โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พุทธศาสนาไม่มีศีลธรรมทางสังคม?

Posted: 08 Nov 2011 07:56 AM PST

ในบางกรณีที่เรียกว่า “การทำความดี” ในทางพุทธศาสนานั้น หากมองด้วยมาตรฐานจริยธรรมปัจจุบันอาจไม่ใช่ความดีก็ได้ เช่น กรณีที่พระเวสสันดรบริจาคลูกให้เป็นทาสเพื่อตนเองจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ในสายตาของนักจริยศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ เช่น ค้านท์ (Immanuel Kant) ถือว่าเป็น “ความชั่ว” เพราะเป็นการใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือให้บรรลุจุดหมายของตนเอง และเมื่อมองจาก concept ของสิทธิมนุษยชน ระบบทาสเป็นระบบที่เลวร้ายในตัวมันเองอยู่แล้ว การบริจาคลูกให้เป็นทาสจึงนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นสนับสนุนระบบทาสที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ดำรงอยู่อีกด้วย

หากพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยของเรา พระองค์คงไม่สร้างเรื่องเล่าเพื่อโปรความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเรื่อง “เวสสันดรชาดก” เป็นแน่ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธควรกล้ายอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่า มาตรฐานทางจริยธรรมบางอย่าง (เช่น หลักสิทธิมนุษยชน) ในยุคสมัยของเราก้าวหน้ากว่าที่พระพุทธเจ้าสอน

เวลาที่มีนักคิดตะวันตกบางคน (เช่น แม็กซ์เวเบอร์ วินสตัน แอล.คิง เป็นต้น) วิจารณ์ว่า พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม หรือปรัชญาสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ เพราะเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาคืออิสรภาพทางจิตวิญญาณ หรือความพ้นทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล การทำความดีต่างๆ ทางพุทธศาสนาก็เพื่อเป้าหมายเชิงปัจเจกดังกล่าวเป็นหลัก (เช่น กรณีพระเวสสันดร เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงปัจเจกแล้วยอมแม้กระทั้งบริจาคลูกให้เป็นทาส)

ชาวพุทธก็มักจะออกมาโต้แย้งข้อวิจารณ์ดังกล่าวว่า นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงพุทธศาสนามีมิติทางสังคม และมักจะอ้างเหตุผลประมาณว่า

1) ตอนส่งพระสาวก 60 รูปไปประกาศพรหมจรรย์ พระพุทธองค์บอกแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ให้แสดงธรรมเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน

2) มีคำสอนของพุทธศาสนามากมายที่สอนเกี่ยวกับเรื่องทางสังคม คุณธรรมของผู้ปกครอง (ทศพิธราชธรรม ฯลฯ) คุณธรรมที่ทำให้รัฐเจริญมั่นคง (วัชชีธรรม หรือ อปริหานิยธรรม ฯลฯ) คุณธรรมที่แสดงความมีน้ำใจ และการเกื้อกูลกันในทางสังคม หรือคุณธรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ (สังคหวัตถุ ฆราวาสธรรม มงคล 38 ฯลฯ) 

3) พุทธศาสนาถือว่า ถ้าคนแต่ละคนเป็นคนดีมีศีลธรรม เช่น มีศีลห้าเป็นต้น สังคมก็จะดีตามไปด้วย หมายความว่า การมีศีลธรรมของปัจเจกบุคคลแต่ละคนนั่นเอง จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความสงบสุขทางสังคม

แต่ประเด็นคือ เวลาที่นักคิดตะวันตกพูดถึง “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) เขาหมายถึง ศีลธรรมที่อยู่บนรากฐานของ “ปรัชญาสังคม” (social philosophy) บางอย่าง ซึ่งหมายความว่า ศีลธรรมทางสังคมจะต้องวางอยู่บนรากฐานของปรัชญาสังคมบางอย่างเสมอ

และหลักการทางปรัชญาสังคมสมัยใหม่คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฉะนั้น มโนทัศน์ (concept) เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม นั่นเอง คือรากฐานของศีลธรรมทางสังคม

ยกตัวอย่างเช่น ในการทำดีทางศีลธรรมอย่างหนึ่ง คือ “การพูดความจริง” ถ้าเราพูดความจริงบน concept ว่า เป็นการปฏิบัติตามศีลห้าข้อที่สี่ เพื่อสั่งสมบุญกุศลแก่ตนเอง หรือเพื่อขัดเกลาตนเอง การพูดความจริงของเราก็เป็นการมีศีลธรรมเชิงปัจเจก (individual morality)

แต่ถ้าเราพูดความจริงบน concept ว่า การพูดความจริงเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ เพราะเป็นการเคารพศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ ซึ่งตามความคิดของค้านท์ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี (dignity) ในตัวเอง สิ่งที่แสดงว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรีในตัวเองคือ “เสรีภาพ” (freedom) หมายความว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการปกครองตนเอง ด้วยการที่เขาสามารถใช้เหตุผลวินิจฉัยถูกผิดทางศีลธรรมด้วยตนเองได้ และกำหนดกฎศีลธรรมที่ถูกต้องให้ตนเองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามได้ ฉะนั้น การพูดความจริงเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ จึงเป็นศีลธรรมทางสังคม

บางคนอาจคิดว่า ในเมื่อเป็นการกระทำเดียวกัน คือ “การพูดความจริง” เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะพูด (หรือทำ) บน concept อะไร มันก็มีค่าเท่ากันมิใช่หรือ?

แต่ข้อพิจารณาในที่นี้คือ concept ของศีลธรรมเชิงปัจเจกกับศีลธรรมเชิงสังคมที่มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานนั้น ย่อมนำไปสู่ความมีเหตุผลหรือแรงจูงใจในการกระทำทางศีลธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การพูดความจริงบน concept ของศีลธรรมทางสังคมย่อมนำไปสู่การมี “จิตสำนึกทางสังคม” เช่น จิตสำนึกเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งทำให้เรายึดหลักการว่า “การเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ (ทั้งของตนเองและผู้อื่น) เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม” หลักการดังกล่าวบ่งบอกคุณค่าทางสังคมว่า “สังคมอารยะ คือสังคมที่ทุกคนมีพันธะทางจริยธรรมในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” แต่การพูดความจริงบน concept ของศีลธรรมเชิงปัจเจกไม่ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจและคุณค่าของสังคมอารยะในความหมายดังกล่าว

ฉะนั้น ศีลธรรมเชิงปัจเจกจึงเป็นหลักประกันคุณค่าเชิงปัจเจกบุคคล แต่ศีลธรรมเชิงสังคมเป็นหลักประกันให้เกิดคุณค่าเชิงสังคม

ยกตัวอย่างการกระทำในบางสถานการณ์ เช่น ถ้าเราช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบน concept ว่า “วิกฤตของประเทศเป็นโอกาสที่เราแต่ละคนจะได้ทำความดีด้วยการแสดงน้ำใจต่อกัน” (ตามที่พระบางรูปสอน) กับถ้าเราช่วยเหลือบน concept ว่า “เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่เราต้องช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ที่เขามีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ”

จะเห็นว่า การกระทำทางศีลธรรมตาม concept แรกขึ้นอยู่กับ “ความมีน้ำใจ” ของตัวผู้กระทำเป็นหลัก แต่ตาม concept หลังขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคนอื่นเป็นหลัก concept แรกเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจก ถ้าเราเห็นว่าการแสดงน้ำใจต่อผู้อื่นมันดีสำหรับตัวเรา เช่น ช่วยให้จิตใจเราสูงส่งขึ้น หรือเป็นการขัดเกลาความเห็นแก่ตัวให้ลดลงและ ฯลฯ เราก็ให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้น หรือบังเอิญเราเป็นคนไม่มีน้ำใจ เราก็ไม่ช่วยเหลือ แต่ตาม concept หลัง มันไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำใจ แต่มันเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” คือ เป็นหน้าของเราทุกคนที่ต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ (ตามความสามารถที่เราช่วยได้) พูดอีกอย่างว่า ศีลธรรมทางสังคมมีลักษณะเป็นพันธะทางสังคม หรือเป็นหน้าที่ทางสังคมที่มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อกันบนหลักการว่า “มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคทางศีลธรรม”

ฉะนั้น การให้ความช่วยเหลือตาม concept แรกจึงเป็นหลักการของศีลธรรมเชิงปัจเจกที่มุ่งคุณค่าเชิงปัจเจก เช่น ช่วยพัฒนาจิตใจของปัจเจกให้เป็นคนดี เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว ฯลฯ แต่การให้ความช่วยเหลือตาม concept หลัง เป็นหลักการของศีลธรรมทางสังคมที่มุ่งสร้างคุณค่าเชิงสังคม เช่น สร้างหลักการ ระบบ หรือกติกาทางสังคม เพื่อรองรับการเป็นสังคมอารยะที่มนุษย์เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของกันและกัน และมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องช่วยเหลือกันและกัน เมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสถานะที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น     

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าเมื่อนักคิดตะวันตกวิจารณ์ว่า “พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม” นั้น เขาหมายถึงว่า ระบบศีลธรรมของพุทธศาสนาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของปรัชญาสังคม พุทธศาสนาจึงไม่มีมโนทัศน์เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางสังคม เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ที่จะใช้เป็นหลักการรองรับการสร้างระบบ หรือกติกาทางสังคมการเมืองเพื่อส่งเสริม ปกป้องคุณค่าเชิงสังคม เช่น ความเป็นสังคมอารยะที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกันและกันเมื่ออีกฝ่ายมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น

แต่หลักศีลธรรมของพุทธศาสนาเป็นศีลธรรมเชิงปัจเจก เพราะเป็นศีลธรรมที่วางอยู่บน concept ของคุณค่าเชิงปัจเจกในความหมายว่า ไม่ว่าคุณจะทำความดีในเรื่องใดๆ ก็ตาม คุณก็ทำความดีนั้นๆ เพื่อขัดเกลาจิตใจตนเองเป็นหลัก เช่น เพื่อยกระดับจิตใจตนเองให้สูงส่งขึ้น และ/หรือเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือความพ้นทุกข์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็น “ปัจจัตตัง” หรือเป็นเรื่องของคุณค่าที่เป็นความสุขส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง

และแม้ว่าพุทธศาสนาจะมีหลักการว่า แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน แต่ประโยชน์สุขที่ว่านั้น ก็คือประโยชน์สุขในมิติปัจเจกบุคคลในระดับต่างๆ จนสูงสุดคือความหลุดพ้นดังกล่าวที่พุทธศาสนาต้องการหยิบยื่นให้แก่มหาชน

ฉะนั้น หากชาวพุทธจะโต้แย้งข้อวิจารณ์ของนักคิดตะวันตกที่ว่า “พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม” ก็ต้องโต้แย้งด้วยการแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนามีระบบศีลธรรมทางสังคมที่อยู่บนรากฐานของปรัชญาสังคมแบบไหน อย่างไร หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของระบบสังคมการเมือง เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ตามทัศนะของพุทธศาสนามีเนื้อหาเป็นอย่างไร

ไอ้ที่เถียงๆ เขาต่างๆ นานานั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อวิจารณ์ของเขาได้เลยครับ เพราะเถียงมั่วๆ แบบ “มวยวัด” เสียโดยมาก! 

แถมอีกนิด การทำความดีบางเรื่องที่สอนๆ กันอยู่ก็แสดงถึง “ตรรกะวิบัติ” อีกต่างหาก เช่น ที่สอนกันว่า “บุญหรือความดีคือสิ่งที่ทำแล้ว สุขใจ สบายใจ บาปหรือความชั่วคือสิ่งที่ทำแล้วทุกข์ใจ ไม่สบายใจ” นั้น ถามง่ายๆ ว่า พระเวสสันดรบริจาคลูกให้เป็นทาส (ความดีตามที่พระพุทธเจ้าสอน) ทำไปด้วยความสุขใจสบายใจไหม จินตนา แก้วขาว ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนจนตนเองต้องติดคุก สุขใจ สบายใจไหม ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ สละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ สุขใจ สบายใจไหม

หากคนในตัวอย่างเหล่านี้ (เป็นต้น) เห็นว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นคือความถูกต้อง แล้วเขาก็ตัดสินใจทำแม้จะต้องแลกด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง หรือแม้กระทั่งยอมตาย ถ้านิยามดังกล่าวถูกต้อง การกระทำของพวกเขาก็ไม่นับว่าเป็น “ความดี” ใช่หรือไม่!

และอีกอย่างคือ ธรรมะที่นิยมสอนๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ก็มักจะเน้น “ธรรมะทำใจ” ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นด้านหลัก สังคมเกิดความขัดแย้งก็ให้ทำใจปล่อยวางตัวกูของกู ไม่ให้โกรธกัน ให้รักกัน ให้เมตตาต่อกัน วิกฤตธรรมชาติก็ให้ทำใจ ฯลฯ

ซึ่งที่จริงธรรมะทำใจถ้าทำได้ก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ว่าความยุติธรรมไม่ใช่ธรรมะหรือ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นต้นไม่ใช่ธรรมะหรือ ถ้าใช่ทำไมพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปจึงไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อ “ธรรมะเชิงสังคม” เหล่านี้เลย

แล้วที่ป่าวประกาศอยู่ตลอดเวลาว่า พระพุทธเจ้าสอนสัจธรรมที่แท้จริง สอนความจริง ความถูกต้อง จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อสังคมพุทธแห่งนี้เองกลับมีกฎหมายอย่าง ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายห้ามพูดความจริงที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจสาธารณะเพื่อรักษาความถูกต้องโปร่งใส เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมของสังคม ทำไมไม่เห็นพระปัญญาชน พระเอ็นจีโอ พระเซเลบริตี้ หรือ “กูรูทางพุทธศาสนา” คนใดเลยที่โปรสัจจะ ความจริง ความถูกต้อง ออกมาเรียกร้องให้แก้ ม.112 (เป็นต้น) บ้าง

พูดก็พูดเถอะครับ ขอแถมอีกหน่อย คือ  ผมชักเกิด “ซาโตริ” กับไอเดียเสื้อข้างล่างนี้ครับ

 


ว่ามันสะท้อน “ศีลธรรมทางสังคม” ที่เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองและสภาวะทางศีลธรรมในสังคมปัจจุบันอย่างลึกซึ้งถึงราก ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า มีคนจำนวนหนึ่งใส่เสื้อนี้ไปเยี่ยมพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพบก กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ...ผมว่ามันอาจจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างเกินความคาดหมาย และเปลี่ยนได้ดีกว่า “ธรรมะทำใจ” อย่างแน่นอน!  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกร็ดความรู้ด้านอุทกวิทยากับภาวะน้ำท่วม

Posted: 08 Nov 2011 07:40 AM PST

บทความนี้เขียนขึ้น (11 ตุลาคม 2554) ในระหว่างที่มีภาวะน้ำท่วมอย่างหนักบริเวณนครสวรรค์-ลพบุรี-อยุธยา-ปทุมธานี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหากับนนทบุรีและกรุงเทพมหานครในอนาคต ผู้เขียนเป็นเพียงผู้ใฝ่รู้ และได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านอุทกวิทยากับปรมาจารย์ด้านนี้ คือ อาจารย์บุญชอบ กาญจณลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองอุทกวิทยา กรมชลประทาน และได้เกษียรในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอุทกวิทยา ธนาคารโลกเมื่ออายุ 65 ปี แล้วได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากท่านเมื่อเกิดภาวการณ์ด้านอุทกวิทยา (น้ำท่วม การประท้วงเรื่องเขื่อน น้ำแล้ง) ว่าในแต่ละกรณี ถ้าจะมองผ่านหลักวิชาการด้านอุทกควรเข้าใจ วิเคราะห์อย่างไร และควรจะบริหารจัดการอย่างไร

ดังนั้นผู้เขียนจึงได้จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบูชาคุณอาจารย์ในการที่จะสนับสนุนให้ท่านซึ่งอยู่ในสัมปรายภพด้วยความสุขคติ แต่ถ้ารายงานฉบับนี้มีข้อผิดพลาด หรือก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ใดๆ ผู้เขียนขอน้อมรับแต่เพียงผู้เดียว

อุทกภัย: ภาวะนำท่วม ในหลักวิชาแล้ว จะนำการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำมาประยุกต์ โดยมีสมการง่าย คือ S = I – O,

S หมายถึง Storage น้ำคงเหลือ ถ้ามีค่าเป็นบวกหรือมีน้ำเหลืออยู่ก็คือท่วม ถ้ามีค่าเป็นศูนย์หรือติดลบ (การระเหย) ก็คือแล้ง  

I หมายถึง Inflow หรือน้ำไหลเข้ายังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยมีลักษณะการไหลเข้า 2 ลักษณะ ได้แก่ น้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำและน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่โดยตรง

O หมายถึง Outflow หรือน้ำไหลออกจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยมีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่ ในกรณีของน้ำท่วมจะพิจารณาเฉพาะน้ำที่ไหลไปท้ายน้ำ โดยไม่รวมถึงน้ำที่ซึมลงดินและน้ำที่ระเหยไปในอากาศ

ข้อมูลนำท่วม: ความเข้าใจสำหรับการทำงาน ข้อมูลน้ำจะถูกนำเสนอเป็นปริมาณลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เช่น ปริมาตรน้ำที่ C2A ค่ายจิระประวัติ มีจำนวน 4,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา 3,634  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่บางไทร 3,476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นต้น

จากข้อมูลสู่การบริหารจัดการ การนำข้อมูลมาใช้โดยตรง สามารถทำได้ เนื่องจากระบบคันคูน้ำ(คลองและแม่น้ำ) จะได้รับการคำนวณว่าจะสามารถรองรับน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอยู่แล้ว ดังนั้นในเบื้องต้น ก็นำไปคำนวณจากสูตร S = I – O จากข้อมูลข้างต้น น้ำเข้าพื้นที่ที่ค่ายจิระประวัติแล้วน้ำออกจากพื้นที่ที่เขื่อนเจ้าพระยา จะทำให้มีน้ำคงเหลือในพื้นที่ระหว่างค่ายจิระประวัติและเขื่อนเจ้าพระยา เท่ากับ 4,650 – 3634 หรือ 916 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ในกรณีที่มีนำคงเหลืออยู่ สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจต่อไปก็คือ ขนาดของปัญหาที่จะสะสมอยู่ในพื้นที่ว่ามีอยู่เท่าไร? ในกรณีนี้ ใน 1 วินาที จะมีน้ำ 916  ลูกบาศก์เมตรค้างอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น ถ้ายังมีน้ำไหลเข้าและไหลออกในลักษณะอย่างนี้ ปริมาณก็ได้เท่ากับเวลาที่เกิดขึ้นคูณกับจำนวนน้ำที่เหลืออยู่ เช่น 1 วัน ก็จะมีน้ำสะสมอยู่เท่ากับ 24x60x60x916 หรือ 791,142,400 ลูกบาศก์เมตร

กลไกทางอุทกวิทยาในกรณีที่น้ำท่วมขัง
1. น้ำเท้อ (Water Back) เกิดขึ้นเมื่อกรณีที่น้ำไหลไม่ทันก็จะหนุนน้ำกลับไปทำให้มีระดับที่สูงขึ้น ในกรณีน้ำท่วมขังก็จะทำให้บริเวณที่ถูกท่วมขยายออกกว้างออกไปตามปริมาณที่น้ำค้างอยู่ตามจำนวนที่คำนวณไว้

2. กรณีเขื่อนดินชั่วคราวหรือกระสอบทรายพัง เกิดจากแรงดันของน้ำซึ่งมีอย่างมหาศาลและเกิดทุกทิศทาง มวลน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร จะมีแรงดัน 1 ตัน ถ้าน้ำสูงเท่าไร ฐานเขื่อนดินหรือกระสอบทรายก็จะรับแรงเท่ากับ จำนวนน้ำคูณด้วยความสูง เช่น น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรสูง 3 เมตร แรงกดที่ฐานก็จะเท่ากับ 1x3 ตัน ถ้าจำนวณน้ำเพิ่มขึ้น ตัวที่จะนำมาคูณก็จะสูงขึ้น และจะทำให้ความสูงเพิ่มขึ้น ตัวที่จะนำมาคูณก็เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นฐานก็จะมีแรงที่ถูกกระทำเพิ่มแบบทวีคูณ

แนวทางการบริหาร เป้าหมายการบริหารจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติของน้ำ คือ น้ำที่ท่วมขังทั้งหมดมีปลายทางอยู่ที่ทะเลไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น ช่องทางน้ำทุกช่องทางจะต้องนำมาใช้ และใช้หลักการบริหารจัดการคือ การไหลเข้าและไหลออกจากพื้นที่จะต้องมีความสมดุล และยอมให้น้ำพัก ( Retard & retention) ในจำนวนที่จะไม่สร้างผลกระทบมากนัก (จากสูตร S = I – O) ภายใต้หลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข

นอกจากนั้นการที่จะนำเรือมาช่วยความเร็วของน้ำก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำ แต่จะต้องมีความคาดหวังอย่างเข้าใจ คือ โดยทั่วไป เรือจะมีหน่วยวัดเป็นพลังขับเป็นตัน ดังนั้น กำลังเครื่องยนต์ก็จะสามารถดันน้ำได้จำนวนตัน (?ลูกบาศก์เมตร) ให้เลื่อนที่ไปได้ คงจะไม่มีผลต่อมวลน้ำทั้งลำน้ำ การเพิ่มความเร็วของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพของเรือ จะอยู่ในบริเวณผิวน้ำและลึกลงไปจนถึงบริเวณใบพัดเรือ ส่วนที่ลึกลงไปกว่านั้นน่าจะมีผลน้อยมาก

ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลยังมีงานหนักหลังน้ำท่วม คือการฟื้นฟู ซึ่งขนาดของความเสียหายนั้นครอบคลุมทั้งภาคบริการ อุตสาหกรรม และทรัพย์สินของประชาชนทั้งด้านที่อยู่อาศัยและเครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาชีพ(Fix asset) จากปริมาณน้ำที่ค้างอยู่และความสามารถที่จะระบายออก คาดว่าน่าจะใช้เวลานับเดือน ดังนั้นตัวเลขความเสียหายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ประกาศในเบื้องต้นนั้น เมื่อวันน้ำแห้งอาจจะต้องคูณ 2 เป็นอย่างน้อย หวังว่ารัฐบาลคงจะมีแรงเหลือที่จะรับมือต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ปัญหาน้ำท่วมปี 2554 กับความจำเป็นในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

Posted: 08 Nov 2011 05:23 AM PST

ภัยพิบัติน้ำท่วมที่รุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบหลายสิบปี ยังคงสร้างความเสียหายในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ ก็กำลังกระชับพื้นที่เข้ามายังมหานครกรุงเทพฯ อย่างไม่ลดละ ล่าสุด ข้อมูลจากทางการเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500 คนแล้ว มีการประเมินค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมครั้งนี้คิดเป็นมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ซึ่งผู้เชียวชาญบางท่านได้ประเมินว่า ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เสียหายมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มากกว่าหลายเท่าตัว ยังไม่ต้องพูดถึงความเสียหายทางจิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชนหลายแสนที่ทรัพย์สินเกือบทั้งชีวิตลอยหายไปในพริบตาเดียว

ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ตกลงน้ำท่วมครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ และยังสงสัยว่า ปีหน้าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับพวกเขาอีกหรือไม่ ถ้ามาแล้วจะต้องรับมือกันอย่างไร รัฐบาลมีแผนป้องกันภัยพิบัติหรือไม่ ตกลงนิคมอุตสาหกรรมควรจะย้ายหรือเปล่า หากแต่คนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานไหนที่ชัดเจน และก็น่าสงสัยว่า พวกเขาจะได้รับคำตอบเหล่านี้ในอนาคตบ้างไหม

หนึ่งในข้อเสนอของการจัดการภัยพิบัติคราวนี้ คือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบหาและสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งทำหน้าที่สอบสวนและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพื่อเปิดเผยแก่สาธารณชน และการวางแผนป้องกันภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทยที่ไม่ค่อยจะมีคณะกรรมการอิสระที่เคยทำงานได้จริงนั้น การหันไปดูประเทศอื่นเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการภัยพิบัติ อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
 

กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือเหตุการณ์น้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปี 2554 กล่าวกันว่าเป็นภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดของออสเตรเลียในรอบ 200 ปี ซึ่งได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 30 คน และทำให้ประเทศเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บางพื้นที่ของรัฐควีนส์แลนด์ซึ่งมีประชากรราวหนึ่งล้านสี่แสนคนนั้น จมอยู่ใต้น้ำที่สูงกว่า 4 เมตร

Colleges Crossing Flooded-5
น้ำท่วมในเมืองอิปสวิช (Ipswich) รัฐควีนส์แลนด์
ภาพจาก lordphantom74 (CC BY 2.0)

เมื่อกลางเดือนมกราคม ก่อนที่อุทกภัยดังกล่าวจะสิ้นสุดเสียอีก รัฐบาลของแคว้นควีนส์แลนด์ ก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง (Commission of Inquiry) เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วม โดยตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งควีนส์แลนด์ แคเธอรีน โฮล์มส์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีจิม โอซัลลิแวน อดีตอธิบดีกรมตำรวจควีนส์แลนด์ และฟิลลิป คัมมินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อน เป็นรองประธาน คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจออกหมายเรียก และหมายค้นใครก็ได้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาเป็นพยานและให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการค้นหาความจริงกรณีอุทกภัยในควีนส์แลนด์

คณะกรรมการอิสระดังกล่าว มีหน้าที่สอบสวนในหลายประเด็น เช่น ความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือภัยพิบัติ, การจัดการระบบเขื่อน, การพยากรณ์อากาศและระบบเตือนภัย, ความเหมาะสมของการวางผังเมือง ไปจนถึงตรวจสอบการทำงานของบริษัทประกันภัย โดยข้อเท็จจริงที่ได้ต้องผลิตออกมาเป็นรายงานเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยกำหนดให้รายงานขั้นกลาง (interim report) ส่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
 

ฝีมือมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ?

ในขณะที่สื่อมวลชนบางฉบับในเมืองไทยยังคงโหมข่าวว่า สาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้ เป็นเพราะสยามเทวาท่านลงโทษเพราะมีผู้นำหญิงนำกาลีมาสู่เมือง สื่อมวลชนหัวใหญ่ของออสเตรเลียอย่าง ดิ ออสเตรเลียน (The Australian) ได้เข้าถึงข้อมูลในเดือนมกราคม 2554 ที่เปิดเผยว่า น้ำที่ไหล่บ่าเข้าท่วมควีนส์แลนด์ราว 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเขื่อนวิเวนโฮ (Wivenhoe Dam) ที่กักเก็บน้ำไว้มากเกินไปช่วงปลายปีในฤดูฝน (ฤดูฝนของออสเตรเลียอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเมษายน) ประกอบกับปรากฏการณ์ “ลา นินญ่า” (La Nina) ที่นำพายุไซโคลนเข้ามาสู่ทวีปพร้อมปริมาณน้ำฝนที่มากที่สุดที่เคยมีมาของออสเตรเลีย ทำให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมเมืองสามในสี่ของรัฐควีนส์แลนด์จนไม่เหลือชิ้นดี

ข้อสงสัยที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียนนี้ ทำให้รัฐบาลบรรจุเรื่องการจัดการน้ำในเขื่อน เป็นวาระหลักในการสอบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วย

Ipswich floods - Wednesday afternoon
น้ำท่วมในเมืองอิปสวิช รัฐควีนส์แลนด์
ภาพจาก
Jim yes that is me (CC BY 2.0)


หลังจากน้ำท่วมไม่ถึง 8 เดือน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 รายงานสรุปข้อเท็จจริง ก็ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน และได้ข้อสรุปว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากการปล่อยน้ำในเขื่อนไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องไว้หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • การสื่อสารระหว่างกระทรวงทรัพยากรน้ำ และกรมที่เกี่ยวข้องที่ไม่ชัดเจน นำไปสู่การจัดการภัยพิบัติไม่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงที
  • การคำนวณปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายปีที่ผิดพลาดของวิศวกรเขื่อนและกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนมีมากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น
  • การมีมาตรวัดปริมาณน้ำที่ติดตั้งไม่ทั่วถึงบริเวณเขื่อน ทำให้การวัดปริมาณระดับน้ำมีความคลาดเคลื่อน
  • นอกจากนี้ สื่อบางฉบับยังตั้งคำถามกับซอฟท์แวร์การจัดการทรัพยากรของกระทรวงน้ำที่มีอายุมากถึง 15 ปีด้วย

บุคคลเกี่ยวข้องโดยตรง อย่างรัฐมนตรีกระทรวงน้ำของออสเตรเลีย สตีเฟน โรเบิร์ตสัน ได้กล่าวในระหว่างการไต่สวนสาธารณะว่า ถึงเขาจะรับทราบว่าเขื่อนวิเวนโฮควรจะปล่อยน้ำออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้มีที่ว่างในการรับปริมาณน้ำฝน แต่ก็ยอมรับว่า ทางกระทรวงไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ส่วนต่อคำถามที่ว่ากรมของเขาทำงานผิดพลาดหรือไม่ เขาตอบว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ต้องไปสอบสวนและหาข้อสรุปด้วยตัวเอง

การที่คณะกรรมการอิสระดังกล่าว มีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนกรณีน้ำท่วม ทำให้มีการเรียกบุคคลอย่างน้อย 250 คน เข้ารับการไต่สวนสาธารณะ ทั้งจากกระทรวงน้ำ วิศวกรเขื่อน เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ไปจนถึงเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัย และแจกแจงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อการจัดการน้ำในช่วงดังกล่าวต่อคณะกรรมการ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีรับฟังสำหรับประชาชนที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องการจะมาให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ด้วย

ผู้ว่าการรัฐควีนส์แลนด์ แอนนา ไบลฮ์ กล่าวถึงความสำคัญของการตั้งคณะกรรมการอิสระนี้ว่า นอกจากจะทำให้เราสามารถสรุปปัญหาของการจัดการน้ำในเขื่อนแล้ว ยังทำให้เราสามารถวางแผนในอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยได้

“คณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ จะไม่มีก้อนหินก้อนไหนที่ไม่ถูกตรวจสอบ หากมันเกี่ยวข้องกับการตอบคำถามของประชาชนต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเขื่อนวิเวนโฮ หรือเหตุการณ์โชคร้ายที่แม่น้ำล็อกเกอร์ก็ตาม” ไบลฮ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เอบีซี

“เราจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ เพื่อที่เราจะได้ป้องกันตัวเองให้พร้อมกว่านี้ในอนาคต เราต้องให้เกียรติผู้คนที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าจากหายนะ และในการทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น” เธอกล่าว

ในขณะนี้ คณะกรรมการอิสระที่ค้นหาความจริงกรณีน้ำท่วมควีนส์แลนด์ ยังคงทำหน้าที่ต่อไป และมีหน้าที่ส่งรายงานฉบับสุดท้ายในเดือนมิถุนายนปี 2555 โดยจะสืบสวนในเรื่องการวางผังเมือง และผลิตข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะยาวเพิ่มเติม ในขณะที่รายงานขั้นกลาง มีจุดประสงค์เพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันและวางแผนภัยพิบัติก่อนฤดูฝนในปีถัดไป

อันที่จริง วิวาทะเรื่องสาเหตุของน้ำท่วมว่ามาจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์นั้น ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นแค่ประเทศไทยที่เดียว แต่ในประเทศอินเดียซึ่งประสบภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
 

วิวาทะร้อนในอินเดีย

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ของอินเดียหลายฉบับ ได้ตีพิมพ์การโต้ตอบระหว่างนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่รัฐ เกี่ยวกับกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2554 ในรัฐโอริสสา โดยฝ่ายค้านกล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบกักเก็บน้ำในเขื่อนมากเกินไป ถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรเต็มของเขื่อน ทำให้เมื่อเข้าหน้าฝน เขื่อนไฮรากุดจำเป็นต้องปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลออกมาภายในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าแปดสิบคน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก

ผู้เชียวชาญระบุว่า จุดประสงค์ดั้งเดิมของเขื่อนไฮรากุดที่ขวางแม่น้ำมหานาดี มีไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในระยะหลังๆ เขื่อนดังกล่าวถูกใช้เพื่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า และใช้ในอุตสาหกรรมร่วมด้วย ทำให้มีการเก็กกับน้ำในเขื่อนมากเกินจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียได้ตอบโต้ว่า น้ำท่วมดังกล่าว ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการจัดการน้ำในเขื่อนผิดพลาด และยืนยันว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนไฮราคุดซึ่งเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ เป็นไปตามข้อกำหนดที่คำนวณไว้อย่างถูกต้องแล้ว

ทางนักการเมืองฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหว ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง และตีพิมพ์ “สมุดปกขาว” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะอีกด้วย
 

ปัญหาเผือกร้อน

ส่วนในประเทศไทยเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามกับสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงไปตรงมามากนัก แต่เรายังพบเห็นฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานราชการ บล็อกเกอร์ นำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของน้ำท่วมปี 2554 มานำเสนอต่อสาธารณะกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น

  • ปริมาณฝนที่มากผิดปรกติ เนื่องมาจากพายุโซนร้อน (สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 40%) เป็นสาเหตุหลักของน้ำท่วมในครั้งนี้ (Andrew Walker, Thai flood cause revealed: rain! , เว็บไซต์นิวแมนดาลา)
  • การบริหารจัดการน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ข้อมูลปริมาณฝนที่ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวางแผนในการจัดการน้ำให้เหมาะสม (ชินวัชร์ สุรัสวดี, เทียบข้อมูลฝนจากดาวเทียม หาสาเหตุวิกฤตน้ำท่วม 2554, มติชน)
  • ไม่มีการติดตามข้อมูลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ทำให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คาดการณ์ผิด และเก็บน้ำไว้ในเขื่อนใหญ่ทั้งหมดเพราะกลัวว่าจะไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ส่งผลให้เมื่อฝนตกต่อเนื่อง เขื่อนใหญ่จำเป็นต้องปล่อยน้ำทั้งหมดออกมาพร้อมกัน ทำให้ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมามีมากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกใส่เขื่อน (สมิทธิ ธรรมสโรช, น้ำท่วม...บริหารจัดการไม่เป็น [บทสัมภาษณ์], โพสต์ทูเดย์)
  • การขาดการบูรณาการในการจัดการน้ำระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีวิสัยการทำงานแบบต่างคนต่างทำ รวมถึงปัญหาผังเมือง การขาดองค์ความรู้เรื่องน้ำที่เป็นระบบ และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา (สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, เห็นอะไรในสายน้ำ?, ประชาไท)
  • ความไม่พร้อมของรัฐกับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่, ระบบการระบายน้ำ และประสิทธิภาพของระบบการพยากรณ์ โดยในปีนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานพยากรณ์ว่า จะมีพายุเข้าเพียง 2 ลูก แต่ในความเป็นจริงมีพายุเข้าถึง 5 ลูก (มนตรี จันทวงศ์, เสวนาเปิดน้ำท่วม(ปาก): "น้ำท่วม ตอผุด" การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ผูกขาดโดยผู้เชี่ยวชาญ, ประชาธรรม)
  • สื่อมวลชนบางสำนักยังตั้งคำถามถึงความเป็นผู้หญิงของยิ่งลักษณ์ ที่นำเคราะห์ร้ายภัยน้ำท่วมมาสู่ประเทศด้วย (ปราโมทย์ นาครทรรพ, อาเพศผู้นำหญิงจริงหรือไม่ หรือการเมืองจัญไรมาต่อเนื่อง, ผู้จัดการออนไลน์)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมตัดสินใจในการปล่อยน้ำจากเขื่อนร่วมกับกรมชลประทาน ได้ออกมาปฏิเสธว่า การจัดการเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อน้ำท่วมในครั้งนี้ หากแต่สาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปรกติ โดยเขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ว่า ความเข้าใจของคนทั่วไปที่เชื่อว่าการปล่อยน้ำจากเขื่อนในภาคเหนือเป็นสาเหตุของอุทกภัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และยังเสริมว่า ถ้าหากไม่มีเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์แล้ว อาจทำให้ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้นกว่านี้ 2-3 เท่า

แน่นอนว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤติหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากจะออกมาแสดงความรับผิดชอบมากนัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องทำหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงและสรุปบทเรียนให้ได้ว่า สาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้ มาจากปัญหาอะไรกันแน่ ไม่ใช่เพื่อการกล่าวโทษหรือหาแพะมารับผิด แต่เพื่อเป็นการถอดบทเรียนและวางแผนป้องกันได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
 

มองไปข้างหน้าได้ แต่อย่าลืมสรุปบทเรียน

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้เริ่มพูดถึง “นิวไทยแลนด์” โครงการขนาดใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณถึง 8 แสนล้านบาท เพื่อเร่งฟื้นฟูประเทศในทุกด้าน ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐาน วางระบบการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างถาวร รวมถึงการปรับปรุงประเทศเพื่อเน้นการลงทุนในระยะยาว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการและกลไกปฏิบัติงานฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 9 ชุด เพื่อดูแลในด้านต่างๆ เช่น การเยียวยาด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต รวมถึงคณะกรรมการสื่อสารสาธารณะ และคณะที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังคงยังไม่เห็นว่า จะมีคณะกรรมการใดที่สามารถตอบข้อสงสัยของประชาชนถึงสาเหตุของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนนัก

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการตรวจสอบบุคคลสาธารณะมากเท่าใด แต่รัฐบาลควรจะตระหนักถึงความสำคัญของการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงในกรณีน้ำท่วมปี 2554 เพื่อนำข้อสรุปไปปฏิรูปนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหามาซ้ำรอยในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการตรวจสอบและความโปร่งใสในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐด้วย

ทั้งนี้ เงื่อนไขของการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว คงต้องได้รับงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการ มีอำนาจในการออกหมายเรียก และหมายค้นต่อบุคคลที่เห็นว่าเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สำคัญ จะต้องมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ล้มเหลวเฉกคณะกรรมการอิสระอื่นๆ ที่เคยมีมาในอดีต และสามารถดำเนินการได้อย่างสมประโยชน์ของประชาชนไทยให้มากที่สุด

แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักวิชาการจากวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ประเทศออสเตรเลียสามารถตั้งคณะกรรมการอิสระและค้นหาความจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองในออสเตรเลียที่ประชาชนมีคุ้นชินและคาดหวังสูงว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องได้รับการตรวจสอบต่อการตัดสินใจและการกระทำต่างๆ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ เขายังชีด้วยว่า การที่งานด้านการจัดการภัยพิบัติในออสเตรเลีย ถูกจัดอยู่ภายใต้สำนักงานอัยการสูงสุดในรัฐบาลแห่งชาติ และเป็นวาระสำคัญหนึ่งด้านความมั่นคงแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการเน้นย้ำความสำคัญทางการเมืองของการจัดการภัยพิบัติของประเทศออสเตรเลีย

หากประเทศไทยต้องการที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติให้ได้อย่างถาวร นอกจากจะต้องปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานการจัดการน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง และสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในทุกหน่วยงานแล้ว เห็นที่จะต้องนิยามความหมายของคำว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ” กันใหม่ด้วย เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือได้กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ล้าหลังและเชื่องช้าดังเช่นที่เป็นมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: แรงงานนอกระบบ คนพิการ ร้องอาหารหมดเกือบอดตาย

Posted: 08 Nov 2011 04:49 AM PST

แม่บ้าน อบต. พร้อมลูกสามีพิการ ร้องอาหารหมดเกือบอดตายหากกลุ่มแรงงานไม่เข้ามาแจกถุงยังชีพ น้ำยังท่วมเกือบ 3 เมตรไม่สามารถออกไปหากินได้ หวั่นน้ำลดจะเอาเงินไหนซ่อมบ้าน ห่วงลูกไม่มีเงินเรียน

 

แม้น้ำในอยุธยาจะลดลงในบางพื้นที่บางส่วน แต่ในอีกหลายพื้นที่น้ำยังคงสูงอยู่ การเดินทางยังคงยากลำบากต้องใช้เรือโดยสารเพียงอย่างเดียว ในการเดินทางแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนก่อนที่จะออกเดินทางทุกครั้ง เพราะเมื่อออกจากบ้านไปแล้ว ต้องนำเครื่องยังชีพในชีวิตประจำวันกลับมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตเพื่อให้อยู่รอดต่อไป

นางลออ วิไลสงค์ ทำงานเป็นแม่บ้านในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา กล่าวว่า ตนเองและครอบครัวไม่สามารถที่จะออกไปรับถุงยังชีพตามศูนย์ต่างๆ ได้ ต้องรอคอยจากคนที่จะนำของบริจาคนั่งเรือมาให้ เพราะน้ำท่วมสูงประมาณ 3 เมตร หลังจากบ้านถูกน้ำท่วม ตนเองสามีและลูก 2 คน ต้องออกมาอาศัยโรงเรียนวัดสุคันธาราม

นางลออยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากสามีขาขวาพิการจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ไม่สามารถเดินได้การที่จะออกไปขอความช่วยเหลือจึงยากมาก หรือทำไม่ได้ ในช่วงนี้ไม่มีใครนำถุงยังชีพมาให้เลย เพิ่งมีสหภาพแรงงานเข้ามาแจกถุงยังชีพ รู้สึกขอบคุณมาก เพราะรอคอยความช่วยเหลืออยู่ เพราะน้ำยังท่วมออกไปหากินเองไม่ได้”

นายประยง ไกรสมัคร สามีของนางลออ กล่าวว่า “เนื่องจากเป็นคนพิการมาหลายปีแล้ว ไม่สามารถทำงานได้ มีรายรับเข้ามาทางเดียวจากภรรยา ส่วนลูกยังเรียนหนังสืออยู่ไม่ได้ทำงานภาระเลยตกหนักอยู่ที่ภรรยาคนเดียว ยิ่งช่วงนี้น้ำท่วมบ้านหมดตัวแบบไม่เหลืออะไร แบบนี้ยิ่งทำให้น้ามีความลำบากมากยิ่งขึ้น หลังจากน้ำลดลงไม่รู้ว่าบ้านจะเป็นเสียหายแค่ไหน อาจต้องปลูกสร้าง ซ่อมแซมใหม่ แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน เพราะคงไม่มีใครรับคนพิการเข้าทำงาน”

นายประยง กล่าวต่อว่า “เมื่อน้ำลดลง คงต้องหาที่อยู่เพื่อพักพิงชั่วคราวใหม่ เพราะโรงเรียนต้องเปิดลูกต้องเรียนหนังสือ ค่าใช้จ่ายนี้จะทำอย่างไรยังไม่รู้เหมือนกัน

นายมุลละ ศรีตระการ เลขาสหภาพแรงงานไทยโทเรย ซินเทติคส์ เป็นหน่วยอาสาลงพื้นที่ (นำถุงยังชีพไปแจกคนงานและชาวบ้าน) กล่าวว่า “ผมได้รับการประสานงานให้มาช่วยที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานประสบภัยน้ำท่วมในนามกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาและใกล้เคียง ผมได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพ จากศูนย์ไปแจกให้คนงานและชาวบ้านในพื้นที่ที่น้ำลึก และเข้าออกลำบากแล้ว ความจริงบ้านเช่าผมน้ำไม่ท่วม มีเตียงนุ่มๆ ให้นอนสบาย ไม่ต้องทำงานนี้ก็ได้ แต่เห็นสภาพแวดล้อมที่คนงานและชาวบ้านอาศัยอยู่บนหลังคาบ้าน อยู่ตามโรงเรียน ผมเลยตัดสินใจขอเป็นหน่วยอาสาลงพื้นที่ นำของไปตามพื้นที่ต่างๆ

นายมุลละเล่าอีกว่า หลังจากที่น้ำลดลงแล้วการกู้นิคมต่างๆ จะตามมา และคงมีหลายบริษัทที่มีการเลิกจ้างโดยที่พนักงานทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ พนักงานเหมาค่าแรงเพราะนายจ้างต้องเลือกที่จะเลิกจ้างก่อนเป็นอันดับแรก ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องมีมาตรการในการเยียวยาระยะยาวให้กับคนงาน และต้องไม่จำกัดเฉพาะคนที่ต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่อย่างเดียวต้องกระจายการเยียวยาให้ครอบคลุมเพราะได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันและไม่ใช่ช่วยแค่ 5,000 บาท ทุกอย่างจบ

รัฐบาลจะทำอย่างไรกับอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ จะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร จ่ายหลังละ 5,000 บาท ทุกหลังคาเรือน รัฐบาลจะทำได้จริงไหม และจะมีการพิจารณาอย่างไร ถ้าจ่ายไม่ได้ เกณฑ์การพิจารณาจะวัดจากอะไร ประชาชนรอคอยคำตอบจากรัฐบาลอยู่ นายมุลละกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์-ภูมิธรรม ทวีตปัดกระแสข่าว บ้านเลขที่ 111 เสนอเปลี่ยนตัวนายกฯ

Posted: 08 Nov 2011 02:57 AM PST

 

กรณีมีกระแสข่าวอ้างอิงแกนนำบ้านเลขที่ 111 เสนอเปลี่ยนตัวนายกฯ ล่าสุด (8 พ.ย.54) นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยังไม่มีใครมีแนวคิดดังกล่าวแต่อย่างใด
 

นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย @phumtham
"เห็นข่าวจากนสพ.บางฉบับระบุ"คนบ้านเลขที่111" ขัดแย้งและขอให้เปลี่ยนตัวนายกฯ...รู้สึกแปลกใจจริงๆ

อ่านข่าวอย่างละเอียด ว่า"บ้านเลขที่111"ที่เป็นข่าวคือใคร กลุ่มไหนแต่ก็ไม่มีรายละเอียด..เห็นมีแต่รายงานว่าเป็นแหล่งข่าว..ถือเป็นข่าวเลื่อนลอย

เท่าที่ผมได้พบหรือได้โทร.คุยกับสมาชิกบ้านเลขที่111 ส่วนใหญ่ในช่วง1-2สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครคิดอย่างที่เป็นข่าวเลยแม้แต่คนเดียว

ตรงข้ามขณะนี้ทุกคนเห็นใจและเป็นกำลังใจให้ท่านนายกฯ ที่กำลังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย"

 

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย @chaturon 

"เห็นข่าวเรื่อง 111 คิดจะเปลี่ยนนายกฯมา 2 วันแล้วไม่ได้แสดงความเห็นอะไรเพราะไม่เห็นที่มาที่ไป ไม่นึกว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ มาวันนี้เห็นเป็นข่าวกว้างขึ้นมาก เพราะมีสื่อไปถามท่านนายกฯ และมีคอลัมนิสต์เขียนถึงเรื่องนี้กันไม่น้อย คงต้องขอชี้แจงบ้างอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง

"111 ที่หารือร่วมงานกันอยู่ หรือพอติดต่อได้ไม่มีใครคิดหรือหยิบยกประเด็นเรื่องการเปลี่ยนนายกฯเลยสักคน ผมจึงยังนึกไม่ออกว่าจะมี 111 ส่วนไหน ส่วนที่หารือร่วมงานกันอยู่ หรือบางส่วนแยกกันทำ ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยได้ทำงานอื่นนอกจากช่วยท่านนายกฯกับรัฐบาลคิดและทำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม

"สิ่งที่ 111 พยายามทำอยู่นั้นได้พยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองให้มากที่สุดและทำเรื่องที่ถนัดคือ ความรวบรวมความคิดประสบการณ์ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองมาใช้ประโยชน์ ส่วนข่าวที่ว่า 111 คิดเปลี่ยนนายกฯนั้นเท่าที่ดูก็เห็นว่ามาจากหนังสือพิมพ์ 1 - 2 ฉบับที่เสนอข่าวนี้โดยไม่ระบุแหล่งข่าวแต่อ้างว่ามีรายงานข่าว

"พอเสนอข่าวแบบกุข่าวหรือแต่งเรื่องขึ้นเองแล้ว สื่อที่สงสัยก็ย่อมไปถามผู้เกี่ยวข้องเช่นท่านนายกฯ ซึ่งก็ต้องตอบและก็เลยเป็นข่าวกว้างออกไปอีก เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องที่บอกว่ามีการวิเคราะห์ในกองทัพถึงความผิดพลาดของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งก็อ้างแหล่งข่าวเช่นกัน

"ดูพฤติกรรมแล้วจึงเป็นลักษณะที่แสดงว่ามีความพยายามที่จะยุให้มีความแตกแยกเกิดขึ้นทั้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพและนายกฯกับ 111 โดยใช้สื่อบางค่าย สื่อบางค่ายที่ว่านี้ถนัดในการสร้างข่าวสร้างประเด็นและพร้อมขยายความเพราะถนัดมาตั้งแต่สมัยที่ล้มรัฐบาลไทยรักไทยอยู่แล้วด้วย

"ถ้าดูสื่อที่โหมกระหน่ำรัฐบาลแบบไม่ลืมหูลืมตาก็จะพบว่าเป็นค่ายเดิมที่เคยล้มรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยนั่นเองประสานกับเครือข่ายเดิมๆ ที่เห็นกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษก็หนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่าอีกนั่นเอง

"ที่ผมพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ฝ่ายค้านวิจารณ์หรือทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลหรือห้ามสื่อเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงแต่ว่าการที่ฝ่ายค้านทำเหมือนกับว่าอะไรก็จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกฯไปเสียหมดก็ดูจะง่ายไปหน่อย เอาแต่ได้ไปหน่อย ส่วนสื่อที่ตั้งป้อมโจมตีรัฐบาลก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ก็ควรต้องมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าว ไม่ใช่เขียนขึ้นเอง เต้าข่าวขึ้นเอง

"ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้กำลังแก้ตัวให้รัฐบาลและไม่ได้บอกว่ารัฐบาลดีเลิศประเสริฐศรี แต่กำลังบอกว่าที่มีการเสนอข่าวบางเรื่องนั้นไม่เป็นความจริง สำหรับท่านที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอความเห็นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม นอกจากเป็นสิทธิแล้วผมยังคิดว่ารัฐบาลควรรับฟังด้วย"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จรัญฯ-พระราม 7 เข้าสู่ภาวะปรกติ บางพลัดน้ำลดแต่ยังท่วมสูง

Posted: 08 Nov 2011 01:13 AM PST

วันที่ 8 พ.ย.2554 ผู้สื่อข่าวประชาไทสำรวจพื้นที่น้ำท่วมเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร พบว่า สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ซอย 93/1 ไปจนถึงทางขึ้นสะพานพระราม 7 ระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปรกติ รถยนต์ขนาดเล็กสามารถวิ่งได้ถึงหน้าโรงพยาบาลยันฮี ในซอยต่างๆ ประชาชนเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนและผิวถนน ส่วนถนนจรัญสนิทวงศ์ด้านที่มุ่งไปแยกบางพลัด ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 เป็นต้นไป ระดับน้ำลดลงแต่บางจุดยังคงท่วมสูงกว่า 60 ซ.ม.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น