ประชาไท | Prachatai3.info |
- รองปธ.ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุไทยยังไม่อยู่ใต้อำนาจพิจารณาคดี
- เนรเทศสองนักข่าวต่างประเทศหลังข้ามไปทำข่าวชายแดนรัฐกะเหรี่ยง
- วีดีโอคลิป: เสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 3
รองปธ.ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุไทยยังไม่อยู่ใต้อำนาจพิจารณาคดี Posted: 23 Jan 2011 12:44 AM PST ฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาไท ระบุได้สนทนากับแกนนำ นปช. แล้ว แจงศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไทยยังไม่ได้เป็นภาคี ฮันส์-พีเทอร์ โคล (Mr.Hans Peter Kaul) รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศ ฮันส์-พีเทอร์ โคล (Mr.Hans Peter Kaul) รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงการนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศว่า จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี เพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พ.ศ. 2545 เท่านั้น แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน และถึงแม้จะเข้าเป็นภาคีแล้วก็ตาม หากประเทศภาคีมีการดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะไม้เข้าไปก้าวล่วง เขากล่าวด้วยว่า หลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยไปบ้างแล้ว รวมถึงได้สนทนากับแกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้เขาเข้าใจว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขอบอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเขาต้องการให้สังคมไทยเข้าใจให้ถูกต้องถึงขอบอำนาจของศาลฯ อย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่า มีกรณีที่ประเทศซึ่งไม่ได้เป็นภาคีแต่ถูกตัดสินโทษโดยศาลอาญาระหว่างประเทศเช่นกัน ได้แก่กรณีของประเทศซูดาน ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (ข) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วนศาลอาญาระหว่างประเทศ* ซึ่งระบุว่า ให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคดีได้ในกรณีที่อาชญากรรมนั้นขึ้นได้รับการเสนอต่ออัยการโดยคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ เขาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อการที่ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่กล่าวว่าช่วงเวลาหนึ่ง สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยการให้สัญญาณยังประเทศต่างๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทางทหารจากสหรัฐว่าหากให้สัตยาบัน สหรัฐจะงดหรือลดความช่วยเหลือดังกล่าว นอกจากนี้เขากล่าวว่าแม้ว่าจะมีประเด็นว่าประเทศที่เข้าเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศจะผูกพันให้ประมุขของประเทศอาจถูกเรียกตัวขึ้นให้การต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีของประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่น ประเทศญี่ปุ่น สวีเดน หรือนอรเวย์ ก็เข้าเป็นภาคี ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐแต่ละรัฐจะต้องจัดการสร้างความเข้าใจกันเป็นการภายใน ทั้งนี้ เว็บไซต์เนชั่นชาแนล รายงานว่า เมื่อเวลา12.00 น. นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. พร้อมด้วย นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ รักษาการโฆษก นปช. เเละนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เดินทางมายังโรงเเรมโฟร์ซีซั่นส์ เพื่อเข้าพบ ฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมยื่นฟ้องรัฐบาลกรณีสลายชุมนุมของคนเสื้อเเดงเมื่อปี 2553 โดยเจ้าหน้าที่โรงแรมขอให้ นางธิดา นายวรวุฒิ นายจตุพร เเละตัวเเทนคนเสื้อเเดงรวมทั้งสิ้น10 คน ไปพบ Mr.Hans ที่ห้องรับรองชั้น 2 ของโรงเเเรม ส่วนสื่อมวลชนขอให้รอที่ด้านหน้าโรงเเรม ประชาไทจะนำเสนอบทสัมภาษณ์โดยละเอียดต่อไป *มาตรา 13 (ข) บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า อาชญากรรมหนึ่งหรือมากกว่าดังกล่าวซึ่งดูเหมือนว่าได้กระทำขึ้นได้นับการเสนอต่ออัยการโดยคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เนรเทศสองนักข่าวต่างประเทศหลังข้ามไปทำข่าวชายแดนรัฐกะเหรี่ยง Posted: 22 Jan 2011 10:44 PM PST ช่างภาพข่าวต่างประเทศ 2 รายถูกทหารไทยจับหลังข้ามไปทำข่าวสถานการณ์ชายแดนด้านรัฐกะเหรี่ยง เผยหนึ่งในช่างภาพซึ่งถือหนังสือเดินทางพม่า เคยทำหน้าที่ใน กทม. ช่วงการชุมนุมเสื้อแดงปีที่แล้ว ขณะที่คณะกรรมการปกป้องสื่อวิงวอนรัฐบาลไทยทบทวนการเนรเทศ หวั่นหากถูกส่งกลับจะโดนรัฐบาลพม่าเล่นงานฐานเป็นผู้สื่อข่าว เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ ของสิงคโปร์ รายงานวานนี้ (22 ม.ค.) ว่า เมื่อวันเสาร์นี้ เจ้าหน้าที่ไทยยืนยันว่าจะเนรเทศช่างภาพข่าวต่างประเทศ 2 ราย หลังจากที่ทั้ง 2 ข้ามแดนเข้ามาหลังจากทำข่าวในพม่า ขณะที่กลุ่มเสรีภาพสื่อวิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า นายปาสกาล แชทเทมาน (Belgian Pascal Schatteman) จะถูกส่งกลับประเทศเบลเยี่ยม ส่วนนายจอห์น ซานลิน ซึ่งถือพาสปอตพม่าจะถูกเนรเทศกลับพม่าทางบกผ่านชายแดนไทย-พม่า พ.ต.อ.สุริยะ ประกายสาธก ผู้กำกับการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้าน จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่ง 2 ช่างภาพถูกจับ กล่าวว่า “ทั้งคู่จะถูกเนรเทศวันพรุ่งนี้” (23 ม.ค.) ด้านคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก แถลงด้วยว่า มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหา และข่มขู่เนรเทศ สองช่างภาพข่าวอิสระ ซึ่งทำงานในประเทศไทยคือนายจอห์น ซานลิน และนายปาสกาล แชทเทมาน โดยข้อมูลจาก CPJ ระบุว่าทั้งสองคนถูกควบคุมตัวเมื่อเวลา 11.30 น. ของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 ม.ค.) ที่ อ.แม่สอด โดยพวกเขากลับเข้ามาจากพื้นที่ภาคตะวันออกของพม่า ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับฝ่ายทหารกะเหรี่ยง จากข้อมูลของ CPJ เจ้าหน้าที่ทหารไทยยึดวิดีโอของพวกเขาไป รวมทั้งภาพจำนวนมากของผู้อพยพซึ่งลี้ภัยอยู่ภายในพม่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งอยู่ห่างไกล โดยในวันที่ 21 ม.ค. ศาลไทยสั่งจำคุกช่างภาพข่าวทั้งสองเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 500 บาท ศาลพิเคราะห์ว่าพวกเขายังคงพำนักในประเทศได้ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามกฎหมายเข้าเมืองมาก่อน อย่างไรก็ตามภายหลังที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองปรึกษากับผู้พิพากษา ทำให้สองผู้สื่อข่าวถูกควบคุมตัวในศาล และได้รับการแจ้งว่าพวกเขาจะถูกเนรเทศไปยังประเทศต้นทางในวันต่อไป โดยคาดว่าทั้งสองจะถูกเนรเทศผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งถูกกำหนดไว้เพื่อการเนรเทศ ขณะที่นายซานนิน กำลังเผชิญการถูกส่งกลับไปยังพม่า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามักจะสั่งจำคุกเป็นระยะเวลาหลายปีต่อผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้สังกัดสื่อของรัฐบาล โดยรัฐบาลทหารพม่าเป็นชาติอันดับสี่ของโลกที่คุมขังผู้สื่อข่าว โดยขณะนี้มีผู้ถูกจำคุกเนื่องจากทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวอยู่ในพม่าทั้งสิ้น 13 ราย นายฌอน คริสปิน ผู้แทนอาวุโสของ CPJ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “เราขอเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ไทย ให้พิจารณาการเนรเทศสองผู้สื่อข่าว คือ จอห์น ซานลิน และนายปาสกาล แชทเทมาน และขอให้พิจารณาว่านายซานลินมีโอกาสที่จะถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายหากเขาถูกส่งกลับพม่า” นายณอนกล่าวด้วยว่า “ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยมาเป็นเวลายาวนาน สำหรับนักข่าวพลัดถิ่นที่จะรายงานข่าวเกี่ยวกับพม่าอย่างมีเสรี คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าวขอกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยดำรงบทบาทอย่างสำคัญในด้านเสรีภาพสื่อของภูมิภาคนี้” สำหรับนายซานลิน เคยเป็นช่างภาพโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา และฟรานซ์ 24 โดยเขากล่าวกับ CPJ ว่า เกรงว่าจะได้รับผลกระทบหากเขาถูกเนรเทศกลับพม่า เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว นอกจากนี้เขายังถูกวีซ่านักศึกษาในการพำนักในประเทศไทย ซึ่งสามารถพำนึกได้ถึงเดือนมีนาคม ซานลิน ยังเป็นช่างภาพโทรทัศน์ซึ่งทำงานในพื้นที่สลายการชุมนุมด้วยอาวุธในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้วด้วย โดยหนึ่งในผลงานของซึ่งได้รับการออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ฟรานซ์ 24 ด้วย
ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก Photojournalists face deportation in Thailand, Committee to Protect Journalists, Jan 21, 2011 http://cpj.org/2011/01/photojournalists-face-deportation-in-thailand.php Thailand poised to deport two journalists, Straits Times, Jan 22, 2011. http://www.straitstimes.com/BreakingNews/SEAsia/Story/STIStory_627187.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
วีดีโอคลิป: เสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 3 Posted: 22 Jan 2011 10:12 PM PST งานเสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 3 21 มกราคม 2554 เวลา 12.30-16.00 น. วิทยากร: ดำเนินรายการโดย: สนับสนุนโดย มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: นักวิชาการถกบทบาท 'นิวมีเดีย' ชี้ 'ปฏิรูปสังคม' ต้องเชื่อม ออนไลน์-ออฟไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น