ประชาไท | Prachatai3.info |
- ศาลพม่าตัดสินจำคุก 6 เดือน-โพสต์เฟสบุ๊กหมิ่นอองซานซูจี
- คุยกับกฤดิกร ตีแผ่เทรนด์ก่อการร้าย-มุ่งเอาตายมากขึ้น แนะรบ.ยอมรับเราอยู่กับภัยนี้จริง
- ชื่อสกุลซ้ำ ‘อับดุลเลาะ สาแม’ คดีระเบิดห้างสมุย ประกาศจับคนหนึ่ง-จับจริงอีกคน ล่าสุดโยงบอมบ์บิ๊กซี
- 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' วิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช.
- โฆษก กห.เชื่อประชาชนไม่เห็นด้วย 'โกตี๋' ฝึกนักรบโค่นรัฐบาล
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ย. 2560
- ใช้ ม. 44 ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้
- 'มีชัย' ไม่เห็นด้วยข้อเสนอแก้ รธน. ทุก 10 ปี
- แผ่นดินจึงดาล: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กฎหมายและตุลาการ
- กรุงเทพโพลล์ระบุ 3 ปี คสช. ประเทศพัฒนาขึ้นเล็กน้อย
- โครงการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' จีนในศรีลังกา ถูกกระแสต่อต้านจากประชาชน
- พบชาวจีนลักลอบอยู่ในเกาหลีใต้มากที่สุด ไทยแค่ 5%
- กวีประชาไท: กล้องวงจรไม่เปิด
ศาลพม่าตัดสินจำคุก 6 เดือน-โพสต์เฟสบุ๊กหมิ่นอองซานซูจี Posted: 27 May 2017 11:24 AM PDT ศาลในพม่าตัดสินจำคุก 6 เดือน หญิงผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าแชร์เนื้อหาหมิ่นอองซานซูจีบนเฟซบุ๊ก หญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน นักวิจัยชี้มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้เพิ่มขึ้นสมัยรัฐบาลใหม่และกลุ่มด้านเสรีภาพสื่อกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายที่จะลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อองซานซูจี และผู้สนับสนุนที่เขตกอหมู่ ภาคย่างกุ้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/เฟซบุ๊คเพจ NLD Chairperson) อิระวดีรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ศาลในเมืองพะโคตัดสินจำคุก 6 เดือน ซานดี มิ้น อ่อง ข้อหาแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กที่ถูกมองว่าเป็นการหมิ่น อองซานซูจี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ และถูกมองว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยพม่า โดยศาลอ้างมาตรา 66(d) จากกฎหมายโทรคมนาคม เพื่อเอาผิดกับจำเลย คดีนี้มีการฟ้องร้องตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เมื่อชาวพะโครายหนึ่งยื่นฟ้อง ซานดี มิ้น อ่อง มาที่สถานีตำรวจในเมืองพะโค ผู้ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าเธอแชร์โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาใช้คำหยาบคายต่อ อองซานซูจี ทั้งนี้ ซานดี มิ้น อ่อง เป็นผู้สนับสนุนตัวยงของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อน ตำรวจจับกุม ซานดี มิ้น อ่อง เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาคือวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ฝ่ายโจทก์พยายามยืนขอไม่ให้มีการประกันตัวจำเลยแต่ก็ถูกปฏิเสธคำขอนี้ ทีมวิจัยด้านกฎหมายโทรคมนาคมเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการปกครองภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ก็มีคดีความที่อ้างใช้มาตรา 66(d) ในกฎหมายโทรคมนาคมพม่าแล้ว 60 คดี มีการตัดสินแล้ว 11 คดี โดยที่มี 6 คดีที่จำเลยถูกสั่งคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวหรือบางส่วนก็ยังรอการไต่สวนคดีอยู่ ทีมวิจัยยังระบุอีกว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดีอูเต็งเส่งมีคดีจากกฎมายนี้ 7 คดี และมีการตัดสิน 5 คดี องค์กรอย่างอาร์ติเคิล 19 และฮิวแมนไรท์วอทช์ต่างก็แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาลทหาร โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 66(d) ของกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเกรงว่าจะถูกเอามาใช้ในทางการเมืองหรือด้วยข้ออ้างอื่นๆ ทางด้าน อาร์ติเคิล 19 ระบุว่า กฎหมายโทรคมนาคมของพม่าแม้จะมีข้อดีบางส่วนอย่างการส่งเสริมความหลากหลายของสื่อผ่านการแข่งขันกับภายนอก แต่กฎหมายนี้ก็ล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีนิยามบางส่วนในกฎหมายที่ไม่ชัดเจน มาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคมระบุว่าผู้ใดที่กระทำการ "ขู่กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่บังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดๆ ทำให้เสียชื่อเสียง ก่อกวน ส่งอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม หรือคุกคามบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม" จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 3 ปี เรียบเรียงจาก Woman Sentenced Under Article 66(d) for 'Insults' to Daw Aung San Suu Kyi, Irrawaddy, 26-05-2017 Burma: Letter on Section 66(d) of the Telecommunications Law, Human Right Watch, 10-05-2017 Myanmar: Telecommunications Law ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุยกับกฤดิกร ตีแผ่เทรนด์ก่อการร้าย-มุ่งเอาตายมากขึ้น แนะรบ.ยอมรับเราอยู่กับภัยนี้จริง Posted: 27 May 2017 11:13 AM PDT สัมภาษณ์ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ชี้ทุกวันนี้มุ่งสังหารมากขึ้น ยิ่งคนกลัวยิ่งชอบ ขณะที่ประชาชน รัฐ ตอบโต้ผิดกลับไปเข้าทางผู้ก่อการ มองกลุ่มรัฐอิสลามเข้าใจสังคมดิจิตัลขยันออกมาแสดงความรับผิดชอบ รับมือก่อการร้ายแบบภัยสงครามไม่ได้ มีแต่จะตายสิบเกิดแสน แนะรัฐไทยต้องเริ่มเจรจากลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว ชี้หลังส่งทหารไป 13 ปีมีแต่แย่ลง สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่เสียงระเบิดจากเหตุก่อการร้ายขึ้นถี่เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ กลุ่มติดอาวุธอะบูไซยาฟ และ Maute ก่อเหตุยิงปะทะกับกองกำลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เมืองมาราวิซิตี้ บนเกาะมินดาเนา รวมถึงเหตุระเบิดพลีชีพในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระเบิดบิ๊กซี จังหวัดปัตตานี แม้แต่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในกรุงเทพฯ ยังไม่นับเหตุก่อการร้ายในเมืองหลวงของหลายประเทศตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกใบเดิมของเรากำลังหมุนไปข้างหน้า การก่อการร้ายก็เช่นกัน หากเราดูจากหน้าประวัติศาสตร์จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ เป้าหมาย และวัฒนธรรมในการก่อวินาศกรรม ทว่า ในปัจจุบัน ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของการก่อการร้ายลักษณะคล้ายๆกัน การขึ้นมาของกลุ่มรัฐอิสลามและวัฒนธรรมการขยันออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างรวดเร็ว กำลังสื่อถึง "เทรนด์" ที่เปลี่ยนไปในวงการการก่อการร้ายอย่างไร ประชาไท สัมภาษณ์ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้เขียนหนังสือ "THOU SHALL FEAR: เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ" ถึงลักษณะที่เปลี่ยนไปของการก่อการร้าย ทำไมต้องเลือกโรงพยาบาล โรงมหรสพ อิทธิพลของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในลักษณะของพ่อค้าทางความคิดและวิธีการที่ทำให้กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวฮอตฮิตติดตลาดโลกสมัยใหม่ที่ข้อมูลเคลื่อนที่รวดเร็วผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ข้อได้เปรียบของกลยุทธของกลุ่มก่อการร้าย ข้อเสียเปรียบของรัฐที่ไม่เคยเข้าใจวิธีการจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายสมัยใหม่จนทำให้จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน และกระบวนทัศน์ที่รัฐและสังคมไทยควรปรับเพื่ออยู่กับการก่อการร้ายให้ได้ 000000 ประชาไท: ลักษณะการก่อการร้ายในสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนอย่างไรกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช กฤดิกร: การก่อการร้ายแบ่งยุคหลักๆ เป็นสองยุคอยู่แล้ว แบบที่หนึ่งคือแบบเก่า โดยมากมักจะมีความชอบธรรมในการก่อเหตุบ้างในสายตาของคนหลายคน เพราะเป็นความรุนแรงที่ไม่มุ่งเน้นให้เกิดความตายขึ้น ถ้ามีคนตายก็ถือว่าตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ตาย มักจะเกิดขึ้นจากการเรียกร้องการถูกกดขี่บางประการ เช่นปาเลสไตน์ที่รบกับอิสราเอลเพื่อทวงดินแดนที่ถูกแย่งไป หรือเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ ก็เคยเป็นผู้ก่อการร้ายของขบวนการปลดแอกคนผิวดำในแอฟริกา แต่ตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมามีสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายแบบใหม่ ที่มุ่งเป้าให้เกิดเหยื่อจำนวนมาก (Massive Casualty) มีความพยายามที่จะใช้วิธีการที่ไร้มนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อสร้างหรือปลูกฝังความกลัวให้เกิดในสังคม ตรงนี้ผมคิดว่าคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ เช่นกรณีเหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎ สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกระเบิดโรงพยาบาล ผมไม่ขอพูดถึงการส่งสาส์นทางการเมือง เพราะมันบ่งชี้ชัดเจนมาก แต่การเลือกพื้นที่โรงพยาบาลมันมีความน่าสนใจที่สะท้อนการรับรู้ที่ไม่ตรงประเด็นของฝ่ายความมั่นคงและสังคมไทย พอมีเหตุก่อการร้ายขึ้นแล้วฝ่ายความมั่นคงออกมาบอกว่า ทำอย่างนี้ได้อย่างไร พื้นที่โรงพยาบาลเนี่ย แม้แต่สงครามยังต้องละเว้นเลย สิ่งนี้บอกว่าสังคมหรือหน่วยความมั่นคงเราไม่ใส่ใจรูปแบบภัยก่อการร้ายปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ว่ามีตรรกะหรือวิธีคิดแบบไหน เหตุผลที่โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ต้องห้าม มันเกิดจากข้อตกลงที่เกิดขึ้นสำหรับการสงคราม เป็นเงื่อนไขที่รัฐสมัยใหม่คุยกัน หน่วยงานกาชาดสากลก็มีกติกาว่า ไม่ว่าฝ่ายใดที่บาดเจ็บก็พร้อมจะรักษาให้หมด การระเบิดโรงพยาบาลจึงเป็นข้อห้ามเพราะมันส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย นี่คือวิธีคิดเรื่องสงครามบนเงื่อนไขรัฐสมัยใหม่ แต่ผู้ก่อการร้ายไม่ได้ใส่ใจ ในทางตรงกันข้าม เขาพยายามทำลายแกนกลางของตรรกะ วิธีคิดสมัยใหม่ เพราะต้องการสร้างและกระจายความกลัว การก่อเหตุในพื้นที่ที่สร้างความกลัวได้มากกว่าเป็นเป้าหมายของเขาอยู่แล้ว ผมขอยกตัวอย่าง ในสังคมสมัยใหม่จะมีพื้นที่ยกเว้นหรือสิ่งต้องห้าม การทำลายพื้นที่ยกเว้น พื้นที่ต้องห้ามจะทำให้เรากลัวมากขึ้น หรือเรารู้สึกกับมันรุนแรงขึ้น สมมติว่า มีคนที่ไปข่มขืนคนที่อายุ 35 ปี กับข่มขืนเด็กอายุ 12 ปี พฤติกรรมเดียวกันแต่เราจะรู้สึกว่าการข่มขืนเด็กอายุ 12 ปีเป็นการกระทำที่รุนแรงกว่า เพราะความเป็นเด็กในคติของสมัยใหม่เป็นพื้นทีต้องห้าม ควรได้รับการปกป้องจากสังคม ฉะนั้นการทำร้ายหรือข่มขืนเด็กจึงเป็นการสร้างความรู้สึกที่รุนแรงกว่าการทำกับผู้ใหญ่ การก่อการร้ายก็เช่นกัน หากใช้ทรัพยากร ขีดความสามารถเท่ากัน การเลือกที่จะระเบิดโรงพยาบาล หรือค่ายทหารก็จะทำให้ประชากรมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป เพราะในแง่หนึ่ง เรารู้สึกว่าค่ายทหารเป็นจุดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ มีการเผื่อใจไว้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเอี่ยวโดยตรงกับความรุนแรง ฉะนั้นแม้เราไม่อยากให้เกิดแต่เราก็จะทำใจได้มากกว่า กลัวน้อยกว่า แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างโรงพยาบาล โรงเรียน โรงละคร โรงหนัง เราไม่คิดว่ามันจะเกิดเพราะมันเป็นพื้นที่ต้องห้าม พื้นที่ยกเว้นในตรรกะวิธีคิดแบบรัฐสมัยใหม่ เวลามันเกิดขึ้นเราจะรู้สึกทันทีว่า มันเกิดขึ้นได้ทุกที่ จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัยอีกแล้ว ฉะนั้น เวลาฝ่ายความมั่นคงไปประณามว่าทำกับโรงพยาบาลได้ไง มันเป็นการอธิบายที่ไม่เข้าใจตรรกะวิธีคิดของการก่อการร้ายในยุคนี้เลย แล้วการก่อการร้ายแบบนี้มันมีประสิทธิภาพจริงหรือเราต้องเข้าใจว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้แคร์สังคม ไม่มีใครโง่ขนาดที่จะไม่รู้ว่าไประเบิดโรงละคร โรงพยาบาลแล้วจะไม่โดนประณาม แต่เราด่า เราประณามไปเขาก็ไม่แยแส ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรประณามนะ ประณามไปเถอะ ผมก็พร้อมจะสนับสนุนการประณามด้วย เพียงแต่มันไม่ได้นำไปสู่ผลในทางปฏิบัติใดๆ ตรงกันข้าม การประณามหรือการกดดันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ถัดไปที่กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มต้องการ เราต้องเข้าใจว่ารัฐสมัยใหม่คือการทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความมั่นคงกับประชากร ก่อนจะมีรัฐสมัยใหม่เราถามหาความมั่นคงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยคุ้มครองให้เราเดินทางปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ แต่พอเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้น การถามหาความคุ้มครองเปลี่ยนไปจากพระเจ้าเป็นรัฐ เราต้องการให้มีระบบตำรวจ กฎหมายที่เข้มแข็งในการป้องกันโจรผู้ร้าย เราต้องการระบบสาธารณสุขที่ดีในการรักษาเราจากโรคภัยไข้เจ็บ พูดง่ายๆ รัฐกลายเป็นผู้รักษาความมั่นคง ช่วยรักษาชีวิตของเราให้ได้นานที่สุด ดังนั้น หากเกิดการก่อการร้าย ในพื้นที่ที่สร้างความกลัวได้มากที่สุด มันทำให้สังคมเกิดแรงกดดันกับรัฐ หรือผู้ปกครองของตนเองที่มีหน้าที่ต้องจัดหาความมั่นคงให้กับเขาตามพันธสัญญา ให้มีการตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดและรุนแรง แต่ต้องเข้าใจว่า มาตรการรุนแรงของรัฐทั้งการประณาม หรือส่งกำลังไปฆ่ามันไม่แก้ปัญหา ในทางตรงข้ามมันเป็นการเพิ่มปริมาณผู้ก่อการร้าย เราต้องนึกภาพว่า คนที่เอาระเบิดมาพันตัว มาระเบิดพลีชีพเขาไม่ได้กลัวความตาย เขาพร้อมจะสละชีวิตของเขาเพื่อความเชื่อบางประการที่เขาเชื่อว่ามีคุณค่าเหนือกว่าชีวิตเขาตั้งแต่ต้น แล้วคุณเอาปืนไปยิงเขาแล้วไง ก็เขาไม่ได้กลัวตายตั้งแต่ต้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ก่อเหตุก่อการร้ายส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าตนเป็นฝ่ายถูกกดดัน และเขาต้องการเรียกร้องออกมา แต่เขามองไม่เห็นวิธีที่จะเรียกร้องกับรัฐนอกจากการใช้ความรุนแรง ถ้ารัฐมีมาตรการตอบโต้ที่เกรี้ยวกราดจากแรงกดดันของสังคม คุณต้องเข้าใจว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะสังหารหรือปราบปรามผู้ก่อการร้ายได้ถูกต้องทุกคน มันต้องมีลูกหลง มีคนซวยจากการปราบปราม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ถล่ม ในปี 2544 สหรัฐฯ ส่งกองทัพไปทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ในอิรักและที่อื่นๆ มีคนเสียชีวิตราว 3 แสนถึง 2 ล้านคน ไม่มีทางที่คนจำนวนเท่านั้นจะเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมด คือมีคนที่ซวย เท่ากับมีคนที่ได้รับการกดขี่จากนโยบายของรัฐตะวันตกมากขึ้น เมื่อมีผู้ถูกกดขี่มากขึ้น หมายความว่า แนวร่วมของผู้ก่อเหตุจะขยายตัวมากขึ้น นั่นคือสิ่งหนึ่งที่เขาคาดหวังได้จากการสร้างความกลัว และมันสำเร็จได้ เขาไม่ได้แคร์สังคมที่จะประณามหรือก่นด่าเขาอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าอย่างไรเขาก็โดนก่นด่า แต่สิ่งที่ได้มาคือนโยบายปราบปรามของรัฐที่เพิ่มแนวร่วมให้เขาได้ สอง มันเป็นการส่งข้อความบางประการว่า เรามีข้อเรียกร้อง เราไม่พอใจกับนโยบายของรัฐ เราไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร แต่อย่างน้อยสาส์นที่ต้องการจะส่งนั้นชัดเจน ว่าเขาไม่พอใจรัฐบาล หรือไม่พอใจนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลนี้ เพราะเขาก่อเหตุในวันครบรอบสามปีรัฐประหาร ในโรงพยาบาลทหาร และในห้องวงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนามสกุลของคนที่กุมบังเหียนเรื่องความมั่นคงสูงสุดของไทย และในห้องนั้นยังมีทหารสัญญาบัตรทั้งที่เกษียณและยังไม่เกษียณ นี่คือความสำเร็จอย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยๆเขาส่งสาส์นให้สังคมว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้อยู่ ขยับไปในระดับนานาชาติ กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) เข้ามามีบทบาทในวงการก่อการร้ายมากขึ้น เหตุก่อการร้ายก็ถี่ขึ้น สะท้อนอะไรผมคิดว่ามันสะท้อนสิ่งสำคัญสองสามอย่าง ประการแรก สังคมไทยต้องโทษสายตาตัวเองที่เพิ่งมารู้ว่าการก่อการร้ายมันถี่ขึ้น ภัยก่อการร้ายไม่ใช่ภัยที่เพิ่งเกิด มันเกิดในบ้านเราถี่พอสมควร แต่พอมาเกิดใกล้ตัว เกิดที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็รู้ตัว แล้วเราก็เริ่มไปมองเห็นปรากฏการณ์รอบตัวเราขึ้นมาบ้าง ทั้งที่ความถี่มันมีมา 2-3 ปีแล้ว ประการที่สอง วัฒนธรรมการขยันเคลมของ IS ส่วนหนึ่งคือเพราะเขาเข้าใจสังคมดิจิตัลสมัยใหม่มาก ดังนั้นเขาเข้าใจเรามากกว่าเข้าใจเขาแน่ๆ สังคมในยุคดิจิตัลเป็นสังคมที่เรารับรู้แบบกระโดดไปมา เราไม่ได้ฟังเพลงเป็นอัลบัมเต็มมานานแล้ว การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เราไม่มีความอดทนเสพอะไรยาวๆ เพลงเลยออกมาเป็นซิงเกิล มีวัฒนธรรมของ Youtube หรือแม้แต่การเลื่อนฟีดเฟซบุคอ่านสเตตัสสั้นๆ เราไม่ได้สนใจความต่อเนื่องของเวลาอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนการรับรู้ของสังคมไป เราไม่ต้องการรอคำตอบนานจนเกินไป เราต้องการคำตอบที่มาทันที ผมคิดว่า IS เข้าใจลักษณะสังคมแบบนี้ดี เราต้องยอมรับว่า IS เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อได้อย่างชำนาญมาก การเคลมเร็วของ IS ไมว่าบางครั้งจะเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับเขาน้อยมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็เคลมเพื่อเป็นการอุดช่องเพราะคนในสังคมต้องการรู้คำตอบทันที การเคลมจึงตอบโจทย์ยุคนี้ และทำให้ชื่อของเขาติดตลาด ประการสุด คือคำถามที่ว่าทำไมถึงถี่ขึ้น มันบ่งบอกว่านโยบายการจัดการการก่อการร้ายในปัจจุบันมันไม่สำเร็จ เรามีแนวทางจัดการการก่อการร้ายเหมือนจัดการกับภัยสงครามแบบนี้ตั้งแต่สมัย ปธน. เรแกน มาเด่นชัดสุดตอนประธานาธิบดีบุชผู้ลูกกับการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เวลาคุณไปก่อสงครามมันไม่ได้ฆ่าผู้ก่อการร้ายอย่างเดียวแต่มันเพิ่มจำนวนผู้ถูกกดขี่มากขึ้นด้วย มันทำให้ภัยเล็กๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น ภาษาวิชาการคือคำทำนายที่เติมเต็มตัวเอง (Self-fulfilling prophecy) คือ เดิมทีเราทำนาย หรือมองไปเองว่าภัยก่อการร้ายเป็นภัยที่ใหญ่ ทั้งที่ของจริงมันเล็กนิดเดียว ทำให้เราเล่นใหญ่เกินจริง สุดท้ายภัยมันขยายใหญ่โตอย่างที่เราคิดเอาไว้จริงๆ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเราไม่เข้าใจธรรมชาติเขา เขาไม่กลัวความตายเราก็ไปมอบความตายให้เขา ฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน ฝ่ายความมั่นคงทั่วโลกพยายามเคลมว่าตนเข้าใจภัยก่อการร้ายนั้น ที่จริงไม่ใช่เลย สิ่งที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายสู้กับรัฐได้ ทั้งที่รัฐมีทรัพยากร งบประมาณ อาวุุธที่เหนือกว่า เพราะเขาต่อสู้ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ เขาเข้าใจรัฐมากกว่าที่รัฐเข้าใจพวกเขา เขาเข้าใจว่าสังคมสมัยใหม่กลัวอะไร มีจุดอ่อนที่ไหน เรากลัวความตาย เรากลัวระเบิด ในขณะที่เราไม่เคยเข้าใจจริงๆเลยว่าเขากลัวอะไร จุดอ่อนคืออะไร ทำไมแนวร่วม IS ถึงมีจำนวนมากเวลาเราพูดเรื่องแนวร่วม มันต้องพูดในสองแง่ อย่างแรก เรารู้สึกว่า การก่อการร้ายในยุโรป มันมีผู้ก่อการร้ายที่เกิดและโตในที่เกิดเหตุ หรือ Homegrown terroristมากขึ้นเหลือเกิน อันนี้เป็นปัญหาการมองของเราเองด้วย เพราะเวลาเรามองว่ามันเยอะขึ้น คือเรามองการเกิดขึ้นของผู้ก่อการร้ายในตะวันตก ทั้งที่จริงแล้วกำลังหลักอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่เรายังไม่เห็น มันมีคำอธิบายในเรื่องการเกิดขึ้นของ Homegrown terrorist ที่สมาทานแนวคิดของ IS ว่า กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 หรือ 3 อย่างเหตุการณ์ที่แมนเชสเตอร์ ก็เป็นรุ่นที่ 2 พ่อเขาอพยพมาจากลิเบีย ข้อสังเกตทางวิชาการมีอยู่ว่า คนรุ่นที่ 1 เป็นคนที่อพยพหนีความแร้นแค้น ภัยคุกคาม จากพื้นที่ที่เขาอยู่มาสู่โลกตะวันตก แม้ว่าในโลกตะวันตก เขาจะรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประชากรคนอื่นๆหรือกลุ่มประชากรหลัก แต่คนรุ่นแรกก็รู้สึกว่ามันยังดีกว่าสภาพเดิมที่ฉันจากมา เขาจึงมีแนวโน้มที่จะมีความอดทนต่อการถูกกดขี่ แต่คนรุ่นที่ 2 และ 3 ที่เกิดและโตในสภาพแวดล้อมใหม่ ที่ยังคงได้รับการเลือกปฏิบัติ แต่เขาไม่มีความอดทนอย่างที่คนรุ่นแรกมีเพราะไม่เคยผ่านความลำบากมาก่อน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะอ้าแขนรับใครก็ตามที่ทำลายวิธีคิดที่กดขี่เขาอยู่ พร้อมต้อนรับคนที่ปฏิบัติตัวกับพวกเขาอย่างไม่กดขี่ นี่ทำให้ IS ตอบโจทย์ เป็นไปได้ไหมที่จะเกิดการก่อการร้ายโดย IS ขึ้นในไทย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอบได้ง่ายๆว่ามีสิทธิ์เกิด แต่ว่ามีสิทธิ์มากน้อยขนาดไหนมันแล้วแต่คนจะประเมิน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า IS เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงไม่ว่าจะในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ในไทยยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่ผมคิดว่ากรณีของไทยเราควรให้นำ้หนักเกี่ยวกับการก่อการร้ายภายในปะรเทศ มากกว่าการโยงกับการก่อการร้ายข้ามชาติ ถ้าถามว่ามีสิทธิ์ที่ IS จะแทรกซึมเข้ามาในไทยไหม ผมว่าก็มีสิทธิ์ ถ้าผมประเมินเป็นการส่วนตัว ผมไม่คิดว่าไทยจะเป็นตัวเลือกแรกๆที่ IS จะแทรกแซง เขามีแนวโน้มที่จะเลือกประเทศอื่น ที่เป็นประเทศมุสลิมมากกว่าประเทศไทย เพราะเป้าหมายของ IS คือการสร้างรัฐอิสลาม ในกรณีไทยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนรัฐไทยเป็นรัฐอิสลาม นอกจากรัฐไทยจะมีนโยบายกดขี่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนักข้อกว่านี้ขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มได้ที่ IS จะเข้ามามากขึ้นถ้าเขาเล็งเห็นว่าสามารถเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของเขาได้ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อ คือถ้าเรายังเข้าใจการก่อการร้ายผิดและรับมือมันในลักษณะของภัยสงคราม เราก็ไม่มีทางแก้ปัญหาและมันจะน่ากลัวขึ้น นี่คือทฤษฎีโดมิโนยุคหลังสงครามเย็นไหมแนวคิดโดมิโนมาจากคำอธิบายเรื่องการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น ซึ่งสะท้อนกับนโยบายปราบปราม ป้องปรามการก่อการร้ายในปัจจุบัน ที่มีลักษณะการล้อมกรอบไม่ให้ภัยขยายตัว ซึ่งใช้ในยุคสงครามเย็นเพื่อป้องกันการขยายตัวแบบโดมิโน เพียงแต่ในยุคสงครามเย็นนั้นสำเร็จ เพราะในยุคนั้นพยายามจำกัดการขยายตัวของประเทศคอมมิวนิสต์ เขาพยายามป้องกันการขยายตัวของประเทศ แต่ประเทศมันอยู่กับที่ คุณไปล้อมกรอบมันได้ มันก็มีแนวโน้มสำเร็จสูง แต่กลุ่มก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่ประเทศ มันไม่อยู่นิ่ง คุณไปล้อมกรอบเขาจุดหนึ่ง เขาก็สามารถเปลี่ยนจุดก่อเหตุได้ มันจึงทำให้นโยบายนี้ไม่ตอบโจทย์ คุณปิดเขาที่หนึ่ง เขาก็ไปก่ออีกที่หนึ่ง การมองปัญหาแบบสงครามมันใช้ไม่ได้ แล้วไทยจะรับมือกับสภาพการก่อการร้ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไรต้องตอบเป็น2 ระดับว่ารัฐบาลจะรับมืออย่างไร และสังคมจะรับมืออย่างไร ขั้นแรก ทั้งรัฐบาลและสังคมต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เราอยู่กับภัยก่อการร้ายจริง ตอนนี้เรากำลังหลอกตัวเองอยู่ว่าเราไม่มีภัยก่อการร้าย เราอยู่กับภัยก่อการร้ายที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มา 13 ปี แต่เราไม่เคยยอมรับ ทั้งๆ ที่ทั่วโลกก็เห็นตรงกันหมดว่าเป็นการก่อการร้าย สมมติว่าผมเป็นนายกฯ ญี่ปุ่น หรือเป็นคนในสังคมญี่ปุ่น มันจะตลกมากถ้ามีแผ่นดินไหว มีภูเขาไฟระเบิดแล้วผมบอกว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหว ไม่ใช่ภูเขาไฟระเบิด จงเชื่อที่ฉันบอก อย่าเชื่อสิ่งที่ตาเห็น บ้านเรากำลังเป็นแบบนั้น นั่นคือสิ่งแรกที่สังคมไทยและรัฐบาลทำได้ คือต้องยอมรับเสียก่อน อย่างที่สอง หาทางป้องกันหรืออยู่กับมันให้ได้ เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะแบบเดียวกันมาได้ เราอย่าไปคิดว่าเป็น Thailand only ทั้งที่จริงไม่ใช่ มันมีประเทศอื่นที่ผ่านลักษณะแบบนี้มาหลายประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ในยุคเนลสัน แมนเดลา ที่พยายามปลดแอกคนผิวสีออกจากรัฐบาลคนผิวขาวก็รบกันจนเละเทะ จนสุดท้ายทนไม่ไหวก็ต้องมาพูดคุย ในที่นี้คือพูดคุยแบบพร้อมที่จะรับฟังเงื่อนไข ข้อเรียกร้องของผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่พูดคุยพอให้ได้ชื่อว่าพูดคุย สุดท้ายปัญหาก็คลี่คลายลงได้ หรือในกรณีของ IRA (Irish Republican Army) ในสหราชอาณาจักรที่พยายามแยกตัวออกมาจากสหราชอาณาจักร ก็รบกันเละเทะกว่าบ้านเรา สุดท้ายอังกฤษไม่ไหว ต้องยอมพูดคุย เจรจาว่าจะทำข้อเรียกร้องได้ขนาดไหน อะไรบ้าง กลุ่ม IRA กลุ่มใหญ่ๆก็สลายไป เหลือแต่กลุ่มเล็กๆ ที่อาจจะไม่พอใจนโยบายบางส่วน แต่ว่าความเข้มข้นของการก่อเหตุลดลงไปกว่า 90 เปอร์เซนต์ นั่นคือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ในเมื่อมีคนที่เคยเผชิญในสิ่งที่เรากำลังเผชิญมาก่อน แล้วเรารู้ว่าสุดท้ายมันจะนำเราไปสู่จุดไหน แล้วทำไมเราต้องรอให้ทุกอย่างมันเละเทะ พังพินาศก่อนแล้วจึงค่อยมาคุยกันล่ะ มนุษย์ควรมีศักยภาพในการลัดขั้นตอนจากการศึกษาอดีตได้ เราข้ามไปคุยกันเลยไม่ได้เหรอ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะถามฝ่ายความมั่นคง เราควรหยุดนโยบายการส่งกำลังลงไปในพื้นที่ เราส่งกันมา 13 ปีแล้ว มีอะไรดีขึ้น ผมก็เห็นแย่ลงทุกวัน มีระเบิดบิ๊กซี 7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ตอนบนบ้าง เราได้อะไรจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ซ้ำๆ มีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะยังไม่มีสติปัญญาแล้วทำแบบเดิมอยู่ทำไม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชื่อสกุลซ้ำ ‘อับดุลเลาะ สาแม’ คดีระเบิดห้างสมุย ประกาศจับคนหนึ่ง-จับจริงอีกคน ล่าสุดโยงบอมบ์บิ๊กซี Posted: 27 May 2017 05:02 AM PDT ชื่อสกุลซ้ำ นอกจากติดแบล็คลิสธาคารแล้ว อาจซวยติดคุกฟรี? เปิดกรณี 'อับดุลเลาะ สาแม' ผู้ถูกจับ-ขังในคดีระเบิดห้างสมุย มา 2 ปีแล้ว พบประกาศจับคนหนึ่งจับจริงอีกคน เลขบัตรประชาชนตามหน้าสื่อไม่ตรงกัน แถมล่าสุดถูกโยงคาร์บอมบ์บิ๊กซี ภาพเหตุระเบิดคาร์บอมบ์หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังเหตุระเบิดคาร์บอมบ์หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา นำมาสู่การเชื่อมโยงของเจ้าหน้าที่และออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอย่างต่อเนื่อง ตามที่สื่อหลายสำนัก เช่น ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และช่อง 7 ที่รายงานตรงกันว่า เจ้าหน้าที่ประมวลพยานหลักฐานระบุกลุ่มผู้ก่อเหตุ เชื่อว่าเชื่อมโยงกับมือระเบิดที่เคยถูกออกหมายจับคดีค้างเก่าก่อนหน้านี้ 2 คน และหนึ่งในนั้นคือ 'อับดุลเลาะ สาแม' ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับคดีเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ร้านอาหารมิดติ้ง ติดกับฐานหน่วยปฏิบัติการพิเศษตะวันปัตตานีคอนกรีต เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2559 ตามหมายจับ ระบุว่า อับดุลเลาะ สาแม เป็นชาวจังหวัดปัตตานี อายุ 27 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 167 ม.3 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ถือบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ XXXXXXXXXX-95-6 ปัจจุบันกำลังหลบหนีการจับกุม
ภาพหมายจับ อับดุลเลาะ สาแม (ที่มาของภาพ : http://www.southernreports.com/?p=2243) จากรายงานข่าวของ ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.58 ระบุว่า ตามหมายความอาญาที่ศาลเคยอนุมัติออกหมายจับต่อ อับดุลเลาะ สาแม ในคดีก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2558 พร้อมพวกอีก 5 คน นำมาสู่การขึ้นป้ายประกาศจับทั่วจังหวัดในภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง และเผยแพร่ต่อผ่านสื่อต่างๆ เช่นที่ ผู้จัดการออนไลน์ และ ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานเมื่อ 13 ก.ย. 2559 ภาพ ป้ายไวนิลขนาด 3 x 4 เมตร ที่จังหวัดกระบี่ (ที่มาของภาพ ผู้จัดการออนไลน์ และ ข่าวเวิร์คพอยท์ หลังเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ลานจอดรถห้างที่สมุย ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2559 เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ร้านอาหารมิดติ้ง ติดกับฐาน ปฎิบัติการ มว.ฉก.นปพ.11 (ชุดเฉพาะกิจ หน่วยปฏิบัติการตำรวจพิเศษจังหวัดปัตตานี) ตามรายงานข่าวของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ระบุว่า มีพยานบุคคลยืนยันว่า อับดุลเลาะ สาแม มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จนมาสู่การออกหมายจับอีกครั้ง ล่าสุดปีนี้ เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าสันนิษฐานจากการประมวลพยานหลักฐานโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ว่าเหตุระเบิดครั้งนี้ อับดุลเลาะ สาแม มีความเชื่อโยงกับเหตุการณ์ด้วย ชื่อสกุลซ้ำกัน กว่า 10 ล้าน หลายคนซวยโดนคดี : 'อับดุลเลาะ สาและ-อับดุลเลาะ อาแว' ติด 2 ใน 5 ซ้ำมากสุดสำนักข่าวไทยได้รายงานไปเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2560 พบว่าปัจจุบันผู้ที่มีชื่อสกุล "ซ้ำกัน" มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน โดยได้นำชื่อสกุลที่ใช้ซ้ำกันมากที่สุด 5 อันดับในประเทศไทยมาเปิดเผยให้ทุกคนได้ทราบกัน และ 2 ใน 5 อันดับนั้น ปรากฎว่ามีชื่อ "อับดุลเลาะ สาและ" ซึ่งติดอันดับ 2 ในประเทศไทยที่มีผู้ใช้ชื่อสกุลมากถึง 289 คน และชื่อ "อับดุลเลาะ อาแว" ติดอันดับ 4 ในประเทศไทยที่มีผู้ใช้ชื่อสกุลนี้มากถึง 215 คน จากรายงานของสำนักข่าวไทยดังกล่าวได้ยกกรณีปัญหาของชื่อสกุลซ้ำ เช่นกรณีแม่ค้าขายหอยทอดที่สมุทรสงคราม ถูกศาลแพ่งฟ้องให้ชดใช้หนี้ เป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท หลังมีชื่อสกุลซ้ำกับบุคคลหนึ่ง สำนักทะเบียนราษฎร์อำเภอบางคนทีตรวจสอบพบว่าเป็นการส่งหมายศาลผิดคน เพราะผู้ที่จะต้องถูกฟ้องตัวจริงมีชื่อสกุลสะกดเหมือนกับเธอ แต่เป็นผู้ชาย และมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักที่แตกต่างกัน บริษัทเอกชนจึงขอถอนฟ้องและขออภัยในความผิดพลาด หรือแม้แต่ ผู้ประกาศข่าววิทยุของ อสมท. เอง ก็มีปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตามปกติมาหลายปีแล้ว เพราะมีคนใช้ชื่อสกุลเดียวกันกับเขาอยู่เกือบ 10 คน หลายคนมีคดีความ ถูกขึ้นบัญชีดำกับธนาคาร ดังนั้น การทำนิติกรรมสำคัญ เช่น ธนาคารหรือ การออกหมายศาล กรมการปกครองแนะนำว่า ควรตรวจสอบชื่อนามสกุล และตรวจทานเลข 13 หลัก ว่าเป็นบุคคลที่ต้องการจะส่งสารถึงให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดและสร้างความเดือดร้อน ชื่อสกุลซ้ำ อับดุลเลาะ สาแมแน่นอนว่าชื่อ อับดุลเลาะ สาแม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่คนเดียว ซึ่งสำหรับชื่อสกุลนี้ "ซ้ำกัน" มากกว่า 1 แน่นอน แม้ไม่ได้ติด 2 ใน 5 อย่าง อับดุลเลาะ สาและ กับ อับดุลเลาะ อาแว ก็ตาม จากการทดสอบค้นชื้อในเฟซบุ๊กก็มีผู้ใช้ชื่อนี้จำนวนมากเช่นกัน ตัวอย่างผู้ใช้ชื่อ อับดุลเลาะ สาแม ในเฟซบุ๊ก ดังนั้นประเด็นชื่อสกุลซ้ำกันนี้ย่อมมีผลกระทบกันแน่นอน หากไม่มีการตรวจทานเลขบัตรประจำตัวประชาชนตามไปด้วย เพราะเมื่อเป็นคดีความ ก็อาจเกิดการฟ้องร้องผิดคนได้ อย่างเช่น กรณีของบุคคลที่ชื่อ "อับดุลเลาะ สาแม" ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน โดยเมื่อจากเหตุการณ์ระเบิด ลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2558 มีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นาๆ บ้างก็ว่าเป็นการก่อเหตุของคนเสื้อแดง บ้างก็ว่าเป็นการก่อเหตุของอดีตกลุ่มนักการเมืองภาคใต้ผ่านสื่อต่างๆ มาสักระยะหนึ่ง จนนำมาสู่การประกาศจับ 5 ราย โดยมีการติดแผ่นป้ายคัทเอาท์ขนาดใหญ่ในพื้นที่ทั่วภาคใต้ หนึ่งในนั้นชื่อ "อับดุลเลาะ สาแม" แต่การจับกุมปรากฎว่ากลายเป็นอีกคนหนึ่งที่มีชื่อสกุลเหมือนกันนั้นก็คือ "อับดุเลาะ สาแม" อายุ 25 ปี อาศัย ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ถือบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ XXXXXXXXXX-85-1 ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2558 และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2558 ตามหมายจับศาลจังหวัดเกาะสมุยที่ 47/2558 ลงวันที่ 13 พ.ค.58
อย่างไรก็ตามหากทุกคนสังเกตุดูเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของทั้งสองคนที่มีชื่อคล้ายกันอย่าง "อับดุลเลาะ สาแม" จะเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละคนกัน ซึ่งจากการประกาศจับของเจ้าหน้าพร้อมรูปภาพที่เจ้าหน้าไปติดบนป้ายขนาดใหญ่และตามสื่อต่างเป็น "อับดุลเลาะ สาแม (A)" ถือบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ XXXXXXXXXX-95-6 ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมกลับเป็น "อับดุลเลาะ สาแม (B)" กลับเป็นผู้ที่ถือบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ XXXXXXXXXX-85-1 ถ้าหากการจับกุม "อับดุลเลาะ สาแม" ครั้งนี้เป็นการจับฟ้องร้องผิดคน แน่นอนวันนี้เขาถูกคุมขังฟรีไปถึง 2 ปี เนื่องจากเขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2558 จนถึงปัจจุบัน สำหรับคดีนี้จำเลยได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ล่าสุดทนายความได้แจ้งมายังผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ศาลกำหนดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มิ.ย.2560 ที่ ศาลมณฑลทหารบกที่ 45 จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' วิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. Posted: 27 May 2017 04:37 AM PDT บทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน "อภินิหารทาง "กฎหมาย" สถาบันตุลาการกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557" 27 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกบทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. โดยระบุว่าแม้ว่าการใช้กำลังทางทหารจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำรัฐประหาร แต่รัฐประหารและระบอบที่สถาปนาขึ้นใหม่จะไม่สำเร็จและไม่สามารถดำเนินไปได้ หากปราศจากบทบาทของสถาบันตุลาการ ในยุคสมัยใหม่ การที่ระบอบการปกครองซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหารจะสามารถใช้อำนาจควบคุมสังคมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลบล้างภาพลักษณ์การปกครองบนฐานอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้นำทหารในทางรูปแบบลง แปลงลักษณะการใช้อำนาจดิบผ่านกระบอกปืนให้กลายมาเป็นการใช้อำนาจตาม "กฎหมาย" ซึ่งเป็นคุณค่าสากลในปัจจุบัน แม้ว่าภายใต้รูปแบบการปกครองโดยกฎหมายนี้ ในทางเนื้อหาแล้วเผด็จการทหารยังคงใช้อำนาจตามอำเภอใจ ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ และเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงก็ตาม อย่างไรก็ตาม การ "พรางอำนาจปืนในรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม" ไม่อาจดำเนินไปได้เลย หากสถาบันตุลาการไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างความชอบธรรมหรือเป็นเสาค้ำยันอำนาจให้แก่ระบอบเผด็จการ ตลอดจนทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมลายพรางใช้บังคับได้จริง ในวาระครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอทบทวนบทบาทของสถาบันตุลาการภายใต้ระบอบของคณะรัฐประหารตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากทบทวนความหมายของ "กฎหมาย" ของคณะรัฐประหาร สถานการณ์การบังคับใช้ "กฎหมาย" ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ไปจนถึงบทบาทของสถาบันตุลาการต่อรัฐประหารและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร 1. "กฎหมาย" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคืออะไร? "กฎหมายผมพูดหลายครั้งแล้ว กฎหมายคือสร้างความเท่าเทียมให้กับโลกมนุษย์บนโลกมนุษย์ใบนี้ ให้คนทุกคนต้องเคารพกฎหมายอันเดียวกัน ใช่ไหมล่ะ ถ้ากลับมาย้อนถามผม แล้วผมต้องเคารพกฎหมายไหม ผมก็เคารพ ใช่ไหม แต่กฎหมายผมมีของผมเอง แต่กฎหมายปกติผมไม่เคารพอยู่แล้ว" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (29 มิถุนายน 2559) "วันข้างหน้าถ้าไม่มีมาตรา 44 ไม่มี คสช. เราจะอยู่กันอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร การใช้กฎหมู่ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันจะนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวายในที่สุด… คสช. ขอเรียนยืนยันที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่าง เป็นธรรมและเสมอภาค มีมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมตามขั้นตอนเพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมือง และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคงคำสั่ง [หัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 ในการให้อำนาจและกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายบริเวณวัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ] ดังกล่าวไปอีกระยะหนึ่งจนเป็นที่มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินไปตามกรอบและคำสั่งของศาล และกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์" พ.อ. ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. (27 กุมภาพันธ์ 2560) แม้ว่าการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐอย่างร้ายแรง แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับนำเสนอต่อสาธารณะเสมอว่าพวกตนดำเนินการและทำหน้าที่ตาม "กฎหมาย" พร้อมกับขอให้ประชาชนทุกคนเคารพ "กฎหมาย" เพื่อให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ส่วนกลุ่มบุคคลที่แสดงออกว่าไม่ยอมรับหรือต่อต้าน คสช. นั้น ก็มักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกไม่เคารพหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คำถามคือ "กฎหมาย" ที่ คสช. อ้างถึงนั้นคืออะไร หลังรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน (22 พฤษภาคม 2560) คสช. ได้ออกประกาศ คสช. จำนวน 125 ฉบับ คำสั่ง คสช. จำนวน 207 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 152 ฉบับ มาบังคับใช้กับประชาชน ซึ่ง "เนติบริกร" ของคณะรัฐประหารได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้แก่คำสั่งและประกาศเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และฉบับถาวร พ.ศ.2560 แม้ว่าในทางเนื้อหาคำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารจะขัดต่อคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐ โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ก่อให้เกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ การซ้อมทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย ตลอดจนละเลยสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นเองโดย คสช. ยังตรากฎหมายออกมาอีกจำนวน 239 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับออกมาอย่างเร่งรัดและมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวได้ว่า ครั้งนี้นับเป็นระบอบรัฐประหารที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ต่อประชาชนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคราวรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ออกประกาศและคำสั่งเพียง 34 และ 18 ฉบับตามลำดับ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แล้วไม่ได้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายโดยตรงอีก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โฆษก กห.เชื่อประชาชนไม่เห็นด้วย 'โกตี๋' ฝึกนักรบโค่นรัฐบาล Posted: 27 May 2017 03:49 AM PDT โฆษก กห.เชื่อประชาชนไม่เห็นด้วยโกตี๋ฝึกนักรบพลเรือนโค่นรัฐบาล ด้านโฆษก คสช. ระบุได้ประสานขอความร่วมมือเพื่อนบ้านไปแล้วแต่ยืนยันไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด ต้องติดตามตัวต่อไป 27 พ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ระบุผ่านรายการ Thaisvoice ซึ่งเผยแพร่ทาง youtube ว่า กำลังฝึกนักรบพลเรือนเพื่อโค่นรัฐบาลทหารว่าสังคมขณะนี้เป็นสังคมที่พัฒนาอยู่ในยุคที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ทราบว่าสิ่งที่โกตี๋ทำอยู่ขณะนี้ตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ จึงไม่แน่ใจว่าการปลุกระดมของโกตี๋จะได้รับการตอบรับจากประชาชน และโกตี๋ต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เพราะสิ่งที่เขาทำขัดต่อกฏหมายและบ่อนทำลายประเทศชาติ เมื่อถามว่าเชื่อหรือไม่ว่าโกตี๋ฝึกนักรบพลเรือนจริงตามที่ระบุ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่าแล้วแต่เขาเพราะเขามีหน้าที่พูดก็พูดไปเเต่คนไทยจะเห็นด้วยหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เชื่อว่าคนไทยด้วยกันไม่มีใครต้องการทำลายประเทศไทย ด้าน พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่โกตี๋อ้างว่าเหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฏเกล้าเป็นฝีมือทหารว่าต้องถามว่าพี่น้องประชาชนฟังคำพูดของคนหนีคดีด้วยหรือ "คนประเภทแบบนี้ มีเครดิตพอที่จะพูดให้คนรับฟังได้หรือเชื่อว่าคนไทยมีความรู้ มีวิจารณญาณ คงไม่สนใจคำพูดของคนเหล่านี้คนที่สร้างเรื่องสร้างราวมีคดีติดตัวตลอดชีวิตและหนีคดีไปต่างประเทศ" พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว เมื่อถามว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังประสานกับทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อติดตามตัวโกตี๋หรือไม่ พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่าได้ประสานขอความร่วมมือเพื่อนบ้านไปแล้ว แต่ยืนยันไม่ได้ว่าอยู่ที่ใดต้องติดตามตัวต่อไป แต่เชื่อว่าอยู่อย่างไม่มีความสุขเพราะหลบหนีคดี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ย. 2560 Posted: 26 May 2017 11:58 PM PDT กรมการจัดหางาน จัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่ง ให้ความคุ้มครอง ดูแล นายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เร่งจัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่งในประเทศไทยให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ย้ำเตือนนายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องมีใบอนุญาตทำงานเพื่อได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทยว่า นายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาการจ้างงาน ซึ่งบางรายพบว่าเป็นบริษัทโมเดลลิ่งที่ไม่ได้จัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางานจะได้เร่งหาแนวทางและมาตรการเพื่อให้บริษัทโมเดลลิ่งปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้นายแบบ นางแบบ ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการจัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่งต่อไป ในปีที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย จัดโครงการ "หยุด ! นางแบบนายแบบ และเด็กต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์" โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับโมเดลลิ่ง นางแบบ นายแบบชาวต่างชาติที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 19 พฤษภาคม 2560 มีผู้ได้รับอนุญาตทำงานตำแหน่งนายแบบ นางแบบ จำนวนทั้งสิ้น 882 คน โดย 5 อันดับแรกที่ขออนุญาตทำงานมากที่สุด คือ 1.รัสเซีย จำนวน 193 คน 2.ยูเครน จำนวน 130 คน 3.เกาหลีใต้ จำนวน 65 คน 4.จีน จำนวน 52 คน และ 5.ฟิลิปปินส์ จำนวน 43 คน ในขณะที่ปัจจุบัน (วันที่ 19 พฤษภาคม 2560) มีจำนวนคนต่างด้าวที่ทำงานในตำแหน่งนายแบบ นางแบบคงเหลือในประเทศ จำนวน 470 คน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนว่า นางแบบ นายแบบคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยหรือประสงค์จะทำงานในประเทศไทยทุกคนจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยผู้ที่ขอได้จะต้องมีวีซ่า NON – IMMIGRANT ที่ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว (TOURIST) หรือผู้เดินทางผ่าน (TRANSIT) แต่อย่างใด นายวรานนท์ฯ กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษหนักปรับตั้งแต่ 400,000 ถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่มา: กรมการจัดหางาน, 21/5/2560 แรงงาน เตือนนายจ้างแจ้งรายชื่อสารเคมีที่ใช้ ฝ่าฝืนผิด กม. กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยผลการตรวจสถานประกอบกิจการที่มีการใช้จัดเก็บสารเคมีอันตรายตามมาตรการ ๓-๓-๒ พบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้องเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยฯ มากสุด ย้ำนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายหากฝ่าฝืนมีโทษอาญา นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยถึงผลการตรวจ ความปลอดภัยฯแบบเข้มข้นตามมาตรการ ๓-๓-๒ ในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้สารเคมีว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ได้ดำเนินการตรวจสถานประกอบกิจการ ๙๘๖ แห่งลูกจ้างเกี่ยวข้อง ๑๒๖,๔๕๘ คน พบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ๓๐๗ แห่ง พนักงานตรวจความปลอดภัยได้ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแล้ว ๒๘๒ แห่ง ให้นำเอกสารมาแสดง ๒๕ แห่ง ในจำนวนนี้ได้ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย ๑ แห่ง ทั้งนี้พบว่าเรื่องที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ๓ ลำดับแรก ได้แก่ ไม่จัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีที่มีอยู่ในครอบครองและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบภายในเจ็ดวัน จำนวน ๑๗๗ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๖, ไม่ปิดฉลากรายละเอียดเกี่ยวสารเคมีเป็นภาษาไทยไว้ที่หีบห่อหรือภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย จำนวน ๘๐ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๒๖ และไม่จัดทำคู่มือ ขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย จำนวน ๒๕ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๘.๑๙ ตามลำดับ ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องที่ไม่ปฏิบัตินั้น เป็นหลักการพื้นฐานที่ควรปฏิบัติ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจสารเคมีที่ตนใช้ ข้อปฏิบัติที่ปลอดภัยในการนำสารเคมีมาใช้ ข้อควรระวังต่างๆ รวมทั้งการไม่ติดฉลากรายละเอียด คู่มือและขั้นตอนการทำงานเพื่อสื่อสารให้ผู้พบเห็นหรือผู้ใช้เข้าใจถึงอันตรายปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อเกิดอันตรายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้สถานประกอบกิจการที่มีการใช้สารเคมีอันตรายให้ปฏิบัติให้ถูกต้องที่กฎหมายกำหนดหากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายกรณีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ – ๑๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖ ครม.ไฟเขียวบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี ครม.เห็นชอบบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง โดยทยอยบรรจุภายใน 3 ปี และเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข (23 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง โดยจะทยอยบรรจุภายใน 3 ปี และเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าพบ เพื่อหารือปัญหาภาพรวมของระบบราชการรวมทั้งสอบถามรายละเอียดและปัญหาอุปสรรคในการบรรจุอัตราพยาบาลวิชาชีพ "แพทย์" ขอแยกคุมบริหารบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ. (23 พ.ค.2560) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำงานหนักมีมานาน โดยสัดส่วนของแพทย์ทำงานจริงมีไม่ถึงครึ่งเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและอีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ที่ต้องศึกษาต่อ ทำให้เหลือบุคลากรทำงานน้อยมาก แพทย์โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลศูนย์ ต้องทำงานหนักมากถึง 80-120 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แบกรับภาระงานดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรับรู้และเข้าใจปัญหา แต่ยังติดอยู่กับอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ไม่สามารถที่จะเพิ่มอัตราข้าราชการได้ เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.ที่ได้รับงบประมาณจริงจากค่ารักษาพยาบาลเพียงร้อยละ 50-70 ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และยังติดกับดักมาตรฐานการรักษา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และแพทย์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยของตัวเอง พญ.เชิดชู กล่าวว่า ประชาชนมีอิสระเสรีภาพมากในการไปโรงพยาบาล บางส่วนเข้าไปเรียกร้องสิทธิ์เกินความจำเป็น ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณส่วนนี้ไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีสิทธิในบัตร 30 บาท อยู่ราว 48 ล้านคน กว่า 20 ล้านคนไม่ไปใช้สิทธิ เพราะไม่เชื่อมั่นมาตรฐานการรักษา แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการให้บริการสาธาณะด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้มีเงินใช้ในระบบอย่างเพียงพอ โดยสามารถที่จะรักษาได้ตามมาตรฐาน เพื่อรักษาคุณภาพการรักษาให้ก้าวหน้าไปย่างต่อเนื่อง รวมทั้งออกกฎหมายการทำงานและเวลาการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับการทำงานในวิชาชีพอื่น นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนทดแทนให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานที่ชัดเจนไม่แตกต่างจากประกันสังคม "การปฎิรูปประเทศให้ไปถึง 4.0 โครงสร้างพื้นฐานต้องทั่วถึงทุกตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ไม่ใช่มีเพียงแค่โรงพยาบาลอำเภอ แล้วมีแค่หมอ 1 คน ที่ต้องรับมือกับคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง หมอก็เป็นมนุษย์ พยาบาลก็เป็นมนุษย์ ต้องการเวลาพักผ่อน ต้องการมีชีวิตที่มีคุณภาพ" พญ.เชิดชู ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักการหากผู้ใดประสบอันตรายจากการทำงาน จะต้องได้รับค่าทดแทน ไม่ใช่ค่าตอบแทน ซึ่งประเทศไทยมีกองทุนเงินทดแทนเฉพาะแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในภาคเอกชนเท่านั้น ขณะที่บุคลากรอย่างแพทย์ พยาบาล กลับไม่ได้รับการดูแลในเรื่องงบประมาณและกฎหมายจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งนี้ พญ.อรพรรณ์ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดการทำงานของแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีมาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แรงงานและตามเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยกำหนดภาระงานให้เหมาะสมกับการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลชีวิตผู้ป่วย โดยให้มีระบบบริหารบุคคลเฉพาะ พร้อมตั้งคณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.) แยกการบริหารบุคคลออกจาก กพ. กระทรวงแรงงาน ปรับโฉมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เน้นขับขี่ปลอดภัย สร้างมาตรฐานโลจิสติกส์ตั้งเป้า 5 ปี อบรมได้ จำนวน 171,185 คน นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาท การไม่เคารพกฎเจรจา ขาดความเชี่ยวชาญในการขับรถ และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่าง เป็น 1 ใน 27 วาระที่จะต้องมีการขับเคลื่อน ดังนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดำเนิน "โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานในระบบโลจิสติกส์ พนักงานขับรถขนส่งสินค้าและผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎจราจร การดูแลรักษารถ การขับขี่ยานพาหนะด้วยความปลอดภัย รวมทั้งสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบด้านการลดอุบัติเหตุ และการเพิ่มวินัยจราจร เบื้องต้นได้เปิดนำร่องฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ขับขี่ยานพาหนะ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง จำนวน 1 รุ่น 50 คน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของประเทศไทย เป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนของผู้ประกอบการไทย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี วางเป้าหมายการพัฒนาคนภาคโลจิสติกส์ จำนวน 171,185 คน ทีวีดิจิตอลระส่ำอีกระลอก! "ไทยรัฐทีวี" ประกาศ "เออลีรีไทร์" ลดพนักงาน (24 พ.ค.) รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ระบุว่า บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ทีวีดิจิตอลระบบความคมชัดสูง (HD) ช่อง 32 ได้ประกาศโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ ระบุวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรของแต่ละสายฝ่ายอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยรวมในระยะยาว ทั้งนี้ พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกตามโครงการจะได้รับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ อายุงานไม่ครบ 1 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน, อายุงาน 1 - 3 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน, อายุงาน 3 - 6 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน, อายุงาน 6 - 10 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน และยังจะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วันอีกด้วย โดยพนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องติดต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 14 มิ.ย. 2560 โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ และจะมีผลให้ออกตามโครงการในวันที่ 1 ก.ค. 2560 โดยพนักงานที่ได้รับการอนุมัติให้ออกตามโครงการแล้ว จะถอนเรื่องคืนหรือยกเลิกไม่ได้ และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ รวมทั้งบริษัทในเครืออีก รายงานข่าวแจ้งว่า ในปี 2557 ไทยรัฐทีวี มีพนักงานประมาณ 527 คน จากจำนวนพนักงานในเครือไทยรัฐทั้งหมดกว่า 2,000 คน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ไทยรัฐทีวี ปี 2557 มีรายได้รวม 217.32 ล้านบาท ขาดทุน 894.10 ล้านบาท ส่วนปี 2558 มีรายได้รวม 495.55 ล้านบาท ขาดทุน 1,148.09 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ยังไม่พบข้อมูลงบการเงิน ก่อนหน้านี้ เครือเนชั่น เครือมติชน และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ได้จัดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ หรือ เออลีรีไทร์ไปแล้ว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ สศช.เผยจ้างงานไตรมาสแรกปี 2560 ยังติดลบ เหตุภาคการผลิตยังมีการผลิตส่วนเกิน นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การจ้างงานในไตรมาส 1/2560 มีทั้งสิ้น 37.4 ล้านคน ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคการเกษตร ติดลบ 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกเกษตรต่อเนื่องช่วงปี 2557-59 เพราะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากกำลังแรงงานเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่แรงงานใหม่ลดลงจากผลตอบแทนไม่แน่นอนและไม่จูงใจ ส่วนการจ้างงานภาคนอกการเกษตร ติดลบ 0.3% โดยสาขาอุตสาหกรรม ติดลบ 1.5% และสาขาก่อสร้าง ติดลบ 8.7% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ยกเว้นการจ้างงานสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ 4.2% สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัว 2.9% และสาขาขายส่ง/ขายปลีก ขยายตัว 0.9% ตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี "ตัวเลขผู้ว่างงานมี 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 0.97% ถือเป็นการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังคงทรงตัว สะท้อนการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็ม" ในส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น โดยรวมติดลบเล็กน้อย 0.9% โดยค่าจ้างนอกภาคเกษตร ติดลบ 1% แต่ภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 5.2% แต่เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เท่ากับ 1.3% จะทำให้ค่าจ้างแรงงานแท้จริงของภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ติดลบ 2.1% "แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.3% แต่ยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในปัจจุบันมากนัก เนื่องจากภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และยังสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงานของแรงงานได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการคงชะลอการจ้างงานออกไป แต่ตัวเลขการจ้างงานเดือนเมษายนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรขยับสูงขึ้น 7% จากภัยแล้งหมดลง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่ภาคการผลิตคาดว่าจะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง" สำหรับหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 11,472,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 1/2560 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ชะลอ โดยชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเหลือ 6.1% จากไตรมาส 4/2559 อยู่ที่ 7% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัว 2.8% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.3% ในด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเป็น 2.82% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.71% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ลดลงเหลือ 3.11% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.19% ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 9,844 ล้านบาท ลดลง 12.8% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 9,859 ล้านบาท ลดลง 10.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง สธ. เผยปีนี้อัตราว่างข้าราชการทุกวิชาชีพ 11,000 ตำแหน่ง ส่วน 7 วิชาชีพในปีนี้มีอัตราว่างบรรจุได้ 300 ตำแหน่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ปลัดสธ.) เปิดเผยภายหลังพูดคุยรับฟังปัญหาเรื่องการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการกับผู้แทนชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ , นักกายภาพบำบัด , นักรังสีการแพทย์ , นักกิจกรรมบำบัด , นักจิตวิทยาคลินิก , นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกและนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายว่า กระทรวงสาธารณสุข เข้าใจถึงความกังวลของบุคลากร 7 วิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประมาณ 3,000 คน โดยการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการว่าง 11,000 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งของทุกวิชาชีพ และไม่ได้นำตำแหน่งของวิชาชีพอื่นๆ มาบรรจุให้พยาบาล เป็นอัตราว่างของพยาบาลเอง 1,000 ตำแหน่ง ในส่วนของ 7 วิชาชีพมีอัตราว่าง 170 ตำแหน่ง รวมกับที่จะเกษียณอายุในปีนี้ 91 ตำแหน่ง และรอการเลื่อนระดับ 47 ตำแหน่ง รวมอัตราข้าราชการที่สามารถบริหารจัดการ 308 ตำแหน่งที่จะบรรจุในช่วงแรกก่อน ทั้งนี้ ในระยะยาวกระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ความต้องการกำลังคนของแต่ละวิชาชีพ และกำหนดสัดส่วนการบรรจุเป็นข้าราชการตามที่หลักเกณฑ์ กพ. ไว้แล้ว โดยสายวิชาชีพหลัก และ 7 วิชาชีพ สัดส่วนอัตราข้าราชการที่กำหนดไว้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ซึ่งยังมีช่องว่างบรรจุเป็นข้าราชการได้ไม่ครบทุกคน จะเสนอ คปร.เพื่อพิจารณาต่อไป อีกวิธีหนึ่งคือ อาจไม่ได้เป็นข้าราชการทั้งหมด ต้องหาวิธีการจ้างงานแบบอื่น เช่นเป็นพนักงานราชการ หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่มีโอกาสศึกษาต่อ ค่าตอบแทน จัดสวัสดิการที่ใกล้เคียงกับข้าราชการ และจะยกเลิกการจ้างเป็นลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้ ได้ให้ชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ส่งตัวแทนวิชาชีพละ 2 คน ร่วมทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้ข้อมูลตำแหน่งข้าราชการที่ตรงกับความเป็นจริง ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เตรียมตั้งโรงงานที่ระยอง เเรงงานอเมริกันไม่พอใจ เหตุทำคนในประเทศตกงาน ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน บริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์ชื่อดัง เตรียมตั้งโรงงานการผลิตจักรยานยนต์ในจังหวัดระยอง คาดเปิดให้บริการภายในปี 2018 โดยจะเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนที่นำเข้าจากซัพพลายเออร์ และโรงงานในสหรัฐฯ โดย นายมาร์ค แมคอัลลิสเตอร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท แผนกการขายในต่างประเทศของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ออกมาเปิดเผยว่า แผนการย้ายโรงงานของบริษัทมีขึ้นเพื่อผลักดันให้ธุรกิจขายจักรยานยนต์ในเอเชียเติบโตเท่านั้น โดยจักรยานยนต์ที่ประกอบในไทยจะถูกส่งไปขายในเอเชีย และในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ จักรยานยนต์ยี่ห้อฮาร์ลีย์ เดวิดสัน โดนอัตราการเก็บภาษีสูง เพราะถือเป็นสินค้านำเข้า ทำให้จักรยานยนต์มีราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งการตั้งโรงงานในภูมิภาค จะทำให้บริษัทลดภาษีนำเข้าในหลายประเทศ และยังลดระยะเวลาการขนส่งไปยังประเทศใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม การตั้งโรงงานในไทยจะทำให้สหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ออกมาประณามบริษัท ว่ากำลังทำให้ชาวอเมริกันต้องตกงาน ทั้งๆ ที่เป็นผู้สร้างแบรนด์จักรยานยนต์ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ด้านบริษัทยังคงปฏิเสธ และยืนยันว่า เอเชียเป็นตลาดของฮาร์ลีย์ที่กำลังเติบโต เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัว และมีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสูง จากปีที่ผ่านมา ยอดขายของฮาร์ลีย์ เดวิดสัน ในต่างประเทศเติบโตมากขึ้น ขณะที่ยอดขายในสหรัฐฯ ตกลง อนุมัติเงินกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ 4 แห่ง รวม 37 ล้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้พิจารณาอนุมัติวงเงินกู้จำนวน 37 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ 4 แห่ง แบ่งเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ เอส พี เอส จำกัด จำนวน 10 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานคลังพลาซ่า จำกัด 7 ล้านบาท และพิจารณาคำขอกู้ในโครงลดภาระหนี้เพื่อสร้างสุขแก่แรงงานให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าวหงษ์ทอง (กลุ่มเจียเม้ง) จำกัด 10 ล้านบาท และสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ 10 ล้านบาท รวมวงเงิน ที่อนุมัติจำนวน 37 ล้านบาท มีสมาชิกได้รับประโยชน์ รวม 2,492 คน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน กสร. ได้อนุมัติเงินกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการไปแล้ว 11 แห่ง เป็นเงิน 92.5 ล้านบาท โครงการลดภาระหนี้เพื่อสร้างสุขแก่แรงงาน เป็นโครงการให้กู้เพื่อนำไปปลดเปลื้องภาระหนี้สิน โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ต่อปีและสหกรณ์นำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และหากสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจใดสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 6774 หรือ 0 2246 0383 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใช้ ม. 44 ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ Posted: 26 May 2017 11:11 PM PDT ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ ม. 44 ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยได้ ตั้งคณะกรรมการ 'คพอต.' ดูแลจัดการ มี รมว.ศึกษา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๙/๒๕๖๐ เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ระบุว่า "เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล จําเป็นต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัย ให้กับเยาวชน ที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลสําคัญของชาติ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญดังกล่าวจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อจะได้นําองค์ความรู้ ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาและการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง จากต่างประเทศกับสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอื่นในประเทศไทย อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพื่อนําไปสู่การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต และเป็นการรองรับการดําเนินการปฏิรูปประเทศทั้งในด้านการศึกษาและด้านเศรษฐกิจตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากประชามติได้บัญญัติไว้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ให้ดําเนินการได้ในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒/๒๕๖๐ เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกลงวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ (๒) เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะรัฐมนตรีประกาศกําหนดให้เป็นพื้นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศตามคําสั่งนี้การจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศจะดําเนินการนอกเขตพื้นที่ ตามวรรคหนึ่งก็ได้โดยความเห็นชอบของ คพอต. ทั้งนี้ การจัดการศึกษาดังกล่าวต้องเป็นการดําเนินการ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุนหรือพัฒนาการจัดการศึกษาภายในเขตพื้นที่ตาม (๑) หรือ (๒) ข้อ ๒ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เรียกโดยย่อว่า "คพอต." ประกอบด้วย (๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ (๒) กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนสามคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งเป็นกรรมการให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษามอบหมายเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ข้อ ๓ ให้ คพอต. มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (๑) กําหนดศาสตร์วิทยาการและสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์และมีความสําคัญต่อการพัฒนาประเทศที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย (๒) พิจารณาสรรหา อนุมัติ และจัดทําข้อตกลงกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาดําเนินการจัดการศึกษาในประเทศไทย (๓) กําหนดหลักเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการ และเงื่อนไขในการดําเนินการจัดการศึกษาตาม (๒)โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อกระทําการใด ๆ อันอยู่ในอํานาจหน้าที่ของ คพอต. หรือตามที่ คพอต. มอบหมาย (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของคําสั่งนี้ ข้อ ๔ สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ซึ่ง คพอต. อนุมัติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้จัดการศึกษาในประเทศไทยตามคําสั่งนี้ ให้ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎ ดังต่อไปนี้ (๑) กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (๒) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา (๓) หลักเกณฑ์การประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาและการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามคําสั่งนี้ คพอต. อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎอื่นใดอีกได้สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอาจได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนก็ได้ ข้อ ๕ ให้สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบงานธุรการของ คพอต. รวมทั้งคณะอนุกรรมการและคณะทํางานที่ คพอต. แต่งตั้งการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมของ คพอต. คณะอนุกรรมการ และคณะทํางานตามคําสั่งนี้ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ส่วนการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นที่จําเป็น ให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ข้อ ๖ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคําวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ ๗ ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้ ข้อ ๘ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'มีชัย' ไม่เห็นด้วยข้อเสนอแก้ รธน. ทุก 10 ปี Posted: 26 May 2017 10:54 PM PDT 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ชี้เสนอของ สปท. ที่ให้ทุก 10 ปีมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำได้ยาก แนะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหากจำเป็นต้องแก้ก็ต้องทำ ไม่ใช่มากำหนดระยะเวลา เว็บไซต์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) การเมืองให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุก ๆ 10 ปีว่าคงต้องใช้ไประยะหนึ่งก่อน คงบอกไม่ได้ว่า จะแก้เมื่อไหร่ เพราะถ้าจำเป็นต้องแก้ ก็ต้องแก้ หากพบว่า บ้านเมือง หรือ วิธีคิดของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปแล้วรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับวิธีคิดนั้นแล้วก็จำเป็น การบอกตายตัวว่า ต้องแก้ทุกๆ 10 ปี คงยาก เพราะถือเป็นการกำหนดที่ไม่มีกฎเกณฑ์ รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ใช้มาร้อยกว่าปี บางทีใช้มา 30 ปีไม่เคยแก้ซักครั้ง แต่ก็มีเช่นกันที่แก้ถึง 2-3 หนในช่วงไม่กี่ปี ซึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีส่วนที่แก้ไขยากไว้เพื่อเป็นเกาะไม่ให้แก้ได้ง่ายๆ เพราะต้องการดูว่าเมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้วเกิดผลดีอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ถ้าดีก็ไม่มีเหตุต้องแก้ แต่ถ้ามีผลเสียบ้านเมืองเสียหายก็ต้องแก้ ในฐานะคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนไม่ห่วงว่า จะมีการแก้ไข ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อะไรดีก็ใช้ไป อะไรไม่ดีก็แก้ไขไป แต่ถ้าไม่มีเหตุแล้วจะแก้ไขไปทำไม ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวถึงกรณีสปท.เตรียมพิจารณารายงาน เสนอให้ทบทวนปรับแก้รัฐธรรมนูญให้ทันสมัยทุก 10 ปีว่า เป็นข้อเสนอแก้ปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ จะเสนอเป็นหลักการในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตอนแรก กมธ.หารือกันว่า เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วทุกๆ 10 ปี น่าจะให้รัฐสภาตั้ง กมธ.ขึ้นมาตรวจหรือปรับแก้การใช้รัฐธรรมนูญ ว่าเหมาะกับสถานการณ์ขณะนั้นหรือไม่ แต่พอหารือตอนหลังจนตกผลึกจึงสรุปให้ปรับแก้แค่ 10 ปีแรกก็พอ ไม่ใช่ทุกๆ 10 ปี เพราะในอดีตใช้รัฐธรรมนูญราวๆ 10 ปีมีปัญหาทุกที โดยมักอ้างเหตุว่ารัฐธรรมนูญเป็นทางตัน ถ้าข้อเสนอผ่าน สปท.ใหญ่วันที่ 29 พ.ค. จะส่งเรื่องให้ประธาน สปท.ส่งต่อให้ ครม. พร้อมแจ้งรัฐบาล คณะกรรมการ ป.ย.ป.และ สนช.ทราบต่อไป ตนเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งแก้ปัญหาทางรัฐธรรมนูญไม่ต้องให้การเมืองติดล็อกเหมือนในอดีต ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แผ่นดินจึงดาล: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กฎหมายและตุลาการ Posted: 26 May 2017 10:17 PM PDT บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร ในมุมมองของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งศาล ล้วนเป็นผลพวงของระบอบใหญ่ของประเทศ ผลผลิตจากระบอบย่อมตอบสนองต่อความต้องการของระบอบ และแน่นอนว่านี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ บทสนทนายาวนานชิ้นนี้ วรเจตน์ชำแหละอย่างรวบรัดต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันตุลาการและศาล นักกฎหมายและเนติบริกร ตุลาการภิวัตน์และฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ที่กำลังพาสังคมไทยเข้ารกเข้าพง แต่ในน้ำเสียงของวรเจตน์ก็ดูเหมือนจะแฝงด้วยความหวังว่า สักวันความเปลี่ยนแปลงจะปรากฏ หากสามารถสร้างชุดคุณค่าหรือหลักการบางอย่างร่วมกันได้ ซึ่งเขารู้ดีว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดหวัง รัฐธรรมนูญฉบับล็อคประเทศ ไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง ผมเคยพูดไว้นานแล้วและยังยืนยันว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติจะเป็นตัวปิดล็อกการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดโดยหนทางทางรัฐธรรมนูญ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยระบบของมันแทบเป็นไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาในครั้งนี้เป็นฉบับซึ่งแก้ได้ยากที่สุดหรือเรียกว่าเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย และกลายเป็นอะไรที่ล็อกสังคมไทยไว้ให้เดินไปในทิศทางที่กำหนดเท่านั้น ที่สำคัญ มันจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยซึ่งเป็นความขัดแย้งในระดับที่ลงลึกไปถึงรากฐานแล้ว ปัญหาที่เหลืออยู่ก็คือ ปวงชนชาวไทยในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะปรากฏตัวขึ้นเมื่อใด และจะมีกำลังมากพอที่จะกดดันให้องค์กรของรัฐยอมรับความเป็นเจ้าของอำนาจของเขาและเปิดทางให้เกิดกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้หรือไม่ ถ้าได้ โอกาสที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการกดดันทางการเมืองผ่านคำอธิบายทางกฎหมายก็พอจะมีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ก็เหลือสองทางคืออยู่กับรัฐธรรมนูญนี้จนแก่เฒ่าตายไป หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นการเปลี่ยนโดยกำลังทางกายภาพ เท่าที่ผมดูตอนนี้ยังไม่มีเหตุการณ์บ่งชี้ว่าปวงชนชาวไทยจะปรากฏตัวและมีกำลังมากพอที่จะกดดันในทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีปัจจัยผลักดันให้เกิดขึ้น ในทางกฎหมาย ปัญหาทางปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะยังไม่เกิดตอนนี้ แต่จะปะทุในวันข้างหน้า โดยโครงสร้างที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ยากที่จะทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น มองในระยะยาวต่อไปอีก ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเสียก่อน ถึงจุดหนึ่งก็คงจะมีเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญหรือทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทีนี้ ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้เสียแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ สิ่งนี้เป็นปัญหาแน่นอนในวันข้างหน้า ประเด็นเรื่องความรุนแรงที่อาจจะเกิดมีขึ้นนั้น จึงไม่ใช่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เหตุที่บอกว่าอาจเป็นไปได้เพราะว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญล็อกตัวเองไว้อย่างแน่นหนามาก หากแรงกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต มันไม่เพียงพอให้องค์กรของรัฐที่มีส่วนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไข สุดท้ายของที่เขียนเอาไว้ให้แก้ไม่ได้ มันก็ต้องถูกทำลายลงโดยสภาพ 'Final Say' ปัจจุบัน การพูดครั้งสุดท้ายอยู่ในรูปของมาตรา 44 และอยู่เหนือตัวบทกฎหมายด้วยซึ่งคงจะใช้กันไปอีกช่วงหนึ่ง มาตรา 44 เห็นได้ชัดว่าไม่ถูกต้องตามระบบ ตรวจสอบไม่ได้ เมื่อใช้บ่อยๆ เข้าก็อาจจะเสื่อมมนต์ขลังไป Final Say ไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอำนาจและการยอมรับ คนพูดสุดท้ายอาจพูดไม่ถูกทั้งหมดแต่เขาพูดในกรอบอำนาจที่เขามีและคนยอมรับได้ เอาแบบนี้แล้วจบ แต่ถ้าคนพูดไม่ได้พูดในกรอบอำนาจของเขาหรืออำนาจที่เขาใช้พูดมันไม่มีความชอบธรรม เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนไม่ฟัง ไม่เชื่อ มันก็จะไปสู่สถานการณ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเราจะไปถึงจุดนั้นเร็วหรือช้าเพียงไร ส่วน Final say ในรูปแบบอื่นที่เคยมีมา แล้วบัดนี้ไม่มีอีกต่อไป เชื่อว่าสังคมคงไปสร้างตัวระบบขึ้นมาใหม่ที่มันรับกันได้ในที่สุด อาจใช้เวลาบ้างแต่ไม่อาจหลีกหนีได้ ขณะที่ศาลคือ Final Say เฉพาะในทางกฎหมาย จะไปยุ่งกับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายไม่ได้ บ้านเราชอบพูดเรื่องใช้แนวทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด เวลาที่ศาลตัดสินต้องตัดสินข้อพิพาททางกฎหมาย ข้อพิพาทอื่นๆ เช่น ข้อพิพาททางสังคม ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม ทางเศรษฐกิจ ทางศิลปะ ฯลฯ ต้องทำให้ข้อพิพาทนั้นกลายเป็นประเด็นทางกฎหมายศาลจึงจะตัดสินได้ เพราะศาลไม่ได้มีความรู้ทุกอย่าง ศาลไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะตัดสินได้ทุกเรื่อง นักกฎหมายที่รับใช้อำนาจ ผมเคยพูดครั้งหนึ่งสั้นๆ ในงานเสวนาเรื่องกฎหมายคืออะไรว่า ลักษณะนักกฎหมายของเราที่มีสภาพรับใช้อำนาจที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แนวคิดในสำนักกฎหมายไหนเลย ไม่เกี่ยวกับไอเดียทางนิติปรัชญาอะไรเลย สำนักกฎหมายบ้านเมืองเห็นว่ากฎหมายคือกฎหมาย ถ้ามันผ่านออกมาแล้วมีสภาพบังคับ คนยอมรับ มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับ ก็ย่อมเป็นกฎหมายไม่ว่าจะออกมาโดยเผด็จการหรือไม่ แต่สำนักนี้ไม่ได้บอกว่า คุณต้องก้มหัวเคารพกฎหมายนั้นตลอดกาล นักกฎหมายในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งบอกว่าการต่อต้านอำนาจเผด็จการที่ทำให้รัฐกลายเป็นรัฐอันธพาลนั้นต้องต่อต้านจากมิติทางศีลธรรม ไม่ใช่มิติทางกฎหมาย แน่นอนแนวความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองหรือปฏิฐานนิยมทางกฎหมายมีปัญหาอยู่เมื่อเผชิญกับอำนาจดิบเถื่อนที่สามารถยึดกุมระบอบการปกครองได้ แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ถือความคิดที่เน้นการวินิจฉัยความเป็นกฎหมายโดยเกณฑ์ที่แน่นอน เที่ยงตรงแบบนี้ เป็นพวกรับใช้อำนาจเสมอไป คนที่เชื่อในกฎหมายธรรมชาติก็รับใช้อำนาจได้ พอๆ กับคนที่ไม่เชื่อเพราะบางทีคิดว่าที่ตัวทำอยู่นั้นดี คือหลงดี ติดดี แล้วได้ประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย มีตัวอย่างให้เห็นมากมายด้วยว่าการรับใช้อำนาจนั้นได้ดี มีตำแหน่ง ตัวระบบที่เป็นอยู่ตอบสนองความเป็นเนติบริกร ลองถามนักกฎหมายว่ามีตำแหน่งแบบนี้เอาไหม 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คงเอา อันนี้ในระยะยาวจะสร้างจารีตที่ไม่ดีขึ้นมาในวงการกฎหมายด้วย นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่หวังได้ดีก็จะไม่กล้ามีจุดยืนตรงข้ามกับนักกฎหมายที่มีอำนาจ มีตำแหน่ง เพราะกลัวจะไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ทำตัวรับใช้ชัดเจนไปเลย ก็จะทำตัวให้คลุมเครือเข้าไว้ ความจริงสภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับวงการอื่นด้วย แต่ผมคิดว่าวงการกฎหมายน่าจะเป็นวงการหนึ่งที่เห็นตัวอย่างชัดที่สุด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กรุงเทพโพลล์ระบุ 3 ปี คสช. ประเทศพัฒนาขึ้นเล็กน้อย Posted: 26 May 2017 09:53 PM PDT 27 พ.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของ คสช." โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,269 คน พบว่า เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานและการปฏิรูปประเทศในภาพรวมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ตลอดระยะเวลา 3 ปี พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.9 เห็นว่า มีผลงานบ้าง ประเทศพัฒนาขึ้นเล็กน้อย ส่วนร้อยละ 33.7 เห็นว่า มีผลงานเด่นชัด ประเทศมีการพัฒนาขึ้นมาก ขณะที่ร้อยละ 23.1 เห็นว่าเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่เหลือร้อยละ 2.3 ไม่แน่ใจ เมื่อถามต่อว่าก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของ คสช. อยากเห็นผลงานการปฏิรูปประเทศในเรื่องใดให้เด่นชัดขึ้นมากที่สุด อันดับแรกคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม (ร้อยละ 50.1) รองลงมาคือ การมีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 48.3) และการขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (ร้อยละ 46.6) ทั้งนี้เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของ คสช. จะสามารถปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้สำเร็จ ดังสโลแกนที่ว่า " เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน" พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 56.4 คาดหวังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 38.0 คาดหวังค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนที่เหลือร้อยละ 5.6 ไม่แน่ใจ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โครงการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' จีนในศรีลังกา ถูกกระแสต่อต้านจากประชาชน Posted: 26 May 2017 09:39 PM PDT ดาเนียล บอลาซส์ ผู้ศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยในเซียงไฮ้ ประเมินโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ของจีนที่ทำกับศรีลังกา โดยที่ก่อนหน้านี้ศรีลังกาต้องพึ่งพาจีนอย่างมากในสมัยผู้นำคนเก่าที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่อยากคบค้าสมาคม แต่ในปัจจุบันประชาชนศรีลังกาก็ประท้วงต่อต้านโครงการจากจีนอย่างหนัก ที่มาภาพ: eastasiaforum.org 27 พ.ค. 2560 ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมีส่วนเชื่อมโยงกับนโยบายริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ซึ่งในขณะที่จีนโฆษณาตัวเองเกี่ยวกับ BRI ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อและพัฒนาร่วมกันของเอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยที่ศรีลังกามีความสำคัญทางพื้นที่ยุทธศาสตร์เนื่องจากอยู่ในกลางทะเลอินเดีย แต่นักวิเคราะห์ก็ระบุว่าในศรีลังกาเองก็มีประชาชนที่ต่อต้านโครงการต่างๆ จากจีน ดาเนียล บอลาซส์ บัณฑิตจบใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยถงจี้ในเซียงไฮ้ระบุว่าในช่วงเดือนม.ค. 2560 มีการประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนที่ไม่พอใจโครงการเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับทุนมาจากทางการจีน เรื่องนี้จึงน่าจะกลายเป็นบทเรียนหนึ่งในการดำเนินนโยบายของจีน จีนพยายามใช้ "หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ" ที่เป็นแนวทางนโยบายการต่างประเทศของจีนมาตั้งแต่หลังจากปี 2492 เป็นต้นมา หนึ่งในแนวคิดหลักของนโยบายนี้คือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่น นอกจากนี้ยังเป็นการที่จีนมองตัวเองว่าเป็นเสาหลักของอำนาจที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยที่จะทำให้เกิดความร่วมมือแบบ "ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย" ในหมู่ประเทศเข้าร่วมกับพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็แปลงมาเป็นนโยบาย BRI โดยที่ทางการจีนมีแนวการเล่าถึง BRI จากปากตัวเองว่าเป็นเรื่องของความร่วมมือและความต้องการร่วมแบ่งปันผลจากการพัฒนาของพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าประชาชนในศรีลังกาจะไม่ได้มองแบบเดียวกับแนวทางการโฆษณาตัวเองของจีนจากที่พวกเขาประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งบอลาซส์ชี้ให้เห็นว่าแนวทางการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของจีนยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้เรื่องพลวัตทางสังคมภายในประเทศนั้นๆ ด้วย ทำให้นโยบายการต่างประเทศแบบนี้ของจีนอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าดี บอลาซส์ระบุว่าการที่จะทำความเข้าใจศรีลังกาได้นั้นต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองที่ชื่อ "สงครามอีแลม" ตั้งแต่ปี 2526-2552 ด้วย สงครามดังกล่าวทำให้ศรีลังกาเสียหายอย่างหนักบีบให้พวกเขาต้องอาศัยคนนอกเข้าไปช่วยฟื้นฟู คนนอกที่ว่านี้ก็มีทั้งสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือพร้อมกับตั้งเงื่อนไขที่เคร่งครัดแต่จีนกลับช่วยเหลือและลงทุนในลักษณะที่ไม่มีข้อผูกมัด พอถึงปี 2552 ที่สงครามจบลงโดยรัฐบาลภายใต้การนำของมหินทรา ราชปักษา ผู้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทุจริตคอร์รัปชัน และการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ชื่อเสียงของราชปักษาไม่ค่อยดีนัก ทำให้สูญเสียเพื่อนในเวทีโลกไปเรื่อยๆ ทำให้เหลือแค่แหล่งทุนเป็นจีน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับศรีลังกาก็ดีขึ้น มีโครงการที่มีชื่อเสียงอย่างสนามบินมัตตาลา ท่าเรือฮัมบันโตตา และเมืองท่าโคลอมโบ ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินทุนจากจีนหลายพันล้านดอลลาร์ การตกลงกันระหว่างจีนกับศรีลังกาโครงการต่างๆ ข้างต้นที่เรียกว่า "โคลอมโบ คอนเซนซัส" เป็นผลประโยชน์ต่อผู้นำทั้งสองฝ่าย ราชปักษาใช้เงินของจีนในการยึดกุมอำนาจของตัวเองเอาไว้ได้ในขณะที่จีนก็สามารถเข้าถึงตำแหน่งยุทธศาสตร์ทางทะเลอินเดียได้ แต่ราชปักษาก็กุมอำนาจเอาไว้ได้ไม่นานเท่าที่เขาคิดเมื่อเขาแพ้ให้กับไมตรีพละ ศิริเสนา ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ม.ค. 2558 ซึ่งศิริเสนามีจุดยืนต่างออกไปจากราชปักษาตรงที่เขาสัญญาว่าจะมีการปรับปรุงข้อตกลงโครงการจีนที่มีคนต่อต้านอีกครั้งรวมถึงโครงการเมืองท่าโคลอมโบ แต่การทำตามสัญญาก็เป็นไปได้ยากเมื่อมีการทำข้อตกลงแล้วนอกจากนี้ศรีลังกายังมีภาระหนี้สินมากถึง 60,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าร้อยละ 10 เป็นการติดหนี้จีน นอกจากนี้จีนยังเจรจาต่อรองในเชิงที่ทำให้พวกเขาได้ประโยชน์อย่างกรณีโครงการท่าเรือพาณิชย์จีนขอถือหุ้นมากถึงร้อยละ 80 และมีกรรมสิทธิควบคุมเขตอุตสาหกรรมเป็นที่ดิน 15,000 เอเคอร์ อย่างไรก็ตามวิธีการใช้อำนาจแบบของจีนก็ส่งผลสะท้อนกลับเมื่อประชาชนศรีลังกาต่อต้านสัญญาท่าเรือฮัมบันโตตาของจีนจนมีการเจรจาใหม่โดยที่ได้รับสิทธิถือหุ้นเหลือราวร้อยละ 20 บอลาซส์วิเคราะห์ว่ากรณีศรีลังกานี้ทำให้จีนต้องกลับไปทบทวนใหม่ในโครงการริเริ่มที่จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลก บอลาซส์มองว่าวิธีการแบบไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง แต่จีนก็ไม่ควรกระทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงพลวัติทางสังคมในประเทศที่พวกเขามองว่าเป็นคู่ค้าด้วย การส่งเงินลงไปอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำให้ "เส้นทางสายไหมใหม่" เป็นจริงได้ พวกเขาต้องรับเปลี่ยนไปตามสภาพภายในของประเทศนั้นๆ ด้วย บอลาซส์ระบุว่าจีนเคยลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้กับเมียนมาร์ ไทย และลาว ซึ่งในกรณีลาวโครงการของพวกเขาถูกต่อต้านจากประชาชนด้วย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" จึงเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และปัจจัยสำคัญต่อความทะเยอทะยานของจีนในเรื่องนี้คือภาพลักษณ์ที่ประเทศต่างๆ จะมองพวกเขาอย่างไรด้วย เรียบเรียงจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พบชาวจีนลักลอบอยู่ในเกาหลีใต้มากที่สุด ไทยแค่ 5% Posted: 26 May 2017 09:25 PM PDT ทางการเกาหลีใต้รายงานตัวเลขผู้ลักลอบอาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายพบว่าพบชาวเป็นจีนมากที่สุด 984,771 คน หรือคิดเป็น 48.6% จากทั้งหมด ส่วนคนไทยมีแค่ 5% ส่วนใหญ่เดินทางไปแบบนักท่องเที่ยว หางานทำต่ออยู่เกินกำหนดหลีกเลี่ยงกฎหมายของเกาหลีใต้ แรงงานชาวต่างชาติผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ ถูกจับกุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจในเมืองเจจู แฟ้มภาพสำนักข่าว Yonhap สำนักข่าว Yonhap รายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ว่าจำนวนชาวต่างชาติที่ลักลอบอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้โดยผิดกฎหมายมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้วในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมานับแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว จำนวน 220,510 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ทั้งหมด 2,024,818 คน (ในเดือน ธ.ค. มีชาวต่างชาติที่ลักลอบอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้โดยผิดกฎหมาย 208,971 คน เดือน ม.ค. 211,320 คน เดือน ก.พ. 214,615 คน และเดือน มี.ค. 217,141 คน) ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นร้อยละ 3.1 จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการลักลอบให้กำเนิดชาวต่างชาติผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยในเดือน ธ.ค. เกิด 6,101 คน เดือน ม.ค. เกิด 6,965 คน เดือน ก.พ. เกิด 8,338 คน และใน มี.ค. เกิด 9,173 คน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามสัญชาติแล้วพบว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เป็นชาวจีนมากที่สุด 984,771 คน คิดเป็นร้อยละ 48.6 จากทั้งหมด ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 7.7 ชาวอเมริกัน ร้อยละ 7.3 ไทยร้อยละ 5 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 2.8 ช่วงที่ผ่านมาทางการเกาหลีใต้ได้บังคับใช้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่เคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดกรองนักท่องเที่ยวจากไทย เพราะที่ผ่านมามีชาวไทยมักนิยมลักลอบเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายโดยเข้าไปแบบเป็นนักท่องเที่ยวและอาศัยเรื่องช่วงเวลาพำนักที่ยาวนานถึง 90 วัน หรือ 3 เดือน หางานทำต่อและอยู่เกินกำหนดโดยหลีกเลี่ยงกฎหมายของเกาหลีใต้ ข้อมูลในเดือน มี.ค. 2560 พบว่ามีคนไทยอยู่ในเกาหลีใต้ 101,000 คน เป็นผู้ที่อยู่เกินกำหนดวีซ่าถึง 57,490 คน เลยทีเดียว นอกจากนี้ทางการไทยยังมีการคัดกรองคนไทยก่อนเดินทางไปยังประเทศเกาหลีบ้างแล้ว โดยในเดือน เม.ย. 2560 คนหางานไทยที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ถูกระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้จำนวน 19 คน ซึ่งลดลงจากเดือน มี.ค. 2560 ที่ถูกระงับการเดินทางไปเกาหลี จำนวน 60 คน และเดือน ก.พ. 2560 ที่ถูกระงับการเดินทางไปเกาหลี จำนวน 55 คน ก่อนหน้านี้เข้มงวดการแต่งงานกับชาวต่างชาติอนึ่งเมื่อปี 2557 เกาหลีใต้ได้ออกข้อกำหนดระบุว่าชาวต่างชาติคนใดก็ตามที่ยื่นขอวีซ่าคู่สมรสจะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับภาษา ขณะที่ฝ่ายชาวเกาหลีใต้ก็จะต้องมีรายได้ประจำปี 14.8 ล้านวอน (ประมาณ 459,000 บาท) ขึ้นไป ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาก็มีหญิงชาวต่างชาติ 236,000 คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาหลีใต้ด้วยวิธีการแต่งงานและให้กำเนิดเด็กราว 190,000 คน ในปี 2548 เมื่อมีสตรีต่างชาติกว่า 30,000 ได้รับวีซ่าคู่สมรส (Resident through marriage visa) ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของหญิงชาวต่างชาติจำนวนนี้เดินทางมาจากจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย และมองโกเลีย ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกับชายชาวเกาหลีใต้ผ่านนายหน้าหาคู่ แม้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้ไปมาหาสู่ในประเทศบ้านเกิดของฝ่ายหญิงอยู่บ้างก็ตาม และในปี 2553 เกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษจำคุก 2 ปี แก่นายหน้าหาคู่ที่ให้ข้อมูลลูกค้าที่เป็นเท็จ หรือแนะนำผู้หญิงให้กับชายคนเดียวคราวละมากกว่า 2 คน นอกจากนี้ก็เริ่มมีรายงานข่าว่ามีภรรยาสาวต่างชาติถูกทุบตี บางกรณีถูกฆาตกรรม เช่นคดีหญิงชาวเวียดนามวัย 20 ปีซึ่งถูกสามีวิกลจริตทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตหลังเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 26 May 2017 07:21 PM PDT
ปิดปิด เปิดเปิด เปิดเปิด ปิดปิด เปิดปิด ปิดเปิด เปิดปิด ปิดเปิด ปิดเปิด เปิดปิด ปิดเปิด เปิดปิด เปิดเปิด จงเปิด กล้องวงจรปิด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น