โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รอวันเปิดโรงงาน: ความหวังหลังน้ำลดของคนงานอยุธยา

Posted: 22 Nov 2011 12:29 PM PST

ย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำได้ท่วมขังมาเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน แม้สัปดาห์ที่ผ่านมา ระดับน้ำจะเริ่มลดลง และเริ่มมีการกู้โรงงาน แต่พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ยังมีพนักงานโรงงานในย่านดังกล่าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และมีหลายกรณีที่เกิดการพักงาน หรือเลิกจ้างพนักงานโรงงานในช่วงที่เกิดน้ำท่วม โดยพวกเขาเหล่านั้นรอวันที่โรงงานจะกลับมาเดินเครื่องจักรตามปกติ และจ้างงานพวกเขาอีก

ประมวลภาพน้ำท่วมย่านโรงงานอุตสาหกรรม
อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (12 พ.ย. 54)

 

พีระกานต์ มณีศรี คณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัย เล่าว่า หลังจากน้ำเริ่มท่วมที่บางปะอินเมื่อวันที่ 12 ต.ค. กลุ่มผู้ใช้แรงงาน จ.อยุธยาและใกล้เคียงก็เริ่มตั้งเต๊นท์ "ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัย" บริเวณทางลงแยกต่างระดับบางปะอิน ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นมา

พีระกานต์ เล่าว่า การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือจะแบ่งทีมงานออก เป็น 6 จุด ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ไฮเทค บางปะอิน เฟคตอรี่แลนด์ วังน้อย นวนคร รังสิต มีทีมเรือ ทีมเอกสาร ทีมออกพื้นที่ ช่างดูแลเรือและรถ โดยจะมีทีมแพ็คของที่จะตรวจสอบว่าถุงยังชีพที่ได้มาแต่ละรอบ จะสามารถยังชีพได้หรือไม่ หากไม่พอจะจัดถุงใหม่เพื่อให้ประชาชนหรือคนงานที่ติดในหอพักสามารถ ยังชีพได้ อย่างน้อย 4-7 วัน ประกอบด้วยข้าวสาร 1 ถุง ประมาณ 3 กก. ปลากระป๋อง 2 กระป๋อง มาม่า 6 ห่อ  น้ำ 6 ขวด อาหารสำเร็จรูปที่พอหาได้ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก นอกจากนี้แล้วจะมีการตรวจวันหมดอายุด้วย

เงินและข้าวของบริจาคมาจากการระดมความช่วยเหลือของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อต่างๆ โดยการลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ จะทำไปพร้อมกับการสำรวจข้อมูลของแรงงาน ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ค่าครองชีพ-หนี้สินที่ต้องใช้จ่าย ตลอดจนสถานะการทำงาน 

พีระกานต์บอกว่า แม้จะมีบางรายที่ไม่อยากให้ข้อมูลเพราะกลัวผลกระทบ แต่ศูนย์ฯ ได้อธิบายถึงความจำเป็นว่า แม้จะไม่จำเป็นต้องมีบ้านเลขที่ เหมือนกรณีการรับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่หากเพื่อนคนงานไม่ให้ข้อมูล ก็จะไม่มีฐานข้อมูลไปต่อรองหรือให้ข้อมูลกับรัฐบาลว่าแรงงานเรามีความเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน และการจะรับของหรือถุงยังชีพ เราควรจะมีที่มาที่ไปว่า เรารับมา 100 ชุด ออกไปที่นี่กี่ชุด เพื่อบอกกับสื่อหรือผู้ที่มาบริจาคของว่าเรารับมาแล้วจ่ายไปให้ประชาชนหรือแรงงานที่เดือดร้อนได้จริงๆ

โดยปัญหาที่คนงานในอยุธยาร้องเรียนมามีทั้งที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกเลิกจ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานจ้างเหมาค่าแรงและพนักงานรายวัน ซึ่งขณะนี้มีผู้มาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ มากกว่า 1,000 รายแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีกรณีเช่นนี้อีกหลายรายแต่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือและการสำรวจ เนื่องจากมีบางส่วนที่ติดอยู่ตามหอพักในพื้นที่ไกลจากถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ศูนย์ฯ ต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

เรวัตร์ อนันตศิริ อดีตพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นอีกคนที่เพิ่งถูกเลิกจ้างมาหมาดๆ เล่าให้ฟังว่า โรงงานประกาศให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.ก่อนที่น้ำจะท่วม และจากการไปรับเริ่มถุงยังชีพ เขาก็เปลี่ยนตัวเองเป็นอาสาสมัครของศูนย์ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนคนงานในเขตคลองพุทราที่ตัวเองถนัด จากนั้นวันที่ 11 พ.ย.บริษัทโทรมาบอกว่าอยากเลิกจ้างพนักงานบางส่วนช่วงภาวะน้ำท่วม แต่จะจ่ายค่าแรง 75% สำหรับวันที่ 21 ต.ค.-12 พ.ย. แต่อีกสองเดือนให้ค่าแรงเต็มจำนวน ซึ่งเขามองว่านี่อาจจะเป็นค่าตกใจหรือค่าเลิกจ้าง

เรวัตร์บอกว่า มีคนงานที่ถูกเลิกจ้าง 40% ของพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำและจ้างเหมา ค่าแรง ตัวเขาเองเป็นพนักงานประจำ ซึ่งปฏิบัติงานยังไม่ถึงหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม เรวัตร์บอกว่า พวกเขาได้รับการแจ้งว่า คนที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้หมายความโดนไล่ออก หากโรงงานเปิดทำการ ก็สามารถกลับไปสมัครงานได้เหมือนเดิม

"เหมือนเขาไม่อยากจะชดเชย 75% เลิกจ้างไปก่อน คือเสียเวลาเที่ยวเดียว แล้วจะเปิดรับสมัครใหม่" เรวัตร์แสดงความเห็นและเล่าว่า เขาทราบมาว่า โรงงานของเขาอาจจะเปิดทำการในเดือน ธ.ค.หรือต้นเดือน ธ.ค.

"จริงๆ แล้วไม่อยากได้เงินจ้างออก อยากให้บริษัทให้กลับไปทำงานต่อ ได้ค่าจ้างไม่เท่าค่าแรงมาตรฐานก็ได้ คือผมมีภาระหนี้สิน ถามว่าเงินที่จ้างมาอยู่ได้นาน ไหม ไม่นานหรอกครับ" เรวัตร์บอกและว่า "ให้ผมทำงานดีกว่าจ้างผมออก เพราะถ้าทำงาน ยังมีเงินมาเลี้ยงชีพ ซื้อนมลูก ผ่อนรถ เพราะอายุผมก็มากแล้ว ไม่รู้ว่าคุณเลิกจ้างผม ผมจะหางานได้หรือเปล่า ถ้าผมหางานไม่ได้ แฟนผมก็ทำคนเดียว ภาระก็ต้องตกอยู่ที่เขา"

ขณะที่ ดารา ฤทธิธรรม เพื่อนบ้านของเรวัตร์ เป็นอีกคนที่รอกลับเข้าทำงาน เธอเดินทางจากบ้านเกิดที่อุบลราชธานีมาทำงานในอยุธยาได้ 20 ปีแล้ว ดาราเป็นพนักงานรายวันในโรงงานเย็บชุดชั้นใน ซึ่งหยุดทำงานกันตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ที่น้ำเริ่มเข้านิคมอุตสาหกรรม โดยพวกเธอได้รับแจ้งจากฝ่ายบุคคลให้หยุดงานอาทิตย์หนึ่งและรอดูสถานการณ์น้ำ หรือรอแจ้งจากหัวหน้างานอีกที

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ค่าแรงออก เธอบอกว่า บริษัทจ่ายให้ 75% (ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) และมีการเรียกให้พนักงานประจำเข้าไปทำความสะอาดโรงงานแล้ว ขณะที่พนักงานรายวันเช่นเธอนั้นยังไม่มีการเรียกใดๆ 

"ตอนนี้ก็ลุ้นอย่างเดียว ถ้าได้ยินว่าบริษัทไม่เอาออก ก็ดีแล้ว ยังไงๆ ก็ต้องช่วยกันอีกทีว่าบริษัทจะเสียหายขนาดไหนก็ต้องช่วยเขา เพราะเขาช่วยเราก็ช่วยเขา ก็อยู่กันได้" ดารากล่าวอย่างมีความหวัง

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟู จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยผ่านรายการ เปิดข่าวเด่นเจาะประเด็นดัง ทางคลื่น FM 102.75 MHz ว่า เริ่มทำการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินแล้ว หลังจากสูบน้ำออกจากพื้นที่ทั้งหมด และมีบางส่วนเริ่มเปิดการผลิตได้ แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็กำลังเร่งสูบน้ำออกเช่นกัน และในวันที่ 25 พ.ย.นี้ จะมีการทำบิ๊กคลีน ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งคาดว่า จะเปิดกิจการได้อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทั้งนี้ มั่นใจว่า จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด น่าจะกลับมาเปิดดำเนินการผลิตทั้งหมดได้ก่อนปีใหม่อย่างแน่นอน

 

ความหวั่นเกรงเรื่องมลพิษ: หลังการกู้นิคมอุตสาหกรรม
 
ในช่วงน้ำท่วม คนงานจำนวนมากที่ถูกให้หยุดงานมักไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัท "ต้อม"เองก็เช่นกัน เขาเป็นพนักงานประจำแผนกฆ่าเชื้อของโรงงานผลิตนมกระป๋อง ในนิคมบางปะอิน ซึ่งรอดูว่าวันที่ 25 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันเงินเดือนออกนั้นจะเป็นเช่นไร เพราะเขาและเพื่อนดูเหมือนจะยังไม่มีใครได้รับการติดต่อจากบริษัทแม้ว่าในช่วงแรกๆ จะได้ความช่วยเหลือจากโรงงานในการจัดพาเลทมาให้ยกของหนีน้ำก็ตาม

"ต้อม" อาศัยอยู่กับ "โอ๋" ภรรยาและลูกสาวเล็กๆ อีกสองคนในบ้านที่ยกพื้นสูงกว่าสองเมตร แต่น้ำในปีนี้ก็ท่วมขึ้นมาถึงบนบ้านเลยทีเดียว ทำเอาต้องยกของขึ้นเตียง และย้ายไปอยู่บ้านญาติ เพิ่งจะพากันกลับมาหลังน้ำลดไม่นาน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า น้ำลดช้าลงหลังจากเริ่มมีการสูบน้ำ ออกจากนิคมฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "ต้อม" เองก็สองจิตสองใจ ทางหนึ่งอยากให้นิคมฯ แห้งเพื่อจะได้กลับไปทำงานเร็วๆ แต่อีกทาง เมื่อเห็นคราบน้ำมันออกมากับน้ำก็รู้สึกไม่ดีนัก ทุกวันนี้ก็ไม่ปล่อยให้ลูกๆ เล่นน้ำ เพราะกังวลเรื่องสารเคมี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสื่อนอก จี้รบ.ฟิลิปปินส์ ทวงความคืบหน้าคดีสังหารนักข่าวที่มินดาเนา

Posted: 22 Nov 2011 12:01 PM PST

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เตรียมประท้วงหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ในไทยวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อยื่นหนังสือต่อปธน. เบนิญโน่ อาคิโน่ เรียกร้องความยุติธรรมให้นักข่าวที่ถูกสังหารในคดี ‘อัมปาตวน’ เนื่องในวันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล

ในวันที่ 23 พ.ย. 2554 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ซึ่งเป็นเครือข่ายสากลขององค์การด้านเสรีภาพสื่อ เตรียมจัดงานเพื่อรำลึกการสูญเสียของประชาชนและนักข่าวเนื่องในวันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล (International Day to End Impunity) โดยจะมีการชุมนุมหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทยเวลา 14.00 น. และยื่นหนังสือให้กับประธานาธิบดีเบนิญโน่ อาคิโน่ เพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีการสังหารหมู่ ‘อัมปาตวน’ (Ampatuan) ที่เกิดขึ้นในเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อปี 2552 

ทั้งนี้ วันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล ตรงกับวันที่ 23 พ.ย.ของทุกปี ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2552 เพื่อรำลึกถึงประชาชนและผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหาร ‘อัมปาตวน’ ในวันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์พยายามสังหารผู้สมัครลงแข่งขันการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐมินดาเนา และส่งผลให้ประชาชนที่นั่งติดตามมาด้วยเสียชีวิต 58 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้สื่อข่าวถึง 32 คน 

นักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อสากลชี้ว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นต่อผู้สื่อข่าวเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

เชื่อกันว่า ผู้บงการสังหารมาจากตระกูลอัมปาตวนซึ่งมีอิทธิพลในมินดาเนา ได้แก่ อันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ ผู้ว่าการอำเภอหนึ่งในรัฐมินดาเนา และผู้เป็นบิดา อันดาล อัมปาตวน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐมินดาเนา รวมถึงซัลดี้ อัมปาตวน ซึ่งเป็นผู้ว่าการเขตปกครองตนเองมุสลิมในมินดาเนา โดยพยายามสังหาร เอสมาเอล มังกูดาดาตู ผู้สมัครลงแข่งขันผู้ว่าการรัฐมินดาเนา ด้วยเหตุผลทางการเมือง

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ระบุว่า จนบัดนี้ กระบวนการยุติธรรมในคดีดังกล่าวยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า และมีการแทรกแซงการสอบสวนโดยผู้มีอิทธิพลในคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ที่เสียชีวิตล่าช้าตามไปด้วย

นอกจากนี้ องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ระบุว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่กระทำต่อคนทำงานด้านสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศ การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และความล้มเหลวของรัฐบาลในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ 

ในกรณีของประเทศไทย องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ชีด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวในระหว่างการทำงานลดลงมาก จากราว 2 รายลดลงเหลือ 0 รายในบางปี เนื่องมาจากความโปร่งใสของการปกครองในหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น และยังได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้สื่อข่าวต่างชาติสองรายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.และ พ.ค. 2553 คือ ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ และฟาบิโอ โปเลนจี มาเป็นตัวอย่างกรณีในการรณรงค์เพื่อยุติการงดเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในปีนี้ด้วย    

 

ข้อมูลจาก IFEX เปิดเผยว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวจากหลายทวีปถูกสังหารอย่างน้อย 500 คน
หากแต่มีผู้รับผิดจากการกระทำดังกล่าวเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
โดยประเทศรัสเซียและเม็กซิโกถูกจัดเป็นประเทศที่มีความอันตรายต่อนักข่าวมากที่สุด 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: นักเรียนสุราษฎร์ รวมตัวร้อง ไม่เอา ผอ.พวกนักการเมือง กลับมาบริหาร

Posted: 22 Nov 2011 09:38 AM PST

ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนมัธยมพัชรกิตยาภา 3 จ.สุราษฏร์ธานี รวมตัวหน้า สพท.ร้องความเป็นธรรมให้อาจารย์ถูกย้ายข้อหาผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง พร้อมค้านย้ายกลับผู้อำนวยการโรงเรียน

 
 
 
วันที่ 22 พ.ย.54 ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนมัธยมพัชรกิตยาภา 3 ต. ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี จำนวนราว 30 คนได้เดินทางไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสุราษฏร์ธานี (สพท.) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีความขัดแย้งระหว่างนักเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียน จนเกิดเหตุการณ์การประท้วงขับไล่ นายสายชล ขจรธีรสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนพัชรกิติยาภา 3 เป็นผลให้ถูกย้ายไปช่วยราชการอีกโรงเรียน
 
การออกมาเคลื่อนไหว ตัวแทนนักเรียนได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ต่อผู้อำนวยการ สพท.สุราษฏร์ธานี คือ 1.ให้อาจารย์ที่โดนย้ายคือ นายวชิระ บุญทรัพย์กลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม และ 2.ตามข่าวที่ว่า นายสายชล ขจรธีรสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเก่าที่โดนย้ายเพราะถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียน เช่น การตบ เตะเด็กหน้าเสาธง และชอบใช้วาจาไม่สุภาพไม่ให้ย้ายกลับมาสอนที่เดิม
 
น.ส.กาญจนา (นามสมมุติ) แกนนำนักเรียน เล่าว่า ตลอดเวลาที่นายสายชล เป็นผู้อำนวยการอยู่ที่โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 มีพฤติกรรมชอบใช้อำนาจและความรุนแรงกับเด็กนักเรียนมาโดยตลอด เช่น การตบหน้า และตีเด็กด้วยเข็มขัดหน้าเสาธง รวมถึงการพูดจาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่เหมาะสมที่คนเป็นครูบาอาจารย์จะนำมาใช้ และเมื่อถูกผู้ปกครองเข้ามาต่อว่าก็จะข่มขู่ด้วยการกล่าวว่าตัวเองเป็นพรรคพวกกับนักการเมืองใหญ่และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่เคยพาคนไปยิงทิ้งที่เขาศก แต่ไม่ติดคุกใครมีปัญหาก็มาพบกันได้
 
แกนนักเรียน กล่าวถึงปัญหาการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยว่า ไม่มีความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการทอดผ้าป่าที่จัดถึง 4 ครั้งในรอบ 6 ปี การเก็บค่าร้านค้าแพงจนเป็นเหตุให้ไม่มีแม่ค้าเข้ามาขายอาหาร ไม่มีการปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค รวมทั้งการจำหน่ายเสื้อผ้าชุดนักเรียนก็มีราคาแพงกว่าท้องตลาด เหตุการณ์เหล่านี้เกิดสืบเนื่องมาหลายปีแต่ไม่มีอาจารย์คนใดกล้าคัดค้านต่อต้าน เพราะเกรงกลัวต่ออิทธิพลและกลัวกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน จนนักเรียนทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันเข้าร้องเรียนต่อ สพท. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  
 
น.ส.กาญจนา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มนักเรียนได้เข้าพูดคุยนำเสนอปัญหากับ ดร.ปัญญา แก้วกียูร ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรับปากจะดูแลจัดการเรื่องนี้ จากนั้นก็มีคำสั่งให้ นายสายชลไปช่วยราชการที่อื่นชั่วคราว และนายวัชระก็ได้รับคำสั่งจาก ผ.อ.สพม.เขต 11 ให้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา 2 เช่นกัน ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง ทำให้รู้สึกเสียใจและเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อนายวัชระ รวมถึงได้รับข้อมูลมาว่า ผ.อ.สายชลจะได้รับการย้ายกลับมาที่เดิมจึงได้เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมจากสำนักงานเขตในวันนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.ตัวแทนนักเรียน ได้เดินทางออกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสุราษฏร์ธานีไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร้องเรียนเรื่องในเรื่องเดียวกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับปากจะให้ทางสำนักงานเขตเข้าไปดูแลเรื่องนี้ กลุ่มตัวแทนนักเรียนจึงได้เดินทางกลับ
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม

Posted: 22 Nov 2011 08:36 AM PST

วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนมากมาย แต่ก็พลอยทำให้ได้เห็นน้ำใจคนไทยที่หลั่งไหลเข้าช่วยเหลือ หนึ่งในพื้นที่ที่ความเดือดร้อนยังรุนแรง คงหนีไม่พ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ที่แห่งนี้ ยังมี “นักศึกษา” กลุ่มหนึ่งขันอาสา ขอเข้าไปช่วยเหลือ ...

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม

“ผมมาอยู่ที่นี่ ผมบอกได้เลยว่าผมโคตรมีความสุขเลยครับ” เสียงของ โอ ศราวุฒิ ศรีสุข นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปี 3 จากรั้วแม่โดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง เอ่ยขึ้นทำลายความเงียบ ขัดกับภาพที่พบเห็น ซึ่งบอกได้ชัดว่า สิ่งที่พวกเขาเจอมานั้นก็อาจ “เหนื่อยและหนัก” ไม่ต่างจากผู้ประสบภัยเลยก็ว่าได้

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
โอ ศราวุฒิ ศรีสุข

การเดินทางไปให้ความช่วยเหลือของเขาและเพื่อนๆ เยาวชนจิตอาสา เริ่มต้นมาจากความตั้งใจของ เอฟ ภรณ์พฤติยศ ศรียาบ ศิษย์เก่าสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนมาตั้งแต่ครั้งเข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ระดับอุดมศึกษาของธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เมื่อสามปีก่อน ในครั้งนี้เมื่อเห็นเพื่อนร่วมชาติประสบภัย จึงขอเป็นตัวตั้งตัวตี นำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ชักชวนเพื่อนๆ ในเครือข่าย “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ในเขตภาคเหนือ รวมถึงเพื่อนคนอื่นๆ มาให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้-จิตอาสาภาคเหนือ”

เอฟเล่าว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ประกอบด้วยนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง รวมทั้งสิ้น 33 คน เป้าหมายระยะแรกของการเข้าไป เพื่อตั้งโรงครัวทำอาหารปรุงสดใหม่แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย โดยเลือกอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่เป้าหมาย เหตุเพราะยังมีหลายชุมชนถูกตัดขาด การช่วยเหลือเข้าไปไม่ทั่วถึง

ส่วนการระดมทุนข้าวของให้ความช่วยเหลือ เอฟและเพื่อนๆ ได้ตั้งจุดรับสิ่งของบริจาคที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุของจังหวัด รวมถึงชวนกันไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ถนนคนเดินเทศบาลเมืองลำพูน ทางด้านเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีกิจกรรมระดมทุนเก๋ๆ ไม่น้อยหน้ากัน อย่าง “ตักบาตรเที่ยงคืน” โดยมีสิ่งของบริจาคอีกส่วนหนึ่งได้มาจากการห้างร้านเอกชน รวมถึงมูลนิธิสยามกัมมาจล

“ผมรู้สึกประทับใจในน้ำใจของคนไทยมากๆ ครับ ที่ที่เราไปเปิดหมวกแต่ละที่ เช่นที่ถนนคนเดินลำพูน หรือแม้แต่ที่เชียงใหม่เอง เขาก็เพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไปไม่นาน แต่เมื่อไปขอความช่วยเหลือ เขาก็ยินดีช่วย สละเงินกันคนละห้าบาทสิบบาท จนเราได้เงินไปซื้อสิ่งของช่วยเหลือเพิ่มอีกกว่า 9,000 บาท พี่ๆ ที่หอการค้าลำพูนก็ใจดี เห็นเราเล่นดนตรีแต่ไม่มีเครื่องเสียง ก็ช่วยกันลงขันเช่ามาให้ ตรงนี้ถ้าหากต้องเช่ากันเองก็คงเป็นเงินอีกหลายพันบาท” เอฟเล่า

ทั้งนี้ หลังจากได้วางแผนและซักซ้อมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอฟและเพื่อนจึงเช่ารถสิบล้อลำเลียงคนและสิ่งของลงพื้นที่ โดยยึดริมขอบถนนสายเอเชียใกล้กับเต้นท์ให้ความช่วยเหลือของ อบต.เสาธง เป็นที่ตั้งกองอำนวยการ ตลอดจนถึงเป็นที่กินอยู่หลับนอน ต่อมาจึงได้ลำเลียงเต้นท์สนามหลังใหญ่มาทำหน้าที่คุ้มแดดคุ้มฝน ถึงจะไม่สะดวกสบาย แต่ก็เป็นชัยภูมิที่ดี เดินทางได้สะดวก ใกล้พื้นที่เป้าหมาย เป็นจุดแลกเปลี่ยนข่าวสาร และความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

“พวกเราลงพื้นที่แล้วตกลงกันว่าจะไม่เบียดเบียนชาวบ้านครับ จะพยายามช่วยเหลือตัวเองกันให้ได้มากที่สุด การได้มานอนข้างถนน อาบน้ำที่ปั้ม หรืออาบน้ำไหลตามชาวบ้าน ก็ทำให้เราเข้าใจสภาพความเดือดร้อนของเขาได้ดี เมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ เราก็จะเปิดใจยอมรับและปรับตัวเข้ากับมันได้ดีขึ้น” โอห์ม วีระ นากระโทก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยสหวิทยาการ รั้วแม่โดม ลำปาง สะท้อน

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
โอห์ม วีระ นากระโทก (ขวา) กับน้องผู้ประสบภัย

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาประจักษ์ถึงปัญหาได้ดี ยังเป็นการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งพวกเขาพบว่า ยังมีชาวบ้านอีกมากที่การช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ทั่วถึง และค่อนข้างมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในพื้นที่ เมื่อจัดสรรไม่ชัดเจนจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้าวของที่ขาดแคลนมากอย่าง อาหาร น้ำดื่ม นมผง ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า และยารักษาโรคตาแดง อีกทั้งการที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จึงเกิดการเน่าเสีย

นักศึกษากลุ่มนี้ยังเล่าด้วยว่า จากการที่ถือหลักที่ว่า “ที่ไหนมีความเดือดร้อนก็จะเข้าไปช่วยเหลือที่นั่น ไม่ปักหลักอยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง” ในละแต่วัน จึงมีการสำรวจพื้นที่ประสบภัยใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเพื่อส่งต่อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัย และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลที่เป็นประโยชน์สื่อสารแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ ทว่าหลังจากมาอยู่ในพื้นที่ได้ราวหนึ่งสัปดาห์ สิ่งของที่เตรียมมาก็เริ่มหมด น้องๆ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใกล้ถึงกำหนดเปิดภาคเรียน สมาชิกบางรายติดธุระ ทำให้บางส่วนต้องเดินทางกลับ เหลือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งยังไม่เปิดภาคเรียนขออาสาอยู่ต่อ

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
จุดบริการน้ำสะอาดที่ศูนย์ “บวร”

พอดีที่ได้พบกับ ครูอุ๊ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ “บวร” ซึ่งมีแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยสนับสนุนให้แต่ละ อบต.จัดตั้งโรงครัวชุมชน นำวัตถุดิบในถุงยังชีพที่มีจำนวนน้อยมาทำอาหารปรุงสดใหม่แจกจ่ายอย่างทั่วถึงแทนการแจกถุงยังชีพ ตลอดจนการจัดหาเครื่องกรองน้ำเพื่อบริการน้ำสะอาดแก่ผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งทันทีที่ครูอุ๊ทราบว่านักศึกษามีแนวทางการช่วยเหลือตรงกัน ประกอบกับในพื้นที่ยังต้องการคนทำงาน จึงชักชวนนักศึกษาที่เหลืออยู่ช่วยทำงานที่ศูนย์ฯ เพื่อเยียวยาผู้เดือดร้อนต่อเนื่อง ทำให้น้องๆ จาก มธ.ได้อยู่ต่อ โดยวางแผนไว้ว่าจะอยู่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนครบ 15 วันก่อนเดินทางกลับ

“ถามว่าลำบากไหม ลำบากครับ แต่ทำแล้วมีความสุข รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เราเข้าไปช่วย เราเป็นนักศึกษาจะเรียนรู้แต่ในห้องเรียนไม่ได้ เห็นคนเดือดร้อนแล้วเราก็อยากช่วย ผมไปเห็นบางบ้านที่ไปพบไม่มีน้ำสะอาดใช้ ต้องตักน้ำที่ท่วมมาซาวข้าว เห็นแล้วรู้สึกทนไม่ได้ น้องๆ ในทีม ที่เป็นผู้หญิงก็บอกว่าอยากอยู่ต่อ” โอเล่าต่อถึงความประทับใจ

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
มิ้นท์ วัชโรบล ศามี กำลังเล่นกับน้องๆ ผู้ประสบภัย

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
ชมพู่ ชมพูนุช คชโส

ไม่ต่างกันกับความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเช่นนี้ มิ้นท์ วัชโรบล ศามี นักศึกษาชั้นปี 1 คณะสังคมสงเคราะห์ มธ.วิทยาเขตลำปาง เล่าว่า ในท่ามกลางความยากลำบาก เราก็ยังได้เห็นสิ่งดีงามที่ผู้คนมีต่อกัน เช่น ลุงคนหนึ่งที่มิ้นท์นำเสื้อผ้าไปมอบให้สามชุด แต่ลุงยืนยันว่าจะขอรับไว้เพียงชุดเดียวเพื่อผลัดกันใส่กับชุดที่ใส่อยู่ ทั้งนี้เพื่อที่มิ้นท์และเพื่อนจะได้นำเสื้อผ้าที่เหลือไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยคนอื่นๆ ความรู้สึกนี้เองทำให้มิ้นท์หายเหนื่อย ส่วนเพื่อนร่วมคณะอย่าง ชมพู่ ชมพูนุช คชโส บอกว่า รู้สึกประทับใจที่ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากผู้ประสบภัยกลับมาเสียเอง เช่น ยายคนหนึ่งที่กลับเป็นฝ่ายไต่ถามความเป็นอยู่ของนักศึกษาๆ เมื่อเดินทางกลับก็ขอให้กลับกันโดยสวัสดิภาพ

ด้าน โดนัท ธิติพล วัตตะกุมาร หนุ่มนักกิจกรรมอีกคนจากรั้วแม่โดม เสริมว่า นอกจากได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามที่ตั้งใจไว้แล้ว งานอาสาครั้งนี้ยังทำให้เขาได้เรียนรู้และประทับใจกับมิตรภาพความเป็นเพื่อนของทีมในขณะปฏิบัติงาน ที่ทุกคนจะคอยช่วยเหลือ เป็นห่วงเป็นใยกัน ทำงานร่วมกันอย่างเปิดใจ ไม่เห็นแก่ตัว ทั้งๆ ที่เป็นเวลาเพียงไม่กี่วันที่ได้มารู้จักกัน กลับเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนพวกเขาให้เป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความสนิทสนนกลมเกลียวกัน

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
โดนัท ธิติพล วัตตะกุมาร

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
อาร์ม ศราวุฒิ เรือนคง

ส่วน อาร์ม ศราวุฒิ เรือนคง นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นอีกคนที่ได้ความรู้สึกดีๆ กลับมา อาร์มเล่าว่าสิ่งที่เขาประทับใจคือการได้สละตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะต้องอดทนกับความยากลำบาก ได้นอนบนพื้นถนนแข็งๆ อาบน้ำในห้องน้ำปั๊ม ทานอาหารแต่พออิ่ม แถมบางครั้งยังเดินลุยน้ำเสียทำให้เกิดอาการคัน แต่เขาก็ผ่านมันมาได้อย่างมีความสุข คุณยายท่านหนึ่งซึ่งอาร์มนำยาไปมอบให้ยังชวนอาร์มคุยและบอกว่า สิ่งที่อาร์มทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยายอยากเห็นคนในสังคมไทยช่วยเหลือกัน อยู่กันอย่างพี่น้อง เช่นที่นักศึกษาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คำพูดของยายทำให้อาร์มฉุกคิดถึงสังคมของเรา และตั้งใจว่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ความคาดหวังของยายเป็นจริง

ขณะที่ แยม ผกาวดี เมืองมูล นักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสปนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าบ้างว่าอาศัยที่ตัวเองเข้ากับเด็กได้ดี จึงชวนเด็กๆ ผู้ประสบภัยมาทำกิจกรรมวาดรูประบายสี บ้างก็สอนหนังสือและชวนคุย แยมเชื่อว่าเวลาที่คนเรากำลังอยู่ในจินตนาการและสร้างสรรค์อะไรสักอย่างจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุข อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้เด็กๆ กลุ่มนี้มีสภาพจิตใจดีขึ้นมาบ้าง อีกทั้งเมื่อได้ลงพื้นที่เห็นชาวบ้างมีกำลังใจดีก็ทำให้เธอรู้สึกดีตามไปด้วย

แยมคิดว่านี่เป็นห้องเรียนที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตการเป็นนักศึกษา การลงพื้นที่จริงเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เราเกิดมุมมองและทัศนคติใหม่ๆ มากมาย ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร จนได้คำตอบกับตัวเองว่า “เพื่อรับใช้สังคม” โดยมีชุมชนนี่แหละเป็นห้องเรียนที่ดีที่สุด มันทำให้เราได้รู้ว่าจุดเริ่มต้นของการมีจิตอาสา การปรารถนาดีต่อผู้อื่น การเสียสละ คำนึงถึงผู้อื่น ท้ายที่สุดแล้วผลที่ได้มันสะท้อนกลับมาที่ตัวเราเองมากที่สุด ถ้าเราเปิดหัวใจเราก็จะได้ทั้งความสุขใจ และการเรียนรู้ที่มีคุณค่า” สาวน้อยนักกิจกรรมเล่าอย่างมีความสุข

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม
แยม ผกาวดี เมืองมูล

การลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของนักศึกษาจึงไม่ใช่เพียงการเยียวยาช่วยเหลือผู้ร่วมสังคมที่ตกทุกข์ได้ยาก หากแต่ยังได้เติมเต็มเมล็ดพันธุ์คุณค่าและความหมายของการเป็น “ผู้ให้ – ผู้รับ” พื่อเติบโตและเบ่งบานในหัวใจของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน โดยการช่วยเหลือในระยะต่อไปจะเป็นการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด อาทิ กาชักชวนเพื่อนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาสังคมสงเคราะห์เข้าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัย การใช้ EM ปรับสภาพน้ำที่ท่วมขัง การซ่อมแซมบ้านเรือน และการทำความสะอาดโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีที่เรียนหนังสืออีกครั้ง #

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม

พลังนักศึกษาฝ่าน้ำท่วม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหตุน้ำท่วม ครม.เลื่อนนำร่องขึ้นค่าจ้าง 300ไป 1 เม.ย.55

Posted: 22 Nov 2011 07:23 AM PST

ครม.มีมติเลื่อนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดนำร่องเป็น 1 เม.ย.55 อนุมัติงบกลางปี 55 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย 2,650 ล้านบาท ก.อุตสาหกรรม คาดฟื้นนิคมฯ นวนคร-บางกะดีเสร็จต้นปีหน้า


แฟ้มภาพ: ประชาไท (2 พ.ย.54)

 

(22 พ.ย.54) คณะรัฐมนตรีมีมติปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม โดยจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่า ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการประมาณ 3-6 เดือน จึงเลื่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 แทน ส่วนอีก 70 จังหวัดที่เหลือจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556 หลังจากนั้นจะไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไปอีกระยะหนึ่ง


อนุมัติงบกลางปี 55 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย 2,650 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรียังพิจารณาการขออนุมัติงบประมาณงบกลางประจำปี 2555 ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยประชาชนที่ตามหลักเกณฑ์วงเงิน 2,650 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสำหรับจังหวัดไปช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร รวมทั้งอีก 25 จังหวัด จำนวน 1,250 ล้านบาท และงบสำหรับให้หน่วยงาน ช่วยเหลือประชาชนจำนวน 1,400 ล้านบาทให้ โดยให้กระทรวงแต่ละกระทรวงตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

ส่วนการฟื้นฟูเยียวยา ตามที่ กฟย.เสนอวันนี้ โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการในการช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัยทั้ง 58 จังหวัด ตามกรอบแผนงาน 3 ด้าน (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต) และวงเงินงบประมาณจำนวนกว่า 45,400 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขคือ มอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (กคฐ.) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) และคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) และสำนักงบประมาณได้พิจารณาตรวจสอบความเหมาะสมโครงการ งบประมาณ และบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน


ก.อุตสาหกรรม คาดฟื้นนิคมฯ นวนคร-บางกะดีเสร็จต้นปีหน้า

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และอุตสาหกรรมบางกะดี โดยนิคมอุตสาหกรรมนวนคร คาดว่า ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ จะสูบน้ำเสร็จสิ้นและเข้าทำความสะอาดได้ และในวันที่ 15 ธันวาคม จะเข้าฟื้นฟูและซ่อมแซมนิคม ซึ่งทั้งหมดจะแล้วเสร็จในวันที่ 9 มกราคม

ส่วนคุณภาพน้ำนั้น ยืนยันว่า ได้ผลตามมาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานกระทรวงอตุสาหกรรม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี คาดว่า จะสูบน้ำเสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 ธันวาคม และจะสามารถเข้าทำความสะอาดโรงงาน และเดินเครื่องภายในนิคมอุตสาหกรรมได้ภายในวันที่ 13 ธันวาคม

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่อยู่ทางทิศตะวันออกอีก 6 แห่ง ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการป้องกัน และที่จังหวัดสมุทรสาครอีก 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่า ไม่น่าได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพราะสามารถป้องกันได้

 

ที่มา: เว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 1, 2, 3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวเด้ง ‘หมอชูชัย’ พ้นเลขาฯ กรรมการสิทธิ

Posted: 22 Nov 2011 06:58 AM PST

22 พ.ย.54 รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติย้าย น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการกรรมการสิทธิฯ ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับ 11 โดยในการลงมติ น.พ.แท้จริง สิริพานิช ได้เดินออกจากห้องประชุม อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในการทำงานที่ผ่านมามักเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเลขาธิการ กสม. และกรรมการสิทธิอยู่เป็นระยะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุนทรียา เหมือนพะวงศ์: ความถูกต้องและความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วมใหญ่: การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของไทยและเยอรมัน

Posted: 22 Nov 2011 06:40 AM PST

(1.) บทนำ
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนำความสูญเสียให้คนไทยจำนวนมาก ปัญหาน้ำท่วมโยงกับเรื่องความถูกต้องและความเป็นธรรมในการจัดการน้ำ ทั้งในเชิงเทคนิค สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมาย หากสังคมไทยได้เรียนรู้ผ่านความวิฤติในครั้งนี้อย่างจริงจัง ก็ถือได้ว่าเราสามารถแปรวิกฤติที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก ผู้เขียนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมใคร่ขอนำบทเรียนจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเคยเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้วหลายครั้งและพยายามแก้ไขปัญหาให้เกิดการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนมานำเสนอและศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นในการค้นหาแนวทางในการปฏิรูปการจัดการน้ำท่วมอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในสังคมไทยของเราต่อไป

(2.) สภาพปัญหาน้ำท่วม
ภาวะน้ำท่วมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่การที่เหตุการณ์น้ำท่วมได้กลายเป็นปัญหาและเป็นภัยพิบัติ ทำให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างยืนยันว่า นอกเหนือจากเหตุการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นควบคู่กันไป

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศเยอรมันเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ได้แก่ ในช่วงปีค.ศ. 1993 และ ค.ศ. 1995 ที่แม่น้ำไรน์ ค.ศ. 1997 ที่แม่น้ำโอเดอร์ ค.ศ. 2002 ที่แม่น้ำเอลเบ และค.ศ. 2005 ที่แม่น้ำดานูบ แม้ผู้คนเสียชีวิตไม่มาก แต่มีความเสียหายทางทรัพย์สินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยก็ประสบความสูญเสียจากน้ำท่วมใหญ่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ความสูญเสียต่างๆ จำเป็นต้องรีบเร่งแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

(3.) สาเหตุของปัญหาน้ำท่วม
สาเหตุของปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ และการตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เกิดน้ำแข็งละลายมาก เกิดฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือเกิดฝนมากเกินไป นอกเหนือจากนี้ ปัญหาน้ำท่วมยังอาจจะเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถควบคุมกักเก็บและระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้ว หากไม่มีการแก้ไขจัดการอย่างถูกต้องอีก ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากทวีคูณ

ในประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำให้ถูกต้องนั้น คำว่าทรัพยากรน้ำคงมิได้หมายความถึงเพียงตัวน้ำ หากแต่หมายรวมถึงผืนดินที่เกี่ยวข้องกับน้ำ สิ่งปลูกสร้าง และวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งบ่อยครั้งกินพื้นที่เข้าไปในแนวทางเดินของน้ำ การออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้คนสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้ การจัดระบบคูคลองแม่น้ำและแหล่งน้ำไม่ถูกต้อง เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้มีการกักเก็บน้ำจำนวนมาก ขัดต่อธรรมชาติที่น้ำจะต้องไหลลงพื้นที่ต่ำ บางครั้งมีปัญหาในการระบายน้ำไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงสภาพทางน้ำ เส้นทางน้ำ หรือการบุกรุกทางน้ำ ทำให้การไหลของน้ำเร็วเกินไป ปัญหาน้ำท่วมจึงเชื่อมโยงโดยตรงกับการจัดการพื้นที่การใช้ที่ดิน การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง และการดำเนินวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศของน้ำ และเชื่อมโยงกับระบบการผันน้ำ การกักเก็บน้ำ และการระบายน้ำ ที่อาจจะไม่ได้หลักวิชาหรือไม่มีประสิทธิภาพด้วย

(4.) หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม
การจัดการน้ำและน้ำท่วมเป็นเรื่องใหญ่และยาก ทั้งนี้เพราะน้ำมีหลายประเภท เช่น น้ำบนดิน น้ำใต้ดิน น้ำที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล นอกจากนี้ การจัดการน้ำยังเกี่ยวข้องกับการจัดการดินอยู่ใต้น้ำ ที่ชายตลิ่งที่อยู่ริมน้ำหรือที่ชายหาดริมทะล และที่ดินที่น้ำอาจจะต้องไหลพัดผ่านในฤดูน้ำหลากด้วย การจัดการน้ำมีวัตถุประสงค์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นการใช้น้ำในเชิงปริมาณ เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม การใช้น้ำเป็นทางเดินเรือเพื่อการคมนาคม และการปล่อยน้ำทิ้ง และ รวมถึงเรื่องน้ำท่วมด้วย เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมีเป็นจำนวนมาก การใช้บังคับจึงอาจทับซ้อนสับสน หรือมีความยากลำบาก

หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรและมลพิษ ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดการน้ำและน้ำท่วม ในมุมมองเรื่องความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันนั้น  มีหลักการสำคัญสั้นๆ ว่า จะต้องมีการกระจายโอกาสในการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ของบุคคลกลุ่มต่างๆอย่างเป็นธรรม ดังนั้น เรื่องของการใช้น้ำ หากประชากรในกรุงเทพมหานครได้ประโยชน์จากการใช้น้ำมากกว่าที่อื่น ชาวกรุงเทพฯ ก็อาจจะต้องรับภาระในบางประการด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าในยามปกติ คนต่างจังหวัดขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอยู่แล้ว และเมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ยังต้องรับภาระอยู่เพียงฝ่ายเดียวอีก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะเมื่อฝ่ายใดได้ประโยชน์ ฝ่ายนั้นย่อมต้องรับภาระบางอย่างเป็นการชดเชย และฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็จะต้องได้รับการเยียวยาบางอย่างควบคู่กันไป เรื่องนี้ อาจจะเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ของฝ่ายอุตสาหกรรมกับพื้นที่เกษตรกรรม ที่มักมีการจัดการกันอย่างไม่สมดุลในลักษณะเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม หากหลักการข้างต้นเป็นที่สุด อาจจะหมายความว่าทุกพื้นที่สามารถกระจายความเจริญ กระจายโอกาส กระจายความเสี่ยงภัย และกระจายการรับภัยกันอย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าจะถูกต้อง เพราะผู้ที่จัดการทรัพยากรน้ำย่อมต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำ ระบบทางไหลเวียนของน้ำ และเคารพการมีอยู่ของทรัพยากรน้ำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งหมายความมนุษย์ไม่สามารถจะใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด หากแต่ต้องจัดการเพื่อให้ระบบนิเวศมีความสมดุลและยั่งยืนควบคู่กันไป หลักความเป็นธรรมในเรื่องนี้จึงคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ต้องหาจุดที่เหมาะสมให้พบ โดยมีธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง มิใช่ผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

(5.) กฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วม
กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมฉบับต่างๆ ทั้งของประเทศเยอรมันและของประเทศไทย ได้วางหลักการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนไว้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในอดีตเรื่องน้ำท่วมถือเป็นปัญหาในเชิงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่จำต้องมีกฎหมายเข้ามาจัดการ แต่ในยุคปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้พัฒนากฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะยืดหยุ่นปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง

หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่แม่น้ำเอลเบในปีค.ศ. 2002 ที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก ประเทศเยอรมันได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมเพื่อการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยสังคมเยอรมันตระหนักว่ามนุษย์เข้าใช้ที่ดินและกระทำกิจกรรมต่างๆ กระทบต่อทรัพยากรน้ำมากเกินไป ดังนั้น การปฏิรูประบบการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนจึงเน้นการการเปิดให้มีพื้นที่เพื่อทรัพยากรน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาการขาดกฎระเบียบต่างๆ ที่เหมาะสม และการขาดแคลนทรัพยากรของหน่วยราชการ รวมทั้งการสร้างระบบป้องกันความเสียหายไว้ล่วงหน้ารวมถึงการออกกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายให้แก่เหยื่อน้ำท่วมและการฟื้นฟู นอกเหนือจากประเทศเยอรมัน ประชาคมยุโรปก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากและมีการออกกฎหมายยุโรปเพื่อบังคับให้ประเทศสมาชิกพัฒนาเรื่องกฎหมายน้ำท่วมอย่างจริงจังมากขึ้น หรือประเทศออสเตรีย เพื่อนบ้านของเยอรมัน หลังมีอุทกภัยครั้งใหญ่ก็มีโครงการที่เน้นการจัดทำผังเมืองใหม่ เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศไทย เมื่อหลายปีก่อนหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเคยมีความพยายามยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพยากรน้ำขึ้นมา ซึ่งได้กำหนดให้มีหมวดพิเศษว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งไว้ด้วย เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นกฎหมาย แต่แม้ไม่มีกฎหมายเฉพาะเกิดขึ้น รัฐก็ยังสามารถใช้เครื่องมือในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเครื่องมือทางปกครองได้ หากรัฐเห็นความจำเป็น

(6.) กฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยน้ำท่วม
กฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมันและไทยต่างก็กำหนดเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มาตรา 20 a แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมัน ซึ่งเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้านสิ่งแวดล้อม บัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้อย่างกว้างๆ ว่า รัฐจักต้องดูแลรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจักต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป ซึ่งเน้นหลักการพัฒนาแบบยั่งยืนและหลักการความเป็นธรรมในระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับคนรุ่นถัดไป ดังนั้น การจัดการน้ำท่วมก็จักต้องกระทำการตามหลักการที่รัฐธรรมนูญได้วางแนวทางไว้ โดยถือว่ารัฐมีหน้าที่ผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามหลักที่วางไว้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ก็ได้วางแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนไว้ไม่ต่างจากของเยอรมัน กล่าวคือ รัฐต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยร่วมกับชุมชนและประชาชน ยิ่งไปว่านั้น ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐก็ยังมีการกำหนดเรื่องการใช้ที่ดิน ผังเมือง และเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำไว้เป็นพิเศษ  เป็นที่น่าเสียดายที่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องยังไม่ถูกนำมาพิจารณาบังคับใช้ให้เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้น และหลายเรื่องสามารถนำมาปรับใช้โดยตรงกับเรื่องการจัดการน้ำท่วมได้

การคุ้มครองและป้องกันน้ำท่วม ในมุมหนึ่งเป็นประเด็นเรื่องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนจักต้องมีชีวิตสุขภาพที่ดีและปลอดภัย และเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐที่จะวางมาตรการต่างๆ ในการจัดการน้ำท่วมอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบางประการอาจกระทบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของบุคคลในส่วนอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการดำเนินการต่างๆ ตัวอย่างเช่น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมอาจถูกจำกัดไม่ให้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนตามประสงค์ ข้อจำกัดสิทธิที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหากเป็นเรื่องเหมาะสมและได้สัดส่วน บุคคลดังกล่าวก็ไม่อาจโต้แย้งได้ นอกจากจะยอมรับค่าทดแทนชดเชยเยียวยา ไม่ว่าจะในฐานะที่ถูกรอนสิทธิมิให้กระทำกิจกรรมบางเรื่องหรือบางช่วงเวลา หรือในฐานะผู้ถูกเวนคืน ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง

(7.) มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม
เครื่องมือทางกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมทั้งของเยอรมันและไทยส่วนใหญ่เป็นมาตรการของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะการออกคำสั่งในทางปกครองเพื่อจัดระบบการระบายน้ำ การทำกฎทางปกครองเพื่อกำหนดผังเมืองในลักษณะต่างๆ หรือการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมอาคารต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้ นอาจหมายความรวมถึงปฏิบัติการทางปกครองในลักษณะต่างๆ ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องการสร้างพนัง หรือการทำเขื่อนกั้นน้ำแบบชั่วคราว การใช้มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม อาจมีลำดับในการใช้ดังต่อไปนี้

               (7.1) การจัดระบบข้อมูลเรื่องน้ำท่วม
               การจัดระบบข้อมูลน้ำท่วมจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นภาพรวมของการจัดการน้ำทั้งหมด ซึ่งความรู้เรื่องธรรมชาติของน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เข้าใจว่า มนุษย์จะอยู่ในระบบนิเวศของน้ำได้อย่างเหมาะสมอย่างไร  และสมควรจะป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างไร เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่อาจมีระบบการไหลเของน้ำแตกต่างกันไป การเข้าใจระบบนิเวศของน้ำ หมายความถึงการศึกษาเรื่องระบบของแหล่งน้ำ การไหลเวียนของน้ำ เวลาของการไหลของน้ำ การขึ้นลงของน้ำ เส้นทางน้ำ หลักการระบายน้ำ และเรื่องการจัดการที่ดินที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การจัดการน้ำท่วมจึงต้องเข้าใจสภาพธรรมชาติของน้ำในทุกมิติ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำท่วมอาจมิใช่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง เช่น เรื่องประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแหล่งน้ำ วัฒนธรรมการใช้น้ำ หรือการจัดการน้ำท่วมตามแนวปฏิบัติของชุมชนต่างๆ นั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการหาข้อเท็จจริงทางสังคมศาสตร์อย่างเหมาะสมควบคู่กันไปด้วย

               ความท้าทายของการจัดการน้ำท่วม คือ ความสามารถในการรู้ถึงภัยน้ำท่วม เรื่องนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อมีระบบข้อมูลที่พร้อมในทุกแง่มุม ข้อมูลน้ำท่วมโยงกับข้อมูลเรื่องทรัพยากรน้ำที่หลายฝ่ายมีอยู่ ทั้งปริมาณน้ำที่มีในแต่ละช่วงเวลา ทั้งน้ำในเขื่อน น้ำทุ่ง น้ำท่า และการคาดการณ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำฝน ข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำมีทั้งแผนที่แสดงแหล่งน้ำและทางเดินน้ำ สมุดวัดปริมาณน้ำ เส้นแสดงความสูงของน้ำที่อาคารบ้านเรือน หรือเส้นของน้ำใต้ดิน รวมทั้งเอกสารแสดงระดับของภัยที่น่าจะเกิด ในประเทศเยอรมันถือว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำที่ต้องจัดทำขึ้น ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นขีดแสดงความสูงของน้ำได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้าน

               เกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ รัฐอาจจำเป็นต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้หาความแม่นยำถูกต้องในเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเครื่องมือแล้ว รัฐจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

               (7.2) การใช้มาตรการทางผังเมือง การควบคุมใช้ที่ดิน และการควบคุมการก่อสร้าง
               มาตรการทางผังเมือง การควบคุมใช้ที่ดิน และการควบคุมการก่อสร้างเป็นมาตรการทางปกครองที่สำคัญ เพื่อวางแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และลดภัยน้ำท่วมได้ โดยมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ การประเมินความเสี่ยงและภยันตรายหากจะมีน้ำท่วม และการจัดระดับความเสี่ยงภัยของพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือพื้นที่ที่น้ำจะต้องท่วม ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป

               การประเมินความเสี่ยงและภยันตรายน้ำท่วม การจัดระดับของภยันตราย และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยข้างต้นจะต้องถูกประเมินโดยข้อมูลที่ถูกต้อง โดยหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถ และต้องดำเนินการเป็นระยะ เพื่อให้ข้อมูลได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุก 6 ปี โดยในระยะยาว จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ภาพรวมกันเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งการประเมินเป็นเพียงการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า แต่ในสถานการณ์จริงอาจเกิดแตกต่างจากการคาดการณ์ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความเสี่ยงภัยในพื้นที่ของตนเอง การจัดระดับภัยของพื้นที่ต่างๆ อาจแบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะน้ำท่วมเล็กน้อย พื้นที่ที่มีความเสี่ยงระดับกลาง และพื้นที่ที่เสี่ยงมีน้ำท่วมสูง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันแก้ไข ลดความเสี่ยง และลดการลงทุนที่ผิดพลาดได้ หรือวางกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามที่สมควรก็ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ให้น้ำไหลผ่าน การใช้พื้นที่ในเชิงของการก่อสร้าง การผังเมือง เป็นเรื่องที่ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่น้ำจะท่วมถึงอย่างแน่นอน อาจไม่ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยหรือทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ฝ่ายปกครองยังอาจวางมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างได้ เช่น การไม่ออกใบอนุญาต หรือการออกใบอนุญาตให้ได้ยากขึ้น หรือกระบวนการออกใบอนุญาตอาจจะต้องทำกระบวนการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางขึ้น สำหรับการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่น้ำผ่านหรือน้ำท่วม เพื่อให้เกิดการชั่งน้ำหนักของผลประโยชน์ของการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจควบคุมการออกแบบอาคารให้เหมาะสม หรือกำหนดลักษณะการใช้งานหรือการทำกิจกรรมในบางพื้นที่ เช่น การควบคุมการติดตั้งระบบไฟฟ้า การสร้างที่เก็บของ ที่โล่ง หรือที่จอดรถ ที่จะมีการใช้งานให้น้อยที่สุด มาตรการควบคุมการก่อสร้างและการวางระบบการจัดการต่างๆ ไว้ล่วงหน้านี้ ถือป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากกับการจัดการน้ำท่วม

               มาตรการทางผังเมืองและการควบคุมใช้ที่ดิน และการควบคุมการก่อสร้าง ที่เเกี่ยวข้องกับพื้นที่น้ำท่วมจึงอาจทำให้พื้นที่ต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ที่ต้องรับภาระเกี่ยวกับน้ำที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นที่ทำเขื่อน พื้นที่ที่ต้องกันให้เป็นทางผ่านของน้ำ พื้นที่ที่เป็นที่รับน้ำ หรือเป็นพื้นที่ที่ต้องถูกน้ำขัง ซึ่งทำให้เกิดการจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของบุคคลบางประการ เช่น อาจจะถูกควบคุมเรื่องการก่อสร้าง หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเจ้าของที่ดินบริเวณอื่นอาจไม่ถูกจำกัดสิทธิ ดังนั้น การชดเชยอย่างเป็นธรรมจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป  

               (7.3) การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า
               การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งแผนปฏิบัติการน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าเป็นไปเพื่อการป้องกันภัยหรือลดภัยจากน้ำท่วม อาจมีได้ทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว การทำแผนป้องกันน้ำท่วมนั้น กฎหมายเยอรมันกำหนดให้ต้องทำภายในเวลาที่กำหนดทุกพื้นที่หลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ และโดยเจ้าพนักงานต้องวางระบบการเก็บน้ำ ปล่อยน้ำ ควบคุมติดตามการไหลเวียนของน้ำ อย่างมีมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชา และการกำหนดแผนล่วงหน้าต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำแบบคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ทั้งในเรื่องการกระจายความเสี่ยงและภาระ และหลักการเยียวยาผู้ที่จะต้องเสียประโยชน์เป็นการพิเศษ โดยทั่วไป เมืองใหญ่มักมีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมได้ดีกว่าเมืองเล็ก และทำให้เมืองเล็กได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องปรับเปลี่ยน เพราะต้องกระจายประโยชน์ กระจายความเสี่ยงภัย และกระจายภยันตรายกันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะเมืองหลวง เมืองใหญ่ หรือฝ่ายอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์แต่เพียงส่วนเดียว หากฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระแทนอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป รัฐก็อาจจะต้องหยุดการดำเนินการดังกล่าว หรือจัดให้มีการเยียวยากันมากขึ้น การจัดทำแผนจัดการน้ำท่วมนี้ หากจะให้สมบูรณ์ ต้องทำทั้งในส่วนภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพราะจะส่งผลกระทบต่อกันและกัน

               (7.4)  การจัดทำระบบทางเทคนิคโครงสร้างเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำ และระบายน้ำ ที่เหมาะสม
               การจัดทำระบบทางเทคนิคโครงสร้างนั้น มาตรการพื้นฐานดั้งเดิมที่ทำมาตั้งแต่อดีต ได้แก่ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ฝาย และกำแพงต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นต้องทบทวนว่าวิธีการเหล่านี้ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ การจัดทำระบบทางเทคนิค นอกเหนือจากการสร้างแล้ว ยังหมายถึงการดุแลรักษา ได้แก่ การขุดคูคลองให้พร้อมใช้งานโดยตลอด โดยสะดวก มีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ รวมทั้งบุคลากรในการดำเนินการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา

(8.) องค์กรจัดการน้ำท่วม
องค์กรจัดการน้ำท่วมโยงกับองค์กรที่มีอำนาจจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม ซึ่งอาจจะมีหลายองค์กร และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการหลายแบบ มีทั้งในส่วนที่เป็นรัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น การมีองค์กรจำนวนมากย่อมมีอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องช่วยกันออกแบบระบบการทำงานให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ของแต่ละฝ่ายประสานเข้าเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้ระบบการทำงานสามารถเชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้อาจจะโดยผ่านการทำแผนจัดการน้ำท่วมร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ปัญหาการทำงานขององค์กรด้านน้ำคือองค์กรต่างๆ ไม่สามารถทำแบบเชิงบูรณาการได้ ทั้งไม่ประสงค์จะประสานงานกันและไม่สามารถจะประสานงานกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระบบของไทยและเยอรมัน ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ คงจะต้องดูพื้นที่และปัญหาเป็นที่ตั้ง ธรรมชาติของน้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ มีระบบลุ่มน้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ในทางการบริหารกับพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์อาจไม่ไปด้วยกัน เรื่องระบบการบริหารจัดการต้องทำอย่างเป็นองค์รวม มิฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ สำหรับระบบบริหารงานส่วนท้องถิ่นอาจใกล้ชิดกับพื้นที่ แต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องให้ระบบงานส่วนภูมิภาค หรือระบบของส่วนกลางเข้ามาช่วย เพราะแผนงานระดับชาติในหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องจำเป็น และนอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐ ยังอาจมีผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมที่จะช่วยแสดงข้อมูลและความคิดเห็น ซึ่งอาจจะเป็นภาควิชาการหรือภาคประชาชนก็ได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ระดมทรัพยากรจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาสร้างปัญญาในการจัดการน้ำท่วมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ความท้าทายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องของการทำงานอย่างหลากหลายวิชาชีพ แบบบูรณาการ เพื่อให้ได้ทำงานร่วมกันเป็นองค์รวมได้อย่างแท้จริง ในความเป็นจริง จะมีความเป็นไปได้อย่างไรที่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักนิเวศวิทยา จะทำงานร่วมกับอย่างดีกับนักสังคมศาสตร์ นักสังคมวิทยา หรือนักกฎหมาย จะมีความเป็นไปได้อย่างไรที่ข้าราชการส่วนกลางจะร่วมมือกันทำงานอย่างดีกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะมีความเป็นไปได้อย่างไรที่นักเทคโนแครตจะทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้นักผังเมืองกับวิศวกรแหล่งน้ำ รวมทั้งนักธรณีวิทยา นักปฐพีวิทยา และนักนิเวศวิทยา จะทำงานกันอย่างสอดคล้อง โดยมีประเด็นใหญ่ของการทำงานร่วมกัน นอกจากการคิดถึงวิธีการทำงานแนวใหม่แล้ว ยังอาจจะต้องคิดถึงการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อดำนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นองค์รวมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

(9.) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการน้ำท่วม
ในการจัดผังเมืองเกี่ยวกับน้ำและการก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรน้ำ เช่น การสร้างเขื่อนหรือท่าเทียบเรือในหลายกรณี กฎหมายไทยและเยอรมันให้สิทธิประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจได้อยู่แล้ว สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องที่รัฐสมควรให้การสนับสนุนในลักษณะเดียวกัน

สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการน้ำท่วม หมายถึง สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสิทธิในการโต้แย้ง สิทธิที่จะร่วมตัดสินใจ และสิทธิในการฟ้องคดีหากสิทธิที่มีถูกละเมิด สิทธิในการมีส่วนร่วมตามระบบกฎหมายไทย เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายด้านข้อมูลข่าวสาร และระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รัฐจึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองสิทธิอย่างถูกต้อง กฎหมายเยอรมันที่รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำและกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางสิ่งแวดล้อม

(10.) การจัดการน้ำท่วมที่มีลักษณะเป็นภัยพิบัติ
เหตุการณ์น้ำท่วมอาจจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ที่มีภาวะเป็นภัยพิบัติเกิดขึ้นไม่บ่อย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นจะต้องนำระบบการจัดการภัยพิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้บังคับควบคู่กันไปกับกฎหมายเรื่องจัดการน้ำด้วย ทำให้ระบบต่างๆ ในทางการจัดการและทางกฎหมายมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการดังต่อไปนี้

               (10.1) การประเมินความร้ายแรงของภัยพิบัติน้ำท่วม
               การประเมินความร้ายแรงของภัยพิบัติน้ำท่วมต้องกระทำโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ โดยจะต้องประเมินสถานการณ์ตามข้อเท็จจริงให้เป็นไปอย่างถูกต้องเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ในสังคมแห่งการเสี่ยงภัยนั้น ประชาชนต้องเข้าใจหลักเรื่องความเสี่ยงภัยและภยันตราย และเตรียมความพร้อมสำหรับทั้งสองเรื่อง สังคมเยอรมันมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และพัฒนาหลักป้องกันไว้ก่อนมายาวนาน แต่สังคมไทยยังมีความตื่นตัวในเรื่องนี้น้อย กระทั่งรัฐเองก็ยังไม่เข้าใจว่าแม้เพียงมีความเสี่ยงภัยก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมมาตรการต่างๆ มารองรับ โดยไม่ต้องรอให้ภยันตรายมาถึงตัวก่อน และมาตรการของรัฐต้องมีความก้าวหน้าพอที่จะป้องกันภัยล่วงหน้าให้ได้

               (10.2) การให้ข้อมูล การเตือนภัยพิบัติน้ำท่วม และการสื่อสารในระหว่างวิกฤติ
               การให้ข้อมูล การเตือนภัยพิบัติน้ำท่วม และการสื่อสารในระหว่างวิกฤติ ถือเป็นเรื่องสำคัญของการจัดการความเสี่ยงของภัยพิบัติน้ำท่วม เพราะหากประชาชนสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ก็ย่อมจะเตรียมการรับภัยอย่างมีความพร้อม กฎหมายคุ้มครองทรัพยากรน้ำของเยอรมันจึงกำหนดบังคับให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเปิดเผยและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะต้องทำระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวได้ทันการณ์

                (10.3) การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เด็ดขาด และมีประสิทธิภาพ
                ในสถานการณ์ภัยพิบัติ การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาดเป็นเรื่องจำเป็น กฎหมายว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติหรือสาธารณภัยของเยอรมันและไทยต่างมีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐในการจัดการปัญหาได้อย่างจริงจังรวบยอดมากกว่าในสถานการณ์ปกติ ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องรวบรวมทรัพยากรทั้งข้อมูล บุคลากรและเครื่องมือต่างๆ มาแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งต้องทำการหยุดยั้งภัยพิบัติโดยเร็วและต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันการณ์ รวมทั้งต้องฟื้นฟูสถานการณ์อย่างรวดเร็ว

                ภัยพิบัติบางประเภทเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วจบสิ้นลง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือการเกิดพายุขนาดใหญ่ แต่ภัยพิบัติบางประเภทอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันและกินเวลายาวนานต่อเนื่องเช่นปัญหาน้ำท่วมนี้ ทำให้ระบบการจัดการต้องแตกต่างกันออกไป ยิ่งภัยพิบัติเกิดขึ้นแบบยาวนาน มีความซับซ้อน และมีผลกระทบมาก ทุกฝ่ายยิ่งย่อมต้องระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ ในกรณีที่รัฐไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ รัฐก็ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายอื่นหรือจากรัฐอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องรู้จักรวบรวมทรัพยากรจากฝ่ายต่างๆ และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มากกว่ารัฐจะทำงานเองอยู่เพียงฝ่ายเดียว

               (10.4) การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม
               แม้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะพยายามช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้น โดยเฉพาะการรักษาชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินแล้ว แต่รัฐยังมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐต้องเตรียมงานกู้ภัย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหน่วยเสบียงต่างๆ ให้พร้อมเพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม  ซึ่งรัฐต้องเรียงลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วย เด็ก สตรี คนชรา คนพิการ จำเป็นต้องรับความดูแลตามความต้องการพิเศษในแต่ละประเภท

               เมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ประชาชนทั่วไปที่มิได้เตรียมการอาจจะประสบปัญหาหลายประการ เช่น ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายทำให้ต้องออกไปอยู่ตามศูนย์พักพิงต่างๆ การจัดเตรียมระบบศูนย์พักพิงที่เหมาะสม และการทำระบบข้อมูลผู้ประสบภัยถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรคเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการไว้ให้พร้อม ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

               แม้ความช่วยเหลือจะมีจากหลายฝ่ายในสังคม แต่การดำเนินการของรัฐจักต้องเป็นไปอย่างเสมอภาคตามหลักนิติรัฐ ที่จะต้องดูแลประชาชนอย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีการจัดการที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน เคารพและให้ความระมัดระวังในเรื่องเพศ อายุ ฐานะ และความต้องการที่แตกต่างกัน สำหรับชาวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นผู้เข้ามาในฐานะนักลงทุน นักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างด้าว แม้มิใช่เป็นพลเมืองของประเทศ ก็สมควรได้รับการดูแลโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม  

               (10.5) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม
               ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติที่ใด ประชาชนต่างพยายามช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐเสมอ ในปัจจุบันองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีทั้งองค์กรที่เป็นรูปแบบ และที่ไม่เป็นทางการ มีทั้งส่วนของงานช่วยเหลือลักษณะกาชาด หรืองานอาสาสมัครแบบกู้ภัย รวมทั้งอาสาสมัครในเชิงการดูแลเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และมีทั้งองค์กรภายในประเทศและองค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศ

               ที่ผ่านมา นอกเหนือจากรัฐแล้ว หน่วยงานฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือดูแลและฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และในหลายกรณีการทำงานของภาคประชาสังคมกลับมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานของหน่วยราชการ เพราะเจ้าหน้าที่ยังทำงานล่าช้าตามระบบราชการในยามปกติ โดยมีบุคลากรจำกัด และยังทำงานแบบราชการที่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างทันการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีการทำงานที่อิงกับการเมืองที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกในการดำเนินการ หรือมีปัญหาการดำเนินการโดยทุจริต ซึ่งตรงกันข้ามกับการทำงานของฝ่ายประชาสังคม ที่มีลักษณะเป็นการทำงานแบบไม่เป็นทางการ ยืดหยุ่นคล่องตัว และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานขององค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งหากทิศทางเป็นเช่นนี้ กฎหมายน่าจะต้องเปิดช่องทางให้หน่วยงานเอกชนหรือองค์กรภาคประชาชนและชุมชนสามารถเข้าใช้ทรัพยากรและเครื่องมือของรัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับส่วนรวมให้มากขึ้น โดยรัฐอาจะเป็นผู้สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และข้อมูลต่างๆ อย่างทันการณ์และยืดหยุ่นตามสภาพความเป็นจริง และหากผู้ประสบภัยหรือชุมชนที่ประสบภัยจะมีกิจกรรมเพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้เร็ว ก็เป็นเรื่องที่รัฐน่าจะต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่

               นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในรูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลักษณะต่างๆ แล้ว องค์กรภาคประชาสังคมยังสมควรมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติด้วย เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง การตัดสินที่ผิดอาจจะยิ่งทำให้ภัยพิบัติมีความเลวร้ายทับถมทวีคูณ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมแม้ในสภาวะมีภัยพิบัติก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิที่จะเข้าถึงเอกสาร สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้าน หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนจักต้องมีอยู่เท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมได้พัฒนาเป็นภัยพิบัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ผู้มีอำนาจมักจะคิดว่าการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอาจทำให้อำนาจในการควบคุมสถานการณ์ของตนไม่เด็ดขาด อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของรัฐที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ยากที่จะได้รับการยอมรับ เพราะอาจเป็นไปโดยไม่ถูกต้องได้ ดังนั้น หากการเปิดให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในการดำเนินการหรือการตัดสินใจได้ยาก ก็อาจจะดำเนินการโดยมีความยืดหยุ่น เช่น จัดให้มีการรับฟังเฉพาะผู้ที่จะต้องเสียหายอย่างร้ายแรง หรือการจัดระบบให้มีการส่งตัวแทนเข้าร่วม ทั้งนี้ รัฐต้องมีความเชื่อในหลักการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย และพยายามแสวงหาแนวทางให้ประชาชนแต่ละฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของรัฐอย่างมีคุณภาพ เท่าที่จะเป็นไปได้ แม้จะอยู่ในสภาวะวิกฤติ ก็มิได้หมายความว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องถูกละเลยอย่างเด็ดขาด

               จริงๆ แล้ว ในยามสถานการณ์ภัยพิบัตินั้น ไม่ว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใด ไม่อาจทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ได้ง่าย ยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมในเชิงเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบายน้ำ การผลักน้ำ การดันน้ำ การพร่องน้ำ การใช้ถนนเป็นทางน้ำ การเก็บน้ำ และการสร้างพนังกั้นน้ำ ที่จำเป็นต้องทำอย่างมีหลักวิชาการที่ถูกต้องนั้น นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปแล้ว การมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องที่สมควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง รอบคอบ และสมเหตุสมผลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายในประเทศ หรือในบางเรื่องที่ซับซ้อนและต้องการความรู้ที่ก้าวหน้ามาก อาจจำเป็นต้องมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศด้วย ระบบกฎหมายเยอรมันก็ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการตัดสินใจในเรื่องที่ความซับซ้อนและต้องการความรู้ทางวิชาการชั้นสูงด้วย

(11.) ความเสียหายจากน้ำท่วม
ความเสียหายจากน้ำท่วมมีได้หลายลักษณะ ทั้งเรื่องความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และความเสียหายต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ

               (11.1) ความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพ
               น้ำท่วมมักนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน ทั้งในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและเรื่องอุบัติเหตุ โรคระบาดร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในหลายๆ ลักษณะ ทั้งโรคทางเดินอาหาร โรคจากยุง หรือโรคที่มากับน้ำ รวมทั้งความเสียหายจากสัตว์ร้ายต่างๆ ที่มากับน้ำ นอกจากนี้ การที่สารเคมีอันตรายในดินหรือในน้ำ สารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรปนเปื้อนแพร่กระจาย ก็อาจเกิดความเสียหายได้อีกลักษณะหนึ่งด้วย 

               (11.2) ความเสียหายต่อทรัพย์สิน  
               น้ำท่วมนำมาซึ่งความเสียหายทางทรัพย์สินได้ทั้งต่อบ้านเรือน รถยนต์ ผลผลิตทางการเกษตร หรือกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนสูงในระบบอุตสาหกรรม ในบางกรณีที่เจ้าของทรัพย์สามารถเอาประกันภัยทรัพย์สินไว้ได้ก่อน ก็อาจได้รับการเยียวยาในระดับหนึ่ง แต่ทรัพย์สินหลายอย่างไม่สามารถเอาประกันภัยได้ในระบบการประกันภัยตามปรกติ ในกรณีเช่นนี้ประชาชนก็จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเรื่องของการประกันภัยได้

               นอกเหนือจากความเสียหายทางทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ความเสียหายทางทรัพย์สินของรัฐ ทั้งในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หรือโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นของล้ำค่าของประเทศก็ได้รับความเสียหายอย่างมากด้วย 

               (11.3) ความเสียหายต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ  
               ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม มิใช่แค่เรื่องความเสียหายต่อมนุษย์เท่านั้น แต่อาจเป็นความเสียหายต่อธรรมชาติและระบบนิเวศด้วย สภาพความเน่าเสียของน้ำ รวมทั้งการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกและมลพิษจากเหตุการณ์น้ำท่วมย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติโดยรวมได้ ทั้งในเรื่องของดิน น้ำจืด น้ำทะเล สภาพที่ชายตลิ่งชายทะเล พืชน้ำและสัตว์น้ำต่างๆ ความเสียหายในบางครั้งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเยียวยากลับคืนได้อีก เช่น พืชน้ำหรือสัตว์น้ำบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้

               เมื่อน้ำจากแผ่นดินไหลเข้าสู่ปากอ่าวลงสู่ทะเลอาจทำให้ทะเลเน่า กระทบถึงระบบนิเวศของน้ำจืดและน้ำทะเลโดยตรง มูลค่าความเสียหายของระบบนิเวศและธรรมชาตินั้น ในอดีตอาจจะไม่มีผู้ใดทำการคำนวณกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นเสมือนเป็นทรัพย์สินของส่วนกลางที่ไร้เจ้าของ แต่ในปัจจุบัน นักสิ่งแวดล้อมและนักนิเวศวิทยาก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและได้พัฒนาระบบการคำนวณความเสียหายต่อระบบนิเวศและธรรมชาติอย่างจริงจังด้วย

                (11.4) ความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
              ความเสียหายทางทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ นำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทำให้ตลาดสินค้าในประเทศมีปัญหา เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ธุรกิจการค้าไม่ต่อเนื่อง เกษตรกรหรือนักธุรกิจต้องสิ้นเนื้อประดาตัว นำมาซึ่งการล้มละลายของกิจการค้าซึ่งอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคแรงงานรายย่อย และอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ ต่อไป น้ำท่วมยังนำมาซึ่งการเสียโอกาสที่จะต้องนำเงินมาแก้ปัญหาและฟื้นฟูเยียวยาประเทศ แทนการนำไปพัฒนาในด้านอื่น

                (11.5) การชดเชยและเยียวยาความเสียหาย
               ในการจัดการน้ำท่วม มักจะคนบางกลุ่มเสียประโยชน์และมีคนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิมิให้พัฒนาเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำผ่าน หรือผู้ที่ต้องถูกน้ำท่วมเนื่องจากมีการผันน้ำผิดธรรมชาติ หรือการหลีกเลี่ยงน้ำท่วมในเขตอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เขตเกษตรกรรมต้องน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งปัญหาอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่การวางผังเมือง หรือเป็นผลจากการจัดการเฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ผู้ที่ได้รับความเสียหายเกินปกติเพื่อประโยชน์ส่วนรวมสมควรจะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิอย่างมากจนมีลักษณะคล้ายการเวนคืน แม้ไม่สูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินของตน ก็สมควรได้รับการชดเชยเยียวยาในลักษณะใกล้เคียงกับการเวนคืน

               การชดเชยเยียวยาผู้เสียประโยชน์อาจไม่ใช่หน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น แนวคิดในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้กับเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะมาตรการในเชิงป้องกัน หรือมาตรการในเรื่องภาษีน้ำท่วมมาใช้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังต่อไป

(12.) ข้อพิพาทเกี่ยวกับน้ำท่วม
ข้อพิพาทเกี่ยวกับน้ำท่วมมีได้หลายลักษณะ ได้แก่ ข้อพิพาทก่อนมีเหตุการณ์น้ำท่วม และข้อพิพาทเมื่อมีน้ำท่วมแล้ว ข้อพิพาทก่อนมีน้ำท่วม ได้แก่ กรณีที่ฝ่ายปกครองวางมาตรการทางด้านผังเมือง การใช้ที่ดิน หรือการควบคุมอาคาร ที่อาจจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หรือเป็นกรณีที่มีการกำหนดประเภทที่ดินที่ไม่ถูกต้อง หรือการกำหนดแผนการจัดการน้ำท่วมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งบุคคลที่ได้รับผลกระทบอาจใช้สิทธิทางศาลได้ โดยเฉพาะการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งผู้ชี้ขาดจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผลประชาชน ผลประโยชน์ของส่วนรวม และผลประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศควบคู่กันไป

ข้อพิพาทเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมมีได้ทั้งความขัดแย้งระหว่างปัจเจกกับปัจเจก ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลกับกลุ่มบุคคล และความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ความขัดแย้งในระหว่างปัจเจกส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาททางแพ่งระหว่างผู้ที่มีที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกันที่อาจขัดแย้งกันในเรื่องของการกั้นทางเดินน้ำ การเสริมคันดิน การทำระบบป้องกันตนเองที่กระทบสิทธิของเพื่อนบ้าน ข้อพิพาทอที่เกิดอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในทางอาญาด้วย นอกเหนือจากนั้น มิใช่เรื่องการจัดการน้ำท่วมโดยตรง แต่เชื่อมโยงกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจทำให้เกิดการผิดข้อตกลงทางแพ่งที่ทำไว้เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้บางฝ่ายไม่สามารถกระทำตามข้อตกลงได้ ซึ่งคงจะต้องอ้างเหตุการณ์น้ำมาก ฝนตกหนัก ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตามแต่ข้อเท็จจริง  ปัญหาระหว่างเอกชนกับเอกชนมีในทางอาญาด้วย ได้ปัญหาระหว่างเอกชนในทางแพ่งที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมยังอาจเป็นกรณีของบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เอาประกันภัย เพราะผู้รับประกันภัยมักไม่ยอมรับประกันความเสียหายตั้งแต่ต้น หรือไม่ยอมรับผิดในภัยพิบัติใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องการประกันภัยความเสียหายจากภัยพิบัติตามธรรมชาตินี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดการพัฒนาระบบประกันภัยในเยอรมันและของประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น ประเทศออสเตรียหรือสหราชอาณาจักรด้วย ทั้งนี้ เพราะในขณะหลายฝ่ายรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองหรือรับผิดชอบตนเองโดยการทำประกันภัยทรัพย์สิน ได้แก่ บ้าน รถยนต์ โรงงาน กิจการอุตสาหกรรม และทรัพย์สินอื่นๆ อันเป็นการประกันภัยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือการประกันภัยในเรื่องอุทกภัย แทนการรอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่อาจมีประเด็นว่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติตามธรรมชาติจะสามารถเอาประกันได้หรือไม่ 

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลกับกลุ่มบุคคลอาจมีได้เมื่อมีการจัดการน้ำในภาวะวิกฤติที่เป็นไปอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมในระหว่างชุมชนต่างๆ จนบางครั้งเกิดเป็นข้อขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังกันได้ เหตุการณ์ความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังทำลายพนังกั้นน้ำหรือแนวกระสอบทรายที่อีกฝ่ายได้กระทำไว้ เพื่อให้อีกชุมชนหนึ่งได้รับภาระหรือความเสียหายในลักษณะเดียวกับของกลุ่มผู้กระทำ เป็นภาพที่เกิดขึ้นจนชินตาไปแล้วในสถานการณ์น้ำท่วมในสังคมไทย

สำหรับความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมนับเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐตัดสินใจบางประการที่ส่งผลให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์กับอีกฝ่ายเป็นผู้เสียประโยชน์ ความขัดแย้งดังกล่าวจะลดน้อยลง หากการตัดสินใจของรัฐผ่านการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บนพื้นฐานที่จะกระทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา หากกระบวนการมีส่วนร่วมยังมีจำกัด และรัฐยังไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้ว่าเหตุใดฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งจากการไม่ยอมรับคำตัดสินของรัฐจึงยังคงมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐยังหมายความรวมถึงการที่ประชาชนเห็นว่ารัฐไม่ทำหน้าที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภัยที่เกิดขึ้น เช่น รัฐไม่ทำการเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเสียหายจากการละเลยหน้าที่ของรัฐนั้น

การจัดการความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วม เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำในเชิงรุก ตั้งแต่เรื่องการป้องกันและรีบเร่งแก้ไขก่อนที่ข้อพิพาทจะลุกลามใหญ่โตออกไป การนำกระบวนการสันติวิธีในลักษณะต่างๆ มาใช้ น่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น สำหรับกรณีที่ประชาชนต่อสู้กันเองนั้น รัฐมีหน้าที่ต้องป้องกันความขัดแย้งในลักษณะนี้ด้วย มิใช่ปล่อยให้ประชาชนต้องต่อสู้กันเอง ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการจัดการน้ำท่วมในภาพรวม

(13.) องค์กรระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับน้ำท่วม
เนื่องจากข้อขัดแย้งเกี่ยวกับน้ำท่วมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนและต้องการการตัดสินข้อพิพาทอย่างรวดเร็ว องค์กรของฝ่ายบริหารจำเป็นต้องเตรียมการที่จะวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไว้อย่างเป็นระบบและทันการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ข้อพิพาทต่างๆ หากตกลงกันไม่ได้ในที่สุดก็จะต้องส่งไปยังศาล ซึ่งศาลจะทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทและมีผลเป็นที่สุด

ในปัจจุบัน หลายประเทศที่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาระบบความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาตัดสินคดีเหล่านี้ไว้โดยเฉพาะ บางประเทศถึงขนาดจัดตั้งให้มีศาลทรัพยากรน้ำขึ้นเป็นพิเศษ โดยมีผู้พิพากษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำแบบสหวิชาการเข้าร่วมทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ เพราะการพิสูจน์ความจริงและความถูกต้องเกี่ยวกับการตัดสินใจในเชิงเทคนิคการจัดการน้ำท่วมมิใช่เรื่องที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำได้แต่เพียงฝ่ายเดียว อำนาจหน้าที่ของศาลรวมถึงการจร่วจสอบความถูกต้องของแผนการจัดการน้ำท่วม หรือการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่ฝ่ายปกครองอาจกระทำไปโดยโดยไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในระบบกฎหมายเยอรมันและกฎหมายไทยนั้น อำนาจชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว ยังเป็นเรื่องของศาลปกครองและศาลยุติธรรม แล้วแต่ลักษณะของคดี โดยไม่มีศาลพิเศษแต่อย่างใด

(14.) ความรับผิดของรัฐเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม
ในอดีต หากมีเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นคงจะไม่มีผู้ใดคิดฟ้องร้องรัฐเพราะเป็นเรื่องภัยพิบัติตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน ภัยพิบัติต่างๆ แม้เกิดขึ้นโดยภัยธรรมชาติแต่เชื่อมก็โยงกับการจัดการภัยพิบัติของรัฐอย่างแยกไม่ออก หากรัฐไม่ป้องกันล่วงหน้าให้ดี หรือรัฐไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสมในระหว่างเกิดภัย รัฐตัดสินใจผิดพลาด ไม่ได้มาตรฐานที่ควรจะเป็น รัฐก็อาจจะถูกฟ้องให้รับผิดได้

ระบบกฎหมายเยอรมันมีทฤษฎีเรื่องหน้าที่ป้องกันคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่า รัฐมีหน้าที่ทำตามขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะเมื่อเป็นหน้าที่ที่สำคัญ รัฐต้องพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องประชาชน เช่น หน้าที่ในการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากรัฐละเลยไม่กระทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รัฐต้องรับผิดชอบ โดยทั่วไป ความรับผิดของรัฐหากจัดการเรื่องน้ำท่วมโดยไม่ถูกต้อง รัฐอาจต้องรับผิดทางรัฐสภาหรือรับผิดทางการเมืองเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสียหาย แต่รัฐจะต้องรับผิดในเชิงคดีจากคำตัดสินของศาลได้หรือไม่ เป็นคำถามสำคัญ ทั้งนี้ เพราะประเทศเยอรมันและประเทศไทยมีหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของรัฐซึ่งในหลายกรณี รัฐได้รับความคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องรับผิด  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะฟ้องร้องรัฐหลายประการในคดีน้ำท่วม สำหรับการฟ้องคดีปกครองเพื่อให้รัฐทำหน้าที่เป็นเรื่องที่ศาลปกครองเยอรมันให้การรับรอง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีเพื่อเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การฟ้องคดีเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกฎทางปกครองเกี่ยวกับผังเมืองพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือแผนการจัดการน้ำท่วม หรือใบอนุญาตเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม  นอกจากนี้ คดีที่มีการฟ้องสู่ศาลยังอาจเป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาค  หรือเรื่องการไม่กระทำตามกระบวนการของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เช่น การไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นต้น การร้องเรียนและการฟ้องร้องคดีปกครองเป็นไปตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเรื่องการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเป็นไปได้ที่ให้ฟ้องร้องได้หรือไม่ ที่ผ่านมา เคยมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งศาลเยอรมันได้วินิจฉัยแตกต่างกันไป ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องความรับผิดของข้าราชการ กฎหมายความรับผิดทางละเมิดที่เกิดจากความผิดหรือการเสี่ยงภัย และกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิในลักษณะคล้ายการเวนคืน ฝ่ายปกครองจะมีความคุ้มกันตามกฎหมายหลายประการ ฝ่ายปกครองก็อาจจะต้องรับผิดในความเสียหายทางแพ่งต่อผู้ได้รับความเสียหาย หากฝ่ายปกครองละเลยที่จะทำหน้าที่ที่สำคัญ โดยเฉพาะการไม่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำกำหนด เช่น การไม่กระทำการเกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยการสร้างหรือการดูแลคันกั้นน้ำ หรือการไม่ทำการเตือนประชาชนตามแนวทางของกฎระเบียบที่วางไว้ หรือการไม่ดูแลแหล่งน้ำอย่างเหมาะสม หรือการไม่รักษาพื้นที่ว่างริมทางน้ำอันเป็นผลให้เกิดน้ำท่วม รวมทั้งการประเมินภัยเรื่องน้ำท่วมต่ำเกินไป ทั้งที่มีน้ำท่วมใหญ่ รวมทั้งกรณีที่ฝ่ายปกครองตัดสินใจผิดพลาดอย่างรุนแรงโดยไม่มีพื้นฐานทางวิชาการและข้อมูลที่รองรับอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ถูกฟ้องอาจเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นก็ได้ตามแต่กฎหมายจะได้กำหนดหน้าที่ไว้ โดยการฟ้องคดีแพ่งจักต้องทำการคำนวณค่าเสียหาย ให้ถูกต้องเสียก่อน สำหรับในประเทศไทยนั้น ในอดีตไม่มีคดีในลักษณะนี้ แต่ในปัจจุบันประชาชนที่เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมเริ่มมีความคิดที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐในลักษณะเดียวกันแล้ว

(15.) การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำท่วม
นอกเหนือจากการป้องกันความเสียหายแล้ว สิ่งหนึ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูเยียวยาอย่างทันการณ์และเป็นธรรม  แต่การฟื้นฟูเยียวยา มิใช่แค่เรื่องการดูแลระยะสั้น เช่น การฟื้นฟูซ่อมแซมสาธารณูปโภค การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและสังคม การกำจัดขยะต่างๆ  หรือการฟื้นฟูอาชีพ เท่านั้น แต่หมายความถึงการพัฒนาจัดระบบการจัดการน้ำท่วมในระยะยาวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วย

การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำท่วมเป็นเรื่องที่รัฐจักต้องกระทำด้วยความเป็นธรรม การเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ผู้ที่รับภาระมากเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมย่อมมีสิทธิได้รับการเยียวยามากกว่าฝ่ายอื่น การฟื้นฟูเยียวยาอาจหมายถึงความสนับสนุนทางการเงินหรือความสนับสนุนในลักษณะอื่นก็ได้ การฟื้นฟูเยียวยาโดยแท้จริงแล้วมิใช่แค่เรื่องความเสียหายจากภายนอก แต่หมายความรวมถึงความเสียหายทางจิตใจของบุคคลด้วย ความช่วยเหลือเยียวยาจึงต้องมีความละเอียดอ่อนที่จะให้ตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วนในขั้นตอนการฟื้นฟูระยะสั้นและการฟื้นฟูระยะยาว ยังเป็นหลักการพื้นฐานที่ต้องมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การฟื้นฟูเยียวยาเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาค อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ และให้เกิดผลสมประสงค์แก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

(16.) การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
สังคมไทยน่าจะต้องเรียนรู้จากความสูญเสียในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ค้นหาสาเหตุ และค้นหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งทิศทางข้างหน้าของการพัฒนาระบบการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน อาจมีได้ดังต่อไปนี้

                (16.1) การแก้ไขปัญหาระยะสั้น
               การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้แก่ การจัดการกับปัญหาที่อยู่เฉพาะหน้าให้จบสิ้นโดยเร็วและฟื้นฟูเยียวยา ให้ประชาชนกลับมามีชีวิตอย่างปกติสุขได้อีกครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดน่าจะได้มีการทบทวน ถอดบทเรียน เพื่อสำรวจความสำเร็จและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางเทคนิคโครงสร้างวิศวกรรมต่างๆ รวมทั้งปัญหาระบบบริหารราชการขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และปัญหาในการประสานงานของฝ่ายต่างๆ

               (16.2) การแก้ไขปัญหาระยะยาว
การพิจารณาหาทางแก้ปัญหาแบบระยะยาวเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งต้องกลับไปพิจารณาหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เหตุใดจึงเกิดฝนตกและมีพายุมาก มนุษย์จะอยู่กับน้ำได้อย่างไร หรือจะสามารถลดปัญหาน้ำท่วมและฝนตกหนักได้อย่างไร จะปล่อยน้ำให้มีปริมาณที่เหมาะสมอย่างไร หากน้ำล้นเขื่อน จะกันพื้นที่น้ำผ่านให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร จะต้องจัดผังมืองใหม่หรือไม่ จะแก้ไขและพัฒนาระบบการจัดการน้ำ ที่ดิน สาธารณูปโภค และเทคนิคที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะพัฒนาระบบการจัดการอุบัติภัย รวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและสังคมให้มีความถูกต้องและความเป็นธรรมมากขึ้นได้อย่างไร

               แนวทางของประเทศเยอรมันในการปฏิรูปการจัดการน้ำท่วมเน้นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่ต้องจัดระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำและระบบนิเวศมากขึ้น เช่น การเพิ่มพื้นที่ให้น้ำ และต้องทำระบบการจัดการและกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมให้สัมพันธ์กับระบบนิเวศมากกว่าเดิม ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาเรื่องการก่อสร้างในทางเทคนิควิศวกรรม แล้ว การดูแลปัจจัยทางธรรมชาติจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นควบคู่กันไป เช่น การศึกษาธรรมชาติของการไหลของน้ำ และการรักษาต้นน้ำ ลำน้ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ และทะเลไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง และการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้ช่วยซับและชะลอน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นการคุ้มครองปกป้องดูแลประชาชน โดยเน้นการป้องกันภัยและลดปัญหา มากกว่าจะคอยตามแก้ไขปัญหา เพื่อมิให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนและการจัดระบบการป้องกันและลดภัยน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า หรือการทำแผนเตรียมการและการสื่อสารเพื่อรับมือกับพิบัติภัยทางธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือในทางกฎหมาย ทั้งกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำท่วม กฎหมายว่าด้วยการกำหนดผังเมืองและการใช้ที่ดิน กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ ให้ครบถ้วน

               (16.3) กระบวนการในแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
               กระบวนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน คงต้องเริ่มเรียนรู้จากภัยที่ประสบขึ้นจริง โดยการเรียนรู้ผ่านฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การถอดบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวของสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ และหากสังคมสามารถเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นการช่วยสร้างสติปัญญาให้เกิดขึ้นแก่สังคมในเรื่องการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดความสูญเสียกันอีกในอนาคต

               ประเด็นเรื่องความถูกต้องในการจัดการน้ำท่วม โยงกับความรู้ที่หลากหลาย ในเชิงวิชาการ จำเป็นต้องมีความรู้ข้ามพรมแดนจากสาขาต่างๆ เพราะความถูกต้องในการจัดการน้ำ มิใช่แค่เรื่องโครงสร้างทางเทคนิควิศวกรรมเท่านั้น แต่โยงกับเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผู้อยู่อาศัยอยู่กับน้ำด้วย การทำงานและแก้ไขปัญหาแบบสหวิชาชีพในเชิงบูรณาการจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะสังเคราะห์ความรู้ที่ตกผลึกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากจะมีคำถามในเชิงปรัชญาสิ่งแวดล้อมที่มองระบบนิเวศเป็นศูนย์กลางคงจะมีคำถามสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความถูกต้องในการจัดการน้ำท่วมว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มนุษย์จะกลับมายอมเคารพระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ และจะมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับกฎทางธรรมชาติได้มากขึ้นหรือไม่ และการขยายที่ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย การขยายตัวของเมือง การทำเกษตรกรรม การประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ขัดขวางเส้นทางเดินน้ำ อย่างผิดธรรมชาติ จะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้หรือไม่ อย่างไร และการตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายระบบนิเวศอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างรุนแรง จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันการณ์ได้หรือไม่ อย่างไร

               ในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม มีหลายคำถามที่สังคมไทยอาจจะต้องช่วยกันตั้งและหาคำตอบร่วมกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องการจัดการน้ำในภาพรวมว่า ทรัพยากรน้ำควรเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลกลุ่มใดในสังคมเป็นพิเศษหรือไม่ ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของคนในสังคมไทยในยามปกติ ถัดไปอาจจะเป็นคำถามที่ว่า การรับภัยพิบัติน้ำท่วม ผู้ใดควรต้องรับภาระมากกว่ากัน ด้วยเหตุผลอะไร และจะมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดการยอมรับได้อย่างไร ระหว่างการปล่อยให้ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่น้ำท่วม ระหว่างการปล่อยน้ำท่วมไปยังภาคเกษตรกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม หรือการปล่อยน้ำท่วมไปยังฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ระหว่างการใช้พื้นที่ชานเมืองเป็นที่อยู่อาศัยหรือการโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นนอกแนวทางเดินของน้ำ และในเรื่องผังเมือง ยังมีคำถามว่าการจัดการผังเมืองเกี่ยวกับน้ำท่วมจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร หากการจัดการผังเมืองในกรณีทั่วไปยังไม่มีประสิทธิภาพดีนัก หรือในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู ก็อาจมีคำถามว่า ในภาวะภัยพิบัติ แรงงานต่างด้าวควรจะถูกดูแลเหมือนแรงงานไทยหรือไม่  หรือคำถามที่ว่า ระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนไทย ผู้ใดควรได้รับการสนับสนุนมากกว่ากัน เป็นต้น

               ตัวอย่างคำถามต่างๆ ข้างต้น เกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่องความถูกต้องและความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วมโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนในสังคมไทยควรจะได้การเรียนรู้จากกันแลกัน ซึ่งมิใช่แค่เรื่องของวิศวกร นักผังเมือง นักกฎหมาย หรือเรื่องของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมที่จะต้องช่วยตั้งประเด็นการเรียนรู้ และช่วยกันคิดหาทางออกร่วมกัน ซึ่งนอกเหนือจากการตั้งประเด็นพูดคุย การเปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และอารมณ์ความรู้สึกแล้ว การทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งในปัญหาใหญ่ในภาพรวม และในแต่ละปัญหาย่อยรวมทั้งการสร้างบุคลากรทางวิชาการชั้นสูง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจจะมีข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบาย ระบบการทำงาน โครงสร้างงาน โครงสร้างองค์กร กฎหมาย และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

(17) บทสรุป
แม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่ท่ามกลางการสูญเสียในครั้งนี้ หากเราจะตั้งใจเรียนรู้เพื่อสร้างความถูกต้องในการจัดการน้ำท่วมให้ดีขึ้น ก็คงจะทำให้ความเสียหายเที่เกิดขึ้นไม่สูญเปล่า เพราะจะทำให้เกิดการป้องกันเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับความเสียหายและระบบนิเวศได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความบทนี้จะช่วยจุดประกายให้เพื่อนร่วมสังคมไทยได้ตื่นตัวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ล้ำค่าในครั้งนี้ และแปลงความโศกเศร้าสูญเสียให้กลายเป็นพลังทางปัญญาที่ร่วมกันกำหนดทิศทางของสังคมในวันข้างหน้า และหวังว่าทุกท่านจะสามารถตกผลึกทางความคิดในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบการจัดการน้ำท่วมให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สังคมเยอรมันได้เปลี่ยนแปรความผิดพลาดให้กลายเป็นความสำเร็จในการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งหากสังคมไทยมีการเรียนรู้และสามารถจัดระบบการจัดการน้ำท่วมแบบใหม่ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนไทยแล้ว สังคมของเราก็น่าจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการเผชิญหน้ากับอุบัติภัยอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิ แผ่นดินไหว หรือภัยแล้ง เพราะทุกเรื่องจะมีโครงสร้างและรูปแบบของปัญหาและทางแก้ไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือทุกเรื่องต้องการความถูกต้องและความเป็นธรรมในการจัดการในทุกขั้นตอนไม่ต่างจากเรื่องการจัดการน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรุ่งนี้! นัดพิพากษาคดีชายวัย 61 ส่ง SMS เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน

Posted: 22 Nov 2011 06:19 AM PST

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์ แจ้งข่าวว่า วันพรุ่งนี (23 พ.ย.54) ที่ห้อง 801 ศาลอาญา ถนนรัชดา เวลา 9.00 น. จะมีการพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.311/1554  กรณีนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวว่าส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  โดยอัยการส่งฟ้องเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 กล่าวหานายอำพลว่า เมื่อวันที่ 9, 11, 22 พ.ค. 2553 ได้ใช้โทรศัพท์มือถือพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยส่งข้อความดังกล่าวไปยังโทรศัพท์มือถือที่มีหมายเลขโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2), (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้สถิติการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีมานี้ โดยในระหว่างปี 2553 เพียงปีเดียวมีการดำเนินคดีถึงกว่า 400 คดี

นายอำพลวัย 61 ปี ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 1 ปี คดีโทษสูงสุดถึง 15 ปี ระหว่างการพิจารณาคดี ทีมทนายความยื่นประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “คดีมีความร้ายแรง และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา”

คดีนี้นายอำพล หรือที่มักเรียกกันว่า ‘อากง’ ได้ให้การปฏิเสธว่า เขาไม่ได้กระทำความผิด และพิมพ์ข้อความ SMS ผ่านมือถือไม่เป็น ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วกว่า 1 ปี แม้ว่า แม้อากงจะเคยได้รับการประกันตัวมาก่อนในชั้นสอบสวนโดยมิได้หลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งยังป่วยเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงและมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและหลานเล็กๆ 3 คน

ข้อตอนหนึ่งจากจดหมายที่ลูกสาวของอากงเขียนถึงคุณหนุ่ม เรดนนท์ (ธันย์ฐวุฒิ) ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคนหนึ่งที่คอยดูแลเป็นกำลังใจให้อากง

"สิ่งที่เราเป็นห่วงเตี่ยมากที่สุดคือ จิตใจที่อ่อนล้าและท้อแท้ของเตี่ย ความเข็มแข็งคงแทบจะหมดไปแล้ว ครั้งนี้ขอประกันตัวอีกกี่ครั้งก็ถูกปฏิเสธตลอด... แต่ความทุกข์ของครอบครัวเราก็ยังเบาบางลงเพราะมีพี่หนุ่มคอยดูแล คอยให้กำลังใจ คอยกระตุ้นจิตใจของเตี่ย...เพราะรู้ว่าไม่ได้สู้เพียงลำพังยังมีคนอื่นอีกมากมายที่โดนแบบเรา พวกเขาก็สู้เพื่อขอความยุติธรรมและอิสรภาพให้กับคนที่ต้องโดนแบบเตี่ย พวกเราพี่น้องทุกคนก็ไม่ท้อแท้แล้วยังมีหนทางสู้เพื่อเตี่ยของเรา พวกเราอยู่ข้างนอกต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อคนข้างใน ครอบครัวของเราไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับพวกเราเพราะดูแล้วเป็นเรื่องที่ห่างไกลเหลือเกิน ในความเป็นคนไทยของเราครอบครัวเราทุกคน ให้รักความเทิดทูนเคารพบูชาสถาบันมากที่สุด และเสียใจมากที่สถาบันลูกนำมาใช้อ้างโดยที่สถาบันไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นความสะเทือนใจสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคนเพราะคนไทยรักและเคารพสถาบันมากกว่าสิ่งใด พวกเราต้องสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ เพราะคดีนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่มีมดปลวกอย่างพวกเราเป็นแพะคอยรับบาป"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลอียิปต์มอบอำนาจให้ทหาร การชุมนุมยังปะทะเดือด

Posted: 22 Nov 2011 06:12 AM PST

กำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. ใกล้เข้ามา การปราบปรามผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด รัฐบาลรักษาการของอียิปต์ได้ประกาศลาออกและมอบอำนาจให้กับสภาทหาร หลังจากที่การปะทะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย

22 พ.ย. 2011 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า  รัฐบาลรักษาการของอียิปต์ได้ประกาศลาออกและมอบอำนาจให้กับสภาทหารของอียิปต์ หลังจากในวันจันทร์ (21) ที่ผ่านมามีการปะทะกันอย่างดุเดือดที่จัตุรัสทาห์เรีย ระหว่างทหารตำรวจและผู้ประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่สาม

โมอาเม็ด เฮกาซี โฆษกรัฐบาลรักษาการของอียิปต์แถลงผ่านช่องสถานีโทรทัศน์ MENA ของรัฐบาลเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลรักษาการนำโดยนายกรัฐมนตรีเอสซัม ชาราฟ ได้มอบอำนาจการปกครองให้กับสภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces) โดยบอกอีกว่าจากสถานการณ์ยากลำบากที่ประเทศอียิปต์กำลังเผชิญอยู่นี้รัฐบาลจะยังคงทำงานต่อไปจนกว่าการประกาศมอบอำนาจจะได้รับการอนุมัติ

ด้านสภาทหารของอียิปต์ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและวานให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสืบสวนกรณีเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่ฮอสนี มูบารัค อดีตประธานาธิบดีถูกโค่นล้มเมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของกองทัพระบุว่า ขอให้กลุ่มทางการเมืองและทุกฝ่ายในชาติเปิดการเจรจาเร่งด่วน เพื่อร่วมกันหาสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติดังเช่นปัจจุบัน และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด

รัฐมนตรีสาธารณสุขเปิดเผยว่า มีประชาชนอย่างน้อย 33 รายเสียชีวิต และอีก 1,500 รายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงตั้งแต่วันเสาร์ (19) ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นภายในเดือนนี้

กองทัพเผย แค่พยายามปกป้องอาคารราชการ ไม่ได้ปราบประชาชน
เชอรีน ทาดรอส นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากจัตุรัสทาห์เรียในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผู้ชุมนุมหลายพันคนตะโกนประสานเสียงว่า "ประชาชนต้องการจุดจบของจอมพล" ซึ่งพวกเขาหมายถึงจอมพล โมฮาเมด ฮุสเซน ทันทาวี ผู้นำของสภาทหาร

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานอีกว่า ผู้ประท้วงหลายพันคนกลับมาชุมนุมกันในช่วงบ่ายวันจันทร์ ขณะที่มีรถพยาบาลนำตัวผู้บาดเจ็บออกไป "...ผู้คนทยอยเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ...เหมือนทุกคนกำลังรู้สึกว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพวกเขากับตำรวจ"

ขณะเดียวกันประชาชนกลุ่มเดียวกับที่เคยชุมนุมขับไล่อดีตประธานาธิบดีมูบารัคก็ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในช่วงบ่ายของวันอังคาร (22) ตามเวลาท้องถิ่น ที่จัตุรัสทาห์เรีย นำโดยกลุ่มแนวร่วมเยาวชนเพื่อการปฏิวัติและกลุ่มขบวนการ 6 เม.ย. จากการรายงานของผู้สื่อข่างอัลจาซีร่าระบุอีกว่านอกจากจัตุรัสทาห์เรียในกรุงไคโรแล้วยังมีแผนนัดชุมนุมใหญ่ในเมืองอเล็กซานเดรียและซุเอซด้วย

ในช่วงที่มีการปะทะกันนั้น ตำรวจได้ยิงแก็สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมใช้ก้อนคอนกรีตจากทางเท้าขว้างปาเข้าใส่ตำรวจ

นายพล ซาอีด อับบาส รองผู้บัญชาการกองทัพในเขตภาคกลางของอียิปต์บอกว่าทหารแค่ปกป้องสถานที่ราชการ ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังผู้ชุมนุม

"กองทัพได้ออกปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทย และได้รับการรับรองจากผู้บัญชาการสูงสุดของสภาทหารในการร่วมมือกับกองกำลังรักษาความสงบเพื่อปกป้องอาคารของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นไปในทางอื่น" อับบาสกล่าว โดยบอกอีกว่ากองทัพไม่ได้ต้องการสลายการชุมนุมหรือขับไล่ผู้ประท้วงออกจากจัตุรัสทาห์เรีย

มีผู้ประท้วงส่วนน้อยเชื่อข้อความดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตามมีภาพวิดิโอที่เผยให้เห็นการใช้กำลังทารุณของตำรวจเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ

โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่าตั้งข้อสังเกตว่า จากเหตุรุนแรงในวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาทหารก็พยายามทำให้ตัวเองอยู่ห่างจากสถานการณ์ความรุนแรง โดยย้ำเตือนถึง "โร้ดแมป" หรือแผนแนวทางการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
อียิปต์มีกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 28 พ.ย. ที่จะถึงนี้ แต่แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่แล้ว แต่อำนาจการบริหารก็จะยังคงอยู่ในมือของกองทัพจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ แต่อาจจะเป็นช่วงปลายปี 2012 หรือ ต้น 2013

อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่านี้ โดยต้องการให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายในเดือน เม.ย. 2012

เฮกาซี โฆษกรัฐบาลรักษาการของอียิปต์กล่าวว่า ทั้งรัฐบาล พรรคการเมืองต่างๆ และสภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ ต่างก็ยืนยันให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดการ

ขณะเดียวกันกลุ่มพรรคการเมืองหลากหลายขั้วก็พากันประณามการปราบปรามผู้ชุมนุม ตั้งแต่โมฮาเมด เอล-บาราดี จากพรรค National Association for Change ไปจนถึงพรรค Freedom and Justice ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

แผนการแถลงข่าวเรื่องรายละเอียดและกระบวนการการเลือกตั้งในวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองหลายพรรคและผู้ลงสมัครอิสระต่างก็บอกว่าจะระงับการหาเสียงเอาไว้ก่อน ทำให้น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นว่าการเลือกตั้งจะมีความคืบหน้าหรือไม่

บรรยากาศ 'เซอร์เรียล' ในช่วงค่ำคืนของการปะทะ
สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานบรรยากาศช่วงที่มีการปะทะกันว่า มีช่วงหนึ่งที่กองกำลังรักษาความสงบได้ยิงแก็สน้ำตาเข้าไปยังจุดรักษาพยาบาลชั่วคราวที่จัตุรัสมาห์เรีย ทำให้แพทย์อาสาสมัครและผู้ประท้วงที่บาดเจ็บต้องหนีออกมา โบสถ์และมัสยิดที่อยู่ใกล้เคียงเปิดประตูรับผู้บาดเจ็บ แต่หน่วยพยาบาลก็บอกว่าพวกเขามีอุปกรณ์เหลืออยู่น้อยมากและพยายามช่วยเหลือไม่ให้มีผู้สูญเสียไปมากกว่านี้

มีผู้ประท้วงบางรายเขียนรายละเอียดการติดต่อและรายชื่อคนในครอบครัวลงบนแขนของพวกเขาก่อนออกไปร่วมประท้วง เพื่อที่จะทำให้สามารถระบุตัวตนได้หากพวกเขาถูกสังหาร

เดอะ การ์เดียน เปิดเผยอีกว่าบรรยากาศในช่วงกลางคืนของจัตุรัสทาห์เรียให้ความรู้สึกเหนือจริง (surreal) จากการผสมปนเปกันระหว่างความครึกครื้นกับความหวาดกลัว มีเสียงร้องเพลง เสียงกลอง ปะปนไปกับเสียงไซเรนรถพยาบาลแผดก้องในความสลัว มีเสียงระเบิดอยู่ประปรายจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจัตุรัส ขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงข้างถนนรอบที่ทำการกระทรวงมหาดไทย

"ชาวอียิปต์ต้องถูกทุบตี ถูกจับกุม และฟังคำโกหกของเหล่าผู้นำมากว่า 60 ปีแล้ว แต่หลังจากที่พวกเราผ่านพ้นมาทั้งหมด พวกเราก็จะไม่ยอมรับมันอีกต่อไป" กามีลา อิสมาอิล กล่าว เธอเป็นผู้ลงสมัครส.ส. ที่ตอนนี้ยกเลิกการหาเสียงแล้วมาเข้าร่วมการประท้วงในกรุงไคโร

"นี่คือข้อความที่พวกเราหนุ่มสาวชาวอียิปต์ส่งถึงพวกสภาทหาร (SCAF) ยิงฉันเข้าที่เบ้าตาสิ เผาเนื้อหนังมังสาฉันสิ แล้วฉันจะไปรักษาตัวเองที่หน่วยพยาบาลแล้วเดินตรงกลับมาต่อสู้ใหม่" อิสมาอิลกล่าวอีก "พวกเขาเคยฝันว่าจะมีบ้าน มีรถยนต์ แล้วก็ออกจากประเทศไป ตอนนี้พวกเขาฝันว่าจะมายืนหยัดอยู่ที่จัตุรัสทาห์เรีย ยุคสมัยของเผด็จการจบสิ้นลงแล้ว ไม่มีใครมาคอยชี้สั่งชาวอียิปต์ได้อีก"

ที่มา
Egypt in turmoil as cabinet offers to quit, Aljazeera, 22-11-2011 
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2011/11/20111121172949588785.html

Egypt's government offers to resign as protests grow, Aljazeera, 22-11-2011
http://www.guardian.co.uk/world/2011/nov/22/egypts-government-offers-resign-protests

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดแผนรับมือภัยพิบัติจังหวัดสตูล

Posted: 22 Nov 2011 06:04 AM PST

นายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์

 

แม้ภูมิศาสตร์ของจังหวัดสตูล จะมีเทือกเขาบรรทัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วค่อยๆ ลาดลงต่ำสู่ทิศตะวันตกออกทะเลอันดามัน โดยมีลุ่มน้ำสำคัญแค่สายสั้นๆ คือ คลองละงู คลองดุสน และคลองท่าแพ เป็นเส้นทางน้ำผ่าน กรณีน้ำท่วมน้ำหลาก จึงเป็นเหตุการณ์ปกติของจังหวัดสตูลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ทว่า ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมหนักหน้าห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส อำเภอควนโดน บริเวณตลาดสดตำบลฉลุง บริเวณเทศบาลเมืองสตูล บริเวณตลาดสดในตัวอำเภอละงู และบริเวณอื่นๆ ตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ปลายเดือนมีนาคม 2554 และเดือนกันยายน 2554 ย่อมยืนยันได้อย่างดีว่า เมื่อใดฝนฟ้ามรสุมปกคลุมจังหวัดสตูล เมื่อนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวทันที

บ่ายวันหนึ่ง รถบรรทุกหลายคันจอดจอแจอยู่ตรงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ของบริจาคน้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้ง ถูกลำเลียงขึ้นเอาไปไว้บนคันรถ มีจุดมุ่งหมายปลายทางส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่กรุงเทพมหานคร

นายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ปาดเหงื่อที่ชุ่มหน้าออก พร้อมกับบอกถึงการเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดสตูลว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2554 ขึ้นมาแล้ว มีนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

“เราได้จัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัดสตูลปี  2554 เสร็จแล้ว จากนั้นได้ประสานงานกับทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำแผนเฉพาะกิจฯ จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ และระบบสื่อสาร รวมถึงการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยและป้ายแจ้งเตือนภัยพร้อมกันไปด้วย” นายสำเริง กล่าว

สำหรับจังหวัดสตูลมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 5 ชุด 50 คน แต่ละอำเภอมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วอำเภอละ 1 ชุด ชุดละ 10 คน

ในส่วนของกระบวนการเฝ้าเตือนภัยนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกระบวนการแจ้งเตือนภัยเพื่อให้การช่วยเหลือ เช่น ชลประทานจังหวัดสตูล ทำหน้าที่ตรวจเช็คสภาพลุ่มน้ำ รายงานน้ำท่าทุกพื้นที่ให้จังหวัดทราบ สถานีอุตุนิยมวิทยาสตูล ทำหน้าที่รายงานปริมาณน้ำฝน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล ทำหน้าที่ขยายผล รวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์

พร้อมกันนี้ จังหวัดสตูลยังได้จัดทำป้ายและธงสัญญาณเตือนภัย พร้อมไซเรน เพื่อบอกสถานการณ์น้ำ เพราะที่ผ่านมาการแจ้งเตือนผ่านวิทยุไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยจะติดป้ายใน 3 ลุ่มน้ำสำคัญ ที่มักจะเกิดปัญหา 3 จุด จุดละ 4 – 5 แห่ง พร้อมเตือนภัยประชาชน หากต้องอพยจะติดสัญญาณสีแดงพร้อมเปิดไฟแดง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสตูล นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสตูล ปี 2554 มีส่วนราชการต่างๆ เช่น ตัวแทนจากทรัพยากรน้ำภาค 8 สำนักงานชลประทานจังหวัดสตูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสตูล เป็นต้น

ในวันดังกล่าว นายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุทกภัยประจำลุ่มน้ำจังหวัดสตูล ปี2554 แยกเป็น คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองดุสน คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองท่าแพ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองละงู มีหน้าที่สำรวจ วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของการเกิดอุทกภัยในแต่ละลุ่มน้ำ ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว

สำหรับโครงการระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย โครงการขุดลอกคลองมำบัง ช่วงตำบลควนโดน ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ตำบลบ้านควน ตำบลควนขัน ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 3.50 เมตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองมำบัง ช่วงตำบลควนโดน ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ตำบลบ้านควน ตำบลควนขัน ตำบลพิมาน อำเภอเมือง กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองท่าแพ ช่วงตำบลท่าแพ ตำบลแป-ระ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ กว้างประมาณ 10 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ระยะทางประมาณ 2.50 กิโลเมตร และโครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองท่าแพ ช่วงตำบลท่าแพ ตำบลแป-ระ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ กว้างประมาณ 4 เมตร ลึกประมาณ 2.50 เมตร ระยะทางประมาณ 2.50 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองละงู ช่วงตำบลเขาขาว ตำบลกำแพง ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 2.50 เมตร ระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร และโครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองละงู ช่วงตำบลเขาขาว ตำบลกำแพง ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคูระบายน้ำริมถนนยนตการกำธร ระหว่างอำเภอควนโดน-อำเภอเมือง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร พร้อมวางท่อระบายน้ำ

โครงการขุดลอกคูระบายน้ำริมถนนสายฉลุง–ท่าแพ–ละงู ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 3 เมตร ความลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร พร้อมวางท่อระบายน้ำ

นี่คือ ภาพคร่าวๆ ของการเตรียมการป้องกันและเตรียมรับมือภัยพิบัติที่จังหวัดสตูล

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วัฒนธรรมปล่อยวาง “กับดักการหลอกตัวเอง”

Posted: 22 Nov 2011 05:59 AM PST

“ชีวิตคนตะวันออกมีความสุขมากกว่าคนตะวันตก เพราะผู้คนไม่ค่อยตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เราปล่อยวาง อะไรผ่านแล้วก็ให้ผ่านไป เพราะถ้าตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ จะมากจะน้อยปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเจ็บปวด อย่างเรื่อง 6 ตุลาฯ มีคนส่วนหนึ่งเหมือนกันที่ออกมาเชียร์ให้จัดการนักศึกษา ถ้าคุณเก็บมาคิด มันต้องเจ็บปวดขึ้นมาอีก ตรงกันข้าม ถ้าปล่อยวาง ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ยกเว้นญาติของคนตาย นั่นเขาคงสุขไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะทำยังไง ในเมื่อทั้งระบบของเราเป็นแบบนี้”

                                                   (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากนิตยสาร GM ฉบับเดือนสิงหาคม 2001)
 
ข้อสังเกตข้างต้นสะท้อนถึง “วัฒนธรรมปล่อยวาง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2553 ที่ผ่านมาผมไปสัมภาษณ์พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปประกอบงานวิจัยชื่อ “พระสงฆ์กับการเลือกฝ่ายทางการเมือง” มุมมองหนึ่งที่ได้เห็นชัดเจนเป็นพิเศษคือมุมมองเรื่อง “การปล่อยวาง” ในความหมายข้างต้น เช่น พระพยอม กัลยาโณ เสนอทำนองว่า “กรณี 91 ศพ” เป็นต้น หากมีการหาคำตอบกันอย่างถึงที่สุดว่าใครเป็นคนผิดก็เท่ากับเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ ความขัดแย้งก็ไม่จบ ความปรองดองก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงควรลืมอดีตเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการสร้าง “ความปรอดอง”
 
ทัศนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ต้องการแสวงหาความจริง หรือชี้ว่าใครผิดใครถูกในกรณีสลายการชุมนุม แต่มุ่งเสนอโมเดลอนาคตของประเทศว่าควรจะเป็นอย่างไร และต้องปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง คำเทศนาของพระสงฆ์ การรณรงค์เรื่องปรองดอง และแม้แต่ล่าสุดจดหมายของคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลืมอดีต เพื่อให้เกิดความปรองดองและประเทศจะได้เดินหน้าต่อ
 
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนแต่สะท้อน “วัฒนธรรมปล่อยวาง” ทั้งสิ้น หากมองในภาพกว้างเราอาจจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมปล่อยวางเป็นวัฒนธรรมตะวันออก และวัฒนธรรมตะวันออกมักมีรากฐานมาจากศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์ พุทธ เชน ปรัชญาเต๋า ต่างเน้นเรื่อง “การปล่อยวาง” เพื่อความหลุดพ้นทางจิต หรือเพื่อมีชีวิตกลมกลืนกับวิถีทางแห่งกฎธรรมชาติ
 
อย่างไรก็ตาม หากเราไปดูที่หลักคำสอนและวิถีชีวิตดั้งเดิมของศาสดา นักปรัชญา ผู้ก่อตั้งศาสนาและปรัชญาตะวันออกจริงๆ แล้ว เราจะพบว่าการปล่อยวางไม่ใช่การปฏิเสธที่จะตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง แต่การปล่อยวางจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผ่านการตั้งคำถามกับตนเอง กับชีวิตอย่างจริงจัง หรือผ่านการคิดอย่างทะลุปรุโปร่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น
 
เช่น การปล่อยวางวิถีชีวิตทางโลกของเจ้าชายสิทธัตถะจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ผ่านการตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง ไม่ผ่านการคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่คนทั่วๆ ไปอาจไม่คิดจริงจังนัก เช่น ปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น และการปล่อยวางในระดับการตรัสรู้ก็ไม่อาจเป็นไปได้เช่นกัน หากไม่ผ่านการใช้ชีวิตตนเองทดลองปฏิบัติและคิดจนทะลุปรุโปร่งกระทั่งค้นพบทางเลือกใหม่ของตนเอง ในคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เชน และปรัชญาเต๋าก็เหมือนกัน การปล่อยวางจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจังมาก่อน
 
ยิ่งในพุทธศาสนามหายานและวัชรยานที่ถือว่าเป็นศาสนาแนวก้าวหน้าด้วยแล้ว การปล่อยวางจะเป็นไปได้จำเป็นต้องผ่านการวิพากษ์ตนเองอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ชนิดที่ว่าต้องฉีกหน้ากากตนเองทุกชั้นออกให้หมดจดจริงๆ เท่านั้น ฉะนั้น แก่นของการปล่อยวางตามหลักศาสนาปรัชญาตะวันออกจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังอย่างยิ่งกับการตั้งคำถามกับตนเอง การคิดอย่างทะลุปรุโปร่งในปัญหาแต่ละเรื่อง กระทั่งการเอาชีวิตของตนเองไปทดลองเพื่อค้นหาคำตอบที่ทำให้สามารถปล่อยวางได้จริง
 
แต่วัฒนธรรมการปล่อยวางที่ปฏิเสธการตั้งคำถามกับตนเอง ไม่ต้องคิดอย่างจริงจัง ไม่นิยมถกเถียงกันอย่างถึงที่สุดในประเด็นปัญหาซีเรียสต่างๆ นั้น น่าจะเป็น “วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ” ที่สร้างกันขึ้นมาใหม่จากการปรับใช้หลักคำสอนพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับระบบสังคมการเมืองแบบ “อำนาจนิยมอุปถัมภ์”
 
ฉะนั้น แม้วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ จะอ้างอิงศาสนาพุทธ แต่เราก็เห็นได้ว่าไม่สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม โดยลองตั้งคำถามง่ายๆ เช่น
 
1) เป็นไปได้อย่างไรที่พระพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ จะเสียสละชีวิตทางโลก สละสถานะชนชั้นกษัตริย์เพียงเพื่อจะแสวงหาคำตอบที่จะมาบอกแก่ชาวโลกว่า การปล่อยวางคือการไม่ตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง ไม่คิด ไม่ถกเถียงอย่างถึงที่สุดในปัญหาพื้นฐานของชีวิต และปัญหาพื้นทางทางสังคมการเมืองต่างๆ
 
2) ที่สำคัญการค้นพบอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้านั้น ก็เกิดจากการตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง การทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตออกแสวงหา และ “ความคิดหลัก” (main idea) ของอริยสัจสี่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาใดๆ จะแก้ได้ ก็ต่อเมื่อรู้ “ความจริง” ของปัญหานั้นๆ ก่อน ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระพุทธเจ้าจะสอนให้ชาวพุทธปล่อยวางโดยการทิ้งปัญหา หรือให้ทำใจลืมปัญหาที่เป็นจริงแล้วชะช่วยให้ชีวิต และสังคมก้าวไปสู่ภาวะที่ดีขึ้น
 
ถ้าเช่นนั้น วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ ที่ไม่จริงจังกับการตั้งปัญหากับตนเอง ไม่จริงจังกับการคิดการถกเถียงปัญหาซีเรียสต่างๆ ของชีวิต และสังคมการเมือง เกิดจากอะไร?
 
ผมคิดว่า เกิดจากระบบสังคมการเมืองแบบ “อำนาจนิยมอุปถัมภ์” ที่ฝังราลึกมานานตั้งแต่ยุคราชาธิปไตยที่กษัตริย์ครอบครองทั้งอำนาจรัฐ ควบคุมพุทธจักร หรือใช้สถาบันสงฆ์เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ในระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นทั้งผู้ใช้อำนาจรัฐ เป็นทั้งผู้มีอำนาจชี้นำทางความคิดและทางศีลธรรมด้วย และเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้รับความสุขด้วย ตัวผู้มีอำนาจมีฐานะเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” เหนือมนุษย์ทั่วไป และมี “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ทั้งอำนาจปกครอง อำนาจชี้นำทางความคิด และทางศีลธรรม
 
ในปัจจุบันแม้สังคมเราจะเปลี่ยนระบบการปกครองเชิงนิตินัย (บางระดับ) เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นประชาธิปไตยที่เน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกที่เอื้อต่อการยอมรับระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์อันเป็นมรดกแห่งอดีต ฉะนั้น ภายใต้ระบบสังคมการเมืองดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิด “วัฒนธรรมปล่อยวางอย่างจำเป็น” คือ
 
1) วัฒนธรรมปล่อยวางของราษฎร์ที่จะไม่คิด ไม่ตั้งคำถามกับตนเอง กับสังคมอย่างจริงจัง เพราะมีกษัตริย์ มีพระสงฆ์คิดแทน หรือผลิต "คำตอบสำเร็จรูป" ให้ทุกเรื่องอยู่แล้ว นับแต่เรื่องในอดีตชาติ ชาติปัจจุบัน และชาติหน้า วิถีชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครองที่ดี ความสุขในชีวิตการงาน การเป็นคนดี การทำใจ การมีความสงบทางจิตใจ ฯลฯ
 
2) วัฒนธรรมของราษฎรที่จะปล่อยวางไม่ตั้งคำถามต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์และอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้น เพราะมีกฎหมายห้าม มีการปลูกฝังให้เชื่อฟังและสยบยอมเนื่องจากถือว่า “ความเชื่อ” สำคัญกว่า “ความจริง”
 
ฉะนั้น ระบบสังคมการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์มันจึงสร้าง “วัฒนธรรมปล่อยวางอย่างจำเป็น” ที่มีอิทธิพลในการหล่อหลอม หรือสร้าง “บุคลิกภาพ” ทั้งภายนอกและภายในแก่ราษฎร์ให้มี “คุณลักษณะเฉพาะตัว” คือเป็น "ผู้เคารพเชื่อฟังและหวังพึ่งผู้มีอำนาจ" โดยเฉพาะบุคลิกภาพภายในตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึก จิตสำนึก ค่านิยม มาตรฐานตัดสินทางศีลธรรม ปรัชญาชีวิต อุดมการณ์ทางสังคมการเมือง ล้วนแต่ถูกหล่อหลอมขึ้นให้สยบยอม รู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้สถานะไพร่ของตนเองที่ “จะต้องปล่อยวาง” ไม่ตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อสถานะและอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์นั้น
 
วัฒนธรรมปล่อยวางภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ดังกล่าวนี้ นอกจากจะหล่อหลอมนิสัยปล่อยวางที่จะคิด จะตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แล้ว มันยังสร้างนิสัยที่ไม่จริงจังกับการตั้งคำถามกับตนเองและต่อสังคมของตนเองด้วย และก็สร้าง “ศีลธรรมดัดจริต” แบบสลิ่มด้วย ซึ่งหมายถึง “ศีลธรรมแบบปิดตาข้างหนึ่ง” ที่นิยมอ้างอิงเพื่อตัดสินดี-เลวระหว่างผู้มีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์กับนักการเมืองที่ประชาชนเลือก
 
จะว่าไปวัฒนธรรมปล่อยวางแบบไม่จริงจังกับการคิด การตั้งคำถาม การแสวงหาความจริงของปัญหาดังกล่าวนั่นเองคือ “กับดักของการหลอกตนเอง” โดยการหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมกันคิด หรือถกเถียงอย่างถึงที่สุดในปัญหาที่แท้จริง แล้วมันก็หล่อหลอมให้ผู้คนมีศีลธรรมดัดจริตกันทั่วบ้านทั่วเมือง และขยันใช้ศีลธรรมดัดจริตนั้นตัดสินคนอื่นๆ อย่างไม่ต้องใช้ความคิด ใช้เหตุผล หรือยึดความสอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย แม้แต่หลักการของศาสนาที่ตนเองอ้างถึง
 
ในอดีตวัฒนธรรมปล่อยวางดังกล่าวอาจช่วยให้คนสบายใจได้บ้าง แต่ปัจจุบันมันทำให้สังคมติด “กับดักแห่งการหลอกตัวเอง” ที่เป็นเหตุให้สั่งสมปัญหาซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจพบทางออก แล้วความรุนแรงนองเลือดก็มักเป็นผลที่ตามมาอย่างอุบัติเหตุ และ/หรืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย: อำนาจในการอภัยโทษกับหลักนิติรัฐ

Posted: 22 Nov 2011 05:51 AM PST

ความเบื้องต้น
ประเด็นที่ร้อนแรงมากตอนนี้ก็คือเรื่อง "พ.ร.ฎ.อภัยโทษ" ที่เข้าไปเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร อันนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูและมีข้อโต้แย้งปรากฏออกมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักกฎหมายหลายท่านว่า "พ.ร.ฎ.อภัยโทษ" ดังกล่าวนั้น เอื้อประโยชน์กับคุณทักษิณและขัดแย้งกับหลักนิติรัฐ เพราะเป็นการเข้าไปทำลายคำพิพากษาของศาล ไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาล 

ก่อนที่จะเข้าไปลงในรายละเอียดปลีกย่อยว่า เหมาะหรือไม่เหมาะเพียงใด ขัดแย้งหรือทำลายหรือไม่ ผมเห็นว่า เราพึงต้องจำแนกแยกแยะให้ดีเสียก่อน อย่าผลีผลามเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์กันแบบเหมารวม เพราะประเด็นข้อถกเถียงข้างต้น จริงๆ มันประกอบไปด้วย 2 มิติด้วยกัน

มิติแรกคือ มิติทางการเมือง (เกี่ยวข้องกับเรื่องความชอบธรรมด้วย (Legitimacy); ทักษิณ) 

มิติที่สองคือ มิติทางกฎหมาย (เกี่ยวข้องกับเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย (Legality); นิติรัฐ) 

บันทึกฉบับนี้จะกล่าวและวิเคราะห์ทางด้านมิติทางกฎหมายเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผมจะทำการอรรถาธิบายและวิเคราะห์เพียงเฉพาะประเด็นที่มีการโต้แย้งว่า "อำนาจในการอภัยโทษนั้นขัดต่อหลักนิติรัฐหรือไม่อย่างไร?" เท่านั้น ไม่มีการนำเอาประเด็นตัวคุณทักษิณมาเกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้แล้ว ผมก็จะขอแยกแยะไม่นำประเด็นที่เกี่ยวกับประมุขของรัฐ (พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในรูปแบบของรัฐแบบราชอาณาจักร) มาข้องเกี่ยวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะการที่จะเข้าไปวิเคราะห์ในแง่มุมทางกฎหมายของ "อำนาจในการอภัยโทษหลักนิติรัฐ" นั้น สามารถแยกได้โดยเด็ดขาด (Separability) จากประเด็นทางการเมืองและประมุขของรัฐข้างต้น โดยมิได้ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนคลาดเคลื่อนต่อการวิเคราะห์ตามหลักวิชาแต่อย่างใด  

กล่าวให้เข้าใจได้โดยง่ายก็คือ หากคุณวิเคราะห์แล้วเห็นว่า "อำนาจในการอภัยโทษนั้นขัด หรือไม่ขัดต่อหลักนิติรัฐ" การนำประเด็นของพระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุขของรัฐและตัวคุณทักษิณมาผนวกเข้าก็มิได้ส่งผลใดๆ ต่อคำตอบที่ว่า "ควรจะไม่ให้มี หรือควรให้มีอำนาจในการอภัยโทษในสังคมต่อไปหรือไม่?" นั่นเอง

1.หลักการทั่วไปของอำนาจในการอภัยโทษ
1.1  อำนาจในการอภัยโทษคืออะไร?
อำนาจในการอภัยโทษ (Pardon Power) ถือเป็นอำนาจดุลพินิจ (Discretionary Power) ของฝ่ายบริหารโดยแท้ (ในทางหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญถือให้เป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร (Executive Privilege) เสียด้วย) ในด้วยการลดหย่อนผ่อนโทษอันส่งผลให้ตัวผู้กระทำความผิดได้กลับคืนสู่สังคมอีกครั้งบนพื้นฐานของแนวคิด “การยกโทษและการบรรเทาโทษให้” (Clemency) ทั้งนี้ “การอภัยโทษ” ข้างต้นอาจมีการกำหนดเงื่อนไขไว้หรือไม่ก็ได้

หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า “อำนาจของฝ่ายบริหารชนิดนี้” มีลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างผิดแผกแตกต่างไปจากอำนาจของฝ่ายบริหารในกรณีอื่นๆ ที่ปกติแล้วจะเป็นอำนาจเชิงของการบังคับใช้กฎหมายอันมีแหล่งที่มา หรือฐานอำนาจจากกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด แต่อำนาจนี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือ อำนาจในการอภัยโทษมีแหล่งที่มา หรือฐานอำนาจมาจากตัวรัฐธรรมนูญ (ในประเทศส่วนใหญ่ที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย กรีซ สเปน ไทย ฯลฯ เป็นต้น) นั่นเอง         

1.2 อำนาจในการอภัยโทษทำหน้าที่อะไร?
อำนาจนี้เป็นอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้นให้กับ "ฝ่ายบริหารโดยแท้" เพื่อทำหน้าที่ (Function) ในการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยหลักอื่นๆ มิให้กลายเป็นทรราชย์ (Tyrant) ไป ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่ในบางครั้งบางคราอาจมีการตราตัวบทกฎหมายที่มีการกำหนดโทษที่สูงมากจนเกินไป (ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด) หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการ (ศาล) ที่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดที่ค่อนข้างรุนแรง (ขึ้นอยู่กับการตีความและดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่าน) ผ่านการวินิจฉัยอรรถคดีต่างๆ ของตนเอง ด้วยแนวคิดของการ "ยกโทษและปลดโทษ" ให้ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  

2.   บทวิเคราะห์กรณีอำนาจในการอภัยโทษกับหลักนิติรัฐ
สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่า "อำนาจในการอภัยโทษขัดกับหลักนิติรัฐ" นั้น ด้วยความเคารพต่อผู้นำเสนอข้อโต้แย้งทำนองนี้ ผมมิอาจเห็นพ้องด้วย แต่กลับเห็นว่า ข้อโต้แย้งค่อนข้างรุนแรงจนเกินไปและอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะหากเข้าไปทำความเข้าใจใน "ตัวอำนาจในการอภัยโทษ" ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วก็จะเห็นว่า กรณีหาได้เป็นดังเช่นข้อโต้แย้งเลย

กล่าวคือ "อำนาจในการอภัยโทษ" นั้นถือเป็นอำนาจที่ทำหน้าที่ในการถ่วงดุลคัดง้างอำนาจระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยหลักด้วยกันเอง อันเป็นลักษณะตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ซึ่งเป็นกลไกที่นำไปสู่การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ตรงนี้จึงสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า อำนาจในการอภัยโทษที่อยู่บนหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สามารถที่จะขัดต่อหลักนิติรัฐที่มีองค์ประกอบสำคัญก็คือหลักการแบ่งแยกอำนาจเองได้เลย ดังนั้น การพยายามตีความให้อำนาจในการอภัยโทษขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจจึงเป็นการตีความบนตรรกะที่แปลกประหลาด       

อย่างไรก็ดี อาจมีหลายท่านสงสัยอยู่ว่า กรณีของอำนาจดังกล่าวนี้ไม่เข้าไปทำลายคำวินิจฉัยหรือศาลหรือ? เพราะหากเป็นการเข้าไปทำลายคำวินิจฉัยแล้ว จะนำไปสู่การไม่เคารพคำพิพากษาของศาลซึ่งก็อาจมองได้ว่า เป็นการเข้าไปขัดหรือทำลายหลักนิติรัฐไป 

คำตอบก็คือ ไม่ เพราะหากพินิจพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า อำนาจในการอภัยโทษนั้น ไม่ได้เข้าไปทำลาย หรือกลับ (Overturn) คำวินิจฉัยขององค์กรตุลาการเลย คำวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น

ขอยกตัวอย่างให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น ศาลมีคำตัดสินให้ นาย ก. ต้องถูกจำคุก 5 ปี เพราะกระทำการผิดกฎหมาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก. ติดคุกมาแล้ว 3 ปี ต่อมาได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวไป กรณีนี้ในสายตาของระบบกฎหมาย นาย ก. ถือเป็นผู้กระทำความผิด ยังมีความความผิดอยู่ ดังนั้น จึงต้องโทษจำคุกก็คือ 5 ปี ตามคำพิพากษา แต่มีการอภัยโทษ (ปลดโทษให้) อันส่งผลให้ไม่ต้องรับโทษ 2 ปี ที่เหลือ แต่มิใช่การลบล้างการกระทำความผิดของนาย ก. (กรณีเป็นการต่างกับการนิรโทษกรรมที่มีการลบล้างทั้งโทษและความผิด)           

หลายท่านอาจมองว่า อำนาจในการอภัยโทษนี้ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารค่อนข้างมากเลย ตรงนี้อาจนำไปสู่การทำให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจนี้ไปโดยมิชอบ (Abuse of Powers) ไม่มีเหตุผลได้หรือไม่ จนกระทั่งกลายเป็นสภาวะฝ่ายบริหารทรราชย์?

คำตอบก็คือ เป็นไปได้ แต่จริงๆ ในทางหลักการแล้ว แม้ว่า "อำนาจในการอภัยโทษจะถือเป็นอำนาจดุลพินิจโดยแท้ อันส่งผลให้ไม่สามารถที่จะถูกควบคุมตรวจสอบทางด้านกฎหมาย (Legal Control) ได้” ผ่านทั้งรัฐสภาและศาล (อย่างไรก็ตาม ศาลอาจเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ในกรณีที่เป็นการใช้อำนาจอภัยโทษโดยมีการกำหนดเงื่อนไขอันเป็นหลักการสากล) แต่ก็มิได้หลุดลอยออกจากระบบการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่เป็นองค์ประกอบของหลักนิติรัฐอันมีเจตจำนงค์ในการเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจ (Limited Powers) ของรัฐเพื่อ “การันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

กล่าวคือ แม้อำนาจในการอภัยโทษจะไม่อยู่ในขอบเขตการควบคุมใน “ดินแดนทางกฎหมาย” (ซึ่งหากจะให้กล่าวอย่างง่ายๆ ก็อาจจะอุปมาอุปไมยคล้ายกับ "อำนาจในการยุบสภา" ที่มิสามารถถูกตรวจสอบได้ในแง่ของความชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยแท้จริง ศาลมิอาจเข้ามาตรวจสอบได้ เพราะถือได้ว่าเป็น "การกระทำของรัฐบาล" (Act of Government) (ตามหลักกฎหมายปกครอง)) แต่อำนาจดังกล่าวก็ยังถูก “ควบคุมในดินแดนทางการเมือง” (Political Control) ได้ เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ การถอดถอน (Impeachment) หรือแม้แต่การตรวจสอบโดยผ่านระบบ “สภาเล็ก” อย่างระบบการตรวจสอบผ่านการสอบสวนของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา (Parliamentary Committee Investigation) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเด็นของการใช้อำนาจในการอภัยโทษนั้นเป็นเรื่องทางการเมือง (Political Question) หาใช่เรื่องทางกฎหมาย ดังนั้น จึงเป็นเหตุเป็นผลที่ว่า เมื่อเป็นเรื่องการเมือง ก็ย่อมต้องใช้ "วิถีทางทางการเมือง" เข้าไปตรวจสอบ     

อนึ่ง นอกจากการตรวจสอบโดยวิถีทางทางการเมืองผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ด้วยวิธีการทั้งหมดข้างต้นแล้ว “ประชาชน” เองก็ย่อมมีอำนาจและความชอบธรรมที่จะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจอภัยโทษของฝ่ายบริหารเองได้อย่างมิพักต้องสงสัย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ผ่านการ “วิพากษ์วิจารณ์” (Criticize) มาตรการหนึ่ง และผ่านการใช้อำนาจตัดสินใจในการที่จะเลือก หรือไม่เลือกรัฐบาลชุดดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศในยุคสมัยต่อๆ ไปหรือไม่อีกมาตรการหนึ่ง ทั้งหมดนี้ในฐานะของเจ้าของอำนาจอธิปไตยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง              

3.  บทสรุป
ตามหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ อำนาจในการอภัยโทษนั้นถือเป็นอำนาจดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการมิให้มีอำนาจมากอันจะเป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ดังนั้น จึงมิอาจเป็นไปได้หากจะกล่าวหาว่า อำนาจในการอภัยโทษดังกล่าวนี้ขัดต่อหลักนิติรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากด้วยสภาพของอำนาจดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักนิติรัฐอยู่แล้ว อีกทั้งยังปรากฏด้วยว่าอำนาจดังกล่าวหาใช่การเข้าไปทำลาย หรือกลับคำวินิจฉัยของศาลด้วยการ “ลบล้างการกระทำความผิด” แต่อย่างใด เป็นเพียงแต่การเข้าไป “ปลดและบรรเทาโทษ” ให้เท่านั้น จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงประเด็นของการไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติรัฐ 

อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลอยู่พอสมควร กล่าวคือ โดยสภาพของอำนาจดังกล่าวดูประหนึ่งว่าจะเป็นอำนาจที่ค่อนข้างกว้างขวางของรัฐบาล อีกทั้งยังปรากฏตามหลักวิชาว่าไม่สามารถที่จะถูกตรวจสอบโดยระบบกฎหมายอันนำไปสู่การรับผิดชอบทางด้านกฎหมาย (Legal Responsibility) ได้ กรณีจึงอาจส่งผลให้ “ฝ่ายบริหารกลับกลายเป็นทรราชย์” ได้ในท้ายที่สุด ประเด็นดังกล่าว สามารถอธิบายตามหลักกฎหมายรัฐธรรมได้ว่า คงมิได้เป็นเช่นนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้ว่า การใช้อำนาจในการอภัยโทษจะไม่อยู่ในส่วนของการควบคุมในระบบกฎหมาย แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมในระบบการเมืองอันนำไปสู่ความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Responsibility) ได้ ผ่านกลไกของรัฐสภาและตัวประชาชนเองในฐานะของเจ้าของอำนาจอธิปไตยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดปมเก่า 'เมกกะโปรเจ็คท์น้ำ' ของสำนักทรัพย์สินฯ ก่อน กยอ.ปัดฝุ่นใช้

Posted: 22 Nov 2011 04:47 AM PST

 
 
แม้เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสสำคัญท่ามกลางวิกฤติที่ประเทศไทยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แต่การดำเนินการใดๆ ณ สถานการณ์นี้ก็ยังคงต้องถูกตั้งคำถามและตรวจสอบ... ยิ่งเป็นโครงการใหญ่ยิ่งถูกจับตา
 
ดังกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) โดยการนำของ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” หรือ ดร.โกร่ง ได้ออกมาระบุว่าจะใช้ข้อเสนอแนะของ “โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 เป็นแนวทางการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ตามหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายนั่นคือ การสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติกลับคืนมายังประเทศไทย และวางแผนการลงทุนระบบน้ำทั้งหมด
 
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดันสุดตัวต่อรัฐบาลและคณะยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ให้ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยระยะยาว ด้วยเหตุผลว่า ไจก้าเคยศึกษาการวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณการในพื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2543 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
 
เมื่อเปิดเอกสาร “โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ของสำนักงานทรัพย์สินฯ พบว่า แผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีมาตรการทั้งที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ใช้สิ่งก่อสร้าง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ โครงการผันน้ำ ไปจนถึงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
 
หากดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ (Return Flow) เพื่อไปใช้กับพื้นที่ที่ที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำได้อีก ไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้าน ลบ.ม.
 
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือพื้นที่ในระบบชลประทานของโครงการพิษณุโลก โครงการเจ้าพระยาใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ (ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่) จะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้
 
ส่วนประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือการลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถลดปริมาณน้ำเหนือหากผ่านปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือสามารถป้องกันน้ำท่วมในขนาดรอบ 25 ปีได้อย่างดี ซึ่งรวมถึงขนาดน้ำท่วมของปี 2538 และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้รวมวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น จะมีปริมาณน้ำจืดเพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ (น้ำเสียและน้ำเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้วย
 
อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านโครงการดังกล่าวก็มีมาตั้งแต่ก่อนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 โดยเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าวเป็นระยะ และระบุว่าข้อเสนอในโครงการดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นที่รวบรวมมาจากหน่วยงานราชการ
 
โครงการย่อยต่างๆ ภายใต้โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาทิ โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล โครงการเขื่อนแม่ขาน โครงการเขื่อนแม่วงก์ โครงการเขื่อนแควน้อย โครงการเขื่อนกิ่วคอหมา รวมไปถึงการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้น้ำในพื้นที่ชลประทาน การเร่งออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ล้วนยังคงมีข้อถกเถียงและมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและประชาชนผู้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยในเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสของการดำเนินงาน ผลประโยชน์ที่แท้จริง และผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 
 
พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 
ภาพจาก: flickr.com By: loewit
 
โครงการผันน้ำสาละวิน-เขื่อนภูมิพล 
 
 
นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยังเคยมีหนังสือส่งไปยังผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในด้านลบต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องที่ไม่อาจควบคุมได้ อย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
 
1.จากสภาพของข้อเท็จจริงในบางพื้นที่ ได้ปรากฏกระแสข่าวลือในเรื่อง “เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อโครงการจัดทำกรอบฯ มีสถานภาพเป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 จึงน่าเป็นห่วงต่อการนำไปปฏิบัติใช้จริงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่ราษฎรในพื้นที่ต่อสถานภาพของโครงการนี้อย่างเป็นจริง
 
2.ในกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนราชการจำนวนมาก ต่างก็ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งในโครงการสร้างเขื่อนและ โครงการผันน้ำ แต่ปรากฏว่าโครงการต่างๆ ที่ยังคงมีปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรทั้งหมดถูกบรรจุไว้ในโครงการจัดทำกรอบฯ ดังกล่าว
 
3.คณะทำงานของโครงการจัดทำกรอบฯ บางท่าน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกำลังศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับกรมชลประทาน อาทิเช่น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ดังนั้นข้อเสนอมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่องานของบริษัทที่ปรึกษาที่เสนอต่อกรมชลประทาน
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และป้องกันความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต การนำโครงการดังกล่าวกลับมาปัดฝุ่น อาจต้องการการหยั่งเสียงและฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมวงกว้างอีกครั้ง
 
000
 
บทสรุปและข้อเสนอแนะ โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้
 
·         สาเหตุและปัญหาทรัพยากรน้ำ
 
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม การตั้งถิ่นฐาน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลัก ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ โดยขาดการวางแผนและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ คือ
 
1.การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทั้งทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้ มีสภาพเสื่อมโทรมเป็นอันมากก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินที่รุนแรง ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ อุทกภัย และภัยแล้ง
 
2.การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เป็นสาเหตุให้เกิดความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำท่าที่มีแนวโน้มลดลงทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ น้ำเสีย และอุทกภัย
 
3.การพัฒนาทรัพยากรน้ำไม่สามารถกระจายตัวในลุ่มน้ำต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ สภาพภูมิประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากเขตชนบทสู่เมืองใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่ไม่มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำในระดับลุ่มน้ำ
 
4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตภัยแล้งในปี 2533-37 ทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจาพระยา 2 – 3 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากกว่า 10,000 ล้านบาท และส่งผลเสียหายต่อการใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ เช่น อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม การคมนาคมทางน้ำ นอกจากนนั้นมีการนำน้ำบาดาลมาใช้ทดแทนมากขึ้นเป็นเหตุให้การทรุดตัวของดิน ยังผลก่อให้เกิดปัญหารุนแรงและต่อเนื่องในอนาคต เช่น ปัญหาน้ำท่วม ถ้าเกิดกรณีอุทกภัยเช่นปี 2538 ในอนาคต 15 ปี จากการพัฒนาชุมชนเมืองและสภาพการใช้ที่ดินจะเกิดความเสียหาย 164,000 ล้านบาท
 
5.ผลกระทบจากกรณีที่แม่น้ำท่าจีนเน่าเสียในต้นปี 2543 สาเหตุมาจากการใช้สารเคมีในไร่นา รวมกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานเกิดความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมรวม 200,000 ไร่
 
·         แผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ
 
จากปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินแผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สามารถจัดหาปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในฤดูแล้งประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. บรรเทาอุทกภัยโดยลดปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำหลากช่วงที่ผ่านบางไทรได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที และปรับปรุงคุณภาพน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ถึงวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.
 
1.แผนระยะสั้น
 
จะต้องแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการต่างๆ โดยเน้นในพื้นที่ระดับเฉพาะถิ่นและระดับลุ่มน้ำที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมอยู่แล้วเป็นหลัก สามารถลดความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ได้เพิ่มขึ้นในฤดูฝนเพื่อมาใช้ในฤดูแล้งประมาณ 1,070 ล้าน ลบ.ม. เพื่อกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ และรักษาคุณภาพน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้แก่พื้นที่ใช้น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ประมาณ 10 ล้านไร่ ลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 250 ลบ.ม.ต่อวินาที และจัดสร้างพื้นที่ปิดล้อมป้องกันพื้นที่ชุมชนหลัก รวมทั้งลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้ประมาณวันละ 1.6 ล้าน ลบ.ม.
 
มาตรการที่นำมาใช้ประกอบด้วย
 
1.1มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง ลดปัญหาน้ำเสียและมีระบบเตือนภัยน้ำท่วมประกอบด้วย
1) การฟื้นฟู อนุรักษ์สภาพแวดล้อม
2) การปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
3) การปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร
4) ระบบทำนายและระบบเตือนภัยน้ำท่วม
5) กำหนดการใช้ที่ดิน/พื้นที่เสี่ยงภัย
6) การทำประกันอุทกภัย ผจญภัย และการฟื้นฟูหลังจากอุทกภัย
7) ปรับปรุงเกณฑ์การปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
8) สร้างจิตสำนึกให้ลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ
9) กำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำทิ้ง
10) กำหนดโควตาปริมาณน้ำทิ้งและคุณภาพน้ำทิ้งของแต่ละชุมชน
11) ปรับด้านกฎหมายและองค์กร
 
1.2 มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง สามารถจัดหาปริมาณน้ำเพิ่มให้กับลุ่มน้ำ ลดปัญหาน้ำเสีย และบรรเทาอุทกภัยในเมืองหลัก ประกอบด้วย
1) การส่งเสริมการปลูกป่าในแหล่งต้นน้ำลำธาร
2) ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและการพัฒนาน้ำใต้ดิน
3) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ
4) ก่อสร้างโครงการชลประทานระบบท่อ
5) จัดทำระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ และเมืองหลัก
6) ก่อสร้างระบบน้ำเสียรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลักตอนล่าง
 
มาตรการและแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นรอบ 25 ปี (เช่นปี 2538) และปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งปัญหาน้ำเสียเช่นที่เกิดขึ้นช่วงปี 2533-2537 ที่จะมีผลรุนแรงขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีแผนระยะกลางและระยะยาวเพิ่มเติม
 
2.แผนระยะกลาง (5-15 ปี)
 
จะต้องใช้มาตรการมีสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก ทั้งพื้นที่เปิดใหม่ และพื้นที่เดิมในลุ่มน้ำที่วิกฤต สามารถจัดหาปริมาตรน้ำใช้งานในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ม. ลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยประมาณ 550 ลบ.ม.ต่อวินาที และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้วันละ 5.5 ล้าน ลบ.ม.
 
มาตรการที่นำมาใช้ประกอบด้วย
 
2.1 ก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำแม่วงศ์ และอ่างเก็บน้ำแควน้อย
 
2.2 โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน และโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล อาจต่อเนื่องถึงแผนระยะยาว
 
2.3 พัฒนาระบบแก้มลิงในทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง
 
2.4 ปรับปรุงระบบระบายน้ำ
 
2.5 จัดสร้างช่องทางผันน้ำหลากบางไทร-อ่าวไทย อาจต้องต่อเนื่องถึงแผนระยะยาว
 
2.6 ปรับปรุงสภาพลำน้ำระยะที่1
 
2.7 สร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลักที่เหลือและท่าจีน
 
แผนระยะกลางจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำเสีย และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่เปิดใหม่ของลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำแควน้อย รวมทั้งพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ รวม 10 ล้านไร่ อย่างได้ผล แต่ถ้าต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ต้องดำเนินมาตรการในแผนระยะยาว
 
3.แผนระยะยาว (มากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี)
 
จะต้องแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำโยใช้มาตรการมีสิ่งก่อสร้างเต็มรูปแบบ จะสามารถจัดหาน้ำเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. และลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ใต้บางไทรประมาณ 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งปรับคุณภาพน้ำเสียในลุ่มน้ำได้ถึงวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.
 
มาตรการที่ใช้ประกอบด้วย
 
3.1 การก่อสร้างโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ อ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ขาน
 
3.2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล และโครงการกก-อิง-น่าน
3.3 โครงการพัฒนาระบบแก้มลิงทุกลุ่มน้ำ รวมทั้งปรับปรุงระบบระบายน้ำ
 
3.4 โครงการก่อสร้างช่องทางผันน้ำฝั่งตะวันออกจากอำเภอบางไทรสู่อ่าวไทย
 
3.5 ปรับปรุงสภาพลำน้ำระยะที่ 2
 
3.6 สร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียในลุ่มน้ำป่าสัก ปิง วัง ยม น่าน และสะแกกรัง
 
สรุปตามแผนและมาตรการทั้งสามระยะ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้าน ลบ.ม. นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ (Return Flow) เพื่อไปใช้กับพื้นที่ที่ที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำได้อีก ไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้าน ลบ.ม.
 
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือพื้นที่ในระบบชลประทานของโครงการพิษณุโลก โครงการเจ้าพระยาใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ (ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่) จะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้
 
ส่วนประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือการลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถลดปริมาณน้ำเหนือหากผ่านปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือสามารถป้องกันน้ำท่วมในขนาดรอบ 25 ปีได้อย่างดี (ขนาดน้ำท่วมของปี 2538) และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้รวมวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น จะมีปริมาณน้ำจืดเพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ (น้ำเสียและน้ำเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้วย
 
 
·         การปรับแผนและทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคต
 
การพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความจำกัดตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในลุ่มน้ำ แม้จะมีการพัฒนาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นก็ตาม แต่จะต้องมีข้อจำกัดที่จะไม่พัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกินที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับแผนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ กล่าวคือ
 
1. กำหนดความเจริญเติบโตในการพัฒนาในลุ่มน้ำให้เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ
 
2. การพัฒนาที่ยึดแนวเศรษฐกิจอย่างพอเพียง
 
3. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในทุกขนาดโครงการประมาณ 20 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ชลประทานในโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่าน้อย 10 ล้านไร่ ที่มีปรมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะต้องกำหนดนโยบายและทิศทางการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ชลประทานของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง
 
4. ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝน โดยใช้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
 
5. การควบคุมการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำเพื่อให้มีความชัดเจนในการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
 
6. ปรับปรุงรูปแบบการประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของหน่วยงานต่างๆ ให้ประสานผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอย่างมีประสิทธิผล และนำไปปฎิบัติได้อย่างแท้จริง
 
 
ข้อเสนอแนะ
 
การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีข้อเสนอแนะที่ต้องดำเนินการให้บรรลุผล กล่าวคือ
 
1.สนับสนุนและกำหนดแนวทางของโครงการ จัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มีผลทางปฏิบัติ
 
2.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อให้ครอบคลุมด้านการพัฒนาจัดหาน้ำต้นทุน การจัดสรรน้ำ การควบคุมอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และอุทกภัย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำให้มากขึ้น เป็นแผนระยะยาวควบคู่กับการวางแผนการใช้ที่ดิน และการขยายตัวของสังคมและเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
 
3.ผลักดันการจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นให้เต็มตามศักยภาพและให้เหมาะสมกับดุลยภาพของระบบนิเวศ จะต้องให้ความสำคัญการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับโครงการใหม่ๆ ในระดับลุ่มน้ำ เพื่อประโยชน์การแก้ไขปัญหาน้ำในทุกๆ ด้าน และกระจายความอยู่ดีกินดีทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ
 
4.เสนอให้ปฏิรูปองค์กรเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำมีความต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง
 
5.เสนอรัฐตั้งคณะกรรมทำงานพิจารณาทบทวน แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเดิมและผลักดันเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรภายใน 1 ปี
 
6.เสนอให้จัดตั้งกองทุนน้ำ (Water Fund) เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ
 
7.เสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ผู้ใช้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าบริการ (User pay principle) เช่น เก็บค่าบริการจากผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานและเก็บค่าคืนทุนจากโครงการที่รัฐลงทุน
 
การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาน้ำขาดแคลน น้ำท่วม และน้ำเสีย รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการทุกมาตรการ โดยเน้นมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างเป็นลำดับแรก อาจจะต้องศึกษาและวางแผนการปฏิบัติเพื่อไม่ให้แผนงานและโครงการของทุกหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนและผลกระทบต่อกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในระบบเดียวกัน ประหยัด และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
ในระยะยาวรัฐบาลควรปรับแผนและกำหนดขีดจำกัดความเจริญเติบโตของการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ พร้อมกำหนดความชัดเจนการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ฯลฯ
 
สำหรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ คือ อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์, แม่วงศ์, แควน้อย, แก่งเสือเต้น, กิ่วคอหมา, และแม่ขาน หรือโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ คือ กก-อิง-น่าน, เมย-สาละวิน-ภูมิพล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง ต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการนาน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบสูงด้านสังคมและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
 
ควรตั้งหน่วยงานกลางหรือคณะทำงานกลางเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจังในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนานจนกระทั่งมีการพัฒนาการใช้ที่ดินในพื้นที่อ่างเก็บน้ำมากขึ้น จะไม่อาจดำเนินการได้ หากรัฐบาลมีนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ นอกจากพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ช่วงฤดูแล้งอย่างเต็มที่ ก็ควรจัดทำโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำเพื่อหาน้ำมาเพิ่มให้เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ เพื่อส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
 
สำหรับโครงการช่องทางผันน้ำท่วมบางไทร-อ่าวไทย นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันความปลอดภัยของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่สำคัญของประเทศ (ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ) แล้วยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศอีกด้วย เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบสูงด้านสังคม ควรตั้งหน่วยงานกลางหรือคณะทำงานกลางเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบอย่างจริงจังในทันที หากปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนาน จนกระทั่งมีการพัฒนา การใช้ที่ดินในเขตแนวช่องทางผันน้ำมากขึ้นจะไม่อาจดำเนินโครงการได้ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการช่องทางผันน้ำท่วมของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา บริเวณชุมชนหาดใหญ่ตามพระราชดำริ ซึ่งเสนอให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2531 แต่ไม่มีการดำเนินการ เมื่อเกิดอุทกภัยปี 2543 จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนและเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
 
ถ้าเหตุการณ์อุทกภัยเช่นปี 2538 เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกครั้งในอนาคต และไม่สามารถบริหารจัดการอุทกภัยได้จะทำให้เกิดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเศรษฐกิจรวมของประเทศอย่างรุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นที่ชุมชนหาดใหญ่ยิ่งนัก
 
ท้ายที่สุด ขณะที่ยังไม่สามารถจัดทำโครงการใดๆ เนื่องจากยังขาดแคลนงบประมาณและการยอมรับจากสังคม หากเกิดภาวะแล้งเช่นช่วงปี 2533-2537 ขึ้นอีก ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงและปรับปรุงการปลูกพืชให้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมที่จำเป็นก่อน
 
หากเกิดภาวะอุทกภัยดังเช่นปี 2538 หรือใหญ่กว่า ควรแก้ไขด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมตามความจำเป็น (แก้มลิงธรรมชาติของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขา) พร้อมกำหนดแนวทางการตอบแทนผู้ที่ไดรับความเสียหายให้ชัดเจนและเหมาะสม
 
 
 
เรียนผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
มนตรี จันทวงศ์ - [ 26 ธ.ค.45, 10:28 น. ]
 
ที่ คฟธ.(เหนือ) ๐๑/๒๕๔๕16 ถนนเทพสถิตย์ ต.สุเทพ
อ.เมือง เชียงใหม่ 50200

๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เรียน ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เอกสารที่ส่งมาด้วย


๑.(สำเนา) ฎีกา กรณีความเดือดร้อนของราษฎรจากโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ และเอกสารประกอบฎีกาชุดที่ 1 และชุดที่ 2
๒.หนังสือขอให้ ระงับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ของราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ หมู่ที่ ๘ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
 
ด้วยโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม จำนวนหนึ่ง ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” โดยโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ดำเนินการติดตามศึกษาการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับแนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐบาล สถาบันวิจัยอิสระและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งการติดตามศึกษาในระดับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำที่ตั้งอยู่บนหลักของความ เป็นธรรม ความเสมอภาค การมีส่วนร่วมและความยั่งยืนของทั้งทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศวิทยาและประชาชนในท้องที่ต่างๆ

ในระดับนโยบายการบริหารจัดการ น้ำของรัฐ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติพบว่า แนวนโยบายใหม่ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิเช่น การคิดค่าคืนทุนระบบชลประทาน, การจัดตั้งกองทุนน้ำ, การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำและการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการใช้น้ำในภาคเกษตร เป็นแนวนโยบายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในเชิงเนื้อหาและความเป็นอิสระของภาครัฐในการกำหนดนโยบายเหล่านี้ จนถึงปัจจุบันปัญหาในข้อถกเถียงต่อแนวนโยบายการจัดการน้ำใหม่ ยังไม่มีข้อยุติในสังคมไทย

ในระดับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติได้ดำเนินการติดตามศึกษาโครงการผันน้ำ กก-อิง-น่านในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าเป็นโครงการด้านการชลประทานที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าโครงการสูง ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นโครงการที่จะสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนและระบบ นิเวศน์วิทยาตลอดแนวผันน้ำอย่างมหาศาล ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ราษฎรในพื้นที่โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ได้เรียกร้องให้กรมชลประทานทบทวนและยกเลิกโครงการผันน้ำกก-อิง-น่านมาโดยตลอด และยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับกรมชลประทานจนถึงปัจจุบัน และรวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกหลายโครงการที่ยังคงมีปัญหาระหว่างราษฎรใน พื้นที่กับกรมชลประทานที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ อาทิเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน (จ.เชียงใหม่), โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (จ.แพร่)

อย่างไรก็ตามในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการ และพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งนำเสนอโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยข้อเสนอแผนงานของโครงการฯ ทั้งที่เป็นมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างนั้น ส่วนหนึ่งคือประเด็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ระหว่างราษฎรกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ใคร่ขออนุญาตนำเสนอข้อคิดเห็นในบางแง่มุม ที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหา อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวนี้ โดยจะนำเสนอตามลำดับดังนี้

โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน (จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน)
๑. การพัฒนาโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ได้ปรากฏกระแสข่าวลือเรื่อง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทั้ง ๓ จังหวัด เพื่อหวังผลให้ราษฎรไม่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านโครงการ

๒. ราษฎรได้แสดงเจตจำนงขอให้กรมชลประทานยุติโครงการหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๑ ทั้งโดยการยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและอธิบดีกรมชลประทานเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๓ และการประชุมร่วมกับกรมชลประทานใน ๓ จังหวัดในโอกาสต่างๆกัน นอกจากนี้ราษฎรยังได้จัดพิธีกรรมความเชื่อของชุมชนล้านนาเพื่อรักษาแม่น้ำ ได้แก่การจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำและพิธีส่งขึดโครงการผันน้ำ แต่กรมชลประทานยังคงดำเนินการต่อไปโดยเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนและข้อเรียก ร้องของราษฎร

๓. ราษฎรได้ดำเนินการถวายฎีกา ต่อท่านราชเลขาธิการเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ทราบว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและ พัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔

๔. ผู้แทนกรมชลประทานที่ร่วมในโครงการจัดทำกรอบฯ เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้แทนกรมชลประทานที่ได้รับฟังความเดือดร้อนและข้อ เรียกร้องของราษฎรมาล่วงหน้าเป็นเวลานาน

๕. รายชื่อผู้เชี่ยวชาญบางท่าน คือบุคคลที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งรับจ้างกรมชลประทานจัดทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ดังนั้นการที่โครงการผันน้ำถูกเสนอเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในบางระดับ ในความพยายามผลักดันโครงการผันน้ำภายใต้กรอบของโครงการใหญ่

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน (จ.เชียงใหม่) และโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (จ.แพร่)
๑. ในกรณีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน เป็นโครงการที่นำเสนอโดยสำนักชลประทานเขต 1 จ.เชียงใหม่ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กลไกของคณะอนุกรรรมการฯเป็นกลไกที่ยังคงรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่ระบบ ราชการเพียงฝ่ายเดียว ในการพิจารณาเสนอเห็นชอบโครงการเขื่อนแม่ขานของคณะทำงานลุ่มน้ำย่อยแม่ขาน ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง ไม่มีองค์ประกอบของราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ได้แก่บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งต้องถูกอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม เข้าร่วมในการประชุม และแผนดังกล่าวถูกบรรจุในแผนพัฒนาลุ่มน้ำปิง ในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

๒. ในขณะเดียวกันได้ปรากฏกระแสข่าวลือเข้าไปในหมู่บ้านว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง กระแสข่าวลือดังกล่าวนี้ได้บั่นทอนขวัญและกำลังใจของราษฎรในหมู่บ้านเป็น อย่างมาก ในโอกาสนี้ราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ ใคร่ขอถวายจดหมายพร้อมรายชื่อของราษฎรทั้งหมดมายังฯพณฯองคมนตรี เพื่อได้ทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร (ซึ่งได้แนบมาเป็นเอกสารประกอบ) ราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ เคยทำจดหมายร้องเรียนไปยัง อบต.น้ำแพร่ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๒ ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่ขาน

๓.ในรายชื่อคณะทำงานของโครงการดังกล่าว นี้ ได้ปรากฏรายชื่อผู้เชี่ยวชาญบางท่าน ซึ่งทำงานในบริษัทที่ปรึกษา อันเป็นบริษัทเดียวกัน ที่ศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขานเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๘

๔. ในกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ บริษัทที่ปรึกษาเดียวกันนี้ได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทานให้ดำเนินการออก แบบก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน
 
โดยสรุปแล้วการดำเนินการตาม กรอบ โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้า พระยา อาจจะส่งผลในด้านลบต่อสำนักงานทรัพย์สินฯและอาจจะกระทบต่อเนื่องที่ไม่อาจ ควบคุมได้ อย่างน้อยใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่
 
๑. จากสภาพของข้อเท็จจริงในบางพื้นที่ ได้ปรากฏกระแสข่าวลือในเรื่อง “เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อโครงการจัดทำกรอบฯมีสถานภาพเป็นมติครม.เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงน่าเป็นห่วงต่อการนำไปปฏิบัติใช้จริงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุก หน่วยงาน ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่ราษฎรในพื้นที่ต่อสถานภาพของโครงการนี้อย่างเป็นจริง
 
๒. ในกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนราชการจำนวนมาก ต่างก็ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างทั้งในโครงการสร้างเขื่อนและ โครงการผันน้ำ แต่ปรากฏว่าโครงการต่างๆที่ยังคงมีปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรทั้ง หมดถูกบรรจุไว้ในโครงการจัดทำกรอบฯ ดังกล่าว
 
๓. คณะทำงานของโครงการจัดทำกรอบฯ บางท่าน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกำลังศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับกรมชลประทาน อาทิเช่น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ดังนั้นข้อเสนอมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่องานของบริษัทที่ปรึกษาที่เสนอต่อกรมชล ประทาน
 
อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการจัดทำกรอบฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพราะข้อเสนอทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการเชิงนโยบาย(ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง)และ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งนั้น ยังมีปัญหาไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ราษฎร และบางส่วนเป็นปัญหาระดับนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการเสนอ โครงการ ธ ประสงค์ใด ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติอาจจะมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต่อราษฎร ในอันที่จะได้รับทราบข้อมูลว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายติดตามมาในภายหลังยากที่จะแก้ไขได้ แต่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่ได้นำเสนอ ดังกล่าวนี้

โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ใคร่ขอกราบเรียนในประเด็นปัญหาทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นใน อนาคต จากโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ เจ้าพระยา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะได้ให้ความกรุณาพิจารณาประเด็นปัญหาที่ได้เรียนนำเสนอนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายมนตรี จันทวงศ์)
ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ(ภาคเหนือ)
ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านอัลกุรอาน(1): ตัวบท บริบท และการเมืองของคัมภีร์อัลกุรอาน

Posted: 22 Nov 2011 04:23 AM PST

จะมีวิธีใดที่จะทำความเข้าใจคนมุสลิมได้ดีไปกว่าการอ่านอัลกุรอาน? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และในฐานะที่เป็นคนมุสลิม ตอบรับคำเชิญของ Book Re:public มาเป็นวิทยากรในงานเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 4

ซีรี่ย์เสวนา “อ่านออกเสียง” จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนที่ร้าน Book Re:public เพื่อขยายขอบเขตการ “อ่าน” ในแง่มุมต่างๆ และเพื่อสนับสนุนหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ คนมุสลิมถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมไทย กระนั้นก็ตาม เสียงของคนมุสลิมจำเป็นต้องถูกได้ยินท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูเหมือนจนแล้วจนรอดรัฐไทยยังจนปัญญาที่จะจัดการกับปัญหา

จะมีวิธีใดที่จะทำความเข้าใจคนมุสลิมได้ดีไปกว่าการอ่านอัลกุรอาน? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และในฐานะที่เป็นคนมุสลิม ตอบรับคำเชิญของ Book Re:public มาเป็นวิทยากรในงานเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 4 “อ่านอัลกุรอาน ผ่านตัวบท บริบท และการเมืองของคัมภีร์อัลกุรอาน” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 และได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักคิดนักวิชาการหลายท่าน Book Re:public เห็นว่าเนื้อหาของงานเสวนามีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ “วิธีคิด” ของคนมุสลิม รวมถึงการใคร่ครวญถึง “ขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์” ในโลกซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่ยังเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ กับอีกพวกที่ไม่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว จึงเก็บประเด็นเสวนามานำเสนอแก่ผู้อ่าน ดังนี้


“อ่าน” อัลกุรอานอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ชัยวัฒน์เริ่มต้นเสวนาด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของหนังสืออย่างอัลกุรอาน ซึ่งกำหนดวิถีชีวิตของชาวมุสลิมอย่างน้อยเป็นพันล้านคน วันนี้เขาจะ “อ่าน” อัลกุรอานอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และอย่างฮัจญี กาเดอร์ มูไฮยดีน บิน ฮัจญี อับดุล อายีส (ชื่ออาหรับของชัยวัฒน์) นั่นหมายถึง อ่านในฐานะที่เป็นทั้งนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และเป็นมุสลิม ซึ่งเป็นตัวตนทั้งสองอย่างของเขา

ในแง่ศาสนาเปรียบเทียบ ชัยวัฒน์คิดว่าอิสลามแตกต่างจากพุทธตรงที่ศาสนาอย่างอิสลาม คริสต์ ยิว เป็นศาสนาที่ “สัจธรรม” ทางศาสนาได้รับการเผยแสดงมาสู่ศาสดาเป็น “revelation” ในขณะที่ศาสนาพุทธ “สัจธรรม” ถูกค้นพบโดยพุทธองค์ นัยยะสำคัญคือ ในโลกของศาสนาที่สัจธรรมได้รับการเผยแสดง หมายถึงมีอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือกว่านั้น และศาสดาเป็นแค่ messenger หรือคนส่งสาร

การที่คนคนหนึ่งจะเป็นมุสลิมนั้นง่ายมาก เพียงแค่กล่าวคำปฏิญาณ “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด เว้นแต่อัลเลาะห์องค์เดียว และมูฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์” ถ้าใครกล่าวอย่างนี้ถือว่าเป็นมุสลิมแล้ว กระนั้นก็ตาม คำกล่าวสามท่อนนี้กลับมีความสำคัญมาก เพราะคำกล่าวท่อนแรก “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” เป็น negation เป็นการปฏิเสธระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ โดยเฉพาะระเบียบที่คนจำนวนหนึ่งถือว่ามนุษย์สร้างขึ้น ท่อนต่อมา “เว้นแต่อัลเลาะห์องค์เดียว” เป็น affirmation เป็นการตอกย้ำว่าไม่มีอันนั้น แต่มีอันนี้ และ “มูฮัมมัดเป็นศาสนทูต” แปลว่าเป็นทิศทาง เป็น direction ว่าให้ดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับมูฮัมมัด

ชัยวัฒน์ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจในคำปฏิญาณนี้คือการเริ่มต้นจากการปฏิเสธระเบียบ หมายถึง เมื่อคุณเห็นว่าโลกไม่เป็นธรรม คุณลุกขึ้นมาปฏิเสธมัน และคุณบอกว่าคุณมีทางเลือกอื่น อิสลามเกิดมาเพื่อบอกว่าระบอบที่ทำให้มนุษย์อยู่ใต้มนุษย์อีกคนนั้นใช้ไม่ได้ และอิสลามเชื่อว่ามนุษย์อยู่ใต้พระเจ้า อิสลามมีหลักความเชื่อของตัวเองคือเชื่อในพระเจ้า เชื่อในสิ่งที่สร้างโดยพระเจ้า เชื่อในวันสิ้นโลก เชื่อในบทกำหนดสภาวการณ์ และที่สำคัญ เชื่อใน คัมภีร์ของพระเจ้า โดยอิสลามแบ่งศาสนิกออกเป็นสองแบบ แบบที่หนึ่งคือชาวคัมภีร์ (people of the book) ได้แก่ คริสต์ ยิว มุสลิม คนเหล่านี้ได้รับคัมภีร์จากพระเจ้า และคำสอนของศาสนาก็ต่อเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่านี้ ส่วนแบบที่สองคือ ผู้ที่มิใช่ชาวคัมภีร์ คำสั่งสอนของศาสดาคือการค้นพบของศาสดาเอง มิใช่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้า
 

“อ่าน” อัลกุรอานในบริบทประวัติศาสตร์
ประเด็นต่อมา ชัยวัฒน์นำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าศาสดามูฮัมมัดไม่เคยเห็นอัลกุรอาน ศาสดาเพียงได้รับโองการจากพระผู้เป็นเจ้าให้ถ่ายทอดคำสอน แต่การรวบรวมบันทึกคำสอนนั้นเกิดขึ้นหลังจากศาสดาเสียชีวิตแล้วประมาณยี่สิบปี ในเวลานั้นมีคัมภีร์หลาย versions เพราะมีคนฟังหลายคนและจดคนละอย่าง จนในที่สุดเหลือ version เดียว เรียกว่า อุซมาน มูชัพ (Uthman's codex) หรือการปริวรรตของอุซมาน เพราะฉะนั้นที่คนบอกว่าอัลกุรอานไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็อาจขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า มีพัฒนาการของอัลกุรอานก่อนถึงปีค.ศ. 800 กว่าๆ

ประการที่สอง ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ในอัลกุรอานมีคำว่า “อิสลาม” 7 ครั้ง มีคำปฏิญาณว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่พระเป็นเจ้าองค์เดียว” 30 ครั้ง มีคำว่า “ความเมตตา” 500 ครั้ง คำว่า “อัลเลาะห์” 2,697 ครั้ง จากข้อสังเกตนี้ ชัยวัฒน์คิดว่า มีระดับความแตกต่างของการให้น้ำหนักกับคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งในศาสนาต่างๆ คือศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความรู้ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา

นอกจากนี้ อัลกุรอานสัมพันธ์กับชีวิตของศาสดาในแง่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน เปลี่ยนแปลงชุมชนของท่าน เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของท่านกับเครือญาติและครอบครัว เพราะเมื่อปฏิเสธระบบเดิมที่มีอยู่ก็ต้องสถาปนาระเบียบใหม่ ต้องทะเลาะกับพี่น้อง ทะเลาะกับผู้คน ยอมรับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และต้องไปสร้างชุมชนใหม่ สร้างรัฐใหม่ และต่อสู้ในหนทางของท่าน จนในที่สุดกลับมายึดนครมักก๊ะฮคืนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของอิสลาม

หลังจากศาสดาสิ้นไป อัลกุรอานก็เผยแพร่ไปในที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ไปถึงอินเดีย เปอร์เซีย อิรัก อิหร่าน อียิปต์ มหาสมุทรแอตแลนติก เป็นการแพร่ขยายทางการเมืองที่รวดเร็วกว่าอาณาจักรโรมันเสียอีก ผลคืออำนาจของอิสลามควบคุมเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดีย ควบคุมเส้นทางการค้า และอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จนมาถึงไทยก็มาจากเส้นทางการค้า
 

“อ่าน” โดยศาสดาที่อ่านไม่ออก และพลังของ “การอ่านออกเสียง”
ชัยวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งศาสดาได้รับโองการจากพระผู้เป็นเจ้า โองการแรกคือบทที่ 96 เวลานั้นท่านศาสดาไป retreat ในถ้ำ และมีโองการลงมา “จงอ่านในนามพระเป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงสร้าง (สรรพสิ่ง) ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด (alaq หมายถึงสิ่งที่จับตัวกัน จะเป็นก้อนเลือดหรือก้อนดินก็ได้) จงอ่าน พระเป็นเจ้าของเจ้าทรงเมตตาปรานีไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ผู้ทรงสอน (เจ้า) ด้วยปากกา ทรงสอนสั่งมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”

นัยยะสำคัญของเหตุการณ์นี้คือการที่ศาสดาถูกสั่งให้อ่าน ทั้งๆ ที่ท่านอ่านไม่ออก ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าทำไมพระเป็นเจ้าเลือกท่านศาสดาที่อ่านหนังสือไม่ออกให้อ่าน ชัยวัฒน์เสนอว่าคำตอบอาจอยู่ที่การอ่านภาษาต่างๆ ออกหมายถึงการเรียน แต่ทุกครั้งที่เรียน เราถูกทำให้แปดเปื้อนจากความรู้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นอัลกุรอานจึงลงมาที่ใจของคนที่อ่านไม่ออก นั่นคือใจของคนที่ไม่ได้ถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยมลทินของความรู้จากมนุษย์อื่น

นอกจากนี้ อัลกุรอานยังเป็นหนังสือสำหรับ “การอ่านออกเสียง” ไม่ใช่อ่านในใจ และมีพลังมหาศาลเวลาที่ออกจากปากคนคนหนึ่ง ชัยวัฒน์อธิบายว่าโลกนี้ทำงานด้วยกลไกหลายชนิด บางชนิดทำงานผ่านของที่เราเห็น บางชนิดทำงานผ่านเสียง คัมภีร์อัลกุรอานให้ความสำคัญกับการอ่านออกเสียงมาก กระทั่งมีวิชาการอ่านอัลกุรอาน เหตุผลว่าทำไมมีการพัฒนาศาสตร์นี้ขึ้นมาน่าจะเป็นเพราะการอ่าน (ไม่ออกเสียง) ไม่ทำให้คนลุกขึ้นไปต่อสู้กับใคร แต่การฟังปลุกเร้าผู้คนได้ สำหรับคนมุสลิม อัลกุรอานไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นคำของพระเจ้าเลยทีเดียว ชาวมุสลิมเชื่อว่าไม่มีอะไรเลียนแบบอัลกุรอานได้

ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การอ่านการเขียนนั้นเป็นฐานรากของศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น การเผยแสดงครั้งแรกก็เริ่มจากการบอกให้อ่าน การเผยแสดงครั้งที่สองอยู่ในซูเราะห์ อัล กอลัม ซึ่งแปลว่าปากกา เริ่มต้นว่า “นูน, ด้วยปากกาและด้วยทุกสิ่งที่เขาเขียน พระเป็นเจ้ามิได้ทำให้สูเจ้า (ท่านศาสดา) เป็นคนบ้า สูเจ้าจะได้รับรางวัลไม่สิ้นสุด แท้จริงสูเจ้ามีธรรมชาติสูงส่ง” นี่คือการสาบานด้วยปากกา คำถามคือทำไมปากกาสำคัญขนาดนั้นสำหรับศาสนาอิสลาม? ท่านศาสดาถามว่า รู้ไหมว่าอัลเลาะห์สร้างอะไรก่อนเป็นอย่างแรก อัลเลาะห์สร้างปากกา และปากกานี้เขียนลงบนกระดานชนวนศักดิ์สิทธิ์ เขียนอะไร? อัลเลาะห์ตอบว่าเขียนความรู้ของฉัน ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันตัดสิน และปรากฏลงบนกระดานศักดิ์สิทธิ์อันนั้นซึ่งไม่ได้อยู่บนโลกมนุษย์ แต่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง แล้วสิ่งที่เห็นในอัลกุรอานปัจจุบันคือสิ่งที่ฉายมาจากกระดานนั้นอีกที คนอิสลามอ่าน ใช้มันดูแลชีวิตตัวเอง และสร้างสรรค์สังคมในแบบที่อยากให้เป็น
 

จะเข้าใจอัลกุรอานอย่างไร?
ชัยวัฒน์เสนอว่าเราอาจเข้าใจอัลกุรอานได้สามแบบ แบบแรก ถ้าถามผู้รู้ทางศาสนา ไม่ใช่ใครก็จะเข้าใจคัมภีร์หรือจะตีความมันได้ แต่คนที่จะเข้าใจจะต้องมีคุณสมบัติหกข้อคือ หนึ่ง มีความเชื่อที่ถูกต้อง สอง ต้องไม่ตีความเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สาม ต้องตีความโดยอาศัยข้อความในอัลกุรอานเอง อาศัยจริยวัตรของท่านศาสดา สหายของท่านศาสดา และผู้สืบทอดต่างๆ สี่ ต้องมีความรู้ในภาษาอาหรับ ห้า ต้องมีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของอัลกุรอาน และหก ทั้งหมดนี้เป็นการทำตามประเพณีโดยการยอมรับของผู้รู้ที่มีมาก่อนในอดีต นี่เป็นการอธิบายแบบแรก คือต้องมี “ความรู้” จึงตีความอัลกุรอานได้

ทว่าในยุคหลัง เกิดการพยายามตีความโดยคนที่ไม่ได้เรียนศาสนาโดยตรง เพราะอยากให้ศาสนาอยู่ในชีวิตของเรามากขึ้น ผลคือการกระจายตัวของการอธิบายความหมายของศาสนาอิสลามที่กว้างขึ้น ทำให้เกิดความสั่นคลอน คนเริ่มอ่านจากความเข้าใจของตัวเอง พูดอีกอย่างคือ หนึ่ง มีการตีความจาก textualist หรือการตีความจากตัวบทตามลำพัง สอง ตีความจากบริบทประวัติศาสตร์ของหนังสือ

ส่วนแบบที่สามคือ ตีความจากตัวผู้อ่านเอง หรืออ่านตามบริบทของผู้อ่าน ไม่ได้อ่านตามบริบทของท่านศาสดา และไม่ได้อ่านแบบ textualist ที่จำกัดตัวเองอยู่กับตัวบท

คำถามสำคัญคือ ปัญหาทางศาสนาเป็นคำถามของเราใช่หรือไม่? ศาสนาใดๆ จะยั่งยืนเป็นพันๆ ปีต้องมีที่ให้คำถามเปลี่ยน แล้วจะได้หาคำตอบจากตำราหรือคัมภีร์ที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นในขณะนี้จึงเกิดการปะทะกันของการตีความ คนที่เรียนศาสนามาโดยตรงจะไม่ชอบการตีความโดยคนแวดวงอื่นที่ไม่ได้เรียนศาสนา ปัญหาที่ปรากฏคือคำถามว่า ใครมีอำนาจในการตีความ? เวลาสู้กันก็เป็นการสู้กันว่าใครมีอำนาจในการตีความ
 

อัลกุรอานไม่เท่ากับไบเบิล
ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลบหลู่คัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวมุสลิมจำนวนมาก เพื่ออธิบายว่าจะเข้าใจความโกรธนั้นอย่างไร กรณีแรก บาทหลวงโจนส์เผาอัลกุรอาน (http://www.dailymail.co.uk/news/article-1382322/Koran-burning-pastor-Terry-Jones-cuts-short-rally-hurled-shoes.html?ito=feeds-newsxml) แล้วบอกว่าคนมุสลิมที่ไม่พอใจการกระทำนี้ก็ให้เอาไบเบิลไปเผาได้ ชัยวัฒน์ชี้ว่า หลายคนคิดว่านี่คือมาตรฐานเดียวกัน แต่คนมุสลิมกลับเห็นอีกอย่าง สำหรับคนมุสลิมการเผาหนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นสำหรับมุสลิม คัมภีร์ไม่ใช่หนังสือ ถามว่าจะเปรียบเทียบคัมภีร์อัลกุรอานกับอะไร เปรียบเทียบกับไบเบิลไม่ได้ ถ้าจะเปรียบต้องเปรียบเทียบกับพระเยซู พระเยซูคือ logos คือ the verse คำของพระผู้เป็นเจ้าปรากฏตัวในรูปของพระเยซู คือสิ่งที่ใกล้กับพระเจ้าที่สุด สำหรับมุสลิม ไม่มีอะไรใกล้พระเจ้าเท่ากับอัลกุรอาน เพราะนี่คือคำของพระเจ้า เพราะฉะนั้นอัลกุรอานไม่เท่ากับไบเบิล เมื่อเป็นอย่างนี้ การเผาอัลกุรอานจึงเหมือนคุณกำลังจะเผาเยซู

กรณีที่สอง ความโกรธแค้นของชาวมุสลิมต่อหนังสือของซัลมาล รัชดี ชื่อ Satanic Verses ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ฆ่ารัชดี ซึ่งแม้ชัยวัฒน์ไม่เห็นด้วย แต่ก็อธิบายได้ว่าความโกรธนี้เข้าใจได้ เพราะมุสลิมเชื่อว่าอัลกุรอานไม่ใช่หนังสือ แต่อยู่อีกสถานะหนึ่ง แล้วเมื่อรัสดีอธิบายว่ามันคือ Satanic Verses ในภาษาอาหรับคือ อายะห์ไชตอน หมายถึงบอกว่าอัลกุรอานทั้งหมดคือถ้อยคำของปิศาจ สำหรับคนมุสลิม แม้ไม่ได้อ่านเนื้อความในหนังสือ แต่แค่ชื่อก็สร้างความโกรธเคืองได้แล้ว


(โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆ นี้)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานวิจัยเผยหนุ่ม 'แมนๆ' จะยอมรับเพศสัมพันธ์ที่มีการป้องกันมากกว่า

Posted: 22 Nov 2011 01:06 AM PST

กลุ่มนักวิจัยจาก ม. มิชิแกน ทำการสำรวจและทดสอบวัดระดับฮอร์โมนของกลุ่มตัวอย่างชายหนุ่มอายุ 18-19 ปี พบว่าคนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าจะยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัย (Safe sex) มากกว่า

เว็บไซต์ LiveScience เผยแพร่บทความงานวิจัยที่ระบุว่า ชายหนุ่มที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายสูงกว่า จะยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัย (Safe sex) มากกว่า

ซารี วอน แอนเดอร์ส นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์เชิงฮอร์โมน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวสำรวจจากกลุ่มประชากรเพศชายอายุ 18-19 ปี หรือช่วงปีแรกของอุดมศึกษา ที่เป็นช่วงเริ่มต้นของการใช้ชีวิตทางเพศ

งานวิจัยพบว่า ผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศเทสโทสเทอโรนสูงกว่า จะมีโอกาสยอมรับทัศนคติเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยและการมีสัมพันธ์ทางเพศอย่างปลอดภัยมากกว่า แอนเดอร์สกล่าวว่าสำหรับชายหนุ่มวัยอุดมศึกษาแล้ว การมีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันมีความท้าทายต่อสภานภาพทางสังคมมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

"งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า คนเรามองการมีพฤติกรรมการเพศสัมพันธ์แบบป้องกันและคนที่ทีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันในเชิงลบ" แอนเดอร์สกล่าว เธอบอกอีกว่า ดังนั้นการยืนยันว่าจะใช้ถุงยางอนามัยซึ่งมี 'ความท้าทายทางสังคม' จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญและความมั่นใจมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

กล้าที่จะถูกมองว่า 'เสี่ยง'

ฮอร์โทนเทสโทสเทอโรน มีส่วนเกี่ยวโยงกับความกล้าหาญและความมั่นใจ รวมถึงการตัดสินใจเสี่ยง เช่นการวางเดิมพันทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง แต่แอนเดอร์สก็บอกว่าแนวคิดเรื่องความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นทางวัฒนธรรม ในกรณีของเพศสัมพันธ์แล้ว ความเสี่ยงที่แน่นอนคือการตั้งครรภ์และการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ (STI)

แอนเดอร์สบอกว่าสำหรับบางคนแล้วความเสี่ยงเหล่านี้ดูไกลตัวและคิดว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ขณะเดียวกันการยืนยันว่าจะใช้ถุงยางฯ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกคู่นอนมองว่าเป็นคนเชื่อใจไม่ได้หรืออาจจะติดเชื้อแล้ว

"คุณเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงในการติดโรคทางเพศหรือไม่ ซึ่งผู้คนดูจะคิดว่ามันมีโอกาสเกิดน้อย ไม่ว่าจะพยายามให้การศึกษาเรื่องนี้มากเท่าไหร่ก็ตาม หรือคุณเป็นกังวลมากกว่าว่าคู่นอนคนปัจจุบันของคุณจะคิดในทางลบกับคุณ" แอนเดอร์สกล่าว โดยเสริมเรื่องแนวคิดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งตรงจุดนี้เองมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอย่างเทสโทสเทอโรน

แอนเดอร์สและเพื่อนร่วมงานวิจัยได้ทำการศึกษาเรื่องฮอร์โมนและพฤติกรรมดังกล่าวโดยการซักถามผู้ชาย 78 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรักเพศตรงข้าม (heterosexual) และมาจากครอบครัวที่มีรายได้ดี โดยมีการถามเกี่ยวกับสุขภาพ กิจกรรมทางเพศ ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย จากนั้นจึงใมีการตรวจน้ำลายของกลุ่มตัวอย่างทุกคน เพื่อวัดหาระดับของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน

จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46 เคยมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากผู้วิจัยต้องการศึกษาเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ศึกษาทางด้านพฤติกรรม ผู้ที่เข้าร่วมเป้นกลุ่มตัวอย่างจึงไม่จำเป็นต้องมีประสบการณฺ์ทางเพศมาก่อน

แล้วฮอร์โมน 'แมนๆ' เกี่ยวกับอะไรกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

ผลการทดลองเผยว่าผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงกว่าจะมีทัศนคติในทางบวกต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมากกว่า พวกเขาจะเป็นฝ่ายบอกว่าจะใช้ถุงยางฯ แม้จะมีอุปสรรคอย่างเช่นการถูกมองจากสังคมในแง่ลบ ส่วนผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนน้อยกว่าจะยอมรับการใช้ถุงยางฯ น้อยกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าที่พวกเขาจะเป็นฝ่ายขอใช้ถุงยางในสถานการณ์ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกติดขัด หรือลำบากใจ

แอนเดอร์สกล่าวถึงผลการสำรวจอีกว่า ผู้ชายที่เคยมีประสบการณ์ทางเพศมาแล้ว จะมีทัศนคติเน้นการป้องกันตอนมีเพศสัมพันธ์มากกว่า ซึ่งน่าจะมาจากอุปนิสัยของเจ้าตัวเอง แต่ในประเด้นนี้ยังต้องมีการวิจัยกันต่อไป

"เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลการทดลองนี้คือ นี่เป็นการทดลองแรกที่พบว่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสุงกว่ากลับทำให้คนตัดสินใจทำในเรื่องที่เสี่ยงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ" แอนเดอร์สกล่าว

อย่างไรก็ตาม แอนเดอร์สเตือนว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวสามารถทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงได้ จึงยังไม่อาจสรุปแบบขวานผ่าซากว่าเทสโทสเทอโรนทำให้เกิดทัศนคติการมีสัมพันธ์ทางเพศอย่างปลอดภัย มีความเป็นไปได้ว่าผู้ชายที่มีสัมพันธ์ทางเพศโดยป้องกันจะทำให้มีอีโก้และระดับเทสโทสเทอโรนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตนมีความรู้เรื่องเพศและมีสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น หรืออาจเป็นเพราะว่าตัวกิจกรรมทางเพศเองทำให้เทสโทสเทอโรนเพิ่มสูงขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนเกี่ยวโยงกับสถานะและการได้รับรางวัล

นักวิจัยกล่าวว่าการทดลองนี้เป็นการทดลองขั้นต้นเท่านั้น พวกเขาจะทดลองต่อไปอีกว่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมจริงๆ ไม่เพียงแค่ทัศนคติเท่านั้นใช่หรือไม่ พวกเขายังสนใจทดลองความเกี่ยวข้องระหว่างเทสโทสเทอโรนกับสัมพันธ์ทางเพศที่ปลอดภัยกับกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายมากกว่านี้ด้วย

"เป็นไปได้ว่า สำหรับชายหนุ่มในระดับอุดมศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตทางเพศนั้น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยดูเป็นเรื่องท้าทายและเกี่ยวข้องกับสถานภาพ" แอนเดอร์สกล่าว "อาจจะมีความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวอย่างอื่นที่การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยไม่จำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญก็เป็นได้ ดังนั้นตัวตนทางสังคมดูจะเป็นปัจจัยใหญ่"
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น