โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พม่าเริ่มจับกุม 'พุทธชาตินิยมสุดโต่ง' ตั้งข้อหายุยงสร้างความรุนแรงทางศาสนา

Posted: 13 May 2017 03:11 PM PDT

รัฐบาลพม่าจับกุมตัวผู้นำชาวพุทธ 2 ราย หลังพยายามยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับชุมชนมุสลิมที่ย่างกุ้ง ซึ่งหากศาลตัดสินให้มีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 2 ปี ด้านกลุ่มชาวพุทธยืนยันว่าไม่ได้สร้างปัญหา ส่วนผู้นำมุสลิมบอกว่าต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากรัฐบาล และพวกเขาก็เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งรัฐบาลมากับมือ

14 พ.ค. 2560 การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสมาชิกกลุ่มชาตินิยมสหพันธ์สงฆ์รักชาติ (Patriotic Monks Union หรือ PMU) บุกเข้าไปในแฟลตของชุมชนชาวมุสลิมในย่างกุ้งจนทำให้เกิดเหตุปะทะกัน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายฝูงชนจนเลิกปะทะกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตมิงกะลา ตอง ยุนต์ กล่าวว่าพวกเขาจับกุมตัวผู้ต้องหายุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาแล้ว 2 ราย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังเปิดเผยอีกว่าพวกเขาจัดกำลังให้มีการตรวจตราลาดตระเวนตามศาสนสถานของชาวมุสลิมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงระหว่างศาสนา

เรื่องนี้ถือเป็นการที่รัฐบาล ออง ซาน ซูจี ยกระดับการจัดการกับปัญหาความรุนแรงด้านศาสนาหลังจากที่บริหารประเทศมาแล้ว 13 เดือน ในพม่ามีความตึงเครียดทางศาสนาระหว่างพุทธกับชนกลุ่มน้อยอิสลาม เคยเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2555-2556 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และบรรยากาศความขัดแย้งทางศาสนาก็ยังคุกรุ่นอยู่เสมอมา ความไม่เชื่อใจกันระหว่างต่างชุมชนก็เลวร้ายลงไปอีกเมื่อมีเหตุบุกโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงยาในรัฐยะไข่เมื่อเดือนตุลาคม 2559 จนทำให้เกิดปฏิบัติการโต้ตอบจากทหารอย่างหนัก เป็นเหตุให้มีชาวโรฮิงยาราว 75,000 คนต้องหนีข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ

เหล่าผู้นำกลุ่ม PMU บอกว่าพวกเขาปฏิบัติการโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มมะบ๊ะต๊ะซึ่งเป็นกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงที่ออกตัวต่อต้านมุสลิมที่มีพระสงฆ์จอมปลุกระดมชื่อวีระธุ โดยที่ตอนนี้กลุ่มมะบ๊ะต๊ะกำลังเตรียมจัดการประชุมระดับประเทศเป็นเวลา 2 สัปดาห์คาดว่าจะมีพระสงฆ์เข้าร่วมราว 10,000 รูป

อัลจาซีราระบุอีกว่าจะมีการตั้งข้อหากลุ่ม PMU ที่โจมตีชาวมุสลิมในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรง ทิน ฉ่วย ครูใหญ่โรงเรียนมุสลิมและยังเป็นนักการเมืองพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาว่า พวกเขาไม่ต้องการปะทะกับกลุ่มชาตินิยมที่มาปิดโรงเรียนพวกเขา พวกเขาจึงอนุญาตให้กลุ่มชาวพุทธปิดล้อมโรงเรียน โดยกลุ่มชาตินิยมเหล่านี้มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทางการส่วนท้องถิ่นและตำรวจอ้างว่ามีชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในโรงเรียนนี้อย่างผิดกฎหมาย

หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายดังกล่าวทำให้มีการออกหมายจับบุคคล 7 คนรวมถึงพระ 2 รูป ซึ่งถ้าหากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยุยงให้เกิดความรุนแรงจริงก็มีโอกาสจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี

ขณะที่ฝ่าย PMU จัดแถลงข่าวช่วงก่อนหน้าที่จะโดนหมายจับว่าพวกเขาแค่พยายาม "ปกป้องประชาชน" โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลรั้งรอที่จะปกป้องคุ้มครองพวกเขา พวกเขายืนยันว่าต่อให้มีคนเกลียดกลุ่มพวกเขาจำนวนมาก แต่พวกเขายืนยันว่าไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ

ฝ่ายผู้นำมุสลิมก็บอกว่าพวกเขาก็ต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและคุ้มครองจากรัฐบาลเช่นกันเพราะพวกเขาเองก็เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งรัฐบาลมากับมือ

เรียบเรียงจาก

Myanmar arrests Buddhists accused of targeting Muslims, Aljazeera, 13-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พศ. เผยยังไม่พบหลักฐาน 'พุทธะอิสระ' ขออนุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อมาใช้ด้านหลังพระ

Posted: 13 May 2017 08:48 AM PDT

กรณี 'พุทธะอิสระ' ถูกร้องเอาผิด ม.112 เหตุใช้เลือดปลุกเสกพระมีพระปรามาภิไธย ภปร. ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ยันยังไม่พบหลักฐาน ขออนุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อมาใช้ด้านหลังพระ ด้านพุทธะอิสระยันพร้อมที่จะขึ้นศาลพิสูจน์ เชื่อ 'ทองแท้ไม่กลัวไฟ'

ที่มาภาพ เพจ Issaradham

13 พ.ค. 2560 กรณีเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์กรส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา (อสคพ.) ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี พระสุวิทย์ ธีรธฺมโม หรือพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ซึ่งจัดให้มีการประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่อง "พระนาคปรก" รุ่น "หนึ่งในปฐพี"  โดยด้านหลังของพระเครื่องดังกล่าว มีการอันเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.และ สก.อุดปรอท (จารนะอ่อนช้อย) และมีการใช้เลือด หรือการทำปะสะโลหิตของพระพุทธะอิสระ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2552 อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นั้น (อ่านรายละเอียด)

ขณะที่วันต่อมา (11 เม.ย.60) พระพุทธะอิสระ ได้ยื่นหลักฐานการขออนุญาตจัดสร้างพระดังกล่าว แก่พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ซึ่งเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อมาใช้ด้านหลังพระเครื่องดังกล่าว มามอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบ พร้อมยืนยันด้วยว่าก่อนที่จะทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องดังกล่าวนั้นได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และเอ่ยด้วยวาจา ขออนุญาตจาก แก้วขวัญ วัชโรทัย อดีตรองเลขาธิการพระราชวังแล้ว ส่วนกรณีที่ใช้เลือดในการประกอบพิธีนี้ด้วยนั้นยอมรับว่าทำจริง แต่เห็นว่าไม่ได้ผิดอะไรเพราะเป็นหนึ่งในวิชาปะสะโลหิตซึ่งเป็นวิชาโบราณ 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (12 พ.ค.60) เดลินิวส์ รายงานว่า พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีผู้ร้องเรียนกับ พศ. และกองปราบปราม เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีพระพุทธะอิสระ จัดสร้างพระเครื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้จุดเริ่มต้นมาจากการที่มีผู้ไปร้องเรียนกับกองปราบปราม ดังนั้นการดำเนินการจึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม แต่ พศ.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนกับ พศ. ด้วย จึงได้มีการทำหนังสือไปถึงกองปราบปราม เพื่อสอบถามว่าจะมีข้อมูลในส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับทางคณะสงฆ์ และพศ. หากทางกองปราบปรามต้องการข้อมูลใดให้แจ้งมายังพศ. เพื่อจะดำเนินการประสานข้อมูลกัน หรือถ้าทางกองปราบปรามพบหลักฐานที่มีมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ขอให้ส่งหลักฐานมาที่พศ. เพื่อจะได้ดำเนินการแจ้งไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองเพื่อดำเนินการทางพระธรรมวินัยต่อไป

เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมว่า ต่อคำถามว่าทาง พศ.ได้มีการตรวจสอบว่าพระพุทธะอิสระทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาตตามขั้นตอนในระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ หรือไม่ นั้น พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าวว่า ขณะนี้ตามหลักฐานทาง พศ. ยังไม่มี แต่ทางพระพุทธะอิสระบอกผ่านทางสื่อสารมวลชนว่ามีการขออนุญาตแล้ว แต่ทาง พศ. ยังไม่พบหลักฐานดังกล่าว
 
ด้าน วิชัย ประเสริฐสุดสิริ ผู้ประสานงาน อสคพ. กล่าวว่า จากการเดินทางไปสอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวที่กองปราบปราม ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ทางกองปราบปรามได้ทำหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อสอบถามข้อมูลว่าพระพุทธะอิสระได้ทำเรื่องขออนุญาตจริงหรือไม่ พร้อมกันนี้ทางกองปราบปราม ยังแนะนำให้ตนไปยื่นเรื่องกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ คาดว่าจะดำเนินการยื่นเรื่องกับปอท.ได้ในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการพยายามโยงว่าการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

พุทธะอิสระยันพร้อมที่จะขึ้นศาลพิสูจน์ 

ขณะที่วันนี้ (13 พ.ค.60) พระพุทธะอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)' ด้วยว่า คนอย่างพุทธะอิสระ นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่ และไม่เคยหนีความจริง ไม่เคยละทิ้งความภาคภูมิที่จะหายใจ
 
พระพุทธะอิสระ ระบุว่า ชั่วชีวิตของของตนเชื่อมาตลอดว่า "เพชรแท้ไม่กลัวการเจียระไน ทองแท้ไม่กลัวการเผาไฟ เหล็กแท้ไม่กลัวการทุบตี คนดีแท้ๆ ไม่กลัวการพิสูจน์"

"หากใครมีหลักฐานสามารถเอาผิดพุทธะอิสระได้ ก็พร้อมที่จะขึ้นศาลพิสูจน์ และจะให้งดงาม สมดุล สำนักพุทธควรจะช่วยตรวจสอบกรณีเจ้าคณะปกครองและมหาเถรสมาคม นำชื่อบุคคลที่ไม่ใช่พระไปขอพระราชทานสมณศักดิ์ด้วย ว่าเป็นการหมิ่นเบื้องสูงหรือเปล่า และจะให้สังคมเขาเห็นว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ ก็ควรนำตัวอลัชชีผีบุญมาขึ้นศาลพร้อมพุทธะอิสระด้วย ก็จะสมบูรณ์งดงามมากๆ" พระพุทธะอิสระ โพสต์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวัติศาสตร์และเส้นทางชีวิตการต่อสู้ของ 'เด่น คำแหล้' รำลึกการหายตัว 1 ปี

Posted: 13 May 2017 06:34 AM PDT

เรื่องราวของ 'เด่น คำแหล้' นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน จาก รับจ้างชกมวย สู่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับการต่อสู้รอบใหม่ ภายใต้ชีวิตเกษตรกร พร้อใเสวนา จาก 'บิลลี่ พ่อเด่น' ถึง 'ชัยภูมิ' กับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย รวมไปถึงถอดปัญหาที่ดินในสังคมไทย

เส้นทางการต่อสู้ของ เด่น คำแหล้  อาจกล่าวได้ว่า ช่วงชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม  นับตั้งแต่การเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กระทั่งกลับคืนสู่เมืองในฐานะเกษตรกร และเริ่มเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน จากการถูกปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ ของหน่วยงานภาครัฐ จนวาระสุดท้ายที่หายตัวไป ในช่วงเมษาของปีที่แล้ว

เพื่อเป็นการรำลึกถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำ เกี่ยวกับกับชีวิตและการต่อสู้ของ เด่น  คำแหล้  ในการนี้ คณะทำงานองค์กร เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ  Focus on the global south ร่วมจัดเวทีรำลึกความทรงจำการหายตัว 1 ปี และประวัติชีวิตและเส้นทางการต่อสู้ของ "สหายดาวอีปุ่ม" เด่น คำแหล้  ณ วัดทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 7– 8 พ.ค. 2560

ผู้เข้าร่วมเวทีรำลึก ทั้ง 2 วัน ประกอบไปด้วยอดีตสหายที่ร่วมรบในเขตงานภูซาง  นักวิชาการ  นักศึกษา นักกิจกรรมเพื่อสังคม นักสื่อสารมวลชน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนการต่อสู้ด้านสิทธิที่ดินทำกิน เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และคณะกรรมการประสานงานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน  (กป.อพช.อีสาน ) นอกจากนี้ยังมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน  อาทิ ยุติธรรมและสันติ (ยส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านทั่วไปเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 200 คน

ชีวิตและการต่อสู้ของ เด่น คำแหล้

เด่น คำแหล้ เกิดวันที่ 7 ส.ค. 2494  บ้านท่าสี ต.หนองแสง  อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี (ปัจจุบัน อ.หนองแสง จ.อุดรธานี) ต่อมาในปี พ.ศ.2509 ครอบครัวได้อพยพมาที่บ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

แม่ฤทธิ์ คำแหล้ น้องสาวของพ่อเด่น เล่าถึงชีวิตของพี่ชาย ให้ฟังว่า  จำนวนพี่น้อง 4 คน นายเด่น เป็นผู้ชายคนเดียว วัยเด็กของชีวิตค่อนข้างลำบาก เมื่อเข้าสู่โรงเรียนก็มีเวลาไม่เต็มที่ ต้องลาออกมาหารับจ้างทำงานช่วยทางบ้าน หลังจากจบชั้น  ป.4 ด้วยความที่เป็นคนรักการอ่านเขียน  จึงเข้าบวชเป็นเณรเพื่อเรียนหนังสือ ได้ 1 พรรษา ต้องสึกออกมาทำงานรับจ้างดำนา หาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นผู้มีฝีมือในการชกมวยมาก ยังได้ตระเวนหาขึ้นชกมวยได้ครั้งละ 5 บาท ส่วนใหญ่จะชกชนะทุกครั้ง จึงพอหาเงินมาเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

น้องสาวพ่อเด่น บอกอีกว่า ขณะที่รับจ้างชกมวยอยู่นั้น ในปี พ.ศ.2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ด้วยความสนใจก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ พคท. ช่วงกลางคืนจะออกไปศึกษาเกี่ยวกับทางการเมือง  ส่วนช่วงกลางวันจะสอนมวยให้กับสหายในพรรค ขณะเดียวกันนายเด่นเริ่มเป็นที่เพ่งเล็งของฝ่ายรัฐ  นับแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา ทั้งแม่ฤทธิ์ และพ่อเด่น จึงตัดสินใจเข้าป่าร่วมกับพรรค  พคท. โดยเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตงานภูซาง  ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเชื่อมจังหวัดเลย หนองบัวลำภู  หนองคาย และอุดรธานี

ต่อมารัฐออกนโยบาย 66/23 ให้ พคท. ยอมวางอาวุธและออกจากป่า แต่สหายดาวอีปุ่ม มีจุดยืนแน่นอน ไม่ยอมมามอบตัว และไม่ยอมมอบบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ จากนั้นได้มารับจ้างแบกข้าวโพด  หลังจากแต่งงานกับแม่สุภาพได้เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรอีกครั้ง ที่บ้านทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

แม่ฤทธิ์ เพิ่มเติมด้วยว่า จากชีวิตสหายมาครองคู่อยู่กับนางสุภาพ  เพราะด้วยความผูกพันในพื้นที่กับผู้คน และความรักป่า รักประชาชน พี่ชายจึงได้ช่วยกันทำมาหากินอยู่กับแม่ภาพ และร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ชุมชนโคกยาว นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า หากตัวตายก็ขอตายอยู่ในพื้นที่ทุ่งลุยลาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้าย ชีวิตกลับมาหายไปอย่างน่าอนาถ  แต่อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นการตายอย่างเสือที่มีเกียรติยิ่ง

"ผู้ที่เอาพ่อเด่นไปฆ่า ถามว่าบุคคล หรือกลุ่มใดที่กระทำแบบนี้ เคยทำ เคยสร้างความดีเพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือไม่ แต่พี่ชายของตนที่มีจุดยืนที่ต่อสู้เพื่อประชาชน กลับมาตายอย่างทีไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้แม้ดวงวิญญาณจะไปอยู่แห่งใด ก็ขอให้เป็นดังเช่นเมล็ดพืชที่เจริญงอกงามไปทุกที่" น้องสาวพ่อเด่น  กล่าวทิ้งท้าย

การได้รับชื่อจัดตั้งว่า สหายดาว อีปุ่ม ที่มาคือ อีปุ่มเป็นสัตว์เรียกว่า ฮวก หรือลูกอ๊อด(กบภูเขา) ลักษณะเด่นคืออีปุ่มจะอาศัยตามแหล่งน้ำบนภูเขา พื้นที่ที่อีปุ่มเข้ามาอยู่แสดงว่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีความสะอาด เมื่อมารวมกับคำว่าดาว  จึงเป็นที่มาของสหาย ดาวอีปุ่ม ที่พร่างพรายแสงสกาวด้วยความอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้นายสมบัติ ไชยรส หรือสหายชน สหายร่วมรบเขตงานภูซาง บอกว่า ในเขตภูซางเป็นฐานที่มั่นจรยุทธ์ เป็นเขตงานของ พคท.ที่เป็นกรรมการกลางพรรค  และหากไม่มีพรรค พคท.ก็จะไม่มีสหายดาวอีปุ่ม กล่าวคือ ในปี 2518 สหายดาวถูกพรรคส่งไปเรียนการเมืองและการทหารที่ลาวและเวียดนาม กลับมาก็ปฏิบัติงานยังเขตงานเดิม  ในเขตงานภูซางจะมีกองทหาร  3 กอง คือ 31 32 และ 33 ซึ่งสหายดาวเป็นฝ่ายทหารสังกัดกองทหารหลักที่ 33

สหายชน  เพิ่มเติมอีกว่า  ปี 2520 การนำของพรรคในเขตภูซางได้ส่งสหายดาว พร้อมกับกองกำลัง ที่ 33 มาบุกเบิกเคลื่อนไหวในเขต 196  แถบอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว  หนองบัวแดง และบ้านเขว้า (โดยตั้งชื่อเขต 196 เพื่อเป็นการให้เกียรติกับนักศึกษาที่เข้ามาทำการเคลื่อนไหวชาวนาในพื้นที่ดังกล่าว ) ซึ่งพรรคส่งสหายดาว เข้ามาบุกเบิก เพื่อขยายเขตงาน และขยายความคิดทางมวลชน ที่เป็นโยบายของพรรคให้มีการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ แต่หลังจากที่สหายต่างทยอยออกจากป่า สหายดาวอีปุ่ม ไม่ได้ออกมามอบตัว ต่อมาได้ข่าวภายหลังว่าหันมาใช้ชีวิตเกษตรกรอยู่ที่ทุ่งลุยลาย และช่วงปี 2525 ได้แต่งงานกับนางสุภาพ ยึดอาชีพเกษตรกรมาอย่างปกติสุขได้เพียง 3 ปี จากนั้นทราบว่าที่ดินทำกินมีปัญหากับรัฐ  ต้องต่อสู่เรียกร้องสิทธิมาโดยตลอด กระทั่งได้รับข่าวมาอีกว่า สหายได้หายตัวไปในป่าที่เขาคุ้นเคยมานาน

การต่อสู้รอบใหม่ ภายใต้ชีวิตเกษตรกร

ทางด้านนางสุภาพ คำแหล้  ภรรยาคู่ทุกข์ยาก เล่าถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของสามี ให้ฟังว่า หลังจากตาเด่น ออกจากป่า ก็มาแต่งงานกันเมื่อปี 2525 พากันทำอยู่ทำกินในพื้นที่เดิมที่ได้รับสืบทอดมาจากพ่อ  ทำกินกันมาได้เพียง 3 ปี ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น ปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ "หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์" ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน และอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก  ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ เพราะมีกำลังทหารพราน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมอยู่  แต่ได้เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อขอเข้าทำกินในที่ดินเดิมมาตลอด ซึ่งมีตาเด่นเป็นแกนนำ และได้ชุมนุมกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอ เพื่อตรวจสอบการถือครอง

ภรรยานายเด่น เล่าถึงกระบวนการต่อสู้ของสามี อีกว่า หลังการแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ ยังไม่สามารถเข้าทำกินในพื้นที่ได้  ชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินทำกินในอำเภอคอนสาร จึงได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในช่วงปี 2548 โดยมีข้อเสนอให้ "ยกเลิกสวนป่า" แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อน  และร่วมกันผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ "โฉนดชุมชน" ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ กระทั่งรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553

"แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้าน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ดำเนินคดีชาวบ้าน 10 คน โดยนายเด่น เป็นจำเลยที่ 1 นางสุภาพ จำเลยที่ 4

ล่าสุด (9 พ.ค.2560) ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาและนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา กรณีที่นายเด่น ไม่ได้มาศาล โดยศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1เป็นบุคคลที่ไม่มีบุคคลรู้แน่ว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าถึงแก่ความตาย  เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 อีกทั้งมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560"

นางสุภาพ บอกอีกว่า พอมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ได้ติดตามให้รัฐดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด  แต่หลังเกิดการรัฐประหาร ได้เพียง 3 เดือน  เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ได้เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ให้ชุมชนออกจากพื้นที่ ยังไม่ถึงเดือนก็ถูกปิดป้ายทวงคืนผืนป่าอีก  ต่อมาวันที่ 6 ก.พ.2558 เจ้าหน้าที่ทหาร  ป่าไม้ กว่า 100 คน เข้ามาปิดคำสั่งรื้อชุมชนออกไปอีก ทุกครั้งตาเด่นจะเป็นแกนนำ เดินทางไปร้องเรียนเพื่อให้ภาครัฐแก้ไข

"จนวันที่ 16 เม.ย.2559 ตาเด่นได้หายตัวไปหลังจากเข้าป่าไปหาเก็บหน่อไม้  จากการติดตามค้นหา ยังไม่พบเบาะแสการหายตัว แน่นอนว่าเป็นการถูกอุ้มหาย ไม่รู้ว่าใครอุ้ม และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 – 24 มี.ค.2560 ได้พบกางเกง รองเท้า และสิ่งของใช้ที่ยืนยันว่าเป็นของตาเด่น  ในวันที่ 25 มี.ค.พิสูจน์หลักฐานตำรวจลงตรวจสอบพื้นที่ ได้พบหัวกะโหลกมนุษย์เพิ่มเติม ซึ่งวัตถุพยานที่พบ รอผลตรวจสอบพิสูจน์แจ้งมา" นางสุภาพ กล่าวถึงชีวิตการต่อสู้ของสามี

จาก 'บิลลี่ พ่อเด่น' ถึง 'ชัยภูมิ' กับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย

ช่วงบ่าย เวทีเสวนา "จากบิลลี่ พ่อเด่น ถึงชัยภูมิ กับร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย" โดยคุณมึนอ รักจงเจริญ  ภรรยาบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่หายตัวไปได้มาร่วมงานเสวนาด้วย

มึนอ รักจงเจริญ บอกว่า บิลลี่ เป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง  เป็นชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ต.แม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  หลังจากเรียนจบ ม.6 ได้มารู้จักกันและมีลูกด้วยกัน 5 คน

มึนอ บอกอีกว่า การหายตัวไปของบิลลี่ เป็นกรณีการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินเหมือนกับพ่อเด่น โดยเมื่อปี 2554 ชาวบ้านบางกลอย ได้รับความเดือดร้อน จากการถูกเผาบ้าน เผายุ้งฉาง บิลลี่เป็นแกนนำได้พยายามทำทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ รวมทั้งได้พาชาวบ้านรวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครอง  ซึ่งบิลลี่ เป็นพยานปากเอกของคดี แต่กลับหายตัวไปอย่างลึกลับในวันที่ 17 เม.ย. 57 ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับควบคุมตัวตรงทางเข้าบางกลอย กรณีมีน้ำผึ้งป่า  หลังจากบิลลี่ไปพบพนักงานสอบสวน ก็หายตัวไปนับจากนั้น แม้จะไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่บิลลี่เคยไป ถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัว

"จากวันนั้น ถึงทุกวันนี้ วันที่สามีสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ มึนอบอกว่าตัวเองกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยไว้ใจใคร  แม้เวลาเดินทางไปไหนก็เกิดความหวาดระแวงไปเสียหมด  และจากที่ได้รู้ว่าได้ข่าวพ่อเด่น ก็ได้หายตัวไป ทำให้มีความรู้สึกว่า ทำไมคนดีดีในโลกนี้ ที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม กลับไม่มีที่อยู่ หรือมีที่อยู่เพียงนิดเดียว และเป็นกรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นเหมือนกัน" ภรรยาบิลลี่-พอละจี กล่าว

ทางด้านณัฐาศิริ  เบิร์กแมน ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ทำประเด็นในการติดตามการบังคับให้สูญหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชน การบังคับให้สูญหาย การต่อต้านการทรมาน มานับแต่ปี  2525 และจากสถิติที่มีการรวบรวมจากการร้องเรียนโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ในประเทศไทย พบว่ามีการถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วกว่า 90 คน รวมทั้งกรณีบิลลี่  พ่อเด่น  และทนายสมชาย กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับการสูญหาย ทำให้ประสบต่อความยากลำบากในการ เข้าไปแจ้งความ เพราะจะไม่ได้รับความอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่มากนัก

ณัฐาศิริ  บอกด้วยว่า แม้ที่ผ่านจะมีความพยายามร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย  ซึ่งจะเป็นความหวังเดียวของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ให้สามารถมีช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรมได้ แต่ สนช.กลับยังไม่ให้ผ่านกฎหมายดังกล่าว

"อย่างไรก็ตาม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดให้มีการฝึกอบรมต่อกรณีที่หากมีการสูญหายจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะแน่นอนว่าคนที่สูญหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความร่วมมือในการติดตามค้นหาอย่างแน่นอน จึงต้องเป็นหน้าที่ของชาวบ้านด้วยกันเองในการช่วยกันค้นหาหา โดยจะมีแต่ละขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ เช่น การลงบันทึกไว้ว่าคนหายวันไหน เมื่อไร ที่ใด จากนั้นชาวบ้านจะร่วมปฏิบัติกาค้นหาร่วมกันเอง เพื่อเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม สืบสวนสอบสวน เป็นการต่อไป" ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกทิ้งท้าย

นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกระบวนการกฎหมาย กรณีบิลลี่และนายเด่น ว่า จากกรณี ดังกล่าวได้สะท้อนอะไรบ้าง มีความต่างที่คล้ายกันหรือไม่ ประเด็นแรกคือ การหายตัวของนายเด่น ไม่มีเงื่อนไขให้กฎหมายดำเนินการ  เช่น กระบวนการหายเป็นอย่างไร  แต่ทั้งนี้หากย้อนมองไปในอดีต อาจเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยภาวการณ์ของสังคมในยุคนี้ที่เปลี่ยนไป ทำให้ประเด็นการบังคับให้สูญหายมีการกล่าวถึงเรื่อยไป แต่ในความเป็นจริงนั้น เพื่อเป็นการจุดประเด็นที่น่าสนใจต่อสังคมคือ ชาวบ้านต้องเริ่มตรวจสอบค้นหากันเอง

สมนึก กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้หากไม่มีกฎหมายการบังคับให้สูญหาย เชื่อว่าจะมีการสูญหายมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรณีที่ดินทำกิน อย่างกรณีของบิลลี่ หรือนายเด่น ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการบังคับให้สูญหายเป็นกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่ให้ชาวบ้านทำการค้นหาเพียงฝ่ายเดียว

"ที่สำคัญอีกอย่างคือ สื่อ ต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลอีกมุมที่สังคมไม่ได้รับรู้ ให้มีการรับรู้ร่วมกัน เพื่อให้มีการกระตุ้นในการตรวจสอบ และเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะให้กฎหมายมีความตื่นตัวในการยอมรับกรณีการบังคับสูญหายมากขึ้น เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความสำคัญของคนหาย เมื่อไม่มีกฎหมายการบังคับสูญหายยอมรับ เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีอำนาจ" สมนึก กล่าวทิ้งท้าย

เสวนา 'เด่น คำแหล้ กับปัญหาที่ดินในสังคมไทย'

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 8 พ.ค.มีการทำบุญตักบาตรช่วงเช้า และการเสวนา "เด่น คำแหล้ กับปัญหาที่ดินในสังคมไทย" โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายทวีศักดิ์ มณีวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และนายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ให้ข้อคิดกับปัญหาที่ดินในสังคมไทย ดังนี้ การจัดการทรัพยากร และการประกาศเขตป่า หน่วยงานภาครัฐรวมศูนย์ไว้เพียงฝ่ายเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เจ้าหน้าที่ผูกขาดอำนาจการจัดการป่าอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อรัฐมีนโยบาย หรือแผนปฏิบัติงานโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถือครองประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาก่อน จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในการถูกให้อพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านจะตกเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีข้อหาผู้บุกรุกป่า

"รัฐต้องมีนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้คนกับป่า หรือชุมชนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปราศจากการทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากพื้นที่ " นพ.นิรันดร์ กล่าว

ส่วนนายทวีศักดิ์ มณีวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  มองปัญหาที่ดินในสังคมไทย ว่า จากบทเรียนในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐ พบว่า ประสบความล้มเหลวและสร้างความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน  หากวิเคราะห์ปัญหาที่ดิน จะพบว่าเพราะกรอบความคิดและแนวปฏิบัติของรัฐมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว  รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร

ทวีศักดิ์  มองถึงปัญหาที่ดินทำกิน เพิ่มเติมอีกว่า  ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ  โดยนำกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ค.ร.ม.30 มิถุนายน 2541 มาใช้ แสดงให้เห็นว่ารัฐพยายามผูกขาดการบริหารจัดการทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการนำพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชน เพื่อจัดเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแบบแปลงรวม  รัฐจะปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง  และจะดำเนินด้วยตนเอง  เช่น การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน รัฐก็เปลี่ยนมาใช้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นต้น

จากนั้นเป็นการอ่านบทกวีรำลึกถึง  "ดาว อีปุ่ม" ฝันของ เด่น คำแหล้ โดย ปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศาน และพิธีบายศรี สู่ขวัญ พร้อมทั้งประกาศเจตนารมย์ร่วมกัน

ผืนดินเพียงน้อยนิดที่เป็นที่ทำกิน เป็นที่พักอาศัย ความอบอุ่นที่มากด้วยคุณค่า ความปกติสุขที่เคยดำรง ความสดใสในชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้านธรรมดา เริ่มลดน้อยถอยลง หลังจากผืนดินที่เป็นชีวิต ถูกแย่งชิง

ภายใต้บรรยากาศที่สุ่มเสี่ยง ไร้หลักประกันของชุมชนโคกยาว ความพยายามผลักดันชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินด้วยสารพัดวิธี มีมาตลอดระยะเวลา

กระทั่งวันที่ 16 เม.ย.2559 หลังจากเข้าไปหาของป่าตามวิถีปกติ นับจากวันนั้น ไม่มีผู้ใดพบเห็น  แม้แต่เงาก็ไม่ปรากฏ เหลือเพียงการรำลึกถึงความทรงจำที่พ่อเด่นเป็นแกนนำต่อสู้เพื่อให้ผืนดินมีความยั่งยืน ปราศจากการถูกไล่รื้อ เพื่อให้ลูกลูกหลานมีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย จากรุ่นสู่รุ่น สืบไป

เป็นการควรยิ่งต่อการรำลึกถึงความทรงจำบนเส้นทางประวัติศาสตร์ชีวิตและการต่อสู้ ที่ทรงคุณค่ายิ่ง

......เด่น คำแหล้ "อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ"......

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.เผยยอดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบ 2 ทะลุ 12 ล้านคน

Posted: 13 May 2017 06:14 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องการแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยและช่วยเหลือให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง แนะรีบไปลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ 

13 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.60 เป็นต้นมา ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ค. มียอดรวมสะสมคือ 12,416,211คน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีผู้ลงทะเบียน 6,989,405 คน ธนาคารออมสิน 3,155,801 คน ธนาคารกรุงไทย 1,999,990 คน สำนักงานเขตใน กทม. 133,188 คน และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ 137,827 คน

โดย ปีนี้ผู้มีรายได้น้อยให้ความสนใจไปลงทะเบียนมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 4 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 320,000 คน โดยคาดว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการจริง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้เคยโอนเงินให้แก่ประชาชนรายละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท ได้สำเร็จถึงร้อยละ 97.5 จากผู้มีสิทธิทั้งหมดที่ตรวจสอบโดยละเอียดแล้วจำนวน 7.71 ล้านคน

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องการแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยและช่วยเหลือให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยออกมาตรการหลายอย่าง เช่น การจัดสรรที่ดินทำกิน การให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ โครงการบ้านประชารัฐ โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ฯลฯ และการลงทะเบียนครั้งนี้ก็จะนำไปสู่การดูแลด้านสวัสดิการเพิ่มเติมได้อย่างตรงจุดทั้งในวันนี้และอนาคต เช่น การมอบบัตรสวัสดิการเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ขึ้นรถเมล์รถไฟฟรี ให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น 

"ท่านนายกฯ กำชับให้ผู้มีรายได้น้อยตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองและเงื่อนไขการลงทะเบียนให้ชัดเจน และรีบไปลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ และขอให้แจ้งข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ เพราะหากมีปัญหาเจ้าหน้าที่จะได้ติดต่อประสานงานได้สะดวก ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ข้อมูลผู้ลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ หรือบางรายไม่ได้เปิดบัญชีกับธนาคาร ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้รับไป เป็นต้น" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อยที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ว่างงานหรือมีรายได้ในปี 59 ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือหากมีจะต้องไม่เข้าเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยลงทะเบียน หรือค้นหาข้อมูลได้ที่ www.fpo.go.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ชี้ผู้มีรายได้น้อยหากไม่เปลี่ยนตนเอง เกียจคร้าน รอ รบ.ช่วยตลอด คงเป็นไปไม่ได้

Posted: 13 May 2017 04:55 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ขอผู้มีรายได้น้อย เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนความคิด เพิ่มความขยันขันแข็ง อดทนโอกาสจะมีอยู่เสมอ อย่าเกียจคร้าน รอรัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริงแล้ว ขออย่าไปหลงเชื่อในวาทกรรม การบิดเบือน

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า อยากขอให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้ร่วมมือกันสร้างความสงบสุข ความมีเสถียรภาพ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงในประเทศให้มากที่สุด เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว สิ่งดีๆ กำลังจะตามมา สำหรับเรื่องเศรษฐกิจระดับฐานราก ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ แรงงาน ผู้ที่ปรับ เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการ เพิ่มความขยันขันแข็ง อดทนโอกาสจะมีอยู่เสมอ เว้นแต่หากท่านอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมาก เกียจคร้าน ไม่อดทน ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือตลอดเวลา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริง อย่าไปหลงเชื่อในวาทกรรม การบิดเบือน และการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ อีกต่อไป ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หวังดีหรือไม่หวังดีหรืออาจจะมีผู้ที่หวังผลให้บ้านเมืองไม่สงบสุข

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของวันพืชมงคล การแก้ปัญหาในภาคเกษตรและการช่วยเหลือชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และเกษตรกรด้านอื่นๆ  การหารือกับสหรัฐอเมริกา กับประธานาธิบดี ทรัมป์ ในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนของไทย และอาเซียน กับสหรัฐอเมริกา และการหารือกับรัสเซีย  อียู และประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี และมาตรการในการลดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ฯลฯ
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
วันนี้เป็นวันพืชมงคลซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร    ผู้ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็น "เสาหลัก" ที่ช่วยค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงได้ยกวันนี้ให้เป็น "วันเกษตรกร" สำหรับพิธีแรกนาขวัญที่ได้จัดขึ้นเมื่อเช้านี้ ถือว่าเป็นประเพณีโบราณของไทยมีทั้งการทำพิธีพุทธ ซึ่งก็คือพระราชพิธีพืชมงคล ในการทำขวัญ เมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้ปราศจากโรคภัยและเจริญเติบโตได้ดี และพิธีพราหมณ์ ก็คือพิธีที่เราเรียกกันว่าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เป็นการเริ่มไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่าฤดูเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว และเราก็ถือว่าเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยอันเป็นมงคลในช่วงการเพาะปลูกของปีที่กำลังมาถึง
 
ในการนี้กรมการข้าวที่เป็นผู้ดำเนินการปลูกข้าว ณ แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในฤดูนาปี 2559 ได้ขอพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ทั้งข้าวนาสวนและข้าวไร่ จำนวน 11 พันธุ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธี โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำมาใช้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,865 กิโลกรัม และจัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" ที่ได้บรรจุในซองแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชน และกับชาวนาทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
 
รัฐบาลนี้ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสนับสนุนและยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรตลอดมา ในโอกาสนี้พวกเราขอส่งแรงใจให้พี่น้องเกษตรกร สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยผมและรัฐบาลจะดำเนินการมาตรการเพื่อดูแลและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านความเป็นอยู่ และรายได้ของพี่น้องเกษตรกรทุกท่านด้วย นะครับ
 
ผมขอเรียนว่าการแก้ปัญหาในภาคเกษตรและการช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และเกษตรกรด้านอื่นๆ นั้น ไม่ใช่เพียงพูดว่าเป็นไปตามความรู้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่  โบราณกาล ก็จะสำเร็จ นั่นเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของเกษตรกรไทย อันนี้ไม่มีใครที่จะมาเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราก็ต้องถือว่าวันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่เราจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันนั้น สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และความต้องการสินค้าเกษตร ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในสังคมโลก ในวันนี้ แต่ละพื้นที่มีสภาพแตกต่างกันทำให้เราต้องวิเคราะห์ให้ดีว่า พื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกควรมีลักษณะอย่างไร ทั้งที่มีอยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทาน มีการกักเก็บน้ำมาอย่างต่อเนื่องเพียงพอหรือไม่ แม้แต่ระบบส่งน้ำ กระจายน้ำที่อาจจะยังไม่เพียงพอและยังเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึงมากบ้าง น้อยบ้าง มีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเข้าช่วยในการผลิตหรือไม่ ได้มีการใช้เทคโนโลยี และความรู้ด้านต่างๆ มาพัฒนา มาใช้ ปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วหรือยัง  ปัจจัยเหล่านี้นะครับ ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และความสามารถในการเข้าสู่ตลาดของผลผลิต รวมถึงรายได้ของเกษตรกรด้วย อันนี้เป็นกังวล เป็นห่วง
 
ที่ผ่านมานั้นรัฐบาล ใช้เวลาตลอด 3 ปี ได้มีการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาทุกขั้นตอน เรียกว่าครบวงจร พร้อมกับสื่อสารกับพี่น้องประชาชน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนามาอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้เพียงแต่บอกว่าท่านจะต้องทำอย่างไร หรือบังคับท่านอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน แต่เราจะบอกว่าราคาผลผลิตจะขึ้นจะลง จะต่ำจะสูง ในช่วงใด ราคาเท่าไร เราต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร ช่วงไหนจะกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ช่วงไหนจะขาดน้ำ ช่วงไหนจะต้องพบกับปัญหาจากภัยธรรมชาติ และเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร พื้นที่ใดจะประสบปัญหา พื้นที่ใดเหมาะสมควรจะปลูกพืชชนิดใด ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการสร้างการรับรู้แบบครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถปรับตัวได้ เพื่อมีการ เตรียมตัวรองรับความเสี่ยง และสามารถรักษารายได้ ให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น
 
แต่ในการแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ให้ "ครบวงจร" ด้วยนะครับ ทั้งต้นทางกลางทางและปลายทาง ของแต่ละกระบวนการ ทั้งการปลูก การแปรรูป การนำออกขาย และการพัฒนาเป็นนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าต้องสัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำอย่างแนบแน่น เพราะเป็นปัจจัยหลักที่มีความเชื่อมโยงกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตของเรามาอย่างยาวนาน มีปัญหามากมาย แต่ก็ยังมีพี่น้องเกษตรกรบางท่าน ที่อาจจะยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยังคงคุ้นชินกับการทำแบบเดิม ๆ สิ่งเดิมๆ ก็อาจได้รับจากการชี้นำเดิมๆ ด้วยนะครับ ที่ยังไม่ได้ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ อาจจะไม่ได้ดู ไม่ได้ระวัง ตั้งแต่ต้นทางของการทำเกษตรกรรม ก็คงเคยชินทำกันไปแบบเดิม ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการจ้าง เพราะว่าแรงงานทำไร่นาปัจจุบันนั้น ลูกหลานก็ไม่ค่อยทำ เขามาทำงานในเมืองใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ อะไรบ้างก็ไม่เป็นไร ก็คงเหลือแต่พ่อแม่ หรือผู้มีอายุ ทำไร่ทำนาอยู่ในปัจจุบันอยู่อีกเป็นจำนวนมากอาจจะปรับตัวไม่ทันเดิมอาจเป็นเจ้าของที่ดิน นำไปใช้ในการเพาะปลูก แต่อาจจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรมอะไรบ้างเลย ใช้แรงงานทั้งหมดก็ทำให้ ไม่มีการรักษาผืนดินที่ดีขึ้น ผลผลิตก็ออกมาน้อยหรือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็เสียหายมาก มีการใช้สารเคมีทำให้ดินเสีย ดินเสื่อม เหล่านี้นะครับนำไปสู่การมีหนี้สิน แล้วก็ทำให้เกิดภาระผูกพัน กลายมาเป็น จากเจ้าของนา เจ้าของไร่ เป็นต้องเช่าที่ดินจากนายทุนแทน เมื่อรายได้ไม่เพียงพอ ไม่พอใช้ ก็ต้องกู้ยืมเพิ่ม พอกพูนบนหนี้สินเดิม ทั้งหนี้ในระบบ นอกระบบ จนไม่สามารถจะปลดตัวเองจากพันธะสัญญากับเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของโรงสีได้ก็จะวนเวียนไปมาแบบนี้ ผมพูดเพราะอยากให้เห็นภาพ อยากให้มองให้ครบ ทำให้เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยน ปรับตัว ฟังให้รอบด้าน ทั้งนี้เพื่อจะนำความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ประโยชน์ ก็ไม่ยากจนเกินไปถ้าทุกคนได้ติดตาม ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของตัวเองเปลี่ยนเร็ว มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเร็วขึ้น นะครับ
 
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ วันนี้ เราทราบดีนะครับว่าหลายประเทศมีการลงทุนปลูกข้าวกันเอง ทั้งในประเทศและในพื้นที่ต่างประเทศแล้ว หลายประเทศวันนี้ก็จะหาซื้อข้าวคุณภาพที่มีราคาถูกเพื่อการบริโภค ซึ่งก็เริ่มมีออกมาแข่งกันมากขึ้นในตลาด ราคาแตกต่างกันมาก ระบบการซื้อขายข้าวในตลาดล่วงหน้าก็อาจทำให้เกิดการเก็งกำไร เกิดความกังวลในปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่จะต้องส่งผลกระทบต่อราคาและผลผลิตข้าวราคาข้าวในตลาดล่วงหน้าจึงผันผวนมากกว่าขณะเดียวกัน ระบบพ่อค้าคนกลาง ที่อาจจะมีการตัดราคาซื้อบวกราคาขาย ที่บางครั้งไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่เหล่านี้เป็นปัญหาทับซ้อนของพี่น้องชาวเกษตรกรมายาวนาน รัฐบาลนี้พยายามมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการที่จะแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในระยะสั้นที่สุด และสามารถปรับตัวได้ สร้างรายได้ให้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ลองคิดดูว่าทำไมรัฐบาลนี้จะต้องมาทำน้ำประปา ที่ยังขาดอยู่อีก  7 พันกว่าหมู่บ้าน ทำไมจะต้องมาซ่อมที่เก็บน้ำเกือบ 2 หมื่นแห่ง ทั้งๆ ที่ได้โอนให้ องกรส่วนท้องถิ่นไปดูแลแล้ว ก็ไม่ได้โทษองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลต้องกำกับดูแล ติดตาม ดูแลเรื่องงบประมาณ ดูแลเรื่องวิธีการ ทำได้หรือไม่ได้  ไม่ได้จะทำอย่างไร วันนี้ก็พยายามติดตามในเรื่องนี้อยู่ด้วย ที่ผ่านมานั้นอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ขณะเดียวกันเราก็คงต้องเร่งการก่อสร้างระบบขนส่งน้ำที่ไม่สมบูรณ์ หรือไปสร้างในที่ไม่ควรจะสร้าง ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพียงพอ ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ก็เพราะน้ำนั้นเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการทำเกษตรกรรมทุกชนิดนั่นเองนะครับ
 
รัฐบาลนี้ได้นำปัญหาต่าง ๆ มาพิจารณาทั้งหมด และทยอยดำเนินการไปในทุกมิติ ทั้งซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด สร้างเพิ่มในส่วนที่ไม่เพียงพอ ผมอยากให้ไปดูว่าหลาย ๆ อย่าง มีความก้าวหน้าไปมากพอสมควร รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร  โดยให้ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร นายทุนพ่อค้าคนกลาง โรงงาน รวมถึงนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจปัญหาร่วมกัน ช่วยกันพูดคุยหารือถึงสิ่งที่ต้องแก้ไข แล้วก็แก้ไขไปด้วยกัน เข้ามาช่วยกันทำงาน ติเพื่อก่อ ไม่อยากให้พูดแค่ว่าเป็นห่วงเป็นใยเกษตรกร แล้วก็พูดแต่เพียงว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อยากให้ทุกคนได้ช่วยกันมาระดมความคิดเห็น แล้วหาวิถีทางตัดสินใจให้ได้ว่า อะไรที่เราจะทำร่วมกันได้บ้าง ช่วยกันสนับสนุน เป็นกำลังใจกัน มากกว่าติเพียงอย่างเดียว ปัญหาไม่ใช่แก้ได้ง่ายๆ แต่เราก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว จะเห็นได้ว่าเราพยายามมามากมาย
 
การจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เราจะต้องดำเนินการแบบครบวงจร อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ต้องใส่ "ใจ" ลงไปในการเพาะปลูก  เริ่มจากการปรับปรุงพันธุ์ การรักษาและพัฒนาดิน การใช้ปุ๋ยที่ไม่ทำลายคุณภาพของดิน หรือใช้แล้วก็ต้องมีวิธีพลิกฟื้นผืนดิน เพื่อให้เราสามารถใช้ผืนดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องรู้จักให้และรู้จักรับจากผืนดินที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของเราทุกคน สร้างให้ผลผลิตมีคุณภาพ สร้างชื่อ สร้างความน่าเชื่อถือ นำนวัตกรรมมาปรับใช้ และหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ที่ยั่งยืน ที่ผ่านมานั้น หลายพื้นที่ จากการสำรวจมีการใช้ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มีการเร่งปลูกข้าว เร่งปลูกพืชคุณภาพต่ำ เน้นให้ได้ปริมาณมากเอาไว้ ปลูกหลายๆ ครั้ง เพื่อจะนำออกมาขายให้ได้มากที่สุด คุณภาพก็ไม่ดี ขายก็ลำบาก ราคาก็ต่ำ ทำให้มีปัญหาต้องหาที่เก็บไว้อีก เมื่อจะออกนำมาขายภาครัฐ รัฐก็ระบายออกได้ยาก หรือขายเองก็ราคาต่ำมาก สิ่งเหล่านี้ ทำให้ทุกอย่างเกิดความเสียหาย เราต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมให้กลับมาให้ได้โดยเร็ว ถ้าหากว่าเราทำให้เสียหายเช่นนี้อีกต่อไป เราจะแก้ปัญหาอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว เราก็ต้องพยายามแก้ไขกันต่อไปอย่างเต็มที่ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และการปรับเปลี่ยนเพิ่มคุณภาพของการเพาะปลูก ในระยะยาว อีกด้วย
 
วันนี้ ผมขอยกตัวอย่างความพยายามของภาครัฐที่จะดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของความ ก้าวหน้าของนโยบายที่จะส่งเสริมภาคเกษตรอย่างยั่งยืน สำหรับการปลูกข้าว โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน  สำหรับข้าว จะมีการดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่  (1) โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (2) การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และ (3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี งบประมาณรวม 25,871.14 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่โดยเพิ่มพื้นที่เป็น 750 แปลง เนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 0.75 ล้านไร่ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีใน 21 จังหวัด รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้  1 ล้านไร่ภายใน 3  ปี ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนกว่า 66,000 ราย ในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้ส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ มีเกษตรแปลงใหญ่ที่ปลูกข้าวรวม 425 แปลง เนื้อที่กว่า1 ล้านไร่  ส่วนการปลูกข้าวอินทรีย์ มีแหล่งผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองแล้วใน 47 จังหวัด จำนวน 5,362 แปลง พื้นที่รวมกว่า 60,000  ไร่
 
นอกจากนั้นรัฐบาลยังดำเนินการแบบบูรณาการในการรณรงค์เพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้าว โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจากบัญชีนวัตกรรมไทยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เป็นฐานข้อมูลในลำดับแรก โดยยึดความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิตจากพื้นที่แปลงใหญ่ ที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างรากฐานให้ชุมชน และพี่น้องเกษตรกร ในการเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้  ซึ่งก็ถือว่าเป็นการน้อมนำเอาหนึ่งใน"ศาสตร์พระราชา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักดำเนินงานของภาครัฐ จากพระราชดำรัสว่า "การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสร้างความเจริญในระดับสูงขึ้นได้ต่อไป" ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหัวใจในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน
 
สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มช่องทางการตลาดสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และยกระดับรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มช่องทางการตลาดสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ยกระดับรายได้ และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้พาณิชย์จังหวัดผลักดันเกษตรกรผลิตสินค้าอินทรีย์สู่มาตรฐาน สากล ปัจจุบันเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดต่างๆ กว่า 30 จังหวัด โดยในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกประมาณ 2,400 ล้านบาท (หรือร้อยละ 60) และคาดว่าในปี 2560 นี้ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนหน้า สินค้าที่สำคัญได้แก่ ข้าว พืชผัก ผลไม้ เหล่านี้เป็นต้น มีเกษตรกรหลายรายได้พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานสากลแล้วนะครับ
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์อีกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในระดับที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน สากล ทั้งนี้ก็เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น จำเป็น ต้องมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการแปรรูป  การสร้างตราสินค้า การขอรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เชื่อมโยงสู่ตลาดโลก ในเรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีโครงการอบรมฝึกปฏิบัติเชิงลึกในสวนเกษตรอินทรีย์ สำหรับพาณิชย์จังหวัด  ที่มีเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ในโครงการ Organic Training Program ทั้งนี้ก็เพื่อให้พาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบด้านส่งเสริม  และพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ได้มีความรู้และศักยภาพในการสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มช่องทางการตลาดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประกอบการสามารถถ่ายทอดและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดของตนได้ ทั้งในด้านการวางแผน การตลาด การบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ที่เรียกว่า (Story) ของสินค้านะครับ การออกแบบผลิตภัณฑ์  การขอตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากล และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติอีกด้วย การอบรมฝึกปฏิบัติเรื่องเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ซึ่งในเรื่องนี้ ครั้งนี้กำหนดเวลา 3 วัน  ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2560 จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกร ที่ทำเกษตรอินทรีย์กับพาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ โดยมีการฝึกปฏิบัติในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล (IFOAM Accredited) อาทิ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนบ้านหัวอ่าว สามพรานโมเดลนะครับ จังหวัดนครปฐม และไร่ปลูกรัก จังหวัดราชบุรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งด้านการวางแผนการตลาด ช่องทางการตลาด ตลาดดิจิตอล การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ ผมขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พาณิชย์จังหวัดนะครับ สร้างเครือข่ายกันออกไป เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
 
ความพยายามทั้งหมด ทั้งมวลของรัฐบาล ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธกส. ธนาคารออมสิน ก็เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรด้วย ในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องอย่างเป็นระบบและยั่งยืน วันนี้ที่ผมอยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน อยากพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากผมเห็นว่ามีกลุ่ม หลายๆ กลุ่มนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มอดีตนักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ หลายๆ คน หลายๆ ฝ่าย ก็มาชี้แจงแถลงกัน ในสภาต่างๆ อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ว่า คสช. รัฐบาล ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ผมอยากให้ประชาชนลองฟังดูแล้วพิจารณาให้ถ่องแท้ ทุกคนต่างมีหน้าที่ แล้วก็แม่น้ำ 5 สาย ล้วนทำงาน ร่วมมือกันมาโดยตลอด ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า คงต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น วันนี้เราถึงมี ปยป. ขึ้นมาทำงานเพื่อจะบูรณาการ ทั้งแม่น้ำ 5 สาย ไปด้วยกันนะครับ ผมไม่ได้ตำหนิใครเลย ทุกคนทำหน้าที่ได้ดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว ที่ผ่านมานั้นต้องรับรู้ว่ารัฐบาล คสช. ทำอะไรไปแล้วบ้าง ผลผลิตเกษตรทั้ง 6 ชนิด พืชหลัก รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ละกิจกรรม อย่ามาพูดรวมกันอย่างเดียวว่าเกษตรกร ไม่ดีเลย ไม่มีรายได้ที่เพียงพอรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ เราทำทุกอย่างทั้ง ข้าว ทั้งยาง ทั้งมัน ข้าวโพด ปาล์ม อ้อย นะครับ แล้วที่เกี่ยวข้องที่สุดก็คือ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน อย่าลืมนะครับ ทุกอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จะเกิดความขัดแย้งกันอย่างไม่สิ้นสุด ด้วยความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันนะครับ
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมและคณะรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทย ต่อ Thailand 4.0" ที่สอดรับกับ โมเดล Thailand 4.0 ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมและการให้ความรู้ ที่สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมและมุ่งช่วยเหลือสังคม  การสร้างเครือข่ายการวิจัยกับสถาบัน การศึกษา การเป็น Innovation Hub ด้านการวิจัยการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสุขภาวะที่ดีของสังคม หลังการปาฐกถา ผมและคณะได้มีโอกาสชมการแสดงผลงานของหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งการวิจัยพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงการที่มหาวิทยาลัย มหิดล น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม ได้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นศูนย์กลางของการศึกษายาวัคซีนและสมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิต การพัฒนาสูตรอาหารต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านอาหารทะเลและสัตว์น้ำ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาจารย์และนักวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แสดงผลงานการสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยเด็กพิเศษออทิสติก หุ่นยนต์ส่งยา การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยและเครื่องมือแพทย์  ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของนวัตกรรมของไทยอีกด้วย
 
นอกจากมีการผลิตผลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มากมายแล้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้แสดงความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ โดยจดทะเบียนบริษัท Startupsจำนวนหลายบริษัท มีผลงานที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น หมอนที่สามารถติดตามวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับ ในคนที่นอนกรน โดยมีการวัดข้อมูลแบบ Real-time และส่งผลไปยังคอมพิวเตอร์หรือมือถือ กิจการอาหารเสริม และ Head band สำหรับกระตุ้นพลขับไม่ให้เกิดการหลับใน ซึ่งเป็นที่น่าปลื้มใจและเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับเด็กไทยยุค 4.0 ทุกคนในการที่จะนำนวัตกรรมมา สร้างประโยชน์ สร้างรายได้ สร้างมูลค่า และปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่และความต้องการของตลาดอีกด้วย ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผมและคณะได้เดินทางไปยังบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทของไทยที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตยาชีววัตถุขึ้นเอง โดยมีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับประเทศคิวบา และสามารถผลิตยาด้านชีววัตถุที่มีคุณภาพ ทัดเทียมการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งผมได้มีโอกาสเห็นโรงงานและห้องผลิตยา ตลอดจนบุคคลากร รวมทั้งแบคทีเรียที่เป็นต้นตอของการผลิตยาเพื่อบำบัดภาวะเลือดจางในผู้ป่วยโรคไต และยาบำบัดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในผู้ป่วย ซึ่งการผลิตยาของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นี้ ทำให้ราคายาลดลงกว่า 50% จะช่วยรัฐบาลประหยัดเงินได้ราว 3,000 ล้านบาท ในขณะนี้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีการขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่ยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง และโรคภูมิแพ้ตนเอง ซึ่งในอนาคตจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาราคาแพงในกลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วยในโครงการปฏิรูปสาธารณสุขของเรานะครับ
 
ผมอยากเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างมหาวิทยาลัยไทยทุกมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการผลักดันผลงานวิจัยเพื่อช่วยพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการส่งเสริมคุณภาพสินค้าสำหรับการส่งออก และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากการที่ไปเยี่ยมชมหาวิทยาลัยมหิดลในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เช่นเดียวกับที่ไปมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ เรื่องการเกษตร ทำให้มั่นใจว่า เรื่องราวดีๆ แบบนี้เป็นไปได้จริง ผมไปหลายมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ผมก็ไปมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็มีหลายอย่างที่เป็นสิ่งดี ๆ ผมคิดว่า ทุกมหาวิทยาลัยก็มีสิ่งที่ดี ๆ ทั้งหมด ก็เป็นกำลังใจให้กันและกัน ผมคิดว่าทุกอย่างไม่เกินความสามารถของบุคคลากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยทุกแห่ง ทุกประเภท ผมและคณะรัฐมนตรีพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาไปด้วย 
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ หากเรามองไปในอนาคต ภาครัฐหวังให้ EECกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอนาคต เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งและกระจายสินค้า และการบินของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ไทยเป็น Gateway สำคัญหรือเป็นประตูเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตสูง นอกจากนี้ พื้นที่ EEC จะตอบโจทย์อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสอดรับด้านการผลิต การขนส่ง และการเชื่อมต่อกับนโยบาย "One Belt One Road" ของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ด้วย และก็นี่เป็นคำตอบว่าทำไมไทยต้องมีโครง สร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงกับจีนและประเทศอื่นๆ  ทำไมไทยให้ความสำคัญกับการทำให้พื้นที่ EEC ให้เกิดการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งจีนและประเทศอื่นๆ อีกด้วย  แนวคิดการมี "One Belt One Road" นี้เป็นนโยบายของจีน ในการสร้างความเชื่อมโยงกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย ไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมจำนวนประชากรราว 4,500 ล้านคน มี GDP ที่บ่งบอกขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 และ 30 ของโลก โดยจีนพยายามที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก หรือที่เรียกว่าเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ จำนวน 3 เส้นทาง  และทางทะเล หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมระหว่างอาเซียน เอเชีย แอฟริกาและยุโรป โดยมีการเชื่อมโยงความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านนโยบาย การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าหากไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "One Belt One Road" นี้ หมายถึงการเชื่อมต่อกับตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งก็ขอให้ทุกคนไปติดตามแล้วก็ร่วมมือกันนะครับทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้
 
สำหรับการเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของ "One Belt One Road" นี้ สอดคล้องกับนโยบายการค้าของไทยที่ให้ความ สำคัญกับความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) เพื่อให้ไทย เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายดังกล่าวเช่น (1) โครงการประเทศไทย 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับจีนที่มี แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะทำให้ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ และ (2) โครงการ EEC ที่ผมได้เรียนไปแล้วข้างต้น เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ EEC ในการเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปสู่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามรวมถึงประเทศอื่น ๆ บนเส้นทางสายไหมนี้อีกด้วย ขณะเดียวกันเราก็ได้มีการหารือกับสหรัฐอเมริกา กับท่านประธานาธิบดี ทรัมป์ ในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าการค้า  การลงทุนของไทย และอาเซียน กับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย และได้มีการหารือกับรัสเซีย  อียู และประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ
 
สำหรับเรื่องเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่เรียกว่าไมโครเอสเอ็มอี (mSME) ในขณะนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ รัฐบาลได้เข้าไปถึงปัญหา และได้สนับสนุนให้มีการเข้าถึงกองทุน มีการฟื้นฟู มีการให้ความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนาตลาด การอำนวยความสะดวก  รวมถึงกิจการใหม่ๆ สตาร์ทอัพก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็น่าที่จะสามารถเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้มากขึ้นในอนาคต ก็ขอให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในลักษณะ "ประชารัฐ" ได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประเทศชาติ ส่วนผลกำไรธุรกิจของตนเองในวันนี้ อาจจะต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน ผมเข้าใจดี ว่าการลงทุน นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ก็ล้วนแต่อยากได้ผลกำไร และมีส่วนแบ่งในผลกำไรนั้นให้มากที่สุด แต่อย่าลืมนึกถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย มีทั้งประชาชนที่มีรายได้น้อย เราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน เศรษฐกิจของเราถ้าร่วมมือกัน ฐานก็จะยิ่งกว้างขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น  ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ท่านก็มีกำไรมากขึ้นเอง โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนนะครับ ช่วยกันคิดดูนะครับ ถ้าเราช่วยกันทำจะได้กุศลไปด้วย
 
ในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ วันนี้ก็มีหลายประเทศ หลายประชาคม ที่กำลังปฏิรูปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียนมีหลายนโยบาย เราเองก็อยู่ในฐานะสมาชิกและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับทุกนโยบาย อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน เราต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า หากเราไปทางนี้ทางโน้นคือการเลือกข้าง ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง รัฐบาลพยายามอย่างยิ่ง ที่จะนึกถึงว่าจะทำอย่างไร เราจะได้ผลประโยชน์ที่เท่าเทียม เราต้องรู้จักเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปด้วย นะครับ  โลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ประเทศของเราให้สอดคล้องตัวเลขการขอลงทุนผ่านบีโอไอในช่วงสามปีที่ผ่านมา มียอดคำขอรวม 5,431 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท ลงทุนไปแล้วกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และยังคงมีการขอเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากบ้างน้อยบ้างตามรายไตรมาสเพราะเขาก็ต้องพิจารณาถึงการลงทุนและความคุ้มค่าในระยะยาว เราอย่าไปกังวลกับตัวเลขนี้มากนัก ปีนี้ไตรมาสแรกขอลงทุนไปกว่า 60,000 กว่าล้าน ซึ่งก็น่าจะ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่ประมาณการไว้ทั้งปี ในโอกาสต่อไปไตรมาสต่อไป อีกทั้งเรายังมีโครงการ EEC  นโยบาย "One Belt One Road" ที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว  และก็มีแผนงาน IMT-GT อีกด้วยเป็นความเชื่อมโยงระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียทั้งหมดเป็นโอกาสของประเทศไทยเราทั้งสิ้น 
 
อีกเรื่องที่น่ายินดีคือผลการประเมินของ WEF ที่เป็นองค์การต่างประเทศ ได้ประเมินว่าประเทศไทยมีความก้าว หน้าในด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนน่ายินดีแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดของฝ่ายเศรษฐกิจและของรัฐบาลได้มีความสำเร็จอย่างมีนัยยะที่สำคัญ ผมอยากขอให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้ร่วมมือกันสร้างความสงบสุข ความมีเสถียรภาพ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงในประเทศให้มากที่สุด เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว สิ่งดีๆ กำลังจะตามมา สำหรับเรื่องเศรษฐกิจระดับฐานราก ผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ แรงงาน ผู้ที่ปรับ เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการ เพิ่มความขยันขันแข็ง อดทนโอกาสจะมีอยู่เสมอ เว้นแต่หากท่านอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมาก เกียจคร้าน ไม่อดทน ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือตลอดเวลา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริงอย่าไปหลงเชื่อในวาทกรรม การบิดเบือน และการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ อีกต่อไป ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หวังดีหรือไม่หวังดีหรืออาจจะมีผู้ที่หวังผลให้บ้านเมืองไม่สงบสุข
 
เรากำลังเดินหน้าปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติอยู่แผนปฏิรูปเราก็คงต้องดำเนิน การต่อไปให้อย่างต่อเนื่อง คงต้องใช้เวลา งบประมาณ และวิธีการที่เหมาะสมที่ทุกรัฐบาลก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ไปตามสถานการณ์ตามกฎเกณฑ์ซึ่งเราได้ร่างเอาไว้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ บ้านเมืองปลอดภัย สงบสุข ปัญหาเรายังมีอีกมากไม่ว่าจะเป็นความยากจน มีผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก ของแพง อาชญากรรม สังคมที่แตกแยกโรคระบาด  อากาศโลกเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติ  ภัยแล้ง  น้ำท่วม มีอีกมากมาย เราจะมัวทะเลาะเบาะแว้งกัน การเป็นประชาธิปไตยและการเมือง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความมั่นคง
 
หากเราเอาสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกันว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ  กฎหมายลูก กระบวนการยุติธรรมการเมือง  สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หน้าที่การมีส่วนร่วม  การเคารพกฎหมาย ความร่วมมือในทุกมิติแบบประชารัฐ การป้องกันปราบปรามการทุจริต  การแก้ปัญหาจราจร การแก้ปัญหาสังคม  การบริหารจัดการน้ำ เกษตรครบวงจร เศรษฐกิจที่เติบโตไปด้วยกันทั้งใหญ่ กลาง เล็ก การแก้ปัญหาแรงงาน  การจัดที่ดิน การบุกรุกป่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงสาธารณสุข การปรับปรุงปฏิรูปการศึกษา การเตรียมรับสังคมสูงวัยนะครับ การดูแลผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติ การแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เหล่านี้เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ไปพร้อมๆ นะครับ เพื่อจะให้ประเทศของเรา คนไทยของเราสามารถสร้างความสมดุล ในเรื่องของการพัฒนาที่รักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้หากทุกคนแยกกลุ่มกันคิด พูดและทำโดยสนใจแต่เรื่องของตน ซึ่งมีผลกระทบกับด้านอื่นๆ อีกมากมาย เรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ร่วมกันรับผิดชอบโดยเฉพาะการที่จะทำให้มีรายได้สูงขึ้นแต่ไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิด ไม่สร้างความร่วมมือ อาจจะไม่มีหลักคิดที่ถูกต้อง
 
ผมไม่ได้บังคับให้ใครคิดเหมือน คิดต่างได้แต่มันต้องมีวิธีการที่ทำร่วมกันให้ได้ว่าทำยังไงมันจะเกิดผลสำฤทธิ์แก้ปัญหาที่ เราได้เผชิญหน้ากันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว หากเราไม่เข้าใจว่าเราจะต้องช่วยกันทำอะไรในส่วนของตน และต้องดูแลคนอื่นไปด้วย  กิจกรรมอื่นไปด้วย เราขาดความรักความสามัคคี แบ่งฝ่ายแบ่งพวก ใช้กฎหมายใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแก้ไขความ ผิดของตนหรือเพื่อผลประโยชน์ของตนในวันนี้และวันหน้าจนทำให้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงกับจุดมุ่งหมาย ของการออกกฎหมาย วัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับ ก็ล้วนแต่มุ่งจะทำให้สังคมสงบสุข ไม่วุ่นวาย มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีหลายคนพยายามนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง อาจจะมีการคัดค้านไปทุกเรื่อง ก็สังเกตเอาแล้วกัน มีอยู่ไม่กี่คนหรอกนะครับ แล้วทุกอย่างจะเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไรถ้าเอาแต่คัดค้านกัน ไม่ร่วมมือ บางครั้งก็ไม่เข้าใจไม่มีข้อมูล เขาทำงานกันมาแทบตาย หลาย ๆ อย่างก็มีการวิเคราะห์  มีการวิจัย เอาผลการวิจัยมา  มีการประชุมร่วมไม่รู้กี่สิบครั้ง แล้วก็เอาตอนท้ายมาวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ไปคิดเอาเองผมว่าไม่ถูก ต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ว่าจะกลุ่มการเมือง กลุ่มประชาธิปไตย กลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มอื่นๆ นะครับ ผมอยากให้ทุกคนนั้นได้คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของคนไทย ของประเทศชาติ และ ชื่อเสียงของเรา ประเทศของเราในประชาคมโลกอีกด้วย หลายท่านอาจจะหลงลืมไปในเรื่องเหล่านี้นะครับ เราขัดแย้งกันเองในประเทศนะครับ ในสื่อบ้าง ใน โซเชียลมีเดีย บ้าง ไปต่างประเทศทั้งหมด แล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศของเราถูกมองเป็นอย่างไรนะครับ
 
ผมในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารัฐบาล ก็เพียงแต่อยากจะพูดเตือน ให้สังคม ให้ประชาชน ช่วยกันเรียนรู้ ช่วยกันเฝ้าระวัง แล้วก็ทำความเข้าใจให้ดีที่สุดนึกถึงสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องนึกถึงอยู่เสมอ ก็คือการทำอะไรก็ตาม ก็ต้องมุ่งสู่ผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชนคนไทยเป็นหลัก ประเทศชาติต้องมีความสงบสุข มั่นคง ประชาชนปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีเศรษฐกิจที่ดีเพียงพอในทุกระดับจึงจะเกิดขึ้นได้ ในโลกแห่งความเป็นจริง  
 
สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อเร็วๆ นี้ ผมขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน ผมขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ที่นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 1 คน จากผู้ก่อเหตุทั้งหมด 4 คน อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนกรุณาไม่เผยแพร่หรือส่งต่อภาพและคลิปเหตุการณ์ระเบิดหรือเหตุการณ์รุนแรงทุกประเภท ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ในสื่อออนไลน์ เพราะนอกจากจะเป็นการตอกย้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเป็นการเข้าทางของผู้ก่อเหตุแล้ว ยังอาจส่งผลต่อรูปคดี เช่น อาจจะทำให้คนร้ายไหวตัว และยังกระทบต่อความรู้สึกและบั่นทอนกำลังใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทุกคนก็พยายามช่วยกันแก้ปัญหาอยู่นะครับ รวมความไปถึง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรากำลังมุ่งไปสู่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้นทั้งนี้ รัฐบาลและคณะทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พยายามมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่นะครับ มันไม่ใช่การพูดแล้วสั่งแล้วทำมันเกิดขึ้นไม่ได้ มันต้องทำงานหลายมิติด้วยกัน ทั้งความมั่นคง การพัฒนา การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้ทุกอย่างมีความมั่นคง ยั่งยืน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ พลังงาน เรื่องสถานะภาพภาคใต้ เรื่องยาง เรื่องอาหารฮาลาล จะทำอย่างไรกันต่อไปอีกหลายเรื่องนะครับ อย่าเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเน้นจนทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น
 
รัฐบาลและ คสช. กำลังทหารทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ พลเรือน ตำรวจทหารนะครับ พยายามใช้ทุกอย่างบังคับใช้กฎหมาย อย่างลืมว่าเราไม่สามารถทำให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่านี้ได้อีก เราก็บังคับใช้กฎหมาย ขอความร่วมมือมากขึ้น ด้วยความเข้มงวดในการตรวจตรารถ ตรวจตราอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในที่ชุมชน หลายอย่างอาจจะไม่สะดวก แต่หลายอย่างพอมันเนิ่นนานไปทุกคนก็บอกมันเป็นปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ทำงานลำบาก ก็ขอให้ช่วยกัน อีกเรื่องก็คือในเรื่องของ การที่เราจะต้องน้อมนำหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการแก้ปัญหา ก็ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น หากเห็นสิ่งผิดสังเกต ไม่น่าไว้วางใจ ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นในชุมชนของท่าน อันนี้หมายรวมไปถึงอาชญากรรมที่มีความรุนแรง อื่นๆอีกด้วย ช่วยกันเฝ้าระวัง เรื่องยาเสพติด เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ เรื่องผู้มีอิทธิพล เรื่องการค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อนเหล่านี้ แจ้งมาได้ตลอดเวลานะครับ จะลงโทษอย่างเด็ดขาดนะครับทั้งผู้กระทำความผิดและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วม หลายเรื่องก็เสนอข่าวได้ แต่ไม่ควรขยายจนเกินขอบเขต จนทำให้ผู้คนนั้นเห็นเป็นเรื่องตลกไป เป็นเรื่องขำขันไป หรืออาจจะมีเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กระบวนการยุติธรรมทำงานลำบาก ก็อยากให้เสนอข่าวที่เป็นความก้าวหน้า ในเรื่องของการติดตามผลการดำเนินคดีตามห่วงเวลาที่มีอยู่เร่งรัดมากไปมันก็ไม่ดี ช้าเกินไปมันก็ไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ช่วยกันเสนอ ช่วยกันประคับประครองให้สถานการณ์ภายในประเทศนั้นมีความสงบสุข มีความเข้าใจโดยทั่วกัน เสนอไปในด้านของความรุนแรงอย่างเดียวประชาชนก็เคยชิน ต่อไปมันก็ชินชาทั้งหมด เรื่องไม่ดีไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสังคมเป็นอย่างนี้เอง อย่างนี้ก็ไม่ได้ เรามีอัตลักษณ์ของเรา เราต้องแก้ปัญหาด้วยอัตลักษณ์ของเราให้ได้วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม สังคม สุภาพสตรี ผู้หญิงและเด็ก เหล่านี้คือวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยนั้น ได้ช่วยให้สังคมสงบสุขมานานแล้ว วันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ก็จะเห็นได้ว่ามีปัญหาในภาคเหนือของไทยอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องมาดูสิ่งเหล่านี้นะครับว่า สังคมเราเกิดอะไรขึ้นนะครับ
 
ส่วนเรื่องดีๆ วันนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับทัพนักกีฬาเทควันโดไทยนะครับ ที่สามารถคว้า 6 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันในรายการ ดับเบิล ยู ที เอฟ เวิร์ล เทควันโด บีช แชมป์เปี้ยนชิพ ครั้งที่ 1 ผมขอชื่นชมนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้สนับสนุน และคณะทำงาน สมาคมเทควันโดฯ ที่ทำผลงานได้เป็นอย่างดีเยี่ยม ขอแสดงความชื่นชมนักกีฬาไทยที่ได้รับชัยชนะ มีคะแนนรวมเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะน้องเจล น.ส.เพ็ญกัญญา ไพศาลเกียรติกุล ที่คว้าชัยชนะคนเดียว 3 เหรียญทอง ไม่ว่าท่านจะได้เหรียญอะไรหรือไม่ ทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง มีส่วนทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียง ทำให้คนไทยมีรอยยิ้ม มีความภาคภูมิใจ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจสู้นะครับ เพื่อพัฒนาและรักษาระดับฝีมือเช่นนี้ต่อไป ผมขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำวิธีการฝึกฝน (Coaching) การปรับวิธีคิด (Mindset) ของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ไปปรับใช้กับนักกีฬาอื่นๆ รวมทั้งผู้รับผิดชอบ ในกีฬาประเภทอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติไทยในการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไปนะครับ ขอบคุณผู้อาสาสมัครในการฝึกอบรมนักกีฬาในลักษณะนี้ด้วยนะครับ สำหรับภาคราชการ รัฐบาลก็ได้ให้มีการปรับใช้วิธีการ แนวคิดเช่นนี้ ไปใช้ในการอบรมหลักสูตรของ กพ. กพร. ไปแล้วนะครับ เพื่อที่จะได้สร้างข้าราชการยุคใหม่ ให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงไปด้วยนะครับ ทุกอย่างมันต้องเริ่มทั้งการปฏิบัติแล้วก็จิตใจด้วยนะครับ
 
สุดท้ายนี้ สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนในเวลานี้นะครับ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่เสี่ยงภัยจากพายุฤดูร้อน วันนี้ก็เริ่มเข้าฤดูฝน ผมขอให้ระมัดระวัง ดูแลลูกหลาน และตัวท่านเอง ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้อแนะนำของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ผมได้กำชับทุกหน่วยงานให้พร้อมที่จะออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย และแก้ไขปัญหาน้ำ อย่างครบวงจร รัฐบาลจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนหากมีความจำเป็น ขอให้พี่น้องประชาชนรับฟังข่าวสาร ช่วยกันร่วมเป็นหูเป็นตาร่วมด้วยอีกทางหนึ่งนะครับ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของการ เราต้องเตรียมความพร้อมมาตรการ ในการลดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าน้ำมากวันนี้ฝนมาเป็นปกติ อาจจะมีปัญหาน้ำมากบ้างในบางพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม น้ำขังให้เตรียมการให้พร้อมทุกหน่วยงานในส่วนของพื้นที่ที่เป็นที่ดอน พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกด้านการเกษตร ที่ขาดน้ำอยู่ก็ขอให้มีการเร่งพัฒนาแหล่งน้ำของตัวเองขุดลอกที่เก็บน้ำในไร่นาทำให้มันใช้ได้ มีที่ระบายน้ำเข้าเพื่อให้เข้าไปเก็บไว้ก่อน ถ้ามันเกินก็ค่อยปล่อยออกมานะครับ ตอนนี้เราต้องเตรียมรับความเสี่ยงในฤดูแล้งหน้าไว้ด้วย สภาพของอากาศโลกนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานะครับ
 
อีกเรื่องสำคัญ ก็คือในช่วงนี้ฝนตกบ่อย ถนนลื่น การใช้ความเร็ว การขับรถ การดื่มสุราจะต้องระมัดระวัง อย่างดื่มสุราขับรถโดยเด็ดขาด ผมขอให้พี่น้องประชาชนที่มีการเดินทาง ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ผมเห็นในโทรทัศน์ก็ไม่สบายใจนะครับ ลงมาชกกัน ลงมายิงกันบ้าง หรือไม่ก็กระทบกระทั่งกันทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาของทั้งในคนไทยและในต่างประเทศ ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นไปบ่อยๆ ก็จะเกิดขึ้นในมิติอื่นๆ อีกด้วย ช่วยกันระวังรักษาสุขภาพ โรคหวัดโรคปอดอะไรเหล่านี้ ต้องช่วยกันระมัดระวังนะครับ ขอบคุณครับ ขอให้ "ทุกคน" มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เป็นวันหยุดยาวของหลาย ๆ ท่านนะครับ อย่าลืมกลับมาทำงานด้วยนะครับ สวัสดีครับ
 

หมายเหตุ : ประชาไท เปลี่ยนพาดหัวเป็น ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเวลา 23.00 น. 13 พ.ค.60

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตีทั่วโลก รบ.สั่ง ก.ดิจิทัล เกาะติดและให้คำแนะนำแก่ ปชช.

Posted: 13 May 2017 03:47 AM PDT

ระบบคอมพิวเตอร์ 99 ประเทศ ถูกมัลแวร์ชื่อ WannaCry เข้าปิดล็อกระบบและเรียกร้องค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกให้  รบ.สั่ง ก.ดิจิทัล เกาะติดและให้คำแนะนำแก่ ปชช. ด้านไมโครซอฟท์ได้ออกโปรแกรมอัพเดทเพื่อป้องกันการโจมตีของมัลแวร์ตัวนี้ตั้งแต่ มี.ค.แล้ว

13 พ.ค. 2560 บีบีซีไทย รายงานว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทและองค์กรสำคัญใน 99 ประเทศทั่วโลก ถูกมัลแวร์ชื่อ WannaCry เข้าปิดล็อกระบบและเรียกร้องค่าไถ่เป็นเงินบิตคอยน์มูลค่า 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10,400 บาท ) แลกกับการปลดล็อกให้ โดย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามัลแวร์นี้เป็นโปรแกรมที่คิดค้นโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA)แต่ได้ถูกกลุ่มนักเจาะล้วงข้อมูลทางไซเบอร์ "แชโดว์ โบรคเกอร์ส" (Shadow Brokers) ขโมยมาเผยแพร่ฟรีทางออนไลน์เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ประเทศที่ถูกมัลแวร์ WannaCry โจมตีนั้นรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน รัสเซีย สเปน อิตาลี และไต้หวัน โดยบริษัท Avast ซึ่งเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์รายงานว่า พบกรณีการโจมตีด้วยมัลแวร์นี้ถึง 75,000 กรณีทั่วโลก โดยหลายกรณีมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แต่ยังไม่พบว่าเป็นการมุ่งโจมตีเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งโดยเฉพาะ และพบว่าเริ่มมีผู้โอนเงินค่าไถ่เข้าบัญชีบิตคอยน์ของมัลแวร์ตัวนี้แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามัลแวร์ WannaCry อาศัยช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่เรียกกันว่า EternalBlue เข้าโจมตี โดยตัวมัลแวร์มีลักษณะเป็นเวิร์ม (Worm) ที่แพร่กระจายตัวเองออกไปในระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการหลอกล่อผู้ใช้งานให้คลิกตอบรับเพื่อเข้าสู่ระบบแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักเจาะล้วงข้อมูลทางไซเบอร์ "แชโดว์ โบรคเกอร์ส" บอกว่านำเอามัลแวร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯคิดค้นหลายตัวออกเผยแพร่ฟรี เพื่อเป็นการประท้วงต่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ส่วนทางบริษัทไมโครซอฟท์นั้นได้ออกโปรแกรมอัพเดทเพื่อป้องกันการโจมตีของมัลแวร์ตัวนี้แก่ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่คาดว่ามีผู้ใช้งานหลายรายยังไม่ได้ติดตั้งหรืออัพเดทโปรแกรมป้องกันดังกล่าว

รัฐบาลสั่ง ก.ดิจิทัล ติดตามสถานการณ์และให้คำแนะนำแก่ประชาชน  

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ว่าขณะนี้มีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ชื่อ WannaCry ระบาดไปยังคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft ทั่วโลก จึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการดาวน์โหลดไฟล์เอกสารจากโลกออนไลน์ 

"ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์อาจดาวน์โหลดมัลแวร์ หรือ โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายแก่ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยไม่รู้ตัวจากการเปิดไฟล์เอกสารที่แนบมากับ e-mail เมื่อมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry เข้ามาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ก็จะเข้าไปล็อกไฟล์เอกสารต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ และขู่ให้ผู้ใช้งานจ่ายเงินค่าไถ่เพื่อปลดล็อกไฟล์เอกสาร"พล.ท.สรรเสริญกล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ ดศ. เร่งตรวจสอบสถานการณ์แพร่ระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในไทย พร้อมเผยแพร่คำแนะนำในการป้องกันและแก้ไขให้ประชาชนทราบโดยเร็ว พร้อมฝากเตือนประชาชนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ระบบ Microsoft หลีกเลี่ยงการเปิดเอกสารแนบ email โดยไม่จำเป็น ซึ่งหากเอกสารใดจำเป็นต้องเปิดควรตรวจสอบกับผู้ส่งก่อนทุกครั้งว่ามีการส่งเอกสารนั้นมาจริงหรือไม่ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน และหากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ThaiCERT) 1212

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ตรึงกำลัง ล้อมรั้วเหล็ก จุด เสธ.แดง ถูกลอบยิง เมือ 7 ปีที่แล้ว

Posted: 13 May 2017 03:06 AM PDT

ตร. 1 กองร้อยตรึงกำลัง พร้อมล้อมรั้วเหล็ก จุดเสธ.แดงถูกยิงเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ด้านลูกสาวเสธ.แดง ถามประยุทธ์ ห้ามลูกกราบพ่อถูกต้องหรือไม่ ขออนุญาต 'อาตู่' ให้ตนกราบตรงจุดพ่อโดนยิง 

13 พ.ค.2560 เมื่อเวลา 16.20 น ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งกองร้อยควบคุมบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมมีรั้วกั้นบริเวณทางลง MRT ซึ่งเป็นจุดที่ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวันนี้ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในเหตุการณ์ช่วงสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า มีคนเตรียมดอกไม้มา 3 คน เพื่อวางรำลึก แต่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ คอยประกบ ห้ามไม่ให้นำดอกไม้มาวาง

สำหรับรั้วเหล็กกั้นส่งผลให้ให้คนทั่วไปต้องเดินอ้อมเพื่อที่จะลงสถานีรถไฟใต้ดิน

วานนี้ (12 พ.ค.60) ขัตติยา สวัสดิผล หรือ เดียร์ บุตรสาว เสธ.แดง โพสต์ข้อความระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้จัดวางดอกไม้รำลึก ณ จุดที่พ่อของตนถูกยิงด้วย

ลูกสาวเสธ.แดง ถามประยุทธ์ ห้ามลูกกราบพ่อถูกต้องหรือไม่

ล่าสุดวันนี้ ขัตติยา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็มีลูกสาว 2 คน ว่าถ้าลูกสาวถูกห้ามไปกราบพ่อ เขาจะรู้สึกอย่างไร และมันถูกต้องหรือไม่ และขอถือโอกาสนี้ ถามพล.อ.ประยุทธ์ เลยว่า "คุณพ่อเดียร์ถูกยิงตาย แค่เดียร์จะไปกราบคุณพ่อตรงจุดที่ท่านโดนยิง ขออนุญาตอาตู่ตรงนี้ อาตู่จะอนุญาตหรือไม่คะ?"

โฆษก คสช.ห้ามเหตุเข้าข่ายกิจกรรมการเมือง

ขณะที่วานนี้  พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนคิดว่าทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจว่ากิจกรรมดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงไม่อนุญาตให้ น.ส.ขัตติยาจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คสช.เน้นการขอความร่วมมือมาโดยตลอด และก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย

โฆษก คสช. กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการกลั่นแกล้งทางครอบครัว น.ส.ขัตติยาแต่อย่างใด เพราะการที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัด เป็นเพราะพิจารณาแล้วว่าการรำลึกการจากไปของ พล.ต.ขัตติยะ อาจเข้าข่ายกิจกรรมเชิงการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.50 น. ขัตติยา โพสต์วิดีโอไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ การเข้าไปรำลึก ณ จะที่ เสธ. แดงถูกยิงเสียชีวิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ เผย 76.8% เชื่อมั่นน้อย ว่าบังคับใช้ ก.ม.ของ จนท. บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

Posted: 12 May 2017 11:45 PM PDT

ประชาชน 76.8% มีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โดย 78.6% เห็นด้วยว่า กระแสจากโลกโซเชียลและสื่อมวลชนที่ออกมาช่วยแฉคดีต่างๆ จะทำให้สังคมคอยจับตามมองและทำให้คดีคืบหน้าเร็วขึ้น

13 พ.ค.2560 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  จำนวน 1,116 คน พบว่า การที่กระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถลงโทษการกระทำผิดของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและข้าราชการบางกลุ่มได้นั้น ประชาชนร้อยละ 32.7 ระบุว่า จะส่งผลให้ประชาชนจะหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 24.1 ระบุว่า จะส่งผลให้คนชั่วเพิ่มขึ้นเพราะไม่เกรงกลัวต่อการทำผิดกฎหมาย และร้อยละ 22.0 ระบุว่า จะส่งผลให้เกิดค่านิยม มีอิทธิพลก็พ้นผิด ความยุติธรรมเงินซื้อได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.8 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 23.2 มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

สำหรับความเห็นต่อกระแสจากโซเชียลและสื่อมวลชนที่มาช่วยสอดส่องและตีแผ่เหตุการณ์ หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ประชาชนร้อยละ 78.6 ระบุว่าดีและเห็นด้วย( เพราะทำให้สังคมรู้ข้อมูลและคอยจับตามมองและทำให้คดีคืบหน้าเร็วขึ้น) ขณะที่ร้อยละ 21.4 ระบุว่าไม่ดีและไม่เห็นด้วย (เพราะจะทำให้บุคคลกลายเป็นจำเลยสังคมทั้งที่ยังไม่โดนตัดสินและ จะทำให้เสียรูปคดี)         

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กต. รับจีนไม่ได้ส่งคำเชิญประยุทธ์ร่วมประชุมระดับสูงเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหม

Posted: 12 May 2017 11:33 PM PDT

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยกับบีบีซีไทย รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งคำเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมฯ ยันไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของไทย  เหตุรัฐมนตรีที่ไปล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานว่า บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งคำเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (High-Level Dialogue Belt and Road Forum for International Cooperation) ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 แทน และนายกรัฐมนตรีได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมงานดังกล่าวแล้ว โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนในเดือนกันยายน และทางการจีนเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

สำหรับการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลจีนได้เชิญรัฐมนตรีจาก 6 กระทรวง ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตัวแทนของกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม

รายงานด้วยว่า  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีผู้นำหลายชาติทั่วโลกเข้าร่วมในช่วงสุดสัปดาห์นี้ในกรุงปักกิ่ง

บุษฎี บอกว่า ยืนยันว่า แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ได้เดินทางร่วมในการประชุมระดับสูงดังกล่าว ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย เนื่องจากรัฐมนตรีที่ไปร่วมประชุมล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ร่วมหารือกัน ในขณะเดียวกันไทยยังมีความพร้อมในการเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญทั้งทางบกและทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

ที่มา : บีบีซีไทย และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องเรือดำน้ำไทย

Posted: 12 May 2017 07:41 PM PDT


 

ความจริงแล้ว เรือดำน้ำเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของมนุษยชาติตั้งแต่ครั้งโบราณ ที่จะสร้างยานที่ดำลงไปได้พื้นน้ำ แต่ความก้าวหน้าของโครงการ มาพัฒนาสมัยที่อังกฤษขยายอำนาจเป็นจักรวรรดินิยมทางทะเล จึงมีการค้นคว้าหาวิธีสร้างยานที่ดำลงไปในน้ำและสร้างสำเร็จครั้งแรก ใน ค.ศ.1775 เรียกว่า "เตอร์เติล" เป็นยานขนาดเล็กใช้แรงมนุษย์ ดำลงไปในน้ำด้วยผู้โดยสาร 2 คน

ตั้งแต่ ค.ศ.1863 อังกฤษเริ่มประดิษฐ์เรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ และนำมาสู่การสร้างเรือดำน้ำด้วยเป้าหมายทางการทหาร จนกระทั่งเรือดำน้ำกลายมาเป็นอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) โดยฝ่ายเยอรมนีสร้างเรือดำน้ำที่เรียกว่า เรืออู ประมาณว่าตลอดสงคราม เรือดำน้ำเยอรมนีจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรได้มากกว่า 5,000 ลำ หลังจากนั้น เรือดำน้ำจึงถือเป็นอุปกรณ์สงครามที่สำคัญในสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งสงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการสู้รบด้วยสงครามเรือดำน้ำอย่างมาก แต่ข้อสังเกตคือ สงครามครั้งอื่นที่เกิดขึ้นในโลกหลังจากนั้น ก็ไม่มีสงครามเรือดำน้ำอีก และไม่น่าที่จะมีสงครามเรือดำน้ำระหว่างมหาประเทศได้ เพราะต่อมา มหาประเทศนำเรือดำน้ำไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์

สำหรับสังคมไทยเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ กลุ่มเจ้านายไทยที่ไปศึกษาวิชาทหารจากต่างประเทศ เริ่มสนใจเรื่องเรือดำน้ำ มีรายงานว่า กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร และ พระยาราชวังสัน ได้นำเสนอแผนให้กองทัพสยามมีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 แต่โครงการนี้ก็ไม่เป็นจริงด้วยปัญหาหลายประการ จนกระทั่งหลังปฏิวัติ พ.ศ.2475 กองทัพเรือไทยจึงตกลงสร้างเรือดำน้ำ 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับมอบเรือ 2 ลำแรก ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 ชื่อว่า ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ทำให้กองทัพเรือไทยมีเรือดำน้ำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนอีก 2 ลำ คือ ร.ล.สินสมุทร  และ ร.ล.พลายชุมพล

จนกระทั่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกยุบกองทัพ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนอะไหล่ให้กับเรือดำน้ำไทยได้ ยิ่งกว่านั้น ภาวะที่จะเกิดสงครามทางทะเลและคุกคามไทยก็ไม่มี แต่ปัญหาสำคัญเกิดจากกรณีแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ที่รัฐบาลฝ่ายคณะรัฐประหารถือโอกาสปราบปรามกองทัพเรือ แล้วให้ฝ่ายทหารบกเข้าควบคุม หมวดเรือดำน้ำถูกยุบในวันที่ 16 กรกฎาคม และเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำถูกปลดระวาง ขายซากให้บริษัทปูนซีเมนต์ หลังจากนั้นกองทัพเรือไทยก็ไม่ได้มีเรือดำน้ำ แม้จะผ่านช่วงสงครามอย่างเข้มข้น เช่น ในสมัยสงครามเวียดนามช่วงกระแสสูง ตลอดจนสงครามในลาวและกัมพูชา (พ.ศ.2508-2518) ไทยก็ไม่มีเรือดำน้ำเลย

จนกระทั่งมาถึงหลังการรัฐประหาร คสช. พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกค่อนข้างสงบ ประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียนก็เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันในประชาคมแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาค มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันในระดับสูง ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก นอกเหนือจากบริเวณตะวันออกกลางแล้ว แทบจะไม่มีสงครามรูปแบบเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลกเลย ในภาวะเช่นนี้เอง ที่กองทัพเรือไทยทำเรื่องขอจัดซื้อเรือดำน้ำ

อธิบายกันว่า กองทัพเรือไทยมีแผนจะซื้อเรือดำน้ำมาแล้วถึง 20 ปี หรือตั้งแต่ราว พ.ศ.2540 แต่ล้มเหลวมาโดยตลอด ด้วยปัญหาในด้านงบประมาณและการเมือง ในครั้งนี้ เมื่อเป็นรัฐบาลทหารปกครองประเทศและไม่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งมาซักถาม จึงเป็นโอกาสอันดีในการที่จะขออนุมัติซื้อ โดยเปิดให้บริษัทอาวุธต่างประเทศเข้ามานำเสนอข้อมูล 5 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน สวีเดน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ในที่สุด ก็เลือกที่จะซื้อจากจีนเพราะให้เงื่อนไขดีที่สุด และโครงการนี้ก็บรรลุเป้าหมายในการประชุมเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติอนุมัติการจัดซื้อของกองทัพเรือ

เรือดำน้ำรุ่นที่จะซื้อเรียกว่า เอสที-26 เป็นเรือดำน้ำพลังดีเซล มีระบบเอไอพี ที่จะช่วยต่อเครื่องยนต์แบบไม่พึ่งพาออกซิเจน ทำให้เรือดำน้ำได้นานมากขึ้น ไม่ต้องมาเติมออกซิเจนที่ผิวน้ำ มีระบบตอร์ปิโดที่หลากหลายและรุนแรง จีนซื้อเทคโนโลยีนี้มาจากสวีเดน แล้วนำมาพัฒนา ทางฝ่ายกองทัพเรืออธิบายว่า ข้อได้เปรียบของการซื้อจากจีน คือ ราคา 36,000 ล้านบาท ซื้อจากประเทศอื่นได้เพียง 2 ลำ แต่จีนให้ 3 ลำ และยังเป็นเรือขนาดเรือใหญ่กว่า และจีนยังเสนอแพคเกจ คือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้ ให้การฝีกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทย พร้อมแถมอาวุธไว้ใช้งานอีก ในการดูแลรักษา จีนจะรับประกันหลังส่งมอบระยะเวลา 2 ปี และรับเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดในวงรอบ 8 ปี

แต่กระนั้น โครงการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกระแสสังคม ตั้งแต่เรื่องการอนุมัติก็ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ให้สาธารณชนทราบ โดยอธิบายว่า เอกสารรายละเอียดเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในชั้น"ลับมาก"ของทางราชการ จนกระทั่งเรื่องมาเปิดเผยในสัปดาห์ต่อมา ประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตีเสมอมาคือ เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำราคาสูงมาก ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และรัฐบาลก็มีปัญหาการคลัง และยังมีข้อระแวงคือ เรื่องค่าหัวคิวการจัดซื้อ และการทุจริตคอรับชั่นในกระบวนการ นอกจากนี้ คือ การตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพสินค้าจีน เพราะในระยะที่ผ่านมา อาวุธที่ซื้อจากจีนก็มักจะมีปัญหาบกพร่องจำนวนมาก เช่นกองทัพเรือเคยซื้อเรือรบจีนมาใช้ เช่น เรือหลวงนเรศวร พบว่า ระบบการประกอบเรือค่อนข้างไม่ดี เรือผุเร็วมาก สายไฟที่ใช้เสื่อมเร็ว ความเข้ากันได้กับระบบอาวุธกับเรือลำอื่นก็เป็นปัญหา นำมาสู่ความวิตกในเรื่องคุณภาพ

ข้อท้วงสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องเรื่องเชิงเทคนิกที่คลุมเคลือ เช่น อ่าวไทยตื้นมีระดับน้ำเฉลี่ยเพียง 58 เมตร เรือดำน้ำจะไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพในภาวะสงคราม การซื้อเรือผิวน้ำน่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองอ่าวไทยมากกว่า และราคาก็ถูกกว่า

ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ได้แถลงข่าวเพื่อยืนยันการซื้อเรือดำน้ำ เพราะเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ และเพื่อพิทักษ์ทรัพยาการทางทะเลของไทยที่มีมูลค่ามหาศาล เสนาธิการทหารเรืออธิบายว่า "สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน การใช้กำลังทหารจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไทยจำเป็นต้องมีหลักประกัน" กองทัพเรือไทยต้องซื้อเรือดำน้ำ เพราะเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีเรือดำน้ำกันแล้ว และพม่าก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดซื้อ

พล.ร.อ.ลือชัยยังอธิบายต่อไปว่า การทีไทยไม่มีเรือดำน้ำมาแล้ว 60 ปี ทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถอย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของกำลังพล การซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้จึงจำเป็น สำหรับเรื่องงบประมาณมหาศาลที่ใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฝืดเคือง เสนาธิการทหารเรืออธิบายว่า งบประมาณที่ใช้ไม่ได้เบียดบังงบกระทรวงและกรมอื่น และเป็นงบข้ามหลายปีไม่ได้จ่ายทั้งหมดครั้งเดียว มีการกำหนดชำระเป็นงวด พล.ร.อ.ลือชัยย้ำว่า อาวุธที่มาไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาไปรบ แต่เป็นอาวุธเชิงป้องปราม มีขึ้นเพื่อไม่ต้องรบ "ให้เขาเกรงใจ" และการจัดซื้อก็ไม่มีผลประโยชน์ค่าน้ำร้อนน้ำชาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการจัดซื้อในรูปแบบรัฐต่อรัฐ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ในความเห็นของผู้เขียน ปัญหาที่จะต้องทบทวนกันอย่างเป็นจริง คือ เรื่องยุทธศาสตร์การกลาโหมทั้งหมด ที่วางรากฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบเก่า ที่มีสมมติฐานให้เพื่อนบ้านเป็นศัตรูไว้ก่อน แล้วจึงจะต้องมีกองทัพขนาดใหญ่และมีอาวุธจำนวนมากเพื่อการป้องปราม คำถามคือ แนวคิดกลาโหมแบบนี้ล้าสมัยหรือไม่ในโลกยุคดิจิตอลปัจจุบัน อย่างน้อยการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ก็เป็นการสะท้อนการสิ้นเปลืองงบประมาณในยุทธศาสตร์โบราณเช่นนี้



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 615 วันที่ 6 พฤษภาคม 2560
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระบวนการสันติภาพที่มีความหมายคือเกราะป้องกันผู้นิยมความรุนแรงที่ดีที่สุด

Posted: 12 May 2017 07:13 PM PDT




คาร์บอมบ์ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในปัตตานีเป็นเหตุสะเทือนความรู้สึกมากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 13 ปีก่อน ที่สำคัญเป็นเพราะว่าการปฏิบัติการครั้งนี้จงใจที่จะกระทำต่อพลเรือนโดยไม่เลือกเพศ อายุและศาสนาและพวกเขาไม่ได้มีบทบาทโดยตรงต่อความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ตามสถิติของทางการ มีผู้บาดเจ็บ 61 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 36 คน เด็กและเยาวชน 11 คน เจ้าของรถกระบะที่ถูกนำไปทำเป็นคาร์บอมบ์ซึ่งเป็นคนพุทธถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด

เมื่อเช็ดคราบเลือด คราบน้ำตา จับกุมผู้คนที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้และก่นด่าสาปแช่งผู้ก่อเหตุแล้ว เราต่างก็รู้ว่าชีวิตของผู้คนที่อยู่ในภาคใต้จะยังเหมือนเดิมและไม่มีหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยแต่อย่างใด รัฐบาลย่อมทราบแก่ใจดีว่าการปราบปรามด้วยความรุนแรงไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพในภาคใต้ได้ กำลังทหารจำนวนมากในพื้นที่ทำได้แค่เฝ้าระวังเหตุซึ่งย่อมเห็นอยู่ว่าไม่สามารถยับยั้งปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีได้แต่อย่างใด ในขณะที่ต้องสูญเสียงบประมาณอย่างมหาศาลในแต่ละปี  แม้เหตุการณ์นี้คงจะไม่มีใครออกมาประกาศความรับผิดชอบเช่นเคย แต่หากดูลักษณะการก่อเหตุแล้วจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับครั้งที่ผ่านๆ มาซึ่งเชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น

ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะพูดในสถานการณ์นี้ก็คือกระบวนการสันติภาพที่ความหมายจะเป็นเกราะป้องกันผู้นิยมความรุนแรงที่ดีที่สุดในระยะยาว เพราะจะเป็นเวทีที่คู่ขัดแย้งเข้ามาเจรจาต่อรองทางการเมือง ซึ่งรวมถึง การหยุดยิง ในระหว่างที่การเจรจาในประเด็นทางการเมืองกำลังดำเนินอยู่ หากรัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาในระยะยาวจำเป็นจะต้องทำให้กลุ่มติดอาวุธเข้ามาอยู่ร่วมในการพูดคุยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งจะเป็นการโดดเดี่ยวปีกที่นิยมความรุนแรง (hardliners) และจะทำให้พวกเขาอ่อนแอและไร้ความหมายไปในที่สุด 

คำถามคือ "การพูดคุยสันติสุข" ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นเป็นกระบวนการสันติภาพที่มีความหมายแล้วหรือไม่ คำถามใหญ่ตอนนี้คือกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งมากที่สุดในภาคใต้ในปัจจุบันได้เข้าร่วมการพูดคุยในกรอบที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับมาราปาตานีในขณะนี้หรือยัง ทางมาราปาตานีได้พูดชัดเจนว่าคนของบีอาร์เอ็นที่เข้ามาร่วมนั้นเป็นความริเริ่มส่วนตัว ไม่ได้มีฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำ ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการออกแถลงการณ์ในนามฝ่ายข้อมูลข่าวสารของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยข้อเรียกร้องสำคัญคือการขอให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในฐานะผู้สังเกตการณ์ (พวกเขาได้ฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำหรือไม่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป) โดยนายกรัฐมนตรีตอบข้อเรียกร้องนี้ด้วยการบอกว่าให้เข้าไปร่วมในกรอบการพูดคุยที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งโดยนัยแล้วก็คือการปฏิเสธข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ดังกล่าว

ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นนั้นเจาะลงไปที่ใจกลางประเด็นที่รัฐบาลไทยหวาดกลัวมากที่สุดและเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพไม่ก้าวหน้า รัฐไทยพยายามยืนยันว่าเรื่องนี้เป็น "เรื่องภายใน" (internal affair) และพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้องค์กรหรือรัฐบาลใดๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะเกรงว่าการเข้ามาขององค์กรภายนอกจะเปิดทางไปสู่ "การแบ่งแยกดินแดน" การเกิดขึ้นของการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการและการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียนั้นเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเชื่อได้ว่าทั้งสองอย่างนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลที่อิงกับฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลทหารในขณะนี้ก็ตาม  แต่เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลทหารไม่คว่ำการพูดคุยนี้อาจจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงการยอมรับว่ากองทัพไม่สามารถจะยุติความรุนแรงนี้ได้ด้วยการปราบปรามและการเอามาเป็นพวกด้วยการให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ความหวาดกลัวต่อ "การยกระดับ" นั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับเพียงใดยังเป็นสิ่งที่น่ากังขาเช่นกัน รัฐไทยมักยกเรื่องของติมอร์ตะวันออกว่าการที่รัฐบาลอินโดนีเซียอนุญาตให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นจุดที่นำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก แต่ว่ามีตัวอย่างความขัดแย้งด้วยอาวุธที่เกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชในหลายแห่งทั่วโลกที่การเข้ามาของประชาคมนานาชาติช่วยนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพโดยไม่ได้นำไปสู่การแยกตัวเป็นรัฐใหม่แต่อย่างใด  ตัวอย่างใกล้ๆ บ้านเราก็เช่นความขัดแย้งในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียและมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์  การเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและมีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนในหลากหลายบทบาทหน้าที่ซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่โตที่หนุนเสริมการเจรจาระหว่างปาร์ตี้ A และ B (ดูเพิ่มเติมได้ที่ "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร?: เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย") ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงสันติภาพในปี 2555 และยังคงอยู่ในช่วงการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยหัวใจหลักของข้อตกลงก็คือการยินยอมให้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษบังซาโมโร

ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นล่าสุดนั้นจึงอยู่ในวิสัยที่รัฐไทยพึงจะพิจารณาได้ หากเปิดใจกว้างและเลิกหวาดกลัวต่อมายาคติที่อาจจะสร้างขึ้นให้น่ากลัวกว่าความเป็นจริง

หากกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ พวกเขาเองย่อมจะต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับการโจมตีพลเรือน/ผู้ไม่ถืออาวุธซึ่งแม้ในสถานการณ์สงครามก็ไม่สามารถกระทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) ในแถลงการณ์ล่าสุด บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ "ตามหลักปฏิบัติสากล" ฉะนั้น ขบวนการปลดปล่อยปาตานีเองก็จะต้องถูกตรวจสอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน มีตัวอย่างที่ผู้นำกลุ่มกบฏได้ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศมาแล้ว ผู้นำของ "กองทัพต่อต้านของพระเจ้า" (The Lord's Resistance Army) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏคริสเตียนในประเทศอูกันดาเป็นกลุ่มติดอาวุธกลุ่มแรกที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาเกี่ยวกับ "อาชญากรรมสงคราม" (war crimes) และ "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" (crimes against humanity)

การรับฟังเงื่อนไขที่จะเปิดทางให้บีอาร์เอ็นเข้ามาอยู่ในกระบวนการสันติภาพจึงไม่ใช่การยอมอ่อนข้อต่อการใช้ความรุนแรงมากดดันรัฐไทย แต่เป็นการดึงให้ใจกลางของสนามการต่อสู้มาอยู่บนโต๊ะเจรจาและสู้กันด้วยสันติวิธี ไม่ใช่การปฏิบัติการทางการทหารหน้าห้างสรรพสินค้าที่คลาคล่ำไปด้วยแม่และเด็ก



เกี่ยวกับผู้เขียน: รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Australian National University

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 พ.คม 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความย้อนแย้ง ยอกย้อน สับสน ของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา

Posted: 12 May 2017 06:55 PM PDT


 

ข้อเขียนนี้ผมเอาเรื่องหลาย ๆ เรื่องมาต่อ ๆ กัน[1] ส่วนหนึ่ง คิดว่ามันพอไปด้วยกันได้ในเรื่องที่ผมจะเสนอ สอง ผมต้องการสร้างความสับสนให้บทความนี้ด้วยความจงใจ เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่าคนที่ศึกษาเรื่อง "ล้านนา" ไม่อ่านอะไรมากนัก การสร้างความสับสนโดยการเอาหลายเรื่องมาให้วุ่นวาย อาจก่อกวนจิตใจและทำให้เขาเหล่านั้นครุ่นคิดมากยิ่งขึ้น สาม ผมพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่ลงตัวสักที เลยเอาออกมาแหย่เล่น ให้ผู้คนด่าทออาจทำให้เกิดความคิดอะไรมากขึ้น สี่ ผมคิดว่าในหลายปีมานี้การศึกษาเรื่อง "ล้านนาคดี" มีมากขึ้น ทั้งในแง่คนท้องถิ่น และคนส่วนกลาง ทำให้เรื่องบางเรื่องเราขยายพรมแดนความรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ในแง่ "วิธีวิทยา" และ "สถานะความรู้" กลับถดถอยไปไกลกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในแง่ที่ไม่สามารถอธิบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ลึกซึ้ง มีแต่เรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่สามารถเชื่อมร้อยกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ บางเรื่องมีสถานะเป็นแค่หนังสืองานศพเท่านั้น[2] ห้า ท้ายที่สุดผมคิดว่าความหมกมุ่นหลาย ๆ เรื่องกลายเป็น "ท้องถิ่นนิยม/ท้องถิ่นชาตินิยมสุดโต่ง" จนทำให้เรื่องที่ศึกษาเพียงแค่ตอบสนอง "มโนคติ" ส่วนตนและรังแต่จะสร้างความเข้าใจผิดต่อเรื่องนั้น ๆ 

ในเบื้องต้นผมขออนุญาตเริ่มอย่างนี้ครับ เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ผมเริ่มว่าปี 2101 ไม่มีอาณาจักรล้านนาในประวัติศาสตร์แล้วในแง่ความเป็นอาณาจักร เมืองต่าง ๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเล็กเมืองน้อย[3] เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน เป็นประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ของลำพูนโดยตรง ซึ่งหลังจากนั้นบางคนก็บอกว่าอาณาจักรล้านนากลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระยากาวิละ ซึ่งถ้าจะดูตามบริบทจริงๆ คือล้านนาไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าหลังจากนั้น เมืองต่างๆ ที่รวมเป็นอาณาจักรล้านนาต่างมีอิสระในตัวเองในการขึ้นกับกรุงเทพฯ เมืองแพร่ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เมืองน่านก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เชียงใหม่ก็ดี ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง แม้แต่ลำปางลำพูนที่เราบอกว่าเป็นเชื้อสายของเจ้าเจ็ดตน ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯโดยตรง ไม่มีการขึ้นแบบสายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมืองต่างๆ แต่อาศัยสิ่งที่ทำคือความเป็นเครือญาติเท่านั้นที่ยังผูกพันกันอยู่[4]

ในส่วนนี้เราต้องกลับไปคิดทบทวนกันอีกทีว่าอาณาจักรล้านนาในความเป็นจริงคืออะไร ซึ่งการรับรู้เหล่านี้คือรับรู้ในภาพรวมของอาณาจักรล้านนาทั้งหมด ทำให้เราละเลยเมืองเล็กๆ คือประวัติศาสตร์พัฒนาการของเมืองเล็กๆ ในล้านนาตามจุดต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายหรือแม่ฮ่องสอน ซึ่งเราจะรับรู้กันก็คือกลายเป็นประวัติศาสตร์ล้านนาโดยรวม โดยมองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง


1. แล้วเราศึกษาล้านนาในอดีต อดีตในล้านนาอย่างไร

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในแบบที่เข้าใจบริบทของเมืองต่าง ๆ อย่างแท้จริง ซึ่งอยากให้ดูเป็นประเด็นต่างๆ

ประเด็นแรกก็คือ การมองล้านนา คือคำว่า ล้านนา กับคำว่า ลานนา เป็นคำที่มีการถกเถียงและมีการใช้กันอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันก็มีข้อยุติในบางส่วนว่า คำที่แท้จริงก็คือ ล้านนา

ส่วนคำว่า ลานนา นั้น เป็นคำที่เข้าใจของรัฐราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มองว่า เมืองในล้านนานี้เป็นเมืองที่มีลาน หรือเป็นเมืองที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่ คล้ายๆลาน ซึ่งคำว่า ลาน นี้ ไม่ค่อยปรากฏในการใช้ แต่มีใบลาน แต่คำว่า ลาน ที่ตรงกับภาษากลางของเราน่าจะเรียกว่า กว่าง มากกว่า นี่ก็เป็นข้อถกเถียงในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา

คำว่า ลานนา นี้ ผูกพันหรือแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาคกลางที่ผนึกการรับรู้ของประวัติศาสตร์ของเรามาอย่างยาวนานหลายสิบปี กว่าจะสามารถที่จะใช้คำว่าล้านนาได้ก็ต่อเมื่อทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการขยายตัวของประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นนิยมมากขึ้น

 ประเด็นที่สอง การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราตกอยู่ภายใต้กรอบของการศึกษาประวัติศาสตร์ 3 แนวคิด ก็คือ ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม

แนวคิดแรก ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ก็คือการมองล้านนาว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย แล้วประวัติศาสตร์แบบนี้คือล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เป็นแคว้นเล็ก ๆ เป็นเมืองเล็ก เป็นนครรัฐที่ขึ้นกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่อดีต คือไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นตัวตนของตัวเอง

แนวคิดที่สอง คือประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่น ซึ่งก็คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างท้องถิ่นนิยมกับท้องถิ่นจริง ๆ คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นการอธิบายตัวตนของท้องถิ่น ว่ามีลักษณะหรือเอกลักษณ์ที่แตกต่าง หรือเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของตนเองว่าเป็นอย่างไร

แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม คือ การนิยมท้องถิ่นจนบางทีบอกว่าหรือดูเหมือนว่าเป็นการต่อต้านประวัติศาสตร์ไทยไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งประวัติศาสตร์ในกลุ่มการศึกษาในแนวนี้ ก็เคยเป็นแนวคิดหลักในการเสนอ หรือในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยเฉพาะรัชการที่ 9 ตั้งแต่ทศวรรษ 2500

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์กระแสนี้ จะสูงมากในระหว่าง ปี 2539-2540/ 1996-1997 ลงมา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจน เช่นที่ผมยกตัวอย่างไว้ในวิทยานิพนธ์ของผม คือ ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ จะเห็นว่าการกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ มีการอธิบายใหม่ ซึ่งการอธิบายใหม่ไม่ได้เป็นการอธิบายแบบท้องถิ่นนิยม เช่น ถ้าจะอธิบายแบบท้องถิ่นนิยม ก็ต้องอธิบายว่าการกบฏนี้ เป็นกบฏเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐไทย เพื่อแยกเมืองแพร่เป็นอิสระ แต่การอธิบายสมัยหลังไม่ได้อธิบายแบบนั้น จะเห็นได้ว่างานเขียนเกี่ยวกับเมืองแพร่ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2539 ลงมา การอธิบายกบฏเงี้ยวจะอธิบายว่าการกบฏครั้งนี้เป็นการกบฏของพวกเงี้ยว[5]

สิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นที่อยากจะเสนอ คือรูปที่แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยมีอิทธิพลต่อการสร้างประวัติศาสตร์ นี่คือ พระยามังราย โดยกลายมาเป็นพระยาเม็งราย ซึ่งคำว่า เม็ง กับคำว่า มัง ก็มีความหมายที่มีนัยสำคัญ

คำว่า มัง ถ้าเป็นภาษาพม่า จะแปลว่ากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่คำว่า เม็ง นี้  เป็นคำที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เป็นคนคิดขึ้น ซึ่งเกิดจากอิทธิพลรัฐไทยที่บอกว่า คำว่า มัง เป็นการต่อต้าน หรือเป็นความคิดเห็นหรืออุดมคติของคนในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถือว่าพม่าเคยเป็นศัตรู จึงไม่ควรใช้คำที่ให้เกียรติ จึงใช้คำว่า เม็ง แทนคำว่า มัง ซึ่ง เม็ง เข้าใจว่าเป็นภาษามอญ เม็งรายก็คือมอญ

ประเด็นที่สาม เวลาที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา สามารถศึกษาได้หลายมุมมอง แนวแรกเราอาจจะเสนอว่าประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แนวที่สอง ประวัติศาสตร์ล้านนาในฐานะรัฐอิสระ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง แนวที่สามล้านนาในหน่วยใหญ่ภายใต้หน่วยย่อย (เมือง) ที่หลากหลาย

แนวแรกกรอบคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คือ ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม นี่เป็นแนวคิดหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราจะมองว่าล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นส่วนหนึ่งที่มีการรวมกันมาเป็นเชื้อชาติ ชาติพันธุ์เดียวกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

แนวที่สอง ล้านนาในฐานะรัฐอิสระ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง ผมคิดว่า หนังสือ classic เล่มหนึ่ง คือหนังสือของออาจารย์สรัสวดี ในภาคต้นเราจะเห็นว่า ตั้งแต่ภาคต้นๆ บทต้นๆ ที่เกี่ยวกับอาณาจักรล้านนาโดยตรง ตั้งแต่สยามยังไม่เข้ามา จะเห็นว่าล้านนามีตัวตน มีประวัติศาสตร์ มีอิสระ เป็นอาณาจักรหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นประเทศหนึ่ง

แต่หลังจากนั้น เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ในแนวนี้มันก็ไม่ค่อยมีการศึกษา เราจะมาศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คือ ถ้าใครจะศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราก็จะจับตั้งแต่การเข้ามาของกรุงเทพฯ การเข้ามาของสยาม อิทธิพลของรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประวัติศาสตร์ในแนวนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก

แนวที่สามสุดท้าย ประวัติศาสตร์ล้านนาในหน่วยย่อย (เมือง) ที่หลากหลาย ในส่วนนี้ขาดอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ทั้งที่ประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการรวมตัวของเมืองแต่ละเมือง แล้วก็มีสายใยที่ผูกพันกันเชิงอำนาจ ที่อาจมาจากระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้แต่ละเมืองมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เบาบางมาก จึงทำให้เมืองต่าง ๆ เกิดการแยกออกมา หลังจากพม่ายึดครองในปี 2101/1558 เป็นต้นมา ล้านนาไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้ มีการตีเมืองขึ้น แล้วก็ขยายเป็นเมืองกันอย่างมโหฬาร ซึ่งในตำนานบอกว่าเป็นช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระส่าย หรือว่าเกิดความปั่นป่วนในหัวเมืองล้านนา เมืองต่าง ๆ มีบริบท หรือการพัฒนาที่แตกต่างกันในช่วงเวลาต่าง ๆ ในมิติเวลาที่แตกต่างกัน ถ้าเราศึกษาเมืองแต่ละเมือง เมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้อย่างละเอียด ผมคิดว่า เราจะเห็นประวัติศาสตร์ล้านนาอีกมิติหนึ่ง

ปัจจุบันเราติดกรอบประวัติศาสตร์ล้านนาคือประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งท้ายที่สุด เราก็อธิบายว่าเชียงใหม่ คือ ล้านนาทั้งหมด เป็นการอธิบายพลวัตทางประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งหมดอย่างง่ายๆ ผมคิดว่าในส่วนนี้มันจะทำให้เมืองต่างๆ ไม่เข้าใจพลวัตของตนเอง


2. สับสนวุ่นวายของคนศึกษาล้านนา (ศึกษา)

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราจะเห็นอิทธิพลของคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาของคนแตะละ ก็จะมีเอกลักษณ์หรือว่ามีข้อเด่นของตัวเอง เช่น

กลุ่มที่หนึ่ง นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยทางมนาญศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในรูปงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ซึ่งงานเหล่านี้ ก็เป็นงานเฉพาะหัวข้อ แล้วก็เป็นหัวข้อที่เป็นความสนใจของนักประวัติศาสตร์ หรือว่าแต่ละนักของตัวเอง อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ลำพูน ผมเห็นว่า เป็นจังหวัดที่มีการทำวิทยานิพนธ์และทำการวิจัยมากที่สุด มีการทำงานลงในพื้นที่เยอะมาก แต่แล้วสุดท้ายก็คือ งานเหล่านี้กระจัดกระจาย ไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเมืองลำพูนได้ นิคมอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของโบราณสถาน มีคนลงไปทำเยอะมาก แต่ว่างานวิจัยเหล่านี้ นักวิชาการต่างคนต่างทำ ในที่สุด เราไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเมืองลำพูนได้ ซึ่งปัจจุบันลำพูนเป็นเมืองที่มีการฆ่าตัวตายเยอะที่สุด แล้วก็มีงานวิจัยเยอะที่สุด ถ้าเราสามารถทำคำอธิบายเหล่านี้ได้ ผมคิดว่ามันน่าจะได้เห็นอะไรที่มากกว่านี้

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มผู้รู้ท้องถิ่น กลุ่มผู้รู้ท้องถิ่นนี้ ผมคิดว่า มีอิทธิพลหรือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่ว่าการทำงานของผู้รู้ท้องถิ่นนั้น นักวิชาการก็มองว่ายังขาดกรอบหรือว่ายังขาดทฤษฎีความรู้อยู่ ซึ่งก็ต้องทำกันต่อไป ซึ่งยังมีอะไรอีกมากมายของผู้รู้ท้องถิ่นที่จะต้องทำ

กลุ่มที่สาม คือข้าราชการซึ่งอยู่ในรูปอนุกรรมการ กรรมการต่างๆ ที่รัฐตั้งขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์ในกลุ่มนี้ ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างปัญหา สำหรับประวัติศาสตร์เมือง หรือประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นภาคเหนือเหมือนกัน เช่น เรื่องที่มีทุกจังหวัด ก็คือประวัติศาสตร์มหาดไทยในส่วนภูมิภาคทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน เป็นต้น แต่ว่าสุดท้ายคือจับมาเฉพาะเรื่องที่สัมพันธ์กับรัฐส่วนกลาง เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้มีปัญหา คือ เป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ เป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มเจ้า กลุ่มข้าราชการที่เข้ามา แต่เรื่องเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นถึงอิทธิพลของรัฐไทยที่เข้ามาผนวก หรือว่าให้เห็นอำนาจที่เข้ามาปฏิบัติการต่อเนื่องนั้นๆ ปัญหา คือ ไม่เห็นคนกลุ่มอื่น ๆ ในท้องถิ่นนั้นเลย

และกลุ่มสุดท้าย ก็คือนักการเมือง ในปัจจุบันนักการเมืองเข้ามาใช้ประวัติศาสตร์ในการสร้างอิทธิพลหรือว่าสร้างความทรงจำ สร้างตำแหน่งแห่งที่ ผมก็ขอยกตัวอย่างเมืองแพร่บ้านผม คือการใส่เสื้อม่อฮ่อม หรือการสร้างประวัติศาสตร์ตระกูลของตัวเอง ว่าเป็นตระกูลที่สร้างความเจริญให้เมืองแพร่ขึ้นมา หรือที่พะเยา เชียงคำ ที่สำคัญที่สุดคือ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นคนแรกที่ใช้ภาษาลื้อ ใช้ประวัติศาสตร์ลื้อในการหาเสียง และสุดท้ายก็ได้เป็น ส.ส. ส่วนหนึ่งเป็นการพลวัตของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่อีกส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์นั้นก็ถูกบิดเบือน เพื่อจะทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มนักการเมืองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ซึ่งต่อไปประวัติศาสตร์จะทำอย่างไรให้เป็นประวัติศาสตร์ของคนจริงๆ

ท้ายที่สุดผมยกกรณีการถกเถียงทางประวัติศาสตร์ของผู้รู้ท้องถิ่นกับนักวิชาการ กรณี ไม่มีวัดในทักษาเมืองเชียงใหม่: บทพิสูจน์ความจริงโดยนักวิชาการท้องถิ่น เน้นที่ว่าบทพิสูจน์ความจริงโดยนักวิชาการท้องถิ่น นี่คือความแตกต่างสำคัญ ว่าอิทธิพลของประวัติศาสตร์ล้านนากระแสหลัก ซึ่งบางทีเราใช้อคติในการมองประวัติศาสตร์ ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก แต่ว่าถ้าเรามองว่านี่เป็นท้องถิ่น แล้วคนท้องถิ่นต้องรู้ประวัติศาสตร์มากกว่าคนนอกท้องถิ่นที่เข้ามา ผมคิดว่ามันเป็นความอับจนทางปัญญาของคนในท้องถิ่น ประเทศไทยคงหมดความหมายถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้

ที่ผมยกตัวอย่างนี้เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญมาก ที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของประวัติศาสตร์ทั้งท้องถิ่นและทั้งประวัติศาสตร์ชาติก็ตาม เราอาจจะอธิบายแบบนั้น คือมันเป็นการปะทะกันของความคิดท้องถิ่นนิยมกระแสต่าง ๆ


3 เศษเสี้ยวที่ขาดแหว่ง

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่มีจุดขาด ที่สมควรที่จะมีการศึกษา คือ หนึ่ง ประวัติศาสตร์ของบ้านเล็กบ้านน้อย ที่มารวมเป็นอาณาจักรล้านนา สอง ก็คือตำแหน่งแห่งที่ของคนในล้านนาในช่วงเวลาต่างๆ

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาไม่ค่อยเห็นการศึกษาตัวคนจริงๆ ไม่ค่อยเห็นว่าคนมีบทบาทในประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างไร ส่วนมากประวัติศาสตร์ล้านนา เราจะศึกษาโครงสร้าง ศึกษากระบวนการของรัฐว่ากระจายอำนาจหรือว่าเข้าไปสู่อำนาจ การตัดการอำนาจในหัวเมืองต่างๆ อย่างไร ศึกษาการมีอำนาจหรือการสร้างสิ่งที่ทำของชนชั้นนำ

ในการศึกษาของคนตัวเล็กตัวน้อย มีงานบางชิ้นที่ศึกษาชาวเขา กระบวนการการแลกเปลี่ยนของชาวเขากับคนพื้นราบ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของจุฬา ฯ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์แบบนี้น่าจะมีการศึกษาให้มากขึ้นกับคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ชาวเขา หรือว่ากลุ่มไทต่าง ๆ ในล้านนามีบทบาทอย่างไร มีการเข้าเรือนออกเรือนอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่าจะมีการศึกษา

สาม การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบเจาะลึก ซึ่งยังขาดอยู่ ยิ่งเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา ผมก็คิดว่าเราก็ยังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง

และสุดท้าย คือล้านนาสมัยใหม่ที่แปรเปลี่ยน ที่ส่งผลกระทบต่อคนต่าง ๆ เช่น  การเข้ามาของการเกษตรแบบฟาร์ม หรือว่าการเข้ามาของเศรษฐกิจแบบใหม่ มันส่งผลต่อคนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนอะไรต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้ เราก็ยังขาดการศึกษาแบบเจาะลึก

การศึกษาในส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนาแบบกว้างขึ้น แล้วเราจะสลัดออกจากประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นประวัติศาสตร์โดยรวมทั้งหมดที่อธิบายประวัติศาสตร์ในแนวดิ่งมากขึ้น

คำถามที่หนึ่ง เราจะศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาให้อยู่ในสถานะใด หนึ่ง ให้อยู่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย หรือ สอง ให้เป็นอาณาจักรที่เป็นอิสระ

คำถามที่สองก็คือว่า เราควรมุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างการเมือง หรือหันมามุ่งเน้นการศึกษาคนในประวัติศาสตร์

คำถามที่สาม ล้านนาควรผลิตสร้างตัวตนที่แตกต่าง หรือเหมือน ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ และ

คำถามที่สี่ ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ ควรเน้นในทิศทางใด

แนวโน้มประวัติศาสตร์ล้านนาหลังปี 2540/1997 เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้ เรายังอิงเข้าสู่ศูนย์กลางยิ่งขึ้น ประวัติศาสตร์ล้านนาหรือประวัติศาสตร์เมืองต่าง ๆ หลังทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา เราพยายามดึงความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ในด้านหนึ่ง เราเห็นเหมือนกับว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเข็มแข็งขึ้น แต่ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเข้มแข้งสูงขึ้นๆ หลังปี 2516/1973 คือถ้าอธิบายเชิงโครงสร้าง หลังปี 2516 ส่วนยอดของระบบราชการมันหลุดไป พอส่วนยอดหลุดไป พอเกิดเหตุการณ์ 14ตุลาคม 2516 ส่วนยอดคือ ณรงค์ ถนอม ประภาสหลุดไป สังคมราชการมันเป็น segment แบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มๆ แบ่งเป็นเสี้ยวๆ ทุกคนจะต้องวิ่งเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้เกิดพลังอำนาจสูงขึ้น โครงสร้างของสังคมหลังปี 2516 ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงขึ้นพร้อมๆ กับการขยายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมนับจากปีนั้นมา

แต่ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมจะไม่สามารถที่จะตอบคำถามกับความเปลี่ยนแปลงในเบื้องล่างได้ จึงเกิดประวัติศาสตร์ที่จะพยายามจะหลุดออกจากการกำกับของราชาชาตินิยม เช่น การเกิดขึ้นของสิ่งที่เราเรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์อื่นๆ ค่อยๆ โผล่ขึ้นมา เพียงแต่ว่ายังโผล่ไม่เป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้เขามี collective memory ในการที่จะตอบปัญหาของเขา

ประวัติศาสตร์การเมืองแท้ๆ แบบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม จะตอบคำถามในชีวิตประจำวันของคนในชีวิตในโครงสร้างแบบใหม่ ได้ยากขึ้น ดังนั้น ถ้าถามว่าเข้มแข็งไหม ก็ดูเหมือนว่าจะเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่สามารถจะตอบปัญหาข้างล่าง ปัญหายังมีเยอะแยะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาถอยหลังเรื่อย ๆ คือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่เป็นปัญหา หรือเป็นประวัติศาสตร์ของตัวตน

แต่ว่าเรามุ่งที่จะศึกษาว่า เรามีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร เรามีคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ต่อเมืองอื่นๆอย่างไร ซึ่งการที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นจุดเด่นของประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นประวัติศาสตร์ที่ขาดมิติของท้องถิ่นอย่างแท้จริง คือเป็นประวัติศาสตร์ที่สุดท้ายไม่สามารถอธิบายตัวตนของคนในท้องถิ่นได้ แต่กลับอธิบายว่าเรามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรัฐไทยอย่างไรมากขึ้น ซึ่งสุดท้าย คนตัวเล็กตัวน้อย หรือการต่อรองอำนาจตำแหน่งแห่งที่ของเมืองนั้นๆ ยิ่งห่างไกลจากอำนาจต่อรองนั้นมากขึ้น การช่วงชิงทรัพยากรต่าง ๆ มันก็ส่งผลกระทบ ถ้าเราอธิบายประวัติศาสตร์แบบนี้ คือ เราอธิบายประวัติศาสตร์แบบอิงแอบอำนาจศูนย์กลาง


4. ระเบิดส่งท้าย

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาควรต้องหันมาศึกษาตำแหน่งแห่งที่หรือจุดหลักของเรามากขึ้น เรื่องหนึ่งที่ผมข้องใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา/ภาคเหนือ คือ เรื่อง "เจ้านายในภาคเหนือ" เรายังไม่มีการศึกษาอย่างแท้จริงว่าภายหลังการยกเลิกระบบเจ้าเมืองแเล้ว เขาเหล่านั้นมีสถานะ ตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ธำรงหรือเสื่อมสถานะได้อย่างไร รวมถึงสมัยหลังเขากลับมาสร้างสถานะใหม่ได้อย่างไร เกิดภายใต้เงื่อนไข/บริบทใด ฯลฯ เป็นประวัติศาสตร์สังคมที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง 

ทั้งที่มีเรื่องเล่าของคนเมืองที่ไม่ค่อยชอบเจ้านัก (ดูงานของ อ. แคทเธอรีน บาววี ) เพราะปัจจุบันเรามักเอ๋ยอ้าง ถึงขั้นแอบอ้างว่าเจ้านั้น เจ้านี้ในภาคเหนือเป็นที่รักของคนเมืองนั้นเมืองนี้ ทั้งที่ก่อนทศวรรษที่ 2530 เจ้าเหล่านี้แทบ "ไม่มีตัวตน" ไม่มีสถานะใดๆ เลย เป็นที่รับรู้ในวงแคบๆ แม้ปัจจุบันก็ไม่ได้กว้างขวางอย่างที่พูดๆ กัน 

ไม่นับเจ้าที่สูญเสียทั้งสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไปตกระกำลำบาก เขาให้นิยามความเป็นเจ้าของเขาอย่างไร หรือคนในสังคมปัจจุบันจัดวางตำแหน่งแห่งที่เขาอย่างไร ฯลฯ เพราะสิ่งที่เราทำๆ กันอยู่ในปัจจุบันคือ การสร้างประวัติศาสตร์เจ้าที่ไม่สัมพันธ์กับบริบท เป็นการโหยหาอดีต (nostalgia) ที่ไม่เชื่อมโยงกับผู้คน หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเลย สิ่งที่ทำอยู่เป็นแต่เพียงการสร้าง "ชีวประวัติ" ของตระกูลหรือบุคคลที่ไม่อาจอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ (ใครสนใจก็ทำครับ ส่วนตัวผมส่วนใจคนธรรมดามากกว่า)

และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คนหันมาสนใจกันมากขึ้นคือเรื่อง "ครูบา"กับความทรงจำทางสังคมประเด็นแรก ความทรงจำกับประวัติศาสตร์ทางสังคม (ความทรงจำกับประวัติศาสตร์) คือ การที่เราจะจารึกจดจำบุคคลใด เพราะอะไรเราถึงจดจำ เราคงไม่จดจำนายแก้ว หนานขาว หรือย่ามาหมาตาย. ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นเพียงบุคคลที่ธรรมดา หรือมิได้สร้าง "ปรากฏการณ์" ที่สำคัญในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ

แล้วอะไรที่สำคัญละ ? ก็ต้องเป็นผลสะเทือนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นนั้น จนเป็นความทรงจำร่วม หรือความทรงจำของสังคมนั้น ๆ ในที่นี้ก็อย่างเช่นกรณีครูบา เพราะอะไรครูบาถึงมีความหมายน่าจารึกจดจำ ในที่นี้ผมบอกได้ว่าครูบาทำให้เกิด "มิติใหม่ ๆ" ในสังคมท้องถิ่น

อย่าง 4 ครูบาผมมองว่า คือ การสร้างแนวทางสงฆ์ (ภายใต้รัฐ) แบบใหม่ ซึ่งคงต้องอภิปรายกันต่อไป

ประเด็นที่สอง ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์มีความต่อเนื่อง หรือมีแตกหัก ฉีกขาด ถ้าเราเชื่อตามแบบแรกคือประวัติศาสตร์หรือความทรงจำก็จะมีพลวัตต่อเนื่องไม่ขาดตอน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการสร้างประวัติศาสตร์นั้น ๆ มาอย่างไม่ขาดตอน

แต่ถ้าเราเชื่อตามแบบที่สอง คือ ประวัติศาสตร์ หรือความทรงจำของมนุษย์แตกหัก ฉีกขาด ขาดตอน แบบที่ฟูโกต์เสนอ (ไปหารายละเอียดต่อนะครับ) เราก็จะพบว่าประวัติศาสตร์หรือความทรงจำขอผู้คนในบริบทต่าง ๆ ย่อมสร้างจากเงื่อนไขของสังคมนั้น ๆ เพราะฉะนั้นความทรงจำ หรือการจารึกจดจำถึงเรื่องราว/บุคคลหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด ย่อมไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าก็แหงละพูดอีกก็ถูกอีก แต่กระนั้นการเข้าใจความทรงจำในห้วงเวลาประหนึ่ง จะทำให้เราจะเข้าใจสังคมในเวลานั้น. ที่เหมือน หรือแตกต่าง จากยุคอื่น ๆ เพราะเราไม่สามารถจดจำเรื่องราวได้ทั้งหมด เราจำได้เพียงเศษเสี้ยวของเรื่องราว/ปรากฏการณ์เท่านั้น เราเลือกที่จะจำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา หรือเรื่องราวที่คิดว่าสำคัญ หรือเรื่องที่มีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการสถาปนาความทรงจำนั้น ๆ ไม่เท่ากัน

กรณีครูบาก็เช่นกัน ผมคิดว่าคนกลุ่มต่าง ๆ จารึกจดจำครูแต่ละองค์ไม่เท่ากัน หรือเราเลือกที่จะจำต่อบุคคลนั้น ๆ ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างบางคนอาจจดจำครูบาอินทจักรักษา (ครูบาน้ำบ่อหลวง) ในฐานะอริ/ผู้มีข้อพิพาทกับครูบาขาวปี หรือจำในเรื่องเป็นผู้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมแบบใหม่ หรือผู้ทรงวิทยาคม (ปลุกเสกพระจำนวนมากและเข้มขลัง) หรือชาวบ้านในโหลงสันป่าต้องจอมทองอาจจารึกจดจำเรื่องครูบาห้ามถอนผี ฯลฯ ซึ่งเรื่องที่เราจำ กับเรื่องที่สังคมจำ อาจเหมือนหรือต่าง ๆ แต่ต่างสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลา เราไม่จำเหมือนกัน แต่เราจำต่างกันเพราะเงื่อนไขความทรงจำเราต่างกัน

ต่อมาผมคิดว่า ครูบาเมื่อมีชีวิต กับที่คนทั่วไป ในเวลานั้นจดจำต่างจากปัจจุบัน โดยผมสันนิษฐานว่าทศวรรษ 2530 ทำให้ความคิดเรื่องครูบาเกิดความเปลี่ยนแปลง (ไว้อภิปรายในวันอื่นว่าเพราะอะไรผมถึงคิดแบบนั้น) เอาง่าย ๆ คือ ความทรงจำถึงครูบาแบบปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นในชั่วรุ่นของเรานี้เอง

ประเด็นที่สาม แล้วอะไรละที่ทำให้ความทรงจำถึงครูบา แล้วเราจะวางตำแหน่งแห่งที่ของครูบาไว้ในประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของสังคมไว้อย่างไร ในที่นี้คือ 4 ครูบาถูกจารึกจดจำ อาจพอกล่าวได้ว่าคือปฏิบัติการณ์ผ่านประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ บางคนในที่นี้อาจพูดว่าพูดแบบนี้ใครก็พูดได้ก็จริงครับ แต่กระนั้นประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลง พิธีกรรมบางอย่างถูกสร้างขึ้นใหม่ไหงเป็นแบบนั้นละ ความเลื่อนไหล สร้างใหม่ ปรับเปลี่ยนแสดงให้เห็นว่าความทรงจำของผู้คนในเงื่อนไขนั้น ๆ ไม่เหมือนเดิม เราจารึกจดจำเขาเหล่านั้นแบบใหม่ แบบที่คนในอีกชั่วรุ่นหนึ่งก็ไม่อาจเข้าใจแบบเรา

ผมยกตัวอย่างงานวันเกิดครูบา ในที่นี้คือครูบาพรหมาในวันที่ 12 สิงหาคม ผมคิดว่าเป็นประเพณีใหม่ (ID) ที่คนในยุคหนึ่งทำเพื่อให้ระลึกถึงคน หรือบุคลาธิษฐานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งปรากฏการณ์หรือปฏิบัติการณ์ในท่วงทำนองนี้คือการสร้างการจารึกจดจำ รวมถึงการสร้างกู่ อนุสาวรีย์ หรือประเพณีที่ต่อเนื่องเราอาจถือว่าคือ Memo. ของคนในสังคมนั้น ๆ

ทั้งหมดนี้คือ กรอบที่ผมจะเสนอว่าเราจะจารึกจดจำอย่างไร ซึ่งจะนำมาสู่งานชิ้นนี้ ที่เราจะทำความเข้าใจต่อครูบาอย่างไงดังที่ผมจะเสนอต่อไป

ท้ายที่สุดผมไม่ได้สนใจความผิดถูกของวัฒนธรรม ถ้ามันรับใช้ผู้คนได้ผมคิดว่าสามารถทำความเข้าใจได้ ถึงแม้ว่าจะใหม่หรือเก่าหรือปรับปรุง/แต่ง/ตัด แล้วผู้คนเห็นว่ามันเข้ากับโลกที่เขาอยู่ก็ถือว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลง เพราะผมเชื่อว่าวัฒนธรรมไม่หยุดนิ่ง แต่ผมรังเกียจการมองอะไรอย่างตายตัว อย่างพวกที่มักใช้วัฒนธรรมมาชี้นิ้วประณามคนอื่น ทั้งที่ตัวเองนี้ครึ่งๆ กลางๆ ในความที่ออกจะไม่รู้จริงเรื่องนั้น ๆ หรือ "เกิ้ม" ไม่แน่ใจเราเข้าใจตรงกันไหม ส่วนปีใหม่/สงกรานต์ เดือน อันนั้นคงจะคนละอัน บางอย่างก็เถียงกันได้ครับ

โดยทั่วไปเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคม สิ่งที่เราศึกษาหรือทำ คือ "การอธิบาย" เงื่อนไขว่าอะไรนำสู่อะไร เพราะอะไรจึงเกิดปรากฎการณ์ หรืออะไรนำมาสู่เงื่อนไขที่ทำให้เกิด รวมถึงทำไมจึงเกิด ปรากฏการณ์ที่เราเห็นจึงเป็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใคร ๆ ก็เห็น แต่เราไม่ได้ต้องการศึกษาสิ่งนั้น เราต้องการรู้ว่าข้างใต้มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามัวแต่หมกมุ่นแต่เพียงปรากฏการณ์เยอะแยะมากมาย เราก็ไม่มีทางจัดความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะปรากฏการณ์หนึ่งอาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งได้ แต่สิ่งสิ่งที่เราทำคือการหาความเชื่อมโยง ฉีกขาดแล้วอธิบายมันต่างหากละคือสิ่งที่เราต้องทำ นักเรียนประวัติศาสตร์ (ปวศ.) ชอบ "เล่น" กับ "เวลา" และมักมอง "เวลา" อย่าง "พลวัต" "ต่อเนื่อง" หรือมีพัฒนาการของมัน ณ เวลาหนึ่งๆ ก็มีลักษณะเฉพาะ และมีลักษณะร่วมกัน แต่แท้จริง "เวลา" มันไม่ได้เป็น "เส้นตรง" หรือมี "พัฒนาการ" เสมอไป มัน "พลิกไพล่" (ย้อนแย้ง/irony) เปลี่ยนแปร ไม่รู้ที่ไปที่มา แต่สิ่งที่นักเรียน ปวศ. ทำ คือการจัดหมวดหมู่เพื่อสร้างคำอธิบายมัน ภายใต้เงื่อนไขเวลานั้นๆ ฉะนั้น "เวลา" จึงเป็นทั้ง "ตัวบท" และ "บริบท" ของประวัติศาสตร์

การมองปรากฏการณ์ทางสังคมอย่ามองในลักษณะคู่ตรงข้าม เพราะจะทำให้มันไม่เห็นความซับซ้อนของปัญหา และมันจะกลายมาเป็นกับดักที่กักขังเรา ทำให้ไม่สามารถคิดอะไรได้พ้นจากปรากฏการณ์ ทั้งที่ปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ มันส่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มิติ และมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

รวมถึงการแบ่งแยกความเชี่ยวชาญสาขาใด เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น "คนใน" เพราะบางที "คนนอก" ก็มีมุมมองที่กว้างและลึกกว่าคนในๆ หลายเท่า ที่มาประกาศกันว่าเป็นคนในคนแรกที่ได้ "ศาสตราจารย์" นี้ ขออภัยมีความหมายหรือครับ ผมเห็นฝรั่งมังค่า ญี่ปุ่น จีน เป็นผู้เชี่ยวชาญล้านนาคดีมากมายหลายคน และลึกและกว้างกว่ามากมาย คนในจึงไม่ได้หมายว่าเชี่ยวชาญกว่าคนนอก และคนนอกก็ไม่ได้หมายความว่าลึกกว่าคนใน โปรดอย่ามีมายาคติ อคติ ถ้าไม่เข้าใจโปรดไปอ่าน Writing Culture ถ้าอ่านไม่ออกก็แค่ "เบื้องหลังหน้ากาก" ก็ได้ครับ

เราเชื่อเรื่องสารถะ หรือความจริงแท้ ทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่ไหวเคลื่อน  ประวัติศาสตร์ของเรา วัฒนธรรมของเรา เสื้อผ้าของเรา ภาษาของเรา คนของเรา ฯลฯ ของเรา ซึ่งการมองอะไรในท่วงทำนองนี้ทำให้ไม่เห็นพลวัตของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งไม่อาจทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งตายตัว

การศึกษาผู้คนในปัจจุบันเรามุ่งไปที่ลีลาชีวิตทางวัฒนธรรม โดยมักจะพบว่า คนงานข้ามชาติจะสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนามาก จนมีข้อสรุปทั่ว ๆ ไปว่า คนไทใหญ่จะเคร่งพุทธศาสนามากกว่าคนไทย ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องการแสดงความเป็นพลเมืองไทยในทางวัฒนธรรม ขณะที่เขาก็ยังรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ ของเขาอยู่ด้วย ซึ่งตรงกับแนวความคิด วัฒนธรรมพันธุ์ทาง (Cultural Hybridity)[6] หมายความว่าพวกเขาเป็นพลเมืองไทยในแง่วัฒนธรรมสังคม แต่เขาก็ยังคงเป็นพลเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขาด้วย  ทั้งที่ในความจริงแล้ววัฒนธรรมพันธุ์แท้เป็นเพียงอุดมการณ์แบบแก่นสารนิยม หรือความคิดเชิงเดี่ยวที่อาจเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แนวคิดไทยแท้หรือไทยรัฐเดียวก็เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาในสมัยรัฐกาลที่ 5 นี้เอง เพราะในชีวิตจริงคนไทยก็ล้วนมีวัฒนธรรมพันธุ์ทางกันทั้งนั้น เพราะคนเราสามารถใช้ชีวิตเชิงซ้อนอยู่ได้ในสองวัฒนธรรมพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society)[7]

ผมเชื่อว่าวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ ที่เราเห็นและเป็นอยู่ล้วนถูกประดิษฐ์สร้าง (Invention) ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ การสร้างนิยาม หรือสร้างความหมายเหล่านั้น เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์ทั้งกับกลุ่มคนภายใน และคนภายนอก เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในบริบทหนึ่ง ๆ แต่เมื่อมันไม่ตอบสนองเสียแล้ว ก็ย่อมมีการสร้างความหมายใหม่ ๆ ตามมา

 

เชิงอรรถ

[1] ส่วนใหญ่เอามาจากสัมมนาของโครงการตำราสังคมศาสตร์

[2] ดูจากข่าวนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งกรณีแบบนี้มีเยอะมาก ๆ http://www.komchadluek.net/news/regional/276055 ซึ่งแสดงถึงความไม่รู้ของทั้งผู้พูด และสื่อที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งที่เรื่องบางเรื่องยุติได้รับการพิสูจน์ หรือมีพรมแดนความรู้กว่าผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว

[3] สรัสวดี  อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544

[4] ชัยพงษ์  สำเนียง.  พลวัตการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่  2445-2550. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. 

[5] แต่ว่าการอธิบายประวัติศาสตร์ คือเราจะสร้างจำเลยทางประวัติศาสตร์ ก็คือเงี้ยวกลายมาเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างประวัติศาสตร์แบบนี้นำมาสู่การรับรู้ตัวตนของตำแหน่งแห่งที่ของอาณาจักรล้านนาหรือภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งเราจะเห็นว่าภาคเหนือปัจจุบันนี้ เราจะอธิบายประวัติศาสตร์ภาคเหนืออย่างไร

[6] Burke, Peter.  (2009).   Cultural Hybridity.  Cambridge: Polity.

[7] Amporn Jirattikorn.  (2007).  Living on both sides of the borders: Transnational migrants, pop music and nation of the Shan in Thailand. Working paper series No. 7, Regional Center for Social Science and Sustainable Development, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University. และ อานันท์ กาญจนพันธุ์.  (2555).  พหุวัฒนธรรมในสังคมเปลี่ยนผ่าน.  ใน, จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย (หน้า 79-134) เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น