โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงานเอ็กซ์คลูซีฟจากรอยเตอร์: หลักฐานบ่งชี้ว่าทหารไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในความตายของพลเรือน

Posted: 10 Dec 2010 09:33 AM PST

กรุงเทพฯ (รอยเตอร์) รอยเตอร์ได้เห็นเอกสารทางการไทยที่รั่วไหลออกมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กองทัพไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารชีวิตพลเรือนระหว่างเกิดความไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อกลางปีนี้ ถึงแม้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ยอมรับก็ตาม

การสอบสวนเบื้องต้นของรัฐต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ได้ข้อสรุปว่า กองกำลังพิเศษของไทย ซึ่งวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ ได้ยิงลงไปในบริเวณวัดที่มีผู้ประท้วงหลายพันคนเข้าไปหลบภัยในวันที่ 19 พฤษภาคม

การสอบสวนนี้พบว่า ประชาชน 3 ใน 6 คนที่ถูกยิงตายในวัดน่าจะเสียชีวิตจากกระสุนของกองทหาร ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับแถลงการณ์ของกองทัพไทย ซึ่งออกมาปฏิเสธว่าทหารไม่มีส่วนรับผิดชอบในการสังหารที่วัด

รายงานนี้กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสรุปว่า ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของประชาชนอีกสามคนในวัดนั้น แต่รายงานระบุว่า เหยื่อทั้งหกรายถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง

มีข้อเท็จจริง หลักฐานและปากคำพยานมากเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า การเสียชีวิต (ทั้งสามราย) เป็นผลมาจากปฏิบัติการของกองกำลังด้านความมั่นคงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ผู้สอบสวนระบุไว้เช่นนี้ โดยแนะนำให้ตำรวจสืบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตต่อไป

เมื่อรอยเตอร์ตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกสารที่รั่วไหลออกมานี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้ปฏิเสธว่าเอกสารนี้ไม่ใช่เอกสารจริง แต่กล่าวว่า การสอบสวนยังไม่สมบูรณ์และกำลังพยายามเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนต่อไปจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล ดังนั้น เราจึงไม่ควรตื่นตูมไปกับข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ เขากล่าว

ผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (ดีเอสไอ) น่าจะยิ่งกระตุ้นขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ คนเสื้อแดง ที่ท้าทายความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกมากล่าวโทษเมื่อเดือนมิถุนายนว่า การเสียชีวิตในวัดเกิดจากกลุ่มคนติดอาวุธในหมู่ผู้ประท้วงด้วยกันเอง

วัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนา ถูกประกาศให้เป็น เขตอภัยทาน สำหรับผู้หญิง เด็ก คนชราและผู้พิการ ประชาชนหลายพันคนหนีเข้าไปหลบในวัดในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อกองทัพใช้กำลังเข้าสลายผู้ประท้วงที่ยึดพื้นที่ในย่านการค้าใกล้เคียง

จากการสอบสวนของดีเอสไอ พยานหลายคนรายงานถึงสภาพปั่นป่วนนอกวัด เมื่อเสียงปืนดังรัวขึ้นและพลเรือนพากันหนีออกจากย่านช้อปปิ้ง

พยานคนหนึ่งกล่าวว่า เขาเห็นทหารยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้าด้านบน และยิงลงไปในเต๊นท์พยาบาลภายในบริเวณวัด ซึ่งพยาบาลอาสากำลังดูแลพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บ มีพยาบาลอาสาสองคนเสียชีวิต

มีประชาชนถูกฆ่าตาย 91 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,800 ราย ระหว่างเกิดความไม่สงบในเดือนเมษายนและพฤษภาคม อาคารกว่า 30 แห่งถูกไฟไหม้ นี่เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่างภาพของรอยเตอร์น่าจะถูกทหารยิงเสียชีวิต

ดีเอสไอกำลังสอบสวนการตายทั้งหมด 89 รายที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยผลการสอบสวนใด ๆ ต่อสาธารณะ แม้จะมีแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม

ผลการสอบสวนที่ตกมาถึงรอยเตอร์มีอยู่ในรายงานสองฉบับของดีเอสไอ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการยิงที่วัดและอีกฉบับเกี่ยวกับการตายของช่างภาพรอยเตอร์ นายฮิโระ มุราโมโตะ ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

มุราโมโตะ ชาวญี่ปุ่นวัย 43 ปีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในโตเกียว ถูกสังหารด้วยกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่หน้าอก ขณะกำลังทำข่าวการประท้วงในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ

รายงานอ้างพยานคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า มุราโมโตะล้มลงพร้อมกับกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางของทหาร รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการตายของเขาต่อสาธารณะ ถึงแม้มีแรงกดดันทางการทูตจากญี่ปุ่นอย่างมาก

หัวหน้าบรรณาธิการของรอยเตอร์ นายเดวิด ชเลซิงเงอร์ เรียกร้องให้เผยแพร่รายงานฉบับเต็มต่อสาธารณะทันที

รัฐบาลไทยยังติดค้างครอบครัวของฮิโระ รัฐบาลไทยต้องเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไรและใครคือผู้รับผิดชอบ ชเลซิงเงอร์กล่าวในแถลงการณ์

รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ทหารยิงใส่พลเรือนอาจกระพือความโกรธแค้นของประชาชน และกระตุ้นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งถึงสองครั้งและปัจจุบันต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทักษิณ ชินวัตรเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปสอบสวนความรุนแรงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งความตายอันน่ากังขาในวัดด้วย

พยานคนหนึ่ง ซึ่งซ่อนอยู่ใต้รถยนต์ที่วัด ให้การว่า เขาถูกระดมยิงถึง 4 หรือ 5 ครั้งจากกลุ่มชายในชุดลายพราง ซึ่งยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ

เขาถูกยิงนัดหนึ่งและได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง การชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนที่พบในศพ 4 รายจาก 6 รายในวัด เป็นลูกกระสุนชนิดเดียวกับที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าให้การว่าใช้เป็นอาวุธ มีประชาชนได้รับบาดเจ็บที่วัดเป็นจำนวนที่ไม่ทราบแน่นอน

ความลับของทางการ

คำให้การของทหารที่อ้างในรายงานของดีเอสไอระบุว่า พวกเขายิงเตือนไปที่วัดและถูกยิงตอบโต้จากกลุ่มชายชุดดำที่อยู่ข้างล่างและจากผู้มีอาวุธปืนอีกคนหนึ่งในวัด ทหารกล่าวว่า พวกเขายิงคุ้มกันให้กองทหารบนพื้นดิน ซึ่งร้องขอกำลังสนับสนุน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอได้สรุปผลการสอบสวนเบื้องต้นและส่งต่อผลการสอบสวนนี้ให้กรมตำรวจ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณชน

รายงานการสอบสวนนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อการถกเถียงหรือการยืนยันความถูกต้อง เขากล่าว มันเป็นความลับของทางการ การยืนยันความถูกต้องของรายงานที่ส่งไปถึงกรมตำรวจอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่มีรายชื่ออยู่ในนั้น

เขาไม่ยืนยันหรือปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารสองฉบับที่ตกมาถึงรอยเตอร์ แต่กล่าวว่า จากนี้ตำรวจจะสอบสวนคดีของประชาชนสามรายที่เชื่อว่าถูกทหารฆ่าตายในวัด รวมทั้งประชาชนคนอื่นอีกสามรายที่มีความเป็นไปได้ว่าถูกทหารยิงเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนายมุราโมโตะด้วย

ผลการสอบสวนของกรมตำรวจจะถูกส่งไปให้ดีเอสไอและสำนักงานอัยการ

ถ้าการสอบสวนพบว่าทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพลเรือน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่รัฐบาลก็สามารถอ้างได้ว่า การยิงนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

(รายงานข่าวเพิ่มเติมโดย Andrew Marshall จากสิงคโปร์; บรรณาธิกรณ์โดย Andrew Marshall และ John Chalmers)

หมายเหตุผู้แปล: ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กที่แนะนำข่าวนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงชุมนุมวันรัฐธรรมนูญ

Posted: 10 Dec 2010 07:49 AM PST

คนเสื้อแดงชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ "จตุพร" เผยเตรียมยื่นหลักฐานการเสียชีวิตของ "ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ" ที่สถานทูตญี่ปุ่นวันที่ 13 ธ.ค.

(หมายเหตุ: ชมภาพทั้งหมดได้ที่นี่)

 

ช่วงบ่ายวันนี้ (10 ธ.ค.) ผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้นัดหมายชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการนำผ้าแดงไปผูกรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นมีผู้นำผ้าสีดำมาพันรอบอนุสาวรีย์ด้วย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาบังคับใช้

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก ทำให้ต้องลงมาชุมนุมบริเวณรอบผิวถนนราชดำเนินรอบฐานอนุสาวรีย์  ทั้งนี้ แกนนำคนเสื้อแดง อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่ม นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเดินทางมาถึงในเวลา 17.30 น. เพื่อดำเนินกิจกรรมการชุมนุมภายใต้ชื่อว่า “8 เดือนผ่านฟ้า 78 ปีรัฐธรรมนูญ”

โดยนายจตุพรได้ขึ้นรถขยายเสียงของทางเจ้าหน้าที่ประกาศกับผู้ชุมนุม และยืนยันว่าในเวลา 20.00 น.จะยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับบ้าน และนัดพบกันวันที่ 19 ธันวาคมที่แยกราชประสงค์ ทั้งนี้นายจตุพรประกาศว่าทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนขอให้คนเสื้อแดงมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนกว่าจะจับกุมคนที่ทำให้คนเสื้อแดงเสียชีวิตได้ และนายจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกำหนดการจุดโคมลอยในช่วงค่ำวันนี้นั้น จากการประสานงานกับตำรวจได้ข้อสรุปว่าจะงดไปก่อน เพราะเกรงว่าทิศทางลมจะพัดโคมไปทางโรงพยาบาลศิริราช ดังนั้น เพื่อความสบายใจ จะเปลี่ยนไปจุดโคมลอยที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 ธ.ค.แทน

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. คนเสื้อแดงจะเดินทางไปยังสถานทูตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหลักฐานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น และจะนำหลักฐานดังกล่าวไปยื่นต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ แนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน รวมทั้งยื่นต่อสหประชาชาติต่อไป โดยหลักฐานทั้งหมดเป็นสำนวนการสืบสวนใหม่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และได้มาจากตำรวจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นศ.อังกฤษประท้วงเดือด โจมตีรถพระที่นั่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

Posted: 10 Dec 2010 04:09 AM PST

กลุ่มนักศึกษาที่โกรธแค้นไม่พอใจแผนของรัฐบาลที่จะขึ้นค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยของรัฐเป็น 3 เท่าในกรุงลอนดอน โจมตีรถพระที่นั่งของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ที่ทรงนั่งมากับเจ้าหญิงคามิลลา ดัชเชสส์ แห่งคอร์นวอลล์ พระชายา

10 ธ.ค. 53 - สำนักข่าวเอพี รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตะถีบรถพระที่นั่งคันดังกล่าวบนถนนรีเจนต์ ใจกลางเขตช็อปปิ้งของกรุงลอนดอนก่อนที่รถจะแล่นหนีไป

เจ้าหน้าที่วังแคลเรนซ์เฮาส์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยืนยันว่า รถพระที่นั่งของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ถูกโจมตีโดยกลุ่มผู้ประท้วงระหว่างที่ พระองค์กำลังเสด็จพระดำเนินไปทรงร่วมงานที่โรงละครลอนดอนพัลเลเดียม เมื่อเย็นวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น แต่ทั้ง 2 พระองค์ทรงไม่ได้รับอันตราย ทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระดำเนินถึงโรงละครลอนดอนพัลเลเดียมด้วยพระอาการสงบ ก่อนจะเสด็จพระดำเนินเข้าทอดพระเนตรการแสดง

การประท้วงมีขึ้นเนื่องจากไม่พอใจแผนของรัฐบาลที่จะขึ้นค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยของรัฐเป็น 3 เท่าจาก 3,000 ปอนด์ เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปี ซึ่งแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาสามัญ หรือสภาล่างของรัฐสภาอังกฤษไปด้วยคะแนนเฉียดฉิว

นักศึกษาหลายพันคนจัดการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ แต่มีบางส่วนที่ก่อเหตุวุ่นวายด้วยการขว้างท่อนไม้และก้อนหินเข้าใส่ตำรวจ ทุบทำลายหน้าต่างร้านค้า และจุดไฟเผาต้นคริสต์มาสขนาดยักษ์ ในจัตุรัสทราฟัลการ์ กลางกรุงลอนดอน บางส่วนบุกเข้าทุบทำลายหน้าต่างกระทรวงการคลังอังกฤษ การก่อเหตุวุ่นวายดำเนินไปจนกระทั่งเวลาค่ำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: "10 ธันวา วัน ′พระราชทาน′ รัฐธรรมนูญ"

Posted: 10 Dec 2010 03:58 AM PST

10 ธ.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าชมรมประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "10 ธันวา วัน′พระราชทาน′ รัฐธรรมนูญ" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม โดยมีวิทยากรเข้าร่วมงานสัมนาได้แก่ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, นายชาตรี ประกิตนนทการ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายสุธาชัย กล่าวว่า เมื่อ78 ปีก่อนวันนี้เป็นวันที่รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วและกำลังรอเตรียมลงนาม ถือว่าเป็นวันที่ประสบความสำเร็จในการประนีประนอมและถือได้ว่าเป็นหลักการ ที่เห็นร่วม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ถัดจากฉบับที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ร่างขึ้น โดยที่ในตอนนั้นยังไม่ได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญแต่ใช้คำว่าพระราช บัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว

แม้ว่าจะมีการประนีประนอมแต่ยังคงเห็นร่องรอยของความแตกต่าง โดยเมื่อปีพ.ศ. 2475 การมีรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ปัจจุบันเรามักอธิบายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองแล้วก็จบไป คราวนี้เราก็มีปัญหาว่าทำไมมันถูกฉีกบ่อย โดยปัจจุบันนี้แค่พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับเดียวทำให้ไม่ต้องใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ได้

"รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่ต่ำที่สุดหรือเปล่า แม้พ.ร.ก.ฉบับเดียวก็อยู่สูงกว่ารัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันถ้าเราเข้าใจในความหมายนี้ก็ไม่ผิด แต่ใน 2475 จะเข้าใจไปในแนวคิดลัทธิรัฐธรรมนูญ (คือมองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด)"

ในทางการเมืองการมีกับไม่มีรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นการที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมาจึงเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อย้อนดูว่าเมื่อรัชกาลที่ 7ลงพระนามแล้ว รัฐธรรมนูญมีความหมายตามที่นายปรีดี พนมยงค์อธิบายว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญญาระหว่างกษัตริย์กับตัวแทนของราษฎรที่ พระองค์ลงสัญญาว่า นับแต่นี้จะปกครองโดยจำกัดอำนาจและเคารพสิทธิราษฎร ซึ่งในความหมายเชิงสัญลักษณ์อำนาจการปกครองสูงสุดที่พระราชทานมาแล้วก็กลาย มาเป็นของประชาชน

ความสำคัญในการมีรัฐธรรมนูญคือปัจจุบันมีคำที่เรียกว่านิติรัฐ คือ rule of law หรือการปกครองโดยกฎหมาย

กฎหมายคือ สัญญาประชาคม กติกาที่มาจากข้อตกลงร่วมกันในสังคมจึงไม่ใช่คำสั่งของใครฝ่ายเดียว ดังนั้นกฎหมายในแนวคิดจึงเป็นเรื่องสัญญาประชาคม  เมื่อมีการปกครองโดยกฎหมายจึงเป็นความจำเป็นอย่างมากที่ต้องออกกฎหมายใหม่ จำนวนมาก เพราะการบริหารจะอ้างพระราชโองการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องบอกเสมอว่าอำนาจนั้นมาตามกฎหมายฉบับไหน

ต่อมาเมื่อเราไปอ่านหนังสือสมัยนั้น จะพบคำว่าหลักวิชา ซึ่งเป็นคำใหม่โดยพวกนักวิชาการรุ่นใหม่ ไม่เหมือนระบบเดิม หมายถึงแนวทางการบริหารการปกครองใดๆก็ต้องเป็นที่รู้อย่างชัดเจนเรียนได้ ศึกษาได้ ซึ่งก่อนพ.ศ. 2475 ไม่ได้เป็นแบบนั้น ความรู้ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของประชาชน

ประการต่อมาคือเรื่องสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน การที่ประชาชนต้องมีสิทธิในทางการเมือง รัฐบาลสมัยใหม่ต้องทำให้เป็นนโยบาย ตรงนี้เองคือการประกาศว่าราษฎรต้องมีสิทธิ อย่างเช่น ทรัพย์สิน การเมือง เสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางการเมืองต่อมา การที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนประชาชนถือว่าพ้นจากความเป็นไพร่

เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าลัทธิรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดมิติใหม่มากมายหลาย ประเด็น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วการรัฐประหารทุกครั้งก็ฉีกและร่างใหม่จนมีรัฐธรรมนูญ มาแล้ว 18 ฉบับในเวลา 78 ปี ซึ่งเราอาจเป็นประเทศที่มีการประกาศรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการฉีกและร่างใหม่ ถ้าถือความหมายของรัฐธรรมนูญในเชิงนามธรรมแล้วถือว่ามีความต่อเนื่องเพราะ เมื่อฉีกทิ้งก็ต้องร่างใหม่

สรุปว่า เมื่อปี 2475 เกิดลัทธิรัฐธรรมนูญ จึงเกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมที่ชนชั้นนำจำเป็นต้อง ยอมให้ ซึ่งจะถูกหรือผิด ดีหรือเลวก็มีผลตามมา

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับวันรัฐธรรมนูญแล้วคิดว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญน่าสนใจ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้เป็นอนุรักษ์นิยมคิดว่าพิธีกรรมเป็นแค่เปลือกที่รก รุงรัง แต่อยากให้มองพิธีกรรมในฐานะกระบวนการทางสังคมที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลังและอำนาจ

พิธีกรรมมีบทบาทหน้าที่อย่างน้อยสี่ประการคือ เป็นเครื่องมือในการอธิบายและจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและสิ่งเหนือธรรมชาติ สองคือ เป็นเครื่องมือในการจินตนาการความเป็นชาติเดียวกัน สามคือบทบาทในโลกสมัยใหม่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม สี่คือพิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งสู่อีกหนึ่งทั้ง ในระดับปัจเจกและสังคม เป็นการจำลองอุดมการณ์บางอย่างจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เช่นการรับพระราชทานปริญญา จากสถานะอีกคนหนึ่งเป็นอีกสถานะหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นต่อธรรมชาติของมนุษย์

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่มีพิธีกรรมสำคัญแต่เป็นเหตุการณ์สำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการสร้างพิธีกรรมทำให้อุดมการณ์แบบนั้นไม่ได้ถูก อธิบาย การจำลองอุดมการณ์ไม่ถูกเปลี่ยนผ่านสู่รูปธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ที่คนทั่วไป รับรู้ได้ แต่แนวความคิดของการเปลี่ยนผ่านกลับถูกอธิบายและจำลองแนวคิดผ่านพิธีกรรมที่ เรียกว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ

"ในบริบทสังคมไทยพิธีกรรมไม่ใช่แค่เปลือกตามที่พวกหัวก้าวหน้าคิด แต่ทำหน้าที่เป็นทั้งเปลือกและแก่นในสังคมไทย"

หากมองย้อนมาสู่บริบทการเมือง สำหรับคนที่คิดว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยตามที่หวังมีสิ่งที่ไม่ควรมอง ข้ามคือพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองไทย

ด้านนายพิชญ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า จุดบกพร่องสำคัญคือเราไม่สามารถอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเชื่อหรือเห็นว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

เงื่อนไขสำคัญถ้าเราอยู่ในสังคมรัฐธรรมนูญคือต้องยอมรับว่าอำนาจ อธิปไตยเป็นของเรา แต่ไม่ควรมองว่าเสียงข้างมากถูกต้องทั้งหมด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่เคยบอก และในรัฐธรรมนูญมีกฎอีกขั้นในอีกระดับให้เข้าถึง คือ แม้ว่าประชาชนเป็นเสียงข้างมากก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปให้เป็นกฎที่มาจากรัฐ ธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากเราได้

ประการต่อมาคือเราจะทำอย่างไรให้จำกัดอำนาจรัฐ โดยที่รัฐไม่สามารถละเมิดความเป็นมนุษย์ของเรา

ที่มา:

10 ธ.ค. ชำแหละรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นกฎหมายที่ต่ำที่สุด? (มติชนออนไลน์, 10-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291899942&grpid=01&catid=&subcatid=

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มาร์ค" ยันเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปีใหม่ ตั้ง "ศอ.รส." แทน "ศอฉ."

Posted: 10 Dec 2010 03:49 AM PST

"มาร์ค" ยันเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปีใหม่ ใช้ กม.มั่นคงดูแล ให้ "ศอ.รส." ทำหน้าที่แทน "ศอฉ." แย้มยุบสภาช่วงมี.ค.-เม.ย.

10 ธ.ค. 53 - ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อรำลึก วันรัฐธรรมนูญ ช่วงเย็นวันนี้ว่า ยังไม่มีรายงานอะไร ความตั้งใจคืออยากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปีใหม่ โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กำลังเตรียมแผนดูแลสถานการณ์ให้เรียบร้อย หากเสร็จวันที่ 13-14 ธันวาคม ก็จะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารหน้า โดยหากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว กอ.รมน.ก็จะทำหน้าที่แทน ศอฉ.

เมื่อถามว่า หากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีมาตรการอะไรรองรับ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำแผน โดยดูจากกฎหมายความมั่นคง ซึ่งคงมี 2 ขั้นตอน คือ แผนทั่วไป และแผนที่เตรียมไว้กรณีจะเกิดปัญหา อาจใช้การประกาศพื้นที่ความมั่นคงเหมือนที่เคยประกาศมาแล้ว โดยจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) มาทำหน้าที่แทน ศอฉ. โดยหลังจากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตำรวจกลับมามีหน้าที่ดูแลความสงบแทนชเชื่อมั่น เพราะ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ เข้าใจประเด็น และการดูแลและพูดคุยกับผู้ชุมนุมที่ผ่านมาของตำรวจก็ค่อนข้างดี

เมื่อถามว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งได้เลยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถือว่าบ้านเมืองพร้อมอีกขั้นหนึ่ง หากดูปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าคณะกรรมาธิการร่วมชุดที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธาน ทำงานเสร็จในช่วงปิดสมัยประชุม เมื่อเปิดมาก็นำเข้าสู่การพิจารณาในวาระสอง ก่อนเว้นวรรค 15 วัน และเข้าพิจารณาในวาระสามได้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยุบสภาไม่น่าเกินมีนาคมหรือเมษายนปีหน้าใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ก็เป็นไปได้"

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

"มาร์ค" ยันเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปีใหม่ ใช้ กม.มั่นคงดูแลแทน ให้ ศอ.รส.ทำหน้าที่ (มติชนออนไลน์, 10-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291972608&grpid=00&catid=&subcatid=

"อภิสิทธิ์"แย้มยุบสภาช่วงมี.ค.-เม.ย. (มติชนออนไลน์, 10-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291974843&grpid=03&catid=&subcatid=

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เว็บไซต์ข่าวไอที เสนอความเห็นกรณีการระงับธุรกรรมของ Wikileaks

Posted: 10 Dec 2010 03:20 AM PST

10 ธ.ค. 53 - Thom Holwerda กองบรรณาธิการเว็บไซต์ OSNews เว็บไซต์ข่าวไอที เขียนบทความถึงกรณีการโจมตีเว็บไซต์ของบริษัทการเงินต่าง ๆ ที่ระงับธุรกรรมของ Wikileaks

ดูเหมือนว่าบริษัทจำนวนหนึ่งได้เรียนรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณทำอะไรมั่วซั่วกับอินเทอร์เน็ต - และพวกเขาจ่ายค่าบทเรียนนี้ในราคาแพงทีเดียว บริษัทขนาดใหญ่สองสามบริษัทถูกโจมตีโดยพลังรวมหมู่ของเหล่าผู้ใช้นิรนาม หลังจากชุมชนอินเทอร์เน็ต 4chan ได้ปล่อยการโจมตี DDoS ไปสองสามระลอก (DDoS หรือ "distributed denial-of-service" คือการโจมตีเว็บไซต์ที่กำหนด โดยพร้อมเพรียงกันจากทั่วอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เว็บไซต์ดังกล่าวทำงานอย่างหนักจนให้บริการต่อไม่ได้) สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากได้เคยทำนายเอาไว้นานมาแล้วได้กลายเป็นจริงในที่สุด: สงครามจริง ๆ ระหว่างอำนาจที่ฝั่งหนึ่ง และอินเทอร์เน็ตที่อีกฝั่งหนึ่ง

ในเวลาสองสามวันที่ผ่านมา บริษัทจำนวนหนึ่งได้บล็อค Wikileaks ไม่ให้ใช้บริการของตน Amazon เป็นหนึ่งในรายแรก ๆ ที่ปฏิบัติเช่นว่า และขณะที่ Twitter ใช้ข้ออ้างเรื่องอัลกอริธึมการคำนวณ มันก็ค่อนข้างชัดเจนว่า Twitter พยายามที่จะบล็อคไม่ให้คำว่า Wikileaks และ Assange กลายเป็น "หัวข้อมาแรง" (trending topics) บริษัทเหล่านี้ได้ร่วมกับบริษัทเก่าแก่อื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งในช่วงสองสามวันมานี้

วันเวลาไม่ได้เปลี่ยนไปเลย นับตั้งแต่ที่ธนาคาร PostFinance ในสวิตเซอร์แลนด์ แช่แข็งบัญชีธนาคารของ Julian Assange หัวขบวนแห่ง Wikileaks โดยอ้างว่า Assange แจ้งข้อมูลเท็จเรื่องแหล่งพำนักอาศัย PayPal เองก็ได้ยุติการชำระเงินให้กับ Wikileaks โดยอ้างการละเมิดนโยบายการใช้งาน และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม MasterCard และ Visa ก็ได้ทำเช่นเดียวกันและอ้างเหตุผลเดียวกัน แม้ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์อะไร แต่มันก็ยากที่จะเชื่อได้ว่าแรงกดดันของรัฐบาลจะไม่มีผลอะไรเลยกับการเคลื่อนไหวเหล่านี้

เหล่าผู้ใช้นิรนามเริ่มจะสู้กลับด้วยวิธีที่พวกเขาเชี่ยวชาญที่สุด: การโจมตีโดยพร้อมเพียงกันอย่างหนักหน่วงล้นหลามเพื่อให้เว็บไซต์ใช้การไม่ได้ กับเว็บไซต์ของ PayPal, PostFinance, Visa และ MasterCard - และไม่ใช่ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เว็บไซต์ของ PostFinance, MasterCard และ Visa หมดสภาพจนใช้งานไม่ได้ และแม้ PayPal ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ บล็อกของบริษัทก็ถูกตีจน และผู้ใช้นิรนามเหล่านี้ก็ไม่ได้ล็อกเป้าหมายเฉพาะบริษัท เว็บไซต์ของผู้ฟ้องร้องสวีเดนก็ถูกโจมตีจนดาวน์ลงเช่นเดียวกัน

ด้วยการถูกโจมตีและแรงกดดันจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต บริการชำระเงินออนไลน์ PayPal ก็ยอมรับแล้วว่าการปฏิเสธธุรกรรมของ Wikileaks ของตนนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และในที่สุด PayPal ก็ได้อนุญาตให้โอนเงินในบัญชีของ Wikileaks ได้ - Datacell ซึ่งดูแลการชำระเงินของ Wikileaks ขู่จะฟ้อง MasterCard กรณีระงับบัญชี Wikileaks

หลังการชิงบุกโจมตีก่อนจากโลกเก่า การโจมตีอย่างสอดประสานโดย 4chan คือการบุกอย่างจริงจริงครั้งแรกจากอินเทอร์เน็ตในสงครามครั้งนี้ การตั้งรับป้องกันได้วางแนวไว้แล้วก่อนหน้านี้ ในรูปแบบการสร้างมิเรอร์ไซต์หรือเว็บที่สำเนาข้อมูลของ Wikileaks เอาไว้ทั่วโลก ทำให้ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะล้มเว็บไซต์ดังกล่าวลง การโจมตีของ 4chan ก็เช่นกัน เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยจะหยุดมัน หากรัฐบาลต่าง ๆ คิดว่าการสู้กับการก่อการร้ายนั้นยากลำบาก... รอจนกว่าพวกเขาจะได้พยายามรับมือกับความเข้มแข็งรวมหมู่จากผู้คนต่าง ๆ ในเว็บ

ผมสนับสนุนการโจมตี DDoS เหล่านี้อย่างเต็มที่ การโจมตี Wikileaks เป้าหมายของมัน และคุณค่าที่มันเชื่อ นั้นจะว่าไปแล้ว ก็คือการโจมตีทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นจุดประสงค์ในการมีเวิลด์ไวด์เว็บอยู่ และสำหรับผม การโจมตีเหล่านี้เป็นความยุติธรรมที่สมควรได้รับแล้ว มันแทบจะไม่มีอย่างอื่นเลยที่เราทำได้ และการโจมตีเหล่านี้ไม่ได้ก่ออันตรายให้ใครเลย ไม่มีผู้คนได้รับอันตรายจากกระบวนการนี้ - พวกเขาเพียงไม่ได้รับความสะดวก ผมแน่ใจว่าคนที่มองโลกในแง่ดีหลายคนที่เชื่อในระบบ คงจะโต้ว่า คุณควรโหวตด้วยกระเป๋าสตางค์ของคุณ ไม่เห็นด้วยกับบริษัทไหนก็ไม่ต้องใช้บริการของบริษัทนั้น แม้ว่าผมจะพบว่าทัศนคติดังกล่าวน่ารักน่าหลงใหล มันก็ไร้เดียงสาในขณะเดียวกัน

ถ้าโลกเก่าเล่นสกปรก เราก็จะเล่นด้วย

(สองวันหลังจากบทความนี้ตีพิมพ์ ตำรวจเนเธอร์แลนด์ได้จับกุมชายชาวเนเธอร์แลนด์รายหนึ่ง ซึ่งภายหลังรับสารภาพว่า ได้เข้าร่วมการโจมตี DDoS ดังกล่าวด้วย เกือบจะเป็นที่แน่นอนว่าเขาไม่ได้เป็นผู้วางแผนการ ผมขอพูดอย่างไม่อ้อมค้อมไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การโจมตีนี้จะดำเนินต่อไปอีก)

เรียบเรียงจาก

4chan Hits PayPal, MasterCard, Others for Wikileaks Snubs
โดย Thom Holwerda กองบรรณาธิการ OSNews 8 ธ.ค. 2553
http://www.osnews.com/story/24109/4chan_Hits_PayPal_MasterCard_Others_for_Wikileaks_Snubs

Dutch Police Arrest MasterCard Attacker
โดย Thom Holwerda กองบรรณาธิการ OSNews 10 ธ.ค. 2553
http://www.osnews.com/comments/24118
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยมนักโทษการเมืองหญิง

Posted: 10 Dec 2010 03:12 AM PST

10 ธ.ค. 53 - มีรายงานว่า ญาติของนางนีละเต่ง นักโทษการเมืองหญิงที่ต้องโทษจำคุก 65 ปี ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม นางนีละเต่ง ในเรือนจำทาเย็ท ภาคมะกวยเมื่อวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่เรือนจำให้บอกเพียงว่า ขณะนี้นางนีละเต่ง อยู่ในระหว่างการประท้วงอดอาหาร

ด้านนางถั่นดา ยู น้องสะใภ้ของนางนีละเต่งเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้แจ้งว่า ทำไมนางนีละเต่งถึงประท้วงอดอาหาร แต่แหล่งข่าวรายงานว่า เธอได้ประท้วงอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา และการประท้วงอดอาหารของเธอ ยังทำให้เธอต้องถูกลงโทษให้ขังเดี่ยว และไม่ได้รับอนุญาตให้ญาติของเธอเข้าเยี่ยมเป็นเวลา 1 เดือน และจนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า นางนีละเต่ง ยุติประท้วงอดอาหารแล้วหรือไม่

นางนีละเต่ง ถูกจับในปี 2550 ในข้อหาเคลื่อนไหวทางการเมือง และประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซของรัฐบาลและถูกตัดสินจำคุกทันที 65 ปี และในช่วงที่นางนีละเต่ง ถูกจับนั้น ลูกสาวของเธอเพิ่งอายุได้ 9 เดือน และต้องอยู่ในความดูแลของตากับยาย และนางถั่นดา ยู น้องสะใภ้ และขณะนี้ลูกสาวของนางนีละเต่งอายุได้ 3 ขวบแล้ว

อย่างไรก็ตาม นางถั่นดา ยู เปิดเผยว่า “ฉันได้ร้องขอเจ้าหน้าที่เรือนจำว่า ขอเวลาสัก 5 นาที เพื่อให้นีละเต่งได้พบหน้าลูกสาวของเธอ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธ” ขณะที่พบว่า นางนีละเต่ง มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพไว้อยู่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มประท้วงอดอาหาร นางนีละเต่ง วัย 37 หนึ่งในนักโทษหญิงพม่าเคยถูกจำคุกมาแล้วครั้งหนึ่งเป็นเวลา 8 ปี ในข้อหาเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างปี 2539 – 2546

ทั้งนี้ เธอได้เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยให้พม่าตั้งแต่ที่เธอยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ในฐานะสมาชิกของกลุ่มสหภาพนักศึกษาพม่า (All Burma Federation of Student Unions) ในปี 2531 และเคยได้รับรางวัล Homo Homini จากองค์กร People in Need สำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในปี 2551

นายจ่อมิ้น ยู หรือที่รู้จักันในชื่อ จิมมี่ สามีของนางนีละเต่ง ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญอีกคนหนึ่งของกลุ่มนักศึกษาปี 1988 ขณะนี้ ก็ถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำตองจี รัฐฉาน และถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 65 ปีเช่นเดียวกัน ในข้อหาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนหน้านี้ นายจ่อมิ้น ยู เคยถูกจำคุกมาแล้วครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน เป็นเวลา 16 ปี

ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association for Political Prisoners) เปิดเผยว่า มีนักโทษการเมืองจำนวน 2,203 คน ที่ถูกกุมขังอยู่ในขณะนี้ (Irrawaddy 9 ธ.ค.53)  

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: สรุปสถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ พ.ศ.2550 - 2553

Posted: 10 Dec 2010 03:00 AM PST

นับแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 พบว่า มีการดำเนินคดีตามกฎหมายนี้แล้วทั้งสิ้น 185 คดี และ มีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ 117 ฉบับ เพื่อปิดกั้นการเข้าถึง 74,686 ยูอาร์แอล

สถิติการดำเนินคดี
จากคดีความทั้งหมด 185 คดี พบว่าส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องจาก "เนื้อหา" ในอินเทอร์เน็ต เช่น การด่าทอ การหลอกลวง การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 - 16 มีจำนวนทั้งสิ้น 128 คดี ขณะที่คดีอันเกี่ยวกับ "ระบบ" เช่น การเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ การฉ้อโกงโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ การเผยแพร่โปรแกรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 5-13 มีจำนวนทั้งสิ้น 45 คดี และไม่ทราบข้อมูลจำนวน 12 คดี

หากลองจัดหมวดหมู่ความผิด สามารถเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ หนึ่ง การหมิ่นประมาทบุคคล 54 คดี สอง การฉ้อโกง 38 คดี สาม การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ 31 คดี สี่ การเผยแพร่สิ่งลามก 12 คดี ห้า การขายโปรแกรมที่ผิดกฎหมาย 10 คดี หก ความผิดในแง่ตัวระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง 8 คดี เจ็ด เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง 6 คดี และแปด เรื่องอื่นๆ และเรื่องที่ไม่สามารถระบุได้อีก 26 คดี

มีข้อสังเกตว่า คดีส่วนใหญ่เป็นความผิดเช่นเดียวกับความผิดทั่วไป แต่เมื่อมีระบบคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้องก็อาจเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้ เช่น มาตรา 14 (1) กล่าวถึงความผิดอันเกิดจากการปลอมแปลงหรือนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อัน เป็นเท็จ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้ตั้งใจให้ใช้กับการหมิ่นประมาท แต่พบว่ามีคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์สูงมาก ทั้งที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทก็มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 กับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 บังคับใช้อยู่แล้ว และการตั้งข้อหาตามมาตรา 14 (1) นี้ยังถูกนำมาใช้กับกรณีการหลอกลวงกันตามเว็บบอร์ดสนทนา ทั้งที่ก็มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เรื่องการฉ้อโกง

ในทางปฏิบัติ การฟ้องคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มักตั้งข้อหาควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ การตีความอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า เนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้สามารถตีความได้ และผู้บังคับใช้กฎหมายก็มักนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาใช้อย่างสับสน จนกระทบกระเทือนต่อการสื่อสารบนโลกออนไลน์

ความผิดที่เนื้อหากระทบต่อ ความมั่นคงซึ่งกำหนดไว้ทั้งในมาตรา 14(2) อันว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความ มั่นคง และมาตรา 14 (3) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย น่าสงสัยว่าในเมื่อมี (3) ซึ่งฐานความผิดเชื่อมโยงไปยังประมวลกฎหมายอาญาที่เขียนไว้ชัดเจนแน่นอนอยู่ แล้ว เหตุใดจึงต้องมี (2) ซึ่งใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือไว้อีกด้วย มาตรา 14 (2) และ (3) จึงอาจเปิดช่องให้มาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง จำนวนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

ทั้ง นี้ คดีความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ มักจะถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14(2) และ (3) และมีถึง 25 จาก 31 คดี ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกชุดให้ความสำคัญเป็นนโยบายเร่งเอาผิด เมื่อประกอบกับตัวบทกฎหมายที่กล่าวมานี้ซึ่งยังมีปัญหาความคลุมเครือของถ้อย คำอยู่มาก จึงมีคดีจำนวนไม่น้อยที่อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

สำหรับ ความผิดฐานเผยแพร่ภาพลามก เป็นความผิดทั้งตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ซึ่งสองมาตรานี้น่าจะมีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะกับกฎหมายทั่วไป เพราะฉะนั้นหากเป็นการเผยแพร่ในโลกออนไลน์จึงต้องใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับเดียวเท่านั้น ในฐานะที่เป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ตั้งข้อหาควบคู่กันไปทั้งสองมาตรา จนอาจมีคำถามว่าถูกต้องหรือไม่

สถิติการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์
สิทธิของ ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามกรอบที่ปรากฏในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น เขียนขึ้นบนความคาดหวังของสังคมที่หวังให้สถาบันศาลมีบทบาทช่วยกลั่นกรองการ ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยมาตรา 20 ให้อำนาจไว้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อขอให้มีคำ สั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แทนที่การปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่เจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจสั่งปิดเว็บต่างๆ ได้ทันที

จากสถิติพบว่า ในปี 2550 มีคำสั่งศาล 1 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 2 ยูอาร์แอล ปี 2551 จำนวน 13 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 2,071 ยูอาร์แอล ปี 2552 จำนวน 64 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 28,705 ยูอาร์แอล ปี 2553 จำนวน 39 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 43,908 ยูอาร์แอล รวมทั้งสิ้น สามปีนับแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีหมายศาลออกมาแล้วทั้งสิ้น 117 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 74,686 ยูอาร์แอล

เหตุผลของคำสั่งปิดกั้น ที่สูงเป็นอันดับหนึ่งคือ มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำนวน 57,330 ยูอาร์แอล อันดับสองคือ มีเนื้อหาและภาพลามก 16,740 ยูอาร์แอล อันดับสามคือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำแท้ง 357 ยูอาร์แอล อันดับสี่คือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่นการพนัน 246 ยูอาร์แอล และอันดับห้า เป็นเรื่องอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น การดูหมิ่นศาสนา การทำ Phishing/Pharming (การทำหน้าเว็บปลอมลอกเลียนแบบ) กระทั่งเคยมีหมายศาลให้ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่อาจทำให้เข้า ใจรัฐบาลผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์การควบคุมการชุมนุมจนอาจก่อให้เกิดความปั่น ป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

นอกจากการปิดกั้นโดยคำสั่งศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ทีมวิจัยยังพบอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นด้วยวิธีการอื่นด้วย เช่น การส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการ และที่สำคัญคือ การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งแหล่งข้อมูลบอกว่า เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นตามคำสั่งศอฉ.นั้น เป็นตัวเลขหลักหลายหมื่น ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ศอฉ. มีคำสั่งปิดกั้นโดยใช้วิธีระบุเป็น “ช่วงตัวเลข” ของหมายเลขไอพี ลักษณะนี้ย่อมกระทบต่อเว็บไซต์จำนวนมากซึ่งอาจเป็นเว็บไซต์ทั่วไปทั้งที่ผิด และไม่ผิดกฎหมายแต่มีที่อยู่อยู่ในช่วงหมายเลขไอพีดังกล่าวเท่านั้น

มี ข้อสังเกตว่า ศาลใช้เวลารวดเร็วพิจารณาคำร้องวันต่อวันก่อนสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ จากคำสั่งศาล 117 ฉบับ มีถึง 104 ฉบับที่ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกับที่ยื่นคำขอ ซึ่งมีผลปิดกั้นเว็บไซต์ทั้งหมด 71,765 ยูอาร์แอล เฉลี่ยแล้วเท่ากับสั่งปิดกั้นวันละ 690 ยูอาร์แอล นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดกั้นจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในช่วงที่มีการชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง

นอกจากแนวนโยบายเร่งปิดกั้นเว็บไซต์ ดำเนินคดีกับผู้ใช้และผู้ให้บริการแล้ว รัฐบาลยังมีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต (ลูกเสือไซเบอร์) มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) 3 กระทรวง คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยตรวจสอบอินเทอร์เน็ต แจ้งเตือนเนื้อหาไม่เหมาะสม ด้านหน่วยทหารก็มีหน่วยงานสร้างสื่อของรัฐในเชิงตอบโต้ เช่น เครือข่ายกรมพลาธิการทหารเรือเพื่อส่งเสริมและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์บน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต

เปรียบเทียบสถานการณ์ กฎหมายกับสื่อออนไลน์ในต่างประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบการใช้กฎหมายและนโยบายในต่างประเทศที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศมาเลเซีย แม้ไม่มีกฎหมายที่กล่าวถึงสื่อออนไลน์โดยตรง แต่พบว่ารัฐบาลสามารถใช้วิธีตีความกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ให้กว้างออก เช่น ระหว่างที่รัฐตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายบริหารมีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ห้ามแลกเปลี่ยนกันเรื่องความเป็นพลเมือง อำนาจอธิปไตย ยังมีกฎหมายเรื่องความลับของราชการ มีกฎหมายความมั่นคงภายใน และกฎหมายว่าด้วยการจลาจล

ด้านประเทศจีน เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนแทบจะไม่สามารถแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ มีทั้งนโยบายและกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและควบคุม สื่ออย่างเป็นระบบ โดยผูกขาดการให้บริการโทรคมนาคม กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้สร้างเว็บไซต์มีหน้าที่ตรวจสอบ เนื้อหา และยังมีซอฟต์แวร์ที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่สหพันธรัฐเยอรมนี นอกจากการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อลามกแล้ว การเผยแพร่ลัทธิฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง การพนันที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เนื้อหาเหล่านี้ กฎหมายกำหนดองค์ประกอบไว้ชัดเจนไม่คลุมเครือ สามารถขอให้ศาลตรวจสอบได้

ด้านสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีเสรีภาพในสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง แต่มีข้อจำกัดสองประการ คือ การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อลามกและความหวาดกลัวต่อภัยก่อการร้าย ซึ่งทำให้รัฐบาลมีมาตรการสอดส่องเฝ้าระวังข้อมูลออนไลน์ได้ โดยมีกฎหมายเฉพาะที่นำไปสู่การปิดกั้นเว็บไซต์และจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน มาก

รายงานสถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมายและแนวนโยบายแห่งรัฐไทย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชนกับมาตรฐานมโนสำนึก

Posted: 10 Dec 2010 02:46 AM PST

สัปดาห์ที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ (“คดีเงิน ๒๙ ล้านบาท”) ผมมิได้ติดใจกับผลที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ แต่ด้วยความอัศจรรย์ใจในการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย กอปรกับความความเคารพอย่างแท้จริงต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมได้ทำความเห็นทางกฎหมายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนสำนึก ซึ่งประชาไทได้กรุณาเผยแพร่ต่อประชาชนไปแล้ว สรุปโดยย่อว่า ตุลาการเสียงข้างมากทั้ง ๔ แม้ให้ยกคำร้องเหมือนกัน แต่สาระแห่งเหตุผลขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง หาก ๓ เสียงให้เลี้ยวซ้ายก็ได้ อีก ๑ เสียงให้เลี้ยวขวาก็ได้ เพราะอย่างไรก็ทางเดียวกัน  ผมคงไม่ติดใจ แต่คดีนี้กลับเป็นฝ่ายหนึ่งห้ามเลี้ยวซ้าย อีกฝ่ายห้ามเลี้ยวขวา ไฉนกลับมาเรียกเป็นทางเดียวกัน ความชอบธรรมของเสียงข้างมากจึงเป็นที่น่ากังขา อีกทั้งเหตุผลยังอธิบายไม่ชัด กฎหมายถูกตีความเกินไปกว่าที่ผู้แทนปวงชนเห็นชอบ กระทบไปถึงการทำงานภายในขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซ้ำร้ายยังขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่มุ่งให้พรรคการเมืองโปร่งใสตรวจสอบได้ สุดท้ายการค้นหาความยุติธรรมกลับชะงักงันทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็มั่นใจว่าสามารถพิสูจน์ความสุจริตของตน

 
ที่สำคัญ ผมตั้งคำถามว่า นักกฎหมายที่ประชาชนให้ความไว้วางใจทำหน้าที่สำคัญสำหรับชาติบ้านเมือง ไม่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองก็ดี กรรมการการเลือกตั้งก็ดี หรือแม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ดี สมควรมีมโนสำนึกที่มั่นคงเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เพราะศาลตีความประหนึ่งว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง) สามารถมีมาตรฐานมโนสำนึกต่างไปจากนายอภิชาตคนเดียวกัน (ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง)  ที่พิจารณาเรื่องเดียวกันในวันเดียวกันได้ ทั้งนี้ ศาลได้กล่าวไว้ในหน้า ๓๔ ของคำวินิจฉัยว่า ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งได้เรียกประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  โดยนายอภิชาตลงมติให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์และมีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน...  (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท)
 
ต่อมาในหน้า ๓๖-๓๗ ของคำวินิจฉัย ศาลกล่าวว่า ...ความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในการลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง...
 
กล่าวให้ง่ายก็คือ แม้ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาต (ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง) จะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำผิดกรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท แต่ศาลถือว่านายอภิชาต คนเดียวกัน วันเดียวกัน เรื่องเดียวกัน (แต่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง) ยังไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำผิด!
 
มาสัปดาห์นี้ เพียงหนึ่งวันก่อนวันรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัย (ฉบับไม่เป็นทางการ)  เรื่องอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ (“คดีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท”) ผ่านเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น ๗ หน้า แม้ประเด็นวินิจฉัยจะอาศัยกฎหมายคนละมาตรา แต่ก็มีประเด็นสำคัญลักษณะเดียวกัน ซึ่งในหน้า ๖ บรรทัดที่ ๑๖-๒๐ ศาลอธิบายว่า
 
เมื่อพิจารณาความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งได้มีความเห็นว่า ให้ยกคำร้อง เพราะพยานหลักฐานไม่พอฟังว่า พรรคประชาธิปัตย์รับบริจาคเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) โดยหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงิน แม้จะไม่ถือว่าเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ยังมิได้มีความเห็นว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันจะเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคแต่อย่างใด
 
กล่าวให้ง่ายก็คือ เมื่อนายอภิชาต (ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง) บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิดกรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท แล้วจะมาบอกว่านายอภิชาต คนเดียวกัน วันเดียวกัน เรื่องเดียวกัน (แต่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง) เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำผิดได้อย่างไร!?
 
เพื่อบรรยากาศอันเป็นมงคลในวันรัฐธรรมนูญ ผมขอไม่ถามถึงมาตรฐานมโนสำนึกของนักกฎหมายอีก ขอเพียงตั้งจิตอธิษฐานให้เรา ประชาชน ร่วมกันรักษามาตรฐานมโนสำนึกของเราให้คงมั่น หมั่นเป็นตัวอย่างและกำลังใจแด่บรรดาผู้กุมชะตาประเทศชาติของเรา ให้คิดถึงพวกเราบ้างด้วยเทอญ.
 
ความเห็นเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนสำนึก อ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บริษัท Oiles ปิดงานสหภาพฯ หลังเจรจาข้อพิพาทไม่คืบ

Posted: 10 Dec 2010 02:26 AM PST

บริษัท Oiles ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ ในระยอง เลือกปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานการเจรจาพิพาทแรงงานไม่คืบหน้า

 

10 .. 53 –นายจ้างบริษัท Oiles Thailand ยื่นข้อเรียกร้องต่อพนักงานจำนวน ๕ ข้อ และแจ้งขอใช้สิทธิ์ปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกสหภาพฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เจรจาไกล่เกลี่ยสี่ครั้งแล้วไม่คืบหน้า

บริษัทออยล์เลส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ และยานพาหนะ เช่น ฉีดพลาสติกอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น ชิ้นส่วนท่อไอเสีย  ชุดบังคับเลี้ยว อุปกรณ์เกี่ยวกับ เบรคและคลัช และชุดคอมเพสเซอร์แอร์ ประเก็น และ Seal Bearing ,Rack Guide ,Plastic parts ส่งให้กับลูกค้าภายในและต่างประเทศ เช่น ส่งขายให้กับลูกค้า Toyota ,Isuzu ,Honda ,Mitsubishi ,Nissan ,Ford&Mazzda

มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้(ระยอง) เลขที่ ๗/๒๖๑ หมู่ ๖ ตำบลมาบยางพร อำปลวกแดง จังหวัดระยอง นายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ นายฮิโรชิ ทซูจิ ทุนจดทะเบียน ๗๒ ล้านบาท เปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ ถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เปิดกิจการมียอดการขายสูงและมีกำไรมาโดยตลอด แต่ในทางกลับกันสวัสดิการพนักงานไม่มีการปรับไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย. ๕๓ พนักงาน บริษัท Oiles Thailand จำกัด ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่นายจ้างไม่จัดให้มีการเจรจาภายใน ๓ วัน ตามที่กฎหมายกำหนดจึงได้แจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงาน ต่อมาในวันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๓ นายจ้างได้ยื่นหนังสือขอใช้สิทธิ์ปิดงาน เฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจำนวน ๓๖ คน จากลูกจ้างทั้งหมดประมาณ ๗๐ คนโดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๙ พ.ย. ๕๓ เป็นต้นไป หลังจานั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้มีการนัดไกล่เกลี่ยโดยการไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๕๓ แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยที่นายจ้างเสนอว่าจะยอมถอนข้อเรียกร้องของบริษัทที่ยื่นต่อพนักงาน และรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงาน แต่มีเงื่อนไขว่าจะไม่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานที่ร่วมลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงานทุกคน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงนัดให้เจรจากันอีกครั้งในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป

แต่ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานว่าจะจ่ายโบนัสให้กับพนักงานที่ไม่ออกมาร่วมชุมนุมสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงานเท่านั้น บริษัทฯ ได้ออกประกาศในวันที่ ๓ ธ.ค. ๕๓ คือ

ผู้แทนพนักงาน ได้มีการตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทฯ จากกระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วมาโดยตลอด และในปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจบริษัทฯก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไดกลับมีผลกำไรสูงขึ้นกว่าปีอื่นๆ สำหรับผลประกอบการในปีล่าสุด คือ ปี 2009 บริษัทฯ มีผลประกอบการที่เป็นกำไรสุทธิรวมกับเงินฝากในธนาคารกว่า 133 ล้านบาท จึงขอให้บริษัท จ่ายโบนัสให้กับพนักงานที่ออกมาร่วมชุมนุมเช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ ที่มิได้สนับสนุนข้อเรียกร้อง แต่ผู้แทนบริษัทฯ ยังคงเพิกเฉยไม่รับพิจารณาแต่อย่างใด

ผลประกอบการของบริษัทฯ

 


หมายเหตุ           ภายในสถานประกอบการมีพนักงานฝ่ายผลิตจำนวน ๔๐ คน พนักงานสำนักงาน ๓๐ คน

ทั้งนี้มีข้อสังเกตคือที่ผู้แทนบริษัทฯ ได้มายื่นขอใช้สิทธิ์ปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นการท้าทายและข่มขวัญให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ให้เกิดความวิตก เนื่องจากโดยปกติในเดือนธันวาคมบริษัทฯ จะต้องจ่ายโบนัสพร้อมกับงวดการจ่ายค่าจ้างประจำเดือนธันวาคมให้กับพนักงานทุกคนตามที่ได้ออกประกาศให้กับพนักงานทุกคนได้ทราบไปแล้ว เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานอย่างหน้าด้านๆ

มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการคือ การประกาศใช้สิทธิ์ปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกของสหภาพแรงงานในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากการที่บริษัทไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงานโดยที่อาศัยโอกาสจากการยื่นข้อเรียกร้องของของลูกจ้างเป็นข้ออ้างในการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับมาของนายจ้าง โดยสังเกตจาก เมื่อมีการปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องซึ่งทั้งหมดเป็นพนักงานฝ่ายผลิต ทำให้การจัดส่งงานให้กับลุกค้ามีปัญหา ทางบริษัทฯ ได้แก้ปัญหาจ้างชาวญี่ปุ่นโดยตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำงานแทนพนักงานที่ออกมาข้างนอก และมีการฝึกพนักงานใหม่ โดยญี่ปุ่นเองตัวต่อตัวและยืนคุมดูการทำงานตลอดเวลา นอกเหนือจากนั้นมีการจ้างพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามากว่า ๓๐ คน เพื่อทดแทนพนักงานในส่วนที่ขาด เมื่อรับพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาแล้วก็ให้เข้าทำงานในขบวนการผลิตเลยโดยไม่มีการ Training ให้ความรู้กับพนักงานก่อน ซึ่งโดยปกติพนักงานประจำกว่าที่จะเข้าทำงานในขบวนการผลิตได้ต้องผ่านการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากว่างานที่ผลิตออกไปจะได้คุณภาพตามมาตรฐานตามความต้องการของลูกค้าหรือเปล่า

โดยในวันที่ ๙ ธ.ค.๕๓ ทางสหภาพฯ ได้ทราบข่าวว่ามีงาน Claim มาจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันในไลน์การผลิตก็ผลิตงานเสียออกมาจำนวนมากซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่นายจ้างทำนั้นเพื่อที่ต้องการจะล้มสหภาพแรงงานให้ได้เท่านั้นเองส่วนจะเสียเงินเท่าไรเขาก็ยอม ปัญหาที่ตามมาคือ พนักงานทุกคนที่ทำงานอยู่ข้างในก็ต้องแบกรับภาระงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาการลดพนักงานลงแต่ยอดการผลิตยังคงเดิมและมีการกำหนดเป้าการผลิตว่าต้องทำให้ได้กะละกี่ชิ้น และลูกจ้างชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานให้กับบริษัทฯ กว่า ๑๐ คน ไม่ทราบว่าเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะพบว่าชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยแต่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ในประเด็นนี้อยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพื้นที่ที่รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบด้วยว่าแต่ละบริษัทฯ ที่นำคนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยว่าได้เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้สหภาพฯ ประเมินว่าในอนาคตข้างหน้าคาดว่าบริษัทฯ จะใช้การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงเข้ามาแทนพนักงานประจำ ทำให้สหภาพแรงงานต้องปิดตัวลงหรือหมดอำนาจในการต่อรองเนื่องจากจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานมีน้อย การต่อสู้ของสหภาพแรงงานออยล์เลส ประเทศไทย ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการ หรือเรื่องโบนัสเท่านั้น แต่มันหมายถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งประเทศ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น