โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ร้องคลังออกกฎให้หน่วยงานรัฐซื้อยาจาก อภ. ก่อนเอกชน รักษากลไกความมั่นคงทางยาของชาติ

Posted: 17 May 2017 01:06 PM PDT

วงเสวนาชี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2560 บั่นทอนระบบจัดซื้อยาทั้งประเทศ ปลุกองค์การเภสัชกรรมลุกขึ้นสู้ ให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อยาจาก อภ.ก่อนเอกชน เพื่อรักษากลไกหลักความมั่นคงทางยาของชาติ

17 พ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้(17 พ.ค.60) มีการจัดเสวนาเรื่อง "การยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เป็นการทำลายระบบสาธารณสุขของไทยจริงหรือไม่" ณ อาคารอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อหารือถึงผลกระทบต่อความมั่งคงทางยาหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

ศิริพร จิตประสิทธิศิริ อดีตประธานชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เดิม อภ. ได้รับการคุ้มครองโดยให้ส่วนราชการจัดซื้อยาไม่น้อยกว่า 60% และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงการให้จัดซื้อยาจาก อภ.เป็นอันดับแรกหากราคาใกล้เคียงกันยกเว้นราคาสูงกว่ารายอื่นๆ เกิน 3% แต่ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ไม่มีเรื่องเหล่านี้แล้ว

ศิริพร กล่าวว่า หากเปิดเสรีให้ อภ.แข่งขันด้วยตัวเอง ต้องอยู่ด้วยตัวเองเช่นนี้ หาก อภ.อ่อนแอหรือไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบยาทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมา อภ. เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยตรึงราคายาในประเทศไว้ แต่หาก อภ.อยู่ไม่ได้ ราคายาในประเทศไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ โรงพยาบาลขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากยอดซื้อมีไม่มาก อำนาจการต่อรองต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยจะขาดแคลนยาจำเป็นที่มีผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งปัจจุบัน อภ.รับหน้าที่ผลิตยาเหล่านี้แม้ไม่ทำกำไรก็ตาม

ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังยา กล่าวว่า การเจรจาเขตเสรีการค้าที่ผ่านมา ทั้งเขตเสรีการค้าไทย-อเมริกา และ ไทย-ยุโรป ต่างมีข้อเสนอในเรื่องการเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยต้องเปิดให้บริษัทเอกชนต่างประเทศสามารถเข้าประมูลหรือเสนองานภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน

กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า แม้การเจรจาเขตการค้าเสรีจะล้มไปแล้ว แต่ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกลับมีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเจรจา TPP แม้การเจรจานี้จะล้มไป แต่กฎหมายก็ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาแล้ว ขณะที่ท่าทีของกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังก็เอนเอียงไปทางเอกชน เช่น การพยายามให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหารงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ส่วนเรื่องยานี้เชื่อว่าบริษัทยาข้ามชาติก็วิ่งเต้นไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีข้อดีอย่างหนึ่งคือในมาตรา 65 เปิดช่องให้สามารถออกกฎกระทรวงยกเว้นได้ ดังนั้นควรอาศัยช่องทางนี้ออกข้อยกเว้นเพื่อความมั่นคงด้านยา โดยกำหนดว่าหากหน่วยงานรัฐจัดซื้อยา หากราคายาต่างกันไม่เกิน 3% ให้จัดซื้อยาจาก อภ.ก่อน เพื่อให้ อภ.สามารถอยู่ได้ หรือหากไม่มีข้อยกเว้น รัฐก็ต้องจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการของ อภ.ให้สามารถอยู่ได้

"แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค. 2560 แต่ก็มีช่องทางมาตรา 65 พวกเราต้องไปส่งเสียงให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางออกกฎกระทรวงยกเว้น ต้องไปบอกให้เขารู้เพราะเขาใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เขาไม่สนใจหรอกว่าจะซื้อยาแพงแค่ไหน แต่ประชาชนที่ต้องพึ่งบัตรทองมันจำเป็นต้องจัดซื้อยาในราคาที่เหมาะสม เราก็ชักชวนกันไปบอกอย่างสุภาพว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง บอกว่าการออกกฎกระทรวงเพื่อการจัดซื้อยาของหน่วยบริการเป็นเรื่องจำเป็น ต้องส่งเสียงดังๆในจำนวนที่มากพอ" กรรณิการ์ กล่าว

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อภ.เป็นกลไกความมั่นคงทางยาและจะปล่อยให้ล้มไม่ได้ หากกลไกนี้ล้มไปก็จะไม่มีคนตรึงราคายา ส่งผลให้ยาแพง งบประมาณรายหัวที่หน่วยบริการได้รับไม่เพียงพอที่จะซื้อยา ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้มตามไปด้วย สุดท้ายก็กลับมาให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายอีก

"การแก้กฎหมายนี้เป็นการทำลายระบบการผลิตยาในประเทศเลยนะ ทุกวันนี้เรามีบริษัทยาในประเทศกี่บริษัทเอง หากบริษัทข้ามชาติต้องการล้ม อภ. แค่ลดราคายาติดต่อกัน 5 ปี ถามว่า อภ.อยู่ได้ไหม แล้วถ้าไม่มีบริษัทยาในประเทศก็ต้องนำเข้ายา บริษัทข้ามชาติจะตั้งราคาเอาเท่าไหร่ก็ได้ ดังนั้นเราต้องสู้ต่อไป อย่างน้อยต้องผลักดันให้มีกฎกระทรวงหรือมีข้อยกเว้นแก่ อภ.เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว" นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ อภ.ต้องสู้จากเนื้อในก่อน แล้วผสานกับเครือข่ายภายนอก อภ.มีต้นทุนทางสังคมสูง เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของยา เป็นที่พึ่งของประชาชน อย่างไรเสียภาคีภายนอกก็ไม่ปล่อยให้ต้องสู้เพียงลำพังอยู่แล้ว แต่การต่อสู้ต้องออกมาจากเนื้อในก่อน

"เรื่องแบบนี้ฝากความหวังกับผู้นำแบบปัจจุบันไม่ได้จริงๆ ถ้าต้องการให้ผู้มีอำนาจแสดงออกที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้เราก็ต้องแข็งกร้าวและเสียงดังบ้าง ต้องยืนยันว่าเรื่องไหนยอมได้ เรื่องไหนยอมไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ายอมไม่ได้" นิมิตร์ กล่าว

ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หากไม่มี อภ. ประชาชนตายแน่ๆ เพราะไม่มีคนตรึงราคายาให้ หากจัดซื้อยาจากบริษัทยาข้ามชาติด้วยงบประมาณรายหัวจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็คงไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือโรงพยาบาลติดหนี้และหากติดหนี้มากๆ บริษัทยาไม่ส่งยาให้แล้วจะทำอย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

DSI เรียก 'อนันต์ อัศวโภคิน' บิ๊กแลนด์แอนด์เฮาส์ รับทราบข้อหาสมคบ-ร่วมฟอกเงิน

Posted: 17 May 2017 12:47 PM PDT

กรมสอบสวนคดีพิเศษหมายเรียก 'อนันต์ อัศวโภคิน' เจ้าของธุรกิจแลนด์แอนด์เฮ้าส์ รับทราบข้อกล่าวหาร่วมฟอกเงินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

17 พ.ค. 2560 เดลินิวส์ รายงานว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการมีความเห็นให้ดำเนินคดีกับ อนันต์ อัศวโภคิน ผู้บริหารบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นคดีพิเศษที่ 10/2560 และให้ออกหมายเรียก อนันต์มารับทราบข้อกล่าวหาฐานสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ตามมาตรา 5, มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป

สำหรับรายละเอียดนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ความเสียหายรวมประมาณ 13,000 ล้านบาท เป็นคดีพิเศษ และนำไปสู่การสอบสวนขยายผลถึงขบวนการฉ้อโกงประชาชน รับของโจร และความผิดฐานฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าวจำนวนหลายคดีแล้ว นั้น 

ในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาในคดีพิเศษที่ 99/2558 กรณี ศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับพวก ได้ร่วมกันดำเนินการนำเงินของสหกรณ์ฯ ที่ได้มาจากการฉ้อโกงประชาชน ออกจากสหกรณ์ โดยวิธีการที่ผิดระเบียบ ข้อบังคับ และวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ ด้วยการสั่งจ่ายเป็นเช็คของสหกรณ์ฯ จำนวนหลายฉบับอันมีพยานหลักฐานเพียงพอดำเนินคดีในความผิดฐาน "สมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน" ตามมาตรา 5, มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้อง ศุภชัย กับพวกในความผิดตามตัวกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ต่อพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว 

จากการสอบสวนคดีดังกล่าว ยังพบอีกว่า ศุภชัย ได้สั่งจ่ายเช็คหลายฉบับจำนวนรวมประมาณ 275 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหุ้นทั้งหมด (TAKE OVER) ของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อทรัพย์สินที่เป็นที่ดินของบริษัทจำนวน 3 แปลง โดยในจำนวนดังกล่าวมีที่ดินตามโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บริเวณใกล้เคียงวัดพระธรรมกาย รวมอยู่ด้วย โดยซื้อในนามสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และ ศุภชัย ได้ส่งคนของตนเองไปเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวและมีหนังสือกำหนดให้การบริหารจัดการบริษัทฯ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่ง ศุภชัย ควบคุมดูแล 

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้นำที่ดินของบริษัทฯ ไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ โดยที่ดินตามโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ได้มีมติขายให้ อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขาย ณ สำนักงานที่ดินอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่คณะกรรมการมีมติเพียง 2 วัน ในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 93,781,000 บาท ซึ่งราคาประเมินที่ดินขณะนั้นราคาตารางวาละหนึ่งหมื่นห้าพันบาท คิดเป็นราคาที่ดิน ประมาณ 281 ล้านบาท มีความแตกต่างและต่ำกว่าราคาประเมินถึง 3 เท่า อันทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด แต่อย่างใด 

ต่อมา อนันต์ ได้ขายที่ดินแปลงนี้ต่อให้บุคคลอื่นในราคา 492 ล้านบาทเศษ โดย อนันต์ ได้นำเงินที่ได้จากการขาย จำนวนประมาณ 303 ล้านบาท บริจาคให้กับมูลนิธิคุณยายจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งมีพระธัมมชโย เป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในบริเวณมูลนิธิวัดพระธรรมกาย รวมถึงอาคารบุญรักษาด้วย นอกจากนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบหลักฐานสำคัญ ว่า ศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้ทำหนังสือฉบับ ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2554 อันเป็นวันเดียวกันกับวันที่ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินฯ แสดงเจตนาถวายที่ดินโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวาตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ของบริษัทเอ็มโฮมฯ ให้กับพระธัมมชโย โด ศุภชัย จะเป็นผู้จัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวและถวายให้พระธัมมชโยโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในนาม อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งพระธัมมชโยมอบหมายให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน โดยมีแต่ลายมือชื่อของผู้อื่นในเอกสาร แต่ ศุภชัย ไม่ได้ลงชื่อ และไม่มีการดำเนินการตามหนังสือฉบับดังกล่าว โดยเป็นการดำเนินการผ่านการขายให้ อนันต์ แทน 

กรณีดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่าอาจเป็นความผิดฐาน "สมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน" ตามมาตรา 5, มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงแยกการสอบสวนเป็นอีกคดีหนึ่ง ตามคดีพิเศษที่ 10/2560 และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการได้มีมติร่วมกันให้เรียกตัว อนันต์ อัศวโภคิน มารับทราบข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตอบ'ดอน ปรมัตถ์วินัย': ทำไมรางวัลกวางจูจึงสำคัญ?

Posted: 17 May 2017 12:35 PM PDT

หาคำตอบให้ดอน ปรมัตถ์วินัย เพราะเหตุใดเหตุการณ์ที่กวางจูในปี 1980 และการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เผยประวัติศาสตร์ฉบับสังเขป เมื่อผู้นำรัฐประหาร และสั่งยิงนักศึกษา-ประชาชน ไม่พ้นผิด-ไม่ลอยนอล

ดูจะเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เมื่อคนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อย่างดอน ปรมัตถ์วินัย ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต และตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการทูตหลายตำแหน่ง ได้ออกมาตั้งคำถามถึงกรณีที่ มูลนิธิพฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ซึ่งได้มีการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) ประจำปี 2017 ให้กับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง และถูกเพิกถอนสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งนี้ไผ่ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2560 โดยที่คดีความยังไม่ได้ตัดสิน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

โดยคำถามสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยการปกครองของรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนักเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 วันเดียวหลังจากที่ครอบครัว และทนายความของไผ่ ได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 9 เพื่อที่จะขอโอกาสให้ไผ่ ได้เดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่ศาลยังคงมีความเห็นไม่อนุญาตให้ประกัน เนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ดอน กล่าวถึงกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และการได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนของไผ่ว่า คงต้องมีการตรวจสอบก่อนว่า องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรเกี่ยวกับอะไร และวัตถุประสงค์ของการมอบรางวัลคืออะไร และมีความเกี่ยวข้องอย่างไร กับไผ่ ดาวดิน ขณะเดียวกันก็ยังระบุด้วยว่าองค์กรที่มองรางวัลเป็นเครือข่ายเดียวกันกับกลุ่มของไผ่ ดาวดิน หรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นจากข่าว ก็พอจะประเมินได้ว่าเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน

แฟ้มภาพกระทรวงต่างประเทศ

จากคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยอยู่ไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นที่เมืองกวางจู 37 ปีก่อน และเรื่องราวหลังจากนั้นส่งผลสืบเนื่องอย่างไร เพราะอะไรผู้ที่พอรู้ประวัติศาสตร์จึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น เหตุการณ์สำคัญในการสร้างประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี ประชาไทชวนอ่านประวัติศาสตร์ฉบับสังเขป เพื่อความเข้าใจการลุกฮือต่อต้านเผด็จการในฤดูใบไม้ผลิเมื่อปี 1980 ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย อาจจะแตกต่างกันก็เพียงแค่ สาธารณรัฐเกาหลี สามารถนำคณะรัฐประหารมาลงโทษได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานเกือบ 20 ปี ในขณะที่เรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งหาคำตอบว่าการให้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนกับไผ่ ดาวดิน แสดงออกถึงอะไร

00000

มูลนิธิพฤษภารำลึก ก่อตั้งจากเลือด บาดแผล และความทรงจำที่จะไม่มีวันซ้ำรอยเดิม

พูดอย่างไม่เกินเลยไปนัก มูลนิธิพฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) คือองค์กรที่เกิดมาจากจิตวิญญาณของการลุกฮือขึ้นต่อต้านกับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมของผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 (พ.ศ.2523) ซึ่งมีการกล่าวถึงกันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นโศกนาฏกรรม และความน่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี เพราะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกือบ 200 คน (จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจน) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 3,000 คน นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่านี่คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล และเจ็บปวดของชาวเกาหลีใต้ครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศ และมูลนิธิพฤษภารำลึกเองก็เป็นหนึ่งในขบวนเคลื่อนไหวดังกล่าว และทำให้เรื่องราวความโหดร้ายของการล้อมปราบประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง กลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ ที่มีค่าเพียงพอที่จะได้ตระหนักถึงเพื่อเป็นหลักยันให้กับอนาคตว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีก

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 'การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจูง' (Gwangju Democratic Uprising) เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรวมตัวกับของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในสมัยการปกครองของประธานาธิบดี ปาร์ก จุงฮี นายทหารที่ได้อำนาจการปกครองจากการทำรัฐประหาร และครองอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนานถึง 18 ปี ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นต่างเรียกภายปกครองภายใต้ปาร์ก จุงฮี ว่าระบอบยูชิน ซึ่งปฏิเสธสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีการวางรากฐานอำนาจที่มั่นคงไว้รัฐธรรมนูญยูชิน ค.ศ.1972  นอกจากนี้ยังไม่การอ้างสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกประเทศเพื่อลดทอนเสรีภาพในด้านต่างๆ

ทั้งยังมีการใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเอกภาพแห่งชาติ ปลดคิม ยองซัม สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้าน ทำให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยพูซานเริ่มต้นลุกขึ้นเรียกร้อง ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1979 ก่อนที่สถานการณ์อันเป็นผลจาการตอบโต้ของรัฐบาลจะทำเกิดการลึกฮือขึ้นในเมืองมาซาน แต่การลุกฮือของประชาชนและนักศึกษาของทั้งสองเมืองก็กินระยะเวลาได้ไม่นาน เนื่องจากรัฐบาลได้จับกุมผู้ต่อต้านทั้งหมด 1,563 คน

สิ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลสืบเนื่องมายังเหตุการณ์ที่กวางจูในในอีก 7-8 เดือนถัดมาคือ ความตายของปาร์ค จุงฮี จากการถูกลอบสังหารระหว่างทานอาหารค่ำในบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี (Blue House) ในกรุงโซล อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีในระบอบเผด็จการจะค่อยๆ ทำให้ระบอบยูชินที่ยาวนานถึง 18 ปีล้มสลายลง แต่บรรดานายทหารที่ฝักใฝ่การเมืองซึ่งช่วยสร้างระบบยูชินก็ยังคงมีอานาจอยู่ต่อไปเพื่อรักษาระบอบ และรักษาอานาจของพวกเขาภายหลังจากความตายของปาร์ค จุงฮี

หลังจากการเสียชีวิตของปาร์ค จุงฮี นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นคือ ชเว คยู ฮา ได้เข้ารับตำแหน่งรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี และได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในเวลานั้น นายพลชอง ซึง ฮวาผู้บัญชาการกองกาลังรักษาความมั่นคง (Defense Security Force )ได้ตั้งศูนย์สืบสวนร่วมเพื่อสืบสวนคดีการสังหารประธานาธิบดี โดยมีชอน ดู ฮวานเป็นผู้บัญชาการกองกาลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Force)

ต่อมาในวันที่ 12 ธ.ค. ค.ศ. 1979 ชอน ดู ฮวาน ได้ทำการรัฐประหาร ชเว คยู ฮา โดยคณะรัฐประหารได้ล้างอำนาจการบริหารในสมัยของ ชเว คยู ฮา พร้อมทั้งขยายอำนาจผ่านกฎอัยการศึก และถ่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เริ่มจัดตั้งปฏิบัติการเค (K-Operation ย่อมาจาก King-Operation) เพื่อเข้าควบคุมสื่อมวลชน เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความจำเป็นที่กองทัพจะต้องเข้ามาวบคุมอำนาจ

มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปปรับทัศนคติกับหนังสือพิมพ์รายวันกว่า 94 ฉบับ ให้เสนอข่าวในทางเดียวกันว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีชอน ดู ฮวาน และผู้นำกองทัพชุดใหม่จะเป็นความหวังเดียวที่จะจัดการกับความวุ่นวายไร้ระเบียบที่กาลังแผ่ซ่านทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการฝึกพิเศษกับทหารรอบหัวเมืองใหญ่ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมกับการจัดการการลุกฮือของประชาชน โดยมียุทธวิธีในการหลักคือสลายฝูงชนโดยการเข้าโจมตี และตีฝูงชนให้แตกกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อไม่ให้สามารถรวมตัวกันได้อีก และมุ่งจับกุมตัวผู้นาการชุมนุม ทหารจะถูกฝึกให้เล็งที่ข้อต่อคอและศีรษะและตีไม่ยั้งทั้งชายและหญิง จากนั้นจะถูกถอดเสื้อผ้าแล้วลากหรือโยนขึ้นรถบรรทุกที่จอดรออยู่เพื่อพาตัวไปคุมขังยังเรือนจำทหารซึ่งมีการใช้อำนาจในการข่มเหงในขั้นต่อไป

และหลังจากการยึดอำนาจได้ไม่นานขบวนการนักศึกษาก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งก่อนจะนำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่กระทำโดยน้ำมือของผู้ที่อยู่ร่วมชาติเดียวกัน

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม มองรางวัล 2017 Gwangju Prize for Human Rights จากว็บไซต์ The May 18 Memorial Foundation

เหตุการณ์กวางจู ประวัติศาสตร์ของการเอาผิด-รับโทษ

ในขณะที่การต่อต้านรัฐบาลของชอน ดู ฮวาน ก่อตัวขึ้นในหลายจังหวัด แต่มีเพียงเมืองเดียวที่นักศึกษา และประชาชนรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารได้อย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางความตึงเครียดในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น มีข่าวลือว่าขบวนการนักศึกษาจะลุกฮือขึ้นในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลกลับเมินเฉยต่อข้างเสนอของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังได้ออกคำสั่งให้หน่วยปฏิบัติการสลายการชุมนุมเข้าประจำการตามเมืองใหญ่ ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาเองก็เตรียมพร้อมที่จะจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

วันที่ 14 พฤษภาคม 1980 มีนักศึกษากว่า 70,000 คน ออกมาบนท้องถนและไปรวมตัวกันที่ จตุรัสควางฮวามุน ในวันต่อมานักศึกษาออกมาร่วมตัวกันอีก เพิ่มจำนวนเป็นแสนคน ในที่ในวันที่ 16 พฤษภาคม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชอนนัมและมหาวิทยาลัยโชซอน กับวิทยาลัยการศึกษาในกวางจูจัดการชุมนุมที่หน้าศาลาว่าการเมืองกวางจู ตามมาด้วยการเดินขบวนถือคบไฟอย่างสันติ

แต่ถัดมาในวันที่ 17 พฤษภาคม ชอน ดู ฮวาน ได้ขยายการประกาศใช้กฎอัยการศึก และส่งทหารกว่าแสนนายเข้าปิดล้อมเมืองกวางจูในวันที่ 18 พฤษภาคม และตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนั้นการล้อมปราบ และการปะทะก็เริ่มต้นขึ้น จนกระทั้งทั้งสองฝ่ายเริ่มยิงต่อสู้กันในวันที่ 20 พฤษภาคม เนื่องจากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ในขณะที่สื่อมวลชนก็ไม่นำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองกวางจู ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 ผู้ชุมนุมจึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีจากการเป็นฝ่ายรับป้องกันตัวเอง มาเป็นฝ่ายโจมตี เนื่องจากถูกกระตุ้นโดยความโหดร้ายของทหารที่ปฏิบัติต่อประชาชน แต่เป็นฝ่ายทหารที่สามารถเข้ายึดเมืองกวางจูได้ในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยการใช้เวลาเพียง 90 นาที เนื่องจาก จอห์น เอ. วิคแฮม จูเนียร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ ให้ความเห็นชอบต่อประธานาธิบดีชอน เคลื่อนกำลังทหารเกาหลีจำนวนมากจากเขตปลอดทหารตามแนวชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ มาใช้ในปฏิบัติการยึดคืนเมืองกวางจู

เรื่องราวที่กวางจูจบลง ผู้นำการชุมนุมอย่าง คิม แทจุง ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดี ถูกตัดสินว่าผิดจริงและพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตหลังการกดดันของนานาชาติ ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมที่กวางจู มี 427 คนถูกพิพากษาว่ากระทำผิด 7 คนถูกตัดสินประหาร 12 คนถูกจำคุกตลอดชีวิต ที่เหลือได้รับโทษจำแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่กวางจูแม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายนักศึกษาประชาชน แต่มันกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เหมือนคบไฟที่ถูกจุดขึ้นและไม่มีวันมอดดับ

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นชอน ดู ฮวาน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกสองสมัย ค.ศ. 1980- 1988 ตามด้วยโรห์ แตวู อีกสองสมัย ค.ศ. 1988-1993 และในช่วงเวลาดังกล่าเหตุการณ์ที่กวางจูถูกจดจำเพียงสถานะของการก่อจลาจล อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยคิม ยองซัม ได้มีการประกาศนโยบายปฏิรูปการเมือง และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการนำคีดรัฐประหาร การยึดอำนาจการปกครอง และการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่กวางจูขึ้นสู่ศาล

โดยชอน ดู ฮวาน และโรห์ แตวู ถูกศาลตัดสินในวันที่ 26 สิงหาคม 1996 ในข้อหาคอร์รัปชันและกบฏ โดยชอน ดู ฮวาน ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนโรห์ แตวู  ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี 6 เดือน แต่ทั้งหมดได้รับการอภัยโทษในปี 1997 โดยประธานาธิบดีคิม ยังซัม จากคำแนะนำของคิม แดจุง ประธานาธิบดีคนถัดมาเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความปรองดอง และเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 1980 ก็ถูกจดจำใหม่ในสถานนะของ 'การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจูง'

จากนั้นในปี 1998 จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิพฤษภารำลึกขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงจิตวิญญานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นการบอกเตือนคุณรุ่นใหม่ให้รู้ถึงความเลวร้ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหาร นอกจากนี้มูลนิธิดังกล่าวยังทำหน้าที่เชิงรุกในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  มีการจัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์ มีหอจดหมายเหตุ และมีการจะหลักสูตรอบรมเพื่อนักวิชาการ นักวิจัยจากต่างประเทศ ทั้งยังมีการนำนักกิจกรรมทางสังคม และภาคประชาสังคมจากหลายประเทศมาเรียนรู้

ตลอดจนการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และได้มอบรางวัลให้แก่บุคคลสำคัญของโลกที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ นางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ชานานา กัสเมา อดีตประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก ซึ่งในปีนี้บุคคลที่ได้รับรางวัลดังกล่าวคือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการประกาศมอบรางวัลมา

ไผ่ คือสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของ The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ความสำคัญของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้รับนั้นเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งการต่อสู้นี้ แม้ว่าชาวเมืองจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกสังหารนับพัน และถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต่อมาอีกหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการแรงงาน ชาวนา นักศึกษา และคนเกาหลีใต้เรือนล้านออกมาต่อสู้บนท้องถนนในปี 1987 หลังจากรัฐบาลเผด็จการได้ทรมานและสังหาร พัค ยอง-ชุล ผู้นำนักศึกษาในเดือนมกราคม 1987 จนเกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน

"ในปีนี้ ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่เกินเลยถ้าจะพูดว่าไผ่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เหมือนที่ขบวนการนักศึกษาในเกาหลีใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" พิมพ์สิริ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

The may 18 memorial foundation

http://eng.518.org/

10 วันที่กวางจู" เกิดอะไรที่เกาหลี เมื่อปี 2523

https://www.matichon.co.th/news/144818

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องติดคุกได้

http://thaipublica.org/2014/07/never-let-the-big-ones-above-law/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงถก 25 ปี พฤษภา ชี้ปรองดองแบบทหารไม่ดีพอ จี้ คสช. ลาโรงด่วน เตือนปชช. อย่าเร่เอาอำนาจไปให้ใครยึดอีก

Posted: 17 May 2017 11:06 AM PDT

เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์ - ญาติวีรชน พ.ค. 35 และ 53 เห็นพ้อง ปรองดองคือยอมรับกันและกัน แตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมอย่างสันติ ไม่ใช่คิดเหมือนกันหมด ชี้ 3 ปี คสช. ทำสังคมเอียนรัฐประหารเพราะไส้กิ่ว จี้รัฐบาลทหารลาโรงด่วน วอนประชาชนอย่าเร่เอาอำนาจไปให้ใครยึดอีก พร้อมประมวลภาพงานรำลึกช่วงเช้าท้ายข่าว

17 พ.ค. 2560 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดงาน "เวทีเสวนา 25 ปี พฤษภาประชาธรรม กับความรัก ความสามัคคี และการปรองดอง" โดยมี วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และ อดีต สส. พรรคเพื่อไทย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพะเยาว์ อัคฮาด หนึ่งในแกนนำกลุ่มญาติวีรชนปี 2553 เป็นวิทยากร และ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 เป็นผู้ดำเนินงานเสวนา

งานเสวนาข้างต้นเป็นงานภาคบ่ายต่อจากงานวางพวงมาลารำลึก และกิจทางพุทธศาสนาในช่วงเช้า ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีญาติวีรชนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตัวแทนจากพรรคการเมือง กองทัพและตำรวจเข้าร่วมงานและวางพวงมาลาด้วย

วัฒนาชี้ปรองดองคือความแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อัดทหารทำไม่เวิร์คเหตุเป็นคู่กรณีหลัก

จากซ้ายไปขวา: พะเยาว์ อัคฮาด จตุพร พรหมพันธุ์ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัฒนา เมืองสุข

วัฒนา กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความขัดแย้งที่มีสาเหตุจากการเมือง ทางแก้เดียวคือต้องสร้างความปรองดอง ไม่ได้แปลว่าให้คนรักกันหรือคิดเหมือนกันอย่างที่รัฐบาลกำลังทำ แต่คือการที่ทำให้คนที่คิดไม่เหมือนกันอยู่รว่มกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ทำได้ด้วยการยอมรับความเห็นต่าง สร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันก็แก้ปัญหาไม่ได้ จะเกิดปัญหาเดิมซ้ำๆ รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นมาก่อนการปรองดอง ดังนั้นการปรองดองจึงไม่สามารถไปเปลี่ยนสิ่งที่มีขึ้นมาก่อนได้ คิดว่าในอนาคตจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

อดีต สส. พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า แท้จริงกระบวนการปรองดองไม่ได้ต่างกับการหาข้อยุติความขัดแย้ง ต้องเริ่มจากกระบวนการที่ต้องยอมรับ หาคนกลางเป็นคนตัดสินปัญหา การจัดคณะกรรมการปรองดองโดยทหารนั้นมีข้อสังเกตว่า ทหารเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งแน่นอน กองทัพพยายามบอกว่าไม่ใช่ แต่แท้ที่จริง ทหารเป็นคู่กรณีเพราะออกมายึดอำนาจและกดขี่ประชาชน การปรองดองไม่ใช่การทำให้คนรักกัน คิดเหมือนกัน ตนคิดไม่เหมือนกองทัพก็จับไปเข้าค่ายปรับทัศนคติ

"คสช. มีทางเลือกหลายด้านในทางการเมือง แต่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกเลยสักด้าน ผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยจะดีจะชั่วแค่ไหนประชาชนยังตรวจสอบได้ แต่อัศวินขี่ม้าขาวมาประชาชนทำอะไรไม่ได้ ในค่านิยม 12 ประการ ก็ไม่ได้ระบุถึงคำว่าความรับผิดชอบเอาไว้สักคำ...นักการเมืองที่เลือกตั้งเข้ามา สามารถได้รับการตรวจสอบได้ และมีวิธีการรับผิดชอบ แต่คนที่เข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ตรวจสอบไม่ได้และไม่รับผิดชอบใดๆเลย"

"ความซวยของประเทศนี้คือการเอาวิธีแก้ปัญหาแบบราชการ แบบทหารมาใช้ ที่เล่นพรรคเล่นพวก พวกไหนไม่ใช่ก็เอาออกไป มันเลยเป็นที่มาของบูรพาพยัคฆ์ กับพวกที่ไม่ใช่ มีพวกนั้นพวกนี้"

"รัฐบาลทหารชุดนี้พร่ำบอกว่าปรองดอง แต่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของประชาชน การเลื่อนแถลงผลงานไป เพราะได้รับการวิจารณ์ว่าไม่มีผลงาน จึงเลื่อนออกไปก่อน แม้แต่เสียงเห็นต่างของประชาชนก็ไม่รับฟัง รวมถึงการลิดรอนอำนาจประชาชน ไปใส่ไว้กับหน่วยงานของเขาที่เขาควบคุมได้" อดีต สส. พรรคเพื่อไทย กล่าว

วัฒนา กล่าวว่า ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ ดังนั้นกติกาที่จะใช้ร่วมกันจึงต้องกำหนดร่วมกันถึงจะได้รับการยอมรับ ปัญหาความขัดแย้งที่แก้ไขได้ยากเพราะมีคนได้ประโยชน์จากความขัดแย้งเสมอ เช่นคนที่มีอำนาจในทุกวันนี้ เพราะในช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข คนเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในสังคมเลย ประชาชนไม่เคยเลือกไปนั่งในสภา การปรับบ้านเมืองจึงเป็นการปรับการทำมาหาได้ของพวกเขาด้วย ประวัติศาสตร์ได้สอนแล้วว่าถ้าประชาชนรวมตัวกันได้ เผด็จการก็อยู่ไม่ได้ เผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ยิ่งใหญ่กว่าเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาเยอะก็ยังอยู่ไม่ได้

องอาจ ย้ำปรองดองต้องเน้นมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกๆ ฝ่าย ไม่มั่นใจ คสช.ทำได้

องอาจ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมาพูดเรื่องปรองดอง เพราะบ้านเมืองมีความเห็นแย้ง เห็นไม่ตรงกัน เผชิญหน้ากัน สุดท้ายก็ใช้ความรุนแรง มีคนไม่ทำตามกติกาที่สังคมยอมรับกันได้ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปสู่ความปรองดอง แต่ถ้าไม่สามารถหากระบวนการที่ถูกต้อง ความมุ่งหวังก็ยากที่จะเป็นจริง สุดท้ายต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อคำถามที่ว่า เรามีส่วนร่วมกับความล้มเหลวที่ผ่านมาอย่างไร และจะทำให้เกิดกลไกที่มีความเห็นร่วมกันได้หรือไม่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ากระบวนการที่ดำเนินงานอยู่ในขณะนี้โดยรัฐบาล คสช. จะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นได้หรือไม่ แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ด้วยกันในสังคม อยู่ร่วมกันได้ทั้งที่มีความเห็นต่าง หรือโกรธ เกลียดกัน

"ทุกคนในประเทศไม่มีใครอยากขัดแย้งกัน อยากอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความสุขร่วมกัน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง แต่ที่ตั้งข้อสงสัยคือวิธีการของมันที่จะทำให้การปรองดองเกิดขึ้นโดยให้ความสำคัญกับประชาชน ถ้าทุกๆ ฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม มีจุดมุ่งหมายตรงกัน มันก็เดินไปได้ เชื่อว่า นับจากนี้เป็นต้นไปถึงเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีโอกาสได้ใช้อำนาจของเราบ้าง ก็ขอให้ใช้อำนาจทำให้บ้านเมืองก้าวหน้า" องอาจ กล่าว
จตุพร กล่าวว่า เรื่องปรองดองในเมืองไทยนั้น ไม่มีใครเชื่อเลย คณะกรรมการแต่ละชุดก็ทำงาน กินเงินเดือนจริงจัง แล้วทำหน้าที่ศึกษาเรื่องการปรองดอง ศึกษาจนสึกหรอ ผลลัพธ์คือเอกสาร คนมีอำนาจไม่เคยเอาไปปฏิบัติ พอมีปัญหาก็ตั้งคณะกรรมการปรองดองใหม่อีก ในวงปรองดองวงใหญ่ในกระทรวงกลาโหมบอกว่า จะเอาผลการศึกษาที่รวมมาจากภูมิภาคต่างๆ ส่งให้ผู้บัญชาการกองทัพบก แล้วจัดทำเป็นแนวทางที่เรียกว่า สัญญาประชาคม ส่วนตัวเห็นว่า รอกันมาสามปีแล้ว ก็รอกันอีกหน่อย ไม่อยากไปเรียกใครว่าวีรชนอีกแล้ว เพราะวีรชนหนึ่งคนก็คือความตายหนึ่งครั้ง วาดหวังว่า จุดเริ่มต้นของประเทศไทยคือ คนไทยต้องเอาจริงเอาจัง ความรัก ความสามัคคี ความปรองดองที่มันยังไม่เคยเกิดเพราะไม่มีใครเคยทำ

พะเยาว์ กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้มาเจอญาติวีรชน ตอนนั้นเคยเห็นเหตุการณ์ ผ่านมา 7 ปี ได้มองย้อนไปแล้วคิดว่าเราผ่านเหตุการณ์มาด้วยประสบการณ์ สิ่งที่จะร้องขอคือ ในอนาคต ความเห็นที่ต่างกัน แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยไม่ลุกขึ้นมาฆ่ากัน ควรใช้ความคิด อิสระ เสรีภาพทางการพูดมาหาทางออกให้ดีที่สุด ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วในเมืองไทยมีเหตุการณ์ขึ้นซ้ำๆ แต่ไม่มีใครจำกันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ พ.ค. 2535 และ 2553 ถ้าประชาชน กองทัพ สถาบันต่างๆ ปฏิรูปความคิด ว่าชาติคือประชาชน ทุกคนไม่มีสิทธิ์ไปฆ่า ไปบงการใคร ที่อยากจะขอคือให้รู้สึกถึงคำว่าปรองดองจริงๆ ขอให้รัฐบาลนี้หาต้นเหตุของการปรองดอง แล้วตั้งใจสร้างความปรองดองให้ได้ ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านกระบวนการปรองดองของรัฐบาล คสช. ถึงตนจะสูญเสียไปมากก็ตาม

ทุกฝ่ายเห็นพ้อง คสช. อยู่ยาวทำสังคมขยาดรัฐประหาร ย้ำ ควรลาโรงด่วน

จตุพร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช. ยึดอำนาจอยู่นาน เพราะถ้าอยู่ไม่นานเหมือนแต่ก่อนสังคมก็จะไม่ขยาด ไม่เห็นภัยของการยึดอำนาจว่าเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อทุกคน ยุคนี้เป็นยุคเดียวที่ร้านส้มตำปิดกิจการ ย่ำแย่ทั้งคนกวักมือเรียกและกวักมือไล่ หากว่ากันตามระยะเวลา รัฐบาลทหารจะอยู่ 4 ปี ถ้าเป็นนักการเมือง คนไทยก็คงเบื่อกันแล้ว การที่ทหารนั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการปรองดองเหมือนการแบกรับความสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ ก็เสียหน้าไป แต่ถ้าไม่สำเร็จ ประชาชนก็อยู่อย่างที่เคยอยู่ ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ทหารที่ลงเลือกตั้งยังไม่กล้าตั้งชื่อพรรคว่าพรรคทหารเลย และสิ่งที่รออยู่ในตอนปลายของการยึดอำนาจคือความทุกข์เท่านั้น

วัฒนา กล่าวว่า หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้คือการขับไล่รัฐบาลเผด็จการออกไปให้เร็วที่สุด "ผมกับองอาจก็ถือเป็นนักรบบนถนนประชาธิปไตย จะถือว่าเป็นศัตรูก็ได้ แต่ก็ตีกันบนฐานกติกาเดียวกัน ตอนนี้ทั้งผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีหน้าที่เดียวกันคือขับไล่เผด็จการออกไปให้เร็วที่สุด จากนั้นจะมาตีกันทะเลาะกันก็ไม่สาย"

ในขณะที่ พะเยาว์ เห็นว่า การยึดโยงอำนาจของ คสช. ยาวนาน 3 ปี สร้างความตระหนักในสังคมวงกว้างถึงผลเสียของการกระทำรัฐประหารเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี "กระบวนการปรองดองทุกวันนี้ สำเร็จในขั้นหนึ่งคือประชาชนหลายฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันแล้วเพราะท้องกิ่ว คนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเริ่มสนใจว่ารัฐประหารคืออะไร ถ้ามีการเลือกตั้งก็ขอให้เห็นประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด"

"เพราะรักมากก็อยากให้ไปไวๆ ถ้าถึงขั้นหน้าของประชาชนจริงๆ คือทนไม่ไหว แล้วลุกมาเชิญให้ไปแล้วท่านไม่ไป เราก็ไม่อยากเจอเหตุการณ์ซ้ำกับปี 2535 อีก" พะเยาว์ กล่าว

อาจารย์/นักการเมืองเจาะการเลือกตั้ง ชี้ ประชาชนกุมอนาคตชาติ มีอำนาจแล้วอย่าเดินเร่ให้ใครยึดไปอีก

กลาง ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญา กล่าวว่า ความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร กับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศมีความผกผันกัน การยึดอำนาจเกิดขึ้นเพราะสภาผู้แทนในรัฐบาลก่อนแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนคิดว่า การเลือกตั้งในอนาคตจะเอื้อให้กับพรรคขนาดกลางมากขึ้น และสิทธิที่จะเลือกแบบแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อไม่ได้แยกกันอีกต่อไปตาม จะทำให้พรรคขนาดกลางเล็ก กับพรรคขนาดเล็กจะหายไป เพราะระบบบัญชีรายชื่อไม่สนับสนุน แถมต้องมีการเก็บค่าสมาชิก การบังคับจำนวนสมาชิก ทำให้การเมืองเป็นตลาดเปิดน้อยลง จะเป็นภาระของพรรคขนาดกลางและเล็ก

ปริญญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ คสช. มีหลายทางเลือก เช่น ปล่อยให้ ส.ว. คิดเอง หรือปล่อยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยลงเลือกตั้ง แล้วให้ สว. รอเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็ยื้อเวลาแล้วอยู่ในอำนาจต่อ แต่ทางที่ดีที่สุดคือต้องปล่อยให้ประชาชนปกครองตัวเอง ไทยจะอยู่ภายใต้มาตรา 44 ตลอดไปไม่ได้ ต่อคำถามที่ว่า คสช. จะเลือกเล่นทางไหน ก็ต้องดูพรรคการเมืองและตัวแสดงอื่นว่าจะเล่นทางไหน ที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ถ้าประชาชนอยากปกครองตนเองอีกครั้ง เขาก็จะไม่อยู่ยาว ไม่เป็นนายกฯ เอง

รองอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันความศรัทธาต่อนักการเมืองลดน้อยไปมาก จะกอบกู้อย่างไรให้ความศรัทธากลับคืนมา อยากให้สองพรรคใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ต้องดูว่าใครจะมีเสียงข้างมากในสภา 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง หากดูการเลือกตั้งย้อนกลับไปจะพบว่าพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรครวมกันนั้นสามารถทำได้ ตนคิดว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ คสช. จะเป็นนายกฯ คนนอกเสียเอง แต่เสียงสุดท้ายที่จะตัดสินอนาคตคือประชาชน ซึ่งถ้าวัดตามผลประชามติเมื่อปี 2559 ก็สะท้อนว่าเสียงประชาชนอยู่กับ คสช. มากกว่า

วัฒนา กล่าวว่า การจัดตั้งโครงสร้างการเมืองที่เอื้อให้มีนายกฯ คนนอกจากการเลือกสรรของสมาชิกวุฒิสภา เป็นการวางแผนบนแผ่นกระดาษ แต่ตอนนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถูกวางกรอบไว้เหมือนตอนประชามติ ก็คืออยู่ภายใต้การบังคับใช้มาตรา 44 ซึ่งจะยกเลิกเมื่อได้รัฐบาลใหม่ เราอาจจะเห็นนักการเมืองถูกควบคุมตัวไประหว่างหาเสียง แต่ตอนนี้เป็นขาลงของ คสช. ทุกทาง ระยะเวลา 3 ปีกว่าน่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่าระบอบที่ดีที่สุด หรือเลวน้อยที่สุดคือประชาธิปไตย เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็ขอให้รักษาให้ดี อย่าไปเรียกให้ใครมายึดอำนาจอีก

ประมวลภาพภายในงานรำลึกช่วงเช้า

อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เล่นกับบุตรหลานผู้มาร่วมงาน

จากซ้าย: โคทม อารียา องอาจ คล้ามไพบูลย์

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเต็มเตนท์รับรอง รวมไปถึงสื่อมวลชน

ผู้เข้าร่วมงานไว้อาลัยวีรชนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเหตุการณ์การต่อสู้โดยประชาชนอื่นๆทั้งหมด

พวงมาลาและป้ายสัญลักษณ์จากหลายภาคส่วน

งานศิลปะบางส่วนบนกำแพงหลังสวนสันติพร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

CDSR ออก 5 ข้อเสนอต่อ ก.ม.คุ้มครองสิทธิในการสมรส-ครอบครัวของคนความหลากหลายทางเพศ

Posted: 17 May 2017 10:44 AM PDT

5 ข้อเสนอต่อกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ย้ำการขับเคลื่อนทางกฎหมายต้องยึดหลัก ความโปร่งใส ตรวจสอบได้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลลัพธ์ที่เป็นตัวกฎหมาย 

 

17 พ.ค. 2560 เนื่องในวันสากลแห่งการยุติความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ IDAHOT2017 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ (The Coalition on Democracy and SOGIE Rights, CDSR) กลุ่มโรงน้ำชา (TEA Group) ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) การเมืองหลังบ้าน (Backyard Politic) กลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ (Srikhoraphum Youth) และกลุ่มแฟรี่เทล (FAIRY TELL) ออกข้อเสนอแนะเรื่องกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ 5 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การเสนอร่าง การพิจารณากฎหมาย การประกาศใช้ตลอดจนการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องคํานึงถึงหลักความเสมอ ภาคต่อหน้ากฎหมาย (Equal before the law-ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลข้อที่ 7) และหลักนิติสังคมรัฐ ซึ่งทุกคน เสมอภาคภายใต้กฎหมายและรัฐมีหน้าที่สร้างกฎหมายและให้หลักประกันว่าทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม กฎหมายที่มีเนื้อหาและข้อยกเว้นที่เลือกปฏิบัติถือว่าขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศ ไทยได้ให้สัตยาบัณไว้ กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องคุ้มครองตาม หลักการของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยไม่เลือกปฏิบัติและให้ความคุ้มครองบุตรของครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลาย ทางเพศ

2. การเกิดขึ้นของกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรเป็นส่วนหนึ่งของ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเจ้าของปัญหาและเครือข่ายภาคประชาสังคม ดังนั้น การขับเคลื่อนทางกฎหมายต้องยึดหลัก ความโปร่งใส ตรวจสอบได้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลลัพธ์ที่เป็นตัวกฎหมาย ทั้ง ภาครัฐและเอกชนควรคํานึงถึงความสําเร็จในระยะยาว อันเกิดขึ้นได้จากกระบวนการที่โปร่งใส เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

3. การจัดทํากฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นผล ทั้งในแง่เนื้อหาของ ตัวบทกฎหมาย กลไกที่เกี่ยวข้อง และการดําเนินการ ต้องเป็นไปตามหลักการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้เป็นเจ้าของ ปัญหาอย่างแท้จริง เคารพเสียงของเจ้าของปัญหา เพื่อให้กฎหมายมีความครอบคลุมถึงทุกมิติของปัญหา และประชากรผู้ได้รับ ผลกระทบทุกกลุ่ม

4. จัดให้มีการศึกษาวิจัยฐานทัศนคติของคนในสังคม เพื่อนําไปสู่การสร้างความตระหนักและความเข้าใจอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียง การออกกฎหมายและนโยบายที่สังคมไม่เข้าใจและไม่สามารถนําไปปฏิบัติโดยปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติพร้อมทั้ง ยกระดับการอภิปรายเรื่องการจัดทํากฎหมายสู่สาธารณะ เปิดรับความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นฐานของการขับเคลื่อนให้ เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืน

5. สถานการณ์งานศึกษาวิจัย และนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในสังคมโลกและระดับ อาเซียน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลายฉบับในเวลาอันสั้น ดังนั้น ต้องศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายและนโยบาย เรื่องคุ้มครองสิทธิในการสมรสและครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างทันสมัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กิจกรรมวัน IDAHOT 2017 ทั่วโลก: การนิยามเพศตัวเองได้ถือเป็นสิทธิมนุษยชน

Posted: 17 May 2017 10:32 AM PDT

กลุ่มสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ทั่วโลกร่วมแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ในวันยุติความหวาดกลัวกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (IDAHOT) โดยในปีนี้เน้นสร้างความตระหนักว่า "ครอบครัว" ไม่ได้มีความหมายแค่ชายกับหญิง แต่อาจจะเป็น ชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือแม้กระทั่งรูปแบบอื่นๆ อย่างแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ไม่ควรถูกกีดกันออกจากคำว่าครอบครัว และไม่ควรใช้คำว่า"ครอบครัว" มาอ้างทำร้าย LGBT

วันที่ 17 พ.ค. 2560 เป็นวันสากลว่าด้วยการยุติความหวาดกลัว คนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) คนข้ามเพศ (transphobia) และ คนรักมากกว่าสองเพศ (Biphobia) (IDAHOT) โดยที่แนวคิดหลักของปีนี้คือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะอ้างเอาคำว่า "คุณค่าของครอบครัว" มาเป็นข้ออ้างราวกับว่าครอบครัวต้องมีแต่คู่พ่อแม่ที่เป็นชายหญิง

แต่ในปีนี้ทีมงานของ IDAHOT ระดับสากลได้ร่วมมือกับกลุ่ม "วันเพื่อความเท่าเทียมของครอบครัว" ประกาศว่า "ความรักต่างหากที่สร้างครอบครัวขึ้นมา" โดยไม่ว่าความรักนั้นจะมาจากครอบครัวสีรุ้งที่ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นชายหญิงโดยเพศกำเนิด ครอบครัวที่มีเด็กเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ครอบครัวเหล่านี้และผู้สนับสนุนครอบครัวสีรุ้งจะจัดการเดินขบวนโดยใช้คำขวัญ "ความรักต่างหากที่สร้างครอบครัวขึ้นมา" ทั่วโลกใน 50 ประเทศ

ในงานเกี่ยวกับ IDAHOT ของปีนี้ยังมีการเน้นย้ำเรื่องสถานการณ์น่าเศร้าที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวของพวกเขาจำนวนมากต้องเผชิญ ขณะเดียวกันก็เน้นเฉลิมฉลองความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และความรัก ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการต่อสู้ด้านเพศสภาพและเพศวิถี พวกเขายังมีการนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวสีรุ้งต่างๆ ทั่วโลกที่จะเป็นการตอบโต้กับความเกลียดชังและแนวคิดแบบสุดโต่ง

ในเว็บไซต์ของ IDAHOT สากลรายงานสถานการณ์ช่วงต้นปีนี้ว่าพวกเขาได้รับการเกื้อหนุนจากกลุ่มหัวก้าวหน้าในฝ่ายศาสนาเอง และมีหลายครอบครัวที่ไม่ยอมให้กลุ่มหัวรุนแรงที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังอ้างใช้ครอบครัวมาเป็นเครื่องมือ แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผู้คนที่นับถือศาสนาก็ไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องถูกบงการโดยข้ออ้างเรื่องค่านิยมศาสนาเหล่านั้นเสมอไป

วันเดียวกันนี้เพจ UN Women ยังได้นำเสนอวิดีโอครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัวชายหญิงโดยเพศกำเนิด ครอบครัวหญิงสองคนกับลูกอีกสองคน ครอบครัวของแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวชายสองกับลูกสาวอีกหนึ่ง หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่มีผู้สูงอายุกับเด็กเล็ก ในวิดีโอดังกล่าวระบุว่า "ครอบครัวมีได้หลายแบบ" "ถึงเวลาแล้วสำหรับนโยบายที่จะยอมรับความหลากหลาย"

เพจ UN Women ยังมีโปสเตอร์คนสวมผ้าคลุมศรีษะสีชมพูซึ่งระบุว่าเป็นชาวไทยพร้อมข้อความบนแถบสีรุ้งว่า "ความสามารถในการนิยามเพศของตัวเองถือเป็นสิทธิมนุษยชน"

มีหลายประเทศที่มีปฏิบัติการในเรื่องนี้ในแบบของตัวเองตั้งแต่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่แล้วจนถึงสัปดาห์นี้เช่นการเดินขบวนต่อต้านความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในจอร์เจียเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและออกมาเดินบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย พวกเขาใช้คำขวัญอย่าง "ออกมาด้วยความภูมิใจ" หรือ "พวกเรามีอยู่ทุกที่"

ในจอร์เจียนั้นสถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่เพราะมีผู้นำศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์ประกาศให้เป็นวันแห่ง "ความบริสุทธ์ของครอบครัว" กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศประมาณ 50 คน ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงโต้ตอบที่นำโดยนักบวชนิกายออโธด็อกซ์ ใช้คำแสดงความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล บางคนถือพืชมีพิษจะฝ่าแผงกั้นตำรวจเข้าไปตีนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศด้วย ฝ่ายนักกิจกรรมทักท้วงว่าตำรวจไม่มีการการันตีความปลอดภัยของพวกเขามากพอ

ในทางตรงกันข้ามประเทศอย่างชิลีให้การสนับสนุนการจัดเดินขบวนของกลุ่ม LGBT เป็นอย่างดี โดยมีความร่วมมือกันระหว่างเทศบาล สถานทูต ห้องสมุด กระทรวงกิจการสตรี ร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรม LGBT ที่ชื่อกลุ่ม Movhil นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เปิดไฟสีรุ้งประดับทำเนียบประธานาธิบดีด้วย

ในอัลแบเนียก็มีการจัดงานอย่างราบรื่นโดยที่มีกลุ่มชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า 200 คน และนักกิจกรรมภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานจัดปั่นจักรยานเพื่อแสดงการสนับสนุนครอบครัวสีรุ้งในวัน IDAHOT แม้ว่าจะมีความกังวว่าจะมีฝ่ายต่อต้านจัดการประท้วงป่วนพวกเขา แต่ คริสตี พินเดรี นักกิจกรรม LGBT ของอัลแบเนียก็บอกว่าถ้าพวกเขาเลือกจะเลี่ยงเส้นทางหรือเลือกจะไม่ออกมาชุมนุมในครั้งนี้ชุมชน LGBT คงต้องหลบซ่อนอยู่ต่อไปทั้งชีวิต แต่ในที่สุดพวกเขาก็ออกมาดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีการปะทะกัน

เจนี คาราจ นักกิจกรรมอีกรายหนึ่งจากอัลแบเนียบอกว่างานในครั้งนี้ไม่ได้ทำไปสนุกๆ แต่เป็นปฏิบัติการทางการเมือง โบรา เมมา นักกิจกรรมบอกว่าในวันนี้พวกเขาออกมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนเพื่อช่วยขับเน้นเสียงของการต่อต้านความอยุติธรรม เรียกร้องความเท่าเทียมและเกียรติยศศักดิ์ศรีในสังคมนี้

เรียบเรียงจาก

UN Agencies mark the Day, dayagainsthomophobia.org

IDAHOT Bike (P)Ride in Albania: We can not hide anymore, dayagainsthomophobia.org

Chile turns the lights on for IDAHOT, dayagainsthomophobia.org,

Against Violence in Georgia, dayagainsthomophobia.org,
 
IDAHOT 2017 media release, dayagainsthomophobia.org, 17-05-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่ 16 พ.ค.

Posted: 17 May 2017 09:07 AM PDT

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศฤดูฝนปีนี้เริ่มแล้วตั้งแต่ 16 พ.ค. หลังจากลมเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ พาความชื้นมาจากทะเลอันดามัน ประกอบกับประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องเกือบทั่วไป อย่างไรก็ตามในบางช่วงปริมาณฝนน้อยและไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด

17 พ.ค. 2560 - กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเมื่อ 16 พ.ค. เรื่อง "การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2560" มีรายละเอียดดังนี้

แผนที่อากาศจากดาวเทียม Himawari เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.35 น. ตามเวลาประเทศไทย

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา
เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2560

ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนลมระดับบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุม ประกอบกับประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องเกือบทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในบางช่วง ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด

สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงเดือนธันวาม จึงขอประกาศให้ประชาชน ได้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วันชัย ศักดิ์อุดมไชย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

อนึ่งยังมีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบนและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560) "  ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ระบุว่า

"ในช่วงวันที่ 17-18 พ.ค.60 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยมีผลกระทบตามภาคต่างๆ ดังนี้

ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากอาจทำให้น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ชาวเรือบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2560 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเมียนมา ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นในระยะนี้

ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 23.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไป ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 05.00 น.

(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีวราห์ ยันเหตุโรงละครแห่งชาติเป็นเหตุระเบิดจริง ระบุคล้ายเหตุหน้ากองสลากฯ เมื่อ 5 เม.ย.

Posted: 17 May 2017 08:18 AM PDT

17 พ.ค. 2560 จากกรณีเกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดบริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ ใกล้สนามหลวง เมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ของวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 รายนั้น

ล่าสุดวันนี้ (17 พ.ค.60) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยืนยันเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดใกล้โรงละครแห่งชาติ เป็นเหตุระเบิดจริง หลังตรวจสอบพบสารโปแตสเซียมคลอเลต และอุปกรณ์หน่วงเวลาไอซีไทม์เมอร์ในที่เกิดเหตุ และลักษณะคล้ายเหตุระเบิดบริเวณหน้ากองสลากฯ เมื่อ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ยืนยันว่าคนร้ายเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ อยู่ระหว่างตรวจสอบรอยบัคกรีว่ามีซิเนอเจอร์ของกลุ่มก่อเหตุเดียวกันหรือไม่ ขณะนี้สั่งการชุดสืบสวนสอบสวนเร่งตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดโดยรอบที่เกิดเหตุ ซึ่งยอมรับว่าเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ทำให้ภาพค่อนข้างมืด ส่วนระเบิดเชื่อประกอบมาจากที่อื่นแล้วนำมาวางไว้ โดยตั้งเวลาจุดระเบิด ซึ่งตามหลักการทำงานจะสามารถตั้งเวลาได้ประมาณ 8 ชั่วโมง

ส่วนสาเหตุระเบิดครั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เชื่อว่าเป็นการก่อกวนเท่านั้น เพราะใช้ดินระเบิดน้อยมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์ยาก คนร้ายน่าจะมีความรู้ในการประกอบระเบิด โดยใช้ท่อพีวีซี ซึ่งระเบิดครั้งนี้มีแรงดันต่ำกว่าไปป์บอมบ์ แต่แรงกว่าประทัดยักษ์เล็กน้อย ซึ่งเคยพบมีการใช้ก่อกวนในกรุงเทพฯ ช่วงชุมนุมเมื่อปี 2553 และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประยุทธ์ขอรอผลการพิสูจน์ก่อน โยงเหตุระเบิดหน้ากองสลาก

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า มีความความคืบหน้าตามลำดับ โดยตำรวจกำลังสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง  และทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยปะละเลย ใดๆ  

"สาเหตุของการก่อเหตุ ยังไม่ได้สรุป แต่มุ่งสอบสวนในทุกประเด็น เบื้องต้นรู้ว่ามีกลุ่มคนที่ไม่ดี ที่ก่อเหตุเพื่อมุ่งหวังอย่างอื่น" พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว

ส่วนที่พบหลักฐานเป็นตัวไทม์เมอร์ ที่คล้ายเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินนั้น  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อาจจะมีส่วนประกอบที่คล้ายกัน แต่ต้องรอผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก่อน ว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ และไม่ได้มองว่า การก่อเหตุเป็นการท้าทายการทำงานของตน แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดปัญหาแล้วต้องแก้ไข และเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่เคยทำให้เสียสมาธิการทำงาน  

"เหตุที่เกิดในพื้นที่ใกล้เคียงท้องสนามหลวง เป็นเพราะมีคนพลุกพล่าน ง่ายต่อการก่อเหตุ เพื่อสร้างความวุ่นวาย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีพื้นที่กว้าง กำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย และแม้จะมีเหตุการณ์ขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไม่สงบ เพราะทุกอย่างยังคงเรียบร้อย แต่ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ดีอยู่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศานิตย์ แจงที่บอกแค่ท่อพีวีซีแตก เป็นการสับขาหลอกให้คนร้ายตายใจ

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขออย่าไปให้ความสนใจกับกลุ่มป่วนพวกนี้ อยากให้ช่วยเจ้าหน้าที่หาคนร้ายมากกว่า หากใครมีข้อมูลเบาะแสก็ช่วยส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ทั้งนี้อีกสิบชาติก็ต้องจับให้ได้ถ้ามีชื่อ ศานิตย์ อยู่ จะทำหน้าที่ถึงที่สุด

อนึ่งก่อนหน้านี้ในคืนัวนเกิดเหตุ 15 พ.ค. พล.ต.ท.ศานิตย์ เดินทางลงสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ โดยยืนยันว่าเป็นแค่ท่อพีวีซีแตกเท่านั้น ไม่พบเขม่าดินปืน ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะป้ายติดตั้งแสดงแผนผังเกิดล้มและหักโค่น จนทำให้เกิดเสียงดังคล้ายระเบิด โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ ชี้แจงว่าเป็นการสับขาหลอกให้คนร้ายตายใจแล้วตำรวจสอบสวนในทางลับ

 

ที่มา สำนักข่าวไทย และ Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

60 วันวิสามัญฯ ชัยภูมิ คณาจารย์ ม.เชียงใหม่ วางหมุด ณ เกิดเหตุ ทวงถามความคืบหน้าคดี

Posted: 17 May 2017 06:32 AM PDT

กลุ่มเครือข่ายติดตามคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส ร่วมพิธีวางหมุด ณ ด่านตรวจรินหลวง จ.เชียงใหม่ เพื่อรำลึกและติดตามความคืบหน้าภายหลัง 60 วันจากเหตุการณ์วิสามัญฯ และคดีไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน

17 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ที่ด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กลุ่มเครือข่ายติดตามคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นำโดย มาลี สิทธิเกรียงไกร, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ชำนาญ จันทร์เรือง, สมชาย ปรีชาศิลปกุล พร้อมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมพิธีวางหมุดเนื่องในโอกาส "รำลึก 60 วันชัยภูมิ – สานฝัน จะอุ๊" เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส ในข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและต่อสู้ขัดขืนทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐซึ่งมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีแต่กลับออกมาแสดงความเห็นในเชิงปกป้องเพื่อนร่วมอาชีพของตน โดยมิได้สนใจต่อข้อเท็จจริงภายในคดีที่ยังไม่มีความกระจ่าง

นานู ในฐานะตัวแทนชุมชนและกลุ่มสตรีลาหู่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีดังกล่าวว่าการจัดงานในวันนี้เกิดขึ้นก็เพื่อต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชัยภูมิและไม่ต้องการให้เรื่องนี้เงียบหายไปกับกาลเวลา พิธีในวันนี้เราจัดตามประเพณีของชนเผ่า แม้ว่าชัยภูมิจะนับถือศาสนาคริสต์แต่พิธีกรรมที่ในวันนี้เป็นพิธีกรรมของชาวลาหู่ซึ่งมีความศักดิ์มาก และหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์อันนี้จะช่วยส่งผลต่อการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชัยภูมิได้

ในขณะที่ สุรพงษ์ กองจันทร์ทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าคดีของชัยภูมิไม่ใช่โศกนาฏกรรมแรกที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจรัฐเพื่อเรียกสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การกระทำและการให้เหตุผลที่ไม่เป็นกลางได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐควรหยุดการกระทำเหล่านี้พร้อมกับควรออกมาแสดงความเสียใจ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และต้องออกมาให้การช่วยเหลือเยียวยาต่อกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ รัฐควรนำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและสูญหาย กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ต้องมีการกำหนดกระบวนการการให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่ชัดเจนเพื่อสร้างเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้รัฐและเจ้าหน้าที่ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและยอมรับว่าประเทศไทยคือสังคมพหุวัฒนธรรม

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีไปให้อัยการแล้ว ซึ่งวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค. 60) ทางทีมทนายของเราก็จะเดินทางไปยังสำนักงานอัยการภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับพนักงานอัยการให้มีการพิจารณาพยานหลักฐานอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิดที่กลัวว่าจะไม่ถูกส่งเป็นหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการ อีกทั้งทีมทนายยังเห็นว่ามีพยานหลักฐานบางประการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณารูปคดีของพนักงานอัยการได้ เช่น ครูในโรงเรียนของชัยภูมิ ที่มีความใกล้ชิดและทราบถึงภูมิหลังของชัยภูมิเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกไปสอบสวนหรือให้ปากคำแต่อย่างใด

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าจากกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐได้มีการออกมาให้ความเห็นต่อการเสียชีวิตของชัยภูมินั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ควรวางตัวเป็นกลางและปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายอาญาโดยที่ต้องไม่ตัดสินใครก่อนที่บุคคลนั้นจะถูกตัดสินว่ามีความผิด นอกจากนี้การกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงดังกล่าวยังก่อให้เกิดความลำบากต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดังกล่าวไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่พวกเราเรียกร้องก็คือ อยากให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทั้งในเชิงกระบวนการและพยานหลักฐาน เพราะกระสุนที่คร่าชีวิตชัยภูมิไปนั้น ล้วนมาจากภาษีของประชาชน ฉะนั้นประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะรู้และได้รับความร่วมจากเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งัด 'ม.44' แก้ปัญหาหนี้เกษตร-การศึกษา ดึงสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็ม

Posted: 17 May 2017 06:02 AM PDT

ที่ประชุมร่วม ครม. - คสช. ไฟเขียว ใช้ ม.44 ชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็ม ในสาขาที่ขาดแคลน พร้อมพัฒนาวิทย์-เทคโนฯอาชีวะ 

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

"ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในภาคเอกชนของไทย ยังมีปัญหาที่บางสาขาไม่สามารถเปิดได้ จึงจะชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็ม ในสาขาที่เราขาดแคลน โดยสถาบันศึกษาฯที่จะเข้ามาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และตามที่เราพิจารณาว่าเหมาะสม" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า  อีกเรื่องที่จะมีการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 คือ การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะ ในส่วนนี้เราจะมีมาตรการที่เข้มกว่าระดับอุดมศึกษาข้างต้น เพื่อจะได้ไม่เป็นคู่แข่งขันของสถาบันการศึกษาของเราเองในประเทศ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งในส่วนนี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร ที่มีคณะกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดูแลอยู่ แต่จากการสำรวจเกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ถึง 15,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังจะถูกบังคับคดี วันนี้ คสช.จึงเห็นชอบหลักการให้คณะกรรมการทั้ง 3 คณะจบภารกิจไป 

และจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่ 1 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมให้ศึกษาจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่ เพื่อเสนอครม.ให้แก้ไขในคราวเดียวกัน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเบื้องต้น 6 เดือน และหากยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขอขยายระยะปฏิบัติงานจากครม.ได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และคมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำงานหนักคนเดียวหรือ? ประยุทธ์ ถามพยาบาลให้บรรจุทั้งหมด ไม่นึกถึงกระทรวงอื่นบ้าง

Posted: 17 May 2017 12:44 AM PDT

ประยุทธ์ ย้ำเข้าใจว่าหมอและพยาบาลเป็นอาชีพสำคัญให้บริการประชาชน ชี้รัฐบาลก็อะลุ่มอะล่วยช่วยแล้ว ถามพยาบาลให้บรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมด ไม่นึกถึงกระทรวงอื่นบ้างหรือ ขู่จะให้ชะลอเรื่องการบรรจุพยาบาลทั้งหมดไว้ก่อนไหม

17 พ.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณียังมีสหพันธ์พยาบาลวิชาชีพบางส่วนไม่พอใจผลการแก้ปัญหาการบรรจุรับราชการของพยาบาลวิชาชีพ โดยต้องการให้บรรจุคราวเดียว 10,900 ว่า "ไม่พอใจแล้ว จะทำอย่างไร"  พร้อมกล่าวด้วยว่า อยากให้พยาบาลที่ออกมาเรียกร้องเข้าใจด้วยว่าแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ดีที่สุดแล้ว และไม่สามารถรับบรรจุพยาบาลได้คราวเดียว เนื่องจากมีปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่สามารถหาเงินจำนวนมากมาใช้จ่ายในส่วนนี้ และจะทำให้โครงสร้างการรับบรรจุราชการมีปัญหาทั้งระบบ

"มันจะบรรจุได้อย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาบรรจุ วันนี้ก็ได้มีการบรรจุมีเงินเดือนไปส่วนหนึ่งแล้ว วันหน้าก็ไล่ลำดับตามมา ซึ่งทุกกระทรวงก็เป็นแบบนี้ที่ไม่ใช่มีข้าราชการอย่างเดียว ต้องมองถึงส่วนอื่น ๆ ด้วย อย่าออกมาชี้นำกับแบบนี้ใครที่ทำแบบนี้มันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ วันหน้าจะอยู่กันอย่างไร ถ้าถามว่าสำคัญไหมมันก็สำคัญ แต่ได้มีการเป้าหมายไว้แล้วว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีพยาบาลจำนวนเท่าไร แล้วค่อยผลิตให้ได้ตามความต้องการ โดยต้องมีเงื่อนไขว่าเมื่อผลิตแล้วจะต้องไม่ลาออก ซึ่งถึงเวลาจริงก็บังคับกันไม่ได้ส่วนใหญ่ลาออกไปทำงานกับภาคเอกชน ถึงได้บอกว่าต้องแก้ทั้งระบบ ถ้าจะให้บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทั้งหมดหมื่นกว่าอัตรา ไม่นึกถึงกระทรวงอื่นบ้างหรือ พยาบาลทำงานหนักคนเดียวหรืออย่างไร มันไม่ใช่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ต่อกรณีคำถามที่กลุ่มพยาบาลดังกล่าวต้องการให้มีการบรรจุทั้งหมด 10,992 คน
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าพยาบาล และหมอส่วนใหญ่เข้าใจ มีเพียงส่วนน้อย แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพียงแต่ขอร้องว่าอย่าไปสร้างประเด็นเหล่านี้ออกมา ไม่เช่นนนั้นจะยุ่งไปกันใหญ่ ข้าราชการก็จะเสียหายกันหมด วันนี้ก็เป็นลูกจ้าง พนักงาน พนักงานชั่วคราว พนักงานข้าราชการ จากนั้นถึงไล่เป็นข้าราชการ มันต้องเป็นอย่างนี้ วันนี้มาบอกว่าข้าราชการเยอะจำเป็นต้องลดข้าราชการส่วนอื่นลงมาก็ถูกต้อง ทุกกระทรวงก็ทำแบบนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะพยาบาลก็ให้มากหน่อยเพราะเห็นว่าจำเป็น แต่ถ้าทุกคนเรียกร้องจะเอาให้ได้ทั้งหมด เราทำให้ไม่ได้
 
"ผมเข้าใจว่าหมอและพยาบาลเป็นอาชีพสำคัญให้บริการประชาชน รัฐบาลก็อะลุ่มอะล่วยช่วยแล้ว เพราะเข้าใจและเห็นใจ แต่อยากให้พยาบาลมองที่โครงสร้างระบบราชการด้วยว่าจะรับทั้งหมดได้หรือไม่ ถ้าจะเอาแต่ตัวเอง แล้วไม่คิดถึงกระทรวงอื่นเค้าบ้างหรือ กระทรวงอื่นเค้าก็ต้องการบรรจุข้าราชการเหมือนกัน เค้าก็ทำงานหนักเหมือนกัน ตอนนี้มีเพียงพยาบาลส่วนน้อยที่ยังไม่เข้าใจและรับไม่ได้ ให้ไปทำความเข้าใจ หรือจะให้ชะลอเรื่องการบรรจุพยาบาลทั้งหมดไว้ก่อน รอให้ไปตกลงกันให้ได้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยบรรจุ จะเอาแบบนั้นหรือไม่ ถ้ายังเรียกร้องไม่เลิก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"กลุ่มสหพันธ์วิชาชีพพยาบาลออกมาเรียกร้องก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง พยาบาลที่เหลือส่วนใหญ่เชื่อว่าเข้าใจ ถ้าเรียกร้องแสดงความไม่พอใจกันเช่นนี้ก็คงบรรจุไม่ได้เลย จะยังไม่บรรจุจนกว่าเรื่องจะเรียบร้อย เอากันหรือไม่แบบนี้ ปีนี้ก็บรรจุได้ 2 พันกว่าตำแหน่งตามโควต้าที่มีการเกษียณอายุ และตำแหน่งว่าง ในส่วนที่เหลือก็ทยอยทำในอีก 3 ปีข้างหน้า จะทำอะไรให้คิดถึงคนอื่นบ้าง ขอร้องว่าอย่าหาเรื่องให้มันขัดแย้งกันนักเลย ผมพยายามทำให้ดีที่สุดก็ทำได้แค่นี้ แล้วก็รอดูวันข้างหน้าต่อไปทุกอย่างต้องเดินไปตามโรดแมป เรื่องคน เรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องทุนการศึกษา การเรียนแพทย์พยาบาล จะผลิตมากหรือน้อยก็ต้องดูตามความต้องการ และความจำเป็น เพราะต้องผลิตให้กับภาคเอกชนด้วย ซึ่งภาคเอกชนก็ต้องมาลงทุนตรงนี้ด้วย ถ้าไม่มาลงทุนพยาบาลก็จะหนีไปข้างนอกหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์มติชนออนไลน์สำนักข่าวไทย และไทยรัฐออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา Thailand 4.0 EP1: ชี้ ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกันไม่ได้กับประเทศเผด็จการ

Posted: 17 May 2017 12:24 AM PDT

ม.เกษตรฯ จัดเสวนา "Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน" ร่วมเสวนาโดยอาจารย์ประจำภาควิชาต่างๆ ชี้ Thailand 4.0 นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ไม่สอดคล้องกับประเทศเผด็จการ

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน" เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้อง 501 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ , สุรินทร์ อ้นพรม อาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ และ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์ ดำเนินรายการโดย ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท: Thailand 4.0 กับความเป็นประชาธิปไตย

โกวิทกล่าวถึงหลักการการปกครอง ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบ คือ ประชาธิปไตย และเผด็จการ เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง วิธีดูง่ายที่สุด คือดูว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ใคร อำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ หากอยู่ที่คนหรือกลุ่มคน เรียกว่าเผด็จการ แต่หากอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ก็เรียกว่า ประชาธิปไตย ซึ่งบางทีเรารู้สึกเราไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยเลย

หากอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ประชาชนก็จะมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ อำนาจในการเลือกตั้ง ลงประชามติ เสนอร่างกฎหมาย เสนอปลดผู้ที่มีอำนาจออกจากตำแหน่งได้ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

โกวิทอธิบายว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายเศรษฐกิจ ที่พัฒนามาตั้งแต่ไทยแลนด์ 1.0 การเกษตร ต่อมาเป็น 2.0 อุตสาหกรรมเบา 3.0 อุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กกล้า รถยนต์ส่งออก แต่ไม่ไปถึง 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องนวัตกรรม สักที

"พูดตามหลักแล้วรัฐบาลเผด็จการไม่ควรมีนวัตกรรม เพราะเขาห้ามคิดห้ามเห็นต่าง อย่างสตีฟ จ๊อป มาร์ค เขาเห็นต่าง เขาออกจากมหาวิทยาลัย มาใช้นวัตกรรม แต่ถ้าเอะอะนิดหน่อยก็ปรับทัศนคติ แล้วจะคิดต่างได้อย่างไร พิจารณาแล้วมันขัดกัน เพราะนวัตกรรมมันต้องนอกกรอบ แตกต่าง" โกวิทกล่าว

โกวิทเสริมว่า เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการผลิต นวัตกรรมในต่างประเทศเขาพัฒนาหุ่นยนต์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในอนาคตการศึกษาเป็นในลักษณะโปรเฟสชั่นนอล ต่อไปแอพพลิเคชั่นก็สามารถทำแทนได้เกือบหมด สิ่งที่เหลือสำหรับมนุษย์ที่ต้องเรียนกันคือ liberal art ซึ่งสมัยก่อนคือคนที่เป็นอิสระ ไม่ต้องทำงานมีทาสรับใช้จึงมาเรียน แต่เอาไปใช้ทำกินไม่ได้ ซึ่งมันเกี่ยวกับพวกความคิดความอ่านความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่เรียนรู้ผ่านตำราได้

ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า

ศุภกาญจน์:  Thailand 4.0 เปรียบเทียบประสบการณ์จากประเทศอื่น

ศุภกาญจน์ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปรียบเทียบ โดยให้พื้นหลังความเป็นมาของประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นประเทศที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมายาวนานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือปลายสมัย ร.5 หลังแพ้สงครามเขาสามารถฟื้นฟูประเทศได้รวดเร็ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคเสรีนิยมประชาธิปไตย คือการเกิดชินคันเซ็น (Shinkansen) ในค.ศ. 1964 ซึ่งสร้างในสมัยที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ดังนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 70 80 อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงบูมมาก กระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 90 ก็กลับตกต่ำมาเรื่อยๆ คนตกงาน หรือมีงานทำแต่ไม่มั่นคง

ศุภกาญจน์กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงหันมาให้ความสำคัญกับคนและชุมชน ทำให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนา การเตรียมสภาพแวดล้อมในการดูแลเด็กและคนชรา นำ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาฝึกอบรมแรงงาน คนมีงานทำมากขึ้น เรื่องการดูแลเด็กและคนชรา หุ่นยนตร์ช่วย

ICT สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการโรงเรียนท้องถิ่นแห่งอนาคต เป้าหมายชัดเจน ขยายโรงเรียนแบบนี้ให้ได้ห้าพันแห่งในปี 2019 นอกเมืองและชนบทต่างๆ นอกจากนี้ยังมีนโยบายขยายการทำงานให้ผู้สูงอายุถึง 65 ปี ประยุกต์ใช้ ICT ให้ผู้สูงอายุทำงานทางไกลได้ สร้างอาสาสมัครสู่ชนบท

การรณรงค์ฟื้นฟูชนบท สังคมผู้สูงอายุ ประชากรลดลงมาก ไม่อยากแต่งงาน มีบุตร เพราะงานไม่มั่นคง ชนบทมีแต่คนชราอยู่ โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องปิดตัว เพราะรัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณ ยุบเทศบาลลง และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูชนบท ช่วยเรื่องเศรษฐกิจ เอา ICT เข้าไปช่วย เช่น การสร้างงานในชนบท คนอยากกลับมาอยู่ชนบท รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันรัฐบาลกลางทำให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น สินค้าชนบท มี product branding พ่วงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ใช้มิติทางประวัติศาสตร์ทำความเข้าใจ และและส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นการสร้างงานด้านเกษตร ประมง ป่าไม้ ภาคเกษตรเน้นคุณภาพ เป็นสินค้าส่งออก ขายได้ราคาดี

ศุภกาญจน์ให้เหตุผลว่า เหตุที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนและชุมชน แทนที่จะเน้นทางภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะบทเรียนของญี่ปุ่นในอดีต เคยพัฒนาประเทศแบบละเลยประชาชน เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ต้นทุนค่าแรงและการผลิตต่ำไว้ สุดท้ายสิ่งแวดล้อมเป็นพิษในทศวรรษ 60 ทำให้เกิดการประท้วงและขยายลามไปทั่ว มีการปิดอ่าวโตเกียวต่างๆ ทำให้รัฐบาลหันมายอมรับ กฎหมายก็ออกมาเป็นซีรี่ส์

ผศ. ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม. เกษตรฯ เสริมอีกว่า ที่สำคัญคือมีพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์มินามาตะ ที่คิวชู ทำให้เห็นว่าเคยผ่านเรื่องเลวร้าย ประวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย อีกอันคือสนามบินนาริตะ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะรัฐบาลต้องการใช้เป็นที่รองรับโอลิมปิก มีชุมชนเล็กๆ คนต่อต้าน ปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามแผน แม้การต่อต้านจะหยุดแล้วเพราะมีการประนีประนอมจากรัฐ นาริตะเป็นสนามบินนานาชาติที่ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อ the wages of resistance ทำให้รัฐบาลเข้าใจว่าคน ชุมชน สังคม มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ

สุรินทร์ อ้นพรม

สุรินทร์: Thailand 4.0 กับฐานทรัพยากรและชุมชน

สุรินทร์เริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้นโยบายนี้สร้างผลกระทบเชิงบวกได้ ในตอนนี้ทุกคนพยามใส่ 4.0 ต่อท้ายในทุกเรื่อง ซึ่งทุกคนไม่ได้ตระหนักว่าคืออะไร แต่เอามาใส่ไว้ในทุกเรื่อง

สุรินทร์ กล่าวว่า คำที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดแบบ Thailand 4.0 คือ "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" หากภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยเกษตรกรที่ทันสมัย รู้จักใช้การบริหารจัดการและเทคโนโลยี รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งรัฐได้แบ่งประเภทเกษตรกรออกเป็น กลุ่มแรก คือ เกษตรกรพันธุ์ใหม่ ลูกหลานของชุมชน ด้อยประสบการณ์ ขาดเงินทุน กลุ่มที่สอง คือ เกษตรกรรุ่นใหม่ นักเรียนนศ.ที่จะประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนกลุ่มที่สาม คือ เกษตรกรปัจจุบัน ขับเคลื่อนยาก เพราะอายุมาก ไม่มีสรรพกำลัง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ วิธีการมองแบบนี้ไม่ไปด้วยกันกับบริบทและความเป็นจริงในภาคสนาม มีปัญหาคือ ประการแรก ไม่มองหรือยอมรับว่าเกษตรกรสามารถเลือกการทำมาหากินในแบบของตัวเอง เช่น กลุ่มกระเหรี่ยงต้องการทอผ้าเพื่อรักษาวัฒนธรรม ไม่ได้อยากผลิตเป็นอุตสาหกรรม หรือที่เชียงใหม่ กลุ่มเยาวชนรวมตัวปลูกผักปลอดสาร เก็บเมล็ดพันธุ์ให้องค์กรไปจำหน่ายต่อ เขามองว่าเมล็ดพันธุ์เป็นองค์ประกอบตั้งต้นของทั้งหมด เขาอยากที่จะเลือกรูปแบบของการดำรงชีพแบบของเขาเอง

ประการที่สอง การมองว่าเกษตรกรปัจจุบัน ขับเคลื่อนยาก เพราะอายุมาก ไม่มีสรรพกำลัง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เป็นการมองแบบโทษคนอื่น ไม่ได้นำไปสู่การเห็นศักยภาพของเขา เป็นการลดทอนปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรให้เป็นปัญหาปัจเจกแท้จริงไม่ใช่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เขามีปัญหาเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง

สุรินทร์วิจารณ์ถึงคำจำกัดความของเกษตรกรว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ว่าไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เพราะกฎหมายกำกับการเข้าถึงทรัพยากรเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร เช่น การผลักดันพรบ ป่าชุมชน ผลักดันตั้งแต่ต้นปี 2530 จนถึงตอนนี้ยังไม่มี ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ยังมีใจจะอนุรักษ์ อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

สุรินทร์ยังตั้งคำถามว่า ดังนั้น อะไรกันแน่ที่ไม่เปลี่ยนแปลง 4.0 ต้องเป็น joint commitment คือ ทุกคนต้องร่วมกัน ต้องมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม สามารถออกเสียงของตัวเองได้ จะทำได้ต้องปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เลิกการปฏิรูปที่ซื้อเวลา เปิดโอกาสภาคประชาชนให้มีการเข้าถึงการเป็นอนุกรรมการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น