โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สนช.-สปท. ชง ให้ สตช. สังกัดกระทรวงยุติธรรม 'ผบ.ตร.' ต้องผ่านสอบสวน 70 คดี

Posted: 18 May 2017 12:30 PM PDT

สนช.-สปท. แถลงรายงานการปฏิรูปตำรวจ ก่อนที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป แนะ ให้ สตช. สังกัดกระทรวงยุติธรรม 'ผบ.ตร.' ต้องผ่านสอบสวน 70 คดี พร้อมเพิ่มเงินเดือนชั้นประทวน-สัญญาบัตร-ปรับระบบงานสอบสวนให้คล่องตัว

18 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (18 พ.ค.60) ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ แถลงรายงานการปฏิรูปตำรวจว่า รายงานผลการศึกษาดังกล่าวจะนำเสนอเข้าที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป โดยคณะอนุกรรมการฯเห็นว่าองค์กรตำรวจควรปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามารวมอยู่ภายใต้รัฐมนตรีคนเดียวกัน และให้การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล จะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอื่นๆในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม  

พล.ต.ท.บุญเรือง กล่าวว่า ส่วนการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) จะมีการปฏิรูป โดยใช้หลักเกณฑ์ต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี ขณะเดียวกันจะปรับปรุงเงินเดือนตำรวจให้เพียงพอต่อดำรงชีพ เพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน สามารถปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามคนร้าย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างไม่มีความกังวลและห่วงใย ทั้งนี้สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่คือการขาดแคลนงบประมาณ เช่น เมื่อเกิดคดีที่ต้องติดตามคนร้ายหรือคดีที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่มีงบประมาณส่วนนี้ หลายครั้งตำรวจต้องออกเงินกันเอง เป็นการผลักตำรวจไปอยู่ในพื้นที่สีเทา นอกจากนี้ จะให้มีการติดตั้งซีซีทีวีช่วยติดตามคนร้ายอีกทางหนึ่งเหมือนต่างประเทศที่ติดตั้งซีซีทีวีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ของไทยมีความซ้ำซ้อน เพราะเป็นการติดตั้งโดยหลายหน่วยงาน จึงอยากให้โอนให้ทางตำรวจรับผิดชอบเพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ คณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังได้ศึกษาเรื่องงบประมาณของตำรวจ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆของข้าราชการตำรวจ ให้แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการสูงกว่าข้าราชการพลเรือนถึง 13.56-22.57 เท่า จึงเสนอให้ใช้อัตราอ้างอิงในต่างประเทศที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญในระดับเดียวกัน 1.28 เท่า และข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.74 เท่า โดยข้าราชการตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจร และสายงานสืบสวนที่มีความเสี่ยงการปฏิบัติงานสูงกว่าตำรวจสายงานอำนวยการ

นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า ยังมีข้อเสนอให้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาไอทีออนไลน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ด้วยตนเอง โดยใช้ Usename และ Password แก่ประชาชนในการติดตามคดีด้วยตัวเอง ส่วนการปฏิรูประบบงานสอบสวนเสนอให้ปรับระบบการเข้าเวรของพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจจากเดิมเข้าเวรเดี่ยวเป็นเข้าเวรเป็นชุดพนักงานสอบสวน และควรมีการแยกคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนเป็นกรณีพิเศษออกจากการสืบสวนสอบสวนทั่วไป เช่น คดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน คดีผู้มีอิทธิพล คดีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูงเฉพาะทาง เพื่อให้หน่วยงานจากส่วนกลางมารับผิดชอบแทน ตลอดจนให้มีเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับข้าราชการในสายงานตามกระบวนการยุติธรรมอื่นเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อัยการ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ และบ้านเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ไฟเขียวรายงานปฏิรูปภาษี เสนอเก็บ vat เพิ่มอีก 1% ระบุ รบ.มีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

Posted: 18 May 2017 10:30 AM PDT

สนช.เห็นชอบรายงานปฏิรูปภาษี ของ กมธ ชงข้อเสนอเสนอเก็บ vat เพิ่มอีก 1% ให้รัฐบาล เหตุมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะ สนง.เศรษฐกิจการคลัง ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีลาภลอย จากที่ดินที่แพงขึ้นหลังมีโครงการรัฐ พร้อมหาช่องเก็บภาษี e-Commerce 

18 พ.ค. 2560 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน พิจารณารายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สนช.เป็นผู้เสนอ โดย ศิริพล ยอดเมืองเจริญ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ รายงานสาระสำคัญของรายงาน ว่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้มีการปฏิรูประบบภาษีอากรมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี 2535 ที่เปลี่ยนจากการใช้ภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผ่านมาการปรับปรุง โครงสร้างภาษีอากรส่วนใหญ่จะดำเนินการเป็นส่วนๆ เช่น การปรับขั้นและอัตราภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มเพดานและอัตราภาษีสรรพสามิต และการปรับโครงสร้างอากรขาเข้าเป็นกลุ่มสินค้า เป็นต้น ซึ่งไม่ได้พิจารณาการปฏิรูปโครงสร้าง ภาษีอากรในภาพรวมทั้งระบบ อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลมีภาระด้านรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามนโยบายในโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ศิริพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปี 2556 มีรายได้ส่งคลัง 2.16  ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.40 ล้านล้านบาท ปี 57  มีรายได้ 2.07 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.45 ล้านล้านบาท ปี 58 มีรายได้ 2.20 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.60 ล้านล้านบาท ปี 59 มีรายได้2.41 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.80 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศภายหลังจาก มีความตกลงภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และการนี้ ให้เขตการค้าเสรี (Free trade area) ต้องลดอัตราภาษีศุลกากรลง ส่งผลให้รายได้ในการพึ่งพาภาษี ศุลกากรประเภทนี้ลดลงอย่างเป็นอย่างมาก ในต่างประเทศจึงได้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ประเทศต่างๆ ในยุโรปเดิมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 10 ปัจจุบันส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้น เป็นอัตราร้อยละ 20 นอกจากนั้นยังปรับรูปแบบภาษีอื่นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาทดแทน

รองประธาน คณะอนุกรรมาธิการ ฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการ ฯ ได้ศึกษาแนวทาง การปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บภาษีต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการการปฏิรูประบบภาษีอากร มีข้อเสนอแนะบางประเด็นที่น่าสนใจดังนี้                

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆ หลายแห่ง จะต้องทำการแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของสาขาแต่ละแห่งแยกออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่ที่สาขานั้นๆตั้งอยู่โดยตรง โดยไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรมีการจัดเก็บในรูปแบบที่มีหลายอัตรา โดยพิจารณากำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า กล่าวคือ พิจารณาว่าสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นในการนำเข้า ส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท

3. ภาษีลาภลอย ปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศและควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

4. กรณีการเก็บภาษี e-Commerce ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นช่องว่างที่ผู้ประกอบการ e-Commerce ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศไม่ได้ถูกการเรียกเก็บภาษี สืบเนื่องไม่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและปัญหาจากการหาตัวตน ประกอบกับข้อตกลงอนุสัญญา ภาษีซ้อนเกิดจุดรั่วไหลอยู่ 2 ประการคือ การให้บริการการโฆษณาโดยสื่อออนไลน์และการเรียกเก็บค่าบริการจองโรงแรม ที่ผู้ใช้บริการที่พักในประเทศไทย เมื่อจ่ายเงินแล้วเงินจะถูกส่งตรงไปยังบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ต่างประเทศทั้งหมด ประกอบกับข้อกฎหมายตามประมวลรัษฎากรยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น  ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบ e-Commerce เมื่อผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ในฐานะผู้บริโภคเมื่อมีการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทำให้เงินไหล ไปต่างประเทศไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และไม่สามารถนำรายได้ที่คนไทยจ่ายนั้นเป็นรายได้ของบริษัทที่เมื่อมีกำไรแล้วต้องชำระภาษีจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการเห็นว่า กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษา และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเก็บภาษีจากกรณีดังกล่าว และมีการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติดังกล่าวอาจจะต้องเข้ามาจัดตั้งสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในรูปแบบอื่น ๆ              

5. อากรศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจค้า ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยอาศัยช่องว่างของการยกเว้นอากรศุลกากรกรณีที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และในทางปฏิบัติจะเห็นว่าสูญเสียภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จึงเห็นว่า กรมสรรพากร กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ควรมีการพิจารณากฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออุดช่องว่าง การจัดเก็บภาษีในกรณีสินค้านำเข้าที่ได้การยกเว้นอากร ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 41/ 2558 เรื่อง กำหนดราคาของที่นำเข้า ซึ่งได้รับยกเว้นอากรตามประเภท12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

6. การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการส่งออกทั้งที่เป็นการนำเข้ามาตามข้อตกลง  WTO มีการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มการตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 หรือไม่ ทางคณะอนุกรรมาธิการเห็นว่า ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการจัดเก็บอากรปกป้องสินค้านำเข้า (Safeguard Measure) และอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti - dumping) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากร ขาดการบูรณาการ การทำงานร่วมกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวควรมีการประสาน เพื่อบูรณาการการท างานร่วมกันให้ชัดเจนมากขึ้น และจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติจากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ และบ้านเมือง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแพ่งอ่านคำสั่งชี้ขาด คดีลิฟต์บีทีเอสเป็นอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

Posted: 18 May 2017 10:15 AM PDT

ศาลแพ่งชี้ คดีเรียกค่าเสียหายบีทีเอส เหตุสร้างลิฟต์ไม่ทันกำหนดเวลาเป็นอำนาจชี้ขาดของศาลแพ่ง หลังจากนี้ส่งคำวินิจฉัยไปศาลปครอง- กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

วานนี้ 18 พ.ค.2560 เว็บไซต์ ThisAble.me รายงานว่า คนพิการกว่า 100 คน เดินทางเข้าร่วมฟังผลการไต่สวน หลังจากมีการไต่สวนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2560 เพื่อขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรณีที่ กทม.และบีทีเอสไม่จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการบนรถไฟฟ้านั้น

โดยมีการวินิจฉัยชี้ขาดเพียง 1 จาก 2 เรื่อง คือ คำสั่งชี้ขาดอำนาจศาลว่า การฟ้องคดีนี้จะอาศัยอำนาจของศาลใดในการตัดสิน ระหว่างศาลปกครองและศาลแพ่ง จนเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาจึงได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด ความว่า โจทก์และจำเลยเคยมีคดีพิพาทมาก่อนหน้านี้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม. และบีทีเอสจัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเวลา 1 ปีนับจากศาลตัดสินเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ในการฟ้องร้องที่ศาลแพ่งครั้งนี้เป็นการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลดำเนินการปรับ และเรียกค่าเสียหาย เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า การเรียกค่าเสียหายนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยไม่ทำตามที่ศาลปกครองสูงสุดนั้นตัดสิน และมีการดำเนินการตามกระบวนการของศาลปกครองถึงที่สุดแล้ว และมีเพียงคำพิพากษาโดยไม่มีการปรับ

นอกจากนี้เห็นว่า คำร้องของกลุ่มคนพิการเป็นเพียงการร้องเพื่อได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นเพียงคดีการเลือกปฏิบัติ ศาลแพ่งจึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการชี้ขาด กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการชี้ขาดอำนาจศาลได้ภายใน 7 วัน และศาลแพ่งก็จะสรุปสำนวน และส่งคำวินิจฉัยไปยังศาลปกครอง หากมีความเห็นตรงกันในการให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้รับคำร้อง กระบวนการก็จะดำเนินต่อไป แต่หากมีความเห็นค้าน ศาลแพ่งก็จะต้องเอาสำนวนส่งเข้าคณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อชี้ขาดว่า คดีนี้ควรอยู่ที่ศาลใด

ไทม์ไลน์การยื่นข้อเสนอ เรียกร้องให้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า

9 เม.ย.2534 ผู้ว่าฯ กทม. และบีทีเอสทำสัญญาสัมปทานบีทีเอส (ช่วงนี้ยังไม่มีกฎหมายด้านคนพิการมาบังคับ)

20 พ.ย.2534 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 (กฎหมายคนพิการฉบับแรกของไทย)

4 ก.ค.2538 บีทีเอสร่วมลงชื่อในสัญญาก่อสร้างแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้คนพิการรวมตัวและร้องเรียน กทม. เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบก่อสร้าง กทม.จึงสนับสนุนงบ 45 ล้านบาทติดตั้งลิฟต์ 5 สถานี ระหว่างนั้นในปี 2542 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ซึ่งกำหนดลักษณะของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นใดต้องอำนวยความสะดวกแก่คนพิการก็ออกมา

5 ธ.ค.2542 บีทีเอสเปิดให้บริการ

2543-ปัจจุบัน กลุ่มคนพิการเจรจากับ กทม. เพื่อหาข้อตกลงในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทุกสถานี

2552 คนพิการยื่นฟ้องบีทีเอสต่อศาลปกครองกลาง กรณีบีทีเอสไม่จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก

22 ก.ย.2552 ศาลปกครองกลางยกฟ้อง เนื่องจากกฎหมายขณะนั้นไม่มีรายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก จึงไม่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย

21 ต.ค.2552 คนพิการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

30 ส.ค.2556 กทม.ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างลิฟต์กับบริษัท เอทีที คอลซัลแทนท์ จำกัด

31 ก.ค.2557 กทม.ลงนามจ้างเหมาก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์กับบริษัทเสรีการโยธา จำกัด

18 ส.ค.2557 กทม.แจ้งให้บริษัทเสรีการโยธา จำกัดและบริษัทเอทีที คอนซัลแทนท์ จำกัดเริ่มงานก่อสร้าง กำหนดเวลา 450 วัน มูลค่า 350 ล้านบาท

21 ม.ค.2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม. ทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 20 ม.ค.2559

11 พ.ย.2558 ครบกำหนด 450 วันสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง แต่ยังไร้วี่แวเสร็จจึงขนายเวลาออกไป

20 ม.ค.2559 ครบกำหนด 1 ปี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

มี.ค.2559 T4A เข้าร่วมเป็นคณะทำงานติดตามการก่อสร้างลิฟต์ร่วมกับ กทม.

20 ม.ค.2560 คนพิการยื่นฟ้องงต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ตามกำหนดเวลา

21 มี.ค.2560 รับฟังคำไต่สวนจากศาลแพ่งเพื่อพิจารณาการยื่นฟ้องแบบกลุ่มกับ กทม.

18 พ.ค.2560 ฟังผลการไต่สวนกรณีชีขาดอำนาจศาล ศาลแพ่งมีความเห็นว่า เป็นอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมการปกครองเตือน แชร์ต่อข้อความ 'ปลัดแม่สะเรียง' แฉ จนท.รัฐ เอี่ยวซื้อบริการเด็ก เสี่ยงผิด ก.ม.

Posted: 18 May 2017 09:23 AM PDT

กรมการปกครอง เผยกำลังตรวจสอบ ข้อความ 'ปลัดแม่สะเรียง' แฉ จนท.รัฐ เอี่ยวซื้อบริการเด็ก  ถูกต้องตามกฎหมายหรือข้อเท็จจริงหรือไม่ เตือนผู้ใดเผยแพร่ต่อต้องระมัดระวังอาจผิดหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดกฏหมาย

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมการปกครอง เผยแพร่เอกสาร กรมการปกครองกำชับข้าราชการในการให้ข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบต่อบุคคล โดยระบุว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่การให้สัมภาษณ์ของ  บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ตำแหน่ง ปลัดอำเภอแม่สะเรียง ช่วยราชการที่ทำการปกครองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อบริการเด็กและการค้าประเวณี นั้น

บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอแม่สะเรียง

กรมการปกครองขอเรียนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ดังนี้ 1. "ปลัดอำเภอ" เป็นชื่อตำแหน่งของข้าราชการ สังกัดกรมการปกครอง ซึ่งมีจำนวนกว่า 8,000 คน ใน 76 จังหวัด 878 อำเภอทั่วประเทศ และปลัดอำเภอนั้นมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่จะเติบโตเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด ผู้บริหารกรมการปกครองในส่วนกลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งถึงอธิบดี รองปลัดกระทรวง หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยต่อไป

2. สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวของปลัดอำเภอเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับแต่อย่างใด กรณีตราสัญลักษณ์ของสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายของวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ หากพบว่าเป็นความผิดและนำไปสู่ความเสื่อมเสีย ก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3. การกล่าวอ้างของ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ในฐานะประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างๆ นั้น มิได้หมายความว่า ปลัดอำเภอส่วนใหญ่ได้ให้การสนับสนุนหรือเห็นพ้องกับการกระทำของ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ทั้งนี้ การพูดหรือการกระทำของ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของกรมการปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการกระทำ การพูดให้ข้อมูลพาดพิงบุคคลหรือกลุ่มข้าราชการหรือกลุ่มประชาชนต่างๆ นั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่จริง หรือเข้าเงื่อนไขเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายหรือไม่

ดังนั้นผู้ใดที่จะนำข้อความหรือถ้อยคำของ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ไปเผยแพร่จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดกฏหมาย

กรมการปกครองมิได้ปิดกั้นการรวมตัวของข้าราชการในสังกัด ในการที่จะเสนอแนวทางการพัฒนาองค์กร เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้กำชับข้าราชการฝ่ายปกครองพึงระมัดระวังในการให้ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคล หน่วยงาน และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ ภาพลักษณ์ขององค์กร และควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นและสาธารณชนเกิดความสับสน

ดังนั้น กรณีของ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หากมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ก็ควรที่จะให้ข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือแจ้งให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนของกระบวนการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: จดจำย้ำไม่ลืม

Posted: 18 May 2017 07:22 AM PDT

แฟ้มภาพประชาไท

19 พฤษภาราชประสงค์ เสียงยังคงก้องตะโกนคนสั่งฆ่า

มัจจุราชอำมหิตปลิดวิญญา โดยสัตว์ป่าหัวเหลืองเมืองผู้ดี

 

ซ่อนซุกเก็บเจ็บตายหลายชีวิต ยัดเยียดผิดกล่าวโทษบดขยี้

ผู้ยิงฆ่าบริสุทธิ์หลุดคดี เหยียดป้ายสีชี้ประณามหยามผู้ตาย

 

ยุติธรรมนิ่งกลบสงบราบ ชำระคราบเลือดล้างฤๅจางหาย

ระอุร้อนซ่อนเร้นไม่เว้นวาย เจ็บไม่คลายสลายไม่สิ้นจิตวิญญาณ

 

แม้วันนี้อำนาจสาดตราบาป ปืนกำหราบขนาบเปรี้ยงเสียงต่อต้าน

ไม่อาจห้ามเจ็บแค้นลึกเเน่นนาน 7 ปีผ่านจดจำไว้เราไม่ลืม!! (กี่ปีผ่านจดจำย้ำไม่ลืม)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจากเรือนจำ ไผ่ ดาวดินยินดีที่ได้รับรางวัล แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่าคืออิสรภาพ

Posted: 18 May 2017 07:07 AM PDT

พริ้ม บุญภัทรรักษา กล่าวในเวทีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน 2017 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ระบุรางวัลที่ ไผ่ ดาวดินได้รับ เป็นรางวัลของนักสู้ทุกคน ด้านผู้จัดงานได้เตรียมเก้าอี้ว่างไว้หนึ่งตัว เป็นสัญลักษณ์แทนไผ่ที่ไม่ได้มาร่วมงานเพราะยังคงถูกจองจำ<--break- />

18 พ.ค. 2560 ที่เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น คณะกรรมการรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำพิธีมอบรางวัลรางวัลให้แก่ผู้ที่อุทิศตัวเพื่อการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน หรือรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 โดยในปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลคือ จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่เรียกร้องต่อสู้ในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนร่วมกับชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคอีสาน และต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งในเวลานี้เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งนี้การมอบรางวัลครั้งนี้ยังได้มีการมอบรางวัลพิเศษให้กับ Serge Bambara ศิลปินเพลงแร็ปจากประเทศบูร์กินาฟาโซด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการประกาศรางวัลนั้นได้มีการจัดกิจกรรมแสดงสดเพลงแร็ปเพื่อสันติภาพโดย Serge Bambara บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน และก่อนที่การมอบรางวัลจะเริ่มขึ้นมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ได้จัดเตรียมเก้าอี้พร้อมดอกกุหลาบไว้เพื่อเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ให้แก่ไผ่ เนื่องจากเขาไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง เพราะยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีอยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดกลางจังหวัดขอนแก่น แม้ก่อนหน้านี้จะมีการขอยื่นประกันตัวเพื่อ ขอโอกาสให้ไผ่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเองก็ตาม แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีความเห็นเป็นครั้งที่ 9 ว่า ไม่อนุญาติให้ประกันตัวเนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

หลังจากนั้นได้มีการกล่าวสุนทรพจน์ เป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัล โดยวีรชนผู้ผ่านเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู และผู้ที่ได้รับรางวัลก่อนหน้า จากนั้นได้มีฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของไผ่ ดาวดิน พร้อมบทเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ(บทเพลงที่แต่งขึ้นโดยวงสามัญชน เพื่อขับร้องแสดงถึงความคิดถึงเพื่อนที่อยู่ในสภาวะไร้อิสระภาพ) ทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ร่วมงานซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง และนักสิทธิมนุษยชนจากหลายประเทศร่วมลงนามรณรงค์ ให้รัฐไทยคืนสิทธิในการประตัวเพื่อให้ไผ่สามารถออกมาสู้คดีได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของไผ่ ได้เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์แทนลูกชาย เธอได้เล่าถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร ทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน นักศึกษาและประชาชน พร้อมยกปัญหาในกระบวนการยุติธรรมจากกรณีการถูกคุมขังของไผ่ เพป็นตัวอย่าง ท้ายที่สุดเธอกล่าวย้ำด้วยว่า "รางวัลที่ไผ่ได้รับนั้น คือรางวัลของนักต่อสู้ทุกๆคนไม่ใช่ไผ่เพียงคนเดียว"

เสียงจากเรือนจำ "สิ่งที่ผมได้มันเป็นเพียงแค่รางวัล สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าคืออิสรภาพ"

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมไผ่ในเรือนจำ และได้พูดคุยเรื่องราวการได้รับรางวัลกับไผ่ เขาระบุว่า ไม่คิดว่าคนอย่างตนเอง ซึ่งเป็นคนหนุ่ม คนอีสานธรรมดาๆ คนหนึ่งจะได้รับรางวัลในระดับเดียวกันกับที่ผู้นำประเทศ หรือผู้นำการเปลี่ยนเปลี่ยนเคยได้รับ

"ไม่คิดว่าคนอย่างผม คนหนุ่ม คนอีสานธรรมดาจะได้รางวัลเดียวกับคนระดับผู้นำประเทศหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลได้ บอกตรงๆ ว่าตอนแรกก็ยังงงๆ พอตั้งสติได้ผมก็ดีใจ มันเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่ผมได้ทำลงไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสนใจ ติดตามประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผมเสียใจก็คือ สิ่งที่ผมได้มันเป็นเพียงแค่รางวัล สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าก็คืออิสรภาพ ซึ่งมันเป็นสิทธิของผมและสิทธิของผู้ต้องขังในคดีการเมืองอีกจำนวนมาก แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะได้มันมา" ไผ่กล่าว

ไผ่ระบุด้วยว่า การได้รางวัลด้านสิทธิมนุษยชนของตนเป็นการสะท้อนให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าบ้านเมืองของเราประเทศของเรายังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

เมื่อถามว่าจะนำเงินรางวัลที่ได้มาไปทำอะไรต่อ ไผ่ระบุว่า ขอมอบเงินรางวัลของผมทั้งหมดให้กับครอบครัว เพราะกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทั้งหมดของตน ทำไปโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน และไม่เคยได้รับเงินหรือรายได้จากการทำกิจกรรมเลย และตลอดเวลาที่ผ่านมาตนไม่ได้ช่วยเหลือครอบครัวในด้านเศรษฐกิจเลย จึงต้องการมอบเงินทั้งหมดให้ครอบครัว โดยเฉพาะกับน้องสาวที่กำลังจะเรียนจบในระดับมัธยมศึกษา หากน้องต้องการเรียนอะไรน้องก็ควรจะได้เรียน ไผ่ระบุ

เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

'ไผ่ ดาวดิน' หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า "ไม่เอารัฐประหาร" ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

"อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช. จัดสิทธิประโยชน์ดูแลหญิงตั้งครรภ์ หนุนโครงการสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ

Posted: 18 May 2017 06:24 AM PDT

สปสช.หนุน "โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ" จัดสิทธิประโยชน์ดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ฝากท้องอย่างน้อย 5 ครั้ง ตรวจสุขภาพ คัดกรองความเสี่ยง พร้อมรับ "วิตามินเสริมเหล็ก/โฟลิก" เพื่อคลอดทารกปลอดภัย แม่แข็งแรง เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ     

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.

18 พ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย "โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ" ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่า ด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เพื่อให้อัตราเกิดใหม่ มีการคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง และพร้อมเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีการจัดสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายนี้ โดยอยู่ภายใต้ ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ การคลอด และการดูแลหลังคลอดทั้งแม่และลูก เพื่อนำไปสู่ประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ โดยในการตั้งครรภ์ สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 9-10 เดือน ซึ่งทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่มีเวลาเพียงพอในการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์   

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การฝากครรภ์ครั้งแรก ควรฝากครรภ์อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จะได้รับบริการตรวจร่างกายและการตรวจครรภ์ ทั้งการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจภายใน วัดความสูงยอดมดลูก โดยทั่วไปร้อยละ 75 ของหญิงตั้งครรภ์สามารถให้การดูแลตามปกติ พร้อมกันนี้ยังจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาทิ การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจเลือด ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง การคัดกรองโรค เช่น โรคซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามี  นอกจากนี้ยังตรวจคัดกรองทางด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า และคัดกรองการสูบบุหรี่/การดื่มสุรา/การใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงการให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยักเข็มที่ 1 อีกด้วย หากผลตรวจพบว่าผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลรักษาหรือป้องกัน  และในส่วนที่มีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์

ส่วนการฝากครรภ์ครั้งที่ 2 เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 13 - 18 สัปดาห์ เพื่อติดตามและดูการดิ้นของทารกในครรภ์ มีการตรวจร่างกายและตรวจครรภ์ การวัดความสูงของมดลูก ตรวจอายุของทารก ตรวจร่างกายทั่วไป จำนวนเด็กที่อยู่ในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์  และกำหนดการคลอดได้อย่างถูกต้อง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากการฝากครรภ์ครั้งแรก การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มที่ 2 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป การฝากครรภ์ครั้งที่ 3 เป็นการดูแลต่อเนื่องในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 19 - 26 สัปดาห์ โดยจะมีการตรวจร่างกาย การตรวจครรภ์โดยวัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง

การฝากครรภ์ครั้งที่ 4 เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 27 - 32 สัปดาห์ ติดตามอาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจร่างกาย วัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกรวมถึงการดิ้นทารกในครรภ์ การตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอดส์อีกครั้ง พร้อมแนะนำอาการเจ็บครรภ์  ขณะที่การฝากครรภ์ครั้งที่ 5 ช่วงอายุครรภ์ 33-38 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก นอกจากมีการติดตามตรวจครรภ์ วัดความสูงมดลูก และการดิ้นของลูกแล้ว ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจท่าเด็ก เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ จะได้การตรวจยืนยันท่าเด็กเมื่อคลอดด้วยเครื่องอัลต้าซาวน์ หากพบว่าส่วนนำในการคลอดเด็กผิดปกติ เช่น ท่าขวางหรือเท้า จะได้ดำเนินการส่งต่อต่อเพื่อเตรียมการคลอดที่ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก การให้คำแนะนำอาการเจ็บครรภ์หรือมีน้ำเดิน นัดฝากครรภ์หรือนัดคลอดครั้งต่อไป  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้สิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลทุกครั้งในการฝากครรภ์ คือการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และคลอด การตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ ตลอดการตั้งครรภ์ถึงหลังคลอด ยังได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ไตรเฟอร์ดีน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของทารก การป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิด โดยเฉพาะความพิการของสมองและไขสันหลังในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมองและระบบประสาท รวมถึงยังช่วยให้เด็กน้ำหนักปกติ และไม่คลอดก่อนกำหนด หญิงหลังคลอดยังได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กไตรเฟอร์ดีน กินต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน

"คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชากร โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และทารกอย่างมาก ทั้งยังสนับสนุนโครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ โดยกำหนดให้ความสำคัญในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 แล้ว และในปี 2560 ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2.6 พันล้านบาท ภายใต้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ"

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า การฝากครรภ์เป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการฝากครรภ์ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งโดยไม่เสียค่าบริการ หากมีข้อติดขัดหรือสงสัยในการรับบริการ ติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา Thailand 4.0 EP2 : ความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง

Posted: 18 May 2017 03:59 AM PDT

วงเสวนา Thailand 4.0 อังกูร ชี้ 4.0 ต้องสร้างชุดความรู้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนความคิดสร้างสรรค์ เริ่มจากยอมรับความแตกต่าง ขณะที่ ชลิตา มอง Thailand 4.0 คือความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง พร้อมทั้งเอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรม

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน" เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้อง 501 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ , สุรินทร์ อ้นพรม อาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ และ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์ ดำเนินรายการโดย ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์

(อ่าน : วงเสวนา Thailand 4.0 EP1: ชี้ ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกันไม่ได้กับประเทศเผด็จการ)

อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์

อังกูร ชี้ 4.0 ต้องสร้างชุดความรู้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน

อังกูร กล่าวถึง Thailand 4.0 กับระบบการศึกษาไทยว่า เมื่อนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเราอยู่ในสถานการณ์อะไรในพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม สงครามโลกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไป มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ผลของการเปลี่ยนแปลงแล้ว บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกว่าหนีไม่พ้น จะเห็นได้ว่าจะมีคำห้อยท้ายตลอด เช่น อาเซียน ในโรงเรียนจะเห็นการแต่งชุดประจำชาติอาเซียน หรือในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เองระดับรายวิชาก็พ่วงท้ายคำว่าอาเซียน ทำให้เห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้มันทำงานในระดับบรรยากาศได้ดี แต่ในเรื่องของการศึกษากลับเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าตอบสนองไปเพื่ออะไร

Thailand 4.0 ตามนโยบายปลายทางมันคือความฝันที่ดี แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้ทำอะไรไปนอกเหนือจากบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้เรารับรู้แล้วว่าปลายทางแบบนั้นมันจะเกิดขึ้น แต่ว่ายังไม่พอ สิ่งที่สำคัญกว่าบรรยากาศ คือการสร้างชุดความรู้ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราจริงๆ และหากมีการสร้างชุดความรู้ในระบบการศึกษาแล้ว ได้มีการปรับปรุงวิชาอื่นๆ ให้สอดคล้องด้วยหรือไม่ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีค่านิยม ราชาชาตินิยมแบบเดิมอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความรู้ที่สอดคล้องกับการที่เราอยู่ร่วมกันในอาเซียนได้

"ไม่ใช่เชิญวิทยากรมาบรรยายว่า 4.0 คืออะไร มันไม่ใช่แค่ในระดับสิ่งแวดล้อมแต่มันจะต้องลงไปถึงระดับนิเวศของความรู้ให้ได้ ยกตัวอย่างตอนอาเซียน สื่อทำให้เราเห็นว่าเราได้ประโยชน์อย่างไรทางเศรษฐกิจ เราร้องเพลงอาเซียนร่วมใจได้ ท่องเมืองหลวง จำชุดประจำชาติได้ แต่สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราคือมันไม่ได้ถูกจัดการ เราตระหนักไหมว่าเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ใกล้เรามากขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่รวมประชาคมลดพรมแดน แต่มีแรงงานเพื่อนบ้านมาอยู่กับเราเพิ่มขึ้นซึ่งมีส่วนสำคัญ คนที่บอกว่าไล่เพื่อนบ้านเราให้ออกนอกประเทศให้หมด เขาได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ไหม กลับไปมองว่า ภายใต้บรรยากาศที่เราสร้างขึ้นทำให้เกิดความรู้เหล่านั้นจริงๆไหม แล้วถ้าเราจะทำอะไรที่มากกว่านั้นกับ Thailand 4.0 เพื่อพื้นฐานสำคัญที่จะไปซับพอร์ตเศรษฐกิจในอนาคตได้"  อังกูร กล่าว

ความคิดสร้างสรรค์ เริ่มจากยอมรับความแตกต่าง

นอกจากนี้ อังกูร ได้ให้ความเห็นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่นวัตกรรมซับพอร์ตเศรษฐกิจในอนาคตจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบรรยากาศที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ไหม? การทำบรรยากาศที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหนึ่งเช่น การยอมรับความแตกต่าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง แต่คือการเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่าระบบการสร้างความรู้ในประเทศไทยคือต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันแบบ 1:1 กฎเกณฑ์แบบ 1:1 ซึ่งมันสัมพันธ์กับอำนาจที่ต้องอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมาเป็น 4.0 ได้ ต้องย้อนกลับไปคิดในส่วนนี้ ในเรื่องของนโยบาย ครูไม่เคยถูกฟัง สิ่งต่างๆ ทำให้เรายุ่งอยู่กับตัวชี้วัดมากเกินไป ถูกทำให้ทำทุกอย่างตามที่ตอบสนองระบบดังกล่าวซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ ความแตกต่าง ในห้องเรียนก็เช่นเดียวกัน กลายเป็นคำถามว่าแทนที่เราจะใช้เวลาเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่กลับเป็นมุ่งทำตามมาตรฐานที่ตั้งขึ้นแทน เมื่อเข้ามาสู่ในห้องเรียนครูก็ทำให้อยู่ในลักษณะเดียวกัน เมื่อทุกอย่างต้องทำตามระบบที่มีการสั่งการแบบท็อปดาว์นลงมา ก็ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้เป็นการบริหารนอกจากที่ทำตามคำสั่งที่ถูกส่งมา ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วจะเกิดการตอบสนองสิ่งรัฐว่าดีและเราก็ว่าดีอย่างไร

ชลิตา บัณฑุวงศ์

ชลิตา อัด Thailand 4.0 คือความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง

ชลิตา กล่าวว่า Thailand 4.0 ใช้กลไกประชารัฐหมายถึงการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป้าหมายของ Thailand 4.0 คือเป็นประเทศที่มีรายได้ แต่มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใส่ซึ่งดูจะขัดกัน ซึ่งอาจทำให้เห็นความย้อนแย้ง ซึ่งทำให้หลายๆ คนงงว่าสรุปแล้วมันคืออะไร และมันอาจจะกลายเป็นอะไรก็ได้ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะขัดแย้งกันแต่ก็ถูกจับมาอยู่รวมกัน Thailand 4.0 เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคนบอกว่ามันถูกนำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์มานานแล้ว ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ แต่มันจะไม่แปลกถ้าถูกหยิบขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ หรือถูกหยิบมาใช้ในขณะที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งถูกทำให้เป็นอุดมการณ์รัฐ ใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐ

ความเป็นการเมืองของ Thailand 4.0 นั้น ชลิตา กล่าวว่า ในทางมานุษยวิทยาการเมืองอธิบายว่าเดิมนโยบายของรัฐย่อมเกิดจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในตอนนั้นที่รองรับอยู่และเกี่ยวข้องกับผู้ที่ขึ้นครองอำนาจนำ ในช่วงเวลานั้น และผู้มีอำนาจนำใช้วาทกรรมกลบเกลื่อนการเมืองนี้ เพื่อที่จะสร้างสามัญสำนึกให้ประชาชนเข้าใจว่ากลุ่มผู้มีอำนาจนำกำลังทำการเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถนำมุมมองนี้มาวิเคราะห์ได้ในหลายๆแง่

เอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรม

ต่อกรณี Thailand 4.0 กับความชอบธรรมของเผด็จการ ชลิตา กล่าวว่า คือการเอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนโดยอ้างว่าการเมืองขอให้นิ่งไปกว่านี้อีกสักพักเพื่อที่จะผลักดันพัฒนาให้มีความเข้มแข้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแยกโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจออกจากประชาธิปไตยในทางการเมือง หรืออีกอันคือเป็นการความชอบธรรมให้กับระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบที่อาจจะย้อนกลับไปแย่กว่าในสมัยก่อน การทำให้คนคิดแต่เรื่องของกับดักรายได้ปานกลางเท่านั้น ทำให้เราลืมกับดักอื่นๆไป เช่นกับดักรัฐประหาร กับดักธรรมาภิบาลและอื่นๆอีกมากมาย

Thailand 4.0 ถูกยกหยิบขึ้นมาเพื่อเหมือนกับกลบเกลื่อนว่าเศรษฐกิจกำลังจะดินหน้า กลบเกลื่อนแรงกดดันจากนานาชาติที่มีมาตรฐานบางอย่างที่ไม่อาจยอมรับตามประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหลายๆอย่างได้ ทำให้เกิดปรากฏการที่รัฐบาลมุ่งไปที่จีนมากที่สุด

หลายคนชี้ให้เห็นว่าอุดมคติของ 4.0 มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางปฏิบัติของคสช.ก็จะเห็นความย้อนแย้งมากมาย เรามักจะได้ยินคำที่ดูดี เช่นความเลื่อมล้ำที่สังคมต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ความหลากหลาย แต่คำพูดเหล่านี้กลับย้อนแยงกับการปฏิบัติงานในท้องที่ของคสช.ไม่ว่าจะเป็นการทำลายเศรษฐกิจเช่นการขับไล่คนจำนวนมาก การไล่แม่ค้าหาบเร่แผงลอยต่างๆที่เดือดร้อนคนระดับล่าง หรืออูเบอร์ที่แสดงความไม่พร้อมของรัฐไทย การตัดสิทธิบางอย่างของบัตรทอง ตัดการสนับสนุนการศึกษาในระดับมัธยมปลายและอาชีวะ การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้กยศ. การสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำลายสิ่งแวดล้อมความหลากหลายตามที่บอกไว้ในอุดมคติทั้งสิ้น     

การทำลายสิทธิเสรีภาพ

ชลิตา กล่าวว่าอีกว่า 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวดเช่นในสังคมไทยในทุกวันนี้ เราจะสามารถพัฒนาแรงงานได้อย่างไร เมื่อถูกแยกออกจากเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เรื่องของประสิทธิภาพของรัฐกับ 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบังคับ หรือการใช้ม.44 จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องยอมรับความหลากหลาย ต้องอยู่บนกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นอำนาจของประชาชนจริงๆ

Thailand 4.0 กับมหาวิทยาลัย

ชลิตา กล่าวว่าด้วยว่า มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับวาทกรรม 4.0 ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มหาวิทยาลัย ไม่ว่าครูอาจารย์หรือผู้บริหาร ควรจะมีความเข้าใจในความเป็นการเมืองของ4.0ให้ถ่องแท้ ไม่ควรแค่ทำเพียงเพราะผู้นำบอกว่าดี Thailand 4.0 มันมีข้อดีแต่มันก็มีข้อเสียอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องคำถามเชิงวิภาค คิดสิ่งที่ดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นว่าสนับสนุน4.0 อย่างน้อยควรจะเริ่มถามง่ายว่าสิ่งต่างนั้นมันสามารถทำได้จริงหรือไม่ ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตั้งคำถาม การวิภาคแม้กระทั่งวิภาคตัวเอง จะทำให้มหาลัยที่ปวารณาตนว่าเป็นผู้ผลิตความรู้แห่งแผ่นดิน จะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารให้ประกัน สรรเสริญ จำเลยคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา หลังถูกขัง 2 ปี 2 เดือน

Posted: 18 May 2017 03:51 AM PDT

ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชัวคราวอีก 1 จำเลยคดีปาระเบิดศาลอาญา หลังถูกขังระหว่างพิจารณาคดีราว 2 ปี 2 เดือน โดยครอบครัวยื่นหลักทรัพย์ที่ดินที่ประเมินราคาได้ 6 ล้านบาท ขณะที่กระบวนการสืบพยานโจทก์ทั้ง 7 ปากที่ผ่านมา ไม่มีพยานคนใดยันยืนได้ว่า สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เปิดบาดแผลที่ได้รับระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร แฟ้มภาพประชาไท

หากยังคงจำกันได้ชื่อ 'สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน' อาจจะยังเป็นชื่อที่ถูกจดจำสำหรับผู้ที่ตระหนักในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ชื่อของเขาปรากฎอยู่ในหน้าสื่อเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 โดยในวันนั้น พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมียศ พล.ต.อ.) ได้แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการปาระเบิดเข้าไปที่ศาลอาญารัชดาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ปีเดียวกันว่า ได้มีการออกหมายจับ ผู้ต้องหาไปทั้งหมด 9 ราย ซึ่งเชื่อว่ามีพฤติการณ์ร่วมกันวางแผนเพื่อก่อเหตุวางระเบิดที่ศาลอาญา ควบคุมตัวไว้แล้ว 5 ราย ก่อนที่จะมีการขยายผลการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มรวมทั้งสิ้น 16 คน โดยแยกเป็นชาย 11 คน และหญิง 5 คน โดยทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหา

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เป็นหนึ่งรายชื่อผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในวันนั้น แต่เขาได้เคยให้ข้อมูลกับประชาไทว่า เขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 9 มี.ค. 2558 และได้ถูกส่งตัวไปยังกรมสารวัตรทหารเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันเดียวกัน และจำได้รับทราบว่าเหตุแห่งการจับกุมเกิดจากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีปาระเบิดศาลอาญา เขาเล่าด้วยว่า โดนใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้ผ้าดำปิดตาพร้อมกับเอาถุงดำคลุมหัว และถูกบังคับให้สารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เขาอยู่ในความควบคุมของทหาร 7 วัน ก่อนเจ้าหน้าที่นำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารและนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มี.ค. 2558

ในจำนวนผู้ต้องหาทั้งหมด 9 ราย มี 4 รายที่ได้เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ถูกซ้อมทรมานขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยทหารภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหา 4 รายที่ถูกจับกุมในคดีระเบิดศาลอาญา โดยได้รับแจ้งว่าถูกซ้อมทรมานจากการชกต่อย กระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และถูกข่มขู่ว่าทำร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล แถลงการณ์ระบุว่ามีผู้ต้องหาบางรายถูกช็อตด้วยไฟฟ้า โดยยังคงปรากฏร่องรอยบริเวณผิวหนัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ระหว่างวันที่ 9-15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสรรเสริญระบุว่า เขาโดนไฟฟ้าช็อตที่ต้นขาถึง 30-40 ครั้ง และปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง (อ่าน: เบื้องหลัง 'สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน' ไม่รับสารภาพ คดีระเบิดหน้าศาล) (อ่าน: ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผยผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลถูกซ้อม จี้ คสช.-ทหารหยุดใช้กฎอัยการศึกจับคน)

สำหรับคดีดังกล่าว ได้มีการขยายผลจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มรวมทั้งสิ้น 16 คน โดยแยกเป็นชาย 11 คน และหญิง 5 คน โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้มีการให้ประกันตัวไปแล้ว 2 คน ได้แก่ นางธัชพรรณ ปกครอง อายุ 19 ปี ภรรยาของนายยุทธนา เย็นภิญโญ(หนึ่งในจำเลย) ซึ่งตั้งท้อง 7 เดือน และเป็นโรคธาลัสซีเมีย ในขณะนั้นได้รับการประกันตัวเป็นรายแรก โดยใช้หลักทรัพย์โฉนดที่ดินมูลค่า 1,008,000 บาท (อ่าน: ให้ประกันสาวท้อง 7 เดือน คดีปาระเบิดศาลอาญา) และ นายสมชัย อภินันท์ถาวร อายุ 53 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โอนเงิน ได้ประกันเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2558 โดยใช้เงินสดจำนวน 800,000บาท (อ่าน: ได้ประกันรายที่ 2 'สมชัย' ผู้ถูกกล่าวหารับจ้างโอนเงินคดีปาระเบิดศาลอาญา)

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ขณะถูกควบคุมตัว แฟ้มภาพประชาไท

ล่าสุดวันที่ 18 พ.ค. 2560 เสาวลักษณ์ โพธิงาม ทนายความของ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ได้แจ้งว่า ศาลทหารกรุงเทพ ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสรรเสริญ จำเลยคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญารัชดา โดยจะมีการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเย็นวันนี้

โดยทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า จากกระบวนการพิจารณาคดีที่ผ่านมากว่า 2 ปี ได้มีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งสิ้น 7 ปาก ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 7 ปากที่สืบมาไม่มีพยานคนใดเลยที่ยืนยันว่า สรรเสริญได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าว โดยในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ทางครอบครัวของนายสรรเสริญได้ยื่นหลักทรัพย์ในการประกันตัวเป็นที่ดินประเมินราคาเป็นเงินสดกว่า 6 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อสรรเสริญ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว คดีดังกล่าวยังมีผู้ต้องขังที่ถูกขังอยู่ในเรือนทั้งสิ้น 13 คน เป็นชาย 9 คน และหญิง 4 คน ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีในขณะนี้ได้ทำการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 7 ปาก โดยที่คดียังอยู่ในชั้นสอบพยานโจทก์ ซึ่งมีพยานโจทก์รวมอยู่ในบัญชีทั้งสิ้น 87 ปาก

สำหรับจำเลยที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีทั้ง 13 ราย ประกอบด้วย นายมหาหิน ขุนทอง , นายยุทธนา เย็นภิญโญ, นางสาวณัฎฐพัชร์ อ่อนมิ่ง, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายวิชัย อยู่สุข, นางสุภาพร มิตรอารักษ์, นางวาสนา บุษดี, ณัฏฐธิดา มีวังปลา, นายนรภัทร เหลือผล, นายเจษฎาพงษ์ วัฒนพร, นายวสุ เอี่ยมลออและนายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชลซี แมนนิงผู้เปิดโปงกองทัพสหรัฐฯ ลงวิกิลีกส์-ได้รับอิสรภาพแล้ว

Posted: 18 May 2017 02:33 AM PDT

เชลซี แมนนิง ผู้เปิดโปงกองทัพสหรัฐฯ กรณีสังหารนักข่าวและพลเรือนในอิรักได้รับการปล่อยตัวแล้ว แม้ว่าเธอยังต้องสู้คดีเพื่อแก้ชื่อเสียงของเธอว่าการกระทำของเธอไม่มีความผิด และนักสิทธิมนุษยชนก็เรียกร้องให้สืบสวนกรณีที่เรือนจำทหารปฏิบัติแย่ๆ ต่อเธอในช่วงที่เธอถูกคุมขังและไม่ยอมให้เธอรับกระบวนการแปลงเพศที่เธอต้องการ แต่หลังจากที่เธอเป็นอิสระจะถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอที่จะได้เป็นตัวของเธอเอง

ภาพวาด "How Chelsea Manning sees herself" ที่มา: Alicia Neal/Chelsea Manning Support Network

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 มีการปล่อยตัว เชลซี แมนนิง อดีตทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกสั่งจำคุกเพราะเปิดโปงการกระทำแย่ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามอิรักหลังจากที่เธอถูกขังอยู่ในเรือนจำของกองทัพราว 7 ปี หรือรวมแล้วราว 2,545 วัน

"หลังจากที่รอคอยอย่างกังวลมายาวนาน 4 เดือน ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง" แมนนิงระบุในถ้อยแถลงหลังได้รับการปล่อยตัว เธอพูดถึงการที่อดีตประะธานาธิบดี บารัก โอบามา สั่งลดโทษให้เธอเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้แมนนิงถูกสั่งจำคุกยาวนานถึง 35 ปี

"ฉันคาดหวังในเรื่องนี้มาก ไม่ว่าจะมีอะไรก็ตามรอฉันอยู่มันสำคัญกวาอดีต ฉันคิดได้ตอนนี้ ซึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เคอะเขิน น่าสนุก และเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดสำหรับฉัน" ในโซเชียลมีเดียเธอโพสต์รูปเท้าของตัวเองพร้อมข้อความว่า "ก้าวแรกสู่อิสรภาพ"

แมนนิงถูกจับกุมตัวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 นอกฐานทัพสหรัฐฯ แถบรอบนอกของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เนื่องจากเธอส่งข้อมูลลับของทางการให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์เกี่ยวกับการสังหารประชาชนในสงครามอิรัก หนึ่งในหลักฐานเหล่านั้นคือภาพวิดีโอที่สหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงสังหารนักข่าวรอยเตอร์ 2 รายและพลเรือนคนอื่นๆ ในแบกแดด

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแมนนิงจะได้รับการลดโทษให้ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนดแต่เธอก็ยังคงต้องต่อสู้ทางกฎหมายต่อปเพราะคำตัดสินให้เธอมีความผิดตามกฎหมายจารกรรมยังคงส่งผลเต็มที่และน่าเป็นห่วงในยุครัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐฯ ทำให้แมนนิงยังต้องต่อสู้เพื่อทำให้มีการยกเลิกคำตัดสินของเธอต่อไป โดยในคำอุทธรณ์ของเธอระบุว่าการถูกตัดสินจำคุก 35 ปี น่าจะเป็น "คำตัดสินที่อยุติธรรมที่สุดในประวัติศาสตร์ระบบยุติธรรมของกองทัพ" แนนซี ฮอลแลนด์เดอร์ บอกว่าสาเหตุที่ต้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้ต่อไปเพราะต้องการแก้ไขชื่อเสียงให้เธอด้วยเพราะเธอเชื่อว่าแมนนิงถูกตัดสินในสิ่งที่เธอไม่ได้กระทำผิดและกระบวนการตัดสินเธอก็ไม่ยุติธรรม

แต่เดิมแล้วแมนนิงคือผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายชื่อ แบรดลีย์ แมนนิง จนกระทั่งในระหว่างที่ถุกคุมขังอยู่เธอก็เริ่มทำการแปลงเพศเป็นหญิง รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็นเชลซี เคยมีกรณีที่แมนนิงพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน รวมถึงประท้วงด้วยการอดอาหารขณะอยู่ในคุกทหาร ซึ่งทางกลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันบอกว่า เธอทำไปเพื่อประท้วงการที่เรือนจำปฏิเสธไม่ยอมให้เธอได้รับการรักษาพยาบาลและเข้าถึงสิทธิอื่นๆ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้านการแปลงเพศของเธอ

แมค แอนเดอร์สัน ผู้ประสานงานฝ่ายที่ปรึกษาทั่วไปของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า เรื่องราวของแมนนิงควรจะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนรัฐบาลให้มีการคุ้มครองผู้เปิดโปงและรักษาสิทธิมนุษยชนสำหรับคนข้ามเพศที่ถูกคุมขัง ส่วนมาร์กาเร็ต หวง ผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลของสหรัฐฯ กล่าวว่าควรมีการสืบสวนการที่แมนนิงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในขณะถูกคุมขังต่อไปและควรสร้างระบบคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีผู้เปิดโปงรายใดถูกกระทำแย่ๆ เช่นนี้อีก

"ครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่จะได้เป็นตัวเอง"

ซูซาน แมนนิง แม่ของเชลซี แสดงความยินดีที่ลูกของเธอได้รับการปล่อยตัว เธอบอกว่าลูกของเธอเป็นคนฉลาดและมีพรสวรรค์ เธอบอกว่าเชลซีคงต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกภายนอกหลังจากที่อยู่ในเรือนจำมานาน แต่ก็ดีใจที่ในตอนนี้เชลซีจะได้เรียนต่อและทำสิ่งต่างๆ ตามที่เธอต้องการแล้ว

คนอื่นๆ หลายคนก็แสดงความยินดีที่แมนนิงได้ออกจากคุก อีวาน เกรียร์ จากองค์กรไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์อกว่าการที่แมนนิงได้รับการปล่อยตัวถือเป็นชัยชนะของสิทธิมนุษยชนและอนาคตเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังเป็นชัยชนะของการจัดตั้งในระดับรากหญ้าด้วย มีผู้คนจำนวนมากจากหลากหลายแนวคิดทางการเมืองที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอิสรภาพในแมนนิง

"มันจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่เธอจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอิสระด้วยตัวตนที่แท้จริงที่เธออยากจะเป็น" คือข้อความที่ระบุในเพจระดมทุนช่วยเหลือเชลซี แมนนิง ในการกลับบ้าน

 

เรียบเรียงจาก

Chelsea Manning released from military prison, The Guardian, 17-05-2017

'Today Is a Great Day': After 7 Years, Chelsea Manning Takes First Steps of Freedom, Common Dreams, 17-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ วาระ 37 ปี กวางจู และการนำทหารออกจากการเมืองเกาหลีใต้

Posted: 18 May 2017 02:24 AM PDT

สัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ทำความเข้าใจโดยสังเขป กับความสำคัญของรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู กระบวนการนำทหารออกจากการเมือง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุด

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

เนื่องในวาระครบรอบ 37 ปี เหตุการลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมในเมืองกวางจู เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2523 และในปีนี้ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ที่ตั้งมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) ประจำปี 2017 ให้กับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม ผู้ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง และถูกเพิกถอนสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว ตั้งแต่ 22 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะที่เกาหลีใต้เองเพิ่งเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ถูกประชาชนจำนวนมากชุมนุมขับไล่จากข่าวการทุจริต แต่เกาหลีใต้สามารถแสวงหาทางออกภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย

ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของ The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) เพื่อทำความเข้าใจอย่างพอสังเขป เกี่ยวกับ ความสำคัญของรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู และเหตุการณ์กวางจู กระบวนการนำทหารออกจากการเมือง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุด

ความสำคัญของรางวัลกวางจู

เกี่ยวกับความสำคัญของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นั้น พิมพ์สิริ อธิบายว่า รางวัลกวางจูเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งการต่อสู้นี้ แม้ว่าชาวเมืองจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกสังหารนับพัน และถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต่อมาอีกหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูกลายเป้นแรงบันดาลใจให้ขบวนการแรงงาน ชาวนา นักศึกษา และคนเกาหลีใต้เรือนล้านออกมาต่อสู้บนท้องถนนในปี 1987 หลังจากรัฐบาลเผด็จการได้ทรมานและสังหาร พัก ยอง-ชุล ผู้นำนักศึกษาในเดือนมกราคม 1987 จนเกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน

"ในปีนี้ ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Human Rights Prize) ไม่เกินเลยถ้าจะพูดว่าไผ่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เหมือนที่ขบวนการนักศึกษาในเกาหลีใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" พิมพ์สิริ กล่าว

การนำทหารออกจากการเมือง

สำหรับสาเหตุที่ทบาททหารของเกาหลีทางการเมืองลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับในอดีตนั้น พิมพ์สิริ อธิบายว่า เกิดจาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 9 ของเกาหลีใต้และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นสองกระบวนการหลักที่มีความสำคัญในการจำกัดอำนาจเผด็จการทหารในทางการเมือง

โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 6 แห่งเกาหลีใต้มีที่มาจากคำประการ 29 มิถุนา (29 June Declaration) ที่มีเนื้อหาหลักๆ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งเสรี การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงเผด็จการทหาร การปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองเกาหลีใต้ รวมถึงการให้สิทธิศาลพิจารณาการคุมขังบุคคลว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (heabus corpus) การยกเลิกกฎหมายควบคุมสื่อ และการให้เสรีภาพสื่อ การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  สนับสนุนการพูดคุยหาข้อตกลงทางการเมือง และการปฏิรูปสังคม

"ความคิดเห็นต่อการที่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี โรห์ แต-วู ซึ่งเป็นแคนดิเดทในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารอย่างชุน ดู-ฮวานตัดสินใจประกาศคำประกาศ 29 มิถุนา แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ารัฐบาลทหารเผด็จการยอมถอยเพื่อที่หลีกเลี่ยงการปะทะกับประชาชนหลักล้านบนท้องถนนใน 16 เมืองทั่วประเทศ แต่คาดหวังว่าจะใช้อำนาจของตนผ่านการส่งตัวแทนเข้าไปเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโรห์ แต-วูก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศ ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคำประกาศ 29 มิถุนานี้เป็นผลมาจากแรงกดดันของประชาชนที่แสดงออกถึงความโกรธแค้นต่อการปกครองอำนาจยาวนานของเผด็จการทหาร" พิมพ์สิริ กล่าว

5 องค์ประกอบกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

พิมพ์สิริ กล่าวถึง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) นั้น ว่า ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลักๆ ของการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลเกาหลีใต้ภายหลังจากช่วงเผด็จกาทหามีความพยายามที่จะทำคืนความยุติธรรมให้กับกรณีกวางจูที่มีคนตายประมาณกันว่าเป็นหลักพันจากการสลายการชุมนุมของทหาร และเคยโดนป้ายสีในสมัยเผด็จการว่าเป็นพวกขบถคอมมิวนิสต์ รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

1) การลงโทษผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม กรณีนี้ ชุน ดู ฮวานถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ถอดยศ ยึดทรัพย์ ถึงจะติดคุกจริงไม่กี่ปี แต่การ social sanction ของสังคมก็มีผลต่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายของอดีตเผด็จการ

2) คณะกรรมการค้นหาความจริง  ที่มีการทำให้เป็นสถาบัน (institutionalised) อย่างจริงจังต่อมาด้วยการก่อตั้งมูลนิธิ May 18 และศูนย์ข้อมูล (Gwangju Archive Centre) ที่เก็บรวบรวมไว้ทุกอย่าง รวมทั้งรองเท้าของผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายในวันนั้น

3) การจ่ายค่าชดเชย ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสูญหายในวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายเดือนในฐานะวีรชนของชาติ รวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมืองและผู้ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหาร

4) การปฏิรูปสถาบันต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในเกาหลีใต้ ผลพวงจากการรวมตัวกันต่อต้านเผด็จการทหารทำให้ขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา ขบวนการนักศึกษายังเข้มแข็งมาจนทุกวันนี้ องค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ Korean Confederation of Trade Unions นั้น มีสมาชิกกว่า 700,000 คน แม้ว่าผู้นำขององค์กร ฮาน ซัง-กึนจะถูกสั่งจำคุก 5 ปีภายใต้ข้อหายุยงปลุกปั่น (Sedition) เนื่องจากนำประท้วงรับบาลปาร์ค กึน-เฮในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2015 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปีที่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้

5) ความพยายามที่จะจดจำ การก่อตั้งมูลนิธิ May 18 การก่อตั้ง Gwangju Prize for Human Rights การจัดงานรำลึกระดับชาติทุกปีที่ระดับผู้นำประเทศต้องมาเข้าร่วม เพลงต่อต้านเผด็จการที่กลุ่มผู้ประท้วงเคยขับขานในการประท้วงที่กวางจูกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (สมยศ พฤกษาเกษมสุขเป็นผู้แปลเนื้อเป็นภาษาไทยให้กับเพลง Solidarity) การก่อตั้งสุสานแห่งชาติ การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลฯลฯ คือการ 'จดจำ' เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์จนคนรุ่นใหม่หลงลืม แม้ว่าจะความพยายามของพัก กึน-เฮที่จะแก้ไขหนังสือเรียนประวัติศาสตร์เกาหลีเพื่อแก้ต่างให้กับพ่อตัวเอง

เพลง Solidarity
เพลงต้นฉบับในภาษาเกาหลี

มองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้

พิมพ์สิริ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ล่าสุดว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในครั้งนี้แน่นอนว่าสะท้อนความไม่พอใจที่ประชาชนส่วนใหญ่มีต่อพรรค ที่มีข่าวฉาวในช่วงปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้พอจะเป็นที่คาดเดาได้ว่าพรรค Liberty Korea จะพ่ายแพ้ แต่จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่แม้จะพ่ายแพ้ แต่แคนดิเดทของพรรค ฮอง จุน-เพียวก็ได้รับคะแนนเสียงถึง 24% แม้ว่าจะฮองจะมีนโยบายแข็งกร้าวเช่นการประกาศจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้และการกวาดล้างผู้นำสหภาพแรงงาน รวมถึงทัศนคติเหยียดหยามสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แสดงให้เห็นว่าพรรคอนุรักษ์นิยมเองนั้นก็ยังมีฐานเสียงเหนียวแน่น แม้ว่าความนิยมในตัวอดีตประธานาธิบดีปาร์คจะร่วงต่ำลงเป็นประวัติการณ์เหลือแค่ 4% เท่าที่ได้สัมผัสมาจากการไปสังเกตการณ์ประท้วงในปี 2015 และการทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ ฐานเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมมักจะเป็นผู้สูงอายุและวัยกลางคนซึ่งอาจจะมีประสบการณ์ตรงหรือได้ยินประสบการณ์ของครอบครัวที่เคยผ่านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี และมองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมนั้นมีนโยบายทางการทูตที่แข็งกร้าวต่อเปียงยาง

เสรีภาพการชุมนุมและการผ่าทางตัดด้วยระบอบประชาธิปไตย

สำหรับเหตุผลที่เกาหลีใต้ที่มีการชุมนุมขับไล่ ประธานธิบดีคนก่อน แล้วยังสามารถแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยได้นั้น พิมพ์สิริ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการชุมนุมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนซึ่งไม่ได้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือแสดงออกถึงความคับข้องใจที่มีต่อนโยบายต่างๆ และการใช้อำนาจของรัฐในแง่มุมต่างๆ ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เองก็มีพื้นฐานมาจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1961-1987 โดยมีเหตุการณ์ที่กวางจูเป็นจุดพลิกผันจนนำไปสู่การรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน ขบวนการชาวนา และขบวนการนักศึกษา และเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นในเดือนมิถุนายน 1987 จนรัฐบาลเผด็จการยอมคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดการเลือกตั้งเสรีขึ้น

พิมพ์สิริ กล่าวย้ำถึงความสำคัญในเสรีภาพการชุมนุมว่า จะเห็นได้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ และจนกระทั่งทุกวันนี้ การชุมนุมประท้วงก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนเกาหลีใต้ในการต่อกรกับอำนาจรัฐ เหมือนที่เราได้เป็นประจักษ์พยานการชุมนุมโดยประชาชนเรือนล้านบนท้องถนนเพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ จนนำไปสู่การถอดถอนโดยรัฐสภาและศาลสูงในท้ายที่สุด

"ในบางครั้งเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงอาจจะไม่ใช่การต่อสู้หรือเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสันติ ประชาชนทุกฝ่ายสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการต่อรองทางการเมืองกับผู้กุมอำนาจรัฐ" พิมพ์สิริ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดช็อตต่อช็อต ดาโหะ มะถาวร เหยื่ออุ้ม (เกือบหาย) รายล่าสุด – กอ.รมน.ยันไม่มีเหตุผลที่จะทำ

Posted: 18 May 2017 01:35 AM PDT

เปิดคำบอกเล่าช็อตต่อช็อตของ 'ดาโหะ มะถาวร' ครูตาดีกาสะย้อย สงขลา ผู้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มตัวไป สุดท้ายไปโผล่ที่สตูล ใครคนทำหรือสร้างเรื่องขึ้นเอง ยังเป็นปริศนา ด้าน โฆษก กอ.รมน. ยันไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำ ผู้ใหญ่บ้านเผยพลังการช่วยเหลือกระทั่งปลอดภัย
ดาโหะ มะถาวร 

ดาโหะ มะถาวร อายุ 39 ปี มีตำแหน่งเป็นประธานชมรมตาดีกาตำบลทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นครูตาดีกา(ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามขั้นพื้นที่ฐาน)ประจำมัสยิดต้นพิกุล ม.3 ต.ทุ่งพอ 15 ปี และกรรมการชมรมตาดีกาอำเภอสะบ้าย้อย เขาถูกนำตัวไปตอนสองทุ่มเศษเมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 โดยถูกปิดหน้าตลอดการเดินทางยาวนานเกือบตลอดคืน กระทั่งถูกปล่อยกลับมาในอีกวัน ระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้น 

ช็อตต่อช็อต สุดท้ายไปโผล่สตูล

"คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 เวลาประมาณ 20.20 น.มีรถเก๋งสีขาวไม่ทราบหมายเลขทะเบียนมาจอดอยู่ทางเข้าบ้าน(บ้านเลขที่ 4/5 ม.3 ต.ทุ่งพอ)ของตนโดยหันหน้าไปทางสะบ้าย้อย เมื่อผมขับรถจักรยานยนต์กลับจากร้านน้ำชา เมื่อขับมาถึงและจะเลี้ยวเข้าบ้านได้ยินเสียงคนในรถเก๋งตะโกนให้หยุดเป็นภาษาไทยชัดเจน และใช้ปืนมาจี้บังคับให้ตนเข้าไปในรถเก๋ง ผมกลัวจะถูกยิงจึงเข้าไปในรถเก๋งคันนั้น

ขณะนั้นมีคนในรถ 4 คน นั่งหน้า 2 คน นั่งหลัง 2 คน สวมไอ้โม่งปิดใบหน้าทุกคน เมื่อผมเข้าไปนั่งในรถตรงกลางด้านหลัง เมื่อขับรถออกไปไม่ไกลโดยขับไปทางตลาดสะบ้าย้อย คนในรถจึงเอาผ้าหรือไอ้โม่งมาปิดหน้าตนไว้ ตอนนั้นผมได้หยิบโทรศัพท์ที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อโต๊บที่สวมใส่อยู่ แอบโทรศัพท์ไปหาภรรยา เมื่อมีคนรับสายจึงพูดว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเอาตัวไป เพราะตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นทหาร จากนั้นคนในรถก็ยึดโทรศัพท์ไป

หลังจากนั้นนั่งอยู่ในรถไปประมาณ 3-4 ชั่วโมงจึงมีการจอดรถ โดยระหว่างนั่งในรถไม่ได้ยินเสียงพูดคุยอะไรเลย ตอนนั้นผมรู้สึกได้กลิ่นหอมๆที่ผ้าปิดหน้าด้วย ซึ่งตลอดทางรู้สึกมึนไปหมด เมื่อรถจอดแล้วตนถูกนำตัวเข้าไปในอาคารซึ่งไม่มีบันได เมื่อเข้าไปในห้องแล้วจึงเปิดผ้าที่ปิดใบหน้าออก พบว่าเป็นในห้องเปิดไฟสว่าง มีขนาดกว้าง 2x3 เมตร มีเก้าอี้เพียงตัวเดียวอยู่กลางห้อง เขาให้นั่งบนเก้าอี้ตัวนั้นโดยไม่ได้คุยอะไรเลย

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงเขาจึงพาออกไปข้างนอกโดยปิดหน้าอีกครั้ง โดยพาไปขึ้นรถอีกคัน น่าจะเป็นรถกระบะยกสูงเพราะต้องก้าวข้างขึ้นสูง ออกเดินทางต่อจนถึงเวลาประมาณตี 4 รถจึงหยุดและถูกพาตัวเข้าไปในอาคารอีกครั้ง โดยขึ้นบันได 2 ช่วง เมื่อเข้าไปในห้องแล้วก็ถอดผ้าปิดหน้าออก ในห้องเห็นมีโทรทัศน์ เตียง ห้องน้ำ มีผ้าเช็ดตัว ลักษณะเหมือนห้องพักในรีสอร์ท

ต่อมาเวลา 5.30 น.(วันที่ 14 พฤษภาคม) เขาก็เอาโทรศัพท์มาให้โทรบอกญาติ ผมจึงโทรบอกน้องชายว่าสบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งวันนั้นก็อยู่ในห้องตลอดเวลา โดยมีคนเอาข้าวมาให้กินทั้ง 3 มื้อ เช้า เที่ยง เย็น ลักษณะที่พักเป็นบ้านเก่า 2 ชั้น หลังบ้านมีสวนสะตอเบา ด้านหน้าเป็นถนน 4 เลน มีเกาะกลางถนน ฝั่งตรงข้ามไม่อาคารบ้านเรือน

พอเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม มีคนมาที่ห้อง 2 คนโดยไม่ได้ปิดหน้า มาบอกว่ากลับบ้านได้ จะไปส่ง แต่ตนยังกลัวและไม่ไว้ใจ ขอให้ไปส่งที่บขส. (สถานีขนส่ง)จะกลับบ้านเองหรือที่คิวรถตู้ และโทรให้น้องชายมารับที่ บขส.หาดใหญ่

จากนั้นเขาก็ไปส่งโดยรถตู้ มีทั้งหมด 4 คน เปิดหน้าทุกคน ลักษณะทรงผมสั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อมาถึงคิวรถตู้สายสตูล-หาดใหญ่ จึงรู้ว่าเป็นสตูล และเขาก็ซื้อตั๋วให้แล้ว นั่งรถตู้มาถึงหาดใหญ่เวลาประมาณ 12.00 น น้องชายไปรับกลับถึงบ้านประมาณ 14.00 น.

ต่อมาเช้าวันที่ 16 ตนก็ไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพักสะบ้าย้อย เพราะคืนที่ถูกพาตัวไป ภรรยากับผู้ใหญ่บ้านไปแจ้งความที่โรงพักแล้ว และเพื่อยืนยันว่ากลับมาแล้ว

ผมทราบหลังจากกลับมาแล้วว่า ตอนโทรไปครั้งแรกภรรยาเป็นคนรับสาย จากนั้นก็ให้น้องชายไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านตอปาและชุดคุ้มครองตำบล จนกระทั่งมีการประสานฝ่ายต่างๆไปอย่างรวดเร็ว ทั้งอำเภอและ ศปก.อำเภอ(ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ) ประสานไปที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ญาติรู้จัก รวมทั้งประสานไปที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ฉก.สงขลา) ซึ่งแนะนำให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อย เวลา 21.00 น.

กระทั่งมีการประสานวิทยุให้สกัดรถเก๋งสีขาวตั้งแต่เวลาประมาณ 21.15 น. และมีการแจ้งให้โรงเรียนปอเนาะและมัสยิดละหมาดฮายัด เพื่อขออัลเลาะห์ให้ตนปลอดภัย โดยมีคนมาละหมาดที่บ้านตอน 23.30 น. และได้ขอให้โต๊ะครูที่เคยเรียนมา และโต๊ะครูปอเนาะในอำเภอสะบ้าย้อยช่วยละหมาดฮายัดด้วย

ผมบอกไม่ได้เลยว่า เรื่องอะไรและทำไมผมจึงถูกอุ้มไปอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยมีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง ไม่เคยถูกค้นหรือถูกหมายจับ ไม่เคยเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานไหนเลย

แต่มีครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีการปล่อยข่าวมีการแจ้งชื่อเยาวชนในหมู่บ้านประมาณ 100 คนว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงผมด้วย ตอนนั้นผู้ใหญ่บ้านก็พาไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผมด้วย หลังจากนี้คิดว่า จะไม่เอาเรื่องอะไรกับคนที่ทำ อยากอยู่อย่างสงบ ไม่อยากยุ่งอะไรอีก"

ผู้ใหญ่ 'ตอปา แหละสมสา' :  เขาไม่น่าจะสร้างเรื่องขึ้นมาเอง

ตอปา แหละสมสา ผู้ใหญ่บ้านต้นพิกุล ม.3 ต.ทุ่งพอ เล่าว่า "ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโทรหาผมตอน 3 ทุ่มว่า เจ๊ะฆูโอ๊ะ(ดาโหะ) โดนอุ้มที่หน้าบ้าน แต่ไม่รู้ว่าใครอุ้มไป โดยเจ๊ะฆูออกจากร้านน้ำชาเวลา 20.20 น. จากนั้นโอ๊ะโทรบอกภรรยาตอน 20.40 น.ว่าทหารมาเอาไป ให้เก็บมอเตอร์ไซด์ที่จอดหน้าบ้านด้วย

เมื่อทุกคนทราบข่าว น้าของโอ๊ะจึงโทรไปหาผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อย และให้ญาติๆโทรหาเพื่อนๆพรรคพวกให้ช่วยตรวจสอบ และเจ๊ะฆู(ครู)อิบรอฮีมไปดูกล้องวงจรปิดก็พบว่ามีรถเก๋งสีขาวมากลับรถที่ใกล้บ้านของโอ๊ะในช่วงเวลาเดียวกับที่โอ๊ะหายตัวไป

น้าชายของโอ๊ะรู้จักคนใหญ่คนโต จึงได้โทรไปที่หน่วยเฉพาะกิจของตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) แต่ ตชด.บอกว่าให้ไปที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ที่ ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไป จึงไปที่สถานีตำรวจภูธรห้วยปลิง ต.ท่าม่วงแทน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารมาปฏิเสธว่าไม่ได้อุ้มไป

ในคืนนั้นก็มีการละหมาดฮายัตขอพรให้ปลอดภัย และมีการละหมาดอีกครั้งในตอนเช้าวันที่ 14 ที่บ้านของโอ๊ะ และมีชาวบ้านมาที่บ้านของโอ๊ะเป็นร้อยคน เพื่อมาให้กำลังใจและติดตามข่าว

ต่อมาโทรหาน้องชายอีกครั้งบอกว่า ไม่มีอะไร ไม่แต่บอกไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน หลังจากโทรเสร็จก็ปิดโทรศัพท์ จากนั้นเวลา 12.00 น.วันที่ 14 โอ๊ะได้โทรหาเจ๊ะฆูอิบรอฮีมบอกว่า สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง และบอกว่าเขาอยู่คนเดียวและอยู่กับหัวหน้า หัวหน้าให้ได้กลับบ้านได้ แต่ถ้าไม่สบายใจอยากจะอยู่ต่อ 4-5 วัน ค่อยกลับบ้านก็ได้

ในวันเดียวกันนั้น น.ส.หม๊ะกรือซา เจะหมะ ภรรยาของโอ๊ะได้ไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.สะบ้าย้อย โดยเจ้าหน้าที่ได้ซักถามประวัติและพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุพร้อมทั้งจัดเก็บ DNA ของภรรยา พี่น้องของโอ๊ะและลูกของโอ๊ะด้วย

ปกติโอ๊ะจะเจอกับผมตลอดทั้งเช้าเที่ยงเย็นที่ร้านน้ำชา คิดเขาไม่น่าจะเกี่ยวกับขบวนการ ส่วนเวลาอื่นผมไม่รู้ แต่ไม่น่าจะสร้างเรื่องขึ้นมาเองได้

ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้โอ๊ะปลอดภัยและกลับมาได้ น่าจะเป็นการช่วยเหลือกันของญาติๆและคนในหมู่บ้าน ใครติดต่อใครได้ก็ให้ติดต่อทันที เมื่อมีการแจ้งข่าวต่อๆกันก็ทำให้มีคนมาช่วยกันหลายคน ซึ่งคืนนั้นก็ทราบว่ามีคนโทรไปหาแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยแต่ไม่รู้ว่าใคร"

คนที่ถูกอุ้มแบบนี้มักไม่รอดทุกราย?

ผู้ใหญ่บ้านตอปา บอกว่า "เราไม่รู้ว่าใครทำ แต่ปกติคนที่ถูกอุ้มแบบนี้มักไม่รอดทุกราย แต่โอ๊ะโชคดีมาก ตอนหายตัวไปเราก็ทำใจไว้แล้ว

ตอนนี้แม้ยังไม่รู้ว่าใครทำ และเราก็ไม่อยากจะเจาะจงว่าใคร แต่ชาวบ้านปักใจเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว จึงเริ่มหวาดกลัวและไม่อยากให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ต่างจากเมื่อก่อนชาวบ้านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างดีมาก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะเรียกความไว้ใจกลับคืนมา"

โฆษก กอ.รมน.ภาค4 ยันไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำ

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐจะไปทำอย่างนั้นแน่นอน เพราะในการจับหรือควบคุมผู้ต้องสงสัยมีหลักปฏิบัติและขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่การอุ้มแบบนี้ เพราะจะยิ่งสร้างเงื่อนไขความหวาดระแวงให้กับประชาชน

"แต่ถ้ามีการปฏิบัติการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่น กรณีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยร่วมก่อเหตุฆ่าเจ้าของรถยนต์ไปทำคาร์บอมบ์ที่ห้างบิ๊กซี สาขาปัตตานี ซึ่งเป็นผู้นำศาสนานั้น มีการดำเนินการตามขั้นตอนก็ไม่มีปัญหา ไม่มีใครว่าอะไร"

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ ดาโหะ เดินทางไปสตูลโดยไม่บอกญาติ และก็กลับมาแล้วอย่างปลอดภัย เรื่องนี้ก็ต้องให้ทางตำรวจเป็นผู้สืบสวนสอบสวนต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม

ยันไม่เข้าเกณฑ์กระบวนการควบคุมตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ญาติเดินทางไป ฉก.สงขลา เพื่อติดตามเรื่องนี้ แต่ ฉก.สงขลา ให้ไปฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ สภ.ห้วยปลิงนั้น พ.อ.ชาคริต หยังหลัง ตำแหน่ง เสธ.ฉก.สงขลา เป็นผู้ชี้แจงยืนยันว่ากระบวนการควบคุมตัวแบบนี้ ไม่ได้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติของทางราชการ เช่น การควบคุมตัวในเวลากลางคืน จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติงานจำนวนมากไม่ใช่แค่ 4 คน การควบคุมตัวจะต้องลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ในท้องที่ เป็นต้น แต่กรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ และในคืนนั้นก็ไม่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานใดให้เข้าควบคุมตัวดังกล่าวด้วย

 

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.deepsouthwatch.org/dsj/th/11168

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.ยุติธรรมจ่อโละลูกจ้างชั่วคราวกว่า 2 พัน 'เครือข่ายพยาบาล' ขอบคุณ ประยุทธ์ พอใจผลบรรจุ

Posted: 18 May 2017 12:22 AM PDT

กระทรวงยุติธรรมจ่อโละลูกจ้างชั่วคราวกว่า 2 พันคน ไม่มีเงินจ้าง ผู้บริหารเร่งหาทางออก เครือข่ายพยาบาลฯ ขอบคุณ ประยุทธ์ พอใจผลบรรจุ ขรก. พร้อมขู่ลาออกหาก รบ.ผิดคำพูด

18 พ.ค. 2560 มติชนออนไลน์และข่าวช่อง 8 รายงานว่า ข่าวจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ระบุว่า สิ้นปีงบประมาณ 2560 ยธ.จะเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ จำนวนกว่า 2,000 อัตรา เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ซึ่งงบประมาณที่ใช้ก่อนหน้านี้มาจากดอกเบี้ยของกรมบังคับคดี เป็นเงินวางทรัพย์ หรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์และรอคืนคู่ความ มีระยะเวลาพอสมควร แต่เมื่อมีนโยบายการเร่งระบายทรัพย์การคืนเงินคู่ความโดยเร็ว ทำให้ระยะการคงเงินดังกล่าวมีจำนวนสั้น จึงไม่เกิดดอกเบี้ยในส่วนนี้ ทำให้ไม่มีเงินดอกเบี้ยมาบริการจัดการจ้างลูกจ้างชั่วคราวและจ้างเหมาบริการ อีกทั้งนโยบายของรัฐเข้าสู่ระบบ e payment การซื้อขายของรัฐเป็นระบบจ่ายตรงเข้าระบบ จึงไม่มีเงินนอกงบประมาณมาบริการเหมือนที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเงินงบประมาณที่ใช้ในการจ้างกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนกว่า 530 ล้านบาท โดยปีงบประมาณปี 2561 กระทรวงยุติธรรมถูกตัดงบจำนวนดังกล่าวที่มีการขอไปยังสำนักงบประมาณ ทำให้ต้องเลิกจ้างกลุ่มคนเหล่านี้ในสิ้นปีงบประมาณ 2560 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมกำลังหารือกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าวเพื่อชะลอการจัดเก็บรายได้ในการซื้อขายทรัพย์ของกรมบังคับคดีด้วย

เครือข่ายพยาบาลฯ ขอบคุณ ประยุทธ์ พอใจผลบรรจุ ขรก.

ขณะที่มวานนี้ (17 พ.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า รุ่งทิวา พนมแก ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมรับฟังการชี้แจงจาก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กรณีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ หลัง ครม. รับหลักการจะบรรจุ 3 ปี จำนวนรวมประมาณ 8,792 ตำแหน่ง และเมื่อรวมกับตำแหน่งว่างในปี 2560 และจาการเกษียณปี 2560 - 2562 ทำให้น่าจะบรรจุพยาบาลได้ถึง 13,583 ตำแหน่ง ว่า จากการร่วมประชุมทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และพอใจกับข้อสรุปในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่เพียงการพูด แต่มีสักขีพยานเป็นสื่อมวลชน มีการจัดเกลี่ยตำแหน่งให้กับพยาบาลตามที่ร้องขอ

"พยาบาลคงจะไม่มีการลาออกแล้ว เพราะได้รับตามเป้าหมาย และได้รับขวัญกำลังใจแล้ว แต่เรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การรวมตัวกันร้องเพลงมาร์ชพยาบาล ก็ยังคงมีการดำเนินการต่อไปเพื่อแสดงถึงพลังของพยาบาล ร่วมกับการขอบคุณนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ อยากขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส ซึ่งทางเครือข่ายฯ มั่นใจใน สธ. แต่ก็อยากให้ สธ. มั่นใจในเครือข่ายฯ ด้วย" รุ่งทิวา กล่าว

ขู่ลาออกหาก รบ.ผิดคำพูด

ทั้งนี้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ด้วยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คราวประชุมวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติ ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการ ตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ตามความจำเป็น และไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นั้น จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียขวัญและกำลังใจ ของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่า "ไม่บรรจุ ลาออก ยกกระทรวง 30 กันยายน 2560" หลังจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจนั้น 

ภาพจาก ชมรมผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน

ในวันที่ 16 พ.ค. 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้นำแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจนได้รับความพึงพอใจใน แนวทางการแก้ปัญหา และนำมาสู่การชี้แจงผ่านการประชุม video conference ในวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข ไปยัง สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข มีความพึงพอใจและจะติดตามการ ดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบรรจุพยาบาล ให้เป็นข้าราชการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเร็วที่สุด

ในนามของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สภาการพยาบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นว่าระบบสุขภาพของประเทศไทย นั้นมีความจำเป็นที่ต้องคงอัตรากำลังของพยาบาลไว้ จนได้มีการนำเรื่องของการบรรจุพยาบาลให้เป็น ข้าราชการนั้นเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมหารือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่แนวทางใน การแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมและพึงพอใจของหลายหลายฝ่าย และขอขอบคุณองค์กรวิชาชีพพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ออกมาสนับสนุนให้มีการบรรจุพยาบาลให้เป็นข้าราชการในครั้งนี้
       
ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือการแก้ไขปัญหาไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและ กระทรวงได้ทำไว้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข จะมีการรณรงค์แจ้งข่าวสาร เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบถึง ประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไขและเชิญชวนให้ดำเนินการเขียนใบลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น