โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

บันทึกของวิสา คัญทัพ ฉบับที่ 8: ปีใหม่ 2554 ต่อสู้ด้วยภูมิความรู้และสติปัญญา “ขอเพียงพวกเรา ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น”

Posted: 04 Jan 2011 11:55 AM PST

ปีใหม่ 2554 มีเรื่องที่ต้องพูดคุยเขียนลงบันทึกฉบับที่ 8 อยู่บางข้อบางประเด็น ผมหลบเร้นการไล่ล่าอย่างอยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการจะครบแปดเดือนในเดือนมกราคม ขณะปัจจุบัน นปช. เปลี่ยนผู้นำจากประธานวีระ มุสิกพงศ์ มาเป็น รักษาการประธาน นปช. ธิดา ถาวรเศรษฐ์

แกนนำ นปช.หลายคนถูกคุมขัง หลายคนถูกข่มขู่คุกคามตามล่า แดงบางขบวนยังคงถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้ มีข่าวจะให้ประกันตัวแกนนำบางคน แต่ก็เล่นเล่ห์มาตลอด อย่างไรก็ตาม ปีใหม่นี้ ผมมีบทกวีมาฝาก เริ่มต้นที่บทกวีก่อนเลย

 

ปีเก่า.. เศร้าที่สุดในโลก โศกสลด     ปีเก่า.. รันทด อนาถา

ปีเก่า.. เลือดนองท่วมน้ำตา ปีเก่า.. ทหารฆ่าประชาชน

ปีใหม่.. ไม่เลิก การไล่ล่า               ปีใหม่.. การฆ่า ยังเข้มข้น

ปีใหม่.. ยังได้เห็น เกมเล่นกล          ปีใหม่.. มืดมนอนธกาล

ปีใหม่.. ไทยนี้ ไม่รักสงบ                ปีใหม่.. ไทยรบกันร้าวฉาน

ปีใหม่.. วิกฤติ ยังพิสดาร                ปีใหม่.. อีกนาน ยังทระนง

ปีใหม่.. ให้รักสามัคคี                     ปีใหม่.. เดินให้ดี อย่าพลัดหลง

ปีใหม่.. บากบั่น มั่นคง                   ปีใหม่.. ชูธง สู้ต่อไป

ปีใหม่.. จิตใจ ไม่เปลี่ยน                 ปีเก่า.. บทเรียน ยิ่งใหญ่

ปีเก่า.. ฝังแค้น แน่นใน                   ปีใหม่.. ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น.

 

ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น คือ หากเป้าหมายยุทธศาสตร์เดียวกันต้องหลากหลายวิธีการ อย่าจำกัดและดูถูกดูแคลนยานพาหนะที่จะนำพาไปถึงจุดหมายของกันและกัน ควรสรุปบทเรียนและทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ผิดพลาดต้องยอมรับและปรับปรุงแก้ไข ไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก บางคนว่า “อย่าก้าวช้ากว่ามวลชน” ปัญหาคือ “มวลชนส่วนใหญ่” หรือมวลชนที่ก้าวหน้าจำนวนหนึ่งที่ไปก่อนร้อนวิชา

สภาพความเป็นจริงทางภววิสัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่พลิกผัน น้ำลดจึงรู้ว่าตรงไหนเป็นดอนเป็นเกาะ ตรงไหนเป็นตอ หลักยึดของคนเสื้อแดงที่ต้องการความเป็นธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริงคือธาตุแท้ที่แข็งแกร่งและแน่วแน่กว่า ซึ่งที่สุดก็จะก้าวข้ามผ่านข้อหาสามานย์อันท้นท่วมด้วยจริตมายาของกลุ่มปฏิกิริยาขุนศึกศักดินาอำมาตย์ ที่ว่า คนเสื้อแดงสู้เพื่อทักษิณ มาเป็น คนเสื้อแดงสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยมีทักษิณเป็นคนหนึ่งในแนวร่วม เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นคนหนึ่งที่ต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน ตรงนี้ หากเราทำให้ดีระยะผ่านดังกล่าวก็จะสั้นลง เราต้องทำให้คนส่วนใหญ่เกินห้าสิบ หรือหกสิบ หรือเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศเห็นด้วยและสนับสนุนคนเสื้อแดง

เวลานี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใกล้ปิดม่านการแสดงโดยสมบูรณ์แล้ว ชุมนุมที่ไหนก็ไม่มีคน (เพราะคนมาจากกำลังของพรรคการเมืองที่ชื่อประชาธิปัตย์) ที่ดิ้นที่ดันทุรังกันสุดแรงนี้เป็นเฮือกสุดท้าย หลายคนในพันธมิตรฯ คิดไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งของพวกเขายอมรับว่า เสื้อแดงไม่ได้รับความเป็นธรรม มีสองมาตรฐานจริง ยอมรับว่ามีส่วนของคนเสื้อแดงที่สู้เพื่อประชาธิปไตยโดยใช้สันติวิธีจริง ติดใจก็เพียงข้อความรุนแรงที่เขาคิดว่ามีเสื้อแดงบางส่วนกระทำ และเรื่องสู้เพื่อทักษิณเท่านั้น แต่สองข้อหลังไม่ใช่สาระสำคัญเพราะเป็นความเท็จซึ่งท้ายที่สุดแล้วจักพิสูจน์ได้จากสัจจะแห่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นไม่ต้องพูดถึง พวกพันธมิตรฯเรียงหน้าออกมาโจมตีประณามหน่วงหนักล้ำหน้ากว่าคนเสื้อแดงด้วยซ้ำไป ที่น่าสังเกตก็คือ น้ำเสียงที่ออกมาดับเครื่องชนหลังจากที่ชื่นชมเชียร์กันมาก่อนมีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆพันธมิตรฯในฐานะมือจุดชนวนป่วนความรุนแรงวันนี้ดูจะด้านและก็เดี้ยงไปเสียแล้ว ล่าสุด พนิช วิกิตเศรษฐ์,วีระ สมความคิด กับพวกรวมเจ็ดคน บุกรุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชาเพื่อสร้างสถานการณ์ปลุกความคลั่งชาติก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กลับต้องนอนคุกเขมรแทน โดยจำนนด้วยคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานชัดเจนจากคำพูดของพนิชเองว่าตั้งใจบุกล้ำเข้าไปในดินแดนเขา ซึ่งคนสำคัญในรัฐบาลต่างออกปากว่าคงช่วยลำบาก

 

ปัญหาจึงอยู่ที่ฝ่ายเรา จะเดินต่อไปอย่างไร จะปรับขบวนอย่างไร

องค์กรเสื้อแดงต่างๆอันหลากหลายจะขยายกำลัง ขยายความคิดจิตสำนึก ร่วมไม้ร่วมมือ สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยยึดเอาเป้าหมายยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง ในส่วนของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เดินหน้าปรับขบวนไปก่อนแล้ว อย่างน้อยๆก็ได้จัดตั้งคณะแกนนำชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ไม่ให้เกิดสภาพว่างไร้การนำ แม้ในระยะแรกๆจะมี “การป่วน” จากทั้งฝ่ายผู้หวังดีและไม่หวังดีทำให้เสียรูปขบวนไปบ้างก็ไม่มีผลอะไร เพราะ “คนลองของ” บางคนอาจยังไม่รู้จัก “ความแกร่งแข็งกล้า” และความเป็นตัวจริงเสียงจริงของนักสู้อย่างอาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ต่อเมื่อได้ถูกสัมภาษณ์และแสดงทัศนะออกทางสื่อ ภาพความสมบูรณ์พร้อมในฐานะการนำก็เปล่งประกายปรากฏทั้งภูมิรู้และประสบการณ์ อันที่จริงเรื่องความสามารถของ อ.ธิดา เป็นที่ทราบกันดีในหมู่แกนนำ นปช. ซึ่งได้ร่วมประชุมกันเป็นประจำต่อเนื่องตลอดมาหลังถูกสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน ปี 2552 และรูปคณะกรรมการแกนนำของ นปช. ดังกล่าว แม้จะมิใช่การนำแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่ก็สามารถลดทอนระบบดำเนินการที่ไม่ใช้เหตุผลลงได้บ้าง เพื่อให้เห็นภาพผู้นำ นปช. คนใหม่แจ่มชัดยิ่งขึ้น เราลองไปฟัง “การป่วน” ด้วยคำถามบางคำถามต่อไปนี้

คุณทักษิณชินวัตรยอมรับที่คุณธิดาขึ้นมาเป็นรักษาการประธานนปช.หรือไม่

มันไม่ใช่ธุระอะไรของคุณทักษิณ อาจารย์แคร์ชาวบ้าน ประชาชนรักอาจารย์หรือเปล่า คุณทักษิณ ไม่เกี่ยว เพราะเชื่อว่าทักษิณ ต้องฉลาดพอว่าบทบาทแกทำอะไรได้แค่ไหน และแกต้องรู้จักคนอย่างอาจารย์ หรือหมอเหวง ว่าเป็นคนแบบไหน ประวัติเป็นแบบไหน อีกด้านหนึ่งอาจารย์เคยเจอคุณทักษิณ เขาเป็นคนชอบพูด แกพูดว่าไงรู้ไหม อาจารย์ถามแกว่ารู้สึกอย่างไร ท้อถอยไหม แกบอกว่า เพราะการต่อสู้ ประชาชนทำให้แกสดชื่นอยู่ตลอดเวลา คือมันตรงข้ามไม่ใช่แกมาช่วย แน่นอนแกอาจจะเชื่อส่วนตัวว่าประชาชนมาสู้เพื่อแก แต่มีส่วนหนึ่งคนที่เขารักแกก็มี แต่การต่อสู้ของประชาชน คือน้ำหล่อเลี้ยงเขาน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจคุณทักษิณ

 

ภารกิจ 4 ข้อของประธาน นปช.หญิงคนใหม่

เหตุผลการที่มารับหน้าที่รักษาการประธาน นปช. นั้นถือเป็นหน้าที่และความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องปรับบทบาททางวิชาการมานำมวลชน แล้วก็เป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่จากแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำว่าหลังจากนี้คนเสื้อแดงจะต่อสู้ด้วยภูมิความรู้และสติปัญญา โดยมีภาระหน้าที่สำคัญคือ

 

1. การรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวแกนนำ มวลชนคนเสื้อแดง และผู้ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบให้ได้รับอิสรภาพ การประกันตัวเพื่อดำเนินคดีอย่างมีนิติรัฐ นิติธรรม

2. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำและครอบครัวตลอดจนการประกันตัวและต่อสู้คดี

3. เรียกร้องความยุติธรรมและการใช้กฎหมาย มาตรฐานเดียวกันและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

4. ยกระดับการต่อสู้ของประชาชนให้สูงขึ้นด้วยองค์ความรู้

สรุปสุดท้ายในส่วนของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินที่ได้ปรับขบวนรุดหน้าไปแล้ว ด้วยคำพูดของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ดังนี้

"เราจะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ถ้าเราพูดอะไรแล้วมันให้โทษกับประชาชน หรือไปเข้าทางคนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาชนจะไม่พูด ไม่ต้องการพูดเพื่อสำแดงโวหารว่า เราเป็นคนเก่งหรือก้าวหน้า คำพูดของเราจึงต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์เท่านั้น"

ด้วยรักสามัคคี ผมขอฝากคำพูดนี้ไปยังคุณสุรชัย แซ่ด่านมิตรที่เคารพด้วย โดยวุฒิภาวะที่ท่านมี หากไตร่ตรองก่อนพูดได้จะดียิ่ง

คราวนี้มาพูดในส่วนของพรรคเพื่อไทยบ้าง มีความพยายามจะปรับโครงสร้างการนำของพรรคอยู่บ้างเช่นกัน แต่ทว่ายังติดขัด เพราะพรรคผูกพันยึดโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร การจะขยับไปทางไหนอย่างไรจึงต้องเป็นไปโดยที่ท่านทักษิณต้องเห็นดีเห็นงามด้วย ดังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ออกมาแสดงทัศนะว่า

การใช้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นเรือนตาย เป็นสิ่งจำเป็น แต่ทว่า ทั้งพรรคและตัว ส.ส. ต้องทำงานเชิงรุกและเชิงลึกต่อประชาชนด้วย จะว่าก้าวข้ามคุณทักษิณ หรือให้ตัดประเด็นเรื่องคุณทักษิณไปเลยก็ไม่เชิง พรรคเพื่อไทยมีความเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ซึ่งเป็นความจริงที่ใครๆ ก็รู้ คุณทักษิณได้ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองไว้มาก เป็นกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทย ยังเป็นคนที่เคยคิดนโยบายดีๆ ได้มาก คงจะยังสามารถช่วยคิดนโยบายดีๆ ได้ ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ให้ตัดคุณทักษิณออกไป หรือปฏิเสธ แต่ว่าจะวางคุณทักษิณอยู่ตรงไหน จัดความสัมพันธ์อย่างไร จะเสนอเรื่อง จะพูดถึงคุณทักษิณอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องคิด 

ถ้า ชูนโยบายเอาคุณทักษิณกลับบ้านแบบดิบๆ (หยุดคิด) โดยไม่บอกว่าเอากลับมาวิธีไหน กลับมาเพื่อทำอะไร (นิ่งคิด) มันก็ไม่โดนใจคนมากนัก การที่คุณทักษิณจะกลับเมืองไทยได้หรือได้รับความยุติธรรม ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน แล้วคุณทักษิณคงได้ความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน การนำเสนอในลักษณะนี้ผมคิดว่าคนทั่วไปจะรับได้มากกว่า แต่ถ้าชูเป็นประเด็นแคบๆ และไม่มีรายละเอียด ไม่รู้วิธีการ ไม่ว่าจะเกิดผลอะไรอย่างไร คนที่เป็นพวกเดียวกันแท้ๆ ก็รับได้ ก็ชอบใจ แต่คนที่ห่างออกไป คนที่เขาไม่สนใจประเด็นนี้ เขาอาจจะไม่รับ"ในยุทธศาสตร์ที่จะสามัคคีกับกลุ่มต่างๆ ถ้าไปเน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากไป เช่น เน้นเสื้อแดงมากเกินไป เน้นเอาคุณทักษิณกลับเมืองไทยมากเกินไป มันก็จะแคบ เสื้อแดงน่าจะมีคนเป็นล้าน เรื่องที่ต้องทำให้เสื้อแดงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ต้องทำแน่นอน แต่ต้องไม่ให้คนรู้สึกว่าเอาแต่เสื้อแดง หรือเสื้อแดงเป็นผู้กำหนดพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคนส่วนที่เหลือซึ่งมันมากกว่า เวลาเราเลือกตั้งเราต้องพูดถึงคน 19 ล้าน ทำให้อย่างไรให้คน19 ล้านมาเลือก ซึ่งคน 19 ล้าน มันเยอะกว่าเสื้อแดงมาก

คงต้องบอกว่า นี้เป็นข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ และเป็นข้อเสนอของมิตรต่อมิตร ที่มากด้วยความระมัดระวังคำพูดคำจา เป็นความเห็นที่น่ารับฟัง น่าคิดต่อ เพราะอย่างไรเสียในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ควรต้องรีบปรับขบวน ปรับได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นฝ่ายรุกในการกระทำทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังเพื่อรองรับ “กรณีสถานการณ์เปลี่ยน” ไว้ล่วงหน้า ซึ่งหมายถึงความพร้อมของพรรคเพื่อไทย อันที่จริง เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันด้วย “เสียงดัง” เช่นนี้ ข้อเสนอต่างๆควรพูดคุยกันภายในได้ด้วย “เสียงเงียบ” โดยคัดกรองเอาคนที่มีความคิดความอ่านในแบบคนที่ “คิดเป็นวิเคราะห์เป็น” มาปรึกษาหารือกัน

เมื่อการเลือกหัวหน้าพรรค หรือผู้นำพรรคยังไม่พร้อมก็ควรจัดตั้งคณะบุคคลที่ “คิดเป็นวิเคราะห์เป็นทำงานเป็น” ขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เป็นกรมการเมืองระดับบน ถกเถียงค้นคว้าหาข้อสรุปเพื่อกำหนดเป็นแนวทางและเข็มมุ่ง ตลอดจนนโยบายของพรรคที่ชัดเจน ให้รู้กันภายในว่าจะเดินไปอย่างไร หรือจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากวันนี้พรรคเพื่อไทยยังเคว้งคว้างปราศจากการนำที่แน่นอน ปล่อยสภาพเป็นปัจเจกบุคคลที่ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ ท.ทักษิณอดทน เราก็จะตกอยู่ในห้วงแห่งชะตากรรม เป็นการต่อสู้ตามเวรกรรม พึ่งพาไสยาศาสตร์ เสียโอกาสที่จะเป็นฝ่ายกระทำเพื่อฉวยคว้าเอาชัยชนะมาตามลำดับขั้นอย่างที่ควรเป็น

วงดนตรีวงหนึ่ง เมื่อบรรเลงบทเพลงเพลงหนึ่ง นอกเหนือจากบรรเลงเพลงด้วยความรัก ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ปีติสุขแล้ว ทั้งวงยังต้องสามัคคีกันบรรเลงอย่างมีระบบ และเป็นระเบียบด้วย ต้องกลมกลืนผสมผสาน รับส่งกันอย่างมีจังหวะจะโคน สอดคล้องต้องกันในท่วงทำนอง ดำเนินพลิ้วไหวเท่าทันกันไปในเร็วหรือช้า ทุกเครื่องดนตรีมีความสำคัญ ไม่เกี่ยวว่าจะเล่นน้อยเล่นมาก แต่เกี่ยวกับเล่นได้ถูกต้อง ก็จะเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับบทเพลงทั้งหมดในทันที เป็นเช่นนั้นไปจนจบเพลงจนได้รับเสียงปรบมืออันกึกก้องจากผู้ฟัง ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนไทยในวันนี้ก็ต้องการขบวนทัพที่บรรเลงบทเพลงได้ประดุจวงดนตรีวงหนึ่ง บรรเลงด้วยความรัก ภูมิความรู้ และสติปัญญา

หวังว่า ปี 2554 จะเป็นปีที่คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการปรับขบวนได้ในไตรมาสแรก

 

(บันทึกเขียนเสร็จวันที่ 4 มกราคม 2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จวกปปช.-ดีเอสไอ ปกป้องเจ้าหน้าที่ซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืน คดีทนายสมชาย 7 ปีไม่คืบ

Posted: 04 Jan 2011 11:13 AM PST

 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ปปช.และดีเอสไอ ล้มเหลว ล้าช้า ปกป้องเจ้าหน้าที่ กรณีคดีซ้อมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน ซึ่งนำไปสู่การอุ้มหายทนายสมชาย คดี 7 ปี ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ประชาชนไร้ที่พึ่ง คนผิดลอยนวล
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.53 โฆษกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้แถลงถึงกรณีผลการพิจารณาชี้มูลความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา กับพวก รวม 19 คน กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกันกลั่นแกล้งผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 โดยการกลั่นแกล้งดังกล่าวเป็นกรณีที่นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนร้องเรียนก่อนถูกทำให้หายตัวไปในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน
 
แถลงการณ์ระบุว่า การยื่นคำร้องต่อปปช.กรณี พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยากับพวก รวม 19 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นเป็นสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพ.ศ.2548 โดยดีเอสไอได้ยื่นสำนวนพร้อมหลักฐาน อีกทั้งได้มีการคุ้มครองพยานที่เป็นเหยื่อถูกซ้อมทรมานจำนวน 3 คน จนกระทั่งนายอับดุลเลาะห์ อาบูการี ได้หายตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ข้อพิจารณาของปปช. ให้เหตุผลว่ารายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือผลการตรวจร่างกายของแพทย์หลายรายเป็นเพียงภาพถ่ายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขณะที่มีการควบคุมตัว ใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนด้วยอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอกว่า 6 ปีและ ปปช. ใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อชี้มูลเป็นเวลากว่า 3 ปี ผลการพิจารณาเป็นแต่เพียงว่าการซ้อมทรมานไม่มีหลักฐาน การปฏิบัติหน้าที่ของ ปปช.และกรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวจึงเป็นไปโดยล่าช้าเกินสมควร และยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมและเป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขช่องโหว่ของการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานตำรวจที่มีแนวโน้มว่าจะใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล ทำให้น่าสงสัยว่าทั้งสองหน่วยงานคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เที่ยงธรรม และเป็นที่พึงของประชาชนได้หรือไม่
 
“จึงขอเสนอให้รัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตั้งกรรมการตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยสุจริต ถูกแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพลหรือไม่? แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบของปชชต่อญาติของผู้เสียหายและสาธารณะชนเพื่อนำความจริงให้ปรากฎต่อเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการประพฤติไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ให้คำนึงว่าข้อพิรุธในเรื่องความล้มเหลว ความล้าช้าขององค์กรอิสระในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นอาจเกิดจากการแทรกแซงจากข้าราชการและผู้มีอิทธิพลนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยที่มีความขัดแย้ง อีกทั้งคดีสำคัญดังกล่าวยังส่งผลกระทบภาพพจน์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ซึ่งเป็นความล้มเหลวหากใช่เป็นผลงานของรัฐบาลนี้ไม่” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ยังอธิบายด้วยว่า เหตุการณ์ปล้นปืนเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกลามกว้างขวางทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องบาดเจ็บและล้มตายจนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน ทั้งนี้ ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนทั้งหมด 32 คน ศาลตัดสินยกฟ้องไปทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร จะหายตัวไป ทนายสมชายได้ร้องเรียนว่าผู้ต้องหาผู้เป็นลูกความ 5 คนถูกซ้อมทรมาน และได้ถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค.47 ริมถนนฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีความผิดต่อเสรีภาพและปล้นทรัพย์นายสมชาย นีละไพจิตร และศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่ามีความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวทนายสมชายฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2549 และศาลอุทธรณ์มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 แต่ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปด้วยว่าพ.ต.ต.เงิน หนึ่งในผู้ต้องหาได้หายตัวไปปริศนาและทางญาติได้ดำเนินการขอให้ศาลรอการไต่สวนบุคคลสูญหาย ซึ่งสร้างความกังวลว่าเสมือนเป็นการปกปิดและพยายามใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อให้อ่านคำพิพากษาคดีอุทธรณ์ล่าช้าไปโดยไม่มีความจำเป็นและส่อพิรุธเนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บางส่วนยังปฏิบัติหน้าที่ราชการ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจมีส่วนเกี่ยวขัองกับข้อกล่าวหาดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปรากฏการณ์ลูกอภิสิทธิชน

Posted: 04 Jan 2011 10:25 AM PST

บทความโดย “จรรยา ยิ้มประเสริฐ” เขียนถึงกรณีอุบัติเหตุบนทางด่วนดอนเมืองโทรลเวย์ และการให้ค่ากับชีวิตคนไทย

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: ปรากฏการณ์ลูกอภิสิทธิชนกับการทำให้มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนถึง 9 ศพ กับการให้ค่ากับชีวิตคนไทย

 

ราคาของมนุษย์นั้นไม่เท่ากัน การให้ค่าของสังคมกับมนุษย์นั้นก็มีชนชั้นมาโดยตลอดทั้งที่กางกั้นด้วยฐานะ วรรณะ และชาติตระกูล - คนงานต่างชาติผิดกฎหมาย เด็กขายพวงมาลัย คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าลูกชิ้นทอดที่มุกดาหาร นักศึกษามหาลัย กับลูกอภิสิทธิชน

ข้าพเจ้าต้องเข้าห้องพิจารณาคดีในคดีที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทโดยบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกเมื่อปี 2548 มีผู้ร่วมนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีแออัดเต็มห้อง ร่วมกัน 30 คนน่าจะได้ พวกผู้ชายถูกตรวนมือตรวนเท้า เดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีราวกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ แต่เมื่อฟังการพิจารณาคดี ครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานจากเขมร และพม่า ที่ถูกจัดว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย อีกครึ่งหนึ่งเป็นคดียาบ้า และมีคดีลักทรัพย์แจมมาสองสามคน

สิ่งที่น่าตระหนกจากประสบการณ์วันนั้นคือ ราคาของคนจนนี่มันถูกมากๆ ยาบ้าไม่กี่เม็ดทำให้เขาถูกตัดสินจำคุกกันตั้งแต่ 6 เดือน หนึ่งปี หรือสองปี การตัดสินสูงสุดในวันนั้นคือ 11 ปี สำหรับคดีค้ายาบ้า ในส่วนแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อยถูกสั่งจำคุก 3 เดือน 6 เดือน มีบางคนถูกขังคุกเกินคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยจากการถูกขังเกินกำหนด ทุกคนไม่มีทนายความแก้ต่างให้

ข้าพเจ้าพบกับครอบครัวขายพวงมาลัยแถวย่านลาดพร้าวครอบครัวหนึ่งที่คนเกือบ 8 ชีวิตของครอบครัวนี้เลี้ยงตัวเองจากการขายพวงมาลัยมากว่าสิบปี เกือบทุกคนถูกจับโยนเข้าสถานพินิจตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ เข้าแล้ว เข้าอีกคนละปีสองปี เพราะข้อหาขายพวงมาลัย เร่รอน และไม่ได้เรียนหนังสือ มิหนำซ้ำ พวกเขายังเป็นแหล่งเงินอันโอชะของตำรวจที่รีดไถพวกเขาทุกวี่วันมาอย่างยาวนาน ด้วยการเป็นกลุ่มคนไร้สถานภาพและคนชายขอบของสังคม รายได้วันละร่วม 2,000 บาทของทุกคนรวมกัน จะหมดไปในพริบตาถ้าถูกตำรวจรีดไถ

ชะตากรรมของคนจน คนชายขอบ คนงานต่างชาติเหล่านี้ ทำให้นึกถึงกระแสเฟสบุค กรณีของเด็กสาวอายุ 17 ลูกหลานราชสกุลที่มีประวัติย้อนไปถึงรัชกาลที่ 1 และทั้งพ่อและลุงมีตำแหน่งใหญ่โตในวงการทหาร การตื่นของคนเมืองครั้งนี้ ทำเอาหลายคนตื่นตะลึงและพ้อด้วยความไม่เข้าใจว่า เหตุใดการตายของคนเสื้อแดง 91 ศพ กลางเมืองหลวงยังไม่สามารถสะเทือนหัวใจคนชั้นกลางในเมืองหลวงเท่ากับคดีนี้ จนมีคอมเมนต์มากมายทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่เห็นด้วยกับปฏิกิริยาชนชั้นกลางครั้งนี้

จริงๆ คดีมันชัดมากคือ คนขับรถยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขับรถโดยประมาท ทำให้คนเสียชีวิตถึง 9 คน และบาดเจ็บอีก 6 คน เป็นคดีสะเทือนขวัญร้ายแรง และผู้ขับขี่และครอบครัวของเธอต้องรับผิดชอบในการกระทำครั้งนี้ ทั้งทางแพ่งและอาญา ไม่มีประเทศไหนปล่อยให้การประมาณจนการเสียชีวิตอย่างมากเช่นนี้ลอยนวลผ่านไป เพราะมันคือกระจกสะท้อนถึงความรุนแรงบนท้องถนนในอดีต ในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ถ้าไม่มีการจัดการอย่างเด็ดขาด และเข้มงวด

การพยายามอ้างว่าเด็ก 14-15 ก็ขับรถกันแล้วโดยไม่มีใบขับขี่ เป็นข้ออ้างที่อันตราย เพราะเป็นการสมยอมกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะในทางกลับกันประเทศไทยจะต้องจริงจังกับเรื่องการให้ใบอนุญาตใบขับขี่และตรวจจับและลงโทษผู้ไม่มีใบขับขี่อย่างเข้มข้นมากกว่าที่ผ่านมา ในหลายประเทศ

การจะให้ให้ใบอนุญาตนอกจากกำหนดอายุแล้ว ต้องเข้าโรงเรียนเรียนการขับรถ จนได้ใบอนุญาต แล้วนำมาทำการสอบขับขี่ พร้อมกับจ่ายค่าใบอนุญาตจำนวนแพงโข ต่อใบอนุญาตกันปีต่อปี ทำผิดสามครั้งติดต่อกันถูกยึดใบขับขี่ และพักการให้อนุญาตหนึ่งปีกันเลยทีเดียว

การทำให้เรื่องการขับขี่มีราคาสูง เพราะประเทศนั้นๆ ให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์สูงเช่นกัน และเพื่อทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักในอันตรายที่ตัวเขาอาจจะทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวเอง และที่ร้ายกว่า คือเกิดกับผู้อื่น เช่นกรณีของ น.ส. เอ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ของ น.ส. เอ ที่สร้างการตื่นตัวกับคนหาเช้า กินค่ำ จนเฟสบุ๊คที่รณรงค์เรื่องนี้มีสมาชิกถึงกว่าสองแสนห้าหมื่นคนภายในไม่ถึงสัปดาห์ อาจจะเพราะว่าคนเหล่านี้มีชะตากรรมร่วมกับผู้เสียหาย เพราะพวกเขาใช้บริการสาธารณะเช่นกัน และปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นความร้ายแรงแห่งการประมาทบนท้องถนน ที่คนที่ตายนั้นอาจจะเป็นเขาและเธอเองก็ได้ ทำให้พวกเขาตระหนักว่าชีวิตอันมีค่าของพวกเขานั้นราคาถูกแค่ไหนถ้าเจอกับคนขับรถที่ไร้วุฒิภาวะเช่น น.ส. เอ นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของปรากฏการณ์เฟสบุค เพราะพวกเขาตระหนักในภัยที่ถึงตัวพวกเขาได้มากกว่าภัยจากการไม่ร่วมปกป้องและรักษาประชาธิปไตยที่ยาวไกลเกินกว่าเขาจะรู้สึกถึงความเร่งด่วนของปัญหา

ขณะเดียวกันสาธารณชนที่หวาดวิตกว่าคนผิดจะลอยนวลครั้งนี้ ก็เพราะสังคมไทยมีบทเรียนให้ประจักษ์กันมาตลอดถึงศักยภาพแห่งอภิสิทธิชนไทย ที่สามารถเอาตัวรอดไปจากความพินาศที่พวกเขาก่อได้เกือบทุกครั้ง เห็นกันตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งถ้าดูจดหมายที่ตอบเป็นทางการฉบับแรกของตระกูล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” เราก็ตระหนักได้ถึงความสมจริงของการกลัวครั้งนี้ เพราะการตอบนี้เป็นการตอบที่เข้าใจหลักกฎหมายอย่างดี ไม่ตอบให้มากความ ไม่ผูกมัดตัวเอง ไม่มีการยอมรับผิด มีแต่คำว่า “เสียใจ” และ “ขอให้เป็นอุทาหรณ์

คำสัมภาษณ์ของแม่เด็ก และพ่อ และลุงของเด็กยิ่งทำให้ความน่ากลัวว่าความเป็นอภิสิทธิชนของพวกเขาจะทำให้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบในกรณีนี้ แม่เด็กให้สัมภาษณ์ว่า “เตรียมส่งลูกไปอเมริกา” พ่อและลุง (ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษากองทัพไทย) บอกว่าจะเคารพกฎหมาย แต่จดหมายตอบของตระกูลนี้ ตอบในนามตระกูล พร้อมตราประทับของราชสกุล แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่า “ทั้งตระกูล” เตรียมพร้อมที่จะปกป้องคนของอภิสิทธิชน

หลายคนสะท้อนว่าถ้าคนขับไม่ใช่ราชสกุล ป่านนี้ต้องเข้าไปอยู่ในห้องขังแล้ว แม้บาดเจ็บ ถ้ายกตัวอย่างกรณีชาวบ้านเสื้อแดงที่มุกดาหาร ก็คือต้องเข้าโรงพยาบาลโดยมีการล่ามโซ่ขาไว้กับเตียงเพื่อป้องกันการหลบหนี

เด็กคนนี้มีโอกาสจะหลบหนีได้มากกว่านักโทษเสื้อแดงมุกดาหารหลายเท่านัก แต่ไม่ถูกจับ ไม่ถูกล่ามโซ่ และมีการนัดแจ้งข้อกล่าวหาข้ามปี นี่ไม่เรียกว่าการได้รับการปฏิบัติอย่างอภิสิทธิชน สองมาตรฐาน และเป็นเรื่องที่สังคมควรกังวล แล้วจะเรียกว่าอะไร

มันไม่ใช่เรื่องว่าเอาเด็กไร้เดียงสา บริสุทธิ์ สำนึกผิดแล้ว สังคมควรเห็นใจและให้อภัย เช่นที่คนเห็นใจเด็กคนนี้นำเสนอกัน แต่เพราะว่าผลจากการปล่อยปละละเลยคือโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ และที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ผลที่ผูกพันถึงการเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคนบนท้องถนน แค่เทศกาลใหญ่ๆ ปีละ สองสามครั้งก็คราชีวิตคนปีละร่วมสองพันคน ไหนจะความทุกข์อันมากมายที่เกิดจากครอบครัวของผู้สูญเสียหรือได้รับบาดเจ็บ พิกลพิการ สูญเสียงาน สูญเสียรายได้ ที่เคยทำอีกล่ะ และไหนจะความสูญเสียทางตรงเรื่องความเสียหายทั้งรถยนต์ และทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรของชาติสำคัญๆ ต้องเสียไปเพราะความหย่อนยานเรื่องวินัยจราจร

ผลที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาสู่มาตรการคุ้มเข้มบนท้องถนน และวินัยจราจร การสอบใบขับขี่และการให้ใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเช่นกันว่า พื้นที่บนท้องถนน เป็นพื้นที่ที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่า เป็นแหล่งคอรัปชั่นใหญ่ของตำรวจผู้มีหน้าที่กำกับกฎหมายเช่นกัน และระบบ “พ่อกูหย่าย” ก็ทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยทำอะไรไม่ได้มากที่ผ่านมาเช่นกัน

มองไปข้างหน้าปรากฏการณ์เด็กอายุ 17 ขับรถโดยประมาท ทำให้คนเสียชีวิตถึง 9 คน คือการต้องวางมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่องกฎ ระเบียบ การวินัยการจราจรบนทางหลวง ถ้าเป็นหลายประเทศ กรณีนี้อาจจะต้องทำให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหา และช่องโหว่กันเพื่อเสนอทางแก้ไขกันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าเด็กและครอบครัวเด็กต้องร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มที่ การประมาณที่นำชีวิตของคนถึง 9 คน ไม่สามารถถูกทำให้ปล่อยผ่านไปได้ เป็นความสูญเสียที่ไม่ใช่คำว่าเสียใจ และเป็นอุทาหรณ์ ก็เพียงพอแล้ว แต่การรับโทษจำเป็นต้องมี การจ่ายค่าเสียหายชีวิตคนที่มีค่าในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน หรืออาจจะมากกว่าจำเป็นต้องมีเช่นกัน เพราะหลายคนที่เสียชีวิตไปนั้น ได้ใช้ทรัพยากรของครอบครัว ของชาติ และของโลกเพื่อพัฒนาตัวเองจนจบปริฯญาเอก ปริญญาโท และกำลังจะจบอีกหลายคน เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่ต้องชดเชยและต้องชดใช้เช่นกัน

ราคาแห่งโศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงสูงมากทั้งกับครอบครัวอภิสิทธิชน ที่คนกว่าสองแสนห้าจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิดและไม่ปล่อยให้ลอยลำไปได้ ราคาของครอบครัว 9 คน ที่เงินล้าน สิบล้าน หรือร้อยล้าน ไม่สามารถทดแทนความสูญเสียและความเจ็บปวดในหัวใจของพวกเขาได้

หนทางที่จะนำไปสู่การไร้ข้อครหาในคดีนี้คือ คือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมันก่อเกิด และการทำให้การเสียชีวิตครั้งนี้นำสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นหลักประกันว่าชีวิตคนที่มีค่าเช่นเขาเหล่านี้จะไม่ต้องเส้นสังเวยบนท้องถนนเพราะความหย่อนยานทางกฎระเบียบการจราจร เพระคนไม่มีวุฒิภาวะและไม่มีใบอนุญาตขับขี่อีกต่อไป และเมื่อนั้นคำว่า “ขอให้เป็นอุทาหรณ์” จะออกมาเอง ไม่ใช่จากคอรบครัวผู้กระทำผิด แต่จากครอบครัวของผู้เสียหาย และสาธารณชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชวน "จอดับ" ต้านกฎหมายคุมสื่อของฮังการี

Posted: 04 Jan 2011 09:00 AM PST

"แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" กลุ่มพลเมืองเน็ตชวนสื่อออนไลน์ในฮังการีและที่ต่างๆ ต้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ด้วยเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีดำ ในวันที่ 5 ม.ค. เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่ของฮังการี

4 ม.ค. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของฮังการีได้ผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีนี้ (2554) กฎหมายนี้ได้เพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการเฝ้าระวังและลงโทษสื่อเอกชน โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการกำกับสื่อซึ่งแต่งตั้งขึ้นใหม่โดยนายกรัฐมนตรี ในการลงโทษปรับสื่อสารมวลชนที่รายงานข่าว "ไม่สมดุล" (unbalanced) ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

โดยสื่อโทรทัศน์อาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 950,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากละเมิดกฎหมายดังกล่าว ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซต์ข่าวอาจถูกปรับสูงถึง 119,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าปรับของสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์และรายเดือนก็อาจสูงถึง 48,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ คณะกรรมการนี้ยังสามารถตรวจสอบสื่อและบังคับให้ผู้สื่อข่าวเปิดเผยชื่อแหล่งข่าวได้ด้วยในกรณีที่เชื่อว่าเข้าข่ายภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ข้อมูลจากเว็บของกลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้พรรคที่ครองเสียงข้างมากสามารถควบคุมอินเทอร์เน็ตผ่านการตั้งองค์กรเซ็นเซอร์ใหม่ขึ้น โดยนอกจากทำลายกลไกการปกป้องแหล่งข่าวแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังไม่แยกแยะความแตกต่างของสื่อประเภทต่างๆ โดยจับเอาพื้นที่ออนไลน์และสื่อทีวีวิทยุที่มีมาแต่เดิมรวมกัน และทำให้สื่อทั้งหมดต้องอยู่ในมาตรฐานแบบเดียวกัน

กลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" ยังระบุด้วยว่า พรรคเสียงข้างมากของฮังการีจงใจหลีกเลี่ยงการรับฟังความเห็นของสาธารณะต่อกฎหมายฉบับนี้ นี่ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการควบคุมและเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต โดยหลีกเลี่ยงกระบวนการทางประชาธิปไตย กดขี่เสียงที่เห็นต่าง ฝ่ายตรงข้ามและไม่มีความโปร่งใส

กลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" ระบุว่า ในโอกาสที่ประเทศฮังการีจะรับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในวันที่ 6 มกราคมนี้ ทางกลุ่มจึงเชิญชวนให้พลเมืองในฮังการีและที่ต่างๆ ซึ่งห่วงใยในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ ในการแสดงความเห็น ร่วมกันเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีดำ หรือแสดงข้อความภาพ (ดูภาพประกอบ) เพื่อต่อต้านกฎหมายเผด็จการนี้ ในวันที่ 5 มกราคมนี้ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

 

ข้อความภาพอธิบายถึงเหตุผลในการรณรงค์ "จอดับ" โดยมีคำแปลดังนี้

จอดับเพื่อฮังการี

วันที่ 21 ธันวาคม พรรคเสียงข้างมากในสภาได้โหวตรับกฎหมายสื่อฉบับใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่รวมการกดขี่บังคับสื่อมากที่สุด และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในภูมิภาคยุโรป

เพื่อร่วมแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการพูด สื่อออนไลน์ในฮังการีและประเทศอื่นๆ พร้อมใจกันจอดับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 นาน 24 ชม.

 

ด้านนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายใหม่นี้ โดยโฆษกของเธอระบุว่า ในฐานะของประเทศที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ฮังการีมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์ของสหภาพยุโรป

ขณะที่นายฌอง อัสเซลบอร์น รัฐมนตรีต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก ตั้งคำถามต่อความพร้อมของฮังการีในการเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรป "เห็นได้ชัดว่าแผนการนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาต่างๆ ของสหภาพยุโรป"

ด้านองค์การว่าด้วยความมั่นคง และความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe  หรือ OSCE) แสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ละเมิดบรรทัดฐานของ OSCE เรื่องเสรีภาพของสื่อและเป็นการคุกคามความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ

แปลและเรียบเรียงจาก

Blackout for Hungary
http://blackout4hungary.net

Hungarian press law fuels EU concerns
http://online.wsj.com/article/SB40001424052748704774604576035681357321692.html

Hungary Waves Off Criticism Over Media Law
https://www.nytimes.com/2010/12/26/world/europe/26hungary.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชายแดน

Posted: 04 Jan 2011 04:44 AM PST

หมายเหตุ: จากคำแถลงศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (REA) ฉบับที่ 2/2554: อังคารที่ 4 มกราคม 2554 โดย โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส


จุดผ่านแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี


จุดผ่านแดนบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี


จุดผ่านแดนบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
 

จากการสำรวจเบื้องต้นของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าการค้าขายชายแดนคึกคัก แม้ไทยได้ดุลการค้ามหาศาล แต่ก็เสียไปกับการเล่นการพนันจำนวนมหาศาลเช่นกัน

เมืองชายแดนตามจุดผ่านแดนถาวรต่าง ๆ ตามตะเข็บกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว เขมร และมาเลเซีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับภาวะทางการเมืองหรือภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก เพราะความจำเป็นในการค้าขายชายแดนนั่นเอง  อย่างไรก็ตามภาวการณ์ค้าขายชายแดนอาจได้รับผลกระทบทางการเมืองบ้างในระยะสั้น ๆ เช่น มูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ลดลงจาก 51,060.5 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 46,201.1 บาทในปี 2552 <1> เป็นต้น  อย่างไรก็ตามในปี 2553 สถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้น

การค้าขายชายแดนโดยเฉพาะพม่า ลาวและกัมพูชาที่มีการพัฒนาน้อยกว่าไทย ทำให้ตลาดการค้าโดยเฉพาะในฝั่งไทยที่พ่อค้าจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามมาซื้อสินค้า มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ  ส่วนตลาดในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็เติบโตเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น ที่ดินชายแดนที่แต่เดิมเป็นที่ดินเกษตรกรรมก็สามารถแปรเป็นตลาดการค้าที่ให้เช่าได้วันละไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อตารางเมตร เป็นต้น  หากมีพื้นที่ให้เช่า 10,000 ตารางเมตร ก็จะเป็นเงินวันละ 1 ล้านบาท หรือปีละ 365 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าประมาณถึงราว 4,000 ล้านบาท

ในพื้นที่ชายแดนพม่า ลาวและกัมพูชา ยังน่าจะสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อใช้แรงงานราคาถูกของประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาจตั้งนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งไทยและให้เดินทางกลับบ้านผ่านแดนได้ตลอด โดยไม่ต้องให้ตั้งรกรากในไทย ทำให้ไทยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลประชากรเพื่อนบ้าน หรืออาจตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยอาจร่วมมือสร้างขึ้นเพื่อสร้างให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกส่งเข้ามาขายในฝั่งไทยและส่งออก

จากการสังเกตพบว่า ในบริเวณชายแดนบ้านหาดเล็ก ในเขตเมืองเกาะกงของกัมพูชา มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนกัน แต่โดยที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่จำกัด ทำให้โรงงานไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง  ดังนั้นหากมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจริง ก็คงต้องจัดหาสาธารณูปโภคที่ดีเพียงพอ และใช้ท่าเรือแหลมฉะบังหรือมาบตาพุดของไทยเป็นจุดส่งออก เป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ในพื้นที่ชายแดนยังอาจเสริมด้วยสถานที่ตากอากาศ เช่น ในบริเวณชายแดนบ้านหาดเล็ก ในเขตเมืองเกาะกงของกัมพูชา มีสถานตากอากาศ มีซาฟารีเวิร์ล มีการแสดงโชว์ปลาโลมา จระเข้ สวนนก เป็นต้น  <2> การพัฒนาต่าง ๆ ควรดำเนินการบนพื้นฐานความร่วมมือกันเพื่อการเติบโตร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เปรียบฝ่ายเดียว

ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามก็คือบ่อนการพนัน จากรายงานที่ผ่านมา “คาดว่ามีนักการพนันขนเงินออกไปเล่นการพนัน  ในบ่อนตรงข้ามอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อย่างต่ำวันละประมาณ 20 ล้านบาท” <3>  หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับปีละ 7,300 ล้านบาท หากนับรวมบ่อนการพนันทั้งหมดริมชายแดนกัมพูชาทั้งหมดนับสิบแห่ง ก็คงเป็นเงินมากกว่าดุลการค้าที่ไทยได้จากเขมรปีละ 40,000 ล้านบาท <4>

ดังนั้นรัฐบาลควรห้ามการเข้าไปเล่นการพนัน เนื่องจากในกัมพูชาก็ห้ามคนของตนเข้าบ่อน แต่ต้อนรับเฉพาะคนไทย  และมีเฉพาะคนไทยที่เข้าไปเล่นการพนันเป็นสำคัญ  แต่หากไม่สามารถห้ามได้ ก็สมควรที่จะให้มีบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายภายในประเทศไทยเอง หรือจัดตั้งรัฐวิสาหกิจไทยไปร่วมกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านตั้งบ่อนการพนันในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พื้นที่ชายแดนจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีนโยบายและแผนที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ
 
 

อ้างอิง
<1> สรุปภาวะการค้าชายแดนไทย - กัมพูชาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2552 http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/AsianEconomies/cambodia/EcoData_Cambodia/DocLib_bordertrade/ปี%202553--สรุปภาวะการค้าชายแดนไทย%20-%20กัมพูชาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ%20ปี%202552.pdf
<2> โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.kohkongresort.com
<3> โปรดดู http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:K25S7YZ-IAwJ:www.pine-tech.com/%3Fp%3D71+%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99+%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2&cd=1&hl=th&ct=clnk&gl=th
<4> ดูอ้างอิง 1
 
 

หมายเหตุ:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เศรษฐกิจทุนนิยมกับยุทธศาสตร์การครอบงำ

Posted: 04 Jan 2011 04:04 AM PST

1. ภารกิจของรัฐในระบบเศรษฐกิจ          

 

โดยทั่วไปประเทศต่างๆ ในโลกจะมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเป็นไปตามกลไกการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายสำคัญคือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นทิศทางในการวางแผนปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ พึงยึดเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ และถือเป็นภารกิจของรัฐในระบบเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยเป้าหมายต่างๆ ที่สำคัญคือ

ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่มุ่งตอบคำถามพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะผลิตอย่างไร (How) ให้ได้มากที่สุดจากความสามารถในการผลิตที่มีอยู่ ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดของสังคมถูกใช้ไปในการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณสินค้าและบริการมากที่สุดเท่าที่ระบบเศรษฐกิจสามารถจะกระทำได้และสังคมสูญเสียต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด

 การจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) หมายถึง การให้แรงงานของประเทศมีงานทำ เพราะการจ้างงาน คือ การนำทรัพยากรแรงงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ และยังหมายถึงการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานด้วย โดยเฉพาะเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นจะทำให้มีผู้ว่างงานมากขึ้น และการว่างงานนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมตามมาในที่สุด

การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stability)การทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงจึงต้องมีทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หมายถึง การใช้นโยบายต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไม่อยู่ในสภาพที่ตกต่ำอย่างรุนแรง หรือเศรษฐกิจรุ่งเรืองจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ นั่นคือ พยายามรักษาระดับราคาของสินค้าและบริการภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากเกินไปมิฉะนั้นจะทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในก็คือ การรักษาเสถียรภาพทางราคา” (Price Stability) นั่นเอง

การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ หมายถึง การใช้นโยบายต่างๆ เพื่อทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นทำให้ไม่เกิดปัญหาทางด้านดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยพยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการสับสนและความไม่แน่นอนในการทำการค้ากับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะทำให้ผลกระทบต่อปัญหาการค้าระหว่างประเทศได้ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกอาจเรียกว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน” (Exchange Stability)

ความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)เป็นเป้าหมายที่พยายามจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ และเหลือเพียงพอต่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลให้รายได้ประชาชาติของประเทศนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้น และแสดงถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้น ๆ จะเพิ่มสูงขึ้น

 

2.บทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์

ปัจจุบันเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ได้สร้างให้บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจมุ่งเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เป็นหลักเพราะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ และการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะ บรรษัทข้ามชาติ จึงอาศัยช่องทางเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์เข้าไปครอบงำในระบบเศรษฐกิจ- สังคม-การเมืองของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อแสวงหากำไรมาสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ให้กับตน นี่คือพฤติกรรมพื้นฐานของเศรษฐกิจทุนนิยม

เศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ประกอบด้วยสาระสำคัญสามส่วนหลัก คือการผลิต การตลาด และการเงิน ที่เอื้อต่อกัน ซึ่งทั้งสามส่วนนี้เองที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจอาศัยเป็นช่องทางในการเข้าครอบงำในระบบเศรษฐกิจประเทศอื่น โดยใช้องค์กรข้ามชาติเป็นเครื่องมือในการกำหนดกติกา และวิธีการจัดการ ส่งผลให้องค์กรข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ หรือแกตต์ ที่มีเป้าหมายในการจัดตั้งเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจโลกให้เจริญก้าวหน้าอย่างทั่วถึง กลายเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่มหาอำนาจใช้ในการครองโลกโดยอาศัยยุทธศาสตร์ที่หลากหลายผ่านกระบวนการการครอบงำหลากวิธี กล่าวคือ[1]

การครอบงำทางการผลิต การผลิตมีเงื่อนไขที่สำคัญคือปัจจัยการผลิต(Factors of production or input)ประกอบด้วยที่ดิน (land ) แรงงาน(labor)ทุน (capital).และผู้ประกอบการ (entrepreneur) การผลิตจึงเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในสังคม และสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตที่สามารถแข่งขันในการลดต้นทุนและการควบคุมคุณภาพคือเทคโนโลยี มหาอำนาจจึงได้ค้นคิดเทคโนโลยีใหม่ๆยังผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าสูงสุด จนสามารถเข้าไปครอบงำระบบการผลิตได้ทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังควบคุมการใช้เทคโนโลยีของผู้อื่น โดยสร้างกลไกขึ้นมาควบคุมการผลิตของผู้อื่นคือ การพัฒนาทั้งเรื่องสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ที่เรียกขานอย่างสวยหรูว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็นเงื่อนไขบีบบังคับให้สังคมโลกต้องให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาหันมาใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวกันถ้วนหน้า ด้วยเหตุนี้เองทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมระบบการผลิตและบังคับมิให้ผู้อื่นผลิตตาม เหล่านี้เองได้สร้างกำไรจากการผลิตได้อย่างมหาศาล เป็นต้นว่าการผลิตยาบางชนิดที่มีจำเป็นผู้ผลิตสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ นอกจากนั้นยังใช้เทคโนโลยีดัดแปลงพันธ์พืช(จี เอ็มโอ)ที่เห็นว่าดีและจำเป็นให้แตกต่างจากเดิมเพื่ออ้างเป็นของตนเอง อาทิ พันธ์ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่รู้ว่าจะตกเป็นของใคร

การครอบงำทางการตลาด ตลาดคือตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ในระบบทุนนิยม การค้าจำนวนมากสามารถทำกำไรได้มากกว่าการผลิต มหาอำนาจใช้องกรข้ามชาติอย่าง WTO เป็นผู้กำหนดกติกาทางการค้า โดยมีหลักการว่า 1) รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องปรับบทบาทในการพัฒนา โดยเปิดทางให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยอิสระเป็นไปตามกลไกตลาด(การค้าเสรี) 2) รัฐบาลแต่ละประเทศต้องลดกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการควบคุมทุนข้ามชาติ (เปิดเสรีการค้า และการเงิน) 3) แปรรูปวิสาหกิจ และทรัพยากรให้เป็นของเอกชนเพื่อที่ทุนข้ามชาติจะครอบครองได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ประเทศไทยเราได้ประจักษ์มาแล้วนับแต่การล่มสลายของเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา กว่าจะพื้นคืนได้ต้องใช้เวลาร่วมสิบกว่าปี

 อย่าลืมว่าการค้าเสรีมีเป้าหมายหลักคือต้องการกระจายผลผลิตไปทั่วโลก แต่ภาษีของแต่ละประเทศเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นมหาอำนาจจึงผลักดันให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้า มหาอำนาจจึงสามารถระบายสินค้าไปได้ทั่วโลกอย่างคล่องตัว ขณะเดียวกันมหาอำนาจได้สร้างกลไกควบคุมผลผลิตของประเทศอื่นๆ ด้วยการสร้างมาตรฐานการผลิตและการกำหนดคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น ไม่ว่าการห้ามใช้แรงงานเด็ก วิธีผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น กลวิธีเหล่านี้คือเงื่อนไขกีดกันทางการค้าที่มหาอำนาจสร้างขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ เศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนข้ามชาติที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งมีเงินทุนมหาศาลเป็นผู้ครองโลกและเข้าดูดซับตักตวงผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาที่ส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนาคือ ทรัพยากรถูกทำลาย ช่องว่างทางสังคม ความยากจนจะรุนแรง ประชาชนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ที่ไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องได้ ความขัดแย้งทางสังคมขยายขอบเขตกว้างขึ้นตามลำดับ และนี่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนา

การค้าเสรีในสถานการณ์โลกยุคโลกาภิวัตน์ มุ่งเน้นเศรษฐกิจตลาดเสรี (Free Market Economy) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีเสรีในการลงทุนแสวงหากำไร และแต่ละประเทศมีอิสระในการรักษาผลประโยชน์ของตน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศไปทั่ว ประกอบกับเครือข่ายประชาสังคมโลกเคลื่อนไหวคัดค้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระเบียบระหว่างประเทศถูกต่อต้านและคัดค้านเป็นระยะไม่ได้รับการเชื่อถือ กระทบต่อความสงบของสังคม และกฎหมาย แต่ด้วยอุดมการณ์โลกาภิวัตน์ สถานการณ์ดังกล่าวมิได้ทำให้มหาอำนาจชะลอการแสวงหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลับเป็นแรงกระตุ้นให้ร่วมมือกันในสิ่งที่ได้ประโยชน์ร่วมกันและแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจต่อเมื่อมีกรณีที่ผลประโยชน์ไม่ลงตัว[2]

ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นข้อขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศ เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นภารกิจในการบริการสาธารณะที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายในการแสวงหากำไรเป็นหลัก และทีสำคัญคือรัฐจะนำทรัพยากรส่วนรวมที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ต้องซื้อหาหรือที่เรียกกันว่า สินค้าสาธารณะ” (Public Goods) มาใช้ในการดำเนินการ แต่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะต้องใช้เงินในการลงทุนสูง ทุนภายในประเทศไม่อาจดำเนินการได้ บรรษัทข้ามชาติจึงผลักดันผ่านองค์กรข้ามชาติ (IMF) ให้รัฐแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน ( Privatization) เพื่อตนเองจะได้เข้ามาครองตลาดและดำเนินการได้เอง

อย่างไรก็ตามเมื่อหันกลับมามองปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือที่ดิน ซึ่งที่ดินในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตได้ผันแปรตัวเองให้มีลักษณะลอยตัวไปตามกิจกรรมที่ให้ค่าตอบแทนสูง ที่ดินที่เคยใช้ในภาคผลิตจริงถูกเบียดขับเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการเก็งกำไรด้วยการนำไปสร้างโรงงานอตสาหรรม ส่วนในมหานครใหญ่ๆก็สร้างเป็นสำนักงานสมัยใหม่ เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า การเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยของที่ดินอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยม ทำให้ที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิต ได้เพิ่มมูลค่ามหาศาลกลายเป็นสินค้าสำคัญในการซื้อขาย (สังคมไทยดูได้จากยุคพลเอกชาติชาย ชุณหวัน) ดังนั้นการซื้อขายที่ดินแต่ละยุคสมัยจึงขึ้นอยู่กับราคาค่าเช่าในอนาคตที่คาดหมายว่าจะได้รับ ส่งผลให้ช่วงเวลามีความสัมพันธ์กับอนาคตเข้ามาเป็นสื่อกลางที่ทำให้ที่ดินเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างมหาศาลสามารถแปลงรายได้ในอนาคตให้กลายเป็นทุนในรูปของสินเชื่อมาเป็นรายได้ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างเงินในรูปของทุนกับการเก็งกำไรที่ดิน จึงขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเวลาด้วยการทำให้ช่วงของเวลากลายเป็นตลาด

การครอบงำทางการเงิน เดิมระบบการเงินโลกใช้มาตรฐานทองคำเป็นตัวกลางในการกำหนดค่าของเงินสกุลต่างๆ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีทองคำไว้สำรองสำหรับเป็นหลักประกันในการพิมพ์ธนบัตรของตนออกสู่ตลาดว่าสามารถนำมาแลกทองคำได้ หลังจากนั้นเมื่ออเมริกาได้พิมพ์ธนบัตรออกมาจำนวนมากและมีมูลค่ามากกว่าทองคำของตนที่ใช้เป็นหลักประกัน และเมื่อกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้ถือครองเงินสกุลดอลลาร์ของอเมริกานำเงินสกุลดังกล่าวไปแลกเป็นทองคำ อเมริกาไม่มีทองคำเพียงพอที่จะให้แลก หลังจากนั้นอเมริกาจึงได้ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำในการกำหนดค่าเงินโดยหันมาใช้ระบบลอยตัวตามภาวะตลาดอย่างเสรี ใน ค.ศ. 1972

เมื่อเงินในระบบทุนนิยมได้พัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาได้สร้างกฎเกณฑ์ทางการเงิน โดยการกำหนดค่าเงินลอยตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน การใช้ระบบลอยตัวทำให้เงินของอเมริกากลายเป็นเงินสกุลกลางของโลก จนสามารถพิมพ์ขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อแลกสินค้า การเปิดเสรีทางการเงินส่งผลให้อเมริกาสามารถเคลื่อนย้ายเงินไปได้ทั่วโลกเพื่อเข้าโจมตีค่าเงินและบั่นทอนหุ้นในตลาดทุน รวมทั้งเข้าซื้อกิจการๆ ได้ทั่วโลก สกุลเงินของรัฐ-ชาติอื่นๆได้ถูกลดความสำคัญลงโดยมีเงินสกุลของอเมริกาเข้ามาแทนที่ นั่นคือการครอบงำทางการเงินได้ส่งผลกระทบต่อสถานะอำนาจอธิปไตยของรัฐ-ชาติอื่นๆตามมา[3]

การครอบงำทางวัฒนธรรม ในอดีตศาสนามีอิทธิพลในการกำหนดความเชื่อหรือวัฒนธรรมของสังคม แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาแทรกและมีบทบาทในการกำหนดวัฒนธรรมมากขึ้น วัฒนธรรมมีพื้นฐานมาจากความเชื่อหรือความคิดที่มีต่อชีวิตและโลก ความเชื่อทำให้มนุษย์มีจุดมุ่งหมายในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน มนุษย์ต้องการความสุข แต่ความเชื่อในเรื่องของความสุขแตกต่างกัน ดังนั้นจุดมุ่งหมายในการดำรงชีวิตจึงแตกต่างกัน

การสร้างความเจริญเติบโตให้กับระบบทุนนิยมจำเป็นอย่างยิ่งในการสลายความเชื่อหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของมนุษย์ ระบบตลาดจึงได้กระตุ้นให้มนุษย์เห็นว่าความสุขสูงสุดอยู่ที่การบริโภค ยิ่งบริโภคมากความสุขยิ่งมีมาก การแสวงหาการบริโภคจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม ทั้งนี้เพราะเมื่อประชนเกิดการออมและลดการบริโภคลงส่งผลให้สินค้าขายได้น้อยลง การผลิตก็ลดน้อยลงด้วยสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อระบบตลาด

การครอบงำทางวัฒนธรรมการบริโภค จึงให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ข่าวสารกันอย่างรุนแรง การแย่งซื้อและขายเวลาในการออกอากาศ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อความได้เปรียบด้านการสื่อสาร เวลาออกอากาศ(airtime) จึงกลายเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เกิดจากการประสานพื้นที่กับเวลาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เวลามีมูลค่าในเชิงตลาดทั้งมูลค่าปัจจุบันและมูลค่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสัมปทานสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งหลาย จึงอุดมไปด้วยจำนวนเงินมหาศาล เวลาจึงกลายเป็นสินค้าที่เก็งกำไรได้อีกประเภทหนึ่งของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการครอบงำเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม

อย่างไรก็ตามการกระตุ้นวัฒนธรรมบริโภคจึงเป็นหน้าที่หลักของระบบทุนนิยมและกระบวนการกระตุ้นที่ดีที่สุดคือการที่มหาอำนาจได้เข้าควบคุมการสื่อสารมวลชนต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เนท สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือภาพพยนต์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อเพื่อให้ชาวโลกเข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยมตามแบบมหาอำนาจ รวมทั้งสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่าสิ่งที่มหาอำนาจกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม[4]และล้ำสมัย

การครอบงำด้วยการใช้กำลังทางทหาร เมื่อมหาอำนาจได้ใช้กระบวนการในการครอบงำด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แสนยานุภาพทางทหารจึงเป็นวิธีการสุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขในการคงความเป็นมหาอำนาจ โดยมีการจัดระดับความสัมพันธ์ที่ต่างกันในการเลือกใช้วิธีการ ทั้งนี้นางเมดิรีน อัลไบต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับต่างประเทศนั้นได้มีการแบ่งระดับความสัมพันธ์เป็นสี่กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มประเทศที่มีความแนบแน่นกับอเมริกา ซึ่งได้แก่ประเทศที่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงทางทหารด้วยกัน เช่นกลุ่มนาโต้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เป็นต้น

กลุ่มที่สอง เป็นประเทศที่เป็นกลาง กลุ่มนี้แม้จะวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาบ้างแต่โดยพื้นฐานจะยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น

กลุ่มที่สาม เป็นประเทศกลุ่มที่ปิดตัวเองและโดยพื้นฐานจะไม่ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์แต่ก็ไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการทำลายผลประโยชน์ของเมริกา เช่น พม่า ลาว เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มประเทศที่นอกจากไม่ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์แล้วยังได้ปฏิบัติการทำลายและขัดขวางผลประโยชน์ ของอเมริกา โดยผู้นำอเมริกาเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า “รัฐผู้ร้าย” (Rogue States) เช่น อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซีเรีย ลิเบีย ซูดาน คิวบาและอัฟกานิสถาน เป็นต้น

จากการแบ่งกลุ่มความสัมพันธ์ดังกล่าวของอเมริกา นำไปสู่เงื่อนไขการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกจะไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง แต่จะต่อสู้กันเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น เว้นแต่เกิดกรณีประเทศใดประเทศหนึ่งแสดงความเป็นปฏิปักษ์ กลุ่มที่สองเข้าไปแทรกแซงบ้างด้วยการสนับสนุนกลุ่มการเมืองภายในประเทศนั้นๆ ที่มีความเอนเอียงเข้าข้างอเมริกาเพื่อให้มีบทบาทและอำนาจทางการเมือง เช่น กัวเตมาลา กลุ่มที่สามเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองโดยการสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลรวมทั้งสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศเหล่านั้น ส่วนกลุ่มที่สี่นอกจากดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ แล้วสหรัฐยังใช้มาตรการทางทหารเป็นหลักในการเข้าไปยึดครอง[5] เช่นกรณีการโค่นล้มรัฐบาลอิรักของประธานาธิบดีซัดดำ ฮุสเซ็น หรือกรณีของอัฟกานิสถานที่เข้าไปโค่นล้มรัฐบาลทาลีบัน และปัจจุบันกำลังดำเนินการกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน

 

3.สรุป

ระบบเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่อาศัยบรรษัทข้ามชาติเป็นช่องทางในการรุกฆาตในต่างประเทศ ร่วมกับองค์กรข้ามชาติที่คอยปกป้องประโยชน์ของตน เข้าควบคุมพื้นที่ทางตลาด ทรัพยากร และการผลิต สร้างความชอบธรรมแห่งความเป็นสากล ความเป็นประชาธิปไตย และอ้างเพื่อสิทธิมนุษยชน ใช้อำนาจที่เหนือกว่าละเมิดบทบัญญัติของรัฐที่ด้อยกว่า ทั้งกล่าวหาว่าเป็นรัฐอันธพาล สนับสนุนการก่อการร้าย หรืออ้างเหตุในการปราบปรามยาเสพติด และเพื่อสิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งแท้จริงแล้วล้วนเป็นมายาคติที่ปิดบังอำพรางเพื่อแสวงหาประโยชน์แทบทั้งสิ้น การนำเสนอวาทกรรมโลกาภิวัตน์ทำให้กฎหมายของรัฐชาติในโลกที่สามมีข้อยกเว้นไมอาจบังคับใช้กับโลกาภิวัตน์ได้ และให้หันมาใช้กฎกติกาเดียวกันเพื่อการครอบงำและขูดรีดทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นนโยบาย การเมือง สังคม และเศรษฐกิจของรัฐชาติที่ถูกครอบงำ นอกจากจะเกิดจากรากฐานและสภาพปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้นๆที่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิสัมพันธ์(interaction)ยึดโยงต่อกันระหว่างกระบวนการทั้งทางการเมือง สังคม สาธารณะ (public) อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเกิดจากกระบวนการที่ถูกบีบบังคับทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากภายนอกซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ด้วยการสร้างวาทะกรรมใหม่ๆขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขและอุดมการณ์เข้าไปครอบงำประเทศที่ด้อยกว่าให้กำหนดนโยบายเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตนกำหนด ไม่ว่า การค้าเสรี (Free Trade) การพัฒนา(Development) หรือโลกาภิวัตน์ (Globalization) วาทะกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงภาพลวงตาเพื่อสร้างความถูกต้องและชอบธรรมให้กับมหาอำนาจ ในการพรางตัวเข้าไปยึดครองทางเศรษฐกิจของรัฐ-ชาติที่ด้อยกว่าและตักตวงประโยชน์กลับประเทศตนเท่านั้น





อ้างอิง
[1]ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม 2545: 25
[2] อนุช อาภาภิรมย์. รายงานย่อสำหรับผู้บริหาร ประเทศไทยกับมหาอำนาจโลก: การแสวงหาความสัมพันธ์ใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ โดยโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย. (Thailand Trends Monitoring Project – TTMP) ด้วยการสนับสนุนให้ทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฉบับที่ 14 ประจำจตุมาสที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2545 ) : 67-68
[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น.กรุงเทพฯ. รัฐศาสตร์สาร,2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2: 25-29
[4] ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม, 2545:34-36
[5]ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม, 2545:38-40

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านดาโต๊ะค้านย้ายชุมชน หนีพื้นที่เสียงภัยพายุถล่ม

Posted: 04 Jan 2011 03:39 AM PST

นายอำเภอเสนอชาวบ้านดาโต๊ะย้ายที่ตั้งหมู่บ้าน หนีพื้นที่เสียงภัยพายุถล่ม พร้อมหาที่ดินและสร้างบ้านให้ ชาวบ้านค้าน ชี้ที่เดิมเหมาะกับอาชีพประมง

ที่สาธารณะ - บ้านของนางนางกามาลอ สือนิ หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับความเสียหายจากพายุ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอีกหลายสิบหลังในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ

นายบอรอเฮง ลาเต๊ะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พายุถล่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่ เนื่องที่ตั้งบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ แม้ว่าได้มีการสร้างบ้านหลังใหม่และซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหายแล้วก็ตาม

นายบอรอเฮง เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมา นายอำเภอยะหริ่งเสนอให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางภัยพิบัติย้ายไปอยู่ที่ใหม่ โดยจะหาที่ดินแห่งใหม่ และสร้างบ้านใหม่ให้ เนื่องจากที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งมีบางคนที่เห็นด้วยและบางคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าที่ตั้งชุมชนแห่งใหม่จะอยู่ที่ไหน

นายบอรอเฮง เปิดเผยอีกว่า พื้นที่ประสบภัยของบ้านดาโต๊ะ ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ถมตะกอนจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีเมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นมีประชาชนมาจับจองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย  จนกลายเป็นชุมชนแห่งใหม่นี้มา

นายบอรอเฮง เปิดเผยด้วยว่า บ้านดาโต๊ะ มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 1200 คน ทั้งหมู่บ้านเกือบ 2000 คน พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านที่มีผู้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีทั้งที่เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และที่ดินสาธารณะ โดยที่ดินสาธารณะจะอยู่พื้นที่แถบชายฝั่งอ่าวปัตตานี ที่ผ่านมายังไม่มีใครมาไล่ชาวบ้านออกนอกเขตที่ดินสาธารณะ

นางกามาลอ สือนิ ชาวบ้านดาโต๊ะ วัย 63 ปี ซึ่งปลูกบ้านอยู่บนที่ดินสาธารณะใกล้ทะเลอ่าวปัตตานีที่บ้านดาโต๊ะ และพังเสียหายจากพายุด้วย เปิดเผยว่า ตนเข้ามาสร้างบ้านอาศัยอยู่ที่นี่ 5 ปีแล้ว เดิมตนพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 148/2 หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ซึ่งเป็นบ้านเดิม จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่พร้อมกับลูกชายและหลาน อีก 5 คน รวมเป็น 7 คน โดยประกอบอาชีพประมงในอ่าวปัตตานี

นางกามาลอ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการย้ายชุมชนไปสร้างที่ใหม่ ตามที่นายอำเภอยะหริ่งต้องการ แม้จะสร้างบ้านใหม่ให้ด้วยก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าชุมชนแห่งใหม่จะอยู่ที่ไหน ถ้าย้ายไปแล้วจะทำอาชีพอะไร การทำประมงจะลำบากมากขึ้นหรือไม่ ถ้าย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ไกลทะเล

“คนที่ไม่ต้องการย้ายออกไป ส่วนใหญ่เป็นคนที่ประกอบอาชีพประมง มีความถนัดด้านการทำประมง มากกว่าทำอาชีพอย่างอื่น ถ้ายอมย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่ยังต้องทำประมงอยู่ ก็จะลำบาก เพราะเรือก็ต้องจอดไว้ที่ทะเล เวลากลับบ้านแล้วก็จะเป็นห่วงเรือ มาดูแลลำบาก แต่ตอนนี้เรือก็จอดอยู่ใกล้บ้าน ดูแลก็ง่าย” นางกามาลอ กล่าว
นางกามาลอ เปิดเผยอีกว่า ส่วนคนที่เห็นด้วยกับการย้ายชุมชน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพประมง แต่ทำงานในประเทศมาเลเชีย โดยปลูกบ้านทิ้งไว้ แล้วเข้ามาอยู่ตอนเดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยู่บ้านตลอด

นางกามาลอ กล่าวว่า สาเหตุนายอำเภอยะหริ่ง เสนอให้ย้ายชุมชนแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่อันตรายทางภัยพิบัติ เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก แต่ภัยพิบัติลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ตนอยู่ที่นี่มา 5 ปี แล้ว ยังไม่เคยเจอภัยพิบัติรุนแรงและมีน้ำขึ้นสูงถึงบันไดหน้าบ้านอย่างครั้งนี้ เพราะฉะนั้น คิดว่า น่าจะนานๆ ครั้งกว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงอย่างนี้อีก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ธ.ค. 53 - 1 ม.ค. 54

Posted: 04 Jan 2011 03:09 AM PST

นักสหภาพชี้ ร่าง พ.ร.ฎ.ตั้งสหภาพ ข้าราชการยังไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมานายสุพจน์  พงศ์สุพัฒน์ ประธานสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) สนับสนุนให้ข้าราชการพลเรือนตั้งสหภาพราชการและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเร็ว ๆ นี้ว่า เป็นเรื่องที่ ก.พ.ปฏิบัติโดยผิดหลักการและลำดับชั้นของการออกกฎหมาย เพราะควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะเป็นเรื่องที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาและรายละเอียดมาก ที่สำคัญโครงสร้าง รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายยังไม่ครอบคลุม หรือสร้างความเป็นธรรมให้กับข้าราชการ รวมถึงลูกจ้างอื่น ๆ ของภาครัฐ

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีข้าราชการทุกประเภทกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เช่น ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ อีกนับล้านคน แต่กฎหมายดังกล่าว กลับครอบคลุมเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญกว่า 360,000 คน ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 64 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ปัจจุบัน ถูกละเลย และจำกัดสิทธิและสวัสดิการถึงขั้นเลวร้ายยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าว ไม่มีแม้สิทธิการลาคลอด ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน และถูกหักเงินทุกครั้งที่ขาดงาน หรือมาสาย

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเป็นตรรกะ หรือ กลไกที่รองรับระบบไตรภาคีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาตามหลักแรงงานสัมพันธ์ ไม่มีกลไกการมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม และไม่มีกลไกการแก้ปัญหาหากเกิดกรณีพิพาท ระหว่างผู้บังคับบัญชาที่เป็นข้าราชการประจำหรือนักการเมือง กับผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมเสนอให้ตั้งเป็นคณะกรรมการถาวร เพื่อระงับข้อพิพาทให้กับข้าราชการและลูกจ้าง คล้ายกับกลไกที่ใช้อยู่ในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.)

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ข้าราชการสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพได้ เพราะถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการ ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ  รวมถึงการช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับ บัญชา อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการจัดตั้งสหภาพฯ ที่ออกมาดูเหมือนจะทำให้การจัดตั้งสหภาพข้าราชการเกิดความยุ่งยาก เช่น ต้องรวมตัวกันให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของสมาชิกแต่ละประเภท  นอกจากนี้ยังกังวลว่าการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพข้าราชการบางประเภท จะถูกกลั่นแกล้งหรือควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการจัดตั้งสหภาพของลูกจ้างเอกชน โดยอาจถูกสั่งโยกย้ายระหว่างขอจัดตั้งสหภาพได้

 (สำนักข่าวไทย, 27-12-2553)

กรมการจัดหางานเผยเงินบาทแข็งค่ากระทบยอดเงินส่งกลับประเทศ

27 ธ.ค. 53 - นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีเงินบาทแข็งค่าว่า ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่ส่งกลับประเทศลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือนกันยายนปี 2553 ยอดเงินส่งกลับลดลงกว่าร้อยละ 17.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เดือนกันยายนปี 2553 เงินส่งกลับ 4,205 ล้านบาท ส่วนปี 2552 เงินส่งกลับ 5,086 ล้านบาท ส่วนเดือนตุลาคมปี 2553 ส่งกลับ 4,221 ล้านบาท ขณะที่ปี 2552 มีเงินส่งกลับกว่า 5,125 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีเงินส่งกลับลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 17.64 ซึ่งส่งผลให้แรงงานไทยมีรายได้ลดลง ทำให้ครอบครัวแรงงานไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งกรมการจัดหางงาน ต้องนำเรื่องเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ

รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวแนะนำครอบครัวแรงงานไทยในต่างประเทศ ให้ปรับตัวในช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงนี้

 (สำนักข่าวแห่งชาติ, 27-12-2553)

สาธารณสุขสั่งทุกจังหวัดตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในแรงงาน ต่างด้าว ได้ออกประกาศให้แรงงานต่างด้าวทุกคน ทั้งที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วและผู้ที่รอพิสูจน์สัญชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม และ 28 กุมภาพันธ์ ปีหน้า จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพก่อนที่จะยื่นขอใบอนุญาตทำงานใน ปีหน้าโดยให้ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพที่สถานบริการเดียวกัน ซึ่งในปี 2554 กระทรวงสาธาณสุขได้ประกาศให้แรงงานต่างด้าว ซื้อประกันสุขภาพในราคารายละ 1 พัน 3 ร้อยบาทเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องเสียค่าตรวจสุขภาพ เช่น
เอ็กซเรย์ปอด , ตรวจเลือด , ตรวจเสมหะ , ตรวจปัสสาวะ รายละ 600 บาท ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือชี้แจงแนวทางไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้วและให้ ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้การปฏิบัติงาน
ในทิศทางเดียวกัน แต่หากตรวจพบว่าแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นโรคที่ต้องควบคุม ได้แก่ วัณโรค ,โรคเรื้อน , โรคเท้าช้าง , ซิฟิลิส และโรคพยาธิลำไส้ ประเภทที่ 2 ต้อง ได้รับการรักษาต่อเนื่องจนหายขาด

แต่หากเป็นโรคเหล่านี้ ประเภทที่ 3 คือ อยู่ในระยะติดต่อ หรือออกอาการจนเป็นที่รังเกียจ ติดสารเสพติด , พิษสุราเรื้อรัง , เป็นโรคจิต จิตฟั่นเฟือน ปัญญาอ่อน จะไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่อนุญาตให้ทำงานหรืออยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ต้องส่งกลับประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาดมาสู่คนไทย

(ช่อง 7, 27-12-2553)

ผู้ประกอบการมหาชัยฮือค้านเก็บเงินต่างด้าวเข้ากองทุนฯ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาครนายสุทิน ชาวปากน้ำ อุปนายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และ นายปรีชาศิริแสงอารำพี เลขาธิการหอการค้า จ.สมุทรสาครพร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการกว่า 200 คนได้ยื่นหนังสือต่อนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร เพื่อคัดค้านกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการเรียกเก็บเงินกองทุนเพื่อส่งคน ต่างด้าวกลับประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายสุทินกล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงดังกล่าวทำให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงิน ค่าจ้างลูกจ้างซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 13 (1) และมาตรา 14 เฉพาะงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคน ต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยลูกจ้างสัญชาติพม่าและลาว คนละ 2,400 บาท สัญชาติกัมพูชา คนละ 2,100 บาท โดยเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลา6 เดือน และให้นำส่งเงินที่หักไว้นั้นเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนครบตามอัตราดังกล่าว หากสถานประกอบการใดนำส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบ6 เดือน นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินค่าจ้างที่ไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทำให้แรงงานต่างด้าวเดือดร้อนและสร้างความเสียหายทางธุรกิจมูลค่านับแสนล้าน บาท จึงต้องการให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงนี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการจะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายเฉลิมชัยศรีอ่อน รมว.แรงงาน ต่อไป

 (แนวหน้า, 28-12-2553)

สปส.หารือคลังอุดช่องสกัดกองทุนล้มคัด 3 บริษัทบริหารลงทุน ตปท.600 ล้าน

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผย เมื่อวันที่27 ธันวาคม กรณีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ส่งรายงานการคาดการณ์ปัญหาความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม อาจอยู่ในภาวะล้มละลาย หากปล่อยให้จัดเก็บเงินสมทบในอัตรา ร้อยละ 5 ของเงินเดือน โดยเรื่องดังกล่าวได้ส่งความเห็นไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงแรงงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ วางแผนรับมือว่า ในวันที่30 ธันวาคมนี้ กระทรวงแรงงาน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นความมั่นคงของกองทุน สปส.ที่ยังมีหลายฝ่ายเป็นห่วงเม็ดเงินไหลออกจากกองทุนประกันสังคมไม่สมดุล กับรายรับที่เข้ามา

"โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยที่มียอดใช้ จ่ายจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี บวกกับกองทุนบำเหน็จบำนาญกรณีชราภาพที่จะต้องเริ่มจ่ายในปี 2557 อาจส่งผลกระทบต่อฐานะของกองทุน ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปส.ได้เสนอให้ขยายอายุการรับเงินบำนาญ หรือเกษียณจาก 55 ปี เพิ่มเป็น 58-60 ปี เพื่อชะลอการไหลออกของเม็ดเงิน ทั้งนี้ ไม่ได้มีการพูดถึงการเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องรอผลการหารือให้เสร็จสิ้นก่อนในวันที่ 30 ธันวาคมนี้" นายสมเกียรติระบุ

นายสมเกียรติกล่าวว่า บอร์ด สปส.ยังมีมติเห็นชอบให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้ให้ดำเนินการคัดเลือกบริษัท จัดการหลักทรัพย์ เข้ามาบริหารการลงทุน 3 บริษัท และแบ่งเงินลงทุนให้บริษัทละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้เข้าไปลงทุนใน 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ ร้อยละ60 และอีกร้อยละ 40 ลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ โดยคัดเลือกจาก 19 บริษัทที่มีบริษัทพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ และพาร์ทเนอร์จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งมีประวัติ ผลงาน และแผนการลงทุนดี คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปี 2554

 (มติชน, 29-12-2553)

กรุงไทยเจาะแรงงานต่างด้าวใส่ภาษาพม่าในตู้ ATM 20 จุดปี'54 ติดตั้งเพิ่ม

นางอมรา กลับประทุม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และบริการจัดการทางการ เงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงไทยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน โดยนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อสนองตอบทุกความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม ทำให้ธนาคารมีบริการทางการเงินหลากหลายและครบวงจร รวมทั้งมีเครือข่ายที่กว้างขวาง โดยมีเครื่อง ATM และ เครื่องADM กว่า 8,000 เครื่องทั่วประเทศ และมีภาษาให้ลูกค้าเลือกทำธุรกรรมถึง 4 ภาษา ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาพม่าด้วย

ทั้งนี้สำหรับเครื่อง ATM ที่มีภาษาพม่านั้นเป็นบริการล่าสุดของธนาคาร โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อลูกค้าสอดบัตรATM จะพบข้อความบนหน้าจอเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษคู่กับภาษาพม่า ตั้งแต่ข้อความยินดีต้อนรับ ใส่รหัสของบัตร การกดเงินสด การโอนเงินการสอบถามยอดเงินคงเหลือ หรือการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยติดตั้งอยู่ในเขตที่มีแรงงานพม่า หนาแน่น จำนวนกว่า 20 จุด ทั้งที่สาขาและเขตนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดสมุทรสาคร,กาญจนบุรี และสงขลา

นางอมรากล่าวอีกว่า มีแผนจะขยายจุดติดตั้งเครื่อง ATM ภาษาพม่าเพิ่มขึ้นอีกในปี 2554 เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าชาวพม่า พร้อมกันนี้จะเพิ่มเสียงเตือนในเครื่อง ATM ทุกเครื่อง โดยจะถามย้ำข้อมูลที่ลูกค้าทำธุรกรรมโอนเงินไปยังบัญชีอื่นเพื่อเพิ่มความ รอบคอบและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง ป้องกันการทุจริตและสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังจะพัฒนาระบบการทำงานของเครื่อง ATM โดยเพิ่มตัวอักษรเบรลล์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับผู้พิการทาง สายตาอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

(แนวหน้า, 29-12-2553)

กลุ่มฯ สระบุรี ชงรองผู้ว่าฟันบริษัทละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสระบุรีได้เรียกประชุมคณะ อนุกรรมการฯครั้งที่ 4/2553 ณ ห้องประชุมทานตะวัน ศาลากลางจังหวัดสระบุรี โดยมีนายอุกฤช พึ่งโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมรับทราบมติการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำของจังหวัดสระบุรีวันละ 9 บาท จากค่าจ้างวันละ 184 บาทเพิ่มเป็นวันละ 193 บาท และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและแรงงาน ระดับประเทศและระดับจังหวัด
 
นายส่งศักดิ์ รูปแก้ว แรงงานจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ได้ส่งมติของที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา 2 ความเห็นตามที่ที่ประชุมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเสนอ เนื่องจากยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นกี่บาท แต่ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นแนวทางใดนั้นให้เป็นดุลพินิจของส่วนกลาง โดยในส่วนของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเสนอปรับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 66 บาท และผู้แทนฝ่ายนายจ้างเสนอปรับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 5 บาท
 
นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ในส่วนของการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้นคงจะจบแล้ว โดยเห็นได้ชัดว่าอำนาจของคณะอนุกรรมการฯในแต่ละจังหวัดไม่ได้มีอำนาจอย่าง แท้จริง และไม่เป็นธรรมกับจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือผู้แทนลูกจ้างอย่างแท้จริง เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องแรงงานในจังหวัดได้ ทำให้การปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของ แต่ละพื้นที่เท่านั้น จึงได้เสนอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำจังหวัด โดยให้มีเพียงคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงชุดเดียวก็เพียงพอแล้วและไม่สิ้น เปลืองงบประมาณในการจัดการประชุมแต่ละครั้งด้วย
 
นายบุญสม ทาวิจิตร กล่าวว่า ในวันนี้ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ว่ายังมีหลายสถานประกอบการที่กดขี่แรงงานหรือละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น มีบริษัทแห่งหนึ่ง แม้กระทั้งมีข้อตกลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง ก็ยังมีเจตนาฝ่าฝืนข้อตกลงโดยเลิกจ้างลูกจ้างอย่างนี้เป็นต้น รวมถึงด้านความปลอดภัยในการทำงาน มลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ปฎิบิตตามกฎหมายแรงงานที่กำหนด หน่วยงานของรัฐเองก็ไม่มีมาตรการเชิงรุกในการเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือคนงาน เหล่านี้ จึงเสนอให้จังหวัดโดยรองผู้ว่าฯในฐานะที่ดูแลด้านสายงานแรงงาน เข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่ทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
 
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการตรวจ สอบโรงงาน 2 แห่งที่คนงานได้นัดชุมนุม ว่าได้กระทำผิดกฎหมายในเรื่องใดบ้างโดยให้จัดคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆให้ เข้าไปตรวจสอบและแนะนำต่อไป หากมีบริษัทใดทำผิดกฎหมายก็ให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด

(นักสื่อสารแรงงาน, 30-12-2553)

เลื่อนเก็บเงินส่งกลับต่างด้าวถึง มี.ค.2555

29 ธ.ค. 53 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กลุ่มสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าพบเพื่อขอให้ทบทวนการส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการส่งกลับคนต่างด้าวออก นอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากนโยบาย อาทิ เรื่องภาระของนายจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่ชัดเจนในเรื่องการส่งเงินคืนให้กับแรงงานที่จะออกนอกราช อาณาจักร ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนต่างๆ ร้องเรียน

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจึงมีแผนยกร่างแก้กฎกระทรวงการส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการส่ง กลับคนต่างด้าว โดยให้ขยายระยะเวลาการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 และในระหว่างนี้จะตั้งคณะทำงานศึกษาถึงความเหมาะสมของกฎระเบียบข้อบังคับดัง กล่าวว่ามีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

(มติชนออนไลน์, 29-12-2553)

ไต้หวันครองแชมป์แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากสุด

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2553 ว่า มีแรงงานมาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 115,773 คน โดยไต้หวันเป็นที่ๆ คนไทยนิยมไปทำงานมากที่สุด รองลงมา คือ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และลิเบีย สำหรับอาชีพที่มีความต้องการไปทำงานมาก ที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน รองลงมา คือ ผู้ปฏิบัติงานทักษะฝีมือ เช่น ช่างเชื่อม ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างปูน ช่างเหล็ก และช่างทั่วไป โดยมีแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 74,205 คน แยกเป็นชาย 62,716 คน หญิง 11,489 คน
      
โดยประเทศที่แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงาน 5 อันดับแรก คือ ไต้หวัน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น อิสราเอล ลิเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยตำแหน่งงานที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานมากที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน รองลงมา คือ ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ทักษะฝีมือในธุรกิจต่างๆ ซึ่งตำแหน่งงานที่ไปทำส่วนใหญ่ คือ ตำแหน่งคนงานไร้ฝีมือ ร้อยละ 64.45 และตำแหน่งช่างฝีมือ ร้อยละ 35.55 คาดว่ารายได้ที่จะส่งกลับเข้าประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2553 ประมาณ 51,176 ล้าน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-12-2553)

เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 22 สาขา

2 ม.ค. 54 – ปลัดฯ แรงงาน เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน  เริ่มใน 22 สาขา พร้อมเร่งคลอดอีกกว่า 100 สาขา ชี้ สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง  เผยหากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ต้นปี 2554 กระทรวงแรงงาน จะเริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานที่มีฝีมือ และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตัวเอง ให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงลดปัญหาการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ล่าสุดได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน ซึ่งแต่ละสาขาจะมีค่าจ้าง 3 ระดับ ไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ 250 -550 บาท โดยอยู่ในระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานจะเร่ง จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เหลือซึ่งคาดว่าภายในปี 2554 จะประกาศใช้ได้อีก กว่า 100 สาขา

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดมาตรฐานการทดสอบให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานรับและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือภาคเอกชน  ร่วมจัดทดสอบมาตรฐาน ทั้งนี้หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว แต่นายจ้างรายใดยังฝ่าฝืน ไม่จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ลูกจ้างได้รับ จะมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน อาทิ กลุ่มช่างเครื่องกล  3 สาขา เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 315 บาท ระดับ ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 444 บาท ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 335 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 3 ค่าจ้าง 505 บาท  กลุ่มก่อสร้าง 4 สาขา อาทิ  ช่างก่ออิฐ ระดับ 1 ค่าจ้าง 260 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท ช่างฉาบปูน ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 300 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท เป็นต้น

(สำนักข่าวไทย, 2-1-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น