โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวแฟลตมาเลเซียร้อง ถูกรัฐบาลท้องถิ่นบังคับโยกย้ายซ้ำซาก

Posted: 29 Dec 2010 08:05 AM PST

ชาวมาเลเซียซึ่งถูก จนท. ไล่รื้อชุมชนและต้องย้ายมาเช่าแฟลตของรัฐบาล ร้องเรียนสื่อท้องถิ่นว่ากำลังจะถูกขับออกจากแฟลตอีกรอบเหตุเพราะค้างค่าเช่าหลายเดือน

ที่มาของคลิป: มาเลเซียกินี

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. เว็บไซต์มาเลเซียกินี ซึ่งมีสำนักงานในมาเลเซีย รายงานว่า ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยในแฟลตของโครงการเคหะแห่งชาติ มาเลเซีย (Projek Perumahan Rakyat - PPR) ที่วายุ (Wahyu) เขตเซลายัง (Selayang) ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ทางตอนเหนือ ร้องเรียนว่าไม่สามารถทนกับค่าเช่ารายเดือนที่กำหนดโดยสภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ เนื่องจากมีรายได้น้อย และมีค่าเช่าค้างอยู่หลายเดือน

ผู้พักอาศัยจำนวนมาก ก่อนหน้านี้เคยตั้งชุมชนอยู่ในที่ดินบุกรุกในเขตลัมบา ปันไต (Lembah Pantai ) และ เขตอัมปัง จายา (Ampang Jaya) ใกล้กับกัวลาลัมเปอร์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่รื้อถอนชุมชน และต้องย้ายมาอาศัยและจ่ายค่าเช่าในแฟลตดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการของ สภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ (Dewan Bandaraya Kuala Lumpur - DBKL) อย่างไรก็ตามพวกเขาจำนวนมากประสบปัญหาทางการเมือง เนื่องจากมีรายได้น้อย และบางครอบครัวยังว่างงาน ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าให้กับโครงการได้ หลายครอบครัวมีสมาชิกที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยและทุพลภาพ

ทั้งนี้ สภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ ให้เส้นตายผู้พักอาศัยให้จ่ายค่าเช่าที่ค้างชำระภายในสิ้นเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทำให้ผู้พักอาศัยในโครงการออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนในมาเลเซียดังกล่าว

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก PPR Wahyu residents: Who'll protect poor people like us?, Arvind Raj, Malaysiakini.tv, 28 Dec 2010 http://www.malaysiakini.tv/video/20756/ppr-wahyu-residents-wholl-protect-poor-people-like-us.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: Political Marketing - การตลาดการเมือง

Posted: 29 Dec 2010 04:53 AM PST

ท่ามกลางกระแสประชานิยมอันเชี่ยวกรากที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็ช่วงชิงขายสินค้าทางการเมืองของตนเองโดยใช้การตลาดนำ มีการงัดเทคนิคต่างๆ ทั้งที่เป็นการใช้งบส่วนตนและงบประมาณของทางราชการโหมกระหน่ำทุ่มลงไปในตลาดการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชื่อใดก็ตาม อาทิ ประชานิยม อภิมหาประชานิยม ซุปเปอร์ประชานิยม ประชาวิวัฒน์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่แตกต่างกันมากนักเพราะต่างก็เป็น Political Marketing นั่นเอง

Political Marketing นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย เช่น Harrop (1990) บอกว่า Political Marketing นั้นมิใช่เป็นเพียงการโฆษณาทางการเมือง หรือการกระจายเสียงของพรรคการเมือง หรือการกล่าวสุนทรพจน์หาเสียงของนักการเมือง แต่ครอบคลุมทุกส่วนในตลาดของการเลือกตั้ง (political marketing as being not just about political advertising, party political broadcasts and electoral speeches but covering the whole area of party positioning in the electoral market).

Kavanagh (1995, 1996) เห็นว่า Political Marketing นั้น คือวิศวกรรมการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์และเครืองมือ เพื่อที่จะแกะรอยและศึกษาความเห็นสาธารณะ (มติมหาชน) ก่อนและระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อพัฒนาการสื่อสารการรณรงค์และประเมินผลกระทบ (political marketing as electioneering, i.e. as a set of strategies and tools to trace and study public opinion before and during an election campaign, to develop campaign communications and to assess their impact. )

กล่าวอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด Political Marketing ก็คือ “การเมืองที่ใช้การตลาดนำ” (Marketing Orientation in Politics) นั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกับการยึดแนวทางการตลาดนำ (Marketing Oriented) ของภาคธุรกิจ เพียงแต่ต่างกันที่เป้าหมาย เพราะการเมืองมิได้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรหรือความมั่งคั่งสูงสุดดังเช่นภาคธุรกิจ เพราะกลุ่มเป้าหมายของการเมืองคือผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Voter) โดยผู้เลือกตั้งจ่ายเป็นคะแนนเสียงแทนเงินเพื่อซื้อ “ความเชื่อในแนวนโยบายและสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้นๆ” เช่น นโยบายประชานิยมที่ว่าดังกล่าวข้างต้น นั่นเอง

ในส่วนในเรื่องของวิธีปฏิบัติ เครื่องมือ และกลยุทธของ Political Marketing นั้น ก็ไม่แตกต่างจากการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น Research, Segmentation, Targeting, Positioning, Marketing Strategies, Marketing Program, Implementation and Control ฯลฯ โดยผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็คือ ผู้บริโภค (Consumer) ที่เราสามารถใช้ความรู้ทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior) มาประยุกต์ใช้ได้

ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าทั้งภาคธุรกิจและพรรคการเมืองต่างก็ต้องอาศัยบุคลากรและเครื่องมือทางการตลาดเพื่อให้ได้ชัยชนะทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งในฐานะที่เป็นผู้ซื้อ “ความเชื่อในแนวนโยบายและสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้นๆ” โดยการไปหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น จะได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้านี้มากน้อยเพียงไร และจะมีความมั่นใจขนาดไหนว่านักการเมืองและพรรคการเมืองจะส่งมอบสินค้าหรือบริการทางการเมืองให้แก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ เพราะในตลาดการเมืองนั้นผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องจ่าย “เงิน” ซึ่งในที่นี้ คือ “คะแนนเสียง” ไปก่อน และหวังว่าจะได้รับสินค้าหรือบริการการเมืองในภายหลัง

ในสภาวการณ์เช่นนี้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บอกว่า ผู้ซื้อจะต้องเผชิญภาวะความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3 ระดับ คือ

ระดับแรก คือ นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ หากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกตั้งพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ผู้ซื้อย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับการส่งมอบสินค้า “บริการการเมือง”

ระดับที่สอง ถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกจะชนะ แต่จะมีโอกาสในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงเข้าสู่การปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ ผู้ซื้อก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับสินค้า “บริการการเมือง” เป็นผลต่างตอบแทน

ระดับที่สาม ถึงแม้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกได้รับเลือกตั้งและได้ร่วมรัฐบาล ประชาชนก็อาจจะต้องเสี่ยงต่อการ “เบี้ยว” สัญญา โดยการไม่ดำเนินตามนโยบายตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน

ในทัศนะของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เห็นว่า ตลาดการเมืองไทย เป็นตลาดที่มิได้มีการแข่งขันสมบูรณ์ (Imperfect Competition) ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ในตลาดการเมืองไทยยังมีทำนบกีดขวางสินค้าที่ดีมีคุณภาพเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้ที่มิได้อยู่ในชนชั้นนำทางอำนาจ (Power Elite) และผู้ที่ไม่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองและมิได้จัดระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทำนบกีดขวางดังกล่าว จะเห็นได้จากตลาดการเมืองไทยต้องมีรายจ่ายในการรณรงค์หาเสียงมาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรณรงค์ในการหาเสียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงรายจ่ายในการซื้อเสียงอีกด้วย การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง รวมทั้งอิทธิพลของหลักความเชื่อที่ว่า “พรรคใหญ่ดีกว่าพรรคเล็ก”

ประการที่สอง ตลาดการเมืองไทยยังมีการกระจุกตัวของอำนาจการเมือง (Power Concentration) กล่าวคือ อำนาจการเมืองในสังคมไทยมีการกระจุกตัวในฐานะเป็นแหล่งที่มาของทรัพย์สินศฤงคาร ที่สามารถใช้เป็นฐานขยายอำนาจ การสร้างเครือข่ายทางการเมือง รวมตลอดจนการขยายระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่มีความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและทางการเมืองย่อมสามารถใช้ฐานะของตนทางการเมืองผลักดันนโยบายในทางที่เกื้อผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่นับรวมการใช้อำนาจในทางฉ้อฉล คอรัปชั่น ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นในตลาดการเมืองไทยในปัจจุบันอีกด้วย

ประการที่สาม ตลาดการเมืองไทยยังขาดความสมบูรณ์ของสารสนเทศทางการเมือง (Political Information Imperfection) กล่าวคือ ประชาชนในฐานะผู้ซื้อโดยการเลือกตั้ง ยังไม่มีหรือยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมือง พรรคการเมือง นโยบายทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสินค้า “บริการการเมือง” นอกจากจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนยังต้องเผชิญหน้ากับการโฆษณาชวนเชื่อหรือการโกหกทางการเมืองอีกด้วย นักการเมืองจึงเป็น ”สินค้าที่ผู้บริโภคหาข้อมูลจากประสบการณ์การบริโภค” กล่าวคือ ประชาชนในฐานะผู้ซื้อหรือบริโภค จะตัดสินใจซื้อสินค้านี้จากการมีข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ในการบริโภค มิได้แสวงหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ หากแต่รับทราบว่า สินค้าหรือบริการนั้นดีหรือเลวอย่างไรจากประสบการณ์บริโภคนั่นเอง ดังนั้น กว่าจะรู้ว่า สินค้ามีคุณภาพมากน้อย ก็ต่อเมื่อได้ชิมหรือลิ้มรสแล้ว

ประการสุดท้าย ตลาดการเมืองไทย ยังขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (People Participation) อย่างแท้จริง รัฐบาลและนักการเมืองยังขาดความจริงใจในการให้ประชาชนได้เข้ามาสู่ตลาดการเมืองแห่งนี้

กล่าวโดยสรุปแม้ว่าการที่ตลาดการเมืองไทยจะมิใช่ตลาดการแข่งขันที่สมบูรณ์ดังกล่าวมาก็ตาม เราก็คงต้องซื้อสินค้านี้อยู่ดี ไม่ว่าสินค้านี้จะมีคุณภาพมาก คุณภาพน้อยหรือไม่มีคุณภาพก็ตาม สำคัญที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งเองในฐานะผู้ซื้อ ต้องใช้วิจารณญาณให้มากขึ้น ศึกษาตัวอย่างให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากเรามัวแต่หลงเชื่อในนโยบายประชานิยมหรือในชื่ออื่นใดก็ตาม เราก็คงไม่พ้นที่จะเป็นดั่งประเทศแถบอเมริกาใต้ที่ล่มสลายเพราะนโยบายประชานิยมที่ใช้ในการทำ Political Marketing นั่นเอง

---------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 ธันวาคม 2553
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: บทกวี ปีเก่า-ปีใหม่/ ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น

Posted: 29 Dec 2010 04:25 AM PST

 

ปีเก่า.. เศร้าที่สุดในโลก โศกสลด
ปีเก่า.. รันทด อนาถา
ปีเก่า.. เลือดนองท่วมน้ำตา
ปีเก่า.. ทหารฆ่าประชาชน

ปีใหม่.. ไม่เลิก การไล่ล่า
ปีใหม่.. การฆ่า ยังเข้มข้น
ปีใหม่.. ยังได้เห็น เกมเล่นกล
ปีใหม่.. มืดมนอนธกาล

ปีใหม่.. ไทยนี้ ไม่รักสงบ
ปีใหม่.. ไทยรบกันร้าวฉาน
ปีใหม่.. วิกฤติ ยังพิสดาร
ปีใหม่.. อีกนาน ยังทระนง

ปีใหม่.. ให้รักสามัคคี
ปีใหม่.. เดินให้ดี อย่าพลัดหลง
ปีใหม่.. บากบั่น มั่นคง
ปีใหม่.. ชูธง สู้ต่อไป

ปีใหม่.. จิตใจ ไม่เปลี่ยน
ปีเก่า.. บทเรียน ยิ่งใหญ่
ปีเก่า.. ฝังแค้น แน่นใน
ปีใหม่.. ฉลาดรู้ สู้ให้เป็น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาวิวัฒน์: ไม่ใช่ประชานิยมและไม่ใช่ระบบสวัสดิการสังคม

Posted: 29 Dec 2010 03:47 AM PST

หลังจากรอคอยกันนานพอควร ในที่สุดรัฐบาลก็ ‘เคาะ’ ชุดนโยบายที่ประกาศว่ามีเจตนารมณ์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปสังคม แม้ท่านนายกรัฐมนตรีจะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จากข่าวคราวที่รายงานเป็นระยะดูเหมือนว่าชุดนโยบายนี้น่าจะประกอบด้วยการลดค่าครองชีพประชาชน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอยู่แล้ว การให้สินเชื่อใหม่ผู้ประกอบการรายย่อยและอิสระนอกระบบเช่นหาบเร่ แผงลอย แท๊กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ การเพิ่มวงเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นที่ประกาศพร้อมกันก็เช่นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ดินทำกิน

เกือบทันทีหลังการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งสื่อและนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม และประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพียงลอกนโยบายของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น หลายคนเตือนเรื่องการใช้เงินและวินัยการคลังเหมือนที่เคยทักท้วงรัฐบาลทักษิณมาแล้ว

ผมเองไม่คิดว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม อย่างน้อยไม่ใช่ประชานิยมแบบสมัยคุณทักษิณ ซึ่งผมคิดว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญคือ (ก) เป็นการโอนเงินจากคนชั้นกลางและคนรวยมาสู่คนจนและผู้มีรายได้น้อยผ่านการใช้เงินภาษีอากร โดย (ข) โอนเม็ดเงินจำนวนมาก เพราะ (ค) ต้องการหวังคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นหลัก (ง) ไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้เงิน จนน่าจะทำให้ (จ) เกิดผลเสียทางการคลังในระยะยาว

ผมคิดว่าประชาวิวัฒน์พ้องกับคุณสมบัติข้อ (ค) และ (ง) เป็นหลัก ส่วนอีกสามข้อไม่ตรงเสียทีเดียว เหตุผลสำคัญคือเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มมีไม่มากเลย จำนวนเงินที่รายงานกันว่าสูงนั้นเป็นยอดสินเชื่อมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อใหม่ที่จะให้กับผู้ประกอบการนอกระบบซึ่งมีวงเงินประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทหรือการเพิ่มวงเงินให้กับบัญชีกองทุนหมู่บ้านแปดหมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลไม่ได้ควักกระเป๋าเองแม้แต่บาทเดียว (ไม่เหมือนกองทุนหมู่บ้านรอบแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ) แต่ไปสั่งให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ปล่อยกู้แทน ภาระภาษีจะมีก็ต่อเมื่อสินเชื่อเหล่านี้กลายเป็นหนี้เสียจนรัฐบาลต้องไปชดเชยให้ ซึ่งผมเดาว่ารัฐบาลก็คงไม่ชดเชยเต็มจำนวน คงชดเชยเฉพาะหนี้เสียส่วนที่ ‘มากกว่าปกติ’ อันต้องมาถกเถียงกันว่าเป็นเท่าไรกันแน่ (เรื่องความเหมาะควรของการชดเชยเป็นอีกเรื่องที่สำคัญแต่ไม่ขอพูดในขณะนี้)

ส่วนการลดค่าครองชีพนั้นเป็นภาระภาษีโดยตรง แต่หากรัฐบาลไม่ต่ออายุหลังเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็จะไม่ใช้เงินมากเช่นกัน ยกเว้นว่าจะทำให้เป็นมาตรการถาวร ซึ่งหลายคนรวมทั้งผมด้วยไม่เห็นด้วย

เมื่อไม่ได้ใช้เงินมากผลเสียต่อวินัยการคลังก็ไม่น่าสูง ดังนั้นหากดูตามที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการมาชุดนโยบายประชาวิวัฒน์จึงไม่ใช่ประชานิยม

คำถามที่สื่อและนักวิชาการน่าจะถามมากกว่า แต่ไม่ได้ถามคือประชาวิวัฒน์ถือเป็นระบบสวัสดิการสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าจะให้มีระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560 หรือไม่

สำหรับผมคำตอบคือไม่เช่นกัน ประชาวิวัฒน์ขาดคุณสมบัติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแน่นอน เพราะนโยบายที่นำเสนอไม่ได้มีหลักคิดเรื่องความถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคนอยู่เลย มีการกำหนดกลุ่มผู้รับประโยชน์เป็นกลุ่ม ๆ กองทุนหมู่บ้านแม้จะครอบคลุมทุกชุมชนในเมืองไทยแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเงินกู้นี้ (โดยเฉพาะคนจน) มาตรการลดค่าครองชีพบางประการก็ให้ประโยชน์เฉพาะผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นคนชนบทไม่ได้ใช้รถเมล์ฟรี

นอกจากนี้ประชาวิวัฒน์ก็ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ระบบสวัสดิการสังคมดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เช่นไม่มีมาตรการดูแลเด็กเล็ก การเรียนฟรีของนักเรียนยากจน คุณภาพการศึกษา การให้สวัสดิการของแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ การฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน การดูแลคนแก่อย่างเพียงพอ เป็นต้น แม้รัฐบาลจะได้ออกนโยบายก่อนหน้าในเรื่องเรืยนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพคนชราถ้วนหน้าและคนพิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องดีที่น่าชมเชย แต่ก็ยังไม่ได้ถือโอกาสปรับปรุงให้ดีขึ้นในชุดนโยบายประชาวิวัฒน์ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงไม่น่าแปลกใจว่าประชาวิวัฒน์ไม่ถูกออกแบบให้เป็นฐานรากของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเท่าที่ทราบกระบวนการร่างชุดนโยบายนี้ขาดมุมมองจากภาคประชาชนและไม่ได้มีวิธีการศึกษาอย่างที่ควรเป็น ที่ได้ยินมาคือมีการเชิญผู้คน ‘จำนวนหนึ่ง’ ประชุมร่วมกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือธนาคารรัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลสั่งมาเท่านั้น ดังนั้นแม้จะมีข้อดีในเรื่องความเป็นไปได้และรายละเอียดของการดำเนินการ แต่ขาดมุมมองภาคประชาชนอย่างแน่นอน

ดังนั้นแม้ประชาวิวัฒน์จะไม่ใช่ประชานิยม แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบบสวัสดิการสังคมที่ควรเป็นเช่นกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"พนิช-วีระ" และคณะถูกทหารกัมพูชาจับตัว ขณะเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ชายแดนสระแก้ว

Posted: 29 Dec 2010 03:26 AM PST

 
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ธันวาคม นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ พร้อม ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายวีระ สมความคิด และคณะ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาจับตัวไป พร้อมกับอุปกรณ์ในการถ่ายทำรายการ ที่บริเวณถนนศรีเพ็ญ บ้านหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
 
ขณะที่นายพนิชได้ให้คนขับรถโทรศัพท์บอกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ทราบเรื่องแล้ว
       
ทั้งนี้ นายพนิชเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนที่จะลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจากนายทิวา เงินยวง เสียชีวิตไป
 
สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปประกอบด้วย นายวีระ สมความคิด นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.เขต 6 นายกิจพลธร ชุณณะเสวี ร้อยตรีแซนดิล เลิศบุตร และนายตายแน่ มุ่งมาจน ส่วนอีก 2 คน เป็นผู้หญิงทราบแต่เพียงว่าชื่อ หมวย กับ อ้วน โดยทั้งหมดได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร มาที่บริเวณหลักเขตที่มีปัญหาระหว่างไทย -กัมพูชา บริเวณบ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยรถยนต์ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์สีขาว หมายเลขทะเบียน ชณ 456 กรุงเทพ และรถยนต์โตโยต้า แวน สีบอร์นเงิน หมายเลขทะเบียน ฎจ 463 กรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 10 คน 
 
ขณะที่กำลังดูหลักเขต ทางด้านทิศตะวันออกถนนศรีเพ็ญ ใกล้กับ จุดตรวจที่ 48  ได้มีทหารกัมพูชาตรงเข้ามาจับกุมตัวไป โดยในจำนวนนี้มี 3 คนหลบหนีออกมาได้ ส่วนอีก 7 คน ได้ถูกทหารนำตัวเข้าไปในฝั่งกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ทาง พ.ต.อ.ณัฐ สิงห์อุดม ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อรัญประเทศ กำลังประสานงานเจรจากับทางการกัมพูชาเพื่อขอให้ส่งตัวกลับไทย 
       
ด้านนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าฯสระแก้ว เปิดเผยผ่านสถานีทีวีไทย เมื่อเวลา 14.00 น. ว่า ตอนนี้ฝ่ายไทยมีผู้กำกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ปลัดอาวุโส และกองกำลังบูรพา อยู่ระหว่างการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ดีเพราะไม่มีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ บริเวณที่ถูกคุมตัวไปอยู่ในเขตหมู่บ้านชมรมบ้านหนองจาน ห่างจากบริเวณชายแดนประมาณ 500 เมตร
 
"คงเป็นการเข้าใจผิดกัน เพราะว่าพื้นที่จุดแดงเป็นพื้นที่นาธรรมดา และอยู่ระหว่างการปักปันเขตแดน แต่ในหลักการก็กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนรายละเอียดคงต้องรอนายพนิช ออกมาก่อนถึงจะทราบถึงสาเหตุที่เข้าไป นอกจากนี้ ทางกองกำลังบูรพา ซึ่งดูแลชายแดนอยู่ ได้มอบหมายให้ ตชด. เข้าไปดูแล นโยบายคือขอให้ปล่อยตัวให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจผิด"
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อานนท์ นำภา:เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้า มาสุดทาง

Posted: 28 Dec 2010 05:15 PM PST

 

เอ้กอีเอ้ก สว่างแล้ว แก้วไก่ขัน

ดวงตะวัน ยิ้มแฉ่ง สีแดงฉาน

หมู่หมอกเหม่อ เออออ ล้อลำธาร

หยาดน้ำค้าง ค้างบ้าน จนลืมไพร

  

ควักข้าวเหนียว ใส่ห่อ ไปรอรับ

หวังลูกกลับ สู่บ้าน มาอยู่ไกล้

เจ็ดเดือนย่าง ต่างรู้ ต้องอยู่ไกล

แต่เทียวไป เยี่ยมเล่น ไม่เว้นวัน

  

เมื่อใดความ ขัดแย้ง ไม่แยกแยะ

เมื่อนั้นแพะ ก็พา กันขาสั่น

เมื่อใดช้าง ต่างชน ชิงประชัน

แลเมื่อนั้น หญ้าแพรก ก็แหลกราน

  

ร่างผอมโซ โซ่ตรวน ล่ามส่วนขา

เดินออกจาก รถมา ศาลาศาล

ผู้คุมสวม บทบาท ราชการ

ตะโกนไล่ ชาวบ้าน อย่าจอแจ !

 

 ปาดน้ำตา ต่างยิ้ม ให้ลูกชาย

ลูกโบกมือ บ๋ายบาย ยิ้มให้แม่

ชะเง้อตาม สองตา เจ้าต่างแล

เชื่อมรักแท้ แม่ลูก ที่ผูกพัน

  

ผิดใดหนอ บักหำน้อย แม่คอยถาม

จึงถูกล่าม โซ่ขึง ตรึงไว้นั่น

ขาก็ขา น้อยน้อย เพียงแค่นั้น

จะทนดั้น เดินย่าง ได้อย่างไร

  

เสียงตะโกน “ลุกขึ้น” ทะมึนสั่ง

ศาลออกนั่ง บัลลังก์ ฟังปราศรัย

อัยการ อ่านเกมส์ เค็มน้ำใจ

ทนายให้ สารภาพ อย่าสู้เลย

  

เสียงตะโกน แต่ไกล “ผมไม่ผิด”

ศาลสั่ง “เงียบสักนิด ฟังเฉยเฉย ! ”

แล้วยิ้มเยาะ เคาะไม้ สะบายสะเบย

บอกเปรยเปรย มีคำสั่ง ถูกขังลืม

 

ชนชั้นนำ กำหนด กฎอุบาทว์

เหยียบหัวราษฎร์ ปรองดอง กันดูดดื่ม

ชนชั้นต่ำ เงินสิบ ต้องหยิบยืม

รอ “นาย” ปลื้ม เมื่อไหร่ ให้ประกัน

 

โรงละคร เล่นครบ เหมือนจบข่าว

กำหมัดชื้น ขื่นคาว คนขบขัน

“พวกเผาบ้าน เผาเมือง ประหารมัน"

คนดีลั่น พวกใจสัตว์ ต้องจัดการ !

  

เสียงระโยง ระยาง ครางกับพื้น

กลบเสียงปืน ราชประสงค์ ไว้ตรงศาล

คนเสื้อแดง ถูกตราหน้า ว่าสามานย์

คนสั่งด้าน หัวร่อ บนหอทอง

  

เกาะลูกกรง คงยืน มองลูกชาย

เป็นภาพชิน ชาคล้าย ไม่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ คนชนะ จะปรองดอง

ชาวบ้านต้อง ร้องไห้ อยู่ฮือฮือ

 

ภาพของหญิง ชรา ตำตาศาล

เหมือนกฎหมาย ตายด้าน แต่หนังสือ

ผู้มักใหญ่ ใช้เชื่อง เป็นเครื่องมือ

เพื่อแย้งยื้อ ชอบธรรม เถื่อนอำพราง

  

จึงกฎหมาย กลายหมด แล้วกฎหมาย

เกิดกฎหมา มักง่าย มาสะสาง

เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้า มาสุดทาง

เลือกระหว่าง ก้มค้อม หรือยอมตาย

 

ประวัติศาสตร์ ต้องใช้ ชีวิตเขียน

หมุนกงเกวียน แห่งสมัย ไม่ขาดสาย

ชักธงแดง แกร่งกล้า ขึ้นท้าทาย

เถิดสหาย ปฏิวัติ โค่นรัฐโจร !

 

 

 

: ผมรู้สึกเจ็บร้าวทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านแก่ๆ มายืนคอยทาง

ดูลูกชายขึ้นศาล และยิ่งเขามาถามว่า "ลูกแม่สิได้ออกมื้อได๋"

มันยิ่งจุกจนพูดไม่ออกทุกที หรือนี้เราเดินมาสุดทางแล้วจริงๆ

 

อานนท์ นำภา 23 ธันวาคม 2553

 

ที่มา:อานนท์ นำภา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สายพิน แก้วงามประเสริฐ:เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนผงาด ตำราเรียน "ประวัติศาสตร์ไทย" จะ "ปรับเปลี่ยน" อย่างไร?

Posted: 28 Dec 2010 04:51 PM PST

เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?

เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้รักใคร นอกจากตัวเอง โดยเฉพาะความรักชาติของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้รองรับอุดมการณ์ของรัฐ ไม่ว่าในยุคก่อนหรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้วก็ตาม

วิชาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญกับการรักตนเอง จนแทบไม่เคยสอนให้รู้จักรักผู้อื่น หรือเห็นอกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่าตนเลย

ด้วยเหตุดังนี้เนื้อหาสาระวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน จึงเต็มไปด้วยการสู้รบ การศึกสงครามทุกยุคสมัย โดยมีพล็อตเรื่องที่แสดงความยิ่งใหญ่ กล้าหาญ ของบรรดาวีรบุรุษวีรสตรีทั้งหลาย เมื่อไทยเป็นฝ่ายชนะตำราเรียนประวัติศาสตร์จะแต่งแต้มเติมสีสันให้ยิ่งใหญ่ ขณะที่หากไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือดูเหมือนว่าจะด้อยกว่า ตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนก็จะมีเหตุผลแห่งความพ่ายแพ้นั้น หรือมีสิ่งแสดงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้พ่ายแพ้

เนื้อหาในตำราเรียน ประวัติศาสตร์ไทย ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำตามอุดมการณ์ชาตินิยมมาเนิ่นนานจนกระทั่งในความรับรู้ ของผู้คนที่ผ่านกระบวนการการเรียนการสอนในโรงเรียนมองพม่าเหมือนเป็นศัตรู มองกัมพูชา และมองลาวอีกรูปแบบหนึ่ง

ตำราเรียนประวัติศาสตร์ใน โรงเรียนจึงถูกวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ เพราะสอนให้รักชาติของตนเองจนไม่สนใจไยดีเพื่อนบ้าน แม้บางประเทศเรามักจะพูดอยู่เสมอว่าเป็น "บ้านพี่เมืองน้อง" แต่เรื่องราวที่ถูกเขียนไว้ในตำราเรียน หรือเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นพี่น้องแต่อย่างใด จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นพี่น้องกันประสาอะไร?

เรื่องราวที่บาดหมางเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์ ที่ตำราเรียนหรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะอยู่เสมอ และมักมองด้วยสายตา มุมมองของตนเอง โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏ" ทั้งที่หากมองด้วยสายตาอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการกอบกู้เอกราช

ดังนั้นเจ้าอนุวงศ์ย่อมอยู่ในฐานะที่มิใช่ "กบฏ"

ด้วยความที่เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์มีความชัดเจนว่าไทยเป็นฝ่ายชนะสงคราม อีกทั้งวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่บอกเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่ารบชนะลาว จนกลายเป็นเรื่องราวในตำราเรียน ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทั้งในตำราเรียน บทเพลง บทละคร และอนุสาวรีย์ ในสมัยรัฐชาตินิยม และยังไม่จืดจางจนสมัยปัจจุบัน

การรับรู้ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้คนรอบบ้าน ยังคงสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ และควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไป? ในเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป การอยู่ร่วมกับผู้คนไม่ใช่แค่ในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องอยู่ร่วมกับนานาชาติ โดยเฉพาะขณะนี้เราไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะสมาชิกของอาเซียนด้วย แต่เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ที่ก่อให้เกิดความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะอยู่ในสังคมแห่งอาเซียนอย่างไร?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลประเทศลาวได้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว ซึ่งรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์หล่อด้วยทองแดงมีน้ำหนักถึง 8 ตัน อนุสาวรีย์นี้มีความสูงถึง 15 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 5.5 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ทั้งสูงและใหญ่มาก

อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หันพระพักตร์มาทางไทย สิ่งที่น่าสนใจมากคือพระหัตถ์ขวายื่นออกไปด้านหน้า ลักษณะผายออกผ่านแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ซึ่งรัฐมนตรีลาวกล่าวถึงรูปลักษณ์ของรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์ว่า พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาเป็นการแสดงถึงการให้อภัยแก่ "ผู้รุกราน" และผู้ที่เคยกระทำต่อพระองค์แล้ว

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลรายละเอียด ที่แสดงถึงการรับรู้ของฝ่ายลาว ถึงการศึกษาสงครามครั้งนี้ ไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งการรับรู้เรื่องนี้สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารของไทยที่บันทึกไว้ในฐานะ ผู้ชนะสงคราม จึงเขียนด้วยความสะใจ โดยหลงลืมนึกถึงจิตใจของผู้อื่น รวมทั้งการสร้างความรับรู้เรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่ไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เป็นสิ่งที่แสดงว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้เด็กรู้จัก เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

แม้พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาของเจ้าอนุวงศ์จะได้รับ การให้ความหมายโดยฝ่ายลาวว่า เป็นการยื่นออกมาเพื่อแสดงถึงการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำกับพระองค์ แต่อีกนัยหนึ่งคือการตอกย้ำความมีอยู่จริงของโศกนาฏกรรมของความเป็นพี่เป็น น้องในครั้งนั้น

เป็นการใช้ประวัติศาสตร์ต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่ามีอยู่จริง

ความ น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์หากนับถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบ 200 ปี แต่เพราะเหตุใดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์จึงพึ่งปรากฏตัว ณ พ.ศ.นี้ แสดงนัยยะอะไรหรือไม่ ทั้งที่ประเทศลาวไม่ได้มีอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแห่งแรก

อนุสาวรีย์ เจ้าอนุวงศ์แสดงความสัมพันธ์ หรือเป็นสัญญาอะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อลาวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และตั้งชื่อสนามกีฬาแห่งนี้ว่า "สนามกีฬาเจ้าอนุวงศ์"

ทั้งอนุสาวรีย์และสนามกีฬาล้วนแสดงทัศนคติ และนัยยะที่มีต่อไทย อย่างน้อยก็แสดงความรับรู้ต่อเรื่องราวที่ปรากฏแก่เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ย่อมมิอาจ เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเป็นความจริงที่รับรู้กันทั้งสองฝ่ายแต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัจจุบัน และอนาคตสามารถอยู่ร่วมกันฉันมิตรที่ดีได้อย่างจริงใจ

ถึงที่สุดแล้ว ลาวเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต และภาษาพูด หรืออาจหมายถึงที่มาของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ที่ทำให้คำกล่าวที่ว่า ไทยกับลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้องไม่ไกลไปจากความจริงเท่าไร แล้วไยเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ไม่เคยแสดงความรู้สึกห่วงใยพี่น้องของตนเองเลย โดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่ควรมีความเอื้ออาทรต่อคนเป็นน้อง

เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?

อย่างน้อยๆ การเหลือพี่น้องไว้คบค้าสมาคมบ้างก็ยังดี ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เหินห่างกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาเนิ่นนาน เพราะอย่างน้อยการมีพี่น้องย่อมดีกว่าการไม่มีใครคบ

เมื่อเป็นดังนี้ จึงควรหวนกลับมาพิจารณาตนเอง สร้างนิสัยการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการชำระสะสางตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ และประวัติศาสตร์บาดหมางกันเสียที

 

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์:กองทัพกับการเมืองไทย 1

Posted: 28 Dec 2010 04:33 PM PST

เวลานี้มีการอภิปรายถกเถียงในเว็บไซต์ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งสนใจศึกษาประเทศไทยโดยเฉพาะว่า กองทัพไทยเป็นปัจจัยสำคัญสุดทางการเมืองใช่หรือไม่ หรือกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจนอกระบบในการแทรกแซงจัดการทางการ เมืองเท่านั้น

คิดอีกทีข้อถกเถียงนี้ก็ประหลาดนะครับ กองทัพในประเทศอุษาคเนย์ทุกประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งทั้งนั้น จนกลายเป็นหัวข้อศึกษาที่นักวิชาการเฝ้าศึกษาวิเคราะห์มานาน และมักจะวิเคราะห์กันเหมือนว่ากองทัพเป็นตัวละครอิสระ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมเลย

ครั้นมาถึงตอนนี้ การเมืองไทยมักถูกวิเคราะห์ในแนวว่ามีอำนาจนอกระบบ, มือที่มองไม่เห็น, หรือเครือข่ายทางเศรษฐกิจที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเป็นปัจจัยชี้ขาด จนกระทั่งบางทีก็ลืมกองทัพไปเลย

ผมคิดว่า ความจริงคงอยู่ระหว่างสุดโต่งสองด้านนี้ กล่าวคือกองทัพเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์, ความต้องการ, ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ที่เป็นของตัวเอง แต่ตัวละครตัวเดียวนี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองแต่ลำพังได้ ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในระบบ, นอกระบบ, และปริ่มๆ ระบบ อีกทั้งที่เข้าไปเชื่อมโยงก็ไม่ใช่เพราะกองทัพตัดสินใจได้เองเพียงอย่าง เดียว หากเชื่อมโยงเพราะสถานการณ์ชักจูงไปก็ไม่น้อย เหมือนตัวละครในการเมืองไทยอื่นๆ แหละครับ

แต่ก่อนจะพูดถึงพันธมิตร หรือเครือข่ายของกองทัพ ผมคิดว่ามาเริ่มต้นกับผลประโยชน์ของกองทัพในการเข้าไปมีบทบาทและอำนาจกำกับ (ระดับหนึ่ง) ในการเมืองไทยกันเสียก่อน

ผลประโยชน์ในที่นี้ ผมจะไม่รวมผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ เช่น ทหารถูกทำให้เชื่อว่าตนมีหน้าที่ปกป้องราชบัลลังก์ และผดุงความเป็นชาติไทยเอาไว้ และผมไม่นับการที่นายพลได้กินสินบนในการสั่งซื้ออาวุธและอื่นๆ ว่าเป็นผลประโยชน์ของกองทัพ

เท่าที่ผมนึกออก   ผมคิดว่ากองทัพได้รับผลประโยชน์จากการเข้าไปมีอำนาจและบทบาททางการเมืองไทยดังนี้

อันแรกคืองบประมาณ เป็นหลักประกันว่ากองทัพจะได้งบประมาณจำนวนมาก ในช่วงสี่ปีหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน งบประมาณกองทัพพุ่งขึ้นตลอดมา จนกระทั่งในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณทหารต่อจีดีพีแล้ว งบประมาณทหารไทยดูเหมือนจะอยู่สูงสุดในประเทศอาเซียนด้วยกัน (และแน่นอนว่าสูงกว่าประเทศอียูทั้งมวล)

แน่นอน ส่วนหนึ่งของงบฯนี้ถูกแบ่งไปซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้อคติเป็นพลังงาน รถถังที่ไม่มีเครื่อง ฯลฯ แต่ที่ผมอยากพูดถึงมากกว่าก็คือ ทหารก็เหมือนข้าราชการอื่นๆ กล่าวคืออยากจะพิสูจน์ความชอบธรรมของหน่วยตนเอง ด้วยการแสดงสมรรถนะให้สังคมยอมรับ กองทัพเลือกการมีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นเครื่องหมายแห่งสมรรถนะ (จะถูกหรือผิดคงเถียงกันได้)

ยิ่งกว่าหน่วยราชการทั่วไปด้วย กองทัพจะพิสูจน์ความชอบธรรมของการมีอยู่ของตนได้น้อยลง เพราะโลกข้างหน้าเท่าที่จะพอมองเห็นได้ คงไม่มีสงครามใหญ่กระทบมาถึงไทย นับวันภารกิจของกองทัพต้องหันมาสู่กิจการภายในมากขึ้น นับตั้งแต่ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล, ช่วยน้ำท่วม และสวนสนาม ฉะนั้นการป้องกันงบประมาณกลาโหมจะยิ่งยากขึ้น อย่าพูดถึงของบฯเพิ่มเลย แม้แต่จะรักษางบฯเก่าให้คงเดิมก็ยากแล้ว

การแผ่รังสีอำมหิตเข้าครอบงำการเมืองจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะประกันว่างบประมาณทหารจะเพิ่มขึ้นตามลำดับตลอดไป

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการประกอบภารกิจภายในบางอย่าง ต้องการอำนาจทั้งในกฎหมายและเหนือกฎหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงได้ง่ายด้วย เช่น ผลักดันชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านกลับ, ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล และแหะๆ ยึดอำนาจ

ผลประโยชน์อย่างที่สองคือทรัพยากร อย่านึกว่ากองทัพไทยมีแต่ปืนและเครื่องแบบ ที่จริงแล้วกองทัพครอบครองทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญสองอย่างคือที่ดินและคลื่นความถี่ ทรัพยากรเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองที่กองทัพมีอยู่ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ หากทหารไม่มีอำนาจทางการเมืองอยู่เลย ระเบียบอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่รัฐเพิ่งเสนอ ก็คงริบเอาคลื่นความถี่ด้าน "ความมั่นคง" ทั้งหมด กลับมาให้คณะกรรมการพิจารณา ไม่ใช่สงวนไว้นอกอำนาจของ กสทช.หน้าตาเฉยอย่างนี้

ที่ดินซึ่งหวงห้ามไว้ในราชอาณาจักรอีกจำนวน มหึมา สมัยที่หวงห้ามยังเป็นป่าเขาที่ห่างไกล แต่บัดนี้กลายเป็นพื้นที่ใกล้หรือในเมือง เพราะการขยายตัวของพื้นที่เมืองในประเทศไทย ย่อมเป็นแหล่งรายได้ทางธุรกิจมหาศาล ไม่พูดถึงการหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของนายทหาร หากกองทัพนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ กองทัพก็จะมีเงินรายได้นอกงบประมาณไว้ใช้สอยอีกจำนวนมหึมา (มากกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียอีก)

แม้ทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายพลคนใด แต่เป็นสมบัติของกองทัพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้องรักษาเอาไว้ จะรักษาไว้ได้ก็ต้องควบคุมการเมืองในระดับหนึ่ง เช่น อย่าให้มีใครกล้าออกกฎหมายที่ดินซึ่งจะทำให้กองทัพสูญเสียทรัพยากรที่ดินใน ครอบครองไป

ผลประโยชน์อย่างที่สามคือโอกาสทางธุรกิจของนายทหาร เพราะอำนาจของกองทัพในการเมืองนี่เอง ธุรกิจจึงนิยมใช้ประโยชน์จากเส้นสายของนายทหารนอกราชการ ทหารเกษียณหลายคนได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือที่ปรึกษาบริษัทเอกชน ยังไม่พูดถึงรัฐวิสาหกิจ อย่ามองเรื่องนี้เพียงผลประโยชน์ของนายทหารบางคนเท่านั้น นั่นก็ใช่แน่

แต่หากมองว่าระบบบำนาญของกองทัพนั้น มีหลักประกันด้านสวัสดิการที่เหนือกว่าข้าราชการทั่วไป เป็นระบบสวัสดิการของกองทัพซึ่งจะรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องมีอำนาจในการเมือง

อีกเรื่องที่ผมอยากพูดถึงไว้ด้วยก็คือเรื่องของ redistribution หรือการกระจายทรัพย์สมบัติกลับสู่บุคลากรในกองทัพ

ทหาร ไทยมีประเพณีของ redistribution สูง นับตั้งแต่เลี้ยงเหล้าไอ้เณร ไปจนถึงแบ่งทรัพยากรของกองทัพให้ลูกน้องที่อยู่ในสังกัดของตนได้ดูแล (และบริโภค) เพราะเราจัดความสัมพันธ์ภายในกองทัพในลักษณะนาย-ไพร่ของกองทัพโบราณ เมื่อยึดทรัพย์จับเชลยมาได้ ก็แบ่งปันกันในหมู่ไพร่ในสังกัด ฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าผลประโยชน์ที่กองทัพมี หรือที่นายทหารเม้มใส่กระเป๋าของตนนั้น อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปในกองทัพ-ในรูปต่างๆ-อยู่พอสมควร

ภารกิจที่จะต้องมีอำนาจเหนือการเมืองจึงเป็นภารกิจที่บุคลากรในกองทัพยอมรับได้ว่าเป็นภารกิจร่วมกันของกองทัพ

จะมีอำนาจเหนือการเมืองได้ ก็ต้องเป็นตัวละครอิสระทางการเมือง กล่าวคือมีความต้องการและทิศทางของตนเอง จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องรักษาอิสรภาพของตนไว้ให้ได้ นี่คือเหตุผลที่กองทัพไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเผลอเมื่อไรก็มักจะแทรกเข้ามาลดอิสรภาพของกองทัพเสมอ ผบ.กองทัพนั้น กองทัพอยากเป็นคนเลือกเอง เพราะ ผบ.ที่เป็นอิสระเท่านั้น ที่จะไม่นำกองทัพไปเป็นเครื่องมือของใคร (อย่างไม่มีข้อแลกเปลี่ยนเลย)

แต่อำนาจของกองทัพเหนือการเมืองนั้น ไม่ได้มาจากรถถัง, ทหารป่าหวาย, หรือปืนยิงเร็ว ฯลฯ นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ กองทัพจะยึดอำนาจหรือรักษาอำนาจของตนในการเมืองไว้ได้ ก็เพราะกองทัพได้รับความเห็นชอบจากส่วนอื่นๆที่มีพลังในสังคม

เมื่อตอนที่กองทัพทำรัฐประหารสำเร็จ นายแบงก์และนายทุนธุรกิจพากันหิ้วกระเช้าไปแสดงความยินดีกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่จริงแล้วเขาพากันไปแสดงความยินดีกับตนเองไปพร้อมกันด้วย

เพราะการยึดอำนาจครั้งนั้นเขาเห็นชอบ และบางครั้งถึงกับเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลังบางส่วนด้วยซ้ำ

ฉะนั้นเราจึงจะเข้าใจบทบาททางการเมืองของกองทัพได้ ก็โดยการดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับ "พันธมิตร" เหล่านี้ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้อยู่คงที่ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพราะ "พันธมิตร" ก็ต้องการเป็นตัวละครอิสระในทางการเมืองเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนข้างเปลี่ยนสี เปลี่ยนจุดเน้นแห่งพันธะ และเปลี่ยนการดำเนินการทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลกระทบไปถึงการเมืองภายในของกองทัพเองด้วย และแน่นอนย่อมมีผลให้เกิดพลวัตที่แฝงอยู่ในการเมืองไทย

กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทบนพื้นที่ทางการเมืองไทย นับจาก 14 ตุลาเป็นต้นมา มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รวมทั้งเพิ่มเข้ามาใหม่อย่างไม่หยุดหย่อนด้วย) ทำให้อำนาจดิบของกองทัพยิ่งไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น การล่มสลายของคณะ รสช.ในเดือนพฤษภาคม 2535 พิสูจน์ว่าอำนาจดิบอย่างเดียวใช้คุมการเมืองไม่ได้ กองทัพเหลียวมองข้างหลังแล้วพบว่า "พันธมิตร" ของตนส่วนใหญ่เผ่นป่าราบไปแล้ว บางส่วนถึงไม่ได้เผ่น ก็เริ่มแทงกั๊ก คือผลักภาระให้กองทัพรับผิดชอบไปแต่ผู้เดียว

ยิ่งย้อนกลับไปถึง 14 ตุลา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า บางส่วนของ "พันธมิตร" ลอบแทงข้างหลังกองทัพมาแต่ต้น เป็นผลให้เกิดความแตกแยกภายในกองทัพอย่างหนัก แต่พัฒนาการทางการเมืองหลังจากนั้น กลับดึงให้ "พันธมิตร" บางกลุ่มต้องหันกลับมาร่วมมือกับบางส่วนของกองทัพ เพื่อผดุงอำนาจต่อรองของตนในการเมืองเอาไว้

ฉะนั้น ที่ผมเรียกว่า "พันธมิตร" ของกองทัพนั้น ไม่สู้จะถูกต้องนัก เพราะกลุ่มเหล่านี้อาจจับมือกับกองทัพในบางสถานการณ์ และหันหลังให้กองทัพในอีกสถานการณ์หนึ่งได้ ที่ถูกต้องกว่าก็คือกลุ่มคนเหล่านี้เป็น "หุ้นส่วน" ในการเมืองไทย ร่วมหุ้นกันบ้าง ถอนหุ้นกันบ้าง แล้วแต่จังหวะไหนจะทำกำไรได้มากกว่า

ในตอนหน้า ผมจะพูดถึงเรื่องนี้

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น