โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วงถก 3 พฤษภา ย้ำต้องวิจารณ์ตนเอง ยอมรับความผิดพลาด เพื่อผลักดันขบวนการประชาธิปไตย

Posted: 20 May 2017 01:00 PM PDT

วงเสวนา มองย้อน 3 เหตุการณ์เดือนพฤษภา หมอสันต์เผย หลัง พ.ค.35 ทหารแทบไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกมาเดินตลาด ด้าน 'รัฐพล-อนุธีร์' เห็นพ้องย้ำต้องวิจารณ์พวกกันเอง ยอมรับความผิดพลาดระหว่างกัน เพื่อผลักดันขบวนการประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

20 พ.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "มองย้อน 3 เหตุการณ์เดือนพฤษภา มองไปข้างหน้าอนาคตสังคมไทย" โดยมีร่วมเสวนาโดย ผู้อยู่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 3 รุ่น ประกอบด้วย พฤษภา 2535 โดย นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย พฤษภา 2553 โดย อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พ.ศ. 2552-2553 และ พฤษภา 2557 โดย รัฐพล ศุภโสภณ อดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

ยึดที่หลักการ ไม่ใช่ตัวบุคคล

รัฐพล กล่าวถึงสาเหตุที่ตนออกมาต่อต้านการนิรโทษกรรม แบบเหมาเข่ง รวมทั้งการรัฐประหาร ว่า เนื่องจากเพื่อนตนมีหลายหลายกลุ่ม ทำให้มองภาพรวมมากขึ้น มีการทบทวนตนเอง ส่วนที่ที่พวกเรามีจุดร่วมกันคือเรื่องของประชาธิปไตย ภายใต้หลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง อีกทั้งเรามีบทเรียนจากการรัฐประหารปี 49  โดยสิ่งที่นักศึกษายึดถือคือเราไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคลว่าเป็นใคร เช่น ถ้าพรรคเพื่อไทยทำผิด นั้น ไม่ได้ผิดแค่รัฐธรรมนูญ แต่ผิดในแง่หลักการ รวมทั้งหักหลังคนเลือกเข้ามา ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งอีกครั้ง 2 ก.พ. 57 ตนก็ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย ดังนั้นคิดว่าไม่ใช่ว่าต้องง้อพรรคเพื่อไทย แต่ต้องสั่งสอน นี่คือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนถือชะตาคุณอยู่

หลัง พ.ค.35 ทหารแทบไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกมาเดินตลาด

สันต์ กล่าวว่า ชาวไร่ชาวนา ตื่นตัวมานานแล้ว แต่เขาถูกกดไว้ แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ชาวไร่ชาวนาก็ออกมาต่อต้านการกดขี่ หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 นักศึกษา ได้ออกไปชนบท ทำให้ชาวไร่ชาวนาตื่นตัว แต่ภายหลังเกิดปรากฏการณ์ขวาพิฆาตรซ้าย ทำให้ลดการเคลื่อนไหวไป
 
สันต์ กล่าวถึงวาทกรรมโง่จนเจ็ บด้วยว่า จริงๆ แล้วเขาไม่โง่ หลังเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองทำให้พวกเขาได้ตาสว่างมากขึ้น
 
หลังเหตุการณ์ พ.ค.35 สันต์ เล่าด้วยว่า ทหารแทบไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกมาเดินตลาดเลย ทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง อยู่แต่ในกรมกอง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม พรรคการเมืองบางกลุ่ม สื่อบางพวก ไปดึงออกมาอีก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าหลังเหตุการณ์ พ.ค.35 ที่เราว่างเว้นจากการรัฐประหารเป็นสิบปีเช่นกัน

ควรวิจารณ์พวกเรากันเอง - สภาวะก้ำกึ่งของขบวนการเสื้อแดง 

อนุธีย์ กล่าวว่า วันนี้ควรเน้นการวิจารณ์พวกเรากันเอง ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ขบวนการเสื้อแดง ตนคิดว่าเราพูดถึงตรงนี้น้อยกันมาก หากพูดอะไรในวันนี้เสื้อแดงอาจฟังแล้วไม่สบายใจก็หวังจะได้แลกเปลี่ยนเพิ่ม โดย 7 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยเรียนรู้และทำผิดซ้ำ เช่น การผูกขบวนการประชาชน เข้ากับชนชั้นนำ ปล่อยให้ชนชั้นนำพาการเคลื่อนไหวของเรามาโดยตลอด โดยไม่ตั้งคำถามหรือเห็นแย้งกับเขา

อนุธีย์ กล่าวอีกว่า ถ้าเรามองฝั่งการเมือง เราจะเห็นสีต่างๆ แต่ถ้าเราตัดเรื่องสีออกไป เราจะเห็นว่าชนชั้นนำมีบทบาทสูงมาก กลุ่มก้อนที่มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีบทบาทมาก การเมืองไทยที่่ผ่านมาเป็นการเมืองของพวกเขา เราก็จะเห็นว่าขบวนการประชาชนที่ผ่านมาทุกสี ปัญหาคือการผูกการนำไว้กับคนกลุ่มนี้ และขบวนการเสื้อแดงที่ผ่านมาเราไม่เคยสลัดหลุดจากการนำเขาได้เลย มีใครกล้าปฏิเสธไหมว่า การนำของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาไม่มีอิทธิพลจากเพื่อไทยและ ทักษิณ ชินวัตร เลย ลองจินตนาการดูในการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดของเสื้อแดงที่ผ่านมา ถ้าไม่มีโครงสร้างพรรคเพื่อไทยหนุนจะชุมนุมได้สมบูรณ์ขนาดนั้นไหม แม้จะมองได้ว่าเป็นการหนุนเสริมกัน แต่นั้นหมายความว่าเราผูกตัวเองเข้ากับเขามากไปหรือเปล่า รวมทั้งในแง่ยุทธศาสตร์เอง ขบวนการเสื้อแดงมีข้อผิดพลาด เช่น การชุมนุมปี 53 แน่นอนเป็นเรื่องที่รัฐปราบปราม แต่มีบางอย่างที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ในปี 53 ตอนที่มีการเจรจาว่าจะยอมถอยคนละครึ่งทางให้ นปช. สลายการชุมนุม และ สุเทพ อภิสิทธิ์ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่วันนั้นเราอ่อนแรงกันมาก สามารถถอยได้ แต่เราก็ไม่ทำ ทำไมการนำของเราไม่ตัดสินใจหลีกเลี่ยง

4 ปีที่ผ่านมา อนุธีย์ มองว่า ก็เป็นเช่นนั้น เรื่องวิกฤตินิรโทษกรรมเหมาเข่ง ตนคิดว่า 50% ของคนเสื้อแดงเอาด้วย แต่อาจจะมากกว่า 70% ด้วย เพราะทักษิณเอาด้วย นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันแสดงให้เห็นการนำที่ผิดพลาดอย่างไร

อนุธีย์ กล่าวถึงสภาวะก้ำกึ่งของขบวนการเสื้อแดงโดยระบุว่า แม้ว่ามวลชนจะมีอำนาจต่อรอง แต่ก็ไม่สามารถออกจากโครงสร้างการนำของชนชั้นนำได้ จากโครงสร้างการนำแบบนี้ถ้ามีประเด็นอย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ตอนที่ จตุพร ณัฐวุฒิ ออกมาไม่เอา นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็ถูกตัดจากช่องเอเชียอัพเดทเลย ที่ตนพูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสลัดจากชนชั้นนำ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องสร้างพลังต่อรองอำนาจ ทำอย่างไรให้ชนชั้นนำฟัง นี่เป็นลักษณะที่ควรจะเป็น เพราะเราต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ของชนชั้นนำมันไม่ได้ไปกันได้กับผลประโยชน์ของประชาชน

แม้เขาจ้องรัฐประหาร แต่ก็เกิดไม่ได้หากเราไม่เสียความชอบธรรมเองด้วย

รัฐพล กล่าวว่า ประชาชนทั้ง 2 สีก็มีข้ออ้างเช่นกันว่า อีกฝ่ายไม่ยอมเปลี่ยน ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่า เรื่องของผลลัพธ์ เราต้องการแค่จะเหยียบย่ำอีกฝ่ายมากกว่าที่จะมองที่ผลของมัน
 
สำหรับความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ของเพื่อไทยและทักษิณ นั้น รัฐพล กล่าวว่า ถึงวันนี้เพื่อไทยไม่มีการขอโทษ ทำให้อาจมองได้ว่าที่ พวกเขาอยู่กับหลักการประชาธิปไตยก็เพื่อประโยชน์ของพวกเขา ตนยอมถูกด่าว่าเป็นสลิ่ม หรือโง่ ที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เพราะว่ามันผิดหลักการ แต่อย่างน้อยตอนนั้นจุดยืนที่พวกตนทำไป ไม่ได้ไปเน้นเรื่องโกง แต่เราเน้นที่เรื่องของชีวิตประชาชนที่ต้องสูญเสียไปจากการสลายการชุมนุม แต่เพื่อไทยหรือคุณทักษิณก็ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของพวกตนเลย
 
รัฐพล กล่าวด้วยว่า หลังรัฐประหารยิ่งแย่ เพราะเราบอกว่าให้ลองทบทวนดูว่าเพื่อไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุของการรัฐประหาร แต่เสื้อแดงก็รับไม่ได้ บอกว่าเขาจะทำอยู่แล้ว แต่ตนมองว่ารัฐประหารจะเกิดไม่ได้ถ้าเราไม่สูญเสียความชอบธรรมในตัวเองเช่นกัน
 
สันต์ กล่าวเสริมว่า ประชาชนถูกแบ่งแยกและปกครอง มาโดยตลอด ทำให้ต้องตีกันเอง
 

ยอมรับความผิดพลาด เพื่อผลักดันขบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

อนุธีย์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องยอมรับคือ วันนี้สถานการณ์มันก้าวไปอีกขั้น ในรอบ 7 ปี รวมทั้งหลังรัฐประหาร ตนก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอด ตนก็เคยตั้งคำถามว่าตนยังเป็นคนเสื้อแดงหรือเปล่า หากมองในแง่การจะก้าวไปข้างหน้าอาจจะไม่ใช่แล้ว คิดว่าขบวนการประชาชนเรามีบทเรียนสำคัญมากไม่ว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดง มันชัดเจนหลังรัฐประหารแล้วมีรัฐบาลหนึ่งขึ้นมา มันชัดเจนว่าขบวนการประชาชนถูกกระทำ บางกลุ่มถูกกระทบจากรัฐบาลนายทุน แต่ก็ถูกกระทำจากรัฐบาลทหารด้วย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของพวกเขา ขบวนการประชาชนควรต้องสรุปบทเรียน ว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไร 

อนุธีย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือทุกฝ่ายไม่ได้อยู่บนหลักการจริงๆ อยากตั้งคำถามกับเสื้อแดง เช่น วีระ สมความคิด หรือคนฝั่งเสื้อเหลือถูกละเมิดสิทธิเราสะใจหรือเปล่า ถ้าเราสะใจตรงนี้ได้ เหมือนที่เราเคยโดนละเมิดสิทธิ เรากำลังออกใบอนุญาติให้กับรัฐไทยทำแบบนั้นหรือเปล่า 

"ถ้าเราออกใบอนุญาติให้ทำกับฝ่ายตรงข้ามได้ มันก็ย้อนกลับมาทำกับเราได้" อนุธีย์ กล่าว พร้อมกล่าอีกว่า หากเราจะผลักดันขบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจริงๆ เราจะผลักดันให้เกิดการยอมรับความผิดพลาดระหว่างกันได้หรือเปล่า
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำชนพื้นเมืองในเวเนซุเอลาทำพิธีสาปแช่งรัฐบาลหลังถูกกีดกันทางการเมือง

Posted: 20 May 2017 11:40 AM PDT

การต่อต้านทางการเมืองต่อผู้นำเวเนซุเอลา "นิโคลัส มาดูโร" ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงการประท้วงหรือกดดันทางการทูตเท่านั้น ล่าสุดมีการทำพิธีกรรมสาปแช่งโดยผู้นำกลุ่มชนพื้นเมืองจากรัฐอเมโซนาส ในพิธีกรรมที่ชื่อ "ดาบูคูรี" หลังจากที่ผู้นำชนพื้นเมืองถูกกีดกันออกจากการเมือง

20 พ.ค. 2560 ในเวเนซุเอลายังคงมีการประท้วงและกระแสต่อต้านประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงบนท้องถนนที่เกิดความรุนแรง การวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนบ้านของเวเนซุเอลา และการกดดันทางการทูต รวมถึงการที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศคว่ำบาตรผู้พิพากษาศาลสูงสุดของเวเนซุเอลา 8 ราย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในตอนนี้มาดูโรกำลังต้องเผชิญกับวิธีการต่อต้านอีกแบบหนึ่งคือพิธีกรรมสาปแช่งของหมอผี

พิธีกรรมดังกล่าวเรียกว่า "ดาบูคูรี" มีผู้ประกอบพิธีกรรมคือ ลิบอริโอ กัวรูลลา อดีตผู้ว่าการรัฐอเมโซนาส เขาเป็นฝ่ายค้านคนที่สองที่ถูกสั่งแบนทางการเมืองหลังจากที่ผู้นำฝ่ายค้านอย่างเฮนริค คาปริเลส โดนสั่งแบนมาก่อนหน้านี้แล้ว เขาทำพิธีกรรมนี้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มชนพื้นเมืองบานิวาซึ่งเป็นพิธีกรรมในเชิงชำระแค้น จากที่พิธีกรรมนี้นำมาใช้เพื่อเรียกความรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์หรือเพื่อใช้สาปแช่งให้เป้าหมายเจ็บปวดและสูญเสียได้

กัวรูลลา ทำพิธีกรรมนี้ที่เมืองเปอร์โต อยาคูโช เขาระบายสีที่ใบหน้าและประดับขนนกไว้ที่ศรีษะ ในขณะที่เขาเป่าเศษผงขึ้นไปในกระแสลมก็มีผู้คนจากชนพื้นเมืองหลายชนชาติกระทืบเท้าและเขย่าลูกแซกตามไปด้วย

"(รัฐบาล) รู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจในการกล่าวหาพวกเราและขจัดอำนาจทางการเมืองของเรา แต่ผมต้องการบอกให้พวกนั้นรู้ว่าผมเองก็มีพลังเช่นกัน และในวันนี้ผมจะปลุกพลังจากบรรพบุรุษของผมและหมอผีของผมเพื่อให้คำสาปแช่งของพิธี 'ดาบูคูรี' ตกแก่ผู้ที่กระทำเลวทรามต่อพวกเรา" กัวรุลลากล่าว

กัวรุลลาเตือนศัตรูของเขาว่าคำสาปแช่งของเขาจะทำให้ศัตรูของเขาทุกข์ทรมาน "ผมบอกคุณได้เลยว่าเมื่อคุณตายคุณจะไม่ตายโดยที่ไม่ทุกข์ทรมานหรอก ผมรับรองคุณได้เลยว่าช่วงก่อนตายคุณจะเริ่มเจ็บปวดและวิญญาณของคุณจะเดินหลงอยู่ท่ามกลางความมืดมิดและหลงอยู่ในที่ๆ เต็มที่ด้วยเชื้อร้ายหนักที่สุดก่อนที่คุณจะได้ปิดตาลง"

พิธีกรรมสาปแช่งดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "การเดินขบวนของหมอผี" ซึ่งเป็นพิธีกรรมขั้นสุดท้ายหลังจากเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องรายวัน การประท้วงต้านรัฐบาลมาดูโรอย่างต่อเนื่องในเวเนซุเอลาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย แล้ว

ในเวเนซุเอลามีกลุ่มชนพื้นเมือง 38 ชนชาติรวมแล้วราวร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด แต่พวกเขาก็ไม่มีตัวแทนทางการเมืองแบบในบราซิล หรือ โคลอมเบีย สิทธิชนพื้นเมืองของพวกเขาเพิ่งได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญปี 2542 ของฮูโก ชาเวซ ผู้นำก่อนหน้ามาดูโร ซึ่งในยุคสมัยของชาเวซยังมีการการันตีให้ชนพื้นเมืองได้รับสิทธิที่ดินและมีผู้แทนทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับรัฐ

แต่เมื่อปีที่แล้ว ผู้แทนชาวเผ่าอเมซอน 3 รายก็ถูกห้ามไม่ให้สาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งหลังจากรัฐบาลอ้างว่าพวกเขาชนะเข้ามาด้วยการโกง การแบนกัวรูลลาก็ทำให้ชนพื้นเมืองในรัฐอเมโซนาสมีตัวแทนทางการเมืองเลย

อย่างไรก็ตามเดซี บาร์เรตโต นักมานุษยวิทยาก็บอกว่ากลุ่มผู้แทนทางการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มาจากเหล่าผู้นำของชนพื้นเมืองอย่างแท้จริง พวกเขาเป็นแค่นักการเมืองที่อาศัยอัตลักษณ์ชนพื้นเมืองเข้าไปอยู่ในวงรัฐบาล เวเนซุเอลาไม่เคยมีการผลักดันคุ้มครองสิทธิชนพื้นเมืองอย่างจริงจัง

กระนั้นกลุ่มชนพื้นเมืองทั้งหลายก็พากันเดินทางเข้าไปชุมนุมในเมืองหลังจากที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในเวเนซุเอลา มีกลุ่มชนพื้นเมืองวาเราที่หนีความวุ่นวายทางการเมืองและปัญหาขาดแคลนอาหารและยาในเวเนซุเอลาเข้าไปในบราซิลหลายร้อยคน ส่วนหนึ่งก็นั่งรถบัสระยะทาง 1,000 กม. จากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอริโนโค เข้าสู่ตัวเมืองอเมซอนโดยอาศัยสร้างที่พักชั่วคราว หนึ่งในชนพื้นเมืองชื่อ อเบล คาลเดรอน เปิดเผยว่าทุกอย่างหายไปหมดแล้วในเวเนซุเอลา พวกเขากำลังมองหาชีวิตที่ดีกว่า

เรียบเรียงจาก

Unrest, sanctions – and now Venezuela's Maduro faces a shamanic curse, The Guardian, 19-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนขอรัฐชี้แจงกรณีคุมตัวผู้ต้องสงสัยทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ

Posted: 20 May 2017 05:45 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ขอให้ชี้แจงกรณีการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปี และยุติการควบคุมตัวบุคคลภายในค่ายทหาร กรณีเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ

          
20 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ขอให้ชี้แจงกรณีการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปี และยุติการควบคุมตัวบุคคลภายในค่ายทหาร โดยระบุว่าตามที่สื่อมวลชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัว บุคคลผู้ต้องสงสัยว่าเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จนทำให้เกิดความเสียหาย ที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. จำนวน 4 ราย จากผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 6 รายได้แก่นายจิรายุ, นายรัฐธรรมนูญ, นายอัครพงษ์ และเยาวชนอายุ 14 ปี โดยทั้งหมดได้ถูกควบคุมตัว ไปสอบสวนที่กรมทหารราบ ที่ 11 รักษาพระองค์ ที่กรุงเทพมหานครนั้น 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นดังต่อไปนี้ 1. การควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 7 วัน โดยที่บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อญาติ หรือทนายความได้ และส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ ถือเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ  อันขัดต่อข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม  ในการที่รัฐจะต้องรับรองเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ และบุคคลที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุและข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังได้มีข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation)ต่อรายงานฉบับที่สองของประเทศไทย ในประเด็นการควบคุมตัวบุคคลว่า " ไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และจัดให้พวกเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่" 2.กรณีการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปี ไปยังกรมทหารราบ ที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นค่ายทหารนั้น ยังเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามข้อ 37 และ 40  ซึ่งรับรองว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกริดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมหรือคุมขังจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ใช้เป็นมาตรการสุดท้ายและในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เด็กทุกคนจะต้องแยกควบคุมตัวจากผู้ใหญ่และมีสิทธิได้รับการติดต่อครอบครัวและการเยี่ยมเยียน  และได้รับแจ้งข้อหาทันทีและโดยตรง และจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสม
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกังวลถึงการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวเด็กอายุ 14 ปี ซึ่งจำเป็นต้องกระบวนการที่เหมาะสมอันแตกต่างจากผู้ใหญ่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐให้มีการตรวจสอบการควบคุมตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบในทันทีในกรณีมีการควบคุมตัวเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องหาว่ากระทำความผิดใดตามประมวลกฎหมายอาญาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ชอบที่จะดำเนินการจับกุมและแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนบ่อแก้วยืนยันทำกินบนผืนดินเดิม แม้จะถูกคำสั่งออกจากพื้นที่

Posted: 20 May 2017 05:23 AM PDT

ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชุมเตรียมการผลิตเกษตรอินทรีย์ ยืนยันจะทำกินบนผืนดินเดิม แม้จะถูกคำสั่งออกจากพื้นที่

 
 
 
 
20 พ.ค. 2560 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชุมเตรียมการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ แม้ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องรับมรดกความ หลังจากนั้นคำพิพากษาศาลฎีกา ออกมาอย่างไร แม้ศาลจะพิจารณาโดยมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ สมาชิกชุมชนบ่อแก้วต่างเคารพคำพิพากษาศาล แต่ยืนยันจะร่วมทำกินอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และตามมติที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกับภาครัฐ เป็นการต่อไป
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2560 ภายหลังจากที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ตามที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน ในข้อหากล่าวหาจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม
 
แต่ทั้งนี้ ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 เสียชีวิต ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้ทายาทของผู้เสียชีวิตมารับมรดกความ  ศาลจึงได้อนุญาตตามที่ทนายจำเลยขอ  โดยได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคดีออกไป และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความของทายาท จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 เวลา 10.00 น.ที่จะถึงนี้
 
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 ตามที่ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องรับมรดกความ หลังจากนั้นคำพิพากษาศาลฎีกา จะมีคำสั่งออกมาอย่างไร ทั้งตนเองและสมาชิกชุมชนบ่อแก้วต่างเคารพคำพิพากษาศาล แต่ยืนยันจะร่วมทำกินอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และตามมติที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกับภาครัฐ เป็นการต่อไป ต่อไป
 
นายนิด บอกอีกว่า ในวันนี้ 20 พ.ค.2560 นัดหมายสมาชิกชุมชนบ่อแก้วเตรียมประชุมร่วมกันเพื่อการยกระดับการพัฒนาระบบการผลิต"เกษตรกรรมอินทรีย์" ไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามเป้าหมายที่วางแผนร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2552 เข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาได้ เช่น บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยวิถีชีวิตการผลิตในรูปเกษตรอินทรีย์ จำพวกกล้วย ข่า ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด  ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัส ภายหลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  อ.อ.ป. นำเข้ามาปลูก นับแต่ปี 2521 นอกจากจะทับซ้อนที่ดินทำกินชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อผู้เดือดร้อนกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกินเพราะถูกอพยพออกจากพื้นที่แล้วนั้น สภาพแวดล้อมธรรมชาติและผืนดินเกิดความเสื่อมโทรมจากการปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากกับการผลิตของชาวบ้านที่ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการผลิตของชุมชนบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และสามารถนำออกขายเป็นรายได้ในครัวเรือน
 
ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่ ซะตากรรมชีวิตชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ที่ตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ  จะออกมาในรูปแบบใด ไม่เพียงแต่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 31 ราย แต่รวมทั้งบริวาร และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะมาพลันสูญสลายไปทั้งหมด และผู้ได้รับผลกระทบกว่า 300 ชีวิต ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นเด็กๆและผู้เฒ่าผู้แก่ สังคมจะคิดอย่างไร ในแนวทางที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา

 

ที่มาของผลกระทบความเดือดร้อน

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.อ.ป.เข้ามาปลูกป่ายูคาฯทับที่ดินทำกินเมื่อปี 2521 ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ในบริเวณเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน  จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน  ชาวบ้านจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวมานับแต่นั้น กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม  ระหว่าง อ.อ.ป.กับชาวบ้าน
 
ต่อมาในวันที่ 17 ก.ค. 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงเข้าปฏิบัติการยึดพื้นที่พร้อมกับจัดตั้ง ชุมชนบ่อแก้ว ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตรเกษตรอินทรีย์ และเป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน
 
นอกจากนี้ เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า  ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่

 

การต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ส่งผลสู่การถูกดำเนินคดี

ผลการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน กลับกลายเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดี  โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552  ข้อกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
 
แต่ด้วยความที่ชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2496 เช่น หลักฐานประเภทใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ สค. 1 ใบแจ้งการครอบครอง และร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาท อีกทั้งความไม่เป็นธรรมที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินได้สร้างปัญหาผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ดังนั้น ชาวบ้านต่างยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ และเพื่อรักษาผืนดินให้ดำรงอยู่สืบต่อไปถึงลูกหลาน
 
เมื่อการต่อสู้เรียกร้องจากการถูกละเมิดสิทธิด้านที่ดินทำกิน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในวันที่ 28 เม.ย.2553  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลย ที่ 1 ถึง 31 และบริวารออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท  ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน
 
ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึง กทม. ในวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร  ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว
 
ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. ในวันที่ 2 มีนาคม 2554 นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี  2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน ออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ ออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด  นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.2552
 
กระทั่ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยได้ฏีกา

 

ผลกระทบหลังจาก คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557

ชุมชนบ่อแก้ว จะได้รับผลกระทบอีกครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ให้ รื้อสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน อพยพออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน ชาวบ้านจึงเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
 
ต่อมา ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในวันที่  7 ต.ค. 2557 ณ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  มติที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไปนอกจากนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มาโดยตลอด โดยมีมติให้มีชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558  ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยผลการประชุมดังนี้
 
วาระที่ 3.1  กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
 
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง
 
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม
 
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
 
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถกเกณฑ์ประเมินค่า ‘ป้อมมหากาฬ’ แนะดูความหมาย ‘พื้นที่’ อย่าดูแต่ตัวบ้าน

Posted: 20 May 2017 02:30 AM PDT

ประชุมเพื่อประเมินและระบุคุณค่าของพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ นักวิชาการแนะในการประเมินคุณค่าไม่ได้พิจารณาแค่ตัวบ้าน แต่ต้องรวมถึงความหมายของ 'พื้นที่' ไม่เช่นนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง 'รื้อ หรือ ไม่รื้อ' เท่านั้น

 
20 พ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการประชุมเพื่อประเมินและระบุคุณค่าของพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ อันสืบเนื่องจากกรณีไล่รื้อชุมชนที่ยืดเยื้อมานานถึง 25 ปี โดยมีกลุ่มนักวิชาการหลากหลายสาขา ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าร่วมประชุมรวมเกือบ 20 ราย โดยในครั้งนี้เน้นการวางหลักเกณฑ์และกรอบประเมินคุณค่าใน 5 ด้าน ได้แก่ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และผังเมือง,ด้านสังคม วิถีชีวิต, ด้านโบราณคดีและด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเกือบทั้งหมดได้มีการเชื่อมโยงกับกรณีชุมชนป้อมมหากาฬไปพร้อมๆกันด้วย
 
รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า ในการประเมินคุณค่า ไม่ได้พิจารณาแค่ตัวบ้าน แต่ต้องรวมถึงความหมายของ 'พื้นที่' ไม่เช่นนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง 'รื้อ หรือ ไม่รื้อ' เท่านั้น
 
"ตรงนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อไปจะต้องผ่านกระบวนการดังนี้ คือ 1. พิจารณาคุณค่าความสำคัญด้านต่างๆซึ่งกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ 2. เลือกวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ทำลาย นอกนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ จากนั้นมาถึงข้อ 3 คือ จะบริหารจัดการอย่างไร สำหรับการประเมินคุณค่าต้องมีประเด็นชัดเจน อย่าไหลไปเรื่อยๆ" รศ.ยงธนิศร์กล่าว
 
จากนั้น ที่ประชุมได้นำเอกสารเกี่ยวกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ทำโดย รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มานำเสนอ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ และการเป็นที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ และพัฒนาการของเมืองหลังยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
 
ผศ. สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงคุณค่าด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมืองว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่าโดยที่ตั้ง,อายุ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งป้อม คลอง ชุมชน ต้นไม้ ลำคลอง อีกทั้งมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมากว่า 100 ปี
 
"เรือนแต่ละหลังในป้อมสะท้อนภูมิปัญญาตามอายุสมัยถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคที่สร้างเรือนไม้ ใต้ถุนสูง ต่อมาเป็นยุครัชกาลที่ 5-7 อย่างพวกเรือนขนมปังขิงซึ่งรับอิทธิพลตะวันตก และยุครัชกาลที่ 8-9 ที่มีความร่วมสมัย เป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ชุมชนพยายามบำรุงรักษาและซ่อมแซมโดยคำนึงถึงวัสดุดั้งเดิม ทำให้ยังคงไว้ซึ่งความชุมชนบ้านไม้โบราณ ชุมชนอื่นรักษาไว้ไม่ได้เท่าที่นี่" ผศ.สุดจิต กล่าว
 
นางภารนี สวีสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ มีคุณค่าในด้านแบบแผนการตั้งถิ่นฐานชุมชนดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับการวางผังเมืองสมัยโบราณซึ่งแบ่งกลุ่มพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนต่างๆ เช่น วัด-วัง และบ้านเรือน มีระบบการสัญจรโบราณ คือคูคลอง อีกทั้งเป็นหลักฐานยุทธศาสตร์ การป้องกันพระนครโดยชุมชนสัมพันธ์กับแนวกำแพงเมืองและป้อม
 
ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการฝ่ายอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวถึงคุณค่าด้านสังคมและวิถีชีวิต ว่าเป็นชุมชนชานพระนครแห่งเดียวที่เหลืออยู่ และยังมีชีวิต มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนเก่าแก่โดยรอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านยังสามารถเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ (มุขปาฐะ)
 
ผศ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คุณค่าในด้านโบราณคดี คือการเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังมีชีวิต เป็นหลักฐานในการตั้งถิ่นฐานที่สืบเนื่องจากชุมชนโบราณไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังมีชีวิต หลงเหลือหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมชุมชนในพื้นเดิมหลายชั่วอายุคน
 
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ สถาปนิกและสมาชิกกลุ่ม 'มหากาฬโมเดล' กล่าวว่า ขอให้กทม. หยุดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหรือสื่อสารกับสังคมในสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นข้อตกลงของ 3 ฝ่าย คือ กทม. ทหาร และชุมชน เนื่องจากขณะนี้อยูในระหว่างการเจรจาระบุคุณค่า
 
นายณัฐนันท์ กัลยศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของกทม. ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ หากที่ผ่านมามีการให้ข่าวที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่ชุมชน สำหรับการประชุมวันนี้ มีบรรยากาศที่ดี มีความร่วมมือกันอย่างดีในการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคุณค่าเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆต่อไป หลังจากนี้ทุกคนจะนำหลักเกณฑ์นี้กลับไปหาหลักฐานสนับสนุนว่าบ้านหลังนั้นๆควรจะคงอยู่ ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกวิธีการดำเนินการซึ่งยังเป็นเรื่องของอนาคต ต้องขอหารือร่วมกันก่อนจึงจะเปิดเผยอีกครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม กลุ่มนักวิชาการ ยังนั่งหารือร่วมกับชาวบ้านอีกเป็นเวลานาน ทั้งนี้ จะมีการนัดหมายประชุมทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอหลักฐานที่สนับสนุนคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผุดไอเดียแนะนำตัวผู้สมัครเลือกตั้งผ่านคิวอาร์โค้ด

Posted: 20 May 2017 01:22 AM PDT

'สมชัย ศรีสุทธิยากร' กกต. ผุดไอเดียแนะนำตัวผู้สมัครเลือกตั้งผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อเข้าถึงประวัติความเป็นมาของผู้สมัครมากขึ้น รองประธาน สนช.แนะ กมธ.ร่างกฏหมายลูกพิจารณาระมัดระวังตามมาตรา 77 ชี้บทเฉพาะไม่กำหนดกรอบเวลา

 
20 พ.ค. 2560 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้การบริหารการเลือกตั้งทำการศึกษาการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเลือกตั้ง โดยจะนำคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการสรรหา ส.ว. และ ส.ส.ในปีหน้า โดยในส่วนของ ส.ว.ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การได้มาซึ่ง ส.ว.ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างอยู่จะให้ผู้สมัครจัดทำเอกสารแนะนำตัวมีขนาด 1 หน้า เอ 4 จำนวน 1 แผ่น โดยจะใช้ข้อความอะไรก็ได้ แต่ต้องส่งเนื้อหามาให้ กกต.เพื่อตรวจสอบ ผลิต และแจกจ่าย ซึ่งเห็นว่าถ้านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็น่าจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าถึงประวัติ ความเป็นมา ของผู้สมัครได้มากขึ้น
 
นายสมชัย กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาใช้  กกต.จะพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบกันระหว่างผู้สมัครด้วย จะกำหนดกรอบกติกาที่ชัดเจน เช่น ถ้าใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. หากมีค่าใช้จ่ายในการผลิต ก็จะนำไปรวมเป็นค่าใช่จ่ายของพรรค เช่น หากผลิตเป็นคลิปวีดีโอถ่ายในสตูดิโอ มีการตัดต่อหลายขั้นตอน ก็ต้องนำมาคิดค่าใช่จ่ายด้วย
 
"การใช้คิวอาร์โค้ดก็จะช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้จักผู้สมัครมากขึ้น เพราะเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแล้ว นอกจากได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถที่จะเข้าไปดูคลิกลิงค์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ หรือเฟสบุ๊คของผู้สมัครใส่ไว้ในคิวอาร์โค้ด เพื่อศึกษาข้อมูลของผู้สมัครได้มากขึ้น  แต่ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบข้อมูลหากมีเนื้อหาเป็นเท็จ หลอกลวง หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครอื่น ก็ต้องถูกดำเนินคดี โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นแนวทางของ กกต. 4.0" นายสมชัย กล่าว
 
รองประธาน สนช.แนะ กมธ.ร่างกฏหมายลูกพิจารณาระมัดระวังตามมาตรา 77
 
ด้านนายนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมเพื่อประกบอการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายในงานสัมมนา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่โรงแรมนิวแทรเวล ลอด์จ จังหวัดจันทบุรี โดยสรุปภาพรวมกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ว่าด้วยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ 2 ข้อ คือ ตามมาตรา 267 และในบทถาวร มาตรา 130-132 ที่กำหนดว่า คะแนนลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ส่วนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับนั้น จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศรัฐธรรมนูญ หรือครบกำหนดในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 หรือเป็นวันที่ กรธ.จะส่งฉบับสุดท้ายให้ สนช.
 
นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว จะยังประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ และ กรธ.ด้วย แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า สนช.จะต้องส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกี่วัน ซึ่งความเห็นส่วนตัว มองว่าต้องยึดบทหลักถาวรของรัฐธรรมนูญ คือ 15 วัน
 
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อทำความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากตรง ก็ถือว่าจบกระบวนการ แล้วส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อรอทูลเกล้าฯ แต่หากเห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา ซึ่งบทเฉพาะกาลก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องตั้งกรรมาธิการร่วมภายในกี่วัน แต่ภายใน 15 วัน กรรมาธิการร่วมต้องเสนอร่างกฎหมายลูกต่อ สนช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้า สนช.มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ถือว่าเป็นอันตกไป ซึ่งบทเฉพาะกาลเขียนทิ้งไว้เท่านี้ โดยไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นคนเขียนต่อไป จึงเป็นโจทย์ที่รออยู่ข้างหน้า
 
"ในกระบวนการส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อรอการทูลเกล้าฯ คือ มาตรา 145 และมาตรา 148 ต้องรอ 5 วัน เพื่อดูว่ามีประเด็นปัญหาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบุคคลที่จะยื่นเรื่องต่อศาล คือ นายกรัฐมนตรี หรือสมาชิก สนช. 1 ใน 10 เข้าชื่อกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นสมาชิกต้องระวังเรื่องกระบวนการพิจารณาอาจถูกทักท้วงให้ตรวจสอบได้ กระบวนการที่จะตรวจสอบมีหนึ่งกระบวนการที่เป็นของใหม่กำหนดไว้ คือ ในมาตรา 77 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมกังวล และฝากกรรมาธิการฯ ไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยขอให้ตรวจสอบตามมาตรา 77 จะเป็นการดี การพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ เกี่ยวข้องกับมาตรา 77 แม้มาตรา 267 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่เราก็ต้องยึดบทถาวร ต้องจัดให้มีการรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระบทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยต้องเปิดเผยต่อประชาชน ซึ่งอย่างน้อย ก็ต้องลงเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ โดยจะต้องนำข้อต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนำมาประกอบการพิจารณาทุกขั้นตอน แต่คำถาม คือ ในขณะที่พิจารณา ได้ทำตามขั้นตอนหรือยัง ถ้ายัง กรุณากลับไปทำด้วย รวมทั้งการเขียนรายงาน เจ้าหน้าที่จะต้องไม่เขียนรูปแบบเดิม ๆ ต้องแจกแจงขั้นตอนในกระบวนการทั้งหมด" นายสุรชัย กล่าว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตือนแรงงานไทยในไต้หวันต่อสัญญากับนายจ้างได้เลยไม่ต้องกลับไทย

Posted: 19 May 2017 11:52 PM PDT

สำนักแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง เตือนแรงงานไทยหากต่อสัญญากับนายจ้างให้ต่อได้ที่ไต้หวันก่อนหมดสัญญา 2-4 เดือน ไม่ต้องกลับไทย หากกลับมาพักที่ไทยให้ไปรายงานตัวที่จัดหางานจังหวัด ต่ออายุบัตรสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ มิฉะนั้นด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่ให้กลับไต้หวัน พบนายจ้างธุรกิจขนาดใหญ่ในไต้หวันยังนิยมแรงงานไทย ยื่นความจำนงรับแรงงานไทยกว่า 200 ราย

 
 
 
20 พ.ค. 2560 หลังจากที่ไต้หวันได้ บังคับใช้ กม. แรงงานต่างชาติในไต้หวัน ครบสัญญา 3 ปีไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สำนักแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง ได้ออกประกาศ เรื่อง กฎหมายการจ้างงาน มาตรา 52 ฉบับแก้ไข ระบุว่าตามที่กฎหมายจ้างงาน มาตรา 52 ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2559 โดยยกเลิกข้อบังคับให้แรงงานต่างชาติทำงานครบ 3 ปีจะต้องเดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งเป็นผลให้นายจ้างขอยื่นเอกสารต่อสัญญาจ้างแรงงานต่างชาติต่อกระทรวงแรงงานไต้หวันได้ทันทีโดยก่อนที่จะครบสัญญา 2-4 เดือน นายจ้างและลูกจ้างจะต้องตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาใหม่หรือไม่หากต้องการต่อสัญญาใหม่ ให้นายจ้างยื่นคำร้องต่อศูนย์บริการจ้างตรงซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังได้รับอนุญาตแล้ว ให้นำใบอนุญาต ไปประกอบการยื่นขอต่ออายุใบถิ่นที่อยู่หรือ ARC ส่วนแรงงานหรือนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาใหม่ แต่แรงงานยังต้องการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ต่อไป ให้นายจ้างเดิมยื่นต่อศูนย์บริการจ้างตรงก่อนครบกำหนดสัญญา 2-4 เดือนเช่นกัน 
 
ทั้งนี้สำนักแรงงาน ณ เมืองเกาสง ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจรับรองเอกสารสัญญาจ้างแรงงานไทยดังนี้ 1. กรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะจ้างแรงงานไทยรายเดิม ขอความร่วมมือให้ต่อสัญญาจ้างใหม่ในไต้หวันทันทีซึ่งสำนักแรงงาน ณ เมืองเกาสงพิจารณาเห็นว่า กรณีที่ส่งแรงงานไทยรายเดิมกลับไปต่อสัญญาจ้างที่ประเทศไทยเป็นการแสวงประโยชน์จากค่าบริการจัดหางานโดยไม่เป็นธรรม 2. กรณีที่แรงงานไทยขอโอนย้ายนายจ้างใหม่เมื่อได้รับอนุญาตแล้วนายจ้างใหม่ต้องนำเอกสารการจ้างแรงงานจำนวนสองชุดยื่นต่อสำนักแรงงานไทยณเมืองเกาสงภายในเวลา 1 เดือน และ 3. กรณีที่แรงงานไทยขอกลับไปพักที่ประเทศไทยหลังนายจ้างได้ต่อสัญญาจ้างใหม่ในไต้หวันแล้ว ขอความร่วมมือให้บริษัทจัดหางานประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง เพื่อขอต่ออายุบัตรสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ มิฉะนั้นด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้เดินทางออกจากประเทศไทยกลับมาไต้หวันได้
 
นายจ้างธุรกิจขนาดใหญ่ในไต้หวันยังนิยมแรงงานไทย ยื่นความจำนงรับแรงงานไทยกว่า 200 ราย
 
 
แรงงานไทยในไต้หวัน (แฟ้มภาพกระทรวงแรงงาน)
 
นอกจากนี้นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ร่วมกับสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป เข้าพบหารือกับบริษัทที่ไต้หวันซึ่งจ้างแรงงานไทยผ่านการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน เป็นบริษัทประกอบธุรกิจประเภทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า ผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ม่าน มู่ลี่) ผลิตชิ้นส่วน/ประกอบจักรยาน ผลิตอลูมิเนียมอัดหรือรีดเป็นรูป (กรอบประตู/หน้าต่าง) ผลิตเฟอร์นิเจอร์อลูมิเนียม (เตียง ตู้ โต๊ะ) จากการหารือบริษัทมีความสนใจใช้บริการจัดส่งโดยรัฐ เนื่องจากมีความเห็นว่าระบบการจัดส่งโดยรัฐจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนงาน  โดยนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงานไทยให้กรมการจัดหางานจัดส่งทันทีจำนวน 233 อัตรา ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ 130 คน และช่างเชื่อม ช่างประกอบ จำนวน 103 คน คาดว่าจะจัดส่งได้ภายในเดือนมิถุนายนศกนี้ และยังได้จัดหาตำแหน่งงานให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 220 อัตรา เป็นโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ จำนวน 160 อัตรา งานช่างเชื่อมและช่างประกอบท่ออีกจำนวน 60 อัตรา กับนายจ้างบริษัทอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของไต้หวัน ซึ่งกรมการจัดหางานจะประสานงานกับสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป และสาขาเมืองเกาสง เพื่อประสานในการจัดส่งแรงงานไทยให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ และเตรียมประสานคนงานเก่าและประกาศรับสมัครคนงานใหม่ให้นายจ้างรายอื่นๆที่จะแจ้งความต้องการแรงงานให้กรมการจัดหางานจัดส่ง ทั้งนี้ จากการสอบถามนายจ้างและสมาคมจัดหางานไถจงแจ้งว่านายจ้างไต้หวันมีความต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามคนงานไทยยังมีปัญหากลับก่อนกำหนด  ซึ่งหากแก้ปัญหาได้ก็จะสามารถขยายตลาดแรงงานไทยได้ เนื่องจากนายจ้างยังมีความต้องการแรงงานไทยมากกว่าแรงงานชาติอื่นๆ ซึ่งกรมการจัดหางานจะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมหารือไทย-ไต้หวัน ซึ่งกำหนดจัดประชุมในเดือนมิถุนายนศกนี้
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่าการไปพบนายจ้าง/สถานประกอบการและสมาคมจัดหางานไต้หวันครั้งนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และตลาดแรงงานไทยยังเป็นที่นิยมของนายจ้างไต้หวัน รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับแจ้งความต้องการจ้างแรงงานไทยจากนายจ้างไต้หวันให้กรมการจัดหางานช่วยจัดหาคนงานให้เป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีการปรับลดระยะเวลาการดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยให้นายจ้างได้ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยกำหนดกระบวนงานการจัดส่งคนหางานไปทำงานไต้หวันโดยรัฐ เป็น ๓ ขั้นตอน คือ (1) การเตรียมคนหางาน (2) การคัดเลือกคนหางาน และ (3) การจัดส่งให้นายจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างไต้หวันติดต่อใช้บริการจัดส่งแรงงานไทยโดยรัฐเพิ่มมากขึ้น เพราะการจัดส่งโดยรัฐ เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าภาษี สนามบิน ค่าสมาชิกกองทุนฯ ค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง ซึ่งช่วยสร้างโอกาสให้คนหางานที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศได้มากขึ้น และไต้หวันยังคงเป็นตลาดแรงงานยอดนิยมของแรงงานไทยสูงกว่าทุกประเทศ โดยในปี 2560 (ม.ค. – เม.ย. 2560) คนหางานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 39,028 คน โดยไปทำงานไต้หวันมากที่สุดจำนวน 11,881 คน ลำดับที่สองสาธารณรัฐเกาหลี 4,963 คน ลำดับที่สามญี่ปุ่น จำนวน 2,897 คน หากคนหางานใดประสงค์จะไปทำงานไต้หวัน ขอให้มาลงทะเบียนได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุมตัว 4 หนุ่มขอนแก่นสอบราบ 11 กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ

Posted: 19 May 2017 11:03 PM PDT

คุมตัว 4 หนุ่มขอนแก่น สอบสวนที่กรมทหารราบที่ 11 ต่อ หลังตำรวจจับต้องสงสัยเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ซัดทอดถูกเจ้าของโรงงานยาสมุนไพรว่าจ้าง

 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าจากกรณีมีผู้ไม่หวังดีเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จนทำให้เกิดความเสียหาย ที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560
 
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบผู้ต้องสงสัยก่อเหตุทั้งหมด 6 คน เป็นคนลงมือร่วมกัน 5 คน สามารถจับกุมได้แล้ว 4 คน มีนายจิรายุ, นายรัฐธรรมนูญ, นายอัครพงษ์ และเยาวชนอายุ 14 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวอำเภอชนบท ยังหลบหนีอีก 1 รายคือนายเศรษฐา ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมตัวได้มีการอ้างว่าได้รับจ้างให้ก่อเหตุคนละ 200 บาท จากนายปรีชา (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี เจ้าของโรงงานยาสมุนไพร ที่อำเภอชนบท ซึ่งกำลังหลบหนีเช่นกัน โดยทั้งหมดได้ถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายความมั่นคงไปสอบสวนที่กรมทหารราบ ที่ 11 รักษาพระองค์ ที่กรุงเทพมหานคร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนดุสิตโพลล์สำรวจความเห็น 3 ปี รัฐบาลประยุทธ์ เศรษฐกิจแย่ลงขอช่วยปากท้องก่อนเลือกตั้ง

Posted: 19 May 2017 10:49 PM PDT

สวนดุสิตโพลล์สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "3 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรดีขึ้น? อะไรแย่ลง" 77.06% เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง, 72.39% ระบุมีการบังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพ

 
20 พ.ค. 2560 สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "3 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรดีขึ้น? อะไรแย่ลง" ในโอกาสที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศจะครบ 3 ปี ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,264 คน ระหว่างวันที่ 15-19 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พบว่า สิ่งที่ประชาชนเห็นว่าดีขึ้น คือ ร้อยละ 73.81 การควบคุมดูแลไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง และการเคลื่อนไหวต่างๆ, ร้อยละ 71.84 การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น, ร้อยละ 66.06 การจัดระเบียบสังคม, ทวงคืนผืนป่า, ร้อยละ 55.30 การทำงานตามโรดแมป การตัดสินใจเด็ดขาด ขณะที่ประชาชนเห็นว่าแย่ลง ในช่วง 3 ปี ร้อยละ 77.06 สภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ชีวิตความเป็นอยู่, ร้อยละ 72.39 การบังคับใช้กฎหมาย การจำกัดสิทธิเสรีภาพ, ร้อยละ 69.30 ราคาและผลผลิตทางการเกษตร, ร้อยละ 60.76 การบริหารบ้านเมือง การใช้งบประมาณ และ ร้อยละ 57.91 การก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ทั้งนี้สิ่งที่ประชุาชนอยากให้รัฐบาลทำในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่เหลือ ร้อยละ 83.70 เร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาปากท้อง, ร้อยละ 82.75 ช่วยเหลือดูแลสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ช่วยเหลือคนตกงาน ว่างงาน และ ร้อยละ 71.52 เดินหน้าบริหารบ้านเมืองตามโรดแมปต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทม์ ส่องแผนการจีนกำลังทำอะไรบ้างกับ 'เส้นทางสายไหมใหม่'

Posted: 19 May 2017 10:32 PM PDT

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้จีนขึ้นไปอยู่บนเวทีทีมีแสงไฟสาดส่องบนเวทีโลกตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วคือการประกาศโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" หรือ 'เส้นทางสายไหมใหม่' ซึ่งโครงการนี้สร้างอะไรไปแล้วบ้าง มีหลายประเทศที่กังขาต่อโครงการนี้เพราะเหตุใด หรือแม้แต่ประเทศพันธมิตรของจีนเองอะไรที่ทำให้ประชาชนกังวลต่อโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกของจีน


20 พ.ค. 2560 รายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุถึงโครงการลงทุนต่างๆ ของทางการจีน ที่ทำไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศ "เส้นทางสายไหมใหม่" ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา นิวยอร์กไทม์ระบุถึงการที่วัศวกรจีนกำลังขุดเจาะอุโมงค์และสร้างสะพานในวังเวียง ประเทศลาว เพื่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 260 ไมล์ ในโครงการราคา 6,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะเชื่อมต่อประเทศอาเซียน 8 ประเทศ
 
ทุนจีนยังไปลงกับโรงไฟฟ้าของปากีสถานเพื่อจัดการกับปัญหาไฟฟ้าเรื้อรัง ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการลงทุนที่มีผู้คาดการณ์กันว่าจะมากถึง 46,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีแผนการวางเส้นทางรถไฟจากบูดาเปสต์ไปยังเบลเกรด, เซอร์เบีย,เป็นเส้นทางที่จะส่งผ่านสินค้าไปสู่ยุโรปผ่านทางท่าเรือในกรีซที่จีนเป็นเจ้าของ
 
นิวยอร์กไทม์ระบุว่าแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เหล่านี้และโครงการอื่นๆ ผ่านยุโรป เอเชีย และแอฟริกานับเป็นความพยายามสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแบบหยั่งรากลึกและการทูตให้แน่นแฟ้น โครงการที่ชื่อ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" (One Belt, One Road) ของจีนที่มุ่งสร้างโครงสร้างงพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร ์ ทอดผ่านประเทศมากกว่า 60 ประเทศ จึงเป็นการแผ่อิทธิพลใหม่ของจีนในนาม "การค้าระดับโลก" ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต้องการให้จีนใชัความมั่งคั่งและอุตสาหกรรมที่ชำนาญการในการพยายามขึ้นมามีอำนาจเหนือสถาบันเศรษฐกิจตะวันตกโดยพยายามถึงประเทศและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาอยู่ในวงของจีน
 
บทความนิวยอร์กไทม์มองอีกว่าโครงการนี้เน้นเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีนล้วนๆ ใตอนนี้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และจีนก็ผลิตพวกเหล็กกล้า ซีเมนต์ และเครื่องจักรออกมามากเกินความต้องการของประเทศตัวเองจึงพยายามหาลู่ทางเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศตัวเองไปต่อได้โดยเฉพาะการตกลงกับประเทศกำลังพัฒนา
 
เชาเวิ่นเหลียน อธิบดีศูนย์เพื่อความร่วมมือนานาาติของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาชาติและการปฏิรูปที่เป็นองค์กรตัวตั้งตัวตีของ "เส้นทางสายไหมใหม่" กล่าวว่า "แผนการนี้จะทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ 2.0" และเป็นการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเชื่อว่าจะเป็นแผนระยะยาวที่ส่งไปถึงคนุ่รนต่อๆ ไปด้วย นอกจากนีสีจิ้นผิงยังแสดงท่าทีไปในทางตรงกันข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่เน้นแนวทางคุ้มครองการค้าประเทศตัวเอง โดนสีจิ้นผิงเคยบอกว่าแนวคิดคุ้มครองการค้า "เป็นการขังตัวเองไว้ในห้องมืด"
 
นิวยอร์กไทม์ประเมินว่าจีนทุ่มหนักเพราะคำนวนผลระยะยาวโดยยอมเสี่ยงผิดพลาดในระยะสั้น แม้กระทั่งการลงทุนในประเทศที่เสี่ยงเกิดคอร์รัปชันสูงเพื่อผลทางการทหารและการทูต แต่ประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ ประเทศในเอเชียและประเทศในยุโรปก็เข้าหาจีนอย่างระมัดระวังในเรื่องนี้ ออสเตรเลียไม่ยอมเซ็นสัญญาตกลงกับจีน อินเดียก็ไม่สบายใจที่จีนจะสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ขัดแย้งที่มีชาวปากีสถานอยู่มากอย่างแคว้นแคชเมียร์ 
 
อย่างไรก็ตามในแง่การค้าเหล่านักธุรกิจข้ามชาติและธนาคารนานาชาติทั้งหลายก็คว้าโอกาสที่จีนจะพยายามปรับการค้าโลกเช่นนี้ กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนีก็เข้าร่วมประชุมกับจีน บรรษัมอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของตะวันตกอย่างเจเนอรัลมอเตอร์และซีเมนส์ก็ร่วมด้วย แม้แตสหรัฐฯ เองก็ส่งคนที่ดูมีความสำคัญพอสมควรไปประชุมด้วยราวส่งสัญญาณว่าเริ่มเปิดรับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น
 
ทางรถไฟในลาว
 
หนึ่งในประเทศที่รับวัตถุดิบโครงสร้างพื้นฐานจากจีนอย่างมากคือลาว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ในโครงการที่ลาวผลิตในจีนทั้งหมด รวมถึงแรงงานเองก็เป็นคนจีนด้วย ในช่วงก่อสร้างหนักๆ มีการประเมินว่าจะต้องใช้แรงงานชาวจีนมากถึงราว 100,000 คน ขณะที่จีนพยายามใช้จุดนี้เป็นตัวดึงดูดการเติบโตทางเศรษฐกิจให้จีนเองแล้ว การลงโครงสร้างพื้นฐานในลาวยังเป็นหนึ่งในแผนการที่จะถอนอำนาจสหรัฐฯ ออกจากพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
 
จีนต้องการสร้างทางรถไฟระยะทาง 260 ไมล์ ในโครงการราคา 6,000 ล้านดอลลาร์เชื่อมจากตอนเหนือของลาวมาจนถึงเมืองหลวงเวียงจันทร์ ทางรถไฟของพวกเขาต้องผ่านเทือกเขาต่างๆ ทำให้มีการขุดเจาะอุโมงค์และสร้างสะพานแทยจะร้อยละ 60 ของเส้นทางทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องที่พื้นที่หลายพื้นที่ยังมีทุ่นระเบิดของสหรัฐน ในสมัยสงครามเวียดนามตกค้างอยู่
 
ท่าเรือปากีสถานและทางรถไฟเคนยา
 
นิวยอร์กไทม์ระบุว่าในแต่ละที่จีนก็มีการสร้างอะไรในเชิงที่จะเอื้อผลประโยชน์กลับคืนตัวเอง ในปากีสถานมีการสร้างท่าเรือกวาดาร์บนทะเลอาหรับโดยจะเชื่อมด้วยทางรถไฟและถนนใหม่ทาบผ่านพื้นที่ซินเจียงเป็นทางลัดในการค้าขายกับยุโรป รวมถึงโครงการทางหลวงและโรงไฟฟ้า จีนมีความต้องการป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายจากปากีสถานข้ามเขตแดนเข้าไปอยู่ในซินเจียง
 
ในเคนยาจีนต้องการพัฒนาทางรถไฟจากท่าเรือที่มอมบาซาไปถึงไนโรบีที่จะทำให้ส่งสินค้าจีนเข้าไปในเคนยาได้ โดยที่จีนทำการปรับปรุงโครงสร้าพื้นฐานที่กำลังผุพังในแอฟริกามาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี แล้ว ซึ่งไม่เพียงแค่เคนยาเท่านั้นจีนยังให้ทุนสร้างทางรถไฟฟ้าข้ามประเทศทางแรกในแอฟริกามูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์ 
 
ดูเหมือนจีนจะกำลังแผ่อิทธิพลไปได้หลายที่ในโลก อย่างไรก็ตามทอม มิลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความฝันของเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนก็บอกว่า มีอีกหลายประเทศที่จีนต้องหาทางโน้มน้าวชักจูงให้ได้เพราะพวกเขามองออกว่าจีนต้องการควบคุมในเชิงยุทธศาสตร์
 
บริหารจัดการความเสี่ยง
 
ถึงจะดูเป็นพ่อบุญทุ่ม แต่ในประเทศพันธมิตรคอมมิวนิสต์ที่ยอมรับจีนอย่างลาวเองก็มีความกังวลว่าพวกเขาจะร่วมทุนกับโครงการราคาสูงๆ กลายพันล้านได้อย่างไรเมื่อเทียบกับรายได้ของพวกเขาเอง โดยที่ธนาคารนำเข้าส่งออกของจีนให้ลาวยืมเงินจำนวน 800 ล้านดอลลาร์ ทำให้ลาวรบภาระหนี้หนักจนไอเอ็มเอฟเตือนว่าหนี้สาธารณะของพวกเขาอาจจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 70 ของขนาดเศรษฐกิจลาว
 
อินโดนีเซียที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกับจีนก็มีเรื่องโต้เถียงเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ในไทยรัฐบาลก็เรียกร้องข้อตกลงที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ นิโคลัส อาร์ ลาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากสถาบันเพื่อเศรษฐกิจนานาชาติในวอชิงตันเองก็มองว่าจีนยังคงเผยแผนการลงทุนด้วยวงเงินที่ไม่สูงมาก ยังคงเทียบเท่ากับโครงการลงทุนภายในประเทศ
 
แม้กระทั่งรัสเซียท่ดูเป้นมิตรกับจีนก็ยังตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ  "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" กับจีน จากที่กลุ่มคณาธิปไตยคนใกล้ชิดกับผู้นำ วลาดิเมียร์ ปูติน ต่างก็ยังคงกังขาว่าโครงการจีนจะส่งผลในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่
 
ขณะเดียวกันก็มีการประเมินว่าการกรจายทุนออกไปจากจีนเองอาจจะกลายเป้นปัญหากลับมาหลอกหลอนจีนเองด้วยหรือไม่ เมื่อธนาคารจีนจำต้องให้กู้ยืมในโครงการที่ไม่น่าปรารถนาเท่าใดและหลายประเทศก้ประเมินว่าโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" มีระดับเครติดต่ำกว่ามาตรฐานการลงทุน
 
ในมุมมองของผู้คนทั่วไปในลาวเองก็แสดงความกังวลว่าจำนวนคนจีนที่เอาเข้ามาในประเทศลาวมากเกินไปก็อาจจะไม่ดีกับลาว แม้จะเห็นด้วยว่าลาวควรจะพัฒนาให้ดูทัดเทียมกับอารยประเทศบ้าง ชาวนาในลาวก็กังวลเรื่องสิทธิที่ดินทำกินโดยมีชาวนารายหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์ว่ารัฐบาลลาวเคยมาขอซื้อที่ดินแต่ก็ไม่เคยจ่ายเงินให้เขาเลย
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Behind China's $1 Trillion Plan to Shake Up the Economic Order, JANE PERLEZ and YUFAN HUANGMAY , New York Times, 13-05-2017
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ดำเนินคดีเพิ่มคดีกวาดจับหน้ารามฯ พบเคยถูกจับ-ปล่อย พร้อมชุดแรก แถมอบรมกับทหารมาครึ่งปี

Posted: 19 May 2017 10:26 PM PDT

ออกหมายจับเพิ่มคดีกวาดจับหน้ารามฯ ข้อหาอั้งยี่ พ.ร.บ.วัตถุระเบิด นักสิทธิ์ มึน 3 ใน 4 ชุดใหม่ เคยเข้าร่วมโครงการศูนย์สันติ ในค่ายทหารฯ โผล่อีกทีมามอบตัว ทนายชี้ทั้งหมดถูกหลอกจับอบรม ญาติเตรียมประกันรวม 2 ล้าน ศาลไม่อนุมัติ อ้างมอบตัวช้า ทั้งที่อบรมในค่ายฯมา 6 เดือน ย้ำไม่เชื่ออีกแล้ว

แฟ้มภาพ

20 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ญาติและครอบครัวนายนุรมาน อาบู อายุ 20 ปี นายอัมรี หะ อายุ 18 ปี นายมูฟตาดิน สาและ อายุ 18 ปี และ นายต่วนฮาฟิต ดือมุงกาป๊ะ อายุ 19 ปี ผู้ต้องสงสัยในคดีกวาดจับหน้า ม.รามคำแหง หลังข่าว "คาร์บอม" เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว หลังเดินทางมามอบตัวที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพฯ ตามรายงานข่าวของ สำนักข่าวไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2560 ด้วยหลักทรัทย์รวม 2 ล้านบาท แต่ ศาลไม่อนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว เหตุมอบตัวช้าเกินกำหนด

ยื่นประกัน 2 ล้าน ศาลไม่อนุมัติ เหตุมอบตัวช้า - จนท.รับปากช่วย แต่กลับอยู่คุก

ซูดิง สาและ บิดาของนายมุฟตาดีน เปิดเผยว่า ตนเดินทางมากับรถตู้พร้อมกับอีก 3 ครอบครัว มาถึงกองบังคับการปราบปราม กทม. วันที่ 17 พ.ค.2560 รู้สึกตกใจมากเพราะมีนักข่าวเต็มไปหมด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ขอควบคุมตัว 1 คืน และนัดไปเจอกันที่ศาลอาญาเพื่อยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 500,000 บาท รวมทั้งหมด 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งทุกคนเตรียมมาพร้อมแล้ว

 บิดาของนายมุฟตาดีน กล่าวต่อว่า พอถึงวันที่ 18 พ.ค.2560 เราก็เดินทางไปที่ศาลอาญาปรากฎว่าศาลตัดสินไม่อนุมัติให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า เรามามอบตัวช้าเกินกำหนด เพราะหมายจับออกมานานกว่า 5 เดือนแล้ว ทำเอาทุกคนงงไปหมด เพราะก่อนหน้านี้เราไม่รู้ขั้นตอน อีกอย่างลูกๆ เราก็อยู่กับเจ้าหน้าที่ทหารมาโดยตลอด ไม่ได้หนีไปไหน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แนะนำอย่างไร เราก็ทำตามหมด เราไว้ใจเจ้าหน้ที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะช่วยดูแลให้เสมือนกับลูกชายของเขาคนหนึ่ง แต่เรื่องกลับตาลปัตร ตอนแรกนึกว่าจะพาลูกกลับบ้านได้พร้อมกัน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารนายนั้น ไม่ขอเอ่ยนาม บอกว่าทุกอย่างจะโอเค พวกเรานึกเสียใจที่ไม่ได้ปรึกษาทนายความมุสลิมก่อน เพราะก่อนหน้านี้ก็จะปรึกษาทนายกลุ่มนี้ แต่มารอบนี้เรามากันเงียบๆ เพราะไว้ใจเจ้าหน้าที่ เขาว่าอย่างไรเราก็ตามนั้น อีกอย่างเราก็ไม่รู้ขั้นตอนด้วย เพราะความไว้ใจ แต่กฎหมายอยู่ในมือของพวกเขา เขาจะทำอะไรตามใจชอบได้อยู่แล้ว 

ทั้ง 4 ไม่ได้อยู่กลุ่ม 9 จำเลยที่อัยการเคยฟ้อง ข้อหาอั้งยี่ พ.ร.บ.วัตถุระเบิด ก่อนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีนี้ก่อนหน้านั้นนายตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 9 คน ถูกอัยการยื่นคำฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2560 ฐานความผิด ร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย แต่ผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มจำเลยทั้ง 9 คนด้วย (อ่านต่อ)

3 ใน 4 เคยถูกจับและปล่อย 2 วัน ก่อนเข้าร่วมโครงการศูนย์สันติ ค่ายทหาร โผล่อีกทีมามอบตัว    

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า นายอัมรี นายนูรมาน และ นายมุฟตาดีน 3 ใน 4 ผู้ต้องสงสัยที่เข้ามอบตัวกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการกองปราบปราม เคยถูกจับกุมมาพร้อมกับ นายตาลมีซี โตะตาหยง และนายอุสมาน กะเด็งหะยี จำเลยในคดีกวาดจับหน้ารามฯ ดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ 10 ต.ค.2559 ที่ห้องพักภายใน ซ.รามคำแหง 53/1 และวันต่อมา 11 ต.ค.2559 ทั้ง 5 คนถูกนำตัวไปศาลอาญาและนำตัวไปยังกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

วันที่ 17 ต.ค. 2559 พวกเขาถูกส่งตัวต่อไปยังค่ายทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายตาลมีซี นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่วนนายอุสมาน ถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 46 อ.เมือง จ.นราธิวาส

จากนั้นวันที่ 28 ต.ค.2559 นายตาลมีซี และนายอุสมาน ก็ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ยังคงถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธฯ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น 2 อาทิตย์ นายตาลมีซี ถูกเรียกให้มารายงานตัวอีกครั้งที่ค่ายอิงคยุทธฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2559 และถูกส่งตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม กทม. ตามหมายศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2497/2559 

13 พ.ย.2559 นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่อยู่บ้านเพียง 2 วันก็ได้เข้าร่วมโครงการของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ ตามคำแนะนำจากผู้ใหญ่บ้านและผู้พันแพะ (ไม่ทราบชื่อสกุลจริง) ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2559 จนถึงวันที่ (17 พ.ค.2560) รวมเวลา 6 เดือน  แต่กลับปรากฏอีกที ตามข่าวสำนักข่าวไทยรายงานว่า พวกเขาเดินทางมามอบตัว ดังกล่าว ทั้งที่ 6 เดือนก่อนหน้านี้ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา

ลิงค์ที่มา : https://prachatai.com/journal/2017/04/70904

ส่วนนายต่วนฮาฟิตนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ญาติได้รับหมายจับเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2559 และได้เดินทางไม่มอบตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังจากนั้น 3 วัน (วันที่ 10 ธ.ค.2559) และอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตลอดระยะเวลา 5 เดือน โดยยังไม่มีการยื่นคำฟ้องตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ตร.แจงระบุจับ 13 เหลืออีก 4

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า จากการข่าวทราบว่าคนร้ายประชุมหารือเตรียมก่อเหตุกันในบ้านพักซอยรามคำแหง หอพักของเคหะชุมชนเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางพลี จ.สุมทรปราการ และในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จ.นราธิวาส ตำรวจและทหารจึงนำกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 13 คน อยู่ระหว่างหลบหนีอีก 4 คน และขณะนี้ยังไม่พบว่าจะมีปฏิบัติการก่อเหตุอื่นๆ แต่อย่างใด

ทนายชี้ 4 คนถูกหลอกจับอบรม ใช้ ม.21 เพื่อจับกุม ตามแผนครบสูตร

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ตนคิดว่า 4 คนที่เดินทางมามอบตัวเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2560 ถูกเจ้าหน้าที่ที่รับปากกับญาติว่าจะช่วยให้หลุดพ้นจากการถูกล่าวหา จัดการไปตามแผนรับสารภาพโดยใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มาตรา 21 กำหนดให้ศาลสามารถสั่งให้บุคคลเข้ารับการฝึกอบรมอยู่ภายใต้การดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เป็นเวลานานถึง 6 เดือน

ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวอีกว่า พูดง่ายๆ พวกเขาถูกต้มเอา สุดท้ายก็จะถูกฟ้องกลายเป็นจำเลยเหมือนเพื่อนๆ ของเขาที่ถูกฟ้องไปก่อนหน้านี้ และนี่คือความเลวร้ายของระบบที่มีความซับซ้อนจนกลายเป็นการรังแกประชาชนของตนเองโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

แม่จำเลยชุดแรกเสียความรู้สึก - ข่าวรายงานเกินไป

ฮาดีละห์ ดือรามะ มารดาของนายอุสมาน (จำเลยที่ 4) ชุดแรก 1 ในจำนวน 9 คน ที่ถูกอัยการยื่นฟ้องก่อนหน้านี้ เปิดเผยว่า ตนดูข่าวแล้วตกใจ ทั้งหมดถูกพามามอบตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2560 และควบคุมตัว 1 คืน ถัดมาอีกวัน (18 พ.ค.2560) ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาขออำนาจศาลฝากขัง ล่าสุดถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษ กทม. หลังศาลอนุญาติ พร้อมจำเลยทั้ง 9 ที่เคยถูกจับมาก่อนหน้านี้

ฮาดีละห์ กล่าวต่อว่า ตนดูข่าวแล้วตกใจมาก นักข่าวรายงานแรงเกินไป ตนทนดูต่อไม่ได้ ทำไมถึงทำขนาดนี้ เสียความรู้สึกมาก ต่อไปจะไม่ปักใจเชื่อเจ้าหน้าที่อีกแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ย. 2560

Posted: 19 May 2017 10:23 PM PDT

 
ศปมผ.ประสานสาธารณรัฐอินโดนีเซียนำแรงงานประมงกลับไทย
 
วันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยคณะทำงานด้านแรงงาน ศปมผ. รับลูกเรือซิลเวอร์ซี 2 จำนวน 3 คน กลับสู่ประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ภายหลังจากการประสานงานกับทางการอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 จากกรณีเรือซิลเวอร์ซี 2 ซึ่งเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และ ลูกเรือจำนวน 13 คน ของบริษัท ซิลเวอร์ซี รีเฟอร์ จำกัด ถูกเรือของกองทัพเรืออินโดนีเซียเข้าจับกุมในระหว่างที่เรือจะเดินทางกลับประเทศไทย ขณะผ่านน่านน้ำของอินโดนีเซีย และได้แจ้งข้อกล่าวหาไม่ขออนุญาตแจ้งการขนถ่ายสัตว์น้ำ และไม่แจ้งการเดินเรือผ่านน่านน้ำอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา
 
ภายหลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้ง ศปมผ. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 28 เมษายน 2558 นั้น ศปมผ. โดยคณะทำงานด้านแรงงานดำเนินการรวบรวมคดีต่างๆ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานประสานงานกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกันยายน 2559 ศปมผ. ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานเดินทางไปประสานขอให้เจ้าหน้าที่ประมงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน อนุญาตให้ลูกเรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ของลูกเรือฯ ให้เดินทางกลับประเทศไทย (ตามหลักกฎหมายสากล ลูกเรือ และประจำเรือที่ไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเรือไม่มีความผิด)
 
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ลูกเรือฯ ชุดแรก จำนวน 9 คน ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยกัปตัน และลูกเรือฯอีก 3 คน ยังอยู่ในกระบวนการดำเนินคดีของอินโดนีเซีย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ศปมผ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานเดินทางไปประสานงาน ครั้งที่ 2 ขอให้เจ้าหน้าที่ประมงอินโดนีเซียเร่งรัดการดำเนินคดี
 
วันที่ 20 เมษายน 2560 ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ศาลอินโดนีเซียนัดสืบพยาน และอนุญาตให้ลูกเรือที่เป็นพยานเดินทางกลับประเทศไทยได้ วันที่ 27 เม.ย.60 ศาลฯ นัดสอบพยานครั้งที่ 1 โดยมีลูกเรือฯ จำนวน 3 คน อยู่เป็นพยาน - วันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ศาลฯ นัดสอบพยานครั้งที่ 2 ลูกเรือฯ 3 คน อยู่เป็นพยาน
 
ล่าสุดวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ลูกเรือฯ จำนวน 3 คน ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศ ได้แก่ นายชลอ พุ่มเปี่ยม ตำแหน่ง ต้นกลเรือ นายสถาพร พึ่งชื่น ตำแหน่ง ต้นเรือ และนายพรศักดิ์ ผายเงิน ตำแหน่ง ต้นหนเรือ แต่กัปตันเรือยังคงอยู่รอฟังคำพิพากษาของศาลอินโดนีเซีย ต่อไป
 
ทั้งนี้ บริษัท ซิลเวอร์ซี รีเฟอร์ จำกัด ได้ต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งใช้ระยะเวลาสู้คดีเป็นระยะเวลานาน ปรากฏข้อกล่าวหาเรื่องการขนถ่ายสัตว์น้ำ ทางบริษัทมีหลักฐานชี้แจงครบถ้วนทำให้พ้นมลทิน แต่กรณีการเดินทางผ่านน่านน้ำอินโดนีเซียนั้น เรือหลายสัญชาติได้ใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินเรือผ่านน่านน้ำอินโดนีเซียเช่นกัน
 
ดังนั้น ศปมผ. จะประสานทางการอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด และคาดหวังว่าทางการอิโดนีเซียจะได้พิจารณาในคดีความต่างๆ ให้มีความยุติธรรม และพิจารณาปล่อยเรือซิลเวอร์ซี 2 รวมทั้งกัปตัน ให้เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อพบครอบครัว และญาติที่เฝ้าคอยด้วยความเป็นห่วงใย :สำนักประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
 
 
กกจ. อุ้มผู้พ้นโทษ...ปูทางอาชีพ แล้วกว่า 9,000 คน
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษ เดินหน้าเร่งสร้างอาชีพ โดยจัดสาธิตอาชีพ ฝึกอาชีพอิสระ เผย 7 เดือน (ตุลาคม 2559-เมษายน 2560) ให้บริการจัดหางานแล้วกว่า 700 ราย มีงานทำเกือบ 200 ราย พร้อมปูทางอาชีพอิสระแล้วกว่า 9,000 ราย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมการจัดหางานได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษกับกรมราชทัณฑ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุมประพฤติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น กรมการจัดหางานได้เดินหน้าหางานให้กับผู้พ้นโทษอย่างต่อเนื่องโดยการจัดสาธิตอาชีพและฝึกทักษะอาชีพอิสระระยะสั้นให้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ แนะแนวอาชีพ และลงทะเบียนจัดหางาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีฝีมือ สามารถทำงาน และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 948 ราย ได้รับการบรรจุงานจำนวน 216 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 2,031,500 บาท หรือ 24,378,000 บาท/ปี และในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 773 ราย บรรจุงานให้จำนวน 191 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 1,825,000 บาท หรือ 21,900,000 บาท/ปี โดยตำแหน่งงานที่ได้รับการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.แรงงานด้านการผลิต 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 3.พนักงานขับรถยนต์ 4.พนักงานขายสินค้า และ 5.เสมียนพนักงานทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้ทางอาชีพแก่ผู้ต้องขังในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) จำนวน 9,122 ราย จำแนกเป็นแนะแนวอาชีพ/ทดสอบความพร้อมทางอาชีพ จำนวน 8,133 คน สาธิตการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 989 คน
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้พ้นโทษบางส่วนไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือ เนื่องจาก มีอาชีพรองรับหลังพ้นโทษอยู่แล้ว เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ค้าขาย ช่างซ่อม ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับเหมาก่อสร้าง รับเหมาติดตั้งไฟฟ้า เปิดอู่ซ่อมรถยนต์ รับจ้าง เป็นต้น สำหรับในส่วนของผู้พ้นโทษที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน สามารถแจ้งความประสงค์ดังกล่าวกับกรมการจัดหางานได้ ซึ่งกรมจะได้ประสานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมในหลักสูตรต่างๆ ต่อไป เช่น การปูกระเบื้อง การฝึกอาชีพเสริมสาขาช่างไม้เครื่องเรือน ช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ ช่างยนต์ ช่างเสริมสวย นวดแผนไทย การประกอบอาหาร และการจัดสวน เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 13/5/2560
 
เปิดตัวเลข 'คนว่างงาน' กว่า 1.8 แสนคน ก.แรงงานจัดตำแหน่งรองรับเดือนพ.ค.กว่า 6.2 หมื่นอัตรา
 
กรมการจัดหางาน สรุปตำแหน่งงานว่างในเดือนพฤษภาคม 2560 กว่า 62,000 อัตรา พบนายจ้างต้องการแรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วนมากสุดกว่า 15,500 อัตรา แนะผู้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเลือกเรียนสายอาชีพ เตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน ฝึกทักษะ และอย่าเลือกงาน
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กรมการจัดหางานได้รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานทางเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th/auth/index เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน จำนวน 67,685 คน รายงานตัว จำนวน 185,779 คน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ประกันตนฯ คนหางานไว้แล้ว จำนวน 62,790 อัตรา เป็นตำแหน่งงานว่างจำแนกตามประเภทอาชีพ 10 อันดับ ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วน จำนวน 15,668 อัตรา 2.แรงงานด้านการผลิต แรงงานทั่วไป จำนวน 9,040 อัตรา 3.เสมียน/พนักงานทั่วไป/พนักงานธุรการ จำนวน 5,533 อัตรา 4.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า จำนวน 2,651 อัตรา 5.พนักงานบริการลูกค้า จำนวน 1,527 อัตรา 6.นักการตลาด/เจ้าหน้าที่การตลาด จำนวน 1,375 อัตรา 7.พนักงานขับรถยนต์ จำนวน 1,359 อัตรา 8.พนักงานคลังสินค้า จำนวน 1,108 อัตรา 9.พนักงานบัญชี จำนวน 711 อัตรา และ10.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า จำนวน 702 อัตรา
 
จากสถิติตำแหน่งงานว่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานประกอบการมีความต้องการจ้างแรงงานในสายอาชีพเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานขอให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน อย่าเลือกงาน และขอฝากถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเลือกเรียน ขอให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อการเลือกเรียนโดยเลือกเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น เนื่องด้วยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่ในขณะนี้ โดยสามารถสอบถามข้อมูล/ ปรึกษา/ติดต่อสมัครงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว
 
 
สปส.เดินหน้าตั้งนิติบุคคล เฟ้นมืออาชีพบริหารกองทุน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการบริหารการลงทุนของสำนัก งานประกันสังคม ว่า สปส.มีภาระหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่สมาชิกผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้กำหนดการบริหารการลงทุนเป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปของกระทรวงแรงงาน กำหนดให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการลงทุน ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนได้ผลตอบแทนดี แต่การบริหารกองทุนประกันสังคมต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้ภาระการจ่ายเงินบำนาญชราภาพในอนาคตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการหาผลตอบแทนมีข้อจำกัดมากขึ้น ผลตอบแทนจาการลงทุนมีความสำคัญ ถ้ายังทำอะไรไม่คล่องตัว ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่ำ บำนาญในอนาคตน่าจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตน ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างผลตอบแทนและความมั่นคงของกองทุนในอนาคต
 
นายสุรเดชกล่าวว่า สปส.มีเงินลงทุนสะสม 1.6 ล้านล้านบาท การที่เงินมีจำนวนมาก การลงทุนในประเทศอาจจะมีปัญหา จึงต้องไปลงทุนในต่างประเทศหรือในสินทรัพย์ที่แตกต่างเพิ่มขึ้น แต่การบริหารงานภายใต้ระบบราชการขาดความคล่องตัว ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสในการลงทุน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมสามารถบริหารการลงทุน เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน การปฏิรูปการบริหารการลงทุน จึงมีการเสนอให้แยกหน่วยลงทุนให้มีฐานะเป็นนิติบุคล เพื่อให้กองทุนมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตนสูงสุด โดยคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จะยังเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของกองทุน ซึ่งมีการสรรหาบุคลากรมืออาชีพมาทำหน้าที่บริหารการลงทุนแทนพนักงานของประกันสังคม โดยผู้บริหารสูงสุดของกองทุนจะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ที่มีองค์ประกอบของผู้แทนลูกจ้าง ผู้ประกันตน นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
 
นายสุรเดชกล่าวอีกว่า ก่อนการปฏิรูปได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง ผู้ประกันตน นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียต่อแนวทางการปฏิรูป ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทางหรือความคิดเห็น โดย สปส.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง มีเสียงตอบรับดีเกินคาด โดยเห็นด้วยกับการปฏิรูปการบริหารการลงทุนประมาณร้อยละ 90% และรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์มีคนเห็นด้วยประมาณ 79% หลังฟังความคิดเห็นแล้วได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายที่ทำไว้ และเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. แต่มีการท้วงติงในบางเรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้เกิดความชัดเจน จะส่งกลับให้พิจารณาอีกครั้ง หากผ่านจะส่งเข้ากระทรวงแรงงาน เพื่อนำเข้า ครม.และ สนช. โดยจะเร่งให้เป็นผลสำเร็จภายในปีนี้
 
"กองทุนประกันสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินลงทุนสะสม 1.6 ล้านล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นยังเน้นลงทุนในบริษัทเอกชน และสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ในอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน มีคำถามว่าแยกหน่วยลงทุนแล้วนักการเมืองจะมายุ่งได้แค่ไหน คณะกรรมการประกันสังคม โดยเฉพาะเจ้าของเงิน ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ยังมีส่วนในการกำกับ ดูแล ส่งผู้แทนเข้าไปเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการ เลือกกรรมการสรรหาเลขาธิการ มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระ
 
เมื่อทำงานแล้วจะมีบริษัทตรวจสอบทางบัญชีที่ สตง.รับรอง หรือ สตง.ตรวจสอบเอง และกำหนดให้มีการรายงานผลต่อสาธารณชนและกรรมการประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ ในปีแรกต้องมีการลงทุนเรื่องสถานที่และค่าจ้างคนทำงาน ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงขึ้นในหลัก 100 ล้านต้นๆ แต่ถ้าทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 จากเดิมลงทุน 100 บาท ได้ผลตอบแทน 5 บาท เพิ่มเป็น 5.50 บาท กองทุนจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นปีละ 7,500 ล้านบาท ยังไงก็คุ้ม นักวิชาการด้านลงทุนบอกว่าการทำแบบนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเยอะ" นายสุรเดชกล่าว
 
 
ก.แรงงาน เร่งจดทะเบียนสัตยาบัน ILO ฉบับที่ 111 หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ว่า ครม. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว และให้ ก.แรงงานจดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อ ILO ต่อไป
 
นายสุทธิ กล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานที่จะได้เข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่นๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติอีกด้วย
 
 
เฟซบุ๊กชาวเมียนมาโชว์คลิปตำรวจไทยหากินกับแรงงานต่างด้าวบนรถบัส ใช้เทคนิครับเงินระหว่างตรวจหนังสือเดินทาง-บัตรอนุญาตทำงาน
 
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวนมาก ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเฟซบุ๊กชาวเมียนมา ใช้ชื่อว่า เลเบอร์ ฮิตไตย (Labour Hittai) ได้โชว์ภาพการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยนายหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่บนรถยนต์บัส บริเวณจุดตรวจแห่งหนึ่ง ถนนสาย อ.แม่สอด อ.เมืองตาก จ.ตาก
 
ขณะที่ตำรวจรายนี้ แต่งเครื่องแบบคล้ายชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือตำรวจ นปพ. กำลังตรวจหนังสือเดินทางแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่เดินทางไปจาก อ.แม่สอด เพื่อไปทำงานที่ กทม. หลังจากกลับไปเที่ยวบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ ได้ตรวจสอบหนังสือเดินทางแรงงานต่างด้าวทุกราย พร้อมกับบัตรอนุญาตทำงานของบุคคลต่างด้าว ระหว่างที่กำลังตรวจนั้น ไปพบกับแรงงานชาย 1 ราย ที่แสดงตนเหมือนจะรู้กันมาล่วงหน้า โดยควักธนบัตรฉบับละ 100 บาท เตรียมไว้หลายใบ เพื่อจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ พอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนี้ไปถึงได้ยืนหันด้านข้างกระเป๋ากางเกง และใช้มือรับเงินจากแรงงานต่างด้าวรายนี้ จากนั้นจึงรีบนำเงินใส่กระเป๋ากางเกง และทำทีเป็นตรวจเอกสารต่อไป
 
องค์กรเลเบอร์ ฮิตไตย ได้เขียนภาษาไทย ในการบรรยายภาพนี้ ว่า "ส่วนหนึ่งในจำนวนอีกมากมาย ที่มีการทุจริต รับสินบน วันเสาร์ที่ 13 พ.ค.2560 เมื่อ Work permit หรือใบอนุญาตทำงาน ของแรงงานเมียนมาขาดอายุ ได้เจอกับตำรวจไทยที่อดยาก"
 
รายงานข่าวแจ้งว่า องค์กรแรงงานของชาวเมียนมาร์ ตามแนวชายแดนได้ร้องไปยัง หน่วยงานระดับสูงของไทย โดยล่าสุดมีคำสั่งให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ขณะที่หน่วยข่าวของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาของชาวเมียนมา ที่ทราบข่าวนี้ ต่างวิพากวิจารณ์ถึงความหิวโหยของตำรวจไทย
 
 
"พยาบาลสธ." ยังหวั่น ๆ ถูกดองตำแหน่ง รอปะทุรอบใหม่จ่อออก 61%
 
หลังจากทราบว่าครม.รับหลักการบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้พยาบาลลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จำนวน 8,900 อัตรา โดยระบุว่าหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับบรรจุทดแทนจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันจะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด
 
รายงานข่าว ระบุว่า ตัวเลข 8,900 อัตรา จะทยอยบรรจุ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 เฉลี่ยปีละ 2,966 อัตรา สำหรับในปี 2560 พยาบาลลูกจ้างสธ.จะได้บรรจุเป็นข้าราชการประมาณ 5,100 อัตรา แยกเป็นตำแหน่งจากการบริหารอัตราว่างภายในของสธ.เองจำนวน 2,200 อัตรา บวกกับตำแหน่งใหม่ 2,966 อัตรา
 
น.ส.ทิพวรรณ ทับผา ฝ่ายข่าวเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้าง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แกนนำเครือข่ายฯได้มีการหารือร่วมกันเบื้องต้นเห็นว่าหากครม.อนุมัติตำแหน่งข้าราชการเพื่อบรรจุให้พยาบาลลูกจ้าง สธ. จำนวน 8,900 ตำแหน่ง แม้จะลดลงจากจำนวนเดิมที่สธ.เสนอขอไป 10,992 ตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นเ้รื่องที่พยาบาลพอใจ เพราะเมื่อได้มา 8,900 ตำแหน่ง รวมกับ ตำแหน่งว่างของสธ.เองอีก 2,200 ตำแหน่ง ก็ถือว่าได้บรรจุกว่า 1 หใื่นตำแหน่งอย่างไรก็ตาม จะต้องรอมติครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จึงจะสามารถกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ส่วนกำหนดการของกลุ่มพยาบาลต่างๆที่กำหนดวันเวลาไว้แล้วในจังหวัดต่างๆจะดำเนินการเช่นเดิม แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนการแสดงพลังจากเดิมที่จะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีอนุมัติตำแหน่งเป็นการแสดงความขอบคุณแทน
 
"แม้จะมีพยาบาลลูกจ้่างสธ.ที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการอยู่อีกราว 13,000 คน แต่ตอนนี้ได้ตำแหน่งมายังไม่ครบตามจำนวนที่รออยู่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อวางแผนในระยะยาว เพราะเมื่อคนเดิมก็ยังได้บรรจุไม่ครบ แต่ละปีก็จะมีพยาบาลจบใหม่เข้าเป็นลูกจ้างของรัฐอีกราว 3,000 -4,000 คนก็ยังไม่มีตำแหน่งราชการรองรับ ไม่อยากให้เกิดปัญหาว่าในอีก 5 ปีก็ต้องมาประท้วงขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการกันครั้งใหม่อีก จากที่พยาบาลยังค้างสต๊อคและทบจำนวนขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี อยากให้เป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆที่มีตำแหน่งราชการรอรับตั้งแต่สอบเข้าเรียนพยาบาลในเครือนักเรียนทุนพยาบาลได้ สามารถบรรจุราชการได้ปีต่อปีที่จบเลย ไม่อยากให้เป็นลูกจ้างแล้วค้างสต็อคและปะทุขึ้นอีกรอบเพราะค้างเยอะมากมาเรื่อยๆ"น.ส.ทิพวรรณกล่าว
 
รายงานข่าวระบุว่า ในแวดวงพยาบาลลูกจ้างสธ.มีการพูดคุยกันอย่างกว้างถึงประเด็นที่ครม.มีการพิจารณาในวันนี้ โดยส่วนใหญ่ยังแสดงท่าทียังไม่มั่นใจ และไม่เชื่อถือกับที่ครม.รับหลักการจนกว่าจะมีการยืนยันการได้รับตำแหน่งบรรจุเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากมองว่าเมื่อไม่ได้เป็นมติครม.จึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกและการพิจารณาของครม.ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ เพราะในส่วน 8,900 ตำแหน่งยังไม่ได้ระบุเป็นมติครม.อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างฯมีการขอให้พยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการทุกคนตอบแบบสอบถาม โดยส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และส่วนที่ 2มีการสอบถาม 2 ข้อสำคัญ คือ 1.หากไม่มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 ตำแหน่ง ตามมติครม. วันที่ 9 พฤกษภาคม 2560 ท่านจะตัดสินใจลาออกหรือไม่" และ2.หากท่านตัดสินใจลาออกจากการเป็นพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านจะ…..โดย คำตอบมี "ทำงานโรงพยาบาลเอกชน" " ทำงานคลินิกเสริมความงาม/คลินิกเอกชน" "ทำงานต่างประเทศ" "พยาบาลอิสระ (freelance )" "ประกอบธุรกิจส่วนตัว" "เปลี่ยนสายงาน" "อื่นๆ….."นั้น ปรากฎว่า ขณะนี้มีพยาบาลตอบแบบสอบถามแล้ว จำนวน 1,800 คน และแสดงความประสงค์ว่าหากไม่ได้รับการอนุมัติตำแหน่งราชการจะลาออก 61 % ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2560
 
 
รบ.เผย สธ.ชงตั้ง คกก.แก้ปัญหาพยาบาล แย้มทำเป็นขั้นตอน 3 ปีบรรจุครบ
 
(16 พ.ค.) เวลา 14.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 11,000 อัตรา ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำเสนอแนวทางในที่ประชุมว่า อัตราว่างในปี 60 ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุได้ คือ 2,200 อัตรา ดังนั้นจะเหลือ 8,800 อัตรา และหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันก็จะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด แนวทางดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็น มติ ครม. เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอซึ่งที่ประชุมก็พึงพอใจ
 
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตั้งคณะกรรมการเป้าหมายนโยบายบุคลากรสาธารณสุขขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบุ คลากรภายในกระทรวงอย่างยั่งยืนไม่ใช่แก้ปัญหาในรายปี ตามที่นายกฯ เน้นย้ำทุกกระทรวงทบวงกรมว่าให้แก้ปัญหาทั้งระบบ โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถนำเสนอ ครม.เพื่อแก้ปัญหาได้ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะแรงกดดันจากพยาบาลที่ขู่จะลาออกรัฐบาลถึงลงมาแก้ปัญหา แต่เพราะรัฐบาลทุกปัญหาด้วยฟังเหตุด้วยผล และพบว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริง
 
 
ย้ำนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารกรณีเรียกพลพร้อมจ่ายค่าจ้าง
 
กระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล ต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาและจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน และรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้ทำการเรียกทหารกองหนุนเข้ารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ระหว่างเดือน มีนาคม – กรกฎาคม 2560 กระทรวงแรงงานจึงออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างซึ่งเป็นทหารกองหนุนทำงานอยู่และ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 35 และมาตรา 58 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อการตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และในการจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาด้วย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเสริมว่า เมื่อลูกจ้างได้รับคำสั่งเรียกพล (ตพ.17) หรือหมายเรียกพล (ตพ.13) เพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ประจำปี 2560 ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ลูกจ้างนำคำสั่งหรือหมายเรียกดังกล่าวแสดงต่อนายจ้าง พร้อมขออนุญาตลาหยุดงาน โดยนายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลครั้งนี้ ตามกำหนดเวลาและสถานที่ที่ปรากฏในคำสั่งหรือหมายเรียกพล เมื่อครบระยะเวลาการฝึกแล้ว ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองนำเอกสารขอความร่วมมือในการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง (ตพ. 22) ไปแสดงต่อนายจ้างเพื่อขอรับค่าจ้าง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน พร้อมทั้งรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม ทั้งนี้ การเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารในกรณีนี้ ไม่รวมถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร)
 
 
'สตง.' สั่ง 'อปท.' ระงับจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 'พนักงานจ้างเหมาบริการ'
 
สตง.จี้ผู้ว่าฯ สั่ง อปท.ระงับจ่ายเงินสมทบประกันสังคม "พนักงานจ้างเหมาบริการ" เหตุระเบียบ มท.ไม่ได้กำหนดเป็น "ลูกจ้าง อปท." เผยพบ อปท.บางแห่ง "เช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่า" ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า แถมไม่มีประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง หวั่นเกิดความเสียหาย ยังพบ อปท.บางแห่งแอบเอา "รถหลวง" ทำประกันภัยรถยนต์เพื่อเรียกสินไหม แม้ระเบียบฯ ระบุไว้ทำประกันได้เฉพาะ "รถส่วนกลาง" พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการแจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ไปยังผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากกรณี สตง.ตรวจสอบงบการเงินของ อปท.พบว่า มี อปท.บางแห่งกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับใน 3 กรณี โดยขอให้ทุกจังหวัดควบคุม กำกับดูแล อปท.ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและหนังสือกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด
 
โดยประเด็นแรก สตง.พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ได้ทำการเช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า เช่น ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าไม่ตรงตามสัญญา ผู้ให้เช่าไม่จัดให้มีการประกันภัยรถยนต์ที่เช่าประเภทชั้นหนึ่งตลอดอายุสัญญาเช่า หรือผู้ให้เช่ามิได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่า โดยประเด็นนี้เนื่องจาก การถือปฏิบัติเกี่ยวกับ "การเช่ารถยนต์" ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยอนุโลม ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขในการเช่ารถยนต์มาใช้ในราชการ ซึ่งการเช่ารถในแต่ละครั้งให้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ทำสัญญากับบริษัทหรือผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนให้บริการเช่ารถโดยตรง และต้องเป็นรถใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อน หรือกรณีรถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ บริษัทผู้ให้เช่า ต้องจัดหารถในสภาพตามสัญญาเช่ามาทดแทนให้ทันที
 
ประเด็นที่ 2 สตง.พบว่า ในการทำประกันภัยรถยนต์ส่วนกลางภาคบังคับและภาคสมัครใจ ตามตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ยกเว้นให้รถยนต์ส่วนราชการรวมทั้งรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องจัดมีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยหรือประกันภัยภาคบังคับ ส่วนการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2552 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ ได้กำหนดว่า รถยนต์ที่จะทำประกันต้องเป็นรถยนต์ส่วนกลางในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ต้องมีรถยนต์ในลักษณะการใช้งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่ารถยนต์ส่วนกลางตามปกติ และหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินองบุคคลในวงกว้าง เช่น รถยนต์ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รถบรรทุกวัตถุอันตราย หรือเป็นรถโดยสารที่มีจำนวนตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งมิได้อยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำประภัยภัยรถยนต์ ภาคบังคับ หรือทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจแก่รถยนต์ส่วนกลางและรถประจำตำแหน่ง
 
ประเด็นสุดท้าย สตง.พบว่า ในเรื่องของการจ่ายเงินเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้กับบุคคลจ้างเหมาบริการ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 ข้อ 67 กำหนดให้ อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ แต่มี อปท.บางแห่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้แก่บุคคลจ้างเหมาบริการตามสัญญาจ้าง เนื่องจากเห็นว่า บุคคลจ้างเหมาบริการนั้นเป็นลูกจ้างที่ผู้เป็นนายจ้างต้องมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้บุคคลดังกล่าวตามนัยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กรณีดังกล่าว อปท.ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมได้ เพราะบุคคลจ้างเหมาบริการ ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของ อปท. โดยผู้รับจ้างเหมาบริการเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับ อปท.ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง อปท.ผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ว่าจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
แหล่งข่าวจาก สตง.ระบุว่า พบว่ามี อปท.หลายแห่งกระทำการดังกล่าวจริง แต่หนังสือที่ส่งไปยัง กระทรวงมหาดไทย เพื่อต้องการป้องปราม และป้องกัน อปท.ไม่ให้ฝ่าผืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จึงไม่มีการระบุพื้นที่ อปท. หรือจังหวัดที่เป็นเป้าหมาย
 
 
กรมการจัดหางาน บุกตลาดไต้หวันพร้อมจัดส่งคนงานทันที 233 อัตรา
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ บอกว่า กรมการจัดหางาน ร่วมกับสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา ไทเป เข้าพบหารือกับบริษัทที่ไต้หวัน ซึ่งจ้างแรงงานไทยผ่านการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน เป็นบริษัทประกอบธุรกิจประเภทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า //ผลิตเฟอร์นิเจอร์ //ผลิตชิ้นส่วน/ประกอบจักรยาน ผลิตอลูมิเนียมอัดหรือรีดเป็นรูป จากการหารือบริษัทมีความสนใจใช้บริการจัดส่งโดยรัฐ โดยนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงานไทยให้กรมการจัดหางานจัดส่งทันทีจำนวน 233 อัตรา คาดว่าจะจัดส่งได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และยังได้จัดหาตำแหน่งงานให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 220 อัตรา
 
 
ปลัด สธ.ยืนยัน 3 ปี พยาบาลได้บรรจุ 13,583 อัตรา "วิษณุ" ให้ สธ.ร่วมตั้ง กก. กำลังคนสุขภาพ
 
17 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ในฐานะประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์พยาบาลทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจกรณีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบรรจุในหลักการและให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายละเอียดเข้าสู่ ครม.อีกครั้งนัดหน้า
 
นพ.โสภณกล่าว ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า จากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมหารือร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ไปแล้ว โดยครม.เห็นชอบตามตัวเลขที่เสนอ แต่ให้กระทรวงกลับไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและนำเข้าที่ประชุมครม.ครั้งหน้า โดยจากตัวเลขกว่า 1 หมื่นตำแหน่งนั้น ในส่วนของ สธ.มีการจัดสรรตำแหน่งว่างได้จำนวน 2,200 อัตรา จึงนำไปลบออกจากตัวเลขกระทรวงฯเสนอขอไปก่อนหน้านี้ 10,992 อัตรา สรุปแล้วจะได้ตัวเลขพยาบาลที่ได้บรรจุข้าราชการจำนวนทั้งสิ้น 8,792 อัตราใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยเฉลี่ยปีแรก 2,930 อัตรา และปีที่ 2 และปีที่ 3 จะได้จำนวน 2,931 อัตรา
 
"โดยปีแรกคือ ปี 2560 พยาบาลที่จะได้รับการบรรจุรวม 5,885 อัตรา แบ่งเป็น 2,930 อัตรา และตำแหน่งว่างอีก 2,200 อัตรา รวมทั้งตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการอีก 755 อัตรา ต่อมาในปี 2561 พยาบาลจะได้รับการบรรจุรวม 3,743 อัตรา แบ่งเป็น 2,931 อัตรา และเกษียณอายุราชการอีก 812 อัตรา ปี 2562 พยาบาลจะได้รับการบรรจุข้าราชการรวม 3,955 อัตรา แบ่งเป็น 2,931 อัตรา และเกษียณอายุราชการอีก 1,024 อัตรา รวมตัวเลขที่พยาบาลจะได้รับการบรรจุทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 ปี อยู่ที่จำนวน 13,583 อัตรา ซึ่งปัจจุบันมีพยาบาลที่ค้างการบรรจุอยู่ประมาณ 13,603 อัตราก็น่าจะบรรจุได้เกือบหมด" ปลัด สธ.กล่าว
 
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับพยาบาลจบใหม่ 3-4 พันคนที่เข้ามาในระบบจะทำอย่างไรนั้น จากการพิจารณาตัวเลขแล้วพบว่า ปี 2564 จะมีตำแหน่งจากพยาบาลรุ่นพี่ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งน่าจะเพียงพอกับน้องใหม่ที่บรรจุเข้ามา จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพหลักที่ควรได้บรรจุอยู่ที่ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ดังนั้น เห็นว่ามีน้องๆ พยาบาลบางส่วนกังวลว่า อยากเห็นเป็นมติ ครม.แบบลายลักษณ์อักษร เพื่อความชัดเจนนั้น จึงอยากให้พยาบาลเชื่อมั่นในรัฐบาลและกระทรวง เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยเชื่อมั่นมากนัก แต่หลังจากสร้างความเข้าใจก็น่าจะดีขึ้น ที่สำคัญ ครม.เห็นชอบแล้ว เพียงแต่เหลือจัดทำรายละเอียดเท่านั้น และไม่ต้องกังวล เพราะแม้จะแบ่งเป็น 3 ปี แต่เป็นมติ ครม.ย่อมเชื่อถือได้
 
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ท่านวิษณุได้ให้กระทรวงฯ เสนอไปเพิ่มเติมคือ การทำงานร่วมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เทียบเท่ากับ คปร. แต่เป็นคณะกรรมการที่จะมาดูเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ จะดูทั้งกระทรวงฯ ทั้งมหาวิทยาลัย และเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งทางสธ.ก็จะเสนอในส่วนกระทรวงเข้าไปด้วยในการประชุม ครม.ครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เป็นตัวตั้ง และมีทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้เห็นภาพรวม นอกจากนี้ ท่านวิษณุ ยังให้กระทรวงฯ จัดทำแผนกำลังคนด้านสุขภาพระยะยาว ซึ่งจะทำให้ทราบว่าความต้องการกำลังคนมีเท่าไหร่ โดยตนได้นำเรียนว่า สธ.มีการดำเนินการอยู่ และจะเสนอต่อคณะกรรมการฯที่จะตั้งขึ้นไป เพื่อประกอบการพิจารณาภาพรวม โดยในส่วนของสธ.นั้น จะมีกรอบการพิจารณาที่เรียกว่า FTE ซึ่งเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบอัตรากำลัง พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภาระงาน ความจำเป็นของพื้นที่ เป็นต้น
 
"สำหรับกรอบอัตรากำลังคนนั้น ได้มีการดำเนินการและถามความเห็นจากแต่ละพื้นที่ และจะเข้าที่ประชุมวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ดังนั้น เมื่อได้ตำแหน่งมา ก็จะมีการจัดสรรตามกรอบที่วางไว้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการวางแผนกำลังคนนั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เป็นข้าราชการ เพราะต้องยอมรับว่าอาจต้องมีการจ้างงานรูปแบบอื่น แต่ก็ต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วย สำหรับปัญหากำลังคนด้านพยาบาลนั้น เชื่อว่าในปี 2579 เว้นแต่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีความต้องการกำลังคนเพิ่มเติม" นพ.โสภณกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้เปิดให้พยาบาลในพื้นที่ต่างๆ แสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจในประเด็นการจัดสรรตำแหน่งตามกรอบที่กระทรวงวางไว้ และต้องการให้ปรับเปลี่ยน FTE ใหม่ จนทำให้ปลัด สธ. ต้องถามกลับไปว่า ประเด็นการจัดกรอบ FTE มีการวางแนวทางมานานแล้ว และล่วงเลยมานาน การจะมานับใหม่คงไม่ได้ ดังนั้น ขอยืนยันตามแบบเดิม เมื่อได้ตำแหน่งมาต้องจัดสรรตามกรอบที่วางไว้ หลักๆ คือ 1.รพ.หรือพื้นที่นั้นๆ มีความต้องการอยู่ 2.มีการคัดเลือกจากพยาบาลที่จบก่อน เพื่อให้ไปอยู่ใน รพ.ที่จำเป็นต้องมีบุคลากร ยกเว้นว่าเมื่อได้รับคัดเลือกแล้วแต่สละสิทธิ ไม่อยากไปอยู่ที่นั้นๆ ก็จะเป็นสิทธิของน้องที่จบรุ่นต่อมา ขอย้ำว่า หากต้องการบรรจุก็ต้องยอมไปอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนบ้าง อยากให้มองพื้นที่อื่นๆที่มีความจำเป็นด้วย
 
ด้าน นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม จะมีการประชุม คปร.เพื่อจัดทำข้อมูลรายละเอียดการบรรจุพยาบาลต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว และหลังจากนั้น คปร.จะเป็นผู้เสนอต่อครม.เพื่ออนุมัติอย่างเป็นทางการ หากทุกอย่างทันก็น่าจะเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าได้ หากไม่ทันจริงๆ ก็อาจเป็นอีกสัปดาห์ถัดไป แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา ทั้งนี้ เมื่อครม.อนุมัติอย่างเป็นทางการ ก็จะมีการบรรจุในปีแรกก่อน ซึ่งเบื้องต้น 2,200 อัตรา มี 1,200 อัตราทราบกันหมดแล้วว่าใครไปที่ไหน อย่างไร และอีก 1,000 ตำแหน่งก็จะจัดการต่อไปอีก สำหรับตัวเลขที่น้องๆพยาบาลยังค้างอยู่ในระบบมีรวม 13,603 อัตรา แบ่งเป็น พกส.หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 อัตรา ลูกจ้างชั่วคราว 6,805 อัตรา และพนักงานราชการอีก 260 อัตรา ซึ่งใน 3 ปีน่าจะบรรจุได้หมด
 
 
เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างฯ ขอบคุณ "ลุงตู่" เผยพอใจจัดสรรตำแหน่งบรรจุข้าราชการ ยันไม่มีลาออกแล้ว
 
น.ส.รุ่งทิวา พนมแก ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมรับฟังการชี้แจงจาก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กรณีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ หลัง ครม. รับหลักการจะบรรจุ 3 ปี จำนวนรวมประมาณ 8,792 ตำแหน่ง และเมื่อรวมกับตำแหน่งว่างในปี 2560 และจาการเกษียณปี 2560 - 2562 ทำให้น่าจะบรรจุพยาบาลได้ถึง 13,583 ตำแหน่ง ว่า จากการร่วมประชุมทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และพอใจกับข้อสรุปในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่เพียงการพูด แต่มีสักขีพยานเป็นสื่อมวลชน มีการจัดเกลี่ยตำแหน่งให้กับพยาบาลตามที่ร้องขอ
 
"พยาบาลคงจะไม่มีการลาออกแล้ว เพราะได้รับตามเป้าหมาย และได้รับขวัญกำลังใจแล้ว แต่เรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การรวมตัวกันร้องเพลงมาร์ชพยาบาล ก็ยังคงมีการดำเนินการต่อไปเพื่อแสดงถึงพลังของพยาบาล ร่วมกับการขอบคุณนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ อยากขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส ซึ่งทางเครือข่ายฯ มั่นใจใน สธ. แต่ก็อยากให้ สธ. มั่นใจในเครือข่ายฯ ด้วย" น.ส.รุ่งทิวา กล่าว
 
ทั้งนี้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ด้วยว่า
 
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คราวประชุมวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มีมติ ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการ ตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน ๑๐,๙๙๒ อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ตามความจำเป็น และไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ นั้น จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียขวัญและกำลังใจ ของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่า "ไม่บรรจุ ลาออก ยกกระทรวง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐" หลังจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจนั้น
 
ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจนได้รับความพึงพอใจใน แนวทางการแก้ปัญหา และนำมาสู่การชี้แจงผ่านการประชุม video conference ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่กระทรวงสาธารณสุข ไปยัง สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข มีความพึงพอใจและจะติดตามการ ดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบรรจุพยาบาล ให้เป็นข้าราชการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเร็วที่สุด
 
ในนามของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สภาการพยาบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นว่าระบบสุขภาพของประเทศไทย นั้นมีความจำเป็นที่ต้องคงอัตรากำลังของพยาบาลไว้ จนได้มีการนำเรื่องของการบรรจุพยาบาลให้เป็น ข้าราชการนั้นเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมหารือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่แนวทางใน การแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมและพึงพอใจของหลายหลายฝ่าย และขอขอบคุณองค์กรวิชาชีพพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ออกมาสนับสนุนให้มีการบรรจุพยาบาลให้เป็นข้าราชการในครั้งนี้
 
ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือการแก้ไขปัญหาไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและ กระทรวงได้ทำไว้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข จะมีการรณรงค์แจ้งข่าวสาร เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบถึง ประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไขและเชิญชวนให้ดำเนินการเขียนใบลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
 
 
กต.เผยคนไทยอยู่เกาหลีใต้เกินวีซ่า 57,490 คน
 
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวไทยรายหนึ่งเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ แล้วส่งกลับประเทศไทย ว่า กต.ได้สอบถามสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จึงทราบว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการสื่อสารของภาษา และมีเอกสารไม่ครบตามขั้นตอนระเบียบการเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องรับการตรวจลงตรา(วีซ่า) และพำนักในประเทศได้ไม่เกิน 90 วัน แต่พบปัญหาว่าคนไทยมักทำผิดกฎหมายเกาหลีใต้ เช่น การพำนักเกินกำหนดเวลา การลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ผิดกฎหมาย อาสัยยกเว้นวีซ่าแล้วหลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้คนไทยถูกส่งกลับประเทศ ปีละประมาณ 20,000 คน
 
"ขอให้คนไทยปฏิบัติตนตามกฎหมายการเข้าเมืองของเกาหลีใต้ โดยควรมีเอกสารตามระเบียบของทางการเกาหลีใต้ คือตั๋วเครื่องบินทั้งเที่ยวไปและกลับที่ระบุวัน-เวลาชัดเจน มีหลักฐานการเงิน แหล่งที่พักชัดเจน และบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ชัดเจน ขณะที่บริษัททัวร์ต้องเน้นย้ำกับนักท่องเที่ยวให้เตรียมเอกสารเหล่านี้ไว้พร้อม และต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก"น.ส.บุษฎี กล่าว
 
น.ส.บุษฎี กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศควรดำเนินการผ่านกระทรวงแรงงานหรือบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนคนไทยที่พำนักในเกาหลีใต้ จนถึงเดือนมี.ค.2560 พบว่ามีคนไทยอยู่ประมาณ 101,000 คน โดยมีผู้อยู่เกินกำหนดวีซ่า จำนวน 57,490 คน ถือเป็นสถิติที่สูง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับกระทรวงแรงงานและรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ และเพื่อไม่ให้กระทบกับคนไทยจำนวนมากที่ตั้งใจเดินทางไปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ทางกระทรวงฯขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญคืออย่าพำนักเกินวีซ่าที่ทางการเกาหลีใต้อนุญาตไว้
 
 
เผยผลศึกษาแรงงานครัวเรือนเกษตรภาคกลาง ยังไม่ขาดแคลน
 
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย "ความต้องการแรงงานของครัวเรือนภาคการเกษตร ตามชนิดสินค้าและขนาดฟาร์ม" ซึ่งเป็นงานบูรณาการร่วมกันของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 โดยศึกษาถึงสถานการณ์และประสิทธิภาพของแรงงานแต่ละประเภทการผลิตแยกตามขนาดฟาร์ม และเชื่อมโยงถึงความต้องการแรงงานภาคการเกษตรตามประเภทและขนาดฟาร์ม
 
จากการลงพื้นที่ ได้ทำการศึกษาเกษตรกรสาขาพืช ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และลำไย ตามขนาดฟาร์ม ในแต่ละกิจกรรมและกระบวนการผลิต ในการนี้ขอยกตัวอย่างการศึกษาในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 (สศท.7) ซึ่งทำการศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ภาคกลางของแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ดำเนินการเก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ส่วนมันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี
 
ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า แรงงานภาคเกษตรในพื้นที่ภาคกลางไม่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งมีทั้งส่วนที่ว่าจ้าง และจัดหาเครื่องจักรมาไว้เป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพื้นที่มากๆ ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับในฟาร์มของตนเองแล้ว ยังนำไปรับจ้างให้บริการเกษตรกรรายอื่นด้วย
 
สำหรับการจ้าง เกษตรกรจะมีการวางแผนการเพาะปลูก และนัดหมายล่วงหน้ากับผู้ว่าจ้างไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตรงกับรายอื่นๆ โดยค่าจ้างจะคิดเหมาเป็นไร่ และอัตราค่าจ้างจะมีตั้งแต่ไร่ละ 200 – 600 บาท ในส่วนของแรงงานคน ส่วนใหญ่จะทำการว่าจ้างสำหรับงานด้านการดูแลรักษา ซึ่งค่าจ้างจะคิดใน 2 แบบ คือ เป็นรายวัน วันละ 300 บาท หรือเหมาเป็นไร่ อยู่ที่ไร่ละ 50 - 60 บาท
 
อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานภาคเกษตรทั้งของข้าว มันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราว มีทั้งเกษตรกรที่ว่างจากการทำการเกษตรของตนแล้วมารับจ้าง และที่เป็นแรงงานรับจ้างทางการเกษตรโดยเฉพาะ ทั้งในรูปแบบทำเองคนเดียว และทำเป็นทีมงาน และหากกรณีผลผลิตเกษตรกรไม่ดี เสียหายจากภัยธรรมชาติ ผู้รับจ้างจะปรับลดค่าจ้างเครื่องจักรลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ค่าจ้างแรงงานคนค่อนข้างคงที่ไม่ปรับลด
 
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างช่วงปี 2559 และ ปี 2558 พบว่า อัตราค่าจ้างทั้งส่วนของแรงงานคน และเครื่องจักรของทั้งสองปีไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเกษตรกรและท่านที่สนใจสามารถสอบถามผลการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท โทร. 056 405 005 – 6 หรือ zone7@oae.go.th
 
 
กรมการจัดหางาน รับสมัครคนไทยไปฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี มีเงินเดือนตลอดการฝึกงาน
 
กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี สมัครระหว่างวันที่ 29- 31 พฤษภาคม 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศอาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2560 ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ครั้งที่ 2 เพศหญิง ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ - โตเกียว - กรุงเทพฯ) และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงานโดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 24,490 บาท โดยผู้รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะฝึกปฏิบัติภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ฝึกปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อฝึกครบ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และจะได้รับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 183,690 (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย
 
คุณสมบัติผู้สมัครเป็นเพศหญิง อายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา ความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีรอยสัก และไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสีย ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า "Technical Intern" ไม่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยการแจ้งไปทำงานด้วยตนเอง ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือ พำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ และไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สายตาปกติ และไม่บอดสี สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้
 
หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา พร้อมสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี)
 
ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศอาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2560 ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
หลังมีข่าวลือเรื่องการเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงยุติธรรมกว่า 2,000 คนรองปลัด ยธ.ออกมาแจงไม่ตั้งใจเลิกจ้างแค่ยังไม่มีงบ
 
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าลูกจ้างกระทรวยุติธรรมจ่อตกงานกว่า 2000 รายในสิ้นปีงบประมาณนี้ วันนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า (19 พ.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่าเนื่องจากไม่มีงบประมาณ ซึ่งปกติกระทรวงจะได้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางที่คู่ความนำมาวางไว้ที่กรมบังคับคดีที่นำไปฝากไว้กับธนาคาร กระทรวงการคลังอนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมนำไปใช้เสริมงบประมาณได้ โดยให้กำหนดเป็นระเบียบการใช้จ่ายเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ส่งเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางจำนวนร้อยละ 10 ของยอดเงินดอกเบี้ยคงเหลือทุกสิ้นเดือนมีนาคมและสิ้นเดือนกันยายนของทุกปีเป็นรายได้แผ่นดินโดยให้นำส่งภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นเดือนนั้นๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมากระทรวงยุติธรรมก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามจริงตามภารกิจปกติและภารกิจที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงยุติธรรม แต่จะสามารถใช้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลาง เพื่อเสริมงบประมาณตลอดมา
 
แต่ตอนนี้งบประมาณส่วนมาก ได้นำมาใช้ตั้งแต่การปลูกสร้างซ่อมแซมหรือต่อเติมอาคารสถานที่ราชการ และการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนายธวัชชัยกชี้แจงต่อว่า สำหรับอัตรากำลังลูกจ้างที่มีการขอให้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางนั้นเป็นภารกิจจำเป็นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอัตราข้าราชการและพนักงานราชการอันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดอัตรากำลังภาครัฐ
 
สถานการณ์ตอนนี้นายธวัชชัยยอมรับว่า แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม จึงได้นำอัตราทั้งหมดที่ใช้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางไปทำเป็นคำขอตั้งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าไม่ได้รับการจัดสรรตามที่ขอ ฉะนั้น จำนวนลูกจ้างชั่วคราวและจ้างเหมาบริการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2561 ของกระทรวงยุติธรรมจึงอาจไม่ได้รับการจ้างต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องไปขอรับบริการจากส่วนราชการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
 
 
รัฐบาลหนุนเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน แก้ปัญหาขาดแคลนครู
 
รัฐบาลส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Education to Employment : E to E) ให้แก่เด็กนักเรียนไทยโดยเริ่มนำร่องกับนักเรียนอาชีวะตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติจริงที่ไม่มีสอนในห้องเรียน รวมกว่า 2,500 หลักสูตร เช่น ซ่อมรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เครื่องยนต์สปีดโบ้ท ช่างตรวจรอยร้าวอากาศยานโดยวิธีพิเศษ บัญชีสำหรับงานก่อสร้าง งานภาษี งานควบคุมคลังสินค้า การทำอาหารนานาชาติ มัคคุเทศก์ ติดตั้ง CCTV เป็นต้น
 
"โครงการดังกล่าวมีแนวคิด คือ การเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน โดยให้เอกชนเป็นผู้นำและรัฐดูแลสนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ มีบริษัทกว่า 1,500 แห่งให้ความสนใจเข้ามาร่วมจัดหลักสูตรให้แก่นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศเป็นเวลา 2 เดือน มีนักเรียนสมัครเรียนถึง 82,000 คน เมื่อเรียนจบแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ และยังสามารถนำชั่วโมงเรียนหรือฝึกงานไปนับเป็นหน่วยกิตเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับใบรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ( สอศ.) อีกด้วย ทั้งนี้ ศธ.จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อให้ทดลองฝึกงานจริงในสายอาชีพที่สนใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปิดภาคเรียนหน้า โดยให้สถาบันอาชีวะในพื้นที่ประสานกับทางจังหวัดจัดโครงการให้นักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย"
 
นอกจากนี้ จากการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครูสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และทดแทนอัตราครูที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 10 ปีข้างหน้ากว่า 2.7 แสนคน จากจำนวนครู สพฐ.ทั้งหมดกว่า 4 แสนคนนั้น ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจสมัครสอบและผ่านการคัดเลือกถึง 503 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และประกอบอาชีพแล้ว เช่น วิศวกร ทันตแพทย์ ตำรวจ ฯลฯ แต่มีความตั้งใจอยากเป็นครู โดยหลายคนสามารถทำคะแนนสอบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของผู้เข้าสอบทั้งหมดด้วย
 
ทั้งนี้ ครูผู้ช่วยที่ไม่มีวุฒิทางครูกลุ่มดังกล่าวถือเป็นเลือดใหม่ของ ศธ. โดยทาง สพฐ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกคนได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ โดยครูผู้สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น จะได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่วนครูผู้สอนภาษาอังกฤษจะได้เข้ารับการอบรม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ณ ศูนย์อบรมระดับภูมิภาค จำนวน 18 แห่ง ที่โรงเรียนของตนตั้งอยู่ เช่นเดียวกับครูภาษาอังกฤษที่ ศธ.กำลังพัฒนาอย่างเข้มข้นในเวลานี้ด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม
 
"ท่านนายกฯ ฝากให้กำลังใจบุคลากรของ ศธ. โดยเฉพาะครูผู้สอนให้มีกำลังกายและสติปัญญาปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทเต็มที่ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจี้กรมศุลฯ เปิดเผยข้อมูลราคาและการนำเข้ากระทะ

Posted: 19 May 2017 09:56 PM PDT

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากกรณีกระทะแบรนด์หนึ่ง ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ถึงกรมศุลกากรให้เปิดเผยยอดนำเข้าและเปิดเผยราคากระทะที่แท้จริงเพราะ สคบ.ได้ตัดสินแล้วว่าเป็นการปลอมราคาจริง และโฆษณาเกินจริง

 
 
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ เปิดเผยว่าประชาชนได้รับคาวมเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงออกหนังสือตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ถึงกรมศุลกากร ขอให้เปิดเผยยอดนำเข้าและเปิดเผยราคากระทะที่แท้จริงเพราะ สคบ.ได้ตัดสินแล้วว่าเป็นการปลอมราคาจริง และโฆษณาเกินจริง
 
หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประกาศ ฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภค กรณีกระทะโคเรียคิงที่โฆษณาเกินจริง ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้น ล่าสุดมีประชาชนส่งข่อมูลมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ จำนวนกว่า 70 ราย และยังเปิดให้ประชาชนส่งข้อมูลได้เรื่อยๆ แต่ขอให้ประชาชนส่งข้อมูลมาให้เร็วที่สุด
 
"หลังการรับเรื่องทางมูลนิธิฯ จะรวบรวมข้อเท็จจริงจากผู้บริโภค รวมมูลค่าความเสียหาย และร่างคำฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องแบบกลุ่ม เมื่อศาลตัดสินออกมาแล้วจะครอบคลุมปัญหาเดียวกันหมด อยากให้ประชาชนที่เดือดร้อนส่งเอกสารมาให้เร็วที่สุด" นางนฤมลกล่าว
 
การยื่นฟ้องให้ผู้บริโภคเตรียมหลักฐานดังนี้
1. หลักฐานการจ่ายเงิน เช่น สลิปการโอนงานผ่านธนาคาร หรือสลิปบัตรเครดิต
2. สำเนาบัตรประชาชน
โดยสามารถยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ส่งทางไปรษณีย์ อีเมล์ :: COMPLAINT@CONSUMERTHAI.ORG
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น