โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อ่านออกเสียงครั้งที่ 2: หนังโป๊ ผู้ก่อการร้าย น้ำท่วม ตรรกะวิปริต และจินตนาการที่ไปไม่พ้นโลกฟิวดัล

Posted: 06 Nov 2011 10:08 AM PST

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2554 ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ จัดเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 2 ฉายหนังเรื่องผู้ก่อการร้าย (The Terrorists) กำกับโดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล และเสวนาหลังฉายหนังหัวข้อ “ใครคือผู้ก่อการร้าย?” โดยมีธัญสก และคำ ผกา เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ชาญกิจ คันฉ่อง ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ธัญสก พันสิทธิวรกุล และ คำ ผกา

ผู้ร่วมการเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 2

ในการเสวนาดังกล่าวธัญสกได้เล่าถึงแรงบันดาลใจการทำหนังเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่ตัดสลับระหว่างภาพโป๊กับภาพเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือด 53 และคำ ผกา ได้อภิปรายต่อในประเด็นการสร้างวาทกรรมผู้ก่อการร้ายในบริบทสังคมไทย หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรอย่างน่าสนใจ Book Re:public สรุปประเด็นเสวนามานำเสนอแก่ผู้อ่าน หากท่านใดต้องการฟังเสวนาเต็มๆ สามารถเข้าไปรับชมที่ลิงค์   

ช่วงที่ 1

ช่วงที่ 2

ช่วงที่ 3

ช่วงที่ 4

ช่วงที่ 5

ที่มา: BookrepubliconTV/youtube.com

 

อะไรรุนแรงกว่ากันระหว่างการโดนยิงกับการชักว่าว?

ธัญสก พันสิทธิวรกุล เล่าว่าเขาเริ่มทำหนังเรื่องนี้โดยได้รับการทาบทามจาก Jürgen Brüning โปรดิวเซอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งต้องการนำหนังของเขาไปฉายในเทศกาล Porn Film Festival แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจทำหนังให้ฝรั่งดูจึงออกแบบให้มีกลิ่นอาย exotic ที่ฝรั่งชอบ โดยทำเป็น documentary สัมภาษณ์นักมวยไทย ชาวประมง หมอนวด อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเริ่มถ่ายฉากแรกคือฉากเรือประมง เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์10 เมษา 53 พอดี เขารีบกลับกรุงเทพฯ และได้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 10 เมษา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยร่วมกับสมาพันธ์ ศรีเทพและน้องเฌอ ต่อมาเมื่อทราบข่าวว่าน้องเฌอถูกยิงเสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุม เขาตัดสินใจเปลี่ยนเค้าโครงของหนังที่ทำอยู่ทันที 

ธัญสกสารภาพว่าก่อนหน้านี้เขาไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองและตัวเขาก็เป็นเพียง “สลิ่ม” คนหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มสนใจ เขาหาข้อมูลด้วยการเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม ชื่อหนังผู้ก่อการร้ายนั้นมีที่มาจากบทสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ที่พูดว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่ต่างจากอัล เคดา แล้วคุณจะปล่อยให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร เขารู้สึกคับข้องใจกับข้อกล่าวหานี้จนลุกขึ้นมาเปลี่ยนโครงหนังของตัวเองเพื่อตั้งคำถามกับมุมมองดังกล่าว

“ตั้งแต่งานแรกๆ ของผม ผมทำเรื่องโป๊มาตลอดเพราะผมต้องการต่อสู้กับรัฐเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าทำไมรัฐทนไม่ได้กับความโป๊ แต่กลับทนได้กับความรุนแรงแบบนี้ ผมต้องการตั้งคำถามว่าอะไรรุนแรงกว่ากัน ระหว่างการโดนยิงกับการชักว่าว”

คำ ผกา ให้ความเห็นว่า ส่งที่ธัญสกพูดเป็นเรื่อง pornography กับการเมือง เป็นการท้าทายการเมืองด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมรัฐถึงทนความโป๊ไม่ได้ pornography ตามความหมายดั้งเดิมไม่ใช่แค่ความลามก วิตถาร อนาจาร แต่หนังสือปกขาวและหนังสือการเมืองซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามทั้งหมดก็เรียกว่าเป็น pornography ด้วยเหมือนกัน

“ถามว่าทำไมเรื่องเพศจึงไปสั่นสะเทือนสถาบันทางการเมือง ก็เพราะว่ามันได้ทำลายฐานที่มั่นของ establishment ทั้งหมด ความจริงหนังโป๊โดยตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องมีประเด็นทางการเมืองเลยก็ทำลาย establishment อยู่แล้ว นี่คือพลังของหนังโป๊ และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรัฐที่มีความมั่นคงทางจิตใจน้อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งหวาดกลัวความโป๊ ฉากเลิฟซีนที่ไม่ใช่ระหว่างชายหญิง ยิ่งเป็นเลิฟซีนระหว่างคนเพศเดียวกัน เลิฟซีนทางทวารหนักก็จะยิ่งสั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐมากขึ้นเท่านั้น”

คำ ผกาชี้ให้เห็นว่าความหวาดหวั่นต่อ pornography ของรัฐไทยที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นสะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐไทย รัฐที่มีความมั่นคงแล้วเช่นหลายๆ ประเทศในยุโรปที่ไม่มี insecurity ในเรื่องการเมืองก็จะไม่ค่อยซีเรียสเรื่อง pornography เพราะฉะนั้นจึงมี Porn Film Festival ได้ ซึ่งแง่หนึ่งเป็นตัวชี้วัดของความมั่นคงของ establishment ทางการเมืองในแต่ละสังคม

 

ตรรกะวิปริตกับจินตนาการที่ไปไม่พ้นโลกแบบฟิลดัล

เมื่อกลับมาพิจาณาคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” คำ ผกาเห็นต่างว่า คำว่าผู้ก่อการร้ายนั้นหรูหราเกินไป ทันสมัยเกินไป สำหรับใช้สร้างความเป็นอื่นให้กับคนเสื้อแดง เพราะว่าในสังคมไทย คนที่เสียงดังที่สุดในสังคมคือกลุ่มคนที่ถูกเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “สลิ่ม” ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ยอมลอกคราบออกมาจากโลกก่อนสมัยใหม่ไพร่ทาส ศักดินา หรือระบบฟิวดัล และในระบอบฟิวดัลย่อมไม่มีผู้ก่อการร้าย

เรื่องเล่าที่กักขังสลิ่มเอาไว้ในโลกแบบฟิวดัลคือประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่นิพนธ์ขึ้นมาเพื่อสถาปนาอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ความเป็นไทย (Thainess) ที่สร้างโดยชนชั้นนำที่พยายามรวมอาณาจักรสยามผ่านระบบอาณานิคม ตั้งระบบราชาของราชาในภูมิภาคขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ สลิ่มไทยจึงคิดได้แค่เรื่อง “เสียดินแดน”, “เสียกรุงครั้งที่ 1”, “เสียกรุงครั้งที่ 2” เมื่อคิดได้แค่นี้ วาทกรรมเรื่องผู้ก่อการร้ายจึงไม่มีพลังเท่ากับวาทกรรมว่าด้วย “พวกเผาบ้านเผาเมือง” อันส่อนัยของการเป็นพม่า หรือวาทกรรมว่าด้วยพระยาละแวก กษัตริย์เขมรที่ทรยศต่ออาณาจักรไทย กรณีความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุนเซ็นจึงมีค่าเท่ากับพระยาละแวก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างความเป็นอื่นหรือการสร้างศัตรูจึงอิงอยู่กับประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเสียกรุงฯ เสมอมา แม้กระทั่งน้ำท่วมครั้งนี้ก็มีการเปรียบเปรยว่าเหมือนเสียกรุงบ้าง กรุงแตกบ้าง เหมือนสงครามอินโดจีนที่ต้องอพยพบ้าง ล่าสุดมีการเปรียบเปรยชะตากรรมของชาวกรุงเทพว่าน่าเห็นใจ ปีที่แล้วต้องอพยพหนีไฟ ปีนี้ต้องอพยพหนีน้ำ ราวกับทั้งน้ำและไฟคือ “ข้าศึก” ไฟปีที่แล้วคือข้าศึกเสื้อแดง (ซึ่งถูกเชื่อมโยงให้เห็นภาพพม่า) และน้ำปีนี้ก็คือข้าศึกพม่า (ซึ่งถูกเปรียบว่าเท่ากับพรรคเพื่อไทย)

คำ ผกา ตั้งคำถามว่าตรรกะวิปริตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอธิบายว่าเป็นเพราะสลิ่มไทยถูกสต๊าฟทางปัญญาให้อยู่ในสยามศตวรรษที่ 19 ตลอดเวลา ดังนั้นจึงชอบใช้ภาษาลิเกซาบซึ้ง มี mentality อยากเป็น subject (ไพร่) ของรัฐอาณานิคม แม้ในความเป็นจริงเป็นไม่ได้ก็ขอเป็นในจินตนาการ โดยผ่านการใช้ “ภาษา” เป็นสะพาน ด้วยการเข้าไปนับญาติหรือสมมติตนเองเป็น “ข้ารับใช้” จำลองบทสนทนาของข้ารับใช้ในหนังจักรๆ วงศ์ๆ หรือละครที่จำลองภาพชีวิตขุนนางที่มีข้าเก่าเต่าเลี้ยงเยอะๆ สลิ่มจะสวมเอาบทสนทนาของ “ข้า” เหล่านั้นมาผูกเรื่องแทนตนเองเข้าไป โดยมี “นาย” อยู่ในจินตนาการ จากนั้นจะใช้ social media สร้าง collective drama เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายกับข้าขึ้นมาเป็น identity ร่วมกัน เกลียดร่วมกัน รักร่วมกัน มีศัตรูร่วมกัน มีสิ่งที่จะพลีศีรษะให้ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเอาตัวเองไปเป็นกระสอบทรายมนุษย์ร่วมกัน

โดยข้อพิสูจน์ว่าสลิ่มยังไม่สามารถไปไกลถึงขั้นมองเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายได้คือ สลิ่มยังมีความเชื่อว่าน้ำท่วมเพราะมีผู้นำหญิง น้ำท่วมเหนือกับอีสานเพราะธรรมชาติลงโทษคนเสื้อแดง แต่พอน้ำท่วมกรุงเทพฯ กลับให้เหตุผลว่าเป็นเพราะพระสยามเทวาธิราชย์ไม่รับรองรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชุดนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลของคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงเอาเลือดมาเทในกรุงเทพฯ ทำให้พระแม่ธรณีโกรธ มโนทัศน์เช่นนี้เป็นมโนทัศน์ของโลกก่อนสมัยใหม่ที่ยังเชื่อว่าโลกแบน แม่มด เวทมนต์คาถามีจริง ซึ่งเป็นโลกยุคก่อน “ผู้ก่อการร้าย”

กล่าวโดยสรุป คำ ผกา เสนอว่าคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ในบริบทสังคมไทย ไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่า “Terrorist” ในระดับสากล แต่หมายถึงผู้ที่ “ก่อการร้าย” ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในจินตนาการของคนส่วนใหญ่ที่จินตนาการถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แบบฟิวชั่น คือการผสมประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บวกหลวงวิจิตรวาทการ บวกคึกฤทธิ์ ปราโมช บวกหนังพระนเรศวร บวกละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ฉายตอนเช้าของช่องเจ็ด บวกหนังจีนกำลังภายในที่มีฮ่องเต้ มีขันที มีซูสีไทเฮา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ปฏิบัติการโจมตีศูนย์ทนายฯ เตือนภัยถล่มเมืองชายแดนใต้

Posted: 06 Nov 2011 08:42 AM PST

 
ในห้วงประมาณ 10 วัน ตั้งแต่ช่วงวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส 25 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา เกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า.... ครั้ง กว่า 86 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 98 ราย
 
ขณะเดียวกัน กำลังจะถึงวันอีดิ้ลฮัฎฮา วันสำคัญทางศาสนาอิสลามอีกวันหนึ่ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554
 
ในห้วงเดียวกันนั่น มีปรากกฎการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติการเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 จากนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
 
ไปจนถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันอย่างคึกคักของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ แต่การเรียกร้องดังกล่าวก็ยังถูกท้ายทาย
 
เดินสายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
ปัจจุบัน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือเรียกง่ายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มาเป็นครั้งที่ 25 แล้ว โดยมีอายุการใช้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ครั้งล่าสุดมีอายุตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2554
 
ที่ผ่านมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ฝ่ายรัฐใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ถูกต่อต้านจากหลายกลุ่มองค์กร เนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้โอกาสในการละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว จนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวมาแล้วรายคน
 
หนึ่งในองค์กรที่เป็นหัวหอกหลักในการคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกำหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมทั้งเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีความมั่นคงร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
การเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างคึกคักครั้งล่าสุด มีขึ้นหลังจากการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ อายุ 43 ปี นักกิจกรรมที่เคยผ่านการเคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่ 3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 16 กันยายน 2554 โดยทหารกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก
 
จากนั้น นายนิเซ๊ะถูกนำตัวไปควบคุมในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนเกือบครบ 7 วัน ในวันที่ 22 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะก็ถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ขอควบคุมตัวต่อตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกย้ายไปควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา
 
ระหว่างที่ถูกควบควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ นายนิเซ๊ะ ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งด้วยลายมือลงในกระดาษขาวส่งให้ญาตินำออกมาเปิดเผยต่อสังคม เป็นจดหมายที่มีแต่ร่องรอยพับจนเล็ก พร้อมลงลายมือชื่อ ระบุวันที่ 1 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาว่า “ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”
พร้อมทิ้งท้ายว่า “ขอคัดค้านพ.ร.ก.”
 
เมื่อจดหมายน้อยของนายนิเซ๊ะ ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ 17 องค์กร ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่ายประชาสังคมใต้ค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องสำคัญ คือ ให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ก่อนถึงวันที่ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบตามที่ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและญาติได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาล ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554
 
วันต่อมา นายสุทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดแถลงข่าวถึงผลกระทบจากการใช้
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนายนิเซ๊ะ ร่วมแถลงด้วย โดยระบุว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบ
 
จากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ทั้งสิ้น 2,338 เรื่องโดยร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน 282 เรื่อง
 
ขณะที่ มีคดีความมั่นคงที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายจำเลย 495 เรื่อง เป็นคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 122 เรื่อง
แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04
 
ส่วนคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มีจำนวนมากถึง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95
 
ขณะที่องค์กรในเครือข่าย อย่างเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม “เตะพ.ร.ก.” Say No Emergency Decree โดยมีผู้ร่วม 80 คน ที่สนามฟุตบอลนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554
 
จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2554 จัดคาราวานรถโบราณ รณรงค์คัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน “Classis Rally Say no Emergency Decree” ตระเวนไปตามเส้นทางต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ผ่านอำเภอยะรัง มายอ ปะนาเระ สายบุรี ยะหริ่ง ปลายทางที่บ้าน InSouth อำเภอเมือง มีรถโบราณเข้าร่วมประมาณ 100 คัน
 
ในคาราวานนี้ มีกลุ่ม INSouth Junior ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนระดับมัธยมศึกษาที่เป็นคณะกรรมการในโรงเรียนเอกชน
 
สอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา เข้าร่วมด้วย
นายกริยา มูซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดคาราวานรถโบราณ เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับรู้ว่า ตอนนี้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชาวบ้าน
 
ครั้นถึงวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส 25 ตุลาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) จัดโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัตอหิงสา” ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ
 
ต่อเนื่องไปจนถึง การจัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
เป็นเวทีที่มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ไฮไลท์ของเวทีอยู่ในช่วงบ่ายที่ให้ ผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 คนมาเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองประสบ ได้แก่ นายนิเซ๊ะ นิฮะ นายสักรี สาและ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และสุกรี อาดัม เป็นต้น
 
รัฐย้ำยังจำเป็นต้องใช้
 
ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 และพ.ต.อ.ชอบ คิสาลัง รองผู้บังคับการสอบสวนสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างยืนยันถึงความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุม 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา
 
พ.อ.ปริญญา ระบุว่า พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายความมั่นคง ในการต่อสู้กับฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ เนื่องจากสามารถเชิญตัวมาซักถามและปล่อยตัวได้เลย ถ้ากฎหมายอาญาปกติ เมื่อมีการเชิญตัวต้องแจ้งข้อหา แทนที่เรื่องจะยุติแค่การพูดคุย ก็ต้องดำเนินคดีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ทำให้เยิ่นเย้อเสียเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวบ้านมากกว่า
 
พ.ต.อ.ชอบ ให้ความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังควรใช้อยู่ เพราะผลจากการเชิญตัวที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อมูลจากแนวร่วมเยอะมาก ขณะที่การจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ค่อนข้างทำได้ลำบาก เพราะขาดพยานหลักฐาน เนื่องจากไม่ใครยอมเป็นพยานให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้ถูกจับกุม ถูกตัดสินปล่อยตัวเป็นส่วนใหญ่ ตนยืนยันว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี ล้วนแต่จับกุมถูกตัวทั้งสิ้น
 
วินาศกรรมรับ 7 ปีตากใบ
 
ทว่า ในขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรเหล่านั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นนั้น ความรุนแรงในพื้นที่ก็พุ่งแรงเช่นกัน
 
ก่อนถึงวันครบรอบ 7 ปีตากใบ เพียง 2 วัน เกิดเหตุระเบิดร้านมินิมาร์ท 2 จุด ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และเหตุยิงถล่มจุดตรวจบ้านยะกัง ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บสาหัส 8 ราย ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 คน ถึงเป็นเห็นการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่ง
 
กระทั่งถึงวันครบรอบ 25 ตุลาคม 2554 ตั้งแต่ช่วงค่ำวันนั้น เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด 21 ลูก ในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 – 23.00 น. แต่สามารถเก็บกู้ได้ 5 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 คน โดยมีอาการสาหัส 15 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ก่อเหตุ 2 ราย ยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่นๆ อีกประปราย
 
ส่วนในพื้นที่รอบนอก พบใบปลิวถูกทิ้งไว้จำนวนมาก มีข้อความว่า “เผามัสยิดกรือแซะ หะยีสุหลง ตากใบ อีหม่ามยะผา ไอร์ปาแย บ้านกาโสด ฆ่าเยาวชนด้วยอาวุธหนัก 4 X 100 ฆ่าผู้นำชุมชน วางระเบิดกุโบร์โต๊ะอาเย๊าะและอีกมากมาย” ส่วนอีกแผ่นเขียนว่า “ตากใบ 25/10/2004 อุสตาซ ครูสอนศาสนา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน”
 
ถัดมาวันที่ 30 ตุลาคม 2554 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดใน 6 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส รวม 14 จุด ตั้งแต่เวลา 17.50 น.-18.20 น. รวมเกิดเหตุระเบิด แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แยกเป็นเหตุระเบิด 9 จุด ลอบวางเพลิง 4 จุด และยิงหม้อแปลงไฟฟ้า 1 จุด
 
แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังได้ใช้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปแล้วหลายราย
ขณะที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดยะลา แจ้งเตือนเครือข่ายภาคประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังการก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบภายในบริเวณเขตชุมชนย่านการค้า ย่านชาวไทยพุทธ ในตัวเมืองยะลา ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลวันรายอฮัจญ์ของมุสลิม
 
ส่วนในจังหวัดปัตตานี หน่วยข่าวความมั่นคงแจ้งเตือนว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเตรียมก่อความไม่สงบในพื้นที่อำเภอมายอ ยะหริ่ง กะพ้อและสายบุรี โดยมีการเตรียมระเบิดไว้แล้ว 30 ลูก ทั้งชนิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา ชนิดกด ชนิดเหยียบและซุกไว้ในรถจักรยานยนต์
 
นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เป้าหมายในการลอบวางระเบิดใน 8 จุด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบชุดใหม่ กว่า 20 คน มาจากพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีกับอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
 
บุกสำนักงานโจมตีศูนย์ทนายมุสลิม
 
การเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรในเครือข่ายก็ถูกท้าทาย เมื่อมีกลุ่มบุคคล ที่ระบุว่ามาจากองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือ อ.ต.ร. นำโดยนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ ซึ่งแจ้งว่าเป็นผู้ช่วยประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554
 
พร้อมกับยื่นนามบัตร ระบุว่า ทำหน้าที่ผู้ประสานงานฝ่ายจัดตั้ง–อบรมภาคใต้ โดยอ.ต.ร. มีสำนักงานตั้งอยู่บ้านเลขที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
 
จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวระบุว่า มีทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีบางคน เรียกรับเงินจากชาวบ้านเพื่อดำเนินการทางคดี ไม่รับผิดชอบต่อลูกความ ไม่ไปศาล และไม่ช่วยยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการทางคดีให้ลูกความ พร้อมกับเรียกร้องให้ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี ชี้แจงกรณีคดีที่ยังค้างคาอยู่อีก 3 คดี
 
นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีพร้อมผู้ช่วยทนายความอีก 5 คน จึงได้ร่วมกันชี้แจง ยืนยันว่าข้อมูลที่ทางตัวแทนกล่าวอ้างนั้น เป็นการเข้าใจผิด โดยระบุว่ามีเพียง 2 คดีและจำเลย 3 คน ที่ทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีรับผิดชอบ ทุกคดีมีความคืบหน้า โดยเฉพาะคดีดำที่ 0226/2551 ทางทนายความของศูนย์ฯ ดำเนินการสิ้นสุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ส่วนคดีดำที่ 2262/2554 ศาลนัดสืบพยานวันที่ 22–23 มีนาคม 2555
 
“ส่วนคดีดำที่ 212/2554 คดีแดงที่ 212/2554 เป็นคดีผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 คดี ที่ยกขึ้นมากล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี ไม่ใช่คดีความมั่นคง จึงไม่เข้าเงื่อนไขการรับช่วยทางคดีของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดเจนว่า การกล่าวหามาจากความเข้าใจผิด” นายสากีมันชี้แจง
เวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน มีชายไม่ทราบชื่อว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจกใบปลิว “เสียงจากประชาชนภาคใต้” มีข้อความกล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีว่า เรียกรับเงินจากชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นหนี้สิน ขณะที่คดีความไม่คืบหน้า มีกี่ทิ้งคดี ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ระบุว่า เป็นการจงใจโจมตีและทำลายชื่อเสียงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี
 
หลังจากมีการร้องเรียนและแจกจ่ายใบปลิว “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” พยายามติดต่อนายพิทักษ์นิติภูมิ ตามหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ระบุไว้ในนามบัตร ที่มอบให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี แต่ไม่มีการตอบรับ
 
ต่อมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีไม่รับผิดชอบการทำคดี ทำให้จำเลยและญาติได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ขณะเดียวกัน ได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี
 
เปิดคลิปยูทูปถล่มซ้ำ
 
ขณะที่ในโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมด้วยเช่นกัน เช่น คลิปที่ชื่อว่า คัดค้าน พรก. ใครได้(เสีย) ทางเว็บไซด์ http://www.youtube.com/ ความยาว 09.57 นาที อัปโหลดโดย Naachannel1 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาที่พูดถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเจ้าในหน้าที่รัฐและการโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
 
ในคลิปดังกล่าว มีการสัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่กระทบกับคนทั่วไปพร้อมกับมีการนำเสนอภาพความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่เรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภาพเหตุการณ์ไม่สงบ ภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพของชาวมุสลิม เป็นต้น
 
เนื้อหาในคำบรรยายในช่วงแรกๆ ระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่สงบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นกฎหมายทางเลือกที่ใช้ในการเปิดทางเพื่อให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกระบุหรือสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งที่ผ่านมาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ช่วยให้บุคคลไม่ต้องรับโทษมาแล้วหลายราย
 
จากนั้นจึงเริ่มโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่รณรงค์ปลุกกระแสให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงความพยายามในการนำไปสู่การเขียนรายงานเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ โดยระบุว่า มีการนำเสนอข้อมูลบางด้านและบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแฝงหรือไม่
 
ในคลิปยังระบุว่า การนำนายนิเซ๊ะ นิฮะ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานมีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวว่า เป็นการสร้างกระแสกดดันเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องตนเอง และยังโจมตีว่ามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามยกระดับตนเองเพื่อเรียกร้องงบประมาณ
 
พร้อมกับตั้งคำถามว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่ เพราะให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ก่อเหตุร้ายมากกว่าช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ ตอนท้ายของคลิป ได้ขึ้นชื่อ “กลุ่มประชาชน ผู้รักความเบ็นธรรม”
 
อ.ต.ร.คือใคร?
 
โลโก้องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 
 
นามบัตรของนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ 
 
จากการตรวจสอบในอินเตอร์เน็ต พบว่า มีหลายองค์กรที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน แต่มีองค์กรที่ใช้ชื่อย่อว่า อ.ต.ร. อยู่ 2 องค์กร ดังนี้
 
องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION (LEIO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 อีเมล : LEIO_THA@Hotmail.com แต่ค้นไม่พบเว็บไซด์ที่ใช้ชื่อองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
 
โลโก้ขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ตามที่ปรากฏในนามบัตรของนายพิทักษ์นิติภูมิ พบว่า เป็นรูปธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มีข้อความภาษาไทยและอังกฤษ 3 แถว อยู่ด้านล่าง แถวแรก คำว่า อ.ต.ร. แถวที่ 2 องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และแถวที่ 3 LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION
อีกองค์กรที่ใช่ชื่อย่อ อ.ต.ร.คือ องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) พบว่ามี 2 เว็บไซด์ที่ใช้ชื่อองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) เว็บไซด์แรกคือ http://leio-lawbiss.net/index.php ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 56/43 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000 โทร 085-1818 033 , 089-2333 088 โทรสาร. 038-797 205 อีเมล : leio.ngo-worldcz@hotmail.com
 
อีกเว็บไซด์ http://www.ongkarn-leio.org/index_main.php ระบุว่า สำนักงานเลขที่ 12/7 ถนนพลับพลาไชย แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100  โทร 02-2230351 โทรสาร 02- 2230352 เปิดทำการ วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. อีเมล : ngo-leio@hotmail.com และระบุชื่อดร.อนันต์ บูรณวนิช เป็นประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน)
 
ทั้ง 2 เว็บไซด์ ใช้โลโก้เดียวกัน คือ ธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มุมธงด้านขวาทั้งด้านบนและด้านล่างครอบพาน ส่วนด้านล่างมีอักษรย่อ อ.ต.ร.
 
ส่วนองค์กรอื่นที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน เช่น องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐ (สากล) ในเว็บไซด์ http://www.ongkarn-avoi.org/ ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 4/1391 หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย 57 แยกที่ 40 แขวงบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240 โทร.02-379-6530, 085-689-2288, 089-769-9989, 087-981-8366 แฟกซ์ 02-379-6530, 02-933-2811 เปิดทำการเวลา 10.00 - 15.00 น. ในวันราชการ เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
 
องค์กรส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน (อ.ส.ป.ช.) มีนายปิยะ พระเสนา รักษาการประธานองค์กร เว็บไซด์คือ http://hi-thaksin.weebly.com สำนักงาน เลขที่ 472 โชคชัย 4(10) ลาดพร้าว 53 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10230
 

 
 
บัตรประจำตัว อ.ต.ร. ของนายเจะมือหามะสุกรี โต๊ะซากู
 
รวบ 3 หนุ่มค้าใบกระท่อมพกบัตร อ.ต.ร. 
 
ตำรวจสภ.ควนมีดสงขลาจับกุม 3 ผู้ค้าใบกระท่อมพบหัวหน้าทีมพกบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือ อ.ต.ร.เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ขณะขนใบกระท่อม 40 กิโลกรัมมากับรถเก๋งจากมาเลเซียส่ง3 จว.ชายแดนใต้
 
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 พล.ต.ต.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผบก.ภ.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.สุริยา ปัญญามัง ผกก.สภ. ควนมีด และร.ต.ท.นิกร สุกใส รอง สว.สส. ร.ต.ต.บรรจบ ช่วยรอดหมด ผบ.มว.ฉก.ตชด.4343 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจบนถนนสายนาทับ-ท่าคลอง หมูที่ 4 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางเลียบชายทะเลเชื่อมต่อระหว่างอ.เมือง กับ อ.จะนะ หลังได้รับรายงานว่าจะมีการลักลอบขนใบกระท่อมมาตามเส้นทางดังกล่าว
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่พบรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า โคโรล่า สีแดง ทะเบียน 7ฉ-0135 กทม.ซึ่งเป็นรถต้องสงสัยตามที่ได้รับแจ้งวิ่งผ่านมาจึงได้เรียกตรวจค้น โดยพบชายสามคนนั่งมาภายในรถ ประกอบด้วย นายอัสมี สะแม อายุ31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/43 ม.7 ซ.ไทย-จังโหลน 16 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา คนขับ นายเจะมือหามะสุกรี โต๊ะซากู อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่93 ม.1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั่งเบาะข้าง และนายมะหะมะซอยฟี รูปายี อายุ27 ปี อยู่บ้านเลขที่10/35 ม.2 ซ.รุ่งทรัพย์ 1 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา นั่งอยู่เบาะหลัง
 
แต่ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจค้น นายเจะมือหามะสุกรี ได้นำบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือ อ.ต.ร.สองใบ โดยใบแรกมีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจสอบพิเศษ และใบที่สองมีตำแหน่งเป็นประธาน ม.1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ออกมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอผ่านทาง เจ้าหน้าที่พบพิรุธจึงได้ตรวจค้นรถอย่างละเอียดปรากฏว่าพบใบกระทอสดห่อยด้วยถุงพลาสติกสีขาเป็นมัด บรรจุใส่ถุงพลาสติกสีดำ8 ถุง หนัก40 กก.ซุกซ่อนอยู่ที่ช่องเก็บของท้ายรถ จึงได้ควบคุมตัวทั้งสามคนเอาไว้
 
สอบสวนรับสารภาพว่าใบกระท่อมทั้งหมดถูกส่งมาจากประเทศมาเลเซียและตนทั้งสามขับรถไปรับมาจากชายแดนไทยมาเลเซียบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา ในราคากิโลกรัมละ500 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่อ.เทพา และบางส่วนจะส่งไปยัง3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในราคากิโลกรัมละ700-800 บาท
 
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งสามคนดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่5 ใบกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย
 
พ.ต.อ.สุริยา ปัญญามัง ผกก.สภ.ควนมีด เผยว่า ขณะนี้มักจะมีกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดโดยเฉพาะใบกระท่อมมักจะพกบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการขนถ่ายซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมได้หลายรายในรอบเดือนที่ผ่านมา
 
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=173561&categoryID=419
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ‘สุราษฎร์ธานี’ ภายใต้คำเตือน ระวังน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม

Posted: 06 Nov 2011 08:07 AM PST

การขับเคลื่อนของภาคประชาชน‘สุราษฎร์ธานี’ ภายใต้คำเตือน ระวังน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม
 
รถกระบะคันสีขาวฉาบโคลนแล่นกลางแดดเปรี้ยงตอนใกล้เที่ยงวัน ทว่าระหว่างการเดินทางกลับเจอสายฝนที่ตกหนักบ้าง เบาบ้างตลอดเส้นทางที่เป็นเนินควน ขรุขระ และคดเคี้ยว ขณะสองข้างถนนสายธารน้ำสีชาหลากไหลบ่า 
 
“น็อต” นายนพดล ยาจิตร์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต ขับรถทะยานมุ่งสู่ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ที่มูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต ทำงานด้านทรัพยากรป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนบริเวณป่าต้นน้ำคลองยัน
 
เป็นการเดินทางขึ้นมาสัมผัสกับกระบวนการเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติของชาวบ้าน ในช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้
 
น็อต เล่าถึงระบบการสื่อสารของเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและเตือนภัยพิบัติภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำคลองยันว่า มีการเชื่อมร้อยกับอำเภอในพื้นที่ราบคือ อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง และอำเภอที่อยู่ปลายน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอนคือ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ 
 
“วิทยุเครื่องแดงทั้งหมด 200 เครื่อง มีแม่ข่ายที่มีเสาอากาศสูงไม่เกิน 60 เมตร ประมาณ 30 สถานี มีการเชื่อมโยงถึงกัน บอกกล่าวถึงสถานการณ์ว่า ตอนนี้พื้นที่ต้นน้ำมีฝนตกหนักแค่ไหน สามารถแจ้งเตือนเครือข่ายที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำล่วงหน้าได้ถึง 3–5 ชั่วโมง” น็อต เล่า พร้อมกับคุยกับชาวบ้านผ่านวิทยุเป็นระยะๆ
 
ขณะที่ชาวบ้านปลายทางคุยตอบกลับมาว่า เมื่อขึ้นไปดูพื้นที่เสร็จแล้ว จะขออาศัยติดรถเดินทางไปร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายที่ศาลาประชาคมอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ครั้นเมื่อขึ้นไปดูพื้นที่และสถานีแม่ข่ายที่เชื่อมโยงวิทยุแล้ว รถจึงบึ่งสู่อำเภอคีรีรัฐนิคม สู่เวทีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อร่างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในประเด็นการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน เพื่อการป้องกันและเตรียมรับภัยพิบัติ พร้อมกับทำข้อเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดด้วย
 
ทว่า เวทีชาวบ้านคราวนี้มีคนเข้าร่วมค่อนข้างบางตาไม่ถึง 50 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยฯ สภาองค์กรชุมชน มีสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลงเข้าเวทีเพียง 1–2 คน เท่านั้น
 
“จังหวัดสุราษฎร์ธานียังไม่มีรูปธรรมการรับมือภัยพิบัติที่ชัดเจน ทางมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต สภาองค์กรชุมชนจังหวัด พื้นที่ชุมชนที่เสี่ยงภัย มูลนิธิกุศลศรัทธา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จึงร่วมกันประสานงานจัดระบบเตรียมรับมือภัยพิบัติทั้งจังหวัด ในนามสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี” นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต บอกให้ฟังถึงความพยายามในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือในระดับจังหวัด
 
ประวีณ จุลภักดี
 
นายประวีณ จุลภักดี บอกถึงเป้าหมายว่า ต้องการให้อำเภอต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ กันอย่างชัดเจน ทั้งการจัดทำแผนชุมชน จัดเก็บข้อมูลให้ชัดว่ามีจำนวนคนป่วย คนแก่ เด็ก และผู้หญิงอยู่ที่ไหน อย่างไร มีการทำเส้นทางอพยพ ศูนย์อพยพ มีการเตรียมพร้อมกักตุนข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ
 
นายประวีณ จุลภักดี คาดหวังว่า การจัดเวทีร่วมกันขับเคลื่อนในนามสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะทำให้เกิดการเชื่อมร้อยระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีระบบการสื่อสารส่งผ่านข้อมูลผ่านวิทยุเครื่องแดงเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัย สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้นานเกือบ 5 ชั่วโมง เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน มีการทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ เสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และหน่วยงานส่วนกลาง
 
“ชาวบ้านเคยเสนอไปยังจังหวัด ตกลงทางจังหวัดจะให้เครื่องมือสื่อสาร เรือ และอุปกรณ์กู้ชีพ แต่ทำไปทำมากลับไม่ได้รับอะไรเลย แต่ถึงอย่างไร ชุมชนก็ต้องจัดการตัวเองอยู่ดี ผมยังประสานไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขอเครื่องมือและอุปกรณ์เตือนภัย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ตอบกลับมาว่าให้เสร็จสิ้นภารกิจที่กรุงเทพมหานครก่อน แล้วจะเดินทางมาภาคใต้” นายประวีณ จุลภักดี เล่า
 
น้ำในคลองพุมดวง และในแม่น้ำตาปีสีขุ่นข้น พร้อมเสียงแจ้งเตือนจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า มรสุมกำลังมาเยือนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
 
ขณะร่องรอยความเสียหายจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 จากฝนตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกือบทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงปรากฏให้เห็นร่องรอย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภารับเรื่องขอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แจ้งประธาน-วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

Posted: 06 Nov 2011 07:49 AM PST

 ศูนย์ทนายมุสลิมยก 5 เหตุผล ยื่นนายกฯ ขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำนักเลขาสภาผู้แทนรับเรื่อง พร้อมแจ้งประธานสภา-วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
 
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งหนังสือ ถึงนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนังสือเลขที่ สผ 0001/1094 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 แจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้นำความในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้องค์กรซึ่งมีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้มีการทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ในครั้งที่ 26 และได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายไปทางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักการใช้กฎหมายโดยยึดหลักนิติกรรมและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อทราบแล้ว
 
หนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงาน(วิป)สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
 
หนังสือดังกล่าว ยังระบุชื่อเจ้าของเรื่อง ชื่อนางสาวเรณุมาศ รักษาแก้ว นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
ก่อนนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้พิจารณาการประกาศให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินประเภทร้ายแรง ครั้งที่ 26 ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งสำเนาถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
 
เนื้อหาในจดหมายผนึกฉบับนี้ ระบุสรุปว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 มีเหตุรุนแรงในจังหวัดชยแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 12,167 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 4,771 ราย เป็นตำรวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166 ราย บาดเจ็บรวม 8,512 คน แสดงว่ายังมีเหตุรุนแรงอยู่เรื่อยมา แม้มีการบังคับใช้พระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาในครั้งต่อไป โดยมีเหตุผลและข้อเสนอแนะดังนี้ 
 
1.ประเทศไทยยังไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของสหประชาชาติที่ไทยเป็นประเทศภาคี ได้ทำข้อเสนอแนะมาตั้งแต่ปี 2548 
 
2.ให้ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ไม่ว่าการนำตัวบุคคลมาศาล ให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยมได้ ให้มีการตรวจร่างกายก่อนและหลังการควบคุมตัว เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
3.ขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและให้ยกเลิกมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยกเว้นอำนาจของศาลปกครอง
 
4. แก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง คณะรัฐมนตรีต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายใน 7 วัน เพื่อเปิดโอกาสฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของฝ่ายบริหาร โดยผ่านการอภิปรายกันอย่างเปิดเผยภายใต้ระบบรัฐสภา
 
5.สถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบมากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกดำเนินการคดีอาญาต่อเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับการลงโทษผู้กระทำความผิด เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไร้ประสิทธิภาพ และขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ควบคุมตัวบุคคลเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ จึงขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาในครั้งต่อไป
 
จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ลงนามโดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูลนิธิขวัญข้าวชี้ก้อนจุลินทรีย์ดินป่าของมูลนิธิฯ บำบัดน้ำเสียได้

Posted: 06 Nov 2011 07:27 AM PST

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 54 ที่ผ่านมามูลนิธิขวัญข้าวได้เผยแพร่ข้อชี้แจงเรื่อง "แลกเปลี่ยนเรื่องการใช้จุลินทรีย์โดย เดชา ศิริภัทร" ผ่านเฟซบุ๊คของมูลนิธิฯ ระบุว่าก้อนจุลินทรีย์ดินป่าของมูลนิธิฯ บำบัดน้ำเสียได้  โดยโรงงานปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ที่เกิดจากโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำล้างกาว ปรากฎว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี BOD ลดลงต่ำกว่า 20 สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าบำบัดน้ำเสียมากว่า 5 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการบำบัดอยู่อย่างได้ผลดี
 
รายละเอียดของข้อชี้แจงทั้งหมดมีดังนี้ ...
 
แลกเปลี่ยนเรื่องการใช้จุลินทรีย์โดย เดชา ศิริภัทร
โดยมูลนิธิข้าวขวัญ มขข. เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:49 น.
 
จากอาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ถึงผู้ที่ผนึกพลังกาย พลังใจ ทำจุลินทรีย์บอล หลังจากที่ คุณเดชา  ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ นักคิดนักพัฒนา ผู้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ได้อ่านบทความเรื่อง “EM และน้ำหมักชีวภาพแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ?” ของกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปความได้ว่า จุลินทรีย์กลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ศ. Teruo Higa ) นั้น อาจส่งผลเสียให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นส่วนผสมของ EM Ball เช่น กากน้ำตาล  และรำข้าว ซึ่งเป็นสารอินทรีย์จะส่งผลให้เน่าเสียเพิ่มขึ้นด้วย
 
สมาชิก Face Book ของมูลนิธิข้าวขวัญ หลายท่าน ส่งลิงค์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบทความข้างต้นมายังมูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมกับตั้งคำถามว่า กิจกรรมปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ ที่เราใช้ชื่อว่า “ปั้นดิน” ของมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อแจกจ่ายให้นำไปบำบัดน้ำเน่าเสียในอนาคตนั้น จะมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเน่าเสียหรือจะส่งผลตรงกันข้ามอย่างที่ปรากฎในบทความที่ลิงค์กันต่อๆ มา
 
ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า ชื่อ EM  ( Effective Microorganisms ) เป็นเหมือนความคุ้นเคยของคนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ ที่ได้นำมาใช้ในการพัฒนากิจกรรมทางด้านการเกษตร ซึ่งรู้กันดีว่า เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ เป็นลิขสิทธิ์ของ ศ. Teruo Higa จากญี่ปุ่น  มีทั้งกลุ่มที่ทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน และไม่มีออกซิเจน และโดยคุณสมบัติและหน้าที่การทำงาน ก็เป็นไปตามบทความข้างต้นที่ทุกคนได้อ่าน ความคุ้นเคยของการเรียกคำว่า EM นั้น มันคุ้นเคยจนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า EM หมายถึง หัวเชื้อจุลินทรีย์ตัวเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน เหมารวมกันไปหมดว่าจุลินทรีย์ในโลกนี้ชื่อ EM  ทั้งที่ในความเป็นจริง หากจะใช้ภาษาอังกฤษ คำว่าจุลินทรีย์ คือ Microorganisms (เติม S เพราะจุลินทรีย์มันมีเยอะมากมายไปหมด) ส่วน EM คือชื่อยี่ห้อของกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นการค้า โดยพัฒนาขึ้นจนเป็นลิขสิทธิ์ของ ศ. Teruo Higa  มูลนิธิข้าวขวัญเอง พบเจอผู้มาเรียนรู้การทำนาอินทรีย์ทั้งหลาย เมื่อเรียนชั่วโมงการเก็บและขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์อย่างง่ายที่ได้จากดินในป่าสมบูรณ์ ต่างบอกว่า ที่อาจารย์สอน ก็คือ EM ต้องอธิบายที่ไปที่มากันยกใหญ่ ความเข้าใจผิดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันเป็นความคุ้นเคย เปรียบเทียบให้เข้าใจ เหมือนคนจะซื้อผงซักฟอก ยี่ห้อบรีส แต่บอกว่า ซื้อแฟ้บ 1 กล่อง ( แฟ้บ เป็นผงซักฟอกตัวแรกของไทย ) บรีสถูกพัฒนามาที่หลัง คนคุ้นเคยชื่อแฟ้บ ก็เรียกชื้อนั้นแทนผงซักฟอกที่ตนใช้ ประเด็นนี้ไม่ต่างจากคนเข้าใจผิดในคำว่า EM เลย
 
แต่สาระสำคัญไปกว่านั้น ด้วยความที่กลุ่มจุลินทรีย์มีเยอะ และไม่ใช่แค่เพียง ศ. Teruo Higa จากญี่ปุ่น เท่านั้นที่พัฒนาได้ ในประเทศไทย เชื่อได้ว่า กลุ่มองค์กรที่พัฒนาการทำเกษตรยั่งยืน หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ประสบการณ์จากการพัฒนากิจกรรมในพื้นที่ของตนพัฒนาจุลินทรีย์ได้เองก็มีอยู่ไม่น้อย แต่จะอยู่ในกลุ่มใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละองค์กรจะมีให้อ้างอิง เฉพาะหัวเชื้อจุลินทรีย์ของข้าวขวัญ ก็เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนาจากดินในป่า ไม่ใช่จุลินทรีย์ในกลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ของ ศ. Teruo Higa หรือ เป็นจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า พด.หมายเลขต่างๆ (โดยมาก ใช้ พด.6 ในการปั้น) และข้าวขวัญไม่เคยเรียกชื่อจุลินทรีย์ที่พัฒนาได้เองว่า EM เลย เราใช้คำว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์จากดินป่ามาตลอด โดยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเองจากผิวดินนี้ เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง บริเวณน้ำตกไซเบอร์ ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญ ได้ทดลองใช้มานานนับ 10 ปี รวมทั้งเผยแพร่ให้ชาวนานำไปใช้ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ได้อย่างเป็นผลที่น่าพอใจ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยไม่มีการจดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
 
มูลนิธิข้าวขวัญ ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าห้วยขาแข้ง ในการหมักฟางในนาข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยย่ำฟางข้าวให้จมน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นเวลา 7-10 วัน ฟางก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์โดยไม่ใช้อากาศ ( Anaerobic) จึงไม่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ดังเช่น กลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายโดยใช้อากาศ (Aerobic)
 
ส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่ปั้นบอล ซึ่งมีทั้งกากน้ำตาลและรำข้าวนั้น ใช้เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ให้ขยายจำนวนมากขึ้น เมื่อปั้นก้อนเสร็จแล้ว จะมีการบ่มหมักเอาไว้ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายกากน้ำตาลและรำข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เป็นเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน ถ้าใครเคยทำ จะเห็นว่า ระหว่างนั้นจะเกิดความร้อนจากการหมัก เช่นเดียวกับการทำปุ๋ยหมักนั่นเอง เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์จนไม่เกิดความร้อนแล้ว ค่อยนำไปใช้ จึงไม่ทำให้น้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้นจากส่วนผสมเหล่านี้ (เข้าใจง่ายๆ รำกับกากน้ำตาลถูกย่อยสลายก่อนทิ้งลงน้ำด้วยซ้ำ) ฉะนั้น ความสำคัญ คือก่อนนำไปบำบัดลงน้ำ อินทรียวัตถุถูกย่อยสลายดีแล้วหรือยัง ตรงนี้คืออีกสิ่งที่ควรใส่ใจ
 
จุลินทรีย์จากดินป่านี้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ที่เกิดจากโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำล้างกาว ปรากฎว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี BOD ลดลงต่ำกว่า 20 สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าบำบัดน้ำเสียมากว่า 5 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการบำบัดอยู่อย่างได้ผลดี โดยไม่ต้องไปซื้อจุลินทรีย์จากที่ไหน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
 
ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ตรง จากการใช้จุลินทรีย์จากดินป่ามากว่า 10 ปี ของมูลนิธิข้าวขวัญ เราได้ริเริ่มกิจกรรมปั้นจุลินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้นำไปบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขัง โดยคิดว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบ้านที่เรารักหลังนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยมั่นใจว่าจุลินทรีย์บอลที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจทำนี้ จะไม่ทำร้ายบ้านที่เรารักอย่างแน่นอน
 
 หากสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแลกเปลี่ยนได้ที่ คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ 089-8367006
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: เกมอำนาจกับการจัดการน้ำ

Posted: 06 Nov 2011 07:24 AM PST

ในสังคมใด เมื่อมนุษย์ผู้ใดกลุ่มใดโชคดีมีอำนาจขึ้นมา แต่ขาดภูมิปัญญา ใช้อำนาจไม่เป็นและใช้ไปอย่างผิดทาง ก็จะสร้างความหายนะแก่สังคม และท้ายที่สุดอำนาจก็จะหวนกลับมาทำลายตนเอง ดังที่กำลังเกิดขึ้นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 
 
ขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีฝึกงานกำลังสาละวนและละล้าละลังในการจัดการกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทักษิณ ชินวัตรพี่ชายของเธอก็หมกมุ่นกับการช่วงชิงอำนาจกับฝ่ายทหาร โดยด้านหนึ่งวิพากษ์ทหารว่าเสพติดอำนาจ และอีกด้านหนึ่งก็สนับสนุนให้ ส.ส.ในสังกัดดำเนินการแก้ พ.ร.บ. กลาโหม เพื่อช่วงชิงอำนาจในการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงจากเดิมที่อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการให้มาอยู่ภายใต้นักการเมือง
  

ด้วยความที่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาแนวทางและวิธีการที่ช่วยเหลือพี่ชายให้กลับสู่ประเทศไทยโดยปราศจากความผิด ความอ่อนหัดไร้ประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดิน ความจำกัดของความรอบรู้ในปัญหาและระบบงานราชการ ความตื้นเขินของพลังทางปัญญาในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างเป็นภาพรวม ผสานกับบารมีที่มีอยู่น้อยนิด ส่งผลให้การตัดสินใจในการแก้ปัญหาของ “ผู้นำจำเป็น” ของประเทศไทยเกิดความล่าช้าและผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการใช้อำนาจก็เป็นไปอย่างกล้าๆกลัวๆและไร้ทิศทาง       

ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปัจจุบัน ได้แสดงตัวออกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และปรากฎอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พายุหลายลูกที่พัดผ่านประเทศไทยตอนบนก่อให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีก่อนๆ ทำให้ หลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนต้องประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายของการถูกน้ำท่วม       

ตามมาตรฐานของหลักการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนต่างๆ เมื่อน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมากก็ต้องเพิ่มปริมาณการระบายน้ำออกมา แต่ในครั้งนี้หลักการดังกล่าวกลับเกิดขึ้นอย่างล่าช้าเพราะมี “อำนาจ” บางอย่างสั่งให้เจ้าหน้าที่เขื่อนกักน้ำไว้ก่อน และกำหนดให้ระบายน้ำออกมาราวกับว่าเป็นสถานการณ์ปกติ จนกระทั่งถึงจุดที่ใกล้วิกฤติของเขื่อน จึงได้มีการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อน อำนาจที่ว่านั้นมิใช่อำนาจลึกลับใดๆ แต่เป็นอำนาจซึ่งดำรงอยู่ในคณะรัฐมนตรีนั่นแหละ       

เหตุผลที่มีการสั่งกักน้ำไว้ก่อน หากมองในแง่บวก ก็คือ เป็นเจตนาดีที่ไม่ต้องการให้มีมวลน้ำไหลลงสู่แม่น้ำในปริมาณที่มาก น้ำจะได้ไม่ท่วม แล้วค่อยๆทยอยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำในภายหลัง แต่เจตนาดีเหล่านี้ย่อมมีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ การรักษาคะแนนนิยมในกลุ่มประชาชนภาคเหนืออันเป็นฐานเสียงของรัฐบาล และในท้ายที่สุดกลับทำให้เกิดมหาอุทกภัยซึ่งสร้างความหายนะแก่ประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์       

ความแปลกประหลาดของการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในครั้งนี้มีร่องรอยให้สืบสาวจากข้อมูลที่ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลสัมภาษณ์เอาไว้ นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลระบุว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2554 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ย 1,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน รวมห้าเดือนมีน้ำเข้าไปอยู่ในเขื่อนภูมิพลประมาณ 5, 000 ล้าน ลบ. ม. แต่ในช่วงห้าเดือนนั้นเขื่อนระบายน้ำออกมาเพียงเดือนละ100 กว่าล้าน ลบ. ม. เท่านั้น รวมห้าเดือนก็ระบายออกประมาณ 500 ลบ. ม. หรือ มีน้ำเข้าเขื่อนมากกว่าน้ำที่ระบายออกมาถึงประมาณ 10 เท่า       

ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาในช่วง 5 เดือน ปล่อยน้ำออกมาเฉลี่ยประมาณแค่ 5 ล้าน ลบ. ม.ต่อวันเท่านั้น แต่ในเดือนตุลาคมได้มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในช่วง 1-4 ตุลาคม เพิ่มเป็น 40-60 ล้าน ลบ. ม.ต่อวัน ต่อมาระหว่างวันที่ 5 – 11 ตุลาคม เพิ่มเป็น 100 กว่าล้าน ลบ. ม. ต่อวัน และ ในช่วง 12 -19 ลดลงเหลือประมาณ 50 – 80 ล้าน ลบ. ม. ต่อวัน   

รวมอย่างคร่าวๆน้ำในเขื่อนภูมิพลที่ระบายออกมาเฉพาะ 16 วันของเดือนตุลาคมมีประมาณ 1,200 ล้าน ลบ. ม. หรือประมาณ 2 เท่ากว่า ของช่วงห้าเดือน (150วัน) ซึ่งปล่อยออกมาเพียงประมาณ 500 ล้าน ลบ. ม.       

สำหรับพายุที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมมี 2 ลูก คือ ปลายเดือนมิถุนายนมีพายุไหหม่า ต่อมาในปลายเดือนกรกฎาคมก็เกิดพายุนกเตน พายุสองลูกนี้นำน้ำจำนวนมหาศาลเข้าประเทศไทย แต่ที่น่าประหลาดใจคือการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลก็ยังปล่อยเท่าๆกับเดือนพฤษภาคม เป็นไปได้ว่า ระหว่างนั้นนักการเมืองผู้ทรงอำนาจทั้งหลายคงไม่มีเวลาเพียงพอในการดูแลจัดการปัญหาเรื่องน้ำในเขื่อน เพราะมัวแต่แข่งขันเลือกตั้งช่วงชิงอำนาจ แม้ว่าน้ำได้ท่วมในบางพื้นที่ บางจังหวัดแล้ว สิ่งที่นักการเมืองทำก็คือ การฉวยโอกาสอาศัยความเดือดร้อนของประชาชนเป็นแหล่งในการหาเสียงสร้างคะแนนนิยมเท่านั้น ไม่มีการเตรียมการใดที่จะรับมือกับมหันตภัยที่กำลังคุกคามอยู่แม้แต่น้อย       

รัฐบาลใหม่ของคุณยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้นมาต้นเดือนสิงหาคม ปัญหาเรื่องน้ำก็ยังเป็นเรื่องเล็กสำหรับรัฐบาลส่วนปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การหาทางในการช่วยเหลือทักษิณชินวัตรให้กลับเข้ามาในประเทศไทยโดยปราศจากความผิดติดตัว การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อกระชับอำนาจให้แข็งแกร่ง การเจรจาและจัดงานบันเทิงเฉลิมฉลองเตะฟุตบอลร่วมกับผู้นำประเทศกัมพูชา การสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ การช่วยเหลือเยียวยาสาวกของเสื้อแดง การพยายามแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหม และการหาแนวทางต่างๆในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้       

สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องปัญหาน้ำท่วมก็มีบ้าง เช่น การรับบริจาค การออกไปเยี่ยมเอาของไปแจกผู้ประสบภัยบางคน บางพื้นที่ เพื่อสร้างภาพเป็นนายกนางงามแจกของ แต่ยังไม่เห็นความตระหนักในการแก้ปัญหา และการคิดอย่างเป็นระบบเชิงบูรณาการเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมแม้แต่น้อย เราจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆในการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนอื่นๆ ทั้งๆที่เขื่อนเหล่านั้นมีน้ำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลจากพายุทั้งสองลูกที่เข้ามา  

ต่อมาในปลายเดือนกันยายนพายุก็ได้เข้ามาประเทศไทยอีก 2 ลูกคือ ไหถ่าง กับ เนสาด และต้นเดือนตุลาคม พายุนาลแก ก็พัดเข้ามา พายุทั้งสามทำให้ฝนตกหนัก และน้ำจำนวนมหาศาลไหลเข้าเขื่อน จากการที่เขื่อนปล่อยน้ำน้อยก่อนหน้านั้น ทำให้ความสามารถในการรับน้ำใหม่ที่เข้ามามีต่ำลง เขื่อนจึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำอย่างมหาศาลตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังคงสับสนและมะงุมมะงาหราอยู่ทำอะไรไม่ถูก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ และเพิ่งมาคิดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ) ขึ้นมา โดยมีหน้าที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ประสบภัยและประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำเป็นหลัก       

การตั้งชื่อและกำหนดหน้าที่ของ ศปภ. ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาอุทกภัยแบบเสี่ยงเสี้ยวและมีแนวทางในเชิงการตั้งรับ คือคิดเพียงแต่ว่าเมื่อน้ำท่วมแล้วจะช่วยอย่างไร ฟื้นฟูอย่างไร รวมทั้งแค่แจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงว่าจะจัดการหรือควบคุมมวลน้ำจำนวนมหาศาลอย่างไร เพื่อบรรเทาความรุนแรงและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม       

เมื่อ ศปภ. ทำงานสิ่งที่ปรากฏแก่สาธารณะก็คือผู้ที่รับผิดชอบทำงานไม่เป็น ใช้คนไม่เหมาะกับงาน มีการช่วงชิงบทบาทการนำอย่างเข้มข้น บางคนต้องการเป็นวีรบุรุษแย่งกันเสนอหน้าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ช่วยเหลือชาวบ้านแบบสร้างภาพหาคะแนน แถลงข่าวผิดๆถูกๆ จนต้องแก้ไขกันหลายครั้งหลายคราว ข่าวสารที่แถลงออกมาก็เชื่อถือไม่ได้ เป็นที่เอือมระอาของประชาชน การทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบใน ศปภ. สะท้อนถึงตัวตนที่อ่อนหัด ทำงานไม่เป็นในการรับมือและแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น       

ยิ่งกว่านั้นสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากหน้าที่หลักของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาคือ การจัดการมวลน้ำที่ท่วมอยู่ในวงกว้างหลายพื้นที่ แต่การจัดการกับมวลน้ำมหึมาเช่นนี้ได้หาใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้าน ปัญญาความคิดสร้างสรรค์ในการแสวงหาแนวทางใหม่ๆในการจัดการ การตัดสินใจที่ดีเฉียบขาด และอำนาจสั่งการที่ทรงพลังและเป็นเอกภาพ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นในกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบใน ศปภ.       

ในความคิดของผม หลักการสำคัญของการจัดการมวลน้ำที่ท่วมขังมีอยู่ 3 ประการคือ การผลักดันมวลน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การควบคุมน้ำให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งสร้างผลกระทบน้อยที่สุดไว้ชั่วคราว และการป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่สำคัญ การจะดำเนินการตามหลักการทั้งสามนั้นอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มและอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้ ดังนั้นการใช้อำนาจตามปกติจึงไม่สามารถจัดการตามหลักการทั้งสามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อการจัดการขาดประสิทธิภาพสิ่งที่ตามมาก็คือ น้ำก็จะขังอยู่เป็นเวลานาน และทะลักเข้าไปท่วมในพื้นที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ดังที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน      

ยิ่งน้ำท่วมขังนานเท่าไรความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงก็มีมากขึ้นเท่านั้น และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีวี่แววว่าจะจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้คะแนนนิยมของรัฐบาลก็ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่กองทัพกลับได้รับคะแนนนิยมเพิ่มเติมจากการลงไปช่วยเหลือประชาชนทุกรูปแบบทั้งการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในบางพื้นที่ และการช่วยเหลืออื่นๆแก่ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่แล้ว       

แม้ว่ากองทัพจะเป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นกลไกที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และแกนนำเสื้อแดงมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก มีความระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าทหารจะทำรัฐประหาร ดังนั้นเมื่อทหารมีคะแนนเพิ่มขึ้นก็สร้างความหวั่นวิตกแก่ทักษิณ ชินวัตร ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาล เป็นเหตุให้เขาต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทำลายความน่าเชื่อถือของทหารโดยระบุว่า “ทหารเสพติดอำนาจ” และ ต่างชาติไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทั้งที่ผู้เสพติดอำนาจอย่างโงหัวไม่ขึ้น ทำลายหลักประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาลมากที่สุดคนหนึ่งก็คือตัวทักษิณเองนั่นแหละ       

การเดินเกมเพื่อช่วงชิงอำนาจในการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงจึงกลายเป็นเกมสำคัญของทักษิณ หากเขาชนะในเกมนี้ ทักษิณก็จะควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้ทั้งหมดผ่านน้องสาวที่เป็นหุ่นเชิดของเขา แต่ความฝันของเขาอาจเป็นฝันสลาย เพราะอาจถูกพลังอันมหาศาลของสายน้ำทำลายลงไปก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

 

 

   ---------------------------------------------------------

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"คมชัดลึก" และ "กรุงเทพธุรกิจ" ระบุรัฐบาลจ้างออร์แกไนซ์ให้ยิ่งลักษณ์ลงเยี่ยมชาวจรัญ

Posted: 06 Nov 2011 05:48 AM PST

เว็บไซต์ "คม ชัด ลึก" และ "กรุงเทพธุรกิจ" ระบุรัฐบาลจ้างออร์แกไนซ์ให้ "ยิ่งลักษณ์" ลงพื้นที่เยี่ยมชาวจรัญฯถูกน้ำท่วม รวมถึงพิธีเปิดงาน "จิตอาสา เยียวยาประชาชน" ที่มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นแม่งาน
 
6 พ.ย. 54 - เว็บไซต์คม ชัด ลึก และเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 พ.ย.2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะอาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เดินทางด้วยรถบรรทุก6ล้อ ตระเวนแจกถุงยังชีพและยารักษาโรคให้ประชาชนตั้งแต่ทางลงสะพานกรุงธนบุรีไปจนถึงศูนย์พักพิงโรงเรียนบวรมงคลซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ซึ่งซอยดังกล่าวอยู่เยื้องๆคนละฟากถนนกับบ้านพักของนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ทั้งนี้ในการแจกถุงยังชีพโดยมีประชาชนออกมารับแจกตลอดทาง
 
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางมาแจกถุงยังชีพที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนบวรมงคล พบว่าได้มีการว่าจ้างบริษัทออแกร์ไนซ์ของเอกชนแห่งหนึ่งมาดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนผู้ประสบภัยด้วย  และจากนี้ยังพบว่าในพิธีเปิดงาน " จิตอาสา เยียวยาประชาชน " ที่มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นแม่งาน ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ก็มีการจ้างออแกร์ไนซ์มาจัดงานให้ด้วยเช่นกัน โดยจุดที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ การปล่อยควันดรายไอซ์ในช่วงที่ปล่อยคาราวานรถช่วยผู้ประสบภัย 
    
หลังจากการพบปะประชาชนที่ศูนย์พักพิงฯ นายกรัฐมนตรีได้นั่งเรือของตำรวจน้ำข้ามฟากจากท่าวัดบวรมงคลฯมายังท่าเทเวศร์ เพื่อต่อรถตู้ไปตรวจน้ำท่วมที่บีบีมาร์เก็ต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายวิทยา บูรณะศิริ รมว.สาธารณะสุข พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางมาด้วย ซึ่งนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี รายงานสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนนทบุรีตอนหนึ่งว่า ภารกิจของจังหวัดดำเนินการทมีสามภารกิจคือดูแลแนวคันกั้นน้ำให้มั่นคงแข็งแรง อพยพประชาชนมาที่ศูนย์พักพิง และนำอาหารไปให้ทั่วถึง แต่ทางจังหวัดมีขีดจำกัดเรื่องเรือติดเครื่อง เพราะหลายพื้นที่เข้าไปไม่ถึง จากนั้นนายอำเภอบางบัวทอง บางกรวย และบางใหญ่ ได้รายงานให้นายกฯทราบว่าทั้ง 3 อำเภอน้ำท่วม 100% เต็ม
    
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ปล่อยขบวนเรือบรรทุกถุงยังชีพและอาหารจำนวน 100 ลำ ให้กับประชาชนในอำเภอบางใหญ่เพื่อกระจายความช่วยเหลือ และต้องการให้เรือเข้าถึงประชาชนในทุกชุมชน ทุกจังหวัด และขอความร่วมมือผู้ใหญ่บ้านในการตั้งครัวของรัฐบาล ในการดูแลในระดับชุมชน และจะขอความร่วมมือจากนายอำเภอในการส่งความช่วยเหลือในทุกพื้นที่ ขณะนี้น้ำทะเลเริ่มลดแล้วขอให้ประชาชนอดทน รอให้น้ำระบายลงสู่ทะเล พร้อมกันนี้ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งประชาชน จะร่วมฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
    
จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะนั่งเรือเข้าไปในหมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ เพื่อมอบถุงยังชีพและพบปะประชาชน ซึ่งพบว่าในบางใหญ่ซิตี้น้ำท่วมมากกว่า 1 เมตร บางจุดท่วมสูงถึงเอวบางจุดท่วมถึงคอ แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังอาศัยอยู่ในชั้นสองของบ้าน  ทั้งนี้น้ำในบางใหญ่มีสีดำและส่งกลิ่นเหม็นเนื่องจากน้ำขังเป็นเวลานานและมีขยะลอยเกลื่อน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าระดับน้ำที่นี่ได้ลดลงประมาณ 20 ซม. โดยสังเกตุได้จากคราบตะไคร่ที่เกาะกับรั้วบ้าน ซึ่งก็มีเฉพาะประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับหมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ที่ได้รับถุงยังชีพ แต่ประชาชนที่อยู่ห่างจากจุดดังกล่าวหาได้ทราบและได้รับไม่  ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ว่าประชาชนที่ได้รับนั้นล้วนแต่เป็นฐานเสียงของนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น
    
ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีเข้าไปเยี่ยมเยียนประชาชนศูนย์พักพิงโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ์ 60 พรรษา ในบางใหญ่ซิตี้ พร้อมกับตั้งโรงครัวรัฐบาล โดยนายกฯได้มอบอาหารและรับประทานอาหารกลางวันกับชาวบ้านด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปัตย์เสนอ 8 แนวทาง "นาวิน ต้าร์" แนะรัฐฯ เตือนน้ำท่วมให้ชัดเจน

Posted: 06 Nov 2011 05:28 AM PST

พรรคประชาธิปัตย์เสนอ 8 แนวทางแก้ไขน้ำท่วม ด้าน “นาวิน ต้าร์” อาจารย์เกษตรศาสตร์ อดีตนักร้องดัง แนะรัฐฯ เตือนสถานการณ์น้ำท่วมให้ชัดเจน แปลกใจคนมองมุมกลับอยากให้ท่วมๆ ไปเลยแทนที่จะต้องมาเหนื่อยกับการลุ้นจะท่วมไม่ท่วม
 
6 พ.ย. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าพรรคขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 8 ข้อ ให้รัฐบาลดำเนินการคือ 
 
1.ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ในสิ่งที่ต้องเผชิญ 
 
2.ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการจัดทำแผนอพยพและการจัดตั้งศูนย์อพยพที่มีประสิทธิภาพ 
 
3.การดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ในขณะที่ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้าน ตำรวจควรจัดชุดปฏิบัติการเพื่อเข้าดูแลพื้นที่ที่รัฐบาลสั่งอพยพ โดยจัดให้มีเรือท้องแบนสำหรับการออกตรวจดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอ 
 
4.การชดเชยความเสียหายให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางที่น้ำไหลผ่านหรือท่วมขัง โดยควรประกาศมาตรการชดเชยที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จะสามารถฟื้นฟูและมีหลักประกันในการกลับมาใช้ชีวิตให้เป็นปกติโดยเร็ว
 
5.รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมอื่น ๆ ในการอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ เช่นการยกเลิกการเก็บค่าบริการทางด่วน ค่าบริการรถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อลดภาระให้ประชาชนที่ยังจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 6.รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมปริมาณและราคาของสินค้าจำเป็นให้เพียงพอเหมาะสม โดยตั้งศูนย์กระจายสินค้าราคาถูกในแต่ละพื้นที่ ชุมชน เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ราคาประหยัด บรรเทาปัญหาค่าครองชีพในขณะนี้
 
7.เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านสาธารณสุข เพราะน้ำที่ท่วมขังเวลานานเริ่มน้ำเสีย อาจเกิดสถานการณ์โรคที่มากับน้ำ และ 8.รัฐบาลควรใช้โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกนอกพื้นที่จัดโครงการฝึกอาชีพ หรือฝึกอบรมความรู้ ทักษะทางวิชาชีพเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานหลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนมีงานรองรับและรัฐก็จะได้ประโยชน์จากการใช้แรงงานในการฟื้นฟูและบูรณะสิ่งต่าง ๆ ของประเทศภายหลังน้ำลด.
 
“ต้าร์” แนะรัฐฯ เตือนน้ำท่วมให้ชัดเจน ประชาชนจะได้รับมือทัน
 
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า “ต้าร์ นาวิน เยาวพลกุล” ในฐานะอาจารย์ภาคคณะวิชา เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...
       
“จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเรารู้สึกเลยว่าคนเหนื่อยกับความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์นี้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องพยายามทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตช่วง1-2 เดือนต่อจากนี้เป็นชีวิตที่แพลนมาแล้ว การแก้ไขของรัฐบาลต้องเตือนให้แน่ให้ชัดว่าเขาจะต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์ตอนนี้ แบบนี้ ถ้ารัฐบาลเตือนได้แบบนี้ชีวิตของประชาชนก็จะมีความสุขมากขึ้น”
       
“มองๆ ไปมันก็เป็นเรื่องตลกดี ในมุมมองของพฤติกรรมของประชาชนที่มองปัญหาน้ำท่วม แรกเริ่มเรามองที่ความเสี่ยงก่อนว่าจะท่วมหรือว่าไม่ท่วมก่อน มากน้อยแค่ไหนอย่างไรแล้วเราค่อยมานั่งบริหารความเสี่ยงตรงนั้นว่าเราจะสามารถจัดการกับมันได้มากน้อยแค่ไหน"
       
"แต่ความตลกในเชิงพฤติกรรมของคนปัจจุบันตอนนี้คือคนกลับไปคิดว่ามันเหนื่อยกับการที่จะบริหารความเสี่ยงที่มีระยะเวลานานมาก สู้ให้ตอนนี้มันท่วมรู้แล้วรู้รอดไปเลย หรือสู้บอกมาเลยดีกว่าว่าจะท่วมหรือไม่ท่วมดีกว่าให้มานั่งลุ้น นี่คือความคิดของคนส่วนใหญ่”
       
“ที่ว่ามันตลกก็เพราะในค่าของความเสี่ยง ต้นทุนของความเสี่ยงมันสูงมากกว่ากว่าการให้น้ำท่วมไปเลย คนคิดแบบนี้ก็แปลกดีนะ มันเป็นรูปแบบการตอบสนองพฤติกรรมของประชาชนที่ตอนนี้คิดแบบนี้ มันตลกดี มันเป็นความคิดที่อยู่นอกกรอบ มันเสี่ยงต่อความคาดหมายของคน หมายถึงคนกรุงเทพฯ ที่ต้องมานั่งลุ้นมากกว่าการที่น้ำจะท่วมจริง”
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารยูเนสโกด้วยคะแนนสูงสุดรอบวาระ 2011-2015

Posted: 06 Nov 2011 02:27 AM PST

ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารยูเนสโกต่อเป็นสมัยที่ 6 ในวาระ 2011-2015 โดยได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียและเเปซิฟิก 

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2554 ระหว่างการประชุม UNESCO General Conference สมัยที่ 36 ที่กรุงปารีส ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการบริหารยูเนสโก (UNESCO Executive Board) จำนวน 31 ตำแหน่ง โดยมีประเทศสมาชิกยูเนสโกที่เข้าร่วมการลงคะแนนเสียง 186 ประเทศ ซึ่งไทยได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิก (163 คะแนน) เท่ากับสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งในกลุ่มนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี และปากีสถาน

ไทยได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกยูเนสโกจนได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการบริหารยูเนสโกมาแล้ว 5 สมัย การดำรงตำแหน่งนี้ ทำให้ไทยมีบทบาทในการร่วมกำหนดแผนงาน นโยบาย กฎระเบียบ และตรวจสอบการดำเนินงานของยูเนสโก ซึ่งเป็นองค์กรด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่สำคัญที่สุดของสหประชาชาติ

ประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ในวาระเดียวกับไทย ได้แก่ ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย บราซิล คิวบา เอกวาดอร์ เม็กซิโก สาธารณรัฐเกาหลี อินโดนีเซีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ปาปัวนิวกินี ไนจีเรีย นามิเบีย เอธิโอเปีย มาลี มาลาวี แกมเบีย กาบอง แองโกลา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตูนีเซีย และซาอุดีอาระเบีย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

28 เส้นทางในพื้นที่น้ำท่วมขังและสะพานข้ามเจ้าพระยาที่ยังใช้สัญจรได้ 7 แห่ง

Posted: 06 Nov 2011 12:50 AM PDT

บก.02 แจ้งเส้นทางการจราจร 28 สาย ที่ยังใช้การได้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังใช้การได้ขณะนี้มี 7 แห่ง

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร(บก.02) ได้ประกาศแจ้ง เส้นทางการจราจรที่ยังสามารถใช้การได้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ทิศเหนือ

1) ดอนเมืองโทลเวย์ ขึ้นด่านดินแดง-ลงสุดทางบริเวณโรงกษาปณ์
2) ถ.วิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าห้าแยกลาดพร้าว ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ ถึงบริเวณแยกสุทธิสาร
3) ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าห้าแยกลาดพร้าว ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ ถึงบริเวณแยกสะพานควาย
4) ถ.ลาดพร้าวมุ่งหน้าห้าแยกลาดพร้าว ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ ถึงบริเวณแยกภาวนา
5) ถ.รามอินทรา ใช้การได้ตั้งแต่ ก.ม.5 ถึงแยกมีนบุรี
6) ถ.นวมินทร์มุ่งหน้า ถ.รามอินทรา ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ ถึงบริเวณสะพานข้ามแยกเกษตร-นวมินทร์
7) ถ.ประเสริฐมนูญกิจ (เกษตร-นวมินทร์) มุ่งหน้าแยกเกษตร ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ถึงแยกลาดปลาเค้า

ทิศตะวันออก

1) ถ.เลียบท่างด่วนรามอินทรา ใช้การได้ตลอดสาย
2) ถ.เสรีไทย ใช้การได้ตลอดสาย
3) ถ.รามคำแหง ใช้การได้ตลอดสาย
4) ถ.ศรีนครินทร์ ใช้การได้ตลอดสาย
5) ถ.สุวินทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก จาก จ.ฉะเชิงเทรา มุ่งหน้ามีนบุรี ใช้การได้ถึงแยกตัด ถ.ราษฎร์อุทิศ
6) ถ.มอเตอร์เวย์ ใช้การได้ตลอดสาย
7) ถ.วงแหวนตะวันออก (ใต้) ขาเข้า-ขาออก ใช้การได้ตั้งแต่ทางต่างระดับรามอินทราถึงทางขึ้น-ลงสุขสวัสด์บางขุนเทียน
8) ถ.บางนาตราด ใช้การได้ตลอดสาย
9) ถ.บูรพาวิถี ใช้การได้ตลอดสาย
10) ถ.ลาดกระบัง ใช้การได้ตลอดสาย
11) ถ.อ่อนนุช ใช้การได้ตลอดสาย
12) ถ.สุขุมวิท ใช้การได้ตลอดสาย

ทิศใต้

1) ถ.พระราม 2 ใช้การได้ตลอดสาย

ทิศตะวันตก

1) ถ.ราชพฤกษ์ ขาเข้า-ขาออกใช้การได้ตั้งแต่ถ.เพชรเกษม ถึงเชื่อม ถ.กรุงธนบุรี

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้การได้

1)สะพานพระพุทธยอดฟ้า (สะพานพุทธ)
2)สะพานพระปกเกล้า
3)สะพานตากสิน (สาธร)
4)สะพานกรุงเทพ
5)สะพานพระราม 3
6)สะพานพระราม 9 (สะพานแขวน)
7)สะพานภูมิพลฯ (วงแหวนอุตสาหกรรม)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เปิดถุงยังชีพ ศปภ. ชี้แจง หลังมีข่าวของในถุงไม่สมกับงบจัดซื้อ

Posted: 06 Nov 2011 12:15 AM PDT

อาสาสมัครแพ็กของที่ ศปภ. ชี้แจงถุงยังชีพที่ออกจากศูนย์ มี 2 แบบ แบบแรกเป็นถุงผ้าร่มสีน้ำเงินที่ใช้งบจัดซื้อ ยันของในถุงครบตามสเป็กคุ้มเกินงบ ส่วนอีกแบบที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นอีกแบบที่อาสาสมัครช่วยกัน “แพ็ก” จากสิ่งของประเภทต่างๆ ที่มีผู้นำมาบริจาค และติดป้าย ศปภ. เพื่อแสดงว่าผ่านการคัดแยกแล้ว 

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) ผู้ใช้นามแฝงว่า “Tukta Perace” ได้เผยแพร่ภาพถุงยังชีพที่ติดตราสัญลักษณ์ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าของภาพที่ใช้นามแฝงว่า “Tukta Perace” (ดูภาพประกอบ) 

และได้มีการระบุข้อความในภาพว่า “ถุงยังชีพแบบ 800 บาท ศปภ. ซื้อไปหนึ่งแสนชุด เป็นเงิน 80 ล้านบ. เปิดดู ข้างในถุง มีแค่ เนี้ยย....ช่วยประเมิน ให้ที ราคา มัน 800 จริงๆ เหรอคะ ????”

ภาพที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งของในถุงยังชีพ ราคาน้อยกว่างบที่ตั้งไว้ (ที่มา: Tukta Perace/Facebook.com)

โดยเว็บไซต์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่ภาพนี้ต่อ นำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อพร้อมทั้งระบุว่า สิ่งของที่อยู่ในภาพประกอบด้วย ข้าวสารขนาด 5 กิโลกรัม 1 ถุง, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ซอง, ขนมปัง 6 ชิ้น, อาหารกระป๋อง 2 กระป๋อง, ยาพาราเซตามอล ชนิดแผง 10 เม็ด 2 แผง, โลชั่นทากันยุง 2 ซอง, ยาสระผม 1 ขวด, กระดาษชำระ 1 ม้วน, ผ้าอนามัย 1 ห่อ, เทียนไข 6 เล่ม และไฟแช็ก 1 อัน

โดยทางเว็บไซต์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ยังได้อ้างต่อว่า ภาพดังกล่าวถูกส่งต่อในเครือข่ายเฟซบุคจำนวนกว่า 1,700 คน โดยไม่นับเฟซบุคอื่นๆ ที่นำภาพไปโพสต์ต่อ รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตถึงราคาสินค้าที่นำมาบรรจุในถุงยังชีพของ ศปภ. โดยผู้ใช้นามแฝง “OOm Owlet” ได้ลองเปรียบเทียบราคาสินค้า ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 5 บาท 10 ห่อ เป็น 50 บาท, เทียน 10 บาท, แชมพู 12 บาท, ปลากระป๋อง 16 บาท 2 กระป๋องเป็น 32 บาท, ข้าวสารแบบถูก ถุงขนาด 5 กิโลกรัมถุงละไม่เกิน 70 บาท, ผ้าอนามัย ซานิต้า 23 บาท, ทิชชู่ 12 บาท, ไฟแช็ค 8 บาท, ยาแก้ปวดหัว แผงละ 8 บาท 2 แผงเป็น 16 บาท, ขนมปังห่อละ 4 บาท ถ้าซื้อเป็นโหลในแม็คโคร ตกอันละ 3.25 บาท 10 ซองเป็น 40 บาท, ถุงใส่ของสกรีนโลโก้ กิโลกรัมละ 48 บาท ประมาณ 150 ใบ หากคิดแบบแพงตกใบละ 32 สตางค์ต่อถุง และมีโลชั่นกันยุง 2 ซอง 16 บาท

ส่วนเจ้าของนามแฝง “SaNdzz Sureeporn รักในหลวง” ระบุว่า ราคาสินค้าในถุงยังชีพของ ศปภ.ชุดนี้โดยประมาณ เพราะซื้อจำนวนมาก คาดว่าได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 3.5 บาท 6 ห่อเป็น 21 บาท, ขนมเค้ก 3 บาท 6 ห่อเป็น 18 บาท, ยาพาราเซตามอล แผงละ 5 บาท 2 แผง 10 บาท, เทียน 7 บาท, ครีมกันยุง 7 บาท, ปลากระป๋อง 10 บาท 2 กระป๋อง 20 บาท, ข้าวสารเดาว่าเป็น 50 บาท, ทิชชู 6 บาท, ผ้าอนามัย 10 บาท และค่าถุงพิมพ์ชื่อ ศปภ. 5 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าชมภาพในเฟซบุ้คดังกล่าวส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ราคาสินค้าของถุงยังชีพของ ศปภ.ชุดนี้น่าจะอยู่ในระหว่าง 200-350 บาทเท่านั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ศปภ.อาจมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่นำไปบรรจุลงในถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือไม่ รายงานข่าว เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ระบุ

 

ขณะเดียวกัน เฟซบุคของเนชั่นสุดสัปดาห์ ได้โพสต์ภาพดังกล่าวด้วย พร้อมระบุข้อความว่า “@NationChannel24 ฉาวไม่หยุด! ชาวบ้านแกะถุงยังชีพศปภ.ถุงละ 800 บ. แล้วสงสัยว่าแค่นี้”

 

ภาพถุงยังชีพชนิดที่ใส่ในถุงผ้า เป็นแบบที่ ศปภ. มอบให้ผู้ประสบภัย และสิ่งของในถุงยังชีพ (ที่มา: หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ/facebook.com)

ต่อมา มีผู้ใช้เฟซบุคที่ใช้ชื่อว่า “หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ” ซึ่งเป็นอาสาสมัคร ศปภ. ได้ชีแจงผ่านเฟซบุคพร้อมนำภาพถุงยังชีพของ ศปภ. มาอธิบายว่า ถุงของ ศปภ. มี 2 แบบ ชุดแรกเป็นถุงใสมีออกมาจำนวนหนึ่ง แต่อีกชุดหนึ่ง “เป็นถุงผ้าร่มดังภาพ..อีกจำนวนหนึ่งครับ. ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า”

โดยภายในประกอบด้วย "1. ข้าวหอมมะลิ 1 ถุง ขนาดราคาถุงละ 225 บาท 2. มาม่า 6 ห่อ ห่อละ 6 บาท x 6 ถุง...รวมราคา 36 บาท 3. ปลากระป๋อง(อย่างดี) 10 กระป๋อง กระป๋องละ 20-25 บาท..รวมราคา 200 บาท 4. ผักกาดกระป๋อง 2 กระป๋อง กระป๋องละ 20-25 บาท..รวมราคา 40 บาท 5. ขนมปัง ขนมปังแผ่นกรอบ หรือ แคร๊คเกอร์ห่อใหญ่ 2 ห่อ ราคาประมาณ 80 บาท 6. ไฟแช็ค เทียน สบู่ แฟ้บ น้ำยาล้างจาน แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัยอย่างดี ไฟฉาย กระดาษทิชชู่ ยาแก้ปวด ยากันยุง ยาทาแผล คัตเตอร์..ถุงดำ (บางอันกองทับกันอาจมองไม่เห็นนะครับ) ราคาประเมิน รวมประมาณ 300-350 บาท 7. ถุงผ้าร่มหูรูด ขนาดใหญ่ อย่างดี ราคา 40 บาท 8. น้ำดื่ม น้ำปลา เกลือ น้ำมัน ฯลฯ..ประมาณ 100 บาท"

ผู้ใช้เฟซบุคดังกล่าว ระบุด้วยว่า "ที่กล่าวมา คือ ถุงที่ ศปภ. ใช้งบ "จัดซื้อ" นะครับ และก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะต้อง ถุงละ 800 บาท.."ตัวเลข" นี้ เป็นการ "คาดการณ์กันเอง" ของคนบางกลุ่ม โดยฟังเขามา แล้วเอาจำนวนงบ มาหารกับ จำนวนถุง ของจริงอาจมากกว่า หรือ น้อยกว่า 800 บาทก็ได้ครับ"

"แต่แค่นี้ ถ้าประเมินจากภาพก็เกือบ 1000 บาทแล้วครับ.. ลองบวกดู แต่ยังไม่หมดนะ ผมรอรูปเพิ่ม เพื่อยืนยัน หลายๆ กล้อง ลองคิดง่ายๆ ถ้าบวกได้ 1,100 งบที่รัฐตัดจ่ายจริง จะอยู่ประมาณ 700-800 บาทครับ เพราะรัฐฯ สามารถซื้อเป็นล๊อตใหญ่ได้เลย ก็จะได้ราคาถูกกว่าท้องตลาดครับ..แต่ข้อมูลนี้ ต้อง แจกแจงได้จริง...ก็ไปว่ากันในสภาครับ.. ให้สิทธิ ส.ส.ฝ่ายค้านฯ เค้าทำงานตรวจสอบตามระบบดีกว่าครับ.." ผู้ใช้เฟซบุคนามหมออั้ม อิราวัต อารีกิจ กล่าว

ผู้ใช้นามว่า “หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ” ยังได้อธิบายภาพถุงยังชีพเล็กว่า  "มาจากการคัดแยก ของที่ส่ง ที่บริจาคมาจากทั่วประเทศ.."ของบริจาค" ที่ประชาชนบริจาคมา ส่งมารวมที่ ศปภ. แล้วมาแพ็คใหม่ จัดเรียงใหม่ ให้เหมาะสมครับ..ซึ่งอาจไม่เหมือนกันเป๊ะๆ ทุกถุง เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนของทีคนบริจาค - ปุ้มปุ้ย หมด เอา ซีเล็ค แทน , มาม่าหมด..ไวไวแทน ไรงี้ครับ.. ส่วนกระดาษแผ่นขาวๆ ที่อ่านว่า "ศปภ." และมีตราประจำของ "สำนักนายกฯ น่ะ"......ลืมกันแล้วหรือ ว่าเพิ่งเจอเมื่อวานในโพสผมไงครับ.."

 

ภาพที่มีการเผยแพร่ใน facebook ก่อนหน้านี้ และในเฟซบุคของ “หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ” ได้นำภาพดังกล่าวมาอธิบาย ว่าเป็นภาพถุงยังชีพแบบที่อาสาสมัครประกอบมาจากสิ่งของที่นำมาบริจาค (ที่มา: หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ/facebook.com)

อาสาสมัคร ศปภ. ผู้นี้ยังชี้แจงกรณีที่มีการวิจารณ์ ศปภ. ที่เอาของที่องค์กรหรือประชาชนบริจาคมาติดป้ายของ ศปภ. เองว่า “..การจำแนกของในนั้น ก็มี "หลักเกณฑ์ชัดเจน"..ว่าจะต้องมีอะไรบ้างอยู่ใน "ถุงยังชีพ"..ไม่ใช่ว่าจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้นะ..."ต้องไม่หนัก ไม่มากเกินไปและครบถ้วน" คุณคิดว่าง่ายเหรอ ที่ต้องแยกของที่มาเป็น "ล้านๆ" ชิ้น... ต้องใช้แรงคน ทั้งแรงกาย แรงใจ เท่าไหร่...มานั่งคัด..บ้างเห็นว่า คัดแล้ว ของบริจาค "น้อยลง" หลังคัด.. ก็ชื่อมันก็บอกแล้วว่า "คัด" เอาที่ "่ดีดี และมีประโยชน์จริง" เพราะเดิมมัน "มากไป" หลังคัดแล้วจึง "น้อยลง" แต่ "เหมาะสม" และบางชิ้น "ไม่จำเป็น" และ "ใช้ไม่ได้" ก็จะถูกแยกออกไป โดยจะนำใช้ประโยชน์ ในที่ที่เหมาะสมกว่า...ไม่ได้ "ทิ้ง" ให้เสียเปล่า.. หลังจากแยกแล้ว..(เป็นหมื่นเป็นแสนถุง) คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอันไหน "Approved" หรือ "ผ่านมาตรฐานการแยก" แล้ว... จึงต้องใช้ชื่อกลาง แปะถุง สอดในถุงที่คัดแยกแล้ว... คือ "ศปภ." ซึ่งกำกับโดย "สำนักนายกรัฐมนตรี" ที่เป็นตัวแทนของ "ประชาชน” คนที่เค้าเพิ่งเลือกมาเมื่อ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา..”

 

หมายเหตุ: รายงานเพิ่มเติมเวลา 15.50 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น