ประชาไท | Prachatai3.info |
- ออกหมายเรียก7นักศึกษา มอ. หลังลงเยี่ยมญาตินายกอบต.รือเสาะที่ถูกยิงถล่ม
- แกนนำพันธมิตรฯ อัด "วิกิลีกส์" เต้าข่าว ไม่น่าเชื่อถือ
- สัมภาษณ์ ‘กนก วงษ์ตระหง่าน’ เปิดโลกอิสลามศึกษาเชื่อมโลกมุสลิม
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 18-25 ธ.ค. 2553
- เสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมงานเผา "แดง คชสาร"
- มาร์กซิสม์กับการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย
- ประเทศไทยต้องไม่ยอมให้มี ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- 'สุทธิ อัชฌาศัย'ประเมิน'รัฐบาลอภิสิทธิ์' 8/10 เยียวยามาบตาพุด สอบตกมาตรการป้องกัน
- เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ: ปี 53 การกระจายการถือครองที่ดินเหลว คดีฟ้องคนจนรุกที่พุ่ง
ออกหมายเรียก7นักศึกษา มอ. หลังลงเยี่ยมญาตินายกอบต.รือเสาะที่ถูกยิงถล่ม Posted: 26 Dec 2010 01:59 PM PST 26 ธ.ค.53 เวลา 11.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธร(สภ.)รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส นายทวีศักดิ์ ปิ นักศึกษาสาขาวิชากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชั้นปีที่ 4 พร้อมด้วย นายฮาซัน ยามาดีบุ อดีตนักศึกษารุ่นพี่ และนายอับดุลอาซิส เตดาอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) เข้าพบพ.ต.ท.สมชาย นพศรี พนักงานสอบสวน สภ.รือเสาะ เพื่อให้ปากคำในฐานะพยานในคดีคนร้ายยิงถล่มนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)สามัคคี อำเภอรือเสาะ เสียชีวิตพร้อมพวก เมื่อวันที่ 24 พ.ย.53 นายทวีศักดิ์ เปิดเผยหลักการสอบปากคำว่า ตนกับนายฮาซัน และเพื่อนนักศึกษารวม 7 คน ถูกตำรวจ สภ.รือเสาะออกหมายเรียกเป็นพยานในคดีเดียวกันนี้ หลังจากได้เหมารถโดยสารรับจ้างลงพื้นที่บ้านปูโป หมู่ที่ 1 ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ รวมทั้งหมด 13 คน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 เพื่อเยี่ยมเยือนญาติของนายยามาลูดิง โละมะ นายก อบต.สามัคคีที่เสียชีวิต หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่ที่ว่าการอำเภอรือเสาะพร้อมกับญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการเรียกร้องให้นายอำเภอเร่งจับกุมคนร้าย นายทวีศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ระหว่างการเยี่ยมบ้านของนายยามาลูดิง ได้มีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 (ฉก.30) ได้เข้าตรวจสอบและขอบัตรประจำตัวประชาชนของนักศึกษาทั้งหมด ก่อนจะให้คืนในเวลาต่อมา จากนั้นประมาณวันที่ 19 ธ.ค.53 ได้มีหมายเรียกพยานจาก สภ.รือเสาะไปถึงที่บ้านของตนและนักศึกษาอีก 6 คน ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยในหมายเรียกระบุเหตุว่า “ท่านรู้หรือเห็นว่าคนร้ายในคดีนี้เป็นผู้ใด” สำหรับนักศึกษาทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นายฮาซัน ยามาดีบุ นายทวีศักดิ์ ปิ นายอารีเป็ง ปะนาฆอ เอกศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปี 4 นายลุกมัน มาเจ เอกภาษาอาหรับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายมุคตาร์ อูมา เอกเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปี 3 นายนิอาแซ นิลามะ เอกการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 3 เอกนโยบายสาธารณะ คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 3 นายอดิเรก โซะหลง เอกตะวันออกกลางศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ชั้นปี 4 นายนูรุดดีน แกมะ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาการสื่อสาร ชั้นปี 3 นายทวีศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า ระหว่างสอบปากคำ พ.ต.ท.สมชายได้ถามหลายครั้งว่า ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนร้ายและสงสัยใครบ้าง ซึ่งตนปฏิเสธว่าไม่ทราบและไม่สงสัยใคร โดยวันเกิดเหตุตนอยู่ที่ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ส่วนนักศึกษาคนอื่นที่ถูกหมายเรียกด้วย หากไม่มาสอบปากคำในวันที่ 27 ธันวาคม 2553 นี้ พ.ต.ท.สมชาย ระบุว่าจะส่งหมายเรียกไปอีกครั้ง นายทวีศักดิ์ ระบุว่า นักศึกษาที่เหลืออีก 5 คน แจ้งว่า ยังไม่สามารถเดินทางไปสอบปากคำในวันดังกล่าวได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสอบ “การออกหมายเรียกเป็นพยานครั้งนี้ น่าจะเป็นการข่มขู่กลุ่มนักศึกษา ไม่ให้ลงพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับหมายเรียกแล้ว มีหลายคนที่รู้สึกหวาดผวา และทางบ้านก็เป็นห่วง หลังจากนี้ ผมจะปรึกษากับนายอับดุลอาซิสว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร” นายทวีศักดิ์ กล่าวและว่านักศึกษากลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับตน เคยเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานสภาองค์การนักศึกษา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แกนนำพันธมิตรฯ อัด "วิกิลีกส์" เต้าข่าว ไม่น่าเชื่อถือ Posted: 26 Dec 2010 01:34 PM PST "ปานเทพ" ยันไม่มีการนัดรับประทานอาหารกับทูตสหรัฐ ชี้วิกิลีกส์เต้า "สุริยะใส" ชี้เป็นเรื่องอยากโปรโมตเว็บไซต์ เป็นเว็บที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่วน "สนธิ" ไม่เชื่อ "วิกิลีกส์" แฉเรื่อง พล.อ.เปรม รายงานทูตสหรัฐ อัดสื่อไทยตามเรื่องวิกิลีกส์ "เหมือนหมาข้างถนนงับคริสปี้" ตามที่หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ได้เผยแพร่เอกสารหมายเลข "S E C R E T SECTION 01 OF 03 BANGKOK 003317" ซึ่งเป็นบันทึกลับทางการทูตของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย อีริก จี. จอห์น ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งได้จากวิกิลีกส์ มีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า แหล่งข่าวของเอกอัครราชทูตสหรัฐผู้หนึ่ง ซึ่งในบันทึกที่เผยแพร่ได้ลบชื่อออก และใส่ชื่อว่า "XXXXXXXXXXXX" เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมุ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะ รุนแรงเพื่อจุดชนวนการรัฐประหาร แหล่งข่าวผู้นี้อ้างว่าเขาได้ทานอาหารค่ำกับแกนนำพันธมิตรฯ ผู้หนึ่งในวันที่ 6 ตุลาคม 2551 แกนนำผู้นี้เล่าว่า พันธมิตรฯ จะยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรงในการประท้วงในวันที่ 7 ตุลาคม ที่หน้าอาคารรัฐสภา แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งแหล่งข่าวไม่ได้ระบุชื่อผู้นี้ได้คาดการณ์ว่ากองทัพจะเข้ายึดอำนาจในวัน ที่ 7 ตุลาคม "แหล่งข่าวผู้นี้ยืนยันกับเราว่า พันธมิตรฯ ยังคงมีเจตนาที่จะสร้างเหตุขัดแย้งเพื่อให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คน ซึ่งจะทำให้การเข้าแทรกแซงของทหารดูเป็นสิ่งจำเป็นและมีความชอบธรรม" บันทึกระบุ
"ปานเทพ" ยันไม่มีการนัดรับประทานอาหารกับทูตสหรัฐ ชี้เป็นเรื่องเต้า ด้าน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. ได้สัมภาษณ์นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ข้อมูลที่ออกมาไม่มีการให้สัมภาษณ์หรือการนัดรับประทานอาหารแต่อย่างใด ระหว่างแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับนายอีริก จี. จอห์น คิดว่าเป็นการใช้ข้อมูลในลักษณะที่เต้าข่าวขึ้นมามากกว่าโดยไม่มีมูลความจริง นายปานเทพกล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีทางพูดในลักษณะนั้นอยู่แล้ว การที่ระบุว่าวางแผนให้เกิดการนองเลือดแล้วให้ทหารออกมาปฏิวัติ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อความเชื่อถือของมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะมวลชนเขารู้จักเราดีพอ ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกคนอยู่ด้วยกัน รู้ว่าใครเป็นอย่างไร "ผมไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เรื่องทั้งหมดที่เสนอในเว็บไซต์เป็นเรื่องเท็จ ใช้ข้อมูลที่คิดขึ้นมาแล้วมาพูดเองเออเอง ทั้งนี้ข้อมูลที่ผ่านมาในเว็บไซต์ดังกล่าวก็ถือว่ามั่วอยู่แล้ว เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ไม่น่าเชื่อถือ" นายปานเทพกล่าวถึงข้อมูลของวิกิลีกส์
สุริยะใสชี้เป็นเรื่องอยากโปรโมตเว็บไซต์ วิกิลีกส์เป็นเว็บที่ไม่น่าเชื่อถือ ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ในฐานะอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวกับ "ไทยโพสต์" ว่า ไม่มีแกนนำพันธมิตรฯ คนไหนเคยไปเจอนายอีริก จี. จอห์น และเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. เป็นเหตุการณ์ที่รัฐใช้อำนาจเข้าล้อมปราบปรามประชาชน ซึ่งทหารก็ไม่ได้ออกมาปฏิวัติ ประชาชนบริสุทธิ์ต้องล้มตาย ตอนนี้ยังหาตัวคนทำผิดไม่ได้ "ส่วนจะมองว่าเป็นการดิสเครดิตกลุ่ม พันธมิตรฯ หรือไม่นั้น ผมคิดว่าไม่มีใครวางแผนอะไรแบบนั้นหรอก ส่วนเจตนาของวิกิลีกส์ ก็แล้วแต่คนจะคิด มันตลก และเป็นไปไม่ได้ คิดว่ามีเจตนาจะโปรโมตเว็บไซต์ตัวเอง โดยการหยิบเอาเรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมมานำเสนอ เป็นเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ" นายสุริยะใสระบ
สนธิไม่เชื่อข้อมูล "วิกิลีกส์" เรื่อง พล.อ.เปรม พบทูตสหรัฐฯ เชื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมือง "ไม่ซี้ซั้ว" ขณะที่เมื่อคืนวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ออกอากาศทาง เอเอสทีวี ทุกวันศุกร์ ช่วงเวลา 20.30-22.30 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวถึงเว็บไซต์วิกิลีกส์ กรณีแพร่เอกสารลับซึ่งตอนหนึ่งพาดพิง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยนายสนธิ ตอบโต้เอกสารวิกิลีกส์ว่า ไม่มีทางที่ พล.อ.ปรม จะกล่าวกับนักการทูตแน่นอน โดยนายสนธิ กล่าวว่า "ตอนที่เมืองไทยมีปฏิวัติ 19 กันยา พวกนี้จะหาเหตุว่าใครเป็นคนทำให้มีการปฏิวัติ ใครเป็นคนสั่ง ใครอย่างโน้นอย่างนี้ แต่คนพวกนี้เนื่องจากว่ามันเป็นเอกสาร ที่เหมือนผมไปคุยกับแอน สมมติว่าแอนสนิทสนมกับนายพลคนหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจ ผมคุยกับแอนเสร็จก็มาพิมพ์รายงาน ระหว่างที่ผมพิมพ์ ผมไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อว่าผมคุยกับแอน ผมสามารถใส่ว่าผมคุยกับ นายแอน ใครจะรู้ล่ะ เพราะเอกสารนี้ถูกส่งโดยตรงผ่านเอกอัคราชทูตเอ็นคริท ใส่รหัส เข้าสเตทดีพาร์ทเมนท์ ก็คือกระทรวงต่างประเทศเขา มีแต่พวกเขารู้เท่านั้นเอง ฉะนั้นแล้วมันจึงเป็นเอกสาร ซึ่งพอวิกิลิกส์ แฉออกมา มันไปแฮ็กข้อมูลออกมา มันก็เลยกลายเป็นว่า ทูตคนนี้คุยกับ พล.อ.เปรม ทูตคนนี้คุยกับ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ผมจะบอกให้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา ไม่ซี้ซั้ว อย่าง พล.อ.เปรม ท่านไม่ซี้ซั้วคุยอย่างนี้หรอก ธรรมดาคนใกล้ชิดท่านยังไม่คุยเลย"
อัดสื่อไทยเล่นเรื่องวิกิลีกส์ "เหมือนหมาข้างถนนงับคริสปี้" นายสนธิกล่าวต่อว่า "คืออย่างนี้ครับ มันจะมีคนอยู่ประเภทหนึ่งในทุกสังคม สังคมไทยก็มี ประเภทสอดรู้สอดเห็น เสือกทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนซึ่งเคยอยู่ในรัฐบาล คนซึ่งเคยมีชื่อเสียง มีความรู้สึกว่า ทูตอเมริกันมาคุยกับฉันสุดยอด เป็นคนสำคัญ พอมาคุยแล้ว ทูตอเมริกันหรือซีไอเอ ก็จะรู้ว่า ไอ้หมอนี่มันสนิทสนมกับรัฐบุรุษคนนี้ อาจจะสนิทกับ พล.อ.เปรม หรือ พล.อ.สนธิ เฮ้ย 19 กันยา สนธิเขาว่าอย่างไร อ๋อ นายผมเหรอเขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ ทีนี้เวลารายงาน มันจะรายงานว่ามันคุยกับลูกน้อง พล.อ.สนธิ เหรอ มันก็บอกว่ามันคุยกับ พล.อ.สนธิ นี่คือที่มา ทีนี้ไอ้คนไทยที่มันยังไม่ฉลาดไม่ลึกซึ้ง ไม่รู้วิธีการทำงานเขา พอเห็นข้อมูลมาก็กระโดดงับเลย เหมือนหมาข้างถนนงับคริสปี้" "พอมันเป็นเคเบิลมาจากสเตทดีพาร์ทเมนต์ แล้ววิกิลิกส์มันแฉออกมา ทุกคนทีได้บอกว่าของจริง โดยไม่คิดว่าที่มาข้อมูลเป็นอย่างไร วิธีการหาข้อมูลเขาเป็นอย่างไร พอรู้เรื่องกระบวนการทั้งหมดแล้วถึงจะเข้าใจ ว่าข้อมูลทั้งหมดที่ส่งไปผมว่าจริงอย่างมากไม่เกิน 20 % 30%" "เขาเรียกว่าหมากัดคริสปี้ไง นี่คือสื่อเมืองไทยเรา" นายสนธิกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมภาษณ์ ‘กนก วงษ์ตระหง่าน’ เปิดโลกอิสลามศึกษาเชื่อมโลกมุสลิม Posted: 26 Dec 2010 01:26 PM PST การจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies” ณ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 21–23 ธันวาคม 2553 นับว่าได้สร้างความคึกคักให้กับวงการอิสลามศึกษาในเมืองไทยไม่น้อย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงที่มาและเป้าหมายของการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจดังต่อไปนี้ 000000 จุดเริ่มต้นในการจัดงานก็อยู่ในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมานี้เองใช่หรือไม่ ความคิดจะจัดงานเกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ไม่ใช่แค่ 2–3 เดือน เหตุผลที่จัดกันค่อนข้างฉุกละหุก เพราะผู้นำศาสนาและอธิการบดีจากหลายประเทศบอกว่า หากจัดหลังจากปีใหม่หลายคนติดธุระ มาร่วมงานไม่ได้ส่วนใหญ่ บอกว่าช่วงปลายเดือนธันวาคม 2553 เป็นช่วงที่เหมาะที่สุด น่าจะจัดช่วงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปจัดกลางๆ ปีหน้า สุดท้ายเราก็ได้วันที่ 21–23 ธันวาคม 2553 ที่มาของโครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติ ตอนปี 2552 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผมนำคณะของมหาวิทยาลัยในไทยมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ไปประเทศแอฟริกาและบางประเทศในตะวันออกกลาง ระหว่างเดินทางเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาของนักศึกษาในประเทศมุสลิมแถบแอฟริกาว่า ปัญหาสำคัญคือ จบออกแล้วไม่มีงานทำ ผมสอบถามอาจารย์จากประเทศไทยว่า มีปัญหาอะไรบ้าง ก็ได้คำตอบคล้ายคลึงกัน เลยคิดว่าทำไมไม่เอาประเทศที่เปิดสอนอิสลามศึกษามาคุยกันว่า มีปัญหาอย่างไร เราจึงสอบถามมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ที่เราไปพบว่ามีความคิดอย่างไร ถ้าจะจัดสัมมนาในเรื่องเหล่านี้ ปรากฏว่าทุกประเทศ ทุกมหาวิทยาลัยเห็นด้วย หลังจากนั้นเราก็ได้ทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรรีบอกว่า เป็นความคิดที่ดีน่าจะมีการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่มีพี่น้องมุสลิมมากที่สุด จึงมอบให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็มอบให้กับวิทยาลัยอิสลามเป็นผู้ดำเนินการ ปัญหาของอิสลามศึกษาเท่าที่พบปัญหา ก็มีเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ทำอย่างไรให้นักศึกษาที่จบไปแล้วมีงานทำ เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ ความคิดเหล่านี้เรานำเรื่องเหล่านี้ไปปรึกษากับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนได้หัวข้อการสัมมนาครั้งนี้คือ “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies การจัดสัมมนาในช่วงนี้ มีเหตุผลทางการเมืองด้วยหรือไม่ ไม่เกี่ยวเลย เราเตรียมการมาปีกว่าแล้ว ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เนื่องจากที่เรียนไป ที่อธิการบดีหลายท่านมาไมได้ในช่วงของปีใหม่เพราะติดงาน บทบาทของอิสลามศึกษาในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ความหมายก็คือ ยุคโลกาภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเยอะมาก ทั้งความคิดความเชื่อ ระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี จึงเกิดคำถามว่า ภายใต้บริบทอย่างนี้เราจะสอนอิสลามศึกษาอย่างไร ปรากฏว่าในงานสัมมนามีบทความวิชาการเยอะมาก เท่าที่ทราบมีถึง 30 บทความ เราได้ผู้นำอิสลามศึกษาระดับโลก เช่น กาตาร์ อียิปต์ มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา และการปรับตัวของอิสลามศึกษา ข้อแรก ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า อิสลามศึกษาควรนำไปสู่สันติภาพ และความปรองดอง ความกลมกลืน ไม่ใช่เฉพาะในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น แม้กระทั่งระหว่างชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ควรที่จะอยู่กันอย่างสันติสุขและกลมกลืนกัน ประการที่สอง อิสลามศึกษาควรมีขอบเขตการบูรณาการเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ให้เข้ากับวิชาชีพต่างๆ เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก ถ้าขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิชาชีพ ก็ไม่สามารถทำงาน หรือนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ แน่นอนวิชาชีพและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลามที่ถูกต้อง ประเด็นที่สาม คิดว่าอิสลามศึกษาน่าจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้คน สังคม ชุมชน และระหว่างประเทศ หมายถึงว่าอิสลามศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะของชาวมุสลิม คนที่ไม่ใช่มุสลิมก็ศึกษาได้ เป็นลักษณะการศึกษา 2 ทาง คนมุสลิมศึกษาเรื่องเกี่ยวกับทางโลก คนที่ไม่ใช่มุสลิมก็ศึกษาอิสลาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดความเคารพกันและกัน อีกประการที่สำคัญ อิสลามศึกษาต้องทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมและชุมชน นี่เป็นความเห็นในที่ประชุมที่แสดงออกมา ทุกคนพูดอย่างชัดเจนว่า อิสลามศึกษาจะต้องปรับ ต้องพัฒนา และยกระดับ อันนี้เป็นการบ้านที่ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร การสัมมนาครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร ดูจากนักศึกษาและพี่น้องปัตตานี ทุกคนตอบรับการสัมมนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก เป็นการสัมมนาที่มีผู้นำทางจิตวิญญาณ นำองค์ความรู้ด้านอิสลามจากทั่วโลก มาแสดงข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการเปิดความคิดใหม่ให้กับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ในส่วนที่คิดว่าสำคัญคือ การยกระดับอิสลามศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภาวิตน์ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี แต่มหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทยได้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะต้องนำความคิด ข้อค้นพบไปแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะเปิดการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษา ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จะต้องมีวิทยาลัยอิสลามศึกษาแบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะยังไงก็สู้ไม่ได้ แต่เขาสามารถส่งนักศึกษามาเรียนได้ ที่เห็นชัดเจนคือ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ที่ปัตตานี เป็นที่รู้จักของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของโลกในด้านอิสลามศึกษา เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะเกิดความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกับมหาวิทยาลัยด้านอิสลามศึกษาทั่วโลก เท่ากับการยกระดับให้อิสลามศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้ มีคุณภาพระดับโลก ต่อไปพี่น้องที่มาเรียนที่ปัตตานีจะได้เรียนมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานโลก ไม่ใช่ที่เรียนคุณภาพต่ำ ประการสำคัญอันสุดท้ายผู้นำทางด้านจิตวิญญาณที่มาประชุครั้งนี้ ประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้ให้เสรีภาพทางด้านศาสนามาก ผู้นำทางการศึกษาบางประเทศพูดกับผมว่า เขาประทับใจมาก ที่ผู้นำสูงสุดของประเทศคือ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษาด้วยตนเอง นี่คือชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับลูกหลาน และพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งชื่อเสียงของประเทศไทยในอนาคต รูปธรรมหลังที่จะตามมามีอะไรบ้าง จะเกิดรูปธรรมตามมาอีกมากมาย นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เราจะต้องทำงานกันต่อไป เช่น วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ได้เตรียมแผนไว้แล้วว่า พัฒนาสถาบันสอนภาษาอาหรับ เพราะนักศึกษามุสลิมจากไทยที่ไปศึกษาที่ซูดาน อียิปต์ ต้องไปเสียเวลาเรียนภาษาอาหรับ 2–3 ปี ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเรามีหลักสูตรภาษาอาหรับ ในวิทยาลัยอิสลามศึกษา ลูกหลานของเราก็ไม่ต้องไปเรียนต่างประเทศอีกแล้ว เราจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยอัล–อัซฮาร์มาสอน พอคะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ก็เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้เลย สิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีทำไปบ้างแล้วคือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา มีนักศึกษาจากวิทยาลัยอิสลามศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน สิ่งเหลานี้เป็นการเปิดความคิดใหม่ ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ของเราเห็นโลกกว้างขึ้น แลซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลหวังจะนำเรื่องการศึกษา ไปใช้แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร หัวใจของการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การศึกษาของพี่น้องประชาชน การจัดสัมมนาครั้งนี้ นักวิชาการจากต่างประเทศอ้างหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจนว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับความรู้ และต้องให้ความเคารพกับผู้รู้ เพราะผู้รู้คือผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า ผมเชื่อว่าการให้การศึกษาที่ถูกต้อง ทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวตามหลักศาสนา และการประกอบอาชีพที่ถูกต้องที่สัมพันธ์กับหลักศาสนา เป็นสิ่งที่จะสร้างความเข้มแข็ง สร้างเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับพี่น้อง ถ้าเราทำอย่างนี้พี่น้องมุสลิมก็จะเรียนรู้ว่า ความถูกต้องคืออะไร ที่สำคัญการศึกษาจะทำให้เขามีอาชีพ ที่สามารถเลี้ยงตัวเอง และชุมชนต่อไปได้ นี่คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขและสันติสุขที่แท้จริงสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายความว่ารัฐบาลหวังผลระยะยาว ผมไม่เคยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความแตกต่าง จนเกิดความแตกแยกทางความคิด จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ระยะยาว ดินแดนแถบนี้ยังคงอยู่ที่นี่ไม่ได้หายไปไหน พี่น้องมุสลิมก็ยังคงอยู่ที่นี่ เราไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องระยะเวลา ขอให้ทำอย่างถูกต้อง ในคำสอนของศาสนาอิสลามบอกว่า ถ้าเราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และคำสอนที่พระผู้เป็นเจ้าให้แล้ว ชีวิตของเราก็จะได้รับการยกโทษ ในวันสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้กลับมาให้ชีวิตใหม่อีกครั้ง ในคำสอนของศาสนาอิสลามให้รอ แม้กระทั่งชีวิตหลังความตาย การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราก็เหมือนกัน ต้องไปทำแค่เฉพาะหน้าระยะสั้น ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มั่นคงถาวรคือ การสร้างความเข้าใจ ความอดทน ความเคารพในความแตกต่างระหว่างกันของคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ บนฐานของความรู้ในศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนี้เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดความสงบสุขมั่นคงถาวร เนื่องการสัมมนาในครั้งนี้ มีนักวิชาการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมมากมาย รัฐบาลหวังผลในเวทีระดับโลกอย่าง OIC หรือไม่ ผมคิดว่าเราอย่าไปให้น้ำหนัก ทำอันนี้แล้วหวังผลอันนี้ เราต้องเข้าใจว่า การทำงานในด้านการศึกษาเราจะหวังผลในระยะสั้นไม่ได้ เราจะต้องหวังผลในระยะยาว และผลที่หวัง ต้องตั้งอยู่ในหลักของความถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผลที่ได้ไม่ยั่งยืน แล้วเราก็จะทำผิดเหมือนกับที่ผ่านมาในอดีตอีก เพราะฉะนั้นเรื่อง OIC อะไรต่างๆ ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ ปล่อยให้เขาทำไป สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนก็คือ นักวิชาการเหล่านี้ที่เดินทางมาประเทศไทยมาที่ปัตตานี และได้พบกับเรา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยเหตุด้วยผล ภายใต้หลักการของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเขากลับประเทศ เขาจะบอกเองว่า ประเทศไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นบอก ไม่ได้กีดกันชาวมุสลิมไม่ให้ปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ได้กดขี่ข่มเหงทำร้ายพี่น้องมุสลิม ในช่วง 3 วันนี้เขาจะเห็นเอง สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีความหมาย การจะไปอธิบายกับ OIC ในลักษณะการให้เหตุผล หรือการโฆษณา มันไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ที่ยั่งยืนสำคัญมากกว่าคือ การปฏิบัติจริงต่อพี่น้องมุสลิม สิ่งที่ผมประทับใจมากคือ มีนักวิชาการจากหลายประเทศบอกกับผมว่า สิ่งที่ผมนำเสนอความคิดของผม เป็นความคิดที่ใกล้เคียงกับอิสลามมากที่สุด มีนักวิชาการบางคนบอกว่า เป็นอิสลามมากกว่ามุสลิมหลายคนด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ไปคิดทำอันนี้ เพื่อหวังอันนั้น อันนั้นเป็นความคิดเก่า ความคิดใหม่ไม่ได้เป็นแบบนั้น นักวิชาการจากต่างประเทศแสดงทัศนคติต่ออิสลามศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรบ้าง ทุกคนแม้ว่าจะเป็น กาตาร์ อียิปต์ ตุรกี จอร์แดน เป็นต้น ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า การศึกษาด้านอิสลามศึกษา จะต้องปรับปรุงและพัฒนา ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญคือต้องยึดหลักความบริสุทธิ์จากคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเราเข้าใจในความบริสุทธิ์ของคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า เราก็จะเข้าในเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเข้าใจเราก็จะสามารถประยุกต์องค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อให้เกิดการดำรงชีวิตอย่างสันติได้ ในสภาพแวดล้อมที่เราเป็นอยู่ มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า การศึกษาอิสลามศึกษานั้น ภาษาอาหรับเป็นสิ่งสำคัญ แต่สังคมมาเลเซียจะต้องเรียนภาษาจีน เพราะหลายสิบปีก่อน ภาษาจีนเป็นเครื่องมือในการหางานทำ จึงเกิดคำถามว่าแล้วจะเรียนอิสลามอย่างไร เขาก็บอกว่า เขาเรียนอาหรับและเรียนจีนไปด้วย ถึงแม้ภาษาอาหรับจะไม่สำคัญทางด้านธุรกิจการค้าก็ตาม ความหมายที่ผมได้เรียนรู้จากการสัมมนา การศึกษาอิสลามต้องมองในมุมกว้าง หากเรามองในมุมแคบแล้วเราจะติดชุมชน หมู่บ้าน และสังคมของเรา จนไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า อิสลามศึกษาเป็นเรื่องสากลเป็นภาพใหญ่ของโลกมุสลิม แต่เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาอยู่หลายมิติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา และยังมีเรื่องสังคม วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งประวัติศาสตร์ ในทางการศึกษา จะจับตรงนี้ด้วยหรือไม่ ผมเชื่อว่านักวิจัยทางด้านอิสลาม คงจะต้องเข้าไปศึกษาเรื่องนี้ในอนาคต อย่าลืมว่าปัตตานีเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมทางด้านการศึกษาสูง ประชาชนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ เขมร เวียดนาม ลาว ที่เป็นมุสลิมมาศึกษาที่นี่ นักคิดนักปราชญ์ของคนในพื้นที่นี้ก็ได้สร้างผลงาน สร้างองค์ความรู้มากมาย ที่เป็นประโยชน์กับโลกมุสลิม อันนี้คือความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสนับสนุนให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาที่ปัตตานี เป็นที่รวมของนักคิดนักปราชญ์ในยุคหลังโลกาภิวัตน์ได้ สามารถที่จะคิดค้นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อโลกมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมได้ ก็จะเป็นความฝัน ที่จะนำความยิ่งใหญ่ของดินแดนปัตตานีแห่งนี้กลับมา ในฐานะที่เป็นดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามศึกษาก็อยากทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นประโยชน์กระทั่งกับคนที่ไม่ใช่คนมุสลิม คนอย่างผมก็ได้ประโยชน์มากจากการเรียนรู้ ตอนนี้ถ้าดูในบทบาทของรัฐ ในการที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องของอิสลามศึกษา เท่าที่เห็นอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ในส่วนของรัฐบาลเอง จะขยับไปถึงระดับสถาบันอะไรหรือไม่ เราอย่าเรียกว่าระดับรัฐบาลขยับ เพราะถ้าหากเรียกรัฐบาลขยับอย่างที่พูด อาจจะนำไปสู่การเข้าใจผิด กลายเป็นการบังคับ ในศาสนาอิสลามพูดชัดเจนว่า เราไม่สามารถบังคับใครให้เชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องของการสมัครใจของคนๆ นั้น เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าจะสนับสนุนการศึกษาในระดับประถม มัธยม ในโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลาม ระดับแรกต้องเป็นเรื่องที่โรงเรียนเหล่านั้นอยากได้ ผมได้คุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ท่านบอกว่านี่คือสิ่งที่เราอยากได้ การเรียนการสอนอิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สอนได้ในบางสาขาวิชาชีพที่เราไม่สามารถสอนได้ เราอยากร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาไม่มี นี่คือความสมัครใจ ทำให้เกิดความร่วมมือกันขึ้น และวันนี้ก็มีโรงเรียนปอเนาะ ตาดีกา หลายแห่งมาก ที่ต้องการให้มีการสอนวิชาสามัญ เช่นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมแล้วสามารถไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เมื่อมีการสมัครใจเช่นนี้ ความร่วมมือก็ควรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราเป็นห่วงมากกว่าคือ เมื่อโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม อยากจะได้ความช่วยเหลือ แต่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าผมก็ไม่มีความสามารถที่จะช่วยคุณ นั่นต่างหากคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง วันนี้ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะต้องเตรียมความพร้อมที่จะมีองค์ความรู้มีคำตอบที่จะช่วยโรงเรียนในระดับประถม มัธยมของอิสลามเมื่อเขาร้องขอ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ควรสูญเสียโอกาส ในเรื่องการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่หลายประเด็น ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการก่อความไม่สงบ เช่น ประวัติศาสตร์ ในส่วนของรัฐบาลจะไปแตะตรงนี้หรือไม่ ผมคิดว่าในสามวันที่ผ่านมา นักวิชาการจากหลายประเทศ ก็ได้พูดประเด็นที่น่าคิดมากคือ เราปฏิเสธคนที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ และบิดเบือนหลักการที่บริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ในคนกลุ่มเหล่านั้นเราถือว่า ท่านไม่ใช่มุสลิมที่แท้จริงในความหมายของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะมีเหตุผลทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องของท่าน ต้องอย่ามารวมกับอิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่แสวงหาสันติภาพ อาจารย์ใหญ่จากกาตาร์พูดอย่างชัดเจนว่า อิสลามแสวงหาความรุนแรง ไม่ใช่อิสลาม อิสลามถึงที่สุดแล้ว จะต้องก่อให้เกิดสันติภาพ ภายใต้หลักการอย่างนี้ คนที่ไม่ได้เป็นอิสลามก็ไม่มีปัญหากับอิสลาม ตรงนี้คนที่หยิบเงื่อนไขศาสนามาสร้างความรุนแรง อันนั้นไม่เจตนารมณ์ของอิสลาม หลังจากนี้ทางรัฐบาลเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนวิทยาลัยอิสลามศึกษา 500 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบว่าเอามาจากไหน ไม่เคยมีการพูดถึง ขอยืนยันว่าข้อมูลไม่ถูก ผมคิดว่าเราอย่าไปพูดเรื่องงบประมาณโครงการต่างๆ เพราะถ้าพูดไปแล้วจะกลายเป็นว่า พูดแล้วไม่ทำ สิ่งที่ชัดเจนคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งใจชัดเจนที่จะสนับสนุนอิสลามศึกษา ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พี่น้องมุสลิมเข้าถึงหลักการที่บริสุทธิ์ของศาสนาอิสลาม ประยุกต์ใช้หลักการนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อสร้างสังคมที่สันติสุขไม่มีความรุนแรง นี่คือหลักการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งพี่น้องมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ประเทศที่มีบทบาทในความร่วมมือทางด้านอิสลามศึกษาครั้งนี้ มีประเทศอะไรบ้าง มีประเทศกาตาร์ อียิปต์ จอร์แดน ตุรกี และมาเลเซีย ทั้ง 5 ประเทศมีบทบาทมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอิสลามศึกษา ประเทศกาตาร์ เป็นนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียง 1 ใน 10 ของโลก และเป็นคนแอ็คทีฟมาก หลายคนบอกว่า คำว่า Post Globalized ในหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ เป็นศัพท์ใหม่ในทางวิชาการ มีความหมายว่าอย่างไร คำว่า Globalized หมายถึงโลกาภิวัตน์ เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ ทำให้คนมีจิตใจตกต่ำ เพราะยึดวัตถุมากกว่าศาสนา จึงเกิดประเด็นว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรกลับมาทบทวนหรือไม่ และนี่คือโอกาสที่หลักศาสนาจะกลับเข้ามาอยู่ในกระบวนการทางสังคม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 18-25 ธ.ค. 2553 Posted: 26 Dec 2010 01:06 PM PST รอง ปธ.สมาคมประมงฯร้องสอบบัตรแรงงานต่างด้าวปลอม นาย สุทิน ชาวปากน้ำ รองประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมประมง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า กรณีได้รับแจ้งปัญหาหลังพบบัตรแรงงาต่างด้าว สะพัดอยู่ ในสถานประกอบการต่าง โดยมีแรงงานต่างด้าวหลายราย ทั้งนายจ้างเสียทรัพย์เงินใบละร่วม 20,000 บาท ทั้งนี้ทำให้เมื่อเข้าต่อใบอนุญาตทำงาน ไม่สามารถผ่านขั้นตอนได้ ขณะที่ปัญหาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานของประเทศต้นทาง ยังมีปัญหาความล่าช้าที่ล่าช้าจากกระบวนและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งถือเป็นปัญหารุมเร้าอย่างหนัก “ จากการตรวจสอบบัตรหลายราย พบว่าหน้าตาแรงงานต่างด้าวซ้ำๆกันถึง 5 - 6 คน ในหมายเลขประจำตัว 13 หลักเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมโดยกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งอยาก ให้รัฐบาลลงช่วยดูแล อย่างไรก็ตามอยากว่า สันนิฐานคาดมีคนในเข้าเอี่ยว (เนชั่นทันข่าว, 18-12-2553) แรงงานพม่ากว่าพันรณรงค์วันแรงงานข้ามชาติสากล แรงงานพม่าในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กว่า 1,000 คน ต่างเดินทางไปรวมตัวกันที่วัดแม่สอดหน้าด่าน หรือ วัดหลวง เขตเทศบาลนครแม่สอด เพื่อจัดรูปขบวน และแจกเอกสารต่างๆ จากนั้นได้ออกเดินทางไปตามถนนสายต่างๆ โดยกลุ่มแรงงานชาวพม่า ได้ใช้วงดุริยางค์ของโรงเรียนในพื้นที่นำหน้าขบวน และมีขบวนของแรงงานพม่าตาม ทั้งนี้เนื่องจากวันแรงงานข้ามชาติสากล โดยแรงงานชาวพม่าต่างถือป้ายผ้า เขียนด้วยข้อความต่างๆ เช่น แรงงานทุกคนต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน , ขอบคุณชาวอำเภอแม่สอด ที่เปิดพื้นที่ให้ทำงาน , สิทธิแรงงานข้ามชาติคือ สิทธิมนุษยชน และแรงงานข้ามชาติร่วมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโต เป็นต้น ทั้งนี้แรงงานพม่าดังกล่าวได้เดินไป รอบเมืองแม่สอด และเดินทางต่อไปที่โรงเรียนซีดีซี.ของชาวพม่า ที่อยู่ตำบลท่าสายลวด เพื่อจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจในหมู่ชาวพม่าเป็นอย่างมาก (เนชั่นทันข่าว, 18-12-2553) ไทยจับมืออิสราเอลลดค่าหัวจัดส่งคนงาน 20 ธ.ค. 53 - ที่กระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการลงนามร่วมกับ นายอิตซ์ฮัก โซฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับคนงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลว่า ข้อตกลงของการลงนามนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานไทย ที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลแล้ว ยังกำหนดจำนวนโควตาแรงงานไทย ที่จะเดินทางไปในรูปแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้าจัดหางาน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการระหว่างไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบดังกล่าวในอนาคต นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในแต่ละปีมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ปีละ 5,000 – 6,000 คน โดยเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทจัดหางานปีละประมาณ 300,000 บาท ซึ่งการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคนลดลงเหลือเพียง 150,000 บาท ซึ่งในการดำเนินงานครั้งนี้จะส่งผลให้การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรใน อิสราเอล จะเป็นแบบรัฐต่อรัฐ เนื่องจากต่อไปอิสราเอลจะไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ไม่ได้ทำข้อตกลงนี้ เข้าไปทำงานอีก ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากแรงงานคนใดสนใจไปทำงานที่อิสราเอล สามารถติดต่อได้ที่กระทรวงแรงงาน ด้านนายอิตซ์ฮัก กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยอยู่ในประเทศ 26,000 คน มากกว่าร้อยละ 96 อยู่ในภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือเป็นข้อตกลงฉบับแรกที่อิสราเอลทำกับประเทศอื่น เนื่องจากเห็นว่าแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีความขยัน มีฝีมือ และเป็นที่ยอมรับของนายจ้างอิสราเอล โดยข้อตกลงดังกล่าวทำให้แรงงานไทยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานลง และสร้างโอกาสให้แรงงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงานมากขึ้น ขณะที่นายเกริกศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์ นายกสมาคมจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าวถึงการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยกับอิสราเอลว่า จะส่งผลดีต่อแรงงานไทย แต่ในส่วนของบริษัทจัดหางานอาจได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีบริษัทจัดหางานบางแห่ง เรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงาน จนเข้าข่ายการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บริษัทจัดหางานก็จะยังคงอยู่ได้ แต่ต้องมีการปรับตัว ซึ่งในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ บริษัทจัดหางาน 64 แห่งจะนัดประชุม เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุในการยกเลิกการจัดส่งคนงานแบบเดิม และหาข้อสรุปร่วมกับกรมการจัดหางาน และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือไอโอเอ็มก่อนนำข้อสรุปเสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาทบทวนอีกครั้ง. (เดลินิวส์, 20-12-2553) แรงงานกัมพูชากว่า 500 คนปิดโรงงานกุ้งจันทบุรีไม่พอใจที่ถูกหักค่าแรง 20 ธ.ค.53 - ที่โรงงานจันทบุรีซีฟู้ด ต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม นายอำเภอ นายายอาม จ.จันทบุรี พร้อมด้วย พ.ต.อ.อภิชาต ไชยบุญเรือง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรนายายอาม สนธิกำลังเจ้าหน้าที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรึงกำลังควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชา จำนวนกว่า 500 คน ที่ลุกฮือปิดล้อมทางเข้าออกโรงงานจันทบุรี ซีฟู้ด เพื่อประท้วงนายจ้าง เนื่องจากเกิดความไม่พอใจที่โรงงานได้เรียกหักค่าแรงเพิ่มขึ้นจากเดิม มากเกือบเท่าตัว โดยเหตุการณ์เกือบจะบานปลายเมื่อมีแรงงานบางราย พยายามยุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วงเกิดความรุนแรง โดยการขว้างปาสิ่งของเข้าไปในโรงงาน แต่ถูกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อส. เข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทัน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-12-2553) แรงงานอีสานร้องตำรวจระยองถูกหลอกอ้างส่งทำงานที่เฮติ 21 ธ.ค. 53 - นายสมพร ไขแสงจันทร์ อายุ 31 ปี ชาว จ.หนองคาย พร้อมพวกอีก 15 คน นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ คดีธรรม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง จังหวัดระยอง ว่า ถูก นายวิฑูรย์ สิงห์ฉลาด และนางรินจง ทะสังขา สองสามีภรรยา ชาว จ.มหาสารคาม หลอกลวงอ้างสามารถจัดส่งไปทำงานประเทศเฮติ โดยเรียกรับเงินค่าหัวรายละ 40,000 บาท เบื้องต้นมีแรงงานผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของนางรินจง คนละ 40,000 บาทกว่า 200 คนแล้ว โดยอ้างว่ากรมยุทธบริการทหาร กระทรวงกลาโหม จัดโควตากำลังพลทั้งทหารและพลเรือนจำนวน 750 นาย เพื่อไปทำงานช่วยเหลือและฟื้นฟูประเทศเฮติที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว และต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีของนางรินจง จึงหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว และให้เตรียมตัวเดินทางในวันที่ 27 มิ.ย.53 จากนั้นเมื่อใกล้ถึงวันเดินทางก็ไม่เห็น 2 สามีภรรยาคู่นี้ติดต่อมา จึงโทรศัพท์ไปสอบถามกับนายวิฑูรย์ ก็อ้างว่าทางทหารติด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถเดินทางออกต่างประเทศจะต้องประจำการอยู่ในประ เทศไทยก่อน และขอเลื่อนกำหนดเดินทางไปอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งผู้เสียหายก็หลงเชื่อและรอจนครบกำหนด 2 สัปดาห์ เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามก็อ้างว่าติดภารกิจอยู่อย่างนั้น แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้ไปทำงานตามที่ 2 สามีภรรยากล่าวอ้าง และไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด จึงต้องมาพึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยดำเนินการ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวัน และจะได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานดำเนินคดีกับสองผัวเมียดังกล่าวในข้อหาจัดหางาน โดยไม่ได้รับอนุญาต หลอกลวงคนหางานว่าจะสามารถจัดส่งไปทำงานต่างประเทศได้ แต่ไม่สามารถจัดส่งไปทำงานยังต่างประเทศตามคำกล่าวอ้าง และไม่คืนเงินให้กับแรงงาน (สำนักข่าวไทย, 21-12-2553) อนุค่าจ้างจังหวัดขู่ลาออกบีบปรับสูตรใหม่ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวแทนอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างของแต่ละจังหวัดได้ร้องเรียนมายัง ส.อ.ท. ให้สอบถามถึงความชัดเจนกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการ พิจารณาค่าจ้างในปี 2554 จะเหมือนปีนี้อีกหรือไม่ เพราะผลจากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลางที่ออก มาสูงกว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอไป ซึ่งหากยังใช้ สูตรการคิดเดิมก็อาจลาออก เพราะภาครัฐไม่ใส่ใจเสียงตัวแทนผู้ประกอบการของแต่ละจังหวัด "ส.อ.ท.กำลังสรุปข้อมูลปัญหาเพื่อ ใช้ในการหารือกับกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะ ปัญหาความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าแรงงานส่งผลต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการส่งออกเพราะปัจจุบันกำลังประสบปัญหาจากเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่ง ภาคอุตสาหกรรมกังวลว่าในปี 54 อาจทำให้มีผู้ประกอบการส่งออกบางรายต้องปิดกิจการลง" นายทวีกิจกล่าว นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า วันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะหารือร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.54 นี้ ซึ่ง ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐรับทราบผลกระทบจากการปรับค่าแรงครั้งนี้ ซึ่ง ส.อ.ท.ยืนยันตั้งแต่ต้นแล้วว่าเห็นด้วยที่คุณภาพชีวิตของแรงงานจะดีขึ้นจาก ค่าจ้าง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ดูแลพนักงานหรือลูกจ้างผ่านสวัสดิการอื่นๆ อย่างครอบคลุมอยู่แล้ว "การหารือกับกระทรวงแรงงานครั้งนี้ เพราะต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าแรงของคณะอนุกรรมการวิชาการและ กลั่นกรองค่าจ้างกลางที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับที่คณะอนุกรรมการค่า จ้างกลางของแต่ละจังหวัดเสนอไป" นายพยุงศักดิ์กล่าวและว่า ผลจากการปรับค่าจ้างแรงงานย่อมส่งผลให้สินค้าปรับ ราคาขึ้นตามไปด้วย แต่หากภาครัฐยังพยายามตรึงราคาสินค้าในหลายๆ ประเภทที่วัตถุดิบด้านต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดแน่ นอน. (ไทยโพสต์, 21-12-2553) ปลัดแรงงานยันขึ้นค่าจ้างตามที่ประชุม จากกระแสข่าวว่า สภาอุตสาหกรรมไม่พอใจในตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับใหม่ในอัตราวันละ 8-17 บาท เนื่องจากไม่ใช่ตัวเลขที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ นายแพทย์สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ยอมรับว่า มีความเห็นต่างเกี่ยวกับตัวเลขค่าจ้างในขณะที่มีการประชุมจริง แต่สุดท้าย ทุกคนก็เห็นพ้องกับตัวเลขใหม่ที่เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามที่ได้ประกาศไป ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน จัดงานสัมมนา "การกำหนดค่าจ้างทิศทางในเชิงนโยบาย" ขึ้น โดยมีตัวแทนลูกจ้าง และนักวิชาการเข้าร่วมประชุม ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ให้เน้นการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งขณะนี้กำหนดอัตราไปแล้วกว่า 30 อาชีพ และอยู่ระหว่างการศึกษาอีกกว่า 1 พันอาชีพ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้าง นายจ้างควรคำนึงถึงอายุงาน และประสบการณ์การทำงานด้วย (ช่อง 7, 22-12-2553) คนงานโรงงานสิ่งทออยุธยารวมตัวประท้วงขอขึ้นโบนัส 22 ธ.ค. 53 - เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ พนักงานบริษัทไทยโพเกต การ์เมนท์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ม. 2 ต.คลองจิก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบ 1,000 คน ได้รวมตัวประท้วงที่บริเวณลานหน้าอาคารโรงงาน เรียกร้องให้บริษัทขึ้นโบนัสตามที่บริษัทได้เคยบอกเอาไว้ โดยการชุนนุมเป็นไปด้วยความสงบมาตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนพนักงานได้เรียกร้องขอให้บริษัทขึ้นโบนัส จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงิน บริษัทกลับจ่ายให้เพียง 72 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายโบนัสตามจำนวนที่พนักงานร้องขอได้ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุน ทำให้พนักงานไม่พอใจรวมตัวประท้วง พร้อมกับยืนยันว่าจะต้องได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หากไม่สำเร็จพนักงานจะรวมตัวประท้วงไปเรื่อยๆ และจะนัดหยุดงานทั้งหมด (สำนักข่าวไทย, 22-12-2553) กสร.ลุยแรงงานสัมพันธ์ลดข้อพิพาทรับฟังทั้งสองฝ่าย 22 ธ.ค. 53 - นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยในการสัมมนาเรื่องแรงงานสัมพันธ์ โดยหลักสุจริตใจว่า จากข้อมูลด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552-30 พฤศจิกายน 2553 พบว่ามีสถานประกอบการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน 322 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้องประมาณ 2.8 แสนคน เกิดข้อพิพาท 78 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 5.2 หมื่นคน มีการชุมนุมเรียกร้อง 132 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 135,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 11,885 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเรียกร้องโบนัส และขอขึ้นเงินเดือน นางอัมพร กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องในปี 2553 ว่า มีลูกจ้างชุมนุมเรียกร้องระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2552-30 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 5,630 คน ในสถานประกอบการ 15 แห่ง และชุมนุม 18 ครั้ง มีสถานประกอบการที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง 161 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 95,207 คน โดยเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง 31 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 11,341 คน และเกิดข้อขัดแย้ง 37 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 11,942 คน มีลูกจ้างผละงาน 3 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 760 คน มีการนัดหยุดงาน และปิดงาน 1 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 500 คน ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กสร. กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการประท้วงหยุดงาน และความไม่ลงรอยกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมาก ดังนั้น ต้องปรับกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ โดยรับฟังกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด (มติชนออนไลน์, 22-12-2553) พนง.ฟูจิตสึในนิคมฯ แหลมฉบังม็อบเรียกร้องเงินเดือน-โบนัส-สวัสดิการ 23 ธ.ค. 53 - ที่หน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี นายสมควร โสนรินทร์ ประธานสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 92/9 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พร้อมพนักงานกว่า 300 คน รวมตัวประท้วงร้องเรียนนายจ้าง เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับของลูกจ้างไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในการดำรงชีวิต ดังนั้นทางสหภาพ จึงทำหนังสือขอขึ้นเงินเดือน, จ่ายโบนัส และสวัสดิการต่างๆ แก่พนักงาน สำหรับข้อเรียกร้องมีทั้งสิ้น 13 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 4.5 เท่าของฐานเงินเดือน บวก 12,000 บาท พร้อมเพิ่มเงินพิเศษแก่สมาชิกสหภาพอีกคนละ 15,000 บาท นายสมควรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการเจรจาร่วมกันภายในจำนวน 5 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และฝ่ายนายจ้างไม่นัดให้มีการเจรจาครั้งที่ 6 สหภาพแรงงานจึงแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา พร้อมแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อ ยุติร่วมกัน นายสมควรกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดทางบริษัทได้ประกาศปิดงานอย่างกะทันหัน ทำให้ลูกจ้างสับสน โดยประกาศให้พนักงานกลับบ้านด่วนเพราะบริษัทปิดงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 วัน คือ 22-23 ธ.ค.นี้ ทำให้กลุ่มสหภาพและพนักงานไม่พอใจในการกระทำครั้งนี้ จึงนัดรวมตัวเพื่อเรียกร้อง เพื่อกดดันทางบริษัทให้กระทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด และหากการเจรจาในครั้งนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จอาจจะมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงอย่างแน่นอน และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 3 ฝ่าย (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-12-2553) บอร์ดก.พ. ไฟเขียว กม.ตั้ง "สหภาพข้าราชการ" 23 ธ.ค. 53 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน วันที่ 23 ธันวาคม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือน พ.ศ.... มีเนื้อหารวม 48 มาตรา จะมีการเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวจะ เป็นการเปิดทางให้ข้าราชการสามารถรวม กลุ่มกันได้ในลักษณะสหภาพ แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ 1.สหภาพข้าราชการพลเรือน 2.สหภาพข้าราชการระดับกระทรวง 3.สหภาพข้าราชการระดับกรม และ 4.สหภาพข้าราชการระดับจังหวัด (มติชนออนไลน์, 23-12-2553) NTN นิเด็คระยองเปิดโครงการสมัครใจลาออก (นักสื่อสารแรงงาน, 23-12-2553) การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานฟูจิตสึ-นายจ้างล้มเหลวไร้ข้อยุติ จากกรณีที่พนักงานโรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 92/9 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กว่า 300 คน รวมตัวประท้วงร้องเรียนนายจ้างชาวญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับของลูกจ้างไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในการดำรงชีวิตของพนักงาน ดังนั้น สหภาพและพนักงาน จึงทำหนังสือขอขึ้นเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ แก่พนักงาน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-12-2553) ก.แรงงานแจงข้อมูลการร้องทุกข์!คนงานไทยไปทำงานตปท.ลดลง กระทรวงแรงงานสรุปผลข้อมูลคนหางาน ร้องทุกข์กรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศลดลง โดยในปีงบประมาณ 2554 ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2553 คนหางานร้องทุกข์กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานมีจำนวน 376 คน ลดลงจากในช่วงเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน 128 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.40 คนหางานได้รับการช่วยเหลือจำนวน 374 คน ลดลงจากช่วงเดือนเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน 92 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.74 ผลจาก "ปฏิญญา 3 สิงหา"เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ที่ดึงบริษัทจัดหางานกว่า 84 บริษัท ให้"คำมั่น" พร้อมกัน ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตรากฎหมายกำหนด รวมทั้งยังจับมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน ขึ้นเป็นเครือข่ายคอยแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนให้กับ ทางราชการ เพื่อป้องกันปัญหาหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลสรุปข้อมูลคนหางานร้องทุกข์กรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่ กรมการจัดหางานเสนอในที่ประชุมกระทรวงแรงงาน ว่าจำนวนผู้ร้องทุกข์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีคนหางานร้องทุกข์ จำนวน 160 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน101 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.70 คนหางานได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 151 คน ลดลงจากช่วงเดือนเดียวกันของปีงบประมาณ 2553 จำนวน 101 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40.08 สาเหตุที่คนหางานร้องทุกข์ ได้แก่ บริษัทจัดหางานเก็บเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่สามารถจัดส่งคนหางาน ไปทำงานต่างประเทศได้ และคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วประสบปัญหา ไม่สามารถทำงานได้ จึงเดินทางกลับมาร้องทุกข์ ขอค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน เหตุที่ทำให้จำนวนผู้ร้องทุกข์ลดลงคาดว่าน่าจะสืบเนื่องมาจากนโยบายของ นาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้ความสำคัญกับการมีงานทำอย่างมีศักดิ์ศรี โดยตั้งเป้าให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็น"รูปธรรม" และยังผลักดันหลากหลายมาตรการ อาทิ"จับมือชุมชนเฝ้าระวัง" "คลายทุกข์-สร้างสุข" คนทำงาน ร่วมมือให้ความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชุมชนในการเป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับสาย/นายหน้าจัดหา งานเถื่อนให้กับทางราชการ เพื่อป้องกันปัญหาหลอกลวงแรงงาน ไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการปราบปรามการค้ามนุษย์และลดต้นทุนของแรงงาน ไทย ที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ด้วย"ปฏิญญา 3 สิงหา" เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ดึงบริษัทจัดหางานกว่า84 บริษัท ให้"คำมั่น" ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตรากฎหมายกำหนด รวมทั้งรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทยด้วยกระทรวงแรงงานสรุปผล ข้อมูลคนหางานร้องทุกข์กรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศลดลง โดยในปีงบประมาณ 2554 ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2553 คนหางานร้องทุกข์กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานมีจำนวน 376 คน ลดลงจากในช่วงเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน 128 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.40 คนหางานได้รับการช่วยเหลือจำนวน 374 คน ลดลงจากช่วงเดือนเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน 92 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.74 ผลจาก "ปฏิญญา 3 สิงหา" เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ที่ดึงบริษัทจัดหางานกว่า 84 บริษัท ให้"คำมั่น" พร้อมกัน ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตรากฎหมายกำหนด รวมทั้งยังจับมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน ขึ้นเป็นเครือข่ายคอยแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนให้กับ ทางราชการ เพื่อป้องกันปัญหาหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้คนทำงานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสัญญาจ้างที่ชัดเจน รวมถึงการติดตามดูแลมิให้คนงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบระหว่าง การทำงานในต่างประเทศ หากมีข้อสงสัยติดต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานและสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 (พิมพ์ไทย, 24-12-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมงานเผา "แดง คชสาร" Posted: 26 Dec 2010 10:04 AM PST คนเสื้อแดงร่วมงานเผาศพ 'แดง คชสาร' ที่ วัดศรีบุญเรือง จ.เชียงใหม่ 'สมชาย' เป็นประธาน กล่าวปราศรัยดักคอ อย่าเหมาว่า คนเสื้อแดงฆ่ากันเอง 'ทักษิณ' มอบเงิน 1 แสนช่วยเหลือ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 26 ธ.ค. นี้ ที่บริเวณวัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากทั่วสารทิศทยอยกันเข้ามาร่วมงานพิธีศพ นายน้อย บรรจง หรือ ดีเจแดง คชสาร ที่ถูกยิงเสียชีวิตและนำศพไปทิ้งที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ตามที่เป็นข่าว จนแน่นบริเวณวัด ทำให้การจราจรโดยรอบๆ วัดติดขัดไปหมด โดยนายกฤษณะ พรหมบึงรำ หรือ กฤษณะ 51 แกนนำรุ่นที่ 2 กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้ขึ้นปราศรัยพร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์รายละเอียดในการสังหารโหดให้กับ บรรดาคนเสื้อแดงที่มาจากต่างจังหวัดจำนวนมากที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงที่ เกิดขึ้น นายกฤษณะ ระบุว่าการเสียชีวิตมาจากขบวนการล่าสังหารอย่างแน่นอน โดยนายแดง คชสาร ก่อนที่จะเสียชีวิตยังได้บอกว่า มีคนติดตามความเคลื่อนไหวและไล่ล่า และได้พยายามหลบหลีก โดยเปลี่ยนที่นอนตลอด และกลับไปอยู่ที่บ้านต่างจังหวัดเป็นเวลานานร่วม 2 สัปดาห์ แต่ได้ย้อนกลับมาเพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มรักเชียงใหม่เพื่อเรียกร้อง ประชาธิปไตย และได้เปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กจากคันเก่าเป็นคันใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกติดตามอีก และอาศัยนอนตามปั๊มน้ำมัน ตามย่านตลาดที่มีคนมาก ไฟฟ้าสว่าง แต่ก็ไม่พ้นมือกลุ่มล่าสังหาร ซึ่งทางกลุ่มคนเสื้อแดงได้ทราบแล้วว่าเป็นกลุ่มมือสังหารจำนวน 5 คน โดยมีคนที่อยู่ในเชียงใหม่เป็นเป็นคนชี้เป้าโดยทำการอุ้มจากตัวเมือง เชียงใหม่ไปยังจุดที่สังหารและนำศพไปทิ้งอำพรางคดีมีการยัดยาบ้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนเสื้อแดงที่มาร่วมงานศพได้ฟังถึงตอนนี้ได้โห่เสียงดังลั่น และสาปแช่งกลุ่มฆาตกรไปด้วย และ ทางนายกฤษณะ ยังได้เปิดเสียงของแดง คชสารในช่วงที่เป็นทำหน้าที่เป็นดีเจร่วมกันในการทำรายการวิทยุของคนเสื้อ แดง มาเปิดให้ฟังทำให้บรรยากาศโศกเศร้า ต่อมาเมื่อเวลา 12.00 น.วันเดียวกันนี้กลุ่มคนเสื้อแดง จำนวนหนึ่งได้ขอนำภาพถ่ายของดีเจ แดงคชสาร พร้อมพวงหรีดออกแห่ออกไปจากวัดศรีบุญเรือง ไปตามถนนมหิดล ผ่านหน้าตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อกระตุ้นให้ทางตำรวจได้เห็นพลัง ก่อนที่จะย้อนกลับเข้ามาชุมนุมในวัดอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อม ส.ส.เชียงใหม่ และลำพูน และยังมี จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีตตำรวจ ที่แต่งกายชุดตำรวจแต่เสื้อกางเกงสีแดงทั้งชุด ได้เดินทางมาถึงท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับอย่างกึกก้อง โดยนายสมชายได้จุดธูปไหว้ศพดีเจแดง คชสาร จากนั้น ได้เข้ากราบนมัสการพระครูสุเทพสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง และ ปลอบขวัญ นางเฉลียว เลิศดี อายุ 70 ปี แม่ของดีเจแดง พร้อมทั้งมอบเงินจำนวน 1 แสนบาทที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีฝากผ่านมาให้ จากนั้น ทางนายกฤษณะ พรมบัวรำ กล่าวเชิญ นายสมชาย ขึ้นกล่าวกับคนเสื้อที่เข้ามาร่วมงานศพจนแน่นวัด นายสมชาย กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาร่วมงานศพคนเสื้อแดงทั้งๆที่ไม่สบายและแพทย์ไม่ให้พูดมาก แต่เมื่อมาเห็นแล้วถึงจะไม่พูดมาก แต่ใจคิดมาก ต้องขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนายน้อย บรรจง หรือ แดงคชสาร ทราบว่าเป็นคนดีเป็นคนเรียกร้องประชาธิปไตย แต่มาถูกฆ่าด้วยความไม่เป็นธรรม การฆ่าไม่สามารถยุติปัญหาได้ การยุติปัญหาได้ก็คือการมอบความเป็นธรรม การมอบประชาธิปไตยให้กับพี่น้องประชาชน เรามาเรียกร้องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ขอพวกที่กระทำ ขอให้คิดและเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ในวันนี้คนเสื้อไม่มีใครคิดจะไปฆ่าใคร หรือทำร้ายใคร แต่คิดในทางดีของบ้านเมือง อยากให้มีประชาธิปไตยและคืนความเป็นธรรมกลับมาให้กับคนที่ทำความดีและความ ถูกต้อง ตนคิดว่าคนเสื้อแดงที่ตายไปในครั้งนี้ คงจะไม่ใช่คนปัญญาอ่อนมาบอกว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง และก่อนหน้านี้ที่เชียงใหม่มีคนเสื้อแดงถูกฆ่าตาย บอกว่าเป็นเสื้อแดงฆ่ากันเอง ในเรื่องนี้ขอฝากตำรวจหากยังเป็นตำรวจของประชาชน ช่วยจับคนร้ายที่ฆ่าประชาชนให้ด้วย อย่าเหมาเอาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง ต่อมาทาง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขึ้นกล่าว ซึ่งก่อนที่จะกล่าว พ.อ.อภิวันท์ ได้ถอดเสื้อคลุมออกเหลือเสื้อยืดสีแดงดำ มีข้อความ "ความจริงวันนี้" ติดอยู่ จากนั้นได้กล่าวออกมาตัวมาขึ้นเวที ไม่ได้พูดในฐานะรองประธานสภาฯแต่มาขอพูดในฐานะตัวแทนคนเสื้อแดงทั้งประเทศ พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า แดง คชสาร ได้ทำหน้าที่ลูกผู้ชายได้สมบูรณ์แบบ ได้ทำหน้าที่เพื่อคนเสื้อแดงทุกคน ขอให้คนเสื้อแดงโห่ร้องให้เสียดังๆจนถึงเทวดาที่อยู่บนฟ้าถึงความเหี้ยมโหด ครั้งนี้ และโห่ให้ยมบาลในนรกให้ได้ยินด้วย ซึ่งการเข่นฆ่าเสื้อแดในต่างจังหวัดเพื่อเป็นการข่มขู่เพื่อให้คนเสื้อแดง หวาดหวั่น โดยข่มขู่แม้กระทั่งพระสงฆ์ อย่างพระครูสุเทพสิทธิคุณ ก็ตกเป็นเป้าหมายสังหาร ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ตนถูกข่มขู่มาตลอด ดังนั้นใครสั่งฆ่าแดง คชสาร จะต้องได้รับการชดใช้กรรมและขอยกย่องการตายของนายแดง คชสาร เป็นวีรบุรุษคนหนึ่งในใจของคนเสื้อแดงตลอดไป หลังจากนั้นเวลา 15.00 น. มีการเคลื่อนศพไปยังสุสานหลังวัดศรีบุญเรือง โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานในการวางผ้าไตรมหาบังสกุล และวางดอกไม้จันทน์ก่อนที่จะเดินทางกลับไปพร้อมคณะ และศพได้เผาในเวลา 17.00 น.ท่ามกลางความเศร้าโศกของคนเสื้อแดงที่มาร่วมงาน ที่มาข่าว: แห่เผาศพดีเจแดง สมชายดักคอ อย่าเหมาฆ่ากันเอง (ไทยรัฐออนไลน์, 26-12-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มาร์กซิสม์กับการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย Posted: 26 Dec 2010 08:44 AM PST
เดิมทีสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก มีความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องที่ต่างฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยต่อกันครอบครัวและชุมชนจะทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็น ดั่งที่เรียกกันว่าสังคมบุพกาล จนกระทั่งเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ กระบวนการผลิตสลับซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนาของสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิต จากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเพื่อเลี้ยงชีพ มาเป็นการผลิตเพื่อสนองตอบต่อทุนนิยมทั้งในและต่างประเทศ สังคมมนุษย์ ได้พัฒนาจากสังคมแบบบุพกาล มาสู่สังคมที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง นับแต่สังคมทาสที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(นายทาส-ทาส) สู่สังคมศักดินาที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(มูลนาย-ไพร่) จนเข้าสู่ สังคมทุนนิยมที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(นายทุน-แรงงาน) และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิต จึงมีการแบ่งกลุ่มแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อทำการผลิตอย่างเป็นระบบ เริ่มมีตัวตนผู้ผลิตและเจ้าของปัจจัยการผลิต ส่งผลให้ก่อเกิดชนชั้นในสังคม เริ่มเกิดหน่อเนื้อกลุ่มชนชั้นที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงที่ต่างกัน หรือการดำรงอำนาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าบุคคลอื่นๆในสังคม เริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น ประกอบกับการที่ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตมีอย่างจำกัดแต่ความต้องการที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้นอย่างไม่จำกัด การแย่งชิงจึงรุนแรงขึ้นตามลำดับ เมื่อสภาพของสังคมเริ่มปรากฏสภาพชนชั้น ในสังคมมีการกีดกันทั้งในเรื่องสิทธิและโอกาส มีการขัดแย้งทั้งในแง่ความคิด ทรัพย์สิน ผลประโยชน์ อำนาจ ศักดิ์ศรี สิทธิและเสรีภาพ จนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น มีความรังเกียจสถานภาพผู้ที่ด้อยกว่า ดูถูกเหยียดหยามต่อกัน บางครั้งในชนชั้นเดียวกันยังมีการแข่งขันกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ขาดแคลน ทำให้เกิดความหวาดกลัว ระแวงสงสัยไม่ไว้ใจต่อกัน นอกจากนั้นในยุคปัจจุบันชนชั้นเดียวกันก็ยังมีการแย่งชิงผลประโยชน์และอื่นๆ รวมทั้งเอารัดเอาเปรียบต่อกันอีกด้วยยิ่งส่งผลให้คนในชนชั้นเดียวกันแบ่งฝ่ายเด่นชัดมากยิ่งขึ้นความขัดแย้งยิ่งซับซ้อนบางครั้งจึงหาจุดลงตัวแทบไม่ได้ นี่คือลำดับจุดเริ่มต้นของการแบ่งฝ่ายของคนในสังคมตามยุคสมัยเพื่อคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นตน ทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งในสังคมแทบทั้งสิ้น คาร์ล มาร์กซ์ มองว่าประวัติศาสตร์ทั้งหมดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอดีตที่ผ่านมา ล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ที่มีชนชั้นผู้ขูดรีดกับชนชั้นที่ถูกขูดรีด โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการครอบครองปัจจัยการผลิต และหรือผลิตผล ชนชั้นจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และเกิดความขัดแย้งของสังคมมนุษยชาติ เพราะชนชั้นได้สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมทั้งรายได้ ความมั่งคั่ง อำนาจ เกียรติภูมิ เชื้อชาติ ศักดิ์ศรี มีการใช้ช่องทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา ศิลปะ วรรณกรรมเป็นเครื่องมือของการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองจนกลายเป็นอุดมการณ์หลักของชนชั้น เพื่อกีดกันผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นส่งผลให้อีกฝ่ายสร้างอุดมการณ์รองขึ้นมาต่อต้านอุดมการณ์หลักชนชั้นจึงเป็นต้นเหตุหรือเครื่องหมายแห่งความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ดังที่ มาร์กซ์ กล่าวว่า “ว่าที่ใดมีชนชั้นที่นั่นสภาพความขัดแย้งต่อสู้กันของคนในสังคมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว” ดังนั้นในทัศนะของมาร์กซ์ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำลายล้างยกเลิกระบบชนชั้นให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่ขูดรีดหรือความไม่เสมอภาคกันระหว่างชนชั้นได้อย่างถาวร รวมทั้งให้ทำการยกเลิกกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สินในที่ดิน และนำทรัพย์สินทั้งหมดมาใช้ประโยชน์รวมกัน รวมทั้งให้รวมปัจจัยทางการผลิตทั้งมวลเป็นของรัฐ ทำการผลิตหรือกำหนดเป้าหมายการผลิตเพื่อส่วนรวม จะส่งผลให้ผลผลิตต่างๆ ในสังคมมีมากเพียงพอที่จะตอบสนองให้กับทุกคนในสังคมได้ตามความต้องการอย่างเสมอภาค เมื่อสังคมปราศจากชนชั้น ปราศจากการขูดรีดเอาเปรียบและการบังคับเผด็จการแล้ว สังคมจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น จะเป็นสังคมที่มีแต่การบริหารจัดการด้านการผลิตทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยไม่มีรัฐชนชั้นที่ทำการปกครอง (นี่คือจุดเริ่มต้นทฤษฎีของ มาร์กซ์ ในนำเสนอแนวคิดการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจอย่างเด็ดขาดต่อชนชั้นปกครองเพื่อการปฏิวัติเพื่อนำสังคมไปสู่ความเสมอภาค) อย่างไรก็ตามแนวทางการบริหารจัดการความขัดแย้งทางชนชั้นตามแนวทางของ มาร์กซ์นั้นอาจจะเหมาะสมและใช้ได้ดีในยุคของ มาร์กซ์ แต่ในปัจจุบันสังคมมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่ามีปัจจัยอื่นๆที่เข้ามายึดโยงและเกี่ยวข้องมากกว่า ความขัดแย้งในสังคมไม่ได้มาจากเงื่อนไขของชนชั้นเพียงช่องทางเดียว เพราะถึงแม้ว่าสังคมปราศจากชนชั้นความขัดแย้งก็ยังคงปรากฏอยู่ นั่นแสดงว่าชนชั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเท่านั้น และโดยเฉพาะในสังคมไทยคงไม่อาจนำแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ มาร์กซ์ไปใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมรวมทั้งประวัติศาสตร์ทางสังคมของรัฐชาติด้วย ดังนั้น ในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย จะต้องอาศัยวิธีการหรือแนวทางที่หลากหลายมาเป็นเครื่องมือผสมผสาน ต้องใช้วิธีการผ่อนปรนเข้าหากันหรือการประนีประนอมค่อยเป็นค่อยไป หรือการเกลื่อนกลืนแนวความคิดของกลุ่มชนชั้นแต่ละกลุ่ม รวมทั้งการขอความร่วมมือ ความเห็นพ้องต้องกัน ในการขจัดปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะรัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญของความไม่เสมอภาคในสังคมที่สั่งสมกลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งต้องมีความละมุนในการแก้ไขปัญหา และควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และที่สำคัญต้องจัดสรรผลประโยชน์หรือการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง จึงจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมปรากฏน้อยที่สุด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประเทศไทยต้องไม่ยอมให้มี ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ Posted: 26 Dec 2010 03:55 AM PST ชื่อบทความเดิม: ประเทศไทยต้องไม่นิ่งเฉยยินยอมให้มี “ใบอนุญาตฆ่า” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ มติสหประชาชาติเกี่ยวกับความคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกอาจฟังดูคลุมเครือสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่ไม่มีอะไรจะชัดเจนยิ่งไปกว่าภาพของวัยรุ่นชายสองคนผูกผ้าปิดตาและกำลังถูกชายใส่หน้ากากเอาห่วงเชือกมาคล้องคอไม่กี่นาทีก่อนที่จะถูกแขวนคอเพราะข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ภาพที่น่าตกใจนี้ถูกใช้เป็นฉากหลังในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อเตือนให้ผู้ร่วมงานได้ระลึกถึงความป่าเถื่อนที่มีการกระทำต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศและโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจัดงานแถลงข่าวนี้ขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกเสียงในวันนี้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อสนับสนุนความคุ้มครองต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกจากการถูกเอาชีวิตเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศของตน เมื่อเดือนที่แล้ว คำว่า วิถีทางเพศ ในฐานะเหตุผลความคุ้มครองหนึ่ง ถูกลบออกจากมติสหประชาชาติว่าด้วยการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเร่งรัด หรือตามอำเภอใจ ประเทศไทยงดออกเสียงในการลงคะแนนข้อเสนอเลือกปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งเปรียบเหมือนใบอนุญาตให้ฆ่าผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ แม้ว่าประเทศไทยจะนั่งเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอยู่ในขณะนี้ แต่เนื่องจากในวันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะลงคะแนนเสียงอีกครั้งเพื่อรับรองมติที่ผ่านการแก้ไขนี้ จึงได้มีความพยายามที่ได้รับความสนับสนุนโดยเลขาธิการสหประชาชาตินายบันคีมูน และทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ เพื่อจะใส่คำว่า วิถีทางเพศ รวมทั้งเพิ่มคำว่า อัตลักษณ์ทางเพศ กลับเข้าไปในมติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหตุผลที่จำต้องมีความคุ้มครองดังกล่าวเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนแก่ใครก็ตามที่สนใจรับฟังข้อมูล ในงานวันศุกร์ที่ผ่านมา นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจากประเทศอิรักได้เล่าให้ฟังถึงการรณรงค์เพื่อ “ชำระสังคม” ในอิรักเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การฆ่าฟันผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไม่ยั้งมือโดยกองกำลังเถื่อนติดอาวุธและกองกำลังความมั่นคงที่เป็นคนของรัฐเอง เธอได้สัมภาษณ์ชายรักชายสิบคนที่อยู่ระหว่างการซ่อนตัวและคำให้สัมภาษณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง เช่น การตามรังควาน การรุมข่มขืน การทรมาน คำขู่ฆ่า การลักพาตัว การทำให้หายสาบสูญ และฆาตกรรม “พวกเขาเล่าให้ฟังถึงเพื่อนที่ถูกฆ่าเพราะเป็นชายรักชายหรือเป็นกะเทย ศพที่ถูกทำร้ายถูกนำมาทิ้งไว้กลางถนน คนที่หนีไปได้ก็ถูกเอารูปมาติดประกาศพร้อมเสนอค่าหัวเป็นรางวัลให้แก่คนที่จับได้” นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า ชายทั้งสิบคนนี้มีเพื่อนที่ถูกฆ่าไปอย่างน้อย 25 คน นักเคลื่อนไหวชาวอิรักผู้หนึ่งประมาณว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกฆ่าไปทั้งหมดมากกว่า 60 คน แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในตะวันออกกลางเท่านั้น การกวาดล้างผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมักเป็นผลจากความรู้สึกเกลียดชังความหลากหลายทางเพศในระดับสูงสุด ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีมหาดไทยประเทศนามิเบียให้โอวาทแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จบการศึกษาใหม่ให้ “กำจัดพวกเบี่ยงเบนให้หมดไปจากแผ่นดินนามิเบีย” ประเทศยูกานดากำลังผลักดันกฎหมายที่ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มคริสเตียนหัวรุนแรงเพื่อลงโทษประหารชีวิตต่อคนรักเพศเดียวกัน หนังสือพิมพ์ในประเทศดังกล่าวตีพิมพ์รายชื่อและภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศและยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนที่ถูกกล่าวถึง ณ ปัจจุบัน (พฤษภาคม 2553) มีเจ็ดประเทศที่อนุญาตให้ลงโทษประหารชีวิตแก่บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน ได้แก่ อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดิอาระเบีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย และไนจีเรีย ศาสตราจารย์ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือกล่าวว่า “ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศในระดับสากล เรามีบรรยากาศที่เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีมาตรา 30 ที่ให้ความความคุ้มครองห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ” และยังย้ำว่าการงดออกเสียงของประเทศไทยนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือพันธะกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามที่ได้ลงนามไว้ในอนุสัญญาต่างๆ เมื่อมองจากหลายๆ ด้าน ประเทศไทยกำลังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่ได้มีความก้าวหน้าไปสู่การให้ความเคารพต่อสิทธิความหลากหลายทางเพศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในปี 2550 ศาลฎีกาประเทศเนปาลสั่งให้รัฐบาลรับประกันสิทธิของ “เพศที่สาม” โดยขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน ส่วนเมื่อปีที่แล้ว ศาลสูงแห่งกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียได้ตัดสินยกเลิกกฎหมายลงโทษความสัมพันธ์เพศเดียวกันที่มีมานาน 150 ปี และในประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายนนี้เอง ศาลฎีกาได้ตัดสินให้พรรคการเมืองของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีชื่อว่า AngLadLad สามารถลงแข่งขันรับเลือกตั้งเพื่อเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ในวุฒิสภาได้ แม้ว่าจะถูกคณะกรรมการเลือกตั้งพยายามขัดขวาง นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยกล่าวไว้ในการหาเสียงเมื่อปี 2550 ว่า “ทางพรรคหวังให้สังคมยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลเพศที่ 3 อยากให้ทุกคนมองถึงความสำคัญของเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมมาก่อน และจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยนำเอาเรื่องของเพศมาเป็นประเด็น และหวังให้สังคมกล้ายอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน” หากนายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติตามคำให้สัญญาดังกล่าว ก็คงไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้แล้ว ประเทศไทยสมควรต้องลงคะแนนเสียงในวันนี้เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เพราะไม่มีสิทธิใดที่สำคัญเป็นพื้นฐานยิ่งไปกว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่ http://www.nationmultimedia.com/2010/12/20/opinion/Thailand-must-not-condone-a-licence-to-kill-gays-30144774.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'สุทธิ อัชฌาศัย'ประเมิน'รัฐบาลอภิสิทธิ์' 8/10 เยียวยามาบตาพุด สอบตกมาตรการป้องกัน Posted: 26 Dec 2010 01:59 AM PST สัมภาษณ์สุทธิ อัชฌาศัย ทำไมแกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ถึงให้คะแนนการแก้ปัญหารัฐบาลด้านมาตรการเยียวยาปัญหามาบตาพุดสูงถึง 80% แต่ให้สอบตกด้านมาตรการป้องกัน ในวาระครบรอบ 5 ปีการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ส่งคุณกอร์ปศักดิ์มาเป็นประธานแก้ปัญหา แกใช้กลยุทธการทำงานด้วยการตัดตรง ไม่ฝากการดำเนินการไว้กับราชการ คุณกอร์ปศักดิ์ลงมาทำงานด้วยตัวเอง โดยตั้งเงื่อนไขลงพื้นที่สัปดาห์เว้นสัปดาห์ ถือว่าเป็นการติดตามงานโดยตรง ที่สำคัญเวลาติดตามงานจะลงพื้นที่จริงด้วยว่าที่ได้ตกลงกันไว้มีการดำเนินการอย่างไร พอตัวเองเข้าไปแล้วจะดึงสำนักงบประมาณมาด้วย ดึงระดับอธิบดีและปลัดกระทรวงมาด้วย มันเลยทำให้กลไกการสั่งงานเต็มที่และผลของความคืบหน้าเป็นจริงในทางรูปธรรม โดยเฉพาะตัวที่เป็นปัญหากันและไม่เคยมีใครอยากทำ
อีกเรื่อง ที่ผ่านมาเวลาจะแก้ปัญหาจะติดขัดที่การเถียงกันว่า สำนักงบจะไม่อนุมัติ พอสำนักงบฯไม่อนุมัติ ราชการไทยก็รู้อยู่ไม่มีเงินก็ไม่ทำ กอร์ปศักดิ์มาดึงสำนักงบฯ มาด้วยให้เข้าใจ พอสำนักงบเข้าใจ ทุกอย่างก็ไปได้ มีสำนักงบฯ สภาพัฒน์ฯ ทุกฝ่ายต้องมา พอเห็นสภาพตรงกันก็อนุมัติเร็ว เรื่องเบสิกง่าย ๆ ที่กอร์ปศักดิ์พยายามทำคือเรื่อง แนวป้องกัน (protection strip) เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดแล้ว แค่ปลูกต้นไม้ทำไม่ได้ กอร์ปศักดิ์พูดงี้นะ ถ้าปลูกต้นไม้ทำไม่ได้คุณก็อย่าไปทำอะไรเลย เป็นผลมาจากคณะกรรมการสี่ฝ่าย ถ้าไม่มีกรรมการสี่ฝ่ายวันนั้นก็ไม่มีรูปธรรมแบบนี้ที่มาบตาพุด ผลคือทำให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันมากขึ้น ทำให้ CEO ระดับสูงสุดของประชาชนคล้าย ๆ นี่ไม่ได้ว่าตัวเองนะ คือระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม ผู้จัดการ SCG ปตท. ก็มานั่ง ระดับสูงสุด นายกรัฐมนตรีก็ส่งกอร์ปศักดิ์เข้ามา ก่อนนั้นเขามาในฐานะรองนายกฯ ระดับปลัดกระทรวงก็มีคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ที่เป็นคนที่สูงสุระดับหนึ่งของประเทศไทย อดีตนายกฯ สองสมัย เลยทำให้ระบบต่าง ๆ มีการคุยกันแบบเปิดใจระดับบริหาร พอฝ่ายบริหารเปิดปุ๊บ มาสู่ระดับปฎิบัติมันไม่ยาก นี่คือจุดดีของคณะกรรมการสี่ฝ่าย ที่นำมาสู่สิ่งที่กอร์ปศักดิ์ทำ ถ้าไม่มีคณะกรรมการสี่ฝ่าย กลไกแบบกอร์ปศักดิ์ก็จะไม่เกิดขึ้น มองได้ไหมว่ารัฐบาลไม่อยากทำตามข้อเสนอคณะกรรมการสี่ฝ่ายทั้งหมด เลยเสนอกลไกกอร์ปศักดิ์มาแทนจะได้หยิบเฉพาะข้อเสนอที่อยากทำมาทำ คณะกรรมการสี่ฝ่ายเสนอ 4 เรื่อง หนึ่งคือให้มีการจัดทำรายงาน EHIA นี่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว สอง เสนอให้มีการจัดทำเรื่องผังเมืองใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง buffer zone และ protection strip อันนี้เขาหยิบ protection strip มาทำก่อนเพราะง่ายกว่า และ buffer zone จะตามมา สามทำเรื่องการเติมเต็มเรื่องการลดและขจัดมลพิษ กอร์ปศักดิ์ก็เอามาทำโดยการดึงอาจารย์สุทินเข้ามาเป็นประธาณคณะอนุกรรมการติดตามกลไกนี้ และสี่ โครงการที่อาจก่อผลกระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกอร์ปศักดิ์ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรมว. ทรัพยากรธรรมชาติฯ เพราะหน้าที่ตรงนี้เขาเลยตัดหน้าที่รับผิดชอบออกไป ส่วนสองเรื่อง ผังเมือง และแนวป้องกัน นายกให้เขามาทำหน้าที่นี้ ฉะนั้นกลไกทั้งหมด มาตรการแก้ปัญหาและเยียวยา ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ทำอย่างเป็นระบบมากที่สุด มาตรการแก้ไขและเยียวยานะ ส่วนมาตรการที่ยังหละหลวมและไม่เป็นระบบคือมาตรการป้องกัน ที่ยังเป็นปัญหา มาตรการเยียวยารัฐบาลชุดนี้ใช้มาตรการโดยการสร้างระบบแต่ยังไม่สมบูรณ์ที่สุด สร้างระบบตรงนี้หมายถึงการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม สร้างระบบน้ำประปาให้ทั่วถึง ระบบสาธารณูปโภค สร้างเรื่องการจัดสรรไฟฟ้า สร้างเรื่องของการผลักดันก่อสร้างมหาวิทยาลัย วิทยาลัยให้เกิดขึ้นในระยอง เรื่องการจัดการขยะ นี่คือรูปธรรมในการเยียวยาที่เขาทำอยู่ รวมถึงการผลักดันเรื่องการตรวจเฝ้าระวังในระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่ถกเถียงเรื่องผลการตรวจอยู่ ณ ปัจจุบัน นี่มาตรการเยียวยา ระบบการแก้ปัญหาคือการลดและขจัดมลพิษ อันที่หนึ่ง รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชุดแรกที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ รัฐบาลชุดอื่นไม่เคยประกาศ สอง ใช้การแก้ไขด้วยการเติมเต็มเรื่องเทคนิคลดและขจัดมลพิษด้วยการใช้ข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายเข้ามาแล้วให้ อ.สุทิน มาผลักดัน คือในแง่ของการแก้ไขและเยียวยา รัฐบาลชุดนี้ทำมากกว่ารัฐบาลอื่น แต่ผลจะออกมาสัมฤทธิ์หรือไม่ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์กันอีกที แต่รัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวเรื่องการสร้างระบบเชิงป้องกัน ชัดเจนคือพยายามที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ ไม่อยู่ในมาตรา 67 วรรคสอง นี่คือความล้มเหลว สาม เรื่อง สรุปแล้ว ฉะนั้นถ้ารัฐบาลนี้จะสมบูรณ์แบบก็ต้องสร้างระบบป้องกันด้วยต้อง พยายามผลักดันให้ได้ได้ว่าโครงการที่ติดศาลทั้งหมดต้องเป็นโครงการที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ถ้าทำได้ โอกาสในการสร้างระบบป้องกันจะดีขึ้น คืออย่าดูแค่ตัวโครงการ ให้ดูพื้นที่ด้วย ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็ผลักดันไปว่าเนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เปราะบาง อ่อนไหว โครงการที่จะมาลงก็ฟันธงไปเลยว่าต้องทำตาม 67 วรรคสอง ออกเป็นมติ ครม. แล้วส่งเรื่องให้ รมว.สุวิทย์ไปประกาศก็ได้ ในฐานะ รมว. ทรัพย์ฯ ง่ายนิดเดียว นี่คือปัญหาว่าทำไมถึงไม่ทำ
สิ่งที่ต้องทำ คือภาคส่วนไหนต้องเข้ามา พูดอย่างนั้น เหมือนเราชอบการ short cut สู่ปัญหา แต่ก็เรียกร้องให้มันไม่ short cut ในที ขัดแย้งกันหรือเปล่า วีธีที่ทำอยู่ห้ามเลือดได้ แต่ไม่ได้รักษาโรค เท่าที่ deal มาคิดว่ารัฐบาลนี้จริงใจไหม หมายถึงที่เขาตัดสินใจทำแบบนี้ ฟังเหมือนไม่สนใจว่าจะทำด้วยเหตุผลอะไร อีกเรื่องที่ประชาชนได้จากรัฐบาลชุดนี้ก็คือเรื่องการจ่ายคืนภาษี เพราะตอนนี้รัฐบาลก็ช่วยกันรณรงค์ภาษีระยอง ภาษีกลับคืนสู่จังหวัด อีกเรื่องที่ได้ก็คือภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ต้องผลักดัน แต่ที่แน่ ๆ ก็คือรัฐบาลชุดนี้กล้าอนุมัติออกร่างมาตรการทางการคลัง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ออกมติ ครม. ไปแล้วกำลังส่งเรื่องไปกฤษฎีกาและจะส่งเข้าสภาต่อไป ซึ่งเรามองว่าเป็นรัฐบาลแรกที่กล้า รัฐบาลอื่นคิดมาเป็นสิบปีละแต่ไม่กล้า นี่เสนอเป็นมติ ครม. พอกฎหมายออกในนาม ครม. ถ้าเกิดไม่ผ่านสภา ครม.ต้องลาออกนะครับ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นจุดที่ท้าทายสำหรับเขาเหมือนกันที่กล้าออกเป็นมติเสนอในนาม ครม. อย่างไรก็ตามกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง อาจไม่ใช่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ก็ได้ อาจเป็นเครื่องมือทางอื่นก็ได้ เพราะมันต้องมีกรรมาธิการ มีการแปรญัตติไง แต่ที่แน่ ๆ หลักการอนุมัติมันไม่เพี้ยนไง เอาตามที่อาจารย์มิ่งสรรเสนอเลย มันไม่เพี้ยนไง ส่วนจะไปยำตอนหลังก็ค่อยว่ากัน แต่ก็ยังดีกว่าชุดอื่นนะ ชุดอื่นมันไม่กล้าเลยน่ะ แขวนไว้เลยอ่ะ มันหาว่าไปละเมิดผู้ประกอบการ อ้างอย่างนั้น นี่ไม่ได้ชมรัฐบาลชุดนี้นะ แต่มองเปรียบเทียบรัฐต่อรัฐที่ผ่านมา ท่าทีหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ท้องถิ่นก็แค่ขยับตามรัฐบาล เข้าใจว่าอาจเพราะพอเขาถูกแวดล้อม ด้วยทุนขนาดใหญ่ ทำให้สามารถคิดได้แค่นั้น ต้องรัฐบาลสั่งอะไรมาก็ทำ ไม่ได้เริ่มที่ตัวเขาเอง นี่เป็นปัญหาหลายสมัยแล้ว ก็คงเหมือนที่อื่น ๆ แต่ที่อื่น ๆ ไม่ได้เป็นพื้นที่โรงงานขนาดใหญ่ที่รัฐส่งเสริมให้มีการลงทุนไง ผู้ว่าฯ คนนี้มาใหม่ มาได้ไม่กี่เดือน คนเก่าเกษียณ ที่ผ่านมาผู้ว่าระยองมีดีไม่กี่คน ท่าทีภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร อันที่สองหลังจากที่โรงงานที่ไม่ได้ระยะ ไม่มีที่พอก็ใช้เทคโนโลยีอื่น อย่างที่กรมโรงงานเสนอก็มีการลดความเร็วลม คือสรุปทำให้ชาวบ้านได้รับมลพิษน้อยลงแทนที่จะได้รับเต็ม ๆ 100% ก็ลดลงเหลือ 20-30% ช่วยลดเหตุรำคาญให้น้อยลง นี่ไม่ใช่การป้องกันนะ เป็นการเยียวยานะ (หัวเราะ) ต้องเรียกว่าแนวเยียวยาประชาชน ไม่ใช่แนวป้องกัน ลดกลิ่น เสียง VOC แทนที่จะถึงจมูกชาวบ้านโดยตรงก็กรองชั้นหนึ่งก่อน วิธีการคือให้ชุมชนมาช่วยดู ถ้าตายขึ้นมาก็ดี จะได้เห็นว่าโรงไหนเป็นอย่างไร ทีนี้มันจะประจานตัวเองไปในตัว ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรป้องกัน หลังจากนั้นเริ่มปีใหม่ต้องเอาที่เหลือทั้งหมดในระยอง ที่ไม่มีที่ ระยะตามที่วิชาการ ไม่ถึงห้าเมตร ต้องไปคิดว่าจะต้องทำอย่างไร บางคนก็เสนอ กำลังหาแนวทางอยู่ เฉลี่ยแล้วถ้าทำตามที่คุณกอร์ปศักดิ์หรือมติกรรมการสี่ฝ่ายเสนอ หนึ่งโรงงานต้องใช้เม็ดเงิน 6-7 ล้านบาท ที่ปตท.เสนอ นี่โรงงานเล็ก ๆ นะ ไม่ใช่แบบนิคม IRPC ที่ต้องมากกว่านั้น นี่เฉพาะค่าลงทุนอย่างเดียว ไม่รวมการบริหารจัดการ บำรุงรักษา มองในแง่การเปลี่ยนแปลงคือว่า เริ่มเห็นความสำคัญของเสียงประชาชนมากขึ้น ที่เราเห็น ยอมแก้อะไรบางอย่างมากขึ้น เช่นตัวแนวท่อ ข้อต่อที่ชอบรั่ว ขยับมาขยะ เมื่อก่อนไม่มีใครเชื่อว่า หนึ่งประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ สองคือหัวเราะเยาะว่าจะไปฟ้องร้องนั้น เป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นอานิสงส์ภาคประชาชนว่าหากไม่ทำจะได้รับผลอย่างไร อย่างที่ควรทำแล้วไม่ทำ ดอกเบี้ยผ่อนชำระเป็นไง ปตท.กู้มา 20,000 ล้านบาท มีผลทันที ทำสัญญาแล้วก็ต้องส่งของตามกำหนด พอทำไม่ได้ ล่าช้าไปห้าเดือน 76 โรง เฉลี่ยโรงละประมาณ 2,000 ล้าน เสียหายไปแล้ว ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมฯก็ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างเราต่างหาก เป็นกรรมการร่วม สอท.กับภาคเอกชน โดยมีประธานสอท. เป็นประธาน ก็ประชุมเพื่อบอกว่าเขาจะปรับปรุงอะไรในส่วนของเขาให้เราติดตาม ถามเราเห็นด้วยกับที่เขาเสนอหรือเปล่า เขาแค่วาง outline ในการทำงาน มีประธานสอท. และ CEO โรงงาน เสนอแผนลดและขจัดมลพิษของเขา นี่คือ outline นะครับยังไม่สรุป จะเอาแผนฯเขามากางให้เราดู พอทำไปถึงไหนแล้วก็จะพาไปดู เขาคิดของเขาแล้วให้เราดู ที่ผ่านมาพูดถึงชาวบ้านเขาก็เลือกใช้ชาวบ้านของเขาไง คราวนี้นอกจากเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเขาแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ด้วย ชาวบ้านวิเคราะห์ไม่เป็น CEO ที่มาก็มีของปูน ปตท BLCP มองในแง่การก้าวข้ามความขัดแย้งก็ไปได้อีกระดับหนึ่ง เมื่อก่อนต้องไปหน้าโรงงานถึงจะ ได้คุยกัน นี่คุยกันก่อนเลย เพิ่งตั้งหลัง ๆ นี่เอง แล้วก็มีคณะกรรมการสี่ฝ่าย คือเราเปลี่ยนสองระบบไง คือรัฐบาลปรับปรุง สองคือเปลี่ยนวิธีคิดอุตสาหกรรม แล้วหยิบข้อเสนอคณะกรรมการสี่ฝ่ายมาทำด้วย ถึงตอนนี้กังวลเรื่องอะไรมากที่สุด ในบรรดาภาคส่วนทั้งหมด ใครเป็นปัญหามากที่สุด เปลี่ยนยากที่สุด แสดงว่าถึงที่สุดทั้งสามส่วนยังไม่โอเค ที่จะทบทวนทิศทางใหญ่การพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเปล่า สภาพัฒน์ก็คือรัฐ เขาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาคือวางแผนแล้วรัฐบาลจะหยิบมาทำหรือ ไม่ทำก็ได้ เขาบอกให้พัฒนาคนไม่เห็นคนพัฒนาเลย ยุทธศาสตร์การทำงานของเครือข่ายในสถานการณ์แบบนี้เป็นอย่างไร ธันวาคมปีหน้า ถ้าขอได้ อยากให้มาบตาพุดเป็นอย่างไร หนึ่ง มี protection strip มีการศึกษาภาพรวม คนป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เช่นถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง ทางรัฐต้องจัดการส่งไปรักษาอย่างถูกต้อง ใม่ใช่ว่าไปหาหมอเอาเองอย่างปัจจุบัน แค่นี้ก่อน อีกเรื่อง การคืนภาษีสู่พื้นที่ จากการพัฒนาจัดการภาษีจะอยู่ในรูปแบบไหน เข้าใจว่า ธ.ค. ปีหน้า น่าจะได้รูปแบบการจัดการ ภาษีที่คืนมา จัดการให้เป็นประโยชน์
//////////////////////////// ติดตามความเคลื่อนไหวสำหรับคนทำข่าวมาบตาพุดได้ที่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ: ปี 53 การกระจายการถือครองที่ดินเหลว คดีฟ้องคนจนรุกที่พุ่ง Posted: 26 Dec 2010 01:26 AM PST ปี 2553 สังคมไทยยังไปไม่ถึงการกระจายการถือครองที่ดิน การรับรองสิทธิชุมชนด้วยนโยบายโฉนดชุมชน ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ในขณะที่คดีความที่เกิดขึ้นกับสมาชิก คปท. ยังคงเข้มข้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฟ้องขับไล่ชาวบ้านคอนสาร 31 ราย ซึ่งกำลังจะมีการบังคับคดี ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า คดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ฟ้องชาวบ้าน จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และตรัง ข้อหาทำให้โลกร้อน 34 ราย คดีนายทุนสวนปาล์มฟ้องชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี 27 ราย และคดีนายทุนออกเอกสารสิทธิไม่ชอบและปล่อยทิ้งร้าง ฟ้องชาวบ้าน จ.ลำพูนและเชียงใหม่ 128 ราย นับตั้งแต่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันชุมนุมผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2553 นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระหว่าง คปท.และรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 ชุด [1] จำนวน 20 ครั้ง ในจำนวนนี้ มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2 ครั้ง รวมทั้งมีการชุมนุมกดดันอีกทั้งหมด 6 ครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการแก้ไขปัญหาถูกผลักดันให้เดินหน้า แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง ตัวอย่างเช่น การนำที่ดิน ส.ป.ก. มาปฏิรูปให้ชาวบ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาการโต้แย้งสิทธิที่ดินระหว่าง ส.ป.ก.กับ บริษัทฯ แม้ ส.ป.ก. ได้ฟ้องร้องคดีความกับบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง ที่ครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก. โดยผิดกฎหมาย 7,500 ไร่ แล้วและศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 70,000 บาท การแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ ในพื้นที่ภาคอีสานได้มีมติในระดับจังหวัดให้มีการเพิกถอนที่ดินสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่พิพาทกับชาวบ้าน ยังต้องรอกระบวนการนำมติเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. การแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุ ได้มีมติ ครม.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกระทรวงการคลัง ให้กับสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยงฯแล้ว แต่ปัญหายังอยู่ที่ว่าชาวบ้านต้องหางบประมาณ 29 ล้านบาทที่ต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประเมินราคาที่ดิน และต้องผลักดันให้เข้า ครม.อีกรอบก่อนสิ้นปีนี้ คาดว่า จะมีการมอบโฉนดชุมชนฉบับแรกที่นั่น การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ มีการประชุมไปทั้งหมด 4 ครั้ง ชุมนุมกดดันต่อเนื่อง 5 ครั้ง เจรจาแก้ไขปัญหาในที่ดินเอกชนไม่ให้บังคับคดีเพราะอยู่ในระหว่างจัดหาที่ดิน รวมถึงการมีมติ ครม.เรื่องกองทุนเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 6,000 ล้าน และกฎกระทรวงยกเว้นผ่อนผันการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ขนาดเล็กได้ [2] นโยบายกระจายการถือครองที่ดิน หลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโฉนดชุมชนได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย 2553 มีชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ปจช.ว่ามีความพร้อมที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนจำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค 2553 ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมรวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินต่อไป แม้ว่า หลายเรื่องมีผลผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีผลต่อการนำไปปฏิบัติและเกิดประโยชน์ก้บชาวบ้านได้จริง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโฉนดชุมชน ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลักดันสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่ควรมีสัดส่วนของภาคประชาชนและคนไร้ที่ดินในการร่วมทำงานผลักดันนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และมีงบประมาณเริ่มต้นจากรัฐบาลไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สามารถคลอดได้ในรัฐบาลปัจจุบัน และการผลักดันงบประมาณสำหรับซื้อที่ดินเอกชนทิ้งร้างที่ได้อนุมัติในหลักการแล้ว 167 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่ ครม. ด้านคดีความที่ดินคนจน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากอยู่ในชั้นสอบสวนและอัยการต้องชะลอการสั่งฟ้อง เนื่องจากอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และถ้าอยู่ในขั้นการพิจารณา ควรจำหน่ายคดีชั่วคราว หากต้องโทษ ควรมีการพักโทษ และหากอยู่ในขั้นการบังคับคดี ควรงดการบังคับคดี เพราะการดำเนินคดีความกับเกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำมาหากิน ไม่ได้ส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคม แต่กลับทำให้เห็นว่าเกษตรกร คนจนและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมกำลังถูกรังแกและคุกคามจากอำนาจรัฐ คปท. จึงอยากเรียนมายังทุกท่านว่า ในรอบปีที่ผ่านมาแม้ว่าหลายเรื่องจะมีความคืบหน้าด้วยพลังจากหลายฝ่ายที่ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อสู้ แต่สังคมของเราก็ยังไปไม่ถึงการจำกัดการถือครองที่ดิน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองทีดิน และการรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นโยบายสำคัญเหล่านี้ จึงยังคงเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญที่พวกเราต้องช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนต่อไป ด้วยความสมานฉันท์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย /////////////// [2] กฎกระทรวงยกเว้นผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น