โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม.ไฟเขียว ร่างระเบียบ ตั้ง กก.เตรียมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

Posted: 19 Sep 2017 12:54 PM PDT

ระบุระหว่างรอกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ใช้บังคับต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อเตรียมพัฒนาและรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที

ภาพจากจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

19 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ (19 ก.ย.60)  เวลา 09.00 น. ณ อาคาร 100 ปี ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ดังกล่าว

โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอว่า เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นแล้ว โดยผู้กระทำการดังกล่าวได้ข่มขู่และโจมตีระบบหน่วยงานของรัฐจนได้รับความเสียหาย ตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดให้มีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยเร่งด่วน แต่โดยที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2558 อนุมัติหลักการ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขึ้นใช้บังคับ จำเป็นต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อเตรียมการด้านการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข พลังงาน การทหาร ระบบการเตือนภัย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งสามารถป้องกันหรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที อันจะช่วยคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบ ประกอบด้วย 9 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1. กำหนดบทนิยามคำว่า "ไซเบอร์" "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" "หน่วยงานของรัฐ"  "หน่วยงานเอกชน" และ "คณะกรรมการ"

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรองประธานคนที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองปลัดกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เช่น จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วย การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติตามแนวทางในหมวด 2 ของร่างระเบียบฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติหรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และเตรียมการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

4. กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่น ตามที่คณะกรรมการหรือประธานกรรมการมอบหมาย

5. กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การบูรณาการและการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การพัฒนาและการสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยการจัดทำแผนแม่บทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติขึ้น การปกป้องด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructures) ของประเทศ เป็นต้น

6. กำหนดในวาระแรกให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructures) ของประเทศ และวางกรอบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนโดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หน่วยงานประสานงานกลาง หน่วยงานเผชิญเหตุฉุกเฉิน และกรอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามหลักการบริหารความเสี่ยง

7. กำหนดค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่คณะกรรมการแต่งตั้ง หรือบุคคลใดซึ่งมาช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างอื่นให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับค่าตอบแทนของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

8. กำหนดให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณและเงินอื่นใดในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

9. กำหนดให้ระเบียบนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีผลใช้บังคับแล้ว 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จ่านิวรำลึก 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน ยันมาด้วยจุดยืนเดิม “รังเกียจเผด็จการ”

Posted: 19 Sep 2017 10:29 AM PDT

ภาพจาก Banrasdr Photo

19 ก.ย. 2560 เมื่อเวลา 18.00 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ได้นัดหมายประชาชนผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อมารวมตัวรำลึกวันครบรอบ 11 ปีการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนถึงเวลานัดรวมตัว ได้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 นายนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณลานกว้างด้านหน้าหอศิลปฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว ต่อมาได้มีประชาชนมารวมตัวกันที่บริเวณสกายวอล์คราว 20 คน และหลายคนใส่เสื้อที่มีข้อความระบุว่า "รังเกียจเผด็จการ"

ต่อมา สิรวิชญ์ ได้ปรากฎตัวบริเวณสกายวอล์คพร้อมกับแถลงถึงสาเหตุการของการมารวมตัวในวันนี้ว่า ต้องการมาเพื่อยืนยันในจุดยืนเดิมคือการไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และระบอบเผด็จการ แต่หลังจากที่ได้แถลงไปเพียงไม่ถึง 5 นาทีก็ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาขอให้หยุดใช้เสียง และขอให้ย้ายสถานที่ทำกิจกรรมเนื่องจากเห็นว่าขัดขวางการสัญจรไปมาของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ต่อมา สิรวิชญ์ ได้ย้ายสถานที่ทำกิจกรรมไปยังบริเวณสกายวอล์คด้านหน้าห้างมาบุญครองแทน

จากนั้นในเวลา 19.00 น. ประชาชนที่มารวมตัวกันได้ยืนร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่มีการทำกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบถ่ายวิดีโอ และภาพนิ่งผู้มารวมกิจกรรมไว้ทั้งหมด และมีการเข้ามาประสานกับ สิรวิชญ์ หลายครั้งว่าให้ยุติการจัดกิจกรรมเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มด้วยว่าก่อนเริ่มกิจกรรมเจ้าหน้าที่ได้เข้ามายึดแผ่นป้ายที่ได้มีการเตรียมมาทั้งหมด โดยแผ่นป้ายที่ถูกยึดมีข้อความระบุว่า "รังเกียจเผด็จการ" "อุบาทว์" และ "เฮงซวย"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน สนช.ย้ำเลือกตั้งตามโรดแมป

Posted: 19 Sep 2017 06:53 AM PDT

ประธาน สนช.ระบุ เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งอีก 2 ฉบับต้น ธ.ค. 'มีชัย' เผยเตรียมส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุม สนช. ภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้

19 ก.ย. 2560 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเดือน กันยายน 2561 ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ ซึ่ง กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้ยังดำเนินการตามโรดแมปที่ได้วางไว้ เว้นแต่หากมีการตั้งคณะกรรมการร่วมหรือการส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ที่ต้องเพิ่มระยะเวลา และมั่นใจว่ากระบวนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ แม้ยังไม่เสร็จสิ้นก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้

เมื่อถามว่าหลังพระราชพิธีสำคัญ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะผ่อนปรนคำสั่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ ประธาน สนช. กล่าวว่า ต้องให้ คสช. พิจารณา เพราะมีการประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ส่วนจะต้องทำให้เกิดความปรองดองก่อนการเลือกตั้งหรือไม่นั้น พรเพชร กล่าวว่า การปรองดองเป็นส่วนสำคัญ แต่กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอน

ประธาน สนช. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นกฎหมายที่ยาก ต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณา และต้องรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง โดยทาง สนช. ได้ซึ่งศึกษาข้อมูลรายละเอียดไว้ล่วงหน้าแล้ว  ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับให้ สนช. พิจารณาช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้  

พรเพชร กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายลูกที่ผ่านมาได้มีการส่งคำโต้แย้งและตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณา มีเพียงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1 ฉบับเท่านั้นที่ไม่มีการตั้ง อย่างไรก็ตามหากสนช. มีมติคว่ำร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับดังกล่าว กรธ. จะเป็นผู้ปรับปรุงร่างขึ้นมาใหม่ และแม้จะไม่มีกรอบเวลาบังคับ แต่มีสภาพบังคับตามสถานการณ์ ทั้งนี้ขอให้มอง กรธ. ในแง่ดีว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

มีชัยเผยเตรียมส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

วันเดียวกัน (19 ก.ย.60) มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.ป. ว่า  กรธ. เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้  ขณะที่การจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. .... ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 50% แต่เนื่องจากเนื้อหากฎหมายค่อนข้างยากและซับซ้อน จึงยังไม่สามารถกำหนดวันส่งร่างกฎหมายไปยัง สนช.ได้ และกรธ.จะเพิ่มวันทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เพื่อให้การพิจารณากฎหมายลูกเป็นตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่ากฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. จะสามารถส่งเข้าสู่ที่ประชุมสนช. ได้ภายในต้นเดือนตุลาคม

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมสากลร้องประยุทธ์คุ้มครองสิทธิหลังแรงงานพม่าชนะคดีฟาร์มไก่ไม่จ่ายค่าจ้าง

Posted: 19 Sep 2017 05:11 AM PDT

ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ-ธุรกิจ-สมาชิกรัฐสภา 87 คน ร้องประยุทธ์คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก-สิทธิด้านแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาทั้ง 14 คน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ตกเป็นเป้าฟ้องคดีหมิ่นประมาทและข้อหาอื่น ๆ เหตุเปิดเผยข้อมูลละเมิดสิทธิด้านแรงงาน 

ภาพกลุ่มคนงานดังกล่าวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.59

19 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรใน จ.ลพบุรี ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้แก่บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยแก่อดีตคนงานพม่า 14 คน จำนวน 1,700,000 บาท โดย คำตัดสินของศาลถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตรชดเชยเงินให้แก่กลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัตินั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ย.60) รายงานข่าวแจ้งว่า ฟอร์ตี้ฟายไรต์และองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานธุรกิจ สมาชิกรัฐสภาอีก 86 คน ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกในวันนี้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทย "ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยทันที" เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิด้านแรงงาน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
 
"หน่วยงานธุรกิจในประเทศไทยได้หันมาใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาทมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ และเพื่อเบี่ยงประเด็นจากข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดร้ายแรง" เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว  พร้อมเรียกร้องด้วยว่า ทางการไทยต้องลุกขึ้นปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิของแรงงาน
 
จดหมายเปิดผนึกระบุว่า บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ของคนไทย ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อคนงาน 14 คนเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 59 โดยกล่าวหาว่าคนงานเหล่านี้ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง เนื่องจากการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 7 ก.ค. 59 ศาลแขวงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ มีกำหนดพิจารณาคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัดต่อคนงานในวันที่ 4 ต.ค.นี้
 
ในคำร้องต่อ กสม. คนงานอ้างว่าทางบริษัทไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำและไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา บังคับให้คนงานต้องทำงานเกินเวลาหลายชั่วโมง และมีการยึดเอกสารประจำตัวของคนงานไว้ด้วย ในวันที่ 14 กันยายน ศาลฎีกาของไทยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัดจ่ายเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิของคนงานทั้ง 14 คน
 
บริษัทธรรมเกษตรจำกัดได้ฟ้องคดีต่อ อานดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 กล่าวหาว่ามีการหมิ่นประมาททางอาญา และการละเมิดพระราชบัญญัติการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานของคนงานข้ามชาติทั้ง 14 คน ศาลอาญากรุงเทพใต้จะทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีนี้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
 
จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้สำนักนายกรัฐมนตรี ประกันสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของคนงาน นักกิจกรรม และบุคคลอื่น ๆ ที่รายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานโดยบริษัทต่าง ๆ ในระหว่างการดำเนินงานธุรกิจ และให้ลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท จดหมายดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้ข้อบทเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานสำหรับคนงานทุกคน รวมทั้งคนงานข้ามชาติ
 
"พล.อ.ประยุทธ์ควรทำตามสัญญาของเขาที่จะประกันให้หน่วยงานธุรกิจของไทย ปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานและการคุ้มครองทั้งนี้ควรเริ่มจาก การบังคับใช้สิทธิด้านแรงงานและการคุ้มครองสิทธิของคนงานที่จะยื่นเรื่องร้องเรียน" ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในการพิจารณาว่าคดีต่อคนงานนี้ว่า อาจจะไม่มีมูลใดๆ
 
รายละเอียด จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว : 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายฯต้านรุนแรงทางเพศ แนะ อิศราถอนฟ้องคนเผยแพร่ข่าว ตั้งกก.กลางสอบ

Posted: 19 Sep 2017 04:51 AM PDT

ปมกระแสข่าวละเมิดทางเพศพนักงานในสถาบันอิศรา 'ทิชา ณ นคร' แนะตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบ ถอนฟ้องคนเผยแพร่ข่าว ย้ำคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สาธารณะควรพูดถึง

19 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (19 ก.ย. 60) เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากสถาบันและสำนักข่าวอิศราและองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรมจากกรณีข่าวการคุกคามทางเพศระหว่างผู้บริหารและพนักงานในองค์กรสื่อ

สืบเนื่องจากกรณีกระแสข่าวผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราคุกคามทางเพศนักข่าวผู้หญิงในที่ทำงาน ทางสถาบันอิศราได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ในนามประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา และในนามพนักงานของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวว่า "ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง มีเพียงข่าวลือข่าวซุบซิบ" และ "เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล" อีกทั้งยังยืนยันรับรองว่า ผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราที่ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศ มิได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด อ้างว่ามีผู้ประสงค์ร้ายต้องการทำร้ายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ เป็นผลจากการที่สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่สื่อตรวจสอบการทุจริตของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา และยกเอาประวัติคุณงามความดีในการปฏิบัติงานด้านอื่นของผู้ถูกกล่าวหา มาเป็นเหตุผลรับรองความบริสุทธิ์ในกรณีการคุกคามทางเพศ

แฟ้มภาพ

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามตัวแทนเครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทเพิ่มเติมว่า การที่สถาบันอิศรารีบยืนยันว่าคนที่ถูกกล่าวหาเป็นคนดี มีผลงาน ไม่ได้กระทำการดังกล่าว เป็นการด่วนสรุปเกินไป ไม่ใช่หลักฐานที่จะทำให้สรุปว่าไม่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ

รวมถึงการที่สถาบันอิศราพยายามจะยกประเด็นที่ถูกกลั่นแกล้ง การทำลายสถาบันอิศรา ทำลายตัวบุคคล เนื่องจากได้ต่อสู้ในประเด็นสำคัญๆ ทางการเมือง ทางสังคม ทางผลประโยชน์สาธารณะ คิดว่าเป็นการบิดเบือนประเด็นการคุกคามทางเพศไปอย่างรวดเร็วมาก

"เขาพูดถึงประเด็นคุกคามทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แต่จริงๆ การคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กระทำต่อคนที่มีสถานะเป็นลูกน้อง" ทิชา กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า ถ้าสถาบันอิศราวางตัวเรื่องนี้อย่างสง่างามจริงๆ ก็คือการตั้งคณะกรรมการผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบหาความจริง และถ้าการหาความจริงนั้นพบว่ามีความเกี่ยวข้องจริง มีการกระทำแบบนี้จริงในสถาบันอิศราจะต้องจัดการและประกาศต่อสาธารณะอย่างจริงจัง คุณก็ต้องยอมรับว่าคนที่คุณคิดว่าต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะก็มีมุมมืด แต่สถาบันอิศราเลือกที่จะไม่ตั้งคณะกรรมการ

"ความจริงก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นมันยังไม่ถูกพูดเลย แล้วก็ใช้ความดีมากมายของคุณมาอธิบายท่ามกลางข่าวลือแบบนี้ ซึ่งเรื่องบางเรื่องมันเป็นด้านมืดของมนุษย์ มันเกิดขึ้นในมุมมืด และมุมมืดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นที่สาธารณะกำลังห่วงใยกันอยู่ มันย่อมเกิดขึ้นได้ หรือไม่ได้ คำตอบที่ดีที่สุดคือการมีคนกลางที่น่าเชื่อถือ" ทิชาย้ำ

เมื่อถามถึงเรื่องการเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องผู้เผยแพร่ข่าว ทิชากล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าใช้ตรรกะอะไร คุณอยู่กับข่าว คุณย่อมรู้ว่านี่เป็นพลวัตร เป็นการเคลื่อนไหว

"การแจ้งความก็เหมือนกับคุณกำลังพยายามปกป้องอะไรบางอย่าง มันไม่สง่างามเลยกับคนที่ทำสื่อมาขนาดนี้ ยกเว้นอย่างเดียวก็คือคุณกลัวความจริง" ทิชากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้แถลงการณ์โดยสรุปของเครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศมีใจความเรียกร้องให้สถาบันอิศราแสดงความรับผิดชอบ โดย

1. เร่งดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเชิญบุคคลภายนอกที่มีความ เป็นกลาง และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้อำนาจทางเพศโดยมิชอบ เข้าร่วมการตรวจสอบด้วย

2. เปิดทางให้องค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่กันไป

3. เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องถอนแจ้งต่อความผู้เผยแพร่ข่าวตามที่ได้มีการแจ้งความไว้ 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ มีดังนี้

แถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากสถาบันและสำนักข่าวอิศรา

และองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม

กรณีข่าวการคุกคามทางเพศระหว่างผู้บริหารและพนักงานในองค์กรสื่อ

โดย เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

            สืบเนื่องจากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด และประกาศเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 จะจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว  ต่อมาได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และข่าวในสื่อกระแสหลัก ระบุว่าเหตุการณ์การคุกคามทางเพศดังกล่าวเกิดขึ้นที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรานั้น

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ในนามประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา และในนามพนักงานของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวว่า "ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง มีเพียงข่าวลือข่าวซุบซิบ"* และ "เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล"* อีกทั้งยังยืนยันรับรองว่า ผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราที่ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศ มิได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันฯ มีวินิจฉัยยืนยันรับรองดังกล่าว โดยอาศัยเพียงข้อมูลจากการสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จากบุคคลแวดล้อม และจากตัวผู้ถูกกล่าวหาเอง และโดยอาศัยความเชื่อมั่นในตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้เสียสละตนเป็นตัวแทนและเป็นเบื้องหน้า ทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศราอย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งตลอดมา"** และ "มีประวัติในการทำงานภายใต้กรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อปกป้องประโยชน์ของส่วนร่วมมาโดยตลอด"*

แถลงการณ์ของสถาบันและสำนักข่าวอิศรายังระบุด้วยว่า การกล่าวหาผู้บริหารของสถาบันฯ ในครั้งนี้ เป็นการกระทำของ "ผู้ประสงค์รายและต้องการทำร้ายชื่อเสียงและทำลายเกียรติคุณที่สะสมมายาวนานของสถาบันอิศรา"** เป็นผลจากการที่สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่สื่อตรวจสอบการทุจริตของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ "ผู้ที่ได้รับผลกระทบและคนบางกลุ่มแอบแฝงหยิบเป็นประเด็นโจมตีและมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของผู้บริหารสถาบันอิศรา และมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวและสถาบันอิศรา"*

จากแถลงการณ์ดังกล่าว จึงคาดการณ์ได้ว่า สถาบันและสำนักข่าวอิศราจะไม่ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคลและองค์กรที่ทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อข่าวการคุกคามทางเพศภายในองค์กรของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบของสถาบันฯ อย่างเพียงพอ เพราะแทนที่จะเร่งรัดให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม สถาบันฯ กลับรีบด่วนออกมาประกาศยืนยันรับรองความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา และประกาศจะต่อสู้ยืนหยัดร่วมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยอาศัยเพียงการสอบถามข้อมูลจากบุคคลแวดล้อมและตัวผู้ถูกกล่าวหาเอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน และมีโอกาสสูงที่จะเป็นข้อมูลที่โน้มเอียงเข้าข้างผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ สถาบันและสำนักข่าวอิศรายังหยิบยกเอาประวัติคุณงามความดีในการปฏิบัติงานด้านอื่นของผู้ถูกกล่าวหา มาเป็นเหตุผลรับรองความบริสุทธิ์ในกรณีการคุกคามทางเพศ ซึ่งแม้คุณงามความดีดังกล่าวจะเป็นความจริงที่สังคมยอมรับ แต่การที่บุคคลมีประวัติการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านอื่น ไม่ใช่หลักฐานข้อพิสูจน์โดยชัดแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน

ในกรณีที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรากล่าวอ้างว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศที่เกิดในสถาบันฯ ออกมาแสดงตัว ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีในการที่สถาบันฯ จะนิ่งเฉยไม่ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ เพราะหากสถาบันฯ มีความจริงใจและมุ่งมั่นที่จะทำความจริงในเรื่องดังกล่าวให้ปรากฏ ย่อมไม่พ้นวิสัยของสถาบันฯ ที่จะสืบหาตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย และมอบหมายให้คณะบุคคลที่ไว้วางใจได้ว่าเป็นกลางและมีความละเอียดอ่อน ทำหน้าที่สอบถามปากคำจากผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหายได้

การที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรา กล่าวหาว่า ผู้ที่เป็นต้นตอของการเผยแพร่ข่าวการคุกคามทางเพศดังกล่าว คือ ผู้เสียผลประโยชน์หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวการทุจริตต่างๆ ของสถาบันฯ และยังมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข่าวรายหนึ่ง (ตามแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งของสถาบันฯ ออกเมื่อ 16 ก.ย. 60) ด้วยนั้น ถือเป็นการปักป้ายเหมารวมผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศโดยแท้จริง หรือเป็นผู้ที่รับทราบข้อมูลและต้องการเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมโดยบริสุทธิ์ใจ และอาจถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะปิดปาก มิให้บุคคลเหล่านี้กล้าออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือเรียกร้องใด ๆ ต่อไป

วิธีการตอบโต้ต่อสถานการณ์ของสถาบันและสำนักข่าวอิศราดังกล่าวข้างต้น ได้สร้างความคลางแคลงใจในความจริงใจและมุ่งมั่นของสถาบันฯ ที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการประพฤติผิดหรือใช้อำนาจโดยมิชอบภายในสถาบันฯ เอง และจะทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันฯ ในฐานะองค์กรสื่อที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดและใช้อำนาจโดยมิชอบในหน่วยงานต่าง ๆ อย่างจริงจังและมุ่งมั่นมาโดยตลอด

ในการนี้ เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ จึงขอเรียกร้องให้สถาบันและสำนักข่าวอิศราแสดงความรับผิดชอบ โดย

1.     เร่งดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเชิญบุคคลภายนอกที่มีความเป็นกลาง และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้อำนาจทางเพศโดยมิชอบ เข้าร่วมการตรวจสอบด้วย

2.     เปิดทางให้องค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่กันไป

3.     เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องถอนแจ้งต่อความผู้เผยแพร่ข่าวตามที่ได้มีการแจ้งความไว้

สุดท้ายนี้ เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ขอเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ให้ถึงที่สุดด้วย

เพื่อให้วิชาชีพสื่อมีความสง่างาม และคงความน่าเชื่อถือ ในฐานะวิชาชีพที่มุ่งนำเสนอความจริงเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมต่อไป

เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

   19 กันยายน 2560

*    แถลงการณ์จากพนักงาน กรณีผู้บริหารสถาบันอิศราถูดพาดพิงทำให้เสียหาย โดย พนักงานของสถาบันอิศราและสำนักข่าวอิศรา – 15 ก.ย. 60

**   แถลงการณ์กรณีผู้อำนวยการสถาบันฯ ถูกกล่าวหา โดย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา – 15 ก.ย. 60

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ทางสถาบันอิศราและพนักงานได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. แนะ พม.ร่งรัดออกระเบียบช่วยเหลือ 'คนพิการไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ' โดยเร็ว

Posted: 19 Sep 2017 03:34 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เสนอกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เร่งรัดออกระเบียบช่วยเหลือ "คนพิการไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ" โดยเร็ว

แฟ้มภาพ

19 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า วันนี้ (19 ก.ย.60) เมื่อเวลา 13.00 น. วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้พิจารณาและมีมติส่งเรื่องไปให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดการออกระเบียบการช่วยเหลือคนพิการซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามความในมาตรา 19/1 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

วัส กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กสม. ได้รับการร้องเรียนจากคนพิการอัมพาตขาทั้งสองข้างคนหนึ่งได้ถูกสำนักงาน พม. จ.ปทุมธานี ปฏิเสธที่จะออกบัตรประจำตัวคนพิการให้แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร และแม้ว่าจะถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการทำบัตรประจำตัวคนพิการได้

ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ มาตรา 19/1 ได้บัญญัติว่า คนพิการซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อาจได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนดไว้ในระเบียบ

วัส กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ชี้แจงว่า ระเบียบว่าด้วยการออกบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. 2556 ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการออกบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนเอาไว้ แต่กรมส่งเสริมฯ ได้พิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการที่เหมาะสมจากรัฐ โดยกำหนดไว้ในร่างระเบียบการช่วยเหลือที่ออกตามความในมาตรา 19/1 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย

"ดังนั้นเพื่อเป็นการประกันการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของคนพิการ กสม. จึงเห็นควรส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่คนพิการในกรณีนี้และรายอื่น ๆ ด้วย" ประธาน กสม. กล่าว

                                                                          

              

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ว่าฯ สตง. ขอ 30 วันสอบซื้อเรือเหาะ ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน 'อภิสิทธิ์' พร้อมให้สอบ

Posted: 19 Sep 2017 03:10 AM PDT

'ศรีสุวรรณ' ยื่น 'สตง.' สอบจัดซื้อคุ้มค่าหรือไม่ ด้านผู้ว่าฯ สตง. ขอ 30 วันสอบ ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ขณะที่ 'อภิสิทธิ์' ยันพร้อมให้สอบ ชี้ประเด็นที่พูดเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า คนละกรณีกับการทุจริต 

19 ก.ย. 2560  จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า เรือเหาะตรวจการณ์ ที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่ นั้น

ศรีสุวรรณ ยื่น 'สตง.' สอบจัดซื้อคุ้มค่าหรือไม่

วานนี้ (18 ก.ย.60) Voice TV รายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อปี 52 คณะกรรมการตรวจรับเรือตรวจการณ์ อดีตคณะรัฐมนตรีรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้ความเห็นชอบอนุมัติให้จัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 และพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการอนุมัติจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ชนิดบอลลูน รุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) จำนวน 350 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาอีกปีละ 50 ล้านบาท อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ว่าด้วยระบบวินัยการเงินการคลังของรัฐเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเข้าข่ายหรือขัดแย้งต่อมาตรา 62 เป็นของมาตรา 85 วรรคแรก และมาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเรื่องดังกล่าว สตง. มีการติดตามมาตลอดทั้ง 8 ปี ดังนั้นหลักฐานและการตรวจสอบจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจะไม่ใช่การฟอกขาวเหมือนกรณีเรือดำน้ำ อีกทั้งเรื่องนี้จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของผู้ว่า สตง. ก่อนเกษียณอายุราชการ จึงเชื่อว่าจะให้ความกระจ่างแก่สังคมได้อย่างถูกต้อง

โดย พรชัย จำรูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าฯ สตง. ได้เป็นตัวแทนรับเรื่อง พร้อมกล่าวว่าจะเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องทันทีเนื่องจากสังคมกำลังให้ความสนใจ  อีกทั้งเป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียด ในเอกสารว่ามีกระบวนการใช้จ่ายงบผระมาณอย่างไรบ้าง และแม้เรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับบุคคลในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ทาง สตง. ก็ไม่หนักใจต่อการตรวจสอบใดๆ 

ผู้ว่าฯ สตง. ขอ 30 วันสอบ ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน

ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ย.60) โพสต์ทูเดย์ รายงานท่าทีของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. ซึ่่ง พิศิษฐ์ กล่าวว่า การตรวจสอบการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบกนั้น จะมีการพิจารณาเอกสารหลักฐานการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และตรวจสอบถึงการใช้งานที่ผ่านมาว่ามากน้อยเพียงใดโดยใช้เวลา 30 วัน
 
"ยืนยันไม่มีความกังวลใดๆ ในการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลของ สตง.โดยตลอด เพราะเป็นประเด็นที่สังคมอยากรู้คำตอบ สตง.จะนำข้อมูลที่มีอยู่มาประเมินร่วมกับพยานหลักฐานที่ส่งมา ซึ่งไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน" ผู้ว่าฯ สตง.  กล่าว

อภิสิทธิ์ พร้อมให้สอบ ชี้ประเด็นที่พูดเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า คนละกรณีกับการทุจริต 

สำนักข่าวไทย รายงาน ด้วยว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องต่อ สตง. ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเรือเหาะ ที่กองทัพบกจัดซื้อในช่วงรัฐบาลตน ว่า เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเสนอมา โดยมีหลักคิดว่า จะช่วยลดความเสี่ยงของกำลังพล ในการติดตามความเคลื่อนไหว จึงอนุมัติ 
 
"แต่เมื่อไปใช้งานแล้วมีปัญหาอย่างไร หรือไม่ หน่วยงานที่นำไปใช้งาน ต้องออกมาชี้แจง  ถ้าไม่สามารถใช้งานได้อย่างที่ตั้งใจไว้  ก็ต้องดูว่าเกิดจากอะไร ใครต้องรับผิดชอบ" อภิสิทธิ์ กล่าว
 
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. เคยยกคำร้องกรณีสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นไปแล้ว อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากจะให้มีการรื้อคดีใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ในครั้งนั้น ป.ป.ช. สอบในกรอบว่า มีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งจบไปแล้ว  แต่ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ จะรื้อฟื้น ก็ขึ้นอยู่ที่ป.ป.ช.จะพิจารณา
 
"กรณีนี้มีการพูดถึงการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไร้ประสิทธิภาพ เป็นคนละกรณีกับการทุจริต ดังนั้น ดีที่สุด หน่วยงานปฏิบัติ คือ กองทัพบก ต้องสรุปประเมินให้ชัดเจน ว่ามีปัญหาในการใช้งานอย่างไร และเกิดขึ้นจากอะไร  ไม่ใช่สรุปแค่ว่า ปลดประจำการแล้ว แต่ควรให้ความกระจ่างต่อสังคมในเรื่องการใช้งานด้วย เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวเป็นบทเรียน สำหรับการทำโครงการในวันหน้า" อภิสิทธิ์ กล่าว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พุ่งได้อีก! ผู้ประกันตนว่างงาน ส.ค. 2560 ที่ 157,883 คน สูงสุดในรอบ 12 เดือน

Posted: 19 Sep 2017 02:41 AM PDT

สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลขผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือน ส.ค. 2560 มีถึง 157,883 คน สูงสุดในรอบ 12 เดือน ตั้งแต่ ก.ย. 2559

19 ก.ย. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2560 พบในด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 2560 ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,692,454 คน มีอัตราการขยายตัว 2.96% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ส.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,385,238 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือน ส.ค. 2560 เทียบกับเดือน ก.ค. 2560 พบว่าในเดือน ส.ค. 2560 มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 2.96% ขยายตัวจากเดือน ก.ค. 2560 (YoY) ซึ่งอยู่ที่ 2.54% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ด้านสถานการณ์การว่างงาน ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 157,883 คน มีอัตราการชะลอตัว (YoY) อยู่ที่ -1.94% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือน ส.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 161,012 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ก.ค. 2560) พบว่ามีจำนวน 156,791 คน โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.70% (MoM) และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน ส.ค. อยู่ที่ 1.48% มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ก.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.47% ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ส.ค. 2560 อยู่ที่ 1.1% มีอัตราการชะลอตัวเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 1.2% อนึ่งตัวเลขการว่างงานที่ 157,883 คน ในเดือน ส.ค. 2560 นี้ยังเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ที่ 151,489 คน

ด้านสถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงาน ประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน ส.ค. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,025 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่ากับเดือน ก.ค. 2560 ที่ร้อยละ 0.20 และลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.28

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ปฏิรูปตำรวจ’ เสียงจากชายแดนใต้ ต้องแยกงานสอบสวนจากมือ สตช.

Posted: 19 Sep 2017 12:55 AM PDT

ฟังเสียงคนสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อการปฏิรูปตำรวจ พวกเขายังถูกละเมิดจากอำนาจในมือตำรวจ เสนอให้ตำรวจต้องจบนิติศาสตร์ แยกงานสอบสวนออกจากมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ 2 คณะ คือ คณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม หรือการปฏิรูปตำรวจ

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 'บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในมาตรา 258 และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กำหนด ประกอบกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามมาตรา 258 จ. และมาตรา 261 รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามมาตรา 258 ง. และมาตรา 260' ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

โดยมาตรา 260  ระบุว่า "ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง"

และมาตรา 258 ง. ระบุว่า 'ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสมและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ การพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึกถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน'

หากย้อนกลับไป 1 เดือน ก่อนที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (การปฏิรูปตำรวจ) ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน 

ทั้งนี้หากการปฏิรูปตำรวจสำเร็จจริงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ย่อมมีผลทั่วประเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเฉกเช่นประชาชนทุกคนคงได้ปรบมือกันดังๆ ร้องตะโกนไชโยอย่างภาคภูมิ รัฐบาลเองได้คะแนนนิยม เพราะสถาบันสีกากีมีปัญหาเรื้อรังมานาน

ผู้สื่อข่าวประชาไทจะพารับฟังมุมมองและข้อเสนอของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตตำรวจที่รับราชการมาเกือบทั้งชีวิตได้เปิดเผยถึงปัญหาต่างๆ ในองค์กรตำรวจตามประสบการณ์จริงในพื้นที่ ตัวแทนทนายความในพื้นที่ที่เห็นถึงจุดบกพร่องในงานสอบสวนของตำรวจ และอดีตนักการเมืองระดับรัฐมนตรีช่วยที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงมุมมองและข้อเสนอของประชาชน

เสียงจากพื้นที่ "ใครๆ ก็ไม่ชอบตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ดี"

ฮามีดะห์ บือโต ชาวบ้านอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และเป็นผู้ปกครองเหยื่อคดีความมั่นคงในพื้นที่กล่าวถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมต่องานสอบสวนของตำรวจว่า วันที่ตำรวจได้จับกุมลูกชายของตนนั้นตำรวจไม่มีหมายศาล ไม่มีหลักฐาน และไม่มีข้อหาแม้แต่ข้อเดียว แต่หลังการจับกุมลูกชายตนกลับถูกตำรวจซ้อมเพื่อให้สารภาพจนต้องติดคุกติดตารางมาจนถึงวันนี้

"ใครๆ ก็ไม่ชอบตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ดี เบ่งอำนาจ กลั่นแกล้งชาวบ้าน คิดจะจับก็จับ ไม่มีหมายศาล ไม่มีพยานหลักฐาน และไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ เคยถามตำรวจที่มาจับลูกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอกว่าไม่รู้ นายสั่งมา แค่จะนำไปสอบสวนสักครู่ แล้วจะส่งกลับมา ผ่านไปสามวัน สิบวัน หนึ่งเดือน ครึ่งปีก็ยังไม่ส่ง แถมลูกกลับโดนซ้อมเพื่อให้สารภาพอีกด้วย หากจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ให้หมดทั้งโรงพัก" ฮามีดะห์ กล่าว

อีกหนึ่งเหยื่อคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าวคาร์บอม ชาวอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ฮานีละห์ ดือราแม ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตอนต้นของตำรวจว่า การจับกุม การสอบสวน และการยัดข้อหาโดยไม่มีพยานหลักฐานนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตนเคยอ่านมาว่าทุกครั้งที่จะมีการสอบสวนจะต้องมีทนายความ หรือคนที่ไว้ใจร่วมงานสอบสวนด้วย

"หากจะทำการสอบสวนจะต้องมีทนายความและคนที่ผู้ถูกกล่าวหาไว้ใจร่วมด้วย แต่กรณีของลูกดิฉันกลับไม่มีแม้แต่ทนายความ จับไปแล้วกลับไปซ้อมเด็กเพื่อให้รับสารภาพอีก เราในฐานะผู้ปกครองยอมรับไม่ได้จริงๆ ตำรวจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย กระบวนการสอบสวนแบบนี้ต้องปรับต้องแก้โดยด่วน"

ทนายแนะตำรวจต้องเรียนกฎหมาย

อาบีบุสตา ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อธิบายถึงต้นต่อของปัญหากระบวนการยุติธรรมที่มีสายงานตำรวจมาเกี่ยวข้องด้วยว่า ตำรวจเป็นสายงานเดียวในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ต้องเรียนสายนิติศาสตร์ จบปริญญาตรีสาขาใดก็สามารถสมัครสอบเข้าไปเป็นตำรวจได้ ซึ่งต่างจากผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ ที่ล้วนต้องเรียนนิติศาสตร์ทั้งสิ้น ทั้งที่ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การไม่ได้เรียนนิติศาสตร์มาก็จะไม่ชำนาญในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ

"จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ตำรวจมีภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาของประชาชน เพราะเมื่อไม่แม่นในหลักกฎหมาย การปฏิบัติงานก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกลายเป็นตำรวจเสียเองที่ทำผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตำรวจต้องรู้กฎหมายขั้นสูง ต้องเปิดคณะหรือสาขาเรียนสำหรับใครที่จะเป็นตำรวจในมหาวิทยาลัยเสมือนกับอาชีพครู แพทย์ หรือวิศวะกร เป็นต้น" อาบีบุสตา เผย

"สรุปคือที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมตอนต้นอยู่ในมือของตำรวจ ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนเป็นตำรวจด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตำรวจต้องช่วยคนของรัฐก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ชาวบ้านตายไม่เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐตาย" 

แยกงานสอบสวนออกจากมือตำรวจ

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตรองผู้บัญชาการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 4 ที่ไม่เคยย้ายออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยข้อมูลจากประสบการณ์รับราชการอันยาวนานในพื้นที่แห่งนี้ว่า หากจะทำการปฏิรูปตำรวจที่คาบเกี่ยวกับงานจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงคงหนีไม่พ้นระบบกระบวนการยุติธรรมของตำรวจหรืองานสอบสวน เพราะมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น

"งานสอบสวนของตำรวจยังขาดความเป็นกลาง ขาดจิตสำนึก และไม่มีจริยธรรม แต่กลับมีอคติต่อชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ สังเกตเห็นหลายคดีที่ตำรวจกระทำความผิด ศาลกลับไม่อาจลงโทษได้ เพราะผู้กระทำความผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกันหรือเป็นพวกเดียวกัน หลายคดีที่เป็นคดีอาชญากรรม แต่เมื่อถึงกระบวนการสอบสวนของตำรวจไปจนถึงการตัดสินของศาลกลับกลายเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้" พล.ต.จำรูญ กล่าว

โดยอดีตรอง ผบก.ตชด.ภาค 4 ได้ยกตัวอย่างคดีตากใบที่มีพยานประจักษ์อย่างชัดแจ้งผ่านการฉายภาพเหตุการณ์ทางวีดีโอและช่องทีวีสาธารณะทั่วโลก แต่ผลการตัดสินของศาลระบุว่าเป็นการตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของเจ้าหน้าที่

"คดีตากใบเป็นคดีที่คนทั้งโลกเห็นว่าตำรวจเป็นผู้ทำร้ายชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงอย่างสงบหน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ต่อด้วยการจับกุมโยนขึ้นรถทับซ้อนกันเป็นพันกว่าชีวิตจนมีการตายเกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายสิบคน แต่ศาลกลับตัดสินการตายว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและเป็นการตายเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ

"สรุปคือที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมตอนต้นอยู่ในมือของตำรวจ ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนเป็นตำรวจด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตำรวจต้องช่วยคนของรัฐก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ชาวบ้านตายไม่เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐตาย" พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

ด้านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส อดีตรองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องว่า หัวใจของการปฏิรูปตำรวจคือการปฏิรูประบบงานสอบสวนโดยการแยกให้เป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาที่มีชั้นยศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานสอบสวน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"ตำรวจมีหน้าที่จับผู้ร้ายและป้องกันเหตุร้าย แต่การสอบสวนผู้ต้องหาและพยานต้องให้หน่วยงานอื่นหรือมีอัยการร่วมสอบสวนด้วย เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ดังที่เกิดขึ้นบ่อยโดยเฉพาะคดีอาญาหรือคดีความมั่นคงในพื้นที่" อารีเพ็ญ กล่าว

พล.ต.ต.จำรูญ เสริมว่า "หากจะแก้ปัญหานี้จะต้องยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม สร้างสำนักงานสอบสวนที่ประกอบด้วยพนักงานสอบสวนทุกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจ ไม่จำเป็นต้องมีชั้นยศ แต่ต้องมีความอิสระจึงจะเกิดความเป็นธรรมได้ ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันและกัน"

อยากได้ใจประชาชน ต้องให้ใจประชาชน

ทนายความคนเดิมจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมสรุปตบท้ายถึงความท้ายทายต่อประเด็นงานปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะงานสอบสวนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พื้นที่แห่งนี้แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนที่นี่มีทัศนคติไม่ค่อยดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถืออาวุธ ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของขบวนการปลดปล่อยรัฐปาตานีที่มองว่าคนที่ถืออาวุธในดินแดนแห่งนี้ถือเป็นผู้รุกราน นอกจากทหารแล้ว ตำรวจจึงเป็นเป้าหมายหลักต่อการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายขบวนการด้วยเช่นกัน

"มวลชนที่ฝักใฝ่เอกราชในพื้นที่นี้มีจำนวนไม่น้อย หากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมิชอบด้วยกฎหมายก็จะยิ่งเพิ่มความยากลำบากต่องานสอบสวนยิ่งขึ้น ประชาชนจะยิ่งถอยห่างและจำเป็นต้องเลือกฝ่ายที่คิดว่าสามารถให้ความธรรมให้กับเขาได้ พวกเขาจะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ต้น ไม่ยินดีที่จะเป็นพยาน และจะไม่มีใครแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายให้" อาบีบุสตา กล่าว

รุสณีย์ อูมา พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดยะลาแห่งหนึ่งกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คือการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับตำรวจ พร้อมมีมาตรการขั้นเด็ดขาดไว้จัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดวินัยหรือผิดกฎหมายก็ตาม ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำผิด ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจต้องเอาผิดตามบทลงโทษที่วางไว้อย่างจริงใจ โดยไม่มีการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องหรือการลดหย่อนโทษให้เพียงเพราะเป็นเลือดสีเดียวกัน

"หากอยากได้ใจประชาชน เราต้องให้ใจกับประชาชนก่อน" รุสณีย์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียม กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย จนท.ยิง 4 ปชช.เสียชีวิต ที่ทุ่งยางแดง

Posted: 19 Sep 2017 12:39 AM PDT

ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งแปด คดีชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน เหตุเกิดเมื่อปี 58 ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

19 ก.ย. 2560 ความคืบหน้าคดีชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน เมื่อปี 58 ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ยื่นฟ้องไปเมือ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ในคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 39,076,796 บาท จากกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี  ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์ดังกล่าว

ล่าสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า วานนี้ (18 ก.ย.60) ผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาคดีนัดไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล โดยทนายความโจทก์ ได้นำโจทก์ทั้งแปดเบิกความต่อศาลและยื่นพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ถึงสถานะ ความเป็นอยู่ให้ศาลได้เห็นว่าโจทก์ทั้งแปดประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้างเป็นหลัก มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว มีหนี้สินที่จากการกู้ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์บ้าง ธ.ก.ส. บ้าง  จึงไม่มีเงินและทรัพยิ์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ ทั้งยังเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จะส่งผลให้โจทก์ทั้งแปดและครอบครัวได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งในการดำเนินคดีนี้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี  และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในการจัดหาทนายความให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ  โจทก์ทั้งแปดก็ไม่อาจนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อเหตุการณ์ที่บุตรของตนถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิตได้

เมื่อทนายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจนแล้วเสร็จ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีได้พิจารณาถึงสถานะ ความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งแปด และได้มีคำสั่งยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งแปด โดยเห็นว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง ในการเลี้ยงตนและเลี้ยงดูครอบครัว ประกอบกับโจทก์เองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการสูญเสียบุตรในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ดังนั้น หากโจทก์ทั้งแปดไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จะส่งผลให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเดือดร้อน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งแปด ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด    

ภายหลังจากศาลมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ทั้งแปดแล้ว ศาลจะดำเนินการส่งคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ เพื่อให้จำเลยทั้งสามทำคำให้การในการต่อสู้คดีต่อไป

คดีดังกล่าวเหตุสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้าน 4 ครอบครัว ซึ่งเป็นมารดาและบิดาของผู้ตาย 
เป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ยื่นฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 39,076,796 บาท (ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง) 
จากกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหา ละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีเมื่อปี 58 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังปฎิบัติการในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี แล้วเจ้าหน้าที่ได้ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 คน ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นนักศึกษา 2 คน  โดยโจทก์ทั้งแปดได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล พร้อมกับคำฟ้อง และศาลกำหนดเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.397/2560 พร้อมนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลในวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา: ประวัติย่อมาตรา 190 และอนาคตที่มืดมน

Posted: 19 Sep 2017 12:09 AM PDT

การมีส่วนร่วมจะเป็นหลังพิงที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่กฎหมายที่จะตามมาจากมาตรา 178 ในรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐสภาในอนาคตอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชน มากกว่าเพื่อกลุ่มคนที่มีอำนาจในวันนี้

อุณหภูมิความร้อนลดลงตามธรรมชาติของข่าว สำหรับกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขู่จะฟ้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทอง ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย เม็ดเงินที่บริษัท คิงส์เกตฯ หยิบขึ้นมาขู่คือ 30,000 ล้านบาท

มีเหตุการณ์เกี่ยวพันเรื่องสองสามประเด็น ตั้งแต่การลุแก่อำนาจทั้งที่สามารถใช้กฎหมายปกติจัดการได้ ซึ่งเท่ากับเปิดการ์ดให้ฟ้อง พร้อมกับปิดประตูชนะ แต่เรื่องที่ภาคประชาชนและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือเอฟทีเอ วอทช์ ( FTA Watch) สนอกสนใจเป็นพิเศษอยู่ที่กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-state Dispute Settlement: ISDS) ที่เปรียบได้กับกลไกเพิ่มอำนาจเอกชนให้สกัดกั้นการดำเนินนโยบายหรือออกกฎหมายของรัฐ รวมถึงฟ้องร้องรัฐเรียกค่าเสียหาย หากการดำเนินการใดๆ ของรัฐสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ แม้ว่านั่นจะเป็นการทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศก็ตาม

ข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เป็นหนังสือสัญญาที่บริษัท คิงส์เกตฯ จะใช้เป็นฐานฟ้องร้องรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นในปี 2547 ยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมี ความแข็งแกร่งทำให้การใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่อาจถูกทัดทาน รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงบรรจุมาตรา 190 ที่กำหนดแนวทางในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเอาไว้

ในสายตาของจันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี่คือการปฏิวัติเนื้อหารัฐธรรมนูญที่สำคัญครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา อำนาจในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจัดเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหารที่รัฐสภาและประชาชนไม่อาจแตะต้องได้มาก่อน

"ในยุคที่โลกซับซ้อนขึ้น อำนาจที่เคยเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหารอย่างการทำหนังสือสัญญาก็เริ่มถูกวิจารณ์ ที่เห็นชัดเจนคือในยุคทักษิณที่เริ่มเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีทางการค้า จึงคิดทำหนังสือสัญญาเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนทางเศรษฐกิจและคนเล็กคนน้อย ซึ่งเราไม่เคยเตรียมความพร้อมมาก่อน จึงเกิดผลกระทบขึ้นมาและเกิดการวิจารณ์

"แต่ถ้าเราพูดว่าจากการรับฟังเสียงของประชาชนไทยมีความเห็นแบบนี้ ประชาชนมิอาจยอมให้สิทธิบัตรยามีอายุยาวนานถึง 70 ปีได้ หรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่อนุญาตให้รัฐบาลไทยทำหนังสือสัญญาลักษณะนี้ นี่คือหลังพิงที่ยิ่งใหญ่มากของรัฐบาลที่จะเจรจาแบบทวิภาคี"

"จนในที่สุด จึงมาเกิดดอกออกผลในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดเป็นมาตรา 190 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามผูกแขนผูกขารัฐบาลไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป ใส่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เขียนถึงหนังสือสัญญาบางประเภทที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ซึ่งก็คือหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนอย่างกว้างขว้าง บอกว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ขอความเห็น รับฟังประชาชนก่อน เป็นที่มาให้รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาที่มีการปฏิวัติขนานใหญ่"

ปีศาจ 190 ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

ทว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มอดดับหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 จึงถูกฉวยใช้จากคู่ขัดแย้งของรัฐบาลเป็นเครื่องมือทางการเมือง กรณีนพดล ปัทมะและปราสาทเขาพระวิหารคือตัวอย่างที่ชัดเจน

มาตรา 190 จึงเป็นปีศาจถูกโจมตีจากทั้งนักการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตย และนักวิชาการบางส่วน ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้อยคำในมาตรา 190 เองก็มีปัญหา ใช้ถ้อยคำที่กว้าง เปิดช่องให้ตีความได้มาก นำไปสู่ความเข้าใจไม่ตรงกัน นี้ทำให้หลักการสำคัญของมันถูกลดทอนลงอย่างน่าเสียดาย

"ใช่ว่าการมีมาตรา 190 ไม่มีเหตุผลเสียทีเดียว แต่ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่มีการโต้แย้งกันว่า การทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจของใครกันแน่ ของฝ่ายบริหารแต่เพียงผู้เดียวเหมือนในอดีตหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ก็จะเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะโต้เถียงกัน แลกเปลี่ยนความเห็น กระทั่งลงร่องที่พอเหมาะพอควร แต่มาตรา 190 เมื่อมันเกิดขึ้นฉับพลัน ไม่มีการเตรียมการของฝ่ายบริหารและความเข้าใจในสังคมที่จะใช้มาตรานี้ ทำให้มันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการขัดขวางการบริหารงาน กรณีเขาพระวิหารชัดเจนมาก ถูกฟ้องและเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพและกระทบต่อเสถียรภาของรัฐบาล"

ช่วงเวลานั้น เครือข่ายภาคประชาชนและเอ็นจีโอจึงรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายลูกประกอบมาตรา 190 เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น กลับคิดไปเองว่าอำนาจการออกกฎหมายเป็นเอกสิทธิ์ของสภาเท่านั้น ประชาชนไม่เกี่ยว และตีตกกฎหมายของประชาชนฉบับนี้

"ดิฉันคิดว่ามาตรา 190 ในหลักการเป็นประโยชน์ อำนาจที่เคยเป็นเอกสิทธิ์ เคยผูกขาดกับคณะรัฐมนตรีหรือสภา โลกยุคใหม่นี้มันไม่พอแล้วที่จะให้รัฐบาลหรือสภาตัดสินใจแทนประชาชนทุกกลุ่มที่มีประโยชน์แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมซับซ้อนขึ้น ต้องเปิดกระบวนการใหม่ๆ ในเรื่องการทำหนังสือสัญญาก็เช่นเดียวกัน

"ดิฉันคิดว่ามาตรา 190 โดยหลักการเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำหนังสือสัญญาเหล่านั้น มีโอกาสส่งเสียง แสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือรัฐสภา แต่ว่าถึงที่สุด อำนาจนี้ก็ยังเป็นของรัฐบาลหรือรัฐสภาในการตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประชาชนจะร่วมตัดสินใจกับรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลจะเป็นคนพูดคนสุดท้ายว่า จะทำหนังสือสัญญาหรือไม่ จะทำเอฟทีเอหรือไม่ เพียงแต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประเด็นแบบนี้จะไม่รุนแรงจนทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง มันจะค่อยๆ จัดวางกันเองว่าเส้นที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล"

จาก 190 ถึง 178

แล้วมาตรา 190 มีที่ทางอยู่ตรงไหนในรัฐธรรมนูญ 2560?

มาตรา 190 แปลงร่างไปอยู่ในมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยถอดรายละเอียดที่ว่าด้วยกระบวนการกับวิธีการที่เคยผูกพันรัฐบาลไว้ออก ปล่อยให้มีช่องกว้างๆ ไว้เพื่อไปเขียนรายละเอียดในพระราชบัญญัติ ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้  จันทจิราถือว่าถูกต้อง คือเขียนเพียงหลักการเอาไว้

"คุณต้องการให้หนังสือสัญญาซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม แล้วจะต้องขอรัฐสภาหรือรับฟังความเห็นอย่างไร เขียนเฉพาะหลักการในรัฐธรรมนูญ เพียงพอแล้ว ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไร ให้ใส่ในพระราชบัญญัติ เพราะมันแก้ไขง่ายกว่า เขียนหนักไป เบาไป ต่อไปสภาก็สามารถแก้ไขได้เอง ซึ่งเหมาะกว่าในแง่ประสิทธิภาพในการใช้กฎหมาย ต้องรอดูและวิพากษ์วิจารณ์กันอีกทีตอนที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วสภาตราพระราชบัญญัติที่ออกมาตามมาตรานี้อย่างไร ตรงนั้นเป็นอีกช็อตหนึ่ง"

หลังพิงที่ยิ่งใหญ่

กรณีกลไกไอเอสดีเอสที่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการตัดสิน จันทจิรา กล่าวว่า ในหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการถือเป็นเรื่องปกติวิสัยมาก เพราะไม่มีฝ่ายใดยอมให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศไปขึ้นศาลภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นรัฐคู่สัญญา เมื่อใดที่รัฐบาลอีกฝ่ายยอมให้ขึ้นศาลของอีกประเทศหนึ่งเท่ากับตกเป็นเมืองขึ้นโดยสภาพ ดังนั้น วิถีทางที่เป็นกลางที่สุดคือใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

"แต่ด้วยเหตุที่มันไม่ผิดปกตินี้เอง มันจึงต้องถอยกลับมาที่กระบวนการทำหนังสือสัญญา ก่อนที่รัฐบาลจะเซ็นต์หนังสือสัญญากับประเทศไหน โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังสือสัญญาการค้าการลงทุนและเป็นทวิภาคี การที่เราจำเป็นต้องมีกระบวนการทำหนังสือสัญญา แล้วให้รัฐสภา ให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสีย เข้ามาในกระบวนการของรัฐบาลจึงเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นน้ำหนักต่อรองของรัฐบาลที่ดี

"เนื่องจากมันเป็นทวิภาคี เราอาจต้องไปเจรจากับประเทศที่กำปั้นใหญ่กว่าเรา เราไม่มีทางต่อรองได้เลย แต่ถ้าเราพูดว่าจากการรับฟังเสียงของประชาชนไทยมีความเห็นแบบนี้ ประชาชนมิอาจยอมให้สิทธิบัตรยามีอายุยาวนานถึง 70 ปีได้ หรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่อนุญาตให้รัฐบาลไทยทำหนังสือสัญญาลักษณะนี้ นี่คือหลังพิงที่ยิ่งใหญ่มากของรัฐบาลที่จะเจรจาแบบทวิภาคี การเจรจาจะมีลักษณะหมูไปไก่มา กระทั่งหาจุดที่ลงตัวได้ดีที่สุดสำหรับประเทศที่กำปั้นเล็กกว่า

"รัฐสภาที่เราจะได้จากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช่รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจะไม่ได้ตัวแทนประชาชนที่แท้จริง จะครึ่งๆ กลางๆ กฎหมายที่ไม่ใช่เพียงรองรับมาตรา 178 แต่รวมถึงกฎหมายอื่นๆ มันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จะเป็นประโยชน์ของกลุ่มที่มีพลังในการร่างกฎหมายหรือบริหารประเทศในวันนี้"

"สมมติถ้าเรารู้ว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางระหว่างประเทศ กระบวนการทำหนังสือสัญญาโดยเขียนไว้เป็นกระบวนการภายในจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และรัฐบาลควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นกำลังต่อรองของตัวเอง"

ตรงกันข้าม หากรัฐบาลชุดนี้จะไปเจรจาต่อรองทำหนังสือสัญญาแบบทวิภาค ย่อมอยู่สถานะที่เสียเปรียบมาก ไม่มีกำลังต่อรองใดๆ ขณะที่กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ไม่อาจปฏิเสธได้ หากเกิดการทำหนังสือสัญญาขึ้น จันทจิรา กล่าวว่า ในอนาคตจะเห็นกรณีที่ประเทศไทยต้องไปชดใช้ค่าเสียหายคล้ายๆ กรณีการปิดเหมืองทองอีกมหาศาล เพราะเราไม่มีกระบวนการในการเจรจาที่มีน้ำหนัก

แปลง 178 เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกระดับ

เดิมพันสำคัญที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงอยู่ที่พระราชบัญญัติที่จะเกิดขึ้นวันข้างหน้า เมื่อถามจันทจิราว่า กฎหมายที่จะออกมาเพื่อประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 ควรมีหน้าตาอย่างไรถึงจะไม่เรียกว่าอัปลักษณ์

"ถ้าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการบริหารหนังสือสัญญา สิ่งที่จะใส่ลงไปในพระราชบัญญัติก็ควรเรียกร้องตั้งแต่เมื่อรัฐบาลจะหาเสียงกับประชาชน ก่อนที่พรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เขาควรบอกประชาชนว่านโยบายระหว่างประเทศกำลังคิดจะเจรจากับประเทศใด ในเรื่องอะไร แล้วทำออกมาเป็นนโยบาย รัฐบาลจะถือเป็นกรอบหนังสือสัญญาในช่วง 4 ปีของรัฐบาลกับประชาชนได้เลย แล้วก็จะเป็นกรอบที่ผูกมัดในการนำเสนอต่อรัฐสภาเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าต้นน้ำในการทำหนังสือสัญญาต้องมีแผนการทำ โดยรัฐบาลวาดภาพว่าต้องการเจรจาการค้าการลงทุนกับประเทศใด แล้วทำเป็นแผนในการเจรจาออกมาและขออนุมัติรัฐสภากรอบนั้นทั้งกรอบ 4 ปี"

เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมรับรู้ก็จะเกิดการปรับตัว เมื่อลงในรายละเอียดก็ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น จุดนี้ถือเป็นกระบวนการกลางน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องเขียนให้มีลักษณะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่กระบวนการในทางรัฐศาสตร์

จันทจิราขยายความว่า กระบวนการในทางกฎหมายจะมีลักษณะคล้ายๆ วิธีพิจารณาความ ต้องเริ่มด้วยการให้ข้อมูล ประกาศช่วงเวลาการรับฟัง ประกาศชื่อผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิให้ความเห็น การจัดทำรายงานการรับฟัง เมื่อรับฟังแล้ว รายงานฉบับนั้นจะมีผลผูกพันรัฐบาลอย่างไร กรณีที่รัฐบาลตัดสินใจทำไปโดยรู้อยู่ว่าจะมีผลกระทบ รัฐบาลควรต้องเสนอมาตรการในการเยียวยาแก้ไขกลุ่มที่จะถูกผลกระทบด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการปลายน้ำ

"เราจะเห็นว่ากระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทุกคนในสังคมจะเห็นตลอดกระบวนการว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แบบนี้ถึงจะทำให้ข้อขัดแย้งที่จะเกิดในภายหลังมีน้อย"

แต่สภาพการเมืองในอนาคตจะผลิตกฎหมายเช่นที่ว่าได้หรือ?

"ประเด็นนี้ไม่ต่างจากปัญหาใหญ่อื่นๆ คือปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเรื่องภายในหรือการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศก็ไม่ต่างกัน  ดิฉันคิดว่าพระราชบัญญัติที่ออกมาจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากนัก เพราะรัฐสภาที่เราจะได้จากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช่รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจะไม่ได้ตัวแทนประชาชนที่แท้จริง จะครึ่งๆ กลางๆ กฎหมายที่ไม่ใช่เพียงรองรับมาตรา 178 แต่รวมถึงกฎหมายอื่นๆ มันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จะเป็นประโยชน์ของกลุ่มที่มีพลังในการร่างกฎหมายหรือบริหารประเทศในวันนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์อคติของนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่

Posted: 19 Sep 2017 12:06 AM PDT

 

สังคมไทยปัจจุบันกำลังมีความคาดหวังว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในอีกไม่นานนี้ โดยมีหลายปัจจัยทางสังคมกดดันการตัดสินใจจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศ ฯลฯ โดยทั้งนี้ในส่วนของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ผู้เขียนจะมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว แต่ในปัจจัยดังกล่าวก็ยังพบปัญหาบางประการในหมู่นักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ด้วยกัน โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น มาเป็นกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบทความดังกล่าว เพื่อมุ่งเน้นอธิบาย (analysis) และเสนอแนะแนวทาง (normative) เพื่อนำมาสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องอคติ (prejudice) รวมไปถึงการกีดกัน (discrimination) และการขาดการรวมหมู่ (non-collective) ของฝ่ายซ้ายไทยซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะมีสาเหตุที่มาจากข้อแตกต่างในความเชื่อของอุดมการณ์ทางการเมือง และข้อแตกต่างในการแสดงปฏิบัติกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงปัจจัยเพาะบ่มด้านพฤติกรรมการขาดการรวมหมู่ในระดับอุดมศึกษาไทย ซึ่งบทความนี้จะอาศัยการวิเคราะห์ด้วยหลักจิตวิทยาสังคม (social psychology)[1] ในการอธิบายปัญหาและเพื่อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาปรากฎการณ์ดังกล่าวของสังคม โดยในบทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงบริบทของนักกิจกรรมที่เป็นฝ่ายซ้ายไทยรุ่นใหม่


ความเป็นมาของปัญหา

สืบเนื่องผู้เขียนก็ได้คลุกคลีกับวงการนักเคลื่อนไหวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองซ้ายไทยรุ่นใหม่ต่างๆเป็นระยะเวลาพอสมควร ผู้เขียนจึงพอทราบได้ถึงปัญหาในวงการดังกล่าวอยู่พอสมควร โดยทั้งนี้ เมื่อเรามีการอธิบายอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเรื่องโดยง่าย (simplified) ก็สามารถแบ่งได้เป็นฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา ซึ่งฝ่ายซ้ายมักจำแนกอย่างกว้างได้เป็นฝ่ายเสรีนิยม (liberalism) และสังคมนิยม (socialism) ส่วนฝ่ายขวามักจำแนกอย่างกว้างได้เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม (conservatism)

โดยวงการนักเคลื่อนไหวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองคนรุ่นใหม่ มักจะนิยามตนเองหรือกลุ่มว่ามีพื้นฐานทางอุดมการณ์ทางการเมืองในฝ่ายซ้ายรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของเสรีนิยมหรือสังคมนิยม ซึ่งเราจะพบได้ว่าทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยม มีหลักการความเชื่อบางอย่างที่สอดคล้องกัน เช่น หลักความเชื่อเรื่องความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) ความเสมอภาคกันทางการเมือง (political equality) หรือความเสมอภาคในโอกาส (equality of opportunity) ซึ่งล้วนเป็นความเชื่อที่มีคุณค่ายิ่ง (ยังมีความเสมอภาคบางอย่างที่แนวคิดสังคมนิยมมุ่งเน้นเด่นชัดออกมาจากแนวคิดเสรีนิยม ได้แก่ ความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ (social and economic equality) ซึ่งจะนำมาสู่ความเสมอภาคในผลลัพธ์ (equality in outcome) ของประชาชน เป็นต้น) แต่ถึงกระนั้นแล้ว ในทางจิตวิทยาสังคม ความแตกต่างทางความเชื่อก็ย่อมนำมาสู่ความขัดแย้งได้ โดยการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองและนำมาจัดกลุ่มแบ่งประเภท (categorization) ย่อมนำมาสู่การแสดงข้อแตกต่างให้ชัดเจนขึ้น การแบ่งกลุ่มเขา (outgroup) และกลุ่มตน (ingroup) สามารถนำมาสู่อคติและความขัดแย้งซึ่งกันและกัน (ถึงแม้ว่ากลุ่มเขาและกลุ่มเราจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน) โดยจะขอชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้


1.ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง

ความแตกต่างสามารถนำมาซึ่งอคติ และอคติสามารถขำมาสู่ความขัดแย้ง โดยถึงแม้การแบ่งประเภทกลุ่มจะทำให้กลุ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลือกรูปแบบแผนการดำเนินการ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายกลุ่ม โดยเป้าหมายนี้ก็อาจสอดคล้องกับเป้าหมายกลุ่มอื่นด้วย แต่การแบ่งประเภทก็ยังสามารถก่อให้เกิดอคติ โดยในกรณีนี้ เพื่อให้เห็นภาพการจัดประเภทที่ละเอียดยื่งขึ้น ก็จะต้องแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกย่อยชนิดลงไปอีกทั้งสามอุดมการณ์ได้มากมาย โดยมักนิยมนิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิค (classic liberalism) สังคมเสรีนิยม (social liberalism) แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (social democracy) แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialism) หรือแนวคิดซ้ายคอมมิวนิสต์ (left communism) เป็นต้น โดยทุกกลุ่มต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้บังเกิดแก่ประเทศไทย แต่การร่วมมือกันกับสามารถเป็นไปได้อย่างไม่สะดวกจากอคติ โดยอคติเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราเป็นใคร โดยในสังคมนั้น ตามธรรมชาติมนุษย์ เรามักมองว่าตนเองมีข้อดีกว่าผู้อื่น และผู้อื่นมีข้อด้อยมากกว่าตน ในทางกลุ่มการเมืองก็เช่นกัน ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมก็มักมองกันและกันอย่างมีอคติ มองว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของตนมีคุณค่าแก่สังคมมากกว่าอุดมการณ์ของฝ่ายอื่น อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้อื่นไม่ได้ดีเสมอเหมือนกับอุดมการณ์ทางการเมืองของตน เรื่องนี้สามารถอธิบายผ่านแนวคิดความไม่เสมอภาคของสถานะและอคติได้ โดยยกตัวอย่าง การมองแบบเหมารวม (stereotype) โดยฝ่ายเสรีนิยมมักมองฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรง มักมองว่าฝ่ายสังคมนิยมชอบสร้างกระแสสังคมให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และมักมองว่าฝ่ายสังคมนิยมมักไม่รู้จักการประนีประนอมกับกลุ่ม "ชนชั้นนายทุน" ของพวกเขา (ในกรณีอ้างอิงแนวคิดมาร์กซิสต์) ส่วนฝ่ายสังคมนิยมมักมองว่าฝ่ายเสรีนิยมเป็นพวกหาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายผ่านการประนีประนอม (ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายสังคมนิยม) โดยมองว่าฝ่ายเสรีนิยมมักดำรงตน "อยู่เป็น" ในทุกสถานการณ์ (ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายสังคมนิยมจะแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดกันอย่างไร ฝ่ายเสรีนิยมก็ลอยตัวอยู่เหนือสถานการณ์ได้เสมอ) และมักมองว่าฝ่ายเสรีนิยมมักทำอะไรไม่จริงจัง พอเจออุปสรรคไม่มากเท่าใดก็หยุดการดำเนินการเรื่องนั้นต่อ เป็นต้น ซึ่งอคติเช่นนี้สามารถนำมาสู่ความเกลียดชังระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองในที่สุด ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมมักไม่ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ร่วมกัน เป็นต้น


2.แนวทางการปฏิบัติที่ต่างกัน

สืบเนื่องจากความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ทางการเมือง ย่อมส่งผลกระทบมาซึ่งการปฏิบัติในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยจากอคติระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นการมองแบบเหมารวม และนำมาสู่ความขัดแย้งและเกลียดชัง โดยกลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่มักจะมีการจัดกิจกรรมเช่น งานเสวนา งานวิชาการ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ กลุ่มนักกิจกรรมแต่ละกลุ่มมักจะมีอคติกันระหว่างกลุ่ม ส่งผลให้ขาดการประสานข้อมูลและการทำงานกันระหว่างกลุ่ม หรือหาทางผูกขาดหรือกีดกันกลุ่มอื่นๆในการทำกิจกรรมที่กลุ่มตนต้องการทำ เพราะเชื่อว่ากลุ่มตนจะทำกิจกรรมนั้นได้ดีกว่า ซึ่งทำให้เครือข่ายของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์นั้นอ่อนแอจากการขาดการรวมหมู่เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยจะขออธิบายหัวข้อนี้ให้เด่นชัดขึ้นผ่านการยกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายสังคมนิยมจะมองหากิจกรรมที่มีความเข้มข้นและดึงดูดกระแสสังคมได้มาก เพราะต้องการให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากที่เป็นอยู่ ส่วนฝ่ายเสรีนิยมนิยมจัดกิจกรรมที่ไม่เข้มข้น เพื่อเน้นการยอมรับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในระดับหนึ่ง และแสดงออกว่าฝ่ายเสรีนิยมก็พยายามให้สังคมเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายสังคมนิยมในระดับหนึ่ง โดยทั้งฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมก็อาจเกิดการมองแบบอคติว่าแนวทางการปฏิบัติของตนดีที่สุด จึงเกิดปัญหาการกีดกันการทำกิจกรรมทางการเมืองกันดังกล่าว


แนวทางการแก้ปัญหาอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ของนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่

จากที่ได้เขียนบรรยายมาข้างต้นนั้น ปัญหาของอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ของนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ ผู้เขียนได้นำเสนอถึงปัจจัยสองประการที่นำมาสู่อคติ การมองแบบเหมารวม ความขัดแย้ง และนำมาสู่การกีดกันดังกล่าวในที่สุด ไว้ 2 ปัจจัย อันได้แก่ 1.ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง และ 2.แนวทางการปฏิบัติที่ต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะทั้งอุดมการณ์แบบเสรีนิยมและแบบสังคมนิยมก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้เกิดแก่ประเทศไทย โดยแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ดังกล่าว สามารถอาศัยหลักวิธีในการแก้ปัญหาด้วยการมีสำนึกคิดถึงหลักเป้าหมายสูงสุด (superordinate goals) โดยมีที่มาจากการวิจัยที่ให้เด็กๆเล่นเกมส์ร่วมมือกัน ซึ่งนำมาสู่การลดความก้าวร้าว และมีการเพิ่มขึ้นของการให้ความร่วมมือกัน เมื่อให้เด็กๆเล่นเกมที่แข่งขันกัน เด็กๆก็แสดงออกถึงความก้าวร้าวและให้ความร่วมมือกันลดลง (Bay-Hintz, et al., 1994) หรือ หรือกรณีการสร้างเป้าหมายร่วมแบบชั้นเรียนจิ๊กซอว์ (jigsaw classroom) ที่พัฒนาโดย อีเลียต อารอนสัน (Elliot Aronson, 2000; Aronson, Blaney, Stephin, Sikes, & Snapp, 1978; Aronson & Patnoe, 1997) เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบร่วมมือกันในห้องเรียน โดยเปรียบการที่เด็กๆแต่ละคนมาร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ก็เหมือนเป็นการเติมเต็มภาพที่ให้สมบูรณ์ให้กลายมาเป็นภาพที่สมบูรณ์ อาศัยการร่วมด้วยช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ โดยเป็นการให้เด็กๆแต่ละคนไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเนื้อหาการเรียน และนำความรู้ที่ตนศึกษามาร่วมกันทำการบ้านกับเด็กๆคนอื่น พบว่าเมื่อทุกคนช่วยกันทำการบ้าน (เป้าหมายสูงสุดคือการทำการบ้านให้เสร็จสมบูรณ์) การบ้านก็เสร็จสมบูรณ์ เมื่อย้อนมาที่ปัญหาของกลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ดังกล่าวนั้น กลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ก็ต้องลดอคติ ลดความขัดแย้ง และแสวงหาการรวมหมู่กันมากยิ่งขึ้น มีการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะได้ร่วมกันบรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็คือการร่วมกันสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้เกิดแก่ประเทศไทยนั่นเอง


เชิงอรรถ
[1] นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน). 2555. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 



เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวมือรางวัลของเมียนมาร์ 2 ราย ถูกจับในบังกลาเทศเพราะสัมภาษณ์ทำข่าวเรื่องชาวโรฮิงญา

Posted: 18 Sep 2017 11:55 PM PDT

นักข่าวชาวเมียนมาร์สองรายที่ทำข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ ถูกจับกุมตัวที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ โดยถูกกล่าวหาว่า "ปลอมแปลงตัวตน" และ "นำเสนอข้อมูลเท็จ" ทำให้มีการเรียกร้องปล่อยตัวจากที่ทั้งคู่มีผลงานในสื่อดังระดับโลก ไม่ใช่ผู้ที่เข้าไปจารกรรม

ซ้าย - มินซายาร์ อู (Minzayar Oo) ขวา - คุน ลัต (Hkun Lat) ที่มาภาพจากทวิตเตอร์ Minzayar Oo และ Hkun Lat

19 ก.ย. 2560 นักข่าวทั้งสองรายดังกล่าวชื่อมินซายาร์ อู (Minzayar Oo) และคุน ลัต (Hkun Lat) เดินทางเข้าสู่ค็อกซ์บาซาร์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องชาวโรฮิงญาให้กับนิตยสารเยอรมนีที่ชื่อ Geo แต่พวกเขากลับถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีจารกรรม

ข้อหานำเสนอข้อมูลเท็จที่พวกเขาถูกกล่าวหาภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 177 ของบังกลาเทศอาจจะทำให้ต้องโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับเป็นเงิน 1,000 ทากา (ราว 400 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาปลอมแปลงตัวตนมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และอาจจะถูกปรับด้วย นอกจากนี้พวกเขายังถูกตั้งต้องสงสัยผิดกฎหมายคนต่างชาติของบังกลาเทศซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีและอาจจะถูกปรับ

รันจิต คุมาร์ บารัว เจ้าหน้าที่ประจำสถานีตำรวจในค็อกซ์บาซาร์กล่าวว่าสาเหตุที่ทั้งคู่ถูกกล่าวหาข้อหาจารกรรมเนื่องจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศคิดว่า "พวกเขาเก็บรวบรวมข้อมูลของชาวโรฮิงญาให้กับเมียนมาร์" จยอร์ทีร์มอย บารัว ทนายความของผู้สื่อข่าวทั้งสองคนเข้าสู่ค็อกซ์บาซาร์จากประเทศเมียนมาร์ด้วยวีซานักท่องเที่ยว นักข่าวทั้งสองรายนี้ถูกส่งตัวไปยังกรุงธากาเพื่อไต่สวนก่อนจะมีการส่งตัวขึ้นศาล

ประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเชื้อสายโรฮิงญาในเมียนมาร์จนมีคนจำนวนมากอพยพไปที่บังกลาเทศนั้นส่งผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์กับประเทศ สหประชาชาติกล่าวหาว่าเมียนมาร์ซึ่งมีชาวพุทธอยู่เป็นส่วนใหญ่พยายามกวาดล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มคนที่ไร้รัฐโดยกองทัพเมียนมาร์เป็นผู้ปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างโหดเหี้ยม เหตุการณ์ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาลี้ภัยยังส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวจำนวนมากเดินทางเข้าบังกลาเทศเพื่อทำข่าวเรื่องชาวโรฮิงญาด้วย

ในเว็บไซต์ Change.org ยังมีการรณรงค์เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวทั้งสองรายโดยระบุว่าทั้งคู่มีผลงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาติพันธุ์ในเมียนมาร์เป็นผลงานในสื่อที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์กไทม์ เดอะการ์เดียน หรือเนชันแนลจีโอกราฟฟิค แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจารกรรมใดๆ ทั้งสิ้น จึงขอให้รัฐบาลบังกลาเทศปล่อยตัวทั้งสองคนโดยทันที ในวันที่ 19 ก.ย. 2560 มีผู้ลงนามเรียกร้องมากกว่า 5,900 รายชื่อแล้ว

เรียบเรียงจาก

Myanmarese journalists can face maximum 5 years imprisonment, Dhaka Tribune, 17-09-2017

http://www.dhakatribune.com/bangladesh/2017/09/17/myanmarese-journalists-5-years-prison-espionage/

Free award winning Myanmar journalists from jail in Bangladesh, Change.org

https://www.change.org/p/the-government-in-bangladesh-and-relevant-authorities-free-award-winning-myanmar-journalists-from-jail-in-bangladesh/nftexp/ex5/control/51139167

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายหนุนแบนสารพิษอันตรายร้ายแรงร้องรัฐ ยกเลิกสารพาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส

Posted: 18 Sep 2017 10:52 PM PDT

เครือข่ายหนุนแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ และ ดาวกระจายหน้าศาลากลางกว่า 50 จังหวัด ร้องยุติต่อทะเบียน-ยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ตามข้อเสนของสาธารณสุขที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงก่อผลกระทบต่อสุขภาพ

 
19 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้(19 .ย.60) เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรอินทรีย์เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เครือข่ายองค์กรชุมชน และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเพิกถอนและยุติการต่อทะเบียนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 2 ชนิด คือสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต สารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส พร้อมทั้งให้มีการควบคุมสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตอย่างเข้มงวดมิให้มีการนำมาใช้ในเขตต้นน้ำ แหล่งน้ำ และใกล้ที่อยู่อาศัย
 
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ยังมีการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศด้วย
 
ภาวิณี วัตถุสินธุ ตัวแทนจากเครือข่ายฯ ได้แถลงข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการ 4 ข้อ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560  ที่มี ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานและมีตัวแทนจาก 4 กระทรวงหลักเข้าร่วมดังนี้
 
1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29  พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส     
 
2) ในระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมิได้ดำเนินการจัดประเภทให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นการแบนสารทั้งสองชนิด ให้กรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มเติมเงื่อนไขลดจำนวนการนำเข้าสารทั้งสองชนิดลงเป็นลำดับ ตามกำหนดเวลา (Road map) ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ
 
3) สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยนำเอาข้อมูล เหตุผล และมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอโดยเร็ว
 
4) ในระหว่างที่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่แล้วเสร็จ ให้มีการพิจารณาสั่งการในผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดตามความเหมาะสม เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
 
มลฤดี โพธิ์อินทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงว่าเครือข่ายที่ร่วมเคลื่อนไหววันนี้จะดำเนินการผลักดันต่อเนื่องให้มีการแบนสารพิษมีผลnโดยอาจพิจารณารณรงค์ให้ประชาชนไม่ซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่สนับสนุนการใช้สารพิษดังกล่าว ในขณะที่นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์เกษตรกรรมและอาหารเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่าสารพิษเช่นพาราควอตนั้นมีการยกเลิกการใช้แล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์และจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตก็ประกาศยกเลิกการใช้แล้ว ไม่สมควรที่รัฐบาลไทยจะเอาใจกลุ่มธุรกิจสารเคมีโดยเอาสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศเข้าแลก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่ค้าโรงเกลือวัย 20 ปี ถูกตั้งข้อหา 'หมิ่น' ฮุนเซน

Posted: 18 Sep 2017 10:06 PM PDT

ศาลกัมพูชาตั้งข้อหาหญิงอายุ 20 ปี จากการโพสต์ว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็น "คนทรยศ" และกล่าวหาเขากับพระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ ว่าเป็น "พวกญวน" ทำให้เธอมีโอกาสถูกปรับหนักและจำคุก 3 ปี ทางด้านตัวแทนจากองค์กรสิทธิมองว่าการลงโทษเธอจะหนักเกินไป ควรแค่มีการ "อบรม" เธอเท่านั้น

ศาลจังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาทต่อหญิงอายุ 20 ปี จากการที่เธอโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับฮุนเซนและพระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ

หญิงคนดังกล่าวชื่อ เมิง ลิฮอร์ คนขายผลไม้ในตลาดโรงเกลือในไทย เธอถูกจับกุมโดยสารวัตรทหารเมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่แล้ว (15 ก.ย.) หลังจากที่พวกเขาใช้เวลาหลายเดือนติดตามตัวเธอจากเฟซบุ๊กที่เธอโพสต์ พรม เทง หัวหน้าแผนกพิจารณาคดีของหน่วยสารวัตรทหารประจำจังหวัดกล่าว เขาบอกอีกว่าการกระทำของเมิง ลิฮอร์ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศ

ลิฮอร์ถูกจับกุมที่บ้านของเธอในปอยเปตหลังจากกลับจากทำงานขายของที่ฝั่งไทยซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกจับกุมเองโดยไม่มีใครฟ้องร้องแต่ยึดเอาตามความคิดของเจ้าหน้าที่ทางการและอัยการว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีการเผยแพร่ภาพของสิ่งที่เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์อย่างรูปของฮุนเซนถูกตัดต่อกับคำว่า "คนทรยศ" และ "ฆาตกร" รวมถึงเรียกฮุนเซนกับพระวรราชมารดาว่าเป็น "พวกญวน"

ซ้าย- จอมพล สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ขวา- พระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และเป็นพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชารัชกาลปัจจุบัน

ลิฮอร์สารภาพว่าเธอเป็นผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าวแต่ก็บอกว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนที่ใช้ชื่อว่า "Ear Kimseng" ที่มักจะโพสต์เนื้อหาคล้ายๆ กัน

ศาลตั้งข้อหาลิฮอร์ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 307 และ 496 ของกัมพูชาว่าด้วการหมิ่นประมาทและการยุยงปลุกปั่นจากโพสต์ในเฟซบุ๊ก 3 โพสต์ช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. ที่ผ่านมา

ลิฮอร์เป็นรายล่าสุดที่ถูกจับกุมในกรณีหมิ่นฮุนเซนหลังจากที่ฮุนเซนเคยประกาศเตือนเรื่องนี้ไว้ในเดือน ธ.ค. 2558 หลังจากนั้นมาก็มีหลายคนถูกลงโทษทางกฎหมายจากการโพสต์เฟซบุ๊ก รายล่าสุดเป็นหญิงอายุ 31 ปี ที่เพิ่งได้รับการให้ประกันตัวเมื่อเดือนที่แล้ว กรณีของลิอร์นั้นถ้าเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงก็อาจจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุด 16 เรียล (ราว 130,000 บาท) และมีโอกาสถูกจำคุกสุงสุด 3 ปี เมื่อพิจารณาการลงโทษรวมจากทั้งสองข้อหา

เสือง เซน กรุณา ผู้ตรวจการระดับสูงขององค์กรเรียกร้องสิทธิ์ Adhoc กล่าวว่าการลงโทษลิฮอร์รุนแรงเกินไป เธอควรจะแค่ถูกลงโทษด้วยการ "อบรม" แทน เสือง เซน กรุณา ยังแสดงความกังวลว่ามีชาวกัมพูชาถูกจับกุมเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกระทำของรัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก

Fresh arrest over Facebook criticism of Hun Sen, Phnom Penh Post, 18-09-2017

http://www.phnompenhpost.com/national/fresh-arrest-over-facebook-criticism-hun-sen

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น