื่อมโยงกัน การออกนโยบายใดๆ ก็จะส่งผลถึงกัน ดังนั้น หากมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบโดยไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาทั้งระบบ อาจเกิดปัญหาการกระจุกตัวของแรงงานนอกระบบ โดยคนกลุ่มต่างๆ อพยพเข้ามาสู่ภาคแรงงานนอกระบบมากขึ้น เกิดภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เกินไป และเพิ่มปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ ปัญหาที่อยู่อาศัย การใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตัว

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เสนอว่า ควรจะต้องมีนโยบายเชิงโครงสร้าง เพื่อลดการอพยพมายังเมือง โดยสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในเมืองและชนบท กระจายอุตสาหกรรมและการลงทุนสู่ชนบท พัฒนาเมืองขนาดย่อม รวมถึงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย

เตือนอย่าลืมแก้ปัญหาโครงสร้างการจ้างงาน
ด้านเสาวลักษณ์ ชายทวีป อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาสังคมและมนุษย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ในส่วนที่พูดถึงการสร้างสวัสดิการให้แรงงานนอกระบบว่า ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงการประกันค่าจ้างและรายได้ที่มั่นคงของแรงงานนอกระบบ พร้อมแนะนำว่าการออกนโยบายใดๆ ควรต้องคำนึงถึงความสมดุลของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย โดยเสนอว่า ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ามีนโยบายเสริม แต่โครงสร้างการจ้างงานยังอยู่แบบเดิม แรงงานไม่ได้มีค่าจ้างที่สูงขึ้น

โดยเธอยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลอาร์เจนตินาออกกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติ (National Employment Law) ที่เปิดให้รัฐเข้ามาจัดการในตลาดแรงงานนอกระบบและสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการในทุกประเภทของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งการให้สวัสดิการ ซึ่งปรากฏว่านายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดหาสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการจ้างงานในภาคไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับภาคที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว โดยที่กลับเป็นการลดภาระนายจ้างและทำให้คนงานเสียเปรียบ

เสนอแยกส่วนประกันสังคมสำหรับใน-นอกระบบ
นพ.ภูษิต ประคองสาย นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ช่วงปี 49-52 แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานสูงขึ้น โดยแรงงานนอกระบบกว่า 30% ในเขตเมืองยอมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง แม้ว่าจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ สาเหตุคาดว่ามาจากโรงพยาบาลในเมืองมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก หากต้องรอคิวก็จะเสียเวลางาน จึงยินดีจ่ายเอง โดยใช้บริการร้านขายยา คลีนิกเอกชน ขณะที่แรงงานนอกระบบในต่างจังหวัดก็มี 15-18% ที่ยอมจ่ายเองเช่นกัน ซึ่งหากสามารถจัดระบบการให้บริการได้ดีกว่านี้ ก็จะทำให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงการบริการได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากเกินไป

ทั้งนี้ นพ.ภูษิต ตั้งคำถามถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ที่ให้แรงงานนอกระบบทุกคนร่วมจ่ายในอัตราเดียวกันว่าเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากรายได้แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่กลับต้องจ่ายสมทบเท่ากัน โดยเขาเสนอให้จ่ายตามกำลังของแต่ละคน นอกจากนี้ นพ.ภูษิต ยังกังวลเรื่องการจัดเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบว่าอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถหักผ่านบัญชีเงินเดือนได้เหมือนระบบประกันสังคม โดยมองว่า หากไม่มีระบบจัดเก็บที่ดี ก็อาจทำให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีความรู้เข้ามาในระบบไม่ได้

ทั้งนี้ นพ.ภูษิตได้เสนอให้แยกสำนักงานประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ออกจากส่วนของผู้ประกันตนในระบบด้วย เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการจัดการกับปัญหาและการจ่ายชดเชยของแรงงานทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกัน

ชี้ระบบสวัสดิการรัฐหลายระบบทำปชช.สับสน
สุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้ร่วมกันผลักดันแก้ไขร่างมาตรา 40 อยู่นานกว่า 6 ปี แต่เมื่อนโยบายประชาวิวัฒน์มาก็ทำให้ร่างที่ทำร่วมกันมานี้แท้งไป ทั้งนี้ ในส่วนของการประกันตนโดยอิสระของแรงงานนอกระบบ มีข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐจึงให้สิทธิประโยชน์เพียง 3 อย่าง ทั้งที่ที่เรียกร้องกันนั้นต้องการ 7 อย่างเท่ากับผู้ประกันตนในระบบ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนๆ กัน

นอกจากนี้ สุนทรีระบุว่า นโยบายประชาวิวัฒน์เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดปฏิรูปการเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งย้อนไปจะพบว่าเกิดหลังการเผาบ้านเผาเมืองที่ราชประสงค์ ที่กลุ่มการเมืองหนึ่งพูดเรื่องการสร้างความเป็นธรรมนี้เช่นกัน จึงไม่แน่ใจว่านโยบายนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ หากใช่ก็มีคำถามว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็มักมีปัญหาความยั่งยืนอยู่ด้วย

สุนทรีวิจารณ์ถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ว่า เหมือนมีความเกรงใจกันในระบบราชการ แต่ละหน่วยงานต่างมีอาณาจักรของตัว พอคิดนโยบายอะไรได้ ก็ตั้งระบบใหม่ขึ้นมา ทำให้ไม่มีความเชื่อมโยงกันและสับสนวุ่นวาย มีทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการออมแห่งชาติ ดังนั้น รัฐน่าจะต้องจัดระบบสวัสดิการให้เชื่อมโยงและเป็นเรื่องเดียวกัน ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะเป็นผลดีกับรัฐบาลในการจัดการ

สังศิตมั่นใจไม่เหมือน "ประชานิยม"
ด้านสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในฐานะหัวหน้าโครงการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล กล่าวว่า นโยบายประชาวิวัฒน์นั้นแตกต่างกับนโยบายประชานิยมทั้งในระดับปรัชญาและหลักคิดอย่างถึงที่สุด โดยขณะที่ประชานิยมเป็นการสั่งการผ่านฝ่ายการเมือง ไม่มีกรอบกฎหมายรองรับ แต่ประชาวิวัฒน์จะถูกนำเข้าสู่ระบบกฎหมาย ถึงแม้นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนายกฯ นโยบายก็จะยังอยู่ นอกจากนี้ การออกแบบนโยบายยังนำผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมานั่งทำงาน เพื่อหาจุดที่เจ้าหน้าที่จะไม่มีความเสี่ยงด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีสินเชื่อราคาถูก ซึ่งให้แต่ละธนาคารออกแบบอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละแห่งจะอยู่ได้ในระยะยาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ายังไม่ค่อยพอใจระบบที่ได้เท่าใด แต่ก็เห็นว่าการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และหากมีคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น ก็คงต้องทบทวนสิทธิผลประโยชน์กันใหม่

ทั้งนี้ สังศิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การให้สินเชื่อแก่แรงงานนอกระบบนั้นให้ได้ทั้งรายกลุ่มจำนวน 10-25 คนและรายปัจเจก โดยรายกลุ่มจะได้ดอกเบี้ยจะถูกกว่า เพราะความเสี่ยงต่ำกว่า พร้อมเสนอว่าอย่าหวังพึ่งแต่รัฐ ควรจะต้องรวมกลุ่มจัดเองด้วย โดยยกตัวอย่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มแม่ค้าท่าทราย จ.นนทบุรี ที่เก็บดอกเบี้ยเงินกู้สมาชิกร้อยละ 20 จ่ายจริงร้อยละ 6 อีกร้อยละ 14 กันไว้เป็นเงินออมของสมาชิก

หลังการแสดงความเห็นจากนักวิชาการ มีการเปิดเวทีให้แรงงาน นอกระบบจากอาชีพต่างๆ แสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่ระบุว่า มาตรการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ เช่น คนทำงานบ้าน พนักงานบริการ เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานรับจ้างทั่วไป รวมถึงยังไม่ค่อยมีความชัดเจนในการดำเนินมาตรการ เช่น การประกันกลุ่มทำอย่างไร จะทำได้เมื่อไหร่ และย้ำว่าการเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้นอยากได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองเหมือนแรงงานในระบบเช่นกัน

หลังการเสวนาเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวที่ต่อเนื่อง ชัดเจน จริงจัง และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุการสร้างหลักประกันในการทำงานและหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ด้วย

00000

แถลงการณ์ของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
ไปให้ไกลกว่าประชาวิวัฒน์

เมื่อพูดถึงแรงงานนอกระบบ เราทุกคนต่างตระหนักดีว่าเรากำลังพูดถึงชีวิตของคนจำนวน 24 ล้านคน ผู้สร้างผลผลิตและเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ(GDP) ผู้ซึ่งต้องเผชิญหน้าอยู่กับช่องว่างทางเศรษฐกิจ ที่ความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนมีมากถึง 15 เท่า ดังนั้นการสร้างหลักประกันในการทำงาน รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบจึงเป็นความรับผิดชอบที่รัฐไม่สามารถปฏิเสธได้

เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย“ประชาวิวัฒน์” เราแรงงานนอกระบบจึงรู้สึกขอบคุณและยินดีที่รัฐบาลได้เริ่มต้นก้าวแรกที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบก็ขอยืนยันความต้องการที่แท้จริงของพวกเรา นั่นก็คือ

1) หลักประกันในการที่จะมีงานทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีความปลอดภัย ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ให้การคุ้มครองไว้ และการที่จะได้รับการคุ้มครองรายได้จากการทำงานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

2) ระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์คุ้มครองครอบคลุมความยาก ลำบาก และความเสี่ยงในเรื่อง การเจ็บป่วย การให้กำเนิดบุตร การเลี้ยงดูบุตร ทุพพลภาพ การว่างงาน ชราภาพ และ การเสียชีวิต และความเสี่ยงอื่นๆ อย่างครบถ้วน โดยมีรัฐร่วมจ่ายสมทบเข้าสู่กองทุนด้วยอัตราที่เท่ากันกับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ประกันตน ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบในการที่จะเข้าถึง ระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้กับประชาชน เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ บำนาญประชาชน และมีการบรารกงทุนที่เป็นอิสระ เพื่อแรงงานนอกระบบ และโดยตัวแทนของแรงงานนอกระบบ

3) กองทุนสนับสนุนของรัฐเพื่อการพัฒนาอาชีพของแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกประเภท ที่ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยถูก และสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้แรงงานนอกระบบใช้ซื้อเครื่องมือเครื่องจักร พัฒนากระบวนการผลิต ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน พัฒนาการตลาด และอื่นๆ และ

4) การบริการ และมาตรการพิเศษต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ที่จะสนับสนุนแรงงานนอกระบบ เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือ การบริการข้อมูลข่าวสาร การสร้างช่องทางการตลาด การลดหย่อนภาษี การลดค่าใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ซึ่งนโยบาย "ประชาวิวัฒน์" ในลักษณะมาตรการเฉพาะหน้า ชั่วคราว ที่รัฐบาลได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา จึงไม่พียงพอที่จะสร้างหลักประกันที่แท้จริงดังกล่าว

เราผู้นำแรงงานนอกระบบจาก กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ผลิตเพื่อขาย แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย เกษตรตรกรรายย่อย เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา คนทำงานบ้าน และ พนักงานบริการ รวมจำนวน 140 คน ที่เข้าร่วมการเสวนา “เสียงสะท้อนจากแรงงานนอกระบบ” จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวที่ต่อเนื่อง ชัดเจน จริงจัง และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุการสร้างหลักประกันในการทำงานและหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และสร้างมาตรการเฉพาะที่จะตอบสนองปัญหาความต้องการ และสร้างหลักประกันที่เหมาะสมกับแรงงานนอกระบบรายประเภท รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้ระบุไว้ ภายใต้นโยบายประชาวิวัฒน์ เพื่อที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังเช่นที่รัฐบาลเคยได้ ประกาศเจตนารมณ์ไว้ต่อประชาชน

20 มกราคม 2554
ห้องแอลที คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุณหมอประเวศ วะสี จะติด “อาวุธทางปัญญาอะไร” แก่ประชาชน

Posted: 20 Jan 2011 09:12 AM PST

วันนี้ (20 ม.ค.54) มีข่าวมติชนออนไลน์สองข่าวสะดุดความรู้สึกของผม ข่าวแรก หมอประเวศแนะติดอาวุธปัญญาประชาชนให้ทันก่อนหันไปจับอาวุธ รายละเอียดของข่าวเป็นการสรุปประเด็นที่ คุณหมอประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง" ในงานสัมมนา "ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารระบบราชการ" เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

ประเด็นที่คุณหมอประเวศพูดคือประเด็นเก่าๆ ได้แก่ ปัญหาการขาดความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป เพราะโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้ขาดความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร การรวมศูนย์อำนาจ จะต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร ปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปที่ดิน แล้วคุณหมอก็พูดถึงการปฏิรูประเทศในภาพรวมว่า

...เริ่มตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องยากไม่มีใครไปปฏิรูปได้สำเร็จ เพราะคนมีอำนาจ คนรวย คงไม่อยากให้เกิดการปฏิรูป ฉะนั้น ประชาชนจะต้องเป็นคนปฏิรูป โดยประชาชนจะมีพลังปฏิรูปได้ต้อง "ติดอาวุธด้วยปัญญา" ดังนั้นหน้าที่นักวิชาการ สถาบันต่างๆ ต้องสร้างความรู้ให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไร ทำอย่างไร เอาความรู้ไปให้ประชาชน เพราะถ้าไม่ติดอาวุธให้ประชาชนด้วยปัญญาหนักเข้าประชาชนจะติดอาวุธด้วยอาวุธและก็จะเกิดความวุ่นวายต่างๆ ตามมา

อีกข่าว เปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงจากรากหญ้าสู่รากแก้ว รายละเอียดระบุว่า "หมู่บ้านเสื้อแดง" การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนรากหญ้าสู่รากแก้ว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าคนเสื้อแดงไม่ถอยไม่กลัวและจะสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการรวมกลุ่มชาวบ้านตั้งเป็น "หมู่บ้านคนเสื้อแดง" เริ่มต้นที่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มีเหตุผลที่สำคัญโดยสรุป คือ 

 1. เพื่อประกาศว่า "กลุ่มคนเสื้อแดงอุดรธานี" ที่ไม่มีวันยอมรับการปฏิวัติก่อรัฐประหารในเหตุการณ์ที่ผ่านมา และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่ตั้งมั่น และส่งสัญญาณให้ทุกหลังคาเรือนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยจับมือกันให้มั่น เกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เพื่อลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเองเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารโค่นล้มกลับมา และ

2. ภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ การเรียกร้องเพื่อพี่น้องเสื้อแดงที่ต้องจบชีวิตลงในเหตุการณ์เมษาทมิฬด้วยน้ำมือของคนไทยที่มีบรรพบุรุษคนเดียวกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้น จารึกไว้ในความทรงจำจากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานและต่อไปไม่มีวันจบสิ้น ในการจากไปของวีรชนคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

ขออนุญาตเรียนถามคุณหมอประเวศว่า เหตุผลทั้งสองข้อของชาวบ้านดังกล่าวนี้ แสดงว่าประชาชนยังขาดปัญญาอย่างไรครับ รัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกคือความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งหรือเปล่าครับ การต่อสู้เพื่อให้อดีตนายกฯ ที่ถูกทำรัฐประหารกลับมา (ตามวิถีทางประชาธิปไตย) การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ถูกฆ่า เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไหม

ที่ชาวบ้านเขาปฏิเสธอำมาตย์ อำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง หรือที่นักวิชาการเสื้อแดงบางส่วนเรียกร้องการวางระบบให้สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการจัดการอำนาจปกครองประเทศ เรียกร้องการวางระบบรองรับเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน ฯลฯ เหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่าครับ

คือผมได้ฟังคุณหมอประเวศพูดเหมือนท่องมนต์ว่า ต้องติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชนๆๆๆ!!!” มานานหลายปี แต่ในวิกฤตการเมืองกว่า 5 ปีมานี้ ผมไม่แน่ใจว่า ชาวบ้านตาสีตาสาหรือราษฎรอาวุโสกันแน่ที่ขาดปัญญา (ประโยคนี้ไม่ถือว่าล่วงเกินผู้หลักผู้ใหญ่นะครับ ถ้าคำว่า ติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชน ไม่ได้ล่วงเกินผมในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งใน ประชาชน)

เพราะจนป่านนี้ผมยังไม่เห็นคุณหมอแตะโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่คนเสื้อแดงและนักวิชาการเสื้อแดงพยายามแตะเลยครับ

คำพูดที่ว่า ติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชนมันเป็นคำพูดของคนที่มีสมมติฐานว่าประชาชนขาดปัญญา (เป็นสมมติฐานที่ไม่ต้องพิสูจน์!) และแน่นอนคนที่พูดเช่นนี้ย่อมคิดว่าตัวเองมีปัญญาสูงส่งกว่าประชาชน คิดดูให้ดีนะครับคำพูดแบบนี้มันน่าหดหู่ ในฐานะที่เราแต่ละคนต่างก็เป็นหนึ่งใน ประชาชน เราถูกคนที่พูดแบบนี้ดูถูกตลอดมา!

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า อาวุธทางปัญญาอะไรที่จะไปติดให้แก่ประชาชน? ในเมื่อประชาชนเขาก้าวล้ำหน้าไปแล้ว เขาออกมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อยืนยันเสรีภาพในการปกครองตนเอง เขาปฏิเสธโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา

แต่คุณหมอยังมัวแต่พูดถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างคลุมเครือ โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้งไม่พูดถึงเลย แล้วจะเอาอาวุธทางปัญญาอะไรมาติดให้ประชาชน!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์พิเศษ ละออ ชาญกาญจน์ “ขอจากรางคู่1%ให้ชุมชนบุกรุกที่รถไฟแก้กันเอง”

Posted: 20 Jan 2011 09:04 AM PST

สัมภาษณ์พิเศษ “นางละออ ชาญกาญจน์” หรือ “ป้าแต๋ว” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟสงขลา ในนามตัวแทนผู้ร่วมขบวนการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินรถไฟ กับความหวั่นวิตกกับทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่อาจมาถึงไม่กี่วัน พวกเขาจะทำอย่างไร เมื่อถึงคราวต้องหลีกทางให้ทั้งสองโครงการใหญ่และยาว

หากพูดถึงมหาโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันหมายมั่นปั้นมือมาก คงไม่พ้นโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท กับโครงการรถไฟความเร็วสูงต้นทางจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะมาถึงในเร็ววัน และคงทำได้ไม่ยาก เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีที่ดินเป็นแสนไร่ทั่วประเทศ ไม่ต้องเวนคืน แต่ในที่ดินเหล่าเกือบจะหาที่ว่างไม่ได้แล้ว เพราะเต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยของผู้บุกรุก โดยเฉพาะในเขตเมือง

การแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินรถไฟมีมาต่อเนื่องยาวนาน โครงการรถไฟรางคู่กับรถไฟความเร็วสูงอาจเป็นตัวเร่งให้ต้องกำจัดหรือหาทางออกให้ชุมชนเหล่านี้ ในมุมของผู้บุกรุกเองจะคิดอย่างไร พัฒนาการการต่อสู้เรื่องนี้ของพวกเขาเป็นอย่างไร

ต่อไปนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ “นางละออ ชาญกาญจน์” หรือที่ใครๆ เรียกว่า “ป้าแต๋ว” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ ชุมชนแออัดบนที่ดินรถไฟสายเก่า ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา ผู้ร่วมขบวนการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟมาตลอดอย่างต่อเนื่องและกระฉับกระเฉง

เป็นบทสัมภาษณ์ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) กรรมการกลั่นกรองโครงการภาคใต้ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

..............................................

นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์

-ที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมาอย่างไร

เริ่มแรกๆ เลย มีพื้นที่ว่างของทางรถไฟ ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย จึงเข้ามาทำมาหากิน เป็นคนต่างถิ่นต่างอำเภอ จากอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาบ้าง จากจังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง จากพัทลุงบ้าง จากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง เข้ามาทำมาหากินในเมือง มาประกอบอาชีพในเมืองสงขลา ถ้าไปเช่าบ้านอยู่มันก็แพง เมื่อเห็นพื้นที่ว่างก็เลยปลูกบ้านหลังเล็กๆ อยู่กัน

จาก 20 ครอบครัว 30 ครัว มากขึ้นๆ จนเยอะอัดกันแน่น พอยิ่งแน่น คนที่มาใหม่ถึงกับขึ้นไปปลูกบ้านคร่อมทางรถไฟเก่า อยู่กันมาหลายปี

เริ่มจัดตั้งชุมชนเมื่อปี 2527 แสดงว่าต้องเข้ามาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว สำหรับในเขตที่ดินรถไฟในอำเภอเมืองสงขลา สงขลาจัดตั้งชุมชนเมื่อปี2527 เมื่อก่อนเป็นเทศบาลเมืองสงขลา พอเริ่มแออัด รถไฟก็มาไล่ไม่ให้อยู่

แต่ก่อนปลูกบ้านห่างจากรางรถไฟ พอคนเข้ามาอยู่กันมากๆ ขึ้นถึงกับปลูกบ้านบนรางรถไฟบ้าง ข้างรางบ้าง คร่อมรางบ้าง ทางการรถไฟฯ ก็มาไล่ ทุบเสาบ้านบ้าง อะไรบ้าง ทีนี้ทำให้ชุมชนคิดกันว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราถูกไล่อยู่แบบนี้ จึงคิดเรื่องที่อยู่อาศัยกัน

เริ่มแรกก็ตั้งกลุ่มอมทรัพย์กันก่อน เดือนละ 20 บาท บังคับให้ชำระคนละ 20 บาท ต่อเดือน ตั้งไปตั้งมากลุ่มนี้กลายเป็นเบี้ยขึ้นมา เติมโตมาพอสมควร ถึงกับปล่อยกู้ให้ได้คนละ 1,000 บาทบ้าง 2,000 บาทบ้าง

พอปล่อยกู้ได้ก็หันมาทำเรื่องที่อยู่อาศัยกัน ตอนนั้นมีเครือข่ายสลัม 4 ภาคเข้ามาทำงานร่วมกับชาวชุมชนอยู่แล้ว เขาชวนไปประท้วงกันกรุงเทพ เราก็ไปกันด้วย ไปเห็นว่าเขาไปต่อสู้เรื่องการขอเช่าที่ดินรถไฟ จึงได้ข้อมูลเรื่องการเช่าที่ดินรถไฟมา เราก็เอามาหารือในชุมชนและเริ่มขอเช่าบ้าง โดยทำเรื่องขอเช่ากันตั้งแต่ปี 2538

ปีนั้นเริ่มไปนอนหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้ากระทรวงคมนาคมกันแล้ว เพื่อผลักดันเรื่องการต่อสู้และการเช่าที่ดินรถไฟ ได้ข่าวว่า ตอนนั้นชุมชนทับแก้วในกรุงเทพมหานครเริ่มขอเช่าและได้เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

จากนั้น เราก็ขอเช่าบ้าง เราก็เช่าได้ ตอนนั้นชุมชนกุโบร์ ชุมชนร่วมใจ ชุมชนเขารูปช้าง ชุมชนหัวป้อม ในเขตอำเภอเมืองสงขลา เดินเรื่องขอเช่าที่รถไฟกัน ถึงปี 2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยก็อนุมัติให้เช่าได้ โดยให้ พอช.เช่า แล้วชุมชนเช้าจากพอช.อีกที

ก่อนนั้นเมื่อปี 2546 พอช.ยังเป็น พชม. พอเป็น พอช.ก็ได้เข้ามาทำงานเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนที่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็ย้ายมาอยู่กับ พอช.เพราะ พอช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาตรงนี้

-พชม.ชื่อเต็มชื่ออะไร

คือ กองทุนพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่ง พชม. กับ พอช.คือองค์กรเดียวกัน เมื่อชุมชนมาอยู่กับ พอช. ก็มีเจ้าหน้าที่พอช.ลงไปช่วยสร้างความเข้าใจในการจัดกระบวนการเพื่อเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง ของพอช.

พอปี 2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ให้เช่า ซึ่งตอนนั้นชุมชนหัวป้อมได้เช่า แต่ชุมชนกุโบร์ไม่ขอเช่า เหตุที่ไม่เช่าเพราะตอนนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าตารางเมตรละ 20บาท และขึ้นค่าเช่า 5% ทุกปี ซึ่งชุมชนกุโบร์ไมเห็นด้วย เพราะการขึ้น 5% ทุกปีนั้น มันมากกับชาวบ้าน ซึ่งรับไม่ไหว แค่เริ่มต้นเช่า 20 บาทก็รับไม่ไหวแล้ว

- 20 บาทต่ออะไร

20 บาทต่อ 1 ตารางเมตรต่อปีค่ะ ชุมชนกุโบร์เลยไม่เช่า แต่ชุมชนหัวป้อมเช่า เป็นชุมชนนำร่องโดยได้รับงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคจาก พอช. 65,000 ต่อครัวเรือน ทำน้ำประปา

ตอนนั้นชุมชนเก้าเส้งในเขตเทศบาลนครสงขลาก็ได้เช่าเหมือนกัน เป็นการเช่าจากกรมธนารักษ์ เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุ สัญญาเช่าระยะ 30ปีเหมือนกัน แต่ค่าเช่าต่อตารางเมตรถูกกว่ามาก ตารางวาละ 1 บาท

ค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์กับค่าเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่างกันเกือบ 80 บาท เพราะกรมธนารักษ์คิดค่าเช่า 1 บาทต่อตารางวาต่อปี แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยคิดค่าเช่า 20 บาท ต่อตารางเมตรต่อปี

ทีนี้ชุมชนกุโบร์ก็ไม่ยอม จึงเดินหน้าต่อสู้มาเรื่อยๆ พอมาปี 2551 ชุมชนกูโบร์เริ่มได้รับงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคจากพอช.ด้วย โดยร่วมกับชุมชนศาลาหัวยาง ชุมชนภาราดร ชุมชนที่ทุ่งลุง ชุมชนบ้านสำโรง ชุมชนเขารูปช้าง ชุมชนบอนไก่ ชุมชนบอนวัว ยื่นเสนอของบจากพอช.ตอนนั้นได้รับงบ 9 ชุมชน จำนวน 97 ล้านบาท

พอวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2551 เพราะป้าแต๋วเป็นกรรมการกั่นกรองโครงการ ของ พอช. และเป็นผู้เสนอโครงการนี้ เพราะคนมาจากผู้เดือดร้อน

แม้ทั้ง 9 ชุมชนได้รับงบประมาณมาแล้ว แต่ก็ยังเช่าที่ดินรถไฟไม่ได้ จึงต้องต่อสู้เรียกร้องมาเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เช่า จนถึงปี 2552 จึงได้เช่าตั้งแต่เดือนกันยายน วันที่ 1 กันยายน 2551 สัญญาเช่า 30 ปี ค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี แต่ต่อรองเหลือการขึ้นค่าเช่าได้ 1% ต่อปี ต่างจากชุมชนหัวป้อมที่ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มปีละ 5% เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชนหัวป้อมทำหนังสือขอใช้เกณฑ์นี้บ้าง ซึ่งก็ได้

ในครั้งนั้นได้เช่า 5 ชุมชน จากที่ยื่นขอ 9 ชุมชน ชุมชนที่ไม่ได้เช่าเพราะไม่มีความพร้อม หมายถึงกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่กล้าให้เช่ามา เพราะรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้เช่าเป็นแปลงใหญ่ ไม่ให้เช่าเป็นรายคน มีเงื่อนไขที่ต้องพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าห่างจากรางรถไฟ 20 เมตร แต่ที่อำเภอเมืองสงขลา ให้ห่างจากราง 5 เมตรเท่านั้น เพราะเส้นทางสายนี้ รถไฟไม่ได้วิ่งแล้ว

-วิธีการเช่าเป็นอย่างไร

พอช. เป็นผู้เช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน จะมาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้ เพราะกลุ่มออมทรัพย์ไม่ได้เป็นนิติบุคคล แล้วให้กลุ่มออมทรัพย์มาเช่ากับ พอช. จากนั้นให้สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์มาเช่าช่วงต่อจากกลุ่มออมทรัพย์อีกที เป็นการเช่าถึง 3 ช่วงด้วยกัน

สมาชิกที่เช่าที่กับกลุ่มออมทรัพย์ สามารถนำสัญญาเช่านั้นไปขอน้ำขอไฟไฟอยู่ถาวรได้ เพราะเป็นสัญญาเช่าที่ถูกต้อง และคนที่อยู่ห่างจากรางรถไฟ 5 เมตรได้เช่าทุกคน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 5 ปี

ส่วนคนที่อยู่ในระยะ 5 เมตรจากรางรถไฟ หรือปลูกบ้านคร่อมรางรถไฟจะต้องรื้อออกภายใน 2 ปีเช่นกัน แต่การรื้อออกตรงนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมีสถานที่รองรับไว้อีกที่หนึ่งให้คนที่ต้องการไปอยู่ที่นั่น อยู่แถวบ้านเขาแก้ว ตำบลเขารู้ช้าง อำเภอเมืองสงขลา เป็นที่ดินรถไฟเช่นกัน เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่

 

-พวกที่อยู่ในเขตห้ามเช่ามีทั้งหมดกี่ราย

ทั้งหมด 323 ราย จาก 8 คือ ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนร่วมใจ ชุมชนหัวป้อม ชุมชนกุโบร์ ชุมชนสมหวัง ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภาราดรและชุมชนพาณิชย์สำโรง ที่ต้องไปอยู่ที่นั่น

-แต่ทางรถไฟสายนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะฟื้นอีกครั้ง

เราก็เห็นแล้วว่าเขาจะเปิดให้วิ่งอีกครั้ง แต่เป็นรถไฟดีเซลราง

-จะย้ายไปได้ทั้งหมดหรือไม่ ภายใน 2 ปีนี้

ตอนที่เราทำสัญญาเช่า เรารับปากกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า จะหมด แต่ตอนนี้ผ่านมา 1 ปี 3 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ย้ายออกไปซักครัวเรือน

เหตุที่ยังไม่ย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่รองรับ เพราะเรายังยื่นขอเช่าพื้นที่รองรับนั้นไม่ได้ เพราะว่ากระบวนการของเรายังไม่พร้อม ตอนนี้กำลังทำผังกันอยู่ค่ะ คือผังพังใหม่ที่เราจะเข้าไปอยู่ และจะพัฒนาอย่างไร ต้องทำให้เห็นว่า เราจะมีคูระบายน้ำ มีถนนอย่างไร

ตอนนี้กำลังทำควบคู่กับทำโครงสร้างการพัฒนาสาธารณูปโภคชุมชนให้กับ พอช. เพื่อให้เห็นสิ่งที่เราต้องการได้ จะได้งบมาต้องช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง

ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่เลื่อนไปเดือนมกราคม 2554 ซึ่งคณะกรรมการจะต้องลงพื้นที่พร้อมกับ พอช.สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ หรือ สอช. และตัวแทนชาวบ้านที่จะลงพื้นที่ด้วยกัน

-ในส่วนความพร้อมของสมาชิกในชุมชน

ในการขอเช่าที่ดินรถไฟมีข้อติดขัดอยู่ว่า ทุกพื้นที่ไม่มีสมาชิกหรือชาวบ้านที่ต้องการเช่าเต็มร้อยเพราะบางคนอยู่มาหลายสิบปีแล้ว ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าซักบาท อยู่ๆ เราก็ไปทำเรื่องเช่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ เขาถามว่าทำไมต้องเช่าให้เสียเงิน ทำไมต้องไปขุดไปตีรังมด ให้มดมันตื่นอะไรประมาณนี้

เขาบอกว่า เราอยู่เฉยๆ มาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน ทำไมต้องมาเสียเงิน บางหลังก็เสียค่าเช่า 3,000 บาท บางหลังเสีย 2,000 บาทกว่า เพราะมีพื้นที่หลายตารางเมตร ซึ่งคนมาก่อนได้จองพื้นที่ให้มากๆไว้ ซึ่งจริงๆแล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยจะไม่ให้ใช้พื้นที่มากๆ โดยกฎระเบียบของเขา แต่สภาพความเป็นจริง ชาวบ้านเขามาอยู่ก่อนจะมีระเบียบออกมา

ชาวบ้านมีการครอบครองพื้นที่ มีการปลูกบ้าน จึงไม่มีใครยอมทิ้งบ้านที่ปลูกแล้วหรอก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเช่า แม้ค่าเช่าตารางเมตรละแค่ 20 บาท แต่บางหลังต้องจ่ายเยอะ เนื่องจากครอบครองพื้นที่ไว้เยอะ บางหลัง 3,000 กว่าบาท แต่บางหลัง 600 กว่าบาทต่อปี

คนที่ลำบากซักนิดก็ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ให้พออยู่ได้และทำมาหากินได้ แต่บางหลังมีตังค์ก็ยังอยู่ แม้มีกำลังซื้อที่ดินที่มีโฉนดเป็นของตัวเองได้ เพราะพื้นที่รถไฟอยู่ในตลาด อยู่ในเมือง เป็นทำเลที่ขายของได้ ทำประโยชน์ได้

-หลังจากได้เช่าแล้วเป็นอย่างไร

หลังจากได้เช่าแล้ว ก็มีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชน เช่น เรื่องงบประมาณต่างๆ ที่ลงมาในชุมชน แม้แต่เรื่องการเช่าที่ก็ยังมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนอยากเช่าบางคนก็ไม่ต้องการ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ที่เห็นชัดเจนคือการที่ พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านให้ดูดีขึ้น หลังละ 20,000 บาทโดยหลักการ แต่ให้ชุมชนต้องไปบริหารกันเองโดยกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน

เมื่อมีการเช่าแล้วก็ต้องมีเรื่องสวัสดิการตามมา โดยให้ตั้งกองทุนสวัสดิการ กลุ่มสัจจะวันละบาท ทำโครงการประกันสังคมดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ต้องมาวางระเบียบ ตามสภาพแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่ชาวบ้านคนไหนหัวหมอก็กฎระเบียบ บางพื้นที่มียาเสพย์ติดเยอะ มีคนว่างงานเยอะก็ต้องใช้กฎระเบียบอีกอย่าง

เรื่องสวัสดิการเราต้องมีทุกพื้นที่ ไม่เช่นนั้น ไม่รู้จะหาสิ่งใดไปจูงใจชาวบ้านให้มาเข้าร่วมในเรื่องการขอเช่าพื้นที่ ซึ่งก็ได้ผลดีตรงนี้ เพราะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล การเสียชีวิตซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทุน 2,500 บาท เป็นต้น

ทีแรกชาวบ้านไม่ยอมทำ เขาบอกว่าเสียเงินเปล่า แต่พอผ่านไป 180 วัน เงินกองทุนก็เริ่มนำมาจ่ายสวัสดิการ คนเจ็บป่วยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็จะได้ประกัน 500 บาท ชาวบ้านก็เลยตื่นตัวขึ้น

-มาถึงเรื่องการประชุมของแกนนำในแต่ละพื้นที่ร่วมกับ พอช.และสอช.เพื่อเตรียมรับทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะกระทบกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินรถไฟ มีที่มาอย่างไร

ขณะนี้มีกระแสว่า รัฐบาลไปเซ็นต์สัญญากับต่างประเทศเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟรางคู่ ทีนี้พี่น้องเราที่ไม่เข้ามาสู่กระบวนการประกันสังคมมีมากในหลายพื้นที่ในภาคใต้ ตอนนี้สำรวจทุกภาคแล้ว ภาคใต้ก็มีหลายจังหวัด ถามว่า ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยทำ เราจะไม่ทันการ เราต้องไปอยู่ที่ไหนรถไฟไม่รับผิดชอบ

ทางสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ หรือ สอช.จึงทำเรื่องนี้ โดยรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหารือร่วมกันทั่วประเทศ เพราะมีหลายองค์กรทั่วประเทศ ที่สังกัด สอช. ซึ่งป้าเองก็เป็นตัวแทนของ สอช.

สอช.เป็นผู้ผลักดัน เก็บรวบรวมข้อมูล หาข้อมูลต่างๆ เสนอให้ พอช. เมื่อมีข่าวรถไฟรางคู่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน เราต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร พอช.ช่วยอะไร ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยช่วยอะไร ก็มาวางแผนร่วมกัน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล

-สิ่งที่วิตกมากตอนนี้ก็คือทางรถไฟรางคู่ เพราะจะทำให้ต้องย้ายชุมชนแน่ๆ

ที่วิตกคือพี่น้องได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ เพราะบางคนอยู่ในที่ดินรถไฟมานาน ถ้าถูกไล่รื้ออะไรจะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะมีที่ไปไหม จะทำอาชีพอะไร จะอยู่กินอย่างไร นี่จะเป็นผลกระทบสำหรับคนมีรายได้น้อย

สิ่งที่ สอช.ต้องการเรียกร้อง คือ รถไฟจะต้องหาที่รองรับให้พี่น้องที่จะได้รับผลกระทบเหล่านี้ ที่เราต้องสำรวจข้อมูล ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลมา จะได้รู้ว่า แต่ละภาค มีข้อมูลความเดือดร้อนเท่าใด

ในเมื่อเจ้าของเรื่องคือรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องช่วยเมื่อโครงการไปกระทบชาวบ้าน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ในเมื่อคุณต้องการพื้นที่ของคุณคืนเพื่อผลประโยชน์ คุณก็จะได้ประโยชน์นั้น เมื่อคุณได้ประโยชน์แล้ว คุณจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร คุณต้องมีแผนให้เรา

ในส่วนของ พอช.มีสิ่งใดบ้างที่ พอช.สนับสนุนได้ เพื่อให้เข้าโครงการบ้านมั่นคง ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการบันทึกความร่วมมือกัน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านก็มีป้าแต๋ว ซึ่งกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งแต่ตั้งที่ 221/2552 กับชาวบ้านในเขตที่ดินรถไฟรวม 7 คนจากทั่วประเทศเป็นตัวแทนคนในชุมชน  

ตอนนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการให้เราทำร่างเสนอไปดูว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไร เขาจะไปกรองดูว่า สิ่งที่เราเสนอไปนั้นน่าจะเป็นไปได้ไหม

-เราเสนออะไรบ้าง

สอช.เสนอไปมี 5 เรื่อง คือ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจัดหาที่ดินให้ 2.เรื่องการขนย้าย การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 30,000 บาท แล้วแต่สภาพของแต่ละครัวเรือน

3.การไปอยู่ที่ใหม่ประกอบอาชีพไม่ได้หรือว่าทำเลหากินไม่ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเยียวยาแต่ละครอบครัว เป็นการช่วยเบื้องต้น

4.ด้านสิ่งแวดล้อม การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลสภาพแวดล้อมต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ไปปล่อยเกาะให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่เรื่องนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับ เราเคยเสนอไปครั้งหนึ่งแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เราเอากลับมาดูกันใหม่ เรียกร้องมากไปหรือเปล่าที่จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ

มีอีกแบบหนึ่งที่ตัวแทน สอช.เสนอ คือ ถ้าช่วยเป็นรายๆ อย่างนั้นจะดูมากไป ถ้าเป็นรายโครงการจะได้ไหม คือ ถ้าโครงการหนึ่งมีมูลค่าถึง 4,000 ล้านบาท ก็ตัดมา 1% มาเป็นกองทุนให้กับชุมชนนั้นๆ ชุมชนก็มาบริหารจัดการเอาเอง หรือจะไปซื้อที่ดินใหม่อย่างไร จะจัดสร้างบ้านอย่างไรให้สมาชิกที่ย้ายออกไป อะไรประมาณนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยังไม่รับอยู่ดี

แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับ แต่ทาง สอช.จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ก่อนที่รถไฟรางคู่จะมาบ้านเรา เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังจะเริ่มทำรางคู่ในสายใต้จากนครปฐมมาถึงหัวหิน และจากประจวบคีรีขันธ์มาถึงชุมพรก่อนในระยะแรก

ทั้ง 2 ช่วง การรถไฟแห่งประเทศไทยจะทำพร้อมกับสายอื่นๆ ทางภาคกลาง ภาคเหนือและอีสาน เพราะฉะนั้นทาง สอช.ต้องได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า แต่ละภาคนั้นมีผู้เดือดร้อนเท่าไร ถึงเราถึงจะไปเสนอต่อรัฐบาล

โครงการรถไฟรางคู่ระยะแรกนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2553 – 58 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558 – 63 และระยะที่ 3 ซึ่งจะครบทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563-68 นอกจากรถไฟรางคู่แล้ว ยังจะมี รถไฟความเร็วสูงด้วย แต่รถไฟความเร็วสูงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาอย่างไร แต่มาแน่

-สรุปก็คือตอนนี้ทั้ง 5 เรื่อง การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับแม้แต่ข้อเดียว

ยังไม่รับ

-แล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยเองเขามีข้อเสนออะไรมาบ้าง

เขามีข้อเสนอมาในส่วนของภาคอีสานว่า ถ้าต้องการค่ารื้อถอน เขาไม่มีให้ แต่มีค่าขนย้าย จาก 3,000 - 30,000 บาท คุณจะเลือกเอาแบบไหน ทางตัวแทนภาคอีสานเสนอเป็น 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน ไม่ว่ากี่ร้อยครัวเรือน ก็จะได้ครัวเรือนละ 30,000 บาท

จากนั้น เงินที่ได้จะตั้งเป็นกองทุน เพื่อไปซื้อที่ดิน แต่ไม่ใช่ให้เปล่า สมาชิกจะต้องผ่อนกลับมาให้กับกองทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะเป็นเงินที่ได้มาเปล่าๆ ส่วนการสร้างบ้านให้ขึ้นกับ พอช.

พอเรียก 30,000 บาทต่อครัวเรือน ดูเสมือนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะยอม

แต่แกนนำหลักๆ ของ สอช.มาวิเคราะห์กันอีกครั้งว่า ถ้าให้ภาคอีสานครัวเรือนละ 30,000 บาทพอมาภาคใต้บ้านหลังใหญ่กว่าในภาคอีสาน เพราะภาคอีสานเขาปลูกบ้านกันง่าย แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ เป็นบ้านที่มั่นคงถาวร เงินค่าขนย้าย 30,000 บาทคงไม่พอ

ที่ชุมชนกุโกร์ บ้านแต่ละหลังที่ต้องย้ายออกราคาสูงถึง 500,000 – 700,000 บาทก็มี ถ้าให้แค่ 30,000 บาท เขาจะยอมรับไหม

ถ้าเรามาแล้ว เกิดเป็นคดีขึ้นศาล มันก็จะกลายเป็นกติกาทั่วประเทศ และแกนนำนี่แหละที่จะถูกเพื่อนกระทืบ หาว่าไปรับมาทำไม เขายังไม่ได้ตอบตกลงกันเลย กลายเป็นว่า เรื่องนี้ไม่เกิด

แต่สิ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการตอนนี้ คือ ให้ทาง สอช.ทำหนังสือถึงกองเลขานุการของคณะกรรมการ เพื่อเปิดประชุมคณะกรรมการ โดยให้มีวาระการจัดตั้งคณะกรรมการชุดที่ดูแลกองทุนที่มาจากเงิน 30,000 บาทต่อครัวเรือน ถ้าการรถไฟแห่งประเทศไทยยอมรับเรื่องนี้ขึ้นมา

ทาง สอช.เองก็ยังไม่ทำหนังสือไป เพราะเรายังไม่ชัดเจนว่า สมาชิกของเราจะยอมรับแบบไหน ทีนี้การประชุมร่วมกับ พอช.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เราได้ข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อนจำนวนเท่าใด เราก็จะลงไปถามว่า ชุมชนจะยอมรับกติกานี้หรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น