โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสื้อแดงคึกคักรำลึก 7 เดือนราชประสงค์ เรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง-พิสูจน์ความจริง

Posted: 19 Dec 2010 09:40 AM PST

คนเสื้อแดงรวมตัวกันเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมครบ 7 เดือนที่แยกราชประสงค์ โดยร่วมกันพับนกสีแดง ปล่อยลูกโป่งแดง จุดเทียนแดง สมบัติ เรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดไม่เฉพาะแกนนำเพื่อบรรยากาศการปรองดอง พร้อมทั้งพิสูจน์ความจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ญาติผู้เสียชีวิตเตรียมจัดตั้งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ 

 
19 ธ.ค.53 คนเสื้อแดงทยอยเดินทางมายังแยกราชประสงค์ตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 14.00 น.เศษ จำนวนคนเสื้อแดงได้เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งเต็มถนนราชดำริฝั่งห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ทำให้การจราจรปิดตัวลง และในเวลาประมาณ 15.00 น.คนเสื้อแดงก็เพิ่มมากขึ้น จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราวบนถนนเพลินจิตตั้งแต่แยกหลังสวนไปจนถึงแยกเฉลิมเผ่า
 
บรรยากาศโดยรอบ มีการนำนกกระดาษสีแดงจำนวนมากนำมาผูกติดกับผ้าแดงซึ่งผูกโยงเป็นตาข่ายคุลมแยกราชประสงค์ มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกคุมขังสลับกับการร้องเพลงและเต้นรำอย่างสนุกสนาน
 
 
 
 
 
ขณะที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดกิจกรรมที่ร้านแมคโดนัลด์ บริเวณชั้นล่างห้างอัมรินทร์พลาซ่า โดยมีการพับนกกระดาษสีแดง กิจกรรมปล่อยลูกโป่งแดง และการร้องเพลงประสานเสียง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงกล่าวว่า นกสีแดงหมายถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและปลดปล่อยประชาชน โดยจะมีการปล่อยลูกโป่งสีแดงจำนวน 5,000 ลูกขึ้นสู่ท้องฟ้า นายสมบัติยังกล่าวด้วยว่าต้องการให้รัฐบาลแสดงออกถึงบรรยากาศการสร้างความปรองดอง โดยส่งสัญญาณให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดและสนับสนุนการประกันตัว นอกจากนี้ยังระบุว่า ฝ่ายประชาชนขอยืนยันในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม รัฐบาลเป็นผู้มีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมขอให้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน
 
16.20 น. ที่ป้ายแยกราชประสงค์ มีการร้องเพลงประสานเสียงของกลุ่มเรดไฟเออร์ ซึ่งนำบทเพลงที่แต่งโดย จิ้น กรรมาชนมาขับร้อง มีคนเสื้อแดงให้ความสนใจและร่วมกันขับร้อง
 
16.40 น. นายจุตพร พรหมพันธุ์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำ นปช.เดินทางมาถึงแยกราชประสงค์ และเดินทางไปที่วัดปทุมวนารามเพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม
 
 
 
 
 
 
ส่วนครอบครัวอัคฮาดได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ด้วย นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามกล่าวว่า ขณะนี้ได้ติดต่อบรรดาญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม และญาติของคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง เพื่อจัดตั้งกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสลายการชุมนุม โดยกลุ่มดังกล่าวจะไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ถูกคุมขัง และเพื่อแสดงว่าผู้ได้ผลกระทบโดยตรงจากการสลายการชุมนุมเอาจริงเอาจังกับการสืบหาความจริงและความเป็นธรรม รวมถึงแสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพานักการเมือง
 
นายณัทพัชกล่าวด้วยว่า ได้มีการติดต่อไปยังญาติของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต และนายฟาบิโอ โปเลนกี สองผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ถูกยิงเสียชีวิต ให้เข้าร่วมกับกลุ่มที่จะตั้งขึ้นด้วย และมีแผนที่จะจัดปราศัยครั้งแรกในเดือนมกราคมปีหน้า
 
กิจกรรมในช่วงเย็นมีการปล่อยลูกโป่งแดง จากนั้นมีการจุดเทียนแดงรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม และเวลา 19.00 น.เศษ คนเสื้อแดงเริ่มทยอยเดินทางออกจากแยกราชประสงค์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่-พายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข (2)

Posted: 19 Dec 2010 08:54 AM PST

เรื่องราวการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่และการเผชิญหน้ากับพายุดีเปรสชั่นของ 4 โรงพยาบาลในสงขลาโดยแพทย์ในพื้นที่ "ประชาไท" นำเสนอโดยแบ่งเป็นสามตอน

ชื่อชุดบทความเดิม
ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ 2010
และพายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข

เรียบเรียงโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา
 

 

ภาค 3: น้ำท่วมหาดใหญ่ กับบริการปฐมภูมิกู้ภัยพิบัติแห่งทศวรรษ

อำเภอหาดใหญ่เป็นอำเภอเศรษฐกิจของภาคใต้ น้ำท่วมครั้งรุนแรงครั้งสุดท้ายคือปี 2543 หรือ 10 ปีก่อนหน้านี้ ในครั้งนี้ฝนที่ตกหนักตลอดลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่าเมืองเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ล้นตลิ่งท่วมเมืองอย่างรวดเร็วในค่ำคืนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553

อุทกภัยในหาดใหญ่ครั้งนี้น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็วมาก โรงพยาบาลหาดใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างลุ่ม ระดับน้ำสูงจนเข้าอาคารผู้ป่วยนอก อาคารสนับสนุนต่างๆ หลายอาคารของโรงพยาบาลหาดใหญ่ บริเวณถนนน้ำเชี่ยวมาก ไฟฟ้าดับตอนกลางคืน สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากตัวอาคารได้ โรงพยาบาลปิดโดยปริยาย โรงปั่นไฟถูกน้ำท่วม จนต้องมีการขนย้ายผู้ป่วยหนักไปนอนรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ถึงกระนั้นในโรงพยาบาลหาดใหญ่ที่ถูกน้ำท่วม ก็ยังมีผู้ป่วยและญาตินอนรักษาตัวอยู่หลายร้อยชีวิต

บันทึกจากหอผู้ป่วยใน น้ำท่วมเมืองกับคนไข้ในที่ยังต้องดูแล
ณ มุมหนึ่งของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่อยู่ท่ามกลางความมืดปราศจากแสงสว่างจากไฟฟ้า ซึ่งให้ความสะดวกในการทำงานมาตลอดหลายปี แต่ปัจจุบันนี้แสงสว่างดังกล่าวไม่มีแล้ว มีเพียงแสงเทียนและ และแสงจากไฟฉายกระบอกน้อยที่ให้ความสว่างอยู่ในหอผู้ป่วย ท่ามกลางความมืดรอบด้าน ความกังวลและความกลัว ย่อมเกิดขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติงานในฐานะผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีแม้เครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้ใช้ในเวลานี้ แม้มีเพียงแสงเทียนและไฟฉายที่ให้แสงสว่างบุคลากรทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย แทนที่จะทำให้ท้อแท้หมดกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับเป็นแรงเสริมให้ทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้น

พยาบาลยังคงให้การดูแลผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วย ซึ่งยังมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ส่วนที่มีการขนย้ายผู้ป่วยไปนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มผู้ป่วยหนักที่ต้องดูแลอย่างซับซ้อน ต้องใช้เครื่องมือที่พึ่งพากระแสไฟฟ้า แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลายร้อยชีวิตของโรงพยาบาลยังไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน ยังรับการดูแลรักษาท่ามกลางสายฝนและความมืดที่โรงพยาบาลหาดใหญ่

แน่นอนว่า พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะมีความกังวลใจและยากลำบากในการให้การปฏิบัติการเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย ไฟฉายจึงเป็นอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างคู่กายที่พยาบาลจะต้องนำติดตัวไปด้วยทุกที่ ซึ่งพยาบาลหนึ่งคนจะมีไฟฉายคนละหนึ่งกระบอก เพื่อให้แสงสว่างในขณะให้การพยาบาล ในการฉีดยาผู้ป่วย มือหนึ่งถือไฟฉายอีกมือหนึ่งถืออุปกรณ์สำหรับฉีดยาหรือให้สารน้ำ ซึ่งเมื่อพยาบาลเดินไปถึงเตียงของผู้ป่วย ญาติจะเป็นผู้ช่วยในการส่องไฟฉายให้พยาบาลได้ฉีดยาหรือเปิดเส้นเพื่อให้สารน้ำ

ในส่วนลึกของจิตใจพยาบาลมีความกังวลอยู่มาก กลัวจะเปิดเส้นให้น้ำเกลือไม่ได้ ทำให้ย้อนนึกไปถึงตะเกียงที่ชาวสวนยางนำไปกรีดยาง ซึ่งจะต้องสวมศีรษะไว้และสามารถใช้มือทั้ง 2 ข้าง กรีดยางได้ โดยที่ไม่ต้องถือตะเกียงไว้ แต่ในเวลานี้มีเพียงกระบอกไฟฉายและแสงเทียนไขเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอแล้วหากมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด

สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องมีการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ก็ยังคงมีตกค้างอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจนั้น เครื่องช่วยหายใจยังสามารถใช้ได้ เพราะมีกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟบางเครื่องที่ยังไม่จมน้ำยังทำงานได้ แต่การดูดเสมหะมีความยุ่งยากมากเพราะระบบการดูแลเสมหะแบบ pipeline นั้น ไม่ทำงานเนื่องจากระบบดูดสุญญากาศเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งหอผู้ป่วยมีเพียงเครื่องดูดเสมหะแบบโบราณที่เสียบปลั๊กไฟฟ้าได้เพียงเครื่องเดียว ในขณะเดียวกันมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 10 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้แต่ละครั้งจะต้องรอดูดเสมหะเป็นรายๆ ต้องหมุนเวียนกันใช้

นวัตกรรมใหม่ๆ แบบโบราณจึงเกิดขึ้น เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดูดเสมหะพร้อมๆ กัน ทำให้พยาบาลต้องคิดวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ทันที โดยการขอยืมลูกสูบยางแดงมาต่อเข้ากับสายดูดเสมหะของผู้ป่วยแล้วดูดเสมหะออก วิธีนี้ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องเสียเวลาในการล้างลูกสูบยางแดง ซึ่งต้องใช้เวลานานพอประมาณในการล้างให้สะอาด แต่ก็นับเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่แต่สามารถใช้ได้จริงๆ น่าจะนำไปจดสิทธิบัตรไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จำเป็นที่จะต้องรายงานแพทย์ทราบนั้น ในสถานการณ์ปกติ แค่ยกหูโทรศัพท์ขึ้นก็สามารถรายงานอาการแก่แพทย์ได้ทันที แต่ ณ ปัจจุบันนี้สถานการณ์น้ำท่วมทำให้การรายงานอาการมีความยุ่งยากมากและต้องใช้เวลาในการเดินไปตามแพทย์ที่ห้องพักแพทย์ท่ามกลางความมืด มีเพียงแสงสว่างจากไฟฉายเท่านั้น จินตนาการต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัวสมอง ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา แต่เมื่อเดินมาถึงห้องพักแพทย์ เคาะประตูเรียกแพทย์เพื่อไปดูอาการผู้ป่วย ความกลัวนั้นก็จางหายไป เมื่อนึกถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติและจะต้องให้การดูแลผู้ป่วย

ท่ามกลางความมืดกิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปอย่างเงียบๆ แต่มีแนบแผนที่จะต้องปฏิบัติ ยังคงมีการประเมินสัญญาณชีพผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยที่วิกฤตและไม่วิกฤต การบันทึกทางการพยาบาล การอาบน้ำ การทำแผล การให้อาหารทางสายยาง และกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และให้กำลังใจญาติที่เฝ้าผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและให้ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้

ภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ในความมืดหนึ่งวันหนึ่งคืนนั้น แม้บรรยากาศภายนอกจะมืดมิด แต่ก็มีความสว่างในใจเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ประสบเหตุ แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ หากทุกคนมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เหตุเกิดที่เวชกรรม ในวันที่น้ำเข้าโรงพยาบาลหาดใหญ่
ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 คุณหมอพณพัฒน์ โตเจริญวานิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานได้รวบรวมสมาชิกแพทย์ พยาบาลกลุ่มงานเวชกรรมสังคม ที่ติดน้ำท่วมอยู่บนตึกเวชปฎิบัติครอบครัว ประกอบด้วย หมออีก 3 คนและพยาบาล 2 คน นำชุดยาสามัญประจำบ้านจำนวน 240 ชุด ฝากไปกับเรือเร็วที่แล่นเข้ามาส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่

“เรือมีอยู่ไม่กี่ลำแล่นมาที่โรงพยาบาลแล้วจะกลับมาอีกทีก็ตอนที่มีคนเจ็บน่ะหมอ น้ำมันเชี่ยวมาก วันนี้มีคนเรือโดนไฟช๊อตไปแล้วด้วย ไม่ค่อยปลอดภัยครับหมอ” เสียงคนเรือตอบ นั่นหมายความว่าถ้านั่งไปกับเรือจะได้กลับมาโรงพยาบาลเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ทุกคนจึงตัดสินใจกันว่าเราควรจะรอตั้งหลักกันก่อนดีกว่า ออกไปคงเป็นภาระมากกว่าจะได้ประโยชน์กับชาวบ้าน จึงตัดสินใจฝากยาไปกับเรือ ที่บังเอิญผ่านไปมาชาวบ้านก็จะตะโกนเรียกขอรับยาเป็นจุดๆ ไป

พุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลหาดใหญ่ ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก น้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ สัญญานโทรศัพท์ยังถูกตัดขาด คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัวยังปิดให้บริการ แต่ได้จัดเตรียมชุดยาสามัญประจำบ้านต่อไป เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในอำเภอหาดใหญ่ หมอสองคนขยับไปช่วยตรวจผู้ป่วยนอกด้านหน้าตึกใหญ่ของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการได้ อีกส่วนเตรียมเสบียงยาสามัญประจำบ้าน ทีมแพทย์นำโดยคุณหมอหทัยทิพย์ ธรรมวิริยะกุล จากเวชกรรมสังคมพร้อมแพทย์อาสาจากกลุ่มงานสูติฯหนึ่งท่าน คือ นพ.จิตติ ลาวัลย์ตระกูล ลงเรือเคลื่อนที่เร็วร่วมกับมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลซึ่งอาสาเดินทางมาร่วมกู้ภัยน้ำท่วมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านจุฑาทิพย์ ชุมชนคลองแหฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้า Big C ซึ่งขณะนั้นได้รับแจ้งจากทีมกู้ภัยว่าวิกฤตมากเพราะน้ำท่วมเกินระดับศีรษะ ชาวบ้านเริ่มขาดน้ำ อาหารและร้องขอยา

ขณะเดินทางโดยทางเรือไม่เพียงแต่ต้องระมัดระวังกระแสน้ำเชี่ยวกราด แต่ยังต้องระวังสิ่งของ หรือรถที่จอดจมอยู่ใต้น้ำด้วย บางครั้งลูกเรือก็ต้องลงจากเรือไปถือหางเรือหรือลากไปว่ายน้ำไปเรือที่ใช้จึงต้องเป็นเรือท้องแบนและต้องมีเครื่องยนต์จึงจะสามารถเดินทางได้ สิ่งที่ควรเตรียมตัวเสมอเมื่อต้องนั่งเรือไปช่วยน้ำท่วมคือ ชูชีพ โทรโข่ง รองเท้าบู้ทสำหรับลุยน้ำและถุงยาที่กันน้ำเข้าได้ ที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมพกน้ำดื่มและอาหารของตัวเองไปด้วยเพราะนาทีนั้นคงไปหวังพึ่งให้ใครหาอาหารและน้ำให้เราไม่ได้

เวลาหนึ่งวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เวลาเลิกงานสำหรับการออกหน่วยไม่ใช่สี่โมงเย็นแต่เป็นเวลาพลบค่ำที่คาดเดาไม่ได้จริงๆ สำหรับชาวบ้านจะต้องเตรียมหมาน้ำ (อุปกรณ์ตักน้ำผูกเชือก) เอาไว้ห้อยลงมาจากหลังคาเพื่อรับของเสบียงหรือยาน้ำท่วมไว้ด้วย ไปแจกยาอาจจะต้องฝึกปรือฝีมือในการโยนรับเหมือนเล่นแชร์บอลไปก่อนด้วยเพราะชาวบ้านลงมาหาเราไม่ได้เราก็ไม่สามารถปีนจากเรือไปบนหลังคาบ้านคนไข้ได้ รวมภารกิจในวันนั้นได้แจกยาชุดผู้ใหญ่ไป 300 ชุด ยาชุดเด็ก 200ชุด

ช่วงเย็นได้สำรวจพื้นที่ประสบภัยบริเวณเขต 8 และจันทร์วิโรจน์ เนื่องจากในขณะที่ไปแจกยานั้นชาวบ้านหลายคนมักถามเป็นประโยคแรกว่ามีน้ำมาด้วยมั้ย ทีมหน่วยเคลื่อนที่ในวันนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าถ้าจะไปแจกยาชาวบ้านขอให้เตรียมน้ำไปด้วย ดื่มน้ำจะได้กินยาไปด้วยนั่นเอง ตกเย็น ตะวันโพล้เพล้ ทีมกู้ภัยลงทุนควักกระเป๋า หนึ่งพันบาทไปซื้อน้ำกลับเข้าไปแจกที่หมู่บ้านเพราะชาวบ้านคงรอคอยข้ามคืนไม่ไหว

กลับไปในหมู่บ้านรอบที่สองจึงได้เห็นว่าชาวบ้านบางคนพยายามเป็นตัวแทนลุยน้ำออกมาเพื่อมารับถุงยังชีพที่ตั้งจุดแจกจ่ายอยู่บนพื้นดินปากทางเข้าหมู่บ้าน คุณลุงคนหนึ่งรับถุงแจกแล้วก็หอบหิ้วทั้งลากทั้งอุ้มถุงจนขาดของหล่นไปตามทางน้ำ ทีมกู้ภัยทนไม่ได้ต้องจอดเรือเอาถุงในเรือลงไปเปลี่ยนให้ คนแก่ และหนุ่มสาววัยกลางคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ค่อยๆ เดินลุยน้ำ บ้างก็นั่งบนที่นอนที่ลอยน้ำออกมาพร้อมเตียง เด็กๆ เกาะกะละมังลอยตามน้ำไม่ให้จม เพื่อความหวังข้างหน้าว่าอาจจะมีน้ำแจก มีอาหารหรือเสบียงกลับไปให้คนในครอบครัว แม้จะทั้งเหนื่อยทั้งเพลียแต่หมอสองคนก็ยังวางแผนต่อว่าพรุ่งนี้คงต้องออกมาลุยอีกวัน

คุณหมอจิตติอาจารย์อาวุโสกลุ่มงานสูตินรีเวชซึ่งบ้านพักในโรงพยาบาลก็น้ำท่วมไม่น้อยไปกว่านอกโรงพยาบาลนัดหมายเป็นเสียงแข็งว่า “พรุ่งนี้ผมจะออกมาช่วยอีก บ้านผมยังไงก็ยังไม่มีน้ำล้างบ้าน เก็บไว้ก่อน เอาไว้ทีหลังละกัน ชาวบ้านลำบากกว่ามาก” ใครได้ฟังก็จะรู้สึกทึ่งไม่รู้ลืม

ภารกิจหลังน้ำลด แจกยาด้วยใจ
พฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553 โรงพยาบาลหาดใหญ่น้ำลดลงไม่ท่วมขัง แต่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้เนื่องจากบุคลากรขาดแคลน ส่วนหนึ่งประสบอุทกภัยหนักไม่แพ้กัน จึงยังไม่สามารถจัดระบบบริการในคลินิกได้ ขณะนั่งเตรียมจัดชุดยาสามัญประจำบ้านซึ่งมีคุณพยาบาลจิราภรณ์ จิตรากุล หรือ ภรณ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิตยาชุดสามัญประจำบ้านสำหรับน้ำท่วมมือหนึ่งของเวชกรรมสังคมหาดใหญ่อยู่นั้น คุณหมอหทัยทิพย์กระหืดกระหอบกลับจากประชุม war room ของโรงพยาบาลหาดใหญ่มาขออาสาเจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคมที่พอมีอยู่ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทันทีที่ถามทุกคนยกมือขึ้นอย่างไม่ลังเล วันนี้จึงมีหลายคนเข้าร่วมให้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่เร็ว แพทย์ 3 คนรวมทั้งคุณหมอจิตติซึ่งได้ตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่นว่าจะไม่นั่งรอผู้ป่วยที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อีกแล้วแต่จะออกไปช่วยชาวบ้านถึงในพื้นที่ดีกว่า และแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอีก 2 ท่านเข้าร่วมด้วยพร้อมทีมพยาบาล โดยมีพยาบาล 2 คนอยู่ประจำสำนักงานเป็นผู้ประสานงานและเฝ้ากองบัญชาการ

นับเป็นความโชคดีของคนโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ถึงแม้รถของโรงพยาบาลหาดใหญ่จะโดนน้ำท่วมไปจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของรถที่มีอยู่ รวมทั้งคลังยาน้ำท่วมที่กลับโดนน้ำท่วมไปด้วย แต่เราก็ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือในระดับปฐมภูมิจากโรงพยาบาลต่างๆ อย่างไม่ขาดสายและทันท่วงที เช่นโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาและแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ รอบๆ หาดใหญ่ ในวันนี้การออกหน่วยเคลื่อนที่จึงใช้รถจากโรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับทีมสุขภาพและเวชภัณท์ที่นำติดมากับรถจากโรงพยาบาลราชวิถี นำทีมโดยนายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้าทีมกู้ชีพโรงพยาบาลราชวิถีพร้อมทีมแพทย์พยาบาล ออกบริการตรวจรักษาผู้ป่วย ทำแผลและฉีดยา 2แห่ง คือ มัสยิสยิดบ้านเหนือ จำนวน 147 ราย และ รัตนอุทิศ 3 จำนวน 174 ราย พบส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดกล้ามเนื้อ มีบาดแผลและน้ำกัดเท้า ในช่วงเย็นได้จัดทีมพร้อมรถฉุกเฉินลงแจกยาสามัญประจำบ้านใน ชุมชนบางแฟบนำโดยคุณหมอธาดา ทัศนกุล รวมทั้งวันแจกยาชุดไปจำนวน 760 ชุด

ปฐมภูมิเชิงรุก บุกถึงประตูบ้าน
ศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2553 แบ่งทีมสนับสนุนจัดเตรียมเวชภัณท์1ทีม อีกทีมให้บริการในคลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลที่สามารถเดินทางมารับบริการได้เพราะน้ำลดแล้ว นอกจากนี้ยังจัดบุคลากรเปิดให้บริการใน CMU ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้แก่ CMU 3 ตำบล และ CMU ควนลัง และอีกทีมของเวชกรรมโรงพยาบาลหาดใหญ่ร่วมกับทีมโรงพยาบาลราชวิถีออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยรถของโรงพยาบาลราชวิถี ตรวจรักษาโรคที่ตลาดพ่อพรหม

ทีมใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการเปลี่ยนสภาพสกปรกของตลาดหลังอุทกภัย ให้กลายมาเป็นแคมป์บริการผู้ป่วยที่สมบูรณ์แบบ ทีมกู้ชีพดัดแปลงพื้นที่นำหินและเศษไม้ในตลาดมาเป็นบันไดและราวเกาะให้ผู้ป่วยที่บาดเจ็บที่ขา มีรถเข็นให้ผู้ป่วยที่เดินไม่ไหวเพราะมีบาดแผลที่หัวเข่าทำให้ข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีบาดแผลที่เท้าจากของมีคมบาดหรือกระแทกของแข็ง รักษาจนยา Dicloxacilllin หมด ต้องจ่าย Pen V แทน และมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายราย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด มาขอรับยาเพราะยาหายไปกับน้ำที่ท่วมบ้านสูงถึง1-2 เมตร วันนี้มีผู้ป่วยรับบริการทั้งสิ้น 230 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก(TT) 50 ราย ส่งไปเย็บแผลที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ 1 ราย

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นั้นมีทั้งการตรวจรักษาในที่ตั้งหน่วย และการออกแจกยาไปตามตรอกซอกซอยในเขตชุมชนท่าเคียนด้วย คุณหมอธาดาใช้โทรโข่งเชิญชวนพี่น้องให้มารับยา ทีมงานอีก 4-5 คนรับหน้าที่แจกยาอยู่ด้านหลังรถอย่างแข็งขัน ชุดยาฯผู้ใหญ่จำนวน 450 ชุด เด็กจำนวน 100 ชุด หมดภายในหนึ่งชั่วโมง ชาวบ้านทั้งไหว้ทั้งน้ำตาคลอที่มีหมอมาแจกยาถึงบ้าน เดินมารับยาที่รถพร้อมอวยพรหมอกับทีมจนเราตื้นตันใจและหายเหนื่อยไปตามๆ กัน

นอกจากให้บริการยาชุดสามัญประจำบ้านแล้ว ก่อนพลบค่ำ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้เคลื่อนที่ฝ่ากองขยะเข้าไปฉีด TT ให้ผู้ป่วยที่นัดไว้เมื่อวานบริเวณเดิมในชุมชนรัตนอุทิศ (ซอย3) หน่วยฉีดวัคซีนบาดทะยักเปิดประตูรถตู้ ตั้งเป็นจุดฉีดยาสำหรับผู้มีบาดแผลและยังไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นบาดทะยัก แพทย์คนที่หนึ่งมีหน้าที่คัดกรองและตรวจดูแผล อีกคนมือถือโทรโข่งประกาศให้ผู้ที่กำลังล้างซากปรักหักพังมารับบริการ แพทย์อีกท่านให้บริการยาสามัญประจำบ้าน พยาบาลเตรียมอุปกรณ์พร้อมฉีด งานนี้ใช้แพทย์เปลืองหน่อย แต่ในเวลานั้นทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ได้ทุกอย่าง เพราะเรามีกันอยู่เพียงแค่นั้นจริงๆ เพียงครึ่งชั่วโมง TT 40 doses เท่าที่มีถูกใช้หมด ผู้ป่วยดีใจมากที่ไม่ต้องเดินทางไปฉีดที่โรงพยาบาลเพราะภาระหน้าที่ที่ต้องไปหาน้ำดื่มหรือหาน้ำอาบ หาข้าวกล่องที่ขาดแคลนให้คนที่บ้านก็วุ่นวายมากจนไม่มีเวลาไปโรงพยาบาล

ส่งไม้ผลัด จากทีมไกลสู่กองกำลังนักศึกษาแพทย์
การออกหน่วยในวันหลังๆ เวชภัณฑ์ทุกอย่างเริ่มขาดแคลนเพราะห้องยาของโรงพยาบาลหาดใหญ่ยังล้มเพราะอุทกภัย ยาจึงมีไม่เพียงพอ แต่เหมือนมีโชคดีเป็นครั้งที่สองที่ทีมกู้ชีพจากราชวิถี ได้ประสานงานกับท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กและ War Room ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กรุงเทพทำให้ได้รับการสนับสนุนยาน้ำเด็ก ซึ่งเป็นยาที่ขาดมากตั้งแต่วันแรกที่น้ำท่วมคลังยา จนได้รับยามาทางเครื่องบินอย่างรวดเร็วในวันต่อมา หลังเสร็จภารกิจ โรงพยาบาลราชวิถีแจ้งว่าจะถอนกำลังกลับกทม.เพราะสถาณการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ทีมหาดใหญ่เริ่มใจหายแต่ก็ต้องทำใจให้เข้มแข็งเพราะเขาก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายวัน

กลับจากออกหน่วยคืนนั้นทีมเวชกรรมสังคมจึงต้องประชุมวางแผนรับมือการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 6-7 พฤศจิกายนกันใหม่ว่าจะหายานพาหนะและบุคลากรที่ไหนมาช่วยออกหน่วย ทีมที่ออกหน่วยกันมาแต่แรกก็เริ่มเหนื่อยล้า โชคดีครั้งที่สามเกิดขึ้นขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ขึ้นเรียนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนพอดี จึงเป็นโอกาสดีของนักศึกษาที่จะได้มาเรียนรู้ การดูแลชุมชนในสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติ จริงๆ แล้วน้องๆ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ทุกคนได้มาร่วมกันเตรียมเสบียงยาจนค่ำมืดอยู่ทุกวัน แต่วันพรุ่งนี้พวกเขากำลังจะได้ออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่จริงหลายคนถึงกับแทบอดใจรอไม่ไหว

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2553 สถานการณ์ทั่วไปที่เวชกรรมสังคม ยังมีขยะบริเวณหน้าอาคาร วันนี้มีนักศึกษาแพทย์ชั้นปี4จำนวน10 กว่าคนมาร่วมทีมกับแพทย์ชุดเดิม เวลา 9.00น.เริ่มให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนจันทร์วิโรจน์ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นท่านหนึ่งว่า มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากร.พ.สงขลานครินทร์มาให้บริการแล้วในวันก่อนหน้านี้ วันนี้อาจมีชุมชนที่ลำบากกว่า ทีมจึงย้ายหน่วยแพทย์มาที่ชุมชนสำราญสุข ในพื้นที่เทศบาลคลองแห เนื่องจากการจราจรติดขัดมากกว่าจะมาถึงพื้นที่ออกหน่วยต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงทั้งที่เวลาปกติเมื่อยังไม่เกิดอุทกภัยใช้เวลาเพียงประมาณ 15 นาที จนเริ่มมีฝนตกหนักหน่วยแพทย์ฯต้องตั้งอยู่ในเพิงหมาแหงนริมทาง เพราะพื้นที่มีแต่ซากบ้านเรือนที่ประสบภัยแม้ว่าการให้บริการทำได้ลำบาก แต่สามารถให้บริการด้านการตรวจรักษาและทำแผล ชาวบ้านได้ถึง100 ราย ช่วงบ่าย หมอธาดานำนักเรียนแพทย์ขึ้นรถออกแจกชุดยาสามัญประจำบ้าน ตามซอยใกล้ๆ จนถึงเวลา 16.00 น.จึงเดินทางกลับสำนักงาน

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 เริ่มเรียนรู้ว่าชีวิตจริงไม่ได้ง่ายนักเหมือนในภาพยนต์แต่แท้จริงแล้วทั้งเหนื่อยและลำบากปนกับความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน น้องๆ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าไม่ได้ไปเห็นกับตาคงไปรู้ว่าชาวบ้านลำบากกันขนาดนั้น

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2553 วันนี้นอกจากนศพ.ปี 4 แล้ว ยังมีนักศึกษาแพทย์ปี 5 ขอร่วมออกหน่วยฯด้วย ทีมเวชกรรมสังคมลงพื้นที่ให้บริการ 2ชุมชน คือช่วงเช้าที่ชุมชนทุ่งเสา ให้บริการจนพักเที่ยงเสร็จ ก็ย้ายไปบริการที่ชุมชนคลองเตย แต่ดูเหมือนชาวบ้านยังเครียดกับการทำความสะอาดบ้านจึงมารับบริการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หมอธาดาจึงขับรถคันเล็กประจำศูนย์บริการสาธารณสุขคลองเตยพานักเรียนแพทย์ 6 คน ไปแจกยาชุดสามัญประจำบ้านตามตรอกซอกซอยในชุมชน สร้างความครื้นเครงให้กับนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างมากจนเวชภัณฑ์จากสสจ.ทั้ง 200 ชุดหมด ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน

ทีมออกหน่วยจึงได้ประจักษ์ว่าถ้าไม่ประกาศให้ได้รับข่าวสารเป็นรูปธรรม ชาวบ้านก็จะไม่ทราบว่ามีการตั้งจุดบริการหรือมีบริการด้านสุขภาพด้วย เพราะภาระงานด้านปัจจัย สามอย่างคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน ยังไม่เรียบร้อย ยารักษาโรคจึงตามมาทีหลัง ประโยชน์ที่เหนือความคาดหมายที่สุดในวันนี้คือนักศึกษาแพทย์ต่างได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติในพื้นที่ภัยพิบัติจริงจนเกิดความเข้าใจมากขึ้นมีมุมมองที่ดีต่อการเสียสละ การเข้าถึงชุมชนในอีกระดับหนึ่งและได้ตระหนักจากการได้เห็นภาพจริงจากอาจารย์ว่า Primary care doctor มีความสำคัญอย่างไรต่อชุมชน

น้ำได้ลดระดับลงไปแล้ว ยังคงไว้แต่ร่องรอยคราบดินโคลนและขยะเน่าเหม็นที่ทำให้เมืองหาดใหญ่ทั้งเมืองซึ่งเคยสวยงามน่าเที่ยวชมกลายเป็นเมืองล้างซอมบี้มีแต่ซากปรักหักพัง สัตว์เลี้ยงจมน้ำอืดไปทั่วเมือง อีกไม่กี่วันนับจากน้ำลดหนอนแมลงวันก็จะเติบโตขึ้น หนอนแมลงหวี่จะกลายเป็นตัวเต็มวัย ยุงลายที่ชอบน้ำขังจะเริ่มแพร่พันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อและโรคระบาดตามมาได้ เวชกรรมสังคมหาดใหญ่จึงได้ประสานกับกรมอนามัยสิ่งแวดล้อม งานสุขาภิบาลและป้องกันโรค กรมสุขภาพจิต ออกควบคุมโรคและเยียวยาเมืองหาดใหญ่ ตระเวนพ่นยาฆ่าหนอนแมลงวัน กำจัดสัตว์นำโรค และพ่นหมอกควัน รวมทั้งเติมคลอรีนในบ่อน้ำใช้



น้ำท่วมหาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้คนหาดใหญ่ได้รับมากไม่แพ้กันกับน้ำที่ท่วมคือน้ำใจ ที่ได้รับจากการช่วยเหลือของทีมต่างๆ ทั้งจากในและนอกระบบสาธารณสุขอย่างไม่ขาดสายรวมทั้งความอดทน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อต่อกันของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในขณะที่เกิดอุทกภัยหนักมีมาก บทเรียนที่ได้จากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้สมควรนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเตรียมพร้อมต่อการรับสถาณการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติที่อาจเกินขึ้นได้อีกในวันข้างหน้า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนา การเมืองสยามประเทศไทย: หลังอภิสิทธิ์ 1

Posted: 19 Dec 2010 07:39 AM PST

 
19 ธ.ค. 53 โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรควบ 5 ปี ตรี-โท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการเสวนาเรื่อง การเมืองสยามประเทศไทย: หลังอภิสิทธิ์ 1 โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พนัส ทัศนียานนท์ อดีตส.ว.จังหวัดตาก อนุสรณ์ ธรรมใจ  กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ศรีประภา เพชรมีศรี ตัวแทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) คอลัมนิสต์ชื่อดัง ดำเนินรายการโดย พิภพ อุดร คณะพานิชยศาสตร์ มธ.
 
พนัส ทัศนียานนท์
การเมืองสยามประเทศไทย ถ้าจะหลังอภิสิทธิ์ได้ก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยก็คือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อันที่จริง ก็ควรจะโพสต์ (post) ไปตั้ง 6-7เดือนแล้ว ตอนที่เกิดเหตุการณ์เดือนเมษายนขึ้นก็น่าจะลาออกได้แล้ว ตอนนั้นเขามาเรียกร้องให้ยุบสภาก็ไม่ยุบ จนกระทั่งคนบาดเจ็บล้มตาย ก็เลยทำให้เป็นข้อที่คงจะต้องมีการวิเคราะห์ แต่สำหรับผมเองคือผมเดาแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้สูงมากที่คุณอภิสิทธิ์จะยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหตุผลประการแรก คือ ที่ติดบ่วงอยู่นั้นก็ลอดมาได้อย่างไม่คาดฝัน ไม่ประทับใจคนดู ถ้าเป็นมวยก็ถือว่าชนะฟาวล์อย่างไม่คาดฝัน ซึ่งจะมีปัญหาต่อกับอนาคตของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ตอนที่ทำรัฐประหาร 2549 มีการอ้างว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ตอนนี้มีเหตุผลมากกว่าตอนนั้นเสียอีก ตอนนี้มันไม่ใช่แค่แทรกแซงแต่ถูกยึดด้วยซ้ำไป ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ผมเชื่อว่านักกฎหมายด้วยกันเองคงจะปวดเศียรเวียนเกล้าพอสมควร เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ในการมายุบพรรค ปชป. นั้น ผมถือว่าเป็นเหตุผลที่พิสดารที่สุด คือถ้าทำหน้าที่เป็นประธาน กกต. ไม่ถือว่าเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ถือว่าไม่ได้รับรู้รับเห็น จึงบอกว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอน โดยที่นายทะเบียนเองไม่ได้ทำความเห็น แล้วจู่ๆ ก็เอาเรื่องยื่นต่อศาล เป็นเหตุผลทางเทคนิค จึงไม่ต้องพิจารณาว่าโดยเนื้อแท้ โดยเรื่องราวแล้วผิดหรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากศาลเลยว่าพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร พอมาเรื่องที่ 2 ก็อาศัยเหตุผลเดียวกันนั่นแหละ ยกฟ้องเสียเลย คดีแรกทำให้ กกต. หน้าแตก คดีที่สองก็ทำให้อัยการหน้าแตกไปด้วย
 
เสนอฟ้องอีก ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
ตอนนี้ก็เลยมีประเด็นที่มีการเสนอกันว่าน่าจะเทียบเคียงได้กับการดำเนินคดีอาญา ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จะเอาไปฟ้องใหม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ประธาน กกต. น่าจะนำเรื่องไปยื่นใหม่ได้ แต่ก็อาจจะไปติดตรงประเด็น 15 วันอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกว่าที่เขาเอามาอ่านสุดท้ายไม่ได้เป็นเสียงข้างมากนะ แต่เป็นเสียงข้างน้อย คือนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งไม่เหมือนอีก 3 ท่าน ที่เป็นเสียงข้างมากที่บอกให้ยกคำร้องที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเสียงข้างน้อย ที่ผมแปลกใจและคาดผิดอย่างมหาศาล ตอนแรกผมคิดว่าท่านประธานเองจะเป็นเสียงข้างมากอยู่ด้วย กลายเป็นว่าท่านเป็นเสียงข้างน้อย และคำวินิจฉัยของท่านชัดเจนที่สุดเลยว่านอกจากให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วให้ตัดสิทธิ์ผู้บริหารพรรคอีก 2 ราย คือคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน และคุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แต่ที่แปลกใจคือไม่ตัดสิทธิ์คุณอภิสิทธิ์ด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยไม่เห็นว่าเป็นความผิดอะไร สำหรับคุณบุญส่ง กุลบุปผา บอกให้ยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์ใครสักคนเดียว
แล้วผมก็คาดเดาต่อไปว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีการยื่นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเรื่องจบแล้ว จากนี้ไปประชาธิปัตย์คงจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นโดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์เอง จากอาการที่ท่านแสดงออกมาผมเชื่อว่าท่านมั่นใจว่าขณะนี้ประชาธิปัตย์ก้าวข้ามพ้นหมดแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดก็แล้วแต่ซึ่งอาจจะเคยสนับสนุนเคยอุ้มเคยช่วยเหลือกันมา ความมั่นใจนี้อาจจะถึงขั้นที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีใครช่วย ขณะนี้เดินได้ด้วยตัวเองแล้ว มีสิ่งที่ยึดมั่นและน่าจะคุ้มครองได้ อาจจะมีสิ่งที่เป็นขวากหนามที่เป็นหอกข้างแคร่ก็คือพรรคภูมิใจไทย หรือเนวิน ชิดชอบ เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้น่ากลัวมากขนาดบุกไปชนะที่สุรินทร์ได้ การเอาบุญเก่าของทักษิณมาใช้คงไม่ได้แล้ว และเชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่คราวหน้า ประชาธิปัตย์น่าจะได้เก้าอี้คืนมาพอสมควร แต่ยังมีก้างขวางคอก็คือภูมิใจไทยของเนวิน
การแก้เกมนี้ ท่านบอกว่าอาจจะมีการปรับ ครม. อีกครั้งเพื่อเอาเพื่อแผ่นดินเข้ามา เพื่อจะเอา 3P เข้ามา เขตของเขาอยู่ภาคอิสาน ไม่ให้ภูมิใจไทยรุกหนักมากเกินไป และถ้าพี่เนวินเข้าไปนั่งในหัวใจคนอิสานแทนทักษิณแล้วคนที่น่าเป็นห่วงก็คือประชาธิปัตย์ การหักกันก็คือเรื่องขึ้นเงินเดือน อบต. แล้วก็พ่วงขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. ไปด้วย
คนที่ผมนับถือที่สุดคือคุณรสนาที่ประกาศว่าไม่เอาเงินเดือนขึ้นนี้ ผมอยากจะรอดูต่อไปว่าเมื่อเขาโอนเงินเดือนให้ท่านจริงๆ ท่านจะไม่เอาจริงหรือเปล่า ถ้าท่านคืนให้หมด ผมจะยกย่องให้เป็นวีรสตรีของการเมืองไทยเลย
ผมคิดว่ามีแนวโน้มเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีการยุบสภาในเดือนเมษายนปีหน้า เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นเสียงข้างมาก พูดได้เต็มปากว่าได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยความชอบธรรม ยิ่งหากได้ถึง 300 กว่าที่นั่งก็จะยิ่งดี แต่อย่าลืมว่าไทยรักไทยเคยได้ 377 ที่นั่งก็อยู่ไม่ได้ ข้อกล่าวหาอย่างเดียวจะตามมาคือการเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งทุกคนก็อยากเป็นทั้งนั้น เผด็จการที่มีอำนาจอย่างเด็ดขาด
แต่ท่านอย่าประเมินอะไรต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่าประเมินพันธมิตรฯ ต่ำ ผมฟังคุณสนธิสองสัปดาห์ติดต่อกัน มันมากเลย ตอนนี้กลายเป็นว่าประชาธิปัตย์ขายชาติไปเสียแล้ว ซึ่งคุณอภิสิทธิ์อาจจะประเมินแล้วไม่มีปัญหาเพราะเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ก็เจอมาแล้วถึง 2 ครั้ง และการผ่านศึกนี้มาได้ก็อาจจะมองว่าศึกไหนก็บ่ยั่น ถ้าท่านคิดอย่างนั้นผมก็อยากจะเตือนว่าการประเมินต่ำเกินไปก็อาจจะเป็นปัญหาได้
ผมเชื่อว่าหากมีการยุบสภาเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน แต่ก็มีชนวนระเบิดอยู่ โดยเฉพาะประเด็นมรดกโลกเขาพระวิหาร ผมฟันธงตรงนี้ว่าการเลือกจังหวะเวลาที่จะยุบสภาเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งก็คงจะใช้ตรงนี้แย่งพื้นที่ข่าวเพราะหากเลือกตั้งเดือนเมษายนก็ต้องเลือกตั้งในหกสิบวัน สองสามเดือนหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องไปพูดกันเรื่องมรดกโลกในเดือนมิถุนายน เพราะฉะนั้นหากช่วงนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้ง ข่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ ข่าวเรื่องมรดกโลกก็ต้องลดลง ซึ่งกรณีมรดกโลก ผมเดาว่าช่วงหลังมานี้เสียงของท่านอภิสิทธิ์เพี้ยนๆ ไปทำนองว่าไปขอขึ้นทะเบียนร่วมกันก็ดี ซึ่งฟังๆ แล้วก็ไม่ต่างจากที่คุณนพดล ปัทมะ เคยดำเนินการ ซึ่งทางฝ่ายเสื้อเหลืองก็คงยอมไม่ได้
 
อนุสรณ์ ธรรมใจ
บ้านเมืองมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองมากจนกระทั่งเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ผมสนใจว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างไรหลังอภิสิทธิ์ 1 ถ้าเราดูโครงสร้างของสังคมไทย และเศรษฐกิจไทย โครงสร้างส่วนบนมีปัญหาและมีปัญหาอย่างมากหลังรัฐประหาร 2549 ทั้งในเรื่องระบบกฎหมาย การเมืองรวมถึงวิธีคิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย ขณะที่โครงสร้างส่วนล่างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหาน้อยกว่าส่วนบนเพราะโดยพื้นฐานแล้วประคองตัวได้ซึ่งได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจเอเชียดีมาก สหรัฐและยุโรปมีปัญหา การลงทุนจึงไหลมาทางเอเชีย แต่จะไม่เป็นบวกต่อไปถ้ากฎหมายของไทยแสดงความไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม ระบบยุติธรรมถูกตั้งคำถามก็จะก่อให้เกิดปัญหา แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำจะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง
แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งเราเห็นว่ารัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหานี้แต่ไม่ได้แก้ที่โครงสร้าง ก็ยังใช้นโยบายประชานิยมเหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มา
 
ข้อเสนอ
หนึ่ง ประเทศมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่ายังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และลดลงภายหลังรัฐประหาร 2549 ประเทศไทยไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างที่หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมี เรามีปัญหาเรื่องภราดรภาพแน่นอน ความเสมอภาคไม่ต้องพูดถึง
สอง เราต้องการสังคมและระบบการเมืองที่ยึดมั่นในระบบนิติรัฐนิติธรรม ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติ คนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกันหรือจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน แต่พูดกันได้ด้วยเหตุด้วยผล และยึดหลักเสียงข้างมาก เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งหลายประเทศ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมันจบ แต่ประเทศนี้ไม่จบ ยังทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง เราก็หวังว่าการเมืองสยามประเทศ
สาม ระบบยุติธรรมต้องเป็นธรรม การเลือกตั้งต้องเป็นกลางและเป็นธรรม แต่ถ้ามีปัญหาตั้งคำถามเรื่องนี้ ความวุ่นวายและวิกฤตการณ์ทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นอีก เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ยังคาใจคนจำนวนมาก และการยุบพรรคก็เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐประหาร 2549 ซึ่งไม่มีประเทศไหนมีบทลงโทษเรื่องการยุบพรรคการเมือง เพราะทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ ผู้สนับสนุนแนวคิดยุบพรรคก็อาจจะบอกว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งมันก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย
สี่ ระบบเศรษฐกิจต้องเป็นประชาธิปไตย เราเห็นอยู่ว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่เขาเล่นอยู่หลังฉากตลอด และกลุ่มทุนก็ถือหางผู้ชนะ โดยไม่ดูว่าผู้ชนะมาด้วยครรลองที่ถูกต้องหรือไม่
ห้า ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโยงกับการที่ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลายๆ รัฐบาลทำอยู่ในแง่ประชานิยม ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่มีความกล้าหาญในการปฏิรูประบบภาษี และการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่ถามว่าประเทศไทยมีเสรีภาพทางวิชาการในการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ เพราะการปฏิรูปที่ดินจะไปแตะผลประโยชน์ของกลุ่มจารีตอนุรักษ์นิยมอย่างมาก เดิมคณะราษฎรหลัง 2475 ได้จัดการระบบไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าบ้านเมืองถอยหลังกลับหลังการรัฐประหาร 2490 แล้วสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำ ถ้าใครอ่านวิกิลีกส์ ซึ่งสะท้อนว่าระบบการเมืองไทยมีมือที่มองไม่เห็นจริง ซึ่งเป็นปัญหา เพราะในระบบการเมืองประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ในประเทศยุโรปเขาจะจัดวางสถาบันและโครงสร้างอำนาจที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย จึงจะทำให้ระบบนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ในหลายประเทศเขาก็มีความก้าวหน้าที่จะทำให้สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความปรารถนาดี และทำให้ระบอบพัฒนาได้สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 20
หก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลดลง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ลดลง แต่กลับมากขึ้นและกระจายขึ้น เพราะรัฐบาลมีสภาพเป็นรัฐบาลผสม เสถียรภาพไม่แข็งแรง เป็น Buffet Cabinet ใครใคร่กิน-กิน ใครใคร่คอร์รัปชั่น-คอร์รัปชั่น หนักกว่าสมัยรัฐบาลชาติชายเพราะความเป็น Money Politics มันมากขึ้นๆ เพราะเกิดสภาวะแพ้ไม่ได้ จริงๆ ในการแข่งขันทางการเมืองมันต้องแพ้ได้ แล้วผลัดกันบริหาร แต่มันเกิดสภาวะแพ้ไม่ได้เพราะทุกคนมีคดี ก็เกรงว่าอีกฝ่ายที่เป็นขั้วตรงข้ามจะเล่นงานไล่หลัง ก็จึงเกิดผสมปนเปปัญหาซับซ้อนมากขึ้น
ข้อเสนอสำหรับประเด็นแรก การเมืองประชาธิปไตย คือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้เพื่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ต้องแก้ในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างแก้ระบบเลือกตั้ง ประเทศไทยก็ใช้มาทุกระบบ แล้วทุกระบบก็มีข้อดีข้อเสีย ได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน ฉะนั้นเราต้องไปดูประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างปัญหาให้ระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก รัฐธรรมนูญบางหมวดก็ไม่มีการพูดถึงเลยเพราะกลัวติดคุก 18 ปี ซึ่งจริงๆ ต้องพูดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตของประเทศไทยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ผมเคยเข้าไปร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ผมเสนอให้มีสภาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งต้องรวมถึงการปฏิรูปสถาบันด้วย รวมไปถึงกฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา
ผมเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่โดยการแต่งตั้งของรัฐบายลอย่างที่ทำอยู่ แต่องค์กรต้องมาจากประชาชนเราไม่อาจจะให้คนที่เราเชื่อว่าเป็นคนดี หรือมีศีลธรรม ความรู้ความสามารถสูงกว่าคนอื่นไปตัดสินใจแทนประชาชน มันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ถ้าเอาคนเหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบโดยมีส่วนร่วมของประชาชน ก็อาจจะได้ และอาจจะอยู่สัก 5-10 ปีแล้วก็สลายตัวไป เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่าบ้านเมืองในระยะ 5-10 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงอะไร
ถามว่าแล้วทำไมไม่ใช้ส.ส. ซึ่งมาจากประชาชน  หรือ ส.ว. เพราะมีเรื่องของการแข่งขันทางการเมือง แต่สภาปฏิรูปประเทศไทยจะทำภารกิจเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ว่าเขามาจากประชาชน ผมไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการปฏิรูปที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผ่าตัดประเทศได้
ระบบศาลยุติธรรมก็ต้องปฏิรูป ตั้งแต่ต้นทาง คือตำรวจ อัยการ ศาล และให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับอำนาจประชาชนมากขึ้น ไม่ต้องเอาถึงขั้นสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่ให้มีอำนาจของประชาชนเกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะธรรมนูญปกครองประเทศ 2475 เขียนชัดเจน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่วันนี้ผมไม่เห็นอำนาจศาลยึดโยงกับอำนาจประชาชนเลย
ประเด็นเรื่องการผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ ก็โยงกับการผูกขาดอำนาจทางการเมืองแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมมองว่าต้องทำไปพร้อมๆ กัน เราไม่อาจทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ที่ทำให้ประเทศไหนก็ตามเป็นประชาธิปไตยล้วนเกิดจากผลของพัฒนาการทางเศรษฐกิจแล้วนำมาสู่แรงกดดันทางการเมือง ทำให้ระบบเดิมต้องปรับเปลี่ยน อยู่อย่างเดิมไม่ได้ เพราะระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศจีนได้ และแน่นอนที่สุดไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกฎ Dialectic ได้ ผมมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็นพลังระหว่างกิริยากับปฏิกิริยา ก็จะเกิดวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เราอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์มีความสูญเสียน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่แน่นอนว่าไม่มีใครต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีบางสังคมที่ขยับขึ้นแล้วตกลงมาได้ เพราะสังคมนั้นขาดการเตรียมพร้อมในทุกด้าน เราดูพัฒนาการของหลายประเทศ ทำไมการเปลี่ยนแปลงบางประเทศถึงรุนแรงนองเลือด ก็เพราะไม่เตรียมพร้อม และคนที่ไม่เตรียมพร้อมที่สุดก็คือคนชั้นนำ
หลังอภิสิทธิ์ 1 เราต้องปฏิรูป จึงจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดและความสูญเสียได้ แต่ถ้าเราไม่ทำ แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงจากล่างสู่บน ซึ่งถ้าองค์กรด้านล่างมียุทธศาสตร์ที่ดี บ้านเมืองจะไม่ระส่ำระสาย แต่มันจะรุนแรงแน่นอน บางประเทศที่กลับไปกลับมาเพราะเกิดสภาวะอนาธิปไตย เพราะศูนย์กลางอำนาจเดิมสูญเสียการควบคุมก็ไม่มีศูนย์กลางใหม่ หรือไม่เกิดการกระจายตัว แต่ทางออกของประเทศไทย ผมเชื่อในประชาธิปไตยผมมองว่าทางออกคือการฟังเสียงประชาชน คือการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลาง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรนั่นคือเสียงของประชาชนและต้องยอมรับ แต่ต้องไม่ให้การเลือกตั้งนี้ถูกฉ้อฉลด้วยอำนาจรัฐและอำนาจเงิน
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีคนบางกลุ่มคิดแทนประชาชน และเชื่อในความดีความสามารถของตัวเอง
 
เฉพาะหน้าทำอะไรได้บ้าง
ผมมองว่าถ้ามีรัฐประหารอีกประเทศไทยจะถอยหลังยาว แล้วจะปิดประตูการรัฐประหารได้อย่างไร ข้ออ้างคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เราก็ต้องสามารถลงโทษรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้ด้วยระบบกฎหมาย ไม่ใช่กระบวนการรถถังแล้วความเชื่อมมั่นของนักลงทุน พัฒนาหลักสูตรประชาธิปไตยในโรงเรียนทหาร ให้ฝังแน่น ให้เป็นทหารประชาธิปไตย เป็นทหารของประชาชน ปฏิรูปเงินเดือนสวัสดิการให้มันดี แต่จะมีเงินพอหรือไม่ไม่ทราบเพราะว่าตอนนี้แจกเงินกันใหญ่ อีกสัก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาการเงินขนาดใหญ่
เปิดช่องให้กองทัพและอำมาตย์ทั้งหลายเขามีบทบาททางการเมืองอย่างเหมาะสมตามวิถีทางประชาธิปไตย กำหนดในกฎหมายให้ชัดเจน เช่น กองทัพต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจาก สสร. ฉลองรัฐธรรมนูญ 7 วัน 7 คืน เอาวันที่ 24 มิ.ย. มาเป็นวันชาติ ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และจะทำให้สถาบันยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ดูอย่างอังกฤษจะเห็นว่าดีกว่าเยอะ
การเอาเจ้า เอาสถาบันมาทำลายล้างทางการเมืองจะหยุดลงเพราะเราปรับปรุงกฎหมายไม่ให้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง ซึ่งการติดคุก 18 ปี ด้วยกฎหมายแบบนี้ มันไม่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 เพราะมันผิดธรรมชาติ ผิดสภาวะแวดล้อมที่บ้านเมืองเปลี่ยนไปเยอะ
กำหนดบทลงโทษผู้ก่อการรัฐประหาร และศาลต้องกล้าตัดสินว่าผู้ทำการรัฐประหารเป็นกบฏ เราต้องไปดูกรณีของประเทศตุรกี เสปน บางประเทศกษัตริย์ลงมาพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป แล้วบ้านเมืองถึงจะไปได้แบบก้าวกระโดด ศักยภาพของประเทศไทยควรจะพัฒนาได้แบบญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่นี่แสดงว่ามีพลังบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปได้ เราไม่มีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง แต่จุดแข็งคือเราสามารถยกเลิกระบบไพร่ทาสได้อย่างสันติวิธีนี่คือกษัตริย์ทียิ่งใหญ่ วางแผนระยะยาว ค่อยๆ เปลี่ยน และหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ทุกวันนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งกลับอยากเป็นไพร่ จริงๆ ราษฎรในระบอบประชาธิปไตยต้องมีจิตสำนึกแบบพลเมือง ไม่ใช่สำนึกแบบไพร่ฟ้า เป็นวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ รากของวัฒนธรรมไม่ได้เปลี่ยน เพราะประเทศไทยมีการอภิวัฒน์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบประเทศอื่น และระดับระหว่างประเทศเสนอให้กฎบัตรอาเซียนไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
 
ศรีประภา เพชรมีศรี
การวิเคราะห์การเมืองในปัจจุบันแทบไม่มีนักรัฐศาสตร์ออกมาพูด ซึ่งน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้
อีกประเด็นคือ กรณีที่มีผู้ฝันอยากจะเห็นว่ากฎบัตรอาเซียนไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อย่างแรกคือประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญตลอดเวลา แต่ประเทศไทยมักจะคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งหลักการควรจะเป็นอย่างนั้น แต่รัฐธรรมนูญล้มล้างง่ายที่สุดในประเทศไทย ขณะที่กฎหมายอื่นแก้ไขยากมาก เช่นประมวลกฎหมายอาญา แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องผดุงฐานะบารมีของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ ไม่ใช่เครื่องมือจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งนี่เป็นข้อเสนอของอาจารย์เสน่ห์ จามริก
รัฐบาลไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่มีอำนาจ แต่มีอำนาจที่อยู่นอกรัฐบาลหลายกลุ่มทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหน้าตาเฉยโดยไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปฏิรูปการเมืองหลายครั้งแต่ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ
นักเลือกตั้ง มีทัศนคติที่แปลกแยกกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากๆ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ. สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เห็นด้วยกับการมีกรรมการสิทธิโดยที่บอกว่าประเทศไทยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่จำเป็นต้องมีกรรมการสิทธิ และเป็นเรื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่เหมาะกับประเทศไทย
ไม่ว่าอาจารย์พนัส หรืออาจารย์อนุสรณ์ เราก็มักจะฝันถึงหลักนิติธรรม หมายถึงเราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุด แต่อาจารย์เสน่ห์บอกว่าหลักนิติธรรมในประเทศไทยเป็นหลักนิติทรราชย์ เป็นอำนาจของกล่มคนที่ครองอำนาจอยู่
นี่เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นในเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทุกวันที่ 10 ธ.ค. จะมีการสัมมนาประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งจะมี 10 ก้าวหน้า และ 10 ถอยหลัง แต่ปีนี้ไม่มี เท่าที่ทราบคือกำลังรวบรวมอยู่ และจะมีลิสต์รายการสิทธิฯ ถดถอยเยอะมาก ที่ก้าวหน้าไม่ถึงสิบ และถดถอยมากกว่าสิบ
ในปี 2552 ที่ผ่านมา 10 ก้าวหน้า ย้อนไปถึง 2546 มีหลายเรื่องที่ซ้ำกันอยู่ 10 เรื่อง 2552 มีเรื่อง 1.การคุ้มครองสิทธิชุมชน กรณีมาบตาพุด 2.การจัดตั้ง กมธ. สิทธิมนุษยชนอาเซียน 3. การตั้งคณะกรรมการเข้าเป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับสูญหาย 4. การประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด 5. การประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแผนที่ 2 ซึ่งให้ทุกหน่วยงานรับไปปฏิบัติ  6.การฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ  7.การรับรองวิทยุชุมชนชั่วคราว 8.โฉนดชุมชน ซึ่งเริ่มมีที่คลองโยง นครปฐม 9.การคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน 10.การที่ศาลมีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แม้จะเป็นคำพิพากษาของเสียงส่วนน้อย
เรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากเนื่องจากเวลาพูดเรื่องก้าวหน้าและถอยหลังก็คือเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้าน เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินการคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านเรื่องการคิดค่าเสียหายจากาวบ้านเนื่องจากทำโลกร้อน เป็นคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืชเรียกค่าเสียหายชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า จ. ตรัง พัทลุง และกระบี่ มีกาคำนวณค่าเสียหายซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลก คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งมีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องค่าเสียหายฐานทำโลกร้อน นี่เป็นแบบจำลองซึ่งจริงๆ ไม่มีงานวิจัยหรือทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับด้วย และนี่เป็นครั้งแรกในโลก ที่สำคัญการเรียกร้องที่มีค่าเสียหายจริงๆ แล้วมีปัญหามาก และทำให้ประเทศไทยถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ก่อปัญหาโลกร้อน ทั้งที่จริงๆ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในส่วนนั้น
ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าเมื่อเราพูดเรื่องการละเมิดสิทธิ คือ 1.เรื่องการขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร คนส่วนใหญ่คือคนจน และผู้ชนะคือรัฐและนายทุนว่าที่จริงมันคือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน 2.เราพยายามพูดอยู่เสมอว่าเราอยากเห็นประเทศไทยใช้หลักนิติรัฐ แต่ว่าที่ผ่านมาคือใครเป็นผู้ถือกฎหมายมากกว่า อีกเรื่องคือ เรื่องความก้าวหน้าและถอยหลังนั้นจะซ้ำๆ กันเกือบทุกปี คือสิทธิการชุมนุม โทษประหารชีวิต กรณีตากใบซึ่งนอกจากไม่มีความก้าวหน้าแล้วยังกลายเป็นว่าไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย แม้เรื่องนี้จะขึ้นสู่ศาลแต่ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด แต่เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องระหว่างรัฐและประชาชนแทบทั้งสิ้น และการบังคับใช้กฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที และตัวกฎหมายเองก็มีปัญหา แม้ว่าจะมีกฎหมายที่ดีหลายฉบับ ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายที่ไม่สอดคล้องไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น การซ้อมทรมาน ในกฎหมายไทยไม่มีการบัญญัติว่าอะไรคือการทรมาน และเราไม่ถือว่าการทรมานเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง และมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมบังคับใช้อยู่เยอะมาก เช่นเรื่องโลกร้อน ขณะเดียวกันก็มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ในอินเดียถ้าคุณเป็นคนจนเดินขึ้นสถานีตำรวจคุณก็ผิดแล้ว
ในระดับภูมิภาค ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าอย่างที่มีเพื่อนๆ หลายคนบอกว่าแม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เป็นความก้าวหน้า แต่มันก็เป็นความก้าวหน้าเชิงสถาบัน เช่นเดียวกับประชาธิปไตยที่ไทยก็มีสถาบันทางประชาธิปไตยอยู่ แต่สิ่งที่เราไม่มีก็คือเนื้อหาของประชาธิปไตย
ในระดับภูมิภาค แต่ละประเทศดูเหมือนจะไม่มีนโยบายสิทธิมนุษยชน แม้ว่าประเทศไทยเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แม้ว่าจะต้องให้คำมั่นสัญญาตามเอกสาร แต่ถามว่านโยบายด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคนั้นประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตามในภูมิภาคอาเซียนจะมีวิถีอาเซียนที่เข้มงวด คือการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องภายใน และสำหรับประเทศเพื่อนบ้านในบางกรณีไทยไม่ได้มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคง แสวงจุดร่วมในเชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองสงวนจุดต่างในนโยบายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคก็คงเป็นไปได้ยาก
มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่กฎบัตรอาเซียนไม่ให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ถ้าเราไปอ่านกฎบัตรอาเซียนที่เราหาอ่านได้ จะกำหนดหลักการแค่เป็นประเทศที่เป็นสมาชิก และไม่มีส่วนไหนที่บังคับหรือกำหนดบทลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าประเทศไหนไม่ปฏิบัติตามแล้วอาเซียนจะทำอย่างไร ซึ่งแตกต่างจาก แอฟริกา ยุโรป และอินเตอร์อเมริกา ซึ่งนอกจากไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วยังมีการระงับความเป็นสมาชิกด้วย แม้อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการปรับปรุงกฎบัตรอาเซียนแต่ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะปรับปรุงเรื่องนี้
ในระดับระหว่างประเทศ บทบาทของประเทศไทยถือว่าสูงสุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะ 1.ไทยหรือคนไทยเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คือท่านทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว แน่นอนว่าโดยหลักการแล้วต้องเป็นโดยฐานส่วนตัว และไม่มีหน้าที่ปกป้องรัฐบาลไทยด้วย ท่านจะดำรงตำแหน่งอยู่ 1 ปี 2.ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 47 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแม้จะเกิดการละเมิดสิทธิฯ มากแค่ไหนก็ตาม คณะมนตรีก็รับได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม อยากฝากพวกเราเอาไว้ว่า ขณะนี้ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคีกฎหกมายระหว่างประเทศเรื่องสิทธิฯ หรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของสหประชาชาติอยู่ดี ก็คือการส่งรายงานทุก 4 ปี และประเทศไทยต้องส่งรายงานฉบับนี้ในเดือนเมษายนปีหน้า รายงานของรัฐบาลไม่เกิน 20 หน้า คาดว่าจะต้องส่งภายในเดือนเมษายนเพื่อนำไปพิจารณาในเดือนตุลาคม รายงานฉบับที่สอง เป็นรายงานของภาคประชาชน ของเอ็นจีโอ ตอนนี้มีกลุ่มหนึ่งทำอยู่ จะเป็นการให้ข้อมูลอีกแบบหนึ่ง แน่นอนที่สุดรายงานของรัฐบาลก็คงมาคาดหวังว่าเขาจะละเมิดสิทธิตรงไหนบ้างแม้เขาจะยอมรับบางส่วนเพราะเป็นเรื่องรู้กันทุกคน แต่ในรายงานของภาคประชาชนมี 10 หน้า บวกภาคผนวกแค่ไหนก็ได้ และสามคือรายงานของยูเอ็นเอง
สุดท้าย แล้วหลังจากนี้หลังอภิสิทธิ์ เราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบไหน เวลาที่เราพูดถึงอำนาจ มันต่างกันอย่างไร รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจนกระทั่งไม่ต้องฟังเสียงใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย
ประการที่สอง สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือทุกสถาบันสามารถตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ อาจารย์อนุสรณ์บอกว่าต้องวิพากษ์ด้วยเจตนาดี แต่จริงๆ ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าเจตนาจะดีหรือไม่แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะทำ ประเทศไทยมีบางสถาบันที่อยู่เหนือการตรวจสอบ ต้องลงมาให้ถูกตรวจสอบ
สาม เรื่องการปล่อยให้คนที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนลอยนวลอยู่ได้ หลังยุคอภิสิทธิ์เราต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลธรรมดา และคนที่ทำการละเมิดสิทธิต้องไม่อยู่อำนาจ
สี่ อยากจะเชิญชวนให้เราพิจารณาว่าเวลาพิจารณารัฐธรรมนูญ ฐานะการดำรงอยู่ของผู้ปกครองและการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดประการสุดท้าย อยากเห็นว่ามีการจัดโครงสร้างทางอำนาจใหม่ การกระจายอำนาจด้วยวิธีแบบไทยๆ อย่างทีผ่านมาส่วนมากเป็นการกระจายภาระหน้าที่ ไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน
สี่ห้าประการที่กล่าวมาเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิทั้งสิ้น
 
*รายละเอียดการอภิปรายส่วนของ ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) จะนำเสนอโดยละเอียดต่อไป โปรดติดตาม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุริยะใส” เชื่อ “จตุพร-ธิดา” แนวคิดต่าง นำไปสู่การแตกแยกของ นปช.

Posted: 19 Dec 2010 03:21 AM PST

สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ วิเคราะห์เชื่อ “จตุพร-ธิดา” แนวคิดต่าง นำไปสู่การแตกแยกของ นปช. ย้ำจุดยืนพรรคการเมืองใหม่ค้านนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล

19 ธ.ค. 53 - นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ เตือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ระมัดระวัง กรณีการให้ประกันตัวแกนนำ นปช. เพราะเป็นอำนาจของศาล ไม่ใช่ของนายกรัฐมนตรี และขอให้จับตาการดูแลคนเสื้อแดงของแกนนำ เพราะเท่าที่รู้จักนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ทั้ง 2 คน มีแนวทางการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีคิดในการเคลื่อนไหวน่าจะแตกต่างกัน

“ขณะนี้ ประเด็นการขับเคลื่อนของคนเสื้อแดงเปลี่ยนไป จากการยุบสภา การแก้รัฐธรรมนูญ  เป็นการปล่อยแกนนำไปแล้ว ผมเชื่อว่า ประเด็นขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องกัน อาจเป็นสัญญาณในการแตกแยกครั้งใหญ่ภายใน นปช. และยังมีข้อสังเกตของพรรคเพื่อไทยที่มองว่า การนำเอาพรรคไปผูกกับม็อบเกินไป ทำให้พรรคเสียหายและกระทบกับคะแนนเสียง ประเด็นเหล่านี้น่าจะนำไปสู่การปรับโครงสร้าง ทั้งภายในพรรคเพื่อไทย และ นปช.” นายสุริยะใส กล่าว

นอกจากนี้ นายสุริยะใสกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นปช.เคยวิจารณ์รัฐบาล ว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่มาวันนี้ กลับมาเรียกร้องให้รับบาลใช้อำนาจช่วยเหลือ เพื่อขอประกันตัวแกนนำ นปช. ทำให้สะท้อนวิธีคิดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงว่า ไม่ได้อยู่บนหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง

การเมืองใหม่ค้านนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล

นายสุริยะใสยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมแถลงนโยบายประชาวิวัฒน์ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ว่า พรรคการเมืองใหม่มองว่า ฐานความคิดของนโยบายประชาวิวัฒน์ ไม่แตกต่างกับนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณ เพราะภาพรวมของนโยบาย 5 ด้าน ยังเน้นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลด้วยการกู้เงิน ทำให้เป็นภาระกับประชาชน และไม่ได้ทำให้ประชาชนพึ่งตัวเอง

นายสุริยะใส กล่าวว่า นโยบายประชาวิวัฒน์ เป็นยิ่งกว่าเมกะโปรเจ็ก จำเป็นต้องดูแลโดยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ควรเป็นนโยบายที่รัฐบาลมีระยะเวลาบริหารประเทศ มากกว่า 2 ปี ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่า อาจเป็นการติดสินบนด้วยนโยบาย เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล และเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการใช้นโยบายประชานิยม ควรมีความจริงใจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ประชาชนพึ่งตนเองมากกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองในระยะยาว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

“สุริยะใส” เชื่อ “จตุพร-ธิดา” แนวคิดต่าง นำไปสู่การแตกแยกของ นปช. (สำนักข่าวไทย, 19-12-2553)

การเมืองใหม่ค้านนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล (สำนักข่าวไทย, 19-12-2553)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"หมอประเวศ" เสนอ “ข้อเสนอประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” แนะนิรโทษกรรม

Posted: 19 Dec 2010 03:08 AM PST

"หมอประเวศ" ยื่น 9 ข้อเสนอประชาชนปฏิรูปประเทศไทย จี้ "มาร์ค" ออก กม.นิรโทษฯคนไม่ได้รับความเป็นธรรม

19 ธ.ค. 53 - ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ข้อเสนอประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  ตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอของ คสป. ที่เสนอให้รัฐบาลดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์สังคมซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ  ได้แก่

1.ให้สื่อมวลชนของรัฐทำการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

2.สนับสนุนให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง

3.ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับทิศทางใหม่ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายใหม่ และดรรชนีพัฒนาใหม่ ที่ถือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นตัวตั้ง

4.ให้ส่วนราชการปรับบทบาทจากการเอากรมเป็นตัวตั้ง เป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และเมื่อมีความพร้อมให้ออกกฎหมายการบริหารประเทศโดยปลดล็อคอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองให้ได้มากที่สุด

5.ให้มหาวิทยาลัยของรัฐสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและการ พัฒนาอย่างบูรณาการในจังหวัด อย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด

6.ให้กระทรวงยุติธรรมปฏิรูประบบความยุติธรรม โดยยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดำเนินการศูนย์ยุติธรรมชุมชน เสนอปฏิรูปกฎหมายเพื่อคนจน และจัดตั้งกลไกในการวิจัยและพัฒนาระบบความยุติธรรมทั้งหมด 7.ให้กระทรวงการคลังเสนอการปฏิรูประบบภาษีเพื่อความเป็นธรรมและปฏิรูประบบ สวัสดิการสังคม และปฏิรูปการเงินการคลังเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และ 9.ให้หน่วยงานของรัฐรับข้อเสนอทางนโยบายจากที่ประชุม คสป.ไปปฏิบัติและร่วมมือกับ คสป.ในการติดตามการปฏิบัติ และสร้างกลไกในความร่วมมือทางนโยบายระหว่างประชา-รัฐ ให้เป็นการถาวรต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นภารกิจการจัดรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ก็ได้เดินทางมารับข้อเสนอของ คสป.จาก นพ.ประเวศด้วยตนเอง ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะรับข้อเสนอของ คสป.ไปพิจารณา

ที่มาข่าว:

"หมอประเวศ"ยื่น 9 ข้อ"มาร์ค"ออก กม.นิรโทษฯคนไม่ได้รับความเป็นธรรม (มติชนออนไลน์, 19-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1292755160&grpid=03&catid=&subcatid=

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: ธุรกรรม-ทุระกำ

Posted: 19 Dec 2010 02:52 AM PST

ธุรกรรมทำวิกฤติ ธุรกิจพิษริยำ
ทุรโกยทุระกำ ทุรกอบทุรโกง

ทรราชทรเลศ ลหุเหตุสิห่าโหง
ทุรยุคทุกรัฐโยง ทะยานแย่งวณิชยื้อ

บริทรามสยามรัฐ กระสันอัฐมิสัตย์ซื่อ
กระสนเกลือกกระเสือกซื้อ กระสือสูบกระซูบเสียว

ทุรลักษณ์ศักดินา  ประชาเห็นเป็นเศษเสี้ยว
เทวษาเกินยาเยียว  ทุกหญ้าหย่อมทมิฬยัง

อุปโภคอันธพาล บริวารสมุนวัง
บริโภควิโยคพัง อริพ่ายศัตรูภินท์

สเป็คล็อกสป็อตย้ำ กระหน่ำโฆษณายิน
กระพือโหมกระเพื่อมหิน กระหวัดสินมหาศาล

บริษัทสิบัดซบ กรประจบประนบกราน
บริจาคบริจาร ถวายพานถวิลผล

ธนบัตรธนเบี้ย ระริกเลียระรี้ลน
ธนาคารธนาคน วฏวนในวงเวียน

สกนธ์ชาติสกุลชั่ว  พลี (อ่านพะลี) ตัวผงกเศียร
สนองอวดสนิทเอียน เสมียนสั่งสะพรั่งสรวง

ทะลายกฎทะลุกรอบ ทุกระบอบต้องบำบวง
กระอักอกทะลวงทรวง กระชากบ่วงทุกแบรนด์เนม

ประจานโจษประจักษ์จิต อำมหิตหทัยเหม
ขมองอิ่มเขมือบเอม เกษมซ่านกระสันศอ

อัฐยายซื้อขนมยาย ทุกเครือข่ายน้ำเลี้ยงท่อ
จนเรือล่มจมหนองรอ ทองค้ำคอจะไปไหน

ทุระกำยามวิกฤติ ทุจริตผิดกลไก
สยามลับศิวิไล  สมุนใครไร้จรรยา 

* หมายเหตุบทกวีนี้ใช้ฉันทลักษณ์แบบ "ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒" โดยภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ นั้นมีความหมายว่า "งูเลื้อย" มีทำนองที่สละสลวย มักใช้แต่งกับเนื้อหาที่มีการต่อสู้ บทสดุดี บทชมความงาม บทถวายพระพร และบทสนุกสนาน นอกจักนั้นยังสามารถใช้แต่งบรรยายความให้รวดเร็วได้ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

   
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ “ณัฐกร วิทิตานนท์” …ทบทวนให้จงหนักก่อนจะ “ยี้” เรื่องขึ้นเงินเดือน “อบต.”

Posted: 19 Dec 2010 01:17 AM PST

ประเด็นที่ร้อนแรงและเรียกเสียง “ยี้” จากคนในสังคมเกือบทุกรอบ ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่พยายามขยับเงินเดือนให้กับนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น

รอบนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พยายามจะขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองระดับชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคร่วมอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่พยายามเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองท้องถิ่นอย่างสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่พยายามปูทางไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ในอีกด้านเหมือนราวกับว่าเรายังคงมอง “นักการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่นก็ยังถูกมองเป็น “ผีห่าซาตาน” อยู่

วันนี้ประชาไทพาไปคุยกับ “ณัฐกร วิทิตานนท์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ที่เกาะติดเรื่องการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึงผลิตงานวิชาการ-งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมาสม่ำเสมอคนหนึ่ง…

0 0 0

ในความคิดส่วนตัว เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. และ อบต. หรือไม่?

ไม่ว่าคนที่ชงเรื่องนี้จะหวังผลลึกๆ อย่างไร แต่โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี อบต.

เหตุผล?

แน่นอนที่สุด การเมืองเป็นเรื่องของความเสียสละ แต่เราไม่ควรมองข้ามความเป็นจริงของการเมืองที่ว่าขณะเดียวกันมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย (เป็นตัวเงิน) ไม่น้อยด้วยเช่นกัน เอากันตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างการใส่ซองงานศพ งานบวช งานบุญ กฐิน ผ้าป่า งานแต่งงาน แค่นี้ก็อ่วมแล้ว ผมเคยคุยกับ ส.ท.หลายคน บอกว่าเดือนหนึ่งๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหมื่นบาทเลยทีเดียว (ขั้นต่ำซองละ 500) ไม่ให้ก็ไม่ได้ มีเคือง เพราะถือเป็นความผูกพันทางใจระหว่างกันของผู้แทนกับราษฎร์ ขณะที่ค่าตอบแทน ส.ท. (สูงสุด) อยู่ที่เดือนละ 16,200 บาท ถ้าอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายบริหารก็ยังพอมีหนทางจุนเจือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เลือกตั้งไม่ทันไรฝ่ายค้านกลับย้ายข้างไปสนับสนุนฝ่ายผู้บริหารซะงั้น หรือไม่เช่นนั้นที่บ้านก็ต้องมีธุรกิจใหญ่โตหนุนหลังอยู่เท่านั้นจึงจะอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน

ทีนี้ลองย้อนไปดูค่าใช้จ่ายตอนจะเข้าสู่การเมืองบ้าง นี่นับเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไหนจะค่าป้าย แผ่นพับ รถแห่ จ้างคนช่วยหาเสียง เอาตามตัวเลขที่เป็นทางการที่ กกต.กำหนดไว้ไม่ให้เกินนะครับ ยกตัวอย่างตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย ใช้ได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท (ตัวเลขจะกี่มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละจังหวัดอีกที) แต่ได้เงินเดือนจริงๆ อยู่เต็มที่จนครบวาระ 4 ปีเต็ม รวมกัน 3,181,440 (แยกเป็นค่าตอบแทนเดือนละ 46,280 ค่าตอบแทนตำแหน่ง 10,000 ค่าตอบแทนพิเศษ 10,000) หักแล้วเหลือตังค์ให้ใช้เดือนละแค่ 3,780 บาท โดยยังมิพักเอ่ยถึงภาษีสังคมสารพัดที่ต้องจ่ายระหว่างดำรงตำแหน่ง

อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เหตุไฉนที่ผ่านมาค่าตอบแทนของฝ่ายการเมืองถึงน้อยกว่าฝ่ายประจำ ทั้งๆ ที่ฝ่ายการเมือง (โดยเฉพาะตัวนายกฯ) ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งประชาชนให้ความไว้วางใจ มีภาระรับผิดชอบสูงกว่าในแทบจะทุกด้านก็ว่าได้ เช่นถ้ามีคดีอาญาก็ต้องติดคุกเป็นคนแรก หรือถ้าจะต้องชดใช้เงินก็ต้องชดใช้ในอัตราส่วนที่มากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนไขมากมายในทางกฎหมาย ทว่าเงินเดือน นายก อบต.จากปัจจุบันที่ได้ 7 พันกว่าถึง 9 พันกว่าบาท ปีหน้าจะปรับขึ้นเป็นหมื่นห้าถึงหมื่นแปด แต่เงินเดือนปลัด อบต.กลับอยู่ที่ราวๆ หมื่นหกไปจนถึงสามหมื่น ซึ่งภาพรวมก็ยังถือว่าน้อยกว่าของฝ่ายข้าราชการประจำอยู่ดี อันนี้น่าแปลก

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่นักการเมืองท้องถิ่น ขอสรุปสั้นๆ อย่างนี้แล้วกันนะครับ เราจะหวังให้นักการเมืองทุ่มเททำงานในบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ได้อย่างไรในขณะที่ยังคงมีครอบครัวลูกเมียให้รับผิดชอบ

ประชาชนที่ต่อต้านอาจมองว่า นักการเมืองคือคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นเงินเดือน?

ในระดับชาติอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้ แต่ก็คงจะไม่ใช่ทุกคน ทว่าสำหรับการเมืองท้องถิ่นแล้ว การที่จะไปเหมารวมเช่นนั้นอาจไม่ถูกต้องนัก พื้นฐานของนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากมาจากข้าราชการบำนาญที่ทำงานในพื้นที่นั้นๆ มาอย่างยาวนานจนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและไว้วางใจของชาวบ้าน หรือไม่ก็มักเป็นคนที่เกิด โต และทำงานอยู่ในท้องถิ่นของตัวเองมาแทบจะตลอดชีวิต ด้วยความที่ญาติพี่น้องเยอะก็เลยได้รับเลือกตั้ง ทั้งสองกลุ่มนี้เค้าไม่ใช่คนซึ่งร่ำรวยอะไรที่ไหนหรอกครับ แค่อยากจะรับใช้สังคม ที่นี้การสร้างภาพว่าทำงานการเมืองถือเป็นเรื่องเปลืองตัว การเมืองเป็นเรื่องเลวร้ายโสมม คนดีๆ อย่าได้ข้องแวะ ความคิดทำนองนี้ผมว่าอันตราย เพราะเท่ากับไปจำกัดพื้นที่การเมืองสงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มแค่นั้น ทั้งๆ ที่การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ว่าจะคนระดับคุณอภิสิทธิ์เรื่อยมาถึงตาสีตาสายมียายมาข้างถนน ปลูกฝังกันอย่างนี้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะมีใครหน้าไหนบ้างที่จะอาสาเข้ามาทำงาน การเมืองก็ไม่มีความหลากหลาย

จึงไม่แปลกที่การรับรู้ของคนทั่วไปจะมองว่านักการเมืองท้องถิ่นเต็มไปด้วยผู้รับเหมา เพราะการที่จะเข้ามาและอยู่ตรงนี้ได้มันก็ต้องใช้เงินหล่อเลี้ยงความนิยมมากพอดู อันนี้คงปฏิเสธยาก แต่ไม่อยากให้คิดไปเองว่านักการเมืองทุกคนจ้องเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เพราะจริงๆ แล้วก็มีไม่น้อยที่เต็มใจจะควักเนื้อตนเอง หวังให้มีโอกาสได้รับใช้สังคมบ้าง เช่น ทนอยู่กับรถติดไม่ได้อยากจะเข้ามาลองแก้ไขดูซะเอง หรืออยากเห็นสวนสาธารณะสวนสนุกให้ผู้คนลูกหลานได้วิ่งเล่นกัน ไม่ก็อยากกระตุ้นเตือนให้คนในท้องถิ่นหันมาเห็นความสำคัญของภาษา วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

ทีนี้ถ้าเรากลัวนักการเมืองท้องถิ่นจะมีนอกมีใน จะเกาให้ถูกที่คันก็ต้องขันน็อตกลไกตรวจสอบโดยองค์กรตัวย่อต่างๆ ทั้ง ปปช. ปปท. สตง. รวมถึงจังหวัด อำเภอให้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ตรงไปตรงมา และไม่มีนอกมีในเสียเอง เพราะทุกวันนี้ก็มีกฎหมายร้อยรัดให้นักการเมืองท้องถิ่นขยับตัวยากยิ่งอยู่แล้ว เช่น ห้ามไม่ให้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ฯลฯ

คิดว่าทำไมการตรวจสอบนักการเมืองของคนในสังคมไทยมีสองมาตรฐานหรือไม่? เมื่อเทียบกับการพยายามตรวจสอบเรื่องเงินๆ ทองๆ กับสถาบันอื่นๆ เช่น กองทัพ, ศาล, องค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เพราะอะไร?

สังคมนี้เคยมีมาตรฐานด้วยเหรอครับ? เหตุผลสั้นๆ คือเราเป็นสังคมที่พยายามบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ก็คงจะเป็นประชาธิปไตยในแบบที่ไม่เหมือนใครในโลก เพราะเป็นประชาธิปไตยที่มองข้ามการเลือกตั้ง ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ชอบพูดบ่อยๆ ว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย แต่ผมว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนหรอกไม่เอาการเลือกตั้งมาเป็นจุดตั้งต้น ภายใต้วิธีคิดดังกล่าวรัฐธรรมนูญไทยก็พยายามออกแบบให้ที่มาขององค์กรต่างๆ ปลอดจากการเมือง (ด้วยความหมายคับแคบว่าการเมืองเท่ากับการเลือกตั้ง) และเชื่อมั่นสุดๆ ว่าคนดีที่มานั่งอยู่ในองค์กรเหล่านี้ก็จะไม่โกงด้วย เมื่อเชื่อเช่นนั้นการตรวจสอบที่มีก็ไม่เข้มข้นเหมือนๆ กับที่มีต่อนักการเมือง ซึ่งเขาพากันเชื่อง่ายๆ ว่าเป็นคนไม่ดีโดยที่มา เพราะเลือกตั้งต้องใช้เงินใช้ทอง เมื่อจ่ายแล้วก็ย่อมจะต้องทอนถุนคืนเสมอไป เป็นธุรกิจการเมืองเต็มรูปแบบ

สรุปถ้าขึ้นแล้ว ควรเรียกร้องอะไรกับนักการเมือง?

เรียกร้องให้ตามให้ทันความต้องการของประชาชน อย่างน้อยๆ ก็ในพื้นที่ของท่านก่อน วันนี้สังคมเปลี่ยนโฉมไปมากแล้วท่านต้องเข้าใจ การทำงานการเมืองก็เช่นเดียวกัน ลำพังแค่ลงพื้นที่ถึงทุกงานคงไม่เพียงพอ อุดมการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้าเป็นสิ่งที่สังคมกำลังเรียกร้องเอาจากท่านด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่าค่าตอบแทนเหล่านี้มาจากภาษีประชาชน

 

...........

ดูเพิ่มเติม

10 ปี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (พ.ศ.2543-2552): ฤาการเดินทางเพื่อกลับมา หยุด ตรงจุดเดิมhttp://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31342

อภิเชต ผัดวงศ์ : ขึ้นค่าตอบแทน อบต. ใครได้ประโยชน์http://www.prachatai.com/journal/2010/12/32275

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระบวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทยจะหายไปหากร่วมมืออย่างจริงจัง

Posted: 18 Dec 2010 05:50 PM PST

บทความโดย “สมพงศ์ สระแก้ว” ซึ่งเสนอว่านับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2551 แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี การแก้ปัญหากลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง

วันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับปี พุทธศักราช 2551 อีกทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่าสิบฉบับ มีกลไกความร่วมมือในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และในระดับจังหวัด รวมถึงมีหน่วยงานและภาคีภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ มีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีขีดความสามารถ ทักษะความรู้ความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การณรงค์เสริมสร้างความตระหนักในปัญหาร่วมกันรวมไปถึงมาตรการการกดดันจากประเทศคู่ค้าขายจากต่างประเทศด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง อาหารแช่เยือกแข็ง อาทิ การส่งออกกุ้ง เป็นต้น

แต่ที่ผ่านมากว่า 2 ปี การแก้ไขปัญหากลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง กระบวนการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายเต็มไปด้วยความยากลำบาก หากผู้เสียหายที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา ยิ่งไม่สามารถเข้าถึงการแก้ไขป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของผู้ประกอบการ หรือ นายหน้าค้ามนุษย์ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือการหาผลประโยชน์ร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนกับกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอาจวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลไทยยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว การประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์แก่สาธารณชนก็ทำอย่างเต็มที่ การจัดอบรมแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนเปลี่ยนรูปแบบหลากหลายการเข้าถึงการแก้ไขปัญหา จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลในแต่ละหน่วยงานว่าจะทำงานอย่างจริงจัง จริงใจ โปร่งใสหรือไม่ ส่วนการทำงานที่ตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขปัญหาจึงเป็นเพียงบางหน่วยงานเท่านั้น ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทร่วมการแก้ไขปัญหาก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างครอบคลุม เนื่องจากเป็นหน่วยที่เข้าไปเสริม หรือสนับสนุนกลไกความร่วมมือ เป็นหน่วยที่ทำงานเชิงรุกเข้าถึงผู้ประสบปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมร่วมบูรณาการทำงานกับภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะเข้าไปผลักดันกลไกภาครัฐให้ทำงานอย่างเป็นมรรคเป็นผลเท่านั้น โดยเฉพาะการผลักดันให้กลไกระดับชาติ ระดับจังหวัดที่เป็นศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับเป็นการทำงานเชิงรุกไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมีความคล่องตัวสูง บางกรณีที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ และจับกุมผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ ก็ได้แต่มุ่งหวังว่ากลไกทางด้านกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้เป็นบทบาทโดยตรงของรัฐที่จะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองเยียวยา นำคนผิดมาลงโทษอย่างจัง เพราะในหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คาดว่าจะเป็น บางครั้งเกิดความทดท้อใจ ตั้งคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำผิด หนำซ้ำยังถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถือว่าเป็นหนึ่งในปรัชญาความคิดของคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งหวังถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับการถูกรายล้อมด้วยประเทศคู่ค้าที่เข้ามากำกับตรวจสอบ เฝ้ามองดูอย่างใกล้ชิด ยิ่งต้องแสดงออกอย่างจริงจัง ไม่ต้องอำพรางซ่อนเร้นปัญหาไว้ บางหน่วยงานของรัฐพยายามที่จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ ไม่รุนแรง ยิ่งหากเป็นแรงงานเด็กแล้ว ไม่มีหรอก ไม่เห็นปรากฏการณ์มากนัก หากมีก็เป็นส่วนน้อย การมีส่วนน้อยนี้แหละ ต่างประเทศนำมาโจมตีเรา มาคว่ำบาตร (Boycott หรือบอยคอต) สินค้าเรา หากแต่มองว่ามันเป็นเพียงปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากมาเป็นประเด็นแทน แต่ไม่มีใครที่พูดถึงประเด็นการที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิฯ และการค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นเสมอเหมือนว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น จึงมองว่าหากปัญหาที่พบเห็นไม่ได้ถูกแก้ไข ยิ่งจะรังแต่ความเรื้อรังของปัญหาการค้ามนุษย์ที่แก้ไม่ตกเสียที

ตัวอย่าง จังหวัดสมุทรสาครยังเป็นดินแดนที่การละเมิดสิทธิแรงงานพอควรในมิติต่างๆ อย่างแยบยล และมีรูปแบบการแสวงหาประโยชน์อย่างมากมาย ซับซ้อน ซ่อนรูปอย่างไม่รู้ตัว และคุ้นชิน และบางกรณีมีการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำค้ามนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะมองไม่เห็นด้วยสายตา เพราะยังมีปรากฏผู้มาร้องเรียนที่ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาแรงงานและคดีความของ LPN อยู่เป็นประจำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากสมุทรสาครเป็นเมืองแหล่งขุดทองที่ใครหลายๆ คนต้องการที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในหลายๆ รูปแบบ เห็นได้จากการเข้าช่วยเหลือแรงงานจากกระบวนการค้ามนุษย์ที่ผ่านมานั้นกว่าร้อยละ 80 แรงงานที่ถูกหลอกเข้ามาตกเป็นเหยื่อนั้น นายหน้าจะใช้การล่อลวงซึ่งปลายทางอยู่ที่มหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร อีกทั้งการเข้ามาทำงานในพื้นที่นั้นแรงงานมีตัวเลือกของงานที่มากมายอีกทั้งรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำนั้นสูงมากกว่าหลายๆ จังหวัดในแถบชายแดนไทยพม่า ลาว และกัมพูชา

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้แรงงานหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก แล้วแรงงานข้ามชาติเข้ามาได้อย่างไร? แน่นอนว่าในพื้นที่สมุทรสาครก็จะมีกลุ่มนายหน้ามากมายหลากหลายบริการพร้อมให้เลือกใช้งาน ส่วนหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากปัจจัยความต้องการใช้แรงงานของนายจ้างแล้วนั้น การแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าคืออีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ และการค้ามนุษย์ในพื้นที่ โดยรูปแบบการละเมิดนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการที่รับงานมาทำ รับเหมาช่วงงาน ในสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก หรือล้ง หรือภาคประมงทะเล

ตัวอย่างเช่น กรณีนายหน้าค้าแรงงาน นายหน้าค้ามนุษย์จะจัดหานำพาแรงงานเข้ามาซึ่งจะมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ผิดกฎหมาย ก่อนเข้าควบคุมแรงงาน โดยให้ทำงานใช้หนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องชดใช้เท่าไหร่ หรือสิ้นสุดเมื่อไหร่ แรงงานหลายคนที่ต้องทนทรมานกับการทำงานใช้หนี้ ซึ่งแต่ละวันจะไม่สามารถทราบได้ว่าตนเองนั้นมีรายได้จากการทำงานมากน้อยเพียงใด มีหน้าที่เพียงทำงานใช้หนี้เท่านั้น นายหน้าจะควบคุมแรงงานเหล่านี้ทั้งจากการยึดเอกสาร การข่มขู่ด้วยวาจา การกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้แรงงานนั้นขาดซึ่งสิทธิเสรีภาพ นายหน้า (ทั้งไทย และต่างด้าว) ในพื้นที่สมุทรสาครบางคนจะมีการส่งต่อผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตน หรือนายหน้าส่วนหนึ่งคือผู้รู้จัก คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

การละเมิดจึงกลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนหนึ่งของแรงงานที่ถูกละเมิดนั้น แก้ปัญหาโดยการชี้แนะแนวทางที่จะคุ้มกันมิให้ถูกส่งกลับ จึงจำต้อง ยินยอมแต่โดยดีโดยการจ่ายบ้ายเบี้ยรายทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย บางคนที่ฉ้อฉล คุกคาม รีดไถ ตามที่ท่านชัชวาล สุขสมจิตร์ กล่าวในที่ประชุมปัญหาการค้ามนุษย์เสมอๆ ซึ่งเป็นวิธีการอาศัย มุ่งคุกคามทางด้านเศรษฐกิจของแรงงานที่อ้างกฎเกณฑ์ต่างๆ นานา ถึงความผิดในราชอาณาจักรไทย หากมองอีกด้านหนึ่งการจ่ายเงินของแรงงานให้บุคคลที่เจตนาตั้งใจละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน นั้นคือการดิ้นรนหาหนทางรอดในการมีชีวิตอยู่ การมีสิทธิตามเอกสารทางราชการ หรือการพิสูจน์สัญชาติไม่ช่วยให้แรงงานมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานหลายคนถูกละเมิดสิทธิทั้งที่มีสิทธิ สุดท้ายอะไรคือคำตอบ...... ถามหัวใจแห่งความเป็นธรรม และความเป็นมนุษย์ของท่านดู....และถามรัฐว่า เราจะจัดการกับคนของรัฐบางที่ บางคนอย่างไร

หันกลับมาดูรูปแบบการค้ามนุษย์ในสมุทรสาครอีกครั้ง กระบวนการนายหน้ามีการป้องกัน และหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้นภาพการนำเสนอข่าว และสื่อจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่ไม่ได้ช่วยให้สมุทรสาครหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม หากแต่จะนำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ที่สวยงาม โดยปล่อยให้การละเมิดสิทธิในพื้นที่มีต่อไปโดยปราศจากการแก้ไขปัญหาเรียกได้ว่ามีการมาตรวจทีหนึ่งก็จัดฉากทีหนึ่ง แต่ปัญหาที่จะถูกพูดถึงนั้นกลับเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แรงงานไม่พอ ทั้งที่มีแรงงานทั้งถูกและผิดมากมายหลายแสนคนในพื้นที่ แทนที่จะจัดการในพื้นที่ให้จบก็จุดประเด็นการนำแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ต้องมีการเปิดจดทะเบียนเสรี หรือตลอดปี แต่ไม่มีการพูดถึงจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการขึ้นทะเบียน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกดขี่ของนายจ้าง และนายหน้าส่งผลให้แรงงานไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้

ซึ่งทางออกคือการกลับลงสู่ใต้ดินคือหลบหนีเพื่อหางานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า สวัสดิการดีกว่า โดยยอมทิ้งเอกสารที่ตนต้องทำงานใช้หนี้นายจ้างแต่นายจ้างยึดไว้ให้เสียเปล่าไป ส่วนหนึ่งของนายหน้าที่ค้ามนุษย์ เนื่องจากการที่นายจ้างต้องการแรงงานแต่แรงงานนั้นไม่มีเข้ามาสู่สายกำลังการผลิต  ก็ต้องใช้บริการของกระบวนการนายหน้าแทน โดยนายหน้าจะไปจัดหาโดยการชักชวนจากประเทศต้นทาง โดยให้เหตุผลรายได้ดีก่อนที่จะนำเข้าสู่พื้นที่ แรงงานส่วนหนึ่งต้องถูกพลัดพรากจากครอบครัว และคนรัก โดยถูกส่งไปตามแหล่งงานต่างๆที่มีการ Order แรงงานจะต้องทนกับสภาพการทำงานที่หนัก แต่ไม่ทราบว่าตนเองนั้นมีรายได้จากการทำงานมากน้อยอย่างไร มีหน้าที่เพียงการใช้หนี้สินจากการหลบหนีเข้าเมือง แรงงานหลายคนถูกส่งตัวไปขายเพื่อให้ทำงานตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่สมุทรสาครนั้นปัจจุบันยังมีการละเมิดจากการค้ามนุษย์อยู่

จากข้อมูลของศูนย์ LPN LC ทราบว่ายังมีแรงงานที่แจ้งเบาะแสและร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา ซึ่งมีทั้งที่เป็นแรงงานไทย และที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยพบว่าปัจจุบันแรงงานชาวกัมพูชาได้ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเบาะแสที่แจ้งเข้ามานั้นไม่ทราบชัดเจนว่าแรงงานอยู่ที่ใด ทราบเพียงว่าอยู่ที่สมุทรสาคร หรือลงเรือแล้วไม่ทราบว่าเรือมีปลายทางที่ใด

การค้ามนุษย์จะยังไม่หมดไปจากสมุทรสาคร หากแต่ปัญหาจะถูกหมักหมม และยากที่จะเยียวยา เนื่องจากไม่มีการดำเนินการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และการบังคับใช้แรงงานเพื่อใช้หนี้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ มิใช่เพียงการทำงานใช้หนี้ แต่การรับได้ซึ่งการนำคนเข้ามาต่างหากที่เป็นปัญหา ดังนั้นสมุทรสาครและประเทศไทยจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และจริงใจต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ มุ่งเน้นการอยู่ร่วมและไม่เอาเปรียบเมื่อนั้นสถานการณ์การด้ามนุษย์ก็จะหมดไป ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาว่าหรือตรวจสอบ หากคิดเองเป็นก็ไม่ต้องให้ใครมาว่า ใช่ไหม.... การส่งเสียงให้ดังทำให้จริง น่าจะยุติ หรือบรรเทาปัญหาการค้ามนุษย์ได้ในอนาคต...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

The Social Network กับความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคม

Posted: 18 Dec 2010 05:39 PM PST

เมื่อต้นเดือนธันวาคม มีภาพยนตร์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งได้เข้าฉายในบ้านเรา นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง “The Social Network” ที่มีเนื้อหาเกือบทั้งหมดอิงอยู่กับเรื่องราว “ชีวิตจริง” ของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง “FACEBOOK”

เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธนะครับว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา facebook เป็นเวบไซด์อันหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงและความสนใจมากที่สุดทั้งในสังคมไทย และอาจรวมถึงสังคมจำนวนมากในโลก โดยประเด็นการพูดถึงเจ้า facebook นี้ดูจะมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัวหรือการ “gossip” เนื้อหาสาระที่ปรากฏในหน้าเวบไซด์อันมีลักษณะเป็น “Social Network” จนถึงประเด็นผลกระทบที่ facebook มีแต่สภาพความสัมพันธ์ในสังคม ดังจะเห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่ว่า (การใช้) facebook เป็นต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่าร้างในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีรายงานจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะและเวลาการใช้ facebook ของคนชาติต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของแต่ละชาติ

ในมุมหนึ่งของข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นจึงดูราวกับว่า facebook เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาสังคม ครอบครัว รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากการใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ไปกับการเล่น facebook อันไม่เกิดประโยชน์แห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายบริษัทมีกฎหรือวางมาตรการห้ามพนักงานเล่น facebook ในเวลาทำงานกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายหันมามอง facebook ในอีกมุมมองหนึ่ง อันอาจมิใช่การตัดสินว่าดี/ไม่ดี มี/ไม่มีประโยชน์ หรือถูก/ผิด หากแต่เป็นการมองในแง่ของส่วนหนึ่งแห่ง “ยุคสมัย” หรือในฐานะ “เทคโนโลยี” อันหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคม “จริง” เฉกเช่นเดียวกับ แบบแผนทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถยนต์ ไฟฟ้า นาฬิกา หรือโทรทัศน์ ที่ต่างล้วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม และประสบกับแรงต้านมากบ้างน้อยบ้างมาแล้วทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญอันเนื่องมาจากการปรากฏตัวของ facebook หรือเวบไซด์จำพวก Social Network ก็คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ขึ้น (อย่างที่หลายคนคงทราบกันดี) บนโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีตลอด 10 ปีแห่งยุคอินเตอร์เน็ตดูจะทำให้ facebook สามารถกระทำการไม่แต่เพียงการตอบโต้ระหว่าง “เจ้าของ” กับ “ผู้เยี่ยมชม” เท่านั้น หากแต่ผู้ใช้ยังสามารถสร้าง application จำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ แบบสอบถาม กลุ่มสังคม หรือการจัดงาน (Event) ต่าง ๆ

และเมื่อมีลักษณะเป็นพื้นที่ออนไลน์หรือพื้นที่เสมือนจริง ผู้ใช้งานจึงสามารถ “เข้าถึง” facebook ได้ทุกพื้นที่ (ที่ระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึง) ผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานออนไลน์ ในแง่นี้จึงดูจะทำให้เกิดผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การกลับมาพบเจอ (กันอีกครั้ง) ของบรรดา “เพื่อน” หรือ “คนรู้จัก” ในโลกจริง ที่ห่างหายไปนานแสนนาน ซึ่งเราจะไม่พบเหตุการณ์นี้เลยในโลกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เพื่อนซึ่งมิได้ติดต่อก็จะหายหน้ากันไปเลย ในขณะที่เพื่อนใน facebook แม้จะมิได้ติดต่อแต่อย่างน้อยก็ยังรู้ถึงความเคลื่อนไหวและช่องทางในการติดต่อ

นอกจากการกลับมาพบเจอกับบรรดา “เพื่อนเก่า” แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง facebook ดูจะทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นไปอย่างแนบแน่นและรวดเร็วขึ้นอีกเช่นกัน การติดต่อพูดคุยผ่านโลกออนไลน์ รวมถึงการติดต่อผ่านโลก “จริง” ที่สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและวงกว้าง – การนัดสังสรรค์ระหว่างเพื่อนสามารถบอกกล่าวในโลกออนไลน์ได้ในวงกว้างและมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้

ในทางเดียวกัน โลกเสมือนจริงที่ facebook สร้างขึ้น ยังได้นำไปสู่การสร้าง “กลุ่มความสนใจ” จำนวนหนึ่งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้คลั่งไคล้นักร้อง/ศิลปิน (ที่มีสมาชิกจากหลายมุมของโลก) กลุ่มช่วยเหลือสังคม กลุ่มผู้สนในด้านอาหารและการกิน และกลุ่มผู้สนใจทางด้านหนังสือ เป็นต้น (นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองด้วย หากแต่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้) โดยกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะมิได้ดำรงอยู่แต่บนโลกออนไลน์เท่านั้น สมาชิกหรือคนในกลุ่มเหล่านี้ยังได้มาพบปะสังสรรค์กันในโลกจริงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หนุ่มน้อยผู้ศรัทธาในการกินอาหารอร่อยคนหนึ่งได้เป็นตัวตั้งในการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายผู้รักการกินอาหารอร่อยขึ้นและได้จัด “ทริป” การกินอยู่เนือง ๆ โดยแต่ละทริปก็จะมีผู้ที่เข้าร่วมทั้งโดยรู้จักและไม่รู้จักกันมาก่อน อันทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมบนโลกจริงขึ้นใหม่จากทริปการกินที่มีจุดเริ่มในโลกออนไลน์ หรือในกลุ่มผู้สนใจในการช่วยเหลือสังคมก็ได้มีการนัดแนะกันไปทำงานเพื่อสังคมต่าง ๆ นานากันอยู่เนือง ๆ

ในแง่นี้จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า facebook (และอาจรวมถึงเวบไซด์ Social Network อื่นๆ ด้วยนั้น) เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ บนโลกแห่งความเป็นจริง โลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะทำให้คนเป็นปัจเจกชนเก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งได้สร้างกลุ่ม (ความสนใจ) ทางสังคมอันหลากหลายขึ้นมานับไม่ถ้วน ลักษณะหรือสภาพที่ราวกับเป็นไปด้วยกันมิได้นี้ดูจะตรงกับสิ่งที่นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเรียกว่า “Rhizome” อันเป็นสภาวะแห่งโลกสมัยใหม่หรือโลกแห่งยุคเทคโนโลยีที่ผู้คนมีลักษณะคล้าย “จุด” ที่เชื่อมโยงกับ “จุดอื่น ๆ” (สามารถมีได้มากกว่าหนึ่ง) ผ่านความสนใจที่อยู่นอกเหนือขอบเขตทางกายภาพของชุมชนหรือสังคม

นี่คือ ยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะต้องยอมรับและมองในฐานะปรากฏการหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะยินดี ชื่นชอบ หรือไม่ก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาทกรรมการเมือง (Discourse)

Posted: 18 Dec 2010 05:31 PM PST

มิเชล ฟูโก (Michael Foucault) ปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความหมาย “วาทกรรม” (Discourse) ไว้ว่า เป็นเรื่องที่มากกว่าการเขียน และการพูด ยังรวมถึงระบบและกระบวนการในการสร้าง  การผลิต(Constitute) เอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(Significant) ให้กับสรรพสิ่งในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา   และนอกจากวาทกรรมจะทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่ในการยึดตรึง สิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป

ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ในการเก็บกดปิดกั้น มิให้เอกลักษณ์ หรือความหมายของบางอย่าง หรือความหมายอื่นเกิดขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เอกลักลักษณ์และความหมายของบางสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมเลือนหายไปได้ พร้อมๆ กันอีกด้วย   วาทกรรมสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ได้แก่ จารีตประเพณี ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม ผ่านทางสถาบัน และช่องทางในการเข้าถึงผู้คนในสังคม

ส่วนคำว่า วาทกรรมการเมือง (Political Discourse)  มีนักปรัชญาหลายคน สรุปไว้ว่า  เป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง และกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมาย ของการแสดงความคิดทางการเมืองนั้น  โดยมีการถ่ายทอดและอบรมสั่งสอน เพื่อการบังคับ ดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไปด้วยในเวลาเดียวกัน  ทั้งนี้ชุดของความคิดทางวาทกรรมการเมืองจะต้องใช้ความชอบธรรม (Legitimacy) ในการสื่อวาทกรรมแต่ละชุดออกไป เพื่อเปลี่ยนแปลง ยึดตรึงสิ่งต่างๆ ด้วยความถูกต้อง

นอกจากนั้น Thomas  Jefferson   ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา  ได้ให้คำนิยามว่าวาทกรรมการเมือง “คือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย”   โดยวาทกรรมการเมืองก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาของสังคม     และชุดของความคิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพลเมือง จูงใจให้เชื่อถือด้วยหลักตรรกะและข้อมูลที่ชัดแจ้ง และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการใดที่จะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้สังคมได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม  “วาทกรรมการเมือง” จึงมีความสัมพันธ์กับอำนาจในสังคมการเมือง เพราะทุกบริบทในสังคมการเมืองย่อมมีการใช้อำนาจแทรกซึมอยู่ทั่วไป  ซึ่งพลังแห่งอำนาจนั้น แสดงผ่านทางวาทกรรมการเมือง และวาทกรรมแต่ละชุดจะสามารถกำหนดความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ  ของมนุษย์ นั่นคือ วาทกรรมการเมืองจึงเป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งความคิดและทางการปฏิบัติ ไปพร้อม ๆ  กัน

ในอีกแง่มุมหนึ่งจึงสามารถกล่าวได้ว่า   วาทกรรมการเมืองคือกระบวนการต่อสู้ แย่งชิง อำนาจในการนิยามความหมายของสิ่งที่ดี  หรือไม่ดี ถูกต้อง  หรือไม่ถูกต้องในทางการเมือง และผู้อยู่ในอำนาจจะได้เปรียบในการต่อสู้แย่งชิงนี้

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการสร้าง ผลิต (Constitute) กำหนดเอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(significant)  ให้กับสรรพสิ่ง  อันจะเป็นที่มาของการสั่งสมอำนาจ ความนิยมชมชอบจากประชาชน(Populist)    เพื่อที่จะเป็นกลไกช่วยผลักดันและเกื้อหนุนให้เกิดเสถียรภาพในการดำรงอยู่ และมีความ “เป็นต่อ”  ฝ่ายตรงกันข้ามให้มากที่สุด  นั่นคือ กระบวนการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในการนิยาม ความหมายของสิ่งต่างๆ  ซึ่งอำนาจในการนิยามสิ่งนั้นๆ จะต้องมีที่มาจากความชอบธรรม (Legitimacy)

การผลิตวาทกรรมการเมืองของพรรคการเมือง  ของรัฐบาล แต่ละยุคสมัย  รวมถึงยุคปัจจุบัน  มีกระบวนการผลิตชุดของวาทกรรม ขึ้นมามากมาย  แม้บางอย่างจะเป็นการผลิตซ้ำ  อาทิ วาทกรรมเพื่อสร้างประชานิยม(Populism)  ทั้งหลาย เช่น ในสมัยที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี วาทกรรม “เงินผัน” อันเป็นแนวคิด “เคนเซี่ยน” (Keyensianism)  คือการหว่านเม็ดเงินกระตุ้นรากหญ้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็นับเป็นวาทกรรมการเมือง ที่ได้ผลในการสร้างและยึดตรึงความพึงพอใจของประชาชนในแง่ของผลที่ได้รับ   อันนำมาซึ่งเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับที่น่าพึงพอใจ

เมื่อมองให้ลึกซึ้ง การผันเงินสู่ชนบทของรัฐบาลในขณะนั้น ก็เป็นเพียงการสร้างชุดของวาทกรรม ที่เนื้อแท้แล้ว ประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องรอง และผลสะท้อนด้านประชานิยมต่างหากที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก  อีกทั้งไม่สามารถฝ่าอุปสรรคความไม่โปร่งใสทั้งมวลไปได้   ว่ากันว่า  “เงินผันคึกฤทธิ์”   คนหลายกลุ่มร่ำรวยกันถ้วนหน้า

หลังจากนั้น รัฐบาลในยุคต่างๆ ก็พากันผลิตวาทกรรมการเมือง เพื่อจูงใจประชาชนทั้งสิ้น กระทั่งรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุนหะวัณ   ได้เสนอวาทกรรมการเมือง   “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า”       นับเป็นวาทกรรมที่ยังได้รับการกล่าวขานถึงในแง่มุมของวิสัยทัศน์ผู้นำในการก้าวสู่เวทีโลก  แต่  “ สนามการค้า” ดังกล่าวได้นำมาซึ่งเค้าลางแห่งการก่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่(Bubble  Economy ) และการคอร์รัปชั่นแบบ “ Buffet Cabinet”  ในที่สุด

การเลือกตั้งแต่ละยุคพรรคการเมืองจะรังสรรค์วาทกรรมการเมืองใหม่ๆ ขึ้นเสมอเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง  เป็นต้นว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่”  หรือ “คนของเราพรรคของเรา”  หรือ “เลือกคนบ้านเราเป็นนายก” หรือ “ จำลองพาคนไปตาย”เป็นต้น  จนกล่าวกันว่าเป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น

ก่อนการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540  ได้ก่อให้เกิดการรังสรรค์ วาทกรรมจากบรรดานักวิชาการ(Technocrat)   เช่น   การเมืองภาคประชาชน   การมีส่วนร่วม (participation)   ประชาสังคม(civil society)   ซึ่งนับเป็นวาทกรรมการเมืองที่เสมือนเป็นการหยิบยืมมาจากโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาเนิ่นนานแล้ว ทั้งๆที่ในบริบทของการเรียกร้องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  หรือประชาสังคม (civil Society)    ของไทยมีมานานพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (Civic  Movement)  จนก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดมาหลายครั้ง  แต่วาทกรรมดังกล่าวก็เพิ่งจะถูกขานรับเมื่อไม่นานมานี้เอง  ทำให้ประชาสังคม (civil Society)   เสมือนเป็นวาทกรรมใหม่สำหรับสังคมไทย ที่ได้สร้างกระบวนการให้เกิดความรับรู้ ความเชื่อ และอุดมการณ์ตามมา   

อย่างไรก็ดี  วาทกรรมการเมืองเดิมๆ   กลับไม่ยืนยงและครอบงำ(Domination) ประชาชนอย่างท่วมท้น เฉกเช่นที่พรรคไทยรักไทยนำเสนอ   ทั้งนี้ว่ากันว่ามีกระบวนการผลิตวาทกรรมการเมืองที่ลึกซึ้งแยบยล  จูงใจให้ประชาชนรู้สึกถึงความดูแลเอาใจใส่  เป็นต้นว่า   “โครงการเอื้ออาทร” “โครงการเอสเอ็มอี”  หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณธ์” ที่รัฐกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ( Policy  Patronage   )    วาทกรรมชุดนี้ได้สร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาอย่างเด่นชัด ทำหน้าที่ปิดกั้นมิให้เอกลักษณ์ ของพรรคฝ่ายค้านมีพื้นที่  (sphere   )ได้แม้แต่น้อย  จนต้องสร้างวาทกรรม “ธนกิจการเมือง”  ขึ้นมา  ก่อให้เกิดดุลภาวะในสมรภูมิทางการเมืองบ้างพอสมควร

วาทกรรม “โครงการเอื้ออาทร”   หรือ “ โครงการเอสเอ็มอี”  หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”  แม้ถูกมองว่าเป็นประชานิยมแต่รัฐบาลจากรัฐประหารที่ห่อหุ้มด้วยอำนาจทหาร ก็มิได้ยกเลิก  ทำได้เพียงแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ หรือเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ให้เป็นของตน  แต่วิธีการยังคงเดิม  นั่นหมายความว่ารัฐบาลทหารยอมรับวาทกรรมการเมืองเหล่านั้นเช่นเดียวกับประชาชน

วาทกรรม “ลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจประชาชน” ทั้งๆที่อำนาจรัฐคืออำนาจประชาชนที่ไม่ต้องมีใครมากำหนดให้เพิ่มหรือลด   เป็นความผิดพลาดในการรังสรรค์วาทกรรม  ที่รัฐเข้าใจว่ามีอำนาจเหนือประชาชน  ทั้งๆ ที่รัฐมิได้มีอำนาจอยู่แต่เดิม  แต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายประชาชนในระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งเป็นการปกครองโดยประชาชน  ของประชาชน  และเพื่อประชาชน    ที่เป็นวาทะอมตะของ  อับราฮัม  ลินคอร์น  อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การสร้างชุดวาทกรรมการเมือง  ลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจประชาชน  ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจรัฐที่มีบริบูณณ์เหนือประชาชนนั้น  ต่อไปนี้จะได้แบ่งสรรมาให้ประชาชนด้วยตระหนักว่าประชาชนมีความสำคัญและไม่เคยมีอำนาจนั้นอยู่เลย  ความเมตรตานี้จึงเป็นความเอื้ออาทรอีกประการหนึ่ง  ที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องตอบแทนความมีน้ำใจของรัฐอีกเช่นเคย

นอกจากนั้นยัง ได้สร้างวาทกรรมใหม่ที่ให้เข้าใจกันว่า  “ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง”   หรือ  “คนรวยใช่ว่าจะไม่โกง”  หรือ “ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นพวกไม่รักชาติรักแผ่นดิน” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่แยกเขาแยกเราทำให้เขากลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกันในสังคม    และที่สำคัญวาทกรรมการเมืองยังทำให้รัฐบาลที่เข้มแข็งต้องพังครืนลงมาแล้วอย่างคำว่า “ระบอบทักษิณ” แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงยังคงรู้จัก

ดังนั้นชุดของวาทกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นแต่ละยุคสมัยได้ก่อให้เกิดความหมาย  และสัญลักษณ์ต่างๆ ในสังคมการเมือง ที่สามารถครอบงำ  ยึดตรึง  ปิดกั้นความคิด  ความเชื่อ ทัศนคติ  ของผู้คนในสังคมเป็นอย่างดี  การเสพวาทกรรมจึงต้องแยกแยะความถูกต้องชอบธรรมและที่มาของวาทกรรมนั้นๆ ด้วย  เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำ และการบิดเบือนที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมโดนผู้เสพเองก็ไม่ทันตั้งตัว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้อง 'ท่าอากาศยานเบตง' กระทบทั้งหมู่บ้าน

Posted: 18 Dec 2010 05:13 PM PST

ชาวบ้านบูเกะลาลังร้องกรรมการสิทธิฯ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง กระทบทั้งหมู่บ้าน ร้องรัฐหาพื้นที่ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ พร้อมจ่ายชดเชยเงินครัวเรือนละ 5 แสน หมอนิรันดร์ เตรียงลงพื้นที่ตรวจสอบในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

มาดี เจะบาเฮง

นายมาดี เจะบาเฮง ชาวบ้านบูเกะลาลัง หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่่ผ่านมา เขาและเพื่อนบ้าน 7 คน เดินทางเข้าพบ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่โรงแรมพาวิลเลี่ยน จังหวัดสงขลา เพื่อหารือ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ตนและชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังอนุกรรมการสิทธิชุมชนว่า โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบ

นายมาดี เปิดเผยต่อไปว่า พื้นที่โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงทั้งหมดประมาณ 1 พันกว่าไร่ ในจำนวนนี้ 950 ไร่เป็นสวนยางพาราของคนนอกพื้นที่ ซึ่งถูกกว้านซื้อไว้หมดแล้ว ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 35 ไร่ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านบ้านบูเกะลาลัง ถูกขอซื้อในราคา 8 หมื่นบาทต่อที่ดินขนาด 1 ห้อง หรือขนาดหน้ากว้าง 4 เมตร ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากชาวบ้านต้องการขายราคาห้องละ 5 แสนบาท อีกทั้งรัฐจะต้องหาพื้นที่ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ให้ชาวบ้าน 30 ครัวเรือนด้วย

“6 เดือนที่แล้ว อนุกรรมการสิทธิชุมชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้หน่วยราชการชี้แจงเป็นหนังสือ ต่อมานายอำเภอเบตงรับปากว่า จะเจรจากับกับกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม แต่ก็เงียบหายไป พวกเราไม่ยอม ถ้าไม่ได้ตามข้อเสนอที่เราต้องการ” นายมาดี กล่าว

นพ.นิรันดร์ เปิดเผยว่า กรณีนี้กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม และสำนักงานที่ดินจังหวัดยะลาได้ชี้แจงเป็นหนังสือมาแล้ว ปรากฏว่า โครงการนี้จะกระทบชาวบ้าน 54 รายจำนวน 30 ครัวเรือน บนที่ดิน 67 แปลง เบื้องต้นชาวบ้านต้องการให้รัฐหาพื้นที่ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ จำนวน 140 ไร่ และต้องการเงินชดเชยครอบครัวละ 5 แสนบาท หลังจากนี้คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะลงไปตรวจสอบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ ณ ที่ว่าการอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันแรงงานข้ามชาติสากล: ก้าวไปข้างหน้าพร้อมนโยบายแรงงานข้ามชาติไทย

Posted: 18 Dec 2010 05:05 PM PST

วันที่ 18 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 20 ปีของอนุสัญญาการคุ้มครองสิทธิเเรงงานข้ามชาติเเละครอบครัว (ICRMW) ที่มีจุด เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 อนุสัญญานี้คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติเเละครอบครัวตั้งเเต่การจ้างงาน การเตรียมตัวย้ายถิ่น ระหว่างเดินทาง ระหว่างการทำงานต่างประเทศ ตลอดจนเมื่อเดินทางกลับเเละกลับคืนสู่ชุมชนประเทศต้นทางเเละตระหนักถึง สิทธิของผู้อ่อนเเอเป็นพิเศษเช่น ผู้หญิง เด็ก เเละกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจถูกเเสวงหาผลประโยชน์ เลือกปฏิบัติ เเละต้องการการคุ้มครอง เป็นกรณีพิเศษ ตั้งเเต่พ.ศ. 2543 วันที่ 18 ธันวาคม จึงเป็นวันเเรงงานข้ามชาติสากลด้วย

ปัจจุบันอนุสัญญามีรัฐภาคี 44 ประเทศเเละมีรัฐที่ลงนามในอนุสัญญา 15 ประเทศ ส่วนมากเป็นประเทศที่ส่งออกเเรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีกัมพูชา อินโดนีเซีย เเละฟิลิปปินส์ เท่านั้นที่ลงนาม ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีข่าวการเเสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบเช่นไทยเเละมาเลเซีย อนุสัญญาดังกล่าวน่าจะเป็นความหวังของเเรงงานข้ามชาติเพราะจะให้การคุ้มครองสิทธิที่พึงได้ เเต่เเรงงานข้ามชาติมักจะไม่ได้รับ ในวันเเรงงานข้ามชาติสากลนี้ จึงควรส่งเสริมให้รัฐลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติและครอบครัวด้วย

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 2 ล้านคน ส่วนมากอพยพหนีความขัดเเย้งระหว่างชาติพันธุ์เเละความขัดเเย้งทางการ เมืองมาจากพม่า แรงงานข้ามชาติมักถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน สวัสดิการของผู้พิการ ถูกจำกัดสิทธิในการ เดินทางเเละการรวมตัวเพื่อต่อรองตามกฎหมาย เเม้เเรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับเเรงงานไทยเเต่ส่วนมาก ไม่ตระหนักถึงสิทธินี้พอที่จะทัดทานนายจ้างซึ่งไม่สนใจกฎหมาย แรงงานหญิงเเละบุตรเป็นเป้าการโจมตีทางสังคม เนื่องจากถูกตีตราว่าเป็นภาระด้านสุขภาพเเละการศึกษา ประเด็นการใช้ภาษาพม่าในเอทีเอ็มบางพื้นที่เเละการออกใบขับขี่ให้เเรงงานข้ามชาติ ยังเป็นประเด็นร้อนในปีนี้

เส้นตายการพิสูจน์สัญชาติเดือนกุมภาพันธ์ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ สัญชาติที่ยุ่งยากเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิผู้อพยพวิจารณ์ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนจากนโยบายของรัฐบาลไทย เเละ จะมีแรงงานอีก 1.4 ล้านคนที่ดำเนินการไม่ทันตามเวลาที่กำหนด เเรงงานข้ามชาติ 1 ล้านคน เเสดงความประสงค์พิสูจน์สัญชาติ เเละมีเวลาถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้น รัฐบาลมีนโยบายจะผลักดันผู้ไม่พิสูจน์สัญชาติออกนอกประเทศ เเต่แรงงานย่อมหาทางกลับประเทศไทยได้ทันทีโดยใช้บริการจากนายหน้า เพื่อเปลี่ยนสภาพตนเองเป็นเเรงงานนำเข้าตาม MOU ที่ถูกกฎหมาย

นโยบายกวาดล้างแรงงานข้ามชาติไม่ได้ทำให้เเรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนถูกผลักดันกลับจำนวนมากก็จริง เเต่เเรงงานที่ถูก ผลักดันออกนอกประเทศ โดยเฉพาะเเรงงานพม่า เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เเละลักลอบนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จนองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติตรวจสอบ

เเม้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีสองฉบับ เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ฉบับหลังยกเลิกฉบับเเรก เพื่อให้สอดรับกับการ เชื่อมโยงการผลักดันเเรงงานออกนอกประเทศเเละการค้ามนุษย์ เป็นความพยายามที่น่าพอใจ เเต่การทุจริตเเละใช้อำนาจโดย มิชอบอย่างเป็นระบบ ระบบนายหน้า อาชญากรค้ามนุษย์เเละลักลอบนำพาคนเข้าเมืองที่มีอยู่กว้างขวางเเละยาวนานกว่า 20 ปี ร่วมกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ควรปกป้องความมั่นคงของรัฐเเละเเรงงานข้ามชาติ อาจทำให้นโยบายของรัฐไม่ได้ผล ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการวงจรนอกกฎหมายที่ทำลายหลักนิติรัฐเป็นอันดับเเรก

การนำเข้าเเรงงานตาม MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเเต่ พ.ศ. 2548 มีเเรงงานนำเข้ามาเพียง 30,000 คน เป็นเเรงงานจากพม่า 700 คน ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาการนำเข้าผ่านนายหน้าสูงมาก ปลายปี 2553 มีแรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 250,000 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้บางส่วนเป็นเเรงงานข้ามชาติพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เเละขออนุญาตทำงานในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมาย

นโยบายการบริหารจัดการเเรงงานข้ามชาติยังไม่มีเสถียรภาพ เเละยังพบการละเมิดสิทธิเเรงงานข้ามชาติโดยทั่วไป ทุกวันนี้ยังไม่ มีระบบรองรับการจัดการเเรงงานหลังการปรับสถานะให้เป็นเเรงงานถูกกฎหมาย ดังนั้นควรเร่งรัดกำหนดนโยบายระยะยาวที่เป็น เอกภาพเเละหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่เชิงบูรณาการในการบังคับใช้นโยบายนี้ เช่น หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่วิจัยเเละพัฒนา นโยบาย ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เเทนที่คณะกรรมการบริหารเเรงงานต่างด้าว (กบร.) เเละหน่วยงานอื่นๆ ที่เเยกกันทำงาน โดยไม่เป็นองค์รวม

การกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติต้องคำนึงว่าเเรงงานข้ามชาติเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการต่างๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป มิใช่ เครื่องจักร หรือสินค้า เพื่อการผลิต ดังนั้นนโนบายควรคำนึงถึงความต้องการของเเรงงาน เช่นเดียวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เเละสังคมของประเทศ การผนวกประเด็นแรงงานข้ามชาติในแผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติฉบับที่ 11 น่าจะเป็นแนวทางที่ดี ในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงเเห่งชาติ เเละความมั่นคงของมนุษย์

ทุกวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานมีฝีมือเเละเเรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก เเละอีกไม่นาน ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก การเป็นสังคมชราภาพที่อัตราการเกิดต่ำกว่าความต้องการเเรงงาน    ดังนั้นเเรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นปัจจัย การผลิตที่สำคัญมากขึ้น การตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของเเรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน เเละอนาคต    ย่อมเป็นก้าวเเรกที่สำคัญที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) การหวังพึ่งพาเเรงงานราคาถูก เเละการเเสวงประโยชน์จากเเรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก มีเเต่จะส่งผลร้ายต่อธุรกิจไทยในระยะยาวในการเเข่งขันระดับโลก

เเรงงานข้ามชาติเริ่มเข้าใจว่าหน้าที่ที่ต้องเเลกมาด้วยเงินจำนวนมาก เช่น การพิสูจน์สัญชาติ จ่ายเงินเข้ากองทุนส่งกลับเเรงงาน ข้ามชาติ เเละประกันสังคม เพื่อเข้าสู่การเป็นเเรงงานถูกกฎหมาย ทำให้เขามีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ที่ต้องเคารพสิทธิของเเรงงานด้วย นักกิจกรรมด้านแรงงานรู้สึกว่าเเรงงานจำนวนหนึ่งที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่การจ้างงานถูกกฎหมายเเละมี หนังสือเดินทางมีความมั่นใจที่จะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายมากขึ้น กรณีลูกจ้างเกือบ 1,000 คนที่โรงงานเเห่งหนึ่งในขอนเเก่น ชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตนจะเกิดบ่อยขึ้น รัฐบาลสามารถดำเนินการมิให้เกิดเหตุเช่นนี้ โดยกำกับดูเเลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับแรงงานข้ามชาติปฏิบัติตามกฎหมาย

หากประเทศไทยต้องการรับมือปัญหาเเรงงานข้ามชาติอย่างเป็นองค์รวมเเละเคารพสิทธิมนุษยชน ใน พ.ศ. 2554 ย่อมเป็นโอกาส อันดีที่จะได้รับชื่อเสียง การลงนามในอนุสัญญาการคุ้มครองสิทธิเเรงงานข้ามชาติเเละครอบครัวในโอกาสที่อนุสัญญาครบรอบ 20 ปีย่อมเป็นโอกาสที่ดี และระหว่างที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยจึงควรให้ ความสำคัญเเละพยายามให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมการมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศต้นทางร่วมจัดการปัญหาเเรงงานข้ามชาติด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เทพไทเชื่อนักวิชาการที่เล็งฟ้องศาล รธน. เป็นกลุ่มที่ต่อสู้ให้ระบอบทักษิณ

Posted: 18 Dec 2010 04:44 PM PST

พร้อมเรียกร้องคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ส่งผลกระทบต่อคริสมาสต์และปีใหม่ สร้างความหวาดกลัว กระทบภาพลักษณ์ประเทศ ส่วน พนง.รัฐวิสาหกิจ เรียกร้องขึ้นเงินเดือน เป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่ขึ้นกับกติกาองค์กรนั้นด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ว่า นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นกรณีที่พรรคเพื่อไทย กดดันประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ฟ้องซ้ำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การต่อสู้คดียุบพรรคก็เหมือนกับการต่อสู้คดีความอื่นๆ เมื่อประธานกกต.มีความเห็นทางกฎหมายไปแล้ว และกระบวนการก็ผ่านการต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นข้อยุติเหมือนคดีอาญาทั่วไปที่แม้ว่าอัยการจะสั่งฟ้อง แต่ศาลอาญาสั่งไม่ฟ้อง ก็เป็นการถ่วงดุลทางการกระบวนการยุติธรรม

ส่วนการเคลื่อนไหวของนักวิชาการด้านกฎหมายที่จะฟ้องร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น นายเทพไท กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่านักวิชาการกลุ่มนี้ เชื่อว่าเป็นนักวิชาการที่เคยต่อสู้ให้ระบอบทักษิณ และต่อสู้ทางกฎหมายให้พรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น ดังนั้น อยากให้พรรคเพื่อไทยกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนก่อนที่จะ เคลื่อนไหว เพราะในคดี 29 ล้านบาท คำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะทุกคน ที่นอกจากจะพูดถึงข้อกฎหมาย ก็ยังลงลึกไปถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่าไม่มีความผิดตามคำร้องให้ยุบพรรค ดังนั้น ในคดี 258 ล้านบาทที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก็เชื่อว่าคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงจะมีลักษณะเดียวกัน

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปรากฏชัดตามมาตรา 216 ซึ่งบัญญัติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ถ้าหากพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ก็อยากให้กลับไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 216 ใหม่ โดยระบุไปว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ยกเว้นพรรคเพื่อไทย”เพื่อเป็นช่องทางเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป”

ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดให้มีการชุมนุม ทุกวันที่ 10 และ 19 ของทุกเดือนนั้น นายเทพไทย กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงควรยุติการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม โดยเฉพาะพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ เพราะการออกมาเคลื่อนไหวอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน อีกทั้งการชุมนุมในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ อาจส่งผลต่อบรรยากาศการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ที่ กำลังจะมาถึง รวมทั้งอาจสร้างความหวาดกลัวและกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าจะมีนักวิชาการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสัปดาห์หน้านั้น ตนขอตั้งคำถามว่า พรรคเพื่อไทยทราบได้อย่างไรว่า จะมีการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ ซึ่งหากมีจริง สังคมก็จะตั้งคำถามว่ามีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ เพราะมี ส.ส.เพื่อไทยหลายคนที่กำลังยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายเทพไท กล่าวถึงกรณีองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ออกมาเรียกร้องปรับเงินเดือน หลังครม.ตีกลับให้ไปพิจารณาใหม่ว่า เรื่องดังกล่าวรัฐบาลพยายามเร่งดำเนินการ ซึ่งคาดว่า เรื่องดังกล่าวจะได้ข้อสรุปในวันที่ 21 ธ.ค.53 ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ และไม่อยากให้กดดันและนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนนั้น จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และสามารถให้คำตอบกับสังคมได้

ส่วนกรณีที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องขอให้พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าตอบแทน พนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 5 % นั้น นายเทพไท กล่าวว่า เป็นสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งการขึ้นเงินค่าตอบแทนทั้งหมดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับกฎกติกาขององค์กรนั้นด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น