โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12 - 18 พ.ย. 2554

Posted: 18 Nov 2011 07:40 AM PST

น้ำท่วมผู้ประกอบการกระทบกว่า 2.8 หมื่นแห่ง

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำท่วมที่กระทบ 21 จังหวัดทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแล้ว 28,533 แห่ง โดยลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,019,616 คน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 5,387 แห่ง และลูกจ้างกลับเข้าทำงาน 116,450 คน ทำให้มีแรงงานได้รับผลกระทบจริง อยู่ที่ 903,166 คน มีลูกจ้างของสถานประกอบการถูกเลิกจ้าง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา 10 แห่ง จ.ปทุมธานี 4 แห่ง และ จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง รวม 15 แห่ง ถูกเลิกจ้างแล้ว 4,510 คน

ขณะที่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ในการรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปทำงาน ในจังหวัดอื่น เป็นการชั่วคราว 2-3 เดือน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 530 แห่ง ใน 41 จังหวัด และมีตำแหน่งงานว่างรองรับ 66,443 อัตรา มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการ 11,054 คนในสถานประกอบการ 64 แห่ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.labour.go.th

(ไอเอ็นเอ็น, 13-11-2554)

เอกชนอ้อนรัฐแบกค่าจ้างครึ่งหนึ่ง / สิ่งทอยันไม่ปลด พนง.แม้ซมพิษน้ำท่วม

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯมีโรงงานสมาชิกเกือบ 100 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณ ถ.เพชรเกษม รวมยอดคนงานหลายหมื่นคน แต่โรงงานทั้งหมดยังพร้อมรับผิดชอบแรงงานทั้งหมด แม้จะไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามปกติ เพื่อรักษาแรงงานไม่ให้ออกไปจากระบบ เพราะหากไม่จ่ายเงินค่าจ้าง แรงงานกลับบ้าน หรือหันไปประกอบธุรกิจอื่น เมื่อกลับสู่ภาวะปกติจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 โรงงานมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่ทุกโรงงานเกรงว่าหากไม่จ่ายค่าจ้าง แรงงานจะหนีออกไปจากระบบ และจะไม่มีแรงงานเมื่อน้ำลดลงในภายหลัง อย่างไรก็ตามภาครัฐเคยเสนอนโยบายว่าจะช่วยเหลือค่าแรงครึ่งหนึ่งกับทุกโรง งานที่รับแรงงานที่ประสบภาวะวิกฤติน้ำท่วมเข้าทำงาน โดยให้จ่ายเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม ซึ่งสมาคมฯได้ทำเรื่องถึงกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ให้ช่วยออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งดังกล่าว ถ้ารัฐช่วยค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งโรงงานก็จะจ่ายค่าจ้างประมาณ 36%” นายสุกิจ กล่าว

(แนวหน้า, 13-11-2554)

ก.แรงงาน นำผู้แทนไอแอลโอลงพื้นที่อยุธยาสำรวจแรงงาน-หามาตรการช่วยเหลือ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)แจ้ง ว่า นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยาในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อสำรวจความเสียหายด้านแรงงาน และหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟู

ทั้งนี้ ไอแอลโอประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงาน เป็นตัวกลางเชื่อมข้อมูลระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ซึ่งไอแอลโอมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในรูปแบบการส่งเสริมอาชีพต่างๆ อย่างไรก็ตามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบการกว่า 5,200 แห่ง ผู้ใช้แรงงานกว่า 373,000 คน และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งหมด

ขณะเดียวกันถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการจ้างงานมาก ซึ่งมีทั้งลูกจ้างประจำ และซับคอนแทค (เหมาช่วง) ที่หลายฝ่ายกังวลว่าการช่วยเหลืออาจไม่ทั่วถึง เนื่องจากขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วกว่า 3,000 คน จากสถานประกอบการ 10 แห่ง

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ไอแอลโอ เสนอกรอบความช่วยเหลือ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การดูแลให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว 2.การช่วยเหลือแรงงานว่างงาน 3.การฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ 4.การช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก โดยไอแอลโอ และกระทรวงแรงงานจะใช้เวลา 2 วัน (15-16 พ.ย.54) ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเสียหาย ก่อนจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือ และนำมาตรการดังกล่าวเป็นต้นแบบในการกำหนดความช่วยเหลือในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

(อินโฟเควสท์, 15-11-2554)

คนงานนิคมอุตสาหกรรมโรจนะฮือประท้วงนายจ้างเบี้ยวค่าแรง

ตัวแทนพนักงานจากบริษัทมินอิก จำกัด และบริษัทเอ็มยู ประเทศไทย จำกัด  ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 300 คน ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างเร่งจ่ายเงินประจำงวดแรกของเดือนพ.ย.คือประจำวัน ที่ 14 พ.ย.อันเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายแรงงาน

นายศักดิ์ชัย บูรณะ  เจ้าหน้าที่วางแผนการผลิตของบริษัท มินอิก จำกัด เปิดเผยว่า  พนักงานของบริษัทฯ ในเครือกว่า 300 คนได้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีพนักงาน ของบริษัทฯ ไม่ได้รับเงินเดือนงวดแรกของเดือนพ.ย. ซึ่งกำหนดแล้วนายจ้างต้องจ่ายให้ในวันนี้  แต่ปรากฏว่าไม่มีการจ่ายเงินโดยนายจ้างให้เหตุผลว่า  ขณะนี้โรงงายยังปิดทำการเพราะน้ำท่วมและต้องรอให้น้ำลดลงและเปิดโรงงานเป็น ปกติก่อนจึงจะจ่ายเงินคืนให้หรืออาจจะต้องรอไปอีกประมาณ 6 เดือน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายจ้างรับปากว่าจะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรง งานมาตรา 75ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ รวมถึงในเดือนต.ค.นายจ้างได้จ่ายเงินให้กับพนักงานถึง 100% ประกอบกับพนักงานดังกล่าวไม่สามารถไปยื่นขอรับเงินชดเชยกับสำนักงานประกัน สังคมได้เนื่องจากนายจ้างยังไม่ได้เลิกจ้าง

สำหรับบริษัท มินอิก จำกัด และ บริษัท เอ็มยู ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะและมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานลักษณะ เดียวกัน โดยทั้ง 2โรงงานมีพนักงานรวมทั้งหมด 1,900 คน ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและส่งออกไปขายยัง ประเทศมาเลเซีย สร้างรายได้ให้กับประเทศหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปี

ด้านนายวรรณรัตน  ศรีสุกใส  หัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ภายหลังสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนเข้าหารือว่า ทางสำนักงานสวัสดิการฯจะเจรจาให้นายจ้างช่วยเหลือเยียวยาพนักงานให้เกิดความ ยุติธรรมมากที่สุด เพราะมองว่าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินให้พนักงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องพร้อม กันนี้ ได้แสดงความเห็นใจทั้งสองฝ่ายที่ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยครั้ง นี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 พ.ย.จะเชิญนายจ้าง ชาวไต้หวันของทั้ง 2 โรงงานมาหารืออีกครั้ง

นอกจากนี้หลังทราบข้อตกลง กลุ่มพนักงานของ 2 โรงงาน ได้แยกย้ายกลับบ้านโดยสันติและจะกลับมาฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.หากผลการประชุมของเจ้าของโรงงานไม่เป็นที่น่าพอใจจะนัดรวมตัวพนักงาน ทั้งหมดประท้วงและอาจขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้ให้เห็นสภาพที่แท้จริงของผลกระทบเมื่อน้ำท่วมโรงงาน

(โพสต์ทูเดย์, 16-11-2554)

ปลัดแรงงานยันลูกจ้างในอยุธยา-ปทุมธานี-ฉะเชิงเทราไม่ถูกลอยแพ

วันนี้ (16 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆโดย ให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพการจ้างให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลิกจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่ได้รุนแรง ยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้โดยขณะนี้มีแรงงานเพียงประมาณ 4.5 พันคนในสถานประกอบการ 15 แห่งในจ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและฉะเชิงเทราที่ถูกเลิกจ้าง
      
ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานที่เดือดร้อน น้ำท่วมแทนนายจ้างรายละ 2 พันบาทโดยมีเงื่อนไขสถานประกอบการที่จะร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่ประสบ ภัยน้ำท่วมตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย พิบัติ และต้องเซ็นลงนามเอ็มโอยูและจ่ายค่าจ้างไม่น้อยร้อยละ 75 เพื่อชะลอการเลิกจ้างและเป็นการช่วยรักษาสภาพการจ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสภาพการณ์ขณะนี้คงไม่มีนายจ้างรายใดอยากเลิกจ้าง ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา
      
ตอนนี้มีทั้งแรงงานที่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 75 บางคนก็ได้รับค่าจ้างร้อยละ 50 ก็เข้าใจดีว่าลูกจ้างอยู่ในภาวะที่ลำบาก แต่เห็นว่าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องอดทน บางครั้งก็ต้องยอมเสียสละเพื่อจะได้อยู่รอดทั้งสองฝ่ายปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
      
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานมีโครงการต่างๆที่ช่วยเสริมรายได้ให้แก่แรงงาน เช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนจ้างงานชั่วคราวแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ไปทำงาน ในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเป็นเวลา 3 เดือน โครงการจ้างงานเร่งด่วนจ่ายค่าจ้างวันละ 150 บาทต่อวัน โครงการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานวันละ 120 บาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่รอการฟื้นฟูโรง งาน รวมทั้งได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับแรงงานกว่า 1 แสนอัตราเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้มีงานทำ อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลก็กำลังเร่งช่วยเหลือโรงงานให้กลับมาเปิดกิจการโดยเร็วที่ สุด
      
นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานในพื้นที่น้ำท่วมต้องปิดกิจการชั่วคราวนั้น ทางกระทรวงแรงงานจะนำไปพิจารณาเพื่อหามาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งเป็นผู้ เดือดร้อนเฉพาะหน้าก่อน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-11-2554)

สถานทูตญี่ปุ่นในกทม.ออกวีซ่าแรงงานไทย

สำนักข่าวโยมิอูริ ของ ญี่ปุ่น รายงาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เริ่มออกวีซ่าชั่วคราว ให้แก่พนักงานชาวไทยของบริษัทญี่ปุ่น ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นแล้ว ทางการญี่ปุ่นออกมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินดังกล่าว เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งจะทำให้มีแรงงานไทยหลายพันคน เดินทางไปทำงานชั่วคราวในญี่ปุ่น เพื่อชดเชยการผลิตที่สูญเสียไป รายงานระบุว่า มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ได้รับอนุมัติเอกสารการเดินทาง

สำหรับพนักงานชาวไทย จำนวน 7 คน โรงงานของบริษัทดังกล่าว ต้องปิดตัว เพราะน้ำท่วม และมีแผนจะส่งพนักงานเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น ในปลายสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่า จะสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้โดยเร็ว จากการส่งพนักงานชาวไทย ไปทำงานในญี่ปุ่น รายงานระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นราว 460 บริษัท ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในไทย

(ไอเอ็นเอ็น, 16-11-2554)

กมธ.สวัสดิการห่วงแรงงานถูกน้ำท่วมไม่ได้เงินเดือน-ตกงาน

(17 พ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นางนันทนา ทิมสุวรรณประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังการประชุมร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมและการดำเนินงาน ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ตนและคณะกมธ.สวัสดิการสังคมฯ เป็นห่วงแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมจะมีปัญหาในเรื่องการไม่ได้รับเงินเดือน และการถูกเลิกจ้าง รวมถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้สอบถามเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงแรงงานในหลายเรื่องไม่ว่าจะ เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การรับงานไปทำที่บ้าน การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศไม่ให้ถูกหลอก
      
เท่าที่ได้ฟังการชี้แจงเรื่องมาตรการดูแลแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม ของกระทรวงแรงงานก็เห็นว่าสามารถทำได้ดี แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของแรงงานที่เดือดร้อนจากถูกน้ำท่วมอยู่กระจัดกระจายทำ ให้การประสานงานการให้ความช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ของกระทรวงแรงงานทำได้ไม่เต็มที่นางนันทนากล่าว
      
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวว่า ทางคณะ กมธ.สวัสดิการสังคม สภาฯ มีข้อห่วงใยในเรื่องการไม่ได้รับเงินเดือนและการถูกเลิกจ้าง รวมถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบซึ่งกระทรวงแรงงานได้ชี้แจง มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ เช่น มาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วยจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้างให้แก่ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งโครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 600 ล้านบาท
      
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมถูกเลิกจ้างยังมีน้อยมากซึ่ง ข้อมูลเวลานี้มี 15 บริษัทใน 3 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา เลิกจ้างประมาณ 4,500 คน ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำกิจกรรม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์และคาดว่านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จะฟื้นตัวเป็นลำดับถัดมา
      
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น โครงการจัดหาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับกว่า 1.3 แสนอัตรา แต่ขณะนี้มีแรงงานเข้าร่วมโครงการเพียง 288 คนเนื่องจากส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม, โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้าง โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วันได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาแล้ว 61 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะมีแรงงานเข้าร่วม 1.5 หมื่นคน และเตรียมจะขยายเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นคน, โครงการจ้างงานเร่งด่วน มีค่าตอบแทนวันละ 150 บาท เป็นระยะเวลา 20 วัน ตั้งเป้าหมายที่ 2.3 หมื่นคน เป็นต้น
      
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนในเดือน ต.ค. 2554 ขอให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหรือในเขต พื้นที่ เพื่อเร่งดำเนินการติดตามให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ส่วนในงวดถัดไป ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป ก็ขอให้นายจ้างแจ้งเข้าร่วมโครงการชะลอการเลิกจ้างเพื่อจะได้รับความช่วย เหลือในการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายละ 2,000บาท เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ กสร.มีแนวคิดจะจัดทำฐานข้อมูลของผู้ใช้แรงงานแบบครบวงจรเพื่อที่เมื่อเกิด ภาวะวิกฤตจะได้ติดต่อแรงงานได้โดยจะนำรูปแบบนี้ไปแนะนำให้นายจ้างทั่วประเทศ ดำเนินการเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมทีผ่านมาถือเป็นบทเรียนเพราะไม่สามารถติดต่อ ลูกจ้างที่กระจัดกระจายได้จึงทำให้ไม่ทราบสถานภาพการจ้างงานที่ชัดเจน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ‏17-11-2554)

ญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนฟื้นฟูหลังเหตุมหาอุทกภัย 4 ประเด็นหลัก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จากการพบปะกับรัฐมนตรีด้านการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้ตกลงที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ตามนิคมอุตสาหกรรม ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 4 ข้อหลัก คือ หากเครื่องมือ เครื่องจักรถูกน้ำท่วมเสียหาย ต้องติดตั้งทดแทน รัฐบาลจะงดเว้นอากรนำเข้า กรณีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจะต้องเข้ามาช่วยฟื้นฟูการผลิต รัฐบาลจะออกวีซ่าหรือ Work Permit ให้ ขณะที่อะไหล่ต่างๆ ที่ผลิตในประเทศ ถ้าได้รับผลกระทบ จะยกเว้นอากรนำเข้าให้แก่โรงงานเหล่านั้น ขณะเดียวกันจะอนุญาตให้คนไทยหลายพันคนอาจจะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในบริษัท แม่หรือในประเทศอื่นที่มีการผลิต เพื่อความต่อเนื่องของการผลิตซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทย ด้วยอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ต่างแสดงความเห็นใจ และเข้าใจในสถานการณ์ของไทย ต่อปัญหามหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ โดยไทยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ระบายน้ำออกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันคลี่คลายสถานการณ์

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 18-11-2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส่งสำนวน "ชาญณรงค์ พลศรีลา" เหยื่อปราบแดงราชปรารภให้อัยการแล้ว

Posted: 18 Nov 2011 07:16 AM PST

17 พ.ย. 54 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าที่ บช.น. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตร 16 ศพ ซึ่งเชื่อว่าเสียชีวิตเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวว่า เบื้องต้นมีสำนวนที่ใกล้เสร็จสิ้น คือ สำนวนของนาย ชาญณรงค์ พลศรีลา ซึ่งถูกยิงที่หน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ พื้นที่ สน.พญาไท ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ทางพ.ต.อ.วิชาญวัชร์ บริรักษ์กุล รอง ผบก.น.1 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดที่ 1 จะส่งมาให้ตนตรวจสอบและเสนอให้ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง รรท.ผบช.น. พิจารณา ก่อนนำส่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา  โดยเวลา 13.00 น.วันนี้จะนำไปส่ง

 
พล.ต.ต.อนุชัยกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 2 สำนวนที่ใกล้เสร็จสิ้น คือ สำนวนของนายมานะ อาจราญ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ภายในสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) พื้นที่ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และนายฮิโรยูกิ มาราโมโต้ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งเสียชีวิต หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ พื้นที่ สน.พลับพลาไชย 1 เมื่อวันที่ 10 เมษายน เช่นกัน  โดยพยายามจะทำให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งสำนวนก็พยายามเร่งอยู่แต่ก็พยายามทำให้รอบคอบที่สุด
 
"นอกจากนี้ยังมีญาติผู้เสียชีวิตอีก4ราย  จากเหตุปะทะที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสี่แยกคอกวัว มาขอให้นำสำนวนร่วมเข้ามาให้พนักงานสอบสวนของ บช.น. ทำด้วย โดยก็ให้สอบปากคำ รวบรวมพยาน หลักฐานอยู่ ซึ่งกำลังยื่นเรื่องให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พิจารณาว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ หากพบว่าน่าจะเกี่ยวข้องก็ให้ส่งมาให้พนักงานสอบสวนของ บช.น. ทำสำนวนใหม่" รอง ผบช.น.กล่าว
 
เวลา 14.00 น. ที่บช.น. พล.ต.ต.อนุชัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี 16 ศพ ว่า ได้รายงานให้รรท.ผบช.น.ทราบ และส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพนายชาญณรงค์ พลศรีลา ให้อัยการกองคดีอาญาเมื่อบ่ายโมงที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการรวบรวมพยานเอกสารและบุคคลเพิ่มเติม โดยเป็นการสอบสวนร่วมดับพนักงานอัยการตั้งแต่ต้นจนจบ หลังจากส่งมอบสำนวนให้อัยการไปแล้วก็อยู่ที่อัยการไต่สวน มีกำหนดระยะเวลาเท่ากับพนักงานสอบสวน คือ 30 วัน ขยายได้ อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 30 วัน เราได้สรุปสำนวนส่งอัยการไม่ต้องมีความเห็น เพราะกรมสอบมีความเห็นมาแต่แรกแล้วว่า น่าเชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ สัปดาห์หน้าน่าจะเสร็จอีก 1-2 คดี
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สยามสามัคคีค้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ

Posted: 18 Nov 2011 05:48 AM PST

สยามสามัคคีค้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พร้อมล่าชื่อถอดถอน ครม. "สุริยันต์ ทองหนูเอียด" ชี้ทำลายกระบวนการตรวจสอบระบอบประชาธิปไตย "แก้วสรร" ชี้คุณจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเท่าไหร่ไม่สำคัญประเทศนี้มีเจ้าของ-อย่าทำร้ายในหลวง วอนนักกฎหมายแบ่งร่าง กม.แยกฉบับเด็กเส้นกับฉบับปกติอย่าเอานักโทษ 2.6 หมื่นเป็นตัวประกัน
 
18 พ.ย. 54 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อเวลา18.00 น.อาคารลุมพินีฮอลล์ สวนลุมพินี กลุ่มสยามสามัคคี เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม การเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง  "พ.ร.ฎ. อภัยโทษ ซ้ำเติมวิกฤติประเทศอย่างไร" เริ่มต้นโดยจัดฉายวิีดีทัศน์ที่มาของการออก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ และภาพสัมภาษณ์ชาวบ้านถึงความไม่เหมาะสม  โดยบรรยากาศบริเวณรอบอาคารมีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเนื่องจากร่วมกันนำเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษโดยไม่สุจริตและจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
 
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา และ ประธานกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวเปิดงานเสวนา โดยระบุว่า  พ.ร.ฎ.นี้ถือเป็นการออกโดยไม่ชอบเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังไม่ได้กลับมารับโทษจะมาขอพระราชทานอภัยโทษได้อย่างไร นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งปราบปรามคอรัปชั่น แต่กลับไปตัดข้อยกเว้นในส่วนของนักโทษทุจริตคอรัปชั่นออกไป ที่สำคัญ​การออกพ.ร.ฎ.นี้ จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ประเทศชาติวิกฤติมามากแล้ว​หากรัฐบาลทำขึ้นมาอีกคร้ัง​อนาคตจะเป็นอย่างไร
 
นาสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ คัดค้านและประนามการออกกฎหมายซึ่งน่าจะมีสาระสำคัญในการเอื้อประโยชน์ให้กับนักโทษชายทักษิณชินวัตร อันถือเป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำลายกระบวนการตรวจสอบระบอบประชาธิปไตย
 
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการร่างกฎหมายดังกล่าวต่อประชาชนอย่างโปร่งใส  หยุดการแทรกแซงขัดขวางและทำลายกระบวนการยุติธรรมทุกกรณี ​ครป.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยึดมั่นในนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาว่าจะทำประเทศสู่ความปรองดองสมานฉันท์ด้วยการหยุดกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณโดยทันที  ซึ่งเราพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยรักความเป็นธรรมจนกว่าร่าง พ.ร.ฎ.ที่เอื้อประโยชน์กับทักษิณจะได้รับการแก้ไขจนถึงที่สุด​
 
"การออก พ.ร.ฎ.มาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คนไทยที่รักประชาธิปไตยยอมรับไม่ได้ ร.ต.อ.เฉลิม เรียนรามรุ่นหลังเรา จึงอยากสอนน้อง ไม่อยากให้มีรองนายกฯ เป็นเป็ดและเป็นลิงหลอกเจ้า" นายสุริยันต์กล่าว
 
นายแก้วสรร  อติโพธิ์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) กล่าวว่า อยากบอกตระกูลชินวัตร และสมุนว่า มาพูดใน 2 ฐานะ  ฐานะแรก เราไม่ใช่ราษฎร เราเป็นประชาชน คุณจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเท่าไหร่ไม่สำคัญประเทศนี้มีเจ้าของ และ ในฐานะพสกนิกร เราจะบอกพวกเขาว่าอย่าทำร้ายในหลวง  เพราะคำสั่งศาลเป็นอำนาจตามพระปรมาภิไธย แต่คุณยังบังอาจให้ท่านทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อทำลายกระบวนการยุตธิรรมที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่ง ทำได้อย่างไร 
 
“คุณถวายของอย่างนี้ได้อย่างไร มันผิดที่คนถวาย ต้องเข้าใจว่า ฝากบอกไปยัง พรรคชินวัตร  ว่านายกฯ ต้องเป็นคนเห็นชอบ และ เอาเข้าครม.เพื่อขออนุมัติ​ไม่ใช่หลบไปอยู่สิงห์บุรีแล้วพูดว่าสระบุรี แล้วยังทราบมาอีกว่าหนังสือที่จะกราบบังคัมทุูลจะลงชื่อโดยเป็ดเหลิมอีก ในฐานะที่เป็นนายกฯ จะไม่แสดงความรับผิดชอบเป็นไปได้หรือ”  นายแก้วสรร  กล่าว
 
นายแก้วสรร กล่าวว่า พ.ร.ฎ.ฉบับนี้เป็นร่างเด็กเส้น เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติให้กับนักโทษอายุเกิน 60  ปีโทษจำคุกไมเกิน 3 ปี ซึ่งตรงนี้ไปเช็ดดูแล้ว พวกที่มีหนีคอรัปชั่นเช็คแล้วมีคนเดียวชื่อทักษิณ จึงถือเป็นฉบับเด็กเส้น  ดังนั้นขอฝากไปถึงนักกฎหมายและที่ปรึกษาผู้มีอำนาจว่า ถ้าจะถวายขึ้นมาจริงๆ ขอให้แตกไปเป็นสองฉบับ ฉบับแรกเพื่อช่วยนักโทษ 2.6 หมื่นคน ได้พ้นโทษ กับฉบับของเด็กเส้นดูว่าจะโปรดเกล้าฯ ฉบับไหน อย่าเอานักโทษ  2.6 หมื่นคนไปเป็นตัวประกันเด็กเส้นเพียงคนเดียว ซึ่งจะเป็นความไม่สุจริตทั้งข้างบนข้างล่าง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปลุกชาวบ้านเตรียมรับภัยพิบัติ งานหนักงานใหญ่ของชาวสตูล

Posted: 18 Nov 2011 04:56 AM PST

มองผิวเผินจังหวัดสตูลไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ถ้าเจอก็น่าจะแค่เจิ่งนองเหมือนฤดูน้ำหลากมากกว่า เนื่องด้วยอยู่ในที่สูงบนเทือกเขาบรรทัด จากทิศตะวันออกค่อยๆ ลาดต่ำสู่ทิศตะวันตกไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยมีลุ่มน้ำสำคัญแค่สายสั้นๆ คือ คลองละงู คลองดุสน และคลองท่าแพ เป็นเส้นทางน้ำผ่าน
 
ทว่า ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ จังหวัดสตูลถือเป็นอีกจังหวัด พลันที่มีฝนฟ้ามรสุมปกคลุมภาคใต้เมื่อไหร่ ก็จะโดนภัยพิบัติเกือบทุกครั้ง ตัวอย่างเมื่อคราวมรสุมถล่มตอนเดือนพฤศจิกายน 2553 ไม่เว้นกระทั่งครั้งปลายเดือนมีนาคม 2554 จนล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก เมื่อเดือนกันยายน 2554 
 
จังหวัดสตูลใช่จะเสี่ยงกับภัยที่มากับน้ำเท่านั้น ด้วยเกิดเหตุแผ่นดินยุบอยู่บ่อยครั้ง ถ้าหากย้อนกลับไปยังวันที่ 27 ธันวาคม 2547 คราวเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มหมู่บ้านริมชายฝั่งจังหวัดสตูล หลังจากนั้นก็มีมูลนิธิอันดามัน และสภากาชาดอเมริกัน เข้ามาเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติให้กับหมู่บ้านริมชายฝั่งทะเงสตูล ที่ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า, ตำบลแหลมสน ตำบลปากน้ำ ตำบลละงู อำเภอละงู ตำบลตันหยงโป และตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล
 
“เมื่อกาลเวลาผ่านเลยทิ้งช่วงยาวนาน เป็นธรรมชาติของคนสตูลบ้านเรา ต่างพากันเฉยเมย เฉื่อยชา ทำให้ลืมไปว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการเตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ ด้วยเหตุนี้คนจังหวัดสตูล จึงคิดว่าน่าจะมีการหารือพูดคุยเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ผ่านชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลบ้าง ผ่านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนบ้าง ผ่านมูลนิธิเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืนจังหวัดสตูลบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าพื้นที่ที่เคยเตรียมการมาแล้ว ยังลุกขึ้นเดินต่อได้อีกหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่เคยเฉยหลับ จะขยับขึ้นนั่ง ยืน หรือเดินได้ไหม ทำอย่างไรให้ชุมชนต่างๆ ที่ไม่เคยขยับ พอน้ำท่วมเสียหายทีก็ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐที จะได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเตรียมรับมือภัยพิบัติบ้าง”
 
นายอับดุลรอศักดิ์ เหมหวัง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า เล่าถึงสภาพของชุมชนในวันนี้
 
อารีย์ ติงหวัง
 
ขณะที่นายอารีย์ ติงหวัง กรรมการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้  และผู้ใหญ่บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวถึงพื้นที่ที่เตรียมรับมือภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมที่สุดว่า น่าจะเป็นตำบลกำแพง และตำบลละงู อำเภอละงู มีการสื่อสารทางวิทยุสื่อสาร 80 เครื่อง ใช้ชื่อศูนย์ว่า “ศูนย์นาคราช” มีการสื่อสารการเตือภัยพิบัติ ระหว่างคนใน 2 ตำบลนี้ รวมทั้งพยายามติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายวิทยุสื่อสารของอำเภอควนกาหลง อำเภอควนโดน และอำเภอเมืองด้วย
 
“การเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อรับมือัยพิบัติในระดับจังหวัด ดำเนินการไปได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ให้ผมประเมินจังหวัดตัวเอง ผมว่าจังหวัดสตูลเตรียมการได้แค่ 30% เท่านั้น” นายอารีย์ ยอมรับสภาพความจริงในจังหวัดสตูล
 
ถึงกระนั้นที่บ้านหลอมปืนของผู้ใหญ่อารีย์ ติงหวัง ก็มีการรับบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อวิทยุสื่อสารเครื่องแดง ให้องค์การบริหารส่วนตำบลละงู 1 เครื่อง ให้ที่ว่าการอำเภอละงู 1 เครื่อง และประจำไว้ที่หมู่บ้าน 1 เครื่อง เพื่อใช้ประสานงานในเรื่องต่างๆ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการมีเฉพาะวิทยุสื่อสารเครื่องดำ ซี่งหมู่บ้านไม่มี
 
เหตุที่นายอารีย์ให้ความสำคัญกับวิทยุสื่อสาร เนื่องจากครั้งเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 ชาวประมงพื้นบ้านสื่อสารถึงกันผ่านวิทยุเครื่องแดง บอกคนในเครือข่ายสื่อสารไม่ให้เข้าบริเวณคลื่นยักษ์ซัดถล่ม ทำให้ชาวบ้านหลายชีวิตรอดพ้นจากเหตุการณ์เลวร้ายคราวนั้นไปได้
 
นอกจากนี้ ชาวบ้านหลอมปืนยังได้ซื้อเครื่องปั่นไฟไว้ เพื่อชาร์จแบตเตอร์รี่ของวิทยุสื่อสารและโทรศัพท์ รวมทั้งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับศูนย์ประสานงานด้วย
 
“ผมตั้งโจทย์ให้คนในหมู่บ้านจัดกระบวนการทำข้อมูลชุมชน ให้รู้สภาพว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ไหนปลอดภัยสามารถอพยพไปอยู่ได้ รวมถึงจัดทำข้อมูลคนแก่คนเฒ่า คนป่วย ลูกเล็กเด็กแดง เพื่อให้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือได้ตรงจุด ตรงเป้าหมายกับผู้ประสบความเดือดร้อนจริงๆ” นายอารีย์ เล่าถึงกระบวนการเตรียมความพร้อมของหมู่บ้าน
“ทำได้แค่นี้แหละ สตูลเป็นเมืองที่ผู้คนเอาแต่หลับ ไม่มีใครตื่นหรอก จนกว่าจะเจอกุโบร์ เจอโลงศพ” นายอารีย์ ตัดพ้อพลางหัวเราะ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิด ‘6 งานวิจัยสื่อม.อ.ปัตตานี’ โทนสันติภาพ–สันติสุขมาแรง

Posted: 18 Nov 2011 04:14 AM PST

 เปิด 6 งานวิจัยสื่อ วิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี พบเคเบิ้ลทีวีขยายตัวเพียบ ชายแดนใต้มีให้ชมถึง 80 ช่องผลิต อุปสรรคใหญ่ขาดแคลนบุคคลากรผลิตรายการท้องถิ่น พบรายการวิทยุโทนสันติภาพมาแรง รายการสุดฮิต “ใต้สันติสุข” นำลิ่ว
 
เมื่อเวลา 09.00 น.–12.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 ที่คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสารได้จัดเสวนา “ก้าวย่างสู่วาระชุมชน” (STEP into the local Community) ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในเขตภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation--STEP) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
 
ในการเสวนาครั้งนี้ มีการนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สื่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของอาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสารรวม 6 หัวข้อ ประกอบด้วย การสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและโทรทัศน์บอกรับสมาชิกใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยนายภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา, สถานภาพ บทบาทการดำเนินงาน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสื่อวิทยุเพื่อร่วมสร้างสันติภาพใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง: จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย ผศ.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว
 
สถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้ โดยนางจารียา ออรถนุชิต, ขีดความสามารถของสื่อและการนำเสนอข่าวออนไลน์ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน.ส.ฐิติมา เทพญา, การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสตรีในจังหวัดช่ายแดนภาคใต้ โดยอาจารย์สากีเราะ แยนา เบ็ญฮารูน และสื่อมวลชนกับการสร้างเสริมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้: บทบาทที่เป็นจริง บทบาทที่ควรจะเป็น และเส้นทางการสื่อสารเพื่อสันติภาพ โดยนายสมัชชา และนางบัณฑิกา นิลปัทม์
 
นายภีรกาญจน์ นำเสนอผลการวิจัยว่า ขณะนี้เคเบิลทีวีท้องถิ่นมีช่องให้ชมมากถึง 60–80 ช่องรายการ บางบริษัทมีการผลิตรายการตอบสนองความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในท้องถิ่นด้วย ขณะที่สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนอยู่ระหว่าง 200–350 บาท ต่อเดือน จากการสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและโทรทัศน์บอกรับสมาชิกใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พบว่า จุดแข็งของเคเบิลท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างคือ ผู้ประกอบการมีพื้นฐานทางธุรกิจ มีรายได้ที่แน่นอนจากค่าสมาชิก สามารถนำมาวางแผนการประกอบการทางธุรกิจได้ สามารถขยายธุรกิจประเภท (Business Lines) ที่ใกล้เคียงกันได้ ยังสามารถขยายจำนวนสมาชิกในพื้นที่ใกล้เคียงเขตเมืองได้อีก
 
นายภีรกาญจน์ นำเสนอต่อไปว่า สำหรับจุดอ่อนอยู่ที่ขาดแคลนบุคลากร ในการผลิตเนื้อหาทั้งข่าวและรายการ บุคคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ทำให้มีการลาออกบ่อยครั้ง ขาดประสบการณ์ ขาดความเป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการขาดความรู้พื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ การบริหารองค์กรขาดหลักการ แต่มีความยืดหยุ่นสูง และรายการท้องถิ่นมีน้อย ส่วนโอกาสคือ การมีสื่อมวลชนท้องถิ่นที่สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันได้ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และราคาถูกลง การมีสถาบันทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาข่าวสารมากขึ้น และหน่วยงานรัฐเริ่มให้ความสำคัญในการเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น คู่แข่งธุรกิจในลักษณะเดียวกันน้อย สามารถขยายตลาดได้อีก
 
“อุปสรรคของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นคือ การแข่งขันทางธุรกิจกับโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการถูกกว่า จ่ายเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องจ่ายรายเดือน ธุรกิจเคเบิลระดับชาติเดินเกมรุกด้านการตลาดมากขึ้น ทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม โดยผูกกับโทรศัพท์มือถือ ทั้งกฎหมายยังขาดความชัดเจนในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคสื่ออื่นมากขึ้น” นายภีรกาญจน์ กล่าว
 
นางจารียา นำเสนอผลการวิจัยว่า การวิจัยสถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้พบว่า ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ทั้งหนังตะลุง หนังตะลุงคน และดิเกร์ฮูลู ไม่สามารถหารายได้จากการประกอบอาชีพการแสดงได้เพียงอย่างเดียว ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย แต่เนื่องจากสื่อพื้นบ้านเหล่านั้นมีใจรัก ผูกพัน และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสื่อพื้นบ้าน ทำให้ศิลปินพื้นบ้านมีภาระต้องสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เพื่อให้สื่อพื้นบ้านยังคงอยู่ แม้จะอยู่ในสภาพย่ำแย่ และต้องพึ่งพิงรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นก็ตาม สื่อพื้นบ้านกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องการการหนุนช่วยทั้งด้านวัตถุ การเพิ่มช่องทาง และการเสริมความรู้ ความคิด และความเข้าใจ
 
นางจารียา นำเสนอต่อไปว่า จากรายงานการวิจัยศิลปินพื้นบ้านระบุว่า รายได้จากการแสดงมาจากหน่วยงานที่เชิญสื่อพื้นบ้านไปจัดแสดง ซึ่งมีตั้งแต่หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล สภาวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น วัด โรงเรียน กลุ่มประชาชน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านเสนอแนะว่า หน่วยงานรับผิดชอบต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสื่อพื้นบ้านอย่างแท้จริง และต้องสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปอย่างจริงจัง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นอีกช่องทาง ที่ทำให้สื่อพื้นบ้านสามารถทำหน้าที่สืบทอดคุณค่าในฐานะของครูภูมิปัญญา ดังเช่นที่คณะดิเกร์ฮูลูมะยะหา และคณะแหลมทรายได้ดำเนินการไปแล้ว
 
“จากการศึกษาสื่อพื้นบ้านภาคใต้ยัง พบว่า ผู้ที่เป็นศิลปินจะเอาใจใส่ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคม และนำเอามาสอดแทรกในเนื้อหาของสื่อ มีการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับฝีมือการแสดง กับเครือข่ายเพื่อนศิลปินด้วยกัน โดยอาจจะถือโอกาสในช่วงของการประกวดประชันกัน เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาความรู้ พบว่า ความรู้ที่ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ต้องการ จะเป็นความรู้ที่เป็นความสนใจหลักของศิลปิน เช่น การปรับปรุงศิลปะการแสดง และความรู้ทั่วไปในสังคม ที่ศิลปินต้องติดตามเพื่อคงสถานภาพความเป็นผู้นำทางความคิด หรือความเป็นปัญญาชนของชุมชนเอาไว้” นางจารียา กล่าว
 
นางสากีเราะ นำเสนอผลการวิจัยว่า จากการวิจัยเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า สื่อมวลชนมักนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในช่วงแรกที่ได้รับผลกระทบ เช่น รัฐมีนโยบายอย่างไรที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลืออย่างไร แต่ไม่มีปรากฎงานข่าวเชิงลึกและการติดตามว่า หลังจากได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบดำเนินชีวิตอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ
 
นางสากีเราะ นำเสนอต่อไปว่า นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ และถูกกระทำจากสถานการณ์ความไม่สงบมีจำนวนมาก ส่งผลให้หญิงหม้ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น การสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะและบทบาทของตนเองมาเป็นผู้นำครอบครัวแทน โดยการออกหางานทำเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวและส่งเสียดูแลลูก ประคับประคองชีวิตของสมาชิกของครอบครัวที่เหลืออยู่ให้ดำเนินต่อไป
 
“นอกจากนี้นโยบายและการแก้ปัญหาของรัฐก็ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง และเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งสื่อมวลชนควรนำเสนอ แต่ประเด็นนี้กลับไม่ปรากฎและขาดหายไปจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาของรัฐ เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย” นางสากีเราะ กล่าว
 
อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว
 
ผ.ศ.อรุณีวรรณ นำเสนอผลการวิจัยว่า จากการวิจัย พบว่า รายการที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของการผลิตสื่อสันติภาพคือ รายการใต้สันติสุขและยังมีรายการวิทยุอีกหลายรายการ ที่ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสังคม สาเหตุที่ทำให้รายการใต้สันติสุขกล่าวถึงกันมาก เพราะนอกจากเนื้อหาจะเน้นการสื่อสารเรื่องสันติภาพโดยตรงแล้ว การออกอากาศยังเป็นลักษณะของเครือข่าย โดยการสลับกันเป็นแม่ข่าย และเปิดโอกาสให้สถานีวิทยุอื่นๆ รับสัญญาณไปถ่ายทอดต่อได้ง่าย 
 
“จากการศึกษายังพบอีกว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง มีสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก และสถานีเหล่านั้น ก็มีความพร้อมในด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากดึงสถานีวิทยุเหล่านั้นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา และสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ ด้วย” ผ.ศ.อรุณีวรรณ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลานชายตานฉ่วยได้วีซ่าเที่ยวฝรั่งเศส

Posted: 18 Nov 2011 03:53 AM PST

มีรายงานว่า นาย เน ฉ่วย ทวย อ่อง วัย 21 ปี หลานชายของนายพลอาวุโสตานฉ่วย ได้เดินทางท่องเที่ยวยุโรปเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา หลังได้รับวีซ่าจากสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงย่างกุ้ง ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายพลพม่ารวมถึงครอบครัวต่างติดบัญชีดำถูกห้ามเดินทางเข้ายุโรป
 
ด้านเจ้าหน้าที่จากสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงย่างกุ้งปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า การพิจารณาให้วีซ่านั้นเป็นความลับ พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่มีใครที่ติดอยู่ในบัญชีดำได้รับวีซ่าจากทางสถานทูตฝรั่งเศส
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าประกาศถ่ายโอนอำนาจเป็นรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะพบว่านายพลอาวุโสตานฉ่วยและครอบครัวจะเก็บตัวเงียบ แต่ก็พบว่า หลานชายอย่าง เน ฉ่วย ทวย อ่อง มักตกเป็นข่าวและตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2552  นายเน ฉ่วย ทวย อ่อง วัยก็ตกเป็นข่าวว่า เคยเสนอให้นายพลอาวุโสตานฉ่วย ซึ่งเป็นปู่ซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวถูกยกเลิกไป เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลกำลังเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิสล่าช้า
 
ในเดือนธันวาคม ปี 2553 สื่อพม่านอกประเทศรายงานว่า นาย เน ฉ่วย ทวย อ่อง ได้สั่งลูกน้องตนทำร้ายร่างกายนายวิน ทวย หล่าย ซึ่งเป็นนักธุรกิจคู่แข่งและเป็นบุตรชายของพลตรีวินหล่าย หนึ่งในนายพลระดับสูงของพม่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เมื่อนาย  เน ฉ่วย ทวย อ่อง ได้สั่งลูกน้องตนไปทำลายร้านกาแฟ ซึ่งเป็นของนาย เท ซอ อู บุตรชายของนายพล ติฮา ทุระ ติ่นอ่อง มิ้นอู  ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของพม่า
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรชัยป่วย นัดพร้อมเลื่อนปีหน้า-สมยศขึ้นศาลสระแก้ว 21 พ.ย.-ลุง SMS ตัดสิน 23 พ.ย.

Posted: 18 Nov 2011 03:05 AM PST

18  พ.ย.54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นวันแรกแล้ว หลังจากประกาศปิดมาตั้งแต่ 3 พ.ย.54 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยสภาพโดยรอบเรือนจำยังคงมีน้ำท่วมขังระดับเหนือเข่า แต่มีการต่อสะพานไม้ตั้งแต่ริมถนนจนถึงตัวอาคารเพื่อเป็นทางเดิน โดยในวันนี้ยังมีประชาชนมาใช้บริการไม่มากนัก ส่วนเรือนจำคลองเปรมซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันเปิดให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องขังก่อนหน้านี้ 3 วัน โดยเรือนจำจัดเรือคอยให้บริการประชาชน

 

นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสุรชัยมีอาการท้องร่วง และความดันโลหิตสูง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลในเรือนจำ ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้วแต่ยังอยู่ที่โรงพยาบาล โดยเพิ่งมีแพทย์เข้ามาตรวจอาการวันนี้ เนื่องจากแพทย์ลาพักร้อนและโรงพยาบาลค่อนข้างขาดแคลนแพทย์  

ภรรยานายสุรชัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลได้นัดพร้อมคดีนายสุรชัย กรณีการปราศรัยที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ศาลปิดทำการ และได้มีการนัดหมายใหม่เป็นวันที่ 30 ม.ค.55 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เธอและตัวแทนกลุ่มแดงสยามได้ยื่นหนังสือแก่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมีนายสมชาย หอมลออ เป็นผู้รับจดหมาย ซึ่งได้เรียกร้องให้ คอป.ช่วยตรวจสอบว่ามี สน.ใดบ้างที่จะออกหมายจับหรือส่งฟ้องคดีของนายสุรชัย เพราะขณะนี้มีส่วนที่ส่งฟ้องแล้ว 3 คดี และได้ข่าวว่าตำรวจในพื้นที่จังหวัดราชบุรี อุดรธานี เชียงราย อาจจะดำเนินคดีกับนายสุรชัยเพิ่มอีก นอกจานี้ยังขอให้ คอป.ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้รวมคดีต่างๆ เป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นความผิดมาตราเดียวกัน และจำเลยมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถที่จะเดินทางไปสืบพยานยังจังหวัดต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนานได้

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย (แฟ้มภาพ)

“แกมีโรคประจำตัวหลายโรค หัวใจ เบาหวาน ความดันสูง แล้วก็มีปัญหากับกระเพาะปัสสาวะที่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ถ้าต้องนั่งรถเดินทางไปเชียงใหม่ก็คงไม่ไหว แกเลยอยากให้รวมคดีแล้วจะแถลงต่อศาลยอมรับสารภาพ เพราะแกนั่งรถไม่ไหว นอนคุกยังดีกว่าต้องนั่งรถตะเวนไปขึ้นศาล” ปราณีกล่าว

ด้านนายสมชาย หอมลออ จาก คอป.กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้กับนายคณิต ณ นคร ประธาน คอป.แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ คอป.ก็เคยเสนอรัฐบาลไปแล้วเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษ โดยเฉพาะคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ควรได้รับการประกันตัว หลังจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของ คอป. แต่เพิ่งตั้งและเจอสถานการณ์น้ำท่วมจึงยังไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ทางผู้ต้องหาสามารถเขียนคำร้องของประกันตัวต่อศาลได้ โดยจะอ้างถึงข้อเสนอ คอป.ก็ได้ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรเป็นดุลยพินิจของศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว จะมีการพิจารณาคดีของนายสมยศ โดยเป็นการสืบพยานโจทก์นัดแรก ก่อนจะถูกนำตัวไปสืบพยานโจทก์ต่อที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 19 ธ.ค. จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 16 ม.ค.55 และจังหวัดสงขลา วันที่ 13 ก.พ.55

ขณะที่คดีของนายโจ กอร์ดอน ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสัญชาติไทย-อเมริกัน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือ The King Never Smiles และรับสารภาพไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค.54 ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะพฤติกรรมก่อนนัดพิพากษาในวันที่ 9 พ.ย.54 อย่างไรก็ตาม กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม นายอานนท์ นำภา ทนายจำเลยระบุว่า ในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.นี้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลอ่านคำพิพากษา ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าศาลจะพิพากษาคดีในวันนั้นหรือไม่

ส่วนคดีของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ วัย 61 ปีที่ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS เข้าข่ายหมิ่นให้เลขานุการอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนพ.ค.53 นั้นศาลนัดพิพากษาคดีในวันพุธที่ 23 พ.ย.นี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พล.อ.สนธิ นั่งประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางปรองดอง

Posted: 18 Nov 2011 02:03 AM PST

วอยซ์ทีวีรายงาน วันนี้ (18 พ.ย. 54) มีการประชุมนัดแรกซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิเป็นประธาน

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาตินัดแรกที่รัฐสภา มีการเลือกประธานกรรมาธิการ รองประธาน เลขานุการและโฆษกประจำกรรมาธิการ

โดยที่ประชุมมีมติให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน / นายวัฒนา เมืองสุข /นายสามารถ แก้วมีชัย / นายเจะอามิง โตะตาหยง / และพล.ต.อ.วิรุฬ พื้นแสน เป็นรองประธานคนที่ 1-4 ตามลำดับ

พล.อ.สนธิ กล่าวในฐานะประธานกรรมาธิการปรองดองว่า ที่ผ่านมา ความพยายามในการสร้างความปรองดอง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น สภาจึงเป็นทางออกที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ทราบดีว่า กรรมาธิการแต่ละคนมีความเชื่อต่างกัน แต่ขอให้ทุกคนให้อภัยกัน และนำผลการศึกษาชุดต่างๆมาต่อยอด เพื่อให้การปรองดองเดินหน้าได้เร็วขึ้น

จากนั้น กรรมาธิการจึงมีการหารือถึงแนวทางการทำงาน โดยนายวัฒนา เมืองสุข รองประธานกรรมาธิการ เสนอว่าควรให้หน่วยงานที่เป็นกลาง ทั้งคณะกรรมการอิสะตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ของนายคณิต ณ นคร และสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยมีกรรมาธิการเป็นผู้ติดตาม ตรวจสอบ และรวบรวมผลการศึกษาเพื่อนำมาผลักดันเป็นกฎหมาย

แนวทางของนายวัฒนา ได้รับการสนับสนุนจากกรรมาธิการหลายคน รวมถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยด้วย แต่มองว่า ขณะนี้ ทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับความขัดแย้งในการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนลืมไปว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 จึงเสนอให้นำความขัดแย้งตั้งแต่อดีตมาพิจารณาด้วย เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายปี

สำหรับการทำงานของคณะกรรมาธิการปรองดองชุดนี้ มีกำหนดระยะเวลาศึกษาไว้ 30 วัน ซึ่งจะมีการประชุมทุกวันอังคาร เวลา 9.00 น.ห้อง 3701 อาคารรัฐสภา 3

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุกก.สิทธิด้านสิทธิชุมชนฯ เสนอตั้งกองทุนเฉพาะกิจเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วม

Posted: 18 Nov 2011 01:58 AM PST

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กก.สิทธิ ย้ำกู้โรงงาน ต้องคำนึงถึงประโยชน์ธุรกิจ-ชุมชน-แรงงาน เผยแพร่ข้อมูลแก่ชุมชน เสนอรัฐบาลตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เล็งจัดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ


คันดินรอบนิคมอุสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (12 พ.ย.54)
แฟ้มภาพ: ประชาไท

 

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่ข้อสรุปจากการประชุมเรื่อง การกู้นิคมอุตสากรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี วานนี้ (17 พ.ย.54) ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การกู้โรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงประโยชน์ทั้งของภาคธุรกิจ ชุมชนรอบโรงงาน และแรงงาน และต้องเผยแพร่ข้อมูลกระบวนการกู้นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือต่อกัน มิเช่นนั้นอาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น กรณีรื้อบิ๊กแบ๊กที่ดอนเมือง หรือทำลายคันกั้นน้ำ ที่คลองสามวา นอกจากนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมด้วย

หลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯ จะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกู้นิคมให้ปลอดภัย จัดการประชุมวิชาการ และติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ รวมถึงจะดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายการจัดการน้ำ และพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ปิดกั้นทางน้ำจนเกิดวิกฤติน้ำท่วม เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

00000


ข้อสรุปการประชุม

เรื่อง การกู้นิคมอุตสากรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี
โดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมศูนย์สันติวิธีและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางวิสา เบ็ญจะมโน และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่ สืบเนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ในการกู้นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้แทน ศปภ. ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทมุธานี ร่วมกับ นางสุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพิษวิทยา นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย มีข้อสรุปจากที่ประชุม ดังนี้

1. หลักการทำงานในการกู้โรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคง ทั้งของภาคธุรกิจการลงทุน สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงาน ตลอดจนภาคแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย

2. การตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ท่วมขังในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรม ยืนยันว่า มีการตรวจสอบทั้งก่อนและระหว่างการสูบน้ำออกจากนิคม ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานยินดีจะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติ เพื่อการติดตามตรวจสอบต่อไป

3. การตั้งคณะทำงานดำเนินการกู้นิคม ต้องประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ ภาคแรงงาน และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกู้นิคม

4. กระบวนการกู้นิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยหน่วยงานของรัฐต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในการกู้นิคม เพราะการไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ไม่มั่นใจในสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนในชุมชน และแรงงานในนิคมจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง ดังเช่นกรณี การเคลื่อนย้ายถุงทรายขนาดใหญ่ที่บริเวณดอนเมือง หรือทำลายคันกั้นน้ำ ที่คลองสามวา เป็นต้น

5. รัฐบาลควรมีแผนงานสร้างระบบการฟื้นฟูเยียวยาและชดเชยความเสียหายโดยจัดตั้งเป็นกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้
ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อคือ

ก. กำหนดแผนงานกิจกรรมการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกู้นิคมให้ปลอดภัย จัดการประชุมวิชาการและสื่อสารสาธารณะให้สังคมได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น และการติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ ทั้งนี้ในทั้ง 3 แผนงานจะเป็นการทำงานร่วมกับ มูลนิธิเอเชีย นักวิชาการสมาคมพิษวิทยา กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ข. ทางอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรรับเป็นคนกลางในการประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 7 แห่ง เพื่อรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ ตัวแทนแรงงาน และชุมชน เข้าไปร่วมในคณะทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการกู้นิคมอุตสาหกรรมด้วย

ค. คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ต้องดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายการจัดการน้ำ และพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ปิดกั้นทางน้ำจนเกิดวิกฤติน้ำท่วม เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
18 พฤศจิกายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์: ว่าด้วยล่าม (On interpretation)

Posted: 18 Nov 2011 01:57 AM PST


แถลงข่าวร่วมไทย-สหรัฐ - งานแถลงข่าวในวาระเยือนไทยของ รมว.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ
ฮิลลารี คลินตัน เมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งลักษณ์ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ว่า
สำเนียงและการสื่อสารภาษาอังกฤษของเธอไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควรจะเป็น

ภาพจากเพจ US Embassy Bangkok

ด้านหนึ่งผมเห็นด้วยว่าไม่ควรโจมตีใคร รวมทั้งผู้นำประเทศ เพียงเพราะ “สำเนียง” การพูดอีกภาษาหนึ่ง และผมเลือกคนเป็นนายกฯ โดยไม่ได้สนใจหรอกว่าเขามีภาษาอังกฤษเลิศเลอแค่ไหน แต่อีกด้านหนึ่งผมเห็นว่า ในฐานะผู้นำประเทศ คุณยิ่งลักษณ์ควรตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อความในภาษาอื่นอย่างถูกต้องด้วย โดยเฉพาะในประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องการเมือง ความจริงท่านอาจจะตระหนักเรื่องนี้ดีอยู่แล้วก็ได้

เท่าที่ผมติดตามคุณยิ่งลักษณ์ (ด้วยความสนใจส่วนตัวในฐานะคนแปลหนังสือและล่าม) ผมว่าท่านนายกฯ เข้าใจ (follow) ภาษาอังกฤษได้ดี เพียงแต่การแสดงออก (express) มันยังไม่เต็มที่ ก็เหมือนคนไทยทั่วไปที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับกลาง ๆ จะเข้าใจแต่สื่อออกไปไม่ชัดเจน (บางทีคิดว่าสิ่งที่พูดออกไปชัดเจน แต่ความจริงไม่ชัดเจน) โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องซึ่งสลับซับซ้อนกว่าบทสนทนาประจำวัน (colloquialism) บางครั้งทราบถึงคำที่จะใช้สื่อออกไป แต่ก็จนใจด้วยการออกเสียงคำต่าง ๆ ไม่คุ้นเคย การ stress คำผิดก็ทำให้ผู้รับสารเข้าใจความไม่ได้ทั้งหมดอยู่ดี การใช้ล่ามจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างท่านทะไลลามะ ประมุขทางจิตวิญญาณของทิเบต จะเห็นว่าท่านลี้ภัยไปตะวันตกเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษของท่านคงไม่เป็นที่น่าสงสัย แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษจริงจัง อย่างเช่นที่ท่านสนทนาแลกเปลี่ยนกับนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องสมองและจิต ท่านต้องใช้ล่ามครับ หรือบางครั้งท่านเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ ก็ต้องเหลือบกลับไปมองล่ามและปรึกษาการใช้คำบางคำ เช่นเดียวกับติชนัทฮันห์ พระภิกษุเวียดนามที่ดังพอ ๆ กัน และใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอกันก็ต้องพึ่งล่ามเหมือนกัน กรณีที่เป็นทางการ

การใช้ล่ามแปลภาษาไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ไม่ว่ากับผู้นำหรือคนทั่วไป บางครั้งเป็นเรื่องชาตินิยมด้วยซ้ำ เวลาเป็นล่าม ผมสังเกตว่าคนเกาหลี จีน และญี่ปุ่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเหมือนเรา มักชอบพูดผ่านล่าม โดยเฉพาะเกาหลีอันดับหนึ่งเลย บางท่านเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ (และผมทราบว่าพูดภาษาอังกฤษได้ดีเลย) ก็ยังเลือกใช้ล่ามสำหรับการประชุมอย่างเป็นทางการ การใช้ล่ามมันเป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของประเทศเขาครับ เขากำลังบอกว่าภาษาอังกฤษไม่ได้วิเศษวิโสอะไรนักหนา และถอยไปห่าง ๆ เลย พวกอดีตเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย

มนุษย์เราเกิดมาย่อมเชี่ยวชาญในภาษาแม่ (ฝรั่งเรียกว่า mother tongue) นั่นแล โอกาสที่จะเป็น bilingual หรือ trilingual มันมี แต่มีไม่มากหรอกครับจากประสบการณ์ของผม โดยเฉพาะที่เป็น bilingual หรือ trilingual แท้ ๆ ไม่ใช่แบบพิกลพิการ  

จงภูมิใจในภาษาที่ท่านพูดได้ครับ และพูดและเขียนให้ดีสุดในภาษาของท่าน แต่ในขณะเดียวกันก็ขอให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ภาษาอื่นด้วย การพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงแปร่ง ๆ ตะกุกตะกักไม่ใช่เรื่องน่าอายฉันใด การใช้ล่ามในกรณีที่จำเป็นก็ไม่ใช่การเสียหน้าฉันนั้น  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TDRI: กำหนดอนาคตประเทศจากผังเมืองภาคสู่ผังเมืองไทย

Posted: 18 Nov 2011 12:44 AM PST

ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอเผยผลศึกษา ตัวอย่างผังเมืองภาคสู่ผังเมืองไทย เช่น ผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภูมิภาคและจังหวัดชายแดน ต้องเน้นเศรษฐกิจสีเขียว ลงทุน ถูกพื้นที่ และคุ้มค่า ชูศักยภาพพื้นที่เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและบริการ ควรต้องโซนนิ่งพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ไม่กระจัดกระจาย แสดงพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการวางแผนเพื่ออนาคต

เนื่องจากการวางผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทาง คาดการณ์อนาคตการเติบโตของประเทศทั้งในระดับประเทศ ภาค อนุภาค และจังหวัด แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะก้าวไปในทิศทางใด และเป็นจริงได้สักกี่มากน้อย “ผังเมือง” จึงเป็นคำถามเพื่ออนาคตจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่มีส่วนเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำผังประเทศ ผังภาคและผังอนุภูมิภาคในบางพื้นที่ของประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยทีดีอาร์ไอได้มีส่วนทำการศึกษาผัง กรุงเทพมหานคร ภาคอีสาน ผังกลุ่มจังหวัดชายแดน (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และสระแก้ว) และกลุ่มจังหวัดร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์) พบข้อน่าห่วงใยหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งจะมีการแข่งขันกันใช้ที่ดินค่อนข้างสูงและมีผลกระทบต่อกันและกัน การใช้พื้นที่ระหว่างอุตสาหกรรมกับการเกษตร จึงควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์อุตสาหกรรมมิให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางลบกับพื้นที่เพาะปลูกสำหรับพืชเกษตร 3 ส่วนหลักคือ พืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน เช่น การปลดปล่อยน้ำเสีย การกีดขวางเส้นทางน้ำหลาก น้ำไหล เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการพัฒนาและแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองชายแดนฯ และโครงการวางผังข้อมูลของกลุ่มจังหวัด “ร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์” เป็นกรณีตัวอย่างของการศึกษาเพื่อการวางผังกลุ่มจังหวัดและเมืองชายแดนสำหรับอนาคตประเทศว่าควรดำเนินการในทิศทางใดจึงสอดคล้องกับศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ มีการจัดทำแผนทั้งระยะสั้น (5 ปี) และแผนระยะกลาง (10-15 ปี ) ที่ลงลึกถึงข้อมูลที่จำเป็น จัดทำฐานข้อมูลและกำหนดทิศทางการพัฒนาในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่

ในส่วนของทีดีอาร์ไอดำเนินการในด้านเศรษฐกิจ ประเมินและมองทิศทางในอนาคต พบว่าต้องเป็นเศรษฐกิจแบบสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (clean and green) คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์และปลอดภัย มีการจัดโซนนิ่งจัดพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมไม่ให้กระจัดกระจายโดยทำในลักษณะนิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีการจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตรที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติที่ใครมีที่ดินแล้วอยากทำอะไรก็ได้จนกระทบต่อโครงสร้างในการใช้ที่ดินซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเกษตรและเกษตรกรในภาพรวมในระยะยาว

ผลการศึกษาทั้งสองกลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานศักยภาพของพื้นที่ โดยเน้นการประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ในช่วงเวลาต่างๆ ทำให้ได้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ที่ยังเน้นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และยางพารา แต่ควรปลูกในพื้นที่เหมาะสมไม่ใช่ใครอยากปลูกที่ไหน จังหวัดใดก็ได้ เช่น การนำยางพารามาปลูกในภาคอีสานและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนตอนนี้ภาคอีสานมีพื้นที่ยางพารามากกว่า 1.5 ล้านไร่ การแข่งขันในเรื่องการผลิตพืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงาน ต้องมีการจัดการให้สมดุล เพราะการมีพืชชนิดใด ชนิดหนึ่งมากๆ ย่อมมีผลกระทบต่อใช้ประโยชน์จากพืชอื่น จึงต้องมีการวางแผนการจัดแบ่งพื้นที่การปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานให้สมดุลสอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การศึกษามีการกำหนดยุทธศาสตร์ตามศักยภาพความโดดเด่นของพื้นที่ในด้านต่างๆ เช่น เน้นการเป็นประตูการค้า อุตสาหกรรมที่สนับสนุนสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงอินโดจีน และจีนตอนใต้ เน้นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาคเกษตรยังเป็นส่วนสำคัญใหญ่สุดเนื่องจากเป็นทั้งวิถีชีวิตและแหล่งดำรงชีพของประชาชนส่วนใหญ่จึงควรสนับสนุนส่งเสริมไว้ พร้อมกับแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับเกษตร และปัญหาสภาพดินเสื่อมคุณภาพและดินเค็ม เป็นต้น

ดร.ยงยุทธ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามานานมากแล้ว แต่การก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ใช้จุดแข็งสิ่งที่เรามี คือ ฐานการผลิตด้านเกษตรเป็นตัวนำ เราเสนอว่าในแง่ผังเมืองควรมีการจัดโซนสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสมกับการปลูกอะไร ซึ่งการกำหนดสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน หากทำตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นผลดีต่อผู้อยู่อาศัยและประเทศชาติ

การวางผังภูมิภาคเป็นการคาดการณ์อนาคตการเติบโตของประเทศทั้งในระดับประเทศ ภาค อนุภาค และจังหวัดที่สอดรับกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่สาธารณชนควรรับรู้ และมีส่วนร่วม ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำเรื่องการกำหนดผังประเทศ ผังภาค และอนุภูมิภาคคือ สภาพัฒน์ฯและกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนใหญ่สภาพัฒน์ฯจะเน้นในภาพรวมระดับประเทศ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีการทำผังในทุกระดับตั้งแต่ผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภูมิภาค และผังกลุ่มจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการความก้าวหน้ามากที่สุด โดยเป็นการมองไปในอนาคตข้างหน้าถึง 50 ปีซึ่งหน่วยงานทั้งสองของรัฐบาลนี้ควรจะต้องร่วมมือกันนำผลจากการศึกษามาใช้กำหนดทิศทางของประเทศในระยะยาว และสิ่งสำคัญควรผลักดันให้การใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นไปตามผังเมืองที่กำหนดได้จริง.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ เตรียมชุมนุมต้านกฎหมายอภัยโทษจันทร์นี้

Posted: 17 Nov 2011 11:29 PM PST

พันธมิตรฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงกฤษฎีกาและจัดชุมนุมคัดค้านการอภัยโทษให้ทักษิณวันจันทร์นี้ ขณะที่หมอตุลย์เตรียมนำเสื้อหลากสีประท้วงเย็นนี้ที่สวนลุมพินี

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (18 พ.ย.) ว่านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเปิดเผยผ่านหน้าเฟซบุ๊กว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีการยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา และจัดชุมนุมเพื่อคัดค้าน “ร่างกฎหมายเพื่อทักษิณ หยุดทำลายหลักนิติรัฐ” ในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 หน้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. และวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11.00 น.จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการพร้อมชี้แจงรายละเอียดที่บ้านพระอาทิตย์

แบบฟอร์มลงชื่อคัดค้านการขออภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มเครือข่่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (ที่มา: facebook.com)

ในเว็บไซต์สุทธิชัย หยุ่น รายงานด้วยว่าในวันนี้ (18 พ.ย.) ในเวลา 16.00 น. เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินนำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เตรียมชุมนุมประท้วงที่ลานพระรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินีเพื่อคัดค้านการขอรับพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้จะมีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนได้ลงชื่อคัดค้านการขอรับพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย โดยจะมีการวบรวมรายชื่อทั้งหมด และนำไปยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในวันอังคารที่ 22 พ.ย. ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 9.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล

Posted: 17 Nov 2011 10:56 PM PST

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงความผิดพลาดของการจัดการน้ำในเขื่อน แต่วิธีวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์แบบหลักลอย ปราศจากบริบท ไม่มีการเปรียบเทียบปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละเดือน ไม่มีการกล่าวถึงว่าในอดีตเขื่อนมีวัฏจักรการปล่อยและกักเก็บน้ำอย่างไร 

เป้าหมายของบทความนี้คือเพื่อแสดงให้เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำใน เขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าความผิดปกตินี้เกิดในช่วงเวลาใด อนึ่ง ผู้เขียนจงใจใช้คำว่าความผิดปกติ ไม่ใช่ความผิดพลาด เพราะสาเหตุของความผิดปกติอาจเป็นได้ตั้งแต่สาเหตุธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดพลาดโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

 

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับแผนภูมิด้านบนดี โดยเฉพาะเส้นสีแดง ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 (จาก http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/egat_graph1.php เพื่อความสะดวกในการจัดการ ผู้เขียนดึงมาเฉพาะข้อมูลรายเดือน) ส่วนเส้นประสีน้ำเงินคือปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ยของรอบสิบปี (ตั้งแต่ 2545 จนถึง 2554)

เส้นประสีน้ำเงินแสดงให้เห็นธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในเขื่อน เราสามารถแบ่งธรรมชาติของการจัดการน้ำในเขื่อนได้เป็นสามช่วง 1) ฤดูหนาวและฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน น้ำที่เหลือตกค้างจากฤดูฝนปีก่อน ลดลงไปจนถึงสิ้นสุดฤดูร้อน 2) ช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม แม้จะเริ่มมีฝนตกเหนือเขื่อน และมีน้ำไหลเข้า แต่ปริมาณน้ำยังจัดว่าน้อย เขื่อนในช่วงนี้จะพยายามรักษาระดับน้ำให้คงตัว ไม่เพิ่มหรือไม่ลดจากเดิม เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับฤดูฝนตอนปลาย 3) ฤดูฝนตอนปลาย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน ฝนตกในปริมาณมาก ช่วงเวลานี้คือช่วงของการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อให้เหลือใช้ ผ่านฤดูหนาวและฤดูแล้งของปีถัดไปได้

จุดน่าสังเกตเกี่ยวกับเส้นสีแดงทึบ หรือปริมาณน้ำในปี 2554 คือ 


- ปี 2554 เริ่มต้นจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่น้อยเป็นประวัติการณ์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 2000 ล้านลบมม (และน้อยเกือบที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มากกว่าเพียงแค่ปี 2549 เท่านั้น) สาเหตุน่าจะเป็นเพราะความแห้งแล้งต่อเนื่องจากปี 2553 ในบริเวณพื้นภาคกลาง 


- แต่ภายหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มอยู่ในระดับเท่าค่าเฉลี่ยสิบปี (เส้นสีแดงตัดกับเส้นประสีน้ำเงิน) จากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินขีดจำกัดที่เขื่อนจะรับได้ (ประมาณ 13000 ล้านลบมม) และเป็นสาเหตุหนึ่งของอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่เราต้องเผชิญในปีนี้

 

กราฟที่ 2 คือความเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำในเขื่อน เฉพาะตั้งแต่เดือนเมษายน (ต้นฤดูฝน) จนถึงเดือนตุลาคม คำนวณจากนำปริมาณน้ำวันที่ 1 ของแต่ละเดือนลบปริมาณน้ำเดือนก่อน เช่น ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ลบด้วยปริมาณน้ำ วันที่ 1 มกราคม เช่นเดิม กราฟแท่งสีแดงคือความเปลี่ยนแปลงในปี 2554 และสีน้ำเงินคือค่าเฉลี่ยสิบปี ตัวเลขที่เป็นลบ หมายความว่าเฉพาะในเดือนนั้น ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง

สำหรับคนที่ไม่ถนัดดูกราฟ สามารถดูตัวเลขในตารางข้างล่างได้ (หน่วย ล้านลบมม) ตัวเลขสีม่วงจงใจแสดงให้เห็นเดือนที่ระดับน้ำลดลง

จะเห็นได้ว่า ยกเว้นเดือนกันยายน กราฟแท่งสีแดงสูงกว่าสีน้ำเงินหมด (และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงสุดทุกเดือนในรอบสิบปีที่ผ่านมา) กราฟแท่งและตารางด้านบนแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ภูมิพล ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม

 

กราฟที่ 3 คือปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงในปี 2554 ลบกับค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน อะไรคือต้นเหตุที่มาของความผิดปกตินี้กันแน่ สมมติฐานหนึ่งคือสาเหตุทางธรรมชาติ ถ้าเราเอากราฟแสดงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมาเปรียบเทียบดู จะพบว่าปริมาณน้ำไหลเข้า (อันเป็นปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน หรือธรรมชาติล้วนๆ ) ในปี 2554 สูงกว่าแทบทุกปี ตรงตามรายงานของกรมอุตุฯ ว่าปริมาณฝนในปี 2554 สูงกว่าปรกติ

นอกจากนี้ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว (ในกราฟที่ 1) ต้นปี 2554 ปริมาณน้ำหลงเหลือในเขื่อนน้อยเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับช่วงต้นปี มีสัญญาณทางอุตุนิยมวิทยาหลายข้อที่บ่งชี้ว่าปีนี้ฝนจะแล้ง การจงใจกักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นปี จึงอาจมาจากสาเหตุนี้ได้ แต่ปริมาณน้ำดังกล่าวปรับอยู่ในระดับเท่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ดัง นั้นนี่จึงไม่น่าใช่คำอธิบาย เหตุใดการเพิ่มขึ้นของน้ำในเขื่อนถึงยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มิถุนายน กรกฎาคม จนถึงเดือนสิงหาค

ประเด็นหลักๆ ที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในบทความนี้คือ

1. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน แม้จะมีบทบาททำให้เกิดวิกฤติอุทกภัยปลายปี แต่เป็นความผิดพลาดที่เข้าใจได้ ภายใต้กรอบคำอธิบายว่า ต้นปี 2554 มีสัญญาณฝนแล้งจริง และปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เหลือจากปี 2553 น้อยเป็นประวัติการณ์


2. เราไม่สามารถยกปริมาณน้ำในเขื่อนมาเปรียบเทียบอย่างไร้บริบท โดยไม่ดูว่าค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

 

จากตารางที่ 2 ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 และกรกฎาคมรวมกันประมาณ 1610 ล้านลบมม อาจจะน้อยกว่าปริมาณน้ำในเดือนสิงหาคม (1940 ล้านลบมม) แต่ต้องไม่ลืมว่า ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ -55 ล้านลบมม) ถ้าเทียบความผิดปกติจากค่าเฉลี่ย ความผิดปกติในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมรวมกันเท่ากับ 1610 ล้านลบมม มากกว่าค่าความผิดปกติในเดือนสิงหาคม (1150 ล้านลบมม)



ลองวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปว่าการที่ปริมาณการกักเก็บน้ำในเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม มากกว่าค่าเฉลี่ย สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุธรรมชาติหรือไม่

 

ตารางสุดท้ายนี้เปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ระหว่างค่าเฉลี่ยสิบปี และในปี 2554 จะเห็นว่าตลอดทั้งสามเดือน ปริมาณน้ำไหลเข้าตามธรรมชาติมากกว่าค่าเฉลี่ยสองถึงสามเท่า ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าค่าเฉลี่ยรวมกัน 1040 ล้านลบมม ขณะที่ปริมาณการกักเก็บน้ำมากกว่าค่าปรกติอยู่ 1610 ล้านลบมม ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำไหลเข้าที่มากกว่าปรกติในเดือนสิงหาคมเท่ากับ 1650 ล้านลบมม ส่วนปริมาณการกักเก็บที่มากกว่าปรกติคือ 1150



ตัวเลขข้างบนนี้มาจากความแปรปรวนตามธรรมชาติ หรือความจงใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเอาศักยภาพการระบายน้ำในเขื่อนมาขบคิดวิเคราะห์ ซึ่งตัวเลขนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น ถ้าฝนตกปลายเดือน ย่อมมีโอกาสน้อยกว่าที่จะระบายน้ำออกจากเขื่อน (ในบทความ http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_06112011_01 มีการกล่าวถึงอัตราการระบายน้ำในเขื่อนอย่างคร่าวๆ ) การวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตของบนความนี้ จึงขอทิ้งตารางที่ 2 และ 3 ไว้ในดุลพินิจของผู้อ่าน


3. ***แต่*** ผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าความผิดปกติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอุทกภัย เรากำลังพูดถึงความผิดปกติระดับ 3000 ล้านลบมม เทียบกับปริมาณน้ำเหนือทั้งหมด 13000 ล้านลบมม ที่ทยอยท่วมทับกรุงเทพ และหลายจังหวัดในภาคกลาง นักการเมืองบางคนออกมาพูดว่า หากเขื่อนพร่องน้ำได้สักครึ่งหนึ่ง เราจะไม่ต้องประสบปัญหานี้ แต่คำพูดนั้นเป็นเพียงการกล่าวหาอย่างละเมอเพ้อพก ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ความรับผิดชอบของเขื่อนคือการปรับระดับน้ำให้พอดีค่าเฉลี่ย ไม่ใช่เตรียมพร้อมรับอนาคตที่เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

บทสรุป

ปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลในปี 2554 มากผิดปกติเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จริง และเป็นความผิดปกติที่เกิดตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม การกักเก็บน้ำที่มากขึ้นนี้อาจเกิดจากมาตรการจัดการน้ำแล้งช่วงต้นปี 2554 กระนั้นก็ตาม ปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นจนถึงค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน แต่ภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่มีการปล่อยน้ำอย่างเพียงพอ การพิจารณาความผิดปรกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ต้องกระทำไปพร้อมกับการพิจารณาบริบทอื่นๆ ได้แก่ การจัดการน้ำในอดีต และสภาพความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศในปี 2554 ข้อสังเกตสุดท้ายคือปริมาณน้ำที่เขื่อนสามารถชะลอได้นั้นอยู่ในหลัก 3000 ล้านลบมม ซึ่งเทียบแล้วเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่วมทั้งหมด

 

หมายเหตุจากทีมแอดมิน :*

บทความข้างต้นนี้เป็นรายงานฉบับพิเศษที่เขียนขึ้นโดยหนึ่งในสมาชิกทีมแอดมิน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลพร้อมเขียนบทวิเคราะห์ไว้น่าสนใจ

บทความนี้มีเป้าหมายพื่อแสดงให้เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ภูมิพลประจำปี 2554 โดยอ้างอิงจาก “ตัวเลขค่าเฉลี่ย” ตลอดสิบปีที่ผ่านมา (เวลาเราจะบอกว่าสิ่งใดผิดปกติ เราต้องรู้ก่อนว่าระดับ “ปกติ” อยู่ตรงไหน) เพื่อชี้ให้เห็นในเชิงตัวเลขว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น “มาก” หรือ “น้อย” แค่ไหน และเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลา “ยาวนาน” เท่าใด แต่ไม่ได้มีเป้าหมายในการสรุปว่า “อะไร” คือสาเหตุของความผิดปกติ (ธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ)

สำหรับท่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถเข้าไปได้ที่ Facebook Page : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือส่งอีเมล์มาได้ที่ admin (at) whereisthailand (dot) info

 

* หมายถึง ทีมแอดมินของ Where is Thailand dot info?

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

Posted: 17 Nov 2011 08:08 PM PST

สิ่งที่ ผมพบ ด้วยตนเอง ในเส้นทางแสวงหา ความรู้ คือ ความเป็น อีลีต/elitist กทม. ของตนเอง กว่าจะสลัดได้ ก็ยากแสนยาก

ดังนั้น ก็เคย หัวร่อ เรื่อง Queen Elizabeth Taylor กับคุณบรรหาร นรม. มาแล้ว แต่เมื่อนึกว่า หากตน ยังอยู่บ้านโป่ง (ลาดลี/โพลาม) ไม่ได้กลายเป็น อีลีต กทม. ไม่ได้ไป "ชุบตัว" เป็น "นักเรียนสวน" เป็น "นักเรียนนอก" ผมจะ "หัวร่อ ออก" ไหม (แย่จัง) ครับ

จากเฟซบุ๊ก Charnvit Ks

กรมโรงงาน-กรมควบคุมมลพิษ แจง กก.สิทธิ วิธีกู้นิคมฯ ยันไม่พบสารอันตรายในน้ำ

Posted: 17 Nov 2011 02:10 PM PST

ผู้ว่าฯ-กรมโรงงาน-กรมควบคุมมลพิษ ประสานเสียงยังไม่พบสารพิษปนเปื้อน แจงปัญหาหลักน้ำท่วมขัง-เน่าเสีย ผู้ใช้แรงงานขอมีส่วนเป็นกรรมการตรวจสอบ ปลอดประสพชี้ยังมีโรงงานเถื่อนมหาศาล น่าห่วงกว่าหากน้ำท่วม


เดินเครื่องสูบน้ำกู้นิคมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (12 พ.ย.54)
แฟ้มภาพ: ประชาไท

 

(17 พ.ย.54) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการประชุมเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมศูนย์สันติและความขัดแย้ง อาคารวิทยนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า การจัดประชุมครั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร้องเรียนมายังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการกู้นิคมฯ และจากการร่วมประชุมกับนักวิชาการและมูลนิธิเอเชียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ายังขาดข้อมูลการดำเนินงานจากทางด้านหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจทำให้ชุมชนโดยรอบเกิดความไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัย คณะกรรมการสิทธิฯ จึงต้องทำให้เปิดเผยเพื่อให้มั่นใจว่าการกระทำของรัฐจะไม่ละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีรื้อบิ๊กแบ๊กของชุมชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ หากสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ อาจนำมาซึ่งความร่วมมือในการกู้นิคมฯ ของชุมชนโดยรอบด้วย 

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากประเด็นการกู้นิคมฯ แล้ว หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะพูดคุยกับนักวิชาการเรื่องการวางผังเมือง การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป 

ชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมทราบเรื่องอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นก็ได้มีมาตรการป้องกัน โดยประสานไปยังการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตือนและแนะนำโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งเจ็ดแห่ง รวมถึงโรงงานในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ให้ขนย้ายเครื่องจักร วัตถุดิบ สารเคมี ขึ้นที่สูง รวมถึงขนย้ายกากของเสียออกนอกโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมืออย่างดี มีเพียงที่นิคมฯ สหรัตนนครที่เกิดน้ำท่วมกระหันทัน

ชุมพล กล่าวต่อว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกันได้ว่าข้อสรุปว่า เพื่อสร้างความโปร่งใสว่าการกู้นิคมฯ จะไม่ส่งผลกระทบกับภาคประชาชน จึงได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการควบคุมคุณภาพน้ำที่ระบายออกจากพื้นที่ท่วมขังในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ฝ่ายปฏิบัติการได้ดำเนินเก็บตัวอย่างน้ำแล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือน โดยทั้งสามหน่วยงานวิเคราะห์แล้ว ไม่พบสารอันตรายหรือโลหะหนักปนเปื้อน และหลังจากนี้จะมีการเก็บตัวอย่างทุกวันจนสิ้นเดือน พ.ย. ณ จุดสูบน้ำของนิคมฯ 5 แห่ง หากพบว่ามีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ จะสั่งให้หยุดสูบทันที ขณะที่อีก 2 แห่งที่ปทุมธานี ที่ยังมีน้ำท่วมสูง จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำ อาทิตย์ละครั้ง โดยทุกจุด ต้องมีผู้แทนทั้งสามหน่วยงาน และใช้ตัวอย่างเดียวกันในการวิเคราะห์ โดยจะทำการวิเคราะห์โลหะหนัก ไซยาไนด์ สารอันตราย แคดเมียม โครเมียม ปรอท แมงกานีส ฯลฯ เชื้อโรคปนเปื้อน ตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำ และค่าความเป็นกรด-ด่าง

ต่อคำถามของอนุกรรมการฯ ว่า มีการตรวจสารตั้งต้นที่ใช้ในโรงงานหรือไม่ ชุมพล ชี้แจงว่า เนื่องจากได้ส่งหนังสือเตือนให้นำสารตั้งต้นขึ้นที่สูงหมดแล้ว จึงไม่ได้วิเคราะห์สารตั้งต้นทุกตัว อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ายังไม่พบสารเคมีตั้งต้นในน้ำ 

อย่างไรก็ตาม หลังการชี้แจงข้อมูล รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับปากว่าจะเพิ่มตัวแทนเข้าไปในคณะทำงานที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำตามที่มีการเสนอในที่ประชุม 

แจงปัญหาที่พบคือน้ำเน่าเสีย
รังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของนิคมฯ 6 แห่ง ปัญหาที่พบคือน้ำเน่าเสีย เนื่องจากน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำขัง แต่ไม่พบโลหะหนักที่จะเป็นอันตราย ส่วนคราบน้ำมันปนเปื้อนในน้ำนั้น มองว่าเกิดจากการที่เครื่องจักรจมน้ำ หรือการจอดรถทิ้งไว้ ไม่ใช่จากกระบวนการผลิต เพราะหากมาจากกระบวนการผลิต คราบน้ำมันจะเยอะกว่านี้เป็นร้อยเท่า

นอกจากนี้ ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการควบคุมคุณภาพน้ำฯ ว่าประกอบด้วย  1.ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนการสูบน้ำ เพื่อให้มั่นใจคุณภาพน้ำไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนรอบนิคมฯ  2.หากตรวจพบ ต้องหยุดสูบชั่วคราวจนกว่าจะปรับคุณภาพน้ำ  3. บำบัดฟื้นฟูให้ได้มาตรฐาน ณ จุดที่ตรวจพบ  4.ตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง  5.หากพบสารเคมี จะวิเคาะห์และนำไปเก็บรวบรวมในที่ที่ปลอดภัย และ 6.เมื่อน้ำลด จนเหลือ 30 ซม. จากพื้นดิน ต้องหยุดทำการสูบน้ำ และตรวจสอบคุณภาพตะกอนดินว่าเข้าข่ายของเสียอันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล

ภาคประชาชนขอร่วมตรวจสอบด้วย
ด้านชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนงานในคณะกรรมการดังกล่าว โดยระบุว่า หากมีแต่ภาครัฐเป็นคณะกรรมการ แล้วชุมชนและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจะเชื่อมั่นผลการตรวจสอบได้อย่างไร พร้อมตั้งคำถามว่า ก่อนน้ำมา มีการป้องกันบ่อบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ไม่ใช่รอให้มีปัญหาแล้วให้ฟ้องทีหลัง เพราะนี่เป็นเรื่องชีวิตคน 

เรืองรวี พิชัยกุล จากมูลนิธิเอเชีย แสดงความเห็นว่า ในคณะกรรมการสามฝ่ายดังกล่าว ควรมีฝ่ายนักวิชาการ แรงงาน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบร่วมด้วย เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ นอกจากนี้ ตั้งคำถามถึงกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการเยียวยาด้วยว่า ชาวบ้านรอบนิคม ซึ่งจะอยู่กับน้ำท่วมนานกว่าเดิมจากการกู้นิคมฯ จะเยียวยาอย่างไร ขยะอุตสาหกรรมและคราบน้ำมันจะจัดการต่อไปอย่างไร พร้อมเสนอว่าอาจพูดคุยขอความร่วมมือจากชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเก็บผักบุ้งและตกปลา ให้ช่วยเหลือ

ตัวแทนอยุธยา-ปทุมฯ แจง "เอาอยู่"
สุวิทย์ สวนด้วง ตัวแทนผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า มีการตั้งคณะทำงานฟื้นฟู รับผิดชอบแต่ละนิคมฯ โดยมีรองผู้ว่าฯ เป็นประธานแต่ละชุด ทั้งนี้ ชี้แจงว่า กรณีมีการร้องเรียนว่าสูบน้ำแล้วมีคราบน้ำมันที่นิคมฯบางปะอิน ยืนยันว่า ตอนที่น้ำท่วมไม่มีคราบน้ำมัน แต่เมื่อเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าไปเก็บเครื่องมือ ปรากฏว่าผู้รับจ้างตัดสายท่อน้ำมัน ทำให้เกิดการกระจายออก ตอนหลังจึงมีกติกาว่าใครจะดำเนินการถอดเครื่องมือจักรต้องแจ้งว่าถอดแล้วจะกระทบกับน้ำหรือไม่ ส่วนที่นิคมฯ โรจนะนั้นพบคราบน้ำมันจริง ซึ่งได้ประสานให้โรงงานที่มีคราบน้ำมันช่วยกำจัดออก ส่วนน้ำมันที่ออกมานอกโรงงานแล้ว ก็มีการซับน้ำมันเก็บก่อนส่งออก 

ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ว่าฯ อยุธยา ชี้แจงกรณีมีข่าวเรื่องขยะติดเชื้อว่า จากการสอบถาม พบว่า โรงพยาบาลที่มีขยะติดเชื้อแล้วยังไม่กำจัด คือ รพ.บ้านแพร่ และ รพ.มหาราช ซึ่งยังมีน้ำท่วม โดยเบื้องต้น มีการใช้ยาฆ่าเชื้อขยะดังกล่าวแล้วและเก็บไว้รอการนำไปทำลายเมื่อน้ำแห้ง 

ด้านชูศักดิ์ ตั้งศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี ตัวแทนผู้ว่าฯ ปทุมธานี กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดรายงานว่ายังไม่พบสารเคมีรั่วไหลจากนิคมฯ ในปทุมธานีทั้งสองแห่งคือบางกะดีและนวนคร นอกจากนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาลบอกว่าจะดำเนินการกู้นิคมฯ ในอีก 1-2อาทิตย์ข้างหน้า ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด และทรัพยากรจังหวัด ตรวจสอบควบคุมดูแลปริมาณน้ำทุกระยะก่อนที่จะมีการสูบออก รวมถึงมีการกำชับให้เก็บขยะรวมไว้ให้เรียบร้อยด้วย

ปลอดประสพชี้ยังมีโรงงานเถื่อนมหาศาล น่าห่วงกว่าหากน้ำท่วม
ขณะที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ศปภ. กล่าวว่า ไม่อยากให้มี ศปภ. ภาคสอง หรือเกิดความเสียหายอีกในปีหน้า โดยความเสียหายครั้งนี้ กินเนื้อที่มากกว่าครึ่งของประเทศ กระทบกับประชาชนกว่าครึ่งของประเทศ เป็นความเสียหายซึ่งประเทศไทยไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งยังยาวนานตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ก่อนรัฐบาลจะเข้ามาด้วยซ้ำ จนตอนนี้ ก็เกือบหกเดือนแล้วและคาดว่ากว่าที่น้ำหยดสุดท้ายจะระเหยไปคงใช้เวลาอีกหกเดือน 

ปลอดประสพ กล่าวว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ก็ตั้งเป้าว่า ต้องช่วยเหลือคนและลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งมีปัจจัยจำนวนมาก บ้างมองด้านเศรษฐกิจ บ้างมองด้านสังคม ทำให้วิธีลดผลกระทบแตกต่างกันไป ทั้งนี้ นิคมฯ ถูกมองว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่แก้ ตัวเลขคนว่างงานจะมากกว่านี้ รวมแล้วอาจร่วมล้านคน อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ดูภาพรวม มองว่าเรากำลังพูดเรื่องเล็กมาก หากแต่ก็เคารพในคำร้องและความลำบากของประชาชน หากยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นอีกมาก ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อไปอีก 3 เดือน จะเกิดน้ำเสีย น้ำดำ เหม็น มียุง จะเป็นเรื่องใหญ่ นี่เป็นเรื่องที่กังวลอยู่ในใจ 

อย่างไรก็ตาม ปลอดประสพ กล่าวว่าสำหรับเรื่องผลกระทบจากการกู้นิคมฯ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบทุกหน่วย พร้อมกำชับว่า เมื่อมีรายงานต้องสำเนาให้พื้นที่รู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลเรื่องโรงงานเถื่อนจำนวนมากในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นที่ที่ตำรวจก็เข้าไม่ถึง ว่าหากน้ำท่วมหมดก็เป็นพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญมากกว่านิคมฯ 

 
  ---------------------------------------------------

ที่ คสรท. 194/2554
11 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง     ร้องเรียนผลกระทบจากการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
เรียน    นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เปิดศูนย์แรงงานช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 1 ถนนสายเอเชีย อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2554 จวบจนในขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมเริ่มทรงตัว บางแห่งมีระดับน้ำลดลง แต่ระดับน้ำยังไม่มีการระบายออกจากพื้นที่ หน่วยราชการและการนิคมอุตสาหกรรมจึงเริ่มดำเนินการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

           คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า การกู้นิคมอุตสาหรรมมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ประชาชนรอบนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ ดังนั้น การกู้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ควรจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้น 

            อนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการของหน่วยราชการในการกู้นิคมอุตสาหกรรม อาทิ ของเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดจากนิคมอุตสาหกรรม ระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น 

            คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอร้องเรียนมายังนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสหภาพแรงงาน อันจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น