โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย 8 ความคาดหวังจากผลศึกษาปกครองชายแดนใต้

Posted: 08 Dec 2010 10:13 AM PST

สัมมนาใหญ่ นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ความฝันที่จับต้องได้? นำเสนอผลการศึกษา การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค้นพบ 8 ความคาดหวังจากผลศึกษาการปกครองชายแดนใต้

 
ในที่สุดความพยายามครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ ในการแสวงหาแนวทางการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายใต้การนำของ พล...จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เมื่อกำเนิดเป็นร่างผลการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นความพยายามในการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
 
จากเวทีสาธารณะในพื้นที่ 47 เวที มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,370 คน ทั้งคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูและคนไทยพุทธ ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 โดยมีโจทย์สำคัญ 2 ข้อ คือ ประชาชนในท้องถิ่นสามารถมีอานาจอย่างแท้จริงในการจัดการสังคมของตัวเองแล้วหรือไม่อย่างไร?” และจะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่มีอำนาจทางการเมืองในระดับที่จะสามารถกำหนดและจัดการเรื่องของท้องถิ่นตัวเองได้?” ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
คำตอบที่ค้นพบ ในร่างผลการศึกษาเล่มนี้ คือ ชาวบ้านทราบดีว่าตนเองต้องการอะไร และอะไรที่เหมาะสมกับตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมจึงควรเป็นการปกครองที่เอื้อให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มีอำนาจในการดูแลจัดการเรื่องของตัวเองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ หากไม่ต้องการให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจจนส่วนหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย รัฐต้องกระจายอำนาจเพื่อรักษาประเทศไทย
 
ร่างผลการศึกษาเล่มนี้ จัดทำโดยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กรและเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น โดยมีองค์กรร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะกรรมการภาคประชาสังคมสภาพัฒนาการเมือง และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
โดยเป็น ร่างผลการศึกษา ชื่อ “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย : ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนจากมุมมองของคนพื้นที่” จะถูกนำมาเสนอใน การสัมมนา หัวข้อ นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันที่จับต้องได้?” ในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553 เวลา 08.30 – 16.30 . ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
8 ความคาดหวังพื้นฐานต่อการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในร่างรายงานผลการศึกษา หน้า 42 – 43 ระบุ ถึงความคาดหวังพื้นฐานต่อการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การเมืองการปกครองที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ได้ 8 ข้อดังนี้
 
1. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามบังคับแห่งมาตรา 1 ที่กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
 
2. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องเป็นการปกครองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมืองในลักษณะที่ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย (Inclusiveness) รับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย คำนึงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง รวมทั้งมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เป็นรูปธรรมแก่คนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่
 
3. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ และมีจานวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจานวนประชากร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารและข้าราชการที่มีสานึกรักท้องถิ่น และมีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
 
4. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการริเริ่ม เสนอแนะ และตัดสินใจในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของท้องถิ่น รวมทั้งกากับติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้ในระดับที่ทาให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองได้มีอำนาจในการจัดการชีวิตของตัวเองดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 281 ของรัฐธรรมนูญที่เน้นหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
 
5. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สามารถลดการแข่งขันแตกแยกในชุมชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในระดับหนึ่งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจานวนหนึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง
 
6. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องใช้สองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆของทางราชการ
 
7. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการศึกษาที่อยู่ในมาตรฐานกลางของกระทรวงศึกษาธิการ และในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วย โดยใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ ในลักษณะที่ผู้ปกครองจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีความสบายใจและมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษาเล่าเรียน
 
8. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้นที่ทั้งในแง่ของบทบัญญัติ การวินิจฉัยตัดสิน และการมีสภาพบังคับ โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยตรงมากที่สุด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: เหยี่ยว-พิราบ-สันติ-ฮาร์ดคอร์

Posted: 08 Dec 2010 08:20 AM PST

พลันที่ (ยืมสำนวนพี่เถียน) อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ขึ้นมารักษาการตำแหน่งประธาน นปช. เธอก็ได้รับของขวัญเป็นหม้อก้นดำเต็มหน้าจากบรรดาสื่อเครือข่ายพันธมิตรและ ปชป. ว่า นี่คือฮาร์ดคอร์ตัวจริง ผู้อยู่หลังฉาก อดีตสหายซ้ายจัด “ล้มเจ้า” ฯลฯ

มิพักที่เธอจะประกาศจุดยืนในการเคลื่อนไหวว่า ไม่แตะต้องสถาบัน ไม่ชุมนุมยืดเยื้อสร้างเงื่อนไข และมีเป้าหมายเฉพาะกิจเพื่อให้แกนนำและมวลชนเสื้อแดงได้รับการประกันตัวเท่านั้น

ผมไม่เคยเจออาจารย์ธิดามาเกือบ 30 ปี ตั้งแต่สมัยยังเป็น “สหายปูน” (อยู่เขตผมเธอใช้ชื่อ “หมอป่าน”) ฉะนั้นก็รับประกันไม่ได้หรอกว่าเธอคิดอย่างไร แต่อ่านบทสัมภาษณ์หลายๆ ชิ้น ก็ไม่เห็นว่าเธอจะเป็น “ฮาร์ดคอร์”

แน่นอน ความคิดลึกๆ เป้าหมายจริงๆ เป็นอย่างไร ไม่มีใครพูดเปิดเผยหรอก แต่อย่างน้อย อาจารย์ธิดาก็ผ่านประสบการณ์ต่อสู้ทั้งในเมือง ทั้งในป่า ผ่านมาวันนี้จนอายุ 60

ต่อให้เป็นคนใจร้อนเพียงไร หรือต่อให้ยังคิดว่าจะต้องเอาชนะด้วยความรุนแรง ก็ไม่ใช่พวกมุทะลุหรือหมูไม่กลัวน้ำร้อน คิดแต่จะลุกฮือพาคนไปตายเพื่อ “ปฏิวัติประชาชน” ให้สำเร็จในวันสองวันนี้

นี่ไม่ใช่เข้าข้างกัน เพราะผมมองอย่างนี้กับแกนนำพันธมิตรด้วย พันธมิตรถึงจะบุกทำเนียบยึดสนามบิน เขาก็รู้จัก step ไม่เหมือนพวกมือใหม่หัดขับ ขับได้ซักพักมักคึกคะนอง อย่างพี่กี้ร์ แรมโบ้ หรือพาย่อยยับ ซึ่งไม่เคยขับเคลื่อนม็อบมาก่อน

ถ้าจะห่วงเรื่อง “ฮาร์ดคอร์” ประเด็นสำคัญกว่าตัวผู้นำ คือความคิดและอารมณ์ของมวลชนเสื้อแดง ตลอดจนแกนนำระดับกลางต่างหาก ซึ่งวันนี้คนเหล่านี้กลายเป็น “แกนนอน” ไปแล้ว คืออยู่ในสภาพที่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่ขึ้นต่อแกนนำมา 6 เดือน ติดต่อกันเองในแนวนอน “หนูหริ่ง” หรือใครก็ได้ นัดชุมนุมเคลื่อนไหว “เชิงสัญลักษณ์” ที่ไหน คนเหล่านี้ก็ไป ถือป้าย ตะโกน ขีดเขียนถ้อยคำที่ทำให้ต้องมีคำสั่ง ศอฉ. กระนั้น ครั้งล่าสุดที่ราชประสงค์ก็ยังมีคนไปชุมนุมร่วมหมื่นกว่า

มวลชนเสื้อแดงพิสูจน์แล้วว่าเป็นพลังที่ไม่ตายง่ายๆ ยิ่งถูกปราบยิ่งเคียดแค้นยิ่งแสดงพลังตอบโต้ ขณะเดียวกัน มวลชนเสื้อแดงยังก้าวข้ามทักษิณ ก้าวข้ามพรรคเพื่อไทย หลายคนเล่าว่าทักษิณโฟนอินที่อุดรให้ “ปรองดอง” ลืมความเจ็บปวด โดนมวลชนด่าพึมอยู่ด้านล่างเวที เพราะพวกเขา “ไม่ปรองดอง” กับคนที่สั่งฆ่าประชาชน

แต่พูดเช่นนี้ใช่จะมีแต่ด้านดี เพราะขณะที่ก้าวข้ามทักษิณ ก้าวข้าม ส.ส.น้ำเน่าพรรคเพื่อไทย ก็ต้องพูดกันตรงๆว่า กลุ่มคนที่มีอิทธิพลความคิดและอุดมการณ์ต่อมวลชนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยในช่วงที่ไร้แกนนำ ในช่วงถูกปราบปราม กวาดจับ คับแค้นตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กลับกลายเป็นข้อมูลข่าวสาร บทความ ซีดี ที่เผยแพร่ให้ดาวน์โหลดอัพโหลดกันกว้างขวางอยู่ “ใต้ดิน”

โทษที ที่ต้องบอกตรงๆ ว่า ชาวบ้านเสื้อแดงในภาคเหนือภาคอีสานน่ะ เขาไม่อ่านประชาไทหรือฟ้าเดียวกันหรอกครับ ไหนๆ เว็บก็ถูกบล็อกเหมือนกัน ข้ามไปอ่านข้อเขียนมันส์สะใจที่ส่งตรงมาจาก USA ดีกว่า ไอ้ฝั่งนี้จะบอกให้สันติๆ ยังไง เขาก็ไม่ได้ยินหรอก อารมณ์ความรู้สึกเขาคล้อยตามทางโน้นมากกว่า

พูดง่ายๆ ว่า ในฝ่ายผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยวันนี้ ซึ่งผมนับรวมทั้งฝ่ายสองไม่เอาและเสื้อแดง มีการต่อสู้ 2 แนวทาง ระหว่างแนวทางสันติ ที่ตั้งความหวังว่า สังคมไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ใน “มิติใหม่” โดยไม่นองเลือด โดยบ้านเมืองไม่ฉิบหายวายป่วง กับแนวทาง “ฮาร์ดคอร์” ซึ่ง... ก็ไม่ถึงขนาดนั้นซะทั้งหมดทีเดียว เพราะมีหลายเฉด หลายระดับ แต่น่าวิตกว่าพร้อมจะบานปลายได้

โดยสภาพการณ์ขณะนี้ แนวทางสันติไม่สามารถเข้าถึงมวลชนได้เท่าแนวทางหลัง

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ขอบอกว่า ผมตั้งใจอยากสื่อถึงผู้มีอำนาจ ไม่ว่าอำมาตย์ ทหาร ตุลาการ โดยเฉพาะผู้จงรักภักดีตัวจริง (ไม่ใช่พูดแต่ปาก) ที่มีสติ มีปัญญา

วันก่อนผมคุยกับเพื่อนที่ใกล้ชิดและเข้าใจทหาร เขาบอกว่า ทหารจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจสถานการณ์ ไม่ใช่พวกบ้าคลั่งขวาจัด คิดแต่จะไล่จับปราบฆ่าเสื้อแดง เพราะรู้ดีว่ายิ่งทำก็เหมือนยิ่งยุ

ยกตัวอย่าง มวลชนเสื้อแดงมีเป็นร้อยๆ ที่ขีดเขียน ชูป้าย ข้อความ “หมิ่นเหม่” แต่เขาจับแค่ 1-2 ราย เพราะต้องการ “ปราม” ให้เพลาๆ พฤติกรรมลงบ้าง และถ้าไม่จับก็ไม่มีคำตอบให้อีกข้างที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เขายังตั้งคำถามด้วยว่าแล้วจะให้ทหารวางตัวอย่างไรในสภาพเช่นนี้ ช่วยแนะนำหน่อยสิ

เขายังบอกว่า ทหารจำนวนไม่น้อย หรือแม้แต่อำมาตย์บางราย ก็เข้าใจเช่นกันว่า สังคมไทยจะต้องพัฒนาไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มีสมดุลแห่งอำนาจ เปิดกว้างมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมมากขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบันคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะขยับอะไรได้มากนัก

จนกว่า... จนกว่า... จนกว่าอะไรล่ะ ผมเลยบอกว่า ถ้ารอจนถึงตอนนั้นมันก็นองเลือดพินาศย่อยยับสิครับ

ผมอนุมานว่า นี่คือทหารสายพิราบ ฝ่ายความมั่นคงที่มีสติปัญญา แม้ความคิดจะยังติดกรอบเป็นขวา แต่พวกนี้ก็ไม่ได้โง่ รู้ดีว่าถ้าแข็งขืนครอบอำนาจก็จะมีพลังต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พวกนี้ก็ไม่กล้าปริปากและยังหาทางลงไม่เจอ ได้แต่พยายามประคองสถานการณ์อยู่

สิ่งที่ผมอยากบอกคือ ถ้า “สายพิราบ” ในฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่สามารถส่งสัญญาณหรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สมดุลแห่งอำนาจ” ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็คือ “สายฮาร์ดคอร์” ในเสื้อแดง ก็จะยิ่งมีอิทธิพลทางความคิดและอุดมการณ์ โดยที่ “สายสันติ” พูดไปก็เท่านั้น

ทำอย่างไรที่คุณจะเปิดพื้นที่ให้สายสันติวิธีได้พูดอย่างเต็มปากบ้าง โธ่ ขนาดผมเขียนอยู่นี่ยังต้องระมัดระวังใช้สัญลักษณ์ ขณะที่พวกฮาร์ดคอร์เขาใส่กันเต็มที่ ล่อกันเต็มเหนี่ยว ไฟล์ภาพไฟล์เสียงสะใจ เพราะยังไงๆ ก็เผยแพร่ใต้ดินอยู่แล้ว

ยิ่งกว่านั้น การใช้อำนาจ ไม่ว่าอำนาจ ศอฉ. อำนาจตุลาการ หรือการเลือกปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้มวลชนโกรธแค้น ผมขึ้นแท็กซี่ ผมขึ้นมอไซค์รับจ้าง หยั่งเสียงดู ไม่มีชิ้นดี อีหรอบนี้จะไปพูดสันติวิธีให้เขาเชื่อได้ไง

สัจธรรมคือเมื่อเหยี่ยวผงาด ฮาร์ดคอร์ก็ตีปีก สันติวิธีกับนกพิราบลงหม้อตุ๋น อิหร่านก่อนหน้านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงจนพวกมุสลิมสายกลางมีอำนาจ แต่พออเมริกาบุกอิรัก อามาห์ดิเนจาดก็ชนะเลือกตั้งท่วมท้น

ฉันใดฉันนั้นละครับ หลังพฤษภาอำมหิต ฮาร์ดคอร์ก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อเสื้อแดง จะปราบ จับ คุมขัง ยิ่งมีแต่แพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง คุณไม่มีทางกวาดจับหรือเข่นฆ่าคนที่ “หมิ่นเหม่” ต่อคำสั่ง ศอฉ.ได้หมดประเทศไทย มีแต่ใช้สติปัญญาคิดว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ภายใต้ความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยรักษาสิ่งสำคัญของคุณไว้ได้

คุณจะเป็นฝ่ายเริ่มการเปลี่ยนแปลง กำหนดกรอบการเปลี่ยนแปลง หรือปล่อยให้มันเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ รุนแรง แต่ถึงวันนี้ ที่คิดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่คิดว่าจะให้คนกลับมาศิโรราบสวามิภักดิ์นั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว มีแต่คิดว่าจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไรโดยไม่ต้องให้ศิโรราบสวามิภักดิ์ แค่ยอมรับการแบ่งแยกกำหนดบทบาทกันก็พอ

บางคนอาจจะคิดเหมือน 6 ตุลา ปราบ ฆ่า ไล่เข้าป่า ให้มันเลือกวิธีรุนแรง ต่อสู้ด้วยอาวุธ ด้วยการจลาจล แล้วสุดท้ายไปไม่รอด ก็ต้องยอมจำนน แล้วค่อยแปลงร่างเป็นพิราบ เล่นบทโปรดสัตว์ แต่โทษที สถานการณ์ไม่เหมือนกันนะครับ พลังต่อต้านมันกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 6 ตุลาเป็นร้อยเท่าพันเท่า ผมไม่ได้บอกว่าคุณจะแพ้ แต่ใครชนะก็ฉิบหายวายป่วง

สถานการณ์จากนี้ไป ยังพอมีเวลาอีกช่วงหนึ่ง ที่จะต้องมีการต่อสู้ทางความคิดกันระหว่างเหยี่ยวกับพิราบ ระหว่างฮาร์ดคอร์กับสันติวิธี ซึ่งในทั้งสองขั้วต่างก็มีปฏิกิริยาส่งผลต่อกัน โดยเราต้องเรียกร้องขั้วที่มีอำนาจเป็นด้านหลัก ถ้าสายพิราบมีพลัง ก็สามารถเปิดพื้นที่ให้สายสันติ แต่ถ้าเป็นตรงข้าม จะเอาใครมานำ นปช.ก็ไม่ต่างกัน จับเข้าคุกรุ่น 2 รุ่น 3 รุ่นไหนก็ไม่จบ

ในฝ่าย นปช.เอง ก็ต้องต่อสู้ทางความคิด หวังว่าอาจารย์ธิดาจะมุ่งไปที่การต่อสู้ทางความคิด ผมเห็นภาพชมรมเรารักเบอเกอร์คิงแล้วอดหัวเราะไม่ได้ น่ารักดี มวลชนก็เป็นอย่างนี้ พวกจารีตนิยมอย่าถือสาหาความนัก คนเราเวลาเริ่มมองโลกในแง่มุมใหม่ก็จะร้อนแรง หลังจากนั้นก็จะเย็นลงและมองกว้างขึ้น แต่ต้องมีคำตอบที่เหมาะสมให้เขา ขณะที่ในฝ่าย นปช.เอง ที่มักพูดว่า “มวลชนไปไกลแล้ว” จริงๆ แล้วก็ไปไกลแค่เรื่องนี้ ส่วนที่ว่าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร ประเทศไทยควรจะเดินต่อไปอย่างไร นอกจากความสะใจแล้วก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน

ขอเรียนย้ำอีกครั้งสำหรับข้อเขียนวันนี้ ว่าผมไม่ได้ห่วง “ใคร” แต่ผมกลัวว่ามันจะไปสู่ทางตันที่มีแต่ความพินาศ

กระนั้น ขณะที่เขียนนี้ ผมก็ยังเชื่อว่า มันจะไปสู่ทางตันที่มีแต่ความพินาศ เพียงแต่อยากทักท้วงอีกซักครั้ง

และขอออกตัวด้วยว่า ผมไม่ได้เป็นสายสันติวิธีเคร่งครัด บางทีก็มีลูกบ้ามีอารมณ์ตามประสามนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพียงแต่เวลามีสติยับยั้งตัวเองได้ก็พยายามจะสันติ ส่วนวันหน้าอะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด

 

                                                                                                              ใบตองแห้ง
                                                                                                                 8 ธ.ค.53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เอาอีกเอิ๊กๆ"

Posted: 08 Dec 2010 08:03 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เอาอีกเอิ๊กๆ"

รัฐบาลไทยทุ่มงบ 10 ล้านดอลลาร์สร้างการ์ตูน "เชลดอน"

Posted: 08 Dec 2010 06:20 AM PST

 
8 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนของไทย   เรื่องเชลดอน ได้ตกลงร่วมทุนกับสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ในการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อออกขายทั่วโลก โดยใช้วงเงินลงทุนรวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยฝ่ายไทยรัฐบาลจะสนับสนุนการเงินแก่บริษัทของไทย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ภาพยนตร์การ์ตูนของไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
 
“ตอนนี้ การ์ตูนเรื่องเชลดอน บริษัทผู้สร้างผลิตเป็นการ์ตูนซีรี่ส์ ขายไปทั่วโลกกว่า 110 ประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนสิงคโปร์ และญี่ปุ่น สนใจที่จะร่วมลงทุน สร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแบบเดียวกับเรื่อง นิโม มู่หลาน ซึ่งรัฐบาลก็จะให้การสนับสนุนด้านการเงินด้วย คาดว่าจะใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี และน่าจะเริ่มฉายได้ปี 55”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า วันที่ 10-12 ธ.ค.นี้ จะเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการค้ากับ 2 ประเทศ โดยมีกำหนดหารือกับรองประธานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อการเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแนวนโยบายระหว่างกัน รวมถึงผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

นอกจากนี้ยังจะหารือกับรัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ เพื่อหาแนวทางเพิ่มการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ต่ำมาก โดยอาเซียนใช้สิทธิประโยชน์เพียง 50% ของปริมาณการส่งออกไปเกาหลีใต้ ขณะที่เกาหลีใช้เพียง 20% ของการส่งออกมาอาเซียน โดยเบื้องต้น สาเหตุน่าจะมาจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขาดการประชาสัมพันธ์เพียงพอ และสาระสำคัญการลดภาษี ซึ่งต้องมาหารือและดำเนินการแก้ไข  ขณะเดียวกัน จะหารือถึงการรื้อฟื้นจัดประชุมคณะกรรมการร่วมการค้าไทย-เกาหลีใต้ หลังจากที่ไม่ได้ประชุมมานาน 7 ปี เพี่อส่งเสริมและลดอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชลดอน >> http://th.wikipedia.org/wiki/เชลล์ดอน

ที่มาข่าว:

รัฐบาลไทยทุ่มงบ10ล้านดอลลาร์สร้างการ์ตูน (เดลินิวส์, 8-11-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=108803&categoryID=8

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนา: “ถอดรหัสฟ้า ตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์”

Posted: 08 Dec 2010 05:53 AM PST

8 ธ.ค. 53 - โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โครงการวิจัยผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกับมูลนิธิไฮริช เบิลล์ จัดเสวนาหัวข้อ “ถอดรหัสฟ้า ตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์” ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ, จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ และ พ.ต.ท.ดร.ศิริพล โกศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการ ส่วนตรวจสอบคดีอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการอภิปรายโดย อ.สาวตรี สุขศรี กลุ่มนิติราษฎร์

ธีระ สุธีวรางกูร: หัวข้อการเสวนานี้เป็นหัวข้อที่ไม่น่าพูดโดยเฉพาะในประเทศที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจับตามอง

เสรีภาพของโลกออนไลน์ คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และตามหลักกฎหมายแล้ว กรอบในการจำกัดเสรีภาพต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน สมควรแก่เหตุ เสรีภาพในโลกออนไลน์ก็เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดเสรีภาพที่สำคัญคือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  ซึ่งไม่ได้บัญญัติออกมาในช่วงที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่เป็น พ.ร.บ. ที่สภานิติบัญญัติตราขึ้นในปีพ.ศ. 2550 เป็นการตรากฎหมายขณะที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจผ่านสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

ฉะนั้นข้อสังเกตที่ควรตั้งเป็นเบื้องต้น อาจจะเป็นเรื่องที่ว่า แม้จะสมควรที่จะมีกฎหมายนี้ แต่บริบทของการกำเนิดไม่ใช่บริบทปกติ แต่เป็นบริบทที่รัฐต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และเป็นเครื่องมือจำกัดการแสดงความเห็นเรื่อยมา

ดังนั้นแม้รัฐธรรมนูญ จะรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็ถูกจำกัดได้ด้วย พ.ร.บ. คอมฯ และสามปีที่ผ่านมาหลัง พ.ร.บ. คอมฯ ประกาศใช้คือการที่รัฐบอกว่ามีการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ แต่การกระทำผิดจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกนำมาบังคับใช้ผ่านทาง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในมาตรา 14 อนุ 3 คำถามก็คือ ทำไม ? การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทสถาบันจึงปรากฏขึ้นอย่างมีนัยยะที่สำคัญไม่น้อย ซึ่งหากนำไปวิเคราะห์กับบริบททางการเมืองหลังการรัฐประหาร ทำไมเรื่องนี้จึงมีอยู่และไม่ลดจำนวนลง

คำถามในทางกฎหมายคือ สิ่งที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน ผิดถูกเป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่คำถามสำคัญทางการเมืองที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรต้องหาคำตอบให้ดี เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องหาคำตอบ หากตั้งโจทย์ผิดก็ได้คำตอบที่ไม่ถูก เจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามการเสวนานี้ต้องคิดให้หนัก ถ้าท่านสนใจใคร่รู้จริงๆ ต้องหาคำตอบจากแท็กซี่ จากประชาชนในซอยบางซอย บางจังหวัด หรือบางภูมิภาค ซึ่งจะให้คำตอบได้ว่าทำไมวันนี้การละเมิดสถาบันยังปรากฏอยู่ไม่หาย

วันนี้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์การเมืองซึ่งกำลังวิกฤตและอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นจะถูกนำมาใช้อย่างไม่หยุดหย่อน คนที่แสดงความเห็นก็แสดงไป คนที่ทำหน้าที่จับกุมก็จับกุมไป แต่ไม่หยุด สุดท้ายความผิดเรื่องการหมิ่นสถาบันจะหยุดเมื่อไหร่ ก็คงต้องตอบแบบผู้นับถือศาสนาคริสต์ว่า พระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ

ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพิ่งถูกใช้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลัง โดยใช้ควบคู่ไปกับมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทตามปกติที่อาจยกเว้น กรณีที่ผู้ถูกวิจารณ์เป็นบุคคลสาธารณะ ในทางหนึ่ง กฎหมายนี้ในตัวบทบัญญัติเองแล้วเป็นปัญหา และการบังคับใช้ก็เป็นเป็นปัญหาอย่างยิ่งเช่นกัน 

เราไม่มีการพิสูจน์ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหมิ่นสูงกว่ากัน แนวโน้มคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้จะส่งต่อเรื่องไปเรื่อยๆ เช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งต่อคดีให้อัยการ และอัยการส่งต่อไปให้ศาล และศาลเองก็ตัดสินต่อไป ถึงขั้นศาลสูง

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าจะมีลักษณะเฉพาะมาก แต่ก็ควรมองในกรอบของหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย จากข้อมูลที่ติดตามมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ถึงปัจจุบันมีพบว่าตัวเลขการละเมิดกฎหมายนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ตัวกฎหมายเองดูเหมือนเป็นกฎหมายที่เก่ามาก

เมื่อห้าปีที่แล้วกฎหมายหมิ่นประมาทเองก็ถูกใช้โดยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทักษิณมีความสามารถในการใช้กฎหมายนี้กับศัตรูทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่หลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหาร แล้วเราก็คงทราบพระราชดำรัสของในหลวงว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่สถาบันเสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีก็เพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร ในปีพ.ศ. 2550 อาจจะยังไม่มีปริมาณคดีเหล่านี้มาก เพราะคนเสื้อแดงยังไม่เกิดด้วยซ้ำในตอนนั้น แต่เท่าที่ทราบ ในปี 2550 มีกรณีที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่า 160 คดี แล้วปี 2551 ก็ลดลงมาเหลือ 80 คดี หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมาในตอนหลังก็ปวารณาตัวว่าจะควบคุมไม่ให้ใช้กฎหมายในทางที่ผิด มีการตั้งคณะกรรมการจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เหตุผลว่าตัวบทบัญญัติของกฎหมายนี้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือการใช้กฎหมายในทางที่ผิด

ในปีที่ผ่านมา มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 164 คดี และหลายคดีก็สู้กันถึงศาลฎีกา ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเราจะรอดูคำสั่งของศาลฎีกา

ข้อสังเกตคือสภาทนายความก็สนับสนุนกฎหมายนี้ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้รับข้อเรียกร้องในคดีเหล่านี้แต่ไม่เห็นแสดงจุดยืนอะไรออกมา ไม่มีการแยกแยะระหว่างผู้ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหรือสถาบันกษัตริย์กับผู้ที่ต้องการโค่นล้มสถาบัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ การตัดสินของศาลพบว่ามีกรณีที่ตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาถึง 94 เปอร์เซ็นต์

อาจจะดูเหมือนว่ากฎหมายนี้ชัดเจนว่าการปกป้องการกระทำที่ดูหมิ่นหรือการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท แต่ว่ากฎหมายนี้ก็ถูกใช้โดยอ้างเรื่องความมั่นคงด้วย คำถามคือจริงๆ แล้วกฎหมายปกป้องอะไรกันแน่

ท้ายที่สุด ขณะนี้มันเป็นเหมือนช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของไทย นี่เป็นมากกว่าประเด็นทางกฎหมาย  ไทยที่สามารถจะอนุญาตให้กับการแสดงความเห็นทางการเมือง นี่เป็นการท้าท้ายที่สำคัญ เมื่อพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ในหลายๆ ประเทศสถาบันกษัตริย์เข้มแข็งขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะการเปิดตัวให้เข้ากับสังคม มากกว่าการที่จะวางตัวบทกฎหมาย

จอน อึ๊งภากรณ์ ผมฟังงานวิจัยวันนี้เกิดคำถามหลายคำถาม เช่น ประเทศไทยเองปิดกั้นเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นไหม อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ทางการสามารถเข้าไปดูได้ว่าแต่ละคนใช้เว็บอะไรบ้าง นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก หรือในกรณีของประเทศเยอรมัน คุณจะแสดงความคิดเห็นซ้ายเกินไปก็ไม่ได้ ขวาเกินไปก็ไม่ได้ ผมยอมรับได้เรื่องการปิดกั้นการละเมิดหรืออนาจารเด็ก แต่ผมสรุปว่าอำนาจรัฐทั่วโลกเหมือนกันหมด คืออำนาจรัฐต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างเรื่องความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีงาม หรือการต่อสู้กับสงครามก่อการร้าย และเมื่อดูพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผมก็นึกถึง พ.ร.บ. ทางหลวงในสมัยทักษิณ ซึ่งเหมือนเป็นการบริหารพื้นที่ทางหลวง แต่ก็มีการสอดไส้ว่าห้ามชุมนุมบนทางหลวง ผมก็สู้เรื่องนี้ในสภา เขาก็บอกให้ไปชุมนุมในสวนสาธารณะ ผมก็ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก็ถูกสอดไส้เช่นกัน

ประเด็นของคุณเดวิด ผมว่าสำคัญ การจำกัดเสรีภาพมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเฉพาะพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่มีกฎหมายหมิ่นประมาท โดยเฉพาะนักการเมืองก็ใช้กฎหมายนี้บ่อย

มีอีกคำถามหนึ่งคือ ประเทศไทยค่อนข้างมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตราบใดที่ไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ ผมคิดว่าจริงในทางปฏิบัติ แต่ไม่จริงในทางทฤษฎี ความน่ากลัวของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  รวมถึงกฎอัยการศึกและพ.ร.บ. ความมั่นคง เปิดโอกาสการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่ทำลายสถาบันกษัตริย์ก็คือคนที่แสดงตัวว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นการปิดปากประชาชน เมื่อปิดปากประชาชน เขาก็ไปคุยกันที่บ้าน แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย และกฎหมายที่ทำลายสถาบันกษัตริย์ คือกฎหมายที่ปิดปากการแสดงความคิดเห็น หลัง 2549 คนอยากพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็เพราะคนอยากรู้และมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การปิดกั้นการแสดงความเห็นทำให้เรามีสิ่งที่เรียกว่าเรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สถาบันกษัตริย์ที่ปกติสังคมจะให้ความเคารพโดยธรรมชาติไม่ต้องมีใครมาบอกให้ใครเคารพ ในอังกฤษมี ส.ส. ที่ชอบตั้งคำถามเรื่องงบประมาณของสำนักพระราชวัง หรือเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีใครสนใจ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอยากจะเลิก ฉะนั้นในระบบประชาธิปไตยที่เป็นปกติ ไม่ได้ปิดกั้นรุนแรงแบบประเทศไทย ใครอยากจะพูดก็พูดไป อยากจะตั้งคำถามก็ตั้งไป จะล้อเลียนก็ได้ ผมเองเห็นว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตราทั้งหลายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต้องยกเลิกให้ได้ และยกเลิกโดยพลังของประชาชน ไม่ใช่ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งหมด แต่ต้องยกเลิกเนื้อหาที่จำกัดเสรีภาพ

กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรจะต้องมีดีเบตว่าจะจัดการอย่างไรดี ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรา 112 โดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าคนที่เป็นสถาบันต้องมีโอกาสที่จะปกป้องตัวเองจากการดูหมิ่นในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ต้องไม่มีโทษแบบปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ปัจจุบันเราจะเห็นสภาพแปลกคือทุกฝ่ายสามารถถูกคดีหมิ่นได้หมด และใครก็ได้สามารถไปกล่าวหาที่สถานีตำรวจที่ไหนในประเทศไทยก็ได้  

อีกประเด็นคือ เรื่องการปิดเว็บไซต์โดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะเว็บไซต์มันไม่มีภูมิศาสตร์ แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีภูมิศาสตร์ เช่นการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่อยุธยา คุณจะปิดกั้นเว็บไซต์อย่างไร คุณจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ: กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นสิ่งที่ถูกทุกคนใช้เป็นเครื่องมือ กฎหมายอาญามาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป และกรณีนี้ก็เคยเป็นเรื่องที่ถูกถามมายังประเทศไทยด้วย ผมเชื่อว่านักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ต้องตีความ คือหลักกฎหมายอาญาจะตีความโดยการใช้ขนบธรรมเนียมขยายตัวบทไม่ได้ ถ้าทุกคนยึดมั่นในหลักวิชาชีพเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าคดี 112 จะน้อยมาก

ถ้าเราย้อนกลับไปที่สามก๊ก ยุคล่มสลายก็คือขันทีทั้งสิบแอบอ้างฮ่องเต้ รอยัลลิสต์คือตัวทำลายสถาบันโดยแท้ ถ้าท่านซื่อสัตย์ในหลักวิชาชีพ จะต้องดูองค์ประกอบ ซึ่งกฎหมายมาตรา 112 กำหนดองค์ประกอบไว้ 3 ประการคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ไม่รวมการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือหลักการตีความตามวิชาชีพนักกฎหมาย แต่ตอนนี้มีปัญหามาก สาธารณชนอาจถามว่ายังมีเหลืออยู่หรือนักกฎหมายตามวิชาชีพ ผมก็คิดว่าไม่เหลือแล้ว ต้องเผาตำราหลักวิชาชีพทิ้ง และตีความอย่างกว้าง ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่รัฐสร้างมาตรฐานที่ผิด ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าสมควรจะมีองค์กรเหล่านี้อยู่ต่อไปหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตำรวจ อัยการ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมไม่ถือว่ามีองค์กรสิทธิมนุษยชนอยู่เพราะถ้ามีอยู่เขาต้องออกมาแล้วตั้งแต่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการฟ้องร้องคดี 112 ผู้ทำหน้าที่จะดูในพฤติการณ์ผู้กระทำ เช่น ย้อนไปว่า 10 ปีที่แล้ว หรือตีความ เช่น รูปการโพสต์ตู้กดเอทีเอ็ม ก็จะตีความไปเรื่อยๆ ว่าโพสต์เพื่อให้เกิดการด่าทอหรือไม่ จนกระทั่งผู้กระทำเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในที่สุด หรือกรณีการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ก็จะตีความไปจนกลายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีใครกล้าตีความตามหลักวิชาชีพ และผลักภาระโดยการฟ้องไปก่อน แม้ตำรวจจะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ผลักภาระไปยังผู้ถูกกล่าวหา ต่างคนต่างเอาตัวรอด

อีกตัวอย่างคือ เคยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงเรียกผมไปถาม เพราะมีคอลัมนิสต์ภาษาอังกฤษเขียนว่าการเดินทางกลับประเทศลำบากมากในช่วงที่พันธมิตรยึดสนามบิน และเขียนว่าแม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องเป็นกลางอย่างยิ่งไม่สามารถออกมาจัดการปัญหาได้ ผมบอกว่ากรณีนี้ไม่ผิด เพราะคอลัมนิสต์ระบุว่าทรงเป็นกลางทางการเมือง

พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นเอนกนิกรสโมสรสมมติ นั่นแปลว่าทรงฟังเสียงประชาชน กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่เจ็ด ทรงยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจะทรงกระทำการใดๆ ได้ต้องผ่านองค์กรหลัก ในฐานะนี้จะทรงอยู่เหนือการติชม เพราะการทำอะไรต้องทำผ่านองค์กร

สำหรับสถาบันตำรวจเองก็ต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน คนที่ทำลายสถาบันคือคนที่อ้างว่ารักสถาบันและฉวยโอกาสจากสถาบัน ที่สังคมไทยเป็นเช่นนี้ เพราะปัญหาหลักนอกจากตัวบทไม่ชัดเจนแล้ว ก็คือไม่มีความเป็นมืออาชีพ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภัควดี ไม่มีนามสกุล: บก.นิตยสารซาอุฯ ถูกจับเพราะตั้งคำถามถึงการสืบทอดราชบัลลังก์

Posted: 08 Dec 2010 04:18 AM PST

นิตยสารฉบับหนึ่งในซาอุดิอาระเบียรายงานว่า ตำรวจเข้าจับกุมบรรณาธิการนิตยสาร เพียงไม่กี่วันหลังจากบรรณาธิการผู้นี้เขียนถึงโอกาสที่จะเกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในราชวงศ์ เนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอของกษัตริย์และมกุฎราชกุมาร

การจับกุมครั้งนี้สะท้อนถึงความหวั่นไหวอย่างลึกซึ้งของราชวงศ์ซาอุที่มีต่อการคาดเดาของสาธารณชนเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ ความแตกแยกหรือความคลอนแคลนในตำแหน่งประมุขของประเทศ

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ วัย 86 ปี ขณะนี้พักฟื้นอยู่ในนิวยอร์กหลังจากเข้ารับการผ่าตัดหลังถึงสองครั้ง ส่วนผู้ที่จะสืบราชบัลลังก์องค์ต่อไปก็คือ มกุฎราชกุมารสุลต่าน น้องชายต่างมารดาวัย 85 ปี ซึ่งป่วยกระเสาะกระแสะเช่นกัน ถึงแม้สุลต่านจะเป็นผู้สำเร็จราชการซาอุดิอาระเบีย แต่ก็ดำรงตำแหน่งเพียงในนามเท่านั้น หลังจากใช้เวลากว่าปีในการพักฟื้นจากการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของตน ซึ่งมีรายงานว่าเป็นโรคมะเร็ง

การสืบราชบัลลังก์ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกประเทศนี้ เป็นการสืบบัลลังก์จากพี่ชายไปสู่น้องชาย เนื่องจากราชวงศ์รุ่นนี้อยู่ในวัย 80 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในอนาคตของพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกา

นิตยสาร Omma Conference กล่าวไว้ในแถลงการณ์ที่ขึ้นไว้บนเว็บไซท์ของนิตยสารว่า ตำรวจจับกุมนายโมฮัมเมด อัล-อับดุล คาริม บรรณาธิการของนิตยสาร ที่บ้านของเขาและพาตัวไปคุมขังที่คุกฮาเยอร์นอกเมืองหลวงริยาด แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา

ในบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนเมื่อสัปดาห์ก่อน นายอัล-อับดุล คาริม คาดการณ์ว่า การสวรรคตของกษัตริย์อับดุลเลาะห์อาจเป็นสาเหตุให้ราชอาณาจักรที่มั่งคั่งด้วยน้ำมันนี้ถึงกาลแตกสลาย

“จะเกิดอะไรขึ้นหากราชวงศ์ล่มสลายลงเพราะความขัดแย้งภายใน การต่อสู้ชิงอำนาจกันเอง หรือจากปัจจัยภายนอกประเทศ? ความเป็นปึกแผ่น (ของราชอาณาจักร) และชะตากรรมของประชาชนจะยังคงผูกพันอยู่กับการดำรงอยู่หรือล่มสลายของราชวงศ์หรือไม่?” เขาเขียนไว้เช่นนี้ในบทความชื่อ “การค้นหาชะตากรรมของประชาชนซาอุดิอาระเบีย”

“รัฐบุรุษบางคนต้องการระบอบการปกครองอะไรก็ได้ที่รักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้มาจากการปกครองแบบเผด็จการ ครอบงำ ละโมบ ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและติดสินบน” นี่คือข้อเขียนของเขา

สื่อมวลชนยังไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของทางการซาอุดิอาระเบียเพื่อขอความคิดเห็น

กษัตริย์ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นครั้งที่สองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พระองค์งดกิจกรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะหลัง

ตอนนี้ความสนใจจึงพุ่งไปที่ผู้มีสิทธิ์สืบสันตติวงศ์อันดับที่สอง นั่นคือ เจ้าชายนาเยฟ บิน อับดุล-อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจ เจ้าชายนาเยฟในวัย 76 ปี ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของกษัตริย์เช่นกัน นั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนกษัตริย์ตลอดเดือนที่แล้ว และทำหน้าที่เป็นตัวแทนราชอาณาจักรในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf Summit) ที่จัดในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เจ้าชายเองก็ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ด้วยโรคที่ไม่ระบุชัด

ชาวซาอุดิอาระเบียจำนวนมากแสดงความกังวลถึงโอกาสที่อาจเกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง เมื่อเจ้าชายในรุ่นปัจจุบันชราภาพลง เจ้าชายเหล่านี้เป็นโอรสของกษัตริย์อับดุล-อาซิส อัล ซาอุด ผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน

นักการทูตผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางกล่าวว่า ราชวงศ์ซาอุแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า ต่างแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงอำนาจ คาดว่าการแก่งแย่งกันนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อสุขภาพของกษัตริย์และมกุฎราชกุมารย่ำแย่ลง

ความขัดแย้งนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอ่าวอาหรับ พร้อม ๆ กับที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญการท้าทายจากอิหร่าน ทั้งในด้านโครงการนิวเคลียร์และการสั่งสมอิทธิพลต่อภูมิภาค

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 2005 หลังจากกษัตริย์ฟาฮัดสวรรคต แต่พระองค์เป็นประมุขประเทศโดยพฤตินัยมาถึงครึ่งทศวรรษ

เพื่อให้ระบบการสืบสันตติวงศ์เป็นไปโดยเรียบร้อย ใน ค.ศ. 2006 กษัตริย์อับดุลเลาะห์จึงแต่งตั้ง “สภาสามิภักดิ์” (Allegiance Council) ขึ้น สภานี้ประกอบด้วยลูกหลานของกษัตริย์อับดุล-อาซิส สภาจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงลับเพื่อเลือกกษัตริย์และมกุฎราชกุมารในอนาคต

อำนาจของสภานี้ยังไม่มีจนกว่าจะสิ้นสมัยของกษัตริย์อับดุลเลาะห์และสุลต่าน นั่นหมายความว่า สภาจะมีอำนาจชี้ขาดว่าเจ้าชายนาเยฟจะได้ครองราชย์เป็นองค์ต่อไปหรือไม่

คำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสิ้นเจ้าชายรุ่นลูกของกษัตริย์อับดุล-อาซิส เจ้าชายที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาเจ็ดแปดคนที่พอจะมีความสามารถและประสบการณ์ในการปกครอง ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในวัย 60 กลาง ๆ ซึ่งชี้ว่าเจ้าชายรุ่นนี้ยังมีเวลาเหลือที่จะครองอำนาจอยู่บ้าง

แต่ไม่ช้าก็เร็ว ราชบัลลังก์ก็ต้องตกเป็นของรุ่นต่อไป อันเป็นชนวนของปัญหาที่อาจทำให้เกิดการแตกแยกอย่างลึกซึ้งได้ กล่าวคือ โอรสของกษัตริย์อับดุล-อาซิสองค์ไหนที่จะได้สิทธิ์สืบทอดอำนาจแก่ลูกชายของตน การที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์ก่อตั้งสภาขึ้นมา ก็มีเป้าหมายส่วนหนึ่งที่ต้องการวางระบบสืบทอดอำนาจให้มีความราบรื่น

เจ้าชายแต่ละองค์จึงพยายามแต่งตั้งลูกชายของตัวให้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจ เพื่อสร้างหลักประกันให้สายเลือดของตน ยกตัวอย่างเช่น เจ้าชายโมฮัมเมด บุตรของเจ้าชายนาเยฟ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกองกำลังต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและเป็นผู้นำในการต่อสู้กับองค์การอัลกออิฎะห์

ก่อนเดินทางออกจากราชอาณาจักรไปรักษาตัว กษัตริย์อับดุลเลาะห์ได้มอบหมายให้เจ้าชายมิเตบ บิน อับดุลเลาะห์ โอรสองค์หนึ่งของพระองค์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์ชาติ ซึ่งมีกองทหารระดับแถวหน้าถึงราวสองแสนห้าหมื่นนาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงชนะประกวด FCCT

Posted: 08 Dec 2010 04:05 AM PST

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และ ออนเอเชีย ประกาศผลการประกวดภาพถ่ายเชิงข่าวครั้งที่ 4 ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ของอธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ได้อันดับหนึ่งภาพในเหตุการณ์ข่าว

8 ธ.ค. 53 - สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ร่วมกับ ออนเอเซีย เอเจนซี่ภาพถ่ายชั้นนำของเอเซีย ประกาศผลผู้ชนะจากการประกวดภาพถ่ายเชิงข่าวประจำปีนี้ ซึ่งจัดโดยเอฟซีซีที และ ออนเอเซียช่างภาพมากกว่า 350 ท่าน ได้ส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 7,000 ชิ้นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ชนะใน 4 ประเภทได้แก่ ภาพในเหตุการณ์ข่าว, ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว, ภาพสิทธิมนุษยชน (รางวัลประเภทพิเศษได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป) และ ภาพชุด นอกจากนั้นทางคณะกรรมการยังคัดเลือก รางวัลช่างภาพดีเด่นประจำปี ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวด

ดูภาพที่ได้รางวัลทั้งหมด >> http://www.fccthai.com/photo2010/SN1.html

ผู้ชนะในปีนี้ ได้แก่:

ช่างภาพดีเด่นประจำปี: พอลล่า บอนสตีล

ภาพในเหตุการณ์ข่าว
รางวัลที่หนึ่ง: อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา (ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง)
รางวัลชมเชย: แดเนียล เบเลฮูลัค (น้ำท่วมในประเทศปากีสถาน)
รางวัลชมเชย: เซปเทียวาน (กลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงจาการ์ตา)

ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว
รางวัลที่หนึ่ง: โปรเบิล เราะชีด (ผู้สวดมนต์ในประเทศบังกลาเทศ)
รางวัลชมเชย: โรเบิร์ต กิลฮูรี่ (การฆ่าตัวตายของภูเขาไฟฟูจิ)

ภาพสิทธิมนุษยชน
รางวัลที่หนึ่ง: คัทซูโอะ ทาคาฮาชิ (ผู้อพยพชาวพม่า)
รางวัลชมเชย: โนริโกะ ฮายาชิ (การโจมตีด้วยน้ำกรดในประเทศปากีสถาน)
รางวัลชมเชย: ปิแอร์เปาโล มิททิคา (เหมืองแร่กัมมะถันในประเทศอินโดนีเชีย)

ภาพชุด
รางวัลที่หนึ่ง: ซอก แจฮยอน (พนักงานเสิร์ฟในประเทศฟิลิปปินส์)
รางวัลชมเชย: อมแบร์โต ฟราตินี่ (อุตสาหกรรมบริการทางเพศในประเทศญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ FCCT จะได้จัดแสดงภาพที่ชนะเลิศจากการประกวด ณ คลับเฮ้าส์ของสโมสรเป็นเวลาประมาณสองเดือนด้วยกัน จนถึงช่วงปลายเดือนมกราคม โดยการจัดแสดงจะเปิดให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจด้านการถ่ายภาพได้เข้า ชม ณ นิทรรศการ เอฟซีซีที โฟโต้ คอนเทส วินเนอร์

วันที่: 3 ธันวาคม - 29 มกราคม
สถานที่: เอฟซีซีที คลับเฮาส์ ชั้นเพนท์เฮ้าส์ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ เลขที่ 518/5 ถนน เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 (เชื่อมกับบีทีเอส สถานีชิดลม)

เวลาทำการ: เปิดทุกวันจันทร์ — ศุกร์ 10.00 น — 23.00 น. ปิดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุด โทร: 02-652-0580-1
อีเมลล์: info@fccthai.comเว็บไซท์: http://www.fccthai.com

ที่มาข่าว:

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) และ ออนเอเชีย ประกาศผลการประกวดภาพถ่ายเชิงข่าวครั้งที่ 4 (ThaiPR.net, 8-12-2553)
http://www.ryt9.com/s/prg/1044727

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฟนบอลไทยนัดรวมพลไล่ "วรวีร์" ล้างบางสมาคมบอลไทย

Posted: 08 Dec 2010 03:29 AM PST

แฟนบอลไทยในโลกไซเบอร์ระดมพลชุมนุมใหญ่ กดดัน นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอล รับผิดชอบต่อผลงานที่ล้มเหลวของทีมฟุตบอลไทย

8 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าแฟนบอลไทยในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ยังคงรวมพลังกันเดินหน้าขับไล่ นาย วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ออกจากตำแหน่ง หลังจากทีมชาติไทยตกรอบแรก ศึกฟุตบอล "ซูซูกิ คัพ 2010" เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

กระแสการตั้ง กระทู้ตำหนิการทำงานของ นายวรวีร์ ใน พันทิป ดอทคอม เว็บไซต์แสดงความคิดเห็นชื่อดัง และเว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวกับฟุตบอล ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้าช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดแฟนบอลบางรายถึงกับตั้งกระทู้ให้สมาชิกลงชื่อไล่ นายวรวีร์ และ ไบรอัน ร็อบสัน กุนซือทีมชาติไทย ให้ยอมทิ้งเก้าอี้กันได้แล้ว

ขณะ เดียวกัน ยังมีกระแสข่าวว่า แฟนบอลในเว็บบอร์ด เว็บไซต์ พันทิป ห้อง ศุภชลาศัย อาจมีการนัดชุมนุมกันที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมฟุตบอลฯ โดยในเบื้องต้นอาจเป็นวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เวลา 10.30 น. พร้อมทั้งยังได้ขอให้มีการเขียนป้ายประท้วง, ใบปลิว, สัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึง ใส่เสื้อทีมฟุตบอลในศึกไทยพรีเมียร์ลีก, ดิวิชั่น 1, ดิวิชั่น 2 มาด้วย (คลิกที่นี่)

ส่วนเฟซบุ๊ค "มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน ไม่เอาผู้บริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยชุดนี้" ยังมีการนัดชุมนุมกันที่ อาคาร มาลีนนท์ ที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในวันเสาร์ที่ 11 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อร้องขอความรับผิดชอบของสมาคมฟุตบอลฯ ต่อหน้าสื่อมวลชน.

ที่มาข่าว:

แฟนบอลแสดงพลัง!นัดรวมพลตะเพิด'วรวีร์' ล้างบางสมาคมฟุตบอล (ไทยรัฐออนไลน์, 8-12-2553)
http://www.thairath.co.th/content/sport/132717

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เอพีพีซี-ข้าราชการอุดร เมินแจง กรรมการสิทธิ์ อปท.สำทับ ‘ปักหมุดเหมืองโปแตชไม่ชอบ’

Posted: 08 Dec 2010 03:14 AM PST

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมฟ้าหลวง โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดเวทีรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง และสื่อสารต่อสาธารณะ กรณีการปักหมุดรังวัดขอบเขตแผนที่คำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ซึ่งดำเนินการโดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้มีข้อร้องเรียนถึงขั้นตอนการดำเนินการว่าหน่วยงานรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน เนื่องจากมิได้มีการประชุมชี้แจง และประชาคมถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการดำเนินการปักหมุดรังวัด ที่ไม่มีความชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการดำเนินการของ กพร. ได้นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของชาวบ้านระหว่างฝ่ายสนับสนุน กับฝ่ายคัดค้านการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร้องเรียนเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดเวทีภายในวันนี้ว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จำนวนกว่า 200 คน ได้พร้อมใจกันเดินทางไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยมีหน่วยงาน/องค์กรราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ เข้าร่วม ซึ่งนอกจากผู้แทนจาก กพร. และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ก็ยังมีข้าราชการอำเภอประจักษ์ฯ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนการรถไฟ, ผู้แทนอบต. 4 ตำบลในพื้นที่ (ได้แก่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม) , ฯลฯ รวมทั้งมีตัวแทนจากสถาบันวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชมมาเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่พบผู้แทนข้าราชการในจังหวัดอุดรธานี และบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทที่ยื่นคำขอประทานบัตรดำเนินโครงการเข้าร่วมชี้แจง โดยทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้ออกหนังสือเชิญทั้งจังหวัดและบริษัทฯ แล้วเพื่อให้มาชี้แจง

ขณะเดียวกันกลับพบว่านายทวี เรืองปราชญ์ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของ บริษัทเอพีพีซี ได้เกณฑ์ชาวบ้านกลุ่มสนับสนุน จำนวนกว่า 50 คน มาก่อกวนอยู่ด้านนอกห้องประชุม และส่งตัวแทนประมาณ 10 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวที จึงทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่พอใจและเกิดการทะเลาะโต้เถียงกันขึ้น แต่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง โดยนพ.นิรันดร์ ได้ขอความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายให้อยู่ในอาการสงบ

โดยนายชาติ หงษ์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้กล่าวถึงการดำเนินการปักหมุดรังวัด เมื่อ วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า เจ้าหน้าที่ กพร. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ในส่วนการประชาคม หรือการรับฟังความคิดเห็นนั้น มิได้มีระเบียบปฏิบัติที่จะต้องกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นก่อนการรังวัดเขตคำขอประทานบัตร ไม่ว่าจะเป็นคำขอประทานบัตรตามปกติ คำขอประทานบัตรเข้าข่ายโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน แต่สำหรับกรณีคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน กรณีเหมืองโปแตซจังหวัดอุดรฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชานในพื้นที่ทราบแล้ว และล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้มีการจัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการขอประทานบัตรและรังวัดคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดินไปแล้ว จึงถือว่าการปักหมุดดังกล่าวเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์

ด้านผู้แทนจากส่วนราชการในพื้นที่ทั้ง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม, ผู้แทนจากการรถไฟ และผู้แทนจาก อบต. 4 ตำบล ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าส่วนราชการในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการปักหมุดรังวัดในครั้งนี้แต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมด กพร.ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการเอง

โดยนายประจักษ์ อุดชาชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจาก กพร.เชิญให้เข้าร่วมรับฟังในเวทีวันที่ 29 ต.ค. ในเช้าวันเดียวกันนั่นเอง ซึ่งเห็นว่ามันมีความสำคัญกับพี่น้องในชุมชนจึงเข้าร่วมเวที และในวันถัดมาที่มีการปักหมุดรังวัดตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้มีการแจ้งมาถึง อบต. แต่รู้เรื่องได้จากการเห็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ออกมาคัดค้านการปักหมุดดังกล่าว ตนจึงคอยช่วยดูแลเรื่องน้ำดื่ม และห้องสุขาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน

ด้าน นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึง การดำเนินการปักหมุดรังวัด ของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในช่วงที่ผ่านมาว่า การปักหมุด รังวัด ของ กพร. ไม่มีความชอบธรรม เพราะว่าไม่ได้มีการลงมาชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ สิ่งที่ กพร. ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาฯ ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการจัดเวทีประชาสัมพันธ์เพียงเท่านั้น โดยมีการใช้เงินเกณฑ์ชาวบ้านไปร่วมเวทีให้เสร็จสิ้นพอเป็นพิธีกรรมแล้วก็ลงมารังวัดเลย แล้วสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

 “สำหรับเวทีในวันนี้ ดิฉันรู้สึกแปลกใจและกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้แทนจากจังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการดำเนินการปักหมุดรังวัดไม่ได้เข้าร่วมชี้แจง และบริษัทก็ไม่ได้เข้ามาชี้แจงข้อกังขาแก่ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ขั้นตอนของการรังวัดเป็นขั้นตอนเริ่มแรกที่สำคัญของการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ แต่บริษัทก็ไม่ใส่ใจต่อการมีส่วนร่วม แล้วต่อไปถ้าหากบริษัทจะดำเนินโครงการเหมืองโปแตซจะรับผิดชอบ และสร้างความเชื่อใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไร” นางมณี กล่าว

ในส่วนของนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้าน สิทธิชุมชน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึงการจัดเวทีในวันนี้ว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในกรณีการปักหมุดรังวัดเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีว่าไม่มีความชอบธรรม โดยบทบาทของคณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยในวันนี้เป็นการเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วคณะกรรมการสิทธิจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปเพื่อนำไปสู่การสรุปเป็นความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิฯ อีกทั้งเวทีในวันนี้ยังเป็นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงสู่สาธารณะให้รับรู้ถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น

นายแพทย์นิรันดร์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อยากให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยึดหลัก ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66 และ 67 เพราะเป็นหลักพื้นฐาน ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือเอกชน และเรื่องของความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากเกิดขึ้นมาแล้วก็ยากที่จะเยียวยาดังที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิเชต ผัดวงศ์: บทเรียนจากเกาหลีใต้ กับ “มาตรฐาน” ที่ควรเอาเยี่ยงแต่ไม่ควรเอาอย่าง

Posted: 08 Dec 2010 02:45 AM PST

เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ในอดีตผู้คนอาจนึกถึงภาวะสงครามการแบ่งแยกดินแดน แต่ปัจจุบันกลับถูกจับตามองในฐานะประเทศที่มีการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมเกาหลีใต้ทั้งทางด้านอาหาร โสม อุตสาหกรรมภาพยนตร์แพร่กระจายไปทั่วทุกทวีป สถานที่ท่องเที่ยวและมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติให้เป็นมรดกโลก
 
เกาหลีใต้และไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมาช้านาน ปัจจุบันความสัมพันธ์ดังกล่าวทวีสูงขึ้น การไปมาหาสู่การติดต่อค้าขายเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกปี การเรียนรู้ประเทศเกาหลีใต้จึงเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะทำให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกไร้พรมแดนยุคใหม่
 
ผมมีโอกาสได้ไปเยือนเกาหลีใต้ 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีความทรงจำและประทับใจที่แตกต่างกัน เกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 1847 เป็นประเทศที่ยากจนมาก ประชาชนข้นแค้นถูกกดขี่จากภัยสงคราม แม้ที่ผ่านมาปัญหาอุปสรรคของประเทศจะนานัปการเพียงใด แต่เกาหลีใต้ได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงอย่างสง่างามและรวดเร็ว จนเป็นที่สนใจของทั่วโลก ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเกาหลีใต้พัฒนาตนเองอย่างน่าอัศจรรย์ จนกลายเป็นประเทศแถวหน้าของเอเชีย
 
เท่าที่สังเกตเห็นว่าที่เกาหลีใต้เขาใช้รถยนต์ยี่ห้อฮุนได ยี่ห้อแดร์วู ซึ่งผลิตเองในประเทศ แทบไม่มีรถยี่ห้ออื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศเลย ได้รับคำอธิบายว่าคนที่นี่เขาอนุรักษ์นิยมกันมาก ที่สำคัญเขาคับแค้นใจญี่ปุ่นที่ก่อสงครามและเข้ายึดครองประเทศเกาหลีหลายปี ฝากบาดแผลหลายอย่างให้กับชาวเกาหลี จึงปฏิเสธสินค้าจากญี่ปุ่น
 
ช่วงสงครามก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาด้านความไม่สงบ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ผู้หญิงเกาหลีจำนวนมากถูกบังคับให้เป็นนางโลม เพื่อสนองความต้องการของทหารต่างชาติ ทั้งทหารญี่ปุ่น อเมริกาและสหประชาชาติ
 
เมื่อพ้นภาวะสงคราม บางคนก็ยังต้องยึดอาชีพเดิม บางคนก็มีครอบครัวเยี่ยงคนปกติทั่วไป แต่ทุกคนยังมีบาดแผลในใจที่ไม่มีสิ่งใดเยียวยาได้
 
จากที่ได้ไปเยือนเกาหลีใต้มาทั้งสองครั้ง พอจะมองได้ว่าแม้เกาหลีใต้รับเอกราชมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ประชากรโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในอาการหวาดระแวงต่อผลพวงจากการล่าอาณานิคมจากต่างชาติ
 
ชาวเกาหลีใต้จึงดูขาดอิสระไม่ค่อยมีความสุขเหมือนคนไทย การดำเนินวิถีชีวิตดูค่อนข้างลุกลี้ลุกลน รีบเร่งไม่สงบเรียบง่ายเท่าใดนัก
 
ด้วยข้อจำกัดด้านบริบทและประวัติศาสตร์ทางสังคมดังกล่าว อีกทั้งแรงเสียดทานหลายๆอย่างดังนำเรียนมาแต่ต้น เกาหลีใต้จึงมุ่งฟื้นฟูประเทศพัฒนาเศรษฐกิจ จนปัจจุบันมีความรุดหน้าเป็นที่ประจักษ์ชัด
 
เนื่องจากในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามารุกรานและปกครองเกาหลีนั้น คนเกาหลีถูกกดขี่ข่มเหงมาก จนเป็นความเจ็บแค้นที่ฝังใจ รัฐบาลเกาหลีใต้นำเอาจุดนี้มาใช้ปลุกระดมประชาชนเกาหลีใต้ทั้งหมด ทำให้ประชากรของพวกเขามีความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นที่จะเอาชนะคนญี่ปุ่น การสร้างกลยุทธ์นี้ทำให้คนเกาหลีใต้เกิดกำลังใจร่วมไม้ร่วมมือพัฒนาประเทศอย่างแข็งขัน
 
นโยบายการปลุก "ชาตินิยม" ประสบผลสำเร็จ เกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และทำให้ชาวเกาหลีใต้ย่างก้าวเข้าสู่ความไฮเทคขึ้นทุกวัน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังทุ่มทุนในเรื่องของการศึกษา เอาแบบอย่างทางการศึกษาของสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาแล้ว
 
วันนี้คนเกาหลีใต้มีข้อมูลสำหรับการผลิต รัฐบาลทุ่มทุนด้านศูนย์เทคโนโลยีอย่างมหาศาล พวกเขาสามารถผลิตสินค้าออกมาได้อย่างมากมายมหาศาล จนเกินกว่าที่พวกเราจะคาดถึง เป็นผลที่ได้จากคลังสมองส่วนกลางที่รัฐบาลลงทุนให้ จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักไปแล้ว แม้กระทั่งในเรื่องรถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คิดขึ้นเอง และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกในต้นทุนที่ต่ำกว่า
 
อันที่จริงเกาหลีใต้มีทรัพยากรทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมทุกด้านค่อนข้างจำกัดกว่าไทยเรา ดูอย่างวัฒนธรรมการบริโภค หากจะเปรียบเทียบแล้วในไทยหากไปรับประทานอาหารตามร้านต่างๆ ทางร้านจะมีเมนูรายการอาหารให้เลือกไม่น้อยกว่า 20 รายการ แต่ที่เกาหลีใต้จะมีรายการให้เลือกไม่มากเท่ากับที่บ้านเรานัก
 
หรืออย่างด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น แหล่งท่องเที่ยวทั้งในเชิงธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ในเมืองไทยมีมากกว่าเกาหลีใต้ เพียงแต่เขาทุ่มทุนและมีแนวคิดแปลกใหม่ในการนำเสนอ อีกทั้งสามารถสร้างกลยุทธ์หาจุดเด่นในการประชาสัมพันธ์จนดังกระหึ่มไปทั่วโลก
 
เกาหลีใต้หน้าฉากของประเทศคือทุนนิยมแต่แท้ที่จริงเกาหลีใต้มีระบบสหกรณ์เข้มแข็งมาก การขายสินค้าการเกษตรเขาตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ชาวไร่ชาวนาเกาหลีใต้เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเกษตรและอาหารทะเลด้วยตัวเอง
 
ผู้คนในชนบทของเกาหลีใต้เชื่อในหลักการช่วยเหลือตนเองและร่วมมือช่วยเหลือกัน มีอุดมการณ์สหกรณ์สูงและนำหลักสหกรณ์มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มีบทบาทอำนวย ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ให้กับผู้คนในชนบท
 
ดังที่ทราบกันดีในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ระบบสหกรณ์ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่ง ยืน
           
เพราะตามหลักการสหกรณ์จะเน้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมและมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ อันเป็นที่มาของการรวมกลุ่มในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ที่ยั่งยืน สิ่งนี้น่าจะนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเรา
 
เกาหลีใต้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ อันมีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การเมืองเกาหลีเต็มไปด้วยการเอาจริงเอาจัง ภาคประชาชน สื่อมวลชนและองค์กรเอกชนมีการตรวจสอบนักการเมืองอย่างจริงจัง ทั้งประวัติปัจจุบันและพฤติการณ์ในอดีต โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอรัปชั่นในเกาหลีใต้ถือเป็นเรื่องใหญ่ นักการเมืองและผู้บริหารภาคธุรกิจหลายรายถูกจับได้ต้องออกมาขอโทษประชาชนและฆ่าตัวตายไปหลายราย
 
นักการเมืองเกาหลีใต้มีความรับผิดชอบสูงขึ้นชื่อเรื่องไม่นิยมความเห็นแก่ตัว ( non selfish)และความไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง (non partisan interest) อาทิ ช่วงรัฐบาลรักษาการ คณะกรรมการสรรหาประธานาธิบดีได้เลือกนายฉ่อย คิวฮา เป็นผู้นำประเทศ จากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีนายชิน เฮียนฮวาดเป็นนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราว ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นโดยเร็ว โดยตัวเองจะไม่ลงสมัครเข้ารับการแข่งขันเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการครหาและความเคลือบแคลงใจของประชาชนเกี่ยวกับการผูกติดอำนาจของเขา
 
หรือกรณีนายคิมแตโฮว่าที่นายกรัฐมนตรีต้องถอนถตัวออกจากการแข่งขันเพียงถูก ส.ส.ซักถามในคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในช่วงที่เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายคิมแตโฮ อายุเพียง 47 ปี เขาเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายจุงอุนซานที่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่ไม่สามารถผลักดันโครงการสำคัฐของรัฐบาล
 
ข่าวดังรอบปี 2552 ที่ผ่านมา เหตุการณ์น่าเศร้าช็อกโลกเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ข่าวนายโนห์ มู-เฮียน อายุ 63 ปี อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้เสียชีวิตแล้วโดยได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้ ก่อนจะกระโดดจากเขาใกล้กับบ้านพักของตัวเอง
 
นายโนห์ มู เฮียน นั้นได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2546-2551 และกำลังอยู่ระหว่างการถูกสอบสวนในข้อหาเกี่ยวกับการรับเงินสินบน โดยครอบครัวของเขาถูกตั้งข้อหารับเงินสินบนจากนักธุรกิจมหาเศรษฐี ขณะที่พนักงานอัยการเชื่อว่าภรรยาของนายโนห์ รวมถึงบุตรชายและหลานเขย ได้รับเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักธุรกิจที่ร่ำรวยและมีอิทธิพล แต่นายโนห์ปฏิเสธว่าเขาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี
 
มองบ้านเขาแล้วย้อนดูบ้านเรา หากเรามุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว ตลอดถึงเทคโนโลยีระบบสารสนเทศอย่างมีทิศทาง กำหนดเป้าหมายสัมฤทธิ์ผลให้ชัดเจน ร่วมกันทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นให้เป็นสยามเมืองยิ้มที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างไมตรีจิตดังที่เคยเป็นมา การจัดการหรือใช้ระบบอำนาจทั้งด้านรัฐสภา การบริหาร และระบบกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นสองมาตรฐาน (double standard) ทุกฝ่ายได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ความปรองดองตามเสียงเรียกร้องก็จักบรรลุผลโดยเร็ว
 
มองนักการเมืองไทยกับนักการเมืองเกาหลี ผู้นํา (Leader) หมายถึงผู้บริหารผู้มีอํานาจในการตัดสินใจ ภาวะผู้นํา (Leadership) หมายถึงกระบวนการที่บุคคลซึ่งเป็นผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ตามหรือลูกน้องยอมรับและปฏิบัติตามเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ตัวอย่างนักการเมืองเกาหลีใต้ดังนำเรียนบ้างแล้วตั้งแต่ต้น ระบบการเมืองเกาหลีใต้ซึ่งก็หาใช่ว่าจะดีเลิศถึงขนาดต้องยกยอให้เลิศหรู ภาพการชกต่อยกันในสภาของบรรดา ส.ส. ก็มีให้เห็นบ่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่าสำนึกในการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนรวมถึงคนรอบข้างและความรับผิดชอบต่อสังคมของเขาค่อนจะโดดเด่นอยู่มาก
 
สำหรับภาวะผู้นําของไทยดูจะหมิ่นเหม่เกิดความสั่นคลอนและขาดเสถียรภาพ เริ่มจากกรณีการผลักดัน ผบ.ตร คนใหม่ ที่ถูกเบรกจนนายกรัฐมนตรีหัวเสียด้วยมติ ก.ตร. กว่าจะได้ตัว ผบ.ตร. เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอ นี่ยังไม่รวมถึงการตีกลับหรือต้องทบทวนมติ ครม.หลายเรื่อง การแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในหลายกระทรวง การประชุมสภาฯ ที่ไม่ครบองค์ประชุม ล่มแล้วล่มอีก ฯลฯ ตลอดถึงข้อระแวงสงสัยในพฤติการณ์ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตลอดถึงคนรอบกายหลายคน ย่อมไม่อาจปฏิเสธว่ามีผลต่อภาพลักษณ์การเมืองไทย อย่างที่ใครต่อใครบ่นว่าคงไม่มียุคไหนที่การเมืองไทยจะตกต่ำเยี่ยงนี้อีกแล้ว
 
กรณีล่าสุดมีเสียงวิภาควิจารณ์คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ผู้คนบางส่วนนึกโยงใยไปถึงปรากฏการณ์คลิปฉาวที่สร้างความสนใจล่วงหน้าการตัดสินไม่กี่วัน ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ยังมีการพูดถึงคำตัดสินคดี สมัคร สุนทรเวช รวมถึงการดำเนินคดีก่อการร้ายของกลุ่ม เสื้อเหลือง กับ เสื้อแดง
 
ชาวเกาหลีใต้มุ่งลดข้อขัดแย้งกันภายในลง ขจัดอคติด้านภูมิภาคนิยม ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เกิดความเท่าเทียมกัน กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีมาตรฐาน และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้มีรายได้ต่ำให้มีชีวิตอยู่ในสังคมเฉกเช่นคนอื่น นอกจากนี้ มุ่งลดการเผชิญหน้าระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมด้วยการส่งเสริมให้มีการเจรจาตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเน้นสิทธิมนุษยชน
 
รัฐบาลเกหลีใต้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการทำงาน และได้เรียกร้องให้คนเกาหลีร่วมแบ่งเฉลี่ยความทุกข์ยาก หันหน้าร่วมมือกันทำงานหนักผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศ จนทำให้ได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมาก อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3-5 ต่อปี ผู้นำประเทศได้ใช้นโยบายเชิงรุก ทุ่มเทการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมทางด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีทางชีวภาพ เพื่อมุ่งความก้าวล้ำนำหน้าโลกในสาขานี้ในอนาคต
 
รัฐบาลเกาหลีใต้เขาทำกันอย่างนั้น แล้วรัฐบาลบ้านเราหละ จะมองไปข้างหน้ากันอย่างไร คงไม่เข้าทำนองต้องเข้าโรงหมอฉีดยา ต่ออายุ ยื้อเวลา เกาะเก้าอี้ ข้าดีคนเดียว อย่างที่เขาว่ากัน..!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านเต็มๆ คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของ "ตลก." กรณีไม่ยุบ "ประชาธิปัตย์"

Posted: 08 Dec 2010 02:39 AM PST

8 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ (www.constitutionalcourt.or.th) ได้นำคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ กรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเผยแพร่ดังนี้

คำวินิจฉัยกลาง เข้าไปดูที่ >>  http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=167&Itemid=210&lang=th

คำวินิจฉัยส่วนตน เข้าไปดูที่ >>  http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=228&Itemid=175&lang=th

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อุดมศักดิ์" หนึ่งในสี่ "ตลก." ข้างมากแถลงยันวินิจฉัยสุจริตและเป็นกลาง

Posted: 08 Dec 2010 02:30 AM PST

“อุดมศักดิ์ นิติมนตรี” 1 ใน 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก แถลงชี้แจงการยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันสุจริตและเป็นกลาง

8 ธ.ค. 53 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจกความเห็นในการวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตนของนายอุดมศักดิ์ 1 ใน 4 ตุลาการเสียงข้างมากที่วินิจฉัยให้ยกคำร้อง พร้อมกับออกแถลงการณ์ว่า เพื่อชี้แจงคำวินิจฉัยส่วนตน โดยมีใจความว่า ในเรื่องระยะเวลา 15 วัน ที่เห็นว่าแม้ไม่ใช่กำหนดเวลาเร่งรัด และไม่ใช่อายุความแพ่งที่คู่กรณียกขึ้นต่อสู้ แต่ศาลสามารถหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เอง โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่า รายงานการจ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองต้องทำทุกปี แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่เมื่อตรวจสอบพบความไม่ถูกต้อง ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นและยุติในเวลาที่กฎหมายกำหนด

นายอุดมศักดิ์ ยังระบุการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า กฎหมายเก่าและใหม่แตกต่างกัน กฎหมายเก่าไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. แต่กฎหมายใหม่หรือกฎหมายปัจจุบันต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.ในทุกกรณี ซึ่งในการประชุมของ กกต. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552  ไม่ว่านายทะเบียนจะมีความเห็นยุบหรือไม่ยุบ แต่ให้ถือว่าในวันดังกล่าวความได้ปรากฏต่อนายทะเบียนและ กกต.แล้ว ต้องเริ่มนับวันที่ต้องยื่นคำร้องตั้งแต่วันดังกล่าว

ในท้ายคำแถลงการณ์ นายอุดมศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า คำวินิจฉัยส่วนตน ได้วินิจฉัยทั้งประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงครบถ้วนทุกประเด็น และมีความเห็นที่แตกต่างและขัดกับความเห็นของเสียงข้างมาก 3 ใน 4 เสียงอยู่บ้างบางประการ  และขอชี้แจงเหตุผลตามความเห็นส่วนตัว ที่ได้พิจารณาไปด้วยความสุจริตใน เป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่มีผู้ใดก้าวก่ายแทรกแซงแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นการพิจารณาโดยยึดตัวบทกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นหลักในการวินิจฉัย อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ตนพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และขอยืนยันว่า ไม่ได้กระทำการใดไป โดยมีเจตนาคดโกง และขอความกรุณาให้เกียรติในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศโดยทั่วไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้สื่อข่าวไปเฝ้ารอ เพราะคาดว่าจะมีการแจกคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะในคดีดัง กล่าวทั้งหมด ซึ่งการรักษาความปลอดภัยภายในศาลเป็นไปโดยปกติ  ไม่ได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกรณี พิเศษ แม้ในวันพรุ่งนี้ ( 8 ธ.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพร้อมคู่กรณี คือ อัยการสูงสุดกับพรรคประชาธิปัตย์ ในคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เวลา 10.00 น.ก็ตาม

ที่มาข่าว:

“อุดมศักดิ์” ออกแถลงการณ์ยืนยันวินิจฉัยคดีด้วยความสุจริตและเป็นกลาง (สำนักข่าวไทย, 8-12-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/140041.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Posted: 08 Dec 2010 02:10 AM PST

การรบกันระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงจากกองกำลังดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army) ยังคงปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านราว 700 คน ที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านวาเลย์ ในเขตเมืองกอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ต้องลี้ภัยสงครามเข้ามายังชายแดนไทยตรง อ.พบพระ จ.ตาก โดยทางการไทยได้จัดพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวบ้านที่หนีภัยสงคราม ด้านเจ้าหน้าที่จากคลินิกแม่ตาวได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านจากฝั่งพม่า

มีรายงานว่า ชาวบ้านบางส่วนได้เดินทางกลับบ้าน ในรัฐกะเหรี่ยงแล้ว หลังพบว่าสถานการณ์สู้รบเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องเดินทางกลับเข้ามาชายแดนไทยอีกครั้ง เมื่อทหารพม่าและทหารดีเคบีเอได้เปิดฉากโจมตีกันอีกระลอกใหม่ ด้านเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับชาวบ้านที่หนีภัยสงครามเข้ามายังฝั่งไทยในการที่จะเดินทางกลับไปในหมู่บ้านของตน 

ทั้งนี้ ในคืนวันศุกร์ (3 พ.ย.)ที่ผ่านมา ทหารดีเคบีเอ จากกองพลที่ 5 ภายใต้การนำของนายพลนาคามวยได้ใช้อาวุธหนักโจมตีที่ตั้งค่ายของทหารพม่า บริเวณเนินเขาในเบริเวณหมู่บ้านวาเลย์ ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของทหารดีเคบีเอ กองพลที่ 5 แต่ถูกทหารพม่าเข้ายึดได้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มเกิดขึ้นนับตั้งแต่ทหารดีเคบีเอ ภายใต้นายพลนาคามมวย ซึ่งปฏิเสธแปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน( Border Guard Force) และได้เข้ายึดเมืองเมียวดีในตอนดึกของคืนวันเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่ทหารพม่าได้ขับไล่ให้ทหารดีเคบีเอออกจากเมืองเมียวดี ขณะที่การสู้รบประปรายระหว่างทั้งสองกลุ่มยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เป็นเหตุให้คลื่นผู้อพยพยังคงเดินทางเข้าไทย

สถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยงเองยังคงยุ่งยากซับซ้อน เมื่อทหารจากกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ กะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) กองกำลังฝ่ายทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ได้เข้ามาในพื้นที่สู้รบ และให้ความช่วยเหลือกับทหารดีเคบีเอ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศเตือนทหารพม่าให้ถอนกำลังออกจากเขตควบคุมของทหารกะเหรี่ยง

ทั้งนี้ การปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารเคเอ็นแอลเอได้เกิดขึ้นทั่วในรัฐกะเหรี่ยงเช่นเดียวกัน โดยทหารเคเอ็นแอลเอได้เคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่กองบัญชาการค่ายมาเนอปลอ ซึ่งในอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของนายพลโบเมียะ ผู้นำคนสำคัญของ KNU แต่ถูกทหารพม่ายึดได้ในปี 2538

ด้านเลขาธิการเคเอ็นยู นางซิปโปรา เส่ง คาดการณ์ว่า ทางกองทัพพม่าจะเข้าปฏิบัติการทางทหารมากขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงในอนาคตนี้ “เราได้ทำความเข้าใจกันแล้วกับทหารดีเคบีเอ ว่าเราจะไม่รบกัน และเราสามารถร่วมมือกันได้ หากถูกทหารพม่าโจมตี” นางซิปโปรา เส่งกล่าว

ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางการไทยและพม่าได้ตกลงที่จะส่งผู้ลี้ภัยจำนวน 1 พันคน จากหมู่บ้านเมททา ลิน หม่าย และหมู่บ้านพาลู เขตเมืองเมียวดีกลับฝั่งพม่าแล้ว ด้านสถานการณ์ในรัฐคะฉิ่น มีรายงานว่า กองทัพพม่าได้เพิ่มอาวุธและกำลังทหารเข้าประจำใกล้กับสำนักงานใหญ่ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization) ในเมืองไลซา รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ

เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างทหารพม่าและทหารคะฉิ่นเกิดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์(5 พ.ย.)ที่ผ่านมา หลังทหารทั้งสองฝ่ายต่างยิงปืนขึ้นฟ้าตรงบริเวณด่านการค้าคะฉิ่น-จีน  (Irrawaddy 7 พ.ย.53)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น