โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #175 หอชมเมือง-บ้านเขาบ้านเรา

Posted: 17 Sep 2017 08:29 AM PDT

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ชวนเปรียบเทียบหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร กับหอชมเมืองแห่งสำคัญในโลกทั้งหอไอเฟล, โตเกียวทาวเวอร์ ฯลฯ ที่เสมือนการประกาศความเป็นมหาอำนาจและความทันสมัย นอกจากนี้ยังพ้องกับคติสมัยโบราณกาลของโลกตะวันตกที่มองการสร้างหอสูงว่าเป็นสิ่งท้าทายพระเจ้า อย่างเช่นตำนานหอบาเบลในคัมภีร์ไบเบิล

ส่วนกรณีของหอชมเมืองกรุงเทพมหานครไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นจุดหมายตาแห่งใหม่เท่านั้น หากยังสะท้อนความเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเมืองที่มาพร้อมกับภูมิทัศน์ทางสังคม-การเมืองในประเทศไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษนี้ เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ "สัปปายะสภาสถาน" อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอุทยานราชภักดิ์ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการใช้สอย-การพัฒนาพื้นที่รอบๆ หอชมเมือง ก็ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทุนเก่า-ทุนใหม่ ภายใต้รัฐบาล คสช. อีกด้วย ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทย ตอน หอชมเมือง-บ้านเขาบ้านเรา พบกับเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต อสส.ป้องอัยการทำคดี 'ทายาทกระทิงแดง' หมดอายุความ

Posted: 17 Sep 2017 05:09 AM PDT

'อรรถพล ใหญ่สว่าง' อดีตอัยการสูงสุด ป้องอัยการทำคดี 'วรยุทธ อยู่วิทยา' อืดจนหมดอายุความไปอีกหนึ่งคดี แจงผู้ถูกกล่าวหาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาก็ต้องเลื่อนคดีตามระเบียบ ติงสังคมออนไลน์ทำตัวเป็นศาลเตี้ย ตัดสินคนก่อนกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุด

 
17 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด และคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีของ นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ล่าช้าและไม่สามารถนำตัวมาฟ้องได้จนขณะนี้คดีหมดอายุความไปแล้ว 3 จาก 4 คดี ว่า ในขั้นตอนของคดีนายวรยุทธนั้น ทางผู้ต้องหาได้ทำการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่าระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดเราไปเปิดไว้อย่างนั้นว่า หากมีเหตุที่จะร้องขอความเป็นธรรม สามารถทำได้ทุกระดับชั้น 
 
นายอรรถพล กล่าวว่าเท่าที่ทราบในเรื่องนี้ เดิมนายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรมมา และได้ข้อยุติแล้ว แต่ต่อมากลับร้องไปที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วก็เลื่อนคดีมา เพราะมีหนังสือจากสภาฯ มาว่า ทางอัยการยังสอบไม่ครบ ทางอัยการจะต้องมาพิจารณาว่ามีประเด็นอีกหรือไม่ ถ้ามีประเด็นก็ต้องทำตามที่ขอมา แต่ตรงนี้ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อมีเรื่องมาจากสภาฯ ก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ การจะไปตัดข้อเท็จจริงเสียทีเดียวมันก็ไม่น่าจะถูกต้อง คงจะต้องให้มีการสอบจนได้ข้อสรุปว่าเป็นประเด็นโดยตรงหรือไม่ เป็นดุลพินิจที่อัยการจะพิจารณาได้ ก็ทำให้เกิดประเด็นที่ว่าทำไมถึงจะต้องเลื่อน ทั้งนี้หากดูแล้วการร้องขอความเป็นธรรมมีการประวิงคดีก็จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ถ้าเป็นเหตุที่ชะลอการฟ้อง เรามีความจำเป็นก็สามารถฟ้องไปได้ และเมื่อมีการร้องเข้ามาอาจไปถอนฟ้องทีหลังก็ได้ ระเบียบเปิดตรงนี้ไว้ให้อยู่แล้ว
 
"ระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมนั้น เพื่อจะให้ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนได้รับความเป็นธรรม แต่ข้อเท็จจริงต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ เป็นดุลพินิจของผู้รับผิดชอบโดยตรงจะต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดว่าเป็นการประวิงคดี ต้องเข้าใจให้ดีว่าระเบียบดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ชักช้าในคดี" นายอรรถพล กล่าว
 
นายอรรถพล กล่าวว่าต้องยอมรับด้วยว่าคดีของนายวรยุทธ เป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างมาก มีการแสดงความคิดเห็นและส่งต่อกันจนอาจจะพลาดในข้อเท็จจริงบางประการไป เพราะจริงๆ พนักงานสอบสวนได้มีการตั้งข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาท กับตำรวจที่เสียชีวิตด้วยเช่นกัน อีกทั้งครอบครัวอยู่วิทยาได้เยียวยาช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่รอผลของคดี การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยอคติที่ผ่านมาอาจเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง จึงอยากให้สังคมลองไตร่ตรองและระมัดระวังให้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ที่ทุกวันนี้ทำตัวเป็นศาลเตี้ย ไม่รอผลจากกระบวนการทางกฎหมายใด ๆ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่และบทบัญญัติทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่เกรงกลัวต่อกระแสสังคมด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พยาบาล’ หลายประเทศเรียกร้อง ‘การจ้างงานที่ดี’

Posted: 17 Sep 2017 04:01 AM PDT

พบคนทำงาน 'พยาบาล' ออสเตรเลีย แคนาดา แอฟริกาใต้ จนถึงอังกฤษ ทยอยเรียกร้อง 'การจ้างงานที่ดี' ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 'ค่าแรง-สวัสดิการ-สภาพการจ้าง-การบริหารจัดการ-ยุติการล่วงละเมิดทางเพศ' ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. 2560 เป็นต้นมา

คนทำงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ออกมาประท้วงนโยบาย 'รัดเข็มขัด' ของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะตัดงบประมาณภาคสาธารณะสุขต่าง ๆ บ่อยครั้ง แฟ้มภาพ: Trades Union Congress (TUC)

17 ก.ย. 2560 คนทำงานภาคสาธารณะสุขโดยเฉพาะ 'พยาบาล' นอกเหนือจากประเทศไทยที่มีการออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ บ่อยครั้งแล้ว (อ่านเพิ่มเติม [1] [2] [3]) หลายที่ในโลกก็พบปัญหาในการทำงานคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือค่าแรงต่ำ-สภาพการทำงานที่หนัก ทำให้เกิดการเรียกร้องในหลายที่

ที่ออสเตรเลีย เว็บไซต์สหพันธ์พยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์แห่งออสเตรเลีย (ANMF) เปิดเผยผลสำรวจระบุว่าพยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ทำงานในบ้านพักคนชรามีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ทั้งนี้ฝ่ายบริหารของบ้านพักคนชราหลายแห่งให้เหตุผลทางการเงินในการลดจำนวนพยาบาลว่ามาจากการตัดเงินของรัฐบาลกลาง ANMF ยังระบุว่าการเลิกจ้างพยาบาลจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราโดยตรง ผลสำรวจนี้ได้ทำการสำรวจพยาบาล 744 คน ที่ดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 2,000 ราย ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา

ที่แคนาดา เว็บไซต์ของสมาคมพยาบาลออนตาริโอ (ONA) รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ว่าทาง ONA ได้ใช้โอกาสเนื่องในสัปดาห์วันแรงงานของแคนาดา เรียกร้องให้มีการสร้างความปลอดภัยในที่ทำงาน ยุติความรุนแรง ยุติการล่วงละเมิดทางเพศ และยุติการเลือกปฏิบัติต่อพยาบาล ทั้งนี้ ONA ดำเนินงานในรูปแบบสหภาพแรงงาน มีสมาชิกกว่า 64,000 คน ที่ทำงานในภาคสาธารณะสุขของรัฐออนตาริโอ

ที่แอฟริกาใต้ เว็บไซต์สภาสหภาพแรงงานแห่งแอฟริกาใต้ (COSATU) รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ว่าสหภาพแรงงานพยาบาล DENOSA ในเมืองลิมโปโป (Limpopo) ออกมาระบุว่าฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลเลโบวัคโกโม (Lebowakgomo) จะต้องรับผิดชอบต่อการหยุดงานประท้วงของพยาบาลที่ไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการฝ่ายพยาบาลที่ไม่เป็นธรรม

ที่อังกฤษ The Guardian รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่าคนทำงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ทั้งพยาบาล พยาบาลผดุงครรภ์ และพนักงานทำความสะอาด ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลขอขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9  บวกเงินโบนัสพิเศษอีก 800 ปอนด์ (ประมาณ 35,676 บาท) เพื่อชดเชยรายรับที่พวกเขาสมควรได้ หลังตลอด 7 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด แช่แข็งการขึ้นเงินเดือนไว้ไม่เกินร้อยละ 1 มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ทั้งนี้ตัวแทนสหภาพแรงงานยูนิสัน (Unison) ระบุว่าคนทำงานภาคสาธารณสุขของอังกฤษไมได้ขึ้นค่าแรงมานานมากแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งคนทำงานมีภาระที่ต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย และค่าเดินทางสูงขึ้น

สหภาพแรงงานพยาบาลในสหรัฐฯ ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนบอนนี (Bonnie) ที่มาภาพ: Workers Independent News

และไม่ใช่แค่มีแต่การประท้วงเรียกร้องเท่านั้น ที่สหรัฐฯ Workers Independent News รายงานเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ว่าสหภาพแรงงานพยาบาลอาร์เอ็น (RN Response Network) ได้ส่งอาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนบอนนี (Bonnie) ในเขตพื้นที่ประสบภัย โดยนอกจากจะช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลต่าง ๆ แล้ว อาสาสมัครของสหภาพฯ ยังจะช่วยในการฟื้นฟูชุมชนอีกด้วย

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

Nurses say aged care staffing levels 'inadequate' (ANMF, 29/8/2017)
Nurses' Union Front-Line Members Mark Labour Day Across Ontario (Ontario Nurses' Association, 1/9/2017)
DENOSA Limpopo hopes Lebowakgomo Hospital management will take responsibility for Monday's shutdown by nurses because of unfair appointment of acting nurse manager (COSATU, 1/9/2017)
Unions call for 3.9% pay rise plus £800 for a million NHS staff (The Guardian, 14/9/2017)
NURSE'S UNION RN RESPONSE NETWORK HELPING IN BOTH TEXAS AND FLORIDA (Workers Independent News, 12/9/2017)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำโสมขาว สหรัฐฯ คูเวต เดินหน้าคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการที่มียังไม่พอ

Posted: 17 Sep 2017 03:19 AM PDT

ปธน. สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ตกลงทำตามมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่แล้วหลังเหตุทดลองขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นล่าสุด คูเวตส่งเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือกลับพร้อมเจ้าหน้าที่อีก 4 คน ไม่ให้ ไม่ต่อวีซาเกาหลีเหนือในคูเวต ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ คว่ำบาตรรอบนี้ไม่พอเปลี่ยนท่าทีโสมแดงแม้ตัดส่งออกน้ำมันเป็นครั้งแรก แนะ ต้องเหลือช่องสู่มาตรการที่แรงกว่านี้

ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว (ที่มา:วิกิพีเดีย)

17 ก.ย. 2560 สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ รายงานว่า ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้บรรลุข้อตกลงผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหประชาชาติอย่างเต็มที่

ปาร์คซูฮยุน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ได้กระบุว่า ผู้นำทั้งสองยังได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือหยุดท่าทียั่วยุต่างๆ ที่หากดำเนินต่อไปก็จะทำให้เกาหลีเหนือประสบกับการถูกโดดเดี่ยวและล่มสลายไปในที่สุด

"ผู้นำทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะสานความร่วมมือให้แข็งขันมากยิ่งขึ้น และจะร่วมมือกันสร้างแรงกดดันเกาหลีเหนือให้มากขึ้นเพื่อให้เกาหลีเหนือตระหนักว่า ยิ่งถ้าพวกเขายังคงใช้ท่าทียั่วยุก็ยิ่งจะประสบกับการถูกโดดเดี่ยวทางการทูต แรงกดดันทางเศรษฐกิจและล่มสลายลงในที่สุด" ปาร์คพูดถึงเนื้อหาการสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้นำเกาหลีใต้และสหรัฐฯ

มุนแจอินและทรัมป์เห็นพ้องว่าการทำตามคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) โดยผู้นำเกาหลีใต้ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเพิ่มสมรรถนะการป้องกันตนเองของเกาหลีใต้จากกองกำลังร่วมระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งนี้ โษฆกทำเนียบประธานาธิบดียังได้กล่าวว่าผู้นำทั้งสองจะมีการอภิปรายกันต่อไปในการไปเยือนสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในสัปดาห์นี้ และมีแผนที่จะพูดคุยร่วมกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะด้วย

การสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้นำทั้งสองชาติในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในรอบเดือน การพูดคุยเกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือซ้อมยิงขีปนาวุธพิสัยกลางข้ามประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ก.ย.) ส่วนครั้งแรกเกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศแล้ว ภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีการเคลื่อนไหวตอบโต้ท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนือด้วย เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา สื่อวอยซ์ออฟอเมริกาของสหรัฐฯ รายงานว่าคูเวตตัดสินใจส่งผู้แทนทางการทูตของเกาหลีเหนือกลับจำนวนห้าคนจากทั้งหมดเก้าคน หนึ่งในนั้นเป็นเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำคูเวต โซชางซิก ทั้งนี้ ในรายงานยังไม่ระบุวันที่จะถูกส่งกลับ

ท่าทีของคูเวตสอดคล้องกับมติของ UNSC ที่ 2321 ที่ลงมติกันไปเมื่อปีที่แล้วเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือทำการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ห้า โดยคูเวตเป็นประเทศที่สามที่ส่งทูตจากเกาหลีเหนือกลับประเทศตามมติของ UNSC หลังเม็กซิโกและเปรู

นอกจากนั้น คูเวตยังไม่ให้วีซากับชาวเกาหลีเหนือ ทำให้ชาวเกาหลีเหนือที่อยู่ในคูเวตจะถูกแจ้งให้ออกจากประเทศเมื่อใบอนุญาตพำนักหมดอายุลง โดยปัจจุบันคาดว่ามีชาวเกาหลีเหนือทำงานในคูเวตราว 6,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ คว่ำบาตรรอบนี้ไม่พอเปลี่ยนท่าทีโสมแดง ต้องเหลือช่องสู่มาตรการที่แรงกว่านี้

โคบยุงจุน จากยอนฮัป รายงานว่า มติที่ 2375 ของ UNSC เป็นฉบับล่าสุดของมาตรการการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.ย.) โดยกำหนดให้ระงับการส่งออกน้ำมันดิบจำนวน 4 ล้านบาร์เรลต่อปี และระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมจำนวน 2 ล้านบาร์เรลให้เกาหลีเหนือ  นอกจากนั้นยังมีมติไม่รับสินค้าสิ่งทอจากเกาหลีเหนือที่คาดว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่หล่อเลี้ยงโครงการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์

การคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นมติคว่ำบาตรครั้งที่ 9 นับจากครั้งแรกเมื่อปี 2549 เมื่อเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก แต่มติล่าสุดถือเป็นครั้งแรกที่มีการตัดจำนวนส่งออกน้ำมัน ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ามตินี้จะนำไปสู่การลดปริมาณส่งออกน้ำมันให้เกาหลีเหนือเป็นปริมาณร้อยละ 30 แต่มตินี้ยังถือว่าเบาจากกว่าความคาดหวังของสหรัฐฯ ที่ต้องการตัดการส่งออกน้ำมันทั้งหมดไปเลยเพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือเข้าสู่กระบวนการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์

โชบองฮยุน นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ IBK กล่าวว่า "การคว่ำบาตรที่มีการระงับการส่งออกน้ำมันนั้นอาจมีความหมาย แต่ก็ยังต่ำกว่าความคาดหวังของพวกเรา" "แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มาตรการที่เกี่ยวพันกับน้ำมันจะมีผลกระทบทางจิตวิทยากับเกาหลีเหนือ"

จีนและรัสเซียที่เป็นสองสมาชิกถาวรของ UNSC ที่มีสิทธิวีโต้ (การปฏิเสธข้อเสนอ ถ้ามีสมาชิกคนใดคนหนึ่งวีโต้ ข้อเสนอนั้นเป็นอันตกไป - ผู้สื่อข่าว) เองก็พยายามหยุดยั้งมาตรการที่จะทำให้เกาหลีเหนือสั่นคลอน ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้เกาหลีเหนือ คิมคึนซิก ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกยองนัมให้ความเห็นว่า "ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ และจีนจะบรรลุซึ่งข้อตกลงร่วม ที่ฝ่ายแรกต้องการมาตรการที่รุนแรงขึ้น และฝ่ายหลังก็ต้องการจะเลี่ยงมาตรการที่สั่นคลอนความเป็นพันธมิตร"

"จีนนั้นอยากให้เกาหลีเหนือเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่อยากให้มาตรการที่ออกมารุนแรงมากจนเกาหลีเหนือล่มสลาย" คิมคึนซิกกล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ออกมาล่าสุดสามารถเบิกทางให้กับการยกเลิกการส่งออกน้ำมันให้เกาหลีเหนือทั้งหมดได้และการทำเช่นว่านั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการกดดันรัฐบาลเปียงยาง จุงซงชาง นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเซจงของเกาหลีใต้กล่าวว่า "มติของ UNSC จะตัดปริมาณการส่งออกน้ำมันราวร้อยละ 29 ให้เกาหลีเหนือ ซึ่งท้ายที่สุดจะไปฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ"

"อย่างไรเสีย ท่าทีดังกล่าวมีข้อจำกัดที่ชัดเจนในการจะทำให้เกาหลีเหนือเบนเข็มนโยบาย ดังนั้นการที่ UNSC จะเปิดทางให้มีมาตรการยกเลิกการส่งออกน้ำมันทั้งหมดให้เกาหลีเหนือจึงเป็นเรื่องสำคัญ" นักวิจัยอาวุโสท่านเดิมกล่าวเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลีเหนือที่ไม่ประสงค์จะออกนามก็ให้ความเห็นว่าสหรัฐฯ จะยังมีมาตรการเพิ่มเติมได้อีกถ้าเกาหลีเหนือยังคงมีท่าทียั่วยุต่อไป "เกาหลีเหนือไม่มีทีท่าว่าจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาจนกว่าจะประกาศว่าตนมีศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์"

"จนกว่าจะถึงเวลานั้น สหรัฐฯ จะเดินหน้าใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม และเกาหลีเหนือก็จะเดินหน้าใช้มาตรการยั่วยุต่อไป สุดท้ายแล้วเราจะเห็นฉากจบของเกมนี้ แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้น สหรัฐฯ ดูเหมือนจะยังมีไพ่ในมือให้เล่นอีกหลายใบ" ผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลีเหนือกล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก

YonhapMoon, Trump agree to thoroughly implement U.N. sanctions on N. Korea, September 17, 2017

Yonhap, Kuwait decides to deport N.K. envoy, stops issuing visas for N. Koreans: VOA, September 16, 2017

Yonhap, UNSC resolution insufficient to change N.K. behavior, signals tougher action ready: experts, September 12, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพื่อน “สมยศ” ชวนเขียนจดหมายอวยพรวันเกิดในคุก

Posted: 17 Sep 2017 02:54 AM PDT

กลุ่มเพื่อนชวนผู้สนใจเขียนจดหมายอวยพรวันเกิดสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นฯ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

กลุ่มเพื่อนสมยศ พฤกษาเกษมสุข จัดกิจกรรมเขียนจดหมายอวยพรวันเกิดสมยศในวันที่ 20 กันยายนนี้ ตัวแทนกลุ่มกล่าวถึงจุดประสงค์กิจกรรมนี้ว่า เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ทางเรือนจำเปลี่ยนกฎการเยี่ยม ทำให้เพื่อนๆ ไม่สามารถเข้าเยี่ยมสมยศได้ จึงเหลือเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถติดต่อกับคุณสมยศได้ โดยกิจกรรมนี้กลุ่มเพื่อนๆ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้คนได้ทักทาย ถามไถ่ ให้กำลังใจสมยศ หากสมยศสามารถตอบกลับได้ก็จะตอบกลับ แต่อาจใช้เวลานานเพราะระบบในเรือนจำการตรวจจดหมายเข้าและออกใช้เวลาพอสมควร

"คุณสมยศ สบายดี ตอนนี้ก็ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนิติศาสตร์ ส่วนปัญหาเรื่องสุขภาพมีบ้างก็เล็กน้อย จะบ่อยหน่อยก็คือปวดหัวเข่า"

กลุ่มดังกล่าวได้นัดหมายผู้สนใจไปเจอกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ด้วย

"เป้าหมายก็เพื่อที่จะให้คุณสมยศรู้ว่ายังมีเพื่อน ๆ คอยให้กำลังใจ คอยติดตาม คอยห่วงใย อยู่เสมอ แต่เพื่อน ๆ ที่มาก็ทำได้แค่เพียงไปมองดู ยืนโบกมือ ยืนส่งรอยยิ้มผ่านกระจกด้านนอกเท่านั้น" ผู้ใกล้ชิดสมยศกล่าว

ทั้งนี้ สมยศเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 มีบทบาทสำคัญในการร่วมเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการส่งเสริมการรวมตัวของกรรมกร รวมถึงระบบประกันสังคม

ในปี 2549 เขามีบทบาทต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. เคยเป็นแกนนำ นปช. รุ่น 2 หลังแกนนำ นปช. รุ่นแรกถูกจำคุกจากเหตุชุมนุมในเดือนเมษายนปี 2552 และหลังจากนั้นไม่นานเขาก่อตั้งกลุ่ม "24 มิถุนาประชาธิปไตย" ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นเขายังเป็นพิธีกรรายการ "เสียงกรรมกร" ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DTV ด้วย

สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 หรือ 5 วันหลังจากที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกมาตรา 112 โดยในระหว่างสู้คดี เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ระหว่างไต่สวนคดี สมยศยังถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนของเขาต้องเดินทางไปเยี่ยมด้วยความลำบาก เพราะจะมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล

เขาถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีความว่าบทความ 2 ชิ้นของผู้ใช้นามปากกา "จิตร พลจันทร์" มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนบทความ เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่าที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี ทั้งนี้เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี ทำให้สมยศต้องจำคุกรวมเป็นเวลากว่า 7 ปี

ปัจจุบันนี้ สมยศยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีกำหนดจะได้ออกจากเรือนจำราวเดือนเมษายน 2561 หรืออีกประมาณ 7 เดือน

ในช่วงที่ถูกจองจำ เขายังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องประจำปี 2555 จากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร และในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 เขายังได้รับรางวัลชุน แต อิล จากสมาหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี KCTU โดย "ประกายดาว" ลูกสาวของสมยศเดินทางไปรับรางวัลแทนพ่อผู้ถูกคุมขัง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทบาทของสมาคมศิษย์เก่าที่เปลี่ยนไป

Posted: 17 Sep 2017 02:31 AM PDT



จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการลงโทษตัดคะแนนเนติวิทย์กับพวก 25 คะแนน จนมีผลให้ต้องพ้นจากสถานภาพการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯและประธานฯไปโดยปริยายนั้น ทำให้มีการถกเถียงโต้แย้งตามมาอย่างมากทั้งภายในและภายนอกจุฬาฯ แต่เป็นที่น่าสังเกตคือได้ปรากฏมีแถลงการณ์ของสมาคมนิสิตเก่าทั้งของจุฬาฯ เองและของคณะต่างๆ บางคณะฯ ออกมาสนับสนุนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งก็ตามมาด้วยการสนับสนุนและการโต้แย้งต่อแถลงการณ์ฯ จากนิสิตเก่าฯ เช่นเดียวกัน จึงทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนว่าบทบาทหน้าที่ของสมาคมนิสิตเก่าหรือศิษย์เก่าของสถาบันต่างๆ ที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาหากเราจะตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นในประเทศไทยสักแห่งหนึ่ง สิ่งแรกๆ ที่เราจะต้องทำก็คือ การสร้างเสาธงแล้วต้องตามด้วยป้ายชื่อสถาบัน แล้วอีกระยะหนึ่งเมื่อมีผู้จบการศึกษาออกไปบ้างแล้วก็คือ การตั้งสมาคม/ชมรมศิษย์เก่าไม่ว่าจะเป็นไปในชื่อศิษย์เก่า นิสิตเก่า นักศึกษาเก่า หรือนักเรียนเก่า ฯลฯ

สมาคมศิษย์เก่าซึ่งในที่นี้หมายความรวมไปถึงชมรมหรือสมาพันธ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่รวมกันเป็นกลุ่มศิษย์เก่าของสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีการรวมตัวจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งที่เราลอกแบบมาจากต่างประเทศ โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไมต้องมี นอกเหนือจากแนวความคิดที่ว่ารวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ (อะไรไม่รู้) ให้แก่สถาบันที่ตนจบมา ฉะนั้น เมื่อขาดรากฐานในวัฒนธรรมไทย สมาคมศิษย์เก่าของไทยเราจึงทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากการจัดงานสังสรรค์หรือจัดงานหาเงินโดยการเรี่ยไรจากศิษย์เก่าและร้านค้าต่างๆ

ในระยะแรกๆ คนจบการศึกษาขั้นสูงมีน้อย สมาคมศิษย์เก่ายังพอมีหน้าที่อยู่บ้างก็คือเป็นสัญลักษณ์ของ   ชนชั้นที่ได้รับการศึกษา โดยการจัดงานกินเลี้ยงต่างๆ แล้วส่งรูปไปลงหนังสือพิมพ์

โดยปกติแล้วการรวมกลุ่มในทางสังคมจะทำให้เกิดอำนาจอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือพลังในการต่อรอง แต่น่าเสียดายที่สมาคมศิษย์เก่าไม่เคยมีบทบาทในการต่อรองมากนัก ในสงครามแย่งชิงอำนาจในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ถึงแม้จะมีสีมีสถาบันก็ตาม แต่สมาคมศิษย์เก่าก็ไม่มีบทบาทในเรื่องนี้แต่อย่างใด

สาเหตุที่สมาคมศิษย์เก่าไม่สามารถเป็นกลุ่มต่อรองที่มีประสิทธิภาพก็เนื่องเพราะผลประโยชน์ของสมาชิกมีหลากหลายและมากมายเกินกว่าที่สมาคมจะทำหน้าที่อันนั้นได้ ยิ่งถ้าจะรณรงค์ให้สมาคมศิษย์เก่าเป็นกลุ่มพลังที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอุดมคติทางสังคมนั้นเป็นอันว่าเลิกคิดได้เลยเพราะสมาชิกของสมาคมศิษย์เก่าแต่ละแห่งนั้นมีตั้งแต่ซ้ายสุดกู่จนถึงขวาตกขอบไปเลย มีตั้งแต่ผู้ที่ถือศีลกินเจไปจนถึงไอ้/อีโคตรโกง ฯลฯ

การที่จะวัดว่าสมาคมฯ ใดมีความเข้มแข็งก็มักจะวัดกันว่ามีข่าวคราวกิจกรรมออกทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนบ่อยครั้งแค่ไหน ทั้งๆ ที่กิจกรรมที่ว่าอาจจะเป็นเพียงการกินเลี้ยงสังสรรค์เฮฮากันธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

ในส่วนของตัวนายกสมาคมฯ นั้นเล่า ส่วนใหญ่ก็มุ่งเข้าไปที่ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้าราชการประจำหรือฝ่ายการเมือง หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นมหาเศรษฐีเงินเป็นตั้งๆ เพราะคิดว่าจะได้อาศัยบุญญาบารมีในการขอความร่วมมือ (รวมถึงการบีบบังคับโดยอ้อม) ในการทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม ซึ่งแน่นอนผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตหรือมหาเศรษฐีย่อมไม่มีเวลา และหาความเป็นกันเองกับศิษย์เก่าตัวเล็กๆ ได้ยาก นอกจากนั้นส่วนใหญ่แล้วนายกฯ หรือประธานฯ แต่ละคนก็มีบทบาทหรือสถานภาพอื่นๆ ในสังคมอยู่มากมายอยู่แล้ว ฉะนั้น กิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่า ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับกรรมการหรือสมาชิกไม่กี่คนที่วิ่งกันหัวฟู

จุดที่สมาคมศิษย์เก่าต่างๆ มักจะถูกโจมตีหรือถูกตำหนิติเตียนก็มิใช่มาจากเหตุอื่น ร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้าก็มาจากศิษย์เก่าสถาบันนั้นนั่นเอง เช่น ทำอะไรไม่เห็นรู้เรื่อง หรือไม่ก็คณะกรรมการหรือสมาชิกมาจากไหน เห็นมีแต่พวกบ้ากิจกรรม (เรียกอย่างโก้ๆ ว่า active member) อยู่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ดันทะลึ่งมาบอกว่าเป็นตัวแทนศิษย์เก่าทั้งหมด ฯลฯ

ว่ากันตามจริงแล้วบทบาทที่แท้จริงของสมาคมศิษย์เก่าก็คือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังไม่ขัดกัน) เพื่อระลึกถึงความหลังหรือเพื่อพบปะสังสรรค์เพื่อความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งก็มิใช่เรื่องที่เสียหายอะไร หากไม่เป็นการไปอ้างเอาอุดมการณ์ที่สูงส่ง เช่น เพื่อความสามัคคี เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของสถาบัน ฯลฯ เข้ามาบดบังวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะอย่างน้อยที่สุดความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันหรือความบันเทิงก็เป็นสิ่งที่มนุษยชาติจะพึงมี

ในอดีตเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เคยเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือการที่นายกสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมกับนิสิตเก่าจำนวนหนึ่งได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่คณะอาจารย์จุฬาฯทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้นายกทักษิณ(ในสมัยนั้น)ลาออก โดยในแถลงการณ์ของสมาคมฯบอกว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็มีการนำรายชื่อไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีผ่านทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ดี

ซึ่งปฏิกิริยาตามมาก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่สมาคมศิษย์เก่าฯ ออกมามีบทบาทในครั้งนั้น นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างเหลือเชื่อและสร้างความงุนงงให้แก่ผู้ที่ได้ทราบข่าวนี้เป็นอันมาก เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น มีทั้งคนที่ซ้ายสุดกู่ ไปจนถึงขวาตกขอบ ยากที่จะมีความเห็นร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นทางการเมือง

ล่าสุดในปี 2560 นี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีกซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องการเมืองตามความหมายทางวิชาการทางรัฐศาสตร์เช่นกัน แม้ว่าหลายคนจะพยายามบอกว่าเป็นเรื่องภายในจุฬาฯเองก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาจะต้องไปจับมือกับนักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น คงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนักที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และก็ไม่แน่นักนะครับหากต่อไปเราอาจจะได้ยินข่าวว่าสมาคมศิษย์เก่าโน่นสมาคมศิษย์เก่านี่ออกมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

น่าจับตามองยิ่งนัก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สากลนิยมของประชาธิปไตย และหลักการประชาธิปไตยสากล

Posted: 17 Sep 2017 01:58 AM PDT

โชคชัย สุทธาเวศ เขียนบทความร่วมรำลึกวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) ของสหประชาชาติ (วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี)

บทนำ

ประวัติศาสตร์สากลแสดงให้เราเห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ของโลก หากไม่นับประชาธิปไตยชุมชนบุพกาลของชนเผ่า แต่ถือเอาสมัยอาณาจักรกรีกและโรมันในยุโรปเมื่อกว่าสองพันปีก่อนเป็นจุดเริ่มต้น ก็ได้เคยมีระบอบประชาธิปไตยแตกหน่อขึ้นแล้ว แต่มาสูญหายไปชั่วคราวหลังสมัยกรีกและโรมันล่มสลาย ภายใต้ยุคมืดของยุโรปที่คริสตจักรครอบงำอาณาจักรกว่าหนึ่งพันปีนั้น

นับจากยุคแสงสว่างทางปัญญา (Renaissance) ในคริสตศตวรรษที่ 15 ที่เน้นเรื่องการฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรม และ ถัดมาในยุคการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในคริสตศตวรรษที่ 16 - 17 อันเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของการค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา นักคิดฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดฝ่ายเผด็จการ และผู้ปกครองรัฐแบบกษัตริย์และศักดินานิยมอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เริ่มมีปฏิสังสรรค์กันทางปัญญาและการต่อสู้กันในทางการเมืองการปกครอง แต่โดยภาพรวมแล้ว ในรอบกว่า 300 ปีที่ผ่านมา รัฐสมัยใหม่ค่อยๆทยอยอาศัยแนวคิดและกระบวนการประชาธิปไตยของชุมชนและสังคมสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนของตน และใช้มันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสันติ มากกว่าการปกครองแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น: การปกครองโดยเหล่าผู้ทรงเกียรติ (มักจะเป็นคนรวย) (Timocracy) การปกครองโดยคนส่วนน้อย (Oligarchy) รวมทั้งหรืออาจจะกลายเป็นคณาธิปไตยของขุนนางชั้นสูงที่มีคุณธรรม (Aristocracy) และการปกครองโดยกษัตริย์ (Monarchy) ที่การปกครองเหล่านี้อาจจะเป็นการปกครองที่ชอบธรรมหรือเป็นการปกครองของทรราช (Tyranny) ไปเสียก็ตาม

สิ่งที่สมควรทำความกระจ่างกันก็คือ ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในบางส่วนของโลกและรับเอามาปรับใช้กับประเทศอื่นมากขึ้นๆในระดับโลกนั้น แสดงถึงความเป็นสากลนิยมของประชาธิปไตยได้เช่นไร และหลักการประชาธิปไตยสากล อันถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กันนั้น มีสาระสำคัญอะไรบ้าง และสำหรับประเทศไทยแล้ว ทำไมเราจึงสมควรยืนยันใช้มันเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่กำลังตกต่ำในประเทศไทยของเรา 

 

สากลนิยมของประชาธิปไตย

การกล่าวถึงสากลนิยมของประชาธิปไตย ย่อมมีได้หลายมุมมอง เราสามารถอาศัยการพิจารณาจากมุมมองเชิงสิทธิทางการเมืองของประชาชนเป็นหลักและโดยสังเขป ดังต่อไปนี้


สิทธิทางการเมืองของประชาชนสะท้อนสากลนิยมของประชาธิปไตยอย่างไร?

สิทธิทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ค่อยๆพัฒนาขึ้นจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 17 ประเทศสำคัญที่เป็นแบบอย่างคือ สหรัฐอเมริกา (ที่เกี่ยวเนื่องกับการปลดแอกจากสหราชอาณาจักร) และฝรั่งเศส และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคเริ่มแรก คือ การสร้างสรรค์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางรากฐานการปกครองในแบบที่ประชาชนเป็นใหญ่นั่นเอง

กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นในคราวการปฏิวัติอเมริกาเพื่อปลดปล่อยความเป็นประเทศอาณานิคมของอเมริกาออกจากสหราชอาณาจักร หลักการสำคัญหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้บ้าง (หลังจากมีการใช้กันในอังกฤษมาก่อน) ในมลรัฐทัง 13 แห่ง ในทวีปอเมริกาที่สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็คือ "No representation without taxation" อันหมายถึงว่า หากไม่มีระบบผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา ประชาชนก็จะไม่ยอมเสียภาษี (หลักการเดียวกับบทบัญญัติใน Bill of Rights 1689 ในสหราชอาณาจักร  ที่ว่า "การบังคับให้จ่ายภาษีจะทำไม่ได้ หากมิได้ผ่านการยินยอมของรัฐสภา") หลักการดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างสำเร็จผล ร่วมกับปฏิบัติการต่อสู้อื่นๆ ในขณะทำการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเทใบชาจากประเทศอังกฤษทิ้งทะเล และการสู้รบกันด้วยอาวุธระหว่างทหารรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับทหารและประชาชนจากมลรัฐในอเมริกาจำนวนหนึ่งจนประสบชัยชนะ สามารถประกาศเอกราชได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776

กรณีฝรั่งเศส การประกาศหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ซึ่งได้แบบอย่างมาจากคราวการปฏิวัติอเมริกา (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 1) ในอีก 13 ปีต่อมา แสดงถึงความก้าวหน้าไม่แพ้สิทธิทางการเมืองของประชาชนมากกว่าที่เคยมีในคราวปฏิวัติอเมริกา แต่ยังคงแฝงอยู่ภายใต้ คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง จำนวน 17 ข้อ โดยเน้นสามเรื่องสำคัญที่ผูกโยงกัน คือ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

สิทธิทางการเมืองของประชาชนมีความก้าวหน้าในระดับสากลอย่างชัดเจนก็สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหประชาติ (United Nation) ได้รับการจัดตั้งขึ้นแทนสันนิบาตชาติที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ล้มเหลวในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 2) โดยผลของสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาติจึงได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Declaration on Human Rights 1948) ปฏิญญาฉบับนี้ผู้แทนจากฝ่ายประเทศทุนนิยมและสังคมนิยมได้ร่างร่วมกัน และอิงอยู่บนหลักการในคำประกาศปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างมาก สิทธิทางการเมืองของประชาชนถูกระบุไว้ในข้อ 21 ของปฏิญญาฉบับนี้ คือ

 

"ข้อ 21   สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเข้าถึงบริการสาธารณะ

(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ

(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

(3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้ต้องแสดงออกทางการเลือกตั้ง ตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไป และเสมอภาค และการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน"


ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี และมีผลใช้บังคับเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2519 อันเป็นการรองรับสิทธิพลเมืองและทางการเมืองที่มีสาระในแง่มุมต่างๆครบถ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในทางการเมืองนั้น ได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การมีส่วนร่วมกับรัฐบาลโดยตรงหรือผ่านผู้แทนราษฎร  รวมทั้งการรับรองเจตจำนงของประชาชนผ่านสิทธิในการเลือกตั้งด้วย และนอกจากนี้ยังรวมถึงเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งสะท้อนอยู่ในสิทธิพลเมืองของสหประชาชาติด้วย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงสะท้องสากลนิยมของประชาธิปไตยหรือสากลนิยมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นจากประเทศตะวันตก และมีองค์การระดับโลกแบบสหประชาชาติช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ในระดับสากล อันทำให้ประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนออกไปทั่วโลกมากขึ้น และช่วยเสริมแรงประชาชนในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาต่างๆ ในการสรรค์สร้างประชาธิปไตยของตนให้เติบโตและมีคุณภาพ


หลักการประชาธิปไตยสากล

ปรัชญาการเมือง ทฤษฎี และตัวแบบ หรือสิทธิมนุษยชนในทางการเมืองประชาธิปไตย ตอบสนองต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในทิศทางโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบ 200 – 300 ปีที่ผ่านมา การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีความหมายสำคัญว่าคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอน ของสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้เป็นอมตะนั้น [แต่เราทั้งหลาย ก็พึงระวังว่าจะเกิดอันตราย หากจะกลายเป็นการปกครองของรัฐบาลที่อยู่เหนือประชาชน (Government over the people) อันหมายถึงประชาชนสูญเสียอำนาจของตนเองไปให้รัฐบาลมาอยู่เหนือตน] นับถึงปัจจุบัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการให้คุณค่าว่ามีค่านิยมที่เป็นสากลโดยประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ร่วมโลก อย่างไม่ต้องสงสัย กล่าวคือ องค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliament Union, IPU) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมรัฐสภาและรัฐบาลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 3) เป็นอาทิ ได้ยืนยันในเรื่องนี้ โดยออก "คำประกาศว่าด้วยประชาธิปไตย" (Universal Declaration on Democracy) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1997 โดยสาระสำคัญในส่วนของหลักการประชาธิปไตย ได้ประกาศ (ข้าพเจ้า - ผู้เขียนขอแปล) ไว้ดังนี้

1) ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติและเป้าหมายในระดับสากล ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันของประชาชนทั่วชุมชนโลก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองที่จะใช้สิทธินั้น ภายใต้เงื่อนไขของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ด้วยความเคารพต่อทัศนะที่หลากหลาย และในผลประโยชน์ของประชาชนในระบบการเมือง

2) ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติที่จะต้องยึดถือไว้ และเป็นวิถีแห่งการเป็นรัฐบาลที่พึงจะนำไปประยุกต์ตามแบบแผนที่สะท้อนถึงความหลากหลายของประสบการณ์ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมโดยต้องไม่ละทิ้งหลักการ บรรทัดฐาน และมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเหล่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางทำให้มีสถานภาพแห่งปัจจัยและเงื่อนไขที่สมบูรณ์ที่จะยังความก้าวหน้าแห่งประชาธิปไตยบนความหลากหลายของการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

3) ในฐานะที่เป็นอุดมคติ  ประชาธิปไตยมีจุดมุ่งหมายอย่างสำคัญที่จะรักษาและส่งเสริมศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละบุคคลเพื่อที่จะบรรลุความยุติธรรมทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งในความเป็นปึกแผ่นของสังคม และเสริมสร้างความสงบสุขในชาติ เช่นเดียวกับเพื่อสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อความสงบสุขระหว่างประเทศและในการจัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปไตยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว; นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังเป็นระบบการเมืองที่มีความสามารถในการปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเองให้ถูกต้อง

4) ผลสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตย ย่อมอาศัยความเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงระหว่างชายและหญิง ในการดำเนินกิจกรรมของสังคมที่พวกเขาทำงานกันอย่างเสมอภาคและช่วยเหลือกันและกัน อันได้มาจากคุณค่าร่วมของความแตกต่างของทั้งสองฝ่าย

5) รัฐของระบอบประชาธิปไตยย่อมให้หลักประกันว่ากระบวนการที่อำนาจเข้าไปถึง การใช้อาวุธ และการปรับเปลี่ยนใดๆ จะเป็นไปให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองอย่างเปิดเผย เสรี และไม่เลือกปฏิบัติต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยถูกใช้ไปในทางที่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ทั้งในทางลายลักษณ์อักษรและจิตวิญญาณ

6) ประชาธิปไตยไม่สามารถแยกออกได้จากสิทธิที่กำหนดไว้ในกลไกระหว่างประเทศที่กล่าวถึงในอารัมภบท สิทธิเหล่านี้จึงต้องถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผล และการใช้สิทธิอย่างเหมาะสมเหล่านั้นจะต้องไปด้วยกันกับความรับผิดชอบของบุคคลและส่วนรวม

7) ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นปราการหลักของกฎหมายและการใช้สิทธิมนุษยชน ในรัฐประชาธิปไตย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และทุกคนมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย

8) สันติภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นเงื่อนไขสำหรับและผลของประชาธิปไตย การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างความสงบสุข การพัฒนา การเคารพต่อและปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน

ในอีก 10 ปี ต่อมา สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์การกลางของรัฐบาลทั่วโลกและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมานั้น คือในปี 2007 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติ (United Nations General Assembly) ได้มีมติให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) ในคำอารัมภบทของมติที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาติในปี 2007 นั้น กล่าวไว้ว่า:

"ในขณะที่ประชาธิปไตยมีคุณลักษณะร่วม โดยความเป็นประชาธิปไตยมิได้มีรูปแบบเดียว และประชาธิปไตยก็มิได้เป็นเจ้าของเพียงโดยประเทศหรือภูมิภาคใดๆ

.....ประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากล (universal value) ที่ตั้งอยู่บนการแสดงออกได้อย่างเสรีถึงเจตจำนงของประชาชน เพื่อกำหนดชะตากรรมของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของตัวเอง และต่อการมีส่วนร่วมของพวกเขาอย่างเต็มที่ในทุกด้านของชีวิต"

หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีการกล่าวถึงโดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา (ผู้เขียนขอแปล) ไว้ดังต่อไปนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 4)

1) ประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อำนาจและความรับผิดชอบของพลเมืองถูกใช้โดยประชาชนทุกคน ในทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนราษฎรของตนที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี

2) ประชาธิปไตยคือชุดของหลักการ และวิธีปฏิบัติที่ปกป้องเสรีภาพของมนุษย์; ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นสถาบันของเสรีภาพ

3) ประชาธิปไตยวางอยู่บนหลักการของการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ควบคู่กับการยอมรับสิทธิส่วนบุคคลและเสียงส่วนน้อย  ระบอบประชาธิปไตยทั้งปวงนั้น ในขณะที่เคารพเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ปกป้องอย่างแข็งขันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและกลุ่มคนเสียงข้างน้อย

4) รัฐประชาธิปไตยโต้ตอบต่ออำนาจทั้งหมดและล้นเหลือของรัฐบาลกลาง และทำให้มีการกระจายอำนาจของรัฐบาลไปในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ด้วยการตระหนักรู้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อประชาชนเท่าที่เป็นไปได้

5) ประชาธิปไตยตระหนักรู้ว่า หนึ่งในหน้าที่หลักของประชาธิปไตยคือการปกป้องต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการพูด และการนับถือศาสนา; สิทธิที่ประชาชนจะได้รับในการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน; และโอกาสที่จะรวมตัว และเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม

6) รัฐประชาธิปไตยย่อมจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมที่เปิดกว้างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคนอย่างสม่ำเสมอ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้การครอบงำของเผด็จการหรือพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่มีผู้ที่แข่งขันกันอย่างเป็นจริงเพื่อขอรับการสนับสนุนของประชาชน

7) ประชาธิปไตยกำหนดให้รัฐบาลบริหารโดยใช้กฎหมายและให้หลักประกันว่าพลเมืองทั้งมวลจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิของพลเมืองจะได้รับการคุ้มครองจากระบบกฎหมาย

8) ประชาธิปไตยย่อมมีความหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานต่างๆของมัน แต่ไม่ใช่การปฏิบัติที่เป็นแบบเดียวกัน

9) ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงแต่มีสิทธิ พวกเขาย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเข้าร่วมในระบบการเมืองที่ในทางกลับกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา

10) สังคมประชาธิปไตยมีความผูกพันต่อค่านิยมของความใจกว้าง (การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง) ความร่วมมือ และการประนีประนอมกัน ประชาธิปไตยยอมรับว่าการได้มาซึ่งฉันทามติต้องอาศัยการประนีประนอมกัน และมันอาจจะไม่สำเร็จผลเสมอไป (ดังในคำพูดของมหาตมะคานธีที่ว่า "ความใจคอคับแคบเป็นความรุนแรงในตัวเอง และเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง)" – (ใส่วงเล็บโดยข้าพเจ้า ผู้เขียน)

นอกจากนี้ สมาคมเพื่อความเป็นหุ้นส่วนแห่งยุโรป (Association for European Parnership) ได้เสนอ "หลักการพื้นฐานแห่งประชาธิปไตยที่แข็งขัน" (Basic Principles of Active Democracy) สำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป ถือได้ว่าเป็นหลักการสากลชุดหนึ่ง ไว้ในหัวข้อต่อไปนี้

1. การมีส่วนร่วมของประชาชน (Citizen Participation)

2. ความเสมอภาค (Equality)

3. ความอดทนอดกลั้นทางการเมือง (Political Tolerance)

4. ความพร้อมต่อการรับผิด (Accountability)

5. ความโปร่งใส (Transparency)

6. การเลือกตั้งอย่างเป็นประจำ เสรี และ ยุติธรรม (Regular, Free and Fair Elections)

7. เสรีภาพในทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom)

8. การควบคุมการใช้อำนาจในทางมิชอบ (Control of the Abuse of Power)      

9. การยอมรับผลของการเลือกตั้ง (Accepting the Results of Elections)

10. หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights)

11. การมีพรรคการเมืองหลายพรรค (Multi-Party Systems)

12. นิติธรรม (The Rule of Law)                                          

13. การมีกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชน (Bill of Rights)

จากหลักการประชาธิปไตยสากลข้างต้น แม้ว่ามันจะมีการสรุปไว้ตามหมวดหมู่ และมีหลักย่อยๆเฉพาะประเด็นรองรับหลักใหญ่อีกมากมาย ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีของนักปรัชญาและนักคิดทั้งหลาย และการปรับปรุงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ หรือการผ่านประสบการณ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ มาแล้วนั่นเองนั้น แต่ในเมืองไทย กลับสนใจเน้นกันหรือนิยมอ้างถึงกันห้าประการต่อไปนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 5)

1) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)

2) หลักเสรีภาพ (liberty)

3) หลักความเสมอภาค (equality)

4) หลักกฎหมาย (rule of law)

5) หลักเสียงข้างมาก (majority rule) ที่เคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อย (minority right)

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสรุปรวบรัดหลักการประชาธิปไตยเหลือเพียงห้าประการดังกล่าวนี้ เนื่องจากไม่ครบถ้วนถึงแก่นแกนของหลักการประชาธิปไตยสากลนิยมในทางที่เป็นจริง เพราะยังขาดสาระสากลที่สำคัญอื่นๆ ดังที่เสนอให้เห็นแล้วนั้น ซึ่งนอกเหนือหลักการสากลที่รวบรัดห้าประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ายังมีหลักการสำคัญอีกจำนวนหนึ่งที่ประกาศไว้แล้วในทางสากล และที่มีการยึดถือร่วมกันอย่างชัดแจ้ง เพื่อการจัดระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน อย่างน้อยดังต่อไปนี้คือ

(1) รัฐบาลมาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งและบริหารประเทศตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้

(2) การถ่วงดุลกันและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

(3) ประชาชนมีความเป็นภารดรภาพกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจากรัฐ รวมทั้งการรับบริการจากรัฐ (สิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะ) โดยไม่เลือกปฏิบัติ (โดยเสมอภาค ไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ)

(4) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ

(5) การร่วมมือกันระหว่างประเทศในระดับสากลในการจรรโลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 6)

ข้อความของหลักการประชาธิปไตยสากลที่ประมวลมา อาจมีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่บ้าง และบางเรื่องที่ควรอยู่ด้วยกันก็อาจมีการแยกเขียนออกมาเป็นหลักใหม่ เพื่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษจากมุมมองของแหล่งที่นำเสนอ แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจาณาตามหลักใหญ่ใจความและเอาสาระสำคัญเหนือตัวอักษรแล้ว เราอาจจัดกลุ่มหลักการประชาธิปไตยสากลเหล่านี้ออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นเป้าหมาย ส่วนที่เป็นวิธีการ และส่วนที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (โดยกระบวนการอยู่ในวิธีการ) ข้าพเจ้าจึงขอจัดให้ท่านผู้อ่านเห็นเป็นสามส่วนของหลักการสำคัญๆ ดังนี้

หลักการในส่วนที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน, ความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน, ประชาชนมีความเป็นภารดรภาพกัน, สิทธิมนุษยชน (ในด้านต่างๆ) ของประชาชน 

หลักการส่วนที่เป็นวิธีการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (ในทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนราษฎรของตน), การเลือกตั้งอย่างเป็นประจำ เสรี และ ยุติธรรม, รัฐบาลมาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมือง และบริหารประเทศของรัฐบาลตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้, หลักนิติรัฐและนิติธรรม (การปกครองโดยกฎหมายของรัฐ ความชอบธรรมในการตรากฎหมาย และทุกคนเสมอกันภายใต้กฎหมาย)

หลักการในส่วนที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (บางท่านอาจยังถือว่าหลักการเหล่านี้ เป็นส่วนของวิธีการก็ได้) ได้แก่ การยึดหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ละเลยอย่างสิ้นเชิงต่อความเห็นเสียงของข้างน้อย, การแบ่งแยกอำนาจ แต่ถ่วงดุลกันและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจากรัฐ รวมทั้งการรับบริการ (สิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะ) จากรัฐ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (โดยเสมอภาค), ความเป็นหุ้นส่วน และช่วยเหลือกันและกันระหว่างชายและหญิงในการทำกิจกรรมในสังคม, ความพร้อมต่อการรับผิด, ความโปร่งใส  และการร่วมมือกันระหว่างประเทศในระดับสากลในการจรรโลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ


สรุปและข้อยืนยัน

เราจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักการประชาธิปไตยสากล อย่างน้อยทั้งสามส่วนข้างต้น เป็นฐานรองรับและเครื่องจรรโลงความมั่นคงและยั่งยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ที่มีสหประชาชาติ องค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ และประเทศตะวันตกที่มีระดับประชาธิปไตยก้าวหน้าและมีเสถียรภาพ รวมถึงนักวิชาการจำนวนมาก ช่วยกันดูแลในระดับสากลในปัจจุบันนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 7)

สากลนิยมของประชาธิปไตยและหลักการประชาธิปไตยสากล จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นเข็มทิศและหลักเกณฑ์การสรรค์สร้างมาตรฐานคุณภาพประชาธิปไตย และเพื่อการรักษาประชาธิปไตยของประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ต่างกับกติกาสากลของการเล่นกีฬาประเภทหรือชนิดต่างๆ ที่ประเทศทั่วโลกสามารถใช้กติกาสากลเดียวกัน ทั้งแข่งขันกันในประเทศของตนและแข่งขันกันระหว่างประเทศ ไม่ว่าประเทศทั้งหลายเหล่านั้น จะมีประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมหรือแบบอย่างการปกครองในสังคมแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่สังคมต่างๆ มีลักษณะเฉพาะ เราก็จำเป็นต้องช่วยกันคัดสรรค์เอาประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม และแบบอย่างการปกครองในสังคม ที่เป็นบวกกับหลักการประชาธิปไตยสากลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันไปให้ได้ อย่ายอมแพ้ต่อประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมหรือแบบอย่างการปกครองในสังคมที่เป็นลบหรืออุปสรรคต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะหลักการสากลจะช่วยให้ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาอารยธรรมของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะที่ในเชิงเปรียบเทียบ วิทยาศาสตร์การกีฬาก็ช่วยทำให้นักกีฬามีคุณภาพและประสบความสำเร็จในการแข่งขันกันเช่นกัน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยของเราก็เช่นกัน ขอยืนยันว่า เราจำเป็นต้องร่วมกระแสสากลนิยมประชาธิปไตย และอาศัยหลักการประชาธิปไตยสากลมาสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศไทยให้สำเร็จ เพราะเหตุว่า หลักการประชาธิปไตยสากลต่างๆ พัฒนามาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ เป็นข้อกำหนดในทางทฤษฎีที่นักคิดสร้างขึ้น และถูกนำไปทดสอบและปฏิบัติในประเทศประชาธิปไตยต่างๆ โดยส่วนใหญ่ของโลก แล้วผลของความสำเร็จหรือประโยชน์จากการปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น ถูกนำกลับมากลั่นกรองและยืนยันเป็นหลักการเพื่อการยึดถืออย่างเป็นสากลโดยองค์การกลางของสังคมโลก อันจะช่วยแก้ไขปัญหาและขจัดจุดอ่อนของประชาธิปไตยไทยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ดังที่มักจะทราบกันดี

นอกจากนี้ ในฐานะที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีทั้งรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อม รูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อม คือ การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยหรือผ่านตัวแทนของตนในนามสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกกฎหมาย และเพื่อบริหารประเทศในนามรัฐบาล แต่ก็มิใช่ทั้งหมดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประชาชนยังสามารถใช้รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงได้อีก อันเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองเสริมรูปแบบทางตรง เนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร อาจมิได้ครบถ้วนสมบูรณ์พอตามที่ประชาชนคาดหวัง

ในระยะหลังๆ ประเทศต่างๆจึงสนใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนมากขึ้น แต่ประเทศใดก็ตามที่ทำให้การเมืองทางอ้อมคือภาคผู้แทนราษฎร และการเมืองทางตรงคือภาคประชาชนแสดงออกโดยตรง เกื้อกูลต่อกันอย่างลงตัวแล้ว ประเทศนั้นก็จะเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศที่การเมืองสองภาคเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน – ดังประการหลัง อนิจจาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา!?

 

(ข้อมูลส่วนใหญ่ในบทความ เรียบเรียงจาก โชคชัย สุทธาเวศ (2560) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย: แนวพินิจเชิงทฤษฎีและหลักการประชาธิปไตยสากล. จัดพิมพ์โดยสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: เดอะ วิสดอม เพรส.)

 

หมายเหตุประกอบบทความ

1. ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักการสิทธิมนุษยชนในทางการเมืองของการปฏิวัติทั้งในอเมริกา และฝรั่งเศส คือ โทมัส เพน (Thomas Paine) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษ-อมเริกัน ผู้ร่วมวางรากฐานการเมืองอเมริกันสมัย ค.ศ. 1776 (สมัยเริ่มรัตนโกสินทร์ของไทย ซึ่งตรงกับแผ่นดินอเมริกันสมัยนั้น ชาวอเมริกันแสวงหาสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากยุโรปต้นกำเนิด แต่แผ่นดินไทยสร้างใหม่หลังกู้อิสรภาพจากพม่าภายใต้การหวนกลับไปถวิลหาอยุธยาเป็นต้นแบบ) และต่อมาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยมุมองทางสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวของเขาเกื้อกูลต่อการจัดทำคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศส และสองปีต่อมาเขานำเอาหลักการด้านสิทธิของประชาชนมาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง "Rights of Man" (1791) ซึ่งน่าจะแปลว่า "ความถูกต้องชอบธรรมของความเป็นมนุษย์" แต่เราก็มักจะแปลกันว่า  "สิทธิมนุษยชน" (มากกว่า "สิทธิของมนุษย์") ซึ่งต่อมาใช้กันในภาษาอังกฤษว่า "Human Rights".

2. ข้าพเจ้าได้รับความรู้ในปัญหาของสันนิบาติชาติจากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในคราวไปเยือนสวิสเซอร์แลนด์ วันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2559 ว่าความล้มเหลวของสันนิบาติชาติก็คือการให้สิทธิรัฐบาลผู้ก่อตั้งสันนิบาตชาติเท่ากันในการลงคะแนนเสียง โดยไม่มีอำนาจวีโต้มติที่ไม่เห็นด้วย ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นเพราะไม่ฟังกัน ฉะนั้นสหประชาชาติที่ตั้งใหม่จึงแก้ปัญหานี้ โดยให้ประเทศผู้ก่อตั้งสหประชาชาติห้าประเทศมีสิทธิวีโต้มติที่ประชุมได้ หากรัฐบาลของตนไม่เห็นพ้องด้วย และนั่นจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้สหประชาชาติยังทำงานอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

3. ประเทศไทยได้รับการอนุมัติเข้าเป็นสมาชิก IPU เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 โดยมีข้อมูลส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ของรัฐสภาไทยบันทึกไว้ว่า "รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภา-ไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่ง.....

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา"

4. หลักการพื้นฐานดังกล่าวนี้ นำเสนอโดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมเป็นอย่างน้อยถึงหลักการและการปฏิบัติสำคัญๆในทางประชาธิปไตยต่อไปนี้ คือ 1) Overview: What Is Democracy? 2) Majority Rule, Minority Rights 3) Civil-Military Relations 4) Political Parties 5) Citizen Responsibilities 6) A Free Press 7) Federalism 8) Rule of Law 9) Human Rights 10) Executive Power 11) Legislative Power 12) An Independent Judiciary

5. หลักการห้าประการนี้ สรุปไว้โดย กระมล ทองธรรมชาติ (2535) มักกล่าวถึงในกันเวทีประชุมและในที่สัมมนาต่างๆ อาทิ อ้างใน วิศาล ศรีมหาวโร "การเมืองไทยระบบหรือคน : การพัฒนาวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน" วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2554 เล่มที่ 3

6. หลักการข้อนี้ ข้าพเจ้าสรุปขึ้นเองจาการพิจารณาการดำเนินงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับประชาธิปไตย  สหภาพรัฐสภาระหว่างปะเทศ และความพยามของประเทศต่างๆในการจรรโลงประชาธิปไตย และความพยายามช่วยแก้ปัญหาประชาธิปไตยให้กับประเทศอื่นๆ จากประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือมีความก้าวหน้าและมีเสถียรภาพ

7. นอกเหนือสหประชาชาติ และ องค์การรัฐสภาระหว่างประเทศที่ให้คุณค่าต่อประชาธิปไตยสากลแล้ว ความคิดเรื่องการทำให้ประชาธิปไตยต้องผ่านการจัดการในระดับสากลยังมีในงานของนักวิชาการอื่นๆ เช่น David Held (1995) เสนอให้ภายใต้โลกาภิวัตน์สมควรมีการขยายความเป็นประชาธิปไตยของโลกธรรมาภิบาล (democratization of  global governance) ซึ่งต้องมีกฎหมายกลางระดับโลก (cosmopolitan law) ให้องค์การระหว่างประเทศต่างๆ บริหารงานแบบประชาธิปไตย และในอนาคตสมควรมีรัฐสภาโลก (global parliament) รวมถึงสถาบันระหว่างประเทศและภูมิภาค (transnational and regional institutions) เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ, Nadia Urbinati (2003) เสนอให้มีองค์การคล้ายรัฐบาลกลางของประเทสต่างๆ แบบ state-like sovereign  เพื่อดูแลประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทั่วโลก (Cosmopolitan democracy), McGrew (1997) ที่เสนอให้มีการสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยองค์การกลางประชาธิปไตยระหว่างประเทศ (อ้างถึงใน Kate Nash (2010), pp. 202 – 230.) รวมทั้ง Laurence Whitehead (2001) ผู้นำเสนอเรื่อง มิติในทางสากลของการขยายความเป็นประชาธิปไตย (The international dimensions of democratization) โดยอาจใช้ทางเลือกสามประการ คือ 1) การฟื้นฟูประชาธิปไตยภายในประเทศหลังจากมีแรงกดดันจากพลังนอกประเทศ (internal restoration after external conquest) 2) การปฏิรูปประชาธิปไตยภายในประเทศ (internal reformation) และ 3) การดำเนินการติดตามผลการปฏิรูปประชาธิปไตยจากพลังภายนอก (externally monitored installation), pp. 262-266 (อ้างจากโชคชัย สุทธาเวศ (2560, หน้า 61-62) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย: แนวพินิจเชิงทฤษฎีและหลักการประชาธิปไตยสากล. กรุงเทพมหานคร: เดอะ วิสดอม เพรส.)  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลงนามประกาศจัดสรรงบบัตรทอง ปี 2561 งบ 171,373.67 ล้านบาท

Posted: 16 Sep 2017 11:06 PM PDT

"หมอปิยะสกล" ลงนามประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรงบบัตรทอง ปี 2561 เดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนต่อเนื่อง งบประมาณ 171,373.67 ล้านบาท เน้นบริหารงบประมาณเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชน 

 
 
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง "หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ ตามที่บอร์ด สปสช.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนนำเสนอ หลังจากที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 171,373.67 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณดังนี้
 
1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 156,019.62 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากร 48 ล้านคน โดยเป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนภาครัฐ จำนวน 111,179.08 ล้านบาท  2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,218.24 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ 296,900 ราย 3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,165.60 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วย 52,976 ราย 4.บริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 1,019.20 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วย 2,907,200 ราย 5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท สำหรับหน่วยบริการ 175 แห่งในพื้นที่  6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,159.20 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมาย 193,200 ราย และ 7.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกทั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯมหานครเพิ่มเติมจำนวน 652,173 ครั้ง  
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนโดยพัฒนามาจากกรอบ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545, ผลรับฟังความคิดเห็นฯ ตามมาตรา 18 (3) ปี 2560, คำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) อนุมัติงบปี 2561 การจัดหายา และข้อเสนอปฎิรูประบบสาธารณสุข, ผลการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบต่างๆ, แผนยุทธศาสตร์บอร์ด สปสช. และอนุกรรมการฯ และแผนแม่บทบูรณาการการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้ยังดำเนินการตามแนวคิดพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านความเป็นธรรมตามจากความจำเป็นการเข้าถึงสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ ประสิทธิผลและคุณภาพของผลงานบริการสาธารณสุข การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และประสิทธิภาพการบริการเพื่อบริการสาธารณสุข
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2561 ยังได้ปรับปรุงการบริหารกองทุนฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาอุปสรรค ได้แก่ 1) การปรับปรุงแนวทางการจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ โดยในปี 2561 สปสช.จะจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ตามแผนและวงเงินการจัดหาฯ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนวงเงินประมาณ 11,252.71 ล้านบาท เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนให้กับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย กรณีหน่วยบริการใดที่ไม่อยู่ในเครือข่าย สปสช.จะจ่ายชดเชยเป็นเงินตามอัตราที่ สปสช.กำหนด และ 2) ระบุช่วงเวลาข้อมูลที่เป็นตัวแทนการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อให้จ่ายเงินกองทุนให้กับหน่วยบริการได้ภายในปีงบประมาณ 3) บูรณาการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่อยู่ในรายการต่างๆ 4) เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และบริการตรวจคัดกรอง และตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มอายุ 50-70 ปี
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากที่ประชุมยังมีมติในส่วนรายการบริการที่มีการจ่ายแบบระบบปลายเปิด ได้แก่ รายการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เฉพาะประเภทบริการกรณีเฉพาะและบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และรายการค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ให้ สปสช.ติดตามกำกับและควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงาน และหากมีผลการบริการมากกว่าเป้าหมายหรืองบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ 2561 ไม่เพียงพอ ภายหลังจากปรับประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ให้ สปสช.รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอของบเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คคส. ค้าน ร่างกฎหมายมาตรฐานสินค้าเกษตร อัดเน้นเศรษฐกิจ ละเลยผู้บริโภค

Posted: 16 Sep 2017 10:17 PM PDT

17 ก.ย. 2560 รายงานแจ้งว่า วันนี้ (17 ก.ย.60) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ คัดค้าน ร่าง กฎหมายมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นเรื่องเสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และพยายามแก้ไขพ.ร.บ.อาหาร แต่ถูกคัดค้าน เพราะรวบคุมอำนาจนำเข้า-ส่งออกอาหาร สุ่มเสี่ยงลักไก่เจรจาต่อรองการค้า ทำลายระบบคุ้มครองผู้บริโภค 

ผศ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คคส. จุฬาฯ เปิดเผยว่า ในฐานะหน่วยวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด และได้จัดทำชุดวิเคราะห์ออกมาเพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณะถึงการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางการค้าได้ ซึ่งสมุดปกขาว "มองรอบด้าน ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร" นี้ ได้วิเคราะห์ข้ออ้างของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เสนอ ร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

แถลงการณ์ ระบุอีกว่า คคส.ร่วมกับนักวิชการ วิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. ... ที่ กระทรวงเกษตรฯ เสนอแก้ไข พบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภค และอาจส่งผลกระทบต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารปลอดภัย (Food safety) ของประเทศไทย

ดาวน์โหลด มองรอบด้านร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร - ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธ-มุสลิมในสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไทย

Posted: 16 Sep 2017 09:18 PM PDT

 

เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมเสวนาใน "เวทีสาธารณะสู่สังคมพหุวัฒนธรรม" ที่ไทยพีบีเอส มีกลุ่มชาวพุทธ-มุสลิมจากสามจังหวัดภาคใต้ จากส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมด้วย โดยเจ้าภาพหลักในการจัดเสวนาคือสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทราบว่าการจัด "สานเสวนา" เกี่ยวกับการใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวพุทธ-มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ดำเนินการต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว

ผมเข้าใจว่ารูปแบบสานเสวนาในท่วงทำนอง "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเจ้าภาพต้องทำงานร่วมกันได้กับทั้งชาวพุทธ มุสลิม ฝ่ายอำนาจรัฐ และคนกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมเสวนาก็คิดว่ามาร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ "จุดต่าง" ที่คิดว่าอีกฝ่ายจะไม่พอใจ หรือที่อาจทำให้  "วงแตก" ก็ระมัดระวังที่จะพูด หรือคิดว่าไม่ควรพูดดีกว่า

แต่ก็มีคำถามจากผู้ดำเนินรายการเสวนาคือ คุณณาตยา แวววีรคุปต์ และผู้ร่วมเสวนาบางคนว่า มันจะเป็นพหุวัฒนธรรมปลอมๆ หรือเปล่า หากเราแต่ละคนจะพูดเน้นไปในแนวทางเดียวกัน โดยซุกปัญหาที่แท้จริงไว้ใต้พรม?

ผมคิดว่าคำถามนี้สำคัญ เพราะเท่าที่สังเกตในเวทีเสวนาเห็นได้ชัดว่ามีบรรยากาศของความระมัดระวังที่จะ "แตะ" ปัญหาระดับรากฐาน เช่น ปัญหาการเมืองระดับชาติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อปัญหาสามจังหวัดหรือไม่ อย่างไร หรือถ้าดูตัวอย่างเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่อำนาจรัฐเผด็จการเข้าไปแก้ปัญหาการเมืองและปัญหาความขัดแย้งทางศาสนามันส่งผลเลวร้ายอย่างไร ที่เราควรจะเรียนรู้แล้วหันมาทบทวนสังคมเราเอง เป็นต้น

ส่วนเสียงสะท้อนของผู้ร่วมเสวนาจากสามจังหวัดภาคใต้ มีทั้งที่มองว่าในความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านพุทธ-มุสลิมมีความเป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็น "ปัญหาทางการเมือง" ระหว่างกลุ่มต่างๆ กับฝ่ายอำนาจรัฐ แต่ก็มีพระบางรูปสะท้อนว่าไม่ได้เป็นพหุวัฒนธรรมจริง เพราะไม่มีความเท่าเทียมระหว่างพุทธกับมุสลิม เช่น พระสวดมนต์ออกลำโพงกระจายเสียงเหมือนมุสลิมไม่ได้ เวลาพระเดินทางไปไหนมาไหนในพื้นที่ ก็มักจะมีเด็กวัยรุ่นถุยน้ำลาย หรือยกเท้าใส่ ถามว่าเด็กๆ ทำแบบนั้นกันเองหรือถูกผู้ใหญ่สอนมา

ปัญหานี้ก็มีผู้แทนมุสลิมจากสำนักจุฬาราชมนตรีกล่าวขอโทษพระแทนคนที่ทำแบบนั้น และอธิบายว่า การกระทำแบบนั้นผิดหลักศาสนา เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำในนามอิสลามหรือมุสลิม ปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า

คำอธิบายดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าเราเห็นชาวพุทธบางคนหรือบางกลุ่มปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังชาวมุสลิมทางสื่อโซเชียล เราคงสรุปไม่ได้ว่า นั่นคือการกระทำที่ถูกหลักการพุทธศาสนาและเป็นการกระทำในนามชาวพุทธทั้งหมด แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่า องค์กรสงฆ์อย่างเช่นมหาเถรสมาคมมีความเห็นอย่างไรกับการที่มีพระและชาวพุทธบางกลุ่มสร้างกระแสเกลียดมุสลิม และนิยมยกย่องวีรกรรมต้านมุสลิมโรฮิงญาของพระวิรธูชาวพม่า

ปัญหาดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราฉุกคิดว่า ไม่ว่าชาวพุทธหรือชาวมุสลิมก็ไม่มีชาวไหนที่เป็น "ก้อนเดียวกัน" หรือเป็น "เนื้อเดียวกัน" จริง ชาวพุทธก็มีหลายนิกาย ในไทยเองก็มีหลายกลุ่มที่มีความคิดและแนวปฏิบัติต่างกัน ชาวมุสลิมก็มีหลายนิกาย หลายกลุ่มทั้งที่ขัดแย้งกันและลงรอยกัน เวลาเห็นใครหรือกลุ่มไหนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่อาจเหมารวมว่านั่นคือการกระทำของชาวพุทธหรือชาวมุสลิมทั้งหมด การสร้างกระแสเกลียดชังโดยนำการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนบางคน บางกลุ่มมาเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมหรือชาวพุทธทั้งหมด อาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งแบบพุทธ-มุสลิมในพม่าได้ เราจึงควรมีสติกันทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีเพื่อนนักวิชาการมุสลิมบางคนตั้งคำถามน่าสนใจว่า "จริงๆ แล้ว สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรือเป็นสังคมวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวกันแน่?" เหตุผลของเพื่อนคนนั้นคือ เพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรมหลักหนึ่งเดียวภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมหลักนี้ก็เป็นฐานอ้างอิงในการตั้งคำถามกับคนที่มีความคิดคิดต่าง เชื่อต่างว่า "คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?" เป็นต้น แต่ว่าคำถามนี้ก็ผ่านไปอย่างเร็วๆ ไม่มีใครถกต่อ

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงการวิเคราะห์ในบทความวิชาการของธนาพล ลิ่มอภิชาต ชื่อ "พหุวัฒนธรรมกับวาทกรรมวัฒนธรรม: ประวัติศาสตร์แนวคิด" (รัฐศาสตร์สาร กันยายน-ธันวาคม 2559) ที่ชี้ให้เห็นว่า คำว่า "พหุวัฒนธรรม" ที่ใช้ในสังคมไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 (หรือต้นทศวรรษ 2540) จนถึงปัจจุบันนั้น เราใช้ภายใต้ประวัติศาสตร์วาทกรรมวัฒนธรรมแบบอ้างอิงกลับไปในอดีต/ความเป็นอุดมคติ, ความมั่นคง, ความสามัคคี/สมานฉันท์ และความเป็นองค์รวม/ความบูรณาการ ดังที่เราเห็นได้ผ่านความคิดเรื่ององค์รวม/บูรณการของคุณหมอประเวศ วะสี และแบบอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

หน้าตาของพหุวัฒนธรรมภายใต้ประวัติศาสตร์วาทกรรมวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่า ตุ๊กตาที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจน คือ "พหุวัฒนธรรมจุฬาฯ" ที่ยืนยันการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ แต่เป็นสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบการนิยามของ "วัฒนธรรมหลัก" คือ วัฒนธรรมความเป็นไทยที่ต้องมีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบการนิยามของแนวคิดเสรีนิยม หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้น การแสดงออกที่คนส่วนใหญ่ "ตีความ" ว่า เป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมหลัก แม้จะเป็นการแสดงออกที่ถูกตามหลักเสรีภาพในการแสดงออกแบบเสรีนิยมหรือสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดและถูกลงโทษได้

ภาพจำลองพหุวัฒนธรรมจุฬาฯ ดังกล่าวนี้ จึงสะท้อนภาพจำลองพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า สังคมไทย มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เท่าที่กรอบวัฒนธรรมหลัก คือวัฒนธรรมความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์อนุญาตให้มีได้

แต่ตามที่อธิบายในบทความของธนาพล คำว่า "พหุวัฒนธรรม" เรายืมมาจากแนวคิด "multiculturalism" ซึ่งแนวคิดนี้ในสังคมตะวันตกเขาไม่ได้ใช้เป็นคำตอบสำเร็จรูป แต่ใช้อย่างวิพากษ์ทั้งในเชิงอุดมการณ์และตรรกะ ที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิของกลุ่ม หรือระหว่างแนวคิดสตรีนิยม (feminism) ที่ยืนยันสิทธิเท่าเทียมของสตรี กับฐานคิด multiculturalism ที่ยืนยันสิทธิทางวัฒนธรรมหรือสิทธิชุมชน เป็นต้น

ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่องพหุวัฒนธรรมก็หนีไม่พ้นที่จะตั้งคำถามพื้นฐานว่า อะไรคือรากฐานรองรับการดำรงอยู่หรือความเป็นไปได้ของพหุวัฒนธรรม หากไม่ใช่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายความว่า เราจำเป็นต้องสร้างรูปแบบประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริงในระดับชาติเพื่อรองรับให้พหุวัฒนธรรมเป็นไปได้จริง

บางคนอาจแย้งว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาพหุวัฒนธรรมเช่นกัน เช่นการเหยียดศาสนา เชื้อชาติ สีผิวก็ยังมีอยู่ แต่คำถามคือ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น กลไกที่แก้ปัญหาได้ดีกว่าก็คือระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนมิใช่หรือ ถ้าใช้กลไกเผด็จการไปแก้ปัญหาผลก็อย่างที่เห็นในพม่าและที่อื่นๆ ที่ประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนพิกลพิการ

แน่นอนว่า การทำเรื่องพหุวัฒนธรรมย่อมเป็น "กระบวนการต่อเนื่อง" หรือเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่ว่าสังคมจะยังไม่เป็นหรือเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เพราะปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติเป็นต้นอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากคนต่างวัฒนธรรมไม่มีความเข้าใจและเคารพความแตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นด้วย

แต่เมื่อคิดอย่างถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางพูดเรื่องพหุวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาพุทธ-มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้หรือในระดับชาติอย่างแยกขาดจากการพูดถึงเรื่องการสร้างประชาธิปไตย,สิทธิมนุษยชนทั้งในเชิงรูปแบบและเชิงวัฒนธรรมให้เป็นจริง เพราะถ้าไม่มีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนรองรับ คำว่าความแตกต่างหลากหลายย่อมเป็นไปไม่ได้จริง

ยิ่งการเคารพความแตกต่างหลากหลายยิ่งไม่มีอยู่จริง เพราะเมื่อตัวหลักการและกติการองรับการเคารพความแตกต่างหลากหลายไม่มีจริง จะอาศัยเพียงการปลูกฝัง "จิตสำนึก" ให้ผู้คนเคารพสิทธิเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อของกันและกัน คงไม่ได้ผลอะไรมากนัก และออกจะเป็นการเล่นกลหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ เสาหลักที่ปักเลน

Posted: 16 Sep 2017 09:06 PM PDT



น้ำผึ้งหยดเดียวจากเหตุความวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนิสิตใหม่ ทำให้เกิดการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างแพร่หลายทั้งในสื่อออนไลน์,เวทีสาธารณะทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้บริหารจุฬาฯ โดยคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตต้องมีคำสั่งปลดสมาชิกสภานิสิตจำนวน 4 คนออกจากตำแหน่ง เพียงเพราะขาดคุณสมบัติจากการถูกตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งการขัดแย้งในครั้งนี้กำลังสะท้อนภาพและมุมมองบางอย่างในสังคมจุฬาฯ ออกสู่สายตาคนภายนอก

การเผชิญหน้าในพื้นที่ใจกลางของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ระหว่างอุดมการณ์เก่า-อุดมการณ์ใหม่,อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม,ฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย,วัฒนธรรมเก่า-วัฒนธรรมใหม่,ค่านิยมเก่า-ค่านิยมใหม่ เหตุการณ์นี้จะลุกลามบานปลายและดำเนินต่อเนื่องไปสิ้นสุด ณ จุดใด ก็มีหลายบริบท หลายมิติให้วิเคราะห์กัน หากให้คำจำกัดความว่า ปีกฝ่ายขวาคือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ปีกฝ่ายซ้ายคือกลุ่มหัวคิดก้าวหน้าทันสมัยแล้ว การปะทะกันครั้งนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของสังคมไทยในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคตอันใกล้นี้

กล่าวได้ว่า นี่คือการจำลองสังคมไทยมาไว้ในห้องทดลองขนาดย่อมในรั้วมหาวิทยาลัย จุฬาฯ ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม และเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดาหัวกะทิทั้งหลายจากทั่วประเทศ ศิษย์เก่าที่จบออกไปก็กลายเป็นผู้บริหารที่มีบทบาทนำทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นจึงมีความภาคภูมิใจในความเป็นสถาบันอันดับหนึ่ง และด้วยประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิอันยาวนานเช่นนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงต้องการสืบทอดอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้ให้ยืนยาวออกไป การรับเอาแนวคิดก้าวหน้าหรือวัฒนธรรมใหม่เข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเพราะขาดการยึดโยงกับรากเหง้าอันเก่าแก่ สิ่งใหม่จึงไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าสิ่งเก่าเสมอไป ดังนั้นบรรดาขบถทางความคิดนับจากยุคจิตร ภูมิศักดิ์ จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมอนุรักษ์นิยมย้อนยุคที่ยังมีลมหายใจอยู่ในศตวรรษที่ 21

ถึงแม้จุฬาฯ จะมีความทันสมัยและก้าวหน้าทางวิชาการและมีผลงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม,มีความพร้อมของหลักสูตรการศึกษาทั้งไทยและนานาชาติ,มีความเป็นอิสระทางวิชาการ อีกทั้งมีพื้นที่ให้ปลดปล่อยความหลากหลายทางความคิด แต่หากมีใครลุกขึ้นมาท้าทายคุณค่าหรือค่านิยมอันเป็นรากฐาน,ตั้งคำถามในประเด็นที่อ่อนไหว หรือเข้ามาแตะต้องพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อ,ความศรัทธา,ค่านิยม,จารีตประเพณี,วัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติ คนๆ นั้นก็จะถูกแรงกระเพื่อมโจมตีโต้กลับจากองคาพยพอย่างรุนแรงและไร้เหตุผล เปรียบเสมือนการถาโถมของคลื่นสึนามิเข้าหาฝั่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความทันสมัยที่ไม่พัฒนา ซึ่งจุฬาฯ เองก็มีความทันสมัยเทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แต่กลับไม่พยายามยกระดับจิตใจให้เข้าถึงจิตวิญญาณของสังคมประชาธิปไตยแบบสากลเลย

การลงโทษทางอ้อมด้วยการตัดคะแนนความประพฤติเพื่อปลดเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อนออกจากตำแหน่งนั้น ดูเหมือนว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อมิให้พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้แพร่กระจายออกไป จนเกิดลัทธิเอาอย่างจากนิสิตคนอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อคุณค่าโดยรวมของสังคมจุฬาฯ โดยผู้บริหารมองว่า นิสิตกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อจารีตประเพณีอันดีงาม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปเพื่อไม่ให้ความศรัทธาเลื่อมใสถูกท้าทายจากเด็กเมื่อวานซืน อีกทั้งไม่ต้องการถูกตั้งคำถามพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมประดิษฐ์ที่เพิ่งมีมาเมื่อปี 2540 ซึ่งใจความสำคัญก็เพื่อป้องกันการสั่นคลอนของระบบโครงสร้างอำนาจและลำดับชั้นความสัมพันธ์ เช่น ระหว่างอาจารย์กับนิสิต เป็นต้น

 

แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชน กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต

ครั้งแรก

แก้ไขใหม่

"...ในขณะนี้  ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนทางวินัยสำหรับอาจารย์ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และได้แสดงออกอย่างไม่สมควรยิ่งกับนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม  ดังปรากฎเป็นข่าวไปอย่างกว้างขวาง..."

"...ในขณะนี้  ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงสำหรับอาจารย์ที่ได้ทำการยับยั้งนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม  ดังปรากฎเป็นข่าวไปอย่างกว้างขวาง..."

"...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าอับอายยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย  แต่เป็นการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนโยบายของมหาวิทยาลัย..."

"...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ  และไม่น่าจะเกิดขึ้น  บัดนี้อาจารย์ท่านนี้ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต..."

"...มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน  ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย  จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบในการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้  แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยลัย..."

"...มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน  ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย  จุฬาฯ ขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย..."

ที่มา: เรียบเรียงจากเฟซบุ๊ก Thanawat Wongchai

การแก้ไขแถลงการณ์เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น หรือได้รับแรงกดดัน,เสียงสะท้อนจากสังคมภายนอก จนทำให้ต้องเปลี่ยนข้อความให้ดูนุ่มนวลลง ลดความแข็งกร้าว พร้อมทั้งปกป้องและช่วยเหลืออาจารย์ที่เป็นคู่กรณีอย่างเห็นได้ชัด สร้างมลทินให้นิสิตกลายเป็นแพะรับบาปแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่า เป็นกิจการภายในที่ดำเนินไปด้วยความสมัครใจของนิสิตภายใต้กฎระเบียบของสถาบันจึงไม่เกี่ยวข้องกับสังคมภายนอก ดังนั้นจุฬาฯ จึงมีสิทธิ์และอำนาจอันชอบธรรมในการตัดสินปัญหา และใช้อำนาจนั้นเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้สังคมส่วนรวม พร้อมทั้งไม่จำเป็นต้องรับผิดหากมีผลเสียเกิดขึ้นจากคำตัดสินดังกล่าว อย่างเช่น ผลการสอบสวนอาจารย์ที่เข้าล็อคคอนิสิตเกิดความล่าช้าอย่างมาก รวมถึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่ความผิดสำเร็จแล้วจากการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะลอยนวลไร้ความผิด ซึ่งแตกต่างจากผลการสอบสวนเนติวิทย์และเพื่อนที่ออกมาอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว จนเป็นที่จับตามองของสังคมอย่างคลางแคลงใจ

คำตัดสินลักษณะนี้บ่งบอกว่า ฝ่ายบริหารไม่ใส่ใจแยแสต่อเสียงสะท้อนทั้งในและต่างประเทศ มุ่งแต่รักษาอำนาจในการครอบงำความคิดและจิตใจ ซึ่งต้นทุนที่ต้องจ่ายในครั้งนี้เป็นราคาที่สูงยิ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งความเป็นอนุรักษ์นิยมต่อไป การไม่ตอบคำถามของสังคมให้กระจ่างอย่างไร้ข้อกังขา ย่อมส่งผลให้ความน่าเชื่อถือลดลง สาระสำคัญที่โลกมองก็คือ เหตุใดและทำไมมหาวิทยาลัยระดับแถวหน้าของประเทศ กลับมีแนวคิดที่ตื้นเขิน คับแคบ และล้าหลังเช่นนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่มีผลสะเทือนให้การจัดอันดับของจุฬาฯ เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ตามมาคือ จะเกิดคำถามขึ้นมากมายในแวดวงวิชาการว่า องค์ความรู้ทางทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนมีทิศทางเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ ทำไมจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อมองออกไปนอกประเทศแล้ว คงเป็นเรื่องตลกขบขันในเวทีนานาชาติ หากถูกตั้งคำถามถึงความไม่มีเสรีภาพในการยอมรับความคิดที่แตกต่าง  การปิดกั้นการแสดงออกของนิสิต การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้สภาพมหาวิทยาลัยเป็นดั่งค่ายทหารที่ผู้บริหารสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ นิสิตจึงเป็นเพียงผู้รับคำสั่งและปฏิบัติตามเท่านั้น ความคิดที่แปลกแยกไปจากสังคมส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ คุณค่าหรือค่านิยมดั่งเดิมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องสรรเสริญและกราบไหว้บูชา

หากมองลึกลงไปจะปรากฎภาพระบบอุปถัมภ์เป็นแก่นและใจกลางของการปะทะกัน การอุปถัมภ์ค้ำชูเริ่มกันตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน ซึ่งในอุดมคติของผู้มีอำนาจนั้นต้องการสภาพการปกครองที่สงบเรียบร้อยโดยง่าย นอกจากใช้กฎระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมายแล้ว ยังต้องใช้ความเชื่อ,ความศักดิ์สิทธิ์,ความศรัทธา เพื่อครอบงำทางจิตใจอีกด้วย โดยการสร้างศูนย์รวมจิตใจให้เป็นค่านิยมหลักของสังคม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือทำลายมิได้ การอภิปรายถกเถียงกันตามข้อเท็จจริงในเวทีสาธารณะจะถือเป็นการบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของระบบโดยรวม รวมทั้งลดทอนความน่าเชื่อถือ และส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของสถาบันหลักของชาติได้

การนิยามตัวเองว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน ในความหมายที่ต้องมั่นคงและหนักแน่น เพื่อเป็นคำตอบให้สังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงยืนหยัดในหลักวิชาการที่ถูกต้องเที่ยงธรรม แต่น่าแปลกใจที่เสาหลักนี้ปักอยู่ในดินเลนที่พร้อมจะเอนเอียงไปรับใช้ผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการเสมอมา และที่สำคัญคือ พร้อมจะแปรพักตร์หรือทรยศต่อจรรยาบรรณวิชาชีพหากผลประโยชน์ลงตัว หรือกล่าวได้ว่า เกียรติภูมิที่ยึดถืออยู่นั้น จริงๆ แล้วเป็นเกียรติแห่งการเป็นนายประชาชนมากกว่า ไม่ใช่เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชนตามคำขวัญจรรโลงใจ ความภาคภูมิในการเป็นเสาหลักนี้ได้สร้างอีโก้หรืออัตลักษณ์ที่มองไม่เห็นในรูปแบบการยกตนข่มท่าน เย่อหยิ่งลำพองตัว มองคนอื่นต่ำระดับเป็นเพียงเสารองที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เปรียบเปรยก็เหมือนการแบ่งชนชั้นวรรณะโดยปริยาย ไม่ต่างอะไรจากแนวคิดนายกับบ่าว เจ้ากับไพร่

เมื่อฉากสุดท้ายมาถึง การประยุกต์ค่านิยมเดิมให้อยู่รอดปลอดภัยในกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น ต้องทำให้เนื้อหามีความร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และสร้างโอกาสนำเสนอมุมมองและความคิดที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการอภิปรายอย่างมีเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและยกระดับสติปัญญาขึ้นมารองรับสิ่งใหม่ที่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพราะกระแสน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลงจะไหลปะทะและพังทลายสิ่งกีดขวางย้อนยุคอย่างไม่เหลือซากและไร้ซึ่งความเมตตาปรานีแต่อย่างใด

 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น