โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอ็กซ์ เจแปนบรรเลงเพลงของนายผี

Posted: 09 Nov 2011 01:27 PM PST

ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยของวงดนตรี "เอ็กซ์ เจแปน" จากญี่ปุ่นเมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย. มีการบรรเลงเพลง "เดือนเพ็ญ" หรือ "คิดถึงบ้าน" ซึ่งแต่งเนื้อร้องและทำนองโดยอัศนี พลจันทร เจ้าของนามปากกา "นายผี"

ในคอนเสิร์ต "โออิชิ ชาคูลล์ซ่า พรีเซนท์ เอ็กซ์ เจแปน 2011 เวิลด์ ทัวร์ อิน แบ็งคอค" ซึ่งจัดที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานีเมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น มีรายงานว่า ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตโยะชิกิ ฮะยะชิ มือกลองและหัวหน้าวงเอ็กซ์ เจแปน ได้บรรเลงเปียโนทำนองเพลงเดือนเพ็ญ หรือเพลงคิดถึงบ้านด้วย

สำหรับเพลงดังกล่าวแต่งเนื้อร้องและทำนองโดยนายอัศนี พลจันทร หรือ "นายผี" หรือ "สหายไฟ" นักเขียนผู้มีชื่อเสียง และอดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยอัศนี เสียชีวิตในวันที่ 28 พ.ย. 2530 ที่แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อัศนี แต่งเพลงดังกล่าว เพราะความรู้สึกคิดถึงการที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเป็นเวลานาน ต่อมาสุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวานเป็นคนนำเพลง "คิดถึงบ้าน" มาบันทึกเสียงครั้งแรกในนามวงคาราวาน ในอัลบั้ม "บ้านนาสะเทือน" เมื่อปี 2526 ต่อมาในปี 2528 ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ได้นำมาบันทึกเสียงอีกครั้งในอัลบั้มชุด "กัมพูชา" และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น "เดือนเพ็ญ" พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องจากเดิม

หลังจากนั้นมีผู้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในอัลบั้มปกติ และการแสดงสด อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, คนด่านเกวียน, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คีตาญชลี, นรีกระจ่าง คันธมาศ, สายัณห์ สัญญา, สุนารี ราชสีมา, ยอดรัก สลักใจ, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, โจ้ วงพอส และล่าสุดคือ โยะชิกิ ฮะยะชิ วงเอ็กซ์ เจแปน ฯลฯ

ทั้งนี้ เอ็กซ์ เจแปน ถือเป็นกลุ่มศิลปินร็อคระดับตำนานที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ด้วยยอดขายอัลบั้มเพลงกว่า 30 ล้านก็อปปื้  โดยเอ็กซ์ เจแปน ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในปี 2551 หลังเคยประกาศยุบวงในปี 2540

ในเว็บไซต์บีอีซีเทโร ได้รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 พ.ย. วงเอ็กซ์ เจแปน ได้ร่วมกับทางผู้จัดบีอีซี-เทโร ในนาม บีอีซี-เทโร แคร์ มอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านทางบัญชีครอบครัวข่าว 3 เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท  โดยโยะชิกิ ฮะยะชิ มือกลองและหัวหน้าวง ได้เดินทางไปมอบด้วยตัวเอง ณ อาคารมาลีนนท์ ทันทีที่เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน นอกจากนี้ยังมอบหนังกลองพร้อมลายเซ็น และไม้กลองเพื่อนำไปประมูล และนำรายได้จากการประมูลทั้งหมดบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกทาง หนึ่งด้วย โดยแฟนเพลงที่สนใจประมูลสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.bectero.com

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และโก๊ะตี๋ อารามบอย พิธีกรในรายการ ได้กล่าวขอโทษผู้ชมแทนพรชิตา ณ สงขลา ที่ใช้คำพูดไม่เหมาะสมต่อโยะชิกิ ฮะยะชิ ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้เมื่อ 8 พ.ย. และสรยุทธยืนยันว่าเบนซ์ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นโยชิกิแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตรรกะสลิ่มกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

Posted: 09 Nov 2011 12:37 PM PST

ขอนำประเด็นที่โพสต์ที่เฟสบุ๊ควันนี้มารวบรวม ร้อยเรียงใหม่ เพื่อการทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ เรื่องความสับสนเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย

ก่อนอื่นมีน้องที่น่ารักคนหนึ่งเตือนความจำว่า วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2490) เมื่อ 64 ปีที่แล้ว ทหารและรอยัลลิสต์ ออกหน้าโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้ร่วมกันทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลคณะราษฎร และนำสู่การสิ้นสุดของประชาธิปไตยโดยประชาชน หลังจากที่ได้พยายามประคับประคองมาได้ 15 ปี นับตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นจุดเริ่มต้นของการเมือง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในวิถีสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

การก่อเกิดพรรคประชาธิปัตย์เพื่อปกป้องชนชั้นสูง

ในปี 2489 เช่นกัน ม.ร.ว. เสนีย์? ปราโมช และควง อภัยวงศ์ ด้วยการสนับสนุนจากชนชั้นสูง ได้ร่วมตัวกันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา มีผลงานประจักษ์เด่นชัดว่าเป็นพรรค (พวก) "ของชนชั้นสูง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นสูง" และได้เล่นเกมการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาในมาด "ผู้ดีรัตนโกสินทร์" ผนวกกับด้วยยุทธศาสตร์ "ปากว่า ตาขยิบ" หมายความว่า ในขณะที่ปากบอกว่า “เราจะเล่นตามกติกา” แต่ “ตา” ก็ “ขยิบ” ให้พลพรรค (พวก) สาดโคลนขั้วตรงข้ามอย่างรุนแรง ในทุกรูปแบบที่ทำได้

กรณีตัวอย่างที่เป็นที่รับรู้กันอย่างดี คือ การปรักปรำ ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ แกนนำแห่งคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงคำนิยามประเทศไทยจาก "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" มาเป็น "ประชาธิปไตย" ได้สำเร็จในปี 2475 (ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าปรีดี เป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยเมืองไทยก็ว่าได้) ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และยังมีการสร้างจิตวิทยามวลชนเพื่อกดดันท่านปรีดี ด้วยการส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า "ปรีดีฆ่าในหลวงอานันท์" จนปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้กลับเมืองไทยจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2526 (โดยไม่มีงานพระราชทานเพลิงศพ) เป็นต้น

ด้วยเป็นพรรคเดียวในประเทศไทย ที่อยู่รอดการถูกล้มมาได้จนถึงปัจจุบัน ประชาธิปัตย์จึงมีวิทยายุทธ์ทางเกมการเมืองที่กล้าแกร่ง และมีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างยากที่จะหาพรรคการเมืองใดในประเทศไทยเทียบเทียมได้ และด้วยการมีสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจเก่ามาอย่างยาวนาน พรรคประชาธิปัตย์จึงโดดเด่นในเรื่องการ “เล่นเป็นทีม” มากกว่า พรรคการเมืองรุ่นหลังที่มักมีตัวชูโรงส่วนใหญ่เป็น “หัวหน้าพรรค” เท่านั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์และค่ายชนชั้นสูงที่ไม่ต้องทำงานหนักมากนักมาโดยตลอด ต้องหวั่นไหวจากการการก่อตัวของพรรคไทยรักไทยในปี 2540 ที่แม้จะสูญเสียผู้นำไปหลายรุ่น (จากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองและคดีความต่างๆ) รวมทั้งถูกกยุบพรรคถึง 2 ครั้งจนต้องตั้งพรรคสำรองไว้ทั่วราชอาญาจักรเพื่อเตรียมตัวยามถูกยุบพรรค จะได้มีพรรคเสียบได้ทันท่วงที และปัจจุบันยังดำรงอยู่ในชื่อ "พรรคเพื่อไทย" และยังสามารถเอาชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้อีกสมัย และทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล

กระนั้นด้วยความแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องด้วยการมีสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจเก่าอย่างแนบแน่น และเชี่ยวชาญยุทธการ "หลังม่าน" หรือ “การล็อบบี้ทั้งในและนอกรัฐสภา” ตลอดจนสามารถรวบรวมชนชั้นสูงที่จบจากเมืองนอก ทั้งจากฮาร์วาร์ดและอ๊อกฟอร์ด เข้ามาอยู่ในพรรคจำนวนมาก ภาษาอังกฤษจึงไม่ผิดเพี้ยน เพราะพริ้ง งดงาม นุ่มนวล ทำเอาสาวสลิ่มพากันเคลิบเคลิ้ม คลั่งไคล้ กันอย่างหนัก

การสร้างภาพที่สำเร็จงดงามกับชาวฟ้า ชาวกรุงว่า นักการเมืองผู้ดีที่มาจากชนชั้นสูง คือกลุ่มคน (กลุ่มเดียว) ที่มีศักยภาพและคุณสมบัติแห่ง “การเป็นนักการเมืองที่ดี” พร้อมทั้งอัดฉีดแคมเปญต่างๆ เพื่อดำรงคุณค่าและสถานะแห่ง "ผู้ดี" และตอกย้ำคนชั้นล่างถึงความเป็น "ไพร่" ว่า “อย่าสะเออะเสนอหน้า” ไว้ได้อย่างมั่นคง ไปกับวาทะกรรม "คนไม่เท่ากัน" และ "ผู้ดี=คนดี" "คนชนบท=คนโง่" กันอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ

แต่เนื่องจาก “ความจนไม่เข้าใครออกใคร” แม้จะเจียมเนื้อเจียมตัว แต่เมื่อถูกกดขี่บีทาอย่างไม่เว้นวาย คนจนก็ลุกขึ้นตั้งคำถามและมีปฏิกิริยาตอบโต้บ้างว่า “การเมืองตัวแทน” ไม่จำเป็นต้องเป็น “การเมืองคนดี” แต่ เป็นการเมืองระบบรัฐสภาตัวแทน ที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ โดยประชาชนจะทำหน้าที่ควบคุมตัวแทนของเขาเอง. . จนตอกหน้าพรรคอำมาตย์จนหน้าหงายแพ้การเลือกตั้งมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยการเลือกตั้งปี 2544

หน้าสิ่วหน้าขวาน

หลังจากที่ขั้วอำนาจเก่าหรือขั้วอำมาตย์พ่ายแพ้มาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในสนามเลือกตั้ง ทั้งไม่สามารถคุม? “ไพร่” ไว้ใน “กะลาครอบ” ได้อีกต่อไป ด้วยคำสาปให้คนหมอบคลาน และมอบกราบอยู่ใต้ตีนอำมาตย์นั้น ได้ถูกทำลายลงไปด้วยโกเต๊กเปื้อนเลือดของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ประกาศบนเวทีพันธมิตรฯกระจายสัญญาณผ่านสถานี ASTV ของตนเมื่อ 29 ตุลาคม 2551 (http://thaienews.blogspot.com/2008/10/blog-post_31.html) ว่า "ได้ทำพิธีบางอย่างกับพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ด้วยการนำผ้าอนามัยหญิงที่ใช้แล้วจำนวน 6 ชิ้นไปวางไว้ที่บริเวณดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องการป้องกันภูตผีตามความเชื่อของตน"

ราชอาณาจักรไทย ณ ยามนี้จึงอยู่ในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างน่ากลัว เพราะแม้รอยัลลิสต์หัวรุนแรง ที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล จะยึดถนนราชดำเนิน ยึดทำเนียบ ทำร้ายตำรวจ จนคนพันธมิตรที่ปะทะกับตำรวจจนเสียชีวิต (,,,) หรือแม้แต่ฮึกเหิมถึงขั้นยึดสนามบินนานาชาติ ก็ไม่มีใครในหมู่แกนนำพันธมิตรถูกจับกุมหรือคุมขัง

ต้องขอบคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำให้ “ราษฎรตื่นอีกครั้ง” จากการประจักษ์แจ้งอย่างมโหฬารกับคำว่า “สองหรือสามมาตรฐาน” จนเกิดเหตุการณ์ “ตาสว่างโร่ทั้งแผ่นดิน” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย!

สงครามน้ำลายฟูมปาก ‘สลิ่ม’

ผ่านไป 5 ปี เมื่อเสื้อเหลืองหมดมนต์ขลัง จึงต้องกลายร่างเป็นเสื้อหลากสี แต่ก็ไร้น้ำยา และในยามนี้ต่างพากันมาสิงสถิตอยู่ในโลกเฟสบุ๊ค พร้อมกับอัดฉีดความเป็น “สลิ่ม” ไว้ โจมตีค่ายเพื่อไทยและคนเสื้อแดงอย่างไม่ลดละ พร้อมกับตัวเลขผู้ใช้เฟสบุ๊คในเมืองไทยพุ่งทะยานในอัตราที่สูงเกือบที่สุดในโลกด้วยจำนวนทั้งสิ้นถึง 12,881,800 คน (ผู้ใช้) เพิ่มขึ้น 3,583,800 ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาก (ดู http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/thailand)

ยามนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นช่วงสุดท้ายของสงครามเย็นภายใต้ยุทธการ “สงครามน้ำลายชนชั้น” ผ่านทาง การวิวาทะกันอย่างดุเดือดด้วย "ภาษาพ่อขุนอุปถัมภ์" ในเฟสบุ๊คและอินเตอร์เน็ต เป็นการปะทะแห่งค่าย "เหลือง-แดง" ที่กระทำที่กันอย่าง "ดุดัน" และ "รุนแรง" ขึ้นเรื่อยๆ "ไม่สนใจความถูกต้อง" "ใช้คำผลุสวาท ด่าพ่อล่อแม่ ด้วยภาษา "ควายแดง" กับ "ควายเหลือง" กันอย่างไม่มีใครยอมใคร

ข่าวรัฐประหาร ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งก็ยังคงดังกระหึ่ม ฮึ่ม ฮึ่ม!

เมื่อ "สงครามน้ำลายผู้ดี" ใช้ไม่ได้ผล ประเทศไทยก็ถูกถาโถมรับการกลับมาของรัฐบาลเพื่อไทย ค่ายทักษิณ ชินวัตร ด้วย "สงครามน้ำท่วมปาก" และเมื่อ “สงครามน้ำท่วมปาก” ดูท่าว่าจะไม่ได้ผล เพราะว่า “ไม่สามารถปิดปากประชาชนทั้งประเทศได้” สลิ่ม จึงต้องงัดไม้เด็ดที่น็อกไพร่มาตลอดมาใช้อีกครั้งหนึ่ง คือ "สงครามความรักและปกป้องสถาบันฯ"

เมืองไทยยามนี้ (และตลอด 6 ปีที่ผ่านมา) จึงอยู่ในสภาวะหล่อแหลม และหลายฝ่ายต่างวิตกกันว่า หลัง "สงครามน้ำ (ท่วมปาก)” คลี่คลาย "สงครามในนามแห่งความรักและปกป้องสถาบัน" จะมาแรงอีกระลอก (และจริงๆ แล้วมันได้เริ่มต้นแล้วอย่างบ้าคลั่งในเฟสบุ๊ค) เพื่อเปิดทางให้ “ทหารทำการรัฐประหาร (ตามความเชียวชาญประการเดียวที่ทหารเมืองไทยมี) “ในนามการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” กันอีกครั้ง

และ “สงครามความรักและปกป้องสถาบันฯ” จะสำเร็จเช่นที่ทำให้ "คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ทำรัฐประหาร "รถถังและดอกไม้" ได้สำเร็จเหมือนเช่นปี 2549 หรือไม่? . . และการขยายวงกว้างแห่งกระแส "ตาสว่าง" จะมากพอจนทำให้ประเทศไม่ถูกน็อกเป็นครั้งที่ 21 หรือ 22 ได้หรือไม่?

ณ ยามนี้ พรรคเพื่อไทยจึงเป็นรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะ "หน้าสิ่วหน้าขวาน" ที่กำลังใส่เสื้อชูชีพลอยคออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรอปาฏิหาริย์น้ำลด และสวดอ้อนวอนเทวดาว่าขออย่า "ถูกอุทกรัฐประหาร" ในท่ามกลาง "อภิมหาชลาศัย" ด้วยเทอญ

กระต่ายกับเต่า

ประเทศไทยถูกจัดอันดับตกลงมาเรื่อยๆ ในทุกการจัดอันดับในโลก . . .

ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่ลำดับ 73 ของดัชนีชี้วัดการพัฒนาของสหประชาชาติเมื่อปี 2548 แต่ในการจัดลำดับประจำปี 2554 เราตกร่วงลงมาอยู่ที่ลำดับที่ 92 . . .

ในรายงานปี 2554 ขององค์กรเสรีภาพแห่งโลก (Freedom House) จัดประเทศไทยในกลุ่ม "ไม่มีเสรีภาพทางสื่อ (2553)" และ "ไม่มีเสรีภาพทางเนต (2554)" ด้วยสาเหตุการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง

ยิ่งกว่านี้ ในสภาวะการบริหารงบประมาณแผ่นดินที่ขาดดุลและต้องกู้เงินปีละ ประมาณ 300-400,000 ล้านบาทมาต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2552 จนปัจจุบันนี้ ถ้าคำนวณกันคร่าวๆ ก็คงตกราวๆ 1.5 ล้านล้านบาท (ร่วมสามเท่า จากการกู้เงินไอเอมเอฟ 14,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงวิกฤติฟองสบู่แตกในปี 2540 . . หวังว่าผู้เขียนจะคำนวณผิด เพราะไม่อยากเห็นยอดเงินกู้ของประเทศสูงท่วมภูเขาทองเช่นนี้!) 

เราเสียเวลากันมานานมากเกินพอแล้ว จะต้องรอกันอีกกี่สิบหรือกี่ร้อยปี และจริงๆ แล้วเราไม่มีเวลาที่จะเสียอีกแล้ว เพราะเพื่อนบ้านทั้งหลายในกลุ่ม ASEAN ที่พี่ไทยคิดว่าเป็นเต่าต้วมเตี้ยม ที่เราเคยภาคภูมิใจเราแซงหน้าและเราจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย เพียงไม่กี่ปีให้หลัง เต่ายักษ์อาเซียนต่างทยอยพากันเดินต้วมเตี้ยมเลยหน้า "พี่ไทยกระต่าย" ที่มั่วแต่หลงระเริงและนอนหลับอยู่ข้างทาง แม้ขณะนี้เพื่อนบ้านที่พี่ไทยเคยดูถูกดูแคลนนักหนาเช่นพม่า ลาว เวียดนาม เขมร ต่างก็คืบคลานตามมาอย่างกระชั้นชิด จนอาจจะแซงหน้าพี่ไทยไปในไม่ช้า ถ้า "กระต่าย" ยังชะล่าใจและนอนเล่นด้วยความเชื่อมั่นว่า "พรสวรรค์" นั้นดีกว่า "พรแสวง" เพียรเฝ้าสวดสรรเสริญเพื่อขอพร "เทวดา" ไม่นาน "ฟ้าก็จะมาโปรด" อยู่เช่นนี้

อนาคตของไทยขึ้นอยู่กับ "คนตาสว่าง" และ "คนรักประชาธิปไตย"

ในสถานการณ์ยามนี้ “คนตาสว่าง” และ “คนที่มีเหตุผล” โดยเฉพาะ "ไพร่" หรือ "คนรักประชาธิปไตย" คืออนาคตของชาติ ที่ต้องลุกมาใช้เหตุผลถกเถียงกันอย่างกว้างขวางกับวาทะกรรมการเมืองชนชั้น โดยเฉพาะการให้นิยาม สร้างค่านิยมกันใหม่ กับคำว่า . . .

* "อำมาตย์ - ไพร่" หรือ “ไพร่ - อำมาตย์”

* "ผู้ดี = คนดี" “คนดี = คนไม่โกงกิน”

* นักการเมืองดี = นักการเมืองที่คนกรุงเทพเลือก

* นักการเมืองดี (ผู้ดี) = ลูกอำมาตย์ จบเมืองนอก ยิ่งจบอ๊อกฟอร์ดหรือฮาร์วาร์ด ก็ยิ่งถือว่าเป็นเกรดเอ

* นักการเมืองจบมหาลัยเมืองไทย = กระจอก = พวกซื้อใบปริญญา = โกงกิน

* นักการเมืองโกงกิน = นักการเมืองที่ชาวบ้าน (คนบ้านนอก) เลือก

* ชาวบ้าน = เลือกนักการเมืองโกงกิน = โง่

* ประเทศไทยจำต้องปกครองด้วย "คนดี" ไม่ใช่ ผู้แทนที่เลือกโดย "คนโง่"

* ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า "คนชนบทโง่กว่าคนเมืองเทวดา"

* ฯลฯ

 

ตัวอย่างการให้ค่า ตีค่า และคำจำกัดความภาพการเมืองไทย ดังที่ยกมาข้างบนนี้ แสดงให้เห็น (ในระดับหนึ่ง) ถึงค่านิยมและวาทกรรมทางภาษาที่ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า "คนไม่เท่ากัน"

ถึงเวลาที่คนไทยจะต้อง "เปิดกะลา" ที่ครอบไว้ซึ่งความภาคภูมิใจใน "ไทยแท้ ที่ไม่เหมือนใครในโลก" แบบผิดๆ และพิจารณาความเป็นจริงในไทยและในโลกอย่างตรงไปตรงมา

คนไทยและประเทศไทยยังต้องมีภารกิจอีกมาก ที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อ เนื่อง ทั้งจากการเมือง เศรษฐกิจ และธรรมชาติ

และที่สำคัญต้องเร่งสร้างจิตสำนึกแห่งมนุษยชาติของคนในประเทศที่เคารพ ความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกันในศักดิ์และศรีตามคำประกาศแห่งปฏิญญาสากลที่ไทยร่วมและให้ สัตยาบันนับตั้งแต่ปี 2491 ซึ่งเป็นพันธะกิจที่รัฐบาลไทยไม่เคยกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมหรือพยายาม สร้างให้เป็นจริง . . เพราะ "คำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล" นั้นหนักแน่นใน "มนุษย์ทั้งหลาย ทั้งหลายเกิดมามีอิสรเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง" ซึ่งมันจะไปคานกับจิตวิทยา "คนไม่เท่ากัน" ที่ค่ายอำมาตย์อัดฉีดกันทุกช่องทาง

เมืองไทยจำเป็นต้องถกเถียงและหักล้างตรรกะสลิ่ม ด้วยเหตุผล พร้อมกับต้องมีการสังเคราะห์ และวิเคราะห์นิยามคำและภาษาของคนเมืองเทพฯ รวมทั้งต้องมีการตีค่า ให้ค่า หรือประเมินค่า คำเหล่านี้กันใหม่ เพื่อให้คนหยิบมือที่เป็นอภิสิทธิชนมาอย่างยาวนานต้อง "ยอมจำนน" หรือ "ยอมรับ" การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และปรับตัวให้ทันสมัย สอดคล้องกับอารยะประเทศในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เคารพว่า "คนเท่ากัน" และ "เสรีภาพนั้นเท่าเทียมกันทุกคน"

อนาคตแห่งสันติภาพและเสถียรภาพของประเทศไทยยามนี้ จึงขึ้นอยู่จิตสำนึกกับความเสียสละอย่างใหญ่หลวงของอภิสิทธิชนและทหารเป็นประการสำคัญ

ตราบใดที่ สถาบันทหารยังประกาศจุดยืนว่าเป็น “ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” กันอยู่เช่นนี้ สันติภาพก็ยังอยู่ที่ปลายกระบอกปืน และประชาธิปไตยในเมืองไทยก็ยังไม่สามารถก่อเกิด

ก็จนกระทั่งเมื่อทหารยอมรับว่าเป็น “ทหารของประชาชน” “เพื่อประชาชน” เท่านั้นล่ะ ที่เมืองไทยจะรู้จักกับคำว่า “สันติภาพ" และ "เสถียรภาพ" ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกันได้เสียที!

สุดท้ายนี้ ขอวาดภาพประชาธิปไตยในความน่าจะเป็นเพื่อเป็นความหวังให้กับคนไทยกันไปก่อน เราอยู่ในความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยประชาชนมาร่วม 100 ปีแล้ว จะต้องรออีกร้อยปีก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะพี่คนไทย (ที่ไม่ใช่ไทยแท้) ได้ชื่อว่า "โคตรทรหดและอดทน" ใช่ไหม ชิมิ ชิมิ!

ความหมาย: สลิ่ม

บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน

มาจากบุคคลที่อ้างว่าเกลียดเสื้อแดง แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นเหลืองพันธมิตร บุคคลเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันมักสวมเสื้อหลากสีสัน แลดูเหมือนของหวานประเภทหนึ่ง

 

ที่มา: ศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม(ปาก)#2: อภิชาต สถิตนิรามัย - น้ำท่วมในภาวะที่กลไกรัฐแยกย่อยและสังคมไม่ไว้ใจกัน

Posted: 09 Nov 2011 12:24 PM PST

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ มีการการเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยหลังจากที่ มนตรี จันทวงศ์ อภิปรายเรื่องนโยบายการจัดการน้ำของประเทศไทยไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมา อภิชาต สถิตนิรามัย ได้อภิปรายต่อในเรื่องหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำในประเทศที่มีถึง 15 หน่วยงานใน 9 กระทรวง แต่มีอำนาจหน้าที่อย่างกระจัดกระจาย (Fragmented) และเรื่องการขาดความไว้วางใจทางสังคม (Social trust) ในสังคมไทย ซึ่งทั้งสองสิ่งมีผลต่อการจัดการน้ำท่วม โดยรายละเอียดการอภิปรายของอภิชาต มีดังนี้ (หมายเหตุคำในวงเล็บ เป็นการเรียบเรียงโดยประชาไท)

การอภิปรายโดยอภิชาต สถิตนิรามัย ในงานเสวนา "อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ" ตอน "น้ำท่วม(ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ" เมื่อ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ Book: Re:public

 

อภิชาต สถิตนิรามัย

“เราไม่เคยมีระบบชดเชยที่เป็นธรรมและไว้วางใจได้ และมีก่อนน้ำจะท่วม ไม่ใช้เพิ่งมาพูดหลังน้ำท่วม กติกาไม่ใช่มาตั้งเมื่อเล่นเกมแล้ว ไม่ใช่ตั้งเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ อย่างไรมันต้องมีกติกาก่อนว่า โอเค ถ้าจะเอาบ้านฉันเป็นแก้มลิง ปีหนึ่งจะจ่ายฉันเท่าไหร่ เคยมีการพูดแบบนี้ไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้าผมเป็นชาวบ้านที่ต้องเป็นแก้มลิง ผมก็คงไปพังคัน พังกระสอบทรายนี้ทิ้งเหมือนกัน ผมจะเชื่อได้อย่างไรว่าหลังน้ำท่วมคุณจะชดเชยผม เยียวยาผม คุ้มกับความเสียหายที่ผมได้รับ ในขณะที่บ้านคุณน้ำแห้ง”

 

 000

เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ผมลองไปจิ้มๆ ดูว่ามีกี่กระทรวง กี่หน่วยงาน ที่น่าจะเกี่ยวกับน้ำท่วมและการจัดการน้ำในภาวะวิกฤต นับไปนับมา มีตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง การประปา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี ภูมิอากาศ สารสนเทศ  องค์กรจัดการน้ำเสีย สำนักงานเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน นับไปนับมามีอยู่ 9 กระทรวง 15 หน่วยงาน

ในปี 2552 มี 8 หน่วยงานในหลายๆ กระทรวง เสนอโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเข้าไป 4,002 โครงการ เป็นเงินจำนวน 22,337ล้านบาท ไม่รวม อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทั่วประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการจัดการน้ำไม่ว่าเล็กไม่ว่าใหญ่

ประเด็นก็คือไม่ได้เป็นปัญหาว่าเราขาดการลงทุนในระบบการจัดการน้ำ ประเด็นปัญหาในทัศนะของผมคือ มันเป็นธรรมชาติหรือเปล่าของรัฐไทยในแง่ของภาพรวม คือการลงทุนดูเหมือนว่าการลงทุนในระบบน้ำ ซึ่งดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ มีการลงทุนจำนวนมากแค่ปีเดียว 20,000 ล้าน

ประเด็นปัญหาของผมคือว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม รัฐไทยมีธรรมอย่างหนึ่งก็คือ มันแบบฟังก์ชั่นหน้าที่กันตามหน่วยงานแคบๆ เฉพาะหน้า แต่ละกรมแต่ละกองมี Mission (ภาระหน้าที่) ของตัวเอง เช่น กรมชลประทานก็อาจจะดูเฉพาะเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อไปยังการเกษตร กฟผ. ก็ดูอย่างเดียว ก็คำนวณอย่างเดียวว่าจะผลิตไฟได้เท่าไหร่ให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด

หน่วยเฉพาะที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียมีไม่รู้กี่หน่วยงานที่อยู่คนละกระทรวงกัน ท่านลองนึกภาพอย่างนี้ สิ่งนี้ไม่ได้จริงเฉพาะการจัดการเรื่องน้ำเท่านั้น มันจริงเกี่ยวกับทุกเรื่องที่เป็นการจัดการของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมก็กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานในหลายกระทรวง กระทรวงกรเกษตรฯ ก็เหมือนกัน ในเรื่องของการจัดการพืชพันธุ์ต่างๆ พืชหนึ่งตัวก็ดูแลโดยกรมหลายกรม และอาจข้ามกระทรวงกันด้วย

เพราะฉะนั้น ฐานระบบกฎหมายและโครงสร้างอำนาจรัฐ ฐานของรัฐไทยในการใช้อำนาจและงบประมาณในการจัดการคือฐานกรม เพราะฉะนั้นแต่ละกรมก็จะมีกฎหมายเฉพาะของตัวเอง เพราะฉะนั้นคุณลองนึกภาพว่า 15 กรม 15 หน่วยงาน อยู่ใน 9 กระทรวง แต่ละกระทรวงก็จะมองปัญหาเฉพาะหน้าแคบๆ ของตัวเอง เกิดอะไรขึ้นระบบมันจึง Fragmented (กระจัดกระจาย) งานแต่ละกรมแต่ละกระทรวงก็จะแคบๆ บางอันก็ซ้ำซ้อน บางอันก็ทับซ้อน กระจัดกระจาย ไม่มีใคร Integrate (บูรณาการ) ภาพรวม

ดังนั้นจึงไม่สงสัยว่าเท่าไหร่ ว่าทำไม กฟผ. ถึงไม่ปล่อยน้ำตั้งแต่ต้น เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่งพยากรณ์มาแบบนี้ผมก็ทำตามนี้ ถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลักษณะโครงสร้างการบริหารแบบนี้ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหลายกระทรวง และทำงานไม่ประสานกัน มันไม่แปลกเลยที่ภาพแบบเมื่อกี้จะเกิดขึ้น (ดูการอภิปรายของมนตรี จันทวงศ์)

เพราะฉะนั้นในแง่นี้รัฐไทย ถ้าบอกว่า โอเค หน้าที่หลักของรัฐแบบตำราเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ก็ไม่ต้องยุ่งกับเศรษฐกิจนะเป็นเสรีนิยมแบบสุดขั้ว รัฐมีหน้าที่พื้นฐานเพียงแค่ Law and Order (การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย) คือปกป้องสินค้าสาธารณะทั้งหลายหรือความปลอดภัยในในแง่ชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการอุทกภัยก็เป็นสินค้าแบบหนึ่ง นั่นคือหน้าที่พื้นฐานของทุกรัฐ แม้กระทั่งรัฐแบบอดัมส์ สมิธ ก็ต้องการแค่นี้ ไม่ต้องพูดถึงรัฐแบบ Keynesian (เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์) หรือรัฐแบบไหนที่ต้องการความสามารถของรัฐที่สูงกว่านี้

ในแง่นี้ กรมผังเมืองฯ ใครเคยสร้างบ้านบ้างไหมครับ ใครเคยยื่นแบบสร้างบ้านของตัวเองให้กับสำนักงานเขตหรือที่ไหนก็ตามแต่ ผมถามเขาจริงๆ มีกี่คนที่ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องนับถึงหมู่บ้าน ที่บริษัทเพื่อนผมที่จ่ายทีละหลัง มีพันยูนิต หลังละเท่าไหร่ก็ว่าไป มันจึงไม่แปลกที่บางบัวทองจะมีหมู่บ้านเยอะขนาดนั้น ใช่ไหมครับ แล้วมันขวางทางน้ำ

ถามเถอะว่าบ้านไหมต่อเติมแล้วไม่มีปัญหา คือมีปัญหา แต่จัดการได้ ถ้าคุณมีตังค์พอ

พูดในแง่นี้แล้ว ถ้าพูดแบบเห็นใจรัฐบาลปัจจุบัน ก็คือผมค่อนข้างมีแนวโน้มจะเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็เจอปัญหาแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ รวมทั้งโดยเฉพาะเมื่อบวกกับระบบคิดที่อธิบายให้ฟังในเรื่องการเน้นความเป็นเทคโนแครต การไม่เห็นหัวชาวบ้านที่บอกว่าไม่ต้องมีส่วนร่วม ในแง่นี้ถ้าให้แต้มต่อ ผมไม่แปลกใจที่ถ้าเกิดมีสถานการณ์ที่พายุเข้ามา 4-5 ลูกในช่วงปลายฤดูฝน แล้วจะเกิดภาวะนี้เกิดขึ้นแล้วจัดการไม่ได้ ผมว่าไม่แปลกใจจากโครงสร้างของการแบ่งงานกันทำของภาครัฐไทยที่เป็นแบบนี้

ประเด็นต่อไปที่ผมจะพูดคือ ภาวะปัจจุบันที่เราเห็นข่าวคือมันทำให้ระบบเทคโนแครตพังเสียไปอีก คือข่าวการพังคันดินที่คลองสามวา ที่ปทุมธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการไม่ได้ก็ถูกปลดไป คือปัจจุบันเราอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Social dilemma (สภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก) หรือคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาจะคุ้นเคยกับคำว่า Zero-sum game (เกมศูนย์) นั่นคือภาวะที่คุณได้ผมเสีย ผมเสียคุณได้

Zero-sum game อีกแบบหนึ่งคือ Prisoner’s dilemma (ความลำบากใจของนักโทษ) คือคนแต่ละคนต่างคิดถึงผลประโยชน์สูงสุดของตนเอง และมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด แต่ผลรวมจากการที่ทุกคนคิดแบบนี้ ซึ่งทุกคน Rational ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ผลรวมที่ได้น้อยกว่าการที่ทุกคนหันมา Cooperate (ร่วมมือ) กัน

เกมอันนี้ รากฐานคือ Zero-sum game คุณได้ผมเสีย ผมเสียคุณได้ แต่ถ้าคุณร่วมมือกันได้ ผลประโยชน์รวมของสังคมสูงขึ้น เช่น ถ้าตกลงกันได้ว่า โอเค เขตบ้านผมยอมน้ำท่วม เขตบ้านคุณแห้ง หลังน้ำท่วมคุณจ่ายผมเท่าไหร่ ถูกไหมฮะ ไม่ต้องเฉลี่ยความทุกข์ให้เท่าๆ กันก็ได้ ด้วยตรรกะแบบนี้ ในแง่นี้ เขาก็สามารถคิดได้ว่าระดับภาพรวมจำเป็นต้องป้องกันเมือง ทำไมเมืองเชียงใหม่ต้องมี floodway (ทางน้ำ) อ้อม แล้วไปท่วมลำพูนเอง ทำไมกรุงเทพฯ ต้องถูกปกป้องตลอดเวลา เอ้า ในแง่ภาพรวมถูก คุณปล่อยให้กรุงเทพฯ ท่วมได้ไง อะไรตามมา นิคมอุตสาหกรรมคุณจะปล่อยให้ท่วมได้อย่างไร ผลเสียหายจากน้ำท่วมมีสูงมากหากเทียบการที่น้ำท่วมในไร่นา ในแง่นี้เทคโนแครตก็คิดแบบนี้เช่นเดียวกัน

ประเด็นปัญหาของเราก็คือว่า เราไม่เคยมีระบบชดเชยที่เป็นธรรมและไว้วางใจได้ และมีก่อนน้ำจะท่วม ไม่ใช้เพิ่งมาพูดหลังน้ำท่วม กติกาไม่ใช่มาตั้งเมื่อเล่นเกมแล้ว ไม่ใช่ตั้งเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ อย่างไรมันต้องมีกติกาก่อนว่า โอเค ถ้าจะเอาบ้านฉันเป็นแก้มลิง ปีหนึ่งจะจ่ายฉันเท่าไหร่ เคยมีการพูดแบบนี้ไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้าผมเป็นชาวบ้านที่ต้องเป็นแก้มลิง ผมก็คงไปพังคัน พังกระสอบทรายทิ้งเหมือนกัน ผมจะเชื่อได้อย่างไรว่าหลังน้ำท่วมคุณจะชดเชยผม เยียวยาผม คุ้มกับความเสียหายที่ผมได้รับ ในขณะที่บ้านคุณน้ำแห้ง

เพราะฉะนั้นโดยโครงสร้างเรื่องการบริหารที่มันกระจัดกระจาย เรื่อง Fragmented ที่ผมบอก สอง และในเมื่อมัน Fragmented ทำให้ Social Trust (ความไว้วางใจทางสังคม) ที่มันจะมีระหว่างกันมันไม่มี เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่มี Social Trust ระหว่างกันว่าคุณจะชดเชยผมอย่างไร จึงไม่แปลกที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด ถูกไหมครับ

ผมล่ะรำคาญโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาก ซึ่งนำภาพตอนญี่ปุ่นโดนสึนามิ แล้วบอกว่าคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอันดี รอคอยอดทน ทุกคนไม่แย่งเข้าคิวกัน แล้วก็ไปถ่ายภาพคนไทยแย่งแย่งซื้อน้ำมันพืช แล้วบอกว่านี่คือ "นิสัยคนไทย" นี่คือไทยพีบีเอสนะครับ

แล้วคุณไม่เคยไปถามคนญี่ปุ่น มันมีตัวอย่างอันหนึ่ง เขาไปสัมภาษณ์ยายกับหลานชาวญี่ปุ่นที่ติดอยู่ในบ้านสิบกว่าวัน แล้วอยู่ได้เพราะเผอิญอยู่ในห้องครัว มีตู้เย็น มีอาหารกิน ว่า ทำไมคุณไม่ Panic (วิตก) เขาบอกว่า เขาเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วความช่วยเหลือจะถึงมือเขา เพราะฉะนั้นเขาก็เข้าคิวสิครับ ยากูซ่าเมื่อตอนที่โกเบแผ่นดินเมื่อหลายปีก่อนยังออกมาตั้งคิวแจกของเลย

เพราะฉะนั้น Social trust ในระบบญี่ปุ่นมันสูงมาก เมื่อมี Social trust สูง คุณก็สามารถร่วมมือกันได้ คุณก็ไม่ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของตนฉันก่อน ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า คนญี่ปุ่นนิสัยดี มันไม่ได้อยู่ในยีนส์ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการสถาบันทางสังคม

คุณไม่มีกติกาที่จะชดเชยผมอย่างนี้เนี่ยนะ ทำไมผมต้องให้คุณก่อน ทำไมกรุงเทพฯ จะต้องไม่น้ำท่วม ซึ่งบ้านผมฝั่งตะวันตกตอนนี้ท่วมไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว

ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่สถาบัน กฎ กติกาของเมืองไทย ถูกทำลายไปจน ที่ผ่านมาก็ไม่มีอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อเกิดการแบ่งสีทางการเมือง ถ้าคุณเช็คในอินเทอร์เน็ต คุณจะเห็น Extreme (ความสุดขั้ว) ของทั้งสองฝ่ายที่จะสร้าง Conspiracy Theory (ทฤษฎีสมคบคิด) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย ก็สถานการณ์แบบนี้บวกกับการที่ Social Trust ที่จะร่วมมือกันที่มีอยู่น้อย เมื่อมี Extreme Politic (การเมืองสุดขั้ว) เข้ามา Social Trust มันก็ไม่เหลือ พูดในแง่นี้ มันจึงไม่สมเหตุสมผลที่เราจะเรียกร้องให้ทุกคนจับมือฝ่าภัย รวมใจไปด้วยกัน มันเป็นไปไม่ได้

ผมคิดว่า ประเด็นพื้นฐานมันอยู่แค่นี้ หนึ่งคุณจะจัดการอย่างไร คุณจะ Integrated กลไกรัฐ บูรณาการเป็น Area base (ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง) หรือ Problem base (ใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง) ไม่ใช่แบ่งกระทรวงตาม Functional (อำนาจหน้าที่) แต่แบ่งตาม Area Base หรือ Problem vase แล้ว Integrated ให้หน่วยงานนี้ให้มาจัดการในภาพรวม ซึ่งฐานรัฐไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วเมื่อบวกกับปัญหาทางการเมืองที่ในอดีตที่ผ่านมา ด้วยปัญหาหลายอย่างทำให้รัฐบาลไทยอายุสั้น มองเฉพาะปัญหาระยะสั้นเพราะมันอายุสั้น วางแผนระยะยาวไม่ได้

เพราะฉะนั้นโครงสร้างเป็นอย่างไรก็เป็นมาตั้งแต่ ร. 5 มันก็เป็นแบบนั้นน่ะ ฐาน functional การแบ่งงานกันทำของภาครัฐไทยมันเป็นแบบนี้ ไม่เคยถูกปรับใหญ่จริงๆ มาตั้งแต่ ร.5 แล้ว และสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ เมื่อคุณขาดกลไกการจัดการ ชาวบ้านก็ไม่เชื่อมั่นคุณ เมื่อชาวบ้านไม่เชื่อมั่นคุณ คุณจะไปด่าเขาได้อย่างไร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นำร่องจัดสรรคลื่น กสทช.ไม่ต่อสัญญา 9 สถานี FM-AM

Posted: 09 Nov 2011 11:44 AM PST

กสทช. มีมติระงับต่อสัญญาเช่าคลื่น 1 ปณ. เอกชน 9 คลื่น คลื่นดังกรีนเวฟโดนด้วย คาดระยะยาวทำคลื่นสาธารณประโยชน์ หากให้ธุรกิจประมูล ต้องล้างไพ่ใหม่ โปร่งใส สัญญายาว 7 ปี

 

(9 พ.ย.54) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @supinya หลังประชุมบอร์ด กสทช. โดยระบุว่า มีการแถลงข่าว 2 วาระหลัก คือ เรื่องการระงับการต่อสัญญาสถานีวิทยุ 1 ปณ.และเรื่องอนุมัติถุงยังชีพการสื่อสาร

ทั้งนี้ สถานี 1 ปณ. มีจำนวน 9 สถานี เป็น FM 5 คลื่น AM 4 คลื่น ได้แก่  1.กทม.FM.106.5 (กรีนเวฟ) 2.FM98.5 (กู๊ดเอฟเอ็ม) และหลักสี่ 3.AM 1035, 4.1089 kHz วิทยุ1ปณ. อุบลฯ 5.FM102 6.อุดรฯ FM99 7.AM1089 8.ภูเก็ต FM89 9.ลำปาง AM765KHz

สุภิญญา ระบุว่า กสทช.จำเป็นต้องมีมติระงับการต่อสัญญาสถานีวิทยุ 1 ปณ. ให้เป็นไปตามกฏหมาย นำร่องเป็นตัวอย่างกับหน่วยงานรัฐอื่นที่ถือครองคลื่นความถี่ฯอยู่ โดยการระงับการต่อสัญญา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 และระหว่างรอจัดสรรใหม่ตามกฎหมาย กสทช.มีมติให้บอร์ดเล็กไปพิจารณาแนวทางชั่วคราว

"กสทช.อยากให้หน่วยงานรัฐอื่นที่ครอบครองคลื่นความถี่ฯ มีแนวทางเดียวกันนี้ แต่ กสทช.จะต้องระบุในแผนแม่บทก่อนให้ทุกหน่วยทยอยคืนคลื่นความถี่ฯ ส่วนตัวคิดว่าในระยะยาว กสทช.จะจัดสรรคลื่น 1 ปณ.เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ถ้าให้เอกชนทำก็จะต้องจัดการประมูล เปิดให้ทุกรายได้แข่งขันอย่างเปิดเผย"

สุภิญญา ชี้แจงว่า เหตุผลที่ต้องระงับสถานี 1 ปณ.ก่อนก็เพราะเป็นคลื่นของ กสทช.เอง ที่ผ่านมาเอกชนทำสัญญากับ กทช. แต่ตอนนี้มี กสทช.แล้ว ทำต่อไม่ได้ถ้า กสทช. แอบต่อสัญญาสถานี 1 ปณ.ให้เอกชนรายเดิมทำต่อไป กสทช.มีโอกาสถูกฟ้องและนำไปสู่การถอดถอนได้ เพราะทำสิ่งที่ขัดกฏหมายและหน้าที่ตัวเอง โดยที่ผ่านมาสัญญาระหว่างคลื่น Green Wave กับสำนักงาน กทช.สูงเกือบ 2.7 ล้านบาทต่อเดือน ตอนนี้ กสทช.มีมติระงับการต่อสัญญาคลื่นดังกล่าวแล้ว

"เมื่อ กสทช.เปิดประมูลคลื่นวิทยุหลังมีแผนแม่บท คนชนะก็จะได้ใบอนุญาต 7 ปีโดยไม่ต้องวิ่งเต้นทุกปี จ่ายค่าประมูลเข้ารัฐครั้งเดียวจบ ตรงไปตรงมา การประมูลก็เปิดซองกันเปิดเผย เงินเข้าคลังทุกบาททุกสตางค์ ไม่ต้องมาวิ่งเต้นกับ กสทช. ตัดเงินนอกระบบ สร้างการแข่งขันแบบโปร่งใสกว่าที่เป็นมา"

สุภิญญา ระบุว่า ระบบใหม่จะดีต่อภาคเอกชนเอง ตรงไปตรงมา รายใหญ่ยิ่งไม่มีอะไรต้องกลัว ขอเพียงเข้าสู่การระบบการแข่งขันเสรี โปร่งใส ถ้าชนะก็แบบมีศักดิ์ศรี ในอนาคต ถ้าเห็นว่ากติกาการประมูลที่ กสทช.จะใช้ ไม่เป็นธรรม ก็คัดค้าน ร้องเรียนได้ เพื่อให้ได้กติกาที่แฟร์ที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’ : (3) มีกี่ครุยที่เปื้อนเลือด

Posted: 09 Nov 2011 10:38 AM PST

 


หมายเหตุ:

สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com

 

 1

ชายคนหนึ่ง ปลงใจอยู่กินกับหญิงหม้ายที่มีลูกติดสามคน ด้วยความสงสารลูกชายสุดท้องของนางเป็นเบื้องต้น เด็กน้อยผู้นั้นกำพร้าพ่อตั้งแต่สองขวบ หลังพ่อตายแม่ก็พาย้ายจากอีกตำบลมาอยู่ที่โพนทราย เด็กน้อยได้พบชายคนดังกล่าวระหว่างวิ่งเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้าน ไม่รู้มีใจปฏิพัทธ์กันเช่นไร ตกเย็นเด็กน้อยร้องไห้ให้ชายคนนั้นพาไปส่งบ้าน จากนั้นก็ถือวิสาสะเรียกเขาว่า “พ่อ” เรื่อยมา

ชายคนนั้นคือ นายดำ สุขขารมย์ วัย 47 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองครก หมู่ 11 ตำบลโพนทราย อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด

และเด็กน้อยผู้นั้น ก็คือเด็กหนุ่มซึ่งใช้เวลาอีกยี่สิบกว่าปี...(เพื่อ) เติบโตมาเป็นวีรชน “ศพแรกในวัดปทุมฯ”

เรากำลังพูดถึงอัฐชัย ชุมจันทร์ หรือ “ปู” บัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 29 ปี ที่ถูกอาวุธสงครามยิงจากที่สูงเจาะเหนือราวนมข้างซ้ายทะลุปอด เสียชีวิตเป็นศพแรกเมื่อเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในเขตอภัยทาน...วัดปทุมวนาราม
 

2

 

 

โพนทรายเป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ชายแดนจังหวัดร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ ติดอำเภอราษีไศล ตัวอำเภอโพนทรายมีสภาพเหมือนเมืองเพิ่งก่อรูป สถานที่ราชการและร้านค้าตั้งอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือตลาดใหญ่ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของวัน (ของร้านค้าบางแห่ง) เดินทางมาถึงเอาตอนบ่ายแก่ พร้อมรถสองแถวสีฟ้าสายสุวรรณภูมิ-โพนทราย-ราษีไศล ที่วิ่งผ่านเพียงวันละเที่ยว

บ้านสองชั้นสีน้ำตาลหลังนั้นตั้งอยู่ในกลุ่มบ้านสามหลัง ริมทางดำสายที่ตัดผ่านหมู่บ้าน ห่างจากตัวอำเภอราวสองสองกิโลเมตร ลุงคนขับสองแถวสีฟ้าว่า หนึ่งในสามหลังนั้นคือบ้านคนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายเมื่อปีก่อน คนตำบลนี้เขารู้กันทั่ว แต่แกไม่รู้แน่ชัดว่าหลังไหน “ลองไปถามเอาเองเด้อ”

บ้านสามหลังคล้ายไม่มีใครอยู่ ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ได้ยินเสียงโทรทัศน์ดังออกมาจากบ้านหลังซ้ายมือสุด เราเข้าไปตะโกนเรียก ชายหญิงกลางคนคู่หนึ่งแง้มประตูออกมาดู ทราบต่อมาว่าทั้งคู่คือน้าสาวและน้าเขยของอัฐชัย ชุมจันทร์

ขณะนั้นพ่อแม่ของอัฐชัยอยู่ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน น้าสาวรีบโทรศัพท์ไปตามตัวให้ สักครู่หญิงร่างล็ก ผิวขาว วัยราวห้าสิบกว่า ก็กลับมาถึงพร้อมชายกลางคนผิวคล้ำร่างสันทัดอีกคน

 

 

ประตูบ้านสีน้ำตาลหลังใหญ่ถูกเปิดออกให้เราเข้าไปภายใน สภาพบ้านยังดูใหม่และเก็บกวาดข้าวของเครื่องใช้เป็นระเบียบจนแทบไม่มีร่องรอยการใช้งาน หญิงร่างเล็กลากเสื่อออกมาปู พลางบ่น “บ้านไม่ค่อยได้อยู่ อยู่กันแค่สองตายาย อาศัยแต่นอน วันๆ ไปอยู่ที่ศาลาโน่น”

ศาลาประชาคมเป็นสถานที่ประชุม พูดคุย ปรึกษาหารือของชาวบ้านหนองครก รวมถึงเป็นสถานที่คลายเหงาของแม่ที่เพิ่งสูญเสียลูกชายไปในโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน

เรานั่งสนทนากันเป็นวงใหญ่ นอกจากนางสุนันทา สมอาสา วัย 54 ปี และนายดำ สุขขารมณ์ หรือผู้ช่วยดำ วัย 47 ปี แม่และพ่อเลี้ยงของอัฐชัยแล้ว ยังมีน้าสาวและน้าเขย คือนางศิริพรและนายชัชวาลย์ ปานบุตรดา วัย 50 ปี และน้าชายของอัฐชัย นายถนอม สมอาสา วัย 52 ปี ที่ล้วนอาศัยอยู่บ้านติดกัน มาร่วมสนทนาด้วย

“บ้านสามหลังนี่ญาติกันหมดเลย” แม่ของอัฐชัยว่า “คู่นั้นเขาเป็นครูทั้งผัวทั้งเมีย” หมายถึงน้าสาวและน้าเขย “อันนี้น้องชาย เขาทำงานเทศบาล” หมายถึงชายกลางคนร่วงท้วมท่าทางสุภาพอีกคนที่มานั่งร่วมวงด้วย “มีแม่นี่แหละไม่ได้เรียน ทำนาให้น้องๆ เขาเรียน” นางสุนันทาพูดอย่างไม่มีริ้วรอยทุกข์โศกปรากฏให้เห็น แต่แน่นอน เราไม่ได้คิดว่านางหายจากอาการโศกเศร้าแล้วเป็นปลิดทิ้ง

ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ของนางสุนันทาได้ร่ำเรียนสูง และล้วนทำงานราชการ มีเพียงนางสุนันทา (และสามี) ที่ยังคงเป็นชาวนา

“ตอนนี้แม่ก็ยังทำอยู่ ทำนาห้าสิบสามไร่ ปลูกข้าวเจ้าเก็บไว้กินด้วย ขายด้วย เหลือกินก็ขาย จ้างเขาทำหมด ค่าแรงวันละสองร้อยบาท มีแต่จ้างอย่างเดียว รถไถก็จ้าง เกี่ยวก็จ้าง”

นางสุนันทามีลูกสี่คน คนโตคือ นางอัญชลี สาริกานนท์ วัย 35 ปี อาชีพครู ปัจจุบันแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่พุทธมณฑลสายห้า นครปฐม ถัดมาคือ พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ชุมจันทร์ วัย 34 ปี เป็นตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี คนที่สามก็คืออัฐชัย ชุมจันทร์ บัณฑิตใหม่ที่กลายมาเป็นวีรชนศพแรกแห่งวัดปทุมฯ และคนสุดท้องคือนางสาวพัชรียา สุขขารมย์ วัย 24 ปี กำลังศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูที่กรุงเทพฯ

ผู้ช่วยดำไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของลูกสามคนแรก เมื่อนางสุนันทาหอบลูกกลับมาอยู่ที่นี่หลังสามีคนแรกเสียชีวิตในวัยสามสิบแปดปี นายดำยังเป็นหนุ่มโสด

มีเรื่องเล่าขานกันจนกลายเป็นตำนานของครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือเด็กชายอัฐชัยเป็น “พ่อสื่อ” ชักนำชายหนุ่มที่ชื่อดำให้มารู้จักกับแม่ และได้อยู่กินกันในเวลาต่อมา

“ปูเขาชอบ เขาอยากได้พ่อ เขาไปวิ่งตามเอาที่บ้านเลย” นางสุนันทาเล่า น้ำเสียงแจ่มใส ผู้คนในวงสนทนาพลอยมีรอยยิ้ม “ตอนเด็กๆ ปูเขาไปเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้านนี่แหละ แล้วเขาไปเจอพ่อคนนี้ เขาอยากได้พ่อ เห็นคนไหนๆ เขาก็มีพ่อกัน ตอนนั้นเขาประมาณสองสามขวบนี่แหละ เขาก็ไปเรียกพ่อเลย กลับมาบ้านมาบอกยายๆ ผมจะพาไปหาพ่อ ชวนตากับยายไป เมื่อก่อนตากับยายยังไม่เสีย ยายๆ เดี๋ยวผมจะพาไปหาพ่อใหม่ พ่อใหม่ผมทำนาเก่งนะ ตอนนั้นพ่อเขาเป็นหนุ่มอยู่ พอตอนเย็นพ่อเขาก็มาส่งทุกวัน แม่กับพ่อไม่ได้คุยกันเลย ปูเขาหามาให้แม่”

ขณะนั้นผู้ช่วยดำไม่อยู่ในวงสนทนาแล้ว เห็นว่าผู้ใหญ่บ้านมาตามตัวไปต้อนรับคณะดูงานจากที่ไหนสักแห่ง

น้าสาวของปูเล่าว่า ตอนเด็กๆ ใครว่าพ่อดำคนนี้ไม่ได้ เด็กชายปูจะโกรธเคืองเอา “เขาเอามะพร้าวเอามะยมจากบ้านพ่อเขามาให้เรากิน เราแกล้งบอกว่าไม่กินหรอก ไม่กินของคนขี้เหร่หรอก เขาโกรธใหญ่ที่เราไปว่าพ่อเขาขี้เหร่ บอกไม่กินก็ไม่ต้องแดก แล้วก็เขวี้ยงทิ้งเลย” เรื่องเล่านี้เรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นวงสนทนา คำพูดของเด็กชายปูเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนคนในครอบครัวยังจำได้ดี

จากนั้นไม่นาน ชายชื่อดำก็กลายมาเป็นพ่อใหม่ของเด็กสามคน เขาช่วยนางสุนันทาทำมาหากินเลี้ยงลูกอย่างแข็งขัน แม้มีลูกสาวหล้าเพิ่มมาอีกคนในอีกไม่กี่ปีต่อมา ทว่าไม่เคยมีใครครหาได้ว่าพ่อรักลูกไม่เท่ากัน

“เพิ่นเป็นคนเลี้ยงลูก เลี้ยงปู ส่งเสียเล่าเรียนหมดทุกคน ก็เหมือนพ่อแท้ๆ” น้าสาวของปูว่า “แกมาอยู่กับแม่ของปูตั้งแต่ปีสามศูนย์ เด็กๆ พวกนี้รักแกมาก เพราะอยากได้หยังแกก็เฮ็ดให้ ทำนา เฮ็ดข้าวปุ้น ส่งลูกเรียน ตอนลูกเรียนแกจะไม่ยอมไปกินเหล้าเลย เก็บเงินส่งให้ลูก”

 

 

ปูสนิทกับพ่อเลี้ยงมาก ผู้ช่วยดำเองก็ผูกพันกับลูกชายคนนี้ไม่น้อยกว่ากัน ปูนอนแทรกกลางระหว่างพ่อกับแม่มาตั้งแต่เด็ก กระทั่งโตเป็นหนุ่มวัยใกล้สามสิบ ไปร่ำเรียนหนังสือถึงกรุงเทพฯ ยามกลับมาบ้านโพนทราย เขายังเบียดเข้าไปนอนแทรกตรงกลางระหว่างพ่อกับแม่เหมือนเคย

“บ่นอนคนเดียวจักเทื่อ” นางสุนันทาว่า “มานอนข้างๆ แม่นี่แหละ แม่นอนตรงนี้ พ่อตรงนี้ เขามาอยู่ตรงกลาง มาอึ๊บกลางเลย” ปูเป็นคนขี้อ้อน และชอบหยอกล้อพ่อแม่เล่นให้ได้หัวเราะสนุกสนาน “ปกติกับแม่เขาต้องหยอกจิ๊กจั๊กๆ อย่างนี้แหละ เพิ่นอารมณ์ดี เป็นคนมักม่วน บ่เคยผิดกับไผ ไม่เคยทะเลาะกับใคร กับแม่ก็เหมือนกัน เวลามาเขาก็มากอดแม่ บอกรักแม่นะ”

ปีหนึ่งปูกลับมาบ้านที่โพนทรายสองสามครั้ง ส่วนใหญ่เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์หรือวันหยุดยาวต่างๆ

“เวลากลับมาบ้านมาเขามาอยู่กับพวกน้องๆ กับแม่ กับน้าๆ นี่แหละ ไปไหนก็ไปกับเพื่อนฝูงผู้ชาย ไม่เคยเห็นมีแฟน คบแต่เพื่อนผู้ชาย เวลากลับมาถ้าอยากกินอะไร เขาจะบอก แม่...วันนี้ผมอยากกินต้มปลา อยากกินต้มไก่ บางทีเขาก็จะบอกให้น้าเขยทำให้กิน เขาเป็นคนซื่อๆ ใจดี น้องๆ (ลูกของน้าๆ) รักเขาคนนี้แหละที่สุดเลย ปิดเทอมเขาจะรอพี่คนนี้มาจัดงาน ปูเขาชอบดนตรี เล่นเบส กีตาร์ ชอบร้องเพลงเพื่อชีวิต เพลงสตริง เขาทำอะไรก็ทำได้ดี ประสบความสำเร็จ สมัยเรียนมัธยมเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนทรายทองไปแข่งดนตรีที่อำเภอ เวลาเขากลับมาก็จะสนุกกัน”

 

3

“ปู” เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2524 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด หลังนายนิคม ชุมจันทร์ พ่อแท้ๆ ล้มป่วยด้วยโรคพยาธิตัวจี๊ดในสมอง จนเป็นอัมพาต และเสียชีวิตขณะยังหนุ่ม นางสุนันทาตัดสินใจพาลูกกลับมาอาศัยอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องที่บ้านเกิด ขณะนั้นปูซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง อายุราวสองขวบ

ปูเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนหนองบัวประชาสรรค์ หมู่ 7 บ้านหนองบัวหลวงพัฒนา ในตำบลโพนทราย จากนั้นต่อมัธยมที่โรงเรียนทรายทองวิทยา หลังจบ ม.6 เข้ากรุงเทพฯ ไปสมัครเป็นนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ตอนเรียนต่อรามฯ เขาไปอยู่กับพี่สาวบ้าง พี่ชายบ้าง ไปๆ มาๆ พี่สาวกับพี่ชายเขาเป็นคนส่งเรียน” ระหว่างนั้นปูไปๆ กลับๆ กรุงเทพฯ-จันทบุรี

แม่ของปูเล่าว่า โดยพื้นฐานแล้วปูไม่ชอบเป็นภาระใคร ระหว่างเรียน นอกจากทำกิจกรรมตามที่ใจรักชอบแล้ว เขายังพยายามไปทำงานหารายได้พิเศษ ด้วยไม่อยากรบกวนพี่ชายและพี่สาวที่ต่างมีครอบครัวแล้ว

 

 

“เมื่อก่อนเขาไปเล่นดนตรีบ้าง ร้องเพลงบ้าง ทำกิจกรรมของนักศึกษา ก็ทำงานไปด้วย เขาเป็นคนไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะพี่ก็บ่นว่าเรียนนานไม่จบซักที ก็เลยไปทำงานเสิร์ฟอาหารบ้าง ไปแบกของบ้าง งวดสุดท้ายนั่นเขามาบ้าน มาหาแม่ ขอเงินว่าจะรับปริญญา แม่ก็เอาทองไปจำนำให้ ได้มาหมื่นนึง แล้วก็ขอยืมน้าให้ ว่าขายข้าวแล้วสิคืนให้ ก็มีเท่านี้ที่เพิ่นขอ นอกนั้นอ้ายเอื้อยเพิ่นส่ง” แม่ของปูเล่า พลางลุกไปเปิดตู้ หยิบอัลบั้มภาพถ่ายของลูกชายออกมาให้ดู “เรียนตั้งแปดปี จบมาบ่ทันได้คุยสักเทื่อ ตายก่อน...ตอนรับปริญญา เขายื่นใบปริญญาให้แม่ อ้ะ ผมมอบให้แม่ ผมไม่เอาแล้ว กราบตีนพ่อกับแม่ครั้งหนึ่งแล้วก็มอบปริญญาให้ อีกไม่กี่เดือนก็ตาย ก่อนตายเขายังไม่ได้ดูรูปรับปริญญาเลย ตอนกลับมาบ้านเทื่อสุดท้ายเขาก็ถามแม่อยู่ว่าพี่สาวล้างรูปให้รึยัง พอบอกว่ายัง เขาก็เดินออกจากบ้านไปหาเพื่อน ก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก”

รับปริญญาเสร็จ ปูสมัครงานราชการทิ้งไว้หลายแห่ง พ่อกับแม่มีความหวังว่าลูกชายคนนี้จะได้กลับมาทำงานที่บ้านโพนทราย

“ตอนนั้น อบต.กำลังเปิดสอบ ก็อยากให้ปูไปสอบ จะได้กลับมาอยู่กับแม่ที่บ้าน พี่ๆ น้องๆ ก็ไปอยู่ต่างถิ่นกันหมด เหลือปูคนเดียวที่ยังไม่มีบ้าน ก็อยากให้กลับมาอยู่ที่นี่ ก็เลยไม่ทันได้กลับ” นางสุนันทาว่า พลางพลิกดูภาพถ่ายวันรับปริญญาของลูกชาย

 

4

เมื่อถามว่าบัณฑิตกฎหมายอย่างปูเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ นางสุนันทาตอบว่า

“ตอนไหนนี่แม่ไม่รู้นะ มารู้ก็เมื่อปีที่เขาเสีย ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้พูดอะไร เรียนรามอยู่เจ็ดแปดปี ก็ไม่เห็นเขาพูด ไม่พูดอะไรเลยนะ เพิ่งมาพูดปีที่เขาตายนี่เนาะ แต่แม่ก็ไม่สนใจ ตอนที่ไปบ้านเปรมผมก็ได้ไปนะ เขาก็เล่าให้ฟังอยู่ แต่แม่ไม่สนใจ ไม่นึกว่าเขาจะไปถึงขนาดนี้ไง”

เมื่อการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เริ่มขึ้น ปูเข้าไปร่วมชุมนุมอย่างเอาจริงเอาจังเช่นเดียวกับพี่น้องเสื้อแดงอีกมากมาย

“สิบเมษา พวกญาติๆ นี่ดึงแกกลับมาบ้าน ไม่อยากให้แกไปร่วม ถ้างั้นก็เสียตรงนั้นแล้ว ตั้งแต่สิบเมษาแล้ว พอรอดมาได้ แม่ก็สบายใจไปครั้งหนึ่ง กลับมาบ้านได้ แม่ก็ห้ามอยู่ เขาก็บอก มันบ่กล้าฆ่าดอก เขาไม่กล้ายิงหรอกแม่”

ปูเชื่อเช่นนั้น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ

“เขาเคยพูดอยู่ว่าจะต่อสู้เพื่อชาติ ผมรักพระมหากษัตริย์ อ้าว แล้วไม่คิดถึงแม่เหรอ เขาว่า แม่เอาไว้ทีหลัง เอาชาติมาก่อน อ้าว แม่แก่แล้ว ไม่มาดูแลแม่เหรอ เอาไว้ทีหลัง แม่เอาไว้ทีหลัง เนี่ย เขาพูดตอนไปส่งพี่สะใภ้เขาที่จันทบุรีวันที่สองพฤษภา พี่สะใภ้เขาย้ายไปอยู่กับแฟนเขาที่จันท์ แล้วเขาก็มาตายวันที่สิบเก้าพฤษภา”

ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน ภรรยาของ ส.ส.คนหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์มาขอให้กลุ่มแม่บ้านหนองครกไปช่วยงานเผาศพ “นายเกรียงไกร คำน้อย” วีรชนสิบเมษา ที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด นางสุนันทาก็ไปกับเขา “กลุ่มแม่ยังไปช่วยจับผ้าตกแต่งเมรุให้เพิ่นอยู่ คนหล๊ายหลาย”

โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่า หลังจากนั้นเพียงชั่วเดือน ก็ต้องมาจัดงานศพลูกชายในลักษณะเดียวกัน

 

5 

วันคืนที่ลูกชายไปกินนอนอยู่ในที่ชุมนุม ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดเสียงล้อเลื่อนของรถถังที่ดังทะลุจอโทรทัศน์ออกมาอยู่เป็นระยะ ตลอดเวลาหลายวันหลายคืนนั้น เป็นช่วงเวลาที่คนเป็นแม่ไม่เคยมีความปลอดโปร่งใจเลย 

“แม่ก็มีความกังวลใจว่าลูกไปอยู่ยังไง เวลาโทรไปก็ได้แต่บอกระวังตัวนะ เราก็ดูข่าวทั้งวัน ไปกิจกรรมอยู่ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ก็มีคนบอกว่า พี่...บอกลูกชายด้วย บอกให้เขาออกมา บางคนก็ว่า เฮ้ย ไปเอาตัวลูกออกมา ไปอยู่จังซั่นฆ่าตัวตายอีหลี แม่ก็ว่า เขาอยากออกมาแต่ว่าออกไม่ได้ เราโทรไปหาลูกเราอยู่ เขาก็ว่ามาจังใดก็มาบ่ได้ เขาออกมาไม่ได้ จะออกมาคนเดียวได้จังใด เขาฮักเพื่อนฮักหยังเขา” 

ในวันที่ลูกชายเสียชีวิต นางสุนันทาเล่าว่า 

“วันเขาเสีย แม่โผล่หน้าต่างออกไปหาน้องชาย วันนี้เป็นอะไรเอ๋ย คิดถึงปูเนาะ ว่าแล้วแม่ก็เลยหยิบโทรศัพท์มาโทรหาเขา เขาก็รับทันทีเลยนะ แม่ก็ถามว่าอยู่ไหน ผมอยู่วัดครับ (วัดปทุมฯ) ตอนนั้นพอดีน้องชายแม่กลับมาจากทำงานเทศบาล เขาก็ว่า อ้าว ไอ้จานเหรอ น้าเขาชอบเรียกปูว่าไอ้จานเนาะ ระวังเนื้อระวังตัวดีๆ นะจาน ครับ ผมไม่ไปไหนหรอก ผมจะอยู่กับวัด พอจะวางโทรศัพท์ เขาบอก แม่...แค่นี้นะ ผมจะไปก่อน เหมือนสั่งแม่เนาะ ผมมีธุระ แม่ก็ถามเขาอยู่ว่าคนตายหลายบ่ เขาว่าตายตั้งเยอะแม่ อู๋ยแม่ ตายหลาย คั้นเฮาตายเฮาบ่ตายแบบนี้ดอก เฮาสิตายดังทั่วโลกเลย เขาชอบพูดเล่น...” 

“วันนั้นพากันโทรหาเขาตลอด สามสิบนาทีก็โทร บางทีถ้าแม่โทรหาเขาไม่ติดก็จะไปหาน้องสาวแม่ เวลาแม่โทรไปปูเขาไม่ค่อยอยากรับ กลัวแม่จะตกใจ เพราะเสียงอะไรเจี๊ยวจ๊าวๆ ในโทรศัพท์ แต่ถ้าน้าสาวโทรไปนี่เขารับอยู่ วันนั้นพี่ชายเขาที่เป็นตำรวจก็โทรหา พี่เขายังบอก เอ้อ ถ้าแกอยู่วัดก็ระวังตัวนะ ถ้าจะบวชแกบวชได้เลย ไอ้ปูก็ครับอย่างเดียว แต่ไม่ทำตาม...แต่เขาก็ว่าเขาหาทางจะกลับบ้าน คิดถึงแม่ คิดถึงแม่อย่างเดียวเลยวันนั้น แต่ออกมาไม่ได้ ออกมาตายลูกเดียว ขนาดเด็กๆ เขายังยิง คนท้องเขายังยิงตายเลย ต้องหลบอยู่ในวัด ที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ในวัดนั่นแหละ เขาบอก” 

หลังวางสายครั้งสุดท้ายไม่นาน ข่าวร้ายก็เดินทางไกลมาถึง 

“พอหกโมงเย็นพี่สาวเขาโทรมา ตอนนั้นไม่รู้เป็นไร แม่ยังจำเสียงลูกสาวตัวเองไม่ได้เลย อ้าว ใครนี่ ยังถามอยู่ ลูกสาวก็บอก แม่...ถือโทรศัพท์นะ น้าตุ๊อยู่มั้ย แม่ก็บอกว่าอยู่ เขาก็บอกให้แม่ถือโทรศัพทไปหาน้าตุ๊ แล้วแม่ก็นั่งฟังกับน้าตุ๊ด้วย น้าตุ๊คือน้องชายแม่ แม่ก็นั่งฟัง ต้องมีอะไรซักอย่าง พอฟังโทรศัพท์แล้วน้าตุ๊เขาก็เงียบไป แม่ก็รู้แล้ว ไอ้ปูเป็นอะไร พูดกับฉันด้วย (เสียงหนัก) บอกฉันมา ฉันรับได้ ไอ้ปูมันตายใช่มั้ย น้าเขาก็ไม่บอก ตั้งนานเป็นชั่วโมงเขาถึงได้บอกว่าปูตายแล้ว” 

น้าตุ๊ หรือนายถนอม สมอาสา ซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยตั้งแต่ต้น เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครั้งแรกที่รู้ข่าว เขาใช้เวลาอยู่นานเช่นกัน กว่าจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 

“ตอนที่เขาโทรมาบอกว่าปูถูกยิงแล้ว เสียแล้วล่ะ ศพยังอยู่ที่วัด แต่ช่วงนั้นยังชุลมุน เพื่อนเขาคนที่โทรมาบอกพี่สาวปูบอกว่ามันไม่ปลอดภัย บอกเราอย่าเพิ่งโทรเข้าไป เขาหลบอยู่ข้างๆ ศพนั่นแหละ ยืนเฝ้าข้างๆ ศพอยู่” น้าตุ๊เงียบไปอึดใจ “...ทีแรกไม่ให้ไป แกก็ไม่เชื่อ บอกว่าจะไปเรียกร้องประชาธิไตย วันที่สิบเจ็ดหรือสิบแปดแกยังอยู่ข้างนอกอยู่ อยู่ที่รามสองอยู่เลย พอวันที่สิบเก้าก็ยังบอกแกอยู่นะว่าตำรวจเขาบอกว่าจะจัดการขั้นเด็ดขาด เราได้ข่าวมา ก็โทรไปบอก แกก็ไม่เชื่อ บอกว่ามันไม่กล้ายิงไม่กล้าฆ่าหรอก” 

นั่นไม่เพียงเป็นอุดมคติของวัยหนุ่ม หรือความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสามองโลกในแง่ดีของคนอายุไม่ถึงสามสิบ หากคนอย่างน้าตุ๊หรือใครต่อใครที่นี่ ต่างคาดไม่ถึงว่า เหตุการณ์จะร้ายแรงถึงเพียงนี้
 

6

 

 

เช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 พี่ชายและพี่สาวของปูเดินทางเข้าไปรับศพน้องชายที่วัดปทุมวนาราม

“พี่ชายเขาแต่งเครื่องแบบตำรวจไปรับศพ แม่รออยู่บ้านพี่สาวเขาที่พุทธมณฑลสายห้า แล้วก็เอาศพกลับมาบ้าน วางตรงนี้แหละ (ชี้ไปยังพื้นปูนในห้องโถงชั้นล่าง ติดกับบริเวณที่เรานั่งอยู่) คนมาร่วมงานเยอะ มาจากพนมไพร มาจากร้อยเอ็ด มาจากเกษตรฯ พวกเสื้อแดงมาร่วมงานหลาย” 

หญิงชาวนาวัยห้าสิบสี่ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดมาตลอดชีวิต ได้รับรู้เหตุการณ์ในนาทีสุดท้ายของลูกชาย ก็เพียงจากปากคำของเพื่อนลูก นางค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นให้เราฟัง 

“วันที่เขาเสีย ตอนที่ยังไม่ถูกยิง เพื่อนเขาเล่าว่าวันนั้นไม่รู้นึกยังไง เขานั่งเล่นโทรศัพท์ อันนี้เบอร์พี่สาว อันนี้เบอร์พี่ชาย อันนี้เบอร์แม่ บอกให้เพื่อนฟัง” 

นางสุนันทาไม่รู้ชัดว่าเพื่อนเหล่านี้ คือเพื่อนที่เข้าไปชุมนุมด้วยกัน หรือเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันในที่ชุมนุม รู้เพียงว่า วันที่ลูกชายเสียชีวิต เพื่อนคนหนึ่งใช้โทรศัพท์ของลูกชายโทรมาหา “เพื่อนเขาในนั้นมีประมาณยี่สิบกว่าคนที่ชุมนุมอยู่ด้วยกัน ตอนจะเข้าไปรับศพพวกเขายังโทรหาแม่อยู่ว่า ถ้ามาเอาศพปู เอาพวกผมไปด้วยนะ ไม่อย่างนั้นพวกผมก็ต้องตายเหมือนกัน แม่ก็เลยบอกลูกชายที่เป็นตำรวจว่า ถ้ายังไงก็เอาเพื่อนน้องชายออกมาด้วยนะ เขาติดอยู่ในวัด เขาเอาโทรศัพท์ปูนี่แหละโทรมา” 

ในวันเผาศพ เพื่อนกลุ่มนี้ก็มาร่วมงานด้วย และเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า 

“ปูกำลังจะออกจากวัดไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนั้นมันมีเสียงประกาศในวัดว่า เดี๋ยวนี้ปลอดภัยแล้ว ให้ออกไปที่ตำรวจแห่งชาติเลย ปูได้ยินก็นึกว่าออกไปได้แล้ว เขาก็เลยเดินออกไป เดินคุยโทรศัพท์ไปด้วย ทีนี้เพื่อนเขาตะโกนเรียก เขาก็เลยหันหน้ามาหาเพื่อน จะเอาเพื่อนไปด้วยไง เพราะเขาคุยกันไว้ว่า เออ แกออกทางนั้น ฉันออกทางนี้ ไอ้ปูก็เลยออกหน้าวัด จะไปก่อน เขาพูดให้แม่ฟังอย่างงี้ ปู...มึงมารับกูด้วย กูยังไม่ได้ออกไป พอเขาหันหน้ามาก็โดนยิงเลย พวกนั้นมันหาเป้ายิงเลยไง ปูเป็นศพแรกในวัดเลย ตอนที่โดนยิงศพเขาลอยขึ้นตึ๊บเลย โดนยิงข้างหลัง ตัดขั้วหัวใจ ตายตรงนั้นเลย ไม่ได้ไปโรงบาล ไม่ได้ไปอะไรเลย ปูเขาไม่อยากตายหรอก เขาขยำกำมือเขาแน่นเลย” 

“แม่อยากให้เอาคนผิดมาให้ได้” นางสุนันทาเสียงเครียดขึ้นเป็นครั้งแรก “แม่อยากจะรู้คนที่ทำ คนที่สั่ง อยากให้เอามาลงโทษ ตายจะได้หลับตา ถึงแม่ตายวันไหนจะได้ตายหลับตาถ้าเอาพวกที่เขาทำมาลงโทษได้ ทุกวันนี้แม่ไม่อยากดูโทรทัศน์ เห็นมันพูดออกมาแม่รับไม่ได้เลย พวกรัฐบาลชุดเก่าน่ะ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย บอกว่าในกระเป๋าผู้ชุมนุมมีแต่อาวุธ แม่เลยบอกลูกสาว เออ น้องไปขอกระเป๋าที่ตำรวจแห่งชาติให้แม่ด้วย แม่อยากจะดู ไอ้คนที่มันพูด ทำไมมันพูดรุนแรง พอลูกสาวเอามาให้ ไม่เห็นมีอะไร มีกางเกงในสองตัว แล้วก็เสื้อยันต์ สีขาว สีแดง ตะกุดก็มี แล้วก็มีผ้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แค่นี้แหละ เห็นตำรวจเขาบอก โอ๊ย ปกติตายเป็นกี่ศพ ผมทำงานที่นี่ตั้งกี่ปีแล้ว มีศพแรกนี่แหละที่มาขอกระเป๋าเอาไปดู แม่นี่แหละ ไปขอดูเพราะพวกนั้นมันบอกว่าในกระเป๋ามีอาวุธ” 

“ปกติจับแกนนำได้แล้วก็น่าจะหยุดยิงได้แล้ว” น้าตุ๊พูดขึ้น “แต่นี่ยังยิงตลอด ทหารยิงเข้ามาเรื่อยๆ กระชับเข้ามาเรื่อยๆ” 

“โอ๊ย บ่อยากว่าเลย” นางสุนันทาเสียงดัง “ตอนตาย หน้าอกซ้าย หลังทะลุ กระสุนทำลายปอด มันเลือกยิง ตอนที่แม่ไปเฮ็ดบุญนำเพิ่นอยู่ในวัดปทุมฯ นั่น ตอนตายใหม่ๆ มีคนมาบอกแม่ว่า นี่แหละ แม่ของนายอัฐชัย มันยิงลงมาจากนี่ล่ะ มันก็ไม่ไกลนะ ใกล้ๆ มันเลือกยิง ไม่ได้ปะทะกัน คั้นเสื้อแดงมีอาวุธ มันต้องเป็นตายเท่ากัน หยังสิมาหาว่าเสื้อแดงฆ่า พูดไปได้ยังไงว่าเสื้อแดงฆ่า ชุดดำก็หยังบ่จับมา ต้องจับได้” 

“ถ้าเสื้อแดงยิงเขาต้องออกสื่อทุกห้านาทีแล้ว ถ้ามีภาพว่าเสื้อแดงยิง” น้าเขยของปูเสริม 

“คั้นชายชุดดำฆ่าทำไมไม่จับ” นางสุนันทาว่าต่อ “แล้วกระชับพื้นที่ไว้หมด เสื้อดำจะมาจากไหน แล้วทหารอยู่เต็มไปหมด ทำไมจับไม่ได้ เสื้อดำหายไปไหนหมด อยู่ในเสื้อแดงเปลี่ยนเสื้อแล้วมันวิ่งไปทางไหน เจ็บใจมากๆ เลยที่ว่าเราเป็นผู้ก่อการร้าย กระชับเขาไว้แล้วปล่อยให้เขาไปเผาได้ยังไง ทุกซอกทุกมุมคนอยู่ประจำหมด แล้วเขาไปเผาตอนไหน เขามีแต่หนีตาย ตอนเผาเงียบหมดแล้ว ทหารให้เขารักษาประเทศอยู่รอบนอกก็พอ ไม่ใช่ให้ไปฆ่าประชาชนอยู่ในเมือง” 

ก่อนหน้านี้ในหมู่ญาติพี่น้อง มีเพียงนางสุนันทาและสามีเท่านั้น ที่มีใจเอนเอียงเข้าข้างเสื้อแดง หากก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่เข้มข้น 

“ตะกี้แม่ก็ไม่ได้สนใจปานใด มีหน้าที่ทำนาก็ทำไป พอลูกมาเสียก็เลยพากันติดตามข่าว จั้งฮู้ว่าอันใดเป็นอันใด” นางสุนันทาว่า 

เมื่อถามว่า ในหมู่บ้านนี้มีคนเสื้อแดงมากน้อยเพียงใด น้าชายของปูว่า ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงเช่นเดียวกับชาวอีสานอีกหลายสิบหลายร้อยหมู่บ้าน ถามต่อว่า แล้วเสื้อเหลืองล่ะ มีบ้างไหม คราวนี้น้าสาวของปูเป็นคนตอบ “ก็มีบ้าง แต่น้อย ส่วนใหญ่ชอบเสื้อแดง” เมื่อถามต่อว่า แล้วส่วนน้อยที่เป็นเสื้อเหลืองนั้น เป็นคนกลุ่มไหน นางสุนันทาที่นั่งพลิกดูภาพถ่ายของลูกชายอยู่ รีบตอบทันทีว่า “พวกข้าราชการ!”

 

 

น้าชาย น้าสาว และน้าเขยของปู ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการ ยอมรับว่า แต่เริ่มต้นพวกเขาไม่ได้อยู่ฝั่งเสื้อแดง 

“เราเป็นครอบครัวครู” น้าสาวว่า “แต่ก่อนนู้นครูเขาไม่ค่อยพอใจนโยบายของทักษิณที่จะเอาครูไปสังกัด อบต. แต่พวกเราก็จะกลางๆ นโยบายที่เราประทับใจก็มี อย่างปราบยาเสพติด แต่ก่อนหายไปจริงๆ ในหมู่บ้านนี้ไม่มีเด็กวัยรุ่นอยู่ตามถนน ไม่มีเลย แต่เดี๋ยวนี้กลับมาอีกแล้ว เกลื่อนเลย”

“แต่พอเห็นหลานมาอยู่จุดนี้ ก็เริ่มฟังหลายๆ อย่าง” น้าเขยเสริม “แต่ก่อนก็ดูแต่ข่าวทีวีธรรมดา ไม่ได้เอียงทางไหน หลานไปก็ส่งเสริมไปตามหน้าที่ของตัวเอง แต่พอเกิดเรื่อง หลานเสียชีวิต เราก็เริ่มมาวิเคราะห์ข่าวช่องนั้นช่องนี้ ดูแล้วก็เอ้อ ไม่มั่นใจแล้ว ผมไม่มั่นใจสื่อแล้วทีนี้” 

“ช่วงสลายทำไมต้องปิดสื่อด้วย” น้าสาวว่า “ปิดไฟ ปิดสัญญาณ ทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น” 

“ตอนนี้คนในหมู่บ้านเขาตื่นตัวสนใจติดตามข่าวกันมาก” น้าเขยว่าอีก “พอเรื่องนี้เกิดขึ้นเขาก็ฟังข่าว ติดตามวิเคราะห์ข่าว ก็เริ่มไม่ไว้ใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ อย่างเขาว่าเสื้อแดงมีอาวุธ ถ้ามีจริงทำไมเขาไม่เอาออกมาสู้ เขาปิดบังมาตลอด เราดูข่าวแต่ละช่องก็ไม่เหมือนกัน” 

“ทุกวันนี้ชาวบ้านติดจานดาวเทียม” แม่ของปูแทรกขึ้น “โอ๊ย แม่เบิ่ง ไม่ดูละครเลย” 

ในภาวะที่ยังไม่สามารถทำให้ความจริงปรากฏกระจ่าง ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและเจ็บปวด ความไม่เข้าใจของคนรอบข้างมีมากระทบใจครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการปะทะกันถึงขั้นตัดบัวไม่เหลือใยก็มี 

“พอมีเหตุลูกเสียชีวิต เพื่อนแม่ก็เลิกคบกันไปก็มี เขาว่าเสื้อแดงไม่ดี เผาบ้านเผาเมือง ฆ่าให้มันตายให้หมด พวกป่วนบ้านป่วนเมือง นี่เพื่อนสนิทแม่เลยนะ เคยกินอยู่ด้วยกัน ญาติแม่ก็มีที่พูดแบบนี้ พอวันที่ปูเสียเขามาถามข่าว แม่ก็ถามเขาว่า สมใจแล้วหรือยังที่ลูกฉันตาย ที่เคยสาปแช่งไว้น่ะว่าฆ่าให้มันตายให้หมด สมใจแล้วหรือยัง...เขาฆ่าลูกเรา หัวอกเราแตกสลายไปข้างหนึ่ง เอาอะไรมาใช้ก็ไม่ได้หรอก”

  

7

หลังการสนทนาจบลงในเย็นวันนั้น ผู้ช่วยดำขับรถกระบะฝ่าสายฝนมาส่งเราที่ตัวอำเภอราษีไศล ระหว่างนี้จึงได้พูดคุยกัน 

เราย้อนถามถึงความรู้สึกเมื่อครั้งปูชักพาเขามาอยู่กินกับนางสุนันทา 

ผู้ช่วยดำหัวเราะ แล้วว่า “เพิ่นมานั่งเฝ้านอนเฝ้าคักๆ คั้นผมบ่เอ็นดูก็บ่ยอมไปโรงเรียนเลย ผมก็ว่า มันเป็นพ่อเป็นลูกกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้วล่ะมั้ง บักนี่มันเป็นลูกกูมาตั้งแต่ชาติที่แล้วบ๊อ ก็หลูโตน (สงสาร) เพิ่น เพิ่นบ่มีพ่อ อยากได้พ่อใหม่ คนอื่นก็ว่า มึงก็เอากับแม่มันเสีย ผมก็มาคึดว่า คั้นผมบ่เอาสิเป็นจังใดตอนนั้นน่ะ”

นานวันเข้าเริ่มมีความผูกพันกัน ไม่นานต่อมาเขาตัดสินใจอยู่กินกับแม่ของปู ทำนาอย่างเดียวไม่พอส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ เขาจึงทำขนมจีนขายส่งด้วย ตอนกลางวันทำนา ตกเย็นมาทำขนมจีน เช้ามืดวิ่งเอาขนมจีนไปส่ง ได้นอนเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อลูกสี่ต้องใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัด ในที่สุดเขาและภรรยาก็สามารถส่งลูกทุกคนเรียนจบ เดินทางถึงฝั่ง มีการงานทำมั่นคง

 ...เว้นเพียงปู ที่มาด่วนจากไปเสียก่อน

“ตอนไปซุมนุม ผมก็บอกอยู่ว่าเดี๋ยวเขาฆ่าตาย มันยังว่า ตายก็บ่เป็นหยัง เฮาสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมก็ว่า อ๊าว พ่อเลี้ยงมาบ่เคยตีจักเทื่อ จะไปให้เขาฆ่าเฮ็ดหยัง มันก็ว่าแต่จะสู้...ก็เสียใจแหละครับ สิว่าอีหยัง มันก็มีแต่ความเสียใจ ปูก็คือลูก ผมก็ฮักเหมือนลูก บ่เคยคึดเป็นอย่างอื่นเลย”

  

8

นางอัญชลี สาริกานนท์ พี่สาววัย 35 ปี ของอัฐชัย ชุมจันทร์ คือคนแรกในครอบครัวที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของน้องชาย เมื่อมีคนโทรออกมาจากวัดปทุมวนารามในเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บอกว่า “ปูเสียชีวิตแล้ว” เธอยังไม่อยากเชื่อ ถามย้ำกลับไปว่า คนตายชื่อจริงนามสกุลจริงว่าอะไร คำตอบที่ได้คือ “อัฐชัย ชุมจันทร์!!”

 ...นั่นจึงทำให้ไม่อาจปฏิเสธความจริง

หลังตั้งสติได้ นางอัญชลีรีบโทรไปแจ้งข่าวให้ญาติๆ ทราบ ที่ยากที่สุดคือการจะบอกแม่ว่า น้องชายเสียชีวิตแล้ว

ปูเป็นความหวังของแม่ ทุกคนรอให้เขาเรียนจบ จะได้กลับไปอยู่บ้านที่โพนทราย ก่อนปูเสียชีวิตไม่นาน นางอัญชลีและน้องชายคนรองที่เป็นตำรวจ เพิ่งช่วยกันปลูกบ้านหลังใหม่ให้พ่อกับแม่ ปูเองก็อยากกลับไปอยู่ที่นั่น

แต่เมื่อวันนั้นไม่อาจมาถึง มันจึงหนักหนาสาหัสในการทำใจยอมรับ แต่ทุกคนในครอบครัวก็พยายามทำมันอย่างถึงที่สุด

เช้าวันรุ่งขึ้น พี่สาวและพี่ชายของปูเดินทางไปรับศพน้องชายที่วัดปทุมวนาราม นางอัญชลีว่าขณะนั้นสถานการณ์ยังไม่สงบเรียบร้อยดีนัก มีความวุ่นวายอยู่ประปรายในช่วงเช้ามืด แต่ญาติผู้เสียชีวิตก็สามารถเข้าไปรับศพได้

ร่างของปูถูกนำกลับไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดประทุมทองในตำบลโพนทราย และทำพิธีฌาปนกิจเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553

“ถ้าถามจริงๆ เลยนะ ก็คือมันไม่ยุติธรรม สำหรับคนที่แค่ต้องการสังคมที่มีประชาธิปไตย มันมากมายอะไรเหรอ ทำไมคนจนมันถึงด้อยค่าขนาดนี้ ทำไมคนมีอำนาจมันถึงใหญ่โตจังเลย เขาแค่ต้องการความเสมอภาคในสังคม สิ่งที่เขาต้องการคือการเป็นประชาธิปไตย การยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ก็ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่มันโดนล้ม”

นางอัญชลีพอจะรู้เพียงคร่าวๆ ว่าสาเหตุที่ทำให้น้องชายของเธอเข้าไปร่วมหัวจมท้ายกับคนเสื้อแดง คือการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ หลังกลุ่มคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“ตอนที่อภิสิทธิ์ไม่ลงเลือกตั้ง คือจุดเริ่มต้นที่เขาก้าวออกมาอย่างที่เพื่อนพ้องน้องพี่เสื้อแดงทำกัน ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ขนาดจุดประกายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เขาเรียนกฎหมายด้วย เขาสนใจการเมือง ตอนเรียนเขาทำกิจกรรมอยู่พรรคศรัทธาธรรม เขาก็ต้องตั้งคำถามว่ามันใช่คนที่จบจากออกซ์ฟอร์ดเขาควรจะทำหรือ”

นางอัญชลียอมรับว่า แต่เริ่มต้น เธอและคนในครอบครัวแทบไม่ได้สนใจความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

“...ตอนแรกๆ เลย เราก็เฉยๆ เราจะห่วงความปลอดภัยของคนในครอบครัวมากกว่า เราไม่ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ นานาทั้งสิ้นเลย พอวันหนึ่งเราสูญเสียคนที่เรารักไป เราถึงเริ่มกลับมามองว่า เอ๊ะ มันใช่เหรอ เราก็เริ่มทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ถึงวันนี้เราก็ยอมรับและเคารพการตัดสินของน้อง และก็เชื่อมั่นว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็ยินดีไปกับเขา”

นอกจากความโศกเศร้าที่ยังเกาะกินหัวใจทุกคนในครอบครัว สิ่งที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาใจคือ

“ทุกวันนี้อยากรู้ว่าใครเป็นฆาตกร ณ ตรงนั้นมันเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่น่าจะมีใครเข้าไปได้ ยกเว้นฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ตรงนั้น อยากให้จับฆาตกรได้ แม่แกจะได้นอนหลับซะที ทุกวันนี้แกก็ยังผวา ยังนอนสะดุ้งอยู่ นี่บอกตรงๆ เลยว่าวันดีคืนดีมองรูปน้องชายรับปริญญาก็ยังร้องไห้อยู่เลย ถามว่าลืมมั้ย นับวันมันยิ่งคิดถึงนะ ทุกวันนี้เราอยู่กันอย่างคนหน้าชื่นอกตรม” แน่นอนว่ามันเป็นคำถาม ที่เธอเองได้คำตอบกระจ่างแก่ใจมาระยะหนึ่งแล้ว

เราคุยกับนางอัญชลีทางโทรศัพท์ น้ำเสียงในตอนท้ายนั้นแหบพร่าและเต็มไปด้วยสะเทือนใจ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้นายจ้างญี่ปุ่นทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่ประสบอุทกภัย ก่อนส่งไปทำงาน

Posted: 09 Nov 2011 03:53 AM PST

จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือประเทศไทยที่กำลังประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรง โดยจะอนุญาตให้แรงงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกพักงานจากน้ำท่วม สามารถเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้นั้น

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยเรื่องการเข้าถึงการรักษาของแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น เห็นว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายผ่อนปรนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่นายจ้างและแรงงานไทยพึงตระหนักและต้องเตรียมตัวก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น คือ การเข้าถึงการรักษาสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆในญี่ปุ่นเลยเป็นเรื่องยากลำบากมาก ดังนั้น ก่อนการเดินทาง นายจ้างต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งแรงงานที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่องต้องเตรียมยาที่จำเป็นไปให้พอตลอดระยะเวลาที่ทำงานในญี่ปุ่น
 
“จากการวิจัยพบว่า หากแรงงานที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และไม่มีประกันสุขภาพ จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเลย แม้แต่ ผู้ฝึกงาน หรือ trainee ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นชั่วคราวซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีปัญหา ดังนั้นค่อนข้างเป็นห่วงว่า หากนายจ้าง แรงงานที่จะไปทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ การช่วยหางานให้ทำในระยะที่ตกงานจากน้ำท่วมที่เมืองไทย อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพของแรงงาน ดังนั้น นายจ้างจึงต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่น และตัวแรงงานเองที่มีโรคประจำตัว หรือที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯจะต้องจัดเตรียมยาไปให้พอ ซึ่งแรงงานทุกคนอยู่ในสิทธิประกันสังคม ดังนั้น ต้องติดต่อกับหน่วยบริการเพื่อรับยาไปใช้ให้เพียงพอสำหรับตลอดช่วงเวลาการทำงานในญี่ปุ่นและถ้าอยู่ต่อจากที่กำหนดไว้ จะมีวิธีติดต่อเพื่อรับยาเพิ่มเติมได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ หน่วยราชการของไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือเพื่อขอการผ่อนปรนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดส่งยา”
 
นักวิจัยซึ่งได้รับทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย กล่าวว่า ขณะนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่น กำลังขอหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เพื่อให้ผ่อนปรนการนำยารักษาโรคที่แต่ละคนจำเป็นต้องใช้เข้าประเทศ และกำลังจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานที่จะเข้าไปทำงานญี่ปุ่นทราบถึงหน่วยงานที่จะให้คำปรึกษาหากมีปัญหาสุขภาพ
 
“ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มตะวัน ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครด้านสาธารณสุขชาวไทยในญี่ปุ่นให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 9.00 น.-16.00 น. โทร 070-5207-6953 และ 080-3791-3630 หรือ ta.wan@hotmail.com.co.jp และ องค์กรแชร์ (SHARE) 038-807-7581”
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพฯ ไม่สมควรได้รับการปกปักรักษาที่มีอภิสิทธิ์เหนือชั้น

Posted: 09 Nov 2011 03:40 AM PST

 

แปลจาก Pavin Chachavalpongpun, Bangkok doesn't deserve its special protection and privilege, the Nation. 9/10/2011
 

"เขาเปียกปอนจนถึงถุงเท้า

ท่ามกลางวิกฤติการณ์น้ำท่วม เขาลุยไปทั่วหัวถนน ทุ่มเททั้งตัวและหัวใจ ฉันต้องเตือนตัวเองว่า เขาคือหลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  และ เหลนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งในพระมหาราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย"

นี่คือสิ่งที่เลขานุการของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรณนาถึงนายของเธออย่างภาคภูมิใจในเฟสบุ๊ค

ดังนั้น ประชาชนชาวกรุงเทพก็ได้มี "ราชนิกุล" ของตัวเองที่พร้อมจะปกป้องเมืองหลวงอันเป็นที่รัก แน่นอนว่าสุขุมพันธุ์คือคนที่ใช่ที่สุดสำหรับภารกิจนี้ ด้วยความที่ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นสูง สุขุมพันธุ์ต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้สนับสนุนชาวกรุงเทพของเขา ซึ่งต่างก็มองตัวเองว่าเป็นชนชั้นสูงที่ชาญฉลาด ปู่ของสุขุมพันธ์คือ "เจ้าชายแห่งนครสวรรค์" (เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)  ส่วนในปัจจุบันเมื่อพิจาณาจากวิธีการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า "เจ้าชายแห่งกรุงเทพมหานคร" จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากสุขุมพันธุ์

อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้ให้โอกาสแก่สุขุมพันธุ์ในการพิสูจน์อำนาจในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ทำได้อย่างชาญฉลาดด้วยการทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาล ลำดับความสำคัญของสุขุมพันธุ์แตกต่างกับของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดเจน ส่งผลให้ นายกฯ กับ ผู้ว่าฯก.ท.ม. ทำงานร่วมกันแบบ ร่วมแรง "แข่งขัน" มากกว่าที่จะเป็น ร่วมแรง "แข็งขัน"

ภายใต้การบริหารงานของสุขุมพันธุ์ กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเกาะส่วนตัวของตัวเอง เมืองหลวงถูกแยกขาดจากส่วนอื่นของประเทศ ดูเหมือนว่าการที่จังหวัดอื่นๆ ต้องจมอยู่ใต้น้ำต่อไป จะเป็นอะไรที่ยอมรับได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร กรุงเทพฯ จะต้องถูกปกปักรักษาให้แห้งต่อไป แม้จะต้องแลกด้วยการทวีความรุนแรงของวิกฤตน้ำท่วมในระดับประเทศก็ตาม

วิธีการแบบกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของสุขุมพันธุ์บอกอะไรเราบ้าง? มันเผยให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทยและในทางกลับกันประเทศไทยก็ไม่ใช่กรุงเทพ มันจึงเป็นรัฐซ้อนรัฐ แนวคิดเช่นนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการนำแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างบูรณาการมาปฏิบัติ

นอกจากนี้แล้วแนวคิดของสุขุมพันธุ์ในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมนี้โดยหลักแล้วก็คือมุมมองแบบชนชั้นนำและจักรวรรดินิยม ด้วยคำนำหน้าชื่อว่า หม่อมราชวงศ์ ที่จะฟังดูล้าหลังสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว สุขุมพันธ์แสดงตัวราวกับว่าเป็นขุนศึกโบราณกำลังทำสงครามเพื่อปกปักรักษาไว้ซึ่งพระนคร แต่ในเวลานี้ข้าศึกมิใช่ชาวพม่าหรือเขมรที่ไหน แต่คือน้ำ อาจจะเปรียบเปรยได้ว่าภารกิจของสุขุมพันธุ์คือการปกป้อง"เอกราช"ของกรุงเทพมหานคร

"เราจะต้องไม่เสียกรุงเป็นครั้งที่สาม" คือคำที่เขาน่าจะประกาศก้อง ครั้งสุดท้ายที่สยามสูญเสียสิ่งที่เรียกว่า"เอกราช"ก็คือในปี พ.ศ.2319 เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายด้วยน้ำมือของอริราชศัตรู

แต่อะไรคือมุมมองอย่างชนชั้นนำที่แท้จริง  อย่างแรก คือ กรุงเทพฯสมควรเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในราชอาณาจักร นี่คือความภูมิใจของชาติ คือที่พำนักของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพ และ คือแหล่งที่มาของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่นี่คือมุมมองที่มีลักษณะอำนาจนิยมอย่างแท้จริง มุมมองที่ให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯโดยละเลยจังหวัดอื่นที่ดูเหมือนว่าไม่สำคัญเท่าใดนัก

กรุงเทพฯ อาจจะมีส่วนถึง 41 เปอร์เซ็นต์ใน GDP ของประเทศไทย และ นักวิเคราะห์ก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่าความเสียหายอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเมืองหลวงแห่งนี้จะส่งผลลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่าจังหวัดในภาคกลางได้จมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเดือนๆแล้ว ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง โตโยต้า และ ฮอนด้า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคอย่าง แคนอน, แอ๊ปเปิ้ล, โซนี่ และ โตชิบา รวมถึงผู้ผลิตฮาร์ดดิสค์อย่าง ซีเกต และ เวสเทิร์นดิจิตอล  อุทกภัยได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับห่วงโซ่อุปทานของโลกในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งยืนยันความจริงที่ว่า จังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ ต่างก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมากไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ประการที่สอง ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่กรุงเทพยังแห้งแต่พื้นที่ในชนบทถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ชาวกรุงเทพไม่ได้แสดงความเป็นห่วง เห็นอกเห็นใจอะไรเลยต่อสถานการณ์ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ราวกับว่ามันไม่เป็นไรหรอกที่คนในจังหวัดเหล่านั้นจะประสพทุกภัยตราบใดที่กรุงเทพได้รับการปกปักรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ในวันนี้ชาวกรุงเทพกลายเป็นกลุ่มคนที่โวยวายเสียงดังที่สุด พวกเขามีอาการวิตกจริตอย่างยิ่งยวดกับเรื่องน้ำท่วม การพากันกักตุนอาหารช่วยกระพือบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ที่น่าขันก็คือพวกเขาทำราวกับว่าไม่มีความไว้ใจและความศรัทธาในตัวสุขุมพันธุ์ บุคคลที่พวกเขาสนับสนุนมาตลอดช่วงวิกฤติการณ์อีกต่อไปแล้ว

ถ้าจะมองว่าพฤติกรรมของชาวกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสองมาตรฐานที่ตกทอดมาอย่างยาวนานในสังคมไทย คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่าในช่วงเวลาที่สังคมไทยยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างน่ากลัว สุขุมพันธุ์มีบทบาทในการทำให้รอยร้าวระหว่างกรุงเทพ กับ ส่วนอื่นของประเทศไทย ร้าวลึกยิ่งขึ้น 

ความทุ่มความสนใจไปที่การปกปักรักษากรุงเทพครั้งนี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางที่ยังคงอยู่ แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ อำนาจและความมั่งคั่ง คือสินทรัพย์ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของกรุงเทพ สำหรับชาวกรุงเทพจำนวนมากแล้วการที่จังหวัดอื่นจะอ่อนแอ และไร้อำนาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่นเดียวกับการคงไว้ซึ่ง ความยากจนและด้อยพัฒนาในต่างจังหวัดก็ไม่เห็นจะเป็นไร  ภายใต้ทัศนคติแบบนี้พวกเขาก็สมควรแล้วที่จะต้องทนยืนหยัดสู้ภัยน้ำท่วม

แต่ไม่ใช่ด้วยทัศนคติแบบเดียวกันนี้หรือที่เป็นหนึ่งในสาเหตุมูลฐานของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย?

ประการที่สาม การที่สุขุมพันธุ์ยังคงขัดแย้งกับรัฐบาลต่อไปเป็นการพิสูจน์ให้เห็นความจริงอีกข้อที่ว่า กลุ่มชนชั้นนำมีมุมมองส่วนตัว และ มีสิทธิ์ในการนิยามให้คำนิยามคำว่าผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของชาติ นี่ช่วยอธิบายว่าทำไมสุขุมพันธุ์จึงเลือกที่จะไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาล

การที่กระแสน้ำจากอุทกภัยกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้กรุงเทพฯเข้าไปทุกทีๆ อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความแค้นเคืองที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ของจังหวัดอื่นที่ถูกเอาเปรียบมายาวนานจนถึงจุดที่จะเอาคืนกรุงเทพฯบ้างแล้ว กรุงเทพฯ เห็นแก่ตัวมานานมากเกินไปแล้ว  สุขุมพันธุ์ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากผนึกรวมความรู้สึกเห็นแก่ตัวระหว่างชาวกรุงเทพด้วยกัน

มันยากที่จะวัดว่าสุขุมพันธุ์รักประเทศไทยมากกว่าคนนอกกรุงเทพฯหรือไม่ แต่น่าเสียดายที่ว่าการให้ความสนใจกับกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว ได้บดบังวิสัยทัศน์ของเขาในการมองปัญหาจากมุมกว้าง จากมุมมองที่ปราศจากเกมการเมือง และเปี่ยมด้วยความห่วงใยในความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมประเทศไทยโดยไม่แบ่งแยกภูมิลำเนา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เบรกกู้นิคมฯ จี้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมี-ขยะพิษปนเปื้อนก่อน

Posted: 09 Nov 2011 03:03 AM PST

นักวิชาการพิษวิทยา-แรงงานในพื้นที่ระบุเห็นด้วยกับการกู้นิคมอุตสาหกรรมซึ่งถูกน้ำท่วม แต่เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมีและขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำออกสู่ภายนอก พร้อมทั้งให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วย (มีคลิปประกอบ)

(9 พ.ย.54) ในการเสวนาหาทางออก "กู้นิคมฯ อย่างไรให้ปลอดภัย" ที่มูลนิธิเอเชีย ถ.คอนแวนต์ สีลม ระหว่างคนงานในพื้นที่อยุธยา นักวิชาการด้านพิษวิทยา นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับการกู้นิคมอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมีและขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก โดยมีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบ ทั้งนี้ ระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตรายที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตรายที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (อ่านรายละเอียดด้านล่าง*)

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่า การเอาน้ำออกสู่ชุมชนจะมีอะไรที่มากับน้ำบ้างและจะปลอดภัยหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีสหรัฐอเมริกา หลังเกิดพายุเฮอริแคนแคทรีนาว่า สารเคมีที่เป็นพิษและขยะอันตรายได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยกับคน มีน้ำเสียไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ น้ำใต้ดิน ส่งผลต่อสภาพดิน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย มีทั้งสารเคมีในไลน์การผลิต บ่อบำบัด และขยะพิษที่รอการส่งไปกำจัด มีคำถามว่าบริเวณนั้นๆ ท่วมด้วยหรือไม่ เพราะน้ำที่ท่วมไม่ได้อยู่ที่แค่ที่อยุธยา หรือปทุมธานี แต่ไปที่กรุงเทพพฯ และไหลลงอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเราด้วยเช่นกัน 

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพิษวิทยา กล่าวว่า อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ สารเคมี และเชื้อโรค ซึ่งในส่วนของเชื้อโรค กรมควบคุมโรคออกมาให้ข้อมูลพอสมควร เพราะไม่ได้จำกัดแต่ในโรงงาน จึงไม่น่าเป็นห่วง และเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันด้วยตัวเองได้ แต่เรื่องสารเคมีนั้น องค์กรแรงงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรออกมาให้ข้อมูลว่า มีสารเคมีอันตรายใดบ้าง มีสต็อกสารเคมีอยู่เท่าใด และที่อยู่ในไลน์การผลิตซึ่งจะออกมากับน้ำทันทีเท่าใด

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนการสูบน้ำออก ตรวจมีกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งหากมีการให้ข้อมูลล่วงหน้า จะทำให้การตรวจสอบเร็วและง่ายขึ้น โดยหากมีสารเคมีที่เป็นอันตรายในโรงงานใด อาจล้อมโรงงานนั้น แล้วกู้โรงงานอื่นก่อน ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลข้างต้นไม่จำเป็นต้องทำในวงกว้าง เพราะอาจทำให้สังคมตื่นตระหนก และเกิดปัญหาในการดำเนินการต่อไปได้ 

พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอว่า นอกจากสารเคมีแล้ว รัฐบาลควรเปิดศูนย์รับรองจมน้ำ เพื่อรองรับขยะเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ด้วย 

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครแตก พบว่ามีคราบน้ำมันไหลออกจากนิคมฯ ตามพื้นถนนลื่นเพราะมีน้ำมันเกาะ ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านเริ่มทำความสะอาดบ้าน พบว่าทำได้ลำบากเพราะมีคราบน้ำมันติด ต้องใช้ผงซักฟอกและออกแรงขัด นี่คือที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่เชื่อว่ายังมีสารเคมีโลหะหนัก ซึ่งมองไม่เห็น มากกว่านี้ 

ชาลี กล่าวว่า ในส่วนของการกู้นิคมอุตสาหกรรมนั้นเห็นด้วย แต่รัฐบาลควรมีวิธีป้องกันด้วย เช่นอาจสูบออกแล้วพักไว้ในท้องทุ่ง โดยชดเชยให้เจ้าของที่ เพื่อตรวจสอบสารพิษให้มั่นใจก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ 

อำนาจ บัวเสือ แรงงานจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง ซึ่งลงพื้นที่น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เล่าว่า เริ่มมีการสูบน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.54) โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า มีบางบ้านรื้อกระสอบทรายออกหมดแล้ว ทำให้น้ำและขยะอุตสาหกรรม ทั้งถุงมือ หลอดไฟ เข้ามา นอกจากนี้ น้ำที่สูบออกมาเห็นได้ชัดว่ามีส่วนผสมของน้ำมัน ทั้งนี้เขาเสนอว่า อยากให้ชาวบ้านซึ่งเป็นคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และอยากทราบกระบวนการสูบน้ำทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวป้องกันด้วย 

ชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดอยุธยา ซึ่งลงพื้นที่นิคมบางปะอิน เล่าว่า ที่นิคมบางปะอินเริ่มมีการกู้มาสองวันแล้ว วันนี้เป็นวันที่สาม จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่เห็นด้วยกับการกู้นิคมฯ โดยน้ำที่กู้ออกมา ไม่เหมือนตอนน้ำท่วมใหม่ๆ ที่ไหลไปตามทางน้ำ พัดขยะ 60-70% ไปตามน้ำ เหลือติดกับพื้นชาวไร่ชาวนา 30-40% เพราะการสูบออกคราวนี้ ไม่มีที่ระบาย น้ำและขยะจะขังอยู่ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กลายเป็นบึงสะสมสารเคมี ทั้งนี้ ในยามปกติตอนที่น้ำไม่ท่วม ชุมชนก็มีปัญหากลิ่นขยะอยู่แล้ว พอมีน้ำท่วมทำให้มีปัญหาเพิ่มทวีคูณ เขาเสนอด้วยว่า ควรมีตะแกรงขนาดใหญ่เพื่อกรองขยะในเบื้องต้น กำหนดทางเดินน้ำ ไม่ให้ไหลเข้าบ้านชาวบ้านเพิ่มอีก

ด้านกัญญวรา ธำรงรัตน์ คนงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าวว่า พบปัญหาน้ำไม่สะอาด มีคราบน้ำมันลอยมา เวลาลงไปใช้น้ำต้องตักน้ำมาแกว่งสารส้ม ทั้งนี้พบปัญหาด้านสุขภาพคือเกิดผื่นแดงตามตัว น้ำกัดเท้า และปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ 

กัญญวรา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพราะยังไม่มีหน่วยแพทย์เข้ามา โดยตนเองอยู่ในบริเวณเกาะกลางน้ำท่วม มีเด็กเป็นหอบซึ่งไม่สามารถไปหาหมอได้ ทั้งนี้ ยาขยายหลอดลมก็มีราคาแพงขึ้น จากเดิมช่วงน้ำท่วมสัปดาห์แรก 125 บาท ตอนนี้ขึ้นเป็น 160 บาทแล้ว แม้ว่าผู้นำชุมชนจะนำยาเข้ามาแจก แต่ก็แจกเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น คนที่มาเช่าหอพักอยู่ก็ไม่ได้ตรงนี้

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชนรอบๆ ทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และต้องมีการเยียวยา ฟื้นฟู นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ควรเป็น "คุณพ่อรู้ดี" คิดเองทำเอง แต่ควรให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นจะเกิดสงครามคันกั้นน้ำ 

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า นอกจากทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ชะลอการปล่อยน้ำเพื่อกู้นิคมฯ แล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการกู้นิคมฯ ด้วย ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อเสริมการทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น 

 


------------------

*ด่วนที่สุด
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสารอันตราย ขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด

 ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายนี้  มีข้อเสนอเร่งด่วนที่สุดเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการฟื้นฟูกู้นิคมอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้

  1. ทุกฝ่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม  เพื่อให้แรงงานมีงานทำและสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ
  2. เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตราย  ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด  ดังนั้นก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน  รวมถึงมีการจัดการก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลสารอันตรายที่ใช้อยู่ในแต่ละโรงงานของแต่ละนิคมประกอบในการประเมินความเสี่ยงและติดตามตรวจสอบ
  3. ให้มีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
  4. ในระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม  
  5. ให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตราย (ขยะอุตสาหกรรม) ที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้
  6. สำหรับโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตรายที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย    
รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีธนชาติ นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
ดร.สุมล ประวิตรานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
น.ส.ขวัญยืน ศรีเปารยะ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้    
มูลนิธิบูรณะนิเวศ

9 พฤศจิกายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงจากกาชาดสากล: ข่าวถึงคนคุก เรื่องที่ (เกือบ) ถูกกลืนหายในสายน้ำ

Posted: 09 Nov 2011 02:47 AM PST

ข่าวคราวการเคลื่อนย้ายนักโทษจากเรือนจำบางขวางจำนวน 603 คน ไปยังเรือนจำกลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนพอจะนึกขึ้นได้ว่า ยังมีพวกเขาอยู่ในสังคมเดียวกัน และกำลังเผชิญกับภัยพิบัติเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ พวกเขาไม่สามารถเคลื่อนย้ายและสื่อสารได้อย่างเสรี และในภาวะที่ฉุกละหุกเช่นนี้ การมีอาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม อาจไม่สำคัญเท่าข่าวสารจากคนที่พวกเขาอยากได้ยิน

เสียงจากกาชาดสากล: ข่าวถึงคนคุก เรื่องที่ (เกือบ) ถูกกลืนหายในสายน้ำ

เสียงจากกาชาดสากล: ข่าวถึงคนคุก เรื่องที่ (เกือบ) ถูกกลืนหายในสายน้ำ

“เราอาจจะคิดถึงเรื่อง อาหารน้ำดื่ม และการช่วยเหลือ แต่ว่าอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ก็คือ การได้รู้ว่าคนที่เขารักเป็นอยู่อย่างไร” บียอร์น ราห์ม ผู้แทนองค์กรฝ่ายความคุ้มครอง จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าวกับประชาไทถึงที่มาของการโทรศัพท์ ถึงญาติผู้ต้องขังที่กาชาดสากลทำมาตลอดระยะเวลานับเดือนซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

จากการประสานงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และสภากาชาดไทย ราห์ม กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือผู้ต้องขังจำนวนมาก แสดงความวิตกกังวลถึงครอบครัว หลายรายขาดการติดต่อไปและไม่ทราบชะตากรรม ข่าวคราวคนใกล้ชิดจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของผู้ต้องขังในภาวะที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม

มีเรือนจำราว 30 แห่งทั่วประเทศที่ต้องขนย้ายนักโทษ ฉะนั้นเรือนจำบางแห่งก็ต้องรับนักโทษเพิ่มสอง-สามพันคน บางแห่งอาจจะรับราวพันกว่าคน ขณะที่ในประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมดราว 140-150 แห่ง และนั่นหมายถึงว่า สองในสามของเรือนจำทั่วประเทศจำเป็นต้องรับนักโทษเพิ่มและรับมือกับจำนวนคนที่มากขึ้น

โดยรวมแล้ว มีเรือนจำประมาณ 80-90 แห่งที่ได้รับนักโทษเพิ่มเติมที่ย้ายมาจากเรือนจำที่ถูกน้ำท่วมหรือกำลังจะถูกน้ำท่วม ในบริเวณกรุงเทพฯ อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น ฉะนั้น ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะเรือนจำที่ถูกน้ำท่วมเท่านั้น แต่เรือนจำที่ได้รับผลกระทบอีกทอดหนึ่งเนื่องจากจากการที่มีนักโทษจำนวนมากอยู่แล้ว การรับนักโทษเพิ่มมาอีกก็เป็นปัญหาเช่นกัน

“และนอกจากด้านความต้องการพื้นฐานทั่วไปในทางวัตถุแล้ว  ก็ยังมีความต้องการของนักโทษในแง่การติดต่อสื่อสารกับครอบครัวว่าอยู่ที่ไหน เนื่องจากย่อมมีคนที่เป็นห่วงที่ได้ยินข่าวว่าเรือนจำถูกน้ำท่วมจากสื่อ และก็ต้องการอยากรู้ว่าคนที่รักนั้นอยู่ที่ไหนและปลอดภัยหรือไม่”

สำหรับการทำงานขณะนี้มี 2 ทีมอยู่ในพื้นที่ จ.พิษณุโลกและสงขลา ซึ่งมีนักโทษถูกย้ายไปที่นั่น 500 และ 1,000 คน ตามลำดับ เมื่อมีการย้ายนักโทษไปและรู้แน่นอนว่านักโทษจะพำนักอยู่ที่ทัณฑสถานนั้นระยะหนึ่งก่อนที่จะถูกย้ายต่อไป ทีมงานในสนามจะทำหน้าที่จะเก็บข้อมูลเพื่อสื่อสารกลับไปยังญาติ

วิธีการติดต่อญาติๆ โดยทีมอาสาสมัครได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับญาติผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์ และทำหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามพวกเขาถึงความเป็นอยู่ และนำข่าวสารนั้นกลับมายังผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบขณะนี้ คือสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คงที่ การเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นอุปสรรคต่อการเก็บข้อมูล

เมื่อถามถึงการเคลื่อนย้ายนักโทษยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่นักโทษจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับญาติได้ ราห์มกล่าวว่า

ในส่วนของกรมราชทัณฑ์มีฮอตไลน์ ที่จะให้ญาติสอบถามได้ว่า นักโทษถูกย้ายไปหรือเปล่า เพราะบางทีก็เป็นการยากที่จะเข้าถึงข้อมูล

ตัวเลขล่าสุด ผู้ที่ติดต่อญาติได้แล้วจำนวน 1,500 ยังห่างไกลจากจำนวนเต็มของนักโทษกว่า 30,000 ราย ที่ยังรอคอยข่าวสารจากคนที่พวกเขาห่วงใย

สะท้อนข้อสังเกต การเตรียมการและข้อมูลที่ไม่เพียงพอ นำมาสู่ความฉุกเฉิน

ที่ผ่านมา กาชาดสากล เข้าไปให้การช่วยเหลือทัณฑสถาน 29 แห่งประกอบด้วย 24 เรือนจำ และ 5 สถานพินิจ จำนวนนักโทษรวม 30,000 คน สิ่งที่ทีมปฏิบัติการของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศสังเกตพบก็คือ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากทัณฑสถานที่ถูกน้ำท่วม บางครั้งเป็นไปอย่างเร่งด่วนหลังจากที่ไม่สามารถรับมือกับกระแสน้ำได้แล้ว

เสียงจากกาชาดสากล: ข่าวถึงคนคุก เรื่องที่ (เกือบ) ถูกกลืนหายในสายน้ำ

การมอบความช่วยเหลือ ปัจจัยพื้นฐาน เป็นสิ่งที่องค์การกาชาดระหว่างประเทศทำงานประสานไปกับสภากาชาดไทย และกรมราชทัณฑ์ โดย มร. ฌากส์ สตรูน ผู้อำนวยการคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า การดูแลความช่วยเหลือเบื้องต้นให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลักคือ การให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับระดับน้ำ เช่น ถุงทราย ปั๊มน้ำ ประการที่สอง คือ การดูแลสุขอนามัย และประการสุดท้าย คือ น้ำดื่ม

ไม่ว่าจะเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคไว้พร้อมมูลขนาดไหน ผู้ประสบภัยพิบัติอยู่ไม่ได้แน่ถ้าไม่มีน้ำดื่ม และที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเห็นคือ กระบวนการจัดการด้านนี้ยังไม่พร้อม

มร. จูเลี่ยน โจนส์ วิศวกรด้านทรัพยากรน้ำ และสุขอนามัยประจำภูมิภาคเอเชีย ให้ความเห็นว่า การส่งมอบน้ำดื่มบรรจุขวดอาจจะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา แน่นอนว่าการบริจาคน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วง แรก แต่การขนส่งน้ำดื่มจำนวนมากในระหว่างน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หลังจากนั้นต้องคิดถึงเรื่องการผลิตน้ำดื่ม เช่น ต้องมีอุปกรณ์ผลิตน้ำดื่มภายในพื้นที่โดยยกกรณีตัวอย่าง คือ เรือนจำ จังหวัดนครสวรรค์ ที่จัดเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอสำหรับนักโทษ จำนวน 3,500 คน โดยมีหม้อต้มน้ำขนาดใหญ่ 3 หม้อ พร้อมด้วย 8 คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำ

ในส่วนของการป้องกันโจนส์ตั้งข้อสังเกตว่า การเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมของทัณฑสถานในไทยนั้นไม่มีที่ไหนที่เรียกได้ว่าเตรียมการอย่างดี และปัญหาเรื่องการใม่สามารถเคลื่อนย้ายนักโทษเนื่องจากทัณฑสถานจำนวนมากนั้นมีนักโทษอยู่เต็มจำนวนแล้ว และบางแห่งมีมากเกินไปด้วย ทำให้ทัณฑสถานหลายแห่งเลือกที่จะป้องกันพื้นที่ของตัวเองด้วยการเตรียมกระสอบทราย และเครื่องสูบน้ำ ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายแห่งถูกโดดเดี่ยว เนื่องจากน้ำท่วมถนน การขนส่งถูกตัดขาด

“เมื่อพูดถึงเรือนจำ สิ่งที่ยากคือการหากระสอบทรายมาใช้ป้องกัน เนื่องจากเรือนจำเป็นที่ท้ายๆ ที่ประสบน้ำท่วม ในขณะที่ในเมืองไทยเริ่มมีการขาดแคลนของที่ต้องใช้บางอย่างไปแล้ว เมื่อการเตรียมตัวมาช้าก็ทำให้สถานการณ์ยากลำบากกว่าเดิม ส่วนสถานการณ์เองก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เรือนจำที่ได้สร้างแนวป้องกันก็ถูกน้ำท่วมอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องสั่งอพยพ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการสั่งย้าย”

นอกจากนี้ยังเห็นหลายกรณีที่เรือนจำเปลี่ยนจากการสร้างแนวป้องกันได้สำเร็จ มาเป็นต้องสังอพยพฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะว่าน้ำมาเร็วและเยอะมาก ความสูงต่ำของพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะตัดสิน เรือนจำที่มีประตูกั้นลงไปลึกถึงหนึ่งเมตรก็จะสามารถกั้นน้ำได้มากกว่าเรือนจะที่มีประตูกั้นแค่บนดินเท่านั้น เนื่องจากน้ำอาจจะผุดมาจากด้านล่างได้

ทั้งนี้เขาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือข้อมูลสำหรับการเตรียมการ ซึ่งต้องเป็นข้อมูลจำเพาะเจาะจงเพื่อการตัดสินใจ

“มีหลายปัจจัยที่จะตัดสินว่าผู้อำนวยการเรือนจำจะสามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมได้ดีแค่ไหน ผมยังไม่เห็นเรือนจำไหนที่มีการเตรียมตัวมาก่อนอย่างดีเลย คุณไม่เห็นที่ที่มีการเตรียมตัวแบบบางแห่งในกทม. ที่มีการตั้งกระสอบทรายกั้นตู้เอทีเอ็ม และอยู่สูงกว่าพื้นดินเป็นบันไดหลายขั้น และคนจำเป็นต้องปีนขึ้นไปใช้ กรณีเช่นนั้นผมไม่เห็น อย่างไรก็ตาม การเตรียมการมันก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะคุณจำเป็นต้องมีข้อมูลที่จำเพาะและแน่นอน คุณไม่สามารถทำสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำในทุกเรือนจำเหมือนๆ กันหมดได้ ผู้อำนวยการเรือนจำ จำเป็นต้องมีอำนาจสั่งการในการสร้างแนวป้องกันตามที่จำเป็น” วิศวกรด้านทรัพยากรน้ำ จากกรรมการกาชาดระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกต

ระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่กำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นฟู อาจจะทำให้การเคลื่อนย้ายนักโทษและการจัดการกับข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขังลุล่วงไปได้รวดเร็วขึ้นในเวลาอันใกล้ แต่ข้อสังเกตถึงการรับมือของภัยพิบัตินั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องหาคำตอบอย่างไม่อาจปล่อยให้ลุล่วงไปโดยไร้บทเรียน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น