โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักศึกษา ม.รังสิต ออกค่ายบ้านดิน เรียนรู้ชุมชนบ่อแก้ว-การต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน

Posted: 30 May 2017 12:16 PM PDT

นักศึกษากลุ่มศูนย์จิตอาสา ม.รังสิต กว่า 30 ชีวิต ออกค่าย 'โครงการ บ้านดิน ทุ่งนา ป่าใหญ่' ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต สภาพปัญหาและกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว

วันที่ 26 – 28 พ.ค. 2560 นักศึกษากลุ่มศูนย์จิตอาสา มหาวิทยาลัยรังสิต (ม.รังสิต) กว่า 30 ชีวิต นัดหมายเดินทางออกนอกขอบรั้วมหาลัย มุ่งสู่พื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยถูมิ เพื่อมาร่วมกันออกค่าย "โครงการ บ้านดิน ทุ่งนา ป่าใหญ่"

โดยวันที่ 26 พ.ค.2560  นักศึกษาเดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมกันศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต และสภาพปัญหาผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว

ตามที่นักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยน ได้รับรู้ว่าชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินมานับแต่ปี 2521 หลังจาก อ.อ.ป.อพยพชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน แล้วนำต้นยูคาฯเข้ามาปลูกทับที่  ทำให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ต่อสู้เรียกร้องมานับแต่นั่น กระทั่งวันที่ 17 ก.ค.2552 ได้เข้าไปยึดที่ดินเดิมกลับคืนมา  ต่อมาช่วงเดือน ส.ค. อ.อ.ป.ยื่นฟ้องดำเนินคดี ชาวบ้าน 31 ราย ข้อหาบุกรุก โดย สถานภาพของคดี โดยในวันที่ 2 มิ.ย.2560  ศาลจังหวัดภูเขียวนัดยื่นคำร้องขอรับมรดกความ กรณีที่มีจำเลยเสียชีวิตจำนวน 3 ราย จากนั้นศาลภูเขียวจะมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาศาลฎักา เป็นลำดับต่อไป

นอกจากนี้ นักศึกษายังได้ทราบถึงปัญหาจากมลพิษที่จะตามมาในภายหน้า หากมีการประกอบกิจการโรงงานยางพาราได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ชี้แจงให้ฟังว่า ช่วงปี 2554 เป็นต้นมา มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินหลายร้อยไร่ ด้วยความผิดปกติ จึงได้สืบทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา บริเวณที่จะสร้างอยู่ใกล้แหล่งชุมชน( ตลาด 4 แยกคอนสาร)ประมาณ 1.6 กิโลเมตร แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด จึงได้รวมกันคัดค้านในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร  นับแต่นั้นเป็นต้นมา

เสร็จจากวงศึกษาปัญหาผลกระทบสิ้นสุดลง เข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยพ่อๆ แม่ๆ และผู้เฒ่าในชุมชนบ่อแก้ว ผูกข้อต่อแขนรับขวัญให้กับลูกๆหลานๆนักศึกษา เป็นการต่อไป

ระหว่างวันที่  27– 28 พ.ค.2560  ณ บ้านไร่สานฝัน  บนพื้นที่จำนวนกว่า 5 ไร่ เป็นแปลงของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ซึ่งได้มีการจัดสรรที่ดิน ทำนา ข้าว แปลงผลผลิตการเกษตร แปลงพืชผัก และสระน้ำ

โครงการ บ้านดิน ทุ่งนา ป่าใหญ่ จึงเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาและชาวบ้าน ร่วมกันย่ำดินที่ถูกผสมไปด้วยน้ำกับแกลบ ย่ำจนเหลวเข้าที่เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำดินไปใส่บรรจุในแบบแท่นบล็อก รอให้แห้ง จากนั้นเมื่อถอดแบบออกมาจะกลายเป็นอิฐดิน เพื่อนำไปก่อสร้างบ้านดินทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ สาร รวมทั้งเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน

แสงแดดที่สาดความร้อนเข้ามาปกคลุมนับแต่ช่วงเช้า กระทั่งเริ่มแผดแรงขึ้นในช่วงบ่าย แต่ทว่าเสียงเท้าจากหลายคู่ ยังคงเกาะกลุ่มเหยียบย่ำดิน เสียงพูดคุยสลับกับเสียงหัวเราะ ยังคงดังเป็นระยะๆ ใครเหนื่อยก็นั่งพัก หายเหนื่อยก็กลับมาควงกันต่อ เป็นความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจ ในการร่วมแรงกันอย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งเวลาเดินทางมาถึงกำหนด ที่จำต้องกล่าวคำลาจากตามนัดหมาย

เป็นการควรยิ่ง ในการที่นักศึกษาออกมาศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากเป็นการสร้างประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อสังคม และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนแล้วนั้น ยังเป็นผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน

ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาพอจะเก็บเกี่ยวกันได้บ้างในการมาออกค่ายครั้งนี้ จะเป็นไปตามลำดับขั้นของการสะสมคุณค่าที่ดีในการทำประโยชน์ให้กับสังคม

และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ศึกษา จะค่อยๆกลายเป็นการปลูกฝังให้ฉุกคิดขึ้นมาได้บ้างว่า สิ่งที่ได้มารับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จะนำมาปรับใช้กับปัญหาจริงของสังคมบนโลกใบนี้ให้เกิดความเท่าเทียมอย่างถูกต้อง ได้อย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต กก.หลักประกันสุขภาพ หวั่นแก้ 'กม.บัตรทอง' ไม่เปิดรับฟังอย่างแพร่หลาย

Posted: 30 May 2017 12:00 PM PDT

นิมิตร์ เทียนอุดม กังวลประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ไม่เปิดรับฟังอย่างแพร่หลาย เผย กก.แก้ไขกฎหมายจะรับฟัง-บันทึกเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้แก้ไข ส่วนประเด็นอื่นที่อยู่ในความกังวลของภาคประชาชนจะไม่มีการบันทึกไว้ 

30 พ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ) รวม 5 เวที ที่จะดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับประชาพิจารณ์ คือ ประชาชนที่มีสิทธิ์พูดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนก่อนเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นแต่ไม่อยากลงทะเบียนกลับต้องรอ ทั้งนี้ การจัดการหรือเตรียมการก่อนทำประชาพิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้แสดงความเห็นด้วย

"เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจะรับฟังและบันทึกเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขเท่านั้น ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความกังวลของภาคประชาชนจะไม่มีการบันทึกไว้ ซึ่งหากกรณีนี้เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นเวทีประชาพิจารณ์ที่น่าผิดหวัง" นิมิตร์ กล่าว 

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพในประเด็นการเปิดรับฟังอย่างแพร่หลายยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนต้องการให้เกิดการแก้ไข แต่ขณะเดียวกันหากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่รับฟัง ก็ถือว่าเป็นความคับแคบอย่างมาก ทั้งๆ ที่การแก้ไขกฎหมายควรจะมาจากการที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อส่วนรวมอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 

"กระบวนการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แต่กระบวนการแก้ไขครั้งนี้กลับละเลยภาคประชาชน ทั้งที่ รัฐบาลออกมาตรา 44 เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และให้ใช้เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพครั้งนี้ แต่เท่าที่ดูคณะกรรมการกำลังจะละเลยที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายนี้" นิมิตร์ กล่าว 

อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกเรื่องที่ค่อนข้างกังวลคือการเพิ่มสัดส่วนจำนวนกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้น้ำหนักกับฝั่งผู้ให้บริการมากเกินไป และลดทอนในสัดส่วนอื่นๆ ตรงนี้อาจเสียสมดุลและอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมตามมาได้ในอนาคต 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาธิต มศว เผยภาพทหารร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียน ป.3 - ป.4

Posted: 30 May 2017 11:38 AM PDT

31 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (30 พ.ค.60) เวลา 16.39 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม' รวมทั้งเว็บไซต์ของโรงเรียนโพสต์ภาพบรรยากาศ ปฐมนิเทศนักเรียน ระดับชั้น ป.3 - ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพทหารเข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนดังกล่าวด้วย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: รัฐประหารไทยอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้

Posted: 30 May 2017 10:21 AM PDT



ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ก็น่าจะลองประเมินดูว่า ในระยะ 3 ปีนี้ สถานะรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนในโลกใบนี้

แรกสุดคงต้องพิจารณาว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีประเทศไหนในโลกที่แก้ปัญหาการเมืองด้วยการรัฐประหาร ปรากฏว่าพบอยู่ 4 กรณี คือ

เยเมน ซึ่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อไปถึง 5 เดือน และสร้างความเดือดร้อนอดหยากอย่างหนักแก่ประชาชน

กรณีของแกมเบีย เกิดความพยายามก่อรัฐประหารในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2557 แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ในวันเดียว

อีกกรณีหนึ่ง คือ บูร์กินา ฟาโซ ซึ่งเป็นประเทศยากจนมากในแอฟริกาตะวันตก คณะทหารทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2558 แต่ถูกต่อต้านจากประชาชน จากประเทศเพื่อนบ้าน และโลกนานาชาติ ในที่สุด การรัฐประหารก็พ่ายแพ้ภายใน 1 สัปดาห์ คณะทหารที่ยึดอำนาจถูกจับกุมดำเนินคดี

กรณีตุรกี วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2559 คณะทหารกลุ่มหนึ่ง พยายามก่อการรัฐประหาร แต่เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน และประสบความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น และรัฐบาลก็ถือโอกาสปราบปรามฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร

นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีประเทศไหนอีกเลยที่มีการรัฐประหาร จึงสรุปได้ว่า แทบจะไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ใช้การรัฐประหารเป็นทางแก้ปัญหาของประเทศ คณะทหารหลงยุคที่พยายามยึดอำนาจในบูร์กินาฟาร์โซ แกมเบีย และ ตุรกี จึงประสบความพ่ายแพ้ รัฐประหารในประเทศไทยจึงกลายเป็นกรณีเดียวที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนความล้าหลังอย่างยิ่งของชนชั้นนำไทย

ประการต่อมา ลองพิจารณาว่า มีประเทศไหนในโลกบ้าง ที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่า มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้ ที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร ประเทศอื่นไม่มีแล้ว แม้กระทั้ง พม่า ฟิจิ มาดากัสการ์ ต่างก็เปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลพลเรือนไปแล้วจนหมดสิ้น ประเทศเผด็จการทหารแห่งเดียวของโลก จึงโดดเดี่ยวมาก

ก่อนการรัฐประหาร สุรพงษ์ ชัยนาม เคยเสนอในกลุ่มรัฐบุคคลว่า การรัฐประหารโดยกองทัพสามารถทำได้โดยไม่ต้องสนใจการคัดค้านจากโลกนานาชาติ เพราะทุกประเทศก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองทั้งนั้น เมื่อรัฐประหารแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับกันไปเอง แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารจริง สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการคว่ำบาตรจากโลกนานาชาติกลายเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มจากกลุ่มประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกทั้งหมดจะยกเลิกการเจรจาทั้งหมด และไม่ลงนามในสัญญาใดกับฝ่ายไทยจนกว่าจะมีการรื้อฟื้นประชาธิปไตย จากนั้น ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ก็ใช้ท่าทีเช่นเดียวกัน ส่วนสหรัฐฯ ก็ระงับการเจรจาทางการทหารกับฝ่ายไทย และระงับการฝึกฝน การเยือนทางการทหาร และความช่วยเหลือทางการทหาร

ทางด้านในประเทศ สามปีของการรัฐประหารสร้างความเสียหายอย่างมากในทางการเมือง เริ่มจากการที่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีการรองรับการใช้สิทธิของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งถูกทำลายลง และแทนที่ด้วยการปกครองระบอบทหาร ใช้สภาแต่งตั้งแทนสภาเลือกตั้ง และครอบงำประเทศด้วยระบบราชการ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้ตั้งไข่และนับหนึ่ง มาจนถึงขณะนี้

ปัญหาสำคัญมาจากการที คณะทหาร คสช. ก็ละเมิดโรดแมปของตนเอง และต่ออายุทางการเมืองไปเรื่อยๆ เพราะในปีแรกที่ก่อการรัฐประหาร คณะทหารออกโรดแมปว่าจะอยู่ในอำนาจเพียงปีเดียว แล้วจะคืนประเทศสู่ประชาธิปไตย เพื่อตอกย้ำแผนการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ถึงกับแต่งเพลงประกาศกับสังคมว่า "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะกลับคืนมา" แต่ในที่สุด เมื่อครบปี คณะทหารก็เลื่อนโรดแมป โดยใช้ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จากนั้น ก็ต่ออายุโดย พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ว่า จะมีการเลือกตั้งภายในปลายปี หรือต้นปี พ.ศ.2559 จากนั้น ก็เลื่อนต่อมา โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้สร้างหลักประกันในด้านประชาธิปไตย และยังเป็นที่อธิบายว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการแม้กระนั้น กำหนดการที่จะมีการเลือกตั้งก็ยังคงไม่แน่นอนชัดเจน โดยฝ่ายสมาชิกสภาแต่งตั้ง เสนอว่า การเลือกตั้งจะต้องขยับไปกลางปี 2561 เพราะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ทัน

มักจะอ้างกันว่า ผลดีของการรัฐประหาร คือ ความสงบสุขของบ้านเมือง ในส่วนนี้ แม้แต่ฝ่าย คสช.ก็นำมาอ้างเป็นผลงาน คงต้องอธิบายว่า ความสงบสุขนี้ มาจากการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ห้ามประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง ควบคุมแม้กระทั่งการจัดงานทางวิชาการในมหาวิทยาลัย โดยรัฐบาลทหารใช้มาตรการจับกุม หรือควบคุมตัวในลักษณะต่างๆ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ และพยายามที่จะควบคุมแม้กระทั่งการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขความขัดแย้งในทางสังคม ความแตกแยกทางการเมืองคงอยู่และรอการปะทุ และผลจากการกวาดล้างปราบปราม ทำให้ในระยะ 3 ปี สิทธิมนุษยชนในไทยถูกทำลายอย่างหนัก เพราะมีการกวาดล้างจับกุมกลุ่มที่คิดต่างอยู่เสมอ ประมาณว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีและต้องติดคุกในข้อหาทางการเมืองจำนวนมากกว่า 200 คน ผลพวงจากเรื่องนี้ คือ การล่มสลายของระบอบกฎหมายของประเทศ เพราะคำสั่งหรือประกาศตามอำเภอใจของฝ่ายทหาร ก็ได้รับการรับรองให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้องเสมอ ศาลไทยก็พร้อมจะยอมรับและดำเนินการ กระบวนการยุติธรรมจึงถูกบิดเบือน

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารพยายามโฆษณาเรื่อง "ไทยแลนด์ 4.0" เพื่อยกระดับประเทศ แต่นั่นเป็นเพียงเป้าหมายอันสวยหรู เพราะความจริงเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤต จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เพราะการตกต่ำของรายได้ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนก็ลดลงอย่างหนัก มูลค่าของการรับส่งเสริมการลงทุนตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และในด้านการส่งออกก็ขยายตัวต่ำมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเพียงการท่องเที่ยว และรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่ตามมาก็ไม่เป็นไปตามคาดหมาย ทำให้รายได้ของรัฐลดลงอย่างมาก และเงินคงคลังก็ลดลงจาก 6 แสนล้านบาทเมื่อ พ.ศ.2556 (สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้

ในขณะเดียวกัน ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทุกที เริ่มจากเมื่อ พ.ศ.2550 นั้น งบประมาณกลาโหมของประเทศไทย 1.18 แสนล้านบาท เมื่อ พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา สภาแต่งตั้งผ่านงบกลาโหม ในวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท หมายถึงว่า งบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มเกือบเท่าตัวในเวลา 10 ปี ทั้งที่สถานการณ์โลกอยู่ในภาวะค่อนข้างสงบ ไม่มีแนวโน้มของสงครามระหว่างประเทศในเอเชียเลย และกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีอย่างยิ่ง จึงอาจสรุปได้ว่า งบประมาณกลาโหมที่เพิ่มขึ้นนี้เอง คือ ราคาที่ประชาชนไทยต้องจ่ายเพิ่มให้กับการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลา 10 ปี

และนี่คือตำแหน่งแห่งที่ของเผด็จการทหารของไทย

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 618 วันที่ 27 พฤษภาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธงชัย วินิจจะกูล: นิติรัฐของไทยกับเดือนพฤษภา-มิถุนา

Posted: 30 May 2017 10:09 AM PDT

1. เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีหลักหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยหลายเหตุการณ์ ได้แก่ เดือนมิถุนายน 2475 และ 2489 การปราบปรามนองเลือดสองครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 และ 2553 และการรัฐประหารของ คสช 2557

เรามักคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองที่มีนัยสำคัญไปต่างๆ กัน แต่ที่เรามักมองข้ามไป คือ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักหมายของประวัติศาสตร์ rule of law ของไทย (คำแปล rule of law ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักนิติศาสตร์ ในที่นี้จึงขอไม่แปล)


2. Rule of Law อาจมีนิยามหลายสำนักต่างกันในรายละเอียด แต่นิยามทั้งหมดมีหลักการร่วมกัน 3 ประการคือ

1) ตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน

2) ทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย ผู้มีอำนาจก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมายมากไปกว่ากัน

3) กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ (ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์) ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม

Rule of Law เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ขาด rule of law จะเสื่อมทรุด ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ และเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ไม่น่าลงทุนหรือทำธุรกิจด้วย ถ้าปราศจาก rule of law จะเป็นรัฐล้มเหลว


3. การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายที่ผ่านมาสนใจแต่เพียงการสร้างประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้เป็นมาตรฐานสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็สรุปว่าประเทศไทยเข้าสู่ rule of law สมัยใหม่นับแต่นั้นเป็นตันมา แต่กลับมองข้ามหลักการอีก 2 ข้อว่าอยู่ในสภาวะเช่นใด

ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาทั้งระบบ ทั้งตำรวจ การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ความเป็นธรรม และตุลาการที่เป็นอิสระ ที่ไม่ใช่แค่อิสระจากรัฐบาลเลือกตั้งและประชาชน แต่กลับสยบยอมเป็นเครื่องมือให้กับรัฐที่ผิดกฎหมายและอภิชน

นิติรัฐของไทยไม่ใช่การปกครองโดย rule of law แต่เป็นการฉวยเอากฎหมายไปรับใช้อำนาจฉ้อฉล หรืออย่างที่มักกล่าวกันทั่วไปว่าเป็น rule by law แต่ไม่ใช่ rule of law

ภาวะล้มเหลวที่สุดของ rule by law ของไทยคือ ความไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย ตัวบทและกระบวนการยุติธรรมช่วยสถาปนาให้คนบางคนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมาย หรือได้รับอภิสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่คนบางคนบางกลุ่มถูกเบียดเบียนรังแกไม่เป็นธรรมด้วยกฎหมาย 

(สิบกว่าปีที่ผ่านมา เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราจะพูดถึงแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายก่อความอยุติธรรมจนความโกรธแค้นแพร่ขยาย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่มีทางแก้ได้โดยไม่ขจัดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย)

รูปธรรมของความไม่เสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายมีมากมาย เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐอย่างฉ้อฉลหรือก่ออาชญากรรม การออกกฎหมายให้คนบางคนปลอดความผิด การใช้กลวิธีสารพัดรวมทั้งทางตุลาการ เพื่อให้คนรวยและคนมีอำนาจหลุดรอดจากการสอบสวน เป็นต้น


4. ทำไมรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในประเทศไทย? เพราะคณะราษฎรมีเจตจำนงจะสถาปนาระบอบที่คนทุกคนอยู่ใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน ไม่ให้ยกเว้นแก่พวกเจ้า และมีเจตจำนงที่จะสถาปนา rule of law โดยมีหลักกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลอีกต่อไป

การปฏิวัติ 2475 จึงยังไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ระบอบการเมือง แต่ในแง่การสถาปนา rule of law

กรณีสวรรคต ร.8 เป็นหลักหมายสำคัญอันหนึ่งของประวัติศาสตร์นิติรัฐของไทย เคยคิดไหมว่าถ้าหากมีการใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาจริง ๆ ในกรณีนั้น  นิติรัฐของไทยอาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมหาศาล เพราะ rule of law ได้รับการยืนยันว่าศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ

ในเมื่อหลักหมายของการทำลาย rule of law ถูกสถาปนาไปเสียแล้วในครั้งนั้น นับจากนั้นมา รัฐและสังคมไทยจึงกลับถลำลึกลงไปอีก ทิ้งกติกาหลักที่เป็นลายลักษณ์อักษร หวนกลับไปอิงกับบารมีของตัวบุคคล สร้างอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และอภิสิทธิ์อื่นๆให้แก่คนรวยและคนมีอำนาจบางกลุ่มบางพวก ใช้กฎหมายทำร้ายคู่ต่อสู้และเบียดเบียนรังแกคนจนคนไม่มีอำนาจเป็นปกติ มิใช่เป็นครั้งคราวหรือเป็นภาวะยกเว้น

อภิสิทธิ์ปลอดความผิดจึงกลายเป็นของคู่กับระบอบการเมืองและสังคมไทย ผู้มีอำนาจใช้บ่อยจนเคยตัว คนไร้อำนาจและคนยากจนตกเป็นเหยื่อครั้งแล้วครั้งเล่ารวมทั้งในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ยังไม่เคยหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเหตุการณ์พฤษภา 2553 ซึ่งอภิชนรวมหัวกันตัดตอนกระบวนการยุติธรรมอย่างไร้ยางอาย  แถมกลับจับคนจนจำนวนมากเข้าคุกทั้งๆที่ส่วนมากไม่มีหลักฐานเพียงพอ


5. ประเทศไทยภายใต้ คสช. เป็นสุดยอดของความวิปริตต่อ rule of law เพราะอำนาจเถื่อนตามอำเภอใจกลายเป็นกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีนักกฎหมายหลายคนและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเป็นเครื่องมือ สถาปนาอภิสิทธิ์ปลอดความผิดอย่างโจ่งแจ้งล่อนจ้อน

กลายเป็น rule by the outlaw หรือ "นิติอธรรม"

ความพยายามสถาปนา rule of law คงตัองเริ่มใหม่จากติดลบ ซึ่งอาจยากยิ่งกว่าการแสวงหารูปแบบของระบอบการเมืองเสียอีก
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมว่างงานสูงพุ่ง กระทรวงแรงงาน แจงนายจ้างยังต้องการแรงงานสูงอยู่เช่นกัน

Posted: 30 May 2017 10:01 AM PDT

กรณีอัตราการว่างงาน เม.ย.60 พุ่ง 4.6 แสนคน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 59 อยู่ที่ 0.97% และเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 57 นั้น กระทรวงแรงงาน ระบุตัวเลขว่างงานเปลี่ยนตามฤดูกาล ชี้ นายจ้างยังต้องการแรงงานพุ่งกว่า 2.19 แสนอัตรา  

30 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากกลุ่มงานโฆษกและการข่าว กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวถึงกรณี ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2560 มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการแสดงความเห็นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปี  โดยชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานมีความต้องแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้างหรือสถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน โดยมีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา  

โฆษกกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือกลุ่มอาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 74,981 อัตรา รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 40,540 อัตรา กลุ่มอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 38,101 อัตรา กลุ่มงานช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 24,638 อัตรา และกลุ่มงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ จำนวน 13,718 อัตรา และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส./อนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ที่ต้องการทำงาน พร้อมกันนี้กระทรวงแรงงานยังจัดให้มีบริการฝึกทักษะอาชีพให้แก่กำลังแรงงาน ในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยจัดบริการให้ทุกกลุ่มทั้งทหารปลดประจำการ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงได้ร่วมกับสถานประกอบการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานประกอบการก่อนที่จะจบการศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์และความถนัด ในงานนอกจากนี้  ยังได้ดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนในช่วงหน้าแล้งเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ เช่น การจ้าง ขุดลอกคูคลองในพื้นที่การปรับภูมิทัศน์ในชุมชน  เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรช่วงรอฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย

อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการว่างงาน รายเดือนตั้งแต่ ปี 2555 – 2560 (เม.ย.) พบว่า จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงต้นปี (ปลายไตรมาส 1) เป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร และปลายฤดูการท่องเที่ยว อาจเป็นเหตุทำให้จำนวนผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะเพิ่มสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับภาวการณ์จ้างงาน ในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 ตัวเลขในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YOY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน

"ทั้งนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดำเนินการวางแผนรับมือ ตลอดจนปรับบทบาทของกระทรวงให้สามารถพัฒนาแรงงานตามความต้องการของตลาดได้ในทุกมิติต่อไป" อนันต์ชัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสรีภาพหน้าจอ: แม่จ๋าอย่าแอด + นอกใจนอกจอ | กรงในกะลา #1

Posted: 30 May 2017 09:34 AM PDT

"เสรีภาพหน้าจอ: แม่จ๋าอย่าแอด + นอกใจนอกจอ" ผลงานของ มัทวีร์ พลวีรสุรัตน์ หากแม่และคนรักของคุณเฝ้าติดตามคุณทุกย่างก้าวการกระทำ กำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างของคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขใหม่ของรัฐบาลทหาร ที่เพิ่งมีผลใช้บังคับจะซอกซอนและลดทอนความเป็นส่วนตัวมากกว่านี้อีกหลายเท่า คุณพร้อมหรือยัง

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา" ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด รัชดา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาวิ โชติประดิษฐ์: 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ | เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า #1

Posted: 30 May 2017 08:53 AM PDT

ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อภิปรายหัวข้อ "2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ" พูดถึงการนำเสนอเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านพิพิธภัณฑ์ทางการ 2 แห่งคือ มิวเซียมสยาม และ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่านำเสนอประเด็นใด รวมทั้งการตั้งโจทย์ผ่านการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ว่าใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยระหว่างรัชกาลที่ 7 หรือคณะราษฎร

การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนา เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า? เสวนาวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา ชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ธนาวิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า จุดร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑ์คือ การเป็นองค์กรหรือสถาบันซึ่งทำการผลิต และเผยแพร่ความรู้ ตัวตนของพิพิธภัณฑ์ และมหาวิทยาลัยจึงอยู่ที่การแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ contention history หรือการเบียดแข่ง/เบียดขับ ซึ่งเป็นพันธกิจโดยตรงขององค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ ถ้าองค์กรที่ทำหน้าที่เหล่านี้ มีเรื่องที่ไม่อยากจะพูด หรือพูดไม่ได้ หรือไม่มีความพยายามที่จะพูดมันออกมา ก็คงจะต้องตั้งคำถามต่อไปว่า พิพิธภัณฑ์จะยืนยันตัวตน และพันธกิจของตัวเองในฐานะที่เป็นสถาบันเพื่อความรู้ได้อย่างไร ถ้ายังเลือกที่จะไม่พูดถึงสิ่งที่พูดได้ยาก

เธอกล่าวต่อไปว่า สำหรับหัวข้อ 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ ซึ่งทางผู้จัดได้กำหนดขอบเขตการบรรยายมานั้น ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้เมื่อไม่นานนี้คือ การย้ายหมุดคณะราษฎรออกจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เธอเห็นว่าการที่หมุดถูกย้ายออกไปเป็นเพราะหมุดดังกล่าวเป็นเหมือนแผลเล็กๆ ที่บาดตาบาดใจ สร้างความรำคาญจนทำให้เกิดความรู้สึกทนไม่ได้ จนในที่สุดก็ถูกย้ายออกไป

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ต่อไปว่า ความบาดตาบาดใจของ 2475 ไม่ได้อยู่ที่หมุดเพียงอย่างเดียว แต่ตัวตนของประวัติศาสตร์ 2475 ที่อยู่ตามพิพิธภัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการอภิปราย เพราะปี 2475 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญ เป็นปีที่มีการทำการปฏิวัติของคณะราษฎรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย และคำถามที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์ที่ว่าสำคัญนี้ถูกนำเสนออย่างไรในพิพิธภัณฑ์

เธอกล่าวต่อไปถึงพิพิธภัณฑ์สองแห่งที่มีการเล่าถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คือ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ และมิวเซียมสยาม โดยทั้งสองแห่งนี้นำเสนอเรื่องราวต่างกันออกไปคนละแง่มุม

"พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของคณะราษฎร เพราะการปฎิวัติ 2475 เกิดขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 7 ทีนี้พิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องของพระปกเกล้าจะเล่าเรื่องราวของคณะราษฎรที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งอย่างไร ขณะเดียวกันจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พูดเรื่องการเมือง เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไร"

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า อีกที่หนึ่งคือมิวเซียมสยาม ในนิทรรศการความเรียงประเทศไทยซึ่งจัดแสดงมาแล้ว 8 ปีก่อนที่ต่อมาจะมีการปิดปรับปรุงใหม่ โดยในเวลานั้นเคยมีส่วนจัดแสดงในห้องเลขที่ 13 ใช้ชื่อว่า "กำเนิดประเทศไทย" แต่ชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษคือ Politics and Communication ซึ่งชื่อภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแปลไม่เหมือนกัน ซึ่งในห้องที่ว่าด้วยคณะราษฎร ก็ไฮไลท์เรื่องของการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย แต่ว่าก็จะมีส่วนจัดแสดงหนึ่งที่ระบุว่า อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่จริงๆ เนื้อหาหลักของห้องนั้นไม่ได้ผู้ถึง 2475 โดยเฉพาะ แต่พูดถึงอย่างอื่นของคณะราษฎรเช่นการเปลี่ยนชื่อจาก สยาม เป็น ไทย บทบาทของกรมโฆษณาการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมันจะสืบเนื่องต่อไปที่ห้องต่อไปที่จะพูดเรื่องเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการคณะราษฎร

เธอกล่าวต่อว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ ผู้ที่สนใจ และติดตามเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง คงพอมองเห็นว่ามีความพยายามแข่งขันกันในเชิงวาทกรรมว่า ใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย คือคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติ หรือว่าเป็นพระปกเกล้าที่มีความต้องการที่พระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ว่าคณะราษฎรมาตัดหน้าก่อน

"การแข่งขันของวาทกรรมนี้เองก็ปรากฎให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ทั้งนี้ในพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงประวัติรัชกาลที่ 7 พระราชกรณียกิจ ซึ่งไล่เลียงไปตามลำดับเวลา ขณะที่ช่วงเวลาที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 ก็ได้มีการนำเสนอ และมีเรื่องราวของคณะราษฎรอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความคิดที่ว่ามีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ก็ทำให้บทบาทของคณะราษฎรในพิพิธภัณฑ์มีอยู่น้อยมาก แต่ก็ยังมีข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์ว่ามีคณะราษฎรได้รวมตัวกันทำการเปลี่ยนการปกครอง แต่ก็มีส่วนที่อธิบายด้วยว่าพระปกเกล้าเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย ผ่านตัวนิทรรศการ ผ่านข้อความเรื่องเล่าที่อยู่ในนั้นหลายๆ แบบ"

เธอกล่าวด้วยว่า บทบาทของ 2475 ในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าแม้ว่าจะไม่ได้ถูกกล่าวหาอย่างตรงๆ เมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น หรือบทเรียนประวัติศาสตร์ที่มีโครงเรื่องว่า คณะราษฎรเป็นผู้ชิงสุกก่อนห่าม แต่โดยนัยยะแล้วพิพิธภัณฑ์เองก็เป็นการทำงานที่พยายามและต้องการเชิดชูว่า พระองค์เป็นบิดาแห่งผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยในสยาม ฉะนั้นภาพของ 2475 ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นภาพเดียวกันที่ปรากฎอยู่ในสื่อ รวมทั้งการศึกษากระแสหลักที่กลายเป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทย

เธอกล่าวต่อไปว่า ในขณะที่มิวเซียมสยาม เลือกที่จะพูดถึงยุค 2475 โดยเลือกเอาช่วงเวลาอื่นๆ ในยุคของคณะราษฎรในช่วงเวลา 15 ปี ระหว่าง 2475-2490 มิวเซียมสยามเลือกที่จะนำเสนอเรื่องของคณะราษฎรโดยเริ่มต้นที่การเปลี่ยนชื่อจาก สยาม เป็น ไทย กับบทบาทของกรมโภชนาการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็นยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย เมื่อเทียบกับยุคที่คนอื่นๆ เป็นรัฐบาล เมื่อเทียบระยะเวลา 15 ปี ของคณะราษฎร

"นิทรรศการต่างจากหนังสือตรงที่ว่า มันมีข้อจำกัดของพื้นที่ คล้ายกับงานศิลปะกับวรรณกรรม วรรณเป็นศิลปะที่ขยายไปได้เรื่อยๆ สามารถมีหน้ากระดาษเป็นร้อยเป็นพัน ในขณะที่งานศิลปะโดยอย่างยิ่งงานจิตรกรรมเป็นศิลปะของพื้นที่ มีการจำกัดกรอบขอบเขตอันหนึ่ง ในทำนองเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็มีข้อจำกัด คุณมีพื้นที่เท่านี้จะเลือกเล่าอะไร ในประวัติศาสตร์ที่มีระยะเวลายาวนาน ฉะนั้นในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า รวมทั้งมิวเซียมสยามจึงเลือกเวลา หรือเหตุการณ์สำคัญอันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง 15 ปี ขึ้นมาเป็นไฮไลท์ ซึ่งนั้นหมายความว่า ตัวองค์กรที่นำเสนอมองว่าอะไรสำคัญ และเป็นสิ่งที่อยากเล่า กลายเป็นว่าเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของคณะราษฎรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้สิ่งที่ถูกไฮไลท์ แต่กลับเป็นเรื่องอื่นแทน ซึ่งน่าสนใจว่ามันไมจึงเลือกนำเสนอแง่มุมนั้น แทนที่จะเลือกเรื่องที่เด่นที่สุด ซึ่งอาจจะย้อนกลับไปดูว่า เพราะมันมีการแข่งขันกันอยู่ระหว่างความคิดที่ว่าใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย"

เธอยังกล่าวเสริมต่อไปว่า นอกจากเรื่องของพิพิธภัณฑ์ และการเล่าเรื่อง 2475 แล้ว ทุกวันนี้เรื่องราวของ 2475 ยังคงโลดแล่นอยู่ในสังคมร่วมสมัยอยู่ โดยก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารในปี 2549 เรื่องของคณะราษฎรหรือความสนใจเกี่ยวกับศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรไม่ได้เป็นความสนใจที่แพร่หลายในวงกว้าง

"คุณอาจจะนั่งรถผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทุกวันแต่คุณไม่คิดว่าใครเป็นคนสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา เช่นเดียวกันกับมรดกอื่นๆ ของคณะราษฎรที่ทุกวันนี้ยังมีอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเราเห็น แต่เหมือนไม่เห็นไปพร้อมๆ คือเห็นเป็นวัตถุ แต่ไม่เห็นคนสร้าง หรือไม่ได้เห็นความหมายที่แฝงอยู่กับสิ่งซึ่งโยงอยู่กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ นั่นคือสถานการณ์ของคณะราษฎร และมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรก่อนปี 2549"

เธอกล่าวต่อไปว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นผลของการกล่อมเกลาจากระบบการศึกษาที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของการรับรู้ประวัติศาสตร์ 2475 หลังจากการรัฐประหารปี 2549 ความสนใจเรื่องราวของคณะราษฎรได้กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับกระแสต้านการกลับมาของพลังอนุรักษนิยม เริ่มมีการจัดพิธีรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หมุดคณะราษฎร ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจจะไม่มีใครรู้ว่ามีหมุดดังกล่าวอยู่ และยิ่งล่าสุดหมุดถูกถอนออกไปคนก็ยิ่งรู้จักหมุดคณะราษฎรเพิ่มมากขึ้นไปอีก

"การรื้อฟื้นอดีตขึ้นมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องของอดีตล้วนๆ เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ แต่มันถูกผลักดันด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นอดีตขึ้นมาเพื่อที่จะพูดเรื่องปัจจุบัน คนที่ติดตามการเมืองคงเห็นว่า คณะราษฎรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยขบวนการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งพ่วงอยู่กับการเรียกร้องการเลือกตั้ง การปกครองของประชาชน และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายอนุรักษ์ลำเซบาย อำนาจเจริญ-ยโสธร ประกาศไม่ร่วมเวทีฟังความเห็นโรงงานน้ำตาล

Posted: 30 May 2017 08:17 AM PDT

ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลำเซบายตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ยื่นหนังสือคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงน้ำตาล ระบุไม่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการที่ไม่ชอบธรรม

30 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลำเซบายตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อตัวแทนบริษัทมิตรผลไบโอพาวเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ในกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน

โดยเนื้อหาของหนังสือคัดค้านบางส่วนระบุว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธรและเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่า ในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และทางกลุ่มยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชน ชุมชน ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และไม่มีความชัดเจนว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นวันนี้ (30 พ.ค. 2560) เป็นกระบวนการขั้นตอนการรับฟังครั้งสุดท้ายหรือไม่ ทั้งที่ทางกลุ่มเห็นว่าการจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมิตรผลไบโอพาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ควรเป็นการจัดเวทีครั้งแรก ต้องมีการให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพรวมของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียว่าครอบคลุมหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการต่อไป ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและจะไม่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ

สมัย คดเกี้ยว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง ระบุว่า ที่มายื่นหนังสือวันนี้เพื่อคัดค้านกระบวนการจัดเวทีดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ 5 กิโลเมตรซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียด้วย และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากทางโรงงานเลยก่อนที่จะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และในขณะเดียวกันในวันนี้ทางบริษัทฯ ก็มาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งตนมองว่ากระบวนการจัดเวทีมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงมาวันนี้ จึงทำให้ทางกลุ่มฯ มีมติว่าจะไม่เข้าร่วมเวทีเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบริษัทฯ

อิสรา แก้วดี ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.น้ำปลีก กล่าวว่า ชุมชนผมอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น และทางเครือข่ายฯก็ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการมาตลอด เพราะว่าเราไม่อยากให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นใกล้ชุมชนและแหล่งน้ำที่ชาวบ้านหลายชุมชน หลายตำบล หลายอำเภอ หลายจังหวัดได้พึ่งพาอาศัย ซึ่งเราเกิดอยู่ที่นี้ก็อยากเห็นชุมชนมีความสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดี  ดังนั้นจึงมายื่นหนังสือคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนซึ่งทางบริษัทฯได้จัดขึ้นในวันนี้ ประกอบกับทางเครือข่ายเข้าใจแล้วว่าถ้ามีโรงงานอุสาหกรรมผลกระทบก็จะตามมา และเราจะไม่เข้าร่วมเวที แต่เราจะยื่นหนังสือกับผู้บริหารโครงการแล้วก็จะกลับ

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในวันนี้ เป็นอีกความพยายามของบริษัทฯที่จะจัดกระบวนการ แต่ตนมองว่า กระบวนการดังกล่าวควรที่จะจัดในช่วงแรกก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ด้วยซ้ำไป เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพรวมของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียว่าครอบคลุมแค่ไหนอย่างไร ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นการยื่นหนังสือคัดค้านของเครือข่ายฯ และกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายต่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เพื่อให้ทางบริษัทได้กลับมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เพราะกระบวนการจัดเวทีที่ผ่านมาและวันนี้ไม่มีความชอบธรรมต่อคนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลัดกลาโหมยืนยันแผนปรองดองเสร็จตามกรอบแน่ ด้านสปท. เสนอแก้รธน. ทุก 10 ปี

Posted: 30 May 2017 07:50 AM PDT

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ระบุแผนปรองดอง ป.ย.ป. เสร็จตามกรอบเวลา คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าสรุปผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฟัง ขณะที่ สปท. เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสนอแก้ รธน.ทุก 10 ปี เพื่อหนุนปรองดอง และสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง

30 พ.ค. 2560 พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุยปรองดองว่า คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 และ 2 มีการหารือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว และได้ประสานข้อมูลให้กับคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน แล้วคาดว่าภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า หรือเร็วที่สุดภายในปลายสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อสรุปให้ที่ประชุมรับทราบถึงข้อมูลจากคณะกรรมการชุดที่ 1 ชุดที่ 2 เพื่อให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 เสนอแนวทางในการดำเนินการในขั้นต่อไป ว่าจะจัดทำร่างสัญญาประชาคมหรือจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อไป ย้ำทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คือต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ระบุว่า ขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด ประชาชนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ และต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน และบางส่วนก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำการส่งรวบรวมข้อมูลไปยังคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. รับทราบต่อไป

สปท. เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสนอแก้ รธน. ทุก 10 ปี

เมือวันที่ 29 พ.ค.2560 ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสียงข้างมาก 158 ต่อ 2 เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เรื่อง "ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ชาติ" โดยมีสาระสำคัญดังนี้

การปฏิรูปการเมืองควรจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีความมั่นคงทางการเมือง มีสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ที่เป็นเสาหลักของประเทศที่มีความเข้มแข็ง มีระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไกที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่มีเสถียรภาพ ต่อเนื่องและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ควรต้องดำเนินการภายใต้แนวทาง 3 ประการ

1.ให้มีการทบทวนปรับแก้รัฐธรรมนูญ เสนอให้ในระยะเวลาเมื่อครบ 10 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ ให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในการทบทวนการตรวจสอบการใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเหตุการณ์และสถานการณ์ของบ้านเมืองตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 255 และมาตรา 256 บัญญัติไว้ เพื่อความมั่นคงทางการเมือง

2.ระบบคุณธรรม หมายถึง ระบบที่จัดลำดับความสำคัญสูงสุด เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้ง องค์กรอิสระและตุลาการการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวควรเป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งหมายความรวมถึง คุณธรรมที่เป็นเรื่องความดีด้วยเพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากลักษณะวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ไปสู่ระบบคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางการเมืองตามยุทธศาสตร์ชาติ

3. ระบบความชอบธรรม หมายถึง การยอมรับในการมีอำนาจและการใช้อำนาจในการปกครอง ไม่ใช่การให้ประชาชนยอมรับในอำนาจเพราะความกลัว หรือเพราะได้รับผลประโยชน์ แต่เพราะยอมรับ กติกาของรัฐ ที่ใช้ใน การควบ คุม สังคม ว่ามีอยู่จริงและเป็นสิ่งถูกต้อง ความชอบธรรมจึงเกี่ยวกับการประเมินความดีงามของการใช้อำนาจ ประสิทธิภาพในการใช้อำนาจ และความยุติธรรมของอำนาจทางการเมือง ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้จากการบริหาร การพัฒนาประเทศการจัดการการแก้ไขปัญหาการบริหารประเทศ

นอกจากนี้ ควรดำเนินการการสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ให้มีมาตรการการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตและแก้ปัญหาโดยสันติวิธี โดยให้มีการทำสัญญาประชาคมร่วมกันของพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เกิดความปรองดองกับคนในชาติ

สำหรับเนื้อหาสาระที่จะทำเป็นสัญญาประชาคมในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นควรคำนึงถึงข้อตกลงที่ประชาชนและรัฐที่มีต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งต้องประกอบด้วย 1.ประชาชนตกลงร่วมกันดำรงจงรักภักดีและรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ 2.ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต มีความพอเพียง มีความขยันหมั่นเพียร มีคุณธรรมจริยธรรมและจะปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด 3.สนับสนุนและร่วมมือกับรัฐ ในการทาให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น

4.จะร่วมมือกันในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่สร้างความขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในมวลหมู่ประชาชน 5.จะสนับสนุนและร่วมมือ ให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมจะยอมรับผลการเลือกตั้ง และตกลงจะมีส่วนร่วมในทางการเมือง ด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน เสนอสนับสนุนหรือสมัครเป็นตัวแทนจากประชาชนเข้าสู่เส้นทางการเมือง รวมทั้งจะไม่กระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง และจะไม่เสนอแนวนโยบายที่สร้างปัญหาและภาระให้กับงบประมาณแผ่นดิน 6. จะให้ความร่วมมือ สนับสนุนรัฐในการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ 7.จะไม่กระทำการใดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น    

ทั้งนี้ ภายหลังสปท.ลงมติเห็นชอบแล้วจะดำเนินการส่งให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป

ที่มาจาก: บ้านเมืองออนไลน์ , innnews

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อเอกวาดอร์ตั้งความหวัง ผู้นำจากการเลือกตั้งคนใหม่ให้เสรีภาพสื่อมากขึ้น

Posted: 30 May 2017 07:17 AM PDT

เลนิน โมเรโน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนล่าสุดที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. ให้ความหวังกับสื่อในเอกวาดอร์ว่าเขาจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุมสื่อที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้นำมาอ้างใช้กดดัน-ปราบปรามสื่อเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สื่อบางส่วนก็ยังตั้งข้อกังขาว่าผู้นำคนใหม่ในระบบพรรคแบบเดิมจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

เลนิน โมเรโน ประธานาธิบดีจากพรรค PAIS Alliance  (ที่มา: Wikipedia)

30 พ.ค. 2560 หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย. ปีนี้ เอกวาดอร์ก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือเลนิน โมเรโน จากพรรค "PAIS Alliance" เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และแม้ว่าโมเรโนจะมาจากพรรคเดียวกับราฟาเอล คอร์เรอา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ แต่ท่าทีของโมเรโนก็ดูเอื้อต่อเสรีภาพสื่อมากขึ้น

เดอะการ์เดียนประเมินเรื่องนี้จากการที่โมเรโนเคยพูดเปรยเอาไว้ว่าเขาจะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสื่อสารจากที่กฎหมายนี้ออกมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีคอร์เรอาสมัยปี 2556 เพื่อต้องการใช้อำนาจควบคุมสื่อเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์เขา

หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็มีการฟ้องร้องสื่อรวมแล้วมากกว่า 900 คดี ทำให้สื่อเกิดความกลัว รวมถึงมีการทำลายฐานการเงินของสื่อและบังคับให้คนวาดการ์ตูนต้อง "แก้ไข" การ์ตูนของตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ตำรวจเคยบุกเข้าไปในห้องข่าว มีการสั่งเอาผิดธุรกิจสิ่งพิมพ์บางแห่งและทำให้นักข่าวอย่างน้อยหนึ่งคนถูกบีบให้ต้องออกจากประเทศ

ทั้งหมดนี้ดูตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการที่คอร์เรอาเคยอ้างว่ารัฐบาลสมัยของเขาเป็น "ผู้พิทักษ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" เขาเคยกล่าวอ้างเรื่องนี้ไว้เมื่อตอนที่ให้ที่พักพิงแก่จูเลียน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอน

ในสมัยของคอร์เรอาภายใต้กฎหมายการสื่อสารนั้นมีหน่วยงานสอดส่องสื่อที่ชื่อว่า "ซูเปอร์คอม" (SuperCom) ที่มีอำนาจมากในการลงโทษสื่อไม่ใช่แค่เรื่องที่สื่อรายงานเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเรื่องที่สื่อไม่ได้รายงานด้วย ซูเปอร์คอมเคยเรียกร้องค่าปรับจากสื่อหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับและสื่อโทรทัศน์ 3 ช่องเพราะไม่รายงานเรื่องราวของ กุยเลอร์โม ลาสโซ หนึ่งในผู้ท้าชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด โดยอ้างว่าพวกเขาไม่นำเสนอข้อมูลที่ "เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ"

ผู้ที่ยินดีกับการประกาศปฏิรูปกฎหมายควบคุมสื่อให้เอื้อต่อเสรีภาพมากขึ้นคือซีซาร์ ริเคาร์เต ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเฝ้าระวังสื่อฟันดามีเดียที่วิจารณ์เรื่องการปราบปรามสื่อของรัฐบาลคอร์เรอา ริเคาร์เตวิจารณ์ว่ากฎหมายการสื่อสารอนุญาตให้รัฐบาลส่งอิทธิพลต่อสื่อได้ พวกเขาสังเกตว่ามีการเซนเซอร์มากขึ้น แม้แต่บทบรรณาธิการเองก็ต้องให้นักกฎหมายเขียนแทน แทนที่จะเป็นนักข่าวเขียน สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือสื่อดั้งเดิมหยุดทำการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ

มีนักข่าวบางส่วนต้องออกจากสื่อดั้งเดิมไปแล้วก็หันมาทำเว็บไซต์สื่อที่จัดตั้งในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการถูกปิดปากจากรัฐบาล นักข่าวสืบสวนสอบสวนรายหนึ่งชื่อ มาร์ติน ปาลลาเรส ถูกไล่ออกจากสื่อเอลคอมเมอร์ซิโอหลังจากที่เขาวิจารณ์รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร เขาถูกคอร์เรอานำมาพูดถึงอย่างประณามในรายการโทรทัศน์รายสัปดาห์และคอร์เรอาก็มักจะฉีกหนังสือพิมพ์ที่เขาไม่ชอบให้ดูออกอากาศ

ปาลลาเรสมองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของเอกวาดอร์จะมีความอดกลั้นต่อสื่อมากกว่าคนก่อนหน้านี้เนื่องจากเป็นคนที่ไม่ก้าวร้าวเท่าคอร์เรอา แต่โมเรโนเองก็คงทำอะไรๆ ได้จำกัดเพราะโครงสร้างพรรคเดิมยังอยู่

คนที่มองอย่างกังขากว่านั้นคือคริสเตียน ซูริตา นักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ต้องเลี่ยงไปทำเว็บไซต์ที่มีฐานในต่างประเทศหลังถูกสังปรับ ซูริตามองว่าโมเรโนจะแค่แสดงออกแบบดูเป็นมิตรแต่ภายนอกเท่านั้น แต่การโจมตีสื่อรวมถึงการแฮ็กบัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ของนักข่าวแล้วล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเผยให้สื่อรัฐหรือพวกโทรลอินเทอร์เน็ตจะยังคงมีอยู่

เอกวาดอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ฟรีดอมส์เฮาส์จัดให้ระดับเสรีภาพสื่ออยู่ในระดับ "ไม่เสรี" โดยที่พวกเขามองว่าในรัฐบาลใม่สื่อรัฐอาจจะมีอิสระมากขึ้นในการเขียนบทบรรณาธิการ 

ทางด้านเฮอร์นัน เรเยส นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิมอน โบลิวาร์ แอนเดียน มีจุดยืนปกป้องกฎหมายควบคุมสื่อนี้โดยอ้างว่าสื่อเอกชน "เป็นปากเสียงให้กับอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ๆ" และไม่มีความเป็นกลาง เรเยสประเมินว่าอาจจะไม่มีการยกเลิกใช้กฎหมายนี้ง่ายๆ แต่อาจจะมีการผ่อนผันมากขึ้นอย่างการลดค่าปรับหรือควบคุมเนื้อหาบทบรรณาธิการน้อยลง

โมเรโน เคยทำงานเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของคอร์เรอาช่วงปี 2550-2556 ในช่วงระหว่างปี 2556-2559 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในการเรียกร้องประเด็นคนพิการและการบริการประชาชนอย่างทั่วถึง ตัวโมเรโนเองก็เป็นนักการเมืองที่มีอาการอัมพาตครึ่งล่างจนต้อนั่งรถเข็น เขาเคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลในปี 2555 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเขานำพรรคฝ่ายซ้าย PAIS Alliance เอาชนะพรรคฝ่ายขวาของลาสโซได้ โดยได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งในรอบที่สองร้อยละ 51.16

 

เรียบเรียงจาก

Ecuador's journalists pin hope on new president after Correa's war on media, 29-05-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/may/29/ecuador-journalists-lenin-moreno-correa-press-freedom

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Len%C3%ADn_Moreno

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำ กปปส.เคลียร์ 'อภิสิทธิ์' ยันไม่มีใครลาออกจากพรรค พร้อมเลือกตั้งตามโรดแมป

Posted: 30 May 2017 06:45 AM PDT

ถาวร พร้อมแกนนำ กปปส. เข้าพบ อภิสิทธิ์ ยันไม่มีใครลาออก ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป-ดันปฏิรูปประเทศสำเร็จ ชี้ สุเทพ หนุน ประยุทธ์เป็น นายกฯ ถือเป็นแนวคิดส่วนตัว - 'อภิสิทธิ์' ชี้ประยุทธ์ตั้งคำถามในจังหวะที่แปลก ชี้คนที่ต้องตอบคือคนร่างกติกา

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Democrat Party, Thailand

30 พ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (30 พ.ค.60) ถาวร เสนเสียม แกนนำ กปปส. พร้อมด้วยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ได้เข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้น เปิดเผยว่า กปปส. ทุกคนที่ไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีใครลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะยังคงร่วมมือกันเหมือนเดิม คือ ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป และผลักดันให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่เคยเรียกร้อง

โดย ถาวรยังได้สรุปจากสิ่งที่ได้มีการพูดคุยกันวันนี้ว่า 1. เราจะจับมือร่วมกันเหมือนเดิม ในการเดินเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตาม โรดแมป 2. ต้องทำการปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ สิ่งไหนที่กฎหมายกำหนดให้มีการ ปฏิรูปก่อน เช่น การปฏิรูปตำรวจที่กฎหมายเขียนเอาไว้ว่าจะต้องปฏิรูปภายใน 1 ปีนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เราจะคอยติดตาม แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลนี้ปฏิรูปไม่สำเร็จก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดำเนินการต่อ 

"เรายังสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. มีแนวคิดที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จ เพราะถือเป็นแนวคิดส่วนตัว แต่หากในอนาคตหลังเลือกตั้ง แล้วนายอภิสิทธิ์ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะตัดสินใจอย่างไร ถือเป็นเรื่องของอนาคต" ถาวร กล่าว

ต่อกรณีที่มีอดีต ส.ส.บางคนในพรรค ออกมาไล่ กปปส.ออกจากพรรคนั้น ถาวร กล่าวว่า กปปส.ไม่ติดใจ และเห็นว่า อาจจะไม่ได้พบเจอกันหรือรับประทานกาแฟด้วยกันนาน จึงอาจจะมีการพูดจาเกินเลยไปบ้าง ก็ไม่ถือสาอะไร และเชื่อว่าไม่มีปัญหาในการทำกิจกรรมพรรคร่วมกัน 

สำหรับคำถามที่ว่าการกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะเป็นการผลักดันแนวคิดของสุเทพหรือไม่ ถาวรกล่าวว่า ไม่ครับ ยังไม่ถึงเวลา ตนยังไม่ทราบ ยังไม่ถึงเวลา ผมยังไม่ทราบแล้วแต่สมาชิกพรรค คือการตัดสินใจของพรรคฯ ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นรัฐบาล หรือไม่ใช่เป็นรัฐบาล จะต้องผ่านมติพรรคฯ เสมอ คำตอบที่ชัดเจนก็คือเราหนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ แกนนำ กปปส. กล่าวว่า การที่ กปปส.เดินกลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่คิดเรื่องของประเทศ และต้องการปฏิรูปประเทศ  ไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป 

สุเทพ ยันไม่กลับ ปชป.

สุเทพ กล่าวว่า ตนยืนยันแล้วว่าจะไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรอีก แต่จะขออยู่กับประชาชน เพราะยังคงมีงานของ กปปส.ที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆต่อไป ส่วนเรื่องนายกรัฐมนตรี ตนขอยืนยันว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เพราะตนเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนกลางที่มีความสามารถเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามเจตนาของมวลมหาประชาชน

อภิสิทธิ์ ชี้ประยุทธ์ตั้งคำถามในจังหวะที่แปลก ชี้คนที่ต้องตอบคือคนร่างกติกา

ขณะที่ อภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง 4 คำถามกับประชาชนว่าหลังการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ว่า หากเป็นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้ง ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เห็นว่าคำถามนี้มาในจังหวะที่แปลก เพราะคำถามหลายข้อเป็นคำถามที่คนที่จะต้องตอบคือคนจัดทำรัฐธรรมนูญ และคนที่จัดทำกติกาของบ้านเมือง เพราะช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ประชาสัมพันธ์มากว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงและป้องกันคนไม่ดีได้ ดังนั้นการมาตั้งคำถามเช่นนี้อาจเป็นการสะท้อนว่ายังไม่มั่นใจ จึงควรต้องช่วยกระตุ้นสังคมให้ช่วยกันคิดว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้ง และสุดท้ายจะเป็นตัวพิสูจน์ว่ากติกาที่ทำออกมาเพียงพอในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และกันคนไม่ดีเข้าสู่การเมืองได้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในอดีต เกิดจากรัฐธรรมนูญน้อยมาก 

"ถ้าวันนี้คสช.ตระหนักแล้วว่าลำพังสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญยังไม่พอ ก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการที่จะปฏิรูปว่าจะทำอย่างไร ให้เรามั่นใจว่าจะได้ธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้ง และเห็นว่าคำถามที่ออกมา ไม่ได้กดดันนักการเมือง ส่วนตัวผมไม่รู้สึกกดดันอะไร แต่ผมคิดว่าจะย้อนไปกดดันคสช.มากกว่าเพราะว่าถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะกลายเป็นว่าสิ่งที่คสช.ทำมา ไม่ประสบสำเร็จ  แต่เราอยากให้สำเร็จ ผมไม่ได้มองว่ากดดันนักการเมือง แต่บางคำถามต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เช่นที่ถามว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมมาภิบาลไหม ต้องบอกว่า ไม่มีวิธีไหนที่มีหลักประกันว่าได้ธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเลือกตั้ง สรรหา ปฏิวัติ  ไม่มีหลักประกันทั้งนั้น แต่โอกาสที่จะได้ ถ้าเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยต่อเนื่อง มีมากกว่าการผูกขาดอำนาจ แต่เราอย่าสับสน อย่าไปตั้งเป้าว่า  จะได้ธรรมาภิบาลหรือไม่หลังเลือกตั้ง แล้วจะไม่มีเลือกตั้ง ผมว่าเป็นข้อสรุปที่ผิด เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีประเทศไหนได้เลือกตั้ง" อภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย เฟซบุ๊กแฟนเพจ Democrat Party, Thailand และ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท่ามกลางสงครามซีเรีย ชาวเมืองอิดลิบไม่ง้อรัฐ ลุกจัดการตนเองหลายมิติรวมทั้งจัดเลือกตั้ง

Posted: 30 May 2017 06:40 AM PDT

เมืองอิดลิบ ประเทศซีเรีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่บีบบังคับกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนกดหัวประชาชน แต่กลุ่มพลเรือนบางส่วนในอิดลิบก็พากันต่อสู้กดดันกลุ่มติดอาวุธด้วยสันติวิธี รวมถึงจัดตั้งกันเองขึ้นมาวางระบบจัดการตนเองขึ้นมาโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลกลางซีเรีย ทั้งการจัดการด้านสาธารณูปโภครวมถึงการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาเอง

30 พ.ค. 2560 เมื่อพูดถึงความขัดแย้งในซีเรียภาพมักจะชวนให้นึกถึงเรื่องราวสงครามกลางเมืองที่กลุ่มติดอาวุธหลายพรรคหลายพวกสู้รบกับรัฐบาลหรือสู้รบกันเองสลับกับการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธจากต่างชาติทั้งฝั่งชาติตะวันตกและรัสเซีย บางครั้งก็มีเรื่องของเมืองที่ถูกครอบครองโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มักจะมีแนวคิดการอ้างใช้ศาสนาแบบสุดโต่งในการกดขี่ประชาชนในพื้นที่ หรือความโหดร้ายของฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่ทำให้มีการโต้ตอบด้วยกำลังอาวุธ

แต่ท่ามกลางเรื่องราวที่มีคนใช้อาวุธต่อสู้กันหลายกลุ่มก็มีเรื่องราวของกลุ่มพลเมืองภายในท้องถิ่นที่สามารถต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธได้โดยไม่ใช้อาวุธใดๆ นั่นคือกลุ่มพลเมืองในเมืองอิดลิบที่ถูกกลุ่มติดอาวุธ 'เจอิช อัลฟาต์ฮ' ยึดครองหลังขับจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ขับไล่กองกำลังรัฐบาลออกไปได้ในปี 2558 โดยที่กลุ่มติดอาวุธนี้มีผู้นำกลุ่มเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างอัลนุสรา และอัลกออิดะฮ์

เว็บไซต์ Waging Nonviolence นำเสนอว่าการยึดครองของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ทำให้เกิด การต่อสู้ขัดขืนจากประชาชนเพื่อพยายามยึดกุมอำนาจในการปกครองเมืองกลับคืนมา จากที่กลุ่มติดอาวุธเข้ายึดครองและแต่งตั้งผู้คนของตัวเองแบบไม่ได้มีกระบวนการจนทำให้เกิดสภาวะการกดขี่ประชาชน ลิดรอนสิทธิมนุษยชนและลิดรอนเสรีภาพผู้คนในพืนที่โดยอ้างใช้กฎหมายของอิสลาม แต่ฝ่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านในระดับพลเมืองก็พยายามเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธด้วยการจัดตั้งสภาท้องถิ่นของตัวเองเมื่อป้องกันไม่ได้ฝ่ายที่มีกองกำลังแทรกแซงกิจการส่วนพลเรือน และให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียเคยมีการประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมของบาชาร์ อัลอัสซาด โดยพลเรือนชาวซีเรียมาก่อนในช่วงปี 2554 ที่มีปรากฏการณ์ 'อาหรับสปริง' รัฐบาลซีเรียโต้ตอบด้วยการปราบปรามสังหารประชาชน มีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มฉวยโอกาสโต้ตอบรัฐบาลไปพร้อมๆ กับการยึดครองพื้นที่บางแห่งในซีเรีย

การจัดการตนเอง

สักหร์ บาธ ทนายความและสมาชิกกลุ่มเยาวชนอิดลิบบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าการที่พลเรือนออกมาประท้วงตั้งแต่แรกก็เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมและการทุจริตทุกรูปแบบ กลุ่มเยาวชนของบาธดำเนินการประท้วงรัฐบาลกลางซีเรียมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในปี 2554 และในตอนนี้ก็ออกมาต่อต้านกลุ่มติดอาวุธที่ยึดครองเมืองของพวกเขา กลุ่มเยาวชนอิดลิบยังทำโครงการช่วงเหลือและบรรเทาทุกข์ต่างๆ รวมถึงการฟื้นฟูโรงเรียนและจัดทีมอาสาสมัครจัดระเบียบฝูงชนและการจราจร บาธบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มประชาสังคมของพวกเขาได้รับชื่อเสียงและการสนับสนุนจากชุมชน

เมืองอิดลิบเป็นเมืองที่มีการจัดระบบการต่อต้านขัดขืนระดับพลเมืองมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางซีเรีย มีกลุ่มวิชาชีพที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านของปัญญาชนอิดลิบระดับชาติมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2554 เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งของศาสนานิกายต่างๆ ในสังคมซีเรีย พวกเขาเคยจัดประชุมรวมถึงเชิญฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาร่วมอภิปรายกับชุมชน ในช่วงนั้นพวกเข่ายังได้รับการสนับสนุนจากชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในซีเรียเริ่มทำการจัดการตนเองโดยอยูนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเป็นยามเฝ้าเมืองในตอนกลางคืน และการคอยดูแลการจราจร

ภายใน 6 เดือนหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธยึดพื้นที่ของพวกเขาประชาชนอิดลิบก็จัดตั้งองค์กรพลเมือง "อัลอิดลิไบเฮาส์" ขึ้นมาได้โดยมีนักกิจกรรมรวมกับสมาชิกมากกว่า 400 คน มีการจัดประชุมเพื่อหายุทธวิธีกดดันกลุ่มติดอาวุธให้คืนการบริหารฝ่ายพลเรือนให้กับเมืองของพวกเขาทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ผ่านสื่อ การประท้วง นั่งปักหลักเรียกร้องสิทธิและแสดงการต่อต้านการควบคุมเมืองโดยกลุ่มหัวรุนแรง อับด อัลลาตีฟ ราฮาบี หัวหน้าฝ่ายการจัดการของอัลอิดลิไบเฮาส์บอกว่าพวกเขาสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมปากเสียงของประชาชนและเป็นตัวแทนชุมชนในการใช้เจรจาต่อรองกับสภาศาสนาของกลุ่ติดอาวุธ

กลุ่มติดอาวุธพยายามสลายการชุมนุมรวมถึงเรียกกลุ่มพลเรือนผู้ประท้วงว่าเป็นพวกต่อต้านอิสลามและพวกโลกวิสัยซึ่งทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มติดอาวุธแย่ลงไปอีก แต่จำนวนผู้ชุมนุมในจัตุรัสใจกลางเมืองก็เพิ่มมากขึ้น บาธบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มติดอาวุธพวกนี้จะควบคุมความไม่พอใจของประชาชนหรือละเลยการเรียกร้องของพวกเขาได้

สร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิพื้นฐานของสตรี

Waging Nonviolence ระบุว่าผู้หญิงยังมีส่วนร่วมในการต่อสู้และจัดตั้งกลุ่มหลายกลุ่มด้วย โดยมีองค์กรสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการสร้างสังคม รวมถึงให้การศึกษาและฝึกอาชีพต่างๆ มีหน่วยรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ศูนย์ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีการริเริ่มโครงการสิ่งทอและอาหารทำมือช่วยเหลือผู้หญิงที่ออกจากบ้านไม่ได้

กลุ่มผู้หญิงในอิดลิบยังต้องต่อสู้กับกลุ่มนักเทศน์หญิงที่กลุ่มติดอาวุธจ้างวานให้คอยบังคับใช้กฎหมายศาสนาอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกมาเดินข้างนอกโดยไม่มีผู้ชายเดินด้วยหรือการแสดงใบหน้า มีคนรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านนักเทศน์เหล่านี้มากกว่า 200 คน พวกเขารวมตัวกันได้ภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที มีการประท้วงแบบนี้ซ้ำๆ จนกระทั่งขับไล่นักเทศน์ออกไปได้ ชาดี ซิดานี สมาชิกสภาท้องถิ่นของอิดลิบเปิดเผยว่ายังมีกลุ่มผู้หญิงนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาอาสาสมัครคอยไปเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้หญิงที่ด้อยโอกาสเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเธอเพื่อโต้ตอบกับการที่นักเทศน์พยายามเจาะเข้าหากลุ่มผู้หญิงคนจนและคนด้อยโอกาสในการโน้มน้าวให้รับแนวทางกฎหมายสุดโต่งของอิสลาม

จัดเลือกตั้งกันเอง

ราฮาบีกล่าวว่าคณะกรรมการของอัลอิดลิไบเฮาส์จะเสนอชื่อทนายความและผู้พิพากษาของตัวเองในการวางกฎเกณฑ์และข้อบังคับในการจัดการเลือกตั้ง คุ้มครองสิทธิของผู้เลือกตั้งที่มีเสรีในการเลือกผู้แทนของตัวเองรวมถึงทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอขื่อคอยสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ด้วยการสนับสนุจากชุมชนทำให้อัลอิดลิไบเฮาส์สามารถจัดตั้งคูหาเลือกตั้งทั้งกล่องใส่บัตรลงคะแนนและห้องส่วนตัวเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนอย่างไม่ให้ผู้อื่นเห็น การจัดการเลือกตั้งเองเช่นนี้มีผู้เข้าร่วม 900 คน ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีสื่อ นักกิจกรรมชุมชน กลุ่มทนายความและผู้พิพากษาคอยบันทึกภาพเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างชอบธรรม

กลุ่มนักกิจกรรมระดับพลเมืองเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาจากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลกลางซีเรีย การสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธหลายฝ่ายและกองกำลังรัฐบาล การกดดันจากกลุ่มศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งที่พยายามขัดขวางและทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มนักกิจกรรม แต่ซิดานีบอกว่าพวกเขาก็ยังประชุมและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไป

หลังจากที่กลุ่มพลเมืองรวมตัวกันจัดตั้งตัวเองได้สามเดือนพวกเขาก็วางระบบบริการสาธารณะต่างๆ สำเร็จทั้งระบบประปา ไฟฟ้า การผลิตอาหาร การคุ้มครองทางสิทธิพลเมือง การป้องกันอัคดีภัย รวมถึงมีฝ่ายอำนวยการด้านการคมนาคม การสื่อสาร การเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมพูดถึงปัญหาต่างๆ ในสภาประชาชนด้วย

แต่แน่นอนว่าเรื่องราวของการต่อต้านขัดขืนในระดับประชาชนของเมืองอิดลิบจะไม่จบลงแค่นี้ ราฮาบีบอกว่าพวกเขามีเป้าหมายต่อไปคือจะพยายามกดดันให้กลุ่มติดอาวุธวางมือจากการควบคุมภาคส่วนของศาลและภาคส่วนความมั่นคง รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่เหลืออย่างการจดทะเบียนที่ดิน แล้วนำมันกลับคืนสู่มือของฝ่ายพลเรือนให้ได้ พวกเขารวบรวมกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เสียงของพวกเขามีพลังขึ้น

จูเลีย ทาเลบ ที่ปรึกษาอาวุโสเกี่ยวกับโครงการพัฒนาและการสร้างสันติระบุในบทความของ Waging Nonviolence ว่าในขณะที่องค์กรนานาชาติและผู้บริจาคปฏิเสธจะทำงานกับพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธเพราะกลัวว่าทรัพยากรของพวกเขาจะตกไปอยู่ในมือของฝ่ายหัวรุนแรง แต่ยุทธวิธีที่สำคัญที่สุดในการต่อกรกับกลุ่มหัวรุนแรงคือการส่งเสริมกลุ่มริเริ่มฝ่ายพลเรือนเช่นที่แสดงให้เห็นในอิดลิบที่ผู้คนพยายามทำให้เกิดสันติภาพและความเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์กับชุมชนตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก

Syrians roll back extremism in Idlib without military intervention, Julia Taleb, Waging Nonviolence, 23-05-2017

https://wagingnonviolence.org/feature/syrians-roll-back-extremism-idlib/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิฯ ร้องผู้รายงานพิเศษ UN เผยหลังรัฐประหารถูกคุกคามหลายร้อยกรณี

Posted: 30 May 2017 05:54 AM PDT

นักปกป้องสิทธิฯ กว่า 13 องค์กร ร้องผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ช่วยเตือนรัฐไทยทำตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ หยุดกฏหมายละเมิดสิทธิประชาชน เปิดสถิติภายหลังจากการรัฐประหารมีเหตุการณ์การคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนข่มขู่คุกคามสูงขึ้นมากหลายร้อยกรณี 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ มิเชลล์ ฟอร์ส (Mr.Michel Forst) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายใต้กลไก United Nations Special Procedures ของหน่วยงานภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการและได้เป็นแขกรับเชิญพิเศษในการบรรยายสาธารณะเรื่อง The Future of Global Human Rights Discourse: Trends & Challenge  ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กร Asia Centre

ในการนี้เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดินและสิทธิชุมชน กว่า 13 องค์กร อาทิ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนเจ้าของเหมืองแร่แห่งประเทศไทย กลุ่มรักษ์ลาหู่ เครือข่ายผู้หญิงชาติพันธ์ในประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เข้าพบ มิเชลล์ พร้อมทั้ง พูดคุยและยื่นข้อเรียกร้องต่อ มิเชลล์ ให้ช่วยผลักดันให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

โดยรายละเอียดของข้อเรียกร้องที่ 13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ยื่นต่อผู้แทนพิเศษสหประชาชาติระบุว่า ความซับซ้อนทางด้านการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ทำให้ประเด็นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิงแวดล้อมและสิทธิชุมชนของตนเอง ในเรื่องการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง โดย เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม การชุมนุมโดยสงบ และสิทธิ ในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ เป็นสิทธิมนุษยชนที่เปิดโอกาสให้ผู้คนแลก เปลี่ยนความคิด ริเริ่มแนวคิดใหม่ และร่วมกันเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เราสามารถ ตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของเราบนพื้นฐานของ ข้อมูลได้จากการนำ เสรีภาพสาธารณะเหล่านี้มาใช้ เราสามารถมีส่วนร่วมใน กิจกรรมของพลเมืองและสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้ผ่านการมีสิทธิเหล่า นี้ การจำกัดสิทธิที่กล่าวมาถือเป็นการลดทอนความก้าวหน้าของส่วนรวม

แต่ตอนนี้สิทธิเหล่านี้ถูกลดทอนลงไปมาก โดยกลไกทางนโยบายและกฎหมายที่จะคุ้มครองประชาชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ถูกทำให้ไม่สำคัญ และที่ผ่านมารัฐไทยเองได้พยายามขจัดข้อผูกมัดทางกฎหมายเพื่อให้บริษัทเอกชนได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศเราได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนและเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองก็จะถูกกฎหมายและคำสั่งพิเศษซึ่งร่างและประกาศใช้โดยรัฐบาลทหาร โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไมได้มาจากการเลือกตั้งจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำให้การต่อสู้อันชอบธรรมที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่รัฐไทยซึ่งเป็นสมาชิก กระทำได้ยากลำบาก

รายละเอียดข้อเรียกร้องของ13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า  ทั้งนี้ภัยที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องพบเจอมีหลากหลายกรณีดังนี้ 1. ภัยจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส หรือน้องจะอุ๊ อายุ 17 ปี เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่  เป็นการทำลายสิทธิในชีวิต (Right to life). ตามหลักปฏิญญาสากล 2. ภัยจากการถูกบังคับให้สูญหาย ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือกรณีการถูกบังคับให้สูญหายของ เด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นแกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน  และการถูกบังคับให้สูญหายของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในพยานคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ในข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย ก่อนที่จะหายตัวไป  และกรณีการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเการตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

3. การใช้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัด เลย หรือกลุ่มรักษ์น้ำอูน ที่ยื่นหนังสือให้ องค์การบริหารส่วนตำบลนำเสนอปัญหาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลสกลนคร แต่ถูกฟ้องในข้อหาหมื่นประมาท  การใช้กฎหมายในการฟ้องร้องชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิหรือต่อสู่เรื่องที่ดินทำกินให้ล้มละลาย หรือให้ถูกปรับและจับกุมคุมขัง 4. การใช้ความรุนแรงในการคุกคามและยึดที่ดินทำกินและอุปกรณ์รวมถึงผลผลิตในการทำกินของชาวบ้าน 5. การใช้กฎหมายจากพระราชบัญญัติการชุมนุม มายุติการชุมนุมของชาวบ้าน 6.การถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ 8.การถูกคุกคามทางเพศหรือการทำร้ายทางเพศ 9. การคุกคามสมาชิกครอบครัวของนักปกป้องสิทธิ 10. การถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ 11. การถูกปฏิเสธในการเข้าถึงการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมของ มึนอ ภรยยาของบิลลี่ เช่นการยุติการสอบสวนกณีการถูกบังคับให้สูญหาย อย่าง กรณีของบิลลี่

ปราณม สมวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กร Protection International  (PI) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ องค์กร Protection International  ในช่วงระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ กลุ่มคนจนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งในจำนวนของนักต่อสู้เหล่านี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงและเป็นแม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ รวมถึง การถูกจับปรับทัศนคติ การถูกปลดออกจากงานหรือการสูญเสียรายได้  การรณรงค์ป้ายสี ว่านักปกป้องสิทธิประชาสังคมเป็นศัตรูของชาติ เป็นผู้ทรยศ หรือเป็นผู้ ที่ทำ งานเพื่อผลประโยชน์ของต่างชาติการใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้งทั้งจากบริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งในบางกรณีก็เป็นการใช้อำนาจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับประเทศอีกด้วย  ทั้งนี้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานั้นมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารแล้วกว่า 59 ราย และมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่คนร้ายถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกทั้งในรอบสามปีที่ผ่านมามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นชาวบ้านโดนดำเนินคดีกว่า 170 คนละเป็นนักปกป้องสิทธิผู้หญิงอย่างน้อย 69 คนและตั้งแต่มีการรัฐประหารสถานการณ์ในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพุ่งสูงจากที่ผ่านมาขึ้นกว่า 500 ครั้ง

ขณะที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ผู้ใกล้ชิด ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกคุกคามและขู่ฆ่าภายหลังจากที่ทวงถามความเป็นธรรมให้กับชัยภูมิที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม จากเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่า ที่ตนมาที่นี่ก็ด้วยความเชื่ออยู่สองอย่างคือ ตนเชื่อว่าชีวิตของคนเรามีคุณค่าโดยเฉพาะชีวิตของน้องชัยภูมิที่ต่อสู้จนสุดแรงเพื่อให้ตนเองได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ดูแลครอบครัวของเขาให้ดีขึ้น แต่ชีวิตของเขาและความฝันของเขาถูกทำลายด้วยกระบอกปืน เขาใช้ความชอบธรรมอะไรในการฆ่าเด็กคนหนึ่ง ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะบอกว่าชัยภูมิมีระเบิดจนเขาต้องป้องกันตัว แต่พยานที่อยู่รอบบริเวณนั้นกลับให้การตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ในทุกๆ เรื่อง  การมาของตนในวันนี้ด้วยความเชื่อในข้อที่สองคือตนเชื่อว่าผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยทำเรื่องนี่ให้กระจ่างอย่างตรงไปตรงมาได้

"ผมเป็นเหมือนญาติของน้องชัยภูมิ ผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ ถึงแม้ผมจะถูกขู่ฆ่า จะถูกรคนนำลูกปืนมาวางไว้หน้าบ้านเพื่อนขู่ผมให้หยุดในการดำเนินการเรื่องนี้ ผมก็จะต้องทวงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิให้ได้ ผมเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้รายงานพิเศษยูเอ็นจะมาช่วยผมและช่วยคืนความเป็นธรรมให้กับน้องชัยภูมิได้" ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ กล่าวกับผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ กรรมการบริหารของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่เข้ายื่นหนังสือต่อเชลล์ ฟอร์ส กล่าวว่า สถานการณ์ที่ดินทำกินในภาคใต้นั้นเกิดการกระจุกตัว เราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างยาวนานเพื่อให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านด้วยความเป็นธรรม แต่เราก็ถูกข่มขู่คุกคามจากอำนาจมืด และชาวบ้านที่ต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินก็ถูกลอบสังหารไปแล้วกว่า 4 ราย นอกจากนี้เรายังถูกเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นพยายามผลักดันให้เราออกจากพื้นที่ เราได้จัดสรรพื้นที่ที่พวกเราอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชนที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ และหากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะเข้ามาจัดสรรที่ดินทำกินใหม่จะทำให้ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินทันที นอกจากนี้แล้วทีน่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้คือชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา และถูกตั้งข้อหาพิเศษจากกฎหมายปรกติเช่นข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ที่ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการหาค่าใช้จ่ายมาช่วยในการต่อสู้คดีจนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ดังนั้นตนจึงอยากให้ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นทำหนังสือมาที่หน่วยงานไทยให้เข้ามาช่วยในการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นแล้วและให้รัฐคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของชุมชนและชาวบ้านด้วย

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเข้าร่วมในงานบรรยายสาธารณะในครั้งนี้กล่าวว่า  ในการเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างวันที่ 26 -27 พฤษภาคม ของคุณมิเชลล์ เขาได้ขอพบบุคคลสำคัญของกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการที่ได้เข้าพบกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายคนก่อนที่จะเดินทางต่อไปประเทศกัมพูชา ซึ่งในการเข้าร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นคุณมิเชลล์ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของกรรมการสิทธิว่ามีในเรื่องใดบ้างซึ่งตนก็ได้แนะนำไปตามข้อเท็จจริง และที่น่าสนใจคือสาระในการบรรยายของคุณมิเชลล์ในครั้งนี้เขาได้ระบุถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีความกล้าหาญและเป็นอิสระ และต้องจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย  พร้อมทั้งระบุอีกว่า เรามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นๆเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่การคุกคามก็มากขึ้นด้วย และการคุกคามไม่ได้มาจากรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว แต่มีหลายฝ่ายที่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น เอกชน หรือบริษัททุนต่างๆ เช่นเหมือง หรือแม้แต่การคุกคามต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญในช่วงท้ายคุณมิเชลได้พูดถึงการแก้เค้นเขาบอกว่า มีกรณีนักปกป้องสิทธิที่ส่งรายงานคู่ขนานตามอนุสัญญาฯ หรือ เดินทางไปเจนีวา หรือมาพบผู้รายงานพิเศษ มักถูกรัฐบาลแก้แค้น หรือตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

"ในวันนี้กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับคุณไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ผู้ใกล้ชิด ชัยภูมิ ป่าแสซึ่งในขณะที่คุณไมตรีร่วมพบและยื่นข้อเรียกร้องกับคุณมิเชลล์ที่กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านของคุณไมตรีโดยที่เจ้าตัวไมได้อยู่ที่บ้าน การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการข่มขู่คุกคามให้นักปกป้องสิทธิเกิดความหวาดกลัว แทนที่เจ้าหน้าทีรัฐจะเร่งหาข้อเท็จจริงของการสังหาร ชัยภูมิ แต่กลับสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในพื้นที่  และในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงขอสะท้อนความเห็นของ Michel Forst ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไปยังรัฐบาลไทย โดยกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับคุณไมตรีเป็นกรณีของการข่มขู่คุกคามที่ชัดเจนมาก  เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และตนหวังว่าจะไม่มีใครถูกคุกคาม ถูกแก้แค้น ถูกกล่าวหา หรือถูกเชิญตัวไปสอบถามอันเนื่องมาจากการพบปะพูดคุยกับท่านผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแบบนี้อีก"กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กรได้ร่วมกันนำเสนอประเด็นที่ถูกข่มขู่คุกคามในพื้นที่ของตนเองและได้ได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อ มิเชล โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ขอให้ผู้รายงานสหประชาชาติติดตามการขอมาเยี่ยมเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทย  เพราะ ผู้รายงานพิเศษได้ขอมาเยี่ยมอย่างเป็นทางการแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่ตอบรับความประสงค์ของผู้รายงานพิเศษ และขอให้ติดตามการมาเยี่ยมนักปกป้องสิทธิในประเทศไทยในชุมชนและพื้นที่ต่าง

2. ขอให้ทำงานอย่างต่อเนื่องตื่นตัวเข้มแข็งที่จะหาทางคุ้มครองหรือป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอีกในอนาคตและให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำงานร่วมทั้งรัฐบาลไทยและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำงานในการสร้างพื้นที่และบริบทสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยกับนักปกป้องสิทธิในประเทศไทยให้พวกเขาสามารถทำงานต่อได้โดยที่ไม่ต้องถูกข่มขู่คุกคาม

3. ให้พิจาณาในเรื่องของการอำนวยความสะดวกและให้รวมรวมว่าแหล่งทุนที่สนับสนุนนักปกป้องสิทธิในกรณีของการถูกฟ้อง หรือการใช้อำนาจในทางกฎหมายในการกลั่นแกล้งโดยเฉพาะให้ช่วยพิจารณาด้วยว่ากลไกหรือเงินทุนในลักษณะใดที่จะส่งเสริมนักปกป้องสิทธิที่ถูกกลั่นแกล้งทางคดีได้อย่างเร่งด่วน

4. อยากให้ช่วยย้ำกับรัฐบาลไทยว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องให้การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิของยูเอ็นที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกปฏิญญานี้ของ

5. ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้อำนาจในการคุกคามในการทำร้ายหรือในการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิและจะต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่อนุญาตให้รัฐบาลคุกคามนักปกป้องสิทธิได้ จะต้องยกเลิกนโยบายเหล่านี้และต้องเปลี่ยนกฎหมายและระบบนโยบายต่างๆ ให้ได้มาตรฐานในเรื่องของการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนในระหว่างประเทศ

และ 6. ขอให้ช่วยกระตุ้นเตือนให้ประเทศไทยแสดงความรับผิดชอบที่จะทำตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมากขึ้น และจากล่าสุดของการประชุมหลักของสหประชาชาติได้มีมติในเรื่องของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิผู้หญิงในปี 2556 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติ 68/181 ซึ่ง เป็นข้อมติแรกของทางสมัชชาที่เกี่ยวกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ข้อ มติดังกล่าวแสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการใช้ความ รุนแรงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกวัย ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ข้อมติ 68/181 ยังเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใช้มาตรการที่จำเป็นในการรับรองความปลอดภัย และเพิ่มมุมมองเรื่องเพศลงในความ พยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมอันเอื้ออำ นวยต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องทำให้ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิเป็นจริงได้และให้ดำเนินวิธีการให้มติว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิผู้หญิงสามารถเป็นจริงได้ และให้นำปฏิญญาและมติของสหประชาชาติไปปรับทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่ไทยให้เข้าในเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์ผู้หญิงมากขึ้นด้วย และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะมีการยุติการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิ์ และจะไม่ถูกตอบโต้จากเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ใน สหประชาชาติเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ชี้วัตถุต้องสงสัย ใกล้ MRT ศูนย์วัฒนธรรม คือไปป์บอม พร้อมใช้งาน

Posted: 30 May 2017 03:49 AM PDT

ตร.เผยวัตถุต้องสงสัย ใกล้ MRT ศูนย์วัฒนธรรม คือไปป์บอม พร้อมใช้งาน ส่วนจุดพระราม 2 แค่กล่องเปล่า ผบ.ตร.ขอเวลาตรวจสอบ ขณะที่กรณี รพ.พระมงกุฎฯ ระบุผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดิม มี 100 ผู้ต้องสงสัย ปัดข่าวลือไม่ขัดแย้ง รอง ผบ.ตร.

30 พ.ค. 2560 จากกรณี เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานข่าว ระบุว่า วันนี้ (30 พ.ค.60) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า พบวัตถุต้องสงสัย ซ่อนอยู่ในป่าหญ้า หลังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ศูนย์วัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก ส่วนอีกจุดที่มีรายงาน พบกล่องต้องสงสัย อยู่บริเวณใต้สะพานกลับรถ ตรงข้ามห้างเซ็นทรัล พระราม 2 ล่าสุดมีการปิดการจราจร เพื่อเข้าตรวจสอบเช่นกัน
 
ล่าสุด PPTV รายงานว่า วัตถุต้องสงสัย ดังกล่าว ถูกบบริเวณหลังร้านอาหารแห่งหนึ่ง บริเวณถนนรัชดาฯ ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นเหล็กกลมสีดำ เป็นเหล็กกลมสีดำ ยาวประมาณ 8 เซ็นติเมตร โดย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันแล้วว่า วัตถุต้องสงสัยดังกล่าว เป็นระเบิดไปป์บอม ลักษณะพร้อมใช้งาน ล่าสุดเคลื่อนย้ายไปยัง สน.ห้วยขวางแล้ว

PPTV รายงานด้วยว่า ประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า พบวัยรุ่นเป็นชาย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์มาจอดหน้าร้านอาหาร จากนั้นหนึ่งคนได้นำวัตถุต้องสงสัยไปไว้หลังร้าน ก่อนทั้งสองคนจะขี่จักรยานยนต์หลบหนีไป

ส่วนอีกจุดที่พบกล่องต้องสงสัยอยู่ใต้สะพานกลับรถตรงข้ามเซ็นทรัล พระราม 2 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกล่องเปล่าไม่มีอันตราย ล่าสุดเปิดการจราจรฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯย่านพระราม2 ตามปกติแล้ว โดยตำรวจ สน.ท่าข้าม เปิดเผยว่า ช่วงนี้ได้รับแจ้งว่าจะมีการก่อเหตุ สร้างสถานการณ์หลายครั้ง ทำให้ต้องจัดชุดสายตรวจเข้มขึ้น ขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา หากพบวัตถุต้องสงสัยแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที

ผบ.ตร.ขอเวลาตรวจสอบ

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงาน ความเห็นของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อกรณีที่พบวัตถุระเบิดชนิด ไปป์บอมบ์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก ดังกล่าว โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว จึงขอเวลาตรวจสอบก่อน ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ หรือไม่ การข่าวยังไม่พบความเชื่อมโยง

ส่วนกรณีที่ภาพเผยแพร่ออกมาเป็นลักษณะไปป์บอมบ์แท่งโลหะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า  ไปป์บอมบ์ สามารถเป็นได้ทั้งแท่งโลหะ และ ท่อ pvc เพราะก่อนหน้านี้ไปป์บอมบ์ ก็ทำมาจากแท่งโลหะ ซึ่งหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และตำรวจนครบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ชี้ รพ.พระมงกุฎฯ ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดิม มี 100 ผู้ต้องสงสัย ปัดข่าวลือไม่ขัดแย้ง รอง ผบ.ตร.

ขณะที่กรณีความคืบหน้าเหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฏเกล้า พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดิมที่เคยมี ทั้งกลุ่มที่เคยก่อเหตุสร้างสถานการณ์ และกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยมีประวัติในการก่อเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ตำรวจสันติบาลและตำรวจนครบาล ระบุกลุ่มผู้ต้องสงสัยกว่า 100 คน ให้คณะทำงานของทีมรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคดีดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการทำงาน ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่าตนเองไม่มีความขัดแย้งกับชุดทำงานของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายหลังที่มีกระแสข่าวว่า เกิดความขัดแย้งกัน พร้อมระบุว่าข้อมูลการสืบสวนที่ยืนยันว่ารู้ตัวผู้ก่อเหตุได้ส่งต่อให้ชุดทำงานของพล.ต.อ.ศรีวราห์ แล้ว

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความไม่สบายใจกับข่าวลือที่เกิดขึ้น ว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างทีมสืบสวนและทีมสอบสวน โดยยืนยันว่าได้รับข้อมูลการสืบสวนจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมารวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนแล้ว และวันนี้ชุดสืบสวนลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อจำลองเหตุการณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุเพิ่ม ทั้งแผงวงจรไอซีไทม์เมอร์ และหลักฐานอื่นๆเพื่อนำมาประกอบสำนวนการสอบสวน ส่วนการสเก็ตซ์ภาพยืนยันว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น