ประชาไท | Prachatai3.info |
- บทกวี: อา...กรง
- ฝ่ายค้านมาเลเซียแนะ รบ.ไปดูงานพม่า หลังเตรียมออกกม.คุมการชุมนุม
- ศาลปกครองนัดไต่สวน ชาวบางบัวทองฟ้อง 'ศปภ.- กทม.' 29 พ.ย. นี้
- ฉลองปีใหม่อิสลาม ฮ.ศ.1433 ปัตตานีจัดใหญ่พ่วงมหกรรมตาดีกา
- เครือข่ายย้ายถิ่นน้ำโขงจี้รัฐลงทะเบียนสถานภาพแรงงานข้ามชาติ
- รายงาน: การบังคับคนให้สูญหาย ต้องเป็นอาชญากรรม
- อัยการเตรียมสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายอีกครั้ง หลังเคยสั่งยุติดำเนินคดีไปแล้ว
- 'ประชาธิปัตย์' แนะปิดประเทศบนโลกไซเบอร์แบบ 'จีน' ทั้ง 'ยูทูบ-เฟซบุ๊ก' สกัดเว็บหมิ่นฯ
- หมอชูชัยแจงเหตุย้าย เชื่อมาจากรายงานสลายแดง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19 - 25 พ.ย. 2554
- อาเซียนยังห่างไกลจากสหภาพยุโรปนัก
Posted: 26 Nov 2011 10:33 AM PST อา...กรงไม๊จ๊ะ ขายถูกนะ..เพียงครั้งละบาทห้าสิบสตางค์ต่อห้าปี ใครถูกใจรีบกด SMS มาให้เร็วรี่ ในกรงยังมี..ที่ว่างเหลือเผื่อแผ่สำหรับประชาชน
อา...กรงไม๊จ๊ะเธอจ๋า รีบเดินมาซื้อหา..อย่าได้ลังเลสับสน ซื้อตอนนี้..แจกฟรีความจงรักภักดีเหลือล้น รับประกันว่าได้ครบทุกคน..ไม่ต้องพึ่งโชคดวง
อา..กรงซักห้าปีไม๊ อย่ามัวชักช้าลังเลใจ..ไม่มีอะไรต้องห่วง เสรีภาพเราเก็บรักษาให้ในความอยุติธรรมเปล่ากลวง แถมด้วยเทพนิยายหลอกลวง..ไว้อ่านก่อนนอน
อา..กรงไม๊จ๊ะขายถูก รีบจูงหลานจูงลูก มาเลือกจองกันไว้ก่อน ขายพร้อมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกริดรอน และส่วนลดเงินทอน 112 บาทสำหรับผู้โชคดี
อา...กรงไม๊จ๊ะสดๆใหม่ๆ สนับสนุนสินค้าไทย มีขายเฉพาะประเทศนี้ สองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามาอย่ารอรี มีจำกัดแค่คนละยี่สิบปี เอ้า..เร่เข้ามา
... (ขอไว้อาลัยแด่..ศาล กระบวนการยุติธรรม และวงการนิติศาสตร์ไทย) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ฝ่ายค้านมาเลเซียแนะ รบ.ไปดูงานพม่า หลังเตรียมออกกม.คุมการชุมนุม Posted: 26 Nov 2011 10:11 AM PST นายลิมกิตเสียง ประชดรัฐบาลมาเลเซียส่งรัฐมนตรีมหาดไทยไปดูงานที่พม่า หลังรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมที่เข้มงวดกว่าฉบับที่พม่าประกาศใช้ ชี้จะเป็นเรื่องอัปยศที่มาเลเซียจะต้องเรียนรู้จากประเทศที่มีรายงานสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ ตารางเปรียบเทียบกฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่า (ขวา) และร่างกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ของมาเลเซีย (ซ้าย) ที่มา: Malaysian Insider นายลิมกิตเสียง ผู้นำพรรคกิจประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านแนวสังคมนิยมของมาเลเซีย แนะนำรัฐบาลมาเลเซียเมื่อ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ให้ส่งนายฮิสฮัมมุดดิน ฮุสเซ็น (Hishammuddin Hussein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเลเซีย ไปดูงานด้านเสรีภาพขั้นพื้นฐานในพม่า หลังจากที่นักกิจกรรมในมาเลเซียมีข้อวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่าให้เสรีภาพแก่พลเมืองมากกว่ากฎหมายฉบับที่บังคับใช้ในมาเลเซีย การเสียดสีโดยนักการเมืองอาวุโสผู้นี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายนาจิป ราซัก เตรียมนำกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบเข้าสภาในอาทิตย์ที่ผ่านมา “เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าอับอายและอัปยศ ที่มาเลเซียต้องเรียนรู้บทเรียนจากประเทศที่มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่” “นาจิปคงต้องการส่งรัฐมนตรีมหาดไทย นายฮิสฮัมมุดดิน ฮุสเซ็น ไปพม่า? เพื่อเรียนรู้การมีความเคารพต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยไปเรียนรู้การเคารพเสรีภาพในการสมาคมของประชาชน” ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของนาลิมกิตเสียงระบุ “ผมคิดว่าคงไม่มีวันที่ผมจะต้องกล่าวเช่นนี้ว่า - นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและคณะรัฐมนตรีควรเรียนรู้จากพม่าอย่างน้อยในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคมอย่างสันติวิธี” ถ้อยคำประชดประชันของนายลิมกิตเสียง เกิดขึ้นภายหลังจากที่นางอัมพิกา ศรีนาวาซาน ประธานกลุ่มรณรงค์เลือกตั้งเสรีและยุติธรรมในมาเลเซีย หรือ “เบอร์เซะ 2.0” วิจารณ์กฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ของมาเลเซียว่า ให้เสรีภาพน้อยกว่ากฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่า หนึ่งในประเทศที่มีรายงานด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงประเทศหนึ่งของโลก เธอชี้ว่ารัฐบาลพม่าเพิ่งผ่านกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ประท้วงบนถนนและมีเงื่อนไขที่เข้มงวดน้อยกว่ากฎหมายที่รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจะออก ทั้งนี้รัฐบาลพม่า ประเทศซึ่งกองทัพยังคงมีบทบาท ได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเต็มด้วยข้อจำกัดการชุมนุม โดยในการชุมนุมแต่ละครั้ง ผู้ประท้วงต้อง “แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเป็นเวลา 5 วัน” ขณะที่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสมาคมโดยสันติ (Peaceful Assembly Act) ของมาเลเซีย จะเข้มงวดยิ่งกว่านั้น โดยจะต้องแจ้งตำรวจมาเลเซียอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า ขณะที่กฎหมายยังมีข้อจำกัดที่ป้องกันไม่ให้มีการประท้วงตามท้องถนน กฎหมายของพม่าห้ามไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าใกล้อาคารที่ของรัฐบาล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานทูต ขณะที่กฎหมายของมาเลเซียมีข้อห้ามใกล้เคียงกัน แต่ยังห้ามไม่ให้ชุมนุมใกล้ศาสนสถานและปั๊มน้ำมันด้วย นายลิมกิตเสียง ยังกล่าวด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซักจะต้องเสียคำพูด” “พม่ามักถูกมองเสมอว่าเป็นประเทศที่ล่าช้าที่สุดในอาเซียน ในแง่ที่ว่าไม่เอาใจใส่และละเมิดสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้นายนาจิปพยายามปกป้องกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” และเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล และยืนยันด้วยว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวพยายามควบคุมเสียยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน และเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจากสภา ทั้งนี้นายลิมกิตเสียงยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวขัดแย้งกับความตั้งใจของนายนาจีปที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปสู่ “ประเทศประชาธิปไตยที่สุดในโลก” และดูเหมือนกฎหมายฉบับใหม่นี้จะเข้มงวดยิ่งกว่ามาตรา 27 ในกฎหมายว่าด้วยตำรวจ ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบนี้ จะถูกนำมาแทนที่มาตรา 27 ในกฎหมายว่าด้วยตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปที่นายนาจีปสัญญาไว้กับประชาชนในสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในวันมาเลเซีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้ [1], [2]) นายลิมกิตเสียงกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐสภามาเลเซียจะเคยเตรียมใช้แบบแผนของกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบของรัฐควีนสแลนด์ของออสเตรเลียในปี 2535 แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนั้นยังมีการเพิ่มอำนาจแก่ตำรวจอย่างไม่จำกัดในการควบคุมการรวมตัวสมาคม
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Kit Siang suggests Malaysia copy Myanmar’s assembly law, By Clara Chooi, themalaysianinside, November 25, 2011 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลปกครองนัดไต่สวน ชาวบางบัวทองฟ้อง 'ศปภ.- กทม.' 29 พ.ย. นี้ Posted: 26 Nov 2011 09:01 AM PST ศาลปกครองนัดไต่สวนชาวบางบัวทองฟ้อง ศปภ.-กทม.ระงับการกู้ถนนสาย 340 -กาญจนาภิเษก และการปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ 29 พ.ย.นี้ ด้าน 'ยะใส' ร้อง ป.ป.ช. สอบรัฐบาลผิดพลาดน้ำท่วม เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 54 ที่ผ่านมาว่าศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งว่า ในวันอังคารที่ 29 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 จะนัดไต่สวนคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ในคดีที่นางทศสิริ พูลนวล อาชีพรับจ้าง ชาวบ้านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบ กรณีที่ ศปภ.มีมติให้กู้ถนนหลวงสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี และสายกาญจนาภิเษก ขณะที่ กทม.ปิดประตูระบายน้ำ และยังได้มีการเสริมแนวกระสอบทรายช่วงเชื่อมต่อคลองมหาสวัสดิ์และพื้นที่ จ.นนทบุรี ส่งผลกระทบให้พื้นที่ จ.นนทบุรี ต้องถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จึงขอให้ศาลสั่งระงับการกู้ถนนสาย 340 และสายกาญจนาภิเษก รวมทั้งระงับการปิดประตูระบายน้ำและเสริมแนวกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจาก กทม. ไม่ได้บริหารงาน หรือ กระทำการใด ๆ ผิดพลาด เพราะการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ทุกขั้นตอนมีเหตุมีผล ที่จะสามารถอธิบาย เพื่อความชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้ทำตามขั้นตอนอำนาจที่ทางรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ โดยไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด สุริยะใสร้อง ป.ป.ช.สอบรัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาด,เสื้อแดงคัดค้าน เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าวันเดียวกันนั้น (25 พ.ย. 54) กลุ่มการเมืองสีเขียว(กรีน) นำโดยนายสุริยะใส กตะศิลา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนกรณีรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารจัดการน้ำผิดพลาด จนส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหาย รวมทั้งต้องเสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย โดยมีนายวิทยา อาคมพิทักษณ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ลงมารับหนังสือดังกล่าวไว้ พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ข้อกล่าวหากรณีการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดนี้ ป.ป.ช.ได้ประชุมและมีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวนแล้ว โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวนเอง แต่เมื่อมีการยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษเข้ามา ป.ปช.จะนำไปรวมเป็นเรื่องเดียว รายงานข่าว แจ้งว่า ขณะเดียวกันบริเวณด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 10 คน ถือป้ายคัดค้านการยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของกลุ่มกรีน โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่จาก สภ.นนทบุรี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ ป.ป.ช.คอยดูความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุกระทบกระทั่ง ทำให้นายสุริยะใสต้องนั่งรออยู่ในรถและส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือดังกล่าวแทน และรีบเดินทางออกจากบริเวณสำนักงาน ป.ป.ช.โดยใช้เส้นทางด้านหลัง ตัวแทนกลุ่มกรีน กล่าวว่า เมื่อมีกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามมารวมตัวอยู่ที่ ป.ป.ช. นายสุริยะใสเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย และไม่ต้องการที่จะให้เกิดเหตุเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็นจึงตัดสินใจที่จะเดินทางกลับออกไปก่อน ขณะที่กลุ่ม นปช.หลังทราบข่าวว่านายสุริยะใสเดินทางกลับไปแล้วจึงได้ปราศรัยตำหนิการเคลื่อนไหวของนายสุริยะใสและกลุ่มกรีนประมาณ 10 นาทีก่อนสลายตัวแยกย้ายกันไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ฉลองปีใหม่อิสลาม ฮ.ศ.1433 ปัตตานีจัดใหญ่พ่วงมหกรรมตาดีกา Posted: 26 Nov 2011 08:40 AM PST เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ที่หน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERKASA) ร่วมกับองค์กรต่างๆ จัดงานต้อนรับปีใหม่อิสลาม มหกรรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2554 โดยมีนักเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขึ้นพื้นฐาน) จากชมรมตาดีกาในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดปัตตานีเข้าร่วมประมาณ 500 คน ทั้งนี้เนื่องจากวันนี้ตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะห์ศักราช(ฮ.ศ.) 1433 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม งานเริ่มด้วยการจัดเดินขบวนไปตามเส้นทางต่างในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยผู้ร่วมขบวนแต่งกายตามประเพณีและวัฒนธรรมอิสลามอย่างมีสีสันหลากหลาย ในงานมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การแข่งขันกีฬาของนักเรียนตาดีกา เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล เซปักตะกร้า จัดที่สนามกีฬากลาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ส่วนกลางคืนมีกิจกรรมบนเวที เช่น การประกวดร้องเพลงอนาซีด การแข่งขันท่องจำอัลกุรอาน การแข่งขันอภิปรายภาษามลายู (sarah) การประกวดอ่านบทกวีภาษามลายู (ซาเญาะห์) เป็นต้น นายอับดุลมูไฮมีน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานจัดงาน เปิดเผยว่า การจัดงานมหกรรมตาดีกาจังหวัดปัตตานีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 31 แล้ว แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากตรงกับวันปีใหม่ของอิสลาม โดยองค์กรต่างๆในจังหวัดปัตตานีร่วมสนับสนุน นายอับดุลมูไฮมีน เปิดเผยต่อไปว่า จุดประสงค์ของโครงการ นอกจากเพื่อต้อนรับปีใหม่อิสลามแล้ว ยังเป็นการแสดงความรู้สึกสำนึกต่อศาสนาอิสลาม และแสดงความยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลาม รวมทั้งเพื่อทดสอบความสามารถของเด็กๆ มุสลิม โดยมีเวทีให้เด็กๆได้แสดออก และเพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความเป็นเอกภาภาพของชาวมุสลิม นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การจัดโครงการต้อนรับปีใหม่อิสลามและมหกรรมตาดีกา เพื่อการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีของมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับองค์กรร่วมจัดงานนี้ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี Bugaraya Group มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย และชมรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายย้ายถิ่นน้ำโขงจี้รัฐลงทะเบียนสถานภาพแรงงานข้ามชาติ Posted: 26 Nov 2011 06:33 AM PST 26 พ.ย. 54 - แถลงการณ์เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อการประชุมระดับโลกเรื่องการย้ายถิ่นและการพัฒนาครั้งที่ห้า โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ แถลงการณ์เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อการประชุมระดับโลก เรื่องการย้ายถิ่นและการพัฒนาครั้งที่ห้า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงมีความชำนาญอย่างยิ่งและสามารถฟื้นคืนสภาพเดิมและเรียกร้องให้มีการตระหนักและเคารพตามสิทธิจากรัฐบาลของพวกเขา แรงงานจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่สามารถที่จะไว้วางใจกับรัฐใดๆหรือองค์กรระหว่างประเทศองค์กรไหนที่จะให้อำนายความสะดวกหรือจัดการการย้ายถิ่นหรือปกป้องสิทธิของพวกเขา แทนที่จะรอการช่วยเหลือพวกเขาได้จัดการการเคลื่อนย้ายและจัดตั้งตนเองเพื่อทวงถามถึงสิทธิของตน แรงงานได้ค้ำจุนครอบครัวและชุมชนของพวกเขาโดยที่ไม่ได้รับการตระหนักหรือการอำนายความสะดวกใดๆ พวกเขาเองได้สร้างระบบซึ่งมีประสิทธิภาพ สะดวกและเหมาะสม ในช่วงเวลาวิกฤตแรงงานได้จัดสร้างชุมชนของพวกเขาเพื่อที่จะให้การช่วยเหลือด้านที่พักพิงและสนับสนุนสำหรับแรงงานข้ามชาติคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ ล่าสุดชุมชนแรงงานข้ามชาติทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อหาเงิน ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและประชาชนไทยที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ในขณะเดียวกันชุมชนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนได้ต้อนรับผู้คนร่วมชาติ ที่หนีจากน้ำท่วมในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคกลางของไทย โดยไม่คำนึงถึงคำขู่จากเจ้าหน้าที่ที่ว่าจะมีการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย ในขณะที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งและสามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้ แต่พวกเขาเหล่านั้นยังคงมีความประสงค์ที่จะเรียกร้องตามสิทธิที่ยังไม่ได้รับจากรัฐบาลและรอคอยด้วยใจจดจ่อเพื่อให้รัฐบาลปฏิบัติการต่อข้อเสนอ ดังต่อไปนี้คือ ผู้ย้ายถิ่นประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะให้รัฐบาลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอุทิศทรัพยากรที่ดีกว่านี้เพื่อการบริการทางสังคมที่จำเป็นสำหรับประชากรทุกคนในภูมิภาค หากดำเนินการเช่นนั้นจะทำให้ผู้ย้ายถิ่นสามารถที่จะเข้าถึงการบริการที่จำเป็นได้ในประเทศต้นทางและปลายทาง การย้ายถิ่นและผู้ย้ายถิ่นต้องได้รับการบรรจุในวาระแห่งชาติเรื่องแผนด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่แรงงานจะสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศของพวกเขา แรงงานยังต้องการให้รัฐบาลปฏิบัติการโดยทันทีในการต่อต้านการคุกคาม การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในทุกรูปแบบที่แรงงานประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจากตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นายจ้างและคนอื่นๆที่แสวงหาผลประโยชน์เอารัดเอาเปรียบจากกระบวนการย้ายถิ่น ความรุนแรงเหล่านั้นมีผลกระทบเชิงลบในการพัฒนาและความมั่นคงของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผู้ย้ายถิ่นจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยากให้รัฐบาลเข้าใจว่า การจับ การกักขังและส่งกลับแรงงานในข้อหาที่เกี่ยวกับการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นการจัดการที่ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และสิ้นเปลืองงบประมาณ แรงงานข้ามชาติต้องการที่จะทำงาน อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต้องการแรงงาน ดังนั้นแรงงานที่ถูกส่งกลับก็จะกลับเข้ามาใหม่ การแก้ปัญหาดังกล่าว แรงงานย้ายถิ่นขอร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการลงทะเบียนสถานภาพซึ่งส่งผลให้พวกเขาสามารถที่จะอยู่และทำงานถูกต้องได้ อนุภูมิภาคนี้ได้เป็นประจักษ์ถึงการบังคับการย้ายถิ่นในหลากหลายรูปแบบ ผู้ที่ย้ายถิ่นในสภาพที่ถูกบังคับต้องการการคุ้มครองที่เฉพาะจากรัฐบาลและหน่วยงานของสหประชาชาติ ผู้ย้ายถิ่นที่หลบหนีจากความขัดแย้ง การกดขี่ทางการเมืองและการสู้รบในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่ใช้ต่อต้านชนกลุ่มน้อยคะฉิ่นและกระเหรี่ยงในพม่า พวกเขาไม่ได้อยู่ในภาวะที่สามารถจัดการตนเองได้ในทันทีและต้องการการช่วยเหลือ และคุ้มครองในช่วงแรกและมีความมั่นคงและสามารถปรับตัวสอดคล้องได้ในระยะยาว รัฐบาลควรที่จะยึดหลักหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) เพื่อปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยในภูมิภาค แรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยทันที พวกเขาต้องการให้รัฐบาลยึดการปฏิบัติเพื่อให้พวกเขาและเธอเข้าถึงความยุติธรรมและจัดให้มีการเข้าถึงค่าชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่น่าพึงพอใจ พวกเขาไม่ควรถูกบังคับให้อยู่ในบ้านพักโดยที่ไม่เต็มใจ ในสถานการณ์ที่ผู้ถูกค้ามนุษย์ขอให้มีการจัดให้อยู่ในบ้านพัก บ้านพักนั้นควรมีการจัดให้เป็นบ้านพักที่ให้การต้อนรับ มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังมีผู้คนในภูมิภาคที่สูญเสียสัญชาติหรือเกิดมาโดยที่ไม่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลทางกฎหมายจากรัฐใดรัฐหนึ่ง รัฐบาลในภูมิภาคนี้และหน่วยงานสหประชาชาติต้องพัฒนาการตอบรับที่สมบูรณ์แบบต่อสถานการณ์ของผู้ไร้สัญชาติทุกคนในภูมิภาคและทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตระหนักดีว่าในขณะที่ข้อห่วงใยบางประการที่กล่าวมาข้างต้น ควรได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลในประเทศในภูมิภาค ทั้งในระดับประเทศและระดับอนุภูมิภาค แต่ยังมีข้อห่วงใยบางประการที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหา เราเชื่อว่าสหประชาชาติเป็นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมอย่างที่สุดที่จะจัดการสนทนาระดับโลกเรื่องการย้ายถิ่น และเชื่อว่าสมาชิกของสหประชาชาติจะเห็นสอดคล้องที่จะนำการประชุมระดับโลกเรื่องการย้ายถิ่นกลับไปจัดภายใต้หน่วยงานของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม เรายังมีความกังวลว่าหน่วยงานสหประชาชาติในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ 21 ปีหลังจากที่มีการอนุมัติให้มีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานและครอบครัว ปี 1990 เรามีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า ถึงเวลาแล้วที่สหประชาชาติจะสร้างหน่วยงานของตนเพื่ออุทิศการทำงานเพื่อแรงงานย้ายถิ่น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: การบังคับคนให้สูญหาย ต้องเป็นอาชญากรรม Posted: 26 Nov 2011 12:47 AM PST เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้ลงนามใน อนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) การลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลไทยที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ซึ่งจะมีผลทำให้การบังคับคนให้สูญหาย (Enforced disappearance) เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ความคืบหน้าของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าจับตามาก โดยเฉพาะจากครอบครัวและญาติของเหยื่อรวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งต่างก็หวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ไม่มากก็น้อย การลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวของรัฐบาลไทย นับว่าเป็นฉบับที่ 8 ที่รัฐได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติจากทั้งหมด 9 ฉบับ [1] โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรม ในขณะที่ก่อนหน้านี้ อาชญากรรมดังกล่าวไม่สามารถเอาผิดได้เลย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ทำให้การบังคับคนให้สูญหายเป็นอาชญากรรม ทำให้หลายกรณีผู้กระทำผิดจึงต้องเดินจากไปอย่างง่ายๆ ไร้มลทิน ทั้งนี้ สหประชาชาติได้นิยาม “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ว่า คือการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพ หรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย เมื่อรัฐไทยได้ลงนามเพื่อแสดงความประสงค์เป็นภาคีในอนุสัญญา และให้สัตยาบันแล้ว นั่นหมายถึงรัฐไทยจำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดร่างกฏหมายภายในประเทศ หรือแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่เพื่อป้องกัน ต่อต้าน และกำหนดบทลงโทษต่อการกระทำดังกล่าว กรณีหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ คดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานช่วยเหลือจำเลยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเดือนมี.ค 2547 เขาถูกอุ้มหายไปในเวลากลางวันแสกๆ โดยชายนอกเครื่องแบบ และจนปัจจุบัน ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบางส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลับถูกปล่อยตัวไป ส่วนครอบครัวเขาก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของทนายสมชายจนบัดนี้ ไม่ใช่มีเพียงคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตรเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ในประเทศไทยยังมีคดี ‘คนหาย’ หรือ ‘โดนอุ้ม’ เนื่องมาจากการใช้กฎหมายพิเศษในช่วงความรุนแรงทางการเมือง สถานการณ์ “ก่อการร้าย” และสงครามยาเสพติดอีกหลายคดีที่ยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม จากข้อมูลวิจัยของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ในประเทศไทยมีคดีการบังคับคนให้สูญหายแล้วอย่างน้อย 70 คดี และมีจำนวน 54 คดี ที่ถูกส่งไปยังพิจารณาในคณะทำงานด้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances: UN WGEID) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามและสืบสวนคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด กลไกที่อำนวยความยุติธรรม กาเบรียลา ซีโตนี ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวอิตาลีและที่ปรึกษากลุ่มญาติคนหายในละตินอเมริกา กล่าวในงาน “รัฐบาลไทยกับพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ปลอดจากการหายสาบสูญ” [2] ว่า เดิมที อนุสัญญาดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องของกลุ่มญาติผู้สูญหายในประเทศอาร์เจนตินาและโบลิเวียในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงระบอบการปกครองเผด็จการขวาจัด โดยอาร์เจนตินามีสถิติการบังคับคนให้สูญหายสูงถึงราว 30,000 คนในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติโทษของอาชญากรรมที่เกิดจากการบังคับคนให้สูญหายในเวลานั้น ต่อมา กลุ่มญาติผู้สูญหายและองค์กรภาคประชาสังคม จึงเริ่มผลักดันให้เกิดคำนิยามของอาชญากรรมดังกล่าว และเจรจาต่อรองรัฐร่วมกับสหประชาชาติให้เกิดเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศได้สำเร็จ กาเบรียลากล่าวว่า ถึงแม้ว่าอาร์เจนตินาและประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาจะมีสถิติการบังคับคนให้สูญหายสูงมาก และยังมีกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดถึงสองฉบับ แต่ด้วยการให้สัตยาบันในอนุสัญญาการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดการสร้างกลไกภายในประเทศที่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดมาพิจารณาคดีได้กว่าแสนคน มีการตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดถึง 30 ปี อีกทั้งยังมีการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย เธอชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศอาร์เจนตินาก่อนหน้านี้จะย่ำแย่มาก แต่เวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนในประเทศก็สามารถต่อสู้ให้ได้มาความยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิลานกล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยคนหายแล้ว แต่หากยังไม่มีการผลักดันกฎหมายในประเทศมาบังคับใช้ อนุสัญญาดังกล่าว ก็อาจเปรียบเสมือนกล่องเปล่าๆ ที่ไม่มีเนื้อหาอะไรข้างใน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นมากที่รัฐบาลจะต้องมีเจตจำนงค์ที่จริงใจต่อการผลักดันและบังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างจริงจัง ก้าวต่อไปประเทศไทย ด้านปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนร่วมร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายฉบับไทย ได้อธิบายว่า การแก้ไขหรือร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพภายใต้กระทรวงการยุติธรรม ซึ่งต้องทำการแก้กฎหมาย หรือร่างเป็นพ.ร.บ. ใหม่ออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญาป้องกันคนหายสากล ปกป้องได้อธิบายว่า กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่ดังกล่าว จะประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิของเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อในการเข้าถึงข้อมูล การได้รับเงินชดเชยและการเยียวยาที่เหมาะสม รวมถึงมีบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำผิด ซึ่งจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้กระทำอาชญากรรมที่ร้ายแรง และเมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็จะส่งผ่านไปยังฝ่ายนิติบัญญัติให้พิจารณาเพื่อตราร่างเป็นกฎหมายต่อไป อาจารย์จากม. ธรรมศาสตร์ยังระบุว่า หากผลักดันร่างกฎหมายนี้สำเร็จ จะนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของกระบวนยุติธรรมไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้กระทำผิดในการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยถูกตรวจสอบและรับผิด เนื่องจากยังคงมีวัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวลในสังคมไทย ทั้งในแง่ทัศนคติและตัวบทกฎหมาย ต้องเปลี่ยนทั้งกฎหมายและทัศนคติ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่เมื่อรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญานั้นแล้ว จะเป็นเครื่องมือรับประกันได้ว่าสถานการณ์สิทธิในประเด็นดังกล่าวจะดีขึ้นจริง ดังที่นักสิทธิมนุษยชนหล่ายคนได้แสดงความเห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานไปแล้วในปี 2550 แต่การซ้อมทรมานยังคงเกิดอยู่อย่างแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จนถึงปัจจุบัน จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมไทยจะสามารถยุติวัฒนกรรมการงดเว้นโทษ (Impunity) คือการสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีในหมู่ประชาชนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และความอันตรายของวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ โดยเฉพาะสถานศึกษาและสื่อมวลชน ควรจะมีบทบาทที่ส่งเสริมความเข้าใจให้มากขึ้น จอนยังชี้ว่า ผู้ปฏิบัติงานของรัฐ เช่นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ควรจะยึดติดกับชุดความคิด ‘รักชาติ’ เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นทัศนคติที่แคบและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน หมายเหตุ:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อัยการเตรียมสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายอีกครั้ง หลังเคยสั่งยุติดำเนินคดีไปแล้ว Posted: 26 Nov 2011 12:42 AM PST เผยเตรียมสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายและพวกอีกครั้ง เป็นคดีเก่าในช่วงการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 53 ทั้งที่อัยการเคยมีคำสั่งแจ้งยุติการดำเนินคดีไปแล้ว 26 พ.ย. 54 – เครือข่ายคนเสื้อแดง จ.เชียงราย ได้เปิดเผยว่า อัยการจังหวัดเชียงรายเตรียมที่จะสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายและพวกอีกครั้ง เป็นคดีเก่าในช่วงการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 53 ทั้งที่อัยการเคยมีคำสั่งแจ้งยุติการดำเนินคดีไปแล้ว โดยรายละเอียดของคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 53 ทางสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอรรถกร กันทไชย และพวกรวม 5 คนว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. - 12.30 น. โดยนายอรรถกรและพวกได้ร่วมกันจัดรายการทางสถานีวิทยุชุมชน 107.5 MZH โดยเนื้อหาที่นายอรรถกรได้กระจายเสียงเสนอข่าวนั้นมีใจความว่า "เสธ.แดงก็โดนฝ่ายเดียวกัน คือฝ่ายทหาร ได้สังหารชีวิต ก็เป็นคนชาติเดียวกัน ถ้าเป็นคนต่างชาติ ผมเป็นคนแรกที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้" และยังพูดอีกว่า "เดี๋ยวเรากินข้าวกลางวันแล้ว เวลาประมาณบ่ายโมงเราก็จะออกเดินทาง จุดหมายปลายทางของเรามีอยู่สองที่ เพื่อไปยื่นหนังสือยับยั้งความรุนแรงแล้วก็ยับยั้งการเข่นฆ่าประชาชน" ทั้งนี้ในบันทึกการแจ้งขอกล่าวหานี้ได้ระบุว่าข้อความคำพูดดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในทั่วราชอาณาจักร ซึ่งการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดฐาน "ร่วมกันเสนอข่า หรือทำให้แพร่หลายซึ่งสื่อสิ่งอื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร" อันเป็นการกระทำผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่หลังจากนั้นในวันที่ 26 ก.ค. 54 สำนักงานอัยการ จ.เชียงราย ได้ออกคำสั่งไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย แจ้งให้ยุติการดำเนินคดีกับนายอรรถกร กันทไชยกับพวก 5 คน เนื่องจากจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39 (6) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้เครือข่ายคนเสื้อแดง จ.เชียงราย ได้ระบุว่าอัยการเชียงรายจะสั่งฟ้องเสื้อแดงเชียงรายทั้ง 5 คน ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธ.ค. 54 ที่จะถึงนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'ประชาธิปัตย์' แนะปิดประเทศบนโลกไซเบอร์แบบ 'จีน' ทั้ง 'ยูทูบ-เฟซบุ๊ก' สกัดเว็บหมิ่นฯ Posted: 25 Nov 2011 10:29 PM PST 'มัลลิกา' เตรียมยื่นหนังสือจี้นายกและ รมว.ไอซีที 28 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บหมิ่นฯ ชี้อาจใช้ยาแรงสุดคือปิดยูทูปหรือเฟซบุ๊กเหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนทำ ทวีตแจง 10 ข้อ ระบุต้องอ่านให้ครบ อ่านให้แตก! (26 พ.ย. 54) หลังแถลงข่าวเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา กรณีเตรียมทำหนังสือถึงนายกฯ และ รมว.ไอซีที เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเสนอมาตรการจากเบาที่สุด คือให้ประสานงานไปยังรัฐบาลที่เว็บไซต์นั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ดังกล่าว และแรงที่สุด คือให้ปิดเว็บไซต์ยูทูปหรือเฟซบุ๊กไปเลย มัลลิกา บุญมีตระกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทวีต ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ชี้แจงแนวคิดดังกล่าว โดยระบุขอให้อ่านให้ครบและอ่านให้แตก "1.การใช้มาตรการแต่ละระดับ คือกลยุทธ์ผู้นำในการจริงจังต่อการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาเว็บหมิ่นต้องรู้ต้นตอแห่งปัญหาต้นตอมีแค่ 2 อย่าง 2.ต้นตอ 2 อย่างคือ คนตั้งใจทำลายกับช่องทางการใช้ทำลาย เมื่อเจอตอเจอเชื้อโรคแล้วก็ต้องหายามารักษาหรือหามาตรการมาแต่ละระดับ 3.การเป็นผู้นำคนผู้นำประเทศต้องใช้ทักษะเป็นกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ขอแค่คุณตั้งเป้าหมายไว้หรือยัง? มีเป้าหมายหรือไม่ว่าจะขจัดปัญหา 4.ถ้าเป้ามายคือการขจัดออกให้สำเร็จ คุณต้องกำหนดกรอบและระยะเวลาเพื่อคนทำงานซึ่งคือราชการจะได้เดินหน้าตามเป้าหมายในคำสั่งนั้น! 5.ไล่ตั้งแต่สืบค้น ตรวจจับ ส่งสำนวนสู่ศาล นี่สำหรับบุคคลกระทำผิด!ส่วนผู้ให้บริการ(บริษัท)เว็บนั้นๆต้องเชิญมาประชุมขอความร่วมมือและเซนเซอร์ 6.หากผู้ให้บริการขาดจริยธรรมปล่อยให้เพจหรือURLของคุณละเมิดและผิดกติกากับกฎหมายก็ส่งหลักฐานเสนอชั้นศาลปิดไป อยู่ในสังคมก็ต้องเคารพกติกา 7.ทีนี้สำหรับกรณีที่ผู้นำหมดปัญญา นั่นคืออ้างว่ามันยากเพราะเจ้าของเว็บอยู่ต่างประเทศซึ่งหมายถึงยูทรูปกับเฟสบุคที่ระบาดหนักช่วง3เดือนนี้ 8.เช่นนั้นแล้วมาตรการคือ ผู้นำต้องประสานผู้นำประเทศเขาแล้วเอาผู้ให้บริการประเทศนั้นเข้ามาร่วมองค์เจรจา ขอความร่วมมือระหว่างกันให้เหตุผลไป 9.มันยากและไม่สำเร็จใช่ไหม? ก็มาตรการสุดท้ายให้ยาแรงคือมาตรการต่อรองแลกเปลี่ยนก่อนการยื่นจาก force แล้วไม่จบจึง ban ผู้นำต้องคิด 10.อย่าดัดจริต ถ้าคิดจะเด็ดขาด!! ขบวนการทำลายไปไกลขนาดใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีจนฝรั่งงง! อย่าเอ่ยคำว่า"รักท่าน"แล้วใช้คำว่า"ยาก" !!" 'ประชาธิปัตย์' แนะปิดประเทศบนโลกไซเบอร์แบบ 'จีน' ทั้ง 'ยูทูบ-เฟซบุ๊ก' สกัดเว็บหมิ่นฯ มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 11.15 น. ที่พรรรคประชาธปัตย์ (ปชป.) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกุล รองโฆษก ปชป.แถลงว่า ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ตนจะทำหนังสือถึงนายกฯ และ รมว.ไอซีที เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยวิธีการที่ตนจะเสนอ เบาที่สุด คือให้ประสานงานไปยังรัฐบาลที่เว็บไซต์นั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ดังกล่าว แต่แรงที่สุด คือให้ปิดเว็บไซต์ยูทูปหรือเฟซบุ๊กไปเลย เหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนเคยทำ ทั้งนี้ ปชป.ได้เปิดเฟซบุ๊ก Fight Bad Web พร้อมอีเมล์ Fightbadweb@gmail.com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ 1.หมิ่นสถาบัน 2.ความมั่นคง 3.ลามกอนาจาร และ 4.การพนัน "อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมทำร้าย ทำลาย จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เวลานี้ได้ลามจากโซเชียลมีเดีย ไปตามร้านเสริมสวย ร้านข้าวต้ม สภากาแฟฯ ในต่างจังหวัด หากผบ.ตร.ต้องการทราบว่ามีร้านไหนบ้าง ดิฉันจะพาไปดูทั้งใน จ.พะเยา ลำปาง และแพร่" น.ส.มัลลิกากล่าว
หมายเหตุ: เพิ่มเติมเนื้อหาข่าวเมื่อ 9.25น. 26 พ.ย.54 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
หมอชูชัยแจงเหตุย้าย เชื่อมาจากรายงานสลายแดง Posted: 25 Nov 2011 10:28 PM PST เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 54 นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เขียนจดหมายชี้แจงถึงเหตุผลการถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 ว่า ตามที่สื่อบางฉบับลงข่าวว่าตนถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ระดับ 11 นั้น ขณะนี้ตนยังไม่ได้เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการและยังไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน การย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาฯ ไม่ได้เสียความรู้สึกใด ๆ เพราะการมาอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งที่สองนี้ ตนไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือเสนอตัว แต่เป็นเพราะ กสม. พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครแล้ว แต่ไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมได้ จึงขอให้ตนไปแสดงวิสัยทัศน์เพื่อจะได้ลงมติแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งตนก็ปฏิเสธเพราะไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ต้น ต่อมาท่านอาจารย์หมอบรรลุ ศิริพานิช มาขอร้องแกมบังคับให้ตนรับตำแหน่ง เพราะความดีของท่าน ตนจึงยินยอม และต่อมา กสม. มีมติให้ตนมาดำรงตำแหน่ง ตนก็ได้บอกกับประธาน กสม. ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ตลอดว่าขอความเป็นอิสระ อย่าให้กรรมการมาแทรกแซงและพร้อมจะลาออกจากตำแหน่งตลอดเวลา นพ. ชูชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ได้พยายามเสนอให้องค์กรมีแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ มีระบบการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ตนคิดว่าเรื่องร่างรายงานการชุมนุม นปช. ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ อีกทั้งมีการแทรกแซงการสรรหาข้าราชการประจำ ตนไม่ตอบสนองจึงเกิดความไม่พอใจ แต่เข้าใจว่าประเด็นหลัก คือ การเมืองจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พยายามดิสเครดิตตนมาโดยตลอด เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือร่างรายงานการชุมนุม นปช. ทั้ง ๆ ที่ตนได้ประกาศต่อสาธารณะแล้วว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับร่างรายงานฉบับนี้อีก แต่จนบัดนี้ร่างรายงานยังไม่แล้วเสร็จ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรายงานว่ายังไม่สามารถหาหลักฐานใหม่หักล้างหลักฐานเดิมได้ นอกจากนี้ ตนยังได้ไปยื่นแจ้งความดำเนินคดีหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวบิดเบือนความจริง หมิ่นประมาทในกรณีการชุมนุม นปช.ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา "มีข้าราชการและผู้คนให้กำลังใจมากมาย บอกให้ต่อสู้เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคมต่อไป ตนจะขอพิจารณาดูว่าเหตุผลที่อ้างในการย้ายหรือกระบวนการย้ายเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่" นพ. ชูชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกเสียดายเวลาที่ตัดสินใจรับตำแหน่งนี้ โดยตนเข้าใจว่าประธาน กสม. สนับสนุนการทำงานเพื่อร่วมพัฒนาฟื้นฟูองค์กรให้กลับมาเข้มแข็ง เคารพสิทธิของผู้คนทั้งในและนอกองค์กร มีความกล้าทางจริยธรรม ซึ่งประธาน กสม. ได้แต่กล่าวขอโทษตน ซึ่งตนบอกไปว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องขอโทษ เพราะเข้าใจความรู้สึกของประธาน กสม. แต่ก็ได้ติงว่าขอเวลาให้ตนได้พิจารณาเรื่องการลาออก แต่ก็ไม่ให้ ทั้งนี้ ตนพร้อมจะลาออกตามที่สัญญาไว้ ไม่น่ามาทำกันอย่างนี้ ทั้งนี้ในจดหมายเผยแพร่ฉบับนี้ ยังได้อ้างแหล่งข่าวว่า ก่อนที่ นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ มาเป็นเลขาธิการฯ องค์กรเละเทะ ทำงานไม่ได้ บัดนี้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ข้าราชการจำนวนหนึ่งจึงพร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง ตั้งแต่การเข้าชื่อถวายฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเมืองภายนอกเข้ามาแทรกแซงเรื่องภายในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องการแทรกแซงการทำงานของกรรมการฯ การละเมิดสิทธิข้าราชการของกรรมการฯ รวมถึงกรรมการฯ เอาลูกมาเป็นหน้าห้องกินเงินเดือนแต่ไปเรียนหนังสือ การคุกคามทางเพศของกรรมการฯ ที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อยื่นถอดถอนต่อวุฒิสภาต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19 - 25 พ.ย. 2554 Posted: 25 Nov 2011 09:47 PM PST
แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นแล้ว สำนักข่าวเอ็นเอชเค สื่อของญี่ปุ่น รายงานระบุว่า ลูกจ้างชาวไทย ทั้ง 7 คน มาจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น พวกเขาออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยมีลูกจ้างชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการเดินทาง การผลิตของบริษัทดังกล่าว ยังคงหยุดชะงัก แต่บริษัทได้วางแผนจะส่งแบบพิมพ์โลหะจากไทยไปยังญี่ปุ่น เพื่อเริ่มดำเนินการผลิต รายงานระบุว่า ลูกจ้างชาวไทยกลุ่มนี้ จะถูกส่งไปยังโรงงานในกรุงโตเกียว หรือ จังหวัดฟูกุชิมะ เพื่อทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นายฮิเดยูกิ ชิงะ ผู้จัดการโรงงานในไทย เปิดเผยว่า ลูกจ้างดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและเทคนิคที่ยังขาดในญี่ปุ่น และต้องการให้ลูกจ้างชาวไทยไปช่วยเหลือลูกจ้างชาวญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาผลิตสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าได้โดยเร็วที่สุดเท่า ที่จะเป็นไปได้ (ไอเอ็นเอ็น, 19-11-2554) ครม.ให้เลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. เป็น 1 เม.ย.55 นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้เลื่อนกำหนดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ออกไปเป็น 1 เม.ย.55 จากเดิมที่จะเริ่มได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของกิจการหลัง ประสบกับปัญหาอุกทกภัย "ครม.มีมติเลื่อนปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ออกไปเป็น 1 เม.ย.ปีหน้า เริ่มก่อน 7 จังหวัด...คาดว่าจะได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ 1 เม.ย.56" รองโฆษกฯ กล่าว อย่างไรก็ดี คาดว่าแรงงานจะได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ./วัน เท่ากันทั้งระบบทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.56 (โลกวันนี้, 22-11-2554) อมตะนคร ร่วมกับจัดหางานชลบุรีจัดมหกรรมนัดพบแรงงาน 23 พ.ย.นี้ นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจรวมถึงส่งผลกระทบต่อด้าน ความเป็นอยู่แก่ประผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ นิคมอมตะจึงได้ร่วมสำนักงานจัดหางานจัดหางานจังหวัดชลบุรีและวิทยาลัย เทคโนโลยีภาคตะวันออก จัดมหกรรมนัดพบแรงงานฯ แบบเฉพาะกิจ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกลับมามีงานทำในระยะเร่งด่วน ระดมผู้ประกอบการกว่า 200 ราย รับสมัครแรงงานกว่า 2-3 หมื่นอัตรา จากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็คทรอนิค ยานยนต์ ขนส่ง ก่อสร้าง ฯลฯ 23 พ.ย. 54 นี้ นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการเปิดรับสมัครงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานให้มีงานทำแล้วนิคม อุตสาหกรรมอมตะนครยังร่วมมือกับจังหวัดชลบุรีเปิดพื้นที่ว่างด้านในนิคม อุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 150 ไร่ สำหรับเป็นพื้นที่จอดรถให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยสามารถรองรับรถได้กว่า 6,000 คัน พร้อมการดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ประสบภัยสามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 20-11-2554) แกนนำ แรงงานโวย รัฐช่วยนายจ้างจ่ายค่าแรง 2 พัน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด นายชาลี ลอยสูง ประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานที่ เดือดร้อนน้ำท่วมแทนนายจ้างรายละ 2,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขให้สถานประกอบการที่จะร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่ประสบภัย น้ำท่วมตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และต้องเซ็นลงนามเอ็มโอยู ด้วยเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และยังคงสภาพการจ้างงานอยู่ เพื่อชะลอการเลิกจ้างและเป็นการช่วยรักษาสภาพการจ้าง ว่า มาตรการนี้มีเจตนาการช่วยเหลือที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นผู้ที่รับผลประโยชน์โดยตรง คือสถานประกอบการมากกว่า แทนที่จะเป็นลูกจ้าง ด้าน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า หากนายจ้างคิดว่าการที่เลิกจ้างลูกจ้างคุ้มค่ากว่าการรับมาตรการช่วยเหลือ 2,000 บาท นั้น คิดว่าไม่คุ้ม เพราะต่อไปลูกจ้างก็จะไม่เข้ามาสมัครงานกับโรงงานนั้นอีก มาตรการทางสังคมนั้นสำคัญมากกว่ามาตรการทางกฎหมาย ส่วนสถานประกอบการไหนที่ให้เงินเดือนลูกจ้างเต็ม 100% ทาง ก.แรงงาน ก็มอบเกียรติบัตรยกย่อง แต่ถ้าสถานประกอบการใดเลิกจ้าง ก็ขอให้ลูกจ้างเรียกร้องให้ทางนายจ้างจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนแก่แรงงานด้วย และยังมีในส่วนของประกันสังคมที่จะช่วยประกันการว่างงานด้วยการให้เงิน 50% เงินเดือน จำนวน 6 เดือน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-11-2554) กสร.เผย พิษน้ำท่วม!!! ทำเลิกจ้างขยับเกือบ 7 พันคน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 17,331 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 748,428 คน มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว แล้ว 11,296 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 245,441 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และอุทัยธานี ส่วนการเลิกจ้างมีสถานประกอบการ 24 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง รวม 6,702 คน แยกเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา 18 แห่ง ลูกจ้าง 5,304 คน , จ.ปทุมธานี 4 แห่ง ลูกจ้าง 1,308 คน , จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ลูกจ้าง 59 คน และ จ.สระบุรี 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน ซึ่ง กสร.ได้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไปทำงานที่จังหวัดอื่นที่ไม่ถูกน้ำท่วมชั่วคราว 2 - 3 เดือน ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 586 แห่ง ใน 45 จังหวัด และมีตำแหน่งงานรองรับ 70,249 อัตรา และมีลูกจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 10,721 คน ในสถานประกอบการ 74 แห่ง ทั้งนี้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th (แนวหน้า, 23-11-2554) ปลัดแรงงานยันไม่มีแนวคิดเลื่อนวันบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 ออกไปอีก นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้เลื่อนวันบังคับใช้อัตราค่า จ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 ซึ่งปรับเพิ่มอีกร้อยละ 40 ของค่าจ้างปัจจุบัน สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ประสบอุทกภัย ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติให้วันบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากวันที่ 1 มกราคม 2555 ที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทุกปี เลื่อนเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบการที่สถานประกอบการน้ำท่วมได้มีเวลาในการฟื้น ตัว ซึ่งการเลื่อนวันบังคับใช้เฉพาะผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถ ทำได้ เพราะการบังคับใช้ต้องเป็นไปตามกฎหมายและมีความเท่าเทียมกัน พร้อมขอติดตามสถานการณ์และภาพรวมเศรษฐกิจก่อนว่ามีความจำเป็นต้องเลื่อนวัน บังคับใช้ไปอีกหรือไม่ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งในเรื่องวันปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งฝ่ายนายจ้างต้องการให้เลื่อน แต่ฝ่ายลูกจ้างต้องการให้บังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามปกติ ดังนั้นจึงอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายพบกันครึ่งทาง เพราะช่วงน้ำท่วมนายจ้างและลูกจ้างต่างก็ขาดรายได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็พยายามออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือแล้ว (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 24-11-2554) กก.ฟื้นฟูฯ อนุมัติงบ 1.2 พันล้าน ช่วยแรงงานน้ำท่วม 6 โครงการ น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาด้านคุณภาพชีวิต ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 6 โครงการ ต่อรัฐบาล ภายใต้วงเงิน 1,283,028,600 บาท ได้แก่ 1.โครงการพลิกฟื้นคืนอาชีพในการฝึกอบรม และให้คำแนะนำความรู้ด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับอาชีพอิสระ วงเงิน 25 ล้านบาท เป้าหมาย 10,000 คน 2.โครงการนัดพบแรงงานผู้ประสบอุทกภัย วงเงิน 17 ล้าน 3.โครงการฟื้นฟูความปลอดภัยในการทำงาน ในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ประสบอุทกภัย วงเงิน 5.4 ล้านบาท 4.โครงการป้องกันบรรเทาการเลิกจ้าง ในการช่วยจ่ายค่าจ้าง รายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 1,212 ล้านบาท เป้าหมาย 200,000 คน 5.โครงการฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพจิตใจแรงงานและสถานประกอบการ โดยจัดหน่วยแพทย์ด้านจิตวิทยาเข้าไปให้คำปรึกษา และจัดกิจกรรมนันทนาการ วงเงิน 4.4 ล้านบาท 6.โครงการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ วงเงิน 18.7 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 โครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว ทางคณะกรรมการฟื้นฟูฯ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนอีก 1 โครงการ คือ โครงการยกระดับฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ ใน 15 ประเภทอุตสาหกรรมหลัก วงเงิน 143.5 ล้านบาท เป้าหมาย 35,000 คน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมความเป็นอยู่ (กศอ.) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (แนวหน้า, 24-11-2554) กสร.เผยสถานประกอบทยอยเปิดทำการกว่า 1.2 หมื่นแห่ง ลูกจ้างกลับทำงาน 2.9 แสนคน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ กสร. ณ วันที่ 25 พ.ย.โดยภาพรวมทั้งประเทศใน 12 จังหวัด มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 16,079 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 696,739 คน และขณะนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 12,548 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 297,130 คน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-11-2554) ดร.โกร่ง ยืนยันญี่ปุ่นไม่ย้ายฐานการผลิตจากไทย นายวีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ยืนยันว่า จะไม่ย้ายฐานการผลิตจากไทย เนื่องจากไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและประกอบธุรกิจ รวมทั้งทักษะฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ โตโยต้า มอเตอร์ ยังคงเป้าหมาย 1 ล้านคันในปีหน้า และเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า (มติชนออนไลน์, 25-11-2554) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อาเซียนยังห่างไกลจากสหภาพยุโรปนัก Posted: 25 Nov 2011 07:45 PM PST บทความจากบล็อก ‘Banyan’ ในเว็บไซต์ ‘ดิ อีโคโนมิสต์’ วิเคราะห์การประชุมอาเซียนและการประชุมสุดยอดผู้นำตะวันออกที่สิ้นสุดไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อย้อนมองสหภาพยุโรปและหันกลับมาดูอาเซียน ก็ฟันธงได้เลยว่าอาเซียนไม่มีทางจะเป็นได้อย่างอียู 000 บรรดาผู้นำประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีครั้งที่ 19 ที่บาหลีในอาทิตย์ที่ผ่านมา อาเซียนเองก็เริ่มกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมแห่งยุคสมัยไปแล้ว เนื่องจากไม่ว่าประเทศใดๆที่แม้จะอยู่ห่างไกลจากประโยชน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคก็ล้วนแต่อยากร่วมเป็นสมาชิกด้วยทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยได้เข้ามานั่งประชุมด้วยก็ยังดี ในขณะที่การประชุมสุดและองค์การยอดครั้งแล้วครั้งเล่าแบบที่เรียกกันว่า “อาเซียน-เซนทริค” (อาเซียนเป็นศูนย์กลาง) ถูกตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับผู้มาใหม่เหล่านี้ - ตั้งแต่อินเดียยันนิวซีแลนด์ และตั้งแต่จีนยันรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของอาเซียนปีนี้คงจะไม่สนใจในการสร้างเอเซียใหม่อันน่าภาคภูมิใจมากนัก แต่ความสนใจจะไปอยู่กับยุโรปเก่าที่กำลังทรุดลงเรื่อยๆต่างหาก เช่นเดียวกับที่การประชุม G20 เมื่อเร็วๆนี้ที่ฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องวิกฤติค่าเงินยูโรจะเป็นประเด็นหนึ่งที่พูดคุยกันในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ของอาเซียนด้วยเช่นกัน หากจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียนจริงๆในการประชุมครั้งนี้ อย่างมากก็คงมีเพียงแค่ประเด็นคำถามที่ว่า เศรษฐกิจในแถบเอเชียแปซิฟิกนี้จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาดทางการเงินครั้งนี้จากยุโรปที่นั่น วิกฤติค่าเงินยูโรยังทำให้บรรดาขาประชุมทั้งหลายที่บาหลีหันมาครุ่นคิดเกี่ยวกับอนาคตของตัวอาเซียนเองอีกด้วย รวมถึงคำถามที่ว่ามีบทเรียนใดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์การเงินยุโรปพักหลังๆอันน่าอัปยศนี้ได้บ้างหรือไม่ แทบไม่มีใครหรอกที่จะไม่ลองเปรียบเทียบสถานการณ์ทั้งสองนี้ดู: ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาในปี 1967 (ซึ่งก็ถือว่าช้ากว่าคนอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) อาเซียนมีเป้าหมายว่าจะขึ้นเป็น “เขตเศรษฐกิจอาเซียน” ให้ได้ภายในปี 2015 หรือ อย่างที่เอกสารทางการของอาเซียนได้กล่าวไว้อย่างหอมหวานว่า “วิสัยทัศน์” ของอาเซียนนั้นคือจะสร้าง “ภูมิภาคเศรษฐกิจอาเซียนที่มั่นคง รุ่งเรือง และมีการแข่งขันสูง โดยจะมีทั้งการไหลเวียนสินค้า บริการ และการลงทุนที่ดี การหมุนเวียนของทุนที่เสรี การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างถาวรและช่องว่างในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งความยากจนต่างๆ จะลดน้อยลง” ทั้งหมดนั้นฟังดูคล้ายเหลือเกินกับบทบัญญัติของเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) อันเป็นต้นตำหรับที่นำไปสู่สหภาพยุโรปในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับที่บิดาผู้ก่อตั้งอีอีซีทั้งหลายได้บรรลุความฝันนี้ในยุโรปเมื่อทศวรรษ 1980s แล้ว ก้าวต่อไปของยุโรปก็คือการใช้สกุลเงินเพียงหนึ่งเดียว หรือ ยูโร และก้าวต่อไปก็คือ... นั่นแหละ คงไม่งามหากจะมาพูดกันตอนนี้ เพราะเราต่างก็ทราบดีแล้วว่าสหภาพยุโรปลงเอยอย่างไร ความคล้ายคลึงกันใน “วิสัยทัศน์” ของทั้งอีอีซีและอาเซียนนั้นมิใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด คงเป็นยากนักที่จะระลึกถึงความจริงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่า สหภาพยุโรปเคยได้รับความหวังและการคาดการณ์ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ว่าสหภาพยุโรปนั้นคือโมเดลของการที่บรรดาอริเก่าทั้งหลายสามารถเอาความขัดแย้งต่างๆ ฝังลงดินเพื่อหันมาสร้างตลาดและบรรลุความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจแทน โปรดลองหลับตาและรำลึกถึงวันวานของเยอรมนีในปี 1950 อิตาลีในปี 1960 หรือไอร์แลนด์ในปี 1990 แม้แต่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ก็ยังมีรูปแบบบางส่วนมาจากสหภาพยุโรป เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวเอเชียเองก็มองหาตัวอย่างจากยุโรปด้วยเช่นกัน เราจะเห็นว่า ปัญหาของโมเดลแบบยุโรปนี้คือเป้าหมายเศรษฐกิจที่จำกัดนี้สร้างโมเมนตัมบางอย่างขึ้นมาด้วย กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหาใดๆก็ตามในสหภาพยุโรป คำตอบก็มีแต่ “ต้องปรับตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับอียูให้ได้มากกว่านี้” จนคำตอบนี้กลายเป็นคำตอบปริยายไปแล้ว ประเทศต่างๆเข้าคิวรอเข้าอียูก็เพราะพวกนี้ต้องการที่จะเข้าร่วมขบวนการ “เป็นหนึ่งเดียว” กับสหภาพยุโรป ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาหวังว่าการเข้าเป็นหนึ่งเดียวนี้จะนำไปสู่ความมั่งคั่งสืบไปอีกสเต็ปหนึ่งต่างหาก ตามที่อีอีซีได้เคยทำไว้ใน 20 ปีแรกของการก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครฉุกคิดเลยว่า สมมติถ้ามีประเทศในแถบมิดิเตอเรเนียนหนึ่งอยากจะเข้าอียู ประเทศนี้จะต้องปรับตัวมโหฬารเพียงใดเพียงเพื่อจะได้เข้า “เป็นหนึ่งเดียว” กับเศรษฐกิจระดับเยอรมนี เริ่มมีความกังวลในอาเซียนเองด้วยว่า สมาชิกทั้ง 10 ประเทศกำลังสร้างสภาวะที่อยากแต่จะ “เป็นหนึ่งเดียว” อย่างไม่ตั้งคำถามเลยเช่นกัน เอกสารว่าด้วย “วิสัยทัศน์” ที่กล่าวมาแล้วขององค์การนี้ก็ยิ่งตอกย้ำความกังวลนี้ อย่างไรก็ตาม ยังโชคช่วยอยู่บ้าง (สำหรับอาเซียน) ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ประเด็นที่หนึ่ง อาเซียนชอบเติบโตในแนวกว้างมากกว่าในทางลึก ตามที่มหกรรมการประชุมในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็น อาเซียนชอบที่จะเอาเวลาและการลงแรงไปกว้านหาประเทศใหม่ๆ เข้ามาในภูมิภาค มากกว่าที่จะยอมเอาอธิปไตยของประเทศในอาเซียนมาเป็นต้นทุนกัน ตามจริงแล้ว ความจริงของอาเซียนนั้นตรงกันข้ามกับถ้อยคำบรรเจิดต่างๆ ที่อยู่ในเอกสารเมื่อครั้งตั้งอาเซียนเลย เพราะบรรดาประเทศสมาชิกต่างๆกลับต้องการหาทางจำกัดอำนาจและบทบาทของอาเซียนที่ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า มากกว่าจะเพิ่มให้มากขึ้น ที่นี่ไม่ใช่กรุงบรัสเซลล์ ผู้เขียนเองทึ่งอย่างมากที่ได้เรียนรู้ในสัปดาห์นี้เองว่า ประเทศสมาชิกต่างๆของอาเซียนยอมเสียเงินเพียงแค่ 1.7 ล้านดอลลาร์เพื่อบำรุงอาเซียนเท่านั้น (ข้อมูลจากวิกิลีกส์) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากสำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย จริงแล้วๆ อเมริกาและญี่ปุ่นกลับจ่ายเงินให้แก่อาเซียนมากกว่าชาติใดๆในอาเซียนเองด้วยซ้ำ เห็นได้ชัดว่าชาติอาเซียนไม่ยอมให้มีระบบราชการศูนย์กลางเติบโตขึ้นมาเพื่อท้าทายอธิปไตยในประเทศของตนเอง ช่างประเสริฐยิ่ง ยิ่งไปกว่านี้ ต่อให้ชาติอาเซียนประสงค์จะเข้าสู่ “สหภาพอันใกล้ชิดกัน” มากกว่านี้ ก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่ดี ตามที่นักข่าวท่านหนึ่งของหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ชี้ให้ผู้เขียนเห็นว่า ในขณะที่สหภาพยุโรปสามารถวางข้อกำหนดในการเข้าร่วมได้ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง (ในกรณีนี้คือ ต้องเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก เป็นต้น) เพื่อที่ว่าทุกประเทศในแถบผู้โชคดีบางแถบของยุโรปจะได้ตรงตามคุณสมบัตินี้กันหมด) แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นี่เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ความแตกต่างในระบอบการปกครองนั้นมีมากเกินไป อาเซียนมีทั้งหมด ตั้งแต่รัฐคอมมิวนิสต์พรรคเดียวในเวียตนามยันระบอบกษัตริย์แบบรัฐธรรมนูญในไทย หรือตั้งแต่เผด็จการกึ่งทหารในพม่ายันประชาธิปไตยลุ่มๆดอนๆของอินโดนีเซีย อาเซียนมีสติพอที่จะยอมรับความแตกต่างเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปได้ และบรรดาประเทศเหล่านี้ก็กลับปฏิญาณด้วยว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในแต่ละประเทศสมาชิกอีกด้วย (นับว่าเป็นโชคดีอยู่มากสำหรับบรรดาผู้นำพม่า) ในทำนองเดียวกัน ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของ 10 ชาติอาเซียนนั้นใหญ่โตกว่ารอยแยกทางการเงินที่เป็นปัญหาในยุโรปตอนนี้ยิ่งนัก ทางด้านหนึ่ง สิงคโปร์คือประเทศที่รวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก (วัดจากค่า GDP ต่อหัว) แต่พม่ากลับเป็นประเทศที่จนที่สุดแห่งหนึ่ง บางประเทศมีระบบเศรษฐกิจอยู่บนฐานของตลาดเปิดแบบทุนนิยม อย่างในไทยและสิงคโปร์ แต่ประเทศอื่นกลับเป็นธุรกิจรัฐรวมศูนย์เสียส่วนใหญ่ เช่น กัมพูชาหรือเวียตนาม บรูไนตัวเล็ก แต่อินโดนีเซียกลับตัวใหญ่ คงเป็นเรื่องชวนหัวหากจะคาดหวังให้ความแตกต่างทางธรรมชาติของประเทศเหล่านี้ลดน้อยได้บ้างผ่านกระบวนการรวมเป็นหนึ่งเดียว ส่วนเรื่องจะใช้สกุลเงินเดียวก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย โดยเฉพาะหลังจากประสบการณ์เลวร้ายของยูโร (แล้วเมื่อคิดว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดียิ่งน่าปวดหัวเข้าไปใหญ่) ดังนั้น โปรดจงมองข้าม “วิสัยทัศน์” อะไรแบบนั้น และคาดหวังให้อาเซียนยังคงความหละหลวม กว้าง และพูดจาน้ำท่วมทุ่งแบบนี้ต่อไปดีกว่า การประชุมสุดยอดจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่ทำให้เกิดสหภาพอันใกล้ชิดกันมากขึ้นไปตลอดหรอก ขอบคุณสวรรค์! ที่มา: แปลจาก No Brussels sprouts in Bali. The Economist. 18/11/54 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น