โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลไต่สวนนัดแรกคดีทหารวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ทนายมั่นใจภาพวงจรปิดไขข้อสงสัย

Posted: 04 Sep 2017 12:47 PM PDT

ศาลจังหวัดเชียงใหม่เริ่มไต่สวนคดีการตายของ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวชาติพันธุ์ลาหู่ นัดแรก หลังถูกทหารใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ทนายมั่นใจภาพวงจรปิดไขข้อสงสัย ขณะที่คดี 'อาเบ แซ่หมู่' นัดสืบพยานแล้วเช่นกัน

รถยนต์คันเกิดเหตุวิสามัญฯ ชัยภูมิ

4 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วันนี้ (4 ก.ย.60) ที่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ได้มีการไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้อง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ที่ด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ. เชียงดาวจำนวน 3 ปาก คดีหมายเลข ช.19/2560  โดยเหตุสืบเนื่องจาก ในวันที่ 17 มีนาคม 2560  เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อาวุธปืนยิง ชัยภูมิ ป่าแส ชาติพันธุ์ลาหู่  จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ ชัยภูมิ และพบยาเสพติดประเภทยาบ้าเป็นจำนวนมากบรรจุซองพลาสติกซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณส่วนกรองอากาศของรถ ต่อมา ชัยภูมิ ได้ทำการขัดขืนต่อสู้เจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งจะใช้อาวุธระเบิดที่ ชัยภูมิ มีไว้ในครอบครองขว้างใส่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงสังหาร ชัยภูมิ เหตุเกิด ณ บริเวณจุดตรวจด่านบ้านรินหลวงนั่นเอง 

สำหรับ ชัยภูมิ เป็นเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม และอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานจำนวน 3 ปากในวันนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกจำนวน 4 ปาก ในวันที่ 13 และ 14 มี.ค. 2561 และนัดไต่สวนพยานผู้ร้องซักถามอีกจำนวน 11 ปาก ได้แก่วันที่ 15, 16 และ 20 มี.ค. 2561

ข่าวสดออนไลน์ รายงายด้วยว่า สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า การไต่สวนครั้งแรกวันนี้ พนักงานอัยการผู้ร้องนำเสนอ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร พนักงานสอบสวน แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ และ ฝ่ายปกครอง ให้ศาลได้ไต่สวนถึงลักษณะและสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมตามกฎหมายหรือกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ในส่วนของตนได้เตรียมบัญชีพยานไว้เพิ่มเติม หากพยานส่วนใดที่พนักงานอัยการไม่ได้นำเสนอ ก็จะใช้สิทธิยื่นต่อศาลขอให้นำเข้ามาสู่การไต่สวน โดยบัญชีที่เตรียมไว้เพิ่มเติมคือชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่มีน้ำหนัก รวมทั้งมารดาและญาติของนายชัยภูมิที่ไปยังจุดเกิดเหตุในวันเกิดเหตุ

สุมิตรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนความกังวลใจในการไต่สวนเป็นเรื่องของภาพจากกล้องวงจรปิด โดยไม่ทราบว่าพนักงานอัยการจะได้รับจากฝ่ายทหารและได้นำเสนอเป็นหนึ่งในพยาน หลักฐานให้ศาลไต่สวนหรือไม่ หากไม่ได้มาก็จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเรียกเข้ามาเพิ่มเติม เพราะภาพจากกล้องวงจรปิดถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะไขข้อสงสัยในสาเหตุการตาย

ขณะที่ นาปอย ป่าแส มารดา ชัยภูมิ กล่าวว่า ขอเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชาย ยืนยันว่าลูกชายเป็นคนดี ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยเหลือและดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มทหารที่กระทำเกินกว่าเหตุ

ขณะที่อีกคดีของ อาเบ แซ่หมู่ ชาติพันธุ์ลีซู คดีหมายเลขดำที่ ช.18/2560 ณ ห้องพิจารณาดคีที่ 1 ในวันนี้ได้นัดไต่สวนพยานตามคำร้องชันสูตรพลิกศพของพนักงานอัยการ ผู้ร้อง แต่มีการเลื่อนนัดไต่สวนคำร้อง เนื่องจากพนักงานอัยการผู้ร้อง และทนายของบิดา มารดา อาเบ ผู้ตาย จะนำพยานเข้าไต่สวนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ศาลตรวจพยานและกำหนดวันสืบพยานก่อน และศาลได้อนุญาตให้นัดไต่สวนพยานอัยการผู้ร้องรวมกัน 3 นัด โดยได้กำหนดวันนัดไต่สวนเป็นวันที่ 21,22  และ 26 ธ.ค. 2560

โดย คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 พื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง  ต.เมืองนะ  อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนยิง อาเบ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยอ้างว่า อาเบ จะขว้างอาวุธระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงสังหาร อาเบ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  และกล่าวหาว่า อาเบมียาเสพติดประเภทเฮโรอีน 2 หลอด ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสะพาย  เหตุเกิด ณ บริเวณถนนระหว่างบ้านรินหลวง-บ้านป่าบงงามลีซอ ซึ่งอยู่เลยด่านตรวจบ้านรินหลวงไม่ไกลนัก

รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า ในวันนี้คดีไต่สวนการตายของ ชัยภูมิ ป่าแส และ อาเบ แซ่หมู่ ได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก ทั้งจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยคดีนี้ทั้งสองคดีได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชาเรียกภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญ-The Cambodia Daily ปิดตัวหลังดำเนินงาน 24 ปี

Posted: 04 Sep 2017 11:50 AM PDT

The Cambodia Daily นสพ.กัมพูชาที่ดำเนินงานมา 24 ปี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมือง-ประกาศปิดตัว หลังรัฐบาลฮุนเซ็นเรียกภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คนทำสื่อโวย-รัฐบาลตั้งวงเงินมาลอยๆ ไม่มีแม้แต่ผู้ตรวจสอบบัญชี ด้าน SEAPA เรียกร้องยุติคุกคามสื่อ - ทั้งนี้นับเป็นมาตรการกำจัดฝ่ายค้านและสื่อมวลชนของฮุนเซ็น กรุยทางก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้า

หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลี ฉบับทิ้งท้าย 4 กันยายน 2560 ลงข่าวผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กึม สุขขา ถูกจับกุมตัว (ที่มา: เพจ The Cambodia Daily)

ผู้สื่อข่าวเดอะแคมโบเดียเดลี และป้ายรณรงค์ #Savethedaily Cambodia ภาพเผยแพร่เมื่อ 24 สิงหาคม 2560 (ที่มา: เพจ The Cambodia Daily)

Issac แมวประจำสำนักงานเดอะแคมโบเดียเดลีกับป้ายรณรงค์ #Savethedaily Cambodia ภาพเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 (ที่มา: เพจ The Cambodia Daily)

4 ก.ย. 2560 หลังจากที่ถูกกดดันจากรัฐบาลกัมพูชาด้วยข้ออ้างเรื่องภาษีแบบไม่เป็นธรรม หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลีของกัมพูชาก็ประกาศปิดตัวลงในที่สุดหลังจากดำเนินการมาได้ถึง 24 ปี และอีก 15 วัน พวกเขาระบุในแถลงการณ์ปิดตัวว่ารัฐบาลกัมพูชาใช้ข้ออ้างเรื่องภาษีเป็นอำนาจในการทำลายสื่อที่เสรีอย่างพวกเขา นอกจากนี้การอ้างการกระทำของเจ้าของเก่าของเดอะแคมโบเดียเดลีในการลงโทษเจ้าของคนใหม่ยังทำให้เดอะแคมโบเดียเดลีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และจะต้องปิดตัวลง

โดยฉบับสุดท้ายของเดอะแคมโบเดียเดลี คือฉบับวันที่ 4 กันยายน 2560 ทิ้งทวนด้วยการตีพิมพ์ข่าวกึม สุขขา ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาจับกุมตัวพร้อมตั้งข้อหาทรยศชาติ

ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาเรียกเก็บภาษี 10 ปีย้อนหลังเป็นเงินกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า "หัวหน้าโจร" และถ้าหนังสือพิมพ์ไม่ยอมจ่ายภาษีก็ให้แพ็คกระเป๋ากลับบ้าน

หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลีระบุว่ามีผลประกอบการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2551 โดยพวกเขาเห็นว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้นเกินเลยไปมาก พวกเขาระบุว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรกัมพูชาเข้ามาพร้อมระบุจำนวนเงิน โดยที่ไม่มีวิธีการตรวจนับหรือมีผู้ตรวจสอบบัญชีเลย นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลีเองก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได

เดอะแคมโบเดียเดลีระบุถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องภาษีกับรัฐบาลอีกว่า ถ้าทำตามกระบวนการปกติทั่วไป การจัดการกับข้อพิพาทควรกระทำการหลังมีการตรวจสอบบัญชีและมีการเจรจาตกลงกันเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่รัฐบาลกัมพูชากลับอ้างแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถืออย่างสื่อที่เอียงข้างรัฐบาลชัดเจนในการโจมตีว่าเดอะแคมโบเดียเดลีมีภาษีที่ไม่ได้จ่ายจำนวนสูงมาก ตัวเลขสูงอย่างผิดวิสัย ซึ่งดูเป็นข้อมูลในเชิงให้ร้ายโดยไม่มีการตรวจสอบบัญชีและไม่มีกระบวนการทางกฎหมายใดๆ เลย

เดอะแคมโบเดียเดลีระบุอีกว่าหลักฐานที่จะแก้ข้อกล่าวหาพวกเขามีอยู่ในบันทึกของทุกกระทรวงและทุกสถานทูตในพนมเปญเองจากการที่สื่อของพวกเขาจ่ายภาษีมาโดยตลอด ข้อกล่าวหาในเรื่องนี้จึงไม่เป็นความจริงและถือเป็นการหมิ่นประมาทสื่อพวกเขา

อย่างไรก็ตามผลจากการถูกเล่นงานจนทำการต่อไม่ได้ก็ทำให้เดอะแคมโบเดียเดลีประกาศว่าจะยุติการให้บริการในกัมพูชา และกล่าวขอบคุณผู้ซื้อโฆษณาและผู้สมัครสมาชิกที่ให้การสนับสนุนสื่อเสรีของพวกเขามายาวนาน รวมถึงขอบคุณพนักงานของพวกเขาท่ต่อสู้อย่างดุดันและกล้าหาญเพื่อที่จะรายงาน "ข่าวทุกอย่างโดยไม่เกรงกลัวหรือเข้าข้างใคร" ตามคำขวัญของเดอะแคมโบเดียเดลี

แถลงการณ์ SEAPA เรียกร้องหยุดคุกคามสื่อ

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ (4 ก.ย. 2560) สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ลิดรอนเสรีภาพสื่อนกัมพูชาโดยมีการปิดสื่อวิทยุอินระหลายสถานีไม่ว่าจะเป็น วิทยุมหาโนคอร์, วอยซ์ออฟเดโมเครซี, วอยซ์ออฟอเมริกา, เรดิโอฟรีเอเชีย

โดยข้อมูลของศูนย์สื่ออิสระกัมพูชา (CCIM) ระบุว่าในช่วงวันที่ 22-23 ส.ค. ที่ผ่านมามีการสั่งระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุหลายแห่ง พบว่ามีการปิดกั้นการกระจายเสียงโดยคำสั่งของกระทรวงข้อมูลข่าวสารอย่างน้อย 31 แห่งจากกรุงพนมเปญและ 19 แห่งจากต่างจังหวัด ทางการกัมพูชาอ้างว่าสื่อเหล่านี้ไม่มีข้อมูลรายงานมากพอในเรื่องการขายเวลาสื่อสารออกอากาศ ส่วนในกรณีของเรดิโอฟรีเอเชียและวอยซ์ออฟอเมริกาสาขากัมพูชานั้นถูกขู่จะสั่งปิดโดยอ้างเรื่องเกี่ยวกับภาษีคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับกรณีเดอะแคมโบเดียเดลี

แถลงการณ์ของ SEAPA ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเครือข่ายของ SEAPA หลายองค์กร ทั้งในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสมาคมผู้สื่อข่าวไทย SEAPA ระบุว่าการอ้างปิดสื่อเหล่านี้เป็นความพยายามปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2561 SEAPA มองว่าเสรีภาพสื่อเป็นพื้นฐานสำคัญไม่ว่าจะกับประชาธิปไตยแบบใดก็ตามจึงควรมีการรักษาเสรีภาพสื่อไว้เพื่อให้การเลือกตั้งในปีถัดไปเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม

SEAPA ยังเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการคุกคามสื่ออิสระโดยทันที เลิกปิดกั้นสัญญาณให้สื่ออิสระกลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง และยกเลิกการปิดสื่อเดอะแคมโบเดียเดลีเพื่อให้ประชาชนชาวกัมพูชามีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสร้างบรรยากาศของสื่อที่หลากหลาย

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลี ก่อตั้งในปี 2536 โดยเบอร์นาร์ด คริชเชอร์ (Bernard Krisher) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนิวส์วีคซึ่งเป็นเพื่อนของอดีตกษัตริย์นโรดมสีหนุ

เรียบเรียงจาก

THE CAMBODIA DAILY TO CLOSE AFTER 24 YEARS, The Cambodia Daily, 4 September 2017

[Cambodia] SEAPA statement: Media closures muzzle critical voices, SEAPA, 04-09-2017

The Cambodia Daily to Close (After Chasing One Last Big Story), By RICHARD C. PADDOCKSEPT, The New Yorks Times, 3 September, 2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสาหลักของแผ่นดิน! 3 สมาคมจุฬาฯ หนุนฝ่ายบริหารจัดระเบียบนิสิตหลังปม 'เนติวิทย์'

Posted: 04 Sep 2017 09:55 AM PDT

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และครุศาสตร์สัมพันธ์ จุฬาฯ หนุนดำเนินงานของฝ่ายบริหาร สอบสวนนิสิต ทั้ง 8 รายกรณีเหตุความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนของนิสิต ชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา

4 ก.ย.2560 จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่ง ให้ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภาด้วย ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย และต่อมา สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวพร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ย.60) สมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยื่นเรื่องขอสนับสนุนการดำเนินการของฝ่ายบริหารจุฬาฯ ที่ปลดเนติวิทย์พร้อมพวก โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อรักษาชื่อเสียง ขนบธรรมเนียมประเพณี และระเบียบวินัยของจุฬาฯ 

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เนชั่นรายงานว่า สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายบริหารดำเนินการสอบสวนนิสิตกรณีดังกล่าว

สรัญ รังคสิริ นายกสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ระบุในแถลงการณ์ของสมาคมฯ ว่า การออกมาสนับสนุนการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อรักษาชื่อเสียง ขนบธรรมเนียมประเพณี และระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมต่อไป

ด้าน ชัยธวัชว์ ไทยง นายกสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ เนชั่นทีวี ในทำนองเดียวกันว่า ในวันจันทร์ ที่ 4 ก.ยน สมาคมฯ จะออกหนังสือถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการทำงานเพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัย จัดระเบียบ วินัย รักษากฎระเบียบ และรักษาภาพลักษณ์ ที่ดีของมหาวิทยาลัย เนื่องจากที่ผ่าน จุฬาลงกรณ์ ได้เสียชื่อเสียง ไปพอสมควรแล้วเนื่องจากพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนของนิสิต ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องเข้าร่วมและยังเชื่อว่าอีกหลายสมาคมศิษย์เก่า จะทำหนังสือ หรือออกแถลงการณ์สนับสนุน อีกหลายสมาคมตามมา
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการโดยตำแหน่ง)

Posted: 04 Sep 2017 06:19 AM PDT

รวม 28 โควตเด็ดจาก 28 บุคคลกับหัวโขนใหม่ภายใต้ชื่อว่า 'คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ' ผู้กุมทิศทางการการพัฒนาประเทศชาติ และแนวทางทางการปฏิรูป 20 ปี พวกเขาเคยพูดอะไร คิดอะไร และจะนำพาประเทศของเราไปทางไหน

อาจจะไม่ต้องสาธยายอะไรกันให้มากความถึงเรื่องราวโครงสร้าง และที่มาของ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ" เพราะเกรงว่าจะเป็นการ "สอนหนังสือสังฆราช" เสียมากกว่า

เข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็คงทราบกันอยู่แล้วว่านับเวลาต่อจากนี้ไปอีก 20 ปีเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการจัดวางยุทธศาสตร์ชาติ ควบคุม ดูแล และจัดการกรณีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เบาที่สุดคือการตักเตือนในเบื้องต้น ร้ายที่สุดคือการให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการกระทำของรัฐบาล หากมีมูลความผิด ก็สามารถส่งเรื่่องต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าอาจจะร้ายเกินกว่าจะคาดเดา

พูดกันให้ง่าย หลายคนมองว่านี่คือซุปเปอร์ชาติ หรือมากยิ่่งไปกว่านั้นนี่อาจเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับ "โปลิตบูโร" คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของประเทศคอมมิวนิสต์ ต่างกันเพียงเส้นแบ่งลางๆ ระหว่างฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจมองได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกรอบแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนและถึงเวลาจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างสะเปสะปะ ไร้ทิศทาง และไร้การกำกับดูแล

ซึ่งหากมองอย่างที่ว่านั่นก็อดคิดไม่ได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปต่อจากนี้ พรรคการเมืองจะมีอิสระในการคัดสรรนโยบายมาหาเสียงมาน้อยแค่ไหน และความสำคัญของการเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการเลือกรัฐบาล และนโยบาย จะเพิ่มขึ้นหรือลงลดสักเพียงใด

ดูเหมือนไม่ยากที่จะคาดเดาอนาคต แต่ยากพอสมควรกับการพูดมันออกมาตรงๆ ว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหนกัน

สิ่งเดียวที่พอจะมองเห็นอนาคตลางๆ ได้อยู่บ้างก็คือ การอ่านความคิด จากคำพูดของบุคคลที่ได้มีโอกาสเข้ามารับชาติ เข้ามาเสียสละในช่วงเวลาที่เขาเชื่อว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด

"ผู้คุมอนาคต" พูดอะไร คิดอะไร และจะนำพาเราไปทางไหน

 

"นี่เป็นวิธีการดูแลไม่ให้คนไทยกว่า 60 ล้านคนต้องกลับมาที่เดิม ถามว่าแล้วมันผิดตรงไหน มีวิธีการที่ดีกว่านี้หรือไม่ ถ้ามีก็เสนอมา ถ้ายังคิดไม่ออกอย่าเพิ่งมาถามผม ผมคิดได้แค่นี้ ถ้าคุณฉลาดกว่าผมก็บอกมา แต่ถ้าจะคุณจะกลับไปใช้ประชาธิปไตยแบบเดิม ผมไม่ยอม"

15 มีนาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณี ส.ว. สรรหา 250 คน

https://thaipublica.org/2016/03/ncpo-cabinet-2559-11/

- - - - -

"การเดินหน้าไปสู่ประชาธิไตยที่ยั่งยืนของประเทศไทย อาจจะมีมิติมุมมองที่ไม่เหมือนกันในบางเรื่อง ของสหรัฐอเมริกาเขาเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งในตะวันออกกลาง ในเอเซีย เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่มีอะไรมากมาย คือสหรัฐอเมริกามองว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอย่างเดียว ถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไหร่เขาก็พอใจแล้ว"

29 มกราคม 2558 พรเพชร แถลงข่าวตอบโต้ กรณี เดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แสดงความเห็นถึงการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

https://www.youtube.com/watch?v=lVWEdVe2FQI

- - - - -

"ไม่เชื่อยังไงละ ก็นี่ก็ทำให้ดูดีทุกอย่าง คนส่วนใหญ่เขาโอเคว่า ตรงนี้มันดีอยู่แล้ว มันสงบอยู่แล้ว ก็ขอเวลา ไม่ได้บอกว่าจะยึดไปอย่างนี้ 500 ปีซะเมื่อไหร่วะ"

26 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประวิตร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ชุมนุมประท้วงครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร

https://www.youtube.com/watch?v=cOtsENHNrNU

- - - - -

"ขอย้ำเรียนว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่การซื้อต้นไม้มาปลูกในอุทยาน ภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนต้นไม้ให้มาใช้ในกิจกรรมนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วรับบริจาคเงินจากผู้ที่มีความประสงค์จะร่วมกิจกรรม โดยกำหนดไว้ให้ผู้ร่วมกิจกรรมบริจาคเงินในต้นละ 3 แสนบาท โดยจะนำชื่อผู้บริจาคติดไว้ที่บริเวณหน้าต้นไม้เพื่อเป็นเกียรติ"

30 ธันวาคม 2558 พลเอกชาญชัย กล่าวตอนหนึ่งในการแถลง ผลตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

https://www.isranews.org/isranews-article/item/43779-kjkkj7766ddddd.html

- - - - -

"ขอให้มีความมั่นใจว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง"

26 เมยายน 2560 พลเอกสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/752005

- - - - -

"ถ้าพูดถึงปฏิวัติถามถึงเหตุผล มันเป็นไม่ได้อยู่แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านนายกฯ ท่านก็พูดแล้ว เรื่องการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบด้วย"

3 ตุลาคม 2559 พลเอกเฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังประชุมผู้บังคับหน่วยระดับนายพล

https://www.matichon.co.th/news/307261

- - - - -

"เรือดำน้ำยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อกองทัพเรือ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจ คงจำเป็นต้องชะลอและทบทวน"

1 ตุลาคม 2558 พลเรือเอกณะ กล่าวในพิธีรายงานตนเองของนายทหารเรือชั้นนายพลเรือ

https://news.voicetv.co.th/thailand/265902.html

5 พฤษภคม 2560 เสนาธิการทหารเรือเดินทางไปประเทศจีน พร้อมลงนามข้อตกลงจีทูจี ซื้อเรือดำน้ำ

https://www.thairath.co.th/content/932500

- - - - -

"กองทัพอากาศไม่เลือกข้าง ไม่ว่าฝ่ายใดเราก็ไม่ให้จัดกิจกรรมในค่ายทหาร และยิ่งเป็นคนที่ถูกเฝ้าจับตามองยิ่งเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิควรจะไปร่วมเวทีปรองดอง มุ่งมั่นให้ชาติเกิดความสงบเรียบร้อยจะเหมาะสมกว่า"

24 เมษยน 2560 พลอากาศเอกจอม กล่าวถึงกรณียกเลิกสัญญาเช่าห้องประขุมของกองทัพอากาศ ซึ่ง นปช. เป็นผู้ขอใช้สถานที่จัดทอล์คโชว์ระดมทุนช่วยเหลือนักศึกษาขาดแคลน

https://www.dailynews.co.th/politics/570042

- - - - -

"ผมไม่รู้ว่าคนที่หมิ่นสถาบันฯ เคลื่อนไหว แสดงออกแบบนี้คิดอย่างไร ถ้าไม่อยากอยู่ประเทศไทยก็ออกไปนอกประเทศเสีย ไปอยู่ที่ต่างประเทศ ถ้าไม่มีเงินค่าตั๋วเครื่องบินมาเอาที่ผม ผมออกให้ไปอยู่ต่างประเทศเลย ผมยอมเป็นหนี้เพื่อชาติ"

26 ตุลาคม 2559 พลตำรวจเอกจักรทิพย์ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงหลังการสวรรคตของ ร.9

https://prachatai.com/journal/2016/10/68533

- - - - -

"ภาพรวมการฝึกซ้อมการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหารภาคสนามในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มุ่งเน้นการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมเผชิญกับภาวะไม่ปกติ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนและประเทศชาติ"

15 มิ.ย. 2560 พลเอกวัลลภ กล่าวขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม หลังตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนามระดมสรรพกำลังกลาโหม

http://thainews.prd.go.th/website_th/news/print_news/TNPOL6006150010052

- - - - -

"ผมไม่อยากให้ผู้สูงอายุเมื่อเกษียณอายุแล้วต้องท้อถอยหมดแรง และนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะจะทำให้ความจำเสื่อมลง ความรู้ต่าง ๆ ก็จะหายไป"

พารณ  ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราในวาระรับตำแหน่ง ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2557 ปัจจุบันพารณมีอายุ 90 ปี

https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/thaireform-talk-social/28529-paron.html

- - - - -

"วันนี้พร้อมแล้ว ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไรพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ที่สำคัญก็พร้อมที่จะกลับเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นวาระที่ 2 จะมีแผนปฏิบัติการดำเนินการต่อเนื่องทันที"

11 พฤษภาคม 2559 ประพัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ ทั้งนี้เขาได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "ไอ้ก้านยาว" จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

http://www.thansettakij.com/content/50981

- - - - -

"ความร่วมมือที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องจากคณะกรรมการชุดก่อนตามแนวทางประชารัฐ"

22 มีนาคม 2560 กลินท์ กล่าวในประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้า ในวาระได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 ปัจุบันเขายังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย

http://www.thansettakij.com/content/136323

- - - - -

"ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยการเจรจาการค้าก็สามารถเดินต่อไปได้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเราเข้าใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการสร้างความมั่นใจว่า ทุกอย่างจะเดินตามโรดแมพ และแผนนโยบายระยะยาว 20 ปีของรัฐบาลได้"

3 มกราคม 2560 เจน ให้สัมภาษณ์กับ Nation ทั้งนี้หลังการรัฐประหาร 2557 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหลายชุค ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

http://www.nationtv.tv/main/content/social/378529635/

- - - - -

"นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ส่วนหนึ่งยังคงมีความกังวล หากว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติแล้วทางรัฐบาลก็ควรจะยกเลิกไป(กฎอัยการศึก) ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศก็จะเพิ่มจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเห็นสมควร และตัดสินใจ"

11 ตุลาคม 2557 อิทธิฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ ผู้จัดการออนไลน์ ต่อมา คสช.ยกเลิกการประกาศใหช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศในวันที่ 1 เมษายน 2558 จากนั้นได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 แทน

http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9570000117119

- - - - -

"เชื่อมั่นในกลไกการทำงานของภาครัฐ และภาคเอกชนว่า จะช่วยผลักดันตัวเลขเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว แม้อาจมีปัญหาคาดไม่ถึงเกิดขึ้นระหว่างปีก็ตาม"

13 กันยายน 2559 ปรีดี ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ เขาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย หลังรัฐประหาร 2557 เขาไดรับตั้งแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นคณะกรรมการอีกหลายชุดที่แต่งตั้งโดย คสช.

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/717060

- - - - -

โปรดรอติดตาม...วาทะเด็ดจาก 12 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.จัดใหญ่ ประชุม ผอ.จังหวัดทั่วประเทศเตรียมพร้อมเลือก ส.ส.-ส.ว.

Posted: 04 Sep 2017 01:37 AM PDT

กกต.จัดประชุมผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัดเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 

4 ก.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (4 ก.ย.60) ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยได้จัดทำคู่มือการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.จำนวน 15 ฉบับ เพื่อตรียมความพร้อมก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ 

ประธาน กกต. กล่าวถึงแนวคิดกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำหนดรูปแบบเลือกตั้งส.ส.ใหม่จากพรรคเดียวเบอร์เดียว เป็นแยกเบอร์รายเขตว่า  นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ได้จำลองการเลือกตั้งเพื่อสะท้อนถึงปัญหาไปแล้วว่าจะมีความยุ่งยากอย่างไร แต่กกต.คงไม่ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปยังกรธ. เว้นแต่จะเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ เพราะกกต.เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร จะต้องปฏิบัติให้ได้และปฏิบัติให้ดี 

"ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยกกต.ที่รอการประกาศใช้นั้น เมื่อประกาศใช้แล้วคงจะนำไปสู่ที่ประชุม กกต.อีกครั้งว่ามีส่วนใดที่เป็นปัญหา ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ แต่เรื่องที่จะเป็นประเด็นขัดกันของผลประโยชน์ จะไม่ดำเนินการใด ๆ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลานับถอยหลังการทำงานของกกต.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่ แต่จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยจะไม่วางยาใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้กกต.ชุดใหม่ปฏิบัตงานได้ทันทีโดยไม่มีอุปสรรค" ศุภชัย กล่าว

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ในที่ประชุมได้นำเสนอปฏิทินการเตรียมการให้ได้มาซึ่ง ส.ว.และการเลือกตั้ง ส.ส. โดยการได้มาซึ่งส.ว.คาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคม กรธ.จะเสนอร่างดังกล่าวต่อที่ประชุมสนช. และต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กฎหมายดังกล่าวน่าจะมีผลใช้บังคับ จากนั้นกกต.จะเริ่มกระบวนการสรรหาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 และสามารถเลือกผู้สมัครระดับประเทศและประกาศผลการเลือกตั้งส.ว. 200 คน ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2561

จากนั้น จึงส่งให้คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน ก่อนนำไปรวมกับส.ว.ในสัดส่วนที่คสช.เป็นผู้คัดเลือกอีก 200 คน รวมเป็น 250 คนโดยคสช.จะต้องประกาศผลการคัดเลือกก่อนการเลือกตั้งส.ส. 15 วัน ส่วนการเลือกตั้งส.ส.คาดการณ์ว่ากรธ.จะส่งร่างให้สนช.พิจารณาต้นเดือนธันวาคมเช่นเดียวกัน และกฎหมายดังกล่าวน่าจะมีผลใช้บังคับประมาณมีนาคม 2561 จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้งโดยช่วงที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 และมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561

ที่มา เว็บไซต์ กกต. และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. เปิดศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน ห้องสมุดเฉพาะด้านสิทธิฯ แห่งแรกของไทย

Posted: 04 Sep 2017 01:21 AM PDT

กสม. เปิดให้บริการ "ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน" แห่งแรกของประเทศไทย หวังส่งเสริมประชาชนเรียนรู้สิทธิมนุษยชนด้วยตนเอง

4 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) แจ้งว่า สำนักงาน กสม. เปิดให้บริการ "ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน" ห้องสมุดเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนแห่งแรกของประเทศไทย ศูนย์กลางความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้แนวคิด "สานสร้าง" หรือ "Sync.Space" (Synchronizing Space) สานความรู้ สานเครือข่าย สร้างคน สร้างสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปกป้องดูแลสิทธิของตนเองและผู้อื่น อันนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมของทุกคนในสังคม ซึ่งสามารถเดินทางมาใช้บริการได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หรือผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ และยูทูป ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วัส  ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีหน้าที่ "สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน" ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนนั่นคือการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยง่าย

กสม. จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน" เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการให้บริการสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด 'สานสร้าง' หรือ 'Sync.Space' (Synchronizing Space) สานความรู้ สานเครือข่าย สร้างคน สร้างสิทธิมนุษยชน พูดง่าย ๆ คือศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์และแบ่งปันข้อมูลความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน เพื่อให้มีความรวดเร็ว  มีประสิทธิผล และเข้าถึงได้ง่าย

ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนนี้ กสม. ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดและศูนย์ข้อมูลสำหรับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ห้องสมุดสถาบันราอูลวอลเลนเบิร์ก ว่าด้วยกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม (RWI) และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกฎหมาย การเมืองและการปกครอง ในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน จึงทำให้ข้อมูลต่าง ๆ มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการใช้งานของผู้ค้นหาที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน"

ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน จึงเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งผลงานสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รายงานการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน รายงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น รายงานคู่ขนานตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รายงานตามกระบวนการ UPR รายงานกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมทั้งประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และมัลติมีเดีย และสื่อสารสนเทศออนไลน์ ให้เรียนรู้มากกว่า ๑๒,๐๐๐ รายการ ที่จะช่วยให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยง่าย นอกจากนี้ ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนยังทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ด้วย

"ภายในศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน ได้จัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้มาใช้บริการในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการสืบค้นข้อมูล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นสารสนเทศจากอินเทอร์เน็ต หรือผู้ที่ต้องการคำแนะนำ ก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา ซึ่งรองรับการใช้บริการของผู้พิการด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงได้เปิดให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์ ไลน์ ยูทูป และเฟสบุ๊ค ในการกระจายองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึง และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง" ประธาน กสม. ระบุ

ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน เปิดให้บริการตามวันและเวลาราชการ วันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. การเดินทางมาด้วยตนเอง ตั้งอยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ และสามารถใช้บริการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่อ ทาง http://library.nhrc.or.thwww.facebook.com/Nhrclibrarywww.youtube.com/LibraryNhrct และ Line: @NHRCLibrary สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2141-3844, 0-2141-1987, 0-2141-3881

"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนฯ แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางความรู้ และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเพราะเราเชื่อว่าความรู้เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน" วัส กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลายองค์กรประณามกรณีกัมพูชาจับกุมฝ่ายค้านกลางดึก 'ล้าหลังอย่างวิบัติ'

Posted: 04 Sep 2017 01:00 AM PDT

องค์กรสิทธิมนุษยชนประณามกรณีรัฐบาลกัมพูชาจับกุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอ้างข้อหา "ทรยศชาติ" ว่าเป็น "ความล้าหลังอย่างวิบัติ" และชี้ว่าการอ้างใช้กฎหมายในกัมพูชาไม่น่าเชื่อถือมานานแล้วจากการนำมาใช้คุกคามภาคประชาสังคมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซ้ำๆ

กึม สุขขา ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ภาพจาก wikipedia

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2560 ในกัมพูชาเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทางการบุกเข้าจับกุม กึม สุขขา ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชาในยามดึกประมาณเที่ยงคืนโดยไม่มีหมายจับ รวมถึงรื้อค้นบ้านโดยไม่มี หมายค้นใดๆ และต่อมาก็ตั้งข้อหา "ทรยศชาติ" โดยที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านในครั้งนี้แทบจะทันทีหลังการปฏิบัติการของรัฐบาล โดยวิจารณ์ว่าเป็น "ความล้าหลังอย่างวิบัติ"

นอกจากข่าวการจับกุมกึม สุขขา แล้วยังมีข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาพยายามจับกุมตัวหิง สกสัน ประธานยุวชนของพรรคซีเอ็นอาร์พี แต่สกสันหนีตำรวจไปได้ขณะที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปกวาดล้างบ้านเขา แต่ไม่มีการยืนยันว่าทางการต้องการจับกุมตัวหรือไม่

มู โสเจือ รองหัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พีกล่าวในที่ประชุมพรรคว่า "พรรคการเมืองใดๆ ก็ตามที่สร้างความเสียหายต่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ขอให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบและเผชิญหน้ากับประชาคมโลกด้วยตนเอง"

ส.ส. ในพรรคให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมพรรคว่าหัวหน้าพรรคของพวกเขาไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับ "การปฏิวัติสี" หรือไม่เคยพูดถึงแผนการอะไรที่จะเป็นการโค่นล้มรัฐบาลเลย

ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวประณามรัฐบาลกัมพูชาว่าการจับกุมตัวกึม สุขขา เป็นเรื่อง "น่าตระหนก" และมองว่าเป็นความพยายามบดขยี้และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในกัมพูชา ช่วงที่กำลังใกล้จะมีการเลือกตั้งระดับประเทศ ยิ่งใกล้เข้ามาพวกเขาก็ยิ่งเห็นว่ามีการยกระดับการบีบเค้นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ

สื่อที่เป็นปากกระบอกเสียงให้รัฐบาลกัมพูชาเคยกล่าวหากึม "สมคบคิดกับต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายกัมพูชา" ซึ่งในกฎหมายอาญามาตรา 443 ของกัมพูชาระบุว่าใครก็ตามที่มีข้อตกลงลับๆ กับรัฐต่างชาติหรือตัวแทนของรัฐต่างชาติเพื่อปลุกปั่นความเป็นปฏิปักษ์หรือการรุกรานกัมพูชาจะต้องโทษจำคุก 15-30 ปี

นสพ.แคมโบเดียเดลี ฉบับสุดท้าย วันที่ 4 กันยายน 2560 ลงข่าวจับกุมกึม สุขขา โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวตีพิมพ์เป็นวันสุดท้ายและต้องปิดตัวลงหลังดำเนินการมากว่า 24 ปี โดยรัฐบาลอ้างว่าค้างชำระภาษี 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มาของภาพ: Facebook/The Cambodia Daily)

ในช่วงที่ผ่านมากัมพูชาพยายามบีบคั้นหรือปราบปรามฝ่ายที่พวกเขาคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงสื่ออย่างเรดิโอฟรีเอเชียหรือวอยซ์ออฟอเมริกา โดยที่กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งในอีก 10 เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยกำจัดฝ่ายค้านคือพรรคของสม รังษี มาก่อน และในตอนนี้กำลังพยายามจัดการกับพรรคสงเคราะห์ชาติ หรือซีเอ็นอาร์พี ถ้าหากหัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พีถูกตัดสินให้มีความผิดพรรคการเมืองนี้ก็จะถูกยุบพรรคไปด้วยภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมาในช่วงต้นปีนี้

ทางพรรคซีเอ็นอาร์พีแถลงการณ์ช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) หลังจากจับกุมกึม สุขขา พวกเขาประณามว่าการจับกุมในช่วงกลางดึกในครั้งนี้มีแงจูงใจทางการเมืองและเป็นการละเมิดหลักการรัฐธรรมนูญ รวมถึงบอกอีกว่ากึม สุขขา ยังควรได้รับสิทธิคุ้มครองที่จะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาอยู่ ทางซีเอ็นอาร์พียังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวหัวหน้าพรรคของพวกเขาทันทีและเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัว

จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์สาขาเอเชียกล่าวถึงการจับกุมกึม สุขขาว่าเป็นความล้าหลังอย่างวิบัติสำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าข้อกล่าวหาของรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือจากการที่ระบบกฎหมายของพวกเขาถูกนำมาอ้างใช้ในทางที่ผิดอย่างการปิดปากหรือการคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

"เป็นเวลา 33 ปี ที่ฮุนเซนได้ใช้ความรุนแรง การคุกคาม การคอร์รัปชัน และการฟ้องร้องทางกฎหมายแบบปาหี่ในการทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ และในปีที่แล้วพวกเขาก็ทำกาโจมตีกลุ่มภาคประชาสังคมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเข้มข้นขึ้น

ซิฟตันเรียกร้องให้พันธมิตรของกัมพูชาและผู้บริจาคให้กัมพูชาเรียกจัวทูตกัมพูชามาอธิบายในการกระทำของรัฐบาลที่ถือเป็นกาโจมตีประชาธิปไตยและกดดันฮุนเซนว่าถ้าไม่เบนอเข็มออกจากการคุกคามฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้จะไม่นับว่าการเลือกตั้งในปีต่อไปเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

เรียบเรียงจาก

Latest Updates: CNRP Leader Kem Sokha Arrested for 'Treason', The Cambodia Daily, 03-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไหมทอชีวิต: ภูมิปัญญาผ้าไหมทอบ้านสวาย จ.สุรินทร์

Posted: 04 Sep 2017 12:37 AM PDT

ผ้าทอหนึ่งผืน บอกอะไรเรามากกว่าเครื่องนุ่งห่มเพื่อซ่อนเร้นความโป๊เปือย และมากกว่าความสวยงามของลวดลาย คือเรื่องราวอันยาวนานที่ถูกเล่าขานผ่านด้ายทอ

บ้านสวาย คือหนึ่งในชุมชนทอผ้าที่มีดีมากกว่าผ้าทอ

ย้อนกลับไปในสมัยปลายยุคหินหรือยุคโลหะประมาณ 6000 ปีก่อน จากการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง และบ้านนาคี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พบเศษผ้าที่ติดกับสัมภาระเครื่องมือเครื่องใช้ พร้อมอุปกรณ์ทอผ้าชนิดต่างๆ อันเป็นสิ่งยืนยันทางประวัติศาสตร์ ถึงวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งมีมายาวนานมากกว่าสิบช่วงอายุคน

วัฒนธรรมการทอผ้าได้แพร่หลายไปตามดินแดนอุษาคเนย์ เครื่องนุ่งห่มแต่ละท้องถิ่น มีกระบวนการและลวดลายแตกต่างกันไป สำหรับตำบลสวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ คือชุมชนทอไหมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เพราะมากกว่าลวดลายที่หลากหลาย และสีย้อมที่รังสรรค์จากจินตนาการ คือภูมิปัญญาทอไหมอย่างภาคภูมิ ส่งต่อและสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งจนเกิดความชำนาญ อีกทั้งเชี่ยวชาญพลิกแพลงวิธีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ

การเลี้ยงไหมมีความละเอียดละอ่อนและซับซ้อนอย่างมาก กว่าตัวไหมโตเต็มวัย ความสะอาดของพื้นที่ สภาพอากาศที่ต้องถ่ายเท คือข้อคำนึงถึง เพราะอากาศที่ร้อนจัดในหน้าร้อน หนาวเหน็บในหน้าหนาว ชาวอีสานต้องเผชิญกับโรคภัยของตัวไหม บ่อยครั้งที่สภาพอากาศเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้หนอนไหมตาย

เกือบทุกครัวเรือนของที่แห่งนี้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ด้วยความไม่แน่นอนของกลไกตลาดข้าว เม็ดเงินจากผลผลิตที่มีอาจไม่เพียงพอต่อคนในครอบครัว กลุ่มสตรีทอไหมจึงรวมตัวกัน อาศัยต้นทุนจากเครื่องมือทอผ้า สร้างมูลค่าให้กับผ้าทอของกิจวัตรประจำวัน ส่งออกสู่ตลาดผ้าไหมไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ ซื้อใช้ 

ตามปกติ ชาวอีสานจะเริ่มปลูกข้าว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 เดือนจึงเก็บเกี่ยว เวลาว่างตรงนี้เอง ผู้หญิงจะเริ่มทอผ้าฝ้ายสำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในปัจจัยสี่ เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปู เป็นต้น แต่นอกจากทอฝ้ายเพื่อข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนแล้ว การทอไหมก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะต้องใช้ความประณีต ระยะเวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก ทุกกระบวนการคือความใส่ใจ และเป็นเครื่องแสดงความสามารถของหญิงอีสานอีกด้วย

ทุกครัวเรือนต้องมีกี่ทอผ้า และกี่ทอผ้าจะเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้หญิงในบ้าน

หากเดินลัดเลาะไปตามบ้าน เราเห็น 'กี่ทอผ้า' ทุกครัวเรือน ในแง่หนึ่งคือ สถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนทอผ้าใต้ถุนเรือนที่เกิดจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมทอผ้าของชุมชนไว้ จนเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์และแถบอีสานใต้ แต่อีกแง่หนึ่งคือกุศโลบายของคนเฒ่าคนแก่ เพราะนอกจากเป็นสินสอดในพิธีแต่งงานแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือทำกินทำใช้ของครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อหาให้สิ้นเปลือง

ประเพณีการแต่งงานของบ้านสวายตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ฝ่ายชายจะเริ่มประดิษฐ์กี่ทอ สลักลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อเป็นเครื่องสมาอย่างหนึ่งที่มอบให้หญิงยอดรักในพิธีแต่งงาน ขณะเดียวกัน ฝ่ายหญิงจะเริ่มทอผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม โดยใช้กี่ทอผ้าของแม่ เพื่อมอบให้กับฝ่ายชายอันเป็นเครื่องผูกมัดความรักของทั้งสอง ลายที่หลากหลายกับความซับซ้อนของผ้าทอ คือเครื่องการันตีความเก่งกาจ และเหมาะสมแก่ชายคู่ครอง ด้วยเหตุนี้เอง ทุกบ้านจึงมีเครื่องทอเป็นสมบัติประจำบ้าน

นอกจากปัจจัยขั้นพื้นฐาน และเครื่องแสดงความพร้อมของผู้หญิง ผ้าเองก็มีบทบาทหน้าที่อย่างมากในพิธีกรรมซึ่งผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน – เซ่นปู่ตาเปิดป่า-เปิดดง บุญข้าวจี่ บุญพะเวส สงกรานต์ และบุญผ้าป่า, ฤดูฝน – เข้าพรรษา เทศการแห่เทียน การแต่งงาน, ฤดูหนาว – บุญกฐิน ลอยกระทง บุญข้าวเปลือก บุญข้าวจี่ เป็นต้น รวมไปถึงพิธีการเกิด พิธีบวช และพิธีศพ ซึ่งจะขาดผ้าเพื่อประกอบพิธีกรรมไม่ได้เลย

 ความแนบชิดระหว่างชีวิตกับผ้าทอ แทบจะแยกกันไม่ออก

สำหรับผู้หญิงในชุมชนบ้านสวาย สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยวิธีครูพักลักจำ ด้วยบริบทและต้นทุนที่พร้อม เด็กหญิงของทุกบ้านจะทอผ้าใช้เองเป็น และเริ่มลวดลายยากๆ ตามความชำนาญที่สั่งสมมา ไม่เพียงแค่เด็กหญิงเท่านั้น ทุกวันนี้เด็กชายที่มีความสนใจก็สามารถฝึกหัดได้เช่นกัน การทอผ้า จึงไม่ใช่เรื่องของหญิงเพียงฝ่ายเดียวสำหรับที่แห่งนี้

ปัจจุบันบ้านสวายได้กลายเป็นชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยการอนุรักษ์วิถีทอผ้าใต้ถุนเรือน ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้ามาช่วยส่งเสริม และแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามมาตราฐาน จัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดคนซื้อ จึงกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่ยืนด้วยความภูมิใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเอง เหนือสิ่งอื่นใดคือความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องในชุมชน

ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในชุมชนนี้ ไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้า เพราะหากเป็นเช่นนั้น เจ้าของทางวัฒนธรรมจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมไป ในแง่หนึ่งก็ลดทอนความเป็นตัวตนของชุมชนลง แต่สำหรับบ้านสวาย จ.สุรินทร์ ได้สร้างสรรค์คุณค่าจากสิ่งที่มีทุกครัวเรือน เรียงร้อยจนเกิดเป็นลวดลายที่มีเรื่องเล่าให้ขับขานไม่รู้จบ ไม่ใช่เพราะผ้าทอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เป็นทุกส่วนของชีวิตพวกเขาต่างหาก

สำหรับคนในชุมชนสวาย มองว่าผ้าหนึ่งผืน ไม่ได้บอกราคาตีมูลค่า หรือดีเด่ไปกว่าความงามจากสวมใส่ แต่หากมีความหมายมากกว่า 'ชีวิต' ที่คนในบ้านสวายร่วมกันถักทอ เกิดเป็นลวดลายที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำ นปช. ยื่นอุทธรณ์คดี ตร.เป็นพยานเท็จ ให้การคดีล้มประชุมอาเซียน พัทยา ปี 52

Posted: 04 Sep 2017 12:36 AM PDT

นิสิต พร้อมพวกจ่อร้องรื้อฟื้นคดีพัทยาปี 52 ใหม่ ระบุตำรวจแจ้งเท็จรับสารภาพถูกสั่งให้เบิกความใส่ร้ายจนติดคุก 4 ปี ลั่นไม่ยุติธรรม ร้องอัยการพัทยายื่นอุทธรณ์ให้ศาลสั่งลงโทษตำรวจแจ้งเท็จอย่างเหมาะสมกับพฤติกรรม 

4 ก.ย.2560 PEACE NEWS รายงานว่า นิสิต สินธุไพร แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อม สำเริง ประจำเรือ เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการศาลสูงภาค 2 ขอให้อุทธรณ์คดีที่ พ.ต.อ.สมพล รัตนการ ฟ้อง พ.ต.ท.ศราวุธ บุญชัย เป็นจำเลยข้อหาแจ้งความเท็จ เป็นพยานเท็จ และ เบิกความต่อศาลเท็จใส่ร้าย นปช. ในคดีล้มประชุมผู้นำอาเซียน พัทยา ปี 2552

รายงานข่าวระบุด้วยว่า นิสิต กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า หลังจากศาลพิจารณาโทษ พ.ต.ท.ศราวุธ ในคดีแจ้งความเท็จลงโทษ 2 ปี คดีเบิกความเท็จต่อศาล 3 ปี และศาลลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ปรับ 12,000 บาท ซึ่งคดีดังกล่าว และตำรวจคนนี้เป็นพยานปากสำคัญซัดทอดใส่ร้ายจำเลยหลายคนในคดีพัทยา ปี 2552

"พวกผมจำเลยทั้ง 13 คนถูกลงโทษจากศาลชั้นต้น และอุทธรณ์สั่งจำคุก 4 ปี จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย จึงต้องมายื่นต่ออธิบดีอัยการศาลสูงภาค 2 ขอให้อุทธรณ์ต่อศาลเพื่อให้พิจารณาโทษให้เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เบิกความเท็จและแจ้งความเท็จ" นิสิต กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ทางจำเลยทั้ง 13 คนจะได้ยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อพิจารณาโทษต่อ พ.ต.ท.ศราวุธ และจะฟ้องดำเนินคดีกับตำรวจที่แจ้งความเท็จนี้อีกอีกด้วย

นิสิต กล่าวย้ำอีกว่า เมื่อศาลลงโทษ 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน และรอลงอาญานั้น แต่พวกตนต้องติดคุก 4 ปี พวกตนเชื่อว่า คนแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ ควรได้รับโทษที่เหมาะสมกับการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความยุติธรรมต่อปชช.ทั่วไป โดยเฉพาะศาลเอาคำเบิกความของ พ.ต.ท.ศราวุธ มาลงโทษจำเลยประมาณ 8 คนให้ติดคุกด้วย

ต่อกรณีคำถามว่า คดีของ พ.ต.ท.ศราวุธ แจ้งความเท็จ กับคดีล้มประชุมผู้นำอาเซียน พัทยา ปี 2552 เป็นกรณีเดียวกันหรือไม่ นั้น สำเริง กล่าวว่า เป็นคดีเดียวกัน และยังให้การเท็จต่อจำเลยทั้ง 8 คน และตนเองก็เป็นจำเลยในจำนวนนั้นด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐให้การเท็จแล้ว ทำให้วงการตำรวจไม่น่าเชื่อถือ

"พ.ต.ท.ศราวุธ เป็นตัวแทนตำรวจพัทยาในช่วงนั้น และให้การเท็จต่อคดีการประชุมพัทยาจริงๆ ยิ่งเขารับสารภาพ แล้วยังมาขอโทษผม บอกที่ต้องทำเพราะ จุด..จุด..จุด...ไม่อาจบอกได้ในที่นี้ คนที่ใส่ร้ายผมสารภาพผิด แล้วเดินออกศาลอย่างสง่าผ่าเผย แต่ตัวผมเอง ซึ่งถูกใส่ร้ายกลับต้องเดินเข้าคุก แล้วความยุติธรรมอยู่ที่ไหนกัน เราคงต้องร้องรื้อฟื้นคดีกันใหม่"  สำเริง กล่าว

สำหรับคดีล้มประชุมผู้นำอาเซียน พัทยา ปี 2552 นั้น เมื่อ 21 มี.ค. ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์โดยตัดสินพิพากษายืน จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง กับแกนนำกลุ่ม นปช.พัทยา อีกจำนวน 12 คน (จำเลยที่ 2-13) เป็นแกนนำ คดีดังกล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรยง พงษ์พานิช: แผนยุทธศาสตร์ชาติ 1 คบไฟนำทางหรือโซ่ตรวนล่ามชาติ

Posted: 03 Sep 2017 11:37 PM PDT




ตอนนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีอำนาจ ในบ้านเมืองนี้กว่าครึ่งค่อน ต่างก็กำลังชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ด้านหนึ่งก็เป็นความหวังของคนทั้งชาติว่าจะนำมาซึ่งความวัฒนาผาสุกรุ่งเรืองมาให้ คำว่า"ปฏิรูป"ที่ตะโกนเพรียกหากันมาหลายปี อาจจะปรากฎเป็นรูปเป็นร่าง เป็นรูปธรรมกับเขาบ้างเสียที หลังจากที่เคยเป็นเสมือนแค่"นามธรรม"ที่เอาไว้ใช้โค่นล้มฝ่ายตรงข้าม กับเอาไว้สร้างความหวังลมๆแล้งๆ ให้คนแหงนรอมานาน

ในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่มีมากถึง 279 มาตรา และได้รับความเห็นชอบตามประชามติอย่างล้นหลาม (ซึ่งผมกล้าพนันว่า ไม่ถึง 1%ของผู้ที่เห็นชอบ ได้อ่านร่างครบทุกมาตรา ...และผมที่ไม่ได้เห็นชอบ ก็เต็มใจที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้) มีมาตราสำคัญอยู่สองมาตรา คือ ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 ที่กำหนดให้จัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ และหมวด16 การปฏิรูปประเทศในมาตรา 259 ที่กำหนดให้มีกฎหมายและแผนขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงไว้อย่างยืดยาวพิสดารยาวกว่า 100 บรรทัด ในมาตรา 258 (ผมเดาว่าน่าจะเป็นมาตราที่ยาวที่สุด และท่านก็ได้เริ่มไว้ด้วยคำว่า "อย่างน้อย" เสียอีก)

จากรัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ จึงมีการออกกฎหมายมาอีก 2 ฉบับ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 นี้ คือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าทั้งสอง พ.ร.บ.นี้และการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ทั้งสอง มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดชี้ชะตาอนาคตประเทศไทยในระยะยาวนานถึงยี่สิบปี แต่เท่าที่สังเกต ดูเหมือนสังคมจะยังมีความตระหนักไม่มากนัก คงเป็นเพราะ สนช.ท่านมีผลงานมากมายกว่าสองร้อย พ.ร.บ. (ท่านภูมิใจว่าออกกฎหมายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่กระแสทั่วโลก เขาพยายามลดกฎหมาย ลดอำนาจรัฐ แต่ยุคนี้ในไทย เรียกว่าหน่วยราชการไหนอยากได้กฎได้อำนาจอะไร ก็ได้หมด) ประชาชนเลยแยกแยะไม่ค่อยออกว่าอะไรสำคัญแค่ไหน

ใน พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนั้น มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมาก ต้องดำเนินการควบคู่กันไป และมีลักษณะที่เร่งด่วนอย่างมาก สรุปได้เลยว่า มีเวลาแค่หนึ่งร้อยยี่สิบวันหรือสี่เดือนเท่านั้น ที่เราจะต้องรวบรวมเอาปัญหา ประเด็น รวมทั้งข้อเสนอทางแก้ ที่เคยมีกรรมการหลายสิบคณะเคยศึกษารวบรวมมาตลอดนับสิบปี มากลั่นกรองให้ได้แผนที่จะต้องเป็นหลักชี้นำทางที่ทุกภาคส่วนต้องผูกพันปฏิบัติไปอีกยี่สิบปี ...(แค่นึกถึงประเด็นนี้ ผมก็ขนลุกซู่ไปทั้งตัวแล้วครับ)

ข้อดีของพ.ร.บ.ทั้งสอง(ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ) ก็คือ"การมีส่วนร่วม" เพราะได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งในระยะเตรียมการจัดร่าง และเมื่อร่างเสร็จก่อนการประกาศใช้ ...ซึ่งด้วยเหตุนี้แหละครับ ที่ผมเลยตั้งใจจะแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ตั้งแต่บัดนี้ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำ รวมไปถึงหลักการที่ผมเห็นว่าผู้ร่างผู้จัดทำควรจะต้องคำนึงถึงตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มร่าง

ก็อย่างที่บอกแหละครับ ผมคิดว่าการทำแผนยุทธศาสตร์ชาติครั้งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าท่านทำได้ดีประเทศอาจจะเจริญรุดหน้าได้ดีดั่งหวัง แต่ถ้าทำได้ไม่ดีชาติอาจจะถูกฉุดให้หยุดการพัฒนาได้เลย ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะเยาวชนอาจจะต้องเจอกับ Lost Generation คือการพัฒนาต่างๆหยุดชะงักไปหลายสิบปีได้เลย (ถึงตอนนี้ผมไพล่นึกไปถึงแผนยุทธศาสตร์ "Burmese Way to Socialist" ของจอมพลเนวิน ที่ปฏิวัติพม่าในปี2505 แล้ววางแผนยุทธศาสตร์ที่(อ้างว่า)ใช้ สังคมนิยม ชาตินิยม และพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่จริงๆแล้วเป็นการจรรโลงระบอบ"ทหารนิยม" ครองอำนาจยาวนาน จนสี่สิบปีให้หลัง จากประเทศมั่งคั่ง พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนอันดับสองของเอเชีย จากเคยรวยกว่าเรามาเหลือรายได้ต่อคนแค่หนึ่งในหกของไทย  และก็เลยไพล่ไปนึกถึงแผนยุทธศาสตร์"Bolivarian Mission"ของประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซูเอล่า ที่ตอนแรกได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างท้วมท้น แต่อีกไม่ถึงยี่สิบปีให้หลัง ประเทศที่มั่งคั่งทรัพยากรที่สุดก็เละเสียยิ่งกว่าเละอย่างไม่น่าเชื่อ)

หลายคนอาจจะเห็นว่า การมาวิพากษ์วิจารณ์ก่อนที่จะเห็นแผน เห็นรูปร่างหน้าตาของแผน อาจจะเป็น เรื่อง"ตีตนไปก่อนไข้" หรือ "ติเรือทั้งโกลน ติโขนที่ยังไม่ทรงเครื่อง" แต่ผมเกรงว่า ถ้าจะรอให้เห็นแผนมันจะช้าและสายเกินไป เนื่องจากเขากำหนดเวลาให้สั้นมาก และถึงเวลานั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากไม่ได้ คนร่างคนทำก็คงมีทั้งทิฎฐิ และอทิฎฐิมานะเต็มไปหมด จนการปรับปรุงแก้ไขคงยากมาก ยิ่งเห็นสภาสนช.ผ่านกฎหมายทุกทีด้วยมติ 180-0 ยิ่งทำให้น่ากลัวใหญ่ (ไม่รู้จะต้องมีสมาชิกกินเงินเดือนไปทำไม มีแค่วิปก็พอ)

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตั้งใจจะใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและโรดแมปที่ยาวเกิน ไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยที่เราจะต้องมีกฎหมายสองฉบับนี้ ไม่เห็นด้วยว่าควรมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่บังคับใช้อย่างเข้มงวด ...แต่ในเมื่อยังไงๆมันก็ต้องมีเพราะมันถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้รับประชามติเห็นชอบ และในเมื่อผมตัดสินใจจะใช้ชีวิตช่วงที่เหลือในประเทศนี้ ผมก็ต้องเคารพ และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำให้แผนนี้เป็นแผนที่ถ่วงความเจริญหรือทำร้ายประเทศ ...และผมขอเชิญชวนผู้มีความรู้ทั้งหลาย ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันให้มากๆนะครับ อย่าเพิกเฉย เพราะถึงจะไม่ชอบระบอบ ไม่ชอบวิธีที่เป็นอยู่ ก็ต้องอดทนทำหน้าที่ไป อย่าเอาแต่รอหวังให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ถูกฉีก อย่ายกแผ่นดินให้คนมีอำนาจแต่ฝ่ายเดียว เพราะเราไม่มีแผ่นดินไทยแผ่นที่สองให้เลือกอยู่

เกริ่นมาเสียยืดยาว ....วันนี้ผมจะขอเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นที่ตั้งไว้เป็นประเด็นแรก คือประเด็นที่ว่า "มันจะออกมาเป็นคบไฟนำทาง หรือโซ่ตรวนล่ามชาติกันแน่?" ซึ่งก็ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตั้งประเด็นเพื่อประชดหรือชี้นำอะไร เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผนที่จะออกมา ถ้าดีมีความยืดหยุ่นพอก็จะเป็นอย่างแรก แต่ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นอย่างที่สอง ซึ่งในความเห็นของผม เส้นแบ่งทั้งสองด้านมันเป็นเส้นบางๆที่ยากจะมองออกอย่างยิ่ง แถมยังเป็นเส้นที่ไม่อยู่นิ่งเสียอีก เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆอย่างไม่มีทางคาดเดาได้ ตามพลวัตทั้งของโลกของเรา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (ผมนึกไม่ออกจริงๆว่าจะมีอัจฉริยะที่ไหนทำแผนยี่สิบปีนี้ได้ดี)

ในประเด็นแรกที่จะถกนี้ ผมจะขอยกเรื่อง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ ดังนี้

1. เรื่องระยะเวลา มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ ระบุชัดว่าต้องมีแผนระยะไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ตรงนี้คงต้องตีความว่า ณ ขณะใดขณะหนึ่งแผนต้องยี่สิบปีหรือไม่ ซึ่งอาจต้องทำไว้สักยี่สิบห้าปีก็ได้ ไม่งั้นคงต้องเพิ่มแผนกันทุกเดือนถ้ากฎหมายให้ต้องมีอย่างน้อยยี่สิบปีตลอดเวลา ...ถามว่า ทำไมต้องยี่สิบปี ทำไมไม่ 5 10 15 ปี รัฐธรรมนูญมาตรา 65 ก็ไม่ได้กำหนดเวลา แต่มากำหนดในกฎหมายลูก (ตรงนี้ผมเอามาใส่ไว้เพื่อหวังว่าวันหน้าสามารถแก้ กม.ลูกให้เหลือแค่สามปีได้โดยไม่ขัด รธน.นะครับ) นี่ก็คงเป็นเพราะท่านพูดท่านคุยเรื่องยี่สิบปีนี่ไว้ ก็เลยต้องทำยี่สิบปีตามวิสัยทัศน์ท่านผู้นำ (นึกไม่ออกว่าใครจะคาดการณ์ภาวะล่วงหน้าได้นานขนาดนั้น ในเมื่อยี่สิบปีที่แล้วไอ้ iPad ที่ผมใช้พิมพ์บทความนี้มันยังไม่มีเลย)

2. เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอยู่ 35 คน เป็นตามตำแหน่ง 18 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ซึ่งในกรรมการตามตำแหน่งนั้นเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการ 13 คน และเป็นประธานTrade Associations 5 คน คือ ประธานสภาเกษตรกร สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาธุรกิจท่องเที่ยว และสมาคมธนาคาร  ตรงนี้ผมคิดว่ามีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของTrade Associationsต่างๆอยู่ไม่น้อย เพราะ TA นั้น เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของมวลหมู่สมาชิก ซึ่งรวมไปถึงการต้องไปเรียกร้องต่อรองกับรัฐหรือภาคส่วนอื่นๆ (และรวมไปถึงการ lobby ที่ไม่ผิดกฎหมายด้วย) ซึ่งชัดเจนว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ไม่ใช่เพื่อส่วนรวม ถ้าจะบอกว่าการให้เข้ามาก็เพื่อต่อรองถ่วงดุลก็จะเกิดปัญหาว่า แล้ว TA อื่นๆ เช่น สภาธุรกิจตลาดทุน ธุรกิจประกันภัยฯลฯ ล่ะทำไมถึงไม่ได้เข้ามา เพราะบ่อยครั้งผลประโยชน์ของ TA แต่ละแห่งขัดกับแห่งอื่นๆ

ที่ยกมานี่ ไม่ได้จะขอให้เปลี่ยนแปลงใดๆนะครับ เพียงแต่ขอให้ระวังในเรื่อง"ความขัดแย้งผลประโยชน์"เวลาพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่อาจมีประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสม เพราะการที่ภาคเอกชนเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายสำคัญ จะต้องระวังไม่ให้เกิดภาวะ "กุมรัฐ" หรือ "State Capture" ที่ถือว่าร้ายแรงพอๆกับการผูกขาด (Monopoly) ...ทั้งนี้ต้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชนด้วยนะครับ

3. เรื่องความยืดหยุ่นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ใครๆก็รู้ว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีทางที่จะกำหนดแผนที่ดีล่วงหน้าได้นานขนาดนั้น ตาม พ.ร.บ.จะมีแผนอยู่สองระดับ ระดับบนสุดเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนหลักใหญ่ กับยังมีแผนแม่บทด้านต่างๆที่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะแบ่งระดับกันตรงไหนระหว่างแผนใหญ่กับแผนรอง กับจะมีกรรมการอีกกี่คณะกี่ด้าน (อีกทั้งจะมีแผนปฏิรูปอีกอย่างน้อย 11 ด้านตาม พ.ร.บ.อีกฉบับ) แผนทั้งหมดถูกระบุว่าต้องสอดคล้องกัน ซึ่งรวมไปถึงนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม งบประมาณ และแผนอื่นใดก็ต้องยึดยุทธศาสตร์ชาตินี้เป็นหลัก (ผมนึกถึงภาพการสอดคล้องนัวเนียเหมือนสายต่างๆ บนเสาไฟฟ้าเลยครับ 555)

นัยว่า ยุทธศาสตร์ชาตินี้จะเป็นตัวประธานที่ทุกแผนต้องยึดปฏิบัติตาม เช่น สมมุติว่าไปกำหนดว่างบประมาณต้องเกินดุลในปี 2565 ก็ต้องทำให้เกินดุลให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไร เกิดวิกฤติอะไร นำ้ท่วมหรือแห้งแล้งสาหัสทั้งประเทศก็ต้องให้เกินดุล นอกจากจะแก้แผนเสียก่อน

ทีนี้ การจะแก้แผนได้ก็มีสองระดับ ถ้าเปลี่ยนแผนแม่บทก็ทำได้โดยต้องผ่านทั้งกรรมการและ ครม. (ในกรรมการมีครม.แค่สองคนจากสามสิบห้า) แต่ถ้าอยากแก้ไขปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นแผนประธาน จะทำได้ก็แต่ตามมาตรา11 คือทำโดยคณะกรรมการกับรัฐสภาเท่านั้น ครม.ไม่เกี่ยว ซึ่งก็หมายความว่ารัฐบาลแทบไม่มีอำนาจอะไรเลยในการบริหารประเทศในยี่สิบปีข้างหน้า(ต้องร้องไอ้หยา) ทุกอย่างต้องทำตามคณะกรรมการ (แล้วอย่างนี้ไม่ให้เรียกปูลิตบูโรจะให้เรียกอะไรครับ) 

แล้วสมมุติว่าเกิดปาฏิหารย์แก้แผนได้ทุกแผนก็ต้องไปสางไปแก้ตามให้สอดคล้อง (เหมือนสางสายบนเสาไฟเลยครับ)

ข้อกังวลในเรื่องนี้ ก็คือ ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผน(ซึ่งต้องมีแน่ๆ) มันจะทำได้ยากมากๆ ต้องใช้เวลาขั้นตอนมากมาย ซึ่งอาจไม่ทันการ แถมถ้ากรรมการเกิดไม่อยากให้แก้ก็แก้ไม่ได้ หรือกรรมการอยากแก้ รัฐสภาไม่ให้แก้ก็ไม่ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การคานแล้วครับ แต่เป็นการขัดจนทำอะไรไม่ได้ สุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิดภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศ (ซึ่งเราเคยเกิดภาวะนี้หลายครั้งจนต้องเวลคัมรัฐประหารมันทุกครั้ง...เอ๊ะ ...หรือนี่เป็นเจตนาแท้จริงของพ.ร.บ.)

4. ที่น่ากังวลอีกเรื่องก็เป็นเรื่องของ "การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล" ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 มาตรา 23-27 ซึ่งให้อำนาจกับคณะกรรมการที่จะกล่าวโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้เลือกเลยว่าจะยื่นเรื่องให้สภาผู้แทน หรือวุฒิสภา ที่จะส่งให้ปปช.พิจารณา ซึ่งแค่ชี้มูลก็ต้องพ้นตำแหน่ง ซึ่งก็แปลว่า ถ้าคณะกรรมการ วุฒิสภา และ ปปช. (ซึ่งทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดยคนเดียวกัน) เห็นว่าใครต้องพ้นตำแหน่งก็จะปลดได้  ซึ่งผมไม่เห็นว่าเรื่องของการไม่ทำตาม หรือไม่สอดคล้องกับแผน จะไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องคอร์รัปชั่น แต่กลับเอาไปให้ ปปช.ซึ่งอาจไม่ได้มีทักษะใดๆกับเรื่องยุทธศาสตร์เป็นผู้ชี้มูล

เอาแค่ 4 ข้อ ที่ผมยกมา ก็คงพอจะเห็นได้ว่า การทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นดาบสองคม ที่ผู้จัดทำต้องคำนึงถึงคมที่จะบาดตัวให้ดีตั้งแต่เริ่มต้น หาไม่แล้วแทนที่จะใช้ฟาดฟันอุปสรรคได้กลับจะทำร้ายประเทศให้สาหัสได้เลย แทนที่จะเป็นคบไฟนำทางให้ชาติ อาจกลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติไปแทน

อย่างที่บอกนะครับ ถึงผมจะไม่ชอบ ไม่คิดว่าเราควรจะมีแผนในลักษณะนี้ แต่ถึงวันนี้ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ระมัดระวัง ลดอัตตา ลดอคติ หรือแม้แต่อุดมคติใดๆ เพราะอนาคตชาติอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะเรื่องนี้ทีเดียว

วันนี้ขอแค่ประเด็นนี้ก่อน จะมีประเด็นอื่นๆในเรื่องนี้ตามมาเรื่อยๆนะครับ ทั้งหมดนี่ผมถือเป็นความพยายามทำหน้าที่พลเมืองไทยนะครับ

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เลือกข้าง

Posted: 03 Sep 2017 11:26 PM PDT



ใช่เลือกข้างเพราะหมายสร้างบางเครือข่าย
แค่ชื่อเสียงไร้ความหมายไม่มีค่า
แต่เลือกข้างเพราะบางศพยังติดตา
คือความตายพฤษภาที่ถูกเมิน

เป็นนักเขียน ศิลปินมันโคตรเท่
ผลัดกันเขียนเวียนกันเฮไม่ต้องเขิน
ช่วยกันชมคมคำไม่บังเอิญ
สร้างคุณค่าจากส่วนเกินที่เปล่ากลวง

เขียนถึงความอยุติธรรมทำไมกัน
ทีความตายที่แบ่งชั้นดันไม่ห่วง
เคยไหมใช้ปากกามาถามทวง
เมื่อรากหญ้าถูกยิงร่วงอยู่กลางเมือง

ใช่เลือกฝ่ายเพราะหมายจะกำจัด
แค่ต้องการจะยืนหยัดในบางเรื่อง
ครั้งเลือดไพร่ไหล่บ่ามานองเนือง
มีใครบ้างแค้นเคืองอยู่ข้างเคียง

ไม่เคียงข้างแถมมีบ้างที่เย้ยหยัน
ใช้ปากกายืนยันเหยียดบางเสียง
เลือกยืนข้างบางชนชั้นยอมลำเอียง
เพื่อรางวัลที่รายเรียงและเงินตรา

ใครกันแน่แบ่งข้างมาแต่ต้น
แบ่งกระทั่งความเป็นคนจนลืมว่า
เคยเขียนถึงอยุติธรรมแต่ไรมา
กลับสะท้อนภาพลวงตาในตัวเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณ ร้อง ป.ป.ช. ปม ตร.ปล่อยคดี 'บอส กระทิงแดง' หมดอายุความ

Posted: 03 Sep 2017 10:42 PM PDT

ศรีสุวรรณ ยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช. เอาผิด บิ๊กตร.-อัยการ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้า ปมเกียร์ว่างคดีบอสกระทิงแดง ชน ตร.ทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 55 ระบุล่าสุด 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ได้หมดอายุความลงแล้ว 

4 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (4 ก.ย.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. สอบสวนและเอาผิดกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ,พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , เศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ , สุพล ยุติธาดา อดีตอัยการอาวุโส และฤชา ไกรฤกษ์ อัยการเจ้าของสำนวนและพวก ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาหลบหนีออกนอกประเทศ อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่

ศรีสุวรรณ ระบุวา ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดงได้ซิ่งรถหรู เฟอร์รารี่ ด้วยความเร็วสูง กว่า 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสายตรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิตคาเครื่องแบบ และยังลากร่างของผู้ตายไถลไปไกลหลายร้อยเมตรในเขตความรับผิดชอบพื้นที่ สน.ทองหล่อนั้น

เหตุทายาทเจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจตายกลางถนน เป็นคดีที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของสำนวนและอัยการจะเร่งรีบทำสำนวนส่งฟ้องคดีต่อศาล แต่กลับกลายเป็นการปล่อยให้ผู้ต้องหาหนีคดีจนเป็นกรณีอื้อฉาวระดับโลก และเป็นคดีรถชนที่ยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ อันเกิดจากกระบวนการไม่เร่งรีบหรือไม่ใส่ใจที่จะกระทำการนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้อย่างน้อย 4 ข้อหาหมดอายุความไปโดยผลของกฎหมาย ล่าสุดในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ได้หมดอายุความลงแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมจนเป็นกระแสที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยไม่อาจยอมรับได้

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมฯจำต้องนำความไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนและดำเนินการเอาผิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาหลบหนีออกนอกประเทศ อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม และเพื่อไม่ให้เป็นกรณีเยี่ยงอย่างที่ไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นความเคยชินในสังคมไทยได้ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดเกียร์ว่าง อย่างไม่รับผิดชอบต่อไป

ที่มา : เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya และ ช่อง 7 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณิตศาสตร์ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจของ คสช.

Posted: 03 Sep 2017 10:37 PM PDT

เห็นรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สายผู้ทรงคุณวุฒิกันไปแล้วว่ามีใครบ้าง 'ประชาไท' ชวนนั่งคิดเลข ถอดสมการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านจำนวนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

หากนับคณะกรรมการสายผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คนตามที่ คสช. แต่งตั้ง ตัวเลขคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายหลังการเลือกตั้งจะมีทั้งสิ้น 29 คน เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน

เป็นฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง 3 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี (ในกรณีที่ไม่ได้มาจากคนนอก) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย ทั้งนี้ไม่นับประธานวุฒิสภา 1 ตำแหน่ง เนื่องจากวุฒิสภาชุดต่อไปจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด

ในคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คนนี้ยังมาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน

จากภาคราชการที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเอกชน และตัวแทนเกษตรกร อีก 6 คน

มองโลกในแง่ดีว่า ตัวแทนส่วนนี้อย่างน้อย 5 คนไม่ใช่คนที่ คสช. สั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ ในอนาคต เป็นไปได้ว่า 5 คนนี้อาจจะยกมือสนับสนุนฝ่ายการเมือง

ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. อีก 12 คน ตามที่เห็นรายชื่อ ล้วนแต่เป็นคนของ คสช. ทั้งสิ้น

บวกลบด้วยสมการคณิตศาสตร์ระดับประถม 29 เสียงในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะแบ่งเป็น

            -ภาคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3 คน

            -ภาคธุรกิจเอกชนและตัวแทนเกษตรกร 5 คน

            -คณะกรรมการส่วนที่เหลืออีก 21 คนคือคนของ คสช.

8 ต่อ 21 หมายความว่าในการโหวตทุกครั้ง ไม่มีทางเลยที่ฝ่ายการเมืองจะชนะ ทุกมติที่ออกมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติจะเป็นสิ่งที่ คสช. ในวันนี้ต้องการ

หรือต่อให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดหน้าตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 5 คน ตามที่กฎหมายเปิดให้ตั้งได้ไม่เกิน 17 คน จำนวนเสียงก็ยังพ่ายแพ้อยู่ดี

คงกล่าวได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ แม้กฎหมายจะระบุให้ทำได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจาก คสช.

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง พบว่า วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป แต่การกำหนดว่าใครจะขึ้นมาก็เป็นสิทธิขาดของกองทัพ (อาจจะยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน อยู่ในวาระ 5 ปี ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเพียง 4 ปี เท่ากับว่าคนของ คสช. จะมีอำนาจกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติและกำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 2 รัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น