โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนา 3 ปี คสช. (1) ผลกระทบด้านการศึกษา-กระบวนการยุติธรรม-สิ่งแวดล้อม

Posted: 21 May 2017 01:23 PM PDT

21 พ.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)จัด "████ 360 องศา : ████ ไทยทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด" ว่าด้วยผลกระทบในมิติต่างๆที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมพื้นที่ระบุว่า ในงานห้ามพูดคำว่า "คสช." "เผด็จการ" และ "รัฐประหาร" โดยอ้างเรื่องความมั่นคง ไม่เช่นนั้นจะปิดงานและจับกุมผู้จัดงาน

โดยคลิปบรรยากาศเสวนามีดังนี้

ช่วงแรกเป็นการอภิปรายเรื่องผลกระทบต่อการศึกษา ช่วงที่ 1 เสวนาโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษาฟินแลนด์ และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

ช่วงที่ 2 ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม เสวนาโดย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ช่วงที่ 3 ว่าด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อม เสวนาโดย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม และ อลิสา บินดุส๊ะ นักกฎหมายอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ต้อนรับครอบครัว 'ไผ่ ดาวดิน' กลับจากรับรางวัลกวางจู ตร.สนามบินคุมเข้ม

Posted: 21 May 2017 11:04 AM PDT

ครอบครัว ไผ่ ดาวดิน เดินทางกลับถึงประเทศไทย (ภาพจาก เฟซบุ๊ก 'Noppakow Kongsuwan' )

21 พ.ค.2560 จากกรณี ครอบครัวของ จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน เดินทางไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน แทน จตุภัทร์ ที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และไม่สามารถเดินทางไปรับรางวันได้ด้วยตัวเองที่เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี นั้น

ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ค.60) เมื่อเวลา 23.29 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Noppakow Kongsuwan' โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ครอบครัว จตุภัทร์ ถึงไทยแล้ว โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งรอต้อนรับ พร้อมร้องเพลง "ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ" โดยรอบมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ร่วมสังเกตุการณ์อย่างใกล้ชิด
 
ซึ่งก่อนหน้านี้ เวลา 21.49 Noppakow โพสต์ด้วยว่า ตำรวจมาขอเจรจาเรื่องการชูป้ายต้อนรับครอบครัวจตุภัทร์ เหตุเกรงว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง และทำให้ท่าอากาศยานเสียหาย
ตำรวจมาขอเจรจาเรื่องการชูป้ายต้อนรับครอบครัวจตุภัทร์ (ที่มาภาพ Noppakow )
 
Noppakow รายงานอีกว่า วันพรุ่งนี้ จตุภัทร์ จะขึ้นศาลในการสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยพ่อของจตุภัทร์ เตรียมนำรางวัลไปมอบให้ถึงมือ ไผ่ ดาวดิน
 
สำหรับ จตุภัทร์ นักกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่เรียกร้องต่อสู้ในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนร่วมกับชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคอีสาน และต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งเขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 มีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิมไม่อนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #158 ห้องสมุดไม่ได้มีไว้อ่านหนังสือ

Posted: 21 May 2017 09:25 AM PDT

จากคำถามคาใจว่าทำไมหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งเปิดใหม่เอี่ยมจึงยังไม่เปิด 24 ชั่วโมง หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ สืบค้นต้นรากหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย นั่นคือการใช้ห้องสมุด ทั้งนี้ในยุคก่อนสมัยใหม่ที่มาของความรู้ในสังคมไทย โดยเฉพาะอิทธิพลจากทางศาสนาเกิดจากการท่องจำต่อๆ หรือคัดลอกต่อๆ กันมา หรือความรู้ที่เกิดจากการบำเพ็ญภาวนา มากกว่าจะเป็นการค้นคว้าหรือถกเถียงเพื่อหาความรู้

ต่อมาเมื่อความรู้สมัยใหม่จากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงไทย ชนชั้นนำสยาม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เข้าถึงความรู้เหล่านั้นก่อน ก็เริ่มจัดระเบียบความรู้ ทั้งการคัดเลือก-จัดหมวดหมู่ความรู้ การผลิตตำราเพื่อฝึกคน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับชุดความรู้ และจัดการความรู้ของท้องถิ่น ฯลฯ

ทั้งนี้เริ่มมีการตั้งห้องสมุดเป็นครั้งแรกในชื่อ "หอพระสมุดวชิรญาณ" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 แรกเริ่มเป็นสถานที่ค้นคว้าในหมู่เจ้านายชั้นสูง ต่อมาเริ่มให้สามัญชนเข้ามาในหอพระสมุดวชิรญาณ ไม่ใช่เพื่อการสืบค้นหนังสือแบบยุคปัจจุบัน แต่เริ่มเปิดให้เข้ามาชมนิทรรศการของแปลกที่นำจัดแสดงในหอสมุดก่อน ก่อนที่ต่อมา เริ่มมีแนวคิดที่จะทำให้หอพระสมุดวชิรญาณมีความเป็นสาธารณะด้วยการเพิ่มคำว่า "สำหรับพระนคร" เข้าไปในชื่อ เมื่อ พ.ศ. 2448 และในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเปลี่ยนเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันห้องสมุดสาธารณะในไทยส่วนใหญ่ก็ยังเปิดปิดเป็นเวลาและมีความเป็นราชการสูง ทั้งยังห่างจากการเป็นห้องสมุดสาธารณะแบบที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกอยู่ดี

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจ 3 ปีหลัง คสช. ยึดอำนาจ เอกชนลงทุนเติบโตต่ำ

Posted: 21 May 2017 02:02 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. พบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ชี้ภาคการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ  

 
21 พ.ค. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช และภาวะเศรษฐกิจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี พ.ศ. 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบันแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสามปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้นกระเตื้องขึ้นและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ 
 
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้รัฐบาลมีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียนหรือการมียุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทยและยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช เข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 
 
ประเมินผลงานเศรษฐกิจมีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับ ดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C 
 
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ 
 
ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ได้ระดับคะแนน B ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก ยังไม่สามารถให้คะแนนได้ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ตกผลึก 
 
ประเมินผลงานด้านการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและเป้าหมาย มีความคืบหน้าและรูปธรรมชัดเจนแต่การมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด ได้ระดับคะแนนดีพอใช้ B 
 
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่สงครามกลางเมือง คสช มีผลงานอย่างชัดเจนในการลดความเสี่ยงและขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือด จึงได้คะแนนในระดับ A แต่ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนให้ความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ผลงานด้านนี้ไม่ผ่าน ได้ระดับคะแนน F แม้นจะมีการผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพบ้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง แต่ได้มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา คะแนนอยู่ในระดับ A มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น 
 
3 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น 
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ ได้คะแนนภาพรวมพอใช้ หรือ ระดับ C เท่านั้น เพราะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก "ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย" ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 
 
เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแม้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง แต่ยังมีความหวังว่า การร่างกฎหมายลูกที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองมากขึ้น จะทำให้ปัญหาบางอย่างในรัฐธรรมนูญบรรเทาลงและไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ 
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า "การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับ พลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดผลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ย้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาจะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนขอให้รัฐบาลปฏิรูปตำรวจโดยเร่งด่วน

Posted: 21 May 2017 01:39 AM PDT

11 องค์กรภาคประชาสังคม เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมและตรงไปตรงมา ชี้การปฏิรูปจะไม่เกิดขึ้นเลยหากให้มีตำรวจมานั่งเป็นประธานหรือกรรมการในการทำแผนปฏิรูปฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

 
21 พ.ค. 2560 องค์กรภาคประชาสังคมได้ออกออกแถลงการณ์ร่วม 'เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมและตรงไปตรงมา' โดยระบุว่ากรณีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจในคณะกรรมการประสานงาน สนช. และ สปท. ซึ่งมี  พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ เป็นประธาน ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ที่รัฐสภาว่าจะเสนอต่อรัฐบาลให้ปฏิรูปตำรวจด้วยการโอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ตามด้วยการเพิ่มเงินเดือนตำรวจทุกตำแหน่งให้มากกว่าข้าราชการทุกฝ่าย
 
องค์กรภาคประชาสังคม ไม่อาจจะปล่อยให้ข้อเสนอในลักษณะนี้ผ่านไปได้ โดยไม่มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปที่แท้จริงไว้  และไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนผู้เป็นตำรวจจำนวนสองแสนสองหมื่นคน ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศทำงานด้วยวิธีการเดิมภายใต้โครงสร้างองค์กรเดิม ส่งผลให้เกิดความเดือนร้อนต่อประชาชนตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
 
เราเห็นว่าการปฏิรูปต้องเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม  สามารถแก้ปัญหาตามที่ประชาชนเรียกร้องต้องการได้อย่างแท้จริงประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่การกำหนดที่มาของ ผบ.ตร. และไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนตามเหตุผลที่มักพูดถึงทุกครั้ง  เพราะตำรวจไม่ได้ทำงานหนักหรือเสี่ยงภัยอันตรายกันทุกตำแหน่งทุกคน  และการขึ้นเงินเดือนไม่ได้เป็นหลักประกันว่าตำรวจผู้ใหญ่จะไม่ทุจริตฉ้อฉล หรือทำตัวเป็นผู้ร้ายในเครื่องแบบอีกต่อไป  
 
องค์กรที่มีชื่อแนบท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังตรงไปตรงมาดังนี้ 1.ให้เร่งดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้โอนตำรวจ 9 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ  เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นการกระจายอำนาจตำรวจออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.ให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สร้างหลักประกันความยุติธรรมในการสอบสวนคดีอาญาให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน 3.ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่มีโทษจำคุกเกินสิบปีหรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี
 
4. กำหนดให้การสอบสวนต้องกระทำในห้องที่จัดขึ้นเฉพาะ โดยมีระบบบันทึกภาพและเสียงเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการ และศาลสามารถเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี  5. ไม่ว่าจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือมหาดไทย หรือให้ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีเช่นปัจจุบัน จะไม่มีความแตกต่างอะไร หากไม่ปฏิรูปโครงสร้างภายในอย่างจริงจังโดยเฉพาะการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ และ 6.การปฏิรูปจะไม่เกิดขึ้นเลยหากให้มีตำรวจมานั่งเป็นประธานหรือกรรมการในการทำแผนปฏิรูปฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
 
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิรูปตำรวจจะเป็นจริงได้ในเร็ววัน  หลังจากที่ประชาชนคนไทยต้องอดทนกับรัฐบาล คสช. ที่เข้ามาทำงานกว่า 3 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง  คนไทยส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตกันอย่างหวาดกลัว เป็นเบี้ยล่างให้กลุ่มอิทธิพลในเครื่องแบบ  เอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้งยัดข้อหา ค้าสำนวนคดี  บางคนต้องยอมส่งส่วยให้รีดไถ ผู้บริสุทธิ์มากมายต้องกลายเป็นแพะ  ครอบครัวล่มสลายจากการต่อสู้คดีความที่ไม่เป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจอีกต่อไป
 
อนึ่งองค์กรที่ลงชื่อในแถลงการณ์ประกอบไปด้วย 1.เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) 2.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 4.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 5.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 6.มูลนิธิเพื่อนหญิง 7.มูลนิธิผู้หญิง 8.เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ ภาคประขาชน 9.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) 10.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 11.เครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานแม่บ้านเนปาลในต่างแดนเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้น

Posted: 21 May 2017 12:46 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเนปาลเผยอัตราฆ่าตัวตายคนเนปาลสูงขึ้น 12 เท่าในรอบไม่กี่ปี และแรงงานข้ามชาติหญิงจากเนปาลโดยเฉพาะที่ทำงานแม่บ้านมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แรงงานข้ามชาติหญิงจากเนปาลโดยเฉพาะที่ทำงานแม่บ้านมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ที่มาภาพประกอบ: The Kathmandu Post

เว็บไซต์ Himalayan Times รายงานว่าจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเนปาล พบว่าจำนวนคดีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 เท่า ระหว่างปีงบประมาณ 2008/9 ถึง 2015/16 ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่จำนวนแรงงานเนปาลออกไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

ชาวเนปาลจำนวนมากต้องออกไปหางานยังต่างประเทศเนื่องจากตำแหน่งงานในประเทศมีค่าจ้างไม่มากพอ ปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่งความท้าทายหลายประการในการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากเนปาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปกป้องการแสวงประโยชน์และการกดขี่แรงงานอย่างกลุ่มแรงงานหญิง

ทั้งนี้แรงงานหญิงชาวเนปาลที่มีมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงานที่ออกไปทำงานต่างประเทศทั้งหมดของเนปาลที่ 3.6 ล้านคน ช่วงระยะเวลาระหว่างปีงบประมาณ 2008/9 ถึง 2015/16 ที่ส่วนใหญ่ไปทำอาชีพ 'แม่บ้าน' ซึ่งประเทศปลายทางที่สำคัญคือ มาเลเซีย (มีแรงงานหญิงจากเนปาลไปทำงานแม่บ้านร้อยละ 31) กาตาร์ (ร้อยละ 27) ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 21) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 12.5)

แรงงานแม่บ้านชาวเนปาลนิยมไปทำงานในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ส่วนใหญ่ผ่านทางอินเดียบังคลาเทศและศรีลังกา ประมาณการกันว่าปัจจุบันมีผู้หญิงชาวเนปาลกว่า 200,000 คน ทำงานบ้านอยู่ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย โดยรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเนปาล ยังชี้ให้เห็นว่าแรงงานทำงานหญิงจำนวนมากในภูมิภาคภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย อยู่ในภาวะถูกบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบ Kafala ที่นายจ้างมีอำนาจควบคุมคนงานอย่างเบ็ดเสร็จ และพวกเธอมักจะถูกทารุณและล่วงละเมิดทางเพศโดยนายจ้างเสมอ

อนึ่งก่อนหน้านี้มีคราวข่าวครึกโครมเกี่ยวกับชะตากรรมอันเลวร้ายที่แม่บ้านชาวเนปาลต้องเผชิญในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ในปี 2014 ทางการซาอุดิอาระเบียได้ตัดสินประหารชีวิตแม่บ้านชาวเนปาลรายหนึ่ง ด้วยการตัดศีรษะ จากความผิดฐานฆาตรกรรมเด็กชายวัย 2 ขวบ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยยื่นอุทธรณ์คำตัดสินจนถึงชั้นศาลฎีกา แต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ต่างมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ไม่ประสบความสำเร็จแม่บ้านคนนี้นับเป็นนักโทษประหารรายที่ 17 ของซาอุดิอาราเบียตั้งแต่ต้นปี 2014 โดยรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล (AI) ระบุว่า นักโทษในซาอุดิอาราเบียถูกประหารชีวิตปี 2011 จำนวน 82 ราย และปี 2013 มีทั้งสิ้น 78 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2010 ที่มีเพียง 27 รายทั้งนี้ ความผิดที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต ตามกฎหมายของซาอุดิอาราเบีย ซึ่งนำหลักคำสอนทางศาสนามาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วยการข่มขืน ฆาตรกรรม ละทิ้งศาสนา ปล้นทรัพย์ และค้ายาเสพติด

ในปี 2015 ทูตซาอุดิอาระเบียถูกกล่าวหาข่มขืนสองแม่บ้านชาวเนปาลวัย 30 ปี และ 50 ปี ที่บ้านของตนเองในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เหยื่อทั้งสองรายอ้างว่าพวกเธอถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและยังถูกล่วงละเมิดทางเพศจากทางครอบครัวนักการทูตรายนี้และชาวซาอุดิอาระเบียอีกหลายคน ด้านสถานทูตซาอุดิอาระเบียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและทางเจ้าหน้าที่อินเดียกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทูตรายนี้ได้รับประโยชน์จากความคุ้มกันทางการทูต และยังพักอยู่ในสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำอินเดีย ซึ่งตำรวจอินเดียได้ดำเนินคดีต่อนักการทูตรายนี้โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อด้วยความผิดฐานข่มขืน, มีเพศสัมพันธ์ผิดธรรมชาติ และการกักขังหน่วงเหนี่ยว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่องโหว่ของระบบ Touch id ใน SmartPhone และวิธีป้องกันที่ผู้บริโภคควรรับทราบ

Posted: 21 May 2017 12:22 AM PDT

ในยุคปัจจุบัน ที่สมาร์ทโฟนได้เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีแบบเก่าหลายต่อหลายอย่าง

สมาร์ทโฟน แค่เครื่องเดียวสามารถทำงานแทนหรือเข้าถึงสินค้าและบริการทุกอย่างในโลก เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ บัตรเครดิต ธนาคาร และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน

และในยุคที่ ซิมการ์ด=บัตรประชาชน

อีเมล์=ทะเบียนบ้าน และทั้งสองอย่างที่ว่ามาอยู่ในสมาร์ทโฟนทั้งคู่ อันตรายของการไม่รู้ว่าระบบมีช่องโหว่ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมควรตระหนักและรับรู้ว่ายุค"Internet of Thing"(อินเตอร์เน็ตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง)ใกล้เข้ามาถึงแล้ว และมันมีทั้งผลดีและผลเสีย เราควรรู้ทั้งสองด้านและหาทางป้องกันตัวเองก่อนที่จะรอให้คนอื่นหรือผู้ผลิตมาช่วยเหลือ

การเข้ารหัสในสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องสำคัญ สมาร์ทโฟนใน iOS และ Android ยุคแรกๆ ใช้การเข้ารหัสแบบ Passcode 4 หลัก 0001-9999

ความน่าจะเป็นของรหัสผ่าน คือ 1 ใน10,000

ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆตอนนี้ สามารถใส่รหัสได้ถึง6หลัก = 1ใน1,000,000 หรือถ้ายังไม่แข็งแรงมากพอ ก็สามารถเข้ารหัสแบบ ตัวอักษร+ตัวเลข+สัญลักษณ์ ซึ่งเท่ากับไม่มีความเป็นไปได้เลยในการเดา

แต่ทั้งหมดที่ว่ามา นั้นเป็นเพียงแค่รหัสของประตูที่ 1 ของการเข้าไปหน้าโฮมของสมาร์ทโฟน

เปรียบว่าสมาร์ทโฟนของเราเหมือน บ้าน ที่มีประตูอยู่ 2 บาน

บานที่ 1ต้องใส่รหัสถึงจะเข้าได้

บานที่ 2 ต้องใช้ลายนิ้วของเจ้าของบ้านเท่านั้นถึงจะเข้า และความเป็นไปได้ที่ลายนิ้วมือมนุษย์จะตรงกันคือ 1/50,000

ตัดประตูบานที่1ไปได้เลย เพราะแทบมองไม่เห็นโอกาสที่จะเดารหัสผ่านได้เลย

บานที่ 2 ระบบTouch ID มองเผินๆเหมือนจะเป็นประตูแข็งแรง  แต่ถ้าเราเอาความน่าจะเป็นของการเข้ารหัสแบบPasscode มาเทียบกับ การเข้ารหัสแบบTouch ID เราจะเห็นจุดอ่อน

คือ ระบบจะพังพินาศทันทีที่จะเจ้าของเครื่องหลับหรือหมดสติ หรือเมา หรือถูกบังคับทางกายภาพ "ลืมฉากผู้ร้ายบังคับเอารหัสตู้เซฟของพระเอกในหนัง Action ไปได้เลย  เพราะในโลกยุคนี้ ผู้ร้ายแค่เอาสมาร์ทโฟนที่มีระบบTouch ID ไปทาบกับนิ้วมือของพระเอกที่บังคับจับไว้

ก็สามารถเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างของพระเอก

เพราะมนุษย์มีแค่ 10 นิ้วมือ และอย่างน้อยหนึ่งในนั้นคือรหัสผ่าน เท่าเหลือความน่าจะเป็นของรหัส 1/10 จากโอกาส 5 ครั้ง ความน่าจะเป็นเหลือ 1/2 ซึ่งคนทั่วไปใช้นิ้วหัวแม่มือในการตั้งTouch ID และคนบนโลกส่วนใหญ่ ถนัดมือข้างขวา ผมยังไม่ได้บอกเลยด้วยซ้ำว่า สามารถใช้ได้ 5 นิ้วในการตั้ง Touch ID

เพราะจุดอ่อนของระบบคือการมีกุญแจอยู่ในร่างกายเจ้าของตลอดเวลาเพราะเป็นส่วนหนึ่งในร่างกาย กับสมาร์ทโฟนที่ในปัจจุบัน ก็เป็นส่วนหนึ่งในร่างกาย แต่อย่างที่ผมบอกในข้างต้น ว่าเปรียบสมาร์ทโฟนเป็นบ้านที่มีประตูทางเข้าสองบาน และวิธีแก้ไขจุดอ่อนของ Touch ID ก็ง่ายมาก แค่การมีการประกาศเตือน โดยให้รับรู้กันทั่วไปเหมือน โหมดเครื่องบิน ที่เวลาเราอยู่บนเครื่องบินหรือโรงพยาบาล เราก็แค่เปิดโหมดเครื่องบิน ในกรณีนี้ ผู้ผลิตก็แค่เพิ่มฟังก์ชั่นในโหมดสลีป หรือแยกโหมดต่างหากก็ได้ ที่คุณก็แค่เปิดโหมดที่หยุดการทำงานของ Touch ID ให้เหลือแต่ การเข้ารหัสแบบPasscode หรือไม่ต้องมีโหมดอะไรด้วยซ้ำแค่คุณรีสตาร์ท สมาร์ทโฟนของคุณ ในตอนก่อนนอน ก่อนเอาไปปาร์ตี้ที่เสี่ยงที่จะเมา ก่อนออกไปพบกับเพื่อนใหม่ทางTinder หรือไม่คุณก็แค่ปิด Touch ID ก่อนเวลาที่คุณต้องออกไปข้างนอกแค่นั้นเอง 

ผมลังเลอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีไหม เพราะมันเหมือนเป็นดาบสองคม แต่ผมก็ตัดสินใจว่าขนาดตัวผมที่เป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีโปรไฟล์อะไรมากมาย ยังเห็นถึงช่องโหว่ของระบบ มันอาจจะมีคนที่รู้ก่อนผมและกำลังใช้ประโยชน์อย่างลับๆ กับเรื่องแบบนี้ก็ได้ และในปัจจุบัน มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ransonwere ก็แพร่กระจายไปทั่วโลก ผมจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่คนทั่วไปจะได้ตระหนักถึงอันตรายจากการไม่ระวังตัวในโลกยุคนี้ ที่ขนาดมีไวรัสเรียกค่าไถ่เป็นภาษาไทย   

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ในโลกสมัยใหม่ศาสนายังมีคุณค่าอะไร

Posted: 20 May 2017 11:49 PM PDT


 

ในเวทีเสวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าว (ประมาณ)ว่า ศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตคน แต่ในโลกสมัยใหม่ก็มีคุณค่าอื่นๆ ให้เลือกหลากหลาย คุณค่าบางอย่างอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าศาสนา และศาสนาย่อมต้องเผชิญกับการท้าทายของคุณค่าที่หลากหลาย แต่ปัญหาของศาสนาในปัจจุบันนี้คือการที่ศาสนาไม่สามารถปรับตัวและพยายามเข้าไปแข่งกับคุณค่าอื่นๆ เพราะศาสนาถูกอุปถัมภ์และถูกควบคุมโดยรัฐจนกลายเป็นศาสนาที่แข็งทื่อ ไร้อารมณ์ความรู้สึก

ถ้าเราติดตามอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาของอาจารย์นิธิ จะเห็นว่าสิ่งที่เขาพยายามชี้ให้เห็นคือ เราอาจจะเรียกร้องให้มีกฎหมายหรือระบบการปกครองที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับหลักประกันสันติภาพ ศีลธรรมยังมีความจำเป็น เพราะ "ศีลธรรมคือการนึกถึงคนอื่น" ถ้าเรากระทำสิ่งต่างๆ อย่างนึกถึงคนอื่นมากขึ้น ย่อมทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมก็ไม่ได้มาจากศาสนาเพียงอย่างเดียว หรือไม่ได้มีเพียง "ศีลธรรมแบบศาสนา" (religious morality) เท่านั้น ยังมี "ศีลธรรมแบบโลกวิสัย" (secular morality) ที่เป็นอิสระจากศาสนาและเป็นคุณค่าพื้นฐานในโลกสมัยใหม่

ปัญหาของบ้านเราคือ ระบบการศึกษาของรัฐเน้นการปลูกฝังศีลธรรมแบบศาสนามาตั้งแต่สมัย ร.5 โดยนำศีลธรรมในพุทธศาสนาที่ตีความว่าเป็น "โลกียธรรม" แล้วนำมาเป็น "ศีลธรรมทางโลก" สำหรับปลูกฝังอบรมประชาชนผ่านหลักสูตรวิชาศีลธรรมในระบบการศึกษาของรัฐ

แต่โลกียธรรมอย่างเช่น "คิหิปฏิบัติ" เป็นเรื่องของความสันพันธ์ระหว่างบุคคลตามสถานภาพสูง ต่ำทางสังคมในแบบที่ผู้มีสถานะสูงกว่า (เช่นพ่อ แม่, ครูอาจารย์, เจ้านาย, พระสงฆ์) เป็นผู้มี "อุปการคุณ" ส่วนผู้มีสถานะต่ำกว่า (เช่นลูก, ศิษย์, บ่าว, ฆราวาส) มีหน้าที่ "ตอบแทนบุญคุณ" นอกจากนี้ยังถือว่า "ผู้ปกครอง" และพุทธศาสนา มีบุญคุณต่อผู้ใต้ปกครองหรือชนชาติไทย อันเป็นที่มาของความคิดเรื่อง "ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" ในปัจจุบัน

แม้โดยหลักการแล้วคิหิปฏิบัติจะเป็นเรื่องของศีลธรรมแบบนึกถึงคนอื่น แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ตามสถานภาพสูง ต่ำทางสังคมเช่นนี้ ข้อเรียกร้องทางศีลธรรมมักเรียกร้องเอากับผู้มีสถานะต่ำกว่าเสมอ เช่นเรียกร้องให้เชื่อฟัง กตัญญู ภักดีต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้านาย พระสงฆ์ ผู้ปกครอง คำประณามทางศีลธรรมที่มีความหมายเป็น "ความผิดบาป" อย่างเช่น "เลี้ยงไม่เชื่อง" "เนรคุณ" "อกตัญญู" "ไม่จงรักภักดี" ฯลฯ จึงตกอยู่บนบ่าของผู้มีสถานะต่ำกว่าทางสังคมเสมอไป ขณะที่เรื่อง "อุปการคุณ" ของผู้มีสถานะสูงกว่าถือเป็นเรื่องดีงามที่ไม่ถูกตั้งคำถามหรือไม่มีใครเถียง และเป็นเรื่องดีงามที่ถูกอ้างเพื่อให้ความชอบธรรมในการตีกรอบ บังคับ ลงโทษคนที่มีสถานะต่ำกว่า

ยิ่งกว่านั้น ชนชั้นปกครอง, นักศีลธรรม ทั้งพระและฆราวาสมักอ้างว่าศีลธรรมทางโลกตามหลักพุทธศาสนาดังกล่าวเน้นให้คนรู้ "หน้าที่" จึงดีกว่าวิถีของตะวันตกที่เน้น "สิทธิ" ที่จะได้จะเอาเพื่อตนเอง หน้าที่จึงเป็นเรื่องของการนึกถึงคนอื่นและสังคม แต่สิทธิเป็นเรื่องของการนึกถึงตนเองก่อนคนอื่นและสังคม เราจึงเห็นชนชั้นปกครองและนักศีลธรรมบ่นกันอยู่เสมอๆ ว่า "คนทุกวันนี้เรียกร้องแต่สิทธิแต่ไม่รู้จักทำหน้าที่ของตนเอง" (ดังนั้นพวกที่บ่นเช่นนี้จึงไม่เป็นอันทำหน้าที่ของตนเอง ต้องเสียสละเข้ามายึดอำนาจรัฐทำหน้าที่แทนคนอื่นมาตลอด?)

นี่เป็นการเข้าใจเรื่อง "สิทธิ" อย่างผิดๆ เพราะสิทธิกับหน้าที่ไม่ได้แยกขาดจากกัน เนื่องจากไอเดียเรื่องสิทธิในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ถือว่า สิทธิเป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งที่มีได้ภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ให้หลักประกันสิทธิและกำหนดว่าพลเมืองทุกคนมีหน้าที่เคารพสิทธิของกันและกัน การละเมิดสิทธิของคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่ผิด หลักการนี้มาจากปรัชญาศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่ยืนยันว่า "ศีลธรรมคือการนึกถึงคนอื่นในฐานะคนเท่ากัน" ความสัมพันธ์ทางสิทธิจึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะคนเท่ากัน

ถ้าใช้กรอบคิดเรื่อง "หน้าที่" ตามสถานภาพทางสังคมมาจับ การแสดงออกแบบ "เนติวิทย์" (เป็นต้น) ก็ย่อมผิดเสมอ เพราะไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อฟังและแสดงความกตัญญูรู้คุณครูอาจารย์,สถาบันการศึกษา,ชนชั้นปกครอง แต่ถ้าใช้กรอบคิดเรื่อง "สิทธิ" ซึ่งเป็นหลักความสัมพันธ์แบบคนเสมอกัน การแสดงออกแบบเนติวิทย์ย่อมเป็นทั้ง "สิทธิอันชอบธรรม" และเป็น "ความรับผิดชอบ" ในการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้เดินไปตามหลักการที่ถูกต้องและก้าวหน้าขึ้น

การแยกระหว่าง religious morality กับ secular morality ในสังคมสมัยใหม่ทำให้เราเห็น "ขอบเขต" ชัดเจนขึ้นว่า ศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องของความดีส่วนตัว เช่น เมื่อนายขาวกลัวตกนรกจึงไม่ทำชั่ว และอยากขึ้นสวรรค์,อยากบรรลุนิพาน หรืออยากมีชีวิตที่ดีในแง่อื่นๆ จึงทำความดี ขณะเดียวกันศาสนาก็เป็นเรื่องของ "ความดีเฉพาะ" ของสังคมหนึ่งๆ เพราะเป็นรากฐานของประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ เช่นสังคมฮินดู, มุสลิม, พุทธ, คริสต์ ที่มีความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมต่างกัน สรุปว่าขอบเขตของศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องของความดีเฉพาะของบุคคลและสังคมหนึ่งๆ

แต่ secular morality เป็นเรื่องของ "ความถูกต้อง" อันเป็นหลักการสากล หมายถึง หลักการทั่วไปที่ใช้กับทุกคนไม่ว่าจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา จะมีชาติพันธุ์ เพศ ผิว ภาษา วัฒนธรรมอะไรก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่รองรับความเป็นไปได้ของความแตกต่างหลากหลาย

เช่นหลักสิทธิและเสรีภาพ ก็คือหลักการปกป้องสิทธิของแต่ละคนที่จะเชื่อในความดีส่วนตัวตามกรอบศีลธรรมของศาสนาใดๆ หรือความดีชนิดที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา และปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชน/สังคมที่นับถือศาสนานั้นๆ เพราะในรัฐหนึ่งๆ มีหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม โดยการยึดหลักสิทธิและเสรีภาพจึงไม่อนุญาตให้นำหลักความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาบัญญัติกฎหมาย เพราะอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเป็น "อำนาจสาธารณะ" ซึ่งไม่ใช่อำนาจที่ตอบสนองความเชื่อเฉพาะของศาสนาหนึ่งๆ แต่เป็นอำนาจที่ต้องปกป้องหลักการสากลที่เป็นธรรมกับทุกคน ทุกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมเท่าเทียมกัน

แล้วศีลธรรมแบบศาสนามีประโยชน์ต่อรัฐอย่างไร? มักมีคนพูดเสมอว่า "ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี" แน่นอนรัฐย่อมต้องการพลเมืองที่เป็นคนดี อย่างน้อยก็เพื่อความสงบสุข ซึ่งสะดวกต่อการปกครอง ข้ออ้างนี้มักใช้เป็นเหตุผลว่ารัฐควรอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา

แต่การเป็นคนดีแบบศาสนาที่มีประโยชน์ต่อรัฐในความหมายดังกล่าว ก็ดูเหมือนจะเป็นคนดีที่เชื่องหรือเชื่อฟังรัฐมากกว่า หรือเป็นคนดีที่ไม่กระทบต่ออำนาจรัฐ เช่นคนดีที่ไม่ทำชั่วเพราะกลัวตกนรก ทำดีเพราะอยากขึ้นสวรรค์ ปฏิบัติธรรมเพื่อจิตสงบ,บรรลุนิพพาน ฯลฯ แต่คนดีแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น "พลเมืองดี" ที่มีจิตสำนึกพิทักษ์สิทธิของตนเอง เคารพสิทธิคนอื่น พิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนรวม ตรวจอบอำนาจรัฐ ฯลฯ

ฉะนั้น คนดีแบบศาสนาอาจดีในแง่ที่ช่วยให้รัฐปกครองง่าย (ตราบที่ศาสนาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐและกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อฟังรัฐ) แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองดีที่ตื่นตัวพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคล,สิทธิทางการเมือง, ผลประโยชน์ส่วนรวม

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อให้ศาสนาเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นเรื่องของสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนทางศาสนาหนึ่งๆ ได้จริง เพื่อไม่ให้ศาสนาตกเป็นเครื่องมือของรัฐในการครอบงำประชาชน และเพื่อให้รัฐสามารถรักษาหลักสิทธิและเสรีภาพให้เป็น "กติกากลาง" ที่เป็นธรรมกับคนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนาอย่างแท้จริงจึงต้องแยกศาสนาจากรัฐ

เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ หรือปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน รัฐก็ไม่ได้มีหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมแบบศาสนาอีกต่อไป แต่มีหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมแบบโลกวิสัย ซึ่งมีแกนหลักอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อันเป็นสำนึกที่ว่าเรามีหน้าที่ทำตามหลักการที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และ/หรือเพื่อเคารพตัวเองและคนอื่นเสมอกันในฐานะที่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ มีเหตุผล และศักดิ์ศรีในตัวเองเท่าเทียมกัน

ศีลธรรมแบบโลกวิสัย จึงเป็นศีลธรรมแบบนึกถึงตนเองและคนอื่นในฐานะคนเสมอกันที่ควรมีสิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ เท่าเทียมกัน มีอิสรภาพหรือมีอำนาจกำหนดตัวเองในการใช้ความคิด ความเข้าใจของตนเองในการอธิบายโลกและชีวิต การให้ความหมายของคุณค่า, ความถูก ผิดทางศีลธรรม และอื่นๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมทางสังคมการเมือง

ศาสนาจะมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่ได้ อันดับแรกเลยสถาบันศาสนาต่างๆ ต้องอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อหลักความเป็นกลาง,ความเสมอภาค และเสรีภาพทางศาสนาของรัฐประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เพราะต่อให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆ อ้างว่าศาสนาของตนมีหลักคำสอนที่สนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าหลักคำสอนที่อ้างนั้นไม่สามารถนำมาใช้กับสถาบันศาสนาให้ได้ก่อน คือต้องทำให้สถาบันศาสนาคำรพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคให้ได้ก่อน

จะทำได้เช่นนั้น ก็ต่อเมื่อมีการอ้างหลักการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการแยกศาสนาจากรัฐที่จะทำให้สถาบันศาสนาต่างๆ อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งเคารพหลักความเป็นกลาง,ความเสมอภาค และเสรีภาพทางศาสนาได้จริง

จากนั้น ก็สมเหตุสมผลที่ศาสนาต่างๆ จะเสนอศีลธรรมแบบนึกถึงคนอื่นในฐานะคนเสมอกันที่ไม่ขัดแย้งกับคุณค่าพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ และเสนอมิติทางจิตวิญญาณอันเป็น "อารมณ์ทางศาสนา" เช่นความรัก ปัญญากรุณาที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันภายใต้ความสัมพันธ์แบบไม่ใช่ทางการ แต่เป็น "ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์" ที่มีความรู้สึกเป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อกันจากหัวใจ ซึ่งเป็นมิติด้านจิตวิญญาณที่สนับสนุนขันติธรรม ภราดรภาพ และสันติภาพที่สังคมสมัยใหม่ต้องการ

ไม่เช่นนั้น ศาสนาก็จะกลายเป็นภาระและเป็นปัญหามากกว่าจะมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่     

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: กฟผ.พยากรณ์พลาด! ไม่เกิดพีคไฟในรอบ 7 ปี แต่ยังดันโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

Posted: 20 May 2017 11:08 PM PDT

รายงานพิเศษจาก TCIJ กฟผ. ยอมรับพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุดผิดพลาด ปี 2560 ไม่เกิดพีคครั้งแรกในรอบ 7 ปี สวนทางที่เคยพยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดพีคสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เตรียมปรับยุทธศาสตร์องค์กรตั้งเป้าขึ้นผู้นำพลังงานทางเลือก เสนอปรับแผน PDP 2015 เพิ่มพลังงานทางเลือกของ กฟผ. เอง 2,000 เมกะวัตต์ แต่ทำไมยังย้ำหนักแน่นเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา?

<--break- />

กฟผ.คาดการณ์ผิดพลาด - 2560 ไม่เกิดพีคไฟฟ้าครั้งแรกในรอบ 7 ปี

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้มีการประเมินข้อมูลใหม่และเชื่อว่าคงจะไม่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ 'พีค' ในปี 2560 นี้แล้ว หลังผ่านพ้นช่วงฤดูร้อนและระยะเวลาที่ต้องติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษ คือช่วงเดือน เม.ย.-15พ.ค. 2560 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับจากปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ที่ไม่มีพีคไฟฟ้าเกิดขึ้น (โดยค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดต้องสูงกว่าปีก่อนหน้าถึงจะเรียกว่ามีการเกิดพีคได้) ทั้งนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2560 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เวลา 14.20 น. ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.คาดว่าจะเป็นพีคของปีนี้ แต่ถือว่าต่ำกว่าสถิติพีคไฟฟ้าในปี 2559 ที่ 30,972.73 เมกะวัตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. ยังระบุว่าการที่ประเทศไทยไม่เกิดพีคในปีนี้จะเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศที่จะช่วยชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และเห็นว่าประชาชนหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่การตั้งสมมติฐานพีคไว้ในระดับสูง รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เข้าระบบสูงกว่าคาดการณ์ จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหรือไม่นั้นต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาต้นทุนในภาพรวม [1]  ทั้งนี้ กฟผ. เคยพยากรณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ว่าจะเกิดพีคสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 32,059 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา [2]

 

ปรับยุทธศาสตร์เป็นผู้นำพลังงานทางเลือก

ก่อนหน้าที่ตัวเลขพีคไฟฟ้าจะออกมาแบบสวนทางจากการพยากรณ์ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อเดือน เม.ย. 2560 นายอารีพงศ์​ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. ได้ออกมาระบุว่า กฟผ. เตรียมปรับยุทธศาสตร์โครงสร้างองค์กรใหม่รองรับการดำเนินงานในอนาคต โดยจะประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการปรับโครงสร้าง เนื่องจากสถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น จึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเป็นการรักษาระดับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ให้ใกล้เคียง 50% ของการผลิตทั้งประเทศต่อไป ซึ่งทิศทางพลังงานทางเลือกของ กฟผ. จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือกของไทย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้พลังงานทางเลือกมีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การลงทุนด้านแหล่งกักเก็บพลังงาน การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซล่าร์เซลล์ลอยน้ำ) และที่ผ่านมา กฟผ. เคยเสนอกระทรวงพลังงานจะผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก 2,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ กฟผ. ไปจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อเสนอกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้มีการเสนอให้ปรับ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวประเทศ 21 ปี (พ.ศ.2558-2579) หรือแผน PDP 2015 โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนในแต่ละแนวทางในกรณีต่าง ๆ เพื่อดูว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมายของแผน PDP 2015 อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนการพัฒนาพลังงานทางเลือก ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องดูว่าจะปรับในราย ละเอียดของแผนบางส่วนหรือปรับแผน PDP 2015 ใหม่ทั้งหมด [3]

เปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ทดลองพลังงานทางเลือก 

 

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย โดยในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย ที่มาภาพ: กฟผ.

เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2560 กฟผ. ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกอย่างเป็นทางการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่ ซึ่ง กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่า มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป โดยในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย [5]

 

ข้อวิจารณ์เรื่อง 'ตัวเลข' และการ 'พยากรณ์' ด้านพลังงานไฟฟ้า

จากการสืบค้นของ TCIJ พบว่าการพยากรณ์พีคล่าสุดของ กฟผ. ปี 2560 ที่ 32,059 เมกะวัตต์ นั้นเป็นตัวเลขพยากรณ์ที่ไม่ตรงกับแผน PDP 2015 ด้วยเช่นกัน โดยจากแผน PDP 2015 ได้พยากรณ์พีคของปี 2560 (กรณีฐาน) ไว้ที่ 30,303 เมกะวัตต์ [6] ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วตัวเลขจากแผน PDP 2015 ถือว่าใกล้เคียงกับพีคเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ และยังพบว่าก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้บันทึกไว้ครั้งแรกว่าปี 2559 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 แต่จากนั้น กฟผ. ได้เปลี่ยนตัวเลขพีค ในปี 2559 จาก 29,618.8 เมกะวัตต์ มาเป็น 30,972.73 เมกะวัตต์ จากข้อมูลเมื่อเดือน พ.ค. 2560 [7] โดยเหตุผลที่ กฟผ. ให้ไว้ในการปรับเปลี่ยนตัวเลขพีคในปี 2559 และการพยากรณ์ค่าพีคที่ 32,059 เมกะวัตต์ ว่าเนื่องจากมีการนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ที่มีสูงถึง 6,673 เมกะวัตต์ เข้ามารวมอยู่ด้วย จากที่ผ่านมาไม่สามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อมูลมายังภาครัฐ [8]

แม้ว่าการพยากรณ์ค่าพีคจากแผน PDP 2015 จะใกล้เคียงกับค่าจริงที่เกิดขึ้นในปี 2560 นี้ แต่กระนั้น ปีก่อนหน้านั้นก็มีความคาดเคลื่อนสูง และการพยากรณ์ของแผน PDP รวมทั้งของ กฟผ. เองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด อาทิเช่น การวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าผิดพลาดซ้ำซากและการกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น ส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง, การพยากรณ์โหลด (Load) จะใช้ระบบ End Use Model อยู่ (อ่านเพิ่มเติม 'จับตา: Load Forecast คืออะไร') ทำให้ผลการพยากรณ์ในปีท้าย ๆ มักจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เมื่อมองในความเป็นจริงตามสถิติที่ผ่านมา พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเป็นแบบเชิงเส้นตรง (Linear) มาตลอด ซึ่งการพยากรณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงเกินจริงโดยเฉพาะปีท้าย ๆ ของแผน PDP ตัวอย่างเช่นในแผน PDP 2015 พบว่าปีสุดท้ายของแผนคือปี 2579 พยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (กรณีฐาน) ไว้สูงถึง 49,655 เมกะวัตต์ แม้จะมีการปรับลดมาแล้วจากแผน PDP 2010 ที่พยากรณ์ ณ ปี 2573 ไว้ถึงสูงถึง 52,256 เมกะวัตต์เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม 'เกาะติด PDP 2015: ความต้องการไฟฟ้าลดฮวบ ดันแผนอนุรักษ์พลังงาน') ,นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับ 'การจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า' ที่ไม่ใช่เรื่องการพยากรณ์จากความต้องการปกติ ต้องมีมาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าซึ่งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในการวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้า และประเด็นการวางแผนซ่อมโรงไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนและการโหมนำเสนอข่าวของ กฟผ.ทำให้ดูเหมือนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบ ไม่เพียงพอสำหรับช่วงที่มีความต้องการสูงสุดจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าช่วงความต้องการสูงสุดประจำปีจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน เป็นต้น

 

ประยุทธ์จี้เร่งพลังงานทางเลือก- แต่ยังเดินหน้า 'โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา' ?

ทั้งนี้พบว่าจากการดำเนินการ แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558–2579 (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) ในปี 2559 ที่ผ่านมาสามารถประหยัดพลังงานได้อยู่ที่ 758 พันตันเทียบเท่าน้ำมัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 885 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือทำได้เพียง 91% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง หลายโครงการประหยัดพลังงานยังอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึง การผลิตไฟ้ฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยปี 2559 ภาครัฐมีภาระผูกพันการรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้น 9,265 เมกะวัตต์ คิดเป็น 50% ของ แผนพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ที่กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกเป็น 20% หรือ 19,634.4 เมกะวัตต์ ในปี 2579 แต่การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อยู่ที่ 6,720 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่มาปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่ากำลังผลิตติดตั้ง  ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณให้กระทรวงพลังงาน ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกเพิ่มเป็น 40% จากเดิมกำหนดไว้ 30% ของแผน PDP  เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานทางเลือก และลดปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล [9]

แต่จากท่าทีของผู้ว่า กฟผ. คนปัจจุบัน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ที่ออกมาให้ความเห็นส่วนตัวต่อสาธารณะว่า การดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้มีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP 2015 เป็น 40% ซึ่งมากกว่าจากแผน PDP 2015 เดิม การปรับแผน PDP 2015 ที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นการปรับใหญ่ซึ่งจะต้องมีการรวมแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. เข้าไปอยู่ในแผน PDP 2015 เพื่อให้ กฟผ.สามารถที่จะดำเนินการลงทุนพลังงานหมุนเวียนได้ตามแผน ปัจจุบันแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. อยู่ในระหว่างการจัดทำโครงการในรายละเอียดที่ชัดเจน ก่อนนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้ง หลังจากที่มีการนำเสนอแผนต่อกระทรวงพลังงานไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา แต่ถูกตีกลับให้มาทบทวนรายละเอียดใหม่ ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ได้เสนอกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนตามแผน ในส่วนของ กฟผ. จะเน้นการลงทุนที่มีความเสถียร (Firm) โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และระบบ Hybrid เพื่อไม่ต้องลงทุนโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อ back up ระบบอีกให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยจะเริ่มต้นดำเนินการลงทุนที่ จ.ลพบุรี และ จ.ชัยภูมิ เป็นโครงการนำร่อง ผู้ว่า กฟผ. ยังระบุว่าการลงทุนพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. จะดำเนินการควบคู่ไปกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน  โดยยังยืนยันความจำเป็นที่ กฟผ. จะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของภาคใต้ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผู้ว่า กฟผ. มองว่าในอนาคตช่วงปลายแผน PDP 2015 หาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระบบ Energy Storage มีต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กฟผ. ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ที่ภาคใต้จากเดิมที่ต้องลงทุน 4 โรงจะเหลือเพียง 3 โรงเท่านั้น [10]

ปัจจุบันมีการกำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกของ กฟผ. อยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งหากมีการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกของ กฟผ.เป็น 2,000 เมกะวัตต์ จะคิดเป็นสัดส่วน 10% ของพลังงานทางเลือกในแผน PDP 2015 ที่ 19,600 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ส่วนที่เหลือ 90% เป็นการลงทุนพลังงานทางเลือกของภาคเอกชน  ผู้ว่า กฟผ. ยังย้ำว่า กฟผ.คงไม่สามารถไปแข่งขันกับภาคเอกชนตามที่มีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ [11] ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา กฟผ. มักจะให้มุมมอง 'แง่ลบ' ต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้พลังงานถ่านหิน โดยทุกครั้งที่ฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินพูดถึงพลังงานทางเลือก อื่น ๆ กฟผ.ก็จะโต้ว่าพลังงานทางเลือกยังไม่สามารถผลิตและส่งไฟฟ้าตามความต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ก็ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุนค่าระบบและอุปกรณ์ที่ยังสูง และอ้างว่าหากมีพลังงานทางเลือกเข้าสู่ระบบมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่จะต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: สถานะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย (ต.ค.2559)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เรืองไกร' เตรียมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ 'อรรชกา' แจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จหรือไม่

Posted: 20 May 2017 10:35 PM PDT

'เรืองไกร' เตรียมยื่นตรวจสอบ 'อรรชกา สีบุญเรือง' แจ้งทรัพย์สินมีการให้กู้ยืมแก่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ตนตรวจสอบไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่าเป็นการแจ้งเท็จหรือไม่ ชี้ต้องเทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ 'เสธ.สนั่น'

 
 
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ  TV24)
 
21 พ.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจากการติดตามตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า กรณีของ นางอรรชกา สีบุญเรือง ที่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินในตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวม 3 ครั้ง คือ เมื่อรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม เมื่อพ้นจากตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และเมื่อรับตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พบว่ามีการแสดงรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท ไว้ด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวต้องมีนางอรรชกา แสดงไว้เป็นเจ้าหนี้ในงบการเงินด้วยยอดเงินที่เท่ากันไว้ด้วย
 
นายเรื่องไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเพื่อยืนยันยอดจากข้อมูลของบริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด ที่ขอมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรากฏว่าไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่ามีเงินกู้ยืมจากนางอรรชกา แต่อย่างใด โดยงบการเงินตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2559 ปรากฏว่า มีนางฉฎา สีบุญเรือง เป็นกรรมการเพียงคนเดียว และเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด จากจำนวน 500,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ยกเว้นเพียง 2 หุ้น ที่เป็นบุคคลอื่นคนละ 1 หุ้น
 
"จากข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน จึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไปว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินของนางอรรชกา ต่อ ป.ป.ช.ว่ามีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท แต่ในงบการเงินของบริษัทดังกล่าวไม่มีเงินดังกล่าวที่กู้ยืมนั้น จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ทั้งนี้ เทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ มาก่อนแล้ว" นายเรื่องไกร กล่าว
 
ทั้งนี้ จึงจะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการยื่นบัญชีเงินให้กู้ยืมของนางอรรชกาว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ พร้อมทั้งทวงถามเรื่องที่ร้องนายกฯ กับ 2 รมต.ด้วยว่าดำเนินการแล้วหรือไม่ โดยจะไปยื่นหนังสือในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) เวลา 10.00 น.ที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชง ครม.พิจารณา 'คนจีนโพ้นทะเล-นักเรียนไร้สถานะ' เข้ากองทุนคืนสิทธิรักษา

Posted: 20 May 2017 09:52 PM PDT

เครือข่ายชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ยื่นหนังสือ "นพ.ปิยะสกล" ขอให้เร่งรัดเสนอ ครม.ขยายสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานแก่กลุ่มคนจีนโพ้นทะเล 3.8 หมื่นคนและเด็กนักเรียนรหัส G อีก 8.9 หมื่นคน ชี้ ครม.เคยมีมติให้ตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

 
 
21 พ.ค. 2560 นายสุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้เร่งรัดการนำเรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กรณีคนจีนโพ้นทะเล และเด็กนักเรียนรหัส G เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
 
นายสุมิตร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 20 เม.ย. 2558 เคยมีมติเห็นชอบการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมจำนวน 2.08 แสนคน
 
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่ตกหล่นคือคนจีนโพ้นทะเล 3.8 หมื่นคน และเด็กนักเรียนรหัส G อีก 8.9 หมื่นคนที่ยังไม่เข้าถึงสิทธิ ซึ่งในครั้งนั้น ครม.มีมติให้ สธ. กระทรวงมหาดไทย  และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
 
นายสุมิตร กล่าวอีกว่า หลังจากวันที่มีมติ ครม.ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานเกือบ 3 ปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากหน่วยงานภายใน สธ.ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี สธ. แม้วันที่ 19 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา สธ.เคยแถลงข่าวว่าจะเร่งพิจารณาบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ซึ่งหมายถึงกลุ่มบุคคล 2 กลุ่มนี้ และให้นำเสนอ ครม.ในโอกาสต่อไป แต่ปรากฏว่าผ่านไปอีก 5 เดือนมานี้ก็ยังไม่ได้เร่งดำเนินการแต่อย่างใด
 
ด้วยเหตุนี้ ภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้มายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี สธ. เพื่อเรียกร้องให้ 1.เร่งรัดหน่วยงานภายในของ สธ.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม ครม.โดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่มีเลขประจำตัว 13 หลักในระบบทะเบียนราษฎร์ชัดเจนอยู่แล้ว และ 2.เร่งดำเนินการให้สิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กนักเรียนรหัส G
 
"เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ ความเจ็บป่วยมันเกิดขึ้นทุกวันและเลือกไม่ได้ ถ้าดูแลสุขภาพให้กับกลุ่มนี้ก็จะเป็นการป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะแนวชายแดน หากจัดการด้านสาธารณสุขไม่ดีก็อาจกระจายไปสู่คนพื้นราบได้ ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายของงบเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อคนกลุ่มนี้มารับการรักษา โรงพยาบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ มันก็จะเป็นหนี้สูญ เป็นภาระของโรงพยาบาล ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีเร่งสั่งการอย่างไรก็ได้เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเร็ว" นายสุมิตร กล่าว 
 
นายสุมิตร กล่าวอีกว่าหลังจากยื่นหนังสือแล้ว ทางรัฐมนตรี สธ.ได้ให้คำตอบว่าจะเร่งพิจารณากลุ่มที่มีความพร้อม ซึ่งก็คือกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล แต่ในส่วนของเด็กนักเรียนรหัส G นั้น ขอให้ไปยื่นหนังสือที่กรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย หาก 2 หน่วยงานนี้ทำงานชัดทาง สธ.ก็ไม่มีปัญหา ดังนั้นทางภาคีเครือข่ายฯ จึงเตรียมจะไปยื่นหนังสือให้กรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนมูลฟ้อง บ.ไทยรุ่งเรือง ฟ้องชาวบ้าน 22 พ.ค. นี้

Posted: 20 May 2017 09:18 PM PDT

ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่บริษัท ไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสกลนคร ยื่นฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน 20 คน 22 พ.ค. นี้

          
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่าในวันที่ 22 พ.ค. 2560 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่บริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสกลนคร ได้ยื่นฟ้องร้องนางสาวเดือนเพ็ญ สุดไชยา และพวกรวม 20 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กรณีลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายก อบต.อุ่มจาน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ และยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เพื่อคัดค้านโครงการฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559
          
บริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด ได้มีโครงการจะสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 12,500 ตันในระยะแรก และขยายเป็นเป็น 40,000 ตันอ้อยต่อวันในระยะที่สอง นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันยังต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ในระยะแรก และขยายเป็น 114 เมกะวัตต์ระยะสอง โดยที่ตั้งโครงการอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอูน ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับ อ.เมือง จ.สกลนคร และอยู่คนละฝั่งน้ำอูนกับ ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม ปัจจุบันรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการทั้งสองไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในการพิจารณารอบแรก
          
อนึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 ที่ผ่านผู้ถูกยื่นฟ้องทั้ง 20 คนได้เข้ายื่นคำร้องขอความช่วยเหลือทางคดีและค่าใช้จ่ายจากกองทุนยุติธรรม ณ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสกลนคร และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ
          
ทั้งนี้ในวันที่ 21 พ.ค. 2560 นี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีกำหนดจะเดินทางมาเยี่ยมเยือนพบปะกับผู้ถูกฟ้องทั้ง 20 คนและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือตามหลักการคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนต่อไป เพราะกรณีนี้กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้ยื่นร้องให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโครงการดังกล่าวและทาง กสม. ซึ่งอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้จัดเวทีตรวจสอบไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการตรวจสอบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น