โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'สันติประชาธรรม' วอนให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่น เตือน 'เพื่อไทย' ถลำสู่เกม 'คลั่งเจ้า'

Posted: 28 Nov 2011 08:47 AM PST

28 พ.ย.54 เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘สิทธิและความยุติธรรมสำหรับนักโทษ 112 หายไปไหน?’ ชี้กรณี ‘อากง’ ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทย ในขณะที่บทบาทและอำนาจทางการเมืองของระบบตุลาการทรงพลังและกว้างขวางอย่างยิ่ง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล กลับไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัว หรืออย่างน้อยที่สุด อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคน ทบทวนสถานะที่แตะต้องไม่ได้ของระบบตุลาการไทย ผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างจริงจัง และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทั้งหลายต้องยุติการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อขจัดผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเตือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยุติการถลำตัวเข้าเล่นเกมคลั่งเจ้า แต่ต้องแสดงความกล้าหาญผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ และแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยึดโยงกับประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว ซึ่งมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้

 0 0 0

แถลงการณ์
‘สิทธิและความยุติธรรมสำหรับนักโทษ 112 หายไปไหน?’

เครือข่ายสันติประชาธรรม
28 พฤศจิกายน 2554

 

กรณีนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรืออากง ชายวัย 61 ปีต้องคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ 4 ครั้ง คดีนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับหลักฐานและการใช้เหตุผลในการพิจารณาคดี แต่ยังเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยดังต่อไปนี้    

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม  ผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกลงโทษรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าพวกเขาเป็นฆาตกรอำมหิต บรรดาผู้มีส่วนร่วมในการใช้กลไกดังกล่าวเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองโปรดตระหนักด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงตอกลิ่มความแตกแยกและความเกลียดชังในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ได้เลย  แท้ที่จริงแล้วพวกท่านกำลังช่วยกันทำลายสังคมในนามของสถาบันกษัตริย์

2. คดีนายอำพลได้ก่อให้เกิดการข้อกังขาเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดีของกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สังคมก็ไม่สามารถวิจารณ์ระบบตุลาการของไทยได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา สังคมไม่สามารถวิจารณ์ข้อเท็จจริงที่ว่าหมายเลขโทรศัพท์ของนายอำพลเป็นคนละหมายเลขที่ใช้ส่งข้อความ, หมายเลข IMEI อันเป็นหลักฐานหลักที่ศาลใช้ตัดสินว่านายอำพลมีความผิด เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดายและซ้ำซ้อนกันได้, นายอำพลยืนยันวาตนมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่รู้วิธีส่งข้อความทางโทรศัพท์

เราไม่สามารถวิจารณ์ข้อวินิจฉัยของศาลที่ว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปยังโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ” แต่ศาลกลับลงความเห็นได้ว่านายอำพลกระทำความผิดจริงและพยายามปกปิดความผิดของตน เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่า อะไรคือความสมเหตุสมผลของข้อวินิจฉัยดังกล่าว

เราไม่สามารถประท้วงการลงโทษนายอำพลและผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯคนอื่น ๆ ว่ารุนแรงเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับคดีความอื่น ๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง

ประการสำคัญ เราไม่สามารถตั้งคำถามว่า ระบบตุลาการไทยกำลังบอกกับสังคมว่า เราควรปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เมตตาธรรม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานใช่หรือไม่

3. ในขณะที่บทบาทและอำนาจทางการเมืองของระบบตุลาการทรงพลังและกว้างขวางอย่างยิ่ง    การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล กลับไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา  เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลเป็นเกราะป้องกันศาลให้ปลอดพ้นจากการตรวจสอบของสังคม แต่คำถามที่สังคมไทยควรถามก็คือ ในขณะที่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติถูกตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยกลไกต่าง ๆ ได้ เรามีกลไกอะไรที่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจตุลาการในลักษณะที่ก่อให้เกิดปัญหาได้บ้าง? ศาลมีความกล้าหาญที่จะรับผิด (Accountability) ต่อการกระทำของตนเองหรือไม่ คำถามเช่นว่านี้เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในสังคมประชาธิปไตย อำนาจพึงถูกตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนั้นบิดเบี้ยว (Corrupt) จนส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมของผู้คนในสังคม

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี่เอง พวกเราในฐานะประชาชนผู้ต้องการเห็นกระบวนการตุลาการไทยคำนึงถึงหลักความยุติธรรม มนุษยธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องสังคมได้ช่วยกันต่อสู้เพื่อผลักดันประเด็นต่อไปนี้

1.ให้ปล่อยตัว หรืออย่างน้อยที่สุด อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคน

2.ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนสถานะที่แตะต้องไม่ได้ของระบบตุลาการไทยอย่างแท้จริง และต้องผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างจริงจัง

3.พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทั้งหลายต้องยุติการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อขจัดผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องยุติการถลำตัวเข้าเล่นเกมคลั่งเจ้าเช่นกัน แต่ต้องแสดงความกล้าหาญผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ และแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยึดโยงกับประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว

ท้ายนี้ พวกเราใคร่วิงวอนให้กลุ่มการเมืองทั้งหลายโปรดตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรงอย่างถอนรากถอนโคนในหลายสังคมมักมีสาเหตุสำคัญคือ 1. ผู้มีอำนาจปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงประท้วงต่อความอยุติธรรมของประชาชน  2. ความเกลียดชังระหว่างประชาชนหยั่งรากลึกจนไม่ต้องการอยู่ร่วมกันอีกต่อไป ซึ่งนี่คือสภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ 

เครือข่ายสันติประชาธรรม

1    ชาญวิทย์ เกษตรศิริ                             อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา
2    พนัส ทัศนียานนท์                              อดีตวุฒิสมาชิกและคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
3    นิธิ เอียวศรีวงศ์                                    นักวิชาการอิสระ
4    กฤตยา อาชวนิจกุล                              สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
5    อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์                             นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
6    ธงชัย วินิจจะกูล                                  ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน
7    พวงทอง ภวัครพันธุ์                           รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8    เวียงรัฐ เนติโพธิ์                                  รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9    จักรกริช สังขมณี                                รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10  เกษม เพ็ญภินันท์                            ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
11  ขวัญระวี วังอุดม                              สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
12  ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข                                   บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท
13  ไอดา อรุณวงศ์                                     บรรณาธิการ วารสาร “อ่าน”
14  คำ ผกา                                                   นักเขียนและสื่อมวลชนอิสระ
15  มุกหอม วงษ์เทศ                                  นักเขียนอิสระ
16  ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์                           คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
17  ประจักษ์ ก้องกีรติ                                รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
18  ยุกติ มุกดาวิจิตร                                   สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
19  อนุสรณ์ อุณโณ                                   คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
20  ธนศักดิ์ สายจำปา                                นศ.ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
21  อรอนงค์ ทิพย์พิมล                             ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
22  ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ                          สำนักข่าวประชาไท
23  ภัควดี วีรภาสพงษ์                               นักเขียนและนักแปล
24  ไชยันต์ รัชชกูล                                    นักวิชาการ
25  ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี                     คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
26  Tyrell Haberkorn                               มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
27  พฤกษ์ เถาถวิล                                     คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
28  จีรนุช  เปรมชัยพร                             สำนักข่าวประชาไท
29  วันรัก สุวรรณวัฒนา                           คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
30  วิจักขณ์ พานิช                                     นักวิชาการอิสระ
31  ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ                         วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
32  นฤมล ทับจุมพล                                  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หมายเหตุ สามารถลงชื่อเพิ่มเติมได้ที่ facebook “อากง เหยื่อ 112”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีมวิจัยสิทธิบัตรยาเผย บริษัทยารักษามะเร็งเม็ดเลือดแอบผูกขาดยาว

Posted: 28 Nov 2011 08:16 AM PST

28 พ.ย.54 ภญ.ดร.อุษาวดี  มาลีวงศ์ ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ได้เปิดเผยความคืบหน้าของการวิจัยพบว่า ยาตัวสำคัญๆ หลายตัวที่จำเป็นต่อการรักษาโรค มีคำขอสิทธิบัตรที่เข้าข่ายการขอรับสิทธิบัตรที่มีลักษณะ evergreening หรือเรียกว่า สิทธิบัตรที่มีลักษณะแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากได้รับสิทธิบัตรไป อุตสาหกรรมยาข้ามชาติจะได้สิทธิผูกขาดมากไปกว่าที่ควรได้ โดยในยาบางตัวพบว่าจะมีระยะเวลาการผูกขาดในตลาดยานานขึ้นถึง 10 ปี

“เราพบว่า ยา Imatinib หรือชื่อทางการค้าคือ ยา Glivec ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในกลุ่มการประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) มีคำขอรับสิทธิบัตรของยาตัวนี้ในประเทศไทยถึง 6 คำขอ ทั้งการใช้, การขอในรูป salt form และการขอในรูปของ polymorph  ซึ่งอยู่ในข่ายที่เป็นevergreening ชัดเจน หากเทียบกับสิทธิบัตรตัวตั้งต้นของสหรัฐอเมริกา ยาตัวนี้น่าจะหมดสิทธิบัตรในไทยในปี 2559 แต่หากคำขอสิทธิบัตรแบบevergreening เหล่านี้ได้รับการอนุมัติ ผู้ขอจะได้สิทธิผูกขาดทำให้ไม่มีใครสามารถผลิตยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งได้จนถึงปี 2569 ซึ่งมากกว่าสิทธิที่พึงจะได้ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม คำขอเหล่านี้พ้นระยะเวลาที่จะนักวิจัยและภาคประชาชนจะสามารถทำคำคัดค้านได้ เพราะตามกฎหมายในบ้านเรานั้นกำหนดระยะเวลาในการคัดค้านก่อนการได้รับสิทธิบัตรไว้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับกฎหมายสิทธิบัตรในต่างประเทศ เราจึงทำได้เพียงนำส่งข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและแจ้งต่อสาธารณชน”

ทางด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัยฯ กล่าวว่า ยากลีเวคกำลังกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะอีกครั้ง เพราะในวันพรุ่งนี้ (29) ศาลสูงสุดของอินเดียจะเริ่มการไต่สวนคดีที่ บ.โนวาร์ติสกล่าวหารัฐบาลอินเดียทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่แก้กฎหมายสิทธิบัตรให้เป็นไปตามองค์การการค้าโลก หลังจากที่สำนักงานสิทธิบัตรอินเดียปฏิเสธที่จะให้สิทธิบัตรกับคำขอที่เป็น evergreening ในยาตัวนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น 

“คดีนี้มีความสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก เพราะการยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จะส่งผลกระทบมหาศาล โดยไปขัดขวางยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด และนำไปสู่การเข้าไม่ถึงยาของประชาชนในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ซึ่งนี้เป็นข้อสรุปที่สะท้อนในงานวิจัยเรื่องสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดที่ทำใน 5 ประเทศคือ อาร์เจนติน่า บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ของสถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ สถาบันวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้”

ทีมวิจัยฯกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้มีการแถลงผลการวิจัยเบื้องต้นในคำขอสิทธิบัตรทางยาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเข้าข่าย evergreening ถึงร้อยละ 96 นั้น ทางเครือข่ายผู้ป่วยและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญทีมวิจัยไปให้ข้อมูลเพื่อทำความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น

“ทราบมาว่า ขณะนี้ทางสมาคมบริษัทยาข้ามชาติ หรือ พรีม่า ก็พยายามที่จะขอเข้าไปให้ข้อมูลกับกรมทรัพย์สินฯ ว่าสิ่งที่เขาขอนั้น เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เดิม (Incremental Innovation) ซึ่งก็เป็นสิทธิของทางพรีม่าในการให้ข้อมูล แต่เราเชื่อว่าขณะนี้หน่วยราชการและผู้กำกับนโยบายมีความตระหนักถึงปัญหาการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย ก็ต้องฝากทั้งผู้กำกับนโยบายและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากจะมีผลกระทบที่เกิดกับการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนทั้งประเทศ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม ความขัดแย้ง และการละเมิดสิทธิ

Posted: 28 Nov 2011 08:10 AM PST

ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย (ยกเว้นกรุงเทพฯ ชั้นใน) นอกจากได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้ว ยังสร้างความขัดข้องใจและความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกันหลายประการ ดูได้จากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายบิ๊กแบ๊คที่ดอนเมือง ความขัดแย้งที่ถนนพระราม 2  ความขัดแย้งระหว่างอำเภอลำลูกกากับเขตสายไหมและคลองสามวา ความขัดแย้งที่คลองประปาระหว่างชาวดอนเมืองและชาวปากเกร็ด ตลอดจนความขัดแย้งจากการเจรจาต่อรองปริมาณการปล่อยน้ำระหว่างชุมชนที่อยู่ในและนอกเขตประตูกั้นน้ำต่างๆ ในเขตจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น

ผมเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเสียด้วยครับ ดังนั้นผมจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้รู้กฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นท่านทนายความ ท่านผู้พิพากษา หรือคณะศาลปกครองที่ล้วนเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนว่า การดำเนินการที่ถูกที่ควรด้านการป้องกันน้ำท่วม “ตามหลักนิติธรรม” นั้นต้องทำอย่างไร  โดยผมขอถามคำถามซัก 5 ข้อดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง หากเขตปกครอง ก. นำกระสอบทรายมาทำทำนบกั้นน้ำไม่ให้น้ำเข้าเขตปกครองของตน แต่การกระทำดังกล่าวทำให้เขตปกครอง ข. ที่มีพื้นที่ติดกันต้องรับภาระแทนโดยต้องเผชิญกับน้ำท่วมในระดับที่สูงกว่าปกติ การกระทำของเขตปกครอง ก. เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในเขตปกครอง ข. หรือไม่ครับ หากเป็นอย่างนี้ประชาชนในเขตปกครอง ข. จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้บริหารเขตปกครอง ก. ได้มั๊ยครับ

ข้อที่สอง หากประชาชนในเขตปกครอง ข. ที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวได้รวมตัวกันไปรื้อกระสอบทรายหรือเปิดประตูกั้นน้ำเพื่อให้น้ำที่ท่วมขังในเขตของตนไหลกลับไปท่วมเขตปกครอง ก. ซึ่งมีระดับน้ำต่ำกว่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระปัญหาไปบ้างในลักษณะของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนี้มีความผิดทางกฎหมายมั๊ยครับ

ข้อที่สาม หากมีการกั้นทำนบหรือเขื่อนรอบๆ ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และเมื่อภายหลังระดับน้ำได้ลดลงจนต่ำกว่าระดับสันเขื่อนแล้วชุมชนดังกล่าวได้สูบน้ำในพื้นที่ของตนออกไปด้านนอกเพื่อให้น้ำไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน โดยน้ำนั้นอาจมีความสกปรกจากคราบน้ำมันหรือมีสารเคมีจากโรงงานทำให้พื้นที่ข้างเคียงเสียหาย การกระทำเช่นนี้มีความผิดมั๊ยครับ

ข้อที่สี่ การที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ถูกกำหนดไว้เป็นพื้นที่แก้มลิงหรือทางน้ำผ่านเพื่อระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ และสูบออกไปยังอ่าวไทยในที่สุด แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เป็นนิคมอุตสาหกรรม สนามบินนานาชาติ หมู่บ้านจัดสรร หรือสนามกอล์ฟ การใช้ที่ดินผิดประเภทเช่นนี้ได้กลายเป็นอุปสรรต่อการไหลของน้ำและนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมขังที่บริเวณ รังสิต ปทุมธานี อย่างนี้เอาผิดกับหน่วยงานใดได้มั๊ยครับ

และข้อที่ห้า หากชาวกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์จากการปิดประตูกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ โดยให้ประชาชนในพื้นที่นนทบุรีหรือปทุมธานีรับภาระน้ำท่วมแทน ต่อมาหากต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ถูกน้ำท่วมที่ดอนเมือง นนทบุรี หรือปทุมธานี เงินค่าชดเชยจำนวนเงินนี้ก็ควรมาจากงบประมาณของกรุงเทพมหานครใช่มั๊ยครับ เพราะชาวกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปิดประตูกั้นน้ำ แต่ที่พบขณะนี้คือเงินค่าชดเชยทั้งหมดกลับถูกผลักให้เป็นภาระของงบประมาณแผนดิน ซึ่งเท่ากับหมายความว่านอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะได้ประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วมแล้ว คนไทยทั้งประเทศยังต้องมารับภาระจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ถูกน้ำท่วมที่ดอนเมือง นนทบุรี หรือปทุมธานีแทนกรุงเทพมหานครอีกด้วย ระบบการคลังสาธารณะแบบนี้ให้ความเป็นธรรมกับสังคมมั๊ยครับ

ท่านผู้พิพากษา ท่านผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย หรือท่านคณาจารย์ด้านกฎหมายทั้งหลายครับ ประชาชนคนไทยตอนนี้สับสนมากในประเด็นคำถามเหล่านี้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิจากการบริหารจัดการน้ำท่วมโดยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางซึ่งสังคมไทยไม่คุ้นเคยมาก่อน และในหลายกรณีก็ได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ท่านในฐานะที่เป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ท่านจะพอให้คำแนะนำ  ชี้แนะแนวคิดหรือให้แนวปฏิบัติที่ถูกต้องให้พวกเราทราบได้มั๊ยครับว่าสังคมไทยควรทำอย่างไรในเรื่องดังกล่าว ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมากกว่า 20 ฉบับ กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งได้บ้างมั๊ยครับ หรือเราต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกครับ แล้วประเทศไทยต้องมีกฎหมายน้ำอีกกี่ฉบับจึงจะพอครับ

ผมเองมีความรู้สึกว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐคงเป็นสิ่งที่ทำยากมากๆ ในสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีรากเหง้าฝังลึกในวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยมาช้านาน การปรับเปลี่ยนให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกัน  ให้มีการนึกถึงหัวอกเขาหัวอกเราโดย “คนไทยทุกคนที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้มีสิทธิเท่าเทียมกันคงเป็นเรื่องที่ทำยากมาก”

เราเห็นภาครัฐให้บริการสาธารณูปโภคกับคนในกรุงเทพฯ ดีกว่าการให้บริการคนในชนบททั้งๆ ที่คนทั้งสองเป็นคนไทยเหมือนกัน เราเห็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ มีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนในชนบท เราเห็นคนกรุงเทพฯ สนุกสนานกับการซื้อหาสินค้าธงฟ้าราคาถูก แต่ในต่างจังหวัดกลับแทบจะหาซื้อสินค้าธงฟ้าไม่ได้เลย เราเห็นรัฐบาลเอาใจใส่เรื่องน้ำท่วมอย่างแข็งขันตอนน้ำจะเข้ากรุงเทพฯ แต่พอกรุงเทพฯ พ้นขีดอันตรายรัฐบาลก็ลดละความสนใจทั้งๆ ที่ยังมีประชาชนในอีกหลายๆ จังหวัดที่ยังจมน้ำอยู่

เราเห็นรัฐบาลเดินทางไปถึงต่างประเทศเพื่อเจรจากับบริษัทประกันภัยให้เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมได้รับสินไหมค่าชดเชย แต่เราไม่ค่อยเห็นรัฐบาลเหลียวแลคนจนในพื้นที่ห่างไกลที่ถูกน้ำท่วม ถุงยังชีพก็ไม่ได้รับ ข้าวจะกินก็ไม่มี

เราเห็นกรุงเทพฯ มีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาวกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ แต่จังหวัดอื่นๆ กลับไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการของเขาเองเพื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาบ้าง

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการที่จะมาคาดหวังความเป็นธรรมในสังคมไทยคงจะเป็นเรื่องยากเพราะผู้บริหารบ้านเมืองนี้มีวัฒนธรรมทางความคิดที่ขาดความเป็นธรรมโดยให้ความสำคัญกับคนในกรุงเทพฯ มากกว่าคนจังหวัดอื่นๆ

ดังนั้น กรณีการบริหารจัดการน้ำที่เน้นการปกป้องทรัพย์สินบ้านเรือนของคนในเมืองหลวงโดยให้คนในพื้นที่รอบนอกรับภาระแทนจึงเป็นวิธีคิดที่พอจะคาดเดาได้ เพราะมันก็คือธาตุแท้ของการบริหารงานแบบไทยๆ นั้นเอง การที่รัฐบาลพูดว่า “ประชาชนต้องเข้าใจและต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม” จึงเป็นประโยคที่เสียดแทงใจผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างมากเพราะมันเป็นการตอกย่ำว่าผู้บริหารบ้านเมืองนี้ให้ความสำคัญกับประชาชนไม่เท่าเทียมกัน เห็นค่าของความเป็นคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขณะนี้วัฒนธรรมทางความคิดเช่นนี้ได้นำไปสู่ความปัญหาขัดแย้งในหลายๆ พื้นที่ และจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว “ในที่สุดสิ่งนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ไร้อารยธรรม”.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากนภพัฒน์จักษ์ ถึงมัลลิกา: ถ้ายังสื่อสารแบบนี้ ก็รังแต่ทำให้พรรคแย่ลง

Posted: 28 Nov 2011 08:04 AM PST

 

ถึงคุณมัลลิกา บุญมีตระกูล
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 
 

ก่อนอื่น บอกอย่างหนึ่งว่า ผมไม่ได้อยากจะดราม่าอะไรกับใครนะครับ ยิ่งช่วงนี้ยังต้องทำข่าวน้ำท่วม ก็มีประเด็นเยอะแยะจนอยากจะเลี่ยงประเด็นดราม่าสารพัดสารเพ

แต่ต้องเขียนเพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะคุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าพรรคแก่ พรรคใหญ่ของประเทศไทย ในฐานะรองโฆษกพรรคการสะท้อนอะไรออกมาย่อมสะท้อนท่าทีของพรรค และของสังคมไทยไม่มากก็น้อย

คือตั้งแต่มีข่าวคราวข้อเสนอของคุณมัลลิกา เรื่องให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ผมก็ตามอ่านอยู่ห่างๆ ยังไม่เคยได้ไปตามทำข่าว ไม่เคยสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง (สาเหตุหลักเพราะผมตามข่าวน้ำท่วมอยู่เป็นหลัก) ก็เลยยังไม่ได้พูดถึงเท่าไหร่ ที่เคยรายงานผ่านทวิตเตอร์ไปก็มีไม่กี่ครั้ง เป็นทวีตที่ผมตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางแนวความคิดของคนในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะตอนนั้นกระแสคนเริ่มวิจารณ์ตัวพรรคประชาธิปัตย์หนาหูขึ้น ว่าเป็นพรรคโบราณที่จะให้มีการปิด เฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ผมเลยทวีตไปให้เห็นว่าน่าจะเป็นความเห็นของคุณมัลลิกาคนเดียว เพราะอย่างความเห็นของคุณแทนคุณก็เป็นคนละแนวทางกัน

ต่อมาคุณมัลลิกาก็ชี้แจงว่าไม่ได้จะให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ แต่เป็นแค่คำขู่ และการปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ จะเป็นเงื่อนไขสุดท้าย ผมก็รีทวีตให้คนที่ตามผมอยู่ได้อ่านกัน เพราะผมก็ยึดหลักว่าควรให้คนที่ตามผมอยู่ได้อ่านครบถ้วนรอบด้านของมุมข่าวที่นำเสนอ ขอย้ำว่า "ผมก็รีทวีตของคุณมัลลิกาให้ทุกคนได้อ่านกัน"

หลังจากนั้น ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งก็ยังตำหนิทั้งตัวคุณมัลลิกาและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ตามสิทธิในการแสดงความเห็นของแต่ละคน พร้อมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจุดยืนเรื่องนี้ของตัวพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร?

จะว่าผมขยันไม่เข้าเรื่องก็ได้ แต่พอมีข้อสงสัยผมก็อยากให้มันชัดเจน อยากรายงานให้คนที่ติดตามได้ทราบถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไปถามคนในพรรคประชาธิปัตย์สองคน(เบื้องต้นทั้งสองคนขอว่าอย่าเพิ่งเปิดเผยชื่อ แต่ถ้าคุณมัลลิกาจำเป็นต้องทราบ ผมก็พร้อมจะผิดมารยาทกับสองคนนั้นและเปิดเผยชื่อ เพราะผมต้องรักษาความน่าเชื่อถือของผมไว้) ได้ความว่า "ทางพรรคคงยังไม่มีการแถลงอะไรออกมาชัดเจนกรณีปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ แต่ได้ยินมาว่ามีความเคลื่อนไหวในพรรค ว่าเป็นห่วงคุณมัลลิกา ว่าเวลาสื่อสารอะไร ก็ให้ชัดเจน" ผมก็เลยรายงานทางทวิตเตอร์สองอันตามนี้

ซึ่งถ้าจริงไม่จริงอย่างไร ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์คิดเห็นเรื่องนี้แบบไหน ผมก็พร้อมรายงานหมด คือถ้าคนในประชาธิปัตย์สนับสนุนให้ปิดเฟซบุ๊ก-ยูทูบว์ ไม่ แล้วจะมีการแถลงหรืออกมาพูดอย่างเป็นทางการเพื่อความชัดเจนผมก็พร้อมรายงาน ถ้าอันไหนที่ไม่ตรงกับที่ผมรายงานไปก่อน ผมก็พร้อมขออภัยและแก้ไข ไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาผมก็ฟังจากแหล่งข่าวของผมแล้วก็รายงาน คือผมก็มีหน้าที่รายงานข่าวทุกด้าน ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะเคลื่อนไหวอย่างไร

หลังจากนั้น

คุณมัลลิกาก็ทวีตมาหาผม ว่า "ที่หลังมีอะไรมาถามพี่ก่อนทวิตนะน้อง" ซึ่งความจริง เจตนาของผมคือรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไปถามความเห็นคนอื่น ไม่ได้อยากจะรายงานอะไรเกี่ยวกับความเห็นของตัวรองโฆษก เพราะผมตามอ่านมาตลอดอยู่แล้ว นี่คือสาเหตุที่ผมไม่ได้ถามคุณมัลลิกาก่อน เพราะมองว่ามันไม่จำเป็น

หลังจากนั้น
ผมก็ทวีตไปหาคุณมัลลิกา

แล้วคุณมัลลิกาก็ Direct Message มาหาผมในแนวทางต่อว่าผมในหลายประเด็น ซึ่งเอาหละ ผมมองว่าตามมารยาท อะไรที่ส่งมาทาง Direct Message ก็ไม่ควรมาเปิดเผยในที่แจ้ง (ยกเว้นคุณมัลลิกาพร้อมจะเปิดเผย ก็เปิดเผยได้เลย ทุกข้อความที่ผมส่งไป ผมพร้อมให้เปิดเผย)

แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมทำหน้าที่นักข่าวของผม มีอะไรผมก็รายงานไป รายงานในเรื่องที่ส่งผลต่อสาธารณะ ต่อประเทศชาติ

คุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคการเมือง ก็ทำหน้าที่ไป พรรคประชาธิปัตย์มีความคิดความเห็นอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของคุณมัลลิกา

เราคนละบทบาทกัน ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป

ถ้าผมรายงานอะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คุณมัลลิกาสามารถชี้แจงได้ผ่านช่องทางสาธารณะ ไม่ต้องมา Direct Message หาผม แล้วการที่ผมรายงานอะไรแล้วมีชื่อของคุณมัลลิกาเกี่ยวข้อง ก็เพราะคุณมัลลิกาเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงอะไรเป็นการส่วนตัว ส่วนเรื่องที่มากล่าวหาว่าผมนั่งเทียน ผมก็ย้ำไปแล้ว ว่าข้อความไหน จุดไหนที่คุณมัลลิกามองว่าผมนั่งเทียน ผมพร้อมชี้แจงทั้งหมด อะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็พร้อมแก้ไขให้หมด ขอแค่ให้ทางฝั่งประชาธิปัตย์ชัดเจนในการสื่อสาร เพราะผมไม่ได้ไม่เสียอะไรกับทางพรรคอยู่แล้ว ผมพร้อมรายงานความเคลื่อนไหวตามหน้าที่ แบบที่ไม่ต้อง Direct Message อะไรมาให้ผม เพราะการรายงานต่อเนื่องในเรื่องที่ผมเคยรายงานถึงไว้ มันเป็นหน้าที่ของผมอยู่แล้ว

ที่ต้องเขียนจดหมายนี้ ผมไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายพรรคประชาธิปัตย์ใดใดทั้งสิ้นนะครับ

แค่อยากสะท้อนไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ถึงบทบาทในการสื่อสารของรองโฆษกของพรรคด้วยความหวังดี เพราะในความคิดของผม ถ้าคุณมัลลิกายังดำเนินแนวทางนี้ในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งที่เป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์ และคนที่ไม่ได้ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ และทั้งกับผู้สื่อข่าว ผ่านทางโลกออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้อยู่

ก็รังแต่จะทำให้พรรคดูแย่ลงครับ
 

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์
ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี

หมายเหตุ: จดหมายนี้ผมพูดถึงเรื่องท่าที่ของคุณมัลลิกาต่อสื่อมวลชนเท่านั้นนะครับ ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้เวบหมิ่นของคุณมัลลิกา คือเรื่องนั้นก็มีความเห็นอยู่ แต่ขอมาแสดงความเห็นในภายภาคหน้า คราวนี้ขอเรื่องท่าทีต่อนักข่าวก่อนครับ

 

ที่มา: http://blog.noppatjak.com/2011/11/mallikaboon.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานโจทย์นัดแรก คดีเสื้อแดงปิดถนนลำพูนเมื่อปี 52

Posted: 28 Nov 2011 04:30 AM PST

 

28 พ.ย. 54 – เวลา 13.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดลำพูน มีการสืบพยานโจทก์ 4 ปากแรก ที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งฟ้องตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1970/2554 โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยคือนายจักรพันธ์ บริรักษ์ หรือ ดีเจหนึ่ง อดีตนักจัดรายการวิทยุประจำคลื่นรักเชียงใหม่ 51 FM 92.5 MHz ได้กระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา "ชักชวน ปลุกปั่น ยุยง ให้ประชาชนที่รับฟังรายการไปร่วมกันปิดกั้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 จนเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมไม่อาจสัญจรไปมาได้ตามปกติ และอาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะของประชาชนที่ใช้ทางหลวงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต" ซึ่งความผิดตาม ม.116 นี้มีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี (อ่านเพิ่มเติม: อัยการส่งฟ้องคดีเสื้อแดง "ดีเจหนึ่ง" ข้อหาปลุกปั่นฯ คดีเก่าปี 52)

โดยพยาน 4 ปากแรกเป็น เจ้าหน้าที่ขนส่ง, เจ้าหน้าที่การรถไฟ, อดีตกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ จ.ลำพูน ได้ให้การว่าในวันที่ 12 – 13 เม.ย. 52 นั้นได้มีการปิดถนนตรงช่วงแยกดอยติจริง แต่พยานทั้งทั้ง 4 ปากก็ไม่ได้ระบุว่านายจักรพันธ์ มีส่วนร่วมอย่างไรกับการปิดถนนครั้งนั้น รวมถึงพยานทั้ง 4 ปากก็ไม่รู้จักและรู้ว่านายจักรพันธ์เป็นใครและทำอาชีพอะไรด้วย ทั้งนี้การสืบพยานโจทย์ในคดีนี้ยังเหลืออีก 11 ปากโดยศาลได้นัดอีกครั้งในวันที่ 14 พ.ค. 55

หลังจากการสืบพยานโจทย์ นายจักรพันธ์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าคดีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงสงกรานต์เลือด เม.ย. 52  ที่มีการชุมนุม จ.เชียงใหม่ และได้ตั้งข้อสังเกตว่าตนเองเคยโดยคดีทำนองเดียวกันนี้คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 52 ที่มีการรวมตัวกันปิดถนนที่บริเวณประตูท่าแพ และต่อมาถูกฟ้องร่วมกับคนอีกสิบกว่าคน แต่อัยการก็ยกคำฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคดีปิดถนนที่ดอยตินี้ซึ่งเป็นคดีที่คล้ายๆ กัน แต่ตนกลับโดนฟ้องคนเดียวและหมายจับก็มาออกมาในปีต่อมา (พ.ศ.2553) หลังจากการสลายชุมนุมที่ราชประสงค์ และอัยการก็พึ่งมาส่งฟ้องเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานวิจัยเผย นายจ้างออสซี่เลือกคนสัมภาษณ์จากเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์

Posted: 28 Nov 2011 01:15 AM PST

งานวิจัยเปิดเผยว่านายจ้างชาวออสเตรเลียราว 12% เลือกปฏิเสธผู้สมัครงานจากข้อมูลในเฟซบุ๊ก ในขณะที่ 1 ใน 5 เป็น “เพื่อน” กับลูกจ้างเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานและข้อความที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับบริษัท

บริษัทเทลสตราของออสเตรเลียเผยผลวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นายจ้างราว 12% ได้ตัดสินใจปฏิเสธนัดสัมภาษณ์ผู้สมัครงานจากสิ่งที่พอเจอในโซเชียลมีเดียเช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์

เทลสตราเปิดเผยว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของนายจ้างชาวออสเตรเลีย ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกลั่นกรองผู้สมัครงาน และเกือบครึ่งของนายจ้างเหล่านี้ยอมรับว่าได้ปฏิเสธผู้สมัครจากสิ่งที่พบเห็นในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของผู้สมัครเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน 1 ใน 3 ของนายจ้างออสเตรเลีย ก็ได้ตกลงจ้างงานผู้สมัคร จากสิ่งที่เป็นบวกที่พวกเขาเห็นในโซเชียลมีเดียวของผู้สมัครงานเช่นกัน

เทลสตรามิได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทำแบบสำรวจ ปริมาณ หรือวิธีการ

รายงานวิจัยของเทลสตรายังพบว่า 18% ของนายจ้างที่ได้ตอบคำถาม ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกจ้างจะไม่โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเสื่อมเสียเกี่ยวกับตนเองหรือบริษัท และอีก 15% ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อจับตาผลิตผลการทำงาน จากการวิจัยพบว่า 1 ใน 5 ของนายจ้างเป็น “เพื่อน” กับพนักงานของพวกเขาในเฟซบุ๊ก

เทลสตราพบว่า เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่นายจ้างใช้กลั่นกรองผู้สมัครมากที่สุด โดยคิดเป็น 41% ส่วนอีก 31% เป็นของโปรไฟล์ LinkedIn ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านอาชีพการงาน และรองลงมาเป็นทวิตเตอร์ คิดเป็น 14%
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มัลลิกาแจงผ่านเพจFBอีกรอบ ย้ำแบนเว็บเป็นทางเลือกสุดท้ายหาก รมต.หมดปัญญา

Posted: 28 Nov 2011 12:19 AM PST


http://www.facebook.com/pages/Mallika-Boonmeetrakool/137530553003555
 

(28 พ.ย.54) สืบเนื่องจากที่ มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงข้อเสนอให้รัฐบาลจัดการเพจหมิ่น โดยระบุว่ามาตรการสุดท้ายคือการแบนเว็บดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ล่าสุด (28 พ.ย.) มัลลิกาชี้แจงเพิ่มเติมผ่านเพจส่วนตัวในเฟซบุ๊กว่า จุดยืนไม่ใช่เรื่องให้ไปปิดยูทูปหรือเฟซบุ๊ก แต่เป็นมาตรการขู่ที่ผู้นำประเทศต้องนำไปใช้เพื่อต่อรอง หากไม่สำเร็จจึงแบน โดยให้เป็นทางเลือกสุดท้ายหากรัฐมนตรีบอกว่ายากและหมดปัญญา

 

แถลงชี้แจงกรณีหมิ่นและแบนยูทุปและเฟสบุค

"กลุ่มไม่หวังดีตัดต่อประเด็นแถลงของมัลลิกาสร้างกระแสต่อต้านการสู้เพื่อขจัดเว็บผิดกฎหมายโดยเฉพาะเว็บหมิ่นในโซเชียลเน็ตเวิค ย้ำจุดยืนไม่ใช่ให้ปิดยูทุปและเฟสบุค แต่มาตรการขู่และต่อรองหากรัฐมนตรีหมดปัญญาแล้วอ้างว่ายาก"

นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าชมรมนักรบไซเบอร์ ที่เปิดตัวเป็นที่รับเรื่องร้องเรียนคู่ขนานกับการทำงานของรัฐบาลและกระทรวงไอซีทีในการขจัดเว็บผิดกฎหมายนั้น แถลงว่า เนื่องจากกลุ่มคนไม่หวังดีตัดต่อตัดแปะข้อความแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายน2554 แล้วนำไปใช้สร้างกระแสต่อต้านการรุกเรื่องนี้ของนางสาวมัลลิกา

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เบื้องต้นได้อธิบายผ่านทวิตเตอร์@MallikaBoonและเฟสบุคส่วนตัวเนื่องจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิคที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายนำไปตกแต่งสร้างเรื่องให้คนเข้าใจไม่ครบถ้วน ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกความเห็น แต่ก่อนที่ใครจะแสดงออกกรุณาอ่านให้ครบทุกข้อความของทวิต10ข้อ10ทวิตใน@mallikaBoon และถ้าจะรีทวิตส่งต่อให้ใช้ลิงค์นี้ fb.me/UEMxhbtI

กรณีของการข้อความ "force แล้วถ้าไม่จบจึง ban ผู้นำต้องคิด" นั่นเป็นมาตรการต่อรองสำหรับผู้นำที่อ้างว่า"ยาก"และ"หมดปัญญา"ซึ่งทางแห่งความเป็นจริงนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ในเนื้อข่าวที่แถลงและทวิตกับเฟสบุคของมัลลิกา ใช้คำว่าถ้ารัฐมนตรีไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อ้างว่ายากและหมดปัญญาเช่นนั้นคุณก็ใช้ยาแรง banเว็บหากเขาไม่ให้ความร่วมมือคุณ การที่ผู้นำเต็มไปด้วยข้ออ้างแต่แท้จริงแล้วข้างหลังผู้นำมีมือโพสต์หมิ่นยืนประกบอยู่ข้างหลังตามที่เปิดประเด็นไปนั้นสิ่งใดที่จะทำให้ผู้นำหาข้ออ้างไม่ได้

"จุดยืนไม่ใช่เรื่องให้ไปปิดยูทุป เฟสบุค แต่เป็นมาตรการขู่ที่ผู้นำประเทศต้องนำไปใช้เพื่อต่อรองนั้นคือforceถ้าไม่จบจึงban ผู้นำต้องคิด เป็นทางเลือกสุดท้ายหากรัฐมนตรีบอกว่ายากและหมดปัญญา" นางสาวมัลลิกากล่าว

โดยรายละเอียดตามทวิตเตอร์@MallikaBoon มีลำดับเป็นข้อๆดังนี้คือ
1.การใช้มาตรการแต่ละระดับ คือกลยุทธผู้นำในการจริงจังต่อการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาเว็บหมิ่นต้องรู้ต้นตอแห่งปัญหาต้นตอมีแค่ 2 อย่าง

2.ต้นตอ2อย่างคือ คนตั้งใจทำลายกับช่องทางการใช้ทำลาย เมื่อเจอตอเจอเชื้อโรคแล้วก็ต้องหายามารักษาหรือหามาตรการมาแต่ละระดับ

3.การเป็นผู้นำคนผู้นำประเทศต้องใช้ทักษะเป็นกลยุทธเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ขอแค่คุณตั้งเป้าหมายไว้หรือยัง?มีเป้าหมายหรือไม่ว่าจะขจัดปัญหา

4.ถ้าเป้ามายคือการขจัดออกให้สำเร็จ คุณต้องกำหนดกรอบและระยะเวลาเพื่อคนทำงานซึ่งคือราชการจะได้เดินหน้าตามเป้าหมายในคำสั่งนั้น!

5.ไล่ตั้งแต่สืบค้น ตรวจจับ ส่งสำนวนสู่ศาล นี่สำหรับบุคคลกระทำผิด!ส่วนผู้ให้บริการ(บริษัท)เว็บนั้นๆต้องเชิญมาประชุมขอความร่วมมือและเซนเซอร์

6.หากผู้ให้บริการขาดจริยธรรมปล่อยให้เพจหรือURLของคุณละเมิดและผิดกติกากับกฎหมายก็ส่งหลักฐานเสนอชั้นศาลปิดไป อยู่ในสังคมก็ต้องเคารพกติกา

7.ทีนี้สำหรับกรณีที่ผู้นำหมดปัญญา นั่นคืออ้างว่ามันยากเพราะเจ้าของเว็บอยู่ต่างประเทศซึ่งหมายถึงยูทรูปกับเฟสบุคที่ระบาดหนักช่วง3เดือนนี้

8.เช่นนั้นแล้วมาตรการคือ ผู้นำต้องประสานผู้นำประเทศเขาแล้วเอาผู้ให้บริการประเทศนั้นเข้ามาร่วมองค์เจรจา ขอความร่วมมือระหว่างกันให้เหตุผลไป

9.มันยากและไม่สำเร็จใช่ไหม? ก็มาตรการสุดท้ายให้ยาแรงคือมาตรการต่อรองแลกเปลี่ยนก่อนการยื่นจาก force แล้วไม่จบจึง ban ผู้นำต้องคิดและนำไปขู่เขา

10.อย่าดัดจริต ถ้าคิดจะเด็ดขาด!! ขบวนการทำลายไปไกลขนาดใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีจนฝรั่งงง! อย่าเอ่ยคำว่า"รักท่าน"แล้วใช้คำว่า"ยาก" !!

ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร และรัฐมนตรีไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์นาครทรรพ วันจันทร์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ต่อการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ในโซเชียลเน็ตเวิคชื่อดังๆระบาดหนักช่วงหลังการเปลี่ยนรัฐบาลตั้งแต่สิงหาคมถึงปัจจุบัน โดยนางสาวมัลลิกาจะนำเสนอพร้อมข้อมูลลิงค์หรือเพจ(URL)ของเว็บผิดกฎหมายประมาณ 200 URL ที่รับเรื่องร้องเรียนมาจากกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิคที่อ้างว่าไม่มั่นใจต่อการแก้ไขปัญหานี้ของรัฐบาล

นอกจากนี้ นางสาวมัลลิกายังย้ำว่าจะไม่หยุดต่อสู้เรื่องนี้แม้จะถูกกลุ่มคนที่น่าจะเป็นขบวนการส่งเสริมการลบหลู่ จาบจ้วง สถาบัน ตั้งทวิตเตอร์และเพสบุคชื่อปลอมๆจำนวนมากโดยคนหนึ่งใช้ไอแพดเครื่องเดียวแต่มีเป็น4-5ชื่อที่ใช้เล่นทวิตเตอร์และเฟสบุค มาก่อกวนด่าหยาบคายในทสิตเตอร์และเฟสบุคของเธอ รวมทั้งโทรศัพท์ก่อกวนที่เข้ามามากขึ้นทุกวันแต่ประเภทโทรมาด่าแล้ววาง

ดังนั้นชมรมนักรบไซเบอร์ จะเดินหน้าต่อไปเมื่อเจอใครเว็บหมิ่นเว็บผิดกฎหมายให้ทำตามขั้นตอนนี้ คือ
1)โทรแจ้ง ICT ที่เบอร์1212 หรือ
2)แจ้งผ่านเว็บไซต์ของ ICT mict.go.th (แต่ถ้าไม่ได้เรื่ิองทำข้อ3)
3)ถ้าเว็บนั้นยังอยู่ค่อยแจ้ง FightBadWeb@gmail.com เพื่อให้มัลลกาติดตามต่อโดยที่ไม่ต้องเอาลิงค์มาใส่ในเพจของ ทุกแห่ง ทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร และชมรมได้เปิดเฟสบุคFightBadWebเป็นเพจหนึ่งในเฟสบุคของมัลลิกามีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคอมพิวเตอร์ช่วยรับเรื่องและนำไปดำเนินตามกระบวนการของกฎหมาย

ข้อมูลประกอบที่สำคัญคือ พรบ.คอมพิวเตอร์ การกระทำความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ คือ กรณีที่คุณใช้คอมพิวเตอร์ ทุกรูปแบบ โซเชียลเน็ตเวิคทุกรูปแบบ เป็นเครื่องมือไปกระทำความผิด 4 ประการหลักคือ
1) ด้านความมั่นคงของชาติ เข่น การโพสต์ปล่อยข่าวที่ทำให้ประเทศเสียหาย เสี่ยงต่อความมั่นคง
2) ด้านยาเสพติด การพนัน เข่น การขายยาผิดกฎหมาย การยุยงเล่นเลข หวย บ่อน แทงบอล
3) ด้านลามก อนาจาร เช่น ไปส่งต่อเผยแพร่ภาพโป๊ คลิปลามก หนังลามก
4) ด้านหมิ่นสถาบันของชาติ พระบรมเดชานุภาพ เช่น ที่ตัดต่อคลิป ภาพ เพลง จาบจ้วง ล่วงละเมิด

ทั้งหมดเป็นฐานความผิดที่เจ้าพนักงานตามพรบ.คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่รมต.ไอซีที เจ้าหน้าที่แต่งตั้งตามกฏหมาย มีทั้งข้าราชการไอซีที ทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ พลเรือนที่เชี่ยวชาญ จะมีบัตรเจ้าพนักงานสามารถเข้าไปตรวจค้น จับกุม ใครที่กระทำผิดกฎหมายนี้ได้ แล้วทำสำนวนผ่านกระบวนการกฎหมาย ส่งฟ้องศาลมีโทษจำคุกหนักเบาแตกต่างกันไป

ขณะเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้ชื่อ Korn Chatikavanij ในเว็บไซต์เฟสบุคได้โพสต์ข้อความโปรโมทโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ คือ FightBadWeb โดยระบุข้อความต่อสาธารณะว่า ระยะหลังนี้มี "เว็บที่ไม่เหมาะสม" เพึ่มขึ้นมากและไม่มีท่าทีที่จะมีการดำเนินการใดๆโดยรัฐบาล ดังนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้สร้างช่องทางการติดตามกดดันให้ทางรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ด้วยการสร้างFB Page http://facebook.com/FightBadWeb ขึ้นมา ใครเจอ เว็บที่ผิดกฏหมาย ขอให้เข้าไปดูวิธีการร้องเรียนผ่าน Page นี้ได้ครับ พรรคประชาธิปัตย์โดย สส.ศิริโชค โสภา ในฐานะ รมว.ICT เงา และ รองโฆษกฯ มัลลิกา บุญมีตระกูล อดีตที่ปรึกษารมว.ICT จะเป็นผู้คอยติดตามว่า...กระทรวง ICT มีการดำเนินการอย่างเต็มที่หรือไม่ ?

" รัฐมนตรีอนุดิษฐ์ งานเข้าแน่ครับ เพราะ... สังคมข้องใจอยู่แล้ว
ว่าทำไม "ผู้เคยถูกกล่าวหาเกี่ยวกับคดีหมิ่น" ถึงได้มาคอยเดินติดตามท่านตลอด และสิ่งนี้ เป็นเหตุให้มีเว็บหมิ่นแพร่หลายไปทั่ว ใช่หรือไม่

..ปล.วิธีแรกที่ FightBadWeb บอกคือ
..อย่าเอาลิงค์เว็บ หรือเพจหมิ่นมาแชร์ตอบใน Comment นะครับ." นายกรณ์โพสต์ไว้ในเฟสบุค

รายงานจากหน้าเพจ FightBadWeb จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำสำหรับ ผู้ที่ต้องการจะร้องเรียน รายงาน เว็บ หรือเพจหมิ่นฯ รวมทั้งเว็บที่ผิดกฏหมายต่างๆ ในการเปิดเพจนี้เพียงแค่วันเดียวปรากฎผู้เห็นด้วยกดชอบหรือlikeจำนวน 3,017 คนถูกใจสิ่งนี้แล้วและเพิ่มขึิ้นเรื่อยๆ

ที่มา: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=185025338254076&id=137530553003555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใต้เท้าขอรับ: ความเงียบอันอื้ออึง.....

Posted: 27 Nov 2011 11:11 PM PST

ระดับน้ำที่ท่วมในหลายพื้นที่เริ่มลดลงแล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้อาจไม่ใช่การฟื้นฟูประเทศด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่จะเป็นเกมการเมืองในระดับที่จะสร้างความวิบัติฉิบหายกันไปข้างหนึ่งรออยู่ และที่ส่งสัญญาณมาแล้วอย่างหนึ่ง (ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง) ก็คือ พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง เริ่มต้นด้วยการหย่อนประเด็นโดยรองโฆษกพรรค อดีตนักปั่นจักรยานทีมชาติ อย่างมัลลิกา บุญมีตระกูล ที่เสนอมาตรการสุดท้ายหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับการแสดงความเห็นที่เข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ ก็ให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูปว์เสียตามแนวทางของประเทศจีน

และหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโง่เขลาพอที่จะเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้ทางการเมืองและพิสูจน์ตัวเองโดยการหันมาห้ำหั่น ปิดหูปิดตา และปิดปากประชาชนของพวกเขาแล้ว นี่ก็จะเป็นเรื่องน่าสมเพชที่สุดเท่าที่ระบอบประชาธิปไตยจะมอบให้กับประชาชนของประเทศใดสักประเทศหนึ่ง

น่าเสียใจว่า สัญญาณจากรัฐบาลก็เป็นไปในทำนองดังว่า หากเราดูคำสัมภาษณ์ของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ออกมาเตือนว่า เพียงคลิกไลค์ คุณก็อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายได้

เสรีภาพนั้นงดงามตราบที่มันยังอยู่กับเรา แต่ก็น่าแปลกที่มนุษย์ผู้มีเสรีภาพในประเทศนี้ กลับพยายามหันมาเรียกร้องให้ลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่นลงเสีย ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนผู้ได้ประโยชน์โภชน์ผลจากระบอบประชาธิปไตยและเสรีนิยมอย่างเต็มที่ กลับลุกขึ้นมาปฏิเสธสิ่งนั้นเสียเอง เวลาที่พวกเขาเรียกร้องเช่นนั้น เขาอยู่ในสถานะที่คิดว่าตนเองจะไม่สูญเสียมันไป แต่พวกเขาจะแน่ใจได้ละหรือ ว่าจะเป็นผู้กุมสถานะที่ได้รับการยกเว้นไว้ได้ตลอดไป

ภายใต้เสรีภาพที่จะพูด คนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพนั้นเพื่อกดขี่ผู้อื่นไม่ให้พูด มิไยต้องกล่าวถึงโครงสร้างทางกฎหมายอันแน่นหนาที่รัดตรึงผู้คนไว้ไม่ให้พูด และวิพากษ์วิจารณ์

ไม่มีผู้มีอำนาจคนไหน ยินดีฟังสิ่งที่ตนเองไม่อยากจะฟัง อำนาจเป็นสิ่งท้าทาย แม้แต่การมีอำนาจจัดการเว็บไซต์เล็กๆ ก็ยังท้าทายคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับมันอยู่มิใช่น้อย เมื่อเราพบข้อความที่เราไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วย เพียงขยับนิ้ว ข้อความเหล่านั้นก็สามารถหายไปในทันที แต่....สิ่งที่เราห้ามตัวเองจากการกระทำเหล่านั้นมีเพียงสิ่งเดียว คือ ความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องมีเสรีภาพที่จะพูดจะคิด และสื่อสาร และหน้าที่ของเราก็คือการอดทนต่อความแตกต่าง มนุษย์ไม่มีวันจะเป็นอย่างเดียวกันได้ในทุกเรื่องทุกอย่าง สิ่งที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันได้ คือการอดทนต่อกันและกัน

ในทุกประเทศล้วนมีประเด็นที่แตะต้องลำบาก และกลุ่มคนที่ถูกคาดหวังให้พูดสิ่งนั้นก่อนผู้อื่นก็คือ สื่อมวลชน…หรือมิใช่

กว่า 5 ปีแห่งความวุ่นวายทางการเมืองของไทย สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่มีใครควบคุมความคิดคนในสังคมนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวได้อีกแล้ว ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเกมอำนาจ ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซุบซิบนินทา ทั้งด้วยหลักวิชา และด้วยคำด่าสาดเสียเทเสีย มันคือพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงที่มือมหึมาระดับไหนก็หยุดยั้งไว้ไม่ได้

ขณะที่เสียงแห่งความแตกต่างหลากหลายดังขึ้นทุกขณะจิต กลไกที่จะควบคุมความคิดก็ถูกสร้างและใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาฟ้องร้องกันอย่างกว้างขวาง บวกเข้ากับเครื่องมืออันใหม่ล่าสุดก็คือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เท่าที่เป็นอยู่ตลอดมา บรรดาคนที่ถูกฟ้องร้องเหล่านี้ ถูกตีตรา และถูกตัดสินไปล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ต้องมีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ความได้สัดส่วนระหว่างโทษกับความผิด ปัญหาแนวคิดและนิติปรัชญาของกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ มิไยต้องเอ่ยถึงพื้นที่ของพวกเขาในสื่อของไทย

เงียบ...มันคือความเงียบที่กดขี่จองจำคนจำนวนหนึ่งเอาไว้ไม่ให้เปล่งเสียง แต่ภายใต้ความเงียบที่หนักอึ้งนั้น ยังมีอีกหลายเสียงที่ดิ้นรนให้ถูกได้ยิน เราอาจปิดปากคนได้ด้วยกฎหมาย แต่เราปิดกั้นความคิดของพวกเขาไม่ได้ ยิ่งในเวลานี้ ที่พรมแดนแห่งการรับรู้ข่าวสารไม่มีอยู่อีกต่อไป

คดีอากง และผู้ถูกฟ้องร้องจากมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จึงยังเป็นสิ่งที่สื่อเล็กๆ แห่งนี้ต้องนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำต่อไปไปจนกว่าสังคมนี้จะยอมรับว่าเสียงของมนุษย์นั้นมีความหมาย ฆ่าไม่ตายและส่งต่อได้ไม่จบสิ้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: มัลลิกา บุญมีตระกูล ตัวอย่างนักการเมืองสวะแห่งศตวรรษที่ 21

Posted: 27 Nov 2011 11:06 PM PST

น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกสาวจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอหน้าออกมาเก็บคะแนนการเมืองหลังจากที่คดีอากงเพิ่งสิ้นสุดลง โดยประกาศลั่นว่าจะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้ปราบปรามเว็ปไวต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์ หากเป็นเว็ปไซต์ที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ตนขอเสนอให้รัฐบาลประสานงานไปยังรัฐบาลในประเทศที่เว็ปไซต์นั้นตั้งอยู่ เพื่อขอให้ปิดเว็ปไซต์ดังกล่าว ในกรณีที่แรงที่สุด คือขอให้ปิดเว็ปไซต์ยูทูป เฟสบุคและทวิตเตอร์ไปเลย โดยอ้างว่า จีนเคยทำเช่นนี้มาก่อน ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดเฟสบุค Fight Bad Web พร้อมอีเมล์ fightbadweb@gmail.com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ หมิ่นสถาบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ลามกอนาจาร และยาเสพติด-การพนัน โดย น.ส.มัลลิกาได้กล่าวย้ำว่า "พฤติกรรมทำร้าย ทำลาย จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เวลานี้ได้ลามจากโซเชียลมีเดีย ไปตามร้านเสริมสวย ร้านข้าวต้ม สภากาแฟฯ ในต่างจังหวัด หากผบ.ตร.ต้องการทราบว่ามีร้านไหนบ้าง ดิฉันจะพาไปดูทั้งใน จ.พะเยา ลำปาง และแพร่"

ผมแทบไม่เชื่อตัวเองว่า ข้อเสนอของ น.ส.มัลลิกาฯ จะเป็นเรื่องจริงและไม่ใช่เรื่องหลอกๆ แต่เมื่อดูประวัติของ น.ส.มัลลิกา และประวัติของพรรคประชาธิปัตย์ก็เชื่อได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องจริง นี่คือพรรคการเมืองที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นี่คือพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศที่รับใช้เจ้าขุนมูลนายมาหลายสิบปี อุดมการณ์ หรือ “สันดาน” ของพรรคยังไม่เคยเปลี่ยน กล่าวคือ ไม่เคยมีจุดยืนในการส่งเสริมประชาธิปไตยเหมือนดังที่สะท้อนในชื่อของพรรค ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคไปเป็น “อประชาธิปัตย์” หรือถ้าจะให้สอดคล้องกับสิ่งที่มัลลิกาเสนอ ก็น่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่จริง การเปรียบเทียบเช่นนี้ ถือว่าเป็นการลดเกียรติของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิง เพราะอย่างน้อย พรรคคอมมิวนิสต์ก็มีจุดยืน และเป็นระบอบการเมืองที่มักต่อต้านการมีอยู่ของ establishment)

สิ่งที่ น.ส.มัลลิกาเสนอนั้น นอกจากจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย (ในฐานะเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน) แต่ยังทำให้ประชาธิปไตยถดถอย เป็นตัวอย่างที่เลวของนักการเมืองที่มีปากก็สักแต่พูด ไม่มองภาพกว้างของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ไทยจะพัฒนาได้อย่างไรหากสังคมไม่เปิดกว้าง ยังคงปิดหู ปิดตาประชาชน โชคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เข้ามาอยู่ในฟากรัฐบาล มิฉะนั้น ไทยคงกลายเป็นเกาหลีเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่เพื่อนบ้านไทยอย่างพม่าที่มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารมาตลอดหลายปี ก็ได้เริ่มให้มีการเปิดกว้างขึ้น ผมไม่สามารถจินตนาการได้ว่า การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพของไทยจะด้อยไปกว่าพม่า มันเป็นไปได้อย่างไร

มัลลิกาควรมองย้อนหลังกลับไปว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยทำอะไรไว้ในอดีตก่อนที่จะเสนอแนะความคิดที่สะท้อนความไร้เดียงสา (อย่างไม่ควรให้อภัย) ของตัวเอง ไทยในยุคประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งในประเทศที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) เพื่อเป็นกรอบในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรวมถึงการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมือง อาจจะเป็นเพราะมัลลิกาไม่เคยทำการบ้าน หรืออาจไม่เข้าใจการเมืองในภูมิภาค หรือจริงๆ แล้วไม่เข้าใจว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คืออะไร จึงทำให้เสนอความคิดที่ทวนกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยที่ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในโลก

ผมไม่เคยกล่าวหาใครว่า “โง่” โดยเฉพาะสตรี แต่คราวนี้คงต้องขอร่วมวาทกรรม “ความโง่เขลา” ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช้ในการลดความน่าเชื่อถือของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กล่าวคือ น.ส.มัลลิกาฯ มิได้มีความฉลาดไปกว่าชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่มีการศึกษา นี่คือบุคคลที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยรังสิต ผมไม่เชื่อว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะผลิตบุคลากรที่ไร้คุณภาพได้อย่างมัลลิกา ที่แย่ไปกว่านั้น มัลลิกาคือบุคลากรที่ไร้สามัญสำนึกของการส่งเสริมประชาธิปไตย ถ้ามัลลิกาจะใช้มันสมองที่มีอยู่น้อยนิดให้มีประโยชน์ ก็น่าจะพิจารณาได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีการจาบจ้วงสถาบันนั้นมีรากลึก การปิดอินเตอร์เน็ททั้งระบบนอกจากจะไม่ใช้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการมองประเด็นที่ปลายเหตุ ภาพลักษณ์ของไทยในโลกจะเป็นอย่างไรถ้าไทยปิดตัวออกจากสังคมโลก เรากำลังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีสภาพโลกาภิวัฒน์มากขึ้น เราจะบอกกับลูกหลานของเราได้อย่างไรว่า สังคมไทยต้องปิดตัวลงเช่นนี้ เพียงเพราะเราต้องการปกป้องสถาบัน

ทำไมมัลลิกาไม่มองปัญหาที่ต้นเหตุหากต้องการทำตัวเป็นนักการเมืองที่มีคุณค่าสมราคาคุย ปัญหาของการจาบจัวงสถาบันที่ยังคงดำเนินอยู่มีต้นตอมาจากการใช้กฎหมายหมิ่นอย่างพร่ำเพรื่อและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (เหมือนที่พรรคประชาธิปตย์ กลุ่มพันธมิตรฯ และกองทัพ ทำอยู่เป็นประจำ) หากจะทำให้มากกว่านั้น ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อการเมืองและสังคมไทย มัลลิกาควรจะเสนอให้มีการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นฯ หรือให้ยกเลิกด้วยซ้ำ หากมัลลิกามีความรักและหวงแหนสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง การใช้กฏหมายหมิ่นฯ อย่างพร่ำเพรื่อกลายมาเป็นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ข้อเสนอของมัลลิกามีส่วนโดยตรงที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ฉะนั้น ผมขอบอกให้คุณมัลลิกาอย่าออกตัวว่าเป็นผู้รักเจ้า เพราะคนที่เขารักเจ้าจริงๆ ย่อมจะไม่เสนอความคิดเช่นนั้น แต่สิ่งที่ผมอธิบายมานี้อาจจะเป็นเรื่องลึกซึ่งหรือซับซ้อนเกินไปกว่า คนอย่างคุณมัลลิกาจะเข้าใจได้

เอาอย่างนี้ พูดอย่างภาษาชาวบ้านแล้วกัน ทำไมมัลลิกาไม่ทำความเข้าใจว่า ความเห็นของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นราษฎรไทยหรือจากประเทศไหนๆ ก็มีความแตกต่างกัน ใครจะบังคับใจให้รักใครได้อย่างไร ทำไมมัลลิกาไม่ส่งเสริมการเคารพซึ่งความแตกต่าง หรือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เชื่อในความแตกต่างทางความคิด (เชื่ออย่างเดียวว่ามีความแตกต่างในชาติตระกูล) หรือว่าพรรคประชาธิปัตย์รับใช้อำมาตย์มายาวนานจนมองไม่เห็นว่า มีคนอื่นๆ ที่คิดต่างไปจากตน

นอกจากนี้ การเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวและเคยทำงานในแวดวงสื่อมวลชน รวมถึงการเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ช่วยให้มัลลิกามีความเข้าใจกลไกของเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ผู้ประกาศข่าวจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการเปิดกว้างทางด้านการสื่อสาร นักการเมืองจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการเปิดกว้างทางการเมือง สังคมจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการเปิดกว้างทางประชาธิปไตย แต่สิ่งที่มัลลิกาเสนอนั้น เป็นการตัดมือตัดเท้าของคนในหลายๆ อาชีพ รวมถึงในอาชีพใหม่ของมัลลิกาในฐานะนักการเมือง (จอมปลอม) ถ้าเกลียดเฟสบุกนัก ทำไมจึงใช้ประโยชน์จากมันในการรณรงค์เรื่อง Fight Bad Web (ถ้าจะมีเว็ปไซต์ที่ bad ก็คงเป็นเว็ปไซต์ของมัลลิกานี่เองแหละ) นี่แสดงให้เห็นความไม่มีวุฒิภาวะที่เสมอต้นเสมอปลาย

ท้ายที่สุด มัลลิกาชี้ให้เห็นถึงการเป็นนักการเมืองที่ขาด integrity (ไปแปลเอาเอง) ก่อนหน้านี้ มัลลิกาได้ออกมาตำหนินายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่าร้องไห้ไร้สาระ ทำให้ความขาดน่าเชื่อถือในกลุ่มสตรี และตนในฐานะเป็นสตรีที่ปกป้องความเป็นสตรีจะอยู่เฉยไม่ได้ แต่เมื่อครั้งนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ออกมากล่าวพาดพิงถึงสาวเหนือว่าทำได้ดีอย่างเดียวคือการเป็นโสเภณี น.ส.มัลลิกา ไม่ได้โผล่หัวออกมาปกป้องเกียรติภูมิความเป็นสตรี (ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นคนพะเยา) ผมจึงขอส่งท้ายตรงนี้ว่า ผู้หญิงอย่างมัลลิกานี่แหละที่ทำให้ไทยเสียชื่อเสียง ไม่ใช่เรื่องน้ำตาหรือความโง่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะการขาดความสำนึกของความเป็นนักการเมืองที่ดี และความสำนึกในการปกป้องสถาบันประชาธิปไตย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

@PravitR: ทวีตนี้แด่ มัลลิกา บุญมีตระกูล

Posted: 27 Nov 2011 09:18 PM PST

หลังจากคุณมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงเจตจำนงเสนอรัฐบาลให้พยายามจัดการกับ “เพจหมิ่น” โดยใช้มาตรการขั้นสุดท้าย หากวิธีการอื่นไม่ได้ผล ด้วยการปิดเฟซบุ๊ก และยูทูบ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจในการทวีตเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง และการเซ็นเซอร์ในสังคมไทย จากเธอโดยตรง ทั้งที่ผมไม่เคยรู้จัก หรือดูรายการที่เธอเคยเป็นพิธีกรมาก่อน ต้องขอบคุณคุณมัลลิกามา ณ ที่นี้

1. ตื่นเถิดชาวไทยอย่ามัวให้เขาปิดหูปิดตา

2. ไหนบอกเรารักกัน แต่ทำไมต้องมาเซ็นเซอร์กัน?

3. Censorship อย่างยั่งยืน = ปิดประเทศแม่งเลย!

4. คุณมัลลิกาอยากเอากะลาครอบสังคมไทย?

5. คนที่ชอบเลี้ยงกบในกะลามักชอบปิดหูปิดตาประชาชน

6. ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการปิดหูปิดตาประชาชนและบอกว่ามันดีต่อประชาชน!

7. พวกเขาอยากบอนไซเรา ให้เราเป็นสัตว์เซื่องๆพิกลพิการ

8. คุณปิดตาเขา เท่ากับคุณปิดใจตัวคุณเอง

9. นี่ถ้าผมไปปิดหูปิดตาคุณมัลลิกา เธออาจชอบมากก็ได้!

10. มุขตลก! หัวหน้า: นี่คุณมัลลิกาแย่งซีนเอาไอเดียคนส่วนใหญ่ในพรรคเพื่อเอาหน้าคนเดียวได้ไงกัน?

11. คนไทยควรรีบเอ็นจอย FB & You Tube ก่อนอาจไม่มีโอกาสได้เล่นอีกตลอดชีวิต

12. ผมพวกบอกพวกเขาหลายครั้งแล้วว่ายิ่งปิดคนก็ยิ่งสงสัย แต่พวกเขาไม่ฟัง

13. ปิดสิๆๆๆๆ แล้วจะดูซิว่าจะอยู่กันยังไง

14. หากปิด FB + You Tube แล้วยังไม่ได้ผล คุณมัลลิกาควรพิจารณาเลิกใช้ไฟฟ้าและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดด้วยนะครับ

15. ใครจะตาสว่างก็ตาสว่างไป ข้าขอคลั่งของข้าต่อ

16. เกิดมาชาตินี้ไม่เคยนึกว่าจะต้องถูกปิดหูปิดตาขนาดนี้

17. มัลลิกาเสนอปิด FB + You Tube = โยนหินถามทางเผื่อคนไทยบ้าจี้?

18. ให้ข้อมูลด้านเดียวซ้ำๆซากๆ ไม่กลัวคนเขาเบื่อหรือสงสัยบ้างหรือครับ?

19. สังคมปิดไม่มีขาย หากอยากได้ต้องช่วยกันสนับสนุน'มาตรการ'คุณมัลลิกา! #ปิดประเทศ

20. สังคมไทยชอบข้อมูลด้านเดียวหรือถูกทำให้ไม่มีทางเลือก?

21. เชื่อกว่าคนเล่น FB เกินล้านอยาก unfriend คุณมัลลิกา

22. ข้อสงสัย: คุณมัลลิกาๆ คุณรับเงินทักษิณมาทำให้คนเขาขำกับพรรคปชป.หรือเปล่า? :-) #ปิดประเทศ

23. หลักการอยู่อย่างมีความสุขในสังคมปิด: จงเชื่อๆๆๆ เชื่อคุณมัลลิกา #ปิดประเทศ

24. การปิด FB & You Tube เป็นการบอนไซพัฒนาการทางสมองของคนไทย

25. มนุษย์ก็มีทั้งคนรักคนชัง แต่ถ้าคุณโยนคนชังเข้าคุก มันก็จะมีคนชังเพิ่มมากขึ้น

26. คุณมัลลิกาเธอคิดยังไงของเธอจึงอยากปิดหูปิดตาคนทั้งประเทศ?

27. เงียบซะ! ถ้าไม่เงียบก็จะปิด internet ปิดประเทศเสียเลย!

28. ปิด FB + You Tube = 'กระชับพื้นที่' สมองประชาชน

29. ไม่มีใครมีสิทธิปิดหูปิดตาคนทั้งแผ่นดิน

30. ช่วง 'ยุคทอง' ของสังคมไทย มีคนเสนอให้ปิดประเทศ

31. คุณมัลลิกาจบโทจากเกาหลีเหนือหรือเปล่าครับ? เห็นความคิดความอ่านย้อนยุค (retro) เหลือเกิน ตอนนี้แฟชั่น retro กำลังฮิตอยู่ด้วย in trend น่าดู

32. คุณมัลลิกาอยากปิดทุกอย่างเพื่อตาเรา - ตาเราจะได้ไม่มีวันสว่าง

33. คำเตือน: การยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวอย่างไม่พอเพียงอาจทำให้เกิดอาการดื้อข้อมูลได้

34. พม่าทึ่ง เกาหลีเหนืออึ้ง กับ 'ปัญญา' คุณมัลลิกา

35. ประชาชนผู้โหยหาข้อมูลอันแตกต่างแห่กันมาเข้า FB ดู You Tube & เล่น Twitter เต็มไปหมด

36. อย่าไปตำหนิคุณมัลลิกาเลย เธอเพียงอยากให้คนไทย 'ว่านอนสอนง่าย' แค่นั้นแหละ #ปิดประเทศ

ปล. หลังจากชั่วโมงกว่าผมก็ทวีตถึงคุณมัลลิกาว่า "ผม tweet cc @MallikaBoon เป็นชั่วโมง เธอกลับไม่เห็นตอบ สงสัยเธอเชื่อว่า twitter เป็นพื้นที่ monologue สำหรับยัดเยียดข้อมูลด้านเดียว"

ปล.2 เมื่อเวลาประมาณ 08.00น. คุณมัลลิกาทวีตว่า "วันนี้ต้องติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างใกล้ชิด! ไม่มีเวลาตอบโต้กลุ่มหางแดงที่ตัดต่อประเด็นเรื่องยูทุปเฟสบุคของมัลลิกาไปปลุกกระแส!"

ปล.3 อีกเหตุการณ์ที่สะเทือนใจทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาทวีตก็คือกรณีอากง ซึ่งอ่านได้ที่ @PravitR: ทวีตนี้แด่อากง SMS

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เข้าใจคลาดเคลื่อน ยังไม่ตัดสินคดีโจ กอร์ดอน - แค่เบิกตัวพบ พนง.คุมประพฤติสอบเพิ่ม

Posted: 27 Nov 2011 08:02 PM PST

 

(28 พ.ย.54) ที่ศาลอาญา รัชดา - ตามที่มีการแจ้งจากทนายความของโจ กอร์ดอน หรือเลอพงษ์ (สงวนนามสกุล) ว่าจะมีการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีโจ กอร์ดอน วันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าไม่มีการตัดสินในวันนี้ โดยการเบิกตัวนายโจ กอร์ดอน เป็นการเรียกพบพนักงานคุมประพฤติ สืบเนื่องจากศาลสั่งสืบเสาะเพิ่ม โดยวันนัดฟังคำตัดสินนั้นยังคงเป็นวันที่ 8 ธ.ค.54 ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐฯ เดินทางมาเพื่อรับฟังคำตัดสิน รวมถึงเข้าเยี่ยมนายโจ กอร์ดอนด้วย

อนึ่ง เมื่อสอบถามญาติซึ่งเป็นผู้แจ้งข่าวทนายกล่าวว่า เธอได้รับแจ้งเพียงว่าโจต้องมาศาลในวันนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

PRACHATAI ASEAN WEEKLY: ซีเกมส์ ปาเกียว และอาเซียน ซัมมิท

Posted: 27 Nov 2011 07:25 PM PST

หลังจากห่างหายไปร่วมเดือนเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม PRACHATAI ASEAN WEEKLY กลับมาเป็นประจำทุกสัปดาห์อีกครั้ง กับข่าวสารและเรื่องราวจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษา อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. และภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง สัปดาห์นี้หยิบยกสารพันเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่เพิ่งปิดฉากไปมาพูดคุยในแง่มุมต่างๆ และเรื่องราวหมัดๆ มวยๆ ของแชมป์มวยโลกชาวฟิลิปปินส์ผู้โด่งดัง แมนนี่ ปาเกียว ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักมวยรุ่นน้องก้าวสู่ระดับโลก ปิดท้ายด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียน ซัมมิท ที่อินโดนีเซีย และการกลับมาที่น่าจับตามองของอเมริกาต่อภูมิภาคอาเซียน

PRACHATAI ASEAN WEEKLY: ซีเกมส์ ปาเกียว และอาเซียน ซัมมิท

ดำเนินรายการโดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง และ อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

PRACHATAI ASEAN WEEKLY: ซีเกมส์ ปาเกียว และอาเซียน ซัมมิท

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น